วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2022, 21:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : keathadhammaboththai

ฉัตตปาณิอุบาสก อุบาสกผู้ทรงธรรม
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b50: :b47: :b50:

บุคคลท่านนี้ไม่ทราบประวัติอันแน่ชัด แต่ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทิฏฐกถา) ที่พระเณรใช้เรียนกันนั้นระบุว่า ฉัตตปาริอุบาสกเป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต แถมเป็นพระอนาคามีอีกต่างหาก

อุบาสกที่เป็นพหูสูตสมัยพุทธกาลนั้นมีมาก เช่น จิตตคหบดี (ได้เล่าประวัติไว้ก่อนแล้ว) วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระเถรีรูปหนึ่งคนนี้ ก็มีความรู้ทางธรรมมาก สามารถโต้ตอบกับพระเถรี อดีตภรรยาของตนในธรรมลึกซึ้งได้

อุบาสกอดีตสาวกมหาวีระ ชื่อ อุบาลี นี้ก็เป็นพหูสูตคนสำคัญ เพราะเคยอยู่ในศาสนาเชนมาก่อน เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกก็เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา โอกาสหน้าจะนำประวัติมาเล่าให้ฟัง

วันนี้ขอเล่าเรื่องของฉัตตปาณิก่อน

ฉัตตปาณิเป็นชาวเมืองสาวัตถี รักษาศีลอุโบสถประจำ และกินมื้อเดียว ว่ากันว่าพอเป็นพระอนาคามีปั๊บ เคยกินสองมื้อมาก่อน จะกินมื้อเดียวโดยอัตโนมัติเลย เคยยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยามาก่อน จะไม่มีความต้องการทางเพศเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ “ละได้ด้วยอนาคามิมรรค” พระอรรถกถาจารย์ว่าอย่างนั้น

ที่พูดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของพระอนาคามี แกล้งเป็นหรือหลอกคนอื่นว่าตนเป็นไม่ได้

ส่วนอุโบสถศีลนั้น พระอนาคามีไม่จำเป็นต้องรักษา ไม่จำเป็นต้องสมาทานอุโบสถศีล เพราะพระอนาคามีเป็นผู้มีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

แต่ที่ฉัตตาปาณิอุบาสกไปสมาทานอุโบสถศีลจากพระศาสดานั้น คิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากจะทำให้เป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ขนาดพระอนาคามีซึ่งมีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ท่านยังสมาทานอุโบสถศีล แล้วเราปุถุชนทั่วไปไฉนไยขี้เกียจอยู่อะไรทำนองนี้

พระมหากัสสปะก็เช่นเดียวกัน ถือธุดงค์เคร่งครัด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอถึงที่สุดพรหมจรรย์แล้วไม่ต้องถือธุดงค์ก็ได้ ท่านกราบทูลพระพุทธเจ้า “ข้าพระองค์ถือธุดงค์เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหน้าพระเจ้าข้า”


พระอรหันต์ทั้งหลายท่านน่ารักไหมครับ

วันหนึ่ง ฉัตตปาณิอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน ฉัตตปาริไม่ลุกขึ้นถวายความเคารพแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ยังคงนั่งอยู่อย่างสงบ พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ไม่ทรงพอพระทัย แต่ก็ไม่ว่ากระไร

เช้าวันหนึ่ง ขณะทรงยืนทอดพระเนตรผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) พอดี ฉัตตปาณิกางร่ม สวมรองเท้าเดินผ่านไปทางพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ทรงจำได้ รับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญฉัตตปาณิอุบาสกมา ฉัตตปาณิอุบาสกหุบร่มและถอดรองเท้า เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมอย่างนอบน้อม

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “อุบาสก ทำไมท่านจึงหุบร่ม ถอดรองเท้ามาหาเราเล่า”

“ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้าจึงได้มา” อุบาสกกราบทูลอย่างนอบน้อม

“ชะรอยท่านเพิ่งจะรู้ว่าวันนี้เราเป็นพระเจ้าแผ่นดิน” พระราชาตรัสขึ้น

“หามิได้ พระพุทธเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าทราบด้วยเกล้าฯ มาตลอดเวลา” อุบาสกกราบทูล

“แล้วทำไมวันนั้นอยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า เจ้ามิได้ใส่ใจ มิได้ลุกขึ้นต้อนรับเราเล่า”

ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “วันนั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า เมื่ออยู่ในสำนักสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาเอกในโลกแล้ว เมื่อเห็นพระราชาแห่งประเทศแล้วลุกขึ้นถวายความเคารพ คงเป็นการไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงมิได้ลุกขึ้นถวายความเคารพต่อพระองค์”

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ช่างเถอะ เรื่องนั้นเราไม่ติดใจ เรารู้จากพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นพหูสูตทรงธรรม เราอยากให้สตรีในวัง โดยเฉพาะพระอัครมเหสีและพระมเหสีได้เรียนธรรม เจ้าจะมาช่วยกล่าวสอนธรรมแก่พวกนางได้ไหม”

ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “หน้าที่นี้คงไม่เหมาะสมสำหรับข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์เดินเข้าเดินออก สถานที่ใดก็ตามที่มีสตรีอยู่ ย่อมไม่วายเป็นที่ครหาของบัณฑิต”

“ถ้าอย่างนั้นใครจะแนะนำใคร”

“ขอเดชะฯ เห็นสมควรนิมนต์พระสงฆ์มาถวายความรู้ จะเหมาะสมกว่า”

เป็นอันว่าฉัตตปาณิไม่ได้สอนธรรมในพระราชวัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์หลังจากฉัตตปาณิอุบาสกปฏิเสธที่จะเข้าไปสอนธรรมแก่สตรีในวังโดยเฉพาะพระอัครมเหสีและพระมเหสี กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปสอนธรรมแก่พระอัครมเหสี พระนางวาสภขัตติยา และพระนางมัลลิกาเทวี เป็นประจำแทน

พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ทรงส่งพระอานนท์พุทธอนุชาไป พระอานนท์ก็ทำหน้าที่อย่างดีไม่บกพร่อง

กาลเวลาผ่านไประยะหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ พระเทวีทั้งสองยังเรียนธรรมอยู่หรือไม่”

“ยังคงเรียนอยู่ พระเจ้าข้า”

“เป็นอย่างไรบ้าง”

“พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยดี ทรงศึกษาเล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยามิได้ใส่พระทัยนักพระเจ้าข้า”

พระอานนท์กราบทูลตามเป็นจริง

พระนางมัลลิกาเป็นธิดาช่างทำพวงดอกไม้มาก่อน เป็นสตรีที่มีความชาญฉลาด เพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ช่วยแก้ความเข้าใจผิด ความประพฤติผิดบางอย่างของพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรักและทรงห่วงใยมาก

ส่วนพระนางวาสภขัตติยาเป็นพระธิดาของเจ้ามหานามศากยะ อันเกิดจากนางทาสี ที่พวกศากยะส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อคราวส่งราชทูตมาขอนางขัตติยานีศากยะไปอภิเษก

เมื่อความลับแตกในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธพวกศากยะที่หลอกลวงพระองค์ สั่งถอดพระเทวีพร้อมพระราชโอรสออกจากตำแหน่ง

พระพุทธองค์เสด็จมาช่วยไว้ได้ ทรงอธิบายว่า เชื้อสายทางแม่นั้นไม่สำคัญเท่าทางพ่อ ถึงยังไงๆ เจ้าชายวิฑูฑภะก็เป็นราชโอรสของพระราชาผู้ทรงเป็นมหาราชอยู่ดี

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงคืนตำแหน่งแก่แม่ลูกทั้งสอง


เมื่อพระองค์ทรงได้ทราบจากพระอานนท์ พระองค์จึงตรัสคาถา (โศลก - อ่านว่า สะ-โหฺลก) สองบทความว่า “วาจาสุภาษิตของผู้ที่ทำไม่ได้ตามที่พูด ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น วาจาสุภาษิตของผู้ที่ได้ทำตามที่พูด ย่อมอำนวยผลดี ดุจดอกไม้สีสวย และมีกลิ่นหอม”

พุทธวจนะนี้ตรัสให้เป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้มีหน้าที่สอนคนอื่น

คนที่พูดธรรมะหรือวิชาการได้ดี น่าทึ่ง น่าเลื่อมใส แต่ถ้าสักแต่พูด ไม่ทำตามที่พูดสอน คนนั้นก็ไร้ค่า ดุจดอกไม้สีสวยแต่ไม่หอม

แต่ถ้าพูดเก่ง พูดดีด้วย ปฏิบัติได้ตามที่ตนพูดด้วย ก็จะมีประโยชน์มาก ดุจดอกไม้สีสวยด้วย ฉะนั้นแล

ฉัตตปาณิอุบาสกคงจะเป็นประเภทหลัง เพราะท่านเป็นถึงพระอนาคามีและมีความมุ่งมั่นที่จะสอนธรรมแก่คนอื่นอย่างจริงจัง ถึงกับรักษาอุโบสถศีลทั้งๆ ท่านเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ท่านก็ทำตนให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

การสอนคนโดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีนั้น บางครั้งมีผลมากกว่าพร่ำสอนด้วยวาจา จนเปลืองน้ำลายไปหลายกระโถนเสียอีก

ประวัติของท่านฉัตตปาณิอุบาสกมีไม่มาก เท่าที่ปะติดปะต่อได้ก็มีเท่านี้ อย่าถามว่าเมื่อประวัติมีน้อยแค่นี้นำมาเขียนทำไม ที่นำมาเขียนไว้ก็เพราะพินิจดูจาก “บริบท” (ความแวดล้อม)

ท่านผู้นี้คงเป็นคนสำคัญมิใช่น้อย พระมหากษัตริย์เชิญให้ไปสอนธรรมในวัง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล คนระดับนี้ต้องเป็น somebody แน่นอน เพียงแต่เราไม่มีประวัติของท่านโดยละเอียดเท่านั้น



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก : หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b44: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

:b44: พระเจ้าปเสนทิโกศล
พระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระศาสนา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=61924

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2024, 22:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร