วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2019, 14:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


อุคคตสรีระ พราหมณ์โย่งผู้กลับใจ
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b45: :b47: :b45:

พราหมณ์มหาศาล (ระดับมหาเศรษฐี) คนหนึ่ง นาม “อุคคตสรีระ” (แปลว่า ผู้มีร่างกายสูงใหญ่) ต้องการทำบุญ บุญครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือ จัดการบูชายัญ นำสัตว์อย่างละร้อยมาเพื่อการนี้ คือ โคผู้ โคเมีย ลูกโคเมีย แพะ แกะ นำมาผูกไว้กับหลักเตรียมประหารบูชายัญ

พวกพราหมณ์สมัยนั้น มักคิดว่าฆ่าสัตว์เหล่านั้นบูชายัญ แล้วตนเองจะได้บุญกุศลมาก อุคคตสารีระก็เหมือนกัน


เมื่อเขาได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาใกล้บ้านเขา เขาจึงเข้าเฝ้าทูลถามพระองค์ ขณะพระอานนท์เฝ้าอยู่ด้วยว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าสดับมาว่า การก่อกองไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระองค์ทรงได้ยินดังนั้นหรือเปล่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราตถาคตก็ได้ยินมาเหมือนกัน

เขาทำท่าจะกราบทูลลา เพราะได้คำยืนยันจากพระองค์ว่า ที่เขากำลังทำอยู่นั้นถูกต้อง พระอานนท์จึงท้วงพราหมณ์ขึ้นว่า ท่านพราหมณ์ไม่ควรทูลถามอย่างนั้น ควรทูลถามว่า ท่านกำลังจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอประทานโอวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้

พราหมณ์จึงทูลถามตามที่พระอานนท์แนะนำ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญในเบื้องต้น เชื่อว่า เงื้อศัสตรา ๓ ชนิดที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร จะเรียกว่าทำบุญกุศลได้อย่างไร ศัสตรา ๓ ชนิดที่เป็นอกุศลนั้น คือ ศัสตราทางกาย ศัสตราทางวาจา และศัสตราทางใจ

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลย่อมคิดวางแผนว่าจะนำโคผู้ โคเมีย ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ แกะ อย่างละเท่านั้นเท่านี้ มาฆ่าบูชายัญ นี้แลเรียกว่าเงื้อศัสตราทางใจ อันเป็นบาปอกุศล เขาคิดว่ากำลังทำบุญ แต่แท้ที่จริงเขากำลังทำบาป หาทางไปทุคติ

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อสั่งว่า จงฆ่าโคผู้ จงฆ่าโคเมีย ฯลฯ เท่านั้นเท่านี้ตัว นี้แลเรียกว่าเงื้อศัสตราทางวาจาอันเป็นอกุศล เขาสั่งว่าเขากำลังทำบุญ แท้ที่จริงแล้วกำลังทำบาปหาทางไปทุคติ

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อเขาลงมือด้วยตนเอง คือ ฆ่าโคผู้ ฆ่าโคเมีย ฯลฯ เพื่อบูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญกุศล แท้จริงแล้วเขากำลังลงมือทำบาปอกุศล นี้แล เรียกว่าเงื้อดาบทางกายอันเป็นอกุศล เขากำลังทำบาปทางกาย หาทางไปทุคติ

จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องไฟ โดยแบ่งเป็นไฟที่ควรดับ ๓ กอง ไฟควรบูชาอีก ๒ กองคือ

๑. ไฟควรดับ ดับไม่มีเหลือเลยยิ่งดี ๓ กอง คือ
ราคัคคิ – ไฟราคะ
โทสัคคิ – ไฟโทสะ
โมหัคคิ - โฟโมหะ

๒. ไฟควรบูชา ควรก่อบูชาประจำอย่าให้ดับ ๓ กอง คือ
คหปัตัคคิ – ไฟเจ้าของบ้าน คือ คนในบ้าน ได้แก่บุตร ภรยา และคนใช้บริวาร
อาหุเนยยัคคิ – ไฟที่ควรบูชา ได้แก่ บิดา มารดา ลูกๆ พึงเคารพบูชา เลี้ยงดูท่าน
ทักขิเณยยัคคิ – ไฟที่ควรทำบุญด้วย ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล


ทรงสอนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับไฟเหล่านี้ คือไฟควรดับก็ต้องดับ อย่าก่อให้ลุกโชน เพราะจะนำโทษภัยมาให้ ไฟควรก่อบูชาเสมอๆ ก็ต้องก่อบูชา เพื่อสวัสดิมงคล


พราหมณ์รู้สึกซาบซึ้งที่ได้ทราบความหมายใหม่ของไฟ และวิธีการบูชายัญไฟแนวใหม่ เห็นด้วยกับพระพุทธองค์ว่า การทำบุญกุศลที่ลงทุนด้วยการฆ่า การเบียดเบียน ไม่เป็นบุญกุศลแม้แต่น้อย จึงสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่เตรียมมาฆ่าบูชายัญ

ตั้งแต่ได้สดับพระพุทธโอวาทคราวนั้น อุคคตสรีระได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต


พระจริยวัตร เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกนั้นเด่นชัดมาตลอด อ่านเรื่องราวในพระคัมภีร์ แล้วจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาช่วยชีวิตคนและสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมากมาย ต่างกรรม ต่างวาระ

ในกรณีนี้ มิเพียงแต่อุคคตสรีระพราหมณ์เท่านั้นที่ทรงโปรดให้ได้พบทางสงบ สันติแห่งจิต สัตว์ผู้น่ารักที่กำลังจะสังเวยชีวิตในการบูชายัญของพราหมณ์ก็ได้รอดชีวิตโดยทั่วหน้ากัน เพราะพระมหากรุณาดุจสาครของพระพุทธองค์

องค์ใดประกอบด้วยพระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มะละโอฆกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย
สาธุ


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b45: :b47: :b45:

:b44: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร