วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2022, 10:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรสุมน อรหันต์น้อยผู้มีฤทธิ์มาก
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b45: :b47: :b45:

มีสามเณรอีกรูปหนึ่งประวัติความเป็นมาค่อนข้างน่าอัศจรรย์ อัศจรรย์อย่างไรลองอ่านดูก่อนนะครับ

สามเณรน้อยรูปนี้นามว่า สามเณรสุมน เรื่องราวบันทึกอยู่ในธัมมปทัฏฐกถาภาค ๘

ในอดีตกาลอันนามโพ้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ มาตรัสกับคนใช้ทำหน้าที่ขนหญ้าให้เศรษฐีคนหนึ่ง ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าในเช้าวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าออกนิโรธสมาบัติพอดี ซึ่งตำราบอกว่าเป็นทานที่อำนวยผลทันตาเลยทีเดียว

เศรษฐีทราบเรื่องเข้าก็ขอ “ซื้อ” บุญทั้งหมดที่คนขนหญ้าทำ (พูดยังกับบุญมันซื้อขายกันได้เนาะ) นายคนนี้แกก็ไม่ยอม เศรษฐีจึงขอว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้แบ่งส่วนบุญให้ได้ไหม ฉันขออนุโมทนาด้วย

นายคนใช้แกไม่ทราบว่าจะแบ่งส่วนบุญให้กันได้ไหม จึงขอไปปรึกษาพระท่านก่อน แกจึงไปเรียนถามท่าน ท่านยกอุปมาให้ฟังว่าเหมือนกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีหลายหลังคาเรือน หลังแรกจุดตะเกียงไว้ เพื่อนบ้านมาขอต่อไฟจากตะเกียงนั้นไป แสงไฟจากตะเกียงแรกก็ยังสว่างไสวอยู่เหมือนกัน ไม่ลดน้อยลงไปเลย แถมยังเพิ่มแสงสว่างให้มากกว่าเดิมอีก

การทำบุญแล้วแบ่งส่วนบุญให้คนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน

กระทาชายนายขนหญ้าดีใจ รีบมาแบ่งส่วนบุญให้เศรษฐี

พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่องอยากได้ส่วนบุญบ้าง จึงรับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า ขอส่วนบุญด้วย แล้วพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากแก่เขา เพิ่มจากที่เศรษฐีเคยให้

ผลทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งเดียว บันดาลผลทันตาเห็นทำให้พระยาจกกลายเป็น “เสี่ย” ภายในสองสามวัน

เขาได้รับสถาปนาจากพระราชาให้เป็นเศรษฐีใหม่อีกคนหนึ่งของเมืองและได้เป็นเพื่อนซี้กับเศรษฐี เจ้านายเก่าของตนต่อมาจนอายุขัย

หลังจากเวียนว่ายอยู่ในภาพต่างๆ ตามแรงกรรมดี-ชั่วที่ทำไว้ ในชาติสุดท้ายเขาก็มาเกิดในราชสกุลศากยะ เป็นโอรสองค์ที่สองของเจ้าอิมิโตทนะ (เชษฐาคือ เจ้าชายมหานาม) ด้วยอานิสงส์แห่งทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าคราวนั้น และด้วยแรงอธิษฐานที่คนขนหญ้าตั้งไว้ว่า เกิดชาติใดฉันใดอย่าได้พบคำว่า “ไม่มี” อีกเลย

เจ้าชายน้อยองค์นี้ซี่งมีพระนามว่า “อนุรุทธะ” จึงไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มีเลย อยากได้อะไร อยากกินอะไร สั่งเดี๋ยวเดียวก็ได้มารวดเร็วทันใจ

เจ้าชายน้อยมีพระสหายวัยเดียวกันหลายองค์ วันหนึ่งกำลังเล่นตีคลีกัน (ถ้าสมัยนี้ก็คงเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นยังไม่มี) เอาขนมพนันกัน

เจ้าชายอนุรุทธะเล่นแพ้จนขนมหมด ส่งคนไปขอขนมจากเสด็จแม่ เสด็จแม่ส่งมาให้หลายเที่ยว เพราะเล่นแพ้อยู่เรื่อย จนขนมหมด บอกว่าตอนนี้ขนมไม่มี เมื่อคนรับใช้มารายงานว่า เสด็จแม่บอกว่าขนม “ไม่มี” เจ้าชายน้อยจึงบอกว่า “ขนมไม่มีนั่นแหละเอามาเร็ว”

เสด็จแม่ได้ยินดังนั้นจึงคิดว่า ลูกเราไม่เคยรู้จักคำว่าไม่มี และมีพระประสงค์จะสอนให้โอรสรู้จักคำว่าไม่มีเสียงบ้าง จึงเอาถาดทองคำเปล่าใบหนึ่งมา เอาอีกใบครอบไว้แล้วให้คนนำไปให้เจ้าชาย

ว่ากันว่าร้อนถึงเทพยดาต้องนำขนมทิพย์มาใส่ไว้เต็มถาด พอเจ้าชายรับถาดมาเปิดฝาครอบออกเท่านั้น ขนมทิพย์ส่งกลิ่นหอมหวนน่ารับประทานอย่างยิ่ง เจ้าชายน้อยเกิดน้อยพระทัยว่าเสด็จแม่ไม่รักตนขนม “ไม่มี” อร่อยปานนี้เสด็จแม่ไม่เคยให้เสวยเลยจึงไปต่อว่าพระมารดา

พระมารดาก็แปลกพระทัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตรัสถามมหาดเล็กที่นำถาดเปล่าไปให้

มหาดเล็กกราบทูลเรื่องราวแปลกประหลาดที่ตนเห็นมา ให้ทรงทราบ

พระมารดาทรงเข้าใจว่า คงเป็นเพราะบุญแต่ปางก่อน โอรสน้อยของตนเองจึงไม่เคยรู้รสชาติของ “ความไม่มี”

เมื่อเจ้าชายโตขึ้น ได้ออกผนวชพร้อมกับเจ้าชายจากศกยวงศ์ 6 องค์ พร้อมกับอุบาลีนายภูษามาลาอีก 1 คน รวมเป็น 7 หลังจากอุปสมบทแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “เอตทัคคะ” (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีทิพยจักษุ (ตาทิพย์)

พระอนุรุทธะผู้ตาทิพย์ วันดีคืนดีก็นั่งเข้าฌานดูว่า เศรษฐีสหายเก่าของตนเมื่อครั้งกระโน้นบัดนี้เกิดเป็นใครอยู่ที่ไหน ก็ทราบว่า นิคมชื่อ มุณฑนิคม อยู่เชิงเขาแห่งหนึ่ง หัวหน้านิคมชื่อมหามุณฑะ มีบุญชายอยู่ 2 คน ชื่อ มหาสุมน กับ จูฬสุมน สหายเก่าของท่านเกิดเป็นจูฬสุมน หวังจะสงเคราะห์สหายเก่าจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังนิคมนั้น

หัวหน้านิคมเห็นพระเถระก็นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นิคมของตน เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านก็รับนิมนต์ เพราะมีความประสงค์เช่นนั้นอยู่แล้ว

ถึงวันออกพรรษามหามุณฑะก็นำไทยธรรม (ของถวายพระ) จำนวนมากมายถวายพระเถระบอกว่า จะให้อาตมารับได้อย่างไรอาตมาไม่มีสามเณรผู้เป็น “กัปปิยการก”

นายนิคมจึงว่าถ้าอย่างนั้นผมจะให้บุตรชายคนโต บวชดีกว่า ผู้เป็นพ่อก็ยินยอมให้จูฬสุมนบวชในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น

อ้อ คำว่า “กัปปิยการก” แปลว่าผู้ทำให้ควร ทำให้ถูกตามพระวินัย เช่น เวลาเอาส้มถวายพระแล้ว จะต้องปอกเปลือกหรือไม่ก็แกะเฉพาะตรงขั้วก่อน เพื่อป้องกันมิให้พระท่านผิดวินัยข้อห้ามทำลายพีชคาม (พืชพรรณ) ผู้มีหน้าที่อย่างนี้แหละเรียกว่า “กัปปิยการก”

แปลกันง่ายๆ ว่าเด็กรับใช้ หรือเด็กวัด

สามเณรสุมนได้บรรลุพระอรหัตผลคือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีที่บวชเสร็จไม่ใช่แค่หมดกิเลสอย่างเดียว ยังบรรลุอภิญญา (ความสามารถพิเศษ เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) อีกด้วย

ท่านพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปอยู่ในป่าหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) บังเอิญโรคลมจุกเสียด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของพระเถระกำเริบทำให้ได้รับทุกขเวทนา

พระเถระบอกสามเณรสุมนไปเอาน้ำจาก สระอโนดาตมาให้ดื่มเพื่อระงับโรคลม สั่งว่าพญานาคชื่อ ปันนกะ รู้จักกับท่านให้ไปขอน้ำจากพญานาค

สามเณรเหาะไปด้วยอิทธิฤทิ์มุ่งตรงไปยังสระอโนดาต ขณะนั้นปันนกะกำลังจะพาประดาอีกหนูทั้งหลายลงเล่นน้ำในสระอโนดาตพอดี เห็นสมณะน้อยเหาะข้ามศีรษะมาก็โกรธ หาว่าสมณะโล้นน้อยนี้มาโปรยฝุ่นที่เท้าลงบนศีรษะตน

แกคงโกรธที่มาขัดจังหวะกำลังจะเล่นโปโลน้ำกับอีหนูทั้งหลายมากกว่าจึงหาว่าสามเณรโปรยขี้ตีนใส่หัวทั้งๆ ที่ไม่มีแม้แต่นิดเดียว

สามเณรอ้างนามพระอุปัชฌาย์ซึ่งพญานาครู้จัก ขอน้ำไปทำยาเพราะท่านกำลังป่วย พญานาคไม่สนใจ ไล่กับท่าเดียวแถมยังแผ่พังพานใหญ่ปิดสระน้ำทั้งหมด ดุจเอาฝาปิดหม้อข้าวฉันใดฉันนั้น ร้องท้าว่า ถ้าสามเณรเก่งจริงก็มาเอาได้เลย

สามเณรถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว จึงแปลงกายเป็นพรหมสูงใหญ่ เหยียบลงตรงพังพานของพญานาค พังพานยุบลงเปิดช่องให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำสามเณรเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไป

พญานาคทั้งเจ็บทั้งอาย ที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวแบน จึงตามไปทันที่สถานที่อยู่ของพระเถระ ฟ้องว่าสามเณรเอาน้ำมาโดยไม่ชอบธรรม

พระเถระหันมามองสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า น้ำนี้กระผมนำมาโดยชอบธรรมแล้ว พญานาคร้องบอกอนุญาตแล้วพระเถระเชื่อว่าพระอรหันต์ย่อมไม่พูดเท็จจึงฉันน้ำนั้น และโรคในกายท่านก็สงบระงับ

พระเถระขอให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคก็ยอมขอขมาและปวารณาว่าถ้าสามเณรต้องการน้ำเมื่อใด เพียงแต่สั่งเท่านั้นตนนจะนำมาให้เอง

เมื่อพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปพระวิหารเชตวัน พระภิกษุอื่นๆ เห็นสามเณรน้อยน่าเอ็นดูก็จับหูบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ด้วยความเอ็นดู หยอกล้อว่าเจ้าเด็กน้อย บวชแต่อายุยังน้อยเจ้าไม่คิดถึงแม่ดอกหรือ หย่านมหรือยังจ๊ะ อะไรทำนองนี้

พระพุทธองค์ทรงเกรงว่าพระปุถุชนจะละลาบละล้วงล่วงเกินพระอรหันต์มากกว่านี้เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ ทรงต้องการให้พระสงฆ์ทราบว่าสามเณรเป็นใครจึงรับสั่งให้ประชุมสามเณร น้อยว่ามีถึง 500 รูปตรัสว่าพระองค์ต้องการน้ำจากสระอโนดาตในเร็วพลัน สามเณรรูปใดจะอาสาเหาะไปเอามาถวายได้

สามเณรอื่นที่เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามีอิทธิปาฏิหาริย์ก็มี แต่ทราบว่า “พวกดอกไม้” นี่พระพุทธองค์ทรงร้อยไว้เพื่อสามเณรสุมนเท่านั้น (เป็นสำนวน หมายความว่า เรื่องนี้ต้องการให้เป็นหน้าที่ของสามเณรสุมน) จึงไม่เสนอตัว

เมื่อไม่มีใครอาสา สามเณรสุมนก็รับอาสาถวายบังคมพระพุทธองค์แล้ว ถือบาตรเหาะลิ่วๆ ไปในอากาศบ่ายหน้าไปยังป่าหิมพานต์ทันที ว่ากันว่าแสดงตัวให้พระสงฆ์เห็นกับตาเลยทีเดียว ต่างก็ร้อง โอ้โฮๆ น่าออนซอนแท้ๆ ว่ากันอย่างนั้น

ขากลับก็ปรากฏตัวให้เห็นกลางนภากาศลิ่วๆ ลงมายังลานพระวิหารแล้วก็นำน้ำไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่าอายุเท่าไหร่ สามเณรกราบทูลว่าอายุ 7 ขวบ พระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่าตั้งแต่วันนี้ไปเธอเป็นพระภิกษุได้

คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า การอุปสมบทที่ทรงประทานให้สามเณรครั้งนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสมบท” เป็นกรณีพิเศษที่บวชเณรอายุ 7 ขวบ เป็นพระ

เรื่องราวของสามเณรสุมนค่อนข้างพิลึกกว่ารูปอื่น คือ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ความจริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องประหลาด หรือลึกลับอะไร ผู้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมอภิญญาย่อมสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้นับว่าเป็น “ธรรมดาของพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา” ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

ถ้าท่านเข้าใจคำว่า “ธรรมดา” ก็จะหมดสงสัย ธรรมดาของนกมันย่อมบินได้ธรรมดาของปลาย่อมแหวกว่ายในน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามพิเศษอะไร

เวลาเราเห็นนกบิน เห็นปลาแหวกว่ายออยู่ในน้ำทั้งวันเราอัศจรรย์ไหม เปล่าเลย เห็นเป็นของธรรมดาฉันใด พระอรหันต์ที่ท่านได้อภิญญา (อรหันต์บางประเภทก็ไม่ได้อภิญญา) ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ เช่น เหาะได้ดุจนก เพราะนั่นเป็น “ธรรมดา” ของท่าน

พญานาคที่พูดถึงนี้จะเชื่อตามนิยายว่าเป็นสัตว์พิเศษชนิดหนึ่งอยู่ในนาคพิภดจำแลงกายเป็นคนได้ ดังนาคที่แปลงกายเป็นคนมาบวช (ในพระวินัยปิฏก) ก็ตามใจครับไม่ว่ากัน

แต่ถ้ามองในแง่มานุษยวิทยา นาคในที่นี้ก็คือ มนุษย์เผ่าหนึ่ง ที่ยังไม่ศิวิไลซ์นักชื่อเผ่านาค มีอยู่ทั่วไปตามป่าตามเขาในชมพูทวีป ตามรูปศัทพ์ นาค แปลว่า “ผู้อยู่ในภูเขา” หรือชาวเขา (นค = ภูเขา, นาค = บุคคลผู้อยู่ในภูเขา) มนุษย์เผ่านี้คงบูชางูใหญ่ด้วย

คำว่า นาค จึงแปลกันว่างูได้ด้วย

ส่วนนาคไปเกี่ยวกับน้ำ เกี่ยวกับใต้บาดาลได้อย่างไรไม่ทราบ ท่านผู้ใดทราบก็กรุณาชี้แนะด้วยเถิดขอรับ จักเป็นพระคุณอย่างสูง



จาก : หนังสือ ๔๐ พระอรหันต์ บรรลุธรรมพุทธสมัย
หัวข้อ สิบพระอรหันต์น้อย :b8: :b8: :b8:
เรียบเรียงโดย...เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b45: สามเณร ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46459


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron