วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2022, 10:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระมหาจุนทเถระ
ผู้มีส่วนริเริ่มการสังคายนา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b50: :b49: :b50:

นาม จุนทะ คงไม่ค่อยคุ้นกับผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา แต่บทบาทของท่านสำคัญมิใช่น้อย ในฐานะที่เป็นผู้สนิทกับพระอานนท์พุทธอนุชา และเหนืออื่นใดเป็นน้องชายพระอัครสาวก นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับท่านเป็นผู้ช่วยผลักดัน (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ให้มีการทำสังคายนา “ร้อยกรองพุทธวจนะ”

ท่านจุนทะ เป็นบุตรวังคันตพราหมณ์กับนางสารีพราหมณี เป็นน้องชายของอุปติสสะมาณพ (ซึ่งภายหลังคือพระสารีบุตรอัครสาวก) เมื่ออุปติสสะพี่ชายออกบวชและได้เป็นพระอัครสาวก จุนทะได้บวชตามพี่ชายด้วย และได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อย

ก่อนที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุ มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า มหาจุนทะ บ้าง จุนทะสมณุทเทศ (จุนทะสามเณรโค่ง) บ้าง จุนทะ เฉยๆ บ้าง เข้าใจว่าเป็นรูปเดียวกัน (หรืออาจมีหลาย “จุนทะ” จนสับสนก็เป็นได้)

ท่านมีความสนิทสนมกับพระอานนท์พุทธอนุชา นัยว่าท่านถือพระอานนท์เป็นอาจารย์ด้วย

ครั้งหนึ่ง จุนทะสมณุทเทศได้ทราบข่าวความแตกแยกกันในหมู่สาวกของศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) โดยบังเอิญ คือ พอศาสดามหาวีระสิ้นชีวิตลงเหล่าสานุศิษย์ก็ถกเถียงกัน ต่างก็อ้างว่าตนได้รับคำสอนมาโดยตรงและถูกต้องที่สุดจากพระศาสดา เถียงกันไม่ยอมลดราวาศอก จนแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า ท่านจุนทะจึงนำความไปเล่าให้พระอานนท์ฟัง ทั้งสองท่านจึงจูงมือกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ศาสดามีหลายประเภท ประเภทไหนดี ไม่ดี ตรัสถึงวิธีสอบสวนพระธรรมวินัย และตรัสทำนองแนะให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยด้วย

“ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงสังคายนา พึงวิจารณ์ อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”


เท่ากับบอกใบ้ว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัยเสีย ถ้าอยากให้พระศาสนาดำรงอยู่นาน ศาสดาล่วงลับไปแล้ว สาวกจะได้ไม่แตกแยกกัน ดุจดังสาวกของศาสดามหาวีระ

ตามประวัติไม่ปรากฏว่าพระจุนทะได้ทำพระพุทธดำรัสให้เป็นรูปธรรม คือ ไม่ได้ดำเนินการ “สังคายนา” (ร้อยกรอง) พระธรรมวินัยตามที่ตรัสแนะ เพราะท่านไม่มีความสามารถเพียงพอ ท่านคงจะได้เล่าเรื่องนี้แก่พระสารีบุตรอัครสาวก พี่ชายท่าน (ถ้าหากท่านพระสารีบุตรไม่ทราบจากกระแสอื่น)

เพราะหลังจากนั้นพระสารีบุตรได้รวบรวมพุทธวจนะ จัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมวดสอง...จนกระทั่งถึงหมวดสิบและหมวดเกินสิบ ตั้งชื่อว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร”


ครั้งหนึ่ง เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองปาวาสร้างอาคารโถง (สัณฐาคาร) เสร็จแล้ว อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปพำนักเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นสิริมงคล กลางดึกคืนนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า สาวกทั้งหลายยังไม่ง่วงนอน ยังมีฉันทะในการฟังธรรมอยู่ จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

พระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตรและทสุตตรสูตรแก่ภิกษุทั้งหลาย ทำนอง “เสนอบทความทางวิชาการ” ขอคำรับรองจากคณะสงฆ์ ในที่สุดของการนำเสนอของพระสารีบุตร พระพุทธองค์ประทับอยู่ไม่ไกล ประทานสาธุการว่า ท่านพระสารีบุตรนั้นแสดงได้ถูกต้องแล้ว

นี่คือที่มาของการทำสังคายนาพระธรรมวินัยในเวลาต่อมา

พระสารีบุตรเป็นผู้ริเริ่ม แต่เนื่องจากท่านนิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ งานยังไม่สมบูรณ์ดี มาได้พระมหากัสสปะสานต่อ การทำสังคายนาพระธรรมวินัยจึงสำเร็จสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้คงต้องพูดว่าพระจุนทะมีส่วนอยู่ด้วย เพราะเป็นผู้นำเรื่องราวไปกราบทูล จนเกิดมีกระแสพุทธดำรัสแนะให้สังคายนาพระธรรมวินัยในเวลาต่อมา


พระจุนทะเคารพพระพี่ชายมาก มักติดตามท่านไปไหนต่อไหนเสมอ ในบั้นปลายชีวิตของพระพี่ชาย ก็ติดตามท่านไปเทศนาโปรดโยมมารดาที่บ้านเกิด เมื่อพระสารีบุตรนิพพานแล้ว ก็ได้นำอัฐิพร้อมบริขารของท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แสดงความเสียใจและว้าเหว่ใจที่สิ้นพระอัครสาวกไป พระพุทธองค์ตรัสให้ความคิด (แก่พุทธบริษัทอื่นๆ ด้วย) ว่า “สารีบุตรสิ้นไป เธอนำเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ และวิมุติขันธ์ ไปด้วยหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะฉะนั้นเธอไม่พึงเสียใจ”

สมัยที่พระพุทธองค์ยังไม่มีผู้อุปฐากถาวร ท่านจุนทะก็เป็นผู้หนึ่งที่ถวายการบำรุงพระพุทธองค์เป็นครั้งคราว แม้หลังจากพระอานนท์มารับหน้าที่ประจำแล้ว ท่านจุนทะก็มีโอกาสถวายการดูแลพระพุทธองค์ตามโอกาส ในคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระจุนทะก็เฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิดรูปหนึ่ง

ท่านมีชีวิตยืนยาว ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน ดำรงอยู่พอสมควรแก่เวลา แล้วก็ “ดับสนิท” ไปตามอายุขัย



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก : หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b50: :b49: ภิกษุ ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46461

:b44: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

:b44: ภิกษุณีสามพี่น้อง น้องสาวของพระสารีบุตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50360

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2022, 10:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือ ปฐมสังคายนา

รูปภาพ
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
ภาพการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา
ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ และพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์


รูปภาพ
ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต
นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
สถานที่ทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา
(ปัจจุบันเพดานถ้ำถล่มลงมาปิดปากถ้ำหมดแล้ว)


สังคายนาครั้งแรก

สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรมมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่า สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร

ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์

สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

รายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง

ขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง ๗ วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ


ได้ยินดังนั้น ภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร

ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมากก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์

มีขรัวตารูปหนึ่งนาม สุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่านิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ “โอหนอพระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม ๗ วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน”

ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ได้ประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่นจ้วงจาบเช่นนี้จะนิ่งดูดายหาควรไม่

ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญาได้จำนวน ๔๙๙ รูป เว้นไว้ ๑ รูป เพื่อพระอานนท์

ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร

พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์เพื่อเร่งทำความเพียร เพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน ๓ เดือนข้างหน้า

พระอานนท์จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที

จึงรำพึงว่าพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

วันหนึ่งหลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อยจึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “สว่างโพลงภายใน” บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

ขณะนั้นพระสงฆ์ ๔๙๙ รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาตทันเวลาพอดี


เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญพระวินัยทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ผู้เป็นพหูสูตทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

๑. พระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลีและพระอานนท์

๒. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย “ภาษา” ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง “ร้อยกรอง” เป็นภาษา “มาคธี” (หรือภาษามคธ) เมื่อซักถามและตอบให้อรรถาธิบายจนเป็นที่ตกลงกันแล้ว ก็ “ร้อยกรอง” เป็นภาษามาคธี

๓. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ “สวดสังวัธยายร่วมกัน” คือท่องพร้อมๆ กันเพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สังคายนา” (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการนี้

สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (คือการท่องจำ)



ที่มา >>> :b39: หนังสือ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47962

:b44: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

:b8: ศึกษาเพิ่มเติมที่...บอร์ดพระไตรปิฎก
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=74

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร