วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ



บุษบก เรือนที่ประทับแห่งฐานันดรสูง

ตามที่ได้นำเสนอไปเมื่อครั้งก่อนถึงรูปทรงต่างๆ ของมณฑปแล้วนั้น พบว่ามีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “บุษบก” หากแต่ต่างกันในเรื่องของขนาดและรูปแบบการใช้งานเท่านั้น บุษบกจึงเป็นเสมือนการย่อส่วนเรือนแห่งฐานานุศักดิ์เช่นเดียวกับมณฑปที่น่าสนใจยิ่ง

บุษบก คือ ซุ้มยอด ซึ่งมีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลง (ส่วนที่คล้ายกระจัง) ประดับโดยรอบ ซึ่งความหมายของบันแถลงนี้มีอยู่ว่า เป็นการจำลองอาคารหนึ่งๆ ด้วยการนำส่วนที่เรียกว่าหน้าบันมาซ้อนชั้นกันขึ้นไป โดยมากซ้อนกันสามชั้น หมายความว่า การประดับด้วยบันแถลงนี้ เป็นการจำลองอาคาร สะท้อนความหมายของเรือนฐานานุศักดิ์ หรือเรือนฐานันดรสูง ได้เช่นกัน

บุษบกมีด้วยกัน ๒ ขนาด คือ ขนาดเล็ก ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป และขนาดใหญ่ ใช้ในการเสด็จออกว่าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน

รูปภาพ
พระพุทธสิหิงคปฏิมากร
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ



จากประวัติความเป็นมาและข้อมูลที่พอทำให้ทราบว่า บุษบกขนาดเล็ก ซึ่งใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น ปรากฏชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่สำคัญได้แก่ บุษบกที่ประดิษฐาน ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นบุษบกที่สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ และฝังอัญมณีต่างๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการสร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำเป็นฐานชุกชี ซึ่งเป็นการหนุนให้องค์บุษบกสูงสง่าขึ้น

บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธรัตนปฏิมากรนี้ ถือว่าเป็นแบบอย่างของการสร้างบุษบกเพื่อประดิษฐานพระประธานในอุโบสถอย่างมาก ดังจะพบว่าในระยะต่อมา มีการสร้างบุษบกเพื่อประดิษฐานพระประธานในวัดหลวงอีกจำนวนไม่น้อย อาทิ พระพุทธสิหิงคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ วัดประจำรัชกาลที่ ๔ โดยสร้างบุษบกที่มีชั้นซ้อนลดชั้น จำนวน ๔ ชั้น ประดับด้วยนาคปักที่มุมของแต่ละชั้น ผนังของเรือนธาตุประดับกระจกและอัญมณี ซุ้มด้านหน้าทำเป็นซุ้มคดโค้ง ฉลุลายทองทั้งกรอบ มีคันทวยรองรับ เครื่องยอดของบุษบกนี้ มีรูปแบบเช่นเดียวกับเจดีย์ทรงเครื่อง

รูปภาพ
พระสัมพุทธสิริ
วัดโสมนัส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ



และดูเหมือนว่าความนิยมในการสร้างบุษบกเพื่อประดิษฐานพระประธานในรัชกาลที่ ๔ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังบุษบกที่ประดิษฐานของ ‘พระสัมพุทธสิริ’ พระประธานในพระอุโบสถ วัดโสมนัส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ โดยมีรูปแบบของบุษบกเช่นเดียวกับที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร แตกต่างกันเพียงผนังด้านหลังที่มีจารึกประดิษฐานไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการสร้างบุษบกที่มีรูปแบบต่างไปจากเดิม คือ มีการสร้างในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดังบุษบกที่ประดิษฐานของ พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ รูปแบบของบุษบกทรงนี้ อาจกล่าวได้ว่า มีความใกล้เคียงกับพระราชวังอย่างเห็นได้ชัด เป็นการจำลองสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายอาคารที่ประทับของกษัตริย์อย่างแท้จริง

รูปภาพ
บุษบกที่สร้างไว้ระหว่างประตูด้านหน้าทั้งสองข้าง
ของพระอุโบสถ ซึ่งภายในประดิษฐาน ‘พระพุทธนฤมิตร’
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ



ไม่เพียงบุษบกอันเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานในพระอุโบสถ และพระวิหารเท่านั้น ยังมีบุษบกที่สร้างขึ้นนอกพระอุโบสถอีกด้วย ดังเช่น บุษบกที่สร้างไว้ระหว่างประตูด้านหน้าทั้งสองข้างของพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ โดยตัวบุษบกนี้จำหลักลายวิจิตรปิดทองประดับกระจก ภายในประดิษฐาน ‘พระพุทธนฤมิตร’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เป็นต้น

ดังจะเห็นได้ว่า การย่อส่วนของเรือนเครื่องสูง จะยังคงลักษณะร่วมไว้ประการหนึ่ง นั่นคือ การซ้อนชั้นของหลังคา และการประดับด้วยบันแถลง อันมีความหมายของการซ้อนชั้นของอาคารอีกทีหนึ่ง แนวความคิดนี้ได้บ่งบอกว่า คือการยกย่องและเป็นเรือนเครื่องสูงสำหรับผู้สูงศักดิ์ควรค่าแก่การสักการบูชา

รูปภาพ
บุษบกภายในพระอุโบสถ
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ


รูปภาพ
บุษบกภายในศาลาการเปรียญ (พระอุโบสถเก่า)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ



เอกสารอ่านประกอบ
• กรมศิลปากร. วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
• สมคิด จิระทัศนกุล. รูปแบบพระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
• สมคิด จิระทัศนกุล. วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.



:b8: :b8: :b8: หนังสือธรรมลีลา โดย นฤมล สารากรบริรักษ์
คัดลอกมาจาก...หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร