วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 08:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2019, 22:00 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระไตรปิฎกเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ?
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b50: :b47: :b50:

คําถามนี้ควรแยกเป็น 2 ประเด็น คือ

(1) พระไตรปิฎกที่เรามีอยู่ปัจจุบันนี้ พอจะบอกได้ไหมว่าเป็น “พุทธวจนะ” หรือคำพูดจริงๆ ของพระพุทธเจ้ามากน้อยแค่ไหน

และ (2) มีแนวความคิดหรือหลักคำสอนอื่นแปลกปลอมเข้ามาหรือไม่ มากน้อยเพียงใด


:b44: (1) ประเด็นที่ 1 คำตอบก็คือ

พระไตรปิฎกมิใช่ “คำพูด” ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพราะปรากฏชัดเจนว่า มีหลายสูตรที่เป็นเทศนาของพระเถระผู้ใหญ่บางรูป บางส่วนที่เป็นภาษิตของเทวดาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต

แม้พระสูตรที่เป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีถ้อยคำของผู้รวบรวมปะหัวปะท้ายสูตรด้วย เช่น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าเทศน์แก่ใคร ที่ไหน เทศน์ว่าอย่างไร หลังจากเทศน์แล้วได้ผลอย่างไร

ในส่วนที่ถือว่าเป็น “คำพูด” ของพระองค์ ก็คือตรงเนื้อหาของสูตรที่สั่งสอนเรื่องต่างๆ กระนั้นก็ตาม ก็เป็นการ โควต ข้อความ ซึ่งผู้โควตอาจจำมาผิดแผกจากที่ตรัสจริงๆ ก็ได้

พระอภิธรรมทั้งหมด หลักฐานระบุชัดว่า เป็นภาษาหนังสือ ที่แต่งขึ้นมาใหม่ มิใช่อยู่ในรูปเป็นภาษาปาก จึงถือว่ามิใช่ “คำพูด” ของพระพุทธเจ้า

ถึงแม้จะมีบางปิฎก บางสูตร บางตอนที่มิใช่ “คำพูด” โดยตรงของพระพุทธเจ้า แต่ก็ถือว่า “เป็นพุทธพจน์” คือเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะ “เนื้อหา” ไม่ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาตามหลักการที่ตรัสไว้ใน “หลักตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการ” คือ

ถ้าหลักคำสอนตรงไหนก็ตามเป็นไปเพื่อ ความกำหนัด ประกอบไว้ในภพ ความสั่งสมกิเลส ความมักมาก ความไม่สันโดษ ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ความเกียจคร้าน ความเลี้ยงยาก ถือว่ามิใช่พุทธวจนะ

แต่ถ้าสอนชักชวนในทางตรงกันข้ามถือว่าเป็นพุทธวจนะ


:b44: (2) ประเด็นที่ 2 คำตอบคือ

อาจมีบางสูตร บางตอน ที่ขัดกับหลักการตัดสินพระธรรมวินัย หรือหลักการของพระพุทธศาสนา ที่แปลกปลอมมาภายหลัง เช่น การถือฤกษ์ถือยาม ด้วยการสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

เป็นการแปรคำสอนไปสู่ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ บนพื้นฐานของการอ้อนวอนอำนาจภายนอก มิใช่หลักการพึ่งตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา

มีหลายสูตรที่แทรกคติความเชื่ออย่างนี้เข้ามา เช่น จันทิมสูตร สุริยสูตร พูดถึงความเชื่อเรื่องราหูอมจันทร์ และพระอาทิตย์ พระจันทร์และพระอาทิตย์ กลัวตายขอร้องให้พระพุทธเจ้าช่วย พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้ราหูปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์

อาฏานาฏิยสูตร พูดถึงท้าวเวสวัณ (หรือท้าวกุเวร) กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พวกยักษ์ทั้งหลายที่ดุร้าย ไม่เกรงกลัวพระสงฆ์องค์เจ้าก็มีมาก อาจทำร้ายพระที่บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่า ขอให้ทรงบัญชาให้พระสงฆ์เรียน “รักขามนต์” ชื่อ “อาฏานาฏิยา” แล้วท่องบ่นเป็นประจำ แล้วจะไม่ถูกพวกยักษ์เบียดเบียนทำร้าย


การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทย
:b49: :b45: :b49:

สมัยที่ 1 ชำระและจารลงในใบลาน สมัยพระเจ้าติโลกราช ล้านนาไทย พ.ศ.2020

สมัยที่ 2 ชำระและจารลงในใบลาน สมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2331

สมัยที่ 3 ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม 39 เล่มจบ (ครั้งแรกที่พิมพ์อักษรไทย) พ.ศ.2431-2436

สมัยที่ 4 ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม รัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468-2473 (45 เล่มจบ)

สมัยที่ 5 แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย 2 ประเภทคือ (1) พระไตรปิฎกเทศนา ฉบับหลวง 1,250 กัณฑ์ พิมพ์เสร็จ พ.ศ.2492 (2) พระไตรปิฎกภาษาไทย 80 เล่มชุด พิมพ์ในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จำนวน 2,500 จบ

สมัยที่ 6 พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา พิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 5 รอบ ธันวาคม 2530 (ฉบับนี้มีผิดพลาดมาก)

สมัยที่ 7 พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาเตปิฏํ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยชำระและจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ.2535

พระไตรปิฎกอักษรโรมัน ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์

สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text society) ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ โทมัส รีส เดวิดส์ เมื่อ พ.ศ.2424 (หลังจากไปศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในลังกา 8 ปี)

รีส เดวิดส์ เป็นนายกสมาคมคนแรก พร้อมกับภรรยา นางแคโรลีน รีส เดวิดส์ และปราชญ์คนอื่นๆ อีก เช่น แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก และ วิลเลียม สเตด ปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรสิงหลสู่อักษรโรมัน พิมพ์ทีละเล่มสองเล่ม และแปลเป็นภาษาอังกฤษทยอยพิมพ์ออกมา จนถึงบัดนี้สมาคมได้จัดพิมพ์ออกมาแล้วดังต่อไปนี้

(1) พระไตรปิฎกอักษรโรมัน

ก. วินัยปิฎก (The Book of Discipline)

มี 5 เล่ม แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก เป็นผู้ชำระ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2422-2426 (ค.ศ.1879-1883) ครั้งที่สอง พ.ศ.2473 (ค.ศ.1930)

ข. สุตตันปิฎก (The Basket of discourses)

1. ทีฆนิกาย มี 3 เล่ม รีส เดวิดส์ กับ เอสทิน คาร์เพนเตอร์ (Estin Carpenter) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.2432-2454 (ค.ศ.1889-1911)

2. มัชฌิมนิกาย มี 3 เล่ม คาร์ล วิลเฮล์ม เทรงเนอร์ (V. Trenckner) และ โรเบิร์ต ชาล์เมอร์ส (Robert Chalmers) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.2431-2468 (ค.ศ.1889-1925)

3. สังยุตตนิกาย มี 5 เล่ม และดรรชนีค้นคำอีก 1 เล่ม ลีออน เฟียร์ (Leon Feer) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.2427-2447 (ค.ศ.1884-1904)

4. อังคุตตรนิกาย มี 5 เล่ม และดรรชนีค้นคำ 1 เล่ม ริชาร์ด มอร์ริส (Richard Morris) และ อี. ฮาร์ดี (E. Hardy) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.2428-2453 (ค.ศ.1885-1910)

5. ขุททกนิกาย มี 14 เล่ม บรรณาธิการหลายคน พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2420-2461 (ค.ศ.1877-1918) ใช้ระยะเวลายาวนาน

ค. อภิธรรมปิฎก (The Basket of the Higher Doctrine)

มี 7 เล่ม (1) ธัมมสังคณี พิมพ์ พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) (2) วิภังค์ พิมพ์ พ.ศ.2447 (ค.ศ.1904) (3) ธาตุกถา พิมพ์ พ.ศ.2435 (ค.ศ.1892) (4) ปุคคลบัญญัติ พิมพ์ พ.ศ.2426 (ค.ศ.1883) (5) กถาวัตถุ พิมพ์ พ.ศ.2437-2438 (ค.ศ.1894-1895) (6) ยมก พิมพ์ พ.ศ.2459 (ค.ศ.1912) (7) ปัฏฐาน พิมพ์ พ.ศ.2464 (ค.ศ.1921)

(2) พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ

ก. วินัยปิฎก รีส เดวิดส์ กับ โอลเดนแบร์ก แปลชื่อว่า Vinay Texts มี 3 เล่ม รวมอยู่ในชุด Sacred Books of the East

ต่อมา ไอรีน บี. ฮอนเนอร์ แปลใหม่หมดชื่อว่า The Books of the Discipline

ข. สุตตันตปิฎก

1. ทีฆนิกาย รีส เดวิดส์ และภรรยา แปลชื่อว่า Dialogues of the Buddha มี 3 เล่ม

2. มัชฌิมนิกาย ชาล์เมอร์ส แปลชื่อว่า Further Dialogues of the Buddha มี 2 เล่ม ต่อมา ฮอนเนอร์แปลใหม่หมดชื่อว่า The collection of the Middle Length Sayings

3. สังยุตตนิกาย นางรีส เดวิดส์ และ แฟรงก์ ลี วูดเวิร์ด แปลชื่อว่า The Book of Kindred Sayings มี 5 เล่ม

4. อังคุตตรนิกาย วูดเวิร์ด และ อี.เอ็ม. แฮร์ แปลชื่อว่า The Book of the Gradual Sayings มี 5 เล่ม

5. ขุททกนิกาย มีชื่อว่า The Minor Readings หลายคนแปลดังนี้

(1) ธรรมบท แมกซ์ มุลเลอร์ เป็นคนแปลคนแรก จากนั้นก็มีหลายสำนวนมาก เช่น วูดเวิร์ด (สมาคมบาลีปกรณ์) ดร.สรวปัลลี ราธกฤษณัน (อ๊อกซ์ฟอร์ด) ที่เมืองไทยก็มีฉบับของ ขันติปาโล (พุทธสมาคม) เสฐียรพงษ์ วรรณปก (อมรินทร์พรินติ้ง) และฉบับของราชบัณฑิตยสถาน

(2) ขุททกปาฐะ ญาณโมลีเถระ แปลชื่อว่า The Minor Readings สมาคมบาลีปกรณ์ จัดพิมพ์

(3) อุทาน ชื่ออังกฤษว่า Verses of Uplift และอิติวุตตกะ ภาษาอังกฤษว่า As It Was Said วูดเวิร์ดแปล (สมาคมบาลีปกรณ์)

(4) สุตตนิบาต ชื่อว่า Woven Cadences of Early Buddhists แฮร์ แปล (บาลีปกรณ์)

(5) วิมานวัตถุ ชื่อว่า Stories of the Mansions และเปตวัตถุ ชื่อว่า Stories of the Departed จีน เคนเนดี และ เฮนรี เกห์แมน แปล (บาลีปกรณ์)

(6) เถรคาถา - เถรีคาถา Psalms of the Brethren, Psalms of the Sisters รีส เดวิดส์ แปล แต่ต่อมา เค.อาร์. นอร์แมน แปล ตั้งชื่อว่า The Elder”s Verses

(7) ชาดก (รวมอรรถกถาชาดกด้วย) มี 6 เล่ม ชื่อว่า The Jataka or stories of the Buddha”s Former Births อี.บี. โคเวลล์ เป็นบรรณาธิการ มีผู้แปลหลายคน (บาลีปกรณ์)

(8) ปฏิสัมภิทามรรค ญาณ โมลีภิกขุ แปลชื่อว่า The Path of Discrimination

(9) พุทธวังสะ ชื่อว่า Chronicles of Buddha จริยาปิฎก ชื่อว่า Basket of Conduct ฮอนเนอร์ แปล (บาลีปกรณ์)

ค. อภิธรรมปิฎก

(1) ธัมมสังคณี = A Buddhist Manual of Psychological Ethics รีส เดวิดส์ แปล

(2) วิภังค์ = The Book of Analysis ท่านอู ติตถิละ แปล

(3) ธาตุกถา = Discourse on Elements ท่านนารทะ แปล

(4) ปุคคลบัญญัติ = Designation of Human Types บี.ซี. ลอว์ แปล

(5) กถาวัตถุ = Points of Controversy นางรีส เดวิดส์ และ ชะเวอ่อง แปล

(6) ปัฏฐาน = Points of Controversy ท่านนารทะ แปล

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรป และอังกฤษ เสด็จไปเยี่ยมสมาคมบาลีปกรณ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง สมทบทุนการพิมพ์พระไตรปิฎก ของสมาคมบาลีปกรณ์ และได้จารึกพระปรมาภิไธย ไว้เป็นหลักฐานด้วย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ

1. ผู้แปลได้ตัดข้อความที่ซ้ำๆ ออก เมื่อพิมพ์จำนวนเล่มจึงลดน้อยลงกว่าฉบับภาษาไทย

2. สำนวนแปลเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายกว่าสำนวนภาษาไทย ซึ่งแปลรักษาศัพท์และโครงสร้างของภาษา

3. แต่ละเล่มหรือแต่ละปิฎก หรือนิกาย นักปราชญ์ผู้รับผิดชอบชำระและแปลเป็นคนเดียวส่วนมาก สำนวนการแปลจึงกลมกลืน คงเส้นคงวา ขณะที่สำนวนแปลไทย แบ่งกันแปลคนละตอน หรือคนละเล่ม เมื่อนำมาพิมพ์ ไม่ได้เกลาให้กลมกลืนกัน

4. มีคำนำเสนอที่สมบูรณ์เป็นประโยชน์แก่การศึกษามาก ตลอดถึงมีดรรชนีค้นคำที่สมบูรณ์ ขณะที่ฉบับภาษาไทยยังบกพร่องในด้านดังกล่าวมาก


:b8: :b8: :b8: ที่มา : หนังสือ คำบรรยายในพระไตรปิฎก
ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=74&t=49653


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร