วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 05:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
หน้า ๒
๑๐ . จูฬปุณณมสูตร
สูตรว่าด้วยคือพระจันทร์เต็มดวง สูตรเล็ก

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ประทับนั่งในที่แจ้ง แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ๑๕ ค่ำ ตรัสสอนเรื่องอสัตบุรุษ ( คนชั่ว ) และสัตบุรุษ ( คนดี ) โดยแสดงว่าอสัตบุรุษประกอบด้วยอสัทธรรม ๗ ประการ คือ ๑. คบอสัตบุรุษ ๒. คิดอย่างอสัตบุรุษ ๓. ปรึกษาอย่างอสัตบุรุษ ๔. พูดอย่างอสัตบุรุษ ๕. ทำอย่างอสัตบุรุษ ๖. เห็นอย่างอสัตบุรุษ ๗. ให้อย่างอสัตบุรุษ พร้อมทั้งแสดงรายละเอียด ส่วนสัตบุรุษ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. คติของอสัตบุรุษคือนรกหรือกำเนิดดิรัจฉาน ส่วนคติของสัตบุรุษ คือความเป็นใหญ่ในเทพหรือความเป็นใหญ่ในมนุษย์.

จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ชื่ออนุปทวรรค
แปลว่า วรรคมีอนุปทสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๐ สูตร


๑๑ . อนุปทสูตร
สูตรว่าด้วยลำดับบทธรรม

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีปัญญาและเห็นแจ้งบทธรรมตามลำดับภายในครึ้ง เดือน คือรูปฌาน ๔ , อรูปฌาน ๔, สัญญาเวทยิตนิโรธ, มีความชำนาญและบรรลุถึงฝั่งแห่งศีล , สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ, หมุนธรรมจักร ตามที่พระตถาคตหมุนไปแล้วได้ ๑ .


๑๒ . ฉวิโสธนสูตร
สูตรว่าด้วยข้อสอบสวน ๖ อย่าง

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนวิธีสอบสวนภิกษุผู้พยาการณ์อรหัตตผล ( ผู้พูดว่าตนเป็นพระอรหันต์ ) โดยวิธีตั้งปัญหาให้ตอบรวม ๖ ข้อ คือ ๑. รู้เห็นอย่างไรในโวหาร ๔ คือการพูดว่า ได้เห็นได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ในสิ่งที่ได้เห็นได้ฟังทราบได้รู้แจ้ง ๒. รู้เห็นอย่างไรในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ ๓. รู้เห็นอย่างไรในธาตุ ๖ ๔. รู้เห็นอย่างไรในอายตนะภายในภายนอก ๖ คู่ คือตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง เป็นต้น ๕. รู้เห็นอย่างไรในกายที่มีวิญญาณครองตน ๖. รู้เห็นอย่างไรในนิมิตทั้งปวงภายนอก จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ถอนอหังการ ( ความถือเรา ) มมังการ ( ความถือว่าของเรา ) และมานะ ( ความถือตัว ) ซึ่งเป็นอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว ) เสียได้. พร้อมทั้งแสดงคำตอบในทางรู้เท่าและตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา จนได้อาสวักขยญาณ คือญาณอันทำอาสวะให้สิ้นเป็นที่สุด ๒ .


๑๓ . สัปปุริสธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะของดี

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงทั้งธรรมะของคนดีและธรรมะของคนชั่ว ( สัปปุริสธรรม , อสัปปุริสธรรม ) โดยแสดงธรรมะของคนชั่วก่อน แล้วแสดงธรรมะของคนดีกำกับ เป็นคู่ ๆ ไป รวม ๒๐ คู่ ในที่นี้จะแสดงแต่ฝ่ายชั่ว ( ฝ่ายดีพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ) คือยกตนข่มผู้อื่น เพราะ :-

๑. ออกบวชจากตระกูลสูง ๒. ออกบวชจากตระกูลใหญ่ ๓. มีคนรู้จัก มียศ ๔. มีลาภปัจจัย ๔ ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ทรงจำวินัยได้ ๗. เป็นนักกล่าวธรรม ๘. อยู่ป่า ๙. ทรงผ้าบังสกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตกเอามาปะติดปะต่อเป็นจีวร ) ๑๐. ถือบิณฑบาต ๑๑. อยู่โคนต้นไม้ ๑๒. อยู่ป่าช้า ๑๓. – ๑๖. ได้รูปฌาน ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ๑๗. – ๒๐. ได้อรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔.

ส่วนภิกษุผู้ก้าวล่วงอรูปฌานที่ ๔ เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ ย่อมสิ้นอาสวะ ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .


๑๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมะที่ควรเสพและไม่ควรเสพเป็น ๓ ตอน พระสารีบุตรกราบทูลขยายความย่อให้พิศดารทั้งสามตอนนั้น ตรัสรับรองว่าถูกต้อง คือ:-

๑. ความประพฤติทางกาย, ความประพฤติทางวาจา, ความประพฤติทางใจ, ความคิด, การได้สัญญา (ความกำหนดหมาย ), การได้ทิฏฐิ ( ความเห็น ), การได้อัตตาภาพ . รวม ๗ หัวข้อ ) แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

๒. รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ , และธรรมะ ที่พึงรู้แจ้งได้ทางตา , หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

๓. ปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น , คาม , นิคม, นคร, ชนบท, และบุคคล แแต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

พระสารีบุตรอธิบายในหลักใหญ่ที่ว่า ถ้าเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญก็ควรเสพ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดรู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งคำที่ตรัสไว้อย่างย่อ ๆ โดยพิสดาร ผู้นั้นย่อมได้รับประโยชน์และความสุข.


๑๕. พหุธาตุกสูตร
สูตรว่าด้วยธาตุหลายอย่าง

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ภัย, อันตราย, อุปสัคเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต . พระอานนท์กราบทูลว่า ด้วยเหตุเพียงไรภิกษุจึงควรแก่ถ้อยคำว่า ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาสอบสวน. ตรัสตอบว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ, ฉลาดในอายตนะ, ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปได้) และอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ).

๒. ในข้อฉลาดในธาตุ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ๑๘ ( อายตนะภายในมีตา เป็นต้น ๖ , อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น ๖, วิญญาณมีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ๖, รวมเป็น ๑๘ ) ; ธาตุ ๖ คือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, อากาศ, วิญญาณ; ธาตุ ๖ คือ สุขกาย, ทุกข์กาย, สุขใจ, ทุกข์ใจ, เฉย ๆ , อวิชชา, ( ความไม่รู้; ธาตุ ๖ คือ กาม, เนกขัมมะ, (ออกจากกาม), พยาบาท, ไม่พยาบาท, เบียดเบียน, ไม่เบียดเบียน; ธาตุ ๓ คือ กาม, รูป, อรูป; ธาตุ ๒ คือธาตุที่ปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตาธาตุ ) ธาตุที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ( อสังขตาธาตุ ).

๓. ในข้อฉลาดในอายตนะ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖.

๔. ในข้อฉลาดในปฏิจจมุปบาท ( ความอาศัยเหตุเป็นปัจจัยเกิดขึ้น) ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดทั้งใน เหตุปัจจัยสายเกิด คือเพราะมีสิ่งนนี้ จึงมีสิ่งต่อ ๆ ไป ทั้งในเหตุปัจจัยสายดับ คือเพราะกับสิ่งนี้ สิ่งต่อ ๆ ไปจึงดับ.

๕. ในข้อฉลาดในฐานะและอฐานะ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิเป็นไปไม่ได้ ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน และสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น บุถุชนเป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน.


๑๖. อิสิคิลิสูตร
สูตรว่าด้วยภูเขาชื่ออิสิคิลิ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ใกล้กรุงราชคฤห์ ตรัสเล่าว่า ชื่อของภูเขาลูกต่าง ๆ เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ภูเขาอิสิคิลิมีชื่อนี้มาไม่ แล้วตรัสเล่าเรื่องพระปัจจเจกพุทธเจ้า ( พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์ มิได้ตั้งศาสนาขึ้น ) ประมาณ ๕๐๐ รูป ที่อาศัยอยู่ ณ ภูเขานี้ มนุษย์ทั้งหลายเห็นแต่ท่านเข้าไป ไม่เห็นออกมา เลยตั้งชื่อว่า ภูเขาอิสิคิลิ ( ภูเขากลืนฤษี ) แล้วได้แสดงพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ มีพระอริฏฐะ เป็นต้น.


๑๗. มหาจัตตาฬีกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะหมวด ๔๐ หมวดใหญ่

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย มีใจความสำคัญเป็น ๓ ตอนคือ:-

๑. ทรงแสดงสัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) ที่มีที่อาศัย มีคุณธรรมอื่น ๆ อีก ๗ ข้อ เป็นเครื่องประกอบ ( บริขาร ) คือความเห็นชอบ, เจรจาชอบ, กระทำชอบ, เลี้ยงชีวิตชอบ, พยายามชอบ, ระลึกชอบ.

๒. ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ว่าเป็นหัวหน้าและว่า รู้จักทั้งฝ่ายเห็นชอบและฝ่ายเห็นผิด. ทรงอธิบายความเห็นผิดว่า ได้แก่เห็นว่า ทานที่ให้ไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เป็นต้น แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิว่ามี ๒ อย่าง คือที่มีอาสวะ กับที่ไม่มีอาสวะ ( ชั้นต่ำสำหรับบุถุชน ชั้นสูงสำหรับพระอริยะ ) แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิในฐานะเป็นหัวหน้า ในการแจกรายระเอียดของข้ออื่น ๆ .

๓. ทรงแสดงว่า ธรรมปริยายที่เรียกว่า “ มหาจัตตาฬีสกะ” “หมวด ๔๐ หมวดใหญ่” คือเป็นฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ( ตั้งหลักมรรค ๘ เติมสัมมาญาณะ ความรู้โดยชอบ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นโดยชอบเป็น ๑๐ กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์ เพราะธรรมะฝ่ายถูกทั้งสิบข้อนั้นเป็นปัจจัย จัดเป็นฝ่ายกุศล ๒๐ ตั้งหลักมิจฉัตตะ ความผิด มีความเห็นผิด เป็นต้น มีความหลุดพ้นผิดเป็นที่สุด เป็น ๑๐ อกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์ เพราะธรรมะฝ่ายผิด ๑๐ ข้อนั้นเป็นปัจจัย จัดเป็นฝ่ายอกุศล ๒๐ ).


๑๘. อานาปานสติสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ตรัสแสดงธรรม ในท่ามกลางพระเถระผู้มีชื่อเสียง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ โดยแสดงว่า อานาปาสติที่เจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก , ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาตรัสรู้ ) ๗ ให้บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ ที่เจริญให้มากแล้ว ทำให้วิชชา ( ความรู้ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) ให้บริบูรณ์.

๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงรายละเอียดในการเจริญอานาปานสติอย่างธรรมดา ( เช่น ที่แสดงในอานาปานบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร (ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร การเจริญอานาปนสติให้เกี่ยวกับกาย , เวทนา, จิตและธรรม; การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้เกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ มีสติ เป็นต้น.


๑๙. กายคตาสติสูตร
สูตรว่าด้วยสติกำหนดพิจารณากาย

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายคตาสติ ( สติกำหนดพิจารณากาย ) ที่เจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความจึงทรงแสดงรายละเอียด ( แบบที่ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร คือ การกำนหนดพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน คือ ๑. พิจารณาลมหายใจเข้าออก ๒. พิจารณาอริยบทของกาย เช่น ยืน เดิน ๓. พิจารณาความเคลื่อนไหวของกาย เช่น คู้แขน เหยียดแขน เป็นต้น ๔. พิจารณาความน่าเกลียดของกาย ๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ ๖. พิจาณาร่างกายที่เป็นศพมีลักษณะต่าง ๆ.

๒. ครั้นแล้วทรงแสดงการเจริญกายคตาสติ จนได้ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของกายคตาสติว่าเป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นต้น พร้อมด้วยอุปมาต่าง ๆ และในที่สุดได้แสดงว่า ทำให้มีอานิสงส์ ๑๐ อย่าง คือ ๑ อดทนความไม่ยินดีและความยินดี ๒. ครอบงำความหวาดกลัวได้ ๓. อดทนต่อหนาวร้อนถ้อยคำล่วงเกิน และทุกขเวทนา เป็นต้น ๔. ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ๕. ได้อิทธิวิธี ( แสดงฤทธิ์ได้ ) ๖. ได้หูทิพย์ ๗. ได้เจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่น ) ๘. ระลึกชาติได้ ๙. เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (ทิพยจักษุ ) และ ๑๐. ทำอาสวะให้สิ้นได้.


๒๐. สังขารูปปัตติสูตร
สูตรว่าด้วยความคิด ๓ กับการเข้าถึงสภาพตามที่คิดไว้

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงการที่ภิกษุประกอบด้วยศรัทธา ( ความเชื่อ ) , ศีล ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ), สุตะ ( การสดับตรับฟัง ), จาก ( การสละ ) และปัญญาว่า ตั้งจิตจะไปเกิดในสิ่งที่ดี ๆ อย่างไร เมื่ออบรมความคิดเจตนากับธรรมะเป็นเครื่องอยู่ ( มีศรัทธาเป็นต้น ), ให้มากแล้ว ก็จะเกิดในฐานะนั้น ๆ ได้ตามปรารถนา ตั้งแต่ความเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณมหาศาล จนถึงเทพ, พรหมทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม และในที่สุด ถึงทำอาสวะให้สิ้นได้.
จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ชื่อสุญญสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๐ สูตร


๒๑. จูฬสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรเล็ก

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี . ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ถึงเรื่องที่ในสมัยก่อนและสมัยปัจจุบัน ( ขณะนั้น ) ทรงอยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร ( ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ คือการทำในใจถึงความว่างเปล่า ) พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดในทางปฏิบัติ โดยการไม่ใส่ใจถึงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) อย่างหนึ่ง แล้วใส่ใจความเป็นหนึ่งโดยอาศัยสัญญาอีกอย่างหนึ่ง สูงขึ้นไป โดยลำดับแล้วพิจารณาถึงสัญญาที่ไม่ใส่ใจว่า แต่นึกว่าสัญญาที่กำลังใส่ใจ ( อันมีอารมณ์สูงกว่า ) ว่าเป็นของไม่สูญ เริ่มต้นแต่ไม่ใส่ใจมนุสสสัญญา ( ความกำหนดหมายในมนุษย์ ) แล้วใส่ใจในอรัญญสัญญา ( ความกำหนดหมายในป่า ) เลื่อนลำดับสูงขึ้นไป จนถึงทำอาสวะให้สิ้นได้เป็นที่สุด. แล้วตรัสว่า สมณะหรือพราหมณ์ในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ที่เข้าสู่สุญญตาอันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยม ก็จะเข้าสู่สุญญตา ( ตามที่ทรงแสดงมาแล้ว ) นี้อยู่.


๒๒. มหาสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรใหญ่

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ตรัสกับพระอานนท์ถึงเรื่อง “ การเข้าสุญญตาภายใน” เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง ( ทำใจให้ว่างจากความเกาะเกี่ยว ) เข้าฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วใส่ใจสุญญตาภายใน มีความรู้ตัวอยู่เสมอ แล้วใส่ใจสุญญตาภายนอก สุญญตาทั้งภายในทั้งภายนอก ใส่ใจอาเนญชา ๔ แล้วคอยกำหนดดูว่าจิตจะน้อมไป เพื่อสุญญตาภายใน เพื่ออาเนญชาหรือไม่ ครั้นตรัสสอนให้มีความรู้ตัวในความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งกาย , วาจา , ใจ.

๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงอุปัทวะ ( อันตราย ) แห่งอาจารย์แห่งศิษย์และแห่งการประะพฤติพรหมจรรย์และตรัสว่า อันตรายแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ทีผลร้ายมากว่าอันตรายทั้งสองข้างต้น. และตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อศาสดาฉันมิตร มิใช่ศรัตรู คือให้ตั้งใจฟังธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขสิ้นกาลนาน. ในที่สุดตรัสว่า พระองค์ทรงว่าทั้งในทางข่ม ทั้งในทางประคอง ( ไม่ใช่มุ่งแต่ลงโทษหรือมุ่งแต่ยกย่องเพียงอย่างเดียว ). ผู้ใดมีสาระก็จะดำรงอยู่ได้.


๒๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้น

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องความอัศจรรย์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงระลึก พระชาติได้ว่าเคยเป็นอย่างนั้น ๆ มา . เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความ ก็ตรัสให้พระอานนท์กล่าวถึงความอัศจรรย์เท่าที่ทราบ พระอานนท์ก็กราบทูลตามที่เคยสดับมาในที่เฉพาะพระพักตร์ ก็ความอัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์ เมื่อเกิดเมื่อดำรงอยู่ในเทพชั้นดุสิต ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น จนถึงความอัศจรรย์ เมื่อประสูติจากพระครรภ์มารดา. ( โปรดดูข้อความที่ย่อไว้แล้วในมหาปทานสูตร) ข้อ ๑ ถึง ๑๕ )

๒. ตรัสเพิ่มเติมว่า เวทนา ( ความเสวยหรือรู้สึกอารมณ์ ) สัญญา ( ความกำหนดหมาย ) และวิตก ( ความตรึก ) ที่ตถาคตรู้แจ้งแล้ว ย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมดับไป ๕ .


๒๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้นของพระพักกุลเถระ

ท่านพระพักกุละอยู่ในเวฬุวนาราม ใกล้กรุงราคฤห์ ชีเปลือยชื่อกัสสปะ เคยเป็นสหายตั้งแต่ครั้งเป็นคฤหัสถ์ของท่านพระพักกุละ เข้าไปหาท่านพระพักกุละ ถามทราบความว่าบวชมาถึง ๘๐ ปี แล้วได้ถามถึงปัญหาเรื่องเคยเสพเมถุนกี่ครั้ง พระพักกุละตอบว่า ไม่ควรถามเช่นนั้น ควรจะถามว่า กามสัญญา ( ความกำหนดหมายในกาม ) เกิดขึ้นกี่ครั้ง แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ตลอด ๘๐ ปีนี้ ท่านไม่เคยมีกามสัญญา รวมทั้งสัญญาในการพยาบาท ในการเบียดเบียนเลย แล้วท่านได้เล่าถึงสิ่งที่ท่านไม่เคยต่าง ๆ ( อันแสดงความเป็นผู้บริสุทธิ์พิเศษ ) ของท่านตลอดเวลา ๘๐ ปี. ชีเปลือยเลื่อมใสขอบวช บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ต่อมาไม่ช้าท่านพระพักกุละถือลูกกุญแจเข้าไปสู่วิหาร บอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านจะปรินิพพานในวันนี้ แล้วได้นั้งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นความน่าอัศจรรย์ . ( เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน).


๒๕. ทันตภูมิสูตร
สูตรว่าด้วยภูมิหรือสถานที่ที่ฝึกไว้

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ชยเสนราชกุมาร ( ราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ) เสด็จดำเนินเล่น ตรัสสนทนากับสามเณรรูปหนึ่งผู้บวชไม่นาน ผู้อาศัยอยู่ในกุฏิในป่า เมื่อทรงขอให้สามเณรแสดงธรรม สามเณรออกตัวต่าง ๆ ในที่สุดก็ทรงแค่นไค้ให้แสดงจนได้ เมื่อแสดงจบแล้ว. ราชกุมารตรัสว่า เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรจะบรรลุความเป็นผู้มีจิตอารมณ์ เป็นหนึ่ง. สามเณรจึงนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า ชยเสนราชกุมารอยู่ในท่ามกลางกาม ที่จะรู้เห็นถึงสิ่งที่พึงรู้พึงเห็นได้ด้วยเนกขัมมะ ( การออกจากกามนั้น ) ย่อมเป็นไปไม่ได้.

๒. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมแก่สามเณร เปรียบเทียบให้เห็นความต่างกัน ระหว่างช้าง,ม้า,โค ที่ได้รับการฝึกกับที่มิได้รับการฝึก ว่าจะให้ไปสู่ที่หมายได้ ต่างกันอย่างไร. หรือเปรียบเหมือนคนหนึ่งยืนบนยอดเขา อีกคนหนึ่งยืนอยู่เชิงเขา จะให้เห็นอะไร ๆ เหมือนผู้ยืนอยู่บนยอดเขาอย่างไร แล้วได้ทรงแสดงข้อเปรียบเทียบอื่นอีก รวมทั้งข้อที่ออกบวชบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ บำเพ็ญฌานได้วิชชา ๓ มีความสิ้นอาสวะในที่สุด.


๒๖. ภูมิชสูตร
สูตรว่าด้วยพระเถระชื่อภูมิชะ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. เช้าวันหนึ่ง ท่านพระภูมิชะเข้าไปที่ยังประทับของชยเสนราชกุมาร นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. ชยเสนราชกุมารกล่าวว่า บุคคลจะทำความหวังหรือไม่ก็ตามประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่ควรจะบรรลุผลได้. ท่านพระภูมิชะทูลตอบว่า ท่านไม่ได้ฟังมาจากพระผู้มีพระภาค แต่ก็เชื่อว่าจะทรงตอบว่า ไม่สำคัญที่ทำความหวังหรือไม่ทำ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย ( อโยนิโส ) ก็ไม่ควรบรรลุผล แต่ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย ก็ควรบรรลุผลได้. ราชกุมารกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศาสดาของท่านก็เหมือนยืนอยู่บนศีรษะของสมณพราหมณ์ทั้งปวง. แล้วได้ถวายอาหารของพระองค์ให้ท่านพระภูมิชะฉัน.

๒. ท่านพระภูมิชะกลับมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ที่ตอบไปนั้นไม่ผิด และได้ทรงชี้แจงเพิ่มเติม เปรียบสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ประพฤติพรหมจรรย์ จึงไม่ควรบรรลุผล ว่าเหมือนคนต้องการน้ำมัน แต่ไปคั้นน้ำมันจากทราย หรือต้องการนมโค แต่รีดนมจากเขาโค ต้องการไฟ แต่เอาไม้สดชุ่มด้วยยางมาสีไฟติด. ครั้นแล้วทรงแสดงการปฏิบัติถูกในทางที่ตรงกันข้าม.


๒๗. อนุรุทธสูตร
สูตรว่าด้วยพระอนุรุทธเถระ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ช้างไม้ชื่อปัญจกังคะ ส่งคนไปนิมนต์พระอนุรุทธ์พร้อมด้วยภิกษุอื่นอีก ๓ รูป ๖ ( รวม ๔ รูป ไปฉันที่บ้าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว จึงถามว่าปัญหาถึงเรื่อง อัปปมาณาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห้งจิตอันไม่มีประมาณ ) กับมหัคคตาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห่งจิตที่เป็นฌาน) มีอรรถะ ( ความหมาย ) และพยัญชนะ ( ตัวอักษร ) ต่างกัน หรือว่ามีอรรถะอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน. พระเถระตอบว่า มีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน. โดยอธิบายว่า อัปปมาณาเจโตวิมุติ ได้แก่การแผ่จิต อันประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น อันหาประมาณจำกัดมิได้ไปยังโลกทั้งโลกปวง ทั้งหกทิศ ( รวมทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ). ส่วนมหัคคตาเจโตวิมุติ ได้แก่การเจริญฌาน ( แผ่กสิณนิมิตไป ) กำหนดขอบเขตเพียงโคนไม้แห่งเดียวบ้าง, ๒ – ๓ แห่งบ้าง, กำหนด ๒ – ๓ เขตบ้านบ้าง, กำหนดแว่นแคว้นใหญ่ ๑ บ้าง , ๒ – ๓ บ้าง, กำหนดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขตบ้าง, แล้วได้อธิบายเพิ่มเติมและตอบปัญหาของพระอภิยะกัจจานะอีกเกี่ยวกับเรื่องเทพ ที่มีแสงสว่าง.


๒๘. อุปักกิเลสสูตร
สูตรว่าด้วยเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกกันต่างว่ากล่าวเสียดสีกันต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามปรามก็ไม่ฟัง จึงตรัสแสดงธรรมเป็นคติการทะเลาะวิวาทแล้วเสด็จไปสู่พาลกโลณการคาม ( หมู่บ้านทำเกลือชื่อพาลกะ ) ณ ที่นั้นได้ทรงแสดงธรรมแก่พระภคุ แล้วเสด็จไปสู่ป่าจีนวังสะ ผู้เฝ้าป่าไม่ยอมให้เข้า พระอนุรุทธ์ได้ทราบจึงแจ้งแก่คนเฝ้าป่ามิให้ห้าม เพราะท่านเป็นพระศาสดาของพวกเรา และได้บอกพระนันทิยะ พระกิมพิละมาเฝ้าต้อนรับ. พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความผาสุก, ความสามัคคี, ความไม่ปรามาท, และคุณพิเศษ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๔ ) เทียบดูด้วย ) ในข้อ ๓๑ . จูฬโคสิงคสาลสูตร ท่านเหล่านั้นกล่าวตอบในทางที่ดีงาม.

๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณพิเศษ กราบทูลว่า รู้สึกว่ามีแสงสว่าง และเห็นรูป แต่ไม่นาน แสงสว่างนั้นและการเห็นรูปก็หายไป ไม่ได้บรรลุนิมิตนั้นอีก. ตรัสตอบว่า ควรบรรลุนิมิตนั้น แล้วตรัสเล่าเหตุการณ์ เมื่อก่อนตรัสรู้ว่าเคยทรงประสบภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทรงสอบสวนถึงต้นเหตุ ซึ่งทรงแก้ทีละอย่าง ๆ เหตุเหล่านั้นคือความสงสัย, การไม่ทำในใจ, ความหดหู่ง่วงงุน, ความหวาดสะดุ้ง , ความตื่นเต้น, ความย่อหย่อน, ความเพียรตึงเกินไป, ความเพียรหย่อนเกินไป, ความอยาก, ความกำหนดหมายต่าง ๆ , การเพ่งรูปมากเกินไป. ( รวมเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ๑๑ อย่าง ) ๗ ในที่สุด เมื่อทรงทราบว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตก็ทรงละได้หมดทุกอย่าง.

๓. ตรัสเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรไป ก็ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่ทรงเห็นรูปบ้าง ทรงเห็นรูป แต่ไม่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างบ้าง ตลอดคืนบ้าง ตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งวันทั้งคืนบ้าง เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย ก็ทรงคิดว่า ในสมัยใดไม่สนใจรูปนิมิต ( เครื่องหมายคือรูป ) สนใจอกโอภาสนิมิต ( เครื่องหมายคือแสงสว่าง ) ในสมัยนั้นย่อมก็รู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่เห็นรูป; ในสมัยใดไม่สนใจโอภาสนิมิต สนใจแต่รูปริมิต ในสมัยนั้นย่อมเห็นรูป แต่ไม่รู้สึกว่าแสงสว่าง.

๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงถึงการที่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างน้อย เห็นรูปน้อย, ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างไม่มีประมาณ เห็นรูปไม่มีประมาณ เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย ก็ทรงคิดว่า ในสมัยใดสมาธิน้อย ในสมัยนั้นจักษุก็น้อย ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างน้อย เห็นรูปน้อย ด้วยจักษุน้อย แต่ในสมัยใดสมาธิไม่มีประมาณ ในสมัยนั้นจักษุก็ไม่มีประมาณ ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างไม่มีประมารณ เห็นรูปไม่มีประมาณ ( แสดงว่ากำลังของสมาธิเป็นสำคัญ ถ้ากำลังน้อยก็ทำให้ทิพยจักษุมีความสามารถน้อยไปด้วย ) ครั้นทรงทราบว่าได้ทรงละอุปกิเลสแห่งจิต ( ทั้งสิบเอ็ด ) ได้แล้ว ก็ทรงคิดว่าได้เจริญสมาธิโดยส่วน ๓ แล้วในบัดนี้.

๕. ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า ได้ทรงเจริญ ๑. สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร ( ได้แก่ฌานที่ ๑ ) ๒. สมาธิที่ไม่มีวิตก แต่มีวิจาร ( ได้แก่ฌานที่ ๒ ในฌาน ๕ ) ๓. สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร ( ได้แก่ฌารที่ ๒, ๓, ๔, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๓, ๔, ๕ ในฌาน ๕ ) ๔. สมาธิที่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๑, ๒, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๑, ๒, ๓, ในฌาน ๕ ) ๕. สมาธิที่ไม่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๓, ๔ ในฌาน ๔ และฌานที่ ๔, ๕ ในฌาน ๕ ) ๖. สมาธิที่ประกอบด้วยความสุข ( ไ ด้แก่ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๑ ถึง ๔ ในฌานที่ ๕) ๗. สมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา ( ได้แก่ฌานที่ ๔ ในฌาน ๔ และฌานที่ ๕ ในฌาน ๕ ) เมื่อได้เจริญสมาธิอย่างนี้แล้วก็เกิดญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ) ขึ้นว่า ความหลุดพ้นของพระองค์ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก.

(หมายเหตุ: สูตรนี้แสดงหลักวิชาในการปฏิบัติจิตใจชั้นสูง ซึ่งเกิดปัญหาแก่พระสาวก แต่พระองค์ก็ทรงแสดงว่าได้แก้ปัญหาตกมาแล้ว ก่อนตรัสรู้ ในที่นี้ไม่ค่อยได้อธิบายศัพท์ไว้พิสดาร เพราะเห็นว่าจะต้องอธิบายยืดยาวและใช้หน้ากระดาษมาก อย่างไรก็ตาม สูตรนี้น่าเลื่อมใสเป็นพิเศษในทางปฏิบัติที่แสดงว่า พระพุทธศาสนานั้นมิใช่เรื่องสำหรับพูดเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ่งในทางปฏิบัติด้วย และพึงสังเกตว่าในสูตรนี้ นับเป็นหลักฐานแรกที่แสดงฌาน ๕ เพราะที่แล้วมาแสดงแต่ฌาน ๔ เท่านั้น ).


๒๙. พาลบัณฑิตสูตร
สูตรว่าด้วยพาลและบัณฑิต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงลักษณะของคนพาล ๓ อย่าง คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว คนพาลจะต้องประสบทุกข์โทมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุนับ และตายไปก็จะเข้าสู่นรก, กำเนิดดิรัจฉาน หรือถ้าเกิดในมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลต่ำ ยากจน มีผิวพรรณทราม มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่มีลาภ . ส่วนบัณฑิตมีลักษณะ ๓ คือ คิดดี พูดดี ทำดี บัณฑิตย่อมได้เสวยสุขโสมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุบัน และตายไปก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ แล้วทรงสมบัติจักรพรรดิ์โดยละเอียดว่า เทียบกันไม่ได้เลย กับสมบัติกับสมบัติทิพย์. หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลสูงมั่งคั่ง รูปงาม มีลาภ.

๑. ศัพท์ต่าง ๆ ในสูตรนี้ มีในที่อื่นที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ และหมายเลข ๓๘

๒. ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเพียง ๕ ข้อ ส่วนข้อ ๖ แสดงตามมติอรรถกถาที่ให้แยกปัญหาเรื่องกายของตนกับกายของผู้อื่น นอกจากนั้นอรรถกถายังแสดงมติอื่นอีก

๓. คำว่า สังขาร ที่แปลว่าความคิด เป็นการแปลถือเอาความ มีพระพุทธภาษิตบ่งชัดว่า ได้แก่เจตนาในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ ซึ่งย่อไว้ในเล่มต่อ ๆ ไป

๔. อาเนญชาหรืออาเนญชะ ดูคำอธิบายในอาเนญชสัปปายสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๖ หน้า ๑ ) ในข้อ ๖. อาเนญชสัปปายสูตร

๕. อรรถกถาอธิบายว่า มีโอกาสพิจารณาสังขารธรรมได้ตลอดเวลา ๗ วัน ไม่เหมือนสาวกที่พิจารณาได้เฉพาะ เมื่อประจวบกับสิ่งเหล่านั้นเฉพาะหน้าเมื่อถึงโอกาส

๖. ในเมืองไทยมักมีผู้ถือกันว่านิมนต์พระ ๔ รูปเฉพาะไปสวดศพ แต่หลักฐานในพระไตรปิฎกนอกจากสูตรนี้แล้ว ยังมีในอภัยราชกุมารสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๕ หน้า ๒ ) ในข้อ ๘ . อภยราชกุมารสูตร เเสดงว่าไม่มีการถือ

๗. ความเศร้าหมองแห่งจิตหรืออุปกิเลสทั้งสิบเอ็ดอย่างนี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมะชั้นสูง ผู้ต้องการทราบคำอธิบายละเอียด โปรดดูคำอธิบายคำของพระอรรถกถาจรรย์

เล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
หน้า ๓
๓๐. เทวทูตสูตร
สูตรว่าด้วยเทวทูต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมว่า ผู้มีทิพย์จักษุ ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายตาย, เกิด, เลว, ประณีต, ผิวพรรณดี, มีคติดี, มีคติชั่ว เข้าถึงฐานะต่าง ๆ ตามกรรม เปรียบเหมือนคนมีตาดียืนอยู่ตรงกลาง ( ระหว่างเรือน ๒ หลัง) ย่อมมองเห็นคนข้างนอก เดินไปเดินมาสู่เรือนฉะนั้น.

๒. ทรงแสดงถึงนายนิรยบาล ( ผู้รักษานรก ) หลายคน จับคนที่ไม่ดีไปแสดงแก่พญายมขอให้ลงโทษ พญายมถามถึงเทวทูต ๕ คือ เด็ก, คนแก่, คนเจ็บไข้, คนถูกลงโทษเพราะทำความผิดและคนตาย แล้วชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำ ( ที่ชั่ว ) นั้น ๆ แล้วทรงแสดงการลงโทษต่าง ๆ ที่นายนิรยบาลเป็นผู้ทำ รวมทั้งแสดงถึงมหานรก, นรกคูถ, ( อุจจาระ ) และนรกชื่อกุกกุละ ซึ่งมีการลงโทษทรมานอย่างน่าสยดสยอง.


๓๑. ภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยราตรีเดียวกันที่ดี

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงบทตั้ง ( อุทเทส ) และคำอธิบายหรือการแจกแจง ( วิภังค์ ) เกี่ยวกับบุคคลผู้มีราตรีเดียวอันดี โดยใจความคือไม่ให้ติดตามเรื่องล่วงมาแล้ว ไม่ให้หวังเฉพาะเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ให้เห็นแจ้งปัจจุบัน ให้รีบเร่งทำความเพียรเสียในวันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่ง เพราะจะผัดเพี้ยนต่อมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่ได้. คนที่มีความเพียรอย่างนี้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน เรียกว่ามีราตรีเดียวอันดี ( อันเจริญ ). การไม่ติดตามอดีต การไม่หวังเฉพาะอนาคต ตรัสอธิบายว่า ไม่ให้มีความยินดีเพลิดเพลินในอดีตและอนาคตนั้น.


๓๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยพระอานนท์อธิบายภัทเทกรัตต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้นพระอานนท์กล่าวธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในโรงฉัน ( อุปฐานศาลา ) โดยอธิบายททั้งบทตั้ง และคำอธิบายแห่งภัทเทกรัตตสูร. พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความ ทรงรับรองคำอธิบายนั้น.


๓๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยพระมหากัจจานะอธิบายภัทเทกรัตต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. มีเรื่องเล่าถึงพระมหากัจจานะแสดงธรรมอธิบายขยายความ แห่งภัทเทกรัตตสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสย่อ ๆ ให้พิศดาร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ตรัสชมเชยและว่า ถ้าถามให้ทรงอธิบาย ก็จะทรงอธิบายในทำนองเดียวกันนี้.


๓๔. โลมสกังคิยสูตร
สูตรว่าด้วยพระโลมสกังคิยะ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. เรื่องเล่าว่า เทพบุตรถามพระโลมกังคิยะ เรื่องภัทเทกรัตตสูตร ทั้งบทตั้งทั้งคำอธิบาย ท่านตอบไม่ได้ . จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามให้ทรงแสดงทั้งบทตั้งและคำอธิบาย ใจความก็อย่างเดียวกับสูตรที่ ๓๑.


๓๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ทรงตอบคำถามของสุภมาณพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่าง ๆ ๗ คู่ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ :-

๑. มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์

๒. มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์

๓. มีผิวพรรณทราม เพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดี เพราะไม่ขี้โกรธ

๔. มีศักดาน้อย เพราะมักริษยา มีศักดามาก เพราะไม่มักริษยา

๕. มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน

๖. เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม.

๗. มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่อง การกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น.

สุภมาณพบุตโตเทยยพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.


๓๖. มหากัมมวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรใหญ่

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ ภายหลังที่ตรัสปรารภเรื่องพระสมิทธิตอบคำถามของปริพพาชก โปตลิบุตรแง่เดียว แทนที่จะตอบแบ่งตามเหตุผล เมื่อพระอานนท์กราบทูลขอร้อง จึงทรงแสดงเรื่องการจำแนกกรรมเรื่องใหญ่ โดยแสดงถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ทำชั่วแล้วไปเกิดในอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ๒. ทำชั่วแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๓. ทำดีแล้วได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๔. ทำดีแล้วไปเกิดในอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ซึ่งทำให้สมณพราหมณ์ บางพวกผู้เห็นไม่ตลอดสายเข้าใจผิด ทรงรับรองเฉพาะคำกล่าวที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกก็ไม่ตรัสรับรอง นอกจากนั้น ทรงแสดงเหตุผล คือกรรมดีกรรมชั่วที่ทำก่อนทำหลัง และการมีความเห็นถูกเห็นผิดก่อนตายว่า อาจแทรกส่งผลให้คนเข้าใจผิดได้ แต่ความจริงกรรมทุกอย่างจะส่งผลทั้งสิ้น ( เพียงแต่เข้าใจให้ตลอดสายและไม่สับเหตุผล )


๓๗. สฬายตนวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอายตนะ ๖

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมเรื่องการแจกอายตนะ ๖ โดยตั้งบทตั้ง ( อุทเทส) ว่า

ควรทราบอายตนะภายใน ๖ , อายตนะภายนอก ๖, หมวดวิญญาณ ๖, หมวดผัสสะ ๖, มโนปวิจาร ( ความท่องเที่ยวไปแห่งใจ ) ๑๘, ทางไปของสัตว์ (สัตตบท ) ๓๖ เป็นต้น ครั้นแล้วทรงแจกอายตนะภายใน ๖ ว่ามีตา เป็นต้น, อายตนะภายนอก ๖ ว่ามีรูป เป็นต้น, วิญญาณกาย ๖ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น, ผัสสกาย ๖ มีจักขุสัมผัส เป็นต้น, มโนปวิจาร ๑๘ คือเห็นรูป , ฟังเสียง เป็นต้นแล้ว ใจก็ท่องเที่ยวไปสู่รูปที่เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา ( เวทนาทางใจ ) ๓ × อายตนะ ๖ = ๑๘ ), ส่วนสัตตบทหรือทางไปของสัตว์ ๓๖ ทรงแสดงโสมนัส ( ความดีใจ ) ที่อาศัยเรือน ๖ , อาศัยเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) ๖ , โทมนัส ( ความเสียใจ ) ที่อาศัยเรือน ๖ ; อาศัยเนกขัมมะ ๖ ; อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ ; อาศัยเนกขัมมะ ๖ ( เวทนาทางใจ ๓ × ๒ คือ เรือนกับเนกขัมมะ × อายตนะ ๖ = ๓ × ๒ × ๖ = ๓๖ )

ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมให้อาศัยส่วนที่อาศัยเนกขัมมะ ให้ละส่วนที่อาศัยเรือน แล้วทรงแสดงคุณลักษณะของศาสดา.


๓๘. อุทเทสวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยบทตั้งและคำอธิบาย ๖

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงอุทเทสวิภังค์ คือบทตั้ง พร้อมทั้งคำอธิบายที่ว่า ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่วิญญานของเธอจะไม่ซัดส่วยไปภายนอก ไม่ตั้งอยู่ในภายใน ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สะดุ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่มีความเกิดขึ้นแห่งชาติ ชรา มรณะ และเหตุให้เกิดทุกข์เกิดอีกต่อไป. ตรัสเพียงย่อ ๆ เท่านั้นแล้วก็เสด็จลุกขึ้นเข้าสู่พระวิหาร.

๒. ภิกษุทั้งหลายจึงไปหาพระมหากัจจานเถระ ขอให้อธิบายความโดยพิสดาร ซึ่งท่านก็ได้อธิบายชี้แจงเป็นข้อ ๆ ไป ( แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ในประโยคว่า วิญญาณไม่ตั้งอยู่ในภายใน ท่านใช้คำว่า จิต แทนคำว่า วิญญาณ ว่าไม่ติดอยู่ในองค์ฌาน ). เมื่อภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสชมเชย พระมหากัจจานเถระ และตรัสสอนให้ทรงไว้อย่างที่ได้แสดงไว้แล้ว.


๓๙. อรณวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกธรรมที่ไม่มีข้าศึก

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงอรณวิภังค์ คือการแจกธรรมที่ไม่เป็นข้าศึก . มีใจความสำคัญ คือ :-

ไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งกามสุข และการทรมานตัวให้ลำบาก พระตถาคตตรัสรู้ทางสายกลาง ที่ไม่อาศัยส่วนสุดทั้งสอง อันทำให้เกิดดวงตา เกิดญาณ เพื่อตรัสรู้นิพพาน. พึงรู้การยกย่อง การรุกราน แล้วไม่พึงแสดงธรรมยกย่องหรือรุกรานบุคคล, ไม่พึงกล่าววาจาในที่ลับ ( ไม่พูดส่อเสียด ), ไม่พึงกล่าววาจาเลอะเทอะในที่พร้อมหน้า, พึงพูดโดยไม่รีบด่วน, ไม่พึงยึดถือถ้อยคำในพื้นชนบท ไม่พึงข้ามบัญญัติทางโลก ( คือไม่ยึดมั่นถือมั่นโวหารทางโลก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ขวางโลก โดยไม่ยอมพูดรู้เรื่องกับชาวโลก. พร้อมทั้งตรัสอธิบายโดยละเอียดว่า ข้อปฏิบัติหรือธรรมะที่กล่าวมานี้เป็นธรรมะที่ไม่มีข้าศึก.

ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้รู้จักธรรมที่มีข้าศึกและไม่มีข้าศึก และให้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ไม่มีข้าศึก. แล้วตรัสสรรเสริญว่า กุลบุตรชื่อสุภูติเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ไม่มีข้าศึก.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
หน้า ๔ จบเล่ม

๔๐. ธาตุวิภงคคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกธาตุ

พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ เสด็จแวะพัก ณ กรุงราชคฤห์ ทรงอาศัยที่อยู่ของช่างหม้อชื่อภัคคะพักแรมคืน . ตรัสแสดงธรรมแก่กุลบุตรชื่อปุกกุสาติผู้บวชอุทิศพระองค์ แต่ไม่รู้จักพระองค์โดยใจความสำคัญ คือ:-

บุรุษนี้มีธาตุ ๖ , มีอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖, มีความท่องเที่ยวไปแห่งใจ ๑๘ อโนปวิจาร ), มีธรรมที่ควรตั้งใจไว้ในใจ ๔ , บุคคลตั้งอยู่ในธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจแล้ว กิเลสย่อมไม่เป็นไป เมื่อกิเลสไม่เป็นไป ก็เรียกได้ว่า มุนีผู้ระงับ, ไม่ควรประมาทปัญญา , ควรตามรักษาสัจจะ , ควรเจริญการสละ, ควรศึกษาความสงบ แล้วได้ตรัสอธิบายรายละเอียด.

๒. ในการแจกรายละเอียด ทรงแสดงธาตุ ๖ ดิน , น้ำ , ไฟ,ลม , อากาศ , วิญญาณ ; อายตนะ สำหรับถูกต้อง ๖ คือ ตา, หู , จมูก , ลิ้น, กาย , ใจ ; มโนปวิจาร ๑๘ คือความท่องเที่ยวไปแห่งใจในโสมนัส ( ความดีใจ ) ๖ ในโทมนัส ( ความเสียใจ ) ๖ ในอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ) รวมเป็น ๑๘ ; ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ คือ ปัญญา , สัจจะ , จาคะ ( การสละกิเลส ) , และอุปสมะ ( ความสงบระงับ ). แล้วตรัสอธิบายแต่ละข้อโดยพิสดารต่อไปอีก โดยเฉพาะวิญญาณ ตรัสอธิบายว่า ได้แก่สิ่งที่รู้แจ้งสุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข ( ดูมหาเวทัลลสูตรเทียบดูด้วย ในพระสุตตันตะ เล่ม ๔ หน้า ๕ ) ในข้อ ๔๓ . มหาเวทัลลสูตร

๓. พระปุกกุสาติก็รู้ได้ทันทีว่าตนพบพระศาสดาแล้ว จึงก้มลงกราบขอประทานอภัยโทษ พระผู้มีพระภาคตรัสประทานอภัย. พระปุกกุสาติ ( ซึ่งเดิมบวชเอาเอง ) จึงกราบทูลขอบวชบรรพชาอุปสมบท. ตรัสสั่งให้หาบาตรจีวร ในขณะที่หาบาตรจีวรนั้น ก็ถูกแม่โคขวิดถึงแก่ชีวิต. เมื่อมีผู้กราบทูลถามถึงคติในสัมปรายภพ ( ภพเบื้องหน้า ) ของปุกกุสาติ ก็ตรัสตอบว่า เป็นอนาคามี เพราะละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้.


๔๑. สัจจวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอริยสัจจ์

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิสิปตนนิคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี. ตรัสเล่าเรื่องที่ทรงแสดงธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แล้วตรัสแนะให้คบพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นผู้อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารี ( คือเพื่อนผู้รวมประพฤติพรหมจารย์ หรือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ) ตรัสเปรียบพระสารีบุตรด้วยผู้ให้ดำเนิด เปรียบพระโมคคัลลานะด้วยผู้เลี้ยงดู ( แม่นม ). พระสารีบุตรแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะก็แนะนำให้ตั้งอยู่ในมรรคผลที่สูง ๆ ขึ้นไป และพระสารีบุตรเป็นผู้อาจอธิบายอริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร.

๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นเข้าไปสู่พระวิหาร. พระสารีบุตรก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อธิบายเรื่องอริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร.


๔๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกทักษิณา ( ของทำทาน )

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. พระนางมหาปชาบดีโคตมี นำคู่ผ้าใหม่ซึ่งทรงกรอด้ายเองไปถวายพระผู้มีพระภาค ขอให้ทรงรับเป็นเป็นการอนุเคราะห์. พระผู้มีพระภาคตรัสแนะให้ถวายในสงฆ์ อันจะชื่อว่าบูชาทั้งพระองค์และพระสงฆ์ . พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงยืนยันขอถวายพระผู้มีพระภาคตามเดินเป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแนะนำตามเดิมแม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓.

๒. พระอานนท์จึงกราบทูลขอให้พระองค์ทรงรับ โดยอ้างอุปการคุณ ซึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมี เคยมีต่อพระผู้มีพระภาคในการที่ทรงเลี้ยงดู ทรงให้ดื่มถัญญ์ ( น้ำนม ) ภายหลังที่พระพุทธมารดาสวรรคต และอ้างอุปการคุณที่พระผู้มีพระภาคทรงมีต่อพระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นเหตุให้พระนางถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ, ทรงเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย, ทรงประกอบด้วยความเลื้อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ , ทรงหมดความสงสัยในอริยสัจจ์ ๔ ประการ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลอาศัยผู้ใด แล้วตั้งอยู่ในคุณธรรมตามที่พระอานนท์กล่าวมานั้น พระองค์ไม่ตรัสการที่บุคคลนั้นกราบไว้ ลุกขึ้นต้อนรับ ทำอัญชลีกรรม ( พนมมือไหว้ ) สามีจิกรรม ( การแสดงอัธยาศัยไมตรีให้เหมาะสมแก่ฐานะ ) และการให้ปัจจัย ๔ มีผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ว่าเป็นการตอบแทนอันดีต่อผู้ที่ตนอาศัยนั้น.

๓. แล้วทรงแสดงทักษิณา ( ของให้หรือของถวาย ) ที่เจาะจงบุคคล ๑๔ ประเภทเป็นข้อ ๆ ไป คือ การที่บุคคลถวายทานหรือให้ทาน ๑. ในพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. ในพระอรหันตสาวกของพระตถาคต ๔. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล ๕. ในพระอนาคามี ๖. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๗. ในพระสกทาคามี ๘. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๙. ในพระโสดาบัน ๑๐. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑๑. ในท่านผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ภายนอก ( พระพุทธศาสนา ) ๑๒. ในบุถุชน ( คนยังหนาด้วยกิเลส ) ผู้มีศีล ๑๓. ในบุถุชนผู้ทุศีล ๑๔. ในสัตว์ดิรัจฉาน.

๔. แล้วทรงแสดงว่า ทักษิณา มีคุณอันพึงหวังได้ คือทานที่ให้ในสัตว์ดิรัจฉาน มีคุณถึงร้อย , ในบุถุชนผู้ทุศีล มีคุณถึงพัน , ในบุถุชนผู้มีศีล มีคุณถึงแสน , ในท่านผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ภายนอก ( พระพุทธศาสนา ) มีคุณถึงแสนโกฏิ , ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล มีคุณเป็นอสงไขย ( นับไม่ได้ ) อัปไมย ( ประมาณไม่ได้ ) จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงทานที่ถวายในบุคคลที่สูงขึ้นไปกว่านี้.

๕. แล้วทรงแสดงทักษิณา ( ของถวาย ) ที่เป็นไปในสงฆ์ ๗ ประเภท คือ ๑. ในสงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์ , ภิกษุณีสงฆ์ ) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๒. ในสงฆ์สองฝ่าย เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ๓. ในภิกษุสงฆ์ ๔. ในภิกษุณีสงฆ์ ๕. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุ หรือภิกษุณีจำนวนเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์ ๖. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์ ๗. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุณีเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์.

๖. ตรัสว่า ในอนาคตกาลนานไกล จักมีโคตรภู ๑ (สงฆ์ ) ผู้มีผ้ากาสาวะที่คอ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรมบุคคลจักถวายทานอุทิศสงฆ์ในโคตรภู (สงฆ์ ) ผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้ทักษิณาที่เป็นไปในสงฆ์นั้น เราก็กล่าวว่านับไม่ได้ประมาณไม่ได้. เราไม่กล่าวว่า ทานที่เจาะจงบุคคลมีผลมากกว่าทักษิณาที่เป็นไปในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย.

๗. ตรัสแสดงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง คือทักษิณาที่ ๑. บิริสุทธิ์ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ๒. บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ๓. ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก ๔. บริสุทธ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก. พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดกำหนดความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ด้วยการที่บุคคลมีศีล มีกัลยาณธรรม และทุศีล มีบาปธรรม.

จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕
ชื่อสฬายตนวรรค แปลว่า วรรคกำหนดด้วยอายตนะ ๖


๔๓. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นอนาถปิณฑิกคฤหบดีไม่สบาย เป็นไข้หนัก จึงส่งคนไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ และให้ถวายบังคมแทนตน กับส่งคนไปอาราธนาพระสารีบุตรไปยังที่อยู่ของตน เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ พระสารีบุตรรับนิมนต์แล้วก็ไปเยี่ยมไต่ถาม โดยมีพระอานนท์ตามไปด้วย เป็นปัจฉาสมณะ ( ภิกษุผู้ติดตาม ) คฤหบดีกล่าวตอบว่า มีทุกขเวทนากล้า จึงกล่าวธรรมสั่งสอน คือ :-

๑. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือรูป หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ .

๒. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือรูป กลิ่น เสียง รส โผสฐัพพะ ( สิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย ) ธรรมะ ( สิ่งที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยใจ ) และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ.

๓. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือวิญญาณ ( ๖ ) มีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา ) เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยวิญญาณ ( ๖ ) มีจักขุวิญญาณเป็นต้น.

๔. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือสัมผัส ( ความถูกต้อง ๖ ) มีจักขุสัมผัส ( ความถูกต้องทางตา เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยสัมผัส ( ๖ ) มีจักขุสัมผัส เป็นต้น

๕. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือเวทนา ( ความรู้สึกหรือเสวยอารมณ์ ๖ ) มีจักขุสัมผัสสชาเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์อันเกิดแต่สัมผัสทางตา ) เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยเวทนา ( ๖ ) มีจักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น.

๖. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และธาตุรู้ ( วิญญาณธาตุ ) และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยธาตุดิน เป็นต้น.

๗. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือ ( ขันธ์ ๕ ) รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยรูป เป็นต้น.

๘. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือ ( อรูปฌาน ๔ คือ ) อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๒ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น.

๙. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือโลกนี้โลกหน้า และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยโลกนี้โลกหน้า.

๑๐. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้ติดตามด้วยใจ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยสิ่งนั้น.

อนาถปิณฑิกคฤหหบดีได้ฟัง ก็ร้องไห้ พระอานนท์จึงถามว่า ท่านยังติดยังอาลัยอยู่หรือ . คฤหบดีตอบว่า มิได้ติด มิได้อาลัย แต่ไม่เคยได้ฟังธรรมิกถาอย่างนี้ . เมื่อทราบว่าธรรมิกถาเช่นนี้ ไม่ได้แสดงแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แสดงแก่บรรพชิต จึงขอร้องพระสารีบุตรให้แสดงแก่คฤหัสถ์บ้าง เพราะกุลบุตรที่มีกิเลสน้อยมีอยู่จะเป็นผู้รู้ธรรมะได้ ไม่ได้ฟังก็จะเสื่อมจากธรรมะไป. พอพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับแล้วไม่นาน อนาถปิณฑิกคฤหบดีก็ถึงแก่กรรมไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วกลับมาปรากฏตนถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กล่าวสุภาษิตและชมเชยพระสารีบุตร.


๔๔. ฉันโนวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทพระฉันนะ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. พระสารีบุตร , พระมหาจุนทะ , และพระฉันนะ อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ . พระฉันนะไม่สบาย เป็นไข้หนัก. พระสารีบุตรจึงชวนพระมหาจุนทะไปเยี่ยมถามอาการ พระฉันนะเล่าทุกขเวทนากล้าให้ฟังและแสดงความจำนงจะฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรก็ห้ามไว้และแสดงธรรมให้ฟัง มิให้ยึดถืออายตนะภายในมีตา เป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณ เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป ( ที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักขุวิญญาณ ) เป็นต้น ว่าเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั่นเป็นตัวตนของเรา. เมื่อพระสารีบุตรกับพระมหาจุนทะกลับไปแล้ว พระฉันนะก็ฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรไปกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบโดยใจความว่า ผู้ใดละทิ้งกายนี้ ยึดถือกายอื่น เรากล่าวว่ามีโทษ แต่ภิกษุฉันนะเป็นผู้ไม่มีโทษ . อรรถกถาแก้ว่า สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับการสิ้นชีวิต ที่เรียกว่าสมสีสี ).


๔๕. ปูณโณวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระปุณณะ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . พระปุณณะเข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้ประทานโอวาท จึงทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้ไม่เพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผโฐัพพะ และธรรมะที่น่าปรารถนา รักใคร่ชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ก็ดับทุกข์ได้.

๒. พระปุณณะกราบทูลว่า ท่านจักไปอยู่ในชนบทอื่นชื่อสุนาปรันตะ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าเธอ เธอจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ข้าพระองค์จักคิดว่า ด่ายังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ . ตรัสถามว่า ถ้าเขาทำร้ายด้วยมือ จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย. ตรัสถามว่า ถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้าย จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย . ตรัสถามว่า ถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้าย จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าทำร้ายด้วยศัสตรา. ตรัสถามว่า ถ้าเขาทำร้ายด้วยศัสตรา จะทำอย่างไร กราบทูลตอบว่า ยังดีกว่าฆ่าด้วยศัสตราที่คม. ตรัสถามว่า ถ้าเขาฆ่าด้วยศัสตราที่คม จะทำอย่างไร กราบทูลว่า บุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่นี่ดีที่ไม่ต้องหา ได้คนที่มาฆ่าให้.

๓. พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา และตรัสอนุญาตให้ไปได้ ท่านไปอยู่ในที่นั้น ได้แสดงธรรมให้มีผู้ประกาศตนเป็นอุบาสก ๕๐๐ คน และท่านเองก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ( ระลึกชาติได้ , ทิพยจักษุเห็นสัตว์ เกิดตาย , ทำอาสวะให้สิ้น ) ภายในพรรษานั้น และได้ปรินิพพานในกาลต่อมา.


๔๖. นันทโกวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทของพระนันทกะ

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . พระนางมหาปชาบดี โคตมี พร้อมด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายเข้าไปเฝ้ากราทูลขอให้ประทานโอวาท , จึงทรงมอบหมายให้พระนันทกะผู้ไม่ประสงค์จะให้โอวาทแก่นางภิกษุณี เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ท่านจึงไปสอน ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ( ทนอยู่ไม่ได้ ) ไม่ใช่ตัวตน ของอายตนะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ) มีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งทางตา ) เป็นต้น พร้อมด้วยคำด้วยคำถามซักถามให้ตอบด้วยความเห็นจริงของผู้ฟังเอง และพร้อมด้วยคำเปรียบด้วยเปรียบเทียบหลายข้อ. พระผู้มีพระภาคตรัสชมเชยมาก.


๔๗. จูฬราหุโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระราหุลให้เห็นความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ( ทนอยู่ไม่ได้ ) และไม่ใช่ตัวตนของอายนตะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ด้วยตา ) เป็นต้น สัมผัส (ความถูกต้อง ) มีจักขุสัมผัส เป็นต้น เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) มีเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น. พระราหุลก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน.


๔๘. ฉฉักกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะหมวด ๖ รวม ๖ ข้อ

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงธรรมะหมวด ๖ รวม ๖ ข้อ คือ ๑. อายตนะภายใน ๖ มีตา เป็นต้น ๒. อายตนะภายนอก ๖ มีรูป เป็นต้น ๓. วิญญาณกาย ( หมวดวิญญาณ ) ๖ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ๔. ผัสสกาย ( หมวดความถูกต้อง ) ๖ มีจักขุสัมผัส เป็นต้น ๕. เวทนากาย ( หมวดเวทนาคือความรู้สึกอารมณ์ ) ๖ มีเวทนาที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น ๖. ตัญหากาย ( หมวดตัญหา ความทะยานอยาก ) ๖. มีตัญหาที่เกิดจากเวทนาอันเนื่องมาแต่จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น. พร้อมทั้งตรัสสอนให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนของสิ่งเหล่านั้น. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ( เป็นพระอรหันต์ ).


๔๙. สฬายตนวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอายตนะ ๖

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ทรงแสดงธรรมชื่อว่า “ มหาสฬายตนิกะ” ( ธรรมที่เกี่ยวด้วยอายตนะ ๖ อย่างพิสดาร ) โดยทรงแสดงว่า เมื่อไม่รู้ไม่เห็นธรรม ๖ หมวด ดั่งที่ทรงแสดงในฉฉักกสูตร ( ก่อนหน้าสูตรนี้สูตรเดียว ) ตามเป็นจริง ความลำบาก เดือดร้อนกระวนกระวาย ทั้งทางกายและทางจิตก็จะเจริญขึ้น ผู้ไม่รู้นั้น ย่อมได้เสวยทั้งทุกข์กายทุกข์ใจ . แล้วทรงแสดงให้เห็นว่า ถ้ารู้เห็นตามเป็นจริง ไม่กำหนัดยินดี ก็จะชื่อว่าทำมรรคมีองค์ ๘ ให้บริบูณ์ เมื่อทำได้อย่างนั้น ก็จะชื่อว่าทำธรรมะอื่น ( ในโพธิปักขิยธรรม ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๒ ) ในข้อเรื่องเสด็จป่ามหาวันให้บริบูรณ์ด้วย.

๒. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมะที่เทียมคู่ คือสมถะ ( การทำใจให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) และแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือขันธ์ ๕ ; ธรรมที่ควรละ คืออวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ) และภวตัญหา ( ความอยากเป็นนั้นเป็นนี่ ) ; ธรรมที่ควรเจริญ คือสมถะและวิปัสสนา ; ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง คือวิชชา ( ความรู้อริยสัจจ์ ๔ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น).


๕๐. นครวินเทยยสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ

พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ . เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์แคว้นโกศลชื่อนครวินทะ ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมคฤหบดีเหล่านั้น ผู้มาเฝ้าว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามท่านว่า สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะเคารพนับถือบูชา ก็พึงตอบว่า ได้แก่สมณพราหมณ์พวกที่ยังไม่ปราศจากราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) โทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ) โมหะ ( ความหลง ) ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) และธรรมะ ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) มีจิตยังไม่สงบระงับในภายใน ยังประพฤติเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้าง ( ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ) ทางกาย วาจา ใจ ทั้งนี้เพราะพวกเราเอง ( ที่เป็นคฤหัสถ์ ) ก็มีความประพฤติเช่นนั้น เมื่อไม่เห็นความประพฤติสม่ำเสมอ (เรียบร้อย ) หรือคุณธรรมที่ยิ่งขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะบูชาสมณพราหมณ์เหล่านั้น . ถ้านักบวชลัทธิอื่นจะพึงถามถึงสมณพราหม์ที่ควรสักการะเคารพนับถือบูชา ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ( คือที่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ).

๒. ครั้นแล้วตรัสต่อไปถึงการที่นักบวชลัทธิอื่นจะพึงถามอาการและความเป็นไปของ สมณพราหมณ์ ที่พวกท่านกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากราคะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งราคะ ปราศจากโทสะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่ง โทสะ ปราศจากโมหะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งโมหะ พวกท่านพึงตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเสพเสนาสนะป่าอันสงัด ไม่มีรูป เสียง เป็นต้น ที่เห็นแล้ว ฟังแล้ว เป็นต้น จะทำให้ยินดียิ่ง.

พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.


๕๑. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร
สูตรว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งบิณฑบาต

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. เวลาเย็นพระสารีบุตรออกจากที่เร้นมาเฝ้าถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง จึงตรัสถามพระสารีบุตรว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ฉวีวรรณของท่านบริสุทธิ์ ท่านอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไรมาก เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่มีความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ) จึงตรัสว่า ดีแล้วที่อยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งมหาบุรุษ.

๒. ครั้นแล้วตรัสถึงการที่ภิกษุผู้หวังจะมาอยู่มากด้วยสุญญตาวิหาร พึงพิจารณาว่า เราเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เที่ยวไปในที่ใด กลับจากบิณฑบาตโดยทางใด ในทางนั้น ที่นั้น เรามีความพอใจ มีความกำหนัดยินดี มีความคิดประทุษร้าย ความหลง ความขัดข้องแห่งจิตในรูป เสียง เป็นต้น หรือไม่ เมื่อพิจารณารู้ว่าเรายังมีความพอใจในรูป เสียง เป็นต้น ก็พึงพยายามเพื่อละอกุศลบาปธรรมเหล่านั้น ถ้าไม่พิจารณาเห็นว่าเราไม่มีความพอใจในรูป เสียง เป็นต้น ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน.

๓. ต่อจากนั้นพึงพิจารณาว่า เราละกามคุณ ๕ ( รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา รักใคร่พอใจ ) และนีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ได้แล้วหรือยัง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังละไม่ได้ ก็พึงพยายามเพื่อละ เมื่อพิจารณาเห็นว่าละได้แล้ว ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน.

๔. ครั้นแล้วทรงพิจรณาแสดงการพิจรณาข้อธรรมอื่นอีก คือ อุปาทานขันธ์ ๕ กำหนดรู้แล้วหรือยัง ; สติปัฏฐาน ๔ เจริญแล้วหรือยัง ; ความเพียรชอบ ๔ เจริญแล้วหรือยัง ; ธรรมะอันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่าง, ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕ อย่าง , ธรรมอันเป็นกำลัง ๕ อย่าง , ธรรมะอันเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง , ทางมีองค์ ๘ อันประเสริฐ , สมถะ ( การทำจิตให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) เจริญแล้วหรือยัง ; วิชชา ( ความรู้อริยสัจจ์ ๔ ) , วิมุติ ( ความหลุดพ้น ) ทำให้แจ้งแล้วหรือยัง . เมื่อพิจารณาเห็นว่าอะไรยัง ก็พึงพยายามเพื่อทำการนั้น ๆ เมื่อเห็นว่าทำสำเร็จแล้ว ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน ( ดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) และที่ พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔ ประกอบด้วย.

๕. ตรัสสรุปในที่สุดว่า สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล อนาคตกาลนานไกล หรือในบัดนี้ที่ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ก็พิจารณาแล้วอย่างนี้ ทำให้บิณฑบาตบริสุทธิ์อย่างนี้.


๕๒. อินทริยภาวนาสูตร
สูตรว่าด้วยการอบรมอินทรีย์

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ ใกล้นิคม ชื่อกัชชังคลา. ตรัสถามอุตตรมาณพผู้เป็นศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ว่า พราหมณ์ผู้นั้นแสดงถึงการอบรมอินทรีย์ ๓ แก่สาวกอย่างไร มาณพกราบทูลว่า พราหมณ์สอนไม่ให้เห็นรูป ไม่ให้ฟังเสียง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น คนตาบอดหูหนวกก็จักชื่อว่าได้อบรมอินทรีย์ด้วย มาณพก็เก้อเขิล นิ่งก้มหน้า.

๒. จึงตรัสกะพระอานนท์ว่า ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการอบรมอินทรีย์แก่สาวก ต่างจากการอบรมอินทรีย์ในอริยวินัย ( วินัยของพระอริยเจ้า ) เมื่อพระอานนท์กราบทูลขอให้ทรงอธิบาย จึงตรัสแสดงถึงการอบรมอินทรีย์ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ และรู้ธรรมะว่า ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือทั้งพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น ก็ให้รู้เท่าทันว่าเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นของหยาบอันปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนความวางเฉยเป็นของสงบระงับและปราณีต ทรงสรุปว่า ทำอย่างนี้เป็นการอบรมอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย.

๓. แล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติของเสขะ ( พระอริยบุคคลที่ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ยังศึกษาอยู่ ) ว่า เมื่อเห็นรูป เสียง เป็นต้น เกิดความพอใจ ไม่พอใจ หรือทั้งพอใจและไม่พอใจขึ้น ก็เบื่อหน่ายเกลียดชัง ความรู้สึกพอใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นนั้น.

๔. ทรงแสดงการที่พระอริยเจ้าอบรมอินทรีย์แล้ว คือเมื่อเห็นรูป เสียง เป็นต้น เกิดความพอใจ เป็นต้น ใคร่จะอยู่อย่างกำหนดหมายว่าไม่เป็นปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ในสิ่งปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ; หรือใคร่จะเพิกถอนทั้งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล อยู่อย่างวางเฉย มีสติสัมปชัญญะ ก็ทำได้ทุกอย่าง.

จบวรรคที่ ๕ และจบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔

๑. โคตรภูสงฆ์ หมายถึงสงฆ์โดยชื่อ แต่ความประพฤติย่อหย่อน อรรถกถาแสดงว่า ได้แก่ผู้มีผ้ากาสาวะพันที่มือหรือคอพอเป็นเครื่องหมาย แต่มีบุตรภริยา และประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม ตามปกติ. อนึ่ง คำว่า โคตรภู นี้ ยังหมายถึงผู้อยู่กึ่งกลางระหว่างพระอริยเจ้า กับบุถุชน คือคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส

๒. โปรดดูคำอธิบายในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๗

๓. คำว่า อินทรีย์ ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๑๕ ชื่อสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗

ท่านผู้อ่านได้ทราบมาแล้วว่า พระสุตตันตปิฎก เท่าที่ย่อมาแล้วมี ๖ เล่ม เป็นหมวดยาว คือ ทีฑนิกาย ๓ เล่ม เป็นหมวดขนาดกลาง คือมัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม . พระสุตตันตปิฎก เริ่มแต่เล่มที่ ๙ เมื่อจบมัชฌิมนิกายจึงถึงเล่มที่ ๑๔ . บัดนี้มาถึงสังยุตตนิกาย ซึ่งเป็นหมวดประมวลเรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่เริ่มแต่เล่มที่ ๑๕ ถึงเล่มที่ ๑๙ รวม ๕ เล่ม.

เมื่อมาถึงหมวดประมวลหรือสังยุตตนิกายนี้ ผู้เขียนมีความเสียใจที่จะต้องย่ออย่างสั้นที่สุด เพื่อให้สามารถย่อเล่มที่ ๒๐ ถึงเล่มที่ ๔๕ รวม ๒๖ เล่ม ให้รวบรัดได้ลงใน ๒ เล่มที่ยังค้างอยู่ แต่การย่อสังยุตตนิกายอย่างสั้นที่สุดนี้ ก็เป็นโอกาสดีอย่างหนึ่ง คือในการพิมพ์ครั้งต่อไป ก็อาจจะย่อเพิ่มเป็นอีกเล่ม ๑ ต่างหาก สำหรับสังยุตตนิกายโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องสุดแต่ความเหมาะสม.

สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม แบ่งออกเป็น
เล่มที่ ๑๕ ชื่อสุงยุตตนิกาย สคาถวรรค หมายความว่าทุกสูตรในเล่มนี้ ( ซึ่งมีถึง ๒๗๑ สูตร ) เป็นสูตรที่มี “ คาถา ” หรือคำสอน อันเป็น “ บทกวี ” คำว่าสคาถวรรค วรรคที่มีคาถา จึงเป็นชื่อของเล่มที่ ๑๕ นี้.
เล่มที่ ๑๖ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค คำว่า นิทานวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยต้นเหตุ คืออธิบายถึงธรรมะที่เป็นเหตุปัจจัยของความเวียนว่ายตายเกิด ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปปบาท.
เล่มที่ ๑๗ ชื่อสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คำว่า ขันธวารวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยวาระที่กล่าวถึงขันธ์ คือกองรูป กองนาม หมายความว่า ร่างกายจิตใจของคนเราแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เป็นส่วนรูปธรรมกองหนึ่ง เป็นส่วนจิตใจหรือนามธรรมอีกกองหนึ่ง.
เล่มที่ ๑๘ ชื่อสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คำว่า สฬายตนวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอันรวมกล่าวเรื่องตา หู เป็นต้น ในเล่มที่ ๑๘ นี้ทั้งเล่ม.
ส่วนเล่มที่ ๑๙ ชื่อมหาวรรค คำว่า มหาวรรค เปลว่า วรรคว่าด้วยวาระใหญ่ หมายความว่า ธรรมะเรื่องสำคัญ ๆ เช่น มรรค, โพชฌงค์, อินทรีย์ เป็นต้น ได้นำมากล่าวไว้ในเล่ม ๑๙ นี้ทั้งสั้น.

มีข้อที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าในแต่ละเล่มของ ๕ เล่มนี้ ซึ่งเรียกว่าวรรค ( ใหญ่ ) แต่ละวรรคประจำเล่มแล้ว ยังแบ่งเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าสังยุตต์ แบ่งเป็นส่วนย่อย เรียกว่าวรรค ( โดยมากมีวรรคละ ๑๐ สูคร ) หรือถ้าทำเป็นแผนผังวิธีแบ่งส่วน จะเห็นได้ดังนี้:-

วรรค ( ใหญ่ ) รวมทั้งเล่มเป็น ๑ วรรคใหญ่
สังยุตต์ ( รวมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง)
วรรค ( เล็ก ) รวมสูตรประมาณ ๑๐ สูตรต่อ ๑ วรรค

เฉพาะเล่มที่ ๑๕ หรือสังยุตตนิกาย สคาวรรค แบ่งออกเป็น ๑๒ สังยุตต์ ดังต่อไปนี้:-

๑. เทวตาสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทวดา ที่ ไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด ๘๑ สูตร แสดงคำถามของเทวดา คำตอบของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคาถาหรือบทกวีทั้งคำถามคำตอบ.

๒. เทวปุตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพบุตร ที่ ไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด ๓๐ สูตร แสดงคำของเทพบุตร คำตอบของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคาถาหรือบทกวีทั้งคำถามคำตอบ.

๓. โกสลสังยุตต์ ประกอบเรื่องที่ตรัสโต้ตอบกับพระเจ้าปเสนทิโกศล มีทั้งหมด ๒๕ สูตร.

๔. มารสังยุตต์ ประมวลเรื่องมาร ซึ่ง ไปปรากฏภายในลักษณะต่าง ๆ กัน บางครั้งได้มีการโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า บางครั้งมิได้พูด แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตในเมื่อทรงทราบว่าเป็นมาร ในสังยุตต์นี้มี ๒๕ สูตร.

๕. ภิกขุณีสังยุตต์ ประมวลเรื่องนางภิกษุณี แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่นางภิกษุณีต่างรูป มี ๑๐ สูตร.

๖. พรหมสังยุตต์ ประมวลเรื่องพรหม แสดงการที่พระพรหมมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตโต้ตอบ มี ๑๕ สูตร.

๗. พราหมณสังยุตต์ ประมวลเรื่องพราหมณ์ มี พราหมณ์ต่าง ๆ ตั้งปัญหาถามบ้าง กล่าววาจาก้าวร้าวบ้าง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโต้ตอบเป็นภาษิตให้ได้เห็นธรรม มี ๒๒ สูตร ส่วนใหญ่ มีผลเป็น ๒ คือพรหามณ์ออกบวชเป็นพระอรหันต์ กับพราหมณ์เลื่อมใสปฏิญญาตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

๘. วังคีสสังยุต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับพระสังคีสเถระ มี ๑๒ สูตร.

๙. วนสังยุตต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับป่า คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระเถระต่าง ๆ ที่อยู่ในป่า มี ๑๔ สูตร.

๑๐. ยักขสังยุตต์ ประมวลเรื่องยักษ์ ที่มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค และพระองค์ได้ตรัสโต้ตอบ มี ๑๒ สูตร.

๑๑. สักกสังยุตต์ ประมวลเรื่องท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ ที่มาเฝ้า และพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม มี ๒๕ สูตร.

สาระสำคัญของคำสอนในเล่ม ๑๕ นี้ อยู่ที่ภาษิตสั้น ๆ จับใจ มากกว่าเรื่องที่จะให้ติดในเรื่องเทวดาหรือมาร พรหม. อนึ่ง จำนวนพระสูตรนี้ รวมแล้วได้ ๒๗๑ สูตร.

เล่มที่ ๑๖ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘

ได้กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฏกเล่มนี้ กล่าวด้วยเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ความเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย รวมทั้งเมื่อกล่าวถึงความดับ ก็แสดงเหตุปัจจัยที่ดับเป็นต่อ ๆ กันไป คำว่า นิทาน เล็งถึงเหตุปัจจัย จึงใช้เป็นชื่อของเล่มนี้ว่า นิทานวรรค รวมทั้งเล่มมี ๙ สังยุตต์ คือ:-

๑. อภิสมยสังยุตต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับการตรัสรู้ โดย แสดงถึงเหตุปัจจัยส่งผลต่อ ๆ กันให้มีการเวียนว่ายตายเกิด และในทางตรงกันข้าม เมื่อดับเหตุปัจจัยก็ส่งผลต่อ ๆ กันให้ดับความเวียนว่ายตายเกิดได้.

๒. ธาตุสังยุตต์ ประมวลเรื่องธาตุ กล่าว ถึงธาตุในทางธรรมหลายชนิด เช่น ธาตุที่เนื่องด้วย ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น รวมถึงการที่สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้โดยธาตุ .

๓. อนมตัคคสังยุตต์ ประมวลเรื่องสงสารวัฏฏ์ หรือ ความเวียนว่ายตายเกิด มีเบื่องต้นและที่สุดอันตามไม่พบ จึงควรที่จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสังขาร ควรที่จะหลุดพ้นไป.

๔. กัสสปสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระมหากัสสปะ แสดง ถึงการที่พระมหากัสสปะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและมีพระพุทธดำรัสด้วย รวมทั้งเหตุการณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับกับพระมหากัสสปะ เช่น การสั่งสอนนางภิกษุณี เป็นต้น.

๕. ลาภสักการสังยุตต์ ประมวลเรื่องลาภสักการะ ที่ ทำให้คนเสียคน ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข จึงไม่ควรปล่อยให้ลาภสักการะชื่อเสียงครอบงำจิตจนลืมตัว เพราะถ้าไม่รู้เท่า ก็จะเป็นเสมือนหนึ่งเบ็ดที่มีเหยื่อล่อให้หลงกลืนลงเข้าไป.

๖. ราหุลสังยุตต์ ประมวยเรื่องพระราหุล เกี่ยวด้วยการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องต่าง ๆ แก่พระราหุล.

๗. ลักขณสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระลักขณะ ท่าน ผู้เดินทางไกลไปกับพระมหาโมคคัลลานะผู้ได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ต่าง ๆ แต่พระลักขณะไม่เห็น พระมหาโมคคัลลานะจึงชวนท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเล่าถวาย พระผู้มีพระภาคตรัสตอบชี้แจงเหตุผล.

๘. โอปัมมสังยุตต์ ประมวลเรื่องเปรียบเทียบ เป็นคำสอนต่าง ๆ เช่น เรื่องสุนัขขี้เรือนอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย คนชั่วบางคนก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น.

๙. ภิกขุสังยุตต์ ประมวลเรื่องภิกษุ แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคบ้าง พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบ้าง แสดงธรรมสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย.


เล่มที่ ๑๗ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙

พระไตรปิฏกเล่มนี้ ส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ คือ ๑. รูป (ธาตุทั้งสี่ประชุมกันเป็นกาย และรูปอาศัย คืออาการอื่น ๆ ที่อาศัยธาตุทั้งสี่ปรากฏขึ้น เช่น ตา หู จมูก เป็นต้น ) ๑ . ๒. เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ และมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ซึ่งเกิดจากสัมผัส ๖ มีสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) ๓. สัญญา (ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป จำเสียง เป็นต้น ) ๔. สังขาร ( ความคิดหรือเจตนาที่เป็นไปในรูป เสียง เป็นต้น ) ๕. วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ หมายถึงรู้สึกว่า เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น).

พระไตรปิฏกเล่มนี้ รวมทั้งหมดมี ๑๓ สังยุตต์ คือ :-

๑. ขันธสังยุตต์ ประมวลเรื่องขันธ์ กล่าวถึงขันธ์ ๕ พร้อมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ.

๒. ราธสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระราธะ พระ ผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมสั่งสอนพระราธะผู้เดิมเป็นพราหมณ์ ภายหลังมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ว่าง่าย รับฟังโอวาทด้วยความเคารพ.

๓. ทิฏฐิสังยุตต์ ประมวลเรื่องทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่เนื่องด้วยขันธ์ ๕.

๔. โอกกันตสังยุตต์ ประมวลเรื่องข้ามพ้นภูมิชั้นต่ำหรือภูมิบุถุชน.

๕. อุปปาทสังยุตต์ ประมวลเรื่องความเกิดขึ้น แห่งตา หู เป็นต้น เท่ากับเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์.

๖. กิเลสสังยุตต์ ประมวลเรื่องกิเลส คือความชั่วภายในจิตใจที่ทำใจให้เศร้าหมอง.

๗. สาริปุตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระสารีบุตร.

๘. นาคสังยุตต์ ประมวลเรื่องนาค คือสัตว์ประเภทงู.

๙. สุปัณณสังยุตต์ ประมวลเรื่องครุฑ คือสัตว์ประเภทนก.

๑๐. คันธพพกายสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพพวกคนธรรพ์ คือ เทพที่สิ่งอยู่ ณ กลิ่นแห่งรากไม้, แก่นไม้, กระพี้ไม้, เปลือกไม้, สะเก็ดไม้, ดอกไม้, ผลไม้, รสไม้, กลิ่นไม้.

๑๑. วลาหกสังยุตต์ ประมวลเรื่องเวลาหกคือเมฆ คือเมฆหนาว, เมฆร้อน, เมฆหมอก, เมฆลม, และเมฆฝน.

๑๒. วัจฉโคตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องวัจฉโคตตปริพพาชก ควรดูข้อความหน้า พระสุตตันตะ เล่ม ๕ หน้า ๓ ข้อที่ ๒๑ ถึง ๒๔ ประกอบด้วย).

๑๓. สมาธิสังยุตต์ ประมวลเรื่องสมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่น.

๑. รูปเกิดขึ้นเพราะอาหาร ถ้าดับอาหาร รูปก็ดับ คำอธิบายตอนนี้ปรากฏในเล่ม ๑๖ หน้า ๗๒ ถึง ๗๕


เล่มที่ ๑๘ ชื่อสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐

พระไตรปิฏกเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชั้นแรกไม่จัดเป็นสังยุตต์ แต่จัดเป็นหมวด ๕๐ ( ปัณณากะ ) รวม ๔ หมวด คือปัณณสกะที่ ๑ ถึงที่ ๔ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐ สูตร ว่าด้วยเรื่องตา หู เป็นต้น ๑ . ต่อไปจึงจัดเป็นสังยุตต์ รวม ๑๐ สังยุตต์ คือ:-

๑. เวทนาสังยุตต์ ประมวลเรื่องเวทนา แสดงถึงเวทนา ๒ ประการ ถึงเวทนา ๑๐๘ ประการ.

๒. มาตุคามสังยุตต์ ประมวลเรื่องมาตุคาม คือผู้หญิง.

๓. ชัมพุขาทกสังยุตต์ ประมวลเรื่องปริพพาชกชื่อชัมพุขาทกะ ผู้โต้ตอบกับพระสารีบุตร.

๔. โมคคัลลานสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระโมคคัลลานะ.

๕. จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ประมวลเรื่องคำถามของจิตตคฤหบดี.

๖. คามณิสังยุตต์ ประมวลเรื่องนายบ้าน คือผู้ปกครองหมู่บ้านมีชื่อต่าง ๆ กัน แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคสั่งสอนนายบ้านเหล่านั้น.

๗. อสังขตสังยุตต์ ประมวลเรื่องอสังขตะ. คือสิ่งที่มิได้ถูกปัจจัยปรุงแต่ง.

๘. อัพยากตสังยุตต์ ประมวลเรื่องที่พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสชี้ชัด คือเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้โต้เถียงกันเปล่า ๆ .

๑. ทั้งหมด ๔ หมวดนี้ น่าจะเรียกว่าสฬายตนสังยุตต์ ประมวลเรื่องอายจนะ ๖


เล่มที่ ๑๙ ชื่อสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑

เล่ม ๑๙ นี้ ว่าด้วยธรรมะสำคัญเรื่องใหญ่ ๆ รวม ๑๒ สังยุตต์ คือ:-

๑. มัคคสังยุตต์ ประมวลเรื่องมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.

๒. โพชฌงคสังยุตต์ ประมวลเรื่องโพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้มีสติ เป็นต้น.

๓. สติปัฏฐานสังยุตต์ ประมวลเรื่องสติปัฏฐาน ๔ คือการตั้งสติ ๔ ประการ มีตั้งสติไว้ที่กาย เป็นต้น.

๔. อินทรียสังยุตต์ ประมวลเรื่องอินทรีย์ ๕ คือธรรมอันเป็นเรื่องใหญ่ในหน้าที่ของตน มีศรัทธาความเชื่อ เป็นต้น.

๕. สัมมัปปธานสังยุตต์ ประมวลเรื่องความเพียรชอบ ๔ ปารการ มีเพียรทำไม่ให้เกิดความชั่ว ที่ยังไม่เกิด เป็นต้น.

๖. พลสังยุตต์ ประมวลเรื่องพละ ๕ ปารการ มีศรัทธาความเชื่อ เป็นต้น.

๗. อิทธิปาทสังยุตต์ ประมวลเรื่องอิทธิบาท ๔ คือธรรมะอันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ ประการ มีฉันทะความพอใจ เป็นต้น.

พึงสังเกตว่า ตั้งแต่สังยุตต์ที่ ๑ ถึงที่ ๗ นี้ ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๒ ประการ เป็นแต่ไม่เรียงลำดับตามหมวดเท่านั้น.

๘. อนุรุทธสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระอนุนุทธ์ ผู้เป็นพุทธอนุชา.

๙. ฌานสังยุตต์ ประมวลเรื่องฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนจิตสงบได้ฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔.

๑๐. อานาปานสังยุตต์ ประมวลเรื่องสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นวิธีทำจิตให้สงบประการหนึ่งที่นับว่าสำคัญ.

๑๑. ปัตติสังยุตต์ ประมวลเรื่องการที่จะเป็นพระโสดาบัน คือพระอริยบุคคลชั้นที่ ๑ ซึ่งเป็นชั้นแรกใน ๔ ชั้น.

๑๒. สัจจสังยุตต์ ประมวลเรื่องอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา

จบ ความย่อแห่งพระไตรปิฏก ตั้งแต่เล่ม ๑๕ ถึงเล่ม ๑๙ อันเป็นสังยุตตนิกาย ( หมวดประมวลเรื่องราว ) รวม ๕ เล่ม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๑

เมื่อจบหมวดประมวลเรื่องราวหรือสังยุตตนิกายแล้ว จึงมาถึงหมวดที่แสดงหลักธรรมเป็นจำนวนซึ่งเรียกว่าอังคุตตรนิกาย. พระไตรปิฏกในหมวดนี้ยังคงเป็นสุตตันตปิฏก มีด้วยกันทั้งหมด ๕ เล่ม เริ่มด้วย เล่มที่ ๒๐ จนถึงเล่มที่ ๒๔ ในการนี้เล่มที่ ๒๐ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑, ๒ ,๓ จึงใช้คำบาลีว่า เอก - ทุกติกนิบาท; เล่มที่ ๒๑ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๔ จึงใช้คำบาลีว่า จตุกกนิบาต; เล่มที่ ๒๒ ว่าด้วยธรรมจำนวน ๕ - ๖ จึงใช้คำบาลีว่า ปัญจก- ฉักกนิบาต ; เล่ม ๒๓ ว่าด้วยหลักธรรม จำนวน ๗ – ๘- ๙ จึงใช้คำบาลีว่า สัตตก - อัฏฐก- นวกนิบาต; เล่มที่ ๒๔ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑๐ - ๑๑ จึงใชคำบาลีว่า มสก-เอกาทสกนิบาต.

การกำหนดจำนวนพระสูตรว่าในหมวดไหน หรือนิกายไหน มีกี่สูตรนั้น ในตอนแรก ๆ ก็กำหนดง่ายนับง่าย เพราะแต่ละสูตรก็มีข้อความยึดยาว คือ ๑๐ สูตรหรือกว่านั้นเล็กน้อย ก็รวมเป็น ๑ เล่ม แต่ในตอนหลังนี้ แต่ละเล่มมีกว่าพันสูตร เพราะข้อความไม่กี่บันทัดก็นับได้ว่าเป็นสูตรหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่สังยุตตนิกาย เป็นต้นมา จึงควรกำหนดประเภทของหลักธรรม และในอังคุตตรนิกายนี้ควรกำหนดจำนวนเป็นเกณฑ์ว่า จำนวน ๑ มีธรรมะอะไรบ้าง จำนวน ๑๐ มีอะไรบ้าง ดังนี้ ก็จะสดวกขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้มองเห็นจำนวนพระสูตรในแต่ละนิกายอีกครั้งหนึ่ง ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อให้พิจารณาดังต่อไปนี้ :-

๑. ทีฆนิกาย หมวดพระสูตรขนาดยาว (เล่ม ๙ ถึง ๑๑ รวม ๓ เล่ม) มี ๒๔ สูตร.

๒. มัชฌิมนิกาย หมวดพระสูตรขนาดกลาง ( เล่ม ๑๒ ถึง ๑๔ รวม ๓ เล่ม ) มี ๑๕๒ สูตร.

๓. สังยุตตนิกาย หมวดพระสูตรที่ประมวลเรื่องราว (เล่ม ๑๕ ถึง ๑๙ รวม ๕ เล่ม ) ๗,๗๖๒ สูตร.

๔. อังคุตตรนิกาย หมวดพระแสดงหลักธรรมเป็นจำนวน ( เล่ม ๒๐ ถึง ๒๔ รวม ๕ เล่ม) มี ๙,๕๕๗ สูตร.

๕. ขุททกนิกาย หมวด พระสูตรเล็กน้อยหรือเบ็ดเตล็ด ( เล่ม ๒๕ ถึง ๓๓ รวม ๙ เล่ม ) ไม่ได้แสดงจำนวนสูตรไว้ แต่มีคำกล่าวว่า สูตรที่เหลือจาก ๔ นิกายข้างต้นก็นับเข้าในขุททกนิกายทั้งสิ้น.

เมื่อเทียบดูจำนวนสูตร ในพระสูตตันตปิฏกทั้งห้านิกาย ก็จะเห็นได้ว่ามาถึงนิกายหลัง ๆ ตั้งแต่นิกายที่ ๓ ( สังยุตตนิกาย ) มา เรื่องเบ็ดเตล็ดหรือเรื่องย่อย ๆ มีมากขึ้นจนไม่สามารถจะย่อได้ทุกสูตรดั่งแต่ก่อนจึงต้องย่ออย่างจับสาระ สำคัญเป็นหมวดใหญ่ ๆ ไว้.

เฉพาะ ในเล่ม ๒๐ คืออังคุตตรนิกาย ที่ว่าด้วยหลักธรรมเป็นจำนวน ๑- ๒- ๓ นี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ชัดว่า ควรจะได้แบ่งส่วนสำคัญออกเป็น ๓ ส่วนตามจำนวนเลขนั้น คือรวมหลักธรรมจำนวน ๑ เรียก เอกนิบาต รวมหลักธรรมจำนวน ๒ เรียกทุกนิบาต รวมหลักธรรมจำนวน ๓ เรียกติกนิกลบาต . ก่อนที่จะกล่าวรายละเอียดพอสมควร จะขอชี้แจงส่วนใหญ่หรือความสำคัญใน ๓ ชั้นนั้น เป็นการนำทางไว้ในเบื้องแรก คือ :-


เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๖ หมวดด้วยกัน คือ :-

๑. เอกธัมมาทิปาลิ บาลี ว่าด้วยธรรมะข้อ ๑ เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะข้อ ๑ หรือ ๑ ข้อ มีความสำคัญในทางต่าง ๆ กัน ทานไหนบ้าง.

๒. เอกปุคคปาลิ บาลี ว่าด้วยบุคคลคนหนึ่ง จะเป็นใครก็ตาม ที่มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ นับว่าเป็นผู้หายากหรือคนอัศจรรย์ เป็นต้น.

๓. เอตทัคคปาลิ บาลี ว่าด้วยเอตทัคคะ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่พระผู้มีพระภาคทรงยกย่องให้เป็นเลิศในทางต่าง ๆ ตามความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ และความถนัด.

๔. อัฏฐานปาลิ บาลี ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( ผู้ไม่มีความคิดเห็นวิปลาสหรือพระโสดาบันขึ้นไป จะฆ่ามารดาบิดา.

๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ บาลีว่าด้วยธรรมะข้อ ๑ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง เป็นการกล่าวเพิ่มเติมจากหมวดที่ ๑.

๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ บาลีว่าด้วยธรรมมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น.

ธรรมะทั้งหกหมวดนี้ รวมกันแล้ว มี ๑,๐๐๐ สูตรพอดี บางหมวดก็มีมาก บางหมวดก็มีน้อยโดยปกติจัด ๑๐ สูตรเป็น ๑ วรรค , ๕๐ สูตรเป็น ๑ ปัณณาสกะ ซึ่งในการย่อต่อไปจะไม่กล่าวถึงวรรคและปัณณาสกะ จะกล่าวแต่เนื้อหาธรรมะในหมวดนั้น ๆ .


ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ

ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น ๔ ส่วน แต่ไม่กล่าวถึงเนื้อธรรมะ หากล่าวถึงหมวด ๕๐ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และหมวดพิเศษที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐ แต่ในหมวด ๕๐ นั้น ( ซึ่งหมายความว่ามี ๕๐ สูตร ) ยังแบ่งเป็นวรรคอีกหมวดละ ๕ วรรค วรรคละ ๑๐ สูตร ชื่อวรรคกล่าวตามประเภทธรรมะ เช่น กัมมกณรวรรค (วรรคว่าด้วยเครื่องลงโทษ).


ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ

ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น ๔ ส่วน เช่นเดียวกับทุกนิบาต คงแปลกออกไปแต่ชื่อวรรคเท่านั้น ต่อไปนี้จะเป็นการย่ออย่างขยายความ.

ขยายความ


เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

ในการขยายความแห่งไตรปิฏกเล่ม ๒๐ นี้ เนื้องด้วยไม่สามารถจะกล่าวโดยพิสดารทุกเนื้อถ้อยกระทงความ จึงจะใช้วิธีพิจารณาดูว่า ในหมวดไหนมีความสำคัญอย่างธรรมดา ก็จะนำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างไม่น้อยกว่า ๑๐ ข้อ เรื่องไหนมีความสำคัญทางหลักฐานจริง ๆ เช่น เรื่องเอตทัคคะ ที่พระผู้มีภาคทรงยกย่องผู้นี้ว่าเลิศทางไหน ก็จำเป็นที่จะต้องระบุนามหมดทุกท่าน.


๑. เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะ ๑ ข้อ เป็นต้น

๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ทรงเห็นรูปอย่างอื่นแม้รูปหนึ่ง ที่รึงรัดจิตของบุรุษได้เหมือนรูปของหญิงเลย.
ต่อจากนั้นทรงแสดงทีละข้อถึงเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของหญิงที่รัดรึงจิตของบุรุษได้อย่างไม่มีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นเสมอเสมือน.
โดยทำนองเดียวกัน ทรงแสดงรูป เสียง เป็นต้น ของบุรุษว่ารึงรัดจิตของหญิงได้ อย่างไม่มีรูปเสียงอื่น เป็นต้น เสมอเหมือน.

๒. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมอื่นข้อหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้ความพอใจในกามที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพ บูลยิ่งขึ้น เหมือนสุภนิมิต ( เครื่องหมายว่างาม คือการกำหนดจิตถึงสิ่งสวยงาม ) ที่บุคคลไม่ใส่ใจโดยแยบคาย.

ทรงแสดงต่อไปว่า ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่เป็นเหตุขัดใจ ) เป็นเหตุให้เกิดพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ; ความไม่ยินดี, ความเกียจคร้าน, ความซบเซา, ความเมาอาหาร, ความท้อแท้แห่งจิต เป็นเหตุให้เกิดความหดหู่ง่วงงุน; ความไม่สงบแห่งจิต เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ; การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ( ไม่พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้อน ) เป็นเหตุให้เกิดความลังเลสงสัย

ทรงแสดงต่อไปว่า คือแสดงถึงธรรมะที่เป็นเหตุไม่ให้นีวรณ์ ๕ ที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็จะละได้เป็นข้อ ๆ คือ อสุภนิมิต ( เครื่องหมายหรือการกำหนดหมายถึงสิ่งไม่งาม ) เป็นคู่ปรับกับกามฉันท์ ( ความพอใจในกาม) ; เมตตา (ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) เป็นคู่ปรับกับพยาบาท ( ความคิดปองร้าย) ; ธาตุคือความริเริ่มความก้าวออก ความก้าวไปข้างหน้า ( อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ) เป็นคู่ปรับกับถีนมิทธะ ( ความหดหู่ง่วงงุน ) ; ความสงบแห่งจิต ( เจตโส วูปสมะ ) เป็นคู่ปรับกับอุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ) ; การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) เป็นคู่ปรับวิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย).

๓. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมะอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่ถ้าไม่อบรมแล้วก็ใช้งานไม่ได้เหมือนจิต.

แล้วทรงแสดงจิตอีก ๙ ลักษณะ คือธรรมะที่อบรมแล้ว ย่อมใช้งานได้, ไม่อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะ ( ความพินาศ ), อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะ ( ประโยชน์), ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่, ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่ , ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว นำทุกข์มาให้, อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว นำความสุขมาให้ ธรรมะแต่ละข้อนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือนจิต.

๔. ทรงแสดงเรื่องจิตอีก ๑๐ ข้อ คือไม่ทรงเห็นธรรมอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่บุคคลไม่ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่, ไม่คุ้มครองแล้ว , ไม่รักษาแล้ว, ไม่สำรวมระวังแล้ว, ไม่ฝึกไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวัง ( กล่าวรวมถึง ๔ ข้อ ) เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่ ถ้าตรงกันข้าม คือคุ้มครองแล้ว เป็นต้น ก็เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่.

๕. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีก เปรียบเหมือนข้าวเปลือกแห่งข้าวสาลีหรือข้าวเหนียว ถ้าตั้งไว้ผิดก็ตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกไม่ได้ ต่อเมื่อตั้งไว้ถูก จึงตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกได้ จิตก็ฉันนั้น ถ้าตั้งไว้ผิดก็ทำลายอวิชชา ( ความไม่รู้ ) ไม่ได้ ทำวิชชาความรู้ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต่อตั้งไว้ถูกจึงทำลายอวิชชาและทำวิชชาให้เกิดขึ้นได้. นอกจากนั้นยังทรงแสดงถึงการที่จิตอันโทษประทุษร้าย เป็นเหตุให้ไปนรก กับจิตฝ่องใส เป็นเหตุให้ไปสวรรค์, จิตขุ่นมัว ทำให้ไม่รู้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ส่วนจิตผ่องใสทำให้รู้ประโยชน์ดังกล่าวและทำให้รู้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ได้, จิตอ่อน ควรแก่การงานยิ่งกว่าธรรมอย่างอื่นเหมือนไม้จันทน์เลิศกว่าไม้ชนิดอื่น เพราะอ่อน ควรแก่การงาน, จิตเปลี่ยนแปลงเร็วจนอุปมาได้ยาก, จิตผ่องใส เศร้าหมองได้ เพราะอุปกิเลส ๑ . ที่จรมา หลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา.

๖. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีกว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่รู้ตามความจริง ไม่มีการอบรมจิต ส่วนอริยสาวกรู้ตามความจริง มีการอบรมจิต, ถ้าภิกษุส้องเสพ อบรมใส่ใจเมตตาจิตแม้เพียงชั่วลัดนิ้วมือ ก็ชื่อว่าอยู่อย่างไม่ว่างจากฌาน ทำตามคำสอนของศาสดา บริโภคอาหารของราษฏรอย่างไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำให้มากซึ่งเมตตาจิตนั้น, ธรรมทั้งฝ่ายอกุศลและกุศลมีในเป็นหัวหน้า ใจเกิดขึ้นก่อน อกุศลและกุศลจึงตามมา . แล้วทรงแสดงความประมาท ความเกียจคร้านว่า ทำอกุศลธรรมเกิดขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป. และความไม่ประมาททำให้กุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป.

๗. ทรงแสดงถึงการริเริ่มความเพียรในทำนองเดียวกับความไม่ประมาท แล้วทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีเป็นคู่ ๆ ไป ที่ทำให้อกุศลเกิดขึ้น หรือกุศลเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความประมาท ความไม่ประมาทคือความปรารถนามาก, , ความปรารถนาน้อย , , ความไม่สันโดษ ( ไม่ยินดีด้วยของของตน ), , ความสันโดษ, , ความไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, , ความใส่ใจโดยแยบคาย, , ความไม่รู้ตัว, , ความเป็นผู้คบคนชั่วเป็นมิตร, , คบคนดีเป็นมิตร.

ทรงแสดงโดยทำนองนี้ จนครบ , ๑๒ ข้อใหญ่ หรือประมาณ ๑๒๐ , หัวข้อย่อย).


๒. เอกปุคคลปาลิ
บาลีว่าด้วยบุคคลหนึ่ง

ทรงแสดงว่าบุคคลผู้หนึ่งที่เกิดมาในโลก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ยากที่จะปรากฏขึ้นในโลก, เกิดขึ้นก็เป็นอัจฉริยมนุษย์, การทำกาละ ( ตาย ) ก็ทำให้ชนเป็นอันมาก เดือดร้อนใจถึง, เกิดขึ้นก็ไม่มีผู้ใดเทียม, เกิดขึ้นก็เหมือนดวงตา แสงสว่าง ทำให้มีการบรรลุคุณธรรมต่าง ๆ จนถึงอรหัตตผล ในที่สุดทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่งที่จะแสดงธรรมจักรได้ดีตามที่พระตถาคตแสดง แล้วได้เหมือนพระสารีบุตร.


๓. เอตทัคคปาลิ
บาลีว่าด้วยเอตทัคคะ คือบุคคลที่ได้รับยอย่องว่าเป็นผู้เลิศ

ฝ่ายภิกษุ

๑ . พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี (รัตตัญญูเป็นคนเก่าแก่เห็นเหตุการณ์มามาก).
๒. พระสารีบุตร เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก.
๓. พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์.
๔. พระมหากัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าวขัดเกลา ( ธูตวาทะ พูดยกย่องธุดงค์ ).
๕. พระอนุรุทธะ เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
๖. พระภัททิยะ กาฬิโคธายบุตร เป็นผู้เลิศในทางมีสกุลสูง.
๗. พระลกุณฏกะ ภัททิยะ เป็นผู้เลิศในทางมีเสียงไพเราะ.
๘. พระปิณโฑละ ภารทวาชะ เป็นผู้เลิศในทางบรรลือสีหนาท (เปล่งวาจาอย่างองอาจ).
๙. พระปุณณะ มันตานีบุตร เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๑๐. พระมหากัจจานะ เป็นผู้เลิศในทางจำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยพิสดาร.
๑๑. พระจุลลปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางนิรมิตกายอันสำเร็จด้วยใจ.
๑๒. พระจุลลปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะ (ธรรมที่ไม่เวียนว่าย ) ฝ่ายสมาธิ.
๑๓. พระมหาปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะฝ่ายปัญญา.
๑๔. พระสุภูติ เป็นผู้เลิศในทางมีอรณวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่ไม่มีข้าศึก).
๑๕ . พระสุภูติ เป็นผู้เลิศในทางควรแก่การของถวาย ( ทักขิเณยยะ).
๑๖. พระเรวตะ ขทิรวนิยะ เป็นผู้เลิศอยู่ป่า.
๑๗. พระกังขาเรวตะ เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
๑๘. พระโสณะ โกลิวิสะ เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
๑๙. พระโสณะ กุฏกัณณะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าววาจาไพเราะ.
๒๐. พระสีวลี เป็นผู้เลิศในทางมีลาภ.
๒๑. พระวักกลิ เป็นผู้เลิศในทางน้อมใจไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).
๒๒. พระราหุล เป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา.
๒๓. พระรัฏฐปาละ เป็นผู้เลิศในทางบวชด้วยศรัทธา.
๒๔. พระกุณฑธานะ เป็นผู้เลิศในทางจับฉลาก ๒ . เป็นองค์แรก
๒๕. พระวังคีสะ เป็นผู้เลิศในทางมีปฏิภาณ.
๒๖. พระอุปเสนะ วังคันตบุตร เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วไป.
๒๗. พระทัพพะ มัลลบุตร เป็นผู้เลิศในทางจัดเสนาสนะ ( จัดที่อยู่อาศัย).
๒๘. พระปิลินทวัจฉะ เป็นผู้เลิศในทางเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเทวดา.
๒๙. พระพาหิยะ ทารุจีริยะ เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
๓๐. พระกุมารกัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าวธรรมะอันวิจิตร (ด้วยอุปมา).
๓๑. พระมหาโกฏฐิตะ เป็นผู้เลิศในทางบรรลุปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน).
๓๒. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางพหุสุต ( สดับตรับฟังมาก).
๓๓. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีสติ ( ความระลึกได้ ความทรงจำ).
๓๔. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีคติ ( คติ แปลว่า ทางไปหรือที่ไป อรรถกถาอธิบายว่า ตั้งอยู่ในบทเดียว เรียนได้หกพันบท จำได้ทุกบทตามที่พระพุทธเจ้าตรัส น่าจะหมายความว่าเป็นผู้รู้จักหลักการในการเรียนรู้ คือเมื่อจับหลักได้อย่างหนึ่งแล้ว แม้จะอธิบายยักย้ายนัยไปอย่างไร ก็เข้าใจและจำได้หมด รวมความว่า เมื่อได้หลักเพียงข้อเดียวก็มีทางเข้าใจไปได้มากข้อ).
๓๕. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีธิติ ( ธิติ โดยทั่วไปแปลว่า ความอดทน อรรถกถาแก้ว่าความเพียร คือเพียรในการเรียน, การท่องจำ, การทรงจำ, การอุปฐาก หรือรับใช้พระศาสดา).
๓๖. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้พระพุทธเจ้า).
๓๗. พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางมีบริษัท (บริวาร) มาก.
๓๘. พระกาฬุทายี เป็นผู้เลิศในทางทำสกุลให้เลื่อมใส.
๓๙. พระพักกุละ เป็นผู้เลิศในทางมีอาพาธน้อย.
๔๐. พระโสภิตะ เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
๔๑. พระอุบาลี เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
๔๒. พระนันทกะ เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี.
๔๓. พระนันทะ เป็นผู้เลิศในทางสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ).
๔๔. พระมหากัปปินะ เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ.
๔๕. พระสาคตะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในธาตุไฟ ( หมายถึงฉลาดในการเข้าสมาบัติ มีธาตุไฟเป็นอารมณ์ทำให้เกิดธาตุไฟขึ้นได้).
๔๖. พระราธะ เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดปฏิภาณ ( ในการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า).
๔๗. พระโมฆราชะ เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.

(หมายเหตุ: นับตามทางที่เลิศได้ ๔๗ ทาง แต่นับจำนวนบุคคล จะได้เพียง ๔๑ ท่าน เพราะบางท่านได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศหลายทาง)

ฝ่ายภิกษุณี

๑ . พระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี ( รัตตัญญู เพราะเป็นภิกษุณีองค์แรก ).
๒. พระนางเขมา เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก ( พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารออกทรงผนวช).
๓ . นางอุปปลวัณณา เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์.
๔. นางปฏาจารา เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
๕. นางธัมมทินนา เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๖. พระนางนันทา ( น้องพระอนุรุทธ์) เป็นในทางเข้าฌาน.
๗. นางโสณา เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
๘. นางสกุลา เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
๙. นางกุณฑลเกสา เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
๑๐. นางภัททากาปิลานี เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
๑๑. พระนางภัททา กัจจานา ( พระนางยโสธรา ) เป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ ( อรรถกถาแสดงว่ามีความสามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่าง ๆ ย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน).
๑๒. นางกิสาโคตมี เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.
๑๓. นางสิคาลมาตา เป็นผู้เลิศในทางน้อมไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).

ฝ่ายอุบาสก ( สาวกที่มิได้บวช)

๑ . พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ ( ถึงพระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ) รายแรก.
๒. อนาถปิณฑิกะ คฤหบดี ( ผู้มีชื่อเดิมว่า สุทัตตะ) เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
๓. จิตตะ คฤหบดี ผู้อยู่ ณ นครมัจฉิกาสณฑ์ เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๔. หัตถกะ อาฬวกะ ( ชาวอาฬวี) เป็นผู้เลิศในทางสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ ๓ .
๕. มหานาม ศากยะ เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ประณีต.
๖. อุคคะ คฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ชอบใจ.
๗. อุคคตะ คฤหบดี เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้) พระสงฆ์.
๘. สูระ อัมพัฏฐะ เป็นผู้เลิศในทางมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
๙. ชีวก โกมารภัจจ์ เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสในบุคคล (เจาะจงเฉพาะผู้ที่เห็นตนว่าดีงาม).
๑๐. คฤหบดี ผู้เป็นบิดาของนกุลมาณพ เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).

ฝ่ายอุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช)

๑ . นางสุชาดา ผู้เป็นธิดาของกุฏุมพี ( เศรษฐี ) ชื่อเสนิยะ เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ เป็นคนแรก ( นางสุชาดาคนนี้เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระผู้มีพระภาค และเป็นมารดาของยสกุลบุตร).
๒. นางวิสาขา มิคารมาตา ๔ . เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
๓. นางขุชชุตตรา เป็นผู้เลิศในทางสดับตรับฟังมาก.
๔. นางสามาวดี เป็นผู้เลิศในทางมีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่.
๕. นางอุตตรา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
๖. นางสุปปวาสา ธิดาของโกลิยกษัตริย์ เป็นผู้เลิศในทางถวายของปราณีต.
๗. นางสุปปิยา อุบาสิกา เป็นผู้เลิศในทางพยาบาลไข้.
๘. นางกาติยานี เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
๙. คฤหปตานี ผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).
๑๐. นางกาลี อุบาสิกา เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใส เพราะฟังจากผู้อื่น ( ฟังผู้อื่นสรรเสริญพระรัตนตรัยได้บรรลุโสดาปัตติผล).


๔. อัฏฐานปาลิ
บาลีว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

๑ . ทรงแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ แล้วแสดงฐานะที่เป็นไปได้ ประกอบรวมประมาณ ; ๓๐ ข้อ โดยใจความเรื่องคนชั่วคนดี ความชั่วความดีเป็นไปไม่ได้ทีจะปรากฏผลในทางตรงกันข้าม เช่น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป ) เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตัน ) แต่เป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ; ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นไปไม่ได้ที่จะฆ่ามารดา , ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิดประทุษร้าย, ทำลายสงฆ์ให่แตกกัน, อุทิศศาสดาอื่น ( หันไปนับถือศาสนาอื่น), แต่เป็นไปได้ที่บุถุชนจะทำเช่นนั้น; เป็นไปไม่ได้ที่ในโลกธาตุเดียวกันจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อม ๆ กัน ๒ พระองค์ แต่เป็นไปได้ที่ในโลกธาตุเดียวจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว.


๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะข้อหนึ่ง เป็นต้น อื่นอีก

ทรงแสดงธรรมะข้อเดียวที่เป็นไปเพื่อเหตุผลในทางที่ดีที่ชั่วต่าง ๆ รวมประมาณ ๔๐ ข้อ เช่น ลำดับ อนุสสติ ๑๐ ทีละข้อ มีพุทธานุสสติ ( การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ) เป็นต้นว่า เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด , ดับทุกข์ , สงบระงับ , รู้ยิ่ง, ตรัสรู้ และนิพพานได้. นอกจากนั้น ทรงแสดงถึงมิจฉาทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ) ว่าเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น ส่วนสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น เป็นต้น.


๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น

ทรงแสดงลาภอย่างแน่นอน ( เป็นลาภโดยส่วนเดียว ) (ของภิกษุ ) คือการอยู่ป่า, การถือบิณฑบาต, การทรงไตรจีวร ( ไม่สะสมมาก), การเป็นผู้แสดงธรรม, การเป็นผู้ทรงจำวินัย, การสดับตรับฟังมาก, การบวชได้ยั่งยืน, การสมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยา ( มารยาท), การสมบูรณ์ด้วยบริวาร, การมีบริวารมาก, ความเป็นกุลบุตร ( ผู้ชาย ), ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม, ความเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ, ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย, ความเป็นผู้มีอาพาธ ( โรคภัยไข้เจ็บ ) น้อย.

ทรงแสดงว่า ถ้าภิกษุเจริญฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ; เจริญเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นจากกิเลสเพราะสมาธิ ) อันประกอบด้วยเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา; เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ; เจริญอิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ ; เจริญอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่มีศรัทธาและความเพียร เป็นต้น) ๕ ; เจริญธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ; เจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ ; ( โพชฌงค์มีสติ เป็นต้น ) ; เจริญมรรคมีองค์ ๘ (มีความเห็นชอบ เป็นต้น) แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ชื่อว่าไม่ว่างจากฌาน, ทำตามคำสอนของศาสดา, บริโภคอาหารของราษฏรไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำธรรมะดั่งกล่าวแต่ละข้อนั้นให้มาก.

ในตอนสุดท้ายทรงสรรเสริญกายคตาสติ คือสติที่เป็นไปในกาย ( รู้ตัวในความเป็นไปของกายต่าง ๆ ดูที่ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๑ ว่าเป็นเหตุให้ได้บรรลุอมตธรรม.

๑. อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต มี ๑๖ อย่าง มีความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความโกรธ เป็นต้น ดูที่พระสุตตันตะ ๔ หน้า ๑ ในข้อ๗ . วัตถูปมสูตร

๒. คำว่า สลาก แปลว่า ซี่ไม้ เมื่อมีของถวายไม่เหมือนกันหรือไม่พอจำนวนแก่พระก็ต้องใช้วิธีจับฉลากด้วย คุณความดีของท่าน ท่านจับฉลากได้เป็นองค์แรก

๓. สังคหวัตถุ เรื่องของการสงเคราะห์ ๔ อย่าง คือ ๑. การให้ ๒. การพูดไพเราะ ๓. การบำเพ็ญประโยชน์ ๔. การวางตัวให้เหมาะสมคือให้เข้ากันได้ตามฐานะ

๔. คำนี้ แปลว่า มารดาของมิคารเศรษฐี ความจริงเศรษฐีผู้นี้เป็นบิดาของสามีนางวิสาขาและค่อนข้างเกเร นางวิสาขาเอาความดีชนะจนบิดาของสามียอมให้เกียรติเรียกเป็นมารดา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๒

๑. ทุกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์ หรือหมวด ๕๐ สูตร ๑
วรรคที่ ๑ ชื่อกัมมกรณวรรค ว่าด้วยเครื่องลงโทษ

๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงโทษ ๒ อย่าง คือโทษในปัจจุบันและโทษในภพหน้า . โทษในปัจจุบัน เช่น การจับโจรได้แล้วลงโทษ โดยด้วยแส้ โบยด้วยหวาย ตัดมือ ตัดเท้า ตัดศีรษะ เป็นต้น ๑ . ส่วนในโทษภพหน้า ได้แก่ผลของทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรกเมื่อตายไปแล้ว. ตรัสสอนให้กลัวโทษ เห็นภัยในโทษก็จะพ้นจากโทษทั้งปวงได้.

๒. ทรงแสดงถึงความเพียร ๒ อย่าง คือความเพียรในการทำปัจจัย ๔ ให้เกิดขึ้นของคฤหสถ์ กับความเพียรเพื่อสละกิเลสทั้งปวงของบรรพชิต ทรงยกย่องความเพียรของบรรพชิตว่าเป็นเลิศ ( ในทางศาสนา ) แล้วสอนให้ภิกษุตั้งความเพียรเพื่อสละกิเลสทั้งปวง.

๓. ทรงแสดงธรรมะ ๒ อย่างที่ทำให้เดือดร้อน คือเมื่อทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ ไม่ทำสุจริต ทางกาย วาจา ใจ ก็เดือดร้อนว่าได้ทำทุจจริต เดือดร้อนว่าไม่ได้ทำสุจจริต ส่วนธรรมะ ๒ อย่างที่ทำไม่ให้เดือดร้อน พึงพราบโดยนัยตรงกันข้าม

๔. ทรงแสดงว่า ทรงเห็นคุณของธรรมะ ๒ อย่าง คือความไม่สันโดษในกุศลธรรม ( คือไม่หยุดยั้งยินดีเพียงคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พยายามก้าวหน้าเรื่อยไปจนถึงที่สุดคืออรหัตตผล ) กับความเป็นผู้ไม่ถอยหลังในความเพียร แล้วทรงแสดงผลดีที่ทรงได้รับมาจากคุณธรรมที่กล่าวนี้ แล้วตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเน้นให้ไม่ถอยหลังในความเพียร.

๕. ทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือการพิจารณาเห็นด้วยความพอใจในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสที่ผูกมัด กับการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่ายในธรรมเช่นนั้น ทรงแสดงโทษของการพิจารณาเห็นด้วยความพอใจ คือการละกิเลสและหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่าย ทำให้ละความพอใจ คือการละกิเลสและหลูดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่าย ทำให้ละกิเลสและหลุดพ้นจากทุกข์ได้.

๖. ทรงแสดงธรรมฝ่ายดำ ๒ อย่าง คือความไม่ละอาย และความไม่เกรงกลัว ( ต่อบาป) และทรงแสดงธรรมฝ่ายขาว คือความละอาย และความเกรงกลัว ( ต่อบาป).

๗. ทรงแสดงธรรมฝ่ายขาวที่คุ้มครองโลก คือความละอาย และความเกรงกลัวต่อบาป ถ้าธรรมทั้งสองนี้ไม่คุ้มครองโลก ก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นมารดา น้า ป้า ภริยาของอาจารย์ ของครู โลกจะปนเปกันเหมือน แพะ ไก่ สุกร สนัขบ้าน สนุขป่า.

๘. ทรงแสดงการเข้าพรรษา ๒ อย่าง คือการเข้าพรรษาแรก กับการเข้าพรรษาหลัง ( ดูที่ พระวินัย เล่มที่ ๔) ในข้อ ๓. วัสสูปนายิกาขันธกะ (หมวดวันเข้าพรรษา)

วรรคที่ ๒ ชื่ออธิกรณณวรรค ว่าด้วยอธิกรณ์

๑ . ทรงแสดงกำลังกล้า ๒ อย่าง คือ กำลังคือการพิจารณา ( ปฏิสังขานพละ ) กับกำลังคือการอบรม ( ภาวนาพละ) แล้วตรัสอธบายกำลังคือการพิจารณาว่า ได้แก่การพิจารณาเห็นโทษของทุจจริต แล้วละทุจจริต เจริญสุจริตบริหารให้บริสุทธิ์ได้ . ส่วนกำลังคือการอบรม ได้แก่กำลังของพระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา) ซึ่งเป็นเหตุให้ละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ทำอกุศล ไม่เสพบาป. ครั้นแล้วทรงอธิบายกำลังทั้งสองอย่างนี้ ยักย้ายนัยต่อไปอีก ๒ แนว โดยอธิบายถึงกำลังการพิจารณาตามแนวเดิม ส่วนกำลังคือการอบรมได้แก่การเจริญโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง) มีสติ เป็นต้น แนวหนึ่ง กับอีกแนวหนึ่งได้แก่การเจริญฌาน ( การเพ่งอารมณ์ ) ทั้งสี่.

๒. ทรงแสดงธรรมเทศนาของพระตถาคตว่า มี ๒ อย่าง คืออย่างย่อ กับอย่างพิศดาร.

๓. ทรงแสดงถึงภิกษุที่ถูกกล่าวหาในอธิกรณ์ กับภิกษุผู้โจทฟ้องว่า ถ้าไม่พิจารณาตนให้ดี เรื่องก็จะยืดเยื้อแรงร้ายขึ้น และภิกษุทั้งหลายก็จะอยู่ไม่ผาสุก แล้วทรงแสดงรายละเอียดในการพิจาณาตนของภิกษุทั้งสองฝ่ายนั้น.

๔. ทรงแสดงธรรมแก่พาหมณ์ผู้หนึ่งถึงเหตุคือการประพฤติธรรม ประพฤติไม่เรียบร้อย ว่าเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินาต นรกเมื่อตายแล้ว. ส่วนการประพฤติเรียบร้อย เป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เมื่อตายแล้ว.

๕. ทรงแสดงธรรมชาณุสโสณิพราหมณ์เรื่องการเข้าถึงนรก สวรรค์ โดยชี้ไปที่การกระทำทุจจริตและการกระทำสุทจริตโดยลำดับ.

๖. ทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า ทุจจริตไม่ควรทำโดยเด็ดขาด ( ไม่มีทางผ่อนให้) เพราะเมื่อทำเข้าตนก็ติติดได้ ผู้รู้พิจารณาแล้วก็ติได้, กิตติศัพท์ชั่วย่อมฟุ่งไป, เป็นผู้หลงเมื่อตาย, ตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ส่วนสุจริตทรงแสดงโดยประการตรงกันข้าม.

๗. ทรงสอนให้ละอกุศล เพราะอาจจะละได้ ถ้าละไม่ได้ หรือถ้าละแล้วไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็จะไม่ทรงสอนให้ละ แล้วทรงสอนให้เจริญกุศล เพราะอาจจะเจริญได้ ถ้าเจริญไม่ได้ หรือเจริญแล้ว ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็จะไม่ทรงทรงสอนให้เจริญ.

๘. ทรงแสดงถึงธรรมะ ๒ อย่าง ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน คือการบกบทพยัญชนะผิด กับการแนะนำความหมายผิด . ส่วนธรรม ๒ อย่างที่ไม่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน คือการบกบทพยัญชนะถูก กับการแนะนำความหมายถูก.

วรรคที่ ๓ ชื่อพาลวรรค ว่าด้วยคนพาล

๑ . ทรงแสดงคนพาล ๒ ประเภท คือไม่เห็นโทษ ( ของตน ) กับเมื่อผู้อื่นแสดงคืนโทษ ( ผู้อื่นขอโทษ) ไม่ยอมรับแล้ว ทรงแสดงบัณฑิต ๒ ประเภทในทางตรงกันข้าม.

๒.ทรง แสดงบุคคลที่กล่าวตู่พระตถาคต ๒ ประเภท คือ ๑ . ผู้คิดประทุษร้าย ตกอยู่ในอำนาจความคิดประทุษร้าย ๒. ผู้มีศรัทธาถือเอาผิด ( จำผิด, เข้าใจผิด).

๓. ทรงแสดงบุคคลที่กล่าวตู่พระตถาคต ๒ ประเภทอีก ๒ ข้อ คือข้อแรก ผู้ที่แสดงถ้อยคำที่พระตถาคตมิได้กล่าว มิได้พูดว่า พระตถาคตกล่าวไว้ พูดไว้ กับผู้ที่แสดงถ้อยคำที่พระตถาคตกล่าวไว้ พูดไว้ว่า ตถาคตมิได้กล่าวไว้ มิได้พูดไว้ กับอีกข้อหนึ่ง ผู้แสดงพระสูตร ที่มีอรรถอันควรแนะนำว่า มีอรรถอันแนะนำแล้ว แสดงพระสูตรที่มีอรรถอันแนะนำแล้ว มีอรรถอันควรแนะนำ ( แสดงสับสนไปจากหลักธรรม).

๔. ทรงแสดงคติของตนที่ทำกรรมซึ่งต้องปกปิด ( กรรมชั่ว ) ว่า ได้แก่นรก หรือกำเนิดดิรัจฉาน ส่วนผู้ทำกรรมไม่ต้องปกปิด ( กรรมดี) มีคติเป็น ๒ คือเทพ หรือมนุษย์.

๕. ทรงแสดงว่า ผู้เห็นผิด และผู้ทุศีล มีคติเป็น ๒ ในทางชั่ว ส่วนผู้เห็นชอบและผู้มีศีลก็มีคติ เป็น ๒ ในทางดี เช่นเดียวกับข้อ ๔.

๖. ทรงแสดงธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ( ความรู้ ) ๒ อย่าง คือ สมถะ ( การทำจิตให้สงบ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) แล้วทรงแสดงผลว่า อบรมสมถะ ชื่อว่าอบรมจิต อบรมจิต ( สมาธิ) แล้วทำให้ละราคะ ) ความกำหนัดยินดี ) ไ ด้ อบรมวิปัสสนาแล้ว ชื่อว่าอบรมปัญญา อบรมปัญญาแล้ว ทำให้ละอวิชชา ( ความไม่รู้จริง) ได้.

๗. ทรงแสดงว่า จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น ปัญญาที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา ย่อมชื่อว่าไม่ได้รับการอบรม ด้วยเหตุนี้ เพราะคลายราคะ จึงชื่อว่าเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) เพราะคลายอวิชชา จึงชื่อว่าปัญญาวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา).

วรรคที่ ๔ ชื่อสมจิตตวรรค ว่าด้วยจิตสม่ำเสมอ

๑ . ทรงแสดงภูมิของอสัตบุรุษ ( คนชั่ว) และภูมิของสัตบุรุษ ( คนดี ) โดยชี้ไปที่ความเป็นผู้ไม่กตัญญูกตเวที หรือความเป็นผู้กตัญญูกตเวที ( รู้คุณที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อกตัญญู ตอบแทนหรือประกาศคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อกตเวที .)

๒. ทรงแสดงว่า บุคคล ๒ ท่าน คือมารดาบิดาเป็นผู้ที่จะสนองคุณโดยมาก แม้บุตรจะแบกมารดาบิดาไว้บนบ่าคนละข้างตั้ง ๑๐๐ ปี ปฏิบัติบำรุงด้วยประการต่าง ๆ ให้มารดาบิดาถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้น หรือทำให้มารดาบิดาเสวยราชสมบัติ ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณได้ เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตร แล้วทรงแสดงการแทนคุณ คือทำมารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธา ที่ทุศีลที่ตระหนี่ ที่มีปัญญาทราม ให้มีศรัทธา ให้มาศีล ให้รู้จักเสียสละ ให้มีปัญญา ( ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม).

๓. ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้หนึ่งว่า พระองค์เป็นทั้งกิริยวาที ( ผู้พูดว่าทำ ) และอกิริยวาที ( ผู้พูดว่าไม่ทำ ) คือให้ทำสุจริต แต่ไม่ทำทุจจริต.

๔. ทรงแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ทักขิเณยยบุคคล ( บุคคลลผู้ควรแก่ทักษิณาหรือของถวาย ) คือพระเสขะ ( พระอริยบุคคลที่ยังศึกษา คือตั้งแต่ผู้อยู่ในโสดาปัตติมรรคขึ้นไปถึงอรหัตตมรรค ) กับพระอเสขะ ( พระอรหันต์ ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะบรรลุถึงฐานะอันสูงสุดแล้ว ) ควรถวายทานในท่านเหล่านี้.

๕. พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๒ ประเภท คือ ผู้มีสัญโญชน์ภายใน ( มีกิเลสเครื่องร้อยรัดภายใน ) มีศีลสมบูรณ์ เมื่อตายแล้วก็เกิดใหม่ในหมู่พวกเทพพวกใดพวกหนึ่ง และจะกลับมาสู่โลกนี้อีก ส่วนผู้มีสัญโญชน์ภายนอก มี ๒ ปนะเภท คือผู้มีศีลสมบูรณ์ เข้าสู่เจโตวิมุต ( ฌานหรือสมาบัติ ) อันใดอันหนึ่ง เกิดในหมู่เทพพวกใดพวกหนึ่งแล้วไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก กับอีกประเภทหนึ่งคือมีศีลสมบูรณ์ ปฏิบัติเพื่อดับกาม ( ความใคร่ ) เพื่อดับภพ ( ความเป็นนั้นเป็นนี่ ) เพื่อสิ้นตัญหา เพื่อสิ้นความโลภ เมื่อตายไปแล้ว เกิดในหมู่เทพพวกใดพวกหนึ่งแล้วไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก.

๖. พราหมณ์ชื่ออารามทัณฑะถามพระมหากัจจานะถึงเหตุให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีทะเลาะกันเองกับพวกของตน พระเถระตอบชี้ไปที่ความยึดในกามราคะ ( ความกำหนัดหรือความติดในกาม ) เมื่อถามถึง สมณะทะเลาะกันเองกับสมณะเพราะเหตุไร ก็ตอบว่า เพราะติดทิฏฐิราคะ ( ความติดในทิฏฐิความเห็น ). เมื่อถามว่า มีท่านผู้ก้าวล่วงความยึดในกามราคะและทิฏฐิราคะหรือไม่ ก็ตอบว่า มี และชี้ให้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ.

๗. พระมหากัจจานะแสดงธรรมแก่กัณฑรายนพราหมณ์ ชี้ให้เห็นว่า คนมีอายุแม้มาก แต่ยังบริโภคกาม ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นเถระ ( ผู้เฒ่าผู้ใหญ่) ส่วนคนหนุ่มตั้งอยู่ในปฐมวัย ถ้าไม่บริโภคกาม ก็ชื่อว่าเป็นเถระได้.

๘. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเปรียบภิกษุชั่วด้วยโจร เปรียบภิกษุผู้รักษาศีลว่าเหมือนพระราชา ที่ทำให้ชนบทไม่มีความผาสุกหรือมีความผาสุกได้ สุดแต่ฝ่ายไหนจะมีกำลังกว่ากัน.

๙. ตรัสว่า ไม่ทรงสรรเสริญการปฏิบัติของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ( นักบวช ). คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ปฏิบัติผิดแล้ว ก็ไม่ได้บรรลุกุศลธรรมที่ถูก. ทรงสรรเสริญการปฏิบัติชอบของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต. คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้บรรลุกุศลธรรมที่ถูก.

๑๐. ตรัสว่า ภิกษุที่คัดค้านอรรถะธรรมะด้วยพระสูตรที่จำมาผิด มีพยัญชนะวิจิตร ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์และความสุข และประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ทั้งทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน. แล้วทรงแสดงถึงภิกษุที่รับรองอรรถะธรรมะด้วยพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี มีพยัญชนะวิจิตร ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขะ และประสบบุญเป็นอันมาก ทั้งดำรงพระสัทธรรมไว้.

วรรคที่ ๕. ชื่อปริสวรรค ว่าด้วยบริษัท

๑ . ทรงแสดงถึงบริษัท ๒ อย่าง คือตื้นอย่างหนึ่ง ลึกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าตื้นเพราะขาดคุณธรรม ๒ . ที่ชื่อว่าลึกเพราะมีคุณธรรม ; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ ( แตก ) เป็นพวก กับที่พร้อมเพรียงกัน ; บริษัท ๒ อย่าง ที่มีคนเลิศ กับไม่มีคนเลิศ ที่ไม่มีคนเลิศ คือมักมาก ย่อหย่อน เห็นแก่นอน ทอดธุระในความสงัด เป็นต้น ที่มีคนเลิศ คือที่ตรงกันข้าม; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ไม่ประเสริญ กับประเสริฐ เพราะไม่รู้หรือเพราะรู้ อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ; บริษัท ๒ อย่าง คือบริษัทขยะ กับบริษัทที่มีแก่นสาร บริษัทขยะ คือที่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว บริษัทที่มีแก่นสาร คือที่ไม่ลำเอียงเพราะรัก เป็นต้น ; บริษัทที่แนะนำยาก ๓ . กับ บริษัทที่แนะนำง่าย; บริษัท ๒ อย่าง คือที่หนักในอามิส ( เห็นแก่ลาภ ) ไม่หนักในสัทธรรม กับที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ไม่สม่ำเสมอ กับที่สม่ำเสมอ ( กำหนดด้วยภิกษุที่มีการกระทำไม่ถูกธรรมวินัยถูกธรรมวินัย ) บริษัท; ๒ อย่าง คือที่ไม่ประกอบด้วยคุณธรรมกับที่ประกอบด้วยคุณธรรม ; บริษัท ๒ อย่าง คือที่กล่าวเป็นอธรรม กับที่กล่าวเป็นธรรม.

(หมายเหตุ: ในหมวด ๕๐ ที่ ๑ ซึ่งมี ๕ วรรค มี ๕๐ สูตรนี้ ได้โดยย่อมากล่าวให้เห็นทุกสูตร ส่วน หมวด ๕๐ ต่อ ๆ ไป จะย่อพอเห็นความที่สำคัญ).

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๒

( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับวรรคที่ ๑ ว่าด้วยบุคคล วรรคที่ ๒ ว่าด้วยความสุข วรรคที่ ๓ ว่าด้วยสิ่งที่มีเครื่องหมาย วรรคที่ ๔ ว่าด้วยธรรม และวรรคที่ ๕ ว่าด้วยพาล ).

๑ . ทรงแสดงบุคคล ๒ ประเภท ในลักษณะต่าง ๆ เช่น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นผู้เกิดเพื่อประโยชน์และความสุขแก่โลก, เป็นอัจฉริยมนุษย์, สิ้นชีวิตก็ทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนถึง, เป็นผู้ควรแก่สตูป ( ก่อเจดีย์ไว้ใส่อัฏฐิธาตุหรือกระดูกเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว) เป็นต้น.

๒. ทรงแสดงความสุข ๒ อย่าง หลายประเภท ความสุขของคฤหัสถ์ กับความสุขในการบรรพชา, ความสุขในกาม กับความสุขในการออกจากกาม, ความสุขที่มีกิเลส กับความสุขที่ไม่มีกิเลส, ความสุขที่มีอาสวะ ( กิเลสที่ดองอยู่ในสันดาน ) กับความสุขที่ไม่มีอาสวะ , ความสุขที่มีอามิส กับความสุขที่ไม่มีอามิส, ความสุขที่ประเสริฐ ( อริยะ) กับความสุขที่ไม่มีประเสริฐ, ความสุขทางกาย กับความสุขทางใจ, ความสุขที่มีปีติ ( ความอิ่มใจ ) กับความสุขที่ไม่มีปีติ , ความสุขที่มีความสำราญ กับความสุขที่มีความวางเฉย , ความสุขที่เนื่องด้วยสมาธิ กับความสุขที่ไม่เนื่องด้วยสมาธิ เป็นต้น.

๓. ทรงแสดงว่า อกุศลบาปธรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะมีนิมิต ( เครื่องหมายในจิตใจ ) มิใช่เกิดขึ้นโดยไม่มีนิมิต. เพราะละนิมิตได้ อกุศลบาปธรรมก็จะไม่มี. แล้วทรงแสดงหลักการโดยทำนองเดียวกันว่า อกุศลบาปธรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะมีต้นเหตุ ( นิทาน ) , มีเหตุ, มีเครื่องปรุง, มีปัจจัย, ในรูป, มีเวทนา, มีสัญญา, ( ความจำได้หมายรู้ ), มีวิญญาน ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ), มีอารมณ์ที่ปัจจัยปรุงแต่ง.

๔. ทรงแสดงธรรมที่เป็นคู่กัน ๒ อย่าง หลายประเภท คือเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) กับปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ), ความเพียร กับความที่จิตอมีอารมณ์เป็นหนึ่ง , นาม กับรูป, วิชชา ( ความรู้) กับวิมุติ ( ความหลุดพ้น ), ภวทิฏฐิ ( ความเห็นว่าเที่ยง ) กับวิภวทิฏฐิ ( ความเห็นว่าขาดสูญ ), ความไม่มีหิริ กับความไม่มีโอตตัปปะ, หิริ ( ความละอายต่อปาป ) กับการโอตตัปปะ ( ความเกรงกลัวต่อบาป ), ความเป็นผู้ว่ายาก กับการคบคนชั่วเป็นมิตร, ความเป็นผู้ว่าง่าย กับการคบคนดีเป็นมิตร, ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ กับความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ ( ความใสใจหรือทำในใจ ), ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ กับความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ.

๕. ทรงแสดงคนพาลกับบัณฑิต ๒ ประเภท หลายอย่าง โดยแบ่งไปตามลักษณะ คือผู้เอาภาระที่ยังไม่มาถึง กับไม่เอาภาระที่มาถึง เป็นพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต , ผู้สำคัญว่าควรในของที่ไม่ควรกับสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร เป็นพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต, ผู้สำคัญผิดในเรื่องต่าง ๆ เช่น อาบัติ, ธรรมะ, วินัย, ว่าไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นธรรมะ ไม่เป็นวินัย เป็นคนพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต แล้วทรงแสดงว่าอาสวะ ( กิเลสที่ดองในสันดาน ) ย่อมเจริญและไม่เจริญแก่บุคคล ๒ ประเภท ที่สำคัญผิดต่าง ๆ กับที่ไม่สำคัญผิดต่าง ๆ ในเรื่องที่ควรรังเกียจเรื่องอาบัติ, ธรรมะและวินัย.

ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๓

( มี ๕๐ สูตร และ ๕ วรรค เช่นเดียวกัน วรรคที่ ๑ ว่าด้วยความหวัง, วรรคที่ ๒ ว่าด้วยการขอร้อง , วรรคที่ ๓ ว่าด้วยทานการให้, วรรคที่ ๔ ว่าด้วยการต้อนรับ, วรรคที่ ๕ ว่าด้วยสมาบัติ).

๑. ทรงแสดงความหวังที่ละได้ยาก คือความหวังในลาภ กับความหวังในชีวิต, บุคคลที่หาได้ยาก คือบุพพการี ( ผู้ทำคุณก่อน ) กตัญญูกตเวที ( ผู้รู้คุณและตอบแทน), บุคคลที่หาได้ยาก คือผู้อิ่ม กับผู้ทำให้คนอื่นอิ่ม, บุคคลที่ทำให้อิ่มได้ยาก คือผู้เก็บไว้ ( ไม่ใช้เอง ไม่ให้ใคร ) กับผู้สละสิ่งที่ได้มาแล้ว, ส่วนบุคคลที่ทำให้อิ่มได้ง่าย คือที่ตรงกันข้าม, ปัจจัยให้เกิดราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) คือความกำหนดเครื่องหมายสิ่งที่งาม ( สุภนิมิต ) กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ปัจจัยให้เกิดโทสะ คือความกำหนดเครื่องหมายสิ่งที่ขัดใจ ( ปฏิฆนิมิต ) กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด คือเสียงโฆษณาจากคนอื่น กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, อาบัติ ๒ อย่าง ๓ ประเภท คืออาบัติเบา กับอาบัติหนัก, อาบัติชั่วหยาบ กับอาบัติไม่ชั่วหยาบ, อาบัติมีส่วนเหลือ ( ต้องเข้าแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ ) กับอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ( ต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ).

๒. ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้มีศรัทธาขอร้องโดยชอบ พึงขอร้องให้ ( ตนเอง ) เป็นเช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นเครื่องชั่ง เป็นเครื่องประมาณ ( เป็นมาตรฐาน ) แห่งภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของพระองค์, ส่วนภิกษุณีผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นเช่นนางเขมา กับนางอุปปลวัณณา; อุบาสกผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นเช่นจิตตฤหบดี กับหัตถกะ อาฬวกะ; อุบาสิกาผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นให้เป็นเช่นขุชชุตตรา อุบาสิกา กับนางเวฬกัณฏกิยา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๑๒ หน้า ๑ ( ฝ่ายอุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช) (หมายเลข ๕) จะเห็นว่า ในที่นั้นชื่ออุตตรา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ถ้าเป็นคนเดียวกันก็น่าจะมีชื่อนำหน้าหลายอย่าง อรรถกถาแก้ว่า นางขุชชุตรา เป็นผู้เลิศทางปัญญา นันทมาตา ( มารดาของนันทมาณพ ) เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ ) ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า คนพาลกับบัณฑิตต่างประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง ในทางที่ตรงกันข้าม เช่น คนพาลไม่พิจารณาสอบสวน ชมผู้ไม่ควรชม ติผู้ไม่ควรติ ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม เป็นต้น.

๓. ทรงแสดงถึงการให้ การบูชา การสละ เป็นต้น ว่ามี ๒ อย่าง คือการให้อามิส ( สิ่งของ ) กับการให้ธรรม.

๔. ทรงแสดงถึงการต้อนรับ การแสวงหา เป็นต้น ว่ามี ๒ อย่าง คือการต้อนรับด้วยอามิส ( สิ่งของ ) กับการต้อนรับด้วยธรรม.

๕. ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ( เข้าฌาน) กับความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ และธรรมฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว เป็นคู่ ๆ กันไป.

พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด หมวด ๕๐

(หมายความว่า หมวดนี้ประมวลพระสูตรที่เป็นพระสูตรที่เป็นเศษของ ๕๐ อันเหลือมาจากที่ประมวลไว้ในหมวด ๕๐ หมวดที่แล้วมา หรือเท่ากับเป็นหมวดรวบรวมพระสูตรที่เป็นเศษของ ๑๕๐ สูตร).

ใจความในหมวดนี้ คงกล่าวถึงธรรมที่มีจำนวน ๒ ข้อ ฝ่ายชั่วฝ่ายดีคู่กัน เช่น ความโกรธกับความผูกโกรธ, ความลบหลู่บุญคุณท่าน กับการตีเสมอ, ความริษยา กับความตระหนี, มายา กับความโอ้อวด, ความไม่ละอาย กับความไม่เกรงกลัว . ในฝ่ายดีพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.

๑. ที่แสดงไว้ในบาลีมีถึง ๒๖ อย่าง

๒. คำว่า ขาดคุณธรรม หมายความรวม ในบาลีแสดงว่า ที่ฟุ้งสร้าน ถือตัว พูดเพ้อ ปากกล้า พูดไม่สำรวม หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์

๓. คำว่า แนะนำยาก แนะนำง่าย เป็นคำแปลหักให้เข้าใจง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๓

๑. ติกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์ หรือหมวด ๕๐ ที่ ๑
วรรคที่ ๑ ชื่อพาลวรรค ว่าด้วยคนพาล

ทรงแสดงว่า ภัย ( สิ่งที่น่ากลัว ) อุปัทวะ ( สิ่งที่เบียดเบียนหรือเป็นอันตราย ) อุปสัค ( สิ่งที่ขัดข้อง ) ทั้งปวง ย่อมเกิดจากคนพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต ; ทั้งพาลทั้งบัณฑิตมีกรรม ( การกระทำ ) เป็นลักษณะ พึงทราบคนพาลด้วยธรรม ๓ ประการ คือทุจจริตทางกาย , ทางกาย , ทางใจ ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ; ลักษณะ เครื่องหมายและความประพฤติของคนพาลมี ๓ อย่าง คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ; นอกจากนั้นทรงแสดงว่า คนพาลประกอบด้วยธรรมะ ๓ ประการ หลายประเภท เช่น ไม่เห็นโทษ ล่วงเกิน ( ที่ตนทำ ) , เห็นแล้วไม่ทำคืน, เมื่อมีผู้อื่นแสดงโทษล่วงเกิด (ขอโทษ ) ไม่รับ ; ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย, ตอบปัญหาไม่แยบคาย, เมื่อคนอื่นตอบปัญหาโดยแยบคาย ไม่อนุโมทนา (ไม่รับรองว่าถูกต้อง ) ; มีการกระทำทางกาย , ทางวาจา, ทางใจ อันเป็นอกุศล ; อันเป็นโทษ ; อันมีการเบียดเบียน ; ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม; ทรงแสดงทุจจริต ๓ ว่าเป็นเหตุบริหารตนอย่างขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเอง มีโทษอันผู้รู้ตามว่ากล่าวได้ ทำให้ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ; ทรงแสดงมลทิน คือความเป็นผู้ทุศล , ความริษยา , ความตระหนี่ว่า ทำให้เหมือนนำตนไปตั้งไว้ในนรก กับตรงกันข้ามทำให้เหมือนตนไปตั้งไว้ในสวรรค์.


วรรคที่ ๒ ชื่อรถการวรรค ว่าด้วยช่างทำรถ

ทรงแสดงถึงการที่ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ อย่างว่า ปฏิบัติมิใช่เพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนมาก คือผู้ชักชวนในการกระทำทางกาย, ทางวาจา , ทางใจ อันไม่ควร แล้วทรงแสดงฝ่ายดีทางตรงกันข้าม ; การที่ภิกษุบวช , รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกตลอดชีวิต ; บุคคล ๓ ประเภท คือผู้ไม่มีความหวัง , ผู้มีความหวัง , ผู้ปราศจากความหวัง ; ผู้ไม่มีความหวัง คือผู้ตกต่ำ, ผู้มีความหวัง คือราชบุตรผู้รอการกภิเภก , ผู้ปราศจากความหวังคือพระราชาผู้ได้รับอภิเษกแล้ว เทียบกับคดีธรรม ผู้ไม่มีความหวัง คือผู้ทุศีล, ผู้มีความหวัง คือผู้มีศีล, ผู้ปราศจากความหวัง คือผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ( ผู้เป็นอรหันต์แล้ว) ; พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมราชา อาศัยธรรม เคารพธรรม ทรงให้การรักษาคุ้มครองการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ว่าอย่างนี้ควรเสพ ไม่ควรเสพ ย่อมทรงหมุนธรรมจักร ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ก็ปฏิวัติไม่ได้ ( ทำให้ย้อนกลับไม่ได้) ในโลก เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ์ ( ทางโลก ) ที่อาศัยธรรม เคารพธรรม ให้การรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์และสัตว์ ย่อมหมุนล้อรถได้โดยธรรม ซึ่งข้าศึกจะปฏิวัติหรือหมุนกลับไม่ได้ด้วยมือ ; ทรงเล่าเรื่องช่างทำรถที่ทำล้อรถข้างหนึ่งกินเวลา ๖ เดือน ขาด ๖ คืน แต่ล้อรถอีกข้างหนึ่งเสร็จภายใน ๖ วัน พระราชาตรัสถาม ก็ทดลองให้ดูล้อรถข้างหนึ่งที่ทำนานหมุนไปได้ เมื่อหยุดหมุนก็ไม่ล้ม แต่ข้างที่เสร็จไว เมื่อหยุดหมุนก็ล้ม เพราะมีความคด ทรงสอนให้ละความคดทางกาย วาจา ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องนั้น . ทรงข้อปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ คือความสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ). รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร, ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่การนอนมากนัก ) ; ทรงแสดงทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ส่วนสุจริตกาย วาจา ใจ ตรงกันข้าม; ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายเบื่อหน่ายด้วยอายุ, วรรณะ ( ผิวพรรณ ), สุข , ยศ และความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ แต่ก็พึงเบื่อหน่ายทุจจริตกาย วาจา ใจก่อน ; พ่อค้าที่ประกอบด้วยองค์ ๓ คือไม่ตรวจตราการงานด้วยดีในเวลาเช้า, เที่ยง, เย็น ก็ไม่ควรจะได้รับโภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้เจริญขึ้น, ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ไม่ตรวจสมาธินิมิต ( เครื่องหมายในสมธิ ) ด้วยดีในเวลาเช้า, เที่ยง, เย็น ก็ไม่ควรได้บรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ หรือกุศลธณรมที่บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นฉันนั้น ; พ่อค้าที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลในโภคทรัพย์ในเวลาไม่นาน คือมีตาดี , ขยัน , ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย ( รู้จักคนกว้างขวาง ), ทรงแสดงว่า ภิกษุมีตาดี คือรู้อริยสัจจ์ ๔ , ขยัน คือไม่ทอดธุระในกุศลธรรม, ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย คือเข้าไปหาท่านผู้รู้เป็นครั้งคราว เพื่อไต่ถามปัญหา ก็จะถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลในกุศลธรรมฉันนั้น.


วรรคที่ ๓ ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล

๑. พระสวิฏฐะ กับพระมหาโกฏฐตะ ไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงถามพระสวิฏฐะว่า บุคคล ๓ ประเภท คือ กายสักขี ( ผู้บรรลุฌานก่อนแล้วจึงทำนิพพานให้แจ้ง ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภทที่ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค), ๑ . ทิฏบิปัตตะ ( ผู้ถึงที่สุดแห่งทิฏฐิ คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เหมือนกายสักขี ), สัทธาวิมุต ( ผู้หลุดพ้นเพราะศรัทธา ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภทเช่นเดียวกัน ที่ต่างกันก็คือ ลักษณะเฉพาะก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล) ในบุคคล ๓ ประเภทนี้ พระสวิฏฐะชอบว่าใครจะดีกว่า ประณีตกว่ากัน. พระสวิฏฐะตอบว่า ชอบ สัทธาวิมุต ว่าดีกว่า ประณีตกว่าเพราะมีอินทรีย์ คือศรัทธามีประมาณยิ่ง. แล้วพระสารีบุตรจึงย้อนถามพระมหาโกฏฐิตะว่า ชอบบุคคลประเภทไหน พระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ชอบ กายสังขี เพราะมีอินทรีย์ คือสมาธิมีประมาณยิ่ง. พระมหาโกฏฐิตะถามพระสารีบุตรบ้างว่า ชอบบุคคลประเภทไหน พระสารีบุตรตอบว่า ชอบ ทิฏฐิปัตตะ เพราะมีอินทรีย์ คือปัญญาประมาณยิ่ง. แล้วทั้งสามท่านจึงพากันไไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสตอบว่ายากที่จะชี้ลงไปโดยส่วนเดียวว่า ใครจะดีว่า ประณีตกว่ากัน เพราะต่างก็ปฏิบัติเพื่ออรหัตต ( ผล ) และเป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามีด้วยกัน.

(หมายเหตุ: คำอธิบายในวงเล็บว่า บุคคลทั้งสามประเภท ได้แก่พระบริยบุคคล ๖ ประเภท คือ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตมรรคนั้น เป็นคำอธิบายตามอรรถกถาปุคคลบัญญัติ แต่สังเกตตามพระพุทธภาษิตในตอนท้ายคล้ายกับว่า ตั้งแต่สกทาคามีอนาคามีขึ้นไปถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค มิได้กล่าวถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบุคคลชั้นโสดาบันเลย จึงน่าสังเกตเป็นหลักวิชาประกอบค้นคว้าต่อไป).

ต่อจากนั้นทางแสดงถึงคนไข้ ๓ ประเภท คือ ๑. ได้อาหาร, ยา, คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ๒. ได้อาหาร, ยา, คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายหรือไม่ก็ตาม ก็หายจากอาพาธนั้น. ๓. ต่อเมื่อได้อาหาร, ยา , คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น. ทรงอาศัยบุคคลประเภทหลัง จึงทรงอนุญาตอาหาร , ยา , คนพยาบาล สำหรับผู้เป็นไข้ และอาศัยคนไข้ ( ประเภทหลัง) นี้ จึงพยาบาลคนไข้อื่น ๆ ( ๒ ประเภทแรก ) ด้วย , แล้วทรงแสดงธรรมเปรียบเทียบถึงบุคคล ๓ ประเภท ( ในทางธรรม ) คือ ๑. ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ก็ตาม, ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรม. ๒. ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ก็ตาม, ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศหรือไม่ก็ตาม ก็ก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรมได้. ๓. ต่อเมื่อได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว จึงก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรมได้, เพราะอาศัยบุคคล ( ประเภทหลัง) นี้ จึงทรงอนุญาตการแสดงธรรม และเพราะอาศัยบุคคล ( ประเภทหลัง ) นี้ จึงควรแสดงธรรมแก่คนอื่น ( ๒ ประเภทแรก ) ด้วย.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้ปรุงกายสังขาร ( เจตนาทางกาย) ปรุงวจีสังขาร ( เจตนาทางวาจา) และปรุงมโนสังขาร ( เจตนาทางใจ ) อันมีการเบียดเบียน ย่อมเข้าสู่ (เกิดใน) โลกที่มีการเบียดเบียนถูต้องผัสสะ อันมาการเบียนดเบียน เสวยเวทนาอันมีการเบียดเบียน มีทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น สัตรนรก , ส่วนที่ตรงกันข้าม คือไม่เกี่ยวกับการเบียดเบียนเลย ก็ได้รับผลตรงกันข้าม เช่น เทพสุภกิณหะ, พวกที่ปรุงกายสังขาร เป็นต้น มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง ก็ได้รับผลผสมกัน ( ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ) เช่น มนุษย์บางพวก เทพบางพวก วินิบาต ( เปรตที่อยู่วิมาน ) บางพวก.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภทที่มีอุปการะมาก คือ ๑. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ๒. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง ๓. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ไม่มีบุคคลอื่นจะมีอุปการะยิ่งกว่าบุคคลทั้งสามประเภทนี้ และบุคคลทั้งสามประเภทนี้ มิใช่จะตอบแทนคุณได้โดยง่ายด้วยการแสดงความเคารพหรือให้ปัจจัย ๔.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนมีจิตเปรียบด้วยแผล คือคนขี้โกรธ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อย ก็แสดงอาการโกรธเคือง เหมือนแผลถูกไม้หรือกระเบื้อง ก็มีเลือดหรือหนองไหล ๒. คนมีจิตเปรียบด้วยสายฟ้า คือรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เหมือนคนตาดีเห็นรูปในเวลากลางคืนอันมืดสนิทในระหว่างที่ฟ้าแลบ ๓. คนมีจิตเปรียบด้วยเพชร คือทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน เหมือนเพชรทำลาย ( ตัด ) แก้วมณี หรือแผ่นหินได้.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนที่ไม่ควรคบ ได้แก่คนที่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา ๒ ๒. คนที่ควรคบ ได้แก่คนที่เสมอกันด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ๓. คนที่ควรคบอย่างสักการะเคารพ ได้แก่คนที่ยิ่งกว่าโดยศีล สมาธิ ปัญญา.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนที่ควรเกลียด ไม่ควรคบ ได้แก่คนทุศีล ไม่เป็นสมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ เป็นคนเน่าใน ๒. คนที่ควรวางเฉย ไม่ควรคบ ได้แก่คนขี้โกรธ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อย ก็แสดงอาการโกรธเคือง ๓. คนที่ควรคบ ได้แก่คนที่มีศีล มีกัลยาณธรรม. ( ตรัสเปรียบเทียบขำ ๆ สำหรับบุคคลประเภท ๑ และ ๒ คือประเภทที่ ๑ เปรียบเหมือนงูที่เลื้อยลงไปในอุจจาระ แม้ไม่กัดก็เปื้อน ประเภทที่ ๒ เหมือนเอาไม้หรือกระเบื้องไปเขี่ยหลุมอุจจาระ รังแต่จะเกิดกลิ่นเหม็นยิ่งขึ้น).

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนพูดเหม็น ( พูดเป็นอุจจาระ ) ได้แก่ผู้พูดปดทั้ง ๆ รู้ เพื่อตน เพื่อผู้อื่นหรือเพราะเห็นแก่อามิส ๒. คนพูดหอม ( พูดเป็นดอกไม้ ) ได้แก่ผู้ไม่พูดปดทั้ง ๆ ที่ รู้ เพื่อตน เพื่อผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิส ๓. คนพูดหวาน ( พูดเป็นน้ำผึ้ง ) ได้แก่ผู้ที่เว้นจากการพูดคำหยาบพูดแต่คำที่รื่นหู เป็นที่พอใจแห่งคนมาก.

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนตาบอด ได้แก่ผู้ไม่มีตาที่จะทำโภคทรัพย์ให้เกิด ที่จะทำโภคทรัพย์ที่เกิดแล้วให้เจริญ กับไม่มีตาที่จะรู้ธรรมอันเป็นกุศลหรือกุศล ๒. คนมีตาข้างเดียว ได้แก่ผู้มีตาที่จะทำโภคทรัพย์ให้เกิด ที่จะทำโภคทรัพย์ที่เกิดแล้วให้เจริญแต่อย่างเดียว แต่ไม่มีตาที่จะรู้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ๓. คนมีตาทั้สองข้าง ได้แก่คนที่มีตาทั้งสองประเภทนั้น ( ตาทางโลก, ตาทางธรรม).

ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำที่กรองน้ำไม่ลง ได้แก่คนที่ไม่สนใจฟังธรรมทั้งในขณะแสดงธรรมและขณะที่ตนลุกไปแล้ว ๒. คนมีปัญญาเหมือนชายพกที่ใส่ของไว้เวลาลุกขึ้นก็หล่นเรี่ยราด ได้แก่คนที่สนใจฟังธรรมะขณะแสดง ลุกขึ้นแล้วไม่สนใจ ๓. คนมีปัญญาหนาแน่น ( เหมือนหม้อน้ำหงายเปิดฝากรองน้ำลงไปได้ไม่หก ) ได้แก่คนที่สนใจฟังธรรม ลุกไปแล้วก็สนใจ ( พิจารณาเบื้องตน ท่ามกลางและที่สุด).


วรรคที่ ๔ ชื่อเทวทูตวรรค ว่าด้วยทูตของเทวดา

ทรงแสดงว่า ตระกูลที่บุตรบูชามารดาบิดาในเรือนของตน ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มีพรหม, มีบูรพาจารย์ ( อาจารย์คนแรก ), มีผู้ควรแก่การของคำนับ. คำทั้งสามคำนี้เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปการะมากเป็นผู้เลี้ยงดูแสดงโลกนี้แก่บุตร.

ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ โดยทรงแสดงว่า มีภิกษุที่ได้สมาธิ โดยประการที่จะไม่มีการถือเรา ถือของเราและถือตัว ในร่างกายอันมีวิญญาณครองนี้, จะไม่มีการถือเรา เป็นต้น ในนิมิต ( เครื่องหมาย ) ทั้งปวง ภายนอก , จะเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอยู่.

ตรัสกับพระสารีบุตรว่า ทรงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง ทั้งโดยย่อทั้งพิศดารบ้าง แต่ผู้รู้ธรรมะหาได้ยาก. เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลขอร้องให้ทรงแสดง จึงทรงแสดงให้สำเนียกว่า จักมีคุณธรรมอย่างที่ตรัสตอบพระอานนท์ ( ข้างบนนี้ ) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้ทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าตัดตัญหาได้ แก้เครื่องผูกมัดได้ ทำที่สุดได้ เพราะตรัสรู้ธรรมเป็นเหตุละมานะได้โดยชอบ.

ทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม ( การกระทำ ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลในชาติปัจจุบัน ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป และทรงแสดงอโลภะ อโทสะ อโมหะ ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม ( การกระทำ ) เช่นเดียวกัน ( แต่เป็นไปในทางดี ).

ตรัสตอบคำถามของหัตถกะ อาฬวกะ ( ชาวแคว้นอาฬวี ) ว่าทรงบรรทมเป็นสุขคนหนึ่งในโลก แม้ราตรีฤดูหนาวจะเย็น หิมะจะตก ดินจะแตกระแหง เครื่องปูลาดจะน้อย ใบไม้จะโปร่ง ผ้ากาสายะจะเย็น ลมจะพัด เพราะทรงละราคะ โทสะ โมหะ ( อันทำให้เกิดความเดือดร้อนทางกาย ทางจิต ) ได้เด็ดขาดแล้ว.

ทรงแสดงเรื่องเทวทูต ๓ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ซึ่งควรเป็นเครื่องเตือนใจคน ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วแสดงการที่ผู้ทำกรรมชั่วจะถูกทรมานในนรกอย่างไร.

ทรงแสดงการที่เทพชั้นดาวดึงส์ไม่พอใจ เมื่อทราบว่ามนุษย์ไม่ปฏิบัติต่อมารดาบิดา เป็นต้น ไม่รักษาอุโบสถ และพอใจเมื่อทราบว่ามนุษย์ปฏิบัติดี.

ทรงแสดงว่า ท้าวสักกะสอนเทพชั้นดาวดึงส์ สรรเสริญการรักษาอุโบสถมีองค์ ๘ ในวันอุโบสถ .

ทรงแสดงความที่พระองค์เป็น ( กษัตริย์ ) สุขุมาลชาติ แล้วทรงละความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในชีวิตเสียได้.

ทรงแสดงอาธิปไตย ( ความเป็นใหญ่ ) ๓ อย่าง คือ อัตตาธิปไตย ( ถือตนเป็นใหญ่ ) โลกาธิปไตย ( ถือโลกเป็นใหญ่ ) และธัมมาธิปไตย ( ถือธรรมะเป็นใหญ่ ) แล้วทรงอธิบายถึงคนที่เว้นความชั่ว ประพฤติความดี เพราะปรารภตนบ้าง ปรารภโลกบ้าง ปรารภธรรมะบ้าง.

๑. อธิบายตามอรรถกถาปุคคลบัญญัติ อภิธัมมปิฎก หน้า ๕๕

๒. มีเงื่อนไขพิเศษสำหรับบุคคลประเภทนี้ ที่ว่าไม่ควรคบนั้น เว้นไว้แต่จะเอ็นดู จะอนุเคราะห์ คือคบเพื่อช่วยให้เขาดีขึ้นกว่าเดิม

เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๔

วรรคที่ ๕ ชื่อจูฬวรรค ว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้บุญมาก เพราะพร้อมหน้าธรรมะ ๓ อย่าง คือ ๑. พร้อมหน้าศรัทธา ๒. พร้อมหน้าไทยธรรม ( ของถวาย ) ๓. พร้อมหน้าผู้ควรแก่ของถวาย ( ทักขิไณยบุคคล ).

คนมีศรัทธาพึงทราบโดยฐานะ ๓ คือ ๑. ใคร่เห็นท่านผู้มีศีล ๒. ใคร่ฟังพระสัทธรรม ๓. ยินดีในการบริจากทาน.

บุคคลเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ อย่าง จึงควรแสดงธรรม คือ ๑. ผู้แสดงย่อมรู้อรรถรู้ธรรม ๒. ผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังสองฝ่ายย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.

กถา ( ถ้อยคำ ) ย่อมเป็นไปโดยฐานะ ๓ คือ ๑. ผู้แสดงธรรม ๒. ผู้ฟังธรรม ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.

สิ่งที่บัณฑิตบัญญัติ ที่สัตบุรุษ ( คนดี ) บัญญัติ ๓ อย่าง คือ ๑. ทาน การให้ ๒. บรรพชา การถือบวช ๓. มาตาปิตุปัฏฐาน บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา.

มนุษย์ย่อมได้บุญมาก ในที่ที่บรรพชิตผู้มีศีลอาศัยอยู่ เป็นการได้บุญโดยฐานะ ๓ คือทางกาย ทางวาจา ทางใจ.

ลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ( สังขตลักษณะ ) ๓ อย่าง คือความเกิดขึ้นปรากฏ ความเสื่อมปรากฏ ความแปรปรวนปรากฏ ส่วนลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง (อสังขตลักษณะ) ตรงกันข้าม.

อันโตชน ( คนภายใน ) ที่อาศัยหัวหน้าครอบครัว ผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๓ อย่าง คือเจริญศรัทธา ด้วยศีล ด้วยปัญญา เหมือนไม้สาละใหญ่ เจริญด้วยกิ่งใบ ด้วยเปลือกและสะเก็ด ด้วยกะพี้และแก่น.

ควรทำความเพียรโดยฐานะ ๓ คือ ๑. เพื่อมิให้เกิดอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิด ๒. เพื่อให้เกิดกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ๓. เพื่ออดทนต่อทุกขเวทนากล้า. ภิกษุผู้ทำได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพิ่อทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดโดยชอบ.

มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๓ จึงทำการของโจรได้ คือ ๑. อาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ ๒. อาสัยป่ารก ๓. อาศัยกำลัง. ภิกษุชั่วก็ประกอบด้ยองค์ ๓ คืออาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ เทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่เรียบร้อย อาศัยป่าชัฏ เทียบด้วยมีความเห็นผิด อาศัยกำลัง เทียบด้วยอาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ( สนับสนุน).


ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒

( ในหมวด ๕๐ นี้ คงมี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับหมวด ๕๐ ที่แล้วมา. วรรคทั้งห้า คือ ๑. พราหมณวรรค ว่าด้วยพรหามณ์ ๒. มหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่ ๓. อานันทวรรค ว่าด้วยพระอานนท์ ๔. สมณวรรค ว่าด้วยสมณะ ๕. โลกรณผลวรรค ว่าด้วยเมล็ดเกลือ. ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ในหมวด ๕๐ ที่ ๑ ย่อไว้ค่อนข้างพิศดาร พอถึงหมวด ๕๐ ต่อไป ก็ย่อสั้นลงไปอีก ดังที่เป็นมาแล้วในทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ , ในติกนิบาต ชุมนุมธณรมะที่มี ๓ ข้อนี้ ก็จะทำเช่นเดียวกัน หมายเลข ข้างหน้าข้อความจึงเท่ากับเป็นเครื่องหมายวรรคที่เท่านั้นเท่านี้ด้วย.

๑. ตรัสสอนพราหมณ์ชรา อายุประมาณ ๑๒๐ ปี ๒ คน ที่มาเฝ้าขอให้ทรงสั่งสอน จึงตรัสว่าโลกอันความแก่ ความเจ็บ ความตาย นำเข้าไปใกล้ จึงสำรวมทางกาย วาจา ใจ เพื่อเป็นเครื่องต้านทานเป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของผู้ที่ละโลกนี้ไป
และทรงสอนพราหมณ์ชราทั้งสองคน ในทำนองเดียวกัน เป็นแต่แสดงว่า โลกร้อน ( ลุกเป็นไฟ ) เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง เรื่องธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันผู้รู้พึงทราบจำเพราะตน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อคนกำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว หลงแล้ว ย่อมคิดเบียดเบียนตน คนอื่น ทั้งตนทั้งผู้อื่น ได้ประสบความทุกข์โทมนัส เมื่อละราคะ โทสะ โมหะได้ ก็ไม่เป็นเช่นนั้น . และนี่เเหละคือธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น.
ตรัสตอบปัญาหของพราหมณ์ปริพพาชกผู้หนึ่ง เรื่องธรรมะที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น โดยชี้ไปที่ราคะ โทสะ โมหะเช่นเดิม เป็นแต่ย้ายสำนวนว่า ผู้กำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว หลงแล้ว ย่อมคิดเบียดเบียนดั่งกล่าวข้างต้น, ย่อมประพฤติทุจริตกาย วาจา ใจ , ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งของตนทั้งของผู้อื่นตามความเป็นจริง.
ตรัสตอบปัญหาของชาณุสโสณิพราหมณ์ เรื่องนิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู เป็นต้น โดยชี้ไปที่การที่บุคคลถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิต ย่อมคิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น หรือคิดเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นดั่งกล่าวข้างต้น.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณมหาศาลคนหนึ่ง ถึงเรื่องความเสื่อมของมนุษย์และบ้านเมือง โดยชี้ไปที่การที่มนุษย์ยินดีในอธรรม, โลภอย่างไม่เลือกทาง ( วิสมโลภ) , มีธรรมะที่ผิดนำทาง .
ตรัสตอบปัญหาของวัจฉโคตรปริพพาชก ผู้ได้ฟังมาว่า พระองค์สอนให้ถวายทานแก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่น ทานที่ถวายแก่พระองค์และสาวกของพระองค์มีผลมาก ที่ให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก. ตรัสปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ผู้ใดห้ามผู้ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน ๓ ประเภท คือ แก่ผู้ให้ แก่ผู้รับ และทำลายตนเองก่อน แล้วตรัสว่า ผู้ใดเทน้ำล้างถาดหรือน้ำล้างชามลงไปในน้ำครำหรือในหลุมโสโครก ด้วยคิดว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้น จะได้ยังชีพ ก็ยังได้บุญ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ แต่ตรัสว่า ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก, ให้แก่ผู้ทุศีลไม่มีผลมาก, ทานที่ให้แก่ผู้ละองค์ ๕ ( นีวรณ์กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ๕ ) ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ( ศีล, สมาธิ , ปัญญา, วิมุติ, วิมุติติฌาณทัสสนะ ) มีผลมาก.
ตรัสแสดงธรรมแก่ติกัณณพราหมณ์ ผู้สรรเสริญพราหมณ์ผู้รู้วิชชา ๓ ( พระเวททั้งสาม ) โดยอธิบายวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนา คือ ปุพเพนิวาสานุสสตญาณ ( ละรึกชาติได้ ) จุตูปาตญาณ ( เห็นความตายความเกิดหรือมีทิพยจักษุ ) และอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้สิ้น).
ทรงแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณิพราหมณ์ โดยอธิบายเรื่องวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนาดั่งกล่าวข้างต้น ต่างจากพระเวททั้งสามของพราหมณ์.
ทรงแสดงธรรมแก่สังคารวพราหมณ์ เรื่องการบูชายัญ และปาฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ( แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ), อาเทสนาปาฏิหาริย์ ( ดักใจทายใจ ได้เป็นอัศจรรย์ ) และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) เมื่อตรัสอธิบายและตรัสถามให้พราหมณ์ตอบพราหมณ์ก็ตอบแสดงความพอใจในอนุสาสนี ปฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) ว่าดีงามกว่า ประณีตกว่า.

๒. ทรงแสดงติตถายตนะ ( ลัทธิศาสนา , ลัทธิเดียรถีย์ ) ๓ คือ ถือว่าสุข ทุกข์ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่บุคคลเสวยทั้งปวง เกิดขึ้น ๑. เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน ๒. เพราะพระผู้เป็นเจ้าบันดาล ( อิสสรนิมมานเหตุ ) ๓. เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย. ทรงค้านลัทธิศาสนาทั้งสามนั้นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ที่บุคคลประพฤติทุจจริตกาย วาจา ใจ ก็คงจะเนื่องมาจากเหตุสามประการนี้. แล้วทรงแจกธาตุ ๖ อายตนะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ ( ความท่องเที่ยวไปแห่งใจในอารมณ์ ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส, โทมนัส , อุเบกขา จึงเป็น ๑๘ คืออารมณ์ ๖ × เวทนา ๓ = ๑๘ ) อริยสัจจ์ ๔ ( มีข้อน่าสังเกตในการอธิบายอริยสัจจ์ ๔ ทรงอธิบายอริยสัจจ์ข้อที่ ๑ กับที่ ๔ คือ ทุกข์ กับ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ตามแนวทั่วไป ๆ ไป แต่อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ กับที่ ๓ คือ ทุกขสมัย ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายเกิดตลอดสาย ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนทุกขนิโรธ ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายดับตลอดสาย ว่าเป็นความดับทุกข์ ).
ทรงแสดงอมาตาปุตติกภัย คือภัยที่แม่ลูกพลัดกัน ตามความเข้าใจของบุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ) ว่าได้แก่ไฟไหม้, น้ำท้วม, โจรปล้นและทรงชี้ว่า บางครั้งแม่ลูกก็พบกันได้ ส่วนภัยที่แม่ลูกพลัดกัน คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งแม่หรือลูกจะปราถนาให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไม่ได้ แล้วทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงภัยทั้งสามนี้.
ตรัสตอบคำถามของพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านพราหมณ์ ชื่อ เวนาคปุระ ผู้เห็นอินทรีย์และพระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์ผ่องใส จึงกราบทูลถามว่า ทรงใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ มีอาสันทิ บัลลังก์ เป็นเต้น ได้ตามต้องการใช่หรือไม่ ทรงชี้แจงว่า ที่นั่งหรือที่นอนสูงใหญ่ แบบนั้นไม่ควรแก่สมณะ แต่มีอยู่ ๓ อย่างที่ทรงได้ตามต้องการ คือที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ที่เป็นทิพย์ อันได้แก่การเข้าฌาน ๔ , ที่เป็นพรหม อันได้แก่การเจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น, ที่เป็นอริยะ อันได้แก่การละ ราคะ โทสะ โมหะ.
ตรัสปรารภสรภปริพพาชก ผู้เข้ามาบวชแล้วหลีกไปจากพระธรรมวินัย เที่ยวอวดอ้างว่าตนรู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรแล้ว เมื่อรู้ทั่วแล้ว จึงหลีกไปจากพระธรรมวินัยนั้น. พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จไปยังอารามของปริพพาชก ถามให้สรภปริพพาชกตอบในที่ประชุมปริพพาชกว่า รู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรอย่างไร ถ้าบกพร่องก็จะช่วยเติมให้ ตรัสถามถึง ๓ ครั้ง สรภปริพพาชกก็ไม่ตอบ นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า จึงตรัสว่า ผู้ที่พูดโอ้อวดเช่นนี้ เมื่อตรัสสอบถามเข้า ก็มีทางไปอยู่ ๓ ทาง คือ ๑. พูดเลี่ยงไปเลี่ยงมา ๒. แสดงอาการโกรธเคือง ๓. นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า.
ตรัสแสดงธรรมแก่ชาวนิคมเกสปุตตะแคว้นกาลามะ ผู้ทูลถามถึงสมณพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ยกย่องวาทะของตนข่มผู้อื่น ตรัสสอนมิให้เชื่อ ๑. โดยฟังตามกันมา ๒. โดยนำสืบกันมา ๓. โดยตื่นข่าวลือ ๔. โดยอ้างตำรา ๕. โดยนึกเดาเอา ๖. โดยคาดคะเน ๗. โดยตรึกตามอาการ ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อได้ ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง.
แล้วตรัสถามให้เห็นจริงในโทษของความโลภ ความคิดประทูษร้าย ความหลง และคุณของความไม่โลภ ไม่คิดประทุษร้าย ไม่หลง ตรัสเรื่องการเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา ( ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) กรุณา ( สงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์) มุทิตา ( ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่ริษยา ) อุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง ) แล้วแสดงว่า ผู้มีจิตไม่ผูกเวร ไม่พยาบาท ไม่เศร้าหมอง มีจิตบริสุทธิ์ ย่อมวางใจ ( หรือเบาใจสบายใจได้ ) ๔ อย่าง คือ ๑. ถ้าผลของความดีความชั่วมี ตนก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ( เพราะตนทำความดี ) ๒. ถ้าผลของความดีความชั่วไม่มี ก็รักษาตัวให้มีความสุขได้ในปัจจุบัน ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำตนไม่ทำบาปก็คงจะไม่ประสบทุกข์ ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ ก็เห็นตัวเองว่าบริสุทธิ์ทั้งสองทาง ( คือไม่ว่าจะทางทำบาปเป็นอันทำ หรือทำบาปแล้วไม่เป็นอันทำ ตนก็ไม่มีข้อเสียหายทางไหนเลย ) ชาวกาลามะกราบทูลเห็นด้วยกับความวางใจหรือความอุ่นใจ ๔ ประการเกี่ยวกับโลกหน้าของผู้มีจิตอันไม่ผูกเวร เป็นต้น คือ ๑. ถ้าโลกหน้ามี ถ้าผลแห่งกรรมดีกรามชั่วมี ก็มีฐานะอยู่ที่เราจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี ถ้าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เราก็บริหารตนให้ไม่มีเวรอยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำ เราไม่ได้ทำบาปก็คงจะไม่ได้รับทุกข์ ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ เราก็มองเห็นตัวเองบริสุทธิ์ทั้งสองทาง.
พระนันทกะแสดงธรรมสอน สาฬหะ หลานมิคารเศรษฐี และโรหนะ หลานเปขุณิยเศรษฐี ( อรรถกถาว่า เขณิยเศรษฐี ) มิให้เชื่อตามที่ฟังตามกันมา เป็นต้น คล้ายคลึงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชาวกาลามะ ต่างแต่แสดงโลภะ คู่กับ อภิชฌา โทสะ คู่กับพยาบาท โมหะ คู่กับอวิชชา ( ว่าเป็นพวกเดียวกันในคู่นั้น ๆ ) แล้วแสดงถึงข้อปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น จนจิตหลุดพ้นจากอาสวะ นิพพานได้ในปัจจุบัน.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงเรื่องกถาวัตถุ ( เรื่องของคำพูด ) ๓ อย่าง คือถ้อยคำที่ปรารภอดีต , อนาคต, และปัจจุบัน และเรื่องบุคคลผู้ควรพูดด้วย ไม่ควรพูดด้วย พึงทราบด้วยการเผชิญถ้อยคำ คือปัญหาที่ควรตอบแง่เดียว , ควรตอบแยกตามเหตุผล ( หลายแง่ ), ควรย้อนถาม หรือความระงับไว้ไม่ตอบ ถ้าบุคคลไม่ตอบตามที่ควร ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าตอบตามที่ควร ก็ควรพูดด้วย นอกจากนั้นยังทรงแสดงผู้ควรพูดด้วย ไม่ควรพูดด้วย ที่มีลักษณะอื่น ๆ อีก.
ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามว่า ราคะ โทสะ โมหะ ต่างกันอย่างไร พึงตอบว่า ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า , โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว, โมหะมีโทษมาก และคลายช้า. สุภนิมิต ( เครื่องหมายที่สวยงาม ) ทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น. ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่ทำให้ขัดใจ ) ทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น. อโยนิโส มนสิการ ( การไม่ทำไว้ในใจคือไม่พิจารณาโดยแยบคาย ) ทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น.
ทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นอกุศลมูล ( มูลรากแห่งอกุศล ) อโลภะ อโทสะ อโมหะ ว่าเป็นกุศลมูล ( มูลรากแห่งกุศล )
ทรงแสดงธรรมแก่นางวิสาขา เรื่องอุโบสถ ๓ อย่าง คือ โคปาลอุโปสถ ( อุปโบสถ หรือการรักษาศีล หรือจำศีลแบบคนเลี้ยงโค ) ได้แก่การรักษาอุโบสถด้วยความโลภ คิดแต่จะกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนคนเลี้ยงโค คิดแต่เรื่องการหากินของโค นิคคัณฐอุโบสถ ( อุโบสถของนักบวชพวกนิครนถ์ ) ได้แก่อุโบสถแบบนิครนถ์ คือเว้นชักชวนให้จากการฆ่าสัตว์เจาะจงอุทิศ เจาะจงบางประเภท ไม่นุ่งผ้าด้วยคิดว่าหมดกิเลส ชักชวนให้พูดปดในสมัยที่ควรชักจูงให้พูดจริง บริโภคของที่ไม่มีผู้อื่นให้ ( ไม่ได้ประเคน ) ในเวลารุ่งเช้า อุโบสถทั้งสองแบบนี้ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก. ส่วนอุโบสถประเภทที่ ๓ คือ อริยอุโบสถ ( อุโบสถแบบพระอริยเจ้า ) ได้แก่เพียรชำระจิตที่เศร้าหมองด้วยความพยายาม และระลึกถึง ( คุณของ ) พระพุทธเจ้า , ระลึกถึง ( คุณของ ) พระธรรม , ระลึกถึง ( คุณของ ) พระสงฆ์ , ระลึกถึงศีลของตน , ระลึกคุณที่ทำให้เป็นเทวดา และพิจารณาองค์อุโบสถทีละข้อ ซึ่งตนตั้งใจรักษาคืนหนึ่งกับวันหนึ่งเทียบกับพระอรหันต์. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของอริยอุโบสถว่า มากยิ่งกว่าการครองราชย์ในชนบททั้งสิบหก.

๓. พระอานนท์โต้ตอบกับฉัทปริพพาชก อธิบายการละราคะ โทสะ โมหะ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติเพื่อละให้ฟัง ปริพพาชกกล่าวชมเชย.
พระอานนท์โต้ตอบกับคฤหบดีคนหนึ่ง ผู้เป็นสาวกของชีวกผู้ถามว่า ใครกล่าวธรรมไว้ดีแล้ว ใครปฏิบัติในโลก ใครเป็นพระสุคต ( ผู้ไปดี ) ในโลก. พระอานนท์ถามว่าผู้ใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นจะเชื่อว่ากล่าวธรรมไว้ดีแล้วหรือไม่ ตอบว่า กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว. ถามว่า ผู้ใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติในโลกหรือไม่ ตอบว่า ใช่ ถามว่าผู้ใดละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพระสุคตในโลกหรือไม่ ตอบว่า เป็น. พระอานนท์จึงตอบสรุปว่า เป็นอันท่านตอบปัญหาของท่านด้วยตนเองแล้ว. คฤหบดีสาวกของอาชีวกก็ชมเชยว่า แสดงธรรมไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น จึงแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
พระผู้มีพระภาค ทรงหายประชวรจากไข้ไม่นานนัก มหานามศากยะ ( พี่พระอนุรุทธเถระ มีศักดิ์เป็นน้องพระผู้มีพระภาค ) เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องสมาธิกับญาณ อย่างไหนจะเกิดก่อน. พระอานนท์เกรงจะเป็นการรบกวนพระผู้มีพระภาค จึงจับแขนชวนมหานามศากยะไปสนทนากันที่อื่น แล้วกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงศีล สมาธิ ปัญญา ไว้อย่างที่เป็นเสขะ ( ของผู้ยังศึกษา ) ทั้งที่เป็นอเสขะ ( ของผู้ไม่ต้องศึกษา คือที่เป็นพระอรหันต์ ) พร้อมทั้งแสดงรายการเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นเสขะ.
พระอานนท์แสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวี ๒ องค์ คือ อภัยกับปัณฑิตกุมารกะ ผู้เล่าถึงเรื่องนิครนถนาฏบุตร ผู้ปฏิญญาถึงญาณทัสสนะของตนเองว่ารู้รอบไม่มีส่วนเหลือไม่ว่าจะเดิน, ยืน, หลับ, ตื่น ญาณทัสสนะจะปรากฏติดต่อสมบูรณ์ตลอดเวลา. นิครนถนาฏบุตรนั้นบัญญัติความสิ้นสุดแห่งกรรมเก่าด้วยตบะ ( ความเพียร ทรมานตน ), การชักสะพาน ( งดเว้น เลิกทำ ) กรรมใหม่ด้วยการไม่ทำ, เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จึงสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ความทุกข์ทั้งปวงจึงหมดสิ้นไป ความก้าวล่วงทุกข์ ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์อันไม่เสื่อมโทรม เห็นได้ด้วยตนเองดังนี้ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร. พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิชชราวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์อันไม่ชรา ไม่เสื่อมโทรม ) ๓ ประการ เพื่อดับทุกข์ เพื่อทำให้แจ้งด้วยนิพพาน คือภิกษุตั้งอยู่ในศีล ( ปาฏิโมกข์ ), เจริญฌาน ๔ ( สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ), ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. สองมาณพก็ชื่นชมภาษิตของพระเถระ.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า ท่านทั้งหลายจงอนุเคราะห์ญาติมิตรสายโลหิตให้ตั้งอยู่ในความเชื่ออันไม่หวั่นไหวในพระรันตตรัย.
พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามของพระอานนท์ ผู้กราบทูลถามเรื่องเหตุที่ให้มีภพ ( คือความมีความเป็น ) โดยทรงชี้ว่า กรรมเป็นนา, วิญญาณเป็นพืช, ตัญหาเป็นยางเหนียว ( ในพืช ). ตรัสชมเชยพระอานนท์ว่า เป็นพระเสขะ ยากที่จะมีผู้เสมอในทางปัญญา เมื่อตรัสเรื่องศีล, พรต, พรหมจรรย์ เป็นต้นว่า มีแก่นสาร มีผลทุกอย่างหรือ พระอานนท์ตอบแบ่งว่า อย่างไหนเมื่อเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ อย่างนั้นก็มีแก่นสาร มีผล. ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์เรื่องกลิ่นที่ไปได้ทั้งตามลมและทวนลม โดยทรงชี้ไปที่กลิ่นศีล.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ เรื่องโลกธาตุขนาดเล็ก จำนวนพัน, ขนาดกลางจำนวน ๒ พัน ขนาดใหญ่ จำนวน ๓ พัน มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ จำนวนพัน ๆ ๑ .

๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ คือการสมาทานอธิศีล, อธิจิต, และอธิปัญญา. อรรถกถา อธิบายว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไว้น่าฟังมาก คือกล่าวว่า เรื่องนี้ก็คือ เรื่องของศีล การรักษา กายวาจาให้เรียบร้อย จิตที่ประกอบด้วยคุณธรรมคือสมาธิ และปัญญาความรอบรู้นั้นเอง ถ้าจะรู้ว่าเป็น “ อธิ ” คือ “ ยิ่ง ” ก็ให้ตั้งเกณฑ์ศีล , จิต หรือปัญญาธรรมดา แล้วเทียบกับศีล จิต ปัญญา ที่สูงกว่า อันที่สูงกว่า ก็เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เช่นเมื่อเทียบกับศีล ๕ ศีล ๑๐, ก็เป็นอธิศีล, เมื่อเทียบกับศีล ๑๐ , ปาริสุทธิศีล ก็เป็นอธิศีล, เมื่อเทียบกับโลกิยศีล , โลกุตตรศีล ก็เป็นอธิศีล; เมื่อเทียบกับกามาวจรจิต, รูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต, เมื่อเทียบกับรูปาวจรจิต, อรูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต ดังนี้เป็นต้น ).
ตรัสแสดงธรรมเรื่องลาเดินตามหลังโค ร้องว่า ฉันเป็นโค ฉันเป็นโค แต่สีกาย เสียง และรอยเท้าก็ไม่เหมือนของโคฉันใด ภิกษุบางรูปที่เดินตามหลังภิกษุสงฆ์ กล่าวว่า ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ แต่ความพอใจในการสมาทาน อธิศีล, อธิจิต , อธิปัญญา ของภิกษุนั้น ย่อมไม่เหมือนของภิกษุเหล่าอื่น จึงได้แต่ตามหลังเท่านั้น.
ตรัสแสดงเรื่องกิจที่ควรทำก่อนของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ อย่าง คือ ๑. ไถพื้นให้ดี ๒.ปลูกพืชโดยกาลอันสมควร ๓. นำน้ำมา ( ไขน้ำเข้านา ) โดยสมัยอันสมควร ทรงเปรียบเทียบด้วยกิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่าง คือ การสมาทานอธิศีล, อธิศีล, อธิปัญญา.
ตรัสสอนภิกษุวัชชีบุตร ผู้ปรารภว่าสิกขาบท ๑๕๐ ( เท่าที่บัญญัติไว้ในครั้งนั้น แต่ต่อมายังทรงบัญยัติไว้มากกว่านั้น ) ซึ่งมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ( คือที่สวดปาฏิโมกข์ทบทวนกันทุกกึ่งเดือน ) มากไป ไม่สามารถจะรักษาได้. พระองค์ตรัสถามว่า เธอจะสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาวิกขาได้หรือไม่. เมื่อกราบทูลตอบว่า รักษาได้ จึงตรัสว่า เมื่อเธอศึกษา อธิศีล เป็นต้นแล้ว ก็จะละราคะ โทสะได้ ไม่ทำ ไม่เสพอกุศล.
ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง เรื่องพระเสขะ ว่าได้แก่ผู้ศึกษาอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา .
ตรัสแสดงว่า พระโสดาบัน เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา แต่ก็อาจต้องอาบัติเล็กน้อยได้ มี ๓ ประเภท คือ เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๒ . ๓ จึงจะท่องเที่ยวไปในเทพและมนุษย์อย่างมากเพียง ๗ ครั้งก็ทำที่สุดทุกข์ได้, ท่องเที่ยวไปสู่ ๒ - ๓ สกุล ( ๒ - ๓ ชาติ ) ก็ทำที่สุดทุกข์ได้, เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียวก็ทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดงพระ สกทคามี พิเศษออกไปว่า เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ และเพราะมีราคะ โทสะ โมหะน้อยลง ( กว่าพระโสดาบัน ) จึงจะมาสู่โลกนี้ เพียงครั้งเดียวแล้วทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดง พระอนาคามี ว่าทำให้บริบูรณ์ในศีล , ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ทำพอประมาณในปัญญา เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๕ ) เพิ่มการละกามราคะ ความกำหนัดในกาม และปฏิฆะ ความขัดใจ รวมเป็นข้อที่ ๔ และที่ ๕ จึงเป็นพระอนาคามีประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๕ ประเภท คือ ๑. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ( ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ ) ๒. สสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม ) ๓. อสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ) ๔. อุปหัจจปรินิพพานยี ( มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรังนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด ) ๕. อัตราปรินิพพายี ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ). แล้วตรัสแสดงถึงท่านผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( พระอรหันต์ ) ว่าเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล , สมาธิ, และปัญญา. ตรัสอธิบาย การมีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ว่าเป็นอธิศีลสิกขา, การเจริญฌาน ๔ ว่าเป็นอธิจิตตสิกขา , การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริงว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา. อีกนัยหนึ่งทรงแสดง การทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.
ตรัสสอนภิกษุกัสสปโคตร ผู้อยู่ในนิคมปังกธา ถึงภิกษุที่พระองค์ตรัสสรรเสริญและไม่ตรัสสรรเสริญ แม้เป็นภิกษุหนุ่มถ้าใคร่การศึกษา สรรเสริญการศึกษา ชักชวนเพื่อการศึกษา เป็นต้น ก็ตรัสสรรเสริญ.

๕. ตรัสถึงกิจรีบด่วน ของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ ประการ คือการไถ , การปลูกพืช, และการไขน้ำเข้านาเทียบด้วยสิกขา
๓. ตรัสแสดงการบัญญัติปวิเวก ( ความสงัด ) ๓ ประการของนักบวชลัทธิอื่น คือ จีวรวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะผ้านุ่งห่ม ) ปิณฑปาตวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอาหาร ) เสนาสนปวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะที่อยู่อาศัย ) โดยกำหนดการใช้ผ้านุ่งห่มการบริโภคอาหาร ที่อยู่อาศัยอย่างนั้นอย่างนี้. ส่วนปวิเวกในพระธรรมวินัยมี ๓ อย่าง คือ ๑. มีศีล ละความทุศีลได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น ๒. มีความเห็นถูก ละความเห็นผิดได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น ๓. สิ้นอาสวะ ละอาสวะได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น.
ทรงแสดงการที่ภิกษุละสัญโญชน์ ๓ ได้ ต่อมา ๓ นำ ตนออกจากอภิชฌา ( ความโลภ ) พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ได้, เจริญฌานที่ ๑ ได้ ถ้าสิ้นชีวิตในสมัยนั้นก็จะไม่มาสู่โลกนี้ ( เป็นพระอนาคามี ).
ทรงแสดงบริษัท ๓ ประเภท คือ ที่เลิศ, ที่เป็นพรรค เป็นพวก , ที่สามัคคีกัน.
ทรงแสดงม้าอาชาไนย ที่ควรแก่พระราชา คือสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณ, กำลัง , และฝีเท้า เทียบด้วยภิกษุมีศีล, มีความเพียร, มีปัญญารู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ มีศีล, มีความเพียร, ละสัญโญชน์ ๕ ได้ ( เป็นพระอนาคามี ) .
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ มีศีล, มีความเพียร, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าผ้าเปลือกไม้ แม้จะใหม่, ปานกลาง , หรือเก่า ก็มีสีทราม มีสัมผัสหยาบ มีราคาถูก ถ้าเป็นผ้าเก่า เขาก็ใช้เป็นผ้าเช็ดหม้อ หรือทิ้งที่กองขยะเปรียบเหมือนภิกษุผู้ทุศีล ไม่ว่าจะเป็นภิกษุใหม่ ปานกลาง, หรือผู้เฒ่า การที่ทุศีลเทียบด้วยมีสีทราม, ทำคนที่คบหาให้ขาดประโยชน์มีทุกข์ เทียบด้วยมีสัมผัสหยาบ, การรับปัจจัย ๔ ซึ่งไม่มีผลมากแก่ผู้ถวาย เทียบด้วยมีราคาถูก. ส่วนผ้ากาสีตรงกันข้าม มีสีดี มีสัมผัสนุ่มนวล มีราคาแพง แม้เก่าแล้วเขาก็ใช้ห่อรันตะ หรือใส่ไว้ในกรักของหอม. แล้วทรงเทียบด้วยภิกษุผู้มีศีล ในทางตรงกันข้ามกับภิกษุผู้ทุศีล. ในที่สุดตรัสสอนให้เป็นอย่างผ้ากาสี อย่าเป็นอย่างผ้าเปลือกไม้
ตรัสสอนว่าบุคคลทำกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเดียวกัน ๔ แต่กรรมส่งผลให้บางคนไปสู่นรก บางคนได้รับผลในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่แกการที่บุคคลอบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาหรือไม่ เปรียบเหมือนเอาเมล็ดเกลือใส่ลงในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำในจอกนั้นก็เค็มได้ แต่ถ้าใส่ลงไปในแม่น้ำคงคาก็ไม่เค็ม เพราะเป็นห่วงน้ำใหญ่ .
ทรงแสดงอุปกิเลส ( เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๓ ) ของภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ ว่ามี ๓ ชั้น คืออย่างหยาบ ได้แก่ทุจจริตกาย วาจา ใจ, อย่างกลางได้แก่ความตรึก ( วิตก ) ในกาม ในการคิดปองร้าย ในการเบียดเบียน , อย่างละเอียด ได้แก่ความตรึกถึงชาติ ความตรึกถึงชนบท และความตรึกที่ไม่ต้องการให้ใครดูหมิ่น เปรียบเหมือนเครื่องเศร้าหมองของเงินทองมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด แล้วทรงแสดงถึงการที่จิตเป็นสมาธิ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นเหตุให้บรรลุอภิญญา ๖ คือ ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพพโสต หูทิพย์ ๓. เตโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ ๕. จุตูปปาตญาณ มีทิพยจักษุ เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และ ๖. อาสวักขยญาณ บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ พึงใส่ใจนิมิต ( เครื่องหมายในจิตใจ ) ๓ อย่าง โดยกาลอันสมควร ได้แก่สมาธินิมิต (เครื่องหมายคือสมาธิหรือความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ) ปัคคาหนิมิต ( เครื่องหมายคือความเพียร ) อุเบกขานิมิต ( เครื่องหมายคือความวางเฉย ). ถ้าใส่ใจแต่สมาธินิมิตอย่างเดียว จิตก็จะน้อมไปเพื่อความเกียจคร้านได้, ถ้าใส่ใจแต่ปัคคาหนิมิตอย่างเดียว จิตก็น้อมไปเพื่อความฟุ้งสร้านได้. ถ้าใส่ใจแต่อุเบกขานิมิตอย่างเดียว จิตก็ไม่พึงตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อสิ้นอาสวะได้ . ต่อเมื่อใส่ใจนิมิตทั้งสามโดยกาลอันสมควร จิตจึงอ่อน ควรแก่การงาน ผ่องใสตั้งมั่นโดยชอบเพื่อสิ้นอาสวะ เปรียบเหมือนช่างทองที่หลอมทองเงิน ย่อมสูบ ( เป่าลม ) โดยกาลอันสมควร, พรมน้ำโดยกาลอันสมควร, วางเฉยโดยกาลอันสมควร.

๑. ข้อนี้นักดาราศาสตร์คงจะพอใจที่พบว่า หลักฐานเมื่อ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่ายังมีโลกอื่นมีพระจันทร์ พระอาทิตย์อื่นอีกมาก

๒. สัญโญชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัย และสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี

๓. สำนวนตรงนี้ก็คือ ละกามราคะ กับปฏิฆะ อันเป็นสัญโญชน์อีก ๒ ข้อ ได้ แต่ใช้คำอื่นแทน

๔. พระพุทธภาษิตนี้ แสดงว่าคนทำกรรมเหมือนกัน แต่ได้รับผลไม่เหมือนกัน เพราะพื้นฐานภายในของบางคนเปรียบเหมือนจอกใส่น้ำเล็ก ๆ เอาเกลือใส่ลงไปก็เค็มได้ แต่ของบางคนเหมือนแม่น้ำ เกลือที่ใส่ลงไปทำให้เค็มไม่ได้ นับว่าน่าพิจารณามาก


เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
จบเล่ม

๕๐. ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓

( ในหมวด ๕๐ ที่ ๓ นี้ คงแบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับหมวด ๕๐ ที่แล้ว ๆ มา. วรรคที่ ๑ ชื่อสัมโพธิวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้ , วรรคที่ ๒ ชื่ออาปายิกวรรค ว่าด้วยผู้ที่เกิดในอบาย, วรรคที่ ๓ ชื่อกุสินารวรรค ว่าด้วยมงคล . หมายเลขหน้าข้อความพึงทราบว่าหมายถึงลำดับวรรคด้วยเช่นเคย ).

๑. ตรัสว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรง คิดว่าอะไรหนอเป็นความพอใจเป็นโทษ เป็นความพ้นไปในโลก แล้วทรงคิดว่า ความสุขกายสุขใจที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโลก ชื่อว่าความพอใจในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ชื่อว่าโทษในโลก, การนำออก การละความกำหนัด เพราะความพอใจในโลกเสียได้ ชื่อว่าความพ้นไปในโลก แล้วตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่ทรงรู้เรื่องทั้งสามนี้ตามเป็นจริง ก็ไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมพุทธโพธิญาณ.
ตรัสแสดงยักย้ายนัย เรื่องทัสสาทะ ( ความพอใจ ) อาทีนวะ ( โทษ ) และนิสสรณะ ( ความพ้นไป ) ในโลกและของโลกอีก ๒ นัย. ทรงแสดงว่า การ ร้องเพลงเป็นการร้องไห้ในอริยวินัย , การฟ้อนรำเป็นการกระทำของคนบ้าในอริยวินัย, การหัวเราะจนเห็นไรฟันเกินขอบเขต เป็นการกระทำของเด็กในอริยวินัย ( ในที่นี้มุ่งถึงการที่ภิกษุทำการเช่นนั้นเพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อชาวโลก หรือคฤหถ์ทั่ว ๆ ไปผู้จะหัวเราะ ร้องเพลง หรือฟ้อนรำ ) ครั้นตรัสสอนให้ชักสะพาน ( เลิกเด็ดขาด ) ในการร้องเพลงและฟ้อนรำ เมื่อมีความบันเทิงในธรรมก็ควรทำแต่เพียงยิ้มแย้ม.
ตรัสแสดงว่า ไม่มีความอิ่ม ในการเสพของ ๓ อย่าง คือในการเสพความหลับ ในการเสพสุราเมรัย และในการเสพเมถุน.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่าเมื่อมิได้รักษาจิตแล้ว แม้การกระทำทางกาย, ทางวาจา , ทางใจ ก็เป็นอันไม่ได้รักษา , เมื่อไม่เป็นอันรักษาจึงเหมือนถูกฝนตกรดเป็นของเน่า และมีการตายอันไม่เจริญ ( ไม่ดีงาม ) เปรียบเหมือนเรือนยอดที่มุงไม่ดี ยอดเรือน , กลอนเรือน ( ไม้ที่รับสิ่งมุง ) ข้างฝา , จึงชื่อว่าไม่เป็นอันรักษา ถูกฝนรั่วรด เป็นของผุ . เมื่อรักษาจิตแล้ว พึงทราบโดยนัย ตรงกันข้าม พร้อมทั้งข้ออุปมา.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่าเมื่อจิตผิดปกติ ( พยาปันนะ น่าจะแปลว่าพยาบาท แต่อรรถกถาอธิบายว่า ละปกติภาพ และผู้เขียนเห็นด้วย เพราะแปลว่าผิดปกติได้ทั้งโดยใจความและโดยพยัญชนะ ) แม้กระทำทางกาย , ทางวาจา, ทางวาจา, ทางใจ ก็เป็นอันผิดปกติได้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีการตายที่ไม่เจริญ แล้วทางอุปมาด้วยเรือนยอดที่มุงไม่ดีดังข้อแรก พร้อมทั้งแสดงในทางตรงกันข้าม.
ทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำ (กัมมนิทาน ) ๓ ประการ ( ฝ่ายชั่ว) คือความโลภ , ความคิดประทุษร้าย, ความหลง และทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำ ( ฝ่ายดี ) อีก ๓ ประการ คือความไม่โลภ , ความไม่คิดประทุษร้าย, ความไม่หลง.
ทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำนัยอื่น อีก ๓ ประการ ( ฝ่ายชั่ว ) คือฉันทะ ความพอใจอันเกิดเพราะปรารภอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจที่เป็นอดีต , อนาคต, ปัจจุบัน พร้อมทั้งทรงแสดงฝ่ายดีที่ตรงกันข้าม.

๒. ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท ที่ ถ้าไม่ละการกระทำดังจะกล่าวต่อไปว่า จะไปเกิดในอบาย ในนรก คือ ๑. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ ๒. โจทฟ้องผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าไม่ประะพฤติพรหมจรรย์ ( เสพกาม ) อันไม่มีมูล ๓ มีวาทะ มีทิฏฐิว่า กามไม่มีโทษ จึงเสพกาม.
ทรงแสดงว่า ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ ประเภท หาได้ยากในโลก คือพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า , บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว , และบุคคลที่กตัญญูกตเวที.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้ประมาณได้ง่าย ได้แก่ผู้ฟุ้งสร้าน เป็นต้น, ผู้ประมาณยาก ได้แก่ผู้ไม่ฟุ้งสร้าน เป็นต้น ( ตรงกันข้าม ), ผู้ประมาณไม่ได้ ได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพ ( ผู้หมดกิเลส )
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้เกิดในเทพชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอายุ ๒ หมื่นปีกัปป์ , ผู้เกิดในเทพชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีอายุ ๔ หมื่นกัปป์, ผู้เกิดในเทพชั้นอากิญจัญญายตนะ มีอายุ ๖ หมื่นกัปป์ , บุถุชนเกิดในเทพเหล่านั้นตั้งอยู่ตลอดอายุนั้น ๆ แล้ว ก็ไปสู่นรกบ้าง , กำเนิดดิรัจฉานบ้าง , เปรตวิสัยบ้าง ; ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคตั้งอยู่ตลอดอายุนั้นแล้ว ก็นิพพานในภพนั้น นี่คือความต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับบุถุชนผู้มิได้สดับ. ทรงแสดงวิบัติ ๓ คือความวิบัติแห่งศีล, ความวิบัติปห่งจิต , ความวิบัติแห่งทิฏฐิ ( ความเห็น ), ความวิบัติแห่งศีล ได้แก่การประพฤติกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔, ความวิบัติแห่งจิต ได้แก่การมีความโลภ กับการคิดปองร้าย ส่วนความวิบัติแห่งทิฏฐิ ได้แก่การเห็นผิดจากคลองธรรม ( เช่น เห็นว่า ทานที่ให้ไม่มี ผลบุญญบาปไม่มี เป็นต้น ) แล้วทรงแสดงสัมปทา ( สมบัติตรงกันข้ามกับวิบัติ ) อีก ๓ อย่าง คือ ศีลสัมปทา, จิตตสัมปทา , ทิฏฐสัมปทา
ทรงแสดงวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓ ตามชื่อเดิมตามคำอธิบายเดิม แต่เพิ่มว่า วิบัติเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ทุคคติ วินิบาต นรก สัมปทาเป็นเหตุให้ไปสู่สุคคติโลกสวรรค์.
ทรงแสดงวิบัติ ๓ อีกนัยหนึ่ง คือ ๑. กัมมันตวิบัติ ( ความวิบัติแห่งการงาน ) ได้แก่กายทุจจริต วจีทุจจริต ๒. อาชีววิบัติ ( ความวิบัติแห่งอาชีพ ) ได้แก่เลี้ยงชีพในทางที่ผิด, ทิฏฐิวิบัติ ( ความวิบัติแห่งความเห็น ) ได้แก่เห็นผิดจากคลองธรรมดังกล่าวแล้ว. แล้วทรงแสดงสัมปทาหรือสมบัติ ๓ ในทางตรงกันข้าม.
ทรงแสดงความสะอาด ( โสเจยยะ ) ๓ ประการ คือความสอาดกาย ได้แก่กายสุจริต , สะอาดวาจา ได้แก่วจีสุจจริต , สะอาดใจ ได้แก่มโนสุจริต
แล้วทรงแสดงความสะอาด ๓ ตามชื่อเดิม แต่อธิบายในทางที่สูงกว่าเดิม คือสะอาดกายที่ได้แก่กายสุจริตนั้น แต่เฉพาะข้อ ๓ ของกายสุจริต เป็นการเว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ ( เสพเมถุน ) สวยสะอาดใจ ได้แก่รู้ว่านีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี มีกามฉันท์ เป็นต้น ) มีอยู่ในภายในหรือไม่มี , รู้ว่าละนีวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว และจะไม่เกิดอีกต่อไป .
ทรงแสดงความเป็นมุนี ๓ อย่าง ( อรรถกถาแก้ว่า ความเป็นมุนี คือความเป็นคนดีหรือเป็นบัณฑิต ) คือความเป็นมุนีทางกาย ได้แก่เว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดพรหมจรรย์ ; ความเป็นมุนีทางวาจา ได้แก่เว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ ; พูดเพ้อเจ้อ ; ความเป็นมุนีทางใจ คือทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.

๓. ทรงแสดงถึงภิกษุ ผู้เป็นบิณฑบาต ปรารถนาจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดกุศลวิตก ๑ ๓ ทานที่ให้แก่ภิกษุเช่นนี้ไม่มีผลมาก เพราะเป็นผู้อยู่อย่างประมาท , ส่วนภิกษุผู้ไม่ติดในบิณฑบาต ไม่ปรารถนาจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ มีกุศลวิตก ๓ ทานที่ให้แก่ภิกษุเช่นนี้มีผลมาก เพราะเป็นผู้อยู่อย่างไม่ประมาท.
ทรงแสดงว่าเพียงแต่คิดไป ในทิศที่มีภิกษุทะเลาะวิวาทกัน ก็ไม่ผาสุกเสียแล้ว จะกล่าวไปไยถึงการไปในทิศนั้น และทำให้ปลงใจว่า ภิกษุเหล่านั้นละกุศลวิตก ทำให้มากซึ่งอกุศลวิตก , ส่วนภิกษุผู้สามัคคีกับพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
ทรงแสดงว่า พระองค์แสดงธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง , มีเหตุ ( สนิทาน ), มีปาฏิหารย์. ตรัสแก่มหานามศากยะ ว่ามีศาสดา ๓ ประเภท คือ ๑. บัญญัติให้กำหนดรู้กาม แต่ไม่บัญญัติให้กำหนดรู้รูปเวทนา ๒. บัญญัติให้กำหนดรู้กาม และรูป แต่ไม่บัญญัติให้รู้กำหนดเวทนา ๓. บัญญัติให้กำหนดรู้ทั้งสามอย่าง แล้วตรัสถามว่าคติของศาสดาทั้งสามประเภทนี้ เหมือนกันหรือต่างกัน. ภรัณฑุ กาลามโคตรพูดแนะมหานามศากยะให้ตอบว่ามีคติอย่างเดียว พระผู้มีพระภาคตรัสแนะให้ตอบว่า มีคติต่างกัน ต่างฝ่ายต่างแนะนำอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ภรัณฑุ กาลามโคตรจึงหลีกไป ไม่กลับมาสู่กรุงกบิลพัสดิ์อีก.
หัตถกเทพบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่าตนไม่อิ่มด้วยธรรม ๓ ประการ ( จน ) ถึงแก่กรรม ( ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สืบเนื่องมาแต่อดีตชาติ และทำอยู่แม้ในปัจจุบัน ) คือไม่อิ่มด้วยการเฝ้าพระผู้มีพระภาค , ไม่อิ่มด้วยการฟังพระสัทธรรม , ไม่อิ่มด้วยการอุปฐากพระสงฆ์ .
ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง มิให้ทำตนเป็นเดน ( อาหาร ) ที่เขาทิ้ง ส่งกลิ่นคาว มีแมลงวันตอม โดยตรัสอธิบายแก่ที่ประชุมภิกษุทั้งหลายว่า ความโลภเปรียบเหมือนเดน ( อาหาร ) ความคิดปองร้ายเปรียบเหมือนกลิ่นคาว วิตกหรือความตรึกที่เป็นบาปอกุศลเปรียบด้วยแมลงวัน.
ตรัสตอบคำถามของพระอนุรุทธเถระ ว่า มาตุคาม ( ผู้หญิง ) ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง เมื่อตายไปจะสู่คติที่ชั่ว คือเวลาเช้ามีจิตถูกรึงรัดด้วยมลทิล คือความตระหนี เวลากลางวันมีจิตถูกรึงรัดด้วยความริษยา เวลาเย็นมีจิตถูกรึงรัดด้วยกามราคะ .
พระสารีบุตรแนะนำแก่พระอนถรุทธเถระ ผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้ามองดูโลกตั้งพันด้วยทิพยจักษุ , ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน , ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม, มีกายสงบไม่กระสับกระส่าย, มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง แต่จิตของข้าพเจ้ามิได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่น.
พระสารีบุตรชี้แจงว่า ๒ การที่ท่านคิดว่าเรามองดูโลกตั้งพันด้วยทิพยจักษุนี้จัดเข้าในความถือตัวของ ท่าน , การที่ท่านคิดว่าเราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน , ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม , มีกายสงบไม่กระสับกระส่าย , มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง นี้จัดเข้าในความฟุ้งสร้านของท่าน , การที่ท่านคิดว่า แต่จิตของเรามิได้หลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่น นี้จัดเข้าในความสำคัญใจของท่าน ท่านจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย อย่าใส่ใจ จงน้อมไปในอมตธาตุเถิด พระอนุรุทธเถระทำตามก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
ตรัสแสดงสิ่ง ๓ ประการ ที่คนนำไปอย่างปกปิด ไม่เปิดดเผย คือมาตุคาม , มนต์ของพราหมณ์ , ความเห็นผิด แล้วตรัสแสดงสิ่งที่เปิดเผยแล้วรุ่งโรจน์ คือมณฑลแห่งดวงจันทร์ มณฑลแห่งดวงอาทิตย์ และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาสแล้ว.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้เหมือนรอยขีดบนหิน ได้แก่คนมักโกรธและมีความโกรธตั้งอยู่นาน. ๒. ผู้เหมือนรอยขีดบนดิน ได้แก่คนมักโกรธ แต่มีความโกรธไม่ตั้งอยู่นาน. ๓. ผู้เหมือนรอยขีดบนน้ำ ได้แก่คนที่ถูกว่ากล่าวด้วยคำหยาบช้าไม่น่าพอใจ ก็ยังเป็นไปได้ ( ทนได้ ) แช่มชื่นอยู่ได้.

๔. ทรงแสดงนักรบที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ว่าควรแก่พระราชา คือ ๑. ยิงไกล เทียบด้วยภิกษุผู้พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงแล้วไม่ยึดถือ ๒. ยิงไว เทียบด้วยภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๓. ทำลายกายใหญ่ได้ เทียบด้วยภิกษุผู้ทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้.
ทรงแสดงบริษัท ๓ คือที่แนะนำยาก, แนะนำง่าย , ที่ต้องรู้อัธยาศัยแล้วแนะนำ.
ทรงแสดงถึงมิตรที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ว่า ควรคบ คือ ๑. ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ๒.ทำสิ่งได้ยาก ๓. อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก.
ทรงแสดงว่า พระตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ทำนองคลองธรรมก็คงมีอยู่แล้ว คือข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ( ไม่ใช่ตัวตน ) เป็นแต่พระตถาคตเป็นผู้ตรัสรู้ บอกเล่า แสดง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย.
ทรงแสดงว่า บรรดาวาทะของสมณะเป็นอันมาก วาทะของมักขลิเลวที่สุด คือมีวาทะและความเห็นว่า กรรม ( การกระทำ ) ไม่มี กริยา (อาการที่ทำ ) ไม่มี วิริยะ ( ความเพียร ) ไม่มี เป็นการคัดค้านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งอดีตอนาคต และปัจจุบัน ผู้กล่าวว่า กรรม, กิริยา , ความเพียรมี.
ทรงแสดงสัมปทา ( ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ) ๓ อย่าง และวุฑติ ( ความเจริญ ) ๓ อย่าง คือความถึงพร้อม และความเจริญด้วยศรัทธา , ศีลและปัญญา.
ทรงแสดงบุคคลประเภทด้อย กับประเภทดี เทียบด้วยม้าด้อย กับม้าดี อย่างละ ๓ ประเภท คือประเภทด้อย ๑. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยสีกาย ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วนได้แก่ภิกษุที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง แต่เมื่อถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็พูดตะกุกตะกักตอบไม่ได้และเป็นผู้ไม่มีลาภปัจจัย ๔ ๒. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า, สมบูรณ์ด้วยสีกาย แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เมื่อถูกถามปัญหาดังกล่าวก็ตอบได้ ไม่พูดตะกุกตะกัก, แต่ไม่มีลาภปัจจัย ๔ ๓. สมบูรณ์ทั้งสามอย่าง ได้แก่ภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง, ตอบปัญหาได้, ทั้งมีลาภปัจจัย ๔. ส่วนประเภทดี ๑. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยฝีกาย ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี แต่ตอบปัญหาไม่ได้ ทั้งไม่มีลาภปัจจัย ๔ . ๒. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า, สมบูรณ์ด้วยสีกาย แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามีตอบปัญหาได้ แต่ไม่มีลาภปัจจัย ๔. ๓. สมบูรณ์ทั้งสามอย่าง ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามีตอบปัญหาได้ และมีลาภปัจจัย ๔.

(หมายเหตุ: ในที่นี้แสดงคนเทียบด้วยม้าทั้งด้อยประเภทดี ม้าประเภทด้อยใช้คำว่า อสฺสขํโก ซึ่งเมืองไทยเราแปลกันว่า ม้ากระจอก ส่วนม้าประเภทดีใช้คำว่า สทสฺโส ( สตฺ ดี = อสฺส = ม้า ) เวลากล่าวถึงคุณสมบัติของม้า กลับแสดงคุณสมบัติแบบเดียวกันทั้งสามประเภท พึงเห็นว่า ม้าประเภทด้อยนั้น แม้จะมีคุณสมบัติดีก็ดีอย่างม้าด้อยหรือม้ากระจอก แต่เวลาเเสดงถึงคุณสมบัติของคนประเภทด้อยกับประเภทดี แม้จะกล่าวถึงคุณสมบัติเทียบด้วยม้าที่สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า เป็นต้น อย่างเดียวกัน แต่ก็แบ่งประเภทด้อยว่ารู้อริยสัจจ์ ๔ ส่วนประเภทดีเป็นพระอนาคามี ).
ทรงแสดงบุคคลประเภทดีเลิศ (บรุษอาชาไนย ) เทียบด้วยม้าอาชาไนย โดยคุณสมบัติของม้าอาชาไนยที่สมบูรณ์ทั้งสามประการ แต่แสดงคุณสมบัติของบุคคลต่างออกไปในข้อสมบูรณ์ด้วยฝีเท้า คือเป็นพระอรหันต์ ( ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ) ส่วนที่สามารถตอบปัญหา กับมีลาภ คงเหมือนกัน.
ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่าง คือกองศีล, สมาธิ, ปัญญา อันเป็นอเสขะ ( ศีล สมาธิ ปัญญา ของพระอรหันต์ ) ว่าเป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่างอีก ๒ ประเภท คืออิทธิปาฏิหารย์ ) ( แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ), อาเทสนาปฏิหาริย์ ( ทายใจได้เป็นอัศจารย์ ), อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ( สั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ ), กับอีกประเภทหนึ่งประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ), สัมมาญาณะ ( ความรู้ชอบ), สัมมาวิมุติ ๓ . ( ความหลุดพ้นชอบ ) ว่าเป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ ประเสร็ฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

๕. ทรงแสดงว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง ในทางชั่วทางดี จะเป็นเหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรกหรือสวรรค์ ในฝ่ายชั่ว คือประกอบด้วยการกระทำทางกาย , วาจา, ใจ อันเป็นอกุศล, มีโทษ, ไม่สม่ำเสมอ, ไม่สะอาด ในฝ่ายดี พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
ทรงแสดงถึงคนพาลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง แยกตามการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศล, มีโทษ, ไม่สม่ำเสมอ, ไม่สะอาด ดังกล่าวข้างต้น ) ว่าเป็นผู้บริหารตนอย่างถูกขุด มีโทษ ถูกติเตียน ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม. ทรงแสดงการไหว้ ๓ อย่าง คือทางกาย วาจา ใจ และ สุจริต ๓ อย่าง คือทางกาย วาจา ใจ.


พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐
( หมายความว่า เป็นพระสูตรที่เป็นเศษจาก ๑๕๐ สูตรที่กล่าวมาแล้ว)

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่าง คือ ๑. หยาบช้า ๒. เผาตน ๓. สายกลาง โดยทรงอธิบายว่า ปฏิปทาอย่างหยาบช้า ได้แก่ที่เห็นว่า กามไม่มีโทษ จึงบริโภคกาม, อย่างเผาตน ได้แก่ทรมานตนมีเปลือยกาย เป็นต้น, อย่างสายกลาง ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง.
ทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่างตามชื่อเดิมอีก เป็นแต่อธิบายต่างออกไปว่า อย่างหยาบช้า, อย่างเผาตนเหมือนอย่างข้างต้น แต่อย่างสายกลาง ได้แก่ความเพียรชอบ ๔ อย่าง. โดยนัยนี้ได้ทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่าง เฉพาะข้อสุดท้าย โดยแสดงหมวดธรรมในโพธิปักขิยธรรม ( ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๒ ) ในข้อเสด็จป่ามหาวัน ทีละหัวข้อจนจบถึงมรรคมีองค์ ๘ . อนึ่ง ทรงแสดงผู้ประกอบด้วยธรรมะฝ่ายชั่ว ๓ อย่าง ฝ่ายดี ๓ อย่าง คือตัวเองประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ( มีฆ่าสัตว์เป็นต้น ) แต่ละข้อด้วยตนเอง , ชักชวนผู้อื่นให้ทำ, มีความยินดีในอกุศลกรรมบถแต่ละข้อว่าเป็นผู้เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก ในสวรรค์ สุดแต่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว .
ทรงแสดงสุญญตสมาธิ
สมาธิมีความไม่มีที่ตั้งเป็นอารมณ์) เพื่อกำหนดรู้ เพื่อละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น (คือละอุปกิเลส ๑๖ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๑ ). ในหัวข้อ ๗ . วัตถูปมสูตร


จบเล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย เอก- ทุก- ติกนิบาต

๑. อกุศลวิตก ๓ คือตรึกในกาม , ตรึกในการปองร้าย , ตรึกในการเบียดเบียน . กุศลวิตก ๓ คือการตรึกในการออกจากกาม , ตรึกในการไม่ปองร้าย , ตรึกในการไม่เบียดเบียน

๒. ข้อความที่เรียงด้วยตัวใหญ่เป็นพิเศษนี้ เพื่อชี้ว่า ตราบใดที่ยังละทิ่งคำว่า “ เรา ” “เขา ” อันเป็นความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ก็ยากที่จะตรัสรู้ ภาษิตเช่นนี้พุทธศาสนิกชนที่สนใจธรรมะชั้นสูงคงพอเข้าใจมาก

๓. พระอรรถกถาจารย์อิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ได้แก่วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ, สัมมาญาณ ได้แก่ผลญาณ, สัมมาวิมุติ ได้แก่ธรรม คือผลสมาบัติที่เหลือ อันเป็นเรื่องของคุณธรรมภายใน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๑

พระไตรปิฎกเล่มนี้ ตลอดเล่มว่าด้วยธรรมะจำนวน ๔ พิจารณาดูจากหมวดใหญ่ที่แบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้ว พอประมาณได้ว่า มีพระสูตรราว ๓๐๐ สูตร กล่าวคือในเล่มนี้ แบ่งออกเป็นหมวด ๕๐(ปัณณาสก์) ๔ หมวด, หมวดนอก ๕๐ (ขนาดยาวมี ๗ วรรค ประมาณ ๗๐) ๑ หมวด, หมวดนอก ๕๐(ขนาดสั้น) ๑หมวด. คำว่า นอก ๕๐ คือไม่สงเคราะห์เข้าในหมวด ๕๐ ( ปัณณาสกาสังคหิตะ).

ปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑


(ในหมวดนี้มี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร คือ ๑. ภัณฑคามวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในภัณฑคาม หรือหมู่บ้านชื่อภัณฑะ ๒. จรวรรค ว่าด้วยอิริยาบทเดิน ๓. อุรุเวลวรรค ว่าด้วย เหตุการณ์ในตำบลอุรุเวลา ๔. จักกวรรค ว่าด้วยล้อรถ ล้อธรรม ๕.โรหิตัสสวรรค ว่าด้วยโรหิตตัสสเทพบุตร).

๑. ตรัสว่า ที่เราและท่านทั้งหลาย เวียนว่ายท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลนาน

ก็เพราะไม่ตรัสรู้ศีล สมาธิ ปัญญาวิมุติ (ความหลุดพ้น ) อันเป็นอริยะต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จึงถอนตัณหาเสียได้ ไม่มีการเกิดอีก.

ตรัสว่า ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่าง ข้างต้น ชื่อว่าตกจากพระธรรมวินัยนี้ต่อประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่างนั้น จึงชื่อว่าไม่ตกจากพระธรรมวินัยนี้.

ตรัสว่า คนพาลประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่าง ชื่อว่า บริหารตนให้ถูกขุด มีโทษควรติเตียน ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากคือไม่พิจารณาสอบสวน ๑. ชมผู้ที่ควรติ ๒. ติผู้ที่ควรชม ๓. แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๔. แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อม ใส. ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม.

ทรงแสดงว่า คนพาลปฏิบัติผิด ในบุคคล ๔ ประเภท คือมารดา, บิดา,พระตถาคต, สาวกของพระตถาคต. ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม.

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ไปตามกระแส ได้แก่ผู้เสพกาม ทำบาป ๒. ผู้ทวนกระแส ได้แก่ผู้ไม่เสพกาม ไม่ทำบาปแต่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความทุกข์ โทมนัสร้องให้ ๓. ผู้มีตนให้ตั้งอยู่ได้ ( ลอยน้ำ) ได้แก่พระอนาคามี ๔. ผู้ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบกได้แก่พระ อรหันต์.

ทรงแสดงบุคคล ๔ประเภท คือ ๑. ผู้สดับน้อย ทั้งไม่ เข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับน้อย ทั้งไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๓. ผู้สดับมาก แต่ไม่เข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับมาก แต่ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๔. ผู้สดับมาก ทั้งเข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับมาก ทั้ง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

ทรงแสดงคนฉลาด ที่ได้รับการแนะนำ เป็นผู้กล้าหาญ สดับฟังมาก ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ชื่อว่าทำหมู่ให้งาม ๔ ประเภท คือ ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา.

ทรงแสดงความเป็นผู้แกล้วกล้า ๔ อย่างของพระตถาคต ที่ทรงบรรลือสีหนาทหมุนล้อธรรมอันประเสริฐ คือ ๑. ทรงปฏิญญาว่าตรัสรู้แล้ว ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ไม่ได้ ตรัสรู้ ๒. ทรงปฏิญญาว่าสิ้นอาสวะแล้ว ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ยังไม่สิ้นอาสวะ ๓. ตรัสว่าธรรมเหล่าใดเป็น อันตราย ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ควรเป็นอันตรายแก่ผู้เสพ ๔. ตรัสแสดงธรรมเพื่อประโยชน์ แก่ผู้ใด ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ธรรมนั้นไม่นำผู้ทำตามให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้จริง.

ทรงแสดงความเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ คือตัณหาเกิด เพราะเหตุแห่งเครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, ที่อยู่อาศัย, ความเป็นหรือความไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ( อรรถกถาแก้ว่า เพราะเหตุแห่งสิ่งที่ประณีตและสิ่งที่ประณีตขึ้นไปกว่า ).

ทรงแสดงเครื่องประกอบสัตว์ ( ผูกมัด ) สัตว์ไว้ในภพ ๔ ประการ คือกาม ( ความใคร่และสิ่งที่น่าใคร่ ), ภพ ( ความมีความเป็น ), ทิฏฐิ (ความเห็น ) อวิชชา ( ความ ไม่รู้อายตนะ ๖ ตามเป็นจริง ๑ . ) แล้วทรงแสดงธรรมอีก ๔ อย่าง ที่ตรงกันข้ามชื่อวิสังโยคะ ( เครื่องคลายหัด ).

๒. ตรัสว่า เมื่อภิกษุเดิน, ยืน, นั่ง, นอน ถ้าความตรึกในกาม, ในการ พยาบาท,ในการเบียดเบียนเกิดขึ้น เธอรับไว้ไม่ละเสีย เธอก็ชื่อว่าไม่มีความเพียร เป็นผู้เกียจคร้าน แต่ถ้าไม่รับไว้ ละเสีย เธอก็จะชื่อว่ามีความเพียรไม่เกียจคร้าน.

ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลาย ให้มีศิลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์ สมบูรณ์ ให้สำรวมด้วยดีในพระปาฏิโมกข์ ( ศีลอันเป็นใหญ่เป็นประธานของภิกษุที่สวดทุกกึ่งเดือน ) ให้ สมบูรณ์ด้วยมารยาทและโคจร ( การรู้จักไปในที่ควร ) ให้เป็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย แล้วแสดงอิริยาบท ๔ ที่มีนีวรณ์ ๕ เกิดขึ้น ถ้าไม่ละนีวรณ์ก็ชื่อว่าเกียจคร้าน ถ้าละก็ชื่อว่า ไม่เกียจคร้านดั่งข้างต้น..

ทรงแสดงการตั้งความเพียรชอบ ( สัมมัปปธาน ) และการตั้ง ความเพียร ( ปธาน ) อย่างละ ๔ ประการ คือเพียรระวังบาปมิให้เกิดขึ้น, เพียรละบาปที่เกิดขึ้น แล้ว, เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น, เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว..

เป็นแต่ในถาคอธิบายของปธาน ทรงอธิบายว่า ๑. ได้แก่การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู เป็นต้น ๒. ได้แก่การละอกุศลวิตก ๓. ได้แก่การเจริญโพชฌงค์ ๗ มีสติ เป็นต้น ๔. ได้แก่การรักษาสมาธินิมิต ( เครื่องหมายในใจที่ทำให้เกิดสมาธิ) มีความกำหนดหมายใน กระดูก ( อัฏฐิกสัญญา ) เป็นต้น..

ทรงแสดงการบัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการ คือ ๑. บรรดาผู้มีอัตตภาพ อสุรินทราหูเป็นเลิศ ๒. บรรดาผู้บริโภคกามพระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ ๓. บรรดาผู้มี ความเป็นเป็นใหญ่ พญามารเป็นเลิศ ๔. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก ทั้งมาร ทั้งพรหม..

ทรงแสดงถึงญาณที่รู้ลักษณะอันสุขุม ( ละเอียดอ่อน ) ๔ ประการ คือความสุขุมแห่งรูป, เวทนา,สัญญา, สังขาร ซึ่งภิกษุผู้มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งอื่นยิ่งกว่า ประณีตกว่าไม่ปรารถนาสิ่งอื่น ( รูป, เวทนา, สัญญา, สังขารอันสุขุม ) ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า.

ทรงแสดงการลุอำนาจแก่ความลำเอียง ๔ ( อคติมานะ ) คือลำเอียงเพราะรัก, ลำเอียงเพราะชัง, ลำเอียงเพราะหลง, ลำเอียงเพราะกลัว..

แล้วทรงแสดงในทางตรงกันข้าม คือการไม่ลุอำนาจแก่ความ ลำเอียง ๔. ทรงแสดงถึงถิกษุผู้แจกอาหาร ( ภัตตุทเทสกะ ) ผู้ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เพราะ ตั้งอยู่ในความลำเอียง หรือไม่ตั้งอยู่ในความลำเอียงทั้งสี่นี้.

๓. ทรงแสดงว่า ทรงพิจราณาแล้วไม่เห็นใครยิ่งกว่าพระองค์ โดยกองศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ, จึงทรงตกลงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้. ทันใดนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมก็มากราบทูลว่า พระ พุทธเจ้าในอดีตอนาคต และพระองค์เองในปัจจุบันก็เคารพธรรมทั้งสิ้น. ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า.

ทรงเคารพธรรมแล้วเมื่อสงฆ์ถึงความเป็นใหญ่ ๒. ก็ทรงเคารพ ในสงฆ์ด้วย. ทรงเล่าเรื่องพราหมณ์ผู้เฒ่าสูงอายุหลายคน ผู้พากันกล่าวหาพระองค์ เมื่อ ตรัสรู้ใหม่ ๆ ณ ริมฝั่งน้ำเนรัญชราว่า ไม่กราบไหว้ ต้อนรับพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้สูงอายุ. พระองค์ทรงดำริว่า แม้ จะเจริญโดยชาติ มีอายุสูง ถ้าไม่มีคุณธรรมก็นับว่าเป็นผู้ใหญ่ ( เถระ ) ที่เป็นพาลต่อมีคุณธรรม แม้จะอยู่ในปฐมวัยก็นับได้ว่าผู้ใหญ่ ( เถระ ) ผู้เป็นบัณฑิต แล้วทรงแสดงธรรมที่ทำให้เป็นผู้ใหญ่ ๔ ประเภท คือ ๑. มีศีล ๒. สดับตรับรับฟังมาก ๓. ได้ฌานตามปรารภนาโดยง่าย ๔. บรรลุเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อัน ไม่มีอาสวะ.

ทรงแสดงว่า พระตถาคต ตรัสรู้โลก, เหตุเกิดแห่ง โลก, ความดับโลก, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก. แล้วแสดงคุณธรรมของพระตถาคต.

ทรงแสดงว่า พระตถาคตเป็นผู้คงที่ ในสิ่งที่เห็นได้, ฟังได้, ทราบได้, รู้ได้ (คำว่า ทราบได้ หมายความถึงดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องสัมผัส ส่วนรู้ได้ หมายถึงรู้ได้ ด้วยใจ ).

ทรงแสดงว่า ทรงประพฤติพรหมจรรย์ มิใช่เพื่อ หลอกลวงคน. มิใช่เพื่อเรียกร้องคนให้มานับถือ, มิใช่เพื่อประโยชน์แก่ลาภ, สักการะและชื่อเสียง, ที่แท้เพื่อ สำรวม,เพื่อละกิเลส, เพื่อคลายกำหนัดยินดี, เพื่อดับทุกข์.

ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้พูดปด, กระด้าง, พูดพล่าม, มี กิเลสหลายทาง เหมือนทางสี่แพร่ง, ถือตัว, มีจิตไม่ตั้งมั่นชื่อว่าไม่นับถือพระองค์, เป็นผู้ห่างจากพระธรรมวิ นัยนี้,ไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้.

ทรงแสดงถึงของน้อยที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ คือ ๑. ผ้าบังสุกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่น คือเศษผ้าที่เขาทิ้งในที่ต่าง ๆ ) ๒. อาหารที่เดินหาด้วยลำแข้ง ( บิณฑบาต ) ๓. ที่นอนที่นั่งคือโคนไม้๔. ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า.

ทรงแสดงวงศ์ของพระอริยะ ที่เป็นของเก่า ไม่เป็นที่ รังเกียจใน ๓ กาล คือ ๑. สัญโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๓. สันโดษ ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ไม่ทำการแสวงหาอันไม่สมควร เพราะสิ่งทั้งสามนั้นไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ได้ก็ไม่ติด ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษทั้งสามข้อนั้น ๔. ยินดีในการเจริญกุศลธรรม ในการละอกุศลธรรม.เธอก็ จะครอบงำความไม่ยินดีเสียได้.

ทรงแสดงบทธรรม ๔ ประการ คือ ความไม่โลภ, ความไม่พยาบาท, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ ว่าเป็นของเก่า ไม่มีใครรังเกียจทั้งสามกาล.

ทรงแสดงธรรมแก่ปริพพาชกที่มีชื่อเสียง หลายคน ณ ฝั่งแม่น้ำสัปปินี ถึงบทแห่งธรรม ๔ ดังกล่าวแล้วเป็นแต่มีคำอธิบายละเอียดมากขึ้น โดยทำนองว่า ถ้าใคร คัดค้าน ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนโลภ, คนพยาบาท, คนหลงลืมสติ, คนมีจิตไม่ตั้งมั่น .

๔. ทรงแสดงจักร ๔ ( ธรรมเปรียบเหมือนล้อรถ ) คือ ๑. การอยู่ในสถานที่อันสมควร ๒. การพึ่ง ( คบ ) สัตบุรุษ ( คนดี) ๓. การตั้งตนไว้ชอบ ๔. ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในกาลก่อน.

ทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ ( เรื่องของการสงเคราะห์ ) คือ๑. การให้ ๒. การเจรจาอ่อนหวาน ๓. การบำเพ็ญประโยชน์ ๔. การวางตนสม่ำเสมอหรือเหมาะสม.

ทรงแสดงว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมให้รู้จักกายของตน (สักกายะ ), ความเกิดแห่งกายของตน, ความดับแห่งกายของตน, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกายของตนเหมือนราชสีห์บรรลือสีหนาท.

ทรงแสดงความเลื่อมใส ๔ ประการ คือ ๑. พระ ตถาคตเป็นเลิศสัตว์ทั้งหลาย ๒. อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๓. วิราคธรรม ( ความ คลายกำหนัดยินดี ) อันได้แก่นิพพานเป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ๔. พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล เป็นเลิศแห่งหมู่ทั้งหลาย. ผู้ใดเลื่อมใสใน ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศอันจะมีผลเลิศ.

วัสสการพราหมณ์ กราบทูลแสดงความคิดเห็นเรื่อง มหาบุรุษผู้มีปัญญามากกว่า ได้แก่ผู้สดับตรับฟังมาก, ผู้รู้เนื้อความของภาษิต, ผู้มีสติทรงจำดี, ผู้ขยันในการ งาน. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบุรุษผู้มีปัญญามาก คือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมาก ทำชนหมู่ใหญ่ให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ถูกอันเป็นกุศล, เป็นผู้มีความชำนาญในเรื่องของการตรึกคือคิดหรือไม่คิดเรื่อง ใด ๆ ได้ตามปรารถนา, ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติอันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ).

โทณพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ โคนไม้ ต้นหนึ่งน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปเฝ้าทูลถามว่า พระองค์เป็นเทพ, คนธรรพ์, ยักษ์, มนุษย์หรือ ทีละข้อ พระองค์ ปฏิเสธทุกข้อ แล้วทรงอธิบายว่าถ้ายังอาสวะไม่ได้ ก็จะเป็นตามที่ถามนั้น พระองค์ละอาสวะได้เด็จขาดแล้ว จึงเป็นพุทธะ เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ โผล่พ้นน้ำ ไม่เปียกน้ำ.

ทรงแสดงว่า ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ไม่ควรจะเสื่อมชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพาน คือ ๑. มีศิล ๒. สำรวมอินทรีย์ ( มีตา หู เป็นต้น ) ๓. รู้ประมาณ ในอาหาร ๔. ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ).

ทรงแสดงว่า ภิกษุ ผู้ละความยึดถือว่าเป็นจริงในเรื่อง เฉพาะเรื่อง ( เช่น ไม่เห็นว่าโลกเที่ยง ) ชื่อว่าเป็นผู้มีการแสวงหาอันประเสริฐ ไม่บกพร่อง, มีกายสังขารอันสงบระงับ (ได้ฌานที่ ๔ ลมหายใจซึ่งมีกายสังขารเครื่องปรุงกายดับ ), เป็นผู้หลีกเร้นแล้ว (ละอัสมิมานะ ความ ถือตัวได้ ).

ตรัสตอบอุชชยพราหมณ์ ผู้กล่าวว่า พระสมณโคดม ไม่ทรงสรรเสริญยัญ โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์มิได้สรรเสริญยัญทุกชนิด แต่ก็มิได้ติยัญทุกชนิด คือไม่สรรเสริญ ยัญที่มีการฆ่าสัตว์ เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น แต่สรรเสริญยัญที่ ไม่มีการฆ่าสัตว์ เช่น นิจจทาน ( ทานที่ให้เป็นประจำ ) อนุกุลยัญ (ยัญที่เป็นไปตามลำดับสกุล คือการให้ทาน ตามจารีตของสกุลสืบ ๆมา ) เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น .

ตรัสตอบอุทายิพราหมณ์ ในทำนองเดียวกับอุชชย พราหมณ์ ( เป็นแต่นิคมคาถาคือบทกวีสรูปข้อธรรมท้านสูตรต่างกัน ).

๕. ตรัสแสดงการเจริญสมาธิ ( สมาธิภาวนา ) ๔ อย่าง ที่เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ได้แก่เจริญฌาน ๔, ที่เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ( การเห็นด้วยญาณ) ได้แก่การใส่ใจในความกำหนดหมายแสงสว่างตั้งความกำหนดหมายว่าเป็นกลางวัน คืออบรมจิตให้มีแสงสว่าง ด้วยจิตสงัดไม่ถูกรึงรัด ว่าเหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน, ที่เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ได้แก่รู้แจ้งเวทนา, สัญญา, วิตก ( ความตรึก ) ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป, ที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ ได้แก่เห็นความเกิดขึ้น ดับไปแห่ง ขันธ์ ๕.

ทรงแสดงการตอบปัญหา ๔ อย่าง คือปัญหาที่ควร ตอบโดย ๑. แง่เดียว ๒. แยกตอบ ( ตามเหตุผล ) ๓. ย้อนถาม ๔. หยุดไว้ ( ไม่ตอบ ) .

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้หนักในความ โกรธ, ในการลบหลู่บุญคุณท่าน, ในลาภ, ในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรมส่วนฝ่ายดีอีก ๔ ประเภท คือผู้ หนักในสัทธรรม ไม่หนักใน ๔ ข้อฝ่ายชั่วนั้น .

ทรงแสดงอสัทธรรม ๔ คือความเป็นผู้หนักใน ความโกรธ เป็นต้นดังกล่าวแล้ว และทรงแสดงสัทธรรม ๔ ในทางตรงกันข้าม .

โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลถามว่า ในที่ใดไม่มีผู้ เกิด, แก่, ตาย, เคลื่อน ( จุติ ), เข้าถึง ( อุปปัติ ) อาจหรือไม่ที่จะรู้จะเห็นจะบรรรลุที่สุดแห่งโลกนั้นด้วยการ ไป ตรัสตอบว่า ไม่อาจ . โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลแสดงความอัศจรรย์ใจและเล่าความว่า ในสมัยหนึ่งตน เคยเป็นฤษีชื่อโรหิตัสสะ มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้รวดเร็ว ขนาดก้าวเดียวข้ามมหาสมุทรตลอดเวลา ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ๓. ก็ถึงแก่กรรมเสียในระหว่าง . พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระองค์ไม่ตรัสว่า ที่สุดแห่ง โลก ที่ไม่มีผู้เกิด, แก่, ตาย, เคลื่อน, เข้าถึง, ที่พึงรู้, พึงเห็น พึงบรรลุด้วยการไปจะมีได้ และไม่ตรัสว่า บุคคล ไม่บรรลุที่สุดแห่งโลกแล้วจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้ ( ทำที่สุดทุกข์ ) .

ก็แต่ว่าพระองค์ทรงบัญญัติโลก, เหตุเกิดแห่งโลก, ความดับ โลก, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในร่างกายนี้แหละ อันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา ( ความจำได้ หมายรู้ ) มีใจครอง  ๔. ครั้นวันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบถึงการ โต้ตอบนั้น .

พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสิ่งทีไกลกันยิ่ง ๔ อย่าง คือท้องฟ้ากับแผ่นดิน, ฝั่งนี้กับฝั่งโน้นของมหาสมุทร, ทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและอัสดงค์, ธรรมะของคนดีกับ คนชั่ว.

ตรัสชมเชยพระวิสาขะ ปัญจาสิบุตร ผู้แสดงธรรม ในโรงฉันด้วยถ้อยคำอันสมบูรณ์, สละสลวย, ไม่มีโทษ, เข้าใจง่าย, เนื่องด้วยความไม่เวียนว่ายตายเกิด, ไม่อาศัยความเวียนว่ายตายเกิด .

ทรงแสดงความวิปลาส ( ความผิดพลาด, ความ คลาดเคลื่อน ๔ อย่าง คือ สัญญาวิปลาส, จิตตวิปลาส, ทิฏฐิวิปลาส ( ความวิปลาสแห่งความกำหนดหมาย, แห่งจิต, แห่งความเห็น) ๑.ในสิ่งไม่เที่ยงว่าเที่ยง, ๒. ในทุกข์ว่าสุข, ๓. ในสิ่งมิใช่ตนว่าตน, ๔. ในสิ่งไม่ งามว่างาม .

ตรัสแสดงเครื่องเศร้าหมองของสมพราหมณ์ ๔ อย่าง คือ ๑. ดื่มสุราเมรัย ๒. เสพเมถุนธรรม ( ธรรมของคนคู่ ) ๓. ยินดีรับเงินทอน ไม่เว้นจากการรับ ทองเงิน ๔. เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เปรียบเหมือนหมอก, หิมะ, ธุลีควัน, อสุรินทราหู, เป็นเครื่องเศร้าหมอง แห่งพระจันทร์พระอาทิตย์ฉะนั้น .

'๑' . นับเป็นหลักฐานที่อธิบายอวิชชาต่างออกไปจากที่อื่น ซึ่งโดยมากแก้ว่า อวิชชา คือไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง

'๒' . อรรถกถาแก้ว่า ความเป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือเป็นใหญ่โดยรู้ราตรีนานคือเก่า แก่ ๒. เป็นใหญ่โดยไพบูล ๓. เป็นใหญ่โดยพรหมจรรย์ ๔. เป็นใหญ่โดยเลิศด้วยลาภ

'๓' . อรรถกถาแก้ว่า จักกวาฬโลก โลกคือจักรวาล ( อันเวิ้งวางไม่มีที่สิ้นสุด )

'๔' . พระสูตรนี้ให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น แสดงว่า แม้มีฤทธิ์มากเหาะไปได้ ไว ก็ไม่สามารถค้นหาที่สุดแห่งโลกจักรวาลได้ เทียบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่ว่าแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖, ๒๗๒ ไมล์ แสงของดาวบางดวงต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๖๕๐ ปี จึงมาถึงโลกเรา หลักวิชาดั่งกล่าวจึงรับรอง ภาษิตของโรหิตัสสเทพบุตร แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโลกอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสังขารโลก โดยชี้มาที่ ร่างกายมนุษย์นี้เองว่า ถ้ารู้แล้วก็ทำทุกข์ให้สิ้นไปได้

เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๒

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒

(ในหมวดใหญ่นี้ แบ่งออกเป็น ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ซื่อปุญญาภิสัณฑวรรค ว่าด้วยความไหลมาแห่งบุญ, วรรคที่ ๒ ชื่อปัตตกัมมวรรค ว่าด้วยกรรม หรือ การกระทำอันสมควร . วรรคที่ ๓ ชื่ออปัณณกวรรค ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด. วรรคที่ ๔ ชื่อมจลวรรค ว่าด้วย สมณะผู้ไม่หวั่นไหว . วรรคที่ ๕ ชื่ออสุรวรรค ว่าด้วยอสูร . โปรดทราบว่าตัวเลขหน้าข้อความที่จะย่อต่อไปนี้ เป็นเครื่องบอกวรรคไปในตัวด้วย ).

๑. ทรงแสดงความไหลมาแห่งบุญ, แห่งกุศล

มีความสุขเป็นอาหาร ซึ่งเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์และความสุข ๔ อย่าง คือภิกษุผู้ บริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ใด แล้วเข้าสู่เจโตสมาธิอันไม่มีประมาณอยู่ ความไหลมาแห่งบุญของผู้นั้น ย่อมไม่มี ประมาณ ( ลำดับปัจจัย ๔ แต่ละข้อนับเป็น ๑ ข้อ ).

ทรงแสดงความไหลมาแห่งบุญ, แห่งกุศล อีก ๔ อย่าง คืออริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่ คือศีลที่ไม่ขาด, ไม่ทะลุ, ไม่ด่าง, ไม่พร้อย, เป็นไท เป็นไปเพื่อสมาธิ.

ตรัสแสดงธรรมแก่คฤหบดี คฤหปตานี ผู้เดินทาง ระหว่างเมืองมธุรา กับเมืองเวรัญชา เรื่องการอยู่ร่วมกัน ๔ อย่าง คือ ๑. ศพอยู่ร่วมศพ ได้แก่สามีและภริยาทุศีล มีธรรมอันเลวด้วยกัน ๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพี ได้แก่สามีทุศีล แต่ภริยามีศีลธรรม ๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ ได้แก่สามี มีศีลธรรม แต่ภริยาทุศีล ๔. เทพอยู่ร่วมกับเทพี ได้แก่สามีภริยามีศีลธรรมด้วยกัน.

ตรัสแสดงเรื่องการอยู่ร่วมกัน ๔ อย่าง เช่นเดียว กับข้างต้น เป็นแต่อธิบายต่างออกไปกำหนดทุจจริต สุจริตกาย วาจา ใจ ( รวมฝ่ายละ ๑๐ ที่เรียกว่าอกุศลกรรม บถ และกุศลกรรมบถ ) เป็นฝ่ายชั่วและฝ่ายดี.

ตรัสแสดงธรรมแก่บิดาและมารดาของนกุลมาณพ ผู้มีความปรารถนาจะเห็นกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตว่า ถ้าสองฝ่ายมีศรัทธา, ศีล, การบริจาคและปัญญาเสมอ กัน ก็จะเห็นกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ( ได้อยู่ร่วมกันอีก ) .

ครั้งเสด็จประทับ ณ นิคมชื่อปัชชเนละแห่งโกลิยกษัตริย์ ตรัสแสดงธรรมแก่นางสุปปวาสา ธิดาโกลิยกษัตริย์ เรื่องอริยสาวิกาถวายอาหารแก่ปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ชื่อ ว่าให้อายุ, ผิวพรรณ, ความสุขและกำลัง ; ครั้นให้แล้วก็จะเป็นผู้มีส่วนได้สิ่งทั้งสี่อย่างนั้นที่เป็นทิพย์.

ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ทำนอง เดียวกับนางสุปปวาสา

และแสดงเรื่องข้อปฏิบัติชอบ ของคฤหัสถ์ผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการ อันทำให้ได้ยศ เป็นไปเพื่อสวรรค์ คืออุปฐากภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ .

๒. ตรัสแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี

ถึงธรรมะที่ปรารถนา รักใคร่ชอบใจ อันหาได้ยาก ( ยากจะสมหวัง ) ๔ ประการ คือ ๑. ขอให้มีทรัพย์ ๒. ขอให้มียศ ๓. ขอให้อายุยืน ๔. ขอให้ตายแล้วไปสู่สุคติโลกสวรรค์.

แล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ให้สำเร็จประสงค์ ๔ ประ การคือ ๑. ถึงพร้อมด้วยความเชื่อ ๒. ถึงพร้อมด้วยศีล ๓. ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔. ถึงพร้อมด้วยปัญญา โดย เฉพาะข้อปัญญา ตรัสอธิบายว่า ได้แก่รู้เท่าทันนีวรณ์๑ ๕ ว่าเป็น เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตแล้วละได้.

ผู้เช่นนั้นย่อมทำกรรมที่ควร ๔ อย่าง คือเมื่อได้ทรัพย์ มาด้วยความเพียรอันชอบธรรมแล้ว ๑. ย่อมทำตัวเอง, มารดา, บิดา, บุตร, ภริยา, ทาส, กรรมกร, มิตรสหายให้ เป็นสุข. ๒. เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น ใช้ทรัพย์นั้นป้องกัน ทำตนให้มีความสวัสดี ๓. ทำพลี ๕ คือ ญาติพลีสง เคราะห์ญาติ, อติถิพลี ต้อนรับแขก, ปุพเพตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย, ราชพลี เสียภาษีอากรแก่หลวง, เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา ( หรือเสียสละเพื่อบูชาคุณความดีที่ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา ). ๔. ถวายทานแด่สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติชอบ. ถ้าทรัพย์หมดไป เพราะใช้จ่ายนอกจากกรรมอันควร ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าหมดไปอย่างไม่สมควร, ต่อ หมดไปตามหลักนี้ จึงชื่อว่าหมดไปอย่างสมควร.

ตรัสแสดงความสุขที่คฤหัสถ์ผูบริโภคกามจะพึงได้รับตามกาล อันสมควร ( สุขของผู้ครองเรือน ) ๔ ประการ คือ ๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์, ๒. สุขจากการใช้ จ่ายทรัพย์, ๓. สุขจากการไม่เป็นหนี้, ๔. สุขจากการงานที่ไม่มีโทษ.

ตรัสว่า สกุลที่บูชามารดาบิดาในเรือนของตน ชื่อว่า มีพรหม, มีบูรพาจารย์, มีบูรพเทพ ( เทวดาผู้เป็นต้นเดิม ), มีผู้ควรของคำนับ. คำเหล่านี้เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตร.

ตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด เป็นผู้เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก.

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ถือรูปเป็นประ มาณ เลื่อมใสในรูป ๒. ถือเสียงเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียง, ๓. ถือความปอน คือ ความเศร้าหมองเป็นประ มาณ เลื่อมใสในความปอน ๔. ถือธรรมะเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรมะ.

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้มีราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ ( ความถือตัว ). งูกัดภิกษุรูปหนึ่งตาย

ตรัสสอนให้แผ่เมตตาจิต ในสกุลพญางูทั้งสี่ แต่ในบท กวีท้ายสูตรสอนให้แผ่เมตตาในสัตว์ทุกประเภท.

ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสว่า ลาภ สักการะ ชื่อ เสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม เปรียบเหมือนต้นกล้วยตกเครือ, ต้นไผ่ตกขุย, ต้นอ้อตกขุย, ม้าอัสดรตกลูกเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อมฉะนั้น.

ตรัสแสดงความเพียร ๔ อย่าง คือเพียรระงับบาปมิให้ เกิดขึ้น, เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว, เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น, เพียรรักษาความดีที่เกิดแล้ว,

ตรัสแสดงว่า ในสมัยใดพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในสมัยนั้นข้าราชการ, พราหมณ์คฤหบดี, ชาวนิคมชนบท ก็พลอยไม่ตั้งอยู่ในธรรมด้วย พระจันทร์, พระอาทิตย์, ดาวฤกษ์, กลางคืน กลางวัน ฤดู เป็นต้น ก็แปรปรวนได้ด้วย. แต่ถ้าพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ผู้อื่นก็พลอยตั้งอยู่ ในธรรมด้วย ฤดู เดือน ปี เป็นต้น ก็ไม่ปรวนแปรแล้วตรัสสรุปในท้ายพระสูตรว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดได้รับยกย่อง ว่าประเสริฐ ถ้าไม่ประพฤติธรรม ประชาชนก็พลอยไม่ประพฤติตามด้วย แว่นแคว้นทั้งปวงก็อยู่เป็นทุกข์ ถ้าตรง กันข้าม ก็อยู่เป็นสุข เปรียบเหมือนโคหัวหน้าฝูง เมื่อข้ามน้ำว่ายไปคดเคี้ยว โคทั้งปวงก็ว่ายน้ำคดไปตาม ถ้าไป ตรง โคทั้งปวงก็ว่ายน้ำไปตรง.

๓. ทรงแสดงข้อปฏิบัติไม่ผิดของผู้ริเริ่มเพื่อทำอาสวะให้สิ้น ๔ ประการ

คือ ๑. มีศีล. ๒. สดับตรับฟังมาก ๓. ปรารภความเพียร ๔. มีปัญญา. และอีก ๔ ประการ คือประกอบด้วยความตรึกในการออกจากกาม, ในการไม่พยาบาท, ในการไม่เบียดเบียน, ความเห็นชอบ.

ตรัสว่า อสัตบุรุษ ( คนชั่ว ) ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑. ไม่ต้องถามก็เปิดเผยความชั่วของคนอื่น ยิ่งถูกถามก็ยิ่งกล่าวความชั่วของคนอื่นอย่างบริบูรณ์ พิศดาร. ๒. แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยคุณความดีของคนอื่น หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๓. แม้ถูกถามก็ไม่ เปิดเผยความชั่วของตน หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๔. ไม่ต้องถามก็เปิดเผยคุณความดีของตน ยิ่งถูกถาม ก็ยิ่งกล่าวความดีของตนอย่างบริบูรณ์พิสดาร.

ส่วนสัตบุรุษ ( คนดี ) ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. ตรัสสอน ให้ภิกษุทั้งหลาย ทำตนเหมือนหญิงสาวที่นำมา ( สู่สกุลสามี ) ใหม่ ๆซึ่งมีความละอาย ความเกรง กลัวมากในแม่ผัว, พ่อผัว, ในสามี โดยที่สุดแม้ในทาสและกรรมกร แต่เมื่ออยู่ร่วมกันนานเข้าก็พูดรุกรานเอา ภิกษุ บวชใหม่ก็ฉันนั้น ย่อมมีความละอาย ความเกรงกลัวมากในภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยที่สุดแม้ในคนทำ งานวัดและสามเณร แต่เมื่ออยู่ร่วมกันนานเข้าก็รุกรานเอา.

ทรงแสดงสิ่งที่เลิศ ๔ อย่าง คือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ (ความ หลุดพ้น ). และอีก ๔ อย่าง คือรูป, เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ). สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) และภพ ( ความมีความเป็น ).

เมื่อใกล้จะปรินิพพาน ตรัสเปิดโอกาสให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีความสงสัยในพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในข้อปฏิบัติ กราบทูลถามได้ อย่าเดือดร้อนภายหลังว่าอยู่ ต่อหน้าพระศาสดา แต่มิได้ถาม. แม้ตรัสถึง ๓ ครั้งก็ไม่มีผู้ถาม จึงตรัสว่า ถ้าไม่ถามเพราะความเคารพในพระ ศาสดา ก็ให้บอกแก่สหาย ( ถามแทนได้ ) แต่ก็ไม่มีใครถาม. พระอานนท์แสดงความอัศจรรย์ใจ พระผู้มีพระภาค เจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุที่ประชุมอยู่นี้อย่างต่ำเป็นพระโสดาบัน เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ในภายหน้า.

ตรัสเรื่องที่ไม่ควรคิด ( อจินไตย ) ๔ อย่าง คือวิสัย ของพระพุทธเจ้า, วิสัยของฌาน ( การทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ). ผลของกรรม, ความคิดเรื่องโลก ( เช่น ใคร สร้างโลก เป็นต้น ).

ตรัสเรื่องความบริสุทธิ์ของทักขิณา ( ของถวาย ) ๔ อย่าง คือ ๑. บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ ๒. บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้ ๓. ไม่บริสุทธิ์ทั้ง ฝ่ายผู้ให้ ผู้รับ ๔. บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายผู้ให้ ผู้รับ ( ทรงอธิบายความบริสุทธิ์ด้วยการมีศีลและกัลยาณธรรม ).

ตรัสตอบพระสาริบุตร แสดงการกระทำในชาติก่อน ของบุคคล ๔ ประเภทที่ปวารณาสมณพราหมณ์ ( อนุญาตให้ขอ ) แล้ว ไม่ให้ตามที่ขอ, ไม่ให้ตามที่ต้องการ, ให้ ตามต้องการ, ให้ยิ่งกว่าความต้องการ ( ขอน้อยให้มาก ) เป็นเหตุให้เป็นพ่อค้าที่ขาดทุน, ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ได้ผลตามต้องการ, ได้ผลดียิ่งกว่าที่ต้องการโดยลำดับ.

ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ เรื่องความชั่ว คือ ความโกรธ, ความริษยา, ความตะหนี่, ความมีปัญญาทรามว่าเป็นเหตุให้มาตุคามไม่ได้นั่งในสภา, ไม่ได้ทำการ งาน, ไม่ได้ถึงกัมโมชะ คือโอชะแห่งการงาน ( อรรถกถา อธิบายว่า ไม่ได้เดินทางไกลไปแคว้นกัมโพชะหรือไป นอกแว่นแคว้น ).

๔. ทรงแสดงความชั่วความดีฝ่ายละ ๔

ที่เป็นเหตุให้ บุคคลตกนรกขึ้นสวรรค์เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ ( เช่น เกี่ยวกับศีล, ทุศีล, สุจริต, ทุจริต, หนักในความชั่ว, ไม่ หนักในความดี ). ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้มืดมามืดไป, มืดมาสว่างไป, สว่างมามืดไป, สว่างมาสว่าง ไป โดยทรงแสดงว่า เกิดมาไม่ดี แล้วทำความชั่ว, เกิดมาไม่ดี แต่ทำความดี, เกิดมาดีแต่ทำความชั่ว, เกิดมาดี และทำความดี ( ดีชั่วกำหนดด้วยสุจริต ทุจริต ).

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือพร่องมาพร่องไป, พร่องมาเต็มไป, เต็มมาพร่องไป, เต็มมาเต็มไป โดยอธิบายเช่นเดียวกับพวกมืดและสว่างข้างต้น.

ตรัสเรื่องบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. สมณะผู้ไม่หวั่น ไหวได้แก่พระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังต้องศึกษา ) ผู้ปรารถนาความปลอดโปร่งจากกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๒. สมณะดอกบัวขาว ได้แก่ภิกษุผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ) แต่มิได้ถูก ต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย๒ ๓. สมณะดอกปทุม ( บัวหลวง ) ได้แก่ภิกษุผู้ทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองนั้น แล้วได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย ๔. สมณะผู้ละเอียด ( สุขุมาล ) ในสมณะทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุผู้ไม่มักมากในปัจจัย ๔ ต่อเมื่อมีผู้ขอร้องจึงใช้สอยมาก ไม่มีผู้ขอร้องก็ใช้สอยน้อย, มีโรคน้อย, ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ,ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ

แล้วทรงแสดงสมณะ ๔ ประเภท ตามชื่อเดิมอีก ต่าง แต่คำอธิบายตามลำดับข้อ คือพระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์.

อีกปริยายหนึ่ง ได้แก่ภิกษุผู้มีมรรค ๘, ผู้มีสัมมัตตะ, ๑๐ ( เพิ่มสัมมาญาณะ, สัมมาวิมุติ ) แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้มีสัมมัตตะ ๑๐ ทั้งได้ถูกต้อง วิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้ไม่มีความมักมากในปัจจัย ๔

และอีกนัยหนึ่งทรงแสดงสมณะ ๔ ประเภท ตาม ชื่อเดิมดังกล่าวข้างต้นว่า ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ, ผู้เห็นความเกิดความดับในขันธ์๕ แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้เห็นความเกิดความดับขันธ์ ๕ ทั้งได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้ไม่มักมากในปัจจัย ๔.

๕. ตรัสแสดงอสูร ๔ ประเภท

คือ ๑. อสูรที่มีอสูร เป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรมมีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ๒. อสูรที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่ บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ๓. เทพที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ๔. เทพที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ทั้งมีบริษัทเป็นเช่นนั้นด้วย. ( พระสูตรนี้แสดงความเป็นยักษ์เป็นเทวดาด้วยคุณธรรม อันนับเป็นพระธรรมเทศนา ที่ทันสมัยอยู่ตลอดกาล ).

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ได้เจโตสมถะ ( ความสงบแห่งจิต ) ภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญา ธัมมวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้งธรรมะ อันเป็นอธิปัญญา ). ๒. ผู้ได้อธิปัญญา ธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ๓. ผู้ไม่ได้ทั้งสองอย่าง ๔. ผู้ได้ทั้งสองอย่าง.

ตรัสอธิบายขยายความ บุคคล ๔ ประเภทข้างต้น อีก หลายนัย

ตรัสแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น เปรียบเหมือนดุ้นฟืนถูกไฟไหม้สองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนอุจจาระ ใช้ประโยชน์ของ ไม้ในบ้านก็ไม่ได้ ในป่าก็ไม่ได้ ๒. ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นไม่เพื่อประโยชน์ตน ยังดีกว่าข้อแรก ๓. ผู้ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน ไม่เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ยังดีกว่า ๒ ข้อข้างต้น ๔. ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น นับว่าดีกว่าทุกข้อ. ( พึงสังเกตว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนหมายความว่า ทำตนให้บรรลุมรรคผล จึงยกย่องว่าสูง กว่าประโยชน์ผู้อื่น เพราะถ้าตนเองได้บรรลุ ก็อาจบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น. ยกตัวอย่าง ถ้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสรู้ ตั้งแต่ศาสนาขึ้นเพื่อสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ ย่อมไม่ได้ผลจริงจังเหมือนตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก่อน ).

แล้วตรัสอธิบายบุคคล ๔ ประเภทในชื่อเดิมอีกหลายนัย เช่น ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งราคะ, โทสะ, โมหะ ; ชักชวนผู้อื่นเพื่อการนั้นในหนึ่ง,

อีกนัยหนึ่ง พิจารณาได้เร็วในกุศลธรรม, ทรงจำธรรมะ ที่สดับแล้วได้ดี, พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมะที่ทรงจำไว้แล้ว, ปฏิบัติเพื่อรู้อรรถรู้ธรรม นี้เป็นฝ่ายประโยชน์ตน ส่วนประโยชน์ผู้อื่น คือชักชวนแนะนำเพื่อเป็นเช่นนั้น.

อีกนัยหนึ่ง ประโยชน์ตน คือเว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ประโยชน์ผู้อื่น คือชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ( แม้ในนัยหลังนี้ การที่ตนอยู่ในศีลธรรมก่อนผู้ อื่น ก็ยังนับว่าสูงกว่าการดีแต่ชวนให้ผู้อื่นอยู่ในศีลธรรม แต่ตนเองล่วงละเมิด ).

ตรัสแสดงบุคคล ๔ ประเภท แก่โปตลิยปริพพาชก คือ ๑. ผู้ติคนที่ควรติ แต่ไม่ชมคนที่ควรชม ๒. ชมคนที่ควรชม แต่ไม่ติคนที่ควรติ. ๓. ไม่ติคนที่ควรติ ไม่ชม คนที่ควรชม ๔. ติคนที่ควรติ ชมคนที่ควรชม ทั้งสี่ประเภทนี้ มีข้อแม้อยู่ว่า เป็นไปโดยกาละและติชมตามความ จริง ปริพพาชกทูลว่า ตนชอบพอใจบุคคลประเภทที่ ๓ เพราะวางเฉย. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ชอบ บุคคลประเภทที่ ๔ เพราะรู้กาลนัยที่นั้น ๆ.

'๑' . นีวรณ์คือกิเลสอันกั้นจิตให้บรรลุความดี โดยปกติแสดงว่ากามฉันท์ความพอใจเป็น ข้อแรก บางแห่งก็ใช้คำว่าอภิชฌา ( ความเพ่งเล็งหรือโลภ ) ในที่นี้ใช้อภิชฌาวิสมโลภ ( โลภขนาดรุนแรง ) เป็น ข้อแรก

'๒' . วิโมกข์ ๘ มีอะไรบ้าง เรื่องทำนองนี้เคยมีรายละเอียดมาแล้ว ให้ย้อนกลับไปดูพระ ไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์ (สุตตันตปิฎก )ตรง วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๑. ถึง ๘


เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๓

ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓

(ในหมวดนี้มี ๕ วรรคเช่นกัน วรรคที่ ๑ ชื่อวลาหกวรรค ว่าด้วยฝน หมวดที่ ๒ ชื่อเกสีวรรค ว่าด้วยนายเกสีผู้ฝึกม้า หมวดที่ ๓ ชื่อภยวรรค ว่าด้วยภัย หมวดที่ ๔ ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล หมวดที่ ๕ ชื่ออาภาวรรค ว่าด้วยแสงสว่าง).

๑. ทรงแสดงเรื่องฝน ๔ อย่าง

คือ ๑. คำราม แต่ไม่ตก ได้แก่บุคคลผู้พูด แต่ไม่ทำ ๒. ตก แต่ไม่คำราม ได้แก่บุคคลผู้ทำ แต่ไม่พูด ๓. ทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตก ได้แก่ บุคคลผู้ทั้งไม่พูดทั้งไม่ทำ ๔. ทั้งคำรามทั้งตก ได้แก่บุคคลผู้ทั้งพูดทั้งทำ.

ทรงแสดงเรื่องฝนในลักษณะเดิมอีก ๔ อย่าง แต่ อธิบายถึงคุณสมบัติของบุคคลต่างออกไป ประเภท ๑ ได้แก่ผู้เรียนรู้ธรรมะ ( ศาสนาของพระศาสดามีองค์ ๙ ) แต่ ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ไม่เรียนรู้ธรรมะ แต่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๓ ได้แก่ผู้ทั้งไม่เรียนรู้ธรรมะทั้งไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๔ ได้แก่ผู้ทั้งเรียนรู้ธรรมมะทั้งรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.

ทรงแสดงเรื่องหม้อ ๔ อย่าง คือหม้อที่เปล่า แต่ปิด, เต็ม แต่เปิด, เปล่าและปิด, เต็มและปิด ( หม้อเปล่า เทียบด้วยไม่รู้อริยสัจจ์ ๔, หม้อเต็ม เทียบด้วยรู้อริยสัจจ์ ๔, หม้อเปิด เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใส, หม้อปิด เทียบด้วยมีกริยาอาการน่าเลื่อมใส ).

ทรงแสดงเรื่องห่วงน้ำ ๔ อย่าง คือห่วงน้ำที่ตื้น มีเงาลึก. ที่ลึก มีเงาตื้น, ที่ตื้น มีเงาตื้น, ที่ลึก มีเงาลึก. ( ลึก, ตื้น เทียบด้วยไม่รู้ หรือรู้อริยสัจจ์ ๔ เงาตื้น, เงา ลึก เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใสหรือน่าเลื่อมใส ).

ทรงแสดงมะม่วง ๔ อย่าง คือดิบข้างใน สุกข้างนอก, สุกข้างใน ดิบข้างนอก, ดิบข้างใน ดิบข้างนอก, สุกข้างใน สุกข้างนอก ( ดิบ หรือสุกข้างใน เทียบด้วยไม่รู้หรือ รู้อริยสัจจ์ ๔ ; ดิบ หรือสุกข้างนอก เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใสหรือน่าเลื่อมใส ).

ทรงแสดงหนู ๔ ประเภท คือขุดรู แต่ไม่อยู่, อยู่ แต่ ไม่ขุดรู, ไม่ขุดรูและไม่อยู่, ขุดรูและอยู่ ( ขุดรูหรือไม่ขุดรู เทียบด้วยเรียนหรือไม่เรียนธรรมะ ; อยู่หรือไม่อยู่ เทียบ ด้วยรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือไม่ )

ทรงแสดงโคถึก ( โคมีกำลัง ) ๔ ประเภท คือร้าย ต่อโคของตน ไม่ร้ายต่อโคของผู้อื่น, ร้ายต่อโคของผู้อื่น ไม่ร้ายต่อโคของตน, ร้ายต่อโคของตน และร้ายต่อโค ของผู้อื่น, ไม่ร้ายต่อโคของตน และไม่ร้ายต่อโคของผู้อื่น ( ร้าย เทียบด้วยรุกรานหรือทำให้หวาดกลัว โคของตน ของผู้อื่น เทียบด้วยบริษัทของตนหรือของผู้อื่น ).

ทรงแสดงต้นไม้ ๔ อย่าง คือไม้กะพี้มีไม้กะพี้เป็น บริวาร, ไม้กะพี้มีไม้แก่นเป็นบริวาร, ไม้แก่นมีไม้กะพี้เป็นบริวาร, ไม้แก่นมีไม้แก่นเป็นบริวาร. ไม้กะพี้ เทียบ ด้วยบุคคลที่ทุศีล, ไม้แก่น เทียบด้วยบุคคลผู้มีศีล.

ทรงแสดงงูพิษ ๔ อย่าง คือพิษแล่น แต่ไม่ร้าย, พิษ ร้าย แต่ไม่แล่น, พิษทั้งแล่นทั้งร้าย, พิษทั้งไม่แล่นไม่ร้าย ( พิษแล่นหรือไม่แล่น เทียบด้วยขี้โกรธหรือไม่ ; พิษ ร้ายหรือไม่ร้าย เทียบด้วยมีความโกรธคงอยู่นานหรือไม่ ).

๒. ตรัสถามนายเกสี สารถีฝึกม้า

ว่า ฝึกอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า ฝึกโดยวิธีหยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ทั้งหยาบทั้งละเอียดบ้าง ถ้าฝึกไม่ได้ก็ฆ่าเสีย เพื่อมิให้เสียชื่อสกุล อาจารย์. เมื่อเขาถามว่า ทรงฝึกคนอย่างไร ก็ตรัสตอบอย่างที่เขาตอบ โดยอธิบายว่า ฝึกโดยวิธีหยาบ คือชี้ความ ชั่วและผลของความชั่ว, วิธีละเอียด คือชี้ความดีและผลของความดี, วิธีทั้งหยาบทั้งละเอียด คือชี้ทั้งสองอย่าง. ฆ่าเสีย คือทั้งตถาคตและเพื่อนพรหมจารีไม่ว่ากล่าวสั่งสอนผู้นั้น.

ทรงแสดงม้าอาชาไนย ที่ดีของพระราชาประกอบด้วย องค์ ๔ คือความซื่อตรง, ฝีเท้า๑, ความอดทน, ความเสงี่ยม เปรียบด้วยภิกษุประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสี่นี้ ก็เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก.

ทรงแสดงม้าอาชาไนยที่ดี ๔ ประเภท คือ ๑. เห็น เงาปฏักก็สำนึกตน ๒. ถูกปฏักแทงถึงขุมขนจึงสำนึกตน ๓. ถูกปฏักแทงถึงหนังจึงสำนึกตน ๔. ถูกปฏักแทง ถึงกระดูกจึงสำนึกตน. เทียบด้วยบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภท คือ ๑. เพียงได้ฟังข่าวว่าคนอื่นทุกข์หรือตาย ก็เกิด สังเวช ตั้งความเพียร ทำให้แจ้งสัจจธรรมอันยิ่ง ๒. ต้องเห็นเองจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๓. ต้องเป็นญาติสายโลหิตของตน มีทุกข์หรือตายจึงเกิดสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๔. ต้องตัวเองได้รับ ทุกขเวทนากล้าแข็งเจ็บปวดจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น.

ทรงแสดงช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๔ จึงนับว่าควรแก่พระราชา คือรู้จักฟัง, รู้จักฆ่า, รู้จักอดทน, รู้จักไป เทียบด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ เช่น เดียวกัน ชื่อว่าเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ( รู้จักฟัง คือฟังธรรม, รู้จักฆ่า คือฆ่าความคิดที่ชั่ว, รู้จักอดทน คืออดทนหนาว ร้อน, สัมผัสเหลือบ ยุง เป็นต้น, รู้จักไป คือไปในทิศที่ไม่เคยไป คือไปพระนิพพาน ).

ทรงแสดงฐานะ ๔ คือ ๑. ฐานะที่ไม่น่าพอใจ ทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ ๒. ฐานะที่ไม่น่าพอใจ แต่ทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ ๓. ฐานะที่น่าพอใจ แต่ทำ เข้าเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ ๔. ฐานะที่น่าพอใจ ทั้งทำเข้าก็เป็นไปเพื่อประโยชน์.

ทรงแสดงว่า ควรทำความไม่ประมาทในฐานะ ๔ คือในการละทุจจริต ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ในการเจริญสุจริต ๓ และสัมมาทิฏฐิ. เมื่อทำเช่นนั้นได้ ย่อมไม่กลัวความ ตายในอนาคต.

และควรทำความไม่ประมาทในฐานะ ๔ คือไม่ กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด, ไม่คิดประทุษร้ายในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความคิดประทุษร้าย, ไม่ หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง, ไม่มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา. เมื่อทำเช่นนั้นได้ ก็จะไม่ สดุ้งหวาดหวั่น ไม่ต้องไปตามถ้อยคำของสมณะ ( ไม่ถูกจูงไปตามชอบใจ ).

ทรงแสดงเรื่องสถานที่ควรสังเวช แต่ก็ควรดูของ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่ง คือที่ซึ่งพระตถาคตประสูตร, ตรัสรู้, แสดงธรรมจักร ( แสดงธรรมครั้งแรก ),ปริ นิพพาน.

ทรงแสดงเรื่องภัย ( สิ่งที่น่ากลัว ) ๔ อย่าง คือความ เกิด, ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย.

และภัยอีก ๔ อย่าง คือภัยอันเกิดจากไฟ, น้ำ, พระ ราชา, โจร.

๓. ทรงแสดงเรื่องภัย ๔ อย่าง

คือ ภัยอันเกิดจากการติ ตัวเองได้, ผู้อื่นติได้, การลงโทษ, ทุคคติ ( คติที่ชั่ว ).

ภัย ๔ อย่างสำหรับผู้ลงน้ำ คือภัยอันเกิดจากคลื่น, จระเข้, วังวน, ปลาร้าน ( คลื่นเปรียบด้วยความโกรธ, จระเข้เปรียบด้วยความเห็นแก่ปากแก่ท้อง, วังวนเปรียบ ด้วยกามคุณ ๕ คือรูป เสียง เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ, ปลาร้ายเปรียบด้วยมาตุคามหรือหญิง ข้อ เปรียบเทียบเหล่านี้สำหรับภิกษุ ).

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ได้ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๔ แล้วติดใจในฌานทั้งสี่นั้น เมื่อสิ้นชีวิต ก็ไปเกิดเป็นพรหมมีอายุ ๑ กัปป์. เกิดเป็นอาภัสสพรหมมีอายุ ๒ กัปป์. เกิดเป็นสุภกิณหพรหมมีอายุ ๔ กัปป์, เกิดเป็นเวหัปผลพรหมมีอายุ ๕๐๐ กัปป์ ( ตามลำดับฌานที่ ๑ ถึง ๔ )หมดอายุแล้วก็อาจไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉานและภูมิแห่งเปรตได้อีก ส่วนอริยสาวกไปเกิดในที่นั้นแล้ว หมด อายุแล้วก็ปรินิพพานในภพนั้น นี้เป็นความต่างกันระหว่างบุถุชนผู้มิได้สดับกับอริยสาวกผู้ได้สดับ.

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ได้ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนถึงไม่ใช่ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิต ย่อมเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส อันไม่ทั่วไปแก่บุถุชน.

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ เมื่อสิ้น ชีวิตแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลกตามลำดับชั้น ( เหมือนฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ) เมื่อหมดอายุแล้ว อาจไปสู่นรก กำเนิด ดิรัจฉานและภูมิแห่งเปรตได้ ส่วนอริยสาวกเมื่อหมดอายุแล้วก็นิพพานในภพนั้น.

ทรงแสดงบุคคล ๔ อย่าง ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้ว พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตย่อมเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส อันไม่ ทั่วไปแก่บุถุชน

ทรงแสดงว่า ความอัศจรรย์ ๔ ประการ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ๑. เมื่อก้าวลงสู่พระครรภ์ ๒. เมื่อประสูติ ๓. เมื่อ ตรัสรู้ ๔. เมื่อทรงแสดงธรรมจักร จะมีแสดงสว่างอันโอฬารปรากฏขึ้น ก้าวล่วงเทวานุภาพ ส่องไปในที่แสงพระ จันทร์พระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง ทำให้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้น ๆ จำกันและกันได้ด้วยแสงสว่างนั้นว่า แม้ผู้อื่นก็ มีมาเกิดในที่นี้.

ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ ประการ ที่ปรากฏ เพราะ เหตุเช่นเดียวกันอีก คือสัตว์ที่มีความยินดีในอาลัย ( กามคุณ ๕ ), มีความยินดีในมานะ ( ความถือตัว ), มีความยินดี ในความไม่สงบระงับ, มีความยินดีในอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เมื่อฟังธรรมที่พระตถาคตทรงแสดง อันเป็นเครื่องนำ ออกซึ่งสิ่งเหล่านั้น ย่อมตั้งจิต เพื่อรู้ทั่วถึง ( ธรรมเหล่านั้น ).

ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ อย่างในพระอานนท์ คือ บริษัทที่เป็นภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา เข้าไปหา ก็ชื่นใจด้วยการดู, ชื่นใจด้วยการกล่าวธรรม ยังไม่ทันอิ่ม พระอานนท์ก็นิ่งเสีย ( ก่อน ).

ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ อย่างในพระเจ้าจักรพรรดิ์ เช่นเดียวกับพระอานนท์ เป็นแต่เปลี่ยนบริษัทเป็นกษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ เปลี่ยนจากกล่าวธรรมเป็นมี พระดำรัส แล้วตรัสเปรียบพระอานนท์ว่าเป็นเช่นนั้น.

๔. ทรงแสดงบุคคล ๔ประเภท

ตามคุณธรรม คือพระ สกทาคามี, พระอนาคามีประเภทมีกระแสในเบื้องบนเข้าถึงอกนิฏฐภพ, พระอนาคามีประเภทปรินิพพานในระหว่าง และพระอรหันต์. กำหนดคุณธรรมของท่านเหล่านี้ด้วยการละสัญโญชน์ ( กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ).

บุคคล ๔ ประเภทอีกอย่างหนึ่ง คือผู้มีปฏิภาณสมควร แต่ไม่เปรื่องปราด, ผู้มีปฏิภาณเปรื่องปราด แต่ไม่สมควร, ผู้มีปฏิภาณสมควรด้วยเปรื่องปราดด้วย, ผู้มีปฏิภาณทั้ง ไม่สมควร ทั้งไม่เปรื่องปราด๒ ( ยุตตปฏิภาณในที่นี้ ผู้เขียนแปลว่า ปฏิภาณอันสมควร มุตตปฏิภาณแปลว่า ปฏิภาณเปรื่องปราด. ฉบับฝรั่งเป็นปฏิภาณ แปลว่า มีปัญญาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ช้าหรือเร็ว แล้วแค่คำว่า ยุตต มุตต ที่นำมาประกอบข้างหน้า ).

บุคคล ๔ ประเภท คือรู้ได้ไว, ต้องอธิบายจึงรู้ได้, พอ แนะนำได้, ไม่มีทางจะรู้ ( ตรัสรู้ ) ได้.

บุคคล ๔ ประเภท คือที่เป็นอยู่ด้วยอาศัยผลของความ หมั่น มิใช่อาศัยผลของกรรม, อาศัยผลของกรรม ไม่อาศัยผลของความหมั่น, อาศัยทั้งสองอย่าง ไม่อาศัยทั้งสองอย่าง ( อาศัยผลของความหมั่น คือทำเอาในชาตินี้ ไม่อาศัยผลบุญเก่า, อาศัยผลของกรรม คืออาศัยผลของบุญและบาปเก่า ).

บุคคล ๔ ประเภท คือที่มีโทษ, มีโทษมาก, มีโทษน้อย, ไม่มีโทษ.

บุคคล ๔ ประเภท คือไม่ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ในศีล แต่ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิและปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ แต่ไม่ทำ ให้บริบูรณ์ในปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ทั้งในศีล สมาธิ และปัญญา.

บุคคล ๔ ประเภท คือผู้ไม่หนักในศีล, สมาธิ, ปัญญา ไม่มีศีล, สมาธิ, ปัญญาเป็นใหญ่ ; ผู้หนักในศีล, ไม่หนักในสมาธิ, ปัญญา, มีศีลเป็นใหญ่, ไม่มีสมาธิ, ปัญญา เป็นใหญ่ ; ผู้หนักในศีล, สมาธิ ไม่หนักในปัญญา, มีศีล, สมาธิเป็นใหญ่ ไม่มีปัญญาเป็นใหญ่ ; ผู้หนักในทั้งสาม มีทั้งสามเป็นใหญ่.

บุคคล ๔ ประเภท คือผู้มีกายหลีกออกแต่มีจิตไม่หลีก ออก, ผู้มีกายไม่หลีกออก แต่มีจิตหลีกออก, ผู้มีกายและจิตไม่หลีกออก, ผู้มีกายและจิตหลีกออก.

บุคคล ๔ ประเภท คือผู้แสดงธรรมพูดน้อย พูดไม่มี ประโยชน์ บริษัทก็ไม่ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดน้อย แต่พูดมีประโยชน์ บริษัทก็ ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดมาก พูดไม่มีประโยชน์ บริษัทก็ไม่ฉลาดในประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดมาก พูดมีประโยชน์ บริษัทก็ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์. ผู้แสดง ธรรมแต่ละประเภทย่อมนับได้ว่าเป็นผู้แสดงธรรมของบริษัทชนิดนั้น ๆ.

ผู้พูด ๔ ประเภท คือผู้พูดที่ถือเอาเนื้อความได้ แต่ถือ เอาพยัญชนะไม่ได้, ผู้พูดที่ถือเอาพยัญชนะได้ แต่ถือเอาเนื้อความไม่ได้, ผู้พูดที่ถือเอาไม่ได้ทั้งสองอย่าง.

๙. ทรงแสดงแสงสว่าง ๔ อย่าง

คือแสงจันทร์, แสงอาทิตย์, แสงไฟ, แสงปัญญา ในแสงทั้งสี่นี้แสดงปัญญาเป็นเลิศ๓.

ทรงแสดงกาล ๔ คือการฟังตามกาล, การสนทนา ธรรมตามกาล, การสงบระงับ ( สมถะ ) ตามกาล, การเห็นแจ้ง ( วิปัสสนา ) ตามกาล. แล้งทรงแสดงว่า เมื่อ อบรม ๔ นี้ให้ดีแล้วก็จะทำให้อาสวะสิ้นไปได้โดยลำดับ.

ทรงแสดงวจีทุจจริต คือพูดปด, พูดส่อเสียด, พูดคำ หยาบ, พูดเพ้อเจ้อ.

กับวจีสุจริต ๔ คือพูดจริง, พูดไม่ส่อเสียด, พูดละเอียด อ่อน, พูดมีคติ (มนุตาภาสา)๔

ทรงแสดงสาระ ๔ คือ คือสาระ อันได้แก่ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ ( ความหลุดพ้น ).

'๑' . คำว่า ฝีเท้า เมื่อเทียบด้วยคุณธรรม ในพระสูตรนี้ไม่ได้แสดงไว้ แต่ในพระสูตรอื่น เคยเทียบด้วยฌานอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้ ก็แก้ว่า ได้แก่ญาณเช่นเดียวกัน

'๒' . คำว่า ปฏิภาน ปฏิภาณ มีความหมายต่างกัน ปฏิภาน หมายถึงเชาวน์ปัญญา ส่วน ปฏิภาณ หมายถึงการโต้ตอบ คำบาลีในพระไตรปิฎกยังไม่ยุตินัก เพราะผู้ควบคุมการพิมพ์ อาจแก้ตัวอักษรเป็น ปฏิภาณแบบเดียวกันหมด. อรรถกถาแก้ว่า ยุตตปฏิภาณ คือถามปัญหาที่ควร มุตตปฏิภาณ คือถามไว

'๓' . ในที่นี้ทรงใช้คำเปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่มีความหมายถึงแสงสว่างทั้งสิ้น คือ อาภา, ปภา, อาโลกะ, โอภาสะ, ปัชโชตะ

'๔' . ที่มาอื่น ๆกล่าวถึงสุจริตเพียงปฏิเสธว่าไม่ทำทุจจริต แต่ในที่นี้ชัดกว่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๔

จตตุถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔

(มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออินทริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นใหญ่, วรรคที่ ๒ ชื่อปฏิปทาวรรค ว่าด้วยข้อปฏิบัติ, วรรคที่ ๓ ชื่อ สัญเจตนิยวรรค ว่าด้วยความจงใจ, วรรคที่ ๔ ชื่อ โยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ, วรรคที่ ๕ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่).

๑. ทรงแสดงอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ ) ๔

คือความ เชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.

ทรงแสดงกำลัง ๔ อย่าง แบ่งเป็น ๔ นัย คือ ๑. กำลังคือความเชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา. ๒. กำลังคือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๓. กำลังคือความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๔. กำลังคือการ พิจราณา, การอบรม, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.

ทรงแสดงกัปป์ที่นับไม่ได้ ๔ อย่าง๑ คือสังวัฏฏกัปป์. สังวัฏฏัฏฐายีกัปป์, วิวัฏฏกัปป์, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ ทั้งสี่กัปป์นี้นับไม่ได้โดยง่ายว่า เท่านี้ปี, เท่านี้ ร้อยปี, พันปี, แสนปี.

ทรงแสดงโรค ๒ อย่าง คือโรคทางกายและโรคทาง จิต แล้วตรัสว่า ผู้ที่ยืนยันความไม่มีโรคทางกายตั้งแต่ ๑ ปี ๒ ปี เป็นต้น ถึง ๕๐ ปี หรือแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปี ยัง พอเห็นได้ แต่ผู้ที่จะยืนยันความไม่มีโรคทางจิตแม้เพียงครู่หนึ่ง นอกจากพระขีณาสพ ( ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสอันดอง สันดาน ) แล้ว ก็หาได้ยากในโลก.

แล้วทรงแสดงโรคของบรรพชิต ๔ อย่าง คือการที่ภิกษุ มีความปรารถนามาก ไม่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตั้งความปรารถนาเพียรพยายาม เพื่อไม่ถูกดูหมิ่น เพื่อได้ลาภสักการะ ชื่อเสียง ๑. เข้าสู่สกุล ๒. นั่ง ๓. กล่างธรรม ๔. กลั้นอุจจาระปัสสาวะ เพื่อให้เขารู้จักตน.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุ ภิกษุณีจะรู้ว่าเสื่อมจากอกุศลธรรมหรือไม่ ให้พิจารณาธรรม ๔ อย่างในตน คือความเป็นผู้ไพบูลด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ และปัญญาจักษุของผู้นั้นไม่เป็นไปในฐานะที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง.

พระอานนท์แสดงธรรมแก่นางภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้ใช้ คนไปนิมนต์ อ้างว่าตนเป็นไข้ โดยชี้แจงว่ากายเกิดขึ้นเพราะอาหาร, ตัณหา, มานะ ( ความถือตัว ) และเมถุนบุคคล พึงอาศัยอาหาร ละอาหาร, อาศัยตัณหา ละตัณหา, อาศัยมานะ ละมานะได้ แต่เมถุนบุคคลพึงละ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า พึงชักสะพานเสีย ( ละโดยเด็ดขาด ) นางภิกษุณีได้สดับ ก็ลุกขึ้นจากเตียงกล่าวขอขมา.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระตถาคตและพระวินัยของพระ ตถาคตเมื่อตั้งอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก ( ตรัสอธิบายว่า ธรรม ที่พระตถาคตแสดงแล้ว เรียกพระวินัยของพระตถาคต ).

ตรัสแสดงธรรม ๔ อย่างว่า เป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่ออันตรธาน แห่งพระสัทธรรม คือ ๑. ภิกษุทั้งหลายเรียนพระสูตรด้วยบทพยัญชนะที่ยกขึ้นผิด มีเนื้อความอันแนะนำผิด ๒. ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ๓.ภิกษุผู้สดับตรับฟังมากไม่สอนผู้อื่นให้ท่อง จำพระสูตรโดยเคารพ เมื่อภิกษุผู้สดับฟังมากเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรก็ชื่อว่ามีมูลรากอันขาด ( ไม่มีผู้ทรง จำได้ ) ก็ไม่เป็นที่พึ่ง ๔. ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เอาแต่นอนหลับทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ทำให้คนรุ่นหลังถือเป็นตัวอย่าง. ในทางดีทรงแสดงโดยนัย ตรงกันข้าม.

๒. ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง

มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๒. ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๓. ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๔. ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.

ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติไม่อดทน ๒. ปฏิบัติอดทน ๓. ปฏิบัติข่ม ๔. ปฏิบัติสงบ.

พระมหาโมคคัลลานะตอบพระสาริบุตร ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.

พระสาริบุตรตอบพระมหาโมคคัลลานะ ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ต้อง ใช้ความเพียรดับกิเลสได้ในปัจจุบัน ๒. ผู้ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ๓. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลส ได้ในปัจจุบัน ๔. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ( สองประเภทแรกตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายวิปัสสนา สองประเภทหลังตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายสมถะ ส่วนที่ดับกิเลสได้ในปัจจุบัน หรือเมื่อตายไปแล้ว ขึ้นอยู่แก่อินทรีย์ คือ ธรรมอันเป็นใหญ่ มีกำลังแรงหรืออ่อน ).

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุภิกษุณีที่ พยากรณ์การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ( พูดว่าได้บรรลุ ) ในสำนักของเรา ย่อมมีทางเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง รวม ๔ ทาง คือ ๑. เจริญวิปัสสนา ( ปัญญาอันเห็นแจ้ง ) มีสมถะเป็นหัวหน้า มรรคเกิดขึ้นเมื่เจริญมรรคก็ละสัญโญชน์ ( กิเลส ที่ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้ กิเลสพวกอนุสัย ( แฝงตัวหรือนอนอยู่ในสันดาน ) ย่อมไปหมด ๒. เจริญสมถะ ( ความสงบใจ ) มีวิปัสสนาเป็นหัวหน้า แล้วหมดกิเลส ๓. เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน แล้วหมดกิเลส ๔. มีจิตแยกจากความฟุ้งสร้าน ในธรรม ( วิปัสสนูปกิเลส =เครื่องทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง เช่น สิ่งที่ทำให้หลงเข้าใจผิดมีแสงสว่าง เป็นต้น ) จิตสงบตั้งหมั่น ในภายในมีอารมณ์เป็นหนึ่งแล้วหมดกิเลส.

๓. ทรงแสดงว่า เมื่อมีกาย วาจา ใจ

สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมีเจตนาทางกาย วาจา ใจ เป็นเหตุ, หรือเพราะอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เป็นปัจจัย เกิดสุขทุกข์ภายในขึ้น เพราะปรุงกาย สังขาร,วจีสังขาร, มโนสังขาร ( ปรุงเจตนาทางกาย วาจา ใจ ) เองก็ตาม, ผู้อื่นปรุงก็ตาม ( ผู้อื่นชักชวน ) รู้ตัวก็ตาม ( ทำไป อย่างผู้รู้ผิดชอบ ), ไม่รู้ตัวก็ตาม ( ทำไปอย่างไม่รู้ผิดชอบ ) อวิชชาชื่อว่าตกไปตามในธรรมเหล่านั้น คือเกี่ยวข้องอยู่ทั่วไป ) ๒เพราะดับอวิชชาได้โดยไม่เหลือ อื่น ๆ ก็ดับไปด้วย. แล้วทรงแสดงการได้อัตตภาพ ๔ อย่าง ที่เนื่องด้วย เจตนาของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง แล้วตรัสตอบปัญหาของพระสาริบุตร เรื่องผู้ที่มาเกิดและไม่มาเกิดอีก.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ๔ อย่างที่ท่านทำให้แจ้ง คือความแตกฉานในอรรถ ( เนื้อความ ), ในธรรม ( คำสอน ), ในนิรุตติ ภาษาพูด ) และในปฏิภาณ ( ญาณความรู้ ) เป็นเหตุให้ท่านตอบปัญหาได้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระมหาโกฏฐิตะ ผู้ ถามว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ( ตา หู เป็นต้น ) โดยไม่เหลือ ยังมีอะไรอย่างอื่นอยู่อีก โดยตอบว่า ไม่ควรกล่าวว่า มีอะไรอื่น, ไม่มีอะไรอื่น, มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่. เพราะเมื่อพูดเช่นนั้น ก็จะชื่อว่ากล่าวถึงธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ให้กลายเป็น เนิ่นช้า ( คำว่า เนิ่นช้า หมายถึงโลกิยธรรม ยังห่างจากพระนิพพาน ) แล้วเฉลยว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ก็ เป็นความดับ, ความสงบระงับแห่งธรรมที่เนิ่นช้า.

พระมหาโกฏฐิตะตอบปัญหาของพระอานนท์ ในทำนอง เดียวกับที่พระสาริบุตรตอบ.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอุปวานะ ผู้ถามว่า ภิกษุทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชาใช่หรือไม่, ด้วยจรณะ ( ความประพฤติ ๑๕ อย่าง ) ใช่หรือไม่, ด้วยทั้งวิชชาและจรณะ ใช่หรือไม่, เว้นจากทั้งสองอย่างใช่หรือไม่, โดยตอบปฏิเสธว่า ไม่ใช่เช่นนั้นสักข้อเดียว เพราะถ้าเป็นอย่าง ๓ ข้อแรก ผู้ทำที่สุดทุกข์ ( ผู้ทำให้ทุกข์สิ้นไป ) ก็ยังมีอุปาทาน ( ความยึดถือ ) ถ้าเป็นอย่างข้อหลัง บุถุชนก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะ บุถุชนเป็นผู้เว้นจากวิชชาและจรณะ ผู้วิบัติจากจรณะ ย่อมไม่รู้เห็นตามเป็นจริง ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะ ย่อมรู้เห็นตามจริง ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้ ( ธรรมะที่โต้ตอบกันนี้ละเอียดอ่อนมาก ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณตามไปด้วยดี )

พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนให้เอาอย่างพระสาริบุตรและพระ โมคคัลลานะ เป็นต้นดั่งที่กล่าวมาแล้วในเอกนิบาต ( ธรรมะจำนวน ๑ ).

ตรัสสอนพระราหุล มิให้ยึดถือธาตุ ๔ ว่าเป็นของเรา เรา เป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ให้เห็นธาตุ ๔ ว่า มิใช่ตน มิใช่สิ่งที่เนื่องด้วยตน

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ๓ อันสงบระงับอย่างใดอย่างหนึ่ง, ใส่ใจความดับกายของตน ๔ จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนไม่ได้ ๒. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๑ ) จิตของเธอแล่นไปตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนได้ ๓. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ อันสงบระงับ อย่างใดอย่างหนึ่งใส่ใจในการทำลายอวิชชา จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาไม่ได้ ๔. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๓ ) จิตของเธอแล่นไป ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาได้.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอานนท์ ที่ว่าเหตุไรสัตว์ บางเหล่าในโลกนี้จึงไม่นิพพานในปัจจุบัน โดยชี้แจงว่า เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่รู้ตามความจริงว่า ๑. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่าย เสื่อม ๒. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายเสมอตัว ๓. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายได้กำไร ๔. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายทำลายกิเลส ๕ .

เมื่อประทับ ณ โภคนคร พระผู้มีพระภาคตรัสมหาปเทส ( ข้ออ้างใหญ่ ) สำหรับตัดสินพระธรรมวินัย ๔ ประการ คือ ไม่พึงรับรอง ไม่พึงคัดค้าน ๑. เมื่อภิกษุอ้างว่าได้สดับ ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๒. เมื่อภิกษุอ้างว่าพระสงฆ์ในอาวาสโน้น  พร้อมด้วยพระเถระ และผู้เป็น หัวหน้าได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๓. เมื่อภิกษุอ้างว่าตนได้สดับได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของ พระเถระมากหลายในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก จำพระสูตรได้ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ๔. เมื่อภิกษุ อ้างว่าตนได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของพระเถระรูปหนึ่งในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก ( เหมือนข้อ ๓ ). การได้สดับ ได้รับมาทั้งสี่ข้อนั้น มีใจความว่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา, พึงทรงจำบทพยัญชนะ นั้น ๆ ให้ดีแล้วสอบในพระสูตร เทียบในพระวินัย ถ้าไม่เข้ากัน ก็พึงแน่ใจว่า ไม่ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค. ภิกษุนี้ถือ มาผิด พึงทิ้งเสีย ถ้าเข้ากันได้ ( กับพระสูตรพระวินัย ) พึงแน่ใจว่า ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ถือมาถูกแล้ว.

๔. ทรงแสดงนักรบประกอบด้วยองค์ ๔

ว่า ควรแก่พระ ราชา คือ ๑. ฉลาดในภูมิประเทศเทียบด้วย ภิกษุผู้มีศีล ๒. ยิงไกล เทียบด้วยภิกษุผู้เห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริง ไม่ ยึดถือขันธ์ ๕ ๓. ยิงไว เทียบด้วยภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๔. ทำลายกายใหญ่ เทียบด้วยภิกษุผู้ทำลายกองแห่ง อวิชชาใหญ่ได้.

ทรงแสดงว่า ไม่มีใคร ๆ เป็นประกันได้ ถึงสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตายเป็นธรรมดา มิให้แก่, เจ็บ, ตายได้ กับไม่มีใครเป็นประกันได้ ถึงผลของกรรมชั่ว มิให้เกิดขึ้นได้.

ตรัสตอบวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ แคว้นมคธ ผู้กล่าว ว่า ตนมีความเห็นว่า ผู้กล่าวถึงสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้ เป็นผู้ไม่มีโทษ โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์ไม่ตรัสว่า สิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง เป็นต้นนั้น ควรกล่าว หรือไม่ควรกล่าวทั้งหมด, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ ควรกล่าว, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรกล่าว.

ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ ผู้กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่มีใครที่จะ ต้องตายเป็นธรรมดา ไม่กลัวไม่หวาดสะดุ้งต่อความตาย. ฝ่ายที่กลัว ที่หวาดสะดุ้ง คือยังไม่ปราศจากราคะตัณหาในกาย ยัง รักกาม ; รักกาย ; ไม่ได้ทำความดีไว้ ; มีความสงสัยในพระสัทธรรม. ฝ่ายที่ไม่กลัว ไม่หวาดสะดุ้ง คือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงสัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ๖ แก่นักบวชลัทธิอื่น คือ ๑. สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ๒. กามไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๓. ภพทั้ง ปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๔. พราหมณ์ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .

ตรัสตอบปัญหาของภิกษุรูปหนึ่งดังต่อไปนี้ ๑. โลกอันจิต ย่อมนำไป ย่อมคร่าไป ไปสู่อำนาจของจิตที่เกิดขึ้นแล้ว. ๒. พระองค์แสดงธรรมไว้มาก ( มีถึง ๙ ลักษณะ ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสนา มีพระสูตร เป็นต้น ) ภิกษุรู้เนื้อความรู้ธรรมะแห่งคาถาแม้เพียง ๔ บท แต่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ควรแก่คำว่า สดับตรับฟังมาก เป็นผู้ทรงธรรมได้ ๓. ผู้เข้าใจตลอดเนื้อความ เห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญา ชื่อว่าผู้มี นิพเพธิกปัญญา ( ปัญญาชำแรกหรือทำลายกิเลส ). ๔. ผู้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก คือผู้ไม่คิดเบียดเบียนตน ไม่คิด เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย คิดแต่ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์แก่โลก ทั้งปวง.

ตรัสตอบคำถามของวัสสการพราหมณ์ ว่า ไม่เป็นไปได้ ที่คนชั่ว๗ จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว วัสสการพราหมณ์กราบทูลแสดงความพอใจ แล้วยกตัวอย่างจริง ๆ ประกอบพุทธดำรัส๘.

อุปกะบุตรแห่งนางมัณฑิกา ( เป็นผู้ฝักฝ่ายของพระเทวทัต ) ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ตนเห็นว่าผู้ติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ทำความดีให้เกิดขึ้น นับเป็นคนควรถูกติเตียนว่ากล่าว ( ที่พูดเช่นนี้ เพื่อจะเสียดสีที่พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเทวทัต ). พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ทำเช่นนั้น และควร ถูกติเตียนว่ากล่าว ( เพราะการที่พูดเช่นนี้ ก็เพื่อหาทางจะติเตียนผู้อื่น ). อุปกะก็ได้สติ ยอมรับว่าพระผู้มีพระภาคทรงนำบ่วง คือวาทะคล้องตัวเขา ซึ่งกำลังโผล่พ้นน้ำขึ้นมา. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทรงบัญญัติเรื่องอกุศล เรื่องควรละอกุศล เรื่องกุศล เรื่องควรเจริญกุศล. อุปกะนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรุก็ถูกพิโรธขับไล่ไม่ต้องการจะทรงเห็นอีก เพราะรุกราน พระผู้มีพระภาค .

ทรงแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการ คือ ๑. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยนามกาย ได้แก่วิโมกข์ ๘ ( ให้ย้อนกลับไปดูเล่มที่ ๑๐ ที่ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์(เป็นสุตตันตปิฎก) ตรงบนที่ วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ ประกอบด้วย ) ๒. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยสติ ได้แก่ปุพเพนิวาส ( ความเป็นอยู่ในชาติ ก่อน ) ๓. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ ได้แก่จุตูปปาตะ ( การเคลื่อน การเข้าถึง หรือการตาย การเกิดเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ ) ๔. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาได้แก่อาสวักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือหมดกิเลส ).

ตรัสสรรเสริญภิกษุสงฆ์ ที่ประชุมกันในวันอุโบสถว่า ในหมู่ภิกษุ นั้น มีภิกษุที่บรรลุความเป็นเทพ คือผู้ได้ฌาน ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความเป็นพรหม คือผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว

( อาเนญชัปปัตตะ ) ได้แก่ภิกษุผู้เจริญอรูปฌาน ๔ ( ตรงนี้เป็นอันยืนยันว่า อาเนญชะนั้น ได้แก่อรูปฌาน ๔ แต่ในที่อื่นตรัสแสดงถึงรูปฌาน ๔ ด้วย ( โปรดดูบันทึกในเล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ( เป็นสุตตันตปิฎก ) ในหัวข้อที่ ๖.อาเนญชสัปปายสูตร ) ; มีภิกษุผู้บรรลุความเป็นอริยะ ได้แก่ ผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง .

๕. ทรงแสดงอานิสงส์ ( ผลดี ) ๔ ประการ

แห่งธรรมที่ได้สดับ ที่ขึ้นปาก ที่เพ่งดวงใจ ที่ขบด้วยทิฏฐิ คือ ๑. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ ( ตาย ) เข้าถึงเทพนิกายพวกใดพวก หนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขย่อมแจ่มชัด สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว( วิเสสคามี ) ๒. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ เข้าถึงเทพนิกายพวกใด พวกหนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขไม่แจ่มชัด แต่ว่าเธอมีฤทธิ์ บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิต( เจโตวสิปตุโต ) ย่อมแสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่ คุณวิเศษโดยรวดเร็ว. ๓. เหมือนข้อ ๒ แต่บทแห่งธรรมไม่ปรากฏ เธอไม่มีฤทธิ์ ไม่บรรลุความเชี่ยวชาญทางจิตแสดงธรรม แต่ได้แสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว ๔. เหมือนข้อ ๓ เธอไม่มีคุณสมบัติ ทั้งสามอย่าง แต่เตือนผู้เกิดภายหลังให้ระลึกได้ว่าเคยประพฤติพรหมจรรย์ สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดย รวดเร็ว.

ทรงแสดงฐานะ ๔ ที่พึงทราบได้โดยฐานะ ๔ คือ ๑. ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ๒. ความสะอาดพึงทราบได้ด้วยการสนทนา ๓. กำลัง ( ใจ ) พึงทราบได้ในเวลามีอันตรายเกิด ขึ้น ๔. ปัญญา พึงทราบได้ด้วยการถาม การตอบ. ทั้งสี่ข้อนี้ ต้องอาศัยเวลานาน และผู้ทราบก็ต้องใส่ใจและมีปัญญา.

ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ผู้มาทูลถามว่า มีคนเขา พูดกันว่า พระองค์มีมายา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจคน ซึ่งใช้เป็นเครื่องกลับใจสาวกเดียรถีย์อื่น ๆ จะเป็นการหาความหรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่ควรเชื่อโดยฟังตามกันมา เป็นต้น ( ๑๐ ประการดั่งกล่าวไว้แล้ว ดูที่ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ กล่าวไว้ว่า ทรงตรัสสอนมิให้เชื่อ ๑. โดยฟังตามกันมา ๒. โดยนำสืบกันมา ๓.โดยตื่นข่าวลือ ๔. โดยอ้างตำรา ๕. โดยนึกเดาเอา ๖.โดยคาดคะเน ๗. โดยตรึกตามอาการ ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อถือได้ ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง ) ต่อเมื่อรู้ได้ด้วย ตนเองว่า ชั่วดีอย่างไร จึงค่อยละหรือทำให้เกิดมีขึ้น แล้วตรัสถามให้เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ และคุณของอโลภะ อโทสะ อโมหะ ด้วยตนเอง. ครั้นแล้วตรัสว่า ผู้ใดเป็นคนดี ผู้นั้นย่อมชักชวนสาวกให้ละโลภะ โทสะ โมหะ สารัมภะ ( ความ แข่งดี ). เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ก็เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เราได้กล่าวหรือเปล่าว่า จงมาเป็นสาวกของเรา เราจักเป็นศาสดาของท่าน ภัททิยะลิจฉวีกราบ ทูลว่า มิได้ตรัสดังนั้น แล้วกราบทูลสรรเสริญว่า มายากลับใจนี้ ( ถ้าเป็นมายาจริง ) ก็ดีและเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ทุกคน.

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ราชบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ ชาว สาปุคนิคมหลายองค์ ถึงองค์แห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง คือองค์แห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล. แห่งจิต, แห่งทิฏฐิ ( ความเห็น ) และแห่งวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) โดยชี้ไปที่การสำรวมในพระปาฏิโมกข์, การเข้าฌาน ๔, การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง, การทำจิตให้คลายกำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด การเปลื้องจิตในธรรมที่ควร เปลื้องโดยลำดับครบ ๔ ข้อ.

พระมหาโมคคัลลานะ ถามวัปปศากยะผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ถึงเรื่องฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า ( สัมปรายภพ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จ มาตรัสถามและตรัสโต้ตอบกับวัปปศากยะ โดยทรงตั้งปัญหาให้ตอบ และเห็นจริงได้ด้วยตนเองว่า อาสวะที่เกิดขึ้นเพราะ ความริเริ่มทางกาย วาจา ใจ และเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ถ้าบุคคลเว้นได้ไม่ทำกรรมใหม่ ทั้งทำกรรมเก่าให้สิ้นไป ก็จะไม่เห็น ฐานะที่อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า. ในที่สุดวัปปศากยะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต๙.

( รวมเป็นบุคคลสำคัญ ๓ คนที่เปลี่ยนศาสนาจากนิครนถ์มาเป็นพุทธศาสนิก คือวัปปศากยะ ผู้เป็นอาพระพุทธเจ้า, สีหเสนาบดีแห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี และอุบาลีคฤหบดีแห่งเมืองนาฬันทา ( สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา....สีหเสนาบดีเป็นสาวกนิครนถ์ ( ศาสนาเชน ) ได้ฟังคณะกษัตริย์ลิจฉวี สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็ใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อไปปรึกษากับอาจารย์คือนิครนถนาฏบุตร ก็ถูกห้ามปราบถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดได้ตัดสินใจไปเฝ้าโดยไม่บอกอาจารย์. เมื่อได้ไปเฝ้ากราบทูลถามถึงข้อที่มีคนกล่าวหาพระผู้มีพระภาค ซึ่งได้ทรงชี้แจงโดย ละเอียดแล้วทรงแสดงธรรมโปรด. สีหเสนาบดีได้ดวงตาเป็นธรรม ( เป็นโสดาบันบุคคล ) และได้นิมนต์ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น. พวกนิครนถ์เที่ยวพูดว่า สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ พระสมณโคดมรู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อสัตว์นั้น. สีหเสนาบดีได้ทราบ ก็ปฏิเสธว่าไม่จริง แล้วก็ถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ต่อไปจนเสร็จ. พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามฉันเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่านำถวายเจาะจงภิกษุ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ฉัน และทรงอนุญาตปลาและ เนื้อที่บริสุทธิ์โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ ไม่ได้เห็น, ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนรับบริโภค ). และให้ย้อนไปดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย ( มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันตปิฎก..ในข้อที่ ๖. อุปาลิวาทสูตร...ว่าด้วยอุบาลี คฤหบดี ) ดูประกอบด้วย .

ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อสาฬหะ และอภยะ เรื่อง สมณพราหมณ์ผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ และการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ว่าเป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ต่อบริสุทธิ์จึงควร ตรัสรู้ .

ตรัสตอบพระนางมัลลิกา ผู้ กราบทูลถามปัญหา ๔ ข้อ โดย ทรงชี้แจงว่า ๑. มาตุคามผู้มักโกรธ ไม่ให้ทาน มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทรามและยากจน มีศักดิ์น้อย. ๒. มาตุคาม ผู้มักโกรธ แต่ให้ทาน ไม่มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทราม แต่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่ ๓. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ แต่ไม่ให้ทาน มีใจ ริษยา จะเป็นผู้มีรูปงาม แต่ยากจน มีศักดิ์น้อย ๔. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ ทั้งให้ทานและมีใจไม่ริษยา จะเป็นผู้ทั้งมีรูปงาม ทั้งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่. พระนางมัลลิกากราบทูลว่าชะรอยพระนางจะเป็นคนขี้โกรธในชาติอื่น จึงทรงมีรูปทราม. ชะรอยจะเคยถวายทานจึงมั่งคั่ง และชะรอยจะไม่มีใจริษยา จึงมีศักดิ์ใหญ่เหนือหญิงทั้งปวงในราชสกุล แล้วทรงแสดงพระ ประสงค์ว่า จะไม่มักโกรธ ทั้งจะถวายทาน และไม่มีใจริษยาตั้งแต่วันนี้ไป.

ตรัสแสดงเรื่องบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ทำตนให้เดือดร้อน เป็นต้น ( พ้องกับข้อความใน ๑. กันทรกสูตร ให้ย้อนกลับไปดูที่ เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันต ปิฎก )

ตรัสแสดงเรื่องตัณหา อันเป็นเสมือนข่ายดักสัตว์ โดยทรงแสดง ตัณหาวิจริต ( ความท่องเที่ยวไปแห่งตัณหา คือความทะยานอยาก ) ที่ปรารภขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายใน ๑๘ อย่าง ที่ปรารภ ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายนอก ๑๘ อย่าง เป็นไปในกาล ๓ จึงเป็น ๑๐๘ ( ๑๘ + ๑๘ = ๓๖ = ๑๐๘ ).

ทรงแสดงสิ่งที่เกิดขึ้น ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักเกิดจากความรัก ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำไม่ดีงามต่อคนที่ตนรัก ก็เลยคิดประทุษร้ายคนอื่นนั้นด้วย ). ๓. ความรักเกิดจากความคิดประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยรักคนอื่นนั้นด้วย ) ๔. ความคิดประทุษร้ายเกิดจากความคิด ประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำอันดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยเกลียดคนอื่นนั้นด้วย ). แล้วตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้เข้า ฌานทั้งสี่ย่อมไม่เกิดความรัก ความคิดประทุษร้ายทั้งสี่ประเภทนั้น, ยิ่งสิ้นอาสวะด้วยความรัก ความคิดประทุษร้ายก็เป็นอันละ ได้อย่างถอนราก และภิกษุนั้นก็จะไม่ฟุ้งสร้าน ( ไม่ถือตน หรือถือกายของตนตามแนวสักกายทิฏฐิ ๒๐ อย่าง ( ดูประกอบ...๒. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นที่ยึดในกายของตน ) เป็นอย่างไร. ตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ( คนดี ) ไม่ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป ( เห็นเวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เช่นเดียวกัน จึงรวมเป็น ๔x๕ = ๒๐ ข้อ). ถามว่า สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชน และไม่เห็นอย่างนั้น ) , ไม่ฟุ้งตอบ ( ไม่ด่าตอบคนที่ด่า เป็นต้น ), ไม่เป็นควัน ( เพราะมีความท่อง เที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายใน ), ไม่ลุกเป็นเปลว ( เพราะมีความท่องเที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายนอก ), ไม่ถูก เผา ( ละอัสมิมานะ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ได้ ).

'๑' . สังวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เสื่อม, สังวัฏฏัฏฐายี, คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเสื่อม, วิวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เจริญ, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเจริญ รวม ๔ กัปป์ เป็นมหากัปป์ ( และยังมีขยายอยู่อีกนิดหนึ่งคือ สัตถันตรกัปป์ คำว่า สัตถันตรกัปป์นี้ อรรถกถาอธิบายว่า อันตรกัปป์ที่พินาศในระหว่าง คือโลกยังไม่ถึงสังวัฏฏกัปป์ ก็พินาศด้วย ศรัสตราเสียในระหว่าง อันตรกัปป์มี ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะอดอาหาร โรคันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะโรค สัตถันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างศัสตราเป็นผลแห่งกรรมชั่ว ของมนุษย์คือถ้าโลภจัด, ก็พินาศเพราะอดอาหาร หลงจัด ก็พินาศเพราะโรค ถ้าโทสะจัด ก็พินาศเพราะศัสตรา )

'๒' . ข้อความตอนนี้ค่อนข้างเป็นธรรมะชั้นสูง ยากจะเข้าใจ หมายความว่า เจตนาที่เป็น เหตุให้ทำการต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ทำให้เกิดสุขทุกข์ได้ และอวิชชาย่อมเป็นต้นเหตุใหญ่ ที่ทำให้เกิดการปรุง แต่งเจตนา แล้วเป็นเหตุให้เกิดสุขทุกข์อีกต่อหนึ่ง ดับอวิชชาได้อย่างเดียว ก็ดับได้หมดเป็นทิวแถว. ในทางวิชาการ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ในที่นี้ หมายเจตนาทางกาย วาจา ใจ ทั้ง ๆ ที่ในที่อื่น กายสังขาร ( เครื่องปรุง กาย ) หมายถึงลมหายใจเข้าออก, วจีสังขาร ( เครื่องปรุงวาจา ) หมายถึงวิตก ความตรึก วิจารความตรอง, มโน สังขาร หรือจิตตสังขาร ( เครื่องปรุงจิต ) หมายถึงสัญญา ความจำได้หมายรู้และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งต่างจากความหมายในที่นี้ เพราะในที่นี้ เมื่อมีความหมายว่า เจตนาทางกาย วาจา ใจ ก็หมายถึง เจตนาที่เป็นต้นเหตุให้มีการกระทำทั้งดีและชั่วทางกาย วาจา ใจ นั้น

'๓' . เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นแห่งจิต ในที่นี้หมายเอาสมาบัติหรือฌาน ๘ คือฌานมีรูปเป็น อารมณ์ ๔ มีนามเป็นอารมณ์ ๔

'๔' . สักกกายนิโรธ ความดับกายของตน อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่ดับความเวียนว่ายตายเกิด ในภูมิ ๓ ได้แก่นิพพาน

'๕' . หานภาคิยะ, ฐิติภาคิยะ, วิเสสภาคิยะ, นิพเพธภาคิยะ

'๖' . เห็นได้ว่า เป็นการแสดงความหมายของพราหมณ์ตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่ตามหลัก ของพราหมณ์จริง ๆ เพราะพราหมณ์จริง ๆ ประพฤติตรงกันข้าม

'๗' . คนชั่ว คนดี ในที่นี้ใช้คำบาลีว่า อสัปปุริสะ สัปปุริสะ

'๘' . อรรถกถาแก้ไว้น่าฟังว่า คนชั่วเปรียบเหมือนคนตาบอด คนตาบอดนั้นย่อมมองไม่เห็นทั้ง คนตาดีทั้งคนตาบอด ส่วนคนดีเปรียบเหมือนคนตาดี ซึ่งมองเห็นทั้งคนตาดีทั้งคนตาบอด

'๙' . วัปปศากยะได้กราบทูลเปรียบเทียบว่า เข้าไปหาพวกนิครนถ์ไม่ได้กำไร ทั้งได้รับความลำบาก เหมือนหวังกำไร ซื้อลูกม้ามาเลี้ยง กำไรก็ไม่ได้ ทั้งได้รับความลำบาก ( เพราะลูกม้าเป็นโรคตาย )


เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๕ จบเล่ม
หมวดนอกจาก ๕๐

(หมวดนี้ เรียกว่าปัณณาสกสังคหิตวรรค คือวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ จัด เป็นหมวดพิเศษ แบ่งเป็นหมวดย่อยหรือวรรค ๗ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นกัน คือวรรคที่ ๑ ชื่ออสัปปุริสวรรค ว่าด้วยคนชั่ว. วรรคที่ ๒ ชื่อโสภนวรรค ว่าด้วยคนดีงาม. วรรคที่ ๓ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยความประพฤติชั่ว. วรรคที่ ๔ ชื่อกัมมวรรค ว่าด้วยกรรมคือการกระทำ. วรรคที่ ๕ ชื่ออาปัตติภยวรรค ว่าภัยคือสิ่งที่น่ากลัวแห่งอาบัติ. วรรคที่ ๖ ชื่อ อภิญญาวรรค ว่าด้วยความรู้แจ้ง. วรรคที่ ๗ ชื่อกัมมปถวรรค ว่าด้วยกรรมบถ คือทางแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ).

๑. ทรงแสดง คนชั่ว ( อสัปปุริสะ ) และคนดี ( สัปปุริสะ )

ด้วยเรื่องละเมิดศีล ๕ ชักชวนเพื่อละเมิดศีล ๕ หรือตั้งอยู่ในศีล ๕ ชักชวนเพื่อตั้งอยู่ในศีล ๕ รวมทั้งธรรมะฝ่ายชั่วฝ่ายดีอื่น ๆ.

๒. ทรงแสดง คนที่ประทุษร้ายบริษัท เพราะทุศีล มีบาปกรรม

คนที่ทำบริษัทให้งาม เพราะมีศีล มีกัลยาณธรรม และ

ทรงแสดงความชั่วความดีอื่น ๆ ที่ทำให้ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เหมือน ถูกนำไปวางไว้.

๓. ทรงแสดง วจีทุจจริต ๔

คือพูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ

แล้วทรงแสดงคนพาลและบัณฑิต ผู้ประกอบด้วยความชั่ว ความดีต่าง ๆ ในที่สุด

ทรงแสดงกวี ๔ ประเภท คือจินตากวี ( กวีทางความคิด ), สุตกวิ ( กวีทางสดับฟัง ), อัตถกวิ ( กวีทางเนื้อความ ) และปฏิภาณกวิ ( กวีทางปัญญา หรือ ญาณ ).

๔. ทรง แสดงกรรม ๔ อย่าง

คือกรรมดำมีวิบาก (ผล ) ดำ, กรรมขาวมีวิบากขาว, กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว, กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว๑ .

ทรงแสดงว่า สมณะที่ ๑ ได้แก่พระโสดาบัน, สมณะที่ ๒ ได้แก่พระ สกทาคามี, สมณะที่ ๓ ได้แก่พระอนาคามี, สมณะที่ ๔ ได้แก่พระอรหันต์ มีเฉพาะในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น.

แล้วทรงแสดงว่า เพราะอาศัยคนดี จึงหวังอานิสงส์ ( ผล ) ได้ ๔ ประการ คือเจริญด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา,วิมุติ ( ความหลุดพ้น ) .

๕. ตรัสกะพระ อานนท์ว่า

ภิกษุชั่วเห็นประโยชน์ ๔ ประการ จึงพอใจด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน คือถ้าภิกษุพร้อมเพรียงกันก็จะกำจัด เราผู้ทุศีล, ผู้มีความเห็นผิด, ผู้เลี้ยงชีวิตผิด, ผู้อยากได้ลาภ แต่แตกกันก็จะกำจัดเราไม่ได้.

แล้วทรงแสดงภัยแห่งอาบัติ และอานิสงส์แห่งการศึกษา. ทรงแสดงการนอน ๔ อย่าง คือ ๑. การนอนของเปรต ( นอนหงาย ) ๒. การนอนของผู้บริโภคกาม ( ตะแคงซ้าย ) ๓. การนอนของ ราชสีห์ ( ตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า เอาหางสอดไว้ในระหว่างเท้า ) ๔. การนอนของพระตถาคต ( เข้าฌานที่ ๔ )

ทรงแสดงบุคคลผู้ควรแก่สตูป ๔ ( ดูมหาปรินิพพานสูตรผู้ควรแห่งสตูป ทรงแสดงถึงบุคคลผู้เป็นถูปารหะ ( ผู้ควรแก่สตูป ) ๔ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ์ ).

ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา คือ ๑. คบคนดี ๒. ฟังธรรมของท่าน ๓. ไตร่ตรองโดยแยบคาย ๔. ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม.

ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะแก่มนุษย์ ( เหมือนกับธรรมที่ ให้เจริญด้วยปัญญา ).

ทรงแสดงโวหารคือคำพูดที่ไม่ประเสริฐและประเสริฐ ฝ่าย ละ ๔ อย่าง คือพูดว่า ได้เห็น ได้ฟัง. ได้ทราบ, ได้รู้, ในสิ่งที่มิได้เห็น, มิได้ฟัง, มิได้ทราบ, มิได้รู้ ; หรือพูดว่า ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้ทราบ, ไม่ได้รู้, ในสิ่งที่ได้เห็น, ได้ฟัง, ได้ทราบ. ได้รู้ นี้เป็นฝ่ายไม่ประเสริฐ ก็คือตรงกันข้าม ได้แก่พูดตามเป็นจริง .

๖. ทรงแสดง ธรรม ๔ อย่าง

คือ ที่ควรกำหนดรู้ด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่บุคคลยึดถือ, ที่ควรละด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่อวิชชา ( ความไม่รู้ ) กับภวตัณหา ( ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ), ที่ควรเจริญได้แก่สมถะ ( ความสงบใจ ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ), ที่ควร ทำให้แจ้ง ได้แก่วิชชา (ความรู้ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ).

ทรงแสดงการแสวงหาอันไม่ประเสริฐ และประเสริฐฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการแสวงหาสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา, ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม.

ทรงแสดงเรื่องของการสงเคราะห์ ( สังคหวัตถุ ) ๔ อย่าง คือการให้, การพูดไพเราะ, การบำเพ็ญประโยชน์, การวางต่ำสม่ำเสมอ.

ทรงแสดงความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่าง คือเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ๔ แก่พระมาลุงกยบุตร.

ทรงแสดงว่า ตระกูลอันถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ จะตั้งอยู่ไม่ได้นานด้วยฐานะ ๔ คือไม่แสวงหาของที่หาย, ไม่ซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด, ใช้จ่าย ( ดื่มกิน ) ไม่มีประมาณ, ตั้งหญิงหรือชายผู้ทุศีล ให้เป็นใหญ่. ส่วนที่จะตั้งอยู่ได้นาน คือตรงกันข้าม .

ทรงแสดงเรื่องม้าอาชานัย ๔ ประเภท เปรียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ ( เหมือนที่กล่าวมาแล้วในหมวดที่ ๓ว่า( ทรงแสดงม้าอาชาไนยที่ดี ๔ ประเภท คือ ๑. เห็นเงา ปฏักก็สำนึกตน ๒. ถูกปฏักแทงถึงขุมขนจึงสำนึกตน ๓. ถูกปฏักแทงถึงหลังจึงสำนึกตน ๔. ถูกปฏักแทงถึงกระดูกจึงสำนึกตน. เทียบด้วยบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภท คือ ๑. เพียงได้ฟังข่าวว่าคนอื่นมีทุกข์หรือตาย ก็เกิดความสังเวช ตั้งความเพียร ทำให้แจ้ง สัจจธรรมอันยิ่ง ๒. ต้องเห็นเองจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๓. ต้องเป็นญาติสายโลหิตของตน มีทุกข์หรือตาย จึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๔. ต้องตัวเองได้รับทุกขเวทนากล้าแข็งเจ็บปวดจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความ เพียร เป็นต้น .) เป็นแต่เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เทียบด้วยปรารภความเพียร ).

ทรงแสดงกำลัง ๔ ได้แก่กำลังคือความเพียร, สติ ( ความระลึกได้ ), สมาธิ, ปัญญา.

ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ไม่ควรอยู่ป่า คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม, ในการปองร้าย, ในการเบียดเบียน, เป็นผู้มีปัญญาทราม. ถ้าตรงกันข้ามก็ควรอยู่ป่า .

ทรงแสดงคนพาลและบัณฑิตประกอบด้วยกรรมฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ และความเห็นอันมีโทษหรือไม่มีโทษ.

๗. ทรงแสดงว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง

จะ ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำไปวางไว้คือ ๑. ประพฤติชั่ว ( กายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ มโนทุจจริต ๓ รวมเป็นอกุศลกรรมบท๑๐ ) ด้วยตนเอง, ๒. ชักชวนผู้อื่นเพื่อประพฤติชั่ว ๓. ยินดีในความชั่ว ๔. พรรณนาคุณของคนชั่ว. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

หมวดพระสูตรนอก ๕๐

(หมวดนี้ มีข้อความสั้นที่สุด คือตรัสสอนให้เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง, สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ อย่าง, อิทธิบาท ( ธรรมอันให้ถึงความสำเร็จ ) ๔ อย่าง, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อกำหนดรู้, เพื่อความสิ้นไป, เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ อย่าง มีราคะ เป็นต้น ( แสดงอุปกิเลส ( ครื่องเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓ ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท . ภิกษุผู้รู้ความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ อย่างเหล่านี้ ( แต่ละอย่าง ) เสียได้. เมื่อละได้แล้ว ก็มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะละกิเลส ที่พึงละด้วยมรรคเบื้องต่ำได้ ( โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค ) จึงได้ความรู้อรรถ รู้ธรรมว่า ตนมีความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. ได้ความปราโมทย์อัยประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น. ภิกษุมีศีล มีธรรม มีปัญญาอย่างนี้ ฉันบิณฑบาตข้าวสาลีมีแกงและกับมากมาย ก็ไม่มีอันตราย เป็นผู้เปรียบเหมือนผ้า อันบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์ .)แต่ในที่นั้นใช้คำว่า โลภะ แทนราคะ.

จบเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

'๑' . ๗.กุกกุโรวาทสูตร สูตรว่าด้วยโอวาทแก่ผู้ทำตัวดั่งสุนัข
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะชื่อหลิททวสนะ ในแคว้นโกลิยะ. ปุณณะบุตรแห่งโกลิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งโค ( อรรถกถาเล่าว่า เอาเขาโคมาติดศีรษะ เอาหางมาผูก เที่ยวกินหญ้าไปกับโคทั้งหลาย ส่วนที่ว่า ประพฤติวัตรดั่งสุนัข คือทำอาการกริยาทั้ง ปวงให้เหมือนสุนัข ) กับชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวปราศรัยเสร็จ ปุณณะ โกลิยบุตรก็ทูลถามถึงชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข ว่าจะมีคติเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่าถาม เลย แต่ก็ถามย้ำถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสตอบว่า ถ้าประพฤติเคยชินอย่างสุนัข ตายไปก็จะเกิดเป็นสุนัข แต่ถ้าประพฤติด้วยความคิดว่า จะเป็นเทวดาด้วยศีล ด้วยวัตรอย่างนี้ก็นับว่ามีความเห็นผิด ซึ่งจะมีคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. พระดำรัส ตอบนี้ ทำให้ชีเปลือยชื่อเสนิยะร้องให้.

๒. ชีเปลือยชื่อเสนิยะ จึงทูลถามถึงปุณณะโกลิบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโคบ้างว่า จะมีคติ เป็นอย่างไร ก็ตรัสตอบทำนองเดียวกับเรื่องสุนัข ซึ่งทำให้ปุณณะโกลิยบุตรร้องให้เช่นเดียวกัน. ๓. ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย จึงตรัสแสดงธรรม ๔ อย่าง คือ ๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน โลกที่มีการเบียด เบียน, ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน, ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น )

๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการ เบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใหม่ ) ในโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มี การเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไป ดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ ( อรรกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฏกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของ มนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภุมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ ได้แก่พวกเวมานิกเปรตที่อยู่ วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉาน มีช้าง เป็นต้นด้วย ) บางเหล่า

๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา (อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค ( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาด ตั้งแต่บางส่วนจนถึง หมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย ) เพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็น เจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจะทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป ).

๔. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ปุณณะโกลิยบุตรกราบ ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลสรรเสริญ พระธรรมเทศนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและขอบวช เมื่อทราบว่าผู้เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัยจะต้อง อบรมก่อน ๔ เดือน ก็มีศรัทธาจะขออบรมถึง ๔ ปี. เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๑

พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ปัญจกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ

ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๕ หมวด หมวดละ ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร กับพระสูตรนอกหมวด ๕๐ อีกต่างหาก รวมทั้งสิ้น ประมาณเกือบ ๓๐๐ สูตร.

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคที่ ๑ ชื่อเสขพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลังของ พระเสขะ คือ พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๒ ชื่อพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลัง. วรรคที่ ๓ ชื่อปัญจังคิกวรรค ว่าด้วยธรรมะมีองค์ ๕. วรรคที่ ๔ ชื่อสุมนวรรค ว่าด้วยนางสุมนาราชกุมารี. วรรคที่ ๕ ชื่อมุณฑราชวรรค ว่าด้วยพระ เจ้ามุณฑะ ).

๑. ตรัสแสดงกำลังของพระเสขะ ๕ อย่าง

อันได้แก่กำลังคือ ความเชื่อ, ความอายต่อบาป. ความเกรงกลัวต่อบาป, ความเพียร และปัญญา และได้ตรัสแสดงธรรมยักย้ายนัยต่าง ๆ โดย อาศัยหลักธรรม ๕ ประการที่กล่าวนี้ เช่น ถ้าขาดธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน และหวังทุคคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป แต่ถ้ามีธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และหวังสุคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป.

๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕ ของพระตถาคต

เช่นเดียวกับข้อ ๑

และได้ตรัสถึงธรรมอันเป็นกำลัง ๕ อย่าง อันได้แก่กำลัง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่นและปัญญา.

กับได้ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ, วิมุตติญาณทัสสนะ ๑ และชักชวนผู้อื่นเพื่อให้สมบูรณ์ด้วยธรรมเหล่านั้น. ถ้าขาดในด้านตนเองหรือในด้าน ชักชวนผู้อื่นในทางใดทางหนึ่งหรือขาดทั้งสองอย่าง ก็ชื่อว่าบกพร่องในทางนั้น ๆ.

๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีที่พึ่ง ประพฤติไม่สมส่วนใน เพื่อนพรหมจารี

เป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, ศีล, ความเห็นชอบ และความตั้งใจมั่นชอบให้บริบูรณ์ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, กองศีล, กองสมาธิ, และกองปัญญาให้บริบูรณ์ได้. ต่อเมื่อมีความเคารพ มีที่พึ่ง ประพฤติสมส่วนในเพื่อนพรหมจารี จึงเป็นไปได้ที่จะ บำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริบูรณ์ได้.

ทรงแสดงว่า ความเศร้าหมองแห่งจิต ๕ อย่าง คือความพอใจ ในกาม, ความคิดปองร้าย, ความหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ, และความลังเลสงสัย ( ซึ่งเรียกว่านีวรณ์ ๕ ในที่อื่น ) ทำให้จิตไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน, ไม่ผ่องใสเปล่งปลั่ง, ไม่ตั้งมั่นด้วยดี เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เปรียบเหมือนเหล็ก, โลหะ, ดีบุก, ตะกั่ว, และเงิน เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งทองฉะนั้น. เมื่อจิตปราศจากเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อ อภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น มีการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด.

ทรงแสดงว่า บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมไม่มีคุณธรรมดังต่อไปนี้ ขาดอุปนิสสัย คือ สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความ เบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณซึ่งความหลุดพ้น ). ถ้ามีศีลก็ตรงกันข้าม คือมีคุณธรรมเหล่านี้ มีอุปนิสสัยสมบูรณ์.

ทรงแสดงว่า สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ที่องค์ ๕ อนุเคราะห์ แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผล เป็นอานิสงส์ คือศีล, การสดับตรับฟัง, การไต่ถามโต้ตอบ, สมถะ ( ความสงบ จิต ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ).

ทรงแสดงวิมุตตายตนะ ( เหตุแห่งความหลุดพ้น ) ๕ ประการ ที่ ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร จะมีจิตที่ยังไม่หลุดพ้นได้หลุดพ้น จะมีอาสวะที่ยังไม่สิ้นถึงความสิ้นไป คือ ๑. ศาสดาหรือเพื่อน พรหมจารีที่เคารพแสดงธรรมให้ฟัง ภิกษุก็เห็นอรรถเห็นธรรม เกิดปิติปราโมทย์ มีกายสงบ เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น ๒. ภิกษุแสดง ธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้วแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๓. ภิกษุสาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมที่ได้ฟัง แล้ว เรียนแล้วโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๔. ภิกษุตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้ว ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๕. ภิกษุอื่นเอาสมาธินิมิตอันใดอันหนึ่งไว้ด้วยดี, ใส่ใจด้วยดี, ทรงจำด้วยดี, แทงทะลุด้วย ดีด้วยปัญญา ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น.

ทรงแสดงว่า ญาณ ๕ ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน แก่ผู้เจริญสมาธิ อันไม่มี ประมาณ๒ ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติเฉพาะหน้า คือความรู้เกิดขึ้นเฉพาะตนว่า ๑. สมาธินี้ มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก ( ผล ) ต่อไป ๒. สมาธินี้ประเสริฐ ไม่มีอามิส ( เหยื่อล่อ ) ๓. สมาธินี้คนชั่วส้องเสพไม่ได้ ๔. สมาธิ นี้สงบประณีต ได้มาด้วยความสงบระงับกิเลส บรรลุความเป็นธรรมอันเอกเกิดขึ้น ไม่ต้องบรรลุด้วยใช้ความเพียรข่มธรรมอันเป็นข้าศึก ห้ามกิเลส. ๕. สมาธินี้เราเข้าออกอย่างมีสติ.

ทรงแสดงการเจริญสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะมีองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุเข้าสู่ ฌานที่ ๑ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด ) ๒. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๒ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่ สมาธิ. ๓. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๓ มีกายอันนี้เต็มไปด้วยสุขที่ไม่มีปีติ ๔. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๔ แผ่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปสู่กายนี้ ๕. ภิกษุถือเอานิมิตในการพิจารณาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำด้วยดี แทงทะลุด้วยดีด้วยปัญญา ( ซึ่งนิมิตในการพิจารณานั้น ). เมื่อเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.

ทรงแสดงอานิสงส์ในการเดินจงกรม ( เดินกลับไปกลับมา ) ๕ ประการ คืออดทนต่อการเดินทางไกล, อดทนต่อความเพียร, มีอาพาธน้อย, อาหารที่กิน, ดื่ม, เคี้ยว, ลิ้มรสแล้ว ย่อมย่อยไปด้วยดี, สมาธิที่ได้ในขณะจงกรม ย่อมตั้งอยู่นาน.

ตรัสแก่พระนาคิตะ แสดง พระประสงค์ไม่รับรองพราหมณคฤหบดีชาว อิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้รับโดยง่ายซึ่งความ สุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจาก การนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ในนิมิต ( เครื่อง หมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์มีรูป เสียง เป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูลใน ความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.

๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี๓

ว่า สาวกของพระองค์ ๒ รูป มีศรัทธา ศีล ปัญญาเสมอกัน แต่รูปหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกรูปหนึ่งไม่เป็นผู้ให้

ถ้าไปเกิดเป็นเทพ, เป็นมนุษย์ รูปที่เป็นผู้ให้ย่อมได้รับสิ่ง ๕ สิ่งอัน เป็นของทิพย์, อันเป็นของมนุษย์เหนือกว่ารูปที่ไม่เป็นผู้ให้ คือ อายุ, ผิวพรรณ, ความสุข, ยศ และความเป็นใหญ่.

ถ้าออกบวช เป็นบรรพชิต รูปที่เป็นผู้ให้ ก็จะเหนือกว่าโดยฐานะ ๕ คือ ต่อเมื่อมีผู้ขอร้องจึงบริโภคปัจจัย ๔ มาก ถ้าไม่มีผู้ขอร้องก็บริโภคน้อย, ถ้าอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารี ๆ ก็ประพฤติต่อเธอ ด้วยกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันน่าพอใจโดยมาก ที่ไม่น่าพอใจมีน้อย, ย่อมนำมาให้แต่สิ่งที่น่าพอใจโดยมาก สิ่งที่ไม่น่า พอใจมีน้อย.

แต่ถ้าบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอะไรต่างกันระหว่าง ความหลุดพ้นของผู้หนึ่งกับความหลุดพ้นของอีกผู้หนึ่ง.

ตรัสตอบพระนางจุนทีราชกุมารี๔ ถึงผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยรู้ว่าเลิศอย่างไร ( ตามแนวแห่งความเลื่อมใส ๔ ประการ ที่ เคยกล่าวไว้แล้วในปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑ ความเลื่อมใส ๔ ประการ คือ ๑. พระตถาคตเป็นเลิศแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๒. อริยมรรคมีองค์ ๘เป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๓. วิราคธรรม ( ความคลายกำหนัดยินดี ) อันได้แก่นิพพานเป็นเลิศแห่งธรรมที่ ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง๔. พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล เป็นเลิศแห่งหมู่ทั้งหลาย. ผู้เลื่อมใสใน ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศอันจะ มีผลเลิศ ). และมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ว่า จะเข้าถึงสุคติ ไม่เข้าถึงทุคคติเมื่อล่วงลับไป.

หลานชายของเมณฑกเศรษฐีชื่ออุคคหะ นิมนต์ พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุรวม ๔ รูปไปฉัน แล้วขอให้ตรัสสอนหญิงสาว ( หลายคน ) ที่จะไปสู่สกุลแห่งสามี จึงประทานโอวาท ๕ คือ ๑. พึงปรารถนาดี รับใช้ ปฏิบัติและพูดจาด้วยดีต่อมารดาบิดาของสามี. ๒. แสดงความเคารพต่อบุคคลที่สามีเคารพ เช่น มารดา บิดา สมณพราหมณ์ รวมทั้งจัดที่นั่งและน้ำให้เมื่อมาถึงบ้าน ๓. ขยันไม่เกียจคร้าน พิจารณาจัดทำการงานภายในบ้านของสามี ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับขนแกะหรือฝ้าย. ๔. รู้การที่ควรทำและไม่ควรทำต่อคนภายในบ้านของสามี เช่น ทาส, คนรับใช้, กรรมกร, ดูแลคนเหล่านั้นเมื่อเจ็บไข้ จัดแบ่งอาหารให้ตามส่วน. ๕. รักษาทรัพย์, ข้าวเปลือก, เงิน, ทอง, ที่สามีหามาให้ดี ไม่ทำตนให้เป็นคน เสียหาย เช่น เป็นนักเลง เป็นขโมย หรือทำลายทรัพย์ (หมายเหตุ : ข้อความในพระสูตรนี้ แสดงว่าการนิมนต์พระ ๔ รูป ไปฉันถือเป็นการมงคล อรรถกถาก็อธิบายอย่างนั้น. แสดงว่ากิจการงานภายในบ้านของคนสมัยนั้น มีเกี่ยวกับขนแกะและฝ้าย แสดงว่า บ้านใหญ่ ๆ ปั่นฝ้าย ทอผ้าใช้เอง และแสดงว่าสตรีมีส่วนรับผิดชอบการเงินด้วย ).

ตรัสตอบสีหเสนาบดี ถึงเรื่องผู้ให้ทาน ย่อมได้รับผลปัจจุบัน ๔ ข้อ คือ ๑. เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก ๒. สัตบุรุษย่อมคบหา ๓. มีเกียรติศัพท์ฟุ้งไป ๔. เข้าสู่สมาคมองอาจไม่เก้อเขิน ส่วนผลใน อนาคตมี ๑ ข้อ คือตายไปแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๔ ข้อแรกมิได้เชื่อเพราะพระผู้มีพระภาคตรัส แต่ เชื่อเพราะเห็นจริงด้วยตนเอง. ส่วนข้อหลังไม่ทราบ จึงต้องเชื่อตามพระผู้มีพระภาค.

ตรัสแสดงอานิสงส์ของทานซ้ำกับข้างต้นแล้ว ตรัสเรื่องทานที่ให้ตามกาล ๕ คือ ๑. ทานที่ให้แก่ผู้มา ๒. ทานที่ให้แก่ผู้ไป๓. ทานที่ให้ในเวลาข้าวยาก ๔. ข้าวออกใหม่ ๕. ผลไม้ออกใหม่ที่ถวายในผู้ มีศีล.

ตรัสว่า ผู้ให้โภชนะ ( อาหาร ) ชื่อว่าให้อายุ, ผิวพรรณ, สุข, กำลัง และปฏิภาณ และตนก็จะได้สิ่งเหล่านั้นอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง.

ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีอานิสงส์ ๕ คือ ๑. สัตบุรุษย่อม อนุเคราะห์ก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาก่อน ๓. ย่อมรับ ( ของถวาย ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมให้ฟังก่อน ๕. ผู้นั้นตายไปย่อมเข้าสู่ สุคติโลกสวรรค์ ผู้มีศรัทธาย่อมเป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหมือนต้นไทรใหญ่ ที่เกิดในพื้นดี ในทางสี่แพร่ง เป็นที่พึ่งของนกทั้งหลายฉะนั้น.

ทรงแสดงว่า มารดาบิดาเห็นฐานะ ๕ จึงปรารถนาบุตร คือ ๑. บุตร ที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา ๒. จักทำกิจให้ ๓. สกุลวงศ์ จักตั้งอยู่ยั่งยืน ๔. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมเป็นทายาท ( ผู้รับมรดก ) ๕. เมื่อเราตายแล้ว จักเพิ่มให้ซึ่งทักขิณา ( ในข้อที่ ๕ นี้ รู้สึกว่าจะถือเป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวอินเดียสมัยนั้น ).

ตรัสว่า อันโตชน ( คนที่อาศัยอยู่ในบ้าน ) อาศัยหัวหน้าสกุลผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญ ด้วย ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การบริจาก, และปัญญา.

๕. ตรัสแสดงสิ่งที่พึงได้จากโภคทรัพย์ ๕ ประการ

คือ เลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภริยา ทาส กรรกรให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. ใช้จ่ายในคราวมีอันตรายเกิดขึ้น เพื่อทำตนให้มีความสวัสดี ๔. ทำพลี ๕. มีญาติพลี เป็นต้น๕ ๕. ถวายทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.

ตรัสแสดงว่า สัตบุรุษเกิดในสกุล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คน เป็นอันมาก คือ แก่มารดา บิดา, บุตร ภริยา, ทาส กรรมกร, เพื่อนฝูง, สมณพราหมณ์.

ตรัสแสดงสิ่งที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แต่ได้โดยยาก ๕ อย่าง คือ อายุ, ผิวพรรณ, สุข, ยศ, สวรรค์

แล้วทรงแสดงว่า จะได้สิ่งเหล่านี้เพราะเหตุเพียงอ้อนวอนหรือปรารถนา เพราะถ้า ได้เพราะเหตุอ้อนวอนหรือปรารถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะเสื่อมจากอะไร คงได้สิ่งที่ต้องการหมด ) ผู้ ใคร่จะได้สิ่งเหล่านี้ ควรบำเพ็ญปฏิปทาที่ทำให้ได้สิ่งเหล่านี้จึงจะได้.

ตรัสว่า ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจ ผู้ให้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด ย่อมได้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด และเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่ที่เกิดนั้น ๆ.

ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญกุศล ๕ อย่าง คือภิกษุบริโภคจีวร, บิณฑบาต, ที่อยู่อาศัย, เตียงตั่ง, ยาแก้โรคของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิอันไม่มีประมาณอยู่ ความไหลมาแห่งบุญกุศลอันให้ผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์อันไม่มีประมาณ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจแก่ผู้นั้นอย่างนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้.

ทรงแสดงความถึงพร้อม, และทรัพย์อย่างละ ๕ ประการ อัน ได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.

ทรงแสดงฐานะที่ใคร ๆ ไม่พึงได้ในโลก ๕ อย่าง คือ ขอให้ สิ่งที่มี ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าแก่, อย่าเจ็บไข้, อย่าตาย, อย่าสิ้นไป, อย่าพินาศไปเลย. บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมไม่พิจารณา ย่อมเศร้าโศก ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตรงกัน ข้าม

ตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ทรงมีความทุกข์ เสียพระทัยเกี่ยว กับการสวรรคต ของพระนางมัลลิกา ในทำนองเดียวกับข้อความข้างต้น.

พระนารทะ๖ อยู่ในกุกกุฏาราม กรุง ปาตาลิบุตร ทูลพระเจ้ามุณฑะ ผู้ไม่เป็นอันสรงเสวยเมื่อพระนางภัททาเทวีสวรรคต ในทำนองเดียวกับที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วข้างต้น.

'๑' . ธรรม ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าธัมมขันธ์ ๕

'๒' . ไม่มีประมาณ อรรถกถาแก้ว่า เป็นโลกุตตรธรรม

'๓' . เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

'๔' . อรรถกถาไม่ได้เล่าว่า เป็นพระราชธิดาของใคร แต่ข้อความในพระสูตรแสดงว่าอยู่ในกรุงราชคฤห์ จึงเห็นได้ว่าคงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร

'๕' . พลี ๕ โดยละเอียดมีว่า ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ, อติถิพลี ต้อนรับแขก, ปุพเพตพลี ทำบุญอุทิศให้ ผู้ตาย, ราชพลี เสียภาษีอากรแก่หลวง, เทวดาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา ( หรือเสียสระเพื่อบูชาคุณความดีที่ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา .

'๖' . เรื่องนี้เห็นชัดว่า เป็นเหตุการณ์ภายหลังปรินิพพาน เมื่อสร้างกรุงปาตลิบุตรแล้ว แต่เนื้อธรรมะยกของเก่า มาแสดง


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๒

พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒


( หมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อนีวรณวรรค ว่า ด้วยนีวนณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อสัญญาวรรค ว่าด้วยความกำหนดหมายในใจ. วรรคที่ ๓ ชื่อโยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ. วรรคที่ ๔ ชื่อเถรวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเถระ หรือผู้เฒ่า. วรรคที่ ๕ ชื่อกกุธวรรค ว่าด้วยบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์พระนามว่ากกุธะ).

๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕ ว่า ท่วมทับจิตแล้วทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง และตรัสเรียกว่า อกุศลราศี( กองแห่งอกุศล )

คือความพอใจในกาม, ความคิดปองร้าย, ความคิดหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน รำคาญใจ, ความลังเลสงสัย เมื่อภิกษุละไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองอย่าง หรือจักทำให้แจ้งญาณทัสสนะวิเศษอันควรแก่พระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ ต่อเมื่อละได้ จึงเป็นไปได้ที่จะรู้จักประโยชน์ ตน เป็นต้น.

ตรัสแสดงองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร๑ ๕ อย่าง คือมีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มีอาพาธน้อย, ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ทำตนให้ปรากฏตามความจริงในพระ ศาสดา และในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้, มีความเพียร, มีปัญญา.

ทรงแสดงสมัยที่ไม่สมควรตั้งความเพียร ๕ ประการ คือเป็นคนแก่, ถูกโรคเบียดเบียน, หาอาหารได้ยาก เกิดจราจล ประชาชนอพยพ, สงฆ์แตกกัน. ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นสมัยอันสมควร.

มารดาและบุตรออกบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุ คลุก คลีกันมาก ในที่สุด ลาสิขาออกมาอยู่ร่วมกันอย่างสามีภริยา พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสว่า รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ของหญิงเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ความผูกพัน ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ.

ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ให้ สำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในอาหาร, ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ), มีปัญญาเห็นแจ้ง, เจริญโพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งปัญญาตรัสรู้ ) เธอทำตาม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

ตรัสสอนว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ คือ ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นหนุ่มสาวได้ ) ๒. เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นผู้ไม่มีโรคได้ ) ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในชีวิตได้ ) ๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ( อันจะทำให้ละ ความติดหรือความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจหรือฉันทราคะได้ ) ๕. เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของ กรรมนั้น ( อันจะทำให้ละทุจจริตกาย วาจา ใจ ได้).

เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหานามะ เปล่งอุทานว่า ชาววัชชีจักรอด ชาววัชชีจักรอด๒ และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้เหตุผลที่เปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะทรงเห็นลิจฉวีกุมารทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ดุร้าย แย่งปล้นของขาย เช่น อ้อย, พุทรา, ขนม มากินเดินเขี่ยเท้าผู้หญิงข้างหลัง แต่กลับมายืนพนมมือนิ่งเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค. จึงตรัสว่า ผู้ใดก็ตาม ใช้ทรัพย์ให้ได้ถูกทาง ๕ ประการ ( ดั่งที่ตรัสสอน ไว้ว่าทรัพย์ ๕ ประการ อันได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา ) ผู้นั้นย่อมหวังความเจริญได้ไม่มีเสื่อม.

ตรัสว่าผู้บวชเมื่อแก่ ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือเป็น ผู้ละเอียดอ่อน เป็นต้น ( แปลไว้อย่างละเอียดแล้วว่าผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม หาได้ยาก " ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ! ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยากคือ :-
๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ละเอียดอ่อน หาได้ยาก
๒. ผู้บวชเมื่อแก่ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา หาได้ยาก
๓. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้คงแก่เรียน (พหุสฺสุโต สดับตรับฟังมาก ) หาได้ยาก
๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม) หาได้ยาก
๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก ).

๒. ทรงแสดงสัญญา ๕ สองชุด

ว่า ถ้าเจริญ ทำให้มาก จะมีผล อานิสงส์มาก มีพระนิพพาน ( อมตะ ) เป็นที่สุด คือชุดแรก ความกำหนดหมายว่าไม่งาม, ว่ามีโทษ, ในความตาย, ว่าน่าเกลียด ในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ; ชุดที่สอง กำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตน, ในความตาย, ว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง. ( ฉบับไทยซ้ำกันทั้งสองชุด แต่ฉบับยุโรปและพม่าแยกกัน จึงแยกให้เห็นทั้งสองชุด ).

ตรัสว่า อริยสาวก, อริยสาวิกา ( สาวกชายหญิงของพระอริยะ ) เจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่าถือเอาสาระ ถือเอาส่วนประเสริฐของกายไว้ได้ คือเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.

ตรัสว่า ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่เพื่อนพรหมจารีจะ สนทนาด้วย อยู่ร่วมด้วย คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นด้วย ถ้อยคำที่ชักชวนให้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ เป็นต้น.

ตรัสว่า ภิกษุภิกษุณีเจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม ๕ อย่าง ย่อม หวังผล ๒ อย่างได้ คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน กับถ้ายังมีกิเลสเหลือก็เป็นพระอนาคามี ธรรม ๕ อย่าง คือ ฉันทะ พอใจ, วิริยะเพียร, จิตตะ เอาใจใส่, วิมังสา พิจารณาสอบสวน และอุสโสฬหิ กระตือรือร้น ( อรรถกถาแก้ว่า ความเพียรอย่างแรงกล้า ).

ตรัสว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ ได้ทรงเจริญธรรม ๕ อย่างข้างต้น (มีฉันทะ เป็นต้น ) มาแล้วได้ทรงบรรลุความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ คืออภิญญา ๖ ( มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด ).

ตรัสว่า ธรรม ๕ อย่างที่เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน คือเห็นว่าไม่งามในกาย, กำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง, กำหนดหมาย ในความตาย.

แล้วทรงแสดงธรรม ๕ อย่างนั้น ว่าเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ).

๓. ตรัสแสดงธรรม ๕ อย่างข้างต้น

( มีเห็นว่าไม่งามในกาย เป็นต้น ) ว่า เจริญ ทำให้มากแล้วจะทำให้มีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เป็นผลเป็นอานิสงส์. เมื่อภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ ) และหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) ก็ชื่อว่า ( เหมือนตีเมืองข้าศึกได้ )๓ คือ ๑. ถอนลิ่ม ( เครื่องกีดขวาง )เทียบด้วยละอวิชชาอย่างถอนราก ๒. ถมคู เทียบด้วยละความเวียนว่ายตายเกิด ๓. ถอนเสาระเนียด เทียบด้วยละตัณหาอย่างถอนราก ๔. ถอดลอน ( อรรถกถาแก้ว่า ทำลายบานประตู ) เทียบด้วยละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องผูกมัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างถอนราก ๕. เป็นผู้ประเสริฐ วางธง วางภาระ พักพล เทียบด้วยละความถือตัวว่า เราเป็นนั่น เป็นนี่ อย่าง ถอนราก.

ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามว่า ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่ามีธรรมะเป็นเครื่อง อยู่ ตรัสตอบว่า ๑. ผู้เรียนธรรม แต่เว้นว่างการหลีกเร้น ไม่ประกอบความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ เรียกว่าผู้ มากด้วยปริยัติ ( การเรียน ) แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่. ๒. ผู้แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติ ( เหมือนข้อ ๑ ) เรียกว่าผู้มากด้วยบัญญัติ แต่ไม่เรียกว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๓. รู้สาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมตามที่ฟังแล้ว เรียน แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการสาธยาย แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๔. ผู้ตรึก, ตรอง, เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรม ตามที่ฟังแล้ว เรียนแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการตรึก แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๕. ผู้เรียนธรรม ไม่ทำวัน ทั้งวันให้ล่วงไปด้วยการเรียน ไม่เว้นว่างการหลีกเร้น ประกอบด้วยความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ ( คือเรียนแล้วปฏิบัติ ) เรียกว่า ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.

อีกนัยหนึ่งทรงแสดงว่า ผู้รู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งธรรมนั้นยิ่งขึ้นไป ด้วยปัญญาชื่อว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.

ทรงแสดงนักรบ ๕ ประการ คือ ๑. เห็นฝุ่นฟุ้ง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๒. เห็นยอดธง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๓. ได้ยินเสียงกึกก้องของกองทัพ ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๔. ถูกฆ่าตายในสงคราม ๕. เอาชนะข้าศึกได้ แต่ละข้อ เทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุ.

ทรงแสดงนักรบอีก ๕ ประการ คือ ๑. ที่ถูกฆ่าตายในสงคราม ๒. ที่ถูกยิง ( ด้วยลูกศร ) ญาตินำมาตายกลางทาง ๓. ที่ถูกยิงญาตินำมาพยาบาล ตายในภายหลัง ๔. ที่ถูกยิง ญาตินำมาพยาบาลและ หาย ๕. ที่ชนะสงคราม แต่ละข้อเทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุเช่นกัน.

ทรงแสดงอนาคตภัย ( ภัยในอนาคต ) ๕ อย่าง ซึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่าเมื่อ มองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. เราอยู่ป่าคนเดียวอาจถูกแมลงป่องต่อยหรือตะขาบ กัดตายได้ ๒. เราอาจพลาดล้ม อาหารที่บริโภคอาจเป็นพิษ ดีของเราอาจกำเริบ เสมหะของเราอาจกำเริบ ลมเพียงดังศัสตราอาจกำเริบ เราอาจตายได้เพราะเหตุนั้น ๓. เราอาจพบกับสัตว์ร้าย เช่น ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น สัตว์เหล่านั้นอาจทำลายชีวิตเราให้ตายได้ ๔. เราอาจพบกับพวกโจรที่ปล้นแล้วหรือยังมิได้ปล้น มันอาจฆ่าเราให้ตายได้ ๕. อมนุษย์ร้ายที่อยู่ในป่า อาจฆ่าเราให้ตายได้.

ทรงแสดงอนาคตภัยอีก ๕ อย่าง ที่ ภิกษุเมื่อมองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ ประมาท พากเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. ขณะนี้เรายังหนุ่ม แต่ก็จะมีสมัยที่ความแก่จะมาถึงร่างกายนี้ ทำให้ยากที่จะ ใส่ใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๒. ขณะนี้เรายังมีโรคน้อย แต่ก็จะมีสมัยที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้. ๓. ขณะนี้ข้าวหาง่าย แต่ก็จะมีสมัยที่ข้าวยาก มนุษย์จะอพยพไปหาสถานที่หาอาหารง่าย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจ คำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๔. ขณะนี้มนุษย์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่เกิดภัย คือการก่อการกำเริบในดง ชาวชนบทขึ้นเกวียนเดินทางกระจัดกระจายไป พวกมนุษย์อพยพไปสู่ที่ที่ปลอดภัย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจคำสอน ของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด. ๕. บัดนี้สงฆ์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน ซึ่งยากที่จะใส่ใจคำสอนของ พระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด

แล้วทรงแสดงอนาคตภัยอื่นเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะประพฤติไม่ดีไม่งาม.

๔. ตรัสแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ

ของภิกษุผู้เป็นเถระ ซึ่งจะทำให้ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ ของเพื่อนพรหมจารี คือกำหนัด, คิดประทุษร้าย, หลง, กำเริบ, มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เป็นต้น ในฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองเดียวกันนี้อีกหลายนัย.

ทรงแสดงธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้เป็นเสขะ ( ยังศึกษาเพื่อคุณความดีสูงขึ้นไป ) ๕ ประการ คือความยินดีในการงาน,๔ ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว และฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดง ธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองนี้ในนัยอื่นอีก.

๕. ทรงแสดงสัมปทา

( ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ๕ อย่าง หลายนัย ซ้ำกับที่ตรัสไว้ในตอนต้น ๆ ( หมวด ๕๐ ที่ ๑ )

แล้วทรงแสดงการพยากรณ์ ( อ้างว่าได้บรรลุ ) อรหัตตผล ๕ อย่าง คือ พยากรณ์เพราะโง่เขลา, ปรารถนาลามกจึงพยากรณ์, พยากรณ์เพราะเป็นบ้า, พยากรณ์ด้วยเข้าใจผิดว่าได้บรรลุ, พยากรณ์ โดยชอบ ( คือได้บรรลุจริง ).

ทรงแสดงการอยู่เป็นสุข ๕ อย่าง คือเข้าฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ และทำให้ แจ้งเจโวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.

ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะตรัสรู้ธรรมที่ไม่กำเริบไม่นาน เลย คือบรรลุความเป็นผู้แตกฉานในอรรถ, ในธรรม, ในภาษาพูด, ในปฏิภาณ และพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.

ทรงแสดงว่า ภิกษุเสพสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะบรรลุธรรมที่ไม่กำเริบไม่นานเลย คือมีความริเริ่มในการงานน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษดีในเครื่อง ประกอบแห่งชีวิต, มีอาหารน้อย ไม่เห็นแก่ท้อง, หลับน้อย ประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น, สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ได้, พิจารณา จิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.

และทรงแสดงยักย้ายอีกหลายนัยคล้ายคลึงกัน. ทรงแสดงว่าพระตถาตคย่อมแสดง ธรรมด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ไม่ใช่ทำอย่างเสียไม่ได้ ) แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แก่ คนส่วนใหญ่ และแม้แต่พวกเนสาท ( ขอทานและพรานนก มีความรวมในคำว่าเนสาท ) ที่นำข้าวติดตัวไป. ๕ เปรียบเหมือนราชสีห์ เมื่อจะประหารเหยื่อก็ประหารด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ผึ่งผาย ).

ตรัสกะพระมหาโมคคัลลานะถึงศาสดา ๕ ประเภท ที่ต้องอาศัย หรือหวังความคุ้มครองจากสาวก๖, ส่วนพระองค์ไม่ต้องหวังเช่นนั้น.

'๑' . ปธานิยังคะ แปลตามอรรถกถา ที่แล้วมาเคยแปลว่า องค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน ( ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะมาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่ โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.

'๒' . ตามศัพท์ว่า ชาววัชชีจักเป็น ภวิสฺสนฺติ วชฺชี

'๓' . ขออุปมาในการตีเมืองข้าศึกได้นี้ หมายความว่า จะต้องทำลายเครื่องกีดขวางทุกชนิดที่ฝ่ายรับทำไว้ คือ ๑. ทำลายเครื่องกีดขวางรอบนอกก่อนถึงคูเมือง ๒. ถมคูเมือง ๓. ถอนเสาระเนียด คือเสาที่ปักไว้อย่างแข็งแรงด้านนอกของ ประตู ๔. ถอนกลอนประตูเมือง เปิดบานประตูออกไป ๕. วางธง วางสิ่งแบกหามพักพล

'๔' . หมายถึงการงานที่เป็นแบบคฤหัสถ์ หรือการงานที่ไม่เนื่องด้วยการอบรมจิตใจ

'๕' . อันนภาระ มีภาระเรื่องข้าว คือแบกข้าว นำข้าวติดตัวไป หรือเอาข้าวทูนหัวไป

'๖' . ถอดความไว้ว่า " ศาสดา ๕ ประเภทที่ต้องอาศัยหรือหวังความคุ้มครองจากสาวก คือศาสดาผู้ มีศีลไม่บริสุทธิ์, มีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์, มีการแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์, มีการตอบคำถามไม่บริสุทธิ์, มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่แสดงตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๓

พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓

( ในหมวดนี้มี มี ๕ วรรค วรรคที่ ๑ ชื่อผาสุวิหารวรรค ว่าด้วยความอยู่เป็นผาสุก. วรรคที่ ๒ ชื่ออันธกวินทวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในเมืองอันธกวินทะ. วรรคที่ ๓ ชื่อคิลานวรรค ว่าด้วยคนใช้. วรรคที่ ๔ ชื่อราชวรรค ว่า ด้วยพระราชา. วรรคที่ ๕ ชื่อติกัณฑกีวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในป่าติกัณฑกี ).

๑. ตรัสแสดงธรรมะที่ทำให้แกล้วกล้า ๕ อย่าง

คือการที่มีศรัทธา, มีศีล, มีการสดับตรับฟังมาก, ปรารภความเพียร, มีปัญญา.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ทำให้ถูกรังเกียจว่าเป็น ภิกษุชั่ว แม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ไม่พ้นถูกรังเกียจ คือ ๑. เที่ยวไปในที่อยู่ของหญิงแพศยา ๒. เที่ยวไปในที่อยู่ของหญิงหม้าย ๓. เที่ยวไปในที่อยู่ของสาวใหญ่ ( โบราณเรียกว่าหญิงเทื้อ ) ๔. เที่ยวไปในที่อยู่ของกะเทย ๕. เที่ยวไปในที่อยู่ของนางภิกษุณี. ( อรรถกถาแก้ว่า ไปเสมอ ๆ อันแสดงว่า ถ้ามีธุระเป็นกิจจะลักษณะ และมีเหตุสมควรไปได้ ).

ตรัสว่า ภิกษุชั่วเปรียบเหมือนโจร อาศัยสิ่งต่าง ๆ ๕ อย่าง มีทาง อันไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ( ทางไม่สม่ำเสมอเทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่สม่ำเสมอคล้ายกับที่ย่อไว้ในเล่มที่ ๒๒ ว่า ภิกษุชั่วก็ประกอบด้วยองค์ ๓ คืออาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ เทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่ เรียบร้อย อาศัยป่าชัฏ เทียบด้วยมีความเห็นผิด อาศัยกำลัง เทียบด้วยอาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ( สนับสนุน ).

ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง เป็นสมณะละเอียดอ่อน คือ ๑. มีคนข้อร้องจึงบริโภคปัจจัย ๔ มาก ไม่มีคนขอร้องก็บริโภคน้อย ๒. เพื่อนพรหมจารีประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันน่าพอใจ นำเข้าไปแต่สิ่งที่น่าพอใจโดยมาก ในทางไม่น่าพอใจน้อย ๓. มีโรคน้อย ๔. เข้าฌานที่ ๑ ถึง ๔ ได้ตามปรารถนา ๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ. ทรงแสดงว่า เมื่อกล่าวโดยชอบก็อาจกล่าวถึงพระองค์ได้ว่า สมณะละเอียดอ่อน.

ทรงแสดงการอยู่เป็นสุข ๕ อย่าง คือตั้งกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา, มีศีลอันดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี, มีความเห็นอันดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี.

ตรัสกะพระอานนท์ว่า เพียงด้วยเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ภิกษุสงฆ์ก็จะพึงอยู่ ผาสุกคือ ๑. ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ทำผู้อื่นให้เป็นไป ( ตั้งอยู่ ) ในอธิศีล๑ ๒. ภิกษุเพ่งเล็งตัวตนเอง ไม่เพ่งเล็งบุคคลอื่น๒ ๓. ภิกษุไม่มีใครรู้จักมาก แต่ก็ ไม่สะดุ้งกลัวด้วยข้อนั้น ๔. ได้ฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามปรารถนา ๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.

ทรงแสดง ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะว่า ทำให้ภิกษุ เป็นผู้ควรของคำนับ ของต้อนรับ เป็นเนื้อนาบุญของโลก.

และตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างชื่อว่าเป็นผู้ไม่ติดขัดใน ๔ ทิศ คือมีศีล, มีการสดับตรับฟัง, ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ

และทรงแสดงว่า ภิกษุเช่นนั้นควรเสพเสนาสนป่าอันสงบ.

๒. ตรัสว่า ภิกษุผู้เข้าสกุล ( เข้าไปฉันเป็นประจำ ) ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง

ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจในสกุล คือสนิทสนมกับผู้ไม่คุ้นเคย, ไม่เป็นใหญ่ แต่ทำเป็นเจ้ากี้เจ้าการ, ชอบคนสกุล ที่แตกกัน, ชอบกระซิบที่หู, ขอมากเกินไป. แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ไม่ควรถือเอาเป็นปัจฉาสมณะ ( พระ เดินตามหลัง ) คือไปไกล หรืใกล้เกินไป, ไม่รับสิ่งที่มีอยู่ในบาตร, ไม่ห้ามเมื่อพูดใกล้จะเป็นอาบัติ, พูดขัดใน ระหว่างที่กำลังพูด, มีปัญญาทราม แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างไม่ควรเข้าสัมมาสมาธิ คือไม่อดทนต่อรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.

ตรัสสอนพระอานนท์ให้ชักชวนภิกษุบวชใหม่ให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือให้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์, ให้สำรวมอินทรีย์ ( มีตา หู เป็นต้น ), ให้พูดแต่น้อย, ให้เสพเสนาสนะอันสงัด,ให้มี ความเห็นชอบ.

ตรัสว่า นางภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ คือตระหนี่อาวาส, ตระหนี่สกุล ( ไม่อยากให้สกุลที่เกี่ยวข้องกับตนอุปการะผู้อื่น ), ตระหนี่ ลาภ, ตระหนี่ความดี ( ทนฟังเขาสรรเสริญผู้อื่นไม่ได้ ), ตระหนี่ธรรม ( ไม่สอนธรรมแก่ผู้อื่น ) หรือตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ธรรม ๕ อย่างที่เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน คือเห็นว่าไม่งามในกาย, กำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง, กำหนดหมาย ในความตาย.

กับแสดงความชั่วความดีของนางภิกษุณี ผู้จะชื่อว่าตกนรกหรือ ขึ้นสวรรค์อีกหลายนัย.

๓. ตรัสสอนภิกษุไข้ว่า ถ้ามีธรรม ๕ อย่างก็มีหวังว่าจะทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติไม่นาน

คือพิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม, กำหนดหมายว่าปฏิกูลในอาหาร, กำหนดหมายว่าไม่น่า ยินดีในโลกทั้งปวง, พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง, กำหนดหมายในความตาย.

ตรัสว่า ภิกษุหรือภิกษุณีผู้เจริญธรรมะ ๕ อย่าง ย่อมหวังผลได้ ๒ อย่าง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลสเหลือก็จะได้เป็นพระอนาคามี คือตั้งสติภายในเพื่อมีปัญญาเห็นความเกิดดับแห่ง ธรรม นอกนั้นเหมือนข้อธรรมของภิกษุไข้ข้อ ๑ ถึง ๔.

ตรัสถึงคนไข้ที่พยาบาลยากและพยาบาลง่าย คนพยาบาลไข้ที่ไม่ดีและดี (แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๔๕. คนไข้ที่พยาบาลยากและพยาบาลง่าย,และหมายเลข ๔๖.ด้วย

ทรงแสดงธรรมที่ตัดรอนอายุ ๕ ประการ คือทำสิ่งที่ไม่สบาย, ไม่รู้ประมาณในสิ่งที่สบาย, กินของที่ไม่ย่อย ( ย่อยยาก ), เที่ยวไปผิดเวลา, ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วทรงแสดงธรรมที่ให้อายุยืน ในทางตรงกันข้าม

กับทรงแสดงธรรมะที่ตัดรอนและทำให้อายุยืน อื่นอีก เปลี่ยนแต่ ตอนท้าย ๒ ข้อ คือ ๔. ทุศีล ๕. คบคนชั่วเป็นมิตรหรือตรงกันข้าม.

ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ไม่ควรอยู่ตามลำพังแยกจาก พระสงฆ์ คือไม่สันโดษ๓ ด้วยปัจจัย ๔ และมากด้วยความตรึกในกาม กับทรงแสดงฝ่ายดีที่ตรงกันข้าม.

ทรงแสดงทุกข์ของสมณะ ๕ อย่าง คือไม่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ กับ ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่ยินดี ส่วนสุขของสมณะตรงกันข้าม.

ทรงแสดงบุคคล ๕ ประเภทที่จะต้องไปอบายนรกอย่างไม่มีทางแก้ คือผู้ฆ่ามารดา. ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำให้พระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิดประทุษร้าย, ทำสงฆ์ให้แตกกัน.

ทรงแสดงความเสื่อม ๕ อย่าง คือ ความเสื่อมญาติ, เสื่อมทรัพย์, เสื่อม เพราะโรค, เสื่อมศีล, เสื่อมเพราะทิฏฐิ แล้วตรัสว่า ๓ ข้อต้น ไม่ทำให้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบําต นรก แต่ความเสื่อมศีล, เสื่อมเพราะ ทิฏฐิ ทำให้เขาถึงอบาย เป็นต้น แล้วทรงแสดงความถึงพร้อมในทางตรงกันข้าม และว่า ๒ ข้อหลังทำให้เข้าถึงโลกสวรรค์.

๔. ทรงแสดงองค์ ๕ ว่า ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงหมุนจักรไปได้

โดยไม่มีใครหมุนกลับ และทำให้พระตถาคตหมุนธรรมจักรไปได้ ไม่มีใครหมุนกลับ คือความเป็นผู้รู้อรรถ, รู้ธรรม, รู้ประมาณ, รู้กาล, รู้บริษัท ( ประชุมชน ). และ

ทรงแสดงว่า องค์ ๕ นี้ ทำให้โอรสของพระเจ้าจักรพรรดิ์ทำได้เช่น เดียวกับพระราชบิดาและทำให้พระสาริบุตรทำได้เช่นพระตถาคต.

ต่อจากนั้นทรงแสดงคุณธรรม ของพระเจ้าจักรพรรดิ์เทียบกับของพระ ตถาคต คุณธรรมของพระราชา, คุณธรรมของเชฏฐโอรสแห่งพระราชา เทียบกับของภิกษุ๔ .

ทรงแสดงถึงผู้หลับน้อยตื่นมาก ๕ ประการ (แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๔๙. ผู้หลับน้อยตื่นมากในยามราตรี

ทรงแสดงถึงช้างของพระราชา ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เทียบด้วยภิกษุผู้มีคุณธรรมเช่นนั้น

และแสดงคุณสมบัติ อื่นอีก เช่น รู้จักฟัง, รู้จักฆ่า, รู้จักรักษา, รู้จักอดทน, รู้จักไป เทียบคุณธรรมของภิกษุ.

๕. ทรงแสดงบุคคล ๕ ประเภท

คือให้แล้วดูหมิ่น, อยู่ด้วยกันแล้วดูหมิ่น, มีหน้ารับเอา ( หูเบาเชื่อง่าย ), โลเล, โง่เง่า ( ไม่รู้ธรรมอันเป็นกุศล อกุศล ).

ตรัสแสดงบุคคล ๕ ประเภท คือ ผู้ริเริ่มด้วยเดือดร้อน, ผู้ริเริ่ม แต่ไม่ เดือดร้อน, ไม่ริเริ่ม และเดือดร้อน, ไม่ริเริ่ม ไม่เดือดร้อน ( อย่างแรก ), ไม่ริเริ่ม ไม่เดือดร้อน ( อย่างหลัง ). โดยอธิบายว่า ริเริ่มหรือ ไม่ริเริ่ม ได้แก่รู้หรือไม่รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามเป็นจริง, เดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ได้แก่อกุศลบาปธรรมดับไปโดยไม่เหลือ หรือ ไม่ดับ มีคำอธิบายพิเศษเฉพาะข้อหลังที่ว่า ไม่ริเริ่ม และไม่เดือดร้อนนั้น คือทั้งรู้วิมุติตามเป็นจริง และอกุศลบาปธรรมดับไปโดยไม่เหลือ.

เจ้าลิจฉวีสนทนากันว่า ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, แก้งมณี, นางแก้ว, ขุนพลแก้ว หาได้ยากในโลก. ตรัสตอบว่า ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ คือพระตถาคต, พระธรรมวินัยที่พระ ตถาคตประกาศแล้ว, ผู้แสดงพระธรรมวินัยนั้น, ผู้รู้ธรรมวินัยนั้น และผู้ที่รู้แล้วปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น หาได้ยากในโลก.

ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณา ในเรื่องปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ในสิ่งที่ ไม่ปฏิกูล และปฏิกูล เป็นต้น ยักย้ายหลายนัย เพื่อมิให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ และให้มีสติสัมปชัญญะวางเฉยได้ในสิ่งเหล่านั้น.

ตรัสเรื่องผู้ละเมิดศีล ๕ เป็นผู้ตกนรก ผู้ปฏิบัติตามศีล ๕ เป็นผู้ขึ้นสวรรค์

และภิกษุผู้เป็นมิตรที่ไม่ควรคบและควรคบ ผู้ไม่ควรคบ คือให้ทำการงาน ( มีทำนา เป็นต้น ),๕ ก่ออธิกรณ์, ประพฤติผิดในภิกษุผู้เป็นใหญ่เป็นประธาน, เดินทางนาน เดินทางโดยไม่มีจุดหมาย ( ใช้เวลาให้ล่วงไปในการเดินทาง ), ไม่สามารถชักชวนปลอบใจผู้อื่นด้วยธรรมิกถาตามกาลอันสมควร ฝ่ายดี คือที่ตรงข้าม.

ตรัสแสดงอสัปปุริสทาน และสัปปุริสทาน (ทาน ของคนชั่ว คนดี ) อย่างละ ๕ คือให้ทานด้วยไม่เคารพ, ให้ไม่ดีงาม, ไม่ให้ด้วยมือของตน, ให้สิ่งที่เป็นเดน ( หรือให้เหมือนอย่างทิ้งขว้าง ), ให้โดย ไม่เห็นอนาคต ( ปราศจากความเชื่อในผลของทาน ) ส่วนที่ดีคือตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงสัปปุริสทาน พร้อมทั้งผลอีก ๕ อย่าง คือ ให้ทานด้วยศรัทธา ทำให้รูปงาม, ให้ทานด้วยความเคารพ ทำให้บุตร ภริยา บ่าวไพร่ เชื่อถ้อยฟังคำ, ให้ทานตามกาล ทำให้ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาล บริบูรณ์, ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคในกามคุณ ๕ อันโอฬาร ( มีทรัพย์แล้วได้ใช้ ไม่เหมือนบางคนที่มั่งมี แต่ไม่คิดใช้ ยอมอดอยาก ), ให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่น ทำให้ทรัพย์ที่เกิดขึ้นไม่ถึงความวิบัติจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากผู้ไม่ชอบกัน จากทายาท. ( ก่อนที่จะตรัสแสดงผลพิเศษของแต่ละข้อ ได้แสดงผลเหมือน ๆกัน ทุกข้ออย่างหนึ่ง คือทำให้ มั่งคั่งทรัพย์มาก ).

ทรงแสดงว่า ธรรม ๕ อย่าง คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, การไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้หลุดพ้นเป็นครั้งคราว ( ยังไม่หลุดพ้นเด็ดขาด) ฝ่ายดีตรงกันข้าม.

และทรงแสดงธรรมะ ๕ ที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมเช่นนั้นอีก เป็นแต่ เปลี่ยนข้อ ๔ กับข้อ ๕ เป็นไม่สำรวมอินทรีย์ กับไม่รู้ประมาณในโภชนะ แล้วทรงแสดงฝ่ายดีตรงกันข้าม.

'๑' . แม้ไม่ต้องชักชวนคนอื่นก็ดีพอแล้ว

'๒' . แม้ไม่เพ่งเล็งคนอื่น เพียงแต่เพ่งเล็งตัวเองก็พอแล้ว

'๓' . สันโดษ คือยินดีตามมีตามได้ หรือยินดีด้วยของของตน ไม่ยินดีของของคนอื่น

'๔' . คุณธรรม ๕ ประการของภิกษุซ้ำกับที่เคยกล่าวมาแล้วในปธานิยังคะ ๕ (ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะ มาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.) และมีศีล สดับมาก เป็นต้น

'๕' . ทำเอง หรือคุมให้ทำ สั่งให้ทำ ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๔

พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

จตุตถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔

( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเดิม วรรคที่ ๑ ชื่อสัทธัมมวรรค ว่าด้วยสัทธรรม, วรรคที่ ๒ ชื่ออาฆาตวรรค ว่าด้วยความอาฆาต, วรรคที่ ๓ ชื่ออุปาสกวรรค ว่าด้วยอุบาสก, วรรคที่ ๔ ชื่อ อรัญญวรรค ว่าด้วยป่า, วรรคที่ ๕ ชื่อพราหมณวรรค ว่าด้วยพราหมณ์ ).

๑. ตรัสแสดงถึงผู้ฟังธรรมที่ไม่ดี๑และที่ดี หลายนัย

ที่ไม่ดี เช่น ข่มหรือดูหมิ่นเรื่องที่แสดง, ผู้แสดง, ตัวเอง, มีจิตฟุ้งสร้าน, มีจิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ ใส่ใจโดยแยบคาย ที่ดีคือตรงกันข้าม เป็นต้น.

๒. ตรัสสอนวิธีนำออกซึ่งความอาฆาต ๕ อย่าง

คือ พึงเจริญเมตตา, กรุณา, อุเบกขา ในผู้ที่ตนคิดอาฆาต, พึงไม่สนใจในบุคคลนั้น, พึงคิดไปในทางที่ว่า ใครทำกรรมคนนั้นก็จะได้รับผล ( สัตว์มีกรรม เป็นของของตน ) ต่อจากนั้นเป็นคำสอนของพระสาริบุตร ในเรื่องทำนองเดียวกัน เป็นแต่ยักย้ายนัย.

๓. ตรัสแสดงอุบาสกผู้ประกอบด้วยศีล ๕ ว่า เป็นผู้ก้าวลงสู่ความแกล้วกล้า ตลอดจน ได้ตรัสถึงการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรทำ

คือค้าขายเครื่องประหาร ( ศัสตรา ), ค้าขายสัตว์เป็น, ค้าขายเนื้อสัตว์, ค้าขายน้ำเมา, ค้าขายยาพิษ.

พร้อมทั้งตรัสแสดงคุณของศีล ๕ และโทษของการล่วงละเมิด เป็นต้น. ในที่สุดตรัสเล่าถึงเรื่องภเวสีอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสกที่เป็นบริวารอีก ๕๐๐ ต่างแข่งขันทำความดี ตั้งอยู่ในศีล ๕ ให้ดี กว่ากันขึ้นโดยลำดับ จนถึงออกบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์.

๔. ตรัสแสดงเรื่องภิกษุผู้อยู่ป่า ๕ ประเภท

คืออยู่ป่าเพราะโง่, เพราะ ปรารถนาลามก ( เช่น ต้องการให้คนนับถือ ), เพราะเป็นบ้า, มีจิตฟุ้งสร้าน, เพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกสรรเสริญการ อยู่ป่า, เพราะมีคุณธรรม มีมักน้อย สันโดษ เป็นต้น แล้วตรัสสรรเสริญว่า อยู่ป่าเพราะมีคุณธรรมเป็นเลิศ. นอกจากนั้นทรงแสดง ถึงผู้บำเพ็ญธุดงค์๒ อื่น ๆ อีก มีทรงผ้าบังสุกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตก ) เป็นต้น ในทำนอง เดียวกัน.

๕. ตรัสแสดงธรรมเก่าแก่ของพราหมณ์ ๕ ประการ

ซึ่ง ในบัดนี้ไม่ ปรากฏในพราหมณ์ คือ ๑. พราหมณ์ย่อมอยู่ร่วมกับพราหมณี ไม่อยู่ร่วมกับคนที่มิใช่พราหมณี ๒. พราหมณ์ย่อมอยู่ร่วมกับพราหมณี ผู้มีระดู ไม่อยู่ร่วมกับพราหมณีผู้ไม่มีระดู ( ยังเด็กเกินไป ถือความสมควรเมื่อมีระดูแล้ว คือสามารถมีบุตรได้ ) ๓. พราหมณ์ย่อมไม่ซื้อ ขายพราหมณี ย่อมอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่ สัมพันธ์กัน ๔. พราหมณ์ย่อมไม่สะสมทรัพย์ ข้าวเปลือก ทองเงิน ๕. พราหมณ์ย่อม หาอาหารเย็นกินเย็น หาอาหารเช้ากินเช้า ( ถือการภิกขาจารไม่สะสมหรือขอเอาไว้กินในมื้ออื่น ).

ตรัสแสดงธรรมแก่โทณพราหมณ์ เรื่องคุณธรรมของพราหมณ์ในทางที่ เนื่องด้วยการอบรมจิต.

ตรัสแสดงธรรมแก่สังคารวพราหมณ์ เรื่องคุณธรรมที่ทำให้มนต์แม้ที่ไป ท่องบ่น ยังคงแจ่มแจ้งอยู่ตลอดกาลนาน โดยชี้ไปที่การทำให้จิตปราศจากนีวนณ์ ๕ ( เฉพาะข้อ ๑ ทรงใช้คำว่า กามราคะ แทนคำว่า กามฉันท์๑.( นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี คือ :- ๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม ๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงงุน ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ) ๒. ( พึงสังเกตว่า ในที่นี้ ไม่ใช้คำว่า กามฉันท์ ความพอใจในกาม แต่ใช้ อภิชฌา แทน ) ๓. ( นิวรณ์คือกิเลสอันกั้นจิตให้บรรลุความดี โดยปกติแสดงว่ากามฉันท์ความพอใจเป็นข้อแรก บางแห่งก็ใช้คำว่าอภิชฌา ( ความเพ่งเล็งหรือโลภ ) ในที่นี้ใช้อภิชฌาวิสมโลภ ( โลภขนาดรุนแรง ) เป็นข้อแรก )

พราหมณ์ชื่อการณปาลี ถามพราหมณ์ชื่อปิงคิยานีถึงคุณงามความดีของ ของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังคำอธิบายก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก.

ตรัสแสดงความปรากฏแห่งรัตนะ ๕ ที่หาได้ยากแก่เจ้าลิจฉวี มีความ ปรากฏแห่งพระพุทธเจ้า เป็นต้น.

ตรัสแสดงความฝันเรื่องใหญ่ ( มหาสุบิน ) ๕ ประการ ก่อนที่จะตรัสรู้ คือ ๑. ทรงฝันว่ามีมหาปฐพีเป็นที่บรรทม มีขุนเขาหิมพานต์เป็นหมอน, พระหัตถ์ซ้ายขวาพาดมหาสมุทรด้านตะวันออกตะวันตก พระบาททั้งคู่พาดมหาสมุทรด้านใต้ ๒. ทรงฝันว่ามีหญ้าชื่อติริยา๓ เกิดขึ้นจากพระนาภี สูง ขึ้นไปจดท้องฟ้า ๓. ทรงฝันว่ามีหนอนสีขาวมีหัวดำไต่ขึ้นมาจากพระบาทปกคลุมจนถึงชานุมณฑล ( บริเวณเข่า ) ๔. ทรงฝันว่ามีนก ๔ ชนิดมีสีต่าง ๆ มาจาก ๔ ทิศ ตกลงมาแทบบาทมูลแล้วกลายเป็นสีขาวทั้งหมด ๕. ทรงฝันว่าทรงเดินไปมาบนภูเขาอุจจาระลูกใหญ่ แต่ไม่เปื้อนอุจจาระ แล้วทรงอธิบายว่า ข้อ ๑ หมายความว่า จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้อ ๒ หมายความว่าจะได้ตรัสรู้ อริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่ ๓ หมายความว่า พวกคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวจะมาถึงพระตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต ข้อที่ ๔ หมายความว่า วรรณะทั้งสี่มีกษัตริย์ เป็นต้น จะมาบวชในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว และได้ทำให้แจ้งวิมุติอันยอดเยี่ยม ข้อที่ ๕ หมาย ความว่า พระองค์จะได้ลาภปัจจัย ๔ แต่ไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น. และได้ตรัสแสดงเรื่องอื่น ๆ เช่น

ลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต (ซึ่งได้แปลเอาไว้แล้วว่าลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้ คือ :-
๑ . วาจาที่กล่าว ( ถูกต้อง ) ตามกาล ๒. วาจาที่กล่าว เป็นความจริง
๓ . วาจาที่กล่าว อ่อนหวาน ๔ . วาจาที่กล่าว ประกอบด้วยประโยชน์
๕ . วาจาที่กล่าว ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา. )

และนิสสารณธาตุ ( ธาตุคือความแล่นออก, ได้แก่พ้นไป ) คือการที่จิตของ บุคคลแล่นออกไป ( หรือพ้นไป ) จากกาม ( ความใคร่ ), พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ), วิเหสา ( ความคิดเบียดเบียน ). รูป, สักกายะ ( กายของตน ).

'๑' . ที่ไม่ดี คือที่ไม่ควรจะก้าวลงสู่ทำนองคลองธรรม อันถูกต้องในกุศลธรรม ที่ดีคือตรงกันข้าม

'๒' . คำว่า ธุดงค์ หมายถึงข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส มีอยู่ ๑๓ ข้อ มีการอยู่ป่า เป็นต้น

'๓' . อรรถกถาแก้ว่า หญ้าคา ( ทัพพติณะ )


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๕

พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ปัญจมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๕

( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อกิมพิลวรรค ว่าด้วยพระ กิมพิละ. วรรคที่ ๒ ชื่ออักโกสกวรรค ว่าด้วยผู้ด่า. วรรคที่ ๓ ชื่อทีฆจาริกวรรค ว่าด้วยการเที่ยวไป ( เดินทาง ) นาน. วรรคที่ ๔ ชื่ออาวาสิกวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่น. วรรคที่ ๕ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยทุจจริต ).

๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ

ถึงเหตุที่พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ไม่นาน หรือตั้งอยู่นาน เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว โดยชี้ไปที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีความเคารพในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในกันและกัน. และตรัสแสดงถึงเรื่องอื่น ๆ ( ที่แปลไว้ในบทต้น ๆแล้วโดยมากว่าเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน" พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ดูก่อนกิมพิละ ! เมื่อตถาคต ปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการ ศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ ! เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. " )

๒. ตรัสว่า ภิกษุด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า

เป็นผู้ หวังโทษ ๕ อย่าง คือ ต้องอาบัติปาราชิก, ต้องอาบัติชั่วหยาบ, มีโรคอย่างหนัก, หลงทำกาละ, ตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตนรก.

แล้วได้ตรัสแสดงโทษของภิกษุผู้ก่อการทะเลาะวิวาท โทษของการพูดมาก เป็นต้น.

๓. ตรัสแสดงโทษของการจาริกไปนาน โดยไม่มีจุดหมาย

ว่า มีอยู่ ๕ อย่าง คือไม่ได้ฟังสิ่งที่ยังมิได้ฟัง, ที่ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจชัดขึ้น, ไม่แกล้วกล้า เพราะได้ฟังเพียงเล็กน้อย, มิโรคอย่างหนัก, ไม่มีมิตร. ในทางดีตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไป ๕ อย่าง คือมีข้าวของ มาก สั่งสมข้าวของมาก, มีเภสัชมาก สั่งสมเภสัชมาก, มีกิจกรณียะมาก ไม่ฉลาดในการงาน, คลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วย การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่ควร, ออกจากอาวาสไปไหน ก็มีความห่วงใย. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของการไม่อยู่ประจำที่ นานเกินไป ในทางตรงกันข้าม.

แล้วได้ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไปอีก ๕ ข้อ คือทำให้ตระหนี่๑ ในที่อยู่, ในตระกูล, ในลาภ, ในคุณความดี ( ชื่อเสียง ), ในธรรม.

ทรงแสดงโทษของการเข้าสู่สกุล ( ไปฉันเป็นประจำในหมู่บ้าน ) ซึ่ง มักทำให้ต้องอาบัติต่าง ๆ

และโทษของการคลุกคลีในสกุลเกินขอบเขต เป็นต้น.

๔. ตรัสแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างว่าเป็นผู้ไม่ควร สรรเสริญ

(อรรถกถา แก้ว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ ) คือไม่สมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยาและวัตร, ไม่สดับตรับฟังมาก ไม่ทรงจำ, ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ยินดีในการขัดเกลา ไม่ยินดีในความดี, ไม่มีวาจาไพเราะ, มีปัญญาทราม. แล้วทรงแสดงฝ่ายดีตรงกันข้าม.

กับทรงแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเพื่อนพรหมจารี และตรงกันข้ามอื่น ๆ อีกจนจบวรรค ข้อความคล้ายคลึงกัน เป็นแต่เปลี่ยนคุณธรรมบางข้อ.

๕. ตรัสแสดงโทษของทุจจริต ๕ อย่าง

คือ ตนเองติเตียนตนได้, ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเตียนได้, กิตติศัพท์อันชั่วย่อมฟุ้งไป, เป็นผู้หลงตาย, เมื่อตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

ตลอดจนโทษของความเลื่อมใสเจาะจงตัวบุคคล ๕ ประการ คือ ๑. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ยกเสียจากหมู่ ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย เป็นเหตุให้ไม่คบ ไม่ฟังธรรม และเสื่อมจากสัทธรรม ( เพราะ เข้ากับคนผิด ) ๒. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ลงโทษให้นั่งปลายแถว ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ( เหมือนข้อแรก ) ๓. เมื่อผู้นั้นหลีก ไปที่อื่น ๔. เมื่อผู้นั้นสึกไป ๕. เมื่อผู้นั้นตายไป ก็เลยไม่คบภิกษุอื่น (หมายเหตุ : คำสอนนี้ดีมาก ไม่ให้ติดในบุคคล แต่ถ้าจะ เลื่อมใส ควรเลื่อมใสในหลักธรรม เพราะคนอาจเปลี่ยนแปลงได้. ถ้าเข้าใจในหลักธรรมหรือหลักการแล้ว ก็จะไม่วุ่นวายในเรื่องบุคคล).


พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

ในหมวดนี้ ถือได้ว่าเป็นหมวดพิเศษ แสดงเรื่องธรรมขันธ์ ( ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ ) และเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงหรือพ้องกับวินัยปิฎกบ้าง ที่แสดงมาแล้วในชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ (ธรรมะ ที่มี ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า ธัมมขัน ๕ ). ( พึงสังเกตุว่า ตั้งแต่หมวด ๕๐ ที่ ๔ มาจนจบนี้ได้ย่อความอย่างรวบรัด และแสดงเฉพาะข้อธรรมที่ไม่พ้องกันโดยมาก ).


ฉักกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๖ ข้อ

ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๒ หมวด หมวดพิเศษนอก ๕๐ อีก ๒ หมวด จึงมีพระสูตร ประมาณ ๑๐๐ สูตรเศษ.


ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออาหุเนยวรรค ว่าด้วยผู้ควรของ คำนับ. วรรคที่ ๒ ชื่อสาราณิยาทิวรรค ว่าด้วยธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน เป็นต้น. วรรคที่ ๓ ชื่อนุตตริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันยอดเยี่ยม. วรรคที่ ๔ ชื่อเสกขปริหานิวรรค ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมของผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๕ ชื่อธัมมิกวรรค ว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม).

๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง

เป็น ผู้ควรคำนับ ควรของ ต้อนรับ ควรแก่ทักขิณา ( ของถวาย ) ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูก ต้องโผฏฐัพพะ, รู้ธรรม แล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะ วางเฉย.

แล้วทรงแสดงภิกษุที่ประกอบด้วยธรรมะ ๖ อย่าง ( อภิญญา ๖ มี อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ว่า เป็นผู้ควรของคำนับ กับแสดงธรรม ๒ อย่าง คืออินทรีย์ ๕ พละ ๕ ( ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ) เพิ่มทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็น ๖ ข้อว่า ทำให้ภิกษุควรแก่ของคำนับ เป็นต้น.

ตรัสแสดงม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๖ ว่า ควรแก่พระราชา คืออดทนต่อรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ และสมบูรณ์ด้วยสีกาย อีกนัยหนึ่งเปลี่ยนแต่ข้อสุดท้าย คือสมบูรณ์ด้วยกำลัง อีกนัย หนึ่งสมบูรณ์ด้วยฝีเท้า เทียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ คืออดทนต่ออารมณ์ ๖ มีรูป เป็นต้น.

ตรัสแสดงสิ่งยอดเยี่ยม ( อนุตตริยะ ) ๖ คือการเห็น การฟัง, การได้, การศึกษา, การบำเรอ, การระลึก อันยอดเยี่ยม.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งการระลึก ๖ อย่าง คือการระลึกภึงพระพุทธ, พระ ธรรม, พระสงฆ์, ศีล, การบริจาค, เทวดา ( หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ).๒

ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะถึงอนุสสติ ( การระลึก ) ๖ ว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยสาวกผู้บรรลุผลแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ( พระโสดาบันบุคคล ).

๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ

คือ ๑. ตั้งกายกรรม, ๒. วจีกรรม, ๓. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารี ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี ๕. มีศีล ที่ดีเสมอกัน ๖. มีความเห็นที่ดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี

ตรัสแสดงแสดงนิสสารณียธาตุ ( ธาตุคือการพ้นไป ) ๖ อย่าง คือ ๑. เมตตาที่เป็นเจโตวิมุติ ( เป็นฌาน ) เป็นความพ้นไปแห่งพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ๒. กรุณาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่ง วิเหสา ( ความคิดเบียดเบียน ) ๓. มุทิตาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่งอรติ ( ความริษยา ) ๔. อุเบกขาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความ พ้นไปแห่งราคะ ( ความกำหนัดยินดี )๓ ๕. เจโตวิมุติที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) เป็น ความพ้นไปแห่งนิมิตทั้งปวง ๖. การถอนอัสมิมานะ ( ความถืดตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นความพ้นไปแห่งความสงสัย.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความตายที่ไม่ดีของภิกษุผู้ทำการ ๖ อย่าง คือยินดีในการงาน ( ที่มิใช่ของบรรพชิต ), ยินดีในการพูดมาก, ยินดีในการหลับ, ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า ในทางดีแสดงตรงกันข้าม

คฤหปตานีผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ พูด กับสามีผู้เป็นไข้หนัก ไม่ให้ ตายอย่างมีความเพ่งเล็ง ( กังวลห่วงใย ) ทั้งในการครองเรือนและในทางศีลธรรม. เมื่อคฤหบดีหายแล้ว ก็ถือไม้เท้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสชมเชยคฤหปตานีเป็นอันมาก.

ตรัสปรารภภิกษุบวชใหม่ผู้นอนกรนหลับอยู่จนตะวันขึ้น แสดง ว่า พระราชา, และผู้เป็นหัวหน้าอื่น ๆ เช่น เสนาบดี, นายบ้าน, ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่เป็นที่รักของชนบทและของกลุ่มชน. ส่วนสมณพราหมณ์ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะได้.

ตรัสแสดงว่า ผู้หากินทางฆ่าสัตว์ไม่เจริญ มีทรัพย์มั่งคั่ง. ตรัสสอน ให้เจริญมรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) ทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะชื่อว่าไม่ประมาท. กับอีกนัยหนึ่ง

ตรัสสอนให้ระลึกถึงความตาย แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.

๓. ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง

ว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม ( ของภิกษุ ) ในกาล ทั้งสาม ( อดีต, อนาคต, ปัจจุบัน ) คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ความเป็นคน ว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร, ในฝ่ายดีตรัสแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงว่า คำว่า ภัย, โรค, ฝี, ความข้อง, หล่ม เป็นชื่อของกาม. ตรัสว่า ภิกษุผู้ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง พึงทำลายขุนเขาหิมพานต์เสียได้ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการทำลายอวิชชาอันต่ำทราม ธรรม ๖ อย่าง คือฉลาดในการเข้าสมาธิ, ในการตั้งอยู่ในสมาธิ, ในการออกจากสมาธิ, ในความควรแก่กาลของสมาธิ, ในอารมณ์ของสมาธิ, ใน การเข้าสมาธิสูง ๆ ขึ้นไป.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ ประการ มีการระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้น

พระมหากัจจานะสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ อย่าง ข้างต้น.

ตรัสแสดงว่า ภิกษุควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ๖ สมัย คือ เมื่อถูก นีวรณ์ ๕ ครอบงำ และเมื่อใส่ใจในนิมิตใด เป็นเหตุให้อาสวะไม่สิ้น ภิกษุก็ยังไม่รู้ไม่เห็นนิมิตนั้น, เข้าไปแล้วจะได้ขอให้สั่งสอน.

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงสมัยที่ควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ตาม ความเห็นของตน. พระมหากัจจานะแสดงสมัย ๖ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้.

ตรัสถามพระอุทายีเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก พระอุทายีตอบไม่ได้ และ ตอบเลี่ยงไปอย่างอื่น. เมื่อตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ตอบชี้ไปที่การเข้าฌาน, การใส่ใจอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายว่ามี แสงสว่าง ), การพิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียด, การพิจารณาซากศพต่างชนิด, การเข้าฌานที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสประทาน สาธุการ แล้วตรัสสอนเพิ่มอีกข้อหนึ่ง คือให้มีสติเมื่อก้าวไป, ถอยกลับ, ยืน, นั่ง, นอน, ทำการงาน.

ตรัสรายละเอียดเรื่องอนุตตริยะ ๖ เป็น การขยายความจากที่ประทานหัวข้อ ไว้ โดยใจความว่า การเห็น การฟัง เป็นต้น อันนับว่ายอดเยี่ยมนั้น คือที่เป็นไปในทางธรรม ( เห็นพระพุทธเจ้า, ฟังธรรม ) เป็นต้น.

๔. ตรัสแสดงว่า ธรรม ๖ อย่าง

คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมอินทรีย์( มีตา หู เป็นต้น ) ไม่รู้ประมาณในโภชนะว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ภิกษุผู้ยังศึกษา.

และตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความไม่ประมาท, การปฏิสันถาร ( ต้อนรับ ). ตรัสยักย้ายนัยเปลี่ยนข้อ ๕ เป็นข้อ ๖ เป็นความเคารพในหิริ ( ความละอายต่อบาป ) ความเคารพในโอตตัปปะ ( ในความเกรงกลัวต่อบาป ).

พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะ เรื่อง ญาณของเทวดา ที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นกัน.

ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ( วิชชาภาคิยะ ) คือ อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเขอนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์ ), ปหานสัญญา ( ความกำหนดหมายในการละ ), วิราคสัญญา ( ความกำหนดหมายใน การคลายความกำหนัดยินดี ), นิโรธสัญญา ( ความกำหนดหมายในการดับ ).

ตรัสแสดงว่า มูลเหตุแห่งวิวาทมี ๖ อย่าง คือ ภิกษุเป็นผู้โกรธ, ผูกโกรธ ; ลบหลู่บุญคุณท่าน, ตีเสมอ ; ริษยา, ตระหนี่ ; โอ้อวด, มีมายา ; มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด ; ยึดทิฏฐิของตนมั่น สละยาก. เมื่อมีความไม่ดี ๖ ส่วนเหล่านี้แล้ว ก็ขาดความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ก่อวิวาท ขึ้นในสงฆ์.

อุบาสิขาชื่อเวฬุกัณฑกีผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ๔ ประดิษฐานทักขิณามีองค์ ๖ ในภิกษุสงฆ์ มีพระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า องค์ ๖ คือองค์ ๓ ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ได้แก่มีจิตผ่องใสก่อนให้ กำลังให้ ให้เสร็จแล้ว, องค์ ๓ ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ได้แก่ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อละราคะ, ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อละโทสะ, ปราศจาก โมหะ หรือปฏิบัติเพื่อละโมหะ. ทักขิณาที่ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้ มีบุญอันไม่ง่ายที่จะนับจะประมาณ.

ทรงแสดงธาตุ ๖ คือ อารัพภธาตุ ( ความริเริ่ม ), นิกกมธาตุ ( ความก้าวออก ), ปรักกมธาตุ ( ความบากบั่น ), ถามธาตุ ( เรี่ยวแรง ), ธิติธาตุ ( ความอดทน ), อุปักกมธาตุ ( ความพยาพยาม ) ทั้งหกข้อนี้เป็นชื่อของ ความเพียร เพื่อชี้แจงให้พราหมณ์ผู้หนึ่งละทิ้งความเห็นผิด ปฏิเสธการกระทำของตนและของคนอื่นว่าไม่มี.

ตรัสแสดงโลภะ, โทสะ, โมหะ และอโลภะ, อโทสะ, อโมหะ ว่าเป็น ต้นเหตุให้เกิดการกระทำฝ่ายชั่ว, ฝ่ายดี ฝ่ายละ ๓ ข้อ.

ตรัสตอบพระกิมมิละ๕ เรื่อง ของสัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน เพราะพุทธบริษัทไม่มีความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ในการศึกษา, ในความไม่ประมาท, ในการ ต้อนรับ. ฝ่ายดีทรงแสดงในทางตรงกันข้าม.

พระสาริบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญ ทางจิต อาจอธิษฐานให้ท่อนฟืนเป็นดิน, เป็นน้ำ, เป็นไฟ, เป็นลม, ให้งาม, ให้ไม่งาม อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะมีธาตุทั้งหก ( ปฐวีธาตุ ถึงอสุภธาตุ ) อยู่ในท่อนไม้นั้น.

ตรัสกะพระนาคิตะ เรื่องไม่มีพระพุทธประสงค์ จะต้อนรับพราหมณคฤหบดี ชาวอิจฉานังคละทำนองเดียวกับในธรรมะหมวด ๕ ( ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่รับ รองพราหมณคฤหบดีชาวอิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้ รับโดยง่ายซึ่งความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจากการนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ใน นิมิต ( เครื่องหมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์ มีรูป เสียงเป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูล ในความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.) ที่ตรัสไว้แล้ว แต่มีรายละเอียดต่างไปเล็กน้อย.

๕. ตรัสกะพระอุทายี

ว่า คนทั่วไปเห็นสัตว์ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ หรือมนุษย์ใหญ่ ก็เรียกว่านาคะ ( สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ) แต่พระองค์ตรัสว่า ผู้ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ว่าเป็นนาคะ (หมายเหตุ :คำว่า นาคะ มาจากคำว่า นคะ ซึ่งแปลว่า ภูเขา จึงใช้เรียกสิ่งใหญ่ ๆ ได้ ).

ตรัสแสดงถึงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ประเภทที่เว้นจากความชั่ว ๒. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่เกิดความโลภเป็นครั้งคราว ๓. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่ยังมีวจีสังขาร๖ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บุคคล ๓ ประเภทนี้แบ่งออกเป็นประเภทละ ๒ พวก คือพวกที่มิได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วก็มีแต่เสื่อมลงไม่สูงขึ้น อีกพวกหนึ่งได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วมีแต่สูงขึ้นไม่เสื่อมลง. ( ตรัสแสดงแก่ พระอานนท์เป็นการแก้ความข้องใจของมิคสาลาอุบาสิกา ผู้ได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงอุบาสก ๒ คนที่ประพฤติพรหมจรรย์ กับไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ ถึงแก่กรรมว่า ได้เป็นพระสกทาคามีเหมือนกัน เป็นการชี้ว่า อย่าว่าแต่ประพฤติต่างกันเลย แม้แต่ประพฤติเหมือนกัน ในชั้นเดียวกัน แต่ฝ่ายหนึ่งก้าวหน้าก็มี ไม่ก้าวหน้าก็มี คนประพฤติต่างชั้นก็อาจเสมอกันได้ เพราะมีบางส่วนบกพร่อง แต่บางส่วน สมบูรณ์ ).

ตรัสว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก โดยแสดงผลร้ายของความจน ๖ ข้อ ( แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๑๒๕. ความจนเป็นทุกข์ในโลก

พระมหาจุนทะ๗ สอนภิกษุทั้งหลาย มิให้ภิกษุผู้บำเพ็ญฌานกับภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก๘ ( ผู้แสดงธรรม ) รุกรานกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ชื่อว่าหาได้ยากด้วยกัน. ( พึงสังเกตว่า พระมหาจุนทะรูปนี้ จะพูดจะสอนอะไร มักจะเพื่อสมานสามัคคี เพื่อความ ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาเสมอ

ตรัสแสดงธรรมแก่ปริพพาชกชื่อโมฬิยสิวกะ ผู้ ทูลถามถึงธรรมที่เห็นได้ ด้วยตัวเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน ผู้รู้เห็นได้จำเพาะตน โดยตรัสถามว่า เมื่อโลภะ โทสะ โมหะ มีใน ภายใน ก็รู้ว่ามีในภายใน ไม่มีในภายใน ก็รู้ว่าไม่มี ใช่หรือไม่ เมื่อตอบว่า ใช่ จึงตรัสว่า นั่นคือธรรมที่เห็นด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย กาล เป็นต้น.

ตรัสตอบพราหมณ์ผู้หนึ่ง ในทำนองเดียวกับปริพพาชก เป็นแต่ตรัสถามให้ ตอบในเรื่องราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) และสันโทสะ ( การประทุษร้ายทางกาย วาจา ใจ ).

พระเขมะกับพระอุตตระ เข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ต่างกราบทูลเป็นสุภาษิต คือพระเขมะกราบทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ไม่คิดว่า มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, มีผู้เสมอเรา, มีผู้เลวกว่าเรา. ส่วนพระสุมนะกราบ ทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพไม่คิดว่า ไม่มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, ไม่มีผู้เสมอเรา, ไม่มีผู้เลวกว่าเรา ( ไม่ยึดถือด้วยมานะความถือตัว ).

ตรัสว่า ความสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ญาณ ทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ), นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุด พ้น ) เกี่ยวเนื่องส่งเสริมกันให้บริบูรณ์โดยลำดับ.

พระสาริบุตรกับพระอานนท์สนทนาธรรมกัน พระสาริบุตรสรรเสริญพระอานนท์ ( รวม ๖ ข้อ คือ ) ๑. เรียนธรรมะ ๒. แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น ๓. บอกธรรมตามที่ฟังแล้วเรียน แล้วแก่ผู้อื่น ๔. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมะนั้น ๕. จำพรรษาอยู่ในอาสวะที่มีพระเถระผู้สดับตรับฟังมาก ๖. เข้าไปหาพระเถระเหล่า นั้นไต่ถามปัญหาเป็นครั้งคราว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เปิดเผยชี้เแจงบันเทาความสงสัยให้ได้.

ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงบุคคล ๖ ประเภท ตาม ที่ถาม คือ ๑. กษัตริย์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงกำลัง ( พลกาย ) ใส่ใจถึงแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด ( เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ) ๒. พราหมณ์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงมนต์ ใส่ใจถึงยัญ มีพรหมโลกเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๓. คฤหบดี ( ผู้ครองเรือน หรือพ่อเจ้าเรือน ) ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศิลปะ ใส่ใจถึงการงาน มีการงานที่สำเร็จเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๔. สตรี ประสงค์บุรุษ พิจารถึงเครื่องประดับ ตั้งจิตถึงบุตร ใส่ใจที่จะไม่มีสตรีอื่นมาร่วมสามี มีความเป็นใหญ่เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย. ๕ โจร ประสงค์จะขโมย พิจารถึงป่ารก ตั้งจิตถึงศัสตรา ใส่ใจถึงความมืด มีการไม่ถูกเห็นเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๖. สมณะประสงค์ขันติ ( ความอดทน ) และโสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศีล ใส่ใจถึงความไม่กังวล มีนิพพานเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย.

ตรัสว่า ความไม่ประมาท เป็นธรรมข้อหนึ่ง ที่เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้บรรลุประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ปัจจุบันและอนาคต.

พระธัมมิกะ เป็น ภิกษุเจ้าถิ่นใน ๗ วัด ในชาติภูมิ เป็นคนปากร้าย ด่าว่า ภิกษุอาคันตุกะ จนหนีไปหมด. พวกอุบาสกจึงพากันขับไล่ไม่ให้อยู่ในวัดทั้งเจ็ดวัด จึงต้องเดินทางไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัส ว่า เมื่อถูกไล่จากที่ต่าง ๆ ก็ต้องมาหาพระองค์ เหมือนพ่อค้าเดินทางเรือสู่สมุทร เมื่อไม่เห็นฝั่งก็ปล่อยนกหาฝั่งไป นกก็บินไปทั้งสี่ทิศ ทั้งทิศเบื้องบนและทิศเฉียง ถ้าเห็นฝั่งก็บินไปเลย ถ้าไม่เห็นฝั่งก็บินกลับมาสู่เรืออีก แล้วตรัสเล่าเรื่องในอดีตอีกหลายเรื่อง.

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒


( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ที่ ๑ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๒ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วย เทวดา. วรรคที่ ๓ ชื่ออรหันตวรรค ว่าด้วยพระอรหันต์. วรรคที่ ๔ ชื่อสีติวรรค ว่าด้วยความเย็น. วรรคที่ ๕ ชื่ออานิสังวรรค ว่าด้วยผล ดี ).

๑. ตรัสสอนพระโสณะ

ผู้ ทำความเพียรมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ โดยตรัส อุปมาด้วยสายพิณที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป เสียงไม่ดี ต่อขึงพอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป จึงมีเสียงดี. พระโสณะปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงข้อธรรมหลายประการ โดยเฉพาะได้กล่าวถึง พระอรหันต์ขีณาสพว่า น้อมไปสู่ฐานะ ๖ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ), ปวิเวกะ ( ความสงัด ), อัพยาปัชฌะ ( ความไม่เบียดเบียน ), ตัณหักขยะ ( ความสิ้นไปแห่ง ตัณหา ), อุปาทานักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่น ), อสัมโมหะ ( ความไม่หลง ).

พระผัคคุณะอาพาธหนัก พระอานนท์ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคขอให้เสด็จ ไปเยี่ยม พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรด เมื่อเสด็จกลับไม่นานพระผัคคุณะก็ถึงมรณภาพ. เมื่อพระอานนท์ไปกราบทูล จึงตรัสว่า จิต ของพระผัคคุณะภายหลังฟังธรรมได้หลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ( เป็นพระอนาคามี ) แล้วได้ตรัสถึงอานิสงส์ ( ผลดี ) ใน การฟังธรรมตามกาล ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล มี ๖ อย่าง คือ ๑. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๒. ฟังธรรมที่สาวกพระตถาคตแสดง จิตพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๓. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตพ้นจาก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๔. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรม เป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๕. ฟังธรรมที่สาวก พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๖. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส อย่างยอดเยี่ยม.

ตรัสแสดง อภิชาติ ๖ ประการ เปรียบ เทียบกับข้อบัญญัติของปูรณะ กัสสปะ คือ ๑. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แล้วประพฤติทุจจริต ๒. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แต่ประพฤติสุจริต ๓. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดพระนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ ออกบวชตั้ง อยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น ๔. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง แต่ประพฤติทุจจริต ๕. คนมี อภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง ประพฤติสุจริต ๖. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ผู้เกิดในตระกูลสูง ออกบวชตั้งอยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น.

ตรัสแสดงคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ว่า ละอาสวะได้ ๖ อย่าง ( มีละด้วยการสำรวม เป็นต้น ( โปรดดูที่แปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๑๑๗. ต้องเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จึงสิ้นอาสวะได้ เป็นแต่ในนั้นแสดงวิธีการ ๗ อย่าง ในที่นี้แสดง ๖ อย่าง ยกข้อว่าด้วยทัสสนะออกเสีย ).

ตรัสถึงภิกษุ ๖ ประเภท คืออยู่ป่า, อยู่ท้ายบ้าน, ถือบิณฑบาต, รับนิมนต์, ทรงผ้าบังสุกุล, ทรงคฤหบดีจีวร ( ผ้าที่คฤหบดีถวาย ) ซึ่งมีทั้งชั่วทั้งดี.

พระจิตตหัตถิสาริบุตร พูด แทรกขึ้นในเมื่อพระเถระทั้งหลายกำลังกล่าว อภิธัมมกถากันอยู่ พระมหาโกฏฐิตะจึงห้ามปรามภิกษุที่เป็นมิตรสหายของผู้พูดแทรกจึงเตือนว่า พระจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นผู้ฉลาด อาจจะ พูดอภิธรรมกับพระเถระทั้งหลายได้. พระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า ถ้าไม่รู้ปริยายแห่งจิตของผู้อื่น ก็ยากจะรู้ได้ แล้วกล่าวว่า คนที่เสงี่ยมเจียม ตัว สงบระงับในเมื่ออยู่อาศัยศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพนั้น ถ้าแยกออกไปก็อาจถูกราคะครอบงำจิตได้ เหมือนโคที่ผูกไว้ จะว่า ไม่กินข้าวกล้าไม่ได้ แม้บุคคลได้ฌานทั้งสี่และได้เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องหมาย ) ก็อาจเสื่อม ถูกราคะครอบงำ ลาสิกขาไปได้. ต่อมา พระจิตตหัตถิสาริบุตรลาสิกขาไปจริง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสว่า ไม่ช้าจิตตะก็จะระลึกได้ถึงเนกขัมมะ. ในไม่ช้าจิตตหัตถิ สาริบุตรก็บวชอีก และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ( จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาท ปริพพาชก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ ( ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น. ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิปทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วิญญูบุรุษเช่นข้าพเจ้า จะไม่ รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร. )

พระเถระหลายรูปสนทนากัน ถึง ปัญหาว่า อะไรเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย อะไร เป็นท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ต่างแสดงความเห็นชี้ไปที่ผัสสะ ความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ว่าเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย ความดับ ตัณหาเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ดังนี้เป็นต้น ( รวม ๖ นัยฺ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จมา ตรัสว่า คำตอบเหล่านั้นทั้งปวงถูกโดยปริยาย แต่ที่ พระองค์ทรงมุ่งหมาย ( ตรงกับที่รูปแรกกล่าวไว้ ) คือผัสสะ ความเกิดแห่งผัสสะ เป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย เป็นต้น.

ตรัสแสดง ธรรมแก่พระอานนท์ ถึง บุคคล ๖ ประเภท แบ่งเป็น ๓ ประเภท แรก กับ ๓ ประเภทหลัง คือ ประเภทแรก ได้แก่ผู้มีธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้จะไปสู่อบายนรก. ๓. ประเภทหลัง ได้แก่ผู้มี ธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้มีธรรมคือพระนิพพาน.

ตรัสแสดง ธรรมปริยายว่าด้วยนิพเพธิกะ ( ชำแรกหรือทำลายกิเลส ) คือควร ทราบธรรม ๖ อย่าง คือ กาม, เวทนา, สัญญา, อาสวะ, กรรม, ทุกข์ พร้อมด้วยความเกิดขึ้น, ความต่างกัน, วิบาก ( ผล ), ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งธรรมทั้งหกนั้น.๙

ตรัสแสดง กำลังของพระตถาคต ๖ ประการ คือ ๑. ทรงรู้ฐานะและอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ) ตามความเป็นจริง. ๒. ทรงรู้ผลโดยฐานะ โดยเหตุ ตามเป็นจริง แห่งการทำกรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน. ๓. ทรงความรู้ เศร้าหมอง, ความผ่องแผ้ว, การออกแห่งฌาน, วิโมกข์, สมาธิ และสมาบัติ. ๔. ทรงระลึกชาติได้ ๕. ทรง ได้ทิพยจักษุ ๖. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ กำลังทั้งหกข้อของพระตถาคตเหล่านี้ทำให้ทรงปฏิญญาความเป็น หัวหน้า ( อาสภัณฐานะ ฐานะแห่งโคอุสภะ หรือโคผู้นำฝูง ) บรรลือสีหนาท หมุนพรหมจักร ( ล้อธรรมอันประเสริฐ ).

๒. ตรัสว่า ผู้ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งอนาคามิผล

คือ ความ ไม่ศรัทธา ( เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ), ความไม่ละอาย, ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, ความเกียจคร้าน, ความหลงลืมสติ, ความมีปัญญทราม. ฝ่ายดี ทรงแสดงตรงกันข้าม.

ทรงแสดงว่า บุคคนละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความหดหู่, ความง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน, ความรำคาญใจ, ความไม่ศรัทธา, ความประมาท. ฝ่ายดีทรงแสดงตรง กันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุคบมิตรชั่ว ดำเนินตามมิตรชั่ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำธรรมะเกี่ยว กับความประพฤติและมารยาท ( อภิสมาจาริกธรรม ), ธรรมของพระเสขะ, และทำศีลให้บริบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ที่จะละกามราคะ ( ความ กำหนัดในกาม ), รูปราคะ ( ความกำหนัดในรูป ), อรูปราคะ ( ความกำหนัดในสิ่งที่มิใช่รูป ). ในทางดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะยินดีในความสงัด, ที่จะถือเอา นิมิตแห่งจิตไว้,๑๐ ที่จะทำสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะทำสัมมาสมาธิ ( ความ ตั้งใจมั่นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) ได้, ที่จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้. ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

เทวดากราบทูลถึงธรรม ๖ อย่างที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความเป็นผู้ว่าง่าย และการคบเพื่อนที่ดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเล่า พระ สาริบุตรจึงกราบทูลว่า ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้ง สรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร.

ตรัสว่า ถ้าไม่มีสมาธิอันสงบระงับ ประณีต ก็ไม่ได้เสวยอภิญญา ๖ ( มีแสดง ฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ต่อมีสมาธิเช่นนั้นจึงได้อภิญญา ๖.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้เห็นแจ่ม แจ้งในคุณวิเศษนั้น ๆ คือไม่รู้จักธรรมที่เป็นส่วนแห่งความเสื่อม, ความเสมอตัว, ความก้าวหน้า,๑๑การ ทำลายกิเลส ตามความเป็นจริง, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย ( ไม่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม ). ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้มีกำลังสมาธิ คือไม่ฉลาดในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออกเกี่ยวกับสมาธิ, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการโดยติดต่อ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ คือนีวรณ์ ๕ กับ ไม่เห็นโทษของกาม ตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ อีกอย่างหนึ่ง คือ ความตรึกในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน, ความกำหนดหมายในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน และฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง

ย่อมอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม ( เป็นต้น เหมือนข้างบนนี้ ) ฝ่ายดีตรัสในทางตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความถือตัว ( มานะ ), ความดูหมิ่นตัวเอง ( โอมานะ ), ความดูหมิ่นผู้อื่น๑๒ ( อติมานะ ), ความ สำคัญผิดว่าได้บรรลุ ( อธิมานะ ), ความกระด้าง ( ถัมภะ ), ความถือตัวว่าเลวยิ่ง ( อตินิปาตะ ). ในทางดีคือตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ คือความหลงลืมสติ, ความไม่มีสัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ), ความไม่สำรวมอินทรีย์ ( มีตาเป็นต้น ), ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ, พูดปด, พูดเลียบเคียงหาลาภ. ในทางดี คือตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้มากไปด้วยความสุขกายสุขใจในปัจจุบัน คือยินดีในธรรม, ยินดีในการทำความดีให้เกิดขึ้น ( ภาวนา ), ยินดีในการละความชั่ว, ยินดีในความสงัด, ยินดีในความไม่พยาบาท, ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างไม่ควรบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ไม่ควร ทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญ คือ ไม่ฉลาดในความเจริญ, ไม่ฉลาดในความเสื่อม, ไม่ฉลาดในอุบาย, ไม่ปลูกความ พอใจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ, ไม่รักษากุศลธรรมที่บรรลุแล้ว, ไม่ดำเนินการด้วยการกระทำอันติดต่อ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างจะบรรลุความยิ่งใหญ่ไพบูลในธรรมทั้งหลายไม่ นาน คือมากด้วยแสงสว่าง ( คือความรู้ถึงฌาณ ). มากด้วยความเพียร ( โยคะ ), มากด้วยความรู้สึก ( เวทะ อรรถกถาแก้ว่า ปีติปราโมทย์ ) มากด้วยความไม่สันโดษ ( ในกุศลกรรม ),๑๓ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม, ทำความ เพียรยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

ทรงแสดงถึงผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง จะตกนรกเหมือนนำไปวางไว้ และ

ตรงกันข้ามจึงขึ้นสวรรค์เหมือนนำไปวางไว้ คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติ ผิดในกาม, พูดปด, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด

อีกนัยหนึ่ง คือพูดปด, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, โลภ, คะนอง.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้เแจ้งความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นธรรมที่เลิศ คือไม่มีศรัทธา, ไม่มีความละอาย, ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป, เกียจคร้าน, ๑๔มีปัญญาทราม, ห่วงใยในกายในชีวิต ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง หวังความเสื่อมในกุศลธรรมได้ ไม่มีความเจริญ ในอนาคต คือปรารถนามาก ทุกข์ร้อน ( เพราะความปรารถนามากนั้น ), ไม่สันโดษด้วย ปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ไม่มี ศรัทธา, ทุศีล, เกียจคร้าน, หลงลืมสติ, มีปัญญาทราม. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

๔. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้แจ้งความเห็นอันยอดเยี่ยม

คือไม่ข่มจิต, ไม่ประคองจิต, ไม่ปลอบจิต, ไม่เพ่งจิต ในสมัยที่ควรทำเช่นนั้น, น้อมไปในธรรมอันเลว, ยินดีในกายของ ตน. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง แม้ฟังธรรม ก็ไม่ควรเพื่อจะก้าวลงสู่ทำนอง ธรรมอันถูกต้องในกุศลธรรม คือประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกรรม ( ทำกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ), ๑๕ ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกิเลส ( มีความเห็นผิดอย่างแรง ), ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือวิบาก ( ผล แห่งกรรมส่งให้ไปเกิดในที่ไม่สมควร ), ไม่มีศรัทธา, ไม่มีฉันทะ ( ความพอใจ ), มีปัญญาทราม,

อีกนัยหนึ่ง ทำอนันตริยกรรม ๕ กับมีปัญญาทราม.

อีกนัยหนึ่ง ไม่ฟังธรรม, ไม่ตั้งโสต, ส่งใจไปที่อื่น, ถือเอาแต่สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ทอดทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์, ประกอบด้วยความพอใจ ที่ไม่สมควร. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ตัดลัทธิพิธีหรือโชคลาง ), ราคะ โทสะ โมหะ ที่ ทำให้ไปสู่อบาย. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ละธรรม ๖ อย่างที่กล่าวมานี้ได้ และไม่ควรทำธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

ตรัสแสดงอภัพพฐาน ( ฐานะที่ไม่ควรหรือที่เป็นไปไม่ได้ ) ๖ ประการ คือ ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่อยู่อย่างขาดความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ไม่ควรก้าวล่วงอคมนียวัตถุ ( สิ่งที่ไม่ ควรถึงอรรถกถาแก้ว่า ทิฏฐิ ๖๒ ), ไม่ควรยังภพที่ ๘ ให้เกิดขึ้น ( ไม่เกิดอีกเป็นครั้งที่ ๘ ).

ตรัสแสดงอภัพพฐาน ๖ ประการ คือ ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ไม่สมควรเห็นว่า สังขารใด ๆ เที่ยง, เป็นสุข, ธรรมใด ๆ เป็นอัตตาตัวตน, ไม่ควรทำอนันตริยกรรม, ไม่ควรถือมงคลตื่นข่าว, ไม่ควรแสวงหาทักขิเณยยบุคคล นอกพระพุทธศาสนา.

อีกนัยหนึ่ง คือไม่ควรทำอนันตริยกรรม ๕ และถือศาสนาอื่น.

อีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ควรเห็นว่าสุข ทุกข์ ตนเองทำขึ้น, คนอื่นทำขึ้น, ทั้งตนเองและ คนอื่นทำขึ้น, ไม่ใช่ตนเองทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่คนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่ทั้งตนเองและคนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ทั้งนี้เพราะ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นผู้เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรมอันเกิดขึ้นแต่เหตุ.

๕. ตรัสว่า ความปรากฏขึ้นแห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หาได้ยากในโลก

คือพระพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า, ผู้เกิดในแดนอันประเสริฐ ( อริยายตนะ ),๑๖ ความเป็นผู้ไม่มีอินทรีย์ วิกล ( ตา, หู เป็นต้น ไม่พิการ ) ไม่โง่เง้า, หรือเป็นใบ้, มีความพอใจในกุศลธรรม.

ตรัสแสดงอานิสงส์ ๖ ประการ ในการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล คือ เที่ยงใน พระสัทธรรม, มีธรรมะอันไม่เสื่อม, เมื่อทำที่สุดทุกข์ได้ก็ไม่มีทุกข์ ( น่าจะหมายความว่าทุกข์ชนิดไหนและได้แล้วก็จะไม่เกิดอีก ), ประกอบ ด้วยญาณ ( ความรู้ ) อันไม่ทั่วไป ( แก่บุถุชน ), เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรม อันเกิดขึ้นแต่เหตุ.

ตรัสแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ๖ อย่าง คือเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เห็นว่าสังขารเที่ยง จะประกอบด้วยความพอใจอันสมควร, จะก้าวสู่ทำนองคลองธรรมอันถูกต้อง, จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผลถึงอรหัตตผล ( ผล ๔ ).

แล้วทรงแสดงว่า ผู้เห็นว่าสังขารเป็นสุข เห็นธรรมว่าเป็นตัวตน เห็นนิพพานว่าเป็นทุกข์ ก็มีนัยเดียวกับข้างบนนี้. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควร ตั้งความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยงใน สังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต ( ว่าส่วนนี้ไม่เที่ยง ส่วนอื่นเที่ยง ) คือสังขารทั้งปวง จักปรากฏโดยความเป็นของไม่มีที่ตั้ง, ใจของ เราจักไม่น้อมไปในโลกทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลกทั้งปวง, ใจของเราจักน้อมไปสู่พระนิพพาน, เราจักละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่อง ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้, เราจักประกอบด้วยคุณเครื่องเป็นสมณะอันยอดเยี่ยม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้เห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควร ตั้งความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ในสังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือความกำหนดหมายในพระนิพพานของเราจักปรากฏในสังขารทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลก ทั้งปวง, เราจักเห็นสันติในพระนิพพาน, เราจักถอนกิเลสที่แฝงตัว ( อนุสัย ) ได้, เราจักชื่อว่าทำกิจที่ควรทำ, เราจักชื่อว่าได้บำเรอพระศาสดา ด้วยการบำเรออันประกอบด้วยเมตตา.

ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควร ตั้งความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนใน ธรรมทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือเราจักไม่มีตัณหาและทิฏฐิ ( ความทะยานอยากและความเห็นเป็นเหตุยึดถือ ) ในโลกทั้งปวง, เราจัก ดับความถือว่าเป็นเรา, ความถือว่าเป็นของเราเสียได้, เราจักประกอบด้วยญาณอันไม่สาธารณะ, เราจักเห็นด้วยดีซึ่งเหตุและธรรมอันเกิดแต่ เหตุ.

ตรัสว่า ควรละภพ ๓ คือ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ.

ความเจริญสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา.

ตรัสว่า ควรละตัณหา ๓ คือ กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา.

ควรละมานะ ๓ คือ มานะ ( ความถือตัว ), โอมานะ ( การดูหมิ่นตัวเอง ), อติมานะ ( การดูหมิ่นผู้อื่น หรือถือตัวว่าสูงกว่าผู้อื่น ).

'๑' . หวงที่อยู่ มีที่ว่างก็ไม่อยากรับใครไว้, ตระหนี่ในตระกูล คือไม่ต้องการให้ตระกูลที่อุปฐากตน

'๒' . ในคำอธิบายตรัสถึงศรัทธา, ศีล, สุตะ ( การสดับ ), จาคะ ( การสละ ), และปัญญา

'๓' . ในข้อ ๑๒ . มหาราหุโลวาทสูตร ทรงแสดงว่า อุเบกขาเป็นเหตุให้ละปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) ได้ (พระสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๒) ในข้อ ๔

'๔' . เล่มที่ ๑๒ หน้า ๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ประกอบด้วย ดูที่เรื่อง ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๓ หมายเลข ๒

'๕' . ในธรรมะหมวด ๕ ที่แล้วมา ใช้คำว่า พระกิมพิละ และแสดงความเคารพ ๕ ข้อ. ชื่อที่เพี้ยนกันเล็กน้อย เช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นด้วยต้นฉบับมากกว่า แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนละรูป

'๖' . อรรถกถาว่า ได้แก่การเจรจาปราศรัย

'๗' . น้องชายพระสาริบุตร

'๘' . บาลีใช้คำว่า ธมฺมโยคา อรรถกถาแก้ว่า พระธรรมกถึก

'๙' . กาม คือความใคร่, เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, อาสวะ กิเลสที่ดองสันดาน, กรรม การกระทำ, ทุกข์ หมายเอาทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร

'๑๐' . นิมิต คือเครื่องหมายแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิต

'๑๑' . ความขาดทุน, เสมอตัว, ได้กำไร

'๑๒' . อรรถกถาแก้ว่า ความถือตัวว่าสูงกว่าเขา

'๑๓' . ความคิดก้าวหน้าในความดีอยู่เสมอ ไม่พอใจอยู่เพียงเท่าที่มีอยู่

'๑๔' . ฉบับไทยไม่มีข้อนี้ ฉบับพม่าและยุโรปมี

'๑๕' . มีการฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น

'๑๖' . อรรถกถาแก้ว่า ในมัธยมประเทศ ซึ่งถ้าจะถอดความก็คือเกิดในที่ซึ่งมีความเจริญหรือแวดล้อมด้วยเหตุที่ จะให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๖ จบเล่ม

หมวดนอกจาก ๕๐

(หมวดนี้มีข้อความสั้น ๆ พอจะจัดเป็นวรรคได้ วรรคหนึ่ง เรียกว่าติกวรรค คือวรรคที่ว่าด้วยธรรมะ จำนวน ๓ แต่เมื่อกล่าวถึงธรรมะจำนวน ๓ ในแต่ละสูตร ๒ จำนวนด้วยกัน จึงเท่ากับว่า แต่ละสูตร ก็กล่าวถึงธรรมจำนวน ๖ นั่นเอง).

ตรัสแสดงราคะ, โทสะ, โมหะ แล้วตรัสว่า ควรเจริญอสุภะ ( ความไม่งาม ) เพื่อละราคะ, ควรเจริญเมตตา ( ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) เพื่อละโทสะ, ควรเจริญปัญญา เพื่อละโมหะ.

ตรัสแสดงทุจจริต ๓ แล้วตรัสว่า ควรเจริญสุจริต ๓.

ตรัสแสดงวิตก ๓ คือความตรึกในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน แล้วตรัสว่า ควรเจริญความตรึกในการออกจากกาม เพื่อละความตรึกในกาม, ควรเจริญความตรึกในการไม่พยาบาท เพื่อละความตรึกใน การพยาบาท, ความเจริญความตรึกในการไม่เบียดเบียน เพื่อละความตรึกในการเบียดเบียน.

ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี และธาตุทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี เหมือนความตรึกข้างต้น.

ตรัสแสดงธรรม ๓ อย่าง คือความเห็นเป็นเหตุพอใจ, ความเห็นเป็นเหตุยึด ตัวตน, ความเห็นผิด.

แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ ประการ คือความกำหนดหมายว่าไม่ เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตน, ความเห็นชอบ ว่าเป็นคู่ปรับสำหรับละธรรมฝ่ายชั่ว ๓ ข้อต้น เป็นคู่กัน ตามลำดับข้อ.

ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คืออรติ ( ความริษยา ) วิหิงสา ( ความเบียดเบียน ) อธัมมจริยา ( การประพฤติอธรรม )

แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรม ๓ อย่าง คือความพลอยยินดี, ความไม่เบียด เบียน, การประพฤติธรรม เพื่อละธรรมฝ่ายชั่วแต่ละข้อโดยลำดับ.

ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความไม่สันโดษ ( ยินดีด้วยของของตน ), ความ ไม่รู้ตัว, ความปรารถนามาก,

แล้วตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความสันโดษ, ความรู้ตัว, ความ ปรารถนาน้อย เพื่อละธรรมแต่ละข้อเหล่านั้น.

ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร, ความฟุ้ง สร้านแห่งจิต.

แล้วตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความว่าง่าย, การคบคนดีเป็นมิตร, การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อละธรรม ๓ อย่างเหล่านั้น

ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความประมาท.

แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความสงบระงับ, ความสำรวม, ความไม่ประมาท เพื่อละธรรมะ ๓ อย่างเหล่านั้น.

พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง คือ ความยินดีในการงาน, ยินดีในการพูดมาก, ยินดี ในการนอนหลับ, ยินดีในการคลุกคลี, ไม่สำรวมอินทรีย์, ไม่รู้ประมาณในโภชนะว่า ถ้าละธรรมะ ๖ อย่างนี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำหนดพิจารณาภายในกาย เป็นต้น.

ตรัสว่า ตปุสสคฤหบดี ( ผู้ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง ) รวมทั้งคฤหบดี อื่น ๆ เช่น ภัทลิกะ, สุทัตตะ ผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนยาก ( อนาถปิณฑิกะ ) เป็นต้น ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง จึงเป็นผู้ถึงความตกลงใจใน พระตถาคต เห็นอมตะ ทำให้แจ้งอมตะ คือความไม่เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์. มีศีล, มีญาณ, มีวิมุติ อันเป็นอริยะ.

ตรัสว่า ควรเจริญธรรม ๖ อย่าง เพื่อรู้ยิ่งซึ่งอุปกิเลส ๑๖ ( อุปกิเลส ( เครื่องหมายเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบลู่ บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓. ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท ) มีราคะ เป็นต้น คืออนุตตริยะ ๖ ( อนุตตริยะ ๖ คือการเห็น การฟัง, การได้, การศึกษา, การบำเรอ, การระลึก อันยอดเยี่ยม.), อนุสสติ ๖ ( การระลึก ๖ ประการ คือ ๑. ตั้งกายกรรม, ๒. วจีกรรม, ๓. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารี ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี ๕. มีศีลที่ดีเสมอกัน ๖. มีความเห็นที่ดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี ) , สัญญา ๖ ๑ ตาม ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒

อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

ซึ่งว่าด้วยชุมนุมธรรมะจำนวน ๕ และจำนวน ๖

'๑' . อนุตตริยะ ๖ กับอนุสสติ ๖ กล่าวไว้แล้วหลายครั้ง ส่วนสัญญา ๖ ประการ คือความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง, ความกำหนดหมายว่าทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง, ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายถึงการละ, ถึงความคลายกำหนัด, ถึงการดับกิเลส

เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕)
หน้า ๑

สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ

ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกจัดเป็นหมวด ๕๐ ส่วนที่ ๒ จัดเป็นหมวดนอก ๕๐ ทั้งหมดด้วยกันมีประมาณ ๘๐ สูตรเศษ.

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อธนวรรค ว่าด้วยทรัพย์. วรรคที่ ๒ ชื่ออนุสยวรรค ว่าด้วยอนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวหรือที่นอนเนื่องในสันดาน. วรรคที่ ๓ ชื่อวัชชีวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในแคว้นวัชชี. วรรคที่ ๔ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วยเทวดา. วรรคที่ ๕ ชื่อมหายัญญวรรค ว่าด้วยการบูชายัญใหญ่ ).

๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง

ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจไม่เป็นที่เคารพและยกย่องของเพื่อนพรหมจารี คือใคร่จะได้ลาภ, ใคร่จะได้สักการะ, ใคร่จะไม่ให้ใครดูหมิ่น, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, ปรารถนาลามก, เห็นผิด.

อีกนัยหนึ่ง คือเปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖, ๗ คือริษยา, ตระหนี่. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงกำลัง ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความละอาย, ความเกรง กลัวต่อบาป, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.

ตรัสแสดงทรัพย์ ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ศีล, ความละอาย, ความเกรงกลัวต่อ บาป, การสดับตรับฟัง, การสละ, ปัญญา.

ตรัสกะราชมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะ ว่า ทรัพย์ ( ทางโลก ) เป็นของสาธารณ์แก่ ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น ส่วนทรัพย์ ๗ อย่างข้างต้นไม่เป็นของสาธารณ์แก่ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น

ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูกมัด ) ๗ อย่าง คือ อนุนยะ ( ความพอใจในกาม ), ปฏิมะ ( ความขัดใจ ), ทิฏฐิ ( ความเห็น ), วิจิกิจฉา ( ความสงสัย ), มานะ ( ความถือตัว ), ภวราคะ ( ความกำหนัด ยินดีหรือความติดในภพ คือความมีความเป็น ), อวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ).

ตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์ อันบุคคลประพฤติเพื่อละสัญโญชน์ ๗ และตรัสแสดง สัญโญชน์ ๗ อีกนัยหนึ่ง ต่างเฉพาะข้อ ๖-๗ ความริษยา, ความตระหนี่.

๒. ตรัสแสดงอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว หรือที่นอนเนื่องในสันดาน ) ๗ ประการ

อย่างเดียวกับสัญโญชน์ ๗ มีความพอใจในกาม ( กามราคะ ) เป็นข้อแรก มีอวิชชาเป็นข้อสุดท้าย

แล้วตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์อันบุคคลประพฤติเพื่อละอนุสัย ๗ . ตรัสแสดงว่า ตระกูล ที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วไม่ควรนั่ง คือไม่ต้อนรับ, ไม่อภิวาท, ไม่ให้อาสนะด้วยอาการที่น่า พอใจ, ปกปิดของที่มีอยู่. ให้น้อยในของมาก,ให้ของเศร้าหมองในประณีต, ให้โดยไม่เคารพ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทที่ควรของคำนับ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คืออุภโตภาควิมุติ ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ) เป็นต้น ( โปรดดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย ) ตรง ๒๐. กีฏาคิริสูตร ข้อที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยบุคคล ๗ ประเภท

ตรัสแสดงบุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท คือ ๑. จมลงไปครั้งเดียวก็จมลง ไปเลย ได้แก่บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำล้วน. ๒. โผล่ขึ้นแล้วจม ได้แก่บุคคลผู้มีคุณธรรม แต่คุณธรรมเสื่อมไป. ๓. โผล่ขึ้น แล้ว ลอยอยู่ได้ ได้แก่ผู้มีคุณธรรมไม่เสื่อม ๔. โผล่ขึ้นแล้ว เห็นแจ่มแจ้ง เหลียวดูได้แก่พระโสดาบัน. ๕. โผล่ขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง ได้แก่ พระสกทาคามี. ๖. โผล่ขึ้นแล้ว ไปถึงที่ตื้น ได้แก่พระอนาคามี ๗. โผล่ขึ้นแล้ว ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบก ได้แก่พระอรหันต์ ( ผู้ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ).

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ ๒. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง สิ้นอาสวะและสิ้นชีวิตพร้อมกัน ๓. เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง เป็นพระอนาคามี อันตราปรินิพพายี ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ) ๔. อุปหัจจปรินิพพายี (มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมาย ถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายพระอนาคามีประเภทนี้ ควรดูอรรถกถาปุคคลบัญญัติในอภิธัมมปิฎกประกอบด้วย เพราะดูเหมือนคำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรงนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด ) ๕. อสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ) ๖. สสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม ) ๗. อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสใน เบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ )

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาอันยอดเยี่ยมของโลก อย่างเดียวกับข้างต้น ต่างแต่กำหนดว่าเป็นผู้เห็นว่าเป็นทุกข์ในสังขารทั้งปวง, เห็นว่าไม่ใช่ตนในธรรมทั้งปวง, เห็นว่าสุข ในพระนิพพาน ส่วนลำดับข้อ ๔ ถึงข้อ ๗ ซ้ำกัน.

ตรัสแสดงนิททสวัตถุ ( คือที่ตั้งแห่งการที่จะไม่มีอายุ ๑๐ ปีต่อไปอีก โดย อธิบายว่า จะไม่เกิดอีก ) ๗ ประการ คือภิกษุเป็นผู้มีฉันทะ ( ความพอใจ ) แรงกล้าในการสมาทานสิกขาบท และมีความรักอันยิ่งในการ สมาทานสิกขาบทต่อไป, ในการพิจารณาธรรม, ในการนำความปรารถนาออก, ในการหลีกเร้น, ในการปรารภความเพียร, ในสติและปัญญา เป็นเครื่องรักษาตน, ในการแทงทะลุความเห็น ( ตรัสรู้ด้วยมรรค ) และมีความรักอันยิ่งในการนั้น ๆ ( ๕ ข้อหลัง ) ต่อไป.

๓. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ สารันททเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ) ๗ อย่างแก่เจ้าลิจฉวี คือชาววัชชี ๑. จักประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และกระทำกิจที่ควรทำ ๓. จักไม่ บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ยอมรับศึกษาในธรรมะของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว ๔. จักเคารพนับถือ ชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕. จักไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้ว และสตรีสาว. ๖. จักสักการะเคารพเจดีย์ของชาววัชชี. ๗. จักจัดแจง ให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารภให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มาได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข.

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรมของชาววัชชี ๗ ข้อนี้ แก่วัสสการพราหมณ์ มหา อำมาตย์ของแคว้นมคธ.

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม ) ของภิกษุ ๗ ประการ คือ ๑. จักประชุมกัน เนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เป็นต้น ๓. จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ เป็นต้น ๔. จักเคารพนับถือภิกษุที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕.จักไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น. ๖. จักยินดีในเสนาสนะป่า ๗. จักตั้งความปรารถนาดีใน ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักให้มา ที่มาแล้วให้อยู่เป็นสุข.

แล้วทรงแสดงอปริหานิยธรรมของภิกษุโดยนัยอื่นอีกหลายนัย ตลอดจนได้

ตรัสถึงธรรมที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุ ผู้เป็นเสขะ คล้ายกับธรรมใน หมวด ๖

กับตรัสถึงธรรมะ ๗ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ความวิบัติของอุบาสก คือไม่ค่อยได้เห็นภิกษุ, ประมาทการฟังธรรม, ไม่ศึกษาในอธิศีล, มากไปด้วยความไม่เลื่อมใสในภิกษุที่เป็นเถระบวชใหม่ ปูนกลาง, ฟัง ธรรมด้วยจิตคิดจับผิด, แสวงหาทักขิเณยยบุคคลนอกจากพระพุทธศาสนา, ทำการอันควรทำก่อนให้ทักขิเณยยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา นั้น. ฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม.

๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง

ตามที่เทวดามากราบทูลว่า เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ คือความเคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.

แล้วตรัสแสดงถึงธรรม ๗ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ๕ ข้อแรก พ้องกันกับคารวะที่แสดงมาแล้ว เปลี่ยนแต่ข้อ ๖-๗ คือเคารพในความละอาย, ในความเกรงกลัวต่อบาป.

อีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖-๗ อีก คือว่าง่าย, คบคนดีเป็นมิตร. พระสาริบุตร กราบทูลขยายความตามความเข้าใจของท่าน ( ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้งสรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร ) ตรัสประทาน สาธุการ

ตรัสว่า มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบ คือให้สิ่งที่ให้ยาก, ทำสิ่งที่ทำยาก, อดทนสิ่งที่ทนยาก, เปิดเผยความลับแก่เพื่อน, ปกปิดความลับของเพื่อน, ไม่ละทิ้งในยามมีอันตราย, ไม่ดูหมิ่นเพื่อนเพราะสิ้นทรัพย์.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบเป็นมิตร แม้จะถูกกีดกัน ( ให้ ออกห่าง ) คือเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ, เป็นที่เคารพ, เป็นที่สรรเสริญ, เป็นผู้ว่ากล่าว, เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ, เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง ( ใน ทางธรรม ), ไม่ชักชวนในฐานะอันไม่สมควร๑

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง จะทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) โดย กาลไม่นาน คือ ๑-๓. รู้ตามความจริงว่า จิตท้อแท้, หดหู่, ฟุ้งสร้าน, ๔-๖. เวทนา สัญญา ความตรึกของเธอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันเธอรู้แจ้งแล้ว, ๗. เธอถือเอาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำดี ใช้ปัญญาแทงทะลุด้วยดีซึ่งนิมิตในธรรมอันเป็นที่สบาย และไม่เป็นที่สบาย ดีเลว ดำขาว และมีส่วนเปรียบ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ย่อมทำจิตไว้ในอำนาจได้ ไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต คือฉลาดในสมาธิ, ในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออก, ในความสมควรแก่กาล, ในโคจร ( อารมณ์ ) และในอภินิหารของสมาธิ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. นักบวชศาสนาอื่นสนทนา กันว่า ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอด ๑๒ ปี ย่อมเป็นผู้ควรแก่ถ้อยคำว่าภิกษุ " ผู้ไม่มีสิบ " ( ไม่ต้องเวียนว่าย ตายเกิดมาให้ถูกนับอายุอีก อรรถกถา ) พระสาริบุตรนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ภิกษุที่จะชื่อว่านิททสะ ( ผู้ไม่มีสิบ ) ใน พระธรรมวินัยนี้ มิใช่ด้วยการนับพรรษา ( แต่ด้วยคุณธรรม ) แล้วตรัสแสดงนิททสวัตถุ ๗ ประการ ( ดังที่ตรัสไว้แล้วในวรรคที่ ๒ข้างบน )

ตรัสแสดงนิททสวัตถุอีก ๗ ประการ แก่พระอานนท์ผู้ได้ฟังนักบวชศาสนาอื่น พูดกันทำนองเดียวกับพระสาริบุตร เป็นแต่เปลี่ยนแสดงคุณธรรม คือ มีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, มีการสดับมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา.

๕. ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งวิญญาณ ( วิญญาณฐิติ ) ๗ อย่าง

คือ ๑. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่มนุษย์, เทพบางจำพวก, เปรตบางจำพวก ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มี สัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกพรหม ที่เกิดด้วยปฐมฌาน ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวก อาภัสสรพรหม ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากา สานัญจายตนะ ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ๒

ตรัสแสดงธรรมที่เป็นบริขาร ( เครื่องประกอบ ) ของสมาธิ ๗ อย่าง มีความ เห็นชอบ เป็นต้น มีความระลึกชอบเป็นที่สุด.

ตรัสแสดงไฟ ๗ อย่าง คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, ผู้ควรของคำนับ, คฤหบดี ( บุคคลในครอบครัว ), ผู้ควรทักขิณา ( ของถวาย ), และไฟอันเกิดจากไม้.

ตรัสสอนอุคคตสรีรพราหมณ์ ผู้เตรียมบูชายัญ นำสัตว์ต่าง ๆ อย่างละ ๕๐๐ ผูกกับเสาเตรียมเพื่อจะฆ่า โดยทรงชี้ว่า การบูชายัญแบบนี้ได้สิ่งที่มิใช่บุญ เพราะเป็นการยกศัสตราขึ้นทางกาย วาจา ใจ

แล้วตรัสว่า ควรละไฟ ๓ อย่าง ไม่ควรเสพ คือราคะ โทสะ โมหะ. และ

ควรสักการะเคารพไฟ ๑ อย่าง คือ อาหุเนยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรของคำนับ ) ได้ แก่มารดาบิดา, คหปตัคคิ ( ไฟคือคฤหบดี ) ได้แก่บุตร ภริยา ทาส คนใช้, ทักขิเณยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรแก่ทักขิณา ) ได้แก่สมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความประมาท ตั้งอยู่ในขันติ ( ความอดทน ) โสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) ฝึกตน ทำตนให้สม่ำเสมอ ทำตนให้ปรินิพพาน.

ส่วนไฟที่เกิดจากไม้ ควรก่อให้ติด, ควรวางเฉย, ควรดับ, ควรเก็บไว้ตามกาล อันสมควร. พราหมณ์ก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก ปล่อยสัตว์เหล่านั้นไป.

ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๗ ประการ ว่า มีอมตะเป็นที่สุด คืออสุภสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ), มรณสัญญา ( ความกำหนดหมายในความตาย ), อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าน่าเกลียดในอาหาร ) , สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ( ความกำหนดหมาบว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ), อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเข อนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่ เป็นทุกข์ ) ครั้นแล้วตรัสอธิบายรายละเอียดในเรื่องนี้.

ตรัสกะชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงเมถุนสันโญค ( ความเกี่ยวข้องกับธรรมะของคนคู่ ) ๗ ประการ คือ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี บางคนปฏิญญาตนว่าเป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้เสพเมถุนกับมาตุคามไม่ แต่ยังยินดี ปลื้มใจ ชื่นใจด้วยเมถุนสัญโญค คือความเกี่ยวข้องกับเมถุน ๗ อย่าง คือ ๑. ยินดีในการลูบไล้, การประคบ, การให้อาบน้ำ, การนวดแห่ง มาตุคาม ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น. ๒. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ซิกซี้เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคามปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น. ๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เพ่งจ้องดูจักษุของมาตุคามด้วยจักษุของตน ปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น. ๔. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะหรือพูดกับขับ ร้อง เป็นต้น ปลื้มใจด้วยเสียงนั้น. ๕. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่นึกย้อนไปถึงเรื่องเก่า ที่ได้เคยหัวเราะพูดเล่นกับมาตุคามแล้วปลื้มใจ ๖. ไม่ถึงอย่าง นั้น แต่เห็นคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้วปลื้มใจ. ๗. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้ง ความปรารถนาเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้า หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งแล้วปลื้มใจ. พรหมจรรย์ของผู้นั้นชื่อว่าขาด, ทะลุ, ด่าง, พร้อย. ผู้นั้นประพฤติ พรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้.

ตรัสแสดงธรรมปริยายที่ชื่อว่าสัญโญควิสัญโญค ( ความผูกพันและความ คลี่คลาย ) คือสตรีพอใจในภาวะต่าง ๆ ของสตรีและบุรุษ ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นสตรีได้. บุรุษพอใจภาวะต่าง ๆ ของบุรุษและสตรี ( พอใจ ในภาวะของตน ติดอกติดใจในเพศตรงกันข้าม ) ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นบุรุษได้. ต่อตรงกันข้ามคือไม่พอใจ จึงก้าวล่วงภาวะทั้งสองได้.๓ ตรัสตอบพระสาริบุตรถึงเหตุที่ทานของบางคนมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก ส่วนของ บางคนมีทั้งผลมาก ทั้งอานิสงส์มาก. โดยตรัสชี้ไปที่การให้ทานด้วยมีความเพ่งเล็งมีจิตปฏิพัทธ์ มุ่งสะสม คิดว่าตายแล้วจัก บริโภค ( ผลของทานนั้น ) หรือตรงกันข้าม คือไม่คิดเช่นนั้นว่าเป็นต้นเหตุตามที่ถาม. อุบาสิกาชื่อเวฬุกัณฏกี ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ
กราบเรียนพระสาริบุตรถึงเรื่องน่าอัศจรรย์ ๗ ประการ คือ ๑. นางสนทนากับท้าวเวสสวัณ ๒. พระราชาข่มเหงฆ่าบุตรของนางตาย แต่นางไม่มีจิตผิดปกติ ๓. สามีไปเกิดไปกำเนิดยักษ์มาแสดงตนด้วยอัตตภาพเดิม นางไม่มีจิตผิดปกติ ๔. สามี ( เมื่อมีชีวิตอยู่ ) ยังหนุ่ม นำหญิงสาวมา ( เป็นภริยาน้อย ) นางไม่มีจิตผิดปกติ ๕. ตั้งแต่ปฏิญญาตนเป็นอุบาสิกา ไม่เคยมีจิตคิดล่วงสิขาบท ๖. เข้าฌานที่ ๑ ถึงฌาน ที่ ๔ ได้ตามปรารถนา ๗. ละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้. ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๒๒๐ , เชิงอรรถ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ และ เล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งชี้แจงไว้ดังนี้ว่า
เล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ ; ๑. พระโสดาบันและกิเลสที่เรียกว่าสัญโญขน์ ( เครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูก ) ๓ อย่าง คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือโชคลางหรือพิธี กรรม. พระอนาคามีละเพิ่มได้อีก ๒ คือ ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ๕. ปฏิฆะ ความขัดใจ. พระอรหันต์ละสัญโญชน์ ได้ทั้งสิบ คือ ๕ ข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว และ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูป หมายถึงติดรูปฌาน ๗. อรูปราคะ ความติดใจในสิ่งที่มิใช่รูป หมายถึงติดอรูปฌาน ๘. มานะ ความถือตัว ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งสร้าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๕ ข้อแรกเรียก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ข้อหลังเรียกสัญโญชน์เบื้องสูง
เล่มที่๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ; อรรถกภาว่า " พระมาลุงกยบุตรมีความเห็นผิดว่า บุคคลจะประกอบด้วยกิเลสก็เฉพาะ ตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นไม่ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลส. " จึงเป็นการเหมาะสมที่ตรัสอธิบายให้เห็นว่าเด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า กิเลสประเภทแฝงตัวยังติดตามอยู่

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

( ในหมวดนี้ มีวรรคเล็ก ๓ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคแรกชื่ออัพยากตวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อวินยวรรค ว่าด้วยวินัย ).

๑. ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง

ถึงเหตุปัจจัยที่อริยสาวกผู้ได้สดับไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่ พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสพยากรณ์ โดยทรงชี้ไปว่า ข้อที่ว่าสัตว์ตายแล้วเกิด หรือ ไม่เกิด หรือเกิดด้วย ไม่เกิดด้วยหรือเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ นั้นเป็นทิฏฐิ ( ความเห็น ), เป็นตัณหา ( ความทะยานอยาก ), เป็นสัญญา ( ความกำหนดหมาย ). เป็นมัญญิตะ ( ความสำคัญในใจ ), เป็นปปัญจิตะ ( ความเนิ่นช้า ), เป็นอุปาทาน ( ความยึดมั่น ) และเป็นวิปปฏิสาร ( ความเดือดร้อน ) ซึ่งบุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่รู้สิ่ง ( ทั้งเจ็ด ) นั้น, ไม่รู้ความเกิด, ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับของสิ่งเหล่านั้น แต่ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ จึงไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์.

ตรัสแสดงคติของบุรุษ ๗ และอนุปาทานปรินิพพาน ( ดับกิเลสอย่างไม่มีเชื้อกิเลส เหลือ ) คือพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี ๓, อุปหัจจปรินิพพายี ๑, อสังขารปรินิพพายี ๑,สสังขารปรินิพพายี ๑, อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี๔ ๑. ( รวมเป็น ๗ ) และตรัสถึงพระอรหันต์ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ( ดับกิเลสหมดไม่มีเหลือ ).

พรหมชื่อติสสะ กล่าวกะพระมหาโมคคัลลานะ ว่า เทพที่มีญาณหยั่งรู้ในผู้ ยังมีกิเลสเหลือ ว่ามีกิเลสเหลือ หรือในผู้ไม่มีกิเลสเหลือ ว่าไม่มีกิเลสเหลือ ( ตามความจริง ) นั้น ได้แก่พวกพรหม แต่ก็ไม่ใช่พรหมทุกผู้. พรหมผู้ยินดีด้วยอายุ, วรรณะ, สุข, ยศ, ความเป็นใหญ่ของพรหม ( ยังยึดถือ ) ย่อมไม่รู้ ส่วนที่ไม่ยินดีด้วยสิ่งเหล่านั้น ( ไม่ยึดถือ ) จึงรู้ และรู้ถึง พระอริยบุคคล ๖ ประเภท ( เว้นสัทธานุสารีข้อที่ ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ ถึง
สัทธานุสารีผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย มีศรัทธามีความรักในตถาคตตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท.
หมายเหตุ : พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจไม่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้ พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามสมควร ).
อนึ่ง (โปรดดูในเล่มที่ ๒๒ เรื่องของพรหมชื่อติสสะด้วย ซึ่งมีเขียนไว้ดังนี้ว่า
พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะเรื่อง ญาณของเทวดาที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นนั้น.พระ โมคคัลลานะ มากราบทูลพระผู้มีพระภาค จึงตรัสเติมถึงข้อ ๗ คือรู้ถึงภิกษุผู้เข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ( ความตั้งมั่นแห่งจิตที่ไม่มีเครื่องหมาย ) ผู้ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ที่สุดแห่งพรหมจรรย์.

ตรัสแสดงผลของทานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ๗ ข้อแก่สีหเสนาบดี คือ ๑. พระอรหันต์ย่อมอนุเคราะห์เขาก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาเขาก่อน ๓.ย่อมรับ ( ทานของเขา ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมแก่เขาก่อน ๕. เขาย่อม มีกิตติศัพท์อันดีงามฟุ้งไป ๖. เขาย่อมองอาจไม่เก้อเขินเข้าสู่ชุมนุมชน ๗. เมื่อตายไปเขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๖ ข้อแรกมิได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ( เห็นจริงเอง ) ส่วนข้อสุดท้าย ตนไม่รู้จึงเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค.

ตรัสแสดงถึงสิ่ง ๔ ประการ ที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่ถูกว่ากล่าวโดย ฐานะ ๓ คือ ตถาคตมีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์, มีอาชีวะบริสุทธิ์, ไม่มีทุจจริตทางกาย วาจา ใจ, ไม่มี การเลี้ยงชีวิตผิด ซึ่งจะต้องรักษามิให้คนอื่นรู้ ( รวมเป็น ๔ ข้อ ). ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว ไม่มีใครค้านได้ว่ากล่าวไว้ไม่ดี, ปฏิปทา อันไปสู่พระนิพพานอันตถาคตบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวก ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าบัญญัติไว้ไม่ดี, บริษัทสาวกของพระองค์หลายร้อย ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าไม่ได้ทำให้แจ้ง ( รวมเป็น ๓ ข้อ ).

ตรัสตอบพระกิมิละ ( ฉบับยุโรปเป็นกิมพิละ ) ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้ง อยู่นานเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ( ๗ ข้อ ) คือบริษัท ๔ ไม่เคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรมะ ๗ ประการจะทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ โดยการไม่นาน คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับตรับฟังมาก, หลีกเร้น, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา,

ตรัสแสดงธรรมแก่พระมหาโมคคัลลานะ เรื่องวิธีแก้ง่วง ๗ ประการ และ ตรัสสอนมิให้ชูงวง ( ถือตัว ) เข้าสู่สกุล, มิให้กล่าวถ้อยคำก่อการทะเลาะวิวาท, ไม่ควรคลุกคลีด้วยคฤหัสถบรรพชิต แต่ควรคลุกคลีด้วย เสนาสนะอันสงัด. แล้วตรัสตอบปัญหาที่ว่า ภิกษุเชื่อว่าหลุดพ้น เพราะสิ้นตัณหา อยู่จบพรหมจรรย์ล่วงส่วน ด้วยเหตุคือ เมื่อภิกษุได้สดับ ว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือ ก็รู้ยิ่งกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง, พิจารณาความคลายกำหนัด, ความดับ, ความสละคืน ในเวทนาทั้งสามคือสุข, ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข, เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่ยึดถือสิ่งใด ๆในโลก, ไม่สะดุ้งดิ้นรน, ดับสนิทเฉพาะตน.

ตรัสสอนว่า อย่ากลัวบุญ เพราะคำว่า บุญเป็นชื่อของความสุข แล้วตรัสว่า ได้เคยทรงเห็นผลที่น่าพอใจมาแล้ว คือทรงเจริญเมตตาจิต ๗ ปี ไม่ต้องเสด็จมาสู่โลกนี้ถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัปป์ ( กัปป์เสื่อมกัปป์เจริญ ๗ สมัย ) ในสังวัฏฏโลก ( โลกเสื่อม ) ทรงเกิดในอาภัสสรพรหม, ในวิวัฏฏโลก ( โลกเจริญ ) ทรงเกิดในพรหมวิมานอันว่าง เป็นท้าวมหาพรหม, ทรงเคยเกิดเป็นท้าวสักกะ ๓๖ ครั้ง, เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมหลายร้อยครั้ง.

ตรัสแสดงภริยา ๗ ประเภท คือภริยาเสมอด้วย ผู้ฆ่า, เสมอด้วยโจร, เสมอด้วย นาย, เสมอด้วยแม่, เสมอด้วยน้องสาว, เสมอด้วยเพื่อน, เสมอด้วยทาสี,

ตรัสแสดงธรรม ๗ อย่างที่ศัตรูชอบ ที่เป็นเหตุแห่งศัตรู มาสู่หญิงหรือชายผู้มีความ โกรธ คือ ๑. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้มีผิวพรรณทราม คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำ แม้จะอาบน้ำลูบไล้ ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาว ผิวพรรณก็ทราม ๒. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้นอนเป็นทุกข์ คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำแม้จะนอนบน บัลลังก์ มีเครื่องประดับงดงาม ก็นอนเป็นทุกข์ ๓. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีประโยชน์มาก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถือเอาสิ่งมิใช่ประโยชน์ว่าเป็นประโยชน์ สิ่งเป็นประโยชน์ว่ามิใช่ประโยชน์ ธรรมคือการเป็นศัตรูของกันและกัน ที่ยึดไว้ ย่อมเป็นไปเพื่อ มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน. ๔. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีทรัพย์ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถูกพระราชา ทำให้ทรัพย์เข้าไปสู่พระคลังหลวง. ๕. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มียศ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมเสื่อมจากยศ ๖. ศัตรูย่อม ปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีมิตร คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ญาติมิตรย่อมเว้นไกล. ๗. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้ตาย แล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ประพฤติทุจจริต ตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก.

๒. ตรัสแสดงว่า ถ้าขาดธรรมอย่างหนึ่ง ก็ขาดธรรมข้ออื่น ๆ ต่อกันไปเป็นอันดับ

คือความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป, การสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ). ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความรู้ด้วยญาณ ตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความเบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ). ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่สังขารไม่เที่ยง ไม่น่าไว้ใจ ความที่จะเบื่อหน่ายกำหนัด ควรที่จะพ้นไปเสีย
แล้วตรัสถึงระยะกาลที่ล่วงไปหลายแสนปี ที่จะมีสมัยซึ่งฝนไม่ตก, พืชต้นไม้ใบหญ้า จะเหี่ยวแห้งไม่มีเหลือ. แล้วก็ถึงสมัยที่อาทิตย์ขึ้น ๒ ดวง, ๓ ดวง, ๔ ดวง, ๕ ดวง, ๖ ดวง, จนถึง ๗ ดวง ซึ่งมหาปฐพี นี้และขุนเขาสิเนระจะลุกไหม้มีเปลวไฟพลุ่งขึ้นไปถึงพรหมโลก๕ ต่อ จากนั้นตรัสเล่าเรื่องศาสดาชื่อสุเนตตะ ผู้สอนสาวกให้ไปเกิดพรหมโลก ลงมาจนถึงเกิดในคฤหบดีมหาศาล ( ในโลกนี้ ) แล้วตรัสเล่าถึง สุเนตตศาสดาเจริญเมตตาจิต ๗ ปีได้ผล ( อย่างที่ตรัสเล่าไว้ในวรรคที่ ๑ ก่อนวรรคนี้ ) แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นต้นได้ ทั้งนี้เพราะมิได้ตรัสรู้ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ อันเป็นอริยะ ส่วนพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรม ๔ อย่างนั้นแล้ว ต่อแต่นี้จึงไม่เกิดอีก.

ตรัสแสดงถึงพระนครชายแดน ของพระราชาที่แวดล้อมด้วยดีถึง ๗ ชั้น ซึ่ง ข้าศึกไม่พึงทำอะไรได้ ( ไม่พึงเอาชนะได้ ) แล้วตรัสเปรียบเทียบว่า อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ มารก็เอาชนะไม่ได้เหมือนกันคือมีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, สดับตรับฟังมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ. มีปัญญา.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนา บุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. รู้ธรรม ( รู้คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ มีสูตร เป็นต้น ) ๒. รู้อรรถ ( รู้ความหมายของคำสอนนั้น ) ๓. รู้ตน ๔. รู้ประมาณ ๕. รู้กาล ๖. รู้บริษัท ( ประชุมชน ) และ ๗. รู้บุคคลที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน.

ตรัสเปรียบเทียบเรื่องการออกบวชของอริยสาวก จนถึงได้ฌานและได้เป็นพระขีณาสพ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของต้นปาริฉัตตกะ ในชั้นดาวดึงส์ จนถึงมีดอกเบ่งบานในที่สุด.

ตรัสรับรองภาษิตของพระสาริบุตรในเรื่องคารวะ ๗ ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๔ เรื่องตรัสแสดงคารวะ ) ที่ว่าเมื่อมีคาระข้อหนึ่งแล้ว ก็จะมีข้ออื่น ๆ ต่อไป.

ตรัสว่า ภิกษุไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งภาวนา ( การอบรม ) ลำพังเกิดความปรารถนา จะให้จิตพ้นจากอาสวะ ย่อมพ้นไม่ได้ เพราะมิได้อบรมธรรมะต่าง ๆ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์ เปรียบเทียบแม่ไก่ไม่กกไข่ มีแต่ความ ปรารถนาให้ลูกไก่ออกจากไข่ก็เป็นไปไม่ได้. ในฝ่ายดีคือที่สำเร็จได้ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. ตรัสเรื่องกอง ไฟใหญ่ เปรียบเทียบ ว่า ถ้าถอดกองไฟก็ยังดีกว่าเป็นทุศีล เป็นต้น.

ตรัสถึงศาสดาทั้งเจ็ดมีสุเนตตศาสดา เป็นต้น ซึ่ง ปราศจากความกำหนัดในกาม เป็นเหตุให้ผู้มีจิตประทุษร้ายในท่าน พร้อมด้วยบริษัทประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก. ถ้าทำดีต่อท่านก็ได้ผลดี จึงควรตั้งจิตไม่ประทุษร้ายใน เพื่อนพรหมจารี.

แล้วตรัสแสดง เรื่องอรกศาสดา ซึ่งสอนสาวกเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ว่าเล็ก น้อยถึง ๗ ข้อ ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นมนุษย์มีอายุถึง ๖ หมื่นปี จึงควรไม่ประมาท จะได้ไม่เดือดร้อนภายหลัง.

๓. ตรัสแสดงคุณสมบัติของพระวินัยธร ( ผู้ทรงวินัย ) ๗ อย่าง

คือรู้จักอาบัติ, มิใช่อาบัติ, อาบัติเบา, อาบัติหนัก, เป็นผู้มีศีล, ได้ฌาน ๔, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ แล้วทรงยักย้าย นัยถึงคุณสมบัติ ๗ ข้อของพระวินัยธรอีกต่าง ๆ.

ตรัสถึงลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๗ อย่างแก่พระอุบาลี คือเป็นไปเพื่อ เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว, เพื่อคลายกำหนัด, เพื่อดับ, เพื่อสงบระงับ, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อตรัสรู้, เพื่อนิพพาน.

แล้วได้ตรัสแสดงอธิกรณสมถะ ๗ คือเครื่องระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง ( ดูใน พระวินัยเล่มที่ ๒ ในข้อ๕. ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง

พระสูตรที่ไม่จัดเข้าในวรรค

ตรัสว่า เพราะเหตุที่ทำลายธรรมะ ๗ อย่าง จึงชื่อว่า เป็นภิกษุ คือสักกายทิฏฐิ ( ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน ), ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ถือโชคลาง หรือติดลัทธิพิธี ), ราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ.

และตรัสว่า เพราะสงบ ๗ อย่างข้างต้นได้จึงชื่อว่า สมณะ เพราะลอยธรรมเหล่านี้ได้ จึงชื่อว่า พราหมณ์ เป็นต้น.

ตรัสถึงอสัทธรรมและสัทธรรม โดย ทรงไปที่ความไม่มีศรัทธา จนถึงมีปัญญาทรามว่า เป็นอสัทธรรม ส่วนสัทธรรม ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า บุคคลที่ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อ นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คล้ายกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๒ เรื่องตรัสแสดงอนุสัย ).

ตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๗ อย่าง คือ โพชฌงค์ ๗ ( ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ) ๑๑. ทสุตตรสูตร หมวดที่ ๗, สัญญา ๗ ( ดูในข้อความน่ารู้จาก ไตรปิฎก ) หมายเลข ๑๙๖ สัญญา ( ความจำ) ๗ มีอะไรบ้าง , เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ (ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ ) ในข้อ ๗. วัตถูปมสูตร ( สูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี ).

'๑' . ในภาษาบาลี มี " จ " ศัพท์ถึง ๘ แห่ง แสดงว่าแบ่งออกเป็น ๘ ข้อ แต่ข้อความข้างต้นบังคับให้มี ๗ ข้อ จึงได้รวมคำว่า เป็นที่รัก เป็นที่พอใจเข้าด้วยกัน เป็นข้อเดียวกัน

'๒' . ( โปรดดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ชื่อทีฆนิกาย ประกอบด้วย )ตรงหัวข้อที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่างในที่นั้นมีเพิ่มข้อ ๒ ว่า ได้แก่สัตว์ที่มี อยู่ในอบาย ๔ ด้วย และให้ดูคำอธิบายศัพท์ในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ประกอบด้วย

'๓' . ธรรมะเรื่องนี้ มีเนื้อความไม่พาดพิงถึงเรื่องราว ๗ ข้อ แต่พยัญชนะพาดพิงถึง โดยแจกภาวะต่าง ๆ ของหญิง ชายออกไปฝ่ายละ ๗ คือ อินทรีย์, กิริยา, อาการ, ประเภท, ความพอใจ, เสียง, เครื่องประดับของสตรีหรือบุรุษ

'๔' . คำอธิบายเรื่องพระอนาคามีตามศัพท์เหล่านี้ (โปรดดูเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔) ทุติยปัณณสาก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หัวข้อที่ ๔-๕ มี ข้อน่าสังเกตุ คือ อันตราปรินิพพายี ๓ ประเภทนั้น เปรียบเหมือนประกายไฟจากแผ่นเหล็กที่ถูกตี ๑. เกิดขึ้นแล้วดับไป ๒. เกิดขึ้นลอยขึ้นไปแล้วดับ ๓. เกิดขึ้น ลอยขึ้น ตก ลงมายังไม่ถึงพื้น ก็ดับไป

'๕' . ข้อความตรงนี้ได้ทำเครื่องหมายพิเศษใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ เพื่อให้เห็นข้อความตอนนี้ชัดเจนขึ้น. ในหนังสือ วิทยาศาสตร์ ฝ่ายดาราศาสตร์บางเล่มกล่าวว่า ดวงอาทิตย์ของเรามิใช่อยู่โดดเดี่ยว แต่นับเนื่องในกลุ่มดวงอาทิตย์อื่น ๆ รวมกันแล้ว ๙๓ กลุ่ม จึงเป็นโครงสร้างของทางช้างเผือก ( Milky way ) อันมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒๐๐,๐๐๐ ปีแสง คือแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ จะต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ แสนปี และยังมีความคิดกันถึงดวงดาว ( ดวงอาทิตย์ ) ดวงอื่น ๆ ซึ่งอาจเดินทางเข้ามาใกล้สุริยะระบบได้ใน ลักษณะเช่นนั้นก็ไม่มีปัญหาว่า ที่ว่าดวงอาทิตย์ขึ้นหลายดวงจนเป็นเหตุให้โลกมนุษย์เป็นไปนั้น มีทางเป็นไปได้จริงในทางวิทยาศาสตร์ ท่าน ผู้ใดใคร่ค้นคว้าโปรดอ่านหนังสือ THE MARVELS AND MYSTERIES OF SCIENCE หน้า ๖๑ และ ๖๒ ประกอบการพิจารณา และ โปรดอ่านบันทึกพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ หมวด ๔ อัคคัญญสูตร ตรงข้อที่ว่า การได้รับผลเสมอกัน ที่คำว่า หมายเหตุ
และดูเชิงอรรถข้อ ๒ ในเล่มที่ ๑๓ หน้า ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ว่า : ๒. พระสูตรนี้ให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น แสดงว่า แม้มีฤทธิ์มาก เหาะไปได้ไว ก็ไม่สามารถค้นหาที่สุดแห่งโลกจักรวาลได้ เทียบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่ว่าแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ แสงของ ดาวบางดวงต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๖๕๐ ปี จึงมาถึงโลกเราหลักวิชาดังกล่าวจึงรับรองภาษิตของโรหิตัสสเทพบุตร แต่พระผู้มีพระภาคก็แสดง โลกอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสังขารโลก โดยชี้มาที่ร่างกายมนุษย์นี้เองว่า ถ้ารู้แล้วก็ทำทุกข์ให้สิ้นไปได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ )
หน้า ๒

อัฏฐกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อเมตตาวรรค ว่าด้วยเมตตา. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อคฤหปติวรรค ว่าด้วยคฤหบดี. วรรคที่ ๔ ชื่อทานวรรค ว่าด้วยทานการให้. วรรคที่ ๕ ชื่อ อุโปสถวรรค ว่าด้วยการรักษาอุโบสถ ).

๑. ตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตา ๘ อย่าง

คือหลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของมนุษย์, เป็นที่รักของอมนุษย์, เทวดาย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ ศรัตราย่อมไม่กล้ำกราย, เมื่อยังมิได้บรรลุธรรม อันยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงพรหมโลก.

ตรัสแสดงเหตุปัจจัย ๘ ประการ ที่ เป็นไปเพื่อได้, เพื่อความไพบูล, บริบูรณ์ แห่งปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือ ๑. อาศันศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพ ตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ตั้งความรัก ความเคารพ ๒. อาศัยท่านที่กล่าว เขาไปหาไต่ถามเป็นครั้งคราว ท่านก็ช่วยชี้แจงให้คลายความสงสัย ๓. ฟังธรรมแล้ว หลีกออกทั้งทาง กาย ทางจิต ๔. มีศีล ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ปรารภความเพียร ๗. เมื่อไปในสงฆ์ไม่พูดเรื่องที่ไม่สมควร แต่พูดธรรมะเอง หรือเชิญผู้อื่น พูดไม่ดูหมิ่นการนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งแบบรู้เท่า ) ๘. เห็นความเกิดความดับในขันธ์ ๕ เพื่อนพรหมจารีย่อมชมเชยภิกษุ เช่นนั้น.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ อย่าง ย่อม ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่เป็นที่ เคารพสรรเสริญของเพื่อนพรหมจารี คือสรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก, ติคนที่เป็นที่รัก, อยากได้ลาภ, สักการะ, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม. และได้แสดงนัยอื่นอีก โดยเปลี่ยนข้อธรรมเล็กน้อย.

ตรัสแสดงโลกธรรม ( ธรรมประจำโลก ) ๘ อย่าง คือลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ยศ, นินทา, สรรเสริญ, สุข, ทุกข์ ซึ่งบุถุชนไม่รู้เท่า มีความยินดียินร้าย แต่อริยสาวกรู้เท่า ไม่ยินดียินร้าย.

ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า การที่ภิกษุพิจารณาถึงความวิบัติของตนและคนอื่น พิจารณาถึงสมบัติของตนและคนอื่นโดยการอันควร เป็นการดี. และตรัสว่า พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ คือโลกธรรมครอบงำจิต เป็นผู้ ไปสู่อบาย นรก อย่างไม่มีทางแก้.

ตรัสสอนให้อยู่อย่างครอบงำ ( เป็นนายเหนือ ) ลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ ยศ, สักการะ, มิใช่สักการะ, ความปรารถนาลามก, ความเป็นผู้คบมิตรชั่ว.

มีเรื่องเล่าถึงพระอุตตระ เกี่ยวกับ คติธรรมดั่งกล่าวข้างต้น.

ตรัสถึงพระนนทะศากยะ ว่าเป็นกุลบุตร, มีกำลัง, น่าเลื่อมใส, มีราคะกล้า แต่ก็อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ บริสุทธิ์ได้เพราะสำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในโภชนะ, ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น, ประกอบ ด้วยสติสัมปชัญญะ.

ตรัสแนะให้กำจัดภิกษุผู้ถูกโจทท้วงเพราะอาบัติ กลับพูดถลากไถลแสดง ความโกรธเคือง เพื่อมิให้ประทุษร้ายภิกษุที่ดี ๆ.

๒. ตรัสตอบเวรัญชพราหมณ์

ผู้ว่ากล่าวพระองค์ด้วยคำกระทบต่าง ๆ ตรัสชี้ให้มีความหมายไปในทางดี ในทางที่แสดงว่าพระองค์ปราศจากกิเลส. แล้วตรัสว่า พระองค์ เปรียบเหมือนลูกไก่ที่ทำลายกะเปาะไข่ออกมาก่อน เพราะทรงทำลายกะเปาะไข่คือวิชชาได้ จึงควรกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นพี่ ( ผู้แก่กว่า ใครในโลก ) แล้วตรัสแสดงถึงการที่พระองค์ได้ฌาน ๔ ได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติได้ มีทิพยจักษุ และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด. เวรัญชพราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

ทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี ถึง เรื่องที่มีผู้กล่าวหาว่าพระองค์เป็นอกิริยวาทะ ( ผู้พูดว่าทำดี ทำชั่วไม่เป็นอันทำ ) เป็นต้น โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์สอนไม่ให้ทำชั่ว เป็นต้น. สีหเสนาบดีเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ( โปรดดูหน้าพระวินัย เล่มที่ ๕ ประกอบด้วย ) สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา

ตรัสแสดงม้าอาชาไนย ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบ ด้วยภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๘ คือ ๑. เกิดดีจาก ๒ ฝ่าย คือมารดาและบิดา เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยที่ดีอื่น ๆ เกิด. ๒. ย่อมกินอาหารสดหรือแห้งที่เขาให้ด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ไม่ทำหก ๓. รังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่ข่ม ขู่ม้าอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงตามเป็นจริง ซึ่งสารถีก็จะพยายามแก้ไข ๖. เป็นสัตว์เอาภาระ ( อรรถกถาแก้ว่า ปฏิบัติตามคำสั่ง ) โดย คิดว่าม้าอื่นจะเอาภาระหรือไม่ก็ตาม เราจักเอาภาระในที่นี้ ๗. ย่อมไปโดยทางตรง ๘. มีเรี่ยวแรง ม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๘ เหล่านี้ ย่อมควรแก่พระราชา ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ก็ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. มีศีล ๒. บริโภคด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ซึ่งอาหารที่เขาถวายเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม ไม่เดือดร้อน ๓. รังเกียจทุจจริตทางกาย วาจา ใจ รังเกียจการประกอบด้วยอกุศลบาปธรรม ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุขไม่ข่มขู่ภิกษุอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงในพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี ซึ่งท่านเหล่านั้นย่อมพยายามแก้ไข ๖. เป็นผู้ศึกษา โดยคิดว่าผู้อื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม เราจักศึกษา ๗. ไปโดยทางตรง คืออริยมรรค มีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น. ๘. ปรารภความเพียร.

ตรัสแสดงม้าที่มีโทษ ๘ ประการ เทียบด้วยบุรุษที่มีโทษ ๘ ประการ โดย แสดงถึงม้าที่สั่งการอย่างหนึ่ง แต่ทำไปเสียอย่างอื่น เปรียบเหมือนภิกษุที่ไม่ดี ต้องอาบัติ ถูกตักเตือน ก็กล่าวว่าระลึกไม่ได้ เป็นต้น.

ตรัสแสดงมลทิน ๘ ประการ คือ ๑. การไม่ท่องบ่นเป็นมลทินของมนต์ ๒. ความไม่ขยันเป็นมลทินของบ้านเรือน ๓. ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ๔. ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ๕. ความ ประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง ๖. ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ๗. อกุศลบาปธรรมเป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ๘. อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง.

ตรัสแสดงว่าภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ ควรไปทำการทูต คือรู้จักฟัง, รู้จักทำ ให้ผู้อื่นฟัง, เรียนรู้, ทรงจำ, รู้, ทำให้ผู้อื่นรู้, ฉลาดในประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, ไม่ชวนทะเลาะ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตร ว่า มีคุณสมบัติ ( ของนักการทูต ) เช่นนั้น.

ตรัสว่า หญิงชายย่อมผูกพันกันด้วยอาการ ๘ ประการ คือรูป, การหัวเราะ, การพูด, การร้องเพลง, การร้องไห้, อากัปปกริยา, ของขวัญ, ผัสสะ.

ตรัสตอบท้าวปหาราทะผู้เป็นจอมแห่งอสูร ถึง การที่ภิกษุทั้งหลายยินดีในพระ ธรรมวินัยนี้ ซึ่งมีความอัศจรรย์ ๘ ประการ ( เทียบด้วยความอัศจรรย์ ๘ อย่างของมหาสมุทรที่ท้าวปหาราทะกราบทูล ) คือ ๑. ในพระธรรม วินัยนี้มีการศึกษา การกระทำและข้อปฏิบัติโดยลำดับ ไม้ใช่เริ่มต้น ก็การตรัสรู้อรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีความลุ่มลึกโดยลำดับ ไม่ใช่เริ่มต้นก็ลึกเป็นเหว ๒. พระสาวกย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แม้เพราะ เหตุแห่งชีวิต เปรียบเหมือน มหาสมุทรซึ่งมีความหยุดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงเลยฝั่งไป ๓. สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ทุศีล ย่อมประชุมกันยกออก ( จากหมู่ ) แม้เธอ จะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่าไกลจากสงฆ์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่ซัดซากศพเข้าสู้ฝั่งโดยพลัน. ๔. วรรณะ ๔ เมื่อบวชในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมณะศากยบุตรเปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ต่าง ๆ เช่น คงคา ยมุนา เมื่อถึงมหาสมทรย่อมละชื่อ และโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมุทร ๕. แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แต่ชื่อว่าพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพาน ธาตุ ก็ไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น เปรียบเหมือนความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรไม่ปรากฏเพราะสายน้ำตกลงมา จากอากาศ. ๖. พระ ธรรมวินัยมีรสเดียว คือมีวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นรส เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่มีรสเดียว คือรสเค็ม. ๗. พระธรรมวินัยนี้มีรตนะเป็นอันมาก เช่น สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรตนะมาก เช่น มุกดามณี ไพฑูรย์ เป็นต้น. ๘. พระธรรมวินัยนี้ เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน, ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล จนถึงพระอรหันต์, ท่านผู้ ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ใหญ่ มีปลาติมิติมิงคละ ติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์. ๑

ในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อ ปฐมยาม ล่วงแล้ว พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้แสดงปาฏิโมกข์ ก็ทรงนิ่ง เมื่อมัชฌิมยามล่วงแล้ว พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก ก็ทรงนิ่ง ครั้นปัจฉิมยามล่วงแล้ว จะรุ่งอรุณ พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก จึงตรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์. พระมหาโมคคัลลานะพิจารณาดู ก็ทราบ ว่ามีภิกษุทุศีลนั่งปนอยู่ในที่นั้น จึงว่ากล่าว จูงมือเธอออกไปจากนอกซุ้มประตู ใส่ดาลประตูแล้วมากราบทูล. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายพึงทำอุโบสถ แสดงปาฏิโมกข์กันเอง ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่แสดงปาฏิโมกข์ เพราะมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่พระตถาคตจัก แสดงปาฏิโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว. ตรัสแสดงเรื่องความอัศจรรย์ของมหาสมุทร ๘ ประการ เทียบกับความอัศจรรย์พระธรรมวินัย นี้ดังที่ตรัสแล้ว.

๓. อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี

เรียนแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของตน คือ ๑. เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลก็เลื่อมใส ๒. เมื่อเข้าไปเฝ้าได้ฟังอนุบุพพิกถา กับอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์๒ เป็นที่ ๕ ๓. ตนมีภรรยาสาว ๔ คน จึงแจ้งให้นางทราบว่าตนสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ก็จงใช้ทรัพย์ทำ บุญไปหรือจะไปสู่ตระกูลญาติของตน หรือต้องการให้เรายกให้แก่บุรุษใดก็ตาม ภริยาคนใหญ่จึงแจ้งความประสงค์ ให้ให้แก่บุรุษผู่มีชื่ออย่าง นั้นอย่างนี้ ตนก็ให้ไป ไม่มีจิตผิดปกติ ๔. โภคทรัพย์ในตระกูลของตนถือเป็นของสาธารณะ สำหรับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ๕. เข้าไปหาภิกษุ ด้วยความเคารพ ๖. ถ้าท่านแสดงธรรม ตนก็ฟังโดยเคารพ ถ้าท่านไม่แสดงธรรม ตนก็แสดงธรรมแก่ท่าน ๗. มีเทวดามาบอกว่า พระผู้มีพระ ภาคตรัสธรรมไว้ดีแล้ว ตนก็ตอบว่า ท่านจะบอกหรือไม่บอกก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสธรรมไว้ดีแล้ว. จิตของตนไม่ฟู เพราะเหตุที่เทวดา มาหา หรือเพราะได้พูดกับเทวดา ๘. ตนละสัญโญชน์ ๕ เบื้องต่ำได้ ( เป็นพระอนาคามี ).

ตรัสถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของอุคคคฤหบดีชาวหัตถิคาม ใน ทำนอง คล้ายคลึงกัน. รวมทั้งคฤหบดีอื่นว่าประกอบด้วยความอัศจรรย์ ๗ ประการ ( น้อยกว่าผู้อื่น ๑ ข้อ ) คือหัตถกะชาวเมืองอาฬวี ( ประกอบด้วย อริยทรัพย์ ๗ )

ต่อมาตรัสสรรเสริญหัตถกะ ( อุบาสก ) ว่า สงเคราะห์บริษัท ๔ ด้วยสังคหวัตถุ ( ธรรมเป็นที่ตั้ง หรือเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ ) ๔ อย่าง และตรัสสรรเสริญว่า มีความอัศจรรย์ ๘ เพิ่มความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย..

ตรัสแสดงเหตุที่ให้เป็นอุบาสก เป็น ต้น แก่มหานามศากยะว่า ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ชื่อว่าเป็นอุบาสก, มีศีล ๕ ชื่อว่ามีศีล, มีคุณธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์คนอื่น, มีคุณธรรมเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ชื่อว่าปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและคนอื่น.

ตรัสตอบหมอชีวกในทำนองเดียวกัน, ตรัสแสดงกำลัง ๘ ประการ คือ ๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง ๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง ๔. พระราชามีอิสริยะ ( ความเป็นใหญ่ ) เป็นกำลัง. ๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็รกำลัง. ๗. ผู้สดับมากมีการพิจาณาเป็นกำลัง. ๘. สมณพราหมณ์มี ขันติ ( ความอดทน ) เป็นกำลัง. ( หมายเหตุ : คำว่า บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง แปลจากคำว่า นิชฺณตฺติพลา ปณฺฑิตา ซึ่งพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองไทยท่านเคยแปลไว้อย่างนั้น แต่ในอรรถกถาแก้ว่า บัณฑิตมิได้เพ่งโทษแบบคนพาล แต่เพ่งประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ )

พระสาริบุตรกราบทูลแสดงกำลัง ๘ ประการของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ( ขีณาสพ ) คือ ๑. เห็นด้วยดีด้วยสังขารว่าไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบ ๒. เห็นด้วยดีว่ากามเป็นเหมือนหลุมถ่านเพลิง ๓. มีจิตน้อมไปสู่ความสงัด ๔. -๘. เจริญสติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยดี. ตรัสแสดงขณะหรือสมัยอันไม่สมควร เพื่ออยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการ คือ ๑. เกิดในนรก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเกิดขึ้นแสดงธรรม ๒. เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ๓. เกิดในภูมิแห่ง เปรต ๔. เกิดในเทพนิกายที่มีอายุยืน ๕. เกิดในชนบทชายแดน ๖. เกิดในเผ่ามิลักขะ ผู้ไม่มีความรู้แจ้ง ๗. เกิดในมัธยมชนบทแต่มีปัญญา ทราม.

ตรัสแสดงมหาปุริสวิตก (ความคิดหรือความตรึกของมหาบุรุษ ) ๘ ประการ คือ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย, ผู้สันโดษ, ผู้สงัด, ผู้ปรารภความเพียร, ผู้มีสติตั้งมั่น, ผู้มีจิตตั้งมั่น ( เป็นสมาธิ ), ของผู้มีปัญญา. ( ๗ข้อนี้พระอนุรุทธ์ท่านคิดได้ พระผู้มีพระภาคตรัสเพิ่มเติมข้อสุดท้าย คือ ) ธรรมนี้ของผู้ไม่เนิ่นช้า. พระอนุรุทธ์ปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์.

๔. ตรัสแสดงทาน ๘ อย่าง

๑. พบเข้าก็ให้ทาน ๒. ให้ทานเพราะกลัว ๓. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรา ๔. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาจักให้แก่เรา ๕. ให้ทานเพราะคิด ว่าทานเป็นของดี ๖. ให้ทานเพราะคิดว่าเราหุงต้ม แต่สมณะเหล่านี้มิได้หุงต้ม ๗. ให้ทานหวังกิติศัพท์ ๘. ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับเป็น เครื่องประกอบจิต ( เพื่อให้จิตอ่อน ควรแก่คุณธรรมสูงขึ้นไป ).

และตรัสแสดงทานวัตถุ ๘ อย่างคล้ายคลึงกัน ตรัส แสดงสมณพราหมณ์ผู้ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือมีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ส่วนในทางดี มีความเห็นชอบ จนถึงความตั้งใจมั่นชอบ ( มรรคมีองค์ ๘ ) ว่าเป็นเหมือนนาเลวนาดี.

ตรัสแสดงความเกิดในที่ต่าง ๆ ด้วยอำนาจทาน ( ทานูปปัตติ ) ๘ ประการ คือ ๑. กษัตริย์, พราหมณ์หรืคฤหบดีมหาศาล ๒.-๗. เทพ ๖ ชั้น ๘. เทพพวกพรหม ทั้งแปดอย่างนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีลและ เฉพาะข้อ ๘ ต้องปราศจากราคะด้วย.

ตรัสแสดงบุญกิริยาวัตถุ ( เรื่องของการทำบุญ ) ๓ ประการ คือ บุญญกิริยา วัตถุสำเร็จด้วยทาน, ศีล, ภาวนา ( การอบรม ) คือ ๑. ทำ ๒ ข้อแรกน้อย ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้ตายไปแล้ว เกิดมีส่วนชั่วในมนุษย์ ๒. ทำ ๒ ข้อแรกพอประมาณ ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดมีส่วนดีในมนุษย์ ๓. ทำ ๒ ข้อแรกมาก แต่ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ๔.-๕. ทำเหมือนข้อที่ ๓ ทำให้เกิดในเทพชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามะ, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสัตตี.

ตรัสแสดงสัปปุริสทาน ( ทานของคนดี ) ๘ ประการ คือให้สิ่งสะอาด, ให้สิ่ง ประณีต, ให้ตามกาล, ให้สิ่งที่ควร, เลือกแล้วจึงให้, ให้เนือง ๆ, ขณะให้จิตเลื่อมใส, ให้แล้วก็อิ่มใจ.

ตรัสว่า สัปปุริสะ ( คนดี ) เมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก คือ แก่มารดาบิดา, แก่บุตรภริยา, แก่ทาสและกรรมกร, แกมิตรสหาย, แก่ผู้ล่วงลับไปก่อน, แก่พระราชา, แก่เทวดา, แก่สมณพราหมณ์

ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญ ๘ ประการ คือ ๑.-๓. ถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นสรณะ ๔.-๘. เว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ( ถือว่าเป็นการให้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แก่สัตว์ไม่มีประมาณ).

ตรัสแสดงโทษของกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ และดื่มสุรา ว่า ถ้าทำให้มาก เป็นเหตุให้ไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉาน และภูมิแห่งเปรต ส่วนโทษอย่างเบาเฉพาะข้อมีดังนี้ ๑. ฆ่าสัตว์ ทำให้มีอายุน้อย, ลักทรัพย์ ทำให้โภคะ พินาศ, ประพฤติผิดในกาม ทำให้มีเวรจากศัตรู, พูดปด ทำให้ถูกกล่าวตู่, พูดส่อเสียด ทำให้แตกจากมิตร, พูดคำหยาบ ทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ, พูดเพ้อเจ้อ ทำให้มีวาจาไม่มีใครเชื่อ, ดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นบ้า.

๕. ตรัสว่า อุโบสถมี๓ องค์ ๘ ที่อยู่จำแล้ว

มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือให้พิจารณาเทียบเคียงว่าพระอรหันต์ท่านงดเว้นตลอดชีวิต แต่เรางดเว้นตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ก็ชื่อว่ากระ ทำตามพระอรหันต์ ตรัสแสดงผลของอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า ยิ่งกว่าเสวยราชย์ในมหาชนบท ๑๖ แคว้น มีอังคะ มคธ เป็นต้น.

ตรัสสอนนางวิสาขาและวาสฏฐอุบาสกและโพชฌาอุบาสิกาถึงเรื่องผลของอุโบสถใน ทำนองเดียวกัน.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระอนุรุทธ์ ถึงเรื่องสตรีประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เกิด ในเทพผู้มีกายอันน่าพอใจ คือ ๑.-๕. ข้อแรก เหมือนกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ ) ในหัวข้อ ๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี ๖. ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ๗. มีศีล ๘. มีการบริจาค.

ตรัสแสดงธรรมแก่นางวิสาขา และแก่คฤหปตานีมารดาของนกุลมาณพ ในทำนองเดียว กับที่ตรัสแก่พระอนุรุทธ์. ตรัสแก่นางวิสาขา ถึง เรื่องสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยในโลกนี้ คือจัดการ งานดี, สงเคราะห์บริวารชนดี, ประพฤติสิ่งที่พอใจของสามี, รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้. กับสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยใน โลกหน้า คือมีศรัทธา, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

( แบ่งออกเป็นวรรคเล็ก ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อสันธานวรรค ว่าด้วยความ ตั้งอยู่ด้วยดี. วรรคที่ ๒ ชื่อจาลวรรค ว่าด้วยเรื่องแผ่นดินไหว. วรรคที่ ๓ ชื่อยมกวรรค ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่กัน. วรรคที่ ๔ ชื่อสติวรรค ว่า ด้วยสติ. วรรคที่ ๕ ไม่มีชื่อ ).

๑. มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดี โคตมี

กราบทูลขอบวชเป็นภิกษุณี ในชั้นแรกตรัสปฏิเสธ แต่เมื่อพระอานนท์ช่วยกราบทูล ก็ตรัสอนุญาตให้พระนางบวชด้วยครุธรรม ( ธรรมที่ควร เคารพ ) ๘ ประการ ( ดูรายละเอียดที่แปลไว้จากวินัยปิฎกซึ่งพ้องกัน ) หมายเลข ๘๓ และ ( หน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ ) ๖. ภิกขุนีขันธกะ(หมวดว่าด้วยนางภิกษุณี )(และพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ เล่มเดิม ) ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ

ตรัสแสดงธรรมแก่บุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ชื่อฑีฆชาณุ เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ปัจจุบัน ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), คบคนดีเป็นมิตร, เลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ ( ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองเกินไป ) ; เรื่องปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ ๔ ประการ คือเป็นนักเลงหญิง, เป็นนักเลงสุรา, เป็นนักเลง การพนัน, คบคนชั่วเป็นมิตร, ฝ่ายดีคือปากทางแห่งความเจริญตรงกันข้าม.

เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อนาคต ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยศรัทธา, ศีล, จาคะ ( การบริจาก ), ปัญญา.

และตรัสแก่อุชชยพราหมณ์ในทำนองเดียวกัน. ตรัสว่า ภัย ทุกข์ เป็นต้น เป็นชื่อของกาม. ตรัสแสดงคุณธรรม ๘ อย่างของภิกษุหลายนัย ที่ทำให้ภิกษุเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อนาบุญ อันยอด เยี่ยมของโลก อย่างสูงทรงแสดงพระอริยบุคคลทั้งแปด.

๒. ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภท

คือภิกษุอยากได้ลาภ ๑. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๒. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๓. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๔. ไม่พยายามเพื่อได้ ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๕. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระ สัทธรรม ๖. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๗. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๘. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้ควรแก่ตน ควรแก่คนอื่น คือ ๑. พิจารณาได้ไวในกุศลธรรม ๒. ทรงจำธรรมะที่สดับแล้วได้ ๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ๔. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วก็ปฏิบัติ ธรรมตามสมควรแก่ธรรม ๕. มีวาจาไพเราะ ๖. ชี้แจงชักชวนเพื่อนพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง

ครั้นแล้วตรัสว่า ลดข้อ แรก เหลือแต่ ๕ ข้อหลังก็ใช้ได้, ลด ๒ ข้อหลัง เหลือแต่ ๔ ข้อแรกก็ใช้ได้, ลดข้อ ๓-๔ เหลือเพียง ๔ ข้อก็ใช้ได้, ลดข้อ ๑ กับข้อ ๕-๖ ก็ใช้ได้, ลด ๔ ข้อแรก เหลือเพียงข้อ ๕ ข้อ ๖ ก็ใช้ได้.

ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ขอให้ทรงแสดงธรรมโดยย่อ โดยตรัสสอนให้สำเนียก ว่า ๑. จิตจักตั้งมั่น อกุศลธรรมจักไม่ครอบงำ ๒.-๕. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา อันเป็นเจโตวิมุติ ( อันเป็น ฌาน ).๔ ๖.-๙. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เมื่อได้ทำได้อย่างนี้ ก็จะอยู่เป็นผาสุกทั้ง อิริยาบถเดิน, ยืน, นั่ง, นิน.

ตรัสแสดงอธิเทวญาณทัสสนะ ( การเห็นด้วยฌาณซึ่งอธิเทพ หรือเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ ๘ ประการ คือ เมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงปรารภราจะได้รู้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรจนรู้เห็นได้ตาม ต้องการแล้ว ก็ทรงปรารถนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปจนสำเร็จสมบูรณ์ครบ ๘ ข้อ จึงปฏิญญาพระองค์ว่าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑. เรา จักรู้สึกมีแสงสว่าง เห็นรูป ๒. เราจักยืนสนทนาไต่ถามกับเทวดา ๓. เราจักรู้ว่าเทวดานี้มาจากเทพนิกายโน้น ๆ ๔. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านั้น เคลื่อนจากนี้ เกิดในที่นั้นเพราะผลแห่งกรรมนี้ ๕. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขทุกข์อย่างนี้ ๖. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้อายุ ยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่นานเท่านี้ ๗. เราเคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้หรือไม่ ๘. หรือว่าเราไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้.

ตรัสแสดงอภิภายตนะ ( เหตุอันครอบงำอารมณ์ที่เป็นข้าศึกหรือธรรมะฝ่ายต่ำ ) ๘ ประการ คือ ๑. กำหนดหมายรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๒. กำหนดหมายในรูป เห็น รูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๓. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๔. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๕. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเขียว ๖. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเหลือง ๗. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีแดง ๘. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูป ภายนอกสีขาว ทั้งแปดข้อนี้ต้องมีความกำหนดหมายประจำทุกข้อว่า เรารู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ( คือไมารู้เห็นอย่างติด แต่เป็นนายเหนือสิ่ง ที่เห็นได้ ). (หมายเหตุ : คำว่า อภิภายตนะ มีมาแล้วในมหาปรินิพพานสูตร, สังคีติสูตร, ทสุตตรสูตร เช่น ที่ปรากฏในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ทรงปลงอายุสังขาร แต่ไม่ได้แจงรายละเอียด ย่อไว้เพียงชื่อบ้าง กล่าวเพียงตัวอย่างของธรรมหมวด ๘ บ้าง ในที่นี้จึงย่อไว้ให้เห็นชัด. มีข้อน่าสังเกต คือเป็นเรื่องของการปฏิบัติทางจิตภาค สมถะ และตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ เป็นเรื่องของกสิณ ).

ตรัสแสดงวิโมกข์ ๘ ( ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘

ตรัสแสดงอริยโวหาร ( คำพูดที่ประเสริฐ ) และอนริยโวหาร ( คำพูดที่ไม่ ประเสริฐ ) ฝ่ายละ ๘ อย่าง ( พ้องกับที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ หน้า ๕ หมวดนอกจาก ๕๐ ) หัวข้อ ๕.

ตรัสแสดงบริษัท ๘ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ, เทพชั้น จาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, มาร, พรหม.

เมื่อทรงปลงอายุสังขารเกิดแผ่นดินไหว พระ อานนท์กราบทูลถามถึงเหตุปัจจัย ให้แผ่นดินไหว ตรัสว่ามีอยู่ ๘ ประการ คือลมกำเริบ, ผู้มีฤทธิ์บันดาล, พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต ลงสู่ครรภ์พระมารดา, ประสูติ, ตรัสรู้, พระตถาคตแสดงธรรมจักร, ปลงอายุสังขาร, ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

๓. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ

เป็นผู้น่าเลื่อมใสทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นผู้กล่าวธรรม, ก้าวลงสู่บริษัท, กล้าหาญแสดงธรรม, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน.

ตรัสอีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะ ข้อที่ ๗ เป็นถูกต้องวิโมกข์อันสงบด้วยนามกาย.

ภิกษุหลายรูปแสดงความเห็นในการเจริญสติระลึกถึงความตายต่าง ๆ กัน. พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ตลอดคืนและวัน, ตลอดวัน, ตลอดครึ่งวัน, ตลอดเวลาที่ฉันอาหารมื้อหนึ่ง, ตลอดเวลาที่ฉัน อาหารครึ่งมื้อ ยังอยู่ในเกณฑ์ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะช้าไป. ส่วนผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ระหว่างเคี้ยวอาหารคำเดียว, ระหว่าง หายใจเข้าออก จึงชื่อว่าไม่ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะ.๕

ตรัสสอนให้เจริญมรณสติ แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.

ตรัสแสดงสัมปทา ( ความถึงพร้อม ) ๘ อย่าง คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), การคบคนดีเป็นมิตร, การเลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ, ความเชื่อ, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.

พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๘ ประเภท ( พ้องกับพระพุทธภาษิต เรื่องภิกษุอยากได้ลาภ ๘ อย่างในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน ) และเรื่องบุคคลที่ควรแก่ตนและผู้อื่น ( เหมือนกันคือ ดูในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน )

ตรัสถึงธรรม ๘ อย่าง เป็น ไปเพื่อความเสื่อมแห่งภิกษุผู้ยังศึกษา คือยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมด้วยอินทรีย์, ไม่รู้ประมาณในโภชนะ, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดี ในธรรมอันทำให้เนิ่นช้า ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสถึงที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ๘ อย่าง คือ ๑. จะทำงานกลัวลำบากกาย, ๒. ทำแล้วก็รู้สึกว่าลำบากกาย, ๓. จะเดินทางก็กลัวลำบากกาย, ๔. เดินทางแล้วก็รู้สึกลำบากกาย, ๕. เที่ยวบิณฑบาต ไม่ได้อาหารตามที่ ต้องการ รู้สึกว่าลำบากกาย, ๖. เที่ยวบิณฑบาต ได้อาหารตามที่ต้องการ รู้สึกว่ากายหนัก ( อึดอัดเพราะอิ่ม ), ๗. มีอาพาธเล็กน้อย, ๘. หาย จากอาพาธไม่นาน.

ทรงแสดงที่ตั้งแห่งความเพียร ( อารัพภวัตถุ ) ๘ ประการตรงกันข้าม.

๔. ตรัสว่า ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้ไม่มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดนลำดับ

ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดยลำดับ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๑) ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ หมายเลข ๒..

ตรัสแสดงเหตุที่ทำให้พระธรรมเทศนาของพระตถาคตบางครั้งก็แจ่มแจ้ง บางครั้งก็ ไม่แจ่มแจ้ง คือมีศรัทธา, เข้าไปหา, นั่งใกล้, ไต่ถาม, ตั้งโสตสดับธรรม, ทรงจำธรรม, พิจารณาอรรถแห่งธรรม, ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ( ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่แจ่มแจ้ง ).

ตรัสว่าธรรมทั้งปวง มีความพอใจเป็นมูล, เกิดแต่ความใส่ใจ, มีสัมผัสเป็นเหตุ เกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่, มีบุญเป็นสิ่งยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่น.

ตรัสว่า โจรประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความพินาศโดยพลัน ไม่ตั้งอยู่นาน คือ ทำร้ายผู้ที่มิได้ทำร้าย, ขโมยของไม่ให้มีเหลือ, พาสตรีไป, ข่มขืนหญิงสาว, ปล้นนักบวช, ปล้นพระคลังหลวง, ทำกรรมในที่ใกล้เกินไป, ไม่ฉลาดในการฝังทรัพย์. และตรัสว่าถ้าตรงกันข้ามก็ไม่ถึงความพินาศโดยพลัน ตั้งอยู่ได้นาน.

ตรัสว่า คำว่า สมณะ, พราหมณ์, ผู้ภึงเวท, หมอ, ผู้ไม่มีทลทิน, ผู้ปราศจากมลทิน, ผู้มีญาณ, ผู้หลุดพ้น เป็นชื่อของพระตถาคต.

ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่ต้อนรับพราหมณ์คฤหบดีชาวอิจฉานังคละ ผู้ส่งเสียงเอ็ดอึง.

ตรัสเรื่องอุบาสกที่ควรคว่ำบาตร หงายบาตร ( ดังที่ย่อไว้แล้วหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗) การลงโทษคว่ำบาตรแก่วัฑฒะลิจฉวี และเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ดั่งที่มี แล้วในพระวินัย.

๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม ๘ อย่าง

คืออริยมรรคมีองค์ ๘, อภิภายตนะ ๘ ( ดูด้านบนในหัวข้อหมายเลขที่ ๒. ตรงคำว่า หมายเหตุ ) วิโมกข์ ( ดูที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( ดูที่หน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ ) หัวข้อที่ ๗. วัตถูปมสูตร. มีราคะ เป็นต้น.

'๑' . มีข้อน่าสังเกตพิเศษสำหรับคนธรรพ์ว่าอยู่ในมหาสมุทร แต่ในที่อื่นมีกล่าวว่า อยู่ที่ต้นไม้ ( ดูที่บทของเล่มที่ ๑๙ ซึ่งมีเขียนขยายความไว้ดังนี้ว่า : ในข้อที่๑๐. คันธัพพกายสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพพวกคนธรรพ์ คือเทพที่สิงอยู่ ณ กลิ่นแห่งรากไม้, แก่นไม้, กะพี้ไม้, เปลือกไม้, สะเก็ดไม้, ใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้, รสไม้, กลิ่นไม้. )

'๒' . น่าจะหมายความว่ารักษาศีล ๕ ยกข้อ ๓ คือประพฤติผิดในกามออก เลื่อนข้อ ๔-๕ ไปไว้เป็นข้อที่ ๓-๔ แล้ว สมาทานข้อ ๕ เว้นจากอพรหมจรรย์คือการเสพกาม

'๓' . เว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, กินอาหารในเวลาเที่ยงแล้วถึงรุ่งอรุณของวันใหม่, ฟ้อนรำขับร้องประโคม ดูการเล่น ทัดทรงดอกไม้ของหอม, ใช้ที่นั่งนอนสูงใหญ่ยัดนุ่นและสำลี

'๔' . ตรัสขยายความในตอนต่อไปว่า เจริญสมาธินี้ ( อันประกอบด้วยเมตตา ) อันมีวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๑ ) บ้าง, อัน ไม่วิตก มีแต่วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีทั้งวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีปีติ ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีปีติ ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีแต่ความ สุข ( ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ( ฌานที่ ๔ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๕ ในฌาน ๕ บ้าง ), นี้ เป็นพระพุทธภาษิตแห่งที่ ๒ ที่ตรัสถึงฌาน ๕ โดยแสดงองค์ฌาน แต่ไม่ได้บอกชื่อว่าที่ ๑ ถึงที่ ๕ . ดูข้อความในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ หน้า ๒) ในหัวข้อที่๒๘. อุปักกิเลสสูตร ที่ข้อที่๕

'๕' . ข้อความตอนนี้ความจริงซ้ำกับข้อความในหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๕ ในข้อ๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ แต่ตอนนี้ย่อไว้ พิสดารกว่า และเป็นอันขยายความของตอนที่แล้วให้ชัดขึ้น


เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ )
หน้า ๓ จบเล่ม

นวกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

( หมวด ๕๐ นี้ มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อสัมโพธวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้. วรรคที่ ๒ ชื่อ สีหนาทวรรค ว่าด้วยการบรรลืออย่างราชสีห์. วรรคที่ ๓ ชื่อสัตตาวาสวรรค ว่าด้วยที่อยู่แห่งสัตว์. วรรคที่ ๔ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๕ ชื่อปัญจาลวรรค ว่าด้วยปัญจาลจัณฑเทพบุตร ).

๑. ตรัสสอนให้ตอบนักบวชศาสนาอื่น ถึงธรรมอันเป็นที่อาศัยของรรมที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้ มีดังต่อไปนี้

คบเพื่อนที่ดี, มีศีล, ถ้อยคำที่ขัดเกลากิเลส, ปรารภความเพียร, มีปัญญา. เมื่อตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่าง เหล่านี้แล้ว ควรเจริญธรรม ๔ อย่าง ให้ยิ่งขึ้น คืออสุภะ ( การพิจารณาว่าไม่งาม ), เมตตา, ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ไม่ใช่ตัวตน.

ตรัสว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ด้วยเหตุ คืออาศัยศรัทธา, อาศัยหิริ, อาศัย โอตตัปปะ, อาศัยปัญญา แล้วละอกุศล เจริญกุศล, แล้วควรอยู่อย่างมีอุปนิสสัย ๔ อย่าง คือพิจารณาแล้วเสพ, อดทน, เว้น, บันเทา.

พระเมฆิยะขอลาพระผู้มีพระภาคไปบำเพ็ญเพียร ตรัส ขอให้รอก่อน เธอกราบ ทูลถึง ๓ ครั้ง ก็ตรัสอนุญาต แต่เมื่อไปบำเพ็ญเพียร ก็ถูกอกุศลวิตกครอบงำ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนเรื่องธรรมอันเป็นที่อาศัยของธรรม ที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้.

พระนันทกะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย พระ ผู้มีพระภาคเสด็จไปยืนคอยนอก ซุ้มประตู จนแสดงธรรมจบ จึงเสด็จเข้าไปข้างใน. พระนันทกะกราบทูลว่า ไม่ทราบว่าเสด็จมาจึงแสดงธรรมถึงเท่านี้ ( มากไป ). ตรัสตอบ ว่า เธอทำถูกแล้ว บรรพชิตที่ประชุมกันนั้น ควรทำการ ๒ อย่าง คือกล่าวธรรมิกถา หรือนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งอย่างรู้เท่า ) แล้วได้ตรัสแสดง ธรรมว่า การมีศรัทธา, มีศีล, ได้เจโตสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นแห่งจิต ) ภายใน, ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง. ถ้ามีครบก็สมบูรณ์ ถ้ามีไม่ครบก็ขาดไป เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ถ้าขาดไปเท้าหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว พระ นันทกะจึงแสดงอานิสงส์ ๕ ในการฟัง ธรรมะ, สนทนาธรรมตามกาล คือ ๑. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของศาสดา, ๒. รู้อรรถรู้ธรรม. ๓. แทงทะลุบทแห่งเนื้อความอันลึกซึ้งในธรรม นั้นด้วยปัญญา. ๔. เพื่อนพรหมจารีสรรเสริญ. ๕. เมื่อแสดงธรรม ภิกษุที่ยังเป็นเสขะย่อมพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ภิกษุผู้เป็นพระ อรหันต์ ฟังธรรมชื่อว่าอยู่อย่างประกอบธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.

ตรัสว่า กำลัง ๔ คือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.

เมื่ออริยสาวกประกอบด้วยกำลัง ๔ นี้แล้ว ย่อมก้าวล่วงความกลัว ๕ ประการ คือความกลัวในการดำเนินชีวิต, ความกลัวถูกติ, ความกลัวประหม่าในที่ประชุม, ความกลัวตาย, ความกลัวทุคคติ.

พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องบุคคล, ปัจจัย ๔, คามนิคม, ชนบทว่า ควรทราบโดย ๒ อย่าง คือควรเสพ และไม่ควรเสพ กำหนดด้วยเมื่อเสพเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรม เสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรเสพ.

ตรัสว่า พระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ( ที่ไม่ดี ) ๙ อย่าง ( ย่อไว้แล้วหน้าในเล่มที่ ๕ หน้า ๔ หมายเลขที่ ๒๖.สันทกสูตร หมายเลข ๕ มี ๕ ข้อ ) คือจงใจฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด ทั้ง ๆ รู้, สั่งสมบริโภคเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์, ลุแก่อคติ ๔ คือลำเอียงเพราะรัก, เพราะชัง, เพราะหลง, เพราะกลัว.

ตรัสแสดงนัยอื่นอีก คือพระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ๙ อย่าง ( ๑ ถึง ๕ ซ้ำกัน ) ๖. บอกคืนพระพุทธ ๗. บอกคืนพระธรรม ๘. บอกคืนพระสงฆ์ ๙. บอกคืนสิกขา.

ตรัสแสดงบุคคล ๙ ประเภท คือพระอริยบุคคล๑ ๘ กับบุถุชน. ตรัสว่า บุคคล ๙ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม คือพระอริยบุคคล ๘ กับโคตรภู ( อยู่ระหว่างบุถุชนกับพระอริยเจ้า ).

๒. พระสาริบุตรถูกภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา

ว่า เดินกระทบแล้วไม่ขอโทษ ท่านกราบทูลพระศาสดาในที่ประชุมสงฆ์ อุปมาตนเอง ๙ ข้อ คือรู้สึกตนเองเหมือนดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ซึ่งถูก ของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างทิ้งใส่ แต่ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนผ้าเช็ดธุลีที่เช็ดของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเจียมตัวอยู่เสมอ เวลาเข้าไปสู่ที่ต่าง ๆ, เหมือนโคที่ถูกตัดเขา ฝึกหัดดีแล้ว ไม่ทำร้ายใคร ๆ, เบื่อหน่ายต่อกายนี้ เหมือน ชายหนุ่มหญิงสาวที่คล้องซากงูไว้ที่คอ, บริหารกายนี้ เหมือนคนแบกหม้อน้ำมันรั่วทะลุ มีน้ำมันไหลออกอยู่. ภิกษุผู้กล่าวหาก็กล่าวขอขมา รับผิด.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระสาริบุตร ว่า บุคคล ๙ ประเภท ชื่อว่ายังมีเชื้อเหลือ ( สอุปาทิเสสา มีเชื้อคือกิเลสเหลือ ) คือพระอนาคามี ๕, พระสกทาคามี ๑, พระโสดาบัน ๓ ( รวมเป็น ๙ ).๒

พระมหาโกฏฐิตะ ถามพระสา ริบุตรว่า คนประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกรรมอย่างนั้น อย่างนี้หรือ ท่านตอบว่า เปล่า และตอบว่า ประพฤติเพื่อรู้, เห็น, บรรลุ, ทำให้แจ้ง, ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังมิได้รู้เห็น ยังมิได้ตรัสรู้.

พระสาริบุตรตอบพระสมิทธิ ว่า ความตรึกซึ่งเกิดจากความดำริ มีนามรูปเป็น อารมณ์, ต่างกันในธาตุทั้งหลาย, มีผัสสะเป็นเหตุเกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่ มีบุญเป็นส่วนยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร, มีอมตะเป็นที่หยั่งลง.

ตรัสว่า คำว่าฝี เป็นชื่อของกายนี้ ซึ่งมีปากแผล ๙ ( ทวาร ๙ ) มีของไม่สะอาด, สิ่งมีกลิ่นเหม็น, สิ่งที่น่ารังเกียจไหลออก. ฉะนั้น จึงควรเบื่อหน่ายในกายนี้

ตรัสแสดงสัญญา ๙ ประการ ซึ่งมีผลอานิสงส์มาก มีอมตะเป็นที่สุด คือความ กำหนดหมายว่าไม่งาม, ความกำหนดหมายความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยง, ว่า เป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายในการละ, ในการคลายความกำหนัด.

ตรัสแสดงสกุลประกอบด้วยองค์ ๙ ที่ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง ( ข้อ ๑ ถึง ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ หมวด ๗ ) หมายเลขที่ ๒. เติมเพียงข้อที่ ๘. ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๙. ไม่ยินดี ภาษิตของภิกษุนั้น. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ พิจารณาองค์ ๘ ว่า ได้ทำตามอย่างพระอรหันต์ กับข้อ ๙ พิจารณาว่า ตนได้แผ่เมตตาจิตไปยังทิศต่าง ๆ.

ตรัสเล่าเรื่องที่เทวดาปฏิบัติไม่ชอบในบรรพชิตในชาติที่ตนเป็นมนุษย์ จึงเข้าถึงกายอันต่ำที่ปฏิบัติชอบเข้าถึงกายอันประณีต.

ตรัสแสดงธรรม แก่อนาถ ปิณฑิกคฤหบดีเรื่องการถวายทานให้เห็นว่า เวลามพราหมณ์เคยให้ทานอย่างมโฬาร แต่การให้ผู้ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระโสดาบัน ) เพียงผู้เดียว หรือร้อยท่านบริโภคอาหาร หรือการให้ พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์, พระปัจเจกพุทธเจ้า, ท่านเดียวหรือร้อยท่านบริโภคอาหาร, การให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค อาหาร, การให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภคอาหาร, การสร้างวิหารอุทิศสงฆ์ ๔ ทิศ, การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ, การมีจิตใจ เลื่อมใสสมาทานสิกขาบท ( ศีล ๕ ), การเจริญเมตตาเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ก็ยังมีผลมากกว่านั้น, การเจริญอานิจจสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าไม่เที่ยง ) เพียงชั่วเวลาดีดนิ้ว ก็ยังมีผลมากกว่านั้น. ( หมายเหตุ : พึงสังเกตว่า การแสดงผลของความดีสูงกว่านั้นเป็นชั้น ๆ นั้นไป สรูปลงที่เห็นว่าไม่เที่ยงเป็นสูงสุด เพราะเป็นเครื่องทำให้เกิดความเห็นแจ้ง ).

๓. ตรัสถึงมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป, เทพชั้นดาวดึงส์, มนุษย์ชาวชมพูทวีป

ที่มีทางดีเด่นกว่ากันและกัน ฝ่ายละ ๓ ข้อ คือมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้ไม่มีความยึดถือว่าของเรา, ไม่มีความหวงแหน, มีอายุแน่นอน ; เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุ, วรรณะ, สุข, อันเป็นทิพย์ ; มนุษย์ชาวชมพูทวีปมีความแกล้วกล้า, มีสติ, ประพฤติพรหมจรรย์อันยิ่ง.

ตรัสถึงม้าเลว, ม้าดี, ม้าอาชาไนย ซึ่งมีอย่างละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ ) เทียบ กับบุคคล ๓ ประเภทที่มีคุณสมบัติประเภทละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ เช่นกัน ) อย่างที่ตรัสไว้แล้ว ( ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๕) ในข้อ ๔. ทรงแสดงนักรบที่ประกอบด้วยองค์ ๓

ตรัสแสดงธรรมที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง คือเริ่มแรกอาศัยตัณหาแล้วเกิดการ แสวงหา, อาศัยการแสวงหาเกิดการได้ โดยนัยนี้มีการอาศัยกันเป็นทอด ๆ เกิดการวินิจฉัย, ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ, การหยั่ง ลง ( ปลงใจยึดถือ ), ความหวงแหน, ความตระหนี่, การถือท่อนไม้ ศัสตรา, การทะเลาะวิวาท การส่อเสียด การพูดปด และอกุศลบาปธรรม เป็นอเนก อันมีการอารักขาเป็นเหตุ.

ตรัสแสดงสัตตาวาส ( ที่อยู่ของสัตว์ ) ๙ อย่าง คือ ๑. สัตว์บางพวกมีกายต่าง กัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์, เทพบางพวก, เปรตบางพวก. ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพพวกพรหม ผู้เกิดด้วยปฐมฌาน. ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวกอาภัสสรพรหม. ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียว กัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม. ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์ คือไม่มีเวทนา ได้แก่เทพพวก อสัญญีสัตว์. ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ. ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ. ๘. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ. ๙. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.๓

ตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว ควร แก่คำว่า สิ้นชาติ, อยู่จบ พรหมจรรย์, ทำหน้าที่เสร็จแล้ว, ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือมีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว จนทราบได้ว่า จิตปราศจากราคะ, โทสะ, โมหะ จิตไม่มีธรรมที่ประกอบด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ จิตมีธรรมดาที่จะไม่กลับไปสู่ความกำหนัดในกาม, ในรูป, ในอรูป.

พระสาริบุตรอธิบายเรื่องภิกษุผู้มีจิตอันจิตอบรมดีแล้ว แก่พระจันทิกาบุตร ในทำนองคล้ายคลึงกับข้างต้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอนาถปิณฑิกคฤหบดี และสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า อริยสาวกสงบเวร ๕ ( มีฆ่าสัตว์ เป็นต้น ) ได้ และประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ.๔ (องค์แห่ง โสดาปัตติผล ) ๔ ประการ เมื่อปรารถนาก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ด้วยตนว่าเป็นผู้สิ้นนรก, สิ้นกำเนิดดิรัจฉาน, สิ้นภูมิแห่งเปรต,สิ้นอบาย ทุคคติ วินิบาต, เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ต่อไป.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความอาฆาต และเครื่องนำออกซึ่งความอาฆาตอย่างละ ๙ อย่าง ( ดูที่แปลไว้แล้วหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) ข้อ ๗๔. ถึงข้อ ๗๕. และตัดข้อที่ ๑๐ ออกทั้งสองอย่าง.

ตรัสแสดงความดับโดยลำดับ ( อนุบุพพนิโรธ ) ๙ อย่าง คือ ภิกษุผู้เข้า ปฐมฌาน ความกำหนดหมายในอามิสดับ ( นอกจากนั้นเหมือนข้อ ๒ ถึงข้อ ๙ ของเรื่องอนุบุพพสังขารนิโรธที่แปลไว้แล้ว หน้าข้อความ น่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๐๐. และพึงสังเกตว่า ในหน้าเดิมหมายเลข ๑๙๙ แสดงว่า ผู้เข้าปฐมฌานวาจาดับ .

๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ ) ๙ อย่าง

คือฌานที่ ๑. ถึงฌานที่ ๔ ( อันเป็นรูปฌาน ), อากาสานัญจายตนะ จนถึงเนวสัญญนาสัญญายตนะ ( อันเป็นอรูปฌาน ๔ ) และ สัญญเวทยิตนิโรธ ( ดูคำอธิบายที่เป็นพระพุทธสุภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓.

พระอุทายีถามพระสาริบุตรว่า ที่ว่าพระนิพพานเป็นสุข แต่ในพระนิพพานไม่มีเวทนา ความรู้สึกอารมณ์ จะสุขอย่างไร พระ สาริบุตรตอบแสดงความสุขเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่สุขในกามคุณ ๕, สุขในรูปฌาน, สุขในอรูปฌาน, สุขในสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติอันดับสัญญาและเวทนา ). ความสุขในชั้นที่ต่ำกว่าย่อมเป็นเครื่องเบียดเบียน ( อาพาธ ), ย่อมเป็นทุกข์.๕

ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ย่อม ไม่สามารถเข้ารูปฌาน, อรูปฌานและสัญญาเวทยิต-นิโรธได้ ส่วนภิกษุผู้ฉลาดย่อมเข้าได้ เปรียบเหมือนแม่โคที่ไม่ฉลาด เที่ยวไปบนเขาที่ไม่สม่ำเสมอไม่ได้ แต่ที่ฉลาดเที่ยวไปได้ และตรัสใน ที่สุดว่า ภิกษุผู้เข้าออกสมาบัติข้างต้นได้ อบรมสมาธิอันไม่มีประมาณดีแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งอภิญญา ๖ มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.

ตรัสว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะย่อมมีได้ เพราะ อาศัยรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ ( เว้นข้อ ๔ ) แต่ละข้อโดยตรัสอธิบายว่า เมื่อเข้าฌานแต่ละข้อแล้ว พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนถึงมิใช่ตัวตน แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ ก็จะสิ้นอาสวะได้ หรือถ้าไม่สิ้นอาสวะก็จะได้เป็นพระอนาคามี. ตรัสสรูปในที่สุดว่า สัญญาสมาบัติ ( การเข้า ฌานที่มีความกำหนดหมายเป็นอารมณ์ ) มีเท่าใด การตรัสรู้อรหัตตผล ( อัญญาปฏิเวธ ) ย่อมมีเท่านั้น. ส่วนอายตนะ ๒ คือเนวสัญญานาสัญ- ญายตนสมาบัติ ( อรูปฌานที่ ๔ ) กับสัญญาเวทยิตนิโรธ ( อนุบุพพวิหารข้อที่ ๙ ) นั้น พระองค์ตรัสว่า ภิกษุเข้าฌานผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ในการออกจากสมาบัติ อาศัยแล้ว เข้าออก ( จากสมาบัติ ) พึงกล่าวถึงโดยชอบ๖
( หมายเหตุ : นวสัญญานาสัญญายตนะ กับสัญญาเวทยิตนิโรธ เรียกว่าอายตนะ ๒ ในที่นี้. ส่วนในที่อื่น เช่น ในมหานิทาน สูตร ที่ย่อไว้หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ๒. มหานิทานสูตรอายตนะ ๒ หน้าเดียวกัน. ตรัสแสดงถึงอสัญญีสัตว์ กับเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ก็พึงทราบว่า ในสูตรนั้นแสดงถึงแหล่งเกิด ส่วนในที่นี้แสดงการเข้าสมาบัติ ที่บันทึกไว้ในที่นี้เพื่อให้เทียบ เคียงประดับความรู้ ).

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แสดง ความน่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาค ทรงบรรลุโอกาส ( หาช่องว่างได้ ) ในที่คับแคบ ( แออัดด้วยกามคุณ ) คือมีตา มีรูป ตลอดจนถึงมีกาย มีสิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย แต่ก็ไม่ทรง รับรู้รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะนั้น. พระอุทายีถามว่า มีสัญญาหรือไม่ ตอบว่า มี. ถามว่า มีสัญญาอะไร จึงไม่รับรู้รูป เป็นต้นนั้น. ตอบเป็นใจความว่า มีสัญญาในอากาศ, ในวิญญาณ, ในความไม่มีอะไร ( เข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ) ก็ไม่ต้องรับรู้รูป เสียง เป็นต้นได้. ( ข้อ ความในพระสูตรนี้ น่าพิจารณามาก พระอานนท์สรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าในที่แออัดด้วยกามคุณ ๕ แต่พระพุทธเจ้าก็หาช่องว่างได้ โดยไม่ ต้องรับรู้กามคุณ ๕ คือมีให้รู้ให้เห็น แต่ก็ไม่รู้ไม่เห็น โดยวิธีเข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ก็เป็นอันตัดความสนใจในอารมณ์ที่เป็นรูปทั้งหมดได้ ).

ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้ถือลัทธิโลกายตนะ ๒ คน ผู้ ถามพระองค์ถึง เจ้าลัทธิชื่อปูรณะ กัสสปะ กับนิครนถนาฏบุตร โดยตรัสปฏิเสธที่จะวิจารว่าใครดีกว่ากัน แต่ได้ตรัสธรรมะว่า บุรุษ ๔ คน มีฝีเท้าเร็วอย่าง ยอดเยี่ยม ออกเดินทางหาที่สุดโลกโดยไม่หยุดเลย แม้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็จะตายก่อนไม่ถึงที่สุดโลก ที่สุดทุกข์. แล้วตรัสแสดงกามคุณ ๕ มีรูป เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แล้วตรัสถึงภิกษุผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ตรัสชี้ว่า ภิกษุเช่นนี้ชื่อว่าข้ามที่สุดโลก ข้ามตัณหาเสียได้.

ตรัสแสดงธรรมเรื่องสงครามระหว่างเทพกับอสูร เทพ แพ้ ๓ ครั้ง แล้วก็กลับ ชนะ โดยฝ่ายอสูรแพ้ถึง ๓ ครั้ง ตรัสเปรียบเทียบกับการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ทำให้มารเห็นได้ว่ามีเครื่องต่อต้านความกลัว ซึ่งตน จะทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเข้าอรูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึงที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึง ที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น และชื่อว่าข้ามพ้นตัณหาได้ในโลก

ตรัสถึงภิกษุผู้หลีกออกจากหมู่ บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุรูปฌาน, อรูปฌาน, และสัญญาเวทยิตนิโรธ เหมือนพญาช้างใหญ่ในป่าปลีกตัวจากหมู่ อยู่ตามลำพังฉะนั้น.

เมื่อประทับอยู่ในนิคมของแคว้นมัลละชื่ออุรุเวลกัสสปะ ได้ เสด็จไปพักกลาง วัน ณ ป่าใหญ่ตปุสสะ คฤหบดี เข้าไปหาพระอานนท์ กล่าวว่า เนกขัมมะ ( คือออกจากกามหรือออกบวช ) เปรียบเหมือนเหวสำหรับตนผู้ เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม แต่ก็มีภิกษุหนุ่มผู้มีจิตยินดีในเนกขัมมะ จึงขอให้แสดงเนกขัมมะให้ฟัง. พระอานนท์จึงพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงตรัสเล่าถึงพระดำริ และการกระทำของพระองค์ ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้ ที่ทรงยกจิตให้สูงขึ้นเป็นชั้น ๆ จากกาม ขึ้นสู่เนกขัมมะ และรูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ กับสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นที่สุด ครั้งแรกก็ยังไม่เห็นโทษในสิ่งที่ต่ำกว่า ต่อเมื่ออบรมจิตให้มาก จนจิตได้ตั้งอยู่ ในธรรมที่สูงขึ้นแล้ว จึงเห็นสิ่งที่ต่ำกว่า เป็นสิ่งเบียดเบียน ( อาพาธ ) เป็นทุกข์. แล้วตรัสในที่สุดว่า ตราบใดยังทรงเข้าออกอนุบุพพนิโรธ- สมาบัติ ( สมาบัติที่มีการดับสิ่งต่าง ๆ ไปโดยลำดับ ) ๙ ประการ ทั้งโดยอนุโลมคือตามลำดับ ทั้งโดยปฏิโลมคือย้อนลำดับไม่ได้แล้ว ตราบนั้น ก็ไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม.

๕. พระอานนท์แสดงธรรมแก่พระอุทายี

ผู้ถามถึงเรื่องที่บุคคลจะบรรลุ โอกาสในที่คับแคบ โดยอธิบายถึงการที่ภิกษุเข้าฌาน ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ( รวม ๙ ข้อ ) แล้วชี้ว่า คำว่า ที่คับแคบ หมายถึงกามคุณ ๕ เลื่อนขึ้นไปจากฌานที่ ๑ ถึงอรูปฌานที่ ๔ ( รวม ๘ ข้อ ) เป็นที่คับแคบของ ฌานที่สูงขึ้นไป แต่เมื่อถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ จึงชื่อว่าบรรลุโอกาสในที่คับแคบ ( แหวกช่องว่างในที่แคบ ) อย่างแท้จริง ( ๘ ข้อ ต้นเป็นการแหวกช่องว่างได้โดยปริยาย คือเพียงโดยอ้อม ข้อที่ ๙ เป็นการแหวกช่องว่างได้โดยนิปปริยาย คือโดยตรง )

พระอานนท์ตอบคำถามของพระอุทายี เรื่อง พระอริยบุคคลประเภทกายสักขี, ปัญญาวิมุต, อุภโตภาควิมุต, ( รวม ๓ ประเภท ) ว่า ได้แก่ผู้บรรลุอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งเก้า เป็นแต่ว่าบรรลุ ๘ ข้อแรก เป็นโดยปริยาย ( โดยอ้อม ) แต่บรรลุข้อหลัง ( สัญญาเวทยิตนิโรธ ) สิ้นอาสวะ ชื่อว่าเป็นกายสักขี เป็นต้นโดยตรง ( นิปปริยาย ).

พระอุทายีถามถึงความหมายของคำว่า สันนทิฏฐิกรรม ( ธรรมที่เห็นได้เอง ), สันทิฏฐิกนิพพาน ( นิพพานที่เห็นได้เอง ), นิพพาน ( ความดับ ), ปรินิพพาน ( ความดับสนิท ), ตทังคนิพพาน ( ความดับด้วยองค์นั้น ), ทิฏฐธัมมนิพพาน ( นิพพานในปัจจุบัน ). พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่ภิกษุเข้ารูป ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานที่ถามนั้นโดยปริยาย แต่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานชนิด ต่าง ๆ นั้น โดยนิปปริยาย ( โดยตรง ).

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
ถึงคำว่า เขมะ ( ความเกษม คือความปลอดโปร่งจากกิเลส ). ผู้บรรลุความเกษม, อมตะ ( ความไม่ตาย ), ผู้บรรลุ อมตะ, ภัย ( ความไม่กลัว ), ผู้บรรลุอภัย, ปัสสัทธิ ( ความระงับ ), อนุบุพพปัสสัทธิ ( ความระงับโดยลำดับ ), นิโรธ ( ความดับ ), อนุบุพพนิโรธ ( ความดับโดยลำดับ ) โดยปริยายถึงการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ว่าเป็นโดยอ้อม และเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธว่าเป็นโดยตรง.
ตรัสว่าบุคคลละธรรม ๙ อย่างไม่ได้ ไม่ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) อรหัตตผล คือราคะ, โทสะ, โมหะ, โกธะ ( โกรธ ), อุปนาหะ ( ผูกโกรธ ), มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), ปลาสะ ( ตีเสมอ ), อิสสา ( ริษยา ), มัจฉริยะ ( ตระหนี่ ). ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

๒. ตรัสแสดงการล่วงละเมิดศีล ๕ ข้อ
( ฆ่าสัตว์ถึงดื่มน้ำเมา ) ว่า เป็นความทุรพลแห่งสิกขาควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ ( ดูหน้าในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ใน ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร เพื่อละความทุรพลแห่งสิกขา. ตรัสแสดงนิวรณ์ นีวรณ์ ๕ ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๖๘. อกุศลราศี ( กองแห่งอกุศล ) กามคุณ ๕ ( มีรูป เป็นต้น ), อุปาทานขันธ์ ๕ ( ขันธ์ที่ยึดถือ มีรูป, เวทนา เป็นต้น ), สัญโญชน์ เบื้องต่ำ ๕ ( สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุ ยึดถือกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต, ความพอใจในกาม, ความพยาบาท ), คติ ๕ ( ทางไปหรือที่ไป ๕ คือ นรก, กำเนิดดิรัจฉาน, เปรตวิสัย, มนุษย์, เทพ ), มัจฉริยะ ๕ ( ความตระหนี่ ๕ คือตระหนี่ที่อยู่, ตระกูล, ลาภ, คำสรรเสริญ, ธรรมะ ), สัญโญชน์เบื้องสูง ๕ ( ความติดในรูป, ความติดในอรูป, ความถือตัว, ความฟุ้งสร้าน, ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ), เจโตขีละ ๕ ( ตอของจิต ๕ ), เครื่องผูกมัดจิต ๕ ( เจตโสวินิพันธะ )๗ แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละธรรมเหล่านั้น.

๓. ตรัสแสดงว่า ควรเจริญความเพียรชอบ ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์เพื่อละธรรมเหล่านั้น.

๔. ตรัสว่า ควรเจริญอิทธิบาท ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันเพื่อละธรรมเหล่านั้น.

๕. ตรัสว่า ควรเจริญสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๙ ประการ
เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ ) ๗. วัตถูปมสูตร มีราคะ เป็นต้น.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓

ชุมนุมธรรมะที่มี ๗-๘-๙ ข้อ

'๑' . พระโสดาบัน, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล, พระสกทาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล, พระอนาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล, พระอรหันต์, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล

'๒' . ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ) ใน ทุติยปัณณาสก์ ที่ข้อที่ ๔-๕

'๓' . โปรดดูเรื่องที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง หน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ ) ในข้อ ๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง เทียบเคียงดูด้วย และในหน้านั้น ได้อ้างอิงข้อความควรรู้ ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ข้อ ๖ ถึงข้อ ๗ ( และหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ) ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง

'๔' . มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, มีศีลที่ดีงามอันพระอริยเจ้าใคร่

'๕' . โปรดดูพระพุทธภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓. เทียบเคียงด้วยจะชัดยิ่งขึ้น

'๖' . ในที่นี้ควรบันทึกเรื่องต้นฉบับบาลีด้วย คำว่า สัญญาปฏิเวธ เข้าใจว่า ที่ถูกเป็น อัญญาปฏิเวธ ตามที่อรรถกถา นำไปเป็นบทตั้ง คำว่า ฌายิโสเต ก็เข้าใจว่า เป็น ฌายีเหเต ตามที่อรรถกถาตั้งเป็นบทตั้งไว้ ทั้งตรงฉบับยุโรปด้วย ฌายิโสเต จึงน่าจะ คลาดเคลื่อน

'๗' . ความหมายของชื่อเหล่านี้มีมาแล้วในตอนก่อน ๆ จึงไม่อธิบายไว้มาก เฉพาะ ๒ เรื่องหลัง โปรดดูหน้าพระสุตตันตะเล่มที่ ๔ หน้า ๒ ในข้อ ๑๖. เจโตขีลสูตร ) ที่ เครื่องผูกมัดจิต ๕ การอ้างอิงเช่นนี้ เพื่อให้ได้ทบทวนเรื่องที่ผ่านมาแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 22:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๔ ชื่ออังคุตตรนิกาย
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ )
หน้า ๑

ทสก-เอกาทสนิบาต

( ว่าด้วยธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ, ๑๑ ข้อ )

พระไตรปิฎกเล่มนี้ เล่มที่ ๒๔ นี้ ชื่อว่าเป็นเล่มที่ ๕ หรือเล่มสุดท้ายของอังคุตตรนิกาย คือหมวดแสดง ข้อธรรมเป็นจำนวน โดยแสดงข้อธรรมจำนวน ๑๐ และ ๑๑ โดยลำดับดังต่อไปนี้.

ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

(ในหมวดนี้มี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร. วรรคแรกชื่ออานิสังสวรรค ว่าด้วยผลดี, วรรคที่ ๒ ชื่ออนาถกรณวรรค ว่าด้วยธรรมะอันทำที่พึ่ง, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่, วรรคที่ ๔ ชื่ออุปาลิวรรค ว่าด้วย พระอุบาลี, วรรคที่ ๕ ชื่ออักโกสวรรค ว่าด้วยการด่า ).

๑. ตรัสแสดงอานิสงส์แห่งศีลที่เป็นกุศลแก่พระอานนท์
ซึ่งเป็นการแสดงอานิสงส์ ที่มีอานิสงส์ต่อ ๆ กันไปเป็นลูกโซ่ ( ๑๐ ประการ คือ ) ๑. ความไม่เดือดร้อน, ๒. ความบันเทิงใจ ( ปราโมทย์ ), ๓. ความปลื้มใจ ( ปิติ ), ๔. ความระงับ ( ปัสสัทธิ ), ๕. ความสุข, ๖. สมาธิ, ๗. ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ตามเป็นตริง ), ๘-๙. นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด ), ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ), แล้วตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมไหลมา ย่อมทำธรรมะให้เต็ม เพื่อบรรลุธรรมะที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปสำหรับภิกษุผู้มีศีล ส่วนภิกษุผู้ทุศีลตรงกันข้าม.

พระสาริบุตรกับพระอานนท์ ต่างแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงโทษของความ เป็นผู้ทุศีลและอานิสงส์ของความเป็นผู้มีศีลฝ่ายละ ๑๐ ข้อ.

พระสาริบุตรตอบพระอานนท์ ถึง การได้สมาธิที่ไม่มีความกำหนดหมายในสิ่ง ๑๐ อย่างว่า เป็นอย่างที่มันเป็น แต่ก็ยังมีสัญญาอยู่ คือในสมัยที่ท่านอยู่ในป่าอันธวัน ใกล้กรุงสาวัตถี ได้เข้าสมาธิเช่นนั้น ไม่มีความกำหนดหมาย ว่าธาตุ ๔ เป็นธาตุ ๔, ไม่มีความกำหนดหมายว่าอรูป ๔ เป็นอรูป ๔, ไม่มีความกำหนดหมายในโลกนี้ โลกหน้าว่าเป็นโลกนี้ โลกหน้า ( รวมเป็น ๑๐ ข้อ ) แต่ก็ยังมีสัญญาคือความกำหนดหมายว่า ความดับภพ เป็นนิพพาน ( ภวนิโรโธ นิพฺพานํ ) คือสัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไป.

ตรัสว่า ถ้าภิกษุขาดองคคุณ ข้อ ใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ก็ควรจะทำให้สมบูรณ์ คือความเป็นผู้มีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม ), ก้าวลงสู่บริษัท, เป็นผู้กล้าหาญแสดงธรรมแก่บริษัท, เป็นผู้ทรง วินัย, เป็นผู้อยู่ป่า อยู่เสนาสนะอันสงัด, เป็นผู้ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ถ้าประกอบด้วย ธรรม ๑๐ อย่างนี้ ก็เป็นผู้น่าเลื่อมใสในทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง.๑ แล้วได้ ตรัสแสดงองคคุณอื่นเป็นการยักย้ายนัย.

๒. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะ ( ที่อยู่อาศัย ) อันประกอบด้วยองค์ ๕

ก็จะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะโดยกาลไม่นาน คือ ๑. มีศรัทธา ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มายา ๔. ปรารภความเพียร ๕. มีปัญญา. เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ไม่ไกลไม่ใกล้เกินไป สะดวกด้วยการไปมา ๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ๓. มีสัมผัสเกี่ยวกับยุง เหลือบ ลม แดด สัตว์เสือกคลานน้อย ๔. พอจะมีปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ไม่ยากนัก ๕. มีภิกษุที่ทรงความรู้อยู่ พอจะไต่ถามให้ท่านแก้ความสงสัยให้ได้.

ตรัสว่า ภิกษุละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ชื่อว่าเป็นอุดมบุรุษในพระธรรมวินัยนี้ คือละนีวรณ์ ๕, ประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีล เป็นต้น.๒

ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูดมัด ) ๑๐ ประการ (ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ ) ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

ตรัสแสดงกิเลสเครื่องผูกมัดจิต ๕ และตอของจิต ๕ ( ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ หน้า ๒ ) ตอของจิต ๕

ตรัสว่า บรรดาสัตว์ทุกชนิด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอด, บรรดากุศลธรรม ความไม่ประมาทเป็นยอด.

ตรัสว่า บุคคล ๑๐ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม ของโลก คือพระพุทธเจ้า, พระปัจเจกพระพุทธเจ้า, พระอริยบุคคล ๗ ประเภท ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ ) ใน ๒๐. กีฏาคิริสูตร โครตภู ( ผู้อยู่ในระหว่างพระอริยเจ้ากับบุถุชน ).

ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ( ธรรมที่ทำที่พึ่ง ) ๑๐ ประการ คือ ๑. มีศีล ๒. สดับฟังมาก ๓. คบเพื่อนที่ดี ๔. ว่าง่าย รับคำสั่งสอนโดยเคารพ ๕. ช่วยเหลือกิจของเพื่อนพรหมจารี ๖. ใคร่ธรรม ๗. ปรารภความเพียร ๘. สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๙. มีสติ ๑๐ มีปัญญา.

ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ๑๐ ประการ เช่น เดิม แต่อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้า ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล้ว ก็ทำให้ภิกษุที่เป็นเถระ, ที่เป็นปูนกลาง, ที่บวชใหม่ ตั้งใจว่ากล่าวสั่งสอน หวังความเจริญได้ในกุศล ธรรมไม่มีเสื่อม.

ตรัสแสดงอริยวาสะ ( คุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ ) ๑๐ ประการ คือ ๑. ละองค์ ๕ คือละนีวรณ์ ๕. ๒. ประกอบด้วยองค์ ๖ คือวางเฉยในอารมณ์ทั้งหกมีรูป เป็นต้น ในเมื่อได้เห็น เป็นต้น. ๓. รักษาสิ่ง เดียว คือประกอบด้วยจิตมีสติเป็นเครื่องรักษา. ๔. มีอปัสเสนะ ( พนักพิง ) ๔ คือ พิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดทน, พิจารณาแล้วเว้น, พิจารณาแล้วบรรเทา. ๕. มีการยึดถือความเจริญ เฉพาะอย่างอันนำออกแล้ว ( เช่น ไม่ยึดถือว่าโลกเที่ยง เป็นต้น ) ๖. มีการแสวงหาอันสละ แล้วด้วยดี ( เช่นละการแสวงหากาม ) ๗. มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว ๘. มีกายสังขาร ( ลมหายใจเข้าออก ) อันสงบระงับ คือเข้าฌานที่ ๔. มีจิตพ้นแล้วด้วยดี ( จากราคะ โทสะ โมหะ ). ๑๐. มีปัญญาอันพ้นแล้วด้วยดี คือรู้ว่าละกิเลสได้.

๓. ตรัสแสดงกำลัง ๑๐ ประการของพระตถาคต๓

( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๒) ในหัวข้อของ กำลัง ๑๐

ตรัสกะพระอานนท์ ว่า ไม่มีญาณอย่างอื่นยิ่งไปกว่ายถาภูตญาณ ( คือญาณรู้เห็น ตามความเป็นจริงในเรื่องนั้น ๆ ).

ตรัสแสดงธรรมที่ควรละด้วยกาย ( คือกายทุจจริต ), ที่ควรละด้วยวาจา ( คือ วจีทุจจริต ), ที่ควรละเพราะเห็นด้วยปัญญา ( คือความโลภ, ความคิดประทุษร้าย, ความหลง, ความโกรธ, ความผูกโกรธ, การลบหลู่บุญคุณ ท่าน, การตีเสมอ, ความตระหนี่, ความริษยา ).

พระมหาจุนทะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึง เรื่องภิกษุผู้กล่าวญาณวาทะ ( กล่าวถึงความรู้ ) แต่ถ้าถูกธรรม ( ๙ อย่าง มีความโลภ เป็นต้นข้างบนนี้ ) ครอบงำได้ ก็พึงทราบว่าเธอไม่รู้จริง, ภิกษุผู้กล่าวภาวนาวาทะ ( กล่าวถึงการอบรมกาย, ศีล, จิต, ปัญญา ) หรือกล่าววาทะทั้งสองอย่างข้างต้น แต่ถ้าถูกธรรมะ ( ๙ อย่างข้างบนนี้ ) ครอบงำ ก็พึงทราบ เธอได้ว่าเธอไม่รู้จริง. แต่ถ้าตรงกันข้าม คือไม่ถูกธรรมะเหล่านั้นครอบงำ ก็พึงทราบว่ารู้จริง.

ตรัสแสดงกสิณายตนะ ( แดนกสิณ คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ ที่ใช้ในการเพ่งให้จิตสงบเป็นสมาธิ ) ๑๐ ประการ ได้แก่กสิณ คือ ๑. ดิน ๒. น้ำ ๓. ไฟ ๔. ลม ๕. สีเขียว ๖. สีเหลือง ๗. สีแดง ๘. สีขาว ๙. อากาส ( ช่องว่าง )๔ ๑๐. วิญญาณ.

พระมหากัจจานะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาชื่อกาลี ขยายความแห่งพระพุทธ ภาษิตเรื่องการบรรลุประโยชน์ความสงบแห่งหทัย โดยอธิบายเรื่องกสิณ ๑๐.

ตรัสแสดงถึงปัญหา ( คำถาม ), อุทเทส ( บทตั้ง ), เวยยากรณ์ ( คำตอบ ) ตั้งแต่ ๑ ข้อ ๒ ข้อไปจนถึง ๑๐ ข้อ ซึ่งนักบวชศาสนาอื่นตอบให้สมบูรณ์ไม่ได้ มีแต่อึดอัดยิ่งขึ้น คือ ๑ ข้อ ได้แก่สัตว์ทั้งปวงเป็นอยู่ได้ ด้วยอาหาร. ๒ ข้อ คือนาม และรูป. ๓ ข้อ คือเวทนา. ๔ ข้อ คืออาหาร ๔ ( มีอาหารที่พึงกลืนกินเป็นคำ ๆ, อาหารคือผัสสะ ( ความถูก ต้อง ), อาหารคือเจตนา, อาหารคือวิญญาณ ). ๕ ข้อ คืออุปาทานขันธ์ ( ขันธ์หรือกองแห่งรูปนามที่คนยึดถือ ) ๕ ประการ. ๖ ข้อ คืออายตนะ ภายใน ๖ ( มีตา เป็นต้น ) ๗ ข้อ คือวิญญาณฐิติ ๗ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ ) ในหมายเลขที่ ๕ ๘ ข้อ คือโลกธรรม ๘ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ในหมายเลขที่ ๑ ๙ ข้อ คือสัตตาวาส ๙ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ ) ในหมายเลขที่ ๓ ๑๐ ข้อ คืออกุศลกรรมบท ๑๐ ( กายทุจจริต ๓, วจีทุจจริต ๔, มโนทุจจริต ๓ ).

นางภิษุณีชาวเมืองกชังคละ แสดงธรรมแก่พวกอุบาสกชาวเมืองกชังคละใน ทำนองเดียวกับเรื่องปัญหา ๑๐ ข้อข้างต้น. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสชมเชย.

ตรัสว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อม เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จึงไม่ต้องกล่าว ถึงในสิ่งที่เลว. แล้วตรัสแสดงโลกพันโลก มีพระจันทร์พระอาทิตย์ถึงพัน ซึ่งท้าวมหาพรหมเป็นเลิศ อริยสาวกผู้ได้สดับก็ยังเบื่อหน่ายคลาย กำหนัดในสิ่งที่เลิศนั้น. แล้วได้ตรัสถึงธรรมอื่น ๆ อันพ้องกับที่เคยตรัสมาแล้ว เช่น กสิณายตนะ ๑๐ อภิภายตนะ ๘ เป็นต้น. ในที่สุดได้ตรัส แสดงนิพพานในปัจจุบันตามหลักพระพุทธศาสนา.

พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ๑๐ ข้อ คือ ทรง เห็นว่าพระผู้มีพระภาค ๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ๒. ทรงมีศีล ๓. ทรงเสพเสนาสนะอันสงัด. ๔. ทรงสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๕. ทรงเป็นผู้คำนวนของคำนับ จนถึงทรงเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ๖. ทรงมีถ้อยคำขัดเกลากิเลส ๗. ทรงได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ๗. ทรงระลึกชาติได้ ๙. ทรงมีทิพจักษุ ๑๐. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ทรงเห็นเหตุเหล่านี้ จึงทรงแสดงความเคารพ และตั้งความปปรารถนาดีในพระผู้มีพระภาค.

๔. ตรัสแสดงอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการในการที่ทรงบัญญัติสิกขาบท

ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘ ) ชื่อปริวาร ในหมายเลข ๙ และเรื่องทางพระวินัยอื่น ๆเช่น การชักเข้าหา อาบัติเดิม จนถึงสังฆเภท สังฆสามัคคี เป็นการตรัสชี้แจงแก่พระอุบาลี พ้องกับที่มีอยู่แล้วในวินัยปิฎก.

๕. ตรัสเรื่องเหตุปัจจัยที่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในสงฆ์

มีการแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็น ธรรม เป็นต้น. และตรัสว่า เหตุเหล่านี้เป็นมูลแห่งการวิวาท และเรื่องอื่น ๆ ที่ปรากฏว่าย่อมาแล้วใน วินัยปิฎก.

ตรัสแสดงโทษ ๑๐ ประการในการเข้าสู่ภายในพระราชวัง คืออาจทำให้เป็นที่ สงสัยเมื่อยิ้มกับพระมเหสี, ถูกสงสัยเกี่ยวกับของหาย, เกี่ยวกับความลับรั่วไหล เป็นต้น.

ตรัสว่า ผู้มีรายได้ วัน ละ ๑ กหาปณะ ถึงวันละพันกหาปณะเก็บทรัพย์ที่ได้มานั้น ไว้ มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็อาจมีกองโถคทรัพย์ใหญ่ได้ แต่ที่จะเสวยสุขโดยส่วนเดียว อันมีทรัพย์เป็นเหตุสักคืนหนึ่ง วันหนึ่ง หรือครึ่งวัน ก็ยังไม่แน่ เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง ส่วนสาวกของพระองค์ไม่ประมาท บำเพ็ญ ๑๐ ปี ๙ ปี หรือ ๑๐ เดือน ๙ เดือน ถึง ๑ เดือน หรือ ๑๐ ทิวาราตรี ถึง ๑ ทิวาราตรี ก็พึงได้ประสบสุขโดยส่วนเดียว ถึงร้อยปี แสนปี ล้านปี และได้เป็นสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระโสดาบัน.

ตรัสว่า โลภะ, โทสะ, โมหะ, อโยนิโสมนสิการ ( การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ) เป็นปัจจัยแห่งการกระทำบาปกรรม ส่วนอโลภะ เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งการกระทำกัลยาณกรรม.

ตรัสแสดงธรรมะ ๑๐ อย่างที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ คือ ๑. เรามีเพศ ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓. ยังมีกิริยาอาการที่ดีงามอย่างอื่นอีกที่ต้องทำ ๔. เราติตนเองโดยศีลได้หรือไม่ ๕. ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเราโดยศีลได้หรือไม่ ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ๗. เรามีกรรมเป็นของตัว จักเป็นผู้รับผลของกรรมดีชั่ว ที่ทำไว้ ๘. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙. เรายินดีในเรือนว่างหรือไม่ ๑๐. เราได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์หรือไม่.

ตรัสว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ถึงธรรม ๑๐ อย่างที่ตั้งอยู่ในร่าง คือหนาว, ร้อน, หิว, ระหาย, ปวดอุจจาระ, ปัสสาวะ, ความสำรวมกาย, ความสำรวมวาจา, ความสำรวมใจ, เครื่องปรุงภพที่ทำให้เกิดอีก.

ตรัสแสดงสาราณิยธรรม ( ธรรมอันทำให้ระลึกถึงกัน ) ๑๐ ประการ ในทำนองเดียวกับนาถกรณธรรม ( ดูในหมายเลขที่ ๒ มีศีล เป็นต้น ).

'๑' . ความจริงเป็นข้อความอันเดียวกับที่กล่าวไว้ ( ในหน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ . ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ ในวรรคที่ไม่จัดเข้าใน หมวดที่ ๕๐ที่หมายเลข ๓ ) เป็นแต่ในที่นี้เพิ่มคุณธรรมขึ้นอีก ๒ ข้อ และเรียงข้อความอีกสำนวนหนึ่งให้พิสดารขึ้นกว่าเดิม

'๒' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒. และเชิงอรรถ ( ที่มีเขียนอธิบายไว้ด้านล่าง แล้วด้วย )

'๓' . โปรดดูข้อความเปรียบเทียบ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๕ ) และ เล่มที่ ๑๔ หน้า ๓ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๖ ) และดูธรรม วิภาคปริเฉทที่ ๒ พร้อมทั้งคำอธิบายในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๗๔-๑๗๕ ประกอบด้วย

'๔' . คำว่า อากาสในที่นี้ หมายถึงช่องว่าง หรือ อวกาศ ( Space ) ไม่ได้หมายความถึงแก๊ส อย่างที่เข้าใจกันในทาง วิทยาศาสตร์ เพราะแก๊สเหล่านั้นจัดเข้าในลมไปแล้ว ตามความหมายทางพระพุทธศาสนา


เล่มที่ ๒๔ ชื่ออังคุตตรนิกาย
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ )
หน้า ๒

ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒

( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ที่ ๑. ชื่อสจิตตวรรค ว่าด้วยจิตของตน, วรรคที่ ๒ ชื่อยมกวรรก ว่าด้วยธรรม ที่เป็นคู่, วรรคที่ ๓ ชื่ออากังขวรรค ว่าด้วยความหวัง, วรรคที่ ๔ ชื่อเถรวรรค ว่าด้วยพระเถระต่าง ๆ, วรรคที่ ๕ ชื่ออุปาสกวรรค ว่าด้วย อุบาสก ).

๑. ตรัสว่า ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในเรื่องจิตของคนอื่น ก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน

( ดูที่แปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๗๗-๗๘

และตรัสว่า ไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม ( ดูหน้า ข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๖. พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม

และตรัสเรื่องควรฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกนัยหนึ่ง ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จาก ไตรปิฎก ) หมายเลข ๗๘. ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง

ตรัสถึง ปัจจัย ๔, คามนิคม, ชนบท, ประเทศ, บุคคลว่า มี ๒ อย่าง คือที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ โดยมีเหตุผลว่า ถ้าเสพเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรเสพ.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องบุคคลผู้มีธรรมอันเสื่อมและ ไม่เสื่อม และเรื่องควรฉลาดในเรื่องจิตของตน.

ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๑๐ ประการ คือ ความกำหนดหมาย ว่าไม่งาม, ความกำหนดหมายในความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยง, ว่าเป็นทุกข์ใน สิ่งที่ไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายในการละ, ในการคลายความกำหนัด, ในการดับ.

และตรัสความกำหนดหมาย ๑๐ ประการอื่นอีก คือความกำหนดหมายว่าไม่ เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตน, ความกำหนดหมายในความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ความกำหนดหมาย ในกระดูก, ในซากศพที่มีหนอนไต่, ในซากศพที่มีสีเขียว, ในซากศพที่ขาดเป็นท่อน, ในซากศพที่ขึ้นพอง.

ตรัสว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะ ( ความพอใจ ) เป็นมูล เป็นต้น ( ดูที่แปล ไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๙. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นอะไร ? แล้ว ได้ตรัสสรูปสอนให้ สำเหนียกว่า จิตของเรา ๑. จักได้รับอบรมโดยควรแก่การบวช ๒. จักไม่ถูกอกุศลบาปธรรมครอบงำ ๓. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนด หมายว่าไม่เที่ยง ๔. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน ๕. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายว่าไม่งาม ๖. จักได้รับ อบรมด้วยความกำหนดหมายถึงโทษ ๗. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายที่รู้ถึงความเสมอไม่เสมอแห่งโลก ๘. จักได้รับอบรมด้วยความ กำหนดหมายที่รู้ถึงความมีความเป็น ความไม่มีไม่เป็นแห่งโลก ๙. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายที่รู้ถึงความเกิดขึ้น ความดับไปแห่ง โลก ๑๐. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายถึงการละ ๑๑. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายถึงความคลายกำหนัด ๑๒. จักได้รับ อบรมด้วยความกำหนดหมายถึงความดับ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หวังผลได้ ๒ อย่าง, อย่างใดอย่างหนึ่ง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลส เหลือก็คือ ความเป็นพระอนาคามี.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระคิริมานนท์ ผู้เป็นไข้ โดยสอนให้พระอานนท์จำไปบอก เรื่องสัญญา ๑๐ ประการ คือ ๑. อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ) ๒. อนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน ) ๓. อสุภสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ) ๔. อาทีนวสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงโทษของกาย ) ๕. ปหานสัญญา ( ความกำหนดหมาย ถึงการละอกุศลวิตก ). ๖. วิราคสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงความคลายกำหนัด ) ๗. นิโรธสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงความดับสังขาร และกิเลสทั้งปวง ) ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ) ๙. สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ( ความ กำหนดหมายว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง )๑ ๑๐. อานาปานสติ ( สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ).

๒. ตรัสว่า ที่สุดเบื้องต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ

ว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีอวิชชา อวิชชามามีขึ้นในภายหลัง แต่ก็ปรากฏขึ้นเพราะมีปัจจัย เรากล่าวว่า อวิชชามีอาหาร นีวรณ์ ๕ เป็นอาหาร ของอวิชชา. ครั้นแล้วได้ตรัสแสดงธรรมะอื่น ๆ ที่เป็นอาหารของนีวรณ์ และของสิ่งที่เป็นอาหารของนีวรณ์ต่อ ๆ ไปอีกเป็นลูกโซ่ คือทุจจริต ๓, การไม่สำรวมอินทรีย์, การไม่มีสติสัมปชัญญะ, การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา, การไม่ฟังธรรม, การไม่คบสัตบุรุษ, ฝ่ายดีคือวิชชาวิมุติ มีโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหาร, โพชฌงค์ ๗ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหาร โดยนัยนี้ได้แสดงสุจริต ๓. อินทรียสังวร, โยนิโสมน- สิการ จนถึงการคบสัตบุรุษว่า เป็นอาหารของธรรมะที่มาข้างหน้าตนโดยลำดับ.

ตรัสเรื่องที่สุดเบื้องต้นของภวตัณหา ( ความทะยานอยากในความมีความเป็น ) ในทำนองเดียวกับอวิชชา. ฝ่ายดีเริ่มต้นด้วยวิชชาวิมุติเช่นเดิม.

ตรัสว่า ผู้ถึงความตกลงใจ ( หมดความสงสัย ) ในพระองค์ ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วย ทิฏฐิ มี ๕ พวกที่ปรินิพพานในโลกนี้ คือพระโสดาบันพวกเกิด ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง, พวกเกิดจากสกุลสู่สกุล ( เกิด ๒-๓ ชาติ ), พวกเกิด ชาติเดียว, พระสกทาคามี, ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในปัจจุบัน, มี ๕ พวก ละโลกนี้ไปแล้วจึงนิพพาน คือพระอนาคามี ๕ ประเภท ( ดูหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ) ทุติยปัณณสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒.ในหมายเลข ๔

ตรัสแสดงผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระองค์ว่า เป็นโสดาบัน และแบ่งเป็น ๕ พวก ๒ ประเภทเช่นข้างต้น.

พระสาริบุตร ตอบคำถามของสามัณฑกานิปริพพาชกบุตร ว่า ความเกิดเป็น ทุกข์ ความไม่เกิดเป็นสุข ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะ หวังได้ถึงทุกข์ อื่น ๆ คือ เย็น, ร้อน, หิว, ระหาย, ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น. และได้ แสดงถึงความไม่ยินดี ( อนภิรตี ) ว่า เป็นทุกข์ในพระธรรมวินัยนี้ ส่วนความยินดี ( พอใจตามมีตามได้ ) เป็นสุขในพระธรรมวินัยนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้พระสาริบุตรแสดงธรรมแทน พระองค์ทรงพักผ่อน พระสาริบุตรได้แสดงถึงว่า ถ้าไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ก็จะไม่มีหิริและธรรมะข้อต่อ ๆ ไปโดยลำดับ คือโอตตัปปะ, วิริยะ, ปัญญา, ทำให้มีความเสื่อมในกุศลธรรม : ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, เกรียจคร้าน, มีปัญญาทราม, มักโกรธ, ผูกโกรธ, มีความปรารถนาลามก, คบคนชั่วเป็นมิตร, มีความเห็นผิด ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม. พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองและชมเชย.

พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลาย คล้ายกับที่กล่าวไว้แล้ว เป็นแต่ยักย้ายใน เล็กน้อย.

ตรัสสอนให้พูดอิงอาศัยกถาวัตถุ ( เรื่องที่ควรพูด ) ๑๐ ประการ คือ ถ้อยคำเรื่องมักน้อย, สันโดษ, สงัด, ไม่คลุกคลี, ปรารภความเพียร, ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ.

๓. ตรัสสอนให้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาฏิโมกข์

ถ้าเธอหวังดังต่อไปนี้ ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล. ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสงบแห่งจิต ( เจโตสมถะ ) ในภายใน ไม่ว่างเว้นจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เจริญการอยู่เรือนว่าง คือ ๑. หวังให้เป็นที่รักที่พอใจของเพื่อนพรหมจารี ๒. หวังได้ปัจจัย ๔ ๓. หวังให้มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ผู้ถวายปัจจัย ๔ ๔.หวังให้มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ญาติสายโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิตเลื่อมใสระลึกถึง ๕. หวังสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๖. หวังอดทนต่อเย็น ร้อน หิว ระหาย สัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เสือกคลาน ถ้อยคำที่ไม่เป็นที่พอใจและ ทุกขเวทนากล้า ๗. หวังอดทนต่อความไม่ยินดีและความยินดีมิให้มาครอบงำได้ ๘. หวังอดทนต่อความหวาดกลัว ๙. หวังได้ฌาน ๔ โดย ไม่ยาก ๑๐. หวังทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ( หมายเหตุ : ถอดความว่า ถ้าหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด ๑๐ ข้อนี้ ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล เจริญสมาธิ บำเพ็ญวิปัสสนา คือทำปัญญาให้เกิด ).

ตรัสแสดงสิ่งที่เป็นเสี้ยนหนาม ๑๐ ประการ คือ ๑.ความคลุกคลีด้วยหมู่เป็น เสี้ยนหนามของผู้ยินดีความสงัด ๒. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่างามเป็นเสี้ยนหนามของผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๓. การดู การเล่นเป็นเสี้ยนหนามของผู้สำรวมอินทรีย์ ๔. การเที่ยวไปใกล้มาตุคามเป็นเสี้ยนหนามของพรหมจรรย์ ๕. เสียงเป็นเสี้ยนหนามฌานที่ ๑ ๖. วิตก วิจาร ( ความตรึก ความตรอง ) เป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๒ ๗. ปีติ ( ความอิ่มใจ ) เป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๓ ๘. ลมหายใจ เข้าออกเป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๔ ๙. สัญญา และเวทนา ( ความกำหนดหมาย และความรู้สึกอารมณ์ว่าสุขทุกข์ เป็นต้น ) เป็นเสี้ยนหนาม แห่งการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑๐. ราคะ โทสะ ( ความกำหนัดยินดี ความคิดประทุษร้าย ) เป็นเสี้ยนหนาม ( ทั่ว ๆ ไป ).

ตรัสว่า ธรรม ๑๐ ประการที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ แต่หาได้ยากในโลก คือ ๑. ทรัพย์ ๒. ผิวพรรณ ๓. ความไม่มีโรค ๔. ศีล ๕. พรหมจรรย์ ( การประพฤติเหมือนพรหม คือเว้นจากกาม ) ๖. มิตร ๗. การสดับตรับฟังมาก ๘. ปัญญา ๙. ธรรมะ๒ ๑๐. สัตว์ ( น่าจะหมายถึงคนที่ถูกใจ ).

ตรัสอันตราย ๑๐ ประการ แห่ง สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ คือ ๑. ความ เกียจคร้าน เป็นอันตรายแห่งทรัพย์ ๒. การไม่ประดับตกแต่งเป็นอันตรายแห่งผิวพรรณ ๓. การทำสิ่งที่แสลงเป็นอันตรายแห่งความไม่มีโรค ๔. คบคนชั่วเป็นมิตรเป็นอันตรายแห่งศีล ๕. การไม่สำรวมอินทรีย์เป็นอันตรายของพรหมจรรย์ ๖. การพูดขัดเป็นอันตรายของมิตร ๗. การไม่ ท่องบ่นเป็นอันตรายแห่งการสดับตรับฟังมาก ๘. การไม่ตั้งใจฟัง ไม่ไต่ถามเป็นอันตรายแห่งปัญญา ๙. การไม่ประกอบเนือง ๆ การไม่พิจารณา เป็นอันตรายแห่งธรรม ๑๐. การปฏิบัติผิดเป็นอันตรายแห่งสัตว์. ส่วนอาหาร ( เครื่องสืบต่อหล่อเลี้ยง ) แห่งธรรม ๑๐ ประการ พึงทราบโดย นัยตรงกันข้าม. ( หมายเหตุ : ในข้อที่ว่าด้วยอันตราย พระไตรปิฎกฉบับไทยพิมพ์ตกตั้งแต่ข้อ ๒ ถึงข้อ ๖ รวม ๕ ข้อ. ส่วนในข้อว่า ด้วยอาหารไม่ตกหล่น ).

ตรัสแสดงความเจริญ ๑๐ ประการ ที่ทำให้อริยสาวกชื่อว่าเจริญด้วยความเจริญอัน ประเสริฐ คือ ๑. นา, สวน ๒. ทรัพย์, ข้าวเปลือก ๓. บุตร, ภริยา ๔. ทาส, กรรมกร ๕. สัตว์ ๔ เท้า ๖. ศรัทธา ๗. ศีล ๘. การสดับตรับฟัง ๙. การสละ ๑๐. ปัญญา.

ตรัสแสดงบุคคล ๑๐ ประเภท คือ ๑๐. ทุศีล ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๒. ทุศีล แต่กลับ ตัวได้ ( ละทุศีลได้ ) ปฏิบัติก้าวหน้า ๓. มีศีล ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๔. มีศีล ปฏิบัติก้าวหน้า ๕. มีราคะกล้า ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๖. มีราคะกล้า ราคะดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ๗. มักโกรธ ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๘. มักโกรธ ความโกรธดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ๙. ฟุ้งสร้าน ปฏิบัติ มีแต่เสื่อม ๑๐. ฟุ้งสร้าน ความฟุ้งสร้านดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ( ตรัสแสดงแก่พระอานนท์เพื่อแก้ข้อข้องใจของมิคสาลาอุบาสิกาอย่างเดียว กับที่ปรากฏหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๕ ) ปัญจมปัณณสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๕ ในหมายเลข ๕ เป็นแต่ในที่นี้เพิ่มข้อธรรม มากขึ้น .
๑. ตรัสว่า ถ้าไม่มีธรรม ๓ อย่างในโลก คือความเกิด ความแก่ ความตาย ก็จะไม่เกิดพระตถาตคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว ก็จะไม่รุ่งเรืองใน โลก.
๒. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือราคะ, โทสะ, โมหะ ก็ไม่ควรที่จะละความเกิด, ความแก่, ความตายได้.
๓. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส๓ ก็ไม่ควรที่จะละ ราคะ, โทสะ, โมหะได้.
๔. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไปไม่ได้ คือการไม่ใส่ใจโดย แยบคาย, การเสพทางผิด, การที่จิตหดหู่ ก็ไม่ควรจะละสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาสได้.
๕. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความเป็นผู้หลงลืม สติ, ความไม่มีสัมปชัญญะ, ความฟุ้งสร้านแห่งจิต ก็ไม่ควรจะละการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, การเสพทางผิด, การที่จิตหดหู่ได้.
๖. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ จะเห็นพระอริยะ, ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ, ความเป็นผู้มีจิตคิดจับผิด ก็ไม่ควรจะละความเป็นผู้หลงลืมสติ, ความไม่มีสติสัมปชัญญะ, ความฟุ้งสร้านแห่งจิตได้.
๗. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือ ความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความทุศีล ก็ไม่ควรละความเป็นผู้ไม่ใคร่จะเห็นพระอริยะ, ความเป็นผู้ไม่ใคร่จะฟังธรรมะของพระอริยะ, ความเป็นผู้มีจิต คิดจับผิดได้.
๘. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่ศรัทธา, ความไม่รู้คำที่คนอื่นพูด, ความเกียจคร้าน ก็ไม่ควรจะละความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความทุศีลได้.
๙. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่เอื้อเฟื้อ, ความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร ก็ไม่ควรจะละความไม่มีศรัทธา, ความไม่รู้คำที่คนอื่นพูด, ความเกียจคร้านได้.
๑๐. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่ละอาย, ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, ความประมาท ก็ไม่ควรจะละความไม่เอื้อเฟื้อ, ความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตรได้.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ อย่าง เป็นผู้เช่นเดียวกับกา คือ ทำลายความดีของผู้อื่น, คะนอง, ทะยานอยาก, กินมาก, ละโมภ, ไม่กรุณา, ไม่มีกำลัง, ส่งเสียงเอ็ดอึง,๔ หลงลืมสติ, ทำการสะสม.

ตรัสแสดงอสัทธรรมของพวกนิครนถ์ และเรื่องเกี่ยวกับความอาฆาต ( เรื่อง เกี่ยวกับความอาฆาต โปรดดูที่แปลไว้แล้ว หน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๔. ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๑๐ อย่าง

๔. ตรัสว่า พระตถาคตพ้นจากธรรม ๑๐ อย่าง

คือขันธ์ ๕, ชาติ, ชรา, มรณะ, ทุกข์, กิเลส เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ โผล่พ้นน้ำ ไม่เปียกน้ำ.

ตรัสกะพรพอานนท์ ว่า เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลต่อไปนี้จะถึงความเจริญไพบูรณ์ ในพระธรรมวินัยนี้ คือไม่มีศรัทธา, ทุศีล, สดับน้อย, ว่ายาก, คบคนชั่วเป็นมิตร, เกียจคร้าน, หลงลืมสติ, ไม่สันโดษ, มีความปรารถนาลามก, เห็นผิด แต่ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นไปได้. ตรัสแสดงเหตุที่พระธรรมเมศนาของพระตถาคตบางครั้งก็แจ่มแจ้ง บางครั้งก็ไม่แจ่มแจ้ง ( แก่คนบาง คน ) เพราะมีศรัทธา, แต่ไม่เข้าไปหา, ไม่เข้าไปนั่งใกล้, ไม่ไต่ถาม, ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม, ไม่ทรงจำธรรม, ไม่พิจารณาอรรถแห่งธรรม, ไม่รู้ อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมดาตามความสมควรแก่ธรรม, ไม่มีวาจาไพเราะ, ไม่แนะนำชักชวนปลุกใจปลอบใจเพื่อนพรหมจารี ( เพียงข้อใด ข้อหนึ่งก็ทำให้พระธรรมเทศนาไม่แจ่มแจ้ง ) ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ว่า เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว คือมักโกรธ, ผูกโกรธ, หลบหลู่บุญคุณท่าน, ตีเสมอ, ริษยา, ตรัหนี่, โอ้อวด, มีมายา, ปรารถนาลามก, หลงลืมสติ.

พระมหาจุนทะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ( มีความเป็นผู้ทุศีล ไม่มีศรัทธา เป็นต้น ) ว่า เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว.

พระมหากัสสปะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ( นีวรณ์ ๕, ยินดีในการงาน, ในการพูด มาก, ในการหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, หลงลืมสติ ) ว่า เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว.

ตรัสแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อไม่เป็นที่รัก ไม่ เป็นที่เคารพ ไม่เป็นที่สรรเสริญ ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือก่ออธิกรณ์, ไม่ใคร่การศึกษา, ปรารถนาลามก, มักโกรธ, ลบหลู่บุญคุณท่าน, โอ้อวด, มีมายา, ไม่พิจารณา, ไม่หลีกเร้น, ไม่ต้อนรับเพื่อนพรหมจารี. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม. ตรัสว่า ผู้ด่าผู้บริภาษเพื่อนพรหมจารี ผู้ว่าร้ายพระอริยะ ย่อมถึง ความพินาศ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่บรรลุคุณที่ยังมิได้บรรลุ, เสื่อมจากคุณที่บรรลุแล้ว, พระสัทธรรมไม่ผ่องแผ้ว, เข้าใจผิดว่าได้ บรรลุในพระสัทธรรม, ไม่มีความยินดีประพฤติพรหมจรรย์, ต้องอาบัติชั่วหยาบอย่างใดอย่างหนึ่ง, ถูกต้องโรคาพาธอันหนัก, จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า, หลงตาย, ตายแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก.

มีเรื่องเล่าว่า พระโกกาสิกะ๕ กล่าวว่าพระสาริบุตร และพระโมคคัลลานะว่ามีความปรารถนาลามก พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามปรามถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ฟัง ต่อมาไม่ช้าก็เป็น โรคพุพอง มีแผลใหญ่ขึ้นทุกที่ จนถึงต้องนอนบนใบตอง มีน้ำเหลืองและโลหิตไหลคล้ายปลาที่ถูกขอดเกล็ด ในที่สุดก็ทำกาละด้วยอาพาธนั้น และไปเกิดในปทุมนรก.

พระสาริบุตรกราบทูลเรื่องกำลังของ พระขีณาสพ ๑๐ ประการ ( ดูกำลัง ๘ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ในข้อที่ ๓. อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี เพิ่มเจริญสัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ และเจริญพละ ( กำลัง ) ๕ อีก ๒ ข้อ ).

๕. ตรัสแสดงถึงผู้บริโภคกาม ๑๐ ประการ

๑. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยผิดธรรม ไม่ทำตัวเองให้เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๒. ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๓.ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ ๔. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรมบ้าง ผิดธรรมบ้าง ไม่ทำตัวให้เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๕.ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๖. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ ๗. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรม ไม่ทำตัวเองให้ เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๘. ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๙. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ และติดไม่เห็นโทษ ในทรัพย์นั้น ๑๐. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ แต่ไม่ติดและเห็นโทษในทรัพย์นั้น แล้วตรัสชี้ถึงบุคคลแต่ละประเภทเหล่านั้นว่า ประเภทไหนถูกติเตียนกี่ทาง ควรสรรเสริญกี่ทาง.

ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่า อริยสาวกที่สงบเวร ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ได้เห็นญายธรรม ( ธรรมที่ถุกต้อง ) ด้วยดี ด้วยปัญญา๖ เมื่อปรารถนาก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ สิ้นนรก เป็นต้น จนถึงพระโสดาบัน เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ต่อไป.

อนาถปิณฑิกคฤหบดีโต้ตอบกับพวกปริพพาชกถึงทิฏฐิ ๑๐ ประการที่พวกเขา ยืนยัน เช่น โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยงว่า ความเห็นนั้น ๆ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ( คือทนอยู่ไม่ได้ ).

วัชชิยมาหิตคฤหบดีโต้ตอบกับพวกปริพพาชก ถึงเรื่องการบำเพ็ญตบะ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงติสิ่งที่ควรติ สรรเสริญสิ่งที่ควรสรรเสริญ ทรงเป็นผู้ตรัสจำแนก ( ตามเหตุผล ) ไม่ตรัสแง่เดียว.

อุตติยปริพพาชก เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามถึงเรื่องทิฏฐิ ๑๐ มีเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น ตรัสตอบว่า พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิแต่ละข้อเหล่านั้น พระอานนท์จึงชี้แจงเหตุผลที่ไม่ทรงพยากรณ์ให้ฟัง.

พระอานนท์โต้ตอบกับโกกนุทปริพพาชก ถึงเรื่องทิฏฐิ ๑๐ ประการในทำนอง คล้ายคลึงกัน.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ จนถึงเป็น เนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือมีศีล, สดับมาก, คบเพื่อนที่ดี, มีความเห็นชอบ, ได้อภิญญา ๖ ( มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ).

ตรัสว่า ภิกษุผู้เป็นเถระ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ อยู่ในทิศใด ๆ ก็มี ความผาสุกในทิศนั้น ๆ คือเป็นพระเถระรู้ราตรีนาน, มีศีล, สดับมาก, ฉลาดในการระงับอธิกรณ์, ใคร่ธรรม, สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตาม ได้, น่าเลื่อมใสในการก้าวไปถอยกลับ, สำรวมด้วยดีเมื่อนั่งในบ้าน, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ อยู่ในปัจจุบัน.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระอุบาลี ถึงเรื่องเสนาสนะป่าอันสงัด ยากที่จะมีผู้ยินดี แล้ว ตรัสแสดงถึงการที่กุลบุตรค่อยเลื่อนชั้นการปฏิบัติ จนถึงได้สัญญาเวทยิตนิโรธ ( เค้าความเดียวกับสามัญญผลสูตร หน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ) ความเห็นปรารภเบื้องปลาย ๔๔

และตรัสเองยังละธรรม ๑๐ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งอรหัตตผล ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๘๐. ละธรรม ๑๐ อย่างไม่ได้ยังไม่ควรเป็นพระอรหันต์

'๑' . พ้องกับข้อ ๑ น่าจะเป็น อนิจฉสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง เพราะพระพุทธ ภาษิตนี้อธิบายก็ว่า เบื่อหน่าย, รำคาญ, เกลียดชัง

'๒' . อรรถกถาแก้ว่า โลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

'๓' . ดูคำอธิบายในเชิงอรรถ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ( ซึ่งได้กล่าวอธิบายไว้ว่า สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัยและสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี

'๔' . โอรวี, โอรวิตา อรรถกถาแก้ไว้ไม่ชัด

'๕' . พระโกกาลิกะ เป็นพระพวกเดียวกับพระเทวทัต

'๖' . ในภาคอธิบายตรัสแสดงการตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท คือความเกิดขึ้นหรือความดับไปโดยอาศัยเหตุต่อ ๆ กันไป


เล่มที่ ๒๔ ชื่ออังคุตตรนิกาย
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ )
หน้า ๓

ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ

ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓

( มี ๕ วรรค คือวรรคที่ ๑ ชื่อสมณสัญญาวรรค ว่าด้วยความกำหนดหมายถึงความเป็นสมณะ, วรรคที่ ๒ ชื่อปัจโจโรหณิวรรค ว่าด้วยการก้าวลงจากบาป, วรรคที่ ๓ ชื่อปาริสุทธวรรค ว่าด้วยความบริสุทธิ์, วรรคที่ ๔ ชื่อสาธุวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ดี, วรรคที่ ๕ ชื่ออริยมัคควรรค ว่าด้วยอริยมรรค ).

๑. ตรัสว่า เจริญสมณสัญญา ๓ ประการแล้ว

ย่อม ทำธรรมะ ๗ อย่างให้บริบูรณ์ สมณสัญญา ๓ ประการ คือเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว, ชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่น, ยังมีกริยาอาการที่ดี งามพึงที่จะทำอีก. ธรรมะ ๗ อย่าง คือทำติดต่อ ประพฤติติดในศีล, ไม่โลภ, ไม่พยาบาท. ไม่ดูหมิ่นท่าน, ใคร่การศึกษา, พิจารณาเห็น ประโยชน์ในบริขารแห่งชีวิต ( พิจารณาเห็นประโยชน์ของปัจจัย ๔ ไม่ใช่เพื่อฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ), ปรารภความเพียร.

ตรัสว่า เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ง ย่อมทำวิชชา ๓ ( ระลึกชาติได้, ทิพยจักษุ, ทำ อาสวะให้สิ้น ).

ตรัสแสดงมิจฉันตะ ( ความเป็นผิด ) ๑๐ ประการ คือความเห็นผิด เป็นต้น ว่า เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด

และตรัสสัมมัตตะ ( ความเป็นถูก ) ๑๐ ประการ ว่า เป็นเหตุให้เกิดความ สมบูรณ์. ตรัสเทียบทิฏฐิชั่วว่าเหมือนพืชที่ขม ทิฏฐิที่ดีเหมือนพืชที่หวาน.

ตรัสว่า อวิชชาเป็นหัวหน้าที่ให้เข้าสู่อกุศลธรรม ความไม่ละอาย ไม่เกรงกลัว ต่อบาป เป็นของตามหลังมา. เมื่อมีวิชชา ก็มีความเห็นผิด จนถึงความหลุดพ้นผิด. ฝ่ายดีทรงแสดงวิชชาในทางตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงถึงสิ่งที่ขจัดความผิด ( นิชชรวัตถุ ) ๑๐ ประการ คือสัมมัตตะ ( ฝ่ายถูก ) ขจัดมิจฉันตตะ ( ฝ่ายผิด ) ๑๐ ประการ.

ตรัสว่า ในทักษิณชนบท ( ชนบทภายใต้ ) มี ประเพณีชื่อโธวนะ ( การชำระล้าง โดยวิธีเอาศพฝังแล้วทำพิธีล้างกระดูก บูชาด้วยเครื่องหอม ร้องไห้คร่ำครวญ เล่นนักษัตร-อรรถกถา ) แต่การชะระล้างแบบนั้น ไม่ทำให้พ้น จากการความเกิดแก่ตายได้. ตรัสถึงการชำระล้างความเห็นผิด เป็นต้น จนถึงความหลุดพ้นผิดว่า เป็นไปเพื่อนิพพาน.

ตรัสถึงการถ่ายยาของหมอ ว่า เพื่อบำบัดอาพาธมีดีบ้างเสมหะบ้าง ลมบ้าง เป็น สมุฏฐาน

แล้วตรัสถึงการถ่ายยาแบบอริยะ คือถ่ายความเห็นผิด จนถึงความหลุดพ้นผิด ออกไป.

ตรัสแสดงการใช้ยาให้อาเจียน ของหมอทำนองเดียวกับเรื่องถ่ายยา.

ตรัสถึงธรรมที่ควรสูบออก ๑๐ ประการ มีความเห็นผิด เป็นต้น.

ตรัสเรื่องอเสขะ ( ผู้ไม่ต้องศึกษา ) และอเสขิยธรรม ( ธรรมของผู้ไม่ต้องศึกษา ) โดยแสดงความเห็นชอบอันเป็นอเสขะ เป็นต้น.

๒. ตรัสแสดงมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้นว่า เป็นอธรรม เป็นอนัตถะ

( มิใช่ประโยชน์ ) และตรัสถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ตรงกันข้าม.แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรม และกุศลธรรม อื่น ๆ.

พระอานนท์อธิบายเรื่องอธรรมและธรรม อนัตถะและอรรถะ แก่ ภิกษุทั้ง หลายในทำนองที่พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบายแล้ว และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงธรรมฝ่ายดี ๑๐ ฝ่ายชั่ว ๑๐ ( สัมมัตตะ, มิจฉัตตะ ) ยักย้าย นัยอีกหลายประการ.

๓-๕. ในวรรคทั้งสามวรรคนี้ ก็ตรัสแสดงเรื่องเห็นผิดชอบ เป็นต้น เช่นเดียวกัน

อนึ่ง เพื่อช่วยความจำ ขอกล่าวถึงรายละเอียดของฝ่ายผิด ๑๐ ข้อไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง คือเห็นผิด, ดำริผิด, เจรจาผิด, กระทำผิด, เลี้ยงชีวิตผิด, พยายามผิด, ระลึกผิด, ตั้งใจมั่นผิด, รู้ผิด, พ้นผิด. ฝ่ายดีหรือฝ่ายชอบคือที่ตรงกันข้าม.

จตุตถปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๔

( มี ๕ วรรค ๆ แรก ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล, วรรคที่ ๒ ชื่อชาณุสโสณิวรรค ว่าด้วยชาณุส - โสณิพราหมณ์, วรรคที่ ๓ ชื่อสุนทรวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ดี, วรรคที่ ๔ ชื่อเสฏฐวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ประเสริฐ, วรรคที่ ๕ ชื่อเสวิตัพพา เสวิตัพพวรรค ว่าด้วยบุคคลที่ควรส้องเสพและไม่ควรส้องเสพ ).

๑. ตรัสแสดงบุคคลที่ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ

มีความเห็นผิด เป็นต้น ว่าไม่ควรส้องเสพ ต่อประกอบด้วยความเห็นชอบ เป็นต้น จึงควรส้องเสพ.

๒. ตรัสแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณิพราหมณ์

ถึงเรื่องปัจโจโรหณี ( การข้ามลง หรือก้าวลงจากบาป ) ตามคติแห่งพระพุทธศาสนา คือชาณุสโสณิพราหมณ์เล่าถึงพิธีปัจโจโรหณีของ พราหมณ์ เมื่อถึงวันอุโบสถพราหมณ์จะสนานศรีษะ นุ่มห่มผ้าเปลือกไม้ใหม่ ฉาบแผ่นดินด้วยมูลโคสด ปูลาดด้วยหญ้าคาสด แล้วนอน ระหว่างกองทรายกับโรงบูชาไฟ และลุกขึ้นทำอัญชลีไฟ ๓ ครั้งในราตรีนั้น กล่าวว่า ปัจโจโรหาม ภวันตัง ( ๒ ครั้ง ) แปลว่า ข้าพเจ้าข้ามลงหรือก้าวลงสู่ท่านผู้เจริญ. เอาเนยใส น้ำมัน เนยข้นมากมายใส่ลงในกองไฟ นี่แหละเป็นพิธีปัจโจโรหณีของพราหมณ์. พระผู้มี พระภาคตรัสว่า พิธีปัจโจโรหณีในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นการก้าวลงจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น มีความเห็นผิดเป็นที่สุด. ชาณุสโสพราหมณ์ก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. อนึ่งในวรรคนี้ตรัสแสดงการ เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยนัยต่าง ๆ กันตลอดเรื่อง มีภาษิตของพระมหากัจจานเถระแทรกอยู่แห่งเดียว แต่ก็เป็นการขยายความแห่ง พระพุทธภาษิต โดยอาศัยหลักอกุศลกรรมบถ. และมีพระพุทธภาษิต ตรัสแก่นายจุนทะ กัมมารบุตร เรื่องความไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ โดยแสดงอกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ. ถ้าประพฤติชั่วแล้ว จะลุกขึ้นจากที่นอน ลูบคลำแผ่นดินหรือไม่ จะลูบคลำมูลโคสด หรือไม่ จะลูบคลำหญ้าสดหรือไม่ จะบำเรอไฟหรือไม่ จะทำอัญชลีดวงอาทิตย์หรือไม่ จะลงอาบน้ำวันละ ๓ เวลา ( มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ ๓ ) หรือไม่ ก็ไม่สะอาดทั้งนั้น ถ้าประพฤติดีแล้ว จะทำอย่างนั้นหรือไม่ ก็ชื่อว่าสะอาดทั้งนั้น ( เป็นการค้านลัทธิพราหมณ์ โดยชี้ความสำคัญไปที่ ความประพฤติ ไม่ใช่สะอาดหรือไม่สะอาดเพราะทำเคล็ดต่าง ๆ ).

๓ - ๕. แม้ใน ๓ วรรคนี้ ก็เป็นการแสดงเรื่องอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถ

ยักย้ายนัยสลับกันไป. และเพื่อช่วยทบทวนความจำ ข้อกล่าวซ้ำถึงอกุศลกรรมบถ คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, ๓ นี้เป็นกายทุจจริต ; พูดปด, พูดส่อเสียด คือยุให้แตกร้าวกัน, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, ๔ นี้เป็นวจีทุจจริต ; โลภอยากได้ของเขา, พยายามปอง ร้ายเขา, เห็นผิดจากคลองธรรม, ๓ นี้เป็นมโนทุจจริต รวมเป็นฝ่ายชั่ว ๑๐ ส่วนฝ่ายดีคือกุศลธรรมบถ หรือทางแห่งกรรมอันเป็นกุศล พึงทราบ โดยนัยตรงกันข้าม.

ปัญจมปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๔

( มี ๕ ไม่มีชื่อพิเศษ เรียกว่าวรรคที่ ๑ ถึงที่ ๕ ทีเดียว ).

ตั้งแต่วรรคที่ ๑ ถึงวรรคที่ ๕ ส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถ, มิจฉัตตะ และ สัมมัตตะ ( ความเป็นผิด, ความเป็นถูก มีเห็นผิด เห็นชอบ เป็นต้น ) และสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๑๐ ประการ เป็นต้น. มีข้อน่า สังเกต คือในวรรคที่ ๒ แสดงถึงบุคคลว่าจะตกนรกเหมือนถูกนำไปวางไว้ เมื่อประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ มีฆ่าสัตว์ เป็นต้น, ประกอบ ด้วยธรรม ๒๐ ประการ คือทำด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นเพื่อฆ่าสัตว์ เป็นต้น ( ๑๐ × ๒ = ๒๐ ), ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ คือทำด้วยตัวเอง, ชักชวนผู้อื่น, มีความยินดีในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น ( ๑๐ × ๓ = ๓๐ ), ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ คือ ทำนอง, ชักชวนผู้อื่น, ยินดี, กล่าวสรรเสริญอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น ( ๑๐ × ๔ = ๔๐ ), ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.


เล่มที่ ๒๔ ชื่ออังคุตตรนิกาย
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ )
หน้า ๔ จบเล่ม

เอกาทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๑ ข้อ

( ในหมวดนี้ไม่มีหมวด ๕๐ เริ่มต้นก็ขึ้นวรรคที่ ๑ ชื่อนิสสายวรรค ว่าด้วยสิ่งที่อาศัยกัน วรรคที่ ๒ ไม่มีชื่อ ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงพระสูตรที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ ).

๑. ตรัสแสดงอานิสงส์ของศีล

แก่ พระอานนท์ว่า เป็นปัจจัยของกันและกันเป็นข้อ ๆ ต่อ ๆ กันไป รวม ๑๐ ข้อ ( ๑๑ ทั้งตัวศีลเอง ) คือความไม่เดือดร้อน, ความบันเทิง, ความอิ่มใจ, ความระงับ, ความสุข, สมาธิ, ความรู้ตามเป็นจริง, ความเบื่อหน่าย, ความคลายกำหนัด, ความเห็นด้วยญาณว่าหลุดพ้น.

พระสาริบุตร แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยนัยเดียวกัน. นอกนั้นแสดง ธรรมะทำนองเดียวกับหมวด ๑๐ หลายข้อเป็นแต่เพิ่มข้อปลีกย่อยขึ้นอีก ๑ จึงเป็น ๑๑ ข้อ.

ในข้อสุดท้ายตรัสแสดงการที่ภิกษุชื่อว่ามีความสำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ เพราะอาศัยธรรม ๓ ข้อ รวม ๓ ประการ อาศัยธรรม ๒ ข้อ ๑ ประการ ( รวมเป็น ๑๑ ) ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๑ คือศีล, สมาธิ, ปัญญา ; ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๒ คือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์, ทายใจได้เป็นอัศจรรย์, สั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ ; ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๓ คือความเห็นชอบ, ความรู้ชอบ, ความพ้นชอบ ; ธรรม ๒ ข้อ คือวิชชาความรู้, จรณะความประพฤติ.

๒. ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะ

เรื่อง วิหารธรรม ( ธรรมอันควรเป็นที่อยู่แห่งจิต ) ๕ คือศรัทธา, ความเพียร, สติ, สมาธิ, ปัญญา และเจริญธรรมที่ยิ่งขึ้นไปอีก ๖ คือระลึก ถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ศีล, จาคะ ( การสละ ), เทวดา ( เฉพาะข้อเทวดา หมายถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา คือ ศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะ, ปัญญา ).

ตรัสแสดงธรรมแก่นันทิยศากยะ ทำนองเดียวกับมหานามศากยะ เป็นแต่แสดง วิหารธรรม ๖ โดยเพิ่มศีลอีก ๑ ข้อ และแสดงธรรมที่ควรระลึก ๕ คือ พระพุทธ, พระธรรม, กัลยาณมิตร, จาคะ, เทวดา,

ตรัสแสดงธรรมแก่พระสุภูติ ถึง สัทธาปทาน ( ลักษณะของศรัทธา ) ของ กุลบุตรผู้ออกบวช ๑๑ อย่าง คือมีศีล, สดับมาก, คบเพื่อนดีงาม, ว่าง่าย, ช่วยทำธุระของเพื่อนพรหมจารี, ใคร่ธรรม, ปรารภความเพียร, ระลึกชาติได้, ได้ทิพยจักษุ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( ทำอาสวะให้สิ้น ).

ตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตาเจโตวิมุติ ( เมตตาที่เป็นฌาน ) ๑๑ ประการ คือหลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของมนุษย์, เป็นที่รักของอมนุษย์, เทวดาย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่กล้ำกราย, จิคเป็นสมาธิได้เร็ว, ผิวหน้าผ่องใส, ไม่หลงตาย, ถ้ามิได้บรรลุธรรมอันยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าสู่พรหมโลก ( เมื่อตายไปแล้ว ).

ทสมคฤหบดีชาวเมืองอัฏฐกะ ถาม พระอานนท์ถึงธรรมข้อเดียวที่ภิกษุผู้บำเพ็ญ เพียรไม่ประมาทในธรรมนั้น แล้วจะสิ้นอาสวะได้ ท่านแสดงการเจริญฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔, การเจริญเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขาที่เป็น เจโตวิมุติ ( เป็นฌาน ), การเจริญอรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๓ ( รวม ๑๑ ข้อ ) ว่า เพียงเจริญข้อใดข้อหนึ่ง แล้วรู้ว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็น ธรรมดา ก็อาจสิ้นอาสวะได้ หรือถ้าไม่สิ้นอาสวะ ก็จะเป็นพระอนาคามี. ( พึงสังเกตว่า บำเพ็ญฌานแล้ว กลับพิจารณาฌานทั้งสิบเอ็ดข้อนั้นว่า ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา อันเป็นวิธีของวิปัสสนา ก็บรรลุความสิ้นอาสวะได้ ). ทสมคฤหบดีพอใจ กล่าวว่าเหมือนแสวงหาปากขุม ทรัพย์แห่งเดียว แต่ได้พบถึง ๑๑ แห่ง ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๑ ) ในหมวดเลขที่ ๒. อัฏฐกนาครสูตร เทียบดูด้วย

ตรัสแสดงการขาดและการประกอบด้วยคุณสมบัติของคนเลี้ยงโคฝ่ายละ ๑๑ ข้อ เทียบธรรมะ ( ดูมหาโคปาลสูตร หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๔ ) ๓๓. มหาโคปาลสูตร

ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึง การได้สมาธิ ที่ไม่ต้องมีความกำหนดหมาย ในสิ่งต่าง ๑๑ ข้อว่าเป็นสิ่งนั้น แต่ก็ยังมีสัญญาอยู่ได้ คือ ๑ - ๔. ธาตุ ๔, ๕ - ๘. อรูปฌาน ๔, ๙. โลกนี้, ๑๐. โลกหน้า, ๑๑ สิ่งที่ได้เห็น, ได้ยิน, ได้ทราบ, ได้รู้.

พระสูตรนอกหมวด ๕๐

ตรัสแสดงการขาดคุณสมบัติและการประกอบด้วย คุณสมบัติ ๑๑ ประการของคนเลี้ยงโค

เทียบธรรมะ โดยตรัสย้ายนัยทางธรรม คือพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้, ไม่ใช่ตัวตน, สิ้นไป, เสื่อมไป, ความคลายกำหนัด, ความดับ, ความสละ ในอายตนะภายใน, อายตนะภายนอก, วิญญาณ, สัมผัส, เวทนา, สัญญา, สัญเจตนา, ตัณหา, วิตก, วิจาร ซึ่งเป็นไปทางทวาร ๖ มีตา เป็นต้น.

ตรัสว่า ควรเจริญธรรม ๑๑ อย่าง คือรูปฌาน ๔, พรหมวิหารที่เป็นเจโตวิมุติ ๔ ( มีเมตตา เป็นต้น ), อรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ( รวมเป็น ๑๑ ) เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ มีราคะ เป็นต้น ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๑ ) ๗. วัตถูปมสูตร

จบพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔

อันว่าด้วยชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ

ที่มา : http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/p ... /16.4.html


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2010, 18:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๕ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗)
ขุททกปาฐะ, ธัมมปทาคาถา, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต.

เล่ม ๒๕ นี้เป็นเล่มแรกของขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ด. ได้กล่าวแล้วในตอนแรกว่า ขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ดนี้ เริ่มตั้งแต่เล่มที่ ๒๕ ถึงเล่มที่ ๓๓ รวม ๙ เล่ม ว่าด้วยหัวข้อใหญ่ รวม ๑๕ เรื่อง ( ดูหน้าความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ) หัวข้อสุตตันตปิฎกและข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก เฉพาะเล่มที่ ๒๕ นี้ มีหัวข้อใหญ่รวมอยู่ถึง ๕ เรื่อง คือ :-

๑. ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ.

๒. ธัมมปทคาถา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม ว่าด้วยสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ.

๓. อุทาน ว่าด้วยพระพุทธภิษที่ทรงเปล่งออกมาปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ.

๔. อิติวุตตกะ ว่าด้วยถ้อยคำที่อ้างอิงว่าเป็นภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

๕. สุตตนิบาต ว่าด้วยชุมนุมพระสูตรเบ็ดเตล็ด.

๑. ขุททกปาฐะ

บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ

แบ่งออกเป็น ๙ ส่วน คือ :-

๑. สรณคมนะ ( การถึงสรณะ ) เป็นบทสวดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น ที่พึ่งที่ระลึกรวม ๓ ครั้ง ( พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ถึง ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ).

๒. ทสสิกขาบท (สิกขาบท ๑๐) เป็นบทสมาทานศีล ( สำหรับสามเณร ) คือเว้นจากการฆ่า สัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, บริโภคอาหารในเวลากาล;( เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลารุ่งอรุณ ), ฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดูการเล่น, ทัดทรงระเบียบดอกไม้ของหอม ตกแต่งประดับประดา, ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่, รับทองและเงิน.

๓. อาการ ๓๒ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, ดี, เศลษม์, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, เปลวมัน, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, มูตร, มันสมอง.

๔. ปัญหาของสามเณร อะไรชื่อว่าหนึ่ง ? สัตว์เป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร. อะไรชื่อว่าสอง ? นามและรูป ฯ ล ฯ ( ดูข้อความหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๑ ซึ่งมี ๑๐ ข้อ ) ในข้อหมายเลขที่ ๓.

๕. มงคลสูตร เล่าเรื่องของพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของเทวดา ผู้มาถามว่าอะไรเป็น มงคล โดยตรัสชี้ไปที่ข้อประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น รวม ๓๗ ประการ๑ มิได้ทรงชี้ไปที่มงคลภายนอก หรือโชคลางอะไรเลย ดังต่อไปนี้ :-

๑. ไม่คบพาล ๒. คบบัณฑิต ๓. บูชาผู้ควรบูชา ๔. อยู่ในประเทศอันสมควร ๕. เคยทำบุญไว้ในกาลก่อน ๖. ตั้งตนชอบไว้ ๗. สดับตรับฟังมาก ๘. ศิลปะ ๙. ศึกษาวินัยดี ๑๐. วาจาเป็นสุภาษิต ๑๑. บำรุงบิดามารดา ๑๒. สงเคราะห์บุตรภริยา ๑๓. การงานไม่อากูล ๑๔. ให้ทาน ๑๕. ประพฤติธรรม ๑๖. สงเคราะห์ญาติ ๑๗. การงานที่ไม่มีโทษ ๑๘. เว้นจากบาป ๑๙. สำรวมจาก การดื่มน้ำเมา ๒๐. ไม่ประมาทในธรรม ๒๑. เคารพ ๒๒. เจียมตัว ๒๓. สันโดษ ( ยินดีด้วยของของตน ) ๒๔. รู้คุณท่าน ๒๕. ฟังธรรมตาม กาล ๒๖. อดทน ๒๗. ว่าง่าย ๒๘. เห็นสมณะ ๒๙. สนทนาธรรมตามกาล ๓๐. ตบะ ( ความเพียร ) ๓๑. ประพฤติพรหมจรรย์ ๓๒. เห็น อริยสัจจ์ ๓๓. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๓๔. จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกต้องโลกธรรม ๓๕. จิตไม่เศร้าโศรก ๓๖. จิตปราศจากธุลี ๓๗. จิตเกษม ( ปลอดโปร่งจากกิเลส ).

๖. รตนสูตร เป็นบทสวดพรรณนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และอ้างสัจจวาจา อำนวยสวัสดิมงคล.

๗. ติโรกุฑฑกัณฑ์ ใน ที่บางแห่งเรียกติโรกุฑฑสูตร คำว่า กัณฑ์ ก็แปลว่า หมวด ติโรกุฑฑะ แปลว่า " นอกฝา " เป็นเรื่องพรรณนาถึงผู้ล่วงลับไปแล้วว่า การอุทิศส่วนกุศลไปให้ ย่อมเข้าถึงคือสำเร็จแก่ผู้ล่วงลับเหล่านั้นโดย ควรแก่ฐานะ.

๘. นิธิกัณฑ์ ว่าด้วย เรื่องขุมทรัพย์ การฝังทรัพย์ไว้ในดินไม่ยั่งยืน อาจถูกคนลักขุดไป หรือ ดินเลื่อนเคลื่อนที่ไป หรือฝังแล้วจำไม่ได้ เมื่อสิ้นบุญ สิ่งทั้งหมดนั้นก็พินาศ แต่ขุมทรัพย์คือบุญ ( อันเกิดแต่การบำเพ็ญคุณงามความดี ) เป็น ขุมทรัพย์ที่ใครจะช่วงชิงไม่ได้ เป็นของติดตัวไปเสมอ และอาจให้สำเร็จประสงค์ตั้งแต่อย่างต่ำถึงอย่างสูง.

๙. กรณียเมตตสูตร พรรณนาถึงการแผ่เมตตาไปในสัตว์ทุกประเภทให้มีความสุขทั่วหน้ากัน.

๒. ธัมมปทคาถา หรือธัมมบท

ว่าด้วยบทแห่งธรรม

ได้กล่าวแล้วว่า ธัมมบท ( หรือเขียนว่าธรรมบทก็ได้ ) หมายถึงสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ ข้อ และได้แปลไว้เป็น อย่างแล้วในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๙๗.-๑๒๕ รวมหลายสิบข้อ ในที่นี้จะนำข้อความที่ไม่ซ้ำกันมา แปลไว้เป็นตัวอย่างอีก ๑๐ ข้อ คือ :-

๑. ไม่พึงมองดูความผิดพลาดของคนอื่น หรือมองดูสิ่งที่เขาทำหรือมิได้ทำ พึงมองดูแต่สิ่งที่ตนทำแล้ว หรือยัง มิได้ทำเท่านั้น.

๒. ดอกไม้ที่น่าชอบใจ มีสี แต่ไม่มีกลิ่น ก็เหมือนวาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม.

๓. ในมนุษย์ทั้งหลาย คนที่ถึงฝั่งมีน้อย คนนอกนี้วิ่งเลาะไปตามชายฝั่ง ( ข้างนี้ ) เท่านั้น.

๔. คนไม่มีศรัทธา, ไม่กตัญญู, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ), มีโอกาศอันถูกขจัด, หมดหวัง, ผู้นั้นเป็นบุรุษผู้สูงสุด. ( เป็น คำกล่าว ดัดแปลงคำด่าให้เป็นคำดี คำว่า ไม่มีศรัทธา ในทางที่ดี ควรแปลว่า " ไม่เชื่อง่าย " คือพยายามทำให้ประจักษ์ในผลความดี ด้วยตนเองจนไม่ต้องเชื่อผู้อื่น, ไม่กตัญญู หรืออตัญญู แปลในทางดีว่า ผู้รู้นิพพาน ซึ่งไม่มีสิ่งใด ๆ หรือใครมาทำมาสร้างได้, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ) แปลจากคำว่า สันธิจเฉทะ ซึ่งอาจแปลในทางที่ดีได้ว่า ตัดที่ต่อคือวัฏฏะ หรือการเวียนว่ายตายเกิดไม่ต้องเกิด อีก. มีโอกาสถูกขจัด แปลในทางดีได้ว่า หมดโอกาสที่จะเกิดอีก เพราะหมดพืชคือกุศลกรรมและอกุศลกรรมแล้ว หมดหวังหรือ คายความหวัง อาจจะตีความได้ว่า เมื่อได้บรรลุสิ่งที่สูงสุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องคอยมุ่งหวังอะไรต่อไปอีก. เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างใน ทางมองแง่ดี จากคำเยาะเย้ยถากถางของคนที่มุ่งร้าย ).

๕. ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้มิได้ประทุษร้าย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส บาปย่อมสนองคนพาลนั้นเหมือนฝุ่นที่ ซัดไปทวนลม.

๖. คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ต้อนโคไปสู่ที่หากินฉันใด ความแก่และความตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉัน นั้น.

๗. ร่าเริงอะไรหรือหรือชื่นใจอะไรกัน ในเมื่อโลกลุกเป็นไฟอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดห่อหุ้มแล้ว ไฉน จึงไม่แสวงหาดวงประทีป.

๘. ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงข้อนี้แล้วดับทุกข์ได้เป็นสุขอย่างยิ่ง.

๙. อตุละเอย ! การนินทานี้เป็นของเก่า มิใช่ของดุจมีในวันนี้ คนนั่งนิ่งก็ถูกนินทา คนพูดมากก็ถุกนินทา คนพูด พอประมาณก็ถูกนินทา คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก.

๑๐. ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี เคราะห์เสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี.

มีคำสรุปว่า ในธรรมบทมีคาถา คำฉันท์ ) ๔๒๓ บท ( บางเรื่องและบางหัวข้อ อาจประกอบด้วยคำฉันท์หลายบท เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ จึงหมายเฉพาะเนื้อเรื่อง ).

๓. อุทาน

(พระอรรถกถาจารย์อธิบายเรื่องการจัดระเบียบไว้ว่า อุทานนี้มี ๘ วรรค กล่าวโดยสูตรประมาณ ๘๐ สูตร กล่าว โดยคาถา ( คำฉันท์ ) มี ๙๕ บท ).

ใจความสำคัญในเรื่องอุทานก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ทรงเปล่ง อุทานเป็นข้อธรรมอันมีเนื้อหาเป็นคำสั่งสอน ในที่นี้จะเลือกแปลบทอุทานใน ๘ วรรคนั้น วรรคละ ๒ เรื่อง รวมเป็น ๑๖ เรื่อง ( จาก ๘๐ เรื่อง ) ดังต่อไปนี้ :-

๑. โพธิวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้

๑. ทรงเปล่งอุทานในราตรีแรกแห่งการตรัสรู้

ในยามที่ ๑ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ. "

ในยามที่ ๒ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัย. "

ในยามที่ ๓ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืดทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระสังคามชิผู้ไม่เยื่อใยในอดีตภริยา

" ผู้ใดไม่ยินดีผู้ที่มา ไม่เศร้าโศกถึงผู้ที่ไป เรากล่าวถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากความข้อง ว่าเป็น พราหมณ์.

๒. มุจจลินทวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ต้นจิก

๑. ทรงเปล่งอุทานที่ใต้ต้นจิก

" ความสงัดของบุคคลผู้ยินดี ผู้สดับธรรม ผู้เห็นด้วยปัญญา เป็นสุข. ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. ความปราศจากราคะ คือความก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. การนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ ( ความถือตัวว่าเรา เป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นสุขอย่างยิ่ง. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ณ เชตวนารม กรุงสาวัตถี ปรารภคำสนทนาของภิกษุทั้งหลาย

" ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขใดอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความ สุขเพราะสิ้นตัณหา ( ความทพยานอยาก ). "

๓. นันทวรรค ว่าด้วยพระนันทะ

๑. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระนันทะ ( ผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดา )

" ผู้ใดข้ามหล่มกามได้ ย่ำยีหนามคือกามได้ บรรลุความสิ้นไปแห่งความหลง ผู้นั้นเป็นผู้เห็นภัย ( ภิกษุ ) ย่อมไม่หวั่น ไหวในสุขและทุกข์. "

๒. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระปิลินทวัจฉะ ( ผู้พูดไม่ไพเราะเพราะเคยปาก )

" ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีความถือตัว สิ้นความโลภ ไม่ยึดว่าอะไรเป็นของเรา ปราศจากความหวัง บันเทาความโกรธ ดับอัตตาเสียได้ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.. "

๔. เมฆิยวรรค ว่าด้วยพระเมฆิยะ

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเมฆิยะ

" ความความตรึกที่เลว ( กามวิตก ) ความตรึกที่ละเอียดอ่อน ( ปรารภญาติ, ชนบท, ลาภ, สักการะ เป็นต้น ) ที่ ติดตามไป ที่ทำจิตให้ผิดปกติ ผู้มีจิตหมุนไป ไม่รู้ความตรึกแห่งใจเหล่านี้ ยอมแล่นไป ๆ มา ๆ ( ในอารมณ์ มีรูป เสียง เป็นต้น ). แต่ผู้รู้ความ ตรึกแห่งใจเหล่านี้ มีความเพียร มีสติสำรวม ย่อมเป็นผู้ตรัสรู้ ละความตรึกเหล่านั้นที่ติดตามไป ที่ทำใจให้ผิดปกติได้โดยไม่เหลือ. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระอุปเสนาวังคันตบุตร

" ผู้ใดไม่เดือดร้อนต่อชีวิต ไม่เศร้าโศกเมื่อจะตาย ผู้นั้นแลเป็นนักปราชญ์ เป็นผู้เห็นบท ( แห่งธรรม ) ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งโศก. ภิกษุถอนความทะยานอยากในภพได้ มีจิตสงบ สิ้นความท่องเที่ยวสู่ความเกิด ย่อมไม่มีความเกิดอีก. "

๕. โสณัตเถรวรรค ว่าด้วยพระโสณเถระ

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระราชดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกา

" บุคคลเอาใจตรวจดูทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบคนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ๆ คนอื่นก็รักตนอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ผู้ใคร่ความสุขแก่ตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเทวทัตผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

" ความดีคนดีทำได้ง่าย คนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนที่ประเสริฐทำได้ยาก. "

๖. ชัจจันทวรรค

ว่าด้วยอุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล

" ไม่พึงพยายามในความชั่วทุกอย่าง, ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น ( ควรเป็นตัวของตัวเอง ), ไม่พึงอาศัยผู้อื่นดรงชีวิต, ไม่พึงประพฤติธรรมให้มีแผล. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนักบวชนอกศาสนาที่เถียงทะเลาะกัน เพราะเห็นต่าง ๆ กัน

" สมณพราหมณ์บางพวกย่อมติดอยู่ในทิฏฐิเหล่านี้ เป็นคนมีความเห็นแง่เดียว ย่อมทะเลาะวิวาทกัน. "

๗. จูฬวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้ร่างเล็ก

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระภัททิยะผู้ค่อม

" ผู้ใดหลุดพ้นในเบื้องบน เบื้องต่ำ ในที่ทั้งปวง ไม่ตามเห็นว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ผู้หลุดพ้นอย่างนี้ ได้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะ ( ห้วงน้ำ ) ที่ยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภมนุษย์ผู้ติดอยู่ในกาม

" ผู้บอดเพราะกาม ติดอยู่ในข่าย ( คือตัณหา ) ถูกเครื่องปกปิดคือตัณหาปกปิดไว้ ถูกพญามารผู้ผูกมัดสัตว์ผู้ประมาท ผูกไว้แล้ว ย่อมเป็นเหมือนปลาเข้าไปในปากไซ ย่อมถึงความแก่และความตาย เหมือนลูกโคยังดื่มนม วิ่งเข้าหาแม่. "

๘. ปาฏลิคามิวรรค ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระนิพพาน

" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้นมีอยู่ คืออายตนะที่ไม่มีดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจาตนะ,. อากิญจัญญาตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีพระจันทร์, พระอาทิตย์ทั้งสอง. เราไม่กล่าวถึงอายตนะนั้น ว่า เป็นการมา, การไป, การตั้งอยู่, การจุติ ( เคลื่อน ), การอุปบัติ ( เข้าถึงหรือเกิด ), อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้ง, ไม่มีความเป็นไป,ไม่มีอารมณ์. นั่น แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์. "

( หมายเหตุ : คำอธิบายพระนิพพานในรูปปฏิเสธเช่นนี้ บางท่านอาจฉงนว่าจะมีประโยชน์หรือมีความมาย อย่างไร ขอตอบว่า อย่าว่าแต่พระนิพพานซึ่งเป็นธรรมะอันสูงยิ่ง จะอธิบายได้ยากเลย แม้เรื่องง่าย ๆ ในโลกนี้ เช่น สีขาว สีเขียว ถ้าจะให้ อธิบาย ก็พูดไม่ถูกเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องอาศัยสำนวนปฏิเสธหรือชี้ให้ดู พระนิพพานก็เช่นกัน ผู้บรรลุด้วยตนเองก็ไม่มีปัญหา ส่วนผู้ยังมิได้ บรรลุ ก็ต้องอธิบายว่า ไม่เป็นอย่างที่เขานึกกันอย่างโลก ๆ )

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนายจุนทะ กัมมารบุตร

" บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรของผู้สำรวมย่อมไม่ถูกก่อขึ้น ผู้ฉลาดย่อมละความชั่ว ปรินิพพาน เพราะสิ้นราคะ, โทสะ, โมหะ. "

๔. อิติวุตตกะ

ว่าด้วยข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้

อิติวุตตกะนี้ แบ่งออกเป็น ๔ นิบาต ( ชุมนุมธรรมะ ๔ ส่วน ) คือเป็นเอกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ ) ๒๗ สูตร, เป็นทุกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ ) ๒๒ สูตร, เป็นติกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ ) ๕๐ สูตร, เป็นจตุกกนิบาต ( ชุมนุม ธรรมะที่มี ๔ ข้อ ) ๑๓ สูตร, รวมทั้งสิ้นจึงมี ๑๑๒ สูตร.๒ ในการย่อจะเลือกย่อนิบาตละ ๕ สูตร ดังต่อไปนี้:-

เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้ง หลายจงละธรรมอย่างหนึ่ง เราเป็นผู้ประกันพวกเธอให้ได้ความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งนั้น คือ ความโลภ. " ตรัสทำนอง เดียวกันนี้ ถึงโทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ), โมหะ ( ความหลง ), ความโกรธ, มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), มานะ ( ความถือตัว ).

๒. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ ไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ไม่ทำจิตให้คลายความกำหนัดในสิ่งนั้น ไม่ละสิ่งนั้น ก็ไม่ควรจะสิ้นทุกข์ได้ " และได้ตรัสทำนองเดียวกันนี้ ถึงเรื่องมานะ, โลภะ, โทสะ, โมหะ, ความโกรธ, ความลบหลู่บุญคุณท่าน.

๓.๓ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นนีวรณ์ ( ธรรมเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุ คุณความดี ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกนีวรณ์นั้นหุ้มห่อแล้ว ย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน เหมือน นีวรณ์ คืออวิชชา ( ความ ไม่รู้ ) เลย. "

๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นเครื่องร้อยรัดอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกร้อยรัดแล้ว ย่อมแล่นไปท่องเที่ยวไปตลอด กาลนาน เหมือนเครื่องร้อยรัด คือ ตัณหา ( ความทะยานอยาก ) เลย. "

๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นองค์ ( องคคุณ ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่เป็นองค์ภายในของภิกษุผู้ยังศึกษา ผู้ยังมิได้ บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมอันเกษม ( ปลอดโปร่ง ) จากโยคะ๔ อันยอดเยี่ยม, อันเป็นองค์ ที่มีอุปการะมาก เหมือน โยนิโสมมนสิการ ( การใส่ใจหรือการพิจารณาโดยแยบคาย ) นี้เลย. " ( องค์ภายนอกตรัสถึงการคบเพื่อนที่ ดีงาม ).

ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ

๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้องขัดเดือดร้อนในปัจจุบัน ตายไปแล้วก็หวังทุคคติ ( ที่ไปอันชั่ว ) ได้. ธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์๕ กับ ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ คืออาหารที่กินเข้าไป. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).

๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะ ๒ อย่างเหล่านี้ ทำความเดือดร้อนให้ คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำความ ดี, ทำความชั่วไว้ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนว่า เรามิได้ทำความดีไว้, ย่อมเดือดร้อนว่า เราได้ทำความชั่วไว้. " ( ธรรมะที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้ คือที่ตรงกันข้าม ).

๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง ย่อมเหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก ธรรมะ ๒ อย่าง คือ ศีลอันชั่ว, ทิฏฐิ ( ความเห็น ) อันชั่ว. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม คือศีลอันดีงาม ทิฏฐิอันดีงาม ).

๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ ไม่มีความเพียร ไม่มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) เป็น ผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. ภิกษุผู้มีความเพียร มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) จึงเป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อ นิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).

๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความตรึก ( วิตก ) ๒ อย่าง ย่อมมาสู่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมาก คือ ความตรึกอันเกษม ( ไม่เบียดเบียน ) และ ความตรึกอันสงัด ( จากอกุศลธรรม ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความไม่ เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีในความไม่เบียดเบียน ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาคตผู้ยินดีในความไม่เบียดเบียนโดยมากว่า เราย่อมไม่เบียดเบียน ใคร ๆ ด้วยการกระทำนี้ ไม่ว่าจะยังเป็นผู้สะดุ้งดิ้นรน ( ด้วยกิเลส ) หรือว่าเป็นผู้ถาวร ( ไม่ดิ้นรนเพราะกิเลสได้แล้ว ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีในความสงัด. ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาตคผู้ยินดีในความสงัดโดยมากว่า เราละอกุศลได้แล้ว. เพราะ เหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงอยู่อย่างยินดีในความไม่เบียดเบียน ยินดีในความสงัดเถิด. "

ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ

๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธาตุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ รูปธาตุ ( ธาตุคือรูป ), อรูปธาตุ ( ธาตุคือสิ่งที่ ไม่มีรูป ), " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ) นิโรธธาตุ ( ธาตุคือนิโรธความดับ ). "

๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหา ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กาเมสนา ( การแสวงหากาม ), ภเวสนา( การแสวงหาภพ คือความมีความเป็น ), พรหมจริยสนา ( การแสวงหพรหมจรรย์ ). "

๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! จักษุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ มังสจักษุ ( ตาเนื้อ ), ทิพพจักษุ ( ตาทิพย์), ปัญญาจักษุ ( ตาปัญญา ). "

๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิสสรณิยธาตุ ( ธาตุคือความแล่นออก หรือความพ้นไป ) ๓ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) เป็นความพ้นไปแห่งกามทั้งหลาย, อารุปปะ ( ความเป็นของไม่มีรูป ) เป็นความพ้นไปแห่งรูปทั้งหลาย, นิโรธ ( ความดับ ) เป็นความพ้นไปแห่งสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย. "

๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ ประเภท มีอยู่ในโลก คือ ๑. บุคคลที่เสมอด้วยฝนที่ไม่ตก ๒. บุคคลที่ เหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง ๓. บุคคลที่เหมือนฝนตกทุกแห่ง ( ตรัสอธิบายต่อไปว่า ผู้ไม่ให้ทานเลย เปรียบเหมือนฝนไม่ตก, ผู้ให้ทานแก่บาง คน ไม่ให้แก่บางคน เปรียบเหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง, ผู้ให้ทานแก่ทุกคน คือแก่สมณะ, พราหมณ์, คนกำพร้า, คนเดินทาง, วณิพพก, ๖ยาจก เปรียบเหมือนฝนตกทุกแห่ง ). "

จตุกกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๔ ข้อ

๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ของที่เล็กน้อยด้วย หาง่ายด้วย ไม่มีโทษด้วย มี ๔ อย่าง คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ( เศษ ผ้าที่เที่ยวเก็บตกในที่นั้น ๆ ), อาหารที่หามาด้วยลำแข้ง ( ที่เที่ยวบิณฑบาตได้มา ), โคนไม้, ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า. ตราบเวลาที่ภิกษุยินดีด้วยของเล็กน้อย อันหาได้ง่าย อันไม่มีโทษ เราย่อมกล่าวความยินดีนั้นว่า เป็นองค์ของความเป็นสมณะแต่ละข้อของ ภิกษุนี้. "

๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ของผู้รู้ผู้เห็น ไม่กล่าว สำหรับผู้ไม่รู้ไม่เห็น คือ รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. "

๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ตามเป็นจริง. สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเป็นเพียง สมณสมมต, พราหมณสมมต ; ไม่ทำให้แจ้งซึ่ง ประโยชน์ของความ เป็นสมณะ, ประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยความรู้ยิ่งอยู่ในปัจจุบัน. " ( ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม ).

๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่างเหล่านี้ คือความเกิดขึ้นแห่งตัณหาเพราะเหตุแห่งจีวร ( ผ้านุ่งห่ม ), อาหาร ( บิณฑบาต ), ที่อยู่อาศัย ( เสนาสนะ ), ความมีความเป็น และความไม่มีไม่เป็น ( ภวาภวะ ). "

๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ปลีกตัวได้จากโลก, เหตุที่ทำให้โลกเกิดอัน ตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ละเหตุที่ให้เกิดโลกได้แล้ว, ความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้ทำให้แจ้งความดับแห่ง โลกแล้ว, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้เจริญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว. "

๕. สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตร

( สุตตนิบาต หรือชุมนุมพระสูตรนี้ มีพระสูตรทั้งสิ้น ๗๐ สูตร ล้วนเป็นคำฉันท์ทั้งสิ้น บางแห่งแม้จะมีร้อยแก้วปน แต่สาระผูกเป็นคำฉันท์ แบ่งออกเป็น ๕ วรรค คือ วรรคแรก ชื่อว่าอุรควรรค ว่าด้วยอุรคสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๒ ชื่อ จูฬวรรค แปลว่า วรรคเล็ก มี ๑๔ สูตร, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค แปลว่า วรรคใหญ่ มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๔ ชื่ออัฏฐกวรรค ว่าด้วยพระ สูตรที่มีคำว่า อัฏฐกะตามหลัง ( อัฏฐกะ แปลว่า ผู้ไม่ตั้งอยู่ ถือเอาความว่า ไม่ติด หรืออาจแปลได้ว่า เนื้อความ หรือใจความ ) มี ๑๖ สูตร วรรคที่ ๕ ชื่อปารายนวรรค ว่าด้วยที่มุ่งอันสูง มี ๑๖ สูตร.

อุรควรรคที่ ๑ มี ๑๒ สูตร

๑. อุรคสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วยงู )

พรรณนาถึงการที่ภิกษุละความชั่วต่าง ๆ เช่น ความโกรธ, ราคะ, ตัณหา, มานะ เป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งนี้ ฝั่งโน้นได้ เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งเสียฉะนั้น.

๒. ธนิยสูตร ( สูตรว่าด้วยธนิยะผู้เลี้ยงโค )

แสดงคำโต้ตอบของธนิยะผู้เลี้ยงโค พูดเชื้อเชิญให้ฝนตกเพราะตนได้ทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว เช่น มุงหลังคา นำ เชื้อไฟมาเตรียมไว้แล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากตอ ( ของจิต ) มีหลังคา ( คือกิเลส ) อัน เปิดแล้ว, ไฟ ( คือกิเลส ) ก็ดับแล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. อันเป็นคำโต้ตอบแสดงความเตรียมพร้อมทางโลก กับความเตรียมพร้อมทางธรรม.

๓. ขัคควิสาณสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วย นอแรด )

เป็นพระสูตรที่พรรณนาการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแนะให้อยู่แต่ผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด. ๗ เช่น ที่กล่าวว่า " วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนใคร ๆ เลย ไม่ปรารถนาบุตร ก็จะ ปรารถนาสหายแต่ที่ไหน ควรเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น. "

๔. กสิภารทวาชสูตร ( ว่าด้วยภารทวาช พราหมณ์ผู้ไถนา )

พราหมณ์ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าไถหว่านแล้วจึงบริโภค ท่านจงไถหว่านบ้างสิ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ก็ไถและหว่านเหมือนกัน. เมื่อพราหมณ์ถามถึงไถ จึงตรัสตอบว่า " ศรัทธาเป็นพืช, ความเพียรเป็นฝน, ปัญญาเป็นแอกและไถ, ความละอายใจเป็นงอนไถ, ใจเป็นสายเชือก, สติเป็นผาล ( ใบไถสำหรับไถนา ) "เป็นต้น.

๕. จุนทสูตร ( ว่าด้วยนายจุนทะ กัมมารบุตร )

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของนายจุนทะ กัมมารบุตร เรื่องสมณะมี ๔ ประเภท คือ ๑. มัคคชินะ ( ผู้ชนะ กิเลสด้วยมรรค ).๘ ๒. มัคคเทสกะ ( ผู้แสดงมรรค ) ๓. มัคคชีวี ( ผู้ดำรงชีพอยู่ในมรรค คือผู้กำลัง ปฏิบัติ ) ๔. มัคคทูสี ( ผู้ประทุษร้ายมรรค คือผู้ประพฤติชั่ว เท่ากับเป็นผู้ทำลายแห่งความเจริญของตน )."

๖. ปราภวสูตร ( ว่าด้วยความเสื่อม )

พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงปากทางแห่งความเสื่อมไว้หลายข้อด้วยกัน. ดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ " รัก อสัตบุรุษ ( คนชั่ว ), ไม่รักสัตบุรุษ ( คนดี ), ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มักหลับ, มักเข้ากลุ่มสนทนา, ไม่หมั่น, เกียจคร้าน, โกรธง่าย, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มั่งคั่ง แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าล่วงวัย, นั่นเป็นปากทางแห่งความ เสื่อม. " หยิ่งเพราะชาติ, หยิ่งเพราะทรัพย์, หยิ่งเพราะโคตร, ดูหมิ่นญาติของตน, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " เป็นนักเลงหญิง เป็น นักเลงสุรา, เป็นนักเลงการพนัน, ทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " เป็นต้น.

๗. วสลสูตร ( ว่าด้วยคนเลวหรือคนถ่อย )

พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่ภารทวาชพราหมณ์ผู้บูชาไฟ ถึงเรื่องคนเลว และธรรมที่ทำให้คนเลว รวมหลาย หัวข้อด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้. " คนใดมักโกรธ, ผูกโกรธ, เป็นคนชั่วที่ลบหลู่บุญคุณท่าน, มีความคิดเห็นวิบัติ, มีมายา, พึงรู้คนนั้นว่าเป็น คนเลว. " " คนใดเบียดเบียนผู้เกิดครั้งเดียว หรือเกิด ๒ ครั้ง ( เกิด ๒ ครั้ง คือออกมาเป็นไข่แล้วจึงออกจากไข่เป็นตัวอีกต่อหนึ่ง ), ไม่มีความ เอ็นดูในสัตว์มีชีวิต, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว. " " ผู้ใดยกตัวเอง, ข่มผู้อื่น, เป็นคนเลวเพราะความถือตัวนั้น, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว " ในที่ สุดได้ตรัสสรูปหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า " บุคคลมิใช่เป็นคนเลวเพราะชาติ มิใช่เป็นคนดี ( พราหมณ์ ) เพราะชาติ แต่เป็นคนเลวเพราะ การกระทำ, เป็นคนดีเพราะการกระทำ. ".

๘. เมตตสูตร ( ว่าด้วยการแผ่เมตตา )

พ้องกับที่กล่าวไว้แล้วในขุททกปาฐะ ( ดูในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน ) เป็นการแสดงวิธีแผ่เมตตาจิตไปในสัตว์ ทุกชนิดอย่างกว้างขวาง.

๙. เหมวตสูตร ( ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่าง สาตาคิรยักษ์กับเหวตยักษ์ รวมทั้งพระพุทธภาษิตในตอนท้าย )

เหมวตยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " โลกเกิดขึ้นในอะไร, ทำความพอใจ ( สันถวะ = ชมเชย ) ในอะไร, โลกอาศัยอะไร และเดือดร้อนในอะไร ? " ตรัสตอบว่า " โลกเกิดขึ้นในสิ่ง ๖ สิ่ง, ทำความพอใจในสิ่ง ๖ สิ่ง, อาศัยสิ่ง ๖ สิ่ง, เดือดร้อน ในสิ่ง ๖ สิ่ง ( คือในกามคุณ ๕ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ มีใจเป็นที่ ๖ ทั้งนี้ตามพระพุทธภาษิตตอน ต่อไป ) " และได้ตรัสว่า คลายความพอใจในสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะพ้นจากทุกข์เป็นต้น.

๑๐. อาฬวกสูตร (ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ )

แสดงการตรัสตอบของพระผู้มีพระภาค ในเมื่ออาฬวกยักษ์ทูลถามแบบข่มขู่ คำถามคำตอบมีดังนี้ :-

" อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มในในโลกนี้ของบุรุษ ตรัสตอบว่า ศรัทธา ), อะไรประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ( ตรัสตอบว่า ธรรมะ ), อะไรมีรสดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย ( ตรัสตอบว่า สัจจะ ), ปราชญ์กล่าวถึงชีวิตของผู้เป็นอยู่เช่นไรว่า เป็นชีวิตอันประเสริฐ ( ตรัสตอบว่า ชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญ ). "

" จะข้ามโอฆะ๙ ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ข้ามได้ด้วยศรัทธา ), จะข้าม อรรณพ๑๐ ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ข้ามได้ด้วยความไม่ประมาท ), จะก้าวล่วงทุกข์ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยความเพียร ), จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยปัญญา ). "

" จะบรรลุเกียรติได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยสัจจะ ), จะผูกมิตรไว้ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ), ละโลกนี้ไปสู่โลกอื่น จะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า มีธรรมะผู้ครองเรือน ๔ อย่าง คือ สัจจะ, ธัมมะ,๑๑ ธิติ ( ความอดทน ), จาคะ ( การสละ ) ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก. " อาฬวกยักษ์ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เลื่อมใสในพระ พุทธศาสนา.

๑๑. วิชยสูตร ( ว่าด้วยชัยชนะ )

พรรณนาถึงความน่าเกลียดของร่างกายส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรติด ไม่ควรยึดถือ.

๑๒. มุนิสูตร ( ว่าด้วยมุนีคือผู้รู้ )

มีคำพรรณนาลักษณะต่าง ๆ ของมุนีไว้เป็นอันมาก เช่น " บัณฑิตทั้งหลายย่อมประกาศบุคคลผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวง, รู้จักสิ่งทั้งปวง, มีปัญญาดี, ไม่ติดในธรรมทั้งปวง, ละสิ่งทั้งปวง, หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา ว่าเป็นมุนี " ดังนี้เป็นต้น.

จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ซึ่งมี ๑๔ สูตร

๑๓. รตนสูตร ( ว่าด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเปรียบดุจรตนะ )

เป็นคำพรรณนาคุณพระรัตนตรัย ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน

๑๔. อามคันธสูตร (ว่าด้วยกลิ่นคาว )

เป็นสูตรที่พรรณนาถึงความชั่วทางกาย วาจา ใจ ว่าเป็นกลิ่นคาวมิใช่ปลาหรือของกินอื่น ๆ แล้วพรรณนาถึงการ ประกอบคุณงามความดีว่าทำให้ปราศจากกลิ่นคาว.

๑๕. หิริสูตร ( ว่าด้วยความละอายในการทำ ความชั่ว )

แสดงถึงการประกอบคุณงามความดีและคุณธรรมของมิตร ลงสุดท้ายให้ดื่มรสของความสงัด และรสของความสงบ ผู้ดื่มรส อันเกิดแต่ปีติในธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป.

๑๖. มงคลสูตร ( ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นมงคล)

ได้กล่าวไว้แล้ว ( ดูในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน )

๑๗. สูจิโลมสูตร (ว่าด้วยสุจิโลมยักษ์ )

แสดงการตรัสตอบปัญหาว่า ราคะ, โทสะ, ความไม่ยินดี, ความยินดี, ความกลัว, ( ขนพอง ), ความตรึก ล้วนเกิด จากอัตตภาพ ( คือร่างกายจิตใจ ) นี้ทั้งสิ้น ผู้ใดรู้และบันเทาได้ ผู้นั้นย่อมข้ามโอฆะได้.

๑๘. ธัมมจริยสูตร (ว่าด้วยการประพฤติธรรม )

แสดงว่าแม้การประพฤติธรรมและประพฤติพรหมจรรย์ จะเป็นแก้วอันประเสริฐ แต่ผู้ที่บวชแล้วถ้าประพฤติไม่ดี ชีวิตของผู้นั้นก็เลวทราม เพิ่มมลทินให้แก่ตน ต่อเมื่อละความชั่วต่าง ๆ จึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

๑๙. พราหมณธัมมิกสูตร (ว่าด้วยธรรมะของ พราหมณ์ )

พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณมหาศาลหลายคน ชี้แจงธรรมะของพราหมณ์ตามคติพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนมิให้เบียดเบียน เป็นคำสอนตรงกันข้ามกับคติของพราหมณ์ ที่มีการฆ่าสัตว์บูชายัญ. นอกจากนั้นยังแสดงภึงธรรมะอื่น ๆ พราหมณ์ก็ เลื่อมใส ปฏิญญาตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

๒๐. นาวาสูตร (ว่าด้วยเรือ )

เป็นคำสอนถึงการประพฤติธรรมว่า เปรียบเหมือนมีเรือข้ามน้ำได้..

๒๑. กึสีลสูตร (ว่าด้วยประพฤติอย่างไร จึงจะ บรรลุประโยชน์อันสูงสุด )

ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม.

๒๒. อุฏฐานสูตร (ว่าด้วยความหมั่น )

เป็นคำสอนปลุกใจให้ลุกขึ้น อย่ามัวหลับไหลอยู่ ให้ศึกษาเพื่อสันติ อย่าปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่า.

๒๓. ราหุลสูตร (ว่าด้วยพระราหุล )

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพระราหุลเนือง ๆ ด้วยพระพุทธโอวาทใจความว่า ให้ละกามคุณ ๕ คบกัลยาณมิตร เสพเสนาสนะอันสงัด รู้ประมาณในอาหาร อย่าทำความทะยานอยากในปัจจัย ๔ สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) ในอินทรีย์ ๕ ( มีตาเป็นต้น ) เจริญกายคตาสติ มากด้วยความหน่าย ( ในโลกิยะ ). เจริญนิมิตว่าไม่งาม และเจริญความไม่มีนิมิต ถอนกิเลสที่แฝงด้วยตัวคือ มานะเสีย.

๒๔. วังคีสสูตร (ว่าด้วยพระวังคีสะ )

พระวังคีสะกราบทูลถามถึงพระอุปัชฌายะของตน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปัชฌายะของเธอดับตัณหาได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว.

๒๕. สัมมาปริพพาชนิยสูตร (ว่าด้วยการเที่ยว ไปด้วยดี )๑๒

พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงว่า ผู้เช่นไรชื่อว่าเที่ยวไปด้วยดี หรือมีหลักธรรมของปริพพาชกอย่างแท้จริง โดยใจ ความคือกิเลสต่าง ๆ ไม่ติด อยู่ในโลกิยธรรม.

๒๖. ธัมมิกสูตร (ว่าด้วยธัมมิกอุบาสก )

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของธัมมิกอุบาสกถึงคุณสมบัติของพระสาวกที่ดี โดยใจความ คือไม่ละเมิดพระวินัย ฟังธรรมแล้วพิจารณาส้องเสพ ( ธรรม ) ด้วยดี และได้แสดงถึงคุณสมบัติของสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ เช่น ให้รักษาอุโบสถ, เว้นทุจจริต, เลี้ยง มารดาบิดา ประกอบด้วยการค้าอันถูกต้องตามธรรม.

จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ซึ่งมี ๑๒ สูตร

๒๗. ปัพพัชชาสูตร (ว่าด้วยการบวช )

ตรัสเล่าเรื่องการเสด็จออกผนวชของพระองค์ จนกระทั่งเสด็จผ่านกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเห็น ทรงส่งทูตตามไป ทราบที่พักแล้วเสด็จด้วยพระองค์เองไปถึงที่ประทับ ณ บัณฑวบรรพต ทูลถามถึงพระชาติ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบตอน นั้นยังมิได้ตรัสรู้ ).

๒๘. ปธานสูตร (ว่าด้วยการตั้งความเพียร )

พระผู้มีพระภาคเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ขณะทรงบำเพ็ญเพียรใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ทรงตอบมารชื่ออนมุจิ ซึ่งมาพูดกล่อม พระทัยให้เลิกความเพียร ทรงชี้ว่า กาม, ความริษยา, ความหิวระหาย, ความทะยานอยาก, ความหดหู่ ง่วงงุน, ความหวาดกลัว, ความสงสัย, ความลบลู่บุญคุณผู้อื่น ความตีเสมอ เป็นเสนามารที่ ๑ ถึงที่ ๘ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังทรงแสดงเสนามารต่อไปอีก คือลาภ, ชื่อเสียง, สักการะ, ยศที่ได้มาโดยผิดธรรม, การยกตัวเอง, การดูหมิ่นผู้อื่น แล้วตรัสว่า ในการทำสงคราม ( กับพญามาร ) นั้น พระองค์ยอมตายดีกว่า ที่จะเป็นผู้แพ้แล้วมีชีวิตอยู่. พญามารเสียใจที่ไม่สามารถเอาชนะพระองค์ได้ จึงหายไปในที่นั้น.

๒๙. สุภาสิตสูตร (ว่าด้วยคำสุภาษิต )

พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงองค์ ๔ ของวาจาสุภาษิตที่ไม่มีโทษ ที่วิญญูชนไม่ติเตียน คือ ๑. พูดเป็นสุภาษิต ๒. พูดเป็นธรรม ๓. พูดเป็นที่รัก ๔. พูดจริง ไม่พล่อย. แล้วพระวังคีสะกราบทูลขยายความเป็นคำฉันท์.

๓๐. สุนทริกสูตร (ว่าด้วยสุนทริก ภารทวาช พราหมณ์ )

พราหมณ์ภารทวาชโคตร ชื่อสุนทริกะ เห็นพระผู้มีพระภาค ก็ถามว่า ท่านชาติอะไร ( ในวรรณะ ๔ ) พระองค์ตรัส ตอบว่า อย่าถามถึงชาติเลย จงถามถึงความประพฤติดีกว่า แล้วทรงแสดง แสดงคุณสมบัติของมุนี ที่แม้เกิดในสกุลต่ำ แต่ประพฤติดี ทำลาย กิเลส ก็นับเป็นอาชาไนยได้ พราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก.

๓๑. มาฆสูตร (ว่าด้วยมาฆมาณพ )

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของมาฆมาณพเรื่องผู้ประสงค์บุญควรบูชายัญอย่างไร โดยทรงแสดงว่า ควรบูชา ท่านผู้มีคุณสมบัติที่ดีงาม ละกิเลสได้ มาณพก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก

๓๒. สภิยสูตร (ว่าด้วยสภิยปริพพาชก)

สภิยปริพพาชกไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเรื่องคุณสมบัติของภิกษุ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ. ปริพพาชกขอบรรพชา อุปสมบทและได้สำเร็จอรหัตตผล.

๓๓. เสลสูตร (ว่าด้วยเสลพราหมณ์ )

เนื้อความอย่างเดียวกับเสลสูตร ที่ย่อไว้แล้ว หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๕ ) หมายเลขที่ ๔๒. เสลสูตร

๓๔. สัลลสูตร (ว่าด้วยลูกศรคือความโศก )

ส่วนใหญ่พรรณนาถึงชีวิตที่ใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกขณะ เมื่อบุคคลถอนลูกศรได้ ก็จะไม่เศร้าโศก ได้นิพพาน.

๓๕. วาเสฏฐสูตร (ว่าด้วยเสฏฐมาณพ )

มีข้อความอย่างเดียวกับที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๕) หมายเลขที่ ๔๘.วาเสฏฐสูตร

๓๖. โกกาลิกสูตร (ว่าด้วยพระโกกาลิกะ )

มีความพ้องกับที่ย่อไว้แล้ว หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ ) ในหมวด ๕๐ ที่ ๒ หมายเลขที่ ๔

๓๗. นาลกสูตร (ว่าด้วยพระนาสกะ )

พระนาลกะ ( ผู้เป็นน้องชายของอสิตดาบส ) ถามปัญหาเรื่องโมเนยยปฏิบัติ ( การปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี ), พระผู้มี พระภาคตรัสตอบแสดงคุณสมบัติของมุนี.

๓๘. ทวยตานุปัสสนาสูตร (ว่าด้วยการพิจารณาธรรมที่เป็นคู่ )

คือพิจารณาทุกข์พร้อมด้วยเหตุให้ทุกข์เกิด พิจารณาความดับทุกข์ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อ พิจารณาเป็นคู่อย่างนี้ อย่างไม่ประมาท มีความเพียร ก็จะได้บรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลสเหลือ ก็จะได้เป็นพระอนาคามี. นอก จากนั้นได้ตรัสแสดงวิธีพิจารณาธรรมเป็นคู่อย่างพิสดาร.

จบวรรคที่ ๓ ขึ้นวรรคที่ ๔ ซึ่งมี ๑๖ สูตร๑๓

๓๙. กามสูตร (ว่าด้วยกาม )

พรรณาโทษของกามและสอนให้เว้นกาม เหมือนวิดน้ำเรือรั่วพาเรือให้ถึงฝั่งได้.

๔๐. คุหัฏฐกสูตร (ว่าด้วยข้อเปรียบเทียบมิให้ ติดอยู่ในถ้ำ )

โดยใจความ ให้รู้ความจริงเรื่องกาม มีความรู้เท่า ไม่ติดยึดถือ ก็จะข้ามโอฆะได้. อนึ่ง คำว่า ถ้ำ นั้น หมายถึง ร่างกาย.

๔๑. ทุฏฐัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในทิฏฐิ อันชั่ว )

แสดงว่ามุนีไม่ติดอยู่ในทิฏฐิความเห็น เพราะมีคุณธรรม จึงไม่ติดอัตตา หรือนิรัตตา ( อนัตตา ).

๔๒. สุทธัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในความ บริสุทธิ์ที่คนเข้าใจผิดว่าจะมีได้ด้วยการเห็น )

มีบางคนเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์ จะมีได้เพราะได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสสอนมิให้ติดในสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง เป็นต้น.

๔๓. ปรมัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในสิ่งที่ ยอดเยี่ยมตามความเห็นผิด )

ข้อสำคัญคือให้คลายทิฏฐิ อย่ายึดถือในสิ่งใด ๆ.

๔๔. ชราสูตร (ว่าด้วยความแก่ )

แสดงว่าชีวิตน้อย ในที่สุดก็จะต้องตาย ไม่ควรยึดถือ คนที่เรารักตายไปแล้ว ก็ไม่ได้เห็นกัน เปรียบเหมือนการ ฝันไป ตื่นขึ้นก็ไม่เห็น.

๔๕. ติสสเมตเตยยสูตร (ว่าด้วยติสสเมตเตยย- มาณพ )

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องโทษของกาม ตรัสแนะนำให้ศึกษาความสงัด.

๔๖. ปสูรสูตร (ว่าด้วยปริพพาชกชื่อปสูระ )

ตรัสแสดงว่า ผู้ที่ติดอยู่ในความเห็น หรือสัจจะเฉพาะอย่าง ย่อมโต้เถียงกันว่า ความบริสุทธิ์มีเฉพาะในลัทธิของตน แล้วตรัสแสดงโทษของความติดในทิฏฐิ.

๔๗. มาคัณฑิยสูตร (ว่าด้วยคัณฑิยพราหมณ์ )

ตรัสแสดงให้เห็นความน่าเกลียดของกายนี้ อันเต็มไปด้วยของโสโครก และตรัสสอนให้ละมานะความถือตัว ไม่ติด ในกาม ไม่ยึดมั่นสัญญา ( ความกำหนดหมายในใจ ) และทิฏฐิความเห็น.

๔๘. ปุราเภทสูตร (ว่าด้วยภายหลังความตาย )

ตรัสสอนให้ละตัณหา ไม่มีความยึดถือ. มีคำสอนไม่ให้ยึดอัตตาและนิรัตตา ( อนัตตา ) ทั้งสองด้วย.

๔๙. กลหวิวาทสูตร (ว่าด้วยการทะเลาะ วิวาท )

ตรัสแสดงเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท แล้วตรัสสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณา เป็นผู้หลุดพ้น ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร.

๕๐. จูฬวิยูหสูตร (ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะ ทิฏฐิ สูตรเล็ก )

ตรัสสอนให้เห็นว่า การติดความคิดเห็นเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันซึ่งควรจะแก้ไข.

๕๑. มหาวิยูหสูตร (ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะ ทิฏฐิ สูตรใหญ่ )

ตรัสสอนผลร้ายของการวิวาทกันและสอนมิให้ยึดถือ.

๕๒. ตุวฏกสูตร (ว่าด้วยสันติบท คือทางแห่ง ความสงบ๑๔ )

พระผู้มีพระภาคแสดงทางแห่งความสงบและมีข้อความเรื่องไม่มีอัตตา และนิรัตตา ( อนัตตา ) และคุณธรรมอื่น ๆ ที่เป็นไปเพื่อไม่ยึดถือ.

๕๓. อัตตทัณฑสูตร (ว่าด้วยโทษของตน )

ตรัสสอนให้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท และให้ตั้งอยู่ในคุณความดี.

๕๔. สาริปุตตสูตร (ว่าด้วยพระสาริบุตร )

แสดงการโต้ตอบระหว่างพระผู้มีพระภาคกับพระสาริบุตรเรื่องคุณธรรมของภิกษุ.

จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ซึ่งมี ๑๖ สูตร

ในวรรคที่ ๕ นี้ แสดงการถามปัญหาของมาณพ ๑๖ คน ซึ่งพาวรีพราหมณ์แต่งปัญหาให้ศิษย์ ของตน ๑๖ คนไป กราบทูลพระผู้มีพระภาค เพื่อรู้ว่าจะเป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือไม่. สูตรทั้งสิบหกจึงมีชื่อตามชื่อของมาณพทั้งสิบหก ซึ่งแต่ละสูตรแสดงคำถามและ คำตอบ ( เป็นคำฉันท์ ) ในที่นี้จะแสดงชื่อมาณพทั้งสิบหกนั้นคือ ๑. อชิตะ ๒. ติสสเมตเตยยะ ๓. ปุณณกะ ๔. เมตตคู ๕. โธตกะ ๖. อุปสีวะ ๗. นันทะ ๘. เหมกะ ๙. โตเทยยะ ๑๐. กัปปะ ๑๑. ชตุกัณณี ๑๒. ภัทราวุธะ ๑๓. อุทยะ ๑๔. โปสาละ ๑๕. โมฆราช ๑๖. ปิงคิยะ ( เมื่อรวม ๑๖ สูตรนี้เข้าด้วย จึงเป็น ๗๐ สูตร ).

( หมายเหตุ : สาระสำคัญในสุตตนิบาตนี้ ส่วนใหญ่แสดงคุณธรรมที่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ให้ดับกิเลสเพื่อบรรลุ นิพพาน แม้คำถามคำตอบของมาณพ ๑๖ คน ก็เป็นไปในเรื่องความหลุดพ้นแทบทั้งสิ้น.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย

ขุททกปาฐะ, ธัมมปทคาถา, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต.

'๑' . การนับจำนวนว่า ๓๗ นี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ในอรรถกถาท่านนับเป็น ๓๘ โดยการแยกการบำรุงมารดากับ การบำรุงบิดาไว้เป็น ๒ ข้อ และว่าอาจแยกข้อสงเคราะห์บุตร กับภริยาออกเป็น ๒ ข้ออีกก็ได้ หรือจะรวมอย่างที่เขียนไว้ข้างบน ( คือรวมเป็น ๓๗ ข้อ ) ก็ได้

'๒' . พระสูตรเหล่านี้ได้เลือกแปลไว้บ้างแล้ว รวม ๑๕ สูตร หรือ ๑๕ หัวข้อ คือระหว่างหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒-๒๑ หมายเลข ๒ ถึง ๑๔ และ ๑๗-๑๘-๑๙ ที่นำมาย่อไว้ในตอนนี้จะเลือกที่ไม่ซ้ำกัน

'๓' . คำขึ้นต้น แบบเดียวกับข้อ ๑, ๒ จึงละไว้ ไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก. และเป็นอันโปรดทราบด้วยว่า จนจบอิติวุตตกะ มีคำ ขึ้นต้นแบบเดียวกันทั้งสิ้น

'๔' . โยคะ คือกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ

'๕' . คำเต็มว่า ไม่สำรวมทวารในอินทรย์ทั้งหลาย โดยใจความ คือไม่ระวังตา หู เป็นต้น

'๖' . วณิพพก กับยาจก ต่างกัน คือวณิพพก คือผู้ขออย่างพรรณนาอานิสงส์ของทานว่า จะให้ได้บรรลุผลดีอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนยาจก คือผู้ขอธรรมดา ทั้งนี้เป็นคำอธิบายของอรรถกถา

'๗' . แรดพันธุ์อินเดีย มีนอหรือเขาเดียว แต่พันธุ์ของประเทศอื่น มีนอคู่บ้าง นอเดียวบ้าง

'๘' . มรรค หมายถึงหนทาง หรือข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความดับทุกข์

'๙' . โอฆะ ได้แก่ห้วงน้ำคือกิเลส มี ๔ อย่าง คือ กาม, ภพ, ทิฏฐิ, อวิชชา

'๑๐' . อรรณพ ได้แก่ห้วงน้ำ หรือมหาสมุทร คือความเวียนว่ายตายเกิด

'๑๑' . ธัมมะในที่นี้ หมายถึงทมะการฝึกตนหรือความข่มใจ

'๑๒' . พระสูตรนี้ เท่ากับการให้ความหมายของคำว่า ปริพพาชก ตามหลักพระพุทธศาสนา. เมื่อแปลตามศัพท์ปริพพาชก แปลว่า ผู้เที่ยวไป เป็นชื่อนักบวชนอกพระพุทธศาสนา

'๑๓' . มีเรื่องเล่าว่า พระโสณกุฏิกัณณะ ได้เคยสวดพระสูตร ๑๖ สูตรนี้ ในที่พระพักตร์พระศาสดา อันแสดงว่า มีการท่อง จำพระสูตรมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล ดูหน้าความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ) พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี

'๑๔' . ตามศัพท์ ตุวฏะ หรือตุวฏกะ แปลว่า เร็ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2010, 18:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๒๖ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๘)
วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา.


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ นี้ มีเรื่องใหญ่ แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑. วิมานวัตถุ เรื่องวิมานแสดงว่า ใครทำความดีอย่างไร ทำให้ได้วิมานอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตร เทพธิดา ถึงอดีตกรรมที่ส่งผลให้ได้ เกิดในวิมานนั้น ๆ มีคำตอบของผู้ถูกถามเป็นราย ๆ ไป รวม ๘๕ ราย. ๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต คือผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้รับทุกข์ ทรมานในสภาพของเปรต มีลักษณะต่าง ๆกัน ๕๑ เรื่อง ๓. เณรคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถระต่าง ๆ รวม ๒๖๔ รูป. ๔. เถรีคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถรี ( นางภิกษุณีผู้เป็นเถรี ) รวม ๗๓ รูป.

๑. วิมานวัตถุ เรื่องการได้วิมาน

เรื่องถามตอบระหว่างพระมหาโมคคัลลานเถระ กับเทพบุตร เทพธิดา ผู้ได้วิมานต่าง ๆ กันนั้น แม้จะปรากฏว่ามี มากราย แต่ก็พอจะสรูปได้ว่า เป็นคำตอบแสดงผลดีของการทำความดี เช่น การทำอัญชลีกรรมต่อท่านผู้มีศีลบ้าง, การถวายทานบ้าง, การ รักษาศีลบ้าง, การให้น้ำดื่มบ้าง, การจุดไฟเพื่อประโยชน์แก่คนไปมาในที่มืดบ้าง, การฟังธรรมบ้าง, การรักษาอุโบสถบ้าง, การตั้งอยู่ใน คุณธรรม เช่น ไม่โกรธบ้าง.

มีข้อสังเกตก็คือ มิใช่แต่พระมหาโมคคัลลานะถามอย่างเดียว บางครั้งเทพบุตรนั้นก็มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูล เล่าความในอดีตก็มี.

๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต

ในเรื่องเปตวัตถุ หรือเรื่องของเปรตนี้ บางตอนก็เป็นคำสอนปรารภผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยให้คติว่าควรทำบุญอุทิศไป ให้เปรตเหล่านั้น ( คำว่า เปรต แปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วทั่ว ๆ ไป กับอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงผู้เกิดในสภาพที่ได้รับความทุกข์ทรมานที่เรียก กันว่าเปรต ), บางครั้งพระเถระบางรูปไปพบเปรตอยู่ในลักษณะงดงามดีทุกอย่าง แต่ปากที่หนอนไต่ มีกลิ่นเหม็น เมื่อไต่ถามเปรตนั้นก็เล่าว่า ตนเคยเป็นสมณะพูดชั่วไม่สำรวมปาก แต่มีความเพียรดี จึงมีผลเป็นอย่างนี้, เปรตบางตนกินอุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง ( กินอะไรเข้าไป พอถึงปากก็กลายเป็นของโสโครกเหล่านั้น ) เป็นผลของการที่ด่าสมณพราหมณ์ เมื่อสามีเคยให้ทาน แต่ตนไม่เห็นด้วย คำด่านั้นว่า เจ้าจงกิน ของไม่สะอาด คืออุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง เป็นต้น.

๓. เถรคาถา ภาษิตของพระเถระ

ได้กล่าวแล้วว่า เถรคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถระต่าง ๆ ถึง ๒๖๔ รูป ในที่นี้จักนำมากล่าวเป็น ตัวอย่าง ๑๐ รูป คือ :-

๑. ภาษิตของพระสุภูติเถระ

" เรามุงกระท่อมแล้ว ไม่มีลมพัดผ่านเป็นสุข ( มีความหมายว่า ป้องกันจิตใจมิให้กิเลสรั่วรดได้ ), ฝนจงตกตามสบาย เถิด. จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้ว เราอยู่อย่างมีความเพียร. ฝนจงตกเถิด. "

๒. ภาษิตของมหาโกฏฐิตเถระ

" ผู้สงบระงับ, ยินดี ( ในธรรม ), พูดเป็นคติ, ไม่ฟุ้งสร้าน ย่อมกำจัดบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมพัด ทำให้ใบไม้ร่วง ฉะนั้น. "

๓. ภาษิตของพระอชิตเถระ

" เราไม่ความกลัวในความตาย, ไม่มีความใคร่ในชีวิต, เราจักมีสติสัมปชัญญะ ทอดทิ้งกายของตนไป ( ตายอย่างมี ความรู้เท่าและมีสติ. "

๔. ภาษิตของพระโสปากเถระ

" บุคคลพึงเป็นผู้ฉลาดในบุตรซึ่งเป็นที่รักคนเดียวฉันใด ก็พึงเป็นผู้ฉลาดในสัตว์มีชีวิตทั้งปวงฉันนั้นเถิด. ( พึงมีความรู้สึกในผู้อื่นเหมือนบุตรที่รักคนเดียวของตน จะได้ไม่คิดเบียดเบียน และจะได้เห็นอกเห็นใจ ). "

๕. ภาษิตของพระปุณณเถระ

" ศีลเป็นสิ่งเลิศในโลกนี้, แต่ผู้มีปัญญา นับเป็นผู้สูงสุด, บุคคลย่อมชนะทั้งในมนุษย์และในเทพทั้งหลาย เพราะศีล และปัญญา. "

๖. ภาษิตของพระนีตเถระ

" หลับตลอดคืน, ยินดีในความคลุกคลีด้วยหมู่ตลอดวัน, ผู้มีปัญญาทรามจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เมื่อไหร่กัน. "

๗. ภาษิตของพระอุตตรเถระ

" ภพ ( ความมีความเป็น ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี, แม้สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงก็ ไม่มี, ขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้นและเคลื่อน ( แปรปรวน ) ในกาลต่อ ๆ ไป ; เรารู้โทษนี้แล้ว จึงไม่ต้องการภพ แล่นออกจากกามทั้งหลาย บรรลุ ความสิ้นไปแห่งอาสวะ. "

๘. ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ

" เราละนีวรณ์ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ๕ ประการแล้ว เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่ง จากกิเลสเครื่อง ผูกมัด จึงจับแว่นธรรมคือญาณทัสสนะของตนส่องดูกายนี้หมดทั้งภายนอกภายใน. กายก็ปรากฏว่างเปล่าทั้งภายในภายนอก. "

๙. ภาษิตของพระหาริตเถระ

" ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมถูกกำจัดจากฐานะอันเป็นสุข และย่อมเดือดร้อนในภาย หลัง. พึงพูดสิ่งที่ทำได้ ไม่พึงพูดสิ่งที่ทำไม่ได้. บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด. พระนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ไม่มี ความเศร้าโศก ไม่มีธุลี ปลอดโปร่ง ไม่มีความทุกข์ เป็นสุขดีหนอ. "

๑๐. ภาษิตของพระนทีกัสสปเถระ

" พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่แม่น้ำเนรัญชราเพื่อประโยชน์แก่เรา, เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเปลื้องความเห็นผิด ได้. เราได้บูชายัญทั้งสูงทั้งต่ำและบูชาไฟ เป็บนบุถุชนผู้เหมือนมืดบอด สำคัญว่านั่นเป็นความบริสุทธิ์. เราวิ่งไปตามความยึดถือทิฏฐิ หลงไป เพราะความยึดถือ สำคัญความไม่บริสุทธิ์ว่าเป็นความบริสุทธิ์ จึงเป็นคนบอดคนเขลา. เราละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว ทำลายภพทั้งปวงได้แล้ว. เรา บูชาไฟที่ควรแก่ทักษิณา ( บูชาบุคคลผู้มีคุณธรรม ) นมัสการพระตถาคต. เราละความหลงทั้งปวงแล้วทำลายภวตัณหา ( ความทะยานอยากใน ภพ ) ได้แล้ว สิ้นความเวียนเกิดแล้ว ไม่มีการเกิดอีก. "

๔. เถรีคาถา ภาษิตของพระเถรี

ได้กล่าวแล้วว่า เถรีคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถรี คือนางภิกษุณีต่าง ๆ จำนวน ๗๓ รูป ในที่นี้ จักนำมากล่าวเป็นตัวอย่าง ๑๐ รูปเช่นกัน :-

๑. ภาษิตของพระนางปุณณาเถรี

" ดูก่อนปุณณา๑ ! เธอจงเต็มไปด้วยธรรมทั้งหลาย เหมือนดวงจันทร์วัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ จงทำลายกองแห่งความมืดด้วยปัญญาอันบริบูรณ์. "

๒. ภาษิตของพระนางติสสาเถรี

" ดูก่อนติสสา ! เธอจงศึกษาตามข้อที่ควรศึกษา กิเลสเครื่องผูกมัดอย่าก้าวล่วง ( เอาชนะ ) เธอได้ เธอจงเปลื้องตน จากเครื่องผูกมัดทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) เที่ยวไปในโลก. "

๓. ภาษิตของพระนางมิตตาเถรี

" เธอบวชด้วยศรัทธาแล้ว พึงยินดีในมิตรว่าเป็นมิตร จงเจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากเครื่อง ผูกมัด. "

๔. ภาษิตของพระนางอุปสมาเถรี

" ดูก่อนอุปสมา ! เธอจงข้ามโอฆะอันเป็นที่ตั้งแห่งมาร อันข้ามได้โดยยาก จงชนะมารพร้อมทั้งเสนา ทรงไว้ซึ่ง ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย ( อย่าเกิดอีก ). "

๕. ภาษิตของพระนางสุมนาเถรี

" เห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ ก็อย่าให้ความเกิดมาหาอีก คลายความพอใจในภพแล้ว เธอก็จักสงบระงับ เที่ยวไป. "

๖. ภาษิตของพระอุตตราเถรี

" เราสำรวมกาย วาจา ใจ แล้วถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้ จึงเป็นผู้ดับเย็นแล้ว. "

๗. ภาษิตของพระนางธัมมาเถรี

" เราเที่ยวบิณฑบาต ถือไม้เท้า มีกำลังน้อย มีตัวสั่นเทา ล้มลงบนดินในที่นั้น เห็นโทษในกายแล้ว จิตของเราก็ หลุกพ้น. "

๘. ภาษิตของพระนางสังฆาเถรี

" เราละเรือนบวชแล้ว ละบุตร และสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ละราคะ โทสะ หน่ายอวิชชาแล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้ง รากเสียได้ จึงเป็นผู้สงบระงับดับเย็น. "

๙. ภาษิตของพระนางอภยมาตาเถรี

" แน่ะแม่ ! เธอจงพิจารณาดูกายนี้ อันไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่กระหม่อมผมลง ไป. เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ก็จะถอนความกำหนัดยินดีทั้งปวง ถอนความเร่าร้อนได้ ก็จะเป็นผู้ดับเย็น. "

๑๐. ภาษิตของพระนางนันทิกาเถรี

" เราออกจากที่พักกลางวันบนเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นช้างข้ามขึ้นจากน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำ ชาย ( คนหนึ่ง ) ถือขอ พูดว่า ส่งเท้ามา ช้างก็เหยียดเท้าให้ เขาก็ขึ้นสู่ช้าง ครั้นเห็นสัตว์ที่ยังมิได้ฝึก ถูกฝึกแล้ว ไปสู่อำนาจมนุษย์ได้ จากที่นั้นเราจึงไปสู่ป่าทำจิตให้ตั้งมั่น ( ฝึกตนเองดูบ้าง ). "

หมายเหตุ : ในเถรีคาถานี้ ภาษิตบางตอนเป็นพระพุทธภาษิตตรัสสอนก็มี เช่น ที่ตรัสสอนพระนางรูปนันทา.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ ขุททกนิบาท

วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา.

'๑' . เป็นภาษิตสอนใจตนเอง จึงเรียกชื่อตัวเอง. มีหลายรายที่เป็นคำสอนปรารภชื่อแล้วให้มีคุณธรรมสมตามชื่อ


( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙)
เล่มที่ ๒๗ ชื่อขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๑


ในเล่มที่ ๒๗ นี้ อันเป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทาน สุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎก ไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน เรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา คือหนังสือที่แต่ง ขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง. คำว่า ชาตก หรือชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอา กำเนิดในชาติต่าง ๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้าง ชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้าง น้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระ พุทธเจ้าในชาติสุดท้าย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่าเรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็น พระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้. ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบาง เรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรม ในนิทานนั้น ๆ. อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่า ชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ลองนับดูแล้ว ปรากฏว่าในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้นน่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่า ใกล้เคียงมาก.

วิธีจัดระเบียบชาดกนั้น จัดตามจำนวนคำฉันท์น้อยขึ้นไปหามาก และตั้งชื่อหมวดหมู่ตามจำนวน คำฉันท์นั้น คือเอกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์บทเดียว มี ๑๕๐ เรื่อง ทุกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๒ บท มี ๑๐๐ เรื่อง ติกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๓ บท มี ๕๐ เรื่อง ดังนี้เป็นต้น ในเล่มที่ ๒๗ มีจนถึงจัตตาลีสนิบาตชาดก ( ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๔๐ บท มี ๕ เรื่อง ) ส่วนเล่มที่ ๒๘ มีชุมนุมคำฉันท์ ๕๐ บท, ๖๐ บท, ๗๐ บท, ๘๐ บท และมีมหานิบาต คือชุมนุมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่อง อันมีมหา เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสุดท้าย.

เป็นอันว่าพระไตรปิฎกที่ว่าด้วยเรื่องชาดกคือคำสอนแบบเล่านิทานคติธรรมนี้ มีอยู่ ๒ เล่ม คือ เล่มที่ ๒๗ และเล่มที่ ๒๘ ส่วนอรรถกถา คือหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง ขยายความเล่านิทานให้พิสดารออกไปนั้นมีถึง ๑๐ เล่ม แสดงว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่แม้เช่นนั้นก็มีชาวต่างประเทศแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้เรียบร้อยแล้ว รวม ๖ เล่มใหญ่ คือฉบับมหาวิทยาลัย เคม บริดจ์ พิมพ์ครั้ง แรกเมื่อ ค. ศ. ๑๘๙๕ คือ ๘๐ ปีเศษมาแล้ว. นอกจากนั้นยังมีสำนวนอื่นอีก ๒ สำนวน คือสำนวนของ ริส เดวิดส์ แปลไว้ ๔๐ เรื่องสำนวน ของแฟรนซิส กับ ธอมัส แปลไว้ ๑๑๔ เรื่อง.

ในการย่อนี้จะไม่นำนิทานในอรรถกถามาเล่าเลย แต่จะเลือกนำภาษิตคติธรรมซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ มาแปลให้เห็นเนื้อหาแห่งคำสอนสัก ๑๐ บท จากชาดกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ).

๑. อปัณณกชาดก

" คนบางคนกล่าวฐานะที่ไม่ผิด นักตรึก ( นักตรรกวิทยา ) กล่าวฐานะที่ ๒ บัณฑิตรู้เนื้อความนั้นแล้ว พึงถือเอา เฉพาะฐานะที่ไม่ผิด. "

( หมายเหตุ : ภาษิตนี้แสดงให้เห็นหลักทางพระพุทธศาสนา ที่ให้ถือความจริงที่แน่นอน เรื่องของการคิดคาด คะเน หรือการเดา ซึ่งเป็นฐานะที่ ๒ นั้นมิใช่คติที่พึงยึดถือ พูดง่าย ๆ ว่า ทางพระพุทธศาสนา รับรองเฉพาะความจริงที่ประจักษ์ชัด ไม่ยอม เดาในเรื่องใด ๆ ).

๒. วัณณุปถชาดก

" พ่อค้าเกวียนทั้งหลาย ไม่เกียจคร้าน ขุด ( หาน้ำอยู่ ) ในทางทราย ก็ได้พบน้ำในเนินทราย ( ในทะเลทราย ) นั้น. ท่านผู้เป็นมุนีก็เช่นกัน เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือความเพียร ไม่เกียจคร้าน พึงประสบความสงบแห่งหทัยได้."

๓. จุลลกเสฏฐชาดก

" ผู้มีปัญญาพิจารณา ( เหตุผล ) ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนแม้น้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ( ให้เป็น กองใหญ่ ) ฉะนั้น."

๔. มตกภัตตชาดก

" ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้อย่างนี้ว่า ความเกิดนี้เป็นทุกข์, ผู้มีชีวิตจึงไม่พึงเบียดเบียนผู้มีชีวิตด้วยกัน, เพราะผู้ทำร้ายผู้มี ชีวิต ย่อมเศร้าโศก."

๕. ติตถชาดก

" ดูก่อนนายสารถี ! ท่านจงนำม้าไปดื่มน้ำที่ท่าอื่นบ้างสิ คนเรายังเบื่อข้าวปายาสที่กินซ้ำ ๆ ได้. "

( หมายเหตุ : เป็นคำแนะนำของบัณฑิตให้นำม้าของพระราชา ซึ่งไม่ยอมลงดื่มน้ำในท่าน้ำที่จำเจ โดยให้นำ ไปดื่มที่ท่าอื่นดูบ้าง เพราะคนเรายังรู้จักเบื่ออาหารที่กินซ้ำ ๆ คติของเรื่องนี้คือให้แก้ไขเรื่องต่าง ๆ อย่างใช้ปัญญา ).

๖. นันทิวิสาลชาดก

" ควรกล่าวแต่วาจาที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรกล่าววาจาที่ไม่น่าพอใจในกาลไหน ๆ. เมื่อเศรษฐีกล่าวคำที่น่าพอใจ โค ( นันทิวิสาล ) ได้ลากภาระหนักไปได้ ทำให้เศรษฐีได้ทรัพย์ และเอิบอิ่มใจ เพราะเหตุนั้น. "

๗. สัมโมทมานชาดก

" นกทั้งหลายชื่นชมต่อกัน ( สามัคคีกัน ) ก็พาเอาข่ายไปได้ เมื่อใดนกเหล่านั้นทะเลาะกัน เมื่อนั้น ก็มาสู่อำนาจ ของเรา. "

( หมายเหตุ : นายพรานพูดเมื่อนกกระจาบติดข่ายเพราะทะเลาะและเกี่ยงแย่งกัน ไม่เหมือนคราวแรก ๆ ที่ ยังสามัคคีกัน บินขึ้นพร้อมกับนำเอาข่ายที่ดักไว้ไปติดบนต้นไม้และรอดชีวิตไปได้ ).

๘. ทุมเมธชาดก

" คนมีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่ตน, ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและ คนอื่น. "

๙. สุวัณณหังสชาดก

" พึงยินดีตามที่ได้ เพราะว่าความโลภเกินไปเป็นความชั่ว เช่น เรื่องคนจับพญาหงส์ เลยเสื่อมจากทอง. "

( หมายเหตุ : คือเรื่องโลภมากลาภหาย เดิมได้ขนทองซึ่งหงส์ทองมาสลัดให้ แต่คิดโลภมาก จับหงส์ไว้ แล้ว ถอนขนหมดทั้งตัว ขนที่เคยเป็นทองก็เลยกลายเป็นขนนกธรรมดาไป ).

๑๐. อุภโตภัฏฐชาดก

" ตาก็แตก ผ้าก็หาย ทั้งยังทะเลาะกันในเรือนของเพื่อนบ้าน. เขามีการวางงานอันถูกประทุษร้ายทั้งสองทาง คือทั้ง ในน้ำและบนบก. "

( หมายเหตุ : เป็นเรื่องของสองผัวเมียชาวประมง ผัวตกเบ็ดติดตอ นึกว่าได้ปลาใหญ่ เกรงว่าเพื่อนบ้านจะ ขอ จึงสั่งให้ลูกไปบอกกับเมียให้ไปเที่ยวทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ตัวเองดึงสายเบ็ด แต่ดึงไม่ขึ้น จึงเปลื้องผ้าทิ้งไว้บนฝั่ง ลงไปงมถูกตอตำ ตาแตก ครั้นขึ้นมา ก็ไม่มีผ้าจะนุ่ง เพราะมีใครขโมยไปแล้ว ทางบ้านก็แตกกับเพื่อนบ้านหมด เพราะเมียไปทะเลาะตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว ).

จบเล่มที่ ๒๗ ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๑


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร