วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2021, 09:33 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: :b50: :b47: จิตเป็นของฝึกยาก
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๑


รูปภาพ

ต่อนี้ไปพึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้ดี อย่าปล่อยใจไปทางอื่น
เพราะใจนี้เป็นการรักษาได้ยากเหลือเกิน
ขอให้พากันพากเพียรพยายามรักษาใจดวงนี้ให้มันได้
การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี้ ความหมายมุ่งหมายก็เพื่อให้รักษาใจดวงนี้แหละ
ให้มันตั้งมั่นอยู่ในบุญในกุศล อย่าให้มันไปตั้งมั่นอยู่ในบาปอกุศล
เพราะว่าบุญกุศลกับบาปกรรมนี้ เป็นคู่ศัตรูกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรเลยทีเดียว
ถ้าหากว่าตนเองไม่ฝึกตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณแล้ว
บาปอกุศลมันก็จะมีอำนาจเหนือจิตใจนี้ มันเป็นคู่แข่งกันมาแต่ไหนแต่ไร
แต่ว่ามีใจเป็นประมุขประธานของบุญและบาป สุดแล้วแต่ใจน้อมไปทางไหน
เมื่อใจน้อมไปทางบาป บาปมันก็มีกำลังขึ้นในใจ
ถ้าใจน้อมไปทางบุญกุศล กุศลก็มีกำลังขึ้นในใจ
ก็มันเป็นอย่างนั้น จิตของปุถุชนผู้ยังไม่ได้บรรลุถึงโลกุตตรธรรมเนี่ย

รวมความแล้ว เรียกว่ามันมีทั้งบุญทั้งบาปติดตามมาตั้งแต่อเนกชาติโน้น
เหตุฉะนั้นแหละ การเกิดมามีขันธ์ ๕ อันนี้มันจึงไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนได้
เนื่องจากว่าคนเรานั้นทำทั้งบุญทั้งบาปพร้อมกันมา
บางคนก็ทำบุญมากกว่าบาป บางคนก็ทำบาปมากกว่าบุญ
ผู้ใดทำบาปมากกว่าบุญ บาปนั้นมันก็มาตกแต่งอวัยวะร่างกายนี้ให้ไม่สมบูรณ์
ก็ต้องวิบัติ ต้องทนทุกข์ทรมาน ใครล่ะ ทนทุกข์ทรมาน
ก็จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ทนทุกข์ทรมาน อันว่าร่างกายนี้มันไม่ว่าอะไร
ถึงมันจะวิบัติแปรปรวนไป มันก็แปรไปตามเรื่องของมัน
แต่มันไม่รับรู้ความแปรปรวนของตัวเอง จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้
เนี่ยจึงเป็นปัญหาที่ควรคิด การเกิดมามีชีวิตชีวาในโลกอันเนี้ย
เมื่อหากว่าคิดไม่ถึงต้นตอของมันแล้ว มันก็ไม่รู้จักทางแก้ไขเรื่องมันน่ะ
ถ้าเราคิดเข้าไปแล้ว ให้ไปถึงต้นตอมันจริงจัง มันก็รู้จักทางแก้ไขแล้วนะ บัดนี้นะ
โดยน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นบรรทัดฐาน
ไอ้การที่จิตมันจะตกไปในทางอกุศล นั่นก็เพราะว่าไม่ได้ฝึกให้มันสงบ นี่ข้อสำคัญ
เมื่อมันไม่สงบแล้วมันก็ไม่มีกำลังเข้มแข็ง จิตนี้น่ะอ่อนแอ
เมื่อมันอ่อนแอแล้ว อะไรกระทบเข้ามาน้อยหนึ่ง มันก็หวั่นไหวไปตามเป็นอย่างนั้น
เอ้า เรื่องดีมาถึงเข้าก็ยินดีไปตามเรื่อง
ชั่วมาถึงเข้าก็ยินร้ายไปตาม โกรธไปตาม แสดงความไม่พอใจขึ้นมาทันที
อันนี้จิตใจที่ไม่มีกำลังเข้มแข็งอยู่ด้วยกุศล
มันย่อมอ่อนไหวไปตามอารมณ์อันชั่วร้าย อ่อนไหวไปตามอำนาจของกิเลส

ดังนั้นแหละ ด้วยเหตุผลแล้วเราจึงควรฝึกจิตใจอันนี้ให้สงบ
ตามหลักวิชาธรรมะในศาสนานี้
การที่จิตจะมีกำลังเข้มแข็งก็เพราะทำให้มันสงบลง
ถ้าปล่อยให้มันคิดอะไรต่ออะไรเรื่อยเปื่อยไป
มันได้ความเสียใจบ้าง ดีใจบ้าง
มันก็อ่อนแอเลย ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ เป็นอย่างงั้น
ดังนั้นพอมีอะไรกระทบกระทั่งเข้ามา
มันจึงตื่นเต้นหวั่นไหวไป ตามหาความสงบสุขไม่ได้เลย

เอ้า ทำอย่างไรเล่า มันจึงจะสงบได้ อันนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องคิด
ถ้าไม่คิดก่อน มันก็ไม่เห็นลู่ทางให้เข้าใจ
เพราะว่าจิตที่มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอย มันมีหลายเรื่องที่ให้จิตฟุ้งซ่านนั่นน่ะ
บางทีมันผิดหวังในสิ่งที่ตนต้องการปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เอ้า มันก็วิตกวิจารณ์อยู่นั้นแหละ คับแค้นแน่นใจอย่างนี้นะ
วิธีแก้มันก็พิจารณาลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง
เมื่อมันไม่เที่ยงแล้ว ทำอะไรจะให้มันได้สมหวังทั้งหมด
มันจะได้มาแต่ที่ไหน อย่างนี้แหละ ครั้นถ้าหากว่ามันเที่ยงแล้ว
มันก็จะไม่ผิดหวัง เกิดมาในโลกอันนี้น่ะ มีอะไรได้มา
มันก็ไม่เสื่อมไม่เสียไป มันก็เป็นอันว่าสมหวัง
อัตภาพร่างกายมันก็อยู่ยั่งยืนนานตลอดกาลไป
ถ้าอย่างนี้มันก็ได้ชื่อว่าเป็นนิพพานในมนุษย์นี่แหละ

อันนี้พระศาสดาทรงตรัสว่าพระนิพพานไม่ได้อยู่ในมนุษย์นี่นั่นแหละ
สวรรค์ก็ไม่มี พรหมโลกโน้นก็ไม่มี พระนิพพานน่ะ
ดินฟ้าอากาศ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็ไม่ใช่ทั้งนั้นเลย
นั่นแหละให้พึ่งพากัน สันนิษฐานดูให้ดี
เพราะว่าที่ไหนมีเกิดขึ้นแล้วมีดับไปอยู่อย่างนั้น
ไม่ใช่พระนิพพานทั้งหมดเลย
นิพพาน แปลว่า ดับ ดับอะไร ดับทุกข์ ทุกข์ทางใจ
ทีนี้ในเมื่อจิตนี้ไปอาศัยอยู่ในที่ไหน
สถานที่นั้นยังหวั่นไหวไปมาอยู่อย่างนี้ เนี้ย มันก็เป็นทุกข์แหละ
เหมือนอย่างจิตมาอาศัยอยู่ในอัตภาพร่างกายอันนี้ ในปัจจุบันเนี้ย
ลองสังเกตดูซิ มันเป็นทุกข์ไหมนั่นแหละ
คนที่ไม่ช่างสังเกตมันก็จะไม่รู้ ไม่รู้ว่าตนเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไร
หรือว่าเป็นทุกข์เดือดร้อนก็ดิ้นรนไปเฉยๆ แหละ
ไม่ได้คิดเลยว่าเราเป็นทุกข์เพราะอะไร ไม่ได้ทบทวนมาเลย
ไม่ได้ทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันนี้
เป็นทุกข์ก็ทุกข์ทนทรมานไปอย่างนั้นแหละ ไม่รู้จักทางออกจากทุกข์
คนไม่ทวนกระแสจิตเข้ามามันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น การทำใจให้สงบระงับ เป็นสมาธิภาวนานี่
มันก็ได้แก่การทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันเนี้ย
ไม่ปล่อยให้จิตคิดซ่านออกไปข้างนอกโดยส่วนเดียว
นั่นแหละ มันจึงจะสงบลงได้ แล้วก็จึงจะรู้ความจริงของชีวิตได้
ว่าความจริงของชีวิตเนี่ย หมายถึงดวงจิตนี้มาอาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง
ก็อัตภาพร่างกายอันนี้แหละมันไม่เที่ยง จะไม่ให้มันเป็นทุกข์อย่างไรเล่า นี่แล้ว
เมื่อร่างกายนี้ไม่เที่ยงแล้ว สิ่งที่แวดล้อมอยู่ในร่างกายอันนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ลองสังเกตดูให้ดี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมล่ะ จึงมาหมกมุ่นกันอยู่
จึงทำความพอใจอยู่กับโลกสันนิวาสอันนี้ๆ นี้
มันก็เนื่องมาแต่อวิชชาความไม่รู้นั่นแหละ
มันหุ้มห่อจิตใจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไป นึกว่าโลกอันนี้น่าอาศัย
เพราะว่าสิ่งล่อใจที่ให้เกิดความสุขความสบายชั่วคราวนี่ มันมีอยู่เหมือนกัน
เมื่อมันไม่รู้สิ่งล่อหลอกจิตใจให้หลงให้ติดดังกล่าวมานี่
มันจึงได้หลงติดอยู่ในโลกอันเนี้ย ทั้งที่รู้ว่ามันไม่เที่ยงอยู่
แต่หากว่ามันไม่ได้ทบทวนเข้ามาในปัจจุบันนี้
ไม่ได้พิจารณาดู มันจึงไม่เห็นลู่ทางจึงไม่เบื่อไม่หน่าย
ผู้ใดที่จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารนี้ได้
ก็เพราะว่ามันทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันนี้ มาสงบนิ่งอยู่ในนี้
ที่นี้ร่างกายอันนี้มันแปรปรวน มันก็กระทบกระทั่งกับจิต
ก็รู้บัดนี้นะ ก็รู้ว่าแหม มันทุกข์จริง อาศัยอยู่ในร่างกาย
เพราะมันไม่เที่ยง มันกระทบกระทั่งกับจิตอยู่นี้
แล้วร่างกายส่วนไหนมันวิบัติอย่างนี้นะ จิตนี้ก็ไปรับรู้หมดเลย
เจ็บหลังปวดเอว เอ้า จิตนี้ก็รับรู้ว่าเจ็บหลังปวดเอว
ปวดแข้งปวดขา จิตก็ไปตามรู้ว่ามันปวดแข้งปวดขา อย่างนี้แหละ
ปวดท้องปวดไส้ก็ไปตามรู้ว่าปวดท้องปวดไส้
หมายความว่าเจ็บตรงไหนวิบัติตรงไหน จิตนี้ไปรับรู้เอาหมดเลย
เพราะฉะนั้นมันจึงทนได้ยากทนลำบาก จึงได้กระวนกระวายจิตนี้

บัดนี้เมื่ออัตภาพร่างกายนี้ยังปรากฏอยู่ตราบใดนี่นะ
ความแปรปรวนของร่างกายก็มีอยู่ตราบนั้น
เมื่อความแปรปรวนของร่างกายมีอยู่อย่างตราบใด จิตนี้ก็ย่อมได้รับรู้
แล้วก็ย่อมหวั่นไหวไปตามความแปรปรวนของร่างกายอยู่อย่างนั้นแหละๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์
ก็เพราะว่าอวัยวะร่างกายนี้มันไม่เที่ยง
มันถึงเป็นทุกข์ มันถึงแปรปรวน มันถึงทนได้ยากทนอยู่ไม่ได้
พระศาสดาทรงสอนให้ฝึกจิตใจนี้ให้สงบ ให้ตั้งมั่นลงไปด้วยดี
แล้วให้ใช้ปัญญาสอนจิตใจให้รู้เท่าตามเป็นจริง
นี่แหละมันถึงจะเป็นทางออกจากทุกข์ได้
เพราะว่าทุกข์นี่มันเป็นผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำมาแต่ก่อน มันมาตกแต่งให้
ดังนั้นบุคคลจะไปละทุกข์อันนี้ มันละไม่ได้ ละได้แต่เหตุแห่งทุกข์เท่านั้นเอง

ดังนั้นเมื่อเห็นทุกข์แล้วก็ต้องสาวหาเหตุของมัน
เหตุมันมายังไง เมื่อเราสาวไป มันก็รู้ได้ เหตุของมันก็เพราะเหตุว่า
จิตใจมันยึดมั่นถือมั่นอยู่ในบุญในบาปดังกล่าวมาแล้วนั่นแหละ
เมื่อจิตใจมันสะสมทั้งบุญทั้งบาปมา บุญและบาปนั่นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย
พาดวงจิตอันนี้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่
พาดวงจิตนี้ไปปฏิสนธิอยู่ในท้องของมารดา
อาศัยธาตุของมารดาบิดาผสมผสานกันเข้า
แล้วมีกรรมดีกรรมชั่วที่จิตใจทำนี่แหละ
ไปตกแต่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายให้อยู่ในท้องของมารดาโน่น
เมื่อกรรมดีตกแต่งให้ก็ยังชั่วหน่อย
อวัยวะร่างกายนี่มันก็สมบูรณ์ทุกส่วน แล้วก็ไม่ค่อยมีโรคภัยเบียดเบียน
ขึ้นชื่อว่าบุญตกแต่งให้แล้ว มันง่ายทุกอย่าง
แม้นอนอยู่ในครรภ์ของมารดาก็ไม่เดือดร้อนเท่าไร มารดาก็มีสุขภาพอนามัยดี
ธรรมดาว่าคนมีบุญน่ะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเมื่อเวลาคลอดออกมาก็คลอดง่าย
เหมือนอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ
พระองค์ประสูติพระมารดาก็ประทับยืนอย่างนั้นแหละ
แล้วในตำรายังกล่าวว่ามีพวกเทวดาโน่นลงมารับ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่โน่นนะ
มาคอยรองรับพระรูปพระกายของพระองค์ ไม่ให้ตกลงไปถึงพื้นดินนะ
พอพ้นจากท้องออกมาอย่างนี้ เทวดาก็รับเอาทันทีเลย
แล้วก็มีท่อน้ำร้อนน้ำเย็นลงมาโสร่งสรงพระองค์ ทำให้พระวรกายนั่นสะอาดสะอ้านดี
พระมารดาก็ไม่ได้ลำบากอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเรียกว่าเป็นไปอย่างเรียบร้อยนี้ละ
อาศัยบุญญานุภาพของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติ มันมาตกแต่งให้

บัดนี้คนทั่วๆ ไปก็เหมือนกันแหละ คนผู้มีบุญวาสนา ผู้ได้สั่งสมบุญกุศลมามาก
ผู้ได้ให้ทาน ผู้ได้รักษาศีลมาให้บริสุทธิ์ ผู้ได้ฟังธรรม
ผู้ได้ประพฤติตนอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่
ผู้มีคุณงามความดีนั้นสูงกว่าตน หมู่นี้นะ ผู้ไม่เบียดเบียนใครในชาติก่อนโน่น
ไม่ทำใครให้เป็นทุกข์เดือดร้อนมา ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยทางสุจริต
ไม่ไปทำลายล้างผลาญชีวิตของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นมาเลี้ยงอัตภาพของตนเอง
มีความอารีอารอบ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน
อานุภาพแห่งบุญกุศลนั้นแหละ ตามมาปฏิสนธิในท้องของมารดา
ก็สะดวกสบายคล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์นั่นแหละ
แต่ว่าจะให้ยอดเยี่ยมเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์นั้นไม่แล้ว
เพราะว่าการสั่งสมบุญกุศลมันคนละชั้นกันนะ
พระโพธิสัตว์ท่านสร้างบุญกุศลอย่างอุกฤษฏ์มาก
เช่นให้ทานอย่างนี้ คนธรรมดาสามัญจะให้ทานลูกตานี้ไม่ได้เลย
นี่แต่พระโพธิสัตว์นั่น เมื่อมีผู้มาขอลูกตา พระองค์ก็สละให้เลย
อย่างนี้แหละอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย นี่ ใครขอให้หมดเลย
นี่ คนธรรมดาสามัญสละไม่ได้ถึงขนาดนั้น ลูกก็ให้ทานได้ เมียก็ให้ทานได้
อย่างนี้ลองคิดดู จะไม่ให้พระองค์เป็นผู้ประเสริฐอย่างไรเล่า
ศีลพระองค์ก็รักษาให้บริสุทธิ์ไม่ยอมล่วงศีล
แม้ว่าใครจะมาบังคับให้ทำลายศีล พระองค์จะไม่ยอมเลย ใครจะฆ่าก็ฆ่าไป
อันอย่างนี้พระองค์เจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วในวัฏสงสารนี้
แล้วพระองค์ก็ไม่ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิไปตลอดชาติ
บางชาติก็หลงอยู่ดอก แต่ว่าหลงไม่นาน เมื่อมีผู้มาชักจูงเข้าไปแล้วก็รู้ตัวได้
พอรู้ตัวได้แล้ว พระองค์ก็กลับประพฤติดีประพฤติชอบในพระธรรมวินัย

อย่างในครั้งที่พระองค์บังเกิดขึ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ
นั่นชื่อ ธัมมปาล เกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ
มารดาบิดาเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์นั่นแน่ะ
พระองค์ก็เลยได้รับแนะนำสั่งสอนไปในลัทธิศาสนาพราหมณ์นั้น
แต่ว่าบุญของพระองค์มีอยู่อย่างว่า
แน่ะก็ไปได้คนผู้นับถือพุทธศาสนาอย่างสูงส่งเป็นมิตรเป็นสหาย
เรียกว่า ฆฏิการอุบาสก ฆฏิการอุบาสกคนนี้
ได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสำเร็จอนาคามีผล
แต่ไม่ได้ออกบวช เพราะว่าเลี้ยงแม่ตาบอด
บังเอิญก็ไปได้ธัมมปาลเป็นสหายบัดนี้
ฆฏิการอุบาสกก็พยายามชักชวนธัมมปาลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ไม่ยอม
ไปทีแรกไม่เชื่อ ก็ยังกล่าวจ้วงจาบไปอีกว่า สมณะศีรษะโล้นจะมีดีอะไร
ไปบิณฑบาตมาฉันแล้วก็นอนสบาย ไม่เห็นทำอะไร อย่างนี้แน่ะ
แต่ฆฏิการอุบาสกนี้ก็ไม่ยอม พยายามอยู่อย่างนั้นแหละ
วันหนึ่งไปอาบน้ำด้วยกัน อาบน้ำไปมา
ฆฏิการจับผมเปียของธัมมปาล ชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผมเปียนี่เขาถือว่าเป็นของสูง ใครจะไปจับไม่ได้
แต่ธัมมปาลคิด แหมฆฏิการ นี่ลงมาจับผมเปียเราแล้วอย่างนี้
การที่ท่านชักชวนเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้านี่นับว่าสำคัญนา
เอาล่ะ ถ้างั้นเราจะไปด้วย ตกลงไปด้วยกัน
พอไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แนะนำสั่งสอนเข้าไป
เลยเกิดศรัทธาเลื่อมใส ออกบวชเลย เรียนธรรม เรียนวินัย
ตั้งมั่นอยู่ในสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ ไม่ทำบาปตลอดชีวิต
นั่นแหละในชาตินั้นนะเป็นอันว่าพระองค์ได้บำเพ็ญเนกขัมมะบารมีให้แก่กล้า
นั่นแหละจึงเป็นเหตุปัจจัยอันใหญ่หลวง นำให้พระองค์ได้อุบัติบังเกิดขึ้นมาในยุคนี้

แม้จะสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติลาภยศสรรเสริญมากมายเท่าใด
พระองค์ก็ไม่หลงใหลติดอยู่ในกามสุขสมบัติอันนั้น
ก็เพราะอานิสงส์แห่งเนกขัมมะบารมีนี่แหละ มากระตุ้นพระทัยอยู่เสมอ
อานิสงส์การออกบวช หมายความว่าอย่างนั้นแหละ
จึงเป็นเหตุให้พระองค์ได้สละราชสมบัติออกบวชไป
เพื่อแสวงหาทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วจะได้ช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นทุกข์ตามไปด้วย
เมื่อพระองค์ออกบวช แสวงหาทางตรัสรู้ไปก่อนที่พระองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้

ก่อนที่พระองค์เจ้าจะตรัสรู้ พระองค์ก็เจริญอานาปานสติ
ตั้งสติ กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
แล้วก็สามารถบรรลุฌานที่หนึ่ง ฌานที่สอง ฌานที่สามไปโดยลำดับ
จนตลอดถึงฌานที่สี่ แล้วก็เจริญวิปัสสนาต่อ โดยยกเอาขันธ์ห้านี้ขึ้นพิจารณา
ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสภาพความจริง
เมื่อเห็นขันธ์ห้านี้ว่าไม่ใช่ตัวตน เราเขา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ควรยึดควรถือ
พระองค์ก็จะปล่อยวางขันธ์ห้านี้ลง จิตก็รวมลงไป
บัดนี้ก็ได้ตรัสรู้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ นั่นแหละในปฐมยาม
เมื่อระลึกชาติหนหลังได้ สิ้นสงสัยในชาติความเกิดของพระองค์แล้ว
ก็ทรงพิจารณา เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกถึงเที่ยงคืน ก็ได้ตรัสรู้ จุตูปปาตญาณ
ทรงพระปรีชาหยั่งรู้ความเกิดความตายของสัตว์ทั้งหลาย
จะเป็นสุขเป็นทุกข์ จะเทียวเกิดเทียวตายในโลกนี้
ก็เพราะว่ามันทำกรรมดีกรรมชั่วใส่ตัวเอง แล้วไปยึดเอากรรมดีกรรมชั่วนั้นไว้
ไม่ยอมทำกรรมดีฝ่ายเดียว พูดง่ายๆ คือบาปก็ยึดถือเอาไว้
บัดนี้ บุญบาปนี้แหละพาให้ท่องเที่ยว เกิด แก่เจ็บ ตาย ในสงสารอันนี้

ผู้ใด พระองค์เจ้าพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดเพียรละบาปให้หมดไปจากจิตสันดานแล้ว
ตั้งใจบำเพ็ญแต่บุญกุศลไป บุญกุศลนั้นมันก็พลันเต็มได้เลย
เพราะมันไม่มีบาปมาแย่ง นั่นแหละพระองค์ก็เช่นเดียวกันแหละ
พระองค์ก็เพียรละบาปไปจนหมดสิ้นแล้วทรงสั่งสมบุญกุศล
จนว่าเต็มบริบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ผู้ที่เป็นสาวกของพระองค์ สำเร็จตามพระองค์ได้
ก็เพราะว่าท่านเหล่านั้นก็ละบาปไปหมด
ฟังธรรมจบลงแล้ว จึงมีผู้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษตามพระองค์ไปมากมาย

นี่สรุปใจความลงแล้วว่า บุคคลจะพ้นทุกข์ได้นั้น
ก็เพราะมาพยายามภาวนา ทำจิตใจให้สงบ
ทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบัน เห็นตามว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวตน
อะไรเมื่อมันมาเห็นแจ้ง มันก็ตื่นตัว รู้ว่าตนนั้นมาหลงอาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง
มาอาศัยในสิ่งที่บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง
เมื่อมันรู้ดังนี้ มันก็ปล่อยวาง นี่แหละ ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน
ก็เป็นอันว่า รู้จักต้นเหตุแห่งทุกข์ คืออุปาทานความยึดถือ
เมื่อละความยึดถือนี้ได้ ทุกข์ทางใจมันก็ดับไปหมดเลย เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้ว
พึงพากันตั้งใจ บำเพ็ญทางจิตใจนี้ให้เป็นไปดังแสดงมา


ที่มา : หนังสือ ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
เรื่อง จิตเป็นของฝึกยาก หน้า ๗-๑๕
:b8: :b8: :b8:

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2021, 10:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2022, 11:41 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron