วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2016, 05:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


พึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้แน่วแน่ อย่าปล่อยใจให้เพลินไปทางอื่น สำรวมใจอยู่ภายใน อาศัยสติสัมปชัญญะนั่นแหละ ประคองใจไว้ภายในอย่าให้มันเลื่อนออกไปข้างนอก ใจดวงเดียวนี้แหละเป็นแก่นของคน ดีก็อยู่ที่ใจ ชั่วก็อยู่ที่ใจนี้ สุขก็อยู่ที่ใจนี้ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ เพราะใจนี้มันเป็นธาตุรู้ มันรู้สารพัด อะไรๆ กระทบมามันรู้ทั้งนั้นเลย แต่ทีนี้เมื่อใจนี้ไม่มีปัญญา มันก็ไม่รู้เท่าสิ่งที่มาสัมผัสหรือมาถูกต้อง นั่น มันจึงได้หวั่นไหวไปตาม ดังนั้นพระบรมศาสดาผู้มีพระเมตตาพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ จึงได้อุตส่าห์แนะนำสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายโดยอุบายวิธีต่างๆ เกี่ยวแก่การฝึกฝนจิตนี้ จิตนี้ต้องมีอุบายฝึกอยู่ ๓ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ วิธีหนึ่งนั้น เรียกว่า วิธีธรรมะ คือ ข่มจิตของตนไว้ วิธีหนึ่งนั้น คือ วิธีปลอบจิต วิธีหนึ่งนั้น วิธีประคองจิตไว้ให้สม่ำเสมอ

วิธีแรกนั้นจิตใจมันเพลิดเพลินมาก ฮึกเหิมมากไปในความเพลินต่างๆ เพลินในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในเครื่องสัมผัส ไม่ใช่เพลินอย่างอื่นหรอก นี่ต้องอาศัยการข่มไว้ด้วยสติ ด้วยขันติ ความอดทน ถ้าใครไม่ข่มจิตเวลาเช่นนั้นแล้วก็เอาชนะกิเลสตัณหาไม่ได้ กิเลสตัณหาก็จูงใจให้ไปทำความชั่วโดยประการต่างๆ เมื่อผู้ใดข่มจิตใจได้ ผู้นั้นก็ไม่ได้ลุอำนาจแก่ความชั่วต่างๆ เช่น ถ้าเป็นนักบวชก็ไม่ล่วงวินัยน้อยใหญ่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็เหมือนกันก็ไม่ล่วงศีล เพราะว่าตัวศีลแท้ๆ มันอยู่ที่ใจต่างหาก เมื่อใจไม่สำรวมไม่อดกลั้นต่ออำนาจกิเลสแล้ว มันก็ล่วงศีลล่วงวินัยได้สบาย ไม่กลัวนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานอะไรหมู่นี้ ไม่กลัว เมื่อตายแล้วมันจะไปเกิดเป็นอะไรก็ช่างมัน

นี่แหละอำนาจแห่งตัณหาอวิชชา เมื่อมันครอบงำจิตใจหนาแน่นเข้าไปแล้ว ใจนี่ไม่มีกลัวต่อความทุกข์ความเดือดร้อนอะไรเลย ดังนั้นแหละมนุษย์เราตายแล้วมันถึงไปแออัดกันอยู่ในนรกนั้นมากต่อมาก พระองค์เปรียบไว้เหมือนกับข้าวสารยัดไถ้นี่ เมื่อเป็นเช่นนี้สมควรแล้วหรือที่เรามาปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน คือว่าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เรานับถือเอาเป็นที่พึ่งกำจัดทุกข์ภัยต่างๆ อย่างนี้นะ แล้วเมื่อเลื่อมใสในพระคุณทั้งสามนี้แล้วนึกว่า จะให้พระคุณทั้งสามเนี่ยมาช่วยกำจัดกิเลสบาปอธรรมออกจากหัวใจตนโดยที่ตนไม่ได้ลงแรงอะไรเลย ก็ไม่ได้ฝึกฝนจิตใจอะไรเลย ใจนั้นเพลินไปเต็มที่ แต่ให้คุณพระศรีรัตยตรัยมากำจัดกิเลสออกให้อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ ก่อนอื่นนั่นน่ะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะช่วยตนได้ ตนก็ต้องช่วยตนก่อน เออ ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น

ตนต้องปลุกปล้ำตัวเอง ใจที่ไม่สงบก็พยายามทำให้มันสงบ ข่มมันลง มันเพลิดเพลินเต็มที่ ใช้ขันติความอดทน ใช้สติสัมปชัญญะข่มมันไว้แล้วก็ขู่ด้วย ขู่ว่าใจอย่างนี้แหละใจนรก ตายแล้วมันจะไปตกนรก รู้ไหม ใจไม่กลัวบาปกลัวกรรมเวรต่างๆ นี่นะ ใจอย่างนี้ที่มันไปเป็นสัตว์นรก แออัดกันอยู่ในนรก พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นแล้ว รู้แจ้งแล้วจึงได้นำมาแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายได้เกิดความกลัวต่อภัยในนรกให้มาก พระองค์ไม่ได้โกหกใคร สิ่งใดถ้าพระองค์ไม่รู้แจ้งเห็นจริงแล้วพระองค์ไม่นำมาแสดงเลย ไม่อย่างนั้นก็จะสร้างบารมีมามากมายทำไมล่ะ สร้างบารมีมาตั้งสี่อสงไขยแสนมหากัปก็เพื่อจะรู้แจ้งในธรรมของจริง เพื่อรู้แจ้งในบุญในบาปในคุณในโทษ หรือประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานเป็นอวสาน จุดมุ่งหมายก็อย่างนี้นิ จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้านะ เพราะฉะนั้นพระองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็รู้แจ้งไปหมดเลย สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายพระองค์ก็นำมาแสดง ถ้าสิ่งใดไม่มีประโยชน์พระองค์ก็ไม่นำมาแสดงเพราะเวลามีจำกัด เวลาที่พระองค์จะแนะนำสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายนั่นน่ะมีน้อยเต็มที ดังนั้นพระองค์เจ้าจึงคัดเอาแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังนั้นมาแสดง นี่ผู้ใดรู้อย่างนี้แล้วก็ให้พึงข่มจิตของตนในเวลาจิตมันเพลิดเพลินมัวเมาเกินขอบเขต อย่าปล่อยให้มันเมามันเพลินไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา มันจะพาให้ไปทำชั่ว มันจะนำตัวไปสู่ทุกข์

ประการที่สอง เวลาใดจิตใจมันหงอยเหงาเศร้าโศก มันประสบกับความผิดหวังบางสิ่งบางอย่างหรือบางทีมันก็พลัดพรากจากของรักของชอบใจอย่างนี้คนธรรมดาสามัญมันก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือทำการงานอะไรมันผิดหวังลงไป ทำการค้าการขายขาดทุน ทำนาทำสวนไม่ได้ข้าวไม่ได้ผลไม้เนื่องจากแล้งเบาะ ท่วมเบาะ อะไรหมู่นี้นะก็ได้ชื่อเป็นความผิดหวังในชีวิตอย่างใหญ่หลวงพอได้เหมือนกัน ทีนี้เมื่อบุคคลมาประสบกับภัยพิบัติดังกล่าวมานี้แล้วก็ต้องมีอุบายสอนใจตัวเอง ก่อนอื่นก็ควรนึกถึงสภาพของสังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงนั่นแหละมาเป็นอารมณ์ ถ้าหากว่าสังขารคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นขึ้นนี่มันเที่ยงแล้วมันก็จะไม่แปรปรวนไม่แตกไม่ดับไป นี่เมื่อทุกสิ่งในโลกนี้มันเป็นของไม่เที่ยงแล้ว มันจะได้สมหวังมาแต่ไหนก็ต้องหาอุบายสอนใจตัวเองเข้าไปให้ใจมันรู้มันเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วมันก็คลายความทุกข์ความโศกลงเพราะว่าทุกสิ่งมันเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง เมื่อไตรลักษณญาณปรากฏแจ่มแจ้งในใจอย่างนี้แล้ว มันก็บรรเทาเบาบางลงได้ความโศกเศร้าเสียใจต่างๆ นานา

อีกนัยหนึ่งก็นึกถึงความดีของตัวเอง ไม่ใช่ตนของตนนี่มีแต่ความชั่วอย่างเดียวมีแต่ความผิดหวังอย่างเดียว ความสมหวังก็มีอยู่ในชีวิต อาศัยบุญบารมีที่สั่งสมอบรมมาตั้งแต่ก่อนโน้นน่ะ มันมาอำนวยผลให้ เช่น ได้เกิดมาเป็นคนอย่างนี้ มีอวัยวะร่างกายครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่บกพร่องแต่อย่างใด แล้วก็มีสติปัญญาพอสมควร พอหาเลี้ยงอัตภาพได้ ไม่ถึงกับว่าได้เป็นทาสทาสีทาสาของผู้อื่น มีพื้นความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่นทำนา ทำสวน เป็นต้นเหล่านี้นะ ผู้ใดไม่เกียจคร้านแล้วลงมือทำไปมันก็ต้องได้มาทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้นน่ะ นี่ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญอยู่ ไม่ใช่ไม่มีบุญเสียเลย นึกถึงบุญถึงวาสนาของตนมาแต่หนหลังตลอดมาถึงจนปัจจุบัน ตนก็ได้ทำความดีมาอย่างนี้นะ เมื่อนึกถึงความดีนึกถึงบุญวาสนามาแล้วมันก็ชื่นใจขึ้นมาก็รู้ว่าตนนั้นไม่ใช่มีแต่ความชั่วความผิดหวัง ความสมหวังก็มีอยู่ บุญวาสนาบารมีก็มี ถ้าบุญวาสนาไม่มีก็ไม่ได้เกิดมาเป็นคน แต่ว่าบุญวาสนาที่มาตกแต่งให้นี้มันน้อยไป เนื่องจากว่าตนได้ทำความดีไว้แต่ก่อนน่ะมันน้อย ชักจะมัวเมาประมาทเพลิดเพลินไปในโลกสงสารอันนี้มากกว่าการมาทำความดี มากกว่าการฝึกฝนอบรมจิตอย่างที่ว่านี่ล่ะ ไม่ฝึกจิตใจของตนให้ตั้งมั่นต่อกุศลคุณงามความดีหรือว่าตั้งมั่นก็ตั้งนิดๆ หน่อยๆ ไม่มาก ทีนี้เวลามันอำนวยผลให้มาในปัจจุบันนี่มันก็อำนวยผลให้ตามกำลังของบุญวาสนาที่ตนได้กระทำอบรมมา บางทีทำบาปเข้า เอ้า บาปก็มาตัดรอนชีวิตไม่ให้มีความสุขสม่ำเสมออยู่ได้ เมื่อมีความสุขความเจริญไปๆหน่อยหนึ่งบาปมันตามมาทัน บาปมันมาตัดรอนเอา ความสุขความเจริญเหล่านั้นสูญหายไป อย่างนี้นะ เมื่อเป็นเช่นนี้น่ะ บุคคลไม่รู้แจ้งในกรรมในผลของกรรมจึงได้เสียใจเศร้าโศกพิไรรำพันต่างๆ นานา นี่มันก็เป็นความทุกข์อย่างนี้แหละ บุคคลผู้ไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ ไม่ละเหตุแห่งทุกข์นั้นๆ แล้วมันก็เป็นทุกข์ร่ำไป

ทีนี้ทางที่ดีจึงว่า คนเราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระพุทธศาสนา บุญกุศลตกแต่งมาดีแล้วอย่างนี้นะ ควรพยายามละเว้นกรรมอันชั่วนั้นให้ได้ สิ่งใดที่พระศาสดาทรงห้ามไว้ ก็พยายามเว้นให้ได้เลย ดังนี้ พยายามทำตั้งแต่การงานที่มันปราศจากโทษ ปราศจากบาปกรรมเวรภัยต่างๆ นั้น เมื่อทำได้อย่างนี้ในปัจจุบันนี้ก็มีความสุข แม้ว่าจะไม่ร่ำรวยเหมือนอย่างบุคคลอื่นที่ร่ำรวยกันมากๆ ก็ตาม แต่เมื่อมานึกถึงสุจริตธรรมที่ตนได้รักษามา ตนได้กระทำบำเพ็ญมาแล้วอย่างนี้มันก็ได้รับความอุ่นใจ เพราะว่าทรัพย์ภายในคือบุญและคุณอันนี้น่ะมันติดสอยห้อยตามคนเราไปทุกแห่งทุกหน อำนวยความสุขให้ในภพในชาติที่เกิดนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนอย่างทรัพย์ภายนอก มีเงินทอง เป็นต้น ของเหล่านี้มันอำนวยผลให้ตนมีความสุขแต่ในปัจจุบันนี้เท่านั้นเอง ทั้งอำนวยความทุกข์ให้ด้วย ไม่ใช่อำนวยแต่ความสุข เช่น ถูกเขาจี้เขาปล้นเอา เขาทุบเขาตีเอาจนเสียองคะก็มีไปต่อสู้กับเขา บางคนก็ถูกเขาฆ่าตายไม่ทันได้บริโภคสมบัติอันนั้นไปนมนานอะไรเลย อันหมู่นี้ทรัพย์ภายนอกน่ะมันอำนวยทั้งความสุขอำนวยทั้งความทุกข์ให้ผู้ไม่มีปัญญาก็ไม่คิดแหละ คิดเอาแต่ว่าได้เงินมาใช้มาจ่ายมีความสุขสนุกสนานก็พอแล้ว ส่วนความทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ อันจะเกิดมีแก่ตนและผู้อื่นนั้นไม่คิดไม่คำนึงเลย เพราะฉะนั้นคนเราถึงจมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์นี่แหละ หนีจากทุกข์อันนี้ไปไม่ได้

ชีวิตที่บุคคลไม่เพียรพยายามละกรรมชั่ว ทำกรรมอันดีนี่ ส่วนมากก็มีแต่ตกต่ำเรื่อยไป มันเป็นอย่างนั้น ทางจะสูงขึ้นไม่มี อันผู้ที่ละความชั่วได้ ทำความดีให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว ใจผ่องใสสะอาดเพราะไม่มีบาปกรรมมาครอบงำ เช่นนั้นบุคคลสามารถทำความดีให้สูงขึ้นไปได้เลย ก็หมายความว่า ให้ทานก็ให้มายินดีพอใจในการให้การบริจาค ศีลก็ยินดีในการรักษาให้บริสุทธิ์อย่างนี้นะ มาแล้วอย่างนี้มันก็มีโอกาสที่จะภาวนาสมาธิได้ สามารถที่จะทำกุศลคุณงามความดีให้สูงขึ้นไปได้เลย เพราะการภาวนามันเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอย่างสูง แต่ถ้าใครทำใจให้มัวหมองอยู่ด้วยบาปกิเลสต่างๆ หมู่นั้นน่ะ ใจเศร้าหมองขุ่นมัวอยู่ด้วยกิเลสบาปอธรรมล่ะก็ ไม่สามารถที่จะมานั่งสมาธิภาวนาทำใจสงบได้ ให้คิดดู ผู้ที่นั่งภาวนาทำใจให้สงบได้ ส่วนมากก็เป็นผู้ละบาปมาแล้ว มีแต่บุญกุศลอยู่ในจิตใจนี้ เพราฉะนั้นน้อมใจ น้อมสติเข้าไปประคองจิตให้สงบอยู่ภายใน จิตก็สงบอยู่ได้ เมื่อจิตสงบอยู่ได้อย่างนี้ก็มีสติประคองจิตที่สงบนั้นแหละไว้ อย่าให้จิตมันวอกแวกไปทางอื่น อันนี้เรียกว่าเป็นวิธีที่สามนะวิธีฝึกจิตน่ะ เมื่อจิตสงบลงไปแล้วหากว่า ไม่มีสติประคองไว้อย่างนี้นะ จิตก็ถอนจากสมาธิแล้วก็ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในที่ต่างๆ นั่นก็เมื่อใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอยเช่นนั้นแล้วปัญญาก็เกิดขึ้นไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่มีปัญญาแล้วก็เอาตัวรอดจากทุกข์ไม่ได้ รู้เท่าสังขารนามรูปนี้ไม่ได้ ก็ไปสำคัญว่านามรูปนี้เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาไปอย่างนั้นแหละ

เพราะฉะนั้นให้พึงพากันเข้าใจวิธีรักษาจิตตัวเอง เวลาทำจิตให้สงบแล้วต้องรักษาไว้ให้สม่ำเสมอ อย่าให้จิตใจมันเลื่อนลอยไปเหมือนแต่ก่อน ทำอย่างไรใจของตนจะสงบลงก็ทำลงไป ก็โดยเฉพาะเอาสตินั่นแหละเพ่งสติระลึกเข้าไปหาดวงจิตนั่น อย่าระลึกไปทางอื่น รู้ว่าจิตของตนมันสงบอยู่แล้วก็ประคองไว้ให้มันเป็นปกติอยู่ เมื่อประคองไว้ได้ด้วยสติอย่างนั้น อารมณ์ที่น่ายินดียินร้ายต่างๆ มันกระทบมา มันก็ไม่หวั่นไหวไปตาม มันก็ตั้งมั่นอยู่ได้ นี่วิธีรักษาสมาธินะ พากันเข้าใจ นี่เท่าที่ชี้แจงเรื่องอุบายวิธีฝึกจิตมาสามประการจึงขอทบทวนอีกทีหนึ่ง

เมื่อจิตมันฮึกเหิม มันเพลิดเพลินเกินประมาณ มันยินดีพอใจแต่ความสนุกสนานในโลกอย่างนี้ ก็เรารู้แล้วว่าความสนุกสนานอันนั้นไม่ยั่งยืนอะไร ทำให้คนเสียคนมาเยอะแยะ ก็ติดความสุขสนุกสนานชั่วคราว เงินทองมีเท่าไรก็เอาไปจ่ายเพื่อความสนุกอย่างนั้นเสียหมด ทีนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลังแล้ว มันเป็นอย่างนั้นต้องให้เข้าใจ ต้องให้เห็นว่า มันมีโทษมีแต่ทุกข์ ไม่มีประโยชน์อะไร ถึงมีความสุขก็สุขเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วก็หาย ไม่ยั่งยืนอะไร

วิธีที่สองก็เมื่อจิตใจมันผิดหวังอะไรมา คนธรรมดาสามัญนี่มักจะเศร้าโศกเสียใจแล้วก็ต้องพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสังขารนั่นแหละเป็นอารมณ์มาสอนใจตัวเองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะให้มันสมหวังทุกอย่างไปได้อย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมันจะแปรปรวนไปแล้วมันก็บังคับไม่ได้ มันก็แปรปรวนไปตามหน้าที่ของมัน ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตานั่นแหละ มันบังคับไม่ได้ ต้องรู้แจ้งอย่างนี้ เมื่อรู้แจ้งอย่างนี้แล้วมันก็คลายความทุกข์ความโศกลง อีกอย่างหนึ่งก็นึกถึงบุญถึงกรรมตัวเอง บางทีตนได้ทำกรรมชั่วบางอย่างมามันตามมาสนองเอามันถึงผิดหวัง มันจึงไม่สมหวัง ถ้าคราวใดได้สมหวังก็ไม่เพลิดเพลินมัวเมา นึกว่าบุญกุศลอำนวยผลให้ ถึงบุญกุศลเหล่านี้ก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเหมือนกัน เมื่อมันอำนวยผลให้ไปๆ หมดเขตของมันแล้วก็ดับไป นี่ก็เลยไม่มีอะไรเที่ยงยั่งยืน ทั้งฝ่ายกุศลก็ดี ฝ่ายอกุศลก็ดี ทางที่ดีแล้วเราต้องมีสติประคองใจให้เป็นกลางอยู่ ทำความยินดีในบุญในกุศลในคุณพระรัตนตรัยที่ตนนับถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกไว้ ไม่ต้องไปเศร้าโศกเสียใจกับความผิดหวังต่างๆ นี่วิธีที่สองเนี่ย ปลอบใจตัวเอง

วิธีที่สาม เมื่อตนทำใจให้เป็นกลาง ให้สงบระงับลงไปได้แล้ว ก็มีสติสัมปชัญญะประคองไว้เสมอไป พยายามประคองไว้อย่าให้จิตมันเสื่อมจากความสงบ ความเป็นกลางนั้นๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ปัญญามันก็จะเกิดขึ้น จะมองเห็นทุกข์ มองเห็นเหตุให้เกิดทุกข์ตามความเป็นจริงอย่างไรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี่ ดังแสดงมา



(จบ)


◇◆ ประวัติ ปฏิปทาและคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ◆◇
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b44: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร