วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 08:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2020, 18:49 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b50: :b47: รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


รูปภาพ

ให้ตั้งใจสำรวมจิตใจของตนให้ดี เรามาประชุมกัน ความมุ่งหมายก็เพื่ออบรมจิตใจโดยตรง ถ้าไม่รวมกันอย่างนี้ มันไม่มีกำลังใจเข้มแข็ง เมื่อเราได้รวมกัน สามัคคีกันอย่างนี้ ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ยินดีในการฝึกตน เราอยู่ร่วมกัน เราถือธรรมเป็นใหญ่

เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว ต่างคนก็ทำใจให้เป็นธรรม ให้ตั้งอยู่ในความสงบ มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะกระทบกระทั่งกัน ให้เป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ต่างคนต่างมีศีล มีวินัย มีสติเป็นวินัย ดั่งที่เคยพูดมาแล้ว มันก็สบายใจดี เรียกว่าการปฏิบัติธรรมนี่ก็เพื่อความสบายใจ ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วได้รับความทุกข์เดือดร้อนใจอย่างนั้น หามิได้เลย เพราะว่าความสงบใจมันเป็นความสุขอย่างยอด ความสุขนอกนั้นเป็นแต่เปลือก เป็นแต่กระพี้ของความสุขเท่านั้น ขอให้พากันเข้าใจ

พระศาสดาทรงมุ่งฝึกคนให้มีจิตใจสงบระงับ นี่แหละเป็นจุดหมายปลายทางของพระองค์ ก็ให้พากันนึกถึงจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า เพราะเรานับถือพระพุทธองค์เป็นศาสดาผู้สั่งสอน ผู้ชี้หนทางออกจากทุกข์ให้ ไม่ใช่อย่างอื่นใด การนับถือพระพุทธเจ้าน่ะ เรามาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระองค์ แล้วเห็นว่าคำสอนของพระองค์นี่ เป็นเครื่องชี้หนทางออกจากทุกข์ได้โดยตรงเลย ไม่ใช่อ้อมค้อม ทุกคนต้องพิจารณาให้เห็นดังกล่าวมานี้ เรียกว่าให้เห็นคุณของพระธรรม

เพราะผู้ใดเมื่อปฏิบัติตามแล้ว ถ้าปฏิบัติถูกทางจริงๆ น่ะ ย่อมได้รับความสุขความเย็นใจจริงๆ เพราะจิตใจนี่ถ้าพิสูจน์โดยตรงเข้าไปแล้ว มันไม่มีรูปร่างอะไร มีแต่ความรู้สึกเท่านั้น โรคภัยไข้เจ็บก็เข้าไม่ถึง ไม่ทำลายความรู้สึกอันนี้ได้ โรคภัยไข้เจ็บมันเบียดเบียนได้แต่ร่างกายเท่านั้นเอง

ความรู้สึกคือดวงจิตนี้ ถ้าหากไม่ได้ฝึกฝนให้เกิดความรู้ความฉลาดแล้ว ร่างกายนี่มันแปรปรวนกระทบกระทั่งเอา จิตนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะไม่มีปัญญาจะรู้เท่าร่างกายนี้ตามเป็นจริง

ดังนั้น พระศาสดาจึงทรงสอนให้ฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นลงไป จะได้เกิดปัญญา รู้เท่าร่างกายตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่ามันไม่ใช่ของเราอย่างนี้ จิตก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ความรู้สึกเจ็บปวด ร้อนหนาวอะไรอย่างนี้ มันมีอยู่ แต่ว่าจิตนั้นไม่เป็นทุกข์ ไม่กระวนกระวาย หมายความว่าอย่างนั้น เมื่อจิตรู้เท่านะ ถ้าจิตไม่รู้เท่าแล้ว มันเป็นทุกข์กระวนกระวาย ทั้งกลัวตายก็กลัว อย่างนี้แหละ

ดังนั้นขอให้เข้าใจว่า เราฝึกจิตฝึกใจนี้ให้มันเข้มแข็ง ไม่ให้มันยึดถือร่างกายสังขารอันนี้ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน ฝึกจิตนี้เพื่อไม่ให้สะดุ้งหวาดกลัวต่อความตาย ต่อความแปรผันของรูปกายนี้ ไม่ให้จิตนี้มันเศร้าโศกเสียใจกับร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายนี้มันวิบัติแปรปรวนไป จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็อย่างนี้แหละ ขอให้เข้าใจ ทีนี้การที่จะฝึกจิตให้มันรู้เท่าร่างกายตามเป็นจริงได้ มันก็ต้องเริ่มมาตั้งแต่การรักษาศีลให้บริสุทธิ์โน่นแหละ

เมื่อศีลบริสุทธิ์ บาปไม่บังเกิด จิตใจก็เบิกบานผ่องแผ้ว อานิสงส์ศีลอันนี้น่ะ ทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อมาตรวจดูความประพฤติทางกายวาจา เห็นว่าบริสุทธิ์อยู่ ไม่ได้ใช้กายวาจานี่ทำบาป พูดในสิ่งที่เป็นบาปแล้วอย่างนี้ จิตใจก็เบิกบานสิ เมื่อรู้ว่าตนบริสุทธิ์จากบาปจากโทษแล้ว ก็เบิกบานไม่เดือดร้อน อันนี้ล่ะอานิสงส์ศีลที่เราได้รับในปัจจุบัน ขอให้เข้าใจกัน

เมื่อใจเบิกบานผ่องใสแล้ว มันก็เป็นบันไดก้าวไปสู่สมาธิ มันเป็นอย่างงั้นเรื่องมันน่ะ เพราะว่าการที่จิตใจจะเป็นสมาธินี่ มันก็ต้องใจเบิกใจบาน ไม่ได้ขุ่นมัว ไม่ได้เศร้าหมอง ไม่ได้ทุกข์โศกอะไร เช่นนี้มันจึงรวมลงเป็นหนึ่งได้ ถ้าหากว่ามันมีความทุกข์ ความโศก ความพิไรรำพัน วิตกวิจารณ์อะไรต่ออะไรอยู่ จิตใจนี่มันจะสงบลงไม่ได้เลย มันเป็นอย่างงั้น ดังนั้น มันต้องผ่านความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ไป ความทุกข์ทางใจอันจะทำให้เกิดความเสียใจ ดีใจ กับเรื่องดีเรื่องชั่วภายนอกก็ไม่มี ก็ระงับแล้ว บัดนี้ก็อดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายใน คือร่างกายสังขารนี้ ไม่หวั่นไหวไปตาม เพ่งให้รู้เท่าทุกขเวทนาในกายนี้ตามเป็นจริง รู้ว่าเมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเราแล้ว ทุกข์มันก็ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้นะ

ดังนั้น เราจึงไม่ต้องหวั่นไหวไปตามทุกขเวทนานี้ เมื่อรู้เท่าอย่างนี้จิตมันก็วาง จิตวางแล้วมันจึงรวมลงเป็นหนึ่งได้ ขอให้เข้าใจ ถ้าหากว่ายังหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในกายอย่างนี้แล้ว จิตจะรวมลงเป็นหนึ่งไม่ได้เลย อย่างนั้นต้องอดต้องทน ก็เมื่อเรารู้ว่าร่างกายขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่ของเรา เราจะไปเดือดร้อนทำไม ไอ้จิตที่มันเดือดร้อน เพราะมันถือว่าเป็นของเรา ถือว่ากายของเราอย่างนี้น่ะ มันจึงได้เดือดร้อน

แต่ถ้ามันรู้แจ้งว่าไม่ใช่ของเราจริงๆ แล้วอย่างนี้ มันไม่เดือดร้อนนะจิตน่ะ มันก็อดได้ทนได้ ถึงแม้ว่าจะรู้เท่าร่างกายนี้อย่างไรก็ตาม แล้วจะให้ความรู้สึกในความทุกขเวทนาต่างๆ มันระงับไปอย่างนี้ ไม่ใช่นะ รู้เท่าอย่างไรมันก็ยังรู้จักอยู่นั่นแหละ รู้ทุกข์น่ะ เจ็บมันก็รู้เจ็บ ปวดมันก็รู้ปวดอยู่นั่นแหละ ร้อนก็รู้ร้อนอยู่ หนาวก็รู้หนาวอยู่อย่างนี้นะ แต่ว่าเมื่อมันรู้แจ้งแล้วมันไม่หวั่นไหว ขอให้เข้าใจ อันนี้ขอย้ำแล้วย้ำอีก เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญน่ะ

บางคนก็เข้าใจผิดนะ คิดว่าเมื่อรู้แจ้งรู้เท่าตามเป็นจริงแล้ว จะไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์เสียเลยอย่างนี้นะ อันนี้มันเข้าใจผิดไป ก็อย่างที่เคยพูดให้ฟังอยู่แล้วว่า จิตที่ไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์นั่นน่ะ มีแต่จิตเข้านิโรธสมาบัติโน่น จิตพระพุทธเจ้า จิตพระอรหันต์ที่ท่านเข้าสู่นิโรธสมาบัติได้ ท่านยับยั้งอยู่ โดยไม่ต้องขยับเขยื้อนร่างกายไปไหนมาไหน ๗ วัน ๗ คืน ท่านก็อยู่ได้

อันนั้นแสดงว่า จิตท่านไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์ในร่างกายเลย เมื่อจิตท่านตั้งอยู่โดยลำพังแล้วอย่างนี้ ไอ้ร่างกายมันก็พลอยสงบไป ไม่ป่วนปั่นหวั่นไหวอะไร ในขณะที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั่นนะ เหตุนั้นท่านจึงยับยั้งอยู่ได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ถ้าได้สัมผัสกับความทุกขเวทนาของร่างกายอยู่อย่างนี้ อยู่ไม่ได้ถึงปานนั้น ขอให้เข้าใจ

เมื่อท่านผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้อย่างนี้ มันก็ต้องได้สัมผัสกับความทุกข์ ความแปรปรวนของร่างกายอันนี้อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ว่าท่านผู้ละความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาได้แล้ว ท่านก็ไม่เป็นทุกข์อย่างนี้นะ ให้เข้าใจ รู้ทุกข์อยู่นั่นแหละ แต่ว่าจิตใจไม่เป็นทุกข์ ไม่กระวนกระวาย ไม่หวั่นไหว อดได้ทนได้ มีสติ รู้เท่าอยู่ตามธรรมดา มีปัญญารู้แจ้งในขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงอยู่

รู้ว่าขันธ์ ๕ นี้มันแปรปรวน มันกำลังจะแตกจะดับ ไม่ใช่เราแปรปรวน ไม่ใช่เราแตกเราดับ เราไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีอยู่ในเรา ก็ต้องใช้ปัญญาสอนจิตอย่างนี้ มันเป็นความจริงนะ เรียกว่าสอนความจริง ไม่ใช่ปั้นเรื่องเอาน่ะ เป็นความจริงสิ ถ้าว่าขันธ์๕ มีอยู่ในเรา เรามีอยู่ในขันธ์ ๕ มันก็เป็นทุกข์ตลอดกาล ไม่มีผู้ใดพ้นทุกข์ได้เลยอย่างนี้

เหตุที่มันจะมีผู้พ้นทุกข์ได้ แสดงว่าผู้ที่อยู่นอกเหนือขันธ์ ๕ มีอยู่ ผู้ที่ไม่ใช่อยู่ในวงของขันธ์ ๕ นั่นน่ะ มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นจำพวกขันธ์ ๕ แล้วธรรมชาติที่อยู่นอกขันธ์ ๕ นั้นมี คืออะไรเล่า คือดวงจิตนั่นแหละ ให้เข้าใจ ดวงจิตนี่มันไม่ได้เป็นขันธ์ ๕ หมายความว่าอย่างนั้น แต่อาศัยขันธ์ ๕ อยู่ หากไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้ว วิญญาณเล่า อ้าว วิญญาณก็เป็นอาการของจิต ออกจากจิตมันเป็นอย่างนั้น

สังเกตดูสิเมื่อเวลาคนจะตายน่ะ เวลาจวนจะตายน่ะ วิญญาณทางกายมันก็ดับ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ดับความรู้สึกไป ความรู้สึกมันก็หายไปๆ ขึ้นมาถึงหัวเข่า ขึ้นมาถึงขา ดับลงๆ ความรู้สึกไม่มีแล้วบัดนี้ นั่นแหละวิญญาณมันดับ ไอ้ทางเบื้องต่ำก็นับแต่ศีรษะลงไป ความรู้สึกมันก็ดับลงๆ ดับลงไปถึงท่ามกลางอก

บัดนี้ความรู้สึกคือวิญญาณมันดับ ทางตาก็ดับ หูก็ดับ จมูกก็ดับ ลิ้นก็ดับ อวัยวะร่างกายส่วนอื่นดับไปหมด มันก็ไปรวมอยู่ที่จิต เหลือแต่จิตเท่านั้น อยู่ในท่ามกลางอกนั้น อย่างนี้แหละ เมื่อจิตยังอยู่ ลมหายใจก็ยังปรากฏอยู่อย่างนี้แหละ พอจิตถอนออกจากร่างนี้แล้ว ลมหายใจก็ดับวูบไปเลย นี่ให้สังเกตดูให้ดีเป็นอย่างนี้แหละ วิญญาณจึงได้ชื่อว่าเป็นอาการของจิต อยู่ในจำพวกขันธ์ ๕ เมื่อรูปร่างกายนี้อันมีธาตุทั้ง ๔ นี้ ไม่ปรองดองสามัคคีกันแล้ว มันก็แตกสามัคคีกัน

บัดนี้ นามธรรมที่อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ ก็อยู่ไม่ได้ เวทนา ความสุขความทุกข์อะไร เมื่อวิญญาณความรู้สึกอันนี้มันดับไป ดับไปเท่าไหน เวทนาที่นั้นก็ไม่มีแล้ว สัญญาความจำหมายในส่วนที่วิญญาณมันดับไปนั้นก็ไม่มีแล้ว สังขารความปรุงแต่ง ว่าเราเจ็บแข้งเจ็บขา เจ็บเท้าหรือว่าปวดศีรษะ อย่างนี้ไม่มีแล้ว เมื่อวิญญาณมันดับไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น

มันดับไปๆ ตรงไหน ความรู้สึกนามธรรมทั้ง ๔ นี่ก็ดับไปพร้อมๆ กันเลย เมื่อวิญญาณดับ เวทนา สัญญา สังขาร ก็ดับๆ ไปตามกัน มันเป็นอย่างงั้น อันนี้ไปมันก็ยังเหลือแต่ดวงจิตเท่านั้นแหละ อาศัยอยู่แต่หทัยวัตถุนั้น ทีนี้เมื่อถึงวาระมันมาแล้ว เรียกว่าบุญเก่าหมดลงแล้ว จิตก็อาศัยอยู่ในร่างนี้ไม่ได้ ถอนตัวออกจากหทัยวัตถุนั้นไปตามยถากรรม

ถ้าผู้มีบุญได้สั่งสมบุญไว้ มีสติควบคุมความรู้สึกคือดวงจิตได้ ไม่ให้เกาะ ไม่ให้ข้องอยู่ในโลกอันนี้ อย่างนี้นะ เมื่อมันไม่เกาะไม่ข้องอยู่นี่นะ มีแต่บุญกุศลปรากฏอยู่ในจิตใจอย่างเดียวเท่านั้น บุญกุศลมันก็นำไปสู่ที่สุขสบายได้ตามประสงค์เลย แต่ถ้าจิตไปข้องอยู่ ถึงบุญมีอยู่มันก็ไม่ได้ บุญก็พาไปไม่ได้ ขอให้เข้าใจ

ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ท่านเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ จนสำเร็จ ทีนี้ก็มาสร้างเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ แล้วได้อาราธนานิมนต์ให้พระอรหันต์ที่ท่านมีฤทธิ์ในสมัยนั้น ไปอัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ที่บรรดากษัตริย์หัวเมืองต่างๆ เจ็ดหัวเมืองใหญ่ๆ แล้วก็หัวเมืองน้อยๆ ซึ่งได้รับส่วนแบ่งจากโทณพราหมณ์ที่เมืองกุสินาราครั้งนั้นแล้ว ต่างก็เอาไปก่อเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองของตนๆ

บัดนี้พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไปอัญเชิญเอาพระบรมธาตุนั้นมา ด้วยอำนาจอานุภาพของตน เอามามอบแด่พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้แบ่งเอาพระบรมธาตุนั้น บรรจุไว้ในเจดีย์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ ให้ทั่วถึงกันไปหมด แล้วบัดนี้พระเจ้าอโศกมหาราชมีศรัทธา ได้ทำบุญกุศลสักการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่ตั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในวันสุดท้าย เอาสำลีชุบน้ำมัน แล้วเอามาติดใส่ร่างกายนี่โดยรอบ เสร็จแล้วก็จุดไฟเผาตัวเอง เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ไฟไหม้สำลีไปจนหมด แต่ไม่ไหม้ร่างของพระเจ้าอโศกมหาราชแม้แต่น้อย ด้วยบุญญานุภาพอันนี้น่ะรักษาไว้

แต่พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้ภาวนา ไม่ได้ทำความเพียร เพื่อทำกิเลสให้เบาบางลงไป เมื่อเสร็จการบำเพ็ญบุญกุศลดังกล่าวนั้นแล้ว เงินทองในท้องพระคลังก็ร่อยหรอลงไป บัดนี้พระเจ้าอโศกมหาราชนี่ก็เจ็บป่วยอย่างหนัก พวกเสนาอำมาตย์ก็ประชุมปรึกษาวิจารณ์กันว่า พระราชาพระองค์นี้น่ะ ใช้จ่ายพระราชสมบัติส่วนของพระมหากษัตริย์หมด ผู้ที่จะมาครองราชย์สืบต่อก็จะเดือดร้อนในภายหลัง พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงโทมนัสน้อยใจ ระงับอารมณ์อันนั้นไม่ได้ แล้วก็สวรรคตไป

พระองค์สวรรคตไปในขณะที่จิตใจเป็นอกุศล บุญกุศลที่ตนได้ทำมามากมายนั้นลืมเสียแล้ว นึกไม่ได้อย่างนี้นะ บาปอกุศลอันนั้นจึงนำวิญญาณของพระเจ้าอโศกมหาราช ไปบังเกิดเป็นงูเหลือมตัวใหญ่ทีเดียว เอาหางเกี่ยวกิ่งไม้อยู่ริมทะเล เอาหัวมุดลงน้ำ ดำน้ำกินปลาอยู่ในน้ำทะเล แต่โชคดีที่ว่าท่านได้ลูกชายกับลูกสาวออกบวช ลูกชายชื่อว่ามหินทะ ลูกสาวชื่อว่านางสังฆมิตตา ได้ออกบวชทั้งพี่ทั้งน้อง บวชแล้วปฏิบัติไป ท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์

เมื่อบิดาสวรรคตไปแล้ว พระมหินทเถระท่านก็เข้าฌานพิจารณาดูว่า บิดาไปเกิดในที่ไหน ก็รู้ว่าจิตวิญญาณของบิดาไปเกิดเป็นงูเหลือมใหญ่ ดำน้ำกินปลาอยู่ในชายทะเลแห่งหนึ่ง พระมหินทเถระจึงได้เหาะไปในอากาศ แล้วไปแสดงตนปรากฏให้งูเหลือมเห็น แล้วแสดงว่าอาตมานี่แหละเป็นลูกของมหาบพิตร มหาบพิตรทำจิตให้เป็นอกุศลในเวลาจวนสวรรคต หรือเวลาจวนจะตายนั่นแหละ จึงได้มาเกิดเป็นงูเหลือมนี่ เพราะฉะนั้น ขอให้พระองค์จงระลึกถึงบุญกุศลที่พระองค์ได้กระทำมา ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในจิตใจเสียในขณะนี้แหละ แล้วพระองค์จะได้พ้นจากความเป็นอย่างนี้ไป

เมื่อลูกไปตักเตือนให้อย่างนั้นแล้ว ก็ได้สติระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำมาแต่เป็นมนุษย์ แต่เป็นพระราชา มหากษัตริย์ เมื่อบุญกุศลนั่นบังเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ตายจากร่างที่เป็นงูเหลือมแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นอย่างนั้น

อันนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ยกมาให้ฟังว่า บุคคลที่แม้จะทำบุญให้ทานรักษาศีลได้อย่างไรๆ ก็ตาม แต่ถ้าหากว่าไม่เจริญสมาธิภาวนา ไม่พยายามละนิวรณ์ ๕ ให้ระงับไปจากจิตใจ ไม่ได้เจริญปัญญาให้เห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง ดังกล่าวมานั้น เช่นนี้น่ะ เวลาจวนจะตายน่ะ มันเผลอไปคว้าได้อารมณ์อันใด ก็ยึดอารมณ์อันนั้นไว้ จะเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวกับเป็นบาปอกุศล มันก็ยึดเอาไว้วิตกวิจารณ์อยู่ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะกำหนดละอารมณ์เหล่านั้นได้ เพราะไม่ได้ฝึกจิตใจมาให้เป็นสมาธิ ไม่ได้เจริญปัญญามาแต่ก่อน นี่ให้พากันเข้าใจ

ผู้ใดได้เจริญสมาธิ ได้เจริญปัญญามาแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้มีสติมาก รู้ตัวอยู่เสมอ เวลายังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็รู้ตัวอยู่ ก็มองเห็นกำหนดรู้อยู่ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่มันแปรปรวน เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ใช่มันอยู่นิ่งๆ เมื่อไรล่ะ มันไม่ได้อยู่นิ่งๆ เลย

รูปกายมันเกิดยังไงล่ะ ก็เคยพูดบ่อยๆ อยู่แล้วล่ะ แต่ต้องพูดอีก ก็อย่างเช่นเรารับประทานอาหารเข้าไปอย่างนี้นะ อาหารเก่าที่ไฟธาตุมันย่อยออกไปนั่นแล้ว มันก็ถ่ายเทออกไป นั่นแหละเรียกว่า รูปเก่ามันดับไปแล้วรูปใหม่เกิดแทน ก็รับประทานอาหารเข้าไปใหม่อีก เอาไปแทนของเก่าไว้ ไฟธาตุ น้ำย่อยอาหาร ก็ย่อยอาหารนั้นไป ซึมซาบ หล่อเลี้ยงร่างกายอันนี้ แทนกันไว้อย่างนี้ แล้วส่วนใดที่เป็นน้ำย่อยอาหารที่ซึมซาบไปหล่อเลี้ยงร่างกายนี้ มันก็ไหลออกมาเป็นเหงื่อเป็นไคล เป็นน้ำมูกเป็นน้ำลายไปอย่างนั้นแหละ เรียกว่าอาหารส่วนละเอียดอันนี้น่ะ

รูปเก่าดับไปแล้ว รูปใหม่เกิดขึ้นมาแทน แต่ถ้าหากว่าไม่รับประทานอาหารเข้าไปแทน เช่นนี้แล้ว รูปกายนี้มันก็ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ตั้งอยู่ไม่ได้ รูปกายนี้จะตั้งอยู่ได้ ก็เพราะว่ามันมีอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่ จึงค่อยตั้งอยู่ได้ จึงมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่ซูบไม่ผอม จึงมีกำลังเรี่ยวแรงดีอยู่ นี่ต้องพิจารณาให้เห็นดังนี้

แต่ทีนี้นะ ถ้าหากว่าบุญเก่าที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ก่อน มันรักษา มันให้ผลไปในร่างกายนี่ มันร่อยหรอลง ร่างกายมันก็ชำรุดทรุดโทรมลง เป็นอย่างงั้น เมื่อร่างกายชำรุดทรุดโทรมลง รับประทานอาหารก็ไม่มีรสมีชาติเหมือนเดิม นอนก็ไม่หลับเต็มที่ เมื่อร่างกายทรุดโทรมลงไปแล้ว ก็มักจะมีโรคภัยเบียดเบียน เป็นโรคเป็นภัยเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ นั่นแหละ แสดงว่าบุญเก่ามันร่อยหรอลงไป ร่างกายนี่จึงมีโรคภัยมาเบียดเบียน รับประทานอาหารก็ไม่ได้มากเต็มส่วน นอนก็ไม่หลับเต็มส่วน เช่นนี้นะ ร่างกายมันก็ทรุดโทรมลง

เมื่อบุญเก่ามันหมดลงจริงๆ ลมหายใจก็หมดสิ้นลงไป จิตใจก็อาศัยร่างอันนี้อยู่ไม่ได้ บุญมีบาปมีที่ได้ทำไว้นั่น มันก็นำไปสู่สุขสู่ทุกข์ ไปตามบุญตามกรรม ท่านผู้ละอาสวกิเลสสิ้นไปแล้ว ก็เข้าสู่นิพพาน ไม่ได้มาเกิดในภพน้อยภพใหญ่ต่อไป ก็อย่างนี้แหละ ขอให้พากันเข้าใจ

แต่ทีนี้มาพูดถึงผู้ที่ยังละกิเลสให้หมดไม่ได้ ก็เพียรละกิเลสอันเป็นบาปอกุศลนั้น ให้มันน้อยลงไป เบาบางลงไป หรือให้มันหมดสิ้นไปจากกาย วาจา ใจให้ได้ ก็นับว่าเป็นฐานที่ดีเลย ดีทีเดียวแหละ เมื่อละบาปอกุศลได้หมดลงไปแล้วอย่างนี้ มันก็มีแต่บุญล้วนๆ เป็นที่พึ่งทางกาย ทางจิตใจอยู่

บัดนี้ มันก็มีโอกาสได้สั่งสมบุญ ให้เกิดมีขึ้นในตนยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะไม่มีบาปมาแทรกแซง ไม่มีบาปมาสกัดกั้น ก็เหมือนอย่างที่ผู้ละบาปอันหยาบช้ามาแล้ว เช่นอย่างว่า เป็นผู้มีศีล ๕ ศีล ๘ บริสุทธิ์ดี มีศีล ๑๐ สามเณรก็รักษาศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์ดี เป็นพระภิกษุก็รักษาศีลพระปาฏิโมกข์ คือ ศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดีอย่างนี้นะ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว มันก็แสดงว่าละบาปอกุศลส่วนหยาบๆ นั้นได้ บาปก็ระงับดับไป ดังนั้น จิตใจจึงเบิกบานผ่องใส ถ้าบุญบารมียังไม่เต็ม ก็ต้องฝึกฝนจิตใจให้มันสงบไป รักษาความสงบระงับของจิตใจไว้ ก็อย่างนี้แหละการปฏิบัติ ขอให้พากันเข้าใจ

รักษาจิตดวงนี้นะ เมื่อเราชำนาญในการรักษากาย รักษาวาจา มีสติเป็นวินัย ไม่ทำบาปแล้วนะ ก็มีโอกาสได้รักษาจิตนี้ให้บริสุทธิ์ได้ ตั้งมั่นเป็นปกติอยู่ได้เรื่อยๆ ไป อันนี้แหละ ที่จะทำให้บุญกุศลมันเจริญแก่กล้าขึ้นไปในจิตใจยิ่งๆ ขึ้นไป บางทีบุญวาสนามี บุญกุศลมันอาจจะเต็มเข้าขั้นใดขั้นหนึ่ง ในมรรคทั้ง ๔ ประการนั้น เมื่อบุญกุศลมันเต็มในขั้นใดแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะบรรลุมรรคผลในขั้นนั้นได้ ในปัจจุบันชาติแหละ

แต่ถ้าหากว่าบุญกุศลยังไม่เต็ม ไม่เข้าขั้นใดๆ ก็จะเป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัย ให้นำไปบังเกิดในสุคติภพใดภพหนึ่ง ที่จะบ่ายหน้าไปสู่ทุคติไม่มี การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี่ ต้องให้รู้แจ้งได้ด้วยตนเองว่า บาปนั่นตนได้ละมันหมดแล้ว ก็ให้รู้อย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่ามีแต่ความสงสัยเคลือบแคลงใจอยู่ว่า บาปมันหมดไปแล้วหรือยังหนอ เราละมันหมดหรือยัง เรามีแต่สงสัยลังเลอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ถูกต้อง ขอให้เข้าใจ จะต้องตรวจ ต้องพิจารณาภาวนา ตรวจตราดูอาการ กาย วาจา ความประพฤติของตนในแต่ละวันแต่ละคืนอย่างนี้นะ ตนประพฤติผิดศีลมีไหม หรือไม่มี นี่ก็ต้องทบทวนดูแหละ มันก็รู้ได้

ถ้ารู้ว่าแต่ละวัน แต่ละคืนมานี่ ตนมีสติสัมปชัญญะ รักษากาย วาจา ใจ ให้ปกติอยู่ ให้สงบระงับจากบาปอกุศลอยู่ ไม่ได้หลง ไม่ได้เผลอทำบาปทำกรรม ถ้าหากว่าได้เผลอไปอย่างนี้ เราก็สมาทานศีลเสีย เมื่อสมาทานศีลแล้วก็อธิษฐานใจ คราวนี้เราจะมีสติเต็มที่เลย ระมัดระวัง จะไม่เผลอ จะไม่ล่วงสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้ว เมื่อได้อธิษฐานกันไปอย่างนี้ ศีลมันก็มีตามเดิม แล้วบาปที่ล่วงเกินศีลนั้นมันก็ระงับไป เมื่อเรารู้ตัวแล้วนะ รู้แล้วก็สำรวมระวังต่อไปอย่างนี้นะ แล้วบาปนั้นมันก็ระงับไป ให้เข้าใจ ที่ว่าบุคคลทำบาปแล้ว บาปติดตามไปอยู่นั้น เนื่องจากว่า มันทำบาปลงไปแล้ว ไม่รู้ตัว ไม่สารภาพผิด ไม่อธิษฐานใจละเว้น เช่นนี้แหละบาปมันถึงได้ติดตามไปในภพในชาติต่อๆ ไป นี่ให้เข้าใจ วิธีละบาปก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องมันน่ะ

สรุปแล้วการปฏิบัติธรรมนั่นน่ะ ก็เพื่อมาพากเพียรพยายามละบาปอกุศล ที่ตนได้ลุ่มหลง กระทำมาแต่ก่อนนั่นแหละ ให้มันหมดไปสิ้นไปจากจิตใจ เมื่อตนมารู้ตัวแล้ว ก็มาสมาทานศีลนั่น ตนจะไม่ทำบาปกรรมอย่างนั้นต่อไปอีก แต่บาปกรรมที่ทำมาแล้ว มันยังมีอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ จึงต้องภาวนาอาศัยทำใจสงบ อธิษฐานใจละบาปกรรมที่ลุ่มหลงกระทำมาแต่ก่อนนั้น ให้มันหมดไปสิ้นไปจากจิตใจนี้ นี่นะวิธีละบาปให้พากันเข้าใจ

ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจอย่างนี้นะ นึกว่าตนสมาทานศีลแล้วก็แล้วไป คิดว่าบาปคงระงับไปแล้วอย่างนี้ เลยไม่ทบทวนไม่อะไรอย่างนี้นะ อย่างนั้นบาปมันไม่ระงับนะ บาปมันย่อมติดตามไปอยู่อย่างงั้นแหละ ส่วนที่เราสมาทานศีล มันก็เป็นศีลไปอยู่ บาปมันก็ไม่เกิดแหละ เมื่อเราสมาทานศีลมั่นคงกันไปแล้วนะ แต่ส่วนที่มันทำมาแล้วนั่นสิ มันยังติดสอยห้อยตามอยู่ อันนั้นเราจึงต้องอาศัยอธิษฐานใจละเสมอๆ ไป

นี่แหละจึงสมกับความเพียร อันประกอบไปด้วยองค์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ เฉพาะข้อ ๑ คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ก็คือเพียรระมัดระวังกาย วาจา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ ระวังกาย วาจา ไม่ให้ล่วงละเมิดในพุทธบัญญัติที่สมาทานแล้ว ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้ ไม่ให้หลงยินดีไปในอารมณ์ที่น่ายินดี อันจะเป็นเหตุก่อให้ทำบาป

เช่นอย่างว่า ผู้สมาทานมั่นในพรหมจรรย์อย่างนี้นะ เรียกว่าศีลข้อ อพรหมจริยา บุคคลใดยังมีจิตกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอยู่ อย่างนี้นะ ยังเศร้าหมองอยู่นะ ศีลข้อนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นน่ะเมื่อสมาทานศีล อันเป็นส่วนพรหมจรรย์อย่างนั้นแล้ว เราก็พยายามสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้หลงเผลอไปยินดียินร้ายในรูป เมื่อมากระทบนัยน์ตา เป็นต้น

เมื่อพยายามสำรวมจิต ไม่ให้ยินดียินร้ายในรูปที่มากระทบนัยน์ตา ดังกล่าวมาแล้วเช่นนี้ อันบุคคลจะไปทำบาปด้วยความยินดียินร้ายในอารมณ์ มีรูปเป็นต้น ดังกล่าวมานั้น มันก็ไม่มี นี่แหละแย่กว่าถ้าจะไปล่วงศีล ถ้าผู้สมาทานศีล ๘ แล้ว จะไปแสดงความมารยาสาไถยกับเพศตรงกันข้าม หรือไปจับต้องร่างกาย อย่างนี้ก็ไม่มี แต่เราก็ไปเห็นสำนักชีบางแห่งหรือส่วนมากทีเดียว ยังรับของต่อมือเพศตรงกันข้ามอยู่ อันนี้มันผิด เพื่อนก็ไม่สอนกันหรือไงก็ไม่รู้แหละ นี่พวกเราอย่าไปทำนะ

ต้องสำรวมรักษาตนให้ดี ให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์จริงๆ อย่าเผลอตัว ฝ่ายเพศตรงกันข้ามเขาเอาสิ่งของอะไรยื่นส่งให้ อย่างนี้น่ะเผลอตัวล่ะ ไปยื่นมือจับเอากับเขาเลยอย่างนี้ มันก็ทำให้ศีลเศร้าหมองไปได้ ให้เข้าใจ เราต้องมีสติให้เขาวางไว้เสียก่อน ถึงค่อยจับเอา แล้วถ้ามันมีจิตยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อย่างว่านั่นแหละ เมื่อเข้าใกล้เพศตรงกันข้ามแล้ว มันก็มีความยินดี อยากจะใกล้จะชิด

แม้เป็นภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ถ้ามีจิตยินดีในรูป เป็นต้น ดังกล่าวมานั้น อยู่ในใจอย่างนี้นะ อยากจะเข้าใกล้ชิด หาเรื่องพูดจา หาการงานทำเกี่ยวข้องกันไป ได้เข้าใกล้ชิดกัน ได้หัวเราะกัน ได้กระซิกกระซี้ต่อกัน แล้วดีอกดีใจ อันนี้มันทำให้พรหมจรรย์เศร้าหมอง ให้เข้าใจนะ

นี่แหละอันบ่อเกิดแห่งบาปอกุศล มันเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดขึ้นไปโดยลำดับอย่างนี้ เราต้องเรียนรู้ไว้

เมื่อผู้ใดรู้อย่างนี้แล้ว ก็สำรวมตนให้ดี มีสติสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสมอๆ เมื่อมีอารมณ์เหล่านั้นกระทบกระทั่งมา ก็ห้ามจิตได้ ไม่ให้มันหลงยินดียินร้ายไป อย่างนี้นะ ผู้นั้นก็จะไม่ได้ทำบาปอกุศลอย่างกลาง ส่วนอย่างหยาบนั้นเป็นอันว่าละมาแล้ว อย่างนี้นะ แล้วอย่างกลาง ก็ไม่ได้ทำบาปอย่างกลางให้มีขึ้นในใจ เช่นนี้การรักษาศีลก็คือ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ต้องสำรวมอินทรีย์ด้วยนั่นแหละ จะเป็นภิกษุ สามเณรก็ตาม เหมือนกัน ถ้าหากว่าปล่อยให้ความยินดียินร้าย ครอบงำจิตใจอยู่อย่างนั้น มันก็แสดงออกทางกาย ทางวาจาโน่น ใกล้ชิดกับเพศตรงกันข้ามบ่อยๆ มันฉวยโอกาสเอาเวลามีการมีงาน ทำการทำงานต่างๆ ในวัดขึ้นมาแล้วอย่างนี้ เอาแล้วมั่วกันไปเลยอย่างนี้นะ อย่าเน้อ อันนี้ให้พากันตั้งใจสังวรระวัง อย่าไปมั่ว ต้องมีสติ ต้องระมัดระวัง ข้อสำคัญก็ระวังจิตนี่แหละให้มันดี ทำจิตให้เป็นปกติ ไม่หลงยินดียินร้ายในอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นแล้ว มันก็รู้แหละ ความประพฤติอย่างไรจึงพอดิบพอดีในเพศตรงกันข้าม มันก็ต้องรู้เองแหละ ขอให้เข้าใจ

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจนั้น อย่าไปลืมจิตดวงนี้ ยังไงๆ เมื่อเราควบคุมจิตดวงนี้ได้แล้ว ก็เป็นอันว่าควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา มันก็ได้ความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็สำรวมไปได้ด้วยดี เป็นปกติอย่างนี้ ขอแต่เราฝึกจิตนี่ให้มันตั้งมั่นลงไป ให้มีปัญญา รู้ความเกิด ความแปรปรวนแตกดับ ของรูปของนาม ของสรรพสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอๆ แล้วนะ อย่างนี้ มันก็รักษาความรู้สึกของจิตนี้ให้เป็นปกติได้ มันก็จะไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวนไปในอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดีรักใคร่ต่างๆ ไม่แปรปรวนไปในอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินร้ายต่างๆ นั่นมันก็จะไม่แปรปรวนไป ความรู้สึกมันก็จะเป็นปกติ สม่ำเสมอไป

แม้จะอยู่เงียบๆ แต่ตัวคนเดียว ไม่ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเหล่านั้น มันก็เป็นปกติอยู่ได้ แม้ได้พบ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ต่างๆ เหล่านั้น มันก็สามารถสำรวมจิตให้เป็นปกติอยู่ได้ นี่ความมุ่งหมายของการปฏิบัติให้มันลึกเข้าไป มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ให้พากันเข้าใจ

เราปฏิบัติก็มุ่งอย่างนั้น ขอให้มุ่งอย่างนั้นเลยทีเดียว ถ้าหากเราไม่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่เจริญก้าวหน้าไปได้ การปฏิบัติธรรมมันก็ย่ำต๊อกอยู่กับของเก่าเท่านั้นเองแหละ ครั้นพอจิตมันเดือดร้อนขึ้นมา ก็เอ้า ทำความเพียรข่มมันลง ข่มไปข่มมา มันก็ระงับลงไป อ้าว อยู่ไปอยู่มาพอเผลอๆ มันก็เกิดขึ้นมาเผาจิตให้เดือดร้อนวุ่นวาย เราก็ทำความเพียรข่มๆ มันลงไป มันก็สงบลง มันก็ย่ำต๊อกอยู่ที่เก่าอยู่เรื่อยไปอย่างนั้นแหละ มันไม่ก้าวไปได้เลย

ดังนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ขอให้ก้าวไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะก้าวไปทีละน้อยๆ ก็ยังดี ดีกว่าไม่ก้าว ดีกว่าถอยหลัง เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันก้าวไปได้ ก็รู้ได้ ถ้าบุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะประจำอยู่กับจิตใจ อยู่กับกายวาจาเสมอแล้วนี่ มันรู้จักความเคลื่อนไหวของจิตใจได้ทุกขณะเลย ขณะนี้จิตใจเคลื่อนไหวไปอย่างนั้นมันก็รู้ ผู้มีสติแก่กล้า ผู้มีสัมปชัญญะ รู้กาย รู้จิตตัวเองอยู่เสมออย่างนี้นะ มันก็รู้ ให้พึงพากันเข้าใจ

ถ้าหากว่าไม่ประเมินผลแห่งการปฏิบัติไปพร้อมกันอย่างนี้ มันจะไปรู้ได้อย่างไรว่า เราปฏิบัติมานี่มันได้ผลมากน้อยเพียงใด กิเลสเบาบางลงไปอย่างไรบ้าง มันก็รู้ไม่ได้เลย นั่นแหละให้พึงพากันตั้งอกตั้งใจ กระทำความเพียรลงไป ในเมื่อเราได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มาพบแนวทางข้อปฏิบัติอันถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์แล้วอย่างนี้นะ เราไม่ควรละโอกาสนี้ให้เสียไปเปล่าๆ

แม้ว่าเราประมาทในชาตินี้ ไม่กระทำความเพียร ปล่อยให้กิเลสครอบงำ เอ้า ท่องเที่ยวไปในสงสารต่อไป มันก็เป็นทุกข์เดือดร้อนไป หากว่าได้ไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไปอีก เห็นทุกข์เห็นภัยอีก ก็เริ่มสร้างบุญกุศลไปเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้นแหละ

ไอ้ทุกข์นี่แหละ มันกระตุ้นใจของคนเราให้สร้างบุญสร้างกุศล เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า “สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข” “ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาปนำมาซึ่งความทุกข์” เราชาวพุทธน่ะได้ฟังพุทธภาษิตนี้แล้ว เราเบื่อทุกข์กัน บัดนี้ไม่ต้องการทุกข์ ต้องการความสุข เมื่อต้องการความสุข เราก็ต้องสั่งสมบุญ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนนั้น ก็ขอให้เข้าใจตามนี้

ทำไมท่านจึงสอนให้สั่งสมบุญกุศล ก็เพราะบุญกุศลเป็นชื่อแห่งความสุข ผู้มีบุญได้ชื่อว่ามีความสุข ผู้มีบาปก็ได้ชื่อว่ามีความทุกข์ นี่มันคู่กันอย่างนี้เองแหละ เมื่อบุคคลใดเบื่อต่อความทุกข์ทั้งหลายแล้ว มันก็ต้องน้อมใจไปในทางบุญกุศล สั่งสมบุญกุศลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ประมาทการสำรวมจิต รักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลคุณงามความดีที่ตนเองได้กระทำมาแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมๆ กันไปอย่างนี้ มันก็เป็นเหตุให้บุญกุศลนั้น เจริญขึ้นในจิตใจได้

เพราะว่าคนเราเมื่อมีบุญมีคุณ เป็นทุนอยู่ในจิตใจแล้ว มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ บุญกุศลอันนั้นจะกระตุ้นใจให้ทำความดีเรื่อยไป ไม่ประมาทเลย เป็นอย่างงั้น แล้วบุญกุศลหนหลังก็มาตกแต่ง หรือมารักษาบำรุงร่างกายนี้ ให้อยู่เย็นเป็นสุข โรคภัยร้ายแรงไม่ค่อยเบียดเบียนร่างกาย มีกำลังวังชาดี ประกอบกุศลกิจต่างๆ ได้เต็มที่ เมื่อมันพร้อมอย่างนี้แล้ว มันก็สั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้นได้โดยลำดับไป

ดังแสดงมาสมควรแก่เวลา ขอจบลงเพียงเท่านี้

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ วรลาโภวาท พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา พระสุธรรมรำลึก
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วันจันทร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ หัวข้อ รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต หน้า ๙๑-๑๑๐

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=51952

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2021, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2022, 11:39 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร