วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


ศาสโนวาท

กัณฑ์ที่ ๑ : ความสวัสดี

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


วันนี้จะแสดงธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดความสวัสดี
ซึ่งหมายถึงความสุขความเจริญ เป็นที่พอใจของคนทั่วโลก
ถึงกับยกขึ้นเป็นคำอวยชัยให้พรโดยน้ำใจอันมุ่งดีแก่กัน


ความเจริญด้วยทรัพย์สมบัติยศศักดิ์บริวาร ชื่อเสียง เกียรติคุณ
ความสบายกายไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
ความโปร่งไม่มีอุปสรรคขัดข้อง
ความไม่มีภัยจากข้าศึกศัตรู ตลอดถึงความบริสุทธิ์
เหล่านี้เรียกว่า ความสวัสดี
คุณข้อนี้จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว
จะรักษาให้คงที่ได้หรือจะทำให้เจริญขึ้น
ก็เพราะประพฤติยึดธรรมเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย
จึงตรัสแก่สุพรหมเทวบุตรความว่า


“เราไม่เห็นความสวัสดีของประชาชน
นอกจากปัญญาเป็นทางให้เกิดความรู้ ตปะ ความเพียร
อินทรีย์สังวร ความสำรวมอินทรีย์ การละความชั่วได้หมด”


พระพุทธภาษิตนี้ทรงแสดงความสวัสดีว่า
เป็นผลสำเร็จมาแต่ ปัญญา ความเพียร ความระวังไม่ประพฤติชั่ว



ปรีชาหยั่งรู้ความเสื่อมความเจริญพร้อมทั้งเหตุผลเรียกว่า ปัญญา
เป็นเหตุให้เกิดความสวัสดี

เพราะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด
ย่อมทำจิตใจของผู้นั้นให้สว่างไสว แลเห็นวิบัติและสมบัติ
ควรละและควรประกอบอย่างไร
ดุจคนที่มีจักษุเป็นปกติ และรู้จักชนิดแห่งสิ่งของ
และเห็นอะไรๆก็ทราบได้ว่าดีและไม่ดี ฉะนั้น


แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงประทีป
ย่อมสำหรับจักษุฉันใด ปัญญาก็เป็นแสงสว่างสำหรับจิตใจ
ทำให้เห็นผิดและถูกเหมือนนั้น


คนผู้มีปัญญาย่อมพินิจพิเคราะห์เบื้องต้นและเบื้องปลาย
ผิดถูก เป็นประโยชน์ และไม่ประโยชน์
รู้คาดการณ์ถูก รู้จักประมาณตน รู้จักกาลที่ควรและไม่ควร
เช่นนี้ไม่มีใคร่มีทางเสีย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว



เพราะปัญญาเป็นดุจผู้ชี้ทางเสื่อมทางเจริญ
ให้บุคคลได้หลีกเลี่ยงและดำเนินไป
เหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย
จึงตรัสสรรเสริญไว้ว่า
ปญฺญา เจนํ ปสาสติ ปัญญาย่อมคุ้มครองบุคคล
พุทธภาษิตข้อนี้มีอธิบายไว้ว่า


คนเราเมื่อยังเป็นทารกไม่เดียงสา
ต้องอยู่ในปกครองของผู้ใหญ่มีบิดามารดาเป็นต้น
ดูแลระวังรักษาฝึกหัดดัดปรือ
ครั้นเจริญขึ้น ได้เห็นการงานที่เขาทำ
ได้ยินเสียงที่พูดทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนั้นไม่ดี
ความรู้ก็เจริญขึ้นโดยลำดับ
รู้จักทำการงานถูกผิดตามพื้นเพของตน
ถ้ารียนศิลปวิทยา คบสมาคมกับคนที่ฉลาด มีความรู้
ความฉลาด ความรู้ความสามารถก็เจริญยิ่งขึ้นไป
อาจรักษาตนและปกครองหมู่คณะของตนให้มีความเจริญไพศาล
ตามกำลังความรู้ความสามารถ
ทำให้ชีวิตเป็นไปในโลกโดยความสวัสดี
โดยนัยนี้แม้องค์พระมหากษัตริย์
ย่อมปกครองประชาราษฎร์ไว้ได้โดยพระปรีชา
ทางธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ปกครองขาดปัญญา
ปล่อยให้เป็นไปตามลำพังใจ ก็จะดิ้นรนในอารมณ์ ที่รักที่ชัง
ด้วยอำนาจกิเลสชักนำให้เศร้าหมองขุ่นมัว
จะทำจะพูดจะคิดก็วิปริตผิดทางธรรม
เป็นเหตุให้เกิดอาการที่น่าเกลียดปรากฏ
ถ้ามีปัญญากำกับอยู่ก็ไม่อาจฝ่าฝืนความรู้ไปได้
แม้จะเป็นได้บ้าง ตามนิสัยของจิตใจ
ก็ยังเหนี่ยวรั้งมิให้กำเริบถึงแสดงอาการทางกายและวาจา
ซึ่งเป็นกิริยาที่น่าเกลียดน่าชัง ต้องตามพุทธสุภาษิตความว่า


“บัณฑิตผู้ดำเนินในกิจที่เป็นประโยชน์ด้วยปัญญา
ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลงให้ปรากฏ
ผู้มีปัญญารู้จักเหตุผลทั้งทางโลกและทางธรรม
ย่อมปกครองตนและหมู่คณะของตนให้ได้รับผลดี
คือ ความสวัสดี ไม่มีความเสื่อม”

สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย
อาศัยพระปรีชารอบรู้ ในเหตุผลทำให้พระองค์บริสุทธิ์
หลุดพ้นจากอำนาจข้าศึก คือ กิเลสมาร
เพราะทรงรู้เท่าทันไม่งมงายในอุบายของข้าศึก จึงได้พระนามว่า
พระอรหันตสัมพุทธเจ้า
ทำความสวัสดีแก่พระองค์
แล้วยังทรงสั่งสอนผู้อื่นให้ประพฤติตาม
ได้รับความสวัสดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า ถึงที่สุดก็มีเป็นอเนกอนันต์
คำสั่งสอนของพระองค์เป็นทางดำเนินของบุคคลได้ทุกขั้นไม่ว่าสูงต่ำ
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงพระนามว่า สตฺถาเทว-มนุสฺสานํ
เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์

นี่ก็เพราะปรีชารอบรู้ในเหตุผล
ทำความสวัสดีให้แก่สาธุชน ตลอดมาถึงเราทั้งหลาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 15:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปัญญาเป็นคุณให้เกิดความสวัสดี ดังพรรณนา
ต้องยกความเพียรด้วยจึงจะลุล่วงไปได้
เพราะกิจการอะไรหาได้สำเร็จด้วยความรู้อย่างเดียวไม่
และความรู้จะเจริญแก่กล้าได้
ต้องอาศัยหมั่นฟังหมั่นคิดตริตรองสอดส่องหาเหตุผลนั้นๆ
ความรู้จึงจะกว้างขวางได้



คนเกียจคร้านไม่อาจทำความรู้ให้เจริญได้
แม้จะมีความรู้อยู่บ้าง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
กลับทำความรู้นั้นให้เสื่อมทรามไป
ต้องตามพุทธภาษิตความว่า

ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ
“คนเกียจคร้านย่อมไม่พบทางด้วยปัญญา”



ความสิ้นไปแห่งปัญญา เพราะไม่ประกอบความเพียรนี้เป็นคุณสมบัติพยุงจิต
ในการประกอบกิจตามหน้าที่มิให้ท้อแท้
มีหน้าที่ทำใจให้แกล้วกล้า มิให้หดหู่หงอยเหงาทำให้อาจหาญ
อดทนขะมักเขม้นไม่เห็นความลำบาก ทำจิตให้มั่นคง
มีแต่จะก้าวไปข้างหน้าไม่ถอยหลัง ประคองใจมิให้ไปทางเกียจคร้าน
เหล่านี้เป็นลักษณะแห่งความเพียร


ความเพียรนี้อุดหนุนจิตให้แรงขึ้นได้ทั้งข้างชอบและข้างผิด
เมื่อใช้ชนิดที่ถูกจึงให้สำเร็จผลที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
ไม่เช่นนั้นกลับจะให้โทษแก่ผู้ประพฤติยิ่งขึ้นไป

เปรียบดังเครื่องใช้สอยต่างๆที่ควรจะใช้ในทางหนึ่ง
ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ผิดกิจที่ทำย่อมไม่สำเร็จ กลับจะให้โทษ
ต่อใช้ถูกทางจึงให้ประโยชน์นั้นสำเร็จได้
ข้อนี้ฉันใดความเพียรก็เหมือนฉะนั้น


ผู้หวังความเจริญพึงทุ่มเทอุตสาหะทั้งกำลังกายกำลังความคิด
ในกิจที่ตนมุ่งหมายจะได้ผลทั้งทางโลกและทางธรรม
ให้สมกับพุทธภาษิตที่ได้สอนไว้ ความว่า

กยิรา เจ กริยาเถนํ
“ถ้าจะทำควรทำจริงๆต้องบากบั่นทำกิจนั้นให้มั่นคง”



การทำอะไร จำเป็นต้องพบความขัดข้องจะมากหรือน้อยก็ตาม
เมื่อพบความขัดข้องเช่นนั้น ก็ไม่ควรท้อถอยวางธุระเสีย
ต้องบากบั่นคิดหาอุบายแก้ไข ปลูกฉันทะความพอใจไม่ทอดทิ้ง
เมื่อล่วงความขัดข้องไปได้ แม้เกิดขึ้นก็ไม่อายแล้ว
เพราะเคยแก้ไขมาแล้วเป็นดังนี้ กิจการที่ทำนั้นอาจสำเร็จ
เมื่อสำเร็จชื่อว่าลุถึงความเจริญ


ผู้ที่มีปัญญาและความเพียรประกอบกัน ย่อมเข้าใจในเหตุในผล
รู้จักอุบายแก้ไขความขัดข้อง บากบั่นทำกิจการจนสำเร็จผล
ทำตนและผู้อื่นให้พ้นภัย ได้รับความสวัสดี

ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างดังนิทานที่ท่านเล่าไว้ ความว่า


มีนายสัตถวาหะ คือพ่อค้าเกวียนผู้หนึ่ง
ซึ่งทานกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์
ประกอบพาณิชยกรรมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม
ครั้งหนึ่งผ่านทุ่งทรายอันแห้งแล้ง ระยะทานประมารถึง ๖๐ โยชน์
ทรายในทุ่งนั้นละเอียดร่วนกอบกำก็ไม่ติดอยู่ในมือ
พอพระอาทิตย์ขึ้นก็ร้อนโชนดุจกองถ่านเพลิง เหยียบไม่ได้
เดินได้แต่กลางคืน พออรุณขึ้นก็จอดเกวียนเป็นวงทำปะรำข้างบน
บริโภคอาหารเสร็จแต่เช้าตรู่
นั่งในร่มสิ้นวันยังค่ำเมื่อตะวันลับดวงแล้ว บริโภคอาหารเย็น
ครั้นพื้นแผ่นดินหายร้อนแล้ว ก็เทียมเกวียนเดินทางต่อไป
การไปในทางนั้นเช่นเดียวกันกับไปทางทะเล
ควรจะต้องหาต้นหนคือ คนนำทาง
เขาเดินข้ามทางนั้นด้วยกำหนดหมายดาวเป็นสำคัญ
แม้นาย สัตถวาหะนั้น ก็ทำตามอย่างนั้นล่วงมรรคาไปได้ ๕๙ โยชน์
แล้วคิดว่าอีกคืนเดียวก็จะพ้นจากทางกันดาร
บริโภคอาหารเย็นแล้ว ก็ไม่เหลือฟืนและน้ำไว้เผื่อ เทียมเกวียนขับไป
ต้นหนนอนและดูดวงดาวในท้องฟ้า บอกให้ขับไปทางนั้น
ทางนี้อดนอนนานเข้าก็อ่อนเปลี้ยหลับไป
โคเดินวกไปหาทางที่มาแล้ว ไม่ทันรู้โคก็เดินไปจนตลอดคืน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ต้นหนตื่นในเวลาอรุณขึ้น ดูดาวแล้วร้องให้กลับเกวียน
กว่าจะกลับให้เข้าลำดับกันได้ ก็พออรุณขึ้น
คนเหล่านั้นพูดกันว่า นี่เป็นที่พักเกวียนของพวกเราเมื่อวานนี้
ฟืนและน้ำของเราก็สิ้นแล้ว บัดนี้เราพากันบรรลัยหมด
แก้เกวียนตั้งเป็นวงเข้าทำปะรำบนแล้วนอนละห้อยอยู่ใต้เกวียนของตน
นายสัตถวาหะนึกว่า เมื่อเราสละความเพียรเสีย ก็จะพินาศกันหมด
เวลานั้นยังเช้าพื้นดินยังไม่ทันร้อนก็ออกเที่ยวเดินตรวจดู
เห็นหญ้าคากองหนึ่งจึงสันนิษฐานว่า
หญ้านี้ชะรอยจะได้ชื้นแห่งน้ำข้างล่างจึงงอกขึ้นได้
สั่งคนให้เอาจอบมาแล้วให้ขุดลงไปในที่นั่น
เขาช่วยกันขุดลงไปได้ ๖๐ ศอก จอบกระทบศิลาภายใต้
ก็พากันท้อถอยไม่คิดพยายามต่อไปอีก
นายสัตถวาหะเข้าใจว่า น้ำจะมีอยู่ใต้ศิลานี้
ลงไปยืนเงี่ยหูฟังดูก็ได้ยินเสียน้ำไหลข้างล่าง
ขึ้นมาพูดกับคนรับใช้คนหนึ่งว่า
ถ้าเจ้าไม่คิดเพียร เราทั้งหลายก็จะพากันตายสิ้น
เจ้าอย่าหยุดอุตสาหะเสียเลย
เอาค้อนเหล็กนี้ลงไปต่อยศิลาในบ่อนั้นเถิด
บุรุษนั้นรับคำนายแล้ว
ถึงคนทั้งปวงสิ้นอุตสาหะยืนนิ่งเสีย ก็ไม่ท้อถอย
ลงไปต่อยหินตามสั่ง ศิลาแตกกลางตกไปกั้นกระแสน้ำไว้
สายน้ำมีลำตาลเป็นประมาณก็พุ่งขึ้นมา
คนทั้งปวงก็ได้ดื่มได้อาบเป็นผาสุก
และผ่าเพลาและแอกที่เหลือใช้เป็นฟืนหุงอาหารบริโภค
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตก็ไปสู่ประเทศที่ประสงค์จำหน่ายสินค้า
ได้กำไรสองเท่าบ้างสี่เท่าบ้าง แล้วกลับไปสู่ถิ่นของตน


เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ผู้ประกอบด้วยปัญญาและความเพียร
ย่อมรักษาตนและหมู่คณะของตนให้พ้นภัยได้รับความสวัสดี
พวกพ่อค้าเกวียนรอดพ้นจากความตาย
ก็เพราะอาศัยความสอดส่องของนายสัตถวาหะ
และความเพียรของบุรุษรับใช้
สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา
ทรงนำเรื่องนี้มาเทีบยกับการปฏิบัติในทางธรรม
ทรงสอนพุทธศาสนิกชนว่า

“ชนทั้งหลายมีความขวนขวายไม่เกียจคร้าน
เพียรขุดอยู่ในทางราบก็ได้พบน้ำ ณ ที่ดอนนั้น
ผู้ที่มีปัญญารู้จักเหตุผล กอปรด้วยความเพียร
และกำลังกายกำลังความคิด ไม่เกียจคร้าน
ก็พึงได้ความสงบใจดุจเดียวกัย”



ปัญญาและความเพียรจะทำจิตให้เที่ยงธรรมให้บรรลุผลเช่นนั้นได้
ต้องอาศัยมีสติกำกับอยู่ด้วย
ถ้าไม่เช่นนั้นจะใช้ความรู้ความคิดแชเชือนไปในทางผิด
จิตใจมักจะฟุ้งซ่าน เพราะขัดข้องในการทำและความคิดบ้าง
เพราะความทะยานในอารมณ์ที่ตนรักใคร่บ้าง
เพราะความขัดเคืองในอารมณ์ที่ตนไม่พอใจบ้าง
และจะเลินเล่อไม่รอบคอบในหน้าที่ของตนเป็นดังนี้
กิจก็มักจะผิดๆ พลาดๆ ไม่ลุล่วง ถึงผลที่ตนมุ่งหมาย
อาจทำความเสียหายด้วยความชะล่าใจก็เป็นได้

พึงเห็นตัวอย่างดังต้นหนผู้นำทางพ่อค้าเกวียนที่กล่าวมาแล้ว
ด้วยความเลินเล่อต่อหน้าที่ของตนวางใจเสียว่าเกือบจะถึงแล้ว
นอนหลับเสียเกือบจะทำตนและพวกพ้องให้ถึงความพินาศ
เพราะฉะนั้นความระวังจึงเป็นคุณสำคัญในทางสวัสดีประการหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 16:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความระวังใจมิให้ความยินดียินร้ายครอบงำ ในเวลาที่เห็นรูป
ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสและคิดอะไรๆ
โดยเนื้อความก็คือ มีสติรักษาใจให้ดำเนินถูกต้องตามคลองธรรม
ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ
เพราะสมบัติ – วิบัติ – สุข – ทุกข์ ย่อมเกิดแต่ความคิดเป็นต้นเค้า
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงโทษของความคิดที่ตั้งเค้าผิดเอาไว้ว่า

ทิโส ทิสํ กยิรา เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร

“โจรคบโจร คนมีเวรกับคนมีเวร
ทำความพินาศอันใดให้แก่กันและกันก็ดี
ความคิดที่ตั้งเค้าผิดทำบุคคลให้ชั่วร้ายกาจยิ่งกว่านั้น”

และแสดงคุณของความคิดที่ตั้งเค้าถูกว่า

น ตํ มาตาปิตา กยิรา อญฺเญ วาปิจ ญตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร

“บิดามารดาหรือญาติอื่นๆ ทำความดีนั้นให้ไม่ได้
ความคิดที่ตั้งเค้าถูก ทำบุคคลให้ประเสริฐกว่านั้น”



โดยนัยนี้ แสดงว่า คนที่เป็นข้าศึกแก่กัน
จะทำความพินาศให้แก่กันก็จำเพาะตัว
ส่วนความคิดผิด ย่อมทำตนและผู้อื่นให้พินาศ
ด้วยพึงเห็นตัวอย่างดังกองทัพอันเข้าประจัญบานในสงคราม
ถ้าความคิดแม่ทัพผิดจากวิธียุทธ์ ก็จะไม่ทันท่วงที
เอาชัยชนะแก่ข้าศึกไม่ได้
กลับจะทำกองทัพให้ยับเยินถึงความพินาศด้วยอำนาจข้าศึก
ส่วนความดีนั้นบิดามารดาหรือญาติจะทำให้เพียงใดในวิสัยของตน
เกิดขึ้นไปทำให้ไม่ได้ แต่ความคิดที่ตั้งเค้าถูกทำให้ได้
คนที่มีทรัพย์สมบัติ วิทยาความรู้ความสามารถ
ยศ ศักดิ์ บริวาร เกียรติคุณ ล่วงพื้นเพเดิมของตนขึ้นไป
หรือได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติในทางธรรมถึงที่สุด
ก็เพราะความคิดที่ตั้งเค้าถูก


การรักษาใจให้เป็นไปได้เช่นนั้น
ต้องคอยระวังถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดม กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส
เพราะเวลานั้นเป็นโอกาสแห่งศัตรู คือ กิเลส
ถ้าขาดความระวังมันก็จะได้โอกาสเข้าไปภายใน
ทำใจให้เพลิดเพลินมัวเมา หมกมุ่นในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส
ที่ตนเกลียดชังไม่พอใจ
ถ้ามีสติคอยระวังตรวจตราประจำอยู่ทางนั้นๆ
ศัตรู คือ กิเลสก็ไม่อาจเข้าไปประทุษร้ายได้
ดังนี้ก็จะได้โอกาสรักษาใจให้ปลอดโปร่ง
พ้นจากเสี้ยนหนามทั้งภายในและภายนอก
ความระวังเป็นทางให้เกิดความสวัสดี
ทั้งทางโลกและทางธรรมดังพรรณนามา


ปัญญามีหน้าที่รู้ดีรู้ชั่ว
วิริยะมีหน้าที่พยายามละความชั่ว ประพฤติความดี
สติมีหน้าที่ระวังรักษา
ควบคุมปัญญาและความเพียรให้ดำเนินถูกต้องตามคลองธรรม
ละความชั่วได้เท่าไร ความทุกข์ก็หมดไปเท่านั้น
ที่ยังละไม่ได้ ก็ผลิตผล คือ ความทุกข์ อยู่ตามปกติของตน
เพราะฉะนั้น การละความชั่วได้หมดนับว่า เป็นความสวัสดีอย่างอุกฤษฏ์



ความสวัสดีนอกจากคุรธรรม ๔ ประการนี้ไม่มี
สมเด็จพระมหามุนีบรมศาสดาของเราทั้งหลายจึงตรัสว่า
“เราไม่เห็นความสวัสดีของประชาชนนอกจาก
ปัญญา ความเพียร ความระวัง ละความชั่วได้หมด”

มีเนื้อความดังพรรณนามา

เพราะฉะนั้นผู้หวังความสวัสดี ควรบำรุงความฉลาด
บากบั่นทำกิจการให้สำเร็จผล
มีสติระวังรักษาใจมิให้เชือนแชไปในทางผิด
การทุจริตควรละ ไม่ควรประมาท
จะได้รับผลคือ ทำตนและหมู่คณะของตน
ให้ลุถึงความสวัสดีไม่มีความเสื่อมทราม
ต้องตามพุทธภาษิตดังกล่าวมาแล้วนั้น

สวัสดิธรรม

ธรรมที่ทำให้เกิดความสวัสดีแก่ทุกคน ดังนี้

๑. ประกอบปัญญา ให้เกิดอยู่เสมอ

๒. ประกอบความเพียร โดยสม่ำเสมอ

๓. มีความระวัง ไม่ประมาทขณะปฏิบัติงาน

๔. ละความชั่วความไม่ดีทั้งมวลโดยเด็ดขาด



ที่มา... หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติเล่มที่ ๑๗
http://jarun.org


:b48: :b8: :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร