วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก

โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ๑๖๑๖๐



คัดลอกจาก... หนังสือกฎแห่งกรรมเล่มที่ ๑๓
http://www.jarun.org

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บันทึกการสนทนาธรรม

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) กับ
ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษา
มหาวิทยาลัยไรซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา



ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษา
มหาวิทยาลัยไรซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภรรยาเป็นคนไทยชาวพุทธ
แต่ตัวเองเป็นชาวคริสเตียน สนใจศึกษาพุทธศาสนา
มาตั้งแต่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชิคาโก อ่านหนังสือภาษาไทยได้
แต่ไม่คล่องดี ในปัจจุบันกำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา
โดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม การปฏิบัติกรรมฐาน
และงานสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์


ในเรื่องกฎแห่งกรรม :b8: อาจารย์เจอร์รัลด์ ได้ถามหลวงพ่อว่า :
ใครเป็นผู้สร้างกฎแห่งกรรม ?
ทำไมคำสอนของพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องกฎแห่งกรรมมาก ?
การให้ความสำคัญแก่กฎแห่งกรรมจะเป็นการสอนให้คน
ไม่มีความกระตือรือร้น และความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือไม่ ?

:b39: หลวงพ่ออธิบายว่า : กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นมา
มีฐานะเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติข้ออื่น เช่น กฎของความเปลี่ยนแปลง
พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะต้องการให้คนทุกคน
มีความสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป
ทั้งนี้เพราะความสุขหรือทุกข์เป็นผลมาจากการกระทำของเรา
แต่ละคนเองทั้งนั้น ไม่ได้เป็นรางวัลหรือการลงโทษของอำนาจศักดิ์สิทธิ์
แต่อย่างใด คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมไม่ได้ต้องการให้ชาวพุทธ
เป็นคนขาดความกระตือรือร้นหรือความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ
ด้วยตนเอง กฎแห่งกรรมเพียงแต่เน้นความสำคัญว่าการกระทำทุกอย่าง
มีผลต่อผู้กระทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนานมากบ้างน้อยบ้าง
ตามประเภทของการกระทำ

ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังทำแต่สิ่งที่ดีงามทุกครั้ง
และถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลมาจากการกระทำของเราในอดีต
แต่ก็มิได้หมายความว่า เราไม่มีเสรีภาพที่จะสร้างชีวิตใหม่
ชีวิตมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
อนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเปิดกว้างไม่มีขอบเขต
อนาคตจะมีลักษณะเช่นใด หรือมีขอบเขตจำกัดเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบันเป็นสำคัญ
ถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลของการกระทำของเราในอดีต
แต่ชีวิตปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างหรือเสรีภาพอยู่
ทำให้เรามีโอกาสรังสรรค์ปั้นแต่งชีวิตของเราในอนาคตได้

ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเน้นความสำคัญของการกระทำในปัจจุบัน
มากเป็นพิเศษ ศาสนาพุทธไม่ต้องการให้เราไปเศร้าสร้อย
หรือดีใจกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการ
ให้เราเพ้อฝันถึงอนาคต แต่ต้องการให้เราสนใจปัจจุบัน
และทำชีวิตปัจจุบันให้ดีที่สุด จะได้เป็นปัจจัยสำหรับอนาคตที่ดีได้

:b8: อาจารย์เจอร์รัลด์ เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อที่มีเหตุมีผล
และขอบคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาช่วยเหลือให้เขาเข้าใจ
แนวความคิดของพุทธศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรมดีขึ้น

:b39: หลวงพ่อได้อธิบายเพิ่มเติมว่า : กฎแห่งกรรมมีอยู่จริง
และตัวหลวงพ่อเองนอกจากมีประจักษ์พยานจากประสบการณ์โดยตรง
เกี่ยวกับผลของกรรมในอดีตที่มีต่อชีวิตของหลวงพ่อในปัจจุบัน
แล้วยังได้ประจักษ์พยานจากประสบการณ์ของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก
ที่หลวงพ่อรับทราบอีกด้วย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลวงพ่อจึงอุทิศตัวเอง
ให้แก่การสอนอบรมคนทุกวัยให้ทำแต่ความดีงามและละเว้นจากความชั่ว
ทั้งปวงเพื่อจะได้สร้างกรรมดีให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต
ในอนาตทั้งใกล้และไกล

:b51: :b52: :b53:


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 10 ก.ย. 2009, 18:13, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: อาจารย์เจอร์รัลด์ ถามต่อมาว่า : พุทธศาสนาสอนวิธีแก้กรรมหรือไม่นั้น

:b39: หลวงพ่ออธิบายว่า : พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า
แต่ให้คนทุกคนเชื่อในความสามารถของตนเองว่า
ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาจิตของตนให้เจริญสูงสุด
ได้ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม
เพราะต้องการให้เรามีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่
ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
เราจะมีความสุขหรือความทุกข์ เพราะการกระทำของเรา
ซึ่งมีทั้งทางกาย วาจา และใจ
สำหรับในกรณีของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
พุทธศาสนาสอนว่าตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่
เราก็ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย
ที่สำคัญก็คือ เมื่อทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว
เราต้องยอมรับผิดและใช้ความผิดพลาดนั้น
เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้ทำความผิดเช่นนั้นอีกต่อไป
การยอมรับผิดและความตั้งใจที่จะทำความดีเป็นกุศลอย่างหนึ่ง
การเรียนรู้ (สิกขา) และการมีสติจะช่วยให้เราทำความผิดพลาด
น้อยลงทุกทีจนเมื่อจิตเปลี่ยนสภาพเป็นอริยจิต
เช่น ในกรณีของพระอรหันต์ แล้วความผิดพลาดต่างๆ หรือการกระทำ

ที่ไม่ดีก็จะไม่เกิดขึ้นอีกนอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้เน้นว่า :
สำหรับผู้ที่ต้องการจะรู้สาเหตุของความทุกข์ของตนในปัจจุบัน
ที่เป็นผลของวิบากกรรมที่ไม่ดีในอดีตนั้น
ก็อาจจะใช้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นเครื่องมือได้
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญในพุทธศาสนา
ที่จะสร้างกุศลและปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติ
ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีค้นพบสาเหตุและประเภทของวิบากกรรม
ที่ผู้ปฏิบัติกำลังประสบอยู่ได้
ความรู้นี้อาจเป็นประโยชน์ในการคิดหาการกระทำ
ที่จะให้กรรมนั้นสิ้นสุดลง หรือลดความรุนแรงลง
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การปฏิบัติกรรมฐานแก้กรรมได้
พร้อมกันนั้นหลวงพ่อก็ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์
ของผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน มาประกอบคำอธิบาย
ทำให้อาจารย์เจอร์รัลด์เข้าใจคำสอนของหลวงพ่อได้ดี

หลังจากที่ได้สนทนากับหลวงพ่อเป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง
อาจารย์เจอร์รัลด์กล่าวขอบคุณและยกย่องหลวงพ่อ
ว่าสามารถสอนให้เขาเข้าใจความคิดที่ซับซ้อนของพุทธศาสนา
(เช่น เรื่องกรรม และ กรรมฐาน) ได้
ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อไม่ได้มีความรู้ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น
จากการศึกษาในคัมภีร์ศาสนาเท่านั้น
แต่จากการวิเคราะห์ประสบการณ์เป็นพื้นฐาน
ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในวงวิชาการศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา
เพราะเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนศาสนาได้ลึกซึ้ง
และกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่ที่ความคิดในคัมภีร์
อาจารย์เจอร์รัลด์ดีใจมากที่มีโอกาสได้สนทนากับหลวงพ่อ
และสัญญาจะนำความรู้ที่ได้รับจากความเมตตาของหลวงพ่อนี้
ไปเผยแพร่แก่นักศึกษาชาวอเมริกันที่ศึกษากับตน

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สนทนาธรรมกับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
ชาวต่างประเทศคนอื่นที่หลวงพ่อเมตตาอธิบาย
คำสอนพุทธศาสนาให้เป็นกรณีพิเศษ
คือ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจวตท์ และภรรยา
ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
และสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี
ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และมาช่วยสอนที่
ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา
ที่นักวิชาการชาวตะวันตกเขียนไว้หลายเล่ม
และมีข้อสงสัยหลายประการ เมื่อมีโอกาสได้พบหลวงพ่อ
จึงขอคำอธิบายจากหลวงพ่อ


เรื่องแรกที่ศาสตราจารย์ผู้นี้สงสัย คือ เขาสังเกตเห็นว่า
เวลาที่หลวงพ่อสอนญาติโยมทั้งหลาย
หลวงพ่อมีกิริยาท่าทางคล่องแคล่ว กล้าหาญและมีกำลังวังชา
เช่น นักรบ เขาจึงสงสัยว่าก่อนที่หลวงพ่อจะบวชนั้น
หลวงพ่อเคยเป็นทหารหรือเป็นผู้ฝึกทหารหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่าอดีตของหลวงพ่อนั้นมีประวัติยาวนาน
ที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังแล้ว แต่ไม่ต้องการจะเล่าซ้ำอีก
และเป็นเรื่องที่ศาสตราจารย์ผู้นี้จะเข้าใจได้ยาก
เพราะไม่ได้เป็นชาวพุทธ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง
โดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม
การขาดความรู้นี้อาจทำให้เขามองดูเรื่องราวของหลวงพ่อ
ที่เป็นแม่ทัพในอดีตชาติว่าเป็นเรื่องเหลวไหลได้
หลวงพ่อต้องการที่จะพูดคุยกับเขาเฉพาะในเรื่องที่เขาจะเข้าใจได้เท่านั้น
ด้วยเหตุผลนี้หลวงพ่อจึงไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวอย่างละเอียด
เพียงแต่พูดว่าเคยเป็นทหารมาและเวลานี้ดาบที่เคยใช้
ก็เก็บไว้ที่วัดอัมพวันเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็กล่าวชม ดร.สจ๊วตท์ ว่าเป็นคนช่างสังเกต
สมกับที่เป็นนักวิชาการ การเป็นคนช่างสังเกตนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญ
ของผู้รักความรู้ การสังเกตจะทำให้เกิดความสงสัยและความต้องการ
ที่จะเข้าใจสาเหตุต่างๆ ความต้องการนี้เป็นบ่อเกิดของความรู้ต่างๆ
ของมนุษย์ ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสังเกตลักษณะต่างๆ
ที่ไม่น่าชื่นชมของชีวิตมนุษย์แล้ว
พระองค์ก็คงจะไม่เสด็จบรรพชาและพุทธศาสนาก็คงจะเกิดมีขึ้นไม่ได้

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำถามต่อมาที่ :b8: ดร.สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อคือ :
หนังสือที่เขาอ่านเกี่ยวกับพุทธศาสนามักจะเน้นว่าพระภิกษุสงฆ์
เป็นผู้ที่ตัดตัวเองออกจากสังคมที่อยู่ และแสวงหาความวิเวกโดยลำพัง
ไม่สนใจต่อทุกข์ของชาวโลก
แต่เขาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อมีภาระกิจทางสังคมมาก
นอกจากจะอบรมสั่งสอนเยาวชนและศาสนิกชนแล้ว
หลวงพ่อยังได้จัดทำโครงการที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนต่างๆ
อีกด้วยของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีการหนึ่งที่จะชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
จากกิเลสตัณหาต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถช่วยเหลือสังคม
ได้อย่างแท้จริง การช่วยเหลือด้วยวิธีนี้จะยังประโยชน์อย่างมาก
ให้แก่สังคม เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว
ไม่มีประโยชน์ตนปนอยู่เลย

ต่อจากนั้น :b39: หลวงพ่อก็อธิบายว่า :
สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อถือเป็นภาระหน้าที่ตลอดชีวิต
ที่จะช่วยเหลือสังคมไทย เพราะหลังจากหลวงพ่อมีชีวิตรอด
จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งสำคัญที่สุดแล้ว
หลวงพ่อก็ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
ดังนั้นจึงได้อุทิศตัวเองเพื่อพัฒนาคนอย่างเต็มที่ด้วยวิธีการต่างๆ
เช่น ด้วยการอบรมสั่งสอนชาวพุทธไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก
ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและจริยธรรมไม่หลงผิด
และด้วยการนำปัจจัยต่างๆ ที่ได้รับบริจาคไปช่วยเหลือผู้ยากไร้
ตามท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนต่างๆ
ให้ดีขึ้น สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม
ข้าราชการของหน่วยงานต่างๆ แล้วยังมีบริการอาหารฟรี ให้แก่ทุกคน
และมีที่พักให้สำหรับผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน
สำหรับเงินที่ใช้ในกิจการต่างๆ เหล่านี้
เป็นเงินที่หลวงพ่อได้รับจากการบริจาคทั้งนั้น

อนึ่งในการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลต่างๆ นั้น
หลวงพ่อไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น
แต่รวมไปถึงศาสนิกชนของศาสนาอื่น
เช่น ชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนด้วย ในการให้ความช่วยเหลือ
แก่บุคคลเหล่านี้ หลวงพ่อไม่ได้ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา
มาเป็นชาวพุทธ หลวงพ่อต้องการให้พวกเขาเป็นชาวมุสลิม
หรือชาวคริสเตียนที่ดี
คนดีไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม
ย่อมเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวเสริมว่า :
การกระทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อมีจิตใจกว้างขวาง
โอบอ้อมอารี นับว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง
เขาสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมาพบหลวงพ่อจำนวนมากมาย
และหลวงพ่อก็ต้อนรับและพูดคุยกับคนทุกคน
โดยไม่แสดงท่าทางอิดหนาระอาใจ หรือเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด
นอกจากนั้นเขายังทราบว่าหลวงพ่อนำพลังมาจากไหน
จึงสามารถทำงานกิจการงานต่างๆ ได้สำเร็จไม่ขาดตกบกพร่อง

:b39: หลวงพ่อตอบว่า : การพักผ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นการนอนเท่านั้น
หลวงพ่อมีวิธีพักผ่อนอยู่หลายวิธี
วิธีที่ใช้อยู่เสมอ คือ การปฏิบัติกรรมฐาน
คือ การให้จิตอยู่ในสมาธิไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม
จิตที่อยู่ในสมาธิเป็นจิตที่สงบและมีพลังมาก


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวว่า :
เขาได้ศึกษาทฤษฎีจิตวิทยาเกี่ยวกับสมาธิมาบ้าง
แต่เพิ่งจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากชีวิตการงานของหลวงพ่อ
สำหรับเขาการให้จิตอยู่ในสมาธิตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งยากลำบาก
ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น เขาจึงชื่นชอบในหลวงพ่อมาก
และดีใจที่หลวงพ่อได้เมตตาฝึกสอนผู้คนให้มีพลังจิตเข้มแข็ง
และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

คำถามอีกข้อหนึ่งที่ :b8: ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อ คือ :
หลวงพ่อมีความเห็นเช่นไร เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในสมัยโลกาภิวัตน์ ?


:b39: หลวงพ่อตอบว่า : เมื่อมองดูสังคมมนุษย์เวลานี้รู้สึกเป็นห่วง
เพราะคนในสังคมหลงไหลในวัตถุนิยมมาก
จนปล่อยให้วัตถุมามีอำนาจเหนือชีวิตตน
ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า
วัตถุนิยมไม่สามารถให้ความสุขแก่มนุษย์ได้
ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกสังคมกำลังประสบอยู่
ชี้ให้เห็นอันตรายของวัตถุนิยม
ถ้าหากมนุษย์เรายังคงยึดถือวัตถุนิยมเป็นสรณะ
โลกก็คงจะถึงกาลอวสานในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน
และนั่นหมายถึงจุดจบของมนุษยชาติ

หลวงพ่อไม่เชื่อว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์
เราจะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
เพราะเทคโนโลยีแต่ละอย่าง ต่างก็สร้างปัญหาใหม่แทนที่
หรือเพิ่มจากปัญหาเก่า


เราจำเป็นต้องนำวิชาการทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า "พุทโธโลยี"
มาใช้จัดการกับวิกฤตทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
พุทธศาสนาเป็นระบบความรู้กว้างขวางมาก
หลักธรรมพุทธศาสนาลึกซึ้งและครอบคลุมถึงหมดทุกเรื่อง


ถ้าหากเรานำพุทโธโลยีมาใช้ให้เต็มที่
สถานการณ์ปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไป
ประโยชน์ของพุทโธโลยีมองเห็นได้ง่าย
คือ กรณีที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจของคน
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับคนที่มีกลิ่นตัวเหม็น
ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะจิตใจไม่ปกติ
ในกรณีนี้การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นส่วนของพุทโธโลยี
สามารถช่วยให้ผู้นี้ค้นพบความผิดปกติดังกล่าวด้วยตนเอง
คือ เมื่อจิตของผู้นั้นสงบ ผู้นั้นสามารถขุดลงไปในส่วนลึกของจิตตัวเองได้
และรู้ถึงสาเหตุทางจิตใจที่ทำให้ตนเองมีกลิ่นตัวเหม็นได้
และในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิธีที่จะใช้บำบัดรักษาให้จิตของตน
กลับคืนมาสู่สภาวะปกติไม่มีความเกลียดอยู่ต่อไป
ถึงแม้ว่าตัวอย่างดังกล่าว เป็นเรื่องง่ายไม่สลับซับซ้อน
แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมและการปฏิบัติของพุทธศาสนา
สามารถนำไปใช้บำบัดรักษาทางจิตได้
พุทธศาสนาสอนว่าจิตเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ทั้งทางกาย
และทางสังคมสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราควรพิจารณาสภาวะของจิตของตนก่อน
ในเรื่องของความซึมเศร้านั้น
การปฏิบัติกรรมฐานจะทำให้ดวงจิตของผู้ปฏิบัติสงบมีสติ
และมีจุดสนใจอยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้จิตใจไม่มีความพัวพันหรือผูกติดกับอดีต
ดังนั้นจึงสามารถมองดูอดีตได้ราวกับว่าไม่ได้เป็นอดีตของตน
สิ่งนี้ทำให้เขามองเห็นและยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเอง
ในสภาพความเป็นจริงโดยไม่เศร้าโศกเสียใจ
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์
ความรู้สึกของตนได้ ก็จะสามารถทำได้ถ้าหากปฏิบัติกรรมฐาน

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ยอมรับว่า จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์
เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจิตใจที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติ
จึงมีผลต่อการแสดงออกทางร่างกาย
เช่นในกรณีของกลิ่นตัวที่หลวงพ่อยกมาเป็นตัวอย่าง
และบอกว่าวิธีการบำบัดรักษาทางจิตที่ หลวงพ่อยกตัวอย่างนั้น
เป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจมาก และเขาจะพยายามศึกษา
การปฏิบัติกรรมฐานให้ลึกซึ้งขึ้น
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ มีปัญหาจะถามหลวงพ่อ
เกี่ยวกับพุทโธโลยีอีกหลายข้อ

แต่เมื่อทราบว่ามีผู้รอพบหลวงพ่ออีกจำนวนมาก
จึงหยุดและกราบลาหลวงพ่อ
ก่อนที่จะจากกัน หลวงพ่อได้กล่าวว่า การที่ศาสตราจารย์ผู้นี้และภรรยา
ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
ทั้งในประเทศของตนและในประเทศต่างๆ
โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนนั้น เป็นการกระทำของคนดี
ที่ควรยกย่องสรรเสริญ
ความสุขที่ลึกซึ้งไม่ได้เกิดจากการไขว่คว้าสิ่งต่างๆ
มาเป็นสมบัติของตน แต่เกิดจากการให้การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
อาชีพครูและอาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้คนเรา
มุ่งหาความสุขในทางนี้

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บันทึกการสนทนาธรรม

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑



หลวงพ่อได้เมตตาให้ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์
เข้าพบเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑
เพื่อถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา
(ตามเอกสารที่ได้ส่งให้หลวงพ่อ)
และหลวงพ่อได้เมตตาตอบแต่ละข้อดังนี้ :

:b8: ถาม : เป็นความจริงหรือไม่ว่าคนฉลาดเท่านั้น
สามารถบรรลุมรรคผลนิพานได้
ส่วนคนมีสติปัญญาต่ำจะไม่สามารถบรรลุนิพพานได้เลย

:b39: ตอบ : คนทุกคนไม่ว่าจะมีสติปัญญาสูงหรือไม่
ต่างก็มีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น
แต่ส่วนจะบรรลุสิ่งนี้ได้เร็วหรือช้านั้นเป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ
หลายประการและบุญบารมีของแต่ละคนที่สร้างไว้
หลวงพ่อให้สังเกตว่า คำว่า "สติปัญญา" นี้
มีความหมายแตกต่างกันในทางโลกและทางธรรม
และวิธีการวัด "สติปัญญา" ก็แตกต่างกันด้วย
คนที่มีสติปัญญา ในทางโลกไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาในทางธรรม

:b8: ถาม : การที่ศาสนาพุทธมีคำสอนต่างๆ มากมาย
ที่ต้องการให้คนยึดถือและปฏิบัติตามนั้น
แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมคนใช้ปัญญาความคิดของตนเองเลย
ใช่หรือไม่

:b39: ตอบ : พุทธศาสนาส่งเสริมคนให้ใช้ปัญญาของตนเอง
ในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ แต่เพื่อที่จะให้ปัญญานี้มองเห็นสัจธรรม
อันสูงสุดและเพื่อจะป้องกันไม่ให้ปัญญานี้นำอันตรายมาสู่ตนเอง
และผู้ที่เกี่ยวข้อง พุทธศาสนาจึงเน้นให้เราพัฒนาปัญญาให้สามารถ
"รู้แจ้ง" และอยู่ในกรอบของความดีงาม
ดังนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาต้องการให้เราทำ
คือ การพัฒนาปัญญาของคนแต่ละคนให้เป็นปัญญาที่ดีงาม
และในขณะเดียวกันก็เป็นปัญญาที่สามารถมองเห็นสัจธรรมสูงสุดได้


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ถาม : พระพุทธศาสนามีแนวความคิดเช่นไรเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้า
ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เช่น เรื่องการผสมเทียม
(การนำอสุจิของผู้ชายมาผสมกับไข่ของผู้หญิงในหลอดแก้ว
แล้วนำสิ่งที่ผสมแล้วไปใส่ไว้ในมดลูกของผู้หญิง
วิธีนี้ช่วยให้ผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกได้ ตั้งท้องและมีลูกได้)
และการปลูกถ่ายพันธุกรรม (การนำเอาเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์
เช่น แกะมาเลี้ยงจนทำให้เกิดสัตว์ตัวใหม่ที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสัตว์ตัวเดิม)
การที่มีมนุษย์สามารถใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้
สร้างชีวิตขึ้นมาได้นั้นขัดกับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่

:b39: ตอบ : พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี และเห็นด้วยว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไป แต่ในขณะเดียวกันพุทธศาสนา
ก็เตือนให้เราช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ความเจริญก้าวหน้านี้
นำอันตรายมาสู่มนุษยชาติและโลกที่อยู่

วิธีการสำคัญในการป้องกันอันตรายดังกล่าว
คือ การนำสิ่งที่อาจเรียกว่า "พุทโธโลยี" มาใช้ควบคู่กับวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างระมัดระวังรอบคอบและมีสติอยู่ตลอดเวลา
ไม่อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ


สำหรับเรื่อง "การผสมเทียม" นั้น พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
ตราบใดที่วิธีการนี้ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น
แต่ปัญหาที่ควรพิจารณา คือ ในกรณีของการใช้อสุจิหรือไข่จากผู้อื่น
ที่ไม่ใช่บิดามารดา การผสมเทียมด้วยวิธีนี้อาจนำความทุกข์ระยะไกล
มาสู่จิตใจของเด็กที่เกิดจากวิธีนี้และบิดามารดาได้
ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีลูกโดยใช้วิธีนี้จึงควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน
โดยเฉพาะผลกระทบต่อความสุขของเด็กและครอบครัว
พุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนมีความทุกข์
การกระทำใดก็ตามถ้าหากนำความทุกข์มาสู่ผู้กระทำ
และผู้เกี่ยวข้องแล้วไม่ใช่การกระทำที่ดีงาม

ส่วนเรื่อง "การปลูกถ่ายพันธุกรรม" นั้นก็เช่นเดียวกัน
พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านวิธีการนี้

แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่า "สิ่งที่เราควรคิดก่อนที่จะนำวิธีการนี้มาใช้กับมนุษย์
ก็คือ เราต้องยอมรับความจริงว่าวิธีการนี้ไม่สามารถรับประกันได้ว่า
คนที่ปลูกถ่ายพันธุกรรมมานั้น
จะสืบทอดนิสัยดีงามของผู้ที่เป็นต้นแบบมาด้วย
เพราะบุคลิกลักษณะและสภาพของจิตใจของมนุษย์นั้น
เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้"


นอกจากนั้นเรายังควรคิดด้วยว่าเป็นการสมควรหรือไม่
ที่เราจะใช้วิธีการนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของธรรมชาติ
ในเมื่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้อาจจะร้ายแรง
เกินความคาดหมายได้ เราต้องไม่ลืมว่าการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์
เป็นเรื่องใหญ่โตมาก และจะมีผลกระทบต่อหลักจริยธรรมของสังคม
ครอบครัวและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน
ดังนั้นถ้าหากเราทำความผิดพลาดให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้แล้ว
เราก็จะไม่มีทางที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะไม่ต่อต้านเรื่องนี้
พุทธศาสนาก็ยังไม่ต้องการให้เราเดินหน้า
ในเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์
ตราบใดที่เราไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้
จะไม่นำอันตรายมาสู่มนุษย์

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ถาม : "นิพพาน" หมายถึงสถานที่ที่อยู่ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว หรือหมายถึงสภาวะของจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่างๆ
ในทำนองเดียวกัน "สวรรค์" และ "นรก" เป็นสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง
หรือว่าเป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์

:b39: ตอบ : เรื่อง "สวรรค์-นรก" นั้น จากประสบการณ์ของหลวงพ่อเอง
และประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
นรกและสวรรค์ไม่ได้เป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์
เช่นที่พูดว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ"
แต่มีสภาวะอยู่จริงๆ ในมิติที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้

ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงสอนว่า
"สวรรค์และนรกมีอยู่จริง เช่นเดียวกับกฎแห่งกรรม
ส่วนสภาพของจิตใจนั้นเป็นเพียงแสดงให้เห็นถึงลักษณะของบาปบุญ
ที่แต่ละคนมีอยู่และเมื่อตายไปแล้ว
ก็จะต้องรับผลของบาปบุญนี้อย่างแน่นอน"


ส่วนเรื่อง "นิพพาน" นั้น ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่
ในบรรดานักวิชาการและนักปฏิบัติธรรม
แต่สำหรับหลวงพ่อแล้ว "นิพพานเป็นสภาวะของจิต
ที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิง
ผู้ที่มีสภาวะจิตเช่นนี้ เมื่อสิ้นชีวิตลงย่อมไม่ไปเกิดในสังสารวัฏอีก"

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ถาม : ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
สตรีสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่
ทำไมประเทศไทยจึงไม่มีภิกษุณี
จากประสบการณ์การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อ
จำนวนผู้หญิงและผู้ชายที่มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน
มีเปอร์เซ็นต์มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
เพศใดมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากกว่ากัน

:b39: ตอบ : พุทธศาสนาถือว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีศักยภาพ
ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยกันทั้งนั้น
แต่ส่วนเรื่องของภิกษุณีที่ไม่มีในสังคมไทยปัจจุบันนั้น
เป็นเรื่องของการขาดปัจจัยต่างๆ ตามที่กำหนดไว้
ในคำสอนของพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น

สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้นเพศหญิง-ชาย
จะเจริญก้าวหน้าเพียงใดนั้น แล้วแต่บุคคลนั้นมีความพร้อม
ความอุตสาหะไม่ท้อถอย
แรงจูงใจและความจริงจังในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
แต่สิ่งที่หลวงพ่อสังเกตดูทั่วๆ ไปแล้ว
จำนวนผู้ชายที่เจริญก้าวหน้าในเรื่องการปฏิบัติธรรมมีมากกว่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่แรงจูงใจไปจนถึง
ความเพียรพยายามและความตั้งใจ

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ถาม : พ่อแม่ที่มีลูกพิการมาแต่กำเนิด
จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้ทำบาปไว้มากในอดีตชาติ
และการที่เด็กเกิดมาเป็นคนพิกลพิการนั้น
เป็นผลมาจากบาปของพ่อแม่ใช่หรือไม่

:b39: ตอบ : เด็กที่เกิดมาพิการนั้นเป็นกรรมร่วมของบิดามารดาและเด็ก
แต่อย่างไรก็ตามพุทธศาสนา เน้นให้บิดามารดาทำตัวให้เป็นคนมีศีลธรรม
และสร้างแต่กรรมดีแต่อย่างเดียว
เพราะผลของกรรมชั่วนั้นย่อมกระทบต่อบุตรของตนด้วย
การที่บิดามารดาทำบาป ย่อมเป็นปัจจัยให้วิบากกรรมของลูกที่มีอยู่แล้ว
แสดงผลออกมาร้ายแรงเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากบิดามารดาทำแต่กรรมดีอย่างเดียว
ถึงแม้ว่าลูกจะมีวิบากกรรมไม่ดีติดตัวมา
แต่เกิดความดีนั้นก็จะช่วยให้วิบากกรรมดังกล่าวลดความรุนแรง
ลงไปได้บ้าง เช่น ถ้าหากบิดามารดาเลี้ยงดูลูกพิการ
ด้วยความรักเอาใจใส่เป็นอย่างดี
และในขณะเดียวกันก็ทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ
ลูกพิการก็จะมีความทุกข์จากความพิการลดน้อยลง
และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ตามอัตภาพ

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: ถาม : การปฏิบัติกรรมฐานสามารถใช้รักษาคนเป็นโรคจิต
ประเภทย้ำคิดย้ำทำ และซึมเศร้าได้หรือไม่
การที่มีผู้พูดว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
ทำให้เป็นบ้านั้นเป็นความจริงหรือไม่

:b39: ตอบ : การปฏิบัติกรรมฐานสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติมากขึ้น
ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานได้สำเร็จจะเป็นผู้มีความสุขและสงบ
ไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านหรือผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจิต
แต่คนที่เป็นโรคจิตอยู่แล้ว ยังไม่ควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
เพราะจิตใจยังไม่เป็นปกติ
ถ้าหากมาปฏิบัติกรรมฐานก็อาจเป็นบ้าได้
โดยทั่วไปแล้ว การปฏิบัติกรรมฐานในระยะแรก
ควรมีพระอาจารย์คอยช่วยเหลือ
พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐานสามารถส่งกระแสจิตไปดูแล
ระมัดระวังและช่วยตักเตือนไม่ให้จิตหลงไปในทางที่เป็นอันตรายได้

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บันทึกการสนทนาธรรม

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
เป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑



(๑) ความเครียด

ปัญหาแรกที่ถามเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเครียด
อาจารย์สจ๊วตท์สังเกตเห็นว่าในสังคมไทยในปัจจุบัน
บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจนักการเมืองและนักเรียน
ต่างก็มีความเครียดในการทำหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ
ของตนทั้งนั้น ไม่ทราบว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
สามารถแก้ความเครียดในการทำงานได้หรือไม่ ?

หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีความเครียดนั้นไม่สมควรมานั่งกรรมฐาน
เพราะการปฏิบัติกรรมฐานไม่อาจทำให้หายเครียดได้
สิ่งที่ควรจะทำในเมื่อมีความเครียดมาก
ก็คือ รักษาให้จิตใจอยู่ในสภาพปกติเสียก่อน
ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้ยาของการแพทย์ปัจจุบัน
(ในกรณีที่ต้องใช้ยาระงับประสาทช่วย)
หรือการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (ในกรณีที่เป็นไม่มาก)
เช่น การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การเดินเล่น และการพักผ่อนหย่อนใจ
ทั่วไปที่ไม่ใช่อบายมุข
การพยายามคลายเครียดโดยใช้อบายมุขต่างๆ นั้น
จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น
เพราะอบายมุขนำสิ่งที่เป็นอันตรายมาสู่ตัวเองแต่อย่างเดียว
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญที่จะให้จิตใจไม่เครียด
อยู่ในสภาพเป็นปกติตลอดเวลามีสติสัมปชัญญะ
ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้
หลวงพ่อย้ำว่าคนที่มีความเครียดมาก
ยังไม่สมควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
ต้องทำให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดก่อน
จึงควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
การเชื่อว่าการปฏิบัติกรรมฐานทำให้หายเครียดได้นั้น
เป็นความเข้าใจผิดที่จะนำอันตรายมาสู่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้

:b51: :b52: :b53:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร