วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2008, 11:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อันวิถีแห่งการครองเรือนนั้น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งหนักหนา
มิใช่เป็นการง่ายๆ เราจะเห็นว่ามิเป็นการยากจะอะไรนั้นหาได้ไม่
(ก็น่าจะเป็นอยู่บ้าง
ในเมื่อเรามองดูเหลี่ยมชีวิตของผู้ครองเรือนโดยไม่แยบคาย
แต่ถ้าเราพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง
เราก็จะมองเห็นแง่ที่เราควรจะคิดมิใช่น้อย
เพียงในหย่อมแห่งมนุษย์ชนหย่อมเดียวเท่านั้น
การดำเนินชีวิตของเขาก็ไม่เหมือนกันแล้ว
บางครอบครัว ร่ำรวยเจริญด้วยทรัพย์
แต่อีกแห่งหนึ่งแสนจะเดือดร้อน
หากินไม่พอเลี้ยง
หรือบางครอบครัวหรือบางคนเคยเจริญแล้ว
แต่กลับต้องเสื่อมลงในปลายมือ
รักษาความเจริญของตนไปไม่ตลอดได้ นี่วิถีชีวิตของมนุษย์)
ไม่เสมอภาคกันเช่นนั้น ก็เพราะเนื่องจาก

๑) ไม่ฉลาดในการครองเรือนบ้าง
๒) ปล่อยให้ผีแห่งการพนันเข้าสิงบ้าง
๓) คบเพื่อนชั่วบ้าง


เหล่านี้เป็นต้น บางท่านอาจไม่รู้อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้
แต่ประกอบการงานไม่เจริญได้
พึ่งเข้าใจว่า การกระทำของผู้นั้น ยังไม่สมแก่ผลที่ควรได้
คือ ทำโดยย่อหย่อนบ้าง ไม่ถูกกาลเทศะบ้าง
ผลจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้เลย
ก็ถ้าผู้ครองเรือนเป็นคนฉลาด
รู้จักหลีกเลี่ยงเหตุอันจะทำให้การครองเรือนต้องล่มจม
ประกอบเหตุอันจะทำให้ชีวิตของตนประสบความเจริญแล้ว
การครองเรือนก็จักมีแต่ความสมบูรณ์ไม่ตกอับโดยแท้
เพื่อให้วิถีชีวิตแห่งการครองเรือน ได้ไปโดยราบรื่นไพบูลย์
ข้าพเจ้าจะได้นำหลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือนบางอย่าง
อันจำจะต้องประพฤติบ้าง จำต้องเว้นบ้าง มาแสดงแก่ท่าน
โดยเป็นกิจที่ท่านฝ่าฝืน หรืองดเว้นไม่ประพฤติแล้ว
การครองเรือนก็ยากที่จักถึงความเจริญได้
โทษอะไรบ้าง ที่ท่านผู้ครองเรือนพึงเว้น
และคุณอะไรบ้างที่ควรประพฤติ
ข้าพเจ้าได้นำมาวางเป็นหลักดังต่อไปนี้


โทษที่ผู้ครองเรือนพึงเว้น
อบายมุข ๔ อย่าง
๑) อิตฺถีธุตฺโต ความเป็นนักเลงหญิง
๒) สุราธุตฺโต ความเป็นนักเลงสุรา
๓) อกฺขธุตฺโต ความเป็นนักเลงการพนัน
๔) ปาปํมิตฺโต ความคบคนชั่วเป็นมิตร


อบายมุข หมายถึง ปากหรือทางแห่งความเสื่อม
หรือเหตุแห่งเครื่องฉิบหาย
ตรงกันข้ามกับอบายมุข แปลว่า ปากหรือทางแห่งความเจริญ
ซึ่งถือเอาความก็ได้แก่เหตุเครื่องเจริญนั้นเองฯ
อบายมุข ๔ พระพุทธเจ้าได้แสดงแก่ อุชชยะพราหมณ์
โดยความเป็นโทษ อันชนผู้ครองเรือนพึงเว้น
เพราะแต่ละข้อ เมื่อใครประพฤติแล้ว
ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายแห่งตระกูลวงศ์
และแก่ตนผู้กระทำโดยส่วนเดียว


พึงทราบโทษของอบายมุขนั้นๆ ดังนี้

ก. ความเป็นนักเลงหญิง
คนผู้เป็นนักเลงหญิงนั้น
ถ้าเมื่อมีใจจดจ่ออยู่ในหญิงที่ตนมุ่งหวังแล้ว
จำต้องหมั่นไปมาหาสู่ จำต้องจ่ายทรัพย์เพื่อบำรุงนาง
เพื่อให้หญิงรักใคร่ ถ้าเป็นหญิงมีคู่รักอยู่
อาจทำให้เกิดอันตราย ถึงแก่เสียชีวิตก็ได้
บางคนถึงกับเสียการงานที่ตนควรได้
หากเป็นหญิงเสเพล หากินในทางค้าประเวณี อาจเป็นทางให้เกิดโรคก็ได้
ถ้าเป็นหญิงมีสามี อาจทำให้ต้องทะเลาะวิวาทเป็นอันตรายแก่ชีวิตก็ได้

ข. ความเป็นนักเลงสุรา
คนผู้เป็นนักดื่มนั้น เมื่อติดเสียจนถอนตัวมิได้แล้ว
จำต้องจ่ายทรัพย์ซื้อกิน
เมื่อทรัพย์หมดไป ก็ทำให้หากินในทางทุจริตผิดกฎหมาย
เช่น ทำเหล้าเถื่อน ต้องหลบหลีกทำ
หลบหลีกกิน หาความสบายมิได้
ถ้าถูกจับก็ต้องถูกฟ้องร้อง ถูกขังเสียชื่อเสียง เสียวงศ์ตระกูล
หมดความนับถือของคนทั้งหลาย
เราคงเห็นคนดื่มเหล้า เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว หาดีอะไรมิได้
คล้ายๆ กับคนบ้า พูดจาอ้อแอ้ นักดื่มบางคนถึงกับถูกทำร้ายก็มี

ค. ความเป็นนักเลงการพนัน
คนผู้เป็นนักเลงการพนัน จำต้องใช้ทรัพย์ของตน
บางแห่งเกิดโกงถึงกับตีกันต่อยกัน เป็นความยังโรงศาลก็มี
และอาจต้องติดคุกติดตรางก็มี ถ้าเป็นการพนันเถื่อน ต้องหลบหนีเล่น
หากเจ้าหน้าที่จับได้ ก็ต้องถูกกักขัง ถูกปรับถูกจำ
ทำให้เสียเงินเสียทองอีก
ผู้ชนะก็ย่อมก่อเวร ผู้แพ้ก็ระทมทุกข์ทำให้เป็นเวรแก่กัน
เดือดร้อนทั้งกายทั้งใจ หาความสบายมิได้

ง. ความคบคนชั่วเป็นมิตร
คนผู้คบคนชั่วเป็นมิตรนั้น
ถึงจะมีนิสัยดีอย่างไร ก็อาจกลับกลายนิสัยนั้นให้เลวลงได้
มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า
ยํ เว เสวติ ตาทิโส คนคนใด ก็เป็นคนเช่นนั้นแล
ถึงแม้คนชั่วจะไม่แนะนำให้ทำชั่ว เราต้องทำจนได้
เพราะการเคยชินในการเสวนากันเป็นปัจจัย
ถึงเราจะไม่ดื่มเหล้า โลกก็ต้องเหมาเอาว่าเป็นนักดื่ม
เพราะอะไร เพราะเพื่อนของเราเป็นนักดื่ม
เราไม่เคยทำโจรกรรม เราอาจทำได้ในเมื่อคบนักเลงโจรกรรม

ผู้หวังความเจริญแห่งโภคทรัพย์
พึงเว้นโทษดังกล่าวมาด้วยความประพฤติ ดังนี้
๑) น อิตฺถีธุตฺตะ ไม่เป็นนักเลงหญิง
๒) น สุราธุตฺตะ ไม่เป็นนักเลงสุรา
๓) น อักขธุตฺตะ ไม่เป็นนักเลงการพนัน
๔) กลฺยาณมิตตะ คบคนดีเป็นมิตร


คุณที่ควรประกอบสัมปทา ๔ อย่าง
การงดเว้นโทษดังกล่าวมา
หาเป็นการเพียงพอที่จะทำให้สมบัติสมบูรณ์ได้ไม่
จึงควรที่ผู้ครองเรือนจำต้องประกอบสมบัติ ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑) อุฏฐานสัมปาทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา
๓) กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร
๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีพโดยสมควร


สัมปทา ๔ อย่าง
สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่อุชชยะพราหมณ์
โดยความเป็นกิจที่ผู้ครองเรือน
ควรประกอบเพื่อความเป็นทางไหลหลั่งมาแห่งโภคทรัพย์
ยศไมตรี ซึ่งเป็นผลที่บุคคลปรารถนา
คนผู้ทำให้บริบูรณ์ในสัมปทา ๔ อย่างได้ชื่อว่า
ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ในภพนี้
และตั้งตนได้ในปัจจุบัน พึงทราบอธิบายดังนี้

ก. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
กิจที่ควรจำเป็นเบื้องต้น และเป็นที่ตั้งก็คือ ความหมั่น ความขยัน
แต่พึงเข้าใจว่า ต้องหมั่นในทางที่ดี
จึงจะให้คุณความหมั่นเพียรเป็นเครื่องพยุงจิต
ในอันประกอบการงานมิให้ท้อถอย
ได้ชื่อในบาลีเป็นหลายประการ
โดยลักษณะเป็นต้นว่า อุฏฐานะ เพราะเป็นเหตุไม่นั่งนิ่งใจ
วิริยะ เพราะเป็นเหตุแกล้วกล้า
อุตสาหะ เพราะเป็นเหตุอาจหาญ
ธิติ เป็นเหตุมั่นคง
อัฏธิติ เพราะเป็นเหตุไม่หยุด
วายามะ เพราะเป็นเหตุชักไป
ปรักกมะ เพราะเป็นเหตุก้าวหน้า
อัปปฏิวานี เพราะเป็นเหตุไม่ถอยหลัง
ปธานะและปัคคาหะ เพราะเป็นเหตุประคองใจไว้
ความหมั่นดังกล่าวมา เมื่อเข้าหนุนในกิจการใดๆ
ย่อมเสริมกิจนั้นๆ ให้แรงขึ้นทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
แท้จริง ไม่ว่าสิ่งไร ถ้ารู้จักใช้ก็เป็นคุณ ไม่รู้จักใช้ก็ให้โทษ
เช่น อาหารที่นิยมเป็นของกิน
ถ้ารู้จักกินแต่พอดี และของดีก็ให้คุณ
ถ้าไม่รู้จักกิน และกินมากเกินไป
หรือของบูดของแสลง ก็กลายเป็นของให้โทษ
ฉันใด ความเพียรก็ฉันนั้น
ที่ประกอบชอบก็ย่อมให้สำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า
คนใช้ของจุลกะเศรษฐีมีความหมั่นขยัน
และรู้จักประกอบการค้าขายให้ต้องกาลเทศะ
ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในไม่ช้า ต่อมาก็กลายเป็นเศรษฐีมั่งมีเงินทอง

ข. ถึงพร้อมด้วยการรักษา
คนผู้ครองเรือน เมื่อหมั่นขยันทำการงานโดยชอบธรรม
ก็เป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ได้แล้ว
แต่ถ้าขาดระวังรักษาในทรัพย์สมบัติหรือในตำแหน่งหน้าที่
ก็อาจล่มจมและเสื่อมเสียได้ ไม่ถึงความเจริญยิ่งขึ้นไป
ดังนั้น จึงต้องสมบูรณ์ด้วยการรักษาอีกโสดหนึ่ง
ความเกิดขึ้นในเบื้องต้น
แปรไปในท่ามกลาง และแตกสลายในที่สุด
เป็นสภาพของสังขาร ก็จริงอยู่
ก็แต่ว่า พัสดุสิ่งของที่เจ้าของรู้จักถนอมรักษาย่อมถาวร
เป็นเครื่องอุปกรณ์แห่งชีวิตไปได้นานตลอดกาลอันควร
อันจะด่วนปล่อยให้ย่อยยับไปจนหาชิ้นหาอันมิได้นั้น
มิใช่ปราชญ์จะสรรเสริญ
เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญในทางโลกทางธรรม
สิ่งที่ฉิบหายไปแล้ว ก็ยากที่จะทำคืนได้
แม้การงานที่ได้อาศัยทำเป็นการเลี้ยงชีพ
ถ้าล้มละลายหลุดมือไปแล้ว ย่อมหมดทาง
กว่าจะได้เหมาะเช่นนั้นก็ยากอยู่
เหตุฉะนั้นการระวังรักษา
จึงเป็นหลักอันสำคัญที่ผู้ครองเรือนจะเว้นเสียมิได้

ค. คบคนดีเป็นมิตร
คนผู้ตั้งตนไว้ด้วยความหมั่น ประกอบด้วยการรักษาเป็นอันดีแล้ว
ถ้าคบเพื่อนชั่ว ถูกยั่วยุในทางผิด ประกอบกิจผลาญตน
อาจกลายเป็นทุรชนจนจอนจ่อไปก็ได้
จึงจำต้องอาศัยการเสวนากลัยาณมิตร เป็นปัจจัยอีกโสดหนึ่ง
ลักษณะแห่งคนดีคนชั่ว ท่านแสดงไว้ในพาลบัณฑิตสูตรว่า
คนผู้มีกายวาจาใจไม่สะอาด คือ ทางกายก็ฆ่าสัตว์ เป็นต้น
ทางวาจาก็พูดเท็จ เป็นต้น และทางใจก็คิดโลภ เป็นต้น
จัดว่าเป็นคนพาลหรือคนชั่ว
ส่วนผู้ประพฤติตรงกันข้ามจัดว่าเป็นคนดี
การที่คบคิดคลุกคลีอยู่ด้วยกัน
ย่อมผันอัธยาศัยของฝ่ายอ่อนให้ผ่อนตามฝ่ายกล้าได้
โดยที่สุดต้นไม้ไร้วิญญาณ
อาศัยการเกี่ยวพันแห่งกิ่งและราก ต่อนานเวลา
ยังอาจพาเอารสของไม้บางชนิดให้ผิดเดิม
กลายเป็นรสของไม้อีกชนิดหนึ่งไปได้
จะกล่าวไปใยถึงการสมาคมของมนุษย์ชนเล่า
คบคนดีมีแต่ชี้ความเจริญให้
ในยามประมาทพลาดพลั้ง ยังได้รับความช่วยเหลือ
เมื่อมีภัย ก็เป็นที่พึ่งพำนักได้ และไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
ท่านจึงว่า คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว
การคบคนก็เป็นหลักสำคัญอันหนึ่งที่ผู้ครองเรือนจำต้องสังวรระวัง
เพราะถ้าพลาดพลั้ง ก็เป็นทางวินาศแห่งโภคทรัพย์ และแก่ตนเองได้

ง. เลี้ยงชีพโดยสมควร
ผู้ตั้งตนได้ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว
ถ้ายังเป็นคนเขลา ไม่รู้จักจับจ่ายใช้ทรัพย์
ให้สมควรแก่ทรัพย์ที่หาได้แล้ว
การครองเรือน ก็อาจจัดถึงความล่มจม
ตั้งอยู่ไม่ติดได้ เพราะโทษแห่งการไม่รู้จักใช้สอย
ก็แรงไม่น้อยอยู่เหมือนกัน
จึงควรที่ผู้ครองเรือนจำจักกวดขันการใช้จ่ายทรัพย์
ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อีกโสดหนึ่ง
จริงอยู่ ทรัพย์ย่อมเป็นของควรถนอมรักษา
แต่มิใช่ว่า หวงแหนเก็บไว้ให้หนักกระเป๋าเฉยๆ
ไม่ใช้เลย หรือใช้อย่างกระเบียดกระเสียรฝืดเคือง
จนแทบไม่รู้สึกถึงประโยชน์ของทรัพย์ว่า เป็นเช่นไร
ชื่อว่าทรัพย์ให้ไร้ผล
ประหนึ่งกระเบื้องซึ่งมีประโยชน์น้อยที่สุดแต่ก็ไม่ควรนึกว่า
ทรัพย์เป็นของสำหรับจับจ่ายใช้สอยอย่างเดียว
แล้วตั้งหน้าตั้งตาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่แลเหลียวถึงทางได้
เพราะทรัพย์มีราคากว่ากระเบื้อง
การใช้เปลืองโดยไร้ผลจึงมิบังควรเลย
ก็ความพอดีที่เรียกว่า มัธยัสถ์นั่นแล
ย่อมชอบด้วยประการทั้งปวงฯ
กิริยาที่ไม่รู้จักประมาณในการจ่าย เป็นเหตุตั้งอยู่นานไม่ได้
แห่งตระกูลอันมั่งคั่งอย่างหนึ่ง
ท่านจึงสอนให้แบ่งทรัพย์ไว้ว่า
คนผู้อยู่ครองเรือนพึงแบ่งโภคะโดยส่วน ๔
คือ พึงบริโภคใช้สอยส่วน ๑
ประกอบการงาน ๒ ส่วน
เก็บส่วนที่ ๔ ไว้
ด้วยตั้งใจว่า เมื่ออันตรายเกิดขึ้น เราจักได้ใช้สอยทรัพย์นั้น
ก็หลักของการใช้ทรัพย์ ท่านสุนทรภู่
กล่าวไว้เป็นคำกลอนอย่าน่าฟัง ดังนี้
มีสลึกพึงประจบ ให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของ ต้องประสงค์
ถ้ามีน้อยใช้น้อย ค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มาก จะยากนาน


สังคหวัตถุธรรม
อันประพฤติปฏิบัติดังกล่าวมา เมื่อผู้ครองเรือนดำเนินตามได้แล้ว
ก็ย่อมเป็นทางแห่งการตั้งตนได้ในปัจจุบัน
แต่นั้นพึงบำเพ็ญธรรมแก่เพื่อนมิตรสหาย
ซึ่งจะเป็นมูลให้จูงใจของมิตรสหายนิยมรักใคร่
ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ตนเอง
หรือแก่ครอบครัว เพราะหลักมีอยู่ว่า
คนเรานั้นจะอยู่โดยลำพังแต่ผู้เดียวหาได้ไม่
จำต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
เพื่อช่วยเหลือการงานกันบ้าง
เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพสินค้ากันบ้าง
ก็แต่กิจเหล่านี้จะสำเร็จได้
ก็เพราะการสงเคราะห์อนุเคราะห์กันและกันเป็นปัจจัย ก็แลหลักอันนี้
คือ การตั้งตนอยู่ในสังคหวัตถุธรรม นั่นเอง

สังคหวัตถุธรรม ได้แก่
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
ท่านปันหลักที่ควรประพฤติไว้เป็น ๔ ดังนี้
ก. ทาน
ข. พูดไพเราะ
ค. ประพฤติประโยชน์
ง. วางตนเสมอ


หลักธรรมทั้ง ๔ นั้น มีอธิบายเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ก. ทาน
ทานคือการให้ การทานเป็นหลักสำคัญที่ผู้ครองเรือนไม่ควรละเลย
เพราะอันคนเราพอใจรักใคร่กัน หรือนับถือในกันนั้น
ในเบื้องต้นจำต้องหว่านทานลงก่อน
ทานนี้ถ้าเปรียบเทียบ ก็เป็นเหมือนสะพาน
หรือเป็นสื่อสายในอันที่จะจูงใจของนรชนให้นิยมชมชิด
อยากผูกมิตรไมตรี และเป็นวิถีสัมพันธ์ไมตรีให้ยืนนาน
ในหมู่ชนผู้อยู่ใกล้เคียงกัน
อันเราจะปฏิเสธว่า มิต้องการความช่วยเหลือจากใครนั้น ย่อมไม่ได้
คงมีบางคราวที่เราจำต้องพึ่งคนอื่น
เพื่อช่วยเหลือกิจการงาน ก็แต่ว่า ใครเล่าจะช่วยเหลือเรา
ในเมื่อเรามิได้ทำบุญทำคุณแก่เขา
ทางใดเล่าจะประเสริฐเท่าหว่านทาน
โดยสละให้ปันตามสมควร ในระหว่างครอบครัว
ถ้าผู้เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ตระหนี่ เหนียวแน่น
ไม่เจือจานแก่บริษัทบริวารของตน
ก็ยากที่จะทำให้บริษัทบริวารของตนนิยมรักใคร่ได้
ต่อเมื่อได้บำเพ็ญทาน ให้ปันโดยควรแก่เหตุการณ์นั้น
ความนิยมนับถือก็เกิดขึ้น
ทานจึงเป็นหลักอันหนึ่งซึ่งผู้ครองเรือนควรคำนึงไว้

ข. พูดไพเราะ
ผู้ครองเรือนแม้ทำทานให้บริบูรณ์แล้ว
ก็เป็นทุนสามารถให้สงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน
และเป็นเครื่องสมานไมตรีได้อยู่
แต่ถ้าหากว่า การเจรจาปราศัย ยังไม่เป็นไปไพเราะแล้ว
ก็ยากจะสมานใจให้รักใคร่ได้นาน
เพราะวาจาก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญอันคนเราจะดีหรือเสีย
เหตุเพราะวาจาก็มี การพูดดีย่อมเป็นศรีแก่ตน
การพูดชั่วย่อมเป็นภัยแก่นตน
วาจาดีท่านสรรเสริญว่าเป็นอุดมมงคล
อันการพูดเราอย่าคิดว่าง่าย แท้จริงใครๆ ก็พูดได้
แต่การที่จะพูดให้คนพอใจนั้นยากอยู่
การใช้คน ถ้าเราพูดจาหยาบคายใส่เขาแล้ว ก็ยากที่จะใช้เขาได้
ถึงจะทำให้ดี โดยฝืนใจทำให้
และก็รับรองไม่ได้ว่าจักเป็นภัยแก่เราหรือไม่
การพูดจาไพเราะ ไม่เพียงนำความปราโมทย์ให้แก่ผู้อื่น
ถึงผู้พูด แม้พูดไปแล้วก็ชื่นใจ ยิ่งในครัวเรือนกันแล้ว ย่อมเป็นสำคัญ
พ่อบ้านแม่บ้านจะประสานสามัคคีแห่งลูกหลานให้เป็นไปโดยมั่นคงก็ดี
ให้นิยมรักใคร่ก็ดี หรือในส่วนลูกหลานจักปรองดองกันก็ดี
จำต้องพูดจาไพเราะต่อกัน โดยผู่อยู่ในตำแหน่งพี่ ก็เรียก พี่
อาก็เรียกอา และจ๊ะ จ๋า ค่ะ ขา ตามควร
การพูดจาไพเราะเป็นหลักอันหนึ่งที่ผู้ครองเรือน ไม่ควรละเว้น

ค. ประพฤติประโยชน์
เพียง ๒ หลักเท่านั้น ก็ยังหาเป็นการเพียงพอไม่
จำต้องระวังการประพฤติอีกด้วย
เพราะถ้าทำสิ่งที่เกิดโทษแล้ว ก็ทำลายผลที่จะให้สงเคราะห์กันและกันเสีย
ก็การที่จะประพฤติประโยชน์นั้นมีเป็น ๒ ทางคือ
๑) ทำทางกาย
๒) ทำทางวาจา

การช่วยขวนขวายทำธุระให้แก่ผู้อื่น
ดังมารดาบิดาออกทรัพย์ให้บุตรธิดาได้เล่าเรียนศึกษา
หรือจัดแจงให้มีครัวเรือนเป็นหลักแหล่ง
หรือทำการงานที่ปราศจากโทษ เช่น ปราบถนนหนทางให้ราบรื่น
เพื่อให้การสัญจรของประชาชนเป็นไปโดยสะดวก
คนใหญ่คนโต เอาเป็นธุระแก่ผู้อยู่อาศัย
หรือผู้อยู่อาศัยก็ช่วยทำธุระให้ท่านโดยเต็มใจ
และมิตรสหายประพฤติประโยชน์ต่อกัน เช่นช่วยเหลือกัน เป็นต้น
เหล่านี้จัดเป็นการประพฤติประโยชน์ทางกาย
มารดาบิดาสั่งสอนบุตรธิดาก็ดี มีความรู้แล้วช่วยแนะนำแก่ผู้อื่นก็ดี
ประกาศบอกบุญกุศลก็ดี
เหล่านี้ เป็นความประพฤติประโยชน์ทางวาจา
ความประพฤติ ๒ อย่าง
จัดเป็นหลักอันหนึ่งที่ผู้ครองเรือน ไม่ควรละเมิดเสีย

ง. วางตนเสมอ
หลักที่ ๔ คือ การวางตนเสมอ ต่อคนทุกชั้นทุกวัย
ที่เรียกกันว่า ไม่ถือตัว
เป็นผู้น้อย เมื่อได้รับยศศักดิ์สูงกว่าปกติเดิมแล้ว
ก็ไม่พึงแสดงอาการทะนงตน เหยียดผู้ใหญ่ที่ไร้ยศกว่า
ในระหว่างเพื่อน ปกติเดิมเคยประพฤติอย่างไร
ก็อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อเช่นนี้ จักทำให้หลักอื่นๆ พลอยคงทนได้
ผู้ตั้งอยู่ในหลักธรรมอันนี้
หากเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยก็จักรักใคร่และนับถือไม่จืดจาง
ถ้าเป็นมิตรก็จะเป็นเหตุให้มิตรธรรมจำเริญยิ่งขึ้น
หาความแตกสามัคคีกันมิได้

หลัก ๔ ข้อดังกล่าวมา ย่อมควบคุมสามัคคีของโลกให้ยั่งยืนจีรังกาล
สมานไมตรีภาพให้ไพบูลย์ ซึ่งท่านเปรียบเสมือนเพลารถ
คุมล้อรถให้แน่นในขณะแล่นไป ฉะนั้นฯ

บำรุงมารดาบิดา
ท่านผู้ครองเรือน เมื่อตั้งตนได้แล้ว
ก็ไม่ควรลืมท่านผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง คือ พ่อและแม่เสีย
พ่อแม่ทั้งสอง ก็คือ พระพรหมของลูก
เป็นพระอาจารย์อันลำเลิศของลูก
ทุกท่านมีชีวิตชีวามาจนถึงตั้งตนได้ ก็เพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่
พ่อแม่ต้องฝ่าอันตรายแสนจะลำบากแสนจะเหนื่อยยาก
ต้องทำการงานทางบกทางน้ำ ก็เพื่อลูกของตนเอง
มิใช่ใครอื่นที่ไหนเลย อันทางที่จะบำรุงพ่อแม่
นักปราชญ์ได้วางหลักไว้ดังนี้

ก. เลี้ยงท่าน
ข. ทำกิจของท่าน
ค. ดำรงวงศ์ตระกูล
ง. ประพฤติตนให้ดี
จ. เมื่อท่านตาย ทำบุญอุทิศให้ท่าน


หลักเหล่านี้ ดูไม่เป็นการยากอะไร ในการที่ท่านจะทำ
ท่านคงไม่อยากให้ใครว่ากล่าวนินทาท่าน
ว่าเป็นลูกอกตัญญู ไม่รู้จักคุณของพ่อแม่
ท่านจะต้องเจ็บใจในเม่่อได้ยินคนกล่าวลงโทษ
ว่าท่านอกตัญญูต่อพ่อแม่ของตน
ไม่มีทางใด ที่จะตัดทำลายล้างคำซึ่งกล่าวหาเช่นนั้น
นอกจากประพฤติตนตามหลักดังได้กล่าวไว้เป็นอันดี
ท่านลืมใครก็ลืมเถิด แต่อย่าลืมพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด
ให้ท่านเห็นเดือนเห็นตะวันเลย นี้เป็นหลักอันหนึ่ง
ซึ่งท่านควรบำเพ็ญเป็นคู่กันไปกับการครองเรือน

ทำความรู้จักศีล
หลักอีกประการหนึ่ง ที่ท่านพึงประพฤติปฏิบัติเป็นคู่กันไป
กับการตั้งตนได้ในทางฆราวาสก็คือ ทำความรู้จักกับพระศาสนา
ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของ
และมีหมู่สาวกของพระองค์บริหารกันอยู่ในทุกวันนี้
ในเบื้องแรกพึงปลูกศรัทธา
คือ ความเชื่อมั่นในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
เมื่อเห็นว่าใจมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาดีแล้ว
แต่นั้นพึงทำความรู้จักศีลเป็นขั้นต่อไป
ศีล หมายถึง ปกติของกาย วาจา เรียบร้อยสุภาพมีหลายอย่าง
ต่างโดยเป็นศีล ๕ เรียกนิจศีลบ้าง เป็นศีล ๘ เรียกอุโบสถศีลบ้าง
ในที่นี้ข้าพเจ้าจะแนะให้ท่านทำความรู้จักกับศีล ๕ อย่างเดียว
ศีล ๕ ประการนั้นมีดังนี้

ศีล ๕
ปาณาติปาตา เวรมณี
เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป

อทินนาทานา เวรมณี
เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยอาการขโมย

กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี
เว้นจากประพฤติผิดในกาม

มุสาวาทา เวรมณี
เว้นจากพูดเท็จ
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
เว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราเมรัย


สิกขาบทที่ ๑
ข้อนี้ ได้แก่ ห้ามมิให้ฆ่าสัตว์
คำว่าสัตว์ ประสงค์เอาทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานที่ยังเป็นอยู่
มนุษย์ก็ไม่เลือกประเภทไหน
โดยที่สุดแม้ยังอยู่ในครรภ์ ไม่ทันคลอด
ถึงสัตว์เดรัจฉานก็เช่นเดียวกัน
ท่านห้ามไว้ ก็ด้วยมุ่งให้ปลูกเมตตาจิตในหมู่สัตว์

สิกขาบทที่ ๒
ข้อนี้ ได้แก่ ห้ามการขโมยของที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
ของที่เขามิอนุญาตให้ ได้แก่ ของมีเจ้าของ
จะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณหรือไร้วิญญาณก็ตาม นี้อย่างหนึ่ง
ของที่มิใช่ของใครแต่มีผู้ดูแลรักษา
เช่น ของที่เป็นพวกพุทธบูชา หรือของกลาง
เช่น ของสงฆ์และของสำหรับสโมสรสถานอย่างหนึ่ง
ผู้ที่ประพฤติล่วงในของดังกล่าวมา ชื่อว่า ประพฤติผิดศีลข้อนี้
บัญญัติขึ้นก็ด้วยหวังจะให้มนุษย์เลี้ยงชีพในทางชอบธรรม
เว้นจากการเบียดเบียนทรัพย์สมบัติของกันและกัน

สิกขาบทที่ ๓
คำว่า กาม หมายถึง กิริยาที่รักใคร่กันในเชิงประเวณีชู้สาว
บัญญัติขึ้นก็เพื่อจะป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์
ให้รักษาสิทธิ์ของเขา เหมือนของเรา
และทำให้เขาไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ชายหญิงถึงแม้จะมิได้เป็นญาติกัน
แต่ก็ยังรักใคร่กันเหมือนญาติด้วยอำนาจแห่งความปฏิพัทธ์ในเชิงกาม
เมื่อชายคนไหนไปทำชู้ด้วยภรรยาของท่านแล้ว
ย่อมเป็นเหตุให้สามีภรรยาแตกร้าวกัน
ความสุขจะมีได้อย่างไร ผู้ใดไม่ประพฤติผิดประเวณี
ผู้นั้นชื่อว่าทำความสามัคคีในหมู่มนุษย์
และทำความไว้วางใจกันให้เกิดมี

สิกขาบทที่ ๔
คำเท็จ คือคำที่ไม่จริง คำโกหก
ให้กล่าวแต่คำสัตย์ บัญญัติไว้
ก็ด้วยหวังจะห้ามการตัดประโยชน์ทางวาจา
อันความจริงเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายนิยมนับถือ
การที่เราไต่ถามข้อความอะไรจากใคร
หรือฟังใครเล่าอะไร ก็ต้องการรู้เรื่องจริง
เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย
เมื่อคนเราประสงค์เช่นนี้ ใครขืนฝืนความรู้สึกของตน
พูดให้พลาดความจริง ก็ชือว่า ตัดประโยชน์ของท่านให้เสียไป

สิกขาบทที่ ๕
เมรัย ได้แก่ น้ำเมา ที่เขาดองยังมิได้กลั่น
เช่น น้ำตาลเมาต่างๆ เป็นต้น ก็เมรัยนั้น
เขานำมากลั่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้รสแรงขึ้น นี้เป็นสุรา
สุราและเมรัยนี้ เป็นของทำให้ผู้ดื่มเสียสติอารมณ์
ทำปกติของกายวาจาให้เสียไป
เวาลาปกติ กิริยาอาการบางอย่างทำไม่ได้
ครั้นเหล้าเข้าปากแล้ว ความเมาย่อมทำได้ทั้งนั้น
บัญญัติไว้ก็เพื่อมิให้ละเมิดข้อห้ามเบื้องต้น
เพราะคนเราเมื่อเมาแล้ว
อาจจะฆ่าสัตว์ก้ได้ อาจลักขโมยของผู้อื่นก็ได้

บำเพ็ญธรรมคู่กับศีล
เมื่อได้กล่าวถึงศีล อันเป็นหลักที่ผู้ครองเรือนควรมีไว้ประดับกายแล้ว
จึงควรกล่าวถึงธรรมอันเป็นคู่กับศีลด้วย
จะได้ช่วยให้ศีลเป็นไปโดยดียิ่งขึ้น
อันธรรมที่ควรบำเพ็ญ เป็นลำดับไปนั้นมีดังนี้

๑. เมตตากับกรุณา คู่กับ สิกขาบทที่ ๑
๒. สัมมาอาชีวะ คู่กับ สิกขาบทที่ ๒
๓. ความสำรวมในกาม คู่กับ สิกขาบทที่ ๓
๔. ความมีสัตย์ คู่กับ สิกขาบทที่ ๔
๕. ความมีสติ คู่กับ สิกขาบทที่ ๕


๑. เมตตา คือ ไมตรีจิตที่คิดรักใคร่ในผู้อื่น
คล้ายมิตรต่อมิตรมีความรักใคร่กัน

ฉะนั้น คุณข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้มนุษย์มีความสงเคราะห์กันและกัน
และอุดหนุนสิกขาบทที่ ๑ ให้ดีขึ้น
ถ้าว่ามนุษย์ทั่วโลก ต่างมีเมตตาต่อกันแล้ว
การทำร้ายกันก็จักไม่มีเป็นอันว่า ไม่มีใครประพฤติล่วงสิกขาบทที่ ๑

กรุณา คือ ความคิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
คุณข้อนี้เมื่อเกิดมีแล้ว ก็เป็นเหตุให้มนุษย์ทำการช่วยทุกข์ภัยแก่กันและกัน
ความคิดในอันที่จักเบียดเบียนกันก็จักไม่มี หรือมีก็น้อยลง
การแสดงเมตตากรุณานี้
เมื่อได้บำเพ็ญให้ถูกที่แล้ว ย่อมอำนวยผลอันดีงาม
ให้แก่ผู้บำเพ็ญและผู้ได้รับ
ทำความปฏิบัติของผู้มีศีล ให้งดงามยิ่งขึ้นเหมือนเรือนแหวน
ประดับหัวแหวนให้งามฉะนั้น

๒. สัมมาอาชีวะ ได้แก่ เที่ยวเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ
เป็นเครื่องอุดหนุนผู้มีศีล ให้มีกำลังในอันรักษาศีลยิ่งขึ้น
คนมีศีลถึงเว้นจากการหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดแล้ว
หากไม่หมั่นขยันหาเลี้ยงชีพในทางชอบ
จะได้อะไรเป็นกำลังเลี้ยงชีวิตเล่า
หรือจะอาศัยทุนทรัพย์เดิม
ก็ทรัพย์นั้น เมื่อไม่มีใหม่เพิ่มเติม
ก็ย่อมมีแต่จะสิ้นไปโดยส่วนเดียวเหมือนบึง
ถ้ามีแต่น้ำไหลบ่าไปทางเดียว ไม่มีทางน้ำเข้า
บึงนั้นก็มีแต่จะแห้งไปทุกวัน
ฉะนั้น คนมีศีล เมื่อไม่มีทรัพย์สำหรับจับจ่ายเลี้ยงชีวิต
ถูกความอยากจนบีบคั้น ก็ยากที่จะมั่นคงอยู่ในศีลได้
ถึงจะรักษาให้บริสุทธิ์ก็เป็นไปได้อย่างลำบากยากเข็ญ
คนมีศีลบางคนที่ปรากฏว่าต้องยากจน
ก็น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง
ฉะนั้นผู้มีศีล จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ
ควรหมั่นประกอบกิจ ในการหาเลี้ยงชีวิตในทางชอบ
จะเป็นเหตุให้มีกำลังในการรักษาศีลยิ่งขึ้น

๓. สำรวมในกาม ได้แก่
กิริยาที่คอยระวังไม่ประพฤติมักมากในกาม

คุณข้อนี้ ย่อมส่องความบริสุทธิ์สะอาด
ของชายและหญิงให้กระจ่างแจ่มใส
คนผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายแล้ว
แต่ยังประพฤติหมกหมุ่นอยู่ในกาม ย่อมไร้ความมีสง่าราศี
ชื่อว่า ยังมีมลทินติดตัวอยู่ ย่อมไม่พ้นจากความติเตียนได้
ชายเมื่อมีภรรยาแล้ว ควรพอใจอยู่แต่ในภรรยาของตน
จะได้เป็นที่วางใจของคนทั้งหลาย
หญิงเมื่อมีสามีแล้ว ก็พึงพอใจอยู่ในสามีของตน
จะได้เป็นที่ชื่นชมของสามีต่างๆ

๔. ความมีสัตย์ ได้แก่ ความประพฤติซื่อตรงต่อบุคคล ต่อหน้าที่
พร้อมทั้งกายวาจาใจคือทำจริงพูดจริง ใจจริง ไม่โอนเอน

เมื่อให้ความสัตย์แก่ใครไว้แล้ว ก็รักษาความสัตย์นั้นไว้มั่นคง
อันความสัตย์นี้ ท่านสรรเสริญว่า เป็นถ้อยคำที่ไม่รู้จักตาย
มีรสอร่อยยิ่งกว่ารสทั้งหลาย
เมื่อหมั่นคำนึงถึงความสัตย์คำจริงอยู่แล้ว
ความคิดที่จะพูดเท็จ พูดโกหกเขาก็หมดไป
ทำให้เป็นคนพูดจริง ความมีสัตย์เป็นคุณสมบัติที่ผู้มีศีล
ควรบำเพ็ญ จะได้ทำให้ศีลบริบูรณ์ดียิ่งขึ้น
หาความด่างพร้อยเพราะวาจาไม่ได้

๕. ความมีสติรอบคอบ
ได้แก่ มีสติคอยตรวจตราอยู่เสมอ ไม่เลินเล่อ มีอาการดังนี้

(ก) ความระวังในเรื่องอาหารการกิน
(ข) ความระวังในหน้าที่การงาน
(ค) ความระวังในการทำ การพูด การคิดของตนมิให้พลาด


การงานทุกอย่าง มิว่าในทางคดีโลก หรือคดีธรรม
ถ้ามีสติคอยควบคุมระวังอยู่แล้ว ความผิดพลาดก็ไม่มี
หรือแม้จะมีก็เป็นไปโดยส่วนน้อย
ทำให้เป็นผู้มองเห็นโทษและอานิสงส์ของการงานที่จะทำลงไป
ความมีสติรอบคอบ ย่อมช่วยผู้มีศีลให้ดียิ่งขึ้น

จริยาวัตรสำหรับหญิงสะใภ้
ในบทนี้จะกล่าวถึงจริยาหรือหลักธรรมสำหรับหญิงสะใภ้
ควรประพฤติปฏิบัติในขณะเมื่อตนไปอยู่ยังสกุลผัว
เมื่อหญิงสะใภ้ประพฤติตามได้ ความสุขสบายก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่พึงเข้าใจว่าหลักธรรมอันนี้มิได้ เจาะจงเฉพาะหญิงสะใภ้เท่านั้น
ถึงหญิงอื่น ก็เหมาะแก่ความเป็นหลักที่ควรประพฤติเช่นเดียวกัน
ก็จริยาวัตรนั้นมี ๑๐ ข้อดังนี้

ไฟภายในอย่าพึงนำออก
ไฟภายนอกอย่าพึงนำเข้า
พึงให้แก่บุคคลที่ให้
อย่าพึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้
พึงให้แก่บุคคลที่ให้และที่ไม่ให้
พึงนั่งให้เป็นสุข
พึงบริโภคให้เป็นสุข
พึงนอนให้เป็นสุข
พึงบำเรอไฟ
พึงนอบน้อมเทวดาทั้งหลาย


ในจริยาวัตรทั้ง ๑๐ นี้ ดูดังท่านกล่าวไว้เป็นทำนองคำปริศนา
แต่ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้

จริยาวัตรข้อ ๑
หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ตระกูลผัว
เมื่อได้เห็นโทษสิ่งใดสิ่งหนึ่งของพ่อผัวแม่ผัว และผัวของตนเองเแล้ว
อย่าพึงนำไปบอกเล่าแก่ชนผู้อยู่ภายนอกเรือน

จริยาวัตรข้อ ๒
หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ตระกูลผัว
เมื่อได้ยินได้ฟังถ้อยคำของคนบ้านใกล้เรือนเคียง
กล่าวตำหนิติโทษพ่อผัวแม่ผัว และผัวของตนเองแล้ว
อย่าพึงนำเอาคำของชนเหล่านั้นมาบอกเล่าให้พ่อผัวแม่ผัวและผัวทราบ

จริยาวัตรข้อ ๓
ชนทั้งหลายเหล่าใด ผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงก็ดี หรือห่างก็ดี
เมื่อมายืมเครื่องอุปกรณ์สิ่งของไปแล้ว
ครั้นเสร็จกิจธุระก็นำมาคืนให้คือ ส่งคืน
แม้ภายหลังมาขอยืมอีก หญิงสะใภ้ก็พึงให้แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

จริยาวัตรข้อ ๔
ชนทั้งหลายเหล่าใด จะเป็นญาติมิตรสหาย
ผู้อยู่ใกล้เคียงกันก็ดี หรือมิใช่ญาติมิตรสหายก็ดี
เมื่อมายืมสิ่งของเครื่องอุปกรณ์ไปใช้สอย
ครั้นเสร็จธุระแล้ว ก็หาส่งคืนไม่
หญิงสะใภ้ผู้อยู่ในตระกูลผัว อย่าพึงให้แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

จริยาวัตรข้อ ๕
ญาติมิตรสหายทั้งหลาย ผู้ยากจนขัดสน
มาขอยืมสิ่งของเครื่องใช้ไปแล้ว
เมื่อเสร็จธุระของเขา จะคืนให้หรือมิส่งคืนให้ก็ตามทีเถิด
แม้ภายหลังมายืมอีก อันหญิงสะใภ้ก็พึงให้แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

จริยาวัตรข้อ ๖
อันหญิงสะใภ้ ผู้ไปอยู่ตระกูลผัว
พึงกำหนดสถานที่ควรนั่ง
ไม่ควรนั่งในสถานที่อันตนแลเห็นพ่อผัวแม่ผัวและผัวของตน
เพราะเป็นเหตุจะให้ตนต้องลุกขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ชื่อว่านั่งไม่เป็นสุข
เมื่อนั่งในที่อันตน ไม่จำต้องลุกขึ้นแล้วก็ชื่อว่านั่งเป็นสุข

จริยาวัตรข้อ ๗
หญิงสะใภ้ ผู้ไปอยู่ยังตระกูลผัวแล้ว
ไม่บังควรบริโภคก่อนพ่อผัวแม่ผัวและผัวของตน
พึงคอยดูแลเพิ่มเติมสิ่งที่บกพร่อง หรือยังไม่ได้
เมื่อคนเหล่านั้นบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคต่อกาลภายหลัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขในการบริโภคจึงจะเกิดมี

จริยาวัตรข้อ ๘
อันหญิงสะใภ้ ผู้ไปอยู่ตระกูลแห่งผัวแล้ว
ยามจะหลับนอน อย่าพึงนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและผัวของตน
พึงทำวัตรปฏิบัติที่ควรจะกระทำแก่พ่อผัวแม่ผัว
และผัวให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน
เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ตนจึงนอนต่อภายหลัง
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะได้ความสุขในการหลับนอน

จริยาวัตรข้อ ๙
อันหญิงสะใภ้ ผู้ไปอยู่ในตระกูลแห่งผัวแล้ว
พึงบำรุงบำเรอ พ่อผัวแม่ผัวและผัวของตน
ตั้งท่านเหล่านั้นไว้ให้เป็นปานประหนึ่งว่า
กองไฟที่พวกฤาษีชีไพรบำเรออยู่ ฉะนั้น

จริยาวัตรข้อ ๑๐
หญิงสะใภ้ ผู้ไปอยู่ตระกูลแห่งผัวแล้ว
พึงทำการนอบน้อมพ่อผัวแม่ผัวและผัวของตน
ตั้งท่านเหล่านั้นไว้เหมือนหมู่เพทยดา
ที่ชนทั้งหลายพากันกราบไหว้บูชา ฉะนั้น

จริยาวัตรแห่งคู่ผัวเมีย
ในบทนี้ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงจริยาวัตรที่คู่ผัวเมียผู้ผ่านชีวิตวิวาห์ไปแล้ว
จะพึงประพฤติปฏิบัติต่อกันและกัน
เพื่อความสมบูรณ์พูนสุขแห่งชีวิตวิวาห์
คู่ผัวเมียบางคู่ เมื่อผ่านชีวิตวิวาห์ไปแล้ว
ความสุขในชีวิตวิวาห์แทบหาไม่ได้
เข้าทำนอง ๓ วันดี ๔ วันร้าย
บางคู่ก็อยู่ด้วยกันยั่งยืนมั่นคง จนแก่จนเฒ่าจนตายจากกัน
แต่สุขทุกข์ในชีวิตวิวาห์เป็นอย่างนั้น
ข้าพเจ้าก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่เคยผ่านชีวิตวิวาห์ไปเลย
ถ้าข้าพเจ้าจะคอยให้ชีวิตของข้าพเจ้าผ่านวิวาห์เสียก่อน แล้วจึงเขียนบทนี้นั้น
ข้าพเจ้าก็เห็นจะไม่ได้เขียนแน่นอน
คู่ผัวเมียจะประพฤติอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจะวางหลักให้ท่านไว้ดังนี้

ก. เอาใจต่อกัน
คู่ผัวเมียบางคู่ เมื่อเข้าสู่ชีวิตวิวาห์แล้ว
การเอาใจกันย่อมเป็นกฎอันหนึ่งซึ่งควรคำนึง
ผัวก็ดี เมียก็ดี ต่างฝ่ายต่างเอาใจกัน
ไม่ถือเอาแต่ใจของตนเป็นประมาณ
ความสุขสำราญในชีวิตวิวาห์ก็เกิดขึ้น
ความแตกร้าวรานอะไรก็ไม่มีได้
ถ้าผัวไปอย่างหนึ่ง เมียไปอีกอย่างหนึ่งแล้ว
ความดูดดื่มในการครองเรือนก็หมดไป หาเป็นสุขในการสมรสได้ยาก

ข. ความนับถือกัน
กฎอีกประการหนึ่งที่พึงนำไปใช้ ก็คือ ความนับถือในกันและกัน
ไม่แสดงอาการดูหมิ่น เหยียดหยัน
บางคู่เมื่อได้สมสู่กันแล้ว ขาดความนับถือกันและกัน
ตั้งหน้าเอาความถือตนเข้าใส่กัน พลาดนิดพลาดหน่อยไม่ได้
โพนทนาด่าว่าต่างๆ นานา คามนับถือกัน
จึงควรที่คู่วิวาห์ จักนำไปใช้ประการหนึ่ง

ค. มอบสิทธิ์
การที่ไม่รั้งสิทธิ์อำนาจในบ้านไว้แต่ผู้เดียว
ต่างก็มอบอำนาจในสิทธิ์บางอย่างให้ดูแล
ย่อมเป็นมูลแห่งความสุขอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ถ้าต่างคนต่างหวงสิทธิ์
เกรงว่ามอบให้เป็นใหญ่ในหน้าที่นั้นๆ
แล้วก็จะข่มขู่ อย่างนี้ใช้ไม่ได้
ชีวิตวิวาห์ของท่านจะไม่ได้รับความสมบูรณ์พูนสุข ได้เลย

ง. ไม่นอกใจ
กรรประพฤติไม่นอกใจกัน ก็เป็นฐานะอย่างหนึ่ง
ที่จะยังสุขในการวิวาห์ให้เกิดขึ้น
ทางสามีก็ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา
ส่วนภรรยาก็ไม่ประพฤตินอกใจผัวของตน
ต่างคนต่างทำความพอใจกันและกัน
ถ้าเมื่อต่างนอกใจกันแล้ว ความระหองระแหงก็มีขึ้น
หาความสุขในชีวิตวิวาห์ไม่ได้
ความไม่นอกใจจึงเป็นจรรยาอันหนึ่งที่คู่ผัวเมียจะลืมเสียไม่ได้
ข้าพเจ้าวางหลักให้ท่านประพฤติเพียงเท่านี้
แม้คู่หญิงชายคู่ไหน ประพฤติตามได้
ก็พึงแน่เถิดว่าความสำราญในชีวิตวิวาห์ของท่าน
จะดำเนินไปโดยราบรื่นทุกประการ

:b8: :b8: :b8: จาก...หนังสือ กฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๒๐
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


:b53: :b51: :b53:

:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44758

:b44: ครูบาอาจารย์ทั้ง ๔ ของ “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48697

:b44: เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35214


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ม.ค. 2019, 10:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร