วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๒) ชีวิตแต่งงานและครอบครัว

ปัญหาที่สองเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานและครอบครัว
อาจารย์สจวตท์อยากทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อนั้น
ทำอย่างไรชีวิตแต่งงานและครอบครัวจึงจะมีความสุข ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่ออธิบายว่าการเลือกคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญมาก
และเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ควรจะเลือกคู่ครองด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึก
และด้วยวิธีการดูดวง
การใช้เหตุผลจะช่วยให้เราสามารถรู้ว่าผู้ที่เราจะแต่งงานด้วยนั้น
เป็นคนที่มีนิสัยใจคอรสนิยม และฐานะความเป็นอยู่
ที่จะเหมาะสมกับตัวเราได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้นเมื่อแต่งงานกันแล้ว
ต่างฝ่ายก็ควรจะปรับตัวเองและมีความเอื้ออาทรต่ออีกฝ่ายหนึ่ง
อย่างสม่ำเสมอ ความเอื้ออาทรนี้อาจจะเป็นไปในรูปของการเคารพ
ซึ่งกันและกัน ความจริงใจและการไม่เห็นแก่ตัว
จากประสบการณ์ของหลวงพ่อ

ชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุขนั้น
เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่เหมาะสมกันในด้านต่างๆ
และไม่มีความเอื้ออาทรต่อกัน


สำหรับเรื่องชีวิตครอบครัวนั้น
หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่าการที่ครอบครัวแตกแยก
พ่อ แม่ และลูกเข้ากันไม่ได้นั้นสาเหตุสำคัญ (ที่หลวงพ่อทราบ)
คือ พ่อแม่ทำตัวเองเป็นแบบอย่างไม่ดี
กล่าวคือ ทำตัวเองไม่สมกับที่เป็นพ่อแม่
เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์และทำตามใจตัวไม่มีเหตุผลที่ดี
ดังนั้นถ้าหากพ่อแม่ต้องการให้ตัวเองและลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
พ่อแม่ก็ต้องทำตัวเองให้เหมาะสมในทุกเรื่อง
และสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ ลูกจึงจะรักและเคารพ
สิ่งสำคัญ ก็คือ พ่อแม่จะต้องรู้จักความต้องการของลูก
ไม่ใช้อำนาจบีบบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น
หลวงพ่อเน้นว่า ความต้องการที่สำคัญที่สุดของลูก คือ อิสระเสรีภาพ
หรือการเป็นตัวของตัวเอง
พ่อแม่จะต้องให้สิ่งนี้แก่ลูกแต่ไม่ใช่ด้วยการตามใจลูกไปทุกเรื่อง
ในเรื่องที่ไม่สมควร พ่อแม่อาจจะให้คำแนะนำที่มีเหตุผลแก่ลูก
โดยชี้ให้เห็นว่าการกระทำที่ลูกต้องการจะทำนั้น
มีผลไม่ดีอย่างไรบ้าง แล้วให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง
ถ้าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีแล้วความรัก อิสระเสรีภาพนี้
ก็จะทำให้ลูกเป็นคนรักแสวงหาความรู้ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว
การทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขนี้
เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่เป็นสำคัญ
ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรจะมุ่งแต่การทำงานและสะสมทรัพย์สมบัติ
แต่อย่างเดียว แต่ควรจะเอาใจใส่และปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ดีที่สุดด้วย

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อาจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยกับหลวงพ่อ
ในเรื่องวิธีการเลือกคู่ครองและการเลี้ยงดูลูก
แต่ก็สงสัยว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้พ่อแม่และลูกดีได้อย่างไร ?

หลวงพ่ออธิบายว่า "การปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติค้นพบตัวเองได้
กล่าวคือ รู้จักส่วนดีและส่วนไม่ดีของตนเอง
ตลอดจนมีสติและรู้สำนึกถึงสิ่งไม่ดีต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แก่ผู้อื่น
จากประสบการณ์แล้ว การมีสติและการรู้สำนึกนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ
เป็นคนดีได้ เช่น พ่อแม่และลูกต่างก็รู้หน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อกัน
เมื่อทุกคนทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนด้วยสติแล้ว
ปัญหาต่างๆ ที่ตนจะทำให้เกิดมีขึ้นก็จะมีน้อยลงหรือไม่มีเลย
การปฏิบัติกรรมฐานนอกจากจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนรู้จักหน้าที่
ความรับผิดชอบแล้ว ยังช่วยให้ผู้นั้นมีความเมตตากรุณาด้วย
ความเมตตากรุณานี้เป็นพลังสำคัญที่จะนำความสุขมาสู่ผู้นั้น
และผู้เกี่ยวข้องได้ ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และลูกที่ปฏิบัติกรรมฐาน
จึงจะมีความรักความเมตตาต่อกัน
สิ่งนี้จะนำไปสู่การรู้จักให้อภัยกัน
ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญในคำสอนของพุทธศาสนา"

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๓) มิตรภาพ

สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า ทำอย่างไรในการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน
ที่มีการแข่งขันกัน เราจึงจะมีเพื่อนที่ดีได้ ?

หลวงพ่อตอบว่า ปัญหาเรื่องการมีเพื่อนที่ดีนี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมปัจจุบัน
ที่คนทุกอาชีพต้องแข่งขันกันแม้แต่ในการศึกษาเล่าเรียน
นักเรียนก็ต้องแข่งขันกัน เช่น เพื่อจะได้ทุนการศึกษาและรางวัลต่างๆ
ในเรื่องของการมีมิตรที่ดีนั้น ถึงแม้ว่าเราจะต้องอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันกัน
แต่เราก็อาจจะมีมิตรแท้ได้ ในทัศนะของหลวงพ่อมิตรแท้เป็นเพื่อนที่รู้จิตใจกัน
ราวกับว่าเป็นคนคนเดียวกันและมีความเอื้ออาทรต่อกัน
ส่วนมิตรเทียมเป็นคนที่มุ่งยึดถือประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
แต่อย่างเดียว การที่เราจะมีมิตรแท้ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม
ศาสนาพุทธเองมีคำสอนเรื่องคุณธรรมที่จะทำให้เราสามารถผูกมิตรกับผู้อื่นได้
อยู่หลายเรื่องด้วยกัน การเป็นคนดีมีคุณธรรมนี้จะเป็นเสมือนเสน่ห์ที่ดึงดูดคนอื่น
ให้สนใจและเอาใจใส่ตัวเรา
นอกจากจะเป็นคนมีคุณธรรมแล้วเรายังควรสร้างบุญกุศลอีกด้วย

เพราะบุญกุศลจะช่วยให้เราพบกับคนดีและคุ้มครองป้องกันเรา
ไม่ให้ได้รับอันตรายจากความชั่ว
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยว่าการเป็นคนดีมีคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะได้พบมิตรแท้ได้อย่างไร ?
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับชาวพุทธบุญกุศลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
บุญกุศลที่ทำไว้แต่ก่อนจะเป็นพื้นฐานให้เราพบมิตรแท้และคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวเรา
จะทำให้เรารักษามิตรภาพให้ยั่งยืนต่อไปได้
ดังนั้นผู้ที่ยังไม่มีมิตรแท้จึงควรสร้างบุญกุศลให้มาก
ส่วนผู้ที่มีมิตรแท้อยู่แล้วก็ควรจะสร้างคุณธรรมให้มีอยู่ในตัวเช่นเดียวกัน
จะได้มีมิตรแท้ตลอดไป คนเราถ้าหากไม่มีบุญกุศลหนุนแล้วจะทำอย่างไร
ก็จะประสบปัญหาอยู่เสมอ
บุญกุศลนี้ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากผลการกระทำของคนแต่ละคนเอง
ดังนั้นก่อนจะทำทำอะไรเราจึงควรคิดให้รอบคอบ ทำแต่สิ่งที่ดีงาม
เพื่อจะได้มีบุญกุศลติดตัวตลอดไป
หลวงพ่อเองได้ประสบพบเห็นอำนาจของบุญกุศลด้วยตัวเอง
ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
ดังนั้นหลวงพ่อจึงสอนเน้นเรื่องความสำคัญของการทำความดีอยู่เสมอ

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๔) การแข่งขันและความสันโดษ

ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยว่า พุทธศาสนาสอนให้คนมีความเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่และช่วยเหลือกัน แต่ในชีวิตจริงแล้วนักเรียนและนักกีฬา
จะต้องแข่งขันเอาชนะกัน ไม่ทราบว่าศาสนาพุทธมองเห็นความสำคัญ
ของการแข่งขันหรือไม่ ?
คนตะวันตกเชื่อว่าการแข่งขันกันทำให้สังคมและชีวิตของคน
แต่ละคนเจริญก้าวหน้า
ดังนั้นจึงเน้นให้มีการแข่งขันกันในทุกวงการ
ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือธุรกิจการค้า
แต่ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนมีความสันโดษ
การสอนเช่นนี้ทำให้สงสัยว่าสันโดษจะช่วยให้คน
และสังคมเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร ?

ในเรื่องนี้หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านการแข่งขันกัน
โดยเฉพาะในกรณีที่การแข่งขันนั้นไม่ได้เกิดจากโลภ โกรธ และหลง
การแข่งขันในเรื่องการศึกษาและการกีฬาเป็นเรื่องปกติของชีวิต
ที่ยังอยู่ในโลก ที่สำคัญก็คือ ในการแข่งขันเราต้องไม่โกรธ
และมีใจเป็นนักกีฬา การแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา
ที่เกิดขึ้นได้แก่คนทุกคน
การปฏิบัติกรรมฐานจะฝึกจิตใจเราให้สงบและมีปัญญามากเพียงพอ
ที่จะแข่งขันกับผู้อื่นได้
มีนักเรียนจำนวนมากที่หลังจากมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน
ในระยะเวลานานพอสมควรแล้วสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ตามความต้องการ
บางคนสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
และบางคนสามารถชนะการประกวดประเภทต่างๆ ได้เช่นกัน

หลวงพ่อเองมีความเห็นว่าการแข่งขันกันในกรณีที่กล่าวมา
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง
ที่แต่ละคนมีต่อชีวิตของตน
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ควรจะระวังให้การแข่งขัน
เป็นไปในครรลองครองธรรมและไม่ให้ความต้องการจะเป็นผู้ชนะ
มีความรุนแรงมากจนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ
และความหลง (ผิด) ไป
ผู้ชนะที่แท้จริงคือผู้ชนะกิเลสตัณหาต่างๆ ในตัวเอง
เช่นที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
สำหรับเรื่องสันโดษนั้น คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า
คำสอนเรื่องสันโดษในพุทธศาสนาขัดขวางความเจริญก้าวหน้า
ของบุคคลและสังคม ตามความเป็นจริงแล้วพุทธศาสนาสอนให้
คนเราขยันและปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้า
สันโดษ หมายถึง การยอมรับขอบเขตจำกัดของตน
และการไม่มีความโลภ พุทธศาสนาสอนเน้นเสมอว่า
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ไม่อยู่กับที่
ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา
ส่วนจะพัฒนาได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ
ความอุตสาหะและความตั้งใจจริง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างด้วย
ที่สำคัญคือ เราต้องศึกษาเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น
แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้าเท่า
หรือเหนือกว่าผู้นั้น
พุทธศาสนามองดูสังคมมนุษย์ว่าเป็นสังคมไม่อยู่กับที่ตลอดเวลา
แต่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สิ่งที่ทำให้สังคมมีสภาพเช่นนี้ก็คือมนุษย์ที่ไม่อยู่เฉย
การปฏิบัติกรรมฐานทำให้จิตนิ่งและเกิดปีติ
แต่พุทธศาสนาต้องการให้เราใช้จิตนิ่งและใช้ความสุขนั้น
ในการทำงานเพื่อให้ตัวเองและสังคมที่อยู่เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
หลวงพ่อไม่ส่งเสริมให้คนมาปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะได้อยู่เฉยๆ
ไม่ทำการงาน แต่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติใช้ผลที่ได้รับจากกรรมฐาน
ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนและผู้อื่น

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๕) ความเสื่อมของสังขาร

ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ถามต่อไปเรื่องความเสื่อมของสังขาร
ต้องการทราบว่าศาสนาพุทธสอนให้ทำอย่างไร
คนเราจึงจะไม่มีความทุกข์ เพราะความเสื่อมของสังขาร
และใช้ความเสื่อมนี้ให้เป็นประโยชน์ในวัยชรา ?

หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาสอนให้เรายอมรับความเป็นจริง
ของชีวิตทุกด้าน ในเรื่องของความเสื่อมของสังขารก็เช่นเดียวกัน
เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงตามธรรมชาติ (ทั้งๆ ที่พยายามทำนุบำรุง)
เราจำเป็นต้องยอมรับสังขารที่เสื่อมลงนี้
เตือนเราไม่ให้ประมาทในการมีชีวิตอยู่และให้เร่งรัดทำบุญกุศล
วัยชราเป็นวัยของการเตรียมตัวตายให้มากขึ้น
เพราะมีเวลาเหลือน้อยลงไปทุกวัน
การเตรียมตัวตายที่เหมาะสม คือการฝึกจิตให้มีสติทุกวินาที
เช่นที่พุทธศาสนาสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน
ที่จิตมีสติตามคำสอนนี้เป็นจิตที่มีอิสระ
ไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งหนึ่งสิ่งใด
และเมื่อดับไปก็จะหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิง
หลวงพ่อสรุปว่าการมีสังขารอยู่เป็นภาระอย่างหนึ่งของมนุษย์
เราต้องทำนุบำรุงดูแลสังขารให้ดีที่สุด
แต่เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงโดยธรรมชาติ
เราก็ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจหรือพยายามดิ้นรน
ด้วยวิธีการต่างๆ หยุดยั้งความเสื่อมนั้น
การออกกำลังกาย อาหารและการมีชีวิตที่ดีงาม
อาจช่วยให้การเสื่อมของสังขารช้าลง
แต่สังขารก็ต้องเสื่อมและดับไปในที่สุดอยู่นั่นเอง

ดังนั้นแทนที่จะพยายามต่อสู้กับความเสื่อมของสังขาร
เช่นที่บางคนทำอยู่ เราควรให้ความเสื่อมของสังขาร
เตือนเราให้เร่งทำความดีก่อนที่จะสายเกินไป
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์กล่าวชมหลวงพ่อว่า
อธิบายคำตอบต่างๆ ได้สมเหตุสมผลดีมากจนเขาไม่สามารถโต้แย้งได้
อย่างไรก็ตามเขามีปัญหาจะขอความเมตตาจากหลวงพ่อ
ให้ตอบอีกหลายเรื่อง เพราะการค้นคว้าหาหนังสืออ่านเองแล้ว
ยังไม่เข้าใจ หลวงพ่ออนุญาตให้ศาสตราจารย์สจ๊วตท์
ถามต่อไปได้และกล่าวว่า ความจริงแล้วที่หลวงพ่ออธิบายมาทั้งหมดนั้น
หลวงพ่อไม่ได้อธิบายตามหลักของเหตุผล
แต่อธิบายจากประสบการณ์ การที่คำอธิบายเหล่านั้นมีเหตุมีผลดี
คงจะเป็นเพราะว่าประสบการณ์ของมนุษย์
มีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องไปหาเหตุผลจากที่อื่นมาอธิบาย
แต่เราจะมองเห็นเหตุผลในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อจิตเราเปิดกว้างปราศจากทฤษฎีใดๆ
ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาและชีวิต
หลวงพ่อได้มาจากการปฏิบัติธรรม
และการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนหลายประเภท

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๖) พุทธานุภาพ

คำถามต่อมาของศาสตราจารย์สจ๊วตท์เน้นเรื่องเกี่ยวกับพุทธานุภาพ
เขาสงสัยว่าพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปนานหลายพันปีแล้ว
จะมีพุทธานุภาพคงอยู่ในโลกได้อย่างไร ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่อตอบด้วยการยกตัวอย่างว่า
ถึงแม้ดวงอาทิตย์จะลับฟ้าไปแล้ว
แต่ไออุ่นก็ยังค้างในโลกเป็นเวลานานแสนนาน
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด
มีพุทธานุภาพมากกว่าอำนาจของดวงอาทิตย์มากมายจนเทียบไม่ได้
ทำไมกระแสพุทธานุภาพจะไม่คงอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดวงใจของผู้ที่เปิดรับพุทธานุภาพนั้น
ถึงแม้ว่าคนที่คิดค้นเรื่องไฟฟ้าสิ้นชีวิตไปนานแล้ว
แต่ไฟฟ้าก็ยังคงมีอยู่ให้เราได้ใช้ประโยชน์ทุกวันนี้
ในความหมายหนึ่งแล้วพุทธานุภาพที่แสดงให้เห็น
และที่พิสูจน์ได้ คือ พระธรรมและผลที่ได้จากการปฏิบัติตามพระธรรม
ข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเร
จากการมีพุทธานุสติอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธานุภาพอยู่หลายกรณี
แต่เกรงว่าศาสตราจารย์สจวตท์จะไม่เข้าใจ
เพราะเพิ่งเริ่มสนใจศาสนาพุทธ
ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ได้เล่าให้ฟัง
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยอมรับว่าพุทธานุภาพเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
โดยเฉพาะสำหรับคนต่างศาสนา
เพราะพุทธานุภาพในศาสนาอื่นที่หลวงพ่ออธิบายนั้น
ไม่มีลักษณะเป็นเช่นการแสดงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
แต่แสดงออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ยึดถือ
ในทางที่ดีขึ้น

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(๗) การช่วยเหลือคนจน

คำถามสุดท้ายที่ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยก็คือ
คำถามเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนจนและคนที่อดอยากหิวโหย
ที่มีอยู่ทั้งในประเทศไทยและส่วนต่างๆ ของโลก
เขาไม่แน่ใจว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธ
สนใจที่จะช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้บ้างหรือไม่
เพราะเขามองเห็นชาวพุทธไปทำบุญแต่ที่วัด
ไม่ชอบทำบุญทางด้านสาธารณประโยชน์
ส่วนการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ นั้น
เขาไม่ทราบว่ามีอยู่หรือไม่ ?

หลวงพ่อตอบว่า คำสอนของพุทธศาสนาเน้นให้ชาวพุทธ
ช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์โดยไม่คำนึงว่าเป็นคนชาติใด
หรือนับถือศาสนาใด ตามความเป็นจริงแล้วคนไทยชาวพุทธ
ที่ทำสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือคนยากจนมีจำนวนมากพอสมควร
แต่คนประเภทนี้ไม่ชอบเอาหน้า
ดังนั้นจึงไม่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์
หลวงพ่อยอมรับว่าชาวพุทธชอบทำบุญกับพระสงฆ์
มากกว่าที่จะช่วยเหลือคนยากจน
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากเพราะเป็นความเชื่อที่ฝังจิตใจมานาน
ในการแก้ไขปัญหานี้พระสงฆ์เช่นหลวงพ่อได้นำวัตถุสิ่งของต่างๆ
ตลอดจนเงินทองที่ได้รับจากพุทธศาสนิกชน
ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและคนยากจนทั่วไป
เมื่อคนมองเห็นว่าเงินที่บริจาคให้แก่หลวงพ่อ
ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอย่างมาก
คนก็ยิ่งบริจาคเงินให้หลวงพ่อมากขึ้น
หลวงพ่อจึงชอบพูดเสมอว่า "ยิ่งให้ ยิ่งได้"

สำหรับการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ นั้น
คนไทยที่เป็นชาวพุทธก็มีส่วนช่วยเหลือบ้าง
ตามความจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่
แต่การช่วยเหลือนี้ก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์
ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีคนทราบเลย
หลวงพ่อยอมรับจากการช่วยเหลือของคนไทยชาวพุทธส่วนมากแล้ว
เป็นการช่วยเหลือที่เกิดจากการริเริ่มของคนบางคน
ที่ไม่หวังผลตอบแทนอะไร
นอกจากช่วยบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของคนยากจน
เป็นครั้งคราว ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือในรูปแบบนี้
ก็คือ การขาดแผนงานช่วยเหลือ
ซึ่งทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร
การช่วยเหลือคนยากจนควรจะมีวัตถุประสงค์มากกว่า
การช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนเหล่านี้เป็นครั้งคราว
แต่ควรเป็นการช่วยเหลือให้ช่วยตัวเองได้ด้วย
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็เน้นว่าในขณะที่องค์กรพุทธศาสนา
ยังไม่มีแผนงานที่แน่นอนในเรื่องการทำงานเพื่อสังคม
พุทธศาสนิกชนก็ควรจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนที่มีความทุกข์
ไม่ว่าจะเกิดจากความยากจนหรือจากปัจจัยอื่น
การมีความเมตตากรุณาต่อกันและการช่วยเหลือจุนเจือกัน
จะทำให้สังคมอยู่ต่อไปได้ด้วยความสงบ

ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก
แต่เพื่อให้ศาสนิกชนคนอื่นได้มีโอกาสกราบ
และนมัสการกับหลวงพ่อบ้าง
ศาสตราจารย์ผู้นี้จึงกราบนมัสการลาหลวงพ่อ
และสัญญาว่าจะนำคำอธิบายต่างๆ ของหลวงพ่อ
ไปเผยแพร่ให้แก่นักศึกษาและชาวอเมริกันทั่วไป

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บันทึกการสนทนาธรรม

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค เป็นครั้งที่ ๔



ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลพา
และศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค ชาวอเมริกัน
ผู้เชี่ยวชาญและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล
ที่วัดอัมพวันในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒
ศาสตราจารย์ผู้นี้จบการศึกษาสขาศาสนจากมหาวิทยาลัยเยล
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การสอนวิชาศาสนา
ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๔๐ ปี
ได้ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากหนังสือและตำราภาษาอังกฤษ
ที่นักวิชาการ จากหนังสือและตำราภาษาอังกฤษ
ที่นักวิชาการชาวตะวันตกเป็นผู้เขียน
และ มีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับคำสอน
และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
เมื่อมีโอกาสได้มาคารวะพระราชสุทธิญาณมงคล
ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกตามบุคคลทั่วไปว่า "หลวงพ่อ"
หรือ "หลวงพ่อจรัญ" จึงขอความเมตตาให้หลวงพ่ออธิบาย
ข้อสงสัยต่างๆ ให้ โดย ดร.พินิจ รัตนกุล
เป็นผู้แปลและบันทึกการสนทนา

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระพุทธศาสนาและสมาธิ

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันชาวอเมริกัน
ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธสนใจการปฏิบัติสมาธิกันมาก
แต่โดยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการสอน
ในเรื่องการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนาเลย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต จึงสงสัยว่า

การปฏิบัติสมาธิดังกล่าว
จะให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือไม่
เพราะได้อ่านหนังสือวิสุทธิมรรคแล้วเข้าใจว่า
การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนามีขั้นตอนต่างๆ
ที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนภายใต้การแนะนำของอาจารย์


หลวงพ่ออธิบายว่า ที่จริงแล้วการปฏิบัติสมาธิมีอยู่ในคำสอน
ของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม
หรือศาสนาฮินดู ในสมัยพุทธกาล พวกฤาษีโยคีต่างๆ
ปฏิบัติสมาธิตามความเชื่อในลัทธิของตนจนมีฤทธิ์เดชต่างๆ
การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
แต่อย่างเดียว ส่วนการปฏิบัติสมาธิจะมีผลอย่างไรนั้น
ขึ้นอยู่กับระดับของสมาธิที่ผู้ปฏิบัติทำได้
โดยทั่วไปแล้วการปฏิบัติสมาธิ
สามารถทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติสงบสว่างและมีปัญญาเกิดขึ้น
และส่งผลให้ผู้นั้นสามารถทำกิจการต่างๆ
สำเร็จตามความต้องการได้
การปฏิบัติสมาธิระดับสูง เช่นที่ฤาษีโยคีต่างๆ
ปฏิบัติอยู่ในสมัยพุทธกาล สามารถทำให้เกิดจิตตานุภาพ
ที่มีพลังแข็งแกร่งจนมีฤทธิ์เดช
ผลของสมาธิตั้งแต่การมีจิตใจสงบ
ไปจนถึงการมีจิตตานุภาพที่กล่าวมาเป็นผลทางโลกียะเท่านั้น
เพราะเป็นประโยชน์ที่เสริมสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง
แต่ในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติสมาธิมีเป้าหมายสูงกว่า
ประโยชน์ทางโลกียะ คือ มีเป้าหมายให้จิตของผู้ปฏิบัติ
หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสตัณหาต่างๆ มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ
อันจะทำให้ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป
ประโยชน์ประเภทนี้เรียกว่า ประโยชน์ทางโลกุตระ
โดยเหตุที่เป้าหมายการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา
แตกต่างจากเป้าหมายที่มีอยู่ในศาสนาอื่น

ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเรียกสมาธิที่อยู่เหนือระดับความสงบ
หรือ อิทธิฤทธิ์ และที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นว่า "วิปัสสนากรรมฐาน"
เพราะเป็นการทำให้จิตใจสว่างด้วยแสงของปัญญา
ที่เป็นผลจากการวิเคราะห์รูปและนามในลักษณะต่างๆ
อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนมองเห็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย
และดับ "อัตตา" ได้ในที่สุด

พระพุทธศาสนาไม่มีความประสงค์ให้เราพอใจแต่ประโยชน์ทางโลกียะ
ที่ได้จากการปฏิบัติสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นความสงบนิ่งของดวงจิต
หรือ การมีจิตตานุภาพประเภทต่างๆ
แต่ต้องการให้เราใช้ปัญญาที่เกิดจากสมาธิตัดตัวเรา
ให้หลุดพันจากวัฏสงสาร
ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติสมาธิ หรือ วิปัสสนากรรมฐาน
จึงมีขั้นตอนต่างๆ ถ้าหากผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้
และไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำแล้ว
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะไปสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ดังที่อธิบายในหนังสือ "วิสุทธิมรรค"
นอกจากนั้น การเป็นคนที่พากเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง
มีคุณธรรมและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดก็มีความสำคัญมาก
เมื่อสมาธิมีคุณธรรมและศีลเป็นฐานแล้ว
ปัญญาที่เกิดจากสมาธิก็จะมีทั้งพลังและทิศทางที่ถูกต้อง

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความสุข คนรวย คนจน

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กราบเรียนหลวงพ่อว่า
ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน คนอเมริกันเชื่อกันว่า
ความสุข คือ การมีชีวิตที่สะดวกสบาย
มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบถ้วน
พร้อมทั้งมีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐานมั่นคง

ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับความสุขว่าอย่างไร
ทรัพย์สมบัติเป็นที่มาของความสุขใช่หรือไม่
และคนจนสามารถมีความสุขได้ไหม


หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาก็มองเห็นความสำคัญของวัตถุ
และ เชื่อว่าชีวิตต้องอาศัยปัจจัย ๔ จึงจะดำรงอยู่ได้
ผู้ที่ไม่มีปัจจัย ๔ อยู่เลยแม้แต่อย่างเดียว
ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่หรือปฏิบัติธรรมให้ประสบความสำเร็จได้
ในสมัยพุทธกาลพระองค์ทรงสอนสาวกทั้งหลาย
ให้ช่วยเหลือฆราวาสให้มีชีวิตสบายพอสมควร
(เช่น มีเสื้อผ้าใส่ และมีอาหารกิน) ก่อนที่จะสอนธรรม
พระพุทธศาสนาถือว่าทรัพย์สมบัติต่างๆ นั้น
เป็นผลของบุญกุศลที่คนแต่ละคนทำไว้ในอดีต
คนที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย
เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาในสมัยพุทธกาลเป็นผู้ที่ทำบุญกุศลมามาก

พระพุทธศาสนาไม่สนใจเรื่องปริมาณ
หรือจำนวนของทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่มาก
เท่ากับวิธีที่เราได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
และวิธีที่ใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้น


การมีทรัพย์สมบัติมากทำให้นางวิสาขามีวัตถุสิ่งของ
สำหรับทำบุญได้มากกว่าคนทั่วไป
เพราะถือว่าทรัพย์สินต่างๆ นั้นมีลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว
แต่จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับวิธีได้มา และวิธีใช้
ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติต่างๆ มาด้วยวิธีสุจริตและใช้อย่างฉลาด
เช่น ให้ตนเองมีความสุขด้วยการทำบุญ
และช่วยทำประโยชน์แก่สังคม
ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็เป็นสิ่งมีคุณค่า
แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว
ทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่อาจนำความสุขมาให้ได้
พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญของการทำบุญ
เพราะบุญกุศลที่เกิดจากการทำทานเป็นที่มาของความสุข
และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ
ความสุขที่เกิดจากการให้
(ซึ่งเป็นผลมาจากการลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง)
เป็นความสุขที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก
และโดยเหตุที่ความสุขไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ
หรือจำนวนทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เรามีอยู่

แต่เป็นสภาวะจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราขัดเกลาจิตใจ
ให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายที่หุ้มอยู่
เพื่อจิตใจจะได้สงบและสว่างด้วยแสงของปัญญา
ด้วยเหตุนี้เวลาพูดถึงความสุขจึงใช้คำว่า "สันติสุข" หรือ "วิมุติสุข"


เพื่อให้แตกต่างจากความสุขที่คนทั่วไปเข้าใจว่า
เกิดจากการตอบสนองความต้องการต่างๆ
โดยเหตุที่ความสุขเป็นเรื่องจิตใจไม่มีตัวตน
ดังนั้นคนรวยจึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขเสมอไป
ในทำนองเดียวกัน คนจน ที่มีชีวิตไม่สะดวกสบาย
เพราะขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
เช่น ไม่มีพัดลม ตู้เย็นไฟฟ้า ก็สามารถมีความสุขได้
ถ้าหากรู้จักสันโดษซึ่งทำให้จิตใจสงบ

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบาย
เรื่องธรรมชาติของความสุข
โดยเฉพาะเมื่อหลวงพ่อเชื่อมโยง
ความสงบและสันโดษเข้ากับความสุข
ในความคิดเห็นของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
คนอเมริกันจะมีชีวิตที่สงบสุขได้ถ้าหากมีสันโดษ
คือ รู้จักจำกัดความต้องการและไม่ดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งต่างๆ
มาเป็นของตนโดยไม่หยุดยั้ง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองได้พยายามสอนนักศึกษาที่อเมริกา
ให้เลิกผูกความสุขเข้ากับปริมาณ
หรือ จำนวนของวัตถุสิ่งของต่างๆ
และให้หันมาสนใจเรื่องจิตใจให้มากขึ้น
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะการสอนดังกล่าวสวนทางกับกระแสสังคมอเมริกัน
ที่เน้นวัตถุนิยม และต้องการให้คนไขว่คว้าหาสิ่งของต่างๆ
มาครอบครองไว้ให้มีจำนวนมากที่สุด
สื่อมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี
มีส่วนสำคัญที่ทำให้กระแสสังคมนี้ไหลเชี่ยว
จนต้านทานได้ยากหรือไม่ได้เลย

หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า หลวงพ่อเองได้พยายามปลุกคนให้ตื่น
จากความหลงผิด ให้รู้จักพัฒนาและใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต
ประจำวันให้มาก แต่เนื่องด้วยธรรมเป็นสิ่งทวนกระแสโลก
ที่อยู่ในวงเวียนของวัตถุนิยม
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนทั่วไป
หลวงพ่อพยายามสอนกรรมฐาน
เพราะเชื่อ และมีประสบการณ์ว่าการปฏิบัติดังกล่าว
สามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสงบ
และ การควบคุมตนเองได้
อันจะทำให้ผู้นั้นไม่หลงใหลในวัตถุสิ่งของต่างๆ
รวมทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันจำนวนไม่น้อย
สามารถสัมผัสความสุขประเภทนี้ได้
จึงได้ชักชวนผู้ที่รู้จักมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอยู่เรื่อยๆ
จนจำนวนผู้ปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นทุกที
มีคนทุกอาชีพทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว และผู้มาใหม่
การที่เป็นเช่นนี้เพราะบุคคลเหล่านี้
ได้พบเห็นด้วยตนเองว่าการปฏิบัติกรรมฐาน
เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสุขที่ประณีตกว่า
การทำตามกระแสโลกที่กล่าวมาแล้ว
และถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติจะยังไม่สามารถทวนกระแสโลกได้โดยตลอด
แต่การมาอยู่ที่วัดระยะเวลาหนึ่ง
ก็เป็นการสร้างความสงบสุขให้แก่ดวงจิตชั่วคราว
และทำให้จิตของตนมีพลังมากขึ้น
การปฏิบัติกรรมฐาน จึงเป็นเสมือนการชาร์จแบตเตอรี่
ให้มีไฟพอเพียงแก่การใช้งาน

นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้อธิบายขยายความเรื่อง
ความสัมพันธ์ระหว่างสันโดษและความสุข
เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ที่เข้าใจว่าสันโดษ และความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา
ความสุขมีอยู่หลายระดับและสันโดษเป็นความสุขระดับหนึ่ง
ที่คนทั่วไปสามารถมีได้

ความสุขที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษ คือ "วิมุติสุข"
หรือ ความสุขที่เป็นผลจากการที่ดวงจิตมีสภาวะเป็นพุทธะ
หรือ ใสสว่างปราศจากความหนาทึบของ "อัตตา"
และความมัวหมองจากกิเลสตัณหาต่างๆ ที่ห่อหุ้ม
สภาวะเช่นนี้เกิดจากการมีปัญญารู้แจ้ง
(หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Enlightenment")
ดังเห็นเป็นตัวอย่างจากพุทธประวัติตอนตรัสรู้
เสรีภาพ ความรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบว่า
เด็กอเมริกันที่ตนเคยสอนมักเข้าใจกันว่า
เสรีภาพ หมายถึง การทำอะไรตามใจชอบ
หรือ โดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง
ความเข้าใจนี้ ทำให้เด็กวัยรุ่นในอเมริกา
ไม่มีระเบียบวินัยและไม่มีเป้าหมาย
กล่าวคือ มีชีวิตเปะปะไปตามอารมณ์ความรู้สึก
อยากทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับเสรีภาพว่าอย่างไร

หลวงพ่ออธิบายว่า สังคมไทยเวลานี้ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน "เสรีภาพ" เป็นคำที่ใช้กันมาก
เพราะเชื่อกันว่า เป็นลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
คนไทยทั่วไปเข้าใจว่าเสรีภาพ คือ การมีชีวิตอิสระ
ซึ่งได้แก่การทำอะไรตามใจชอบดังที่ชอบพูดกันว่า
"ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้"
(เพราะเข้าใจผิดว่า "ไทย" หมายถึง "อิสรเสรี")

คำสอนของพระพุทธศาสนา
ก็เน้นความสำคัญของการมีชีวิตอิสระเสรีมากเป็นพิเศษ
แต่อธิบายความเป็นอิสระเสรีในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจกัน
กล่าวคือ อธิบายว่า ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเอง
ไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ และ กิเลสตัณหาต่างๆ
ดังนั้นจึงไม่ใช่ชีวิตของการทำอะไรตามใจชอบ
การควบคุมตัวเอง หมายถึง การใช้ปัญญากำหนดทิศทาง
และแนวทางของการดำเนินชีวิต
อันมีผลให้ชีวิตไม่เปะปะไปมา
เช่นสวะที่ล่อยลอยไปตามกระแสน้ำและแรงลม
ชีวิตที่มีทิศทางมีพลังในตัว
เหมือนกับน้ำที่มีขอบเขตกั้นให้ไหลไปในทิศทางเดียว
การที่พระพุทธศาสนาอธิบายชีวิตอิสระเสรีในความหมายนี้
เพราะถือว่าปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์


ดังนั้นจึงควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อว่า
ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่คนแต่ละคน
เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนด้วยตนเอง
ดังเห็นได้จากคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม
แต่พระพุทธศาสนาเน้นว่า
ในการกำหนดชะตากรรมให้แก่ชีวิตเราแต่ละคนนั้น
เราจะต้องใช้ปัญญาของตนเป็นสำคัญ
ไม่ใช่ยอมทำตามสัญชาตญาณ หรือ อารมณ์ความรู้สึกแต่ละครั้ง
ดังนั้นในทัศนะของพระพุทธศาสนา
ชีวิตที่มีเสรีภาพ จึงเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเอง
หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ชีวิตประเภทนี้มีความรับผิดชอบ
เป็นองค์ประกอบสำคัญ
การควบคุมตัวเองทำให้เราไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายแก่ตัวเอง
และผู้เกี่ยวข้องตลอดจนสังคมโลกที่อยู่

นอกจากนั้น หลวงพ่อยังอธิบายว่า เช่นเดียวกันกับเรื่องความสุข
ศาสนาพุทธแบ่งเสรีภาพออกเป็นระดับต่างๆ กล่าวคือ

ในระดับธรรมดาทั่วไป
เสรีภาพ หมายถึงการกำหนดชีวิตของตนด้วยตนเอง
ในระดับนี้เสรีภาพแสดงให้เห็นในรูปของความสามารถ
ที่จะควบคุมตนเองให้มีชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้

ในระดับสูงขึ้นมา
เสรีภาพ หมายถึงการไม่อยู่ในอำนาจของ "อัตตา"
หรือ การหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาต่างๆ
(มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ) ตลอดไปโดยสิ้นเชิง
ชีวิตที่มีเสรีภาพระดับนี้ เป็นชีวิตของการปล่อยวาง
การไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
ดังนั้นจึงเป็นชีวิตที่อยู่เหนือ "ความดี" และ "ความชั่ว"
หรือ กรรมทั้งหลาย

หลวงพ่อให้ข้อสังเกตในตอนสุดท้ายว่า ในระดับใดก็ตาม
เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดเหมือนสัญชาตญาณ
เราจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเป็นอย่างมาก จึงจะมีเสรีภาพ
หรือ ชีวิตอิสระเสรีในความหมายที่กล่าวมา
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่ง
ที่จะช่วยให้เรามีชีวิตอิสระเสรีในความหมายของพระพุทธศาสนาได้


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่าเวลานี้ตนเข้าใจความหมาย
ของเสรีภาพในทัศนะของพระพุทธศาสนาได้ลึกซึ้งขึ้น
และกล่าวเสริมว่า การที่พระพุทธศาสนาเน้นความรับผิดชอบนั้น
เป็นสิ่งสำคัญมาก เสรีภาพและความรับผิดชอบแยกออกจากกันไม่ได้
ถ้าหากแยกออกจากกันแล้ว เสรีภาพก็ไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออยู่
และจะเป็นอันตรายแก่มนุษย์และสังคมโลก
ดังนั้นคนทุกคนจึงควรใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ
ด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยกับพระพุทธศาสนา
ที่เน้นให้คนทุกคนทำอะไรด้วยเหตุผลและใช้สติปัญญาให้มาก
การควบคุมตนเองเป็นวิธีการใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สันติภาพและขันติธรรม

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันประเทศต่างๆ
เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ศาสนิกชนต่างศาสนาพากัน
ก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ และที่ถึงกับจับอาวุธ
ประหัตประหารกันก็มีอยู่
แต่ทราบว่าในประเทศไทย เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
จึงต้องการทราบว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอะไร
ที่ช่วยให้คนนับถือศาสนาต่างกันอยู่กันได้ด้วยความสงบสุข

หลวงพ่อ ชี้ให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้ว
การต่อสู้ระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูในอินเดีย
และ ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินโดนีเซียนั้น
เป็นผลมาจากสาเหตุหลายประการที่พัวพันกัน
ไม่ใช่สาเหตุจากการมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันเท่านั้น
ศาสนาทุกศาสนาต้องการให้คนทุกคนเป็นคนดี ไม่รบราฆ่าฟันกัน
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาของสันติภาพ
มีคำสอนและวิธีการปฏิบัติมากมายหลายอย่าง
ที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
เช่นให้มีความรักความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน
รู้จักให้อภัยกันและไม่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่
ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นนั้น
พระพุทธศาสนายอมรับความจริงว่าคนแต่ละคนมีสติปัญญา
ความต้องการและความสามารถไม่เหมือนกัน
ดังนั้นจึงมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป
ด้วยเหตุนี้ในคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงไม่มีการบังคับ
ไม่ว่าในรูปแบบใด การรักษาศีลและปฏิบัติธรรม
เป็นเรื่องของความสมัครใจ การตัดสินใจของคนแต่ละคน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนแพทย์ที่เมื่อวิเคราะห์อาการของคนไข้
อย่างละเอียดถี่ถ้วนและรู้สาเหตุของความเจ็บป่วยแล้ว
ก็แนะนำคนไข้ให้กินยารักษาโรคที่เป็นอยู่
แต่ส่วนคนไข้จะกินยาที่แนะนำหรือไม่นั้น
เป็นการตัดสินใจของคนไข้เอง

หลวงพ่อเน้นว่า โดยเหตุที่พระพุทธศาสนายอมรับความจำกัด
ด้านสติปัญญาและความสามารถของแต่ละคน
และไม่มีความประสงค์จะบังคับผู้ใดให้มายึดถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
พระพุทธศาสนา จึงสอนชาวพุทธให้มีขันติธรรม
กล่าวคือให้ยอมรับความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา
และไม่ให้มีโทสะเมื่อเห็นว่าผู้อื่นมีความเชื่อและการปฏับัติแตกต่าง
ไปจากตน เพราะในที่สุดไม่ว่าจะมีความเชื่อแตกต่างกันอย่างไร
ทุกคนก็ต้องเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนอยู่นั่นเอง
ศาสนาพุทธจึงไม่ต้องการให้นำความแตกต่างดังกล่าว
มาสร้างความแตกแยกในสังคมหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง
และความรุนแรงระหว่างศาสนิกชนที่นับถือศาสนาต่างกัน

นอกจากศาสนาพุทธจะเน้นความสำคัญของความเมตตากรุณา
และขันติธรรมที่มีต่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประชาคมโลกแล้ว
ศาสนาพุทธยังสอนคนให้ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
เพราะสิ่งนี้เป้นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้จิตใจคนไม่สงบสุข
และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยากลำบาก
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้จิตใจสงบ
และมีอิสระจากอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ
ที่เป็นพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว
จิตใจที่เป็นอิสระเสรีนี้ ย่อมสามารถมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ
สรรพสิ่งต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือธรรมชาติ)
ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสันติภาพในโลก
ต้องเริ่มต้นจากการที่มีคนจิตใจสงบก่อนอย่างอื่น


แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสันติภาพ
หมายถึง ความสงบหรือการไม่มีสงคราม หรือการสู้รบเท่านั้น
ความสงบเงียบหรือการไม่มีการสู้รบกัน
ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่าสันติภาพมีอยู่ในโลก
สันติภาพที่แท้จริงมีอยู่ได้ย่อมต้องมีปัจจัยเกื้อกูลหลายอย่าง
ตั้งแต่การมีความเมตตา กรุณา และขันติธรรม
ไปจนถึงการมีจิตใจที่สงบและสว่าง

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวชมการที่พระพุทธเจ้า
ทรงสอนเรื่องขันติธรรมนั้น เป็นเรื่องดีงามมาก
เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ชาวพุทธมีจิตใจเปิดกว้าง
ไม่ยกตนข่มท่าน และไม่ประณามศาสนาอื่นที่ตนไม่เห็นด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเห็นด้วยว่า สันติภาพที่จีรังยั่งยืน
ต้องเริ่มต้นจากภายในจิตใจของคนแต่ละคน
ถ้าหากจิตใจของคนยังเป็นจิตใจที่เห็นแก่ตัว
ไม่มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว
สันติภาพถาวรก็เป็นไปไม่ได้
ปัญหาที่ศาสนาต่างๆ ประสบอยู่ในเวลานี้
ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนทุกคนมีจิตใจที่สงบและสว่างได้
สิ่งนี้เป็นไปได้ยากต้องใช้เวลานานหรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ดังนั้นในขณะที่ศาสนาต่างๆ สั่งสอนศาสนิกชนให้มีจิตใจดีงาม
ศาสนิกชนจึงควรร่วมมือกันสร้างปัจจัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น
ในประชาคมโลก เพื่อค้ำจุนสันติภาพให้มีอยู่ตลอดไปด้วย
เช่น ให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
และให้ทุกฝ่ายที่มีปัญหามีโอกาสได้พบปะเจรจาต่อรองกัน
พระสงฆ์ ทรัพย์สมบัติ และอามิสทาน

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ในสมัยกลางชี้ให้เห็นว่า
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้นักบวชในศาสนานี้
เสื่อมความเคารพรับถือจากศาสนิกชน
เพราะศาสนจักรนิยมสะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติต่างๆ ไว้มากมาย
และนักบวชในศาสนานี้มักนำทรัพย์สมบัติดังกล่าว
ที่เป็นของส่วนรวมมาใช้บำรุงบำเรอตนเอง
จึงทำให้มองเห็นไปว่าการที่ศาสนจักร
มีทรัพย์สินเงินทองมากเป็นสิ่งไม่ดี
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีระเบียบกฎเกณฑ์
ห้ามไม่ให้วัดมีทรัพย์สมบัติต่างๆ มากมาย
หรือไม่ให้พระสงฆ์สะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติหรือไม่

ในความเห็นของหลวงพ่อ
โดยธรรมชาติแล้วทรัพย์สมบัติต่างๆ
มีลักษณะเป็นกลาง คือในตัวเองไม่มีทั้งความดีหรือความไม่ดี
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้น
อยู่ที่วิธีที่เราได้สิ่งเหล่านั้นมา และวิธีที่เราใช้สิ่งเหล่านั้น
ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติมาด้วยวิธีสุจริต
และใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านี้อย่างฉลาด
ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ดี
ในเรื่องของพระสงฆ์นั้น โดยเหตุที่พระสงฆ์ส่วนมากเป็นสมมติสงฆ์
ที่ยังติดกิเลสตัณหาต่างๆ ไม่ได้
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก
ที่มีผู้บริจาคให้ จึงอดไม่ได้ที่จะใช้ทรัพย์สินเหล่านั้น
เพื่อประโยชน์ตน เช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา
พระสงฆ์จึงต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ
เมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องเงินทอง
ที่จริงแล้วการอุปสมบทเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ของผู้อุปสมบท
คือ ละทิ้งชีวิตทางโลกและหันมามีชีวิตทางธรรม
ตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า
ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตแบบไหน
นอกจากนั้นยังได้ทรงกำหนดวินัยต่างๆ
สำหรับให้พระสงฆ์ยึดถือและปฏิบัติตาม
เพื่อจะได้สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป

ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
พระสงฆ์ไม่ควรจะสะสมทรัพย์สินเงินทองเช่นเดียวกับฆราวาส
หลักปฏิบัติที่หลวงพ่อใช้เสมอที่วัด
คือ นำปัจจัยและสิ่งของต่าง ๆ ที่ญาติโยมนำมามอบให้
ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในรูปแบบต่างๆ
ไม่เก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
แต่ปรากฏว่ายิ่งทางวัดให้ส่วนรวมหรือสังคมมากเท่าไร
ทางวัดก็ยิ่งมีทรัพย์สินเงินทางเพิ่มมากขึ้น
จึงอาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า หลวงพ่อชอบสะสมทรัพย์สมบัติ
การที่ทรัพย์สินเงินทองของวัดอัมพวันมีเพิ่มขึ้น
เพราะเมื่อมีผู้บริจาคมองเห็นว่าทางวัดนำเอาสิ่งที่ตนบริจาค
ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจริง
บุคคลเหล่านี้ก็ชักชวนคนอื่นให้ร่วมบริจาคเงินทอง
และวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้วัด
ไม่ว่าจะได้รับบริจาคทรัพย์สินเงินทองมากเพียงใดก็ตาม
วัดอัมพวันก็จะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากเพียงนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา
การศึกษา หรือการสังคมสงเคราะห์ทั่วไป

ในตอนสุดท้าย หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่า
การที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองจำนวนมากมายนั้น
เป็นอันตรายแก่พระสงฆ์มาก
นักบวชในศาสนาต่างๆ ที่เสื่อมเสียความเคารพนับถือจากศาสนิกชน
ก็เพราะเรื่องเงินทองเป็นสำคัญ
ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเงินทอง
พระสงฆ์ควรมีสติอยู่ตลอดเวลา
และไม่ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติของตน
ที่จะต้องเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกับฆราวาส
พระสงฆ์ไม่อาจห้ามศาสนิกชนไม่ให้บริจาคที่ดิน
หรือเงินทองให้แก่วัดได้ เพราะชาวพุทธทั่วไปนิยมทำอามิสทาน
และเชื่อว่าการบริจาคทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่พระสงฆ์หรือวัด
เป็นบุญกุศลที่จะส่งผลให้ตนเป็นคนร่ำรวยและมีชีวิตที่สบาย
ในชาติต่อไป สิ่งสำคัญที่พระสงฆ์หรือวัดควรทำ
ก็คือการบริหารจัดการทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้น
ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
และให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เกี่ยวกับเรื่องอามิสทานหรือการทำบุญของชาวพุทธ
ที่หลวงพ่อกล่าวถึงนั้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่า
การที่วัดต่างๆ (ที่ตนสังเกตเห็น) สอนคนให้ทำแต่อามิสทาน
และให้ "ติดบุญ" หรือ "หลงบุญ"
และชักชวนคนให้มาทำบุญด้วยการบริจาคเงิน (จำนวนมาก)
ให้แก่วัดและบางวัดถึงกับ "ขายบุญ" ก็มี
ไม่ทราบว่าการที่วัดสอนคนให้ติดหรือหลงใหลบุญ
และการขายบุญขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
บุญกุศลเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า การทำบุญกุศลมีความสำคัญต่อชีวิตชาวพุทธมาก
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม
หลวงพ่อเองมีประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับอำนาจของบุญกุศลมาแล้ว
ดังที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมฟังแล้วหลายหน
การทำบุญในพระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
การให้อามิสทานเป็นการทำบุญวิธีหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมกันมาก
วัตถุสิ่งของต่างๆ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองที่ชาวพุทธ
บริจาคให้แก่พระสงฆ์หรือวัดมีส่วนสำคัญ
ให้พระสงฆ์มีชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร
และในขณะเดียวกันก็ทำให้วัดสามารถจัดทำกิจกรรมต่างๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและส่วนรวมได้
เช่นทำให้วัดอัมพวันมีสถานที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
และสำหรับฝึกอบรมบุคคลต่างๆ ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้

อย่างไรก็ตามไม่ควรจะมุ่งแต่การชักชวนศาสนิกชน
ให้บริจาคเงินทองและวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้แก่วัด
โดยเอาสวรรค์มาเป็นเครื่องล่อ
การกระทำเช่นนี้อาจจะตีความว่าเป็นการ "ขายบุญ" ได้
บุญกุศลเป็นเรื่องเกี่ยกับคุณภาพของจิตใจ
ที่คนแต่ละคนจะต้องสร้างขึ้นมาเอง
ไม่ใช่สิ่งของที่ซื้อขายกันได้เหมือนสินค้า
การทำบุญมีหลายวิธี การที่ชาวพุทธจะทำบุญด้วยวิธีใดนั้น
ก็แล้วแต่จริตและความสามารถของคนแต่ละคน
อย่างไรก็ตามวัดก็ไม่ควรใช้วิธีต่างๆ "ล่อ" คนให้มาทำบุญ
ด้วยอามิสทาน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของวัดเสีย
คือ ทำให้มองเห็นกันว่า วัด ก็คือ บริษัทการค้าแห่งหนึ่ง
ที่ต้องการขายสินค้าของตนให้ได้กำไรมากที่สุด
โดยใช้บุญกุศลเป็นสินค้า
วัดอัมพวันไม่มีการโฆษณาขายสินค้าใดๆ
ทางวัดเน้นที่การปฏิบัติกรรมฐาน
เพราะ เป็นการทำบุญที่ให้กุศลมากที่สุด
เนื่องจากทำให้จิตใจเบาบางจากกิเลสตัณหาต่างๆ ได้
ซึ่งเป็นทางนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อกล่าวเตือนว่า
ถึงแม้ว่าการทำบุญมีความสำคัญมากในเรื่องกฎแห่งกรรม
ศาสนาพุทธก็ไม่ต้องการให้ชาวพุทธหลงใหลในบุญกุศล
เพราะสิ่งนี้เป็นเสมือนเชือกที่ผูกตัวเราให้ติดอยู่กับสังสารวัฏต่อไป
และไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
หลวงพ่อเน้นว่า วัตถุประสงค์สูงสุดของการทำบุญ
คือ การไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ได้นั้น
ต้องทำบุญทำกุศลมากเช่นที่เห็นเป็นตัวอย่างในชาดกต่างๆ
ในนัยนี้บุญกุศลเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง
ที่เราสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการได้
ดังนั้นเราจึงไม่ควรหลงใหลในเครื่องมือนี้
มากจนไม่ยอมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงส่งแก่ชีวิต
ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาเน้นเช่นนี้
ชาวพุทธส่วนมากก็ยังติดหรือหลงใหลในบุญกุศลอยู่
และนิยมมาวัดเพื่อสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองด้วยอามิสทาน
ไม่ใช่เพื่อเรียนรู้ธรรมและนำไปปฏิบัติตาม
ให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในเรื่องหลักของการทำบุญด้วยอามิสทานนั้น
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาใช้หลักจริยธรรม
ของการไม่เบียดเบียนเป็นบรรทัดฐาน
กล่าวคือ ตามหลักจริยธรรมนี้

พุทธศาสนิกชนจะต้องไม่ให้การทำบุญของตน
ทำให้ตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน
การที่พระพุทธศาสนาเน้นให้คำนึงถึง "ผู้อื่น" ที่เกี่ยวข้องด้วย
(เช่น สามี หรือ ภรรยา หรือ ลูก)
เพราะพระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ
ไม่ใชทำตามอารมณ์ความรู้สึกวู่วาม
ไปตามคำชักชวนของวัดหรือคนหนึ่งคนใด

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยว่าการทำบุญด้วยความรับผิดชอบ
เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นบิดามารดาที่นำเงินที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมด
มาทำบุญจนไม่สามารถช่วยเหลือลูกให้ศึกษาเล่าเรียนได้นั้น
จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรมหรือความรับผิดชอบ
การที่จะให้คนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ

พระสงฆ์ควรอธิบายให้ญาติโยมเข้าใจว่า
การทำบุญมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย
ก็ทำบุญได้ตามความพร้อมของตน
นอกจากนั้นพระสงฆ์ควรเน้นให้ศาสนิกชนทำบุญแต่พอตัว
ไม่กู้หนี้ยืมสินมาจนทำให้ตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตไม่เห็นด้วยกับการที่นักบวชในศาสนาต่างๆ
ชักชวนคนให้บริจาคทรัพย์สินเงินทองให้แก่ตนจนหมดเนื้อหมดตัว
การกระทำเช่นนี้เป็นการนำศาสนามาใช้
เพื่อประโยชน์ของนักบวชเหล่านี้
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของศาสนิกชน

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การรักษาศีล และการทำหมันสุนัข

nศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่าในวัดต่างๆ
มีสุนัขมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
และทำให้วัดต้องมีภาระเลี้ยงดูสุนัขเหล่านี้
การมีพันธะเช่นนี้เป็นการสิ้นเปลืองสำหรับวัด
และนับวันจำนวนสุนัขก็เพิ่มมากขึ้นทุกที
เนื่องจากทางวัดไม่ทำหมันสุนัขและไม่สอนคนให้ทำหมันสุนัข

ในศาสนาคริสต์เชื่อว่าการทำหมันสุนัข เพื่อให้สุนัขมีจำนวนลดน้อยลง
และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นไม่บาป
เช่นเดียวกับการคุมกำเนิดประชากร
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร


หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาเองไม่ได้ต่อต้าน
การวางแผนครอบครัวด้วยการคุมกำเนิด
ไม่ได้สอนว่าชีวิตเป็นสิ่งมีคุณค่าเท่านั้น
แต่สอนให้เราสนใจเรื่องคุณภาพของชีวิตด้วย
พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ต่างๆ
เพื่อให้ศาสนิกชนนำไปใช้ในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ตามความรู้ความสามารถของคนแต่ละคน
พระพุทธศาสนาไม่ได้มองดูการมีลูกจำนวนมากมาย
ว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่เน้นให้บิดามารดาเลี้ยงลูก
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนการที่สามีภรรยาจะมีลูกกี่คนนั้น
เป็นเรื่องการตัดสินใจของคู่แต่งงานเอง
ไม่มีกำหนดไว้ในคำสอนของศาสนา

สำหรับเรื่องการทำหมันสุนัขนั้น ศาสนิกชนบางคนก็เชื่อว่า
ตราบใดที่ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น และไม่ได้ทำให้สุนัขทรมาน
ก็อาจถือว่าการทำหมันสุนัขเป็นการกระทำที่ไม่ขัด
กับคำสอนของพระพุทธศาสนา
แต่หลวงพ่อเองเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้
ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ไม่ให้เบียดเบียน
ชีวิตหนึ่งชีวิตใด และจะนำการทำหมันสุนัขมาเปรียบเทียบ
กับการคุมกำเนิดในคนไม่ได้
ในกรณีของสามีภรรยา การคุมกำเนิดเป็นการกระทำ
ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
กล่าวคือ สามีภรรยาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะคุมกำเนิดหรือไม่
และจะใช้วิธีใด โดยทั้งสองฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจ
และผลของการกระทำนั้น
แต่กรณีของการทำหมันสุนัขมีลักษณะตรงข้าม

หลวงพ่อสรุปในที่สุดว่า ปัญหาที่ว่าการทำหมันสุนัข
เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่นั้น เราอาจพิจารณาในแง่มุมของจริยธรรม
ทางโลกหรือจริยธรรมแบบพุทธได้
จริยธรรมทางโลกใช้คุณภาพชีวิตเป็นเกณฑ์ของการพิจารณา
แต่ "คุณภาพชีวิต" เป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ยาก
และเกี่ยวพันกับปัญหาว่าการที่คนใดคนหนึ่ง
จะไปกำหนดคุณภาพชีวิตของคนอื่นนั้น
เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่
จริยธรรมแบบพุทธเน้นความสำคัญ
ของความรักความเมตตา และการไม่เบียดเบียนกัน
การที่จะทำชีวิตทุกชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตเท่ากันนั้น
เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมของตน
ความรักความเมตตาเป็นคุณธรรมสำคัญ
ที่จะช่วยให้ทุกชีวิตมีความสุขตามอัตภาพของตน
ที่วัดอัมพวันในปัจจุบันมีสุนัขอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐๐ ตัว
ทางวัดพยายามช่วยให้สุนัขทุกตัวมีชีวิตที่มีคุณภาพ
คือ มีความทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเลี้ยงดูสุนัขจำนวนมากมายเช่นนี้
ได้รับความช่วยเหลือจากญาติโยมทั้งหลายโดยตลอด
ในพระพุทธศาสนาความรักความเมตตา
ไม่ได้หยุดอยู่แค่มนุษย์เท่านั้น
แต่ขยายวงออกไปไปถึงสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

:b51: :b52: :b53:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร