วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2020, 08:35 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


พิจารณาทุกขเวทนา
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


รูปภาพ

คนเราเหมือนกับต้นไม้ ถ้ารดน้ำให้ปุ๋ยอยู่เรื่อยๆ
บำรุงอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็มีความสดชื่นดี
และเติบโตขึ้นเร็วกว่าปกติธรรมดา ที่ทิ้งไว้ตามบุญตามกรรมไม่บำรุงรักษา
จิตใจเมื่อบำรุงรักษาโดยสม่ำเสมอก็มีความผ่องใส
มีความสงบเยือกเย็นเป็นลำดับๆ ไป ถ้าขาดการอบรมก็เหมือนต้นไม้ที่ขาดการบำรุง
ขาดการอบรมในระยะใด ก็แสดงความอับเฉาเศร้าหมองขึ้นมา
เพราะสิ่งที่จะทำให้อับเฉาเศร้าหมองมันมีแทรกอยู่ภายในจิตใจของคนเราอยู่แล้ว

การบำรุงรักษาด้วยจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอ จิตจะมีความสงบเย็นขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อจิตมีความสงบ ความสงบกับความผ่องใส ก็เริ่มเป็นไปในระยะเดียวกัน
เมื่อจิตมีความสงบ เราจะพิจารณาไตร่ตรองอะไรก็ได้เหตุได้ผล
พอเข้าอกเข้าใจตามความจริงทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นทั้งภายนอกและภายในตัวเอง
หากจิตกำลังว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ จะคิดอะไรก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้นแหละ
ถูกก็เป็นผิดไป ผิดก็ยิ่งเป็นผิดไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรม เพื่อจิตจะได้มีความสงบร่มเย็นและผ่องใส
มองเห็นเงาของตัว ราวกับน้ำที่ใสสะอาด มองลงไปในน้ำ
มีขวากมีหนาม มีสัตว์อะไรอยู่ในน้ำก็เห็นได้ชัด
แต่ถ้าน้ำขุ่นมองลงไปก็ไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นขวากเป็นหนาม
เป็นสัตว์หรืออะไรอยู่ในน้ำนั้น เราไม่สามารถที่จะเห็นได้เลย

จิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อกำลังขุ่นมัว อะไรที่แฝงอยู่ภายในจิตใจมากน้อย
ไม่สามารถที่จะมองเห็นโทษของมันได้
ทั้งๆ ที่มันเป็นโทษอยู่ภายในจิตใจของเราตลอดมา
เพราะจิตใจไม่ผ่องใส จิตใจขุ่นมัวไปด้วยอารมณ์อันเป็นตมเป็นโคลน
จึงพิจารณาไม่เห็น จึงต้องอบรมจิตให้มีความผ่องใส แล้วก็เห็น “เงา” ของตัว

“เงา” นั้นมันแฝงอยู่ภายในจิต คืออาการต่างๆ ที่แสดงออกจากจิตนั่นแหละ
ท่านเรียกว่า “เงา” แล้วทำให้เราหลงติดอยู่เสมอในเงาของเราเอง
ซึ่งไปจากความคิดความปรุงต่างๆ ที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอ
และออกจากจิตอยู่ทุกเวล่ำเวลา ทำให้เราเผลอตัวไปเรื่อยๆ
เข้าใจว่าสิ่งนี้ก็เป็นเรา สิ่งนั้นก็เป็นเรา อะไรๆ ก็เป็นเราไปหมด
ทั้งๆ ที่เป็น “เงา” ไม่ใช่ตัวจริง ! แต่ความเชื่อถือหรือความหลงตามไปนั้น
มันกลายเป็น “ตัวจริง” ไปเสีย จึงเป็นผลขึ้นมาให้เราได้รับความเดือดร้อน

เวลานี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้เป็นที่เคารพบูชา และเป็นหลักทางด้านปฏิบัติ
และทางด้านจิตใจ ก็นับว่าร่อยหรอลงไปโดยลำดับ
ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่สามารถจะช่วยตัวท่านได้
เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ชำรุดทรุดโทรมลงไปเป็นลำดับลำดา
อย่างท่านอาจารย์ขาวเป็นต้น เห็นแล้วก็รู้สึกสลดสังเวชเหมือนกัน

เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เมื่อถึงเวลามัน “เพียบ” แล้ว
ก็เหมือนกับไม่เคยแข็งแรงเปล่งปลั่งอะไรมาก่อนเลย
นอนอยู่ก็เป็นทุกข์ นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ อยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็เป็นทุกข์
เมื่อถึงคราวทุกข์รวมตัวกันเข้ามาแล้วในขันธ์ เป็นทุกข์กันทั้งนั้น
แต่พูดถึงท่านผู้เช่นนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นไปตามธาตุตามขันธ์
ทางด้านจิตใจท่านไม่มีปัญหาอะไร
กับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ที่แสดงตัวต่างๆ เลย


แต่สำหรับพวกเรานั้นน่ะ มันคอยต้อนรับกันอยู่เสมอ
ไม่ว่าทางด้านจิตใจแสดงออก ไม่ว่าทางธาตุขันธ์แสดงออก
วิปริตผิดไปต่างๆ นานา จิตก็ผิดไปด้วย
เช่น ธาตุขันธ์วิกลวิการ จิตก็วิกลวิการไปด้วย ทั้งๆ ที่จิตก็ดีอยู่นั่นแหละ
ทั้งนี้ก็เพราะความหวั่นไหวของจิตนี่เอง
เนื่องจากสติปัญญาไม่ทันกับอาการต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว รอบจิต

ท่านจึงสอนให้อบรม “สติปัญญา” ให้มีความสามารถแกล้วกล้า
ทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต และอาการต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว
ได้แก่ขันธ์แสดงตัวออกเป็นอาการวิปริตในส่วนต่างๆ
ให้รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันเสียอย่างเดียว
หรือจิตหลงไปตามสิ่งเหล่านั้นเสียอย่างเดียวเท่านั้น
ก็ชื่อว่า “เป็นการก่อทุกข์ให้ตัวเองอยู่ไม่หยุดไม่ถอย”
ความทุกข์ก็ต้องทับถมเข้ามาทางจิตใจ
แม้ร่างกายจะเป็นทุกข์ตามเรื่องของมันในหลักธรรมชาติก็ตาม
แต่ใจก็ต้องไป “คว้าเอาสิ่งนั้น”
มาเป็นทุกข์เผาลนตนเอง ถ้าไม่ได้พิจารณาให้รู้ทันกัน

จิตถ้ามีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาอยู่โดยสม่ำเสมอ ภัยที่จะเกิดขึ้นก็มีน้อย
เพราะเกิดในที่แห่งเดียวกัน คือ “ จิต” “สติ” ก็มีอยู่ในที่แห่งเดียวกัน
ความรับทราบว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น ดีหรือชั่ว เกิดขึ้นภายในตัว
“ปัญญา” เป็นผู้คลี่คลาย เป็นผู้พินิจพิจารณาและแก้ไขอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต
เรื่องก็เริ่มสงบลงไป แต่ถ้าขาดสติ เรื่องจะสืบต่อกันไปเรื่อยๆ
แม้ความคิดความปรุงเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป กี่ครั้งกี่หนก็ตาม
แต่ “สัญญา ความสำคัญมั่นหมาย” นั้นจะไม่ดับ จะต่อกันเป็นสายยาวเหยียด
“ทุกข์” ก็ต้องสืบต่อกันเป็นสายยาวเหยียด
มารวมอยู่ที่ จิต จิตเป็นผู้รับทุกข์ทั้งมวลแต่ผู้เดียวอยู่ตลอดไป

เพราะ “กรรม” ทั้งหลายที่ “สัญญา” ที่ “สังขาร” คิดปรุงขึ้นมา
ใจจะเป็นภาชนะอันสำคัญสำหรับรับไว้ทั้ง “สุข” และ “ทุกข์” ส่วนมากก็รับทุกข์
ถ้าสติปัญญาไม่มีก็รับแต่ของเก๊ๆ ของทิ้ง ของใช้ไม่ได้
ของเป็นพิษเป็นภัยนั้นแล ไว้ในจิตใจ ถ้ามีสติปัญญาก็เลือกเฟ้นออกได้
อันใดไม่ดี ก็เลือกเฟ้นตัดทิ้งออกไป สลัดตัดทิ้งออกไปเรื่อยๆ
เหลือแต่สิ่งที่เป็นสาระอยู่ภายในใจ ใจก็เย็น
ใจไม่เย็นด้วยน้ำ ไม่ได้สุขด้วยสิ่งภายนอก

แต่เย็นด้วยอรรถด้วยธรรม มีความสุขด้วยอรรถด้วยธรรม
ต้นเหตุก็คือมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาใจ

การปฏิบัติต่อสิ่งอื่นก็ไม่ยากยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อจิตใจ
ภาระทั้งโลกก็มารวมอยู่ที่จิตใจ
ขณะที่เราจะแก้ไขสิ่งที่มันฝังจมอยู่ภายในมาเป็นเวลานานนั้น
จึงเป็น “งาน” ที่ยากอยู่มาก ดีไม่ดีอาจท้อถอยได้
เพราะทำลงไปไม่ค่อยเห็นผลในระยะเริ่มแรก
เนื่องจาก “จิต” ก็เลื่อนลอยในขณะที่ทำ
ไม่ค่อยจดจ่อเอาจริงเอาจังในงานของตนที่ทำลงไป
ผลจึงไม่ค่อยปรากฏเท่าที่ควร และทำให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอ
หรือเกิดความท้อแท้ภายในใจแล้วก็ทิ้งไปเสีย
โดยที่เห็นว่า “หยุดเสียดีกว่า” เพราะทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ทั้งๆ ที่เวลาหยุดไปแล้วก็ไม่ดี
นอกจากจิตจะหาทางสั่งสมความชั่วใส่ตน
หลังจากหยุดการบำเพ็ญทางดีแล้วเท่านั้น

แต่ “ความสำคัญ ที่ว่า ดีกว่า” นั่นแหละ
มันเป็นเรื่องของกิเลสตัวหลอกลวงทั้งมวล

ที่มาหลอกเราให้ท้อถอยอ่อนแอต่างหาก
ความจริงตั้งแต่ในขณะทำอยู่มันยังไม่เห็นได้ดี
ทั้งที่อยากให้ดีแทบใจจะขาด หัวอกจะแตก
เพราะความเพียรพยายาม ยิ่งหยุดไปเสียมันจะดีได้อย่างไร
ถ้าหยุดไปแล้วดีดังที่คิด คนทั้งหลายก็ไม่ต้องดำเนินงานอะไรต่อไป
หยุดไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันดีไปเอง ! ภายนอกก็ต้องดี ภายในก็ต้องดี
เช่นทำการทำงาน ทำไม่ได้มาก หยุดเสียดีกว่า

“ธรรม” ไม่เหมือน “กิเลส” กิเลสมันว่า “หยุดเสียดีกว่า”
มันดีจริง แต่ดีเพื่อกิเลสไม่ใช่ดีเพื่อธรรม
ส่วน “ธรรม” ต้องอุตส่าห์พยายามทำไปเรื่อยๆ
จนมันดี และดีขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะทำไม่หยุด
งานก็เป็นงานของตนที่ทำขึ้นเพื่อธรรม
ไม่ใช่เป็นงานขี้เกียจอันเป็นงานของกิเลส
ผลงานจะพึงปรากฏขึ้นโดยลำดับจากการทำไม่หยุด

งานทาง “จิตตภาวนา” ก็เช่นเดียวกัน ยากก็ทำ ง่ายก็ทำ
เพราะเป็นงานที่ควรทำ เราไม่ทำใครจะทำให้เรา
เวลาความทุกข์ความลำบากมันเผาผลาญภายในใจ
เพราะความคิดปรุงสั่งสม ทำไมไม่บ่นว่ามันยาก
เวลาสั่งสมกิเลสให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา
ทำไมไม่ถือว่ามันยาก มาบ่นให้ความทุกข์อยู่เฉยๆ ทำไม
นั่นคือความพอใจ ยากหรือง่ายไม่สนใจคิด มันไหลไปเลยราวกับน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ
ยากหรือไม่ยากมันก็ไหลของมันไปอย่างนั้น เลยไม่ทราบว่ามันยากหรือไม่ยาก

แต่เวลาฝืนใจทำความดี มันเหมือนกับไสไม้ขึ้นที่สูงนั่นแล
มันลำบากเพราะทวนกระแส !

การที่จะละความทุกข์น้อยใหญ่ ที่ใจยอมเป็นไปตาม “วัฏวน”
มันก็ต้องยากบ้างเป็นธรรมดา
ใครๆ แม้แต่ท่านผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย
แต่ก่อนท่านก็ยาก ถึงขั้นที่ควรจะง่ายก็ต้องง่าย
เราเองถึงขั้นที่ว่ายากก็ต้องยาก
แต่มันไม่ได้ยากอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ถึงเวลาเบาบางหรือง่ายก็ง่าย
ยิ่งได้เห็นผลเข้าไปโดยลำดับด้วยแล้วความยากมันหายไปเอง
เพราะมีแต่ “ท่าจะเอา” ท่าเดียว สุขทุกข์ไม่คำนึง
มีแต่จะให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ในสิ่งที่ตนต้องการ

การเรียน ให้เรียนเรื่องธาตุเรื่องขันธ์
ให้ดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับตนนี้เป็นหลักสำคัญ
สำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายให้ดูอยู่ทุกเวลา เพราะมันแปรอยู่ทุกเวลา
คำว่า “อนิจฺจํ” เป็น อนิจฺจํ อยู่ตลอดกาล คำว่า “ทุกฺขํ” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล
คำว่า “อนตฺตา” ก็เป็นอยู่ตลอดกาล ไม่มีการหยุดยั้งผ่อนคลายเลย

การพิจารณา ก็ควรพยายามให้เห็นเรื่องของมันที่เป็นอยู่ในตัวเรา
จนมีความชำนิชำนาญ พิจารณาหลายครั้งหลายหน
จิตก็ค่อยเข้าอกเข้าใจและซึ้งถึงใจ ใจก็ค่อยๆ ปล่อยวางไปเอง
ไม่ใช่จะพิจารณาครั้งหนึ่งครั้งเดียวแล้วก็หยุด
แล้วก็คอยแต่จะกอบโกยเอาผล
ทั้งๆ ที่เหตุไม่ทำให้พอประมาณ มันก็ไม่ได้


การบำเพ็ญความดี มีจิตตภาวนา เป็นต้น ต้องฝืนกิเลสทั้งนั้น
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ที่ท่านปรากฏชื่อลือนาม
ให้โลกทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาเรื่อยมา
ล้วนแต่ท่านรอดตายมาเพราะความเพียรกล้าด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าเป็นงานเบาๆ ท่านจะรอดตายได้อย่างไร
ก็ต้องเป็นงานหนักซึ่งต้องทุ่มเทกำลังกันอย่างเต็มที่
ครูบาอาจารย์ผู้เช่นนั้นเวลานี้ก็ร่อยหรอไปมากแล้ว มีน้อยเต็มที !
เราหวังพึ่งท่าน เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ของท่านก็เป็นอนิจจัง
พึ่งกันได้ชั่วกาลชั่วเวลา แล้วก็พลัดพรากจากกันดังที่เห็นอยู่แล้ว

ฉะนั้น จงพยายามน้อมโอวาทคำสั่งสอนของท่าน
เข้ามาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนตนอยู่เสมอ
ท่านสอนว่าอย่างไร ให้นำโอวาทท่านที่สอนไว้แล้วนั้น
เข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง จะชื่อว่า “เราอยู่กับครูกับอาจารย์ตลอดเวลา”
เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตลอดกาลสถานที่

การปฏิบัติตนเป็นหลักสำคัญ ที่เป็นความแน่ใจสำหรับเรา
การอาศัยครูอาศัยอาจารย์นั้นเป็นของไม่แน่นอน
ย่อมมีความพลัดพรากจากไป ท่านไม่พลัดพรากเราก็พลัดพราก
ท่านไม่จากเราก็จาก เพราะโลกอนิจจัง มีอยู่ด้วยกันทั้งท่านและเราไม่ผิดกันเลย
สิ่งที่พอจะยึดเอาได้ ก็คือหลักธรรมของท่าน
จงยึดมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวด้วยความเอาจริงเอาจัง
เพื่อเห็นเหตุเห็นผล เพื่อกำชัยชนะภายในใจ
ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะอันเลิศประเสริฐสุดในโลก
ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือนเลย เรายื้อแย่งเอาชนะตน !
คือกิเลสที่ถือว่าเป็น “ตน” เป็น “ตัว” เป็นเราเป็นของเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์
นี้ เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะทำเล่นเหมือนเด็กเล่นตุ๊กตา เดี๋ยวกิเลสจะขยี้ขยำเอา
เพราะถือมาเป็นเวลานานแล้ว จงรีบพิจารณาให้รู้แจ้งและปล่อยวาง
จิตใจจะได้ว่างเปล่าจากทุกข์ ไม่ฉุกละหุกกันตลอดไป

การสั่งสมคำว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” มานี้ นับกัปนับกัลป์ไม่ได้แล้ว
ถ้ากิเลสเป็นวัตถุ ความสั่งสมมานานถึงขนาดนั้นจะเอาอะไรมาเทียบเล่าในโลกนี้ ?
ถึงจะใหญ่โตยิ่งกว่าก้อนกิเลสตัณหาอาสวะ ก้อนเราก้อนของเราเหล่านี้
เพราะมีมากต่อมาก จะขนออกมาเทียบไม่หวาดไม่ไหว ถ้าขนเล่นๆ แบบกินๆ นอนๆ
จะถากจะเถือ จะเจาะจะฟัน เพียงหนสองหนให้มันขาดไปนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะพากันคว้าน้ำเหลวไปตามๆ กันเท่านั้น
จำต้องทุ่มเทกำลังลงอย่างหนักหนาทีเดียว ตอนนี้ตอนจะชิงชัยชนะกัน
เราก็เป็นนักปฏิบัติ ไม่ต้องท้อถอยกับการรบกับกิเลสซึ่งมีอยู่ในตัวเราเอง

คำว่า “กิเลส” ก็คือ “ก้อนเรา” นั้นเอง กิเลสเป็น “เรา” เป็น “ของเรา”
อะไรๆ เป็น “เรา” ทั้งนั้น เหล่านี้คือ “กองกิเลสแท้ๆ” ไม่น่าสงสัยเลย


ถ้าจะแยกให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันตามความสัตย์ความจริง ในหลักธรรมชาตินั้นจริง
ต้องแยกด้วยความพากเพียร โดยทางสติปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ พิจารณากัน

การแยกธาตุ ธาตุก็ธาตุสี่ ธาตุ ๔ ก็รู้กันเต็มโลกเต็มสงสารอยู่แล้ว
แต่ถ้าจะให้รู้ถึงใจ ซาบซึ้งถึงใจจริงๆ นั้นต้องภาคปฏิบัติ
พิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นชัดเจนแล้วก็ซึ้งไปเอง
ถ้าลงได้ซึ้งถึงใจแล้ว ไม่ต้องบอกมันปล่อยเอง
เมื่อรู้อย่างถึงใจแล้วก็ปล่อยวางอย่างถึงใจเช่นกัน
การที่จะรู้อย่างถึงใจ ปล่อยวางอย่างถึงใจ
ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำๆ ซากๆ จนเป็นที่เข้าใจ
อย่าไปสำคัญว่า นี่เราพิจารณาแล้ว นั้นเราพิจารณาแล้วในคราวนั้น
ด้วยความคาดหมาย นับอ่านครั้งนั้นครั้งนี้
โดยที่ยังไม่ซึ้งถึงขั้นปล่อยวางมันก็ยังไม่แล้ว
ต้องพิจารณาให้ถึงขั้นแล้วจริงๆ ด้วยความซาบซึ้งและปล่อยวาง
ถ้า “แล้วจริง” ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีก มันเข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้หมด

คำว่า “ธาตุ” ก็ก้อนธาตุอยู่แล้ว วิญญาณก็ธาตุ สิ่งที่มาสัมผัสก็ธาตุ
รูปก็ธาตุ เสียงก็ธาตุ อะไรๆ ก็ธาตุ อะไรๆ มันก็เป็นธาตุไปหมดอยู่แล้ว

เรื่องขันธ์ภายในตัวเรา เช่น รูป ก็เป็นขันธ์ เวทนา ก็เป็นขันธ์
สัญญา ก็เป็นขันธ์ สังขาร ก็เป็นขันธ์ วิญญาณ ก็เป็นขันธ์
เป็นขันธ์ เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นชิ้นเป็นอัน อยู่ตามธรรมชาติของเขา

เรื่องใจก็ให้รู้ว่า “นี้คือผู้รู้” ที่จะต้องพิสูจน์ให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับธาตุขันธ์ทั้งหลาย
จะไม่ยึดว่าเป็นตนเป็นของตน ซึ่งจะเป็นภาระหนักมากขึ้น
จำต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงเสมอกัน
แต่การพิจารณา “จิต” นี้ ได้เคยอธิบายมาหลายกัณฑ์แล้ว น่าจะพอเข้าใจ

เฉพาะอย่างยิ่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในกาย
ให้ทราบชัดว่า “นี้คือ เวทนา” เพียงเท่านั้น
อย่าไปตีความหมายว่าเวทนาเป็นเรา เป็นของเรา หรืออะไรๆ เป็นของเรา
เพราะนั้นจะเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสให้มากขึ้นโดยลำดับ
แล้วก็นำความทุกข์เข้าทับถมใจมากขึ้น
เมื่อเวทนาไม่ดับยิ่งมีทุกข์ทางใจมากขึ้น แล้วจะเอาอะไรมาทนกัน

“เวทนา” มันเกิดขึ้นในธาตุในขันธ์มันก็เคยเกิดขึ้นอยู่แล้ว
ตั้งแต่วันเกิดมาขณะที่ตกคลอดออกมา ก็มีเวทนาแสนสาหัส
รอดตายจึงได้เป็นมนุษย์มา จะไม่เรียกว่า “เวทนา” จะเรียกว่าอะไร
เวทนานี้เคยเป็นมาตั้งแต่โน้น จะให้มันละทางเดินของมันละไม่ได้
ทางของความทุกข์ในธาตุในขันธ์ มันต้องแสดงตัวมันโดยสม่ำเสมอเรื่อยมา
มันเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ และก็ดับไป มีเท่านั้น มีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ แล้วดับไป
ไม่ว่าจะเป็นเวทนานอก เวทนาใน คือ จิตเวทนา

เฉพาะอย่างยิ่งเวทนาทางร่างกาย พิจารณาให้เห็นชัด
รูป ก็เป็นรูป รู้ชัดเห็นชัดอยู่แล้วตั้งแต่วันเกิดมา
จะเสกสรรปั้นยอว่าเป็นเรา เป็นของเรา
หรือเป็นเจ้าฟ้า พระยา มหากษัตริย์ เป็นเจ้าขุนมูลนาย
หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ความเสกสรร แต่ความจริงก็เป็นความจริงอยู่ตายตัว
ไม่ได้เป็นไปตามความเสกสรรปั้นยอใดๆ ทั้งสิ้น
ความจริงรูปก็คือรูปขันธ์นั่นแล มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
รวมกันเข้า เรียกว่า “คน” ว่า “สัตว์” ว่า หญิงว่าชาย
แยกประเภทออกไป เป็นชื่อเป็นนามไม่มีสิ้นสุด
แต่สิ่งที่คงที่นั้นคือรูป ก็คือ “กองรูป” นั้นเอง
รวมทั้งหมดที่เป็นส่วนผสมนี้ เรียกว่ากองรูป คือรูปกาย ซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่ง
แยกดูส่วนไหนก็เป็นความจริงของมันแต่ละอัน

ในขณะที่ประชุมกันอยู่ หนังก็เป็นหนัง เนื้อก็เป็นเนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ
ที่ให้ชื่อให้นามเขา อย่าไปหลงชื่อหลงนามของมัน ให้เห็นว่าเป็นความจริงด้วยกัน
คือเป็นกองรูป กองเวทนา มันไม่ใช่รูป รูปไม่ใช่เวทนา มีทุกขเวทนาเป็นต้น
เวทนาเป็นเวทนา จะเป็นสุขขึ้นมาก็ตาม เป็นทุกข์ขึ้นมาก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม
มันเป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ต่างหากของมันซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน
สองอย่างนี้สำคัญมากยิ่งกว่า สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งเกิดดับพร้อมกันไปเป็นระยะๆ

แต่เวทนานี้ถึงจะดับก็มีเวลาตั้งอยู่ เห็นได้ชัดทางภาคปฏิบัติ
ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ให้จับทุกขเวทนานั้นเป็นเป้าหมาย
คือเป็นจุดที่พิจารณา อย่าเห็นว่าเวทนานี้เป็นเรา
จะผิดจากหลักความจริงของเวทนาและวิธีการพิจารณา

จะไม่ทราบความจริงของเวทนาด้วยปัญญาที่ควรทราบ
เมื่อไม่ทราบความจริงแล้ว ยังจะถือเอาทุกขเวทนานั้นว่าเป็นเราเข้าอีก
ก็จะเพิ่มความทุกข์ขึ้นอีกมากมายแก่จิตใจ
เพราะเป็นการผิดต่อหลักธรรมชาติ
ซึ่งเป็นหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้


ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นทุกขเวทนา
จะเป็นขึ้นในส่วนใดก็ตามของร่างกาย ให้ทราบว่ามันเป็นอาการอันหนึ่ง
เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของมัน ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของมันเท่านั้น
อย่าไปยุ่ง อย่าไปปรุงไปแต่ง ไปเสกสรรปั้นยอ ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ถ้าไม่อยากแบกหามทุกข์ไม่มีเวลาปลงวาง
ให้เห็นตามความจริงของมันในขณะที่ปรากฏตัวขึ้นมาก็ดี ตั้งอยู่ก็ดี และดับไปก็ดี
เรื่องเวทนามันมีเท่านั้น จงแยกให้เห็นชัดด้วยสติปัญญา

เมื่อกำหนดดูเวทนาแล้วย้อนเข้ามาดูจิต ว่าจิตกับเวทนานี้เป็นอันเดียวกันไหม
แล้วดูกาย กายกับจิตนี้เป็นอันเดียวกันไหม ดูให้ชัด
ในขณะที่พิจารณานี้ ไม่ให้จิตส่งออกไปทางไหน ให้จิตอยู่ในจุดนั้นแห่งเดียว
เช่น พิจารณาทุกขเวทนา ก็กำหนดทุกขเวทนาให้เห็นชัด
เมื่อย้อนเข้ามาดูจิต ก็กำหนดดูความรู้นี้ให้ชัด
ว่ามันเป็นอันเดียวกันไหม เอาไปเทียบเคียงกันดู
ความรู้อันนี้กับเวทนาอันนั้นน่ะ มันเหมือนกันไหม จะรวมเป็นอันเดียวกันได้ไหม
และรูปกายอันนี้มันเหมือนกับจิตไหม ?
มันเหมือนกับเวทนาไหม ? จะพอเป็นอันเดียวกันได้ไหม ?
นั่น ! ท่านจึงว่า “แยกดูให้ดี !” เพราะรูปมันเป็นรูป มันจะไปเหมือนจิตได้อย่างไร
จิตเป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติที่รู้ แต่ธาตุนี้เป็นธาตุไม่รู้
คือธาตุดินนี้ไม่รู้ ธาตุน้ำนี้ไม่รู้ ธาตุลมนี้ไม่รู้ ธาตุไฟนี้ไม่รู้
แต่ “มโนธาตุ” นี้รู้ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจะเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร

ทุกขเวทนาก็เหมือนกัน มันก็เป็นธาตุไม่รู้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง
ธาตุไม่รู้กับธาตุไม่รู้ก็ต่างกันอีก เวทนากับกายก็เป็นคนละอย่าง
มันไม่ใช่อันเดียวกัน จะให้เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร
การแยกการแยะในขณะที่พิจารณาเวทนา ดูให้เห็นชัดตามความจริงนั้น
ไม่ต้องกลัวตาย ความตายไม่มีในจิต
อย่าไปสงสัย อย่าไปสร้างขวากสร้างหนามปักเสียบตนเองให้เจ็บแสบเดือดร้อน
ความตายไม่มี คือในจิตนี้ไม่มีความตาย มีแต่ความรู้ล้วนๆ
ความตายไม่มีในจิต ซึ่งเป็นสิ่งแน่นอนตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์

ความสำคัญว่าตายนี้ เป็นเรื่องเสกสรรปั้นยอขึ้นมาให้แก่จิต
ด้วยอำนาจแห่งความหลงของจิตเสียเอง เป็นผู้เสกสรรปั้นยอขึ้นมาหลอกตัวเอง
ฉะนั้นเมื่อพิจารณาไปตามความจริงแล้ว
จิตไม่ใช่ของตาย เราจะไปกลัวตายทำไม
คำว่า “ตาย” นั้นคืออะไร ? เราก็ทราบว่าธาตุขันธ์มันสลายลงไป
คนเราพอหมดลมหายใจเขาเรียกว่า “คนตาย”
ขณะนั้น “ผู้รู้” แยกตัวออกจากธาตุนั้นแล้ว
ธาตุนั้นเลยมีแต่ “รูปธาตุ” เฉยๆ เวทนาก็ไม่มี นั่นเขาเรียกว่า “คนตาย”

แต่ความจริงมันไม่ได้ตาย เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้ชัดเจนด้วยปัญญา
เราไม่ต้องสร้างเรื่องความตายขึ้นมาปักเสียบหัวใจ
หรือมากีดขวางทางเดินของเรา เพื่อความรู้จริงเห็นจริงด้วยการพิจารณา
แม้จะทุกข์มากทุกข์น้อยขนาดไหน ก็จงกำหนดดูให้ดีในเรื่องความทุกข์นั้น
เอาความทุกข์นั้นแลเป็นหินลับปัญญา
แยกทุกข์ขยายทุกข์ออกจากจิต แยกจิตออกจากทุกข์
เทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วน ในขณะที่พิจารณาอย่าให้จิตเผลอไปไหน
เพื่อความรู้จริงเห็นจริงแบบ “ตะลุมบอน” กับขันธ์นั้นๆ

จิตหรือจะตายตามสมมุติของโลก จะตายในขณะที่พิจารณานี้ก็ให้รู้ว่า
อะไรตายก่อน อะไรตายหลัง เวทนาดับไปเมื่อไร
จิตนี้จะดับไปเมื่อไร และจิตนี้จะดับไปที่ไหนกันแน่
เพราะธรรมชาติของจิตไม่ใช่เป็นของดับ ใครจะมาบังคับให้จิตดับได้อย่างไร ?

จงพิจารณาดูให้ดี ระหว่างขันธ์กับจิต จนรู้ความจริงขึ้นมาประจักษ์ใจ หายสงสัย
นี่แหละท่านเรียกว่า “สร้างปัญญา ฝึกซ้อมปัญญา ให้เห็นความจริง”

ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรในขณะนั้น
จะไม่มีอำนาจเข้ามาบังคับบัญชาจิตใจให้กระทบกระเทือนได้เลย
เมื่อทราบแล้วว่าจิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา
เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นชัดเจนตามนี้แล้ว ว่ามันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ
ระหว่างขันธ์กับจิตจะไม่กระทบกระเทือนกันเลย
กายก็สักว่ากาย ตั้งอยู่เฉยๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นกายก็มีอยู่
ทุกขเวทนาดับไป กายทุกส่วนก็มีอยู่ตามธรรมชาติของตน
เวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของเวทนา
ตั้งอยู่ก็เป็นเรื่องของเวทนา ดับไปก็เป็นเรื่องของเวทนา
จิตเป็นผู้รู้เรื่องทุกขเวทนา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป
จิตไม่ใช่เป็นผู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนกายเหมือนเวทนา

เมื่อหัดพิจารณาอย่างนี้จนชำนาญแล้ว ถึงคราวเข้าที่คับขันก็ให้พิจารณาอย่างนี้
เราไม่ต้องกลัวตาย เพราะเราเป็นนักรบ
เรื่องกลัวตายไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เรื่องความกล้าหาญต่อความจริงนี้เป็นธรรม
และเป็นหลัก “สวากขาตธรรม” ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว
จงดำเนินไปตามความจริงนี้ ตายก็ตายไม่ต้องกลัว เพราะจิตไม่ได้ตาย
แต่ขอให้รู้อยู่กับตัวว่าอะไรที่แสดงขึ้นเวลานี้ มีทุกขเวทนา เป็นต้น
มันเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาดูให้ทราบตามความจริงของมัน
เมื่อทราบความจริงแล้ว ทุกขเวทนาก็สักแต่ว่าธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น
ไม่ปรากฏว่ามีความหมายร้ายดีแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าเป็น “ข้าศึก” ต่อผู้ใด
เป็นความจริงของมันอย่างเต็มตัวที่แสดงขึ้นมาตามหลักธรรมชาติเท่านั้น

กาย ก็เป็นความจริงของกายที่ปรากฏตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน
จิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่เป็นความรู้ประจำตน ไม่ได้ไปคละเคล้ากับสิ่งใด

เมื่อพิจารณารู้รอบแล้ว จิตก็ถอนตัวออกมาเป็นความจริงของตัวอย่างสมบูรณ์
ทุกขเวทนาเขาก็มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติของเขา
กายก็มีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติของตน
โดยที่จิตไม่ไปแยกส่วนแบ่งส่วนวุ่นวายกับเขา
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน
ทุกข์ จะทุกข์ขนาดไหนก็ไม่กระเทือนถึงจิต
ยิ้มได้ในขณะที่ทุกข์กำลังเกิดอยู่มากมายนั้นเอง
ยิ้มได้ ! เพราะจิตเป็นอันหนึ่ง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเวทนา
คือ ไม่เข้าไปคละเคล้ากับเวทนานั้นให้เผาลนตนเอง ใจก็สบาย

นี้แลการพิจารณาทุกขเวทนาให้รู้รอบ
โดยเอาเวทนานั้นเป็นสนามรบ
เป็นหินลับปัญญา เป็นสถานที่ลับปัญญาให้คมกล้าขึ้น
ด้วยการพิจารณาแยกแยะทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น
แยกแยะดูกาย แยกแยะดูเวทนา
อันใดจะดับก่อนดับหลังก็ให้ทราบตามความจริงของมัน
มันมีความเกิด ความดับ ประจำตัวอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา
เราจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่อย่างนั้น
เป็นแต่เพียงพิจารณาให้เห็นตามความจริงของมัน
จึงไม่ปีนเกลียวกับธรรม เราก็อยู่สบาย

เอ้า ! จะตายก็ตายซิ ตามโลกเขาสมมุตินิยมว่า “ตาย”
ตายมันเป็นอย่างไร จึงเรียกว่า “ตาย” กายมันแตก เอ้า แตกไป
อะไรสลายก็สลายลงไป ผู้ไม่สลายก็อยู่ อะไรไม่สลาย ก็คือจิตนี่เอง

ใจนี้เมื่อสร้างปัญญาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นภายในตนแล้วเป็นอย่างนั้น
ไม่มีความหวั่นไหวต่อความล้มความตาย จิตมีความแกล้วกล้าสามารถ

นี่แหละการพิจารณาเรื่องของตัว คือเรื่องของจิต
พิจารณาเช่นนี้ เราไม่ต้องกลัวตาย กลัวไปทำไม
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้กลัว ธรรมไม่สอนให้กลัว
ความจริงไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นความจริง
จะน่ากล้าน่ากลัวที่ตรงไหน กล้าก็ไม่น่ากล้า กลัวก็ไม่น่ากลัว
นี่หมายถึงการถึงความจริงล้วนๆ แล้ว
ไม่มีคำว่า “กล้า” ว่า “กลัว” เหลืออยู่ภายในใจเลย
มีเฉพาะ “ความบริสุทธิ์” อย่างเดียว

แต่การพิจารณาเพื่อถึงความจริงต้องมีความกล้าหาญ
เมื่อจะเอาชัยชนะเข้าสู่ตน ไม่มีความกล้าหาญไม่ได้ เดี๋ยวแพ้
เพราะเรากําลังดําเนินมรรคอยู่ ต้องมีความกล้าหาญหรืออาจหาญ
ไม่พรั่นพรึงหวั่นไหวกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาต้องพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจทั้งนั้น ไม่มีความท้อถอยอ่อนกําลัง
เพื่อตั้งหน้ารู้เห็นตามความจริงของมัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในกระแสความรู้
ชื่อว่า “นักรบ” ในสงครามระหว่างจิตกับขันธ์ หรือระหว่างธรรมกับกิเลสทั้งหลาย

ความกล้าหาญอย่างนี้เป็นความถูกต้อง
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ความกลัวก็หายไป ความกล้าก็หายไป
เพราะเข้าถึงชัยชนะอันสมบูรณ์แล้ว ความกลัวความกล้าก็หมดปัญหาไป

เวลานี้ความกลัวความกล้าเป็นปัญหาอย่างยิ่งสําหรับผู้กําลังดําเนิน
จงสร้างความกล้าขึ้นด้วยเหตุด้วยผลที่ควรกล้า
และเป็นนักต่อสู้ในสิ่งที่ควรต่อสู้ มีทุกขเวทนา เป็นต้น
ให้เป็นตามความจริงของมัน อย่าไปกลัว
พระพุทธเจ้าไม่สอนให้กลัว กลัวก็มีค่าเท่ากับความตาย
ถึงวันแล้วต้องแตกต้องสลาย ท่านเรียกว่า “ความตาย”

แต่อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติต้องให้รู้ก่อน
ที่สิ่งเหล่านี้จะแปรสภาพลงไปด้วยปัญญา
เอา “ตาข่าย” คือปัญญากางไว้รอบด้าน
อะไรแสดงออกมาก็ไปติดข่าย คือปัญญานั้น
แล้วจะหวั่นไหวไปไหน จะสะทกสะท้านไปไหน จะเอนเอียงไปไหน
เพราะสิ่งนั้นๆ เป็นไปตามความจริงที่ได้พิจารณาไว้แล้ว

นี่ “นักรบ” ท่านพิจารณากันอย่างนั้น
แม้อยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ที่เป็นกองไฟทั้งกอง
ท่านก็มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยปกติของจิตที่รู้รอบขอบชิดแล้ว
ไม่หลงตามอาการอะไรทั้งหมด ชื่อว่า “ผู้รู้รอบ”

อาการต่างๆ ที่ขันธ์แสดงออก เมื่อทนได้ก็ทนไป ปฏิบัติรักษาบํารุงกันไป
พากิน พานอน พาดื่ม รักษากันไป ตามธรรมชาติของมัน
เมื่อทนไม่ไหว อย่างไรก็มีแต่จะไปท่าเดียว ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดาเสียเท่านั้น
เพราะเป็นความจริงจะฝืนมันได้อย่างไร ปล่อยตามความจริง
นี่แลชื่อว่า “ปล่อยด้วยความรู้ ที่เป็นไปตามความจริง”
จิต ก็ไม่หวั่นไหว ไม่อาลัย ไม่เสียดาย
นี่คือหลักของการปฏิบัติของผู้ได้ หรือกําลังจะได้ “ชัยชนะ” ภายในจิตใจ
เพราะจิตเคยแพ้กิเลสตัณหามาตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ไม่เคยชนะมาเลย ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ไหน มีแต่อยู่ใต้อํานาจกิเลสท่าเดียว
จนลืมเฉลียวใจว่า “กิเลสเป็นนาย เราเป็นบ๋อยของมัน”

คราวนี้แหละจะพลิกตัวเรา โดยอาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องปราบปรามกิเลสอาสวะ
ซึ่งเคยชนะเรามาเป็นเวลานาน หรือเป็นเจ้าใหญ่นายโตแห่ง “วัฏจักร”
บังคับจิตใจเราให้ไปสู่ที่นั่นที่นี่มานาน คราวนี้เราจะตั้งหน้าสู้กิเลสเพื่อชัยชนะ
และให้เห็นความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรปิดบังปัญญาได้เลย
พร้อมกับเอาชนะจากความที่เคยแพ้นั้นมาครองเป็นของตัว
ด้วยอํานาจของ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่างไม่ลดละ

ผู้ถึงแดนแห่งความประเสริฐเพราะความเพียรแล้ว
ย่อมเป็นผู้สง่างามในท่ามกลางแห่งหมู่ชน
พร้อมกับความภูมิใจในความเพียรของตน
ผู้ใดถึงแดนแห่งความเลิศประเสริฐด้วยการชนะตนผู้เดียวเท่านั้น
เป็นผู้ประเสริฐภายในตน ไม่มีการก่อเวรเหมือนการชนะสงครามที่โลกชนะ
และก่อเวรก่อกรรมแก่กันไม่มีทางสิ้นสุดเหมือนลูกโซ่
แต่การชนะตนนี้เป็นเอกในสงคราม ดังธรรมท่านว่า
“อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย” การชนะตนแล ประเสริฐสุด”

สิ่งที่เคยก่อกวนจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนดังที่เคยเป็นมานั้น
เป็นอันว่า “ยุติกันโดยสิ้นเชิง” ที่กล่าวมาทั้งนี้
อย่าลืมว่าความเพียรเป็นสําคัญ เป็นเครื่องสนับสนุนสติปัญญา
เป็นผู้บุกเบิกเพื่อความก้าวหน้าในงาน
ปัญญาเป็นสําคัญมากที่จะต้องพิจารณาค้นคว้าให้เห็นเหตุเห็นผล
สติเป็นผู้บังคับงานไม่ให้เผลอตัว
เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นความจริงของส่วนต่างๆ มีขันธ์ห้าเป็นต้นแล้ว
กิเลสไม่มีที่หลบซ่อน จะไหลเข้าไปสู่ภายในจิตแห่งเดียว ไม่มีทางยึด ไม่มีทางเกาะ
เพราะที่เหล่านั้นถูกทําลายฉิบหายไปด้วยปัญญาเสียแล้ว

จากนั้นก็เข้าตีต้อนในจิตที่ข้าศึกไปรวมตัวอยู่
ให้แตกกระจายออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ
นั่น ! ท่านว่า “กิเลสตาย” ตายที่ตรงนั้นแหละ !
ตายที่ตรงมันเคยอยู่กับใจนั่นแหละ
มันอาศัยที่นั่น เวลาตายไปก็ตายที่นั่น
ด้วยอํานาจของ “มหาสติ มหาปัญญา” ที่ทันสมัย
นั่นท่านเรียกว่า “ชัยชนะอย่างเต็มภูมิ”

ความชนะอันเลิศชนะที่ตรงนี้ ศาสนารวมลงที่จุดนี้
วาระสุดท้ายแห่งการปฏิบัติศาสนา ก็มายุติกันที่ตรงนี้ มาหยุดงานกันที่ตรงนี้
ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ ก็ถึงที่ตรงนี้ นอกนั้นไม่มี

กาลก็ไม่มี สถานที่ก็ไม่มี อดีตอนาคตไม่มี
ปัจจุบันก็รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างอย่างพร้อมมูล
เป็นผู้หมดเรื่องหมดราว หมดคดีเกี่ยวข้องในโรงในศาล ระหว่างกิเลสกับใจ
มหาสติ มหาปัญญา ออกนั่งบัลลังก์ ตัดสินประหารชีวิตกิเลสทั้งโคตรแซ่ของมัน
ไม่มีเชื้อสายสืบหน่อต่อแขนงแห่งภพชาติอีกต่อไป
กิเลสพร้อมโคตรแซ่จมหายไปในขณะนั้น
นี่ท่านเรียกว่า “ถึงนิพพาน” เป็นจิตที่เที่ยงแท้ แน่ละ

อาการทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยหลอกลวงจิตนั้นไม่มี เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ
ขันธ์แม้จะปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติของมันที่มีอยู่
เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
ก็แสดงตามเรื่องของตน ซึ่งไม่มีความหมายในทางกิเลสแต่อย่างใดเลย
รูป ก็มีการแสดงไปตามเรื่องของรูป
เวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ปรากฏในขันธ์ ก็แสดงไปตามเรื่องของเวทนา
สัญญา ความจําได้หมายรู้ ก็เป็นไปตามเรื่องของตน
สังขาร ความคิดปรุงต่างๆ ก็เป็นไปตามสภาพของตน
วิญญาณ ความรับทราบ เมื่อสิ่งภายนอกเข้ามากระทบ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็รับทราบ แล้วก็ดับไปๆ ตามธรรมชาติของมัน
โดยไม่สามารถทําให้จิตใจกําเริบเหมือนแต่ก่อน
เพราะสิ่งที่ทําให้กําเริบนั้นได้ถูกทําลายไปหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ
จึงเรียกว่า “เป็นขันธ์ล้วนๆ” เป็นผู้ถึงพระนิพพานอยู่ในระหว่างขันธ์ล้วนๆ
คือนิพพานทั้งเป็น ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์จากกิเลสนั้นแล


ท่านไม่ถามละทีนี้ว่า “นิพพานอยู่ที่ไหน ?” จะถามทําไม นิพพานจริงๆ คืออะไร ?
คําว่า “นิพพาน” ก็คือชื่ออันหนึ่ง
ธรรมชาติที่ถูกเรียกชื่อว่านิพพาน นั้นแล คือตัวจริงแท้

เมื่อถึง “ตัวจริงแท้” แล้ว จะไปถามหาชื่อหาเสียงหาร่องหารอยที่ไหนอีก
ไปงมงายที่ไหนอีก ผู้รู้รู้จริงๆ แล้วไม่งมงาย ไม่อยาก ไม่หิว
เพราะถึง “ความพอ” ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วโดยสมบูรณ์

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร
ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายนําไปพินิจพิจารณาให้เห็นความจริงดังที่กล่าวมานี้
เราจะเป็นผู้สมบูรณ์ภายในใจดังคําที่พูดนี้ ไม่สงสัย จึงขอยุติ


:b8: :b8: :b8: หน้า ๓๑๑-๓๒๒ หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม
รวมพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร