วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 17:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มี.ค. 2023, 14:50 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕


รูปภาพ

ท่านจะกำหนดตามระยะของท่าน ตามภูมิจิตของท่าน
ดูจิตในขั้นเริ่มแรก คอยฟังคำเทศน์นั่นละ เป็นคำบริกรรมเหมือนกับคำบริกรรม
คือจิตรับทราบอยู่กับขณะที่ฟังเทศน์เป็นระยะๆ ได้
มันก็สงบลงเอง คือไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก
เช่นส่งมาหาผู้เทศน์อย่างนี้ ทำความรู้สึกไว้กับใจของเราโดยเฉพาะเท่านั้น
เรื่องธรรมก็เข้าไปสัมผัสที่ใจ เมื่อรับทราบจากความสัมผัสของธรรมอยู่เสมอๆ ก็สงบได้
จิตที่มีภูมิสมาธิอยู่แล้วก็กำหนด ทีนี้จิตมันก็หยุด แล้วกระแสแห่งธรรมก็ผ่านเข้าไปๆ
จิตก็คล้อยตามธรรมมันก็สงบลงไปอีก

ขั้นที่ ๓ คือจิตที่อยู่ในขั้นปัญญา
พอท่านแสดงธรรมขั้นนี้จิตไม่อยู่ แต่ไม่ได้ไปที่อื่น
หากไปตามระยะ ตามจังหวะของธรรมที่ท่านแสดงลึกตื้นหยาบละเอียด
จิตจะขยับตามไปเรื่อยๆ นี้จิตกับทางปัญญาเป็นอย่างนั้น
ยิ่งปัญญาสูงละเอียดเท่าไร ธรรมะสูงเท่าไรก็วิ่งตามกันได้อย่างคล่องแคล่ว

ทั้ง ๓-๔ ขั้นของจิตนี้ กับธรรมที่ท่านแสดงนั้นเหมาะสมกันเป็นระยะๆ
และเป็นความเพลินไปในการฟังเช่นเดียวกัน
แต่เพลินตามขั้นของตน ของธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผู้ฟังธรรมจึงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามความสูงต่ำของตน
เช่นผู้ต่ำก็ค่อยขยับขึ้นไป ผู้สูงพอผ่านก็ผ่านไปได้
ดังที่ท่านพูดว่าท่านบรรลุธรรมในขณะฟังเทศน์เป็นอย่างนั้น

นี่เรากำลังเริ่มฝึกหัด ก็พยายามเริ่มอ่านเริ่มเขียน อ่านตัวเอง เขียนตัวเอง
วันหนึ่งๆ เราอยู่กับหน้าที่การงาน
งานของเราที่ทำนั้นมีทั้งงานภายในคือความคิดอ่านต่างๆ
ทั้งวาจาที่จะต้องพูดออกไปเกี่ยวกับความคิดที่ระบายออกมา
ทั้งกายที่เราจะพึงกระทำตามจิตที่บงการออกมา เราอ่านเราตรองไปตาม
อันไหนที่ไม่ดี เช่นเดียวกับเราเขียนหนังสือ เขียนตัวไหนไม่ดี
เขียนแล้วลบใหม่ เขียนใหม่แล้วลบ เขียนแล้วอ่านดู อ่านแล้วลบ
เขียนจนชำนิชำนาญ อ่านจนชำนิชำนาญ จนเกิดความเข้าใจ
ความเข้าใจก็ชิน การเขียนก็ชิน การอ่านก็ชิน
เมื่อชินแล้วย่อมไม่ผิดพลาด
การเขียนก็ไม่ผิดการอ่านก็ไม่ผิด เพราะความจำชำนาญ

นี่การพยายามฝึกหัดอ่านตัวเองเขียนตัวเอง
แก้ไขดัดแปลงตนเองในหน้าที่การงาน ก็ย่อมเป็นเช่นนั้น
เพราะคำว่างานนี้ เฉพาะอย่างยิ่งงานของฆราวาสนั้นกว้างขวางมากยิ่งกว่างานของพระ
งานที่กว้างขวางอาจจะเป็นงานที่
ผู้ไม่ใคร่ครวญในงานของตนนั้นจะมีผิดพลาดมากอยู่ไม่น้อย
คำว่าผิดพลาดนั้นไม่ว่าอะไรไม่ใช่เป็นของดี
อย่างเราเดินไปเฉยๆ นี้เราเหยียบผิดพลาดไปเลยทำให้ลื่นแล้วหกล้มไปได้
การผิดพลาดในการงานของเราก็เหมือนกัน
จึงต้องได้สำเหนียกศึกษาในหน้าที่การงานของตน

งานฆราวาสมีหลายประเภท
งานจริงก็มี งานที่ปลอมเข้าไปแฝงๆ อยู่ในงานจริงก็มี
คำว่าปลอมนั้นก็ไม่ใช่ของดีเหมือนกัน
เช่นธนบัตรปลอมนี้แม้จะเหมือนธนบัตรจริงทุกอย่าง
ก็คือธนบัตรปลอมอยู่นั้นแล
งานของเราก็เหมือนกัน งานหนึ่งๆ เราทำจริงทำจัง
แต่มันแอบๆ แฝงๆ ไปด้วยความเสียหาย
เสียหายแก่ตนด้วย เสียหายแก่คนอื่นด้วยก็ไม่ดี
ตนเข้าใจว่าเป็นรายได้ แต่เป็นความเสียหายแก่คนอื่น
เป็นความเสียหายแก่โลกอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นงานที่ควรจะทำ

งานบางอย่างเป็นความสนุกสนานรื่นเริงสำหรับตน
แต่เป็นงานที่ทำความเสียหายแก่ตนอย่างลึกลับ
และเป็นงานที่เสียหายแก่ครอบครัว และหน้าที่การงานอื่นๆ ก็มี
งานเช่นนี้คืองานอะไรเราก็พอจะทราบได้
เช่นการดื่มสุราเมรัยจนเลยขอบเขต
เป็นเหตุให้เสียทั้งจิตใจและสติปัญญาทรัพย์สมบัติ
การพนันอย่างนี้เหมือนกัน เราเพลินเวลาเราทำลงไปเราเพลินในการทำ
แต่ความเพลินนั้นไม่ทราบว่าความฉิบหายจะเกิดขึ้นตามมาเมื่อไร
คำว่างานก็กรุณาพิจารณาตามนั้น

ที่นี่ย่นเข้ามาอีก งานฝึกหัดเรานี่ละเป็นสิ่งสำคัญมาก
ปกติเรามักไม่มีแบบฉบับเป็นเครื่องดำเนินของตนเอง
คือตามธรรมดาของพลเมืองดีทั่วๆ ไป
โดยมากต้องมีแบบฉบับเป็นเครื่องดำเนิน มีกฎมีกติกาอยู่ภายในใจ
แม้จะไม่ได้เขียนเอาไว้ตามกระดาษหรือตามหนังสืออะไรก็ตาม
แต่มีกฎมีกติกามีสัญญาเครื่องวัดเครื่องตวงตัวเองให้ทราบ เป็นการเตือนตนอยู่เสมอ
คนเรานั้นชอบเตือน คนอื่นไม่เตือนตัวเองก็ต้องเตือนตัวเอง
คนอื่นไม่บังคับ ตนเองก็ต้องบังคับตนเองเสมอ
จึงจะเป็นไปในขอบเขต ไม่เช่นนั้นก็จะเลยขอบเขตไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นคนไม่มีขอบเขต ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ไปได้

เฉพาะอย่างยิ่งการพยายามฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต นี่สำคัญมาก
วันหนึ่งๆ เราควรอ่านตัวเองเสมอ ว่าวันนี้ได้มีความผิดพลาดไปในทางใดบ้าง
มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตัวของเราอย่างไรบ้าง
หรือมีความเจ็บช้ำจิตใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งคือครอบครัวหรือไม่
หรือคนอื่นใดบ้างที่การกระทำของเรานี้เป็นการกระทบกระเทือนแก่บุคคลเหล่านั้น
เราต้องคิดเสมอ แม้คนอื่นไม่ทราบไม่เห็นก็ตาม
แต่การกระทำนั้นเป็นการกระเทือนตนเองหรือไม่
การกระเทือนตนเองก็คือความเสียหายสำหรับตน นี่เราก็ควรคิด
ที่ท่านเรียกว่าหัดคิด หัดอ่าน อ่านตัวเอง คิดตัวเอง
และแก้ไขตัวเองไปโดยลำดับ

ศาสนาเป็นของละเอียดเป็นธรรมที่ละเอียดมาก
เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีในภูมิของสัตว์
ศาสนาท่านวางไว้สำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้เฉลียวฉลาด
สามารถที่จะไตร่ตรองหรือปฏิบัติตามหลักศาสนา จนปรากฏผลขึ้นมาแก่ตนได้
ไม่เหมือนสัตว์ สัตว์ไม่มีอะไรเป็นข้อบัญญัติกฎเกณฑ์ให้เขาดำเนินตาม
นอกจากฝึกงานให้เขาเท่านั้น
งานก็งานตามประเภทของสัตว์ที่สามารถจะทำได้ ไม่เลยขอบเขตของเขาไป
แต่มนุษย์เรามีความเฉลียวฉลาดจึงสามารถรับศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้ได้
ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
จึงต้องมาตรัสรู้และเป็นศาสดาของโลกมนุษย์เรา

แม้จะว่าเป็นศาสดาของโลกทั้งสามก็ตาม
ก่อนอื่นก็ต้องเป็นศาสดาของโลกมนุษย์เรานี้ก่อน
ศาสนาจึงมาสถิตอยู่กับมนุษย์เรา เราเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งก็ควรให้มีศาสนา
มีหลักมีเกณฑ์มีเหตุมีผลประจำตน คือมีอรรถมีธรรม
มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับตนเองในทางที่ถูก พยายามปฏิบัติตนในวันหนึ่งๆ

การฝึกตนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ฝึกก็ยากผลก็ดี
มีความราบรื่นดีงามโดยสม่ำเสมอเพราะการฝึกตนเอง
เช่นเราไม่เคยสนใจกับวัดวาอาวาส ไม่เคยสนใจให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
ไม่เคยฝึกหัดดัดแปลงกายวาจาให้เป็นไปในขอบเขตแห่งอรรถแห่งธรรมเลย
เราก็พยายามไปทุกวันๆ การพยายามอยู่โดยสม่ำเสมอนั้น ก็เป็นการฝึกหัดตนไปในตัว
เช่นเดียวกับเราฝึกหัดอ่านหนังสือเขียนหนังสือ
ความจำก็ชำนาญ ความเขียนก็ชำนาญ ความอ่านก็ชำนาญตามกัน
การฝึกหัดตนในทางศาสนา เพื่อเป็นคนมีสมบัติผู้ดีเป็นประจำภายในจิตในนิสัย
เราต้องอาศัยการฝึกฝนการอบรมอยู่เสมอเช่นเดียวกันนั้น

ทำไมจึงต้องฝึก ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องฝึก
นี่เป็นคำตอบในคำถามว่าทำไมถึงต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ได้เรื่อง
สัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน เราไม่ฝึกเลยปล่อยตามอำเภอใจของสัตว์
ก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ก็ต้องฝึกให้เขาทำหน้าที่ตามกำลังของเขา
แล้วก็เกิดประโยชน์ เช่น สุนัข เราพยายามฝึกหัดให้เขารักษาบ้าน รักษาสิ่งของ
หรือให้คาบนั้นหยิบนี้มาให้เรา เราพยายามฝึกหลายหนหลายครั้งเขาก็ทำได้
ฝึกหัดให้รักษาบ้านก็ได้ ให้รักษาสิ่งของก็ได้ ให้รักษาเจ้าของก็ได้
เราพยายามฝึกให้ได้ตามขั้นของเขา

เราวันหนึ่งๆ เคยได้นึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆหรือไม่
ถ้าไม่เคยนึกเลยก็เทียบกับว่าสัตว์
เป็นแต่เพียงเลี้ยงดูไว้ในบ้านเท่านั้นด้วยความรักเฉยๆ
หรือด้วยความสงสารเพียงเท่านั้นก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ยิ่งกว่านั้นไป
เราต้องฝึกสัตว์เหล่านั้นให้ได้ประโยชน์ตามควรของเขา
เราก็ได้รับประโยชน์จากเขา
นี่การฝึกเรา ถ้าเราพยายามฝึกวันละเล็กละน้อยไป
ก็เกิดประโยชน์แก่เราจนเกิดความเคยชิน
เช่นมาฝึกหัดภาวนา เราไม่เคยภาวนาเลย คำว่าภาวนานั้นคืออย่างไร
นี่เราก็ต้องศึกษาให้ทราบในเบื้องต้นเสียก่อน

คำว่าไม่เคยฝึกตนเลย คำว่าฝึกตนคือฝึกอย่างไรอีก
ก็เหมือนกันกับเราฝึกงานอื่นๆ นั่นเอง
งานใดๆ ทีแรกเรายังไม่เคยทำ เราต้องไปฝึกเสียก่อน ที่เรียกว่าฝึกงาน
คำว่าฝึกงานท่านทั้งหลายก็เข้าใจได้ดี ฝึกจนเป็นงาน
เมื่อเราฝึกจนเป็นการเป็นงานแล้ว
งานที่เราได้รับการฝึกฝนอบรมมาแล้วย่อมชำนิชำนาญไม่ผิดพลาด

การฝึกตนก็เหมือนกัน พยายามฝึกตนให้อยู่ในขอบเขต
การไปการมา การรับการจ่าย หรือการแสวงหา
เมื่อได้มาแล้วการจับการจ่ายการเก็บรักษา เราจะควรเก็บรักษาอย่างไรบ้าง
จึงจะพอเหมาะพอควรกับฐานะของเราและรายได้ของเรา
จะไม่ขาดเขินไม่บกพร่องในกาลต่อไป
เราก็ต้องพิจารณาแล้วเก็บแล้วจับจ่ายไปเท่าที่เห็นว่าควร
นี่ชื่อว่าเป็นการฝึกเช่นเดียวกัน ฝึกงานจนเป็นงานแล้วได้เงินมา
ทีนี้ได้เงินมาแล้วไม่ฝึกในวิธีเก็บรักษา ไม่ฝึกในวิธีจับจ่ายก็กลายเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายไป
เมื่อเราฝึกทั้งงานจนผลงานปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเงิน
แล้วเราก็ฝึกวิธีเก็บรักษาอีก ฝึกวิธีจับจ่าย
ควรเก็บรักษาไว้ประมาณเท่าไรในเงินจำนวนนั้นหรือสมบัตินั้นๆ มีจำนวนเท่านั้น
เราจะควรจับจ่ายใช้สอยไปประมาณเท่าไร ควรเก็บไว้เท่าไร

แล้วการจับจ่ายไปนั้นเราควรจับจ่ายด้วยเหตุใดบ้าง
มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร เราจึงจะจับจ่ายไป หรือจะต้องจับจ่ายไปหมด
เพราะเงินนั้นเป็นสมบัติของเรา เราจะใช้ให้หมดทุกสตางค์ก็ได้
เงินอยู่ในอำนาจของเรา ใต้อำนาจของเรา เราเป็นผู้หามา
แต่ความจนก็คือเรานั่นแหละ
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องฝึกให้รู้เรื่องงานด้วย ให้รู้การงานด้วย
ให้รู้ผลของงานที่ได้มาแล้วเก็บรักษา
และจับจ่ายใช้สอยไปมากน้อยเพียงไรด้วยความจำเป็นด้วย

ผู้ที่มีการฝึกตนอยู่เสมอทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและบั้นปลายเช่นนี้
ชื่อว่าเป็นผู้มีความรอบคอบ งานก็เป็น เก็บเงินก็อยู่
จับจ่ายใช้สอยเงินก็เป็นอีก ไม่สุรุ่ยสุร่าย
สมบัติเงินทองมีจำนวนมากน้อยไม่เป็นเครื่องทำลายนิสัยของตนให้เป็นคนมีนิสัยที่เสียไป
งานก็ได้ตนก็ไม่เสียเรียกว่าฝึกเป็นแล้วเป็นอย่างนั้น
จากนั้นอีก เราจะฝึกในส่วนอื่นๆ อันนี้ยกขึ้นมาเป็นเอกเทศ
จะฝึกตนให้เป็นพลเมืองดี ให้เป็นที่เย็นใจแก่ตนและครอบครัว เราจะฝึกอย่างไร
ทั้งสามีและภรรยาจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรในครอบครัวนั้นๆ
ที่จะให้เหมาะสม ให้เป็นความร่มเย็น เราก็ต้องฝึก ต่างคนต่างฝึกตามหน้าที่ของตน

เมื่อต่างคนต่างได้รับการฝึกการอบรมจากตัวเอง
ด้วยการลบการเขียนอยู่เสมอ จนมีความชำนิชำนาญแล้วนั้น
ใครอยู่ที่ไหนเขียนก็เป็นถ้อยเป็นคำเป็นตนเป็นตัว อ่านก็ออก
ใช้งานใช้การได้ด้วยกัน ไม่ว่าผู้หญิงไม่ว่าผู้ชายจะไปทำหน้าที่การงานอันใดก็ตาม
ในบ้านนอกบ้าน ประสานงานกับใครก็ตาม
นอกสังคมในสังคม นอกบ้านในบ้าน ที่ใกล้ที่ไกล ที่ลับหูลับตา
ไปที่ไหนก็เป็นคนคงเส้นคงวา ไม่เคลื่อนคลาดไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เถลไถล ไม่เหลวไหล เพราะเราฝึกงานของเราเป็นแล้ว

ตัวของเรานี้เหมือนโรงงานอันหนึ่งที่เราจะต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ
ทั้งการครองชีพ ทั้งการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความได้ความเสีย
เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในงานและผลของงานเราไปในตัว
เนื่องจากเราอ่าน เราไตร่ตรอง เราสังเกตตัวเอง เราพยายามแก้ไขตนเองอยู่เสมอ
นี่วิธีฝึกงาน ให้ถือเราว่าเป็นโรงงานโรงหนึ่ง

ทีนี้ฝึกการให้ทาน ก็พยายามให้ทานเสมอ อย่าให้ขาด
คนมีนิสัยในทานเป็นคนกว้างขวาง อัธยาศัยก็กว้างขวางไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว
ตัดความมัธยัสถ์ ความเห็นแก่ตัว ความโลภโลเลได้เป็นลำดับๆ
นี่อำนาจของทานสามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนคนอื่นได้
เพราะใจที่มีทานย่อมเป็นไปด้วยความกว้างขวาง
เป็นไปด้วยความเมตตาเป็นหลักสำคัญ
คนมีทานไปที่ไหนจึงไม่เป็นที่รังเกียจของใครทั้งนั้น
นอกจากนั้นแล้วสละได้จนกระทั่งสิ่งที่หวงแหนภายในจิตใจของตน
สิ่งที่หวงแหนภายในจิตใจนั้น คือเป็นสิ่งลึกลับ
ท่านเรียกว่ากิเลสอาสวะต่างๆ ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน
อำนาจของทานการเสียสละนี้สละเข้าไปตั้งแต่ขั้นหยาบจนเข้าถึงขั้นละเอียดสูงสุด
สละไปได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ก็เพราะอำนาจความเสียสละ
เลยกลายเป็นคนหมดความเห็นแก่ตัว คือความฝึก

ให้พยายามรักษาศีล คำว่ารักษาศีลไม่จำเป็นจะต้องวิ่งไปหาพระ
แล้วอาราธนาเรื่องศีลเรื่องธรรมขึ้นอย่างนั้น
อย่าง มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห.. อันนั้นเป็นพิธีการอันหนึ่ง
แต่หลักของศีลของธรรมอันแท้จริงนั้นมีอยู่กับทุกคน
ใครรักษาอยู่ที่ไหนก็เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นที่นั่น ไม่ได้เลือกกาลสถานที่
เช่นเรารักษากายของเรา
ที่จะเป็นความกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่นในทางความเสียหาย เรารักษาเสีย
วาจาของเราพูดออกไปแล้วไร้สาระและเกิดโทษแก่ผู้อื่น
เราก็พยายามรักษาไว้อย่าให้ระบายออกมาของไม่ดี

เก็บรักษาไว้ภายในก็ดี เช่นอย่างของไม่ดีทั้งหลายที่เราเดินผ่านไป
เราเห็นแล้วปัดกวาดไปเสีย หรือไม่งั้นเราหลีกเว้นไปเสีย
เราอย่าไปเหยียบย่ำไปตำหนิมัน
เช่นอย่างมูลแห้งมูลสดที่เราเดินผ่านไปตามถนนหนทาง
เราเห็นแล้วเราก็ไปตำหนิว่ามันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์
เราเดินหลีกหนีไปเสียมันก็ไม่มีอะไร ก็ผ่านไปได้
เรื่องความไม่ดีทั้งหลายเราก็พยายามหลีกเร้นไปเสีย
พยายามสร้างแต่ความดีไว้ภายในกาย วาจา ใจของตน
ก็เป็นคนมีสิริมงคลอุดมคติประจำตนเสมอ ท่านว่าศีลเป็นอย่างนั้น

ศีลท่านยกไว้เป็นข้อๆ ปาณาฯ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ ๕ ข้อ
เวลาเราพิจารณาดูศีลจริงๆ ค้นหาศีลจริงๆ นั้นจะไม่อยู่ที่ไหนนอกจากตัวของเรา
เพราะผู้ทำความเสียหายก็คือตัวของเราเอง
กายของเรา วาจาของเรา ใจของเราเป็นผู้ก่อความเสียหายขึ้นมา
การรักษาเรารักษาที่เราก็เป็นศีลขึ้นมาเป็นธรรมขึ้นมา
ปาณาฯ การฆ่า การทำลายหรือการเบียดเบียนอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นของดีทั้งนั้น
เขามาฆ่าเราก็ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา เขามาเบียดเบียนเรา เราต้องเจ็บใจ
อันนี้เราไปทำลายเขา ไปฆ่าเขา ไปเบียดเบียนเขา
เขาก็ต้องเสียหายและเจ็บใจไม่พึงปรารถนาด้วยกัน

ศีลนี้เป็นเครื่องปกครองตนและปกครองจิตใจซึ่งกันและกัน
ไม่ให้เกิดความร้าวรานขึ้นมา ไม่ให้เกิดความบอบช้ำ ไม่ให้เกิดความช้ำใจ
ไม่ให้เกิดความอาฆาตบาดหมางซึ่งกันและกัน
เพราะเหตุแห่งศีลข้อนี้เป็นตัวทำให้กำเริบแห่งจิตใจสัตว์และบุคคลทั้งหลาย
อทินนาฯ การฉก การลักไม่ใช่ของดี
เป็นลัทธิของสัตว์ ไม่ใช่ลัทธิของมนุษย์ผู้รู้บุญูรู้บาป
เราพยายามรักษาสมบัติของเราฉันใด
เรารักสมบัติของเราฉันใด พยายามรักษาฉันใด
เขาก็รักของเขา รักษาของเขาฉันนั้น
สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าเท่ากัน นี่ก็คือการรักษาน้ำใจกัน
เมื่อต่างคนต่างรักษาของตน ต่างเห็นว่าของท่านของเรามีคุณภาพ
มีคุณสมบัติเสมอกัน ต่างรักต่างสงวนด้วยกันแล้ว
ไม่แตะต้องทำลายของกันและกัน โลกก็เป็นสุข โลกก็เย็น

ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นเครื่องปกครองโลกให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขต่อกัน
ถ้าได้ขาดอันนี้ไปเสีย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ขาดก็ตาม
เขาเรียกคนนั้นเป็นคนชั่ว ไม่ใช่เป็นคนดี
ถึงแม้ไม่ฆ่าคนก็ตาม ไปฆ่าสัตว์ สัตว์ก็ต้องเห็นว่าเรานี้เป็นคนชั่ว
เห็นว่าเรานี้เป็นยักษ์ตัวหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องว่าคนหนึ่งหรอกเป็นยักษ์ตัวหนึ่งดีๆ
ศีลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องพยายามรักษาให้มีอยู่ในตัวของเรา
โดยไม่ต้องไปรักษาไปสมาทานกับพระก็ได้
การสมาทานกับพระนั้น เราถือท่านเป็นองคพยานของเรา
ว่าเราได้รับปากรับคำเป็นสัตยาบันสัญญากับท่านแล้ว แล้วว่าตามท่าน
เมื่อผิดพลาดลงไปนี้เป็นความเสียหายมากเราก็ละอายแก่ใจของเรา เราไม่กล้าทำ
นี่หมายความอย่างนั้นต่างหาก
ความเป็นศีลนั้นเป็นอยู่ที่ความละเว้น ไม่ได้เป็นอยู่ที่การสมาทานเฉยๆ แล้วไม่ทำตาม
เพราะฉะนั้นศีลจึงมีอยู่กับการสำรวมระวัง
การไม่ทำกาย วาจา ให้กำเริบในสิ่งที่ไม่ควร เรียกว่าศีล

วันนี้เทศน์ที่วัดสุทธาวาสก็อธิบายไปถึงข้อที่ ๓ เกี่ยวโยงกับเรื่องความสามัคคี
เพราะศีล ๓ ข้อนี้เป็นการทำลายความสามัคคี
ความกลมกลืนของจิตใจ ความสนิทของใจให้แตกร้าว ไม่เป็นของดี
แยกอธิบายเพียงเท่านั้น ก็เลยแยกเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนก็ไม่ทราบ
ยังไม่ถึงข้อมุสาฯ สุราฯ ไปเลย เพราะอธิบายตามเหตุผล

นี่อธิบายถึงการฝึกอบรมตน พยายามหัดอ่าน หัดเขียนตัวเอง ให้หัดอย่างนี้
ตัวของเราทุกคนเมื่อได้รับการฝึกตนเตือนตน
และพยายามแก้ไขดัดแปลงตามสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่ควรจะต้องดัดแปลงแก้ไข
เราพยายามดำเนินตามนั้น จิตใจของเราก็ชินต่อการระมัดระวังแล้วไม่ทำ
กาย วาจาก็ไม่คะนอง ย่อมเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ
นี่ก็เกิดขึ้นจากการรักษา การอบรม

แล้วพยายามฝึกหัดภาวนา คำว่าภาวนานั้นมีหลายประเภท
ภาวนาให้จิตใจสงบด้วยบทบริกรรมภาวนาเช่น พุทโธ เป็นต้น
หรือกำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ให้มีความรู้สึกอยู่กับลม
อย่างนี้ก็เรียกว่าภาวนา คือเอาลมเป็นอารมณ์ของใจ
ทำความรู้สึกไว้กับลมที่ผ่านเข้าออก
เราจะตั้งลมที่ตรงไหน ที่ลมสัมผัสมากกว่าเพื่อนในบรรดาที่ผ่านของลม
เช่นดั้งจมูกเป็นต้น เราก็ทำความรู้สึกไว้กับลมโดยความมีสติ
นี่ก็เรียกว่าภาวนาเพื่อความสงบของใจ

ภาวนาอีกประเภทหนึ่งได้แก่ ปัญญา คิดอ่านไตร่ตรอง
ไม่ว่าเรื่องจะสัมผัสมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจดีชั่วประการใด
พิจารณาเหตุผลใคร่ครวญในสิ่งเหล่านั้น
จนได้รับประโยชน์ขึ้นมาจากสิ่งที่เข้ามาสัมผัสทั้งหลาย นั้นก็เรียกว่าภาวนา
แล้วแต่จริตนิสัยของท่านผู้ใดที่จะชอบในการฝึกฝนอบรม
เพื่อผลประโยชน์แก่ตน การทำเหล่านี้ทำเพื่อเราทั้งนั้น
ไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำเพื่อพระธรรม ไม่ได้ทำเพื่อพระสงฆ์องค์ใด
เพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำทั้งหมดนั้น
เราเป็นผู้ก่อเหตุแห่งความดีทั้งหลาย ผลจะพึงเป็นของเราโดยเฉพาะ
ไม่มีท่านผู้ใดจะมาแบ่งสันปันส่วนจากเรา
จึงควรพยายามทำกิจที่ควรทำอันจะเกิดผลเกิดประโยชน์แก่ตนทั้งปัจจุบันและอนาคต
ไม่ให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

ท่านว่า กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ หลักธรรมท่านว่าอย่างนั้น
การเกิดเป็นมนุษย์นี้เกิดได้ยาก
จะเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละครั้งนี้รู้สึกว่ายากท่านว่าอย่างนั้น
ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากประเภทหนึ่ง ยากชนิดหนึ่ง
แต่ความฝึกหัดให้ความเป็นมนุษย์ของเรานี้สมบูรณ์แบบ
มันก็เป็นของยากอีกประเภทที่สอง
เพียงความเป็นมนุษย์เฉยๆ นั้นก็ไม่ยากนัก
ยากที่เราจะฝึกมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ให้เป็นผู้เป็นคนสมบูรณ์แบบแห่งความเป็นมนุษย์ เรียกว่ามนุษยธรรม
ฝังจิตฝังใจ ฝังอรรถฝังธรรมลงในจิตใจ ให้ใจนั้นได้รับเหตุรับผลดีชั่ว
รู้จักวิธีหลบหลีกในสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น
นั้นละเป็นสิ่งสำคัญ เราพยายามฝึกหัดตนของเราอย่างนั้น

เฉพาะอย่างยิ่งการฝึกหัดภาวนา ควรจะให้มีภายในจิตใจ
คนที่มีหลักจิตตภาวนาย่อมเป็นคนผู้มีเหตุมีผลใคร่ครวญอยู่เสมอ
ทำอะไรก็ไม่ค่อยผิดพลาด ไม่ค่อยโกรธง่าย ไม่ค่อยฉุนเฉียวง่ายๆ ไม่ค่อยวู่วาม
ทำอะไรมีเหตุมีผลเป็นความสม่ำเสมอ เพราะหลักภาวนาได้แก่หลักปัญญา
ไตร่ตรองหาเหตุผลดีชั่วแล้วดำเนินตามที่เห็นควร
วันนี้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายก็เห็นจะเหนื่อยกันมาก
เพราะสมบุกสมบันในงานมาเสียนาน สองวันสามวันซ้อนๆ
จึงแสดงธรรมย่อๆ เพียงเท่านี้แล้วก็หยุด เอวัง


:b8: :b8: :b8: ที่มา : https://luangta.com/thamma/thamma_talk_ ... 41&CatID=2

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร