ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว เกี่ยวกับ “หลวงปู่ทองรัตน์”
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=78&t=52806
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 17 มิ.ย. 2010, 20:44 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว เกี่ยวกับ “หลวงปู่ทองรัตน์”

รูปภาพ
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


ไม่ว่านิกายไหนเป็นศากยบุตรด้วยกัน

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔
เทศน์อบรม ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


คำว่าสายหลวงปู่มั่นนี้มีทั้งมหานิกาย มีทั้งธรรมยุตนะ ทางฝ่ายมหานิกายที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนี้น้อยเมื่อไร รวมเรียกว่าสายหลวงปู่มั่นด้วยกัน ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราก็เปิดให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบว่า หลวงปู่มั่นท่านคิดกว้างขวางขนาดไหนสำหรับประโยชน์ให้โลกนะ

ลูกศิษย์ของท่านฝ่ายมหานิกายไปศึกษาอบรมกับท่านน้อยเมื่อไร เป็นลูกศิษย์ๆ ไปศึกษาอบรมกับท่านมีเยอะนะ นับตั้งแต่ อาจารย์ทองรัตน์ อาจารย์กินรี เราจำไม่ได้ สำหรับท่านบรรยายให้ฟังหมดนะหลวงปู่มั่น ก็ลูกศิษย์ของท่านนี่ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุตไม่ได้ว่ามหานิกายนี่ ท่านถือเป็นลูกศิษย์ศากยบุตรด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเถิดท่านว่างั้น ไอ้ชื่อนี้แต่ไก่มันก็มี ฟังซิท่านพูด แย้งท่านได้ที่ไหน นี่หลวงปู่มั่นพูดเอง เราฟังด้วยหูของเรา ท่านเหล่านั้นที่เป็นฝ่ายมหานิกายเข้ามารับการอบรมจากท่าน เกิดความเชื่อความเลื่อมใส พอใจที่จะญัตติๆ นะ ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ที่มาพอใจแล้วจะญัตติ พาหมู่คณะญัตติอะไรๆ นี้ท่านห้ามทันทีเลย ไม่ต้องญัตติ ขึ้นอย่างเด็ดด้วยนะ พวกท่านเป็นศากยบุตรเหมือนกัน ไม่ว่าธรรมยุต มหานิกาย เรียกว่าศากยบุตร ท่านว่างั้น ธรรมยุต มหานิกายอะไรนี้เป็นชื่อแยกออก เพราะความแตกแยกเนื่องจากการปฏิบัติยิ่งหย่อนในธรรมวินัยต่างกันก็เป็นธรรมดา แต่เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้ว ไม่มีธรรมยุต มหานิกาย เรียกว่าศากยบุตรอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องญัตติ ขอให้ปฏิบัติเถิด

เมื่อท่านทั้งหลายมาญัตติแล้ว โลกมันถือสมมุติกันหนักมากยิ่งกว่าถือธรรมนะ แม้จะเป็นเรื่องของธรรม โลกสมมุติมันก็แทรกเข้าไป คณะนั้นคณะนี้ ก๊กนั้นก๊กนี้ ไปอย่างนั้น ธรรมท่านไม่มีก๊กท่านว่างั้น แต่โลกมันมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องญัตติ เมื่อพวกท่านทั้งหลายญัตติแล้วมันถือเป็นก๊กเป็นเหล่า บรรดาผู้ที่ต้องการอรรถธรรมทั้งหลายก็จะเข้าถึงพวกท่านได้ยาก หรือจะถือท่านว่าเป็นคณะหนึ่งไปแล้วเป็นธรรมยุตไปแล้วไปอะไรอย่างนี้ ก็เสียผลประโยชน์ของผู้มีความหวังในธรรมทั้งหลายอย่างมากและมีจำนวนมากด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องญัตติ ท่านบอกไม่ต้องเลย เอ้า อบรมไป ไม่มีคำว่าสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ การห้ามมรรคห้ามผลต่อนิพพานนั้นนี้ไม่มี ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไป มรรคผลนิพพานมีอยู่กับทุกพวกทุกคณะนั่นแหละ

พอว่าอย่างนั้นท่านก็บอกว่า ถ้ามาญัตติแล้วฝ่ายส่วนมากซึ่งเป็นฝ่ายของท่านจะขาดประโยชน์มากมาย ท่านว่าอย่างนี้นะ ไม่ใช่ขาดเพียงเล็กน้อย เมื่อพวกท่านทั้งหลายไม่ต้องญัตติ ออกไปนี้กระจายกันไปเลยได้ทั่วถึงกัน สมานกันไปได้หมด ท่านว่าอย่างนี้นะ จึงไม่ต้องญัตติ ท่านพูดเอง เราฟังอย่างถนัดทีเดียว หลวงปู่มั่นพูดท่านไม่ได้เอนได้เอียงไปที่ไหนท่านเป็นธรรมล้วนๆ พูดถึงเรื่องการญัตตินี้มันเป็นวงคับแคบมากท่านว่างั้น การไม่ญัตตินี้เรายอมรับกันแล้วในสังคมเมืองไทยเราก็ยอมรับกันแล้ว ว่าธรรมยุตก็สมบูรณ์แบบ มหานิกายก็สมบูรณ์แบบ เรียกว่าพระสมบูรณ์แบบเหมือนกัน โลกยอมรับแล้วเป็นส่วนภายนอก ส่วนภายในเป็นหน้าที่ของเราจะปฏิบัติหลักธรรมหลักวินัย ต่างคนต่างเข้มงวดกวดขันปฏิบัติแล้วเป็นศากยบุตรเต็มตัวเหมือนกัน ฟังซิท่านว่า ท่านถึงบอกว่าไม่ต้องญัตติ ด้วยเหตุนี้เองคณะลูกศิษย์ทางฝ่ายมหานิกายซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านจึงไม่ได้ญัตติ เพราะหลวงปู่มั่นเป็นผู้พูดเอง เราก็เห็นอย่างนั้นด้วยนะ ยันเลยเราก็เหมือนกัน ขอให้ปฏิบัติดีเถิดเข้ากันได้ทันที

:b8: :b8: :b8: http://www.luangta.com

:b50: :b49: :b50: หมายเหตุ : มีเนื้อหาบางตอนที่เกี่ยวข้องกัน จึงสมควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วย

:b8: จากกระทู้...ประวัติคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044

การที่คณะสงฆ์ไทยได้แยกออกเป็น ๒ นิกายนี้ มีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นเป็นนิกายใหม่ บางคนถึงขั้นติเตียนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ว่าทรงทำสังฆเภท คือทำให้สงฆ์แตกกัน อันเป็นอนันตริยกรรมคือกรรมอันชั่วช้าที่สุดในทางพระพุทธศาสนา บางคนมีความคิดที่จะพยายามรวมคณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเข้าด้วยกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้น โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ เป็นผลให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติตนทางด้านพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ตลอดถึงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผลทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงสืบมาถึงปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตด้วย ได้ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“...การที่ภิกษุสงฆ์แยกออกเป็นนิกายต่างๆ ไม่ใช่เป็นการแปลก มีในทุกๆ ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และการที่แยกกันออกไปนี้ อาจกล่าวได้ตามประวัติศาสตร์ว่าต้องมีเป็นธรรมดา ถึงพยายามรวมให้เป็นหนึ่งสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาจสำเร็จได้ชั่วคราว แต่ต่อมาไม่นานก็กลับแยกกันออกไปอีก ในศาสนาอื่นๆ ก็มีแยกเป็นลัทธินิกายต่างๆ เหมือนกัน การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามิใช่อยู่ที่การพยายามเพื่อรวมนิกายสงฆ์ แต่อยู่ที่การพยายามให้พระสงฆ์ทุกนิกายตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ส่วนการรวมกันนั้น เมื่อดีเสมอกันหรือเสื่อมเสมอกัน ก็รวมกันเข้าได้เอง...”

สำหรับความแตกต่างกันของพระมหานิกายและพระธรรมยุตนั้น นอกจากจะมีที่มาต่างกันดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อปฏิบัติหลายประการที่ต่างกันอย่างมาก เนื่องจากคณะธรรมยุตยึดถือพระธรรมวินัยเป็นหลักปฏิบัติ จึงเคร่งครัดในด้านพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง เช่น การอุปสมบท นาคจะต้องกล่าวคำขออุปสมบทให้ได้ด้วยตนเอง โดยจะต้องถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ ซึ่งออกเสียงค่อนข้างยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย จะไม่มีการบอกให้นาคพูดตาม หากไม่สามารถกล่าวคำขออุปสมบทด้วยตนเอง จะไม่ได้รับอนุญาตให้อุปสมบท การสวดมนต์ก็จะสวดด้วยสำเนียงภาษามคธด้วยเช่นกัน นอกจากนี้พระธรรมยุตจะไม่จับเงิน เนื่องจากปฏิบัติตามพระวินัยซึ่งมีมาในพระปาฏิโมกข์ข้อที่ห้ามจับเงินจับทอง หากคฤหัสถ์จะถวายปัจจัย (คือเงิน) จะต้องถวายด้วยใบปวารณาแทน ส่วนปัจจัยให้มอบต่อไวยาวัจกรหรือโยมวัดจัดการแทน การห่มผ้าของพระธรรมยุตจะเหมือนกันหมดทั้งหมด คือ ห่มแหวก โดยใช้ผ้าสีแก่นขนุน (คล้ายสีน้ำตาล) และผ้าสังฆาฏิจะเป็นผ้า ๒ ชั้น คือเหมือนผ้าจีวร ๒ ผืนเย็บติดกันนั่นเอง เป็นต้น

การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดนี้มิได้มีแต่ในคณะสงฆ์ธรรมยุตเท่านั้น แต่ในคณะสงฆ์มหานิกายบางกลุ่มก็มีการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มพระมหานิกายศิษย์พระอาจารย์ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง เนื่องจากพระอาจารย์ชาเป็นหนึ่งในพระมหานิกายหลายรูปที่ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต โดยมิได้อุปสมบทใหม่เป็นพระธรรมยุต เช่นเดียวกับพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย พระอาจารย์มี ญาณมุนี ด้วยพระอาจารย์มั่นประสงค์จะให้มีผู้นำในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในฝ่ายมหานิกายด้วย จึงไม่อนุญาตให้ศิษย์เหล่านี้อุปสมบทเป็นพระธรรมยุต โดยท่านให้เหตุผลว่ามรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ และต่อมาก็ได้ปรากฏพระมหานิกายผู้ที่มีหลักฐานและเหตุผลอันควรเชื่อถือได้ว่าเป็นพระอริยเจ้าผู้ทรงมรรคผลจริง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีความสำคัญเหนือนิกายและสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น และเป็นเหตุนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง


=====================

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26860

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43380

เจ้าของ:  I am [ 21 ก.ค. 2010, 08:26 ]
หัวข้อกระทู้: 

สาธุจ้า ขอโมทนา :b8:

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 21 ก.ค. 2010, 17:32 ]
หัวข้อกระทู้: 

รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

เจ้าของ:  Hanako [ 21 ต.ค. 2010, 11:15 ]
หัวข้อกระทู้: 

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Supatorn [ 14 ส.ค. 2011, 11:37 ]
หัวข้อกระทู้: 

อนุโมทนาสาธุๆค่ะ ขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8: อัศจรรย์จริงหนอ

ทาน ศีล ภาวนา ภาวนา ภาวนา

เจ้าของ:  saovapa [ 21 ก.ย. 2011, 15:07 ]
หัวข้อกระทู้: 

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/