ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ไม่มีอะไรตาย (หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=78&t=59727
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  sirinpho [ 29 พ.ย. 2020, 18:56 ]
หัวข้อกระทู้:  ไม่มีอะไรตาย (หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม)

ไม่มีอะไรตาย
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


รูปภาพ

การประพฤติตัวก็เหมือนเราเดินทาง ย่อมสำคัญทางผิดว่าเป็นทางถูกแล้วเดินไป
ถ้าไม่หลงก็ไม่เดินทางผิด เดินทางที่ถูกเรื่อยๆ ไป
ถ้าไม่หลงก็ไม่ทำผิด ไม่พูดผิด ไม่คิดผิด ไม่ถือผิด ผลก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเอง

การหลงทางก็เป็นโทษอันหนึ่ง ที่ทำให้เสียเวล่ำเวลาและเหนื่อยเปล่าๆ
การทำผิด การพูดผิด คิดผิด ก็ทำให้ทั้งเสียเวลา ทั้งเป็นโทษทุกข์เกิดขึ้นแก่ตัว
นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการทำผิด พูดผิด คิดผิด ของผู้ประพฤติตามอารมณ์ใจชอบ

พระพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อให้ทราบว่าใจเรามักมีความเห็นผิดอยู่เสมอ
ให้พยายามแก้สิ่งที่ผิดอยู่ภายในใจ
ที่จะระบายออกทางกาย วาจา ทางใจ ให้เป็นความผิดนั้น
กลับให้เป็นความถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ให้พยายามแก้สิ่งที่ผิดอยู่ภายในจิต
ผลจะถึง “สมหวัง” เพราะเหตุที่ถูกต้องผลย่อมดีเสมอไป
ถ้าเหตุผิดผลนั้นจะลบล้างเหตุไม่ได้
คือจะปิดกั้นไว้ไม่อยู่ ต้องแสดงเป็นความทุกข์ร้อนต่างๆ ออกมา

คำว่า “ความหลง” นี้ เมื่อนับจำนวนคนหลงจะมีเท่าไร คนที่รู้จะมีเท่าใด
ถ้าจะเทียบกับ “คนรู้” ว่ามีเท่าใดนั้น
ก็เหมือนกับเอาฝ่ามือหย่อนลงไปในแม่น้ำมหาสมุทร
ฝ่ามือกว้างขนาดไหน แม่น้ำมหาสมุทรกว้างขนาดไหน
เมื่อเทียบกันแล้วต่างกันยิ่งกว่า “ฟ้ากับน้ำ” ซึ่งน่าใจหายใจคว่ำทีเดียว

สัตว์โลกที่ลุ่มหลงอยู่ใน “วัฏสงสาร” นี้มีจำนวนมากเพียงไร
ในแม่น้ำ มหาสมุทรยังแคบ
เพราะสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความลุ่มหลงนั้นมีถึง “สามโลก” ด้วยกัน
ฉะนั้น มหาสมุทรจึงแคบนิดเดียว
จะพูดกันเพียงว่าผู้รู้มีจำนวนน้อย ผู้ที่หลงมีจำนวนมากมาย

คำว่า “ความหลง” เพียงคำเดียวเท่านี้มันถูกกับทุกรูปทุกนาม
บรรดาสัตว์สังขารที่มีวิญญาณครองกระเทือนไปทั่วโลกธาตุ
รวมแล้วทั้งสามโลกธาตุ เป็นที่อยู่แห่งปวงสัตว์ที่ลุ่มหลงทั้งนั้น
ผู้ที่รู้จริงๆ ไม่มีอยู่ในโลกทั้งสามเลย ไปนิพพานกันหมด

สัตว์โลกที่อยู่ด้วยความลุ่มหลงไม่ว่าท่านว่าเรามีจำนวนมาก
เพียงแต่เราไม่อาจจะนับได้ ทั้งๆ ที่มีรูปร่างมองเห็นกันด้วย “ตาเนื้อ”
ทั้งที่ไม่มองเห็นด้วยตาเนื้อ ก็อยู่ในอำนาจแห่งความหลงที่ครอบงำไว้
และผู้ที่จะมาแนะนำสั่งสอน ให้อุบายวิธีการแก้ความหลงนี้ก็มีน้อยมาก

ครั้งแรกก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ลุ่มหลงก่อนหน้าตรัสรู้
เมื่อตรัสรู้ธรรมเป็นความรู้แจ่มแจ้งขึ้นมา ก็ทรงนำ “ธรรม” มาสอนเพื่อแก้ความหลง
และแสดงให้เห็นโทษของความหลง ให้เห็นคุณค่าแห่งความรู้
โดยแสดงทั้งเหตุทั้งผล ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว
จนกระทั่งประชาชนที่มุ่งหวังต่อความรู้ความฉลาด
เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเต็มใจอยู่แล้ว
ได้ยินได้ฟังก็เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ประพฤติปฏิบัติตาม “ธรรม” ท่าน
จึงกลายเป็น “ผู้รู้” ขึ้นมาโดยลำดับลำดา
ที่เราให้นามว่า “สาวกอรหันต์” เป็นลำดับมา
และท่านเหล่านั้นได้ “ปรินิพพาน” ไปเรื่อยๆ หรือล่วงเลยไปเป็นลำดับ
ความมืดมิดปิดตาของโลกก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้น ทั้งโลกเต็มไปด้วยความหลง

ผู้ที่จะมาชี้แจงสั่งสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงในความหลงทั้งหลายเหล่านั้น
ก็ไม่ค่อยมีเสียแล้ว โลกนี้จึงอยู่ด้วยความมืดมิดปิดตากัน
ถึงจะมีหูตาอันสว่างอยู่ ก็สว่างตามกระแสของโลกไปเสีย
ไม่ใช่สว่างด้วยความจริง คือรู้จริงเห็นจริงดังพระพุทธเจ้า
และพระสาวกท่านรู้เห็นมา ก็เลยกลายเป็น “หูหนาตาเถื่อน” ไป

คำว่า “เถื่อน” ก็คือป่าเถื่อนหรือปลอมนั่นเอง
ตามีอยู่ก็ปลอม หูมีอยู่ก็ปลอม คือรับทราบหรือได้ยินแต่สิ่งที่ “จอมปลอม”
เข้ามาแทรกสิงใจสัตว์ให้มืดมิดขึ้นโดยลำดับ เพราะการได้เห็นและการได้ยินเป็นต้น
ซึ่งล้วนแต่สิ่งจอมปลอมหลอกลวงให้ลุ่มหลงเรื่อยมา
อันเป็นการเสริมสร้างให้คนป่าเถื่อนมากขึ้น
ทุกวันนี้คนรู้ขั้น “ปัญญาชน” หรือคนป่าเถื่อนกันแน่ ?
ทำไมจึงก่อแต่ “วินาศกรรม” “ฆาตกรรม”
แก่กันอยู่ทุกแห่งทุกหน ทั้งที่การศึกษาว่าเจริญเต็มที่

ทั้งนี้เพราะสิ่งที่แสดงออกทั้งหลายมันมีแต่สิ่งที่ให้หลงให้โง่
เป็นทางอบายมุขแทบทั้งนั้น จิตก็ลุ่มหลงอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว
เมื่อสัมผัสกันก็ยิ่งเข้ากันได้ง่าย และกลมกลืนกันได้อย่างรวดเร็ว
ความจริงคืออรรถธรรมจึงแทรกเข้าไปได้ยาก
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมและการฟังธรรมที่เป็นความดี
จึงรู้สึกฝืนใจแทบจะลากกันไปไม่ไหว ลากจากสิ่งที่จิตชอบนั้นแล
ซึ่งส่วนมากเป็นของเลว คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา
ซึ่งมีอยู่ภายในจนแทบมองหาใจไม่เห็น
ใจมีแต่ของปลอมบรรจุไว้เต็มเอี๊ยดจนน่ากลัว
ทั้งๆ ที่ต่างคนต่างมีด้วยกันยังอดกลัวไม่ได้
ทั้งนี้เพราะมีมากต่อมากเหลือหูเหลือตา ล้นหัวใจแทบหาที่เก็บไม่ได้

สิ่งที่ปลอมกับของปลอมจึงเข้ากันได้ง่าย
เช่นเดียวกับคนชั่วกับคนชั่วเข้ากันได้ง่าย เป็นเพื่อนเป็นมิตรสนิทสนมกันง่าย
คนดีก็เข้ากับคนดีได้ง่าย เป็นพวกของใครของเราไป
ข้างนอกก็เป็นเครื่องหลอก ข้างในก็เป็นผู้ชอบรับสิ่งหลอกลวง
จึงเข้ากันได้อย่างสนิทติดจม จนไม่สนใจคิดจะถอนหรือถอนไม่ขึ้น
นอกจากจะเชื่อตายใจกับสิ่งนั้นๆ แทบหลับสนิทไปถ่ายเดียว

การปฏิบัติตนเพื่อแก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลาย
ที่เคยเป็น “นาย” บนหัวใจมานานออกจากใจจึงต้องฝืน

ปราชญ์ท่านเคยฝืนมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ พาฝืนมาเป็นลำดับลำดา
เพราะท่านเคยถูกผูกถูกมัดถูกทรมานจาก “กิเลสวัฏวน”
มามากต่อมากนานแสนนาน จนเห็นภัยและพ้นภัยด้วยการฝืนการต่อสู้
และนำ “ธรรม” ที่เป็นผลอันเกิดจากการต่อสู้มาสอนพวกเรา
เพื่อการฝืนการต่อสู้กิเลสทุกประเภท
ม่ให้ท้อถอยปล่อยตัวให้กิเลสย่ำยีเหมือนผักปลา
ซึ่งขายขี้หน้าชาวพุทธ ไม่น่าให้อภัยเลย

ผู้เห็นตนเป็นของมีค่ามากกว่าสิ่งใด
จึงควรนำ “ธรรมอันล้นค่า” มาเป็นเครื่องปฏิบัติดำเนินด้วยความไม่นอนใจ
อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า “ความดี” จำต้องฝืนความชั่วของชั่วอยู่โดยดี
ดังพวกเราประพฤติปฏิบัติอยู่เวลานี้ ก็คือความฝืนสิ่งไม่ดีเพื่อความดีด้วยหัวใจชาวพุทธ
แม้ออกมาอยู่ในวัดเพื่อปฏิบัติบำเพ็ญอยู่แล้ว
ความรู้สึกอันดั้งเดิมย่อมมีอยู่ภายในใจเสมอ คือความขี้เกียจมักง่ายอ่อนแอ
ความคล้อยตามสิ่งเคยคล้อยตาม ความเชื่อในสิ่งที่เคยเชื่อ
คือกิเลสชนิดต่างๆ ซึ่งเปรียบเหมือนเพลงลูกทุ่ง ย่อมยังมีอยู่ในใจ

การฝืนสิ่งเหล่านี้จึงเป็นความยากลำบากลำบนสำหรับผู้ปฏิบัติ
แม้จะมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมมากเพียงไร
ก็จำต้องได้ฝืนสิ่งที่เป็นขวากเป็นหนามอยู่ภายในใจเราอยู่โดยดี
กระทั่งไม่มีเหลืออยู่ในใจเลยนั่นแล จึงหาอะไรมาขวางหน้าไม่ได้

การปฏิบัติธรรมเป็นของยากของลำบากมาแต่กาลไหนๆ
ก็เพื่อเบิกทางที่ถูกกิเลสปิดบัง ให้เห็นเหตุเห็นผล
เห็นต้นเห็นปลายของอรรถของธรรมภายในใจ
จนกว่าจะปรากฏผลขึ้นมาเป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจให้มีกำลัง
ความเชื่อความเลื่อมใส ความพากเพียร
ความอุตส่าห์พยายามขึ้นโดยลำดับ จากนั้นก็ค่อยสะดวกสบาย
ถึงจะยากลำบาก ผลที่พึงใจเป็นขั้นๆ ก็ปรากฏอยู่ภายในใจแล้ว
แม้จะมีการฝืนอยู่บ้างก็ฝืนด้วยความพอใจ
ที่จะเพิ่มพูนความสงบสุขที่ตนมีอยู่แล้ว ให้มีกำลังและความสว่างไสวยิ่งขึ้น

ข้อสำคัญก็คือความเห็นโทษแห่งความเป็นอยู่ด้วยความหลง
ความเพลิดเพลินเลื่อนลอยบังอยู่ด้วยความหลง
คือความประมาทนอนใจ ไม่มีสติปัญญาคิดประโยชน์ใส่ตน
ยืนอยู่ด้วยความหลง นอนอยู่ด้วยความหลง เดินไปด้วยความหลง
ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นไปด้วยความหลง ความใฝ่ฝันลมๆ แล้งๆ
การมาเกิดก็มาด้วยความหลง มาอยู่ในโลกก็มาอยู่ด้วยความหลง
จะไปข้างหน้าภพหน้าก็ไปด้วยความหลง
ความเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจตนได้ดี
เพื่อไม่ให้ประมาทนอนใจ ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอ
จะมีทางเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ
อันเป็นหนทางให้เกิดความอุตส่าห์พยายามพิจารณาแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกจากใจ
พอมีทางเล็ดลอดไปได้ตามกำลังความสามารถ

อย่างไรก็อย่าลืมคำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ”
จะอยู่ในสภาพใดอิริยาบถใดก็ตาม ให้ระลึกถึงท่านเสมอ
ทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลที่พระองค์ได้ทรงดำเนินมาก่อนแล้ว
และทรงได้รับผลเป็นที่พอพระทัยมาแล้ว
จึงทรงนำมาประกาศสอนโลกทั้งหลาย ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินอย่างไร
ความทุกข์ความลำบากก็ไม่มีใครจะเกินพระพุทธเจ้าไปได้
เพื่อความรู้ความเห็นในธรรมทั้งหลาย จนทรงรู้แจ้งเห็นชัด ไม่มีสิ่งใดปิดบังลี้ลับ
นำธรรมที่เปิดเผยในพระทัยนั้นมาสั่งสอนโลก
เพื่อได้ทำตามพระองค์ ที่เรียกว่า “ตามเสด็จ”

“ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” ไม่มีอันใดจะประเสริฐเลิศยิ่งกว่า “ธรรม”
ในบรรดาโลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ธรรมเป็นธรรมชาติประเสริฐสุด
ที่ควรยึดถือเป็นสรณะทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล ไม่มีทางปลีกและเป็นอย่างอื่น
นอกจากนำผู้ปฏิบัติให้ถึงแดนแห่งความเกษมโดยถ่ายเดียว
สมนามว่า “ธรรมเป็นของประเสริฐ” ทั้งโดยสมมุติและโดยหลักธรรมชาติ

ดังนั้น การปฏิบัติตนตามธรรมแม้จะยากลำบากเพียงไร
ก็ควรถือว่านี้คืองานอันประเสริฐเพื่อความพ้นจากกองทุกข์
ไม่ใช่งานเพื่อความล่มจมฉิบหาย
อย่าถือเอาความกลัวตายเพราะความพากเพียรมาเป็นใหญ่
จะมากีดขวางทางเดินเพื่อความหลุดพ้นแล้วก้าวไม่ออก
เพราะกลัวลำบาก กลัวแต่จะตาย เพราะความอ่อนแอฉุดลากให้เป็นไป

“สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ให้ระลึกถึงพระสงฆ์สาวกท่าน
ท่านเป็นคนเหมือนกันกับเรา ออกมาจากตระกูลต่างๆ
เวลาออกมาท่านก็เป็นเหมือนเราๆ ท่านๆ นี้แล
เมื่อมาบวชเป็นพระแล้ว ก็คือคนเป็นพระนั่นเอง
แต่ท่านอุตส่าห์พยายามดำเนินอย่างไรบ้าง
จึงได้เป็น “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ของพวกเรา ท่านก็เป็นคนเหมือนกัน
ทำไมท่านเลิศท่านประเสริฐยิ่งกว่าเรา เรายึดนี้เป็นหลัก
หากว่าท่านไม่มีความอุตส่าห์พยายามฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
ท่านจะเป็นผู้วิเศษวิโสและเป็นสรณะของโลกได้อย่างไร
ขอให้ยึดท่านเป็นหลักใจจะได้มีกำลังใจ
เวลากิเลสตัวขี้เกียจอ่อนแอ ตัวขี้สงสัย
ตัวตำหนิตนว่า “บุญน้อยวาสนาน้อย” ไม่มีความเพียรเกิดขึ้น
เพราะ “สรณะทั้งสาม” เป็นเครื่องประกันมรรคผลนิพพานอย่างมั่นใจอยู่แล้ว

จะเอาความตายเข้ามาฝังไว้ในใจทั้งๆ ที่ใจนั้นคือความรู้ไม่เคยตายเลย
ทำไมจึงเอาความตายเข้าไปฝังไว้ในหัวใจเรา
เอาป่าช้าไปทับถมใจเราซึ่งไม่เคยตายทำไม ?
นั่นเป็นความเห็นผิดอย่างยิ่ง จะทำอะไรกลัวแต่จะตาย
ไม่ทราบว่า “ความตาย” มีความหมายกว้างแคบขนาดไหน อะไรเป็นผู้ตาย ?

ใจเคยเป็นอย่างนี้ ไม่เคยตายแต่ไหนแต่ไรมา
เป็นแต่เพียงเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง

เปลี่ยนสถานขั้นภูมิกำเนิดไปตามบุญตามกรรมเท่านั้น
ที่โลกว่า “เกิด” ว่า “ตาย” แต่ก็คือเวลาตายแล้วก็ไปถือ “ปฏิสนธิวิญญาณ”
“วิญญาณ” เกิดใหม่เรื่อยๆ สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ตามยถากรรม
หรือตามบุญตามกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรม อบรมมามากน้อยนั่นเอง
ส่วนใจไม่เคยตาย จึงไม่ควรเอาความตายไปผูกมัดจิตใจ

พูดง่ายๆ ไม่ต้องเอา “ความตาย” ไปแขวนคอหัวใจ
จะเป็นการสร้างอุปสรรคสร้างความท้อถอย
ความอ่อนแอ หมดความพากเพียรให้แก่ตน
แทนที่จะผ่านไปได้ แต่ความกลัวตายไปกีดกั้นทางเดินเสียก็ไปไม่ได้
สิ่งไม่มีอย่าไปหาเรื่องใส่ให้มีขึ้น มันเกิด โทษแก่ตนเอง

คำว่า “สิ่งไม่มี” คืออะไร ? คือความตายนั่นแหละไม่มีอยู่ใน “จิต”
จิตเป็นธรรมชาติไม่ตาย แม้มีกิเลสตัณหาอาสวะปกคลุมอยู่มากน้อยก็ตาม
จิตเป็นผู้ทนทานต่อสิ่งเหล่านี้เรื่อยมา ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์
แต่ไม่ยอมฉิบหายสลายตัวไปเพราะถูกทุกข์ทั้งหลายบีบคั้นทำลายเลย
เป็นความรู้อยู่เช่นนั้น เป็นจิตอยู่เช่นนั้น แม้จะตกนรกอเวจีก็ไม่ตาย
หากทนทุกข์ทรมานไปตามความหนักเบาแห่งกรรมที่ตนทำมาเท่านั้น
จึงไม่มีอะไรในโลกจะเหนียวแน่นทนทานเหมือนใจเลย

มาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์เป็นอะไร ก็คือจิตดวงไม่ตายนี้แลไปเกิดและมาเกิด
เป็นเจ้าของแห่ง “ภพกำเนิด” นั้นๆ
ขณะนี้ใจก็อยู่ในธาตุขันธ์ที่เราเห็นอยู่นี้
ธาตุขันธ์อันนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา จิตมาอาศัยธาตุขันธ์นี้อยู่ไปชั่วกาล
แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปตามความจำเป็นที่ “วิบากกรรม” จะพาให้เป็นไป

เพราะฉะนั้นการพิจารณาทุกข์ มีทุกขเวทนาเป็นต้นที่เกิดขึ้นภายในขันธ์
ก็กลัวจะตาย นี่ก็เพราะสร้างขวากสร้างหนามกีดกันทางดำเนิน
ให้เดินเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในเวทนาไม่ได้
ความจริงมีอยู่ไม่ยอมเดินให้เข้าถึงความจริง เพราะความหลงมันบังคับนั่นเอง
“ความหลงบังคับ” คืออะไร ก็ความกลัวตาย
ทั้งๆ ที่ความตายไม่มีอยู่ภายในจิตแต่ก็กลัวตายนี้แล
เราเคยเชื่อ “กิเลส” ในคำว่า “ตายๆ” นี้มานาน จะทำอะไรก็กลัวแต่จะตายๆ
ธรรมท่านจึงสอนให้รู้เข้าไปถึงตรงนี้
ให้เข้าถึงความจริงว่า “จิตไม่ตาย” นี้คือความจริงแท้ !

สิ่งเหล่านั้นสลายตัวลงไปตามสภาพของมันมันก็ไม่ตาย
ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุในขันธ์
ให้กำหนดพิจารณาตามความจริงของมัน
เพราะมันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ อยู่แล้ว
หากไม่พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว
จิตเราไม่เว้นที่จะหวั่นไหว ที่จะเป็นทุกข์ลำบากลำบนไปนาน
ซึ่งแม้ปัจจุบันที่ร่างกายจะสลายตัวไปที่เรียกว่า “ตาย” นั้น
บางรายถึงกับไม่มีสติประคองตัวเลย
ตายไปแบบ “ไม่เป็นท่า” ราวกับสัตว์ตาย ไม่มีสติสตังเอาเลย
นี่เพราะความไม่ได้ฝึกหัดให้รู้เรื่องต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว
มีทุกขเวทนาเป็นต้นนั่นเอง


ถ้าจิตพิจารณาตามธรรม เชื่อพระพุทธเจ้า
ก็ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เข้ามาตั้งภายในจิต
ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เอาความกลัวตายไปมัดจิตซึ่งไม่ใช่ผู้ตาย
ให้กลายเป็นความอ่อนแอท้อถอยไปได้
ซึ่งเป็นการสร้างขวากหนามไว้กีดกั้นทางเดินตัวเองให้หาทางออกไม่ได้

ความจริงมีอย่างใดให้พิจารณาไปตามความจริง ตามหลักธรรมท่านสอนไว้

“เอ้า ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุขันธ์ จะหมดทั้งตัวนี้ก็ให้ทราบ
ทุกข์นี้มีอยู่รอบตัว แต่ไม่ใช่จิต
แม้จิตจะเป็นทุกข์ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่งต่างหาก
ไม่ใช่จิตเป็นเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นจิต
“เวทนา อนิจฺจา” “เวทนา อนตฺตา” นั่น !

ฟังซิ ท่านบอกว่าเป็น “จิต” ไหมล่ะ ?
แต่จิตหลงไปยึดเวทนามาเป็นตนต่างหาก จึงเป็นทุกข์ไม่มีประมาณจนดับไม่ลง
และตายไปกับความสำคัญว่า “เวทนาเป็นตน” ตนเป็นเวทนาอย่างไม่รู้ตัว

“เวทนา อนิจฺจา” คืออะไร ?
มันมีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มีดับ มีสลายไป นี่เป็นอนิจฺจา หรืออนิจฺจํ
“เวทนา อนตฺตา” มันเป็นสภาพอันหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาเท่านั้น
โดยมันเองก็ไม่ได้สำคัญว่า ตนเป็นอนตฺตา หรืออตฺตา หรือเป็นอะไร
แต่เป็นความปรากฏขึ้นแห่งสภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้น

ให้จิตผู้เป็น “นักรู้” อยู่ตลอดเวลาได้รู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริงของมัน
ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้จะมาประหารจิตให้ฉิบหาย
จึงไม่เป็นสิ่งน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่จะพิจารณาให้รู้
ที่ท่านเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่มาปรากฏตัวนั้น
ท่านรู้ท่านเห็นอย่างที่อธิบายมา

“สัญญา” ก็หลอกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา”
“อันนี้ทุกข์มากขึ้นแล้วนี่” “ทุกข์มากอย่างนี้”
“เดี๋ยวตายนะถ้าไม่หยุดภาวนา” มันหลอกจงทราบไว้
“สัญญา” นั้นก็เกิดมาจาก “จิต” นั่นแหละ เป็นอาการของจิต
แต่กลับมาหลอกจิตให้เอนเอียงให้หวั่นไหวไปได้
ถ้าจิตไม่มีปัญญาไม่มีสติ ไม่ทราบความจริงของสัญญาว่า “อนิจฺจา อนตฺตา”

ความจริง “สญฺญา อนิจฺจา” จะมาทำลายจิตใจเราได้อย่างไร ?
“สญฺญา อนตฺตา” มันก็เป็นสภาพอันหนึ่ง
เช่นเดียวกับขันธ์ทั้งหลาย ไม่มีอะไรผิดกัน
“รูปํ อนตฺตา” นั่นฟังซิ รูปํ มันก็เป็น อนตฺตา จะอาศัยมันได้ที่ไหน
จะว่าเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” ได้ที่ไหน เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น !

จงอย่าฝืนความจริง อย่าไปแย่งความจริงของเขา
ความจริงจงหาเอาด้วย “สติ ปัญญา” ของเราเอง
จะไม่ยุ่งไม่แย่งเขา จะสบายใจหายห่วงไม่มีบ่วงผูกมัดจิตใจต่อไป

รูปมันก็ “สักแต่ว่า” รูปแห่งธาตุขันธ์
เวทนาก็ “สักแต่ว่า” เวทนา
ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
เราจะไปคว้าเอามาทับถมจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนไปทำไม
เพราะเวทนานั้นก็เป็นของร้อนอยู่แล้ว แบกหามเข้ามาเผาตนทำไม
ถ้าเป็นความฉลาดแล้วจะไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปแบกหาม
จะต้องพิจารณาตามความจริงของมัน
ทุกขเวทนาขนาดไหนก็รู้ตามความจริงของมันด้วยสติปัญญา
เพราะจิตเป็นนักรู้ ไม่มีถอยเรื่องรู้ๆๆ รู้อยู่กับจิต

ขอให้ส่งเสริมสติ เป็นผู้คอยกำกับให้ดีเถิด
แม้ขณะที่จิตจะดับก็จะไม่เผลอ เพราะสติกำกับจิต
จิตทำหน้าที่รู้ความหมายต่างๆ แต่การพิจารณาแยกแยะต่างๆ
เป็นเรื่องของ “ปัญญา”
แยกแยะให้เห็นเป็นตามความจริง
จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้ฉลาดในการเรียนเรื่องของตัว”
ตามหลักศาสนาที่ให้เรียนรู้ตัวเองเป็นสำคัญ

คำว่า “โลกวิทู” ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในโลกในขันธ์นี่
จะหมายถึง “โลกวิทู” แห่งโลกใด ? นี้เป็นอันดับแรกทีเดียว
พระพุทธเจ้าทรงรู้และสั่งสอนไว้ คำว่า “โลกวิทู” “รู้แจ้งโลก”
รู้แจ้งโลกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องรู้แจ้งธาตุแจ้งขันธ์
และรู้พร้อมทั้งละกิเลสตัณหาอาสวะนี้โดยสิ้นเชิงก่อน
แล้วจึงไปรู้สภาพแห่งโลกทั่วๆ ไปที่เรียกว่า “โลกวิทู” รู้แจ้งโลกทั่วไป


คุณสมบัติของสาวกในบทนี้ก็มีได้เหมือนกันที่เป็น “โลกวิทู”
คือ รู้แจ้งโลกในธาตุในขันธ์โดยรอบขอบชิด พร้อมทั้งละกิเลสทั้งมวล
แล้วยังมี “ญาณ” หยั่งทราบสภาพทั้งหลายตามกำลังแห่งนิสัยวาสนาของแต่ละองค์
ส่วน “โลกวิทู” ซึ่งเป็น “อัตสมบัติ”
ได้แก่รู้เท่าปล่อยวางอุปาทานในขันธ์และกิเลสทั้งปวงนั้น
สาวกมีได้ด้วยกันทุกองค์บรรดาที่เป็นอรหันต์
ส่วน “โลกวิทู” เกี่ยวกับความหยั่งทราบเหตุการณ์
ตลอดรู้อุปนิสัยของโลกในแง่ต่างๆ นั้นมีกว้างแคบต่างกัน

จิตเป็นรากเป็นฐานสําคัญภายในตัวเรา ทําไมจึงไปหลงไปงมงาย
ไปจับนั้นคว้านี้เอาสิ่งนั้นๆ มาเผาตน เอาสิ่งนี้มาเผาตน ไม่มีความเข็ดหลาบ ?
ทุกข์อยู่กับทุกข์มันไม่มีความหมายอะไร เช่นเดียวกับไฟมันแสดงเปลวสูงจรดฟ้า
ถ้าเราไม่ไปเกี่ยวข้องกับไฟ หรือถอยตัวออกให้ห่างไฟ ไฟก็เผาไม่ได้
ก็ “สักแต่ว่า” ส่งเปลวอยู่เท่านั้น ไม่สามารถยังความรุ่มร้อนมาสู่ตัวเราได้
แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับไฟ ไฟก็เผาไหม้ได้ ทุกขเวทนาก็เหมือนกัน
มันเป็นความจริงอันหนึ่งของมันที่แสดงอยู่ภายในร่างกายของเรา
เมื่อจิตเราก็รู้ด้วยสติปัญญา พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความเป็นจริงอยู่แล้ว
สภาพความร้อนที่เป็นธรรมชาติของเวทนานั้น
ก็ไม่สามารถจะแผดเผาจิตใจเราให้ร้อนไปตามได้
นี่ชื่อว่า “เรียนธรรม คือทุกขเวทนาในขันธ์” ให้ซาบซึ้งด้วยปัญญาแล้วปล่อยวาง

เวทนาก็เป็นธรรม สัญญาก็เป็นธรรม สังขารก็เป็นธรรม
วิญญาณก็เป็นธรรม รูปกายนี้ก็เป็นธรรม
ถ้าเราเป็นธรรมสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมหมด
ถ้าเราเป็น “ผู้หลง” เป็น “อธรรมโง่” สิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกต่อเราได้
ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้

เราจะเชื่อกิเลสตัณหาอาสวะ หรือจะเชื่อพระพุทธเจ้า ?
ถ้าเชื่อกิเลสตัณหาก็ยึดถือว่าอันนี้ๆ เป็นตัวตนหมด
รูปก็เป็นตน เวทนาก็เป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน วิญญาณเป็นตน
อะไรๆ เป็นตน ทั่วโลกสงสารเป็นตนเป็นของตนหมดสิ้น
พอสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปหน่อยใจหายไปเลย
เป็นทุกข์ขึ้นมาแบบไม่มีสติสตังประคองตัว
ฉะนั้นเครื่องก่อกวนเครื่องทําลายจึงเกิดขึ้นจากความสําคัญของจิต
ด้วยความลุ่มหลงว่าอันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา
อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปเล็กๆ น้อยๆ
จึงเป็นเหมือนสิ่งนั้นมาฟันหัวใจเราให้ขาดสะบั้นไปด้วยกัน
เป็นทุกข์ด้วยกันไปหมดหาที่ปลงวางไม่ได้

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไม่เป็นเช่นนั้น
กลับทวนกระแสโลกที่ยึดถือกัน ! เช่น “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา”
ว่า “นี้เป็น อนิจฺจํ เป็นของไม่เที่ยง” พอเราจะอาศัยได้บ้างเท่านั้น
“อนตฺตา” ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา” ทรงสอนให้ทราบว่า “ไม่ใช่ของใครทั้งนั้น !”
เป็นแต่สภาพของส่วนต่างๆ ที่รวมกันอยู่ตามธรรมชาติของเขาเท่านั้น”
เวทนาก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมชาติกลางๆ
ถ้าเราไม่ไปหลงเสียเท่านั้นก็ไม่เกิดปัญหายุ่งยาก
สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน เป็นธรรมกลางๆ
ขอให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง จิตก็เป็นกลางได้
เมื่อจิตเป็นกลางจิตก็เป็นความจริงขึ้นมา
เมื่อจิตเป็นความจริง สิ่งนั้นก็เป็นความจริง
เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงมาแล้วแต่ดั้งเดิม
เป็นเพียงใจหลงไปสําคัญมั่นหมายเท่านั้น
เหล่านี้คือหลักธรรมที่สอนให้รู้ทุกสิ่งจนปล่อยวางได้
ใจก็เป็นกลาง คือเห็นตามความจริง

“ความตาย ตามโมหะนิยม” นั้นตัดออก อย่าให้เข้าไปแทรกสิงในจิตได้
จะกลายเป็นความท้อถอยอ่อนแอและล้มละลายไปได้
เพราะคําว่า “ความตาย” นั้นเป็นสิ่งจอมปลอม
เป็นกิเลสเสกสรรหลอกลวงเรามาเป็นเวลานาน
ทั้งๆ ที่จิตไม่ตายตามความเสกสรรของกิเลสนั่นเลย แล้วจะกลัวตายไปทําไม
ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมด้วยความเชื่อธรรมแล้ว
จะกลัวตายไปหาอะไร อะไรตาย ? ไม่มีอะไรตาย !

จิตก็เป็นจิต และเคยเป็นจิตมาแต่ดั้งเดิม
ไปก่อภพก่อชาติที่ไหนก็มีแต่เปลี่ยนร่างไปตาม “กรรมวิบาก” เท่านั้น
ส่วนจิตไม่ตายนี่ หลักเดิมเป็นมาอย่างนี้

ทีนี้เวลาพิจารณาเวทนา เพื่อความเข้าใจความจริงของมัน
ทําไมจิตจะตาย ! และทําไมเราถึงกลัวตาย อะไรตาย ?
ค้นหาความตาย ให้เห็นชัดเจนลงด้วยความจริงโดยทางปัญญาดูซี
เมื่อทราบประจักษ์ใจแล้วจะไม่กลัวตาย เพราะความตายไม่มีในจิต
มีแต่ความเสกสรรปั้นยอลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

ตามโลกสมมุติ ก็ได้แก่ “อวิชชา” ความรู้แบบงูๆ ปลาๆ นั่นแหละพาให้โลกเป็นอย่างนี้
พาโลกให้ตั้งชื่อตั้งนามกันว่า “เกิด” ว่า “ตาย” อย่างนี้ ความจริงแล้วไม่มีอะไรตาย
เมื่อพิจารณาให้ถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะได้ความขึ้นมาเองว่า
ต่างอันต่างจริงต่างอันต่างอยู่ ไม่มีอะไรตาย
จิตยิ่งเด่นยิ่งรู้ชัดภายในตัวขึ้นมา ลงได้เห็นชัดขึ้นมาว่า
“ที่เคยเข้าใจว่าจิตตายนั้นเป็นจิตโง่ที่สุด”
ในขณะเดียวกันก็เป็นจิตที่ฉลาดพอตัวแล้ว จึงสามารถรู้ความจริงอย่างถึงฐาน

เมื่อจิตไม่ตายและไม่กลัวตายแล้ว
ก็สนุกที่จะพิจารณาตัวเองละซิ อะไรจะเป็นขึ้นมาหนักเบาก็สนุก
เพลินที่จะพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผลโดยถ่ายเดียวไม่สะทกสะท้าน
เพราะจิตไม่อั้นกับการรู้สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตน รู้อยู่ตลอดเวลา
ขอให้พยายามบํารุง “สติ” รักษาสติให้ดี บํารุง “ปัญญา” ให้มีกําลังแก่กล้าสามารถ
จะรู้ทุกระยะจนขณะที่ขาดจากกันระหว่างขันธ์กับจิต
คือจะตายตามโลกสมมุตินั่นแหละ
จนกระทั่งขาดจากกันเป็นวาระสุดท้าย ระหว่างขันธ์กับจิตแยกจากกัน

นี้คือรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทําหน้าที่ในเวลาตายตามสมมุติ

ทีนี้รู้อีกชนิดหนึ่ง คือรู้ขณะกิเลสทั้งมวลขาดกระเด็นออกจากใจ
ด้วยอํานาจของสติปัญญา
ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจเลย
นี่ก็รู้ รู้ทุกระยะ จิตไม่เคยลดละความรู้ รู้ทุกระยะทุกเวลา “อกาลิโก”
แล้วจิตจะตายไปไหนเล่า จะเสกสรรให้จิตเป็นอะไรไปจากเดิม
จะไปจับไปยัดจิตให้เป็นป่าช้าขึ้นเหมือนสิ่งทั้งหลายนั่นเหรอ
จิตไม่ใช่ป่าช้า จิตเป็น “อมตํ” ทั้งที่ยังมีกิเลสและสิ้นกิเลสแล้ว
ฉะนั้น จงเอาจิตพิจารณาสภาวธรรมทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้นให้ชัดเจน
จะได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาในวงการพิจารณาอยู่ในขันธ์ในธาตุอันนี้แล

จะเป็นขันธ์ใดก็ตาม ถ้าได้จ่อสติปัญญาลงไปจะเห็นชัด
เฉพาะอย่างยิ่ง ทุกขเวทนาในเวลาเกิดขึ้นมากๆ หรือในวาระสุดท้าย
ให้จิตฝึกซ้อมไว้เสียแต่บัดนี้ อย่าให้เสียท่าเสียทีของการปฏิบัติธรรม
เพราะการปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อแพ้ข้าศึก ปฏิบัติเพื่อชัยชนะ
ปฏิบัติเพื่อความเห็นจริง เพื่อปล่อยวาง เพื่ออยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น
ไม่ให้กดขี่บังคับใจได้อีกต่อไป มีแต่ความเป็นอิสระเต็มตัว

ใจจะเป็นอิสระได้ด้วยเหตุใด ? ก็ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการพินิจพิจารณา
ไม่ลดละท้อถอย เป็นกับตายขอให้เห็นความจริงเท่านั้นก็เป็นที่อบอุ่นใจ
เป็นก็เป็น ตายก็ตาย นี่เป็นคติธรรมดา ไม่จําเป็นต้องไปกั้นกางหวงห้าม
เพราะเป็นหลักธรรมชาติธรรมดา แม้กั้นกางหวงห้ามก็ไม่อยู่ในอํานาจ
นอกจากจะก่อความทุกข์ขึ้นมา เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวังเท่านั้น
เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นไปตามความจริงให้ปล่อยไปตามความจริง
อย่ากีดขวางความจริงให้เกิดทุกข์
อย่าไปปลูกบ้านปลูกเรือนขวางถนนหลวง จะถูกปรับไหมใส่โทษ
คติธรรมดานี้มีอํานาจยิ่งกว่าถนนหลวงเสียอีก

คติธรรมดา คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่เต็มอยู่ในธาตุในขันธ์
จงพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ปล่อยวางลงตามลําดับ
เราจะมีความสุขความสบายหายห่วง หายหลงใหลใฝ่ฝัน
อันเป็นการรบกวนตัวเองอยู่ไม่หยุด

มีกิเลสเท่านั้นเป็นเครื่องหลอกลวง เป็นเครื่องให้ทุกข์แก่สัตว์โลก
ถ้าแก้กิเลสด้วยสติปัญญาให้สิ้นซากไปแล้ว
จะหมดห่วงหมดใยทั้งภายในภายนอก ความสว่างไสวจะเกิดขึ้นภายในจิตใจ
ใจทั้งดวงที่แสนกลัวตายก็หมดความกลัว
และจะมาเห็นโทษตัวเองและตําหนิตนเอง
ว่า “โอ๊ย” ความกลัวตายมาตั้งแต่วันเกิดเป็นเวลาหลายปี
นับแต่จําความได้จนกระทั่งบัดนี้ โกหกเราทั้งเพ ! เราโง่ชะมัด
แม้จะมีผู้มาจัดเข้าในประเภทสัตว์ที่กลัวตายด้วยกันก็ยังได้
ด้วยใจเป็น “นักธรรม” และ “นักกีฬา” ไม่มีอะไรจะถือสาถือโกรธเลย !

เพราะเมื่อค้นดูแล้ว ความตายไม่มี มีแต่ความจริงเต็มตัว
ฉะนั้น จงพิจารณาอย่างนี้แหละ คือ “นักรบ” ต้องสู้จนได้ชัยชนะ
ถ้า “นักหลบ” แล้ว มีแต่หลบๆ ซ่อนๆ หลบๆ หลีกๆ จะเอาความจริงที่ไหนเอาไม่ได้
เวลาทุกข์เกิดขึ้นมากน้อยก็มีแต่ความกระวนกระวาย
ความกระวนกระวายก็ไม่มีใครช่วยได้
ใครจะช่วยได้ ถ้าเราไม่ช่วยตัวเราเองไม่มีใครจะช่วยได้เลย
มีแต่สติปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยให้ความกระจ่างตามความจริง
ความกระวนกระวายนี้ก็หายไปเอง ใจสงบได้อย่างอัศจรรย์
กระทั่งวาระสุดท้ายที่ลมหายใจจะขาดไป ก็ไม่มีสะทกสะท้านเลย นี้แลคือความจริง

ขอให้จริงในใจเถิด ใจของใครเหมือนกันหมด
ถ้าได้รู้ความจริงอย่างเต็มใจแล้ว เพราะความจริงนี้เหมือนกัน
เมื่อเข้าถึงความจริงแล้วจิตจะเป็นเหมือนกันหมด ไม่มีความสะทกสะท้าน
เพราะรู้ความจริงแล้วตื่นอะไร ! ตอนที่ตื่นก็คือตอนที่ยังไม่รู้ความจริงเท่านั้นถึงได้ตื่น
ตื่นมากตื่นน้อยตามความรู้มากรู้น้อย หรือหลงมากหลงน้อยต่างกัน
ถ้ารู้จริงๆ คือรู้รอบตลอดทั่วถึงแล้วไม่ตื่น เรื่องความเป็นความตายมีน้ำหนักเสมอกัน

ธาตุทั้งสี่นั้นเอามาจากไหน ? ก็เอามาจากของที่มีอยู่
คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นของมีอยู่ในโลก
เมื่อผสมกันเข้าเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย
จิตซึ่งเป็นของที่มีอยู่ก็เข้าอาศัยสิ่งนี้ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
เวลาสลายไปแล้วจะไปไหน ? ก็ลงไปสู่ธาตุ คือ ดิน น้ำลม ไฟตามเดิม
จิตก็เป็นจิตจะเป็นอะไรไปอีก

ถ้าจิตบริสุทธิ์ก็เป็น “ธรรมทั้งแท่ง” เท่านั้น
เราจะให้ชื่อว่า “ธรรมทั้งดวง” ก็ได้ “ธรรมทั้งแท่ง” ก็ถูก
จะเรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” ก็ได้ ไม่มีความสําคัญใดในการให้ชื่อให้นาม
ขอให้เป็นความจริงประจักษ์ใจเท่านั้นก็พอ ไม่หิวโหยกับชื่อกับนามอะไรอีก
เรื่องชื่อเรื่องนามไม่จําเป็น ขั้นนั้นขั้นรู้ว่าไปเถอะ
เหมือนเรารับประทานอิ่มเต็มที่แล้ว “เวลานี้เรารับประทานได้ขั้นไหนนี่ ?”
ไม่ต้องไปถามเอาขั้นเอาภูมิ มันเต็มพุงแล้วก็หยุดเท่านั้นเอง ฝืนรับประทานไปได้เหรอ
ถ้าไม่อยากสืบต่อประวัติของ “ชูชกพราหมณ์” ให้ยืดยาวไปอีก
การรับประทานเมื่อถึงขั้นพอกับธาตุแล้วก็รู้เอง
ทําไมจะไม่รู้ “สนฺทิฏฺฐิโก” พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดเฉพาะพระองค์ผู้เดียว !

คําว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” นี่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด
มอบให้ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเองด้วยตนเองทั้งนั้น
ธรรมนี้เป็น “ของกลาง” ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นก็รู้ความจริง
นี่แหละการแก้ความหลงด้วยธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น
เราจะไปแก้กับสิ่งใดไม่ได้ เราต้องแก้กับตัวเราเอง
แม้แต่ก่อนเราเต็มไปด้วยความลุ่มหลง จงพยายามแก้ตนให้เต็มไปด้วยความรู้
ในเวลานี้ชาตินี้อย่านอนใจ จงอยู่สบายในท่ามกลางแห่งโลกที่วุ่นวาย

เอ้า ร่างกายนี้จะเป็นไฟทั้งกองก็ให้เป็น จิตที่มีความรู้รอบ “ไฟทั้งกอง” นี้
แล้วเป็นแต่เพียงอยู่ในท่ามกลางแห่งกองไฟด้วยความสงบสุข
ของ “เกราะเพชร” คือสติปัญญาที่ทันกับเหตุการณ์นี่แล

มีจิตดวงเดียวเท่านี้ที่เป็นเหตุสําคัญ เพราะสิ่งที่เป็นตัวเหตุนี้มันลุ่มหลง
จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของ “วัฏวน” วนไปเวียนมาด้วยการเกิดตายซ้ำๆ ซากๆ
เหมือนมดไต่ขอบกระด้ง เห็นขอบกระด้งเป็นของใหม่อยู่เรื่อยไป
จิตก็เป็น “วัฏวน” คือเห็นการเกิดตายเป็นของใหม่อยู่เรื่อยไป
พอเอาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยที่อยู่ในดวงใจออกได้หมดด้วยสติปัญญาแล้ว
แสนสบาย ! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่มีความหมายอะไร
เรื่องเป็นเรื่องตายเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์เท่านั้นเอง
จิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย มีอะไรเป็นทุกข์ล่ะ ?
มันแสนสบายอยู่ที่ความบริสุทธิ์หมดจดนี้น่ะ

เพราะฉะนั้น ขอให้พากันพิจารณา เอาชัยชนะภายในจิตใจเราให้ได้
แพ้ก็เคยแพ้มานานแล้วเกิดประโยชน์อะไร
ผลแห่งความแพ้ก็มีแต่ความทุกข์ความลําบาก
ผลที่เกิดจากชัยชนะจะเป็นอย่างไรบ้าง เอาให้เห็นชาตินี้เดี๋ยวนี้ !

พระพุทธเจ้าประเสริฐด้วยความชนะ
สาวกทั้งหลายท่านประเสริฐด้วยความชนะกิเลส อยู่เหนืออํานาจของกิเลส
เราอยู่ใต้อํานาจกิเลสเรามีทุกข์แค่ไหนทราบด้วยกันทุกคน
ถ้าเราพยายามให้อยู่เหนืออํานาจแห่งกิเลสที่พาให้ลุ่มหลง
จะมีความสุขแค่ไหน ไม่ต้องไปถามใคร
ผลที่เกิดจะประกาศขึ้นอย่างเต็มตัวภายในใจของผู้ปฏิบัตินี้แล
ขอให้ปฏิบัติเถิด ธรรมอย่างนี้อยู่กับใจของเราทุกคน
เป็นแต่สิ่งไม่พึงปรารถนามันครอบหัวใจอยู่เท่านั้น
หลอกเราอยู่ตลอดเวลา มันมีอํานาจออกหน้าออกตา
คนเราที่แสดงตัวอย่าง “ออกหน้าออกตา” ก็ด้วยสิ่งเหล่านี้พาให้เป็นไป
ธรรมของจริงจึงออกหน้าออกตาไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอํานาจมากกว่า
จงพยายามแก้อันนี้ออกให้หมด
จิตที่เป็นธรรมทั้งดวงจะได้ออกหน้าออกตาสว่างกระจ่างแจ้งครอบโลกธาตุ
ให้ได้เห็นได้ชมประจักษ์ใจ
ไม่เสียทีที่เป็นมนุษย์และเป็นชาวพุทธผู้ปฏิบัติจนเห็นผล “อยัมภทันตา”

นี่คืออํานาจของจิตของธรรมแท้ ผิดกับอํานาจกิเลสเป็นไหนๆ
อํานาจกิเลสมีมากเท่าไรทําโลกให้เดือดร้อนมาก
ตัวเองก็เดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน
เมื่อปราบกิเลสตัวเป็นพิษเป็นภัยออกหมดกลายเป็น
“ธรรมทั้งดวง” ขึ้นมาแล้ว ตัวก็เย็น โลกก็เย็น เย็นไปหมด

เอาละพูดย่อๆ เพียงเท่านี้


:b8: :b8: :b8: หน้า ๔๓๓-๔๔๔ หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม
รวมพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 26 เม.ย. 2021, 10:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ไม่มีอะไรตาย (หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/