วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 22:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มี.ค. 2021, 10:43 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙


รูปภาพ

เมื่อจิตยังอยู่ในที่มืดมนด้วยกิเลสชนิดต่างๆ ปกปิดกำบัง
ก็เช่นเดียวกับเราเข้าไปในป่ารกชัฏและกว้างขวาง
ขณะอยู่ในป่านั้น ความรู้สึกเหมือนไม่เคยผ่านทุ่งผ่านนาที่เวิ้งว้างมาก่อนบ้างเลย
ทั้งๆ ที่เราก็เคยผ่านเคยอยู่มาแล้ว
แต่เวลาเข้าไปในดงอันรกชัฏแล้ว ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปกับสิ่งที่เกี่ยวข้อง
จึงเป็นเหมือนว่าเราไม่เคยผ่านทุ่งโล่งโถงเวิ้งว้างอะไรมาเลย
เหมือนกับโลกนี้เป็นโลกมืดไปหมด เช่นเดียวกับป่าอันรกชัฏนั้น

แต่จิตนี้ยังไม่เคยเห็นแสงสว่าง ความเวิ้งว้างภายในตัวเองมาก่อนก็ยังพอทำเนา
แต่ผู้ที่เข้าป่าดงอันรกชัฏนั้น ทั้งๆ ที่เคยเห็นทุ่งเห็นนาอะไรที่เวิ้งว้างมาอยู่แล้ว
มันก็ยังเกิดความสำคัญขึ้นมาว่า โลกนี้จะไม่มีที่ว่างจากป่าบ้างเลย
มีแต่ความรกชัฏด้วยป่าอย่างนี้ไปหมด
จิตในขณะที่อยู่ในความมืดมนอนธการ ก็เป็นลักษณะนี้เหมือนกัน
แต่เมื่อก้าวไปถึงที่เวิ้งว้างโดยไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย
เพราะความผ่านพ้นไปหมดแล้วนั้น ก็เหมือนกับโลกนี้ไม่มีอะไรเป็น
“นิมิต เครื่องหมาย” แห่งวัตถุต่างๆ เหลืออยู่บ้างเหมือนกัน


ถ้าเราไม่คิดแยกไปว่าที่นั่นเป็นนั่น ที่นี่เป็นนี่ ให้แก่ “สมมุติ” ต่างๆ
ซึ่งเกี่ยวกับสัตว์ บุคคล ต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ของเขา
ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเลยในบรรดาที่กล่าวมาเหล่านี้
เพราะจิตไม่ออกไปเกี่ยวข้อง จิตมีแต่ความว่างประจำตน
หาเหตุปัจจัยอะไรเข้าไปหมุนไปเกี่ยวข้องไม่ได้เลย อยู่โดยปกติของตน
โลกแม้จะมีก็เหมือนไม่มี ถ้าจะพูดว่า “โลกไม่มี สัตว์ สังขาร ไม่มี” ก็ได้
เพราะไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องในจิต
จิตอยู่โดยหลักธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์แท้
เลยกลายเป็นธรรมด๊า...ธรรมดาไป


แต่คำว่า “ธรรมดา” นี้ ผู้สมมุติก็จะคิดและตีความหมายไปอีกแง่หนึ่ง
คำ “ธรรมดา” ในธรรมชาตินี้ ไม่เหมือนกับธรรมดาที่เราพูดกันทั่วๆ ไป
เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงเล็กน้อยเท่านั้น
เรื่องอะไรๆ ก็ “ธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด”
นั่นฟังซี ! เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องทุกข์ลำบาก เรื่องได้เรื่องเสีย
เรื่องประสบอารมณ์ต่างๆ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ในโลกธรรมมาสัมผัส
ก็เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด
เพราะจิตอิ่มตัว และคลายอารมณ์ต่างๆ ออกหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ
สิ่งเหล่านั้นแม้มีอะไรอยู่ก็ “สักแต่ว่า” รับรู้เพียงขณะๆ แล้วก็ดับไปในขณะๆ
โดยหลักธรรมชาติของจิตที่มีความพอตัวแล้ว รับอะไรเข้าไปอีกไม่ได้
ความสรรเสริญซึ่งเคยชอบมาแต่ไหนแต่ไรก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา
เช่นเดียวกับความนินทา เพียงแต่จิตรับทราบเท่านั้น
เพราะจิตพอตัวแล้วไม่สามารถจะรับอะไรได้
ทั้งฝ่ายต่ำ ฝ่ายสูง ฝ่ายนินทา สรรเสริญ ฝ่ายทุกข์ ฝ่ายสุข
ที่เป็นเรื่องของ “สมมุติ” ทั้งปวง ใจไม่เกี่ยวข้องจึงเป็นธรรมดาไปเสียหมด
ทั้งนี้ออกจากจิตที่ถึงความอ้างว้างโดยหลักธรรมชาติของตัวแล้วเป็นอย่างนั้น
อะไรจะมาผ่านก็เหมือนไม่ผ่าน

แต่การที่จิตสามัญชนเราจะพยายามดำเนิน หรือก้าวไปด้วยความเพียร
เพื่อให้ถึงสถานที่นั้นๆ ตามขั้นของจิตของธรรมไปโดยลำดับๆ ตามสายทาง
จนถึงที่จุดหมายปลายทางอันเป็นที่เวิ้งว้างโดยหลักธรรมชาตินั้น
ย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากเป็นธรรมดา
ราวกับการเชือดเฉือนตัวเรา ตัวเราคือกิเลส ด้วยมีดอันคมกล้า คือสติปัญญานั้นแล
จะว่ายากมากก็ได้ แล้วแต่ใจของผู้ดำเนินนั้นมีความรักชอบมากน้อยต่างกันเพียงใด
แต่ผู้ที่มีความรักชอบ มีความสนใจมากอยู่แล้ว
การงานที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรือเพื่อความเห็นแจ้งโดยลำดับนี้
ก็ไม่เป็นของยากนัก เพราะทำด้วยความพอใจทุกอาการแห่งการกระทำ
เรื่องที่ว่ายากๆ ซึ่งเคยมีอยู่ในหัวใจนั้น ก็ไม่ยาก ความพอใจมาทำให้ง่าย

คำว่า “การเจริญของจิต” ก็อย่าได้คิดคาดไปในแง่ต่างๆ
ให้ผิดจากหลักความจริงของความเจริญอันแท้จริงภายในจิต
และความเสื่อมภายในใจอันแท้จริงของจิต
คือจิตมีความเปลี่ยนแปลงอาการของตัวอยู่โดยเฉพาะเท่านั้น
ไม่ได้ก้าวไปไหน ไม่ได้ลงที่ไหน
เป็นแต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการของจิตที่แสดงให้ตนทราบเท่านั้น

ใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นความทุกข์ขึ้น
เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นสุขขึ้นมา อยู่ภายในจิตนี้เท่านั้น
การเจริญจิตตภาวนา แม้จะได้รับคำของครูอาจารย์ที่ท่านแสดงไปในแง่ใดก็ตาม
ท่านพูดเรื่องสมาธิก็ตาม เรื่องปัญญาก็ตาม เรายึดไว้พอเป็นคติเท่านั้น

ส่วนหลักธรรมชาติที่จะเป็นขึ้นภายในใจเรานั้น
เริ่มจากการนำธรรมคติจากท่านมาปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติจริตนิสัยของเรา
อย่าเอาธรรมชาติที่เป็นจริตนิสัยของเราไปเทียบกับที่ท่านแสดง
เพราะท่านแสดงธรรมอย่างกว้างขวางสำหรับ “นานาจิตตัง” ซึ่งมีจำนวนมาก
พูดง่ายๆ ก็ว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน
ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติในแง่ความรู้ ความเห็น การพิจารณานี้
จะให้เหมือนกันไม่ได้ แม้จะอยู่ในวงแห่งสัจธรรมด้วยกันก็ตาม
แต่อาการแห่งการพิจารณาและการดำเนินนั้น ผิดแปลกกันอยู่เป็นลำดับลำดาตามจริตนิสัย

เมื่อเป็นเช่นนั้น อาการแห่งความสงบหรือความรู้ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตจึงมีต่างกัน
ส่วนความสงบนั้นเป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจริตนิสัย
เพราะความสงบสุขของจิตนั้นเป็นผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน จึงเป็นที่ยอมรับด้วยกัน
เราจึงคอยดูผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติของเราอย่างนี้

คำว่า “สงบ” นั้น มีหลายประเภทตามจริตนิสัย
คือ สงบลงในขณะเดียวเหมือนกับตกเหวตกบ่อ อย่างนั้นก็มี
คืออยู่ๆ ที่เรากำหนดภาวนา
“พุทโธๆ” แล้วก็พลิกขณะเดียวแพล็บ หายเงียบไปเลย
คือ จิตพลิกขณะเดียวเท่านั้นเหมือนกับเราตกเหวตกบ่อ
แล้วปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมาทันที นี่เป็นแง่หนึ่ง

อีกแง่หนึ่ง จิตสงบแล้วหายเงียบจากอารมณ์ต่างๆ แม้ “พุทโธ” ไปเลยก็มี
นี่เป็นจิตนิสัยประเภทหนึ่ง ที่กล่าวมานี้เรียกว่า “ร้อยละ ๕ ราย” จะมีเพียง ๕ ราย
หรือจะมากไปด้วยซ้ำในร้อยคนของผู้มีความสงบเยือกเย็น
หรือเห็นผลในการทำสมาธิภาวนาแบบนี้ เพราะมีน้อยมากในการปฏิบัติสมัยปัจจุบันนี้

อีก ๙๕ รายนั้น จะเป็นในลักษณะที่ค่อยสงบ
ค่อยๆ เยือกเย็นเข้าไปเป็นลำดับๆ นี้มีเป็นจำนวนมาก

ให้เราสังเกตดูจริตนิสัยของเราว่า เป็นไปในจริตใด
หรือเป็นไปในลักษณะใดในแง่ใดในสองแง่นี้ ส่วนมากจะเป็นไปในแง่ที่สองนี้

คำว่า “สงบ” คือ ความสงบเย็นอยู่ภายในใจ
ใจมีที่อยู่ ใจมีความร่มเย็นเป็นสุข มีฐานแห่งความสงบอยู่ภายในจิตของตน
ทั้งๆ ที่คิดอ่านไตร่ตรองอะไรก็ได้ตามธรรมดาของโลกทั่วๆ ไป
แต่ภายในจิตของตัว มีความโล่ง มีความสบาย มีความเบา หรือมีความสว่างไสว
ตามกำลังจิตที่มีมากน้อย แล้วแต่กำลังแห่งสมาธิ หรือความสงบ
นี่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” มีความคิดได้ปรุงได้อยู่อย่างนั้น
แต่จิตที่เป็นเจ้าของความคิดนั้น มีความสงบสบายอยู่ภายในตน
กำหนดเข้าเมื่อไร ก็ปรากฏความรู้ที่เป็นความสบายนั้นอยู่เรื่อยๆ ไม่หายไป
นี่ชื่อว่า “จิตได้ฐานแห่งความสงบ หรือมีฐานแห่งความสงบ” ขึ้นมาแล้ว

ประการหนึ่ง ที่เป็นธรรมชาติของจิตเอง เราจะปรุงแต่งไม่ได้
ก็คือขณะที่ใจดับความคิดปรุงต่างๆ นั้น ดับจริงๆ
ความคิดความปรุงขาดจากกันไม่มีอะไรเหลือเลย
เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อยู่โดยลำพังตนเอง
นี่ก็ให้เป็นตามหลักธรรมชาติของจิตที่เป็นขึ้นมาในตัวเอง

การคาดการหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงไม่ควรคาดหมาย
ให้ปล่อยไปตามจริตนิสัยของตนในส่วนนี้ ไม่ผิด
ข้อสำคัญคือการปฏิบัติ ท่านสอนอย่างไร และเหมาะกับจริตนิสัยของเราอย่างไรบ้าง
วิธีปฏิบัติ วิธีพิจารณา หรือวิธีบริกรรม
ให้กำหนดตามนั้นเป็นของสำคัญ ให้ความรู้อยู่กับการภาวนานั้นๆ
จะภาวนาแบบไหนก็ตาม สติเป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก ซึ่งจะให้พรากจากกันไม่ได้
จะขาดวรรคขาดตอนในทางความเพียรเพื่อจะยังผลให้สืบต่อเนื่องกันโดยลำดับ

ที่พูดถึงจริตนิสัยของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
ผู้นั้นเป็นอย่างนั้น หรือครูบาอาจารย์ท่านแสดงอย่างนั้น
ผู้นั้นจิตรวมอย่างนั้น จิตรู้อย่างนั้นๆ ให้เราเพียงฟังไว้เฉยๆ
หากจริตนิสัยของเราเป็นไปในทางใดแล้ว เรื่องที่ท่านกล่าวนั้นจะมาสัมผัสเราเอง
เรารู้ในแง่ใด แง่ที่ท่านแสดงแล้วจะเข้ามาสัมผัส จะโผล่ขึ้นมารับกันทันทีๆ
ถ้านิสัยของเราไม่มี ก็เป็นเพียงแต่ฟังไปๆ
อย่าไปยึดเอาข้อนั้นมาเป็นอารมณ์จนกระทั่งเกิดความร้อนใจ
ในเมื่อจิตของเราไม่เป็นไปตามที่เรามุ่งหวังอย่างที่ท่านสอน
อันนี้ก็เป็นความคิดอันหนึ่งของเรา ต้องระมัดระวัง

ความสงบของใจ ที่เป็นความถูกต้องดีงามหรือเป็นที่ยอมรับกัน
ก็คือความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายไปกับอะไร มีแต่ความเย็นใจ
ถึงจะคิดในหน้าที่การงานต่างๆ ก็คิดไปได้อย่างธรรมดา
แต่ไม่กวนใจเจ้าของเหมือนอย่างแต่ก่อนที่ยังไม่เคยอบรมภาวนา
นี่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” ถ้ามากกว่านั้นก็เป็นฐานมั่นคงอยู่ภายในใจ
แม้จะคิดเรื่องอะไรก็คิดไป แต่พอย้อนเข้ามาสู่จุดแห่งความรู้
ก็เป็นจุดความรู้ ที่เด่นชัด ผ่องใส และเบา ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน
นี่เป็นที่ยอมรับว่า “จิตสงบ” และมีฐานสมาธิประจำใจ
และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “จิตเป็นสมาธิ”
ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ !

เพราะฉะนั้น การที่จะไปยึดเอาเรื่องของคนนั้นคนนี้มาเป็นเรื่องของตัว
หรือพยายามจะทำจิตของตนให้เป็นอย่างนั้น เป็นการขัดต่อจริตนิสัยของเรา
จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา เพราะการสร้างความกังวลหม่นหมองให้เกิดขึ้นแก่ตน
ด้วยเหตุนี้จึงควรทำความเข้าใจไว้ในข้อนี้

ความเจริญของจิตนั้น ก็คือความสงบตัวนั้นแลเป็นสำคัญ
ใจมีความละเอียดลออเข้าไปเป็นลำดับ มีความแน่นหนามั่นคงเข้าไปเรื่อยๆ
ความเจริญในขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนี้

ต่อไปจะต้องมีความละเอียดขึ้นโดยลำดับจากจิตดวงนี้เอง
จิตดวงนี้จะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ และเข้าสู่ความละเอียดจริงๆ
แม้จะพิจารณาทางด้านปัญญาการค้นคว้าต่างๆ
ใจมีความเฉลียวฉลาดมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ฐานแห่งความสงบเย็นใจนี้ ก็ปรากฏเป็นความมั่นคงไปโดยลำดับเช่นกัน
แต่บางครั้งเวลาชุลมุนวุ่นวายมากกับการงานทางด้านปัญญา
ความสงบอันนี้จะหายไปก็มี แต่คำว่า “หายไป” นี้
ไม่ได้หายไปแบบคนที่ไม่เคยภาวนา คนไม่เคยมีสมาธิมาก่อน

คนไม่เคยภาวนานั้น ไม่มีความสุขความสงบภายในใจเลย
จึงไม่มีคำว่า “จิตเจริญ” หรือ “จิตเสื่อม” เป็นจิตสามัญธรรมดาๆ

แต่จิตที่ “หายจากความสงบนี้” มีแต่ความรู้สึกที่จะพิจารณาอย่างเดียว
มีความรื่นรมย์ มีความดูดดื่มในการพินิจพิจารณาเพื่อถอนกิเลสต่างๆ ออกจากจิตใจ
ไม่ได้มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปกับโลกกับสงสารใดๆ เลย
แม้จะไม่ปรากฏเป็นความสงบแน่วแน่เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก็ตาม
เพราะความรู้อันนี้เปลี่ยนไปทางธรรมแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับโลกเลย
ถึงจะไม่เป็นความสงบเหมือนจิตเป็นสมาธิก็ตาม
แต่ก็เป็นความวุ่นกับตนเพื่อถอดถอนกิเลสต่างหาก มันผิดกันที่ตรงนี้

การพยายามตะเกียกตะกายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น
เป็นที่แน่ใจตนเอง มีความอบอุ่น มีหลักใจเป็นเครื่องยึดเป็นที่อาศัยนี้
เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่บ้าง แต่เราควรนึกคิดถึงเรื่องงานต่างๆ ที่เราทำ
บางทีงานบางชิ้นมันก็หนักอึ้ง จนขนาดหัวเสียไปก็มี
เรายังอุตส่าห์พยายามทำและผ่านไปได้ไม่รู้กี่งานมาแล้ว
เหตุใดงานที่เป็นไปเพื่อตัวเองโดยเฉพาะแท้ๆ เราจะทำไม่ได้ จะผ่านไปไม่ได้
นี่เป็นงานเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่างานนอกงานใน แปลกกันเพียงเท่านี้
ทำไมเราจะทำไม่ได้ ต้องทำได้ ! เมื่อความพอใจมีอยู่แล้ว

เมื่อปลงใจอย่างนี้แล้ว ความท้อถอยอ่อนแอก็ไม่มี พยายามดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
จิตเมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว
จะแสดงความแปลกประหลาดขึ้นมาให้ชมเรื่อยๆ
ความเย็น ความอบอุ่น ความแน่ใจ จะมีกำลังมากขึ้นๆ

การฟังเทศน์ โดยเฉพาะที่เทศน์ทางด้านกรรมฐานเกี่ยวกับจิตตภาวนาล้วนๆ
ถ้าจิตไม่มีฐานแห่งความสงบเป็นที่รองรับกันบ้าง ฟังเทศน์ทางด้านปฏิบัติจะไม่เข้าใจ

เราสังเกตจิตของเราตอนนี้ ถ้าฐานแห่งความสงบพอที่จะรับธรรมเทศนาของท่าน
ทางด้านจิตตภาวนาทางด้านปฏิบัติไม่มีภายในใจ ฟังเทศน์ท่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจ
ยิ่งฟังเทศน์เรื่องมรรคเรื่องผลก็ยิ่งมืดแปดด้าน นี่แสดงว่าฐานรับภายในของเรายังไม่มี

พอความสงบเริ่มมีขึ้น การฟังเทศน์ทางภาคปฏิบัติจะเริ่มมีรสมีชาติขึ้นภายในจิตใจ
เพราะมีฐานของจิตที่เป็นความสงบเป็นเครื่องรองรับ
เมื่อจิตรับกันได้ดีเท่าไร การฟังเทศน์ด้านปฏิบัตินี้จะยิ่งมีความซาบซึ้ง
ไพเราะเพราะพริ้ง หวานอยู่ภายในจิตไม่จืดจาง
แม้ใจเรายังไม่ถึงธรรมที่ท่านแสดงนั้นก็ตาม
แต่ก็เหมือนเราเข้าใจ เรารู้เราเห็นไปตามท่านไม่มีข้อแย้ง
เพราะท่านเปิดทางโล่งให้เห็นชัดเจน เห็นภาพนั้นภาพนี้โดยลำดับๆ
ถ้าวาดภาพพจน์ขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งมีความดูดดื่มในการฟัง
จนลืมเนื้อลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาไปหมดในขณะที่ฟัง
นี้คือจิตของเรามีฐานรับแล้ว เทศน์ทางด้านจิตตภาวนาจึงเข้ากันได้อย่างสนิทไม่มีปัญหา

ทีนี้เวลาเราชินต่อการฟังเทศน์ประเภทนี้ เพราะจิตยอมรับแล้วอย่างนี้
ฟังเทศน์อื่นๆ เลยขี้เกียจฟัง ราวกับฟังไม่ได้น้ำไม่ได้เนื้ออะไร
พูดไปนอกโลกนอกสงสาร ไปที่ไหนๆ โน้น ความจริงที่ปรากฏอยู่กับตัวทำไมไม่พูด !
เพราะเรื่อง “สัจธรรม” หมุนอยู่ภายในจิตใจ แล้วไปเทศน์ “ข้างนอก”
แม้จะเป็น “สัจธรรม” ก็จริง แต่มันอยู่นอกห่างไกลจากปากจากท้องเรา
ที่จะได้รับประทานอย่างง่ายๆ ทันใจ เพราะเป็นภายในจิตเอง
เมื่อเทศน์เข้ามาสู่ภายในนี้ ย่อมเป็นเครื่องกล่อมจิตใจได้อย่างสนิทมาก
ลึกซึ้งมาก เพราะพริ้งมาก มีรสมีชาติขึ้นโดยลำดับ

ท่านเทศน์เรื่อง “วิถีจิต” เทศน์เรื่อง “สติ” เทศน์เรื่อง “ปัญญา”
เทศน์หมุนเข้ามาใน “สัจธรรม” ซึ่งมีอยู่กับตัวทุกคน
ท่านยกสัจธรรมขึ้นเป็นสนามรบ หรือเป็นธรรมเทศนา
ย่อมเข้ากับจิตที่มีความสงบได้ดี เพราะจิตเต็มไปด้วยสัจธรรม
ทุกข์ก็เสียดแทงเข้ามาที่จิต สมุทัยก็เกิดที่จิต เสียดแทงที่จิต
มรรคก็ผลิตขึ้นมาที่จิต คือสติปัญญา
จะผลิตขึ้นมาจากไหนถ้าไม่ผลิตขึ้นจากจิต ผลิตขึ้นจากที่นี่
เมื่อมีอำนาจมีกำลังมากเพียงไร ก็ระงับดับกิเลสตัณหา
ดับทุกข์กันลงไปเป็นลำดับๆ ก็ดับในที่นี้ ที่เรียกว่า “นิโรธๆ” นั่นน่ะ

สัจธรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้อยู่ภายในจิต หมุนอยู่ตลอดเวลา เป็น “ธรรมจักร”
ถ้าจะพิจารณาให้เป็นธรรม สัจธรรมนี้ก็เหมือนธรรมจักร
ถ้าจิตเราคิดไปแบบโลกแบบสงสารซึ่งไม่เคยภาวนาเลย
มันก็เป็น “กงจักร” ผันให้เรารุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลาวุ่นไปหมด จนหาที่ปลดเปลื้องไม่ได้
นั่งก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย อิริยาบถทั้งสี่มีแต่ไฟเผาจิตเผาใจ
ไฟกิเลสตัณหาอาสวะนั่นแหละ ไม่ใช่ไฟอื่น ที่จะร้อนยิ่งกว่าไฟอันนี้

ถ้าจิตเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอนด้วยมรรคผลปฏิบัติอยู่แล้ว
เรื่องสัจธรรมทั้งสี่นี่ก็เป็น “ธรรมจักร” เป็นเครื่องซักฟอกสติปัญญาได้เป็นอย่างดี
ทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหนจะกระเทือนถึง ปัญญานำมาพิจารณา
เราเคยทราบอยู่แล้วว่าทุกข์คืออะไร เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ
เป็นสิ่งที่ทรมานจิตใจของสัตว์โลกอย่างมากมาย และทุกข์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร

ย้อนไปเรื่องสติปัญญา การค้นคว้าอย่างนี้ การคิดอย่างนี้
เป็นเรื่องของมรรค พิจารณาเหตุพิจารณาผลไปโดยลำดับ
เฉพาะอย่างยิ่งควรเอา “ขันธ์ห้า” เป็น “สนามรบ”
รบที่ไหนไม่ถนัดเหมือนรบในขันธ์ห้า เพราะขันธ์ห้านี้เป็นเจ้าตัวการสำคัญ
ที่ก่อทุกข์ภายในร่างกายและจิตใจไม่หยุดหย่อน
การพิจารณาขันธ์ห้าจึงเหมือนว่า การรบกับกิเลสในขันธ์ห้า
การรบด้วยการพิจารณาขันธ์ห้า จึงเป็นการปลดเปลื้องภาระจากข้าศึก
และนำชัยชนะกลับมาได้ จากการรู้เท่าทันขันธ์ห้านี้โดยไม่ต้องสงสัย

พระพุทธเจ้าท่านรบข้าศึกก็อยู่ภายในขันธ์ห้า สาวกท่านก็ได้ชัยชนะภายในขันธ์ห้า
ไม่ได้ชัยชนะจากที่อื่นใด เพราะแพ้ก็แพ้ที่นี่เอง
หลงก็หลงเพราะสิ่งนี้ ไม่หลงเพราะสิ่งอื่น หลงเพราะสิ่งนี้สิ่งเดียว
การพิจารณาจึงต้องพิจารณาจุดที่หลง เพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาในจุดที่เคยหลง
เมื่อรู้สิ่งใดย่อมแยกตัวออกได้จากสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้งห้านี้จึงเป็นหินลับปัญญาได้อย่างดีเยี่ยม
จึงไม่ควรมองข้ามขันธ์ห้า ถ้าผู้พิจารณาเพื่ออรรถเพื่อธรรมไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ตัว
คำว่า “เพื่อเห็นแก่ตัว” นั้นเป็นเรื่องของกิเลส
กลัวตายก็กลัว อะไรก็กลัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์เกิดขึ้นมาก็กลัวจะสู้ไม่ไหว
ความกลัวจะสู้ไม่ไหวก็คือเรื่องของกิเลส
ฉะนั้นจงอย่าไปกลัว สร้างความกลัวขึ้นมาทำลายตัวทำไม !
ความกลัวนี้เป็นตัวภัย สร้างขึ้นมามากน้อยก็เสียดแทงจิตใจ
ให้เกิดความทุกข์มากน้อยตามที่เราสร้างขึ้นมา

ความจริงมีอย่างไรให้นำมาใช้ ความจริงคืออะไร ?
ให้รู้ความจริงของ “สัจธรรม” หรือของขันธ์ห้าที่มีอยู่ในตัวของเรา
ผู้ไม่รู้ความจริงในขันธ์ห้าที่อยู่กับตัวนั้น ไม่จัดว่าเป็นผู้ฉลาด และหาทางพ้นภัยไปไม่ได้
จะต้องถูกสิ่งที่เราถือว่าเป็น “ข้าศึก” สิ่งที่เรากลัวนั้นแลย่ำยีเรา
ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน และแพ้อยู่ตลอดไป

ยิ่งเป็นวาระสุดท้ายด้วยแล้ว
ก็ยิ่งจะกลัวตายมาก กลัวเจ็บกลัวปวดตรงนั้นตรงนี้มาก
นั้นแลคือการสร้างเสี้ยนหนามขึ้นมาเสียดแทงจิตใจของตัวเอง
ให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ ดีไม่ดีเกิดความเผลอตัวไปได้
เพราะผิดจากสัจธรรม ผิดจากหลักความจริง

ปัญญามีอยู่ สติมีอยู่ จงนำมาใช้
สติปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงกับสิ่งที่เป็นข้าศึกนี้
จนกลายเป็นมิตรกันได้ คือต่างอันต่างจริง

จิตไม่เคยตาย เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์
เราไม่ต้องสะทกสะท้านว่าจิตจะตาย อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ
จิตเป็นผู้สามารถรับทราบได้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่เกิดขึ้นกับจิต
ไม่มีอะไรที่จะแหลมคมยิ่งกว่าจิตที่คอยรับรู้อยู่ตลอดเวลา

เอ้า ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาตอนนี้เกิดขึ้นมาก
เอ้า ดับไปก็ดับไปเรื่องทุกข์ แต่จิตไม่ดับ
อะไรจะเกิดขึ้นมากน้อย ให้เห็นความจริงของมัน
อย่าลืมตัวว่าจิตเป็นผู้รู้ เป็นนักรู้แท้ๆ ไม่ใช่นักหลบ
หลบความรู้จนกลายเป็นไม่รู้ขึ้นมา นั่นเป็นเรื่อง “อวิชชา” อย่านำมาใช้
ให้รู้เกิดขึ้นมากน้อย ให้รู้ตามความจริงของมันเฉยๆ

การพิจารณาทุกขเวทนาเราก็ทราบ ทุกข์เราก็ทราบว่าทุกข์ ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นคือจิต
ความทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน
โดยหลักความจริงแล้วเป็นอย่างนี้ จงพิจารณาให้เห็นความจริงของทุกข์นี้
จะได้เห็นความจริงของ “จิต” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นักปฏิบัติเราถ้าใจยังถือทุกขเวทนาเป็นข้าศึกต่อตน
จนต้องหาทางหลบหลีก ไม่อยากเข้าหน้ากับทุกข์อยู่ตราบใด
ความจริงนั่นคือ “ทางแพ้ ทุกข์ สมุทัย” นั่นเอง

จะหาทางออกจากทุกข์และพ้นทุกข์ ดับสมุทัยไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่กล้าสู้ทุกข์ ขุดค้นสมุทัยด้วยมรรคคือสติปัญญา

เอ้า อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้ จิตมีหน้าที่ที่จะรู้
เอาปัญญาเทียบเข้าไป ค้นดูให้เห็นชัดเจนว่า ทุกข์เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่จุดใด
ทุกข์เกิดขึ้นทางกาย หนึ่ง ทางกายเกิดขึ้นมีอาการใด
เกิดขึ้นภายในจิต เพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้นภายในจิตได้
ถ้าไม่ใช่ “สมุทัย” คือความคิดนอกลู่นอกทางเป็นเครื่องเสริม หรือเป็นเครื่องผลิตขึ้นมา

ความจริงก็คือความลุ่มหลงตนเอง เพราะความรักสงวนตน ไม่อยากให้ทุกข์เกิดขึ้น
แม้เกิดขึ้นแล้วก็อยากให้ดับไปอย่างดื้อๆ โง่ๆ นั้นแล สร้างขึ้นมา เช่น
อยากให้ทุกข์ดับโดยไม่พิจารณาค้นหาเหตุของทุกข์คือสมุทัยตัวการสำคัญ
ความอยากให้ทุกข์ดับนี้แลคือสมุทัย มีแต่อยากให้ทุกข์ดับไป
นั่นแหละคือสร้าง “สมุทัย” โดยตรง


ที่ถูกเราไม่ต้องอยาก พิจารณาสิ่งที่มีอยู่ ที่ปรากฏอยู่
สิ่งที่ไม่มีอย่าไปคว้าหามามันเป็นทุกข์

มันเป็นการสร้างกิเลสขึ้นภายในอีก
เวลานี้ทุกข์ยังไม่ดับ อย่านำความอยากมาบังคับให้มันดับไป
ทุกข์ปรากฏขึ้นมาให้พิจารณาตามสิ่งที่ปรากฏ
อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าตั้งความอยากให้มันเกิดขึ้น
เพราะมันเป็นความจริงอันหนึ่งๆ ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด
ขณะที่มันเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ดี มันตั้งอยู่ก็ดี มันดับไปก็ดี
ผู้รู้เป็นรู้ อย่าไปสร้างความอยากขึ้น
ให้รู้ชัดอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รอบคอบในการพิจารณา
ตายก็ตายเถอะ ความจริงไม่มีอะไรตาย พิจารณาให้เห็นชัดเจนอย่างนี้

ร่างกายจะสลายก็ให้สลายไป เพราะเรื่องสลายเป็นของคู่กันกับสิ่งที่ผสม สิ่งที่รวมตัวกัน
เมื่อรวมตัวแล้วก็ต้องสลาย ถึงเวลาแล้วต้องสลายไปด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ ความไม่สลายไม่มี
แม้แต่ภูเขาทั้งลูกมันยังสลายได้ ทำไมร่างกายอย่างเราๆ ท่านๆ จะสลายไปไม่ได้
ฝืนธรรมดาไปทำไม เกิดประโยชน์อะไร

การไม่ฝืนธรรมดา ให้รู้ความจริงของธรรมดานี้แล คือทางธรรม
ทางโล่ง ทางปลดปล่อย ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย ปัญญารอบตัว
หากจะตายขณะที่เวทนากำลังกล้าก็ให้รู้กันอยู่กับเวทนา
เป็นการ “ลับจิต” ด้วยปัญญา โดยถือเอาเวทนาเป็น “หินลับ” ได้อย่างประจักษ์ภายในจิต

ทุกข์ดับไปจิตจะไปเกาะอะไร
เพราะจิตเป็น “ผู้รู้” ผู้พิจารณาทุกข์เพื่อรู้และสลัดทุกข์อยู่แล้ว
จิตจะไปติดทุกข์และตกทุกข์ได้ยากที่ไหนกัน
ทุกขเวทนาเราก็ทราบแล้วว่าเป็นสภาพอันหนึ่ง
เมื่อพิจารณาทุกขเวทนานั้นด้วยปัญญาความฉลาด
เพื่อปลดเปลื้องทุกขเวทนานั้นอยู่แล้ว

เราจะไปตกนรกอเวจีที่ไหนกัน !

ทุกขเวทนาดับไป ก็ดับไปตามเรื่องของเวทนา
ผู้รู้ผู้ฉลาดพิจารณาแยกตัวออกจากทุกขเวทนาก็คือจิตกับปัญญา
ผู้ไม่ดับก็คือจิต ก็อยู่ตามความไม่ดับของจิต ตามความรู้ความฉลาดของจิต
จิตฉลาดเปลื้องตนเพราะการพิจารณาเวทนาต่างหาก
จิตมิได้ติดจมอยู่กับความทุกข์
เพราะการพิจารณาทุกข์เพื่อความฉลาดปลดเปลื้องตน
เราเหยียบ “บันได” ขึ้นสู่บนบ้านต่างหาก
มิได้เหยียบ “บันได” เพื่อติดอยู่กับบันไดนั้น


นี่เราก็พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อเปลื้องตนจากทุกขเวทนาต่างหาก
ไม่พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อติดทุกขเวทนา
เมื่อตายไปจะเกิดความล่มจมแก่จิตผู้เดินทางชอบได้อย่างไร
เมื่อทุกขเวทนาคือทางเดินของจิตของปัญญาแท้แล้ว
ชื่อว่าจิตเดินถูกทางของอริยสัจและสติปัฏฐาน อันเป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ไม่สงสัย

การพิจารณา “ขันธ์” ท่านพิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัว แต่สอนให้รู้ความจริง ให้พิจารณาความจริง
นี่เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแท้
เรื่องความกลัวพระองค์ไม่ได้สอน เป็นเรื่องของกิเลสเสี้ยมสอนคนให้โง่หนักเข้าต่างหาก
ผลที่ได้รับมีแต่ความโง่ และกองทุกข์เต็มหัวใจ ภพชาติเต็มตัว

คำว่า “เราๆ หรือใครๆ” มาเป่าหูปาวๆ ก็อย่าเชื่อง่ายๆ
ให้เชื่อพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่เลิศโลกมาแล้ว
อย่ากลัวความจริงเราเป็นนักปฏิบัติ ความกลัวไม่เป็นเรื่องให้สำเร็จประโยชน์
เป็นเรื่องสั่งสมกิเลสขึ้นมา ให้เกิดความทุกข์มาก เพราะความกลัว
กลัวมากเท่าไรก็เกิดความทุกข์มากเท่านั้น
พิจารณาให้เห็นประจักษ์ภายในจิตอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งใครในเวลานั้น
เราอย่าหวังพึ่งใคร ไม่ใช่ที่พึ่งอันแท้จริง ! นอกจาก “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”
ด้วยสติปัญญาเราเท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างเต็มใจ

ตึกรามบ้านช่อง ใครต่อใครก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างพึ่งไม่ได้ทั้งนั้น
เวลาจะตายจริงๆ ขันธ์ห้าก็พึ่งไม่ได้
มันจะแตกอยู่เวลานี้จะพึ่งมันได้ที่ไหน แล้วเราจะพึ่งใคร

สติปัญญาเท่านั้นเป็นอาวุธที่ทันสมัย ที่จะแก้หรือช่วยเราได้ในขณะนั้น
จงค้นลงไปพิจารณาลงไป ทุกข์เป็นของเกิดของดับ ใจเป็นของไม่เกิดไม่ดับ
เป็นธรรมชาติของใจอยู่โดยธรรมชาติของตน
พิจารณาให้ชัดเจนแล้ว จิตจะแยกตัวออกมาเอง
เมื่อเข้าใจชัดเจนแล้วไม่ไปไหน ไม่ไปติดอยู่กับอะไร มีทุกขเวทนาเป็นต้น
เพราะปัญญาเป็นเครื่องผลักดันสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายนั้นออกไปโดยลำดับๆ
ให้เข้าใจอย่างนี้ เราก็โล่งใจสบายใจ นี่แหละเรียกว่า “การพึ่งตนเอง”

จงคิดถึงวาระสุดท้าย วาระสำคัญที่สุดคือวาระไหน ?
คือทุกขเวทนาอันแสนสาหัสนี้แล จะสาหัสขนาดไหนในวาระสุดท้าย
ต้องเตรียมสติปัญญาให้พร้อมมูล
สู้ ! เพื่อแย่งเอาของจริงจากสิ่งจอมปลอม
ที่เคยหลอกเรามาเป็นเวลานาน มาครองให้ได้ !


ร่างกายนี้แค่ตายเท่านั้น ! สติปัญญาเป็นผู้สามารถตลอดสาย
เวทนาจะมาจากทิศใดแดนใด มันก็อยู่ในขันธ์นี้เท่านั้น
เวทนาขันธ์ก็คือขันธ์นี้เท่านั้น ไม่ได้อยู่นอกเหนือเมฆลอยมาทับเราได้
มันทับอยู่ภายในตัวเรานี้ถ้าเราไม่มีสติปัญญาทันมัน
ถ้าสติปัญญาทัน ทุกขเวทนาก็ไม่ทับ
ทุกขเวทนามีมากมีน้อยก็ทราบกันอย่างชัดเจนด้วยปัญญานี้เท่านั้น
ปัญญานี้แหละเป็นเครื่องช่วยตัวเอง

ความพากเพียร อย่าถอย ถอยไม่ได้เมื่อเข้าตาจนแล้วต้องสู้จนสุดเหวี่ยง
และเปลื้องกิเลสตัวหลงงมงายลงให้ “วัฏจักร” โน้นเป็นไร !
ก็เราจะสู้ จะเอาชัยชนะ จะถอยไปไหน
จะเอาชัยชนะด้วยการสู้นี่ ! ไม่ได้เอาชัยชนะด้วยการถอย
เมื่อเอาชัยชนะด้วยการสู้ ต้องสู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่สู้ด้วยความโง่ๆ

จิตนี้พระพุทธเจ้าทรงรับรองอยู่แล้วว่าไม่ตาย
เราจะกลัวตายหาอะไร เราคือจิต ก็ไม่ตายนี่ เราจะกลัวตายไปทำอะไร
ถ้าตัวจิตตายเราก็ตาย นี่ตัวจิตไม่ตายแล้วเราจะตายได้ที่ไหน
เงาแห่งความตายมันมีอยู่ที่ไหน มันไม่มีนี่ ไม่มีจนกระทั่ง “เงา” แห่งความตาย
เราตื่นเราตกใจ เรากลัวตายไปเฉยๆ กลัวลมๆ แล้งๆ ความตายของใจไม่มี
แม้กระทั่ง “เงา” ให้กลัว ก็ยังกลัวกันไปได้ เพราะความหลงของจิตนี่เอง

ท่านจึงสอนให้สร้างปัญญาให้ทันกับเหตุการณ์ จิตนี้เป็นที่แน่ใจว่าไม่ตาย
พิจารณาให้ชัด เอ้า อะไรเกิดก็เกิดขึ้นเถอะ จิตมีหน้าที่รู้ทั้งหมด
จนกระทั่งวาระสุดท้ายเครื่องมือนี้แตกไป ปัญญาก็สลายไปด้วยกัน
จิตที่ได้รับการซักฟอกจากปัญญาแล้วจะไม่ตายไม่สลาย
จะมีแต่ความผ่องใสเป็นอย่างน้อย มีความผ่องใสประจำตัว
มากกว่านั้นก็ผ่านพ้นไปได้เลย จงเอากันในวาระสุดท้าย
เอาชัยชนะอย่างสุดยอด ! ในวาระสุดท้ายนี้ให้ได้


ไม่ต้องไปคาดโน้นคาดนี้ว่า เป็นหญิงเป็นชาย
ว่าเราปฏิบัติมา เท่านั้นปีเท่านี้เดือน ได้มากได้น้อย
ไม่ใช่เวลาจะมาแก้กิเลสตัณหาให้เราได้
มีความเพียรเท่านั้นเป็นเครื่องแก้ สติปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องแก้
เมื่อสติปัญญามีกำลังพอก็หลุดพ้นไปได้เท่านั้น นี่เป็นจุดสำคัญ

ไม่ใช่เวล่ำเวลา ไม่ใช่เพศหญิงเพศชาย ไม่ใช่อะไรทั้งหมด
ที่จะมาแก้กิเลสได้นอกจากสติปัญญา ศรัทธาความเพียร
ของเราเท่านั้นเป็นเครื่องแก้กิเลส
เราแก้ได้จนกิเลสหมดขณะใด ใจก็สิ้นทุกข์ได้ขณะนั้น

การสิ้น สิ้นด้วยสติปัญญากับความเพียร
ไม่ได้สิ้นด้วยเวลานานเวลาช้าอะไรนี่จงพิจารณาตรงนี้
นี่แดนแห่งชัยชนะอยู่ที่จุดนี้ !
เราแพ้ก็แพ้ที่นี่ คำว่า “แพ้” อย่าให้มี !

จิตมันแพ้อะไรเล่า รู้อยู่ตลอดเวลา สติปัญญาไม่ใช่เป็นของแพ้
เป็น “ธรรมเพื่อชัยชนะ” ทั้งนั้น
เวลากิเลสเข้ามาแทรกให้เป็นความแพ้ ความแพ้เป็นเรื่องของกิเลสแทรก
อย่าเอาเข้ามาแตะกับตัว มันจะทำให้เราถอยหลัง
เป็นหรือตายสู้กันบนเวที ชื่อว่า “นักรบ” ขึ้นเวทีแล้วไม่ถอย
เอาจริงๆ จนไม่มีสติรับรู้แล้ว ให้เขาหามลงเปลไป
ถ้ายังมีสติ เอ้า ฟาดมันลงไปอีก ตีไม่ได้ ด่ามันเข้าไป คือสู้ด้วยปากก็ได้ ไม่ถอยกิเลส
นี่ต่อยสู้เขาไม่ได้ก็เอาปากต่อยซิ นี่เราเทียบกับนักรบที่ไม่ถอย สู้กันวันยังค่ำ สู้จนตาย
สู้เพื่อเราไม่ได้สู้เพื่อใคร ถ้าจิตเข้าใจจริงๆ แล้วเป็นไม่ถอย

ผู้เทศน์เคยเป็นเคยผ่านมาแล้วตามความจริงนี้
จึงกล้าพูดกล้าเทศน์ได้อย่างเต็มปากไม่กระดากอายใครๆ ทั้งสิ้น
การพูดด้วยความจริงก็เหมือนนักรบ จะกลัวใครมาค้านความจริงล่ะ
นี่ย่อข้อความที่เทศน์เบื้องต้นนั้นว่า “ความตายน่ะ มันธรรมด๊าธรรมดา !”
แน่ะฟังดูซี เมื่อเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว “มันธรรมดาไปหมด !”
เป็นอยู่ก็ธรรมดา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ธรรมดา
คือจิตไม่ได้เป็น “ภาระ ภารัง” ให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวาย กลายเป็นโรคภายในใจขึ้นมา
ถึงวาระจะไป จะไปแล้วหรือ ? ไปก็ไป เรื่อง “สมมุติ” มันไปต่างหาก
มันไปที่ไหน ก็ไปตามหลักความจริงของมัน ลงไปสู่ความจริงของมัน
แล้วอะไรจะฉิบหาย อะไรจะล่มจม ผู้รู้ก็รู้อยู่อย่างนี้แล้วจะไปล่มจมที่ไหน ผู้รู้น่ะ

เราสร้างมาเพื่อความรู้ความฉลาด
ความรู้ความฉลาดจะพาล่มพาจมมีอย่างหรือ! มันประจักษ์อยู่ภายในจิต
จึงเรียกว่า “สิ่งทั้งปวงไม่มีปัญหา” ไม่มีอะไรเลย ! “ธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด”

เมื่อถึงขั้นธรรมดาธรรมชาติแล้วเป็นอย่างนั้น
การปฏิบัติให้ปฏิบัติอย่างนี้จะถึงความจริงแน่นอนไม่สงสัย

เอาละการแสดงก็เห็นว่าสมควร


:b8: :b8: :b8: หน้า ๓๒๓-๓๓๔ หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม
รวมพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2021, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร