ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

นิทานเซ็น (คำกลอน)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=8&t=37186
หน้า 2 จากทั้งหมด 5

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


อาจารย์ครับ...ถ้วยตายแล้ว

เด็กน้อยทำชุดถ้วยชาอาจารย์หล่น
ในหัวใจทั้งร้อนรนทั้งสั่นไหว
มองถ้วยชาที่แสนแพงหักแบ่งไป
พลันฉุกคิดด้วยความไวแห่งปัญญา

ซุกซ่อนถ้วยที่แตกไว้มือไขว้หลัง
“อาจารย์ครับสงสัยจังอยากรู้ว่า
เมื่อทุกคนถือกำเนิดเกิดขึ้นมา
ใยต้องม้วยมรณา...สิ้นชีพวาย”


อาจารย์ตอบ “ธรรมดาชีวิตนั้น
เมื่อเกิดมาย่อมมีวันเสื่อมสลาย
ไม่เคยมีผู้ใดที่ไม่ตาย
เกิด-ล้ม-หาย มีให้เห็นเป็นประจำ”


เด็กน้อยรีบเห็นดีด้วยชูถ้วยแตก
“ท่านอาจารย์ช่างแจงแจกผลลึกล้ำ
น่าสงสาร...ถ้วยอาจารย์ที่เก็บงำ
ถึงคราวจบสิ้นตามกรรม...ไม่น่าเลย”






ปล.เด็กน้อยในครั้งนั้น ต่อมาได้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็นที่มีชื่อเสียงโด่งดังของญี่ปุ่น นามว่า ท่านอาจารย์ "อิคคิว"

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ลูกศิษย์ของฉันนี้คือขี้ขโมย

พระอาจารย์จัดอบรมบ่มสอนศิษย์
นักเรียนทั่วสารทิศมาเข้าค่าย
ก่อนจะมีเหตุลุกลามความวุ่นวาย
เกิดคดีความของหายโผล่ขึ้นมา

หลังจากที่ทุกคนนี้ได้พิเคราะห์
พบหลักฐานเป็นมั่นเหมาะก็รู้ว่า
คนไหนคือขี้ขโมยที่ผ่านมา
หลังอาจารย์เรียกดุด่า...ก็ปล่อยไป

เหตุการณ์ที่ดูเลอะเลือนเหมือนสงบ
แต่คดีที่เคยจบก็เริ่มใหม่
“อาจารย์ครับพวกเรารู้ว่าคือใคร
คนที่เคยก่อเรื่องไว้...ก็คนเดิม”


ทุกคนเก็บความคับข้องหมองในจิต
ใยคนเดียวที่ก่อฤทธิ์มาแต่เริ่ม
ยิ่งจับได้แต่คลับคล้ายยิ่งเหิมเกริม
หลังอาจารย์ดุด่าเพิ่ม...ก็ดูดี

“อาจารย์ครับเป็นล้นพ้นทนไม่ไหว
คนผิดแล้วยังผ่องใสได้ไงนี่
ถ้าอาจารย์ไม่ขับไล่คนอัปรีย์
พวกเราทั้งหมดนี้ต้องขอลา...”


อาจารย์บอกว่า“เหตุนั้นสำคัญอยู่
ใช่อาจารย์จะมองดูไม่รู้ว่า
ข้าวของที่สูญหายไปใช้ราคา
แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ...หัวใจ

พวกเธออาจจะจากไปได้ทั้งหมด
แต่หนึ่งเดียวที่งอคดของดไว้
หากฉันสอนเขาไม่ได้คงสายไป
เขาคงโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามานย์...”


ลูกศิษย์ขี้ขโมยฟังพลันนั่งอึ้ง
ปล่อยถ้อยคำซาบซึ้งให้แผ่ซ่าน
น้ำตากลบซบหน้า – กราบอาจารย์
สำนึกในความต้องการให้กลับตัว

“พวกเธอคือลูกศิษย์ฉันเหมือนกันหมด
...ใช่...เธออาจรู้จักงดเว้นสิ่งชั่ว
ขอให้ฉันเช็ดความมืดที่หมองมัว
แก่ศิษย์นี้ที่น่ากลัว...ของฉันเอง”



ปล.หลังจากสิ้นคำสอนของอาจารย์ บันเค โยตาคุ ในครั้งนั้น ลูกศิษย์คนที่ถูกกล่าวถึงก็ไม่เคยขโมยข้าวของใครอีกเลย

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ตระแกรงร่อนสามชั้น

“...อาจารย์ครับ...วันนี้ผมมีเรื่องบอก...”
เสียงอาจารย์สรรพยอกย้อนกลับว่า
“เจ้าต้องผ่านตะแกรงร่อนสักสามครา”
ลูกศิษย์ถามกลับไปว่า “ผ่านเยี่ยงไร”

“ตะแกรงร่อนครั้งที่หนึ่งข้าขอถาม
เรื่องที่เจ้านั้นเล่าความ...จริง...หรือไม่”

เสียงศิษย์ตอบกลับมา “ไม่แน่ใจ -
ได้ยินคนพูดกันไปต่อต่อกัน”


“ตะแกรงร่อนครั้งที่สองขอถามว่า
เจตนา...ที่เล่าความดีไหมนั่น”

ลูกศิษย์ตอบ “ฟังจากที่...เขาโจษจัน
ไม่ใช่เรื่องที่ดีนั้นเท่าไหร่เลย”


อาจารย์จึงถามตะแกรงร่อนที่สาม
“เรื่องที่เจ้าบอกเล่าความและเอื้อนเอ่ย
มันใช่เรื่อง...สำคัญ...ไหมช่วยเปรียบเปรย”
“ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยครับอาจารย์”


“งั้น...หยุดก่อน ข้าขอร้องไม่ต้องเล่า
คำพูดคนใช่ลมเผาลอยพัดผ่าน
ก่อนจะพูดจาสิ่งใดให้สอบทาน
พูดแต่สิ่งที่เป็นการ...เท่านั้นพอ”

เจ้าของ:  ทักทาย [ 10 มี.ค. 2011, 21:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

อนุโมทนา สาธุค่ะ :b8:

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ศิษย์น้อยขอออกบวช

ลูกศิษย์น้อยขอบวชกับพระอาจารย์
“อายุเจ้ายังถึงกาลหาบวชไม่
เจ้าเด็กน้อยเจ้าจะบวชไปทำไม
บอกอาจารย์หน่อยได้ไหม...ข้าอยากรู้”


“ข้าอยากรู้ต้นตอแห่งความตาย
เหตุที่พ่อแม่ล้มหายไม่อาจอยู่
หารากเหง้าแห่งชีวิตพินิจดู
จึงหวังสู่ร่มสุดท้ายสุดสายธรรม”


“หากเจ้าคิดจะออกบวชก็บวชเถิด
สู่ร่มเงาอันบรรเจิดและลึกล้ำ
แต่ตอนนี้ใกล้ค่ำแล้ว,ไม่กระทำ
พรุ่งนี้เถิดข้าจะนำเจ้าบวชเอง”


“อาจารย์ครับ อายุข้านั้นยังน้อย
อาจไม่ทนรอคอยอย่างคร่ำเคร่ง
อาจารย์ก็ใกล้ฝั่งแล้ว – ยิ่งวังเวง
ข้าหวั่นเกรงเช้าพรุ่งนี้จะสายเกิน”


พระอาจารย์ส่งยิ้มให้ใจปีติ
“สมดังคำเจ้าดำริแต่เนิ่นเนิ่น
มีสติคิดรู้ตัวอย่ามัวเพลิน
อย่าดูหมิ่นการก้าวเดิน...ของเวลา”

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ตะขาบผู้มีมากขา

เจ้ากบน้อยตัวหนึ่งนี้ขี้สงสัย
เห็นตะขาบเดินไต่จากกอหญ้า
ถาม “ท่านเดินอย่างไร...ที่ผ่านมา
ขาท่านมีมากขาเป็นหมื่นพัน

ขาของข้าแท้แท้มีแค่สี่
จะเดินเหินแต่ละทีหาคงมั่น
บอกข้าหน่อยที่ท่านเดินอยู่ทุกวัน
สลับขาหลายข้างนั้น...ก่อนอย่างไร”


ตะขาบยืนนับขาสงกาอยู่
“เออ...มาลองคิดคิดดูก็สงสัย
ปกติเราก้าวย่างเดินทางไป
ขาไหนเดินก่อนขาไหนไม่เคยจำ”


เจ้าตะขาบยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด
ขาเป็นแผงที่ยาวเหยียดก็พลิกคว่ำ
กว่าจะรู้สึกตัวหัวคะมำ
ไม่รู้ว่าจะเดินนำขาไหนดี

“หากท่านเจอตะขาบใดในวันหน้า
โปรดอย่าได้ถามปัญหาอย่างวันนี้
ขาข้าเคยเดินผ่านมาชั่วตาปี
จะทำไงล่ะทีนี้...เป็นง่อยเลย”

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


เรื่องของความเชื่อฟัง

พระอาจารย์ผู้หนึ่งชื่อ “เบ็งกะอี”
เลื่องชื่อเรื่องเทศนาดีรู้กันทั่ว
พระนิกาย “นิชิเรน”หนึ่งเมามัว
จิตขลาดกลัว ริษยาอิจฉาธรรม

ประกาศกลางที่ประชุม - ชุมนุมว่า
“หากว่าท่านนั้นเก่งกล้าดังคำพร่ำ
จงสอนสั่งข้านี้เพื่อเชื่อถือคำ
หากข้าเชื่อตามท่านนำ...ข้าขอยอม”


พระอาจารย์ “เบ็งกะอี”กล่าว“นี่ท่าน -
จะบอกให้รู้ทั่วกันว่าฉันพร้อม
มานี่สิ...หากท่านไซร้ใช่ของปลอม”

พระใจมืดก็เดินอ้อมไปตามคำ

“ท่านโปรดอ้อมมาทางขวาของฉันหน่อย
ฉันจะเริ่มกล่าวธรรมร้อยอันเลิศล้ำ
ที่ตรงนั้นมืดไป,ไม่กล่าวธรรม”

พระใจบอด “ไม่ต้องย้ำ ข้าไปเอง”

พระอาจารย์บอก “ทางขวาดีกว่าไหม
ดูตรงนี้สว่างไป,ใจร้อนเร่ง”
“อ๋อ...ได้เลยฉันไม่เคยจะหวั่นเกรง
ตอนนี้ท่านพร้อมบรรเลงได้หรือยัง...”


พระอาจารย์ “เบ็งกะอี”จึงชี้ว่า
“ท่านเชื่อฟังฉันแล้วหนา - ดูพร้อมพรั่ง
เมื่อท่านเดินตามสั่งแล้วก็จงฟัง
หลบตรงนี้หาที่นั่ง...อย่าบังคน!!!”

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:39 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ผู้พ่ายแพ้ในสนามสอบ

ในสมัยราชวงศ์ถังใครหวังบวช
ต้องผ่านการคัดประกวดกลางสนาม
เด็กคนหนึ่งแสนอ่อนวัยไร้ชื่อนาม
แค่อายุสิบสอง – สิบสาม ก็อยากเรียน

แต่เพราะความอ่อนวัยไร้ความรู้
จึงพ่ายแพ้การต่อสู้งานอ่านเขียน
เศร้าเสียใจมุ่งหวังมากหลังพากเพียร
จึงร้องไห้กลางสังเวียนที่ชุมนุม

คนคุมสอบสุดสงสัยเรียกไต่ถาม
“เหตุใดเจ้าไม่หักห้ามความกลัดกลุ้ม
การชิงชัย แพ้ – ชนะ เกินกะกุม
มาร้องไห้...ที่ประชุมมุ่งหวังใด”


“ที่ร้องไห้เพราะเสียดายความพ่ายแพ้
ปณิธานอันเที่ยงแท้มิอาจไข
หวังสืบทอดพุทธศาสน์ประกาศไกล
ปรากฏชื่อบันลือไว้ในแผ่นดิน”


..................................................

คนคุมสอบสุดเห็นใจจึงให้ผ่าน
ปล่อยบุรุษหนึ่งเหนือกาลได้โผดผิน
จารึกชื่อ “ซำจั๋ง” ไว้ในดวงจินตน์
คือผู้กล้าเหนือปฐพินทร์...สืบสายธรรม




พระถังซำจั๋ง หรือ พระเหี้ยนจัง ถือเป็นพระที่มีคุณูปการแก่ศาสนพุทธในประเทศจีนอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นผู้เดินเท้านำพาพระไตรปิฎก จากประเทศอินเดีย มาเผยแพร่ยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จเป็นรูปแรก อีกทั้งยังเป็นบุคคลต้นแบบให้กับอมตะนิยายเลื่องชื่อ “ไซอิ๋ว” อีกด้วย

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:45 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


กระนั้นหรือ

สาวงามหนึ่งเกิดมีท้องไม่ต้องการ
บอกเป็นบุตรของอาจารย์ที่วัดนั่น
ท่ามกลางเสียงก่นด่าสารพัน
“กระนั้นหรือ”คำเดียวนั้นท่านเอ่ยคำ

เสียงประณามหยามหมิ่นเริ่มฟุ้งเฟื่อง
ประชาชนทั่วทั้งเมืองล้วนเหยียบย่ำ
ตกเช้าขึ้นก็มีเด็กตาดำดำ
วางหน้าวัดที่ประจำท่านบำเพ็ญ

ยามไร้นม...ไปขอนมจากเพื่อนบ้าน
คอยอุ้มชูอยู่ช้านานล้วนยากเข็ญ
หนึ่งปีก่อนที่เด็กนั้นจะพูดเป็น
ไม่บ่นคำว่า “ลำเค็ญ” แม้คำเดียว

สะท้อนในหัวอกเร้นผู้เป็นแม่
ลูกตัวเองแท้แท้ไม่แลเหลียว
ยิ่งหนาวในหัวใจสั่นกระชั้นเกลียว
ตกนรกแท้เทียวที่หลอกลวง

“พ่อแม่จ๋า...ลูกขอสารภาพผิด
ลูกได้สร้างบาปชีวิตอย่างใหญ่หลวง
พ่อของเด็กที่ลูกรักดังแดดวง
คือคู่ควงคนขายปลาหน้าบ้านเรา”


ทันทีที่ข่าวจริงแท้แพร่สะพัด
ประชาชนโดยรอบวัดก็ร้อนเร่า
ขอขมาลาโทษที่โฉดเบา
“เป็นความผิดของพวกเราที่เขลาลือ”

ในรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมเมตตานั้น
ท่านกล่าวเพียงคำสั้นสั้น “กระนั้นหรือ”
หนึ่งชีวิตเด็กรอดมาด้วยน้ำมือ
“กระนั้นหรือ” ออกเสียงสั้น...แต่มันยาว








ปล.พระอาจารย์ฮาคุอิน เป็นปรมาจารย์เซ็นสายรินไซ นาม “ฮาคุอิน” แปลว่า ห่อหุ้มด้วยสีขาว
และสีขาวของท่านนั้นก็เป็นสีขาวที่สะอาด บริสุทธิ์ และสูงส่ง เกินกว่าคำประณามหยามหมิ่นจากความเข้าใจผิดใดๆ จะสามารถแทงทะลุเข้าไปได้...
คำว่า “กระนั้นหรือ” ของท่านในครั้งนั้น จึงเป็นที่โจษขานต่อมาจนเท่าทุกวันนี้

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


คำอวยพร

ท่านเศรษฐีให้อาจารย์เขียนคาถา
ช่วยอวยพรให้ชีวานั้น“เรืองรุ่ง”
พระอาจารย์หยุดนิ่งคิดก่อนปรับปรุง
เขียนอักษรตัวยุ่งยุ่งส่งให้ไป

“...ให้ท่านตาย...ลูกหลานตาย...ตามลำดับ...”
ท่านเศรษฐีแทบล้มพับยืนจับไข้
“ท่านอาจารย์เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร
ถ้อยอาจารย์เขียนมาให้...ไร้มงคล”


พระอาจารย์จึงชี้แจงแถลงไข
“ที่ฉันเขียนให้ท่านไปเพราะหวังผล
ลองคิดดูถ้าลูกตาย - ไปก่อนตน
ท่านคงเสียใจมากล้นเหลือประมาณ

และถ้าหากว่าหลานท่านนั้นตายก่อน
ท่านและลูกคงทุกข์ร้อนกันทั้งบ้าน
แต่ถ้าตายตามลำดับของอาจารย์
ทุ่งสิ่งย่อมเป็นตามกาลและเวลา

ทุกชีวิต...มีสิ่งใดไม่เคยตาย
อยู่ที่มีความหมายหรือไร้ค่า
รู้เท่าทันข้อเท็จจริงในมายา
นี่แหละคือความหมายว่า...ความเจริญ”




น่าเสียดายที่นิทานเรื่องนี้ตอนจบไม่ได้บอกว่าท่านเศรษฐีเก็บข้อความอวยพรของท่านอาจารย์ “บันเค”ไว้ที่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้เขียนนะ จะเก็บไว้บูชาที่หัวนอนเลย เพราะจะไปหาถ้อยคำอวยพรอย่างนี้ที่ไหนได้อีก หาได้ยากจริงๆ.....

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 10 มี.ค. 2011, 21:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


พระพุทธรูปไม้

พระสองรูปเดินเข้าไปในวัดร้าง
กลางค่ำคืนแสนอ้างว้างและเหน็บหนาว
ไร้เศษฟืนต่อสู้กลางน้ำค้างพราว
เอาพระไม้ที่แตกร้าวแทนเชื้อไฟ

พระที่เดินร่วมทางกันนั้นแสนโกรธ
บอกว่า “ท่าน...นั้นมีโทษอันยิ่งใหญ่
เผารูปพระพุทธองค์อย่างจงใจ
ท่านถือบวชได้อย่างไร...ไร้ศรัทธา”


“อาตมา...หาพระธาตุจากพระพุทธ
หวังค้นพบแก้วพิสุทธิ์กลางแสงจ้า”
“ท่านจะพบพระธาตุใดในแววตา
เมื่อสิ่งที่ท่านถือมาคือท่อนไม้”


พระอีกรูปบอก “ฉันใดก็ฉันนั้น
คนโง่เขลากอดหมอกควันเมื่อ-ยามสาย
หวังค้นพบพระนิพพานอย่างงมงาย
ตื่นเช้าขึ้นคงหนาวตาย...รับอรุณ”

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 11 มี.ค. 2011, 13:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ


ขัดกระเบื้องให้เป็นกระจกเงา

ลูกศิษย์นั่งสมาธิอย่างเคร่งเครียด
ฝ่าค่ำคืนยาวเหยียดอย่างมุ่งมั่น
อาจารย์ถาม “เจ้าต้องการสิ่งใดกัน”
“สิ่งที่ศิษย์ต้องการนั้น...เป็นพุทธะ”


พระอาจารย์จึงนั่งลงอย่างเงียบเชียบ
ขัดกระเบื้องที่เย็นเฉียบไม่แล้วผละ
ลูกศิษย์ถาม “ท่านจะขัดทำไมนะ”
“ข้าหวังจะขัดให้เป็น...กระจกเงา”


“สิ่งที่ศิษย์มองเห็นแท้...เป็นแค่กระเบื้อง
อาจารย์คงเสียแรงเปลืองอย่างโง่เขลา
ต่อให้ท่านขัดสีแท้แต่วัยเยาว์
คงไม่เปลี่ยนกระเบื้องเบาให้กลับกลาย”

“แล้วที่เจ้านั่งหลับตาเป็นบ้าหลัง
หรืออาจเปลี่ยนเป็นพุทธังดังหวังได้
“ผู้รู้แจ้ง” ในปัญญาฝ่างมงาย
นั่นแหละผู้...รู้ความหมาย...แห่งพุทธะ”






ปล.ศิษย์และอาจารย์ที่เขียนถึงทั้งคู่นี้ต่อมาล้วนเป็นปรมาจารย์เซ็นผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งวางรากฐานแห่ง “เซ็น” ให้แผ่ขยายกว้างไกลไปทั่วโลก
คนเป็นศิษย์เรียกว่า “หม่าจู่เต้าอี้”(ญี่ปุ่นเรียกว่า บะโซ) และคนเป็นอาจารย์ก็คือ “หนานหยิวฮ่วยรั่ง” แห่งหนานซานนั่นเอง...

เจ้าของ:  neemagirl [ 11 มี.ค. 2011, 14:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

tongue tongue

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 11 มี.ค. 2011, 17:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ

สองขาเหยียดแข็งสองตาปิดสนิท

พระโพธิธรรมเดินทางสู่ทิศเหนือ
พบนกน้อยหนึ่งเศร้าเหลือในกรงขัง
“ได้โปรดชี้แนะหนทางแห่งกำลัง
อิสรภาพที่มุ่งหวังคือโผบิน”


“ขอให้ขาทั้งสองข้างจงเหยียดแข็ง
และให้สองตาที่แจ้งจงปิดสิ้น”

แว่วคำสอนโพธิธรรมดังน้ำริน
เจ้านกก็หมดแล้วสิ้นความกังวล

เจ้าของนกหวนคืนทับกลับเคหา
มองดูนกที่เลี้ยงมาแต่เริ่มต้น
ขาเหยียดแข็งตาปิดไปไร้ดิ้นรน
จึงตกใจมากเหลือล้น...หรือมันตาย?

ทันทีที่หยิบนกลงจากกรงขัง
สองขาก็มีพลังดังหวังได้
สองตาลืมสู่โลกฝันอันท้าทาย
ยกร่างด้วยปีกสยาย...แล้วโผบิน





พระโพธิธรรมหรือ ตะโมภิกขุ หรือ ตั๊กม้อ สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าชายแห่งแคว้นคันธารราษฎร์ ประเทศอินเดียในสมัยโบราณ(ปัจจุบันคือประเทศอัฟกานิสถาน) เดินทางยาวไกลมาเผยแผ่ธรรมในประเทศจีน โดยได้มาจำวัดที่วัดเส้าหลิน โดยเป็นสังฆปรินายก องค์แรก ของจีนแผ่นดินใหญ่
สิ่งที่น่าสังเกตจากตำนานเรื่อง “สองขาเหยียดแข็งสองตาปิดสนิท” ของพระโพธิธรรมนี้ ก็คือทำไมท่านไม่ช่วยเหลือเปิดกรงให้นกตัวนั้นบินจากไปทั้งที่ท่านสามารถทำได้ เพราะปริศนาธรรมนี้ต้องการจะสอนให้รู้ว่า การช่วยเหลือที่ดีที่สุดนั้น ไม่ใช่การกระทำให้ แต่เป็นการ “ชี้ทางแห่งปัญญา” ให้สามารถหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองต่างหากจึงจะเป็นการช่วยเหลือที่เที่ยงแท้
เรื่องของพระอาจารย์ตั๊กม้อนี้ มีเรื่องเล่าเชิงอภินิหารมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือท่านสามารถเหยียบต้นอ้อข้ามแม่น้ำได้ ซึ่งก็คือการหลุดพ้นจากกองกิเลส และอยู่เหนือสายน้ำแห่งวัฏสงสารทั้งปวงนั่นเอง

เจ้าของ:  กระบี่ใบไม้ [ 11 มี.ค. 2011, 17:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นิทานเซ็น(คำกลอน)

รูปภาพ

เงาจันทร์ในถังไม้

นางชี“จิโยโนะ”ร่ำเรียน“เซ็น”
ปฏิบัติธรรมเช้าเย็นไม่ห่างหาย
แต่ไม่อาจตื่นฟื้นขึ้นจากงมงาย
และไม่อาจพบความหมายแห่ง “ชีวิต”

คืนวันผ่านหมุนเวียนปรับเปลี่ยนผัน
ยังไม่พบภาพหมอกควันที่บังจิต
ขณะที่ยืนตักน้ำในบ่อนิด
แสงจันทร์ก็ทอ-ดวงจิต-สะกิดใจ

มองเห็นเงาจันทร์ในน้ำวับวามเด่น
ในถังไม้...ภาพเดือนเพ็ญพริ้งพราวใส
ฉับพลันถังก็ทะลุ-ก้นผุไป
จันทร์พร้อมสายน้ำใสร่วงไหลลง

ในความมืดอันเวิ้งว้างถังว่างเปล่า
ไม่พบแสงแห่งจันทร์พราวลอยลุ่มหลง
แสงทาทาบฉาบจันทร์ฉายคล้ายยืนยง
หมดสิ้นแล้วความมั่นคงในสายตา

สาดแสงจันทร์อันเยือกเย็นเห็นกระจ่าง
สิ้นสุดการเดินทาง-จึงรู้ว่า
“ภายใต้แสงจันทร์ฉายนี้คือมายา”
บรรลุแสงแห่งธรรมมา...เพราะจันทร

หน้า 2 จากทั้งหมด 5 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/