วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ส.ค. 2020, 12:48 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงาน
ประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

:b49: :b47: :b49:

วาระสุดท้าย-โอวาทสุดท้าย
ของ
“หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต”

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้บอกบรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้าง ไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาพระคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาท่านพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผืออันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด จังหวัดสกลนคร โดยท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า


“การป่วยของผมจวนถึงวาระเข้าทุกวัน จะพากันอย่างไรก็ควรคิดเสียแต่บัดนี้จะได้ทันกับเหตุการณ์ ผมน่ะต้องตายแน่นอนในคราวนี้ดังที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้ง แต่การตายของผมเป็นเรื่องใหญ่ของสัตว์และประชาชนทั่วๆ ไปอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงเผดียงท่านทั้งหลายให้ทราบว่า ผมไม่อยากมาตายอยู่ที่นี่ ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อย สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่จะพลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี่ไม่มีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

นับแต่ผมบวชมาไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากเดือดร้อน โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความเมตตาสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูคู่เวรแก่สัตว์ ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักสงวนของแต่ละตัว เพราะผมเป็นเหตุเพียงคนเดียวนั้น ผมทำไม่ลง อย่างไรขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่ เพียงผมป่วยยังไม่ถึงตายเลย ผู้คนพระเณรก็พากันหลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน และนับวันมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งพอเป็นพยานอย่างประจักษ์แล้ว ยิ่งผมตายลงไปผู้คนพระเณรจะพากันมามากเพียงไร ขอได้พากันคิดเอาเอง

เพียงผมคนเดียวไม่คิดคำนึงถึงความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่นเลยนั้น ผมตายได้ทุกกาลสถานที่ ไม่อาลัยเสียดายร่างกายอันนี้เลย เพราะผมได้พิจารณาทราบเรื่องของมันตลอดทั่วถึงแล้วว่า เป็นเพียงส่วนผสมแห่งธาตุรวมกันอยู่ชั่วระยะกาล แล้วก็แตกทำลายลงไปสู่ธาตุเดิมของมันเท่านั้น จะมาอาลัยเสียดายหาประโยชน์อะไร เท่าที่พูดนี้ก็เพื่อความอนุเคราะห์สัตว์ อย่าให้เขาต้องมาพร้อมกันตายเป็นป่าช้าผีดิบวางขายเกลื่อนอยู่ตามริมถนนหนทาง อันเป็นที่น่าสมเพชเวทนาเอาหนักหนาเลย ซึ่งยังไม่สุดวิสัยที่จะควรพิจารณาแก้ไขได้ในเวลานี้ ฉะนั้นจึงขอให้รีบจัดการให้ผมได้ออกไปทันกับเวลาที่ยังควรอยู่ในระยะนี้ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ที่รอตายตามผมอยู่เป็นจำนวนมาก ให้เขาได้มีความปลอดภัยในชีวิตของเขาโดยทั่วกัน หรือใครมีความเห็นอย่างไรก็พูดได้ในเวลานี้”


คณะศิษยานุศิษย์และชาวบ้านเมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส โดยทันที และเมื่อคณะศิษยานุศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นคือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น ประชุมตกลงกันว่าจะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาสตามดำริของท่าน โดยทำเสลี่ยงมีคนหามครั้งละ ๘ คน ผ่านบ้านห้วยบุ่น นาเลา คำแหว (อ่านว่า หะแว) ทิดไทย โคกเสาขวัญ กุดก้อม และพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ (เดิมชื่อ วัดป่าบ้านภู่ หรือวัดกลางบ้านภู่)

ดังนั้น คณะศิษยานุศิษย์และชาวบ้านจึงได้อาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นขึ้นแคร่หาม แล้วเคลื่อนขบวนออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. มาถึงวัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เวลาค่ำ ๒๑.๐๐ น. (ระยะทางประมาณสามสิบกิโลเมตร) ท่านได้พักอาพาธระยะสุดท้ายที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา ๑๐ วัน

และที่วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม นี้เอง ท่านนั่งอยู่บนศาลาหลังคาเตี้ยๆ แล้วให้พระเปิดหน้าต่างออก มีผู้คนมานั่งกราบประนมมือออกันอยู่มากมาย บางคนก็น้ำตาไหลสะอึกสะอื้น ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “พวกญาติโยมที่พากันมามากๆ มาดูพระผู้เฒ่าป่วยหรือ ดูหน้าดูตาก็เป็นอย่างนี้หละ ญาติโยมเอ๋ย...ไม่ว่าพระหรือว่าคน สุดท้ายก็คือตาย

หัวหนึ่ง แขนสอง ขาสอง ความเกิด แก่ ตาย แท้ที่จริงเป็นตัวธรรม

...ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วจงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย

...ก่อนจะตาย ทานยังไม่ให้...ก็ให้ทานเสีย ศีลไม่เคยรักษา...ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ...ก็เจริญเสีย ทำให้มันพอ อย่าประมาท จะไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา นั่นละจึงจะไม่เสียทีเสียท่าที่เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย”


จากนั้นท่านจึงสั่งให้คณะศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดนำองค์ท่านไปที่วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันเกิดของท่านพระอาจารย์มั่นพอดี ขบวนโดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางสกลนครในขณะนั้น ได้ออกเดินทางจากวัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เวลา ๑๐.๒๐ น. มาถึงวัดป่าสุทธาวาส เวลา ๑๔.๓๐ น.

เมื่อมาถึงวัดป่าสุทธาวาสแล้ว จึงหามองค์ท่านขึ้นไปพักบนกุฏิรับรองที่เตรียมไว้แล้ว และดูแลให้ท่านนอนพัก แต่อาการท่านอ่อนเพลียมาก ท่านไม่พูดจาอะไรเลย เป็นเพียงแต่นอนหลับตามีลมหายใจเชื่องช้าแผ่วเบาและเคลื่อนไหวกายเล็กน้อยเท่านั้น ฝ่ายครูบาอาจารย์พระเณรในตอนนี้ต่างก็นั่งรายล้อมสงบอยู่ บางท่านก็คอยห้ามไม่ให้ส่งเสียงดังเพื่อรักษาความสงบ และคอยเตือนผู้คนประชาชนที่ทราบข่าวและหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณวัดไม่ให้ส่งเสียง หรือเข้าไปใกล้รบกวนท่านที่พักผ่อนสงบอยู่นั้น

เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน มันเคลื่อนคล้อยค่ำมืดลงทุกที จาก ๖ โมงเย็นเป็น ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม และ ๔ ทุ่ม ผ่านไปจนถึง ๖ ทุ่ม ตี ๑ ครึ่งกว่าๆ อาการขององค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอนนั้นก็เริ่มผิดปกติเป็นไปในทางที่ไม่น่าไว้ใจ มีความอ่อนเพลียมากขึ้น ลมหายใจก็แผ่วเบามากและเบาลงๆ ตามลำดับอย่างน่าใจหาย ส่วนองค์กายของท่านนอนอยู่ในท่าครึ่งหงายตะแคงขวา ในที่สุดลมหายใจขององค์ท่านก็สิ้นสุดถึงแก่มรณภาพละสังขารไว้ให้แก่โลกได้พิจารณาโดยสงบ เพราะท่านได้ดับขันธวิบากเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ซึ่งตรงกับวันใหม่ วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริชนมายุรวมได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๕๖

สำหรับวันประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ตรงกับวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คือ ๘๑ วันหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน


:b45: :b47: :b45:

จาก : ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=18308

:b45: :b45: รวมคำสอน “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ส.ค. 2020, 12:49 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงาน
ประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


รูปภาพ

:b44: ส่วนหนึ่งของภาพ...จากแถวบนลงล่าง

:b50: :b49: แถวที่ ๑ : (๑) พระธรรมเจดีย์ (พระมหาจูม พนฺธุโล ป.ธ.๓)
เจ้าคณะมณฑลอุดรธานี (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าคณะภาค ๓-๔-๕ (ธรรมยุต)
วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
(๒) พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ)
เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี-อ่างทอง-สระบุรี (ธรรมยุต)
วัดมณีชลขัณฑ์ ต.พรหมมาสตร์ อ.เมือง จ.ลพบุรี
พระภิกษุผู้น้องของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


:b50: :b49: แถวที่ ๒ : (๓) พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล ป.ธ.๕)
เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต)
เจ้าคณะภาค ๑๐-๑๑ (ธรรมยุต) และรักษาการเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต)
วัดสุทธจินดาวรวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
(๔) พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
(๕) พระเทพบัณฑิต (พระมหาอินทร์ ถิรเสวี ป.ธ.๕)
เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต)
วัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น


:b50: :b49: แถวที่ ๓ : (๖) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
(๗) พระอาจารย์กว่า สุมโน
วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่) ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
(๘) พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ป.ธ.๓)
วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
(๙) พระอาจารย์ขุนศักดิ์


:b50: :b49: แถวที่ ๔ : (๑๐) พระอาจารย์อ้วน
(๑๑) พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน
วัดป่าไตรวิเวก ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์
(๑๒) พระราชวุฒาจารย์ (พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล)
เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต)
วัดบูรพาราม (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์
(๑๓) พระภิกษุไม่ทราบชื่อและฉายา


:b50: :b49: แถวที่ ๕ : (๑๔) พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม
วัดสิริสาลวัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
(๑๕) พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร


:b50: :b49: แถวที่ ๖ : (๑๖) พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่) ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
(๑๗) พระครูพุฒิวราคม (พระอาจารย์พุฒ ยโส)
วัดคามวาสี ต.ตาลโกน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
(๑๘) พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร
วัดประชาชุมพลพัฒนาราม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี


:b47: :b45: :b47:

จาก : ภาพเก่าๆ ของครูบาฯสายหลวงปู่มั่น หาดูยากมาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=19628


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ค. 2021, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร