วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2021, 19:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


ความเป็นมาของมุตโตทัย

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต......................................หลวงตาทองคำ จารุวณฺโณ
รูปภาพ

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เวลาได้ฟังท่านพระอาจารย์ (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) พูดคำใดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นที่พอใจ ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ จารุวณฺโณ) ก็จะนำมาเขียนซ้ำ แม้แต่ท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านอาจารย์วัน ก็มีความคิดแนวเดียวกัน ทั้ง ๒ องค์เขียนแล้วก็เอามาวางไว้ให้ข้างที่นอนของผู้เล่า เป็นลักษณะคล้ายๆ กับบันทึกความเข้าใจ หรือบันทึกความจำเพื่อกันลืม

เหตุที่มาเป็นหนังสือมุตโตทัยนั้น เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาค ท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพักอยู่ ๓ คืนที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน พออ่านเสร็จ เราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณฯ เพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้ ท่านเจ้าคุณฯ ถามว่า “อันนี้ใครเขียนล่ะ” “เขียนหลายคนขอรับกระผม” “มีใครบ้าง” “มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์ และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม” “เออ....ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์” “แล้วแต่ท่านเจ้าคุณฯ ขอรับกระผม” ด้วยความเคารพเพราะท่านมีบุญคุณ

ท่านจากไปประมาณสักสามเดือน ก็มีห่อหนังสือส่งมา ในนามของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เล่านำไปถวายท่าน “อะไรนั่น” ท่านพระอาจารย์ถาม “กระผมก็ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ” “เปิดดูซิ” คือ ลักษณะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ถ้ายังไม่ได้ดูเสียก่อน ไม่ให้พูดว่าอะไรอยู่ข้างใน เราจะไปบอกว่าหนังสือ ท่านไม่เอา

แม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยบริขารที่ผู้เล่า เป็นพระภัณฑาคาริก (ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ ให้เป็นผู้มีหน้าที่รักษาคลังเก็บพัสดุของสงฆ์) เวลาพระสงฆ์ไปขอสบง จีวร เพื่อผลัดเปลี่ยนน่ะ ท่านจะถามว่า “ว่ายังไงทองคำมีไหม” ก็ต้องบอกว่า “กระผมยังไม่ได้ดู จะลองไปดูเสียก่อนอาจจะมีก็ได้” ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าเราจะไปรับโดยตรงอ๋อมี มีถมไป มีเยอะแยะน่ะแหละ เดี๋ยวท่านตะเพิดเอา ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ท่านให้พูดด้วยสติปัญญา ลักษณะคล้ายๆ กับพูดเลียบๆ เคียงๆ ไป ถ้าพูดเลียบเคียงท่านก็ทราบเองว่า ของนั้นมีอยู่ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันมี แต่ถ้าเรายังสงสัยว่ามีอยู่ก็ต้องบอกว่า “ขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยังสงสัยอยู่ขอไปดูเสียก่อน” ต้องบอกว่ายังสงสัยอยู่ ถ้ามีก็บอก “กระผมยังไม่ได้ดู อาจจะมีก็ได้”

ที่ท่านให้พูดอย่างนั้นน่ะเป็นคำสอน เพื่อฝึกสติปัญญาของสานุศิษย์ ให้มีสติด้วยให้มีปัญญาด้วย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คำที่เราพูดออกไป ถ้าจะเป็นโทษแก่เราถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เราก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่ให้พูดตรง เหมือนอย่างเราพูดว่า “ท่านครูบาอาจารย์ วันนี้ได้ปลานำมาใส่บาตรนะ นิมนต์ท่านฉันลาบ ฉันก้อยนะ” พระฉันไม่ได้ ผิดพระวินัยเพราะออกชื่อโภชนะทั้งห้า ท่านคงจะถือหลักนี้แหละ

หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู “เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย เป็นมุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะ ได้มาจากไหน”

ผู้เล่า “ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ได้ค้นพบจากที่นอนของกระผม”

ท่าน “ใครเขียนล่ะ”

ผู้เล่า “เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ท่านอาจารย์วิริยังค์ เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง”

หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เข้าห้อง ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่าน นำห่อหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพัก แต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า “เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อ ผู้มีปัญญาพิจารณาได้” ท่านว่าอย่างนั้น

หนังสือมุตโตทัย ที่พิมพ์แจกในงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ก็มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของหลวงตาทองคำเป็นอันดับ ๒ อันดับ ๓ คือ ท่านอาจารย์วัน ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือมุตโตทัยก็คือ หนังสือที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่า ดีอยู่ เพราะว่าเทศนาเป็นคำย่อ แต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้

ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง “ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ ลองเขียนดูซิ” ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๐ ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่ ๙ ตัวใช่ไหมที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข ๑ ถึง ๙ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น เช่น ๑ ก็จะกลายเป็น ๑๐ แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า

เปรียบเหมือนฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่ เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เป็นฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ

พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพานเพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างงั้น

มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย ท่านพูดเป็นภาษาบาลี ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แต่บ่ได้แขวนคอนำต่องแต่ง แม้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย บ่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับศัพท์บาลีว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชา ตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้

เวลาท่านมีอารมณ์สนุกๆ ก็จะพูดกับพวกเรา พูดภาษาพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ว่าท่านจะพูดพร่ำเพรื่อ บางทีท่านอาจจะพิจารณาว่า บุคคล สถานที่ วัตถุ นั่นล่ะ เรายังไม่ได้พูดให้ใครฟัง ท่านก็จะถือโอกาสจังหวะเวลานั้นพูด เกี่ยวกับพระแก้วมรกตเอย เกี่ยวกับพระนครปฐมเอย อะไรทำนองนี้


รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ
พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร

รูปภาพ

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)


กุฏิหลวงปู่มั่นหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙
โดยการร่วมแรงร่วมใจของศรัทธาญาติโยมชาวบ้านหนองผือ
เพื่อน้อมถวายบูชาแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น
“โบราณสถาน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒


รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่วัน อุตฺตโม (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)


รูปภาพ
กุฏิหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)


รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงาน
ประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก : หนังสือ “รำลึกวันวาน”
เกร็ดประวัติ ปกิณกธรรมและพระธรรมเทศนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
จากบันทึกความทรงจำของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณ
หัวข้อ ความเป็นมาของมุตโตทัย หน้า ๖๖-๖๙

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=59921

:b50: :b49: มุตโตทัย พระธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่น (ฉบับสมบูรณ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=80&t=58492

:b50: :b49: รวมคำสอน “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

:b50: :b49: ภาพเก่าๆ ครูบาฯ สายหลวงปู่มั่น หาดูได้ยากมากๆ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=42605


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ค. 2021, 12:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร