วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 09:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


มนุษยธรรมที่ ๑

“ปาณาติปาตา เวรมณี” เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต


คำว่าสัตว์มีชีวิต แปลจากคำว่า ปาณาติปาตา คำว่า ปาณะ คืออินทรีย์ที่หายใจ ที่มีชีวิตเป็นอยู่ หมายถึงมนุษย์และดิรัจฉานทั่วไปทุกชนิด เพราะเมื่อมีชีวิตเป็นอยู่ ก็ต้องหายใจเหมือนกันหมด การหายใจหมายถึงความมีชีวิต หรือความมีชีวิตก็หมายถึงการหายใจ คำว่า ปาณา จึงแปลว่าฟังง่ายๆ ว่า สัตว์มีชีวิต

ซึ่งหมายถึงทั้งมนุษย์ ทั้งดิรัจฉานที่ยังหายใจได้อยู่ดังกล่าวนั้น การฆ่าคือการทำให้ตายด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม ตลอดจนถึงการทำให้แท้งลูก ก็ชื่อว่าเป็นการฆ่าเหมือนกัน เว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต คือ ความตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด

ความตั้งใจงดเว้นหรือความงดเว้นได้ ไม่ฆ่านี้ถ้าไม่ได้รับศีลไว้ก่อน แต่เมื่อพบสัตว์มีชีวิตพอจะฆ่าได้ ก็คิดงดเว้นขึ้นได้ เช่น เมื่อยุงกัดจะตบให้ตายก็ได้แต่ไม่ตบ เพียงแต่ปัดให้ไป อย่างนี้เป็น สัมปัตตวิรัติ

ความเว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้ อันมาถึงเฉพาะหน้า ถ้างดเว้นได้ด้วยรับศีลไว้ก่อน หรือตั้งใจถือศีลไว้ก่อนเป็น สมาทานวิรัติ

ความเว้นด้วนการถือเป็นกิจวัตร ถ้างดเว้นได้เป็นปกตินิสัยของตนจริงๆก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ ความเว้นด้วยการตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ ความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวมีเมื่อใด ศีลข้อนี้ก็มีเมื่อนั้น

มีปัญหาว่า เด็กๆ ไม่รู้เดียงสา ไม่ได้ฆ่าสัตว์อะไร จะชื่อว่ามีศีลหรือไม่

คนที่ยังไม่ฆ่าสัตว์ เพราะยังไม่มีโอกาสจะฆ่าจะชื่อว่ามีศีลหรือไม่ ก็อาจตอบได้ด้วยอาศัยหลักวิรัติว่า ไม่ชื่อว่ามีศีล เพราะไม่มีวิรัติเจตนาคือความตั้งใจงดเว้น เช่น เด็กไม่รู้เดียงสานั้นยังไม่รู้จักตั้งใจงดเว้น คนที่ยังไม่มีโอกาสจะฆ่าก็ไม่มีความตั้งใจงดเว้น


การล่วงศีลข้อนี้ มีขึ้นในเมื่อสิ่งมาจะฆ่าเป็นสัตว์มีชีวิตตนก็รู้อยู่ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต มีเจตนาคิดจะฆ่า พยายามฆ่าด้วยเจตนานั้น ด้วยการทำเองก็ตาม สั่งใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม และสัตว์ก็ตายด้วยความพยายามนั้น

เมื่อประกอบด้วยองค์ลักษณะดังกล่าว ศีลก็ขาด มีปัญหาว่าไม่ได้เจตนาเหยียบมดตาย ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด เพราะไม่รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ยุงกัดตบยุง แต่ยุงบินหนีไปเสียก่อน ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาดเพราะว่าสัตว์ไม่ตาย

การฆ่าสัตว์ ท่านแสดงว่ามีโทษมากและน้อยต่างๆ กันคือถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณมาก มีเจตนาฆ่าแรงมาก มีความพยายามมากก็มีโทษมาก ถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณน้อย มีเจตนาอ่อน มีความพยายามน้อย ก็มีโทษน้อยลงมาตามส่วน

ผู้ที่ศีลข้อนี้ขาดแล้ว เมื่อรับศีลใหม่ หรือไม่รับจากใครแต่ตั้งใจถือศีลขึ้นใหม่ด้วยตนเอง ศีลก็กลับมีขึ้นใหม่ เพราะหลักอยู่ที่วิรัติเจตนา คือความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวแล้ว

ตั้งใจงดเว้นขึ้นเมื่อใด ศีลก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ฉะนั้น ถึงจะรับศีลจากพระแต่รับเพียงด้วยปาก

ใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไร
ก็ไม่เกิดเป็นศีลขึ้น

ถึงไม่ได้รับศีลจากพระ
แต่มีใจงดเว้น ก็เกิดเป็นศีลขึ้นได้


มีข้อที่ต่างกันอยู่ว่า การรับจากพระเป็นการแสดงตน และเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งทำให้ต้องสำนึกตนในคำสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเครื่องช่วยทำให้ศีลมั่นเข้า และการรับศีลเมื่อไม่ได้ตั้งใจรับเป็นนิจ ถึงจะไปล่วงศีลเข้าในภายหลัง เพราะความพลั้งเผลอ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่เสียสัตย์ปฏิญาณอะไร ทั้งนี้ก็สุดแต่จะตั้งเจตนาไว้อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีความว่า
ตนรักชีวิตของตน
สะดุ้งกลัวความตายฉันใด
สัตว์อื่นก็รักชีวิตของตน
สะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น

ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง
ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

อนึ่งตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด
สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น

จึงไม่ควรสร้างความสุขให้แก่ตน
ด้วยการก่อทุกข์ให้แก่คนอื่น


อาศัยหลักพระพุทธภาษิต ดังกล่าวนี้จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ ด้วย อาศัยหลัก ยุติธรรมและหลักเมตตากรุณา

หลักยุติธรรม คือหลักการให้ความยุติธรรม คุ้มครองชีวิตสัตว์ทั้งหลาย โดยเที่ยงธรรมเสมอหน้ากันทั้งหมด ทั้งมนุษย์ทั้งเดรัจฉานทุกชนิด มิใช่บัญญัติด้วยลำเอียงเข้ากับมนุษย์ ว่ามนุษย์ควรจะฆ่าดิรัจฉานกินได้

หรือลำเอียงเข้ากับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหายใจอยู่เหมือนกัน และต่างก็รักชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์อยู่เหมือนๆ กัน ฉะนั้น การให้ความคุ้มครองชีวิตโดยเสมอหน้ากันหมด ไม่เลือกว่าเราว่าเขา ไม่เลือกว่าตนว่าผู้อื่น ไม่เลือกว่ามนุษย์ว่าดิรัจฉานชนิดไหน จึงเป็นการยุติธรรม ปราศจากความลำเอียงอย่างแท้จริง

แต่มนุษย์เรา มีปกตินิสัยเข้ากับตัวด้วยอำนาจความโลภ โกรธ หลง จึงพอใจบัญญัติอะไรให้อนุโลมกับปกตินิสัย และอ้างปกตินิสัยอันมีกิเลสนี้แหละ ให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่บัญญัติให้มนุษย์ มีสิทธิ์ตัดชีวิตดิรัจฉาน เพื่อให้เนื้อทำอาหารได้โดยไม่ผิด

ทั้งเป็นการชอบธรรมด้วย ลองนึกดูว่าถ้าเสืออ้างว่า คนเกิดมาเป็นอาหารของเสือ คนก็คงไม่ยอมเป็นแน่ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าปลา เนื้อ พูดได้ ก็คงไม่ยอมให้ถือว่าเกิดมาเป็นอาหารของคนเหมือนกัน ข้อที่คนเราลำเอียงเข้ากับตัวนี้ มีตัวอย่างให้เห็นได้อีกมากมาย เช่น ในบางคราวสัตว์ดิรัจฉานทำร้ายคน คนก็พูดกันเป็นข่าวว่าสัตว์นั้นๆ ดุ แต่คนทำร้ายสัตว์ดิรัจฉานทั่วๆ ไปไม่พูดกันว่าคนดุ

ในคราวหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ปลาฉลามกินคนที่ลงเล่นน้ำที่ศรีราชา เกิดเป็นข่าวเกรียวกราว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์รับสั่งเป็นเชิงประทานแง่คิดว่า “ปลากินคน เป็นข่าวเอะอะกันใหญ่ แต่ว่าคนกินปลาเงียบไม่มีใครพูด”

เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า คนเรามีความลำเอียงเข้ากับตัวอยู่มากมายนัก ดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงตัดความลำเอียงได้หมด ประทานความยุติธรรมแก่ทุกๆชีวิตสัตว์เสมอเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงมีพระเมตตากรุณาแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้า เหมือนอย่างมารดาบิดา มีเมตตากรุณาแก่บุตรธิดา มารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาไม่อาจจะฆ่าเองหรือยอมให้ใครฆ่าบุตรธิดาของตนได้ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เพราะทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติศีลข้อ ๑
เพื่อมิให้เบียดเบียนชีวิตของกันและกัน ด้วยเมตตากรุณา
ฉะนั้น จึงมิใช่ควรเว้นจากการฆ่าสัตว์เพียงอย่างเดียว
ควรเว้นจากการทำร้ายร่างกายกัน และการทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วย


แม้การทำร้ายร่างกายอย่างเล็กๆน้อยๆ ก็ควรเว้น เช่น คนที่โตกว่าชกต่อยข่มเหงคนที่เล็กกว่า พี่รังแกน้อง การทรกรรม คือการทำสัตว์ให้ลำบาก แม้เพื่อเล่นสนุกก็ควรเว้น เช่น เล่นเผาหนูทั้งเป็น ใช้น้ำมันราดตัวให้ชุ่ม จุดไฟ ปล่อยวิ่ง ไฟติดโพลง ไปเป็นการเล่นสนุก ตลอดถึงการเล่นกัดจิ้งหรีดเป็นต้น

สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็เล่นทรกรรมสัตว์ เช่น ชนวัว ชนไก่ เป็นการสนุกบ้าง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น การใช้งานสัตว์จนเกินกำลัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น การใช้งานสัตว์จนเกินกำลัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเหมือนกัน การทำเหล่านี้เป็นการก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น แสดงว่าผู้ทำมีใจขาดเมตตากรุณา ไม่ได้คิดย้อนมาดูตัวว่า ถ้าถูกทำเช่นนั้นบ้างจะเป็นอย่างไร

การเล่นสนุกอีกอย่างหนึ่งของคน คือการล่าสัตว์ในป่าบางคนถือว่าเป็นการฝึกผจญภัย ทำให้ใจกล้า แต่ก็ผจญอย่างเอาเปรียบ เพราะใช้อาวุธ และหลบอยู่บนต้นไม้หรือในที่กำบัง และสัตว์มากชนิดไม่มีทางจะต่อสู้ด้วยเลย

สัตว์บางชนิดยังไม่คุ้นกับความมีใจดำอำมหิตของคน เห็นคนเข้าก็คงไม่คิดว่าเป็นเพชฌฆาต รีรอมองดูอย่างทึ่ง สงสัยว่าคนคงเป็นเพื่อนสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น จึงถูกยิงอย่างสะดวก

บางสัตว์ที่ถูกยิงเป็นแม่มีลูกอ่อนติดตาม ครั้นถูกยิงแล้วก็พยายามปิดบาดแผล อดกลั้นความเจ็บปวดมิให้ลูกเห็น แสดงอาการเศร้าโศก และแสดงความรักอาลัยลูกอย่างสุดซึ้ง แล้วก็ตกลงมาตาย

คนที่ยิงแม้ทีแรกจะไม่คิดอะไร ครั้นเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นสายตาสัตว์ผู้แม้ที่มองตนอย่างละห้อยเหมือนจะถามสาเหตุ เกิดสงสารสังเวชจนเลิกการล่าสัตว์ตั้งแต่บัดนั้นก็มี


บางทีในฤดูแล้ง สัตว์ป่าจำต้องกระเสือกกระสนมาดื่มน้ำในสระ ที่มีคนไปคอยดักยิงอยู่ แม้น่าจะรู้ว่ามีภัยก็ต้องมาเพราะความระหายน้ำ แล้วถูกยิงอย่างยอมให้ยิง การยิงสัตว์เป็นการกีฬาในคราวสัตว์เผชิญทุกข์เช่นนี้ เป็นการแสดงความโหดร้ายยิ่งนัก

ผู้ที่มีใจอำมหิตโหดร้ายนี้แหละ คือยักษ์ในหมู่มนุษย์และในหมู่ดิรัจฉาน ผู้ใช้ความคิดให้ถูกต้องสักหน่อย จักทำอย่างนั้นไม่ได้เลย ในฐานะนับถือพระพุทธเจ้าก็ยิ่งไม่ควรทำ

พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้นึกเปรียบเทียบระหว่างตัวเรา กับผู้อื่นสัตว์อื่นว่า ต่างรักชีวิตกลัวตายเหมือนกัน แล้วควรเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน ควรปลูกเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

มิใช่แต่การฆ่าสัตว์มีชีวิตอื่นเท่านั้น ถึงการฆ่าตัวเองตายที่เรียกว่า อัตวินับาตกรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามมิให้ทำการฆ่าตัวเป็นการแสดงความอับจน พ่ายแพ้ หมดทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว

เมื่อฆ่าตัวก็เป็นการทำลายตัว เมื่อทำลายตัว ก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกๆอย่างที่จะพึงได้ในชีวิต ในบางหมู่เห็นว่า การฆ่าตัวในบางกรณี เป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า เป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์

เรียกผู้ที่ทำว่า โมฆบุคคล คือ คนเปล่า เท่ากับว่าตายไป เปล่าๆ ควรจะอยู่ทำอะไร ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ก็หมดโอกาสเสียแล้ว ตรงกับคำที่พูดกันว่าเสียไปเสียแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้สงวนรักษาตนให้ดีตลอดเวลาทั้งปวงทรงห้ามมิให้มอบตนให้แก่ใคร และไม่ให้ฆ่าตัวเอง เช่นเดียวกับมิให้ฆ่าสัตว์อื่น โดยปกติคนทุกคนรักชีวิต รักตนเอง กลัวตาย แต่เพราะเหตุบางอย่างบางครั้ง อาจเกิดการคิดสละชีวิต

ก็เมื่อเกิดความคิดเช่นนั้นขึ้นได้ ไฉนจะทำให้เกิดความคิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นไม่ได้ คือคิดอยู่ต่อไป เว้นไว้แต่จะแพ้แก่ความคิด แพ้แก่ใจตนเอง ฉะนั้น เมื่อมีสติระวังมิให้เป็นผู้พ่ายแพ้ อย่างหมดประตูเช่นนั้น แต่ให้เป็นผู้ชนะตนเอง ชนะใจตนเองได้แล้ว จะไม่ก่อกรรมนั้นให้แก่ตนได้เลย

ธรรมคู่กับศีลข้อ ๑ คือ
เมตตา กรุณา เป็นกัลยาณธรรม ธรรมที่งาม


หรือธรรมที่ทำให้เป็นกัลยาณชนคนงาม เมตตากรุณานี้ เป็นมูลฐานให้เกิดศีลข้อที่ ๑ และทำให้จิตใจงามเป็นเหตุก่อการกระทำเกื้อกูลขึ้นอีก ดังเช่น ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยมี ศีลและเกื้อกูลสัตว์ด้วยมีธรรม คือ ความเมตตากรุณา

การไม่เกื้อกูลใคร ไม่ทำให้เสียศีล เพราะไม่ได้ฆ่าใคร แต่ขาดธรรมคือกรุณา ฉะนั้น จึงควรปลูกเมตตากรุณา ให้มีคู่ไปกับศีล

เมตตา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข คำว่าไมตรีจิต หรือมิตรจิต ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา คนที่มีมิตรจิต เรียกว่ามิตร ตรงกันข้ามกับศัตรูหรือไพรี ซึ่งมีจิตพยาบาทมุ่งร้าย เมตตาจึงตรงข้ามกันกับโทสะพยาบาท

เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ โทสะพยาบาทเป็นเครื่องทำลายล้าง ฉะนั้น เมื่อมีเมตตาต่อกัน ย่อมคิดจะเกื้อกูลกันให้มีความสุข ถึงจะประพฤติผิดพลั้งพลาดต่อกันบ้าง ก็ให้อภัยกันไม่ถือโทษ เหมือนอย่างมารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ไม่ถือโทษด้วยโทสะพยาบาทในบุตรธิดา

แต่ถ้าขาดเมตตาต่อกันแล้ว ก็ตรงกันข้าม สถานและสิ่งของเป็นเครื่องเกื้อกูลที่มีอยู่ทั่วไป เช่น วัด โรงเรียน และศึกษาอบรมต่างๆเป็นต้น ล้วนประกาศเมตตาจิตของผู้จัดตั้งหรือจัดทำ เพื่อให้เกิดสุขประโยชน์แก่คนทั้งหลาย

กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น ก็พลอยหวั่นใจสงสาร เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน กรุณานี้ตรงกันข้ามกับวิหิงสาความเบียดเบียน สิ่งที่เป็นเครื่องช่วยเปลื้อง ช่วยบำบัดทุกข์ภัยทั้งหลาย เช่น โรงพยาบาลเป็นต้น ล้วนประกาศกรุณาของท่านผู้สร้าง

ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยอาศัยความเมตตากรุณาของผู้อื่นมา ตั้งแต่เบื้องต้น คือตั้งต้นแต่บิดา มารดา ญาติมิตรสหาย ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ และรัฐบาล เป็นต้น

ไม่เช่นนั้น ถึงไม่ถูกใครฆ่า ก็ไม่อาจจะดำรงชีวิตอยู่ได้เลยเหมือนอย่างมารดาบิดา ทิ้งทารกไว้เฉยๆ ไม่ถนอมเลี้ยงดู ไม่ต้องทำอะไร ทารกก็จะสิ้นชีวิตไปเอง ฉะนั้น เมื่อทุกๆคน มีชีวิตเจริญมาด้วยความเมตตากรุณาของท่าน ก็ควรปลูกเมตตากรุณาในชีวิตอื่นสืบต่อไป

วิธีปลูกเมตตา คือ คิดตั้งใจปรารถนาให้เขาเป็นสุขนี้เป็นเมตตา และคิดตั้งใจปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์ นี้เป็นกรุณา ทีแรกท่านแนะนำให้คิดไปในตนเองก่อน แล้วให้คิดเจาะจงไปในคนที่รักนับถือ ซึ่งเป็นที่ใกล้ชิดสนิทใจ อันจะหัดให้เกิดเมตตากรุณาได้ง่าย

ครั้นแล้ว ก็หัดคิดไปในคนที่ห่างใจออกไปโดยลำดับ จนในคนที่ไม่ชอบกัน เมื่อหัดคิดโดยเจาะจงได้สะดวกก็หัดคิดแผ่ใจออกไป ด้วยเมตตากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่มีประมาณทุกถ้วนหน้า

เมื่อหัดคิดตั้งใจดังกล่าวบ่อยๆ เมตตากรุณาจะเกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนอย่างหว่านพืชลงไปแล้ว หมั่นปฏิบัติตามวิธีเพราะปลูก เช่นรดน้ำเป็นต้นเนืองๆ พืชก็งอกขึ้นฉะนั้น ฉะนั้น ควรเริ่มเพาะปลูกเมตตากรุณาในพี่ในน้อง ในมารดาบิดา ตลอดถึงในเพื่อนที่ไม่ค่อยชอบเป็นต้น เมื่อพืชคือเมตตากรุณางอกขึ้นแล้ว ตัวเรานี้แหละ จะเป็นสุขก่อนใครหมด

จบ มนุษยธรรมที่ ๑

: มนุษยธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร