วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 10:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือ วันสำคัญของชาวพุทธไทย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในปัจจุบัน


รูปภาพ

วันมาฆบูชา

คำว่า มาฆบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปรารภประชุมใหญ่ของพระสาวก ที่เรียกว่า จาตุรงคนันนิบาต

มาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปูรณมีบูชา หรือมาฆบูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓

วันเพ็ญเดือน ๓ นี้ เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์สี่ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพื่อให้พระสาวกเหล่านั้น มีหลักการร่วมกันในการประกาศพระศาสนา คือ สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น บ้านเมือง และประเทศต่างๆ ทั่วไป

คำว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมพระสาวกซึ่งประกอบด้วยองค์สี่ หรือการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ กล่าวคือ

๑. พระสาวกทั้งหลายที่มาประชุมวันนั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ ได้รับอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

๒. พระสาวกเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ทั้งสิ้น

๓. พระสาวกที่มาประชุมวันนั้น ซึ่งมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

๔. วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เต็มบริบูรณ์

การประชุมครั้งสำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาล ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตนี้ ได้มีขึ้น ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ซึงเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ เริ่มแต่ตะวันบ่ายก่อนค่ำของวันเพ็ญเดือน ๓ ในปีแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือหลังจากวันตรัสรู้ไป ๙ เดือน

การประชุมเช่นนี้ มีครั้งเดียวในศาสนานี้ เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่พระพุทธเจ้าแสดง โอวาทปาติโมกข์

คำว่า โอวาทปาติโมกข์ แปลว่า โอวาทที่เป็นประธาน หรือคำสอนที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึงธรรมที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา สาธุชนนิยมเรียกโอวาทปาติโมกข์นี้ว่าเป็น "หัวใจของพุทธศาสนา"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 10:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความในโอวาทปาติโมกข์ แบ่งออกเป็น ๓ ตอน พระพุทธองค์ตรัสเรียงลำดับต่อกันเป็น ๓ คาถาครึ่ง

คาถาแรกว่า

ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธะทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่ายอดเยี่ยม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น เป็นสมณะไม่ได้

คาถาที่สองว่า

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑
การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส ๑
นี่คือ คำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

คาถาที่สามว่า

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑
ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
นี่คือ คำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 10:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความใน คาถาแรก พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อแสดงหลักการและแนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้สามารถแยกจากลัทธิศาสนาที่พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ

ตอนแรก ที่ตรัสว่า ความอดทน คือทานไว้ ยืนหยัดอยู่ได้ เป็นตบะอย่างยิ่ง พระองค์ตรัสเพื่อแสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญตบะของนักบวชทั้งหลาย ที่นิยมทรมานตนเองด้วยวิธีต่างๆนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการเผาผลาญบาปชนิดที่พระพุทธศาสนายอมรับ

สาระสำคัญของตบะที่พระพุทธเจ้ายอมรับ หรือตบะที่ถูกต้อง ก็คือ ขันติธรรม ความอดทนที่จะดำเนินตามมรรคาที่ถูกต้องไปจนถึงที่สุด มีความเข้มแข็งทนทานอยู่ในใจ ดำรงอยู่ในหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ไม่ระย่อท้องถอย

สิ่งที่จะพึงอดทน ที่สำคัญ คือ

๑. ความเหนื่อยยากลำบากตรากตรำในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงาน รวมทั้งความหนาวร้อน หิวกระหาย และสิ่งรบกวนก่อความไม่สบายต่างๆ

๒. ทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวดเมื่อยล้า ความเสียดยอกระบมบาดเจ็บ ที่เกิดแก่ร่างกายในยามป่วยไข้ เป็นต้น

๓. อาการกิริยาท่าทีวาจาของผู้อื่น ที่กระทบกระทั่งหรือไม่น่าพอใจ เช่น ถ้อยคำที่เขาพูดไม่ดี เป็นต้น

ความอดทน อดกลั้น หรืออดได้ทนได้ หมายถึงการยอมรับได้ต่อสิ่งกระทบกระทั่งหรือไม่สบายฝืนใจเหล่านั้น ไม่ขึ้งเคียดขัดเคือง ไม่แสดงอาการผิดปกติ สามารถดำรงไมตรี คงอยู่ในเมตตา หรือรักษาอาการอันสงบมั่นคงในการทำกิจหรือบำเพ็ญกุศลธรรม ทำความดีงามสืบต่อไป

ในหลายถิ่นและหลายยุคสมัย มนุษย์ทั้งหลายอดไม่ได้ ทนไม่ได้ แม้ต่อการที่มนุษย์กลุ่มอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือ สั่งสอน และปฏิบัติกิจพิธีตามประเพณีนิยมและลัทธิศาสนา รวมทั้งอุดมการณ์ที่แตกต่างจากตน มนุษย์เหล่านั้นไม่สามารถสัมพันธ์กันด้วยวิธีการแห่งปัญญา เช่น พูดจากันด้วยเหตุผล จึงทำให้เกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท ตลอดจนสงครามมากมาย การขาดขันติธรรมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ

หากมนุษย์ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ข้อแรกนี้ ก็จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ในสันติ และมนุษย์แต่ละพวกนั้นก็จะมีโอกาสพัฒนาชีวิตและสังคมของตนไปสู่ความดีงามที่สูงขึ้นไป

ตอนที่สอง ที่ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่า ยอดเยี่ยมนั้น ตรัสเพื่อชี้ชัดลงไปว่า จุดหมายของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน อันได้แก่ ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้ หรือความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ไม่ใช่สวรรค์ ไม่ใช่การเข้ารวมกับพระพรหมผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ตอนที่สาม ที่ตรัสว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว ผู้เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสมณะไม่ได้ นี้ตรัสเพื่อแสดงลักษณะของนักบวชในพระพุทธศาสนา

คือชี้ให้เห็นว่า ความเป็นสมณะหรือนักบวช มิใช่อยู่ที่ประกอบพิธีกรรมเป็นเจ้าพิธี หรืออยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถบันดาลผลให้แก่คนที่อ้อนวอนปรารถนา มิใช่อยู่ที่การบำเพ็ญตบะ ประพฤติเข้มงวด หรือการปลีกตัวออกไปอยู่ในป่าในเขาตัดขาดจากผู้คน มิใช่อยู่การทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยบอกแจ้งข่าวสารและความต้องการระหว่างสวรรค์กับหมู่มนุษย์ แต่อยู่ที่ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ใครๆ มีแต่เมตตากรุณา บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง

พูดสั้นๆว่า นักบวชหรือพระภิกษุสงฆ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา คือเครื่องหมายของความไม่มีภัย เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นปลอดภัย และการชี้นำมรรคาแห่งสันติสุข

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความใน คาถาที่สอง พระพุทธองค์ตรัสสรุปข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมดลง เป็นหลักการสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ไม่ทำบาปทุกอย่าง ได้แก่ ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทุกระดับ ตั้งต้นแต่ประพฤติตามหลักศีล ๕ เช่น ไม่ทำลายชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

๒. ยังกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ บำเพ็ญความดีให้บริบูรณ์ เช่น มีศรัทธา มีเมตตากรุณา ฝึกจิตให้เข็มแข็ง มีสมาธิ มีความเพียร มีสติรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ เป็นต้น

๓. ทำจิตของตนให้ผ่องใส ได้แก่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ให้หลุดพ้นจากกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ซึมเซา เป็นต้น ด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนกิเลส และความทุกข์ครอบงำจิตใจไม่ได้

จำง่ายๆ สั้นๆ ว่า เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์

หลักปฏิบัติที่ตรัสในคาถาที่สองนี้ เป็นทั้งแนวทาง และขอบเขตในการที่พระสาวกทั้งหลายจะไปอบรมสั่งสอนประชาชน ให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา และสอนให้เป็นแนวเดียวกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเผยแผ่

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 11:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความใน คาถาที่สาม พระพุทธองค์ตรัสเพื่อเป็นหลักความประพฤติและการปฏิบัติตน หรือหลักปฏิบัติในการทำงาน สำหรับผู้ที่จะไปประกาศพระศาสนา

หมายความว่า ทรงวางระเบียบในการไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน ว่าผู้สอน ต้องเป็นผู้ไม่กล่าวร้าย ต้องเป็นผู้ไม่ทำร้าย คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกายหรือวาจา มีวจีกรรม และกายกรรมบริสุทธิ์สะอาด พูดและทำด้วยเมตตา กรุณา มีความสำรวมในพระปาติโมกข์ คือประพฤติเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน รู้จักประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งก็ให้สงบสงัดเหมาะแก่สมณะ คือ ต้องไม่เห็นแก่กินแก่นอน และต้องมีใจแน่วแน่เข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ฝึกอบรมจิตใจของตนเองอยู่เสมอ

รวมความว่า ไปทำงานก็ให้ไปทำงานจริงๆ ทำงานเพื่องาน มุ่งประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปหาความสุขสนุกสบาย

เนื้อความ ๓ คาถาของโอวาทปาติโมกข์นี้ แสดงให้เห็นวิธีสั่งงานของพระพุทธเจ้า การที่พระองค์ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนานั้น ก็คือพระองค์ส่งพระสาวกให้ไปทำงาน

ความจริง พระองค์เคยส่งพระสาวกออกไปแล้ว ๒ รุ่น รุ่นแรก เป็นพระอรหันต์ล้วน มีจำนวน ๖๐ องค์ รุ่นที่สอง เป็นพระอริยบุคคลชั้นเสขภูมิ คือ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ มีจำนวน ๓๐ องค์

ทั้งหมดนั้น พระองค์ส่งไปอย่างธรรมดา คือ ตรัสสั่งเพียงว่า "จงจาริกไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์และความสุขของพหูชน" และลงท้ายว่า "ด้วยเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก" มิได้มีพิธีการพิเศษแต่อย่างใด

แต่ในการซักซ้อมงานคราวนี้ พระสาวกมีจำนวนมากถึง ๑๒๕๐ องค์ ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่และครั้งสำคัญ พระองค์ จึงสั่งงานหรือนัดหมายงานอย่างชัดเจน และละเอียดถี่ถ้วน พระองค์สั่งงานอย่างนี้ ศาสนาของพระองค์จึงแพร่หลายไพศาลอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนอยู่อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 11:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสั่งสอน เพราะในการสั่งงานนั้น ถ้าผู้สั่ง สั่งให้ชัดลงไปว่า ทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ดังนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมปฏิบัติสะดวก และงานก็จะสำเร็จเป็นผลดีตามความมุ่งหมายเสมอ

โดยเหตุที่พระพุทธเจ้า ประทานโอวาทปาติโมกข์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ฉะนั้น วันเพ็ญเดือน ๓ จึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธเจ้า เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจัดทำพิธีสักการบูชาเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า มาฆบูชา

เมื่อถึงวันมาฆบูชา ในตอนเช้า นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรตามปรกติแล้ว สาธุชนอาจรับอุโบสถศีล และฟังเทศน์ตามวัดที่ใกล้เคียงหรือคุ้นเคย

ในตอนค่ำ นำธูป เทียน ดอกไม้ ไปประชุมพร้อมกันที่โบสถ์ หรือเจดียสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ทางวัดจัดไว้

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมแล้ว ยืนหันหน้าเข้าหาสิ่งที่เคารพ คือพระประสาน หรือสถูปเจดีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง คฤหัสถ์ทั้งหลาย ยืนถือธูป เทียน ดอกไม้ ประนมมืออยู่ถัดพระสงฆ์ออกไป เมื่อพระภิกษุที่เป็นประธานกล่าวนำคำบูชา ที่ประชุมทั้งหมดว่าตามพร้อมๆ กัน

เมื่อกล่าวคำบูชาเสร็จแล้ว พระสงฆ์เดินนำหน้า เวียนขวารอบพระอุโบสถ หรือพระสถูปเจดีย์ ๓ รอบ ซึ่งเรียกว่า เวียนเทียน คฤหัสถ์เดินตามอย่างสงบ

ขณะเวียนรอบแรก ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ
รอบที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ
รอบที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ

ไม่เดินคุยกัน ไม่หยอกล้อกัน หรือแสดงอาการไม่สุภาพอื่นๆ ในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการขาดความเคารพพระรัตนตรัย

เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว เข้าในพระอุโบสถ สวดมนต์ฟังเทศน์ กัณฑ์แรกจะได้ฟังเรื่องจาตุรงคสันนิบาต กัณฑ์ต่อๆ ไป อาจเป็นเรื่องโพธิปักขิยธรรม หรือเรื่องอื่นๆ ที่ทางวัดเห็นสมควร บางวัดมีเทศน์จนตลอดรุ่ง

ข้อที่ควรทำเป็นพิเศษในวันนั้น ก็คือ ควรพิจารณาความหมายของการเว้นชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้เข้าใจชัดเจนลึกซึ้ง แล้วตั้งใจปฏิบัติให้ได้ตามนั้น.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 17:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพื่อให้ได้สาระมากขึ้นอีกขยายความอีกหน่อย
จากหนังสือจาริกบุญ จารึกธรรม หน้า ๑๒๒ (คัดแต่สาระมา)


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 17:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โอวาท ก็คือคำกล่าวสอน ปาฏิโมกข์ แปลว่า ที่เป็นหลัก หรือ เป็นประธาน โอวาทปาฏิโมกข์ จึงแปลว่า คำกล่าวสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน คือคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา

สาระของโอวาทปฏิโมกข์

เรื่องที่จะอธิบายนี้ อย่าเพิ่งถือเป็นเรื่องหนักสมอง เวลาพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็รู้สึกกว่ายากเหมือนกัน แต่ขอให้ฟังผ่านๆไว้ก่อน เดี๋ยวจึงค่อยจี้จุดที่ต้องการให้ฟังอีกทีหนึ่ง

สำดับความว่า ในคาถา ๓ ตอนนั้น

ก) คาถาที่ ๑ ซึ่งเป็นตอนแรกว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ

คาถาแรกนี้ แสดงอไรบ้าง ตอบสั้นๆ ว่า แสดงลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่ต่างจากศาสนาพื้นเดิมที่มีอยู่

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อจะแสดงหลักการของพระพุทธศาสนา จุดแรกก็คือ การแยกออกจากศาสนาเดิม ซึ่งจะเป็นข้อสำคัญที่จะให้ชาวพุทธรู้จักตัวเอง คือ รู้จักหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง มิฉะนั้น เดี๋ยวจะเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเที่ยวปะปนกับลัทธิอื่นๆ

คำสอนข้อแรก บอกว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง

อธิบายว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมานั้น ข้อปฏิบัติสำคัญในศาสนาพื้นเดิมก็คือ เขาชอบบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะนี้ เป็นที่นิยมกันนักหนาว่า เป็นทางที่จะทำให้บรรลุความบริสุทธิ์หลุดพ้น ถึงจุดหมายของศาสนา ศาสนาในยุคนั้นจึงมีการบำเพ็ญตบะกันมาก

พระพุทธเจ้าได้ประทานคำสอนใหม่ว่า การที่มาทรมานร่างกายของคนเองด้วยประการต่างๆ เช่น อดข้าว กลั้นลมหายใจ นอนบนหนาม ลงอาบแช่น้ำในฤดูหนาว ยืนตากอยู่กลางแดดในฤดูร้อน อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่หนางที่จะทำให้ตรัสรู้ได้

ขอให้สังเกตว่า นักบวชเชน แม้แต่สมัยปัจจุบัน ก็ยังใช้วิธีบำเพ็ญตบะอย่าง เช่น จะโกนผม เขาก็ไม่ใช้มีดโกน แต่เขาถอนผมออกมาทีละเส้นๆ

อย่างที่พบ ที่เรียกว่า สาธวี ที่แต่งชุดขาว แล้วมีอะไรปิดที่จมูกหรือปากนั่นน่ะ เป็นนักบวชหญิงของเชน นิกายเศวตัมพร หรือ เสตัมพร แปลว่า นุ่งขาว ห่มขาว

https://www.webindia123.com/religion/image/jains.jpg

ถ้าเป็นอีกนิกายหนึ่ง ก็เรียกว่า ทิคัมพร แปลว่า นุ่งทิศ คือนุ่งลมห่มฟ้า หมายความว่า ไม่นุ่งผ้าเลย

https://dhrammada.files.wordpress.com/2 ... .jpg?w=750

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบำเพ็ญตบะทรมานร่างกาย ไม่ใช่วิถีทางแห่งความหลุดพ้น ที่จะเข้าถึงจึงจุดหมายของศาสนา การที่ตรัสคาถานี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะให้เกิดความรู้เข้าใจลักษณะที่แตกต่างของพระศาสนาตั้งแต่ต้น เริ่มแต่ในด้านวิธีปฏิบัติ พระองค์จึงตรัสแทนใหม่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ขันติ” คือ การอดได้ ทนได้ นี่แหละ เป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะไม่อยู่ที่การทรมานร่างกาย แต่อยู่ที่ขันติ คือ ความอดทน โดยใช้สติปัญญาทำความเพียรด้วยความเข้มแข็งในจิตใจ โดยมุ่งมั่นที่จะทำการนั้นให้สำเร็จด้วยความอดทน อย่างนี้ จึงจะเป็นตบะจริง ไม่ต้องไปเที่ยวทรมานร่างกายของตน
เมื่อตรัสอย่างนี้ ก็เป็นการบอกให้รู้ไปด้วยว่า การบำเพ็ญตบะอย่างที่เขานิยมทำกันนั้น ไม่มีในพระพุทธศาสนา

จากข้อปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ก้าวไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา โดยตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม คือนิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด หรือ เป็นธรรมอย่างยิ่ง ข้อนี้ คือ การแสดงจุดหมายของพระศาสนาว่า ได้แก่ พระนิพพาน ไม่ใช่ลัทธิไปสู่พระพรหมอะไร

สมัยนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า จุดหมายของศาสนาคือพรหมสหัพยตา ได้แก่ ภาวะที่รวมเข้ากับพรหม คำสอนอย่างนี้ท่านคัดค้านในพระสูตร เช่นอย่างเตวิชชสูตร ในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย เป็นต้น ซึ่งพูดถึงเรื่องพราหมณ์ที่พยายามจะเข้าถึงพรหม ไปอยู่ร่วมกับพระพรหมด้วยวิธีต่างๆ แล้วพราหมณ์ก็เถียงกันเองว่า วิธีของใครถูกต้อง

การเข้ารวมกับพระพรหม หรือการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพรหม หรือการเข้าถึงพรหมนั่น เป็นจุดหมายของ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าของเราอุบัติแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เราจะเข้ารวมกับพระพรหมได้ก็ด้วยการสร้างความเป็นพรหมให้มีในตัว หรือทำตัวให้เป็นพรหมหรือให้เหมือนกันกับพรหม ด้วยการเจริญพรหมวิหารธรรม

อย่างไรก็ตาม การเข้ารวมกับพระพรหมก็ยังไม่ใช่อิสรภาพแท้จริง เราสามารถกล่าวเลยกว่านั้นไปอีก และพระองค์ก็ได้ตรัสแสดงจุดหมายของพระพุทธศาสนาว่า ได้แก่ นิพพาน เป็นการบอกให้รู้ขัดไปเลย ไม่ใช่เพียงไปเข้ารวมกับพรหม

ต่อไป สิ่งที่ปรากฏของศาสนาข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ นักบวช ในข้อนี้ เราต้องชัดว่า คนประเภทใด มีลักษณะอย่างไร จัดว่าเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหลักว่า คนที่จะเป็นบรรพชิตนั้น ไม่เป็นผู้ทำร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นผู้ทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ หมายความว่า นักบวช หรือ สมณะ หรือ บรรพชิต มีลักษณะสำคัญอยู่ที่การไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนใคร เป็นผู้ไม่มีภัยมีเวร เป็นแบบอย่างของการนำสังคมไปสู่สันติ

ลักษณะสำคัญของพระภิกษุ หรือความเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่การเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้า กับ มนุษย์ ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ ที่นักบวชทำหน้าที่เป็นสื่อกลางพระพรหม กับ มนุษย์ เป็นตัวแทนของเทพเจ้าหรือของสวรรค์ในโลกมนุษย์ หรือเป็นผู้ผูกขาดพระเวท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เทพเจ้าสูงสุดเปิดเผยแก่พราหมณ์

ความเป็นนักบวช เป็นสมณะ เป็นบรรพชิต ไม่ได้อยู่ที่การเป็นตัวแทนสวรรค์ หรือเป็นเจ้าลัทธิ หรือการมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือการปลีกตัวหลีกหนีสังคมไปเข้าฌานอยู่ในป่า เป็นต้น แต่อยู่ที่การทำสันติให้ปรากฏในชีวิตที่เป็นจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข) คาถาที่ ๒ คือตอนกลาง

เมื่อทรงแสดงหลักและลักษณะสำคัญที่เป็นจุดปรากฏของศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงหลักขั้นปฏิบัติการของพระพุทธศาสนา โดยตรัสต่อไปว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ - กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ - เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ

การไปทำความชั่วทั้งปวง ๑ การทำความดี หรือกุศลให้ถึงพร้อม ๑ การทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์นี้ แต่พระองค์ตรัสว่า พุทฺธานํ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็สอนอย่างนี้หมด

คาถานี้ เป็นคาถาที่ชาวพุทธรู้จักมากที่สุด และพระก็นิยมเอามาย้ำ เพราะเป็นหลักที่จะนำไปปฏิบัติ คาถาที่หนึ่งข้างต้นนั้น แสดงลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนา
ส่วนคาถาที่สองนี้ เป็นคำสอนภาพปฏิบัติเลยว่า คนเราจะต้องทำอะไรบ้าง

๑. ไม่ทำชั่ว

๒. ทำความดี

๓. ทำใจให้ผ่องใส

สามอย่างนี้ จำกันได้ดี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องอธิบายมาก แต่อาจจะย้อนกลับมาพูดอีกทีหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ค) คาถาที่ ๓ (กับครึ่งคาถา) คือตอนท้าย

จากนั้นก็ถึงท่อนที่ ๓ อีกคาถากับครึ่งสุดท้าย เรียกว่าอีกคาถากึง มีว่า

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ


คำสอนส่วนนี้ เป็นท่อนที่ถือกันว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สำหรับพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร คือ เมื่อได้คำสอนที่จะสอนเขาแล้ว ตัวผู้ที่จะสอนเขา หรือนำคำสอนไปเผยแผ่นี้ ควรจะดำเนินชีวิต และมีวัตรปฏิบัติอย่างไร ก็มีหลักว่า

อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย ๑

อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย ๑

พระที่จะไปสอนเขานี่ ต้องเป็นตัวอย่าง ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร

ปาติโมกฺเข จ สํวโร แปลว่า สำรวมตนในปาฏิโมกข์

ปาฏิโมกข์” คือ วินัยแม่บท ได้แก่ ประมวลข้อกำหนดความประพฤติ ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการดำเนินชีวิตของพระภิกษุ เพื่อรักษาแบบแผนหรือมาตรฐานแห่งความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเจริญในไตรสิกขาของพระภิกษุ

ในเรื่องนี้ พระภิกษุจะต้องมีความสำรวมระวัง ตั้งใจที่จะดำรงตนอยู่ในปาฏิโมกข์หรือในศีลแม่บท ที่ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่า ศีล ๒๒๗

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร คือต้องรู้จักกินพอดี หมายความว่า บริโภคด้วยความรู้เข้าใจวัตถุประสงค์โดยใช้ปัญญา มิใช่กินอาหารเพื่อจะเอร็ดอร่อย เพื่อตามใจอยาก ตามใจลิ้น

โดยเฉพาะพระสงฆ์ เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยอาศัยญาติโยมเลี้ยง ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น จะต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เป็นอยู่ง่ายๆ ไม่มัววุ่นวายคิดและใช้แรงงานใช้เวลาให้หมดไปกับการแสวงหาสิ่งเสพบริโภค ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น ปัจจัย ๔ อื่นก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่มามุ่งหาความสุขสำราญจากเรื่องของวัตถุนั่นเอง

การกินอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ฉะนั้น ท่านจึงจับจุดแรก ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ให้กินด้วยปัญญา ที่รู้คุณค่าที่แท้จริง ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการกิน ว่าเรากินเพื่ออะไร คือ กินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้ใช้ร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ท่านเรียกว่า เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือเพื่อเกื้อหนุนการที่จะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ และจะได้ทำหน้าที่นำธรรมไปสั่งสอนประชาชนได้

นี้คือหลักการที่เรียกว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ รู้จักที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่ใช่มัววุ่นวายออกไปคลุกคลีกับหมู่ชาวบ้าน จนไม่รู้จักหาความสงบ ไม่ปลีกตัวออกไปหาเวลาหาโอกาสพัฒนาจิตใจและปัญญา

พระสงฆ์จะต้องให้เวลาแก่การพัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญาให้มาก เมื่อแสวงหาที่สงัดเป็นที่วิเวกได้แล้ว ก็เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการที่จะพัฒนาจิตใจ ด้วยการเจริญจิตภาวนา แล้วก็ก้าวไปสู่การทำปัญญาภาวนา

จุดสำคัญก็คือ จะต้องมีที่อยู่ที่เหมาะ รู้จักหลีกเร้น นับว่าเป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญ เมื่อจะไปทำงานสั่งสอนหมู่ประชาชน เข้าไปยุ่งกับชาวบ้าน จะต้องไม่ละทิ้งการอยู่ในที่สงัด เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงอยู่ภายใน จะได้ไม่ถูกดูดถูกกลืนเข้าไปในสภาพที่ยุ่งเหยิงของสังคมภายนอก

พระพุทธเจ้าเองทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ พระองค์เสด็จไปสั่งสอนประชาชน ต้องไปยุ่งเกี่ยวเที่ยวเสด็จไปพบคนโน้นคนนี้ ไปโปรดคนโน้นคนนี้ เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้า เป็นชาวนา เป็นอะไรต่างๆ มากมาย แต่พระองค์ก็ไม่ละทิ้งความสงัด พอได้โอกาสพระองค์ก็เสด็จไปประทับในที่วิเวก หาความสงบเป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้น จึงไม่ให้ทิ้งข้อปฏิบัตินี้

อธิจิตฺเต จ อาโยโค พอได้ที่สงัดแล้วก็ประกอบในอธิจิต ใส่ใจในการฝึกฝนจิตใจยิ่งขึ้นไป

พระสงฆ์ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้ที่นำประชาชนในการพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา แต่แบบอย่างที่สำคัญของพระ ก็คือเรื่องทางด้านจิตใจ เรื่องคุณธรรม

ในด้านนี้ พระสงฆ์ควรจะให้เขาเห็นแบบอย่างวา เมื่อพระท่านพัฒนา มีจิตใจที่ประณีตงดงามแล้ว ดีอย่างไร ท่านมีคามสุขทางจิตใจ โดยพึ่งพาอาศัยวัตถุน้อย ท่านอยู่ได้อย่างไร มีชีวิตที่เป็นสุขได้อย่างไร เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน

ถ้าพระสงฆ์ไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ คำสอนก็อาจจะได้ผลน้อย

แต่ถ้าพระสงฆ์ดำเนินชีวิตตามหลักที่ว่ามาในคาถากึ่งสุดท้ายนี้ ก็จะเป็นแนวทางและเป็นคติแก่ประชาชน พร้อมกันนั้นก็ทำให้ประชาชนมีความหวัง และมีความศรัทธาเลื่อมใสนต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีต่อไปด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มาฆบูชา ขึ้นมาเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา

ทั้งหมดนี้รวมเป็นสามคาถากึ่ง จัดเป็นสามตอน ขอทวนอีกครั้ง

คาถาที่ ๑ แสดงลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนา ที่เป็นจุดแสดงออกหรือจุดปรากฏ ทางด้านข้อประพฤติปฏิบัติ จุดหมาย รวมทั้งลักษณะของพระสงฆ์ หรือ บรรพชิต

คาถาที่ ๒ กล่าวถึงหลักคำสอน ที่เป็นบทสรุปของภาคปฏิบัติโดยตรง ที่เราเรียกกันว่า หัวใจพระพุทธศาสนา

คาถาที่ ๓ ซึ่งยาวหน่อย แสดงข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของพระภิกษุผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม สั่งสอนประชาชนต่อไป

มีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรชื่อมหาปทานสูตร ในทีฆนิกาย เล่าเรื่องประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ไว้ด้วยในมหาสันนิบาต ก็เลยมีถาถานี้ปรากฏ ๒ แห่ง คือ ในมหาปทานสูตรนั้น กับในคาถาธรรมบท

แต่มีข้อแตกต่างกันนิด คือ มีการสลับคาถา แห่งหนึ่งนั้น (มหาปทานสูตร ที.ม.๑๐/๕๔) เอาคาถา ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขึ้นก่อน แล้วเอาคาถา สพฺพปาปสฺส อกรณํ เป็นคาถาที่สอง

ส่วนอีกแห่งหนึ่ง (คาถาธรรมบท ขุ.ธ.๒๕๘/๒๔) นั้น กลับเอาคาถา สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ ตัวหลักคำสอนขึ้นก่อน แล้วจึงแสดง ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา คือ ลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาเป็นลำดับที่สอง

อย่างไรก็ตาม อย่าไปถือเป็นเรื่องสำคัญเลย ใจความก็ได้เท่ากันนั่นแหละ สลับกันไปสลับกันมา

นี่เป็นความรู้เบื้องต้น สำหรับให้ทราบคร่าวๆ เกี่ยวกับพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าแสดงในวันมาฆปูรณมี ซึ่งบัดนี้เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา

“วันมาฆบูชา” นั้น ไม่ใช่ศัพท์เดิม ในพุทธกาลไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่ามาฆปุณฺณมี เท่านั้นเอง

มาฆปุณฺณมี (เขียนอย่างไทยเป็น มาฆปุรณมี บ้าง มาฆปูรณมี บ้าง มาฆบูรณมี บ้าง) ประกอบเป็นคำในภาษาบาลีตามไวยากรณ์ เป็น มาฆปุณฺณมิยํ แปลว่า ในดิถีเป็นที่เต็มแห่งพระจันทร์ ในเดือนมาฆะ ที่เราเรียกกันว่า เดือน ๓

ต่อมา เรากำหนดให้วันมาฆปุณณมี หรือ วันเพ็ญเดือน ๓ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีการประกอบพิธีบูชาขึ้น ก็เลยเรียกวันนี้ว่า วันมาฆบูชา วันที่มีการบูชาในเดือนมาฆะ ทิ้งคำว่าวันเพ็ญไว้ในฐานที่เข้าใจ การบูชาในเดือนมาฆะ ก็หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ นั่นเอง

วันมาฆะบูชา เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี่เอง คือในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงศึกษาพระคัมภีร์ ศึกษาพระไตรปิฎกมาก ทรงพบเหตุการณ์ครั้งนี้ และทรงมีพระราชดำริเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ น่าจะยกขึ้นมากำหนดเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จึงโปรดให้จัดมีพิธีบูชาขึ้น

สมัยก่อนนี้ ในเมืองไทยเรามีวันวิสาขบูชา เท่านั้น เป็นวันสำคัญ ซึ่งคงจะมีการฉลองกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยามีการฉลองใหญ่ ด้วยการบูชากันทั้งงานหลวงงานราษฎร์ถึง ๓ วัน ๓ คืน ทำกันจริงจังใหญ่โตมาก แต่กาลต่อมา ประเพณีวันวิสาขบูชาก็เลือนรางลงไป โดยเฉพาะอาจเป็นเพราะการศึกสงคราม ตอนปลายยุคกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในหลวงก็ทรงยุ่งกับการสงคราม การที่จะป้องกันข้าศึก การปกป้องบ้านเมือง

พอปรับปรุงประเทศได้ร่มเย็นเป็นสุข มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองมั่นคงแล้ว ก็หันมาเอาพระทัยใส่ในเรื่องทางด้านสันติ และงานในยามที่บ้านเมืองดี ก็จึงฟื้นฟูพระศาสนา รวมทั้งฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาด้วย ให้มีการสมโภชประจำปีถึง ๓ วัน ๓ คืน เป็นการใหญ่ เหมือนในสมัยอยุธยา แต่ต่อมาก็เลือนลางลงไปอีก จนกระทั่งวิสาขบูชาเหลืองานวันเดียว

ในประเทศศีลังกา เขาให้ความสำคัญกับวิสาขบูชามาก มีพิธีใหญ่โตอย่างยิ่ง เขาฉลองกันตั้ง ๑ เดือน จึงเป็นงานใหญ่โตมาก

เป็นอันว่า เมืองไทยเรา เดิมก็มีวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในแง่ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติวนเดียว นอกนั้นมีแต่วันที่เกี่ยวกับวินัย คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปตามคติความเป็นอยู่ของพระสงฆ์

มาในรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้มีพิธีมาฆบูชาเพิ่มขึ้น แล้วก็มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษเสร็จแล้ว ทางคณะสงฆ์เห็นว่าวันแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็เป็นวันสำคัญมาก น่าจะได้กำหนดให้มีพิธีบูชาใหญ่ ทางราชการก็เลยตกลงเห็นชอบกับคณะสงฆ์ ประกาศให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ วัน คือ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันล่าสุด เพิ่มมีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ นี้เอง

นี้เป็นการเล่าถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีในประเทศไทย รู้ไว้อย่างนี้แล้ว จะได้ไม่แปลกใจว่า ในกิจการพุทธศาสนาระหว่างประเทศนั้น เป็นที่รู้จักกันเฉพาะวันวิสาขบูชาเท่านั้น วันอื่นๆ คือ วันมาฆบูชา และอาสาฬหบูชา ประเทศอื่นเขาไม่รู้ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มี.ค. 2018, 08:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
https://www.youtube.com/watch?time_cont ... j3jJoQIWBo


.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร