วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 16:05 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 16:05 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปลุกใจเพื่อผจญมาร
พระธรรมเทศนา
ของ
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์
(พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)


วันที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
เวลา ๒๑.๓๐ น. ถึงเวลา ๒๒.๕๐ น.


:b44: :b44:

คำปรารภ

หนทางแห่งพระพุทธศาสนา เป็นหนทางพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารได้จริงๆ แต่พระยามาราธิราชมีอำนาจครอบงำน้ำใจของเวไนยสัตว์ทั้งหลายไว้ได้ตลอดทั้งไตรภพ

พระพุทธเจ้าเมื่ออุบัติบังเกิดขึ้นในโลกด้วยรูปกายครั้งแรก แล้วทรงระลึกรู้สึกในพระหฤทัยว่ากองทุกข์ครอบงำเวไนยสัตว์ให้ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งพระยามารและเสนามารทั้งปวง ถ้าเราไม่กล้าหาญแสวงหาหนทางแก้ทุกข์เพื่อผจญพระยามารและเสนามารทั้งปวงให้พินาศในครั้งนี้แล้ว สัตว์ในไตรโลกไม่มีใครสามารถกล้าหาญกระทำได้เลย เพราะตกอยู่ในใต้อำเภอพระยามารหมดแล้ว

เนื่องด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงกล้าหาญยิ่งนักเสด็จออกจากศากยะทรงผนวชผจญมารได้ชัยชนะแล้ว และได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ปลุกใจเวไนยสัตว์ให้มีความกล้าหาญต่อสู้พระยามารได้ชัยชนะแล้ว เอาตนพ้นทุกข์ไปได้จำนวนมาก

เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงลับไปนานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายก็นิ่งนอนใจไม่ตื่นตนเสียเลยว่าพระยามารแผ่อำนาจครอบงำตนไว้ในวัฏฏะสงสารอยู่แล้ว

ข้าพเจ้าได้ยกธรรมเทศนาเรื่องนี้ขึ้นแสดงในคราวคณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย มีนายพันเอกพระศรีพิชัยบริบูรณ์ เป็นต้น ได้พร้อมใจกันทำบุญฉลองอายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ของข้าพเจ้า ณ วันอัฏฐมี ดิตถีที่ ๘ ค่ำแห่งกาฬปักษ์เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้อาราธนาให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงคำเทศนาที่ได้แสดงไปแล้วนี้ขึ้น เพื่อพิมพ์แจกเป็นธรรมทานทั่วๆ ไป

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2019, 18:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุทเทศคาถา

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ จบ

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฐงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยายฯ

พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ จาติ นานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต อญฺญมญฺญา วิโยคาว เอกีภูตมฺปนตฺถโตฯ

ทุรงฺคมํ เอกจรํ อสริรํ คูหาสยํ เยจิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺ ขนฺติ มารพนฺธนาฯ


เริ่มต้นธรรมเทศนา

อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องเป็นลำดับมาแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระมหากรุณาตรัสเทศนาไว้แล้ว ตั้งแต่กาลปางก่อนตลอดมา ยังมิได้เสื่อมสูญอันตรธานไป

บัดนี้จักได้แสดงธรรมมิกถา พรรณนาพระพุทธโอวาทแด่ท่านพุทธบริษัททั้งปวงซึ่งได้มาประชุมสโมสรพร้อมเพรียงกัน ในธรรมสภานี้ล้วนแต่เป็นผู้มุ่งมาหวังเพื่อบำเพ็ญกุศลและฟังซึ่งพระสัทธรรมเทศนา ต้องการประพฤติปฏิบัติตาม ผลที่สุดของการปฏิบัติพระพุทธศาสนานี้ ก็ต้องการเพื่อความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารนั้นเอง

อันการสดับฟังธรรมเทศนานี้ ทุกท่านทุกคนก็เคยได้สดับมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ตลอดการประพฤติปฏิบัติ บางท่านบางคนก็เคยประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ แต่ก็ไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารได้สักที ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุอะไร เพราะการฟังก็เป็นเพียงสักว่าฟังตามโวหาระอรรถาธิบายที่ท่านยกขึ้นมาแสดงให้ฟังเท่านั้น ไม่ได้ตรวจค้นเหตุผลแห่งความจริงอันมีอยู่ที่กาย ที่วาจา ที่จิต ให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ แล้วชำระจิตให้หลุดพ้นพิเศษจากกิเลส หรืออาสวะเสียเมื่อไร ก็ไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารเมื่อนั้น ครั้นเมื่อพวกเราท่านทั้งปวง ไม่พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏะสงสารเช่นนี้ ก็จะถือว่าตนเป็นผู้รู้แล้ว, เห็นแล้ว, เข้าใจแล้ว, ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการไม่ได้เป็นอันขาด เพราะความยึดถือและสำคัญมั่นหมายไปตามความรู้ความเห็น อันนี้เองเรียกว่าอุปาทานขันธ์ จัดว่าเป็นอุปสรรคความขัดข้องแก่ทางมรรค ทางผล ทางสวรรค์นฤพานยิ่งนัก

เพราะฉะนั้นจงตั้งตนตั้งตัวตั้งกายตั้งจิตให้ดี เมื่อมีกังวลอันเนื่องมาแต่กาลก่อนก็ดี หรือกังวลอันจะบังเกิดมีขึ้นในอนาคตกาลเบื้องหน้าก็ดี หรือกังวลอันมีอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันบัดนี้ก็ดี พึงตั้งสติกระทำความกังวลทั้งปวงเหล่านั้นให้เป็นที่ตั้งของสติ ยกจิตขึ้นตั้งไว้เหนือความกังวลทั้งปวง แล้วตั้งสติทำความรู้เท่าจิตและความกังวลทั้งปวงนั้นอยู่ จนความกังวลทั้งปวงเหล่านั้นจะสงบระงับไป จึงใช้กำลังของสติและความรู้พิเศษยิ่งกว่าจิต ทำความกำหนดรู้เท่าจิตของตนอยู่ จนกว่าจิตของตนจะใสบริสุทธิ์นี้เอง ขึ้นตั้งไว้เฉพาะหน้าให้เป็นภาชนะทอง สำหรับเป็นเครื่องรับรองเอาซึ่งอมฤตยะรสวารี ขององค์สมเด็จพระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังจะได้วิสัชชนาไป ณ กาลบัดนี้ ด้วยความเคารพเถิด


ผลพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา

อิธ พุทฺธสาสเน ในพระพุทธศาสนานี้ สํสาเร สํสรนฺตานํ สพฺพทุกฺข วินาสเน เป็นพระพุทธศาสนาที่ยังทุกข์ทั้งปวงแห่งสัตว์ทั้งหลายให้พินาศ มารเสนปฺ ปมทฺทิโน ย่ำยีเสียซึ่งพระยามารและเสนามาร ติภวา มุตฺตกุตฺตมา เป็นพระพุทธศาสนาที่สูงสุด หลุดพ้นจากไตรภพ คือเป็นพระพุทธศาสนาที่ไม่ข้องและไม่ติดอยู่ไตรโลกธาตุนี้ทั้งสิ้น อชาตึ อชรา พฺยาธึ อมต นิพฺพยํ คตา ชื่อว่าเป็นพระพุทธศาสนาที่ยังพุทธบริษัททั้งปวง ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้บรรลุถึงซึ่งอมตะมหานครนฤพานอันไม่มีชาติ, ชรา, มรณะ และหาภัยมิได้

อคฺคมหาวิปาโก ผลวิบากอันเลิศประเสริฐวิเศษยิ่งใหญ่ แห่งพระพุทธศาสนานี้มีผลพิเศษประเสริฐยิ่งนักเหลือที่จะพรรณาจะกล่าวแต่ในที่นี้ เฉพาะแต่ความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารอย่างเดียว อันผลพิเศษแห่งพระพุทธศาสนานี้ไม่ได้มุ่งแต่จะปิดหนทางแห่งอบายภูมิทั้ง ๔ อย่างเดียวเท่านั้น แม้ได้กำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ หรือได้สำเร็จมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ รูปสมบัติ อรูปสมบัติ กล่าวคือได้เป็นท้าวเทพบุตร เป็นนางเทวธิดา เสวยรมย์ชมสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ก็ดี หรือเป็นท้าวมหาพรหมเสวยรมย์สมบัติในรูปาพจรก็ดี อรูปาพจรก็ดี ก็ยังไม่จัดได้ชื่อว่าเป็นความพ้นจากทุกข์ ในวัฏฏะสงสาร คือยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผลพิเศษ แห่งพระพุทธศาสนานี้ทั้งสิ้น

อันคำที่เรียกว่า เป็นผลพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ในที่นี้นั้นประสงค์เอาความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารอย่างเดียว กล่าวคือพ้นจากทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ ด้วย พ้นจากฉกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นด้วย พ้นจากรูปพรหมด้วย อรูปพรหมด้วย กระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์อย่างเดียวเท่านั้น เป็นผลพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาสมกับพระพุทธพจน์ว่า “สพฺพทุกฺข นิสสฺสรณ นิพฺพาน สจฺฉิกรณตฺถาย” แปลว่าการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานี้ก็ดี การประกาศปฏิญาณตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนานี้ก็ดี เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานดับเสียซึ่งนิสสรณะทุกข์ทั้งปวงในวัฏฏะสงสารดังนี้ นี่แลชื่อว่าเป็นผลพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา


ความพ้นจากทุกข์เป็นธรรมสิ้นปรารถนา

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงปรารถนาพระโพธิญาณนาน ๔ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์บ้าง ๘ อสงไขยบ้าง ๑๖ อสงไขยบ้าง ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก พ้นจากทุกข์ทั้งปวงในวัฏฏะสงสารแล้ว ความปรารถนาพร้อมทั้งกองทุกข์กองกิเลสหรืออาสวะทั้งปวงย่อมสิ้นไป ดังนี้เรียกว่าความพ้นจากทุกข์เป็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความปรารถนา เมื่อความปรารถนาพร้อมทั้งกองทุกข์กองกิเลสหรืออาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว ความพ้นจากทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ? สามัญญะมนุษย์พุทธบริษัททั้งปวง ผู้ไม่พ้นจากทุกข์ก็ไม่แลเห็น เรียกว่าเป็นธรรมอันสุขุมละเอียดยิ่งนักพ้นวิสัยของสามัญญะมนุษย์ ผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบจะแลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่ก็เป็นหน้าที่ของสามัญญะมนุษย์ทุกคนจะต้องตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะมีเหตุมีผลอยู่ในตัวของสามัญญะมนุษย์ทุกคนพร้อมแล้ว เว้นแต่ประมาทหรือทอดธุระไม่ตรองตามให้จริงเท่านั้น จึงไม่รู้และไม่เห็นความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ถ้าหากไม่ประมาทและไม่ทอดธุระ อุตสาหะพยายามทำความเพียรตรวจค้นเหตุผลให้ตลอดทุกประการ อย่างไรก็ต้องทำความพ้นทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ให้ปรากฏแจ้งประจักษ์ได้เป็นแน่

สามัญญะมนุษย์ไม่ต้องการพ้นทุกข์

เมื่อกล่าวถึงความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ดูอาการเหมือนสามัญญะมนุษย์ทุกคนเห็นว่าเป็นธรรมชั้นสูงเกินไปจนเหลือวิสัยที่ตนจะทำให้แจ้งได้จึงต่างคนต่างทอดธุระไม่ทำความอุตสาหะและไม่พยายาม ไม่ทำความเพียร ทั้งไม่สนใจในข้อที่จะพึงทำความพ้นจากทุกข์ให้แจ้งประจักษ์ต่อไป ผลที่สุดต่างคนต่างยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจแห่งกองทุกข์กองกิเลสอย่างเดียว ไม่แลเหลียวหาทางพ้นจากทุกข์เสียเลย ใครมีกองทุกข์กองกิเลสอย่างไร ? ก็ถือเอากองทุกข์กองกิเลสอย่างนั้นเป็นของๆ ตน อาศัยความยึดความถือความสำคัญความหมายในกองทุกข์กองกิเลสว่าเป็นตนของตนบ้าง เป็นสมบัติของตนบ้างจึงต้องหวงยิ่งนัก ในกองทุกข์กองกิเลสนั้นๆ กลัวแต่กองทุกข์กองกิเลสจะเสื่อมคลายหายไปจากตนของตน มนุษย์บางจำพวกมียศถาบรรดาศักดิ์สูงใหญ่ ก็ถือเอาซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์สูงใหญ่นั้นว่าเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ของตนจริงๆ และหวงแหนรักษาไว้ซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งนัก กลัวแต่ยศถาบรรดาศักดิ์นั้นจะเสื่อมทรามไปถ่ายเดียว ไม่อยากจะให้เสื่อมทรามเสียเลย มัวเมาเสวยความสุขในยศถาบรรดาศักดิ์ จนลืมเป็นลืมตายลืมกายลืมจิต ครั้นยศถาบรรดาศักดิ์เสื่อมทรามลงก็เสียใจไม่มีที่ไว้จนถึงกับเป็นลมสลบล้มตายลงก็มี

มนุษย์บางจำพวกมีลาภมีรวยมา ก็เพลิดเพลินเสวยความสุขในลาภในรวยของตน จนลืมเป็นลืมตาย ลืมกายลืมจิต ไม่นึกเลยว่าลาภรวยจะเสื่อมสูญอันตรธานไป ครั้นเมื่อลาภเสื่อมสูญอันตรธานไปจริงๆ เล่า ตนจะเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งแก่ตนก็เอาไม่ได้ ผลที่สุดก็ตกทุกข์ได้ยากลำบากรำคาญใจ ไม่มีที่ไว้เลย

มนุษย์บางจำพวกได้รับความยกย่องสรรเสริญจากบุคคลอื่นก็ดีอกดีใจ รื่นเริงบันเทิงยิ่งนัก ครั้นถูกเขาติเตียนนินทา แม้แต่ละคำก็เสียใจไม่มีที่ไว้

มนุษย์บางจำพวกเป็นอยู่ด้วยความสุข บางจำพวกเป็นอยู่ด้วยความทุกข์ เมื่อสรุปรวมใจความแล้ว ทั้งสุขทั้งทุกข์ก็ตกอยู่ในอำนาจแห่งกองทุกข์กองกิเลสอันเดียวกัน ไม่ใช่ความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร เพราะเหตุว่าความสุขทั้งหลาย ก็ไม่อื่นนอกจากสุขเวทนา สงเคราะห์รวมลงได้แก่เวทนาขันธ์อันเดียวกันทั้งหมด เมื่อเวทนาเป็นของไม่เที่ยง สุขทุกข์ทั้งหลายก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาไปตามกัน


อันบุคคลผู้ข้องอยู่ด้วยความียศ, เสื่อมยศ, มีลาภ, เสื่อมลาภ, สรรเสริญ, นินทา, สุขทุกข์ ดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่าเป็นสัตว์โลกซึ่งแปลว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในวัฏฏะดังนี้ ก็พอเหมาะพอดีกับกองทุกข์กองกิเลสที่บุคคลหวงแหน และติดแน่นยิ่งนักจนไม่ต้องการความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร

มนุษย์บางจำพวกหวงแหนซึ่งชีวิตร่างกายของตนยิ่งนักปรารถนาแต่จะทนุบำรุงชีวิตร่างกายของตนให้ยิ่งเป็นสุขอย่างเดียวไม่แลเหลียวดูความทุกข์ของบุคคลอื่น และสัตว์ทั้งหลายอื่นบ้าง จึงแสวงหาเลี้ยงชีวิตในทางไม่ชอบธรรม ฆ่าสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้าบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง กล่าวมุสาวาทบ้าง, ดื่นกินซึ่งสุราเมรัยบ้าง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็เห็นว่าเป็นของรักษายาก จนเหลือวิสัย รักษาไม่ได้ อันการกระทำบาปต่างๆ ซึ่งเป็นของยากก็กลับเห็นว่าเป็นของง่าย ข้อนี้อย่างไร ? อธิบายว่า อันการกระทำบาปทั้งปวงซึ่งบุคคลบางจำพวกเข้าใจว่ากระทำได้โดยง่ายนั้น เป็นความเข้าใจผิด คือการฆ่ามนุษย์หรือฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน แม้แต่ละตัวๆ ก็จะต้องไปทนทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีตกนรกเป็นต้น เสวยทุกขเวทนาไม่น้อยเลย มิหนำซ้ำยังเป็นกรรมเป็นเวรติดตามตนให้เขาฆ่าถึง ๕๐๐ ชาติ การลักของเขาเอามาเป็นของตนผิดกฏหมายของแผ่นดิน ถ้าเจ้าพนักงานจับได้ก็ต้องติดคุกติดตาราง มิหนำซ้ำยังจะต้องตกลงสู่อบายภูมิทั้ง ๔ ต่อไปอีก การประพฤติผิดในกามและกล่าวมุสาวาท ตลอดดื่มกินซึ่งสุราเมรัย ก็ล้วนแต่เป็นโทษติดตามตน การทำให้ตกทุกข์ได้ยากทุกประการ ล้วนติดตามตน การทำให้ตกทุกข์ได้ยากทุกประการ ล้วนเป็นของยากทั้งนั้น จะเข้าใจว่าเป็นของง่ายอย่างไร ?

ความจริงการทำบุญทำกุศล รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นของทำได้ง่ายยิ่งกว่าการกระทำบาปหลายเท่าพันทวี สบายทั้งเวลาทำ ทั้งเวลาได้รับผลก็เป็นสุขสบายอีกด้วย กล่าวคือ การรักษาศีลไม่ต้องทำอะไรในการบาปอกุศลทุกอย่าง ฆ่าสัตว์ก็ไม่ต้องฆ่า ลักของเขาก็ไม่ต้องลัก ประพฤติผิดในกามก็ไม่ต้องประพฤติ กล่าวมุสาวาทก็ไม่ต้องกล่าว ดื่มกินซึ่งสุราเมรัยก็ไม่ต้องดื่ม รักษากาย, วาจา, จิตให้ตั้งอยู่ในความเป็นปกติปราศจากโทษน้อยใหญ่ทั้งปวง กระทำกายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ น้ำใจบริสุทธิ์ เท่านี้ก็เป็นศีลอยู่ดีๆ แล้ว ไม่ต้องลำบากรำคาญเดือดร้อนใจอะไรสักอย่าง ของทำเอาง่ายๆ จะเห็นว่าเป็นของยากไปได้อย่างไร ? ถึงแม้จะยากก็ยากเพราะความเห็นของเรา หวงแหนชีวิตไว้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่อยากทำบุญไม่อยากให้ทาน ไม่อยากรักษาศีล ไม่อยากภาวนา ไม่อยากตั้งใจประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาสืบไป จึงกลายเป็นของยากไป ถ้าหากสละชีวิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว พระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นของยากลำบากและเหลือวิสัยอะไร ทำได้จนเต็มความสามารถของตนทีเดียว

มนุษย์บางจำพวกติดข้องอยู่ในมัจฉริยะ ความตระหนี่หวงแหนเหนียวแน่นยิ่งนักดองมูลอยู่ในสันดานผูกพันธนาการจำจองให้ติดข้องอยู่ในวัฏฏะสงสารตั้งหมื่นชาติแสนชาติ อนันตชาติ หรือตั้งกัปป์ ตั้งกัลป์ ก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้สักที

เพราะความตระหนี่หวงแหนนี้ เป็นกิเลสเกิดขึ้นจากจิต กระทำให้จิตบังเกิดเป็นคนขี้เหนียวหวงแหนสิ่งสาระพัดทั้งปวงทั่วไปในโลกธาตุนี้ทั้งสิ้น เบื้องต้นก็หวงแต่ชีวิตของตนผู้เดียว ต่อมาเมื่อมีภริยาน้ำใจก็กระพือตัวกว้างขวางออกไปหวงแหนเอาซึ่งภริยา ครั้นมีบุตราบุตรี กล่าวคือ มีลูกมีหลานกระพือตัวให้ใหญ่มากขึ้นหวงแหนไว้ซึ่งลูกและหลานของตน ครั้นมีบ้านมีเรือน มีไร่, มีนา, มีทรัพย์, มีสมบัติข้าวของเงินทอง, ช้าง, ม้า, วัว, ควาย, หมู, หมา, เป็ด, ไก่, สัตว์ของเลี้ยงทั้งหลายมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งกระพือใจให้ใหญ่โตกว้างขวางออกไปเท่านั้น หุ้มห่อเอาบ้านเอาเรือน เอาไร่ เอานา, ข้าวของเงินทอง, ช้าง, ม้า, วัว, ควาย, หมู, หมา, เป็ด, ไก่, ด้วยความเข้าใจว่าเป็นของตนจริงๆ และเป็นตน, เป็นตัว, เป็นเรา, เป็นเขา, เป็นหญิง, เป็นชาย, เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ตามสมมติของโลกเรียกกันก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่เมื่อไม่รู้เท่าสมมติแล้ว ก็ชื่อว่าหลงสมมติ จึงจำเป็นต้องถือตน, ถือตัว, ถือเรา, ถือเขา, ถือหญิง, ถือชาย, ถือเด็ก, ถือผู้ใหญ่, และถือดี, ถือชั่ว, ถือผิด, ถือถูก, ถือลูก, ถือหลาน, ถือทรัพย์, ถือสมบัติว่า “มยฺหํๆ ๆ ๆ” แปลว่า ของกูๆ ๆ ลูกกู หลานกู บ้านกู เรือนกู ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองของกู เรือกสวนไร่นาช้าง ม้า วัว ควายของกู กูสร้างขึ้นไว้ กูปลูกขึ้นไว้ กูทำหลักฐานเอาไว้ กูจะให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในโลกตลอดไปสิ้นกาลนาน ชั่วกัลปาวสาน มีลูกมีหลานกูจะให้สืบแทนตระกูลของกู กูไม่ให้เสื่อมสูญอันตรธานพินาศฉิบหายไปได้เลย

เมื่อบุคคลเป็นผู้ลุอำนาจให้แก่มัจฉริยะฝังอยู่ในสันดานจนเป็นเจ้าบ้าน, เจ้าเรือน, ดังนี้ อญาณวฑฺฒิโก ย่อมเป็นผู้ปราศจากปัญญาญาณไม่สามารถจะส่อง เห็นทางนรก, ทางสวรรค์, ทางนิพพาน, จึงไม่ต้องการที่จะบำเพ็ญทานการกุศลในพระพุทธศาสนาต่อไป แม้ใครๆ จะมาชักชวน หรือลูกเต้าหลานเหลนนำเอาทรัพย์สมบัติออกไปทำบุญทำทานไม่ได้เป็นอันขาด ตลอดจนมี นักปราชญ์ อาจารย์ผู้ฉลาดมาเทศนาสั่งสอนให้รู้จักทางนรก ทางสวรรค์ ทางนิพพาน ชี้แจงให้เอาตนพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ก็ไม่เชื่อไม่เลื่อมใสและไม่ต้องการทั้งนั้น กลับบังเกิดมีความผิดอกผิดใจเสียด้วยซ้ำ

อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นชาวเมืองมีความผิดใจให้แก่พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ซึ่งบำเพ็ญพระโพธิญาณมานานถึง ๔ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ ในชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ซึ่งจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในชาติอันเป็นลำดับอยู่แล้ว จึงต้องบำเพ็ญพระบารมีให้เต็มที่ตลอดชาตินับแต่เมื่ออุบัติบังเกิดขึ้นก็บำเพ็ญทางการกุศลตลอดมา ครั้นให้ทานช้างพระที่นั่ง หรือช้างปัจจัยนาเคนทร์ ซึ่งเป็นช้างมิ่งเมืองก็บังเกิดให้มีความผิดอกผิดใจแก่ชาวเมืองทั้งหลาย นำความกราบบังคมทูลแก่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทำการขับไล่พระเวสสันดรออกหนีเสียจากพระนคร พระเวสสันดรผู้บำเพ็ญทานการกุศลก่อสร้างพระบารมีเพื่อความตรัสรู้ และพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ต้องถูกขับไล่ออกหนีจากพระนครไปอยู่ในภูเขาชื่อคีรีวงกฏ ณ ป่าพระหิมพานต์เป็นต้น เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นได้ว่า มัจฉริยะความตระหนี่หวงแหนผิดอกผิดใจในการทำบุญให้ทาน เพื่อพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารไม่ได้มีเฉพาะแต่ชาวเมืองกรุงสญชัยแห่งเดียวเท่านั้น

อันสามัญญะมนุษย์ปุถุชนผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ตลอดทั่วทั้งโลกนี้ เมื่อมีมัจฉริยะความตระหนี่หวงแหนดองมูลอยู่ในสันดานเต็มที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องผิดอกผิดใจ ในการทำบุญทำทานการกุศลในพระพุทธศาสนาแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะลุอำนาจให้แก่มัจฉริยะเข้าไปดองสันดานได้อย่างเต็มที่ จนเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนและปกปิดกำบังไม่ให้เห็นทางนรก ทางสวรรค์ ทางนิพพาน ไม่ต้องการความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร จึงไม่บำเพ็ญทานการกุศลในพระพุทธศาสนา สะสมกองทุกข์กองกิเลสหวงแหนซึ่งทรัพย์ทั้งปวงในโลกนี้ หวังจะให้เป็นสมบัติของตนผู้เดียว ไม่นึกเห็นเสียเลยว่าตนเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกสมบัติทั้งปวง ก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมแม้แต่สตางค์หนึ่งก็ไม่ได้ติดมือมา ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตไปเล่าสมบัติทั้งปวงก็ไม่ได้ติดตามไปพร้อม แม้แต่สตางค์หนึ่งก็ไม่ได้ติดมือไป สมบัติเต็มบ้านเต็มเรือน จะเอาติดตามตนไปไม่ได้เป็นอันขาด เงินทองกองแก้วเขาเอาใส่ปากให้ก็ไปทิ้งที่กองไฟ ผลที่สุดได้ผ้าขาวห่อปากหม้อเท่านั้น เพราะเหตุว่าสมบัติทั้งปวงของโลกนี้ก็เป็นสมบัติอันมีอยู่ประจำโลกนี้ ใครจะเอาหนีจากโลกนี้ไปไว้โลกอื่นย่อมเอาไปไม่ได้อยู่เอง เหตุว่าเป็นสมบัติของโลกก็มีน้ำหนักเท่าโลก เป็นสมบัติของแผ่นดินก็มีน้ำหนักเท่าแผ่นดิน

อันมนุษย์ปุถุชนผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ จะหวงแหนไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ดี หรือจะแบกเอาติดตามตนไปก็ดี ถ้าสามารถแบกไปได้ก็ขอเชิญ แต่ถ้าแบกเอาติดตามตนไปไม่ได้ ตนจะต้องเป็นผู้ตายจมอยู่ในพื้นแห่งปฐพีอันนี้ทีเดียว เพราะไม่ถอนมัจฉริยะให้ขาดจากสันดาน จึงต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารตลอดไป “จตฺตาโร มหาภูตา ธาตุโย” พื้นแผ่นดินเป็นรูปเกิดใหญ่ คือธาตุทั้ง ๔ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, ชื่อว่ามหาภูตผีใหญ่ กลืนกินมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นภักษาหารได้ตลอดทั้งโลก โดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นผู้ดีเข็ญใจ กลืนกินได้ทั้งนั้น

นี่แลนักปราชญ์ผู้มีปัญญา พึงพิจารณาให้ได้ความเถิดว่า “พวกเราเป็นผู้หวงแหนซึ่งทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน แต่แผ่นดินก็กลับกลืนกินพวกเราเป็นภักษาหารได้ตามความประสงค์ดังนี้” จะเรียกว่าพวกเรามีปัญญายิ่งกว่าแผ่นดินหรือๆ แผ่นดินมีปัญญายิ่งกว่าพวกเรา ถ้าพวกเรามีปัญญาก็จะต้องหวงแหนทำไม สละมัจฉริยะความตระหนี่หวงแหนออกจากสันดานแล้วบำเพ็ญทานการกุศลประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาเอาตนพ้นจากทุกข์ไปเสีย จะไม่ดีกว่าหวงแหนนั้นอีกหลายเท่าพันทวีเทียวหรือๆ หวงแหนไว้ดีกว่าสละออกจากสันดาน ข้อนี้ก็ควรพิจารณาและวินิจฉัยใจของตนให้ได้ความชัด ถ้าเห็นว่าสละให้ขาดจากสันดานนั้นแหละดีกว่าหวงแหนไว้ ตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังนี้ ก็ควรสละให้ขาดจากสันดานของตนๆ เสีย แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

อันบุคคลผู้ลุอำนาจแก่มัจฉริยะ ความตระหนี่หวงแหนนี้ ไม่ใช่หวงแหนเฉพาะแต่ทรัพย์สมบัติอย่างเดียวเท่านั้น แม้ลูกเต้าหลานเหลนที่เกิดมาร่วมชาติร่วมตระกูลอันเดียวกันก็ยิ่งหวงแหนมากกว่าทรัพย์สมบัติอีกหลายเท่าพันทวี มิได้มีเจตนามุ่งหวังที่จะให้พลัดพรากจากของรักของชอบใจไปห่างไกลจากตนของตนเลย แม้นว่าลูกเต้าหลานเหลนของตนต้องการที่จะบวชในพระพุทธศาสนาก็ไม่อยากให้บวช แต่ถ้าบวชตามธรรมเนียมก็ไม่เป็นไร ถ้าหากบวชเพื่อความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารเล่า บวชแล้วก็จะต้องเข้าป่าเข้าดงเข้าภูเขาไปบำเพ็ญกิจพระพุทธศาสนากระทำพระนิพพานให้แจ้ง ข้อนี้กลับเป็นเหตุให้มีความผิดใจและเสียใจเป็นอันมากเท่ากับลูกตายเสียเมียตายจาก เพราะมีความอาลัยในลูกเต้าหลานเหลนมากไม่อยากจะให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารเสียเลย

อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นพระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชเป็นห่วงในพระราชบุตรและพระราชนัดดายิ่งนัก ไม่ปรารถนาจะให้พระราชบุตรเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์จึงทรงสร้างกำแพงพระนครสูง ๑๘ ศอก และจัดราชบุรุษให้เฝ้าประตูพระนครทั้ง ๔ ด้านๆ ละพันคน แต่ถึงกระนั้นก็ดีก็หาป้องกันไว้ได้ไม่ อำนาจพระบารมีที่ก่อสร้างไว้แล้ว ถึงคราวที่เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์จริงๆ ประตูพระนครก็เปิดเอง พระองค์ทรงเสด็จออกไปได้โดยสะดวก เมื่อเสด็จออกไปแล้วประตูก็ปิดคืนอยู่ตามเดิม ราชบุรุษรักษาประตูทั้งพันคนก็เผอิญนอนหลับหาได้รู้สึกตัวไม่ ผิดพระราชหฤทัยของพระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชยิ่งนัก ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงเสด็จกลับคืนมาโปรดพระประยูรญาติวงศ์ทั้งหลาย พระราหุลราชกุมารหลานรักของพระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชก็เสด็จออกทรงบรรพชาอีกเล่า ก็ยิ่งผิดพระหฤทัยของพระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชมากขึ้นไม่น้อยเลย แต่เหลือวิสัยที่จะต้านทานไว้ไม่ได้แล้ว ก็จำเป็นต้องทรงพระบรมราชานุญาตให้บวชตามประสงค์

อุทาหรณ์ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ความห่วงความอาลัยไม่ได้มีเฉพาะแต่พระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชพระองค์เดียวเท่านั้น อันสามัญญะมนุษย์ปุถุชนผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบที่เกิดมาในโลกนี้ เมื่อยังไม่มีโลกวิทู คือยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในไตรโลกธาตุอยู่ตราบใด ย่อมตกอยู่ในอำนาจแห่งมัจฉริยะความห่วงอาลัยในทรัพย์สมบัติลูกเต้าหลานเหลนของตนอยู่ตราบนั้น อันความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารไม่ต้องการเสียเลย ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง ก็เท่ากันกับแขนซ้ายไม่สู้จะสนใจเท่าใดนัก ถือเสียว่าเป็นกิจเล็กน้อยไม่เป็นกิจส่วนใหญ่ โดยความเต็มใจก็มุ่งแต่จะให้ลูกเต้าหลานเหลนของตนได้ครอบครองฆราวาสเหย้าเรือนดำรงวงศ์สกุลของตนสืบไปอย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือได้แต่งงานให้ลูกเต้าหลานเหลนของตนเมื่อไร จึงเป็นที่แล้วใจของตนเมื่อนั้น ถ้าไม่ได้แต่งงานอยู่ตราบใดก็ให้มีความห่วงความอาลัยในลูกเต้าหลานเหลนของตนอยู่ตราบนั้น ข้อนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในโลกไม่ต้องการความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารเสียเลย ก็ยังไม่แล้วยังต้องผูกพันธนาการจำจองเอาลูกเต้าหลานเหลนและญาติวงศ์พี่น้องของตนไว้ให้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารตลอดไป ไม่ต้องการให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารด้วยกันทั้งนั้น


ตะโมโลโก

การที่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ไม่ต้องการความพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ก็เพราะความมืดเข้าครอบงำสันดานให้เป็นผู้มืดผู้หลงงมงายอยู่ในวัฏฏะสงสารตลอดไป สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ตะโม ตมะ ปรายโน” ซึ่งแปลว่า มืดมาแล้วก็มืดต่อไปอีก อธิบายว่าตนเป็นผู้มืดผู้หลงผู้งมงายเนื่องมาแต่หลายภพอยู่แล้ว เมื่อได้กำเนิดเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็พอดีได้เกิดในโลกที่มืดอำนาจแห่งความมืดของโลกบ้าง กับความมืดที่ดองอยู่ในสันดานของตนบ้าง ทั้ง ๒ ส่วนช่วยกันเข้าครอบงำสันดานของตนให้เป็นผู้มืดมนอนธการยิ่งนัก เมื่อกำจัดความมืดให้ขาดจากสันดานของตนไม่ได้อยู่ตราบใด ตนก็ยังจะต้องเป็นผู้มืดผู้หลงอยู่อย่างนั้นตลอดไป

คำที่ว่า ตะโม โลโก ซึ่งแปลว่า โลกมืด ดังนี้มีอธิบายว่าพื้นแผ่นปฐพี ที่เป็นสถานที่ตั้งแห่งมนุษย์โลกนี้เป็นโลกที่มืด ส่วนที่ปรากฏว่ามีมืดมีแจ้งเป็นธรรมดาอยู่นั้น ก็โดยได้อาศัยรัศมีของพระอาทิตย์บ้าง รัศมีของพระจันทร์และดาวนักขัตฤกษ์ทั้งหลายบ้าง อาศัยแสงไฟบ้าง ส่องโลกนี้ให้แจ้ง เมื่อหมดจากอาทิตย์และแสงเดือนแสงดาวแสงไฟเสียแล้ว โลกนี้ก็มืดผลัดเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้ จึงมีมืดมีแจ้งตลอดมาจนทุกวันนี้

บรรดามนุษย์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มืดอยู่แล้ว เมื่อได้เห็นความมืดความแจ้งของโลก ต่างก็ถือเอาความมืดความแจ้งมาเป็นความสนุกของตน สำหรับเปลี่ยนอิริยาบททั้ง ๔ คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน ประกอบกิจธุระการงานทั้งปวงอยู่ในโลกตลอดไป ถ้าไม่มีมืดมีแจ้งก็ไม่มีความสนุกของมนุษย์ผู้หลงอีกละ เพราะอำนาจอุปาทานที่ถือเอาความมืดความแจ้งของโลกมาทำความสนุกของตนนั้นเอง จึงเป็นเหตุสั่งสมกองทุกข์กองกิเลสให้มากมายใหญ่โตขึ้นจนเต็มโลกเต็มแผ่นดิน จะหนีจากกองทุกข์กองกิเลสก็หนีไม่พ้น จำเป็นก็ต้องถือเอากองทุกข์กองกิเลสเป็นสมบัติของตน เสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลกตลอดไป โดยความสำคัญเข้าใจว่าเป็นความสุขเป็นความสนุกของตนอย่างแน่นหนาถาวรยิ่งนัก จนละไม่ได้ทิ้งไม่ได้วางเสียก็ไม่ได้ตลอดจนวันตาย ครั้นตายไปแล้วก็กลับบังเกิดเป็นคืนมาอีกเล่า เสวยทุกขเวทนาต่อไปอีกเรียกว่า ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสาร คือ เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย อยู่อย่างนั้นไม่สิ้นไม่สุด ไม่พ้นจากทุกข์ได้สักที


มนุษย์มืด ๘ ด้าน

จกฺขุตโม มืดในตา ๒
โสตฺตโม มืดในหู ๒
ฆานตโม มืดในจมูก ๒
ชิวหาตโม มืดในลิ้น ๑
กายตโม มืดในกาย ๑

รวมเป็นมืด ๘ ด้านด้วยกัน “เอกมนตมสํคโห” สงเคราะห์ความมืดทั้ง ๘ ด้าน รวมลงเป็นอันเดียวกัน คือมืดด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้น


อธิบายว่า

ใจดวงเดียวก่อนแต่ยังไม่ได้เกิดเป็นชาติมนุษย์ชื่อว่ายังเป็นสัตว์ปรโลกอยู่ ย่อมมีกิเลสวัฏฏะ และกัมมวัฏฏะดองสันดานกระทำให้มืดมนอนธการมาก่อนแล้ว เมื่อได้กำเนิดเกิดเป็นชาติมนุษย์ขึ้นในโลกนี้ ก็มีวิปากวัฏฏะ คือสภาวธาตุทั้ง ๔ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, ประชุมพร้อมกันเข้าแล้วบังเกิดเป็นร่างกาย มีอวัยวะและอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์ หุ้มห่อปกปิดกำบังดวงใจไว้ไม่ให้เห็นดวงใจของตนๆ อาศัยแต่ช่องตา ๒ ช่องเท่านั้นพอได้ส่องออกมาดูโลกดูแผ่นดิน แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังต้องอาศัยแสงพระอาทิตย์ แสงพระจันทร์ แสงดาวและแสงไฟส่องช่วยถึงจะแลเห็นสิ่งสารพัดทั้งปวงในโลกได้ ถ้าไม่มีแสงตา ๒ ช่องเท่านั้น ก็มืดอย่างคนตาบอดตาจาว

อันความมืดครอบงำน้ำใจของมนุษย์เรามากถึงเพียงนี้อยู่ ก็ไม่แสวงหาหนทางที่จะทำให้แจ้งต่อไปชื่อว่า “ตโม ตม ปรายโน” ตนเป็นผู้มืดมาแล้ว ไม่กำจัดความมืดให้ขาดจากสันดาน ก็ต้องมืดต่อไป บุคคลผู้ใดมารู้สำนึกตนว่าเป็นผู้มืดและไม่ประมาทอุตสาหะและแสวงหาหนทางที่แจ้งกำจัดความมืดให้ขาดจากสันดาน ผู้นั้นชื่อว่า “ตโม โชติ ปรายโน” แปลว่า เป็นผู้มืดมาแล้วก็กระทำให้แจ้งต่อไป

บุคคลใดเป็นผู้มีบุญวาสนามาก มีนิสัยใจคอดี เป็นผู้แจ้งมาบ้างแล้ว แต่ประมาทบุญวาสนาของตนเสีย กระทำตนให้เป็นคนมืดต่อไป บุคคลผู้นั้นชื่อว่า “โชติ ตโม ปรายโน” แปลว่า เป็นผู้แจ้งมาแล้วก็กลับทำตนให้เป็นผู้มืดต่อไป


บุคคลผู้ใดเป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีแก่กล้ามาก นิสัยใจคอดี เป็นผู้แจ้งมาแล้ว และตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม คือ ความเป็นผู้ไม่ประมาทอุตสาหะเจริญความแจ้งไว้ในใจของตนให้มากจนสามารถกระทำพระนิพพานให้แจ้งดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่า “โชติ โชติ ปรายโน” แปลว่า เป็นผู้แจ้งมาแล้วก็กระทำตนให้เป็นผู้แจ้งต่อไป

ความจริงธรรมชาติของจิต เป็นธรรมชาติที่มีปภัสสรคือมีรัศมี เป็นแวววาวแจ้งสว่างอยู่ แล้วแต่กรรมกิเลสสั่งสม พร้อมทั้งวิบากขันธ์หุ้มห่อจึงต้องเป็นผู้มืดมนอนธการท่องเที่ยวอยู่ในโลกสิ้นกาลนานหากาลกำหนดมิได้

การท่องเที่ยวในสงสาร

คำที่เรียกว่า ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารนั้น ไม่เฉพาะแต่อุบัติบังเกิดเป็นมนุษย์จำพวกเดียวทุกคนย่อมได้เป็นสัตว์ในปรโลกมาก่อนแล้ว ตั้งหลายภพหลายชาติทีเดียว ไม่ใช่ชาติหนึ่งชาติเดียวเท่านั้น แต่สามัญญะมนุษย์ ระลึกชาติไม่ได้ ก็เข้าใจว่ามีชาติเดียวเท่านั้น ความจริงได้เกิดมาหลายชาติแล้ว ดังจะบรรยายต่อไปนี้ คือ เบื้องต้นได้เกิดเป็นสัตว์เล็กๆ มาก่อน ต่อมาก็ได้บังเกิดเป็นสัตว์ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับหลายภพหลายชาตินับไม่ถ้วน ครั้นมีบุญวาสนาบารมีจึงได้บังเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อสิ้นชีวิตคือตายจากมนุษย์แล้วก็เป็นสัตว์ปรโลกต่อไปอีกเมื่อกลับจากปรโลกก็มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีก กลับไปกลับมาวนเวียนมาอยู่อย่างนี้เรียกว่าท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสาร

เมื่อเวลาได้มาปฏิสนธิกำเนิดบังเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ หูหนาตามืดไม่แลเห็นสัตว์ในปรโลก แต่เมื่อตายจากมนุษย์ไปเป็นสัตว์ปรโลกแล้วย่อมแลเห็นหมู่มนุษย์ทั้งหลายตามปรารถนา หากว่ากรรมกับกองกิเลสทั้งหลายยังดองอยู่ในสันดานตราบใด ก็หนีไปไม่พ้นต้องกลับมาบังเกิดเป็นมนุษย์ต่อไปอีกอยู่ตราบนั้น

ในการที่ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ และหลงลืมปรโลกเสียก็ดี หรือตายจากมนุษย์ไปเป็นสัตว์ปรโลกแล้ว อาศัยกรรมและกองกิเลสเป็นเครื่องอยู่แก้ไขไม่ได้ดังนี้ก็ดี หรือในเวลาที่เข้าสู่ปฏิสนธิกำเนิดในครรภ์ของมารดาตั้งภพตั้งชาติขึ้นได้ด้วยอาการอย่างไรจำไม่ได้ ระลึกไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนี้ก็ดีชื่อว่า ตะโม เป็นคนมืด มุฬโห เป็นคนหลง ปมาโท เป็นผู้ประมาทลุอำนาจแก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ขึ้นขี่คอและดองอยู่ในสันดานของตนตลอดไป เห็นเหตุให้ตั้งภพตั้งชาติเกิด, แก่, เจ็บ, ตาย ไม่มีที่สิ้นสุดดังนี้ชื่อว่า ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารตลอดไป

นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเข้าใจเถิดว่า การท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสาร ล้วนเป็นผู้มีมูลเหตุดองอยู่ในสันดานด้วยกันทั้งนั้น เมื่อแก้มูลเหตุที่ดองอยู่ในสันดานไม่ได้อยู่ตราบใดก็ไม่พ้นจากบ่วงแห่งมารอยู่ตราบนั้น เมื่อไม่พ้นบ่วงแห่งมารตราบใด ก็ไม่พ้นจากกองทุกข์อยู่ตราบนั้น


มูลเหตุแห่งวัฏฏะ

วัฏฏะสงสารมีมูล ๓ ประการ คือ

๑. กิเลสวัฏฏะ ได้แก่กองกิเลสทั้งหลาย มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น
๒. กัมมวัฏฏะ ได้แก่กรรมทั้งหลาย มีบาปบุญ เป็นต้น
๓. วิปากวัฏฏะ ได้แก่ วิบากขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ

รวมเป็นมูลของวัฏฏะสงสาร ๓ ประการด้วยกัน


สังสาระจักร์

ถ้อยคำสำนวนโวหารที่เรียกว่า สังสาระจักร์ ก็ดี วัฏฏะสงสาร ก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ต่างกันโดยโวหาร แต่เป็นอันเดียวกันโดยเนื้อความ คือเมื่อว่ากันโดยสมมติได้แก่มนุษย์และสัตว์ในปรโลกทุกจำพวก มีสัตว์ในอบายภูมิ ๔ หรือ ฉกามาพจร รูปาพจร อรูปาพจร เป็นต้น เมื่อว่าโดยพระพุทธบัญญัติแล้วได้แก่วิญญาณจิตดวงเดียว ที่ประกอบด้วย รวมคู่ทั้งหลายมีกามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมัตถานุโยค เป็นต้น อันตาเป็นเงื่อนสุด วฏฺฏสงฺสารสฺส แห่งวัฏฏะสงสารเมื่อแสดงโดยสรุปใจความแล้ว ดวงจิตที่หมุนอยู่ไม่หยุด เรียกว่า สังสารจักร์หรือวัฏฏะสงสารก็เรียก เครื่องหมุนของวิญญาณจิตมี ๒ ประการ คือ วิญญาณจิตหมุนไปในกามทั้งหลายเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยคประการหนึ่ง หมุนไปในสิ่งที่เป็นข้าศึกของกามทั้งหลายเรียกว่า อัตตกิลมัตถานุโยคประการหนึ่ง รวม ๒ ประการนี้ และสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า “เทวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา” ซึ่งแปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตตรัสว่าเงื่อนสุดแห่งวัฏฏะสงสาร ๒ ประการ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยคเป็นหีนธรรมต่ำช้าเลวทรามเป็นเหตุตั้งบ้านเรือน เป็นสมบัติของปุถุชน ไม่ใช่สมบัติของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เพราะไม่มีประโยชน์ประการ ๑ อัตตกิลมัตถานุโยค เป็นทุกข์เดือดร้อนไม่ใช่สมบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะไม่มีประโยชน์ประการ ๑ ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นเงื่อนที่สุดของวัฏฏะสงสารดังนี้

พระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรดังที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์ทั้งหลายในปรโลกทุกจำพวก ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารก็ดี ล้วนเป็นผู้ติดข้องอยู่ด้วยกามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมัตถานุโยค ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยกันทุกตัวสัตว์โดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นมนุษย์ก็ตามหรือสัตว์นรกก็ตาม เปรตก็ตาม อสุรกายก็ตาม สัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ตลอดเหล่าเทพเจ้าในฉกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นก็ตาม รูปพรหมก็ตาม อรูปพรหมก็ตาม สุดแล้วแต่ยังตกอยู่ในวัฏฏะสงสารตราบใดก็ได้ชื่อว่ายังเป็นผู้ข้องอยู่ในธรรม ๒ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตราบนั้น

เกจิอาจารย์บางจำพวก ไม่รู้พุทธาธิบาย เข้าใจว่าอัตตกิลมัตถานุโยค ไม่มีในตนด้วยและไม่มีมาก่อนเกิดด้วย พึงมีขึ้นในเวลาปฏิบัติพระพุทธศาสนา เช่น ทุกรกิริยา เป็นต้น หรือนอกจากพระพุทธศาสนา เช่นข้อปฏิบัติผิดของเดียรถีย์นิครณถ์เป็นต้น ในข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ถึงแม้ทำตนให้ลำบากและเปล่าจากประโยชน์ ก็ไม่ใช่เงื่อนสุดของสังสาระจักร์ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อหักสังสาระจักร์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ปฏิบัติผิดก็หักไม่ได้จึงเรียกว่าเปล่าจากประโยชน์ ความจริงคำว่า อัตตกิลมัตถานุโยค โดยพุทธาธิบายไม่ได้หมายเฉพาะข้อปฏิบัติเหล่านี้ หมายเอาตัวสังสาระจักร์ ที่หมุนท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารซึ่งมีมาก่อนเกิดแล้วได้แก่กิเลสวัฏฏะ กัมมะวัฏฏะ วิปากวัฏฏะ ทั้ง ๓ เหล่านี้สงเคราะห์รวมลงมีเงื่อนสุด ๒ อย่างดังที่กล่าวแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ประสงค์ใจความว่า วิญญาณจิตเป็นตัวการคือเป็นตัวแห่งสังสารจักร์ ความรัก ความเกลียด เป็นเงื่อนสุดแห่งสังสารจักร์ อธิบายว่าวิญญาณจิตเมื่อหมุนไปในกามสุขัลลิกานุโยค คือความรักใคร่ชอบใจเป็นกามตัณหา ภวตัณหา แล้วก็เป็นอันท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสารได้ทีเดียว ครั้นหมดจากกามสุขัลลิกานุโยค คือไม่มีความรักใคร่ชอบใจแล้ว ก็เป็นอัตตกิลมัตถานุโยคได้แก่ความเกลียด ไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ ไม่อยากดี ไม่อยากนั่ง ไม่อยากมี เป็นวิภวตัณหา แล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสารได้ตลอดไป

วิธีปฏิบัติหักเสียซึ่งสังสารจักร์นี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า ให้ดำเนินในมัชฌิมปฏิบัติ ได้แก่วิธีทำใจให้เป็นกลาง ไม่ให้แวะเข้าไปหาเงื่อนสุดทั้ง ๒ คือทรงสอนให้เอากามสุขัลลิกานุโยคไว้ข้างขวา เอาอัตตกิลมัตถานุโยคไว้ข้างซ้าย ตั้งจิตไว้ระหว่างกลาง ทำความรู้เท่าส่วนทั้ง ๒ นั้นอยู่จนจิตรวมประชุมในองค์อริยมรรค เป็นอริยมัคคสมังคี มีธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมและมีญาณะ มีปัญญา มีวิชชา มีอาโลกะ บังเกิดขึ้นพร้อมตลอดจนตรัสรู้อริยสัจจะธรรมทั้ง ๔ แจ้งประจักษ์ก็หักสังสาระจักร์ได้ไม่ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสารต่อไป


โลกเป็นอนันตนัย

คำว่า “โลก” มีหลายประเภทยิ่งนักจนเหลือที่จะนับคณนา เป็น อนนฺตํ ปริมาณํ สมกับพระพุทธพจน์ว่า “โลโก อจินฺตโย” ซึ่งแปลว่าโลกเป็นอจินไตยเหลือวิสัยที่สามัญญะมนุษย์จะคิดจะอ่าน และจะนับจะประมาณไม่ถ้วนได้ นอกจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงโลกวิทู ตรัสรู้แจ้งซึ่งโลกแล้ว ไม่มีใครสามารถจะนับจะประมาณได้ มีแต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงโลกวิทูตรัสรู้แจ้งซึ่งโลกพระองค์เดียวเท่านั้นเองฯ จึงจะนับประมาณถ้วนได้เรียกว่า “พุทธอจินฺตโย” ความตรัสรู้เป็นอจินไตย เหลือวิสัยที่สามัญญะมนุษย์จะคิดตาม เหมือนกันกับพระอรหันต์ขีณาสพเจ้าทั้งหลายผู้ได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษแล้ว เข้าสู่ฌานสมาบัติ นับประมาณซึ่งโลกทั้งปวงได้เหมือนกันเรียกว่า “ฌานอจินฺตโย” ฌานสมาบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตยเหลือวิสัยที่สามัญญะมนุษย์จะคิดตามได้

เมื่อสรุปใจความรวมซึ่งโลกทั้งปวงสงเคราะห์มามี ๒ ประการ คือ มนุสสโลกประการ ๑ ปรโลกประการ ๑ รวมเป็น ๒ ประการด้วยกัน

ในมนุสสโลก ได้แก่หมู่มนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพื้นแผ่นปฐพี มีหลายชนิดหลายภาษายิ่งนัก

ในปรโลก จำแนกเป็น ๓ เรียกว่า ไตรโลกธาตุ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก

ในกามโลก จำแนกเป็น ๒ ประการคือ กามทุคติ ๑ กามสุคติ ๑ กามทุคตินั้นได้แก่ อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ สัตว์เดียรัจฉาน ๑ รวมเป็นกามทุคติ ๔ ประการด้วยกัน


กามสุคติ นั้นได้แก่ มนุสสโลก ๑ ฉกามาพจร สวรรค์ ๖ ชั้น ๑ นอกจากนี้ยังมีภุมมะเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา และเทวดาในหมื่นจักรวาล แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล รวมทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้เรียกว่า กามโลก แปลว่า โลกเป็นที่เกิดขึ้นด้วยกามตั้งอยู่ด้วยกามตายไปด้วยกาม คือความรักใคร่ชอบใจยินดีในกิเลสกาม วัตถุกามทั้งปวง

รูปโลก ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ชั้น ซึ่งแปลว่าพรหมทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยรูปฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มีชีวิตตั้งอยู่ด้วยรูปฌานทั้ง ๔ ตายไปด้วยความเสื่อมจากรูปฌาน หรือก้าวล่วงจากรูปฌานทั้ง ๔

อรูปโลก ได้แก่ อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น อันเกิดขึ้นด้วยอรูปฌานทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนะฌาน ๑ วิญญานัญจายตนะฌาน ๑ อากิญจัญญายตนะฌาน ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน ๑ รวมเป็น ๔ ฌานด้วยกัน มีชีวิตตั้งอยู่ได้ด้วยอรูปฌานทั้ง ๔ เหล่านี้ และดับขันธ์สิ้นชีพไปด้วยเสื่อมจากอรูปฌาณทั้ง ๔ เหล่านี้ หรือก้าวล่วงจากอรูปฌานทั้ง ๔ เหล่านี้เสีย

ในไตรโลกธาตุทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ เรียกว่าวัฏฏะสงสาร หรือสังสารจักร์ก็เรียก เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวปวงสัตว์ผู้ไม่พ้นจากทุกข์ คือบุคคลผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งไม่ได้อยู่ตราบใด จะต้องติดข้องอยู่ในวัฏฏะสงสารเหล่านี้ อีกประการหนึ่งในมนุสสโลกนี้ อิธโลก แปลว่าโลกนี้นอกจากมนุสสโลกออกไปท่านเรียกว่า ปรโลก แปลว่าโลกอื่นทั้งหมด สรุปใจความรวมโลกทั้งปวงประชุมอยู่ในเบญจขันธ์ ไม่นอกจากเบญจขันธ์นี้เลย


มารโลก

บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในไตรโลกธาตุนี้ทั้งสิ้น ล้วนเป็นผู้ตกอยู่ในบ่วงแห่งพระยามาร เพราะพระยามาราธิราชได้แผ่อำนาจครอบไตรโลกธาตุไว้แล้ว หวังจะรวบรัดเอาสัตว์ในไตรโลกธาตุทั้งสิ้นให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของตนอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องการที่จะให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏะสงสารได้เลย เครื่องมือของพระยามาราธิราชมี ๕ ประการ คือ กิเลสมารประการ ๑ เทวบุตรมารประการ ๑ ขันธมารประการ ๑ อภิสังขารมารประการ ๑ มัจจุมารประการ ๑ รวมเป็น ๕ ประการด้วยกัน

อธิบายว่า บรรดากองกิเลสทั้งหลายมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานและราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ซึ่งเป็นแดนเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์และเป็นมูลแห่งบาปอกุศล ชื่อว่า กิเลสมาร

บรรดาบุญกุศล และคุณความดีทั้งสิ้นที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ชื่อว่า เทวบุตรมาร

เบญจขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่า ขันธมาร

ภูมิจิตที่ได้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา กระทำจิตให้เป็นไปในรูปฌาน อรูปฌาน เมื่อยังไม่ได้กระทำพระนิพพานให้แจ้งอยู่ตราบใด ก็ชื่อว่าเป็น อภิสังขารมาร อยู่ตราบนั้น

ความแตกทำลายแห่งเบญจขันธ์ ชื่อว่า มัจจุมาร รวมทั้ง ๕ ประการดังที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าบ่วงแห่งพระยามาราธิราช สำหรับเป็นเครื่องผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ให้ติดข้องอยู่ในวัฏฏะสงสาร

มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ต้องตกอยู่ในบ่วงแห่งมารทุกคน มีตกอยู่ในอำนาจกองกิเลสเป็นต้น ชื่อว่าอยู่ในใต้อำนาจแห่งพระยามารด้วยกันทั้งนั้น

พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีและอุบาสก อุบาสิกา ที่ประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาเมื่อไม่พ้นจากบ่วงแห่งมารอยู่ตราบใด ก็ไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารอยู่ตราบนั้น ชื่อว่ายังเป็นลูกศิษย์ของพระยามาราธิราชอยู่นั้นเอง จึงต้องฝ่าฝืนพระธรรมวินัยที่เป็นพระพุทธพจน์เดิมของพระพุทธเจ้า เพราะมารเข้าดลใจ ไม่ใช่เข้าดลใจเฉพาะแต่พระอานนท์ผู้เดียว

พวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ พึงรู้สึกตนเถิดว่า นับแต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว พวกเราทั้งหลายเป็นพุทธบริษัทที่กำพร้าอนาถาหาพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดามาเป็นพุทธบิดาพาดำเนินการปฏิบัติพระพุทธศาสนามิได้ อาศัยแต่พระธรรมวินัยหรือก็เข้าไปอยู่ในตู้ในหีบหมด ครั้นอาศัยแต่พระเถรานุเถระหรือก็ไม่ลงรอยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามพระพุทธพจน์เดิมของพระพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายจึงได้นามชื่อว่า เป็นพุทธบริษัทที่กำพร้าอนาถา เพราะมารเข้าดลใจพระอานนท์เถระเจ้าพุทธอุปฐากไม่ให้อาราธนาพระองค์ไว้ มารได้โอกาสก็อาราธนาให้พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

ความจริงมารไม่ได้เข้าดลใจเฉพาะพระอานนท์เถระเจ้าผู้เดียว พุทธบริษัททั้งหมดที่ไม่ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไว้ ก็เพราะมารเข้าดลใจด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงพ้นจากทุกข์ไปหมดแล้ว


มนุสสโลกเป็นที่ตั้งศาสนาต่างๆ

อิธโลเก ในมนุสสโลกนี้เป็นสถานกลาง คือ เป็นสถานที่รวมแห่งโลกทั้งปวง บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ ก็ดี หรือได้เสวยรมย์ชมสมบัติอยู่ในฉกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นก็ดี ในรูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี ตลอดโลกุตตร คือ พระนิพพานก็ดี ล้วนได้กระทำการบาปอกุศล และบุญกุศล เจริญฌานสมาบัติบำเพ็ญอริยมรรคอริยผลสำเร็จไปจากมนุสสโลกนี้ทั้งสิ้น

เนื่องด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จึงต้องมาอุบัติบังเกิดเป็นมนุษย์ และทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในมนุษย์โลกนี้แห่งเดียวไม่ได้ทรงตรัสรู้ในโลกอื่นและไม่ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในโลกใดโลกหนึ่ง นอกจากมนุสสโลกเลย ต้องได้มาอุบัติตรัสรู้และประดิษฐานพระพุทธศาสนาในมนุสสโลกนี้แห่งเดียว

พราหมัณศาสนา ก็ประดิษฐศาสนาพราหมณ์ลงในมนุสสโลกนี้แห่งเดียวเหมือนกัน คือวัน, เดือน, ปีที่นับกันอยู่ทั่วโลกก็เป็นศาสนาพราหมณ์ ลักษณะทั้งหลายมีอิตถีลักษณะ ปุริสะลักษณะเป็นต้น ก็เป็นศาสนาพราหมณ์ บรรดาดาวนักขัตฤกษ์ทั้งหลายมีพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นต้น ก็เป็นศาสนาพราหมณ์ ตำราหมอดูทั้งสิ้น มีดูเคราะห์ดี เคราะห์ร้ายเป็นต้น ก็เป็นศาสนาพราหมณ์


ศาสนาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอีกมาก คือศาสนาคริสตังก็ดี ศานามหะหมัดก็ดี ศานาถือผีก็ดี ก็ประดิษฐานลงในมนุสสโลกนี้ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อโลกมีหลายนัยดังนี้ จึงได้นามชื่อว่าโลกเป็นอนันตนัยเหลือที่จะนับจะคณนา

บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ที่เกิดมาในมนุสสโลกนี้ต้องโดนศาสนาต่างๆ มีพราหมัณศาสนาเป็นต้นด้วยกันทั้งนั้น ทั้งตกอยู่ในอำนาจแห่งพระยามารด้วย พระพุทธศาสนาจะประดิษฐานลงในโลกได้ง่ายๆ อย่างไร ? ต้องต่อสู้กับศาสนาอื่นๆ ได้ชัยชนะหมดแล้วจึงประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในโลก ดังทรงทรมานชฎิล และกระทำพระยมกปาฏิหาริย์เป็นต้น

เรื่องประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในโลก

พระพุทธศาสนาอุบัติบังเกิดขึ้นในโลกได้จากบุคคลผู้เดียว ไม่ใช่บังเกิดมีขึ้นได้จากมหาชนหมู่มาก เวลาประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในโลกนี้ก็บุคคลผู้เดียว นั้นแหละเป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในโลก ถึงแม้พุทธบริษัทมีจำนวนมาก ก็นับถือและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของบุคคลผู้เดียว ไม่ใช่ถือเอาความเห็นของบุคคลหมู่มาก ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นก่อน และความตรัสรู้นั้นเป็นความตรัสรู้พ้นพิเศษจากความรู้ของสามัญญะมนุษย์ทั่วตลอดทั้งโลก ซึ่งไม่มีใครจะรู้พิเศษยิ่งไปกว่าทั้งบุคคลผู้ตรัสรู้นั้นเป็นผู้พ้นพิเศษจากกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวงในวัฏฏะสงสาร กระทำพระนิพพานให้แจ้งจริงๆ ด้วยแล้ว จึงประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้

ความตรัสรู้ของบุคคลผู้เดียวนั้น อันไม่มีความตรัสรู้อื่นยิ่งไปกว่า ชื่อว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณหรือพระพุทธเจ้าก็เรียก เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นิ่งนอนใจและไม่มุ่งประโยชน์เฉพาะส่วนตัวผู้เดียว ทรงพระอุตสาหะประกาศความตรัสรู้ให้บุคคลผู้อื่นรู้ตาม และบรรลุมรรคผลธรรมวิเศษตามจนกระทำพระนิพพนานให้แจ้งตามได้ด้วย จึงได้นามชื่อว่าพระบรมศาสดาจารย์หรือพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เรียก

พุทธบริษัทในปัจจุบันทุกวันนี้ ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษและกระทำพระนิพพานให้แจ้งไม่ได้ก็เพราะถือลัทธิ และความเห็นของบุคคลหมู่มากเป็นประมาณ ไม่ปฏิบัติตรงต่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว


บัดนี้จะได้อธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งต่อไปว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาจารย์ของเราทั้งหลายได้อุบัติบังเกิดขึ้นในโลก ๒ ครั้ง คือเกิดด้วยรูปกายครั้งหนึ่ง เกิดด้วยนามกายครั้งหนึ่งรวมเป็น ๒ ครั้งด้วยกัน

อธิบายว่า พระองค์เสด็จเข้าสู่ปฏิสนธิกำเนิดในครรภ์พระชนนีมารดา ชื่อนางสิริมหามายาราชเทวี ซึ่งมีพระเจ้าศรีสุทโธทนะมหาราชเป็นพระพุทธบิดาตลอดจนได้ประสูติจากคัพโภทรประเทศแห่งพระพุทธชนนีมารดาถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๔๐ ประการ กับอสีตยานุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ถูกต้องตามคัมภีร์แห่งศาสนาพราหมณ์ทุกประการเป็นสมมติชาติชื่อว่าเกิดด้วยรูปกาย

ความที่พระองค์ยังทรงเสด็จประทับอยู่ในราชตระกูล ชื่อว่า สมมติโคตร พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระบรมกษัตราธิราชแล้ว และอยู่ในกามสุขสมบัติ ชื่อว่า สมมติวาส พระองค์ทรงดำรงวงศ์สกุลของกษัตริย์ไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ ชื่อว่า สมมติวงศ์ พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินให้อยู่เป็นสุขตามประเพณีของกษัตริย์ทั้งหลายชื่อว่า สมมติประเพณี ตลอดจนได้เสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ผจญมารและเสนามารให้พินาศไปและได้ทรงตรัสรู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณระลึกชาติหนหลังได้ดี และได้ทรงตรัสรู้จุตูปปาตญาณหยั่งรู้ทราบชัด จุติปฏิสนธิกำเนิดของสัตว์ทั้งหลายก็ดี ก็ยังไม่ขาดจากสมมติชาติ สมมติโคตร สมมติวาส สมมติวงศ์ สมมติประเพณี

ต่อเมื่อได้ตรัสรู้ อาสวักขยญาณ หยั่งรู้ทราบชัดว่าอาสวะสิ้นไปแล้ว พร้อมทั้งภพและชาติทั้งหลายไม่เกิดและแก่, เจ็บ, ตาย, ต่อไปอีกแล้ว จึงขาดจากสมมติชาติ สมมติโคตร สมมติวาส สมมติวงศ์ สมมติประเพณี ได้อุบัติบังเกิดขึ้นแล้วเป็นพุทธชาติ ชื่อว่าพระองค์ทรงเกิดขึ้นแล้วด้วยนามกายเป็นครั้งที่ ๒

พระองค์ทรงบำเพ็ญความตรัสรู้ให้ยิ่งตามแนวทางของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า พุทธโคตร พระองค์ทรงอยู่อาศัยในความตรัสรู้อย่างเดียวไม่อยู่นอกจากความตรัสรู้ชื่อว่า พุทธวาส พระองค์สืบสันติวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไว้ไม่ให้เสื่อมสูญอันตรธานไปชื่อว่า พุทธวงศ์ พระองค์ทรงบำเพ็ญกิจของพระพุทธเจ้า ๕ ประการ คือ ปุพฺพณฺเหปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าทรงเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์ ๑ สายณฺเหธมฺมเทศนํ เวลาตะวันบ่าย พระองค์ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ๑ ปฐมายาเมภิกฺขุ โอวาโท ในปฐมยามตอนหัวค่ำ นับแต่ย่ำค่ำถึง ๔ ทุ่ม พระองค์ทรงให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ๑ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหานํ เวลาเที่ยงคืนนับแต่ ๕ ทุ่มถึง ๘ ทุ่ม พระองค์ทรงต้อนรับและแก้ปัญหาแก่เหล่าเทพยดาเจ้าทั้งหลาย ๑ ปจฺจุเสวคเตกาเลภพฺพา ภพฺเพวิโลกานํ เวลาปัจจุสมัยจวนใกล้รุ่ง คือนับแต่ ๙ ทุ่มถึงย่ำรุ่ง พระองค์ทรงเข้าฌานสมาบัติพิจารณาดูสัตว์โลกทั้งปวง ให้รู้แจ้งแห่งอุปนิสสัยวาสนาบารมีที่ควรโปรดได้ในวันนั้น ๑ รวมพุทธกิจทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ ชื่อว่า พุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เมื่อพระองค์ทรงถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยพุทธชาติ พุทธโคตร พุทธวาส พุทธวงศ์ พุทธประเพณี ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทรงประกาศประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในโลก ด้วยการประทานพระพุทธโอวาทแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ สามเณร ภิกษุณี สามเณรี พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายให้ปฏิบัติตรงตามหนทางแห่งความตรัสรู้ซึ่งเป็นหนทางเส้นเดียวเรียกว่าทางเอก อันเป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว เพื่อความหมดจดพิเศษของสัตว์ทั้งหลายสมกับพระพุทธพจน์ที่ได้ยกขึ้นไว้เป็น อุทเทศเบื้องต้นว่า “เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฐงฺคมาย ญายสฺสอธิคมาย นิพฺพานสฺสจฺฉิกิริยาย ฯ” ดังนี้ แปลว่า ดูกรพุทธบริษัทผู้เห็นภัยทั้งหลายหนทางแห่งความตรัสรู้นี้เป็นหนทางที่ไปอันเอก (คือเป็นหนทางทำให้จิตเป็นดวงเดียว) เพื่อความหมดจดพิเศษของสัตว์ทั้งหลายเพื่อความก้าวล่วงเสียจากความโศกและความร่ำไร เพื่อความสูญไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อความบรรลุมรรคผลธรรมวิเศษชื่อว่า ญายธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

พระพุทธพจน์นี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้ฝึกหัดทำจิตแห่งกามาพจรทั้ง ๕๔ ดวง ประชุมกันเข้าเป็นจิตดวงเดียวในองค์อริยมรรคสมังคี เป็นเอกจิตเอกมรรค และดำเนินอริยมรรคให้ยิ่งอย่างเดียว ตั้งแต่อริยมรรคอริยผลเบื้องต้นตลอดถึงอริยมรรคอริยผลที่สุด บรรลุถึงซึ่งความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอันเดียว ก็เป็นอันได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษกระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์ได

เมื่อได้บรรลุถึงซึ่งความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระไตรสรณาคมน์คือถึงพร้อมทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในจิตดวงเดียวกันสมกับอุทเทสคาถาตอนที่ ๒ ว่า “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ จาติ นานา โหนฺตมฺปิ วตฺถุโต อญฺญมญฺญา วิโยคาว เอกี ภูตมฺปณตฺถโต” แปลว่าพระรัตนตรัยต่างกันโดยวัตถุว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ แต่เป็นธรรมแห่งเดียวกันโดยเนื้อความดังนี้

พระพุทธพจน์ตอนที่ ๒ นี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้แจ้งว่า พุทโธ คือความตรัสรู้เป็นคุณพิเศษของจิตที่กระทำจิตให้เบิกบาน ธมฺโม คือพระธรรม เป็นคุณพิเศษของจิตที่กระทำจิตให้เที่ยงตรง สงฺโฆ คือพระอริยสงฆ์สาวก เป็นคุณพิเศษของจิต ที่กระทำจิตให้ดำเนินตรงในข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงสรุปใจความได้ว่าจิตดวงเดียวเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อกระทำจิตดวงเดียวให้สิ้นจากอาสวะเสียแล้วก็เป็นที่ประชุมพร้อมแห่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คือมีทั้งความรู้เท่าชื่อว่าพระพุทธเจ้า, มีทั้งความเที่ยงตรงชื่อว่าพระธรรม, มีทั้งข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบชื่อว่าพระอริยสงฆ์สาวก, ของพระพุทธเจ้า

เมื่อกระทำจิตให้พ้นพิเศษจากกิเลส หรืออาสวะทั้งปวงแล้ว ก็พ้นจากบ่วงแห่งมาร สมกับอุทเทศคาถา ตอนที่ ๓ ว่า ทุรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เยติตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนาติ ฯ ความว่าบุคคลผู้ใด สำรวมระวังรักษาไว้ได้ซึ่งจิตอันเป็นของดวงเดียว ไม่มีสรีระ มีถ้ำคูหาเป็นที่อยู่และเดินไกลได้ บุคคลผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมารดังนี้

พระพุทธพจน์ตอนที่ ๓ นี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง ๔ ให้รู้แจ้งว่า โลกนี้แม้เป็นโลกอนันตนัยก็ตาม เป็นโลกอจินไตยก็ตาม เป็นอนนฺตํปริมาณํก็ตาม หรือเป็นที่ประดิษฐานศาสนาต่างๆ มีศาสนาพราหมณ์ก็ตาม พร้อมทั้งพระยามาราธิราชได้แผ่อำนาจครอบไตรโลกธาตุไว้แล้วก็ตาม เมื่อพุทธบริษัทได้มาปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา กระทำจิตของตนๆ ให้สิ้นจากอาสวะได้แล้ว ก็เป็นอันไม่ต้องกลัวเพราะพระพุทธศาสนามีคุณพิเศษตั้งอยู่เหนือโลก เหนือสงสาร เหนือศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด และเหนืออำนาจแห่งพระยามาราธิราชอีกด้วย ต่อแต่นั้นก็เป็นอันผจญมารให้มีชัยชนะได้โดยสะดวกคล่องแคล่วฯ


ธรรมพิเศษ

จิตที่สิ้นอาสวะแล้ว เป็นธรรมพิเศษ ญาณที่หยั่งรู้ทราบชัดว่า “อาสวะสิ้นไปแล้ว” เป็นต้นเรียกว่า “อาสวักขยญาณ” ได้แก่ความรู้พิเศษตั้งอยู่เหนือจิตเหนือสติ จึงสามารถตามรู้จิต รู้สติได้ทุกขณะตลอดไป

จิตตั้งอยู่อย่างไร ? สติที่บุคคลได้ตั้งไว้แล้วตามประคับประคองจิตที่ตั้งอยู่อย่างนั้นทุกขณะเรียกว่า สติปัฏฐาน บุคคลเจริญสตินี้ให้มาก ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐานและมีความรู้อันหนึ่งซึ่งตามรู้ตัว หรือรู้ทั่ว พร้อมอยู่ว่า เวลานี้จิตคิดอยู่อย่างนี้ๆ มีสติตามกำหนดจิตได้อย่างนี้ๆ บุคคลเจริญความรู้อันนี้เรียกว่าเจริญสัมปชัญญะ บุคคลเจริญสติสัมปชัญญะให้มากจนมีความรู้รอบตัว ชื่อว่าเจริญปัญญา บุคคลเจริญปัญญาให้มากจนมีความรู้เท่าตัว รู้เท่าอารมณ์ รู้เท่าสัญญา รู้เท่ากองทุกข์ รู้เท่ากองกิเลส รู้เท่าอาสวะ รู้เท่าจิต รู้เท่าสังขาร ชื่อว่าเจริญพุทธะ

บุคคลเจริญพุทธะให้มาก ย่อมมีอภิญญาณ คือ ความรู้ยิ่งและมีญาณทัสสนะ คือความรู้พิเศษบังเกิดขึ้นพร้อม ระงับดับกองทุกข์กองกิเลสทั้งปวงได้ด้วยการเจริญความรู้ และเห็นตัวผู้รู้แจ้งประจักษ์เป็นปัจจักขสิทธินี้เอง

ขันธ์ ๕ เมื่อสมมติเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคล ชื่อว่าโลกโดยปกติเป็นมาร เมื่อโลกสมมติออกเสียแล้วชื่อว่าบัญญัติเป็นชัยภูมิสำหรับประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือทำความรู้เท่าจนแตกฉานปฏิสัมภิทาญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ชื่อว่าพระพุทธศาสนาล้วนเป็นธรรมพิเศษสำเร็จมาจากการเจริญพุทธะทั้งนั้น

คำอธิบายที่อธิบายมานี้ เป็นอันห้ามเสียซึ่งคำอธิบายของบุคคลผู้ถือลัทธิผิดว่า ถ้ายังรู้อยู่ตราบใดไม่เป็นพระนิพพานอยู่ตราบนั้น คำอธิบายนี้ผิดแท้ไม่ควรถือเอาเพราะเหตุว่าในทางพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เจริญ รู้เท่า รู้ทัน รู้รอบ รู้ยิ่ง รู้พิเศษ ไม่ได้ทรงสั่งสอนให้เจริญความไม่รู้ เช่น อวิชชา เป็นต้น


เรื่องพระไตรสรณาคมน์

ในเรื่องพระไตรสรณาคมน์นี้ พุทธบริษัทมีความเข้าใจไม่ตรงกันคือบางพวกเห็นว่านับถือพระไตรสรณาคมน์แล้วกระทำปฏิสันถารต้อนรับปราศัยกับหมู่มนุษย์, เทวดา, มาร, พรหมไม่ได้ พระไตรสรณาคมน์ขาด บางพวกเห็นว่าไม่ขาด เพราะเป็นการทำความสมานสามัคคีซึ่งกันและกัน ท่านจึงสอนให้เจริญพรหมวิหารต่อกัน ไม่คิดเบียดเบียนกัน ความเข้าใจของพุทธบริษัททั้งสองประเภทนี้ อย่างไรถูกอย่างไรผิด ขอได้โปรดวินิจฉัยให้แจ้งประจักษ์ด้วย

วินิจฉัยว่า ไม่ขาด เพราะเหตุว่าในพระพุทธศาสนานิยมความเคารพในที่ ๖ สถาน คือ เคารพในพระพุทธเจ้า ๑ ในพระธรรม ๑ ในอริยสงฆ์สาวก ๑ เคารพในไตรสิกขา ทั้ง ๓ ประการ ๑ เคารพในความไม่ประมาท ๑ เคารพในการปฏิสันถาร ๑ รวม ๖ ประการด้วยกันฉะนี้

อธิบายว่า การนับถือพระไตรสรณาคมน์มี ๒ ประเภท คือ นับถือโดยสมมติประเภท ๑ นับถือโดยกระทำตนให้เป็นตัวสรณะจริงๆ ประเภท ๑

บุคคลผู้นับถือโดยสมมติ ย่อมมีขาดตกบกพร่องได้ การประกาศปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอุบาสก อุบาสิกา และบรรพชาเป็นสามเณร สามเณรี ตลอดอุปสมบทเป็นภิกษุ ภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเรียกว่าถึงพระไตรสรณาคมน์โดยสมมติด้วยกันทั้งนั้น ยังไม่เที่ยง อาจขาดได้โดยเร็ว ท่านจึงสอนให้รักษาโดยความไม่ประมาท โดยความไม่นับถือศาสนา ถือผี โดยความไม่เข้าใจรีดเดียรถีย์นิครนถ์ มีลัทธิศาสนาอื่นๆ เป็นต้น เว้นแต่ทำการปฏิสันถารต้อนรับกันโดยธรรมวินัยเท่านั้น

ส่วนบุคคลผู้นับถือโดยกระทำตนให้เป็นตัวพระไตรสรณะจริงๆ นั้น เมื่อได้ถึงโดยสมมติแล้วไม่นิ่งนอนใจ รีบเร่งบำเพ็ญข้อปฏิบัติ เจริญความรู้เท่า, รู้ทัน, รู้รอบ, รู้ยิ่ง, รู้พิเศษ, จนแตกฉานปฏิสัมภิทาญาณ รู้แจ้งแทงตลอดในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ กระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปก็เป็นอันได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษ เป็นตัวพุทฺโธ ธฺมโม สงฺโฆ ประชุมพร้อมอยู่ในภูมิจิตนั้นเสร็จแล้ว กระทำการปฏิสันถารต้อนรับปราศัยหมู่มนุษย์, เทวดา, มาร, พรหม, ได้ตามความประสงค์ไม่ขาดจากพระไตรสรณาคมน์ ตัวอย่างพึงเห็นพระพุทธเจ้าทรงกระทำพุทธกิจ ๕ ประการ เฉพาะข้อที่ ๔ ว่า อฑฺฒรตฺเตเทวปญฺหานํ เวลาเที่ยงคืนพระองค์ทรงต้อนรับและแก้ปัญหาของเหล่าเทพยเจ้าทั้งหลายดังกล่าวแล้ว พระไตรสรณาคมน์ไม่รู้จักขาดเลยเพราะเป็นตัวพระไตรสรณาคมน์จริงๆ แล้ว ไม่ประมาทในที่ทั้งปวง

เมื่อท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้สดับโอวาทานุสาสนี คือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้ตรวจตรองพินิจพิจารณา ได้ความจริงแจ้งประจักษ์แล้ว อัปปมาทธรรม คือเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตาม แต่นั้นก็จักได้รับความสุขความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาทุกทิวาราตรีกาล โดยนัยที่แสดงมาด้วยประการฉะนี้ฯ


:b47: :b50: :b47:

•• หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

•• รวมคำสอน “หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43688


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 21:18 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร