วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 13:49 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 13:49 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระธรรมเทศนา
ของ
พระอาจารย์บุญ ชินวํโส

:b50: :b50: คนเราจะดีจะชั่วก็อยู่ที่ใจ

คนเราจะดีจะชั่วก็เนื่องมาจากจิตหรือใจตัวเดียวเท่านั้น
ความจริงแล้ว จิตหรือใจจะเป็นตัวรับรู้สิ่งภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าจะผ่านมาทางอายตนะใด
จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเข้าสู่ใจ (โดยความนึกคิด) โดยตรง
จิตใจจะทำหน้าที่เป็นผู้รับรู้ทั้งสิ้น โดยเหตุที่ จิตรับรู้อารมณ์ได้หลายทางนี้เอง
ถ้าจิตไม่ได้รับการอบรมหรือการฝึกฝนมาดีพอ
เมื่อมากระทบเข้ากับอารมณ์ที่ผ่านมาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง
จิตก็ย่อมแส่ส่าย ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ จึงไม่สามารถทำให้จิตรวมเป็นหนึ่งเดียวได้
เรียกว่า จิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งหมายความว่า จิตไม่เป็นสมาธินั่นเอง
เช่น ตามองไปที่โต๊ะที่มีสิ่งของวางอยู่หลายอย่าง โดยไม่มุ่งหมายเจาะจงดูของสิ่งใด
ก็จะไม่รู้ว่ามีของอะไรอยู่บนโต๊ะบ้าง แต่ถ้าเราจ้องมองดูไปที่ของสิ่งหนึ่งบนโต๊ะนั้น
แล้วพินิจพิจารณาของสิ่งนั้นเพียงสิ่งเดียว ในกรณีเช่นนี้ เราจะมีใจจดจ่ออยู่ที่สิ่งนั้น
จึงเรียกว่า เรามีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์เพียงสิ่งเดียว

ตามปรกติแล้ว คนเราจะมีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน จิตมักจะซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
น้อยคนนักที่จะมีสมาธิอยู่ได้นาน และบุคคลที่มีสมาธิเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้สูงๆ
และมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งอันนี้ก็เป็นผลดีของสมาธิอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
อย่างไรก็ตาม คนที่มีสมาธิดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
แต่หมายถึงว่า เขาสามารถตั้งสมาธิได้ลึกและนานกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
สมาธิที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจดจ่อให้เกิดขึ้นเพื่อขบคิดพิจารณาสิ่งใดนั้น
ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว
หรือเป็นขณะๆ ไปตามแต่จะต้องการใช้ประโยชน์
คนที่มีสมาธิดีก็คือ คนที่สามารถทำให้เวลาของการมีสมาธิอยู่ได้นานกว่า
คนที่มีสมาธิไม่ดี ก็เท่านั้นเอง ระวังจะหลงติดสมาธิ

การทำสมาธิให้เกิดขึ้นมาในจิตใจนี้มีมาแต่ก่อนครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว
และเป็นเรื่องของการทำให้จิตมนุษย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
แต่เนื่องจากสมาธิในระดับสูงที่ได้ฝึกให้เกิดขึ้น
ทำให้ผู้ฝึกมีความสุขและความสงบของจิตใจเป็นอันมากด้วย
จึงมีผู้เข้าใจกันว่าเป็นจุดสุดยอดของการปฏิบัติทางจิตของมนุษย์
แล้วก็หลงติดอยู่กับสมาธิเหล่านั้น

ดังเช่น อุทกดาบสและอาฬารดาบส ผู้เป็นครูของพระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้
ก็เป็นที่เข้าใจผิดเช่นนั้น เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จไปทรงศึกษาด้วย
จนบรรลุฌานสมาบัติขั้นสูงแล้ว ก็ทรงทราบว่านั่นไม่ใช่จุดสุดยอดอย่างแท้จริง
เพราะไม่ใช่เป็นการระงับดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดเป็นการถาวรนั่นเอง
ดังนั้น เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้เสด็จไปทรงค้นคว้าต่อด้วยพระองค์เองจนได้ตรัสรู้มรรค
ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดถาวร

ในมรรคนี้เอง มีอยู่ ๓ ข้อที่เป็นเรื่องการฝึกสมาธิให้เกิดขึ้น
รวมเรียกว่า สมาธิขันธ์ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้น
เพื่อชี้ให้เห็นว่า สมาธิที่พระองค์ทรงนำมาใช้ประโยชน์ในการระงับทุกข์นั้น
ไม่ใช่สมาธิธรรมดาสามัญตามที่เข้าใจกัน หากแต่เป็นสมาธิที่มีลักษณะพิเศษ
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิของพระอริยะอันมีเหตุประกอบ
คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่จิตเป็นอารมณ์เป็นหนึ่ง
ประกอบด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิเป็นไฉน

ภิกษุในวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตก วิจาร สงบไป ไม่มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดังนี้”


:b50: :b50: จิตคล้ายกับน้ำ

จิตที่สะอาดก็เหมือนกับน้ำที่สะอาด จะใช้ทำอะไรก็ได้ จะดื่มจะกินก็ได้ จะนำไปรดต้นไม้ก็ได้
ถ้าน้ำไม่สะอาด เช่น น้ำทะเล จะเอามาดื่มกินก็ไม่ได้ จะนำเอามารดต้นไม้ก็คงไม่ได้อีก
เพราะมันเค็ม มันไม่สะอาด จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ามันไม่สะอาด คือมีกิเลสเป็นเครื่องเจือปน
ทำให้น้ำจิตของเราเป็นไปตามอำนาจของกิเลสแล้ว จะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรก็ไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรหาทางชำระให้ผ่องใส ด้วยการให้ทานรักษาศีล และเจริญภาวนา

การภาวนานั้น เป็นการควบคุมไม่ให้จิตของเราไหลไปตามอารมณ์
เหมือนกับสำลีหรือนุ่นที่มันเป็นของเบาก็ต้องมีอะไรคอยรักษาไว้ มิฉะนั้นก็จะลอยไปตามลม
จิตของเราก็เหมือนกัน เราต้องควบคุมด้วยการภาวนา ตรวจค้นจิตของเรา
โดยการน้อมเข้ามาในตน ทบทวนเข้าหาจิตของเราแล้วตรวจค้นอยู่เสมอ
ให้รู้ผิดรู้ถูก รู้ดีรู้ชั่วของจิต ต้องค้นต้องคิดในสิ่งที่ผิด ในสิ่งที่หลง ในสิ่งที่เมา
ในเมื่อมันเมาในรูปร่างกายของตนก็ให้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อจิตผ่องใสแล้ว เราก็มองเห็นดี มองเห็นชั่ว
มองเห็นบาปบุญคุณโทษ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ชัดเจน

ถ้ากิเลสของเราไม่เบาบางลงไป จิตใจของเราก็ไม่ผ่องใส ก็เท่ากับว่าจิตของเรามันมืด
ท่านจึงเรียกว่าจิตมันมืด จิตมันบอด เพราะไม่สามารถจะมองเห็นความเป็นจริงได้
ด้วยเหตุนี้ สมควรที่เราจะต้องชำระจิตของเราให้สะอาดผ่องใสอยู่เสมอ
เมื่อใจผ่องใสแล้วจะฟังธรรมหรือพิจารณาธรรมข้อใดก็ย่อมได้เหตุผลกระจ่างชัด
ผิดกับเวลาที่ใจเศร้าหมอง จะฟังธรรมหรือจะพิจารณาธรรมข้อใดก็เข้าใจได้ไม่ชัดหรือไม่ลึกซึ้ง

นิสัยที่ไม่ดีของคนเราจะยังมีอยู่ ถ้าทิฐิ การถือตัวยังมีอยู่ในตัวเรา
ฉะนั้น การกำจัดทิฐิให้หมดไปได้ เราจะต้องชำระจิตใจของเราให้บริสุทธิ์
ให้สะอาดผ่องใสขึ้นมาเสียก่อน เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว
ก็ย่อมจะรู้ความจริงของโลกได้อย่างแจ่มชัด
จนถึงขนาดปล่อยวางความยึดถือได้ในที่สุด

การที่พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งโลก ก็เพราะทรงรู้อย่างนั้นเอง
รู้แล้วละได้จนกลายเป็นผู้อยู่เหนือโลกได้ในที่สุด
เราไม่รู้โลก มีแต่หลงโลก เพราะจิตใจของเรายังไม่หยั่งรู้ ยังไม่ลืมตา ยังหลับอยู่ในกิเลสนั่นเอง
การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการทำให้จิตใจของเราตื่นจากการหลับด้วยอำนาจกิเลส
ผู้ที่ตื่นจากกิเลสนิทราแล้ว ได้ชื่อว่า พุทโธ คือ รู้อยู่ รู้สึกอยู่

คนเราต้องรู้สึกตัว ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ระแวดระวังตัวเอาไว้บ้าง ความเสียหายก็อาจจะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยทำความรู้ตัวอยู่เสมอทุกขณะ
และให้มีความคิดระแวดระวังตัวของเราอยู่ทุกวิถีทาง แล้วเราก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญได้
นี่แหละความจริงที่ควรแสวงหาอย่างยิ่ง ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เอง

:b50: :b50: อะไรเป็นธรรม

ถ้าว่าธรรมนั้น อะไรเป็นธรรม สิ่งที่ดีก็กล่าวว่าเป็นธรรม
สิ่งที่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วก็กล่าวว่าธรรม
ดังบาลีว่า กุศลาธมฺมา อกุศลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา ดังนี้
อะไรเป็นธรรม ในธรรมรัตน์แก้ว่า
ความจริงแต่ไม่ดี ก็ไม่เป็นธรรม ความไม่จริงนี้ก็ไม่เป็นธรรม
ความเห็นว่าผลของบุญและบาปไม่มี อธิโลกก็ไม่มี ดังนี้เป็นต้น
ชื่อว่าความไม่ดีไม่จริง ความว่า พระอาทิตย์เป็นของส่องโลก
ให้ความสว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่อาศัยของสัตว์
และการกราบไหว้บูชา ของเหล่านั้น ชื่อว่าความจริงไม่ดี

แต่การปฏิบัติของพวกคนบางพวกนั้น เมื่อเวลาราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในจิต
ก็เห็นว่าราคะ โทสะ โมหะ เป็นของไม่ดี เป็นกิเลส
แล้วชำระจิตของตนให้หลุดพ้นจาก ราคะ โทสะ โมหะ
จิตก็สบาย เบากาย เบาจิตเพราะจิตเราอยู่เหนือราคะ เหนือจากโทสะ และเหนือจากโมหะ

พูดถึงเรื่องกิเลส มันก็อยู่ในจิตใจของเรานี้เอง เหตุฉะนั้น จงทำจิตใจของตนให้รู้เท่าทันต่อกิเลส
ไม่ได้หมายเอาภายนอก คือกิเลสภายในจิต อยู่ที่จิตของเรานี้แหละ
เราพึงชำระจิตให้สะอาดปราศจากความมัวหมองของใจ จึงจะได้รับความสุขกายสุขใจ
สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กณฺห ธมฺม วิปฺปหาย เราควรละธรรมอันดำเสีย
สุกฺก ภาเวถ ปณฺฑิโต ผู้ประพฤติแต่ธรรมอันขาวจึงสมควรได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตและนักปราชญ์
ผู้ประพฤติธรรมนำตนของตนให้พ้นทุกข์ได้ สมกับที่ว่า วิริเย ทุกฺขมจฺเจติ
ผู้ไม่ละความเพียร นำสุขมาให้ บุคคลใดเกียจคร้าน มีแต่นำความทุกข์มาใส่ตนถ่ายเดียว

ด้วยเหตุนี้ เราควรละกิเลสออกจากดวงใจของแต่ละคน อย่าพากันว่ากิเลสเป็นของดี
ที่จริงกิเลสเป็นของเศร้าหมอง ฉะนั้น ให้รู้เท่าทันกิเลสเสีย อย่าเข้าใจผิด
บางคนเข้าใจว่ากิเลสมีอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น มือ เท้า พากันเข้าใจผิดอย่างนี้
ผลที่สุดเข้าใจว่า รูปตรงข้ามกันเป็นกิเลส
ความเห็นอย่างนี้เป็นการเห็นผิดของบุคคลผู้นั้นต่างหาก
ความจริงแล้วกิเลสมันนั่งอยู่ในใจของตนเท่านั้น
เหตุฉะนั้น ควรชำระจิตของตนดีกว่าใส่โทษบุคคลอื่น ใส่โทษตนดีกว่าใส่โทษผู้อื่น
ถ้าตนดี บุคคลอื่นก็ดีไปด้วย กิเลสก็ไม่มี ตัวเราก็สบายทั้งกายทั้งใจ
อย่าพากันประมาทนะ ความตายใกล้เข้ามาทุกขณะๆ ให้รีบทำความดีเสียก่อนตาย
ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่บอกให้เท่านั้นนะ ทำให้ไม่ได้
ให้พากันทำความเพียร อย่าเก่งแต่คุย ต้องทำด้วย เห็นไหมครูบาอาจารย์พากันทำมา
ถ้าอยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ให้ลงมือปฏิบัติกันเดี๋ยวนี้


เอาละ ทีนี้ลงมือลงไม้ปฏิบัติได้แล้ว และในที่สุดนี้ ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่บุญ ชินวํโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=58447


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:22 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร