วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:56 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:57 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก
พระธรรมเทศนา ของ
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)
วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๑

พวกเราทั้งหลายไม่ต้องการความทุกข์ อยากได้ความสุข แต่ก็เนื่องจากภพชาติที่เราเกิดขึ้นมา จิตที่ก่อเกิดมีกิเลสอาสวะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จึงมาหลงในภพในชาติของตน หลงยึดหลงถือในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตัวตนของเรา ว่าเป็นของของเรา สำคัญว่าเราเป็นเบญจขันธ์ เบญจขันธ์เป็นเรา เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นผู้มีความทุกข์ เนื่องจากเรายึดถือในเบญจขันธ์นี้ เพราะเบญจขันธ์เป็นก้อนของความทุกข์

พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงไว้ว่า รูปขันธ์เป็นทุกข์ เวทนาขันธ์เป็นทุกข์ สัญญาขันธ์เป็นทุกข์ สังขารขันธ์เป็นทุกข์ วิญญาณขันธ์เป็นทุกข์ คือมีทุกข์อยู่ ๕ กอง

กองของรูป ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งหมด จะเป็นรูปหยาบรูปละเอียดก็ตาม รูปนั้นประกอบไปด้วยความทุกข์ รูปในอนาคตที่เป็นไปข้างหน้า เป็นรูปที่ประกอบด้วยความทุกข์ รูปในปัจจุบันที่เรามีอยู่ รูปนี้ก็ประกอบด้วยความทุกข์ ไม่ทุกข์แต่รูปของเรา รูปของคนอื่นก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน คือ ต่างคนต่างมี ต่างคนต่างได้มา ต่างคนต่างหลง หลงยึดหลงถือในรูป เมื่อเราหลงยึดหลงถือในรูป รูปนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นผู้มีความเดือดร้อน

เวทนา คือ ความเสวย คือความรู้สึกในการสัมผัสถูกต้อง กายนี้รูปนี้ มีความสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา คือปรากฎเป็นสิ่งที่จิตใจนี้จะต้องรับ คือ รับรู้

สัญญา ความจำ เราก็ไปจำในความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น คือ เราไม่ลืมความจำของเรา เราหมายรู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้ คือความเป็นทุกข์ เราก็ยังจำได้

สังขาร ความคิดที่มีอยู่ในจิตใจของเรา เราปรุง เราแต่งก็ล้วนแต่เกิดความทุกข์ คนคิดปรุงแต่งมากๆ ก็คือคนฟุ้งซ่าน จิตนี้จะต้องเป็นทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ

วิญญาณ ความรู้แจ้งหรือความรู้จัก ก็จึงเป็นทุกข์

สรุปแล้วในเบญจขันธ์ก็คือ มีส่วนรูปและส่วนนาม สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องอาการของจิต ที่จิตมีความรับรู้ ที่จิตรู้สึกสำนึก เมื่อเราหลงในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ถือว่าเป็นของเรา เราจึงเป็นผู้ที่มีความทุกข์ เบญจขันธ์ท่านว่าเป็นภาระอันหนัก เมื่อเราเป็นผู้ยึดผู้ถือของที่เป็นภาระอันหนักนี้ เราก็จะต้องมีความทุกข์ กายนี้เป็นของหนัก ก็มีน้ำหนักอยู่แล้ว ทีนี้จิตเป็นผู้ที่แบกเอาภาระอันนี้ เมื่อจิตเป็นผู้ถือเอาเป็นภาระ จิตก็ต้องเป็นทุกข์

ฉะนั้นท่านจึงให้วางภาระ คือความยึดถือนี้เสีย โดยมาพิจารณาค้นจากความทุกข์นี้ไปหาเหตุแห่งความทุกข์ เพราะเบญจขันธ์จะเกิดขึ้นมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น ก็เนื่องจากมีตัวเหตุ คือตัวเหตุที่ก่อให้เกิดขึ้นมา ก่อเหตุขึ้นมาให้เกิดเป็นรูปเป็นนาม ตัวเหตุนั้นก็คือ ตัวตัณหา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เกิดขึ้นในจิต
กามตัณหา ความทะเยอทะยานอยาก เพราะความรัก ความใคร่ ความยินดี ความพอใจ คือเกิดมาจากความยินดี ความพอใจ ความดีใจ จิตของเราจึงมีความดีใจในรูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสถูกต้อง จึงเรียกว่าเป็นกามตัณหา เมื่อเราชอบใจแล้วเราก็ทะเยอทะยานอยาก อยากได้สิ่งนั้น อันนี้เป็นประเภทของกามตัณหา คือความเพลิดเพลินยินดี จิตที่เป็นไปในกามตัณหา ก็คือความเพลิดเพลินความยินดี ชอบสนุกสนานร่าเริงบันเทิง หรือชอบสบาย เรียกว่าผู้ที่มักง่าย หาแต่ความสบาย จึงเป็นประเภทของกามตัณหา จึงเกิดความโลภความอยากได้ ในสิ่งเราชอบใจพอใจนั้น

ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น อยากมีอันนั้น อยากเป็นอันนี้ สิ่งที่เราต้องการอยากมีอยากเป็นก็ต่อเนื่องมาจากกามตัณหานั้นเอง คือว่ามีอยู่เราก็อยากอยู่อย่างนั้น อยากเป็นอันนั้น เป็นความทะเยอทะยานอยากอันหนึ่ง เรียกว่าเป็นตัณหาได้

วิภวตัณหา ความอยากไม่มีไม่เป็น คือความอยากไม่เป็นนั่นเอง สิ่งใดที่เราไม่ชอบใจ สิ่งนั้นเราก็ไม่ต้องการ ไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่อยากพบไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยินได้ฟัง ไม่อยากรู้ เป็นประเภทของวิภวตัณหา
ที่นี้เราจะต้องค้นลงไปให้รู้ตัวของตัณหานี้ ที่มันปรากฎอยู่ในจิต ตั้งอยู่ที่ใด มีลักษณะอย่างใด เราต้องค้นเข้าไปหาจิต จิตนี้ก็จะเกิดความรู้ขึ้น มองเห็นลักษณะของตัณหาที่มีอยู่ในจิต ว่ามันเป็นลักษณะอย่างนั้นๆ ปรากฏชัดด้วยญาณเครื่องหยั่งรู้ แล้วจึงจะเกิดญาณทัสสนะขึ้น คือความรู้เห็น จิตนี้ก็จะเกิดความผ่องใสขึ้น รู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีความมัวหมอง หมดความสงสัย

เมื่อความรู้แจ้งเกิดขึ้น รู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน อวิชชาก็หมดไปหรือว่าดับไป เหมือนกับเราจุดไฟขึ้นในเวลามืด ความมืดก็หายไปเหลือแต่ความสว่าง

เมื่อจิตนี้สว่าง ย่อมมองเห็น อย่างพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา นับตั้งแต่ จักขํ อุทปาทิ ดวงตาได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณํ อุทปาทิ ความรู้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปญฺญา อุทปาทิ ความฉลาดรอบรู้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชา อุทปาทิ ความรู้แจ้งเห็นจริงได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ สิ่งที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นมาในกาลก่อน เราก็ได้รู้ได้เห็นแล้ว เพราะพระองค์รู้เห็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยรู้สิ่งที่พระองค์ไม่เคยเห็น คือรู้เรื่องของกิเลส รู้ตัณหา รู้แจ้งอวิชชา ซึ่งพระองค์ไม่เคยรู้ในกาลก่อน พระองค์ก็ปฏิบัติมาแต่พระองค์ก็ไม่เคยรู้ แต่บัดนี้พระองค์รู้แล้วว่ากิเลสตัณหาเป็นอย่างนี้ ๆ รู้ตัวมันเท่านั้นมันก็หายไป จึงเรียกว่า นิโรธ คือความดับสนิท นิพพาน คือความรู้แจ้งเห็นจริง พระองค์ได้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วขึ้นในจิตของพระองค์อย่างนั้น จิตของพระองค์จึงหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย ไม่มีเยื่อใยที่จะสงสัยเคลือบแคลง คือหมดความสงสัย ไม่มีความสงสัยอีกต่อไปแล้ว

เมื่อเราตามกำหนดหาต้นเหตุแห่งความทุกข์นี้ หยั่งกำหนดรู้ลงไปในจิตของเรา เราก็จึงจะรู้ นั้นแหละท่านจึงว่า สมลํ ตณฺหํ อพฺพุฬห รู้ถอนตัณหาทั้งมูลราก ก็รู้รากของตัณหาหยั่งลงไปถึงอวิชชา เพราะอวิชชาเป็นมูลรากของตัณหา จะสมมติว่ารื้อถอนก็ได้ เพราะเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ความเกิดอีกไม่มี ท่านอุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ ที่ถอนโคนรากของมันขึ้นหมด มันไม่เกิดอีก ถ้าหากเป็นเพียงแต่ตัดต้นของมัน มันยังมีโอกาสที่จะงอกขึ้นมาอีกได้ เพราะมูลรากของมันยังมีอยู่ เมื่อหมดอำนาจฌานหรือฌานเสื่อม กิเลสก็เกิดขึ้น เพราะกิเลสยังมีอยู่ ฌานจึงอุปมาเหมือนกันกับก้อนหินที่ทับหญ้า ขณะที่ก้อนหินอยู่ หญ้าก็เกิดไม่ได้ แต่เอาก้อนหินออกเมื่อใดหญ้าก็เกิดขึ้นมา ฌาน สมาธิ สมาบัติก็เช่นเดียวกัน กำลังฌานยังมีอยู่ กิเลสทั้งหลายก็ยังไม่กำเริบขึ้นมา ต่อเมื่อเสื่อมฌานหรือหมดอำนาจของฌานเมื่อใด กิเลสก็เกิดขึ้นมาตามเดิม มีอยู่เท่าเดิม คือไม่หมด เป็นแต่เพียงตัดต้นเท่านั้น

ฉะนั้นเราปฏิบัติในเบื้องต้นที่เรียกว่า เราตัดเราถางกันไป เมื่อเราตัดเราถางไปแล้ว เราจึงจะพยายามขุดโคนเอารากเหง้าของมันขึ้นมา นี่แหละการปฏิบัติในทางจิต จึงเป็นการขุดโคนเอารากเหง้าของกิเลสทั้งหลายด้วยปัญญาวิปัสสนาค้นคิดติดตามลงไป เพราะเราทุกข์มาแล้วกี่ภพกี่ชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ เกิดแล้วเกิดอีก ก็หลงเพลิดเพลินอีก ก่อกรรมทำเวรแก่ตัวของเราอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางสิ้นสุด เกิดมาแล้วก็ยังสงสัยในภพในชาติ ก็อย่างโลกเขาสงสัยกันอยู่ ค้นอย่างนั้นค้นอย่างนี้ ตลอดค้นไปถึงดวงดาวอยู่บนท้องฟ้า ก็เพราะสงสัยอยู่นั้นเอง ทั้งที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้มาก่อนหมดแล้ว แต่พวกเกิดมาก็ยังมีกิเลสอยู่ก็มาสงสัยอีก ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ ก็มาคิดสงสัยกันอยู่อย่างนี้แหละ เลยไม่มีทางสิ้นสุด เมื่อจิตนี้ยังมีกิเลสอยู่ทำให้มีความเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วก็มีความสงสัย สงสัยในภพในชาติของตน

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตรตระการตา ซึ่งพวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องไม่ ที่เราติดข้องอยู่ก็คือคนเขลา เป็นคนที่ไม่มีปัญญาเฉลียวฉลาดนั้นเอง ไปหลงใหลสิ่งที่ไม่ควรหลง หาสุขแต่ก็ไปยึดเอาความทุกข์ อยากได้สุขแต่ไปสร้างกรรมที่ให้เกิดความทุกข์แก่ตัวของเรา หาแต่สิ่งที่เป็นกังวลแก่จิตใจของเรา หาแต่สิ่งที่เดือดร้อนจิตใจของเรา เราจึงเป็นผู้ที่เดือดร้อน เดี๋ยวก็เดือดร้อนอย่างนั้นเดี๋ยวเดือดร้อนอย่างนี้ ร้อยแปดพันอย่างที่เราจะต้องเดือดร้อน เดือดร้อนเพราะอำนาจของกิเลสแผดเผาจิตใจของเรา เดือดร้อนเพราะกองทุกข์ที่มีอยู่ในรูปกายของเรานี้แผดเผา เราก็เลยมีความทุกข์ความร้อนอยู่อย่างนั้น แต่ละวันแต่ละคืนเราก็ทุกข์ เย็นมาเราก็ทุกข์ ร้อนมาเราก็ทุกข์ มีความทุกข์อยู่เป็นประจำอยู่ ทั้งที่เรามีความทุกข์ เราก็ยังหลงอยู่ในความทุกข์ สำคัญทุกข์ว่าเป็นสุข สำคัญชั่วว่าเป็นคนดี ก็เนื่องจากเราเป็นผู้ที่หลง

ฉะนั้นให้เรามาพิจารณาใคร่ครวญโดยปัญญาที่รอบคอบ หาเหตุผลค้นคิดติดตาม เพื่อจะได้แก้ความหลงความเมาในภพในชาติของเรานี้ เพราะเราเมามาแล้วไม่ทราบว่ากี่ภพกี่ชาติ หลงมาแล้วเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น ตัณหาจึงได้ชื่อว่าเป็นต้นเหตุที่ให้ก่อภพก่อชาติ ท่านจึงว่า ยายํ ตณฺหา โปโนพฺภวิกา จิตใดที่ยังมีตัณหาอยู่จะต้องได้เกิดในภพในชาติต่อๆ ไป เพราะอำนาจของตัณหานี้เองเป็นผู้ที่สร้างภพสร้างชาติให้แก่เรา จึงว่าเป็นตัวการที่สำคัญ เราจะต้องกำจัดตัณหานี้ เพราะตัณหาเป็นตัวร้ายที่ทำลายความสุขของสัตว์ทั้งหลายอยู่ เราอย่าไปถือว่ามันดี เกิดรักเกิดชอบมัน แล้วก็อย่าถือว่ามันดี มันคือตัวร้าย เกิดอยากได้อยากมีอยากเป็น หรือเกิดเกลียดชัง ไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ล้วนแต่เป็นตัวร้ายที่มาทำลายจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเราหมกมุ่นอยู่ในความชั่ว พยุงตัวของเราให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ยาก ถึงทำดีทำชอบไป อำนาจของตัณหาแรงกล้าก็สามารถทำลายความดีความชอบของเราได้

นี้แหละจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องกำราบตัณหาตัวนี้ ต้องปราบในจิตในใจของเรา ปราบด้วยข้อปฏิบัติของเรา อย่างครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาสมัยก่อน ท่านต้องพยายามปราบ ถ้ามันอยากฉันจังหันมาก ให้มันฉัน ฉันไปแล้วเดินจงกรมให้มันมาก นั่งสมาธิให้มันมาก ท่านถือว่าเมื่อมันกินมากก็ต้องทำงานมาก ก็ต้องปราบกันลงอย่างนั้น มันจึงจะอยู่ในเงื้อมมือเรา

ท่านไม่ได้ปล่อยเวลาที่ปราบ เราก็ต้องปราบตัวของเรา ไม่ใช่คนอื่นปราบ ตัวของเราเป็นคนปราบตัวของเราเอง นั้นเรียกว่า ตามมัน ตามมัน แล้วก็กำราบมัน ดูเล่ห์เหลี่ยมของมัน เราก็ต้องปราบมันให้ได้ อันนี้เราไม่ได้คิด ไม่ได้ค้น ไม่ได้ติดตามเรื่องของตัณหา เราจึงไม่รู้เรื่องของตัณหา และเราไม่ได้คิดจะปราบปรามมันเสียเลย มันก็ยิ่งกำเริบใหญ่ ในที่สุด ตณฺหา ทาโส เราจึงเป็นทาสของตัณหา เป็นคนรับใช้มัน แล้วแต่มันจะมาบังคับบัญชา ตัณหาจึงเป็นนายของจิต เมื่อตัณหาเป็นนายของจิต เราก็ต้องเป็นขี้ข้าของมันตลอดไป นี้แหละเราจึงพยายามหาทางปราบ หาทางแก้ หาทางลดละ คือว่าลดอำนาจของตัณหานี้ลง ด้วยวิธีนี้เราประกอบความพากเพียรด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอย เราจึงจะได้ช่องได้ทางในการปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้ที่มีใจเข้มแข็ง มีความแกล้วกล้า สามารถองอาจในการปฏิบัติ แล้วเราจะเป็นคนที่มีความสง่าในการปฏิบัติได้

ถ้าเราเป็นผู้ที่ย่อหย่อน ความท้อแท้ภายในจิตใจก็ย่อมเกิดขึ้น ในที่สุดเราก็หมดความสามารถ ไม่สามารถที่จะเอาชนะต่อความชั่วของจิตของเราได้ เพราะเราเป็นคนที่อ่อนแอ กิเลสตัณหาทั้งหลายมันก็ต้องทับถมจิตใจของเรา เหยียบจิตใจของเราเรื่อยๆ เลยเป็นคนหมดความสามารถ ความดีของเราที่มีอยู่ก็ตกต่ำไป ถูกย่ำยีทำลายไป

ฉะนั้นในวันนี้ได้อธิบายเรื่องเบญจขันธ์มา ก็ขอให้นำไปคิดค้นพิจารณา จึงขอยุติการอธิบายไว้เพียงเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:18 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร