วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๙: เริ่มหัดจงกรม

ตื่นขึ้นเช้านี้ด้วยความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเปลี่ยนไป เหมือนไม่ใช่คนเดิม ฉันหาว่าอะไรเป็นเหตุให้รู้สึกเช่นนั้น ก็ได้คำตอบว่าเป็น ศรัทธา นั่นเองที่ผิดแผกแตกต่าง

ฉันไม่เคยเชื่อแบบเต็มร้อยมาก่อนเลยว่าชาตินี้จะสามารถบรรลุมรรคผลได้ แต่บัดนี้มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าต้องทำสำเร็จ เพราะแน่ใจแล้วว่าถ้าทำตามลำดับสติปัฏฐาน ๔ ผลจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับไปด้วย

ถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุธรรม แต่อย่างน้อยฉันก็รู้สึกแล้วว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นของจริง ทำได้จริงไม่จำกัดกาล และพระพุทธเจ้าก็ตรัสวิธีเจริญสติไว้ชัดเจนเป็นขั้นๆ พร้อมมีเกณฑ์การตรวจสอบทิศทางไปสู่มรรคผลไว้แบบสูตรสำเร็จเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาวิธีเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องถกอภิปรายหาจุดควรดัดแปลงใดๆอีกแล้ว

เมื่อเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่ามี ‘ตถาคตโพธิสัทธา’ อย่างเต็มเปี่ยม กับทั้งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีวาสนา มีโอกาสพอจะได้ทรงจำวจนะของบุคคลที่รู้แจ้งเห็นจริง ทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุด และสิ่งที่เป็นหนทางสู่ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเห็นชัดว่าตนเองกำลังดำเนินอยู่ในทางสว่าง จิตกำลังสว่างตั้งมั่นขึ้นทุกที สำนึกเกี่ยวกับการมีชีวิตย่อมต่างไปเป็นธรรมดา

ด้วยสติที่ตื่นเต็มในเช้าวันใหม่ รวมกับใจที่ทะยานอยากก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ทำให้ฉันถามตัวเองอีกครั้งว่ายังมีสิ่งใดควรทำเป็นลำดับถัดไป ในเมื่ออานาปานสติสำหรับมือใหม่ฉันทำได้ถึงขั้นเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงแล้ว

จิตที่ทรงจำมหาสติปัฏฐานสูตรไว้แจ่มชัดตอบตนเองทันทีว่า ให้รู้อิริยาบถ เพราะถัดจากการเจริญสติรู้ลม พระพุทธเจ้าให้รู้ว่ากำลังเดิน ยืน นั่ง นอน หรือตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ

สิ่งที่ฉันพบตามจริงก็คือ เมื่อมีจิตที่ทรงสติ เป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงได้ดีพอสมควรแล้ว กายจะปรากฏชัดขึ้นด้วย ขอเพียงน้อมนึกถึงอาการทางกายในปัจจุบันเท่านั้น นี่คืออีกระดับของมุมมองจากภายในของจิตที่มีคุณภาพ ไม่สามารถเข้าใจด้วยประสบการณ์สามัญของผู้ยังมาไม่ถึง

การเดินเป็นอิริยาบถที่พระพุทธเจ้าเน้นให้รู้มากกว่าอิริยาบถอื่น ภิกษุสมัยพุทธกาลจะเดินกลับไปกลับมา แบบที่เรียกว่า จงกรม กันทั้งวัน เห็นได้จากนันทสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสโดยสรุปคือ ภิกษุสาวกผู้มีความเพียรเป็นเลิศของพระองค์นั้น ตอนกลางวันก็ดี หัวค่ำก็ดี จักได้ชำระจิตให้สะอาดจากนิวรณ์ด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อเพียรอยู่เช่นนี้ จึงสำเร็จอรหัตตผลในเวลาไม่ช้านานเลย

ที่ผ่านมาฉันเอาแต่นั่งสมาธิ สำรวจย้อนหลังไป ก็ต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นว่าเพราะเป็นอาการทำความเพียรที่สบายดี ไม่ต้องออกแรงอะไร ต่อเมื่อนั่งสมาธิและเจริญสติรู้ลมหายใจเข้าออกโดยความเป็นของเกิดดับ กระทั่งเริ่มปรากฏจิตผู้รู้ลม เรียกว่าสติสัมปชัญญะเริ่มเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ฉันก็ไม่อยากย่ำอยู่กับที่อีกต่อไป เมื่อฝึกสติขณะนิ่งได้ผล ก็ควรฝึกสติขณะเคลื่อนไหวเป็นลำดับถัดมา เพื่อความบริบูรณ์พร้อมของสติทุกขณะ และความรู้เห็นสภาพเกิดดับที่ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป

ปกติกายปรากฏเป็นก้อนตัวตนของเราก้อนหนึ่ง มีสภาพคงที่ ไม่อาจรู้เห็นได้ว่ามีความไม่เที่ยงอย่างไร ต่อเมื่อฝึกรู้ลมหายใจอันเป็นส่วนหนึ่งของกายจึงพอจะเริ่มเห็นอนิจจังได้ ขั้นต่อไปคือดูอิริยาบถโดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง

ด้วยสติที่กำลังตื่นเต็มและเห็นลมหายใจเป็นของว่าง เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ทำให้จิตว่างจากความยึดมั่นลมหายใจ และเมื่อน้อมมามองอิริยาบถ โดยไม่ต้องพากย์กำกับก็เห็นชัดว่ากายกำลังอยู่ในสภาพนั่งสมาธิ

รูปพรรณสัณฐานของกายที่ปรากฏจากมุมมองภายในยามนี้แตกต่างจากครั้งยังไม่ผ่านการฝึกสติปัฏฐานเป็นคนละเรื่อง กล่าวคือก่อนฝึกนั้น ถ้าทำความรู้สึกเข้ามาที่กายปั๊บ ความรู้สึกนั้นจะบอกทันทีโดยไม่ต้องกำหนด นั่นคือ กายนี้เป็นฉัน มีความทึบ มีความคงทน มีความเป็นแก่นสาร ต่อเมื่อมองกายด้วยมุมใหม่ เริ่มจากลมหายใจที่เป็นส่วนหนึ่งของกาย เห็นลมหายใจไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ปล่อยจิตเผลอเหม่อ มีสติยกขึ้นรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติ คราวนี้เมื่อน้อมเอาสติที่มั่นคงแล้วนั้นรู้อิริยาบถนั่ง บัดนี้กายปรากฏเป็นโพรงว่าง เปราะบางเหมือนฟองสบู่ มีสาระเพียงเป็นเครื่องอาศัยระลึกรู้สักแต่ว่านี่อิริยาบถหนึ่ง

แปลกแต่จริง กายเดิม แขนขาหัวตัวอันเดิมแท้ๆ แต่แค่พลิกจิต พลิกมุมมองด้วยสติปัฏฐาน กายก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละแบบ ราวกับเป็นคนละชีวิต รู้สึกถึงศีรษะที่ตั้งนิ่งสบาย รู้สึกถึงคอตั้งหลังตรง รู้สึกถึงแขนที่ปล่อยตกไม่ไหวติง ทุกส่วนนิ่งและเบาสบายไปหมด รู้สึกที่แขนก็สบายที่แขน รู้สึกที่ขาก็สบายที่ขา ราวกับอวัยวะแต่ละชิ้นเป็นเครื่องทำความรู้สึกสบายในตัวเอง

ฉันลุกขึ้นยืน เกิดความสับสนลังเลเล็กน้อยว่าจะให้รู้อย่างไร เพราะการขยับเปลี่ยนท่านั้นมีขั้นตอน ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นตรงข้ามทันทีเหมือนลมหายใจเข้าออก แล้วก็นึกถึงพระดำรัสของพระพุทธองค์ได้ นั่นคือ ตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ แค่รู้โดยไม่มีความกังวล ไม่มีความสับสนลังเลเท่านั้นเอง จะต้องไปพยายามหาความรู้ที่ถูกต้องไปทำไม รู้แค่ไหนเอาแค่นั้นก็พอแล้ว ถ้ายังอยู่ในขอบเขตสติปัฏฐานคือกายใจนี้ ถึงอย่างไรก็ถูกอยู่ดี จะถูกมากถูกน้อยก็ตาม

ฉันเดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้องด้วยความรู้ว่ากำลังเดิน เป็นการเดินเอามือไพล่หลัง ก้มหน้าเล็กน้อย สติยังเคยชินกับการรู้ลมหายใจ จึงปล่อยให้ตัวเองรู้ลมหายใจควบคู่กับอิริยาบถเดินไปพลางๆ แต่ด้วยความช่างสังเกต พอเดินนานไปก็รู้สึกว่าตัวหนักขึ้น ไม่เหมือนโพรงว่าง มีความทึบเป็นแท่งไม่เปราะบางเหมือนเมื่อครู่ อีกทั้งความรู้สึกในตัวตนก็กลับมาดังเดิม จึงสำรวจตรวจตราว่ามีสิ่งใดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

น่าสงสัยจริง ฉันก็ยังรู้ลมหายใจอยู่นี่นะ ถ้าสติยังผูกอยู่กับลมหายใจ ไฉนกายจึงกลับปรากฏเป็นของทึบทึมไปอีก?

ทั้งวันฉันพยายามรู้กายโดยความเป็นอิริยาบถ พอย้ายฐานสติ จิตก็เริ่มแตกต่างไป ฉันมั่นใจว่าเห็นอิริยาบถเป็นระยะๆ แต่ค่อนข้างลังเลว่าเห็นความไม่เที่ยงของอิริยาบถแล้วหรือยัง เพียงทำใจสบาย ไม่ให้มีความร้อนรนเจือปนอยู่ในสติรู้อิริยาบถเท่านั้น

ก่อนนอนนั่งสมาธิตามปกติ ข้างในทึบๆกว่าเคย แม้เห็นลมหายใจเข้าออกก็ไม่ชัดเท่าที่ควร อีกทั้งเมื่อลุกขึ้นเดินจงกรมสติก็ยิ่งฝืด ฉันลงบันทึกไว้ว่า ตั้งสติผิด แล้วเข้านอนโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรนัก ผิดก็ผิด จะได้รู้ว่าผิด พรุ่งนี้ค่อยเอาใหม่ ลองไปเรื่อยๆอย่างมีหลักเกณฑ์จนกว่าจะถูก

:b41: :b51: :b53:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๑๐: วิ่งจงกรม

ตื่นนอนนั่งสมาธิ เช้านี้กลับรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นมาใหม่ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ช่วงต้นลากลมยาวสม่ำเสมอก็รู้ พอผ่านไปประมาณ ๒๐ ครั้งลมสั้นลงก็ไม่ปล่อยให้สติตก รู้ทั้งยาวทั้งสั้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสติเริ่มชัดต่อเนื่อง ภาวะผู้รู้กองลมทั้งปวงก็ปรากฏ เห็นลมหายใจเป็นสิ่งที่เข้ามาจนสุดแล้วต้องกลับคืนออกสู่ความว่างไปเป็นธรรมดา

ฉันคุมเวลาไว้ไม่ให้เกินครึ่งชั่วโมงด้วยวิธีตั้งนาฬิกาปลุกเผื่อเหนียว คือเป็นประกันไม่ว่าจะหลับหรือเพลินในสมาธิ นาฬิกาปลุกจะช่วยเตือนให้ลุกขึ้นเดินจงกรมเสียหน่อย

ครึ่งชั่วโมงตามกำหนด ฉันก็ลุกขึ้นเดินท่อมๆ ใจบอกตัวเองว่ารู้อิริยาบถเดินด้วยสติที่อบรมแล้วจากอานาปานสติ แต่พอครบครึ่งชั่วโมงแล้วสำรวจคุณภาพตามแนวโพชฌงค์ ก็ต้องมาลงบันทึกไว้ตามจริงว่า ‘ทื่อ’ และ ‘แห้งแล้ง’ เหลือเกิน แบบนี้ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความมีสติสมบูรณ์อย่างแน่นอน เพราะฉันจำไว้แล้วว่าอาการทื่อและความแห้งแล้งเป็นบ่อเกิดแห่งความเบื่อหน่ายและสติชนิดมืดบอด

เข้าทำงานตามปกติ สังเกตใจตัวเองมีความกังวลหน่อยๆ คล้ายมีฝุ่นละอองน่ารำคาญเคลือบจิตอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็อดกังวลไม่ได้ซีน่า จะให้นอนใจได้อย่างไรในเมื่อไม่สามารถเลื่อนขั้นขึ้นสู่ความมีสติรู้อิริยาบถได้

ตกเย็นฉันเข้าห้องฟิตเนสซึ่งเป็นบริการเกือบฟรีของบริษัท ไม่ได้ออกกำลังกายเสียนาน แถมวันนี้จิตมีความกังวลเคลือบอยู่ตลอด ทั้งเรื่องงาน ทั้งเรื่องการปฏิบัติธรรม เลยอยากยืดเส้นยืดสายให้กระฉับกระเฉงเสียหน่อย

แวะเวียนไปตามเครื่องออกกำลังต่างๆ จนในที่สุดมาหยุดอยู่กับเครื่องวิ่ง ฉันก้าวยืนบนสายพานแล้วปรับสปีดให้ก้าวแบบไม่ช้าไม่เร็ว ใจก็คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย เพิ่งเสร็จจากงานเลยคิดเรื่องงานเสียมาก แต่ด้วยความที่ช่วงหลังได้ฝึกสติเน้นเข้าไปรู้ลมหายใจ พอฟุ้งเรื่องงานเสร็จก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะรู้ลมเสียหน่อย จึงลากลมหายใจเข้ายาวๆ และระบายลมออกสบายๆ ความเคยชินในการรู้ลมอย่างถูกต้องก่อให้เกิดสติขึ้นทันใด

เพิ่งสังเกตว่าความกระชุ่มกระชวยของร่างกายมีส่วนมาก ขณะที่มีร่างกายขยับเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐาน สติรู้ลมหายใจคล้ายมีความสดใสมาเสริม ฉันจึงตระหนักว่า ‘สติ’ อันเป็นองค์แรกของโพชฌงค์นั้น สร้างขึ้นจากตรงไหนก็ได้ เสริมด้วยอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นเกื้อกูลต่อการรู้เข้ามาในขอบเขตกายใจ

มองย้อนไป บางวันหรือบางช่วง ถ้าฉันเคลื่อนไหวเชื่องช้าซังกะตาย จะพลอยทำให้สติอืดอาด ไม่ว่องไวตามไปด้วย หากกายเซื่องซึม สติก็จะมีแนวโน้มแห้งเหี่ยวเป็นเงาตามกัน

ฉันเร่งสปีดสายพานให้เร็วขึ้นจนตัวโยกไปโยกมา พอรู้สึกว่าความกระฉับกระเฉงช่วยปรุงสติให้เข้มข้นขึ้นเลยได้ใจ จะเอาใหญ่ วิ่งไปพักหนึ่งก็ลดสปีดลง สังเกตว่ากายที่โยกโคลงและเกร็งกำลังแรงเกินพอดีนั้น นอกจากไม่ช่วยปรุงสติให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ใจมีแต่อาการฟุ้งกระเจิงด้วยแรงผลักดันของความโลภอีกด้วย

ฉันปรับสปีดกลับคืนระดับเก่า ตั้งตัวตรง มองสบายๆไปข้างหน้า รู้อาการเคลื่อนไหวของกาย ซึ่งสังเกตแล้วจุดเด่นอยู่ที่การเหวี่ยงขาสลับกัน สองนาทีแรกก็รู้ได้ดี แต่ถัดจากนั้นสติก็เริ่มพร่าเลือน กลายเป็นความเกร็ง หาดุลไม่ถูกไปแทน

ฉันสังเกตว่าสติรับรู้อาการเหวี่ยงของขานั้น ไม่ทำให้เกิดหลักเกิดฐานชัดเจนนัก จึงพิจารณาว่าสิ่งใดในอาการวิ่งเป็นฐานของสติที่มั่นคงที่สุด วิ่งๆอยู่พักหนึ่งก็ตาสว่าง ผัสสะระหว่างฝ่าเท้ากับพื้นสายพานนั่นเองที่ชัดกว่าเพื่อน เมื่อนำสติไปวางไว้ที่นั่น ก็เหมือนได้ที่มั่นแข็งแรงเป็นฐานตั้ง

ฉันทดลองเอาสติไปอยู่ที่ฐาน คือเท้ากระทบพื้นอย่างเดียวเป็นเวลาสิบนาที เมื่อรู้ตัวว่าจิตแลบไปคิดโน่นคิดนี่บ้างก็ดึงสติมาอยู่กับเท้ากระทบอีก ใจรับรู้แต่กระทบแป๊ะๆๆสม่ำเสมอ ลำตัวตั้งตรง สายตาทอดตรงไม่เพ่งจุดใดจุดหนึ่ง กับทั้งมีลมหายใจที่สบายประกอบพร้อม

ฉันระวังนิดหนึ่งไม่ให้สติไปจดจ่อกับลมหายใจ ขณะนี้เป็นเวลาของการรู้อิริยาบถ ฉันก็จับจุดที่เด่นสุดของอิริยาบถ คือผัสสะกระทบเป็นหลัก สิบนาทีผ่านไปก็ยิ้มออก เพราะรู้สึกว่าค้นพบแล้วว่าจะกำหนดสติรู้อิริยาบถวิ่งหรือเดินอย่างถูกต้องได้อย่างไร แค่รู้เท้ากระทบอย่างเดียวไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะเกิดสติรู้ทั้งตัวเองโดยไม่ต้องฝืนพยายามบังคับจิตแต่อย่างใด

ฉันกลับบ้านด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง แช่มชื่น ตื่นรู้ตลอดตัว แม้จะไม่คงเส้นคงวานัก ก็พยายามเลี้ยงสติไว้ด้วยลมหายใจ ใจฉันจดจ่ออยู่กับอาการนั่ง แต่ก็มีอนุสติเป็นลมหายใจช่วยประคับประคองอยู่ ไม่ใช่อาการเพ่งรู้กายนั่งแบบทึบๆ ไม่ใช่สะกดจิตให้รู้สึกว่ากายเป็นเพียงหุ่นกระบอก การมีจิตที่ปลอดโปร่งเป็นพื้นในการรู้อิริยาบถปัจจุบันเท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ที่จะเห็นกายแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ก้อนทึบเป็นดินเหนียวอย่างเคย

นั่งในรถก็ท่าหนึ่ง ลุกออกมาจากรถก็กลายเป็นอีกท่าหนึ่ง ฉันรับรู้ตามจริงว่ามันต่างกัน แม้มีแขนขาหัวตัวเท่าเดิม แต่ลักษณะกายที่ปรุงแต่งจิตให้รู้สึกเกี่ยวกับตัวตนก็ต่างไป นี่เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยสังเกตรู้มาชั่วชีวิต คนธรรมดาอย่างมากแค่รู้สึกว่ากายเป็นเรา แต่ไม่เคยสังเกตว่าแค่กายต่างท่า ก็ทำให้ความเป็นเราต่างไปแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อนั่ง กายของเราจะเหมือนไม่มีขา มีแต่ช่วงหัวลงมาถึงกลางตัว และท่านั่งเดียวกันนั้นเอง บางทีกายก็ปรากฏชัดเพียงด้านหน้า บางทีก็เพียงแผ่นหลัง แต่บางทีเมื่อมีสติเต็มตื่นอยู่ก็คล้ายเห็นเต็มหัวเต็มตัว มีความรู้สึกเป็นสุขสบาย

แต่พอเปลี่ยนมาเดิน กายก็ปรากฏคล้ายมีแต่หัวกับขาที่เตะสลับกัน ถ้าจิตทึบด้วยความฟุ้ง ตรงกลางก็จะเหมือนตันๆตื้อๆ แต่ถ้าสติดีตรงกลางจะเหมือนกลวงๆไป และกายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดรู้โดยเฉพาะได้ เช่นถ้าจี้เล็งมาที่กลางอก ก็จะรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดตันเป็นก้อนหนัก แต่ถ้าวางสติไว้สบายๆที่เท้ากระทบพื้น ข้างบนจะเหมือนว่างตลอด คล้ายไม่มีทั้งหัวทั้งตัว มีแต่ความชัดของเท้ากระทบเด่นอยู่

ฉันไม่เข้าบ้าน แต่มาปิดประตูรั้วแล้วออกเดินทอดน่องไปรอบหมู่บ้าน เป็นสุขมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเห็นกายตามจริง ข้างบนว่าง ข้างล่างชัด เพราะสติกำหนดอยู่เฉพาะเท้ากระทบพื้นเท่านั้น

เดินมาพักหนึ่งก็เจอหมาเห่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนฉันจะสะดุ้งและโมโห บางทีอาจเผลอหันไปตวาดหรือทำท่าขู่ว่าเดี๋ยวโดน ซึ่งเป็นการลดตัว ลดชั้นระดับชีวิตไปเทียบเท่ากับมันด้วยโทสะ แต่มาคราวนี้ทุกอย่างต่างไป นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เห็นหมาเห่ากายเดิน ไม่ได้เห่าฉัน ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูกายเดินและหมาเห่ากายเดินเท่านั้น ผัสสะกระทบหูโฮ้งๆนั้นก่อความสะเทือนก็จริง แต่หากไม่ดึงสติให้โงนเงนจากฐาน ผัสสะนั้นก็เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมที่สติสามารถเฝ้ารู้เฝ้าดูได้จากฐานที่มั่นอันปลอดภัย

สี่ทุ่มคืนนี้ฉันแบ่งเวลานั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง แล้วลุกขึ้นเดินจงกรมอีกครึ่งชั่วโมง รู้สึกพอใจ มั่นใจว่าจับจุดถูก วัดจากที่เดินครึ่งชั่วโมงไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เครียดเกร็ง ยิ่งเดินยิ่งรู้เท้ากระทบชัด แล้วฐานคือความรู้เท้ากระทบชัดนั้นเอง ก็ส่งให้เกิดความรู้ชัดทั่วอิริยาบถขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับกำหนด

บางครั้งสติรู้ลมหายใจมาแทรกแซงความรู้เท้ากระทบบ้าง แต่ฉันก็ไม่เสียศูนย์ เพราะกำหนดไว้แล้วว่าศูนย์กลางการรับรู้จะอยู่ที่เท้ากระทบ ตราบใดยังรู้เท้ากระทบ ถ้ามีรู้อย่างอื่นมาแถมก็ไม่เป็นไร ถือเป็นกำไร ถือเป็นเครื่องสะท้อนกำลังสติที่ใหญ่ขึ้นได้ แต่ถ้ามีอะไรมาแทรกแซงแล้วสติแล่นไปจับสิ่งนั้นโดยลืมอิริยาบถเดินไป ก็แสดงว่าสติของเรากำลังออกอาการเหวี่ยงแหจับฉ่าย นับเป็นเครื่องสะดุดให้หยุดความก้าวหน้าของสติปัฏฐานเบื้องต้นได้อย่างหนึ่ง

สรุปคืนนี้ฉันดีใจเป็นพิเศษ เมื่อได้หลักการเดินจงกรมที่ถูกต้อง ตอนนี้เหมือนมีอาวุธคู่ใจสองชิ้นไว้รบทัพจับศึกกับกิเลสอย่างสมน้ำสมเนื้อแล้ว

:b45: :b53: :b53:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๑๑: องค์ที่สี่กับห้าของโพชฌงค์ปรากฏ

เช้านี้เป็นอีกเช้าหนึ่งของความมีสติตื่นเต็ม เพิ่งมองย้อนกลับไปแล้วเห็นว่าที่ผ่านมาฉันเพ่งคับแคบอยู่กับลมหายใจ เมื่อไม่มีอิริยาบถเป็นฐานสติร่วมประกอบด้วยนั้น แม้เห็นลมหายใจชัด จิตก็ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร ต่อเมื่อเริ่มรู้สึกในอิริยาบถปัจจุบันมากขึ้น พอกลับมาตามรู้ลมหายใจอีกครั้งก็เหมือนฐานสติใหญ่กว่าเดิม สบายกว่าเดิม

การไม่มีอิริยาบถเป็นฐานสติ บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการตกหล่น เช่นกายบางส่วนเกร็งก็ไม่รู้ เพราะเกร็งนิดเดียว ไม่ได้เกร็งมากขนาดเครียด การที่กายบางส่วนเกร็ง ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา คอ ไหล่ ล้วนแล้วแต่ทำให้จิตถูกบีบไว้ ไม่เปิดกว้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เมื่อนั่งหลับตาทำสมาธิ พอสติถูกยกขึ้นรู้ลมหายใจ เห็นลมหายใจเป็นสภาพเกิดๆดับๆตลอดเวลาด้วยความเพียรที่ต่อเนื่องแบบไม่เพ่งเครียด ก็เกิดความรู้สึกทั่วพร้อมขึ้นมา คือรู้อิริยาบถนั่งด้วย รู้ลมชัดโดยความเป็นของไม่เที่ยงด้วย ใจเปิดกว้างโดยไม่มีอาการทางกายแม้จุดเล็กจุดน้อยมาบีบด้วย ในที่สุดก็เกิดสภาพเบิกบานเปิดเผย ชุ่มฉ่ำใจในแบบที่เรียกว่า ธรรมปีติ ทำให้แน่ใจได้ว่าเป็นปีติตามนิยามองค์ที่ ๔ แห่งโพชฌงค์

เมื่อมีวิริยะสนับสนุนไม่ลดละ ความเบิกบานกายใจก็ให้ผลเป็นความสงบระงับไม่กวัดแกว่งทั้งกายใจเช่นกัน ฉันจึงเห็นความปรากฏขององค์ที่ ๕ แห่งโพชฌงค์ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ เข้าใจความหมายของวิเวกสุขอย่างแท้จริง คล้ายความรับรู้ในสิ่งต่างๆรอบตัวเลือนราง เหลือแต่ความเด่นของลำลมหายใจเป็นสายยาว ผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก จิตรับรู้โดยความเห็นว่าเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องออกไป เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา มีความเพียรประคองความเห็นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายได้หลายนาที อิ่มอกอิ่มใจจนไม่อยากขยับไปทางไหน กายใจระงับแน่นิ่งราวกับใบไม้ยามลมสงบไม่ไหวติง

ทุกอย่างดำเนินไปเป็นอัตโนมัติ สว่างว่าง ตื่นรู้ แต่สติที่คมชัดก็เห็นอาการของจิตยังไหวๆอยู่ เป็นภาวะละเอียดอ่อนที่รู้แก่จิต คล้ายยืนพินิจผิวน้ำที่ดูไกลๆเหมือนสงบราบคาบ แต่พอพิศใกล้ๆแล้วจะรู้ว่ายังไหวกระเพื่อมเป็นระลอกน้อยๆอยู่ตลอดเวลา อาการกระเพื่อมเล็กๆของจิตนี้เอง ถ้าลองปล่อยสักพักจะเห็นว่าเป็นรากของคลื่นความคิด คือในเวลาต่อมาจะมีแรงดันฉับพลันมาเปลี่ยนความกระเพื่อมเล็กเป็นความกระเพื่อมใหญ่ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในภาวะคิดเสียแล้ว เพียงแต่จะไม่คิดมากเหมือนปกติ คิดๆเป็นสายเป็นแนวหน่อยหนึ่งถ้าสติยังดึงทันก็กลับไปรู้ลมหายใจได้ใหม่

ฉันสังเกตดีๆ ความรู้สึกว่าสว่างนั้นไม่สว่างเต็มจริง ยังครึ่งๆอยู่ระหว่างใสบริสุทธิ์กับขาวหม่น ซึ่งครึ่งๆอยู่ไม่นานนัก พอเผลอนิดเดียวเหมือนมีหมอกมัวลงบังจิต ฉันเห็นชัดเหมือนใครเอาผ้าหม่นมาคลุมเลยทีเดียว

ผ่านภาวะอิ่มทิพย์เมื่อนั่งสมาธิถึงครึ่งชั่วโมงตามกำหนด ฉันลุกขึ้นเดินจงกรม กระแสความรู้สึกรอบกายคล้ายสว่างว่างกว้างขวาง แม้เมื่อเดินเท้ากระทบตุบๆๆอยู่เดี๋ยวนี้ กายที่เคลื่อนไหวก็เหมือนปรากฏเป็นความสงบนิ่งต่อสติรับรู้ภายใน ฉันมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับสมัยหนึ่งที่นั่งสมาธิแล้วเกิดอาการทางกาย เช่นโงนเงน หรือส่ายไปคล้ายละครรำโดยไม่รู้ตัว เปรียบเทียบกับความระงับกายใจในเช้านี้ แล้วก็เห็นว่าสมาธิเหล่านั้นไม่ใช่ทางบรรลุธรรมแต่อย่างใด ถ้ากายไปทาง จิตไปทาง อย่างไรก็ไม่อาจรวมศูนย์ลงสู่ความสงบนิ่งตั้งมั่นได้แน่ๆ

และด้วยสติที่คมกริบในยามนี้ ความรับรู้ของฉันไวขนาดเห็นว่าที่จุดกลับตัวของจงกรมนั้น มีอาการเคว้งๆในหัวเกือบทุกที ฉันไล่พิจารณาตั้งแต่อาการทางกายทันที พบว่าอาการเคว้งเกิดขึ้นเมื่อเหวี่ยงตัวกลับหลังหันจังหวะเดียว เมื่อเดินจนสุดทางครั้งต่อไปจึงทดลองหยุดยืนเท้าเสมอกัน แล้วหมุนตัวทางขวาครึ่งรอบก่อน หยุดเท้าเสมอกันอีกทีค่อยหมุนขวาต่ออีกครึ่งรอบ หยุดเท้าเสมอกันอีกครั้งก่อนออกเดิน มีจังหวะไม่ช้าไม่เร็ว ปรับให้พอดีกับสติรู้เท้าชัดอย่างเดียว ยังไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้น เพราะต้องการให้องค์แรกของโพชฌงค์คือสติเกิดขึ้นเต็มที่เสียก่อน

เพียงด้วยการกลับตัวอย่างมีสติ ผลโดยรวมก็ต่างไปอักโข เมื่อไม่มีการสั่งสมของสภาพเคว้ง สติก็ต่อเนื่องขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

เย็นนั้นฉันมาวิ่งจงกรมที่ห้องฟิตเนสอีกครั้ง ปรับสปีดของเครื่องวิ่งค่อนข้างเร็ว พบว่าถ้ากำลังฟุ้งซ่านจากการงาน หากมีผัสสะกระทบกระตุ้นยิ่งถี่ยิ่งดี เพราะสติที่ไม่คลาดจากผัสสะก็ยิ่งถี่ตาม หารแบ่งความถี่จาคลื่นความคิดฟุ้งได้มาก วันนี้ฉันสังเกตให้เท้าแบเพื่อรับกระทบเต็มฝ่าเท้า พอวิ่งได้สิบกว่านาทีก็สติสดใสเหมือนเมื่อเช้า ความอ่อนล้าและความฟุ้งยุ่งจากการทำงานทั้งวันลดระดับลงเรื่อยๆแล้วเหือดหายสนิทแทบเป็นปลิดทิ้ง

จิตนึกถามตัวเองขึ้นมาว่าเมื่อสติในอิริยาบถชัดแล้วควรพิจารณาอะไรต่อ ตอนนี้เกิดอิริยาบถวิ่งอย่างต่อเนื่อง คงพิจารณาอนิจจังของอิริยาบถยังไม่ได้ ฉันตริตรองอยู่ชั่วครู่แล้วตัดสินใจว่า ถ้ายังไม่สามารถเห็นความเกิดดับ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบไปเห็น แค่คงสติรู้อิริยาบถนั้นๆอยู่ก่อนจนกว่าจิตจะเงียบสงบลงจริงๆ สังหรณ์ว่าจิตที่เงียบนิ่งรู้กายกระทบแจ่มชัดจะเป็นเหตุให้ความรู้ความเห็นคมชัดขึ้นไปเรื่อยๆ

สรุปคืนนี้ ฉันบันทึกว่าปีติและปัสสัทธิช่างเป็นสมบัติอันเลิศล้ำ เมื่อสงบสนิทติดกายติดใจแล้วเลิกอยากเรื่องเพศรส เลิกมุ่งร้ายใครแม้ด้วยความคิด รวมทั้งเป็นสภาพที่กลมกลืนและเกื้อกูลกันกับความรู้สึกปล่อยวางตัวตน นักภาวนายุคเราบางกลุ่มกลัวติดสุขจากการทำสมาธิ ถึงขั้นไม่ยอมทำสมาธิกัน จะเดินจงกรมอย่างเดียว แต่ฉันพบพุทธพจน์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ในลฑุกิโกปมสูตร ใจความโดยย่นย่อคือ เรากล่าวว่าสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้น บุคคลควรเสพ ควรทำให้เกิดมี ควรทำให้มาก และไม่ควรกลัวในสุขนั้น

ฉันยังทำมาไม่ถึงความนิ่งเป็นหนึ่งที่เรียก ‘ฌานสมาบัติ’ เพราะจิตยังไหวๆ มีคลื่นความคิดกระเพื่อมเป็นระลอกๆอยู่ แต่พอจะอนุมานได้ว่าสุขอันเกิดแต่วิเวกแบบเดียวกับฌานเป็นเช่นใด ฉันจะไม่กลัวติดสุข เพราะไม่ได้ทำสมาธิหรือเดินจงกรมด้วยความอยากเสพสุข แม้เสพสุขแล้วก็ไม่เห็นว่าเป็นภารกิจสุดท้ายที่ต้องทำ แต่มองว่าเป็นห่วงโซ่หนึ่งที่จะเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อื่น ถ้ามีสติและธัมมวิจัยเป็นตัวนำร่องเสียอย่าง ให้เกิดอะไรแค่ไหนเป็นผลพลอยได้ก็ไม่มีวันออกนอกทางเลย

:b45: :b51: :b55:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๑๒-๓๐: ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้

ช่วง ๑๙ วันนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นพิเศษ คล้ายย่ำอยู่กับที่ แต่ก็เป็นที่ที่ไม่เลวนักหรอก ฉันพบความจริงประการหนึ่งคือถ้าเราเริ่มต้นถูกต้อง พยายามจับราวเกาะไว้ ไม่คิดมาก ไม่แส่ส่ายไปไหน ก็อาจเห็นความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่จะเหมือนเครื่องบินที่ค่อยๆวิ่งเอื่อยในช่วงแรก แล้วเร่งความเร็วเต็มกำลังขณะจะเชิดหัวขึ้น เราจะรู้สึกว่ามีความคืบหน้าปุบปับในชั่วเวลาอันสั้น แต่เมื่อลอยพ้นจากแรงดึงดูดแล้ว แม้ลอยสูงขึ้นเรื่อยๆเราก็จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก

วันเสาร์และอาทิตย์ที่ไม่มีโอกาสเข้าห้องฟิตเนสของบริษัท ฉันออกวิ่งจ็อกกิ้งรอบหมู่บ้าน ตามรู้เฉพาะเท้ากระทบ ก็ได้ผลดีไปคนละแบบกับการวิ่งบนสายพาน การวิ่งบนสายพานทำให้สายตาไม่วอกแวก ตั้งตัวตรงง่าย ซอยเท้าย่ำสม่ำเสมอ ทำให้เกิดกระทบถี่ๆคงเส้นคงวา ถ้าเริ่มเหม่อก็ปรับสปีดง่าย แถมมีไวเบรเตอร์ประจำห้องฟิตเนสให้นวดคลายกล้ามเนื้ออีกต่างหาก แต่บรรยากาศในห้องฟิตเนสก็ไม่ปลอดโปร่งเป็นธรรมชาติเหมือนวิ่งจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน

การวิ่งมีส่วนช่วยให้การเดินจงกรมพัฒนาขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การทำงานชนิดเอาเหงื่อของร่างกายนั้นลดความฟุ้งซ่านได้มากอยู่แล้ว ยิ่งมาเสริมกับที่เอาสติไปจดจ่อกระทบถี่ๆพักหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรู้ชัดเข้ามาในขอบเขตกายได้อย่างรวดเร็ว วิ่งจงกรมอย่างมีคุณภาพเพียง ๑๐ นาที อาจได้ผลดีเสียกว่าเดินจงกรมแบบเอ๋อๆตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงเสียอีก

ชีวิตฆราวาสทำให้สภาวจิตค่อนข้างลุ่มๆดอนๆ สามวันดี สี่วันไข้ เดี๋ยวจิตสว่าง เดี๋ยวจิตมืด เดี๋ยวจิตตก เดี๋ยวจิตขึ้น บางทีก็ดูทัน บางทีก็หายไปครึ่งค่อนวันกว่าจะกลับมาทันใหม่ แต่อย่างไรฉันก็ยึดราวเกาะไว้แน่น พยายามมีสตินึกถึงลมหายใจอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเป็นอัตโนมัติ บางครั้งก็ตกหลุมอากาศ ฉันดีใจเสมอเมื่อพบว่ายังมีราวเกาะให้ลุกขึ้นจับยึดเสมอ ไม่เคยหายไปไหน

ความจริงอีกประการหนึ่งที่ฉันพบก็คือ ถ้าหากองค์แห่งโพชฌงค์ใดเคยปรากฏมาแล้ว ก็ไม่ยากที่ปรากฏขึ้นอีก ขอเพียงองค์แรกคือสติเกิดขึ้นสักพักหนึ่ง พูดง่ายๆคือถ้ามีสติรู้ว่าลมหายใจปัจจุบันเป็นออกหรือเข้าโดยไม่มีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกขัดแทรก ก็จะเกิดธัมมวิจัย เกิดวิริยะ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิขึ้นเองแบบต่อยอดเป็นเหตุเป็นผลกัน และคล้ายจิตจำทางได้ ยิ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาก็ยิ่งรู้ว่าจะตั้งมุมมองภายในไว้อย่างไร พองหน้าท้องออกท่าไหน สติจึงพัฒนาขึ้นเป็นธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเบิกบาน สงบระงับกายใจ บางวันฉันเบิกบานระงับกายใจได้ที่ที่ทำงานเป็นครู่ใหญ่ด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องลงนั่งสมาธิหลับตาหรืออยู่ในลู่ทางเดินจงกรมเป็นพิเศษแต่อย่างใด

ฉันนั่งสมาธิทีไรยังเห็นความไหวของจิต จึงสรุปว่าองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์คือสมาธิยังไม่เกิดบริบูรณ์ ไม่ใช่ว่าไม่เกิดนะ เกิดเหมือนกัน แต่ยังไม่เต็มบริบูรณ์ รู้สึกนิ่งเดี๋ยวเดียวก็สั่นไหวขึ้นมาอีก และเท่าที่สำรวจตัวเอง ก็ดูเหมือนว่าฉันยังไม่อาจแน่ใจนักว่าตัวเองวางเฉยในความตั้งมั่นชั่วคราวได้หรือยัง รู้แต่ว่าบางครั้งความทึบหรือความมัวซัวในจิตเบาบางลงมาก พลอยทำให้อัตตาน้อยลงอย่างเห็นเทียบเคียงกับอดีตได้ชัด เลยสรุปว่าถึงไม่ใช่องค์ที่ ๗ ของโพชฌงค์คืออุเบกขา ก็น่าจะใกล้เคียงบ้างล่ะน่า

อีกจุดหนึ่งที่แสดงพัฒนาการของฉัน คือฉันเริ่มเห็นค่าของสติก่อนนอน เมื่อเปรียบเทียบได้ว่าคืนไหนนอนแบบหลงสติ อาจฝันมั่ว และตื่นมาด้วยความมัวมน ต้องทำสมาธิสักพักกว่าจะเริ่มเข้าที่ แต่ถ้าคืนไหนนอนหงายกำหนดรู้ลมหายใจ พองหน้าท้องเอาความสุขไปเรื่อยๆ คืนนั้นจะก้าวลงสู่ความหลับด้วยความรู้ตัว ในช่วงแรกอาจทำให้ตื่นขึ้นกลางดึกด้วยตาแข็งๆบ้าง มีความฟุ้งยุ่งเหยิงและตื่นก่อนเวลาบ้าง แต่ในที่สุดก็เริ่มจับทางถูก ว่าจะรู้ลมหายใจก่อนนอนแบบนิ่มนวลไม่แข็งกระด้างได้อย่างไร ตรงนี้อาการอ่อนโยนทางกายจะมีบทบาทมาก คือฉันต้องสังเกตละเอียดยิบทีเดียวว่าลมหายใจไหนทำให้ส่วนใดเกร็งขึ้นมาบ้าง แม้กระทั่งสายตาที่บีบเพียงน้อยขณะรู้ลมก็มีผลเป็นความเครียดสั่งสมได้แล้ว แต่หากไม่มีส่วนใดบีบเลย ร่างกายก็ยอมรับสภาพสติก่อนก้าวลงสู่ความหลับได้ในที่สุด

การภาวนาก่อนนอนจะมีส่วนช่วยละลายความฟุ้งซ่านให้เบาบาง และทำให้เกิดความรู้สึกสว่างอบอุ่นเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว ถ้าคืนไหนภาวนาไม่ดี ยังมีความฟุ้งซ่านยุ่งเหยิงยากจะรู้อยู่กับลมหายใจก่อนนอน ฉันก็จะไม่กำหนด เพราะจะทำให้เกิดความทรมานอย่างไร้ประโยชน์เปล่า

:b47: :b48: :b49:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๓๑: อีกระดับของการเห็นจิตส่งออกนอกและเก็บเข้าใน

ในวันที่ ๔ ซึ่งฉันสังเกตเห็นจิตรู้อยู่ที่ฐานสติ สลับกับจิตไปคลุกอยู่กับอารมณ์โลกภายนอก ยื้อกันไปยื้อกันมา จากนั้นฉันก็ไม่ได้สังเกตจริงจังอีกเลยจนกระทั่งวันนี้ เมื่อกลับไปอ่านย้อนทวนทั้งหมดตั้งแต่ต้นเดือน ฉันก็ลองเปรียบเทียบดูอีกครั้ง เห็นความแตกต่างระหว่างช่วงเริ่มต้นกับช่วงที่สติเริ่มแข็งแรงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อแรกที่ยื้อกันระหว่างเก็บจิตให้อยู่กับฐานสติ กับระวังไม่ให้จิตส่งออกไปสนใจเรื่องนอกตัว แม้แต่ความคิดเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาก็ถือเป็นเรื่องนอกตัว ไม่ใช่ปัจจุบันขณะ ในวันที่ ๔ อาการของจิตมีลักษณะยื้อแบบลูกทุ่ง คือยังไม่ค่อยมีฐานตั้งมั่นอะไร ก็ออกแรงยื้อเสียอย่างนั้นจนกระทั่งกายใจดูทื่อๆคล้ายหุ่นขี้ผึ้งหรือหุ่นดินเหนียว

แต่หลังจากเพียรพยายามตามรู้ลมกระทั่งเกิดธรรมชาติจิตรู้อัตโนมัติ หรือที่เรียกว่ามีจิตเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงโดยไม่ต้องจงใจฝืนพยายามแล้ว คราวนี้พอจิตจะส่งออกนอกเช่นคิดถึงศัตรูคู่อริ ก็เกิดความไหวทันว่าจิตยืดออกไปจากฐาน แล้วคล้ายอาการยืดนั้นหมดแรงส่ง สลายตัวลง กลายเป็นปีติสุขอันเกิดจากสติรู้ลมหายใจมาแทรกแทน

สติที่มาแทรกแซงอารมณ์ภายนอกนั้น เบื้องต้นจะเป็นแค่สักว่ารู้เฉยๆ แต่ถ้าครู่หนึ่งสติรู้ลมยังอยู่ และจิตจำทางพิจารณาได้ รู้เห็นว่าลมหายใจเมื่อเข้าจนสุดแล้วต้องออก จะทนอยู่ในสภาพเข้าอย่างเดียวไม่ได้ อัดเต็มปอดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคายคืนออกมาเป็นธรรมดา ดังนี้ก็เกิดองค์ที่ ๒ ของโพชฌงค์คือธัมมวิจัย กล่าวได้ว่าอีกระดับของการเท่าทันจิตส่งออกนอก จะมีการตัดกระแสทิ้งด้วยอำนาจรู้ที่อบรมไว้กลมกล่อมแล้ว

เมื่อสติคมชัดขึ้นอีกระดับ ฉันก็เริ่มสังเกตเห็นความจริงอีกอย่างหนึ่งว่าเมื่อไม่มีอะไรมากระทบ จิตก็นิ่งอยู่กับลมหายใจได้เหมือนไม่มีกิเลส แต่พอมีอะไรมากระทบ จิตก็เหมือนดีดผางขึ้นเต้นงิ้วทันที แม้กิริยาทางกายภายนอกของฉันเหมือนยังสงบสุขอยู่ในสายตาคนอื่นก็ตาม นี่คืออีกระดับของความเห็นจากมุมมองของสติอันคมคาย

อีกประการหนึ่ง ถึงวันนี้ฉันได้ตระหนักว่าโพชฌงค์นั้นมีอย่างอ่อน อย่างกลาง กับอย่างแก่

โพชฌงค์อย่างอ่อนนั้น จะเกิดสติได้ต้องฝืนตั้งใจดึงจิตที่ส่งออกนอกมาอยู่กับฐานเสียก่อน จะเกิดธัมมวิจัยได้ต้องกำหนดนึกอยู่ครู่หนึ่งเช่นลมหายใจนี้เราจะมองเป็นของเกิดดับได้อย่างไร จะเกิดวิริยะได้บางทีถึงกับอึดอัดในอกที่ต้องต้านทานความอยากปล่อยใจออกไปข้างนอกตามเรื่อง จะเกิดปีติได้ต้องรอให้จิตเชื่องจนรู้เห็นความเกิดดับของลมหายใจอย่างเดียวสักพักหนึ่ง และจะเกิดปัสสัทธิได้ต้องให้จิตเบิกบานสักพักหนึ่ง กายจึงระงับนิ่ง แล้วความฟุ้งจึงระงับตาม

โพชฌงค์อย่างกลางนั้น จะเกิดสติโดยไม่ต้องฝืนใจ จะเกิดธัมมวิจัยได้ด้วยความเคยชินจำทางได้โดยไม่ต้องเค้นนึก จะเกิดวิริยะได้ไม่จำเป็นต้องออกแรงฝืน จะเกิดปีติได้ง่ายขึ้น และจะเกิดปัสสัทธิเกือบพร้อมกันกับที่รู้สึกว่าจิตเบิกบาน กายระงับนิ่งเกือบทันที ในหัวไร้ความฟุ้งกลายเป็นความสงัดสงบเหมือนผิวน้ำนิ่งเย็น

โพชฌงค์ทั้งสองระดับนี้อาจผลัดกันอยู่ ผลัดกันไป หรืออาจจะหายไปหมดด้วยกันทั้งคู่ อีกประการหนึ่งต้องไม่ลืมด้วยว่าทั้งอย่างอ่อนกับอย่างกลางที่ฉันกล่าวถึงในเดือนแรกนี้ มีลมหายใจและอิริยาบถเป็นราวเกาะ ฐานสติอื่นๆฉันยังเข้าไม่ถึง ฉะนั้นโพชฌงค์อย่างแก่เป็นอย่างไร อันนี้ต้องรอดูต่อไป

:b39: :b40: :b41:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๑ :b42:
๑) ฉันได้ศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นในทางหลุดพ้น คือสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ดีแล้ว เชื่อแน่ว่าเมื่อไต่ไปตามขั้นตอน วันหนึ่งในชาตินี้จะต้องหลุดพ้นอย่างแน่นอน มีองค์ต่างๆของโพชฌงค์เป็นเครื่องตรวจสอบว่าสภาพจิตของฉันกำลังดำเนินเข้าใกล้มรรคเข้าใกล้ผลอยู่มากน้อยเพียงใด ออกนอกลู่นอกทางไปบ้างหรือยัง

๒) ฉันได้ราวเกาะคือลมหายใจและอิริยาบถ แต่ยังผลัดกันระหว่างกิริยาเกาะราวกับอาการส่งจิตออกนอก ฉันประมาณไม่ถูก เอาเป็นว่าอาการส่งออกนอกน่าจะมากกว่าเยอะก็แล้วกัน

๓) ฉันได้ตระหนักว่าความก้าวหน้าอย่างเดียวไม่มี มีแต่ต้องก้าวหน้าแล้วก้าวหลังสลับกัน ตรงจุดนี้มีประโยชน์ที่แม้ก้าวหลังก็ไม่ท้อ แต่เห็นความก้าวหลังเป็นการแสดงอนิจจังชนิดหนึ่งได้

:b48: :b51: :b53: มีต่อ....

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 07:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: เดือนที่ ๒: สุขทุกข์เหมือนฝันไป


เดือนแรกผ่านไปโดยฉันถือหลัก ‘รู้สิ่งเดียวให้เชี่ยวชาญ’ ผลคือความเชื่อมั่นว่า ‘ฉันก็เจริญสติปัฏฐาน’ ได้ และเมื่อเจริญสติปัฏฐานได้ ก็แปลว่าเป็น ‘หนึ่งในผู้มีสิทธิ์เห็นธรรมตามพระพุทธเจ้า’ ด้วยเหมือนกัน

การขึ้นเดือนที่ ๒ ทำให้ฉันถือเป็นฤกษ์สำรวจความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มพยายามเพื่อความคืบหน้าใหม่ๆอันใดได้บ้าง เพราะ ณ วันนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเห็นกายชัดผ่านลมหายใจและอิริยาบถแน่แล้ว

นึกได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในระหว่างบทตอน ว่า ยังมีข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่เธอควรทำอีก คือ… ซึ่งหมายความว่า ท่านไม่ได้ให้ทำสติรู้ลมหรือสติรู้อิริยาบถเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างอื่นเพื่อความ ‘ครบสูตร’ ของสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเมื่อไต่มาตามลำดับบันได ฉันก็เห็นเลยทีเดียวว่าเมื่อเจริญสติจนอยู่ตัวระดับหนึ่ง จะเป็นของง่ายในการก้าวสูงขึ้นด้วยแนวทางที่พระพุทธเจ้าประทานไว้สอดรับรัดกุมแล้ว

อย่างเช่นที่เห็นกับประสบการณ์ตัวเองคือ การปฏิบัติหมวดกายไม่แต่จะทำให้รู้จักความเป็นกายในสภาพเกิดดับอย่างเดียว แต่ยังทำให้จิตส่งออกนอกน้อยลง มีความสงบสุขอยู่กับตัวเองมากขึ้น เป็นความสุขที่เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ไม่ต้องขลุกกับการงานทางโลก แทบเรียกได้ว่าเพียงแค่เดือนแรกก็ชำระล้างวิญญาณ ยกระดับวิญญาณกันใหม่เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่าอะไร? หมายความว่าถ้าปรารถนาจะดูความสุขความทุกข์โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง ฉันก็พร้อมแล้ว เนื่องจากเครื่องมือในการเจริญสติหมวดเวทนาปรากฏเด่นชัดเสมอๆ

:b38: มีต่อ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 07:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: การเจริญสติรู้สุขทุกข์โดยสรุป

สุขกับทุกข์ในสามัญสำนึกของคนทั่วไปคือสิ่งที่ต่างกันเป็นขั้วตรงข้าม แต่สุขกับทุกข์ในมุมมองของผู้รักความจริงนั้น เป็นสิ่งเดียวกัน คือได้ชื่อว่า ‘เวทนา’ เหมือนกัน เกิดขึ้นด้วยเหตุเป็นธรรมดา แล้วย่อมต้องดับลงเป็นธรรมดาเหมือนกัน ความต่างระหว่างเวทนาคงคล้ายกับเหรียญคนละหน้า เปรียบสุขเหมือนกับหน้าที่เป็นหัว เปรียบทุกข์เหมือนหน้าที่เป็นก้อย แต่ทั้งหัวและก้อยก็คือเหรียญเดียว เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไม่อาจแยกได้ พูดง่ายๆคือ ถ้ายังมีสภาพที่เป็นสุขได้ ก็แปลว่ายังมีสภาพที่เป็นทุกข์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง ขอให้ลองคิดดู ถ้าสถานการณ์ไหนทำให้เราเป็นสุขมาก หากกลับสถานการณ์นั้นเป็นตรงข้าม ความรู้สึกเราย่อมพลิกคว่ำคะมำหงายตามไปด้วยอย่างแน่นอน เช่นเมื่อได้มาซึ่งบุคคลอันเป็นที่รักย่อมก่อสุขเปี่ยมล้น แต่เมื่อพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักย่อมก่อทุกข์มหันต์เช่นกัน

ที่ต้องทำความเข้าใจไว้แม่นๆ คือในหมวดเวทนานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้แนะวิธีบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ตัวเอง แต่ท่านให้รู้ตามจริงว่ากำลังสุขหรือกำลังทุกข์ กล่าวโดยหลักการโดยสรุปมีดังนี้

๑) เสวยสุขอยู่ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยสุข

๒) เสวยทุกข์ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยทุกข์

๓) รู้สึกเฉยๆก็รู้ชัดว่ากำลังรู้สึกเฉยๆ

๔) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างเสวยสุขแบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก

๕) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างเสวยทุกข์แบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก

๖) เปรียบเทียบได้อย่างรู้ชัดระหว่างรู้สึกเฉยแบบมีเหยื่อล่อภายนอกกับไม่มีเหยื่อล่อภายนอก

โดยย่นย่อ เป้าหมายที่ฉันตั้งไว้ว่าจะทำให้ถึง คือเห็นสุข ทุกข์ เฉยโดยความเปรียบเทียบว่าต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะเห็นว่าทั้งสุข ทุกข์ เฉยนั้นต่างก็เป็นเวทนาเหมือนกันหมด เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาเหมือนกันหมด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเหมือนกันหมด

:b38: มีต่อ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๑: ติดสุข


วันแรกของเดือนใหม่ ฉันเริ่มสังเกตว่าชีวิตของตนเองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้วยมุมมองของตนเองจากภายใน และทั้งด้วยมุมมองของสายตาคนภายนอก

ด้วยมุมมองของฉันเอง ฉันรู้สึกสงบสุขยิ่ง เห็นชัดว่าเริ่มจากกายที่ไม่กระสับกระส่าย ไม่มีแรงดันให้กวัดแกว่ง ไม่มีพลังขับให้เหลือกหูเหลือกตาไปเสพภาพเสียงร้อนๆแบบชาวโลก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งเร้าภายนอกลดกำลังลง แต่ฐานสติภายในของฉันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายจังหวะฉันยังสนุกกับโลกภายนอกได้ ทว่าไม่สนุกจนหลงเพริดกระทั่งพลิกคะมำกลับด้านเป็นทุกข์ และเวลาปกติส่วนใหญ่ฉันจะเพลินเสพสุขภายในกับลมหายใจที่ธรรมชาติติดตั้งไว้ให้แล้วนับแต่แรกเกิด ไม่ต้องลงทุนสร้างอุปกรณ์เสริมเติมยิ่งกว่านั้น

และด้วยมุมมองของคนอื่น มักมีคนทักว่าผิวพรรณฉันผ่องใสขึ้น หน้าตามีความสุข ดูไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน บางคนก็แวะเวียนมาระบายทุกข์ให้ฟัง และขอคำแนะนำเพื่อแก้ทุกข์ โดยที่ฉันไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มทำท่าหรือประกาศตัวว่าอยากเป็นที่ปรึกษาให้ใครเลยแม้แต่น้อย

ยอมรับว่าบางทีฉันก็ชักเคลิ้มบ้างเหมือนกัน คือพอสงบกายสบายจิตแล้วก็เผลอนิ่งจมอยู่อย่างนั้นด้วยความพึงใจ เดินก็เป็นสุข นั่งก็เป็นสุข ทำงานวุ่นๆก็ยังอุตส่าห์เป็นสุข เสร็จจากงานมักนั่งพักนิ่งๆ แขนขาวางอยู่ตรงไหนก็วางอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานานอย่างมีความสงบละไมในตัวเอง เหมือนแช่น้ำเย็นได้นานตามปรารถนาโดยไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะพร่องลงหรือมีใครมาเรียกให้ขึ้นจากบ่อ

และทั้งที่เตือนตัวเองตั้งแต่เดือนแรก แต่ทำไปๆก็รู้สึกดียิ่งขึ้นทุกที เหมือนนักบุญผู้ล้ำเลิศ ซึ้งแล้วว่าจิตใจเยือกเย็นยิ่งกว่าน้ำเป็นอย่างไร เมื่อมีความสงบประณีตโดยไม่เสแสร้งแกล้งสร้างภาพ เราจะรู้สึกว่าจิตวิญญาณสูงส่งขึ้น อยากทำแต่เรื่องดีๆ มาถึงจุดนี้ฉันจึงทบทวนว่าเป็นสุขแล้วพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างไรต่อ ก็จำได้ว่าท่านเคยตรัสไว้ในเคลัญญสูตร ความโดยสรุปที่เกี่ยวข้องกับฉันคือ…

เมื่อเธอมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นต้องอาศัยที่ตั้งจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากที่ตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้

สุขเวทนานั้นอาศัยอะไรเป็นที่เกิด? กายนี้เองเป็นที่เกิด แต่กายนี้ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงประกอบให้เกิดกายขึ้น ดังนี้สุขเวทนาอันต้องอาศัยกายจักเที่ยงได้อย่างไร เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้เธอย่อมเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมสามารถละกามกิเลสอันแฝงตัวนอนเนื่องในกายและในสุขเวทนาเสียได้

เป็นจริงยิ่งนักแล้ว โดยเฉพาะถ้าเสวยสุขอันเกิดจากสติรู้อิริยาบถนั่ง ถ้าหากนิ่งแช่เฉยๆด้วยความขาดสติ ก็ย่อมติดใจในรสสุขอันเคยชินเยี่ยงนั้น มีความพึงใจ และบอกตัวเองว่า ‘พอแล้ว’ เป็นเหตุให้ไม่อยากถอนออกมาจากสุขอันแช่นิ่งนั้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่คนเรามีความสุขแล้วก็ย่อมไม่เห็นความจำเป็นต้องไขว่คว้าอะไรอีก ราวกับเดินทางมาถึงดวงดาวแล้ว หากไม่ศึกษาให้ดีๆ มีแผนที่อันบริบูรณ์ไว้ในมือเสียก่อน ก็อาจหลงนึกว่าหยุดปักหลักตรงนี้แหละ อย่าไปไหนอีกเลย

เป็นอันว่าฉันรู้ตัวว่าต้องดึงตัวเองออกจากหล่มสุขในอิริยาบถ คำถามคือเมื่อสุขอยู่นานๆแล้วจะดูโดยความเป็นของเกิดดับได้อย่างไร ในเมื่อกว่าจะเห็นความดับไปของเวทนาก็กินเวลาอักโข เดี๋ยวนี้ฉันนั่งนิ่งๆได้เป็นสิบนาทีโดยไม่ต้องขยับเขยื้อน ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องกำหนดเป็นพิเศษมากไปกว่ารู้สึกถึงความแน่นิ่งในอิริยาบถ

คิดไปคิดมาก็ได้คำตอบเป็นการย้อนกลับไปสู่พื้นฐาน คือลมหายใจ ฉันลืมไปว่าลมหายใจก็เป็นกายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่าเวทนาอาศัยกาย หากพิจารณารู้ว่ากายไม่เที่ยง ก็ย่อมรู้ว่าเวทนาไม่เที่ยงไปด้วย

ลมหายใจเข้านำความสดชื่น เมื่อรู้สึกถึงความสดชื่นนั้นย่อมปรุงให้กายสงบปราศจากความกวัดแกว่ง ฉันพิจารณาตามจริงขณะเกิดสติรู้ลมเข้า ว่าความสดชื่นไม่ได้มีอยู่ก่อน และจะไม่อยู่ในฉันตลอดไป เพียงลมอัดวูบเดียวก็ต้องคืนกลับออกสู่ความว่างเปล่าภายนอก กำหนดดูความสดชื่นโดยความเป็นภาวะไม่เที่ยงอยู่หลายระลอกลม จนในที่สุดเห็นว่าแม้แต่ระดับความสดชื่นในระลอกลมเดียวกันก็มีความไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือเมื่อเริ่มพองหน้าท้องลากลมเข้าจะสดชื่นเล็กน้อย เมื่อเข้าสุดปอดด้วยจังหวะจะโคนที่เรียบรื่นสม่ำเสมอก็จะสดชื่นแบบอิ่มเต็ม ทว่าเพียงชั่วเวลาอันสั้นก็ต้องสลายลง แต่เพราะสดชื่นอยู่เรื่อยๆโดยทิ้งช่วงห่างเพียงเล็กน้อย จึงเกิดอุปาทานไปว่าเราสดชื่นคงเส้นคงวาเช่นนั้นตลอดเวลา

เมื่อพิจารณาเห็นชัดด้วยสติขณะนั้นว่าความสดชื่นไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเสื่อมไปเป็นขณะๆ จิตก็คลายจากสภาพแช่นิ่ง มีความรู้สึกปล่อยวางในสุข ทั้งที่ดูดีๆแล้วเป็นสุขยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ฉันตัดสินตัวเองในบัดนั้นว่าองค์แห่งโพชฌงค์คือ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ บังเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์ทั้งยังนั่งลืมตาอยู่กับที่ กล่าวได้ว่ามีความนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่ยังไม่สมบูรณ์แท้เพราะบางทีตายังขยับเหลือบด้วยความไหวตามสิ่งกระทบ มีความวางเฉยในสมาธิอยู่บ้าง แต่ใจหนึ่งก็รู้สึกว่ามีตัวตนในท่ามกลางแห่งสตินั้น ฉันจึงไม่ปักใจว่าสององค์สุดท้ายของโพชฌงค์ อันได้แก่ ‘สมาธิ’ และ ‘อุเบกขา’ เกิดขึ้นเต็มที่อย่างปราศจากข้อกังขา แต่อย่างน้อยที่สุดลักษณะทั้งปวงที่ปรากฏทางกายใจในบัดนี้ ก็ส่องให้เห็นว่ามาถูกทาง กำลังอยู่ในทาง และจะพัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

ทั้งวันที่เหลือฉันเฝ้าดูความสดชื่น เห็นความสดชื่นไม่เที่ยง บางชั่วโมงหายใจเข้าได้ลึก บังเกิดความสดชื่นตื่นเต็ม บางชั่วโมงก็หายใจเข้าได้ตื้น ไม่นำพาความสดชื่นเข้ามาให้เห็นถนัด ร่างกายต้องการลมหายใจต่างระดับกันในแต่ละช่วง ฉันเฝ้าสังเกตดูจนมั่นใจว่ารู้ทางออกจากอาการติดความสงบสุขล้ำลึกแน่แล้ว จึงจบวันด้วยการสรุปว่าเห็นทางชัดว่าจะแก้ลักษณะติดสุขได้อย่างไร



:b38: /วันที่ ๒: ทุกข์อันใหญ่หลวงของสิ่งมีชีวิต

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๒: ทุกข์อันใหญ่หลวงของสิ่งมีชีวิต

วันนี้เป็นวันเสาร์ ออกจากที่ทำงานตั้งแต่ก่อนเที่ยง ฉันนึกอย่างไรไม่ทราบ อยากขับรถไปตามวัดจังหวัดใกล้ๆบ้าง นานๆทีฉันมักนึกอยากเที่ยวแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ชาติก่อนฉันอาจเคยธุดงค์แล้วยังมีนิสัยชอบใจฝังติดมาถึงชีวิตนี้กระมัง

นานแค่ไหนแล้วที่ฉันไม่ได้ออกต่างจังหวัด ยิ่งห่างจากกรุงเทพฯมา ฉันก็ยิ่งปลอดโปร่ง จิตใจสงัดเงียบราวกับคนกำลังรอนแรมในป่าลึกเข้ามาเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะสองข้างทางคือทิวทัศน์กว้างไกล ไม่แออัดยัดเยียดด้วยตึกสูงเหมือนอย่างในเมืองหลวง ไม่มีสิ่งรกตาบดบังทัศนวิสัย เผยให้เห็นฟ้ากว้างอยู่เกือบตลอดเวลา

ฉันมีสมาธิกับการขับรถ จนเวลาผ่านไปพักใหญ่บนเส้นทางตรงเหยียดยาวที่ไม่ต้องระมัดระวังมากนัก รู้สึกถึงสองแขนที่ปล่อยสบายไม่ไหวติง กายอันสงบระงับเป็นเช่นนี้เอง แม้ทำหน้าที่ถือพวงมาลัยอยู่ก็เหมือนพักนิ่งเฉย สบายจากไหล่ไปถึงมือ ตรวจจิตตนเองก็เห็นความติดใจในอาการสุขแช่นิ่งนั้น จึงเริ่มพิจารณาลมหายใจเข้าโดยความเป็นพาหะนำความสดชื่นเข้าสู่ร่างกาย เห็นสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกายตามจริงว่ามีระดับไม่คงที่ ถึงยอดสุดแห่งความสดชื่นในหัวอกแล้วต้องสลายตัวระบายออกมาสู่อากาศว่างภายนอก กระทั่งจิตสลัดคืนความยึดติดในสุขอันเกิดจากความแช่นิ่ง

ฉันสังเกตเข้าไปในรายละเอียดความแตกต่างระหว่างสุขแบบแช่กับสุขที่กำลังเกิดขึ้น ฉันยังเป็นสุขเหมือนเดิม ทว่าความแตกต่างที่สำคัญคือมีสติผุดรู้ขึ้นมาว่าสุขเวทนาอันเกิดจากอิริยาบถนั่งสงบเป็นแค่สภาวะหนึ่ง ไม่มีความหลงยึดติดแบบแช่เพราะความเคยชิน

ตรงนี้ฉันเคยได้ยินมานาน เช่นพระป่าบางรูปเคยพยายามอธิบายความแตกต่างของการเสพสุขในสมาธิ ระหว่าง ‘มีรู้’ กับ ‘ไม่มีรู้’ ประกอบอยู่ด้วย แต่ก่อนอ่านหรือฟังแล้วงง บัดนี้ค่อยเข้าใจผ่านประสบการณ์ตนเองชัดเจน

ล่วงมาถึงเขตอยุธยา ตั้งใจว่าจะทำอย่างที่เคยอยากทำมานานเวลาเห็นหลังคาโบสถ์จากระยะไกล นั่นคือเลือกขับรถเข้าไปตามทางที่เห็นว่านำไปสู่โบสถ์ที่ดูว่าอยู่ในเขตวัดของคนบ้านนอก สงบสันโดษ มีไม้ใหญ่ร่มรื่น รวมทั้งตั้งอยู่ริมคลอง การมาคนเดียวทำให้ฉันไม่ต้องถามความสมัครใจจากคนอื่น เหมือนมาผจญภัยตามลำพัง พบสิ่งใหม่ภายในพรมแดนที่ไม่ค่อยมีใครย่างไปถึง

สอดส่องตามท้องไร่ท้องนาข้างทางพักหนึ่ง ยังไม่เจอหลังคาโบสถ์ที่เข้าตา ขณะนั้นท้องเริ่มเรียกร้องอาหาร ปกติฉันไม่ทานข้าวผิดเวลานัก จึงไม่ค่อยคุ้นกับความหิวโหย พอหิวจัดขึ้นมาคราวนี้จึงเป็นสภาพแปลกที่น่าสนใจ ภาวะหิวเป็นทุกข์ เป็นความทรมาน เป็นสภาพที่เบียดเบียนให้สติอ่อนลง เหมือนมันมีกำลังบีบคั้นให้เราอ่อนแอลงได้ทั้งทางกายและทางใจ

ทีแรกฉันสอดตาหาร้านอาหาร แต่พอเกิดผุดสติรู้ว่าทุกข์ทางกายเกิดแล้ว ทุกข์ทางกายปรากฏชัดเจนแล้ว ทุกข์ทางกายมาแสดงสภาพบีบคั้นให้เห็นต่างจากสุขกายสุขใจที่ผ่านมาแล้ว ฉันก็ตัดสินใจใหม่ กำหนดสายตาหาวัดตามเป้าหมายเดิม ไม่ใช่ด้วยความตั้งใจจะทรมานตัวเอง แต่เจตนาจะใช้เป็นเครื่องพิจารณาเปรียบเทียบให้เห็นแจ้งในสภาพอันไม่น่าปรารถนาเสียบ้าง

ในที่สุดฉันก็เจอวัดตามสเปก เป็นวัดที่แวดล้อมด้วยหมู่ตาลร่มครึ้ม ท้ายวัดติดกับคลองยาว เมื่อลองขับรถเข้ามาก็ไม่ผิดหวัง เพราะเป็นสถานที่ไม่พลุกพล่าน เงียบสงบสมกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ฉันเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ซึ่งน่าจะบูรณะใหม่ไม่นาน เห็นจากสีขาวสะอาดน่าจะทาได้แค่สองสามปี ขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่นๆในวัดเก่าคร่ำคร่า แสดงอยู่ทั่วไปว่าอายุของวัดน่าจะหลายสิบปีแล้ว ฉันสงบใจอย่างประหลาดเมื่อกราบพระประธานตามลำพัง นึกชอบใจวัดเก่าที่หันไปไม่ค่อยเจอหน้าใครอย่างนี้ยิ่งนัก

ออกจากโบสถ์มานั่งที่ศาลาท่าน้ำ ญาติโยมสร้างถวายหลายจุด ล้วนเป็นศาลาไม้ที่ต่อไว้ง่ายๆ แต่นั่งสบายน่าดู ฉันทอดตามองไปสุดคุ้งน้ำเบื้องไกลแล้วขอบใจตัวเองที่วันนี้เลือกมาสู่เขตสงบ ได้พักตา ได้พักประสาท ได้อยู่กับตนเองตามความปรารถนาจากส่วนลึก ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันชวนทัศนาเหลือหลาย

ความหิวลดระดับลง นั่นคือสิ่งที่ฉันสำเหนียกรู้สึกได้โดยไม่ต้องพยายาม อ้อ! เป็นอย่างนี้เอง แม้ระดับความหิวก็มีอ่อนมีแก่ มีขึ้นมีลง ปกติถ้าหิวนิดหิวหน่อยฉันจะกินทันที เลยไม่มีโอกาสสังเกตเห็นอนิจจังชนิดนี้

ดังที่ปรากฏในคาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ ความว่า สุขอื่นเสมอความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เผอิญฉันลิ้มรสความจริงทั้งสองประการนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันเสียด้วย ช่วงขับรถบนทางตรงเหยียดยาว เมื่อจิตดื่มด่ำกับความสุขสงบอันเกิดแต่สติสัมปชัญญะรู้อิริยาบถนิ่งไม่ไหวติงต่อเนื่อง ฉันนึกๆอยู่เหมือนกันว่าสุขกว่านี้คงมีแต่ต้องสงบให้ยิ่งกว่านี้เท่านั้น แต่ครู่ใหญ่ต่อมาก็เจอความหิวซึ่งเป็น ‘โรคอันยิ่งใหญ่’ ของสัตว์ทั้งหลายเข้าให้ จนกลายเป็นสภาพเปรียบเทียบอันโดดเด่นชัดเจนยิ่งระหว่างรสสุขอันหาอื่นใดเสมอเหมือนได้ยาก กับทุกข์ใหญ่หลวงอันเป็นของประจำสัตว์แทบทุกภพทุกภูมิ

ทอดตามองลงต่ำ เห็นปลาสองสามตัวกำลังพยายามพลุ่งขึ้นฮุบเศษซากอะไรบางอย่างบนผิวน้ำที่พอเป็นอาหารของมันได้ ถ้าเป็นเวลาปกติฉันคงมองผ่านอย่างไม่รู้สึกอะไร แต่ยามนี้ที่ใจกำลังคำนึงว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ทำให้มองปลาเหล่านั้นด้วยความสงสาร ถ้าฉันหิวฉันยังเอาเงินไปแลกซื้อข้าวอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ แต่ถ้าปลาหิวแล้วไม่มีใครเอาอะไรไปให้ พวกมันก็ต้องกระเสือกกระสนหาสัตว์เล็กหรือซากขยะที่เลือกแล้วเห็นว่าพอประทังชีวิตได้

ชีวิตสัตว์จะมีอะไรมากไปกว่าสัญชาตญาณหาอาหาร กินยังไม่อิ่มก็ต้องหาอีก ทั้งชีวิตเหมือนมีอยู่เพื่อหาของใส่ท้องโดยแท้ หากพวกมันไม่ถูกจับมาทอดให้คนกิน ก็เหมือนเป็นชีวิตที่หาค่าไม่ได้เอาเสียเลย

ฉันส่งตามองนิ่งๆ แล้วเกิดประสบการณ์ภายในที่คล้ายอุปาทาน คือรู้สึกสัมผัสทุกข์ภายนอกตัวเองด้วยจิตอย่างแจ่มชัด ฉันเห็นทุกข์ขณะปลาทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความหิวโหย เห็นทุกข์ขณะของการอ้าปากงับ เห็นทุกข์ขณะปลาจมลงน้ำด้วยอาการกระวนกระวายไม่อิ่มไม่พอ ฉันเลิกคิ้วนิดหนึ่งด้วยความพิศวงใจ ถามตนเองว่านี่เป็นสัมผัสที่คิดขึ้นเองผ่านสายตา หรือว่าเกิดจากการมีจิตสัมผัสอย่างแท้จริงกันแน่?

ในทุกหมวดของสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธเจ้าให้ดูกาย เวทนา สภาวจิต และสภาพธรรมต่างๆทั้งภายในตัวเราและของคนอื่นภายนอก เห็นโดยความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ฉันดูกายตัวเองและเวทนาของตัวเองมาพักหนึ่ง แต่ไม่เคยทดลองส่งจิตออกไปสัมผัสคนอื่นหรือสัตว์อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าไม่อยากหรือกลัวจะไปหลงติดฤทธิ์ติดเดชอะไร แต่สารภาพตามตรงว่าไม่ทราบว่าเขาทำกันท่าไหนมากกว่า

ชั่วโมงที่ผ่านมาเรียกว่าสติของฉันมีฐานที่ตั้งเป็นเวทนา ทั้งสุขมากและทุกข์มากปรากฏชัดเจนแจ่มแจ๋วราวกับรูปทรงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จิตมีความรู้ชัดถึงสภาพหรือลักษณะของสุขและทุกข์ตามจริงกระทั่งเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นอย่างนั้นๆ เช่นสุขคือสภาพที่สบาย ผ่อนคลาย เยือกเย็น ทุกข์คือสภาพที่บีบคั้น อึดอัด ร้อนรน เป็นการเห็นของจริงในตน เป็นการประจักษ์แจ้งว่าทั้งสุขและทุกข์ต่างก็อิงอาศัยอยู่ในกายนี้ร่วมกัน

นาทีปัจจุบัน เมื่อฉันทอดตามองเหล่าปลาหิว ฉันไม่ได้คาดหมายอันใดไว้ก่อน จึงเป็นการมองด้วยจิตที่ว่างเปล่าจากอุปาทาน ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นหรือตั้งใจดูทุกขเวทนาของสัตว์อื่นทั้งสิ้น แต่สายตาที่มองอาการกระวนกระวายของสัตว์นั้น ก็ทำให้ทราบว่าต้นเหตุอาการกระวนกระวายคือจิตที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ห้วงทรมานอันยืดเยื้อ จิตฉันหยั่งลงไปในทุกข์ของมันขนาดเปรียบเทียบได้ว่ามนุษย์เราหิวจนแสบท้องแล้วอาจทำใจลืมๆได้เมื่อหันไปสนใจสิ่งอื่น แต่ปลาหิวแล้วจะกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขไปทั้งตัว จิตที่รู้สึกโหยหาอาหารนั้นหาความสงบไม่ได้เลย มีแต่คิดพุ่งไปเอาอะไรที่พอกินได้มาใส่ท้องตลอดเวลา

ฉันอาจเห็นปลาที่อิ่มหมีพีมันในตู้ปลาในบ้านจนชิน หรือแม้ไปตามสวนสาธารณะแล้วซื้อขนมปังโยนแจกปลาก็เห็นมันดิ้นรนทึ้งแย่งเศษอาหารกันจ้าละหวั่นด้วยความรู้สึกธรรมดาๆ ต่อเมื่อมีจิตสัมผัสทุกข์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นรสเดียวกัน มีธรรมชาติทุกข์อันเนื่องด้วยกายเหมือนๆกัน ฉันถึงกับตกตะลึง และรับรู้เป็นวาระแรกว่าโลกแห่งการมีชีวิตน่ากลัวถึงเพียงนี้

ฉันเงยหน้าขึ้น ทอดมองไปตลอดแผ่นน้ำที่เรียบสงบผาสุกในสายตาของมนุษย์ กำหนดนึกถึงทุกข์ของปลาที่ยังติดอยู่ในใจ แล้วน้อมตรวจลงไปเบื้องใต้ผิวน้ำว่าทุกข์แบบเดียวกันนั้นมีประมาณสักเท่าใด ก็ต้องบังเกิดอาการขนลุกซ่านเกรียว เพราะคล้ายมีคลื่นทุกข์สาหัสจากความหิวโหยส่งออกมาจากทั่วทุกหย่อมน้ำ รวมกันเป็นปริมาณทุกข์ร้อนมหาศาล

ณ เวลานี้จิตฉันยังไม่เห็นชัดขนาดระบุจำนวน ความรู้สึกบอกตัวเองเพียงว่าอาหารปริมาณมากแค่ไหนก็เลี้ยงไม่พอ กำจัดทุกข์ใหญ่ของเหล่าสัตว์ในลำน้ำคลองสายนี้แห่งเดียวไม่ได้เลย โลกปรากฏเป็นของน่ากลัวไปในพริบตา ทั้งที่เมื่อครู่คลองสายนี้ยังดูสงบสุขเปี่ยมสันติน่าพิสมัยยิ่งกว่าที่ไหนๆ โลกสันนิวาสอันแท้จริงอาจหลอกตาสัตว์บางประเภทให้หลงเพลินติดใจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่คุมขังให้สัตว์อีกประเภทดิ้นพล่านไปจนกว่าจะถึงอายุขัย

สัมผัสนั้นไม่ทำให้ฉันคิดว่าเป็นอุปาทาน เพราะชัดราวกับหูได้ยินสัญญาณเสียงดังๆเปล่งออกมาจากรอบทิศ แต่คงอธิบายให้ใครรับรู้ตามไม่ได้ ธรรมที่ปรากฏต่อใจเป็นเช่นนี้เอง รู้ได้ด้วยใจตน รู้ได้เฉพาะตน ส่งถ่ายให้ผู้อื่นรับรู้ตามไม่ได้ ถ้าพยายามพูด คนก็อาจหาว่าบ้าไปเอง คิดไปเองเท่านั้น

เหลือบตามองพื้นศาลา ลูกแมวผอมโซที่มีขนเพียงหรอมแหรมตัวหนึ่งเดินมาหาฉัน ดูมันตัวสั่นคล้ายคนชราท่าทางงกๆเงิ่นๆด้วยสุขภาพย่ำแย่ เจ็บออดๆแอดๆมาตลอด มันไม่น่ารักเหมือนแมวบ้านที่ถูกประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยนมและข้าวน้ำ ดวงตาด้านๆของมันเล็งมองฉันด้วยแวววอนขอ ปากของมันขยับร้องเมี้ยวๆเล็กๆแบบไร้กำลังวังชา น่าแปลกที่แม้มันมีสภาพสมเพชเพียงใดก็ไม่อาจก่อให้เกิดใจสงสารสักเท่าไหร่

คงเป็นกรรมเก่าของมันส่งให้มาอยู่ในสภาพเช่นนี้กระมัง สภาพของมันคล้ายฟ้องให้ฉันรับรู้ด้วยตาเปล่าทำนอง ‘สมควรแล้วที่ต้องมาเป็นอย่างนี้’ อะไรบางอย่างในมัน จู่ๆก็ทำให้ฉันนึกถึงคนใจร้ายที่มักก่อเวรด้วยการปอกลอก หรือหลอกลวงผู้อื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่พึ่งที่อาศัย

จิตฉันไม่นิ่งตั้งมั่นขนาดหมดความสงสัยว่าที่ ‘สัมผัส’ นั้นเป็นกรรมเก่าของแมวจริงๆหรือไม่ รู้แต่ว่าฉันไม่รู้สึกสงสารมันเลย วิบากกรรมของมันคงผลิต ‘กลิ่นเหม็น’ แปะไว้ คือเห็นแล้วเหม็นหน้า หรืออย่างเบาะๆก็สมน้ำหน้าทันทีโดยไม่ต้องทำความรู้จักเสียก่อน

หลังจากร้องขออาหารอยู่พักหนึ่ง พอแน่ใจว่าจะไม่ได้อะไรจากฉัน มันก็เดินกระต้วมกระเตี้ยมจากไปแบบไม่มีปากไม่มีเสียง ฉันมองตามอย่างไม่ตั้งใจนัก เห็นมันไปหยุดยืนมองน้ำครู่หนึ่ง แล้วเคลื่อนที่ต่อไปดมๆกองขยะเล็กๆ

ดูๆท่าทางมันคงเผชิญชีวิตเปลี่ยวดายตามลำพังมาระยะหนึ่ง อาจนับแต่แรกเกิดทีเดียว วินาทีนั้นฉันเกิดประสบการณ์สัมผัสทุกข์ภายนอกขึ้นมาอีก กล่าวคือเมื่อไม่เห็นหน้าไร้สง่าราศีของมัน เห็นสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบไปเรื่อยๆแล้ว ก็เข้าใจความรู้สึกหวาดกลัว เหงาหงอย และแสวงหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของมันอย่างแจ่มชัด ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นที่มัน แต่มาปรากฏขึ้นที่ความรับรู้ของฉันด้วย ฉันแทบจะรู้เลยว่าอาการเพ่งมองอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายของมันนั้น ออกมาจากกระแสสำนึกภายในชนิดใด คล้ายกำลังกล้ำกลืนก้อนเศร้าชิ้นเดียวกันกับมันอยู่

พอสัมผัสชนิดเข้าถึงทุกข์ในแมวตัวนั้น ฉันจึงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายน่าเวทนาเสมอกันหมด หลงทำชั่วด้วยความไม่รู้จนตัวชุ่มบาปเสมอกันหมด เวียนว่ายหลงวนอยู่ในภพภูมิอันวิจิตรด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเกิดหนเดียวตายหนเดียวเสมอกันหมด

แทบไม่อาจกระเดือกน้ำลายลงคอ ราวกับเป็นคนอ่อนไหวขี้สงสาร เห็นสัตว์ตกทุกข์ได้ยากแล้วน้ำตาพานจะไหล ฉันรีบเดินไปยังร้านค้าที่ใกล้วัดที่สุด ซื้อขนมปังและอาหารบางอย่างที่คาดว่าแมวและปลาน่าจะกินได้ หอบกลับมาพะเรอเกวียน ต้องเดินหาลูกแมวตัวน้อยพักหนึ่งเพราะมันไม่ยืนอยู่ที่เดิมแล้ว

ฉันเจอมันไม่ห่างจากศาลาท่าน้ำเดิมนัก รีบคว้ามันมาลูบตัวปลอบอย่างไม่รังเกียจเนื้อตัวสกปรกของมัน เอาข้าวของที่เตรียมมาเทลงจานกระดาษให้มันราวกับเป็นเจ้าเหมียวที่บ้าน ท่าทางมันดีใจออกหน้าออกตา ตะกรุมตะกรามกินใหญ่ ฉันปลื้มปีติจนสะอึก เพราะสัมผัสความดีใจเฉพาะหน้าของมันอย่างชัดเจน กับทั้งรู้ซึ้งด้วยว่าความดีใจนั้นจะเกิดขึ้นไม่นาน เดี๋ยวมันจะหิวอีก และฉันจะไม่สามารถตามไปช่วยให้มันหายหิวได้ตลอดไป

เอาขนมปังมาบิเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแจกปลาตรงท่าน้ำ ที่เมื่อครู่เห็นว่ามีแค่สองสามตัวนั้นผิดถนัด บัดนี้มันแห่กันมาจากไหนไม่รู้เป็นฝูงใหญ่ เพียงโยนเศษขนมปังลงไปแค่สองสามชิ้นก็เห็นพวกมันดิ้นโครมครามแก่งแย่งกันราวกับเกิดกลียุค ขนมปังกองใหญ่ของฉันแก้หิวปลาโชคดีได้แค่ไม่กี่ตัว และเป็นการประทะประทังเพียงชั่ววูบชั่ววาบ ฉันสัมผัสถึงการหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กน้อยที่มีให้พวกมันได้ในเวลาสั้นแสนสั้น ไม่มีปลาตัวไหนอิ่มเลย สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งของตนจริงๆ พวกมันไม่มีบุญคอยรักษา ไม่มีบุญคุ้มจากความหิวโหยอดโซ ไม่มีบุญปกป้องจากความหนาวร้อนในโลกนี้ เหมือนบ้านไม่มีรั้ว ภยันตรายหรือวิบากชั่วไหนๆก็สามารถเข้ามาจู่โจมเล่นงานได้สบายๆโดยไม่ต้องฝ่าอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น แถมยังต้องระหกระเหเร่ร่อนไปเกิดตายในสภาพบุญน้อยไปอีกนานแค่ไหนไม่อาจทราบ

สูดลมหายใจลึก พวกหมาแมวในวัดคงได้กลิ่นคนใจดี ชักแห่กันเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังขออาหารฉันบ้าง แต่ในมือฉันว่างวายเสียแล้ว ไม่เหลืออะไรให้พวกมันอีกเลย ได้แต่ถอนใจเฮือกใหญ่ เดินออกจากวัดด้วยความเศร้าสลด มนุษย์และสัตว์เกิดมาเพื่อเจริญวัย กระทำการดีร้ายด้วยความไม่รู้เป็นหลัก วันหนึ่งก็ต้องแก่ลงแล้วตายไปรับผลกรรมแบบหมดสิทธิ์เลือก แล้วก่อกรรมต่ออีก เพื่อรับผลอีก หาแก่นสารได้ที่ไหน ยิ่งคิดยิ่งสังเวชตนเองและเพื่อนร่วมทุกข์นับอนันต์ทั่วโลก

กระทั่งเกิดสติเพราะความเคยชินในการรู้ฝ่าเท้ากระทบพื้น จึงระลึกได้ว่าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็ดูทุกข์นั้นโดยความเป็นสภาพบีบคั้นจิตให้หม่นหมอง เต็มไปด้วยฝ้ามัวพร่าพราย ซึ่งเมื่อเห็นทุกข์ทางใจอยู่เดี๋ยวเดียว ก็คล้ายสภาพทุกข์นั้นถูกแทนที่ด้วยสติเต็มดวง กลายเป็นเบิกบานขึ้นมาใหม่ เบนวิถีความคิดไปอีกทาง คือเป็นมนุษย์นั้นดีอย่างนี้เองหนอ หาเงินเลี้ยงชีพก็ได้ แถมเมื่อเกิดในยามพุทธศาสนาอุบัติ ก็มีปัญญาเอาชนะความไร้สติ ความไม่รู้ และความแน่นทึบทั้งปวงได้ โชคดีกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไหนๆ อย่างไรฉันต้องเอาตัวรอดจากสภาพความไม่รู้อันเลวร้ายและน่าประหวั่นพรั่นพรึงในชาตินี้ให้จงได้!

:b53: :b51: สรุปคือวันนี้ฉันเห็นสภาพสุขและสภาพทุกข์อย่างชัดเจนพร้อมกันในวันเดียว แค่เหลื่อมเวลากันเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นยังเห็นทั้งสุขและทุกข์โดยความเป็นสภาพที่ปรากฏภายในและสภาพที่ปรากฏภายนอกด้วย มันเป็นอะไรที่ทำให้โลกทัศน์ถึงกับเปลี่ยนแปลง เหมือนคนที่สะดุ้งเพราะได้ยินเสียงร้องเตือนให้ระวังงูพิษบนพื้นขณะกำลังเดินหน้าระรื่นอยู่ในสวนดอกไม้วิจิตร พลันเหลือบมองพื้นก็พบงูเงี้ยวเขี้ยวขอน่าขยะแขยงชวนสยองเกล้าเสือกคลานยั้วเยี้ยไปหมด! และมันก็ไม่ใช่ภาพฝันผ่านเสียด้วย แต่ยังคงเป็นฝันร้ายที่ฉันกำลังถูกขังอยู่ในนั้น ด้วยตาที่เปิดครึ่งหนึ่งบ้าง กลับปิดมิดลงบ้างแล้วๆเล่าๆ ยังไม่อาจลืมตาเต็มตื่นจริงจังเสียที



:b38: /วันที่ ๓: เจริญสติระหว่างซมไข้

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๓: เจริญสติระหว่างซมไข้

เมื่อคืนฉันรับจ๊อบพิเศษเพราะปฏิเสธเพื่อนร่วมงานที่บริษัทเก่าไม่ได้ นั่งทำงานอยู่เกือบ ๔ ชั่วโมงจนเสร็จและส่งให้เพื่อนทางอินเตอร์เน็ต ก็ดีเหมือนกันได้สตางค์มาทำบุญเพิ่มตั้งเยอะโดยเสียเวลาเหนื่อยเพียงไม่นานนัก แถมฉันยังได้ทำสมาธิต่ออีกสองนาทีก่อนใช้สติในวินาทีสุดท้ายพาร่างไปนอนเหยียดบนเตียงแทนการฟุบอยู่กับพื้น

ผลของการตะลุยงานหนักโดยปราศจากความแช่มชื่นในสมาธิมาช่วยหล่อเลี้ยง คือเช้านี้ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองปวดหัวข้างเดียว ตัวร้อนๆรุมๆชอบกล คงจะเป็นไข้แน่แล้ว เมื่อคืนหักโหมจนลืมดูสภาพอากาศ ลมหนาวต้นกุมภาพันธ์ปีนี้บ้าๆบอๆเสียด้วย บทจะพัดมาก็เอาใหญ่ บทจะนิ่งก็อบอ้าวเหลือหลาย จนในที่สุดสิ่งมีชีวิตที่บอบบางอย่างมนุษย์เช่นฉันต้องประสบภาวะตะครั่นตะครอจนได้

ฉันทานข้าวเช้าแบบฝืดคอ หาข้าวต้มหรือของอ่อนๆไม่ทันแล้ว อยากกินยาลดไข้หลังอาหารเร็วๆมากกว่า เพราะถ้าพรุ่งนี้ไปทำงานไม่ได้จะยุ่ง ไหนจะต้องไปพบลูกค้าตามนัดช่วงบ่ายเพื่อเอางานไปเสนอ เอ้อ! ช่วงเช้ามีประชุมสำคัญอีกต่างหาก ชักเครียดขึ้นมาหน่อยๆ สั่งร่างกายตัวเองว่าอย่าพยศนานเชียวนา พรุ่งนี้ต้องไปทำงาน ขาดไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะต้องถูกเพ่งเล็ง และคะแนนในใจเจ้านายอาจลดลง หลังจากสู้อุตส่าห์ทำแต้มสูสีหรือเหนือกว่าคู่แข่งคนสำคัญมาช้านาน

แต่ความกลัวขาดงานของฉันก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายดีขึ้น หลังจากขึ้นมานอนหลับไปงีบหนึ่ง ตื่นขึ้นมายิ่งปวดหัวและตัวร้อนกว่าเดิม ฉันถอนใจหนักๆ ลุกมาเข้าห้องน้ำด้วยความเครียด ไม่อยากตระหนักประจักษ์ซึ้งในความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายยามนี้เอาเสียเลย

ทว่าอนัตตาก็ยังเป็นอนัตตาอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ใครจะไปบังคับควบคุมมันได้ มันจะป่วยเสียอย่าง มันจะพยศเสียอย่าง ตามเหตุปัจจัยที่ทำให้ป่วยและพยศ ฉันก็ได้แต่รับรู้แบบไม่อยากทำใจ ไม่อยากเจริญสติ ให้ไปหาหมอเพื่อฉีดยาหรือรับยาเม็ดวิเศษมาเดี๋ยวนี้ก็คงหายไม่ทันพรุ่งนี้แน่ หมอแถวบ้านฉันไม่ค่อยมีเวลาตรวจคนไข้ละเอียดเสียด้วยซี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าเป็นไข้แบบนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่ากินยาพาราฯธรรมดา รักษาเนื้อรักษาตัวสองสามวันก็จะทุเลาลง

คิดไปคิดมาจึงตกลงใจว่าพรุ่งนี้เป็นอย่างไรก็ช่าง ต้องออกจากบ้านทำงานตามปกติให้ได้ ต่อให้ปวดหัวมึนงงหรือตัวร้อนจนดันปรอทแตกก็ช่าง

ฉันกลับมานอนเตียง ฝืนข่มตาลง แต่เวลาผ่านไปก็ยิ่งรู้สึกลำบาก เพราะไม่ง่วงนัก มีแต่ใจอยากให้ร่างกายพักผ่อนเพื่อฟื้นไข้ทันเวลาอย่างเดียว

พยายามอยู่อย่างทรมานทรกรรมสิบนาทีก็นึกถึงลมหายใจเข้าออก สิบนาทีที่ผ่านมาฉันฝืนเกร็งจนไม่มีแก่ใจตั้งสติตามรู้ลม คล้ายคนกำลังถูกรุมด้วยไฟร้อนรอบด้าน จะให้ใจเย็นนั่งนับดาวราวกับคนที่อยู่เป็นปกติสุขอย่างไรไหวเล่า

ระบายลมหายใจออกยาวในครั้งหนึ่ง รู้สึกถึงความร้อนที่กลั้วปนไปกับลมหายใจ อุณหภูมิที่ขึ้นสูงในร่างนั่นเอง ปรุงให้ลมหายใจกลายเป็นลมร้อนในทะเลทรายไปได้ แต่ก็แปลกดี พอนึกเล่นๆว่าลมหายใจเหมือนลมร้อนในทะเลทราย ก็เห็นตามจริงว่าลมหายใจร้อนกว่าปกติ ส่วนดวงจิตกลับสงบลงได้

เกิดอาการตาสว่างทั้งที่ยังหลับตาอยู่อย่างนั้น ฉันเสวยทุกขเวทนาทางกายไม่พอ ยังเสวยทุกขเวทนาทางใจเข้าไปอีก ร่างกายกระสับกระส่ายแล้ว จิตใจยังดิ้นรนราวกับจระเข้ฟาดหางอาละวาดน้ำกระจาย อย่างนี้เขาเรียกทุกข์คูณสองจริงๆ

เพียงใจฉันยอมรับตามจริงได้ว่าลมหายใจยามไข้เป็นของร้อน โดยที่จิตไม่อยากให้มันหายร้อน ตัวของจิตเองก็เหมือนสบายไปครึ่งหนึ่ง แม้ยังต้องถูกบีบไว้ด้วยสภาพทุกข์ทางกาย ไม่น่าชอบใจ ก็ยังสงบได้ด้วยลักษณะเห็นตามจริง ไม่วิ่งหนี ไม่ผลักไส ปักหลักมั่นอยู่ตรงที่ที่ถูกบังคับให้เผชิญกับความจริงนั่นแหละ

ก่อนหน้านี้ฉันเริ่มสังเกตมาบ้าง ว่าแค่ดูลมหายใจเป็นอย่างเดียว ก็แทบจะรู้ได้ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เช่นขณะกำลังคิดฟุ้งซ่านกระจัดกระจาย ลมหายใจจะหยาบ สั้น เหมือนลมที่มากับความมืด และถ้าไม่สำเหนียกรู้จะเหมือนลมหยุดหายไปนานด้วยซ้ำ กว่าจะนึกได้และต้องระบายลมยาวๆสักทีเพื่อไม่ให้เตลิดไกลเกินกู่กลับมา

ขณะกำลังหนักใจ คิดมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลมหายใจจะมากับความอึดอัด ราวกับเราสูดเอาของทึบๆเข้ามาในร่าง แล้วคงค้างความหนักทึบไว้ในหัว ขณะกำลังใจร้อน อยากเร่งให้เกิดผลบางอย่างไม่ว่าจะงานทางโลกหรือความสงบภายใน ลมหายใจจะพลอยแฝงสภาพร้อนรน เช่นกระชากสั้น หายใจถี่กระชั้นด้วยร่างกายบีบเกร็ง

ขณะกำลังเหนื่อย ลมหายใจจะอ่อน อาจเป็นเพราะร่างกายขาดกำลังดึง หรืออาจเป็นสติน้อยเกินกว่าจะคำนึงถึงเครื่องชูกำลังง่ายๆที่หาได้ตลอดเวลา เพียงดึงลมหายใจให้แรงขึ้น ยาวขึ้น มีคุณภาพขึ้น ต่อให้เหนื่อยแสนเหนื่อยขนาดไหนกำลังก็ต้องฟื้นคืน มีความสดชื่นเพิ่มขึ้นสักนิดในชั่วขณะเวลาที่ลมแรงกว่าเดิมนั้น

ขณะกำลังปลอดโปร่งโล่งตลอด ลมหายใจจะยืดยาว ชัดลึก และนิ่มนวล ยิ่งถ้าตั้งสติไว้กับลมหายใจไปเรื่อยๆ ความปลอดโปร่งก็จะกลายเป็นความสุขสงบตั้งมั่น ลมหายใจประเภทนี้เองที่เราต้องการทั้งในแบบช่วยตั้งสติ ตลอดจนทำให้พร้อมเกิดธัมมวิจัย แล้วเพียรประคองจนปีติและระงับกายใจไม่ให้กวัดแกว่ง เพื่อความมั่นคงของจิต อันจะนำไปสู่การวางเฉยอย่างถูกต้องในภายหลัง

แต่ขณะกำลังเป็นไข้ ฉันยังไม่เคยสังเกตมาก่อนว่าลมหายใจมีลักษณะเป็นอย่างไร เป็นไข้งวดนี้จึงไม่ควรให้เสียเที่ยวเปล่า ฉันตั้งใจว่าให้ทรมานอย่างไรก็จะลองติดตามรู้ลมไปเรื่อยๆ ดูซิว่าจะเก็บตกหรือได้เกร็ดความรู้สายสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจกับกายที่ซมไข้อยู่มากน้อยเพียงใดบ้าง

ฉันพบตามจริงว่า ยามเป็นไข้นั้น ถึงแม้ลมหายใจขาออกจะร้อนรุ่มไม่เป็นที่สบายสัมผัสในช่องอกและโพรงจมูก แต่ลมหายใจขาเข้าก็ยังคงผสมไอเย็นของอากาศภายนอกตามปกติ เพียงแต่จะเริ่มฝืนเกร็งตอนใกล้สุดลมเข้า เพราะกายอยู่ในสภาพไม่เป็นที่น่าสบาย พอลมหายใจพาสติมารู้ความไม่สบายในกาย ลมก็เลยปรากฏตัวคล้ายไม่ค่อยเป็นมิตร ไม่ค่อยเป็นที่น่าสดชื่นเหมือนอย่างเคย ทั้งที่จริงลมเข้าก็ยังเป็นลมเข้าเหมือนปกตินั่นเอง จะเรียกว่าลมหายใจของคนเป็นไข้ เป็นลมหายใจที่มาพร้อมกับความแสลงกายก็คงไม่ผิด

แม้สังเกตข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ด้วยสติธรรมดาๆของทุกคน แต่ทุกคนก็จะเชื่อว่าเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทางกายหรือความรู้สึกนึกคิด ลมหายใจจึงปรากฏในแบบหนึ่งๆ แต่มักไม่มีความสังเกตกันว่า ถ้าเราหายใจด้วยสติ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการปรุงแต่งทางกายและความรู้สึกนึกคิดที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้

คำว่า ‘สติ’ ในที่นี้หมายถึงสติรู้ตามจริง ไม่ใช่สติแบบพยายามบังคับให้เกิดสภาพที่เราอยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น หรืออย่างเช่นที่ฉันอยากในเช้านี้คืออยากหายไข้ สติที่มากับความอยากจะทำให้ร่างกายและจิตใจต้องทำงานหนักขึ้น แต่สติที่มากับความยอมรับตามจริงจะทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในดุลพอดี

เมื่อได้คิดเช่นนั้น จากตัวอย่างการยอมรับลมหายใจร้อนๆเพียงหนเดียว ฉันก็เลิกทุรนทุราย เหลือแต่สติรู้ลมร้อนในขาออกตามจริง และสติรู้ลมเย็นค่อนข้างอุ่นในขาเข้าตามจริงด้วย

เมื่อรู้ว่าเข้าเย็นออกร้อนประมาณสิบหน ก็เริ่มกำหนดรู้ตามจริงให้ละเอียดขึ้น เห็นว่าตอนหายใจเข้าจะมีความแสลงทางกายปรากฏชัดกว่าตอนลมหยุด ไม่ว่าเป็นอาการปวดหัวข้างเดียว อาการรุ่มร้อนตามเนื้อตัว ตลอดจนอาการที่หลีกหนีไม่ได้อื่นๆ เช่นความเจ็บคอ เป็นต้น

โจทย์ที่ถามตัวเองแล้วเกิดความสนใจเป็นอันมากคือ ใจเริ่มเป็นทุกข์ตามสภาพทางกายเมื่อใด? ฉันได้คำตอบจากสติที่ผูกอยู่กับลมร้อนเย็นตามจริงว่า เป็นทุกข์เมื่อแสลงกาย ร้อนรุ่มในกาย แล้วคิดว่าเรากำลังเป็นไข้ กายเรากำลังอยู่ในสภาพลำบากน่าอนาถนัก อยากหายไข้พ้นสภาพทรมานเสียเดี๋ยวนี้ จะได้ทำอะไรตามปกติอย่างที่ต้องการ

เมื่อคำตอบเป็นที่แน่ชัดว่า ใจเป็นทุกข์ตามกายเพราะวิธีคิดแบบขาดสติ ฉันก็เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เลิกคิดเชื่อว่าที่กำลังแสลง ที่กำลังร้อน ที่กำลังกระสับกระส่ายอยู่นั้นคือกายของฉัน แต่เปลี่ยนเป็นกำหนดรู้ตามจริงว่าสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดความแสลง สิ่งที่อมความร้อนไว้ภายใน สิ่งที่ดิ้นรนสู่การขยับเปลี่ยน คือ ‘อิริยาบถนอน’ เท่านั้น

พลิกมุมมองนิดเดียว ฉันก็รู้สึกเป็นจริงเป็นจังว่าที่กำลังอยู่บนเตียงนี้ไม่ใช่ร่างกายของฉัน แต่เป็นอิริยาบถนอนนับแต่หัวจรดเท้า ถ้าหากไม่ฝึกอบรมไว้ก่อน จะมาเริ่มเอาตอนเป็นไข้ อย่างไรก็คงไม่ทันการณ์ อิริยาบถนอนคือความปรากฏของกายเท่าที่สามารถรับรู้ได้ขณะเหยียดร่างบนเตียง ถ้ารู้หัว หลัง ขาได้ตลอดก็ดี แต่ถ้ารู้แค่หัวกับหลังก็นับว่าใช้ได้ ปกติอิริยาบถนอนจะเป็นที่อาศัยของความรู้สึกว่าเป็นเรา ต่อเมื่อฝึกนอนด้วยการมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก เห็นลมหายใจเข้าออกเป็นของเกิดดับบ่อยเข้า ก็จะค่อยๆละลายความเห็นผิดๆลงทีละน้อย กระทั่งอิริยาบถนอนปรากฏเป็นเพียงเครื่องสูบลมเข้า เครื่องพ่นลมออกที่ปราศจากความทึบตัน ยิ่งโปร่งเบาและมีสติรู้ได้มากเท่าไหร่ อัตตายิ่งบางลงเท่านั้น

ลมหายใจเข้าต่อมา เมื่อรู้สึกถึงความเย็นของลม แล้วตามด้วยความรู้สึกร้อนแสลงตลอดช่วงอก ฉันก็ทำใจรับรู้ตามสภาพ ว่าที่ร้อนนั้นเป็นความร้อนภายในอิริยาบถนอน อิริยาบถนอนเป็นผู้ร้อน ไม่ใช่ฉันเป็นผู้ร้อน

เออ! มันช่างต่างกันดีเหลือเกินจริงๆ พอสติรู้ชัดว่าอิริยาบถนอนเป็นผู้อมความร้อน จิตก็คายความร้อนรนกระวนกระวายทิ้ง ครั้งต่อครั้ง นาทีต่อนาที จนในที่สุดจิตเกิดสภาพผ่อนพักเกือบเต็มที่ คล้ายหลับสนิท แต่ในความหลับนั้นจิตเฝ้ารู้อยู่ว่ากำลังดูอิริยาบถนอนที่อมความร้อนไว้ และจิตไม่เดือดร้อนกับสภาพร้อนของอิริยาบถนั้นเลย ธรรมดาคนเป็นไข้จะไม่ค่อยมีแรงคิดเรื่องจิปาถะนอกตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจิตได้ที่จับดีๆ ความคิดก็หลีกทางให้สติเอง สำคัญคือตอนต้น ทำอย่างไรจะได้ที่จับให้จิตมั่นคงหน่อยเท่านั้น

อุปสรรค ณ จุดเริ่มต้นที่เอาชนะยากมีหลายประการ ฉันสังเกตว่าการพลิกตัวแต่ละครั้งเป็นที่มาสำคัญของความเผลอสติ เพราะการได้เปลี่ยนท่าจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางกาย ขณะวางกายในท่าใหม่จะเกิดความหลงสุขชั่วครู่ ทำให้มีความเป็นเรานอนอย่างสุขสบายชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะแปรเป็นความรู้สึกร้อนกายหรือปวดหัวในท่านั้นๆ ความปวดหัวจะทำให้เป็นทุกข์ เหมือนแรงเสียดทานสติ ไม่ให้สติดำเนินผ่านไปได้ง่ายนัก เพียงนิ่งในท่าใหม่ครู่เดียวก็จะมีความเป็นเราปวดหัวขึ้นมาแทนเราสบายเสียแล้ว หากสติรู้ลมหายใจหรืออิริยาบถนอนตามมาไม่ทัน หรือสติใหญ่ไม่พอจะเอาชนะความรู้สึกว่าเราปวดหัวตัวร้อน ท่านอนใหม่ก็จะเอาสติของเราไปกินหมด ความเพียรรู้ในทุกการเคลื่อนไหวจึงมีบทบาทสำคัญ

ฉันพบว่าการนอนตะแคงจะทำให้หายใจติดขัด ไม่ลากยาวได้เหมือนอย่างนอนหงาย ดังนั้นจึงจับจุดได้อย่างหนึ่ง คือเมื่อนอนตะแคงควรเน้นสติรู้อิริยาบถมากกว่าสติรู้ลมหายใจ แต่เมื่อนอนหงายก็ควรเน้นสติรู้ลมหายใจมากกว่าอิริยาบถ ส่วนถ้าหากความร้อนหรือความปวดหัวกำเริบ ก็มองว่าเป็นอิริยาบถนอนร้อน อิริยาบถนอนปวดเท่านั้น ไม่ใช่ฉันร้อน ไม่ใช่ฉันปวด

สลับไปสลับมาตามถนัดในแต่ละขณะ ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับสติรู้อิริยาบถ กระทั่งสติขาดหายไปเพราะถูกพิษไข้บีบให้เพลียหลับ แต่ขณะหลับยังเหมือนมีความนิ่งรู้ความร้อนในอิริยาบถอยู่รางๆ คล้ายหลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่เชิง

ตื่นขึ้นมาอีกรอบ ฉันยังไม่สมหวัง เพราะอาการปวดทุเลาไปเพียงนิดเดียว แต่ความร้อนยังรุมกาย ฉันลุกมาเข้าห้องน้ำแล้วกลับมานั่งที่เตียง คิดในใจว่าคงไม่สำเร็จกระมัง สติยังไม่แข็งแรงจนเอาชนะพิษไข้ได้

แต่พอนั่งเฉยๆไม่กำหนดอะไรราว ๕ นาที พอชำเลืองจิตกลับมารู้กายใหม่ ก็พบด้วยความประหลาดใจว่าความร้อนลดลง เนื้อตัวสบายขึ้น แต่ยังมีมึนๆและปวดหัวข้างเดียวเป็นระยะ กับทั้งอ่อนเพลียอีกครั้ง จึงล้มตัวลงนอน พอนอนจังหวะแรกๆยังปวดหัว แต่เทียบเคียงกับครั้งเมื่อก่อนตื่นแล้วเห็นท่าว่าน่าจะเบาบางกว่ากันเยอะ เห็นเช่นนั้นก็ชักมีกำลังใจกำหนดสติต่อ

เริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจออก เห็นความร้อนในแต่ละช่วงไม่เสมอกัน ช่วงหนึ่งๆอาจหมายถึงสองสามนาที ฉันไม่ได้แกล้งนึกให้มันร้อนมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่แม้แต่กำหนดให้ลมระบายออกยาวหรือสั้น แต่ก็เห็นเช่นนั้นด้วยความเพียรอดทนสังเกตในระยะยาว ถ้ามีอาการปวดหัวหรือตัวร้อนระดับทรมาน ก็เปลี่ยนไปกำหนดว่าอิริยาบถเป็นผู้ปวด อิริยาบถเป็นผู้ร้อน

รอบนี้ทำให้เกิดความเห็นที่รอบก่อนไม่เห็น คือสติรู้ตามจริงนั่นเองเป็นตัวแปร เป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในร่างได้ กล่าวคือถ้าขาดสติ ปล่อยจิตปล่อยใจให้ระทมทุกข์ไปกับความร้อนหรือความปวด ก็จะมีส่วนช่วยบีบคั้นอาการทางกายให้หนักอยู่อย่างนั้น หรือกระทั่งหนักยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าจิตอยู่ในดุลที่จะรู้พอดีๆตามที่ทุกภาวะปรากฏอยู่จริง ก็ไม่มีอะไรมาบีบคั้นกายให้หนักไปกว่าเดิม น่าจะเปิดโอกาสให้กายซ่อมแซมตัวเองตามกลไกธรรมชาติสะดวกขึ้น หรือมีความเยือกเย็นจากจิตนั่นเองมาช่วยให้กายสบายเร็วผิดปกติ

หากอธิบายตามหลักการแพทย์ก็ต้องบอกว่ามีสารที่เป็นประโยชน์เช่นเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมาขณะจิตใจสงบสุขเป็นสมาธิ สำคัญคือขณะเป็นไข้นั้น คนทั่วไปไม่อาจสงบจิตสงบใจเป็นสมาธิได้ไหว นี่ย่อมถือว่านักปฏิบัติธรรมภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ได้เปรียบยิ่ง เพราะฐานสติที่แกร่งแล้วพอควร จะมีส่วนช่วยให้จิตสงบเป็นสมาธิง่ายขึ้น

สองชั่วโมงต่อมาฉันตื่นนอนขึ้นอีกครั้ง ความรู้สึกแรกคือความนิ่งสบายใจทางจิต ความรู้สึกต่อมาคืออาการของกายเบาลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นหัวที่ปวดหรือตัวที่ร้อน ฉันขยับลุกขึ้นยืนอย่างลุ้นว่าผลเป็นอย่างไร ก็ยิ้มออก ไข้ลดลงแล้วจริงๆ รู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่อุปาทาน เดี๋ยวฉันทานข้าวแล้วกินพาราฯอีกที น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆจนไปทำงานได้ในวันพรุ่งนี้แล้ว และคิดในใจว่าไม่เป็นไร ถ้าปวดหัวตัวร้อนอีกก็เจริญสติให้จิตเข้าไปอยู่ในสภาพผู้รู้ ผู้เยือกเย็นรับทราบปรากฏการณ์การเป็นไข้ตามจริงอีก ที่จริงก็ได้ความรู้ ได้ปัญญา ได้ความไม่ประมาทในกายอันเป็นอนัตตานี้ดีเหมือนกัน



:b38: /วันที่ ๔: แผ่เมตตาด้วยคำพูด

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๔: แผ่เมตตาด้วยคำพูด

การมีร่างกายที่ไม่เป็นโรคนั้นปลอดโปร่งดีจริงหนอ พอหายทุกข์หายไข้ ใจก็สบายและเสพสุขจากอาการปกติทางกายได้มากกว่าเดิม เหมือนฟ้าหลังฝน คนเราย่อมเห็นค่าของสุขภาพที่ดีเมื่อได้มีโอกาสเปรียบเทียบกับสุขภาพย่ำแย่ใหม่ๆอย่างนี้เอง

ฉันไปทำงานตามปกติ ร่างกายยังอ่อนเพลียและร้อนๆรุมๆอยู่บ้าง แต่ความเย็นในจิตและความแข็งแรงของสติรู้ช่วยบรรเทาอยู่ตลอด เหมือนผลัดกันรุกผลัดกันรับระหว่างไข้ที่ยังไม่หายสนิทกับจิตที่มีสติคุ้มกันไว้ดี ไม่เผลอหลงเข้าไปกระวนกระวายหรือสร้างทุกข์เพิ่มอีกชั้น

ด้วยความสุขเย็นติดจิตติดใจ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อเข้าห้องประชุมในช่วงเช้า ฉันกำหนดรู้สุขว่าเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งนิ่งไม่ไหวติง รู้ไปเรื่อยๆโดยไม่หลงยึดว่าเป็นสุขของฉัน แต่เห็นตามจริงว่านั่นเป็นสุขอันเนื่องด้วยกาย ขณะกำลังรู้สุขก็ฟังประชุมไปเรื่อยๆ หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นคือฟังประชุมด้วยความสุขภายในอันคงเส้นคงวาก็ได้

พอถึงตาฉันต้องเอื้อนเอ่ย ฉันก็กำหนดสติรู้สุขทางใจพร้อมกับพูดไปด้วย มีความประกอบพร้อมหลายอย่างเกิดขึ้น คือฉันรู้อิริยาบถนั่งด้วย ทราบด้วยว่าสติรู้อิริยาบถนั้นเป็นเหตุแห่งความสุขใจด้วย แล้วก็เจรจาตามหน้าที่ด้วย ดูเหมือนทำหลายอย่าง แต่ความจริงคือใจคิดพูดอย่างเดียวบนฐานสติคือสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ศีรษะตั้งนิ่งสบายไม่โยกเยก สองไหล่พัก สองแขนตกแนบลำตัว ประสบการณ์ในชั่วเวลานั้นทำให้รู้จักกับการแผ่เมตตาผ่านคำพูด ฉันรู้สึกชัดว่าสุขเริ่มจากจิตอันตั้งมั่นรู้ของตนเอง พอจะเปล่งแต่ละคำ ก็เห็นกระแสสุขยังปักหลักตั้งมั่นที่ฐานเดิม โดยไม่แยกเป็นต่างหากจากกันระหว่างสุขที่ใจ กับสุขที่ส่งไปกับกังวานเสียง

ฉันเห็นชัดว่าจิตคิดคำออกมาทีละประโยค ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที พอคิดได้ก็ปล่อยให้รินไหลออกจากปากไปสู่หูผู้ฟังในห้องประชุมเองโดยไม่ต้องคิดซ้ำอีก นี่จัดเป็นการทำงานของสติอันตั้งมั่นประการหนึ่ง คิดทีเดียว ใช้เวลานิดเดียว แล้วไม่มีลักษณะย้อนทวนวกวน ลักษณะสติชนิดนี้เป็นไปด้วยกันกับกระแสสุขที่มั่นคงอยู่ในภายใน เลี้ยงอิริยาบถนั่งให้ตั้งนิ่งไม่กระสับกระส่าย ไม่กำเกร็ง รวมทั้งไม่ทื่อเป็นหินน่าขบขัน

ยิ่งพูดมากขึ้น สติฉันยิ่งเต็ม และเกิดความรู้จากภายใน ว่าทั้งห้องประชุมรับส่วนแห่งไอเย็นในจิตของฉันไปกันถ้วนหน้า พวกเขาดูมีทีท่ารับฟังฉันอย่างดี แล้วก็น่าจะเพลิดเพลินสบายใจมากด้วย แม้แต่ศัตรูของฉันยังสงบฟัง ไม่ขัดคอแม้แต่คำเดียว

หลังเลิกประชุม เจ้านายชมเปาะว่าฉันพูดฟังเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ แล้วปฏิภาณในการโต้ตอบกับคนในห้องประชุมก็ดูเฉียบคมขึ้น ว่องไวเป็นธรรมชาติดี ราวกับเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เจ้านายถามเชิงกระเซ้าว่าไปทำอะไรมา ดูหน้าตานวลผ่องผิดปกติ ฉันก็บอกว่าคงเป็นเพราะเมื่อวานไปเที่ยววัดต่างจังหวัดมา เลยได้อานิสงส์เป็นความมีอะไรๆสดใสขึ้นกระมัง เจ้านายฉันถามว่าวัดอะไร วันหลังพาไปบ้าง

ฉันได้เห็นด้วยตนเองว่า การเจริญสติไม่ใช่ได้ดีเฉพาะเราคนเดียว แต่ส่งผลกระทบ หรือมีอิทธิพลในทางใดทางหนึ่งกับคนรอบข้างไม่มากก็น้อย บางทีการนั่งคุยกับญาติมิตรด้วยกระแสใจที่อุดมสุขในสติ จะดีเสียกว่าการพยายามยัดเยียดหนังสือธรรมะหรือการคะยั้นคะยอชักชวนไปทำบุญในที่ที่พวกเขาไม่เต็มใจหลายสิบหลายร้อยเท่า



:b38: /วันที่ ๕-๑๐: เมตตาขยายผล

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๕-๑๐: เมตตาขยายผล

การเสพเมตตานานๆนั้น เหมือนจิตได้ดื่มกินน้ำเย็นรสหวานน่าติดใจ เมตตาเป็นสิ่งที่หาได้ยากในผู้คนยุคเรา และเมตตาก็เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นได้ยากในเราเองเมื่อขาดแคลนบุคคลที่น่าเมตตา แต่สำหรับนักภาวนา ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติตามรอยบาทพระศาสดา เมตตาเป็นธรรมะไม่จำกัดกาล ไม่จำเป็นต้องรอเจอบุคคลที่ควรมีเมตตาให้เสียก่อน แต่ฝึกรินเมตตาได้เลย ผ่านน้ำคำและน้ำใจ กระทั่งแก่กล้าพอจะเขยิบขึ้นถึงขั้นแผ่เมตตาไม่มีประมาณ

ใครว่าเอาคนในโลกมาเป็นอุปกรณ์ภาวนาไม่ได้ อย่างน้อยก็กำหนดให้เป็น ‘เป้ายิงเมตตา’ ได้อย่างหนึ่งล่ะ คนเราต้องเจอเรื่องกระทบใจจากผู้คนรอบข้างเสมอ และเมื่อถูกกระทบย่อมเกิดปฏิกิริยาทางจิต ปฏิกิริยาทางจิตนั่นเองคือสิ่งที่เราต้องสังเกต ว่าเป็นไปในทางดีหรือทางร้าย หากเป็นไปในทางดีก็คือคล้อยตามกระแสเมตตา หากเป็นไปในทางร้ายก็คือคล้อยตามกระแสพยาบาท สองกระแสนี้เป็นคู่ปรับกัน หากคล้อยตามกระแสใดมาก จิตของเราก็จะเข้าฝ่ายนั้น

ช่วงหลายวันนี้ฉันพิจารณาตัวเอง ถ้าเหตุการณ์ปกติไม่มีเรื่องกระทบใจจิตก็เหมือนใฝ่ใจในความสงบเย็นดี พูดจากับใครก็ด้วยกังวานเมตตาที่ตั้งต้นออกมาจากแก่นแท้ของจิตใจ แต่อย่าได้มีใครมาจี้ให้เต้นก็แล้วกัน ฉันยังทำหน้าตึงถลึงตา หรือกระทั่งเผลอตวาดเสียงเขียวได้อยู่ โดยเฉพาะกับคนไม่รู้จักตามถนนรนแคมหรือร้านรวงในตลาด บางทีโดนพูดแย่ๆมายังชินนิสัยวางก้ามขู่แบบเก่าๆด้วยซ้ำ

ตระหนักตามจริงว่าตนเองยังเป็นผู้ที่มีความโกรธอยู่เหนือสติ มีความผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทอยู่เหนือกำลังในการให้อภัย จึงเห็นว่ายังอยู่ในขั้นที่จำเป็นต้องฝึกให้จิตมีปฏิกิริยาคล้อยไปตามกระแสเมตตาเสียก่อน มิฉะนั้นเมื่อเกิดเรื่องกระทบใจแล้วมักโกรธและหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้ขุ่นเคืองไปนาน ไม่อาจสงบลงได้ สภาพเช่นนี้ไม่เกื้อกูลต่อการพิจารณาความโกรธโดยความเป็นอนิจจังแน่นอน

ข้อปฏิบัติเพื่อดับโกรธ ละพยาบาท ที่ชาวพุทธรู้จักกันดีคือการแผ่เมตตา แต่แผ่เมตตาทำอย่างไรล่ะ? มีอุบายหลายต่อหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่นง่ายที่สุด คุ้นที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินการท่องบ่นภาวนาว่า สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ขอสัตว์โลกทั้งหลายอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย แต่เท่าที่ฉันเห็นด้วยตาเปล่านั้น บางคนภาวนาอยู่เกือบสิบปี ยังหน้าตาเหี้ยมเกรียมอยู่เหมือนเดิม เกิดเรื่องเกิดราวแล้วยังบ๊งเบ๊งได้เท่าคนมีโทสะแรงทั้งหลายอยู่ดี ฉะนั้นเพียงการสวดด้วยปาก หากขาดใจจริงอยู่เบื้องหลัง ก็คงไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองถูกสอนให้ท่องอะไรที่มันไม่มีวันรู้ความหมายไปจนตาย

ว่ากันถึงวิธีการแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้านั้น ฉันตรวจดูในพระไตรปิฎกไม่พบขั้นตอนตรงๆ มีแต่อุบายทางอ้อมในเชิงที่จะทำให้เข้าใจลักษณะจิตขณะแผ่เมตตา เช่นในเตวิชชสูตรท่านให้นึกถึงความปราโมทย์ ความมีโสมนัสของคนเพิ่งฟื้นไข้ที่ได้กำลังวังชากลับคืนมา แล้วให้เทียบเคียงว่าพยาบาทเปรียบเหมือนโรค เมื่อละพยาบาทเสียได้ก็เหมือนหายจากโรค มีแต่ความปลอดโปร่งโล่งสบายทางใจ โสมนัสที่เกิดขึ้นหลังจากละพยาบาทได้นั่นเอง ปรุงจิตให้พร้อมแผ่เมตตาออกไปโดยไม่มีประมาณ

หากพิจารณาให้ง่ายเข้า ก็อาจกล่าวว่าจิตขณะตั้งต้นนั้น ถ้าเป็นอภัย ถ้ามีความสละการเพ่งโทษ ถ้าทำให้เลื่อมใสในการไม่ผูกโกรธจองเวรแล้ว ย่อมบังเกิดความโสมนัสดุจคนเพิ่งฟื้นไข้ อาศัยโสมนัสระดับนั้นเองเผื่อแผ่ออกไปอย่างไม่จำกัดด้วยจิตอันเปิดเผยเต็มที่

ค่ำคืนในช่วงระหว่างนี้ ฉันอุทิศเวลาทดลองแผ่เมตตาตามความเข้าใจของตัวเอง ขึ้นต้นมาคือนึกถึงศัตรู และปลงใจให้อภัยแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อแลกกับความโล่งหัวอกและโสมนัสเหมือนคนป่วยเพิ่งฟื้นไข้ แล้วก็พบกับตนเองว่าโสมนัสในวินาทีที่ปลงใจได้นั้น มีความแรงพอจริงๆ คือปรุงจิตให้เป็นลักษณะเปิดเผย ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดคับแคบคล้ายสมาธิอ่อนๆ แต่ปลอดโปร่งกว่ากันเพราะซ่านกระแสเมตตากว้างขวางออกมาจากหัวใจ

จากนั้นเพียงหลับตา และคล้ายมองผ่านเปลือกตาออกไปดูเวิ้งฟ้าด้วยความผ่อนคลาย ประคองโสมนัสอันเกิดจากอภัยทาน ก็กลายเป็นกระแสทางใจของจริง ที่ปรารถนาความไม่เบียดเบียน ปรารถนาความไม่มีเวร ปรารถนาความสุขโสมนัสในใจเราจงแผ่เข้าไปถึงหัวใจสรรพชีพทั่วสากลจักรวาล

ธรรมชาติของโสมนัสย่อมเลี้ยงจิตให้พึงใจอยู่ในสภาพความเป็นเช่นนั้นได้นาน ฉันไม่พยายามกำหนดให้เกิดอะไรขึ้นมากไปกว่ามีสติรู้โสมนัสอันตั้งต้นที่ใจ ซึ่งถ้าปลอดโปร่งโล่งตลอดปราศจากความเพ่งบังคับแล้ว ย่อมมีลักษณะกว้างเหมือนฟองอากาศใสที่เริ่มกินบริเวณรอบตัวในเขตจำกัดหนึ่งก่อน หากมีวิริยะประคองให้ต่อเนื่องเพียงครู่หนึ่ง ก็จะค่อยๆขยายวงออกไปเรื่อยๆ เป็นที่รู้สึกได้ด้วยตนเอง

เมื่อกระแสโสมนัสอ่อนตัวลง ฉันก็ไม่พยายามบังคับเหนี่ยวรั้งให้ยั่งยืน เมื่อรู้สึกดันๆออกไปแบบที่ทำให้ตึงขมับหรือเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย ฉันก็รีบรู้ให้ทันว่านั่นเริ่มมีอาการเพ่งมากเกินเสียแล้ว ฉันสังเกตว่าที่ถูกต้องมีสติรู้ตั้งมั่นอยู่ตรงกลางๆ คล้ายเรานั่งมองผนัง มองฝ้าเพดาน มองนกมองไม้อย่างปราศจากความคาดหวัง ไร้ความคิด ไร้เจตจำนงอื่นใดนอกจากปรารถนาให้สุขภายในฉายออกไปสู่ภายนอกด้วยลักษณะสบายที่สุด เป็นการแผ่เมตตาเอาสุขให้ตนเองก่อนแล้วจึงเผื่อแผ่ไปภายนอก ไม่ใช่ยิ่งแผ่เมตตาตัวเองยิ่งเครียด ยิ่งขาดสติ

ฉันลองแผ่เมตตาทั้งก่อนและหลังทำสมาธิรู้ลมหายใจ พบว่าแผ่เมตตาภายหลังทำสมาธิจะดีกว่า เพราะจิตมีกำลัง มีความตั้งมั่นบ้าง ต่างจากก่อนทำสมาธิที่อาจกำลังเหม่อนิดฟุ้งหน่อย ยังอยู่ในสภาพไม่ค่อยเต็มใจแผ่เมตตาให้ใครได้

ฝึกอยู่เกือบอาทิตย์ทุกครั้งหลังนั่งสมาธิ กระทั่งล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือหลังจากเพียรประคองกระแสโสมนัสในจิตที่แผ่กว้างออกไปเบื้องหน้า ก็ตกภวังค์วูบคล้ายคนจมน้ำโดยไม่รู้สึกตัว แล้วกลับทะลึ่งพรวดขึ้นเหนือผิวน้ำใหม่ รับรู้ถึงอากาศเหนือน้ำที่สดชื่นและโปร่งว่างผิดปกติ เหมือนมีรอยยิ้มผนึกแน่นอยู่กับดวงจิตที่ตั้งมั่นไม่เคลื่อน สำเหนียกรู้สึกถึงรัศมีเมตตาที่ฉายกว้างไกลกว่าทุกครั้ง กับทั้งไม่ต้องเพียรกำหนดประคอง ก็แน่วนิ่ง ไม่ลดไม่เพิ่มอยู่พักใหญ่ กว่าที่จะอ่อนกำลังลง

จึงเห็นถนัดว่าถ้าจิตรวมลงเป็นดวงขณะแผ่เมตตา กระแสเมตตามีอ่อนกำลังได้ และกำหนดเร่งให้แรงขึ้นก็ได้ แต่ด้วยความไม่ชำนาญ ประกอบกับที่กำลังยังไม่เหลือเฟือเยี่ยงผู้มีชั่วโมงบินสูง จิตจึงลดระดับความนิ่งตั้งมั่นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ทั้งที่ยังเสพทิพยสุขไม่อิ่มหนำอยู่นั่นเอง

ระดับนั้นฉันแผ่เมตตาได้หวิดๆ หรือน้องๆเมตตาอัปปมัญญากระมัง ชื่ออันไพเราะเพราะพริ้งนั้นหมายถึงการแผ่เมตตาได้ถึงระดับอนันต์ ไม่จำกัดทิศ ไม่จำกัดระยะ แต่ฉันยังรู้สึกถึงระยะอยู่ แล้วก็มีทิศเดียวเบื้องหน้าเท่านั้น ยังไม่รู้จักสภาพไร้ขอบเขตกับเขา

ถึงกระนั้น ฉันก็เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง ระหว่างการฝึกแผ่เมตตากับนิสัยใจคอที่เปลี่ยนไป ได้ตระหนักว่าข้อปฏิบัติแต่ละอย่างที่พระพุทธเจ้า ‘แนะให้ทำ’ หรือ ‘คะยั้นคะยอให้ทำ’ นั้น ไม่ใช่ส่งผลแคบๆแค่จุดหนึ่งจุดเดียว เช่นการแผ่เมตตานี้ หาได้มีเพียงเมตตาจิตไว้เอาชนะคะคานพยาบาทจิตเป็นเป้าใหญ่เท่านั้น แต่ยังยกระดับน้ำใจคิดเผื่อแผ่โดยตรง เพราะเสพจิตที่มีลักษณะเผื่อแผ่ยิ่งใหญ่ไพศาลมาแล้ว เมื่อจะทำทานเป็นทรัพย์ ทำทานเป็นอภัย ก็ย่อมเห็นว่าน้ำจิตระดับนั้นถ้ายังมีเสียดาย ยังมีหวง ยังมีวัตถุประสงค์แอบแฝง ก็จะไม่เกิดความชุ่มชื่นเต็มอิ่มได้เลย น้ำใจที่คิดเจือจานอย่างบริสุทธิ์ตั้งแต่ต้นก็คือชนวนแห่งมหาโสมนัสดุจเดียวกับขณะเริ่มแผ่เมตตาอย่างถูกต้องนั่นเอง

ฉันได้ย้อนกลับมาสังเกตสังกาข้อปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจขั้นพื้นฐาน นั่นคือเรื่องของ ‘ทาน’ แต่ก่อนฉันแค่มองง่ายๆว่าทานก็คือยกสมบัติสักชิ้นให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน ขอทาน เด็กอนาถา ตลอดจนพวกพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารที่เอาบริการดีๆซื้อใจลูกค้าให้แจกทิป

แต่เมื่อฝึกแผ่เมตตาอันฉายออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ เห็น ‘จิตเผื่อแผ่สุขไพศาล’ อันยิ่งใหญ่เหลือประมาณ มุมมองเกี่ยวกับการให้ทานก็ต่างไป เพราะไม่ได้เล็งออกไปที่ผู้รับข้างนอกที่ไหน แต่เริ่มเห็นจิตใจของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งเห็นผู้รับผลแท้จริงเป็นตนเองในลำดับสุดท้าย จึงรู้ซึ้งว่า ‘ให้’ ความสุขออกไปจากใจมากแค่ไหน ก็ ‘ได้’ ความสุขกลับมาถึงใจมากแค่นั้น

ทำทานนั้นต้องทำด้วยใจเสมอ มือของเราไม่ร่วมรับรู้ ไม่ร่วมยินดีในทานไปกับใจแม้แต่น้อย จึงต้องถามว่าแต่ละครั้งที่ให้ทานนั้น ใจมีอยู่แค่ไหน แค่ให้อย่างเสียไม่ได้ แค่ให้เพราะอยากตัดรำคาญ แค่ให้เพราะถูกใช้มาทำ แค่ให้ด้วยความชินชาปราศจากปีติ แค่ให้ด้วยความหวังผลตอบแทน แค่ให้เพราะเป็นแค่เศษกระดูกติดเนื้อ แค่ให้เพราะเป็นเศษเงินเหลือใช้ แค่ให้เพราะรู้สึกว่าไม่สะเทือนสมบัติที่มี หรือแค่ให้เพราะอยากสะเดาะเคราะห์ให้สบายใจไปคราวหนึ่ง?

ใจในการคิดให้มีหลายแบบเหลือเกิน ตั้งแต่แผ่เมตตาเป็น นิสัยในการให้ของฉันก็เปลี่ยนไป การให้กลายเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตวิญญาณ กลายเป็นเรื่องของการตกแต่งขัดเกลา กลายเป็นเรื่องของการเปลื้องของหนักลงจากบ่า ฉันพบว่าหากให้ในระดับ ‘เฉือนเนื้อส่วนหนึ่งทิ้งได้’ เช่นทำแล้วรู้สึกว่าสมบัติพร่องลงกว่าเคยโดยไม่คิดเสียดาย มีความห่วงใยสวัสดิภาพของตัวเองน้อยลง อาทรต่อผู้อื่นมากขึ้น กระทั่งจิตใจสว่างว่างโล่งกว่าเก่า วิธีคิดก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปในทางที่เป็นประโยชน์สุขกับตัวเองมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นนิสัยขี้กังวลของฉัน ทำงานกลัวศัตรูจะได้หน้ามากกว่า พูดในที่ประชุมกลัวคนจะไม่สนใจไอเดีย หมั่นเอาใจลูกค้าเพราะกลัวผลงานตก แน่นอนว่าฉันทำตามหน้าที่อันควร แต่ไม่ใช่แค่ทำดีที่สุดอย่างเดียว ยังทำด้วยความกลัวไม่เด่น กลัวไม่ได้ดี ตลอดจนกลัวเสียเปรียบไปด้วย จริงอยู่ความกลัวเหล่านี้เป็นของธรรมดาโลก เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนก็กลัวกัน แต่นั่นก็กลายมาเป็นปัญหาระดับโลกด้วยมิใช่หรือ? ลองไปถามบริษัทขายยาดู เขารู้กันทั่ว ยาขายดีที่สุดในโลกได้แก่ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต กับยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร เหล่านี้มันเรื่องเกี่ยวกับความเครียดทั้งสิ้น คนเราพากันทำตามกระแส ทำในสิ่งที่นึกว่าจะได้ แต่แท้จริงแล้วกำลังลากพาลงเหวกันระนาวต่างหาก

เมื่อจิตมีกิริยาเป็นให้มากกว่าเอา ฉันก็สบายใจขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะเริ่มรับผิดชอบงานด้วยความคิดว่าจะทำให้คนรอบข้างดีขึ้น ฉันเถียงกับศัตรูตัวฉกาจน้อยลง รับฟังเขามากขึ้น ให้อภัยไม่ถือสาในเรื่องจุกจิกเล็กน้อย ไม่ใช่เจอหน้าแล้วเห็นเป็นเป้าที่ต้องเอาชนะคะคานกันท่าเดียวทั้งทางตรงทางอ้อมเหมือนแต่ก่อน

เขาจะคิดอย่างไร ได้รับผลดีแค่ไหนฉันไม่แน่ใจ รู้อย่างเดียวว่าใจฉันเองมีความสุขมากขึ้นเมื่อจำเป็นต้องทำงานกับเขา ธรรมชาติมีสีสันแปลกประหลาดพิสดารดี คล้ายเส้นผมเส้นเดียวอาจบังภูเขาได้ตั้งหลายลูก เช่นความจริงประการหนึ่งได้แก่ การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ทำให้เราได้ดีก่อนคนอื่น

นอกจากเรื่องของใจที่ ‘ให้เป็น’ แล้ว ฉันยังเห็นตามจริงด้วยว่าผู้รับไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่าฉัน ถ้ามองคนทั้งหลายเสมอหน้ากัน ฉันก็เห็นโอกาสในการทำบุญทำทานมากมาย อย่างเช่นอาเสี่ยร้อยล้านพันล้านขับรถยาวแปดวาก็ยังต้องก้มหัวขอบคุณเมื่อฉันเปิดทางให้เขาไปก่อน แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าดีๆที่มีระดับจิตเหนือฉัน ก็ยังเรียกว่าเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลที่ควรรับของถวาย หากฉันไม่เอาอะไรไปถวาย พวกท่านก็ไม่อาจดำรงชีพเพื่อสืบทอดพระสัทธรรม ไม่อาจมีกำลังวังชาทำกิจอันสมควรแก่พระศาสนาได้เลย

พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญรอยตามท่านในทุกๆทาง พูดง่ายๆว่าท่านส่งเสริมให้เลียนแบบทุกลีลาอันงดงาม เป็นไปเพื่อความประเสริฐทุกประการ ครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ได้ไปกราบพระปฏิมาในโบสถ์วัดต่างจังหวัด ฉันเงยหน้าขึ้นพิศองค์พักตร์สงบละไม แล้วรู้สึกเงียบงันลึกซึ้งลงมาถึงจิต แต่ก่อนฉันมองแล้วไม่เข้าใจ บัดนี้ฉันคิดว่าตัวเองพอยิ้มได้คล้ายพระปฏิมา คือมีความสุขอยู่กับเมตตาในตนเอง มากกว่าการทนทุกข์อยู่กับไฟโทสะอันไร้แก่นสาร

ตั้งแต่วันนั้นฉันก็ได้อุบายวิธีเจริญเมตตาประการหนึ่ง คือเมื่อเจอเรื่องกระทบให้โกรธ หาอาวุธใดมาฆ่าโทสะไม่ทัน ฉันจะนึกถึงยิ้มของพระปฏิมา น้อมมาประดิษฐานที่ริมฝีปากฉัน ใจจะเยือกเย็นลงและให้อภัยอย่างปราศจากเงื่อนไขได้ทุกประการ เลี้ยงสติ เลี้ยงเมตตาให้อยู่กับใจฉันตลอดรอดฝั่ง

หลายวันที่ผ่านมาฉันยังดูลมหายใจโดยความเป็นของเกิดดับอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อต้องติดต่อกับผู้คนก็มักสังเกตจิตใจตนเอง ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาในแบบที่จะเป็นไปในทางเมตตาหรือพยาบาท ฉันได้ข้อสังเกตประการหนึ่งคือสุขที่บังเกิดอย่างท่วมท้นจากการแผ่เมตตานั้น ค่อนข้างยากจะดูโดยความเป็นของเกิดดับ เพราะโสมนัสที่เกิดขึ้นเป็นของเกาะกุมใจ น่าติดใจ

ธรรมดาคนเราอยู่ใกล้คนใจเย็นก็สบายตามเหมือนชิดวิมานแล้ว แต่เมื่อใจเย็นด้วยตนเอง เหมือนเป็นวิมานเสียเอง ย่อมต้องน่าพึงใจกว่านั้นหลายเท่า ฉันจึงใช้วิธีสังเกตเปรียบเทียบระหว่างความสุขที่เห็นลมหายใจเกิดดับ กับความสุขที่จิตอิ่มในทะเลเมตตาใหญ่ พบว่าสุขจากการเห็นสภาพเกิดดับนั้นโปร่งใสและเย็นสนิท ส่วนสุขจากการแผ่เมตตานั้นขาวละมุนและอบอุ่น ทั้งความสุขโปร่งใสและความสุขสีขาวต่างก็เป็นสภาพหนึ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นตัวเองดำรงอยู่ก่อน และไม่อาจดำรงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไป ขาดเหตุปัจจัยก็สูญสลายไปตามกาล

ความใสกับความขาวนั้นเป็นสิ่งถูกรู้ด้วยใจ ไม่ใช่ใสแบบตาเห็นกระจก ไม่ใช่ขาวแบบตาเห็นสำลี แต่เป็นแบบใจรู้สึกถึงความเป็นตัวเอง ว่าต่างกันอย่างไร และถึงแม้ต่างกัน แต่ใสกับขาวก็เข้าพวกกัน ลองคิดดูเถอะ ในบรรดาสีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ดำ แดง เหลือง เขียว ฯลฯ ไม่มีสีไหนอีกแล้วที่ใกล้เคียงกับความใสเท่าสีขาว

นี่ทำให้ฉันนึกถึงบัญญัติของพระพุทธองค์ ที่ทรงจำแนกกรรมออกเป็นกรรมขาว กรรมดำ และกรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมแต่ละประเภทเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยใจเช่นเดียวกับเวทนานี่เอง ผู้ทำบุญย่อมรู้สึกถึงความสว่าง ผู้ทำบาปย่อมรู้สึกถึงความมืด ผู้เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้สึกถึงความโปร่งใสไร้สี เหนือขาวเหนือดำ แต่ความใสย่อมไม่รังเกียจความขาว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำกรรมกับโลก ก็จะเลือกประกอบแต่กรรมขาว อันเป็นฐานยืน เป็นแรงส่งให้เกิดกรรมไม่ดำไม่ขาวอันใกล้ชิดต่อเนื่องกันอย่างที่สุด



:b38: /วันที่ ๑๑-๒๐: เรื่องเศร้า

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๑๑-๒๐: เรื่องเศร้า

เมื่อเจริญสติจนรู้สึกแข็งแรงและมีความก้าวหน้าถึงจุดหนึ่ง ฉันได้ยินว่านักภาวนามักเจอ ‘หมากปราบเซียน’ ประจำสังสารวัฏ ไม่หมากใดก็หมากหนึ่ง

ในวันธรรมดาที่จิตใจสงบสุขเป็นปกติอยู่นั่นเอง เจ้านายก็เรียกไปพบ เขาพูดเข้าจุดตามนิสัย แจ้งให้ฉันทราบว่าเขาได้เลื่อนตำแหน่ง และจะต้องย้ายไปประจำที่ต่างประเทศเป็นเวลา ๒ ปีเป็นอย่างต่ำ ทางผู้ใหญ่ให้สิทธิ์ในการเสนอชื่อคนมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกแทน ซึ่งจะมีผลในอีกประมาณสามเดือนข้างหน้า

เขาเสนอชื่อศัตรูของฉันให้กับผู้ใหญ่…

หัวหน้าบอกว่าเข้าใจดีถึงความไม่กินเส้นกันระหว่างฉันกับอีกคน และเขาก็ไม่อยากให้ใครเจ็บปวดกับการตัดสินใจเลือกของเขา ความจริงเขาไม่จำเป็นต้องคุยชี้แจงอะไร เพราะเป็นอำนาจเต็ม แต่เขาก็อยากบอกให้ฉันรู้ว่าเหตุผลของการเลือกไม่ใช่เพราะความสามารถหรือผลงานใครยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่เป็นเพราะอายุงานของศัตรูฉันมากกว่า เขาขอให้ฉันยอมรับความจริงข้อนั้น เขาเป็นคนยุติธรรม ไม่สนใจการประจบ ทำงานแบบฝรั่งที่ใครทำดีต้องได้ดี แต่เมื่อทำดีเสมอกันก็ต้องหาเกณฑ์อื่นมาวัด อย่างเช่นเรื่องของอายุงาน

ฉันเม้มปากเงียบฟังด้วยความรู้สึกอุดอู้ที่สุดในชีวิต นึกเถียงในใจว่าเจ้านั่นเข้างานก่อนฉันแค่ ๔ เดือน แล้วเรื่องผลงาน ฉันอดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าฉันป้อนไอเดียที่ออกผลเป็นรูปธรรมให้บริษัทมากกว่าศัตรูตั้งมากมายก่ายกอง

นับเป็นวันแห่งโศกนาฏกรรมในชีวิตการทำงานของฉัน ทำไมทุกคนถึงก้าวหน้ากันหมด แต่ฉันย่ำอยู่กับที่ นึกน้อยใจทั้งเจ้านายที่ไม่เห็นค่า นึกน้อยใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ค่าที่อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมานาน แต่พระธรรมไม่เห็นช่วยฉันเลย แถมบันดาลชะตาให้ต้องไปอยู่ใต้บาทราชศัตรูเสียอีก

ความคิดแรกคืออยากลาออก มีความทะนงและเชื่อมั่นในตัวเองพอ ออกวันนี้แหละ ไม่อดตายหรอก ใครๆอยากได้ฉันไปทำงานด้วยตั้งเยอะตั้งแยะ ทำไมฉันจะต้องดักดานทำดีอย่างสูญเปล่าอยู่กับบริษัทซังกะบ๊วยนี่

ให้มันได้อย่างนี้ โลกคงถึงยุคทำดีไม่มีใครเห็นกระมัง คู่อริของฉันคงทราบข่าวก่อนหน้าฉันแล้ว เดินสวนกันถึงมองแปลกๆ ฉันแค่ก้มหน้าก้มตา ไม่ถึงกับอยากหลบ แต่ไม่อยากให้ฝ่ายนั้นเห็นแววตาผู้แพ้ อีกไม่กี่เดือนเขาจะมีอำนาจเหนือฉัน และเป็นผู้ตัดสินใจกรองไอเดียของฉัน พิจารณาผลงานของฉันว่าเข้าตากว่าคนอื่นไหม

ความไม่รู้ส่งให้มาเกิด มาหางานทำ แล้วก็มามีศัตรู มีเรื่องมีราวสารพัด ไม่บอกสูตรสำเร็จว่าจะควรจัดการกับชีวิตและสิ่งรอบข้างให้เรียบร้อยลงตัวได้อย่างไร

ช่วงเวลาระหว่างนี้ไม่เป็นอันเจริญสติเท่าไหร่ ฉันกลับไปเป็นคนคิดมากอย่างช่วยไม่ได้ แม้เพียรปลุกสติด้วยลมหายใจ ด้วยเท้ากระทบ ตลอดจนด้วยการแผ่เมตตาที่เพิ่ง ‘เก่ง’ มาหมาดๆเมื่อวาน เดี๋ยวนี้ทุกอย่างพังถล่มล้มครืน วินาศสันตะโรไปหมดแล้ว เผลอๆจะกลายเป็นคนบาปที่ถูกสาปส่งเอาง่ายๆ เพราะคิดปฏิบัติธรรมทีไร ใจไพล่ตัดพ้อพระธรรมอยู่เรื่อยว่าไม่เห็นช่วยเราเลย ทำให้ยิ่งทุกข์หนักเป็นคูณสองคูณสามเข้านั่น

พยายามหาหนังสือธรรมะดีๆมาอ่าน พยายามกลับไปทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้ในสมุดพกตั้งแต่เริ่มเจริญสติจริงจัง พยายามตระเวนทำบุญทำทานตามวัดทั้งนอกและในกรุงเทพฯ ทุกอย่างคล้ายเป็นหมันไปหมด ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะงานการ ถ้าไม่กลัวเสียประวัติที่ต้องถูกไล่ออกก็อยากแกล้งทำผิดๆให้บริษัทเสียหายไปเลยด้วยซ้ำ

ถามตัวเองว่าระหว่างการมีตำแหน่งใหม่กับการมีสติจะเลือกอะไร? ฉันกัดฟันกล้ำกลืนตอบตัวเองว่า สติ! แต่ตอบแล้วก็หาราวเกาะไม่เจออยู่ดี ยิ่งหลายวันเข้า ความเศร้ายิ่งทวีขึ้นบดบังทุกสิ่ง การเลือกของหัวหน้าทำให้ฉันรู้สึกด้อยค่า หมดความหมาย และกลายเป็นตัวสำรองที่ไม่มีใครต้องการตัวไปเล่นตำแหน่งสำคัญในเวลาปกติ

แต่เรื่องเหลือเชื่อในโลกมักปรากฏเป็นบางครั้งบางคราว ฉันนึกไม่ถึงว่าคนที่ทำให้ฉันกลับรู้สึกดีขึ้นมาได้ไม่ใช่ใคร นอกจากศัตรูของฉันเอง!

เริ่มต้นเขามาชวนฉันคุยด้วยเรื่องเบาๆ ขุดเอาเรื่องโง่ๆของเขาเองมาทำให้ฉันหัวเราะ และขณะที่ฉันยังไม่หายแปลกใจอยู่นั้นเอง เขาก็ชวนไปกินข้าวเที่ยงด้วยกัน บอกว่าอยากคุยด้วยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในอนาคต

เป็นมื้อกลางวันที่ใครต่อใครอาจแปลกใจที่เห็นฉันนั่งกินข้าวกับศัตรูโดยไม่มีคนอื่นร่วมโต๊ะ ฉันไม่รู้สึกฝืนใจนัก เพราะเขาไม่ได้แอ๊กท่าเป็นเจ้านาย ลักษณะการชวนและการร่วมโต๊ะเป็นไปอย่างมิตร เมื่อลงมือทานข้าวก็สนทนาถามไถ่เรื่องส่วนตัว ไม่แวะเวียนมาพูดเรื่องงานสักนิดเดียว กระทั่งต่างเสร็จธุระในจานข้าวทั้งคู่ เขาถึงเริ่มเจรจาด้วยสุ้มเสียงของคนกันเอง

เขาบอกว่าเขาไม่เคยรู้สึกว่าเหนือฉัน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราแข่งดีกัน ถ้าใครเหนือกว่าใครเสียแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพยายามเอาชนะกัน การได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่สูงกว่า เป็นแค่บทบาทของโชคชะตา ไม่ใช่บทบาทของเขา เขาไม่ได้ชนะ อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเขา

เขาบอกว่าที่ผ่านมาเขาชื่นชมไอเดียการทำงานของฉันเสมอ แต่จะแสดงออกไม่ได้ เพราะเท่ากับยอมรับว่าฉันดีเท่าเขา หรือบางทีอาจเก่งกว่าเขา อีกประการหนึ่ง ช่วงหลังๆเขาเห็นฉันพยายามพูดดี ประนีประนอมกับเขาแล้วสารภาพว่าเริ่มละอายใจ และนึกถึงการกระทำของเขาที่ผ่านมา รู้สึกว่าทำชั่วๆกับฉันไว้ไม่น้อย เป็นต้นว่าแกล้งบิดเบือนข้อมูลดีๆของฉันให้ดูแย่ ติเตียนไอเดียของฉันทั้งที่ใจเขาเองก็ยอมรับว่าไม่เลว หรือกระทั่งเล่นขนาดแทงข้างหลัง เอาความผิดเล็กๆน้อยๆของฉันไปโพนทะนา ซึ่งหลายครั้งเข้าก็รวมกันเป็นความผิดก้อนมหึมาในสายตาผู้ใหญ่ได้

เขาสรุปว่าอยากให้ทำงานด้วยกันด้วยความรู้สึกดีๆต่อไป เขาสัญญาว่าจะปรึกษามากกว่าสั่ง จะไม่ลืมว่าเคยอยู่ระดับเดียวกัน และสัญญาว่าจะไม่กลั่นแกล้งเบียดเบียนฉันในทางใดทางหนึ่ง แถมพูดเหมือนเข้ามานั่งในใจเสียด้วยว่าอย่าเพิ่งคิดลาออก เพราะเขาจะรู้สึกว่าทีมขาดความแกร่งไปทันที แม้เขาจะเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็จะรู้สึกมั่นคงขึ้นหากมีฉันอยู่ด้วย

ช่วงบ่ายฉันทำงานต่อด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น แม้ไม่ดีทั้งหมดราวกับจะได้เป็นหัวหน้าแทนเขา แต่อย่างน้อยก็ไม่ซึมเศร้าเหมือนโลกจะดับเช่นเคย

นิยามของคำว่า ‘ศัตรู’ ไม่ใช่คนเลวร้ายโดยสันดาน แต่ใจเรามักเห็นแต่แง่ร้ายของเขา แม้ในบันทึกของฉันเกี่ยวกับศัตรู ก็ไม่เคยมีคุณงามความดีอะไรถูกจดไว้เลย หากใครอ่านบันทึกของฉันก็ต้องนึกแต่ภาพเขาแยกเขี้ยวยิงฟันตลอดศก หรือเป็นบุคคลไร้เหตุผลจนน่าขยะแขยงเข้าไส้ ข้อเท็จจริงคือเขายังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีในระดับเฉลี่ย บางสถานการณ์ก็ประพฤติตนน่าสรรเสริญอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงมาอยู่ในบันทึกก็เพราะเหตุผลเดียวคือเขาเป็นศัตรู

อีกอย่าง ฉันเหมือนคนโง่ที่กลับลำคิดใหม่ได้ ฉันพบว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบันดลบันดาลด้วยอำนาจลี้ลับ ประเภทเสกตะกั่วให้เป็นทอง หรือสาปช้างที่ฉันเกลียดให้กลายเป็นลูกหมาทันตาเห็น เวลาโชคไม่ดีน่าน้อยใจก็จะโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์มั่วไปหมด ทั้งที่พระพุทธเจ้าเหนื่อยยากก่อตั้งศาสนาพุทธเพื่อให้ฉันรู้ทางออกจากวังวนทุกข์ ไม่ต้องงมโข่งโง่เง่าเต่าตุ่นติดอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีกำหนดออก แต่ความไม่เข้าใจ หรือความหลงลืมเลอะเทอะในบางครั้ง ก็ทำให้ตู่ท่านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาของท่านว่ามีหน้าที่ต้องเสกผลประโยชน์มาประเคนถึงมือฉัน ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โวยวาย พานคิดไปว่าท่านไม่ช่วย ท่านไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง

ความจริงพระธรรมช่วยฉันตั้งเท่าไหร่ หลังๆฉันมีความสุขจะตาย แถมได้นึกครึ้มอยู่เรื่อยๆว่าเดินไปตามทาง เดี๋ยวก็ได้ดีเกินใครทั้งโลกเอง นอกจากนั้นสติและการแผ่เมตตาก็ทำให้คู่อริของฉันมีท่าทีที่เปลี่ยนไป เหล่านี้แหละการช่วยของพระธรรม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ทำกรรมดีเท่านั้น กรรมดีของฉันเองต่างหากที่ทำให้ชีวิตเป็นไปต่างๆนานา ไม่ใช่ด้วยการตกรางวัลจากพระธรรมว่าทำดีแล้วจะช่วยเสกบ้านใหม่ รถใหม่ ตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่ๆให้ถูกใจ

วันนี้กรรมที่ฉันทำกับศัตรูในช่วงหลังๆก็ออกดอกออกผลให้เห็นประจักษ์ชัดแล้ว จึงค่อยตาสว่างและกลับไปเป็นคนดี เลิกคิดชั่วๆกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียได้ เรื่องเศร้าในชีวิตคนเรามีอยู่เรื่องเดียว คือมีความพร้อมสำเร็จรูปในการไหลลงนรกทางความคิด เรื่องคิดดีๆให้ขึ้นสูงนั้นยากเหลือเกิน แต่เรื่องคิดแย่ๆให้ลงต่ำนี่เหมือนเป็นอัตโนมัติกันเสียจริง

เป็นอันว่าช่วงนี้สิ่งที่ฉัน ‘ได้’ คือแง่คิดและความตระหนักรู้จักตนเองมากกว่าอย่างอื่น ฉันยังไม่แน่พออย่างที่หลงรู้สึกมาเป็นเดือน ฉันยัง ‘เสียสติ’ ให้กับเรื่องเศร้าได้ และขณะเสียสติอยู่นั้น คำว่า ‘ทุกขเวทนาเป็นอนิจจัง’ จะไม่ปรากฏในใจเลยแม้แต่น้อย

สรุปคือต้องฝึกสติให้แกร่งเหนือทุกข์ ถึงมีแรงพอจะเห็นทุกข์เป็นอนิจจังได้ ไม่อย่างนั้นก็ถูกทุกข์เขมือบหมดตัวไปแทน



:b38: /วันที่ ๒๑: อยากได้มรรคผล

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2009, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๒๑: อยากได้มรรคผล

การที่ศัตรูเข้ามาพูดขอญาติดี น่าจะเป็นนิมิตหมายว่าช่วงชีวิตรันทดน่าจะผ่านไปแล้ว ฉันมีกำลังใจกลับมาปฏิบัติธรรมใหม่ แต่สติที่พังพินาศของฉันทำให้การหวนกลับมาครั้งนี้ทุลักทุเลเอาการ ความรู้สึกแย่ๆกับตัวเอง ความคิดดูถูกตัวเองที่เคยมีมาก่อนปีใหม่ ย้อนกลับมาเล่นงานครบทุกชนิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความโลภอยากได้มรรคผล ไม่รู้เป็นอย่างไร คราวนี้ยิ่งอยากได้กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาทั้งหมดเลยทีเดียว อาจเป็นเพราะตระหนักแล้วกระมังว่าจิตใจเป็นของมีวันขึ้นวันลง และตราบใดยังไม่ถึงฝั่ง ตราบนั้นยังอาจจมน้ำป๋อมแป๋ม กับทั้งมีสิทธิ์ตีตั๋วไปนรกได้ทุกเมื่อ ขอให้คิดพลาดเถอะ ขอให้ได้ช่องอยากปรามาสพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เถอะ

เหตุผลที่อยากได้มรรคผลในเบื้องแรกนั้น แน่นอนว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือความหลุดพ้นแห่งใจ แต่บัดนี้เริ่มมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือตระหนักว่าตัวเองยังตกต่ำได้ ก็ไม่อยากกลับตกต่ำลงอีก

บุคคลในพุทธศาสนาที่จะไม่กลับตกต่ำลงอีก เรียกว่า ‘อริยบุคคล’ ที่รู้จักกันดีที่สุดได้แก่ พระอรหันต์ ซึ่งท่านจะไม่แม้แต่เสวยทุกข์ทางใจ ต่อให้ทุกข์ทางกายกำลังกำเริบกล้าแข็ง เช่นถูกทุบศีรษะด้วยค้อนอยู่ก็ตาม ท่านยังมีสติพอจะให้อภัย ใครประทุษร้ายท่านปานนั้นก็จะไม่มีจิตคิดโกรธเคืองเลย ใจบริสุทธิ์เห็นปานนั้น อย่าต้องกังวลว่าจะต้องคิดร้ายจองเวรกับใครก่อน อย่าต้องห่วงว่าจะพลาดพลั้งปรามาสพระศาสดาและพระธรรมเจ้า อันเป็นเหตุให้ต้องรับผลร้ายในภายหลัง

พระอรหันต์ท่านชำแรกความไม่รู้ ผ่านไปถึงซึ่งความรู้แจ้งหมดจด นี่ไม่ใช่หมายความว่าท่านรู้ทุกอย่าง ชื่อถนน ชื่อคน เหตุการณ์อดีตและอนาคต เรื่องนอกตัวเหล่านี้ท่านอาจจะยังรู้เท่าคนธรรมดา แต่ท่านรู้ยิ่งสิ่งเดียวคือสัจจะความจริงอันน่าสนใจขั้นสูงสุด คือรู้อย่างถาวรไม่กลับไม่เปลี่ยน ว่ากายใจนี้ ตลอดจนสิ่งอื่นทั่วสากลโลก เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนแม้เศษเนื้อเท่ากระแบะมือ หรือกระแสสุขล้นฟ้า หรือกระทั่งการมีจิตไว้รู้เห็นอะไรไหนๆ กาย เวทนา จิต ธรรมหาใช่สิ่งที่เราอาจหวังพึ่งพิงถาวร หาใช่สิ่งที่เราคาดหวังให้อยู่ยั้งยืนยง พระอรหันต์ท่านมีประสบการณ์รับผัสสะในโลกได้เท่าคนธรรมดา หรือดีกว่าคนธรรมดา แต่จิตอันรู้แจ้งแทงขาดแล้วของท่าน จะไม่ทำให้ท่านหลงเข้าใจอีกแม้แต่วินาทีเดียวว่า กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตา เป็นตัวตน ตราบจนชั่วอายุขัยของท่าน

อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระอรหันต์ได้แก่ พระอนาคามี อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยได้ยิน หรือถึงแม้รู้จักและได้ยินก็ไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากพระอรหันต์อย่างไร ความแตกต่างระหว่างสองชั้นนี้ พระพุทธองค์มักตรัสไว้คือ พระอนาคามียังเหลืออุปาทาน ยังมีมานะว่านี่ตัวเรา เราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือยังชำแรกผ่านความไม่รู้ไปได้ไม่ขาด ไม่สะเด็ดแห้งสิ้นอย่างพระอรหันต์ และความที่ยังไม่รู้แจ้ง จึงยังสงวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นตัวเป็นตน โดยเฉพาะจิต ยังเป็นผู้กลัวจะไม่มีจิตได้อยู่ แต่ก็นับว่าเหลือความหวงห่วงน้อยแล้ว เมื่อเทียบกับอริยบุคคลชั้นรองลงไป

อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระอนาคามีได้แก่ พระสกทาคามี อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยได้ยิน หรือถึงแม้รู้จักและได้ยินก็ไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากพระอนาคามีอย่างไร อีกทั้งพระพุทธเจ้าท่านตรัสรายละเอียดเกี่ยวกับพระสกทาคามีไว้น้อย พระสกทาคามียังมีราคะ โทสะ โมหะ แต่ก็เบาบางลงกว่าปุถุชนมากแล้ว เนื่องจากจิตไม่เสพอารมณ์หยาบเต็มกำลัง แม้มีราคะระดับให้กำเนิดบุตรธิดาได้ก็ไม่ติดใจ แม้มีโทสะระดับร้อนจิตร้อนกายได้ก็วูบเดียวเหมือนไฟไหม้ฟาง และแม้มีโมหะสำคัญมั่นหมายถือเขาถือเราได้ก็ไม่ใช่ขนาดหลงตัวหลงตนแบบหน้ามืดตามัว พูดให้ง่ายคือราคะ โทสะ โมหะเบาบางและมีแนวโน้มฝักใฝ่อยากเลื่อนระดับให้ยิ่งๆขึ้นถึงที่สุดมากกว่าอย่างอื่น

อริยบุคคลผู้ประเสริฐรองลงมาจากพระสกทาคามีได้แก่ พระโสดาบัน อริยบุคคลชั้นนี้คนไทยส่วนใหญ่ได้ยินบ่อย แต่ไม่เข้าใจว่าคือคนแบบไหน แตกต่างจากพระอริยะชั้นสูงกว่ากันอย่างไร พระโสดาบันยังมีราคะ โทสะ โมหะ ครบ แต่ก็เบาบางลงกว่าปุถุชน คือใจไม่ถึงพอจะประพฤติผิดศีลธรรมเพื่อสนองราคะ โทสะ โมหะ ธรรมดามักมีจิตที่ขาวใกล้ใส หรือใสใกล้แก้วด้วยความใส่ใจอนิจจังแห่งกาย เวทนา จิต ธรรมเนืองๆ ความที่จิตตกได้มากที่สุดแค่หม่น แต่ไม่มีทางมืดขนาดคู่ควรกับนรกภูมิ จึงทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปิดอบายได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นผู้เห็นนิพพาน หรือผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงอยู่ในฐานะผู้เข้ากระแส เป็นผู้เที่ยงที่จะได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในกาลข้างหน้า

มรรคผลมี ๔ ระดับ บรรลุมรรคผลครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน ครั้งที่สองเป็นพระสกทาคามี ครั้งที่สามเป็นพระอนาคามี และครั้งสุดท้ายเป็นพระอรหันต์ สำหรับความเป็นอรหันต์มักไม่เป็นที่คาดหวัง เพราะยังไกลเกินเอื้อมอยู่สำหรับผู้เริ่มเดินทางจริงจังแค่สองเดือนอย่างฉัน แต่พระโสดาบันนี่สิ อย่างน้อยถ้าได้เป็นก็เรียกว่าประเสริฐกว่าราชามหาจักรพรรดิผู้มีอำนาจครองโลกเสียอีก เพราะพระราชายังถูกปล้นสมบัติได้ ถูกแย่งอำนาจได้ หรือกระทั่งถูกเนรเทศเข้าป่าเข้าเถื่อนได้ แต่บุคคลเมื่อได้เป็นโสดาบันแล้ว จะไม่มีใครสามารถปล้นสมบัติภายใน ไม่มีใครทำให้เสื่อมจากภาวะ และไม่มีใครสาปแช่งหรือใช้มนต์สะกดใดๆส่งไปอยู่ในอบายได้อีกเลย แม้เคยมีกรรมชั่วต้องชดใช้ อย่างมากก็แค่รับผลบนโลกมนุษย์ อันจัดเป็นสุคติภูมิแห่งหนึ่งเท่านั้น

การบรรลุมรรคผลคือการไปถึงสภาวจิตชนิดหนึ่ง ที่ทิ้งความยึดมั่นว่ากายใจเป็นอัตตาเสียได้ ทะลุออกไปเห็นธรรมชาติอันเป็นต่างหากจากกายใจ คือนิพพาน เมื่อเห็นนิพพานแล้วย่อมหายสงสัยว่าพระพุทธเจ้าค้นพบอะไร ทางที่พระพุทธองค์ปูไว้คือสติปัฏฐาน ๔ จะนำไปพบอะไร ความเพียรปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็คือการพัฒนาจิตจากสภาพสามัญชน ให้เข้าถึงซึ่งสภาพอันเป็นมรรคเป็นผลนั่นเอง

บอกเตือนตัวเองว่าอยากได้มรรคผล ก่อนอื่นต้องสงบจากความอยากเป็นอันดับแรก

ลงนั่งทำสมาธิ เห็นลมหายใจของฉันกลั้วไปด้วยความเร่งร้อนอยากสงบ นี่คือการย้อนกลับมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง… คนที่จะนับหนึ่งใหม่ต้องทำอย่างไรหนอ?

เป็นนานกว่าจะนึกได้ ก็ยอมรับว่าสภาพเด่นที่สุดในปัจจุบันคือความเร่งร้อนน่ะซี! การยอมรับตามจริงเป็นอาการง่ายๆของจิตที่มักถูกลืม แต่เมื่อไหร่นึกออก ก็จะใช้การได้ทันที เป็นของทันสมัยอยู่เสมอชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่อยอมรับว่าแต่ละลมหายใจแฝงปนอยู่ด้วยความเร่งร้อนอยากสงบ ก็เกิดอาการตามรู้ ตามดูความเร่งร้อนในแต่ละลมหายใจเข้าออก รู้เรื่อยๆกระทั่งความร้อนแสดงความไม่เที่ยงออกมาจนได้ ลมหายใจเข้ามีจิตนิ่งสงบ ลมหายใจออกเหลือแค่อุณหภูมิในกายตามปกติ กายใจไม่กวัดแกว่ง ทรงอยู่แต่สติรู้ว่าลมผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก นับให้เข้าข่ายเป็นองค์ที่ ๑ ของโพชฌงค์ได้แล้ว

กำลังสติแบบเก่าผุดขึ้น สะท้อนด้วยสภาพรู้ชัดตรงตามจริงว่าขณะนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก แสดงว่าสติไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่หลบใน เพราะถูกความเศร้าและความฟุ้งซ่านหมกซ่อนไว้เท่านั้น ฉันค่อยกำลังใจดีขึ้น และพิจารณาทันที ณ ขณะแห่งความรู้ชัดว่าลมหายใจเข้าจนสุดแล้ว ต้องคายคืนกลับออกสู่ความว่างภายนอกเป็นธรรมดา คายคืนได้เดี๋ยวเดียวก็ต้องดึงลมเข้าไปหล่อเลี้ยงให้กายดำรงสภาพอยู่ได้อีก และอีก ธรรมชาติเกิดดับนั้นปรากฏตลอดเวลา ต่อเมื่อจิตเข้ามาพิจารณาจึงรู้เห็น และกลายเป็นองค์ที่ ๒ ของโพชฌงค์ คือธัมมวิจัยไป

เมื่อประคองความเห็นลมเกิดดับจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นวิริยะ อันเป็นองค์ที่ ๓ ของโพชฌงค์ นานระยะหนึ่งก็บังเกิดความเบิกบานอันเป็นองค์ที่ ๔ ของโพชฌงค์ ยังผลต่อเนื่องให้กายใจก็สงบประณีตอ่อนสลวยอันเป็นองค์ที่ ๕ ของโพชฌงค์ ฉันมีสุขล้ำลึก เสียแต่ยังเห็นจิตกระเพื่อมง่าย มีหมอกมัวฝ้าฟางมาห่อหุ้มเร็วอยู่ จึงยังไม่ถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิบริบูรณ์ อันเป็นองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์

นั่งสมาธิจนล้าก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ฉันสังเกตว่าแม้จิตสงบลงแล้ว สติถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพแล้ว แต่ความอยากได้มรรคผลก็ยังตามรบกวนจิตใจอยู่ทุกฝีก้าว คล้ายแมงมุมเกาะติดและถักทอใยบางทว่าเหนียวแน่น ขึงกั้นไม่ให้ความอยากหนีหายไปไหนรอด

ถ้าเป็นได้ เดินก้าวนี้ฉันอยากให้มรรคผลบังเกิดเสียเลยทีเดียว แม้ตัดใจละความอยาก หรือยอมให้ความอยากเกิดเพื่อดูอนิจจัง มันก็แปรปรวนไปเพียงชั่วครู่ แล้วกลับผุดกลับโผล่ขึ้นใหม่อีก เฝ้าถามตนเองเกือบทุกสิบนาทีว่าถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่สำเร็จ แล้วเมื่อไหร่เราจะบรรลุธรรมกับเขาบ้าง? อยากรู้ อยากหาหมอดูมาทำนายให้หายสงสัยกันไปเลย

ว้า! อย่างนี้แย่เลย เจริญสติก็เพราะหวังหลุดพ้น อยากได้มรรคผลกับเขาบ้าง แต่ตัวหวัง ตัวอยากนั้นเอง ก็กลายเป็นเครื่องขวางไปเสียอีก ช่างไม่เหมือนวิชาหรือการงานทางโลก ที่อนุญาตให้ส่งแรงอยาก ทุ่มเทกายใจให้ไปถึงความสำเร็จ ยิ่งอยากมาก ทุ่มมาก ก็ยิ่งใกล้เคียงความจริงมาก แต่มรรคผลนี่เป็นตรงข้ามเลย ยิ่งอยากเท่าไหร่ ยิ่งกลับทิศเท่านั้น

เพิ่งสังเกตตัวเองว่าอันที่จริงฉันอยากได้มรรคผลมาตลอด เป็นการอยากได้ของดีเพื่อตัวฉัน ซึ่งเริ่มแรกนับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คนเราหากไม่อยากได้ไม่อยากดี แล้วจะเพียรเพื่อประโยชน์อะไร?

แล้วก็ฉุกคิดเหมือนได้ทบทวนใหม่หมด เพิ่งเห็นชัดอีกรอบว่าการถึงมรรคผลคือการละอัตตาให้ขาด แต่เมื่อมีความเพียรพยายามเอามรรคผล ‘เพื่อฉัน’ เสียแล้ว ก็เป็นอันจบกัน ขัดแย้งเป็นงูกินหางตั้งแต่เริ่ม

สรุปคือฉันกำลังอยากละอัตตา แต่กำลังทุกข์หนักเพื่ออัตตา เพราะไม่สามารถละอัตตาได้!

เมื่อได้ข้อสรุปดังกล่าว ฉันจึงรู้ตัวแล้วว่ากำลังยืนอยู่ผิดจุด ฉันกำลังยืนอยู่ฝั่งเดียวกับอัตตา เข้าข้างอัตตา และทำทุกอย่างไปเพื่ออัตตา

คิดเท่านี้ก็ดูทุกขเวทนาตามสภาพที่มันกำลังปรากฏได้ง่ายขึ้น หันมาทบทวนว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ทำอย่างไรเวลาเป็นทุกข์เพราะอยากได้มรรคผล ทีแรกคิดไม่ออก แต่พอนึกถึงการพิจารณาในหมวดเวทนาก็ลืมตาโพลง ท่านให้รู้เท่าทันว่ากำลังเสวยทุกข์ชนิดมีหรือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ รวมทั้งเปรียบเทียบด้วยว่าทุกข์แบบไหนหยาบหรือประณีตกว่ากัน

ทุกขเวทนาแบบที่ฉันกำลังประสบ เป็นทุกข์แบบไม่มีเหยื่อล่อทางโลกมาข้องเกี่ยว แต่มีความอยากหลุดพ้นจากบ่วงกิเลสมาเป็นเครื่องล่อให้ทุกข์ ฉันพบด้วยความพิศวงว่าทุกข์ประเภทนี้อาจตั้งอยู่ในจิตที่ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความพยาบาทใดๆ ทุกข์ชนิดนี้จึงควรจัดให้เป็นทุกข์ขั้นละเอียดตามระดับจิต ธรรมชาติช่างวิจิตรพิสดารเสียจริง

และฉันก็พบความจริงอีกประการหนึ่งคือ สำหรับมือใหม่นั้น การได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่ากำลังอยู่ตรงไหน ภาวะที่กำลังปรากฏเด่นเรียกว่าอะไร จะคลายความสงสัยคาใจได้อย่างดี หากคิดเพียงมุ่งเจริญสติรู้เท่าทันสภาพเกิดดับอย่างเดียว บางทีก็อาจเลี้ยงตัวสงสัย ปล่อยให้เกิดความคาใจขัดขวางความก้าวหน้าไม่สิ้นสุด

ในสฬายตนวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดว่าการเสวยทุกข์ชนิดมีเหยื่อล่อแบบโลกๆคืออยากเสพผัสสะอันเจือด้วยกิเลสอันใดแล้วไม่ได้เสพอย่างใจนึก ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดโทมนัสได้ ส่วนผู้เจริญสติปัฏฐานจนเห็นความเกิดดับแล้ว ย่อมปรารถนาความหลุดพ้น เมื่ออยากหลุดพ้นแต่ยังหลุดพ้นไม่ได้ย่อมถามตัวเองว่าเมื่อใดจะหลุดเล่า? เช่นนี้เองพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่าเป็นโทมนัสอันเกิดแต่การแสวงทางหลุดจากบ่วงกาม

สิ่งที่พระองค์แนะนำคือให้ใช้อุเบกขาเป็นเครื่องอิงอาศัยก่อน ก็อุเบกขาเช่นเห็นลมหายใจเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดานั่นแหละ คือเครื่องอิงอาศัยของใจ กระทำใจให้ปลีกตัวออกมาเสียจากความอยากได้มรรคผล

ฉันลองนั่งลงกำหนดรู้ลมโดยความเป็นของเกิดดับ กระทั่งใจว่างจากทุกข์แล้ว อาศัยอุเบกขาในความเห็นลมหายใจเกิดดับแล้ว ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมใหม่ ปล่อยให้ความอยากได้มรรคผลเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเวลาต่อมา ก็เห็นความทุกข์อย่างชัดเจน คือมีสภาพอึดอัดคาอกเล็กน้อยแต่ปักหลักยืดเยื้อเหมือนกลุ่มผู้ประท้วงที่มีการศึกษา ไม่พล่ามหยาบคาย แต่ก็เหนียวแน่นในการตื๊อไม่เลิก เมื่อเห็นเป็นเพียงทุกข์ชนิดหนึ่ง แม้เป็นความทุกข์ระดับประณีต ก็ไม่แยแส ไม่หลงตามมันอีกต่อไป แค่เห็นเป็นอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในใจ แล้วดับลงในท่ามกลางสติรู้ด้วยความว่างจากอาการยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

จุดใหญ่ใจความคือมีสติรู้ทุกขเวทนาในปัจจุบันขณะนั่นเอง ทุกข์ที่ละเอียดต้องการสติที่ละเอียดสมน้ำสมเนื้อกัน ที่ตอนแรกฉันรู้ว่ากำลังทุกข์เพราะอยากได้มรรคผล แต่ไม่เห็นความดับไปของทุกข์ ก็เพราะยังไม่ใช่สติเห็นทุกข์จังๆ แต่เป็นสติแบบครึ่งๆกลางๆเท่านั้น ต่อเมื่อรับทราบว่านั่นเป็นทุกข์อย่างประณีตเพราะเปรียบเทียบกับทุกข์อย่างหยาบ สติที่ผนวกกับความเข้าใจจึงมาจับรู้ทุกข์ได้เต็มสภาพแท้จริง เห็นชัดว่านั่นก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดมั่นถือมั่นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับทุกข์ชนิดอื่นๆนั่นเอง



:b38: /วันที่ ๒๒: ความต่างระหว่างปีติกับสุข

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร