วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 01:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 20:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


.......ฉันลงทุนเล็กน้อย ปกติฉันจะสระผมทุกเช้าก็ไม่สระ แค่อาบน้ำเพื่อให้เหมาะกับการไปทำงานร่วมกับผู้คน แต่ตกเย็นกลับบ้านไม่ได้อาบน้ำอย่างเคย ปล่อยให้กลไกธรรมชาติเปิดเผยความเป็นกายที่ปราศจากการขัดถูชำระล้างโดยตัวเอง แถมให้อีกนิดหนึ่งคือออกไปวิ่งเอาเหงื่อมาพอประมาณ ค่ำนั้นไม่ทานข้าวร่วมกับคนอื่น เข้าห้องปิดประตูขังตัวเองอยู่กับอสุภะตามลำพัง

ถอดเสื้อยืดออก ลงนั่งดูหัวใจสูบฉีดค่อนข้างเร็วและแรงหลังออกกำลังเหนื่อยๆ สำเหนียกรู้ถึงเม็ดเหงื่อที่เกาะพราวตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา การผุดชื้นของน้ำเหงื่อทำให้ทราบการปรากฏของเนื้อหนังได้ชัดกว่าปกติมาก ฉันผูกสติตามรู้ผิวหนังอันมีน้ำผุดขึ้นเกาะซึมๆ หายใจออกรู้ผิวหนัง หายใจเข้ารู้ผิวหนัง เรื่อยไปนับสิบนับร้อยครั้ง กระทั่งจิตไม่เหลืออะไรอื่นนอกจากความรู้สึกในผิวหนัง ซึ่งเริ่มแห้งเกรอะกรังด้วยคราบเหงื่อคราบไคล

อสุภะเริ่มออกฤทธิ์โชยเข้าจมูกเมื่อสิบห้านาทีผ่านไป นึกออกตามพระป่าท่านพูดเลยว่าหน่อเหม็นแนวเหม็นเป็นอย่างไร เมื่อกำหนดอยู่นานๆ ผิวหนังที่ห่อหุ้มอิริยาบถนั่งก็เริ่มปรากฏแปลกไป จิตอันตั้งมั่นเป็นสมาธิรับรู้ได้คมชัดขึ้น กว้างรอบขึ้น เห็นทั่วพร้อมทั้งผิวที่ใบหน้า ผิวต้นแขนด้านในที่แนบติดกับลำตัว ผิวช่วงหน้าอกไปถึงท้อง รวมทั้งผิวบริเวณต้นขาและน่อง บางครั้งร่างกายเหมือนขยายใหญ่ ผิวหนังอันเกาะไปด้วยคราบไคลปรากฏเป็นเปลือกไม้หยาบที่มีกลิ่นเหม็น

สติคมชัดเห็นอะไรได้เป็นขณะๆ เมื่อต้องกลืนน้ำลายก็รู้สึกถึงภาวะเริ่มเน่าบูดหลังจากเคี้ยวศพสัตว์มาเมื่อตอนเช้ากับตอนกลางวันโดยยังไม่เอายาสีฟันไปถูทำความสะอาด ฉันสำเหนียกถึงอาการเต้นที่อ่อนลงของหัวใจ จากที่เมื่อครู่สูบฉีดแรง สิ่งเหล่านี้เป็นภาวะที่คุ้นชินมาเนิ่นนาน แต่ไม่ได้เห็นชัดๆต่อเนื่องเหมือนอย่างที่ตั้งใจกำหนดดูนานๆแบบนี้

รูปวัตถุที่ถูกรู้เช่นหัวใจและน้ำลายนั้น เป็นของซ่อนเร้น เป็นของที่ตั้งอยู่ใต้ผิวหนัง ธรรมชาติจิตเมื่อกำหนดสติรู้สิ่งใดไปนานๆก็เริ่มเห็น ‘ลักษณะ’ ของสิ่งนั้นขึ้นมารางๆ หัวใจเป็นก้อนเนื้อเต้นตุบๆ ตั้งอยู่ในหว่างโพรงกระดูกเป็นซี่ๆ ส่วนน้ำลายมีสัณฐานที่แปรปรวนง่าย มีคุณลักษณะเอิบอาบเช่นธาตุน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เหนียวหนืด กลืนแล้วไปผสมกับเมือกเสลดในลำคอต่อไป

สติที่ตั้งมั่นทำให้กายปรากฏชัดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็แหว่งวิ่นเห็นเป็นส่วนๆบ้าง ชัดเต็มทั้งตัวบ้าง ตามสภาพอันไม่เที่ยง แปรปรวนเป็นธรรมดาของวิญญาณขันธ์ นั่งไปนั่งมาเหมือนจิตจะซึมลงสู่ความโงกง่วงเพราะเพิ่งเหนื่อยวิ่งจนเหงื่อตกมาหยกๆ แต่พอง่วงเช่นนั้นก็นึกถึงความสว่างแห่งทิวากาล ก็รู้สึกอุ่นและสว่างรอบ เกิดความตื่นเต็มขยันขันแข็งขึ้นใหม่

ความสว่างในครั้งนี้ช่วยให้เห็นล่วงเข้าไปในขอบเขตลับแลจากจักษุประสาท เหมือนเห็นกระดูกขาวๆและก้อนเนื้อแออัดคล้ายอุปาทาน เพราะสว่างแวบวาบแล้วเลือนลงไม่คงที่ ฉันก็ไม่ได้พยายามเพ่งใหม่เป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่าอาการเพ่งคือการบีบจิตให้คับแคบเปล่าประโยชน์ นอกจากไม่เห็นอะไรแล้วยังเป็นทุกข์ฟรีๆอีกด้วย ฉันเพียงกำหนดรู้สิ่งที่พอรู้ได้ตามกำลังจิตปัจจุบันเช่นการหายใจและอิริยาบถ รอจนกำลังจิตเพิ่ม รู้สึกถึงสภาพพลิกขึ้นสว่างของจิตเอง ก็ค่อยดูผิวหนังรอบตัวเท่าที่สามารถทราบได้ต่อไป

เกือบชั่วโมงแห่งการสลับสว่างกับมืด เห็นกายบางส่วนบ้าง หลายส่วนบ้าง ง่วงทีก็นึกถึงความสว่างในเวลากลางวันที พยุงสติให้ผ่านด่านความเพลียมาได้หลายครั้งหลายหน กระทั่งถึงจุดหนึ่งคล้ายจิตยอมหลับ แต่เป็นการหลับในภาวะกำลังตั้งนิ่ง ภาวะดังกล่าวยุบลงเหมือนยืนอยู่บนทรายดูดที่มีพลังมหาศาล แล้วพริบตาต่อมาก็เกิดภาวะผุดเด่นสว่างไสวเต็มดวงเกินขอบเขตคับแคบของกายแบบฉับพลันทันใด

กายเหมือนเป็นกายเดิมที่ปรากฏอวัยวะครบถ้วน แต่การแสดงรายละเอียดต่อจิตอย่างแจ่มแจ้งทำให้รู้สึกราวกับเป็นกายอื่น สร้างขึ้นด้วยแก้ว ข้างในมีกะโหลก มีโครงกระดูก แออัดด้วยก้อนเนื้อ สภาวะของจิตรวมในครั้งนี้ไม่เชิงว่ามีความคงที่แบบฌานแท้ เป็นฌานแค่วูบเดียวในสองสามวินาทีแรก เหมือนไฟดวงใหญ่ที่จุดติดแต่ไม่มีฐานกำลังแข็งแรงพอ ฉันรู้สึกถึงความเพลียทางกายที่ส่งผลกระทบให้สภาพรู้สว่างโพลงแบบล้มลุก พอจะดูกายให้ชัดว่ารูปพรรณสัณฐานแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ก็เหมือนกลายเป็นภาวะเลือนหายวายว่าง ไม่มีกำลังพอจะประคองความรู้ให้ตั้งมั่นอยู่ได้

แต่อย่างน้อยฌานวูบเดียวก็ทำให้รู้เห็นความแปลกแยกแตกต่างระหว่างจิตกับกาย จิตในภาวะเด่นดวงเป็นอิสระจากการครอบงำทางกาย เห็นกายเป็นเพียงโพรงที่อาศัย ไม่มีความน่ารังเกียจชิงชังหรือน่ารักน่าใคร่ในตนเอง ขึ้นอยู่กับความกำหนดไว้ของจิตว่ามันเป็นอย่างไร ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ก็ช่างน่าพิศวงเหลือแสน มีความจริงรองรับทุกความเชื่อ ทุกมุมมอง อยากดูแค่ผิวนอกให้เห็นเป็นของสวยงามก็ได้ อยากดูลึกเข้าไปถึงตับไตไส้พุงให้เห็นเป็นของน่าคลื่นเหียนชวนให้อยากอาเจียนก็ได้อีก สองมุมในหนึ่งเดียวแบบเบ็ดเสร็จจริงๆ

:b38: /...พอเบื่อนั่งก็ลุกขึ้นเดินจงกรม รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 21:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




luxury-arizona.jpg
luxury-arizona.jpg [ 237.36 KiB | เปิดดู 4372 ครั้ง ]
........ พอเบื่อนั่งก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ฉันไม่อาลัยฌานวูบเดียวเท่าไหร่ เพราะแม่นยำว่าสิ่งที่ต้องการคือความรู้สึกในอสุภะแห่งกายตน เพื่อความไม่ตรึกนึกทางกาม สองนาทีแรกฉันเดินจงกรมแบบรู้เท้ากระทบเฉยๆเพื่อเรียกสติให้เข้าร่องเข้ารอย แต่พอจมูกเริ่มได้กลิ่นเหม็นหึ่งจากหนังศีรษะที่ไม่ได้สระสางตามเวลา จิตก็เริ่มหมายรู้ในอสุภะ หรือที่เรียกว่าเกิด ‘อสุภสัญญา’ ขึ้นมาอีก

ในความรู้สึกถึงอิริยาบถเดินที่หัวกับเท้าเด่นพอกัน ฉันรู้สึกถึงความสกปรกของหนังศีรษะผ่านกลิ่นเหม็นกระทบจมูกก่อน แต่จิตเริ่มนิ่งเข้าที่ตั้งมั่น การรับรู้จากภายในก็แปลกไป ตามธรรมชาติของจิตที่ปักแน่วอยู่กับอารมณ์เดียว จิตย่อมตัดการรับรู้ทางประสาทตาออกไป เช่นบัดนี้เหลือแต่การรับรู้ที่กลุ่มผมบนหนังศีรษะ ก็เกิดนิมิตขึ้นคล้ายตาเห็นเศษผมที่กองบนพื้นในร้านตัดผม แต่เห็นครู่หนึ่งก็แวบกลับมารับรู้สิ่งแวดล้อมในห้องนอนตามเดิม ต่อเมื่อจิตตั้งมั่นแน่วแน่กับกลุ่มผมบนหนังศีรษะอีกครั้ง ก็เกิดนิมิตกลุ่มผมขึ้นอีกที

อันเนื่องจากกลิ่นเหม็นยังติดจมูกเป็นอสุภสัญญา เมื่อปรากฏนิมิตกลุ่มผมตรงตามตำแหน่งที่ตั้ง คือบนหนังศีรษะ ก็เกิดความเห็นกลุ่มผมเหม็นๆนั้นน่ารังเกียจ ยิ่งนิมิตชัดกลิ่นยิ่งชัด หรือเมื่อจมูกได้กลิ่นชัดนิมิตก็พลอยชัดตาม คล้ายอยู่ๆก็เจอกองขยะเน่าๆบนพื้นสกปรกอย่างไรอย่างนั้น

ธรรมดาคนเราไม่ชอบทนกับของโสโครก แต่นี่ของโสโครกอยู่บนกบาลตนเอง เหมือนคนไม่รู้ตัวยกเอาแพสวะมาเทินหัวเดินไปเดินมา คราวนี้จะให้ทำอย่างไรล่ะ? ฉันชักใจไม่ดี ย้ายที่มั่นของสติเปลี่ยนมากำหนดรู้เท้ากระทบแทน แต่ก็ได้ตระหนักในบัดนั้นว่า ถ้าอสุภสัญญาปรากฏชัดแล้วแม้แต่แวบเดียว จิตจะรู้สึกถึงความสกปรกในกาย ณ ตำแหน่งนั้นๆไม่จางไปง่ายๆ อสุภสัญญาจะมีจังหวะย้อนหวนกลับมาเรื่อยๆ เพราะจิตที่นิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมมีธรรมชาติเห็นตามจริงเป็นธรรมดา ก็ธรรมดาสิ่งใดเป็นของสกปรก จิตย่อมเห็นสิ่งนั้นแสดงความสกปรกชัด ไม่อาจบิดเบือนเป็นอื่นไปได้

ฉันกำหนดรู้ความอึดอัดระอาอันเป็นทุกขเวทนาชนิดหนึ่ง ย้อนกลับไปทบทวนจุดมุ่งหมายเมื่อเริ่มต้นว่าทำอะไรอย่างนี้อยู่ทำไม ก็ตอบตนเองได้ว่า ‘เพื่อความดำริออกจากกาม’

เมื่อได้คำตอบชัดเจนกับตนเองก็กัดฟันกำหนดรู้ต่อไปอีก เมื่อกำหนดต่อก็เกิดความเห็นสลับกันระหว่างเศษซากขยะบนหัว กับนิมิตกลุ่มผมดำๆเป็นเส้นๆที่ส่งกลิ่นเหม็นออกมาจากฐานที่ตั้งคือหนังศีรษะ บางขณะจิตใหญ่ขึ้นจนรู้สึกและสำนึกต่างไปจากตัวตนเดิมๆ คล้ายเป็นคนป่าดิบๆเถื่อนๆไร้ความศิวิไลซ์กำลังเดินท่อมๆอยู่ในสถานที่อันไม่คุ้นเคย ห้องนอนเดิม สิ่งแวดล้อมเดิมๆนั่นแหละ แต่ความรู้สึกผิดที่ผิดทางเหลือเกิน

จากความเป็นคนป่าดงดิบ พอจิตวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายนานเข้า สำนึกก็แปรไปอีก คล้ายคุ้นเคยยิ่งกับการเดินจงกรมพิจารณาความเป็นอสุภะของกาย คุ้นเคยยิ่งกับการเห็นโหนกนูนและปุ่มปมต่างๆที่ยึดเนื้อหนังไว้กับที่ เหมือนมองผ่านกล้องสามมิติเห็นขุมขนและคราบไคลบนแผ่นหนัง เป็นการเห็นที่อธิบายยาก ไม่เหมือนสายตามองออกไปเห็นวัตถุภายนอก แต่เหมือนรับรู้ออกมาจากจุดศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งของจิตพร้อมกันโดยรอบ ไม่ถึงกับถ้วนทั่วละเอียดทุกกระเบียดเนื้อ ทว่าก็คลุมๆคล้ายตระหนักว่ามีโครงกระดูกยัดทะนานก้อนเนื้อกำลังเคลื่อนไหวอยู่ โดยมีแผงผิวหนังปกคลุมข้างนอกบังตาไว้จากสิ่งอุจาดน่าคลื่นเหียนภายใน

ฉันคุ้นภาวะเดินจงกรมรู้อสุภะเหมือนเคยทำมาก่อนเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแต่ลืมไปชั่วคราว พอจิตเข้าไปคลุกเคล้าเป็นอันเดียวกับความคุ้นนั้น ก็เกิดความรู้สึกเหมือนจีวรพระเก่าคร่ำคร่าห่มคลุมแทนชุดเสื้อกางเกง ไม่ถึงกับตกใจ แต่ก็ทำให้รู้สึกแปลกๆ เตือนสติตนเองว่าจิตกำลังเข้มข้น เมื่อเกิดสัญญาใดปรากฏขึ้นในขณะนี้ สัญญาย่อมเข้มข้นและแน่วนานเป็นทวีคูณไปด้วย

ฉันไม่เหลือบลงต่ำเพื่อดูด้วยประสาทตาว่ามีจีวรพระปรากฏแทนเสื้อกางเกงจริงหรือไม่ แค่ทำไม่รู้ไม่ชี้ คิดว่าสัญญาไม่เที่ยง สัญญาเป็นเพียงพยับแดดที่เหมือนมีแต่ไม่เคยมีตัวตนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ไม่เร่งรัดให้สัญญานั้นสาบสูญ แค่รู้แค่ดูเฉยๆอยู่ในอาการเดินจงกรมเช่นนั้น

เมื่อความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นพระปรากฏชัดขึ้นอีกนิดหนึ่ง การเดินและสิ่งแวดล้อมก็เหมือนหายหนไปชั่วขณะ บังเกิดนิมิตชัดว่ารอบด้านเป็นราวป่า ฉันกำลังอยู่ในอัตภาพซอมซ่อแบบพระธุดงค์เดนตาย แสวงหาพระนิพพานอยู่ในป่าเขาแบบไม่ห่วงชีวิต นี่กระมังการระลึกชาติแบบฟลุกๆ คือเคยทำกรรมฐานอย่างใดมามากในช่วงชีวิตก่อน พอมาทำกรรมฐานนั้นอีกก็ได้จิตแบบเดิมที่พอดีกัน เรียกสัญญาเก่ากลับคืนมาชั่วคราว ชั่วขณะที่จิตตั้งมั่นในกรรมฐานอันเคยคุ้นนั้นๆ

กะพริบตาปริบๆ ภาพราวป่าเลือนหายไป กลับมาเป็นอัตภาพหนุ่มเมืองในเสื้อกางเกงคนเดิม ถอนใจยาวเหลือบมองสภาพปัจจุบัน นี่ก็แค่อีกอัตภาพหนึ่ง นั่นก็แค่อีกอัตภาพหนึ่ง ฉันยังไม่นิ่งนานขนาดระลึกได้ถูกว่าตัวเดิมชื่อเสียงเรียงนามใด เกิดในสมัยไหน หรือกระทั่งเป็นเพียงนิมิตอุปาทานไร้แก่นสารหรือไม่ แต่รู้แจ้งประการหนึ่งคือจิตสำคัญมั่นหมายอย่างไร ภพหรือสภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้นก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะไปปฏิสนธิในภพภูมิที่มีความเป็นเช่นนั้น หรืออาจจะปรากฏนิมิตขึ้นในมโนทวาร ล่อให้จิตสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตน ตนเป็นนั่นเป็นนี่

เมื่อพิจารณาอยู่เช่นนั้นจิตก็คลายจากความถือมั่น เดินจงกรมต่อโดยไม่สนใจว่ากายใจนี้เป็นใคร ชื่อนามสกุลใด เพราะความจริงยิ่งกว่าชื่อเสียงเรียงนามคือรูปพรรณสัณฐานกายอันกำลังเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถเดิน และในอิริยาบถเดินนี้สกปรกตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ข้างในยัดทะนานอยู่ด้วยตับไตไส้พุงและขี้เยี่ยว หาความสะอาดไม่ได้แม้แต่เท่าปลายก้อย เคยเห็นถุงใส่อึแล้วรู้สึกรังเกียจอย่างไร ต้องรู้สึกรังเกียจกายนี้ยิ่งกว่านั้น เพราะไม่ใช่จะมีแค่อุจจาระ ยังคละปนอยู่ด้วยปัสสาวะและน้ำเลือดน้ำหนองเคล้ากันมั่วไปหมด

ในระดับจิตขณะนั้นไม่ถึงกับเหมือนตาทิพย์แทงทะลุปรุโปร่ง แต่ก็ ‘รู้สึกชัดว่ามี’ คือเห็นโครงสัณฐานของรูปเดินชัด แล้วก็มีความทรงจำเกี่ยวกับเครื่องในมนุษย์ประกอบอยู่กับสติด้วย ประโยชน์ไม่ขึ้นอยู่กับระดับความเห็นที่หยาบหรือละเอียดเพียงใด ประโยชน์ตามเป้าหมายสูงสุดของอสุภกรรมฐานคือทำให้เลิกตรึกนึกทางกาม ธรรมชาติมีอยู่อย่างนั้น ขึ้นอยู่กับจะตั้งจิตให้เกิดมุมมองเห็นอะไร และเห็นอะไรแล้วเกิดสิ่งใดตามมา แน่นอนจะไม่มีใครว่า หากเราตั้งจิตไว้เห็นแต่ผิวพรรณอันเรียบลื่น ดูประเสริฐกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆในโลก แต่เห็นตามอัตโนมัติเช่นนั้นแล้วย่อมเกิดราคะเป็นธรรมดา ตรึกนึกถึงการเสพกามเป็นธรรมดา ต่อเมื่อเห็นตามจริงโดยความเป็นอสุภะ ความฝ่อตัวทางราคะย่อมปรากฏขึ้นแทน

ช่วงสามวันนี้ฉันตั้งหน้าตั้งตาดูกายอย่างเดียว เห็นหน่อเหม็นแนวเหม็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การปฏิบัติธรรมภาวนาเต็มอัตราก็เช่นนี้เอง ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมากขึ้น เพื่อความลดลงของกิเลส ตัณหา มานะจนกว่าจะหมดสิ้นเด็ดขาด นั่นแหละถึงไม่ต้องเพียรพยายามใดๆอีก

พอเพียรกำหนดกายจนเกิดอสุภสัญญาติดจิตเกือบตลอด ฉันจึงพบว่าการไม่มีรั้วป้องกัน ปล่อยให้ราคะรดรั่วได้ ไม่ใช่ทางดำเนินอันเป็นไปในสติปัฏฐาน พอเกิดอสุภสัญญาเต็มขนาดแล้วจึงเห็นว่าที่ผ่านมาฉันมีช่องโหว่ใหญ่ๆอันใดอยู่ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะนึกว่าช่างเถอะ มีบ้างนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แค่รักษาศีล ๕ ก็น่าจะพอ กับทั้งทึกทักแบบเข้าข้างตัวเองอยู่ลึกๆว่าแม้แต่โสดาบันบุคคลก็ยังมีราคะได้ มีสามีภรรยาได้ มีบุตรธิดาได้ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลชั้นต้นก็คงปล่อยให้กามย้อมกายย้อมจิตได้บ้าง ถ้าไม่หมกมุ่นมากก็คงไม่ถึงกับขวางทาง

แนวคิดทำนองนี้อาจเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ปุถุชนมักเข้าข้างความเชื่อของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์พิสูจน์ แต่ถ้ามองให้ชัดว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงองค์ต่างๆของมรรคแท้ๆไว้อย่างไรก็คงไม่ต้องเถียงกัน หากขาดดำริออกจากกามเป็นระยะเวลานานเพียงพอ อย่างไรความตรึกนึกทางกามก็ต้องหวนกลับมาวันยังค่ำ และอาจบ่อยอย่างนึกไม่ถึง เพราะเคยชินกับการขาดสติไม่รู้ตัว

แนววิธีการรักษาโรคทางใจของพระพุทธเจ้าจะเหมือนแพทย์หัวก้าวหน้าในปัจจุบัน ที่แนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวก่อนที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บให้ต้องตามแก้กันทีหลัง อสุภสัญญาเป็นภูมิคุ้มกันความสวยและความมีสัดส่วนเย้ายวนตาของรูปหญิงได้จริง บางขณะเมื่อจิตหนักแน่นทรงกำลังแล้วทอดตามองเห็นสาวๆ ฉันจะเห็นเกินประสาทตาเนื้ออนุญาตให้เห็น เพราะอำนาจอสุภสัญญาแรงๆที่อยู่ในสมาธิจิตครอบงำการเห็นทางตาด้วยนิมิตทาบซ้อน ซึ่งความปรากฏของนิมิตจะมีได้หลากหลาย เห็นตัวเองถึงระดับไหนก็จะเห็นคนอื่นโดยความเป็นอย่างนั้น เช่นแทนการเห็นผิวหนังขาวสวย ก็กลายเป็นผิวหนังที่เห่อขึ้นเป็นผื่น เป็นปื้นคราบไคลเหมือนคนไม่ได้อาบน้ำ ความรู้สึกในจิตขณะเห็นคือทุกจุดหมักหมมด้วยเชื้อโรค

เรื่องนิมิตซ้อน เห็นเราเป็นปฏิกูลอย่างไร เห็นคนอื่นเป็นปฏิกูลอย่างนั้น จัดเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่ปัจจุบันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง ว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกไม่ตรงเหมือนภาพหลอน ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่จุดใหญ่ใจความคือเราต้องการเห็น ‘ความจริง’ แบบไหน ถ้าความจริงทางตาก็คือมนุษย์ถูกห่อหุ้มด้วยผิวหนังเรียบลื่น ทำความสะอาดกันเช้าเย็นให้ดูดีเรียบร้อย แต่ถ้าจะเอาความจริงในกายก็ต้องว่ามันแออัดยัดทะนานด้วยสิ่งโสโครก หมักหมมกว่าท่อส้วมท่อขยะที่อุดตันทุกชนิด และน่าสนใจว่าการส่องเข้าไปเห็นความจริงชนิดนั้นด้วยจิต ผลคือจะทำให้ลดภาวะทะยานอยากของใจ อันนำไปสู่ ‘ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ’ คือรู้เห็นอริยสัจจ์ ๔ ในที่สุด

สรุปง่ายๆ แต่ก่อนถ้าใครมาบอกให้ละกาม ฉันคงบอกว่า เรื่องอะไรล่ะ? แต่ตอนนี้ตอบตัวเองได้เลยว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องเตรียมจิตให้พร้อมถึงมรรคถึงผลน่ะซี!

สัมมาสังกัปปะยังมีเรื่องของความดำริละพยาบาทและความดำริละการเบียดเบียนจองเวร คือทำจิตให้เป็นผู้ไร้พิษภัยต่อคนและสัตว์ ซึ่งฉันก็หมั่นแผ่เมตตาเสมอๆตั้งแต่เดือนที่ ๒ พอถึงวันนี้ความดำริทั้งในทางพยาบาทและเบียดเบียนจึงเหมือนสูญสลายหายหนแทบไม่เหลือซากอยู่เลย จึงให้คะแนนตัวเองว่าผ่านสำหรับแง่นี้


:b38: /...วันที่ ๑๑-๑๔: สัมมาวาจา
รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2009, 16:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



:b43: วันที่ ๑๑-๑๔: สัมมาวาจา
เย็นวันหนึ่งฉันอยากออกกำลังกายและสูดอากาศที่สดชื่นบ้าง จึงเลือกขี่จักรยานเสือหมอบไปตามถนนหลังหมู่บ้าน ซึ่งสองฟากฝั่งชอุ่มเขียวด้วยแมกไม้นานาพันธุ์

ขณะขี่จักรยานฉันก็ทบทวนไปด้วยว่าองค์มรรคข้อที่ว่าด้วยสัมมาวาจาของฉันเป็นอย่างไร มีไหมที่ยังพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ ก็ตอบตนเองว่าดูเหมือนเรื่องพูดเพ้อเจ้อยังมีบ้างเป็นครั้งคราว เวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกในครอบครัว แต่เป็นนิสัยในการพูดเล่นแบบเก่าๆที่ยังหวงไว้เพื่อรักษาบรรยากาศเดิมๆมากกว่าจะไร้สติแบบขาดลอย

ฉันมองแบบทบทวนย้อนไปในอดีต เมื่อสมัยมัธยมต้นกับปลายที่เห็นการโป้ปดมดเท็จเป็นเรื่องท้าทายความสามารถว่าจะทำหน้าตายหลอกชาวบ้านได้แนบเนียนขนาดไหน ในช่วงนั้นจิตเหมือนติดต่อรับรู้โลกความจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งอุดอู้อยู่ข้างใน ต้องคอยระวัง กลัวใครเขาจะรู้ความลับ จิตแบบนั้นจะเชื่อและหลงว่าตัวเองเก่ง แต่ขณะเดียวกันก็กลัวพลาด ถ้ามองออกมาเป็นลักษณะเดี่ยวๆก็ต้องว่าเป็นจิตที่หลอกตัวเองว่าแน่ แต่แท้จริงคือจุกอกด้วยอาการระแวดระวัง จัดเป็นชีวิตที่อุดมทุกข์แบบหนึ่ง แต่อกุศลธรรมก็บังตาให้เห็นเพี้ยนเป็นสนุกน่าตื่นเต้นไปได้

คนสมัยนี้โกหกกันเป็นว่าเล่น โกหกกันจนไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด ถึงขั้นคิดว่าใครจับได้ก็ช่าง เพราะทั้งบ้านทั้งเมือง จะผู้ใหญ่ผู้น้อยก็เป็นเหมือนๆกันไปหมด ผลกรรมอันเกิดจากการชอบพูดปดเป็นอาจิณมีอะไรบ้างฉันไม่รู้ แต่ถ้าดูกันตรงผลที่เกิดกับจิตอย่างเดียว ฉันก็พบอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือคนโกหกทั้งรู้แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องจริงนั้น อาจทำชั่วอย่างอื่นได้ทุกอย่าง จิตที่กล้าโกหกแบบหน้าตาเฉยนั้นไม่ใช่เลวแบบธรรมดา และถ้าโลกนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยคนเลวมาก คนส่วนใหญ่ก็ย่อมขาดกำลังใจทำดี แปลว่าใครมาเกิดในโลกนี้เวลานี้ต้องระวังตัวให้ดี เพราะบรรยากาศชวนให้เห็นผิดเป็นชอบนั้นมีมาก อย่าว่าแต่จะเพียรภาวนายกจิตวิญญาณขึ้นให้ถึงมรรคผลนิพพานเลย อาการโกหกเก่งเป็นไฟแลบนั้น เห็นได้ด้วยจิตชัดทีเดียวว่าปฏิรูปเป็นแรงดึงดูดให้ไหลลงต่ำ เหมือนมีหลุมดำซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลัง จะคิดจะทำอะไร โดนมันดูดลงต่ำตลอด ชักหน้าชักตาให้เสแสร้งตลอด บางเรื่องไม่น่าต้องโกหกก็โกหกเล่นเสียอย่างนั้นเองด้วยความเคยนิสัย

พอเห็นเงากรรมได้ ฉันก็มานั่งแปลกใจว่าแต่ก่อนทำไมไม่เห็น ความจริงมันปรากฏให้รู้สึกสัมผัสอยู่โต้งๆราวกับสามารถเห็นรูปทรงสีสันด้วยตาเปล่า อาจจะเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกสอนให้เชื่อสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยินมากกว่าใจสัมผัส แต่ถ้าใครมีโอกาสเจอผู้คนหลายๆประเภทชนิดรู้จักหน้า รู้จักนิสัยลึกๆ บางทีก็สั่งสมประสบการณ์สัมผัสทางจิต พอจำแนกคนด้วยกระแสจิตได้เหมือนกัน แต่คงไม่มีคุณภาพแม่นยำแจ่มชัดได้เท่าผู้ที่ฝึกรู้เวทนา สัญญา สังขารของตนเองอยู่ตลอดเวลาแน่นอน

สำหรับการพูดจาส่อเสียดหรือด่าทอนั้น ทบทวนจากตนเองในอดีต และดูเอาจากคนรอบข้างที่มีรสนิยมในการว่าร้ายเป็นนิตย์แล้ว ก็เห็นชัดคล้ายจิตพ่นไฟร้อนๆ บางทีแลบออกมาพร้อมคำพูด บางทีแลบออกมาจากศีรษะขณะกำลังตั้งใจจะพูดเลยทีเดียว จิตที่ให้ความร้อนย่อมไม่อาจนิ่งเย็นได้นาน ถึงแม้ภาวนาดีเพียงใด ใจก็เหมือนถูกเสียดสีด้วยอกุศลธรรมอยู่ไม่ขาด

เมื่อคิดถึงคำหยาบอันเป็นวจีทุจริตอีกชนิดหนึ่ง ฉันก็เกิดความคิดชนิดจิปาถะขึ้น คือรู้ล่ะว่าคำหยาบหมายถึงถ้อยคำศัพท์อันเผ็ดร้อน เป็นไปเพื่อความระคายโสต รากของคำเหล่านั้นส่งมาจากจิตที่มีโทสะเป็นฐานอยู่ แต่เหตุใดในบางสูตรเช่นปิลินทวัจฉสูตรจึงแสดงไว้เป็นหลักฐานว่าพระอรหันต์ยังพูดคำหยาบได้อยู่ กล่าวคือมีภิกษุนามว่าปิลินทวัจฉะชอบเรียกใครต่อใครว่าไอ้ถ่อยๆ จนพระในเวฬุวันต้องไปทูลฟ้องพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็เรียกมาสอบสวน พอพระปิลินทวัจฉะยอมรับตามนั้นจริง พระศาสดาก็กำหนดดูอดีตชาติของท่าน แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉภิกษุเลย วัจฉภิกษุหาได้มุ่งประทุษร้ายไม่ขณะเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าไอ้ถ่อย วัจฉภิกษุเกิดในสกุลพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติไม่ขาดสาย ก็แต่ว่าที่เรียกใครๆเป็นไอ้ถ่อยนั้น วัจฉภิกษุประพฤติมานาน และด้วยความเคยชินนั้น จึงมาประพฤติอีกในกาลนี้

สรุปคือคำหยาบอย่างไรก็สะเทือนโสตผู้ฟัง ไม่ทำให้รู้สึกดี ไม่ทำให้รู้สึกเลื่อมใส ไม่ทำให้รู้สึกเชื่อว่าจะใช่หรือแม้แต่ใกล้เคียงความเป็นอริยะ แถมองค์หนึ่งของมรรคยังต้องการสัมมาวาจาเสียอีก แต่พระอรหันต์บางองค์ท่านยังติดวาสนา หรือนิสัยทางคำพูดไปในทางลบได้อยู่ นี่นับเป็นเรื่องน่าฉงน

ขณะนั้นเอง เผอิญฉันปั่นจักรยานมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างเสริมเติมอาคาร เบื้องหน้ามีคนงานก่อสร้างชายหญิงค่อนข้างมีอายุ ๕ คนกำลังดุ่มเดินจะกลับบ้านกลับช่อง ทั้งหมดคุยกันเสียงขรมในอารมณ์ผ่อนคลาย เมื่อฉันจะขี่จักรยานผ่ากลางพวกเขาซึ่งเดินอยู่เกือบเต็มถนน ก็กำหนดจิตให้ยางจักรยานบดกรวดหินบริเวณนั้น ด้วยกระแสสะเทือนแบบจงใจให้เข้าหูพวกคนงาน จะได้รู้สึกตัวและหลีกทางกัน เพราะฉันกำลังขี้เกียจร้องบอกขอทางด้วยปาก

อาจจะด้วยความขี้ตื่น หรืออาจจะเพราะกระแสจิตฉันแรงไปหน่อย เลยมีผู้ชายคนหนึ่งที่ยินเสียงยางบดถนนดังแกรบกราบไล่หลังมาเกิดความตระหนกตกใจขวัญบิน ดูแล้วเขาคงนึกว่าเป็นรถใหญ่หรือมอเตอร์ไซค์ที่ควบมาอย่างบ้าเลือดจะเข้าชนหลัง เลยตาเหลือกกางปีกเอียงกระเท่เร่หลบเข้าข้างทาง พร้อมกับตะโกนเสียงดังเป็นของลับเพศชายที่อยู่ในสภาพยับเยิน ขณะเดียวกันพรรคพวกที่มาด้วยกันก็พลอยแตกตื่นขวัญหนีตามเพราะนึกว่าคนแรกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้หญิงกระเจิงไปในทิศตรงข้ามพร้อมอุทานดังๆคล้ายของลับเพศหญิงตกหล่นที่หนองน้ำแถวนั้น เรียกว่ากางปีกหลบไปคนละทางสองทางด้วยอุปาทานพาไป กลายเป็นภาพน่าขบขันที่ฉันอดกัดปากขำไม่ได้ และอึดใจต่อมาก็ได้ยินเสียงพวกเขาหัวเราะไล่หลัง คือเมื่อเห็นเสือหมอบของฉันผ่าวงไปก็โล่งอกที่ไม่ใช่รถใหญ่ดังอุปาทาน ฉันไม่ได้หันหลังมาขออโหสิที่ทำให้ตกใจโดยไม่เจตนา แค่เดาถูกว่าบรรดาคนงานจะคุยแก้เก้อกันท่าไหน ลงเอยทุกฝ่ายเห็นเป็นเรื่องบังเอิญที่น่าขบขันกันหมด

ฉันยิ้มรื่น ได้เห็นชัดว่า ‘ภาษาจิต’ เป็นอย่างไร จำแนกจิตวิญญาณออกเป็นชาติชั้นวรรณะต่างๆอย่างไร ขณะที่พวกคนงานอุทานเป็น ‘ภาษาหยาบ’ นั้น ฉันไม่รู้สึกถึงความร้อนแรง ไม่รู้สึกถึงจิตที่หยาบกระด้าง ไม่รู้สึกถึงเจตนามุ่งร้ายแฝงฝังอยู่ในคำพูดเลยแม้แต่น้อย พวกเขาไม่ได้ตั้งใจพูดคำหยาบ แต่แค่อุทานออกมาจากพื้นจิตพื้นใจระดับนั้นของเขา

การ ‘อุทานเป็นคำหยาบ’ กับการ ‘ด่าทอด้วยเจตนาใช้คำพูดหยาบๆ’ นั้นให้โทษกับจิตต่างกัน คนบางกลุ่มอุทานเป็นคำหยาบได้เพราะมีพฤติกรรมสั่งสมจนเป็นนิสัยและโพล่งเป็นอัตโนมัติ หาใช่เพราะขณะนั้นมีจิตมุ่งร้ายใคร ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปิลินทวัจฉสูตรเป็นใจความสำคัญว่า วัจฉภิกษุหาได้มุ่งประทุษร้ายไม่ขณะเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าไอ้ถ่อย เมื่อปราศจากเจตนาประทุษร้ายจิตผู้พูดย่อมไม่ถูกปรุงเป็นสภาพหยาบ

แต่คนในโลกย่อมไม่อาจทราบวาระจิตของกันและกัน เมื่อได้ยินใครพูดคำหยาบ จิตย่อมรู้สึกไปว่าบุคคลผู้นั้นมีจิตหยาบ และพลอยปรุงแต่งให้จิตคนฟังหยาบตาม ดังกล่าวแล้วว่ารากของคำหยาบคือโทสะ ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเกิดในชาติตระกูลที่ไม่จำเป็นต้องสั่งสมนิสัยปลดปล่อยคำหยาบให้พรั่งพรู ก็สมควรฝึกตนให้พูดเฉพาะคำเยี่ยงสุภาพชน เพราะจิตที่คิดพูดหยาบส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนเอาค้อนทุบหู หรือเอาหอกทิ่มแทงใจคนฟัง เรียกว่าสร้างแนวโน้มก่อเวร ก่อความเบียดเบียนขึ้นในตน ถึงอย่างไรก็เป็นกรรมดำที่ทำให้จิตนิ่งเย็นได้ยาก ไม่สอดคล้องกันกับทางมรรคทางผลแต่อย่างใด

สรุปคือช่วง ๓ วันนี้สำรวจตัวเอง พบว่าจะมีใครพูดอย่างไร สถานการณ์ใดเข้ากระทบหนักเบา หรือกระทั่งยั่วยุให้ก่อวจีทุจริตปานใด ก็ไม่มีดำริคิดพูดในทางร้ายจากฉันเลย รวมทั้งการพูดเล่นเพ้อเจ้อเล็กๆน้อยๆด้วย ทั้งนี้ด้วยความปรารถนาเดียวคือทำองค์มรรคให้บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



:b38: /....วันที่ ๑๕-๑๗: สัมมากัมมันตะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2009, 16:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



:b43: วันที่ ๑๕-๑๗: สัมมากัมมันตะ

การถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์นับว่าครอบคลุมทั้งองค์คือสัมมาวาจาข้างต้น รวมทั้งสัมมากัมมันตะในข้อนี้ด้วยแล้ว เพราะส่วนของ ‘การกระทำชอบ’ มุ่งเอาเพียงการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

ช่วง ๓ วันนี้ฉันสำรวจลึกเข้าไปถึงความนึกคิดภายใน พบว่าแม้แต่ยุงหรือมดก็เห็นมันเป็นสัตว์โลกผู้ร่วมทุกข์ ไม่มีแม้แต่ความคิดอยากให้พวกมันสาบสูญไปจากบ้านเพื่อไม่ต้องมาเกะกะสายตากันอีก จะกล่าวไปไยถึงความมุ่งร้ายคิดฆ่าแกงสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นมา

สำรวจอีกก็พบว่าแม้แต่สมบัติของตนยังอยากแจกจ่ายให้เป็นสาธารณกุศล ขอเหลือเพียงผ้าห่อพันกายกันอุจาด จะกล่าวไปไยถึงความโลภคิดเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นสมบัติตน

สำรวจอีกก็พบว่าแม้แต่ตรึกนึกทางกามให้เกิดปฏิกิริยา ให้ราคะรั่วรดกายใจ ฉันก็ปัดตกไปด้วยอสุภสัญญาอยู่เรื่อยๆในช่วงนี้ จะกล่าวไปไยถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการหน้ามืดเอาเมียใครมาทำชู้

อย่างไรก็ตาม ช่วงแห่งการสำรวจตนในความบริบูรณ์แห่งสัมมากัมมันตะ ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกสะอาดโล่งโปร่งสบายเป็นพิเศษ จึงเห็นค่าของการสำรวจศีลประการหนึ่ง คือเมื่อพบว่าตนบริสุทธิ์เมื่อใด เมื่อนั้นย่อมเกิดความอาจหาญในธรรม มีความมั่นคง มีความนับถือตนเอง มีความเชื่อว่าสามารถไต่ลำดับไปหาคุณธรรมที่สูงส่งยิ่งๆขึ้น ทั้งนี้ในฐานะของผู้เจริญสติปัฏฐานย่อมไม่ลุ่มหลงมัวเมาในนิมิตหมายภาวะสูงส่งที่บังเกิดขึ้นด้วย หลายคนติดอยู่กับความรู้สึกว่าตนสูงส่งโดยไม่รู้สึกตัว นั่นก็กลายเป็นฐานที่ตั้งอุปาทานแห่งใหม่ไป ฉันจึงต้องเพิ่มการพิจารณาความชื่นใจ ความอิ่มใจ ความยินดีอันเกิดจากการสำรวจศีลไปด้วย เห็นปีติโดยความเป็นอนิจจังไม่ต่างจากปีติชนิดอื่นๆนั่นเอง



:b38: /....วันที่ ๑๘-๒๑: สัมมาอาชีวะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2009, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ




:b43: วันที่ ๑๘-๒๑: สัมมาอาชีวะ

การประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนนั้น ถ้ามองแบบลงลึกก็ค่อนข้างยากเพราะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้ามองว่าเป็นการหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องโดยสุจริตก็ง่ายขึ้น หรืออาจมองแคบลงมานิดหนึ่งว่าเป็นอาชีพที่ ‘ไม่ต้องทำผิดศีลธรรม’ ก็น่าจะชัดเจนดี

จะด้วยความสืบเนื่องจากอดีตชาติหรือเพราะเหตุที่เลือกศึกษาไว้เหมาะสมในชาติปัจจุบันก็ตามที ฉันมีอาชีพการงานที่ไม่ต้องลำบากใจ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทุจริตคดโกง ทั้งในระดับงานโดยรวมของบริษัท และในระดับตำแหน่งที่รับผิดชอบของฉัน จะว่าเป็นเหตุลงตัวให้ปฏิบัติธรรมโดยไม่ลำบากทั้งกายใจก็ได้ คือมีกินมีใช้ มีเงินทำบุญ แล้วก็นอนหลับสนิท ไม่ต้องผวาเรื่องกฎหมาย ไม่ต้องกลัวใครฟ้องล้มละลาย เพราะอยู่ในฐานะลูกจ้างที่ไม่ต้องรับความเสี่ยง

อีกประการหนึ่ง นิสัยการทำงานของฉันไม่ใช่คนปล่อยให้งานคั่งค้าง เสร็จล่าช้ากว่ากำหนด จึงมีความสบายอกสบายใจ เชื่อมั่นหนักแน่นในความสามารถเลี้ยงตัวได้ตลอดรอดฝั่งแบบผู้ใหญ่เต็มตัว ไม่กังวลเรื่องปากท้องทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดวงจิตจึงปฏิบัติภาวนาโดยปราศจากความห่วงสวัสดิภาพและความมั่นคงในเส้นทางชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับอกรณียวณิชชา คือการค้าขายที่อุบาสกอุบาสิกาไม่ควรประกอบ ๕ ประการ ได้แก่การค้าขายอาวุธเครื่องประหาร การค้าขายมนุษย์ การค้าขายเนื้อสัตว์ การค้าขายน้ำเมาและสิ่งเสพติด และการค้าขายยาพิษ พิจารณาเพียงจากจุดนี้ก็ทำให้ฉันสบายใจว่าตนปลอดจากมิจฉาอาชีวะ เพราะโดยอาชีพไม่เกี่ยวข้องกับอกรณียวณิชชาทั้ง ๕ นั้นเลย เป็นอันว่าองค์มรรคข้อนี้ฉันผ่านโดยไม่ต้องเพียรพยายามอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในลู่ในทางมาแต่ก่อนเริ่มเจริญสติปัฏฐานแล้ว



:b38: /....วันที่ ๒๒-๒๕: สัมมาวายามะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2009, 16:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ




:b43: วันที่ ๒๒-๒๕: สัมมาวายามะ

หลายเดือนที่ผ่านมาฉันสังเกตตัวเองอย่างหนึ่ง คือเมื่อใดความเพียรตก ความเหงา ความว้าเหว่จะแทรกตัวเข้ามาทันที เพราะทุกวันนี้ฉันไปไหนต่อไหนคนเดียว ไหว้พระคนเดียว ถวายสังฆทานคนเดียว ไม่มีใครเคียงข้างคอยร่วมบุญ

นึกถึงเมื่อสมัยก่อนที่ยังตระเวนดูหนังฟังเพลงบ่อย โอกาสเกิดความเหงาและอยากคบหาใครสักคนยิ่งมากกว่านี้ มนุษย์มีธรรมดาแสวงหาคู่เคียง จินตนาการวาดฝันอยากได้คนรักแบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องเพื่อนร่วมเฮฮาที่ต้องอัธยาศัยกัน

การดำเนินความเพียรตามลำพังทั้งที่ใช้ชีวิตฆราวาส แถมอยู่ใจกลางเมืองอันเต็มไปด้วยเครื่องเร้าผัสสะให้เกิดจินตนาการทางกามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังอ่อนแอปวกเปียกเหมือนปุถุชนธรรมดาทั้งหลาย ยากนักที่จะเกิดความยินดีเต็มใจประกอบความเพียร มีอาการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้บังเกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมนั้นไว้ให้ตั้งอยู่ไม่เลือนหายจนยิ่งเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเต็มเปี่ยม

แต่ฉันก็ให้กำลังใจตัวเองมาตลอด คิดในใจว่า ‘นับหนึ่งใหม่’ มาไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยหน ทั้งที่เป็นการนับหนึ่งใหม่อย่างใหญ่ กับนับหนึ่งใหม่อย่างย่อย กระซิบกับตัวเองเสมอว่าบนเส้นทางนี้ แม้จะต้องล้มลงร้อยครั้งพันหนก็คุ้มที่จะกัดฟันลุกขึ้นยืนใหม่อีกและอีก เพราะในการยืนขึ้นได้เต็มสองขานั้น จะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไม่ต้องกลับล้มลงตลอดไป!

มองย้อนกลับไปทบทวนดูเห็นความสำคัญของการเพียรพยายามอย่างถูกทางให้ต่อเนื่อง นับแต่สร้างราวเกาะของสติในเดือนแรก เบื้องแรกลมหายใจไม่ดีกันทุกคน แต่หากกำหนดสติรู้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องนานพอ เอาแค่รู้ให้ได้ว่าเข้าหรือออก ลมหายใจก็จะค่อยๆมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆไปเอง เพราะในที่สุดสติที่เข้มแข็งนั่นแหละ รู้ดีที่สุดว่าจะหายใจอย่างไรให้ถูกต้อง

ถึงวันนี้ฉันไม่ต้องคะยั้นคะยอตัวเองมาก เพราะเริ่มอยู่ตัว คุ้นทางขึ้นทางลงเสียแล้ว บอกตัวเองเสมอว่า จิตตกไม่เป็นไร อย่าให้ความเพียรตกก็แล้วกัน เพราะถ้าความเพียรยังดี จิตตกอย่างไรเดี๋ยวก็กลับดีตามขึ้นมาเอง แต่ถ้าจิตดีแล้วไม่เพียร หรือเพียรไม่สม่ำเสมอ ตั้งอยู่ในความประมาท อย่างไรธรรมชาติของจิตก็ต้องเสื่อมลงให้เห็น แถมอาจจะตกนานแบบกู่ไม่กลับเพราะลืมทางเก่าที่เคยผ่านมาเสียแล้ว ตามหลักสัญญาไม่เที่ยง ถ้าสัญญาไม่เข้มข้นขึ้นด้วยการดำเนินซ้ำๆ ก็มีแต่จะเสื่อมถอยลงแบบเชื่อขนมกินได้



:b38: /....วันที่ ๒๖-๒๘: สัมมาสติ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2009, 16:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



:b43: วันที่ ๒๖-๒๘: สัมมาสติ

สัมมาสติโดยย่นย่อคือเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความอยากได้อยากมีและความโทมนัสในโลกเสียได้

ฉันไม่จำเป็นต้องสำรวจข้อนี้มาก เพราะครึ่งปีที่ผ่านมาจนกระทั่งบัดนี้ จิตเริ่มผุดเด่นเหนือสิ่งอื่นใด ทำให้แยกรู้ว่าส่วนใดกาย ส่วนใดจิตได้ง่ายดาย แม้มีอาการผลุบโผล่บ้างก็ยังยืนยันกับตนเองได้ทุกวันว่าไม่เคยเถลไถลไปนอกขอบเขตกายใจนาน คือนับหน่วยกันเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวันๆเหมือนช่วงแรก นี่ย่อมเกิดจากความพากเพียรไม่ย่นย่อ กำหนดสติจนเป็นสัมปชัญญะอัตโนมัติบ่อยๆ ไม่มีความปรารถนาสิ่งใดนอกตัวแผ้วพานเข้ามาเกาะกุมได้เกินนาที เพราะแต่ละความอยากเป็นอันถูกรู้ ถูกเห็นด้วยความเคยชินทั้งหมดทั้งสิ้น



:b43: วันที่ ๒๙-๓๐: สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างยืดยาวทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เนื่องจากพุทธพจน์เกี่ยวกับสัมมาสมาธิในฐานะองค์สุดท้ายของมรรคนั้น มุ่งหมายถึงฌานสมาบัติโดยตรง

ทางฝ่ายนักศึกษาภาคทฤษฎีมักมีความเห็นเป็นสุดโต่งสองขั้ว คือฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าสัมมาสมาธิเป็นแค่ความตั้งมั่นชั่วขณะเดียวที่เห็นกายใจชัดก็เพียงพอแก่การจุดชนวนมรรคผลได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิให้นิ่งนานแต่อย่างใด ส่วนอีกฝ่ายก็กล่าวว่าสัมมาสมาธิต้องเป็นฌานสมาบัติตรงตามอักษรเท่าที่ปรากฏเท่านั้น

ทางฝ่ายปฏิบัติที่พื้นความรู้ภาคทฤษฎีไม่แน่นหนานักก็มักสำคัญระดับสมาธิของตนเองคลาดเคลื่อน บางคนพบภาวะเหมือนหยุดหายใจก็สำคัญว่าคือฌาน ๔ มีแต่สติบริสุทธิ์ ประกอบพร้อมด้วยอุเบกขาเป็นหนึ่ง ทั้งที่จริงยังหายใจ แล้วก็เป็นภาวะจิตแช่แข็งชั่วขณะแบบครึ่งๆจะตกภวังค์ขาว ไม่รับรู้ลมหายใจที่แผ่วอ่อน หรือแม้บางคนตกภวังค์มืด คือเหมือนหลับยาวในความไม่รู้อะไรเลยก็ยังสำคัญว่านั่นเป็นฌาน ๔ ก็มี

ผู้ภาวนาจนมีสติเห็นกายใจเป็นอัตโนมัติบ่อยๆย่อมเข้าใจดีว่าเรามีสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตไปเพื่อความสงบรำงับจากอาการตรึกนึกทางกาม ละความรู้สึกพยาบาทได้ง่าย รวมทั้งมีคุณภาพสติเห็นชัดเจนต่อเนื่องพอจะรู้ภาวะหนึ่งๆว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่และดับลงเมื่อใด โดยไม่ต้องออกแรงบังคับหรือประคองจิต หาใช่มีสมาธิไปเพื่อหวังเสพปีติสุขและความเย็นกายเย็นใจลึกซึ้ง หาใช่มีสมาธิไปเพื่อรู้สึกว่าข้าเหนือมนุษย์ หาใช่มีสมาธิไปเพื่อก่อฤทธิ์ก่อเดชประการใดๆ พูดให้ง่ายคือสมาธิจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมทำงานควบคู่ไปกับสติ เป็นไปเพื่อความเพียรรู้เห็นกายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

ระดับสมาธิอันพอดีกับระดับมรรคผลนั้น พระพุทธเจ้าทรงจำแนกไว้ชัดเจนในเสขสูตร กล่าวคือสำหรับเกณฑ์แห่งความเป็นโสดาบันบุคคลและสกทาคามีบุคคลนั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา ส่วนอนาคามีบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา และพระอรหันตบุคคลเท่านั้น ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ และเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปว่า ใครทำได้เพียงบางส่วน ก็ย่อมให้สำเร็จบางส่วน แต่ใครทำให้บริบูรณ์ ก็ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์

ในแง่ของสัมมาสมาธิ หรือสมาธิในอุดมคติอย่างสมบูรณ์นั้น มีความสำคัญในแง่เอื้อให้พร้อม ‘ประจักษ์รู้เต็มดวง’ คือมีกำลังส่งให้ถึงมรรคถึงผลโดยไม่ลำบากต้องเสียเวลารวมกำลังนัก เนื่องจากขณะแห่งการบรรลุธรรม จิตจะเป็นฌาน เพียงแต่เป็นฌานที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่เหมือนฌานธรรมดาที่อาจมีลมหายใจหรือวัตถุอารมณ์อื่นๆเป็นเป้าจับ

แต่อย่างไรก็ตาม หากจิตของผู้ภาวนามีปกติตั้งมั่น มีความผ่องใสสบาย มีความโน้มเอียงที่จะตั้งมั่นระดับฌานเมื่อได้เหตุปัจจัยประชุมพร้อม ก็ควรจะนับเป็นน้องๆสัมมาสมาธิได้ เข้าข่ายเป็นผู้สามารถทำพอประมาณในสมาธิตามระดับภูมิของพระโสดาบัน

ตรงข้าม หากฤาษีชีไพรที่ไหนทำสมาธิได้อุกฤษฏ์ อาจจะเกินฌาน ๔ ล่วงถึงอรูปฌานอันเป็นฌานไม่อาศัยรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมแม้ถึงชั้นแห่งความเป็นโสดาบันบุคคลเลย เพราะองค์มรรคเพื่อการบรรลุธรรมไม่ประกอบพร้อมเป็นคุณสมบัติของจิต คือขาดสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติเป็นสำคัญ



:b39: สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๖

๑) แน่ใจว่าหกเดือนที่ผ่านมานี้ไม่ได้ปล่อยชีวิตให้ล่วงไปเพื่อความเปล่าประโยชน์ไร้แก่นสารเหมือนอย่างในอดีตตั้งแต่เกิดจนถึงปีกลาย

๒) มองย้อนกลับไปเห็นช่วงปีก่อนๆ ที่สำคัญว่าปฏิบัติแค่สมาธิกับสติก็บรรลุธรรมได้ ยังหมกมุ่นในกามเท่าเดิม ยังเห็นแก่ตัวเท่าเดิม ยังอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นเหมือนเดิม กับทั้งหาอุบายลัดๆให้เกิดมรรคเกิดผล ล้วนแล้วแต่เป็นความเล็งโลภอย่างปราศจากเหตุผลสมควรเยี่ยงปุถุชนผู้ไม่รู้จริงทั้งสิ้น

๓) มีความอุ่นใจ บังเกิดความเชื่อมั่นในความพรักพร้อมบนเส้นทางเดียวที่มุ่งตรงสู่นิพพานสายนี้


:b38: /.... เดือนที่ ๗: บรรลุธรรม

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 17:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




เดือนที่ ๗: บรรลุธรรม

:b43: เป็นปกติของทุกต้นเดือนที่ฉันจะทบทวนและประเมินความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนา ฉันกลับไปอ่านทวนตั้งแต่เดือนแรกจนเดือนสุดท้ายอย่างละเอียด อยากเปรียบเทียบดูว่าตนเองผิดแผกแตกต่างเป็นก้าวหน้าหรือก้าวหลังประการใดบ้าง เนื่องจากจิตบอกตัวเองว่าใกล้ความจริงเข้ามาทุกที

เพราะอะไรถึงรู้สึกว่าใกล้ความจริง? แน่นอนไม่ใช่ด้วยอาการหลงทึกทักให้ครึ้มใจเล่น ไม่ใช่เพราะมีพุทธนิมิตมาปรากฏและชมว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้าดี แต่เพราะฉันสำรวจตนเองอยู่ตลอดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าวางไว้คือ

๑) ในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต สอบจากอริยสัจจ์ ๔ คือเห็นความจริงว่ากายใจเป็นทุกข์ เห็นความจริงว่าที่ทุกข์เพราะมีเหตุคือความทะยานอยากใหญ่น้อย เห็นความจริงว่าความระงับจากตัณหาทะยานอยากคือความสงบจากทุกข์ และเห็นตามจริงว่าวิธีระงับความอยากคือมรรคมีองค์ ๘ ถ้าแค่ข้อแรกไม่ผ่าน ยังเห็นชีวิตเป็นสุข ยังเห็นชีวิตเป็นความน่าพิสมัย ไม่ต้องหาทางตัดวงจรอุบาทว์ ก็เป็นอันว่ายังอ่านอริยสัจจ์ข้อแรกไม่ออก

๒) ในแง่คุณสมบัติของจิต สอบจากมรรคมีองค์ ๘ คือมีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการกระทำชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีสติชอบ และมีความตั้งมั่นชอบ

๓) ในแง่การเจริญสติเห็นภาวะเฉพาะหน้า สอบจากโพชฌงค์ ๗ คือมีสติรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายใจ มีการพิจารณาเห็นสิ่งนั้นไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน มีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีความตั้งมั่นของจิต และมีความวางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นนั้น

ถ้าแยกเป็นอย่างๆอาจดูคล้ายวุ่นวายฟั่นเฝือ แต่ถ้าดูที่ผลสุดท้ายคือสภาพจิตในปัจจุบัน เอาจากจิตขณะเดียวที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น ปลอดโปร่งจากความทะยานอยาก สะอาดปราศจากอกุศลธรรมครอบงำแม้ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ก็เทียบเคียงได้ครบทั้ง ๓ เกณฑ์ข้างต้นแล้ว เพราะลักษณะหรืออาการอันละเอียดอ่อนปลีกย่อยทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่พร้อมในตัวเอง

ว่ากันเฉพาะแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต เพียงเมื่อเข้าถึงอริยสัจจ์ข้อแรก คือเห็นกายใจนี้เป็นทุกข์ ก็ไม่มีข้อแม้ใดๆหลงเหลืออยู่อีก ต้องตั้งหน้าตั้งตาฝ่าฟันเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเดียว

แต่ฉันต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะ ‘รู้ความจริง’ ชัดๆว่ากายใจนี้เป็นทุกข์ ต้องฝ่าด่านความมืดบอด ความหลงผิด ตลอดจนกระทั่งความหวง ความห่วง ความอ้อยอิ่งอาวรณ์ทั้งหลายจนอ่อนแรงไปหลายยก อริยสัจจ์ ๔ จึงปรากฏต่อจิตแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากผ่านวันผ่านคืนโดยไม่ปล่อยให้ตกล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ต้นเดือนที่ ๗ นี้ฉันเกิดความสดใสอย่างประหลาด รู้สึกสบายอย่างพรรณนาไม่ถูก การเข้าใจอริยสัจจ์แบบถึงจิตอันประกอบพร้อมอยู่ด้วยกระแสสบายนั้น ทำให้ตระหนักอยู่อย่างหนึ่ง คือการเห็นกายใจเป็นทุกข์นั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมีทุกขเวทนา ไม่ได้แปลว่าต้องมีความอึดอัดระอากับการดำรงชีวิต ตรงข้าม กลับปลอดโปร่งเป็นสุขอย่าบอกใคร เหมือนคนตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะปลดภาระจากบ่าทิ้งลงพื้น แม้ยังแบกหนักอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้ว่าอย่างไรก็ต้องเบาตัวจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

:b38: /...และในทางกลับกัน


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 17:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




และในทางกลับกัน หากเข้าถึงความจริงอย่างถ่องแท้ว่า ‘ทุกข์’ คืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือกายใจอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานนี้ทั้งแท่ง ก็จะตระหนักว่าแม้กำลังเสวยสุขอันประณีตทางใจ สุขนั้นก็เป็นเพียงเวทนาชนิดหนึ่ง เวทนาไม่เที่ยง ไม่มีใครรักษาสภาพของเวทนาให้คงทน จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นทุกข์เหมือนกัน

ถ้าวันนี้เอาคนหล่อระดับประเทศ คนรวยระดับข้ามชาติ หรือคนเก่งระดับโลกมาตั้งตรงหน้า แล้วถามล่อใจว่าให้หล่อ รวย เก่งแบบนี้จะเอาไหม? ฉันต้องดูดีๆก่อนว่าให้มีจิตแบบเขาน่าเอาด้วยหรือเปล่า จิตเขาเริ่มประพฤติเพื่อพ้นจากความทุรนทุรายหรือยัง ถ้ายัง ต่อให้มีดีขนาดไหนก็แค่ข้าทาสความไม่รู้อีกรายหนึ่ง ฉันขอปฏิเสธความมีความเป็นเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด

เมื่อเดินมาตามทางสู่นิพพานไกลขึ้น ทางแห่งทุกข์ก็สั้นลงเรื่อยๆ พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดในแต่ละขณะได้อย่างชัดเจน พอเห็นคนอื่นที่ยังไม่ทำทางไปนิพพานเสียที ตระหนักว่าพวกเขายังสะสมเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดก็เกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ตายก็ตายอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องลำบากลำบนใช้ชีวิตลองผิดลองถูกกันอย่างน่าเบื่อหน่าย ก็รู้สึกเอือมระอาจุกอกแทบพูดไม่ออก

แต่ไปบอกใครเขาให้มาตามทางนี้ง่ายๆได้เมื่อไหร่ เขาหาว่าบ้าเท่านั้น มีอย่างหรือจะให้ทิ้งวิถีชีวิตอันแวดล้อมด้วยเครื่องเคราแห่งกามคุณอันเป็นยอดปรารถนา มานั่งเดินภาวนา มาใส่ใจลมหายใจกับอิริยาบถ แทนการคิดคำนวณหารายได้หรือคนรักเพิ่มให้มากๆ สรุปแล้วธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตน เลือกด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง รับผลด้วยตัวเองตามลำพัง ไม่มีใครทำแทนใครได้ ต่อให้รักผูกพัน นึกสงสาร ปรารถนาให้ได้ดีตามเราเพียงใดก็เถอะ

และเมื่อจิตของฉันสุขุมขึ้น มองเห็นอะไรรอบยิ่งขึ้น เวลานี้ฉันยังอ่านออกด้วยว่า แม้ความไม่อยากเป็นปุถุชน ไม่อยากท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ก็จัดเป็นความอยากชนิดหนึ่งเหมือนกัน คืออยากไม่มี อยากไม่เป็น ฉันเริ่มเห็นความจริงข้อนี้ก็ตอนที่ความอยากลดระดับลงมากแล้ว เหลือเพียงแผ่วให้รู้เพียงน้อยเท่าน้อย เพราะเมื่อใดเกิดความอยากพ้นภาวะปุถุชน ก็เกิดความทราบชัดว่ามีอาการอึดอัด มีอาการเร่งรัดเวลา และมีอาการไม่สมใจ พอเห็นอาการเหล่านี้แล้วทราบชัดว่ามันผุดจากความไม่มีอะไร แล้วหายไปในความไม่มีอะไร ใจก็เห็นว่าความอยากเป็นแค่ของปลอมชั่วคราว ความว่างไม่มีตัวตนผู้อยากต่างหากเป็นของจริง เมื่อหมดอยากและเห็นตามจริงย่อมรู้ว่าจิตขณะนี้ที่ยังเป็นปุถุชน กับจิตในภายภาคหน้าที่ก้าวล่วงสู่ความเป็นอริยชนแล้ว ต่างก็เป็นจิตเหมือนกัน ไม่มีใครได้มรรคผลเหมือนกัน แค่ตัณหากับอุปาทานไม่แรงเหมือนเก่า หรือตัณหากับอุปาทานดับสูญเท่านั้น แต่ถ้ายังอยากพ้นภาวะปุถุชุน ก็แปลว่ายังอนุญาตให้ความอยากครอบงำจิต เป็นเหตุแห่งอุปาทาน เป็นต้นตอแห่งทุกข์ ไม่สอดคล้องกับการบรรลุธรรมอย่างแท้จริงเลย

สรุปคือต้นเดือนนี้ ฉันมีความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมที่จะรู้ ที่จะดู ที่จะพิจารณากายใจโดยความไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่เลี้ยงความอยากใดๆไว้เลย แม้กระทั่งความปรารถนามรรคผล อันเป็นแรงส่งให้ก้าวมาถึงขั้นนี้ก็ตาม


:b38: /... วันที่ ๑-๖: การยอมรับความจริงแบบไม่แทรกแซง




.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 17:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว





:b43: วันที่ ๑-๖: การยอมรับความจริงแบบไม่แทรกแซง

ย้อนกลับไปอ่านบันทึกในช่วงเดือนแรกๆ เห็นตัวเองใช้สติตามรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะเข้าหรือออก ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น กระทั่งเกิดสภาพ ‘จิตผู้รู้ลมทั้งปวง’ ซึ่ง ณ จุดนั้นเมื่อถูกอารมณ์ภายนอกกระทบจนเกิดราคะหนักหรือเกิดโทสะแรง จิตจะล้มคว่ำคะมำหงายขึ้นมา ฉันก็อาศัยลมหายใจเป็นราวเกาะให้สติลุกขึ้นยืนหยัดใหม่ เรียกว่าเป็นการเอาสติรู้ลมหายใจอันอบรมฝึกซ้อมไว้ดีแล้วเป็นตัวแทรกแซง ไม่ปล่อยให้จิตหลงเตลิดออกข้างนอกเกินกู่

จนกระทั่งบัดนี้ฉันก็ยังพบว่าลมหายใจยังคงเป็นหลัก เป็นราวเกาะให้กับสติได้ดีเสมอ ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างช่วงแรกกับช่วงนี้คือฉันหายใจได้ลึกเป็นปกติมากขึ้น เมื่อลมหายใจส่วนใหญ่ยาว สติก็มีอายุยืน อีกประการหนึ่ง คือช่วงเวลาที่เกิดสติรู้เพียงว่านี่ลมหายใจออก นี่ลมหายใจเข้าเฉยๆนั้นน้อย แต่จิตอันสงบเงียบใสเบาจะเกิดความเคยชินรู้เห็นว่าลมหายใจเข้าจนสุดแล้วต้องคืนออกมาเป็นธรรมดา ฉันตระหนักว่าความเคยชินย่อมเกิดจากความสั่งสม การสั่งสมนิสัยในการเห็นลมหายใจโดยความไม่เที่ยงเป็น ‘กรรมไม่ดำไม่ขาว’ ที่ให้อานิสงส์ไพศาลประมาณไม่ถูกจริงๆ ลมหายใจที่ละเอียดแล้วย่อมปรุงแต่งกายให้แข็งแรง สติที่ตั้งมั่นรู้ลมได้หลายนาทีโดยปราศจากช่วงสะดุดย่อมปรุงแต่งจิตให้สงบระงับ อิ่มเต็มอยู่กับภาวะอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็แปลว่าถ้าภาวะทางกายใจอย่างใดปรากฏเด่น ภาวะนั้นย่อมถูกรู้เท่าทันโดยความเป็นของไม่เที่ยงทันที ตามความเคยชินที่ได้เห็นอนิจจังของลมหายใจอยู่เสมอๆ

นี่ทำให้ฉันได้ข้อสรุปว่าการใช้ลมหายใจเป็นที่พึ่ง รวมทั้งใช้แทรกแซงอารมณ์ลบต่างๆนั้น จัดว่าสำคัญและจำเป็นต่อจิตที่ยังดิ้นพล่านเป็นปลาช่อนถูกทุบหัว แต่เมื่อใยเหนียวของความอยากเบาบางลง ปฏิกิริยาทางจิตไม่ตอบสนองอารมณ์กระทบรุนแรงเกินความสามารถรู้เท่าทัน เวลานั้นควรรู้ทุกภาวะที่เกิดขึ้นตามจริงโดยไม่แทรกแซงใดๆ

นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญซึ่งเมื่อเห็นแล้วทำให้ฉันเกิดความอิ่มใจ ครึ่งปีก่อนฉันเคยเป็นคนธรรมดาที่ ‘ไม่เคยรู้’ เลยว่าลมหายใจเข้าออกมีอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ช่วงแรกที่เริ่มปลงใจเจริญสติปัฏฐานจริงจังรู้ได้วันหนึ่งๆรวมแล้วสองสามนาที แต่เมื่อเพียรพยายามไม่ลดละ ภายในอาทิตย์เดียวกระโดดขึ้นมาเป็นวันหนึ่งๆรวมแล้วเกินชั่วโมง ถัดจากนั้นแม้มีช่วงล้มลุกคลุกคลานบ้างก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งถึงเดี๋ยวนี้กล้าพูดว่าแต่ละนาทีรู้หลายครั้ง แม้จะทำกิจธุระทางโลก ต้องคิด ต้องเขียน ต้องเจรจา สติก็มักย้อนกลับมารู้ลมหายใจเสมอๆ ถ้าหากคิดเร่งรัดจะทำอย่างนี้ให้ได้ภายในวันสองวัน ย่อมเป็นความโลภเกินตัวที่สูญเปล่า แต่หากทำเรื่อยๆด้วยความใจเย็น ไม่ลังเล ไม่จับจด ไม่เหลาะแหละ ขอแค่ได้ชื่อว่าระลึกรู้เสมอๆด้วยความเพียร ไม่เล็งโลภอยากได้อะไร ไม่ทุกข์ใจกับความเป็นไปต่างๆ ตามแนวที่พระพุทธองค์ประทานไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทำเรื่อยๆผ่านวันผ่านเดือน พอสำรวจอีกทีก็จะพบว่าสติสมบูรณ์ขึ้นแล้ว

:b38: /... เมื่อจิตมีปกตินิ่งอยู่





.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่อจิตมีปกตินิ่งรู้อยู่กับลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เห็นความว่างกว้างใหญ่ในภายในปรากฏเสมอๆ มีเพียงผัสสะอันละเอียดอ่อนเช่นความคิดผุดขึ้นกระทบใจ ก็เห็นคล้ายสายหมอกบางเบาลอยมาคลอเคลียผิวน้ำเรียบนิ่งครู่หนึ่งแล้วม้วนสลายหายหนไป เหลือแต่ความเงียบเชียบดุจแผ่นกระจกใส สว่างว่างเป็นเอกภาพ ปราศจากความอยากได้อะไรมากกว่านั้น พอเหลือแต่ภาวะดีๆ จิตก็เลยมีอาการยอมรับตามจริงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งไหวทันอกุศลธรรมทั้งหลายที่จรมาเยือนจิตโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ แค่เห็นความต่างระหว่างภาวะดีเดิมกับ ‘คลื่นแทรก’ ที่แหลมหน้าแปลกปลอมเข้ามาเท่านั้น

ทบทวนแล้วเปรียบเทียบอาการในอดีตกับอาการในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง คือช่วงแรกๆเมื่อเกิดภาวะใดขึ้น ก็ต้องกำหนดหมายเหมือนแปะป้ายให้มันไว้ก่อน เช่นดูลมหายใจบางทีคิดไปด้วยว่าออก เข้า หรือนับหนึ่ง สอง สามตามไปเรื่อย หรือเมื่อกำลังสุขก็บอกตัวเองว่าสุข เมื่อกำลังทุกข์ก็บอกตัวเองว่าทุกข์ จิตจะมีราคะ โทสะ โมหะตามแนวทางในสติปัฏฐาน ๔ ขั้นไหนๆก็กำหนดนึกตามไปด้วย การเรียกภาวะต่างๆเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ก็เพื่อยกระดับความรับรู้ให้แก่จิต ถ้าไม่แปะป้ายไว้ในเบื้องต้น จิตก็จะขาดตัวเชื่อมสติ แต่พอเห็นจนคุ้นแล้ว มีสติคมแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ว่าเห็นภาวะอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่มีส่วนความคิดมาช่วยพากย์ต่ออีก

ยกตัวอย่างเช่นในเช้าวันหนึ่ง ขณะขับรถออกจากบ้านได้ไม่กี่สิบเมตร มียายแก่คนหนึ่งเดินพรวดพราดข้ามถนนตัดหน้ารถฉันในระยะกระชั้นชิด ฉันตกอกตกใจกดเบรกอย่างแรง ปกติสมัยก่อนถ้าตกใจขนาดนี้จะนึกด่าในใจแบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือถ้าถนัดหน่อยก็อาจลดกระจกลงยื่นหน้าไปให้ศีลให้พรสักคำสองคำเป็นการระบายความอัดอั้น จากนั้นจึงค่อยกลับมาสงบสติ กำหนดรู้ว่าภาวะนี้โกรธนะ มีความร้อนกลางอกนะ มีความทึบแน่นในหัวนะ แต่เดี๋ยวนี้ฉันแค่รู้สึกถึงอาการไหววูบอย่างแรงของจิต เห็นความร้อนอันส่งมาจากก้นหลุมโทสะสายหนึ่งแผ่วๆ แล้วเลือนสลายลงอย่างรวดเร็วบนฐานสติที่มั่นคง แปรเป็นความสงบเย็น สติเบนมาเห็นภาวะนิ่งเย็นของจิตแทน สภาพเหล่านี้ถูกรู้โดยไม่มีเสียงพากย์ ไม่ต้องมีเจตนาแผ่เมตตาให้ยายแก่ ไม่แม้แต่จะกำหนดว่านี่ขณะแห่งความเกิด นี่ขณะแห่งความแปรไป นี่ขณะแห่งความกลับคืนเป็นสงบเย็นเต็มดวง ทุกอย่างถูกรู้เอง เหมือนสายหมอกไม่มีชื่อ สายน้ำไม่มีนามสกุล ร้อนก็ถูกรู้ว่าร้อน เย็นก็ถูกรู้ว่าเย็น เห็นภาวะเด่นปรากฏแล้วหายลับ ก็เป็นอันว่าจบกัน ไม่มีอะไรมากหรือน้อยกว่านั้น

ความรู้อยู่ที่จิตย่อมเป็นอภัยทานในตนเอง ฉันไม่ถือโทษโกรธโลกอีกต่อไป ถ้าโทษก็โทษสติที่ทำงานไม่ทัน แต่ไม่มีคำด่าให้ใคร ไม่มีแม้คำติเตียนให้ตัวเอง สภาพสติรู้ตั้งมั่น เบิกบาน เห็นทุกอย่างเป็นอัตโนมัติโดยปราศจากความคิดบิดเบือนหรือหาอะไรมาแทรกแซงนั่นเอง จึงเหมือนวันทั้งวันลงสนามปฏิบัติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีการบังคับควบคุม มีแต่การยอมรับตามจริงว่าเกิดภาวะดีร้ายใดๆขึ้นมา

พอทำงานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดเครียดหลายชั่วโมงติดกัน พอพักก็กลับมายึดราวเกาะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้อิริยาบถนั่งไป พยายามยอมรับว่าอิริยาบถนั่งมีความเกร็งแขน เกร็งเนื้อตัว ในหัวยังอลหม่านด้วยความคิด พอยอมรับก็เกิดสติรู้ภาวะเกร็งนั้นๆ พอสติรู้เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นไปผนวกกับฐานสติเดิมซึ่งอบรมไว้มากแล้ว ความผ่อนคลายก็ตามมา สติว่องไวจนไม่หลงไปกับสุขอันเกิดจากความผ่อนคลายนั้นด้วย เพียงแค่เปรียบเทียบภาวะต่างระหว่างเครียดกับคลาย เห็นทั้งเครียดและคลายนั้นเป็นคนละอย่าง และต่างก็ไม่ใช่ตัวฉันด้วยกันทั้งคู่ เป็นเพียงสภาวะส่วนหนึ่งของกายที่มีให้อาศัยระลึกรู้ว่าไม่เที่ยงเท่านั้น

บางวันความรู้สึกที่จิตเด่นกว่ากายหลายชั่วโมง พอเกิดความชื่นชมคุณภาพจิตของตัวเอง แทนที่จะหลงฟูหรือเกิดมานะว่าฉันคือนักภาวนาผู้เก่งกาจ ก็พิจารณาอย่างรู้ตามจริงว่าภาวะดีๆนี้หาได้มีอยู่ก่อน หาได้ตั้งอยู่ถาวรตลอดไป และคุณภาพก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ลอยมาอย่างบังเอิญ แต่ได้มาจากวินัย ฉันตื่นเช้าตีสี่สม่ำเสมอเพื่อนั่งสมาธิและเดินจงกรม ก่อนนอนแม้เพลียจัดก็ต้องทำนิดทำหน่อยไม่ขาด ในที่สุดจิตจึงยอมศิโรราบให้กับความเพียร ความเพียรเป็นของที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำกันในปัจจุบันล้วนๆ ไม่อาศัยความเชื่อ ไม่ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ไม่หวังน้ำบ่อหน้าใดๆทั้งสิ้น จะได้ไม่ละความพยายามทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไปเพียงเพราะสำคัญว่าตัวเองดีแล้ว คุณภาพจิตเป็นเลิศแล้ว

น่าบันทึกไว้อีกประการหนึ่ง สติอันเป็นอัตโนมัติเห็นสภาพจิตต่างๆทั้งวันทั้งคืนนั้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้ตัวต่อจิ๊กซอว์ของ ‘อนัตตภาพ’ มามากขึ้นเรื่อยๆจนใกล้ครบ ตระหนักว่าแม้อกุศลจิตหรือทุกขเวทนา ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเห็น ไม่อย่างนั้นจะขาดตัวเปรียบเทียบว่าจิตนี้เดี๋ยวก็มืด เดี๋ยวก็สว่าง เป็นอนัตตา มีเหตุให้เกิดสภาพเช่นนั้น แล้วต้องถึงเวลาแปรปรวนเป็นอื่น เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน หาความจีรังยั่งยืนให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนถาวรไม่ได้สักดวง

:b38: /... เมื่อเห็นความเกิดดับของภาวะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



เมื่อเห็นความเกิดดับของภาวะทั้งหลายอย่างแจ่มชัดเองโดยปราศจากความตรึกนึกมากเข้า บางครั้งจิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง ให้ความรู้สึกว่างเปล่ากว้างใหญ่ครอบทั่วขอบเขตกายใจ ไม่เหมือนเป็นชายหรือหญิง ไม่เหมือนเป็นมนุษย์ ไม่เหมือนเป็นบุคคล แต่เป็นแค่สภาพรู้ว่ากายอยู่ในอิริยาบถใด หรือสภาพรู้ว่าเกิดอาการชนิดใดขึ้นกับจิตที่ปราศจากชื่อ ปราศจากความมั่นหมายว่าตนเป็นหรือไม่เป็นใคร พูดให้ง่ายคือ ‘ตัวฉัน’ ไม่มี มีแต่กายกับจิตปรากฏเป็นขณะๆ ความว่างยิ่งแจ่มชัดเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนกว้างและว่างหายมากขึ้นเท่านั้น

กระทั่งตีสี่ของวันหนึ่งขณะนั่งสมาธิตามปกติ เมื่อสติดำเนินเป็นอัตโนมัติเห็นลมหายใจเกิดดับ จิตคลายจากความยึดมั่น เข้าถึงความว่างจากอุปาทาน กระทั่งกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างชนิดนั้นเนิ่นนาน พอถอนออกมาก็บอกตัวเองว่านั่นเป็นรสล้ำลึกน่าพิศวง จึงทำเหตุเข้าสู่ความเป็นเช่นนั้นใหม่ คือพิจารณาลมหายใจเข้าออกอันละเอียดสุขุมโดยความไม่ยึดมั่น เพื่อให้ถึงความว่างจากอุปาทานคงที่ และกลืนเป็นหนึ่งเดียว ตั้งมั่นอยู่กับความว่างนั้นอีก

ยิ่งทำก็ยิ่งชำนาญ แม้ระหว่างวันพอนึกขึ้นมา ทำเหตุที่ถูกทางเข้าสู่สภาพว่าง ความว่างก็มาเยือนอีกและอีก กระทั่งสองสามวันต่อมาฉันเริ่มฉุกใจเมื่อเห็นสติเริ่มไม่ค่อยทำงานกับภาวะที่เป็นปัจจุบัน คอยเฝ้ารอแต่ว่าเมื่อใดจะถึงจังหวะเหมาะ หลีกเร้นจากภาระหน้าที่ มีกำลังจิตพร้อมจะ ‘สร้างเหตุแห่งความว่าง’

ไปๆมาๆฉันก็ไหวทันว่ากำลัง ‘ติดใจภาวะว่างเทียมๆ’ เข้าให้แล้ว ความว่างแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นจากการเห็นความเกิดดับก็จริง แต่มีความจงใจกระทำจิตให้คล้อยเข้าสู่กระแสความว่างอันมั่นหมายไว้แล้ว และแช่ติดอยู่กับภาวะเช่นนั้นโดยไม่มีสติรู้ว่าเป็นเพียงอีกภาวะหนึ่งของจิตที่ต้องแปรปรวนไป

ฉันระบายยิ้มอ่อนๆ กับดักมีมากเหลือเกิน บางทีมาในแบบของแถมระหว่างทางที่ถูกต้องนั่นเอง ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ไปติดใจในภาวะอันเป็นผลที่ถูก โดยขาดสติรู้ว่านั่นเป็นเพียงภาวะจิตอย่างหนึ่ง ไม่ควรยินดี ไม่ควรฝากจิตฝากใจไว้กับภาวะนั้น อันเป็นเหตุให้เกิดความอ้อยอิ่งอาวรณ์ เป็นตัณหาอันละเอียด เป็นต้นตอให้ต่ออุปาทานขันธ์ ๕ ยืดยาวไปอีก

ยังดีที่แม่นหลักการขึ้นใจ และสำรวจสังเกตตามแนวอริยสัจจ์ ๔ อยู่เสมอ ฉันท่องไว้ว่าความอ้อยอิ่งอาวรณ์แม้สภาวะอันประณีตสุขุมก็คือตัณหา เป็นอริยสัจจ์ข้อ ๒ ที่ต้องละ ไม่ใช่ส่งเสริม

ฉันยังกำหนดเข้าสู่ความว่างอันให้รสวิเวกลึกซึ้งนั้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่เข้าอย่างรู้ว่าเป็นภาวะจิตหนึ่ง มีให้อาศัยระลึกว่าไม่เที่ยง มีให้อาศัยเปรียบเทียบกับภาวะจิตที่ไม่ว่าง คือรู้ว่าว่างหายเป็นอย่างไร กลับจากความว่างหายคืนสู่ความมีความเป็น มีความหนาทึบจับต้องได้ของกาย หลายครั้งเข้าก็เกิดความรู้ชัดว่าสภาวจิตทั้งว่างกับไม่ว่างนั้นมีลักษณะต่างกันแค่ไหน อย่างไร เท่านี้ก็ไม่มีอาการติดใจหรือ ‘จมไปกับความว่างหาย’ อีกแล้ว

หลักการที่จะไม่หลงก็วนเวียนอยู่แค่นี้เอง เปรียบเทียบให้เห็นความต่างตามจริง ยอมรับทุกสภาพเท่าที่มันปรากฏ สำคัญคือเมื่อเกิดภาวะใหม่โดยเฉพาะที่ดีๆแล้วจะเกิดความติดใจโดยไม่รู้ตัวเท่านั้น ถ้าแม่นหลักการและคอยสำรวจตรวจสอบก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก้าวหน้าแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวหลงติดกับดักไหนๆเลย

วันอาทิตย์เมื่อมีโอกาสอยู่กับบ้านปิดห้องภาวนาทั้งวัน หลังจากเดินจงกรมได้เกือบชั่วโมง ก็รู้สึกว่าจิตมีมหากำลัง มหาสติ มหาปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละก้าวแต่ละกระดิกแบ่งแยกกันเป็นขณะๆชัดกริบ เพราะสติรู้คงที่ต่อเนื่องแทบไม่มีภวังค์แทรกคั่น ความเคลื่อนไหวของกายจึงเหมือนช้าลง และถูกรู้ออกมาจากสุญญากาศอันปราศจากอัตตาของจิตผู้รู้

ฉันเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าภาวะรู้เห็นกายใจอย่างเต็มที่เกิดขึ้นแล้ว สมควรจะทำอะไรต่อ ก็ได้คำตอบจากโพชฌงค์ ๗ ทันทีว่า ความวางเฉยต่อสภาพรู้ตั้งมั่นยังไม่บริบูรณ์ เพราะถ้ามีความวางเฉยอย่างบริบูรณ์ ย่อมรู้เฉยๆเรื่อยไปโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจะต้องทำอะไรต่อ

การวางเฉยในขั้นนี้ก็อาศัย ‘การยอมรับสภาพสงสัย’ เหมือนบันไดขั้นแรกๆนั่นเอง เพียงแต่คราวนี้พิเศษกว่าขั้นแรกๆตรงที่ผลทางอาการแห่งจิตนั้นต่างกันลิบลับ เพราะสภาพสงสัยผุดขึ้นน้อยเท่าน้อยยิ่งกว่าความบางของใยแมงมุมที่ลอยแผ่วลงตกกระทบผิวน้ำใสแจ๋ว ความรำคาญอันเกิดจากการเห็นเส้นใยนั้นก็แผ่วแสนแผ่วจนเรียกว่ามีเหมือนไม่มี แต่เมื่อสามารถยอมรับสภาพเล็กน้อยยิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้ เห็นสภาพเล็กน้อยยิ่งที่ถูกรู้นั้นสลายลงตามธรรมดา ผลคือความบริบูรณ์แห่งอุเบกขา วางเฉยโดยปราศจากความไหวติง แม้แต่เงาแห่งความคิดทาบลงมายังพื้นจิตก็รู้โดยไม่หลงสำคัญ ไม่หลงเต็มใจยินดีให้เงาดังกล่าวอาศัยอยู่เพื่อความเจริญขึ้นของอุปาทานว่าเป็น ‘ตัวฉัน’

ความวางเฉยยอมรับตามจริงขนานแท้นั้น หาใช่เกิดขึ้นกับฌาน หาใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับจิตดีๆ แต่เกิดขึ้นกับจิตธรรมดาๆทั่วไปที่มีสติประกอบอยู่ รู้ว่าจิตก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง อย่างที่โขดหิน ทะเล แสงแดด และระลอกลมทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติต่างๆตามประเภทของตน ไม่มีความหวังให้จิตปฏิวัติเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากธรรมชาติที่มันกำลังเป็น เหมือนนั่งมองทะเลโดยไม่เคยปรารถนาให้ธาตุน้ำแปรเป็นธาตุอื่นที่วินาทีนั้นมันไม่ใช่

ภาวะของจิตที่ ‘ไม่มองไปข้างหลัง ไม่หวังไปข้างหน้า’ นั้นสุขพอแล้ว ถึงแม้มรรคผลไม่มีจริง แต่ความสุขระดับนี้ก็ทำให้ฉันไม่ผิดหวังแล้ว เห็นว่าคุ้มแล้วกับการลงทุนลงแรงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา



:b38: /...วันที่ ๗: เห็นนิพพาน


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



:b44: วันที่ ๗: เห็นนิพพาน

เป็นวันจันทร์ที่ฉันตื่นขึ้นทำความเพียรตามปกติ ตาเปิดมองโลกด้วยความตื่นเต็ม ใจเปิดมองสภาพทั้งหลายด้วยความตื่นรู้

หลับตาทำสมาธิ ตั้งต้นด้วยความปลอดโปร่งสบาย แค่กำหนดอิริยาบถนั่ง รู้สึกครบทั้งหัว ตัว แขน ขาคงที่ รู้ว่ามีลมออก มีลมเข้าอย่างเป็นสุขทั่ว ก็เห็นลักษณะเด่นของจิตกับกายโดยความเป็นต่างหากจากกัน ทำให้มีความรู้ชัดว่าอิริยาบถไม่ใช่ตัวตน จิตรวมเด่นเป็นแค่ภาวะผู้ดูความไม่ใช่ตัวตนของอิริยาบถ บังเกิดฉ่ำชื่นในรสวิเวกอันซ่านเย็นไปทุกขุมขน

ขณะหนึ่งที่จิตคลายจากสภาพผนึกแน่นเป็นปึกแผ่น โรยราลงจากลักษณะแผดสว่างมาเป็นสว่างนวล ใจหนึ่งก็สั่งว่าให้ลุกขึ้นเดินจงกรม อีกใจก็อยากนั่งแช่อีกสักพัก เพราะสติยังรู้อยู่กับภาวะของจิต เห็นว่านั่งนิ่งๆก็ทราบชัดดีว่าสว่างน้อยลง ขอบรัศมีแคบลงด้วยใจยอมรับอนิจจังโดยดีไม่มีเงื่อนไข รู้ยิ่ง วางเฉยยิ่ง ปราศจากความคิดปรุงแต่งเสริมเติมยิ่ง

เสียงจักจั่นเรไรตามสุมทุมพุ่มไม้ในละแวกใกล้ดังระงมกระทบโสต ฉันเห็นอาการไหวตัวของจิต คือมีอาการแปรจากลักษณะรู้ที่จิตเอง ไปรับรู้ส่ำเสียงน่าอภิรมย์ของสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ข่ายคลื่นเสียงดุจมนต์กล่อมโลกนั้นก่อให้เกิดความสงบที่จิต และมีความพึงใจในรสแห่งความสงบนั้น แต่ก็เห็นอีกด้วยว่าความสงบดังกล่าวเป็นของปรุงแต่งขึ้นตามหลังเสียงกระทบหู โดยเดิมไม่มีความสงบอยู่ก่อน และอีกเดี๋ยวจะต้องแปรไปเป็นธรรมดา แม้สุขจริงก็ไม่น่าอาลัย เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวตนให้ร้องขอตามปรารถนาได้แม้กระทั่งตัวจิตผู้รู้เสียงเอง

จิตตรองอยู่แต่ว่าเมื่ออุปาทานหายไป จะเหลืออะไรนอกจากความว่างจากตัวตน… ฉับพลันนั้นเองฐานที่ยืนของอัตตาก็หมุนควงสู่ความทลายลงดุจความพินาศของพื้นโลก กลายเป็นความว่างหายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถัดมาจึงบังเกิดแสงสว่างพลุ่งโพลงจากความว่างพิสุทธิ์ ดุจเดียวกับสายฟ้าที่สว่างขึ้นรอบทิศ ยังความมืดมนอนธการให้หายไป แลเห็นแต่ความจริงคือมหาสมุทรแห่งความว่าง ไร้รูป ไร้นาม ไร้นิมิตแม้น้อยเท่าน้อย

และจิตที่แผ่กว้างเบิกบานออกเป็นอนันต์ก็แค่เพียงธรรมชาติหนึ่งที่ต้องถดถอยกลับสู่ภาวะรับรู้ด้วยหูตาตามปกติ ริมฝีปากของฉันสยายแย้มจนสุดตามวิสัยแห่งจิตอันโสมนัสในธรรมาภิสมัย พุทโธ่เอ๋ย! นึกว่านิพพานซ่อนอยู่ที่ไหน ขณะแห่งการรู้แจ่มแจ้งตามจริง แทงทะลุกำแพงบดบังแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เสียได้ นิพพานก็ปรากฏแก่จิตตรงนั้นเอง เปิดเผยตัวเองและถูกรู้ได้จากทุกแห่งในจักรวาล สมดังพระพุทธวจนะที่ว่านิพพานเข้าถึงได้จากทุกทิศ เป็นธรรมชาติไร้ที่อยู่ เป็นสิ่งไร้ความเคลื่อนไหว เป็นมหาธาตุอันไร้การปะปนกับนานาธาตุ เป็นความว่างที่ไม่มีขนาด ไม่มีนิมิต และไม่มีที่ตั้ง ผู้รู้นิพพานจึงกลับมาเล่าขานตรงกันว่านิพพานเป็นเหมือนมหาสมุทร แต่บอกไม่ได้ว่ากว้าง ยาว ลึกเพียงใด

และความที่ไม่ต้องมีขนาด ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับธาตุหยาบใดๆแม้กระทั่งวิญญาณธาตุ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ในปหาราทสูตรความว่า แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร หนำซ้ำสายฝนจากอากาศก็ตกลงสู่มหาสมุทรอีก แต่มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะกลุ่มน้ำเหล่านั้นเลย ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยบรรดาภิกษุเหล่านั้น

ความเป็นเช่นนั้นของนิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้เจริญสติปัฏฐานจนสมควรจะได้เห็น ดังเช่นที่พระอรรถกถาจารย์บรรยายไว้ในอรรถกถาวชิรสูตรถึงประสบการณ์การเข้าถึงมรรคผลระดับต่างๆไว้อย่างน่าเลื่อมใส มีใจความโดยสรุปสำหรับขณะแห่งการเกิด ‘มรรคจิต’ ว่า

:b38: /...ในยามราตรีคือเวลาที่มืดสนิท

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



ในยามราตรีคือเวลาที่มืดสนิท ที่ได้ชื่อว่ามืดสนิทเพราะห้ามไม่ให้การเห็นทางตาเกิดขึ้น เมื่อใดที่พระโสดาปัตติมรรคอุบัติขึ้นนั้น ก็จะเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้านั่นเอง การเห็นนิพพานในขณะแห่งพระโสดาปัตติมรรค เหมือนการเห็นทัศนียภาพรอบด้านของคนมีตาดีขณะฟ้าแลบ

นี่เป็นการบรรยายประสบการณ์ขณะบรรลุธรรมซึ่งฉันคิดว่าดีที่สุด มีคำแวดล้อมครบถ้วนที่สุด โน้มน้าวให้ผู้บรรลุธรรมระลึกขณะแห่งมรรคจิตได้ชัดที่สุดเท่าที่ฉันพบมา เพราะเป็นเช่นที่ท่านจาระไนไว้จริงๆ โลกถูกปกคลุมด้วยความมืดมนอนธการ แสงอาทิตย์ยังนับว่ามืดอยู่ เพราะเพียงกระทำตาให้เห็นรูปอย่างผิวเผิน หรือแม้แสงอันเป็นมหาโอภาสในสมาธิจิตก็ยังสลัวเลือนอยู่ เพราะมีม่านหมอกความลุ่มหลงในจิตตนเองเป็นเครื่องบดบังความจริงขั้นสูงสุด แต่แสงแห่งพระโสดาปัตติมรรคนั้นประดุจฟ้าแลบที่กระทำความมืดให้พินาศลงชั่วคราว ความว่างที่มีอยู่แล้ว เปิดเผยอยู่แล้ว เป็นความจริงอยู่แล้ว ย่อมปรากฏแสดงตนเองอย่างแจ่มชัด ไม่เหลือความสงสัยเคลือบแคลงอีกเลยว่า ‘ความจริงอันเป็นที่สุด’ มีลักษณะอย่างไร

ธรรมาภิสมัยเป็นสิ่งน่าพิศวง ดุจมหาเพลิงที่ลุกพรึ่บขึ้นทำลายความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยให้หมดสิ้นไป ทางแห่งความหลงไร้สติไปในบาปเวรร้ายแรงต่างๆถูกปิดตายด้วยความรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบปลาบเดียวนั้นเอง คนธรรมดาอย่างมากเข้าถึงความคิดอันชาญฉลาด แล้วอาจหักเหวิถีชีวิตด้วยความคิด แต่คนที่เจริญสติปัฏฐานจนเข้าถึงมรรคจิตได้นั้น ย่อมทำเส้นทางในสังสารวัฏให้หดสั้นลง และเห็นจุดหมายปลายทางอันเป็นที่จบที่สิ้นของวังวนทุกข์อย่างแจ่มชัด สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีในปัญจเวรภยสูตร ใจความโดยสรุปคือ

ดูกรคฤหบดี เมื่อใดภัยเวร ๕ ประการ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง รวมทั้งข้อปฏิบัติอันประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นควรพยากรณ์ตนเองได้ว่าเราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า

ผู้ก่อภัยเวรย่อมประสบกับภัยเวร อาจจะในชาตินี้หรือในชาติหน้า ภัยเวร ๕ ประการได้แก่การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และการดื่มน้ำเมาจนตั้งอยู่ในความประมาท ภัยเวรเหล่านี้ฉันละได้นานแล้วก่อนเห็นนิพพาน และเมื่อเห็นนิพพานแล้วก็สำรวจเห็นชัดว่าจิตตัดเด็ดขาดในภัยเวรเหล่านั้นแน่ๆ เพราะใจไม่ถึง ใจไม่ยินดี และใจไม่เอา ความเป็นโสดาบันคือผู้มีใจถึง ใจยินดี และใจเอาเพียงความไร้ภัยเวรเท่านั้น พูดง่ายๆคือโสดาบันเป็นผู้สะอาด มั่นคงในศีล ๕ โดยไม่ต้องรักษา เพราะไม่เอาภัยเวรออกมาจากจิต หาใช่ผู้ต้องข่มใจเอาชนะความอยากละเมิดศีล ๕ เยี่ยงปุถุชนไม่

:b38: /...ธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



ธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างได้แก่

๑) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเมื่อตนบรรลุธรรมได้ด้วยวิธีการของพระองค์ท่าน แล้วพระองค์ท่านจะเป็นผู้ไม่รู้จักทางนี้ ไม่เห็นทางนี้ ไม่สำเร็จธรรมเห็นนิพพานตามทางนี้ได้อย่างไร

๒) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่เชื่อตามๆกันอย่างไร้เหตุผลว่ามรรคผลเป็นของล้าสมัยไปได้ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นสิ่งไม่จำกัดกาล ปฏิบัติตนให้พร้อมดูได้เมื่อไหร่ก็เห็นได้เมื่อนั้น

๓) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ คือเห็นว่าอริยบุคคลมีจริง และเดิมทีก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าย่อมกลายเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ควรแก่การรับไหว้ ผู้ควรแก่การรับทาน เป็นนาบุญอันประเสริฐที่ไม่มีอื่นยิ่งกว่า

๔) มีศีลที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่อาจถูกครอบงำด้วยตัณหาและทิฐิให้ผิดศีลผิดธรรม ศีลนี้ย่อมเกื้อกูลให้เกิดสมาธิจิตได้ง่าย

ส่วนข้อปฏิบัติอันประเสริฐคือการที่อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา กระทำไว้ในใจโดยแยบคายว่าเมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ โดยย่นย่อคือทุกข์เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ เมื่อรู้ชอบแล้วย่อมกระทำทุกข์ให้เบาบางลง จนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์ได้

ฉันเห็นแจ้งตามจริงด้วยจิตอันเป็นปัจจุบันตามนั้นทุกประการ ด้วยความสงบแห่งภัยเวร ๕ ประการ ด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และด้วยข้อปฏิบัติอันประเสริฐเช่นการดำเนินจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ฉันมีจิตอันปลอดโปร่ง สว่างโพลน เป็นผู้รู้จักนิพพาน ย่อมมั่นใจในตนเองว่าเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็นโสดาบันผู้จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ธรรมขั้นสูงสุดในภายภาคหน้า

การจะมีภพชาติสิ้นสุดลงเมื่อใด อาจไม่เป็นที่ปรากฏชัด ผู้เป็นโสดาบันไม่อาจพยากรณ์ตัวเอง แต่พระพุทธองค์ตรัสรับรองไว้หลายแห่งว่าเกิดเป็นมนุษย์อีกอย่างมากที่สุดไม่เกิน ๗ ชาติก็จะต้องสำเร็จอรหัตตผล นั่นหมายความว่าถ้าใช้ชีวิตประสาฆราวาสทั่วไปไม่ออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งในปัจจุบัน ก็ต้องเดินทางกันต่อ เพียงแต่ไม่ ‘ไกลมาก’ เหมือนปุถุชน อย่างเช่นในเสขสูตร พระพุทธองค์ตรัสบอกเขตจำกัดไว้ว่าใครทำสังโยชน์ ๓ ให้ขาดสิ้น จะท่องเที่ยวไปในความเป็นเทวดาและมนุษย์อย่างมาก ๗ ครั้ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีไม่เท่ากันในอริยบุคคลแต่ละท่าน

เพื่อความชัดเจนว่ามีกิเลสใดขาดสูญไป มักใช้หลักเทียบเคียงกับ ‘สังโยชน์’ สังโยชน์คือกิเลสเครื่องผูกใจ บางท่านเปรียบไว้กับโซ่ร้อยรัด ๑๐ เส้น ดังนี้

๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตัวของตน

๒) วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดาและพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้

๓) สีลัพพตปรามาส ความเข้าใจผิดว่าความบริสุทธิ์อาจเกิดขึ้นได้ด้วยศีลพรตนอกศาสนาที่ปราศจากมรรคมีองค์ ๘

๔) กามราคะ ความติดใจในกามคุณ

๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ

๖) รูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยรูป

๗) อรูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยอรูป

๘) มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่

๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะอันแท้จริง

สังโยชน์ ๓ ข้อแรกถูกล้างผลาญไปพร้อมกันในคราวเดียวด้วยมหาเพลิงคือพระโสดาปัตติมรรค แต่พระโสดาปัตติมรรคไม่อาจล้างผลาญสังโยชน์ข้อต่อๆมาได้ โสดาบันบุคคลจึงเป็นผู้ที่ยังต้องศึกษา ยังต้องทำกิจคือเจริญสติปัฏฐานต่อไปเพื่อให้เกิดไฟล้างครั้งต่อๆมาจนกว่าอวิชชาจะสิ้น

:b38: .../สิ่งที่ผู้ศึกษาธรรมมักสงสัย

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร