วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2009, 07:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

คิดถึงหลวงพ่อปัญญานันทะ
โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ขณะนั่งทำงานอยู่ที่ห้องประชาสัมพันธ์งานบวชสามเณร ๘๔,๐๐๐ รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ที่ตึกรัฐสภา ฟ้าฝนกระหน่ำลงอย่างหนัก เราอยู่ข้างใน ไม่ทราบว่าตกหนักหรือไม่เพียงใด จู่ๆ ก็ได้ยินเสียง “พรึบ” ไฟฟ้าดับทั้งตึก ผมกำลังให้สัมภาษณ์วิทยุคลื่นหนึ่งอยู่ โทรศัพท์ถูกตัดหายไปเฉยๆ สนทนาค้างไว้แค่นั้น ก็ไม่นึกว่าจะเป็น “ลาง” อะไรดอกครับ เพราะหน้านี้เป็นหน้าฝน ฝนก็ต้องตกเป็นธรรมดา

สักพักลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทะคนหนึ่งเข้ามากระซิบว่า มีข่าวเศร้าคือ หลวงพ่อปัญญานันทะถึงแก่มรณภาพแล้วในเช้านี้ (วันพุธที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๐) ผมถามว่าเวลาเท่าไหร่ ท่านผู้นั้นบอกเวลา ผมก็ขนลุก เวลาตรงกับที่เกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์ทุกสายทำงานไม่ได้ นี่ก็มิได้ว่าเป็นลางอะไร เพราะผมเป็นชาวพุทธที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ไม่ค่อยสนใจเครื่องราง ไสยเวท ไสยศาสตร์อะไร

ได้ยินข่าวหลวงพ่อถึงแก่มรณภาพ ผมถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ พระพุทธบุตรผู้เป็น “ประทีปส่องทางชีวิต” แก่ชาวพุทธทั้งปวง ร่วงผล็อยไปอีกรูปแล้วตามกาลเวลา รู้สึกอาลัยอาวรณ์ในการจากไปของพระเดชพระคุณท่าน วันนี้ช่างเป็นวันแห่งความเศร้าสร้อยอีกวันหนึ่งจริงๆ

ผมมิได้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อแต่ก็เป็นโดยอัตโนมัติ มิได้ไปมาหาสู่ท่านก็ใกล้ชิดสนิททางใจ จะว่าไปแล้วผมติดตามงานของหลวงพ่อตั้งแต่ผมเป็นสามเณรเล็กๆ ตอนนั้นมาจากต่างจังหวัดมาอยู่ที่วัดทองนพคุณ อายุอานามก็ราว ๑๕-๑๖

เข้ามาเมืองกรุงไม่ทันไร ก็ได้รับทราบชื่อเสียงของหลวงพ่อปัญญานันทะ รู้ว่าท่านเป็นนักแสดงธรรมชั้นยอด ก็พยายามตามไปฟัง ส่วนมากท่านจะมาแสดงปาฐกถาที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ค่อนข้างบ่อย เพราะมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) มักจะนิมนต์ท่านมาปาฐกถาในโอกาสสำคัญๆ เป็นประจำ

ผมเข้าใจว่า หลวงพ่อปัญญามีความผูกพันกับวัดมหาธาตุมาก ท่านเคารพนับถือ “หลวงพ่ออาจ” (พระพิมลธรรม ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์) มาก ทุกครั้งที่เข้ามากรุงเทพมหานคร หลวงพ่อปัญญานันทะจะมาพักที่วัดมหาธาตุเป็นประจำ

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมเผด็จการครองเมือง แกเป็นโรคคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง มีผู้ที่อิจฉาริษยาหลวงพ่ออาจเป่าหูว่า “พระรูปนี้ (หลวงพ่ออาจ) มีพฤติกรรมนิยมคอมมิวนิสต์...” จอมเผด็จการก็หูผึ่งสั่งจับท่านไปสอบสวน ขณะเดียวกันการยุแยงตะแคงรั่วจากหมู่มาร มีทั้งมารหัวดำและมารหัวเกลี้ยง ก็เริ่มขบวนการทำลายเป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายว่า “จะเอาพระพิมลธรรมมาเป็นหลวงตาอาจ จะเอาหลวงตาอาจมาเป็นทิดอาจ และเป็นอาชญากรอาจในที่สุด”

ข่าวแผนอุบาทว์รู้ถึงหูหลวงพ่ออาจ ท่านหัวเราะชอบใจ คงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่นานทุกอย่างก็ดำเนินไปตามแผน ท้ายที่สุดหลวงพ่ออาจก็ถูกจับสึก ขังคุกสันติบาล (ดีหน่อยไม่ยัดเข้าคุกบางขวาง)

มิตรแท้พิสูจน์ได้เมื่อยามประสบอันตราย ใครต่อใคร ไม่ว่าพระว่าโยมต่างหลบกันหมด แม้กระทั่งศิษย์วัดมหาธาตุที่เป็นผู้สนิทจอมพลจอมเผด็จการ ยังบอกปัดไม่ช่วยเหลือเมื่อมีผู้ไปขอร้องให้บอกความเป็นจริงแก่ท่านจอมพล เพราะท่านจอมพลย่อมฟัง “กุนซือ” ของท่านมากกว่าคนอื่น ท่านผู้นั้นพูดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ผมช่วยไม่ได้”

แต่พระเถระที่ยืนหยัดอยู่ข้างหลวงพ่ออาจคือ หลวงพ่อปัญญานันทะ ท่านวิพากษ์วิจารณ์จอมเผด็จการโดยไม่เกรงกลัว ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาใจหวิวๆ ไปตามกัน


นี่คือความประทับใจที่ผมมีต่อหลวงพ่อปัญญานันทะ และหลวงพ่ออาจ ทั้งๆ ที่ทั้งสองรูปนั้นผมก็ไม่ใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว แต่ก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสองรูปเสมอมาจากศิษย์ใกล้ชิดท่าน

ในฝ่ายหลวงพ่ออาจ ผมก็ได้ “พี่สมพร ประวรรณากร” พี่ชายของผมมาเล่าให้ฟังเรื่อย เพราะท่านผู้นี้ซาบซึ้งในจริยาของหลวงพ่ออาจมาก

ส่วนท่านปัญญานันทะนั้น ผมก็เก็บข้อมูลจากหนังสือประวัติของท่านที่ศิษย์ใกล้ชิดเขียนเล่าไว้บ้าง จากปาฐกถาที่ท่านแสดงที่เขาพิมพ์เป็นเล่มบ้าง

ไม่รู้สิครับทำไมพระผู้ใหญ่ทั้งสองรูปนี้แจ่มกระจ่างในใจผมเหลือเกิน และภาพมักปรากฏพร้อมๆ กันด้วย

รูปหนึ่งเป็นพระนักปกครองผู้มีเทคนิควิธีในการปกครองสงฆ์ มองการณ์ไกล คาดการณ์ทุกอย่างล่วงหน้าได้เป็นช็อตๆ น่าอัศจรรย์ แถมความรู้ในพระธรรมลึกซึ้ง มีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำการเพื่อความเจริญแก่พระศาสนาชนิดที่คนอื่นตามไม่ทัน

อีกรูปหนึ่งเป็นนักเผยแผ่ชั้นยอด หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก เรียกตามสำนวน “หลวงตาแพรเยื่อไม้” ว่า “อะไหล่ที่หาไม่ได้” สิ้นท่านแล้วกี่ปีกี่ชาติจะหาพระพุทธสาวก “ใจเพชร” เช่นนี้ คงยาก ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ทุกถ้อยคำ ทุกประโยคที่พรั่งพรูจากปากท่าน สละสลวย ไพเราะ ยังกับเจียระไนเรียบร้อยแล้ว รื่นหู ชูใจ ก่อเกิดปีติปราโมทย์ทุกครั้งที่ผมนั่งฟังปาฐกถาของท่าน ผมฟังไปก็อัศจรรย์ใจไปด้วย “พระอะไรช่างพูดเก่ง พูดดีอะไรปานนั้น”


“ญาติโยมทั้งหลาย บัดนี้ได้เวลาฟังปาฐกถาธรรมแล้ว...” เสียงเจื้อยแจ้วนี้ พรั่งพรูไม่ขาดสายจนกระทั่งจบ ไม่มีกระแอมกระไอ ไม่มีหยุดพัก ไม่มีแม้แต่จะหยุดดื่มน้ำแก้กระหาย

ท่านยังคงยืนนิ่ง พูดแสดงธรรมอยู่ในอิริยาบถเดิม ตั้งแต่ต้นจนจบ

ผู้ฟังนั่งฟังไปหัวร่อไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งๆ ที่ท่านมิได้แสดงสีหน้าตลกอะไรเลย

ท่านตลกในเนื้อหา ตลกหน้าตายครับ ตลกในเนื้อหา ชนิดที่ชาร์ลี แชปปลิน ก็ทำไม่ได้ เพราะชาร์ลีเคลื่อนไหวกายประกอบด้วย

แต่ในความสนุกสนานก่อปีติปราโมทย์แก่ผู้ฟังนั้น บางครั้งก็สะดุดกึก ตรึงผู้ฟังได้เช่นกัน

จำได้ว่า ครั้งหนึ่งท่านวิพากษ์แฟชั่นทันสมัยราคาแพงชนิดหนึ่ง “คนเรานี่ก็แปลก เสื้อผ้าสวยงาม ติดรูปสวยๆ ไม่นิยมใช้ กลับไปใช้รูปสัตว์จิ้งจกติดหน้าอก ถือเป็นของโก้...” (ความจริงเสื้อตราจระเข้แต่ตัวมันเล็ก หลวงพ่อมองเป็นจิ้งจก ดีที่ไม่มองเป็นตัวเงินตัวทอง !)

หลวงพ่อเป็นชาวพัทลุง บวชตอนหนุ่มแล้ว เล่าเรียนบาลีสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค (ถ้าจำไม่ผิด) ได้แค่นี้ก็มีความรู้สึกว่า ความรู้ปริยัติเพียงประโยค ๔ พอแปลบาลีได้ ก็เพียงพอเป็นเครื่องมือค้นคว้าพระไตรปิฎก นำธรรมะมาย่อขยายให้ญาติโยมแล้ว

ในช่วงหนุ่มๆ ท่านเป็นหนึ่งในพระเณร (เณรดูเหมือนจะมีท่านเดียวคือ กรุณา กุศลาสัย) ได้ธุดงค์ตามพระอิตาเลียนนาม “โลกนาถ” มุ่งสู่อินเดีย แต่ท่านไปถึงพม่าก็กลับ คงมีแต่กรุณา กุศลาสัย ติดสอยห้อยตามไปผจญภัยในภารตประเทศ หลวงพ่อพุทธทาสถูกพระโลกนาถชวนด้วย แต่ท่านปฏิเสธ มาบอกความในใจภายหลังว่า “ไม่เลื่อมใส เพราะพระฝรั่งรูปนี้ตั้งชื่อเหมือนพระพุทธเจ้า (นามโลกนาถ เป็นพระนามพระพุทธเจ้า)”

เข้าใจว่าในระหว่างนั้นแหละ หลวงพ่อปัญญานันทะได้ไปปักหลักแสดงธรรมแข่งหนังอยู่ที่เชียงใหม่ แรกๆ ก็มีผู้มายืนฟังสี่ห้าคน แล้วก็เพิ่มขึ้นๆ เป็นร้อย จนกระทั่ง “โรงหนังแทบต้องปิด” เพราะคนมาฟังพระเทศน์หมด สถานที่บรรยายธรรมรกๆ ก็เป็นโรงมุงใบตอง ต่อมาเป็นพุทธสถานเชียงใหม่ โดยมีท่านผู้ใจบุญคือ เจ้าชื่น สิโรรส ให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ (ข้อมูลนี้ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ไม่เคยอ่านจากที่ไหนเป็นเรื่องเป็นราว เขียนไปตามความรับรู้มัวๆ ผิดถูกขออภัยผู้รู้ด้วย)

หลวงพ่อปัญญานันทะเป็นพระแท้ พระที่ยืนหยัดอยู่กับจุดยืนของพระพุทธเจ้า เทิดทูนพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งแท้จริง ไม่ไขว้เขว และก็พร่ำสอนประชาชนให้ยืนอยู่จุดนี้ ปาฐกถาส่วนมากของท่านจะชี้ให้ทำลายความโง่ งมงาย ยึดติดในที่พึ่งภายนอก เช่น เครื่องรางของขลัง ไม่ว่าเหรียญพระเหรียญเทพ ที่คนบ้ากันหัวปักหัวปำอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ตลอด ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมว่างั้นเถอะ ท่านถือว่าหน้าที่ของพระคือ “ชี้ทางสวรรค์ให้ชาวบ้าน” ทางสวรรค์ก็คือ แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อยู่ในศีลในธรรม ไม่งมงายในสิ่งไร้สาระ

ผมได้ฟังท่านอาวุโสท่านหนึ่งคือ อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง เล่าว่า ครั้งหนึ่งไปหาหลวงพ่อปัญญานันทะ ตอนลากลับ ท่านกล่าวว่า “คุณพิชัย อาตมาไม่ใช่พระขลัง พระหรือเหรียญอะไรอาตมาก็ไม่มีให้เหมือนพระรูปอื่น อาตมาขอมอบสิ่งหนึ่งให้คุณพิชัยแขวนไว้ตลอดชีวิต”

อาจารย์พิชัยมองดูมือหลวงพ่อ สงสัยว่าท่านจะหยิบอะไรให้ แต่ก็ไม่มี ท่านกล่าวต่อไปว่า

“คือสัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้อง)” นี้แหละจะเป็นประทีปนำทางชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ไม่เดินผิดทาง

อาจารย์พิชัยยกมือท่วมศีรษะ น้อมรับ “สัมมาทิฐิ” จากหลวงพ่อ “แขวนไว้ที่ใจ” ตลอดมาจนบัดนี้ แล้วอาจารย์ก็พูดกับผมว่า “หลวงพ่อสัมมาทิฐิได้ช่วยให้ผมอยู่รอดอยู่เย็นมาจนบัดนี้” (สาธุ) นี่คือเทคนิคการสอนธรรมของหลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อจะแจกพระอยู่บ้าง ก็คงเป็น “พระสัมมาทิฐิ” นี้เอง พระอื่น เหรียญอื่นท่านแจกไม่เป็นครับ

สิ่งหนึ่งที่น่าจะชื่นชม นอกจากความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรมด้วยภาษาง่ายๆ หาตัวจับยาก ก็คือการประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาให้กะทัดรัด ประหยัด และได้ประโยชน์ เช่น

พิธีศพ ท่านให้มีพระสวดศพเพียงจบเดียว แทนสี่จบดังปฏิบัติกันทั่วไป เอาเวลาที่เหลือฟังเทศน์ ให้เจ้าภาพและผู้มาร่วมพิธีศพได้มรณสติ ได้คติเตือนใจกลับบ้าน “มาเผาผีที่วัดแล้ว ให้เผาผีที่ใจด้วย อย่านำผีกลับบ้าน” ท่านจะสอนทำนองนี้เสมอ

ชาวพุทธไทยทำอะไรก็ตามประเพณี ตามธรรมเนียม เสียจนเคยชิน แม้กระทั่งรับศีล ฟังธรรม ก็รับเป็นพิธี ฟังเป็นพิธี ทำๆ ไปอย่างนั้นแหละ “สาระแห่งพิธีทางศาสนา” จริงๆ อยู่ที่ไหนไม่รู้ ทำไปจนตายก็ไม่ได้อะไร เพราะทำพอเป็นพิธี

ไหนๆ ก็เลิกพิธีกรรมไม่ได้ ก็ให้ประยุกต์พิธีกรรมให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นี่คือความตั้งใจของหลวงพ่อ น่าเสียดายว่า ความคิดริเริ่มอย่างนี้ ไม่ได้รับสนองจากคณะสงฆ์ทั่วไป จึงยังคงมีทำอยู่เฉพาะวัดชลประทานฯ และวัดในสาขาเท่านั้น

สมัยก่อนญาติโยมไปไหว้สังเวชนียสถานที่อินเดีย พากันโกยดินติดตัวมา (สมัยก่อนเขายังไม่ห้าม) ญาติโยมไทยก็ไปขุดเอาดินกุฏิพระสีวลี (ผู้มีลาภมาก) บ้าง ดินใต้ต้นโพธิ์ตรัสรู้บ้าง หลวงพ่อมองดูด้วยความสงสาร เปรยๆ ว่า “โยม เอาดิน ก็ได้แค่ดินนั่นแหละ"

“มาถึงแดนพุทธภูมิแล้ว น่าจะเอาของเบาๆ กว่านี้นะ”

“อะไร พระคุณท่าน ?”

“ความว่างไงโยม เบาจะตายไป”

คิดถึงหลวงพ่อจริงๆ ครับ คงจะต้องเขียนต่ออีกหลายตอน


รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงพ่ออาจ อาสโภ)

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2009, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ผมทราบว่า หลวงพ่อปัญญานันทะได้เดินทางร่วมกับคณะของหลวงพ่ออาจ (พระพิมลธรรม ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์) ไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศยุโรปและอเมริกา และร่วมประชุมกับ ขบวนการฟื้นฟูศีลธรรมโลก (M.R.A.) ขบวนการเอ็มอาร์เอที่ว่านี้ เป็นขบวนการฟื้นฟูศีลธรรม เขาเชิญผู้นำทางศาสนาทั่วโลก จัดประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ การไปประชุมครั้งนั้นของหลวงพ่ออาจได้รับความสำเร็จมาก เป็นที่รับรู้กันทั่วไป พุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นที่รับรู้ระดับโลก จึงไม่แปลกใจว่าทำไมชื่อเสียงหลวงพ่ออาจจึงดังเป็นพลุ และไม่แปลกที่เป็นที่อิจฉาริษยาของคนบางคนบางกลุ่มในวงการพุทธในบ้านเรา ดังเจ้าของหน้าห้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขียนกระแหนะกระแหนพระพิมลธรรม (สมณศักดิ์หลวงพ่ออาจสมัยนั้น) แทบทุกวัน ความเป็นพหูสูตสามารถกระแหนะกระแหนลึกซึ้ง ด้วยการแปลงพุทธภาษิตว่า

เอมฺอาเอน ชิเน โกธํ เอมฺอาเอนํ สาธุนา ชิเน
พึงชนะความโกรธด้วยเอ็มอาร์เอ พึงชนะเอ็มอาร์เอด้วยความดี


มาถึงตอนนี้ อาจารย์เสฐียร พันธรังษี ศิษย์วัดมหาธาตุ ขณะนั้นเขียนอยู่หนังสือพิมพ์ชาวไทย ประกาศท้า ถ้าจะหาเรื่องกันขนาดนี้ให้บอกมา “จะเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่” ก็ได้

หลวงพ่อกลับไม่สะทกสะท้าน ขอบคุณผ่านหนังสือพิมพ์ว่า “ขอบคุณ คุณชายที่ช่วยโฆษณาวัดมหาธาตุให้ โดยไม่ต้องจ้างโฆษณา” โดนไม้นี้ เล่นเอาคุณชายเป็นง่อยไปเลย

เมื่อกระบวนการทำลายหลวงพ่ออาจดำเนินไปจนถึงที่สุด หลวงพ่อปัญญานันทะผู้ร่วมไปประกาศพระพุทธศาสนากับหลวงพ่อก็พลอยฟ้าพลอยฝนด้วย ถึงไม่ถูกกล่าวหาเหมือนหลวงพ่ออาจ แต่ “ถูกแขวน” ไปพักหนึ่ง สมณศักดิ์ไม่ขึ้นเลย ในขณะที่พระเล็กพระน้อยได้เลื่อนเป็นพระผู้ใหญ่ไปตามๆ กัน

มีหลายท่านทักว่า ทำไมทางคณะสงฆ์ไม่เลื่อนสมณศักดิ์ให้พุทธทาสภิกขุ และปัญญานันทะบ้าง คำตอบที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังแทบล้มทั้งยืนก็คือ

“ไม่มีผลงาน...”

ผลงานเป็นรูปธรรม เช่นสร้างโบสถ์ สร้างศาลาไม่มี ว่างั้นเถอะ ส่วนผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เทศน์จนคอแหบคอแห้ง หรือเขียนหนังสือแทบมือหงิก (อย่างท่านพุทธทาส) ท่านหาว่ามิใช่ผลงานประมาณนั้น (ข้อหาทำนองนี้ เกิดขึ้นกับเจ้าคุณประยุทธ์ หรือพระพรหมคุณาภรณ์ หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เช่นกัน ถูกหาว่าไม่เห็นทำอะไร ได้แต่เขียนหนังสือ !) เพราะมีความคิดเห็นว่างานมิใช่งาน มิใช่งานคืองาน เช่นนี้นี่เอง สมณศักดิ์ของหลวงพ่อจึงกระท่อนกระแท่น จากพระราชาคณะสามัญ “พระปัญญานันทมุนี” (พ.ศ.๒๔๙๙) จนเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ก็กินเวลาตั้ง ๑๔ ปี (เป็นพระราชนันทมุนี พ.ศ.๒๕๑๔)


ทั้งหมดนี้เพียงบ่นให้ผู้อ่านได้ทราบเท่านั้นเอง เพราะเรื่องข้อมูลเก่าๆ และลึกซึ้งปานนี้ น้อยคนจะทราบ บังเอิญผมเป็นคนเก่า (และแก่) ทราบข้อมูลดี จึงนำมาเล่าให้ฟัง

ความจริงพระแท้ท่านมิได้สนใจในยศศักดิ์อัครฐานดอกครับ จะให้หรือไม่ให้ท่านก็มิได้เดือดร้อน ท่านเห็นไม่ต่างอะไรกับ “ยศช้าง ขุนนางพระ” แต่เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่เห็นคุณค่าจะพึงถวายให้ท่าน ทั้งนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูคนให้เอง (ว่ารู้จักยกย่องคนดี !)

เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึงนิทานเซนขึ้นมาได้ โยมคนหนึ่งหอบเงินไปถวายพระอาจารย์เซนเพื่อบำรุงวัด บอกว่าขอถวายเงินพันหนึ่ง (ไม่รู้พันเยน หรือพันอะไร) พระท่านก็เฉย โยมจึงย้ำอีกว่า “ตั้งพันเชียวนะ” ท่านก็ยังเฉย โยมก็ชักฉุนร้องว่า "เงินที่ถวายนี่ไม่ใช่หามาง่ายๆ นะ”

พระถามว่า “แล้วจะให้อาตมาทำอย่างไร”

“อย่างน้อยก็ขอบคุณบ้างซิ” โยมชักฉุน

“เรื่องอะไร คนให้นั่นแหละควรขอบคุณคนรับ ฉันรับให้ก็บุญแล้ว !”

หลวงพ่อปัญญานันทะท่านไม่เคยถือยศถือศักดิ์แม่แต่น้อย ดูภาพถ่ายของท่านในโอกาสต่างๆ ก็ดี หนังสือประมวลภาพของท่านก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีรูปท่านถ่ายกับพัดยศเลย ทราบว่าพัดยศท่านรับพระราชทานแล้ว ก็ทิ้งไว้กุฏิวัดมหาธาตุตั้งแต่บัดนั้น

จากนั้นก็มุ่งหน้าทำงานสั่งสอนประชาชนต่อไป ประกาศนโยบายประกาศธรรม ต่อไปไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

ท่านพุทธทาส มีปณิธาน ๓ ข้อ ส่วนหลวงพ่อปัญญานันทะ มีนโยบายประกาศธรรม ๒ ข้อ ดังนี้

“ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้ารักและบูชาพุทธธรรมมาก เพราะซาบซึ้งในรสสัจธรรมเป็นอย่างดีว่า พระธรรมให้ผลแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างไร จึงขอพูดถึงนโยบายในการประกาศธรรมว่า ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายในการทำงานเพื่ออะไร ท่านจักไม่ต้องสงสัยกันต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้าเป็นพระประเภทใด ข้าพเจ้ามีนโยบายแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้เหตุการณ์ของประเทศชาติจะผันผวนไปอย่างใด ใครจะมาครองเมืองก็ตามที ข้าพเจ้าจะทำตามนโยบายของข้าพเจ้าเสมอ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจของข้าพเจ้า จากความเชื่อและการกระทำ ข้าพเจ้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะพูดหรือกระทำอันผิดๆ ความประสงค์ของพระพุทธองค์ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตเป็นธรรมพลีแล้ว

ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า จึงอยู่ในกฎเกณฑ์ ๒ ประการ คือ

๑. เพื่อประกาศความจริงที่พระองค์ทรงประกาศไว้

๒. เพื่อทำลายความเห็นผิด และการกระทำผิดๆ ในหมู่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้หมดไป ตามพุทธธรรมที่พระบรมศาสดาแสดงไว้”


เพียงสองประการนี้ก็มากมายใหญ่ยิ่งแล้ว ทำจนตายก็ไม่หมด ไม่หมดจริงๆ เห็นรายการทีวี “คนค้นฅน” เข้าใจว่าเป็นรายการล่าสุด ได้ยินหลวงพ่อตอบผู้สัมภาษณ์ว่า “ยิ่งอายุเหลือน้อย ยิ่งต้องทำงาน ตายแล้วทำไม่ได้”

เห็นภาพท่านถูกหามขึ้นรถไปบรรยายธรรมกรมประชาสัมพันธ์ โดยเพิ่งรู้ว่าร่างกายท่านมีเข็มฉีดยาฝังอยู่ด้วย เห็นแล้วน้ำตาไหล ถึงขนาดนี้แล้วหลวงพ่อยังทำงานรับใช้พระศาสนาไม่เห็นแก่ชีวิต ขณะเดียวกันมโนภาพผมก็สะท้อนภาพของผู้ที่เป็นตัวแทนพระศาสนาอีกจำนวนมากเพิกเฉยต่ออนาคตพระพุทธศาสนา บ้างก็มีพฤติกรรมย่ำยีพระศาสนาทั้งโดยเจตนาและด้วยความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ภาพที่ว่านี้รวมถึงพนักงานผู้มีหน้าที่รับใช้งานพระศาสนาบางกลุ่มบางคนด้วย อย่างช่วยไม่ได้

สมควรสวดพุทธพจน์บทว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา” จริงๆ ครับ

จริงอยู่พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศแล้ว แม้จะสรุปให้กะทัดรัด สั้นสุดว่า มี ๒ ประการ คือ (๑) ความทุกข์ และ (๒) การดับทุกข์ แค่นั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วมิใช่เรื่องเล็ก การจะชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่านี่คือความทุกข์ไม่ใช่ของง่าย แม้ว่าเขาคนนั้นกำลังอยู่ในวังวนของความทุกข์ เขายังไม่รู้ว่าตนกำลังทุกข์ เขายังคิดว่าเป็นสุขเสียอีก ไม่ต่างกับหนอนอ้วน ดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมอาจม เทวดามาชวนไปอยู่สวรรค์ ก็ไม่ยอมไป เพราะรู้ว่าบนสวรรค์นั้นต้องเนรมิตเอาอาหารหรือสิ่งที่ต้องการจึงจะได้ เหนื่อยเปล่าๆ สู้อยู่ที่หลุมคูนี่ดีกว่า ไม่ต้องเสียกำลังเนรมิต ถึงเวลาพระคุณเจ้าก็จะมาเนรมิตให้เอง !

ยิ่งภารกิจทำลายความโง่งมงายของคนยิ่งต้องออกแรงมาก ภาพหลวงพ่อต่อสู้กับความโง่งมงาย หรือความยึดติดของผู้คน ผุดขึ้นในสมองของผมชัดเจน จากการเป็นแฟนพันธุ์แท้ติดตามไปฟังปาฐกถาสมัยผมเป็นเณรน้อย ยังจำคำพูดบางประโยคก้องหู ไม่นึกว่าจะมีโอกาสเขียนถึง เช่นประโยคว่า

“เทวดา (พระภูมิ) เป็นเทวดาชั้นต่ำ แค่บ้านอยู่ยังไม่มีปัญญาสร้าง ต้องให้คนเมตตาสร้างให้ สร้างบ้านให้เขาแล้ว เขาควรมากราบไหว้คนสร้างให้ นี่อะไร คนยังมานั่งไหว้เขาปลกๆ ดูแล้วมันน่าหัวเราะ...”

ในยุคที่หลวงพ่อเทศนาต่อต้านศาลพระภูมินั้น มีพระคุณเจ้าบางท่านพูดทำนองขำๆ ว่า “ยิ่งหลวงพ่อปัญญาฯ ต่อต้านมาก ศาลพระภูมิยิ่งงอกขึ้นเป็นดอกเห็ด”

ทำไมไม่คิดในมุมกลับว่า ขนาดต่อต้าน ขนาดพูดให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ต้อง มันยังงอกป่านนี้ ถ้าไม่พูดไม่เตือนเสียเลย จะงอกขนาดไหน

กิจกรรมแจกเครื่องรางของขลังก็เช่นกัน มีปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่ศิษย์พระตถาคต (ความจริงมิบังควรใช้คำนี้เรียกตนเองด้วยซ้ำ) ไปไหนก็แจกแต่เหรียญแต่พระ บางทีก็แจกไม่ดูคนรับก็มี

ผมเองเป็นคนไม่นิยมพระเครื่อง แต่ไปไหว้พระคุณเจ้าที่ไหนก็ควักเหรียญควักพระให้ จะไม่รับก็เกรงใจ ถ้ามีพระพุทธบุตรอย่างหลวงพ่อมากๆ ก็น่าจะดี ญาติโยมจะได้ไม่ต้องแบกต้องหอบเครื่องรางของขลังให้หนัก

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือหลวงพ่อปัญญาฯ ยังมีฤๅษีเสริฐ ฤๅษีเสริฐ เป็นนามหลวงพ่อประเสริฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยสาวัตถี ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร เมืองอินเดีย ท่านเป็นพระมีเชื้อเขมร อยู่อินเดียมานาน ญาติโยมไปไหว้พระที่อินเดีย จะพากันไปเยี่ยมวัด ทำบุญทำทานตามปกติของชาวพุทธทั่วไป คราวหนึ่งคณะแสวงบุญพากันไปทอดผ้าป่าที่วัดหลวงพ่อฤๅษีเสริฐ เสร็จพิธีถวายผ้าป่า หลวงพ่อฤๅษีก็ล้วงย่ามนำพระ (ที่นำมาจากเมืองไทย) มาแจกญาติโยมคนละองค์สององค์

หลวงพ่อปัญญานันทะไปด้วยครานั้น ทนไม่ได้ ก็พูดตามนิสัยคนตรงของท่าน ที่ไม่อยากเห็นพระทำนอกเรื่องเกินไป จึงพูดว่า “มาถึงอินเดียแล้ว ยังมาแจกพระแจกเหรียญอยู่อีก” ทำนองว่าไม่ละอายใจบ้าง อยู่ใกล้ๆ สถานที่พระพุทธองค์เคยประทับอย่างนี้ ญาติโยมต่างเงียบ

ทันใดนั้นหลวงพ่อฤๅษีก็ชี้หน้าหลวงพ่อปัญญานันทะ ว่า “หยุดนะ ที่นี่ใครใหญ่”

ได้ผล หลวงพ่อปัญญาฯ เป็นฝ่ายเงียบ เงียบกริบยิ่งกว่าญาติโยมอีก หลายคนสงสัยว่า หลวงพ่อยอมฤๅษีเสริฐง่ายๆ ได้อย่างไร

“เขาพูดถูก วัดของเขา เราจะใหญ่แข่งเขาได้ยังไง” หลวงพ่อปัญญาฯ พูดพลางหัวเราะ

ครับ เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือหลวงพ่อปัญญานันทะยังมีฤๅษีเสริฐ !


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2009, 21:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ค. 2008, 10:19
โพสต์: 246


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปดับสลายแต่เหลือคงไว้แต่คุณความดี ขอบคุณครับ
:b6: :b13: :b8:

.....................................................
ธรรมะคือธรรมชาติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2009, 00:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.พ. 2009, 00:03
โพสต์: 111


 ข้อมูลส่วนตัว


มีต่อ

มาต่อเร็วๆนะคะ ติดตามอ่านอยู่ค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2009, 11:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เด็กรุ่นลูกถามว่าหลวงพ่อปัญญานันทะ ของพ่อนี่ดังมากเหรอ พ่อจึงเขียนถึงตั้งหลายตอน จะบอกเธอว่าไม่มีเรื่องเขียน ก็เขิน จึงพูดไปว่า ผู้ใหญ่ที่มติชนนี่แหละฝากบอกมาว่า ให้เขียนหลายๆ ตอนหน่อย อ้างผู้ใหญ่ไว้สุวานไม่กัด อย่าถามว่า “สุวาน” แปลอย่างไร ไปหาดิกชันนารีเปิดดูเอง เด็กสมัยนี้ไม่รู้ดอกว่า พระที่ยืนเทศน์หรือนั่งเทศน์ปากเปล่า ไม่เคยมีโน้ตวางข้างหน้าแม้แต่ครั้งเดียว พูดเจื้อยแจ้ว เสียงใส ชัดถ้อยชัดคำ ถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากริมฝีปากบางๆ นั้น ยังกับเจียระไนมาอย่างดี ไพเราะ เริงรื่น ชื่นใจ ในเมืองไทยนี้มีพระคุณเจ้ารูปนี้รูปเดียว เด็กสมัยนี้เกิดมาช้าไป มาพบท่านตอนท่านเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว กระนั้นลีลาการแสดงธรรมก็ยังตรึงใจผู้ฟังได้ดุจเดิม

หลวงพ่อมิได้ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก มีหน้าที่สอนก็สอนอย่างเดียว ตามหน้าที่ของพระภิกษุซึ่งพระพุทธองค์วางไว้เป็นหลักการว่า ต้อง “ชี้ทางสวรรค์ให้ชาวบ้าน” แต่จะว่าท่านไม่ตั้งสำนักก็ไม่เชิงนัก ท่านได้วางแบบอย่างให้ลูกศิษย์ดำเนินตาม โดยไม่ได้สอน จะเรียกว่า “สอนโดยไม่สอน” หรือฝึกโดยไม่ฝึกให้ลูกศิษย์ก็ว่าได้ คืออย่างไร ?

ประการที่ ๑ การที่หลวงพ่อพูดสอนธรรมะได้อย่างมหัศจรรย์ ครบสูตรของ “หลักการเผยแผ่ธรรม” อยู่ในตัว คือ ชี้ชัด ชักชวนให้อยากปฏิบัติ ฝึกให้กล้า เร้าให้ร่าเริง นี้แหละเป็นแรงจูงใจให้ศิษย์ทั้งหลายอยากจะเอาแบบอย่าง ฝึกฝนตนเอง เพื่อให้ได้อย่างหลวงพ่อ อย่างน้อยก็ส่วนเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี

จากนั้นจึงเกิดศิษย์ตระกูล “นันทะ” ขึ้นหลายท่าน ที่ดังๆ อยู่พักหนึ่งก็ “ธัมมานันทะ” วิเวกนันทะ โดยเฉพาะธัมมานันทะนั้น สมัยหนุ่มน่าทึ่งไม่น้อย เธอเรียนรู้โดยการไถ่ถาม พอได้รับคำอธิบายเข้าใจแล้ว เธอจะนำไปขยายได้อย่างแจ่มแจ้งทีเดียว

ครั้งหนึ่งเธอจะแสดงปาฐกถาที่วัดแห่งหนึ่ง ผมตอนนั้นบวชพระแล้วเห็นมีโฆษณาว่าจะมีนักปาฐกหนุ่มถอดรูปแบบหลวงพ่อปัญญามาแสดง ผมก็ไปฟังด้วย ก่อนถึงเวลา มีพระหนุ่มรูปหนึ่งมานั่งคุยด้วย ถามโน่นถามนี่หลายเรื่อง โดยผมไม่รู้ว่าเป็นใคร พอได้เวลา ท่านผู้นี้ก็ลุกขึ้นไปยืนบนสแตนด์ (ความจริงยืนข้างๆ นะ ทำไมเขาใช้คำอย่างนี้ไม่รู้) พูดฉอดๆ ไม่หยุด สุ้มเสียง ท่วงทำนอง “ปัญญานันทะที่ ๒” ดีๆ นี่เอง เรื่องที่พูด ผมเพิ่งอธิบายให้ฟังหยกๆ นี่เอง แต่เธอนำมาถ่ายทอดได้วิจิตรพิสดารมาก

ประการที่ ๒ หลวงพ่อได้ปรับประยุกต์ประเพณีพิธีกรรม ให้สมกับเหตุการณ์ และให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังพิธีสวดศพ จัดให้สวดเพียงหนเดียว เอาเวลาที่เหลือเทศน์สอนให้ข้อคิดแก่ผู้มาฟังสวด แรกๆ ท่านก็ลงเทศน์เอง ต่อมาก็ให้ลูกศิษย์ลูกหาลงเทศน์แทน โดยวิธีนี้หลวงพ่อได้สร้างพระนักเผยแผ่ธรรมฝีปากเอกหลายรุ่น แทบพูดได้ว่า พระวัดชลประทานฯ ที่เทศน์ไม่ได้เรื่องไม่มี แต่ละรูปล้วนเทศน์เก่ง บรรยายเก่งกันทั้งนั้น

วันหนึ่งผมไปงานศพท่านที่เคารพนับถือ นั่งหลบเสาอยู่ห่างๆ พระคุณเจ้ารูปหนึ่งซึ่งผมไม่รู้จัก ขึ้นเทศน์เจื้อยแจ้ว ได้เรื่องได้อรรถรสดี พอผมลุกไปประเคนของ ท่านจำได้ กล่าวว่า “นี่ถ้ารู้ว่าอาจารย์นั่งอยู่ด้วย อามาเทศน์ไม่ออกนะนี่” (สำนักนี้ อาตมา ท่านย่อเป็น “อามา” ทุกรูปตามอย่างหลวงพ่อปัญญาเลยนิ !)

เล่าว่า คุณนายท่านหนึ่งนำลูกไปบวชตอนปิดภาคเรียน “ท่านคะ ลูกชายดิฉันเกเรเหลือเกิน กลัวจะเสียคน จึงนำมาฝากบวชเรียนกับหลวงพ่อ ช่วยอบรมให้ด้วย”

พระรับปากว่า “ไม่เป็นไร คุณโยม อามาจะดูแลให้”

“ฝากท่านนะเจ้าค่ะ ไม่รบกวน คุณอามาหรอก”

โยมนึกว่า พระจะฝากต่อไปยังโยมอา ชื่อ มา (ฮา)

หลวงพ่อเทศน์เรื่องพื้นๆ ง่ายๆ ฟังเข้าใจทันที นี่คือเสน่ห์ของหลวงพ่อ คนที่ไม่เข้าใจมักจะนิมนต์ท่านให้ไปพูดวิชาการที่ขรึมขลัง ตั้งชื่อให้โก้ เช่น นวัตกรรมใหม่ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบ้าง ปรัชญาการศึกษากับปรัชญาชีวิตบ้าง ฯลฯ ตั้งไปเถอะ หลวงพ่อก็จะพูดว่า โยมจะตั้งหัวข้ออะไรก็ตั้งไปเถอะ อามาจะพูดตามที่อามาต้องการพูด

หลวงพ่อจะเริ่มจากสิ่งที่เห็นตามรายทางบ้าง พฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนในยุคนี้บ้าง ว่าเรื่อยไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และไม่ลืมตบท้ายด้วยเนื้อหาที่ผู้นิมนต์ต้องการให้พูด เนื้อหาสมานกลมกลืนกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

นึกถึงเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เจ้านายท่านหนึ่งสั่งให้เด็กไปนิมนต์ท่านมาเทศน์ เรื่อง “อริยสัจ” คนนิมนต์จำไม่ถนัดไปเรียนท่านว่า นิมนต์ไปเทศน์เรื่อง นักษัตร (โบราณมักออกเสียง “นักกะสัด”)

หลวงพ่อรู้แล้วว่าต้องผิดพลาดอะไรสักอย่าง แต่ท่านก็ขึ้นต้นด้วย นิกเขปบท (บทขึ้นต้น) ว่า “มุสิโก อุสโภ พยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส คทฺรโภ วานโร กุกุโฏ สุนโข สุกโรติ = ชวด หนู ฉลู วัว ขาล เสือ.....”

ว่าไปเรื่อย สักพักเจ้านายกระซิบถามลูกน้อง “เอ็งไปนิมนต์หลวงพ่อมาเทศน์เรื่องอะไร” ลูกน้องตอบว่า “เรื่องนักษัตร ขอรับ”

“กูนึกแล้ว เอ็งต้องบอกท่านผิดแน่” เจ้านายบ่น

หลวงพ่อท่านได้ยิน ก็ประสานเนื้อหานักษัตรเข้ากับหลักอริยสัจได้อย่างเหมาะเจาะ กลมกลืนเป็นที่อัศจรรย์ นี่คืออัจฉริยภาพของพุทธสาวกผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา

ลองอ่านเทศนาของหลวงพ่อสักเรื่องสิครับ ท่านจะได้คติธรรม โดยเฉพาะ “สติ” เตือนใจตัวเองอย่างดี หลวงพ่อท่านกระตุ้นมโนธรรมสำนึกได้วิเศษนัก

“ในโลกนี้มีเรื่องทุกแห่ง เขาแย่งกันเป็นใหญ่เพื่ออะไร เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะมีจะได้ มีตัณหา โลภะเข้าครอบงำจิตใจ ไม่รู้จักบังคับตัวเอง โลกพัฒนามาหลายพันปีแล้ว แต่ว่ายังไม่เข้าถึงธรรมะในศาสนานั้นๆ ถือศาสนาไม่ถึงเนื้อแท้ของพระศาสนา

ชาวพุทธในเมืองไทย เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท แปลว่าผู้แวดล้อมพระพุทธเจ้า แต่แวดล้อมเฉยๆ ไม่เคยเอาธรรมะมาปฏิบัติ ในโบสถ์ในวิหาร ควรจะเป็นสถานที่สงบ ให้ทุกคนมานั่งสงบจิตสงบใจ น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรมอันเป็นคำสอน นึกถึงพระสงฆ์ผู้สืบพระศาสนา แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เข้าไปในโบสถ์ ก็ไปขอร้องวิงวอนด้วยประการต่างๆ จะเอานั่น เอานี่ ไปขอพระพุทธรูป

พระพุทธรูปเขาไม่ได้สร้างให้คนไปไหว้ไปขออย่างนั้น สร้างเพื่อจูงใจให้เรานึกถึงพระคุณของพระองค์ แต่ส่วนมากไม่เอาพระคุณมาใช้ แต่ไปวิงวอนขอร้องบนบาน

ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์ ต้องไปนั่งสงบใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ระลึกถึงความกรุณา นึกถึงปัญญา นึกถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า นั่งคิดนั่งนึกให้เห็นว่า พระองค์มีความกรุณาปรานีต่อสัตว์โลกอย่างไร พระพุทธเจ้าเที่ยวพัฒนาสอนคนให้หายโง่งมงาย เวลาเขาทำอะไรไม่เข้าท่า พระองค์จะตรัสว่า อารยชนเขาไม่ทำอย่างนี้

บุรุษหนึ่งพ่อตาย ก่อนตายสั่งลูกไว้ว่าให้ไหว้ทิศทั้งหก ลูกก็เชื่อฟัง ไปอาบน้ำ นุ่งห่มผ้าอย่างดีแล้วไปยืนไหว้ทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ไหว้ทุกวัน พระพุทธเจ้าเสด็จมาเห็นเข้า ถามว่าเธอทำอะไร ไหว้ทิศตามคำสั่งของพ่อ พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า “พ่อเธอมิได้หมายความเช่นนั้น ทิศหมายถึงคนที่เราเกี่ยวข้องหกประเภท คือ บิดามารดา ครูอาจารย์ สมณะชีพราหมณ์ สามีภรรยา นายจ้างลูกจ้าง มิตรสหาย สอนให้ปฏิบัติตนอย่างไร ทำหน้าที่ให้ถูกต้องต่อบุคคลนั้นต่างหาก คือการไหว้ทิศ ไม่ใช่ให้ไปยกมือไหว้ปลกๆ แบบนี้”

ลองอ่านดูสิครับ ไม่มีคำศัพท์ยากแม้แต่คำเดียว อ่านแล้วตื่นตาตื่นใจดี

นึกถึงกลอนหลวงพ่อพุทธทาส บทหนึ่งว่า “คนไทยสมัยนี้เอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู” กลอนบทนี้พิมพ์พร้อมภาพประกอบ คนยืนเอามือกำ (ปิด) หู ต่อหน้าพระ เห็นแล้วให้อารมณ์ดีจัง แต่ผมจำกลอนไม่ได้ แต่จำได้บทอื่นคล้ายกัน ขอยกมาปิดท้ายข้อเขียนวันนี้ครับ

ทำดีดีแล้วมงคล สืบสร้างกุศล
ดีกว่านั่งเคล้าของขลัง
พระเครื่องตะกรุดอุทกัง ปลุกเสกแสนฉมัง
คาดมั่งแขวนมั่งรังรุง
ขี้ขลาดหวาดกลัวหัวยุ่ง กิเลสเต็มพุง
นอนตายก่ายเครื่องรางกอง
พระธรรมต่างหากเป็นของ เป็นเครื่องคุ้มครอง
เพราะว่าเป็นพระองค์จริง
มีธรรมฤๅมีใครยิง ไร้ธรรมผีสิง
ไม่ยิงก็ตายเกินตาย
เหตุนั้นเราท่านหญิงชาย เร่งขวนเร่งขวาย
หาธรรมมาเป็นมงคล
กระทั่งบรรลุมรรคผล ไร้ตัวไร้ตน พ้นจากเกิดแก่เจ็บตาย
บริสุทธิ์ผุดผ่องใจกาย อุปัทวะทั้งหลาย
ไม่พ้องไม่พานสถานใด
เหนือโลกเหนือกรรมอำไพ กิเลสาสวะไหน
มิอาจย่ำยีบีฑา


หลวงพ่อครับ เขาว่ารุ่นรวยทั้งโคตร นอกจากทำให้ร่ำรวยแล้วยังขลังยิงไม่ออก ฟันไม่เข้าด้วยครับ หลวงพ่อเคยได้ยินไหม

“อามาว่าคงใช่ เวลาเขายิงกัน อย่าออกไป เวลาเขาฟันกัน อย่าเข้าไป” เสียงแว่วมาแต่ไกล คล้ายเสียงหลวงพ่อ !!


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2009, 11:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เพื่อนมหาเปรียญเก้าประโยครุ่นน้องคนหนึ่งแวะมาคุยด้วยหลายเรื่อง หนึ่งในหัวข้อสนทนาคือเรื่องของหลวงพ่อปัญญานันทะ แกบอกว่า เขียนได้อารมณ์ดี ทำไมหยุดเสียล่ะ

หรือเป็นแค่ “อนาทร” หรือ “ลักขณวันตะ” เฉยๆ

(หมายเหตุ คนบวชเรียนนานๆ บางทีก็คุยกันด้วยสำนวนที่ชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่องเช่นนี้แหละ เป็นศัพท์เทคนิคทางไวยากรณ์บาลีครับ แปลว่า “ประโยคแทรก” หรือ “ขัดจังหวะ”)

ผมพยักหน้าว่า ใช่ ใช่ บังเอิญมีเรื่องบวชเณรบวชชีมาแทรก จึงหยุดไว้ชั่วคราว ผมเล่าให้เพื่อนรุ่นน้องฟังว่า “ผมเพิ่งรู้ไม่นานมานี้ว่า ฉายาหลวงพ่อคือ ปทุมุตตโร ช่างเป็นนามที่เหมาะสมจริงๆ”

เพื่อนร้องว่า “อ๋าย เป็นไปได้ยังไง เห็นเขียนถึงหลวงพ่อเสียยังกับเป็นศิษย์ก้นกุฏิ บางครั้งถึงกับกล้าหาญท้วงติงท่านว่า “เสียความรู้สึก” ก็เคย ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าคุณเพิ่งรู้ฉายาของท่าน”

“ผมท้วงติงหลวงพ่อตอนไหน” (ลืมจริงๆ เรื่องนี้)

เพื่อนเตือนความจำว่า ก็สมัยท่านจำลองสมัครเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครนั่นไง จำไม่ได้หรือ หลวงพ่อเทศน์ออกวิทยุในเช้าวันที่เขาจะเลือกตั้งว่า คุณจำลองเป็นคนดี ควรเลือกคนดีมาเป็นผู้ว่าฯ ก็คุณมิใช่หรือท้วงท่านว่า ทำไม่ถูก จนเสียความรู้สึก...

ผมพยักหน้าเป็นครั้งที่สอง บอกเพื่อนไปว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่าไม่เหมาะสม ดีนะหลวงพ่อมีบารมีมาก ไม่อย่างนั้นคงโดนผู้สมัครคนอื่นถล่มไปแล้ว “แต่หลวงพ่อพบผมวันหลัง ท่านก็ยิ้มๆ และทักทายอย่างเอ็นดูนะ ท่านมิได้โกรธเคืองผมแต่อย่างใด..”

เพื่อนบอกว่า ช่างเถอะเรื่องมันนานมาแล้ว อยากทราบเหตุผลว่า ทำไมจึงว่าฉายาว่า “ปทุมุตตโร” นี้เหมาะสมกับหลวงพ่อจริงๆ ผมบอกเพื่อนรุ่นน้องว่า นามนี้แปลว่า “ดอกบัวประเสริฐ หรือผู้ประเสริฐดุจดอกบัว”

ทำให้นึกถึงพุทธวจนะหลายบทหลายแห่งเกี่ยวกับดอกบัว แห่งแรกในคาถาพระธรรมบท ที่ว่า

ยถา สงฺการธานสฺมึ อุชฺฌิตสฺมึ มหาปเถ
ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ สุจิคนฺธํ มโนรมํ
เอวํ สงฺการภูเตสุ อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน
อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก

ดอกบัว มีกลิ่นหอม รื่นรมย์ใจ
เกิดแต่สิ่งปฏิกูล
ที่เขาทิ้งไว้ใกล้ทางใหญ่ ฉันใด
ท่ามกลางปุถุชนผู้โง่เขลา
ผู้เป็นเสมือนสิ่งปฏิกูล
พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมรุ่งเรืองด้วยปัญญา ฉันนั้น


หลวงพ่อพุทธทาส ได้แต่งบทกวี “บัวบาน” ไว้ไพเราะยิ่งความว่า

บัวยิ่งบาน เต็มที่ ยิ่งมีมาก
พระผู้มีพระภาค ยิ่งพอ พระทัยยิ่ง
เหตุดังนั้น บัวที่เริ่ม จะบานจริง
อย่ากลอกกลิ้ง ล่อหลุบ หุบเสียเอย


แห่งที่สอง พระพุทธองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่า

ยถาปิ อุทเก ชาตํ ปุณฺฑรีกํ ปวฑฺฒติ
โน ลิปฺปติ โตเยน สุจิคนฺธํ มโนรมํ
ตเถว จ โลเก ชาโต พุทฺโธ โลเก วิหรติ
โน ลิปฺปติ โลเกน โตเยน ปทุมํ ยถา

บุณฑริก เกิดในชลาลัย
กลิ่นหอม รื่นรมย์ใจ
ไม่เปียกน้ำ
พระพุทธองค์ เกิดในโลก
ไม่ติดในโลกีย์
ดุจปทุมรมณีย์
ไม่เปียกน้ำ


เอาแค่สองแห่งก็พอ เดี๋ยวจะกลายเป็นบทความเรื่องดอกบัว ต่อมาหลวงพ่อคิด “นามปากกา” ของท่านว่า ปัญญานันทะ ซึ่งความจริงก็ไม่ไกลจากความหมายของนามเดิมแต่อย่างใด เรียกว่า เป็นแก่นหรือสาระของนามเดิมนั้นเอง เพราะพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเจริญงอกงามด้วยปัญญา เป็นดอกบัวบานที่ไม่ยอมหุบ ชูช่อชูก้านไสวตลอดกาล

ท่านพุทธทาสคงเกรงบัวบานดอกนี้จะ “ล่อหลุบ หุบเสีย” ในวันข้างหน้ากระมัง จึงสะท้อนจินตนาการในบทกวีข้างต้น เพราะดอกบัวงามเช่นนี้ มิได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ เมื่อเกิดขึ้นมาชูช่อไสวเช่นนี้ จึงอยากให้ชูสง่างามตลอดกาล

นาม “ปัญญานันทะ” ท่านใช้ครั้งแรกเมื่อขึ้นไปแสดงธรรมที่เชียงใหม่ และก็ใช้ต่อมา แม้ได้สมณศักดิ์ชั้นต่างๆ แล้วก็ไม่นิยมใช้ หากใช้แต่ “ปัญญานันทะ” เรื่อยมา จนเด็กรุ่นหลัง (รุ่นแก่อย่างผมก็ไม่เว้น) หลงไปว่าเป็นฉายาที่พระอุปัชฌาย์ให้มาเมื่อวันบวช ! เพราะนามอันประทับใจนี้เอง ทำให้เด็กหนุ่มวัย ๒๔ ปี เห็นประกาศโฆษณาอยู่ข้างทางว่าจะมาแสดงธรรม จึงตามไปฟังแล้วเกิดความซาบซึ้งในพระศาสนา ตามท่านมาบวชถึงวัดชลประทานฯ ตั้งใจบวชชั่วคราว เมื่อไปกราบขอบวช หลวงพ่อมอบหนังสือสวดมนต์เล่มใหญ่ให้ไปท่อง ครั้นเรียนท่านว่า ผมบวชชั่วคราวเท่านั้น (ไม่ท่องได้ไหม ประมาณนั้น)

“บวชกี่วันก็ต้องท่อง ท่องไม่ได้ไม่ต้องบวช บวชคนนะ ไม่ใช่บวชกล้วย” หลวงพ่อย้ำ (สำนวนนี้ผมไม่คุ้น อ้อ ทานโทษ ท่านคงหมายถึง กล้วยบวชชี !)

ลูกศิษย์ท่านนี้ ได้บวชอยู่ตลอดมาจนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม ปทุมธานี บังเอิญอีกแหละ นามเดิมท่านคือ “สง่า” (ณ ระนอง) มีลีลาการเทศน์สอนธรรมแพรวพราว ได้อาจารย์ไม่ผิดเพี้ยน ชูช่อไสว สง่างาม ในพระพุทธศาสนาสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเรียบง่ายของอาคารสถานที่ ออกแบบชนิดประหยัด ใช้สอยประโยชน์คุ้มค่า ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของหลวงพ่อปัญญานันทะ กุฏิกรรมฐานอยู่กลางน้ำ มีให้เห็นทั่วไป แต่มีสองสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น ที่ผู้ไปเยี่ยมชมน่าจะตระหนักก็คือ

(๑) กุฏินั้นมีที่มา ในกรณีนี้จารึกนามต้นตระกูล ณ ระนอง เพื่อเตือนสติว่า เพราะบรรพบุรุษ เพราะบิดามารดา ที่ให้กำเนิดมา ทำให้ได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้มาบวชเป็นลูกศิษย์พระสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นหลวงพ่อปัญญานันทะ นี้จึงเกิดวัด เกิดสำนักปฏิบัตินี้ขึ้นมา เป็นคติสอนตนและคนอื่น ในเรื่องกตัญญูกตเวที

(๒) เมื่อเข้าไปในศาลา ก็จะเห็นพระพุทธรูป ซึ่งไม่มีพระพุทธรูป แต่มีพระพุทธรูป (เอ๊ะยังไง พูดไม่รู้ควัง เอ๊ย ฟัง !) หมายความว่ามองจากไกลเห็นเป็นพระพุทธรูปประทับอยู่ พอเข้าไปใกล้ๆ กลายเป็นผนังกุฏินั้นเอง ฉลุหรือเจาะรูให้แสงลอดผ่านเข้ามา ปรากฏเห็นเป็นพระพุทธรูป จึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “พระแก้วปรากฏ”

เป็นนฤมิตกรรมที่งดงามมาก ไม่ต้องลงทุนสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่แล้วนำมาประดิษฐานไว้ ไม่ต้องมีโต๊ะหมู่บูชาให้กินเนื้อที่ นี้คือความคิดสร้างสรรค์อีกเรื่องหนึ่งของหลวงพ่อ ที่ควรนำไปใช้ให้แพร่หลาย จะประหยัดเงินทองของชาวพุทธได้มาก เพื่อนำไปใช้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ตรงจุดและได้ประโยชน์คุ้มค่ายิ่งขึ้น

เขียนถึงหลวงพ่อมาลงที่ลูกศิษย์ คงสงสัยว่าได้ค่าน้ำร้อนน้ำชาอะไรหรือเปล่า เปล่าเลยครับ หลวงพ่อสง่าก็นับถือกันเป็นศิษย์อาจารย์ อาจารย์ยกย่องลูกศิษย์ก็เท่ากับยกย่องตัวเองเหมือนกัน อย่าได้แปลกใจ

ความจริงผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คนโบราณนั้นท่านมีเทคนิคในการปลูกฝังคุณธรรมที่เป็นรากฐานแห่งความดี (ความกตัญญูกตเวที) อย่างชาญฉลาดมาก ไม่ได้เซ้าซี้ว่า เอ็งต้องกตัญญูกตเวที จนเด็กมันรำคาญ เลยพาลเนรคุณ ประชดเสียเลย แต่ท่านมีเทคนิควิธีค่อยปลูกฝัง ให้ค่อยซึมซับ ผ่านการกระทำของผู้ใหญ่เอง อันเรียกว่า “สอนโดยไม่ต้องสอน” สังเกตเถอะครับ ท่านจะเห็นเทคนิคการสอนโดยไม่ต้องสอนนี้ทั่วไป

ที่วัดปัญญานันทารามนี้ ท่านสอนวิธีสร้างพระพุทธโดยไม่ต้องสร้าง ไม่เปลืองงบประมาณ เข้ามาในศาลาก็จะปรากฏเห็นความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ตรงหน้า เข้าถึงได้โดยตรง ไม่ต้องมีฉนวนคือ โต๊ะหมู่ แจกัน ขวางหน้า

ทันทีที่กราบพระก็ถึงองค์พระเลยนี่แหละที่ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า “พระพุทธรูปคือภูเขากางกั้นไม่ให้เข้าถึงพระพุทธธรรม” (พูดครั้งแรกถูกด่าทั่วเมือง) พอนานเข้าคนค่อยเข้าใจขึ้น

เอาอะไรๆ ที่เป็นวัตถุ เช่น โต๊ะหมู่ ดอกไม้ธูปเทียน แจกัน เอาออกบ้าง กระทั่งอิฐปูนที่สร้างเป็นพระพุทธรูปเอาออกบ้าง จะได้เข้าใกล้พระพุทธองค์มากขึ้น

แล้วก็ก้มกราบภาวะความสะอาด สว่าง สงบ ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และกราบบ่อยๆ เข้า ความสะอาด สว่าง สงบ ก็จะปรากฏขึ้นในจิตใจของเรา เมื่อนั้นแหละ เราก็จะร้องว่า “Oh, I see”


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2009, 11:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“สามสหายธรรม” จากซ้าย : ท่านพุทธทาสภิกขุ,
ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต, ท่านปัญญานันทภิกขุ



หลวงพ่อปัญญานันทะ มี “สหายธรรม” ร่วมกันอยู่ ๓ ท่าน หนึ่งคือ ‘หลวงพ่อพุทธทาส’ เป็นที่รู้กันทั่วไป สองคือ ‘หลวงพ่อปัญญานันทะ’ เอง แต่สามนี่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไหร่ คือ ‘หลวงพ่อบุญชวน เขมาภิรัต (ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต)’ หรือพระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร และอดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ท่านผู้นี้หลวงพ่อปัญญานันทะเรียกว่า “พี่ท่าน” เพราะมีอายุพรรษามากกว่าท่าน เอาความรับรู้ส่วนตัวของผมมาเล่าก่อนดีกว่า ผมได้อ่านงานเขียนของท่านสมัยผมเป็นสามเณรเล็กๆ รู้สึกประทับใจ ว่าท่านผู้นี้แต่งได้ไพเราะเหลือเกิน

งานเขียนที่ว่านี้คือเป็นบทกลอนสอนธรรม เรื่องยาว ผมจำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ลงติดต่อกันใน “พุทธจักร” โดยใช้นามปากกาว่า “บ.ช.เขมาภิรัต” ค่าที่ตัวเองถือตัวว่าเป็น “กวีวิเสโส” (ตามศัพท์แปลว่า กวีวิพิเศษ แต่ “กวีพอกะเทิน” นั้นแล ผมชอบกวีนิพนธ์ และตอนหนุ่มคิดจะเป็น “ศรีปราชญ์สอง” แต่พอโตมาเขียนกวีเป็น

ถึงรู้ว่ามือไม่ถึง บังเอิญผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณมา (ส.ศิวรักษ์) คอมเมนท์ไว้ว่า “พระรูปนี้ถ้าไม่ถูกห้ามเขียนหรือไม่หยุดเสียเอง ต่อไปจะเป็นกวียิ่งใหญ่” ผมเลยหยุดเขียนทันที ฮิฮิ

ความรู้สึกของผม ในสามสหายธรรมหรือในสามพี่น้องนี้ หลวงพ่อพุทธทาสเป็นกวีที่เขียนกลอนได้สาระในทางธรรมมาก เรียกว่า “อัดสาระไว้แน่น” แต่ไม่ค่อยพลิ้ว ไม่อ่อนไหวทางอารมณ์ หลวงพ่อปัญญาไม่ค่อยมีแววทางกวีนิพนธ์เท่าไหร่ แต่หลวงพ่อบุญชวนต้องนับว่าเป็นกวีที่แท้จริง ผมไม่ทราบว่างานของท่านส่วนมากเป็นกวีนิพนธ์หรือเปล่า ผมอ่านงานของท่านน้อยมาก แต่โชคดีช่วงหลังนี่ได้รู้จักคนดังๆ หลายท่าน ล้วนแต่เป็นศิษย์หลวงพ่อบุญชวน วัดขันเงิน แทบทั้งนั้น

อาจารย์ยุพิน ดุษยามี อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม ยืนยันได้ว่าหลวงพ่อบุญชวนเป็นกวีที่มหัศจรรย์ยิ่ง ท่านเล่าว่า วันหนึ่งท่านอ่านบทกวีภาษาอังกฤษ ตั้งใจจะนำไปสอนเด็ก แต่แปลไม่ค่อยจะสละสลวย จึงนำไปอ่านให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อพอฟังเท่านั้น ก็ร่ายคำแปลเป็นกลอนสดๆ ขึ้นมาทันที น่ามหัศจรรย์ใจยิ่ง

กลอนบทนั้นมีว่า

Four ducks on the pond,
A grass bank beyond,
Blue sky in spring,
White clouds in spring.
Such a little thing
To remember for years,
To remember with tears.


หลวงพ่อท่านแต่งเป็นกลอนสดๆ ว่า

“เป็ดสี่ตัวลอยฟ่องบนท้องน้ำ
โน่นฝั่งงามหญ้าคลุมชอุ่มเขียว
ฟ้าสีครามยามสปริงงามจริงเจียว
เมฆขาวเที่ยวลอยฟ่องท้องนภา
เรื่องน้อยน้อยนิดนิดชนิดนี้
พอเป็นที่ฝังใจนานนักหนา
เป็นสิ่งที่เตือนให้ต้องนองน้ำตา
อนิจจา เรื่องเก่าเบาเมื่อไร”


นี่แหละครับ ฝีปากปฏิภาณกวี สมสมณศักดิ์ล่าสุดของท่านว่า “พระราชญาณกวี” สมัยก่อนโน้นการให้สมณศักดิ์แก่พระเถระรูปใดรูปหนึ่ง ท่านนึกถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมแก่เจ้าตัวผู้รับพระราชทานกันทั้งนั้น ไม่ได้ให้ส่งๆ ไม่ตรงกับความรู้ความสามารถหรือความถนัดแต่อย่างใด

ท่านที่เป็นกวี ก็จะได้พระราชทินนามว่า “กวี” (เช่น พระราชญาณกวี) ท่านที่มีความสามารถในการเทศน์ประชาชน ก็จะมีสมณศักดิ์ในทางนั้น เช่น พระปฏิภาณโกศล แต่สมัยนี้เนื่องจากบุคคลที่อยากได้ตำแหน่งมีมาก บางทีก็ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอะไร ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ก็ได้สมณศักดิ์เริดหรู เกินความถนัดก็มากมี อาทิ พระปิฎกปิลันธน์ (พระผู้ประดับด้วยพระไตรปิฎก-สมณศักดิ์นี้ไม่มีจริง สมมุติให้ฟังเฉย) ทั้งๆ ที่ไม่เคยจับพระไตรปิฎกเลย ประมาณนั้น

หลวงพ่อบุญชวน เป็นพระที่ทันสมัย ขวนขวายเรียนวิชาการที่จะเป็นประโยชน์แก่การเผยแผ่ธรรมมากมายหลายสาขา ด้วยการอ่านเอง ไม่น่าเชื่อสมัยโน้น สมัยที่พระไทยไม่รู้จักภาษาต่างประเทศ นอกจากภาษาบาลีอย่างเดียว หลวงพ่อบุญชวนรูปนี้สามารถพูดเขียนภาษาต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่าสามภาษา ท่านรู้ได้อย่างไร คำตอบคือเรียนด้วยตนเองครับ

เมื่อครั้งพระภิกษุชาวอิตาเลียนนาม (ที่ท่านพุทธทาสรังเกียจว่ายกตนเสมอพระพุทธเจ้า) “โลกนาถ” มาเมืองไทย มาชักชวนพระไทยเดินธุดงค์ไปประกาศศาสนา มุ่งหน้าไปทางพม่า อินเดีย นั้น มีพระภิกษุจำนวนร้อย มีสามเณรรูปเดียวคือสามเณรกรุณา กุศลาสัย เรียกคณะธรรมทูตชุดนี้ว่า “พระใจสิงห์” พี่น้องสองรูป ยกเว้นท่านพุทธทาส คือหลวงพ่อปัญญานันทะและหลวงพ่อบุญชวนร่วมขบวนไปด้วย

หลวงพ่อบุญชวนกลายเป็นหน้าบรรดาพระใจสิงห์โดยอัตโนมัติ เพราะสามารถพูดภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส สื่อสารกับพระโลกนาถได้เพียงรูปเดียว ซึ่งหลวงน้องปั่น ปทุมุตตโร (หลวงพ่อปัญญานันทะ) เอ่ยถามวันหนึ่งว่า ไปเรียนภาษาเหล่านี้มาจากไหน ท่านตอบสั้นๆ ว่า “เรียนเอง”

หนึ่งในจำนวนงานเขียนของท่าน มีแปลบทกวีภาษาอังกฤษ เป็นบทกวีไทยด้วยไพเราะลึกซึ้งมาก ผมไม่ได้เป็นศิษย์หลวงพ่อ และก็ไม่ได้ศึกษางานของท่านมากมาย เพียงแต่ซุกซนค้นนั่นค้นนี่มาอ่าน ไปเจอข้อเขียนของท่านในพุทธจักร ก็ประทับใจไม่ลืม ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร ก็เพิ่งมาแจ่มแจ้งก็ต่อเมื่อได้มารู้จักกับบรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันหลายคน

และทราบว่า กำลังจัดงาน ๑๐๐ ปีของท่าน ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ที่จะถึงนี้ ผมถือว่ามีบุญที่ได้กล่าวถึงพระผู้เป็น “สุปฏิปันนสาวก” ของพระพุทธองค์ ดังหลวงพ่อบุญชวนนี้

หลวงพ่อปัญญานันทะนั้น ได้แรงหนุนจาก “พี่ท่านบุญชวน” มาก แรกไม่อยากเรียนหนังสือมากมาย หลวงพี่บุญชวนของท่านบอกว่า ต้องไปเรียนในกรุงให้ได้อย่างน้อยสามหรือสี่ประโยค พอแปลภาษาบาลีได้ จึงจะสามารถค้นคว้าพระไตรปิฎกเข้าใจ และนำมาสอนคนอื่นได้ หลวงพ่อปัญญานันทะ ท่านจึงมาเรียนบาลี (ดูเหมือน) ที่วัดสามพระยา เขตพระนคร ถ้าจำไม่ผิด ครั้งแรกสอบประโยคสามตก

หลวงพี่บุญชวนของท่านกระตุ้นว่า เอาให้สอบให้ได้ จนในที่สุดก็สอบได้เปรียญสามประโยค และต่อมาได้สี่ประโยค พอมีความรู้ความสามารถแปลบาลีออกแล้ว หลวงพ่อปัญญาก็เลิกเรียน หันมาสนใจเทศน์สอนธรรมแก่ประชาชนต่อมา และงานเทศน์สอนธรรมของหลวงพ่อปัญญาก็ประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์ เรียกได้ว่าหลวงพ่อท่านได้สร้างประวัติศาสตร์ของการเทศน์สอนธรรมที่โด่งดังที่สุดชนิดที่ไม่มีใครจะลบประวัติศาสตร์หน้านี้เลยทีเดียว

หลวงพ่อปัญญาพูดถึงหลวงพ่อบุญชวนว่า พี่ท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน จะทำอะไรต้องให้สำเร็จในบัดเดียวนั้น บางทีค้นคว้าหนังสือเพื่อหาคำตอบบางเรื่อง ก็หมกมุ่นอยู่นั่นแล้ว ไม่ยอมวาง ขยันเกินเหตุท่านว่าอย่างนั้น ครั้งหนึ่งมีผู้เอาหนังสือแปลวิชาการภาษาต่างประเทศมาให้ท่านตรวจ ท่านอ่านแล้วขัดใจ ลงทุนแปลให้ใหม่เลย คร่ำเคร่งไม่หลับไม่นอนจนกระทั่งเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษากัน ค่อยยังชั่วแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ พี่ท่านมรณภาพเพราะซีเรียสเกินไป หลวงพ่อว่าอย่างนั้น แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นบุคลิกของแต่ละคน

หลวงพ่อพุทธทาสสั่งหลวงพ่อปัญญาว่า อย่าลืมเทศน์สอนเน้นย้ำเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว ให้มากและให้บ่อยที่สุด เจ้าความเห็นแก่ตัวนี้แหละร้ายกาจ ทำให้ชาติวิบัติฉิบหาย ต้องช่วยกันพยุงชาติศาสนาให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการชี้โทษของความเห็นแก่ตัว

เพราะแนวคิดนี้ สมัยหนึ่งจึงนฤมิตกรรมทางศิลปะ ที่สร้างพระพุทธรูปโดยเจาะตัวหนึ่งโปร่ง อ่านได้ข้อความสอนใจต่างๆ เช่น “ตัวกูของกู” , “อย่าเห็นแก่ตัว” , “รู้รักสามัคคี” , “รู้จักพอเพียง” , “อยู่กับสติ” เป็นต้น นี่ก็คือนวัตกรรมในทางสร้างสื่อการสอนอย่างหนึ่ง น่าเสียดายว่า น่าจะมีผู้พัฒนาศิลปะให้สวยงามและตื่นตาตื่นใจมากกว่านี้


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2009, 06:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ


บอกแล้วไง ว่าจะเขียนถึงหลวงพ่อจนกระทั่งรวมเล่มพ็อคเก็ตบุ๊ก ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่ผมเอง ความจริงเรื่องของหลวงพ่อมีให้เขียนถึงมาก ยิ่งเขียนก็ยิ่งคิดถึง ท่านที่คิดถึงหลวงพ่อมากๆ ก็ขอให้หาเทศนาและปาฐกถาของท่านมาอ่าน เวลาอ่านก็นึกถึงน้ำเสียงของท่านเสมือนหนึ่งว่ากำลังฟังท่านสดๆ จะได้รสชาติ และซาบซึ้งในธรรมอย่างยิ่ง

ลักษณะที่เหมือนระหว่างหลวงพ่อพุทธทาสกับหลวงพ่อปัญญา อย่างหนึ่งคือ สอนในสิ่งที่ควรสอน สิ่งที่ไม่ควรสอน ไม่ควรให้ความสนใจ แม้จะมีคุณค่าทางวิชาการ แต่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทั้งสองท่านมักจะเลี่ยง

ที่ผมพูดนี้หมายถึง “ปัญหาทางอภิปรัชญา” ทั้งหลาย (Metephysical problems) เมื่อมีผู้ยกเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาถาม หลวงพ่อพุทธทาสก็ speak English ทันที “โอ๊ย เรื่องทำนองนี้เป็นแค่ intellectual food” พูดเอามันในอารมณ์เท่านั้น ไม่มีผลในแง่ปฏิบัติ แล้วท่านก็เลี่ยงไปพูดเรื่องอื่นที่มัน “ใกล้ตัว” ของผู้พูดผู้ฟังมากกว่า

การไม่พูดเรื่องโลกนี้โลกหน้าหลังตายแล้ว หลายครั้งเตือนว่าชาวพุทธควรสนในนิพพาน บัดนี้เดี๋ยวนี้ ให้มาก มากกว่าคิดแต่จะคอยนิพพานในชาติหน้า บางครั้งเมื่อเตือนสุภาพๆ ก็ยังไม่ได้ผล ท่านก็จะพูดว่า “โลกหน้าหลังตายแล้ว เป็นโลกหน้าของคนโง่”

ได้ผลครับ ผู้รู้หลายท่านกล่าวหาว่า หลวงพ่อพุทธทาสปฏิเสธชาติหน้า ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎก บางรายเล่นแรงว่า หลวงพ่อพุทธทาสสอนคำสอนเดียรถีย์

ถึงกับออกพ็อคเก็ตบุ๊ก ขายดีในแวดวงผู้สนในโลกหน้า (มากกว่าโลกนี้) ว่างั้นเถอะ

ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งหลวงพ่อปัญญานันทะ รับนิมนต์ไปปาฐกถาที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ที่ผมสอนอยู่ด้วย จบปาฐกถาก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังถามข้อสงสัย ผู้ฟังคนหนึ่งยกมือขึ้นถามว่า

“พระพุทธเจ้าเชื่อว่ามีโลกหน้าไหม"

องค์ปาฐก (นิยมพูดคำศัพท์อย่างนี้ ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่) ก็ตอบทันทีว่า “อย่าไปถามพระพุทธเจ้าเลย พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ถาม “อามา” (อาตมา) เถอะ โลกหน้านี้พระบาลีเรียกว่า ปรโลโก (โลกอื่นนะ) ไม่มีโลกหน้าโลกหลัง” ว่าแล้วท่านก็หันไปพูดเรื่องอื่น

ผู้ถามงง (อาจรวมถึงผู้ฟังอื่นด้วย) ผมนั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ผมชื่นชมหลวงพ่อปัญญานันทะมาก ชื่นชมที่ท่านตัดบทได้อย่างนุ่มนวลต่างจากกรณีอื่นๆ และแสดงให้เห็นจุดยืนว่า ท่านไม่สนใจและไม่อยากให้ชาวพุทธสนใจในเรื่องไกลตัวมากนัก ควรหันมาสนใจเรื่องปัจจุบันดีกว่า ทำอย่างไรเราจะลดละทุกข์และสร้างสุขใจได้มากยิ่งขึ้น เรื่องเหล่านี้ต่างหากที่ควรให้ความสนใจ

หลวงปัญญานันทะ มีสุขภาพแข็งแรง ท่านใส่ใจการรักษาสุขภาพเสมอ ดูเหมือนท่านไม่มีโรคประจำอะไร นอกจากโรคชราตามธรรมดาของสังขาร สิ่งหนึ่งที่ทราบว่าท่านทำประจำคือเดินออกกำลังกาย วันหนึ่งท่านเดินไปเห็นเด็กน้อยคนหนึ่ง เด็ดดอกไม้เล่นด้วยความสนุกตามประสาเด็ก วิญญาณของนักเทศน์ก็ฉายออกมา ด้วยความกรุณาท่านก็กล่าวกับเด็กน้อยนั้นว่า “หนู เด็ดดอกไม้ทำไม” เด็กบอกว่า “ก็อยากเด็ด” (คงมิใช่ต้องการเล่นลิ้นกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ไม่รู้จะตอบอย่างไร)

หลวงพ่อสอนว่า “ดอกไม้มันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ตรงข้ามมันมีแต่ให้ ให้สีสดสวย ให้กลิ่นหอมร่มรื่น เพลิดเพลินตา หนูเด็ดมันแล้ว มันก็ไม่มีโอกาสให้คุณค่าของมันแก่โลกนะ”

เด็กน้อยคงงงว่าหลวงตารูปนี้พูดอะไร วันหลังพบเด็กคนนั้นอีก หลวงพ่อถามว่า หนูยังเด็ดดอกไม้อีกหรือเปล่า เด็กน้อยตอบว่า ไม่เด็ดแล้วครับ

แล้วท่านก็ชื่นชมว่า เด็กเป็นเสมือนผ้าขาว เราจะเอาสีอะไรมาแต้มก็ได้ ข้อสำคัญผู้ใหญ่มักจะไม่สนใจแต้มสีที่สวยๆ งามให้ผ้าขาวเหล่านี้

ผมไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่า ทำให้หลวงพ่อปัญญานันทะเทศนาสอนวิธีเลี้ยงลูกให้ถูกทางออกมาเป็นชุดเลย หนังสือเล่มนี้ชื่อ “เลี้ยงลูกให้ถูกทาง” ควรที่พ่อแม่ หรือคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ที่มีหลานตัวเล็ก จะอ่านและนำเอาคำแนะนำของท่านไปปลูกฝังแก่ลูกหลานของท่านอย่างยิ่ง

ท่านปรารภในคำนำว่า จากการที่เดินทางไปเผยแผ่ธรรมในสถานที่ต่างๆ เสมอ “ได้พบเห็นอะไรหลายอย่าง เมื่อเห็นแล้วก็นำมาคิดหาเหตุผลของเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กๆ เป็นปัญหาที่ต้องคิดมาก เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนก่อน เพราะสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน สมัยก่อน ความเป็นไปของสังคมเป็นไปตามเรื่องที่มันเป็นไป แต่สมัยนี้สังคมวิ่งแข่งกันตลอดเวลา ชาวโลกอยู่ด้วยการแข่งขันกัน ชิงดีชิงเด่นกัน ผู้ปกครองของเด็กไม่มีเวลามากนักสำหรับอยู่กับลูก เพราะอาชีพบีบคั้นอยู่เสมอ ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้น เราจึงได้ข่าวร้ายต่างๆ เสมอมา”

อีกประการหนึ่ง แม้พ่อแม่จะมีเวลาเลี้ยงดูลูก แต่บังเอิญว่าเลี้ยงผิดทาง เพราะความรักลูกไม่ถูกทางเป็นต้นเหตุแห่งความผิดพลาดขึ้น จนความหวังดีกลายเป็นความหวังร้าย ทำลายลูกของตัวเองโดยไม่รู้ตัว จึงมีความจำเป็นจะต้องบอกต้องสอนวิธีเลี้ยงลูกให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง

หลวงพ่อแก้ข้อสงสัยผู้อ่านหนังสือนี้ว่า “บางคนสงสัยว่า ข้าพเจ้าเป็นพระ ไม่มีครอบครัว ทำไมมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ขอทำความเข้าใจสักหน่อยว่า ถึงแม้พระจะไม่มีครอบครัว แต่พระมีความคิดช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ จึงทำการศึกษาค้นคว้าอ่านหนังสือประเภทเกี่ยวกับเด็กบ้าง แต่ก็ช่างหายากจริงๆ เคยเข้าไปในห้องสมุดเพื่อค้นคว้า ก็มีน้อยเหลือเกิน มีอยู่เล่มเดียว ชื่อวิธีอบรมเด็ก ของนายแพทย์จำรัส ศิริสัมพันธ์ ข้าพเจ้าอ่านหลายเที่ยว เก็บข้อความไปพูดวิทยุกระจายเสียงบ้าง จึงใคร่ขอวิงวอนผู้ใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องเกี่ยวกับเด็กให้มาก และให้บิดามารดาใส่ใจศึกษาและอบรมลูกหลานให้ดี อันจะเป็นการช่วยชาติประการหนึ่ง”

ความจริงการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของเด็กนี้ ดูจะเป็น “ธรรมชาติ” ของมนุษย์โดยทั่วไปกระมัง ว่าไปทำไมมี ในพระไตรปิฎกก็บันทึกเรื่องราวที่พระพุทธองค์ตรัสสอน หรือให้โอวาทแก่เด็กค่อนข้างน้อย คงมิใช่เพราะพระพุทธองค์ไม่ใส่ใจสอนเด็ก หากคงเพราะผู้บันทึกมิได้ใส่ใจบันทึกไว้มากกว่า สังเกตเห็นได้ ในคัมภีร์อรรกถาได้บันทึกเทคนิควิธีสอนเด็กเล็กหลายแห่ง ในขณะที่คัมภีร์ชั้นต้นไม่ให้ความสำคัญ บางครั้งยินยอมเข้าข้างเด็ก (ทั้งที่รู้ว่าเด็กผิด) เพื่อให้เด็กดีใจที่พระศาสดายังเห็นด้วย แต่ภายหลังทรงสอนว่า การทำเช่นนั้นไม่ถูก แล้วปรับพฤติกรรมของเด็กคนนั้นในที่สุด

คราวหนึ่ง ขณะเสด็จออกไปบิณฑบาต ระหว่างทางทรงทอดพระเนตรเห็นพวกเด็กๆ กำลังเอาไม้ไล่ตีงูตัวหนึ่ง พระองค์จึงเสด็จเข้าไปใกล้ เมื่อเห็นพระ พวกเด็กก็หยุดไล่งู

“พวกเธอกำลังทำอะไร” ตรัสถามด้วยความปรานี

“ไล่ตีงู พระเจ้าข้า” พวกเด็กตอบ

“ตีมันทำไม”

“กลัวมันกัด พระเจ้าข้า”

“มันกัดหรือยังล่ะ”

“ยังไม่กัด พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า งูยังไม่ทันกัดเลย พวกเธอไล่ตีมัน เพียงเพราะกลัวมันจะกัด พวกเธอทำไม่ถูกนะ สมมุติว่า มีใครเอาไม้มาตีพวกเธอ พวกเธอจะเจ็บไหม ต่างยอมรับว่าเจ็บ แล้วพระองค์ตรัสต่อว่า “เช่นเดียวกัน พวกเธอตีงู งูมันก็เจ็บ ถ้าพวกเธอไม่อยากถูกใครตีให้เจ็บ ก็ไม่ควรทำให้คนอื่นเจ็บ”

เด็กน้อยทั้งหลายเข้าใจ พากันเลิกพฤติกรรมเบียดเบียนสัตว์อื่นในที่สุด

หลวงพ่อปัญญานันทะคงตระหนักว่า วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก โดยให้เขาเข้าใจว่าทำอย่างนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอน เป็นวิธีหนึ่งในหลายวิธีสอนเด็ก ได้นำไปใช้สอน (เด็กเด็ดดอกไม้เล่น) ได้ผลมาแล้วด้วย จึงเกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ “สอนลูกให้ถูกทาง” เผยแพร่ ตอนต่อไปผมขอนำเนื้อหาของหนังสือ “รักลูกให้ถูกทาง” มาฝากผู้อ่านก็แล้วกัน ท้ายนี้ขอฝากคำคมของหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้

“เรื่องกิริยามรรยาทของเด็กนั้น ถ้าบิดามารดาไม่เอาใจใส่แก้ไขจริงๆ แล้ว
นิสัยไม่ดีจะติดใจเด็กต่อไป จะทำให้อนาคตของสกุลท่านเศร้าหมองและมืดมัว
ต่อไปข้างหน้า ความรับผิดชอบนี้ จึงขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของพ่อแม่โดยแท้”


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2009, 06:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สัญญาว่าจะนำเอาวิธี “สอนลูกให้ถูกทาง” ของหลวงพ่อมาเล่าให้ฟัง หลวงพ่อได้พูดแล้วว่า ถึงท่านจะเป็นพระ ไม่มีครอบครัว แต่ท่านสนใจการฝึกฝนอบรมเด็กมาก ท่านประหลาดใจมากเมื่อไปค้นคว้าหนังสือที่บอกวิธีเลี้ยงลูก หรือเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ กลับไม่ค่อยมีใครค้นคว้าวิจัย หรือเขียนเป็นแนวทางเลย ท่านได้พบอยู่เล่มเดียว เขียนโดยนายแพทย์จำรัส ศิริสัมพันธ์ จึงเกิดแรงบันดาลใจพูดและเขียนเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกให้ถูกทางดังกล่าว

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น ๓๗ บท อธิบายโดยใช้ภาษาง่ายๆ ยิ่งอ่านสนุก ประเด็นที่ท่านเขียนมีดังนี้ครับ ๑. ครูคนแรกของลูก ๒. อิทธิพลของกรรมพันธุ์ ๓. ปรารถนาบุตรที่ดีไว้สืบสกุล ๔. การรับการถ่ายทอดอุปนิสัย ๕. ความรักที่บริสุทธิ์ ๖. แม่พิมพ์ของลูก ๗. สัญชาตญาณของเด็ก ๘. อย่าใช้อารมณ์กับเด็ก ๙. ฝึกเด็กให้กินเป็นเวลา ๑๐. เด็กต้องการอะไร ที่ไหน เมื่อไร

๑๑. วิธีแก้นิสัยเกเร ๑๒. อย่าสร้างอาณาจักรของความกลัว ๑๓. วิธีแก้ความดื้อรั้นของเด็ก ๑๔. จงแก้พื้นฐานความริษยาของเด็กแต่เยาว์วัย ๑๕. เพราะอะไร ลูกจึงเป็นอาชญากร ๑๖. พ่อแม่ควรสอนอะไรแก่ลูกก่อน ๑๗. อย่าเบื่อในการตอบปัญหาของลูกๆ ๑๘. ฝึกเด็กให้องอาจกล้าหาญ อย่าให้เป็นเจ้าหนูขี้อาย ๑๙. กีฬาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ๒๐. ฝึกเด็กให้พูดสัตย์จริง

๒๑. ฝึกเด็กให้ตรงต่อเวลา ให้รู้ค่าของเวลา ๒๒. ฝึกเด็กให้เป็นคนมีระเบียบวินัย ๒๓. ฝึกลูกอย่าให้เป็นคนมักได้ ให้รู้จักเคารพในสิทธิของบุคคลอื่น ๒๔. ฝึกลูกอย่าให้เป็นคนเห็นแก่ตัว รู้จักเสียสละ ๒๕. การเพาะความสามัคคีในหมู่ลูกๆ ๒๖-๒๗. ฝึกลูกให้รู้จักประหยัดตั้งแต่เยาว์วัย ๒๘. ฝึกลูกให้รู้จักกตัญญูกตเวที ๒๙. ฝึกเด็กให้รู้จักให้อภัยแก่เพื่อน ๓๐. ฝึกเด็กให้รู้จักพึ่งตัวเอง ช่วยตนเอง

๓๑. ฝึกเด็กให้ศึกษาสิ่งแวดล้อม ๓๒. วิธีป้องกันเด็กไม่ให้หนีโรงเรียน ๓๓. สอนเด็กให้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ๓๔. เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความสามารถ ๓๕. บ้านคือโรงเรียน ๓๖. เด็กกับการแต่งกาย ๓๗. เด็กที่ได้รับการฝึกฝนแล้วเท่านั้นเป็นเด็กประเสริฐสุด

ล้วนแต่หัวข้อน่าสนใจทั้งนั้น ขอยกประเด็นที่น่าสนใจ (อย่างน้อยผมสนใจละครับ) มาขยายให้ฟังเท่าที่หน้ากระดาษจะอำนวย

(๑) พ่อแม่มักสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้แก่ลูก เมื่อเห็นเด็กซุกซนตามประสาเด็ก ตนขี้เกียจควบคุมดูแลเขา ก็หลอกให้เด็กหวาดกลัวสิ่งต่างๆ เช่น อย่าเข้าไปในห้องนั้นผีจะมาบ้าง จิ้งจกตุ๊กแกจะกัดจู๋บ้าง อะไรสารพัดสัตว์ที่น่ากลัว ว่าแล้วก็ทำท่าทางน่ากลัวขึ้นมาทีเดียว วิธีหลอกให้เด็กกลัวเช่นนี้ แม้ผู้ใหญ่จะเจตนาดีอยากให้เด็กหยุดซุกซน แต่เป็นการบ่มเพาะให้เด็กกลัวไม่มีเหตุผล ผู้ใหญ่เองก็บาปเพราะพูดเรื่องไม่จริง

ในเมืองไทยเรา ผู้ใหญ่ชอบนำนิทานผีมาเล่าให้เด็กฟังบ่อยๆ เต็มไปด้วยความสยดสยอง ผู้เล่าเองก็ทำท่าทางน่ากลัว เล่าไปๆ คนเล่าเองก็พลอยกลัวไปด้วย นี่คือการเพาะนิสัยให้เด็กกลัวผี นอกจากไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ยังทำให้เด็กเป็นคนขลาดกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว กลายเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตัวเอง

ท่านรักลูกของท่านมิใช่หรือ ท่านไม่อยากให้ลูกของท่านเป็นคนมีนิสัยขลาดกลัวไม่ใช่หรือ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำได้คือ หาทางป้องกันอย่าให้ลูกของท่านสร้างอาณาจักรของความกลัวไว้ในใจเขา ถ้าลูกของท่านรับรู้เกี่ยวกับเรื่องผีสางอย่างโง่ๆ ด้วยความขลาดกลัว ท่านรู้แล้วอย่าได้นิ่งเฉย จงรีบอธิบายเหตุผลให้เขาเข้าใจว่า เรื่องที่ได้ยินได้ฟังนั้น เป็นเพียงนิทานที่เขานำมาเล่าเล่นๆ สนุกๆ เท่านั้น ผีไม่มีดอก มีแต่ “ผีหลอกๆ” ในนิทานเท่านั้น พระสงฆ์ที่ท่านธุดงค์ไปอยู่ป่า ท่านก็บอกว่าไม่เคยเจอผี ถ้าผีมีจริงมันหลอกพระวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปแล้ว

การให้เหตุผลแก่เด็กเท่านั้น จะทำให้เด็กของท่านมีปัญญามากขึ้น และขจัดความหลงผิดต่างๆ ให้หายไป จงอย่าได้เข้าใจผิดว่าการหลอกเด็กเป็นความสนุก ตัวผู้หลอกอาจสนุก แต่ผู้ถูกหลอกจะทุกข์ถนัด ทำให้เพาะนิสัยขี้ขลาดหวาดกลัวแก่เด็ก การกลัวในสิ่งไม่ควรกลัวเป็นภัยในอนาคตแก่เด็กอย่างมหันต์

แล้วหลวงพ่อก็ให้หลักในการฝึกเด็กไม่ให้สร้างอาณาจักรแห่งความกลัว ดังนี้

๑. อย่าพูดจาหลอกหลอนเด็กของท่านไม่ว่ากรณีใดๆ

๒. จงให้เหตุผลในเรื่องที่เด็กยังไม่เข้าใจ ให้เขาได้เข้าใจอย่างชัดเจน

๓. อย่าให้ลูกของท่านอยู่กับคนโง่ๆ ที่นำเรื่องเหลวไหลมาหลอกลูกของท่าน

๔. ถ้าลูกของท่านไปรับอะไรมาและทำให้เกิดความกลัว ท่านจงพยายามล้างสมองของเขาด้วยการพูดความจริงให้เขาฟัง

๕. อย่าเบื่อหน่ายในการตอบปัญหาของเด็กที่ถามจุกจิก

๖. อย่าสนทนาในเรื่องที่หวาดเสียวให้เด็กได้ยิน

๗. จงพยายามให้เขานอนตามลำพัง เพื่อให้เขาห่างผู้ใหญ่บ้าง เมื่อโตเขาโตพอสมควรแล้ว

๘. ภาพเขียนและวัตถุใดๆ ที่ทำให้เกิดความกลัว ต้องพูดให้เด็กเข้าใจว่ามันเป็นอะไรแน่

(๒) ประเด็นความดื้อความซนของลูก ผมบริการตั้งชื่อให้ลูกๆ ของแฟนๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ คำถาม (ความจริงคำบ่น) ของพ่อแม่ก็คือ ลูกดื้อและซนเหลือเกิน อาจารย์ช่วยตั้งชื่อให้ลูกหายดื้อหายซนได้บ้างไหม

ผมก็ตอบว่า นั่นเป็นธรรมชาติของเด็ก เด็กที่ไม่ซน ไม่ดื้อน่ะ ผิดธรรมชาติ ซนบ้างดื้อบ้างนั่นแหละเป็นเครื่องหมายว่าเด็กโตมาจะเป็นเด็กฉลาด คุณชอบให้ลูกคุณนั่งตรงไหนก็ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นหรือครับ คิดให้ดี

เรื่องนี้หลวงพ่ออธิบายว่า เพราะผู้ใหญ่ไม่รู้ใจเด็ก และชอบทำอะไรขัดใจเขา เช่น เด็กกำลังเล่นรถเพลินอยู่ ผู้ใหญ่ก็ไปหยิบรถนั้นขึ้นมา ขัดจังหวะที่เขากำลังสนุกอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อเด็กถูกขัดจังหวะ จะพูดโต้แย้งหรืออธิบายไม่ได้ เพราะยังเด็ก ก็แสดงความไม่พอใจออกมา เมื่อผู้ใหญ่ขัดจังหวะ หรือขืนใจเด็กบ่อยๆ โดยไม่ใส่ใจในอารมณ์ของเด็ก ถือว่าเป็นเรื่องเล็กไม่สำคัญอะไร ความไม่พอใจของเด็กก็มีมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็หาว่าเด็กดื้อ ไม่ทำตามคำสั่ง

ท่านลองนึกดู ถ้าท่านเองกำลังทำอะไรเพลินอยู่ ถ้ามีใครมาขัดคอ หรือขัดจังหวะ ท่านคงจะไม่พอใจ เกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมาทันที

ความหงุดหงิดเกิดขึ้นในใจใครบ่อยๆ นั่นคือวิธีสะสมความโกรธขึ้นละน้อยๆ ผลที่สุดจะกลายเป็นความโกรธไปได้ คนเราถ้าโกรธขึ้นมาแล้ว ย่อมไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักเหตุผล เลยไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น อาการไม่ฟังเสียงใครนี่แหละคือความดื้อด้าน จึงพอจับหลักได้ว่า การขัดจังหวะเด็กบ่อยๆ ทำให้เด็กเป็นคนเจ้าโทสะได้ ผู้ใหญ่ควรระวังเรื่องนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมรักเสรีภาพด้วยกันทั้งนั้น จงให้เสรีภาพแก่เขาบ้าง อย่ายุ่งกับเขาเกินไป

บางทีผู้ใหญ่เห็นเด็กซนเกินไป (ตามความรู้สึกของผู้ใหญ่) ก็ตวาดด้วยเสียงดัง “หยุด..อย่า.. เงียบ.. มานี่.. บอกให้หยุด” อะไรทำนองนี้

การกระทำในรูปแบบนี้เป็นความผิด เพราะคำพูดแบบนี้ออกมาจากใจที่เศร้าหมอง คนเศร้าหมองมองหน้าก็เศร้าหมอง การกระทำก็หยาบคายตามใจที่เศร้าหมอง เป็นการแสดงภาพเสียให้เด็กเห็น เขาอาจจำภาพ และท่าทางนี้ของท่านไปทำในภายหลังกับคนอื่น

(๓) อย่าเบื่อในการตอบคำถามของลูก ข้อนี้เป็นเทคนิควิธีอบรมลูกของพ่อแม่ที่ควรใส่ใจอย่างยิ่ง วัฒนธรรมไทยที่ชอบห้ามปรามลูกๆ อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ หรืออะไรที่เด็กพูด แม้จะเข้าท่า หรือถูกต้องก็ไม่ยอมรับว่าถูกต้อง มักจะอ้างเสมอว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ย่อมรู้ดีกว่าเด็ก บางทีก็เลยเถิดถึงขั้นว่า ผู้ใหญ่ไม่มีผิด ถูกเสมอ จึงไม่มีการ “ขอโทษ” หรือรับผิดจากผู้ใหญ่ ในขณะที่เรียกร้องคำขอโทษ หรือการรับผิดจากเด็กเพียงฝ่ายเดียว

การเลี้ยงดูที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กถาม หรือตอบคำถามที่ไม่ตรงความจริงต่างๆ นี้แหละ เป็นสาเหตุสำคัญที่ block สติปัญญา ความใฝ่รู้ของเด็ก ทีละนิดๆ จนกระทั่งปิดกั้นโดยสิ้นเชิง

สังเกตไหมครับ เด็กนั้นฉลาดอย่างยิ่ง แววแห่งความฉลาดฉายออกมาจากการซักโน่น ถามนี่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผู้ใหญ่ขี้รำคาญ ก็จะไม่ยินดีตอบ หรือตอบก็ตอบผิดๆ นอกเรื่อง

เมื่อเด็กถามหนักเข้า ก็จะตวาดว่า “ถามห่.. อะไรจู่จี้ เดี๋ยวตบกะโหลก” ผลก็คือ เด็กไม่ถามอีกต่อไป โตมาก็กลายเป็นผู้ใหญ่ซื่อบื้อ ไม่รู้จักซัก ไม่รู้จักถาม สงบเสงี่ยมเกินเหตุไปเลย ท่านที่เป็นนักเรียนนอก จะรู้ว่านักเรียนไทยอยู่ในห้องเรียนจะเรียบร้อยมาก ไม่ซักไม่ถามอาจารย์ ทั้งๆ ที่บางทีก็สงสัย ต่างจากนักเรียนชาติอื่น ซักถามจนกว่าตัวจะหายสงสัย

วัฒนธรรมการเลี้ยงดูของเรา ดูเหมือนจะผิดพลาดอย่างยิ่ง ควรที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ของเด็กจะตระหนัก อย่างน้อยก็อย่าได้ขี้เกียจตอบข้อสงสัยของลูกๆ ส่งเสริมให้ลูกๆ ได้พัฒนาความใฝ่รู้ และการสนองตอบความใฝ่รู้ในทางถูกต้อง อย่าคิดว่าเด็กโง่ เด็กน่ะฉลาดกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ขงจื๊อจอมปราชญ์ยังเคยจนเด็กเจ็ดขวบมาแล้วนะครับ เล่ากันว่า ขงจื้อนั่งรถม้าผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กเล่นทรายขวางทางรถ จึงตวาดไล่ เด็กๆ พากันหนีหมด ยกเว้นเจ้าตี๋คนหนึ่ง ยืนเท้าสะเอว จ้องขงจื๊ออยู่ เมื่อถูกถามว่า ทำไมไม่หลีกรถ เด็กตอบว่า “พวกผมกำลังสร้างกำแพงเมือง ผมไม่เคยเห็นกำแพงที่ไหนมันหลีกรถ”

ผู้เฒ่าลงมาคุยกับเด็กทันที “เด็กน้อยเจ้าฉลาดมาก ไปอยู่กับลุงไหม ลุงจะพาปกครองประเทศให้โลกมันราบเป็นหน้ากลองหมด” (ความหมายของผู้ใหญ่ก็คือ ปกครองอย่างเสมอภาค ยุติธรรม) เด็กย้อนว่า “เป็นไปไม่ได้ดอก ถ้าโลกราบเป็นหน้ากลอง น้ำก็ท่วมโลกสิ คนและสัตว์จะอยู่ไหน”

ผู้เฒ่าเอามือลูกเคราคราง อือๆ เด็กมันฉลาดแฮะ เมื่อผู้เฒ่าเงียบ เด็กก็ถามว่า ลุงรู้ไหม บนฟ้ามีดาวกี่ดวง ในทะเลมีปลากี่ตัว ผู้เฒ่าตอบว่า เจ้าหนู ถามใกล้ตาหน่อยสิ ถามไกลๆ ใครจะรู้ เด็กจึงชี้ไปที่หน้าผู้เฒ่าว่า “ถ้าเช่นนั้น ขนคิ้วท่านมีกี่เส้น”

อึ้งกิมกี่เลยขอรับ นักปราชญ์ใหญ่ยอมจำนน โค้งคำนับเด็ก สั่งให้รถม้าหลีกกำแพงเมืองของเด็กน้อยในที่สุด ครับ ถ้าพ่อแม่รู้จักพัฒนาความใฝ่รู้ของลูก โดยพยายามตอบคำถามของลูกตามเป็นจริง ไม่เบื่อในการตอบคำถามของเขา จะช่วยสร้างความใฝ่รู้และสติปัญญาให้แก่ลูก อย่างน่าทึ่ง ดังกรณีเด็กน้อยในนิทานนี้ก็ได้


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2009, 06:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เมื่อหลวงพ่อพูดถึงโยมแม่

เมื่อครั้งมีโครงการบวชสามเณรแปดหมื่นสี่พันรูป โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับรัฐบาล และมหาเถรสมาคม ที่ผ่านมาแล้วนั้น มีเงินบริจาคจากชาวบ้านเพื่อสนับสนุนโครงการนี้จำนวนหนึ่ง เราได้แบ่งสายกันนำปัจจัยเฉลี่ยตามรายหัวสามเณรไปมอบศูนย์บวชและอบรมจังหวัดต่างๆ ผมรับอาสาไปยังจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และอุบลราชธานี

จังหวัดแรกที่ผมไปคือจังหวัดขอนแก่น หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัด คือ พระเทพกิตติรังษี ดีใจมากที่ได้พบผม ยังไม่ทันพูดคุยธุระปะปังที่รับมอบหมายมา หลวงพ่อพูดว่า “นี่อาจารย์ รู้ไหม หนังสือที่อาจารย์พิมพ์เผยแพร่ อาตมานำไปใช้ประโยชน์สงเคราะห์ชาวบ้านมาตลอด”

ผมถามท่านว่า หนังสืออะไรจะมีประโยชน์ปานนั้น หลวงพ่อท่านบอกว่า หนังสือคู่มือตั้งชื่อลูกหลานชาวบ้าน ว่าแล้วท่านก็งัดหนังสือเล่มนั้นขึ้นมา แล้วกล่าวต่อไปว่า “วันนี้มาเจอเจ้าตัวผู้ประพันธ์ ขอ “บูชาครู” หน่อย”

แล้วก็สั่งให้เลขาฯ นำปัจจัยมาให้ ๑,๐๐๐ บาท เป็นค่าบูชาครู ผมกราบเท้าท่านด้วยความซาบซึ้ง ไม่ใช่เพราะได้เงินจากพระ แต่ซาบซึ้งในการแสดงออกซึ่งคุณธรรมให้ปรากฏ ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนภายหลัง นี่แหละครับที่ท่านพุทธทาสเน้นย้ำเสมอว่า พระสงฆ์นั้นต้องสอนด้วยปาก ทำให้ดู อยู่อย่างมีความสุขให้เห็น หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดทำให้ดูด้วยตัวท่านเอง ว่าได้ความรู้จากใครแม้เล็กน้อย ท่านก็อนุโมทนาขอบคุณ ถึงกับทำพิธี “บูชาครู” อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีให้เป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านอยู่กุฏินี้มาหลายสิบปีแล้ว มีผู้สร้างกุฏิหลังใหม่ใหญ่โตกว่า ท่านก็ไม่ยอมย้าย ผมถามว่าทำไมไม่ย้ายขึ้นกุฏิใหญ่โตให้สมตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ท่านบอกว่า ย้ายไม่ได้ เพราะโยมแม่กับโยมพ่อท่านอยู่ที่นี่

เมื่อเรียนถามว่า ทำไมไม่ชวนโยมทั้งสองไปอยู่ที่ตึกใหม่ละครับ

“ชวนแล้ว โยมทั้งสองรับหรือไม่รับ อาตมาก็ไม่รู้ เพราะฟังไม่ได้ยิน จึงอยู่ที่เดิมดีกว่า” หลวงพ่อหัวเราะด้วยความสุข

ขณะผมงงอยู่นั้น ท่านก็ชี้ไปตู้ด้านหลัง อาจารย์ไปไหว้โยมทั้งสองของอาตมาหน่อย โน่นอยู่บนหิ้งโน้น อาตมาเอากับข้าวที่ได้จากบิณฑบาตให้โยมทุกวัน

ผมถึงได้ “ถึงบางอ้อ” ว่าท่านหมายถึงอัฐิคุณโยมพ่อโยมแม่ทั้งสองของท่าน ผมลุกไปไหว้ท่านทั้งสอง ด้วยความซาบซึ้งในความกตัญญูกตเวทีของพระลูกชาย ที่ได้แสดงตัวอย่างแห่งกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้ปรากฏเป็นแบบอย่างให้อนุชนได้ปฏิบัติตาม

ไหว้โยมท่านแล้ว ก็ละอายใจ ที่ตัวเองมิได้ปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนพระคุณท่าน

ท่านผู้อ่านครับ เวลาท่านศึกษาประวัติพระเถระรูปใด เรามักจะประทับใจในความรู้ความสามารถของแต่ละท่าน ว่าท่านเก่งในด้านต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เรามักจะลืมมองอีกมุมหนึ่งคือ ในด้านพื้นฐานส่วนตัวของท่าน ท่านปฏิบัติต่อบุพการีของท่านอย่างไรบ้าง ถ้าท่านมองในมุมนี้ ท่านจะเห็นว่า พระคุณเจ้าที่เป็นหลักชัยแห่งพระศาสนาทุกรูป ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแห่งความเป็นบุตรกตัญญูต่อพ่อแม่อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง แทบทุกรูปทุกนามก็ว่าได้

ดูท่านเหล่านั้นแล้ว หันมาปรับปรุงตัวเองและดำเนินตามท่าน เพียงแค่นี้โลกจะรอดได้ ดังที่ท่านพุทธทาสย้ำว่า “โลกจะรอดได้ เพราะกตัญญูกตเวที”

เกริ่นมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะพาแฟนๆ ไปดูว่า หลวงปัญญานันทะท่านพูดอย่างไรเกี่ยวกับโยมแม่ท่านบ้าง เชิญสดับครับ


ยาวิเศษ

ผมจำเหตุการณ์ในชีวิตได้ว่า คราวหนึ่งไปเรียนหนังสืออยู่ห่างบ้าน ไปอยู่วัด แล้วก็ไม่สบาย นอนซมอยู่กับที่ เพื่อนบอกว่า “คุณป้ามาแล้ว” หมายถึงโยมผู้หญิงมา รู้สึกว่ามีกำลังภายในขึ้นมาทีเดียว เกิดอารมณ์แข็งขันขึ้นมา

พอเห็นคุณแม่ขึ้นมาบนกุฏิมองเห็นหน้า ลุกขึ้นนั่งได้ กินขนมที่คุณแม่เอามาฝากได้ กินผลไม้เหมือนกับว่าไม่เจ็บไม่ป่วย มานึกได้ทีหลังว่า นี่อะไร...อ้อ ยาวิเศษ คือ ดวงหน้าที่เราได้เห็นที่เรารักเคารพนั่นเอง

พอท่านขึ้นมา มันก็หาย โรคหายภัยไป ใจมันสบาย คนเราพอใจสบาย มันก็หายโรคหายภัยไปเท่านั้นเอง อันนี้แหละ คือน้ำใจที่เราได้รับ เป็นอิทธิพลทางจิตใจที่สำคัญที่สุด ซึ่งลึกลับซ่อนเร้นอยู่ในคุณพ่อคุณแม่ของเรา


ความรักของแม่

ผมนี่เป็นนักเทศน์ เที่ยวสอนคนเขาทั่วบ้านทั่วเมือง พอกลับไปถึงบ้าน คุณโยมแม่สอนทุกที ท่านสอนทุกที แต่ว่าปลื้มใจ ได้ฟังคำสอนแล้วปลื้มใจ

แม่นี้รักลูกจริงๆ คิดถึงลูก พอไปแล้วสอนอย่างนั้นอย่างนี้ “ไปอยู่บ้านไกลเมืองไกล อยู่คนเดียวมันต้องระวัง การเงินการทองอย่าฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย...” พูดเรื่อย สอนหลายเรื่องหลายประการ

เรานั่งฟังนี้น้ำตามันไม่ไหลออกข้างนอก มันตื้นตันใจ ตื้นตันใจว่า น้ำใจของแม่กับลูกดีเหลือเกิน ท่านนึกว่า ไอ้หนูของแม่นั่งอยู่ตรงนี้ แม้ว่าจะห่มจีวรเป็นเจ้าคุณแล้ว ก็เป็นไอ้หนูของแม่นั่นแหละ ถ้านั่งอยู่ตรงนี้แล้วก็ต้องสอนกันล่ะ เราก็ต้องตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ซาบซึ้งตรึงใจในคำของแม่


เลี้ยงกาย-เลี้ยงใจ

บุญคุณของพ่อแม่ท่านเปรียบด้วยของหนักของใหญ่ทั้งนั้น เปรียบด้วยแผ่นดิน เปรียบด้วยอากาศ เปรียบด้วยภูเขาพระสุเมรุซึ่งมันใหญ่เหลือเกิน ชีวิตเราไปสัมพันธ์กับท่านเป็นบุคคลแรก ซึ่งมีบุญคุณแก่เรา เราจึงต้องนึกถึง โดยเฉพาะส่วนที่เราควรจะตอบแทนท่านอย่างไร

ถ้าดูตามหลักในทางธรรมะแล้วมีว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราต้องเลี้ยงท่าน ช่วยกิจการงานให้ท่าน ประพฤติตนให้ท่านเบาใจ ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับทรัพย์มรดกที่ท่านได้ทำไว้ เมื่อท่านเจ็บไข้ได้ป่วยไป ต้องดูแลรักษา เมื่อท่านมรณาคือตายไปแล้ว เราก็ต้องทำบุญอุทิศให้ท่าน แล้วมีอีกอันหนึ่งว่า ดำรงวงศ์ตระกูลของท่านไว้ ไม่ให้ตกต่ำไปเสียเป็นอันขาด นี่เรื่องของการตอบแทน

การเลี้ยงท่านมันมี ๒ คือ เลี้ยงกายกับเลี้ยงน้ำใจ เลี้ยงกาย คือว่าจัดที่อยู่ให้ท่านสบาย มีอาหารที่หลับที่นอน เอาใจใส่ดูแลให้ท่านสบายพอสมแก่ฐานะ เรียกว่า เลี้ยงร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วยไปก็รักษา ส่วนการเลี้ยงน้ำใจนั้น คือว่าเราอย่าทำอะไรให้ท่านร้อนใจ แต่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ท่านเบาใจสบายใจ จะไปไหนจะทำอะไรจะประพฤติสิ่งใด ต้องนึกถึงพ่อแม่ไว้ นึกว่าท่านต้องการอะไร ท่านไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเห็นอะไร ไม่อยากพบอะไร เราต้องนึก แล้วเราจะต้องไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อความประสงค์ของคุณแม่คุณพ่อ แต่จะทำตามที่ท่านประสงค์จำนงหมายเพื่อไม่ให้ท่านร้อนใจ

เลี้ยงน้ำใจสำคัญกว่าเลี้ยงร่างกายขึ้นไปอีก เพราะว่าถ้าใจสบายแล้วร่างกายก็พลอยสบายไปด้วย แต่ถ้าใจท่านไม่สบาย กายท่านจะสบายได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องเลี้ยงน้ำใจด้วยการเอาใจใส่ดูแลรักษาด้วย เราประพฤติดี มีความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท่านแก่ชราต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ อาหารใดท่านชอบ ต้องพยายามหามาให้ท่านรับประทาน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องดูแลเอาใจใส่ สมัยนี้อาจจ้างนางพยาบาลรักษา แต่นางพยาบาลไม่ใช่ลูกของท่าน คงให้ความสบายใจได้ไม่เท่าใดดอก ท่านอยากเห็นหน้าลูก อยากให้ลูกมานวดขา มานวดมือ มานั่งใกล้ๆ ถ้าลูกมานั่งใกล้แล้วท่านสบายใจ ไม่ได้สบายใจเรื่องอะไรหรอก เรื่องรู้ว่าลูกยังรักท่านอยู่ ยังเอาใจใส่ท่านอยู่ แต่ถ้าเราไม่เอาใจใส่ ท่านก็จะเสียใจ

เคยมีตัวอย่างลูกบางคน แม่ป่วย ไม่ค่อยมาเยี่ยมเลย แล้วเวลาเขียนจดหมายมาถึงแม่ ตัวเองไม่เขียน ให้ภรรยาเขียนมา แม่อ่านแล้วมันไม่ชื่นใจ เพราะภรรยานั้นไม่ใช่ลูกแม่ ลูกสะใภ้ แต่ลูกชายไม่เขียนเลย แล้วก็ยังไปสั่งคุณหมอเพื่อนกันว่า ให้ช่วยดูแลคุณแม่ให้ด้วย เพื่อนก็ดูแลให้ แต่มันไม่เหมือนลูกของแม่มาดูแล เฉยเมยไม่เอาใจใส่ นี่เขาเรียกว่า คนไม่ได้คิดไม่ได้นึกถึง ว่าน้ำใจของผู้เฒ่าผู้แก่จะเป็นอย่างไร

น้ำใจคุณพ่อคุณแม่จะเป็นอย่างไร คนอายุมากนั้นก็ขออภัยเถอะ คล้ายกับเด็กเหมือนกัน คือต้องการพี่เลี้ยง ต้องการคนอยู่ใกล้ ต้องการคนเอาใจใส่ ทีนี้คนที่จะเอาใจใส่นั้นใคร ? ก็คือลูกนั่นเอง ลูกจึงต้องเข้าใกล้ไต่ถาม พอรู้ว่าป่วยต้องมาทันที มาตรวจมาตราดูแลแล้วก็ฝากเพื่อนฝากฝูง แต่ตัวต้องมาก่อน ท่านก็ชื่นใจว่าลูกเราพอรู้ว่าป่วยมาทันที ท่านก็สบายใจ

รายที่เล่านี้แม่ป่วยกี่ปีๆ ก็อย่างนั้น ไม่ค่อยมาเยี่ยมมาเยียน ผลที่สุดแม่ตายไป เลยไปถามพ่อว่า ทำไมคุณนายตาย เขาตรอมใจตาย ตรอมใจเรื่องอะไร ลูกชายมันไม่ค่อยเอาเรื่อง มันเป็นอย่างนี้ ไม่ได้นะเรา มันต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องนี้

ขอให้นึกเถิดว่า ถ้าเราป่วย คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องรีบรุดหน้าซีดมาทันที มาดูมาเอาใจใส่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ป่วยเราก็ต้องไปเหมือนกัน ดูแลท่านให้ท่านสบายใจ การปฏิบัติดีต่อพ่อแม่นั้นบุญเหลือหลาย ที่สุดบุญจะช่วยเรา คนที่มีความกตัญญูกตเวทีรับรองว่าไม่มีความตกต่ำในชีวิต ในการงาน ย่อมเจริญก้าวหน้า

ลองสังเกตดูเถอะ คนที่เจริญทั้งหลายล้วนแต่เป็นคนรักแม่รักพ่อ บูชาพ่อแม่ เอาใจใส่พ่อแม่ แล้วเป็นคนที่ไม่ตกต่ำ แต่ถ้าเป็นคนไม่เอาใจใส่ดูแลพ่อแม่ มันไปไม่รอด เพื่อนฝูงเขาก็ไม่ค่อยจะไว้ใจ เช่นจะมาร่วมหุ้นร่วมค้าร่วมขาย เขาก็ชักจะระแวงอยู่ว่า พ่อแม่มันยังไม่เอาใจใส่ จิตใจมันไม่ค่อยดีเท่าใด อย่าไว้ใจนักเรื่องเงินๆ ทองๆ มันเสียหายได้

เพราะฉะนั้น คนโบราณเขาจึงสอนนักหนาในเรื่องนี้ สอนให้กตัญญูกตเวทีพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าเรามา ให้เอาใจใส่ เลี้ยงดูให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตามหน้าที่ของเรา นี่เรียกว่า เลี้ยงจิตใจของท่าน เราจะทำอะไรเป็นการตอบแทนก็ให้รีบทำเมื่อท่านยังอยู่


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2009, 06:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ไปร่วมงานร้อยปีแห่งชาตกาลของ “พี่ท่านของหลวงพ่อปัญญานันทะ”

สัญญาจะเขียนครบสิบตอนก็จะยุติเรื่องของหลวงพ่อปัญญานันทะ บังเอิญว่าวันจันทร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมต้องไปเป็นประธานเปิดงานครบร้อยปีแห่งชาตกาล ของพระเดชพระคุณพระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) ที่วัดขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ความประทับใจที่ได้เห็นเหล่าศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อบุญชวน ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์ของพวกตน ก็อดนำมาเล่าให้แฟนๆ ทั้งหลายฟังไม่ได้

งานนี้มีบรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อบุญชวนมากหน้าหลายตา เริ่มด้วยฝ่ายบรรพชิตมี พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพญาณโมลี (ดร.องอาจ ฐิตธมฺโม) เจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นประธาน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระวิจิตรธรรมนิเทศ (ดำเนิน อตฺถจารี) รองเจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นรองประธาน ฝ่ายคฤหัสถ์มี ท่านอาจารย์ยุพิน ดุษิยามี เป็นหัวเรือใหญ่ ตลอดถึง ท่านนายอำเภอหลังสวน ซึ่งเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดมหาสารคามของผม ท่านอบจ. รวมทั้งพ่อค้าประชาชนจำนวนมาก

ผมถูกอุปโลกน์ให้ไปเป็นประธานเปิดงาน รู้สึกเหนียมๆ เพราะงานประเภทนี้ไม่ค่อยถนัด เวลาเดินขึ้น stand ขามันปัดๆ ไม่ใช่เพราะประหม่าดอกครับ เพราะไม่คุ้นกับหน้าที่อย่างนี้มากกว่า สิ่งที่จะต้องชมก็คือ เขาจัดงานกะทัดรัด เหมาะเจาะกับเวลาดี ไม่เยิ่นเย้อ

หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัด (อ้อ ท่านทักว่าอย่าเรียกหลวงพ่อ เพราะเกิดปีเดียวกัน ผมเรียนท่านว่าเรียกตามวัฒนธรรมครับ !) ประธานฝ่ายสงฆ์ ท่านเล่าเรื่องประทับใจอันเป็นมุมหนึ่งของหลวงพ่อบุญชวน ให้พวกเราฟังว่า ท่านเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งชื่อแจ๊ค เป็นสุนัขแสนรู้ มักตามท่านไปบิณฑบาตเสมอๆ แต่ด้วยอำนาจความรักหมาสาวในตลาด พอมันเห็นสาวเท่านั้น ก็ผละจากท่านวิ่งไปหา โดยไม่ทันระมัดระวังรถราที่วิ่งไปมาขวักไขว่ เคราะห์ร้ายถูกรถชนตาย

ท่านนำร่างเจ้าแจ๊คมาบำเพ็ญกุศลตามคตินิยมชาวพุทธ ด้วยความอาลัยในสุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อท่าน ท่านจึงแต่งกลอนไว้อาลัยให้คติเตือนใจมนุษย์อื่นๆ ที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกันด้วย ดังนี้

โอ้อนาถแจ๊คหมาคราวิบัติ เกิดกำหนัดร้อนรักหักไม่ไหว
หลงหมาสาวโศภาชะล่าใจ พิศมัยแรงร้อนนอนไม่ลง
แต่เช้าตรู่ควงสาวเข้าตลาด ด้วยประมาทเที่ยวกระเจิงระเริงหลง
เคยแต่วัดอวดฉลาดทำอาจอง นึกทะนงโฉงเฉงไม่เกรงใคร
ทั้งกฎเกณฑ์จราจรบ่ห่อนรู้ มิได้ดูทางทิศชิดด้านไหน
มัววิ่งเร่าเมาสวาทประมาทใจ จึงสบภัยรถทับดับชีวี
อันความรักหวานจิตพิษร้ายนัก ยากจะหักสู้สละหรือผละหนี
มนต์พอผ่อนรักฤทธิ์ประสิทธี “โอมผี ผี มึง กู ทั้งคู่เอย”


ทำให้นึกถึงหลวงพ่อของตัวเองขึ้นมาทันที ว่าอาการที่ปฏิบัติต่อสุนัขตัวโปรดที่จากไป ช่างคล้ายกันจริงๆ แม้ว่าหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ของผม จะไม่รักสุนัขมาก่อน หากระยะหลังเพราะผมเป็นต้นเหตุ ทำให้ท่านกลายเป็นคนรักสุนัขแสนรู้จนเรียกว่า “หลง” มาตั้งแต่บัดนั้น

เรื่องเกี่ยวกับหมาหมานี้ มันสะเทือนใจผมมานานปี หลังจากผมสึกหาลาเพศมาทำมาหากินตามประสาคฤหัสถ์หัวดำแล้ว นานทีปีหนจะเข้าสำนักเดิมที หารู้ไม่ว่า พวกวจีทุจริตต่างพากันละเลงลับหลัง กลายเป็นคนละเรื่องไปเลย ผมชอบรังแกหมา โดยเฉพาะหมาที่หลวงพ่อรักที่สุด ผมก็ไล่เตะจน “มันตีน” (ทานโทษ ไม่ได้ใช้มือตี จึงเรียกว่า “จนมันมือ” ไม่ได้)

จนเมื่อหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ อาจารย์ของผมถึงแก่มรณภาพ ผมเข้าไปกราบศพท่านด้วยน้ำตานองหน้า อุบาสกท่านหนึ่งซึ่งเป็นบิดาของเด็กวัดคนหนึ่ง เขายกมือไหว้ผม

“คุณเสฐียรพงษ์ครับ ผมมากราบขอขมา โปรดยกโทษให้ผมด้วย”

“เอ๊ย เรื่องอะไร” ผมตกใจ

“ผมได้ข่าวหนาหูว่า คุณเสฐียรพงษ์ ไล่เตะหมาของท่านเจ้าคุณ ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลวงพ่อรักหมามาก เท่ากับทำลายน้ำใจผู้มีพระคุณ”

ผมยกสำนวนจีนขึ้นมาทันทีว่า “มีเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ”

แล้วเขาก็เล่าเป็นฉากๆ ว่า มีการ “ทาสี” อย่างไร พร้อมบอกว่า เขาเพิ่งรู้ว่าหมาตัวนั้นเป็นหมาตัวโปรดของผม แล้วเรื่องอะไรผมจะบ้าไล่เตะหมาที่เลี้ยงมากับมือ แค่นี้สามัญสำนึกก็บอกแล้ว เขาบอก.....ผมอภัยให้เขา และคนอื่นๆ ด้วยที่รู้ว่าได้ล่วงเกินทางวาจากับผม นับว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่น่ารักมากในหมู่ชาวพุทธ ถ้าทุกคนยอมรับผิดต่อการกระทำของตนเมื่อรู้ว่าผิด โลกนี้จะสุขสันติขึ้นมากเลย

ลูกหมาของผม สีดำสนิท จำได้ว่าคุณสมภพ หัวหน้าค่ายมวยค่ายหนึ่งให้ผมมา ผมตั้งชื่อว่า “นิลพัทธ์” เป็นหมาแสนรู้ ผมรู้ว่าหลวงพ่อผมไม่ชอบหมา จึงแอบเลี้ยง เวลาหลวงพ่อลงมาฉันข้าวที่กุฏิคณะ 7 ที่ผมอยู่ทุกเช้า ผมกลัวหลวงพ่อจะรู้ ก็ขังเจ้านิลพัทธ์ไว้ในห้อง

ขณะฉันข้าวอยู่วันหนึ่ง นิลพัทธ์ก็ดุนมุ้งลวดออกมา เราคือผมพร้อมพระใหม่อื่นๆ ที่นั่งฉันอยู่ด้วย หน้าถอดสี ไม่รู้จะทำอย่างไร

“ใครเอาหมามาเลี้ยงบนกุฏิ” เสียงเข้มออกจากปากหลวงพ่อ เราต่างคนต่างเงียบ ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่มีอะไรดีเท่าความเงียบ

แต่เจ้านิลพัทธ์มันเป็นหมาแสนรู้ มันคงรู้ว่าใคร “ใหญ่” ในสถานการณ์อย่างนี้ มันเข้ามาหมอบใกล้ๆ หลวงพ่อ แถมเอาคางเกยตักท่านอีกต่างหาก

เท่านั้นแหละครับ บรรยากาศก็สดใสขึ้นมาทันที

“เออ เจ้านี่แสนรู้เว้ย มันชื่อไร น่าเอ็นดูจัง”

“นิลพัทธ์ ครับผม” ผมรีบบอกชื่อแซ่มัน

จากวันนั้นมา นิลพัทธ์มันไม่ค่อยสนใจเจ้านายเก่ามันสักเท่าไหร่ วิ่งตามหลวงพ่อของผมไม่ห่าง ท่านขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์ที่บนหอสวดมนต์ มันก็ตามไปด้วย หมอบอยู่ด้านหลังท่าน หน้าพระภิกษุรูปอื่นๆ บางท่านที่ไม่ค่อยชอบหมาก็บ่น มาไหว้พระทีไร จะกราบพระพุทธรูป ก็เจอหมาสมภารนอนขวางทุกที (ท่านพูดแรงกว่านี้ แต่ถ่ายทอดให้ฟังไม่ได้)

เมื่อผมต้องจากนิลพัทธ์ไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ ผมได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงนิลพัทธ์ ในหนังสือเล่มแรกที่ผมพิมพ์ชื่อ “ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง” ดังนี้

ดำดีสีเหมือนหมึก นึกรักจริงยิ่งลูกหลาน
เลี้ยงเจ้าแต่เยาว์กาล เรียกขานชื่อยิน “นิลพัทธ์”
ปุกปุยดังสำลี รูปร่างอ้วนพีเห็นถนัด
แสนรู้สารพัด หลวงพ่อที่วัดเรียก “อ้ายดำ”
ประหลาดกว่าหมาทั้งหลาย ได้สมญาว่าเป็ดน้ำ
ชอบกระโดดลงน้ำลำ พองเล่นเช่นเป็ดลอย
ลงกุฏิไปสรงน้ำ เช้าค่ำวิ่งตามต้อยต้อย
สาดน้ำซู่ซ่าหมาน้อย เต้นหยอยชอบใจได้น้ำ
มีเจ้าเป็นเพื่อนสอง ให้นอนในห้องทุกคืนค่ำ
ภายนอกคือหมาดำ แต่ใจเจ้าเลิศล้ำกว่าบางคน
จากเจ้ามาอังกฤษ คิดคราใดใจหมองหม่น
หวนภาพเจ้าดิ้นรน จะตามขึ้นรถยนต์ไปดอนเมือง
ไร้ปากจะพูดขาน แต่สัญชาตญาณรู้เรื่อง
กตัญญูเจ้าอนันต์เนือง เนื่องฝังภวังค์ลึกซึ้ง
เคยเขียนบทกลอนไว้ บันทึกจากใจคืนหนึ่ง
บรรยายภาพรำพึง อนุสรณ์ตราตรึงมิเลือน
คิดถึงเจ้าคราวอยู่เป็นคู่สอง นอนในห้องกินข้าวเจ้าเป็นเพื่อน
มีเพียงภาพของเจ้าคอยเฝ้าเตือน เก้าเดือนเหมือนเก้าปีที่จากมา
จากนั้นจนบัดนี้ จะครบสี่ปีเมษาหน้า
จะรีบเรียนเอาปริญญา เพื่อกลับไปหาเจ้านิลเอย


กลับมาเจ้านิลพัทธ์มันไม่ค่อยสนิทกับเจ้านายเก่าสักเท่าไหร่ แต่ก็ดีใจที่น้ำใจกตัญญู แสนรู้เอาใจหลวงพ่อทำให้ท่านเมตตาดูแลมันอย่างดี จนแก่ตาย แล้วก็ได้รับการบังสุกุลให้ตามประเพณีในพิธีฝังศพของมันอย่างสมเกียรติ เกียรติอะไร ?

ก็เกียรติหมากตัญญูนะสิครับ เกียรติอย่างนี้มนุษย์บางคนไม่มีเสียด้วยซ้ำ


------ จบ ------
:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2009, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สรรเสริญครับ

:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2019, 08:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2021, 13:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ค. 2021, 12:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 25 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร