วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 04:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2009, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประวัติและปฏิปทา
ท่าน ก. เขาสวนหลวง


สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน)
ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี


รูปภาพ
:b44: :b47: :b44:

ก. เกิดกอบกิจเกื้อ กูลธรรม
เขา พรหมจรรย์นำ นักสู้
สวน สงัดตัดบาปกรรม ดับทุกข์ โทษเฮย
หลวง ว่างเปล่าสงบรู้ จิตแจ้งพุทธธรรม


ท่าน ก. เขาสวนหลวง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในบรรดาท่านที่สนใจธรรมปฏิบัติ มีนามเต็มว่า อุบาสิกากี นานายน เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2544 ปีฉลู ที่ตำบลท่าแจ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ นายฮก นานายน มารดาชื่อ นางบุญมี นานายน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 5 คน คือ

1. อุบาสิกากี นานายน (ละสังขารเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2521)
2. เด็กหญิงถึงแก่กรรมเมื่อยังเล็กๆ
3. นายอุ๋ยเส่ง นานายน
4. นายชยัญ นานายน
5. อุบาสิกาวัลย์ นานายน (ละสังขารเมื่อ 8 เมษายน 2536)

และมีพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดาอีก 3 คน

ในวาระคล้ายวันเกิดของท่าน ก. เขาสวนหลวง ในปี พ.ศ. 2514 ท่านได้เล่าเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่า เกิดมาทำไม ดังต่อไปนี้

เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ มารดาได้สอนให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ถ้าเผลอตัวหลับไปโดยไม่ได้สวดมนต์ ต้องลุกขึ้นสวดมนต์เสียก่อน จึงจะนอนต่อไป

พออายุ 6 ขวบ มารดาท้องแก่แล้วยังต้องทำงานหนัก เช่น หาบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน รู้สึกมีความสงสารมารดาขึ้นมา จึงได้บอกแก่มารดาว่าจะช่วยหาบน้ำบ้าง มารดาจึงได้ตัดไม้กระบอกให้ และได้หาบน้ำด้วยไม้กระบอกนั้นทุกวัน

อายุประมาณ 7 ขวบ ได้ไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ ได้รับเงินค่าขนมวันละ 1 อัฐ ก็ไม่ได้นำไปซื้อขนมกินเลย แต่ได้ไปซื้อดอกไม้มาบูชาพระพุทธรูปทุกวัน

ต่อมาได้ค่าขนมเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1 ไพ จึงซื้อข้าวที่เขาขายกระทงละ 1 ไพ นำไปใส่บาตรทุกวัน เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านเดิม (จังหวัดราชบุรี) มารดาซึ่งเคยรักษาศีลอุโบสถก็สอนไม่ให้ทำบาป และไม่เคยพาลูกไปเที่ยวดูการละเล่นเลย และไม่ชอบแต่งตัวด้วย


รูปภาพ

เมื่ออายุ 11-12 ได้หัดอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน จนอ่านออก ชอบอ่านหนังสือคำกลอนซึ่งเป็นคำสุภาษิต และเรื่องพระโพธิสัตว์สร้างบารมี

พออายุ 18 ปี มารดาป่วยหนัก ต้องคอยดูแลทั้งกลางวันและกลางคืน จนมารดาถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

ได้เริ่มรักษาศีลอุโบสถเมื่ออายุ 24 ปี การท่องบทสวดมนต์แปลทำให้ได้ประโยชน์มาก การใช้เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ใช้ผ้าสี มีความสนใจอ่านหนังสือธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งได้ไปที่วัดเขาวัง (พ.ศ. 2468) มีผู้ปฏิบัติไปทำความเพียรกันอย่างเคร่งครัด ด้วยการถือเนสัชชิ คือ ไม่นอนตลอดคืน จึงอยากจะทดลองดูบ้าง แต่คิดจะอยู่เพียงครึ่งคืน เพราะยังไม่เคยอดนอนตลอดคืน ได้กำหนดภาวนาว่า “พุทโธ” ติดต่ออยู่ทั้งอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ขณะกำลังเดินไปมาท่ามกลางอากาศโปร่ง ได้แหงนขึ้นดูดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกในตอนดึก ความรู้สึกภายในจิตมันอุทานออกมาว่า “พระพุทโธ” เป็นผู้ตื่น ไม่มีกิเลสภายในจิตใจ เบิกบานอย่างนี้เอง ในขณะนั้นจิตมีความซาบซึ้งเกิดความปีติเบิกบานอยู่ภายใน เพราะได้เห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากราคี เป็นสื่อมาเทียบกับจิตใจในขณะนั้นด้วย เวลาดึกจนเที่ยงคืนล่วงแล้ว ก็ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนเลย มีแต่ความชุ่มชื่น เบิกบานอยู่ภายใน มีความปีติถึงกับได้ก้มลงกราบกับพื้นดิน แล้วก็ค่อยๆ เดินบ้าง นั่งบ้าง จนตลอดรุ่ง เป็นอันว่าได้ถือเนสัชชิได้เป็นครั้งแรก และได้อรรถรสในพระพุทธคุณบท “พุทโธ” ด้วยใจจริงเป็นครั้งแรก และเป็นเหตุให้ถือเนสัชชิได้ในเวลาต่อๆ มา

อีกครั้งหนึ่งได้ไปพักที่วัดเขาวังกับอุบาสิกาผู้หนึ่ง เมื่ออยู่ได้ 5-6 วัน อุบาสิกาผู้นั้นได้กลับก่อน การอยู่คนเดียวมีความปลอดโปร่งมาก ได้นั่งทำความสงบ พอง่วงก็ออกไปเดินรับอากาศข้างนอกห้อง หายง่วงก็กลับมานั่งทำความสงบใหม่ ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยมา พอคืนที่ 9 ขณะที่กำลังทำความสงบอยู่ในมุ้ง ได้เผลอสัปหงกไป แล้วกลับมามีความรู้สึกโพลงแจ้งขึ้น มีความรู้แจ้งกระจ่างในพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ตั้งต้นจากกุสลาธัมมา คัมภีร์ที่หนึ่งพรึ่บเดียวถึงคัมภีร์ที่เจ็ดเป็นความรู้แจ้งแทงตลอด พอความรู้หยุดเพียงแค่นั้นจึงได้ลืมตาขึ้น ก็เห็นภายในมุ้งมีความสง่างเหมือนแสงเดือนส่อง เกิดความสงสัยว่าเป็นแสงอะไร จึงได้เปิดมุ้งออกมาดูข้างนอก ซึ่งมีแสงสลัวๆ ได้เปิดประตูไปดูนอกห้อง เห็นมืดไปหมด จึงย้อนเข้ามาดูในห้องใหม่อีก ก็มืดไปตามเดิม

การทำข้อปฏิบัติชนิดที่ไม่รู้หลักเกณฑ์มาก่อน เมื่อได้รับการอบรมให้เหมาะสม ก็มักจะมีการโพลงแจ้งขึ้นมาเอง และก็ได้มีข้อสังเกตของตัวเอง ซึ่งพอจะจับเค้าได้ในภายหลังว่า ความสงสัยในเรื่องความสว่างความมืดข้างนอกมันเป็นมายา ทำให้เสียหลักความรู้สึกภายในไปโดยไม่รู้สึกตัว การปฏิบัติที่มีความสันโดษต่อปัจจัยตามมีตามได้ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของอามิสในโลก มีความเป็นอิสระตามฐานะของตนตลอดมา


รูปภาพ

เมื่ออายุ 26 ปี สมัยนั้นวัดมหาธาตุเป็นป่าเงียบสงัด จึงได้ชวนกันไปทำความเพียรที่นั่น ไปกัน 4 คน ได้ไปพักที่ศาลา ห่างจากเชิงตะกอนประมาณ 20 วา เพื่อฝึกให้เอาชนะความกลัวผี ในเวลากลางคืนได้ค่อยกระเถิบเข้าไปหาเชิงตะกอนคืนละเล็กละน้อย จนกระทั่งหลายคืนต่อมาก็ได้เข้าไปถึงเชิงตะกอน ประจวบกับเป็นเวลาเดือนหงาย จึงทำให้มองเห็นเศษกระดูกสีขาวปนอยู่กับถ่าน เรี่ยราดอยู่ตามเชิงตะกอน เมื่อได้พิจารณาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะน่ากลัวที่ตรงไหน เลยทำให้ไม่มีความหวาดกลัวเหมือนแต่ก่อน

ต่อมาประมาณ 10 วัน กลางวันวันหนึ่งได้เข้าไปนั่งทำความสงบที่ใต้ธรรมมาสน์ ซึ่งทำเหมือนตู้เก็บของ มีประตูปิดเปิดได้ พอนั่งอยู่สักพักใหญ่เหงื่อออกท่วมตัวจึงต้องออกมา เพราะมีความมุ่งที่จะทำความเพียรจัดไปอย่างเดียว และเป็นการทดลองทำเอง

มีวิธีการหลายอย่าง ต่อมาก็ได้มานั่งอยู่ข้างนอกอย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งอกตั้งใจ เพียรอยู่ในท่าสมาธิ ตั้งตัวตรง มีความมุ่งแต่จะให้จิตสงบอย่างรุนแรง สักพักใหญ่เมื่อจิตไม่สงบจึงคิดว่า “ทำมาหลายวันแล้ว จิตก็ไม่สงบเลย เลิกเพียรเอาจริงเอาจังเสียทีเถิด มีความรู้ที่จิตไว้อย่างเดียวดีกว่า”

พร้อมกับชักมือและเท้าออกจากท่าสมาธิ ขณะนั้นเท้าข้างหนึ่งยังอยู่ในท่าชันเข่า รู้ลักษณะจิตคล้ายลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งช้าเข้า ช้าเข้า จนหยุดกึก แล้วก็เกิดความรู้ที่ประคับประคองขึ้นมาเอง ค่อยๆ ยกเท้าเข้าซ้อนกันและมือก็วางซ้อนกันในท่าสมาธิ ทั้งจิตก็มีความรู้ ความสงบอย่างแนบแน่น ได้มีความรู้แจ้งในสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และเห็นสภาพที่ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงในภายใน พ้นจากการเกิดตาย ยากแก่ที่จะอธิบายด้วยคำพูดให้ชัดเจน เพราะเป็นการรู้แจ้งในสภาพธรรมด้านใน ซึ่งเป็นสิ่งปัจจัตตังโดยเฉพาะ

ต่อมาก็ได้ค่อยๆ ลุกไปเอนพักผ่อน ลักษณะจิตนั้นก็ยังปรากฏอยู่ มันเป็นความสงบที่ทรงอยู่ได้เองในภายในลึกๆ ต่อมาจึงค่อยคลายเป็นความปกติ จึงได้เป็นข้อสังเกตว่า การทำด้วยความอยากจัดทำให้จิตวุ่นวายไม่สงบ เมื่อมีความรู้จิตอย่างเหมาะสมแล้ว ความรู้ภายในก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะการรู้แจ้งภายในมีเป็นทุน จึงทำให้รู้ข้อเท็จจริงถูกผิดในระยะต่อมาได้เรื่อยๆ และเป็นข้อที่จะให้รู้ได้ว่า ขณะที่จิตปล่อยหมดนี่เอง จึงเป็นการรู้สภาพธรรมอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการรู้เอง เห็นเองในภายใน จะไปอยากรู้อยากเห็นเอาเองก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น หลัก สัพเพ ธัมมา อนัตตา ของพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้มีความยึดถือสภาพธรรม ทั้งสังขารและวิสังขารว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่นั้นมาก็รู้ข้อเท็จจริงและคลายออกจากความยึดถือไปตามลำดับ

ครั้งหนึ่งมีผู้มาบอกว่ามีอาจารย์เป็นสมเด็จฯ และทำให้คนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอรหันต์ก็มี จึงได้พูดกับเขาว่า “กิเลสมันอยู่ที่ตัวเรา อาจารย์จะมาทำให้หมดกิเลสไม่ได้ เราต้องปฏิบัติละกิเลสด้วยตัวเองจึงจะได้ ฉันไม่ไปหรอก ถ้าอยากจะสำเร็จแบบนั้นก็ไปเถอะ” คนที่มาชวนก็เลยไม่ไป การตื่นผู้สำเร็จ ตื่นเครื่องรางของศักดิ์สิทธิ์ ตื่นหมอดู ล้วนเชื่อถืออย่างไม่รู้เหตุผล

ต่อมาได้ประกอบการค้าอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน การค้าก็ก้าวหน้าขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่คิดขยายกิจการเพราะไม่หวังร่ำรวย ทำตามความจำเป็นเท่านั้นเพื่อสนองคุณบิดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีโอกาสปลีกตัวไปทำความสงบเหมือนเมื่อครั้งทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ เหตุการณ์เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามคติธรรมดา


รูปภาพ

ระยะต่อมา บิดาป่วยหนัก ได้พยายามพูดธรรมะให้ท่านเข้าใจขึ้นเรื่อย และได้หัดให้ท่านนั่งกัมมัฏฐานบ้าง ครั้งหนึ่ง ขณะท่านป่วยหนัก ได้อธิบายธรรมะให้ท่านฟัง อาการป่วยของท่านในขณะนั้นก็ได้บรรเทาไป ท่านจึงสนใจในการปฏิบัติธรรม ภายหลังท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

การประพฤติปฏิบัติสนองคุณมารดาบิดา ก็ได้ทำไปสมกับหน้าที่ของบุตร เป็นการผ่อนใช้หนี้เก่าตามสมควรแล้ว ต่อจากนี้ไม่มีกังวลห่วงใย ก็หาทางออกสำหรับตน เป็นการออกไปเป็นอิสระ ไม่มีเครื่องพัวพันใดๆ ที่จะทำให้ย้อนกลับมาหามันอีก ออกไปสู่บรรยากาศว่างเปล่า ปลอดโปร่ง สดชื่นตามธรรมชาติ เงียบสงัด ภายในรุ่งอรุณเหนือขุนเขา เมื่ออายุ 44 ปี ตรงกับปี พ.ศ. 2488

ท่านไม่เคยแสดงอาการเจ็บป่วยหรืออ่อนแอให้ใครเห็น ขนาดท่านขอร้องอย่าให้คนทางกรุงเทพฯ หรือที่ไกลๆ ไปพบท่านเลย เพราะท่านไม่สบาย แต่คนกลับพากันไปมากขึ้น แต่เมื่อไปแล้วท่านก็ให้พบ โดยไม่มีอาการว่าไม่สบาย ผู้ที่ไปพบก็มีแต่ความชื่นใจ ปีติกลับมา แต่ท่านก็ต้องทรมานต่อการปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลังที่เอวท่านหลุดจากกัน และท่านร้อนในท้อง ผู้เขียนเคยเข้าไปเยี่ยมถามอาการท่าน ท่านเล่าถึงอาการท่านให้ฟัง แต่ท่านก็ไม่สนใจที่จะไปรักษา

ในพรรษานั้น (พ.ศ. 2520) ท่านพยายามฝึกศิษย์ที่อยู่ประจำที่เขาสวนหลวงให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ท่านไม่ขึ้นเทศน์ แต่ให้ผู้ปฏิบัติขึ้นไปนั่งตอนกลางคืนในวันพระที่ศาลาที่ท่านพัก คือ ศาลาธรรมโอสถ

ในพรรษานี้ท่านได้ให้พี่เจือ (อุบาสิกาเจือพันธ์ กาลกฤษณ์) สร้างที่เก็บร่างของท่านเมื่อท่านสิ้นแล้ว โดยท่านอนุญาตให้พี่เจือหาสถานที่ที่เหมาะสม และจัดการสร้าง พี่เจือเลือกที่บนเขา ซึ่งต้องเดินขึ้นมาจากโรงครัว พอที่ทุกคนจะขึ้นได้สบาย ส่วนที่เป็นที่เก็บร่างทำด้วยหินอ่อนสีเทา หากนั่งที่ลานหน้าหอประชุมจะมองเห็นได้ชัด พวกเราใจหายเมื่อท่านสั่งให้สร้าง และท่านจัดการกิจการทุกๆ อย่าง โดยมอบหน้าที่ให้แต่ละคนรับไปทำ และท่านดูอยู่ภายนอก เมื่อท่านละสังขารแล้วจะได้อยู่กันได้ต่อไป

ต้นเดือนกันยายน 2521 ท่าน ก. ได้เข้ารับการรักษาตาที่จังหวัดปทุมธานี

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 ท่านก็ได้ละสังขารที่จังหวัดปทุมธานี รวมอายุ 77 ปี

สิ่งที่ประทับใจศิษย์ทุกคนที่จะงดบันทึกเอาไว้ไม่ได้ คือ พิธีทำการบรรจุสรีระของท่าน ทำกันด้วยธรรม ไม่มีการทำพิธีกรรม ไม่มีการสวดกลางคืน เมื่อบรรจุร่างท่านเรียบร้อยแล้ว ศิษย์ทั้งหลายนยืนกันตามไหล่เขาเป็นระยะ เป็นระเบียบเรียบร้อย และทำความเคารพด้วยการนั่งสมาธิด้วยความสงบ เป็นพิธีง่ายๆ ซึ่งไม่เคยมีใครทำ แต่ก็ดูศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง สำหรับท่านที่ดับไม่เหลือแล้วอย่างคุณแม่กี นานายน ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ซึ่งเกินจะพรรณนาในความเมตตากรุณาที่มีต่อศิษย์ทุกคน


รูปภาพ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ธ.ค. 2009, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่าน ก. เขาสวนหลวง ผู้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน)


๏ ประวัติส่วนตัวและประวัติการปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมจากที่ท่านเล่าไว้
และคำบอกเล่าจากผู้ปฏิบัติร่วมสมัย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 จนถึงวาระท่านละสังขาร พ.ศ. 2521


ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้เล่าเรื่องราวของตนเองเกี่ยวกับคำกลอนเมื่ออายุ 12 ปี พออ่านหนังสือออกก็อ่านคำกลอนมาก และจำเนื้อความในกลอนได้ การจำคำกลอนนี้มันเกิดประโยชน์มาก ทำให้เห็นว่าบทกลอนเปรียบเทียบเสมือนภาชนะสำหรับใส่ธรรมะจริงๆ และในสมัยโบราณก็ชอบหนังสือคำกลอนกันเป็นส่วนมาก

เป็นข้อแปลกที่ว่า อ่านหนังสือออกเมื่ออายุ 12 ปี เรื่องอื่นๆ ที่อ่านจำไม่ได้ แต่กลับจำคำกลอนได้อยู่ 2 บท และคำกลอน 2 บทนี้ก็เป็นครูเป็นอาจารย์มาตั้งแต่วัยเด็ก คำกลอนนี้เป็นสุภาษิตโบราณ มีข้อความดังต่อไปนี้

จิตเอ๋ยจิตเขลา นอนในกายเน่า เฝ้าสมบัติดิน กินอสุจิ ตริไม่เห็นเลย หลงเชยชมงาม เดินตามทางรก มุ่นหมกเพศบ้า อวดกล้าสู้ตาย ไม่หน่ายหนีโลก นั่งโงกงมแก่ เหลียวแลว่าคน รูปตนคือผี เห็นดีสิ่งใด ภายในเหม็นนัก หลงรักจูบกอด ตาบอดใจบ้า เป็นข้าความรัก เหนื่อยนักไม่รู้ หลงอยู่ช้านาน สมภารไม่บอก เชื่อหลอกหมู่มาร สังขารเขาลวง หาห่วงผูกคอ ใครหนอทำให้ ตัวใบ้ใจบ้า หันหน้ามาดู พระครูบอกบ้าง อย่าหลงทางเดิน อย่าเมินเหยียบขวาก อย่าลากเรียวหนาม เดินตามพระไป ไกลพระจักโง่ มักโอ่เสียของ เอาทองแต่ลิง อวดจริงแก่บ้า อวดกล้าแก่ผี อวดมีแก่ดิน อวดกินแก่ขี้ อวดดีแก่ตาย อวดสบายแก่โรค ทุกข์โศกเสียเปล่า อย่าเดาผิดผิด อย่าคิดโดยโง่ อย่าโตแต่เปลือก อย่าเสือกหาทุกข์ อย่าสุขในบาป อย่าคาบเหล็กแดง อย่าแต่งแผ่นดิน อย่ากินของร้อน อย่านอนในไฟ เป็นไปอย่างแร้ง แสวงหาบริสุทธิ์ ให้หยุดเหมือนพระ ให้ละความโง่ ให้โตเต็มโลก ข้ามโอฆสงสาร นิพพานไม่ไกล หาสุขสำราญ เถิดนะท่านทั้งหลาย

กลอนบทนี้ไม่ได้ท่องเลย อ่านไปอ่านมาก็จำได้ ตั้งแต่นั้นมากลอนบทนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจ ไปตามประสาเด็กๆ แม้จะแต่งตัวอะไร มันก็นึกเสียว่า “เอาทองแต่ลิง” แล้วก็เลยไม่ชอบแต่ง สำหรับกลอนบทนี้มีประโยชน์มากมายที่จำได้ และเป็นเครื่องเตือนใจมาเป็นลำดับเมื่ออายุสูงขึ้นมา

รูปภาพ
กุฎิจาคาภินิเวสน์

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมบริเวณด้านหน้ากุฎิจาคาภินิเวสน์


และยังมีความรู้สึกที่ว่า “เป็นข้าความรัก” สำหรับในวัยรุ่นหรือวัยต่อมา ความรู้สึกในกลอนบทนี้มันเตือนใจอยู่เรื่อยว่า จะไม่เป็นทาสของความรัก มันทำให้รู้สึกว่าต้องมีความเป็นอิสระ ต้องเป็นอิสระเด็ดขาด

เพราะกลอนบทนี้ทุกบททุกคำเราก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมด แต่ก็รู้ไปตามประสาที่จะรู้ได้ในวัยเด็ก แล้วก็เตือนใจมาเรื่อย จนกระทั่งแน่ใจว่าจะไม่มีการเป็นทาสของความรัก เป็นความมั่นคงต่อมาได้เพราะกลอนบทนี้ และมีกลอนอีกบทหนึ่งที่มีเนื้อความต่อไปนี้

พวกหมอยาว่าธาตุไม่สมดุลย์
พวกแม่มดว่าวุ่นถูกคุณผี
พวกโหรทายเทวาเข้ายายี
ท่านเมธีว่ากรรมตนทำมา


สำหรับกลอนบทนี้ก็ได้รู้สึกมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ชอบบนบานศาลกล่าว หรือหมอดูหมอเดาอะไรก็สุดแท้ มันเลิกไปกับกลอนบทนี้ ไม่มีการเชื่อถือ ในสมัยเป็นเด็กยังไม่มีความคิดอะไรมากนัก แต่ถ้าไปพบเห็นเขาทำกันอย่างนี้แล้ว มันไม่เชื่อ รู้สึกว่าเรื่องกรรมนี่ก็รู้ไปตามประสาเด็กๆ แต่ว่ามันดับทุกข์ได้จริง ถ้าเกิดมีเรื่องอะไรที่เป็นทุกข์ขึ้นมา ไม่รู้จะไปบอกกับใคร ก็บอกว่า มันกรรมของเรา แล้วก็หยุดไป แล้วก็หยุดไปเลย ใจก็สบายไปได้ ไม่ว่าจะมีการโกรธเคืองอะไรเกิดขึ้น ถ้าใครเขามาทำอะไรให้ที่ไม่พอใจก็นึกว่าเป็นกรรม แล้วก็ดับหายไป และเฉพาะกลอนบทนี้ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าหมอดูตลอดมาจนบัดนี้

รูปภาพ

๏ จากการบอกเล่าของท่านอุบาสิกาวัลย์ นานายน
ถึงท่าน ก. เขาสวนหลวง ในสมัยที่ได้อยู่ค้าขายด้วยกัน ว่า


ในสมัยนั้น พ.ศ. 2468 ท่าน ก. อายุ 24 ปี ส่วนอุบาสิกาวัลย์ อายุ 15 ปี ทุกๆ วันพระท่านได้พาดิฉันไปรับอุโบสถที่วัดมิได้ขาด ท่านอบรมให้ดิฉันเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เมื่อฟังธรรมแล้วจะต้องเล่าให้ท่านฟังทุกครั้งว่า ฟังเทศน์แล้วเข้าใจรู้เรื่องอย่างไร บางโอกาสท่านจะหยุดการค้าลงชั่วคราว เพื่อไปทำความสงบในที่ต่างๆ ตามที่ท่านพอใจ ดิฉันก็ได้ตามท่านไปอยู่เสมอ เพราะหลังจากบิดาได้สิ้นชีวิตลงแล้ว ก็อยู่กับท่านเพียง 2 คนเท่านั้น ไปไหนจึงต้องไปด้วยกันเสมอ

คราวหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2470 ท่านทราบข่าวเรื่องของการบวชเป็นภิกษุณีที่วัดนารีวงศ์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้โอกาสสตรีได้มีโอกาสสืบศาสนา ก็มีศรัทธาที่จะมีวัดของสตรีโดยเฉพาะ เพื่อการปฏิบัติธรรม จึงได้ชวนกันเช่าเรือแจวเดินทางจากราชบุรีไปนนทบุรี ท่าน ก. แจวท้าย ดิฉันแจวหัวเรือ ใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน จึงถึงนนทบุรี ได้พักอยู่ที่วัดนารีวงศ์ประมาณ 5 วัน ก็พากันกลับ

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้คนไทยสวมหมวก ท่าน ก. ก็เย็บหมวกขายด้วย ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดราชบุรีถูกระเบิด ในปี พ.ศ. 2488 ดิฉันก็อพยพไปทำการค้าชั่วคราว อยู่ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเห็นว่าดิฉันอยู่ปลอดภัยแล้ว จึงได้บอกว่าจะไม่ไปด้วย ท่านจะไปอยู่ “เขาสวนหลวง” ตั้งแต่นั้นมา “เขาสวนหลวง” นี้ท่านเคยสนใจมาก่อนแล้ว เพราะว่ามีคุณลุงและคุณป้าซึ่งเป็นพี่ชายของคุณแม่อยู่หลังเขา คือ คุณลุงเปลี่ยน รักแซ่ และคุณป้าแดง รักแซ่ ภรรยาของคุณลุงเปลี่ยน ทุกครั้งที่ท่านมาเยี่ยมคุณลุงและคุณป้า ท่านจะต้องมาที่ “เขาสวนหลวง” เสมอ

ท่านปรารภอยู่เสมอว่า “การอยู่บ้านเรือนและค้าขายเป็นภาระหนัก เราหาเงินได้สักก้อนแล้ว ไปหาที่สงบอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมดีกว่า”

ท่านเทิดทูนบูชาชีวิตพรหมจรรย์อย่างเหลือเกิน ท่านชี้ให้เห็นว่า “เรามีมือ มีเท้า มีปัญญา ทำไมจะต้องไปเป็นทาสเขาทั้งกายและใจ คนอ่อนแอเท่านั้นที่ต้องพึ่งผู้อื่น ผลที่สุดก็ได้รับความทุกข์ตลอดชีวิต”

รูปภาพ
ท่านอาจารย์พุทธทาส


๏ ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงท่าน ก. เขาสวนหลวง
ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา”
ในฐานะสหายธรรมทาน ว่า


“สำหรับทางฝ่ายราชบุรีนั้น คุณกี นานายน ได้ร่วมมือในการเผยแผ่อย่างเต็มกำลังสติปัญญาของตน เป็นผู้มีความประสงค์เพื่อความรู้เรื่องธรรมะโดยแท้ ตลอดเวลาที่ติดต่อกันมาเพื่อธรรมะทั้งนั้น เมื่อค้าขายรวบรวมเงินทองได้ทุนสำรองไว้เป็นหลักแล้ว ก็ออกไปตั้งสำนักเองที่สวนหลวง ตอนจะออกไปก็ได้มาคุย มาบอก มาปรึกษา แกเป็นคนกล้าหาญ ไม่กลัวตาย มีลักษณะเป็นผู้นำ คิดจะเปิดสำนักสำหรับผู้หญิงขึ้นปกครองดูแลกันเอง ก็ทำได้อย่างที่แกคิด แกอ่านหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ศึกษามาอย่างดีแล้วค่อยมาพบ ผมก็ให้พักที่บ้านโยม กลางวันก็มาคุยกันใต้ถุนกุฎิ ตรงริมสระเล็ก (สวนโมกข์เก่า) เรื่องที่คุยกันก็เป็นเรื่องปรมัตถธรรม ที่แกได้ศึกษามาแล้ว มาซักถามเพื่อความเข้าใจ ก็ต้องนับว่าเป็นผู้หญิงพิเศษ ไม่แต่งงาน น้องสาวก็ไม่แต่งงาน และรับงานทางสำนักต่อมาเมื่อคุณกีตายแล้ว ตอนมาหาผม ไม่มีแววว่ามีความทุกข์อะไรมา มาแบบนักศึกษาธรรมะ แกอยากแต่งกลอน แต่แต่งไม่เป็น ผมเลยสอนให้ทางไปรษณีย์ ยังได้เอามาลงหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอยู่หลายชิ้นในสมัยนั้น”


๏ จากการบันทึกของผู้ปฏิบัติธรรมผู้หนึ่ง
ที่กล่าวถึงลักษณะของท่าน ก. ไว้เมื่อ พ.ศ. 2519 ว่า


“ท่านเป็นผู้หญิงผิวขาว ใส่แว่นดำ ใส่เสื้อสีขาว นุ่งถุงดำ ปลงผม หน้าท่านงาม ผิวละเอียด ถึงแม้จะมีอายุแล้วแต่ก็ดูเหมือนคนอายุประมาณสัก 40-50 ปีเท่านั้น นั่งตัวตรง พูดเรียบๆ สม่ำเสมอ พอเห็นครั้งแรกก็เลื่อมใส อัศจรรย์ที่ตาท่านไม่เห็น แต่สามารถที่จะให้ธรรมได้ทุกแง่ทุกมุม ถ้าตาดีจะได้ว่าก่อนท่านขึ้นพูดก็คงค้นคว้าอ่านตำรับตำราสำหรับจะขึ้นเทศน์แต่ละวันๆ นี่ท่านไม่ต้องเตรียมเลย เวลาขึ้นเทศน์ท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ ติดต่อ โดยไม่ติดอ่าง ตะกุกตะกัก หรือต้องคิดเลย ลูกศิษย์หรือเจ้าหน้าที่จะอัดเทปไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านสิ้นแล้ว ชาวเขาสวนหลวงจึงไม่เดือดร้อนเลย ไม่ต้องขวนขวายหาอาจารย์ที่ไหนมาแทน เพราะเทปที่ท่านเทศน์ไว้มีมากมายพอที่จะสั่งสอนไปได้ตลอด”

รูปภาพ

รูปภาพ


(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ธ.ค. 2009, 16:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ บันทึกจากคำบอกเล่าของผู้ปฏิบัติธรรม

ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2496) การเดินทางต้องเดินตั้งแต่หน้าเขางู เดินตามแนวเขาเรื่อยมาผ่านวัดห้วยตะแคง เดินตัดท้องนาตามคันนา ผ่านมาเดินตามทางเกวียนเล็กๆ จนถึงเขาสวนหลวงก็จวนค่ำ บางคนที่มาจากกรุงเทพฯ นั่งรถไฟมาลงที่ราชบุรี ต้องนั่งเรือจากท่าน้ำราชบุรีมาห้วยตะแคง แล้วมาเดินตัดลัดคันนาเข้าทางเกวียนเล็กๆ มาถึงเขา นับว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก ถ้ามาไม่ทันเรือก็ต้องรอไปวันรุ่งขึ้นจึงจะลงเรือมาได้

ขณะนั้นมีผู้ปฏิบัติในราว 10 กว่าคน แต่ที่ไม่อยู่ประจำก็มี มาคืนแรกก็นอนในน้ำ รู้สึกสงบ คืนสองนอนบนแคร่กระท่อมติดดิน เวลาอาบน้ำต้องไต่ไม้ไผ่สองลำที่วางคู่กัน ขึ้นไปอาบน้ำบนถังน้ำแปดเหลี่ยมที่ไม่มีหลังคา ความสงัดจากหมู่และความกลัวนี้ทำให้จิตเข้าข้างในได้ดี สติติดต่อเพราะต้องระมัดระวังอยู่

สมัยนั้นการก่อสร้างต่างๆ หรืองานพัฒนาที่อยู่ที่อาศัยก็ทำกันเอง ช่วยกันทำในหมู่อุบาสิกาสิบกว่าคน ท่าน ก. เป็นคนขยัน ว่องไว มีความสงบอยู่ในตัว ไม่พูดมาก ขณะทำงานปฏิบัติทางจิตใจไปด้วย

การทำงานไม่ว่าจะทำอะไร เช่น ผ่าไม้รวก จักไม้เหลาไม้ที่จะทำเพดานศาลาในสวน มีแต่เสียงทำงาน เสียงพูดคุยกันไม่ค่อยมี พูดแต่ที่จำเป็น มีแม่ชีคนหนึ่งขณะทำงานก็พูดขึ้นอยู่คนเดียว ท่าน ก. ก็ทำเฉย ทำงานไปเฉยๆ แม่ชีอีกคนหนึ่งพูดขึ้นบ้าง ท่านก็เตือนว่า ให้บ้าแต่คนเดียวพอ อย่าบ้าหลายคน เลยเงียบกันไปหมด ท่านให้ทำงานด้วยการมีสติ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ การพูดมากทำให้เผลอ เพลินจิตไหลเรื่อยไปตามอารมณ์ ท่านเตือนผู้ปฏิบัติโดยใช้คำพูดสั้นๆ ส่วนใหญ่จะเน้นให้มีอินทรีย์สังวรให้ตามดูตามรู้จิตใจ ว่ามีกิเลสอะไรเกิดขึ้น แล้วจะจัดการกับมันอย่างไร

ในสมัยนั้นไม่มีอะไรมาก แม่ชีนุ่งขาวเช้าบิณฑบาต ความกังวลน้อย เรื่องอาหารไม่ต้องจัดแจงอะไรมาก มีน้ำพริกเผา และเก็บผักที่อยู่ใกล้ๆ พอเป็นอยู่ในวันหนึ่ง มื้อหนึ่ง บางวัน ท่าน ก. ก็นำอาหารมาวางไว้ถ้วยหนึ่ง แล้วท่านก็เดินกลับไป โดยไม่ต้องพูดอะไรเลย การพูดน้อยมีสติดูภายใน การบิณฑบาตรู้สึกสงบ สงัด มีสติติดต่อทั้งไปและกลับ มีความกลัวเข้าแทรกแซงก็ดูอยู่ตรงนั้น จนเห็นชัดหายสงสัย

รูปภาพ

ข้อกติกายังไม่มีอะไรมากในสมัยนั้น ผู้มาปฏิบัติก็บันทึกข้อปฏิบัติ ตรวจสอบความเป็นจริงภายในตนเอง เจ็ดวันประชุมเจอกันทีหนึ่ง ทำวัตรสวดมนต์เฉพาะวันพระเช้า-เย็น กลางคืนปรารภธรรมกันในวันสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา นอกนั้นเข้าเงียบ

แนวการอบรมจิตใจของท่านตรงเข้าหาตัวจิตล้วนๆ พร้อมทั้งมีการพิจารณากำกับไปด้วย บางครั้งรู้สึกเฉยๆ ก็เรียนถามท่านว่าทำไมจึงเฉยๆ ท่านตอบว่า ก็ดูไปซิ มันเฉยจริงหรือเปล่า ท่านพูดไม่กี่คำทำให้เกิดปัญญา ข้อปฏิบัติรู้สึกราบรื่น เรียบร้อยไปตามลำดับของสติปัญญา ให้พิจารณาการรู้เห็น ทั้งมีการทำลายความรู้สึกที่เข้าไปเป็นเจ้าของในตัวพร้อมที่ตรวจสอบความผิดชั่วตามอายตนะที่สัมผัสของตนเองไปด้วย เป็นการซักฟอกไปในตัว เพื่อจะให้รู้ชัดเจนตามความเป็นจริงของมัน แล้วถอนความยึดมั่นสำคัญว่าตน เพื่อความเป็นอิสระในตนเอง

ท่าน ก. เขาสวนหลวง เป็นผู้มีเมตตา ส่งเสริมการปฏิบัติทางด้านจิตใจมาก ท่านจะช่วยเหลือผู้ปฏิบัติอย่างเต็มที่เพื่อการปฏิบัติจริง โดยการให้เข้าอินทรีย์สังวรเพื่ออ่านใจตนเอง แล้วบันทึกข้อปฏิบัติไว้ ในวันพระจะมีการประชุมสวดมนต์ ปรารภธรรมข้อปฏิบัติกันและกัน ท่านจะแนะนำให้ในแง่มุมของการปฏิบัติแก่ผู้ปฏิบัติที่มีข้อสงสัย

ท่านดูแลความเป็นอยู่แก่ผู้ปฏิบัติ แม้อาหารการกิน ท่านก็ให้ผู้ปฏิบัติตัดกังวล ท่านทำอาหารส่งทุกคนอย่างง่ายๆ พอประทังชีวิต ท่านว่าอยู่ป่าต้องกินง่ายอยู่ง่าย ครั้งหนึ่งมีผู้จะมาขออยู่ปฏิบัติ ท่านถามว่า กินยากไหม ผู้นั้นตอบว่า ไม่ยากค่ะ แต่ต้องมีน้ำแกง ท่านก็ชี้ไปที่ตุ่มน้ำว่า นั่นไงน้ำแกง น้ำในตุ่ม

ท่านให้อยู่อย่างสันโดษ ทำจิตใจให้สงบ พิจารณาอยู่ที่จิต เรื่องภายนอกเป็นเพียงเครื่องอาศัยพอเป็นไป แต่ภายในต้องศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริง จึงจะพ้นทุกข์ได้

ท่านเป็นคนปกติเงียบขรึม แต่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดแต่ธรรมะ ท่านเอาใจใส่ดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ป่วยไข้เสมอ ท่านเป็นคนมีเหตุผล มีการอนุโลมปฏิโลม เข้าใจในเหตุการณ์

ครั้งหนึ่ง ทางราชการได้ประกาศมายังชาวบ้านออกโฆษณาขยายเสียง ให้ประชาชนไปฉีดยาป้องกันโรคอหิวาต์เพราะขณะนั้นเกิดโรคอหิวาต์ระบาดอยู่ ผู้ปฏิบัติผู้หนึ่งพูดว่า ไม่ต้องไปฉีดหรอก เรามาปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ต้องฉีดก็ได้ ท่านก็พูดว่า อย่าทำเป็นประมาท ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ให้ไปฉีดยาทุกคน ท่านเป็นผู้ที่รอบคอบ ทำอะไรพิจารณาแล้วท่านก็ทำไปตามควร ตามเหตุปัจจัย ท่านสอนให้ปล่อยวางจิตก็จริง แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยในสิ่งที่ควรทำ อะไรควรทำก็ทำ อะไรไม่ควรทำก็ไม่ต้องทำ ต้องมีปัญญาในการพิจารณาให้ถูกต้องตามเหตุผล

ใน พ.ศ. 2494 คุณกวงซึ่งสนใจธรรมะ ต้องการจะไปบวชอยู่ที่สวนโมกข์ คุณกวงรู้จักกับท่าน ก. เขาสวนหลวง จึงได้นำแม่คือนางฮวดมาฝากไว้กับท่าน ก. เพื่อให้แม่ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน ส่วนตัวคุณกวงก็ไปบวชเป็นพระกวง อยู่ที่สวนโมกข์ ติดตามช่วยงานท่านอาจารย์พุทธทาส

รูปภาพ

รูปภาพ

หลายปีต่อมา นางฮวดได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราด้วยความสงบ ที่สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จึงได้จัดการเผาศพ ที่ลานโล่งกลางแจ้ง โดยจ้างให้คนหาฟืนมาเผากันอย่างง่ายๆ ในสำนักนั่นเอง เป็นการเผาศพครั้งแรกของสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง

จากกุศลเจตนาของท่าน ก. เขาสวนหลวง ที่หวังจะอนุเคราะห์คุณลุงและคุณป้าของท่าน ท่านจึงเดินทางมาที่เขาสวนหลวงนี้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2488 แม้ว่าเวลานั้นการคมนาคมจะไม่สะดวก ทั้งอาหารการกินก็แร้นแค้น แต่ด้วยความศรัทธาในพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยวิริยะความเพียรที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้น ท่านทั้งสามกลับได้รับความชุ่มชื่นทางจิตใจ จากรสพระธรรม และจากธรรมชาติป่าเขา ดังที่ท่านเล่าไว้แล้วนั้น

ท่านมาอยู่ในสถานที่สงบสงัด ควรแก่การเจริญภาวนา ต่อมาก็เริ่มมีผู้ประสงค์จะมาพักเพื่อเจริญจิตภาวนาบ้าง ท่านก็ให้ความอนุเคราะห์ด้วยดี ทั้งทางด้านพระธรรมที่ท่านพากเพียรศึกษาและปฏิบัติจนกระทั่งสามารถนำประสบการณ์มาถ่ายทอดได้ และทางด้านที่อยู่อาศัย สถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงจึงได้ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา และด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาของท่านผู้ก่อตั้ง และท่านผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นแรกๆ นี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงเป็นปึกแผ่น ให้ความเกื้อกูลแก่เพื่อนร่วมทุกข์ที่เป็นสตรีได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมมาจนถึงทุกวันนี้

กาลเวลาผ่านมาถึงห้าสิบหกปีแล้ว (พ.ศ. 2488-2544) ถ้าจะเปรียบสถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงกับชีวิตคน ก็เริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพย่อมปรากฏให้เห็นเป็นธรรมดา เขาสวนหลวงก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากกฎธรรมดานี้เลย หลายสิ่งหลายอย่างในเขาสวนหลวงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามกาลเวลาที่ผ่านไป จนกระทั่งบางสิ่งบางอย่างไม่มีร่องรอยเดิมเหลือไว้ให้เห็นอีกแล้ว ท่านผู้ก่อตั้งและท่านผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นแรกๆ ก็ร่วงโรย และละจากเขาสวนหลวงไปทีละท่านๆ เหลือแต่เพียงสถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง และหลักธรรมคำสอนของท่านไว้เป็นมรดกธรรมเท่านั้น

แต่ไม่ว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตาม ตราบใดที่ยังมีผู้น้อมนำเอาหลักธรรมที่ท่านสั่งสอนไว้มาประพฤติปฏิบัติแล้ว ตราบนั้นก็ยังมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมรดกธรรมของท่านอยู่ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม

ท่าน ก. เขาสวนหลวง เป็นสตรีผู้นำทางธรรมที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวผู้หนึ่ง ในการศึกษาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านได้นำมาปฏิบัติจนแจ้งจิตและดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง จึงได้เมตตานำสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติจนแจ้งชัดในสภาวธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ มาบอกกล่าวพร่ำชี้นำด้วยภาษาใจ ด้วยขันติที่ท่านมีบารมี ด้วยปัญญาที่ท่านปรารถนาเอื้อเฟื้อแก่หมู่สตรีเพื่อให้พ้นทุกข์

เป็นบุญอย่างยิ่งแล้วสำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นหญิง ที่มีสถานที่ที่เป็นเอกเทศเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะเช่นนี้ พระคุณของท่านผู้ก่อตั้งและท่านผู้สืบธรรมต่อมานั้น ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเปรียบด้วยสิ่งใด เกินกว่าจะหาคำใดมากล่าว

จึงขอเชิญชวนร่วมกันแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมตรงตามที่ท่านสั่งสอนไว้ให้เต็มสติกำลัง เช่นเดียวกับขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพื่อบูชาพระคุณของท่าน และเพื่อเป็นการสืบสานมรดกธรรมให้ดำรงอยู่ เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์สืบไป

รูปภาพ
ตึกไสยาสน์ ที่บรรจุร่างของท่าน ก. เขาสวนหลวง (เจ้าสำนักฯ คนแรก)

รูปภาพ
ตึกอนุสรณ์อุบาสิกาวัลย์ นานายน
ที่บรรจุร่างของอุบาสิกาวัลย์ นานายน (เจ้าสำนักฯ คนที่สอง)


รูปภาพ
เจดีย์จาคธรรม ที่บรรจุอัฐิของแม่ชีสุมนา เฮงสวัสดิ์ (เจ้าสำนักฯ คนที่สาม)

รูปภาพ
อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ (ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักฯ)

รูปภาพ
เจดีย์อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่
ที่บรรจุอัฐิของอุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ (ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักฯ)




.............................................................

:b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ธ.ค. 2009, 16:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง
อุศมสถาน : ธรรมอาศรมสำหรับสตรี


ผู้หญิงที่สนใจการปฏิบัติธรรมในแบบพระป่า
มีความยากลำบากกว่าผู้ชายมาก
เพราะผู้ชายนั้น มีวัดป่าจำนวนมากให้เข้าไปปฏิบัติธรรมได้
ส่วนผู้หญิงจะมีปัญหาสารพัด นับตั้งแต่ปัญหาความปลอดภัย
ไปจนถึงความวุ่นวายภายในวัดป่า
ที่ผู้ปฏิบัติธรรมหญิงส่วนมาก
จะใช้ชีวิตแทบทั้งวันกับการทำงานที่พระทำไม่ได้
เช่น งานครัว ปลูกผัก ตัดต้นไม้

นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนก็มักจะตั้งตัวเป็นเจ้าแม่
คอยวางกฎเกณฑ์บังคับผู้หญิงด้วยกัน
ให้ต้องทำกิจกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งวันจนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม
นับเป็นความวุ่นวายภายในวัดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสงบร่มเย็น
สรุปแล้ว ผมไม่เคยพบสถานปฏิบัติธรรมที่อยู่กับธรรมชาติ
ที่เหมาะกับผู้หญิงที่ต้องการปฏิบัติเพื่อถึงความหลุดพ้นเลย
จนกระทั่งได้พบ อุศมสถาน ซึ่งผู้หญิงท่านหนึ่งก่อตั้งขึ้นมา
ท่านเองเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ และสอนผู้อื่นให้ทำที่สุดแห่งทุกข์ด้วย


รูปภาพ

เมื่อ 23 มิถุนายน 2444
มหาอุบาสิกา กี นานายน
ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในจังหวัดราชบุรี
และท่านได้บุกเบิกสถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ราชบุรีขึ้น
ท่านเรียนรู้ธรรมด้วยการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
โดยไม่ได้มีครูบาอาจารย์ที่สอนท่านให้ปฏิบัติโดยเฉพาะ
เพียงแต่ได้ศึกษาคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสบ้างเท่านั้น
ท่านทิ้งขันธ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2521

ลองฟังข้อธรรมของท่านสักบทหนึ่ง แล้วผู้ปฏิบัติจะทราบได้เองว่า
ท่านกี หรือท่าน ก.เขาสวนหลวง นั้น ควรแก่การเคารพกราบไหว้เพียงใด


๏ แนวการปฏิบัติธรรม

ผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจเป็นลำดับไป ดังนี้
การศึกษาที่เรียนรู้ได้ง่าย ทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกาละ ทุกขณะ
ได้ผลทันที ไม่ต้องรอรับผลข้างหน้า
ก็คือศึกษาในโรงเรียน กล่าวคือ ในร่างกายยาววาหนาคืบ มีสัญญาใจครอง
ในร่างกายนี้ มีสิ่งน่าเรียนรู้ ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด


๏ ขั้นของการศึกษา

ก. เบื้องต้น ให้รู้ว่า กายนี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ
ส่วนใหญ่ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
ส่วนย่อยได้แก่ ส่วนที่จับติดอยู่กับส่วนใหญ่
เป็นต้นว่า สี กลิ่น ลักษณะ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้มีลักษณะไม่คงทน (ไม่เที่ยง) เป็นทุกข์ เต็มไปด้วยของปฏิกูล
พิจารณาให้ลึกก็จะไม่เห็นมีอะไรเป็นแก่นสาร
มีแต่สภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีภาวะที่ควรเรียกว่า “ตัวเราของเรา”
เมื่อตามเห็นกายอยู่อย่างนี้ชัดเจน
ก็จะคลายความกอดรัดยึดถือในกาย
ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่นเป็นนี่เสียได้

ข. ขั้นที่สอง ในส่วนของนามธรรม (คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
กำหนดให้รู้ตามความเป็นจริงว่า
ล้วนเป็นเอง ในลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
คือเกิดๆ ดับๆ เป็นธรรมดา
พิจารณาเห็นจริงแล้วจะคลายความยึดถือในนามธรรม
ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่น เป็นนี่ เสียได้

ค. การศึกษาขั้นปฏิบัติ มิได้หมายเพียงการเรียน การฟัง การอ่านเท่านั้น
ต้องมีการปฏิบัติให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยจิตใจตนเอง ด้วยการ

1. ปัดเรื่องภายนอกทั้งหมดทิ้งเสียก่อน
มองย้อนเข้าดูจิตใจตนเอง
(จนรู้ว่ามีความแจ่มใส หรือมัวหมองวุ่นวายอย่างไร)
ด้วยความมีสติสัมปชัญญะกำกับ
รู้กาย รู้จิตใจ อบรมจนจิตทรงตัวเป็นปกติ

2. เมื่อจิตทรงตัวเป็นปกติได้
จะเห็นสังขารหรืออารมณ์ทั้งหลาย เกิดดับเป็นธรรมดา
จิตจะว่างวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย
และเห็นรูปนามเกิดดับเองตามธรรมชาติ

3. ความรู้ว่าไม่มีตัวตนแจ่มชัดเมื่อใด
จึงจะพบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ภายใน
เป็นสิ่งที่พ้นทุกข์ ไม่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ
ไม่มีความเกิด ความตาย
สิ่งที่มีความเกิด ย่อมมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา

4. เมื่อเห็นความจริงชัดใจแล้ว จิตจะว่าง ไม่เกาะเกี่ยวอะไร
แม้ตัวจิตเองก็ไม่สำคัญว่าเป็นจิต หรือเป็นอะไร
คือไม่ยึดถือตัวเองว่าเป็นอะไรทั้งหมด
จึงมีแต่สภาพธรรมล้วนๆ เท่านั้น

5. เมื่อบุคคลมองเห็นสภาพธรรมล้วนๆ อย่างแจ่มแจ้ง
ย่อมเบื่อหน่ายในการทนทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ
เมื่อรู้ความจริงฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมตลอดแล้ว
จะเป็นผลประจักษ์เฉพาะหน้าว่า
สิ่งที่หลุดพ้นจากทุกข์นั้นมีอยู่ อย่างชัดเจน
โดยไม่ต้องเชื่อตามใคร ไม่ต้องถามใครอีก
เพราะพระธรรมเป็นปัจจัตตัง คือรู้เฉพาะตนจริงๆ
ผู้ที่มองเห็นความจริงด้านในแล้ว
จะยืนยันความจริงอันนี้ได้เสมอ


รูปภาพ

รูปภาพ

(ก. เขาสวนหลวง 17 มีนาคม 2497)

๏ แนะนำสถานที่และข้อวัตร

สถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง หรืออุศมสถานแห่งนี้
อยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดราชบุรีมากนัก
การจะเดินทางไปนั้น จะต้องออกจากราชบุรีไปทางเขางู
(เขางูอยู่ห่างราชบุรีประมาณ 7 กิโลเมตร)

แต่ถ้าไปจากทางสายธนบุรีปากท่อ ถึงสามแยกเพชรบุรีกับราชบุรี
ให้เลี้ยวขวาไปทางราชบุรี แล้วจะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปเขางู ก่อนจะถึงจังหวัดราชบุรี
ตามเส้นทางสาย ราชบุรี จอมบึง สวนผึ้ง หรือทางหลวงหมายเลข 3087
เดินทางไปจะมีทางแยกหลายแห่ง ให้ไปทางวัดถ้ำฤาษีเขางู
ซึ่งมีป้ายบอกอยู่ตลอดเส้นทาง เพราะเป็นวัดสำคัญเก่าแก่มากถึงสมัยทวารวดี

ถัดไปหน่อยจะพบพระพุทธรูปยืนปูนปั้นติดกับผนังผาริมทาง
ถึงตรงนี้จะต้องชะลอความเร็ว เพราะใกล้ทางแยกเลี้ยวซ้าย ไปวัดห้วยตะแคง
ถึงวัดห้วยตะแคงแล้วให้ขับรถผ่ากลางวัดเข้าไปเลย จะทะลุผ่านหน้าโรงเรียน
ถัดจากนั้นถนนจะแคบๆ ครับ สักครู่จะผ่านทางแยกเข้าหมู่บ้านเขาสวนหลวง
ให้เราเลยไปก่อน จนถึงอีกสามแยกหนึ่ง
คราวนี้เลี้ยวขวาราว 10 เมตร จะถึงประตูอุศมสถานซึ่งอยู่ซ้ายมือ

ภายในอุศมสถาน ร่มรื่นและสงบอย่างยิ่ง
แม้จะมีผู้หญิงและชีปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก
แต่มองไปทางไหนพบแต่ต้นไม้ เพราะต่างก็หลีกเร้นทำความเพียรกัน
จะมีกุฏิกรรมฐานเล็ก เรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ร่มรื่นสวยงาม
ให้เราตรงขึ้นไปจนสุดทาง จะมีลานจอดรถ
และมีชีผลัดเวรกันคอยดูแลแนะนำผู้เดินทาง

ถัดจากศาลาที่คอยต้อนรับแขก จะมีทางขึ้นเขาไปกราบสรีระของท่านกี
บนนั้นจะมีสรีระของท่านวัลย์ น้องสาวท่านกี ซึ่งเป็นเจ้าสำนักต่อจากท่านกี
และมีสถูปเล็กๆ บรรจุอัฐิของลุงเปลี่ยน รักแซ่ รวม 3 ท่านด้วยกัน
ผมขึ้นไปถึง ก็ลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ต่อทั้ง 3 ท่าน

ลงจากเขาที่ประดิษฐานท่านผู้อาวุโสแล้ว มีทางแยกขึ้นไปที่ถ้ำใหญ่
บนถ้ำนั้นกว้างขวางพอสมควร มีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่ 3 องค์
มีแคร่ไม้สำหรับเข้าไปอาศัยนอนในถ้ำได้
แต่ถ้ำค่อนข้างทึบ อับ และมีค้างคาวมาก ที่สำคัญมีงูเห่าด้วย
ถ้าใครจะเข้าไปปฏิบัติ ก็ต้องมีสติรอบคอบหน่อย

อุศมสถาน เป็นที่สัปปายะ ไม่แพ้วัดป่าทีเดียว
สงบ สะอาด และร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีถ้ำมีเขา มีลิงด้วย
แต่ทั้งงูและลิงไม่เคยทำร้ายใคร นอกจากลิงจะแย่งสิ่งของบ้างเท่านั้น

ผู้หญิงท่านใดจะไปภาวนาที่นั่น
ให้เขียนจดหมายไปเรียนต่อแม่ชีสุมนา เฮงสวัสดิ์ *
สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ราชบุรี เสียก่อน
ที่นั่นต้องแต่งกายด้วยเสื้อขาว นุ่งผ้าถุงดำ
รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเราจะทำเองก็ได้ จะขอรับประทานจากชีก็ได้
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือไฟฉาย
กิจกรรมถ้าไม่ใช่วันพระก็มีเพียงการทำวัตรเช้าเย็นเท่านั้น
เวลาส่วนใหญ่จะให้ใช้ปฏิบัติเอาเองให้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม เขาสวนหลวงวันนี้ก็เหมือนวัดป่าเกือบทั้งหมด
คือไม่มีใครสอนปฏิบัติให้แล้ว จะต้องศึกษาและปฏิบัติเอาเอง
แต่ท่านใดที่เคยศึกษาการดูจิตกับผมไว้แล้ว
ไม่ต้องกังวลเลยครับ เพราะธรรมนั้นเป็นอันเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์

ถ้ามีโอกาส ก็ควรไปนั่งดูจิตใจตนเอง ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์หมดจด
เป็นกำไรชีวิตยิ่งกว่าไปทัวร์ต่างประเทศเสียอีก

* หมายเหตุ : แม่ชีสุมนา เฮงสวัสดิ์ ปัจจุบันท่านได้ละสังขารไปแล้ว
ดังนั้น ขอให้ไปกราบเรียน “อุบาสิกาละมัย จุลคำภา” แทนค่ะ


รูปภาพ

รูปภาพ

:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของเนื้อหา-รูปภาพ
บทความในเว็บไซต์ http://www.bangkokmap.com/
http://www.oknation.net/blog/sitthi/2009/03/13/entry-1

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ม.ค. 2010, 20:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เล่าถึง...จิตอัศจรรย์ของท่าน ก. เขาสวนหลวง


:b44: สนิทใจได้ด้วย “ธรรม”

สายสัมพันธ์ในธรรมของท่านมิได้จำกัดในหมู่เพื่อนบรรพชิตเท่านั้น...มีฆราวาสจำนวนมากที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรม และสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นจริงจังไม่ว่าเพศภูมิใด ย่อมประจักษ์ผลแห่งธรรมภายในใจ...ขึ้นเป็นลำดับๆ ไป นักภาวนาหญิงหรือชายนั้นจะให้เหตุผลแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร หลวงตาท่านเคยได้ให้เหตุผลว่า

“...การปฏิบัติไม่มีเพศ เรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไม่เพศ เหมือนกับกิเลสไม่มีเพศ มีได้ด้วยกันทั้งนั้น ความโลภก็มีได้ทั้งหญิงทั้งชาย ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มีได้ด้วยกัน มัชฌิมาปฏิปทาจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย เป็นเครื่องแก้กิเลสทั้งหลาย แก้ได้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยอำนาจความสามารถของตนแล้ว มีทางหลุดพ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน...”

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อโอกาสอำนวย...ท่านจะไปเยี่ยมเยียนถึงสำนักผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นเสมอ...เช่น สำนักชีบ้านห้วยทราย ของคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ของอุบาสิกากี นานายน ในตอนนี้จะขอเล่าถึงตอนที่ท่านแวะเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ดังนี้

ท่านเคยได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของคุณยาย ก. เขาสวนหลวง มานานแล้ว ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรแก่การเคารพกราบไหว้ แต่มีข้อประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขาว่ากันว่าคุณยายเป็นคนไม่เอาพระ คือไม่ต้อนรับพระ สิ่งนี้จึงทำให้หลวงตาฯ อยากรู้ว่าเป็นจริงหรือ ? หรือว่ามีเหตุผลด้วยประการใดกันแน่ เพราะหากเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แล้ว ลักษณะเช่นนี้ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ ท่านจึงไม่อยากเชื่อข่าวลือนี้นัก


เหตุนี้เอง เมื่อมีจังหวะมาถึงในคราวท่านมากรุงเทพฯ เพื่อดูแลอาการอาพาธของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ชึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อได้โอกาสอันควร ท่านจึงได้ไปเยี่ยมเยียนคุณยาย ก. ถึงสำนักฯ เขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี ด้วยตนเองเลยทีเดียว...

พอเข้าไปถึงสำนักฯ เท่านั้น ไม่นานก็มีเสียงระฆังเคาะดังกังวานขึ้น เรียกให้สตรีนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันหลั่งไหลมากราบท่าน และให้การปฏิสันถารต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมี คุณยาย ก. เป็นหัวหน้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย

หลังจากสนทนาพูดคุยกันได้ไม่นาน คุณยายกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงตาฯ แสดงธรรมแก่เหล่าอุบาสิกานักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจึงแสดงธรรมเน้นเรื่องจิตภาวนาเป็นสำคัญ...ทราบว่าหลังการแสดงธรรม คุณยายถึงกับประกาศขึ้นด้วยความอาจหาญในธรรมปฏิบัติของคุณยายเองแก่บรรดาลูกศิษย์ในสำนักฯ ว่า

“ธรรมที่ท่านอาจารย์ได้แสดงให้พวกเราฟังนั้น สามารถยึดถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่มีผิดพลาดแม้เปอร์เซ็นต์เดียว”

เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่ประจักษ์แก่ตัวท่านเอง ดังคำกล่าวที่ท่านเล่าให้ผู้มากราบเยี่ยมคณะหนึ่งฟังว่า

“...ที่ว่าคุณยายไม่ต้อนรับพระนั้น หมายถึง พระประเภทโกโรโกโสไม่ได้เรื่องได้ราวต่างหาก

ถ้าเป็นพระเคารพธรรมเคารพวินัยคุณยายท่านก็ไม่เป็น...จะว่าอะไรแม้แต่เราเองก็ไม่ต้อนรับพระประเภทนั้นเหมือนกัน...”


รูปภาพ
ท่าน ก. เขาสวนหลวง แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง

รูปภาพ
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แห่งสำนักชีบ้านห้วยทราย


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก : หน้า ๒๑๓-๒๑๔
หนังสือ...หยดน้ำบนใบบัว คติธรรมและชีวประวัติ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b49: :b50: รวมคำสอน “ท่าน ก. เขาสวนหลวง”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38677

:b49: :b50: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 11:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 เม.ย. 2009, 13:40
โพสต์: 76

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาค่ะ สำหรับสาระดีๆ ที่นำมาให้อ่าน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2011, 05:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆขอบพระคุณมากค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2015, 11:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาบุญนะครับ :b17:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร