วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


สิ่งที่ผู้ศึกษาธรรมมักสงสัยและสับสนกันอย่างที่สุดคือถ้าเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตน แล้วเหตุใดจึงยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ความเห็นอนัตตาของพระโสดาบันกับพระอรหันต์แตกต่างกันอย่างไร

ตรงนี้ถ้าดูภิกษุนามว่าเขมกะกล่าวไว้ในเขมกสูตร ว่าด้วยความไม่มีตนในขันธ์ ๕ ก็อาจเข้าใจกระจ่างและหายสงสัย ท่านกล่าวกะเหล่าภิกษุร่วมสมัยว่าอย่างนี้…

กระผมไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในรูป ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีนอกเหนือจากรูป ไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่นอกเหนือจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่าตัวเรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ (ทั้งที่กระผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่าอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นเรา)

แล้วท่านเขมกะก็กล่าวเปรียบกับกลิ่น จะเป็นกลิ่นดอกบัวก็ดี กลิ่นดอกบัวหลวงก็ดี กลิ่นดอกบัวขาวก็ดี กลิ่นดอกบัวเหล่านั้นไม่ควรกล่าวว่ากลิ่นเป็นของใบ กลิ่นเป็นของสี หรือว่ากลิ่นเป็นของเกสร โดยที่ถูกต้องกล่าวว่ากลิ่นเป็นของดอก ซึ่งฉันใดก็ฉันนั้น ท่านไม่กล่าวว่าตัวเรามีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในสิ่งอื่นนอกเหนือจากขันธ์ทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ แต่ที่รู้สึกว่า ‘เรามี’ เป็นเพียงอุปาทานอันเกิดจากการประชุมขันธ์เท่านั้น รู้ทั้งรู้ว่าตัวเราเป็นเพียงอุปาทาน แต่ก็ยังถอนมานะไม่ได้ ยังมีความยินดีเต็มใจในการเกิดอุปาทาน รวมทั้งยังไม่อาจทำลาย ‘ความไม่รู้’ หรืออวิชชาอันเป็นที่สุดของกิเลสลงได้

สรุปคืออุปาทานในขันธ์ ๕ ของอริยเจ้าชั้นต้นๆนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ถ้าว่าตามความเห็นแล้ว หรือหากให้พูดแล้ว ท่านจะไม่กล่าวเลยว่าในขันธ์ ๕ มีตัวตน หรือนอกขันธ์ ๕ แม้กระทั่งนิพพานเป็นตัวตน อริยเจ้าผู้รู้จักนิพพานย่อมไม่มีความเห็นผิด เพียงแต่ยังถอนรากแห่งราคะและโทสะไม่ได้ ยังถอนมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไม่ได้ เพราะยังเอาชนะความอยากไม่ได้ อวิชชาจึงบังจิตได้อยู่ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือดูขันธ์ ๕ เกิดดับไปเรื่อยๆจนกว่าจะถอนกิเลสได้หมดนั่นเอง

แต่ถึงแม้พระโสดาบันยังถอดถอนกิเลสไม่ได้ พวกท่านก็รู้ว่าสิ่งใดดีที่สุด รสใดเลิศสุด เพราะมหาสุญญตาเป็นสัจจะที่ปรากฏให้รู้ได้ไม่จำกัดกาล จะสองพันปีก่อน จะเป็นปีนี้ หรือจะเป็นกี่ล้านปีข้างหน้า ก็ยังคงปรากฏความเป็นรสอันเหนือรสอยู่เช่นนั้น รสแห่งความว่างในนิพพานวิเศษกว่ารสหวานชื่นอื่นใดอย่างเทียบกันไม่ติด เพราะรสแห่งความกำหนัดในวัตถุกาม และแม้รสแห่งความหวานชื่นในฌาน ต่างเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ หวงแหนไว้ เหนี่ยวรั้งไว้ ซึ่งที่สุดก็ไม่อาจเป็นไปได้ดังใจ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่รสแห่งความว่างจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องเหนี่ยวรั้งแต่อย่างใด เพราะนิพพานไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีความเคลื่อนแม้น้อยเท่าน้อย เพราะธรรมชาติแห่งความเป็นนิพพานไม่มีกาลเวลา จึงปราศจากการตั้งต้นเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีการแปรปรวน และไม่มีอะไรไปทำให้ดับลง

นิพพานไม่มีการมาการไป หมายถึงไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปครับ

มีแต่ธรรมชาติแบบนิพพานที่ปราศจากกาล เป็นคนละระนาบกับสังสารวัฏที่เป็นของปรุงแต่ง

:b38: /...พระโสดาบันรู้ว่านิพพาน

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2009, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


พระโสดาบันรู้ว่านิพพานไม่หายไปไหน เพราะถ้าเมื่อใดท่านมีกำลังหนักแน่นเป็นหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ดำเนินจิตดังเช่นที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์คือ...

๑) ยินดีในความวางเฉยในกายใจ

๒) เห็นแจ้งในความวางเฉยนั้น

๓) พิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ

ผลสมาบัติหมายถึงอริยสมาธิ คือการยับยั้งอยู่ในจิตที่เป็นผลอันเกิดขึ้นหลังพระโสดาปัตติมรรค ขณะแห่งจิตนั้นมีสติบริสุทธิ์เห็นแจ้งว่าธรรมชาติทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ผัสสะที่กระทบจิตในขณะแห่งการเข้าอริยสมาธิคือความว่าง ความไม่มีนิมิต และความไม่มีที่ตั้ง อันเป็นลักษณะของนิพพาน หรือพูดง่ายๆว่านี่คือการเข้าสมาธิที่มีนิพพานเป็นเครื่องหน่วงจิตนั่นเอง

หลังปรากฏการณ์บรรลุธรรม ฉันลองนั่งกำหนดรู้ลมหายใจอย่างที่เคยกำหนด เห็นอิริยาบถนั่งคงที่อย่างที่เคยเห็น รู้ชัดในสุขเวทนาอันเกิดพร้อมอยู่ในสายลมหายใจและอิริยาบถนั่งอันคงเส้นคงวานั้น แล้วเกิดความวางเฉย ไม่ติดใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตน ไม่มีมโนภาพของบุคคล ตัวตน ชายหญิงใดๆหลงเหลืออยู่ สติเกิดขึ้นเต็มที่เห็นชัดในอาการวางเฉยนั้น ว่าปราศจากเยื่อใยอาลัยทั้งปวง จิตอยู่ในอาการตรองว่าไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่น แล้วก็บังเกิดอาการรวมดวงใหญ่เป็นฌาน ปฏิรูปไปอยู่ในสภาพ ‘ยกขึ้นบก’ ทันที คือเห็นว่ากายใจหายไป ความว่างปราศจากนิมิตและที่ตั้งปรากฏแทน เพียงแต่ไม่มี ‘แสงประหารกิเลส’ ผุดโพลงขึ้นเหมือนขณะโสดาปัตติมรรคอุบัติเท่านั้น

ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นบก เพราะเห็นโดยความเป็นที่ยุติ เป็นที่ปราศจากความเคลื่อน แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในอัตตทัณฑสุตตนิทเทสโดยเปรียบว่าความกำหนัดเหมือนห้วงน้ำใหญ่ เปือกตมคือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก ส่วนอมตนิพพานเรียกว่าบก เพราะเป็นสภาพที่สงบจากสังขารทั้งปวง (จึงไม่อาจมีรูปนามอันเจือด้วยกามใดๆมาแผ้วพานหรือตั้งอยู่ที่นี่ได้)

ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นจริงแท้หนึ่งเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพียงมายาลวงใจ แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในธาตุวิภังคสูตรว่าผู้หลุดพ้นย่อมตั้งอยู่ในความจริง สิ่งที่เปล่าประโยชน์ได้แก่ความปรุงแต่งอันแปรปรวนเป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดาได้แก่นิพพานนั้นจริง

เข้าผลสมาบัติหลายรอบจนรู้แล้วว่าที่สุดก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีรางวัลใหญ่เกินกว่าสิ่งที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาแค่เขลาไปและมองไม่เห็นเอง แม้บังเกิดปีติยิ่งใหญ่ในธรรมาภิสมัย ฉันก็ไม่รู้สึกแตกต่างมากนักระหว่างก่อนได้กับหลังได้มรรคผล เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ฉันสมควรจะได้เพราะทำเหตุไว้พอดีกับผลอยู่แล้ว

มองย้อนกลับไป ฉันก็เห็นว่าผู้ภาวนาควรพอใจตั้งแต่สามารถเห็นได้ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา เพราะเริ่มสิ้นความอยากมีภัยเวรแล้ว ปลอดภัยจากนรกแล้ว ผู้มีองค์ทั้ง ๘ ของมรรคพร้อมแล้วย่อมไปสู่สุคติเป็นธรรมดา ไม่ว่าใจจะอยากไปหรือไม่อยากไปก็ตาม

ฉันเป็นผู้หนึ่งที่ไม่รู้อนาคตของตนเอง จึงไม่เคยนับถอยหลังว่าวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไรจะสำเร็จมรรคผล แต่เมื่อประกอบเหตุไว้พอดีกับผล ผลย่อมเกิดเองโดยไม่ต้องเรียกร้องปรารถนา ดังเช่นในนาวาสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า รอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่าวันนี้ด้ามมีดของเขาสึกไปประมาณเท่าใด เมื่อวานสึกไปประมาณเท่าใด วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่าใด นายช่างไม้มีความรู้แต่ว่าด้ามมีดสึกไปแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุเจริญภาวนาอยู่ ก็หารู้ไม่ว่าวันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด เมื่อวานสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่าใดก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครมีบารมีอย่างกลาง เจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนจะบรรลุอรหัตตผล แต่ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนเพิ่งบรรลุโสดาปัตติผล แสดงว่าบารมีต้องอย่างอ่อนเป็นแน่แท้ การดูบารมีอ่อนบารมีแก่จึงไม่ใช่วัดกันจากที่สั่งสมมาแล้วในอดีตชาติ แต่ต้องดูความเพียรอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันด้วย เพศฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาของฝุ่นละออง ไม่ได้มีหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนเพศบรรพชิต แต่สิ่งสำคัญคือฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานได้ถ้าสมัครใจ และสามารถบรรลุธรรมที่ถูกต้องได้ในเวลาไม่นานเกินรอ ขอเพียงมีเหตุปัจจัยที่สมน้ำสมเนื้อกันกับมรรคผลเท่านั้น อย่าต้องพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีเวลาเต็มที่เพื่อการนี้ จะยิ่งมิบรรลุธรรมเร็วขึ้นเพราะปราศจากอุปสรรคข้อติดขัดดังเช่นที่ฆราวาสต้องประสบหรอกหรือ?

นี่เป็นแค่วันจันทร์ธรรมดาอีกวันหนึ่ง ตื่นขึ้นไม่ได้นึกว่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ และเมื่อ ‘มีอะไรเป็นพิเศษ’ แล้วก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตต่างไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ฉันยังอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานตามปกติ คิดเหมือนปกติ พูดคุยกับผู้คนเหมือนปกติ กลับบ้านนั่งสมาธิเดินจงกรมเหมือนปกติ รู้สึกสุขทุกข์เหมือนปกติ ที่รู้สึกเป็นปกติเพราะมีปกติเห็นกายใจโดยความเป็นของเกิดดับอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพบอนิจจังของกายใจหลังเห็นนิพพานแต่อย่างใด



:b38: /...วันที่ ๘-๑๒: สมถะและวิปัสสนา


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 20 ธ.ค. 2009, 14:54, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ย. 2009, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อยากหามาอ่านเหมือนกันอ่า
เห็นท่านว.วชิรเมธีพูดถึง
แต่เห็นเค้าว่า ตั้งใจจริง 7 วัน
อยู่กับพระศาสดา วันเดียวเสร็จ :b32:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2009, 15:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




fish-eyed-view-of-blue-sky.jpg
fish-eyed-view-of-blue-sky.jpg [ 106.05 KiB | เปิดดู 4751 ครั้ง ]
:b43: วันที่ ๘-๑๒: สมถะและวิปัสสนา

ทุกเช้าฉันยังตื่นตีสี่ตามเคยด้วยความเคยชิน แปลกไปบ้างคือมักลุกขึ้นมาเดินดูดาวเล่น หรือนั่งอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้นั่งสมาธิเดินจงกรมโดยเฉพาะ ด้วยความรู้สึกว่าแม้อาการเดินเล่นในบัดนี้ก็กลายเป็นเวลาของการภาวนาได้

วันหนึ่งฉันเกิดความคิดขึ้นมา ว่าถ้าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ ฉันคงจะไปกราบเพื่อขอใช้เศียรเกล้าแทนแผ่นรองบาทสักครั้งในชีวิต และจะได้ทูลถามเป็นการส่วนตัวว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้ว สำหรับฉันควรทำเช่นใดต่อไปเป็นพิเศษ เพื่อถึงยอดแห่งความสวัสดีโดยไม่เนิ่นช้า

กลับเข้าห้องนอนเปิดคอมพิวเตอร์ เกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่าฆราวาสในสมัยพุทธกาลมีที่บรรลุธรรมกันมากน้อยเพียงใด โดยจำได้เลาๆว่าเคยอ่านผ่านตา เห็นมีอุบาสกอุบาสิกาที่ยังบริโภคกามแต่สามารถปฏิบัติภาวนาได้ถึงระดับอนาคามีมากมาย ฉันอยากอ่านสูตรนั้นอีก จึงค้นหาด้วยคำสำคัญคือ ‘อุบาสก’ และ ‘บริโภคกาม’ ก็พบกับมหาวัจฉโคตตสูตร ซึ่งเป็นสูตรเกี่ยวกับนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าเฝ้าและกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ซึ่งหลังจากที่พระศาสดาแสดงธรรมที่เป็นอกุศลและธรรมที่เป็นกุศลตามลำดับ ท่านวัจฉะก็เกิดความสงสัยและทูลถามว่าภิกษุกับภิกษุณีผู้เป็นสาวกแห่งพระองค์มีมากหรือไม่ที่สำเร็จคุณวิเศษต่างๆ พระองค์ตรัสตอบว่ามีมากไม่น้อยเลย

ท่านวัจฉะก็สงสัยและทูลถามต่อว่านอกจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว แม้อุบาสกกับอุบาสิกาผู้ไม่ถือบวช มีมากไหมที่บรรลุธรรมในระดับที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่ามีอยู่มากอีกเช่นเคย แล้วบัดนั้นท่านวัจฉะก็ทูลถามถึงผู้สำเร็จในระดับโสดาบัน ใจความคือ

“ก็อุบาสกหรืออุบาสิกาแม้คนหนึ่งผู้เป็นสาวกของพระโคดมฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของพระองค์แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่หรือไม่พระเจ้าข้า?”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ดูกรวัจฉะ พวกอุบาสกและอุบาสิกาผู้เป็นสาวกของเรา ฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของเรา ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่ไม่ใช่เพียงร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้มีอยู่มากทีเดียว!


:b38: ..../ ฉันอ่านถึงตรงนี้แล้ว

รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2009, 15:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




autumn-alone-in-the-field.jpg
autumn-alone-in-the-field.jpg [ 87.71 KiB | เปิดดู 4740 ครั้ง ]
ฉันอ่านถึงตรงนี้แล้วยกมือไหว้อนุโมทนาท่วมศีรษะ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาแห่งองค์ศาสดาเป็นล้นพ้น คนรุ่นเรารู้จักฆราวาสดังๆผู้บรรลุธรรมไม่กี่คน เช่นอุบาสกอย่างเช่นพระเจ้าสุทโธทนะ สมเด็จพระพุทธบิดาผู้บรรลุโสดาปัตติผล หรืออุบาสิกาอย่างเช่นนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งก็บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ความจริงในบันทึกและนอกบันทึกพระไตรปิฎกยังมีฆราวาสบรรลุธรรมอีกมาก อย่างเช่นสันตติมหาอำมาตย์ ก็บรรลุถึงพระอรหัตตผลโดยยังไม่ได้บวชทีเดียว

ท่านวัจฉะฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส มีกำลังใจแก่กล้า เพราะตระหนักว่าธรรมะของพระพุทธองค์ทำสำเร็จกันได้ทุกคน แม้แต่ฆราวาสบริโภคกามยังมีที่บรรลุธรรมกันมาก อย่ากระนั้นเลย ท่านเองสมควรบวช เนื่องจากคิดว่าท่านเองก็ต้องทำได้เช่นกัน และสมควรทำได้อย่างบริบูรณ์ด้วยเนื่องจากเป็นพระ

สำหรับท่านวัจฉะนั้น เดิมทีเป็นนักบวชนอกพระศาสนา ซึ่งตามพระธรรมวินัยต้องอยู่ปริวาสก่อนอุปสมบท คือประพฤติข้อวัตรต่างๆเป็นพิเศษให้ภิกษุดูใจจนกว่าจะยอมรับ ซึ่งท่านวัจฉะก็ทูลพระพุทธองค์ว่าคนอื่นเขาอยู่ปริวาสกัน ๔ เดือน ข้าพระองค์ขออยู่ให้ครบ ๔ ปีทีเดียว ซึ่งเมื่อครบตามปณิธานของท่านวัจฉะ ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพุทธศาสนาสมใจ เมื่อบวชเพียงครึ่งเดือนก็ได้พระโสดาปัตติผล สิริรวมเวลาได้ ๔ ปีกับ ๒ สัปดาห์ท่านก็ล้างคราบความเป็นอัญญเดียรถีย์ สำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลองค์หนึ่ง จากนั้นท่านก็เข้าไปกราบทูลขอคำแนะนำขั้นต่อไปจากพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ตรัสตอบว่า

ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเจริญธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ

สรุปคือจะเป็นผู้เริ่มต้นภาวนาหรือผู้ภาวนากระทั่งถึงมรรคผลแล้ว ก็ยังต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไป ใช่จะละเลยส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยความประมาทว่าไม่สำคัญ ไม่จำเป็น ตกลงฉันได้คำตอบสองข้อจากพระสูตรเดียว คือทั้งได้รู้ว่าอุบาสกอุบาสิกาที่บรรลุธรรมมีอยู่มาก และได้ทราบว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้วควรเจริญสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก


ฉันกะพริบตาสองสามที ตั้งแต่เจริญสติปัฏฐานสร้างวาสนาให้ตนเองจนได้ร่วมขบวนเห็นนิพพานกับเหล่าสาวกนับไม่ถ้วน ฉันไม่เคยนึกเลยว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา มีแต่ทำตาม ‘คำสั่งของบรมครู’ ในมหาสติปัฏฐานสูตรโดยลำดับ แล้วก็ได้ผลมาตามลำดับ

เคยทราบมาเหมือนกันว่ายุคเรามีการถกเถียงกันมาก ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา ซึ่งดูที่เถียงๆกันแล้วฉันรู้สึกท้อแท้มากกว่าจะได้ความเข้าใจที่ชัดเจน เลยไม่ให้ความสนใจนัก

แต่พอเห็นว่าพระพุทธองค์ก็ทรงแยกแยะสมถะและวิปัสสนาออกจากกัน กับทั้งแนะให้ทำควบคู่กันยิ่งๆขึ้นไปแม้สำเร็จโสดาปัตติผลแล้ว ฉันจึงตาตื่นและสนใจความต่างระหว่างการปฏิบัติทั้งสองส่วนนั้นจริงๆจังๆ

ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงระบุจำแนกแยกแยะ ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา แต่พระองค์ก็ทรงแยกหน้าที่ของสมถะและวิปัสสนาไว้ในปฐมปัณณาสก์คือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะหนึ่ง วิปัสสนาหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้

ในจิตตุปปาทกัณฑ์ของพระอภิธรรมปิฎก นิยามของ ‘ลักษณะจิต’ อันเป็นสมถะและวิปัสสนามีอยู่ค่อนข้างชัดเจนคือ

สมถะมีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสมถะมีในสมัยนั้น

วิปัสสนามีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าวิปัสสนามีในสมัยนั้น

สรุปว่าอาการที่จิตสงบตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีกำลัง คือลักษณะของจิตที่เป็นสมถะ ส่วนอาการที่จิตมีปัญญารู้ชัด ไม่หลงผิด ทำลายกิเลสได้ คือลักษณะของจิตที่เป็นวิปัสสนา พอแยกอย่างนี้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน จะได้ทราบว่าระหว่างสมถะและวิปัสสนานั้น ส่วนใดยังอ่อน ส่วนใดที่เข้มแข็งแล้ว

:b38: /...และหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2009, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว




sky.jpg
sky.jpg [ 61.08 KiB | เปิดดู 4726 ครั้ง ]
และหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งเข้ามาถึงจิตอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่า แม้ศีล ๕ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสมถะ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าความบริสุทธิ์ของศีลทำให้มีความสงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิง่าย เนื่องจากไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจนั่นเอง หากเข้าใจว่างานทางสมถะเริ่มขึ้นที่การเพ่งดูลมหายใจหรือบริกรรมอะไรไปเรื่อยโดยปราศจากการรองรับของศีล ผลมักไม่เป็นความสำเร็จทางสมถะ อย่าว่าแต่หวังก้าวขึ้นสู่วิปัสสนา

สำหรับส่วนประสบการณ์ที่ผ่านมาของฉัน พอถึงจุดนี้พอจะตัดสินเป็นส่วนตัวได้ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา เริ่มต้นขึ้นมานั้น เพื่อให้มีความรู้ชัดทางสมถะหมายถึงการกำหนดรู้เท่าที่จะสามารถรู้ และรู้ให้ต่อเนื่องในอารมณ์เดียวด้วยความจงใจ ถ้าฟุ้งซ่านบ้างก็ช่าง ไม่ใช่ไปคุมแจจนเครียด สำคัญคือไม่ลืมหวนกลับมาพยายามระลึกรู้อารมณ์เดิมหลังจากที่พลัดหลงไปบ้างก็แล้วกัน ส่วนวิปัสสนาเริ่มขึ้นเมื่อจิตสงบจากสภาพฟุ้งแล้ว เริ่มพิจารณาสภาวะที่กำลังปรากฏเด่นเฉพาะหน้าได้แล้วว่ามีลักษณะอย่างไร และลักษณะนั้นคงที่หรือแปรปรวนเป็นธรรมดา

ทบทวนย้อนไปในอดีตเมื่อแรกที่เริ่มสนใจภาวนา พยายามระลึกรู้ให้เป็นวิปัสสนาในระหว่างวันอย่างที่ครูบาอาจารย์หลายๆท่านมักแนะนำ ฉันจะมีสติแบบเข้าข้างตัวเอง คือนึกว่ามีสติตลอดเวลา ปฏิบัติตลอดเวลา เห็นอะไรก็รู้ กระทบอะไรก็รู้ โดยไม่มีสภาพเปรียบเทียบว่าเมื่อไหร่จิตตกจิตขึ้น มีสติคมหรือสติทื่อ ช่วงเวลานั้นจุดบอดก็คือการขาดสมถะนั่นเอง หากปราศจากการทำสมาธิตามรูปแบบเสียบ้าง ก็ยากที่จะมีจิตสงบๆเป็นการตั้งหลักเทียบวัดคุณภาพ

พอมาเจริญสติปัฏฐานจริงจัง ปักหลักตั้งใจรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืนโดยไม่สนใจว่ากำลังหลับตาหรือลืมตา ความหมายของสมถะก็กระจ่างชัดขึ้น การทำจิตให้มีเครื่องผูก มีเวลาโดยมากนิ่งรู้ ไม่เร่ร่อนแส่ส่ายตามอำเภอใจนั้นแหละ สมถะที่พร้อมให้ต่อยอดขึ้นเป็นวิปัสสนา และลมหายใจก็คือเครื่องมือช่วยเจริญสติใกล้ตัวที่สุด ทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่จำกัดเวลา พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญการอบรมสติรู้ลมหายใจบ่อยครั้งที่สุดในบรรดาข้อปฏิบัติอบรมสติทั้งหมดทุกชนิด ถ้าไม่มีหลัก ไม่มีราวเกาะอย่างลมหายใจให้เริ่มต้นก้าวแรก จิตจะออกอ่าวไปเรื่อยๆเพราะไม่รู้จะดูอะไรดี วันๆมีแต่อารมณ์เปะปะมั่วซั่วไปหมด

ลมหายใจเดียวกันอาจเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะรู้ ถ้าแค่รู้ว่าออกหรือเข้าก็เป็นสมถะ แต่ถ้าเห็นว่าออก เห็นว่าเข้า เห็นว่ายาว เห็นว่าสั้น มีความไม่สม่ำเสมอ สติตั้งมั่นรู้อยู่เห็นอยู่ในลมหายใจทั้งปวงว่าแปรปรวนเป็นธรรมดา นั่นคือวิปัสสนาแล้ว จิตที่แยกเป็นผู้รู้ผู้ดูนั่นแหละ อาการติดตามไม่ลดละกระทั่งเกิดความหมายรู้ว่าไม่เที่ยงนั่นแหละ จุดเริ่มของความสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญว่าลมเข้าเรียกว่าเกิด ลมออกเรียกว่าดับ หรือลมเข้ากับลมออกรวมกันเรียกว่าเกิด ลมหยุดเรียกว่าดับ ตรงไหนที่จิตยอมรับได้ว่ามีความต่างสภาวะกัน ตรงนั้นแหละคือจุดที่จิตเริ่มเห็นความดับของสภาพใดสภาพหนึ่ง และแปรเป็นความเกิดของอีกสภาพหนึ่งแล้ว



:b38: ..../วันที่ ๑๓: รางวัลที่ ๑





รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2010, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๑๓: รางวัลที่ ๑

วันอาทิตย์นี้ฉันทำตามความตั้งใจ คือขึ้นเครื่องบินไปภาคเหนือด้วยเจตนาจะไปกราบพระภิกษุผู้สอนคำเดียวถึงกับทำให้ฉันนับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ทันที ไม่มีอะไรมากกว่าการรับคำสั่งสอนเพิ่มเติม เพื่อความไม่มีมานะ เพื่อความไม่หลงในการยกระดับจิตวิญญาณพ้นผ่านสภาวะปุถุชน

ระหว่างนั่งอยู่บนเครื่อง ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ยอดขายดีตีตลาดระดับชาวบ้านทั่วไปฉบับหนึ่ง เห็นข่าวคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ซึ่งลงข่าวใหญ่หน้าหนึ่งอยู่เป็นพักๆ อาจเพื่อเพิ่มความหวังให้กับนักเสี่ยงโชคทั่วประเทศที่มักมีความสดชื่นกับฝันลมๆแล้งๆทุกครึ่งเดือน ส่วนใหญ่คนที่ถูกจะปิดบังกันมิดเม้นเพื่อป้องกันการถูกตีหัวโดยไม่รู้ตัว มีเพียงบางส่วนเล็ดลอดเป็นข่าวออกมาได้ จะด้วยความจมูกไวของคนหนังสือพิมพ์หรือเหตุผลกลใดก็ตามที

อะไรบางอย่างทำให้ฉันอ่านข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศรางวัลที่ ๑ ของงวดประจำวันที่ ๑ กรกฎาคม ปรากฏว่าชาวจังหวัดพิษณุโลกฮือฮากันใหญ่ เนื่องจากทราบว่าหมวดหมายเลขรางวัลประจำงวดถูกส่งให้ยี่ปั๊วมาขายในพื้นที่ของจังหวัดจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบว่าผู้โชคดีสุดขีดที่ซื้อไปเป็นใครบ้าง กระทั่งเพิ่งเป็นที่เปิดเผยว่าช่างประปาในเขตจังหวัดนั่นเอง เป็นหนึ่งในผู้ซื้อไปถึง ๒ คู่ ร่ำรวยเป็นเงินแปดหลักทันที

พออ่านข่าวแล้วใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีกับช่างประปา เพราะทราบว่าการเป็นช่างประปานั้นเหนื่อยยาก เมื่อเป็นแล้วหลายคนมักทำไปทั้งชีวิต แม้ภายหลังมีเงินพอจะมีร้านของตนเอง ส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ แต่ก็ไม่มีใครเต็มใจอยากมาช่วย หากได้เงินสดมาแล้วใช้เป็น ก็ย่อมหลุดจากวงโคจรชีวิตอันยากลำบากทันที

จิตของฉันมีความคมนิ่งในลักษณะหนึ่ง ที่บันดาลให้ปิดตาลงแล้วถามจิตเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้าไปที่กลางจอขาวอันราบเรียบ ว่าพวกถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ทำบุญอะไรมา และน่าสงสัยว่าถ้าเคยทำบุญขนาดได้ลาภลอยยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ เหตุใดจึงมาเกิดในพื้นเพครอบครัวค่อนข้างอัตคัดกันได้

:b38: /...ในความสว่างว่าง


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2010, 16:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ในความสว่างว่างอันปราศจากความคาดหมายใดๆ คล้ายแผ่นน้ำสงบถูกก้อนหินกระทบแล้วปรากฏความกระเพื่อมขึ้น เพียงแต่ในที่นี้ไม่ใช่การกระเพื่อมขึ้นเป็นวงลูกคลื่น ทว่ากระเพื่อมขึ้นเป็นนิมิตคล้ายเงาเลือนรางที่ทาบผิวน้ำ ฉันเห็นเค้าของชาวบ้านป่านั่งพนมมือกับพื้น และเค้าเงาของพระธุดงค์ยืนให้พรอยู่ แต่เหมือนมีตัวบอกออกมาจากทั้งนิมิตนั้น เป็นความเข้าใจถึงใจที่ยากจะอธิบายเป็นภาษา ฉันรู้แต่ว่าช่างประปาเคยเป็นคนบ้านป่าที่เดินมาพบพระธุดงค์โดยบังเอิญ และเกิดความเลื่อมใสในความสงบสำรวมสง่างามยิ่ง จึงถวายข้าวปลาที่เอาติดตัวมาใส่บาตรท่านจนสิ้น ไม่เหลือไว้สำหรับตัวเองเลย ไม่กลัวเลยว่าจะหิวโหยอย่างไร

ความจริงข้าวปลานั้นมีปริมาณเพียงน้อย แต่ใจที่ไม่กลัวหิว ไม่กลัวอด กับทั้งเลื่อมใสในจริยาอันสงบสำรวมและราศีผ่องใสของพระธุดงค์ยิ่ง จึงบังเกิดปีติล้นพ้นอยู่เป็นนานนับวันชนิดร่างกายแทบไม่หิวโหยเลย เรียกว่าเป็นใจที่ยิ่งใหญ่เกินธรรมดา อีกทั้งเผอิญพระธุดงค์นั้นเป็นผู้มีจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน จึงเกิดเป็นกรรมขาวติดตัวมาให้ผลหลายชาติแล้ว โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดลงง่ายๆเสียด้วย เวลากรรมจะให้ผลมักเป็นไปในทางลาภลอย บางครั้งได้มาเฉยๆ บางครั้งจากการเสี่ยงดวง กรรมขาวของเขามักชนะกรรมขาวประเภทเดียวกันของคนอื่นๆในช่วงเวลาที่ต้องแข่งวาสนากัน โดยช่วงเวลาเหมาะสุดในชาติหนึ่งๆของเขาจะเป็นต้นชีวิต เนื่องจากมีจิตหนักแน่นคิดทำทานทันทีที่เห็นพระธุดงค์โดยบังเอิญ

อย่างไรก็ตาม อดีตคนบ้านป่านั้นโดยปกติมีจิตตระหนี่ ไม่ได้มีใจคิดให้ทานเป็นนิตย์ จะทำบุญต่อเมื่อมีความเลื่อมใสใหญ่ๆและมักจะเป็นไปในทำนองบังเอิญพบ เขาติดนิสัยทำบุญโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน จึงบังเอิญเจอบุคคลหรือเหตุให้ทำโดยบังเอิญบ่อยๆ แต่กรรมที่ตระหนี่เป็นประจำ เป็นอาจิณณกรรมนั้น ให้ผลหนักแน่นกว่า คือส่งให้ไปเกิดในตระกูลที่ไม่ร่ำรวย ต่อเมื่อเติบโตขึ้นแล้วจึงได้ลาภลอยก้อนโตอยู่เสมอๆ

ฉันลืมตาขึ้น สิ่งที่ปรากฏในนิมิตจะเป็นเพียงมายาทางจิตประการใดก็ตามที อย่างน้อยก็ทำให้ฉันปลงโลก คำว่า ‘บังเอิญ’ ไม่มี มีแต่คำว่าเพราะทำเหตุอย่างนี้ จึงเกิดผลอย่างนั้น เพราะทำเหตุอย่างนั้น จึงเกิดผลอย่างนี้ ทำในสิ่งที่เป็นบุญคือกรรมขาว ทำในสิ่งที่เป็นบาปคือกรรมดำ ทำในสิ่งที่จะลอยทั้งบุญและบาปให้หมดคือกรรมไม่ดำไม่ขาว ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันมีพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางไว้โดยชอบ

ฉันน้อมจิตนึกถึงอดีตคนบ้านป่าซึ่งเป็นช่างประปาในชาติปัจจุบัน สัมผัสถึงกระแสความฟุ้งซ่านแน่นทึบ เมื่อเห็นซึ้งเข้าไปในจิตใจอันวุ่นวายของปุถุชนผู้เสวยบุญใหญ่ด้วยความไม่รู้ แทนที่จะเกิดใจริษยาอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นแบบเขาบ้าง ก็กลายเป็นสลดสังเวชเสียแทน ฉันไม่พยายามดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาต่อไป แต่แค่เห็นสภาพจิตอันเป็นปัจจุบันก็แทบอยากครวญครางออกมาแล้วว่าทุกข์หนอ วุ่นวายจริงหนอ

เทียบจิตเขากับฉัน แล้วก็ตระหนักว่าตัวเองเพิ่งได้ของดีที่สุดในโลก คือจิตอันรู้จักความสงบเย็นเช่นนิพพาน แค่นึกถึงก็ปีติซ่านเย็นไปทั่วทุกตารางนิ้วในร่าง เมื่อน้อมสู่ความว่างก็หมดความอาลัยไยดีในโลกเสียได้ เหลือแต่ความสงบ ตื่นรู้ สว่างโพลง เท่าทันสัจจะความจริงทั้งฝ่ายทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ว่าเป็นอนัตตา

ถามคนในโลกว่าถ้ามีคนเสกให้ จะเลือกอะไรระหว่างล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ กับความสงบ ร้อยทั้งร้อยต้องบอกว่าจะเลือกรางวัลที่ ๑ เพราะชั่วชีวิตของคนในโลกรู้จักแต่ความสุขที่ได้จากสิ่งกระทบภายนอก ไม่เคยลิ้มรสความสงบอย่างแท้จริงจากจิตใจเอาเลย ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสงบ จึงไพล่ไปนึกถึงความแห้งแล้งของสถานที่ไกลชุมชน หรืออย่างมากก็ความสบายใจหลังยกภูเขาลูกใดลูกหนึ่งออกจากอกเสียได้ แท้ที่จริงแล้วความสงบทางจิต ความระงับอาการทะยานอยากของใจสำเร็จนั้น ให้รสอันลึกล้ำเกินจินตนาการ น่าเศร้าที่ให้ลองลิ้มกันง่ายๆไม่ได้ ต้องแลกด้วยแรงกาย แรงใจ รวมทั้งห้วงเวลาช่วงหนึ่งในชีวิต ที่ไม่ค่อยจะมีมนุษย์หน้าไหนอยากยอมสละให้ เพียงเพื่อทดลองลิ้มรสอันยังไม่เคยรู้นั้น

สำหรับฉัน ถึงตายตอนนี้ก็ไม่เสียใจแล้ว แต่คนได้รางวัลที่ ๑ คงยังทำธุระไม่เสร็จ ยังต้องเสียดายชีวิตไปอีกนาน ที่ต่างประเทศเคยมีข่าวน่าสลดของชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งถูกรางวัลใหญ่ทำนองนี้ แต่เกิดโศกนาฏกรรม ต้องมาด่วนตายจากโลกไปเสียก่อนจะได้ใช้เงิน แค่คิดฉันก็ไม่รู้สึกเสน่หาในลาภลอยของใครแล้ว



:b38: /... เมื่อเดินทางมาถึงเชียงราย


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2010, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อเดินทางมาถึงเชียงราย ก็ได้กราบพระภิกษุซึ่งฉันนับถือเป็นครูบาอาจารย์ ท่านมารักษาวัดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์ของท่านฝากดูแลชั่วคราว อย่างน้อยก็มาฝึกพระรุ่นใหม่ให้สามารถรับช่วงสืบทอดต่อไปได้

ท่านต้อนรับฉันด้วยรอยยิ้มสงบเย็น ฉันกราบท่านด้วยใจเคารพลึกซึ้ง หลังจากมีปฏิสันถารตามธรรมเนียมอยู่ชั่วครู่ ท่านก็ทักขึ้นมาลอยๆว่าลาภใหญ่นั้นต่อให้เป็นลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สิบครั้งก็แค่นั้นเอง ของมันต้องหมดไป เอาติดตัวไปไม่ได้ เอาไปซื้อสุคติภูมิไม่ได้ เอาไปประกันตัวออกมาจากนรกไม่ได้ แต่พระโสดาปัตติผลนั้นเมื่อได้เพียงครั้งเดียวจะไม่มีวันเสื่อม ปิดประตูอบายเด็ดขาด มีแต่จะเลื่อนชั้นขึ้นสูงในหนทางของสุคติภูมิ รู้แจ้งแทงธรรมยิ่งๆขึ้นไปจนถึงที่สุด

ฉันน้อมหลังก้มกราบท่านหลายครั้งหลายครา ยิ้มปลาบปลื้มขนลุกเกรียวไปทั้งร่าง บันดาลธรรมปีติราวกับเพิ่งบรรลุธรรมใหม่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทันทีที่มนุษย์ผู้มีปัญญา มีอวัยวะครบ ได้เกิดศรัทธาจะอุทิศตัวเจริญสติปัฏฐานเต็มกำลัง ในบัดนั้นเขากำลังสร้างโชคให้ตัวเองเหนือกว่าผู้ประสบลาภลอยระดับรางวัลที่ ๑ ทุกชนิดแล้ว

ภพชาติเป็นสิ่งน่ากลัว หมู่ชนผู้ไม่ตระหนักในภัยใหญ่หลวงย่อมหลงใหลแสวงสุขกันอย่างหน้ามืดตามัว วันหนึ่งเมื่อมัจจุราชจะยื่นหัตถ์มาคร่าชีวิตไป พวกเขาย่อมคร่ำครวญด้วยความไม่รู้ และดิ้นรนขอต่อชีวิตด้วยความมาดหมายจะกลับมาเสพสุขอีก กรรมขาวก็ไม่ขยันทำ กรรมไม่ดำไม่ขาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง

พระอาจารย์ของฉันเทศน์เตือนด้วยน้ำเสียงสงบเจือเมตตา ว่าโสดาบันอาจเป็นนาบุญใหญ่หรือเป็นแหล่งกำเนิดบาปหนักของคนอื่นได้เท่าๆกัน เพราะมีความสูงส่งทางจิตวิญญาณ แต่ก็ยังมีราคะ โทสะ โมหะครบ โดยเฉพาะถ้าเป็นฆราวาสก็เหมือนคนเหยียบเรือสองแคม ก้ำกึ่งกันมากระหว่างปุถุชนกับพระ ฉะนั้นทางที่ดีควรระมัดระวัง อย่าไปก่อความเจ็บใจให้ใครเขา อย่าเผลอเอาราคะ โทสะ โมหะไปออกหน้าปัญญา จะมีคนเดือดร้อนสาหัสเมื่อเขาคิด พูด หรือทำตอบมาด้วยอกุศลจิตหนักๆ และเราเองถ้าเผลอก่อบาปก็จะให้ผลรวดเร็วรุนแรงเมื่อเทียบกับปุถุชนทำในระดับเดียวกัน

ก่อนกราบลาในวันนั้น พระอาจารย์ได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายด้วยการเปรยว่าผู้บรรลุธรรมขณะเป็นฆราวาสนั้นจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมักทอดธุระ ไม่ขวนขวายเต็มที่เหมือนสมัยยังเป็นปุถุชนผู้มุ่งมั่นเอามรรคเอาผล เพราะหน้าที่และวิถีชีวิตฆราวาสไม่ใช่เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย หลายต่อหลายคนเป็นโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะ คือต้องเกิดตายอีก ๗ ครั้งกว่าจะจบสิ้นภพชาติ ก็เพราะบรรลุโสดาปัตติผลขณะเป็นฆราวาส เพลิดเพลินไปกับการเหยียบเรือสองแคมอยู่นี่เอง ต่างจากการบรรลุธรรมขณะเป็นพระ เส้นทางจะดึงดูดให้เจริญภาวนายิ่งๆขึ้นจนถึงที่สุดก่อนตาย แม้พักภาวนาบ้างก็เพื่อสงเคราะห์ญาติโยมมากกว่าจะเพื่อเพลิดเพลินไปในโลก

ฉันก้มหน้าเงียบ แต่ใจอดนึกเถียงไม่ได้ เมื่อเช้าก็ยังตื่นตีสี่ตามปกติอยู่เลย ท่านมาเตือนเรื่องประมาททำไม แต่พอกราบลาพระอาจารย์ ขณะเดินออกจากวัดนั่นเอง ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่าหลังบรรลุธรรมแล้ว ฉันตื่นตีสี่ขึ้นมาเดินเล่นหรืออ่านพระไตรปิฎกเสริมความรู้ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพระโสดาบันด้วยความติดใจมากกว่าจะนั่งสมาธิเดินจงกรม อีกทั้งเมื่อสติอยู่ตัว เจริญทั้งสมาธิและปัญญาได้บ่อยๆในระหว่างวัน ก็ทำให้ ‘กิริยา’ อันเป็นนิมิตแห่งความเพียรลดลงมาก จะไปเพียรรู้เอาด้วยสติระหว่างวันเป็นหลัก นั่นเองเป็นเครื่องหมายบอกว่าความกระตือรือร้นขวนขวายเริ่มลดลงแล้ว

ฉันถอนใจยาว สำรวจความรู้สึกและถามตัวเองว่ายังอยากรู้ภาวะหลุดพ้นแห่งใจชนิดไม่กลับกำเริบเหมือนวันที่ได้พบคุณพ่อน้องอ๊อดผู้เป็นครูธรรมะคนแรกในชาติปัจจุบันอยู่อีกหรือไม่ คำตอบคือไม่อยากเท่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีเหตุปัจจัยแวดล้อมใดๆมาฟ้องเลยว่าเลิกอยากแล้ว ไม่เอาแล้ว



:b38: /....พระไตรปิฎกแสดงปาฏิหาริย์


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2010, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


พระไตรปิฎกแสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง คืนนั้นฉันอ่านเจอพุทธพจน์ในอัญญสูตร ซึ่งพระมหากัสสปะนำมากล่าวเทศน์ภิกษุถึงธรรม ๑๐ ประการอันเป็นไปเพื่อความเสื่อม ซึ่งถ้าไม่ละธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันหมดสิทธิ์เจริญต่อ ธรรม ๑๐ ประการเหล่านั้นได้แก่

๑) หลงสำคัญผิดเข้าใจว่าตนเป็นอรหันต์ เพียงเพราะเป็นผู้สดับฟังมากจนขึ้นใจ รู้รอบตอบได้หมด

๒) เป็นผู้มีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่มาก

๓) เป็นผู้มีความพยาบาทกลุ้มรุม

๔) เป็นผู้มีความหดหู่ง่วงงุน

๕) เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอย่างมาก

๖) เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลงไม่รู้จบ

๗) เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน (หมายถึงการงานอันจะดึงจิตให้ส่งออกนอกขอบเขตสติปัฏฐาน)

๘) เป็นผู้ชอบในการคุย ยินดีในการคุย ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบพูดคุย

๙) เป็นผู้ชอบนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบนอนหลับ

๑๐) เป็นผู้มีสติหลงลืม ทอดธุระในคุณวิเศษเบื้องบนเพราะได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องต่ำ

ข้อสุดท้ายทำให้ฉันตะลึง ตระหนักในบัดนั้นว่า ‘ความจริง’ เกี่ยวกับมนุษย์ย่อมเหมือนกันมาทุกยุคทุกสมัยไม่มีเว้น เป็นโสดาบันอาจปลอดภัยจากนรก แต่ยังไม่ปลอดภัยจากความประมาททอดธุระได้ ซึ่งหมายความว่าอาจต้องอยู่โยงยาวในสังสารวัฏต่อไปอีกหลายชาติ แทนที่มีโอกาสแล้วจะเข้านิพพานเสีย โลกของฆราวาสเต็มไปด้วยเหยื่อล่อ ฉันคงต้องหมั่นถามตัวเองให้บ่อยขึ้นว่าต้องการ ‘สอบไล่ให้ผ่าน’ หรือจะยอมซ้ำชั้นเดิมรวมกับคลื่นลูกหลังอีกและอีก?

๗ เดือนที่ผ่านมาทำให้ฉันตระหนักอย่างหนึ่งว่าชีวิตของผู้เจริญภาวนาไม่เป็นไปตามตัวหนังสือสั้นๆในพระคัมภีร์ เช่น ‘เมื่อได้แนวปฏิบัติแล้วก็เจริญรุดหน้าในการภาวนาตามลำดับ ไม่ช้านานก็บรรลุอรหัตตผล’ ชีวิตมนุษย์จริงๆที่มีเลือดเนื้อ มีตัวตนนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งเหยื่อล่อ ทั้งข้อขัดข้อง ทั้งความขึ้นลงต่างๆบรรดามีมากมาย หากจิตทำตัวเป็นลูกบอลที่วิ่งฉีกผิดองศานิดเดียวก็อาจพลาดเป้าไม่เข้าประตูไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ประตูเปิดกว้างสว่างโร่ออกขนาดนั้น

ภาวะโสดาบันที่แท้คือการไม่เห็นว่ามีตัวตน ไม่มีกระทั่งความเป็นโสดาบันในใคร แต่ตราบใดคนเรายังมีมานะ มีตัณหาอุปาทาน ตราบนั้นย่อมเผลอสติ หลงสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความประมาทยืนพื้นอยู่บนความจริงอันน่าชื่นชม เช่นเป็นผู้ไม่ตกต่ำแล้ว เป็นผู้ไม่มีเวรภัยแล้ว เป็นผู้มีแต่ขึ้นกับขึ้นแล้ว ก็รังแต่จะทำให้ลดละความเพียรลงตามลำดับได้วันละนิดวันละหน่อย พอรู้สึกตัวอีกทีก็ปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นทำบ้างไม่ทำบ้างไปเสียแล้ว นั่นเองสาเหตุของความไม่สิ้นทุกข์ในชาติปัจจุบัน

ฉันเริ่มคิดตั้งเป้าใหม่ ว่าจะทำอะไรด้วยชีวิตที่เหลือ พระพุทธองค์ตรัสตอบท่านวัจฉะเมื่อครั้งเป็นปริพาชกว่าสาวกผู้เป็นอุบาสกของท่านมากมายสำเร็จธรรมถึงระดับอนาคามี เพราะฉะนั้นฉันก็คิดเงียบๆว่าความเป็นอริยบุคคลระดับนั้นแหละ ที่ฉันจะทำให้ถึงก่อนบวช!

จากเสขสูตร ฉันรู้ว่าการเป็นอริยบุคคลสองชั้นแรกคือพระโสดาบันกับพระสกทาคามีนั้น เพียงมีสมาธิพอประมาณก็ใช้ได้ แต่หากต้องการเป็นพระอนาคามี ก็ต้องทำสมาธิให้บริบูรณ์ถึงจะมีน้ำหนักสมภูมิ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้คงต้องเริ่มเน้นงานสมถะให้มาก เช่นทำความยินดีพอใจในฌาน กับทั้งทำอสุภกรรมฐานจนจิตไม่ข้องแวะกับกามอีกต่อไป



:b38: /...วันที่ ๑๔-๓๑: นิมิตประจำตัว


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑๔-๓๑: นิมิตประจำตัว

ภูมิจิตของโสดาบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสงบง่ายกว่าปุถุชนทั่วไป เหตุเพราะจิตไม่เอาเวรภัยและอกุศลธรรมหยาบอันเป็นเครื่องขวางสมาธิ ดังนั้นเมื่อโสดาบันมุ่งมั่นทำสมาธิ สมาธิจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

การมีสมาธิจิตช่วยให้เห็นอะไรตามจริง ไม่บิดเบี้ยวไปตามอคติง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสมาธินั้นประกอบอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นหัวขบวนนำ การรู้เห็นสภาวะนอกในทั้งหลายย่อมผิดแผกแตกต่างจากครั้งเมื่อยังถูกโมหะหนาๆบดบังอยู่มาก

ฉันพบว่าคนธรรมดาจะไม่รู้ว่าชีวิตตนประกอบกรรมดีเลวอย่างใดไว้บ้าง เพราะความคิดนึกพูดทำทั้งหลายจะมาตามความเคยชิน ไม่ใช่มาด้วยอาการตั้งเข็มไว้ว่าจะตีกรอบพฤติกรรมด้วยศีล ๕ และเมื่อทำอะไรไปแล้วก็ไม่มีการสำรวจว่าสภาพจิตใสสว่างขึ้นหรือมืดมัวลง จึงกล่าวได้ว่าเพราะความไม่รู้ คนจึงทำบุญบาปตามแรงทะยานของตัณหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆไป

คำแนะเช่น ‘จงทำดี’ นั้นฟังติดหูและเหมือนเข้าใจกันด้วยสามัญสำนึกทั่วไป แต่ความจริงมีรายละเอียดและข้อน่าสงสัยเป็นประเด็นจุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงซ้ำซากได้ไม่รู้จบรู้สิ้น แต่สำหรับผู้สำรวจจิตเป็น เห็นว่า ‘ความตั้งใจอันเป็นกุศล’ กับ ‘ผลลัพธ์อันเป็นกุศลจิต’ มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ก็จะคลายความขัดข้องในทุกประเด็นลงได้

บางครั้งเมื่ออยู่ในสมาธิตั้งมั่นสว่างระดับที่พอจะน้อมไปรู้อะไรๆตามปรารถนา ฉันลองกำหนดดูชีวิตของตัวเอง ชีวิตคนควรเริ่มดูจากอะไร? เอาสิ่งที่ฝักใฝ่และกระทำเป็นประจำนั่นแหละเหมาะสุด ด้วยสติที่คมชัด ฉันเห็นความใฝ่ใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นไปในทางเอาตัวเองให้รอดจากทุกข์ เป็นสาวกถาวรตลอดนิรันดร์กาลของพระพุทธเจ้าผู้พิสูจน์พระองค์เองแล้วว่า ‘รู้จริงทุกเรื่อง’ ดังนั้นการเป็นสาวกผู้เลื่อมใสในพระองค์ย่อมได้รับอานิสงส์เป็นการรู้ทางเดินที่ถูกที่ชอบเสมอ นี่คือคุณของการยอมตนเป็นผู้เชื่อถือและรับปฏิบัติตามกัลยาณมิตรที่ประเสริฐ

ฉันเห็นกายในอิริยาบถนั่ง กายนี้บอกกรรมในอดีตโดยมาก ส่วนจิตนี้บอกกรรมในปัจจุบันอันเป็นรากแห่งอนาคตโดยรวม ขณะจิตเดียวนั่นเองแสดงเกือบทุกสิ่งในตัวเอง เมื่อกำลังสว่างใสเบาอยู่ ย่อมเป็นนิมิตเครื่องบ่งบอกว่ากำลังอยู่ในสุคติ และจะดำเนินไปสู่สุคติหากต้องขาดใจไปเดี๋ยวนั้น เนื่องจากกรรมอันก่อให้เกิดความสว่างใสเบาย่อมต้องเป็นกุศล และสภาพของจิตก็เป็นกุศลตามกรรม

เมื่อกำหนดดูอยู่ในจิตอันเป็นปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลำดับ จดจ่อเฉพาะ ‘ภาวะแห่งความเป็นสาวกพระพุทธเจ้า’ ทำตามพระองค์สอน เชื่อตามพระองค์ตรัส จิตที่รวมเป็นหนึ่งก็ฉายนิมิตของภาวะรุ่งเรืองขึ้นมา ทีแรกสัมผัสว่าเป็นสภาพสุกสกาวทางจิต แต่จิตที่ยังยึดมั่นและเกี่ยวข้องกับภพย่อมก่อรูปบางอย่างขึ้น และรูปที่ฉันเห็นในนิมิตก็คือชายผู้มีชีวิตอันเบาสบาย สะอาดกายใจ อุดมด้วยเครื่องแวดล้อมอันน่ารื่นรมย์

ณ จุดนั้นทำให้เข้าใจวิธีรู้เห็นเรื่องลี้ลับมากขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย จิตอยู่ในมิติไหน ก่อกรรมอันใดโดยมาก ก็สร้างภพอันมีความเป็นเช่นนั้นไว้ การที่คนเราเกิดมามีสภาพหนึ่งๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง มิใช่เรื่องบังเอิญหรือผู้มีอำนาจท่านใดส่งมา แต่มาด้วยการจัดสรรของกรรม มาด้วยความมีจิตยึดมั่นในภพของความเป็นเช่นนั้น

ฉันเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น คือกระทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วน้อมนึกถึงอะไรเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้ากระทบแผ่นน้ำเรียบ จิตจะกระเพื่อมเป็นนิมิตให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ และเงานิมิตที่เกิดกับจิตอันตั้งมั่นเป็นกลางก็มักสะท้อนภาพความจริงที่ปรารถนาจะรู้โดยปราศจากอคติ

ปกติเมื่อคนธรรมดารู้จักใครสักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดมโนภาพเกี่ยวกับคนๆนั้นขึ้นมาในใจ เมื่อนึกถึงใครจะรู้สึก ‘เป็นบวก’ หรือ ‘เป็นลบ’ ทันที นั่นก็เป็น ‘นิมิตเบื้องต้น’ ชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องฝึก หากสำรวจให้ละเอียดจะพบว่าทุกคนมีนิมิตประจำตัวกันทั้งสิ้น วิธีพูดกับคนรอบตัว การกระทำต่อคนที่เข้ามาหาให้เขาเดินกลับออกไปด้วยน้ำตาหรือเสียงหัวเราะนั่นแหละคือรูปนิมิตกรรมอันเป็นเงาตามเจ้าของกรรมไปทุกหนทุกแห่ง

คนธรรมดาต้องรู้เห็นความเป็นไปของผู้อื่นนานๆ จึงทราบว่านิมิตประจำตัวของเขาผู้นั้นเป็นอย่างไร และถ้าเขาผู้นั้นกระทำกรรมในที่ลับ ไม่เป็นที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก นิมิตหลายต่อหลายส่วนก็อาจแหว่งวิ่นไป แต่สำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องรอใครก่อกรรมให้เห็นในที่แจ้งเปิดเผยต่อสายตา เพียงน้อมจิต ‘นึกถึง’ ใครคนหนึ่งด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว เป็นกลาง เต็มดวง ก็จะปรากฏนิมิตของคนๆนั้นขึ้นเอง บางทีอาจเป็นนิมิตนิ่ง บางทีก็เป็นนิมิตเคลื่อนไหว บางทีก็ได้ยินเสียงหรือกลิ่นหอมเหม็น สุดแท้แต่จังหวะที่ได้รับรู้ จิตจะคัดเลือกเอากรรมเด่น หรือที่แต่ละคนทำเป็นประจำขึ้นมาเอง

ในภูมิจิตที่ยังเจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ อาจถูกบดบังด้วยคลื่นแทรกได้ หรือกระทั่งมีอคติได้เพราะรักหรือชังได้ เพราะฉะนั้นฉันจะเลือกเชื่อเฉพาะขณะที่รู้แก่ใจว่าจิตสะอาดบริสุทธิ์จากคลื่นแทรกทั้งหลาย ฉันเห็นตามจริงว่ายิ่งจิตเป็นสมาธิมากก็จะมีความเที่ยงตรงมาก รวมทั้งคัดกรรมเด่นมาแสดงแบบไม่มีฝ้าหมอกอคติเคลือบคลุมด้วย

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐานคือฤทธิ์ทางใจประการต่างๆนั้น เป็นจริงแท้ ฉันไม่เคยฝึกฝนอภิญญาสาขาไหนเลย แต่การรู้อยู่ที่กายใจบ่อยๆนั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจธรรมธาตุทั้งปวง เพราะจักรวาลทั้งจักรวาลนี้เป็นเพียงภาชนะรองรับภพภูมิ ภพภูมิเกิดจากอุปาทานถือมั่นของจิต ความหยาบและประณีตของภพภูมิจำแนกออกด้วยมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมของสังสารสัตว์ นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีกระแสบังคับต่างๆ เช่นภูมิประเทศร้อนหนาว การให้ผลดีร้ายของกระแสจากดวงดาว ความสั้นยาวของวัฏจักรแห่งความเสื่อมและความเจริญทางธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกจัดตำแหน่งด้วยความบังเอิญ กระแสกรรมโดยมวลรวมล้วนเป็นตัวกำหนด และมีวิธีจัดฉาก ตั้งตำแหน่งให้เกิดความเป็นไปนานาสลับซับซ้อนเหนือจินตนาการ จิตที่ฝึกอบรมให้รู้จักธรรมชาติของตัวเองดีแล้ว เป็นกระจกเรียบใสที่ฝ้าละอองเกาะติดยากแล้ว ไม่บิดเบี้ยวจนสะท้อนภาพผิดเพี้ยนแล้ว ย่อมน้อมไปรู้สิ่งต่างๆที่ไม่เกินขอบเขตศักยภาพแห่งจิตตนได้ง่าย สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสในมหาวัจฉโคตตสูตรว่าเมื่ออริยเจ้าเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปแล้ว จะเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ

สำคัญคือถ้ายังไม่ทันฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่จะเล่นสนุกฝึกอภิญญาตามรูปแบบวิธีนอกสติปัฏฐาน ๔ เสียก่อน ผลได้มักไม่คุ้มเสีย ที่เห็นชัดๆคือจิตจะถูกดูดให้ติดกับความสนุกนอกตัวจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นถอนยาก พอจิตเป็นสมาธิแล้วจะโลดโผนโจนทะยานออกข้างนอกเสมอ ไม่มีแก่ใจดึงกลับเข้ามาข้างใน และยิ่งถ้ารู้มากเห็นมาก ก็จะยิ่งเกิดอัตตามานะ จำแนกแยกแยะภพภูมิอันพิสดารด้วยความระทึก และอยากเข้าไปมีส่วนในสภาพอันยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มแรงผูกยึดในภพโดยแท้ ไม่เป็นไปเพื่อความสลัดคืนตัณหาเลย ต่างจากที่เริ่มฝึกสติปัฏฐาน ๔ จนคุ้นทางดำเนินจิตเข้ามาในขอบเขตกายใจก่อน ทำจิตให้ถึงความปลอดภัยก่อน อย่างนี้เมื่อจะเล่นสนุกอะไรก็ไม่ต้องพะวงเลยว่าจะพลัดหลงออกนอกลู่นอกทางสุคติ

สายตาของฉันที่มองคนในโลกเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเล็งแลไปยังใคร ฉันจะเห็นเป็นสองชั้น ชั้นแรกคือชั้นของกายอันเป็นเครื่องแสดงอดีตกรรม ว่ามีน้ำหนักในทางดีหรือทางร้าย ยิ่งสมส่วนมาก มีความผุดผ่องมาก ก็ยิ่งแสดงถึงความมีศีลสัตย์มาก แสดงถึงความมีฐานกรรมด้านดีมากกว่าด้านร้าย จึงได้อัตภาพที่เชิดหน้าชูตาน่าชื่นใจ คนมองแล้วรู้สึกนิยมหรือพิศวาสง่าย และถ้ารวยแต่กำเนิด เกิดมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็แสดงถึงผู้มีทานอันเลิศ ซึ่งมักทำบุญสุนทานขึ้น ยิ่งทำยิ่งได้และเห็นผลเร็ว เพราะเป็นบุญต่อบุญ ยิ่งฐานกรรมเกี่ยวกับทานถ่างกว้างขึ้นมากเพียงใดก็จะยิ่งมีความสุขความอุ่นใจมากขึ้นเพียงนั้น ต่างจากคนที่ฐานกรรมเกี่ยวกับทานแคบอยู่ ต้องทำนานและใช้กำลังใจมาก จึงค่อยเริ่มเห็นผลต่างอย่างชัดเจน

ชั้นต่อมาคือชั้นของใจอันเป็นเครื่องแสดงปัจจุบันกรรม รัศมีจิตจะบอกเลยว่าออกไปทางมืดหรือสว่าง ฉันเห็นชัดยิ่งกว่าชัดว่าคนเราทำกรรมฝ่ายใดมากๆ ก็จะมีพลังฝ่ายนั้นก่อตัวชัดขึ้นๆ และปฏิรูปตัวเป็นแรงดึงดูดให้จิตโน้มน้อมเข้าหากรรมนั้นๆ สังเกตว่าอยากทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากๆ นั่นแหละฟ้องว่าความคิดของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของพลังฝ่ายมืดหรือฝ่ายสว่าง

คนเราก่อกรรมหลายๆอย่างจนจำกันไม่หวาดไม่ไหวว่าหนึ่งชาติทำอะไรไว้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่ก่อกรรมแบบจะได้ไปรับรางวัลในภายภาคหน้า แต่จะก่อกรรมแบบที่เป็นหนี้ต้องชดใช้ภายหลัง และระบบกรรมก็ไม่มีการแจ้งยอดชำระพร้อมแสดงรายการ ต่างจากหนี้บัตรเครดิต ถึงรูดเยอะแค่ไหนก็มีรายการแจ้งกันลืม ลองคิดดูว่าตอนรูดบัตรเครดิตเพลินแล้วต้องมาร้องจ๊ากในภายหลังเมื่อเห็นยอดนั้นเป็นกันอย่างไร ก็จะเป็นยิ่งกว่านั้นตอนจิตสุดท้ายย้อนภาพมาฉายให้ทบทวนว่าหนึ่งชาติทำอะไรไปบ้าง

เมื่อทำกรรมหนักไปทางด้านใดอย่างต่อเนื่องแล้วจิตเต็มดวงเป็นฝ่ายดำหรือฝ่ายขาว ก็ก่อเหตุการณ์หรือดึงดูดบุคคลแบบนั้นเข้ามาสู่ชีวิต การเริ่มต้นคิด พูด หรือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบุคคลชั้นเลิศเช่นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ผู้ชี้ทางสว่าง ผู้เป็นต้นทางออกจากวังวนทุกข์ ผู้ไม่มีใครในสามโลกเสมอเหมือนนั้น จะก่อให้เกิดแรงดึงดูดเข้าหากรรมขาวหรือกรรมดำได้เข้มข้นกว่ากรรมชนิดอื่น การคิด พูด ทำกับพระพุทธเจ้าจะเบี่ยงเบนจากเส้นทางเดิมได้เร็วที่สุด เหมือนพระองค์ท่านเป็นกระจกขยายพลังกรรม ส่งแสงขาวเข้าไปกระทบก็สะท้อนแสงขาวกลับออกมา ส่งกระแสมืดเข้าไปกระทบก็สะท้อนกระแสมืดกลับออกมา ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างน่าตกใจ จิตที่เต็มดวงในทางคิดดีและเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องดีเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด แต่จิตที่เต็มดวงในทางคิดร้ายและหมิ่นพระคุณพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องร้ายมากมายเกินคำนวณ เพราะบุคคลเมื่อเลื่อมใสผู้ใด ย่อมยอมรับและซึมซับแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผู้นั้นมามากเสมอ

พระพุทธเจ้าให้บวชเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง แต่ปัจจุบันมีคนบางพวกจะบวชเพื่อทำชื่อเสียงเงินทองให้โจ๋งครึ่ม คนยุคเราถูกพระปลอมหลอกกันเสียจนสมองชา ไม่มีใจเหลือพอสำหรับพระจริงอีกต่อไป อย่าว่าแต่อริยบุคคลซึ่งขาดแคลนจนเหมือนเป็นเพียงตำนานเล่าขานนานนมที่ไม่มีอยู่จริง เช่นนี้แล้วยุคเราย่อมขาดผู้สืบทอด ผู้เป็นภาพแทน ผู้ชักจูงให้คนในโลกหันกลับมาเลื่อมใสพระพุทธองค์ ตรงข้าม อาจกระเดียดไปในทางคิดไม่ดีกับพระพุทธองค์ผู้สถาปนาศาสนาพุทธขึ้นง่ายๆ

มีการสำรวจว่าปัจจุบันคนทำกิจกรรมใดกันมากในวันหยุด ชายหญิงโดยรวมเพียงไม่ถึง ๕ คนใน ๑๐๐ คนตอบว่าใช้เวลาไปในการทำบุญใส่บาตร เข้าวัดฟังธรรม นอกนั้นจะใช้เวลาในชีวิตให้หมดไปกับการท่องเที่ยวและพักผ่อนอยู่กับบ้าน กรรมของคนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน รับใช้ราคะกันทั้งชีวิต ไม่ใช่เพื่อความพัฒนาสู่ความเจริญแต่อย่างใดเลย คนส่วนใหญ่เกิดแล้วตายไปเฉยๆ แม้รู้ว่าโลกนี้ ประเทศนี้มีพุทธศาสนา แต่ก็หารู้ไม่ว่าทางพ้นทุกข์ปรากฏแล้ว ทางรอดถูกชี้แล้ว เนื่องจากไม่มีคนพูดถึง ไม่มีคนขยายความ ไม่มีคนนำมาทำให้เป็นเรื่องง่าย


ทุกคนมีนิมิตประจำตัว คุณเองก็มีเหมือนกัน! สำรวจดูเถิดว่านิมิตนั้นเป็นไปเพื่อเวรภัยหรือเป็นไปเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น ทางดำเนินอันถูกต้องไม่ได้ถูกฉายสว่างขึ้นโดยง่าย เมื่อเห็นแล้วก็ควรรีบรุดไปไม่รอช้า แข่งกับกาลเวลาที่จะเอาเงามืดมาปกคลุมหนทางไปอีกนานนับกัปนับกัลป์ กว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และชี้ทางเช่นนี้อีก



:b39: สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๗

๑) บรรลุธรรม เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติหรือสิ้นภพสิ้นชาติในปัจจุบันก็ไม่ต้องกลัวความตกต่ำอีกต่อไป

๒) เริ่มรู้เรื่องกรรมและเห็นโทษเห็นภัยตามจริงของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เชื่อสนิทที่พระพุทธองค์ตรัสว่าหากบุคคลหวังจะท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆของสังสารวัฏเรื่อยๆ ก็อย่าหวังเลยว่าจะพ้นนรกได้ เพราะจิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ไม่มีใครเลยที่ขึ้นกับขึ้นอย่างเดียว วันหนึ่งต้องพลาดให้กับความไม่รู้ หลงก่อเหตุแห่งความเดือดร้อนให้กับตนเองจวบสิ้นกาลนานเข้าจนได้

:b38: /.....บทส่งท้าย


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 16:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: บทส่งท้าย
บ่ายนั้นรบชนะมาติดต่องานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเสร็จจากธุระจึงเข้าวัดสุทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกันนั้น

เข้าวิหารใหญ่ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อสายตาเห็นพระประธานโอฬาริกอันเป็นสัญลักษณ์แทนความชนะภัยแล้ว ถึงซึ่งศานติแล้ว เสวยวิมุตติสุขแล้ว ก็เกิดความเยือกเย็นลึกซึ้ง มหาวิหารกว้างใหญ่ดูสงบครึ้มดุจร่มโพธิ์ที่ให้ผู้เร่ร่อนกลางทางวิบากทั้งหลายอาศัยหลบเงาเสมอหน้ากัน

รบชนะคุกเข่าเทพบุตร กราบเบญจางคประดิษฐ์ด้วยความนอบน้อมลงทั้งเศียรเกล้า ใจคิดว่ากำลังกราบพระศาสดา มิได้มองว่าตนเพียงกราบพระอิฐพระปูนองค์หนึ่ง กราบเสร็จก็นั่งพับเพียบทอดตาแลพระปฏิมานิ่ง ดุจเห็นองค์พระมีจิตวิญญาณ ประทานความเมตตาเล็งเนตรมายังอุบาสกสาวกอีกคนหนึ่งของพระองค์ด้วยพระทัยอาทร

นานครู่หนึ่ง สัมผัสของเขาบอกตัวเองว่ามีกระแสจ้องมองมาจากเยื้องขวาด้านหลัง พอเหลียวหน้ามองไปก็สะดุ้งเล็กน้อยเมื่อพบว่าเป็นหญิงสาวผู้เคยมีอิทธิพลกับชีวิตเขายิ่ง อย่างน้อยก็ทำให้ไม่อยากเกิดมาด้วยความไม่รู้และต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างชาตินี้อีก

ใจนุชยกมือไหว้เขาตามปกติ รบชนะรับไหว้แล้วเป็นฝ่ายลุกไปหา หล่อนกำลังนั่งหลบมุมตามลำพัง สีหน้าเศร้าหมอง ผิวพรรณดูซีดเซียวไม่เปล่งปลั่งสดใสอย่างที่เคยคุ้นตา

รบชนะมานั่งขัดสมาธิตรงหน้าและยิ้มให้เงียบๆพักหนึ่ง ใจนุชสบตาตอบเพียงครู่ก็ผินหน้าไปมององค์พระปฏิมา ติดงอนอยู่เล็กน้อย ต่างฝ่ายต่างสำเหนียกได้ว่ากำลังตกอยู่ภายใต้การดูแลของกรรม กรรมเป็นผู้จัดสรรว่าจะให้พบหรือพรากกันเมื่อใด วัฏจักรของการดูดเข้าหาและผลักออกปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวระหว่างญาติมิตรและบุคคลที่เคยรักใคร่ชอบพอ

กระแสในคนเราเหมือนขั้วแม่เหล็กมหัศจรรย์ อยู่ไกลแค่ไหนก็ดึงดูดให้โคจรมาเจอกันจนได้ถ้าถึงเวลา ถึงคราวมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมจะต้องเกื้อกูลหรือห้ำหั่นกัน ทุกคนตกอยู่ใต้กฎแรงดึงดูดของกระแสกรรมสัมพันธ์ เพียงแต่คนทั่วไปไม่มีจิตสัมผัสที่ละเอียดพอจะทราบได้ ต่อเมื่อฝึกสติจนมีกำลังพอสมควรแล้วจึงสามารถสำเหนียกรู้สึกและไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป

“สบายดีเหรอกวาง?”

เขาทักเบาๆ แต่น้ำเสียงแจ่มใสมีกังวานอบอุ่นจนสามารถลดกิริยาแง่งอนเล็กๆของอีกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว ใจนุชเบนสายตากลับมาสบกับเขา

“บังเอิญดีนะคะ มาเจอพี่นะที่นี่ได้”

รบชนะคิดในใจว่าไม่มีเรื่องบังเอิญหรอก โดยเฉพาะถ้าเป็นเหตุการณ์อันจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญกับชีวิตคน การพบเจอ การประสบเหตุ หรือการมาประชุมกันของเรื่องราวทั้งหลาย ล้วนแต่คลี่คลายมาตามเส้นทางกรรมทั้งสิ้น

“พี่ดีใจที่เห็นกวางเข้าวัด”

“กวางเป็นคนบาป เข้าวัดเผื่อจะล้างมลทินออกจากใจได้บ้าง”

หล่อนตอบด้วยสุ้มเสียงแฝงความน้อยใจเต็มเปี่ยม ชายหนุ่มยิ้มให้กำลังใจ

“ใครบอก กวางน่ะทำบุญมากกว่าบาปเยอะ ต้องเรียกว่าคนใจบุญ ไม่ใช่คนบาปที่ไหนหรอก”

หญิงสาวอึ้งเงียบไปครู่ กะพริบตาทีหนึ่งก่อนเอ่ยพลางหันไปมองพระประธานทอง

“ช่วงที่ผ่านมากวางคิดไม่ดีตลอดจนรู้สึกกลุ้มใจ เริ่มเชื่อแล้วล่ะค่ะว่าผลกรรมมีจริง และสงสัยว่าตัวเองคงไม่แคล้วนรก”

รบชนะเลิกคิ้วฉงน

“มีเรื่องอะไรหรือ?”

“กวางคิดมาก ฟุ้งซ่าน จิตใจมืดไปหมด แล้วก็ถูกคนใส่ร้ายบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พอหลับก็ฝันไม่ดี คิดถึงแต่คำพูดของตัวเองที่บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พี่นะเห็นแก่ตัว”

สีหน้าชายหนุ่มเริ่มจริงจังขึ้นเพราะนึกได้ตามที่หล่อนกล่าว ในพยสนสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสโทษของการติเตียนอริยเจ้าไว้ คือความฉิบหาย ๑๐ ประการ แต่ ๔ ข้อสุดท้ายร้ายๆคือเป็นโรคอย่างหนักหนึ่ง ถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่านหนึ่ง เป็นผู้ตายด้วยอาการหลงหนึ่ง และที่น่ากลัวกว่าอะไรคือเมื่อตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เรียกว่าทำกรรมเดียวให้ผลหลายประการครบสูตร

และที่ใจนุชติเตียนอย่างไม่เป็นธรรมไว้นั้นก็ไม่ใช่แค่อริยะธรรมดา แต่เป็นถึงมหาอริยะ เป็นจอมอรหันต์ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า! นี่ถ้าเป็นพวกบาปหนาก็จะไม่รู้สึกสะทกสะเทือนอะไรเลย โอกาสสำนึกจึงยาก และไม่เชื่อว่าที่กำลังประสบเคราะห์ทั้งภายนอกภายในจะมีเหตุจากการปรามาสพระพุทธเจ้า แต่ยังดีพื้นจิตพื้นใจของหล่อนนั้นเป็นกุศล ผู้มีพื้นจิตเป็นกุศลนั้น ขณะทำบาปหนักจะรู้สึกเคว้งงงโคลงเคลง หลังทำบาปแล้วจะไม่สบายใจ ครุ่นคิดกังวลปักติดค้างคาอยู่กับบาปนั้นๆไม่เลิก เสวยผลกรรมอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็ดีอย่างหนึ่งคือเปิดโอกาสให้คิดแก้ตัวก่อนสาย

อายุมนุษย์ปัจจุบันยาวพอจะกลับตัวกลับใจ มีเวลาพอจะเปลี่ยนเส้นทาง รบชนะเม้มปากเล็กน้อย คิดจะช่วยเหลืออดีตคนรักเต็มกำลัง เพราะว่าไปตนก็มีส่วนให้หล่อนเคราะห์ร้ายอยู่มาก

“ทุกคนเห็นแก่ตัวกันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เลิกเห็นแก่ตัวต่างหาก ถ้ากวางมองตามจริงอย่างนี้ได้ ก็เรียกว่าช่วยละลายกรรมให้เจือจางลงกว่าครึ่งแล้ว”

ใจนุชก้มหน้าสลด

“พอกวางสำนึกผิด กวางก็พยายามหาหนังสือธรรมะมาอ่านเหมือนกันแหละค่ะ อ่านตั้งแต่ประวัติความเป็นมาก่อนเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช แล้วได้กลับมาโปรดพระประยูรญาติรวมทั้งพระชายา ก็รู้สึกแล้วว่าพระองค์ท่านมีพระทัยเมตตามหาศาล”

รบชนะพยักหน้า พูดแบบไม่ให้อีกฝ่ายเสียขวัญและมองเป็นเรื่องเล็กที่แก้ไขง่าย

“ดีแล้ว แก้ด้วยความเข้าใจ ล้างด้วยความเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตามจริง คือการเริ่มต้นใหม่ที่แข็งแรง มองกันตามจริงนะ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งลามก กระตุ้นให้คิดแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี ก็เป็นธรรมดาที่ใจเราจะหลงๆตกไปตามกระแสโลกบ้าง แต่ถ้าพื้นจิตเป็นกุศลอย่างกวางก็ไม่เป็นไรมากหรอก กลับลำทันถมเถ หมั่นคิดดีเหมือนเติมน้ำละลายเกลือก้อนเล็ก เดี๋ยวเดียวก็หมดความเค็มไปเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้”

“กวางพยายามคิดดี แต่ก็ไม่เลิกคิดชั่วร้ายเสียทีนี่คะ มันผุดขึ้นในหัวเป็นระยะๆ ทรมานเหลือเกิน”

หญิงสาวเหลือบตาอันฉาบแววกังวลมาหา ชายหนุ่มยิ้มอบอุ่นตอบ

“พี่ถามหน่อย ที่กวางคิดไม่ดีนั้น ตั้งใจคิดหรือเปล่า?”

“เปล่าค่ะ มันผุดขึ้นมาเอง และยิ่งกังวลก็เหมือนยิ่งคิดบ่อยขึ้นทุกที”

“งั้นถามอีกคำ ใจจริงกวางอยากกราบหรือคิดกับพระดีๆมากกว่าใช่ไหม?”

“ค่ะ”

“นี่แหละจิตของเรา ส่วนที่ควบคุมไม่ได้คือการแสดงตัวของอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา ส่วนที่ควบคุมได้คืออุปาทานว่าเป็นเรา เราทำได้แค่กับส่วนที่เป็นเรา อย่างตอนนี้กวางลองทำตามที่พี่บอกนะ เอ้า! ยกมือไหว้พระ ไหว้สวยๆเลยนะ”

ใจนุชปฏิบัติตาม ก้มหน้าพนมมือจดหน้าผากด้วยกิริยานอบน้อมยิ่ง

“คราวนี้ตั้งจิตอธิษฐานว่านี่คือใจจริงของหนู เห็นเข้ามาให้ตรงตามจริงว่าใจของเราเป็นอย่างไร มีความสบายใช่ไหม?”

หล่อนลดมือลง และหันมาตอบเขายิ้มๆ

“ค่ะ”

“นั่นแหละ ดีแล้ว ต่อไปนี้พอคิดไม่ดีขึ้นมาอีกก็ถือเป็นโอกาสเรียนรู้ความจริงว่าจิตไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เจ้าของที่จะไปบัญชามันได้ดังใจ แค่เรามี ‘ใจจริง’ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดีพอแล้ว สบายใจได้แล้ว อนัตตาอยากส่งความคิดอะไรมารบกวนก็ช่างมัน ดูก็พอว่าลมหายใจนี้อยู่ในหัวเรา ลมหายใจต่อไปยังอยู่อีกหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่ามันรั้งตัวเองไว้ทรมานใจเราไม่ได้นานเหมือนกัน มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน”

ใจนุชตรองตามแล้วเริ่มเห็นเค้าว่าตนจะสบายใจขึ้นได้อย่างไร

“ค่ะ กวางจะทำตามนั้น” แล้วเธอก็มีสีหน้าสดชื่นขึ้น “กวางเจอหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าไม่สบายใจอะไรให้ทำทานมากๆ ช่วยเหลือคนอื่นมากๆ แต่อย่าหวังผล แล้วจะมีความสุขมากขึ้นตามหลักเบื้องต้นของพุทธศาสนา กวางลองแล้ว แต่ไม่เป็นสุขขึ้นเลย พี่นะช่วยบอกหน่อยซิคะว่ากวางเข้าใจอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า?”

เมื่อกำหนดวาระจิตคนได้ก็ง่ายต่อการยิงเข้าเป้า ตรงกับเงื่อนปมปัญหา รบชนะเห็นจิตใจที่แห้งแล้งขณะทำบุญของใจนุช เพราะเหตุที่เธอห้ามตัวเองไม่ให้คิดหวังจนเกินไป

“ถ้าทำบุญด้วยความโลภ ก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานด้านหนึ่ง คือทำแบบนักลงทุน ไม่ได้ทำแบบผู้แสวงบุญ แต่ถ้าไปคิดผิดแบบใหม่คือทำบุญต้องไม่ได้อะไรเลย ห้ามหวังอะไรเลย อย่างนั้นก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานอีกด้านหนึ่ง คือมีแต่กรรมทางกาย กรรมทางใจหดหายเกือบหมด การให้ทานต้องให้ด้วยความเต็มใจ ปรารถนาจะให้อยู่ก่อน และขณะให้ทานต้องปลื้มใจในบุญ หลังให้ทานต้องคิดถึงความน่าชื่นใจในการสละความตระหนี่ ถ้าให้ดีก็คืออธิษฐานว่าขอบุญนี้จงเป็นตัวอย่าง เป็นพื้นฐานในการสละกิเลสยิ่งๆขึ้นไป”

ใจนุชยิ้มด้วยสีหน้าบ่งบอกว่าเข้าใจกระจ่าง รบชนะพลอยปลาบปลื้มที่ช่วยให้หล่อนพ้นจากนรกทางใจเสียได้ในเวลาอันสั้น ถ้าวิธีคิดต่างไป ชีวิตทั้งชีวิตของเราก็จะต่างไป แนวคิดเกี่ยวกับจากชีวิตตั้งแต่เกิดมาของคนทุกผิดหมด นึกว่าทำเพื่อตัวเองแล้วจะยิ่งเป็นสุข แต่แท้ที่จริงเป็นที่มาของความตระหนี่ ความแล้งน้ำใจ อันเป็นฝ่ายทุกข์ทั้งสิ้น แต่เมื่อตั้งต้นคิดถูก นับแต่การรู้จักให้ รู้จักสละเป็น ความทุกข์ที่หวงไว้ กอดไว้กับอกก็จะเริ่มถอยห่างออกไปทีละน้อย

หญิงสาวหยอดเงินใส่ตู้ทำบุญภายในวิหารจนครบทุกตู้ หย่อนธนบัตรแต่ละครั้งก็อธิษฐานตามคำแนะนำของรบชนะ จนกระทั่งถึงตู้สุดท้ายก็ใจว่างเบา เกิดปีติเป็นล้นพ้น เมื่อก้าวออกจากวิหารก็เอ่ยปากขอแนวทางปฏิบัติธรรมจากชายหนุ่มอีกครั้ง และครั้งนี้ด้วยความตั้งใจ ด้วยความเต็มใจของหล่อนเอง รบชนะจึงถือโอกาสมอบสมุดบันทึกหลายเล่มให้กับหล่อน บอกให้หล่อนอ่านอย่างละเอียดและลองทำตามนั้นดู เขาจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้

เทียนต่อเทียนคือความสว่างไสวอบอุ่นยิ่งๆขึ้น กุศลต่อกุศลคือมหากุศลที่ยังให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ใจนุชใช้เวลาเป็นสามเท่าของรบชนะ คือเกือบสองปี กำลังใจจึงแก่กล้าพอจะสละทิฏฐิว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน แต่นั่นก็คุ้มเหลือจะคุ้ม ต่อให้ต้องใช้เวลา ๗ ปีก็คุ้ม ในเมื่อเดินตามทางตรงแล้วสุดท้ายต้องได้ผลวันยังค่ำ
... :b53: :b51: :b53: :b51: ...

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 16:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มหาสติปัฏฐานสูตร

ถึงหน้านี้หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้เขียน หน้าก่อนๆที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องแต่ง เรื่องแต่งคือเรื่องที่ไม่มีบุคคลจริงอยู่ แต่อาจนำ ‘ความจริง’ มาผูกเป็นเรื่องราวเพื่อให้ย่อยง่าย เห็นภาพชัดเจนตามวิถีทางของการเล่าผ่านประสบการณ์ของคนธรรมดาสักคน ทั้งหมดก็เพื่อเป้าประสงค์เดียว คือเพื่อง่ายเมื่อมีโอกาสอ่าน ‘ของจริง’ ได้แก่มหาสติปัฏฐานสูตรซึ่งบรรจุข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น ‘หนทางเดียวที่จะบรรลุธรรมอย่างถูกต้อง’

ขอให้ลองอ่านดูอย่างละเอียดและน้อมมาปฏิบัติตามเถิด ผู้เขียนนำมาให้แล้วในท้ายหนังสือเล่มนี้ หากท่านเข้าใจและมองออกว่าจะเริ่มปฏิบัติอย่างไร พัฒนาสติให้เจริญขึ้นด้วยมุมมองแบบไหน ก็ขอให้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำแล้ว กุศลจากการเขียนมีเพียงใด ผู้เขียนขอให้พ่อแม่ ตลอดจนผู้ที่ได้อ่านและมิได้อ่านหนังสือ จงรับไปโดยเท่าเทียมกัน

ขอกราบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เปิดเผยทางออกจากวังวนทุกข์ด้วยเศียรเกล้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้

๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ

๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ

๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ

๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เสมอ

เธอพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 16:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

กายานุปัสสนา - อานาปานบรรพ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไรภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ คือภิกษุในพระศาสนานี้ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาวก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

กายานุปัสสนา - อิริยาปถบรรพ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุ…

เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน
เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน
เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง
เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน
หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร