วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๓
อานาปานสติ ขั้นที่ ๙-๑๖
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เล่มที่ 1, 2 และ 3

การจัดทำหนังสืออานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เต็มชุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเป็นหัวข้อใหญ่และละเอียดอ่อนแล้ว ยังมีเรื่องรูปเล่ม รูปแบบ การแบ่งเล่ม จะเอาเฉพาะเรื่องการปฏิบัติ 16 ขั้นล้วนๆ หรือจะเอาธรรมะและเรื่องราวส่วนประกอบอื่นๆ รวมไว้ด้วย ทำอย่างไรจึงจะไม่ยาวเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นสำนวนและลีลาการสอนของท่านพระอาจารย์ล้วนๆ ทั้งหมด ในที่สุดได้ตัดสินใจว่าจะแบ่งเป็น 3 เล่ม ดังนี้

เล่มที่ 1 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

เล่มที่ 2 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๒ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 1-8 คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมีเรื่องราวประกอบตามสมควร

เล่มที่ 3 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๓ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 9-16 คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พร้อมธรรมะและเรื่องราวประกอบ

หวังว่าหนังสือชุดนี้ จะเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติได้ดีพอสมควร ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่มีส่วนช่วย รวมทั้งผู้ที่ช่วยอนุเคราะห์การจัดพิมพ์ด้วย

ขอกราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ที่อนุญาตให้จัดทำ ได้ช่วยตรวจแก้และแนะนำในเรื่องต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใด คือกราบขอบพระคุณสำหรับธรรมะที่ท่านพระอาจารย์ได้เมตตามอบให้พวกเรา เพื่อเป็นแนวทางดำเนินชีวิตชอบต่อไป


มูลนิธิมายา โคตมี
กรกฎาคม 2547

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สารบัญ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อานาปานสติขั้นที่ 9 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต

จิตอยู่ที่ไหน
จิตเป็นภาชนะรับอารมณ์
อุปกิเลส 16
เด็กน้อยเฝ้าศาลา
สามเณรบัณฑิตและสามเณรสุข

อานาปานสติขั้นที่ 10 ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่
จิตประภัสสร
การทำจิตให้ปราโมทย์

อานาปานสติขั้นที่ 11 ทำจิตให้ตั้งมั่น
ทำจิตประภัสสรให้ตั้งมั่น
จิตเห็นจิต

อานาปานสติขั้นที่ 12
ทำจิตให้ปล่อย - จิตปล่อยจิต

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานสติ

การเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น แบบต่างๆ

อานาปานสติขั้นที่ 13 ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยง
พระภิกษุล้างเท้า - เห็นอนิจจัง
พยับแดดและฟองน้ำ
พระพาหิยะ

อานาปานสติขั้นที่ 14 ตามเห็นซึ่งความจางคลาย
ยินร้ายก็เป็นราคะ
พระภิกษุสำคัญว่าตนเป็นอรหันต์
นักปราชญ์ 3 คน

อานาปานสติขั้นที่ 15 ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลือ
ยังมีอุปาทานหลงเหลืออยู่
อุปาทานในขันธ์ 5
ลิงปอกหอมใหญ่

อานาปานสติ ขั้นที่ 16 ตามเห็นซึ่งความสลัดคืน
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ภาคผนวก
ธรรมะเปรียบเทียบและบทส่งท้าย

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติขั้นที่ 9-12
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


กำหนดดูจิต จนรู้ชัดว่าจิตไม่สะอาดเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ชัดว่าจิตไม่สะอาดอย่างไร ย่อมชำระจิตให้สะอาดได้
เมื่อจิตสะอาด ย่อมทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมรู้ตามเป็นจริงว่าจิตไม่ใช่ตัวตนได้
เมื่อมีปัญญาเห็นชอบว่าจิตไม่ใช่ตัวตน ย่อมปล่อยจิตได้


อานาปานสติ ขั้นที่ 9
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต

เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจออก
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า


การปฏิบัติขั้นที่ 9 นี้ ต่อเนื่องมาจากขั้นที่ 8
แต่ผู้ที่ปฏิบัติขั้นที่ 3, 4 และขั้นที่ 1, 2 อาจจะข้ามมาปฏิบัติขั้นที่ 9
เลยก็ได้ ทำได้เหมือนกัน และทำได้ทุกคน
แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็จะได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจึงจะเริ่มได้ผล

ตามหลักแล้ว ขั้นที่ 9 นี้ต่อเนื่องจากขั้นที่ 8
คล้ายกับว่าเป็นงานละเอียด เป็นการเก็บงานของขั้นที่ 8
ในอานาปานสติขั้นที่ 9 นี้ ท่านให้กำหนดจิต ให้ศึกษาจิต
ให้เข้าใจจิต ทุกแง่ทุกมุม ให้แตกฉานเรื่องของจิต

จิตอยู่ที่ไหน

ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น
ปีติ สุข ความหงุดหงิด ความโกรธ ความกลัว ทั้งความรู้สึก
ฝ่ายที่เป็นกุศล และฝ่ายที่เป็นอกุศล อยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น

ในอานาปานสติขั้นที่ 3 เรามีจิตตั้งมั่นกับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ถ้าเราผ่านขั้นที่ 3 การฝึกขั้นที่ 9 ก็ยิ่งได้ผล คือ ขั้นนี้เรากำหนด
ดูจิตทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า ดูว่าจิตขณะนี้เป็นอย่างไร

จิตมีราคะ หรือจิตไม่มีราคะ เราก็สังเกตดู
จิตมีโทสะ หรือจิตไม่มีโทสะ เราก็สังเกตดู
จิตมีโมหะ หรือจิตไม่มีโมหะ เราก็สังเกตดู

ความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ คือ ถีนมิทธะนิวรณ์ เป็นโมหะ
ความลังเลสงสัย ก็เป็นโมหะ เช่น คิดกังวลว่าเราจะกลับบ้านดีกว่า
หรืออยู่ปฏิบัติต่อดีกว่า นี่ก็เป็นความลังเลสงสัย เป็นโมหะ

ดูต่อไปว่า จิตสงบไหม
หรือ จิตฟุ้งซ่าน
จิตดี หรือจิตไม่ดี
บางทีก็รู้สึกว่า จิตสูง
บางทีก็รู้สึกว่า จิตต่ำ
เราก็กำหนดสังเกตดูจิต

เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต

“พร้อม” เป็นลักษณะของจิตที่มีสมรรถภาพที่ดี
จิตสะอาด จิตตั้งมั่น จิตว่องไวคล่องแคล่ว เป็นจิตที่มีกำลัง

“เฉพาะ” คือ จิตใจจดจ่อ
“เฉพาะ” เป็นอาการของสมาธิ คือเอาจิตใจจดจ่อดูจิต
แล้วก็รู้ว่า “อ้อ ! จิตช่วงนี้เป็นอย่างนี้”

เราก็ลองตามดูจิต ศึกษาดูจิตสักวันหนึ่งก็ได้ ก็จะเห็นว่า “อ้อ !
จิตมีราคะ อ้อ ! จิตมีโทสะ”..... พอจิตโทสะหาย ก็เป็นจิตมีโมหะ
จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ดี บางทีดูไปก็มีแต่จิตไม่ดีตลอดวันก็เป็นได้
เมื่อรู้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร ก็ปฏิบัติขั้นที่ 10 ต่อไปเพื่อทำความสะอาดจิต

รู้พร้อมเฉพาะ

รู้พร้อมเฉพาะในขั้นที่ 3 คือ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
จะเกิดได้เมื่อจิตใจไม่มีนิวรณ์ คือระงับนิวรณ์ได้แล้ว
เป็นจิตใจที่สะอาด ตั้งมั่น คล่องแคล่ว ควรแก่การงาน

รู้พร้อมเฉพาะในขั้นที่ 5 คือ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ เป็นจิตใจที่ผ่าน
ขั้นที่ 3 ขั้นที่ 4 คือ ผ่านสมถกรรมฐานในหมวดกายมาแล้ว จิตเป็นสมาธิแล้ว

รู้พร้อมเฉพาะในขั้นที่ 9 นี้ เป็นจิตใจที่มีสมรรถภาพ ผ่านการปฏิบัติตาม
ขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว ตั้งแต่ขั้นที่ 1, 2, 3, 4 ถึง 8 ตามลำดับ เป็นจิตที่มีกำลัง
หลายๆ ด้าน มีสมรรถภาพสูง จึงเอาจิตนี้มากำหนดดู “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต”

รู้เท่าทันกิเลส

“รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต” คือ รู้ทันกิเลสที่ปรากฏอยู่ที่ใจ
ไม่ว่าจะเป็นราคะ โทสะ หรือ โมหะ ก็ตามเรากำหนดรู้เท่าทันได้
เมื่อเกิดกิเลส ก็รู้จากภายในใจว่าเกิดกิเลสแล้ว สามารถโอปนะยิโก ทุ่มเท
กำลังเต็มที่เพื่อจัดการกับกิเลสได้ ไม่หลงกิเลส สอนจิตสอนใจตัวเองได้ทันที

ถ้าเราไม่รู้ทันกิเลสตัวเอง เราก็กำหนดไม่ทัน ปล่อยให้เกิดยินดียินร้าย
ตำหนิคนโน้นคนนี้ ปล่อยให้กิเลสอาละวาดในใจ ออกมาทางวาจาอยู่พักหนึ่ง
ปกติก็จะเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องปฏิบัติศึกษาจิต เพื่อให้รู้เท่าทันกิเลส

จิตเป็นภาชนะรับอารมณ์

ปกติคนเราก็มีความรู้สึก ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ หงุดหงิด เศร้าหมอง
เรามักจะเต็มไปด้วยอารมณ์ อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเต็มอยู่ในจิต จึงเปรียบจิต
เหมือนภาชนะรับอารมณ์ อารมณ์ก็ล้นภาชนะอยู่อย่างนั้น เป็นอาหารเน่าบูด

เมื่อเราเจริญอานาปานสติ มาตั้งแต่ขั้นที่ 1 จนถึงขั้นนี้ เราได้ชำระ
อารมณ์เหล่านี้พอสมควร เริ่มจะมองเห็นจิต คือภาชนะบ้าง
แต่ภาชนะยังไม่บริสุทธิ์สะอาดพอ เราจึงศึกษาจิตต่อไป

การวิเคราะห์จิต

ในขั้นที่ 9 นี้ เราจะพยายามศึกษาวิเคราะห์ลักษณะอาการต่างๆ
ของจิต ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของจิตยิ่งขึ้น คือการพิจารณา
สอดส่องความนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดับไปภายในจิต โดยอาศัย
สมาธิเป็นพื้นฐาน หรือพิจารณาเวทนาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ แล้วทำ
ให้จิตคิดไปต่างๆ นานา ทั้งนี้เพื่อศึกษาให้รู้ว่าขณะนี้จิตกำลังเป็นอย่างไร
จิตมีราคะหรือไม่ จิตมีโทสะหรือไม่ จิตมีโมหะหรือไม่

ให้เริ่มต้นด้วยการจับความคิด ความนึก อย่าให้มีการปรุงแต่งนะ
เช่น นึกถึงอาหารก็รู้ นึกไม่พอใจก็รู้ เหมือนแมวจ้องจับหนู
พอความนึกคิดเกิดขึ้นปุ๊บก็จับได้ทันที เมื่อเราจับความนึกคิดได้
ทันทีที่เกิดขึ้น ความนึกคิดนั้นก็จะดับไป โดยไม่มีการปรุงแต่ง
ในที่สุดเราก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของจิต เข้าใจธรรมชาติของจิต
คือค่อยๆ รู้จักนิสัยของตัวเอง รู้ว่าเราเป็นคนขี้อิจฉา เป็นคนขี้บ่น
เป็นคนดื้อ อวดดี ฯลฯ เป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสสอน การสังเกต พิจารณาจิตไว้โดยละเอียดดังนี้

จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน
จิตมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตมหรคต คือ มีธรรมยิ่งกว่าธรรมดา
หรือรู้สึกว่า จิตสูง
จิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
(จิตของเรามันถึงที่สุด ไม่มีอะไรดีกว่าอีก)
จิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น
หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่หลุดพ้น.......

นี่ก็เป็นการปฏิบัติในขั้นที่ 9 คือ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต
ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

อุปกิเลส 16

จิตเป็นประภัสสรผ่องใสโดยธรรมชาติ อุปกิเลสเป็นอาคันตุกะ
ที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง

ราคะ โทสะ โมหะ อกุศลมูล 3 ตัวนี้ เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกัน
แล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ ท่านแบ่งไว้เป็น 16 ลักษณะ
เรียกว่าอุปกิเลส 16 ถ้าเราได้ติดตามศึกษา จะเข้าใจนิสัยประจำตัว
ของเราดีขึ้น จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขต่อไป

เมื่อเราฝึกตามดูจิต จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
เราจะรู้ว่าปกติเรามักจะมีความคิดอะไรประจำเป็นนิสัย
ในสันดานมีอุปกิเลสตัวไหนตกค้างอยู่บ้าง

ต่อไปนี้ คืออุปกิเลสทั้ง 16

1. อภิชฌาวิสมโลภะ

คือ ความละโมภ มักอยากได้ อยากมี อยากเป็น อย่างไม่มีความพอ
เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ มีร่างกาย เราก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 ได้แก่ ผ้านุ่งห่ม
อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นต้น เหล่านี้เป็นของจำเป็น
และใครๆ ก็ต้องอยากมี ถ้าเรามีสติปัญญารู้จักตัวเอง และมีความสันโดษ
ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ มันก็ไม่รบกวนจิตใจของเรา เราก็จะไม่คิด
อยากได้อะไรมากมาย

แต่ถ้าเรามีอุปกิเลสตัวนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็จะเกิดความโลภ เห็นแก่ได้ ลืมตัว
คิดแต่จะจ้อง คิดแต่จะเอา ไม่เลือกว่าควรไม่ควร มันก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
นี้เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง คือความละโมภ

2. พยาบาท
คือความคิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา ว่าเขา
คิดจะทำร้ายจะฆ่าเขา อะไรทำนองนี้ บางครั้งทำคนอื่นไม่ได้ ก็กลับมาทำ
ตัวเอง ตำหนิตัวเอง ทำร้ายร่างกายตัวเอง ในที่สุดก็ฆ่าตัวตาย ทำนองนี้ก็มี
นี่คือ อำนาจของพยาบาท ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ

3. โกธะ
คือความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ แต่หายเร็ว ถ้าหายแล้วก็พูดเหมือนเดิม
ทำเหมือนเดิม เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลักษณะโกรธเฉยๆ โกรธบ่อยๆ
อาจจะโกรธมาก แต่ไม่มีพยาบาท ไม่ผูกโกรธ เช่นนี้ก็มี

4. อุปนาหะ
คือการผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรก็โกรธ เป็นทุกข์ แล้วเก็บไว้
ผูกไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม กระทบอารมณ์เมื่อไรก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกัน
แล้วคิดทวน ว่าเขาเคยไม่ดีกับเราอย่างไร ขนาดไหน
มีเรื่องเกิดขึ้นเมื่อไรก็เอาเรื่องเก่ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้จิตใจ
เศร้าหมอง นี่เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
พยาบาท โกธะ อุปนาหะ ล้วนเป็นอาการของโทสะ

5. มักขะ

คือการลบหลู่คุณท่าน ลบหลู่ความดีของผู้อื่น ปิดซ่อนความดีของผู้อื่น
เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณ กลับนึกตำหนิเขาว่า ให้ของไม่ดีบ้าง
ไม่พอบ้าง มีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ ไม่ชอบ เราจะยกเรื่องที่ลด
ความดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น จิตที่ชอบคิด
ลักษณะอย่างนี้ก็มีอยู่ ใครพูดชมเขา (positive) เราฟังเฉยๆ ไม่ได้ เราต้อง
ยกเรื่องไม่ดี (negative) ของเขามาเสริมว่าเขา เป็นต้น นี่คือ มักขะ

6. ปลาสะ
คือการตีเสมอ การยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน ยกตัวเองว่า
ดีกว่าเขา ชอบตีเสมอ แสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ
เราจะทำดีกว่าเขาได้ อะไรทำนองนี้ ตีเสมอตั้งแต่รัฐมนตรี หรือผู้ใหญ่ในสังคม
ถ้าให้ฉันทำ ฉันจะทำได้ดีกว่าเขา ถ้าเป็นฉัน น่าจะทำอย่างนี้ อย่างนั้น เป็นต้น
นี่คือ ปลาสะ

7. อิสสา
คือความริษยา เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ ความรู้สึกว่าเขาได้ดีมากกว่าเรา
เขาได้รับความรักมากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ และอยากจะเหมือนเขา
ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว เรากับเขาอาจจะรับเท่ากัน
แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกอย่างนั้น ก็เป็นได้

8. มัจฉริยะ
คือความตระหนี่ ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในของที่เรามีอยู่
อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร

9. มายา
คือเจ้าเล่ห์ ไม่จริงใจ คือความหลอกลวง พยายามแสดงบทบาท
ตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วมี 1 แต่แสดงด้วยการแต่งตัวบ้าง
อะไรๆ บ้าง ให้เขาเข้าใจว่า เรามี 10 เป็นต้น
ใจเราคิดตำหนิเขา แต่เวลาพูดแสดงความชื่นชมอย่างมาก หรือ
บางทีเราก็ไม่มีความรู้มากมาย แต่ชอบคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น

10. สาเถยยะ
การโอ้อวดหลอกเขา หลอกเขาด้วยการโอ้อวด ชอบอวดว่าดีกว่า
เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่ออยากจะให้เขาเกิดอิจฉาเรา
เมื่อได้โอ้อวด กิเลสมันมีความสุข ทำนองนี้แหละ

11. ถัมภะ
คือความดื้อ ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำให้
แก้ไข ก็ไม่ยอมรับฟัง เป็นต้น

12. สารัมภะ
คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเอาชนะ คิดแต่เอาชนะเขาตลอด เช่น เมื่อพูด
เถียงกัน ก็จะอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ไม่ยอมแพ้
ถึงแม้ว่าตัวเองผิด ก็ต้องชนะ การพูดก็ดี การทำก็ดี ต้องเหนือกว่าเขาตลอด

13. มานะ
คือความถือตัว ทะนงตน

14. อติมานะ
คือการดูหมิ่นท่าน ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา ดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น

15. มทะ
คือความมัวเมา หลงว่า ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ไม่ตาย หลงในอำนาจ
หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แล้วทำอะไรเกินเหตุ

16. ปมาทะ
คือความประมาท เลินเล่อ ไม่ได้คิดรอบคอบ
อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา

ในขั้นนี้ให้เราตามดูจิต สังเกตความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร
มองลึกๆ มองเข้าไป ให้เห็นหน้าตาของความคิดของตัวเองให้ชัดๆ

โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ
รวมกัน ออกเป็นลักษณะต่างๆ
ท่านแบ่งไว้เป็น 16 ลักษณะอย่างนี้

ราคะ โทสะ โมหะ ภายในจิตนี้ ถือเป็นของไม่สะอาดที่ปลอมปนอยู่
เราจึงต้องสังเกตดูให้รู้ชัดว่า มีสิ่งเหล่านี้อยู่ภายในจิตหรือไม่
เพื่อที่เราจะได้จัดการแก้ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง ปกติก็มีทุกคน

เราต้องอาศัยจิตที่สงบเป็นสมาธิ พิจารณาให้เห็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในราคะ โทสะ โมหะ อย่างชัดเจน
จึงจะเห็นโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ และยอมแก้ไข ยอมปล่อยไป
ยังความปราโมทย์ให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด

เด็กน้อยเฝ้าศาลา

ในสมัยพุทธกาล ในช่วงแรกคณะสงฆ์มีแต่พระอริยบุคคล
และมีจำนวนไม่มาก
เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนของพระสงฆ์เพิ่มขึ้น
พระที่ไม่ใช่อริยบุคคลก็มีมากขึ้น พระเริ่มกระจายออกไปกว้างขึ้น
พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิด
ความจำเป็นต้องอาศัยอนุปสัมบันในบางเรื่อง เช่น การประเคนของ
พระพุทธเจ้าจึงทรงยินยอมให้มีการบวช สามเณรน้อย ได้

เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเด็กที่จะบวชเป็นสามเณรได้คือถ้าเด็ก
มีสติปัญญาสามารถเฝ้าศาลา ไม่ให้ไก่ขึ้นศาลาได้ พระพุทธเจ้า
ก็ยอมให้เด็กนั้นบวชเป็นสามเณร ซึ่งปกติอายุก็ประมาณ 7 ขวบ
เด็กน้อยมีสติปัญญาเพียงแค่นี้ก็สามารถปฏิบัติภาวนาได้ และ
หลายองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะการปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก
เพียงแต่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก รู้ว่าความคิดไม่ดี ความคิดชั่วเกิดขึ้น
ก็ไล่ออกไปเสีย เหมือนสามเณรน้อยไล่ไก่จากศาลา ทำได้เพียง
เท่านี้ก็อาจจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

ศาลา คือ จิต
ไก่ คือ ความคิดผิด
เด็กน้อย คือ สติปัญญา

เราก็เหมือนเด็กน้อยมีหน้าที่เพียงไล่กิเลส คือไก่ ออกจากศาลา
คือจิตเท่านั้น ปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานได้


สามเณรบัณฑิตและสามเณรสุข

ตามที่ปรากฏในพระสูตร ในสมัยพุทธกาล มีเณรน้อยอายุ
7 ขวบ ได้บรรลุโสดาบัน อนาคามี และอรหัตผลหลายองค์
เช่น สามเณรบัณฑิต และสามเณรสุข เป็นต้น

สามเณรบัณฑิต ได้ขออนุญาตมารดาบวชในสำนักของพระสารีบุตร
เมื่ออายุเพียง 7 ขวบ พระสารีบุตรบอกตจปัญจกกัมมัฏฐานแล้ว
บวชให้ ในวันที่ 8 ทั้งสามเณรบัณฑิต และสามเณรสุข ในต่างวาระ
ได้เดินตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต

เห็นชาวนาไขน้ำเข้านาเพื่อปลูกข้าว
เห็นช่างทำศรลนไฟตัดลูกศรให้ตรง
เห็นช่างไม้ถากไม้ทำชิ้นส่วนของเกวียน เช่น กำ กง

พิจารณาเห็นว่า น้ำก็ไม่มีจิต ลูกศรก็ไม่มีจิต ไม้ก็ไม่มีจิต ยังเอามาดัด-แปลง
ใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ได้ เพราะเหตุใด แม้คนมีจิตจึงจะไม่อาจทำจิตของตน
เพื่อให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า


เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ได้ขออนุญาตพระสารีบุตรกลับวัด

ในระหว่างที่กำลังเดินกลับจากบิณฑบาต จิตของสามเณรได้มี
อารมณ์เป็นหนึ่ง แล้วพิจารณาอัตตภาพ บรรลุผล 3 คือ โสดาปฏิผล
สกิทาคามีผลและอนาคามีผล ในระหว่างการบิณฑบาตนั้นเอง

พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของสามเณรและอุปนิสัยที่จะบรรลุอรหัตผล
เกรงว่าเมื่อพระสารีบุตรกลับจากบิณฑบาต จะรบกวนการบำเพ็ญสมณธรรม
ของสามเณร จึงเสด็จไปดักพระสารีบุตรไว้ประตูวัด แล้วถามปัญหา 4 ข้อ
เมื่อพระสารีบุตรแก้ปัญหาทั้ง 4 ข้อจบ สามเณรก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วย
ปฏิสัมภิทาญาณก่อนภัตรกิจ คือก่อนฉันบิณฑบาต สามเณรสุข อายุ 7 ขวบ
บรรลุอรหัตผล ในวันที่ 8 ก่อนฉันบิณฑบาต ดังนี้

สามเณรบัณฑิตก็บรรลุอรหัตผลในลักษณะเดียวกัน


(มีต่อ 1)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 10
ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่

เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า


เมื่อเรารู้จักสภาวะของจิตชัดขึ้นว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ เจือปนอยู่
หรือไม่แล้ว เราก็ทำงานต่อไป โดยพยายามทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งขึ้น
ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เช่น เมื่อเรารู้ว่าจิตมีปฏิฆะ
มีความหงุดหงิดอยู่ มีโทสะเจือปนอยู่ เราก็พยายามแยกปฏิฆะออกจากจิต
คือพยายามแยกจิตที่สกปรกออก ยกจิตที่สะอาดขึ้น นี่คือการทำจิตให้
ปราโมทย์ยิ่งขึ้นๆ คือการชำระจิต ชำระกิเลสออกจากจิตนั่นเอง

ในหมวดกาย
ขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเกิดปฏิฆะ
หรือโทสะ เราใช้วิธีปรับลมหายใจ เมื่อปรับลมหายใจ ความรู้สึก
ก็เปลี่ยน สบายขึ้น ปฏิฆะ โทสะ ก็หายไป

ในหมวดเวทนา ขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เราเปลี่ยนความรู้สึก เปลี่ยนอารมณ์ ด้วยการนึกถึงสิ่งที่ดีเป็นอนุสติ
ทำให้เกิดปีติ สุข ปฏิฆะ โทสะ ก็หายไป ความสุขเข้ามาแทนที่

ในหมวดจิต ขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขั้นที่ 10 นี้
เราเข้าไปจัดการที่จิตโดยตรง ทำให้จิตสะอาด ทำให้จิต
ปราโมทย์ด้วยการชำระจิตโดยตรง ชำระกิเลสออกจากจิต

สรุปว่าอุบายที่ใช้ทำให้จิตใจดีขึ้นในแต่ละขั้นนั้นไม่เหมือนกัน

ขั้นที่ 10 นี้ เป็นงานละเอียดต้องอาศัยกำลังสติ สมาธิ ปัญญามาก
จึงจะแก้ไขจิตโดยตรงได้ อานาปานสติในขั้นที่ 10 นี้ เราจะสร้าง
กำลัง สติ สมาธิ ปัญญา ปล่อยวางความโลภ ความโกรธ และ
ความหลงในจิต ให้เราฝึกฝนการทำจิตให้ปราโมทย์อย่างนี้ จนกระทั่ง
รู้สึกว่าจิตนั้นสะอาดหมดจด เข้าถึงจิตประภัสสรโดยสมบูรณ์

จิตประภัสสร

พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า จิตเป็นประภัสสรโดยธรรมชาติ คือ
ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่เพราะอุปกิเลสครอบงำจิต จึงทำให้จิตเศร้าหมอง

จิตประภัสสร เหมือนเด็กอ่อน บริสุทธิ์ สะอาด ไร้เดียงสา
แต่ก็ชักนำให้ทำความชั่วได้ง่าย ยอมให้อุปกิเลสเข้าครอบงำ
อย่างง่ายดายมาหลายภพหลายชาติแล้ว จนกระทั้งเข้าใจว่า
อุปกิเลสกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


เปรียบได้ จิตประภัสสร คือน้ำใสสะอาด บริสุทธิ์ แต่มีน้ำเค็ม น้ำหวาน
น้ำเปรี้ยว มีสิ่งของต่างๆ เจือปนเข้าไป ทำให้ออกสีออกรสชาติต่างๆ ไป

หน้าที่ของเรา คือ ต้องแยกเอาน้ำที่ใสสะอาด ออกมาให้ได้
เราต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำ และธรรมชาติของสิ่งของที่เจือปนอยู่
จึงจะแยกออกจากกันได้ เช่น ทำน้ำให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ ด้วยการต้ม
แล้วให้ไอน้ำนี้ผ่านที่เย็นมากๆ แล้วเก็บน้ำนั้น ก็จะได้น้ำใสสะอาด
หรือในนาเกลือ ถ้าเราแยกเกลือออกเสีย ควบคุมแต่ไอน้ำให้ผ่าน
ความเย็นมากๆ ก็จะสามารถได้น้ำบริสุทธิ์เหมือนกัน

การทำจิตให้ปราโมทย์

การทำจิตให้ปราโมทย์ ก็เช่นเดียวกัน แต่มันเป็นนามธรรม ต้องอาศัย
สติ สมาธิ ปัญญาใคร่ครวญ หาทาง หาอุบาย เป็นหน้าที่ของแต่ละ
บุคคลที่จะหาอุบายหาวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง เป็นปัจจัตตัง “รู้เฉพาะตน”

ก่อนที่จะทำงาน เราต้องรู้ลักษณะของจิตทั้ง 2 อย่าง คือจิตที่สะอาด
บริสุทธิ์เป็นอย่างไร จิตที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงเจือปนอยู่
เป็นอย่างไร คือเห็นชัดว่ากิเลสเป็นกิเลส และระลึกได้ว่า จิตที่บริสุทธิ์เป็นอย่างไร

วิธีหนึ่งก็คือ ยกจิตที่ดีที่สุด ที่สะอาดที่สุด ที่เราได้เห็นได้สัมผัสจากสมาธิ
มาเป็นที่ตั้งของจิต ที่ระลึกของสติ พยายามยกจิตนั้นขึ้นมา แล้วพยายาม
ชำระจิต ทำความสะอาดจิต อยู่อย่างนั้น

แยกสิ่งที่เจือปนอยู่ในจิต คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากจิต
ด้วยอำนาจสมาธิและปัญญา แล้วพยายามรักษาจิตที่บริสุทธิ์สะอาดนั้นไว้
อย่างสม่ำเสมอ ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า นี่ก็เป็นการทำจิตให้ปราโมทย์วิธีหนึ่ง


(มีต่อ 2)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 11
ทำจิตให้ตั้งมั่น

เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า


ทำจิตประภัสสรให้ตั้งมั่น

ทำสมาธิ ฝึกให้จิตตั้งมั่นอยู่กับจิตที่บริสุทธิ์ จิตประภัสสร
หลังจากที่เราได้ทำจิตให้ปราโมทย์ ชำระราคะ โทสะ โมหะ ให้หลุด
ออกไปจากจิต ชำระความสกปรกเศร้าหมองออกไปแล้ว
จิตย่อมอยู่ในสภาพอันถูกต้องเหมาะสม มีความบริสุทธิ์ ไม่ฟุ้งซ่าน
มีความคล่องแคล่วว่องไวควรแก่การงาน

ขั้นที่ 11 นี้ เราก็พยายามประคับประคองให้จิตตั้งมั่นอยู่ในสภาพอย่างนี้
ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยเอาสติ และสมาธิมาเป็นเครื่องมือ
ในการรักษาจิต คือเอา “จิต” มาเป็นอารมณ์กรรมฐาน

จิตเห็นจิต

เพื่อที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ในจิตได้นานๆ อย่างน้อยที่สุดก็ให้นานพอ
ที่จะเกิดปัญญา รู้เห็นจิตตามความเป็นจริง ให้จิตรู้จิต หรือจิตเห็นจิต
อย่างชัดเจน แม้จะอยู่ในภาชนะเดียวกัน ก็แยกจากกันคนละส่วน
“รู้” เป็นส่วนหนึ่ง “จิต” เป็นส่วนหนึ่ง

การทำสมาธิกับจิต เพื่อที่จะเห็นจิตให้ชัดเจน ต้องอาศัยจิต
ตั้งมั่นอยู่ในจิตอย่างแน่วแน่
ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์อื่น
ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญาต่อไป

สมาหิโย ยถาภูตัง ปชานาติ
ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง

ในที่นี้คือทำจิตให้ตั้งมั่นต่อจิตประภัสสร
จนเห็นตามความเป็นจริงของจิตประภัสสร


(มีต่อ 3)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 12
ทำจิตให้ปล่อย

เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า


ทำจิตให้ปล่อย - จิตปล่อยจิต

เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ในจิต ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้าแล้ว
ย่อมเกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นจิตตามความเป็นจริง จนกระทั่งปล่อยวางจิตได้
คือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในจิต เพราะได้เห็นชัดด้วยปัญญาแล้วว่า

เราไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เรา
เราไม่ใช่อยู่ในจิต จิตไม่ใช่อยู่ในเรา
จิตสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
จิตเป็นอนัตตา


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จิตก็เป็นอิสระ ปลดปล่อยตัวเองออกจาก
สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้ จะพูดว่า จิตปล่อยจิต ก็ได้เหมือนกัน
ในที่สุดจิตก็เข้าสู่สภาพของความบริสุทธิ์สะอาด
ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากอุปกิเลสโดยสิ้นเชิง


ไม่มีความยินดี ยินร้าย ตัดเอากิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปได้
เพราะได้พิจารณาเห็นโทษภัยของการหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่ง
ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับจิตอย่างชัดเจนแล้ว

ความจริงแล้ว จิตก็อยู่ที่เดิมนั่นเอง ไม่ได้ปล่อยให้หายไปไหนจริงๆ
แต่ปล่อยให้จิตเป็นสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว
ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นว่าจิตนี้เป็นอนัตตา
เมื่อเห็นจริงรู้แจ้งเช่นนั้น การปฏิบัติข้อนี้ก็สมบูรณ์

ผู้ที่ยังละสังโยชน์ไม่ได้ ก็ยังมีอุปกิเลสครอบงำจิตใจต่อไป แต่ถ้าสามารถ
ปฏิบัติจนเข้าถึงสภาวะนี้ได้แล้ว ก็พยายามทรงไว้ซึ่งสภาวะนี้ และเมื่อเสื่อมไป
ก็พยายามปฏิบัติให้ถึงสภาวะนี้บ่อยๆ จนกว่าจะละสังโยชน์ได้


(มีต่อ 4)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติขั้นที่ 13-16
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


เมื่อเห็นความไม่เที่ยงแล้ว ย่อมจางคลายเอง
เมื่อจางคลายแล้ว ย่อมดับไม่เหลือ
เมื่อดับไม่เหลือแล้ว ย่อมสลัดคืนเอง


ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานสติ

อานาปานสติหมวดธรรมเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
มีแต่วิปัสสนาล้วนๆ ไม่มีสมถะ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ต้อง
มีการบังคับ ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ คือไม่มีการบังคับ
เพียงแต่ กำหนดดู ดูจนเห็นจริงรู้แจ้ง ตามความเป็นจริง

ถ้าเราสังเกตให้ดี ตั้งแต่หมวดกายขั้นที่ 1, 2, 3, 4
หมวดเวทนาขั้นที่ 5, 6, 7, 8 ไปจนถึงหมวดจิตขั้นที่ 9, 10, 11, 12 นั้น
เราต้องมีความพยายามและมีการบังคับมาโดยตลอด อาทิ
เราต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็ต้องพยายามบังคับให้เป็นอย่างนั้น
แล้วค่อยๆ ฝึกในแต่ละขั้นมาเรื่อยๆ ความพยายามและการบังคับ
นี้เองเป็นอาการของสมถกรรมฐาน


ในหมวดกาย เราต้องการระลึกรู้ลมหายใจยาว - สั้น รู้ลมหายใจทั้งปวง
แล้วก็ระงับลมหายใจ ทั้งหมดนี้อาศัยการบังคับ เป็นการเน้นหนักในสมถะ

ในหมวดเวทนา เราต้องการทำให้ปีติและสุขเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้จัก
จิตตสังขาร จากนั้นก็ปล่อยวางจิตตสังขารให้ระงับไป

ในหมวดจิต เรากำหนดรู้จิต พยายามทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ประคับ
ประคองให้จิตตั้งมั่น และเมื่อจิตเห็นจิตตามความเป็นจริง แล้วก็ปล่อยจิตไป

กล่าวโดยสรุป หมวดกาย คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของสมถะ
โดยตรง แต่หมวดเวทนาและจิต
คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานและ
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเจือปนอยู่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหมวดใด ถ้าเราทำให้เกิดมรรคสมังคีขึ้น
กล่าวคือให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราก็สามารถทำลาย
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส หรือละสังโยชน์อย่างอื่นๆ
และมีโอกาสทำจิตให้หลุดไปในทางโลกุตตระได้เท่าๆ กัน

การเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น แบบต่างๆ

-- กรณีที่ 1 ผู้เจริญอานาปานสติตามหลักอานาปานสติแบบสมบูรณ์
ปฏิบัติตามทุกขั้นตอนจนจบขั้นที่ 16
-- กรณีที่ 2 ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานหนักแน่นจนเข้าฌานได้แล้ว คือ
ทำขั้นที่ 4 ได้แล้ว ก็เจริญวิปัสสนา ปฏิบัติหมวดธรรม
เพ่งเป็นอนิจจลักษณะคือขั้นที่ 13 เลยก็ได้
-- กรณีที่ 3 ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานพอสมควรยังเข้าฌานไม่ได้
หรือไม่ชำนาญแต่มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิพอสมควร ผ่าน
ขั้นที่ 3 แล้วเจริญวิปัสสนา เพ่งอนิจจัง ขั้น 13 เลยก็ได้

-- กรณีที่ 4 ผู้ที่ผ่านขั้นที่ 3 แล้ว บางครั้งก็ลองปฏิบัติขั้นที่ 5 บ้าง
ขั้นที่ 9 บ้าง และพยายามเจริญวิปัสสนา ขั้นที่ 13 ต่อไป

เมื่อเราเจริญอานาปานสติขั้นที่ 1-4 คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ
เจริญสมถกรรมฐาน จนได้สมาธิพอสมควร จิตสะอาด จิตตั้งมั่น จิตว่องไว
คล่องแคล่ว เป็นสัมมาสมาธิ จิตก็พร้อมที่จะทำงานวิปัสสนาต่อไป คือ

- ปฏิบัติขั้นที่ 5-8 ยกเวทนาขึ้นมาปฏิบัติ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
- ปฏิบัติขั้นที่ 9-12 ยกจิตขึ้นมาปฏิบัติเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
- ปฏิบัติกำหนดวิปัสสนา คือขั้นที่ 13-16 เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นลำดับไป

หรือเมื่อได้สมาธิพอสมควรแล้ว จะปฏิบัติขั้นที่ 9 โดยยกจิตขึ้นมากำหนดเลยก็ได้
หรือจะกำหนดเป็นวิปัสสนาโดยตรง คือเพ่งอนิจจลักษณะ ตามดูอนิจจัง
คือความไม่เที่ยง คืออานาปานสติ ขั้นที่ 13 เลยก็ได้

หรือเมื่อกายและใจมีกำลังควรแก่การงานแล้ว กำหนดขั้นที่ 13 เลยก็ได้
เพราะขั้นที่ 5 และ 9 รวมอยู่ในขั้น 13 ทั้งหมด เมื่อปฏิบัติขั้นที่ 13
ได้ผลพอสมควรก็เท่ากับเราได้ผ่านการปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นที่ 5 ถึง 12 ด้วย

อานาปานสติ ขั้นที่ 13
ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ

เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า


ผู้เจริญวิปัสสนามาตามหลักอานาปานสติแบบสมบูรณ์ คือ
กำหนดลมหายใจ จนเกิดสมาธิแล้ว พิจารณา เวทนา จิต
ปฏิบัติมาตามขั้นตอนตามลำดับ มาถึงขั้นนี้ อาจจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติมาตามขั้นตอน แล้วตนเองรู้สึกว่า การเจริญ
วิปัสสนาของตนเองนั้นสมบูรณ์แล้ว จบพรหมจรรย์ หมดกิเลสแล้ว
แต่เพื่อความไม่ประมาท กำหนดวิปัสสนาอารมณ์มาทบทวนอีก
ทุกแง่ ทุกมุม ของขันธ์ 5 ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน และทั้งข้างนอก
ข้างใน ต่อไป

กลุ่มที่ 2 ปฏิบัติตามขั้นตอนมาเหมือนกัน แต่รู้สึกตัวอยู่ชัดว่า
พรหมจรรย์ยังไม่จบ กิเลสทุกข์ยังไม่หมด ก็ตั้งใจเจริญวิปัสสนาให้
สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นต่อไป

กลุ่มที่ 3 ผู้เจริญสมถกรรมฐาน เจริญอานาปานสติ ผ่านขั้นที่ 3
หรือขั้นที่ 4 สมบูรณ์ หรือ จิตเป็นสมาธิพอสมควร จิตควรแก่การ
งานแล้ว ไม่ได้ผ่านอานาปานสติขั้นที่ 5-12 ข้ามมาปฏิบัติขั้นที่
13 เลยก็ได้ คือกำหนดความไม่เที่ยง เพ่งอนิจจังเป็นวิปัสสนาอารมณ์

ในขั้นนี้เป็นวิปัสสนาล้วนๆ เราตามเห็นอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง
อยู่ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นนอกจาก
การ “ตามดู” พยายามตามดู “อนิจจัง” ให้เห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นไป

ให้เหมือนกับว่าเรามีกล้องขยายอยู่ในใจ ไม่ว่าจะดูที่ไหนก็กำหนดที่นั่น
แล้วดูจนเห็นชัดๆ ว่า ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

การดูเป็นมรรค กับดูเป็นผล มี 2 ระดับ ข้อนี้ควรเข้าใจให้ชัดเจน

- การดูที่เป็นมรรค
คือ การดูที่เป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา หมายถึง
ยังมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ยังไม่เห็นชัดซึ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จึงพยายามกำหนดดู เพื่อให้บังเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
ในกรณีนี้การดูเป็นมรรค

- การดูที่เป็นผล คือ กรณีที่เราไม่มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น
ในสิ่งที่กำลังดูอยู่ เห็นแต่ความดับๆๆ คือ อนิจจัง
เป็นวิปัสสนาโดยสมบูรณ์แล้ว การดูนี้ก็มีผลสมบูรณ์

สิ่งใดที่ยังไม่เห็นชัด ก็พยายามกำหนดเข้าไปดู ดูจนเห็นชัดและ
เกิดเป็นสมาธิขึ้น ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นวิปัสสนาปัญญา

อนิจจัง

ที่ว่าอนิจจัง ความไม่เที่ยงนี้ ถ้าเห็นด้วยปัญญาชอบแล้ว
ก็จะเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นทุกขัง และเป็นอนัตตาโดยสมบูรณ์
เพราะสิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา


ฉะนั้นการปฏิบัติเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จึงหมายความ
รวมเอาทุกขังและอนัตตาไว้ด้วย เห็นอนิจจัง ก็คือ เห็นอนัตตา
ไม่ใช่ ไม่ใช่ตน ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
เห็นว่า ไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นอนัตตา

การตามเห็นอนิจจังในอานาปานสติสูตรนี้ ท่านให้
ยกเอา กาย เวทนา จิต มาเป็นอารมณ์วิปัสสนา


- กำหนดดูกายให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง
ตามที่ปฏิบัติมาในอานาปานสติขั้นที่ 1 ถึง 4 เรากำหนดกายลม คือ
ลมหายใจ เห็นลมหายใจนี้ยาวบ้าง สั้นบ้าง บางทีก็หายใจเบา
บางทีก็หมดไป บางทีก็หายใจหนัก หายใจร้อน หายใจเย็น
หายใจเข้าแล้วก็ต้องออก หายใจออกแล้วก็ต้องเข้า ไม่มีการอยู่นิ่ง
เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง

หรือเราอาจจะกำหนดดูองค์ประกอบของกาย เช่น อาการ 32 หรือ
ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วเราก็เห็นชัดว่า มันไม่เที่ยงไปทั้งหมด
กำหนดดู รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทุกลมหายใจออก - เข้า
จนเห็นชัดว่า มันเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา

- กำหนดเวทนาให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง
เวทนาในขั้นที่ 5-8 คือ ปีติ สุข จะเห็นว่าปีติที่เกิดขึ้นมาในจิต
ก็จะระงับไปเหลือแต่สุข จากนั้นสุขก็ระงับไปอีก แล้วก็เกิดอีก
เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น เวทนาที่เกิดขึ้นในทุกขณะ เมื่อตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้รู้รส กายสัมผัส ใจรับรู้เรื่องราวต่างๆ

เกิดความสุข ความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดดับๆๆ อยู่อย่างนั้น
จึงเห็นได้ชัดถึงความดับๆๆๆๆ ของเวทนา
ตามเห็นอนิจจังทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

- กำหนดดูจิตให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง

ไม่ว่าจิตลักษณะไหนเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น
จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ
จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตสงบ ฯลฯ ก็มีแต่การดับๆๆ ทั้งนั้น

แต่ที่สุดของการวิปัสสนาเพ่งอนิจจลักษณะ ก็ไม่มีการ
กำหนดเพ่งเป็นส่วนๆ เป็นมหาสติมหาปัญญาอยู่ที่จิต

- กำหนดดูธรรมะให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง

เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ 5 ชัดเจน
เห็นชัดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆๆ

อะไรจะเกิดดับๆ ก็ตามเห็นอนิจจัง เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสจิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับๆๆ เท่านั้น


พระภิกษุล้างเท้า - เห็นอนิจจัง

พระภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาองค์หนึ่ง วันหนึ่งท่านล้างเท้า เอาขันตักน้ำ
แล้วเทลง เห็นน้ำซึม จมลงไปในดิน ท่านน้อมเข้ามาพิจารณาว่า
“โอ ไม่เที่ยงหนอ” แล้ว โอปนยิโก น้อมจิต พิจารณาร่างกาย และ
จิตใจของตน เกิดสลด สังเวช เพราะเห็นความไม่เที่ยงแท้ เกิดสมาธิ
และวิปัสสนาญาณ ไม่นานท่านก็บรรลุอรหันต์

และยังมีอีกหลายองค์ บางองค์เห็นไอแดด ละอองน้ำ แล้วถือเอาเป็น
อารมณ์วิปัสสนา โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตน กำหนดลงไปใน
อัตตภาพของตน อารมณ์รวมเป็นหนึ่ง เกิดสมาธิ และวิปัสสนาญาณ
ในที่สุด ก็ได้อริยมรรค อริยผล ก็มีมาก หลายๆ องค์

หมายเหตุ เรียบเรียงจาก พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 3

พยับแดดและฟองน้ำ

ในสมัยพุทธกาล พระเถระองค์หนึ่ง ได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา
แล้วเข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายาม “ทำสมณธรรม” แต่ก็ไม่อาจบรรลุอรหัตตผลได้
จึงกลับไป หวังจะทูลขอกรรมฐานพิเศษจากพระพุทธองค์ ระหว่างทางเห็นพยับ
แดดเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เห็นฟองน้ำกระทบกันแล้วแตกไป ถือเอาเป็นอารมณ์
กรรมฐาน น้อมเข้ามาพิจารณาว่า แม้อัตตภาพร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นแล้ว
ก็แตกไปเป็นธรรมดา เป็นไปชั่วกาล เป็นไปชั่วขณะ ไม่ตั้งอยู่นาน แล้วย่อมดับไป

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระเถระเช่นนั้น ทรงตรัสให้กำลังใจว่า
“อย่างนั้นนั่นแหละภิกษุ อัตตภาพนี้มีรูปอย่างนั้นแล มีอันเกิดขึ้นและแตก
ไปเป็นสภาพแน่แท้ เหมือนฟองน้ำและพยับแดด”
และตรัสพระคาถาดังนี้

“ภิกษุรู้แจ้งกายนี่ว่า มีฟองน้ำเป็นเครื่องเปรียบ
รู้ชัดกายนี้ว่า มีพยับแดดเป็นธรรม
ตัดพวงดอกไม้ของมารเสียแล้ว คือตัดวัฏฏะเสียได้
พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชไม่เห็น”

เมื่อจบพระคาถาของพระบรมศาสดา พระเถระบรรลุ
เป็นอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย


พระพาหิยะ

พระพาหิยะ บำเพ็ญความเพียร อดข้าว อดน้ำ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
มาหลายภพหลายชาติ สมัยพุทธกาลก็เป็นนักพรต วันหนึ่งท่านนั่งเรือ
ไปในทะเล เกิดพายุพัดเรือล่มลมไปในน้ำ น้ำได้พัดพาท่านขึ้นไปอยู่บน
ชายฝั่งทะเล ไม่เหลือผ้าปกปิดอวัยวะแม้แต่ชิ้นเดียว เปลือยกายอยู่
ท่านก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่อย่างนั้น เมื่อชาวบ้านเห็น ก็พากันยกย่องสรรเสริญ
ว่า ท่านต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน เพราะท่านเปลือยกายเสียสละทุกอย่าง
ก็เกิดลาภสักการะมากมาย ท่านก็คิดว่า ที่เขาศรัทธาเราเพราะเราไม่ได้นุ่ง
ห่มผ้า ทำให้เขาคิดว่าเราเป็นอรหันต์ ท่านก็เลยตัดสินใจ เปลือยกายอยู่อย่างนั้น
ใครเอาผ้ามาถวายก็ไม่สนใจ ไม่รับ บอกว่า “อาตมาไม่สนใจ”

ร้อนถึงเทวดาผู้เป็นเพื่อน ที่เคยบำเพ็ญบารมีร่วมกันมาในปางก่อน
เมื่อเห็นพระพาหิยะหลงทางอยู่ ก็เลยกระซิบบอกว่า “บัดนี้
พระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก ปัจจุบันนี้พำนักอยู่ที่เมืองสาวัตถี”


พาหิยะเกิดศรัทธา ร้อนใจ อยากพบพระพุทธเจ้า ก็วิ่งไปตลอดคืน เป็น
ระยะทาง 40 โยชน์* (1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร 40 โยชน์ = 640 กิโลเมตร)
เช้าตรู่ก็ถึงวัด ถามหาพระพุทธเจ้า พระบอกว่าพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาต
อยู่ในเมืองสาวัตถี ท่านก็วิ่งตามหาพระพุทธเจ้าจนพบ ท่านดีใจมาก กระทำ
ประทักษิณรอบพระพุทธองค์ 3 จบ เพื่อแสดงความเคารพตามประเพณีอินเดีย
ในสมัยนั้น แล้วนั่งลง ณ ที่อันควรด้วยความเคารพ นิมนต์พระพุทธเจ้าแสดงธรรม

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อน พาหิยะ อาตมากำลังบิณฑบาตอยู่
รอกลับไปวัดก่อน จึงจะแสดงธรรมให้ฟัง”
พาหิยะบอกว่า
“นิมนต์แสดงธรรมเดี๋ยวนี้พระเจ้าข้า เพราะชีวิตไม่แน่ กลัวจะไม่ได้ฟัง
ธรรมจากพระพุทธองค์”
พระพุทธเจ้าทรงห้ามอยู่
3 ครั้ง พาหิยะก็ไม่ยอม นิมนต์ให้แสดงธรรมอยู่อย่างนั้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงห้ามอยู่ 3 ครั้ง พาหิยะก็ไม่ยอม ประกอบกับ
พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าจิตใจของท่านพาหิยะสงบลงพอที่จะ
รับฟังธรรมได้แล้ว พระองค์ก็ยืนแสดงธรรมแก่ท่านพาหิยะว่า

“ดูก่อน พาหิยะ ขอให้ตั้งใจฟังนะ
เห็นอะไร ก็กำหนดว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน
สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้ลิ้มรส สักแต่ว่าได้สัมผัส สักแต่ว่ารู้”


พระพาหิยะ เมื่อได้ฟังดังนั้น เกิดปัญญาได้บรรลุอรหัตตผลในขณะนั้น
ความจริงพระพาหิยะบรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนที่พระพุทธองค์จะ
ทรงแสดงธรรมจบ ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะฝ่ายตรัสรู้เร็ว
พอพระพุทธเจ้าเริ่มเทศน์ท่านก็ตรัสรู้แล้ว ธรรมดาผู้ที่ได้ฟังเทศน์จาก
พระพุทธองค์ ไม่นานก็เป็นอรหันต์ก็มีหลายองค์

พระโมคคัลลานะ ฟังเทศน์ปรารภความเพียร อยู่ 8 วัน ก็บรรลุเป็นอรหันต์
พระสารีบุตร ฟังเทศน์ปรารภความเพียร อยู่ 15 วัน ก็บรรลุเป็นอรหันต์

ตัววิปัสสนา ก็อยู่แค่นี้ เห็นอะไร ก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไร ก็สัก
แต่ว่าได้ยิน เกิดความรู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าความรู้สึก ฯลฯ


สมัยนั้น ผู้ที่บรรลุธรรม หรือผู้ที่พระพุทธองค์เปล่งวาจาว่าเป็น
“เอหิภิกขุ” ถือว่าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า
ก็จะอธิษฐานจิตขอจีวร และบาตร ปกติก็จะเหมือนลอยมาจากฟ้า
มาปรากฏในพระหัตถ์ของพระพุทธองค์ พระองค์ก็ได้อธิษฐานจิต
เช่นนี้ให้พระภิกษุเป็น 1,000 เป็น 10,000 องค์แล้ว ไม่เคยมีปัญหา

แต่พอพระพาหิยะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ทรง
อธิษฐานจิตถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ปรากฏจีวรและบาตรเลย พระองค์
ก็เริ่มสงสัย จึงทรงตรวจอดีตชาติของท่านพาหิยะ ก็พบว่า
“อ้อ เรื่องขันติ สัจจะ วิริยะ สมาธิ บารมี ท่านพาหิยะได้ทำมามาก
และท่านก็เป็นนักบวชมาเป็นส่วนใหญ่ในชาติก่อนๆ แต่ท่านไม่เคย
สงเคราะห์พระภิกษุ สามเณร ด้วยกัน ไม่เคยให้ทาน”

เมื่อท่านไม่เคยให้ทานแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้

แม้จีวร 1 ผืน ก็ไม่ปรากฏ พระพุทธองค์ก็เลยบอกพระพาหิยะว่า
“ท่านจงแสวงหาผ้าบังสุกุล” แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จกลับวัด

เย็นวันนั้น พระเณรในวัดสนทนากันว่า พระชีเปลือยถูกวัวขวิด
ตายอยู่ข้างถนน พระพุทธเจ้าได้ยินดังนั้น ก็ชักชวนพระเณรไป
เก็บศพ ทำพิธีฝังศพ และให้ช่วยกันสร้างเจดีย์ให้ คือ ให้พระเณร
100-200 องค์ เอาก้อนหินคนละก้อนกองซ้อนกันเป็นเจดีย์
พระเณรก็งงแล้ว สงสัยว่าใครๆ ตาย พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยไปเก็บศพ ฝังศพ
สร้างเจดีย์ให้ใคร ทำไมชีเปลือยตายข้างถนน พระองค์ทรงทำศพให้เป็นอย่างดี
พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระเณรว่า “พระพาหิยะ เป็นบุตรของเรา”
หมายความว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ในพระบวรพุทธศาสนา


(มีต่อ 5)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 14
ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ

เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า


อานาปานสติในขั้นนี้ เป็นวิปัสสนาที่ต่อเนื่องมาจากขั้นที่ 13 คือการ
ตามเห็นอนิจจังอย่างชัดเจน จนมั่นใจว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ในทุกๆ ที่ ทุกๆ แห่งที่เรากำหนด 100 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนผู้เจริญวิปัสสนาว่าไม่ควรประมาท
ถึงแม้จะเห็นทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ แล้วก็ตาม
ท่านให้เราเปลี่ยนอารมณ์วิปัสสนา มาเช็คดูอีก
สิ่งใดเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นเป็น วิราคะ
วิราคะ คือความจางคลาย ไม่มีความรัก ความยินดีหลงเหลืออยู่

การปฏิบัติก็เหมือนกับการกำหนดดูอนิจจังในขั้นที่ผ่านมา

เพื่อจะตรวจดูว่า เรายังมีความรัก ความยินดีอยู่หรือไม่
โดยกำหนดดูตั้งแต่ลมหายใจ กาย เวทนา และจิต
ไม่ว่าเราจะกำหนดดูอะไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้เห็นวิราคะ
หรือความจางคลาย ไม่มีความรัก ความยินดี หลงเหลืออยู่
เมื่อกำหนดดูที่ไหน ก็เห็นอยู่อย่างนั้นทุกลมหายใจออก - เข้า

จะลองยกตัวอย่างที่อาจจะฟังดูหยาบๆ สักหน่อย โดยจะเปรียบเทียบว่า
ขันธ์ทั้ง 5 กับเรานั้น เคยรักกันมาหลายภพหลายชาติ มีความรู้สึกว่าเป็นเรา
เป็นของเรามานาน เหมือนคู่สามีภรรยาที่รักกันมานานๆ นั่นแหละ

แล้ววันหนึ่งก็เกิดรู้ขึ้นมาว่า ที่จริงเขาไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์กับเรา เขาไม่ได้รักเราจริง
เขามีชู้ เขาเอาทรัพย์สินสมบัติของเราไปบำรุงชู้อยู่ เราจับผิดได้และเห็นชัดว่า
เขาไม่ซื่อสัตย์ เขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นสามีภรรยาของเราต่อไป
เมื่อเราเห็นโทษเห็นภัยจริงๆ ธรรมดา เราก็หมดรักแล้ว


ถ้าเปรียบเทียบกับวิปัสสนา การเห็นโทษเห็นภัยก็คือ
การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขั้นที่ 13 ซึ่งก็เป็นวิราคะแล้ว

แต่บางคนก็ยังอาจจะอดอาลัยรักไม่ได้ ยังตัดขาดไม่ได้
ยังมีราคะอยู่ ยังไม่เป็นวิราคะ เช่นนี้ก็มี


อย่างนี้ฉันใด ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราเคยยึดมั่น
ถือมั่น ยินดีในขันธ์ 5 มาหลายภพหลายชาติ แต่เมื่อเราได้ฟังเทศน์
ของพระพุทธเจ้าแล้วก็เห็นโทษ เห็นภัย ในวัฏฏสงสาร ก็ได้เจริญ
วิปัสสนาจนเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ 5 โดยสมบูรณ์

เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ส่วนใหญ่วิราคะก็เกิดโดยอัตโนมัติ
แต่ก็ยังอาจจะมีราคะ มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
ในส่วนใดส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 หลงเหลืออยู่บ้างก็อาจจะเป็นได้

เมื่อเราค้นพบว่ายังมีราคะอยู่ กับกลับไปพิจารณาอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาอีก ตามเห็นอนิจจัง กลับไปกลับมา จนกว่า
จะมั่นใจว่าเป็นวิราคะ 100% เป็นอันผ่านขั้นที่ 14

พระพุทธเจ้าจึงให้เปลี่ยนอารมณ์วิปัสสนา ยกเอาวิราคะ
มากำหนดเช็คดูอีกทีหนึ่ง คือการตามเห็นความจางคลาย
(วิราคะ) ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า


ยินร้ายก็เป็นราคะ

การกำหนดการจางคลาย (วิราคะ) นั้น ให้กำหนดที่ผัสสะ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ใจ ถ้าเกิดผัสสะแล้ว ไม่เกิดยินดี ยินร้ายก็เป็นวิราคะ ยินร้ายก็
เป็นราคะเหมือนกัน
เพราะในความยินร้ายก็มีความยินดีในบางอย่างอยู่
เช่น เขานินทาเรา เราเกิดยินร้าย ไม่พอใจ ก็เพราะเราต้องการคำชมเชย
เรามีความยินดีในคำชมเชย เราจึงเกิดความยินร้ายในคำนินทา

ฉะนั้น ยินร้าย จึงจัดเป็นราคะด้วย ยินดียินร้าย เป็นของคู่กัน
กามราคะกับปฏิฆะ ก็เป็นของคู่กัน ถ้าเกิดยินร้าย เราก็ดูยินร้าย
เราก็ตามดูผัสสะ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารู้สึก ฯลฯ ผ่านไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่เกิดยินดียินร้าย ก็เรียกว่าจางคลาย คือวิราคะ

ยินดียินร้ายที่กำหนดพิจารณาในอานาปานสติขั้นที่ 1
เป็นอินทรีย์สังวรศีล
เราใช้ความพยายามไม่ให้เกิดยินดียินร้าย

แต่ในขั้นนี้เป็นวิปัสสนาปัญญา เพราะมีวิปัสสนาปัญญา
เห็นโทษ เห็นภัย เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จึงไม่เกิดยินดียินร้ายโดยอัตโนมัติ

เพราะเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า เหมือนไฟ จิตจึงไม่ยึดมั่นถือมั่น
ขั้นนี้จึงเป็นวิปัสสนาปัญญา การตามเห็นความจางคลาย ก็ลักษณะอย่างนี้

บางครั้ง บางคน ที่เข้าใจว่าตัวเองหมดราคะแล้ว ท่านให้ยกสุภะ
ขึ้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น นึกถึงภาพผู้หญิงสวยมากๆ
เพื่อเช็คดูว่า ราคะจะเกิดที่กายที่ใจหรือไม่ ถ้าเกิดก็ใช้อสุภะเป็น
อารมณ์กรรมฐาน เพื่อปล่อยวาง ให้เกิดวิราคะต่อไป

ดังนั้น เมื่อเราตามดูความจางคลาย เราอาจจะเจอบางสิ่ง
บางอย่าง บางส่วนยังตกค้างอยู่ในใจ ยังมีความรักใคร่
มีราคะอยู่ในบางเรื่อง คือ ยังมียินดียินร้ายอยู่

เมื่อรู้อยู่ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ก็รู้ว่าการปฏิบัติที่ผ่านมานั้นจุดไหนก็ยัง
ไม่สมบูรณ์ ก็กลับไปพิจารณาที่จุดนั้นให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ให้สมบูรณ์ แล้วก็กลับมากำหนดวิราคะอีก กลับไปกลับมา ให้สมบูรณ์
จนเห็นขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 100% จนเห็นวิราคะในรูปฌาน
และอรูปฌาน 100% วิราคะก็สมบูรณ์ 100%

พระภิกษุสำคัญว่าตนเป็นอรหันต์

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุ 30 รูป ปรารภความเพียรตลอดพรรษา จนคิดว่า
ตนเองสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์แล้ว พอออกพรรษาก็กลับมาขอเฝ้า
พระพุทธองค์ พระองค์ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณ ให้พระสารีบุตรไปดักพบที่
ประตูวัด นมัสการท่านว่าพระพุทธเจ้าให้นิมนต์ท่านไปป่าช้าก่อน

ขณะนั้น ที่ป่าช้ามีศพหญิงงามเพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ รูปโฉมยังงดงาม น่ารักน่าใคร่
พระภิกษุทั้งหลายก็เกิดราคะ จึงรู้สึกตัวว่า ท่านยังไม่สำเร็จเป็นอรหันต์

เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว ต่างองค์ก็ต่างปรารภความเพียร พิจารณากายของ
ตนว่าเป็นปฏิกูล จนเกิดอารมณ์อสุภะ เกิดวิปัสสนา ในที่สุดทุกองค์
ก็สำเร็จอรหัตตผล ณ ที่นั้น แล้วจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

นักปราชญ์ 3 คน

ประเพณีที่ดีงามในชนบทอีสานอย่างหนึ่ง คือ เช้าตรู่ของวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ
15 ค่ำ แม่ออก พ่อออกจะพากันถืออาหารใส่ปิ่นโต เข่งหม้อไปวัด เพื่อจำศีล
ภาวนา สักวันหนึ่ง พอถึงวัดก็จัดอาหารถวายพระ เมื่อพระกำลังฉัน ญาติโยม
ก็จะรวมกันที่ศาลาทำวัตรเช้า สวดมนต์ แล้วก็รับประทานอาหาร เมื่อโยมรับ
ประทานอาหารเสร็จ พระล้างบาตรเสร็จ พระภิกษุ สามเณร ชีและโยมทั้งหมด
จะมารวมกันที่ศาลาอีกครั้ง จากนั้นญาติโยมก็จะสมาทานศีล ฟังเทศน์สักกัณฑ์
หนึ่ง กลางวันก็พักผ่อนบ้าง อ่านหนังสือบ้าง เดินจงกรม นั่งสมาธิตามอัธยาศัย

ตอนเย็นประมาณ 1 ทุ่ม รวมกันทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ จนเกือบเที่ยงคืน
บางคนก็ไปนอนพักผ่อน แม่ออกบางคนก็นั่งสมาธิตลอดคืน ตี 3 พระก็ตีระฆัง
ให้สัญญาณ ตี 3 ครึ่ง หรือ ตี 4 ก็ไปรวมกับพระที่ศาลาเพื่อทำวัตรเช้า

พออรุณก็แยกย้ายกลับบ้าน กลับสู่ทางโลก รับภาระทางโลกต่อไป
ถึงวันพระก็เข้ามาวัด อยู่วันหนึ่ง คืนหนึ่งเป็นประจำ

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีผู้เฒ่า 3 คน เมื่อถึงวันพระก็เข้าวัดจำศีล
ภาวนาเป็นประจำ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ทำเช่นนี้มาเป็น
สิบๆ ปี ชาวบ้านให้ความเคารพให้เกียรติ ผู้เฒ่าทั้ง 3 เสมือนเป็น
ปราชญ์ของหมู่บ้าน ใครๆ มีปัญหาก็ไปปรึกษา เรื่องธัมมะธัมโม
ผู้เฒ่าทั้ง 3 ก็คุยเก่ง พูดเก่ง สอนเก่ง พระบวชใหม่ๆ ก็สู้ไม่ได้ เพราะว่า
นักปราชญ์ทั้ง 3 คน ได้ฟังเทศน์ปฏิบัติภาวนามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว

วันหนึ่ง แม่ออกจัดอาหารใส่ถาด มีอาหารหลายๆ อย่างใส่ในถ้วยเล็กๆ
สำหรับนักปราชญ์ทั้ง 3 คนชุดหนึ่ง นักปราชญ์ทั้ง 3 คนตั้งวงรับประทาน
อาหารร่วมกัน อาหารก็มีแจ่วน้ำพริก และมีมะนาวครึ่งซีกเพื่อบีบใส่ในแจ่ว
นั้นแหละ ผู้เฒ่าคนหนึ่งจะบีบมะนาว คนหนึ่งห้าม คงจะไม่ชอบเปรี้ยว
แต่คนนั้นไม่ฟัง บีบมะนาวใส่แจ่ว เจ็บใจมาก..........

ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่พูดกันอีกเลย สมาคมนักปราชญ์ 3 คน แตก ล้มละลาย
จริงๆ แล้วถ้าแจ่วเปรี้ยวมากไป ก็ไม่ต้องกินก็ได้ อาหารอย่างอื่นก็เยอะแยะไป
แต่ปัญหาคงจะไม่ได้อยู่ที่รสอาหาร มันรู้สึกว่าเสียหน้า เสียความรู้สึก

เราก็เป็นอย่างนั้นทุกคน ไม่มากก็น้อย
สมมติเมื่อเราเดินทางหรือ
อยู่ด้วยกันหลายคน มีสักคนหนึ่งกำลังพูดถึงบางเรื่อง บางทีเขาก็ไม่พูด
ถึงเรา แต่สิ่งที่เขาพูดอยู่นั้น เราคิดเองว่าเขากำลังพูดถึงเราในทางลบ
เราอาจจะมีความรู้สึกว่าเขาดูถูกเรา รู้สึกเสียหน้า เสียชื่อ เจ็บใจก็ได้
แล้วเราก็อาจจะติดอารมณ์นั้น ตลอดวันตลอดคืน นอนไม่หลับ เพราะโกรธเขา

ส่วนเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเรากำลังทุกข์โกรธเขา เพราะเขาพูดดูถูกดูหมิ่น
เราต่อหน้าเพื่อนฝูง จนทุกคนดูถูกดูหมิ่นเราไปด้วย เขาไม่มีเจตนาที่จะ
ทำให้เราทุกข์ บางทีเขาก็ไม่ได้พูดถึงเราด้วย ยิ่งกว่านั้น คนอื่นๆ ที่ฟังก็
ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจในเรื่องที่เราคิดว่าเราเสียหน้าด้วย

แต่เรานี้แหละ คิดไปเองว่า
“เขาได้พูดจริงๆ ทุกคนก็ฟังกันทุกคน ทุกคนก็ทำหน้าดูหมิ่นดูถูกเรา”

เราคิดไปเองทั้งนั้น คนอื่นไม่รู้เรื่องเลย



(มีต่อ 6)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 15
ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ

เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า

นิโรธ คือความดับ
หมายถึง ความดับในอุปาทาน ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น


ถึงแม้ว่าเราจะเห็นความจางคลายอยู่ทุกลมหายใจออก - เข้า
ไม่มีความรัก ไม่มีความยินดียินร้ายหลงเหลืออยู่
เห็นทั้งอนิจจัง และวิราคะ โดยสมบูรณ์ในความรู้สึกของเราแล้ว
แต่เรายังอาจจะมีอุปาทานหลงเหลืออยู่ก็ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราอยู่สม่ำเสมอว่า ไม่ควรประมาท
ท่านให้เราเปลี่ยน ยกวิปัสสนาอารมณ์มาเช็คดูอีกครั้ง คือตามเห็น
ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ความดับไม่เหลือ คือความดับแห่งอุปาทาน ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

ยังมีอุปาทานหลงเหลืออยู่

หย่ากันไม่ได้ เหตุที่ต้องกำหนดดูความดับไม่เหลือนั้น ก็อาจจะเปรียบเทียบ
ได้กับสามีภรรยาที่ได้กล่าวแล้วในขั้นที่ 14 คือ เมื่อสามีและภรรยา หมดรัก
จริงๆ แล้ว ไม่มีราคะแล้ว แต่บางคนบางคู่อาจจะยังมีภาระที่ผูกพันกันอยู่
ไม่สามารถแยกทางกันได้ เช่น มีลูก หรือมีทรัพย์สิน ความรับผิดชอบอื่นๆ
ที่ต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบ ฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่รักกันแล้ว แต่ก็ยังหย่ากัน
ไม่ได้ เพราะยังมีความผูกพันอยู่ ความผูกพัน คือ อุปาทานในวิปัสสนา

ยังมีอุปาทาน
เรากับขันธ์ 5 ก็เหมือนกัน ถึงแม้จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
(อานาปานสติขั้นที่ 13) และเห็นวิราคะ (อานาปานสติ ขั้นที่ 14) ไม่มีความรัก
ความยินดีอีกต่อไปแล้ว แต่ก็อาจจะถอนความยึดมั่นถือมั่นไม่หมด ยังมีบาง
ส่วนตกค้างอยู่ ท่านจึงให้ยกเอานิโรธมาเป็นวิปัสสนากรรมฐานเช็คดูอีก ต้อง
เช็คให้แน่ใจเด็ดขาดว่าเราตัดอุปาทานลงได้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
หลงเหลืออยู่อีกต่อไป ถ้าเราพบว่าส่วนใดยังมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นหลงเหลือ
อยู่ ก็กลับไปพิจารณาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอีก กลับไปกลับมา จนเห็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วิราคะ และนิโรธ สมบูรณ์ 100% จนไม่มีอุปาทานจริงๆ
วางๆ หมด วางจากความเป็นตัวตน 100% เลยทีเดียว

ท่านแบ่งอุปาทานไว้เป็น 4 อย่าง คือ

1. กามุปาทาน
คือความยึดมั่นถือมั่นในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
2. ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในความนึกคิด
3. สีลัพพตุปาทาน คือสีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในศีล และพรต
4. อัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นอัตตาตัวตน

อุปาทานในขันธ์ 5

ขันธ์ 5 ถ้ายังเป็นอุปาทานขันธ์ มีตัณหา อุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
เมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็เกิดยินดี ยินร้าย ความทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้น
ทันที อุปมาเหมือนป่าที่มีสัตว์ที่เป็นศัตรูกันเป็นคู่ๆ เช่น เสือกับกวาง
งูกับกบ แมวกับหนู เหยี่ยวกับพังพอน สัตว์เหล่านี้ปกติก็เป็นศัตรูกัน
เมื่อพบกันก็ต่อสู้กัน ทำลายกัน

เมื่อเราเจริญวิปัสสนาสมบูรณ์ ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ในขันธ์ 5
แล้ว ก็เปรียบเสมือนกับว่าสัตว์เหล่านี้ต่างคนต่างก็ไปกินน้ำที่สระน้ำ
ที่สงบเยือกเย็น ที่อยู่ในป่าที่กว้างใหญ่ตามธรรมชาติ เขาก็ต่างคน
ต่างมากินน้ำที่สระได้ด้วยสันติสุข

เหมือนกับขันธ์ 5 ก็ต่างคนต่างทำหน้าที่ตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้ว
ก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลส ตัณหา เข้าไปยึด
มั่นถือมั่น เกิดสันติสุข นี่คือขั้นที่ 15 ดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ
แล้วในที่สุดก็สลัดคืนธรรมชาติหมด ในอานาปานสติ ขั้นที่ 16
เมื่อนั้นเราก็สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข

รูปภาพ

ลิงปอกหอมใหญ่

ขันธ์ 5 เป็นของหนัก เราก็แบกขันธ์ 5 ไปๆ มาๆ อยู่อย่างนั้น
เพราะเรามีอุปาทานในขันธ์ 5 มองไปจุดไหน มองไปที่อะไร
ก็มีแต่ตัวตน มีแต่เรา มีแต่ของเราทั้งนั้น
เรารู้สึกว่าขันธ์ 5 เป็นของเรา มันเป็นของเรา

เมื่อเราศรัทธาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็จะคล้ายกับลิงปอก
หอมใหญ่ เราเอาหอมใหญ่ให้ลิง 1 ลูก ลิงก็ปอกเปลือกออก
ทีละชั้นๆๆ นี่ไม่ใช่ ทิ้งไป..... นี่ไม่ใช่ ทิ้งไป..... นี่ก็ไม่ใช่ ทิ้งไป
นี่กินไม่ได้..... นี่ก็กินไม่ได้ จนในที่สุดมันก็รู้ว่า ไม่มีอะไรกินได้

ผู้เจริญวิปัสสนาก็เหมือนกัน สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัว
เป็นตนของเรา เมื่อเราเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน เราก็เข้าไปดูๆ
ก็เห็นว่า อ้อ นี่ก็ไม่ใช่ของเรา..... นี่ก็ไม่ใช่ของเรา..... นี่ก็ไม่ใช่ของเรา

รูปภาพ

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ไม่มีตัว ไม่มีตน เป็นสุญญตา



(มีต่อ 7)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 16
ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ

เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า


ขั้นที่ 16 นี้เป็นวิปัสสนาขั้นสุดท้ายในอานาปานสติ เราตามเห็นปฏินิสสัคคะ
คือความสลัดคืนในสิ่งที่เราเคยยึดถืออยู่ ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

สำหรับปุถุชนอย่างเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยประสบมาในชีวิต
เรามักจะรู้สึกว่า เป็นเรา เป็นของเรา แต่แท้ที่จริงแล้ว ทุกสิ่ง
ทุกอย่างล้วนแต่เป็นของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของ
เราสักอย่างเดียว
เช่น ที่ดิน ที่จริงก็มีอยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่
ของใคร แต่มนุษย์ก็เข้าไปยึดครอง สมมุติเอาว่าเป็นของเรา

เมื่อเราเจริญวิปัสสนาโดยสมบูรณ์ จนวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด
เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างชัดเจน ตามความเป็นจริง
จนกระทั่งไม่มีความรักความยินดีในขันธ์ทั้ง 5 เป็น วิราคะ
และถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นออกทั้งหมดแล้ว คือ นิโรธ
สิ่งต่างๆ ที่เราเคยไปแอบอ้างธรรมชาติ เอามาเป็นกรรมสิทธิ์
เป็นเรา เป็นของเรา เป็นอัตตาตัวตน
เราก็สละสิทธิ์ ส่งคืนให้ธรรมชาติหมด คือ ปฏินิสสัคคะ

ในที่สุดแล้วสามีภรรยาสามารถจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้เรียบร้อย
ก็หย่ากันได้ คือสลัดคืนได้แล้ว ก็ต่างคนต่างอยู่ แต่ก็ยังคบกันได้
ไม่มีอาฆาตพยาบาท ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เหมือนเพื่อนเก่า
เช่นนี้คือการหย่ากันได้อย่างบริสุทธิ์

สิ่งที่ยึดถือเป็นตัวเราของเรา ก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะรู้ชัดเห็นชัด
แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกสลายไปตามธรรมชาติ
ไม่มีสิ่งที่จะยึดเอาเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเราได้

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว ก็คล้ายๆ กับว่า เราคืนทุกสิ่งทุกอย่าง
กลับสู่ธรรมชาติไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ตัวเราจะหายไปไหน
จริงๆ ทรัพย์สมบัติ ลูกหลานของเราก็ไม่หายไปไหน เราก็ยังคงมี
ชีวิตอยู่ตามปกติ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน และก็รู้ลมหายใจ
ออก - เข้า เหมือนกับมนุษย์ทั่วไป ลูกหลาน เพื่อนฝูง ทรัพย์สมบัติ
ก็ยังคงอยู่ แต่เราไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่

มีสติลึกๆ และมีปัญญารู้ลึกๆ อยู่ตลอดเวลาว่า
กาย สักแต่ว่ากาย
เวทนา สักแต่ว่าเวทนา
จิต สักแต่ว่าจิต
ธรรม สักแต่ว่าธรรม

ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา


ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ตั้งแต่ร่างกายของเรา ทรัพย์สินต่างๆ
ล้วนเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ
เราเห็นอยู่อย่างนั้นด้วยใจที่สงบเยือกเย็น
เห็นอะไรๆ ก็เป็นของธรรมชาติไปทั้งหมด


ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ยังกิญจิสมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

ไม่มีอะไรสามารถจะทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวได้อีกต่อไป

ผู้ที่เข้าถึงอานาปานสติ ขั้นที่ 16 นี้โดยสมบูรณ์ ก็คือ พระอรหันต์
นั่นเอง สภาวะของจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง
ไม่มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ
ชีวิตที่เหลืออยู่ ท่านอยู่เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนล้วนๆ

ชีวิตของพระบรมศาสดาเป็นแบบอย่างของผู้ที่เข้าถึงอานาปานสติ
ขั้นที่ 16 โดยสมบูรณ์ หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงใช้
เวลาที่เหลือทั้งหมด 45 พรรษา

พหุชน หิตาย เพื่อประโยชน์แก่มหาชน
พหุชน สุขาย เพื่อความสุขแก่มหาชน


โดยการเสด็จสั่งสอนมหาชนให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ทั้งปวง
ตราบจนกระทั่งเสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพานในที่สุด


(มีต่อ 8)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 07:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาคผนวก
ธรรมะเปรียบเทียบและบทส่งท้าย


สารบัญ ภาคผนวก

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐาน 4
ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร

อริยมรรคมีองค์ 8 กับไตรสิกขา
ทุกข์
อริยสัจ 4 มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสอง
พระธรรมคุณ

บทส่งท้าย
ในที่สุดอานาปานสติขั้นที่ 1 ก็สำคัญที่สุด



(มีต่อ 9)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในมหาสติปัฏฐาน 4


ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐาน 4
ได้กำหนดหัวข้อธรรมต่างๆ ให้พิจารณาดังนี้

1. อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
2. ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
3. นิวรณ์ 5 ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
4. สฬายตนะ ได้แก่ อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6
5. โพชฌงค์ 7 ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสิทธิ สมาธิ อุเบกขา

การพิจารณาธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานตามอานาปานสติสูตร
ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า

เราเป็นผู้ตามเห็น อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกลมหายใจออก - เข้า
เราเป็นผู้ตามเห็น วิราคะ ความจางคลาย ทุกลมหายใจออก - เข้า
เราเป็นผู้ตามเห็น นิโรธ ความดับไม่มีเหลือ ทุกลมหายใจออก - เข้า
เราเป็นผู้เห็น ปฏินิสสัคคะ ความสลัดคืน ทุกลมหายใจออก - เข้า

ถ้าทำเช่นนี้ได้สมบูรณ์เมื่อไร หัวใจธรรมะที่จัดไว้ในธัมมานุปัสสนา
สติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐาน ก็สมบูรณ์ด้วย

ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร

เป็นพระสูตร หรือพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธองค์
ที่ทรงแสดงโปรด พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปัตนมฤคทายวัน
ที่กรุงพาราณสี ณ วันเพ็ญ เดือน 8 หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้
แล้ว 2 เดือน หลังจากฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ ท่านโกณฑัญญะ
ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานด้วยความยินดีว่า

“อัญญาสิ วตโภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ”
ท่านโกณฑัญญะ จึงได้ฉายาว่า “อัญญา โกณฑัญญะ” ตั้งแต่บัดนั้น
ท่านเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระบวรพุทธศาสนา
และพระพุทธศาสนาได้มีสรณะคมน์ครบองค์ 3 คือ พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นไตรสรณะคมน์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้น พระพุทธองค์
ทรงแสดงหัวข้อธรรมะหลักๆ คือ


1. การกระทำสุดโต่ง 2 อย่าง ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ภิกษุไม่ควรเกี่ยวข้อง
2. ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ มัชฌิมาปฏิปทา
ทางสายกลางเป็นหนทางอันประเสริฐ คือ อริยมรรคมีองค์ 8
3. ทรงแสดงอริยสัจ คือ ทุกข์
4. ทรงแสดง อริยสัจ 4 และทรงสรุปว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง
มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสองเช่นนั้น ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้
เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา............
เมื่อนั้นเราปฏิญญาว่า เราได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ซึ่งพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ............”


อริยมรรคมีองค์ 8 กับไตรสิกขา

อริยมรรคมีองค์ 8 กับไตรสิกขา ก็เรื่องเดียวกัน
อริยมรรคเริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ จนถึงสัมมาสมาธิ
แต่ปกติเรามักจะพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ไตรสิกขา

อริยมรรคมีองค์ 8.................... ไตรสิกขา

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ............ ปัญญา
สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ....... ปัญญา

สัมมาวาจา การพูดจาชอบ............. ศีล
สัมมากัมมันโต การทำงานชอบ....... ศีล
สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ....... ศีล

สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ... สมาธิ
สัมมาสติ ความระลึกชอบ............... สมาธิ
สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ........... สมาธิ

ไตรสิกขา ท่านให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

ศีล
ข้อบัญญัติที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจาหรือเจตนาที่ถูกต้อง
สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิต ความสำรวมจิตให้แน่วแน่
ปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว

แต่ในทางปฏิบัติ ศีล มีความหมายกว้างขวาง และเน้นเจตนา
เป็นตัวหลัก ดังได้อธิบายมาตลอดเวลาอยู่แล้ว
ปัญญา ในเชิงปฏิบัติ ก็หมายตลอดถึง วิปัสสนาปัญญา คือ
ความรู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง

ทุกข์

ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร และในพระสูตรอีกหลายๆ แห่ง
พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดลออว่า อะไรคือทุกข์ ดังเช่น

ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์
ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ ความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ที่พอใจก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

และพระองค์ก็ทรงสรุปว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
คือ เราทุกข์ เพราะเรามีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์

ในหมวดนี้ท่านจัดแบ่งทุกข์ไว้ดังนี้
1. ทุกขทุกขตา คือ ทุกขเวทนา ทางกายและใจ
2. วิปรณามทุกขตา ความเป็นทุกข์ เพราะ ความแปรปรวน ได้แก่ สุข
3. สังขารทุกขตา ความเป็นทุกข์ เพราะสังขาร ได้แก่ ตัวสภาวะ
ของสังขาร คือสิ่งทั้งปวง ซึ่งเกิดจากปัจจัย
ปรุงแต่งที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป
ทำให้คงสภาพอยู่ไม่ได้ พร่องอยู่เสมอ และ
ทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้ยึดถือด้วยอุปาทาน

ความสุขก็จัดเป็นทุกข์ วัตถุก็จัดเป็นทุกข์
ทุกข์ เพราะความไม่คงที่ แปรปรวนไปตลอดเวลา
นี่คือ วิปรณามทุกขตา

ทุกข์ในอริยสัจ 4 คือ ทุกขเวทนาทางกาย และทุกขเวทนาทางใจ
คือ ทุกขทุกขตา

ถ้าพูดถึงสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกข์ในสามัญลักษณะ หมายถึง ความเป็นทุกข์ เพราะความ
แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เพราะฉะนั้น เพชร พลอย เงิน ทอง
เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา คงทนอยู่ไม่ได้

สัพเพ สังขารา ทุกขา

อริยสัจ 4
คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสอง


- การศึกษาปฏิบัติในอริยสัจ 4 ให้เริ่มต้นพิจารณาตามเหตุผล
คือโยนิโสมนัสสิการว่า

1 ทุกข์ มีอยู่จริง
2 สมุทัย มีอยู่จริง
3 นิโรธ มีอยู่จริง 4 มรรค มีอยู่จริง

นี่คือการพิจารณาในขั้นต้นที่ท่านถือว่าเป็น “ปริยัติ”

- ต่อไปเราก็จะลงมือปฏิบัติ เจริญสติ สมาธิ

5 กำหนดรู้ “ทุกข์”
6 เพียรละ “ตัณหา” คือ เหตุให้เกิดทุกข์
7 เพียรทำ “นิโรธ” ให้แจ้ง
8 เพียรเจริญ “มรรค” ให้เกิด
นี่คือการ “ปฏิบัติ”

- เมื่อปฏิบัติแล้ว เกิดผลสมบูรณ์ ก็สามารถ

9 กำหนดรู้ “ทุกข์” ได้แล้ว
10 ละ “ตัณหา” ได้แล้ว
11 ทำ “นิโรธ” ให้แจ้งแล้ว
12 ทำ “มรรค” ให้เกิดมีได้แล้ว

นี่คือ “ปฏิเวธ” คือผลสมบูรณ์แล้ว

เช่นนี้คืออริยสัจ 4 มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสอง

ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามหลักอานาปานสติขั้นที่ 1-16 โดยสมบูรณ์แล้ว
ก็คือ ได้ปฏิบัติอริยสัจ 4 มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสองตามที่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรโดยสมบูรณ์

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“เมื่อใด ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง
มีปริวัฏฏสาม มีอาการสิบสอง ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้
เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา

เมื่อนั้น เราปฏิญญาว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ.....
ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ

ความเกิดนี้เป็นความเกิดครั้งสุดท้าย
บัดนี้ ความเกิดอีกย่อมไม่มีแก่เรา”

พระธัมมจักรบริสุทธิ์ ในอริยสัจ 4
ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันธัง นิโรธะธัมมันติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งปวงนั้น ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

ธัมมจักรก็บริสุทธิ์..... อนิจจัง วิราคะ นิโรธ ปฏินิสัคคะ ก็สมบูรณ์


พระธรรมคุณ

ต่อไปนี้คือลักษณะของพระธรรม การปฏิบัติธรรมทุกอย่าง
ทุกขั้นตอน ก็เข้าหลัก 5 ประการนี้ ของพระธรรมทั้งนั้น

โยโส สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
พระธรรมนั้นใด คือสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วดังนี้

(1) สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง


หมายความว่า ธรรมะ คือความจริง มีอยู่ เป็นอยู่ เห็นอยู่ เห็นได้
ที่นี่เดี๋ยวนี้ ในทุกคน ภาษาอังกฤษแปล สันทิฏฐิโก ว่า Visible here and now
และอธิบายว่าการปฏิบัติก็คือ “Be here now”

ฉะนั้น หน้าที่ของเราผู้ปฏิบัติก็เพียงแต่ทำให้ความจริงปรากฏขึ้น
ด้วยการเจริญสติ เจริญสมาธิ ชำระนิวรณ์ แล้วก็จะสามารถ
เห็นได้ (visible) ที่นี่ เดี๋ยวนี้ (here and now) คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

(2) อกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
หมายความว่า
1. ปฏิบัติได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่
2. ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล กล่าวคือ ผลที่จะเกิดจะได้ ไม่เจาะจงเวลา
สถานที่ ผลอาจจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เมื่อเหตุปัจจัยเพียงพอและพอดี

ตัวอย่างเช่น
พระอานนท์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขณะที่กำลังเอนกายลงนอน
กำลังอยู่ระหว่างอิริยาบถนั่งและนอน
พระภิกษุองค์หนึ่งสำเร็จในปากเสือ
พระภิกษุองค์หนึ่งสำเร็จขณะกำลังล้างเท้า..... ก็มี

3. ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่มีกาลเวลา คือไม่เปลี่ยนแปลงไป
ตามกาลสมัย ธรรมะเป็นสัจจธรรม คือ ความจริง มีอยู่อย่างนี้
ตลอดกาลตลอดเวลา ความจริงไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,500 ปีแล้ว ธรรมะก็ไม่ล้าสมัย ยังคง
เป็นความจริง ใช้ได้ตลอดเวลา

(3) เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด
คือ จงมาดูกาย มาดูใจของตัวเอง
มีความหมายว่า เวลาที่เราสอนผู้อื่น พูดกับผู้อื่นนั้น ให้สอนว่า
ให้ทุกคนมาดูกายกับใจของตัวเอง
การดูคือการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยตนเอง
อย่าหาดูธรรมะที่ครูบาอาจารย์ ที่เจดีย์ โบสถ์ คัมภีร์ต่างๆ
ธรรมะอยู่ที่กายกับใจของตัวเอง ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ผู้สอน
ครูอาจารย์ผู้สอนอาจจะยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ได้ เช่น ในสมัยพุทธกาล
พระปุถุชนสอน อุบาสิกา ให้เจริญอาการ 32 อุบาสิกาก็สำเร็จเป็น
อนาคามีก่อน พระเองก็ยังไม่มีธรรมะแต่ก็สอนได้ตามที่ได้ยิน
ได้ฟังมา จึงพูดว่าธรรมะอยู่ที่ตัวเรา

(4) โอปนยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

หมายความว่า ไม่ว่าเราจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ชอบหรือไม่ชอบ
ก็ตามประสบการณ์ทุกอย่างก็เพื่อพัฒนาตัวเอง
เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัว ให้น้อมเข้ามา

เพื่อละความชั่วของตัวเอง
ทำความดีด้วยตัวเอง
ชำระจิตของตนเองให้ขาวรอบ

นี่คือธรรมะ คือ โอปนยิโก
เช่น เห็นบุรุษ สตรีที่สวย น่ารัก ถูกใจ เราก็รีบตั้งสติ
พิจารณาธรรมชาติของร่างกายของตัวเองให้เห็นเป็นปฏิกูล
เพื่อเข้าใจร่างกายของเขาด้วย

ถ้าเห็นใครทำอะไรน่าเกลียด น่าชัง ก็ตั้งสติพิจารณาว่า เราก็
เหมือนกันไม่มากก็น้อย
แล้วมีสติระวังตัว ละความชั่วของตัวเอง
ถ้าเห็นใครทำความดี ก็โอปนยิโก เอาเขาเป็นตัวอย่าง พยายาม
ทำความดีมากยิ่งๆ ขึ้น ถ้าใครพูดไม่ถูกใจ ดูหมิ่นนินทาเรา ก็รีบ
ตั้งสติพิจารณาอริยสัจ 4 สติปัฏฐาน 4

(5) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ได้ลิ้มรสชาติของการปฏิบัติเอง
เราชิมรส สัมผัสพระธรรมแทนกันไม่ได้ ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้
เช่น ถ้าเราได้ลิ้มรสผลไม้ที่มาจากต่างประเทศ อร่อยที่สุด เราจะอธิบาย
ให้เพื่อนฟัง เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ต่างคนต่างไม่รู้เรื่อง ต่างคนต่าง
ต้องชิมรสด้วยตัวเอง จึงจะรู้ว่า “อ้อ เช่นนี้เอง” จึงหายสงสัยได้

เรื่องสมาธิ รูปฌาน อรูปฌาน เรื่องวิปัสสนา อริยมรรค อริยผล
รู้สึกอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร ถึงจะอธิบายอย่างไร อธิบายเท่าไร
คนฟังก็เข้าใจไม่ได้ ผู้ที่อธิบายก็หาคำมาอธิบายไม่ได้ จึงต้อง
ต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างคนต่างสัมผัสด้วยตัวเอง

พระพุทธองค์จึงตรัสพระคาถาว่า
“อกขาตาโร ตถาคตา”
“พระตถาคต เป็นแต่เพียงผู้บอก ผู้ชี้แนวทาง”



(มีต่อ 10)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บทส่งท้าย

ในที่สุดอานาปานสติ ขั้นที่ 1 ก็สำคัญที่สุด

พระธรรมเทศนาบางส่วนในการอบรมอานาปานสติ
ครั้งที่ 7 วันที่ 18 ตุลาคม 2540

เห็นความดับในทุกกรณี

ในชีวิตประจำวัน เราก็ระลึกถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร
ถึงแม้ว่าเกิดความรู้สึก เราก็เห็นความดับ

ใจเราจะคิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง เราก็เห็นความดับ
สัญญาเกิดขึ้น สัญญาเก่าๆ บางสิ่งบางอย่างระลึกถึงแล้ว
ไม่สบายใจก็มี เราก็เห็นความดับของสัญญา

การเห็นความดับนี้สำคัญมาก เรียกว่า ตัวปัญญา วิปัสสนา
ถ้าเราเห็นความดับ กิเลสก็ไม่มีโอกาสที่จะตั้งอยู่ได้
ความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฐิ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะแม้ความรู้สึกจะเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้นก็จะหายไป

แต่จิตที่ยังไม่ได้ฝึก ความรู้สึกก็จะอยู่ตลอดไป
เมื่อเกิดน้อยใจ เสียใจ ก็จะเป็นทุกข์ตลอดชาติ

เมื่อรู้สึกเจ็บใจ ก็เจ็บใจตลอดไป
เมื่อหงุดหงิด ก็หงุดหงิดตลอดไป
อันนี้เป็นความรู้สึกของเรา เราก็รู้สึกอย่างนี้ตลอด

ทีนี้เราพยายามเจริญอานาปานสติ
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน พยายามเห็นทุกอย่างเป็นอนิจจัง
แล้วก็ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ

อันนี้ก็เพื่อให้อานาปานสติ ขั้นที่ 1 สมบูรณ์
เมื่ออานาปานสติ ขั้นที่ 1 สมบูรณ์ เราก็สามารถกำหนดรู้ทุกสิ่ง
ทุกอย่าง เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป พยายามมองเห็น
ความดับ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ เรียกว่า พิจารณา หรือเจริญวิปัสสนา

อารมณ์วิปัสสนา เราก็ต้องใช้ตั้งแต่เริ่มเบื้องต้น จนกว่า
จิตจะสงบเป็นธรรมดาๆ จิตไม่มีนิวรณ์ พยายามมองเห็น
พยายามมองเห็นนิวรณ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไร

ไม่มีอะไรที่จะไปยึดมั่นเอาเป็นจริงเป็นจัง ไม่เอาจริงเอาจังกับกิเลส
เมื่อกระทบอารมณ์ เมื่อใจไม่ดี ก็หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก
หายใจออกสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ
การปรับปรุงลมหายใจ จะช่วยได้มาก

เต่าเจ้าปัญญา - เก็บอายตนะ

ให้เราฝึกตนเหมือนเต่า คือเอาเต่าเป็นอาจารย์ของเรา
กระดองเต่ามี 6 รู สำหรับขา 4 รู หัว และหาง เราก็มีอายตนะ 6
เต่าค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ เมื่อรู้สึกว่ามีอันตราย จะหยุดเดิน หดขา
หดหัว หดหางเข้ากระดองพักใหญ่ เมื่อคิดว่าน่าปลอดภัยแล้ว จึง
ค่อยๆ โผล่หัวออกมา ตรวจตราขวาซ้ายให้เรียบร้อย ให้มั่นใจว่า
ปลอดภัยแล้ว จึงค่อยเดินต่อไป

เราก็เหมือนกัน เมื่อใจเกิดยินดียินร้าย ให้รีบหยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกสบายๆ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกสบายๆ

หดเข้าเก็บตัวในกระดองศีล จนกว่าจะสบายใจ รู้สึกว่าปลอดภัยแล้ว
สุขภาพใจดีแล้ว จึงค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ทำ โดยอาศัย
สติปัญญาคอยตามระมัดระวัง เลียนอย่างเต่า นั่นคือปฏิปทาของเรา

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน แต่ถ้าจำเป็นต้องรีบ ก็อย่าร้อนใจ
ตั้งแต่เกิดมาเรารีบร้อนมากมากขนาดไหนแล้ว มีแต่การแข่งขัน
ตั้งแต่สอบในระดับอนุบาล ถึงมหาวิทยาลัย การแข่งขันในที่ทำงาน
แม้แต่ระหว่างพี่น้องก็มีแต่แพ้กับชนะ คงจะพูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมดนี้
เราวิ่งไปวิ่งมา รีบร้อนวิ่งแสวงหาความสุขกัน เราทำทุกอย่างเพื่อ

ความสุขๆ แล้วความสุขอยู่ที่ไหน เราหาความสุขมาอย่างนี้ มาถึง
ปัจจุบัน ได้ความสุขขนาดไหน ความสุขนี้เรารู้สึกเหมือนกับว่ามีจริง
เหมือนกลิ่นหอมในป่า แต่พอหาจริงๆ แล้ว ไม่มีตัวความสุข หาไม่พบ
สูญเปล่า ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา แต่เราก็ยังตามกลิ่นสุขอยู่ เรียกว่า
ปุถุชน วิ่งตามความสุข วิ่งตามกิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่อย่างนั้น

เราเพียงแต่หยุดแสวงหาความสุข แค่นี้เราก็สบาย
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกสบายๆ ทำไปเรื่อยๆ แค่นี้เราก็สบาย

อานาปานสติขั้นที่ 1 ต้องใช้ปัญญามาก

อานาปานสติ ขั้นที่ 1 จะสมบูรณ์ได้ ต้องอาศัยการเห็นอนิจจัง
ขั้นหยาบๆ ต้องใช้ปัญญามาก เพราะเรายังยึดมั่นถือมั่นใน
อารมณ์ต่างๆ อยู่ ถ้าเราเห็นโทษเห็นภัย เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ใจเราก็จะรู้สึกเบาสบายขึ้น เพราะเริ่มมีปัญญา แม้จะเป็นปัญญา
ขั้นหยาบก็ตาม เรื่องอนิจจังนี้ เราก็พิจารณาไปเรื่อยๆ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ก็คิดว่า “โอ้ ! อย่างนี้จริงๆ อนิจจังจริงๆ”
ถ้าปฏิบัติอยู่อย่างนี้ เราก็เป็นสุขได้

คิดถูกดับทุกข์ได้

ธรรมดาเราก็คิดๆๆๆ ไป แล้วก็เพิ่มความรู้สึกน้อยใจ เศร้าใจ
เสียใจ หงุดหงิด สารพัด เราก็ติดอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเปลี่ยนนิสัย
อะไรมากระทบก็คิดเป็นธรรมะ ถ้าเราคิดเป็นธรรมะ เราก็คิดถูก

คิดแล้วก็เพื่อปล่อยวาง
คิดเพื่อความสามัคคีของหมู่คณะ
คิดไม่ให้เบียดเบียน ไม่มีอาฆาตพยาบาท..... นี่คือคิดถูก

เมื่อเราฝึกอานาปานสติ ขั้นที่ 1 เราเข้าถึงอานาปานสติ ขั้นที่ 1 แล้ว
เราก็เป็นผู้ตามเห็นลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทุกครั้งติดต่อกัน
อันนี้เป็นเป้าหมายเบื้องต้นของการปฏิบัติ
เมื่อจิตดี จิตสบายแล้ว
ก็ฝึกเป็นสมาธิ ฝึกอานาปานสติ ขั้นที่ 3, 4 ต่อไป
หลังจากนั้นก็เป็นการอบรมปัญญา เห็นอนิจจัง

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็อยู่ที่อานาปานสติ ขั้นที่ 1
แล้วก็กำหนดเปลี่ยนไปบ้าง


เริ่มต้นอาจจะเป็นขั้นหยาบๆ ก็ตาม การปฏิบัติของเราก็พัฒนา
ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญก็อยู่ที่อานาปานสติ ขั้นที่ 1 นั่นแหละ
ใครทำอานาปานสติ ขั้นที่ 1 ได้ก็เรียกว่า สติดี ปัญญาดี
คนโง่ทำไม่ได้ คนมีปัญญาจึงจะทำได้
การปฏิบัติในที่สุด เราก็กลับมาที่อานาปานสติ ขั้นที่ 1

แล้วก็กำหนดเปลี่ยนไปบ้าง เช่น บางครั้งก็พยายามทำจิตตั้งมั่น
เป็นสมาธิยิ่งๆ ขึ้นไปคือ อานาปานสติ ขั้นที่ 3
บางครั้งก็ให้มีปีติสุขมากขึ้นๆ เท่าที่จะมากได้ คือเมตตาภาวนา
คือ อานาปานสติขั้นที่ 5 และ 6

บางครั้งก็กำหนดดูจิต ดูว่าจิตมีลักษณะอย่างไร เพื่อจะไม่ให้หลง
ถ้าแก้ไขได้ ก็แก้ไขไป เอาปัญญามาแก้ไข นี่คือ อานาปานสติ
ขั้นที่ 9 คิดอะไร พูดอะไร รู้สึกอย่างไร ความจำ ความคิดอะไร
เกิดขึ้น ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น รักษาใจให้เป็นปกติ

ถ้าเราไม่ยินดียินร้าย เราสามารถรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ติดต่อกันได้ อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราพยายามฝึกจิต ฝึกตนเป็นผู้
ชำนาญในอานาปานสติ ขั้นที่ 1 ก็จะมีประโยชน์มาก

บางครั้งเราก็หมกมุ่นอยู่กับอดีตบ้าง อนาคตบ้าง คนอื่นๆบ้าง
ปัญหาของสามีภรรยา ลูก ปัญหาของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีอยู่
มากมาย เรามีแต่ความเครียด ความวิตก กังวลต่างๆ
หน้าที่ของเราก็พยายามเจริญอานาปานสติ ขั้นที่ 1
อันนี้เราทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ยืน เดิน นั่ง นอน
นึกถึงเมื่อไร ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ก็มีเมื่อนั้น
พยายามค่อยๆ ฝึกอบรมปัญญาไปเรื่อยๆ เห็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ได้มากเท่าไร ใจของเราก็รู้จักปล่อยวาง
ได้มากเท่านั้น ความยินดียินร้ายก็น้อยลงๆ

เราสังเกตดูผลการปฏิบัติของเราได้ง่ายๆ ถ้าความยินดียินร้าย
น้อยลงกว่าเก่า แสดงว่าการปฏิบัติของเราก้าวหน้า


อย่างไรก็ตามการปฏิบัติของเราก็กลับมาอานาปานสติ ขั้นที่ 1
กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ทุกครั้งจะยืน เดิน นั่ง นอน
ตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร ใจจำเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม
เราก็พยายามเจริญสติ รักษาใจให้เป็นปกติ ความรู้สึกใจดี ใจสงบ
สบายใจ ใจสบาย นี่เป็นปกติของใจ สุขภาพใจที่ดี ก็มีลักษณะอย่างนี้

หน้าที่ของเราก็รักษาใจให้เป็นปกติ
สุขภาพกายเป็นอย่างไรเราก็รู้จัก
ถึงแม้สุขภาพกายไม่ดี หรือสิ่งภายนอกมีปัญหา
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ร่างกายเจ็บไข้ป่วย
อีกไม่กี่วันก็จะตาย หรือกำลังจะตาย เดี๋ยวนี้ ขณะนี้
หน้าที่ของเราก็รักษาใจให้เป็นปกติ
นี่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็รวมกันอยู่ที่นี้


พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่าต้องเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
ธัมมานุปัสสนา อันนี้ก็เพื่อให้เต็มบริบูรณ์ สมบูรณ์
เมื่อเราพัฒนาจิตใจไปเรื่อยๆ ก็ยกเป็นบทศึกษา
เจริญสติ สมาธิ ปัญญา โดยกำหนดแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ

เราทำมาตั้งแต่ต้นแล้ว เราก็ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ
การปฏิบัติของเราก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆๆ

แต่อย่างไรก็ตาม อานาปานสติ ขั้นที่ 1 ก็สำคัญมาก
เราพยายามระลึกถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้าให้ติดต่อกัน
เมื่อกำลังทำงานต่างๆ ไม่สะดวกที่จะกำหนดลมหายใจ เช่น ขณะที่
ขับรถ ไม่สะดวกที่จะกำหนดลมหายใจ เราก็ไม่ต้องกังวลถึง
ลมหายใจ เอาแต่หลักของอานาปานสติมาใช้

หลักของอานาปานสติ คืออยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันนี้สำคัญ
ตัวเองทำถูก ทำดี นี่สำคัญ เมื่อขับรถ ก็ตั้งใจขับรถ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
ใครชั่ว ใครผิด ใครขับรถไม่ดี ไม่ต้องสนใจ เขาขับรถไม่ดี จนเกือบจะ
เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ก็ปล่อยไป ขอให้เราขับรถดีไปเรื่อยๆ ๆ
ปุ๊บ เมื่อหยุดขับรถ นั่งเฉยๆ สติสัมปชัญญะก็กลับมาที่ลม
หายใจออก ลมหายใจเข้า โดยอัตโนมัติ

ถ้าเราฝึกอานาปานสติเป็นประจำ

เมื่อทำงานเราก็ทำงานตามปกติ เราต้องพูด ต้องทำงาน ต้องสั่งงาน
ลักษณะสับสนวุ่นวาย ต้องรีบทำงาน ทำอะไรๆ มากมายหลายอย่าง
ในกรณีเช่นนั้นก็ไม่ต้องนั่งกำหนดลมหายใจ ให้เอาใจใส่ ตั้งใจทำใน
สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทำงานเป็นปกติ ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน
อดีตก็ไม่สำคัญ อนาคตก็ไม่ต้องห่วง ปัจจุบันนี่สำคัญ
ความดี ความชั่ว ของคนอื่นก็ไม่สำคัญ ขอให้เราละความชั่ว
ทำความดีด้วยตัวเอง ชำระจิตของตัวเอง อันนี้สำคัญ


หลักอานาปานสติ คือ หลักปัจจุบันธรรม เมื่อเรากำลังทำอะไรอยู่
ทำครัว ล้างชาม ฯลฯ ก็ตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น เมื่อเราหยุดทำงาน
สติสัมปชัญญะ ก็กลับมาที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยอัตโนมัติ
เมื่อเราไม่ได้ทำอะไร ก็เจริญอานาปานสติต่อไป จึงจะพูดได้ว่า
“อยู่ได้ด้วยอานาปานสติ ตลอดวัน ตลอดคืน คือชีวิตของเรา”

ถ้าอยู่ด้วยอานาปานสติแล้ว อย่างน้อยก็รักษาสุขภาพใจได้ดี
สุขภาพกายก็ช่วยได้มาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็รักษาสุขภาพใจตลอดไป
ถึงแม้จะตายก็ตายด้วยใจดี นี่เป็นอานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติ
มีประโยชน์ขณะที่ตาย มีประโยชน์ต่อชาติหน้า หลายภพ หลายชาติ


อันนี้สำคัญมาก เรื่องทรัพย์สมบัติที่เราสะสมอยู่นี้ก็เป็นเรื่องของชาตินี้เพียง
ชาติเดียว การทำความดี เจริญทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น โดยเฉพาะการ
เจริญอานาปานสติ หรือรู้จักคิดถูกในทุกสถานการณ์ อันนี้เป็นสมบัติ
เป็นอริยทรัพย์ เป็นที่พึ่งได้ในหลายภพหลายชาติต่อไป

อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และอานาปานสติ ขั้นที่ 2 ควบคู่กันตลอด


จริงๆ แล้ว อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และอานาปานสติ ขั้นที่ 2 ก็แยกกันไม่ได้
ในการปฏิบัติขั้นที่ 1 ก็เป็นการปฏิบัติขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ควบคู่กันไปตลอด

วิปัสสนาอ่อนๆ บางครั้งก็กำหนดอยู่ที่ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 พยายามเกาะ
ลมหายใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เห็นอะไร ได้ยินอะไร เกิดความ
รู้สึกนึกคิดอะไรๆ ก็พยายามไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย
นี่เป็นอินทรีย์สังวรณ์ จะเรียกว่าเป็นวิปัสสนาอ่อนๆ ก็ได้

ถ้าจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มองเห็นอารมณ์ต่างๆ เป็นเหมือนไฟ เห็นโทษ
เห็นภัยของอารมณ์ต่างๆ เห็นชัดว่า ถ้ายึดเมื่อไรก็เกิดอัตตาตัวตน เป็น
ทุกข์เมื่อนั้น จึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา


อ้างอิง

1. หัวข้อธรรมะในหนังสือชุดอานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑, ๒, ๓ ส่วนมากมาจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

2. เรื่องราวประกอบหลายเรื่องได้มาจากหนังสือชุด พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ของมหามกุฎราชวิทยาลัย


>>>>> จบ >>>>>

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร