วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร

(เปรียบเทียบกับสติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติสูตร)

เรากำลังศึกษาสติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติ
แต่ส่วนใหญ่หรือตามปกติ เมื่อพูดถึงสติปัฏฐาน 4
จะหมายถึง สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งได้แก่

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร ประกอบด้วย

1. อานาปานสติ คือการกำหนด ลมหายใจ
2. อิริยาบถ คือการกำหนด การยืน เดิน นั่ง นอน
3. สัมปชัญญะ คือการกำหนด อิริยาบถย่อย
4. ปฏิกูลมนสิการ คือการกำหนด รูปกายว่าเป็นสิ่งปฏิกูลโสโครก
5. ธาตุมนสิการ คือการกำหนด รูปกายว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุ
6. นวสีวถิกา คือการกำหนด รูปกายเป็นซากศพในระยะต่างๆ 9 ระยะ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐาน
การพิจารณาทุกขเวทนา


ในอานาปานสติ เรากำหนดสุขเวทนา เป็นอารมณ์กรรมฐาน
แต่ปกติการพิจารณาเวทนาโดยทั่วๆ ไป และการพิจารณาเวทนา
ในมหาสติปัฏฐาน ท่านยกเอาทุกขเวทนามาเป็นองค์กรรมฐาน
คือยกเอาความรู้สึกทุกข์ มาเป็นตัวกำหนด

ความสุขหาตัวตนไม่ได้ เกิดขึ้นเดี๋ยวเดียวก็หายไป
แต่ความทุกข์เห็นได้ชัดเจน เช่น นั่งนิ่งๆ ไม่นานก็เกิดทุกข์เวทนา
จึงมักจะอาศัยทุกขเวทนา เป็นตัวกำหนด

เช่น อาศัยอิริยาบถนั่งนิ่งๆ นั่งนานๆ ยืนนานๆ เดินนานๆ ไม่ขยับ
การขยับเป็นการหนีจากทุกข์ เป็นการปิดบังเวทนาไม่ให้ปรากฏ
ปกติเราก็จะพยายามหนีจากทุกข์ตามสัญชาตญาณของเราด้วยการขยับ

เราจึงปฏิบัติพิจารณาทุกขเวทนาด้วยการนั่งนานๆ ยืนนานๆ เดินนานๆ
ไม่ขยับ เพื่อที่จะได้เห็นเวทนา คือความทุกข์ ตามความเป็นจริงของมัน

สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เมื่อเกิดทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหวก็ค่อยๆ ขยับ
เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุกข์ก็ดับไปถ้าทนไม่ไหว หนีไว้ก่อน ตามใจตัณหา
คือขยับ ไม่นานก็จะเกิดทุกข์อีก ก็พิจารณาทุกข์ต่อไปอีก
พยายามให้เกิดความรู้สึกเด่นชัด คือ ให้มีทุกข์ตลอด

นั่งก็เป็นทุกข์ ยืนก็เป็นทุกข์ เดินก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์
กินก็เป็นทุกข์ แม้แต่นอนก็เป็นทุกข์นะ ไม่ใช่สุขตามที่เราเข้าใจ
ลองดูก็ได้ นอน แล้วพยายามรักษาทุกส่วนของร่างกายให้อยู่นิ่งๆ
ให้นอนนิ่งๆ สัก 5-10 นาที ก็เป็นของยาก
ไม่กี่นาทีความรู้สึกเจ็บปวดก็เกิดขึ้น นี่เป็นการกำหนดเวทนาฝ่ายทุกข์
คือทำให้เกิดทุกขเวทนาตลอดเวลา เพื่อใช้พิจารณา

ถึงแม้จะกำลังมีความสุข ก็พิจารณาให้เห็นว่าในความสุขนั้น
ก็มีทุกข์แฝงอยู่ เพราะความรู้สึกก็ไม่คงที่ แว้บเดียวก็แตกสลาย
ไปเป็นทุกข์อีก เห็นความรู้สึกสุขว่าเป็นทุกข์ เลยมีแต่ทุกข์

เมื่อปฏิบัติไปๆ ก็จะเกิดความเข้าใจเด่นชัดขึ้นว่า
ทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร ใครเป็นทุกข์
เวทนาไม่เที่ยง เป็นความจริงเพียงใด
เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นความจริงเพียงใด

นั่งจนตาย

วิธีหนึ่งที่ครูบาอาจารย์นิยมปฏิบัติกันคือ นั่งจนตาย
ผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อได้สร้าง อินทรีย์แก่กล้า
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้า
จิตใจฝักใฝ่ในธรรมะ พร้อมที่จะเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะ

พระบรมศาสดาและพระมหาโมคคัลลานะ
ท่านนั่งกรรมฐาน โดยอธิษฐานจิตว่า
“แม้หนัง เอ็น กระดูก เท่านั้นจักเหลืออยู่
เนื้อและเลือดในสรีระนี้จักเหือดแห้งไปก็ตามที
ข้าพเจ้าจะไม่ลุกขึ้นหรือแม้แต่ไม่ขยับ
จนกว่าจะรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์”

ข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุด คือ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ขยับ

ไม่เชื่อฟังกิเลสตัณหา พยายามเข้าถึงหรือสัมผัส “เวทนา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน”

เมื่อเกิดสมาธิ ไม่มียินร้ายต่อทุกขเวทนา
และเมื่อดับตัณหาอุปาทานได้
จิต กับเวทนาก็แยกออกจากกัน เหมือนน้ำกับน้ำมัน
รู้เห็นตามความเป็นจริงของเวทนา
ถึงจุดนี้ทุกข์ก็จะดับไป ตามที่ท่านว่า เห็นทุกข์ไม่มีทุกข์
นี่เป็นวิธีเอาจริงเอาจังที่เหมาะกับบางคนเท่านั้น

ธรรมชาติของเวทนา

ความรู้สึก คือเวทนามันละเอียด เปลี่ยนเร็ว บางครั้งก็มีมาก
บางครั้งก็มีน้อย ทนยาก หลงง่าย นี่เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง

ความรู้สึกนี้กำหนดยาก เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยมากก็กำหนดยากจริงๆ เพราะเวทนาเป็นนามธรรม
ไม่มีตัวตน ไม่เหมือนกายหรือลมหายใจ
จะกำหนดเมื่อไรก็มีอยู่ กำหนดได้ทุกเวลา

การกำหนดเวทนาในอานาปานสติ เราเอาสุขเวทนาทางใจมา
เป็นตัวกำหนด
แต่จะกำหนดทุกขเวทนา หรือสุขเวทนาก็ตาม
เมื่อเราสามารถควบคุมเวทนาได้ เราก็ควบคุมกิเลสตัณหาได้
เราก็ไม่เชื่อฟังกิเลสตัณหาอีกต่อไป

พระภิกษุในปากเสือ - เวทนาไม่ใช่เรา

วันหนึ่ง พระภิกษุหลายรูป เดินในป่าเป็นแถว เสือตัวหนึ่งวิ่งมา
จากด้านหลัง วิ่งผ่านข้างๆ พระไปถึงพระองค์ที่เดินนำหน้ารูป
แรกนั้นแหละ แล้วก็เข้าไปกัดกินพระรูปแรก พระภิกษุทนทุกข์
เวทนาสาหัสไม่ได้ ก็ร้องขอความช่วยเหลือ พระทั้งหลายก็วิ่งไปดู
เห็นเสือกำลังกินเท้าพระอยู่ พระเหล่านั้นจึงตะโกนบอกว่า

พวกเราช่วยอะไรท่านไม่ได้แล้ว
ธรรมะของพระศาสดาเท่านั้นที่จะช่วยท่านได้


พระภิกษุรูปนั้นก็ได้สติ ทำจิตนิ่ง โอปนยิโก
เพ่งเข้าไปดูที่เสือกำลังกิน
พิจารณาได้ว่า เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นอนัตตา

เมื่อเสือกินท่านถึง ข้อเท้า ท่านได้บรรลุ โสดาบัน
เมื่อเสือกินท่านถึง หัวเข่า ท่านได้บรรลุ สกิทาคามีผล
เมื่อเสือกินท่านถึง เอว ท่านได้บรรลุ อนาคามีผล
เมื่อเสือกินท่านถึง หัวใจ ท่านได้บรรลุ อรหัตผล
และขาดใจตาย........ เข้านิพพาน

เรื่องนี้สอนเราว่า อย่าประมาท

ทุกเหตุการณ์ เป็นโอกาส เป็นหนทาง
ที่จะเข้าถึงสัจจธรรมได้เหมือนกัน

ให้สติ สมาธิ ปัญญา รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว
อย่าประมาท พยายามมีสติ ใคร่ครวญธรรม
จนลมหายใจสุดท้าย


ครูบาอาจารย์ก็เทศน์สอนบ่อยๆ ว่า
ผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นธรรม บรรลุธรรมในขณะที่กำลังจะตาย
ในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็มีหลายองค์

ปกติการปฏิบัติทุกขเวทนาก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะเราจะกลัว กลัวว่า
แขนจะหัก ขาจะหัก เป็นต้น แต่ขณะที่เราป่วย กำลังจะตาย
เกิดทุกขเวทนามาก ทำอย่างไรก็หนีไม่ได้ หมอก็ช่วยไม่ได้แล้ว
ถ้าเราเคยปฏิบัติทุกขเวทนาบ้าง มีพื้นฐานบ้างแล้ว
ช่วงนี้ก็อาจจะสามารถพิจารณา ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง
กำหนดทุกขเวทนาได้เป็นอย่างดี ก็มีโอกาสเข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน

เต่าเจ้าปัญญา - เราไม่ใช่น้ำ

ปกติคนเราไม่เห็นทุกข์ ทั้งๆ ที่ทุกข์จนเกือบจะตายอยู่แล้ว
ก็เพราะว่าจิตเข้าไปเจือปน จิตกับเวทนาคือทุกข์ปนกันอยู่
เหมือน น้ำกับน้ำนมโค ปนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไม่สามารถเห็นได้ว่าอันไหนเป็นน้ำ อันไหนเป็นนม
หรือเหมือน กาแฟใส่นม ที่ชงแล้ว แยกไม่ออกว่า
อันไหนเป็นกาแฟ อันไหนเป็นนม อันไหนเป็นน้ำ

หรือที่มักจะพูดว่า ปลาอยู่ในน้ำ ไม่เห็นน้ำ
ปลาก็เกิดในน้ำ มีชีวิตอยู่ในน้ำ ตายในน้ำ แต่ไม่เห็นน้ำ
ไม่รู้จักน้ำ น้ำคือเวทนา ปลาคือจิต

เราต้องทำตัวเหมือนเต่า อย่าทำตัวเหมือนปลาไม่เห็นน้ำ
เต่าลงไปในน้ำ แล้วก็เดินขึ้นมาบนบก มองกลับไปดูน้ำ ก็ฉุกคิดได้ว่า
เราไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อยู่ในน้ำ น้ำไม่ใช่อยู่ในเรา
เราก็เช่นเดียวกัน เราต้องปฏิบัติกับเวทนาจนสามารถเห็นได้ว่า
เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา
เราไม่ใช่อยู่ในเวทนา เวทนาไม่ใช่อยู่ในเรา



(มีต่อ 14)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สังโยชน์ 10

สังโยชน์ คือ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์มี 10 อย่าง

1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เช่น เห็นรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัว เป็นตน
2. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเล
3. สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไป
อย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต
4. กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกาม
5. ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิด ขัดเคือง
6. รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งฌาน หรือรูปธรรมอันประณีต
7. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน
8. มานะ คือ ความสำคัญตน
9. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง

พระโสดาบันบุคคล ละสังโยชน์ข้อที่ 1-2-3 ได้ ได้ดวงตาเห็นธรรม
พระสกิทาคามีบุคคล ละสังโยชน์ได้ เท่ากับพระโสดาบันบุคคล
แต่สามารถทำสังโยชน์ที่เหลือให้เบาบางลงได้
พระอนาคามีบุคคล ละสังโยชน์ ข้อ 4-5 ได้
พระอรหันต์บุคคล ละสังโยชน์ ข้อ 6-10 ได้

พระโสดาบัน ท่านเกิดในกามภพอีกไม่เกิน 1 ชาติ ถึง 7 ชาติ
พระสกิทาคามีบุคคล ท่านกลับมาเกิดในกามภพอีกชาติเดียว
พระอนาคามีบุคคล เป็นผู้ไม่กลับมาอีก คือ Non-Returner หมายความว่า
ท่านไม่มาเกิดในกามภพอีก ท่านเสวยสุขในสุทธาวาส แล้วปรินิพพานที่นั่น
พระอรหันต์ ท่านตัดกิเลสได้โดยเด็ดขาด ไม่กลับมาเกิดอีก

พระโสดาบัน

ดวงตาเห็นธรรม เกิดขึ้นเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา ปรากฏขึ้น
พร้อมกัน ในขณะเดียวกัน เกิดมรรคสมังคี หรือ อริยมรรคมีองค์แปด
เห็นพระนิพพานในขณะนั้น คือเห็นชัดว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา
ยังกิญจิสะมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง


ละสังโยชน์ขั้นต่ำ 3 อย่างได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
จิตตกกระแสพระนิพพาน เป็นโสดาบันบุคคล

โสดาบันบุคคล ไม่เกิดในอบายภูมิ มี นรก เปรต อสุรกาย
สัตว์เดียรัจฉาน เป็นต้น เมื่อตายก็ไปสุคติ และเกิดในภูมิที่ดี
เช่น มนุษย์ เทวดา เป็นต้น และเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
พร้อมที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป

ผู้ที่ละสังโยชน์ได้ คือ ผู้ที่ได้เจริญสติ จนสติติดต่อกันแนบแน่นใน
วัตถุที่กำหนด เช่น กาย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เห็นตามความเป็นจริงว่า
กายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
พระโสดาบันบุคคล ไม่กลับไปสู่อบายภูมิ ตายแล้วไม่มีทุคติ เรียกว่า
ตายก็ตายดี เกิดก็เกิดดี การตายก็ไม่น่ากลัว ไม่ต้องกลัวตายมากมาย

บางทีก็ใช้สำนวนว่า
พระโสดาบันตั้งมั่นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ตั้งอยู่ในศีล 5 ในทุกกรณี ไม่ทำความชั่ว

- คนที่ได้เป็นโสดาบันกลุ่มหนึ่ง เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร
ก็เร่งรีบภาวนาเพื่อที่จะบรรลุพระนิพพาน
- แต่บางท่านก็ยังพอใจในโลกียสุข ไม่รีบเร่งที่จะเลื่อนจิตใจให้
สูงขึ้นมากมาย ท่านก็อยู่สบายๆ มีความสุขอยู่ในทางโลก
แต่ก็ไม่ทำบาป ทำแต่ความดี บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น
ท่านมีมนุษย์สมบัติบริบูรณ์ ตัวอย่างก็คือนางวิสาขา

การปฏิบัติของเราทุกคน ก็เพื่อละสังโยชน์
ถ้าหากละสังโยชน์ไม่ได้ การปฏิบัติของเรา การเจริญสมถะ
วิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง


นางวิสาขา ได้ดวงตาเห็นธรรม

นางวิสาขาได้โสดาปัตติผล ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
นางเป็นลูกของเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จถึงนคร
ของตนแล้ว เศรษฐีได้เรียกลูกสาวคือนางวิสาขามาบอกว่า
“แม่หนู เป็นมงคล ทั้งแก่เจ้า ทั้งแก่เรา แม่หนูกับพวกเด็กหญิง
บริวารของเจ้า 500* คน จงขึ้นรถ 500* คัน แวดล้อมด้วย
ทาสี 500* คน ไปทำการต้อนรับพระทศพล”
(500 เป็นภาษาอินเดียโบราณ หมายถึง จำนวนมาก)

นางรับคำบิดา แต่ความที่นางเป็นเด็กฉลาด รู้ในเหตุอันควร และไม่ควร
นางจึงไปด้วยยานเป็นระยะทางหนึ่งเท่าที่ไปได้ จากนั้นก็ลงจากยานแล้ว
เดินดิ่งไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคม แล้วยืนในที่อันควร
ครั้งนั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมพอเหมาะแก่เด็กเหล่านั้น
พอจบพระธรรมเทศนา นางวิสาขา พร้อมด้วยเด็กหญิง 500* คน ก็ได้
ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ละสังโยชน์ข้อ 1, 2 และ 3 ได้ดวงตาเห็นธรรม

ต่อมาเมื่อนางวิสาขา อายุได้ 16 ขวบ ได้แต่งงานมีบุตร 10 คน ธิดา 10 คน
บุตรธิดาเหล่านี้ต่างก็มีบุตรอีกคนละ 10 คน ธิดาคนละ 10 คน บรรดาหลาน
เหล่านั้นคนหนึ่งๆ มีบุตรอีก 10 คน ธิดา 10 คน รวมเป็น 8,420 คน
เมื่อยามนางวิสาขาไปทำบุญที่วัดป่า วัดก็เต็มไปด้วยลูกหลาน เหลนของนาง

จะเห็นว่าพระโสดาบันนั้น มีครอบครัวได้
แต่ต้องตั้งมั่นตรงอยู่ในศีล 5 ในทุกกรณี


นางวิสาขา แม้ท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ยังดำรงชีวิตในโลกียสมบัติ
ที่เพียบพร้อมไปด้วยข้าทาสบริวาร ประดับประดาตนท่านด้วยเพชร นิล
จินดา เต็มที่ แต่พอถึงวันพระท่านก็สละทุกอย่าง แต่งตัวแบบโยมวัด
เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ท่านตั้งมั่นในศีล 5 ครบบริบูรณ์

ขันธ์ 5

ขันธ์ แปลว่า ตัว หมู่ กอง พวก หมวด
ขันธ์ 5 คือ รูปกับนาม ที่แยกออกไว้เป็น 5 กอง
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

1. รูป ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกัน เป็นกายนี้ เรียกว่า รูป
อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูป
อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ทั่วทั้งจักรวาลล้วนเป็นรูปขันธ์ทั้งนั้น
2. เวทนา คือ ความรู้สึก ทุกข์ สุข
3. สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ใช่คำสัญญา ไม่ใช่หนังสือสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่ข้อตกลง
4. สังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่ง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง
5. วิญญาณ คือ ความเข้าไปรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เวทนา

เวทนา คือ การเสวยอารมณ์ ที่นำมาเป็นบทศึกษา ท่านจัดเป็นกลุ่มต่างๆ กัน
ได้รวบรวมมาไว้ สำหรับผู้ที่อาจจะสนใจศึกษาละเอียดต่อไป

เวทนา 2
1. เวทนาทางกาย เรียก กายิกเวทนา
2. เวทนาทางใจ เรียก เจตสิกเวทนา

เวทนา 3
1. สุขเวทนา เป็นความรู้สึกสุข สบาย ทั้งทางกาย และทางใจ
2. ทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกทุกข์ ไม่สบายทั้งทางกายและทางใจ
3. อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์

เวทนา 5
1. สุข คือ ความสุข ความสบายทางกาย..... เป็นเรื่องของกาย
2. ทุกข์ คือ ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวด..... เป็นเรื่องของกาย
3. โสมนัส คือ ความแช่มชื่น สบายใจ สุขใจ..... เป็นเรื่องของใจ
4. โทมนัส คือ ความเสียใจ ทุกข์ใจ..... เป็นเรื่องของใจ
5. อุเบกขา คือ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์..... เป็นเรื่องของใจ

เวทนา 6
คือ เวทนาที่เกิดขึ้นจากสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
1. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางตา
2. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางหู
3. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางจมูก
4. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางลิ้น
5. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางกาย
6. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางใจ คือ มโน

เวทนา 108 มาจาก
(1) 6 x 3 = 18 คือ เวทนา 6 กับ เวทนา 3 คือ การจำแนกเวทนา
ที่เกิดจากสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา
(2) 18 x 2 = 36 “2” นั้น คือ ความรู้สึกแบบชาวบ้านฝ่ายหนึ่ง
และความรู้สึกแบบอริยบุคคล หรือการกำหนดรู้เท่าทันอีกฝ่ายหนึ่ง
(3) 36 x 3 = 108 “3” คือ กาล ได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

สังขาร

คำว่าสังขารมีความหมายกว้างขวางมาก และในบางกรณีก็ใช้ใน
ความหมายที่แตกต่างกัน

สัพเพ สังขารา
ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปธรรม และนามธรรมเป็นสังขาร

สังขาร คือ สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
มีการเกิด มีการเปลี่ยนแปลง มีการแก่ มีการตาย คือ เกิด - ดับ

สังขารอื่นๆ ที่ไม่ใช่สังขารในขันธ์ 5
ไม่มีตัวเจตนา เป็นรูปธรรม
มีการปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ไม่มีเจตนา
เช่น ลมหายใจปรุงแต่งกาย ลมหายใจออกยาวๆ ทำให้กายไม่เครียด สบาย
ลมหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกาย เป็นต้น
ปุ๋ย ทำให้ต้นไม้โตเร็ว ปุ๋ยปรุงแต่งต้นไม้ ฯลฯ แก้วแหวนเงินทอง
อัสสาสะ ปัสสาสะเป็นสังขารในหมวดนี้
แต่ไม่ได้หมายถึงความนึกคิดปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ในขันธ์ที่ 5

สังขารขันธ์ ในขันธ์ 5

สังขารขันธ์ในขันธ์ 5 เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นนามธรรม
เป็นการปรุงแต่งทางจิตใจ

ความนึกคิด บวกเวทนา บวกสัญญา เป็นสังขารในขันธ์ 5
คือ นึก คิด ปรุง แต่ง
มีตัวเจตนา คือ จิต เข้ามาเกี่ยวข้อง
มีความจงใจ กระทำทางกาย เป็น กายสังขาร
จงใจ กระทำทางวาจา เป็น วจีสังขาร พูดดี พูดร้าย
จงใจ กระทำทางใจ เป็น มโนสังขาร หรือจิตตสังขาร คิดดี คิดชั่ว

ท่านเรียกสังขารกลุ่มนี้เป็นสังขาร 3
เป็นสภาพการปรุงแต่งที่มี เจตนา เป็นประธาน
เจตนาปรุงแต่งการกระทำ หรือเจตนาที่แต่งกรรม
จิตเป็นตัวสำคัญ ในการปรุงแต่งของสังขารในกลุ่มนี้
จิตนี่สำคัญ

จิตตสังขาร ในอานาปานสติ ขั้นที่ 5-8 เป็นเวทนาขันธ์ในขันธ์ 5
ไม่ใช่สังขารขันธ์
คือ ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป โดยการอาศัยซึ่งกันและ
กันของเวทนาและสัญญา ยังไม่มีความคิดเข้ามาปรุงแต่ง เรายัง
สามารถควบคุมความคิดได้ อาศัยแค่สัญญาปรุงแต่งความรู้สึก
เป็นการปรุงแต่งฝ่ายรูปธรรมหรือฝ่ายกาย ในที่นี้ คือ ลมหายใจ
ปรุงแต่งกาย จึงยังไม่เป็นสังขารขันธ์


อ้างอิง

1. หัวข้อธรรมะในหนังสือชุดอานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑, ๒, ๓ ส่วนมากมาจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

2. เรื่องราวประกอบหลายเรื่องได้มาจากหนังสือชุด พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ของมหามกุฎราชวิทยาลัย


>>>>> จบ >>>>>

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร