วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 279 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 15, 16, 17, 18, 19  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 15:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
๗๖. พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา(ความเชื่อ) ศีล(ความเป็นปกติทางกาย วาจา) สุตะ(ความสดับตรับฟัง) จาคะ(ความสละ) ปัญญา(ความรู้) ปฏิภาณ(ความไหวพริบ) ธรรมเหล่านั้นของเธอ ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เจริญขึ้น. เรากล่าวข้อนั้นว่าเป็นความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญ ดูก่อนภิกษุทังหลาย อย่างนี้แล คือความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ. ธรรมเหล่านั้นของเธอย่อมไม่เสื่อมไป ย่อมไม่เจริญขึ้น เรากล่าวข้อนันว่าเป็นความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล คือความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อมเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ. ธรรมเหล่านั้นของเธอย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เสื่อมไป. เรากล่าวข้อนั้นว่าเป็นความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล คือความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่หยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อม."

ทสกจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๑

๗๗. ไม่ฉลาดในเรื่องจิตของผู้อื่นก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนัน พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในกระจก อันบริสุทธิ์ผ่องใสหรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว. ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยเหตุนี้แล ว่าเป็นลาภของเราหนอ เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอดังนี้ ฉันใด.

"ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย
๑. เรามีอภิชฌา(ความโลภ) หรือไม่มีอภิชฌา(ความโลภ) อยู่โดยมากหนอ
๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) หรือไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมากหนอ
๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึงรัด หรือปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมากหนอ
๔. เราฟุ้งสร้าน หรือไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมากหนอ
๕. เรามีความลังเลสงสัย หรือข้ามพ้นความลังเลสงสัย อยู่โดยมากหนอ
๖. เรามีความโกรธ หรือไม่มีความโกรธ อยู่โดยมากหนอ
๗. เรามีจิตเศร้าหมอง หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง อยู่โดยมากหนอ
๘. เรามีกายกระสับกระส่าย หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย อยู่โดยมากหนอ
๙. เราเกียจคร้าน หรือปรารภความเพียร อยู่โดยมากหนอ
๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น หรือมีจิตตั้งมั่น อยู่โดยมากหนอ

"ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
๑. เรามีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) อยู่โดยมาก
๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึกรัด อยู่โดยมาก
๔. เราฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
๕. เรามีความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
๖. เรามีความโกรธ อยู่โดยมาก
๗. เรามีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
๘. เรามีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
๙. เราเกียจคร้าน อยู่โดยมาก
๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น อยู่โดยมาก" ดังนี้
ภิกษุนั้นก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะ อันมีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาป อกุศล เหล่านั้นเสีย เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้า หรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
"๑. เราไม่มีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
๒. เราไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมาก
๓. เราปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมาก
๔. เราไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
๕. เราข้ามพ้นความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
๖. เราไม่มีความโกรธ อยู่โดยมาก
๗. เราไม่มีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
๘. เราไม่มีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
๙. เราปรารภความเพียร อยู่โดยมาก
๑๐. เรามีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก" ดังนี้
ภิกษุนั้นก็ควรทำความเพียร เพื่อดำรงอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๒-๑๐๔

๗๘. ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในเงากระจกอันบริสุทธิ์ผ่องใส หรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็พยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนา ด้วยเหตุนั้นแล ว่าเป็นลาภของเราหนอ. เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอ ดังนี้ ฉันใด."

"ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย

๑. เราได้เจโตสมถะ (ความสงบแห่งจิต) ในภายใน หรือไม่ได้หนอ?

๒. เราได้อธิปัญญา(ปัญญาอันยิ่ง) อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ หรือไม่ได้หนอ?"

"ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน และเพื่ออธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ." ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และย่อมได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

"แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่อธิปัญญา อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรม" ภิกษุนั้น ก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะอันมีประมาณยิ่ง เพื่อให้ได้กุศลธรรมเหล่านั้น. เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้าหรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น. ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

"แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ" ดังนี้. ภิกษุนั้น ก็ควรทำความเพียร เพื่อตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๔-๑๐๖

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า

"พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น ปูรณะ กัสสป, มักขละ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, สัญชัย เวลัฏฐบุตร, และ นิครนถนาฏบุตร๑ สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"

เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหากแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอากิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกะพี้, เปลือก, สะเก็ด, กิ่งและใบไม้ เมื่อต้องการแก่นไม้ จึงละเลยแก่นเป็นต้น ตัดเอาแต่กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย"

"มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้นเช่นเดียวกัน"

"อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ต้องแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย"

"ดูก่อนพราหมณ์ ข้ออุปไมยก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้ มีศรัทธาออกบวชไม่ครองเรือน ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ เข้าถึง๒ตัวแล้ว อันความทุกข์เข้าถึงตัวแล้ว มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไฉนหนอการทำที่สุดแห่งทุกข์๓ ทั้งหมดนี้จะปรากฏ ผู้นั้นออกบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ว่าเราเป็นผู้มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นไม่มีใครรู้จักเป็นผู้มีศักดาน้อย คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภ สักการะ และชื่อเสียง ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม"

"ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือน ผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดเสีย ตัดเอากิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วย ลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสิ่งนั้น ทั้งยังปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสีลสัมปทานั้นว่า เราเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทา ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น กะพี้ และเปลือกเสีย ถากเอาสะเก็ดไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ประพฤติสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ยังไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเป็นต้นเพราะสีลสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทานั้น ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ (ความตั้งมั่นหรือความสงบแห่งจิต) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปปทานั้นว่า เราเป็นผู้ตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า สมาธิสัมปทานั้น ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นและกะพี้เสีย ถากเอาเปลือกไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธินั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสมาธิสัมปทา ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณหรือปัญญา) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสนะนั้น ว่าเราอยู่อย่างรู้เห็น ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ อยู่อย่างไม่รู้เห็น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นเสียถากเอากะพี้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนอออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจแต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ได้ญาณทัสสนะ (หรือปัญญา) ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปราถรนาด้วยญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตน ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสะนั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมอะไรบ้าง ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าปฐมฌาน๔ (ฌานที่ ๑) เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) เข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เข้าอากาสานัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าวิญญาณัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าอากิญจัญญายตนะ (อรูปฌาน กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหน่อย) เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปฌาน ที่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา ก็ไม่ใช่) เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเข้าแล้วทำให้ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาความเสวยอารมณ์สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขได้) อาสวะของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คุณธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไม้ไปฉะนั้น"

"ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้ มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปิงคลโกจฉพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔

สรุปความ

๑. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งไม้ใบไม้

๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้

๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้

๔. ญาณทัสสนะ หรือปัญญา เปรียบเหมือนกะพี้ไม้

๕. ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ ซึ่งใช้คำภาษาบาลี "อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ" เปรียบเหมือนแก่นไม้



--------------------------------------------------------------------------------
๑. พราหมณ์ปิงคลโกจฉะถามถึงครูทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าลัทธิมีชื่อเสียงในครั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟังตามที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กว่าการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
๒. คำว่า เข้าถึงตัว แปลจากคำว่า โอติณฺโณ ซึ่งโดยพยัญชนะ แปลว่า ก้าวลง
๓. คำว่า การทำที่สุดแห่งทุกข์ เป็นสำนวนบาลี หมายถึงกำจัดทุกข์ได้หมด สำนวนบาลีนี้พอดีตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า to put an end to suffering
๔. ในการแปลตอนนี้ ได้แปลลัดแต่ใจความของเรื่องว่า เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น เพราะรายละเอียดของแต่ฌานมีแล้วในที่อื่น

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 15:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
๗. ยังพูดปดทั้ง ๆ ที่รู้ จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปดทั้ง ๆ รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้."

อิติวุตตก ๒๕/๒๔๓

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 16:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
๑๕๐. นรกที่ตา หู เป็นต้น "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านได้ดีแล้ว ขณะ(กาลเวลา) เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันท่านได้รับแล้ว. นรกอันเชื่อว่าเนื่องด้วยอายตนะสำหรับถูกต้องอารมณ์ ๖ ชนิด เราได้เห็นแล้ว ในนรกนั้น บุคลย่อมเห็นรูปใด ๆ ด้วยตา ก็เห็นแต่รูปที่ไม่น่าปรารถนา ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา, เห็นแต่รูปที่ไม่น่าใคร ไม่เห็นรูปที่น่าใคร, เห็นแต่รูปที่ไม่น่าพอใจ ไม่เห็นรูปที่น่าพอใจ."

"เขาฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้), รู้ธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) ก็ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้อง ได้รู้แต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ดม ไม่ได้ลิ้ม ไม่ได้ถูกต้อง ไม่ได้รู้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ."


๑๕๑. สวรรค์ที่ตา หู เป็นต้น "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านได้ดีแล้ว ขณะ(กาลเวลา) เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันท่านได้รับแล้ว. สวรรค์อันเชื่อว่าเนื่องด้วยอายตนะสำหรับถูกต้องอารมณ์ ๖ ชนิด เราได้เห็นแล้ว. ในสวรรค์นั้น บุคคลย่อมเห็นรูปใด ๆ ด้วยตา ก็เห็นแต่รูปที่น่าปรารถนา ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนา. เห็นแต่รูปที่น่าใคร่ ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าใคร่. เห็นแต่รูปที่น่าพอใจ ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าพอใจ."

"เขาฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้), รู้ธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) ก็ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้อง ได้รู้แต่สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ดม ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ถูกต้อง ไม่ได้รู้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ."

๑๘/๑๕๘



--------------------------------------------------------------------------------
๑. เขฬมลฺลก
๒. ข้อความต่อจากนี้ กล่าวถึงสิ่งที่คู่กันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องได้ สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ทั้งอดีต อนาคต ว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
๓. จักขุวิญญาณ
๔. มโนวิญญาณ

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 16:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก


๑๕๒. เวียนว่ายตายเกิด
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย. สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้ มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้น เบื้องปลาย ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่. ควรเพื่อจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรที่จะพ้นไปเสีย."

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๖/๒๑๙


๑๕๓. อะไรยาวนานสำหรับใคร "ราตรีของผู้ที่ตื่น ยาวนาน. โยชน์ของผู้เมื่อยล้า ยาว, สงสาร (การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด) ของคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ยาว."


๑๕๔. ความเป็นสหายในคนพาลไม่มี "ถ้าเที่ยวไป ไม่พบคนที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ก็ควรบำเพ็ญความเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะความเป็นสหายในคนพาลไม่มี."


๑๕๕. ของเราแน่หรือ ? "คนเขลาย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ก็ตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน ?"


๑๕๖. พาลและบัณฑิตที่รู้จักตัวเอง "คนพาลรู้จักความเป็นพาลของตน ก็เป็นบัณฑิตได้บ้าง เพราเหตุนั้น, แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต เรากล่าวว่าเป็นพาลแท้."


๑๕๗. ทัพพีไม่รู้รสแกง "ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตจนตลอดชีวิต แต่ไม่รู้แจ้งซึ่งธรรม คนพาลนั้น ก็เหมือนทัพพีที่ไม่รู้รสแกงฉะนั้น."


๑๕๘. ลิ้นรู้รสแกง "ถ้าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้เพียงครู่เดียว แต่รู้แจ้งซึ่งธรรมได้โดยพลัน วิญญูชนนั้นก็เหมือนลิ้นที่รู้รสแกงฉะนั้น."


๑๕๙. มีตนเป็นอมิตร "คนพาลย่อมเที่ยวไป กับตนที่เป็นอมิตรนั่นแหละ ทำบาปกรรมอันมีผลเป็นที่เดือดร้อน."

ธรรมบท ๒๕/๒๓


๑๖๐. สะอาดด้วยน้ำ หรือ ด้วยความประพฤติ ? สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา สมัยนั้น ชฏิล (นักบวชเกล้าผมเป็นเซิง) มากหลาย ดำผุดบ้าง ดำหัวบ้าง เอามือกวักน้ำรดตนเองบ้าง ในแม่น้ำคยา บูชาไฟบ้าง ในสมัยที่มีหิมะตกระหว่างราตรีฤดูหนาว อันเย็นเยียบ ด้วยคิดว่า ความบริสุทธิ์จะมีได้ด้วยวิธีการนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฏิลเหล่านั้นทำอาการอย่างนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

"ความบริสุทธิ์เพราะน้ำในแม่น้ำที่คนเป็นอันมากอาบนั้น ย่อมไม่มี ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรมะ ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์."

อุทาน ๒๕/๘๐


๑๖๑. อยู่ในอำนาจของคนอื่นเป็นทุกข์ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา๑ ในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมารดา มีธุระบางอย่างเกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล. พระราชามิได้ทรงพิจารณาเรื่องนั้นตามความต้องการ (อรรถกถากล่าวว่า นางวิสาขาไปเฝ้า แต่ไม่พบ หลายครั้ง). นางวิสาขาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า "ดูก่อนวิสาขา เธอไปไหนมาแต่ยังวันทีเดียว." นางวิสาขาจึงกราบทูลเรื่องนันให้ทรงทราบ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

"การอยู่ในอำนาจของคนอื่น ทุกอย่าง เป็นทุกข์, การเป็นอิสสระ ทุกอย่าง เป็นสุข. คนทั้งหลายย่อมเดือดร้อนในเรื่องทุกข์สุขทั่วไป เพราะว่ากิเลสเครื่องมัดสัตว์ เป็นของก้าวล่วงได้ยาก."

อุทาน ๒๕/๙๘


๑๖๒. สิ้นหลงย่อมไม่หวั่นไหว สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชนวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ท่านพระสาริบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นพระสาริบุตรเช่นนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

"ภูเขาศิลา ไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่ด้วยดีฉันใด เพราะสิ้นความหลง ภิกษุย่อมไม่หวั่นไหว ดุจภูเขาฉะนั้น."

อุทาน ๒๕/๑๑๒


๑๖๓. ไม่โศกในท่ามกลางแห่งความโศก สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต. ขณะนั้นท่านพระอุปเสนะ วังคันตบุตร ผู้ไปสู่ที่ลับ หลีกเร้นอยู่ ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า "เป็นลาภของเรา, เราได้ดีหนอ. พระศาสดาของเรา เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และเราก็ได้ออกจากเรือน บวชไม่มีเรือนในพระธรรมวินัยที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ของเราเล่า ก็มีศีล มีกัลยาณธรรม และทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ตัวเราก็มีจิตตั้งมั่นดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง และเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เราจะอยู่จะตาย ก็นับว่าเจริญ.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของท่านพระอุปเสนะ วังคันตบุตรแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

"ผู้ใดจะเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อน จะตายก็ไม่เศร้าโศก๒ ผู้นั้นเป็นผู้เห็นบท (แห่งธรรม) ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งความโศก. ภิกษุผู้ถอนความทะยานอยากในความมีความเป็นได้ มีจิตสงบ สิ้นการเวียนว่ายในชาติ (ความเกิด) ความเกิดอีกของเธอย่อมไม่มี."

อุทาน ๒๕/๑๔๒


๑๖๔. อกเขา อกเรา สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จสู่ชั้นบนปราสาทอันประเสริฐกับพระนางมัลลิกาเทวี. พระองค์ตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า "ดูก่อนมัลลิกา ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอเองมีหรือไม่ ?" พระนางมัลลิกากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อมฉันไม่มี ก็ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์เองมีหรือไม่ ?" พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า "ดูก่อนมัลลิกา ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเราเองไม่มี."

ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลข้อโต้ตอบของพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวี ให้ทรงทราบ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

""บุคคลตรวจดูด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเองในที่ไหน ๆ ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลายอย่างนี้ ผู้รักตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น."

อุทาน ๒๕/๑๔๕



--------------------------------------------------------------------------------
๑. คำนี้เป็นชื่อพิเศษแสดงประวัติว่า ได้เคยต่อสู้กับมิคารเศรษฐี บิดาสามี ซึ่งบีบคั้นนางต่าง ๆ และได้อาศัยความดีต่อสู้ จนบิดาสามียอมเรียกเป็นมารดา
๒. เป็นการแปลหัก ถือเอาใจความ

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2010, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
๑๐๐. กำลัง ๗ ประการ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๗ ประการเหล่านี้ คือ

๑. กำลังคือความเชื่อ (สัทธาพละ)๑ ๒. กำลังคือความเพียร (วิริยพละ)

๓. กำลังคือความละอายต่อบาป (หิริพละ) ๔. กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปพละ)

๕. กำลังคือสติความระลึกได้ (สติพละ) ๖. กำลังคือความตั้งใจมั่น (สมาธิพละ)

๗. กำลังคือปัญญา (ปัญญาพละ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๗ ประการเหล่านี้แล."

สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๓/๒

๑๐๑. คำอธิบายกำลัง ๗ ประการ
(๑)"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเชื่อ เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคนั้น

๑. เป็นพระอรหันต์ (ผู้ไกลจากกิเลส) ๒. เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

๓. เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ ๔. เป็นผู้เสด็จไปดี

๕. เป็นผู้รู้จักโลก ๖. เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกอย่างเยี่ยม

๗. เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ๘. เป็นผู้ตื่น (รวมทั้งปลุกผู้อื่นให้ตื่น)

๙. เป็นผู้มีโชค (เพราะทำเหตุที่จะให้เกิดโชคไว้)

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเชื่อ."

(๒) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเพียร เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ตั้งความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม (ธรรมฝ่ายชั่ว) เพื่อทำให้กุศลธรรม (ธรรมฝ่ายดี) สมบูรณ์ เป็นผู้ลงแรงบากบั่นมั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเพียร."

(๓) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความละอายต่อบาป เป็นไฉน? อริยสาวกไปพระธรรมวินัย เป็นผู้มีความละอาย คือละอายต่อกายทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางกาย) วจีทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางวาจา) มโนทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางใจ) ละอายต่อการประกอบอกุศล บาปกรรมทั้งหลาย. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความละอายต่อบาป."

(๔) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเกรงกลัว คือเกรงกลัวต่อกายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต เกรงกลัวต่อการประกอบอกุศล บาปกรรมทั้งหลาย. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป."

(๕) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความระลึกได้ เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะอันยอดเยี่ยม ย่อมระลึกได้ ย่อมนึกออกถึงสิ่งที่กระทำไว้นานแล้ว ถึงถ้อยคำที่พูดไว้นานแล้วได้. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความระลึกได้."

(๖) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความตั้งใจมั่น เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม (ความในอารมณ์ที่น่าใคร่) สงัดจากอกุศลธรรมเข้าสู่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔.๒ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความตั้งใจมั่น."

(๗) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือปัญญา เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยปัญญา เห็นความเกิดความดับ เป็นปัญญาอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสได้ ทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือปัญญา."

๒๓/๓,๔

๑๐๒. มารย่อมข่มเหงและไม่ข่มเหงคนเช่นไร
"ผู้มักเห็นว่าสวยงาม ไม่สำรวมอินทรีย์ (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่รู้ประมาณในการบริโภค เกียจคร้าน มีความเพียรเลว มารย่อมข่มเหงผู้นั้นแหละ เหมือนลมทำลายต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงฉะนั้น."

"ผู้ไม่มักเห็นว่าสวยงาม สำรวมอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) รู้ประมาณในการบริโภค มีศรัทธา ปรารภความเพียร มารย่อมไม่ข่มเหงผู้นั้น เหมือนลมไม่ทำลายภูเขาอันล้วนด้วยศิลาฉะนั้น."

ธรรมบท ๒๕/๑๖

๑๐๓. กาสาวพัสตร์ กับกิเลสอันเปรียบน้ำฝาด
"ผู้ใดยังไม่ปราศจากสาวะ๓ (กิเลสอันเปรียบเหมือนน้ำฝาด) ปราศจากทมะ (ความข่มใจ) และสัจจะ (ความจริงใจ) มานุ่งห่มกาสาวพัสตร์ ผู้นั้นหาสมควรนุ่งห่มกาสาวพัสตร์ไม่"

"แต่ฝู้ใดคายกิเลสที่เปรียบเหมือนน้ำฝาดได้แล้ว ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบด้วยทมะ (ความข่มใจ) และสัจจะ(ความจริงใจ) ผู้นั้นแล ย่อมสมควรนุ่งห่มกาสาวพัสตร์."

ธรรมบท ๒๕/๑๖

๑๐๔. จะบรรลุสิ่งเป็นสาระก็ด้วยเข้าใจสาระ
"ผู้เห็นในสิ่งไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความดำริผิดเป็นทางไป ย่อมไม่ได้บรรลุสิ่งที่เป็นสาระ."

"ผู้รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ สิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ มีความดำริชอบเป็นทางไป ย่อมบรรลุสิ่งเป็นสาระได้."

๑๐๕. ฝนรั่งรดที่เทียบด้วยราคะ๔ (ความติดใจ)
"เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด จิตที่อบรมไม่ดี ราคะ(ความติดใจ) ก็รั่วรดได้ฉันนั้น."

"เรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด จิตที่อบรมดีแล้ว ราคะ (ความติดใจ) ก็รั่วรดไม่ได้ฉันนั้น."

ธรรมบท ๒๕/๑๖

๑๐๖. ผู้เศร้าโศก กับ ผู้บันเทิงในปัจจุบันและอนาคต
"คนทำความชั่ว ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง คือเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วก็เศร้าโศก เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะเห็นการกระทำอันเศร้าหมองของตน."

"คนทำบุญ ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง คือบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วก็บันเทิง เพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งการกระทำของตน."

ธรรมบท ๒๕/๑๖

๑๐๗. พูดมากไม่ทำ กับ พูดน้อยแต่ทำ
"คนที่พูดถ้อยคำมีประโยชน์ แม้มาก แต่เป็นผู้ประมาท ไม่ทำตามถ้อยคำนั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้มีส่วนแห่งคุณธรรมที่ทำให้เป็นสมณะ เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคให้ผู้อื่น แต่ไม่มีส่วนแห่งน้ำนมโคฉะนั้น. คนที่พูดถ้อยคำมีประโยชน์ แม้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม ละราคะ โทสะ และ โมหะ ได้ รู้อยู่โดยชอบ มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ไม่ถือมั่นในโลกนี้ หรือโลกอื่น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณธรรมที่ทำให้เป็นสมณะ."

ธรรมบท ๒๕/๑๗

๑๐๘. ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย
"ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย, ผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าไม่ตาย ผู้ประมาทย่อมเหมือนคนตายแล้ว. บัณฑิตทราบข้อความนี้โดยพิเศษแล้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ยินดีในธรรมที่เป็นที่เที่ยวไป (แห่งจิต) ของพระอริยะทั้งหลาย ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท. ผู้นั้นมีความเพ่ง ทำความพียรติดต่อ มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ เป็นผู้ฉลาด ย่อมได้บรรลุพระนิพพาน อันปลอดโปร่งจากโยคะ (คือกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในความเวียนว่ายตายเกิด)."

ธรรมบท ๒๕/๑๘

๑๐๙. ยศเจริญแก่คนเช่นไร
"ยศย่อมเจริญแก่คนที่มีความหมั่น. มีสติ, มีการงานสะอาด, ใคร่ครวญแล้วจึงทำ, สำรวมระวังครองชีวิตอยู่โดยธรรม และเป็นผู้ไม่ประมาท."

ธรรมบท ๒๕/๑๘

๑๑๐. เกาะชนิดไหนน้ำไม่ท่วม
"ห้วงน้ำย่อมไม่ท่วมทับเกาะใด ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะ (ที่พึ่ง) นั้นขึ้น ด้วยคุณธรรมคือความหมั่น, ความไม่ประมาท, ความสำรวมระวัง และความรู้จักข่มใจ."

ธรรมบท ๒๕/๑๘

๑๑๑. คนพาล กับ คนมีปัญญา
"คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประกอบแต่ความประมาทเนืองนิตย์ ส่วนผู้มีปัญญา ย่อมประกอบเนือง ๆ แต่ความไม่ประมาท เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐฉะนั้น."

ธรรมบท ๒๕/๑๘



--------------------------------------------------------------------------------
๑. ในที่ใดสอนให้มีความเชื่อ ในที่นั้นจะสอนให้มีปัญญากำกับอยู่ด้วยเสมอ ในที่นี้สอนเรื่องความเชื่อไว้เป็นข้อแรก สอนเรื่องปัญญาไว้ข้อสุดท้าย
๒. คำอธิบายฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่เป็นพระพุทธภาษิต มีอย่างพิสดารในสุภสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ หน้า ๒๕๙ ซึ่งจะคัดมาแปลไว้เฉพาะเรื่องข้างหน้า
๓. เป็นการเล่นถ้อยคำ ในบาลีว่า กาสาวะ (ผ้าย้อมน้ำฝาด หรือกาสาวพัสตร์) นั้น จะควรก็เฉพาะแก่ผู้ปราศจากกสาวะ (กิเลสอันเปรียบเหมือนน้ำฝาด) เท่านั้น
๔. คำว่า ราคะ ถ้าแปลว่า ความกำหนัด จะหมายความแคบเฉพาะในกามารมณ์ แต่ในความหมายที่กว้าง ความติดอกติดใจในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่มีลักษณะเหมือนจิตใจถูกสีย้อม ก็เป็นราคะทั้งสิ้น. ราคะมี ๓ อย่าง ติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามราคะ ติดใจในรูปฌาน เป็นรูปราคะ ติดใจในอรูปฌาน เป็นอรูปราคะ

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ค. 2010, 11:07
โพสต์: 10

โฮมเพจ: http://jamessino.hi5.com
แนวปฏิบัติ: กำลังค้นหา
ชื่อเล่น: ภัทรพล
อายุ: 34

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ
ผมเองยังหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะกับตัวเองไม่เจอ อาจเป็นเพราะหย่อนไปหน่อย
ขออนุโมทนากับทุกท่านด้วยนะครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2011, 14:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 พ.ค. 2010, 20:27
โพสต์: 40

แนวปฏิบัติ: ดูจิตในชีวิตประจำวัน
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ,ท่องเที่ยว,ขี่จักรยาน,เลี้ยงสุนัข
อายุ: 43
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: แอบเข้ามาอ่าน พลอยได้รับความกระจ่างไปด้วย ขอบพระคุณ และโมทนาสาธุด้วยค่ะ

.....................................................
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ อย่างน้อยก็ยังดีที่ไม่เลวร้ายไปกว่านี้
(ฟังจากธรรมะบรรยายของ พระไพศาล วิสาโล)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2011, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว




ARNUMOTANAMI.JPG
ARNUMOTANAMI.JPG [ 33.32 KiB | เปิดดู 9545 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8: อนุโมทนากับทุกๆ คำตอบคะ

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2012, 21:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 มี.ค. 2012, 17:36
โพสต์: 210


 ข้อมูลส่วนตัว


อโศกะ เขียน:
:b8: วิปัสสนากรรมฐาน กับ นั่งสมาธิ พูดอีกอย่างก็ได้ว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนา กับการทำสมถะภาวนา ต่างกันอย่างไร
สมถะภาวนาหรือการทำสมาธิ เป็นวิชาโบราณมีมาคู่กับโลกนี้ เป็นวิชาของเหล่าชาวพราหมณ์ ฮินดู ฤาษี ชีไพร ต่างๆ หรือผู้คนในศาสนาอื่นๆ หลักการสำคัญคือทำใจให้นิ่ง ด้วยการเอาจิตไปผูกยึดไว้กับอารมณ์กรรมฐานต่างๆ ซึ่งที่นิยมมาแต่โบราณมีอยู่ 40 อย่าง เป็นอรูปกรรมฐาน 4 อย่าง เช่นการเพ่งอากาศ เพ่งความว่าง เป็นรูปกรรมฐาน 36 อย่าง เช่นการเพ่งกสิณ 10 อย่าง โดยเพ่งดิน เพ่งน้ำ ลม ไฟ เป็นอารมณ์
การเพ่งซากศพ 10 อย่าง การท่องชื่อเทวดาหรือพระเจ้า การทำพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ วูปสมานุสติ(ท่องนิพพานเป็นอารมณ์) สี่ข้อหลังนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพิ่มเข้าไป ฯลฯ
ผลที่จะได้รับจากการทำสมถะหรือสมาธิคือ ได้บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ผลสุดท้ายได้อัปปนาฌาณ คือการที่จิตนิ่งมากที่สุดจนหยุดลมหายใจได้ ตัวแข็งทื่อเหมือนคนตาย แต่ไม่ตาย เป็นสุขอย่างยิ่งจากการหลบทุกข์ไปได้เป็นพักๆ นาน มากน้อยแล้วแต่กำลังของสมาธิของแต่ละคน
วิปัสสนาภาวนา เป็นวิชาใหม่ที่ค้นพบโดยพระพุทธเจ้า เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญปัญญา สติ สมาธิควบคู่กันไป โดยเอาปัญญานำหน้า มีสติและสมาธิเป็นกองหนุน วิธีเจริญก็คือ เฝ้าดู เฝ้าสังเกต พิจารณาเข้าไปใน รูป - นาม กาย - ใจ ที่ปัจจุบันขณะ ปัจจุบันอารมณ์ ในที่สุดจะได้พบความจริงทีเกิดขึ้นภายในกาย - ใจ ว่า มีแต่ อนิจจัง เปลี่ยนแปลง ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่แก่นสาร ตัวตน ในที่้สุดจะเกิดความเบื่อหน่ายคลายจางละวางความเห็นผิดว่าขันธ์ทั้ง 5 หรือรูป - นาม กาย - ใจ นี้เป็นอัตตา ตัวตน เกิดความเห็นถูกต้องว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมทั้งหมดทั้งปวงเป็นอนัตตา จิตก็จะหลุดพ้น เข้าถึงนิพพาน ดังนี้
ยาวไปหน่อยไหมครับ แต่ยังไม่อาจละเอียดพอเพราะจะยาวเกินไป สนใจก็ถามต่อเป็นส่วนๆนะครับ :b53:



:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

.....................................................
กระบี่อยู่ที่ใจ : เมตตาธรรมค้ำจุนโลก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2014, 23:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2014, 23:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


แม้จะต่างกัน แต่ วิปัสสนาภาวนากับสมาธิ ก็ไปด้วยกันได้ ส่งเสริมสู่วิปัสสนาภาวนาโดยเป็นพื้นฐานต่อกันครับผม

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2014, 21:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนาภาวนาจะน้อมเอาพระไตรลักษณ์มาพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบ

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 เม.ย. 2015, 17:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ม.ค. 2015, 21:55
โพสต์: 1067

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เรื่องผีจะกลัวทำไม เพราะผีเป็นแค่ภพภูมิหนึ่ง เหมือนกับสัตว์เดรัชฉาน ทำไมเราไม่กลัวล่ะ ..ความกลัวนั่นแหละ น่ากลัวที่สุด มันมีโทษมากและคลายช้า พระพุทธเจ้าส อนให้กำจัดความกลัวนั่นซะ ความกลัวน่นแหละ คือ โมหะ วิธีละ ถ้าจิตรู้สึกจะเริ่มกลัวขึ้นมา กำหนด จะกลัวหนอๆ ถ้าเริ่มกลัวอีกก็ กำหนดจะกลัวหนอๆ ถ้ารู้สึกไม่หายก็กำหนดไม่หายหนอๆ ถ้าหายก็หายหนอๆ เรียกว่าคุมเกมได้ตลอดสาย เรียกว่าวิชาครู
อยากได้ธรรมะเพิ่มเติม..ไปดูได้ที่ facebook รู้ทันรวย..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2015, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2008, 12:29
โพสต์: 814

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้น มุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไรๆ :b16:

แต่ วิปัสสนานั้น ไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่อารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดใคร่ครวญ หาเหตุและผลในสภาวะธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เป็นอารมณ์วิปัสสนามีเพียงอย่างเดียว ก็คือ ขันธ์๕ นิยมเรียกกันว่า รูป-นาม :b39:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 279 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 15, 16, 17, 18, 19  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร