วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 10 คืนแห่งความสำเร็จ

น้ำซับ น้ำซึม ด้วยสติปัญญา

เทศน์อบรมพระตอนหนึ่งของหลวงตากล่าวถึงความเพียรในการบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านในระยะนั้นว่าเป็นไปเองโดยไม่ต้องได้บังคับ ทั้งนี้เป็นผลมาจาก ภาวนามยปัญญา อันเป็นสติปัญญาที่หมุนตัวเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการบังคับบัญชาในเรื่องความพากเพียรเลย กลับต้องได้รั้งเอาไว้ มิเช่นนั้นแล้วสติปัญญานี้จะทำงานจนเลยเถิด ด้วยเพราะเห็นโทษแห่งวัฏจักรอย่างถึงใจนั่นเอง ใจ จึงมีกำลังมากที่จะถอนตัวออกจากทุกข์อย่างเต็มเหนี่ยม โดยไม่มีคำว่าเป็นว่าตายเลย ท่านกล่าวว่า

"...นี่สติปัญญาขั้นนี้ก้าวแล้ว ทีนี้เบิกกว้าง ออกเรื่อยๆ เรื่องกิเลสตัณหาวัฏจักรวัฏวนหมุนภายในดวงใจนี้ เหมือนกับว่ามันหดย่นเข้ามาๆ ทางเบิกกว้างที่จะหลุดพ้นจากทุกข์เบิกกว้างออกๆ สติปัญญาหมุนตัวเป็นธรรมจักร นี่เรียกว่า ธรรมทำงาน ธรรมมีกำลัง ย่อมหมุนตัวกลับเหมือนกันกับกิเลสที่มันมีกำลังหมุนหัวใจของสัตว์เป็นวัฏจักรไปตามๆ กันหมด ไม่ว่ากิริยาใดของกิเลสที่มันแสดงตัวออกมา มันทำงานเพื่อวัฏจักรของมันทั้งนั้นๆ ทีนี้เมื่อสติปัญญาอันเป็นฝ่ายธรรมมีกำลังแล้วหมุนกลับ ทีนี้หมุนกลับโดยอัตโนมัติ เหมือนกิเลสมันหมุนอยู่ในหัวใจ สัตวโลกเป็นอัตโนมัติของตัวเองนั้นแล พอถึงขั้นสติปัญญาขั้นนี้แล้ว เป็นหมุนกลับๆ ตลอดเวลา ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอนเว้นแต่หลับอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้น สติปัญญาขั้นนี้จะฆ่ากิเลสตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ หมุนติ้วๆ กิเลสขั้นหยาบหมุนหนักเรียกว่า ปัญญาขั้นผาดโผนโจนทะยานเหมือนว่าฟ้าดินถล่ม ปัญญาขั้นหยาบกับกิเลสขั้นหยาบๆ ฟัดกัน

พอจากนั้นแล้ว สติปัญญาก็ค่อยเบาไปๆ เพราะกิเลสเบาลงๆ สติปัญญาก็ค่อยเบาไปตามๆ กัน หมุนไปตามๆ กัน เป็นน้ำซับน้ำซึมๆ กิเลสซึมซาบไปไหน สติปัญญาขั้นอัตโนมัติก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาแล้ว ซึมซาบไปตามๆ กันเลย เหมือนไฟได้เชื้อ เอ้า ละเอียดขนาดไหน สติปัญญานี้ก็ละเอียดตามกันไปๆ โดยอัตโนมัติ..."

เสียงบันลือโลกธาตุ ชาติสิ้นแล้ว

ออกจากวัดป่าสุทธาวาสในตัวเมืองสกลนครแล้ว ท่านก็ย้อนกลับสู่วัดดอยธรรมเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง โดยพักอยู่กุฏิกระต๊อบหลังเล็กๆ อยู่บนยอดเขา เป็นกุฏิต่างจากครั้งก่อนที่เคยเกิดปัญหาธรรมผุดขึ้นในใจ ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ 16 ในชีวิตการบวชของท่าน และเป็นปีที่ 9 แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐาน บนเขาลูกนี้ของคืนเดือนดับ แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง ด้วยความอดทนพากเพียรพยายามติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยว รวมเวลาถึง 9 ปีเต็ม คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมกายในใจของท่านจึงตัดสินกันลงได้ ตอนหนึ่งของการแสดงธรรมแก่พระภิกษุวัดป่าบ้านตาด ท่านเมตตาเล่าถึงสภาวะธรรมในคืนนั้นว่า

"...ก็พิจารณาจิตอันเดียว ไม่ได้กว้างขวางอะไร เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุ มันรู้หมดเข้าใจหมดและปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณาแม้แต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลย

มันสนใจอยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมติ มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหนก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น

อวิชชานั้นแลคือตัวสมมติ จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆ ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้ บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้างผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้างสุขบ้าง ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน แทนที่ทันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่ มันไม่จ่อ มันส่งไปที่อวิชชาหลอกไปโน้นจนได้

อวิชชานี้แหลมคมมาก ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่าอวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้ายว่า ความโลภมันก็หยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย แต่โลกยังพอใจกับโลภ คิดดูซิความโกรธก็หยาบๆ โลกยังพอใจโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไร เป็นของหยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน

อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมด ปล่อยมาได้หมด แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้ ทีนี้อันนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้ มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิดๆ แสดงความทุกข์ขึ้นมานิดๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวา ให้จับได้ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาไม่ลดละความพยายามอยากรู้อยากเห็นความเป็นต่างๆ ของจิตดวงนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ต้องรู้กันจนได้ว่า จิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจตายใจได้ จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า

"จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังแสดงอาการต่างๆ อยู่ได้"

พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า

"ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมติทั้งสิ้นและเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ"

เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้

หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้นผ่านไปครู่เดียว จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตน ไม่จดจ่อกับสิ่งใด

ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร

ขณะที่ฟ้าดินถล่มโลกธาตุหวั่นไหว (โลกธาตุภายใน) แสดงมหัศจรรย์ขั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมติกับวิมุตติตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณ ทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา มรรคอริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงแปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลก อุทานออกมาว่า

"โอ้โหๆ...อัศจรรย์หนอๆ แต่ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหนๆ มาบัดนี้ ธรรมแท้ ธรรมอัศจรรย์เกินคาดเกินโลก มาเป็นอยู่ที่จิต และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร...

และแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน ? มาบัดนี้องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตดวงนี้ได้อย่างไร...

...โอ้โห ธรรมะแม้ พุทธะแท้ สังฆะแท้ เป็นอย่างนี้หรือ...

การเวียนว่ายตายเกิด...มีจริง

ผลการปฏิบัติธรรมของท่านในคืนนั้น ทำให้เกิดสลดสังเวชใจในความเป็นมาแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของตน ดังนี้ "...จนถึงคืนวันดับนั้นถึงได้ตัดสินใจกันลงได้ด้วยความประจักษ์ใจ หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภทได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้น ใจได้เปิดเผยโลกธาตุให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดความสลดสังเวช น้ำตาร่วงตลอดคืน

ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนเลย เพราะสลดสังเวชความเป็นมาของตน สลดสังเวชเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสมันวางเชื้อแห่งกองทุกข์ฝังใจไว้ ไปเกิดในภพนั้นชาตินี้มีแต่แบกกองทุกข์หามกองทุกข์ ไม่มีเวลาปล่อยวาง จนกระทั่งถึงตายไปแล้วก็แบกอีกๆ คำว่า แบก ก็คือเข้าสู่ภพใดชาติใดจะมีสุขมากน้อย ทุกข์ต้องเจือปนไปอยู่นั่นแล จึงได้เห็นโทษ เกิดความสลดสังเวช แล้วก็มาเห็นคุณค่าแห่งจิตใจซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิดว่าจิตใจจะมีคุณค่ามหัศจรรย์ถึงขนาดนั้น การไม่นอนในคืนนั้น เพราะความเห็นโทษอย่างถึงใจและความเห็นคุณอย่างถึงจิตถึงธรรม ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต เราก็เห็นว่าอวิชชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิทติดจมไปพักหนึ่ง...

...หลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา 8 เดือน ไม่เคยลืม เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส ตัวสง่าผ่าเผย ตัวององาจกล้าหาญ จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย...ทั้งๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิแต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น เมื่อเวลาได้นำสติปัญญาหันกลับมาใช้กับอวิชชาอย่างเต็มภูมิ เรื่องอวิชชาจึงแตกกระจายลงไป ถึงได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในจิตใจนั้นแหละ จึงเป็นความอัศจรรย์อย่างแท้จริง ไม่อัศจรรย์แบบจอมปลอมดังที่เป็นมา..."

เรื่องการเกิดตายของคนแต่ละคนๆ นี้ ท่านเคยเล่าให้ศิษย์พระเณรฟังอย่างถึงใจเพื่อให้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิด และรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีใส่ตนให้มาก ดังนี้

"...การเกิดการตายนี้ เกิดตายทับถมกันมานี้ สักเท่าไรๆ แต่ละศพแต่ละคนๆ มันรู้ไปหมด เวลามันรู้นะ เอาให้มันจริงๆ จังๆ อย่างนี้เลยนะ มันจึงขยะแขยง โห มันผ่านของมันออกแล้ว มันก็ยังขยะแขยงอยู่ นะ โถ ! แต่เวลามันจมอยู่ มันไม่ขยะแขยงนะ บืนอยู่อย่างนี้ เวลามันผ่านออกมาแล้ว มันถึงได้เห็นโทษของมัน ขยะแขยงนะ...

...คนหนึ่งสัตว์ตัวหนึ่งๆ นี้ถ้าไม่มีบุญ ไม่มีกุศลแล้วไม่มีความหมายเลย วนเวียนตายเกิดตายสูงตายต่ำตายเกิดอยู่อย่างนั้นตลอด ตลอดมากี่กัปกี่กัลป์ คนหนึ่งๆ นี้ เอามากองประเทศไทยนี้ไม่พอกอง ศพของคนคนหนึ่งที่ตายเกิดๆ เป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม มารวมกันนี้

เพียงคนคนเดียวเท่านั้น ทั่วประเทศไทยเรานี้ หาที่กองศพไม่มีเลย นานขนาดไหน กี่กัปกี่กัลป์ที่ตายเกิดตายทับกองกันอยู่นี่นะ เรียกว่าตายกองกัน ล้วนแล้วตั้งแต่จิดนี่ออกไปร่างนั้นแล้วเข้าสู่ร่างนี้ เข้าสู่ร่างไหนก็ว่าเกิด ร่างไหนหมดสภาพก็ว่าตายๆ ว่าเกิดว่าตาย มันหากหมุนของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี่ละ...วัฏวนวัฏจักร...

...สิ่งที่มาแก้คืออะไร บุญกุศลเราสร้างมาน้องเท่าไรๆ มารวมกัน แล้วค่อยแก้ไปแก้มา แก้มากเข้าๆ บุญกุศลมีมากเข้า ความหนาแน่นของการแก้ก็หนาแน่นเข้าๆ อันนี้ก็ค่อยจางไปๆ ก็สว่างจ้าออก สว่างจ้าก็ดีดผึงๆ เลย นี่ละ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ มองดูหัวใจสัตวโลก ที่เขาไม่มีศาสนาคือเขา ไม่ได้มองดูหัวใจเลย เขาดูแต่วัตถุเท่านั้น..."

สลดสังเวช...อดีตชาติเคยเป็นมา

ความรู้เห็นประจักษ์ใจบนดอยธรรมเจดีย์นี้เอง ทำให้ท่านถึงกับน้ำตาร่วงด้วยเหตุผล 2 ประการ ท่านเล่าไว้ดังนี้

"...ร่วงสองอย่าง ร่วงด้วยความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตนหนึ่ง เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้หนึ่ง เราก็เป็นมาอย่างนี้ คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้ายได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว..." เกิดความอัศจรรย์ในธรรมที่ปรากฏขึ้นโดยปราศจากสมมติใดๆ เข้าไปเจือปนในจิตดวงนั้น ถึงกับทำให้เกิดความขวนขวายน้อย ไม่คิดจะสอนผู้หนึ่งผู้ใดได้ เพราะคิดในเวลานั้นว่า สอนใครก็ไม่ได้ ถ้าลงธรรมกับใจเป็นของอัศจรรย์เหลือล้นถึงขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้เห็นได้ในโลกอันนี้ เพราะเหลือกำลังสุดวิสัยที่จะรู้ได้

เบื้องต้นที่เป็นทั้งนี้เพราะจิตยังไม่ได้คิดในแง่ต่างๆ ให้กว้างขวางออกไปถึงปฏิปทาเครื่องดำเนิน จึงได้ย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีก ทั้งฝ่ายเหตุคือปฏิปทา ทั้งฝ่ายผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่า ถ้าธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่คนอื่นๆ จะรู้ได้แล้ว เราทำไมถึงรู้ได้ เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกับมนุษย์ทั่วๆ ไป เรารู้ได้เพราะเหตุใด ก็ย้อนเข้ามาหาปฏิปทา พิจารณากระจายออกไปจนได้ความชัดเจนว่า...

"ถ้ามีปฏิปทาคือข้อปฏิบัติแล้ว ก็จะต้องได้รู้อย่างนี้..."

ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ทำให้พ้นจากทุกข์ได้จริง

ท่านกล่าวแสดงให้เห็นเป็นที่แน่ใจได้ว่า หากยังมีผู้พากเพียรดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติอันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ 8 อย่างจริงจังให้สมบูรณ์เต็มภูมิแล้ว ย่อมประจักษ์ผลเป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิด ได้ด้วยตัวของผู้นั้นเองอย่างแน่นอน ดังที่ท่านเคยแสดงไว้ ดังนี้

"...ท่านผู้ใดบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอกจะรู้เองเห็นเอง เพราะอำนาจแห่ง มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย สิ่งที่รกรุงรังพัวพันอยู่ภายในใจจะแตกกระจายออกไปหมดเหลือแต่ธรรมล้วนๆ จิตล้วนๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์ จากนั้นจะเอาอะไรมาเป็นภัยต่อจิตใจ แม้สังขารร่างกายจะมีความทุกข์ความลำบากแค่ไหน ก็สักแต่ว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทับถมจิตใจให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวได้เลย เพราะธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมติ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมติล้วนๆ ธรรมชาตินั้นเป็นสมมติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพมันที่ประชุมกันเท่านั้น..."

ไตรโลกธาตุ...ชัดเจนประจักษ์ใจ

ท่านเมตตาเล่าถึงความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นบนยอดเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ด้วยความห่วงใยลูกหลานชาวพุทธ เกรงจะลืมเนื้อลิมตัวไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์ว่าเป็นของมีจริง ดังนี้

"...จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ก็ประจักษ์กับใจของเรา สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิเลสที่เรารู้ ประจักษ์ใจของเราคืออะไร คือ นรก เปรต อสุรกาย บุญ บาป เทวบุตร เทวดา อินทร์พรหม มีหรือไม่มี พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ยอมรับกราบอย่างราบเลย หาที่ค้านไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนแล้ว มีมาดั้งเดิม พระพุทธเจ้าพรค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้เห็นสิ่งเหล่านี้ นอกจากเห็นกิเลส ฆ่ากิเลสจากพระทัยของท่านแล้ว ก็มารู้เห็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันกับความรู้ที่จะควรรู้ควรเห็นนี้เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมสอนธรรมแก่โลก ท่านจึงต้องสอนตามหลักความจริงว่า บาปมี เพราะบาปมีมาดั้งเดิม มาแต่กาลไหนๆ บุญมี บุญเคยมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหนๆ นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี ยอมรับว่ามีมาตั้งแต่กาลไหนๆ แล้ว

เมื่อความรู้ความเห็นซึ่งหยั่งเข้าไปสู่จุดเดียวกันแล้ว เห็นอย่างเดียวกันแล้ว จะเอาอะไรมาค้านกัน เห็นก็เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่สงสัย รู้อย่างกระจ่างแจ้ง อย่างอาจหาญชาญชัยตามความจริงที่มีอยู่นั้น เวลานำมาพูดจะสะทกสะท้านที่ไหน ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ความรู้ความเห็นความเป็นนี้ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักความจริงไปเลย เป็นความจริงล้วนๆ

...อย่าพากันกล้าหาญต่อบาปนะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ทุกๆ พระองค์สอนว่า บาปมี อย่าทำบาป บุญมี ให้สร้างคุณงามความดีเพื่อบุญเพื่อกุศล นรกมี อย่ากล้าหาญชาญชัยต่อสู้พระพุทธเจ้าอวดดิบอวดดีเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ไปลบล้างว่า นรกไม่มี ตายแล้วจะจมลงทันทีทันใด

ถ้าใครอาจหาญชาญชัยต่อพระพุทธเจ้า กล้าลบล้างว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ผู้นั้นแลคือผู้หมดคุณค่าแล้ว ทั้งๆ ที่ลมหายใจยังฟอดๆ อยู่นั้น พอลมหายใจขาดแล้ว จะดีดผึงทันที ไม่ได้มีคำว่าใกล้ว่าไกล จากนี้ถึงแดนนรกกี่กิโลกี่เส้นกี่วา ไม่เคยมี พอใจขาด ลมหายใจขาดสะบั้นลงไปแล้ว กรรมที่ทำชั่วช้าลามก ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง เป็นกรรมโดยแท้ ไม่มีที่ลับที่แจ้ง มันแจ้งขาวดาวกระจ่างอยู่ภายในใจของผู้ทำนั่นแล..."


(มีต่อ 15)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ยืนยัน...เทวดา อินทร์ พรหม เปรตผี สัตว์นรก...มีจริง

คนตาบอดไม่เชื่อคนตาดี ย่อมมีทางตกหลุมตกบ่อได้ฉันใด ผู้มีใจมืดบอดด้วยกิเลสตัณหา ไม่เชื่อตาใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ย่อมนำความล่มจมมาสู่ตนได้ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านแสดงไว้ ดังนี้

"...ความล่มจมจะมีแก่ผู้ไม่เชื่อนั้นแล นี่เรียกว่า สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้ว นี้ประมวลเข้ามา เรายอมรับทุกประเภทที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งแต่บาปแต่บุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เทวบุตร เทวดา เปรต ผีมี เรายอมรับร้อยเปอร์เซ้นต์ ตั้งแต่ขณะที่กิเลสเปิดจากใจเท่านั้นสว่างจ้าขึ้นมาหมด ไม่เคยคาดเคยคิด เคยรู้เคยเห็นว่าจะรู้จะเห็น ก็เป็นขึ้นมาแบบอัศจรรย์ จึงได้อัศจรรย์ตัวเองว่า

"เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ?"

จิตดวงนี้แลตั้งแต่กิเลสครอบงำอยู่ มันก็เหมือนคนตาบอด อะไรจะมีอยู่มากน้อยเพียงไรมันไม่เห็น สีแสงวัตถุต่างๆ มองไม่เห็น แต่โดนเอาๆ นี่จิตที่มืดบอดก็เหมือนกัน มีแต่โดนความทุกข์ความทรมาน โดนบาปโดนกรรมเรื่อยมา แล้วขั้นบำเพ็ญมาๆ ก็ค่อยหูแจ้งตาสว่างออกไปๆ สุดท้ายเปิดโล่งหมดทั่วแดนโลกธาตุ สว่างจ้าครอบโลกธาตุ เกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า

"รู้ได้อย่างไร ? เห็นได้อย่างไร ? สิ่งที่ไม่เคยคาดเคยคิดเคยรู้เคยเห็น ก็เห็นก็เป็นขึ้นมาประจักษ์ใจเพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าตาเรามันหลับด้วยกิเลสปิดบังเท่านั้น พอเปิดตาคือกิเลสออกจากใจแล้ว สว่างจ้าขึ้นมา"

ก็ยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้..."

จิตวิญญาณ...มีจริง

เหตุนี้เองทำให้ท่านยืนยันเรื่องจิตวิญญาณว่าเป็นของมีจริง ดังนี้

"...จิตดวงนี้ไม่เคยตาย ไม่เคยฉิบหาย แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าพูดถึงเรื่องวัตถุต่างๆ ในแดนโลกธาตุนี้ว่าอันไหนมากกว่าอะไร ไม่มีอะไรที่จะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตวโลกเต็มท้องฟ้ามหาสมุทร ใต้ดิน เหนือดิน มีเต็มหมดเลย อันนี้มากที่สุดคือจิตวิญญาณของสัตวโลก เพราะมันไม่เคยสูญนั่นเอง มันเต็มอยู่นี่ ครอง ภพ ครอง ชาติ อยู่ทุกแห่งทุกหนตามเพศตามภูมิ

อย่างที่เราเป็นมนุษย์ก็เห็นกันอยู่ ไม่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ก็เห็นกันอยู่อย่างนั้นเป็นไก่ เป็ด นก ปลา เป็นอะไรเราก็เห็นกันอยู่อย่างนั้น ที่ละเอียดกว่านั้นมันก็มีอยู่อย่างเดียวกันนี้เลย ไม่ได้ผิดกัน มันมีอยู่ตามสภาพของตนๆ เป็นแต่เพียงว่าเราสามารถสัมผัสสัมพันธ์รู้เห็นได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง นั่นก็เป็นอย่างนั้นละ

มันมีภพละเอียด หยาบ หยาบต่างกัน อย่างพวกเทวบุตรเทวดา อินทร์พรหม พวกเปรตพวกผีก็เหมือนกับเรานี่ มีภพมีชาติเป็นกำเนิดที่เกิดของตัวเองด้วยวิบากกรรมดีชั่วเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน สัตวโลกที่เกิดขึ้นมาด้วยกัน อย่าตำหนิกันด้วยชาติชั้นวรรณะ สถานะสูงต่ำ อย่าไปตำหนิกับ..."

กิเลสหลอกว่า "ตายแล้วสูญ"

มีคนจำนวนมากยังเข้าใจว่า เมื่อสิ้นใจตายไปแล้วก็สูญสิ้นจบกันเท่านั้น แท้จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนย้ำเสมอๆ ว่า

"...สัตว์ที่ว่าตายเกิดๆ มันไม่มีที่ไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สูญ มันหากหมุนหากเวียนกัน ออกจากนี้ไปเป็นสัตว์ เป็นเทวบุตรเทวดา ไปเป็นอินทร์เป็นพรหมก็มี เป็นเปรตเป็นผีก็มี เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์มาแล้ว จิตวิญญาณดวงนี้ตายไม่เป็น

เพราะฉะนั้น คำว่าตายแล้วสูญถึงขัดกันเอาอย่างมากทีเดียว เป็นกลมายาของกิเลสโดยตรงที่หลอกสัตวโลกได้ทำชั่ว เพราะถ้าว่าตายแล้วสูญแล้วไม่มีเงื่อนสืบต่อ อยากทำอะไรก็ทำ ความอยากทำคือทางเดินของกิเลสอยู่แล้ว ก็ทำตามความอยาก ตายลงไปแล้วไม่สูญละซิ ก็เสวยกรรมอยู่งั้น

อะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตวโลก เต็มอยู่ในโลกอันนี้ เพราะมันไม่สูญหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามอำนาจของกรรม เกิดเป็นนั้นเกิดเป็นนี้อยู่อย่างนั้น ตายแล้วก็เกิดๆ ตายกองกัน พวกนี้พวกตายกองกัน กองทัพเขากองทับเราอยู่นั้นไม่มีทางไป

เพราะจิตวิญญาณไม่สูญมีเต็มท้องฟ้าอากาศ ที่ไหนเต็มไปหมด ไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าธรรมชาติอันนี้หนาแน่นที่สุด นี่ละเรียกว่ากรรมของสัตว์ คือพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็มากวาดเอาดวงวิญญาณเหล่านี้ที่ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเทวบุตรเทวดาแล้วก็ถอดออกไปๆ พ้นไปๆ

ใครจึงให้สร้างความดีซิ ถ้าอยากพ้นไปตามพระพุทธเจ้าให้สร้างความดี มันเปลี่ยนเรื่อยนะจิตวิญญาณนี่ เปลี่ยนเป็นภพนั้น ชาตินี้ตามอำนาจของกรรม หมดกรรมนี้แล้วก็มีกรรมนั้นต่ออีก ภพนั้นสืบภพนี้ไปเรื่อย กรรมหนักกรรมเบามีอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นละ..."

กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ

ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่คืนอัศจรรย์บนวัดดอยธรรมเจดีย์เป็นต้นมา ทำให้ท่านกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ และกราบยอมรับยืนยันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเมตราแสดงไว้ทุกอย่าง ไม่มีที่คัดค้าน ไม่มีอะไรติดข้องภายในใจเลย ท่านกล่าวอย่างเด็ดถึงขนาดว่า "...หากว่าผู้ใดจะมาตัดคอเรา ถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่าบาปนรกสวรรค์มีแล้วจะตัดคอ เรายอมให้ตัดเลย แต่ความเชื่อที่ประจักษ์หัวใจนี้ไม่ยอมตัด เราจะตายทั้งๆ ที่คอขาดก็ไม่เสียดาย เพราะเราได้รู้ได้เห็นอย่างนั้นจริงๆ นี่แหละศาสนาเปิดเผยมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว สอนชาวเราทั้งหลาย กิเลสมันก็ปิดมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงงกงันไปตามมัน ให้ได้รับความเดือดร้อนมากมาย...ให้เชื่อเถิด ถ้าไม่อยากจมให้เชื่อพระพุทธเจ้านะ

ศาสนานี่เป็นศาสนาชั้นเอก ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น เป็นจิตที่บริสุทธิ์พุทโธสว่างเจ้าครอบโลกธาตุ แล้วจึงมองเห็นได้หมด เรียกว่า โลกวิทู เมื่อจิตได้เข้าถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธแล้วจะสว่างจ้า แม้จะไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าก็ตาม

พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีใบดกใบหนาชุ่มเย็น แผ่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ต้นไม้อื่นๆ จะไม่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางอย่างต้นไม้ของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เต็มกำลังแห่งกิ่งก้านสาขาของตนที่แผ่กิ่งก้านออกไปนั่นเอง

นี่ความรู้ของพระพุทธเจ้าเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านออกไปสุดแดนโลกธาตุ สุดแดนสมมติ แต่ความรู้ความเห็นของพระสาวกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญยังมีอีก ก็ลดกันลงมาๆ แต่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลย...กระจ่างแจ้งด้วยกันหมด นอกจากท่านจะพูดหรือท่านไม่พูดเท่านั้น นี่เป็นโอกาสที่ได้มาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ก็เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชาติ แต่ก่อนเราไม่เคยพูด รู้ก็รู้ เห็นก็เห็นประจักษ์มาตั้งแต่ที่กล่าวนั้นแหละ วัดดอยธรรมเจดีย์..."

แม้มืดเพียงใด พากเพียรฝึกไป ก็สว่างได้

ความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตนักบวชของท่านในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากความพากเพียรอุตสาหะอย่างแท้จริงๆ ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่นั้น ท่านไม่รู้จักเรื่องบุญกรรมมาก่อนแต่อย่างใด แต่ด้วยท่านมีนิสัยรักเคารพในเหตุผลอรรถธรรมเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ ดังนี้

"...เราอ่านเรา...ที่อ่านมาเพื่อเป็นคติสอนพี่น้องทั้งหลาย คือเราอ่านตัวเราเองมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มแรกเลย ไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย มันก็เห็นชัดๆ ในใจของเรา คือไม่รู้จักบุญจักบาป มีแต่ความอยากได้ สมมติไปหากินนี้ ไปหาอะไรบ้างที่มันจะได้ เห็นสัตว์ฆ่าสัตว์ เห็นปลาเอาปลา เห็นไก่เอาไก่ เห็นอะไรเอาทั้งนั้น เพราะอยากได้ มันไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ นั่นละดูพื้นฐานของจิต นี่เป็นพื้นฐานของจิตในขั้นนั้น ว่างั้นเถอะ คือว่าไม่ได้สงบเรื่องบาป เรื่องบุญอะไรเลย มีแต่ความอยาก ไปหาอะไรก็อยากได้อันนั้น ไปหากินมันก็ไม่พ้นที่จะฆ่าสัตว์ เห็นสัตว์ตัวใดเอาทั้งนั้นล่ะ

จากนั้นก็มาบวชเป็นพระ นี่ละ ความรู้สึกทางด้านจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลงตอนมาบวชเป็นพระนะ แต่ก่อนเป็นธรรมดา แต่อันหนึ่งที่เป็นนิสัยจิตใจอยู่นั่น ความเคารพพระ เลื่อมใสพระและเชื่อศาสนา มันฝังอยู่ในจิตเลย เห็นพระคือไม่อยากพบ ไม่อยากเข้าไปหาใกล้ อายท่าน อายกับกลัวเป็นสิ่งอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะเข้าไปหาพระ

ที่ไม่เข้าไปหา คืออายท่าน ลักษณะอายกับกลัวมันอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่เจอหน้ากันจริงๆ แล้ว ไม่ค่อยได้พบพระ นอกจากจะไปเจออย่างจัง หลีกไม่ได้ ก็หมอบกราบสักที นี่พื้นใจนะ พื้นของจิตที่มันเป็นของมันในหลักธรรมชาติ ธาตุดั้งเดิมมันเป็นอย่างนั้น ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบาปเรื่องบุญอะไร นี่เป็นเรื่องความอยาก อยากได้อะไรก็ไปตามความอยาก ไม่ได้สนใจกับคำว่า "บาป" ว่า "บุญ" อะไร

ถึงวาระจะบวชล่ะ นี่ก็อ่านมาตลอด นี่ละ คำว่า "สายบุญสายกรรม" มันเป็นที่แน่ใจเจ้าของเช่น เจ็บไข้ได้ป่วยจนว่ามันจะไปจริงๆ ก็มีนะ ป่วยบางครั้งหนักมาก แต่สติยังดีอยู่ เวลาเป็นไข้หนักนั่นล่ะ ตอนใกล้จะบวช พอหายป่วยแล้วก็ออกบวชปีนั้นล่ะ ป่วยหนักเสียด้วย จากนั้นมาประหวัดเกี่ยวกับเรื่องบวชหนักเข้านะ

"เอ...เราจะตายแล้วจริงๆ เหรอ ? ยังไม่ได้บวชพอมีบุญติดเนื้อติดตัวเลยเหรอ ?"

เป็นคำนึกน้อมในใจว่า

"...ขอให้โรคนี้ หายโรคหายภัย ขอให้ได้บวช..."


แล้วมันก็แปลกนะ โรคนี้มันจะตายอยู่แล้วนะ มันก็หายวันหายคืน ทีนี้ออกมาบวช มันเหมือนกับว่ามีอะไรช่วยนี่ เวลาบวชก็ง่ายมาก ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเลย เกี่ยวกับเรื่องการบวช อย่างอื่นขัดข้องหมด เกี่ยวกับเรื่องบวชโล่งไปเลย นี่อะไร น่าคิด...

เวลาบวชเราก็เป็นนิสัยอันนี้ด้วยจริงจังมาตลอด จะเป็นฆราวาสก็จริงตลอด เป็นพระมีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องประกันเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะแล้วมันก็ยิ่งแน่นแม่นยำ ติดแน่นกับหลักธรรมหลักวินัย นี่เรียนหนังสือไปเรียนไป เอะใจไปเรื่อย เรียนหนังสือธรรมะ เรียนไปๆ เอะใจเรื่อย

"เอ๊ะ นี่...ท่านตำหนิว่ายังงั้น เราก็เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว"

เอ๊ะเรื่อยๆ นะ...ให้สะดุ้งเรื่อยไป แต่ในเรื่องภาวนาไม่ละนะ นี่อันหนึ่งมันแปลกอยู่ เลื่อมใสพระกรรมฐาน เราอยู่เรียนหนังสือ ถ้าเห็นพระกรรมฐานมาพักในวัดเรานี่ เราจะไปถึงก่อนใครล่ะ ไปคุยกับท่าน ท่านคุยน่าฟังนะ ติดใจ ชอบกรรมฐาน ภาวนาก็ไม่ลดละ ภาวนาอยู่เงียบๆ ไม่ให้ใครรู้ ทำอยู่แบบนั้นละ...

นี่อันหนึ่งฝังใจ ฝังนิสัย เรียนหนังสืออยู่กับพวกลิงพวกค่าง เขาไม่รู้ภาษีภาษาอะไร กิริยาท่าทางก็เป็นไปเหมือนเขา แต่ส่วนลึกในหัวใจเรานี้คือเรื่องภาวนานี้ เราไม่ละ "ธรรม" เป็นหลักใจ ไม่ลดละ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำว่าล่วงเกินสิกขาบทวินัยด้วยเจตนาอันลามก..."

รูปภาพ

คนเรานี้...ดีได้ด้วยการฝึก

ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านสมัครใจที่จะเผชิญกับความทุกข์จากความเพียรฝึกฝนจิตอย่างหนัก ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้อย่างเด็ดว่า

"...ทุกข์ใดๆ ที่โลกว่ากันว่าทุกข์หนักหนานั้น เราก็เคยผ่านโลกเห็นโลกมาก่อนพอสมควรถึง 20 ปีเต็ม บางงานก็เหมือนกับว่าจะเหลือกำลังคือหนักมาก แต่เมื่อเทียบแล้วไม่มีงานใดที่จะหนักมากและทุกข์ยากลำบากยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลส เพราะงานเหล่านั้นแม้จะหนักมากเพียงใด ก็ไม่เคยถึงขนาดสละชีวิตจิตใจกับงานนั้น แต่สำหรับงานฆ่ากิเลสนี้ ต้องยอมสละเป็นพื้นฐานเรื่อยๆ เลย..."

ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของท่านก็คือการตื่นนอน ท่านก็ยังอุตส่าห์ฝึกหัดดัดนิสัยกันเสียใหม่อย่างเข้มแข็งจริงจัง ดังนี้

"...พอรู้สึกจะดีดผึงเลย ตั้งแต่เรียนหนังสือ ไม่เคยที่จะลุกขึ้นมาธรรมดา เพราะความตั้งใจ ความฟิตตัวเอง เป็นจริงเป็นจังกับตัวเอง พอตื่นนี้ ดีดผึงๆ ถ้ามีเพื่อนนอนอยู่ข้างด้วยนะ หมู่เพื่อนจะตื่นเพราะความสะดุ้งเวลาลุกตื่นนอน เรียนหนังสือก็เป็นแบบนั้น ตั้งแต่เป็นนาคเข้าเรียนก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา ฝึกเสียจนชินเป็นนิสัย...

ทีนี้ยิ่งออกปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งเก่ง แล้วไม่เคยนอนซ้ำอีกนะ ถ้าลงได้ดีดผึงไปแล้วเท่านั้น นั่นเราก็ยกเว้นให้เฉพาะ ไม่ให้ลุกลาม...มันถ่ายท้องก็ลุกขึ้นไปถ่าย แล้วก็กลับเข้ามานอน อย่างนี้เรายกให้ เป็นกรณีอย่างนี้ นอกจากนั้นเป็นไม่ได้เด็ดขาดนะ ว่างั้นเลย ทีนี้เมื่อทำตลอดตั้งแต่บวชมาจนกระทั่งออกปฏิบัติ จนมันชินต่อนิสัยไม่ต้องตั้งใจ ลุกอะไรนะ พอรู้สึกนี้มันจะดีดผึงทันที

จนกระทั่งพรรษา 18 เราไม่ลืมนะ ที่เรามาฝึกหัดนิสัยใหม่ เพราะมันเป็นนิสัยแล้วแก้ไม่ตกง่ายๆ นะ...พรรษาที่ 17 ล่วงไปแล้ว เราก็มาแก้นิสัยใหม่ คือการตื่นนอนแบบนั้นก็ถูกต้องแบบหนึ่ง เพราะอยู่ในเวลาเร่งความพากความเพียร...ให้ตื่นเนื้อตื่นตัวตลอดเวลา ก็ยอมรับว่าถูกต้อง

แต่เวลานี้ควรจะต้องพักผ่อนธาตุขันธ์พอประมาณ ต่อไปนี้กำหนดสอนเจ้าของรำพึงในเจ้าของ แล้วเวลาการตื่นนอนก็ควรจะให้รู้ทิศใต้ทิศเหนือที่นั่นที่นี่ แล้วค่อยลุกขึ้นมาธรรมดา ด้วยความมีสติธรรมดา ต้องการอย่างนี้ ทีนี้เราจะฝึกให้มันพอรู้สึกตัว แล้วมองรู้ทิศทางแล้วลุกขึ้นธรรมดาเรียบๆ ไม่ให้ตื่นปึ๋งปั๋งอย่างนั้น พยายามฝึก...เราก็พยายามฝึกมาร่วมปี...ให้รู้สึกตัวแล้วลุกขึ้นมาธรรมดา ฝึกอยู่ร่วมปีจึงเปลี่ยนได้..."

ท่านกล่าวถึงจุดนี้ ทำให้ทราบชัดเจนว่า คนเรานี้ดีได้ด้วยการฝึก ฝึกหัดเช่นไร ย่อมเป็นไปเช่นนั้น จะให้อยู่เฉยๆ แล้วดีขึ้นมาเองย่อมเป็นไปไม่ได้ ท่านยังเล่าถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลสถึงขนาดต้องยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อแลกกับธรรมอันสุดประเสริฐ ดังนี้

"...เมื่อถึงคลื่นที่จะฟัดกับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว ชีวิตนี้ไม่มีความหมายเลย เรียกว่าตายก็ยอมตาย เสียสละเอาชีวิตเข้าแลกเลย เพราะกิเลส ถ้ามันไม่เก่งจริงๆ แล้ว มันคงไม่สามารถครองหัวใจสัตวโลกได้ตลอดมาทุกภพทุกชาติเช่นนี้ ครั้นพอจะต่อกรกับมัน มันก็เลยต้องฟัดกันให้เต็มเหนี่ยว เรียกว่าทุกข์แสนสาหัส..."

ท่านเคยเปรียบความทุกข์ยากลำบากนี้กับการติดคุกติดตะรางไว้ ดังนี้

"...ตั้งแต่บัดนั้น...ขึ้นเวที ไม่มีการให้น้ำ ถ้าว่าให้น้ำก็ให้เวลาหลับ นอกนั้นไม่มีกรรมการไม่ต้อง ไม่มีกรรมการแยก มันจะตายช้าไป ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่งให้ตกเวที ระหว่างกิเลส กับ ธรรม ฟัดกันบนหัวใจเรา เอ้า ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่ง เอ้า ให้ตกเวที...ติดคุกติดตะรางนี้ เราสมัครเลยนะ

ความทุกข์ยากลำบากในการประกอบความพากเพียร เราหนักมากขนาดนั้น เขาว่าติดคุกติดตะรางนี้เป็นความทุกข์ความลำบาก เราจะสมัครไปติดคุกติดตะราง เพราะติดคุกติดตะรางกินข้าววันละ 3 มื้อ จักตอกเหลา ตอกได้วันละ 5 เส้น ฆ่าเวลาไปวันหนึ่งๆ พอได้ถึงวันออก แต่ส่วนเราถ้ากิเลสไม่พังจากหัวใจเมื่อไรไม่มีวันออก ต้องเอากันจนเป็นจนตาย มันก็หนักกมากละซิ..."

แม้ทุกข์ยากลำบากเพียงใด ความพากเพียรเข้มแข็ง และใจมุ่งมั่นของท่าน มีน้ำหนักมากกว่า คำกล่าวที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จึงเป็นจริงขึ้น ปรากฏผลเป็นความบริสุทธิ์อยู่ในใจท่าน


(มีต่อ 16)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
จากภาพ..แถวหลังองค์ที่ 3 จากขวามือ คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



ตอนที่ 11 สมบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

พระครั้งพุทธกาล บวชเพื่อนิพพานจริงๆ

หลวงตากล่าวถึงความจริงจังของพระในครั้งพุทธกาล ดังนี้

"...ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเป็นองค์ประทานพระโอวาทแก่บรรดาพระผู้ปฏิบัติที่เข้ามาอบรมศึกษา และศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ ไม่ได้ศึกษาเพียงสักแต่ชื่อแต่นานเพราะความจดจำเพียงเท่านั้น และไม่ได้ศึกษาเพื่อเเอาขั้นเอาภูมิดังปัจจุบันนี้

นอกจากท่านจะได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์แบบทุกอย่างในเรื่องมรรคผล ท่านยังได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมในการชำระกิเลสอยู่ทุกกาลอีกด้วย โดยมักหลีกเร้นอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ไม่ค่อยพลุกพล่านวุ่นวายด้วยฝูงชน

พระผู้มาศึกษาก็ล้วนแต่มีความมุ่งมั่นต่อมรรคผล ต่อวิมุตติ ต่อความพ้นทุกข์จริงๆ โดยมีความพากเพียรเป็นพื้นฐานเพราะเห็นภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด งานของพระในครั้งพุทธกาลจึงมีแต่เรื่องของงานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ซึ่งก็คืองานฆ่ากิเลสโดยตรงนั่นเอง ฉะนั้น ผลแห่งความปฏิบัติจึงมักบรรลุสมความตั้งใจ เกิด พระอรหันต์ขีณาสพ ขึ้นอย่างมากมายในสมัยนั้น..."

ย้อนกลับมาสู้ชีวิตของท่าน แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มิได้ตั้งใจอยากบวชแต่อย่างใด ด้วยขนบประเพณีแต่โบราณ ทำให้พ่อแม่ปรารถนาจะได้บุญจากการบวชของลูก ใจในทีแรกแม้จะยังไม่พร้อม แต่ด้วยน้ำตาพ่อแม่ทำให้ท่านตระหนักเห็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพ่อแม่ที่จะขออภัยพึ่งใบบุญบวชจากลูก เพื่อเป็นทุนอุดหนุนชีวิตหลังสิ้นอายุขัยแล้ว ความกตัญญูรู้คุณ ทำให้ตัดใจได้ เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ นิสัยทำอะไรทำจริงอันติดมาแต่ครั้งฆราวาส ทำให้มีความจริงจังต่อการศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเข้าใจจุดหมายแท้จริงของชีวิต

เมื่อเรียนปริยัติก็เรียนเพื่อเก็บหอมรอมริบข้อธรรมและวินัยหลายแง่หลายมุม โดยหวังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการออกปฏิบัติธุดงคกรรมฐานอย่างแท้จริง มิใช่หวังชั้นหวังภูมิยศศักดิ์แต่อย่างใด ความรู้นั้ทำให้พอมีเกณฑ์บรรทัดฐานในการเสาะหาครูอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องมรรคผลและข้อปฏิบัติที่ตรงทาง

จากนั้นเมื่อมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมกับท่านอาจารย์มั่น จึงได้เร่งความเพียรอย่างเต็มสติกำลังความสามารถด้วยจิตตภาวนา จนสามารถหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสเข้าสู่แดนแห่งความพ้นทุกข์อันเกษมชีวิตอันบวชของท่านจึงสมบูรณ์พร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

พระไตรปิฎกใน : พระไตรปิฎกนอก ผู้รู้จริง : ผู้รู้จำ

ท่านเปรียบเทียบความรู้จากการเรียนปริยัติกับความรู้จากการปฏิบัติไว้ ดังนี้

"...พระไตรปิฎกใน คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมล้วนๆ ไว้บริสุทธิ์เต็มที่ พระไตรปิฎกนอก เป็นคนที่มีกิเลส ไปจดจารึกเอามา

แยกเข้าไปอีกว่า พระไตรปิฎกตาดีคือ ท่านผู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทรงธรรมแท้ทรงธรรมที่บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่ไว้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์ท่าน นี่ออกจากหัวใจของท่านจ้าไปหมดครอบโลกธาตุ

พระไตรปิฎกตาบอด คือ เราเรียนเท่าไหร่ก็เรียน ฟาดจนจบพระไตรปิฎกก็ได้ แต่ชื่อ ได้แต่นาม ได้แต่ความจำ ได้แต่ตำรับตำรา ไม่ได้ความจริงอย่างท่านมา ก็เรียกว่า ผู้ไปจดจารึก หรือถ้าเป็นประเภทนั้นก็ตาม แล้วผู้ที่เรียนตามนั้นก็เป็นคนตาบอด คำว่า บอด นี้ หมายความว่ากิเลสครอบงำหัวใจ ใจยังมืดมิดปิดตาอยู่ แม้จะเรียนอรรถเรียนธรรม ก็มีแต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรม แต่ใจยังบอดอยู่..."

"ธรรม" รู้เห็นได้ ด้วย "การปฏิบัติจริง"

ด้วยเหตุข้างต้นนี้ ท่านจึงเน้นภาคปฏิบัติมากที่สุด โดยให้เหตุผลไว้อย่างละเอียดลออ ดังนี้

"...พระพุทธศาสนาของเราตามตำรับตำราท่านก็มีไว้สมบูรณ์ ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ท่านบรรจุไว้เรียบเรียน เราก็เรียนมาตามนั้น เรียนตามที่ท่านจดจารึกเอาไว้ในปิฎกต่างๆ เข้าสู่หัวใจด้วยความจำ ในระยะนี้การเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเรียนปิฎกใดเข้าสู่ใจ เป็นเข้าสู่ด้วยความจำธรรมะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังได้ท่องบ่นสังวัธยายทั้งหมด รวมเข้ามาสู่ใจนี้ เป็นธรรมะภาคความจำ ไหลเข้าสู่ใจด้วความจำ ยังไม่เข้าสู่ใจด้วยความจริง เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษามากน้อยจึงไม่พ้นความสงสัยในการดำเนินว่าจะดำเนินอย่างไรดี ดำเนินอย่างไรถูกหรืออย่างไรผิด ความสงสัยนี้จะต้องเป็นพื้นอยู่โดยดีในบรรดานักปริยัติทั้งหลายไม่ว่าท่านว่าเรา นี่พูดตามหลักความจริงซึ่งมีอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาเล่าเรียนมา

เราอยากจะพูดเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยว่า ทุกดวงใจเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็นเรื่องที่จะเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เนื่องจากไม่มีผู้สันทัดจัดเจนในปฏิปทาเครื่องดำเนินและรู้เห็นจากการดำเนินนั้น อันเป็นฝ่ายผลมาก่อน แล้วมาชี้แจงแสดงบอก จึงทำให้ผู้ที่ศึกษามากน้อยอดสงสัยไม่ได้ จำต้องสงสัยอยู่โดยดี นี่เป็นคตินิสัยของปุถุชนเราโดยทั่วๆ ไป การพูดถึง ก็พูดถึงแต่ภาคความจำ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในปิฎกใด...พระวินัยปิฎกนั้นรู้แล้วว่าต้องอาศัยความจำเป็นหลักสำคัญที่จะประพฤติปฏิบัติตัว อันนี้ไม่พิสดารอะไรมาก ที่พิสดารมากก็คือพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นธรรมที่พิสดารมากจริงๆ...

ผู้ที่เรียนมาทั้งหลายนี้ไม่ได้มีความจริงเข้าสู่ใจแล้วจะเอาอะไรไปประพฤติปฏิบัติ จึงต้องแบกความสงสัยเต็มหัวใจอยู่นั่นแล เรียนก็เรียน รู้ก็รู้ในภาคความจำ แต่วิธีปฏิบัติ เมื่อไม่มีผู้ชำนิชำนาญพร้อมทั้งการทรงผลมาแล้วมาพาดำเนิน จึงเป็นเรื่องลำบากอยู่มาก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยถูกต้องดีงามและราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์อย่างสมัยปัจจุบันนี้คือ หลวงปู่มั่น เป็นสำคัญ..."

ผู้ปฏิบัติจริงไม่ถกเถียงใคร...เพราะมองดูก็รู้หมด

ความรู้ที่เกิดจากการเรียนธรรมกับความรู้จากการปฏิบัติธรรมจนเห็นจริง ท่านเคยเปรียบให้มองเห็นภาพง่ายๆ ดังนี้

"...คนมีกิเลสไปอ่านพระไตรปิฎก ไปเรียนพระไตรปิฎก...ถกเถียงกันยุ่งไปหมด เห็นไหมนั่นเพราะคนมีกิเลส ธรรมเป็นของจริงแค่ไหน หัวใจไม่ได้จริง ใจปลอม มันก็ถกเถียงกันเพราะความปลอม ไม่ใช่เพราะความจริง ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วมองดูที่ไหนก็รู้หมดเหมือน ช้าง ตัวหนึ่งนั่นละ อันไหนเป็นหางช้าง อันไหนเป็นงวงช้าง อะไรเป็นงา อะไรเป็นหู อะไรเป็นสีข้าง มันก็รู้หมดคนตาดีๆ แต่คนตาบอดไปคลำ คลำตรงไหนก็ว่าช้างเหมือนนั้นเหมือนนี้ไป ก็อย่างนั้นแหละ...

...ตาบอดคนหนึ่งว่า "ช้างนี้เหมือนไม้กวาด" เพราะไปคลำถูกหางช้าง

ตาบอดอีกคนหนึ่งไปคลำถูกข้างของมันก็ว่า "ไม่ใช่นะ ช้างนี้เหมือนฝาเรือน"

อีกคนหนึ่งไปคลำถูกขาของมัน...เถียงกันอีกละ "ไม่ ช้างไม่ใช่ฝาเรือน ช้างไม่ใช่ไม้กวาด ช้างมันคือต้นเสา" คนหนึ่งก็ไปคลำถูกหูมันอีกแหละ คลำช้างตัวเดียวกันนั่นแหละ คลำคนละแห่งๆ คนที่ไปคลำถูกหูนี้ก็มาค้านเอานี่"ช้างมันไม่ใช่ต้นเสา มันเหมือนกระด้งฝัดข้าว"

คราวนี้ผู้ที่มาคลำเอางวงของมันนี้ว่า "ช้างคือปลิง"

ก็เถียงกันอยู่อย่างนั้นละ และเถียงกันอยู่ใต้ร่มมะกอกด้วยนะ พอดีลมพัดมา มะกอกหล่นตูมใส่หัวตาบอดคนหนึ่ง แกก็ร้องขึ้นว่า

"เฮ้ย กูพูดแต่ปากนะ มึงถึงขนาดถึงไม้ถึงมือ ตีกูถึงขนาดนี้เชียวเหรอ"

ว่าแล้วก็ซัดกันเลย ทีนี้ตาบอด 6 คน ฟัดกันนัวเลย เพราะมะกอกลูกเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน คนนั้นว่างั้น คนนี้ว่าอย่างงี้นะ เวลานี้มะกอกกำลังจะหล่นลงหรือมันหล่นลงแล้วก็ไม่รู้นะ มะกอกหล่นลงในพวกนี้นะ พวกเราเหมือนตาบอดคลำช้างนั่นละ คลำไปถูกตรงไหนก็ว่า ธรรม นี้เหมือนนั้นๆ ไปหมดเลย

คนตาดีมองดูช้างมันเห็นหมด จะไปสงสัยอะไร ช้างทั้งตัวไม่สงสัย คนตาดีดูแป๊บเดียวรู้ นั่นแหละ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านดู ธรรม ท่านดูเหมือนคนตาดีดูช้าง พวกเราเรียนธรรม ดูธรรม เหมือนตาบอดคลำช้าง เถียงกันวันยังค่ำ...
.
..มะกอกหล่นไปไหนแล้วไม่รู้ มะกอกไม่ได้สนใจใครหรอก...แต่พวกนี้เลยซัดกันนัวเลย แทนที่จะชำระคดีมันก็เลยไม่ได้ชำระ มะกอกมาตีหัวแล้วซัดกันนัวเลย...ฟัดกันอยู่ในสนามตาบอด มันจะไม่เลิกนะ ทีนี้ไม่ทราบว่ามะกอกมาจากไหน มันก็หายากนะมะกอกที่จะมาหล่นตูมใส่หน้าผากพวกนี้ มันหายากนะ สมัยทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีแล้วนะมะกอก คือใครไม่ได้สนใจมะกอกยิ่งกว่าคลำช้าง แล้วมาเถียงกันตีกัน นั่นแหละ...พวกเรามันเรียน เรียนด้วยความจำ...

...ใครเรียนที่ตรงไหนก็ไปยึดกรรมสิทธิ์ อวดอำนาจความรู้ความฉลาดของตนขึ้นจากความจำนั้น แฝงความจำไปอีกเป็นปลอมๆ ไปอีก เอามาโต้กันเสียเป็นบ้าน้ำลายโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าหากปฏิบัติให้รู้ตามความจริงของธรรมที่ท่านสอนไว้...ก็จะไปถามใคร ไปโต้เถียงกันให้เสียเวล่ำเวลาทำไม ถ้าไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง

ท่านให้ปฏิบัติซี ให้รู้ซี ใครรู้มากน้อยเท่าไรอาจหาญ ทำไมจะไม่อาจหาญสัมผัสด้วยใจ รู้ด้วยใจเพราะปฏิบัติด้วยใจนี่ ต้องรู้ทั้งกิเกสหยาบกลางละเอียด รู้ทั้งธรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และอย่างละเอียดสุดสิ้นพ้นความละเอียดไปจนถึงความบริสุทธิ์ ไม่รู้ที่ใจอะไรจะเป็นผู้รู้..."

สายทางน้ำ...ไหลเข้าสู่มหาสมุทร :
สายทางการปฏิบัติ...ไหลเข้าสู่มหาวิมุตติมหานิพพาน


ผลแห่งการบำเพ็ญของนักปฏิบัติแต่ละคนๆ เพื่อเข้าสู่แดนนิพพานนั้น ท่านเคยเปรียบไว้ ดังนี้

"...แม่น้ำสายต่างๆ ไม่ว่าสายใดก็ตาม ไหลลงมาแล้วไปรวมลงในมหาสมุทรแห่งเดียวกัน แม่น้ำสายต่างๆ เราจะเรียกว่าแม่น้ำสายนั้นๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำอะไรก็ตามนะ นี่เรียกว่าสายทางของน้ำไหลลง

พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้วเป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมด แยกกันไม่ออก ไม่มีว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ เมื่อเข้าสู่มหาสมุทร ทะเลหลวงแล้วเรียกว่า แม่น้ำมหาสมุทรอย่างเดียวกันหมด...

แม่น้ำสายต่างๆ เปรียบกับผู้บำเพ็ญในที่ต่างๆ อยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อบารมีแก่กล้าพอไหลเข้ามา ใกล้เข้ามาๆ สร้างคุณงามความดี นี่เรียกว่าแม่น้ำสายต่างๆ ไหลเข้ามาอย่างนี้ พอมากเข้า จวนเข้าๆ ก็ถึงแม่น้ำมหาสมุทรทะเล เนี่ยอันนี้ ก็เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพาน เมื่อเต็มที่แล้วก็ต้องถึงขั้นสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลายได้เหมือนกันหมด

ไม่ได้เลือกว่าเป็นผู้หญิงผู้ชายนักบวชฆราวาสนะ สำคัญอยู่ที่การสร้างบารมีซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่จะยกผู้บำเพ็ญให้ถึงความหลุดพ้นได้ ทีนี้เมื่อบำเพ็ญเต็มที่ๆ ก็เหมือนกับแม่น้ำสายต่างๆ ค่อยไหลเข้ามาใกล้เข้ามาๆ บารมีแก่กล้าก็ใกล้เข้ามาๆ พอถึงกันปุ๊บ ก็เรียกว่า ถึงเต็มภูมิเป็นอรหัตตบุคคลขึ้นมา

นั่นละ มหาวิมุตติมหานิพพานเข้าถึงแล้วทีนี้ ผู้บรรลุธรรมนี้เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพานแล้วเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานเหมือนกันหมด ทีนี่แยกไม่ออกว่าผู้นี้รายนี้ รายนี้มาจากไหน มาจากไหน พูดไม่ออกเพราะเข้าถึงแล้ว เรียกว่าแม่น้ำสายต่างๆ ไม่มีความหมายละ เพราะเข้าในมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกัน

นี่ ผู้บำเพ็ญในคุณงามความดีประเภทต่างๆ ก็เป็นจุดแม่น้ำลำคลอง แต่ละรายๆ ไหลเข้าๆ แล้วเข้าสู่จุดสุดยอดแห่งความพ้นทุกข์ ว่างั้นเลย เรียว่า ความพ้นทุกข์อยู่ที่จุดนั้น อยู่ที่มหาวิมุตติมหานิพพาน เนี่ยเข้าถึงนั้นแล้ว เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานอันเดียวกันหมด

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า บรรดาผู้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตตภูมิแล้ว นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้ายเป็นเหมือนกันหมด นั่งฟังซิ แยกกันไม่ออก...ไม่มีคำว่ายิ่งว่าหย่อนต่างกัน แยกกันไม่ออก..."

รูปภาพ
รูปเหมือนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ พระธุตังคเจดีย์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ



(มีต่อ 17)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
จากภาพ...แถวหลังองค์ขวามือสุด คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



ตอนที่ 12 ปฏิปทาสายท่านอาจารย์มั่น

ระลึกพระคุณ...ท่านอาจารย์มั่น ไม่สร่างซา

หลวงตากล่าวกับพระเณรเสมอๆ ว่า ผลแห่งกรรมที่พากเพียรปฏิบัติมาจนประจักษ์ใจได้ก็ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากท่านอาจารย์มั่น ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้ความเคารพบูชาและระลึกบุญระลึกคุณต่อท่านอาจารย์มั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ชนิดมอบกายถวายชีวิตแก่ท่านได้ ท่านเคยกล่าวยกย่องคุณธรรมและคุณสมบัติของท่านอาจารย์มั่นว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดตกเรี่ยเสียหายเลย ไม่ว่าจะเรื่องหลักธรรมหลักวินัย ท่านอาจารย์มั่นสามารถเก็บหอมรอมริบได้หมด เรื่องญาณหยั่งทราบหรือความรู้ภายในก็สุดเลิศเลอ

ความเคารพบูชาอย่างสูงสุดของท่านที่มีต่อท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านเคยกล่าวไว้อย่างจับจิตจับใจผู้ฟังว่า

"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านเป็นทั้งพ่อเราทั้งแม่เรา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมด ให้อรรถให้ธรรม ให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นสิริมงคล สิ่งใดไม่ดีปัดเป่าออกไปด้วยคำแนะนำสั่งสอนทุกแง่ทุกมุม จึงเป็นเหมือนกับพ่อกับแม่ของเรา เหมือนเรามีพ่อมีแม่นี่แหละ...

เราเคารพท่านสุดขีด ในหัวใจของเรานี้อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นหมดเลย เราพูดจริงๆ ในบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราไม่ได้ประมาทท่าน เราไม่ได้คบค้าสมาคมกับท่านสนิทติดจมจริงๆ ฝากเป็นฝากตายเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น นี่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ กิ แต่ กา แต่ เอะ แต่ เอ เรื่อยไป ท่านสอนหมดในภาคปฏิบัติธรรมนะ

ส่วนภาคปริยัติเราก็เรียน เรียนไปแล้วแต่ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไร เพียงแค่จดได้มา จำได้มาเฉยๆ ไม่รู้วิธีภาคปฏิบัติเป็นยังไง ท่านต้องบอก อันนี้ทำอย่างนี้ เครื่องมืออันนี้เอาไปทำอย่างนั้น เครื่องมืออันนี้ไปใช้อย่างนี้ๆ ที่เราเรียนมาเราจำได้ แต่ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่เป็น อาศัยท่านพาปฏิบัติดำเนินการเรียนมานั้น เราจำได้แต่ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ท่านก็หยิบออกมา อันนี้ให้ทำประโยชน์อย่างนั้น อันนั้นให้ทำประโยชน์อย่างนั้นๆ เราก็ยึดก็จับเอาได้จากท่านเรื่อยมาจนเป็นภาคปฏิบัติ

ภาคปฏิบัติก็เอาอีกเหมือนกัน ต้องให้ท่านเป็นแม่เหล็ก เป็นเครื่องดึงดูด เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร เหมือนกับกาจับภูเขาทอง...เหลืองอร่ามไปเลย กิเลสมันกลัวเวลามาอยู่กับท่าน กิเลสมันก็หมอบ อยู่กับท่านสบายๆ นี่ก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันหนึ่ง เป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดเราให้มีแก่ใจประกอบความพากเพียรเอาเป็นเอาตายหนักเบาออกมาจากท่าน ได้รับการศึกษาจากท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านแนะนำเต็มภูมิ และพาปฏิบัติเต็มกำลังทุกด้าน...อันนี้ท่านสอนละเอียดลออมากทีเดียว..."

ความเคารพผูกพันระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่แนบแน่นฝังจิตของท่านนั้น จะทราบได้ชัดเจนจากคำเทศน์ของท่านตอนหนึ่งว่า

"...ผมไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้กราบ ท่านอาจารย์มั่นแล้วนอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรม ก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลย ก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมติน้อมนมัสการไป

พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง...ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา..."

ลูกหลาน...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น

ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากผู้รู้จริงเห็นจริงเช่นท่านอาจารย์มั่นนี้เอง ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาภิกษุบริษัทที่เข้ามาศึกษากับท่านอาจารย์มั่นมีเป็นจำนวนมาก แตกกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะได้หลักได้เกณฑ์ที่ถูกต้องจากท่านมาเป็นเครื่องดำเนินจนเป็นที่อบอุ่นใจ ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟังเกี่ยวกับปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นว่า

"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร 13 นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดัง อะไรออกนอกลู่นอกทางนั้นก็ไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยือถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัยก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน

นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ จนกระทั่งถึงพวกเรานี้ ก็มาจากสายของท่านนั่นเอง เป็นที่แน่ใจไม่สงสัยคือไม่มีคำว่าแฝงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตาไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย

นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนินไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน

ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา ดังที่เคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว

พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมาเป็นเครื่องดำเนินของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณ เฉพาะอย่างยิ่ง ภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไป การที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก นี่ละ เป็นที่ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับที่เราเรียนมาโดยลำพังและปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ

ยกตัวอย่าง ไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอบอุ่นแน่ใจตายใจสำหรับตัวเองไม่มีจะว่ายังไง นั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."

มหานิกาย ธรรมยุต คือ "ศากยบุตร" อันเดียวกัน

วัดหรือสำนักใดก็ตามที่มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็ให้ความเคารพนับถือเข้ากันได้อย่างสนิทใจโดยไม่ถือในเรื่องกลุ่มก้อนหมู่เหล่า ไม่ถือเรื่องชาติเรื่องภาษาเรื่องชั้นวรรณะ ไม่ถือเรื่องชื่อเรื่องนิกายเป็นประมาณยิ่งกว่าธรรมวินัย ดังตัวอย่าง คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้กับพระทางมหานิกาย ใจความว่า

"...พระครั้งพุทธกาล ท่านมีแต่ศากยบุตร เท่านั้น ท่านไม่มีนิกายนั้นนิกายนี้ นิกายนี้ตั้งเป็นชื่อเป็นนามไม่เห็นสำคัญอะไร ตั้งฟากจรวดดาวเทียมก็ไปตั้งชื่อนักโทษซิ มันอยู่ในเรือนจำ แต่ชื่อมันอยู่ฟากจรวดดาวเทียม ใครนับถือไหมนักโทษคนนั้น นี่เขา ชื่อเขาสูงนะนักโทษคนนี้นะ เขามาติดคุกต่างหาก แต่ชื่อเขาอยู่ฟากจรวดดาวเทียมนี้ คนจะยอมรับนับถือเขาไหมนั่น ศากยบุตรของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าลงมาประพฤติปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย ก็เรียกว่าลดคุณค่าชองตัวลงโดยลำดับ

ชื่อนามไม่เกิดประโยชน์ ชื่อตั้งไว้ยังงั้นละ ตั้งแต่เป็ด แต่ไก่ หมู หมา เขาก็มีชื่อพระก็ตั้งไว้อย่างนั้น หลักใหญ่คือ ศากยบุตร ขอให้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นั่นแล คือผู้จะทรงมรรคทรงผลและผู้ทรงมรรคทรงผล ชื่อนามเฉยๆ นั้น ตั้งไว้ยังงั้นแหละ ไม่ใช่ผู้ทรงมรรคทรงผล...โลก...ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น...อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี้เป็นผู้พูดซะเองนะ

...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านไม่ได้สนใจกับชื่อนะ ท่านสนใจกับหลักธรรมหลักวินัยศากยบุตรต่างหาก ฉะนั้น เวลาลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านที่เป็นพระฝ่ายมหานิกายมาขอญัตติกับท่าน ท่านอาจารย์มั่นนี่เองพูดให้เราฟังนะ เราถึงได้พูดได้อย่างอาจหาญ ท่านว่า

"ท่านเหล่านี้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจำนวนมากก และท่านเหล่านี้จะมาขอญัตติกับเรา"

ท่านว่า "ไม่ต้องญัตติ" ท่านพูดตรงๆ อย่างนี้เลย...ท่านสั่งเลยนะ

มัคคาวรณ์ สัคคาวรณ์ ไม่มี เพศ ก็ตั้งขึ้นแล้ว ทางสังคมยอมรับกันทั้ง ธรรมยุต และมหานิกาย นี่เป็นความยอมรับทั่วหน้ากันแล้วในสังคม ส่วนธรรมวินัยก็เป็นที่เปิดทางให้แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีคำว่านิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น เป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้าได้เสมอหน้ากันหมด นี่หลวงปู่มั่นท่านแสดง

"ผมสงสารเพื่อนฝูงของท่าน มีจำนวนมาก ถ้าท่านทั้งหลายญัตติเสียแล้ว หมู่เพื่อนก็จะเข้ากันไม่ติด ไม่ต้องญัตติแหละ"

คำว่า เพื่อนฝูง ได้แก่ ธรรมยุต มหานิกาย ที่เขาตั้งชื่อกันอย่างนั้น...เพราะโลกเขาถือสมมติ

"ถ้าญัตติแล้วก็เป็นฝ่านั้นฝ่ายนี้ นี่คณะของท่านมีเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับประโยชน์จากท่านทางด้านอรรถธรรมบ้าง จึงไม่ให้ญัตติ"

ท่านบอกอย่างเด็ดขาดไปเลย ทางด้านปฏิบัติ สัคคนาวรณ์ มัคคาวรณ์ ไม่มีต่อ ผู้ปฏิบัติดี แต่ผู้ปฏิบัติไม่ดีนี้ไม่มีหวัง ว่างั้นเลยนะ อยู่กับข้อปฏิบัติ...ท่านเล็งผลประโยชน์โน่นนะ ท่านไม่ได้เล็งนิกายนั้นนิกายนี้นะ

"พอเวลาญัตติแล้วเขาก็จะถือว่าเป็นคณะนั้นคณะนี้ไปเสีย ผู้ที่ไม่เข้าใจในอรรถในธรรมมันก็เข้าไม่ถึง ผลประโยชน์ก็ขาดไป" ว่างั้น

"เมื่อพวกท่านได้กระจายออกไปทางด้านธรรมะนี้แล้ว เวลาไปที่ไหน พวกท่านทั้งหลายนี้มีพวกมากเสียด้วย ก็ยิ่งกระจายมาก ผลประโยชน์ก็มาก จึงไม่ต้องญัตติ ดี"

ท่านว่า "ผลประโยชน์มากกว่าญัตติ"

ท่านพูดตรงๆ เลยละ ท่านเล่าให้ฟังนะ พูดถึงลูกศิษย์ลูกหาของท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุตหรือมหานิกาย ใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านชมเชยทั้งนั้น นั่นละ ผู้เป็นธรรมเป็นอย่างนั้น...

เอาหลักธรรมหลักวินัยนั่นละ เป็นหลักของพระ อันนี้เป็นหลักที่แน่ใจ ตัวเองก็อบอุ่น ไปที่ไหนเย็นละ เพราะพระมีธรรม มีวินัยมีเมตตาไปพร้อม เย็นไปหมด ไม่มีธรรมไม่มีวินัยใจดำน้ำขุ่นตีบตันอั๋นตู้ ดูไม่ได้พระใจดำน้ำขุ่นตีบตันอั้นตู้หาเมตตาไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟในตัวเองก็ไปเผาบ้านเผาเมืองต่อไปอีกละ เนี่ย ไม่ดี

ไปที่ไหนเย็น ดูจิตเจ้าของตลอด นี่ละผู้ปฏิบัติธรรม ต้องดูจิตเป็นสำคัญ ศีลก็ดีสมาธิปัญญาวิมุตติหลุดพ้นออกไปจากจิต สติปัญญารักษาจิตบำรุงจิตให้ดี...อยู่ไหนเย็นสบายไปหมด นี่ละ มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ที่คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ นิกายนั้นนิกายนี้นะ อันนั้นตั้งไว้โก้ๆ ไปอย่างงั้นแหละ..."

"ชื่อ" นั้น ไม่สำคัญเท่ากับ "ธรรมวินัย"

ในเรื่องนี้ แม้ท่านก็ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นนิกายใด ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น ท่านพอใจและเข้ากันได้อย่างสนิททันที ท่านพูดอย่างเด็ดย้ำกับบรรดาพระเณรคณะดังกล่าวอีกว่า

"...พระผู้มุ่งธรรมมุ่งวินัยด้วยกันแล้ว ไปที่ไหนสนิทกันหมด ไม่ได้เหมือนโลกนะ ไม่มีนิยมนิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้ปฏิบัติดีเข้ากันได้สนิททันทีเลย...สำหรับหลวงตาบัวเอง ใครจะว่าบ้าก็ตาม ไม่มีชื่อ ตั้งไว้อย่างนั้น โก้ๆ ไปอย่างนั้นละ ธรรมยุตมหานิกาย ใครก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้ว จะเป็นเทวดามาจากฟ้าก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรแหละ...

...แม้จะเป็นนิกายเดียวกัน ชื่อเดียวกันก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้วไม่เข้าหน้านะ ไม่อยากมองดูจนกระทั่งหน้าจะว่าอะไร ธรรมวินัยเป็นเครื่องบังคับหรือเป็นเครื่องยืนยันว่า จะเข้ากันได้สนิทหรือไม่สนิทเพราะอะไร ถ้าธรรมวินัยการปฏิบัติเข้ากันได้แล้ว เป็นศากยบุตรเหมือนกันหมด..."

รูปภาพ
:b49: :b50: จากซ้าย : หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร,
หลวงปู่ถิร ฐิตธัมโม วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดป่าบ้านจิก), หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน,
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, พระครูทัศนปรีชาญาณ (หลวงปู่ชม โฆสโก)
วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านวัวข้อง ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี,
หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

บันทึกภาพร่วมกัน ณ ร้านสุขสมปอง ร้านสังฆภัณฑ์เก่าแก่ของจังหวัดอุดรธานี


รูปภาพ


(มีต่อ 18)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 13 สอนตนให้ได้ก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่น

เลี่ยงไม่ได้ จึงเทศน์

ความสมหวังในชีวิตการบวชของหลวงตา เป็นผลจากความจริงจังของท่านที่มุ่งฝึกสอนแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นมาให้ได้ก่อนในเรื่องการเทศน์สอนผู้อื่นนั้น ท่านไม่ถือเป็นอารมณ์หรือไม่สนใจเลยก็ว่าได้ ผลแห่งการปฏิบัติจึงเจริญขึ้นๆ เป็นลำดับไป หากจะมีการเทศน์อยู่บ้างก็เป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้นด้วยความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องได้เทศน์ตอนหนึ่งว่า

"...นี่บวชดูเหมือนจะเป็นพรรษาที่ 2 นะ พอออกพรรษาแล้ว พวกญาติโยมเขามานิมนต์ไปทำบุญที่ลานข้าวเขา อันนี้ท่านพระครูให้เราเป็นหัวหน้าไปสวดมนต์ เราก็ได้หนังสือพกเล่มหนึ่ง เวลาจำเป็นก็จะเอาอันนี้เทศน์ว่างั้น...พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็นิมนต์เทศน์ เราก็เอาหนังสือนี้มาอ่าน พอรอดตัวไปได้ จบแล้ว สักเดี๋ยวตามหลังกันมาอีกคณะหนึ่ง เขามาขอฟังเทศน์ เขาว่า

"จะยากอะไร ท่านฉันเสร็จแล้วนี่ ท่านก็เทศน์ให้ฟังได้"

แต่เรามันแค่นเสียแล้ว หัวอกมันคับแล้ว จะเอาอะไรมาเทศน์ละทีนี้ มันไม่มีอะไรแล้ว กูตายนี่...

พอหลังจากนั้นแล้ว เขาก็นิมนต์ให้เทศน์ทีนี้ มันก็อยู่กับหัวหน้า จะให้เขาเทศน์ มันก็ไม่ได้นี่นา... ตกลงก็ต้องเป็นเราเทศน์ โถ หนาวๆ นี้ แต่ก็เหงื่อแตกหมดเลยนะ แต่มันก็ไปได้นะก็แปลกอยู่ เวลาจนตรอก มันไปได้นะ เทศน์ไปได้นี่นะ แต่ว่าอกนี้จะแตก มันก็พอบืนรอดตัวไปได้ ว่างั้นเถอะนะ พอกลับมา หมู่เพื่อนมาพูดแหย่แล้ว ทีนี้

"โฮ้ ! เทศน์ดีนะ"

เราเลยว่า "อย่ามาพูดนะ กำลังโมโหนะ ยังไม่อยากตายอย่ามาพูดนะ..."

ท่านเล่าพลางหัวเราะพลางด้วยขบขัน ตนเองในระยะแรกๆ ของการบวช จากนั้นพอกลับมาถึงวัด ท่านก็เอากัณฑ์เทศน์ ท่านเจ้าคุณอุบาลี มาท่องใหญ่เลย เลือกดูว่ากัณฑ์ไหนเหมาะก็เอาอันนั้นมาท่องจนคล่องเหมือนปาฏิโมกข์เลย ท่านคิดในใจว่า

"คราวนี้ไม่ตายแล้ว ถ้าเผื่อมีเหตุจำเป็นต้องได้เทศน์ที่ไหนอีก ก็จะเอากัณฑ์ที่อุตส่าห์ท่องจนขึ้นใจนี้ออกเทศน์เลย" แต่การณ์กลับเป็นว่า นับแต่นั้นมา ท่านกลับไม่เคยได้เทศน์ในลักษณะนั้นอีกเลย จนบัดนี้ หนนั้นเป็นหนหนึ่งที่ประทับใจท่านไม่เคยลืม ท่านให้เหตุผลว่า

"...เพราะเป็นการเทศน์แบบจนตรอกจริงๆ ไม่มีทางไปเลย แต่ก็ต้องบืนเอา เอาตายสู้เลย จากนั้นมาก็พอเทศน์ได้ธรรมดา ไม่อั้นตู้เหมือนตอนนั้น เพราะเรียนหนังสือไปด้วย จะมีเทศน์บ้างก็ยามจำเป็นจริงๆ หากไม่จำเป็นไม่เทศน์..."

สอนตนตลอดเวลา

เมื่อเรียนจบเป็นมหาเปรียญแล้วออกปฏิบัติ ท่านเล่าว่าเคยต้องได้เทศน์ด้วยความจำเป็นเช่นกัน ดังนี้

"...พอออกปฏิบัติแล้ว ทีนี้มันก็เป็นมหาแล้วล่ะ การเทศนาว่าการก็ไม่ได้เป็นอารมณ์...ไม่เคยสนใจกับการเทศน์ให้ใครฟัง นอกจากเทศน์สอนเจ้าของอย่างเดียว แต่ก็หากมีที่จำเป็นจนได้นั่นแหละ บางทีไปก็ไป พักอยู่บ้านใดบ้านหนึ่ง เขามีงานในบ้านของเขา เขาต้องมานิมนต์เราไปเทศน์ เราบอกว่า

"เทศน์ไม่เป็น"

เขาไม่ยอมเชื่อเลย เขาว่า "เป็นมหาแล้ว โอ๊ย อย่าว่าเลยว่าเทศน์ไม่เป็น" เขาว่านะเนี่ย มหาก็ฆ่าตัวเองได้เหมือนกันนะ เขาไม่ยอมเชื่อเลย "ลงเป็นมหาแล้วเทศน์ไม่เป็นไม่มี" เขาว่าเลย...อันนั้นก็ไปเทศน์ เวลาจำเป็นจริงๆ หากมีเป็นบางแห่งๆ เพราะเราเที่ยวไปหลายแห่ง ไปบางทีก็มีงานในหมู่บ้านของเขา เขาก็นิมนต์เรามาเทศน์ มันก็จำเป็นต้องได้มา นานๆ ที นอกนั้นไม่เอาไหนละ ไม่เทศน์นะ เทศน์สอนใคร ไม่เทศน์เลยละ

จากเรียนมาเข้าด้านปฏิบัติแล้วยิ่งไม่สนใจเลย นอกจากจำเป็นอย่างที่ว่านี้ เราก็เทศน์ให้ฟังเสียบ้างเท่านั้น นอกนั้นไม่เอาเลยๆ จากนั้นมามันก็เกี่ยวข้องกับเพื่อนกับฝูง กับประชาชนญาติโยม ก็ต้องได้เทศน์ไปเรื่อยละ เรื่อยมาจนกระทั่งป่านนี้

เทศน์สอนเรานี่มันยากนะ เทศน์สอนเรานี่มันเอาจริงเอาจังทุกอย่าง มัดกันทุกแง่ทุกมุม จึงเรียกว่าสอนละซิ เทศน์สอนประชาชนเขาก็จะเก็บได้หนักเบามากน้อยมันก็เป็นกำลังของเขา แต่เทศน์สอนตัวเองนี้มันเอาจริงเอาจังทุกอย่าง ว่ายังไงต้องยังงั้นนะ บังคับเลยนะ เรียกว่าสอนตัวเอง บีบกันตลอดเลย

นี่ละ มันยากกว่าสอนประชาชนนะ...หนักมากอยู่นะ เพราะสอนเพื่อเอาจริงเอาจัง ไม่ได้สอนสักแต่ว่าฟังไป ผู้สอนก็สอนธรรมดา ผู้ฟังก็แล้วแต่จะได้มากน้อยเพียงไร แต่เวลาเราสอนเรา เราสอนจริงๆ จังๆ ไม่ปล่อยไม่วาง มัดกันตลอดเวลา..."

เพื่อกำลังใจ

หลังจากผ่านเหตุการณ์ในยามดึกของคืนฟ้าดินถล่มบนวัดดอยธรรมเจดีย์แล้ว รุ่งเช้า วันแรม 15 ค่ำ เดือน 6 ท่านก็ลงจากวัดดอยธรรมเจดีย์มาถึงวัดป่าสุทธาวาส ด้วยความเมตตาต่อพระที่ติดสอยห้อยตามท่านมาเป็นเวลานาน อีกทั้งระยะที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ในตอนนั้นพระท่านนี้เป็นสามเณรอยู่ และเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งอดทนและใส่ใจต่อหน้าที่การงานดี ทำให้ท่านคิดสงสารว่า

"...หากมีโอกาสได้ฟังธรรมอัศจรรย์ครั้งนี้ จะเป็นกำลังใจให้ขันแข็งในการบำเพ็ญเพียรยิ่งขึ้น และจะเป็นที่แน่ใจตายใจว่า มรรคผลนิพพานนั้นมีจริง..."

ด้วยเมตตาดังกล่าวนี้เอง ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า

"นี่ จะเล่าอันหนึ่งให้ฟังนะ ท่านเคยติดสอยห้อยตามผมมาเป็นเวลานานแล้ว แล้วคำที่ผมจะพูดเวลานี้ ท่านเคยได้ยินได้ฟังไหม ?"

จากนั้น ท่านก็เล่าเรื่องบนวัดดอยธรรมเจดีย์ในคืน 14 ค่ำให้ฟังจนจบ แล้วท่านพูดขึ้นว่า

"...พอฟังแล้วเป็นยังไงคำนี้ ท่านเคยอยู่กับผมมาเป็นเวลานาน เคยได้ยินไหม ? ผมเคยพูดให้ฟังไหม ?" พระผู้นั้นตอบด้วยความตื่นเต้นปีติในใจเป็นล้นพ้นว่า "โห กระผมไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย" จากนั้นท่านเมตตาสอนต่อไปว่า

"นั่นละ ให้ตั้งใจหนา อย่างนี้ละธรรมพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก มีเป็นพื้นฐานประจำตลอดเวลาเป็นปัจจุบัน เอาให้จริงนะ นี่ได้เห็นเสียแล้ว หายสงสัยทุกอย่าง หายสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หายหมดเลย เป็นอันเดียวกันหมด

แล้วเราว่าอย่างนี้ เราไม่สงสัยพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนๆ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตรงไหน จิตกับธรรมนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว กับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอันเดียวกันแล้ว ไม่แยก ไม่มีแยก เป็นอันเดียวกัน..."


ต่อมาภายหลัง พระอาจารย์ผู้ฟังธรรมะจากท่านกล่าวถึงความรู้สึกในขณะฟังธรรมครั้งสำคัญนั้นว่า

"...ตั้งใจรับฟังด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าในระยะนั้นจะยังไม่เข้าใจในอรรถธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดลออได้ตลอดก็ตามที แต่ก็ได้เก็บคำสอนที่ออกมาจากเมตตาธรรมของท่านไว้เป็นข้อระลึกและเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมิรู้ลืมตลอดมา..."

สอนเพราะเห็นแก่หัวใจ

ท่านไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเป็นครูเป็นอาจารย์ของฝคร เพราะอุปนิสัยของท่านชอบที่จะอยู่คนเดียวตลอดมา ดังคำปรารภของท่านกับพระเณร ดังนี้

"...จังหวะที่หลวงปู่มั่นมรณภาพเผาศพท่านแล้วออก เป็นจังหวะที่หมู่เพื่อนขาดที่พึ่ง เกาะพรึบเลย ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ หลบหลีกปลีกตัวหนีไปอยู่ในป่าในเขาลูกไหนๆ ก็ตาม ขโมยนี้สุดยอด คำว่าขโมยจากหมู่เพื่อนนี้ คำว่าสุดยอดคือยังไง

กลางคืนเงียบๆ ดึกๆ ก็ไป เพราะหมู่เพื่อนไปรุมนี่ เรารำคาญเราไม่อยากอยู่ ทีนี้พอเงียบๆ ก็เดินดู เห็นหมู่เพื่อนบางองค์เดินจงกรม บางองค์นั่งสมาธิ นี่เรียกว่าไปดูลาดเลา เราเตรียมของไว้เรียบร้อยแล้ว พอมาปั๊บ หนีหมู่เพื่อนออกทางนี้นะ สะพายบาตรหนีกลางคืน เงียบ ไปเลย พอตื่นเช้ามา หมู่เพื่อนยุ่งไปหมดเลย เหมือนฟ้าดินถล่มละ

"ไปแล้ว ไม่ทราบไปทางไหนละ"

หายเงียบ พอประมาณสัก 2 อาทิตย์นะ เพราะพวกนี้เก่งนี่นะ...จมูกพระนี่ติดตามถึงเขาลูกไหน ถ้ำไหน ตามถึงหมด...ตามจนกระทั่งถึง ไม่ว่าจะไปอยู่ ป่าไหน เขาลูกไหน ถ้ำไหน รู้หมดเลย โอ๋ เราจึงว่าให้

"จมูกหมานี้สู้จมูกพระไม่ได้นะ"

เราว่าถึงยังงี้ ว่าขนาดไหนก็เฉย ขอให้ได้อยู่ด้วยก็เอา อย่างนั้นละนะ ว่าขนาดไหนก็เฉยเหมือนไม่มีหูมีตาไม่มีจิตไม่มีใจนะเฉย คือหมายความว่า เราได้ที่แล้ว จะว่ายังไงว่าเถอะ ทีนี้เอาอีกนะ พอเผลอเอาอีก บางทีกลางวันแสกๆ หมู่เพื่อนเดินจงกรมอยู่ในเขาในป่านี่ว่ะ ไปเดินฉากนู้นฉากนี้ดู เราเตรียมของไว้แล้ว ไปเดินดูนั้นดูนี้ เห็นองค์นั้นเดินจงกรมอยู่บ้าง องค์นี้นั่งสมาธิอยู่บ้าง ไปเอาของที่เตรียม ออกทางนี้นะ ทางที่ไม่มีใครนี่ ไปเลยๆ อยู่ยังงั้น ไม่ทราบว่ากี่ครั้งกี่หน สุดท้ายมันก็พ้นไปไม่ได้นะ..."

ยอมทนเพื่อผู้มุ่งธรรม

ต่อมาเมื่อมีพระเณรติดตามขอรับคำแนะนำสั่งสอนจากท่านมากขึ้นๆ ทุกที ด้วยความเห็นใจว่าท่านเองก็เคยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เช่นนี้มาก่อน เหตุนี้ทำให้ท่านยอมรับภาระเทศน์สอนในที่สุด

"...ผมไม่ได้เคยคิดว่า ได้เป็นครูเป็นอาจารย์ใครทั้งนั้นแหละ เพราะนิสัยไม่มีทางนั้น มีแต่จะเอาๆ เรื่องของเจ้าของโดยเฉพาะๆ เหมือนไม่เคยที่จะไปสนใจไปสอนผู้ใดเลย เวลาปฏิบัติก็มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างเดียว ทีนี้เวลาพอลืมหูลืมตาได้บ้าง มันก็ไม่สนใจที่จะสอนใครเสีย อยู่อย่างนี้สบายดี ว่างั้น

เพราะฉะนั้น เวลาหมู่เพื่อนรุมไปกับผม ผมจึงขโมยหนีเรื่อยนะซิ อยู่คนเดียวสบายดีๆ ไม่มีอะไรมากวน สบายดีๆ มันเป็นอย่างนั้น อย่างที่เห็นนี่ แต่ไม่ได้เป็นกับนิสัยของเจ้าของนะ

ก็อยู่ไปอย่างนั้นแหละ เพราะเห็นหัวใจแต่ละดวงๆ นี้มีคุณค่า คิดถึงเรื่องเราเวลาเสือกคลาน เกิดขึ้นมาเจอพ่อเจอแม่อยู่แล้ว ครูอาจารย์เราได้วิ่งหาแทบล้มแทบตาย ไปที่ไหนมันก็ไม่เหมาะเจาะในหัวใจ มันก็ต้องผ่านไปๆ จนกระทั่งไปถึงที่เหมาะเจาะแล้วมันถึงทุ่มกันลง หมู่เพื่อนแสวงหาครูบาอาจารย์ก็คงเป็นอย่างเดียวกันนี้ นี่แหละ เอามาบวกมาลบคูณหารกันดูแล้ว เราทนอยู่ด้วยเหตุนี้นะ...

...เราก็ทนเพื่อหมู่เพื่อเพื่อน เพราะหัวใจอยู่กับหมู่กับเพื่อนเท่านั้น ด้วยความเมตตาสงสาร เพราะการดำเนินทางด้านจิตใจนี้เราเห็นโทษมาพอแล้วสำหรับเราเอง เราเห็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำสั่งสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ

จากนั้นก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละมาพิจารณาเทียบเคียงถึงเรื่องหมู่เพื่อนทั้งหลาย จึงทนนะนี่นะ ผมทนเอาเฉยๆ ถ้าเป็นตามนิสัยของผมแล้ว นิสัยหมายถึงความชอบใจนะ เราไม่ได้ชอบใจเกี่ยวกับหมู่เพื่อนมีมากๆ นี่นะ นิสัยของเราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เรื่องความอยู่คนหนึ่งคนเดียว ตั้งแต่ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติอย่างนั้น...เรื่อยมาอย่างนั้น จนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์มรณภาพไปแล้ว หมู่เพื่อนรุมเกาะเรานี่ซิ..."

เมื่อต้องสอน ก็สอนจริงๆ

เมื่อพระเณรผู้แสวงธรรมมาขออยู่ศึกษากับท่านดังกล่าว ด้วยความเมตตาของท่านอยากให้เกิดผลในการปฏิบัติ ท่านจึงให้ความใส่ใจอย่างจริงจังต่อการแนะนำสั่งสอน

"...ให้พากันจำไว้ให้ดี ผมสอนจริงๆ สอนหมู่สอนเพื่อน ขอให้เห็นใจ รับไว้แต่ละองค์ๆ นี้ ผมรับไว้จริงๆ ด้วยเหตุด้วยผล สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มภูมิความสามารถที่จะสั่งสอนได้ การดูหมู่เพื่อนภายในวัดนี้ซึ่งเป็นเสมือนอวัยวะของผม ผมดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกอย่าง เต็มสติกำลังความสามารถของผม ที่อื่นๆ ผมไม่ได้สนใจ ผมเคยพูดเสมอ พอออกนอกวัดไปแล้ว ใส่แว่นตาดำไปเลย ไม่สนใจเพราะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ เราไม่ใช่ผู้ที่จะให้โอวาทสั่งสอนใครๆ นี่ เป็นเรื่องของเขา สมบัติของใครของเรา แต่นี้หมู่เพื่อนน้อมกายวาจาใจเข้ามาเพื่อให้เราเป็นภาระ อาจริโย เม ภันเต โหหิฯ นี่ก็รับด้วย โอปายิกัง ปฏิรูปัง ปาสาทิเกน สัมปาเทหิ..."

รูปภาพ

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ถ่ายภาพร่วมกับนายวัน คมนามูล และครอบครัว
โดยนายวัน คมนามูล เป็นโยมอุปัฏฐากใกล้ชิดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
(โกศบนหิ้งบรรจุอัฐิและเถ้าถ่านของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ซึ่งได้รับแจกมาในงานศพหลวงปู่มั่น ต่อมาอีก ๔ ปีได้กลายเป็นพระธาตุ)



(มีต่อ 19)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ฉันภัตตาหารเช้าร่วมกับหลวงปู่ศรี มหาวีโร
ณ ศาลาหลังใหญ่ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ในงานวันคล้ายวันมรณภาพของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบปีที่ ๕๐
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๒



ตอนที่ 14 ไปถิ่นไหน...ร่มเย็นถิ่นนั้น

บ้านหนองผือนาใน จังหว้ดสกลนคร

ในครั้งนั้น หลวงตาพักอยู่วัดป่าสุทธวาสเพียง 2-3 คืน จากนั้นก็ไปทางภูเขาแถบอำเภอวาริชภูมิ เดิมทีคิดจะจำพรรษาที่นั่น แต่เมื่อทราบข่าวจากโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดหนองผือและเพิ่งจะไปเยี่ยมบ้านหนองผือมา แกเล่าว่า "...เข้าไปวัดหนองผือ มีแต่พระหลวงตา 2-3 องค์อยู่ที่นั่น ไปเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวช เพราะแต่ก่อนเคยเป็นตลาดพระยั้วเยี้ยๆ เต็มไปหมดในวัดในวา แต่ไปคราวนี้กลับไม่ค่อยมีพระ ดูเหมือนกับเป็นวัดร้าง ไปเห็นแล้วสลดสังเวชเหลือเกิน..."

เมื่อแกมาเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็รู้สึกสลดใจอย่างมาก ท่านให้เหตุผลว่า "...วัดหนองผือเป็นวัดที่ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาในวาระสุดท้ายของชีวิต และบ้านหนองผือเองก็เป็นบ้านที่มีบุญมีคุณต่อพระกรรมฐานมากมาย พระเณรมาเท่าไรๆ สามารถเลี้ยงพระได้ทั่วถึงหมด ทั้งๆ ที่มีบ้านเพียง 70 หลังคาเรือนเท่านั้น บัดนี้จะกลายเป็นวัดร้าง เหมือนไม่มีใครเหลียวแล คล้ายกับว่าบ้านนี้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว มันสมควรแล้วเหรอ ? ดูมันเกินเหตุเกินผลไป..."

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเลยตัดสินใจย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่อีก ทั้งๆ ที่เหลือเวลาเพียงแค่ 7 วัน ก็จะถึงวันเข้าพรรษาอยู่แล้ว (ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปี 2493) บรรดาพระเณรที่หวังพึ่ง หวังได้รับคำแนะนำรับข้ออรรถข้อธรรมข้อวัตรปฏิบัติจากท่าน ก็เลยต่างย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่ด้วยกัน เลยกลายเป็นว่าในพรรษานั้นกลับมีพระเณรอยู่ด้วยกันถึง 28 องค์ เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ชาวบ้านหนองผือเหมือนเช่นเดิม

พ่อตาย พ่อยัง

ย้อนกลับมากล่าวถึงคุณยายผู้มีญาณหยั่งรู้ที่มักมาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์มั่นบ่อยๆ ที่บ้านหนองผือแห่งนี้ แกยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ก็ชราภาพมากแล้ว เวลามาวัดแกจะค้ำด้วยไม้เท่า มาครั้งหนึ่งๆ ต้องพักถึง 5 หน ทั้งๆ ที่บ้านของคุณยายก็อยู่ไม่ไกลจากวัดนัก คือประมาณ 10 เส้นกว่า

คุณยายแกสงสารหลานชายซึ่งเคยอุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่นมาก่อน เกรงจะไม่ทราบถึงคุณธรรมของท่าน (หมายถึงหลวงตาและอาจปรนนิบัติรับใช้ท่านไม่ดีเท่าที่ควร แกเลยแอบบอกหลานชายว่า

"นี่น่ะ กูจะกระซิบให้มึงรู้ มึงต้องรู้นะ มึงรู้แล้วยังว่า วัดหนองผือนี้ พ่อตายแล้ว พ่อยัง มึงรู้ไหมพ่อตายแล้วพ่อยัง"

จากนั้นแกก็ชี้ไปที่ท่าน แกเรียกท่านว่า ท่านมหา แกกระซิบหลานต่อว่า

"ท่านมหาบัวครองวัดแทน ครองธรรมแทนแล้ว ครองทุกอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วนะ ให้มึงเคารพเหมือนกันกับหลวงปู่มั่นนะ มึงอย่าปล่อยอย่าวางนะ ให้มึงคอยแอบปฏิบัติอุปัฏฐากท่านนะ ไม่มีใครรู้ละ กูกระซิบให้มึง มึงอย่าไปบอกใครนะ"

พระเณรที่วัดหนองผือระยะนั้นต่างเห็นว่า คุณยายแกออกมาหาท่านอาจารย์มั่นอย่างไร แกก็ออกมาหาท่านแบบเดียวกันเหมือนกับสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ผิดกัน ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

"...หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว เราไปจำพรรษาที่นั่น แกก็ออกมาจากบ้านมาหาเราตอนเช้า จึงถามแกว่า

"มานี่พักกี่หน ?"

แกตอบว่า "5 หน"

"แล้วมาทำไม ?"

"ก็มันอยากมานี่"

แกพูดอย่างนั้นแหละ นิสัยแกพูดอย่างตรงไปตรงมา "มาอะไร ?" เราว่า

"ก็มันอยากมานี่ ก็มาแหละ"

แกมาเรื่อยมาหาเรา... พอฉันเสร็จแล้วแกก็มา ขึ้นมาคุยธรรมะลั่นเลย สนุกนะ แกพูดธรรมะ พูดด้วยความรู้ คนไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน หนังสือตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ แกพูดนี้ร่าเริงมาก พระเณรนี้รุมเลย เวลาแกพูดมันน่าฟังทั้งนั้นนี่ พูดด้วยความรู้ออกในแง่ต่างๆ รู้พวกอินทร์พวกพรหม พวกเทวบุตรเทวดา..."

ด้วยนิสัยของหลานชายที่ปิดความลับไว้ไม่อยู่ คำกระซิบของคุณยายจึงเป็นที่รู้กันและเป็นเรื่องที่น่าขบขันที่หลานชายคนนี้ยังแอบเอาความนี้มาบอกแม้กระทั่งตัวท่านเอง

รู้เรื่อง "ตาย"

ในพรรษานี้ วันหนึ่งมีโยมมาจากในเมืองได้นำยาถ่ายท้องมาถวายให้พระเณรในวัดฉัน จะด้วยเหตุผลใดนั้นท่านลืมเลือนไปเสีย พระเณรองค์อื่นๆ เมื่อได้ฉันยานี้แล้ว ต่างก็ถ่ายท้องกันแบบปกติตามฤทธิ์ยาถ่ายทั่วไปที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรผิดแปลก

แต่สำหรับท่านเอง หลังจากฉันไปได้ไม่นาน ผลปรากฏว่าท่านต้องถ่ายท้องอย่างหนักถึง 25 ครั้ง อาเจียน 2 ครั้ง ความรุนแรงถึงขนาดที่ว่าเศษอาหารนี้พุ่งออกมาติดข้างฝาเลยทีเดียว จนร่างกายอ่อนลงๆ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าท่านจะฉันยาแก้กันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ฤทธิ์ยาขนานนี้ได้

หลังจากนี้ไม่นานก็เกิดทุกขเวทนาอย่างหนักชนิดเฉียดฉิวต่อความตาย หรือจะเรียกว่าตายไปแล้วก็ไม่น่าจะผิดไป เพราะถึงกับหมดความรู้สึกรับรู้ทางส่วนร่างกายทั้งหมด เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นในขณะท่านอยู่ในห้องส้วม อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่เพราะท่านเคยพิจารณาเรื่องเหล่านี้มาก่อนแล้ว จึงไม่อาจทำให้ท่านรู้สึกสะทกสะท้านหวั่นไหวแต่อย่างใด ท่านเล่าถึงอาการในขณะนั้น ดังนี้

"...ที่ว่าถ่ายถึง 25 ครั้ง อาเจียน 2 ครั้งนั่นน่ะ มันจะไปจริงๆ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นมันเผลอนี่ ไม่เห็นมันกลัวตายเลย

"หือ ? จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้าไปก็ไป"

แน่ะ มันสนุกพิจารณากันสบายเลย ตอนมันจะไปจริงๆ ความรับผิดชอบในส่วนร่างกายนี้มันหดมาพร้อมๆ กัน ข้างล่างก็หดขึ้นมาอยู่กลางหัวใจนี่ ข้างบนก็หดลงไปข้างซ้ายข้างขวาหดเข้ามาพร้อมกันเลย

จากนั้นแล้วร่างกายก็หมดความหมายคือร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนไปแล้ว หูนี้เลยหนวก ไม่ใช่หนวกไม่ใช่บอดเสียแล้ว เลยนั้นไปแล้ว เป็นท่อนไม้ท่อนฟืนทุกขเวทนาก็ดับหมด นี่จึงได้เชื่ออย่างแน่ใจว่าคนเราเวลาจะตาย ถ้ามีสติทราบเรื่องของตัวเองอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ขณะจะตายนั้นเวทนาต้องดับหมด อันนี้มันดับ ขณะที่เวทนาดับหมด

ทั้งๆ ที่ทุกขเวทนาอย่างสาหัส พอถึงขั้นจะไปจริงๆ แล้ว ความรับผิดชอบในความรู้สึกนี้มันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้น พร้อมกันหมดเลย เข้าไปอยู่ตรงกลางนี้ ตรงกลางนี้ก็สักแต่ว่ารู้นะ จะว่าเป็นจุดเป็นต่อมแห่งผู้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี พูดได้แต่ว่าสัก แต่ว่ารู้เท่านั้น แล้วทุกขเวทนาดับ อะไรดับ ร่างกายดับหมดจากความรู้สึกของกายเอง และความรู้สึกของทางประสาท จิตก็เป็นจิต ทุกขเวทนาก็ดับพร้อมกันเลย นั่นตอนนั้นตอน 99 เปอร์เซ็นต์ นี่วิตก "จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้า ไปก็ไป"

กำหนดจิตขยับเข้าอีกเหมือนกับจะช่วยให้มันไป มันก็เลยเป็นพลังอันหนึ่ง ด้วยอำนาจพลังของจิตที่กำหนดจะไปนี้ เลยเป็นพลังทำให้จิตมันซ่านออกไปอีก ให้รับรู้ในสิ่งต่างๆ ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

"หือ ? ไม่ไปหรือ ? ไม่ไปก็อยู่ซิ"

แน่ะ เป็นอย่างนั้นไม่ลืมนะ ความรู้สึกของเจ้าของเป็นอย่างนั้นจริงๆ คิดอย่างนั้นด้วยเวลาจะไป จะไปจริงๆ เหรอ เอ้าไปก็ไปซิ กำหนดปั๊มเพื่อจะช่วยให้มันไปเสีย คือไปอย่างหายห่วงพูดง่ายๆ ไม่ได้สงสัยอะไรนี่ ระยะนั้นเราก็ไม่ได้สงสัยอะไรแล้ว...

หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พูดตามความจริง เวลานั้นมันจะมาประกาศความจริงให้เราเห็นอยู่ซิ ตอนจะตายนี่ก็ไม่เห็นมันกลัวอะไร มันตามรู้กันทุกระยะๆ จนกระทั่งถึงว่าหมดทุกขเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสขนาดถึงขั้นจะตาย มันก็รู้ของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่พลั้งไม่เผลอ จนทุกขเวทนาในร่างกายนี้ที่เป็นสาหัสดับจนหมด เพราะความรับผิดชอบของจิตมันหดตัวเข้ามาวูบเดียวเท่านั้น ทุกขเวทนาก็เป็นอันว่าดับไป พร้อมกันกับความรับผิดชอบทางร่างกาย "เอ้า จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? ถ้าไปก็ไป"

ยังเหลือแต่ความรู้เท่านั้น กำหนดปั๊บเข้าจุดความรู้นั้น ไม่ถึงนาทีนะมันซ่านออกไปอีก พอซ่านออกไป หูก็ได้ยิน ตาฝ้าฟางก็เหมือนกับมองเห็น ความรู้สึกทางส่วนร่างกายก็รู้ ทีนี้ทุกขเวทนาก็เริ่มขึ้น ก็สาหัสเหมือนอย่างที่เคยเป็น สาหัสมันก็สาหัสในส่วนร่างกายต่างหาก ไม่ได้สาหัสในจิต ไม่ได้เข้าถึงจิต จิตเป็นปกติอยู่อย่างนั้นธรรมดาๆ..."

จากนั้นอาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลงๆ กำลังวังชาก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับและกลับคืนจนเป็นปกติในที่สุด

บ้านห้วยทราย จังหวัดมุกดาหาร

หลังท่านอาจารย์มั่นได้มรณภาพ ท่าน (หลวงตา) จำพรรษาที่บ้านหนองผือได้ 1 พรรษา จากนั้นท่านก็ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อยู่ถึง 4 ปี (จนถึงปี 2497) พระเณรก็หลั่งไหลติดตามไปอยู่ด้วยมากมาย ตามบ้านเล็กบ้านน้อยแถบนั้น แต่ที่อยู่ในสำนักของท่านจริงๆ มีประมาณ 10 กว่าองค์

ท่านก็ให้ความเมตตาสงคราะห์พระเณรด้วยการเทศนาอบรมสั่งสอนด้วยความเอาใจใส่จริงจัง เข้มงวดทั้งธรรมวินัยทั้งข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และเทศน์ให้กำลังใจในการบำเพ็ญเพียร จนพระเณรหลายองค์รวมทั้งฆราวาสเกิดผลประจักษ์ใจขึ้นเป็นลำดับ

เข่นหนัก ด้วยอรรถธรรม

ท่านอาจารย์สิงห์ทอง เป็นองค์หนึ่งที่ได้อยู่จำพรรษาในระยะนี้ด้วย ในหนังสือ "ประวัติย่อ" ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ได้กล่าวถึงความจริงจังของหลวงตาต่อพระเณรยุคบ้านห้วยทรายว่า

"...ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านก็จะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้กุฏิ แล้วฟังเสียงว่าจะนอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมาก เสียงหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ

ถ้าหากว่า องค์ไหนนอนหลับก่อน 4 ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี 4 ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละ และถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น ถ้าท่านได้เตือนถึง 3 ครั้ง แล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัด ให้ไปอยู่วัดอื่น โดยพูดว่า

"ผมสอนท่านไม่ได้แล้ว นิมนต์ออกไปจากวัดเสีย"

ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทราย ภายใต้การนำของท่านจึงมีความพากเพียรในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างลักกัน (แอบปฏิบัติ) คือบางองค์เวลาหมู่เดินจงกรมจะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนกับว่านอน แต่ความจริงนั่งภาวนา เวลาหมู่ขึ้นจากทางจงกรมหมดแล้ว จึงค่อยลงเดินก็มี

ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟโคมสว่างไสวตามกุฏิของพระเณรเหมือนกับไม่นอนกัน

เรื่องอาหารการกิน เขามีกบหรือเขียดตัวเดียวอย่างนี้ เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ 4 บาตร 4 องค์ก็มี ในคราวที่อดอยากมะเขือลูกเดียวอย่างนี้เขาจะผ่าใส่บาตรได้ 4 องค์ ทั้งนี้เนื่องจากทางอีสานนั้นกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งบางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งไปตักเอาไกลด้วย เป็น 2-3 กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็ม กินไม่ได้ และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหารการกิน

อาศัยแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นานๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง...ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน 3-4 องค์ก็ยังพอ...บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแต่ท่านพระอาจารย์มหาบัว และพระอีกองค์หนึ่งก็มี เป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวันเช่น ปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน..."

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นองค์หนึ่งที่อยู่ร่วมจำพรรษด้วยในระยะนี้เช่นกัน หลวงปู่หล้าเล่าถึงบรรยากาศยุคบ้านห้วยทรายไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้

"...สมัยนั้น เดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา 2496 แล้ว...ปีนั้นมีพระ 11 รูป สามเณร 4 องค์ คือ พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า (อาจารย์มหาบัว) พระอาจารย์สม พระอาจารย์สิงห์ทอง หลวงพ่อนิล ข้าพเจ้า (หลวงปู่หล้า) คุณเพียร คุณสุพัฒน์ คุณเพ็ง คุณสีหา คุณลี คุณสวาสและเณรน้อย เณรน้อย (อีกองค์) บุญยังเณรโส

ปฏิปทาของหลวงปู่มหาพาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือหลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขกโยมยังไม่มาก...ประวัติยุคห้วยทราย ก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหาตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทรายในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละสองปี๊บ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ร้อยสองร้อยเท่านั้น

ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึงจะได้ไม่ลืมตัวในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น

ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟากและมุงหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นงวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา

ด้านทำความเพียรมีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่ หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้มหลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลกที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย..."

อัศจรรย์...ความเด็ดเดี่ยว องค์หลวงปู่มหา

ด้วยเหตุที่หลวงปู่หล้าท่านเห็นถึงปฏิปทาความจริงจังของหลวงตาตั้งแต่สมัยที่ปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส กระทั่งถึงระยะที่เป็นครูบาอาจารย์สอนสั่งพระเณรหลายรุ่นต่อหลายรุ่นด้วยกันมานี้

ดังนั้น เมื่อหลวงปู่หล้าท่านตั้งวัดภูจ้อก้อขึ้นมา มีพระเณรเข้ามาอยู่ศึกษากับท่าน เพื่อให้พระเณรลูกหลานที่อยู่ในการปกครองได้เห็นคติแบบฉบับอันงดงาม การแสดงธรรมของท่านจึงมักต้องได้กล่าวถึงหลวงตาอยู่เสมอๆ ดังบันทึกฉบับหนึ่งที่หลวงปู่หล้าท่านเขียนเป็นจดหมายทิ้งไว้เพื่อเป็นอุบายสอนพระ ดังนี้

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต


วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ.แวง ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

21 มิถุนายน กราบเท้าทูลเรียนถวายองค์หลวงปู่ ที่เกล้าเคารพจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

ในระหว่าง 4-5 วันหลังที่ล่วงมา เกล้าได้กราบเท้าทูลถวายฝากมุ้งมาทูลถวายองค์หลวงปู่ กับพวกครูโรงเรียนที่เขาปรารภว่าจะมากราบเท้าองค์หลวงปู่ พร้อมทั้งมีจดหมายอยู่ในที่นั้นด้วย ถ้าหากว่าองค์หลวงปู่ได้รับพร้อมกันแล้ว จงทรงพระมหากรุณาให้พระเลขาตอบจดหมายให้เกล้าทราบด้วยเทอญ เพื่อจะได้หายกังวล เกล้าเมื่อพิจารณาขณะจิตก็ได้นึกถึงองค์หลวงปู่อยู่เป็นอาหารของใจอย่างเคารพสูงยิ่ง และองค์หลวงปู่ทรงปฏิปทาเด็ดเดี่ยวสมต้นสมปลายเป็นธรรมอันหาได้ยากในสมัยปัจจุบันนี้ เรื่องนอกๆ ที่เกล้าวิจารณ์ตามประสาอารมณ์บ้าของเกล้าที่เป็นบ้านั้น เกล้าได้พิจารณาลึกลงไปกว่านั้นมาแต่ไรๆ แล้ว และไม่มีที่จะแซงองค์หลวงปู่อันใดได้เลย ถ้าผู้หนักไปในทางธรรมแล้วก็จะได้อัศจรรย์องค์หลวงปู่ที่เด็ดเดี่ยวเป็นทิฏฐานุคติของอนุชนรุ่นหลังอย่างยอดเยี่ยม

การกราบเท้าทูลเรียนถวายจดหมายองค์หลวงปู่ ถ้าเขียนน้อยก็ไม่สมเจตนาของเกล้า ถ้าเขียนมากองค์หลวงปู่ก็จะน่าเบื่อ ไม่รู้ว่าความพอดีอยู่ในระดับใด ต้องยอมบกพร่อง ยกธงขาวต่อองค์หลวงปู่อยู่เสมอๆ ผูกขาดจองขาดจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

กราบเท้าทูลเรียนถวายมาด้วยความเคารพสูงยิ่งจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

เกล้า
(พระหล้า เขมปตฺโต)

จดหมายถึงองค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน



(มีต่อ 20)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


คุณแม่ชีแก้ว ผู้รอบรู้พิสดาร

ที่บ้านห้วยทรายแห่งนี้ มีนักปฏิบัติธรรมหญิงท่านหนึ่ง นามว่า คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เวลาภาวนามักจะมีความรู้แปลกพิสดารมาก เมื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ที่บ้านนี้ จึงได้มีโอกาสสนทนาและให้อุบายทางจิตตภาวนาอันสำคัญยิ่งต่อคุณแม่ชีแก้ว

หลวงตาเล่าถึงชีวิตการปฏิบัติธรรมอันน่าอัศจรรย์ยิ่งของคุณแม่ชีแก้วไว้ ดังนี้

"...แม่ชีแก้วที่อยู่บ้านห้วยทรายนี้ เป็นลูกศิษย์ดั้งเดิมของท่านอาจารย์มั่นมาตั้งแต่เป็นสาวโน่นนะ แกภาวนาเป็นตั้งแต่เป็นสาวโน่น ถ้าวันไหนภาวนาแปลกๆ พอท่านอาจารย์มั่นบิณฑบาตมาถึงนั้น ท่านจะว่า

"วันนี้ออกไปวัดนะ"

เพราะท่านหยั่งทราบทุกอย่าง...ทีนี้พอท่านจะจากที่นั่นไป ท่านก็บอกตรงๆ เลย บอกว่า

"นี่ถ้าเป็นผู้ชายแล้วเราจะเอาไปบวชเป็นเณรด้วย"

อายุตอนนั้นราว 16-17 ปี

"นี่เป็นผู้หญิงมันลำบากลำบน ไม่เอาไปแหละ อยู่นี่แหละ จะเป็นบ้าครอบครัวเหมือนโลกเขา ก็แล้วแต่เถอะ..."

ว่าดังนี้แล้วท่านก็ไป ก่อนจะไปท่านสั่งว่า "แต่อย่าภาวนานะ"

นี่สำคัญ ท่านสั่งไว้จุดนี้แหละ คือนิสัยแกผาดโผนมาก เรื่องภาวนานี้นิสัยผาดโผนมากจริงๆ เหาะเหินเดินฟ้าดำดินบินบนในหัวใจมันออกรู้ออกเห็นหมด เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมเปรตผีนี้มันไปรู้ไปหมดนั่นซิ ทีนี้เวลาไม่มีครูมีอาจารย์คอยแนะคอยบอก กลัวมันจะเสีย ท่านจึงห้ามไม่ให้ภาวนา

"เราไปนี้ไม่ต้องภาวนาแหละ ต่อไปมันก็จะมีครูมีอาจารย์สอนเหมือนกันนั่นแหละ"

ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าผ่านๆ ไปอย่างนี้แหละ...ทีนี้นานเข้าๆ หนักเข้ามันอดไม่ได้ มันอยากภาวนาอยู่ตลอด แกก็เลยภาวนา ก็พอดีเป็นจังหวะที่เราไปที่นั่น พอเหมาะดีเลยเทียว

พอเราไปถึง แกก็มาเล่าให้ฟัง ตอนที่เราไปนั้นเราไปจำพรรษาบนภูเขา ให้หมู่เพื่อนจำพรรษาข้างล่าง เรากับเณรหนึ่งไปจำพรรษาอยู่บนภูเขา บ้านห้วยทรายนั่นแหละ

พอวันพระหนึ่งๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกันไปละ ไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีแม่ขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเราตอนบ่าย 4 โมง 4 โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน 6 โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที

"นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มมาภาวนานี่แหละ ญาท่านมั่นท่านไม่ให้ภาวนา"

แกว่าอย่างนั้น "ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา"

เราก็สะดุดใจกึ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้ามไม่ให้ภาวนานี้ ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ ไม่ใช่เล่นๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที

"อ๋อ อันนี้เองที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา"

...พอไปอยู่กับเรา...ไปหาเราก็ภาวนา พูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรตโปรดผีโปรดอะไรต่ออะไร นรกสวรรค์แกไปได้หมด รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนามันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้าๆ เราก็ค่อยห้ามเข้า หักเข้ามาเป็นลำดับลำดา ห้ามไม่ให้ออก ต่อไปห้ามไม่ให้ออกเด็ดขาด...นี่แหละ เอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ "ให้ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้ ได้ไหม เอาไปภาวนาดู ?" ครั้นต่อมา "ไม่ให้ออก" ต่อมาดัดเลยเด็ดเลย "ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด"

นั่น เอาขนาดนั้นนะทีนี้ ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอกไม่ใช่รู้ภายใน ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายใน เพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์ อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย

"ไป...จะไปที่ไหน...ไป สถานที่นี่ ไม่มีบัณฑิตนักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ให้ไป ลงไป..."

ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย เราก็เฉย น้ำตานี้ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่...ลงไป

"อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อไปห้าม" ตัดเด็ดกันเลย ไปได้ 4-5 วัน โผล่ขึ้นมาอีก"...ขึ้นมาอะไร !!!...

"เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อน" แกว่า

"มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่" เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่ แกว่า "เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อนๆ" แกจึงเล่าให้ฟัง คือไปมันหมดหวัง แกก็หวังจะพึ่ง ก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า

"จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้วไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน ?

แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุมีผลของท่านว่า เราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่นี่ ถ้าหากว่าเราจะถือว่าท่านเป็นครูเป็นอาจารย์แล้วทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดี แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร

ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติ มันจะเป็นยังไง ? เอาว่าซิ มันจะจม ก็จมไปซิ"

คราวนี้แกเอาคำของเราไปสอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อน มีแต่ออกๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียว พอไปหมดท่าหมดทางหมดที่พึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง

"ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้ซิ"

เลยทำตามนั้น พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้ จ้าขึ้นเลยเชียว นี่ก็สรุปความเอาเลย นี่แหละที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้นๆ ละทีนี้ รู้ตามที่เราสอนนะ

"เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ"

ดูเปรตดูผีดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ ตรงนี้ ตรงถอนกิเลส"

เราก็ว่าอย่างนี้ "เอ้า ดูตรงนี้นะ"

แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ...พ.ศ. 2494 เราไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ในราวสัก 2495 ละมัง แกก็ผ่าน..."

รูปภาพ
แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ (องค์ข้างหลัง) ถ่ายกับเพื่อนแม่ชี
ณ สำนักชีบ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร


รูปภาพ
แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ กับ แม่ชีแพง โลหิตดี (โยมมารดาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)


คำกล่าวอีกตอนหนึ่งของท่านเล่าถึงเรื่องความรู้พิสดารของคุณแม่ชีแก้ว ดังนี้

"...ความรู้ของคุณแม่แก้วแปลกพิสดารมาก สำคัญที่สุดที่เรียกว่าไม่พลาดเลย เวลาเราไปไหนมาไหนนี่นะ ไม่มีพลาดเลย แม่นยำ ไม่มีเคลื่อนเลย พอเราออกจากวัด

"อ้าวญาท่านไปแล้วนะวันนี้นะ" ว่าอย่างนั้นนะ "ไปแล้ว"

ที่เราไปไหนมาไหนนิสัยเราก็อย่างนี้ มันไม่เคยพูดไม่เคยบอกใคร มันเป็นนิสัยอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร ทางนี้ก็รู้แล้วเริ่มแล้วนะนี่

"อบอุ่นเข้าแล้ว ค่อยอบอุ่นเข้ามาๆ"

พอถึงที่ก็ว่า "ถึงแล้ว" ตอนเช้าก็ได้หุงข้าว แล้วเตรียมหมากทุกวันไม่มีพลาด เราถึงได้ถามนะสิ

"นี่เตรียมมาทุกวันหรือ ? หมากนี่ข้าวเนี่ย"

หุงข้าววันละหม้อเล็กมาให้ทุกวันตอนเราอยู่นั่นน่ะ บอกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง หุงข้าวเตรียมหมาก แกคอยจัด ตัวแกเองไม่มาหรอก แต่ให้แม่ชีมาจังหัน แม่ชีก็เอามา ส่วนแกนานๆ จะเอามาทีหนึ่ง ถามแม่ชีเรื่องหุงข้าว แม่ชีตอบว่า

"เพิ่งหุงตอนญาท่านมานี่แหละ"

เขาเรียกญาท่าน เป็นความเคารพของเขานะ "หมากนี่เพิ่งทำ ตอนญาท่านไม่อยู่ ข้าวนี่ก็งดหมด"

"แล้วทำไมถึงรู้ว่าจะทำ ?"

แม่ชีตอบว่า "ก็คุณแม่บอกให้ทำไปเถอะ ญาท่านมาแล้ว"

นี่แหละ อันนี้ไม่พลาดนะ สำคัญไม่มีพลาด...กับตอนที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมรณภาพ โอ๊ย แกแม่นยำของแกขนาดนั้น...

"ญาท่านเสียแล้ว...เมื่อคืนนี้"

แกเล่าว่า "ญาท่านมาบอกว่า มานี่มา ไปดูเสียซากเรา เห็นแต่ซากแล้ว ญาท่านว่า พ่อไปแล้วนะ"

พอคุยพูดกันยังไม่เลิกเลย ไอ้หลานมันก็ไปคำชะอี ไปได้ข่าวเขาออกวิทยุตอนเจ็ดโมงเช้า ประกาศลั่นว่า

"หลวงปู่มั่นเสียแล้ว"

มาถึงมันก็วิ่งถึงวัดเลย วิ่งกระหืดกระหอบมา "อะไร ?"

"โอ๊ย ญาท่านเสียแล้ว" นั่นเห็นไหม...เห็นไหม เสียในเวลาเท่านั้นเท่านี้ เขาประกาศลั่น นี่ก็แม่นยำมาก..."

ศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งในระยะที่พักอยู่บ้านห้วยทรายแห่งคือ ตาปะขาว ชื่อ คำตัน

ซึ่งระยะต่อมาไม่นาน ตาปะขาวก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลวงตาเมตตาเป็นผู้จัดหาบริขาร เครื่องบวชให้ด้วยตนเอง ดังคำกล่าวของท่านว่า

"...หลวงพ่อตันนะ องค์หนึ่งนะ อันนี้ก็เราบวชให้เลยนะ เป็นตาปะขาว แกภาวนาดี แกเล่าภาวนาให้ฟัง เข้าท่านี่ว่ะ

เราเลยให้ไปบวชมุกดาหาร เราไม่ไปแหละ แต่ให้โยมพาไป ให้พระพาไป บริขารเราเตรียมพร้อมเสร็จแล้ว ให้ไปบวชแล้วมาอยู่กับเรา หลวงพ่อตันนี้องค์หนึ่ง..."

รูปภาพ
แม่ชีแพง โลหิตดี โยมมารดาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ตอบแทนพระคุณบิดามารดา

ระยะต่อมา ด้วยความระลึกถึงพระคุณของโยมมารดา อยากให้โยมมารดารู้เห็นและพบความสุขจากธรรมนี้บ้าง ท่านจึงจากบ้านห้วยทรายมาที่บ้านตาด เหตุการณ์ในระยะนี้หลวงปู่หล้าบันทึกไว้ว่า

"...พอถึงปี พ.ศ. 2497 ออกพรรษาแล้วจีวรกาลเสร็จ องค์ท่าน (หมายถึงหลวงตามหาบัว) จะได้ไปเอามารดาบวชขาว องค์ท่านก็คิดละหวนทวนไปมาว่า ถ้าบวชแล้วจะเอาโยมมารดามาอยู่ห้วยทราย คุณชีแก่ๆ อายุมาก ตลอดทั้งหนุ่มก็มีอยู่มากแล้ว เกรงจะมาทับถมให้ภาระหนักขึ้นแก่ผู้ที่ท่านบวชก่อน เพราะเป็นโยมมารดาของผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องจะได้ให้เกียรติให้คุณเป็นพิเศษ เกรงจะหนักใจแก่ท่านผู้มีอายุมาก และพร้อมทั้งบวชก่อน จึงตกลงใจว่าบวชโยมมารดาแล้วจำจะหาที่อยู่ใหม่ องค์ท่านจึงปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า

"...ผมจะได้ไปบวชโยมมารดา ส่วนจะกลับนั้นบอกไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนที่จะไปกับผมนั้น จะไปหมดก็ไม่ถูก เวลาอยู่เราก็แย่งกันอยู่ เวลาไปเราก็แย่งกัน มันเป็นเรื่องไม่งามแก่ฝ่ายปฏิบัติ จะเสียวงศ์ตระกูลฝ่ายปฏิบัติ ฉะนั้น ขอให้คุณสมจงพาหมู่อยู่นี้บ้างในพรรษาต่อไปนี้ ทีนี้ส่วนผู้ที่จะไปกับผมคนนั้นคนนี้ผมก็ไม่ว่า ส่วนจะอยู่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปกับผมมากก็ลำบากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ใดแน่ จึงเป็นของน่าควรคิดมากแท้ๆ ในเรื่องนี้"

เมื่อถึงบ้านตาดแล้ว ท่านจึงจัดการบวชชีให้โยมมารดา และให้การอบรมปฏิบัติจิตตภาวนา ปีนั้นโยมมารดามีอายุครบ 60 ปีพอดี เหตุการณ์ในระยะนั้น ท่านเล่าว่า

"...พอได้เวลาแล้วก็จดหมายมาบอกโยมแม่ว่า

"จะมาจากห้วยทรายประมาณวันที่เท่านั้น ให้เตรียมพร้อมไว้"

ตั้งใจว่าเมื่อมาแล้วจะเอาโยมแม่บวชทันที พอมาถึง โยมแม่ก็พอดีเตรียมพร้อมไว้แล้วก็จับบวชเลย มีผู้เฒ่าแม่แก้ว (คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ) ที่ติดตามมา 3 คนนี้ มาเพื่อโยมแม่นี่เอง ถ้าไม่อย่างนั้นโยมแม่จะไม่มีเพื่อนฝูงอยู่ เพราะพวกนั้นก็เห็นคุณเรานี่...ทีนี้เราจะมาบวชโยมแม่นี้ เขาก็ติดตาม มาเพื่อมาเป็นเพื่อนฝูงของโยมแม่นั่นละ...พอมาก็จับบวชเลยทันที คล่องตัวเลย"

จะขอกล่าวถึงโยมบิดาของท่าน นับเป็นเวลาหลายปีก่อนที่โยมบิดาของท่านจะเสียชีวิต ท่านได้พยายามเขียนจดหมายมาขอร้องบิดาอยู่หลายครั้ง ให้เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จนในที่สุดพ่อก็ยอมเชื่อและไม่ฆ่าสัตว์ใดๆ อีกแลย

บิดาของท่านได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2487) รวมอายุได้ 55 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ท่านกำลังภาวนาอยู่ในป่าในเขา

ทราบกันว่า พอตอนเช้าวันเดียวกันกับที่โยมบิดาของท่านสิ้นใจ ท่านได้บอกกับพระเณรที่พักอยู่กับท่านในระยะนั้นว่า "...เออ โยมพ่อนี่เสียแล้วล่ะ เมื่อคืนนี้แหละ น้องของพ่อมาบอกว่า "พ่อเสียแล้ว" คอยฟังข่าวนะว่า มันจะหลอกหรือจะจริง..."

พระเณรจึงจดวันเวลาที่ท่านบอกไว้ เมื่อผ่านไปได้สักเกือบ 2 อาทิตย์ ท่านก็ได้รับจดหมายจากญาติพี่น้องทางจังหวัดอุดรธานีว่า "โยมบิดาสิ้นแล้ว"

เมื่อพระเณรลองตรวจสอบวันเวลาที่จดบันทึกไว้กับในจดหมาย ก็ปรากฏว่าตรงกันพอดี เป็นที่อัศจรรย์กันทั่วหน้า

รูปภาพ
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท


จังหวัดจันทบุรี

เมื่อท่านพาโยมมารดาบวชแล้ว เพื่อไม่ให้ต้องมีสัญญาอารมณ์กับลูกกับหลาน ญาติพี่น้อง ท่านจึงพาโยมมารดาไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2497

ครั้งแรกก็ไปพักอยู่ที่บ้านยางระหง ต่อมา ท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท เป็นผู้นิมนต์ท่านมาพักและสร้างวัดขึ้นในที่ดินของโยมพี่สาว บริเวณสถานีทดลองกสิกรรมพริ้ว อำเภอแหลมสิงห์

ท่านอาจารย์เจี๊ยะเป็นผู้ดูแลในการจัดสร้างเสนาสนะให้ไดัรับความสะดวกครบถ้วน ใช้เป็นที่พักจำพรรษาได้เป็นอย่างดี มีขอบเขตบริเวณเป็นส่วนเป็นสัดชัดเจนทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายอุบาสิกา การเกี่ยวข้องสังคมกับประชาชนของท่านนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนที่จังหวัดจันทบุรีนี้เอง

ท่านเล่าถึงความมั่นคงเหนียวแน่นทางพุทธศาสนาของชาวจันทบุรีไว้ ดังนี้

"...ไปทางจันท์ ได้เทศน์ออกสังคม ก็ไปเทศน์ที่เมืองจันท์ เทศน์เหล่านั้นก็เทศน์ แต่ไม่ได้อะไรนัก

เมืองจันท์นี่ โห เหนียวแน่นมากนะ ศรัทธาสำคัญมากนะ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระนี้ คนเต็มอยู่นู่น สถานีทดลองฯ ไปฟังเทศน์เต็มอยู่

เขายังมาพูดอวดท่านพ่อลี เขาไม่รู้ว่า เรากับท่านพ่อลีคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไร เขาไปแล้วก็เอามาคุยโม้กับท่านพ่อลี ระยะนั้นท่านพ่อลีท่านอยู่วัดป่าคลองกุ้ง เขาไปเล่าให้ท่านฟังว่า

"ท่านพ่อ เดี๋ยวนี้ได้พระองค์สำคัญองค์หนึ่งแล้ว มาอยู่ที่วัดสถานีทดลอง"

"สำคัญอะไร ?" ท่านก็ว่าซิ ความจริงคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไรเขาไม่รู้ เขาว่า

"ท่านอาจารย์มหาบัว อู๊ย เทศน์น้ำไหลไฟสว่างไปเลย" ว่าอย่างนั้น แล้วก็คุยให้ท่านฟังนะ

"มันต้องอย่างงั้นซิ" เวลาท่านตอบ"มันต้องอย่างงั้นซิ"

ความจริงรู้กันมาตั้งแต่เมื่อไรเขาจะไปรู้อะไร เพราะฉะนั้น เวลามาพูดคุยโม้ให้ท่านฟัง ท่านก็อดหัวเราะไม่ได้ ท่านก็ว่า "มันต้องอย่างงั้นซิ" ท่านก็ว่าเท่านั้นละ..."

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


ดูคน...บ่งลักษณะนักเลงโต

ที่จันทบุรีแห่งนี้ ในพรรษานั้นเอง มีเรื่องหนึ่งทำให้ ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร อัศจรรย์ความสามารถของท่านอย่างยิ่งในการดูลักษณะคน แม้เพียงเล็กน้อยแต่สามารถทราบถึงอุปนิสัยใจคอได้ถนัดชัดเจน คือขณะที่พระเณรกำลังทำงานร่วมกันอยู่ ท่านก็บอกให้ดูคนคนหนึ่ง แล้วจึงพูดขึ้นว่า

"พวกท่านดูคนคนนี้เป็นยังไง มาใกล้ชิดติดพันอยู่กับวัดนี่น่ะ"

พระเณรทั้งหลายต่างพากันแปลกใจในคำถามของท่าน เพราะก็ไม่เห็นว่าชายผู้นี้จะมีอะไรผิดปกติไปกว่าคนอื่นๆ แต่อย่างใด ท่านอาจารย์สิงห์ทองจึงได้ตอบไปว่า

"จะว่ายังไง ? ก็เป็นคนดีๆ นี่"

ท่านว่า "ใช่เหรอ ? ดูให้ดีนะ"

ท่านอาจารย์สิงห์ทองพูดอย่างมั่นใจว่า "จะดูให้ดีอะไร ก็ดูมาดีแล้ว"

"ให้พิจารณาเสียก่อนนะ" ท่านย้ำ

จากนั้นท่านก็ได้อธิบายในฉากหลังของชายผู้นั้นว่า

"นี่เป็นนักเลงโตนะ สามารถฆ่าคน 5 คนได้โดยไม่รู้ตัว เพราะมีลักษณะทุกอย่างพร้อมหมดเลย"

ท่านอาจารย์สิงห์ทองรู้สึกแปลกใจ และยังไม่เชื่อคำพูดของท่าน จึงได้แอบตามไปสืบประวัติเบื้องหลังของชายผู้นั้นอย่างจริงจังชนิดจะเอาให้รู้ความจริงให้ได้ เมื่อซักไซ้ไล่เรียงกันอย่างหมดไส้หมดพุงในจุดที่สงสัยแล้ว ผลปรากฏว่าเป็นจริงตามนั้นทุกประการ จึงกลับมาพูดกับท่านว่า

"โอ๊ย อัศจรรย์ ท่านอาจารย์ดูคน ดูยังไง ทำไมอาจารย์อยู่ๆ ก็พูดขึ้น ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่มีอะไรกับท่านอาจารย์ให้จับพิรุธได้เลย ทั้งๆ ที่เขาก็ดิบก็ดีมาตลอด ผมดูเขามาตลอด ยอมท่านอาจารย์เลย"

ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยใจเด็ดของท่านอาจารย์สิงห์ทองให้พระเณรที่วัดป่าบ้านตาดฟังว่า

"ท่านสิงห์ทองนี้เด็ด ! เป็นคนไม่ยอมใครง่ายๆ และหากไม่ยอมแล้ว จะสู้เลย หากยอมแล้วจะยอมจริงๆ"

เหตุการณ์ครั้งนั้นนจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักถูกนำมาเล่าต่อๆ กันในวงลูกศิษย์พระเณรแม้ทุกวันนี้

เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้พาโยมมารดามาพักที่บ้านสามผาน อำเภอท่าใหม่ แม้กระนั้นญาติโยมทางสถานีทดลองก็ยังได้ตามมาฟังธรรมและนิมนต์ขอให้ท่านกลับไปอยู่เนืองๆ จนบางครั้งเป็นเหตุให้ญาติโยมทางบ้านสามผานชักรู้สึกอึดอัดขัดเคืองอยู่ไม่น้อย เพราะก็เคารพรักท่านเหมือนกัน ไม่อยากให้กลับไป อยากจะให้ท่านอยู่ที่นั่นนานๆ หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้อยู่ตลอดไปเลย

พอดีในตอนนั้นโยมมารดาก็ป่วยมาก จำเป็นจะต้องได้พากลับมาที่บ้านตาด อุดรธานี อีกทั้งโรคของโยมมารดาก็บังเอิญถูกกับยาสมุนไพรของหมอที่นั่น จึงเป็นอันต้องจากจันทบุรีมาด้วยความอาลัยทั้งสองฝ่าย

เพราะเหตุที่ท่านไปจังหวัดจันทบุรีในคราวนั้นเอง จากนั้นมาชาวจันทบุรีก็ได้ตามมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านตาดไม่เคยขาด และท่านเองหากมีโอกาสก็จะไปเยี่ยมพี่น้องชาวจันทบุรีอยู่เสมอเช่นเดียวกัน


(มีต่อ 21)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 15 เสาหลักกรรมฐาน

ตั้งวัดป่าบ้านตาด

ด้วยเหตุที่โยมมารดาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต ท่านจึงพากลับมารักษาตัวที่บ้านตาด หมอที่รักษาโรคอัมพาตใช้อ้อยดำผสมในสูตรยาด้วย ท่านจึงหาอ้อยดำมาปลูกไว้ข้างๆ กุฏิของโยมมารดา หมอทำการรักษาอยู่ถึง 3 ปี โรคจึงหายขาด จากการที่ต้องอยู่พยาบาลโยมมารดาเป็นเวลานาน ทั้งโยมมารดาก็มีอายุมากแล้ว การจะหอบหิ้วไปอยู่ด้วยกันในสถานที่ทุรกันดาร ตามอัธยาศัยเดิมของท่านที่ชอบหลีกเร้นแต่ผู้เดียวนั้น ก็มีแต่จะสร้างความลำบากให้กับโยมมารดามาก ความคิดก่อตั้งวัดป่าบ้านตาดจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เอง

ประจวบกับเวลานั้นชาวบ้านตาดก็ได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณของท่านมานานแล้ว มีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นเช่นกัน จึงได้พร้อมใจกันถวายที่ดิน วัดป่าบ้านตาดจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา เมื่อได้อยู่เป็นที่เป็นฐาน ทำให้พระเณรต่างหลั่งไหลมาอยู่กับท่านมากขึ้น ในระยะแรกๆ ท่านจำกัดจำนวนไว้เพียงแค่ 17-18 องค์ และคงจำนวนไว้เช่นนั้นอยู่หลายปี คือ ตั้งแต่ 2499 มาจนกระทั่งถึง 2519-2520 อย่างไรก็ตาม เมื่อครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ต่างล่วงลับไป พระเณรจำนวนมากไม่มีที่เกาะที่ยึด ท่านก็ค่อยอนุโลมให้เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งปี 2541 มีพระเณรในพรรษาทั้งสิ้น 47 องค์

เนื่องจากโยมมารดาของท่านนั้น มิได้ฝึกหัดอ่านเขียนหนังสือมา เพราะสมัยก่อนการศึกษายังไม่เจริญดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงต้องอาศัยลูกหลานช่วยอ่านหนังสือที่ท่านเป็นผู้เขียนเช่น เช่น ประวัติท่านอาจารย์มั่นให้ฟังทุกวัน รวมทั้งท่านจะให้การอบรมธรรมแก่โยมมารดาของท่านโดยสม่ำเสมอ ความซาบซึ้งในธรรมจึงมากยิ่งขึ้นทุกวัน ความเพียรก็เข้มแข็ง จึงสามารถปฏิบัติภาวนาได้เป็นอย่างดี และก้าวหน้าไปโดยลำดับเต็มความสามารถของท่าน โยมมารดาของท่านเคยเล่าว่า

"ได้ฟังท่านแสดงธรรมครั้งใดไม่เคยพลาดเลย จิตจะรวมลงแน่วทุกครั้งไป"

ป่วยเพียงกาย ใจแจ้งกระจ่าง

ในวาระสุดท้ายก่อนหน้าที่โยมมารดาจะจากโลกไป ท่ามกลางทุกขเวทนากล้าที่พร้อมจะให้สิ้นชีวิตได้ทุเมื่อ ท่านได้เข้าไปเยี่ยมและถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง โยมมารดาได้ตอบว่า

"ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็จริง แต่ใจนั้นใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลา"

จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า โยมมารดาของท่านได้ประสบสุคโต นับว่าสมเจตนารมณ์ของท่านอย่างยิ่งที่ได้ทดแทนพระคุณโยมมารดาอย่างเต็มที่ สมดังที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญไว้ว่า "ผู้ใดทำมารดาบิดาให้ตั้งอยู่ในคุณความดี มีศรัทธา คือ ปัญญา เป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าได้สนองคุณท่านเต็มที่"

โยมมารดาได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการอันสงบ เมื่ออายุย่างเข้า 93 ปี ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 และด้วยเหตุนี้เอง ในทุกๆ ปีของวันที่ 30 พฤษภาคม (วันทำบุญโยมมารดา) ท่านไม่เคยละเว้นและไม่ลืมที่จะทำบุญระลึกถึงพระคุณโยมมารดา สิ่งนี้ย่อมแสดงถึงความซาบซึ้งในบุญในคุณของโยมมารดาแบบไม่สร่างซา

งานฉลองกึ่งพุทธกาล

ย้อนมากล่าวถึง ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม ซึ่งชาวจันทบุรีเคยเอาเรื่องการเทศน์น้ำไหลไฟสว่างของท่านไปเล่าให้ท่านพ่อลีฟัง ความเป็นจริงแล้วท่านทั้งสองเคยรู้จักกันมาก่อนแล้วสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ดังคำกล่าวของท่าน (หลวงตา) ว่า

"...ท่านพ่อลีมีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญชาญชัยมากในการประพฤติปฏิบัติ และท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เริ่มแรกโน้น จนกระทั่งได้พลัดพรากจากกัน ทั้งหลวงปู่มั่นและองค์ท่านเองก็เคยไปมาหาสู่อยู่เสมอ

เท่าที่ได้สังเกตในเวลาท่านไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่นที่วัดบ้านหนองผือนั้น รู้สึกว่าหลวงปู่มั่นท่านแสดงอากัปกิริยาเต็มไปด้วยความเมตตาอย่างมากมาย เห็นได้อย่างชัดเจน แม้ท่านจะไม่ได้พักอยู่วัดป่าหนองผือเป็นเวลานานก็ตาม แต่สถานที่ให้พักสำหรับท่านพ่อลีเรานี้ ท่านเป็นผู้สั่งเองว่าให้ไปจัดที่นั่นๆ คือในป่านอกบริเวณรั้ววัด ให้ท่านลีได้พักสบายๆ เพราะสงัดดีกว่าที่อื่นๆ

คำว่าที่นั่นๆ นั่นหมายถึงในป่าลึกๆ โน้น แล้วก็สั่งเราเองนี้ให้เป็นผู้ไปดูและจัดสถานที่ที่จะให้ท่านพัก หลังจากนั้นท่านยังตามไปดูสถานที่พักนั้นอีกด้วย นี่ก็เป็นเหตุให้ประทับใจไม่ลืม และการให้โอวาทสั่งสอนใน 2-3 คืนที่ท่านพักอยู่นั้น รู้สึกว่าประทับใจอย่างมากทีเดียว

เพราะครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน และเป็นที่เมตตาเป็นที่ไว้วางใจของท่าน นานๆ จะได้ไปพบกับท่าน กราบนมัสการท่านครั้งหนึ่งและได้สนทนาธรรมกัน ท่านจึงได้สนทนากันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถเต็มธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งยากที่จะหาฟังได้ในเวลาอื่นๆ

นี่เป็นเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้ เพราะหลวงปู่มั่นนั้นแสดงอาการอันใดออกมา ย่อมเต็มไปด้วยเหตุด้วยผลด้วยความหมายที่จะยึดเป็นคติได้ตลอดไป ไม่สักแต่ว่ากิริยาที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่เต็มไปด้วยความหมาย นี่ท่านพ่อลีก็เป็นลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่นเรา..."

จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าท่านพ่อลีรู้จักคุ้นเคยกับท่านตั้งแต่สมัยอยู่บ้านหนองผือแล้ว

รูปภาพ

รูปภาพ
บรรยากาศภายในงานฉลองกึ่งพุทธกาล ๒๕ พุทธศตวรรษ
มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานหลายองค์มาร่วมงาน
ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แห่งนี้
หนึ่งในนั้นคือ หลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด
(ขณะนั้นองค์หลวงตามหาบัว ท่านมีอายุ 44 ปี)



ต่อมาเมื่อท่านเริ่มสร้างวัดป่าบ้านตาดได้ไม่นาน ปีนั้นเป็นปี 2500 ครบกึ่งพุทธกาล ท่านพ่อลีจึงได้จัดเตรียมงานฉลองพระพุทธศาสนาขึ้นที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ความตั้งใจของท่านพ่อลีในทีแรกคิดจะจัดงานนาน 2 อาทิตย์ แต่ก็มีเหตุให้ขยายวันเพิ่มออกไป

เป็นปกติธรรม เมื่อทำกิจการงานใด ปัญหาในงานนั้นย่อมเกิดมีขึ้นไม่มากก็น้อย หากต้องอาศัยคนหมู่มากเข้าร่วมงานกันด้วยแล้ว การตกลงกันในงานเพื่อจะให้มีทิศทางเดียวกัน ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นมากยิ่งขึ้นไปอีก มิฉะนั้น ปัญหายุ่งๆ พอให้รำคาญใจ ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย แม้ในคราวจัดงานบุญครั้งนี้ก็เช่นกัน พอเริ่มงานได้ประมาณอาทิตย์หนึ่ง ก็เริ่มมีปัญหาบางประการเกิดขึ้น คือจำนวนแม่ครัวมีไม่เพียงพอ ปัญหาเท่านี้คงไม่ใหญ่โตอะไร แต่เมื่อขยายผลมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ อันเป็นกิ่งก้านสาขาตามมาจนเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกันในที่สุด เนื่องจากยังหาจุดลงตัวไม่ได้ งานส่วนรวมจึงเกิดชะงักงันขึ้น กลายเป็นปัญหาใหญ่โต แม้จะมีพระภิกษุครูบาอาจารย์พยายามไปพูดคุยช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่เป็นผลดีขึ้นแต่อย่างใด บางทีอาจซ้ำร้ายลงไปอีก

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงท่านพ่อลีแล้ว ท่านจึงรีบสั่งเด็ดขาดกับท่านอาจารย์เจี๊ยะ ให้ไปตามท่าน (หลวงตา) ซึ่งพอดีอยู่ในงานครั้งนั้นมาช่วยแก้ปัญหาให้ ท่านอาจารย์เจี๊ยะรับคำสั่งจากท่านพ่อลีให้ไปบอก "...บอกให้มหาบัวเท่านั้นนะไปชำระเรื่องที่ครัว คนอื่นไปแทนไม่ได้โดยเด็ดขาด...ห้ามไม่ให้ใครแทนเป็นอันขาด..."

ด้วยความจำเป็นอันเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ ท่านจึงเข้าซักถามปัญหากับแม่ครัวว่ามีต้นสายปลายเหตุเช่นไร หนักเบามากน้อยเพียงใด เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้ว ท่านก็ชี้ถึงปัญหาและวิธีแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงใจในเหตุผลและช่วยขวนขวายคนละไม่ละมือจนปัญหาต่างๆ หมดไป งานฉลองครั้งนั้นจึงผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีเรื่องหนักอกหนักใจใดๆ อีก คำพูดอย่างจริงจังเข้มข้นของท่านในครั้งนั้น โดยย่อๆ มีว่า

"...เวลานี้พวกเราทั้งหลายมากันในนามลูกศิษย์ของท่านพ่อนะ...วาสนาบารมีของท่านพ่อเป็นยังไง เราถึงมาทำอย่างนี้...เพราะเราทุกๆ คนก็มาในนามลูกศิษย์ แล้วทำไมถึงจะปฏิบัติต่อกันไม่ได้ละ ?

ทำไมถึงกระทบกระเทือนถึงท่านพ่อ หากว่าท่านพ่อมาว่าแบบนี้จะว่ายังไงละ ท่านพ่อจะไม่พูดกี่คำนะ จะพูด 2-3 คำ แล้วพวกเราจะแก้ได้ไหม ?...เอ้า ท่านพ่อจะเดินฉากมานู้น

"อาตมาจะไปแล้วนะ อาตมาไม่มีวาสนาบำเพ็ญพาลูกศิษย์ลูกหา พาทำงานคราวนี้ก็ไม่ได้"

ท่านพ่อจะไปละนะ ท่านก้าวออกจากวัดไปนี้ เอ้า ใครจะติดตามไปเอาท่านมาได้ไหม ? ถ้าหากว่าพวกเราไม่รีบแก้ไขตั้งแต่บัดนี้...เวลานี้ก็อยู่ในฐานะที่จะควรแก้ไขได้ ปฏิบัติกันไม่ได้เหรอ ?..."

พอพูดถึงจุดนี้ คนที่ท้อกับปัญหา หาทางแก้ไม่ออกก็เหมือนถูกกระตุกใจให้ระลึกถึงบุญถึงคุณของท่านพ่อลีที่อุตส่าห์เมตตาแนะนำสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดีพอเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา ต่างมีแก่ใจแข็งขันคิดสู้กับปัญหานั้นให้หมดให้จางไป ไม่เห็นแก่เรื่องขัดอกขัดใจเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่ากิจการงานของครูบาอาจารย์ ต่างขันอาสารับปากรับคำท่านขึ้น คนนั้นก็ว่า "ได้" คนนี้ก็บอกว่า "ได้" คนนั้นก็รับอาสาจะไปติดต่อครัวนั้นให้ คนนี้ก็จะไปติดต่อโรงนั้นๆ ต่างคนต่างจะไปเอามาให้ได้ทั้งนั้น สามัคคีคือพลังกลับคืนมาอีกครั้งดังเดิม

เมื่อได้จุดลงตัวแล้ว ความสมานกลมกลืนกันในงานก็เกิดใหม่อีกครั้ง แต่เข้มแข็งกว่าเดิม ปัญหานั้นก็หมดสิ้นไปกลับกลายเป็นพลังสามัคคีช่วยกันชนิดท่วมท้นเลยทีเดียว คือพอประมาณ 2 ทุ่ม แม่ครัวก็ประกาศขึ้นมามีถึง 200 คน ครั้นพอ 3 ทุ่ม มีถึง 300 คน พอล่วงถึงตอนเช้าขึ้นถึงได้ 300 กว่าคน และด้วยความพร้อมเพรียงเช่นนี้เอง ท่านพ่อลีเลยสนองตอบน้ำใจลูกศิษย์ ด้วยการขยายเวลาออกรวมถึง 3 อาทิตย์ โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น เรื่องต่างๆ ก็สงบเรียบไปหมด

คงเพราะเหตุการณ์จุดนั้นด้วยส่วนหนึ่ง เป็นผลให้ท่านพ่อลีสงวนท่านไว้ ไม่ยอมให้ท่านไปไหนตลอดระยะงานฉลองครั้งนั้น เมื่อท่านพ่อลีเจอหน้าท่านครั้งใด มักจะพูดขึ้นด้วยความเมตตาแบบคนสนิทสนมคุ้นเคยกันว่า

"...มหาบัวไปไหนไม่ได้นะ ยังไม่เสร็จ...มหาบัวไปไหนไม่ได้นะ งานยังไม่เสร็จ..."

จากนั้น ท่านพ่อลี ก็พาท่านเดินไปดูที่นั่นที่นี่ในตอนเช้าเวลาเลี้ยงอาหารกันบ้าง หรือดูเรื่องอื่นๆ บ้าง ทำให้ทุกคนในงานครั้งนั้นต่างเห็นถึงความเมตตาสนิทสนมที่ท่านพ่อลีมีต่อท่านอย่างเป็นกรณีพิเศษทีเดียว

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร


มหาบัว เอ้า ! พิจารณา

อีกครั้งหนึ่ง ที่วัดอโศกการามแห่งเดียวกันนี้ มีการประชุมสงฆ์เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งท่านได้เข้าร่วมประชุมด้วย ครั้งนั้นมีแต่พระเถรานุเถระครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ทั้งนั้น (รวมทั้งท่านพ่อลี) เข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย ทราบกันว่า ระหว่างการประชุมซึ่งยังหาจุดลงเอยไม่ได้นั้น ท่านพ่อลีได้บอกท่านให้ร่วมพิจารณาแสดงความคิดเห็นด้วย โดยพูดขึ้นในที่ประชุมว่า "มหาบัว เอ้า ! พิจารณา"

ด้วยความจำเป็นและเคารพต่อท่านพ่อลี ท่านจึงร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยนิสัยจริงจังเป็นพื้นเดิมของท่าน ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนั้นเป็นไปอย่างเต็มเหนี่ยวเต็มเหตุเต็มผล

ผลปรากฏว่า คณะสงฆ์ต่างเห็นดีและยอมรับตามคำวินิจฉัยของท่านด้วยกันหมด วาระการประชุมที่มีลักษณะเหมือนว่าจะหาที่จบลงได้โดยยาก จึงกลับกลายเป็นอันตกลงยอมรับตามนั้นได้อย่างรวดเร็วถึงใจ การประชุมสิ้นสุดลงได้ด้วยดี

ความเมตตาที่ท่านพ่อลีมีต่อท่านอีกเรื่องหนึ่งนั้น เป็นระยะที่สุขภาพของท่านพ่อลีเริ่มไม่ค่อยดีนัก ท่านพ่อลียังอุตส่าห์เมตตาเขียนจดหมายด้วยตนเองมาถึงท่าน มีใจความโดยย่อคือ

"...ให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดอโศการามด้วย..."

แต่ในระยะนั้นท่านเองก็เพิ่งเริ่มสร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นใหม่ๆ เช่นกัน ทั้งพระเณรที่วัดก็มีมากพอสมควร ท่านจึงกราบเรียนท่านพ่อลีไปว่า ไม่สามารถไปจำพรรษากับท่านพ่อลีได้

ขบขัน...พระป่าเข้าเมือง

เหตุการณ์ระหว่างท่านกับท่านพ่อลีอีกครั้งหนึ่ง ท่านเคยเล่าแบบขบขันเต็มที่ถึงความเชยของตัวท่านเอง ดังนี้

"...มันขบขันตอนที่ท่านมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบุคคโลนะ พระปิ่นเกล้านั่นละ เราไปเยี่ยมท่าน แล้วมันมีออดอยู่อันหนึ่ง (ออดสำหรับคนป่วยไว้เรียกแพทย์พยาบาลในยามฉุกเฉิน) เขาเอาวางไว้นี่ เราก็คุย ก็มันวางอยู่ข้างเรานี่ เราก็ไปนั่งคุย คุยกับท่าน เห็นออดมันวางอยู่ เราไม่รู้ว่ามันเป็นออดนี่นะ

มันขบขันดีนะ ขบขันตรงนี้ละ ตรงพระป่ามันเซ่อไม่รู้เรื่องอะไร ไปเห็นออดมันวางอยู่ มันติดอยู่ข้างนี่ เราก็จับมา เห็นมันอ่อนๆ เราก็เลยบีบดูเสีย เราไม่รู้ว่ามันเป็นออดนี่นะ พอบีบทางนี้ มันก็ไปกวนพวกหมอและพยาบาลนี่นะ พวกที่อยู่ข้างล่างก็เลย โฮ้ เลยแตกฮือขึ้นเลยรุมขึ้นมา

"เอ๊ะ ท่านพ่อเป็นอะไร ? เป็นอะไร ?"

ท่านพ่อว่า "จะเป็นอะไร แล้วเป็นอะไรกันเนี่ย ?"

"ก็ได้ยินเสียงออดทางนู้น"

ท่านพ่อว่า "ออดที่ไหนน่ะ ?"

ท่านก็ไม่รู้ว่าเรากด มันขบขันตรงนี้ละ ไอ้เราเองยังไม่รู้นะ เขามาทางนู้น เราก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้คือออด เสียงออดมันไปกวนของเขา ก็เราบีบเล่นธรรมดา อ๊อดๆ นั่นซี เขาก็รุมขึ้นมา

"เอ๊ ท่านพ่อเป็นอะไร ? ท่านพ่อเป็นอะไร ?" เขามาแบบตาลีตาลานนะ มาแบบรีบด่วนจริงๆ...ก็มันนุ่มๆ เรากดเล่น เราถามเขาว่า

"หือ ? อันนี้เหรอ ? ที่ว่าได้ยินเสียงออด นี่อันนี้เหรอ ?"

"อันนี้แหละ"

"โอ๋ แล้วกันละ เราบีบเล่นอยู่นี้"

ท่านพ่อว่า "หุ้ย ทำไม่เข้าเรื่อง"

ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านพูดเท่านั้นหละ "ทำไม่เข้าเรื่อง"

เขาก็แตกฮือลงไปละนะ พอรู้เรื่องว่าเพราะอันนี้เอง เราว่า

"โอ๊ย นี่กระผมแหละบีบเล่น นึกว่าอะไร ไม่รู้เรื่อง" ท่านพ่อว่า "ทำไม่เข้าเรื่อง"

...พอเขารู้เรื่องแล้วต่างคนต่างหัวเราะกันลั่น..."

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับกุฏิขององค์ท่าน
ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2502



(มีต่อ 22)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2493



ประนีประนอม ยอมธรรม

การประชุมปรึกษาหารือกันในงานใดก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายฆราวาสหรือภิกษุสงฆ์ เป็นธรรมดาที่มักมีทางเลือกที่เหมาะสมอยู่หลายทาง การตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งจำต้องประกอบด้วยเหตุผลอันแน่นหนาและเป็นธรรม หลายครั้งหลายคราที่ต้องรู้จักประนีประนอมยอมกันระหว่างทางเลือกหลายๆ แบบให้เป็นที่ลงใจและเกิดประโยชน์โดยรวมร่วมกันสูงสุด เกิดการกระทบกระเทือนทางความคิดเห็นน้อยที่สุด

เรื่องเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่สมาชิกที่เคยร่วมประชุมกันทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสว่า ครั้งเมื่อท่านเข้าร่วมประชุมด้วย ท่านเคยทำหน้าที่ทั้งซักถาม ทั้งวินิจฉัยพิจารณา และเสนอการตัดสินใจให้ผู้ร่วมประชุมได้คัดค้านหรือลงมติอย่างเข้มข้นตามอุปนิสัยจริงจังของท่าน และผลปรากฏเสมอๆ ว่า ที่ประชุมร่วมลงมติยอมรับการตัดสินทางเลือกนั้นๆ ชนิดอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นที่พอใจกันถ้วนหน้า ดังเช่นครั้งหนึ่งมีการประชุมกันที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ครั้งนั้นเป็นระยะที่ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านมรณภาพแล้ว ที่ประชุมมีเรื่องปรึกษาปรารภเกี่ยวกับบริขารเครื่องใช้ของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ผู้ร่วมประชุมมีทั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด พระเถระหลายรูป ฝ่ายฆราวาสก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเข้าร่วมประชุมด้วย ประชุมอยู่ถึง 2 วัน ก็ไม่สามารถจะหาข้อตกลงที่เหมาะสมได้ จึงเป็นที่หนักอกหนักใจแก่กรรมการผู้เข้าร่วมพิจารณาไม่น้อยทีเดียว เหมือนไฟอยู่ในอกเพราะหาจุดตัดสินไม่ได้ แต่กาลเวลาล่วงเลยไปมากแล้ว เกรงจะไม่ทันการณ์

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเจ้าคณะจังหวัดอุตส่าห์เขียนจดหมายด่วนให้เณรเดินมาส่งถวายท่านถึงวัดป่าบ้านตาด เพราะสมัยนั้นรถราไม่มี จดหมายนั้นมีใจความสำคัญว่า "...ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปดับไฟที่วัดโพธิสมภรณ์ให้ด้วย... มองเห็นแต่ท่านอาจารย์องค์เดียวเท่านั้น ขอนิมนต์ไปโดยด่วน..."

หลังจากอ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว ท่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจคณะผู้ร่วมประชุมเป็นอันมาก ทั้งวัดนี้และเรื่องที่ประชุมอยู่นี้ก็เป็นเรื่องของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านเองด้วย ทั้งพระสงฆ์ฆราวาสผู้เข้าร่วมประชุม ก็ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่ดี ที่จะให้งานบรรลุผลสำเร็จด้วย เพราะต่างก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ด้วยกันทั้งนั้น

ท่านจึงสะพายบาตรออกเดินจากวัดป่าบ้านตาดลัดไปทางสนามบินจนถึงชานเมืองอุดรธานี จึงจะมีสามล้อให้ขึ้นต่อไปได้ พระผู้เข้าร่วมประชุมคราวนั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างถึงใจในความเด็ดของท่านว่า

"...เมื่อท่านไปถึงที่ประชุม ท่านก็เริ่มไล่ซักถามเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมจนจบครบถ้วน และตอบโต้ในจุดแห่งปัญหาต่างๆ ด้วยเหตุผล จนผู้ซักถามเป็นที่ลงใจ หมดข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไป โดยประการทั้งปวง ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 45 นาทีเท่านั้น ในตอนท้ายก่อนจบการประชุม ท่านกล่าวต่อที่ประชุมว่า

"ใครมีข้อพิจารณาคัดค้านในจุดเหล่านี้บ้างหรือไม่ อย่างไร ?"

ปรากฏว่าไม่มีใครค้านแต่อย่างใด ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสต่างตกลงเห็นดีเห็นงาม และพร้อมกันเซ็นรับรองข้อยุตินั้นร่วมกันด้วยความเรียบร้อย และขอให้ท่านร่วมเซ็นชื่อเป็นเกียรติด้วย แต่ท่านก็ไม่ได้เซ็นชื่อแต่อย่างใด..."

ในเรื่องนี้ท่านให้เหตุผลว่า

"...เราไม่ได้มาเพื่อการลงเอาชื่อ แต่มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่างหาก เมื่อวาระสงบเรียบร้อย เราก็พอใจแล้ว..."

ด้วยอุปนิสัยของท่านที่มีเหตุมีผล และมีความจริงจังเด็ดขาด ไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดหรือคนใดยิ่งกว่าธรรมนี้เอง ท่านจึงมักถูกขอให้เป็นหลักในการประชุมสำคัญๆ อยู่เสมอ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของท่าน จะพยายามหาจุดพอเหมาะพอดีในการตัดสินใจ เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่นั้นจึงมักไม่มีสิ่งกระทบกระทั่ง หากมีก็น้อยที่สุด แต่ก็ด้วยถือเอาเหตุผลและธรรมเป็นใหญ่ การประชุมครั้งสำคัญในที่ต่างๆ จึงยอมรับตกลงกันได้ง่ายและสงบเรียบร้อย

นอกจากการประชุมที่ท่านเข้าร่วมวินิจฉัยด้วยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านก็ยังมีโอกาสเข้าร่วมประชุมครั้งสำคัญๆ อื่นๆ อีกมาก เช่น ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

รูปภาพ
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

รูปภาพ
หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


ที่ปรึกษาแห่งวงกรรมฐาน

แม้ในสมัยหลังๆ นี้ก็เช่นกัน ท่านมักได้รับคำขอร้องจากลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสอยู่เสมอๆ ให้เป็นประธาน คอยให้คำปรึกษาแนะนำและตัดสินใจในงานสำคัญต่างๆ ที่มักมีแง่มุมข้อปลีกย่อยมากมาย อันเป็นเหตุให้มีเรื่องต้องถกเถียงหาเหตุผลกันอยู่เนืองๆ

ครั้นเมื่อมีประธานที่ปรึกษาที่เด็ดขาดจริงจัง และประกอบด้วยเหตุผลอรรถธรรมนั้นๆ มักผ่านไปได้อย่างราบรื่นทุกครั้งทุกคราไป เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ด้วยความเมตตาและเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว ทำให้ท่านยอมเหน็ดเหนื่อยแบกภาระมาเกี่ยวข้องรับผิดชอบในเรื่องสำคัญๆ เสมอมา ตัวอย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งวัดกรรมฐานในจังหวัดต่างๆ ทุกภาค เพราะมีเจ้าศรัทธาคิดอยากถวายที่ดิน ท่านอยู่จำนวนมาก

เรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และเจดีย์สถานของครูบาอาจารย์พระอริยสงฆ์องค์สำคัญๆ เรื่องสุขภาพการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาลครูบาอาจารย์องค์สำคัญที่อาพาธหนัก ไปตลอดกระทั่งถึงเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่บุญจันทร์ ท่านอาจารย์สีทน หลวงปู่คำตัน หลวงปู่หล้า และงานอื่นๆ อีกหลายวาระด้วยกัน

มีตัวอย่างหนึ่ง แสดงถึงน้ำใจของท่านที่คอยให้คำปรึกษาและเอื้อเฟื้อต่อหมู่เพื่อนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันมา นั่นคือ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

หลวงปู่บุญจันทร์เป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง มีพรรษาน้อยกว่าหลวงตามหาบัวเพียง 2 พรรษาเท่านั้น แต่ท่านให้ความเคารพนับถือในธรรมแก่กันและกันเป็นอย่างสูง ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบันนี้

คราวที่หลวงตามหาบัวท่านเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่บุญจันทร์ก่อนมรณภาพไม่นานนัก ท่านกล่าวกับหลวงปู่บุญจันทร์ก่อนกลับว่า

"เอาละนะ จะกลับล่ะ ไม่มีอะไรจะเตือนกันหรอกนะ กรรมฐานใหญ่เหมือนกัน"

จากนั้น ท่านหันไปพูดกับญาติโยมที่เข้ามากราบท่านในขณะนั้นว่า

"ตั้งใจมาเยี่ยมอาจารย์บุญจันทร์ แต่ก่อนในคราวออกปฏิบัติ ท่านก็ออกปฏิบัติ เราก็ออกปฏิบัติ ได้เจอกัน ทุกข์ยากลำบากด้วยกัน เอาละ กลับล่ะ เยี่ยมคนป่วยไม่รบกวนนานหรอก"

วาระสุดท้าย ขณะที่หลวงปู่บุญจันทร์ท่านจวนเจียนมรณภาพเต็มทีแล้ว เป็นเวลาเดียวกันกับที่หลวงตาท่านเดินทางไปถึงพอดี ท่านไปอย่างรีบเร่งแล้วเข้าไปในห้องอาพาธของหลวงปู่ ท่านขยับไปยืนอยู่ใกล้ๆ ทางศีรษะแล้วท่านเอามือเปิดผ้าที่ปิดหน้าผากหลวงปู่ออกดู พร้อมกับพูดว่า "วันนี้บวมมากกว่าวานนี้"

ในขณะนั้นหลวงปู่บุญจันทร์ได้หายใจเบาลงเหมือนกับจะขยิบตาเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็หยุดหายใจ ละธาตุขันธ์ไปในที่สุดเมื่อเวลา 10.62 นาฬิกา ของวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จากนั้นท่านจึงถอยไปนั่งเก้าอี้แล้วมองดูหลวงปู่ พร้อมกับพูดว่า "เอ้า หยุดหายใจแล้ว"

ภายหลังต่อมา ท่านพูดถึงเรื่องนี้กับพระว่า "ท่านบุญจันทร์คอยเรา พอเรามาถึงเข้าไปเยี่ยม ท่านก็ไปเลย"

ระยะที่หลวงปู่บุญจันทร์อาพาธอย่างหนักเช่นนี้ หลวงตาท่านก็ยังคงเป็นที่พึ่งคอยให้คำแนะนำปรึกษาทุกสิ่งทุกประการในวิสัยของท่าน แก่คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่บุญจันทร์อย่างอบอุ่นอยู่ทุกระยะจวบจนวาระสุดท้ายของหลวงปู่เลยทีเดียว ความเมตตาของหลวงตาท่านที่รับเป็นธุระใส่ใจอย่างเต็มที่ต่อคำกราบเรียนปรึกษาของคณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่บุญจันทร์ในวาระต่างๆ ดังนี้

รูปภาพ
หลวงปู่บุดดา ถาวโร


พระเพชรน้ำหนึ่ง...ธาตุขันธ์ยามอาพาธหนัก

หลวงตามักได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ เกี่ยวกับธาตุขันธ์ยามอาพาธหนักของครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่นคำปรารถของท่านคราวหนึ่งดังนี้

“...พระลูกศิษย์หลวงปู่บุดดาได้ไปหาเราที่สวนแสงธรรม เราได้ถามถึงอาการของหลวงปู่ท่านว่า...

‘แต่ก่อนธาตุขันธ์ของท่านเป็นคุณเป็นประโยชน์ ทำประโยชน์ให้โลกมามากต่อมาก นานแสนนาน จนกระทั่งอายุถึงปูนนี้ และได้เข้ามาอยู่ศิริราชแล้วเวลานี้ เพื่อจะลาขันธ์ไป เพราะขันธ์นี้ใช้ไม่ได้แล้ว

นอกจากใช้ไม่ได้แล้วยังเป็นโทษรอบตัวอีก ไม่มีช่องว่างของขันธ์ที่จะไม่เป็นโทษต่อท่าน แล้วยังจะเอาท่านไว้อย่างนั้นอยู่เหรอ ?...สมควรแล้วหรือ ? ให้ลูกหลานไปพิจารณานะ’


นี่อาจารย์ชาก็เป็นอย่างนี้ละ เราบอกตรงๆ เลย อาจารย์ชาก็เกี่ยวกับเราอีกเหมือนกัน คุ้นกันมาสักเท่าไรแล้ว แล้วนี่หลวงปู่บุดดาก็เหมือนกัน คุ้นกันมานาน สนิทสนมกันมากทั้งสององค์นี่กับเรานะ

หลวงปู่บุดดาท่านเป็นเหมือนปู่เรานี่จะว่าไง พอเราไปกราบที่ตักท่าน ท่านก็ อู๊ย จับโน้นลูบนี้ จับนั้นจับนี้เรานะ ท่านทำด้วยความเมตตาจริงๆ แหละ...

ท่านยังยกยอต่อลูกศิษย์ลูกหาของท่านเองด้วย เขาเอาเทปเราไปเปิดให้ท่านฟังกัณฑ์เด็ดๆ เสียด้วยนะ...ลูกศิษย์มาเล่าให้ฟัง ท่านพูดเวลาเทศน์จบลงแล้ว ท่านว่า

‘ได้ยินชื่อท่านมานานแล้วแหละท่านมหาบัวนี่ คุ้นกันมาสักเท่าไรแล้วยังไม่รู้อยู่เหรอว่าคุ้นกัน...จะมาเล่าอะไรให้ฟังอีกล่ะ’

ทีนี้เมื่อพระมาหาเรา...เราก็ฝากข้อคิดไปว่า ‘เวลานี้ขันธ์ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับท่านแล้ว ลูกศิษย์จะหวังชื่นชมยินดี เพราะไฟคือธาตุขันธ์เผาไหม้ท่านอยู่อย่างนี้ สมควรแล้วเหรอ ?... เวลานี้ไฟขันธ์เผาตลอดไม่มีว่างเลย...ให้ไปพิจารณานะ’

อาจารย์ชาเป็นลักษณะนี้มาหลายปี ถามทีไรก็เป็นอย่างนี้ ก็พอดีพระหนองป่าพงไปหาเราที่สวนแสงธรรม เอากันใหญ่เชียร์คราวนั้น เปรี้ยงทีเดียวอัดเทปเอาไว้เสร็จ

พอเสร็จแล้วเขาก็เอาเทปไปเปิดเมืองอุบลฯ เลย เอาไปตั้งกึ๊กลงที่วัดหนองป่าพงเลย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาท่านมารวมนั้นหมด ผู้ว่าฯ เป็นผู้นำเทปไปเปิด

‘เอ้า ใครทีนี้ฟังนะ เทศน์นี่เทศน์อาจารย์มหาบัว ท่านอาจารย์มหาบัวกับท่านอาจารย์ชาสนิทกันมานานสักเท่าไรแล้ว ฟังท่านจะพูดวันนี้นะ’

พอว่าอย่างนั้นก็เปิดทันที...ได้เห็นผิวๆ เผินๆ ได้เห็นท่านอยู่นั้นก็พอใจ ท่านจะมาห่วงอะไรในธาตุในขันธ์อันนี้ เมื่อเห็นว่าเป็นไฟพอแล้วยังจะมาห่วงอะไรอีก ห่วงไฟเผาเจ้าของนั้นมีอย่างเหรอ...ท่านพร้อมอยู่แล้วที่จะดีด ตั้งแต่ระยะช่วยตัวเองไม่ได้แล้วนั่น...ครูบาอาจารย์จะตายแล้วไม่ยอมให้ไป ไม่ให้ตาย เอาไฟจี้ไว้อย่างนั้น ระโยงระยางเต็มหมด ออกซิเจนช่วยลมหายใจ ช่วยลมหายใจอะไร ช่วยไฟเผาว่างั้นจึงถูกนะ

ถ้าเอาอันนี้ออกแล้วไฟก็หยุดเผา ท่านก็ดีดออกแล้ว นั่น คุณก็เห็นอยู่อย่างชัดๆ โทษก็เห็นอยู่ชัดๆ อย่างงั้น ถ้าอันนี้จ่อไว้อยู่ตลอด ก็เผาอยู่ตลอดอยู่นั้นจะว่าไง พอเปิดออกนี้ก็ดีดออกแล้ว นั่นเห็นชัดๆ อยู่

ถ้าพูดถึงเรื่องของหมอ เขาก็ทำตามหลักวิชาของหมอ เหตุผลเรามียังไง อรรถธรรมมียังไง ปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ก็ควรชี้แจงให้เขาทราบ ควรปล่อยก็ปล่อยซี เอาไว้ให้ใคร มันไม่เกิดประโยชน์ยังไม่แล้ว ยังเป็นโทษเอาอย่างหนักหนาทีเดียว ใครจะเอาไฟมาเผามาจี้ไว้อย่างนี้ทั้งวันได้เหรอ นี่ไม่ทราบว่าทั้งวันทั้งคืนทั้งปีอะไร จี้เผาหมดรอบตัวๆ

เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ก็รู้กันอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่ตายก็รู้อยู่แล้ว ก็เครื่องมือใช้เฉยๆ มีจิตเป็นผู้บงการ พอจิตหดตัวเข้ามาเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปเท่านั้น เกิดประโยชน์อะไร ก็เหมือนกับเครื่องมือเราทิ้งเกลื่อนอยู่รอบตัวนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เมื่อเจ้าของใช้การใช้งานอะไรไม่ได้แล้ว...นั่นแหละ เรียนจิตให้เห็นอย่างนั้นซิ เห็นชัดเจนแล้วจะถามใคร...ประจักษ์อยู่ในหัวใจเจ้าของแล้วพอทุกอย่าง...

นี่เอาศพท่านกลับคืนไปโน้นนะ วัดกลางชูศรี ท่านเป็นพระเพชรน้ำหนึ่งนะนี่ หลวงปู่บุดดานี่เพชรน้ำหนึ่ง อาจารย์ชาก็เหมือนกัน ท่านเหล่านี้เพชรน้ำหนึ่งแล้วจะมาหวงมาห่วงอะไร ธาตุขันธ์เป็นไฟนั่น...

เรายังไม่ลืมหลวงปู่ขาวท่าน เวลาท่านกำลังเพียบ คือท่านไม่ให้ใส่ออกซิเจน ท่านไม่ให้เอาใส่ แล้วพวกนั้นก็เอาไว้ข้างนอก คือท่านห้ามไม่ให้เอาใส่ เราเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปยุ่งกับท่านทำไม ทีนี้พอเอาเข้าไปจ่อไปถูกท่าน...ทั้งๆ ที่ท่านก็เพียบอยู่แล้วนะ ท่านยังปัดมือปั๊บออกเลย

ขนาดหลวงปู่ขาวแล้วท่านจะมีปัญหาอะไร ว่างั้นเลย จะตายท่าไหนก็ตายซิ ท้าทายก็ได้ เอหิปัสสิโก ท้าทายธรรมของจริงได้...ดีดผึงเดียวไปเลย ว่าจะไม่อยู่แล้วไม่อยู่ มันก็หมดแล้วนะนี่ พระประเภทเพชรน้ำหนึ่งๆ หมดไปๆ...”


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ชักผ้าบังสุกุลบนหีบศพหลวงปู่ขาว อนาลโย


สนิทใจได้ด้วย “ธรรม”

สายสัมพันธ์ในธรรมของท่านมิได้จำกัดไว้ในหมู่บรรพชิตเท่านั้น มีฆราวาสจำนวนมากที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรม และสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นจริงจังไม่ว่าเพศภูมิใด ย่อมประจักษ์ผลแห่งธรรมภายในใจขึ้นเป็นลำดับๆ ไป นักภาวนาหญิงหรือชายนั้นจะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร หลวงตาเคยให้เหตุผลว่า "...การปฏิบัติไม่มีเพศ เรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไม่เพศ เหมือนกับกิเลสไม่มีเพศ มีได้ด้วยกันทั้งนั้น ความโลภก็มีได้ทั้งหญิงทั้งชาย ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มีได้ด้วยกัน มัชฌิมาปฏิปทาจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย เป็นเครื่องแก้กิเลสทั้งหลาย แก้ได้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยอำนาจความสามารถของตนแล้ว มีทางหลุดพ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน..."

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อโอกาสอำนวย...ท่านจะไปเยี่ยมเยียนถึงสำนักผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นเสมอ...เช่น สำนักชีบ้านห้วยทราย ของคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ของอุบาสิกากี นานายน ในตอนนี้จะขอเล่าถึงตอนที่ท่านแวะเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ดังนี้

ท่านเคยได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของคุณยาย ก. เขาสวนหลวง มานานแล้ว ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบควรแก่การเคารพกราบไหว้ แต่มีข้อประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ เขาว่ากันว่าคุณยายเป็นคนไม่เอาพระ คือไม่ต้อนรับพระ สิ่งนี้จึงทำให้หลวงตาฯ อยากรู้ว่าเป็นจริงหรือ ? หรือว่ามีเหตุผลด้วยประการใดกันแน่ เพราะหากเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แล้ว ลักษณะเช่นนี้ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ ท่านจึงไม่อยากเชื่อข่าวลือนี้นัก

เหตุนี้เอง เมื่อมีจังหวะมาถึงในคราวท่านมากรุงเทพฯ เพื่อดูแลอาการอาพาธของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ชึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อได้โอกาสอันควร ท่านจึงได้ไปเยี่ยมเยียนคุณยาย ก. ถึงสำนักฯ เขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี ด้วยตนเองเลยทีเดียว...

พอเข้าไปถึงสำนักฯ เท่านั้น ไม่นานก็มีเสียงระฆังเคาะดังกังวานขึ้น เรียกให้สตรีนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันหลั่งไหลมากราบท่าน และให้การปฏิสันถารต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมีคุณยาย ก. เป็นหัวหน้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย

หลังจากสนทนาพูดคุยกันได้ไม่นาน คุณยายกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงตาฯ แสดงธรรมแก่เหล่าอุบาสิกานักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจึงแสดงธรรมเน้นเรื่องจิตภาวนาเป็นสำคัญ...ทราบว่าหลังการแสดงธรรม คุณยายถึงกับประกาศขึ้นด้วยความอาจหาญในธรรมปฏิบัติของคุณยายเองแก่บรรดาลูกศิษย์ในสำนักฯ ว่า

“ธรรมที่ท่านอาจารย์ได้แสดงให้พวกเราฟังนั้น สามารถยึดถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่มีผิดพลาดแม้เปอร์เซ็นต์เดียว”

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ตัวท่านเอง ดังคำกล่าวที่ท่านเล่าให้ผู้มากราบเยี่ยมคณะหนึ่งฟังว่า

"...ที่ว่าคุณยายไม่ต้อนรับพระนั้น หมายถึง พระประเภทโกโรโกโสไม่ได้เรื่องได้ราวต่างหาก

ถ้าเป็นพระเคารพธรรมเคารพวินัย คุณยายท่านก็ไม่เป็น...จะว่าอะไร แม้แต่เราเองก็ไม่ต้อนรับพระประเภทนั้นเหมือนกัน..."


รูปภาพ
ท่าน ก. เขาสวนหลวง แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง

รูปภาพ
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แห่งสำนักชีบ้านห้วยทราย

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ ๑๖ การเทศนาสอนโลก

ธาตุขันธ์...เครื่องมือธรรม

หลวงตาเทศนาอบรมพระโดยแยกออกจากกันกับฆราวาส เนื่องจากพระและฆราวาสมีชีวิตความเป็นอยู่และความมุ่งมั่นต่างกัน เนื้อธรรมที่แสดงจึงต่างกันออกไป หากแสดงธรรมรวมๆ กันแล้ว ผลย่อมไม่เต็มที่

ท่านเคยเปรียบเหมือนกับการปรุงแกงหม้อใหญ่ให้คนจำนวนมากได้รับประทาน จะให้ถูกปากทุกๆ คนย่อมเป็นไปไม่ได้ จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือพอ ท่านจึงจะแสดงธรรมเพื่อชนกลุ่มน้อยด้วย เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงกัน ความสะดวกในธาตุขันธ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเทศน์ ดังท่านเคยกล่าวว่า

"...เทศน์ของเราเวลาหนุ่มนี้...ไหลเลย...เวลาอัดเทปนี้...กำลังเร่งๆ พอดี ลมหายใจหมด เนื้อธรรมยังไม่หมด เลยต้องรีบสูดลมหายใจดังฟี๊ว เลยนะ เสียงมันติดอยู่ในเทปนะ ถึงขนาดนั้นนะ เดี๋ยวนี้ โอ๊ย ตายเลย...นี่ละมันต่างกันนะธาตุขันธ์ มันเป็นยังงั้นจริงๆ นี่เทศน์แต่ก่อนมันไหลออกมา

ยิ่งเทศน์ธรรมะขั้นสูงเท่าไรยิ่งฟังจนแทบไม่ทัน มันเป็นจริงๆ นะ มันพุ่ง พุ่ง เลย เพราะธรรมะออกจากนี้ล้วนๆ ล้วนๆ ไม่ได้ไปคว้าคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้นี่ ออกจากนี้ ธรรมะสูงเท่าไร มันยิ่งเด็ดๆๆ ยิ่งเร็วมันยิ่งพุ่ง เทศน์นี้เร่งจนกระทั่งถึงว่าเป็นปืนกลไปเลย...นี่ละเวลายังหนุ่มน้อย

แต่มันก็เป็นกรรมอันหนึ่งเหมือนกัน พอจากนั้นมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ตั้งแต่ 06 มาเลย นั่นละ ล้มไปเลย เทศน์นี้หยุดหมด จนกระทั่ง 2512-13 พอพูดได้บ้างเล็กน้อยจาก 2506 ไปถึง 2511-12 นี้ไม่ได้พูดเลย แม้แต่ต้อนรับแขกก็ไม่เอา หลบหลีกปลีกตัวไปหาอยู่ในป่าในรก ไปซุ่มๆ ซ่อนๆ รับแขกไม่ได้

พอ 2513-14 ไปแล้ว ก็มีเทศน์ได้บ้างเล็กน้อย จนกระทั่งถึง 2520...ที่ลงหนังสือเล่ม ธรรมชุดเตรียมพร้อม และหนังสือ ศาสนาอยู่ที่ไหน...ที่ออกมาเนี่ยเทศน์สอน...ตั้งเกือบร้อยกัณฑ์ เทศน์สอนทุกวัน...

นั่นละเริ่มเทศน์ละ ถึงไม่เข้มข้นก็ตาม ก็เรียกว่าเริ่มเทศน์ละ จากนั้นมาก็ค่อยไปเรื่อยๆ หากอยู่ในเกณฑ์ระวังโรคหัวใจนี้อยู่ตลอด มันจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่จะเทศน์เด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ เหมือนแต่ก่อน โอ๋ ไม่ได้ว่างั้นเลย จึงต้องลดลง นี่ก็เรียกว่าเป็นกรรมอันหนึ่งเหมือนกัน

หากว่าร่างกายนี้มันพร้อมมาตลอดแล้ว การเทศน์นี้ รู้สึกว่าจะกว้างขวางมาก เพราะเทศน์ไม่มีหยุดนี่นะ ที่หยุดก็หยุดเพราะโรคต่างหาก โรคบีบบังคับ หยุดไปสักพักหนึ่งถึงมาเริ่มออก...

เทศน์แต่ก่อน จริงๆ พูดได้จริงๆ เพราะเราเทศน์อย่างนั้นจริงๆ มันเป็นในนิสัยจิตใจของเราเองนี่ เทศน์ออกมานี้ไม่ได้ บีบไม่ได้บังคับ มันหากเป็นของมันเอง ยิ่งเทศน์ภาคปฏิบัติด้วยแล้ว มันยิ่งไหลเลยนะ คล่องที่สุดเลย พุ่ง พุ่ง พุ่งเลย...

สัญญา...ไม่เที่ยง

นับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ท่านจึงงดเทศน์อบรมพระเณรในวัด และการนิมนต์ไปเทศน์ข้างนอกนั้นท่านงดมาตั้งแต่ปี 2535 ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

"...ไปเทศน์ที่นู่นก็เทศน์ลำบากมาก ไปก็ไม่ได้พักทั้งวัน...เหนื่อย แล้วความจำเทศน์ไปก็หลง อ้าว ไปถึงไหนแล้วล่ะ ว่าอย่างนี้แล้ว อยู่บนธรรมาสน์นั่น ลืมแล้ว ไม่ทราบเทศน์เรื่องอะไรมา เอ้า ตั้งใหม่ๆ อย่างงั้นนะเดี๋ยวนี้ ความจำไม่เป็นท่า มันไม่เอาไหนแล้วความจำ

ขันธ์ 5 เป็นทั้งเครื่องมือของกิเลสด้วย เป็นทั้งเครื่องมือของธรรมด้วย เวลากิเลสเป็นเจ้าของ มันก็เอาเป็นเครื่องมือสนุกฟัดเหวี่ยงกัน ทีนี้มาเป็นเครื่องมือของธรรม ธรรมก็นำมาใช้ซี ก็ใช้ขันธ์อันเดียวกันนี้ เป็นแต่เพียงว่าธรรมท่านไม่ยึดเท่านั้นเอง กิเลสมันยึดเป็นของมัน ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นของกิเลสทั้งหมด

กิเลสยึดแต่ธรรมท่านไม่ยึด ใช้เป็นเครื่องมือเฉยๆ ต่างกันเท่านั้นเอง แต่ต้องเอาขันธ์ 5 เทศน์ มันชำรุงตรงไหนก็ไม่สะดวกตรงนั้นแหละ อย่างเช่นความจำนี้เทศน์ไปๆ มันหลงลืมไปแล้วจะเอาอะไรมาเทศน์ต่อกันไป

เมื่อเงื่อนต้นหลงลืมไปแล้วจะต่อไปหาเงื่อนปลายยังไงได้ จำไม่ได้ก็ตั้งใหม่ มันก็เป็นแบบใหม่ไปอีก...เทศน์ที่ไหนๆ เขานิมนต์ไปที่ไหนไม่เอาแล้ว เทศน์ลำบาก...เหนื่อย ทั้งความจดจำก็ยิ่งเลวลงทุกวันๆ..."

อบรม...พระเณร ทหารสู่สมรภูมิรบ

ท่านกล่าวถึงพระที่มาขออยู่ศึกษากับท่าน ดังนี้

"...พระมาอยู่สถานที่นี้ทั่วประเทศไทย มีทุกภาค ปริญญาตรีก็มี โทก็มี เอกก็มี และนายพันนายพลมาบวชอยู่นี้ก็มี...พระมาอยู่ที่นี่ท่านมาเพื่ออะไร ท่านมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษาปรารภจากครูบาอาจารย์จริงๆ...

ดูภาคกลางจะมากกว่าเพื่อน ที่นี่ภาคอื่นๆ ก็มีหมดทุกภาคเลยนะ...วัดนี้ไม่มีภาคไหนต่อภาคไหน เป็นชาติไทยด้วยกันด้วย เป็นลูกศิษย์ตถาคตศากยบุตรด้วย จึงไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะ ภาคนั้น ภาคนี้ เป็นลูกชาวไทยอันเดียวกัน เป็นลูกชาวพุทธอันเดียวกัน...ท่านมาเพื่อศึกษาปรารภตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติจริงๆ เราก็ได้อุตส่าห์พยายามสั่งสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ

...ที่ว่าโรคของเรากำเริบ กำเริบทางหัวใจนี้ เราก็ยังมีความแน่ใจอยู่ว่า คงเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำสั่งสอนนี้เองเป็นสำคัญอันหนึ่ง เพราะการสั่งสอนพระย่อมใช้กำลังวังชาสุ้มเสียงดัง เน้นหนัก เผ็ดร้อนมากกว่าการสอนใครๆ ในบรรดาประชาชนและพระเณรทั้งหลาย

เพราะเหตุไร...เพราะพระที่มาสู่วัดป่าบ้านตาดนี้ ส่วนมากมีแต่พระกรรมฐานตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ

ถ้าเราจะเทียบแล้วก็เหมือนกับทหารที่เข้าสู่แนวรบแล้ว การยื่นศาสตราวุธหรืออุบายวิธีการต่างๆ ให้ทหารที่เข้าสู่แนวรบ ย่อมจะยื่นแต่สิ่งสำคัญๆ อาวุธก็เป็นอาวุธที่ทันสมัย อุบายก็เป็นอุบายที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ที่จะได้ชัยชนะมาสู่บ้านเมือง อันนี้ก็เหมือนกัน

ธรรมะอุบายต่างๆ ที่จะแสดงให้บรรดาพระทั้งหลายที่มาจากที่ต่างๆ เข้ามาสู่สถานที่นี้ได้ยินได้ฟังก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การพูดการเทศนาว่าการต่างๆ ตลอดถึงสุ้มเสียงโวหารสำนวนต่างๆ จึงมีแต่ความเผ็ดร้อนไปตามๆ กันหมดเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์..."

น้ำธรรมไหลพุ่ง

ด้วยการสอนที่จริงจัง บางครั้งทำให้ผู้มาใหม่เข้าใจว่าท่านดุด่า ในเรื่องนี้ท่านเองเคยประสบมาก่อนสมัยอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ดังนี้

"...พอไปถึงหลวงปู่มั่น มันหาที่ค้านไม่ได้...อยู่นานเข้าๆ มันรู้ เวลาท่านดุด่าพระเณร ดูใครก็ตามนะ ดูมากดูน้อย ธรรมะจะออกล้วนๆๆ มากน้อย เด็ดเท่าไร ธรรมะยิ่งพุ่งๆ ก็หาที่ต้องติว่าเป็นตัณหาประเภทใดไม่ได้ เด็ดเท่าใดธรรมะยิ่งออกพุ่งๆ แล้ว เราก็ปรับตัวของเราตลอดเวลา ปรับตัวของเราอยู่เรื่อยๆ จึงค่อยเข้ากันได้ เข้าใจเรื่องของท่าน

สุดท้ายถ้าท่านไม่อยู่มันเหมือนกับขาดอะไร ถ้าเป็นอาหารก็ขาดอะไรยังงั้นนะ มันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าได้ยินเสียงเปรี้ยง ดังเปรี้ยงปร้าง เอาละซิ ถ้าเป็นฝนก็ฟ้าร้องแล้ว เตรียมหาอะไรมารองรับ

อันนี้เด็ดเท่าไรธรรมะยิ่งไหลออกมาเลย มันก็ยิ่งอบอุ่นนะ ท่านดุยังงี้มันไม่ใช่ ดุเลยย้อนหลังกลับมา มันมีแต่กำลังของธรรมล้วนๆ นี่เป็นความเมตตาล้วนๆ ไม่ใช่ท่านดุนะมันก็จับได้เลย

คือกิริยาท่านแสดงเอาขันธ์นี้ ใช้ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของกิเลสมาดั้งเดิม พอกิเลสมุดมอดไปหมดแล้ว ธรรมก็เอาขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ กิริยาท่าทางขึงขังตึงตังจึงเป็นเหมือนกับกิเลส เพราะมันมีเครื่องมืออันเดียวกัน แต่อันนี้มันเป็นพลังของธรรม เด็ดเท่าไร ยิ่งมีแต่เรื่องของธรรมล้วนๆ ออกมากิริยาคล้ายคลังกัน

เมื่อมันรู้แล้วมันก็ยอมรับน่ะซิว่า อ๋อ เราก็เลยเทียบได้เลยว่า เหมือนกับถังน้ำ 2 ถังนี้ ถังนี้เต็มไปด้วยน้ำที่สกปรก น้ำเต็มแต่สกปรกทั้งถัง ถังนี้น้ำสะอาดเต็มที่ มาเปิดน้ำทั้ง 2 ถังนี้ออกดูสิ ทีนี้เวลาเปิดแรงเท่าไร สมมติเราเปิดถังสกปรกก่อนนะ เราเปิดน้อยออกน้อย เปิดมากออกมาก เปิดเท่าไรมันก็พุ่งๆ ออกไปเท่าไร มันก็มีแต่น้ำสกปรก กว้างขวางขนาดไหนมีแต่สกปรกเลอะเทอะไปหมดเลย ทีนี้เปิดถังน้ำที่สะอาดเปิดขนาดไหน เปิดเต็มที่มันก็ออกเต็มที่เหมือนกัน แต่เป็นน้ำที่สะอาดทั้งหมดนะแน่ะ มันต่างกันอย่างงั้นนะ..."

โปรดชาวต่างชาติ...ผู้ใฝ่ธรรม
รับชาวต่างชาติ


ประมาณปี 2506 เป็นต้นมา เริ่มมีพระชาวต่างชาติมาขออยู่ศึกษาธรรมะจากท่าน

แรกเริ่มเดิมทีท่านยังไม่อยากรับไว้ด้วย ไม่ทราบถึงนิสัยใจคอว่าเป็นอย่างไร เขาเองก็ยังไม่คุ้นเคยกับศาสนาพุทธ ยังไม่คุ้นเคยกับอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยๆ เฉพาะอย่างยิ่งชนบททางภาคอีสาน เกรงจะเป็นที่ลำบากไม่สะดวกด้วยประการต่างๆ

แต่ด้วยความมุ่งมั่นอดทนและใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ท่านจึงเมตตารับไว้ ท่านเคยเล่าถึงความพากเพียรของท่านอาจารย์ปัญญา ซึ่งเป็นพระฝรั่งองค์แรกที่มาขออยู่ด้วย

ท่านเล่าเรื่องนี้อย่างเมตตาแกมขบขันด้วย เพราะท่านอาจารย์ปัญญาอยู่กับท่านมานาน ดังนี้

"...ท่านปัญญานี้สุขุมมาก ท่านมาอยู่กับเราตั้งแต่ปี 06 ท่านมาขออยู่กับเราถึง 5 หนนะนั่นหน่ะ ไม่ใช่เล่นๆ นะ มาขอทีแรกก็ทางฝ่ายปฏิบัติของเราก็ไม่เคยมีพระกรรมฐานฝรั่ง เราก็ยังไม่อยากรับไว้ก่อน...

ประการหนึ่งก็ยังไม่ทราบนิสัยใจคอของฝรั่งนี้เป็นยังไง เพราะเขาไม่เคยศาสนาพุทธเรา เราจึงยังไม่รับ แล้วมาขออีก เราก็ยังไม่ให้ ถึงครั้งที่ 3 ที่ 4 มาขอ เราก็ยังไม่ให้ พอครั้งที่ 5 ท่านมาแผนใหม่ เราหลงกลของท่าน

เมื่อเห็นว่าไม่ได้จริงๆ แล้ว ท่านก็บอกว่า

"ไม่ได้พักนานก็ตาม ขอมาพักชั่วคราว"

ท่านว่าอย่างนี้นะ เราก็เลยหลงกลนะซี ตั้งแต่ต้นปี 06 เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 6 เราไม่ลืมนะ... ตั้งแต่นั้น จนกระทั่งบัดนี้ กี่ปีแล้ว ท่านอยู่ชั่วคราวนะ มาอยู่ชั่วคราวเรื่อยมาจนบัดนี้ละ...

...จากนั้นมาก็เลยรับพระฝรั่งมาเรื่อยๆ สังเกตมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าพระฝรั่งที่มาอยู่ด้วยนั้นดีทุกองค์ ดีกันคนละทางๆ ทางภาคปฏิบัติหลักธรรมวินัยดีด้วยกัน พระฝรั่งจึงมีอยู่เป็นประจำ แต่เราไม่รับมากนะ เราเอาแค่นั้นละ ถ้าหากว่าจะรับมากก็จะมากกว่านั้น จะกลายเป็นสวนฝรั่งไปหมดเลย (หัวเราะ)...

พระชาวสหรัฐฯ องค์หนึ่ง อังกฤษมีองค์หนึ่ง แคนาดาองค์หนึ่ง และเยอรมนีองค์หนึ่ง...เวลานี้ ดีทุกองค์...มีพระฝรั่งอยู่นั้น 4 องค์ (หมายถึงปี 2541 บางปี เช่นปี 2522 มีพระฝรั่งถึง 6 องค์จากพระเณรทั้งหมด 21 องค์) ที่ผ่านมา รู้สึกว่าพวกฝรั่งนี้เขามีกฎมีระเบียบดี..."

จากนั้นมาก็มีพระและฆราวาสชาวต่างชาติทั้งหญิงและชายมาขออยู่ศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนนี้มีหลายเชื้อชาติด้วยกัน เช่น อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี โปแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ฯลฯ

รูปภาพ
พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
แห่งวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
พระอริยเจ้าที่เป็นฝรั่งรูปแรกที่บรรลุธรรมในประเทศไทย


รูปภาพ
ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ (อาจารย์หมอศิริราช)


โปรดฝรั่งชาวพุทธที่อังกฤษ

กลางปี 2517 (7-22 มิถุนายน) พุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษได้กราบนิมนต์ท่านไปอธิบายและตอบคำถามธรรมะ ที่ธัมมปทีปวิหาร กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ครั้งนั้นมีผู้ติดตามท่านไป 4 ท่านคือ

1. ท่านอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
2. ท่านอาจารย์เชอร์รี่ อภิเจโต
3. ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ (อาจารย์หมอศิริราช)
4. ม.ร.ว.เสริมศรี เกษมศรี

อากาศที่อังกฤษในยามที่หลวงตาเดินทางไปนี้ แม้เป็นฤดูร้อน แต่ก็ยังจัดว่าหนาวมากสำหรับคนไทย แต่ท่านก็มิได้ลำบากยากใจแต่อย่างใด ท่านคงอยู่อย่างง่ายๆ มีการออกกบิณฑบาต ฉันมื้อเดียวในบาตรตามปกติ และไม่ต้องการให้จัดอะไรเป็นพิเศษให้ท่านด้วยเช่น ในเรื่องอาหารและที่อยู่

ท่านให้เหตุผลว่า "...ท่านปัญญามาฉันอาหารคนไทยได้อย่างไรตลอดเวลา 12 ปี ที่อยู่กับท่าน ท่านก็ฉันอาหารฝรั่งได้เช่นเดียวกัน..."

ในช่วงที่อยู่อังกฤษ มีชาวฝรั่งสนใจปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ต่างสนใจที่จะถามปัญหาธรรมะจากท่าน ฝรั่งผู้สนใจเหล่านี้มีตั้งแต่พวกที่ได้ฝึกสมาธิมานานแล้ว ผู้สนใจเริ่มฝึก ผู้ที่เคยฝึกสมาธิจากอาจารย์อื่นๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตลอดจนผู้เพิ่งจะเริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนา ต่างเข้ามาสนทนาธรรมกับท่านด้วยความสนอกสนใจต่อการปฏิบัติจริงๆ

ฆราวาสทั้งชาวอังกฤษและชาวไทย ที่นี่ต่างก็มาใส่บาตรกันอย่างปลื้มปีติด้วยศรัทธาทุกวันในเวลา 9.00 น. อีกทั้งมีลูกศิษย์หนุ่ม 2 คนชาวอังกฤษ คนหนึ่งตอนปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยมาบวชเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วไปฝึกปฏิบัติที่วัดป่าบ้านตลาดอยู่กับท่านมาก่อนอีกคนเป็นนักศึกษา มาฝึกปฏิบัติธรรมที่ธัมมปทีปวิหารแห่งนี้อยู่ จึงพอรู้วิธีปฏิบัติต่อพระสงฆ์ แล้วคอยช่วยเหลือท่านได้อย่างเรียบร้อย คล่องแคล่วงดงาม แม้คนไทยเองก็ยังชมเชย

ฝรั่งมีเหตุผล...เข้ากับ "ธรรมวินัย"

แม้ท่านจะกลับมาเมืองไทยแล้ว แต่ชาวอังกฤษผู้สนใจจำนวนมากอยากนิมนต์ให้ท่านเดินทางไปแสดงธรรมอีก ท่านพูดในเรื่องนี้ว่า ท่านก็ชราภาพมากแล้ว ไม่สะดวกต่อการเดินทางเหมือนก่อน ท่านรู้สึกชื่นชมฝรั่งชาวอังกฤษว่าเขามีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องจิตตภาวนาและพยายามปฏิบัติกันจริงๆ ท่านเล่าเพิ่มเติมว่า

"...คราวที่ไปประเทศอังกฤษ ทีแรกก็ไม่ค่อยมามากนะ ชาวอังกฤษ คนไทยก็มามาก ชาวอังกฤษก็ไม่มากนัก ไปๆ มาๆ ก็หนาเข้าๆ สุดท้ายเลยมีแต่พวกฝรั่งเต็มหมดเลย เวลามานั่งอยู่นี้ เหมือนผ้าพับไว้นะ...ใครก็เหมือนกันหมด เราก็เสียดาย เราไม่ได้ภาษาอังกฤษ ก็ต้องผ่านล่าม

ท่านปัญญาเป็นล่าม เวลาเขาถามปัญหามา เราก็ตอบ ท่านปัญญาก็ตอบแทนเรา ไปดูแล้วน่าสงสารมาก มาทุกวัน พอ 6 โมงเย็น เขาก็เริ่มมา เราก็พานั่งสมาธิ 30 นาทีทุกวันๆ จากนั้นเราก็อบรมอีกประมาณ 30 นาที

ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่ ปี 2517 น่าสงสารมาก บางรายเขามาแรกๆ เขามาสังเกตการณ์ ทีนี้ไม่ได้...เลยมา อยู่ไม่ได้ คำว่าสังเกตการณ์เลยหายหมดเลย ไม่ได้มาอยู่ไม่ได้ อยากมาเป็นกำลัง ก็เลยสนใจทางด้านธรรมะไปเลย...

...พูดความจริงพวกฝรั่งเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษนี้ รู้สึกมีเหตุมีผลมีหลักมีเกณฑ์ กับธรรมวินัยนี้เข้ากันได้เป๋งเลยทีเดียว อย่างที่เราไปอยู่นั้นไม่นานนัก โถน่าสงสารเหมือนกันนะ

ฝรั่งร้องไห้มีเหรอ เรายังไม่เคยเห็น ร้องไห้เรื่องอรรถเรื่องธรรมนะ นี่เห็นแล้ว เห็นต่อหน้าต่อตา ก้มหน้าปั๊บนี่น้ำตาร่วงๆ พอครูบาอาจารย์จะจากไป มานี่หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ เก้าอี้นี่ไม่มีความหมายนะ นั่งแทรกกันเต็มไปได้หมดเลยไม่ถือกัน เอ้า นั่งยังไงนั่งเลย แทรกกันไปหมด...เต็ม

...นี่ถ้าหากว่าศาสนาพุทธเรานี้เป็นผู้มีหลักศาสนาจริงๆ ประจำใจทั้งภายนอกภายในแล้ว ชาวอังกฤษนี่ละ ดีไม่ดีจะเป็นเจ้าของศาสนาพุทธเราด้วยซ้ำไป เพียงไปเท่านั้นก็รู้ ศาสนาแน่นขึ้นทุกวันๆ ไม่ใช่ธรรมดา หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ เขาพอใจในการตอบปัญหา คนหนึ่งเป็นคนถาม...เราก็ตอบจนหายข้องใจ เขาพอใจการตอบปัญหามาก

ชาวอังกฤษก็หัวเราะเก่งเหมือนกันนะ...หัวเราะไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ...อย่าว่าฝรั่งร้องไห้ไม่เป็น ฝรั่งหัวเราะไม่เป็น ฝรั่งร้องไห้เป็น หัวเราะเป็น เห็นแล้ว เราเห็น เวลาปัญหาใส่ปั๊บนี่ คือมันถูกอย่างถนัดว่างั้นเถอะ ใส่ปั๊บนี่หัวเราะเอิ๊กอ๊าก มันถูกใจ เข้าใจหรือเปล่า ตอบปัญหา...มันหากมีแหละปัญหา ก็เหมือนกันกับเรา เพราะความเป็นอยู่ของจิตมันเหมือนกัน

ที่เรียกว่าชาตินั้นชาตินี้ มันเอาชื่อเอานามไปตามลักษณะเฉยๆ รูปร่างกลางตัวลักษณะอย่างนั้นชื่อว่าชาตินั้นๆ เฉยๆ ก็คน หลักของคนหลักของกรรมมีอยู่ เสมอกันหมด อันนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คำว่า คน เท่านั้นก็ครอบไปหมดแล้ว หลักของกรรม กรรมดีกรรมชั่วมีเหมือนกันหมด..."

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ส่วนหนึ่งของหนังสือธรรมะหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ประกาศศาสนาต่างแดน...ด้วยธรรมภายใน

ในระยะหนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีการคัดเลือกพระธรรมทูตเพื่อออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ด้วยเหตุที่หลวงตาท่านมีพระชาวต่างชาติอยู่ศึกษาอบรมด้วยนี้ ทำให้ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในการคัดเลือกพระธรรมทูตในครั้งนั้นด้วย ท่านเล่าว่า

"...ต่างประเทศเขาก็มีความสนใจในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ดูได้จากมีตำรับตำรามากมาย เขาก็สนใจร่ำเรียนกัน แต่สำหรับภาคปฏิบัตินั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายกว้างขวางนัก เพราะยังขาดผู้มีหลักเกณฑ์ทั้งภายนอกภายในมาให้คำแนะนำสั่งสอนแก่เขา..."

ในเรื่องนี้ หลวงตาท่านเคยอธิบายถึงคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่ง ของพระธรรมทูตผู้ที่จะไปทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนว่า

"...ถ้าหากไปเป็นแบบเป็นฉบับ มีหลักมีเกณฑ์ภายในภายนอกพร้อม ไปแล้วจะเป็นประโยชน์จริงๆ พูดออกไปก็มีเหตุมีผลมีอรรถมีธรรมภายในจิตใจเอาไปโชว์เขาบ้าง...ทางด้านวัตถุเขาเจริญกว่าเราเท่าไร เอาอะไรไปโชว์ ไม่มีอะไรไปโชว์ ต้องเอาธรรมเข้าโชว์ ต้องเอาธรรมภายในออกโชว์ พระพุทธเจ้าประกาศสอนโลกด้วยธรรมภายใน..."

เทศน์นอกสถานที่

ในระยะที่ธาตุขันธ์ของท่านยังพอเป็นพอไป ท่านเมตตารับนิมนต์ไปแสดงธรรมตามหน่วยงานต่างๆ ตามที่เขานิมนต์มา เช่น วัด หน่วยราชการ ทหาร ตำรวจ สถาบันการศึกษาต่างๆ ฯลฯ ตามเหตุผลความจำเป็นมากน้อย

ต่อเมื่อชราภาพมากเข้า ท่านจึงงดเว้นการออกไปแสดงธรรมนอกสถานที่ หากมีอยู่บ้างโดยมากเป็นงานเนื่องด้วยมรณกรรมของพระกรรมฐานครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ชา สุภัทโท, หลวงปู่คำมั่น คัมภัสปัญโญ และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นต้น

เทศน์คณะที่มาเยี่ยม

ท่านให้ความเมตตาต่อคณะผู้มาเยือนกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ จากทางใกล้ทางไกล ทั้งในและนอกประเทศที่มาขอเยี่ยมพบท่านตลอดมา แต่เมื่อกำลังอ่อนลง การต้อนรับย่อมมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น คราวหนึ่งท่านเล่าแบบขำขันถึงคณะกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อจะขอเข้ากราบท่านดังนี้

"...ควรรับขนาดไหนๆ...มันสมควรขนาดไหน เมื่อเพียบเต็มที่แล้วมันจะไปได้เหรอ ก็ต้องหยุดพักเครื่องน่ะซี...มาตลอดทั้งวัน เรานั่งตลอดคนเดียว แล้วไม่ใช่วันหนึ่งวันเดียวด้วย นั่งมาตั้งเมื่อไร มันตายได้ มนุษย์เรา ชีวิตหดสั้นย่นเข้ามาเรื่อยๆ...

เขาว่าไม่ต้อนรับ ไปกี่ครั้งกี่หนไม่ได้พบท่าน ว่าอย่างนั้น ถ้าเราจะตอบก็ว่า

"เฮาก็ไม่ได้พบเจ้าคือกันแล้ว ก็เว้าจั่งซั้นจะเป็นหยังแม่นบ่ จะมาเว้าแต่เจ้าบ่พบข้อย ข้อยก็บ่ได้พบเจ้าคือกันตั๊ว มันก็เท่ากันแล้ว"

ยากอีหยังตอบคน มันสุดวิสัย ก็เคยรับอยู่แล้ว...วันนั้นเรารับแขกทั้งวันเราจะตาย จนไม่มีลมจะพูดแล้ว กำลังจะมืด พระก็มาบอกว่า คณะญาติโยมมาจากนู้นๆ เราก็เล็งดู จากโน้นจากนี้ก็ไกล ก็ทน

"เอ้า ให้เข้ามา" แน่นเอี้ยดกุฏิเรา...มา เราก็เลยทำท่าละทีนี้ มันทำได้ทุกอย่างพลิกสันก็ได้คมก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ๆ จะว่าไง...พอมา เราก็ทำท่าขึงขัง ใจเราอดหัวเราะไม่ได้นะ แต่ทำท่าขึงขัง

"แม่นหมู่เจ้า มาอีหยังกะด้อกะเดี้ยแท้ เดี๋ยวนี้ว่ะ" ...ขู่...เขาตอบว่า

"มาชมบารมีหลวงพ่อ"

"บารมีรแมอีหยัง คนกำลังจะตาย ฮู้จักบ่" ขู่แล้ว "เอ้า ไป...ลง..." พอเท่านั้นละ หลั่งลงไปลิดๆ...

"บารมีรแมอีหยัง คนกำลังจะตาย"

จั่งซั่นแล้ว บัดจะเฮ็ด เฮ็ดจั่งซั่นแล้ว โกรธก็โกรธ เคียดก็เคียดก็ตาม ทำท่าคึกคักขึ้นโลด ของทำได้แม่นบ่ ตั้งแต่เขาเล่นลิเก ละครเขายังทำได้ใช่ไหม ถึงบทหัว...หัว ถึงบทไห้...ไห้ บ้าทั้งนั้นละพวกนี้ จั่งซั่นแล้วก็เฮ็ดได้...

ระยะนี้มานี้เราเพียบเต็มที่หนักมากมาเป็นประจำๆ เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายจนรับไม่ได้ ว่างั้นเถอะ หมดกำลัง ลุกเดินจะไม่ได้ ขาก็ขัด อะไรก็ขัดไปหมด ก้นก็จะแตก จะว่าไง โถ นั่งทั้งวันๆ แขกไม่ใช่คณะหนึ่งคณะเดียว มาทั้งแผ่นดินนี่ คณะนั้นเข้า คณะนี้ออก อยู่อย่างนั้น แล้วรับคนเดียวๆ..."

เทศน์ปกิณกะ

ด้วยความเมตตาของท่านต่อคณะต่างๆ ในแต่ละสถานที่นี้เอง ธรรมะจึงมีหลายแบบหลายฉบับ มีทั้งเป็นจริงเป็นจัง เป็นเหตุเป็นผล แบบขำขัน แบบดุเด็ดเผ็ดมัน หรือบางครั้งก็สอนโดยไม่ใช้การพูด

ชานหมาก

โยม : หลวงตาครับ ขอชานหมาก

หลวงตา : อย่ายุ่งๆ ของไม่เป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นประโยชน์เราสอนแล้ว นั่น มาขออะไร ของเศษๆ เดนๆ ของทิ้ง...ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่เลิศ เราคอยแต่จะเอาของปลอมๆ เข้าไปแทรก

...ชานหมากนี่น่ะของแปลก...

เทศน์อย่างนี้ก็เป็นหรือ ?

มีเรื่องขบขันคราวหนึ่งในช่วงที่ท่าน (หลวงตามหาบัว) มีธาตุขันธ์แข็งแรงดีอยู่ และเป็นระยะที่ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ยังมีชีวิตอยู่นั้น หากมีเหตุให้ท่านไปแสดงธรรมที่วัดโพธิสมภรณ์ ท่านเจ้าคุณฯ มักจะเดินรอบบริเวณและประกาศว่า

"ใครอย่าพูดนะ เราจะฟังเทศน์มหาบัวนะ...เราจะฟังเทศน์มหาบัวนะ ใครอย่าพูดเป็นอันขาดนะ..."

ในบริเวณนั้นจึงเงียบหมด จากนั้นท่านเจ้าคุณฯ ก็กลับมาประจำที่และตั้งใจฟังเทศน์แบบกรรมฐาน คือหลับตาฟังด้วยความเคารพในธรรม โดยไม่ถือตัวว่าเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านมาก่อนแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ท่านเจ้าคุณฯ ยังชมเชยลูกศิษย์บ่อยๆ ด้วยว่า

"ข้อยพูดตามความจริงนะบัว...เจ้าเทศน์ แหม ! มันถึงใจข้อยเหลือเกิน ว่าไม่อึ๊ ไม่อ๊ะ ไหลไปเลย...

แต่ถ้าหากไม่มีปัญหา เทศน์ข้อยยกให้เจ้านะบัว แต่ถ้ามีปัญหาแล้ว การตอบปัญหาเจ้าเป็นที่หนึ่ง มันถึงใจข้อยเหลือเกินนะบัว...ตอบรวดเร็วที่สุด...ปั๊บเลยใส่ปั๊บๆ..."

ทราบกันว่าพระอุปัชฌาย์เคยแต่ฟังเทศน์ของท่านแบบกรรมฐานเท่านั้น ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า ท่านจะเทศน์ธรรมะแบบมีเรื่องขบขันได้ด้วย

คราวหนึ่ง พระอุปัชฌาย์เอาตัวท่านไปเทศน์ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ผู้ฟังโดยมากชอบเล่นบัตรเล่นเบอร์กัน การเทศน์จึงต้องมีตลกขบขันบ้างตามลักษณะผู้ฟัง ท่านเล่าแบบขบขันให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...อะไรก็ไม่ขบขันเหมือนเอาผมไปเทศน์ที่ท่าอุเทนนั่นแหละ ผมเคยพูดให้หมู่เพื่อนฟัง ตั้งแต่นั้นมาพอท่านเจอหน้าผมทีไร ท่านจะต้องเอาเรื่องนั้นขึ้นทักทายก่อน เพราะท่านไม่เคยได้ยินผมเทศน์อย่างนั้น เทศน์เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีอะไร เทศน์ให้ขบให้ขัน พวกนี้หัวเราะกันลั่นตลอดกัณฑ์เลย ท่านเจ้าคุณฯ นี้หัวเราะจนแทบล้มแทบตายจริงๆ นะ ผมจบเทศน์แล้วเขาก็ขอร้อง

"โอ๊ย ! อย่าด่วนจบๆ"

ก็มันหมดดินระเบิดแล้ว บั้งไฟมันก็ลงเรื่อยๆ มันก็จบของมัน...ลงมาจากธรรมาสน์แล้ว ท่านเจ้าคุณฯ ยังหัวดิ้นล้มดิ้นตายอยู่ซิ พอลงมา ผมกราบพระแล้ว ท่านก็ยังหัวอยู่

"บัว เจ้าเทศน์อย่างนี้ก็เป็นหรือ ? บัว บัว ข้อยบ่เคยได้ยินเจ้าเทศน์อย่างนี้"

หัวร่อแทบล้มแทบตาย ตั้งแต่นั้นมาเจอผมทีไร "มหาบัวเทศน์อย่างนี้ก็เป็นๆ" พวกนี้มันชอบบัตรชอบเบอร์ เล่นบัตรเล่นเบอร์ เราก็เทศน์เรื่องบัตรเรื่องเบอร์ เทศน์มีตลกขบขันซี..."

ใครว่า "หลวงตาบัวดุ ?"

บางคณะที่เพิ่งมาฟังธรรม ยังไม่เข้าใจถึงอุบายวิธีการสอนของท่าน หลายครั้งท่านสอนอย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา ผู้ฟังจึงมักพูดกันว่าท่านดุ วันหนึ่งท่านมีเมตตายกนิทานให้เป็นข้อคิด ดังนี้

...เวลาแสดงธรรมอยู่นี้ ใครเห็นหลวงตาดุไหม ? ถ้ายังสงสัยว่าหลวงตาดุอยู่หลวงตาบัวจะเล่านิทานย่อๆ ให้ฟัง คือผู้หญิงมันใจน้อย แล้วได้สามีมา สามีพูดอะไรก็ว่าแต่สามีดุ ว่าแต่สามีดุ เพราะผู้ชายมันเสียงดังใช่ไหมล่ะ ผู้หญิงมันเสียงแหลม เวลาผัวพูดอะไรก็ว่าแต่ผัวดุๆ

(สามีคิดว่า) เอ๊ จะทำยังไงนะ เมียเรานี่ พูดยังไงก็ว่าแต่เราดุ จะทำยังไงน้า เราจะทำแบบอ่อนๆ ทีเดียวหล่ะ ว่าแล้วก็ไปกระซิบ แม่หนู วันนี้จะไม่ดุไม่ด่าอะไรละนะ วันนี้จะกระซิบกระซาบแล้วนะ
ภรรยา : เอาว่ามา
สามี : วันนี้จะไปขอแต่งงานเมียใหม่ได้ไหม ?
ภรรยา : โอ้ย ไม่ได้ ไม่ได้
สามี : แม่อีหนู รู้สึกเก่าแก่แล้ว มีแต่ว่าดุ ว่าดุ คำนี้เป็นคำไม่ดุ คำนิ่มนวล อ่อนหวาน ว่าจะไปหาเมียใหม่มาจะได้ไหม ?
ภรรยา : โอ๊ย ไม่ได้ ไม่ได้
สามี : จะทำยังไงเนี่ย พูดอ่อนก็ว่าดุ พูดแข็งก็ว่าดุ พูดอ่อนนิ่มที่สุดเวลานี้ ก็ว่าดุ เราจะทำยังไง ?
ภรรยา : ก็อย่าไปหาใหม่สิ ของเรายังมีอยู่ นี่หน่ะ
สามี : ถ้าอย่างนั้นก็หยุดแล้วนะ ต่อไปนี้ ก็ยังจะดุเหมือนเก่านั่นแหละ
ภรรยา : ดุก็ดุไปเถอะ ดุไม่หาเมียใหม่ไม่ว่าอะไรละ อย่าไปหาเมียใหม่ก็แล้วกัน...

เปิดกิเลสตัวแอบแฝง

ในบางครั้งท่านจะมีวิธีการสอนที่เปิดเผยตัวกิเลสที่แอบแฝงมากับธรรมให้เห็นอย่างชัดๆ ดังในกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง

"...โอ้โห เขาเตรียมต้อนรับหลวงตาบัวไว้อย่างหรูหราฟู่ฟ่า พอจะก้าวเข้าสู่โบสถ์ เขาปูเสื่อปูพรมเข้ามาเลย พอเราไปถึงที่นั่น เราก็จับเสื่อจับพรมฟาดเข้าป่าให้เห็นต่อหน้าเลยนะ ปูเป็นแถวเลยนะ

พอเราไป เราก็จับนี่ฟาดเข้าป่า จับนี่ฟาดเข้าป่า แล้วก็เดินไปจับนี่ฟาดเข้าป่าต่อหน้าคนมากๆ นะ เพราะมันขวางตาเหลือเกิน กิเลสทำไมมันจึงมีอำนาจมากนัก...

...เขาทำอย่างนั้น เราก็ไม่ตำหนิว่าผิดนะ แต่ให้มีธรรมแทรกบ้างเป็นข้อคิด เพราะฉะนั้น เราจึงจับนี่ฟาดเข้าป่าให้เป็นข้อคิดต่างหากนะ เราไม่ได้ทำประชดอะไรเข้าใจไหม? มันมีความหมายอยู่ในนั้น ปาเข้าป่า ปาเข้าป่า อะไรหรูหรา ฟาดเข้าป่าหมดเลย...

ทำให้เป็นข้อคิดเสียบ้าง ความหมายว่าอย่างนั้น มิฉะนั้นจะมีแต่กิเลสปิดหูปิดตา ไม่ให้มองเห็นอะไรยิบๆ แย็บๆ เลย ก็เปิดเสียบ้างสิ..."

เหรียญหลวงตา

โยม : หลวงตาขา ไม่ทราบหลวงตามีเหรียญแจกหรือเปล่าคะ ?

หลวงตา : มีเหรียญเดียว ดูเอานี่...ออกสนามก็เหรียญนี้ ขึ้นเทศน์ก็เหรียญนี้ เหรียญอื่นไม่เห็นมี เหรียญไหนเก่งเอามาแข่งสิ เหรียญไหนเก่งเอามาแข่ง เหรียญนี้น่ะ ถ้าเก่งก็ไม่ต้องเอาเหรียญ สู้เหรียญนี้ไม่ได้ ว่างั้นเถอะ

โยม : ...?????...

การ์ตูน "ปู่สอน"

"...เขาออกการ์ตูนวันหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ แล้วก็อดที่จะนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังไม่ได้ เพราะเป็นคติดี ฟ้ง ! ฟังให้ดีนะ ขึ้นแล้วการ์ตูน

มันมี...เขาเรียกศาลพระภูมิหรืออะไร แล้วมีต้นไม้ใหญ่ แล้วมีศาลพระภูมิโอ๊ย ทำเหมือนจริงๆ นะ พวกนี้ พวกตลกทำได้เหมือนจริงๆ แล้วก็มีคนคนหนึ่งนั่งพนมมือแต้ แล้วคนหนึ่งไม่ทราบมาจากไหน...นี่บอกมาจากสูง นั่นแหละ บอกมาจากศาลว่า

โยมมีความยุ่งยากใจอะไร ?"

"ยุ่งยากใจ...ที่ปฏิบัติตามปู่นั่นแหละ"

"แล้วปู่สอนอย่างไรถึงต้องเป็นความยุ่งยากอย่างนั้นล่ะ ?"

"ปู่สอนให้มีความปรารถนาน้อย" ว่าอย่างนั้น

"แล้วเราไปปรารถนาอย่างไร ? มันถึงได้ลำบากยุ่งยากใจเรา"

"ไปมีเมียน้อย" (หัวเราะ)

...นั่นซิ ฟังซิ มันน่าฟังไหมล่ะ มันแฉลบไปนั่นน่ะ ไอ้เรื่องกิเลสมันเป็นอย่างนั้น เราสอนให้เป็นอย่างนี้ มันแฉลบไปนั่น ยอกให้ความปรารถนาน้อย...ก็คือว่า ถ้าเป็นฆราวาสให้มีผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น แต่นี่มันกลับไปเอาเมียน้อยมาอีก...

ปู่ท่านสอนว่าอย่างไร ท่านสอนให้มีความปรารถนาน้อย กาเมสุมิจฉาจารนี้เป็นข้อบังคับอย่างตายตัวเลย

นี่แหละ ข้อบังคับเพื่อให้เป็นทองแท่งเดียวกันระหว่างสามีภรรยา จนกระทั่งถึงลูกเต้าหลานเหลนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้รับความอบอุ่นจากธรรมข้อนี้..."

นิทาน "คนเลี้ยงม้า"

"ผู้เลี้ยงม้าน่ะขาเขยก ม้าก็เดินตามหลังคนเลี้ยงไปทุกวัน คนเลี้ยงเดินเขยกๆ ม้าขาดีๆ ก็เขยกๆ ตาม"

"คิดดู ม้ามันยังศึกษาเอาได้จากคนขาเขยก อันนี้คนแท้ๆ ทำไมจะไม่ศึกษาจากพ่อจากแม่ที่เป็นคนเขยก เข้าใจหรือเปล่า ?...

พ่อแม่ต้องระวังให้มีแบบมีฉบับบ้าง สอนลูกสอนเต้ายังไงกัน ตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้ายันค่ำมีแต่ทะเลาะให้เด็กฟัง เด็กก็ได้ศึกษานั้นแหละ แล้วไปเที่ยวทะเลาะกับหมู่เพื่อนและกลับมาก็ทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะไปหมดทั้งบ้านเลย เพราะได้ศึกษาวิชาผีบ้าจากพ่อจากแม่...

...ให้สอนเด็กไว้แต่เล็กแต่น้อย พ่อแม่เข้าวัดเข้าวา พาเป็นคนดี ลูกย่อมเป็นคนดี เพราะลูกเต้าที่เกิดมาจากพ่อจากแม่ คือพ่อแม่เป็นครูเป็นอาจารย์ในหลักธรรมชาติ

เป็นพ่อเป็นแม่แล้วยังไม่แล้ว ยังเป็นบุพพาจารย์ คือต้องสั่งสอนก่อนอื่นก่อนใครทั้งนั้น คำว่าสั่งสอนไม่จำเป็นจะต้องให้โอวาทสั่งสอนอย่างเดียว ความเคลื่อนไหวของพ่อแม่ผู้ใกล้เคียงจะเป็นการสอนเด็กอยู่ในตัวหมด..."

ด้วยเมตตาธรรมที่ท่านมีต่อคนหลายกลุ่มหลายคณะดังกล่าว ทำให้คำสอนของท่านจึงมีตั้งแต่ธรรมะที่ลึกซึ้งละเอียดแหลมคมสำหรับผู้มุ่งฝึกฝนจิตตภาวนา เพื่อมุ่งสู่แดนนิพพานโดยเฉพาะ หรือแม้แต่ธรรมะสำหรับเด็ก ผู้กำลังศึกษาเล่าเรียน ผู้มีหน้าที่การงาน ตลอดจนธรรมสำหรับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจะได้คัดหลักธรรมสำคัญๆ มาแสดงในหัวข้อต่อๆ ไป

สื่อ...ธรรม
หนังสือ-เทปธรรมะ ไม่ซื้อขาย


หนังสือธรรมะของท่านมีทั้งจากงานเขียนหรือถอดเทปจากการเทศน์อบรมพระเณรและฆราวาส ทั้งในวัดและนอกสถานที่ บางเล่มเป็นการรวบรวมคำตอบปัญหาธรรมจากจดหมายของพระเณร ฆราวาส ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านเริ่มแจกหนังสือธรรมะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514-15 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การจัดพิมพ์แต่ละครั้งๆ เป็นจำนวนหลายแสนเล่ม และพิมพ์มาตลอด หากต้องมีการประมาณจำนวนเล่ม ก็น่าจะหลายล้านเล่มแล้ว เพราะมีผู้ต้องการจำนวนมาก ทั้งมาด้วยตนเองที่วัด ทั้งที่เขียนจดหมายจากที่ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

หนังสือที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือ หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ แต่มาในระยะหลังนี้ ผู้สนใจอยากทราบชีวิตของหลวงตามีมากขึ้นทุกวันๆ ขณะที่ท่านเองก็ไม่เคยเล่าชีวประวัติหรือเขียนชีวิตความเป็นมาของท่านเลย จะมีเรื่องเล่าสั้นๆ บางตอนจากท่านบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในที่ต่างๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายของการเทศน์อบรมพระ เช่น ท่านเล่าถึงความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมของท่านเพื่อให้เป็นกำลังใจแก่พระเณร เป็นต้น

จ่าย...เพื่อหวังใจโลก

มีคนเป็นจำนวนมากที่ห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการแจกหนังสือและเทป เกรงว่าอาจทำให้ท่านต้องลำบาก ท่านให้เหตุผลในเรื่องนี้ ดังนี้

"...หนังสือของเรานี้ไม่มีการซื้อการขาย มีแต่การให้ฟรีๆ ส่งให้ฟรีด้วย บางคนเขามาถาม เขาคงวิตกถึงเรื่องการส่งของเรา เขาถามเฉพาะเรื่องส่ง

"เรื่องส่งคงจะหมดมากนะหลวงพ่อส่งหนังสือนี้"

"โอ๊ย อย่ามาถาม" เราบอกตรงๆ เลย

ถ้าเราจะมาวิตกวิจารณ์กับเรื่องการได้การเสียแล้ว เราทำไม่ได้ เราไม่ทำจริงๆ เราทำไม่ได้จริงๆ เช่น ค่าส่งนี้มันก็เป็นแสนๆ ล้านๆ จะว่าไง ค่าส่งหนังสือนี้ วันหนึ่งๆ ส่งมากขนาดไหน บางวันรถปิ๊กอัพเต็มเลย ส่งมาตั้งแต่ปี 2514 แล้ว ส่งใกล้ส่งไกล ขนาดในเมืองไทยไม่ต้องพูดแหละ โน่นเมืองนอกยังส่งออกไป ทั้งเทปทั้งหนังสือ

เวลานี้เทปดูจะมากกว่าหนังสือด้วยซ้ำ ขอมานี้เป็นเหมือนกับไฟลามทุ่งเลยเชียว ต้องให้พระท่านพักเครื่อง เครื่องอัดเทปนี้เราก็หามาให้นะ ด้วยความสงสารทั้งนั้นแหละ..."

ผู้รับธรรมะผ่านสื่อ

มีหลายท่านที่ได้อ่านหนังสือธรรมะ แล้วเขียนจดหมายกลับมาถึงท่านว่า

"...แต่เดิมนั้นคิดสิ้นหวังแล้วในเรื่องมรรคผลนิพพานและพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นของที่มีแต่เพียงในตำรับตำราเท่านั้น ปัจจุบันนี้คงจะหมดสิ้นไปแล้ว ผู้ทรงมรรคทรงผลก็คงหาไม่ได้แล้ว..."

บางรายก็เคยคิดขนาดว่า "...ศาสนานี้หมดหวังแล้ว มีแต่ตัวหนังสือ มีแต่ชื่อ ดูพระดูเณรผู้ปฏิบัติมีแต่เรื่องที่ดูไม่ได้เลย เป็นที่สลดสังเวชใจมาก..."

ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนั้นๆ ไปแล้ว กลับพลิกขึ้นมาเลย เหมือนกับว่าได้เกิดชาติใหม่ นักปฏิบัติธรรมหลายท่านเช่นกัน เมื่อได้อ่านหนังสือหรือฟังเทปแล้วเกิดความซาบซึ้งในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจก็มีอยู่ไม่น้อย

จดหมายที่ส่งมาถึงท่านมีเป็นจำนวนมากตลอดมา และเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ส่วนใหญ่เป็นการทำบุญปกติธรรมดา แต่บางรายก็มีปัญหาทางธรรมตั้งแต่พื้นฐานทั่วๆ ไป จนถึงเรื่องจิตตภาวนา ท่าน็ให้ความเมตตาตอบจดหมายสอนสั่งแนะนำเรื่อยมา ขอยกตัวอย่างผู้ได้รับสื่อธรรมประเภทต่างๆ ของท่านมาแสดงบ้าง ดังนี้

รูปภาพ
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
วัดป่าเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกองค์หนึ่ง และท่านยังเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่สกลนครอีกด้วย ท่านเคยจำพรรษาอยู่สหรัฐอเมริกาหลายปี ต่อมาจึงได้กลับเมืองไทย

หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยบอกกับลูกหลานพระเณร ทั้งที่วัดป่าบ้านตาดและวัดของท่านเองเสมอๆ ว่า ที่ท่านเคารพนับถือหลวงตามหาบัว ก็เพราะได้อ่านหนังสือของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่หลวงตาแสดงธรรม ณ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ

เทศน์ครั้งนั้นมีตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องราคะตัณหาและวิธีแก้ เมื่อหลวงปู่สุวัจน์อ่านแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนถึงใจขึ้นทันที ท่านเล่าว่าพออ่านแล้วมันสะดุดใจปุ๊บ จากนั้นจับเงื่อนได้ทันที ทีนี้จิตก็หมุนติ้วในธรรม มีแก่ใจที่จะเร่งความพากความเพียรตลอดเวลา ท่านได้กำลังครั้งใหญ่ก็ด้วยเหตุที่ได้อ่านหนังสือในตอนนั้นนั่นเอง...

นักภาวนาชาวกรุง

หลวงตากล่าวถึงสตรีท่านหนึ่ง เธอใช้ชีวิตที่ไม่แตกต่างอะไรจากคนทำงานทางโลกทั่วไป เนื่องจากมีครอบครัวมีบุตรธิดาถึง 3 คน ยิ่งกว่านั้นยังมีภาระหน้าที่การงานที่จะต้องบริหารและรับผิดชอบ แต่ด้วยจิตใจที่รักและเห็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงของงานด้านจิตตภาวนา เธอจึงพยายามเจียดเวลาเพื่อเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง ฝึกสติอบรมปัญญาไปพร้อมๆ ควบคู่กับการงานโดยมิยอมให้เสียงานทางโลกแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ความคิดความอ่านในหน้าที่การงานดีขึ้นแจ่มชัดขึ้นอีกด้วย เพราะเต็มพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ความคิดความอ่าน...จึงไม่วู่วามตามอารมณ์หรือตามความฟุ้งซ๋านส่ายแส่ของจิตใจเหมือนในขณะที่ยังควบคุมจิตได้ไม่ดีพอ

เธอปฏิบัติเช่นนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมาหลายปีด้วยความพากเพียร กระทั่งเห็นผลแห่งการปฏิบัติพอเป็นแรงจูงใจให้เพียรยิ่งๆ ขึ้น ครั้งหนึ่ง เธอมีโอกาสได้เข้ากราบสนทนาธรรมกับหลวงตาที่สวนแสงธรรม ในคราวท่านลงไปกรุงเทพฯ และได้เล่าผลอัศจรรย์ของจิตที่เกิดจากจิตตภาวนาถวายหลวงตาเป็นที่รื่นเริงในธรรมทั้งอาจารย์และศิษย์

กาลผ่านไป เมื่อหลวงตาท่านกลับวัดป่าบ้านตาด อุดรธานีแล้ว ตอนเช้าวันหนึ่งปลายปี พ.ศ. 2538 หลังจังหัน หลวงตาท่านแสดงธรรมได้ระยะหนึ่ง เนื้อธรรมที่แสดงนั้นได้ไปสัมผัสกับเรื่องที่ท่านได้สนทนากับสตรีท่านนี้ ท่านจึงได้เมตตาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า มีพยาน แล้ว ดังคำเทศน์ต่อไปนี้

"...พอพูดอย่างนี้ ก็ไปสัมผัสเรื่องหญิงคนหนึ่ง แกภาวนาอยู่ตามประสีประสาของแก สุดท้ายเอาจริงเอาจัง เป็นเข้าจริงๆ เวลาเป็นเข้าจริงๆ แล้วเห็นโทษกิเลสนี้ แหม...แกว่าอย่างนั้นนะ

"ทำไมมันถึงร้ายแรงเอาหนักหนากิเลสนี่ รุนแรงมาก ทั่วสามแดนโลกธาตุ กิเลสขยำคน"

ฟังซิ แกไม่ได้เรียนนะ แกไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางอรรถทางธรรม ออกจากภาคปฏิบัติล้วนๆ

"มองไปที่ไหนดูมีแต่กิเลสขยี้ขยำหัวสัตว์โลกเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ว่าสัตว์เดรัจฉาน่ว่ามนุษย์ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด มีแต่กิเลสขยำเอา โงหัวไม่ขึ้นเลย สลดสังเวช บางทีก็กระซิบบอกเพื่อนฝูงบ้างบางคน พวกคลั่งกิเลสมันก็ไม่พอใจ สุดท้าย จะทำภาวนาก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไปทำอยู่ตามป่าตามอะไร เพราะทำงานอยู่ตลอดเวลา สติไม่ได้เผลอตลอดเวลา มันเป็นเองของมัน"

คำพูดอย่างนี้ไม่เป็นจริงเอามาพูดได้เหรอ ต้องอมอกมาจากภาคปฏิบัติรู้จริงเห็นจริง

"สตินี้ดี ดีจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะทำการทำงานอะไร สติจ่อแล้วทำงานก็ทำไปตามเรื่อง ทำงานทางโลกก็ทำ ภายในก็ทำ หมุนติ้ว"

นั่นแห็นไหม ได้ยินแต่หลวงตาบัวว่าหมุนติ้วๆ นี่ มีพยานแล้วนะ เพื่อนฝูงเขาสงสาร พอทราบว่าเราไป เพราะแกอยากพบครูอาจารย์ อยากพบเราแกก็อยากพบ พอดีแกก็มาจริงๆ คนมากๆ ก็ใส่เปรี้ยงเลย นั่นละ ขึ้นเวลาแชมเปี้ยนแล้วไม่ใช่เวทีธรรมดา ซัดกันใหญ่เลย แกก็ออกมาอย่างกระจ่ายเลยนะ เปรี้ยงๆๆ นั่นละ ความรู้ความเห็นที่เป็นขึ้นจากจิตใจไม่สะทกสะท้านนะ แกก็ใส่มาเปรี้ยงๆ ทางนี้ก็ใส่กันเลย

"ก็ทำกำดำกำขาวไปอย่างนั้นละ แต่จิตมันดูดดื่มอยากทำตลอดไป แต่ทีนี้ก็ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกประการใด"

บอกแกว่า "ถูกแล้ว เอ้า เอาเลยนะ รวมตัวแล้ว ทีนี้ฟาดลงไป ถลุงมันตรงนั้นๆ ชี้แจงเป็นระยะๆ เข้าไป"

แกก็พอใจเอาอย่างมาก "ทีนี้เป็นที่ตายใจแล้ว"

เราว่า "ตายใจน่ะถูกต้องแล้ว ที่ปฏิบัติมานี่ถูกต้องแล้ว"

แกนั่งภาวนาได้ถึง 13 ชั่วโมงก็มี 9 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 13 ชั่วโมงก็มี พิจารณาทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเป็นของจริงทุกส่วน เป็นของจริงแล้วไม่มีกระทบกระเทือนกันเลย จะนั่งตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ได้ อย่าว่าแต่เพียง 12-13 ชั่วโมงเลย ลุกออกมาเฉยๆ นี่แหละจะนั่งตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ได้

"ไม่มีอะไรที่จะเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจได้เลย เมื่อต่างอันต่างจริงแล้ว ไม่คละเคล้ากัน"

นั่นฟังซิแกพูด พูดอาจหาญเสียด้วยนะ เราก็รื่นเริงเห็นผลของการปฏิบัติธรรมนี่ละ ธรรมของพระพุทธเจ้าพอปรากฏขึ้นในใจ

"เห็นโทษของกิเลสเห็นจริงๆ เห็นจนสลดสังเวช มองไปไหนๆ พิจารณาไปไหน แหม มีแต่กิเลสอย่างเดียวครอบงำ สัตวโลกให้ดิ้นล้มดิ้นตายกันอยู่ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด แล้วโลกก็ไม่รู้ด้วยนะ น่าสงสารอันหนึ่ง" แกว่า

"โลกก็ไม่รู้ด้วยนะ มันขยี้ขยำจนจะตายก็ยังดิ้นเพลินกันอยู่" คนมากนะวันนั้นวันที่แกมาหา เพราะไม่มีเวลาที่จะพูดโดยเฉพาะ

"ไม่ต้องเฉพาะ ฟาดเลย"

เราว่าอย่างนี้แหละ แกเห็นโทษของกิเลสจริงๆ เราไม่ตายให้กิเลสตายมีสองอย่าง ขั้นนี้ขั้นเห็นโทษของกิเลสเห็นเต็มหัวใจ เห็นคุณค่าของธรรมก็เห็นเต็มหัวใจ ทั้งสองอย่างนี้บรรจุเข้าสู่ใจแล้วเอาชีวิตเข้าแลกเลย ไม่มีความสะทกสะท้านกับเรื่องความตาย หมุนติ้วๆ

นี่ละคนหนึ่งจะไปได้ ไม่นานละ แน่แล้ว เป็นผู้หญิงนะ มีลูก 3 คน แกก็เคยส่งปัจจัยมาวัดนี้ประจำเดือน แกเล่าให้ฟัง คนฟังนี่ โห อ้าปากไม่งับแหละ ลืมตาหลับไม่ลง เพราะขึ้นตามหลักธรรมชาตินี่ หมุนติ้วๆ แกพูดเปรี้ยงๆ เอ้า เปิดๆ ให้หมด เราว่าอย่างนั้นนะ เราก็หิวอยากฟังนี่นะ มันมีแต่พูดคนเดียว เป็นบ้าอยู่ พูดตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วย เหมือนบ้าพูดคนเดียว เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราเป็นบ้า พอดีได้ผู้หญิงคนนี้มาเป็นแฟน

"เอ้า พูดๆ เลย เอาให้เต็มที่นะ"

เราอยากฟังเหลือเกินธรรมะประเภทนี้ พูดอย่างนี้แหละว่า

"ไม่เคยได้ฟัง เพิ่งจะมาได้ฟังนี่แหละ เอ้า เปิดเลย" พอแกเปิดแล้วตรงไหนเป็นจุดที่ควรจะแนะ ก็แนะแกๆ ไม่ใช่แนะธรรมดานะ ตีเปรี้ยงๆ ลงไปเลย

"เอาจุดนี้ๆ เอ้าๆ"

นี่ละจวนจะไป ไม่อยู่แล้ว เป็นธรรมชาติแล้ว เป็นอัตโนมัติแล้วหมุนเรื่อย จิตเข้าถึงขั้นนี้แล้วหมุนเรื่อย เห็นโทษของกิเลสเห็นจนจะสลบไสล กิเลสเป็นโทษแก่โลกขนาดไหน เวลาเข้าถึงตัวมันจริงๆ แล้วจนสลบไสล โทษของมันทำให้เจ็บให้แสบให้เข็ดให้หลาบให้กลัว จนไม่รู้จักเป็นจักตาย หลบกิเลสหนีกิเลส ตายก็ตาย ให้ได้พ้นจากกิเลสก็แล้วกัน ให้พ้นๆ มันก็บืนละซิ

พระพุทธเจ้าสอนเล่นเมื่อไร พวกเราไม่เห็นนั่นซี จึงได้ว่ากิเลสแหลมคมมากนาแกพูด แกก็เปิดเต็มที่เหมือนกัน แกพูดด้วยความตื่นเต้น และแกก็ไม่มีผู้ใดที่จะตอบรับแกอย่างนั้น เราก็ตอบรับเต็มภูมิเลย เพราะหิวกระหายอยากฟังมานาน

ธรรมะประเภทนี้มีแต่ประเภทความจำ จำได้ก็มาบ้าน้ำลายกันเหมือนนกขุนทองแก้วเจ้าขาๆ เรียนจบพระไตรปิฎก กิเลสตัวเดียวหนังไม่ถลอกเลย เห็นแต่อย่างนั้นเต็มบ้านเต็มเมือง

นี่แกเอาจริงเอาจังแน่แล้ว...คนนี้ไม่นานด้วยนะ เมื่อมีผู้แนะจุดสำคัญนี้แล้วมันจะพุ่ง ไม่ลูบไม่คลำเมื่อมีผู้แนะ ความที่ดำเนินมาแล้วก็ว่าถูกต้องแล้วก็หายห่วง จุดไหนที่กำลังดำเนินก็ชี้บอก ทางนี้ก็พุ่งๆ เลย

เป็นเรื่องอัศจรรย์เหมือนกันนะ คนไม่เคยกับศาสนา เวลามาปฏิบัติมันเป็นขึ้น นี่ละความรู้จากภาคปฏิบัติกระจายอย่างนี้เอง ความรู้ในหนังสือที่ท่านจดจารึกมาในตำรับตำราในพระไตรปิฎกพอประมาณเท่านั้นนะ ไม่ได้ซอกแซกซิกแซ็กกระจายไปทุกแห่งทุกหนเหมือนภาคปฏิบัติ...เรียกว่า ทั่วท้องฟ้ามหาสมุทรเลย..."

จากความเมตตาที่ท่านแสดงธรรมให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการการเยียวยาทางด้านจิตใจและเป็นธรรมโอสถ ให้รู้จักพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สามารถรวมเล่มอยู่ใน หนังสือ "ธรรมชุดเตรียมพร้อม" ซึ่งเนื้อหาเหมาะกับผู้ปฏิบัติธรรมจริงจัง ผู้ปฏิบัติสูงขึ้นๆ ผู้ต้องการต่อสู้กับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือผู้ต้องการฝึกจิตเพื่อเตรียมสู้และเตรียมรับมรณภัย


(มีต่อ 25)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 17 ประสบการณ์จากพระธุดงค์

หลวงตาเล่าเรื่องจากประสบการณ์

หลังเสร็จสิ้นภัตตาหารเช้า หลวงตาจะแสดงธรรมหลายแบบหลายฉบับ ตามเหตุผลหรือเรื่องที่เข้ามาสัมผัส ผู้ฟังธรรมประจำวันส่วนใหญ่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือมาจากในเมือง การเทศนาของท่านจึงเป็นแบบกันเองระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหา จึงมีทั้งเรื่องจิตตภาวนาล้วน เรื่องจากประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของท่านเองในช่วงชีวิตต่างๆ กัน หรือเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นคติเตือนใจ

ชีวิตการออกธุดงคกรรมฐานของครูบาอาจารย์แต่ละองค์แต่ละท่านนั้น ทำให้ท่านได้มีโอกาสสัมผัสสัมพันธ์กับเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องความอัศจรรย์ของจิต ทั้งเรื่องที่พบเห็นขณะท่องเที่ยวอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เรื่องสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ เรื่องคนป่าคนเมืองหลากหลายท้องถิ่น ฯลฯ

ประสบการณ์หลายต่อหลายเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่บรรดาเราๆ ท่านๆ อาจไม่รู้ไม่เห็นมาก่อนเลย เพราะไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตผจญภัยหรือโยกย้ายไปมาในถิ่นต่างๆ เหมือนกับท่าน และบ่อยครั้งเมื่อครูบาอาจารย์เหล่านี้ท่านมีโอกาสได้พบปะกัน เรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น จึงถูกถ่ายทอดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านก็เคยนำประสบการณ์หลายเรื่องที่ได้รู้ได้เห็นหรือได้ฟังมาเล่าถ่ายทอดแก่ลูกหลาน ซึ่งล้วนเป็นข้อคิดคติเตือนใจเป็นอย่างดี ดังได้คัดมาแสดงบ้างดังนี้

ท่านอาจารย์มั่นรู้วาระจิตหลวงปู่ฝั้น

ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์สำคัญองค์หนึ่ง เคยเล่าให้หลวงตาฟังเมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านจึงนำมาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ฟัง ดังนี้

"...ท่านอาจารย์ฝั้นออกจากโคราชนี้ไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ท่านอาจารย์มั่นอุตส่าห์ออกมาต้อนรับเลยนะ เห็นไหมเก่งไหม ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านรู้ภายในข้างในนี้ ท่านอุตส่าห์ออกมาเมื่อท่านอาจารย์ฝั้นไปถึงนั่น

วันหนึ่งหรือ...ตอนเช้าวันที่สองตอนสายๆ ท่านอาจารย์ฝั้นเห็นท่านอาจารย์มั่นมาหาหน้ากุฏินั้นเลย พอมองเห็นก็คิดอยู่ในใจ

"โอ๊ย ท่านอาจารย์มั่นนี่" จึงรีบโดดลงจากกุฏิเลย ท่านเดินกึ๊กกั๊ก กึ๊กกั๊กมา

"โอ้ครูอาจารย์มายังไง ? ยังไง ?"

"ก็มารับท่านนั่นแหละ"

นั่นเห็นไหม บอกว่า "มารับท่าน" แล้วก็พาไปเลยเชียว นั่นท่านทราบไว้แล้วเก่งไหม บอกว่า "ก็มารับท่านนั้นแหละ"

พอไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็พูดถึงเรื่องสถานที่นั่นดีอย่างนั้น ที่นี่ดีอย่างนี้ ทางท่านอาจารย์ฝั้นก็เลยคิดอยากไปอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่ในตอนนั้นท่านอาจารย์มั่นไม่เห็นอะไรสมควรยิ่งกว่าอยู่กับท่านในขณะนั้น สมกับเหตุผลที่ท่านมารับเอง

ตอนกลางคืน ท่านอาจารย์ฝั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปที่นั่นที่นี่ พอโผล่ออกมา ท่านอาจารย์มั่นว่า

"ไหนจะไปไหน ?"

ว่าอย่างนั้นเลยนะ นั่นเห็นไหมล่ะ"จะไปไหนอีก ?"

เปิดประตูออกมาตอนเช้า ท่านอาจารย์ฝั้นตะคอยรับบริขารท่าน พอเปิดประตูออกมา

"หา ? จะไปที่ไหน ?" ว่าอย่างนั้นเลยนะ

"ที่นี่ดีกว่า" ทางอาจารย์ฝั้นนั้นก็ปิดปากเลย เงียบไป แต่ก็ไม่นานละ ก็คิดอีก ท่านอาจารย์ฝั้นเล่าเองแหละ คิดอีกว่าจะไปที่นั่น ท่านก็เอาอีก...

พอวันหนึ่ง จิตท่านลงอย่างนั้นแหละ จิตท่านอาจารย์ฝั้นนะ นั่งภาวนานี่ จิตลงอย่างอัศจรรย์เลยสว่างจ้าครอบโลกธาตุ ท่านว่าอย่างนั้นนะ

"พอมองไปหาท่านอาจารย์มั่นทีไร เห็นท่านนั่งจ้องดูเราอยู่อย่างนี้"

ท่านว่าอย่างงั้นนะ มองไปทีไร มองจิตส่งจิตไปทีไร ท่านนั่งจ้องเราอยู่แล้ว หมอบกลับมา พอตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดประตูเท่านั้นแหละ ประตูกระต๊อบนะ ไม่ใช่กุฏิอะไรใหญ่โตนะ กระต๊อบๆ ทั้งนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่ มีแต่กระต๊อบๆ ทั้งนั้นนะ หรูหราที่ไหน นั่นแหละสถานที่อยู่ของธรรม หรูหราไหมสถานที่อยู่ของธรรมดวงเลิศ ผู้เลิศมักจะอยู่อย่างนั้น และอยู่อย่างนั้น ทีนี้พอเปิดประตูออกมา ท่านอาจารย์ฝั้นก็ไปรอ เปิดประตูออกมานี่ ยืนกึ๊กเลยเชียวนะ

"เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนาทีนี้ ?"

เอาล่ะนะ แทนที่ท่านอาจารย์มั่นจะให้เข้าไปจับ ไปขนบริขาร (เพื่อเตรียมออกบิณฑบาต) ไม่ให้ไปนะ ท่านไปยืนกันอยู่ที่ประตูเลย ทางนั้นก็คุกเข่าหมอบนั่งอยู่

"เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนาทีนี้? หือ ? หือ ?" ขึ้นเลย

"ศาสนาอัศจรรย์ที่ไหน ? ศาสนาอยู่ที่ไหน ? มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ? เห็นหรือยัง ?" ว่าอย่างนั้นนะ ยืนจ้อซัดอยู่ที่นั่นเลย เสียงเปรี้ยง เปรี้ยง

"เจริญที่ไหน เห็นหรือยังทีนี้ ?"

คือกลางคืนนั้นจิตสว่างจ้านี่นา ก็ท่านอาจารย์มั่นดูอยู่แล้วนี่ พอออกมาท่านถึงใส่เปรี้ยงเลย

"เห็นหรือยัง ? ศาสนาเจริญที่ไหน ? หือ ? มรรคผลนิพพานเจริญที่ไหน ? ผมดูท่านทั้งคืนนะ เมื่อคืนนี้ ผมก็ไม่ได้นอน"

มันก็ยอมรับเลย พอท่านอาจารย์ฝั้นจ่อจิตไป ส่งจิตไปทีไร ท่านจ้องดูอยู่แล้ว มันก็หมอบ ถอย ถอย ดูทีไรจ่ออยู่

"ผมก็ไม่ได้นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้ ดูท่านนี่แหละ" ว่าอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นถึงว่า ไหน...ศาสนาเจริญที่ไหน จ้อเข้าเลยสิ นั่นเห็นไหม ท่านมาเล่าให้ฟัง ท่านบอกโอ๊ย ขนลุกเลย ไม่ทราบมันเป็นยังไง ทั้งปีติยินดีในจิตอัศจรรย์ ปีติยินดีล้นพ้น และอัศจรรย์ท่านอาจารย์มั่นก็อัศจรรย์ล้นพ้น ท่านว่าอย่างนั้นนะ ชมความอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืนเลย นั่นแหละ ธรรมหาอย่างนั้นแหละ ธรรมอยู่ที่นี่แหละ ชี้เข้ามาที่ใจเท่านั้นรับธรรม ใจเท่านั้นรับมรรคผลนิพพาน สิ่งอื่นใดในโลก ไม่มีอะไรรับได้..."

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ


พลังจิต...ท่านพ่อลี

...ท่านเล่าถึงพลังจิตของท่านอาจารย์ลี แห่งวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้

"...พูดถึงเรื่องจิต...อย่างสมัยปัจจุบันนี้นะ...คือทำไมถึงทราบกันได้ ก็ทราบในวงปฏิบัติด้วยกันนะสิ! พระกรรมฐานประสานกันอยู่ตลอดเวลา พวกเราฆราวาสไม่ค่อยทราบกัน...ภาคปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนาองค์ไหนเป็นอย่างไรๆ ท่านจะทราบกันอยู่อย่างลึกลับอยู่ภายในของท่านนะ ในระหว่างพระกรรมฐานด้วยกัน แต่คนภายนอกนั้นไม่ทราบ เพราะท่านไม่พูด...

เวลาไปไหน พระกรรมฐานเป็นผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริงๆ เราจะไม่ทราบเลยเหมือนกับว่าผ้าขี้ริ้วห่อทอง ท่านไม่ได้มุ่งพูดอะไรต่ออะไร...นั่นละ ถ้าความเป็นธรรมจริงๆ แล้ว จะไม่มีโลกามินเข้าไปเคลือบไปแฝงเลย...แต่ในวงปฏิบัติดัวยกันแล้ว อย่างไรก็ปิดไม่อยู่ อะไรก็ต้องเปิดสู่กันฟัง เพื่อจะได้แก้ไขกัน มีอะไรๆ ขัดข้องตรงไหน พอองค์นั้นเล่าให้ฟังแล้ว ขัดข้องตรงไหน องค์นี้จะแก้ให้ทันที แก้ให้แล้วเปิดทางโล่ง...นั่น เรื่องของจิตเป็นอย่างนั้น

หลวงปู่มั่น นานๆ ท่านจะยกองค์นั้นมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้นละ ทีนี้ยกมาคราวใดจะต้องมีจุดสำคัญๆ ที่ท่านจะนำออกมา อย่างท่านอาจารย์ลีนี้ท่านก็ว่า

"ท่านลีนี้นะ กำลังใจดีมาก"

ฟังสิกำลัง พลังของใจ นี่จะยกตัวอย่างให้ประกอบกับคำว่าพลังของธรรม ท่านอาจารย์เฟื่อง โชติโก เป็นคนเล่าให้ฟัง เราไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยละ ท่านอาจารย์ลีนั่งอยู่ ท่านอาจารย์เฟื่ององค์หนึ่ง และเด็กชื่อมนูญคนหนึ่ง อยู่นี่แล้วท่านก็นั่ง ตอนนั้นก็คุยธรรมะกันเล็กๆ น้อยๆ นะ

"เอ้อ เราจะพานั่งสมาธิ"

ท่านอาจารย์ลีว่าอย่างนั้น "เอ้า เข้าที่" (นั่งขัดสมาธิ) ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านอาจารย์เฟื่องเล่าให้ฟัง พอว่าอย่างนั้น องค์ท่านอาจารย์ลี ท่านไม่ได้นั่งหลับตานี่ ท่านไม่ได้นั่งเข้าที่ ท่านนั่งธรรมดา

"เอ้า นูญ ! เข้าที่"

พอนั่งปุ๊บปั๊บ เด็กเข้าที่นั่งสมาธิ ท่านคงเคยสอนมา ท่านอาจารย์เฟื่องนั่งอยู่ทางนี้

"เอ้า เราจะให้ตัวลอยนะ"

ท่านอาจารย์ลีกล่าว นี่ละ ที่ว่าพลังของจิต "เราจะให้ตัวลอยนะ" พอว่าอย่างนั้น

"เอ้า ขึ้น...ขึ้น..." แล้วดูมือท่านนะ ท่านอาจารย์เฟื่องดู ท่านว่า ท่านทำมือด้วย

"เอ้าๆ ขึ้น...ขึ้น...ขึ้น..."

ท่านอาจารย์ลีทำมืออย่างนี้ ขึ้นจริงๆ เด็กคนนั้นนะ ตัวลอยขึ้นๆ...ตัวสูงขนาดนี้...นี่ละพลังของจิตที่ท่านอาจารย์มั่นว่า

"พลังของจิตท่านลีนี่ดีมาก, ...ฟังสิ ! พลังของจิตดีมาก นี่ละ พลังเป็นอย่างนี้ แล้วพอเด็กนี้ลงแล้ว ทางท่านอาจารย์เฟื่องก็คิดมั่นใจว่า

"ยังไงท่านก็จะให้เราขึ้นคราวนี้ เราจะไม่ยอมขึ้น วันนี้ฝืนกัน"

แล้วก็จริงๆ สักเดี๋ยวท่านอาจารย์ลีก็ว่า "เอ้า เฟื่อง" ท่านอาจารย์เฟื่องปรารภในใจ "ว่าแล้ว" ทางท่านอาจารย์ลีนั้นว่า "เอ้าๆ ขึ้นๆ"

ท่านอาจารย์เฟื่องว่า

"มันจะขึ้นจริงๆ หว่า ! สู้ท่านไม่ได้ เราไม่ให้ขึ้นนะสิ แต่มัน...อันนี้มันโยกแล้ว มันแปลกๆ แล้ว" ท่านว่า

"เราก็สู้ๆ แต่สู้อย่างไรก็..."

อย่าให้พูดเถอะ (ขำ) ไอ้เรื่องแพ้อย่ามาพูดเลย คือเรื่องแพ้ท่านอาจารย์ลี ท่านอาจารย์เฟื่องว่า

"อีกนิดหนึ่งนะ...ลงเลยนั่น หัวคะมำ ถ้าสมมติว่าก้นเราไม่ขึ้น หัวเราต้องคะมำ"

ท่านว่าอย่างนั้น นั่นน่ะ เห็นไหมนั่น ไม่ใช่เล่นนะ พอเสร็จแล้ว แล้วท่านก็ยืนอยู่นะ พอเห็นทางนั้นขยุกขยิกๆ มันจะขึ้นแต่ไม่ขึ้นนี่นะ พอเสร็จแล้วท่านก็หยุด พอหยุดแล้วก็นั่งละ

"โอ๊ย ดื้อ" (หลวงตาพูดอย่างขบขัน) ท่านอาจารย์ลีพูดอย่างนี้ ท่านไม่พูดมาก "เฮ้ย ดื้อ" (ขำ) ผมยังไม่ลืมอยู่นะ ท่านอาจารย์เฟื่องว่า ท่านอาจารย์ลีมียิ้มอยู่บ้างนิดหนึ่ง

นี่ละ เรื่องพลังจิต อันนี้ก็จะเป็นไปได้บางราย...เพราะเป็นเรื่องภายนอก ใช้ภายนอกต่างหาก ตามแต่จริตนิสัยของใครที่จะใช้ในทางไหน ไม่ใช่หลักของศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพานจริงๆ อันนั้นเป็นหลักเพื่อจะละจะถอนกิเลส...

กำลังจิตอันนี้มันเป็นเครื่องใช้ แล้วแต่ใครจะมีนิสัยวาสนาหนักไปทางไหน เช่น เหาะเหินเดินฟ้าดำดินบินบน ที่ท่านแสดงไว้ในอภิญญา 6 หรือวิชชา 3..."

รูปภาพ
พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก


วิชาขี่เสือ

"...วิชาขี่เสือนี้เป็นวิชาไสยศาสตร์อันหนึ่ง เขาร่ายมนต์เรียกเสือมา เสือก็มาจริงๆ อย่างที่พวกเขาขี่เสือ มีนะ นี่ละ ไสยศาสตร์ขี่เสือได้นะ ขี่เสือป่า นี่ขี่เสือได้

ที่บ้านหนองแวงนี่ก็มีคนหนึ่ง เราเกิดไม่ทัน ผู้เฒ่าตายเสียก่อน เขาเรียก พรานป้อ คนเตี้ยๆ ขี่เสือมาเรื่อยๆ ไปในป่า พอไปเหนื่อยๆ แล้วขี่เสือออกมา เขามีวิชาจับเสือขี่ อันนี้ก็มีคนหนึ่งอยู่ทาง บ้านมาย อำเภอบ้านมายหรืออำเภอบ้านม่วง มีเสือ...ดงใหญ่ คนนี้ก็ขี่เสือได้ ไปเรียนวิชามาจากฝั่งลาว ไปเรียบกับพวกโซ่พวกข่าเขา เรียนวิชาขี่เสือ ว่าไปด้วยกัน 5 คน ครูนำหน้าไป พอไปตั้งทัพลงตรงนี้ปั๊บ แล้วก็นั่งร่ายมนต์เรียกเสือมา เสือตัวไหนอยู่ใกล้มันก็มา มาก็มานอนอยู่ตามนี้ เสือ เสือโคร่งนะ คนร่ายมนต์ ทีนี้เสือก็มา ลูกศิษย์นี้ต่างพากันกลัวจนตัวสั่นแหละ อาจารย์เป็นคนร่ายเสือมา

ทีนี้ พอมันมาแล้วก็สั่งคนนั้นไปขี่เสือมานี่ คือมันมานอนอยู่ตามอย่างนี้ ให้ขี่เสือตัวนั้นเข้ามาหาครูนี่ ครูนั่งอยู่นี่ ทดลองในขั้นนี้ก่อนนะ ทดลองเป็นขั้นๆ จนกระทั่งใจกล้าหาญเชื่อวิชาตัวแล้วทีนี้ก็ปล่อย อันนี้ก็สั่งคนนี้ให้ไปขี่เสือ ไม่ยอมไป กลัวเสือกินหัวมัน อาจารย์ไล่ไม่ยอมไป เสือก็นอนดารดาษอยู่ มันดงเสือนี่นะ ตัวไหนอยู่ใกล้ก็มาก่อน ตัวไหนอยู่ไกลก็มา บางทีจนคนจะเลิกแล้วค่อยมาถึงก็มี

ทีนี้ พอถึงคนที่ห้านี้ตัดสินใจเลยตามก็ตาย ถ้าครูไม่เก่งจริงจะเรียกเสือมาไม่ได้ เอากันตรงนั้นตัดสิน ถ้าครูไม่เก่งจริงแล้วเรียกเสือมาไม่ได้ ครูต้องเก่ง นี่ครูเป็นคนบอกเองให้เราไปขี่เสือมาหาครูนี้จะเป็นอะไรไป

"เอ้า ตายก็ยอมตาย"

ไป...ก้าวขาจะไม่ออก มันแข็งไปหมดว่างั้น เอ้าๆ ไปบังคับให้ไป ไปก็ไป ขี่เสือมาหาครู พอขี่เสือตัวนี้มาแล้ว ไปๆ ขี่เสือมาอีก ขี่เสือตัวนี้มานอนอยู่นี้ นอนอยู่หน้าคน นี่ละไสยศาสตร์เขาเก่งไหม ก็ขี่เสือตัวนั้นมา ขี่เสือตัวนี้มา กล้าหาญละ นี่เป็นครั้งหนึ่งแล้วนะ ทดลองพักแรก พักที่สอง ครูนั่งอยู่ที่นี่ ให้ลูกศิษย์ไปนั่งอยู่โน้น ห่างๆ จากครูไป ให้ลูกศิษย์เป็นคนร่ายมนต์เรียกเสือมา มาหาแล้วก็ขี่เสือมาหาครู เขาทำหลายพักนะเขาทดลอง คือทีแรกเรียกมาหาครูเสียก่อน ให้ลูกศิษย์คนนี้ไปขี่เสือเข้ามาหาครู ไปขี่เสือตัวนั้นเข้ามา จากนั้นแล้วก็ให้ลูกศิษย์นี่ไปอยู่นอกๆ โน้นไกลๆ แล้วก็ไปร่ายมนต์เรียกเสือมา แล้วขี่เสือมาหาครู ทีนี้พอชำนาญแล้ว ถามลูกศิษย์ว่าแน่ใจแล้ว ไม่กลัวแล้ว ก็ปล่อยละ

อีตาคนนี้แกขี่เสือ คนบ้านมาย นี่เขาเห็นกันหมดทั้งบ้านปฏิเสธได้ยังไง ทีนี้จึงรู้ว่าเสือสติมันดี รู้กันตามนี้ ว่างั้น แกขี่เสือไปนี้ไปตามด่านในดง คนมาทางโน้น เสือมันดิ้นแล้วทางนี้ คนมาไม่ใช่คนธรรมดา คนธรรมดาก็เป็นอย่างหนึ่ง พูดกันจอแจมา แต่นายพรานมานั่นซิ นายพรานเขาไม่ได้จอแจนี่ เขามาจ้อเลยหายิงเนื้อล่าเนื้อนายพรานก็รู้ พอนายพรานมาข้างหน้าโน้น ทางนี้ดิ้นแล้วจะออกจากทาง พอเห็นท่าไม่ดีก็ปล่อย ปล่อยก็วิ่งเลยเข้าป่าปั๊บ สักเดี๋ยวนายพรานก็มา

คือสติมันดีอย่างนั้นนะว่างั้น รู้ได้เร็วมาก ไอ้ที่จะไปเจอกันจริงๆ ไม่ได้เจอง่ายๆ แหละ มันดุกดิกๆ แล้ว พอจวนเท่าไร มันดิ้นจะไป พอปล่อยปั๊บนี้วิ่งเลยเข้าป่า สักเดี๋ยวนายพรานก็มา บางทีเวลานอนกลางคืนเหมือนกับว่าเอาเสือเป็นหมา เจ้าของนอนอยู่กลางคืน พอตื่นขึ้นมานี้เสือมานอนอยู่ด้วยแล้ว มานอนอยู่กับคน มันไม่กลัวคน เพราะเป็นครูเขานี่ครูเสือ นี่ละเรียกไสยศาสตร์...

...คนนี้ก็ขี่เสือเก่ง คนนี้ก็เหมือนกันขี่เสือ อยู่บ้านแวง บ้านธรรมลี อยู่นี่แหละผาแดง เขาเรียก พรานป้อ คนเตี้ยๆ ขี่เสือมาเรื่อย คนเจอเรื่อย ครูเขามีนะ ถ้าผู้ขี่เสือไปไม่ให้เจอคน ถ้าเจอคน เสือมันจะตะปบเจ้าของ โฮก ทีเดียวตะปบเจ้าของแล้ววิ่งหนีเลย เจ็บ เสือมันตะปบเจ็บ เลยต้องไปลับๆ เงียบๆ

พอจะมีคนต้องปล่อยเสือไป เสือมันบอกก่อนแหละ เสือสติมันดีมันบอกก่อนเลย ที่จะไปเจอคนธรรมดานี้ไม่เคยมี แม้นายพรานก็ตาม เขาไปอย่างด้อมๆ มองๆ นายพรานเขาไปนี้เขาไปด้อมๆ มองๆ หายิงสัตว์ แม้อย่างนั้นเสือมันก็รู้จนได้ หากมันทำท่าดิ้นไปดิ้นมา แสดงว่านี่มีคนมาแล้วข้างหน้า พอปล่อยนี้มันจะวิ่งเข้าป่าปั๊บสักเดี๋ยวก็เจอคนมา นี่เขาเรียกไสยศาสตร์

เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลกดินแดน ใครเสาะแสวงหายังไงก็เจออย่างนั้น เพราะของมีอยู่ด้วยกัน พวกผีพวกอะไรๆ จิตวิญญาณอะไรมันเข้าสิง

วิชานี่มีวิญญาณอยู่ในนั้นในหลักวิชาอย่างพวกที่เขาทำคนก็เหมือนกันนั่นแหละ พวกนี้ทางเขมรมีมากนะ เขมรมีมากวิชาอย่างนี้ พวกโซ่พวกเข่ามีมาก อยู่ฝั่งลาวไปทางโน้น

แต่ก่อนเขาใช้วิชาอันนี้ทำคนให้ตายก็ได้ ทำคนให้รักกันเขาเรียกทำเสน่ห์อะไรอย่างนั้นก็ได้ ทำคนให้ตายเลยก็ได้ ทำได้ทุกแบบวิชาพวกนี้ นี่เขาเรียกไสยศาสตร์ ถ้ามีผู้เรียนผู้รักษาอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็มีก็ปรากฏอยู่ ถ้าไม่มีผู้เรียนไม่มีผู้รักษา มีก็เหมือนไม่มีเพราะใครไม่ได้สัมผัสมัน ถ้ามีวิชา วิชานั่นแหละไปเกี่ยวโยงกันกับสิ่งเหล่านี้มาอยู่บเจ้าของ..."

พระป่าผจญผีสาว

ท่านเล่าถึงความกล้าหาญของพระป่าองค์หนึ่งให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...เขาถือเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าภาคไหนในเมืองไทยเรานี้ เมื่อคนตายแล้วต้องเกี่ยวกับพระ พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระองค์ที่ว่ากล้าหาญเต็มที่ ขี้ขลาดเต็มตัวจนจะตาย ท่านไปภาวนาอยู่ในถ้ำ อดอาหาร เที่ยวไปนั่งอยู่ตามทางเสือ ทางอะไรนั่นแหละ น่าเสียดายนะ พระองค์นี้ ถ้าหากว่าจิตใจได้เหนี่ยวรั้งครูอาจารย์ไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์จริงๆ ก็จะไม่เสีย นี้สึกไปแล้ว ทราบว่าสึก แต่ผมไม่เห็น ได้ทราบว่าสึก

แต่ก่อนแกเคยเป็นนักเลง จิตใจ อู๋ย ! เด็ดมาก สมเป็นนักเลง ว่าไป...ไป ว่าอยู่...อยู่ จริงจังมากทีเดียว ตอนแกปฏิบัติตัวเอง แกก็จริงจัง กลัวผีนี้เป็นเบอร์หนึ่ง เวลาจะแก้ แก้จนกระทั่งกล้าหาญเบอร์หนึ่งเหมือนกันในตัวเอง ไม่มีสะทกสะท้านเลยเรื่องผี ไปที่ไหนอยู่ได้หมด เพราะการแก้ได้ ไม่ใช่มันหายไปเฉยๆ หายด้วยอุบายวิธีแก้ด้วยธรรม มีความรู้แปลกๆ เหมือนกันพระองค์นี้ เวลานั่งภาวนา กลางคืนเขาตายในบ้าน ท่านก็รู้แล้ว

"เอ้อ ! วันพรุ่งนี้จะมายุ่งเราอีกแล้ว นี่คนตายแล้วในบ้าน"

นั่นท่านรู้นะ แล้วก็มีจริงๆ แถวนั้นก็ไม่มีพระ สถานที่อยู่ ถ้ำกับป่าช้าห่างกันเท่าไร กี่กิโล ตั้งห้าหกกิโล ลงไป ข้าวก็ไม่ได้กิน แทบล้มแทบตาย เมื่อยล้าก็ต้องได้ไป นี่แหละเรียกว่ามันแยกกันไม่ออก อย่างนี้ คนตายรายใดเป็นรู้ แปลกอยู่นะพระองค์นี้ ท่านบอกนะ มันรู้ และแน่นอนด้วย ถ้าสมมติว่าเป็นแบบโลก ก็ว่าพนันกันได้เลย บ้านนี้เขาตายแล้วคืนนี้เขาจะมานิมนต์เราแล้ว บางทีก็มีเทพ พวกเทพมานะ ท่านก็พูดถึงเรื่องเทพดีเหมือนกัน เทวดาที่อาศัยอยู่ตามถ้ำ ไม่ใช่เป็นรุกขเทวดา รักษาดินว่างั้น อันนี้แกไม่มีเรียนมากนะ มันเป็นขึ้นตามนิสัย

อย่างนี้แหละจิตเมื่อมีความสงบเข้าไปแล้ว ไอ้เรื่องนิมิตต่างๆ ที่จะมาปรากฏตามจริตนิสัยหรือไม่ปรากฏนั้นก็เป็นตามจริตนิสัยด้วยกัน ไม่ต้องเรียน อันนี้เป็นขึ้นมาเอง เมื่อเป็นขึ้นมาแล้วนั้นแหละ ต้องเรียนวิธีการปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผิดได้ เพราะอันนี้ไม่ใช่ของดีโดยถ่ายเดียว ถ้าหากเราได้รู้วิธีปฏิบัติกันโดยถูกต้องแล้ว ก็เป็นเครื่องมือได้ดี อันนี้พวกนักปฏิบัติรู้แปลกๆ ต่างๆ

สมัยที่ปฏิบัติอยู่ด้วยกันนี้ก็เคยเล่าสู่กันฟังสนุกสนานดีเหมือนกัน ที่เราเขียนในหนังสือปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นหรืออะไรนั้น มีแต่ความจริงทั้งนั้นนะ เช่น บางอค์อย่างนี้ เขียนเรื่องราวขององค์ไหนออกมา หากแต่เราไม่ระบุเท่านั้นแหละ เอาเรื่องของท่านองค์นั้นๆ ออกมาเลย เป็นความจริงๆ เป็นบางรายก็ไปอยู่ ความรู้รู้เหมือนกัน นี่ก็ค้านกันไม่ได้เอ้า องค์หนึ่งไปอยู่ถ้ำนั้น...เอ้า องค์หนึ่งไปอยู่ถ้ำนั้น ได้ 3 คืน เผ่นมาแล้ว มาหากัน

"โอ๊ย อยู่ไม่ได้ ไม่ทราบเป็นยังไง มันผีหรืออะไรก็ไม่รู้แหละ ผีกาม มาลาก มันเอาศีรษะห้อยลงเพดานถ้ำนี่ มันหย่อนลงมานี้ ต้องขออภัยนะ มันเอานมมาใส่ตัวเรา เอาหัวหย่อนมานี่...แผ่กุศลธรรมอะไร มันก็ไม่ยอมรับ ว่างั้น เจริญเมตตามันไม่รับ มันจะรับแต่กามกิเลส อยู่นี่ 3 คืนไม่ได้หลับได้นอนเลย มันมาแสดงอยู่อย่างนั้น ก็เลยลงไป ไปหาเพื่อนอีก ก็เล่าเรื่องให้ฟัง"

"เอ้า ถ้างั้นอยู่ถ้ำนี้ ผมไปเองนะ"

พระองค์นั้นก็รู้เหมือนกัน มีความรู้ทางนี้เหมือนกัน ไปอยู่นั่นก็เหมือนกัน ได้ 2 คืน เผ่นมาเลย

"โอ๊ย ! จริงๆ เอ๊ มันเทวดาอะไร ? พวกนี้มันผีอะไร ? ทำไมมันกรรมหนักกรรมหนาเอานักหนานะ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีแต่จะเอาท่าเดียว เรื่องกิเลสกับเรื่องกาม กามราคะ ทำอะไรก็ไม่ยอมรับ เรียกว่าพวกนี้พวกหนาแบบบอกบุญไม่รับ"

ไม่ค้านกันนะ รู้จริงๆ ทำแบบเดียวกันแหละว่างั้น ทีแรกองค์นี้เล่าให้ฟังก่อน

"เอ้า ผมลองดูหน่อย มันเป็นยังไงว่ะ"

เป็นที่รู้กัน พอไปเข้าก็ โอ๊ย ยอมรับอย่างนั้นละ ถ้ามันเห็นเหมือนกัน รู้เหมือนกันค้านกันได้ยังไง เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นสัญญาอารมณ์ ปุ๊บปั๊บท่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เคยเป็นมาแล้วนี่ เข้าใจแล้ว เข้าใจวิธีปฏิบัติ

สัญญาอารมณ์ไปหลอกเจ้าของก็มีเช่น บอกไปอย่างนั้น แล้วไปเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมาก็มี แต่นี้เป็นผู้มีพื้นเพทางนี้อยู่แล้วด้วยกัน เข้าใจด้วยกัน เคยพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องภูตผีปีศาจอะไรต่ออะไรให้กันฟังจนเคยชิน หรือเป็นที่แน่ใจต่อกันและกันแล้ว เหมือนอย่างว่า

"มีอะไรอยู่นั้นน่ะผมถึงได้มาที่นี่"

"เอาเถอะ ท่านไปดูซิ"

"โอ้ ใช่"

แน่ะ ตาเรามีเราก็มองเห็น "อ๋อ ใช่" แน่ะ เป็นอย่างนั้นจะว่าไง หูเรามีก็ได้ยิน ภายในมันก็เป็นเหมือนกัน..."


(มีต่อ 26)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พญานาค

ท่านอาจารย์สิงห์ทองเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ต่อมาจึงได้มาอยู่ศึกษาอบรมกับหลวงตา ท่านมีนิสัยกล้าหาญ ไม่กลัวอะไรง่ายๆ แต่คราวนี้ท่านไปพบเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่งเข้า ท่านจึงบอกท้าพวกที่ไม่เชื่อว่าผีมีจริงให้ไปลองพิสูจน์ดู หลวงตาเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

"...แล้วท่านสิงห์ทอง ยังอยากจะให้พวกนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ว่าไม่มีผีไม่มีอะไรให้ไปอยู่ภูเขาลูกนั้น ภูเขาลูกนั้นเราก็เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ มันเป็นตีนเขา ข้างบนมีถ้ำอยู่ 2 ถ้ำ มีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ทางนั้นถ้ำหนึ่ง แล้วเป็นซอกเขาลงมาน้ำไหลลงมาตรงนี้แล้วมีอีกถ้ำหนึ่ง ครั้นเวลามีพระมาใหม่มาเยี่ยมมาพักอยู่ถ้ำนี้ ผีนั้นก็ลงมาจากโน้นนะ จากภูเขา

บนหลังเขานั้นมีแอ่งน้ำอยู่ ไหลอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน หากไม่มากนะ หากไหลอยู่...ทั้งแล้งทั้งฝน เขาเขียนประกาศติดไว้ว่าไม่ให้ผู้หญิงลงอาบน้ำนั้น ถ้าผู้หญิงลงอาบน้ำนั้น จะเหม็นคลุ้งไปหมดเลย เขาห้าม เขาเขียนประกาศติดเอาไว้ ถ้าต้องการก็ให้ตักเอามาดื่มมากินมาอาบ ห้ามไม่ให้ลงไปอาบนั่นละ เป็นความจริงถึงขนาดนั้นละ น้ำเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าผู้หญิงลงไปอาบ น้ำนี้เหม็นคลุ้งไปหมดเลย

มีพญานาคอยู่ที่นั่น...หลวงตาองค์นั้นท่านอยู่นั้นเป็นประจำ ท่านชินกับสัตว์ตัวนี้พอแล้ว มันลงมาจากภูเขาเหมือนกับเรา ลากต้นตาลทั้งต้น เอาต้นตาลทั้งต้นลากลงมา เสียงซ่าๆ ลงมา มันค่อยลงนะ ซ่าๆ ลงมาซอกเขานี่ หลวงตาองค์นั้นอยู่ทางด้านนั้น ท่านอยู่ถ้ำนั้นเป็นประจำ แล้วถ้ำนี้คนมาพักบ่อยๆ พระน่ะ

ถ้าใครมาพัก พระมาใหม่ไม่ว่าพระองค์ไหนมาจากไหนก็ตามเถอะ ตัวนี้เขาจะลงมาถามข่าว ทีนี้หลวงตาก็เลยสั่งบอกไว้กลัวว่าพระจะกลัว คือกลัวว่าท่านสิงห์ทองจะกลัว ท่านสิงห์ทองเป็นพระขี้ดื้อ นิสัยกล้าหาญขี้ดื้อ จึงได้หมอบราบกับผีนั้นละซี พูดท้าทายเลยเทียวนะ ใครเก่งว่าผีไม่มีแล้วให้มาตรงนี้ ถ้าไม่อยากเผ่นกลางคืน ทีนี้พอมาถึง ผู้เฒ่าก็บอก

"คุณหลานเอ๊ย พี่น้องจะลงมาเยี่ยมนะตอนค่ำวันนี้ เพราะคุณหลานมาใหม่เป็นพระอาคันตุกะ เป็นแขกมาเยี่ยม แล้วไอ้ตัวอยู่ข้างบนเขามันจะลงมาถามข่าวถามคราว ไม่ต้องกลัวนะ เขาจะลงมาธรรมดา

แต่เวลาเขาลงมาก็เหมือนลากต้นตาลทั้งต้น ลากลงมาซ่าๆ เวลาเขาขึ้นก็ซ่าๆ ลงไปตีนเขาแล้วหายเงียบนะ พอไปแค่นั้นเงียบ เวลาขึ้นมาก็ซ่าๆ เวลาขึ้นมาไม่ทำก็มี แล้วแต่เขาจะทำ เขาจะทำแบบไหน เขาทำได้"

พอดีท่านสิงห์ทองมาเหนื่อยๆ เดินทางมาไม่มีรถยนต์ พอมาถึงที่นั่นก็เข้าพัก ผู้เฒ่าก็สั่งเสียไว้เรียบร้อยกลัวผีนั้นละ ทางนี้เข้าใจแล้วก็นอนประมาณ 3 ทุ่ม

คนจะตายเดินทางทั้งวันเหนื่อยมากเลยนอนเสียก่อน ถึงจะลุกขึ้นเดินจงกรม พอนอนหลับไป เสียงฮ่อๆ อยู่หัวเตียง งูเหมือนงูใหญ่เรานี่ขนาดเท่าตัวเสานี่แหละ เสียงมันฮ่อๆ อยู่บนหัวเรานี่ ทางท่านสิงห์ทองนั้นก็เรียก

"หลวงพ่อๆ"

"แม่นหยัง"

"มันเสียงงูใหญ่มาอยู่นี่แล้ว"

"มันบ่แม่น เสียงที่บอกนั่นละอย่าไปกลัว"

"บ่กลัวยังไง มันจะงับผมอยู่เดี๋ยวนี้" เสียงดังฮ่อๆ น่ะซิ

"มันจะงับผมอยู่เดี๋ยวนี้ มันจะกลืนผม"

"ไม่กลืนไม่ต้องกลัว มันเคยอย่างนั้นละ จะเป็นไรไป เชื่อหลวงพ่อเถอะ เพราะหลวงพ่อเคยอยู่นั้นมานานแล้วนี่นะ"

"จะเชื่อได้ยังไง มันจะกินคนนี่"

เลยเรียกให้พระมาด้วยองค์หนึ่ง นอนอยู่ทางโน้น ถ้ำมันยาวนอนอยู่ทางโน้น เรียกพระองค์นั้นให้จุดไฟใส่โคมมา แขวนมาแล้วเอาไม้ยาวๆ มา จะหิ้วมานี้ไม่ได้เดี๋ยวจะมาเหยียบงู เอาไม้ยาวๆ แล้วเอาโคมไฟห้อยมาถือมายาวๆ คนไปเรื่อยฉายไปเรื่อย พอคนมาถึงเตียง มันก็หายเสียง เงียบเลยเสียงฮ่าๆ ไม่ได้ยินอะไร หายเงียบ คนจึงกลับไป พอกลับไปสักเดี๋บวขึ้น มีเสียงขึ้นอีกแล้ว

"...มาอีกแล้ว..."

คนนั้นเลยจุดไฟมาหางูทั้งคืน จุดไฟมาแบบนั้นละ กลัวจะมาโดนงูเข้า เพราะเสียงใหญ่เสียงโตมากนี่นะ พอมาก็ไม่เห็นผีอะไร อยู่ได้คืนเดียวเท่านั้นละท่านสิงห์ทอง

"ทำไมล่ะ ?"

"กลัวละซิ ยอมรับว่ากลัว กลัวจริงๆ โห เหมือนมันจะกลืนเราทั้งคนนี่นะ ตัวมันจะขนาดเท่าลำตาล"

งูตัวนี้ พญานาค พอตื่นขึ้นมาไปลาหลวงตา

"ว่าอย่างไรล่ะลูก ?"

"โอ๊ย กลัวงูอยู่ไม่ได้แล้ว"

"ไปกลัวมันทำไม ? หลวงพ่ออยู่นี้มานานแสนนานรู้เรื่องของมันหมด ไม่มีอะไรแหละ อย่าไปกลัวเลย"

"โอ๊ย กลัวๆ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว"

ใครเก่งว่าผีไม่มีให้มา ถ้าไม่อยากเผ่นกลางคืน เอาจริงๆ นี่ นั่นละ เสียงมันเป็นอย่างนั้นเวลามันแสดง...พญานาค มาเล่าให้อาจารย์หมออวยฟัง โอ๊ย ตั้งใจฟัง สนใจฟังอยากจะไปด้วยนะ อยากจะไปดูสภาพเป็นยังไง อยากไปดูเป็นกำลัง แต่ไม่มีเวลาพอที่จะไปดูได้ ไปดูถึงที่เลย ไปดูเหตุการณ์จริงๆ เป็นยังไง ไปดูก็เห็นจริงๆ นั่นแล้ว เพราะเป็นอย่างนั้นมาเป็นประจำ ว่าขอแต่แขกคนมาที่นั่น พอตกกลางคืนเขาจะลงมา เขาก็ไม่ทำไมละ ลงมาถามข่าวธรรมดา

แต่เสียงมัน...ทำได้แปลกๆ นะ แบบงูก็ได้ แบบเสือก็ได้ แบบไหนได้หมด ไม่ใช่มีแบบเดียว ที่มันน่ากลัวคือมันหลายแบบนั่นเอง บางทีเหมือนเสือ เห่อๆ ใกล้ๆ ข้างถ้ำ "เสือมายังไง" ว่าอีกละ"มันไม่ใช่เสืออันนั้นละ" ว่าอันนั้นก็เข้าใจกัน

อาจารย์หมออวยอยากไปเป็นกำลังโฮ้ ซักท่านสิงห์ทองใหญ่เลยเทียวนะ ท่านสิงห์ทองเล่าให้ฟัง ทีนี้ท่านสิงห์ทองก็เป็นพระกล้าหาญด้วยไม่ใช่เป็นพระออดแอด พระโกโรโกโสนะ ท่านพูดมันน่าฟัง เราเองก็เชื่อ เพราะเราชื่ออยู่ก่อนนั้นแล้วเรื่องเหล่านี้

"โห มันน่ากลัวจริงๆ นะ" ท่านว่า

"ตัวมันขนาดเท่าลำตาลแล้วมันขู่ฟ่อๆ อยู่บนหัวเราใกล้ๆ ฝ่ามือเดียวเท่านั้น มันเหมือนจะกลืนเอาเลย เสียงฮ่อๆ แต่มองหาตัวไม่เห็น ครั้นเวลาจุดไฟมาหาไม่เห็น ไปไหนก็ไม่รู้ พอดับไฟสักเดี๋ยวขึ้นอีกแล้ว"

เขาเรียกภูทอก เราเคยผ่านไปผ่านมา เราเที่ยวกรรมฐาน แต่ไม่เคยขึ้นพักถ้ำที่ว่า...

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม


เสือกลัวหลวงปู่ตื้อ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีจิตใจกล้าหาญชาญชัยมาก ท่านมีอายุพรรษามากกว่าหลวงตา ในเรื่องที่ว่าเสือเกรงกลัวท่านนั้น หลวงตาเล่าถึงที่มา ดังนี้

"...อย่างหลวงปู่ตื้อ ดังที่ผู้เฒ่าเล่าให้ฟัง คือคาถาของผู้เฒ่าเป็นคาถาที่ทำให้เสือใจอ่อน กลัว ใจไม่มีกำลังจะต่อสู้ คาถามันครอบเอา อำนาจของคาถาครอบเอาไว้ เสือใจอ่อนลงไปเลย ทำอะไรไม่ได้ ท่านมีคาถาขู่เสือ เป็นครูเสือก็ได้ ขู่เสือก็ได้...หากครูแบบหนึ่งเป็นครูแบบพระ ไม่ได้ขี่เสือ

หลวงปู่ตื้อ บ้านข่า สามผง เราเคยไปพักอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนไปภาวนา เสือชุมมากแถวนั้น หลวงปู่ตื้อท่านมีคาถาเป็นครูเสือ ไปอยู่ไหน เสือมักมานอนเฝ้าอยู่รอบๆ ข้างๆ ที่พักท่าน ท่านไปอยู่แม่ฮ่องสอนไปอยู่ในป่า เสือก็มาอยู่ด้วย เสือโคร่งใหญ่นะ มันมาแอบอยู่ด้วย

ผู้เฒ่าไม่ได้สนใจกลัวมันแหละ เพราะเป็นครูมัน คนอื่นนั่นซิ พระไปอยู่ด้วย พอดีกลางคืนพระปวดเบาจะออกมาเบา ออกมาเสือมันนอนอยู่ข้างๆ เสือฮ่าๆ ใส่ เสียงร้องจ้าวิ่ง

"มันไม่มีอะไร มันจะเป็นอะไร มันไม่เป็นไรแหละ" หลวงปู่ตื้อบอก

"ไม่เป็นไร มันตื่น บางทีมันอาจทักทายเฉยๆ ก็ได้"

ท่านว่าอย่างนั้น มันโฮกๆ ใส่ท่าน พระก็โดดเข้ากุฏิ กุฏิพังกระมัง พระองค์นั้นมาอยู่ได้คืนเดียว วันหลังเผ่นเลย กลัวเสือ

"ไม่เป็นไรแหละ อยู่จะเป็นไรไป มันก็อยู่กับคน ดีแล้วนี่" ท่านว่างั้นนะ

มันอยู่แอบๆ อยู่นี้ ไม่ออกมาหา คนแหละ บางทีก็เห็นตัว บางทีไม่เห็น มันอยู่ในป่า คนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีคนแปลกหน้ามามันคำรามนะ ท่านว่า ให้มันทำมันไม่ทำแหละ เพราะมันเป็นหมาของพระว่างั้นเถอะ รักษาเจ้าของ ใครมาแปลกๆ หน้า นี่ไม่ได้ มันขู่คำราม ว่างั้น

"...อย่าไปขู่เขานะ..."

พอท่านว่ายังงั้น มันก็เงียบเลย เวลาท่านไปไหนมาไหน เสือมักจะตามไปรักษาท่าน รักษาเงียบๆ นะ มันอยู่ในป่าแหละเสือ ท่านไปพักภาวนานี่ เสือมักจะมาอยู่ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา เราถึงจะรู้ว่ามีเสือนะ ถ้าไม่มีคนแปลกหน้ามาก็เหมือนไม่มีเสือ มันไม่แสดงตัว มันอยู่รอบๆ ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา พระแปลกหน้ามา มันคำรามใส่ บางทีขู่ คำรามเฮ่อๆ ใส่ พระเลยตกใจร้อง "เสือๆ"

หลวงปู่ตื้อบอกไปว่า

"โอ๊ย ไม่เป็นไรแหละ มันรักษาพระ มันอยู่นี้เป็นประจำ ไม่เป็นไรไม่ต้องกลัวมัน"

นี่หลวงปู่ตื้อเป็นอย่างนั้นนะ ท่านว่า ข้ามไปเที่ยวตั้ง 5 อำเภอ มันยังตามไปนะ เสือตัวนี้ อันนี้เรายังไม่เล่าให้ฟังถึงเรื่องเจ้าคณะอำเภอเขาจะมาขับไล่ท่าน อันนี้ขบขันดีนะ

ตอนกลางคืน แต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียงเจ้าพายุ เจ้าคณะอำเภอเห็นท่านไปอยู่ในป่าจะมาขับไล่ท่าน จุดตะเกียงเจ้าพายุ หิ้วมากลางคืน จะมาขับไล่ท่าน พอมาถึงวัด เสือตัวนั้นออกมาคำรามใหญ่เลย เฮ่อๆ ทางนี้เปิดเลย ตะเกียงเจ้าพายุคงจะตกฟากแม่น้ำโขงไปใหญ่เลย

ตกลงเสือขับเสียก่อน พระนั้นยังไม่ได้มาขับหลวงปู่ตื้อแหละ ถูกเสือขับเสียก่อนแล้ว เผ่นใหญ่เลย ไปใหญ่เลย แตกทั้งญาติทั้งโยมทั้งพระ แตกไปด้วยกัน ฮือๆ เลย เสือมันคำรามใส่ มันยังไม่ทำอะไรแหละ มันก็เหมือนกับหมามีเจ้าของ ก็คาถาท่านครอบไว้นี่ มันกลัว ใจมันลง มันไม่ถือเป็นข้าศึก ถือเป็นเหมือนเจ้าของ...

เณรระลึกชาติ

"...ท่านกล่าวไว้ในมหาวิบาก นรกมีถึง 25 หลุม ตั้งแต่ใหญ่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ นี่นรกเมืองผีมีถึง 25 หลุม แล้วจากนั้นก็มาปลีกย่อย ถ้าไปลงนรกอเวจีแล้วกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่ได้พ้นแหละ จมอยู่นั้น ถึงจะปรากฏอนิจจังก็กี่กัปกี่กัลป์ถึงจะเปลี่ยนมา

กรรมของสัตว์ประเภทนี้ พวกฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำลายพระพุทธเจ้า ยุยงให้สงฆ์แตกจากัน 5 ประการ ท่านเรียกอนันตริยกรรม แปลว่ากรรมนี้หนักมาก แล้วพวกนี้แหละพวกลงไปนั่น นี่มีนิทานสดๆ ร้อนๆ อันหนึ่งที่จะนำมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง เราเป็นคนซักด้วยปากของเราเองอันนี้ คือเอากันต่อหน้าเลย ซักเลย

มีเณรองค์หนึ่ง อยู่บ้านน้ำก่ำ อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เณรนี้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติถอยหลังได้ ชาติเจ้าของนั่นเอง แต่ก่อนเขาชื่อว่าบัวเหมือนกับชื่อหลวงตาบัวนี่แหละ เขาอยู่บ้านโคกเลาะ ชื่อเขาพูดถูกหมดนะ เหตุที่จะมีการยืนยันรับรองกันคืออาจารย์ของเขาเอง เราพบกับเณรนี่แล้วก็ไปพบกับอาจารย์ ชื่ออาจารย์ทอง อาจารย์ของพระบัวนี่

พระบัวนี่เป็นหนุ่มแล้วไปฟังเทศน์แล้วเกิดความเลื่อมใส ท่านอาจารย์ของท่านไปทางเมืองอุบล ไปโน้น แนะนำสั่งสอนประชาชน เขาเกิดความเคารพเลื่อมใส นายบัวนี่ก็มาขอบวชกับท่าน บวชแล้วก็ติดสอยห้อยตามท่านมา มาอยู่บ้านสามผง พอดีมาเป็นไข้ป่าที่สามผงตาย ปีนั้นพระตาย 3 องค์ นี่ท่านอาจารย์ทองท่านเล่าเอง ปีที่ตาย 3 องค์นี่นะ แต่พระบัวนั้นบอกแต่ว่า มาตายที่บ้านสามผงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าตายเท่านั้นองค์เท่านี้องค์

พอตายแล้ว นี่เราสรุปเอาเลย แบกกลดสะพายบาตรดูเขาเผาศพเรา คนทั้งหลายเต็มอยู่มาเผาศพ ก็ยืนดูศพอยู่ สะพายบาตรแบกกลดอยู่ดูเขาเผาศพ เขาไม่สนใจกับเราเลย คนเป็นร้อยๆ เต็มอยู่นั่น เขาไม่สนใจกับเราสักคนเดียวเลย เราก็ไปยืนดูศพของเรา

พอเสร็จแล้วก็ออกไปทางด้านตะวันออก ศพเรานี่ก็ถูกเผาเป็นเถ้าเป็นถ่าน ขนาดนี้แล้วจะหวังเอาอะไรอีก เราไปแล้วไม่ห่วงใยแล้ว แล้วก็ไป พอไปก็ไปถึงศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ศาลานั้นใหญ่มากทีเดียว นี่เป็นเณรนี้เล่าให้ฟังนะ

เหตุที่จะได้ซักถามเณรนี้เพราะมีพระมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องเณรนี้ระลึกชาติได้ แล้วพอดีมางานศพหลวงปู่มั่นเรานี่ เณรนี้ก็จะมา เราก็นัดกับพระไว้ว่าถ้าเณรนั้นมา ให้มาหาเรา พอดีเณรนั้นมาก็ให้มาหาจริงๆ แต่ส่วนมากแกไม่ยอมเล่าเรื่องระลึกชาติได้

"เล่าทีไรเป็นไข้ทุกที" ว่าอย่างนั้น

"เข็ด พอเล่าเรื่องชาติหลังย้อนหลังแล้วไข้ทุกทีไม่เคยพลาด"

"เอ้า คราวนี้ไม่ให้ใช้" เราก็ว่าอย่างนั้นแหละ

"เอ้า เล่ามาให้หมดนะ คราวนี้ไม่ให้ไข้ มาเล่ากับเรานี่ไม่ให้ไข้" ก็ไม่ไข้จริงๆ นะ แปลกอยู่นะ มีหนเดียวรายเดียวนี่ไม่ไข้ พอมาก็ซักถามกันถึงเรื่องตายแล้วไปที่ว่านี่ ไปศาลาใหญ่หลังหนึ่ง

ศาลาหลังนั้นเจ้าหน้าที่พวกยมบาลอะไรเหล่านี้เต็มอยู่นั่น สมุดบัญชีมีเป็น 2 กอง กองใหญ่เบ้อเริ่มเทียว กองหนึ่งเล็กแล้วกองใหญ่นั้นสำหรับบัญชีคนทำชั่ว กองเล็กนี้สำหรับบัญชีคนทำดี พระองค์นั้นก็สะพายบาตรแล้วไปยืน แล้วพวกนักโทษพูดง่ายๆ นักโทษทำกรรมหนักทำกรรมเบา กรรมอะไรก็ตาม เขาแยกไว้เป็นประเภทๆ เต็มศาลา

ทีนี้เขาเรียกชื่อ พอเรียกชื่อนายนั้นๆ พอเรียกชื่อปั๊บต้องมาถึงปุ๊บเลย อำนาจแห่งกรรมมันบีบบังคับขนาดนั้น จะอืดอาดไม่ได้ พอเรียกชื่อปั๊บจะมาปุ๊บๆ เลย มีกี่คนโทษประเภทนี้ มีหัวหน้า 2 คนเท่านั้นแหละหัวหน้าน่ากลัวมาก คนหนึ่งนำหน้าคนหนึ่งตามหลัง พอเรียกชื่อเสร็จแล้วไล่ลง พวกนี้ไปแล้วเรียกพวกนั้นมาอีกเป็นคณะๆ จนกระทั่งหมด นี่พูดสรุปเอาให้พอดีกับเวลา

พอหมดแล้วก็ยังเหลือแต่ยายคนหนึ่งนั่งอยู่นั่น ยายคนนั้นเป็นคนเหมือนคน วัดเรานี่แหละ เหมือนคนแต่งตัวไปวัดเรานี่ ไปถือศีลถือธรรม มีผ้าเฉวียงบ่านุ่งผ้าซิ่นเรา ธรรมดาไปวัดนี่ แกนั่งอยู่ทางโน่น เขาเรียกคุณแม่นะ สำหรับยายคนนี้เขาเรียกคุณแม่ นอกนั้นเขาเรียกนายนั้นนายนี้ๆ ลงเลยๆ นี่เขาเรียกคุณแม่

พอพวกสัตว์นรกไปหมดแล้ว เขาเรียนเชิญคุณแม่มาที่นี่ ถ้าคุณแม่อยากไปสวรรค์ให้ลงที่นี่เลย คุณแม่จะไปสวรรค์ชั้นไหนก็ไปได้ให้ลงไปนี้ แล้วรถเขาจะมา รถทิพย์จะมา ลงไปสระน้ำนี้แล้วก็ไปเปลื้องผ้านี้ออก ลงจากสระนี้แล้วก็เดินบุกน้ำไป

รถจะมาทางฟากสระทางนั้น แล้วก็ขึ้นรถ ประดับตกแต่งใหม่หมด เครื่องประดับประดาตกแต่งเขาจัดเอามาพร้อมรถเลย พอไปแล้วลงน้ำนี่ปั๊บก็ขึ้น เขาก็เชิญเลย จูงขึ้นแต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็เหาะบึ่งขึ้น เหมือนสำลี...รถทิพย์ รถทิพย์พูดอะไรพูดไม่ได้ แต่มันประจักษ์กับตาอยู่ว่างั้น เป็นสีงามอร่ามตาอะไรนี้เราพูดไม่ถูก...รถทิพย์ แต่ก็ไม่ได้ถามว่ารถทิพย์นี้มาจากชั้นไหนจะไปชั้นไหน เป็นแต่เพียงว่า ผู้หญิงคนนี้จะไปสวรรค์ พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยังเหลือแต่พระองค์เดียวยืนอยู่นั่น คือพระบัวที่ตายไปนั่นแล

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเขาก็ไม่ได้มาสนใจกับเราแหละ พอเขาส่งยายคนนั้นเสร็จแล้ว เขาก็ทำงานของเขาอยู่บนโต๊ะ

"แล้วอาตมาเล่าจะให้ไปไหน ? ไม่เห็นเเรียกอาตมา"

"โห ท่านน่ะถ้าตั้งใจจะไปเกิดเมืองมนุษย์ก็ให้กลับหลัง ย้อนหลังนี้ไป ถ้าจะไปสวรรค์ก็ให้ลงไปนี้ ท่านไปได้ทั้งไปสวรรค์ทั้งไปเมืองมนุษย์ ถ้าท่านจะไปสวรรค์ก็ให้ลงนี้เหมือนกับยายคนนั้น ลงแล้วรถทิพย์จะมาเอง"

"อาตมาไม่ไปแหละอาตมาหิวน้ำ จะไปหาฉันน้ำก่อน"

ลงจากนั้นก็ลงไปๆ จนถึงบ้านน้ำก่ำนี่แหละ บ้านเขาอยู่ริมทุ่งนา เขามาตักน้ำก็ไปขอบิณฑบาตฉันน้ำกับเขา เขาบอกว่าให้ไปบ้านหลังนี้นะ เขาจะตักน้ำแล้วให้ไปที่นั่น ไปรออยู่บ้านหลังนั้น เขาชี้บอกเห็นบ้านชัดๆ อยู่บ้านหลังนั้น บ้านหลังจะเกิดเข้าใจหรือเปล่า พอไปที่นั่นรู้สึกเคลิ้มๆ จะหลับเหนื่อยเพลียมาก เคลิ้มๆ แล้วหลับไปเลย เลยยังไม่ทันได้ฉันน้ำ

พอตื่นขึ้นมาที่ไหนได้เกิดแล้ว นั่นละที่นี่แกระลึกชาติของแกได้ตลอดนะ ระลึกชาติย้อนหลังๆ ได้ตลอดเลย นี่เวลาเราซักถาม ทีนี้พอดีอาจารย์ทองของเธอมา เราก็กราบเรียนถามเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแล้ว โห่ ท่านตกตะลึกนะ ท่านตกใจ

"ใช่แล้ว นี่พระบัว"

ท่านก็อธิบายให้ฟังตลอดหมดเลยไปสามผง ไปตายด้วยกัน 3 องค์ อะไรๆ พระองค์นี้ชื่อบัง ไล่ผีเก่งนะพระองค์นี้ แต่ไม่เห็นไล่ผีเจ้าของได้ ท่านพูดเราก็ยังไม่ลืม นี่พูดถึงเรื่องระลึกชาติได้

คำว่าระลึกชาติได้นี้กับพระพุทธเจ้า ระลึกชาติได้มันต่างกันนะ พวกนี้สลบไสล พวกนี้ตาย การระลึกนั้นระลึกนี้รู้นั้นรู้นี้มันอาจเคลื่อนคลาดเพราะคนกระเสือกระสนกระวนกระวาย ไม่ได้เหมือนพระญาณหยั่งทราบของพระพุทธเจ้าที่ระลึกชาติย้อนหลังเช่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้

เฉพาะชาติของพระองค์นี้มีกี่ภพกี่ชาติทรงทราบได้ตลอดทั่วถึง ตลอดถึงภพชาติของสัตว์ทั้งหลายรู้ได้หมดด้วยพระญาณหยั่งทราบ ไม่ได้ด้วยการสลบไสลเหมือนอย่างโลกทั้งหลายเขาเป็นกัน คนนั้นตายฟื้นกลับคืนมาแล้วระลึกชาติได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมาฮือกันเป็นบ้าไป

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระญาณหยั่งทราบ ประกาศธรรมสอนโลกมานี้กี่ปีแล้วไม่เห็นตื่นกันบ้าง มันเป็นบ้าหรือยังไงมนุษย์เรานี่มันอยากว่าอย่างงั้นนะ เราไปตื่นกับเรื่องแบบบ้าอย่างงั้น พวกคนสลบไสลตายฟื้นกลับคืนมาแล้วมาระลึกชาติได้ แล้วตื่นกันฮือฮาๆ

พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นคนสลบไสลตรัสรู้ขึ้นมาเป็นอรรถเป็นธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ประกาศธรรมสอนไว้ ทำไมถึงไม่ตื่นก็บ้าง ให้ตื่นนะ ไม่ตื่นไม่ได้นะ จมจริงๆ นะ ฟังซิว่านรกเดือดพล่านๆ ไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือนมีอย่างนั้นตลอดเวลา พวกสัตว์นรกนี้ก็แน่นอัดๆ เพราะสัตว์ทั้งหลายทำแต่กรรมชั่วนั่นซฺ ทางสวรรค์นี้เบาบาง ทางนรกนี้แน่นหนามั่นคงมากทีเดียวตั้งแต่เรื่องกรรมของสัตว์ๆ นี่ละ ให้จำให้ดีให้สดๆ ร้อนๆ...

เทวดาคุ้มครอง

"...เรื่องเทวบุตรเทวดา เลยพูดให้ฟังพระผู้ท่านเชี่ยวชาญ ท่านชำนิชำนาญในสมัยปัจจุบันนี้เองยังมีอยู่ แต่เหมือนท่านไม่รู้ พระท่านรู้เหมือนไม่รู้ ไม่เหมือนฆราวาส ไม่เหมือนคนทั้งหลาย พระท่านรู้ก็เหมือนไม่รู้ เห็นเหมือนไม่เห็น ธรรมด๊าธรรมดา อันใดจะเป็นประโยชน์แก่ใครก็หยิบออกมาพูดๆ เมื่อวานนี้พูดเกี่ยวกับเรื่องเทวดาว่า

พระท่านอดข้าวภาวนา อดไปหลายวัน เทวดากลัวท่านหิน กลัวท่านตาย เทวดาองค์นั้นเคยเป็นแม่ของพระองค์นั้น นั่นท่านรู้ขนาดนั้นนะ มาขออุปถัมภ์อุปัฏฐาก มองเห็นกันเดินไปเดินมา เห็นอยู่ อากัปกิริยา แสดงอะไรเห็นอยู่เหมือนคน เห็นอยู่ชัดๆ ในเวลาเงียบๆ นั้น

ทางพระก็ตกใจซี ตาลืมอยู่ก็เห็นอยู่ หลับตาก็เห็นลืมตาก็เห็น เห็นอยู่อย่างนั้นชัดๆ เหมือนคนธรรมดา จึงพูดไปว่า "โอ๊ย อย่างนี้ไม่ได้นะ เดี๋ยวเขาโจมตีพระแหลกนะ" เทวดาว่า

"โจมตียังไง"

"ก็มองเห็นกันอยู่นี้ ผู้หญิงกับพระอยู่ด้วยกันได้ยังไง เทวดาก็เป็นผู้หญิง หลักธรรมหลักวินัยมีอยู่มิใช่เหรอ"

"โอ๊ย ก็ทำให้เห็นแต่ท่านเท่านั้นแหละ คนอื่นมีกี่หมื่นกี่แสนคนก็ไม่เห็น ให้เห็นเฉพาะท่านเท่านั้น นอกนั้นไม่ให้เห็น"

เอาอาหารทิพย์มาให้กิน พูดกันด้วยภาษาใจ ไม่ได้พูดกันอย่างภาษาเรานะ เอาอาหารทิพย์มาให้กิน พระท่านบอกว่า "กินไม่ได้ เวลานี้ไม่กินข้าว อดอาหารภาวนา"

บางทีก็นำอาหารทิพย์มาหากลางคืน นี่เวลานี้กลางคืนไม่กินก็อ้างไปเสีย แล้วเวลากลางวันก็ว่าเวลานี้อดอาหารก็พลิกไปเสีย เทวดากลัวทุกข์ยากลำบากกลัวเป็นกลัวตาย

"ถ้าอย่างนั้นแม่จะเอาข้าวมา เอาข้าวทิพย์แหละมาทามาถูตามร่างกายให้ซึมเข้าไป ให้ข้าวซึมเข้าไป"

"ไม่เอา ถ้ากลัวตายไม่ต้องอด" พระท่านก็แก้ของท่านไปอย่างนั้น

กลางวี่กลางวันก็มารออยู่ที่สูงๆ บนถ้ำ รักษาความปลอดภัยให้ลูก ลูกอยู่คนเดียว มารักษาความปลอดภัยให้ ไม่ให้อะไรมาที่นี่ ถ้ำเทวดาว่าไม่ให้มา สัตว์เสือช้างก็มาไม่ได้ ไม่ว่าช้างว่าเสือว่าอะไรเทวดาไม่ให้เข้ามาในบริเวณนี้ พวกสัตว์ พวกเปรต พวกผีอะไรไม่ให้เข้ามา เทวดารักษาอยู่ นี่อย่างนี้ก็มีฟังเอา แต่พวกเทวดานี้ร่างกายเหมือนสำลีนะ...เบา เบาเหมือนสำลี ลงมาเหมือนสำลีปลิวลงมา ขึ้นก็เหมือนสำลี เดินแบบธรรมดา เรานี้ก็ได้ทุกแบบ แบบสำลีมาก็มี แล้วแต่อาการแบบไหนที่ควรจะใช้ยังไงๆ อิริยาบถใด ควรจะใช้ยังไงใช้ได้ทั้งนั้น

ที่แปลกประหลาดมากก็เวลาคนตาย พระไปอยู่ในถ้ำไกลๆ จากบ้าน บ้านในป่าในเขาไม่ค่อยมีพระละซิ ในป่าในเขาไม่ค่อยมีพระ ครั้นเวลาคนตายก็มานิมนต์พระท่านไปกุสลาให้ ใครตายก็ตามในหมู่บ้าน เขาต้องมานิมนต์ท่านไป กุสลา ธัมมา ทีนี้พอคนตาย ทางพระนี้รู้แล้วนี่

"โห แล้วกัน พรุ่งนี้ต้องไปอีกแล้ว"

ตอนนั้นท่านไม่ได้ฉันข้าวนะ เป็นช่วงเวลาที่พระท่านอดอาหารภาวนาอยู่ ก็เลยต้องเดินทางไปกุสลาให้เขาในหมู่บ้านนู่น

"เอาอีกแล้วคนตายแล้ว" ตายในบ้านโน้น ท่านรู้แล้วทางนี้

"คนตายในบ้านอีกแล้ว" บางทีก็รู้ขึ้นภายในตัวเอง บางทีเทวดามาบอกว่า

"คนตายแล้วนะ" อย่างนั้นก็มี มีได้หลายทาง มาจากเทวดาก็มี ออกจากความรู้เจ้าของก็มี บอกอะไรก็จริงทั้งนั้น พอประมาณสัก 10 โมงเช้า เขาขึ้นภูเขา

"มาแล้ว"

"มาอะไรล่ะ ?" คอยฟังคำตอบ

"มานิมนต์ไปโปรดสัตว์"

แน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีผิดไม่มีเคลื่อนเลย พอตื่นนอนขึ้นมา เอาแล้ววันนี้ เตรียมกุสลาแล้ววันนี้ พอ 9 โมงเช้าหรือ 10 โมงเช้า คนโผล่ขึ้นไปแล้ว

"อะไรล่ะโยม ?"

"โอ๊ย นิมนต์ไปโปรดสัตว์"

พวกเรามันพวกตาบอดไม่เห็น ท่านผู้ตาดีท่านเห็นธรรมดาเหมือนเราตาดีเห็นอะไรนี่ ท่านผู้ตาดีภายใน นี่ละสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ทั้งหมดผิดที่ตรงไหน นี่ละเครือของศาสนา กิ่งก้านของศาสนา มีอยู่หมดเลย ตั้งแต่อริยสัจเป็นต้นเป็นแกนขยายกิ่งก้านสาขาออกไปหาพวกเปรต พวกนรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน พวกเปรต พวกผีพวกอะไรๆ นี้เป็นกิ่งก้านของอริยสัจในวงศาสนา...

ช้างประสานเสียงพระ

มีเรื่องขบขันเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะได้เล่าอยู่เสมอ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายปีแล้วเกี่ยวกับพวกช้างภายในบริเวณวัดป่าดานศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่คำตันท่านพักอยู่ ดังนี้

"...ขบขันที่ว่าในบริเวณนั้นเป็นหินดาน แล้วก็พวกช้างพากันมาเล่นน้ำอยู่บริเวณหินดานที่มีน้ำเต็มอยู่แถวนั้น ตั้งแต่สมัยคนยังมีน้อยๆ โน้น คนมีอยู่ไม่มากนะ พระท่านไปภาวนาอยู่ที่นั่น พวกหมู่เพื่อนเดียวกันเล่าให้ฟัง เราเองก็เคยเล่าให้ญาติโยมฟังขบขันจะตายแหละ

พระธุดงคกรรมฐานท่านไปปักกลดอยู่บริเวณนั้น แถวๆ บริเวณหินดานซึ่งมีน้ำมากก รอบๆ บริเวณหินดานที่พระท่านไปพักนั้น โขลงช้างก็มาเล่นน้ำที่นั่นละซิ เล่นน้ำทีมากันเป็นโขลงๆ เล่นจนกระทั่งคนรำคาญเสียงมันอึกทึก บางคืนจวนสว่างจึงพากันหนีไป ไม่ทราบว่าเขากินอะไรกัน เพราะเล่นน้ำอยู่นั่นเกือบตลอดคืนแต่ละครั้งๆ

วันหลังมา พระท่านก็นัดแนะกัน ติดต่อชาวบ้านให้เขาเอาปี๊บแตกมาสำหรับเคาะไล่ช้าง และชาวบ้านก็นำปี๊บแตกมาให้จริงๆ ตั้งหลายลูก พอถึงเวลากลางคืนช้างก็พากันมาเล่นน้ำที่บริเวณหินดานนั้น พระพักอยู่ตรงไหนๆ ก็เอาปี๊บแตกๆ ไปไว้ที่ตรงนั้น เวลาโขลงช้างมาเล่นน้ำที่นั่นก็เคาะขึ้นพร้อมกัน เสียงเคาะปี๊บแต่ละองค์ดังเป๊กๆ ขึ้นทุกทิศทุกทางรอบบริเวณนั้น

โขลงช้างก็ตื่น...วิ่ง ผู้เคาะปี๊บก็มี แต่เคาะท่าเดียว ไม่คิดหน้าอ่านหลังเคาะเป๊กๆ ช้างต่างตัวก็ต่างกลัวและต่างตัวต่างวิ่งหนี ไปทางโน้นก็เป๊กๆ ไปทางนั้นก็เป๊กๆ วิ่งมทางนี้ก็เป๊กๆ ช้างก็ต่างตัวต่างวิ่งไปมา และวิ่งไปชนเอากุฏิพระที่อยู่บนหินดานใส่เข้าเปรี้ยง กุฏิพระที่ตั้งอยู่บนหินดานก็ล้มครืนลง

พระที่นั่งอยู่ในกุฏินั้นก็ร้องลั่นขึ้นที่นั้น ช้างก็วิ่งไปใหญ่ เอาตัวรอดเพราะมันวิ่งหนีตายนี่ กุฏิก็ไม่ใช่กุฏิฝังดิน เป็นกุฏิตั้งอยู่บนหินดาน ชนปั๊งเข้า กุฏิก็หงายล้มลงไป พระก็ร้อง ช้างก็ร้อง ส่วนช้างทั้งร้องทั้งเผ่นหนี แต่พระนั่นร้องอยู่ในกุฏิที่ถูกช้างล้มลงไป ตื่นเช้ามาหัวเราะกันลั่นเลย แถวนี้เป็นที่หลวงพ่อตันอยู่...


(มีต่อ 27)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 18 ธรรมสากัจฉาตามกาล

เคล็ดลับ...ภูมิจิตภูมิธรรม

เทศนาอบรมพระตอนหนึ่งของหลวงตากล่าวว่า

"...ในหนังสือที่มีอยู่ในธรรมบทที่กล่าวว่า กัลยาณชนไม่สามารถตอบปัญหาของพระโสดาบันได้ พระโสดาบันไม่สามารถตอบปัญหาของพระสกิทาคามีได้ พระสกิทาคามีไม่สามารถตอบปัญหาของพระอนาคามีได้ พระอนาคามีไม่สามารถตอบปัญหาของพระอรหันต์ได้

แม้พระอรหันต์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาของพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตรได้ ถึงพระสารีบุตร โมคคัลลาน์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าได้ คือความสามารถต่างกัน พอถึงขั้นอรหันต์ก็พอแล้ว

ส่วนที่ว่าพระสารีบุตร โมคคัลลาน์ ไม่สามารถตอบปัญหาพระพุทธเจ้าได้นั้นหมายถึง ความกว้างแคบลึกตื้นแห่งความรู้นั้นต่างกัน นอกจากความบริสุทธิ์ไปแล้วยังมีความลึกตื้นต่างกัน กว้างแคบต่างกัน ภูมิของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ภูมิของพระสารีบุตร โมคคัลลาน์เป็นสาวกนิสัย จึงต่างกัน

สามัญวิสัย กับ อริยวิสัย ก็ผิดกัน แต่ละขั้นละภูมิมีเคล็ดลับประจำขั้นภูมินั้นๆ ถามเคล็ดปั๊บก็ติด ดังพระเรียนจบพระไตรปิฎกครั้งพุทธกาล แต่ลืมเนื้อลืมตัวดูถูกเหยียดหยามพระปฏิบัติ หาว่านั่งหลับหูหลับตาไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่โลกเลย จะเอาปัญหามาถามพระปฏิบัติท่าน

พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จมาท่ามกลางสงฆ์ที่กำลังสันนิบาตนั้นว่า พวกนี้กำลังจะมาทำลายลูกศิษย์เราตถาคต แล้วมันจะไปตกนรกกันทั้งหมด ท่านไม่ได้กลัวพระปฏิบัติจะเสีย ท่านว่าพวกนี้จะตกนรกกันทั้งหมด

พอเสด็จถึง พระองค์ทรงตั้งปัญหาขึ้นปั๊บ ถามพวกใบลานเปล่า ตอบไม่ได้รับสั่งถามพระปฏิบัติปั๊บ ตอบได้ผึง ยกปัญหาขึ้นปั๊บถามพวกนั้น นิ่งเหมือนคนตายแล้วตอบไม่ได้ วกกลับมาถามพระปฏิบัติตอบได้ปุ๊บๆ ตลอด จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมขนาบเสียอย่างเต็มที่ว่า

"...พวกเธอนั้นน่ะ เหมือนกับลูกจ้างเลี้ยงโคให้เขา ได้ค่าจ้างเพียงรายวันๆ เท่านั้น ไม่เหมือนลูกของเรา หมายถึงพระปฏิบัติซึ่งเป็นเจ้าของโค โคก็เป็นสมบัติของตัว น้ำนมโคก็ได้ดื่มเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความต้องการ

พูดเรื่องธรรม ก็เป็นเจ้าของธรรมเป็นธรรมสมบัติเป็นมหาสมบัติ พวกเธอนี้เพียงแต่เรียนและจดจำมาเฉยๆ ธรรมสมบัติอันแท้จริงยังไม่เคยได้ดื่มบ้างเลย ส่วนลูกเราตถาคตทั้งได้ปฏิบัติทั้งได้ดื่มธรรมรสโดยสมบูรณ์ จึงไม่ควรประมาท..."

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งถามเป็นปัญหาทางด้านจิต พอมาถามพวกปฏิบัติตอบได้ผึงๆ เลย..."

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)


สนทนาธรรม เป็นธรรม เพื่อธรรม

คำกล่าวตอนหนึ่งของท่านเกี่ยวกับการสนทนาธรรมภาคปฏิบัติของพระผู้มุ่งอรรคมุ่งธรรมควรมีแนวทางต่อไปนี้

"...การสนทนาธรรมะกันในทางภาคปฏิบัติ ผู้นั้นปฏิบัติอย่างนั้นๆ มีความรู้ ความเห็นอย่างนั้นๆ...ความรู้ความเห็นอันเป็นผลเกิดแปลกๆ ต่างๆ กันมา มันเป็นคติเครื่องพยุงจิตใจซึ่งกันและกันอยู่มาก...ก็เพราะท่านมุ่งเพื่อยึดคติจากธรรมของกันและกันจริงๆ ไม่มีทิฐิมานะเข้าแฝงเลย แม้ต่างคนต่างยังมีกิเลสด้วยกัน...

ท่านสนทนาตามภูมิจิตภูมิธรรมที่ปรากฏขึ้นจากจิตตภาวนาซึ่งตนบำเพ็ญมา...และสงสัยก็ศึกษาไต่ถามกันเป็นระยะไป ท่านที่เข้าใจก็อธิบายให้ฟังตามลำดับแห่งความสงสัยจนอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจ...

การสนทนาธรรมที่เกิดจากความรู้ภายใน แม้ผู้มาเล่าและเรียนถามปัญหาจะมีพรรษาอ่อนกว่ากันอยู่มาก แต่การเล่าและการไต่ถามนั้นแฝงอยู่ด้วยความอาจหาญ มั่นใจในความรู้และปัญหาของตน ไม่พรั่นพรึงหวั่นไหวหรือประหม่ากลัวท่านจะชักหรือทักท้วงแต่อย่างใด พูดไปและถามไปตามความรู้สึกของตร และยอมรับกันโดยทางเหตุผลของแต่ละฝ่าย

ถ้าตอนใดเหตุผลยังลงกันไม่ได้ ก็ซักซ้อมกันอยู่ในจุดนั้นจนเป็นที่เข้าใจ แล้วค่อยผ่านไปโดยไม่มีฝ่ายใดสงวนศักดิ์ศรีดีชั่วของตนอันเป็นลักษณะโลกแฝงธรรมให้นอกเหนือจากความหวังเข้าใจต่อกัน...

ต่างมีความสนใจเอื้อเฟื้อต่อธรรมของกันโดยสม่ำเสมอแต่ต้นจนอวสานแห่งปัญหาธรรม ไม่แสดงความอิดหนาระอาใจ ไม่แสดงความดูถูกเหยียดหยามด้วยภูมิจิตภูมิธรรมของกันและกัน ต่างสนทนากันด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังความรู้และความอนุเคราะห์จากกันจริงๆ..."

การสนทนาธรรมภาคปฏิบัติของหลวงตานั้น ท่านมีโอกาสพบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ หลายองค์ในวาระต่างๆ กัน ครูบาอาจารย์บางท่านมีพรรษามากกว่า บางท่านก็มีพรรษาน้อยกว่า บางท่านเป็นลูกศิษย์ บางท่านเป็นถึงครูบาอาจารย์ของหลวงตาสมัยเรียนพระปริยัติธรรม หรือแม้กระทั่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ที่หลวงตาให้ความเคารพนับถือเสมอมาแม้จนทุกวันนี้ ท่านก็ยังมีโอกาสเข้ากราบด้วย

การเข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในครั้งนั้น เป็นที่ฉงนสนเท่ห์แก่หมู่เพื่อนของท่านอยู่มาก เพราะโดยปกติจะไม่มีพระเณรองค์ใดเข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ แบบเดี่ยวๆ เช่นนี้ นอกจากนี้แล้วการสนทนายังใช้เวลานานจนถึงกับทำให้บรรดาพระเณรต่างรู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

สำหรับการสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ นั้น ขอยกมาแสดงเพียงบางท่าน ดังนี้

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย


หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู


หลวงปู่ขาวเป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง ในสมัยหนุ่ม ท่านมีนิสัยอาจหาญทรหดอดทนและจริงจังในการบำเพ็ญเพียรมาก ท่านเที่ยวธุดงค์ไปทั้งทางภาคอีสานและเหนือ กระทั่งได้กำลังครั้งสำคัญที่จังหวัดเชียงใหม่ หลวงตาเป็นผู้เรียบเรียงประวัติของหลวงปู่ขาวขึ้น เพราะมีโอกาสได้ซักถามพูดคุยข้ออรรถธรรมที่ลึกซึ้งกับท่าน คราวหนึ่งของการเทศน์อบรมพระภายในวัด ท่านพูดถึงการสนทนากันในครั้งนั้นว่า

"...หลวงปู่ขาวนี่ เคยพูดกันตั้งแต่นู้น นี่ก็ไม่เคยพูดกันอีกนะ ตั้งแต่ไปอำเภอหนองบัวลำภู คุยกันสนุกสองต่อสอง...2 ทุ่ม เริ่มจนกระทั่ง 6 ทุ่ม...ท่านให้เราพูด เราก็พูดให้ฟัง ท่านเป็นผู้ฟังนี่นะ เริ่มแต่ ก.ไก่ ก.กา เรื่อย ทุกกิทุกกีเป็นยังไงๆ ว่าไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งหมดความสามารถของเราแล้ว เราก็มอบถวายท่านเลย บอกว่า

"ท่านอาจารย์อย่าผูกเป็นความเกรงใจกระผม ฉะนั้น ขัดข้องตรงไหน มันไม่ถูกตรงไหน ขอให้ท่านอาจารย์บอกกันอย่างตรงๆ เอา ฟาดให้เต็มที่เลย

ผมหมดความสามารถเท่านี้แหละ ถ้าติดก็ติดแบบว่าไม่สนใจจะแก้เลย ขนาดนั้นแหละ หลงก็หลงขนาดนั้นแหละ"

แต่ท่านก็ไม่พูดมากนะ เราก็ไม่ลืม นี่สรุปเอาเลยนะนี่นะ คุยกันมาตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนกระทั่งถึง 6 ทุ่ม เราเดินมาถึง 5 ทุ่มเรื่องของเรา เรื่องของท่านมีเพียงชั่วโมงเดียวไม่ถึงชั่วโมง

พอพูดของเราเสร็จลงแล้ว มอบลงแล้ว ไม่ให้ท่านผูกเป็นความเกรงอกเกรงใจไว้ว่าผมเป็นมหาเปรียญ หรือได้เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์มาเป็นยังไง ไม่เป็นปัญหาที่จะมากีดกันท่านอาจารย์ให้พูดด้วยความสะดวกไม่ได้ ไม่ต้องเอาเป็นอุปสรรค ท่านอาจารย์พูดเลยว่า

"ยอมรับทุกอย่างล่ะ สิ่งที่มันสุดวิสัยผม แล้วไปแล้ว"

"ผมก็พูดกราบเรียนได้เพียงเท่านี้ แค่นี้ล่ะ ถ้าหากว่าติดก็ติดแบบเจ้าของไม่มีความสนใจจะแก้ ไม่รู้ขนาดนั้นล่ะ ไม่รู้จนกระทั่งมันไปถึงไหนนั่นแหละ ติด ติดอยู่ตรงไหนนั่นแหละ ไม่รู้เลย ถ้าว่านอนตาย ก็นอนซะเลยเหตุเลยผลโน่นแหละ"

จากนั้นท่านก็พูดมา ท่านพูดเอาเฉพาะเคล็ดนะ

"เออ การปฏิบัติทางจิตนี้ มันก็มี 2 เคล็ดที่สำคัญ กามราคะ 1 อวิชชา 1 ท่านมหาก็พูดมาหมดแล้ว ไม่มีที่ข้องใจสงสัย เป็นอันว่าถูกต้องเข้ากันได้ทุกอย่าง"

ท่านก็เลยรวบเอาเลย

"ผมก็เป็นอย่างนั้นละ ท่านมหา ไม่มีอะไรเป็นข้อขัดแย้งกัน อุบายวิธีพิจารณากว้างแคบนั้น มันเป็นแต่อุบายของแต่ละคนคน แต่ว่าสำคัญที่จิตที่รวมมันเหมือนกัน"

ท่านสรุปเอาอย่างงั้นเลย จากนั้นท่านก็เล่าให้ผม ถึงสถานที่ที่ท่านเป็น..."

รูปภาพ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต ป.ธ. 9)


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
(สนั่น จันทปัชโชโต ป.ธ. 9)
วัดนรนารถสุนทริการาม กรุงเทพฯ


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่หลวงตานำมาเล่าเป็นตัวอย่างสอนแก่พระเณรว่า ครั้งหนึ่ง ท่านกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) มีธุระไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ที่วัดนรนารถฯ

เมื่อไปถึงกุฏิของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ผลักประตูห้องเข้าไปตามแบบคนที่สนิทสนมกันมานาน พบว่า ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนั่งสมาธิอยู่ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์อุตส่าห์เมตตามาเยี่ยมเยียน จากนั้นจึงได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ ตอนหนึ่งของการสนทนา ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ พูดขึ้นว่า "...ผมเองแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ฉันอาหารดิบๆ ดีๆ นะ ก็ฉันของแห้งๆ ไปอย่างนั้นแหละ ฉันของดีจริงๆ ภาวนาไม่ดี..."

เมื่อท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กล่าวถึงจุดนี้ ทำให้หลวงตารู้สึกถึงใจกับความเป็นนักภาวนาและนักต่อสู้สังเกตใจของท่าน เพราะหลวงตาท่านทราบดีว่าผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาจำต้องมีการระมัดระวังและคอยควบคุมสิ่งที่จะทำให้ขัดขวางต่อการภาวนาได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงตาให้ความเคารพต่อท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ เสมอมา

สำหรับท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ เองก็เช่นกัน สังเกตว่าท่านก็ได้ให้ความเมตตาและให้เกียรติต่อองค์หลวงตาอยู่ไม่น้อย ทุกๆ ปี หากมีการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ จะต้องได้นิมนต์หลวงตาไปแสดงธรรมอยู่เสมอ

ทุกครั้งที่หลวงตามีโอกาสไปกราบเยี่ยมเยียน ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านจะคึกคักขึ้นทันที ดังเหตุการณ์ซึ่งท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ครั้นพอทราบว่าหลวงตามาเยี่ยม ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ อุตส่าห์รีบลุกขึ้นรับทันที ดูทีท่าว่าตื่นเต้นดีใจแบบรื่นเริงในธรรม พร้อมกับกล่าวยกย่องหลวงตาว่า

"...เศรษฐีธรรมมาแล้ว เศรษฐีธรรมมาแล้ว นับวันจะหายาก แต่เศรษฐีเงินนี้มีเกลื่อน..."

หลังจากวันนั้นไม่นาน ท่านก็หายอาพาธอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ประหลาดใจแก่แพทย์ผู้ให้การรักษา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าความปีติรื่นเริงในธรรม จัดว่าเป็นธรรมโอสถรักษาโรคชั้นเลิศ

ความเคารพบูชาในธรรม และความสนใจใคร่ต่อการปฏิบัติกรรมฐานของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวนี้เอง ทำให้หลวงตาต้องได้กล่าวยกย่องให้พระเณรฟังเสมอๆ ว่า

"...เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นอกจากท่านจะเป็นนักปริยัติแล้ว ท่านยังเป็นนักปฏิบัติ นักภาวนา เวลาพบปะสนทนากับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะสนทนาแต่เรื่องการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสมาธิภาวนาด้วยทุกครั้ง

ท่านจะไม่พูดถึงเรื่องโลกๆ ภายนอกอันเป็นสิ่งสกปรกโสมมเลย พระเณรเราควรที่จะประพฤติ ปฏิบัติ รักษา ตามแบบอย่างที่ท่านเคยปฏิบัติเอาไว้ โดยเฉพาะเจ้าอาวาสนี้สำคัญมากนะ เพราะเป็นผู้นำคน ปกครองคน..."

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว กับ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต)


(มีต่อ 28)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


คราวหนึ่งท่านมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เข้ากราบหลวงปู่แหวน ซึ่งท่านก็เป็นศิษย์รุ่นใหญ่องค์หนึ่งของท่านอาจารย์มั่นเช่นกัน จากการสนทนาในครั้งนั้น ทำให้ท่านกล่าวถึงหลวงปู่แหวนด้วยความเคารพบูชาว่า "...ท่านอาจารย์แหวนองค์หนึ่ง สามารถแก้ได้ตลอดทั่วถึงทางด้านจิตใจ เดี๋ยวนี้ท่านก็ไม่เอาเรื่องกับใครแล้ว ประการหนึ่งก็ไม่มีใครไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านขี้เกียจยุ่งกับเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ท่านก็อยู่สบายๆ

ลองมีผู้มีภูมิจิตภูมิธรรม มีความรู้ความเห็นต่างๆ ทางด้านปฏิบัติไปเล่าให้ท่านฟังดูซิ ไม่ต้องสงสัยว่าเสียงท่านจะไม่ขึ้นปึ๋งปั๋งๆ เพราะท่านอยู่กับธรรมเท่านั้น ถึงไม่ติดธรรม ท่านก็อยู่กับธรรม เป็นเครื่องรื่นเริงระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองตัวอยู่..."

การเข้ากราบหลวงปู่แหวนคราวนั้น ท่านมีโอกาสฟังธรรมะป่าแบบเผ็ดร้อนเข้มข้นถึง 2 วาระ วาระแรกนาน 10 นาที สำหรับวาระที่ 2 นี้ หลวงปู่แหวนท่านดูคึกคักตึงตังยิ่งกว่าครั้งแรกเสียอีก ท่านแสดงธรรมด้วยน้ำเสียงอันดัง เนื้อตัวผิวพรรณมีสีแดงสดใสเปล่งปลั่ง ลักษณะของท่านในวันนั้นรู้สึกว่าดูรื่นเริงมากเป็นพิเศษ ครั้งหลังนี้ท่านพูดธรรมะนานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว เมื่อหลวงปู่แหวนกล่าวธรรมะจบลงแล้ว ท่านก็พูดกับหลวงตาว่า

"เอ้า...ท่านมหาค้านนะ ถ้าผิดตรงไหน ค้านนะ..."

ด้วยความเคารพบูชาในธรรมะป่าของท่าน ซึ่งจะหาโอกาสฟังเช่นนี้ได้ยากยิ่ง ท่านจึงกล่าวขึ้นด้วยความซาบซึ้งในธรรมว่า "...กระผมไม่ค้าน กระผมหาฟังอย่างนี้แหละ..."

รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส


หลวงปู่คำดี ปภาโส
วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย


หลวงปู่คำดีเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่งที่น่าเคารพบูชากราบไหว้อย่างสูงสุด ในสมัยบำเพ็ญเพียรท่านก็เป็นพระที่มีความกล้าหาญในการต่อสู้กับกิเลส สมัยต่อมาเมื่อท่านเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็เป็นพระที่มีเมตตาสูง ไม่ถือเนื้อถือตัว ด้วยท่านเคารพบูชาในอรรถธรรมสูงส่งยิ่งกว่าสิ่งใด

ท่านอายุพรรษามากกว่าหลวงตาหลายปี พระเณรลูกศิษย์ลูกหาของท่าน มักจะได้ยินท่านพูดปรารภถึงหลวงตาอยู่เสมอๆ กระทั่งแม้ว่าบางคราวหลวงปู่คำดีจะพูดขู่ขนาบพระเณรในวัดของท่านเองบ้าง ท่านก็ยังชอบที่จะยกเอาหลวงตาขึ้นขู่พระเณรเสมอๆ เช่น พูดว่า

"พระวัดนี้นะ ถ้ากับท่านมหาบัว พวกนี้แตกกระเจิงหมดเลยนะ อยู่กับท่านไม่ได้นะ" หรือ

"ลองไปอยู่กับท่านมหาซิ พระเณรพวกนี้หน่ะ" เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เอง ลูกหลานพระเณรที่วัดถ้ำผาปู่จึงมีความรู้สึกเคารพสนิทสนมและผูกพันกับหลวงตาเสมือนหนึ่งครอบครัวเดียวกันโดยปริยาย และแม้สำหรับหลวงตาเอง ท่านก็ให้ความเมตตาต่อลูกหลานพระเณรที่วัดถ้ำผาปู่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อโอกาสอำนวยคราวใด ท่านไม่เคยลืมที่จะแวะไปเยี่ยมเยียน พร้อมขนเครื่องจตุปัจจัยไทยทานข้าวสารอาหารต่างๆ ไปให้ และเทศนาสั่งสอนพระเณรเพื่อเป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่เสมอๆ เป็นระยะๆ ไป

ที่น่าแปลกใจคือ หลวงปู่คำดีท่านจะกล่าวถึงหลวงตาไม่เพียงเฉพาะกับพระเณรเท่านั้น ศิษย์ฆราวาสผู้หลักผู้ใหญ่กระทั่งอย่าง ฯพณฯ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี หลวงปู่ก็ยังเคยปรารภฝากความระลึกถึงกับท่าน ดร.เชาวน์ไปถึงหลวงตาด้วยว่า "ฝากความระลึกถึง...ไปถึงท่านมหาบัวด้วยนะ" พร้อมกับยังกล่าวเชิงยกย่องในคุณธรรมของหลวงตา ฝากไปกับท่านดร.เชาวน์ ในวาระเดียวกันนี้อีกด้วย

ทราบกันว่าหลวงปู่คำดีและหลวงตาท่านเคยมีโอกาสได้สนทนาพูดคุยธรรมะกัน ท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านได้พบปะพูดคุยกันท่ามกลางความแปลกใจแก่พระเณรในวัดถ้ำผาปู่อยู่มาก ก็ด้วยเหตุที่หลวงปู่คำดีท่านสั่งพระไว้อย่างเข้มงวดว่า

"ถ้าวันนี้มีครูบาอาจารย์องค์ใดเข้ามาให้รีบบอกเราทันทีนะ"

พระที่รับคำสั่งนี้มา จึงจดจ่อคอยเฝ้าสังเกตอยู่ตลอด เพื่อดูว่าวันนี้จะมีใครมาหรือไม่ พอตกตอนบ่ายปรากฏว่ามีรถเข้ามาที่วัดจริงๆ และก็พบว่าเป็นหลวงตามหาบัวนั่นเอง พระที่คอยดูอยู่ตลอดวันจึงรีบไปกราบเรียนหลวงปู่คำดีทันทีและพอหลวงปู่คำดีทราบว่าหลวงตามา ท่านก็รีบออกจากที่พักและเรียกหลวงตาทันทีเช่นกัน แล้วยังพูดด้วยว่า "โฮ้ มาเร็วดีนะ" เหตุการณ์คราวนั้นเป็นที่แปลกใจแก่พระเณรอยู่มาก เหมือนหลวงปู่จะทราบล่วงหน้าไว้แล้ว

ภายหลังต่อมา จึงทราบเหตุผลว่าในครั้งนั้น ท่านตั้งใจเดินทางเพื่อไปพักค้างคืนโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพียงแค่การไปเยี่ยมเยียนแล้วก็กลับธรรมดาๆ ครั้งนั้น พระเณรได้บอกเล่าต่อๆ กันว่า ครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านได้พูดคุยสนทนาธรรมกันอยู่ตลอด มีการเขียนข้อความใส่กระดาษ เพื่อซักถามสนทนากันและกันด้วย ทั้งนี้คงเป็นเพราะหลวงปู่คำดีท่านหูไม่ค่อยได้ยิน

มีเทศนาอบรมพระของหลวงตาอยู่ บางตอนที่ท่านกล่าวพูดยกย่องถึงคุณธรรมและความกล้าหาญของหลวงปู่คำดีในสมัยปฏิบัติ คราวหนึ่งของการแสดงธรรม ท่านพูดถึงเหตุการณ์ในระยะก่อนๆ นั้น ได้เคยพบกับหลวงปู่คำดีอยู่เรื่อยๆ ในที่ต่างๆ ที่นั่นบ้างที่นี้บ้าง จากนั้นหลวงตาก็เล่ามาถึงเรื่องที่หลวงปู่คำดีเคยกล่าวชมเชยท่านในการแสดงธรรมเรื่องการแจงขันธ์ 5 ดังนี้

"...การพบกับท่าน (หลวงปู่คำดี) เคยพบกันอยู่เรื่อยๆ ท่านมาอยู่วัดหนองแซง นี่ก็เคยพบกันอยู่เรื่อย ท่านเลยพูดถึงเรื่องว่าการแจงขันธ์ 5 นี้ ไม่มีใครแจงได้ละเอียดลออมากยิ่งกว่าท่านมหา ท่านอ่านหนังสือแว่นดวงใจ จบหมดเลย..."

ตอนท้ายของเทศนากัณฑ์นี้ หลวงตาพูดถึงการที่ท่านไปวัดถ้ำผาปู่ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์บังเอิญพอดีกับที่หลวงปู่คำดีได้จุดธูปนิมนต์ขอให้ท่านเดินทางที่วัดถ้ำผาปู่ หลวงตากล่าวในตอนท้ายของเทศนาอบรมพระว่า

"...มันแปลกอยู่นะ คือท่าน (หลวงปู่คำดี) เดินจงกรมอยู่ พอตี 4 ท่านลงมาเดินจงกรม ปัญหามันขวางใจท่าน ทำยังไงก็แก้ไม่ตกๆ มองหาใครไม่เห็น...จึงออกจากทางจงกรมไป จากนั้นก็ไปจุดธูปเทียนเลย หลังจุดธูปจุดเทียนไหว้พระเสร็จแล้ว...ก็กล่าวว่า

"ขอนิมนต์ท่านมหามา..."

เรื่องนี้ภายหลังทราบจากคนรถที่คอยอุปัฏฐากรับใช้หลวงตาว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นแกได้รับคำสั่งด่วนจากหลวงตาให้รีบเข้าไปที่วัดป่าบ้านตาดในเวลา 5 โมงเช้าวันนี้ เมื่อขับรถไปถึงวัดแล้ว หลวงตาก็ให้รีบพาไปวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย โดยเร็ว ตอนเที่ยงวันพอดีจึงได้ออกเดินทาง

หลวงตาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้สนทนากันในวันนั้นด้วยว่า

"...คือเราไปถึงวัดถ้ำผาปู่ พอทราบว่าท่าน (หลวงปู่คำดี) พักแล้ว บอกพระว่า

"อย่าไปกวนท่านนะ วันนี้ผมจะพักไม่กลับ ผมจะค้างกับท่าน

อย่าไปกวนท่านนะ ผมจะไปหาที่พักก่อน พอได้เวลาแล้วจะมาหาท่าน เวลานี้ท่านยังพักอยู่"

เขาปิดประตูเงียบ พอเรามานี่ พระองค์นั้นแอบไปทางด้านหลัง ไปบอกหลวงปู่คำดี พอทราบท่านจึงรีบออกมาโดยเปิดประตูเหล็กเลื่อน เรียก

"ท่านมหา ท่านมหาอยู่นี่เหรอ" โบกมือเรียก เราเลยดุพระว่า

"ไปรบกวนครูบาอาจารย์ทำไม ? ท่านองค์นี้นี่น่ะ ก็จะคุยอยู่แล้วนี่นะ" พอไปถึงแล้ว ท่านพูดว่า

"โฮ้ มาเร็วดีนะ"

"เร็วอะไร ? แล้วท่านอาจารย์จะมีเรื่องคุยอะไรกัน ?"

เวลาจะคุยกัน ต้องได้ปิดประตูเลยนะ ตั้งแต่ยังไม่ถึง 6 โมงถึง 2 ทุ่ม ให้ท่านเล่าวิถีจิตของท่านเป็นยังไงสองต่อสอง จนกระทั่ง 2 ทุ่ม เมื่อถึงจุดสำคัญ...เหมือนกับหอกกับหลวงทิ่มนะ เหมือนกับว่า...ถอดหลาวออก ทีนี้ก็พุ่งเลย รู้ช่อง

"เออๆๆ..." มันสะดุดใจท่านมาก"เออ เอาละทีนี้ รู้ช่องแล้ว จากนั้นท่านจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านจุดธูปมานิมนต์เรา เราเลยตอบท่านว่า

"ผมก็มาสะเปะสะปะ มาประสาบ้าของผมล่ะ"

"เอาละ ประสาอะไรช่างเถอะนะ สดๆ ร้อนๆ นี้เอาละ"

คือพอเวลาเที่ยงเราก็ออกจากวัดป่าบ้านตาดไปเลย มันก็เหมือนกับว่า สดๆ ร้อนๆ นั่นละ มันบันดลบันดาลอะไร เราก็ไม่เคยไปเลย บอกสั่งรถให้เขามาโดยด่วน แปลก..."

ครั้งนั้น เวลาที่ท่านจะสนทนาธรรมกัน เนื่องจากหลวงปู่คำดีท่านหูไม่ค่อยได้ยิน การพูดคุยกันจึงอาจต้องใช้เสียงที่ดังเกินไป ทำให้ไม่สะดวกนัก อีกทั้งในขณะนั้นก็มีแขก คนไปมาอยู่เรื่อยๆ ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการเขียนจดหมายสื่อความกัน

การสนทนาธรรมครั้งอัศจรรย์ของครูบาอาจารย์องค์สำคัญคราวนี้ จึงเป็นหัวข้อปัญหาให้พระเณรได้สนทนาเล่าต่อกันอย่างไม่รู้จบ และเป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมแก่พระกรรมฐานรุ่นลูกรุ่นหลาน

รูปภาพ
หลวงพ่อบัว สิริปุณฺโณ


หลวงพ่อบัว สิริปุณฺโณ
วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


หลวงพ่อบัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีอายุพรรษาน้อยกว่าหลวงตา สถานที่ของการสนทนาธรรมในครั้งนี้คือ บ้านชุมพล ในปีนั้นหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้พักจำพรรษาอยู่บ้านนี้ด้วย การแก้ปัญหาธรรมในครั้งนี้ ทำให้หลวงพ่อบัวเคารพนับถือและซึ่งใจในคำแนะนำของหลวงตาเป็นอย่างสูง

เหตุที่ท่านทั้งสองจะได้พบกันนั้น มีเหตุมาจากฆราวาสท่านหนึ่งมานิมนต์หลวงตาไปบ้านชุมพล (อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร) หลวงตาท่านถามทันทีว่า

"ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวหรือเปล่าล่ะ ?" แกตอบว่า "นิมนต์ครับกระผม"

หลวงตาท่านว่า "ถ้าหลวงพ่อบัวไปเราจะไป เรายังมีอะไรๆ ยิบๆ ยิบๆ อยู่กับหลวงพ่อบัว พูดอะไรมันมีอะไรอยู่ ข้องๆ ใจ เอานิมนต์ให้ได้นะ บอกด้วยว่าเราก็จะไปนะ"

จากนั้นฆราวาสคนเดิมนี้ก็ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวถึงที่วัดของท่านเหมือนกัน หลวงพ่อบัวก็ถามเหมือนกันว่า "ได้นิมนต์อาจารย์มหาหรือเปล่า ?"

แกตอบว่า "ผมนิมนต์ท่านมานี้แล้ว ท่านก็ถามถึงเหมือนกันว่าหลวงพ่อบัวจะไปหรือเปล่า ?"

หลวงพ่อบัวกล่าวขึ้นทันทีว่า

"โอ๋ย ถ้าท่านอาจารย์มหาไป เราไป ไป ไป ไป" ว่าแล้วท่านก็ไป

หลวงพ่อบัวท่านเป็นคนสั่งจัดกุฏิเองเลยทีเดียว โดยท่านพักอยู่หลังหนึ่ง และให้หลวงตาพักอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกับรั้วและอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะศาลาอยู่ลึกๆ ตรงกลางวัด กุฏิในวัดที่ติดเขตรั้วก็มีเพียงกุฏิ 2 หลังนี้เท่านั้น

เมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านเสร็จธุระส่วนตัวแล้ว หลวงตาจึงเริ่มซักไซ้ไล่เลียงหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องภายในของหลวงพ่อบัว ดังนี้

หลวงตาเริ่มพูดก่อนว่า

"ผมมามุ่งหลวงพ่อนะนี่ ผมไม่ได้มางานใดๆ นะ"

หลวงพ่อบัวตอบว่า "ผมก็มามุ่งครูอาจารย์เหมือนกันแล้ว" หลวงตาว่า"เอ้าเล่า เป็นยังไง ? เอ้า เล่ามาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติทีแรกจนกระทั่งปัจจุบัน อย่าปิดบัง เล่ามาโดยลำดับ เอ้า ผมจะฟังให้ตลอดวันนี้ ผมไม่ได้สนิทใจนักกับหลวงพ่อนะ ผมพูดตรงๆ นะ"

จากนั้น หลวงพ่อบัวท่านก็เล่ามาโดยลำดับๆๆ จนถึงจุดปัจจุบัน พอถึงจุดนี้ หลวงตาบอกทันทีว่า

"เอ้า เล่าไปซี" ตอบว่า "พอ" หลวงตาบอกอีก "เล่าไปซี" ตอบว่า "หมดเท่านี้" หลวงตาเลยถามว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไง ?" ตอบ "หมดเท่านี้"

ท่านถามอีกว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไงละ ? เอ้า ว่าซี"

"เข้าใจว่าสิ้นแล้ว" ท่านถามต่อว่า

"แล้วเป็นอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว ?"

"เป็นมาได้ 10 กว่าปีแล้ว"

จากนั้น หลวงตาท่านก็เริ่มอธิบายในจุดที่ละเอียดให้ฟัง

"เอ้า ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนั้นๆ นั้นนะ เอาเลย ต่อจากนั้นให้เลย จับให้ดีนะ...อธิบายให้ฟังเต็มที่ แล้ววันนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์ ไม่ต้องไปในงานนู้น ให้ภาวนาเอาให้มันได้วันนี้ รู้วันนี้ละ มันเข้าวงแคบแล้วนี่นา"

พอพูดกันจบเรียบร้อยแล้วท่านกล่าวต่อว่า "ไป ลงไป เริ่มภาวนาตั้งแต่บัดนี้ไปนะ ทำยังงั้นล่ะ"

การอธิบายกันในคราวนั้นใช้เวลานานพอสมควร เมื่อจบการอธิบาย จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็กลับกุฏิไปภาวนา ส่วนหลวงตาไปสวดมนต์ที่ศาลา เมื่อถึงตอนเช้าขณะที่หลวงตากำลังนั่งภาวนาอยู่ ยังไม่ทันออกจากที่ภาวนาเลย ก็มีเสียงกุ๊บกั๊บๆ ดังขึ้นในเวลาใกล้สว่างของวันใหม่ หลวงตาถามขึ้นทันทีว่า

"ใครนี่ ?" ตอบ "ผมครับ" ถาม "หลวงพ่อบัวเหรอ ?" ตอบ "ใช่ครับ" หลวงตาบอก "เออ ขึ้นมาๆ"

จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่าถึงการภาวนาในคืนนั้นให้ฟังว่า

"จับอุบายท่านอาจารย์ เข้าปุ๊บเลย...เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้เนี่ย ได้แต่เฝ้ากันอยู่นั้นเสีย แสดงว่าสำเร็จเสร็จสิ้นก็อยู่งั้นเสีย พอมาถึงที่นั่นแล้วก็เอาอุบายท่านอาจารย์เข้าใส่ ปุ๊บๆ โห ไม่นานเลย ปรากฏเหมือนกับ...ความกุฏิขาดยุบลงทันที เหมือนกับว่าก้นกระแทกดิน แต่ไม่เจ็บ เหมือนกับคานกุฏิขาดลง ตูมลงพื้นเลย

ฮึบ ทีเดียวเลย แต่จิตมันก็ไม่กังวลนะ เพราะมันไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรนี่ ในขณะนั้นพอพึบลงไปนั่น ทีเดียวเท่านั้น นิ่ง...พอมันหายจากขณะนั้นแล้ว จิตก็รู้ตัว ออกมาข้างนอก มาก็มารู้ว่า

"ฮื๊อ ว่าคานกุฏิ ถ้าขาดแล้วมันก็ลงกันทั้งพื้นนี้ ลงไปถึงดินนั่น ทำไมมันถึงดีๆ อยู่นี่" มันก็รู้กันทันทีนะว่า

"โห นี่มันคานอวิชชาขาด"

โอ้โห เวลานั้นมัน มันพูดไม่ถูกเลย...พอขณะนั้น ทำงานกันไปเสร็จสิ้นไปแล้ว ทีนี้มันเหมือนกับว่าเป็นคนละโลกเลยเชียว ผมเลยไม่นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้..."

หลวงพ่อบัวกล่าวกับหลวงตาอย่างซาบซึ้งจับจิตจับใจว่า

"...ผมกราบท่านอาจารย์ทั้งคืนเลย มันไม่ทราบเป็นยังไง มันกราบพระพุทธเจ้า กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ กราบท่านอาจารย์ตลอดคืนเลย ผมไม่นอนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นะ โฮ้ มันอะไร เหมือนกับถ้าพูดภาษาพระพุทธเจ้าว่า เสวยวิมุตติสุข มันอะไรพูดไม่ถูก

อัศจรรย์ครูบาอาจารย์ พระธรรมเห็นคุณค่าของท่านอาจารย์ ฮู้ย เห็นจริงๆ เด่นจริงๆ ถ้าไม่ใช่ท่านเราจมไปแล้ว ไม่ไปถึงไหนแล้ว เดชะจริงๆ กราบ...กราบอยู่อย่างนั้น..."

ตอนหลังหลวงตาท่านเคยปรารภถึงเรื่องนี้ว่า นับแต่นั้นมาก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกับหลวงพ่อบัว วัดป่าหนองแซง กันอีกเลย จนกระทั่งหลวงพ่อบัวท่านมรณภาพไป ท่านเคยบอกเหตุผลเหมือนกันว่าถึงจุดนี้แล้วไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมให้เป็นประโยชน์อีกแล้ว เพราะมันพออยู่ในตัวแล้ว หมดปัญหาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาพูดอีกแล้ว

รูปภาพ


(มีต่อ 29)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร