วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕คำนำ
คำนำในการจัดพิมพ์
“ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น” (เล่ม ๕)



พระพุทธเจ้าและหลวงพ่อฤๅษี ท่านมอบหมายหน้าที่ให้ผมตอบปัญหาธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ มาจนถึงปีที่ ๑๖ ปีเต็มแล้ว (ตั้งแต่ ๓๐ ต.ค.๒๕๓๕-๓๐ ต.ค. ๒๕๕๑) ทรงตรัสเป็นคำบาลีว่าเป็นไวยาวัจกรของวัดท่าซุง ซึ่งมีความหมายกว้างมาก เพราะนอกจากให้ธรรมเป็นทานแล้ว ไวยาวัจกร คือ ผู้ช่วยงานสงฆ์ทุกอย่าง ช่วยให้ผู้อื่นมาทำบุญด้วย ช่วยชักชวนให้คนเข้าวัตรด้วย วัตรนี้หมายถึงธรรมปฏิบัติ มิใช่ชวนคนเข้าวัดธรรมดา เพราะการกระทำของคุณหมอมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากแนะนำธรรมปฏิบัติป้องกันมิให้คนตกนรก (อบายภูมิ ๔) เป็นประการแรก ยังช่วยชี้ทางให้เขาพ้นทุกข์ตามลำดับจนถึงพระนิพพาน โดยรวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน แล้วรวบรวมเป็นเล่มแจกมาตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้
ทานทุกอย่างเป็นเครื่องตัดความโลภ โดยเฉพาะธรรมทานตัดทั้งโลภ - โกรธ - หลง เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้โดยง่าย ทุกขณะจิตร่างกายที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ กำลังเคลื่อนไปสู่ความตาย ผู้ไม่ประมาทในความตายเท่านั้น จึงจักมีนิพพานสมบัติได้ หรือผู้ประมาทในความตาย เท่ากับประมาทในธรรมของตถาคตทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ทรงอุปมาอุปไมยเหมือนรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่จะขนบุคคลผู้ใฝ่ดี มีอารมณ์เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยจากการเกิดมามีร่างกาย ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์-ไม่เที่ยง-สกปรก ต้องมีภาระและพันธะเลี้ยงดูมันตลอดชีวิต ไม่มีเว้นแม้แต่วันเดียว เหมือนกับกำลังเลี้ยงลูกอ่อน (ภารา หะเว ปัญจักขันธา) ทุกคนต้องเร่งรัดตนเอง ปิดนรกหรืออบายภูมิ ๔ ให้ได้ก่อนเป็นประการแรก โดยใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์จิตของตน มีบารมี ๑๐ เป็นผู้ช่วย มุ่งปฏิบัติตามศีล-สมาธิ-ปัญญา โดยใช้อิทธิบาท ๔ เป็นหลักสำคัญ หากผู้ใดปฏิบัติตามนี้ ก็มีสิทธิ์ได้ที่นั่งรถไฟขบวนนี้แน่นอน คุณหมอ ซึ่งมีหน้าที่พาขนคนขึ้นขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายนี้ อายุก็เกิน ๘๐ ปีแล้ว เหมือนไม้ใกล้ฝั่งเต็มที ร่างกายทุกร่างกายไม่มีทางพ้นความตายไปได้เป็นธรรมดา ธรรมจุดนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ เพราะที่พึ่งอันสุดท้าย ก็คือตัวเราเอง อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้แนะทางให้เท่านั้น การปฏิบัติให้เกิดผลอยู่ที่ตัวเราเอง ใครเพียร มากพักน้อยก็ถึงเร็ว ใครเพียรน้อยพักมากก็ถึงช้า ใครประมาทในธรรมปฏิบัติ ประมาทในความตาย จึงเท่ากับประมาทในพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้ายนี้ได้
ทรงตรัสว่าอย่าลืมเวลาใดที่กำหนดภาพพระนิพพานอยู่ เวลานั้นจิตไม่ห่วงกาย จึงเท่ากับวางอุปาทานขันธ์ ๕ หรือละสักกายทิฎฐิได้ชั่วคราว จิตพ้นจากอำนาจของมารได้ชั่วคราว จึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ชั่วคราว เรียกว่า ปทังควิมุติ หลุดพ้นจากสมมุติธรรมเข้าสู่วิมุติธรรมได้ง่าย ๆ เพราะโดยปกติจิตมีสภาพจำหรือเกาะ ถ้าจิตรู้อย่างไร จิตก็เร็วไปตามนั้น จิตเกาะบาปก็ไปอบายภูมิ ๔ จิตเกาะบุญก็ไปสวรรค์ จิตเกาะพระนิพพานก็ไปพระนิพพาน ทรงให้อุบายปฏิบัติง่าย ๆ ว่า รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน หมายความว่า รู้ลม คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก ทำจิตให้สงบเป็นสุข รู้ตาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในความตาย เท่ากับไม่ประมาทในธรรมทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ บท รู้นิพพาน หมายความว่า จิตมั่นคงทุกขณะจิตว่า หากร่างกายตาย เป้าหมายมีจุดเดียว คือพระนิพพาน ทำอะไรทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว หากใครปฏิบัติได้ตามนี้ ก็มั่นใจได้ว่าท่านมีที่นั่ง ในรถไฟขบวนสุดท้ายอย่างแน่นอน
ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนปิดท้ายว่า
ก) จำไว้ พระพุทธเจ้าคือจิตผู้ทรงธรรม มิใช่ร่างกาย แม้พวกเจ้าเองก็คือจิตไม่ใช่ร่างกาย เมื่อรู้แล้วจะยังจิตให้ติดร่างกาย อยู่เพื่อประโยชน์อันใด ผู้ปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ต้องซื่อตรง มีสัจจะบารมีกับจิตตนเอง
ข) ให้อดทนเข้าไว้ เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว อะไรเกิดขึ้นก็ต้องอดทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน ปลดทุกข์ออกจากจิต โดยใช้อริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา
สุดท้ายนี้ ผมขอเน้นอีกครั้งว่า ผมไม่เคยออกปากบอกบุญใคร ทุกคนที่บริจาคเงินเป็นธรรมทาน ล้วนบริจาคด้วยมีเจตนาเหมือนกันหมด
คือ ทำบุญ ทำความดีทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว รู้ด้วยปัญญาว่าไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้ เพราะเป็นโลกียทรัพย์ จึงบริจาคโลกียทรัพย์ให้เป็นโลกุตรทรัพย์ ใครทำใครได้ เอาไปได้ทุกคนตามกำลังใจของแต่ละคน บุญมิได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่กำลังใจเต็มแค่ไหน มีมากทำมาก มีน้อยทำน้อย โดยใช้ปัญญาที่เกิดจากพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักสำคัญ ไม่เบียดเบียนตนเองมากเกินไป ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น (ตนเองคือจิตของเรา ผู้อื่นคือร่างกายที่จิตอาศัยอยู่ชั่วคราว) ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว สำหรับทุก ๆ คนที่ร่วมวงสนทนาธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ คนละหลาย ๆ ปีแล้ว หากไม่มีความเข้าใจธรรมจุดนี้ ก็ไม่สามารถจะยังจิตให้เข้าสู่พระนิพพานได้ ผมจึงขออาราธนาบารมีคุณของพระศรีรัตนตรัย หรือ พุทโธ - ธัมโม - สังโฆ อัปปมาโณ อันหาประมาณมิได้ จงดลบันดาลให้จิตของท่านผู้อ่านพระธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังทุกท่านจงโชคดี ได้เข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยกันทุกท่าน เทอญ

พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖เหตุที่ทำให้พระกรรมฐานไม่ค่อยได้ผล




เหตุที่ทำให้พระกรรมฐานไม่ค่อยได้ผล
เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐมได้ทรงพระเมตตามาสอนเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ที่ร่วมไปปฏิบัติพระกรรมฐานที่วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร แล้วไม่ค่อยได้ผล มีความสำคัญดังนี้
๑. กรรมฐานเที่ยวนี้ล้มเหลวอีกแล้วหรือเจ้า เหตุก็เพราะเจ้าปล่อยให้ถีนะมิทธะ (ความง่วง) เข้าครอบงำจิต จึงเป็นผลให้นิวรณ์กดดันจิตให้สิ้นกำลังที่จักเจริญพระกรรมฐานให้ได้ผล จำเอาไว้ เพราะเจ้ามีความประมาทในนิวรณ์ ๕ มากเกินไป จึงทำให้จิตสิ้นเรี่ยวแรงที่จักต่อสู้กับนิวรณ์ ๕ ประการ ต่อไปห้ามคิดว่านั่งต่อไปอีกนิดน่า ไม่เป็นไร ถ้ารู้สึกว่าความง่วงเข้าแทรกเมื่อไหร่ อาการง่วงหาวปรากฏ ให้รีบลุกขึ้นเดินทันที
๒. ถ้าระงับไม่ได้ก็ชนะไม่ได้ ห้ามโต้แย้งเป็นอันขาดว่า นั่นเป็นการหลับในฌาน หากกล่าวเช่นนั้นก็เป็นการเข้าข้างกิเลสมากเกินไป
๓. การหยิบเอาบันทึกคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานขึ้นมาดูนั้น ถ้าอารมณ์นิวรณ์ ๕ แทรกได้แล้ว การพิจารณาก็จักไม่มีผล เพราะปัญญามันไม่เกิด เพราะฉะนั้น ต้องตื่นตัวปลุกจิตให้ระงับนิวรณ์ ๕ ในขณะนั้น แต่ถ้าหากระงับได้ตลอดเวลา ก็ควรจะระงับ เมื่อระงับได้แล้วนั่นแหละ จึงจักหวนกลับมาพิจารณาธรรมต่าง ๆ ได้
๔. อย่าลืมแม่บทของการเจริญพระกรรมฐาน คือ อานาปานัสสติ หมั่นเติมพลังให้แก่ดวงจิตเข้าไว้จักได้มีกำลัง ถ้าหากทำได้ก็ให้ทำจิตถึงฌาน ๔ เห็นภาพนิมิตกสิณเป็นแก้วแล้ว จิตชุ่มชื่นดีแล้ว หวนกลับมาจับอารมณ์วิปัสสนาญาณอันนั้นแหละจักเป็นผลดีทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณ
๕. อย่าท้อถอยนะ ผิดแล้วก็เริ่มต้นใหม่ หมั่นกำหนดจิตรู้ลมเข้าออกอยู่เนือง ๆ จิตจักได้เคยชิน จักภาวนาควบคู่ไปด้วยก็ได้ ไม่ภาวนาก็ได้ ให้หมั่นกำหนดรู้อยู่เสมอ สมาธิจิตจักได้ทรงตัว
๖. รู้อย่างเบา ๆ มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้การเข้าออกของลมหายใจ อย่าไปรู้แบบหนัก ๆ จิตมีวิตกกังวลแบบนั้นจักไม่เป็นผล เป็นอัตตกิลมถานุโยค จิตหนักสมาธิหนักเกินไป ไม่เป็นผล

วิจารณ์ :
สำหรับพวกที่ยังไม่ได้กสิณ อาจคิดว่าตนทำไม่ได้ ผมขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
๑. ความสำคัญหรือหลักในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็คือ การระงับนิวรณ์ ๕ ให้ได้ก่อน
๒. แม่บทที่ทำให้จิตสงบ เป็นฌาน เป็นสมาธิได้ คืออานาปานัสสติ ผู้ใดไม่สนใจจุดนี้ ก็อย่าหวังที่จะทำให้จิตสงบและทรงตัวได้
๓. ผู้ไม่ได้กสิณ ให้สังเกตเอาเสียงเป็นหลักสำคัญ หากหูได้ยินเสียงดี แต่จิตเราไม่รำคาญในเสียง คงพิจารณาได้ต่อเนื่องนั่นคือ จิตถึงปฐมฌาน จัดเป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งมีกำลังพอพิจารณาตัดกิเลสให้ขาดได้แล้ว หากจับรู้ลมหายใจเข้าและออกควบกับคำภาวนาอยู่ แล้วคำภาวนาหายไป จิตสงบดี หูได้ยินเสียงเบาลง นั่นเป็นฌานที่ ๒ หากปฏิบัติต่อไป รู้สึกว่าตัวแข็งขยับตัวไม่ได้ อย่าตกใจ อย่ากลัวตาย ขณะนั้นเสียงจะเบาลงมาก ขณะนั้นจิตเข้าสู่ฌานที่ ๓ และหากเสียงหายไป หูไม่ได้ยินเสียงเลย กายจะเบา จิตจะเบาสบาย ขณะนั้นเป็นฌานที่ ๔ อย่างหยาบ และหากรู้สึกว่าแม้แต่กายก็ไม่มี หายไปด้วย จิตเบาสบาย และเป็นสุขมาก ขณะนั้นเป็นฌาน ๔ อย่างละเอียด ให้ใช้หลักนี้เป็นข้อสังเกต
๔. อาการง่วงเหงาหาวนอนเกิด อย่าฝืน ให้ลุกขึ้นเคลื่อนไหวร่างกายโดยการเดิน ถ้าระงับนิวรณ์ ๕ ไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่มีผล
๕. อารมณ์จริงต้องเบา ๆ สบาย ๆ หากหนักและเครียดไม่ใช่อารมณ์จริง ตึงเกินไปก็ไม่มีผล หย่อนเกินไปก็ไม่มีผล การบรรลุต้องใช้ทางสายกลางทั้งสิ้น

เรื่องจิตไม่สงบเพราะเกาะติดทุกข์ - สุข
จากนั้นสมเด็จองค์ปฐมได้ทรงพระเมตตามาสอนเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติธรรมของผมต่อ ในวันที่ ๒๕ ก.พ. ๒๕๓๖ ขณะไปปฏิบัติพระกรรมฐานที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ” เรื่องจิตไม่สงบเพราะเกาะติด ทุกข์ - สุข ” มีความสำคัญดังนี้

๑. เจ้าไม่ต้องห่วงว่าอิทธิพลคุณไสย จะมีอำนาจเข้ามาก่อกวนในวิหาร ๑๐๐ เมตร ตถาคตคุมอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา คือ พุทโธอัปปมาโณ
๒. ต่อไปนี้ขอให้เจ้า หมั่นดูอารมณ์ของตนเอง อย่าไปมองดูอารมณ์ของคนอื่น การที่จะพ้นทุกข์แห่งอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ ก็ต้องสังเกตที่จุดนี้ กำหนดสติสัมปชัญญะ รู้ให้ได้ว่าขณะนี้กำลังเสวยอารมณ์อะไรอยู่ เมื่อเรียนรู้อารมณ์ที่เสวยแล้ว ก็ต้องหมั่นเอาพระกรรมฐานเข้ามาแก้อารมณ์ที่เป็นพิษนั้น ๆ จิตไร้ความสงบ เพราะอารมณ์ของจิตดิ้นรนเกาะติดทุกข์-สุข ถ้าหากศึกษาไม่ถ่องแท้แล้ว ก็จักแก้ไขจุดนี้ได้ยาก ต้องรู้จริงกระทบจริงด้วยสติสัมปชัญญะที่ว่องไว อันตามรู้ว่ากิเลสชนิดใดได้เกิดขึ้นแล้วในขณะจิตนั้น ถ้าไม่รู้ก็แก้ไขไม่ได้ ต้องหลงปล่อยให้จิตเป็นทาสของอารมณ์อยู่ร่ำไปอย่าท้อแท้ พลั้งบ้างเผลอบ้างเป็นธรรมดา หมั่นเพียรดูจิตเสวยอารมณ์อยู่เสมอ ๆ ใหม่ ๆ มันก็ยุ่งยากหนักใจบ้างเป็นธรรมดา แต่กำหนดรู้ไปนาน ๆ ก็จักเกิดความเคยชินเอง
๓. ความทุกข์ใด ๆ จักยิ่งไปกว่าอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายตนเองนั้นไม่มี การไปพรหมโลก เทวโลก ติดสุขด้วยอารมณ์นี้ การไปอบายภูมิ ๔ อันมีสัตว์นรก เป็นต้น ติดทุกข์ก็ด้วยอารมณ์จิตนี้ เพราะฉะนั้นเจ้าต้องการจะพ้นทุกข์ ก็ต้องหมั่นศึกษาอารมณ์ระงับสุข ระงับทุกข์ให้เห็นเป็นตัวธรรมดา อันหาสาระแก่นสารไม่ได้ หมั่นคิดพิจารณา หมั่นปลด หมั่นละอารมณ์จิตที่สร้างทุกข์ สร้างสุขลม ๆ แล้ง ๆ อยู่นี้ให้คลายไปจากจิต และหมั่นสร้างอารมณ์สังขารุเบกขาญาณให้เกิด เห็นการเสวยอารมณ์สุข-ทุกข์ ว่าไม่เป็นเรื่องเพราะเป็นอารมณ์แสวงหาความเกิด เราจักไม่ต้องการ เราต้องการจุดเดียวคือแดนพระนิพพาน อันดวงจิตไม่ต้องเคลื่อนและไม่ต้องจุติยังแดนต่าง ๆ อีก นิพพานัง ปรมัง สุขัง นะลูก
๔. ขณะบันทึกน้ำตาก็ไหลไปด้วยความปีติในธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงพระกรุณามาสั่งสอนให้ ทรงตรัสว่า เจ้าต้องช่วยตนเองเร่งรัดความเพียร การมาพระนิพพานได้ ต้องพึ่งตนเองเท่านั้น ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกนะเจ้า แต่ไม่สามารถบันดาลให้ใครเข้าพระนิพพานได้ การจบกิจในพระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติความเพียรด้วยตนเองทั้งสิ้น การชี้ การแนะ การนำให้เห็นพระนิพพาน ตถาคตย่อมทำได้ด้วยพุทธบารมี แต่การมาได้หรือไม่ได้นั้น เป็นหน้าที่ของเหล่าพุทธสาวกจักพึงทำได้เอง หวังว่าเจ้าคงจักเข้าใจ ตอบว่า เข้าใจพระพุทธเจ้าค่ะ เมื่อเข้าใจ ก็จงหมั่นตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อยังมรรคผลนิพพานให้เกิดเถิด
๕. อย่าลืมเตือนสติของตนเองไว้เสมอ ๆ มรณานุสสติรุกเจ้าอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ในขณะจิตนั้นชีวิตของการเป็นมนุษย์มีสิทธิ์ที่จะพลัดพรากจากเราไป
๖. การเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบพระธรรมคำสอนโดยอริยสาวกเยี่ยงท่านฤๅษีนั้น นับเป็นอุดมมงคลอย่างหาได้ยากยิ่งนัก เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจักมิพึงประมาทปล่อยปละละเลยให้จิตว่างจากความดี หากปล่อยให้จิตตกอยู่ในความเลว อารมณ์เลวเข้ามาสิงจิต มีความติดในอารมณ์ทุกข์-สุข ตายไปก็ไปค้างอยู่พรหมโลก-เทวโลก-อบายภูมิ ๔ กลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ ก็ต้องกลับมาเสวยทุกข์ เกิดดับอยู่ต่อไปอีกนับกาลนานมันดีนักหรือ
๗. เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาท การปฏิบัติธรรมมาถึงจุดนี้แล้ว ต้องทำกำลังใจในบารมี ๑๐ ให้เข้มแข็ง อย่าแชเชือน ต้องหมั่นสอบอารมณ์จิตให้จริงจัง ปฏิบัติธรรม โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย เพื่อมรรคผลนิพพาน
๘. แต่พวกเจ้านั้นยังมีทุกข์ของกายอยู่ ต่างกับพรหม เทวดา นางฟ้า ที่ท่านเป็นพระอริยะ ทุกข์ของกายยังฉุดพวกเจ้าอยู่ บีบบังคับให้เสวยเวทนาทุกข์ - สุข ไม่ทุกข์ - ไม่สุขกับมันอยู่อย่างนั้น อารมณ์เวทนายังฉุดจิตพวกเจ้าให้ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในภพชาติต่าง ๆ อยู่ เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจงอย่าประมาทเป็นอันขาด โอกาสได้มีน้อยกว่าพรหม เทวดา นางฟ้า แต่ถ้าเร่งความเพียรให้ถูกหลัก พวกเจ้าที่ยังเป็นมนุษย์นี่แหละ สามารถกอบกิจให้รวดเดียว มิต้องมาต่อระลอกสองบนเทวโลก พรหมโลกอีก หมั่นเตือนสติของตนไว้เสมอ ๆ ระวังชีวิตจะปิดฉากก่อนจบกิจแล้วจักเสียใจ จงอย่าประมาทเป็นอันขาด

วิจารณ์ :
ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมสำหรับบางท่าน ที่อ่านแล้วยังสงสัยหรือยังไม่เข้าใจในธรรมที่พระองค์สอน เพราะธรรมเหล่านี้ทรงเน้นสอนให้เพื่อนของผมและผมเท่านั้น
๑. ให้หมั่นดูอารมณ์ของตนเองอย่าให้เกิดอารมณ์ ๒ คือพอใจกับไม่พอใจ หรือราคะกับปฏิฆะ ต้นเหตุเพราะจิตไม่สงบ ทำให้เกิดอารมณ์เกาะทุกขเวทนา กับสุขเวทนา จึงต้องรู้ตลอดเวลาว่า เมื่อถูกกระทบโดยกิเลสผ่านทวารทั้ง ๖ แล้ว อารมณ์ใดเกิดหมายถึงจริตทั้ง ๖ ถ้าไม่รู้ก็แก้ไขไม่ได้ เพราะต้องใช้กรรมฐานแก้จริตให้ตรงจึงจะมีผล จุดนี้คือหลักสูตรของพระอนาคามีผล ซึ่งผ่านยาก เพราะอดเผลอไม่ได้
๒. ความทุกข์ใด ๆ จักยิ่งไปกว่าอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายตนเองนั้นไม่มี ดังนั้น บุคคลใดไม่คอยจับผิดตนเอง และคอยแก้ไขตนเองตลอดเวลา จึงไม่มีทางพ้นภัยตนเองได้ ผู้มีปัญญาจึงไม่ส่งจิตออกนอกตัว ไม่หาธรรมะนอกตัว ไม่จับผิดผู้อื่น ไม่ยุ่งกับกรรมของผู้อื่น จุดนี้ต้องใช้ปัญญาอันเกิดจากพรหมวิหาร ๔ จึงหนักเรื่องการใช้สมถะและวิปัสสนา แยกสิ่งที่เป็นสาระออกจากสิ่งไร้สาระ การพิจารณาหากยังไม่ถึงตัวธรรมดาไม่เห็นธรรมดา ถือว่ายังไม่จบ มิฉะนั้นอารมณ์ช่างมันหรือสังขารุเบกขาญาณไม่มีทางเกิด จุดนี้คือหลักสูตรอรหัตผล เมื่อข้อแรกยังเผลออยู่เป็นปกติ ข้อ ๒ จึงห่างไกลความจริงมากขึ้น แต่พระองค์ก็ทรงให้กำลังใจ โดยเน้นเรื่องบารมี ๑๐ อย่าทิ้ง และให้เร่งความเพียรให้ถูกหลัก ก็สามารถจะจบกิจได้ในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาทในความตาย พร้อมตาย และซ้อมตายให้จิตชินด้วยความไม่ประมาทใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระองค์เป็นเพียงผู้บอกผู้ชี้แนะทางปฏิบัติให้เท่านั้น
๓. ความเพียรที่ถูกหลักคือ เพียรอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด หรือ ๓๗ ทางเท่านั้น คือ มหาสติปัฎฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, สัมมัปปทาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรค ๘ เท่านั้น
ที่สุดนี้ผมขอบารมีของ พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอความเมตตาจากท่านให้ช่วยดลจิตให้ผู้ที่อ่านธรรมะที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์บทนี้แล้ว นำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจัง จงประสบความสำเร็จ มีดวงตาเห็นธรรมได้ตามลำดับจนเข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ทุกคนเทอญ

เรื่องทุกขัง (โดยหลวงพ่อฤๅษี)
วันศุกร์ที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตามาสอนลูกในอดีตของท่าน มีความสำคัญดังนี้
ต้นเหตุเกิดที่วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร ลูกในอดีตของท่านไปปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยใช้สมถะและวิปัสสนา แต่นิวรณ์กินจิต (ความง่วง) ต้องลุกขึ้นเดิน (จงกรม) โดยใช้คำภาวนาว่า "นิพพาน" และใช้กสิณ ๑๐ ช่วย ก็สามารถเอาจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพานได้ แต่การพิจารณายังอ่อนอยู่ หลวงพ่อท่านจึงเมตตาช่วยสอนเรื่องทุกขังให้ เพราะตราบใดที่จิตเรายังไม่เห็นทุกข์ ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ ผมขอเขียนเป็นข้อ ๆ เพื่อสะดวกในการจดจำ แล้วนำไปพิจารณาให้เข้าใจด้วยจิตของตนเอง แล้วจึงเพียรทำให้เกิดผลตามลำดับ จนเกิดความชำนาญด้วยจิตของตนเอง จึงจะเป็นของจริงในพุทธศาสนา มีความสำคัญตามลำดับดังนี้
๑. เอ็งจะเห็นได้ว่า การมีขันธ์ ๕ เต็มไปด้วยความทุกข์ ตื่นเช้าลองไม่ล้างหน้า ไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน จะทนได้ไหม ตอบว่า ย่อมทนไม่ได้ค่ะ ความทนไม่ได้นั่นแหละคือความทุกข์ การมีร่างกายเท่ากับมันเป็นเจ้านายบังคับเราให้ตกเป็นขี้ข้า บริการมันตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง หิวถ้าไม่กินทุกข์ไหม ตอบว่าทุกข์ค่ะ แล้วกว่าจะได้กินแต่ละครั้ง ต้องหุงหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย บำรุงบำเรอมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์
๒. ความเหน็ดเหนื่อยดีหรือไม่ดี ตอบว่า ไม่ดีค่ะ เมื่อไม่ดีก็อย่ากินมันซิ ตอบว่า เมื่อไม่กินก็หิวทำงานไม่ไหว นั่นซิ ไม่ว่าหิวหรืออิ่มก็เป็นไปด้วยความทุกข์ กินแล้วต่อมาก็ปวดท้องขี้ ปวดท้องเยี่ยว ไม่ไปถ่ายมันออกก็ทนไม่ไหว ทุกข์อีก
๓. เวลาเบ่งขี้มันทุกข์ไหม ทุกข์ค่ะ ใช่ซิ ถ้ามันไม่ออกท้องผูก ปวดท้องมันก็ทุกข์ ถ้ามันไหลไม่หยุดท้องร่วงก็ทุกข์ รวมความว่ามันไม่ดีสักอย่าง แม้กระทั่งยามนอน
๔. ง่วงแทบตาย แต่ไม่ได้นอน ทุกข์ไหม ทุกข์ค่ะ นอนแล้วไม่เต็มอิ่ม แต่กิจการงานมันบังคับให้ต้องตื่น ไม่อยากตื่นมันทุกข์หรือไม่ทุกข์ ทุกข์ค่ะ เอ็งจะเห็นได้ว่า การมีร่างกายทำให้มีทุกข์เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าพระราชายันยาจกก็มีทุกข์เหมือนกัน และร่างกายมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน และมีความตายเป็นที่สุด
๕. สภาพของร่างกายมันหาความทรงตัวไม่ได้ ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย เอ็งเคยเห็นคนเกิดแล้วไม่ตายมีไหม ไม่มีค่ะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สัตว์โลกเกิดเท่าใด ก็ตายหมดเท่านั้น หรือเอ็งว่าไม่จริง
๖. ในขณะที่รอความตาย ร่างกายของคนเราก็เสื่อมลงทุกวัน เคยแข็งแรงทำงานว่องไว กระฉับกระเฉง แต่พออายุสูงวัยขึ้นเรี่ยวแรงกำลังวังชาก็ไม่มี บางคนเคยมีมือเท้าเป็นปกติ พอกฎของกรรมเข้ามาถึง หกล้มพิการบ้าง รถชนขาหักบ้าง แขนและมือใช้การไม่ได้บ้าง เลยทำให้การบริการร่างกายของตนไม่สมหวัง เคยกินข้าวได้เองก็ทำไม่ได้ เคยเดินได้เองก็เดินไม่ได้ เป็นต้น พอกายทุพพลภาพความกลุ้มใจก็เกิด จิตมันก็ทุกข์เพราะดิ้นรนอยากให้กายมันมีสภาพเหมือนเดิม พยายามดิ้นรนรักษาจนสุดความสามารถ บางรายก็หาย บางรายก็ตาย หายก็หายได้ชั่วคราว ส่วนตายนั้นตายแน่ทุกราย
๗. เอ็งจะเห็นได้ว่า จิตคนนั้นมันฝืนความจริงอยู่มาก มีอารมณ์ไหวอยู่เรื่อย ๆ ความไม่สบายกายปรากฏ จิตก็ไหวอยู่ในอารมณ์ของความไม่พอใจ แต่พอความสบายกายปรากฏ จิตก็ไหวอยู่ในอารมณ์พอใจ ทั้ง ๆ ที่กายมันไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตาย แต่จิตมันไม่ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นปกติของร่างกาย ไปทุกข์กับความปกติเหล่านั้น ฝืนความจริง จิตไม่ยอมรับความจริง ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย แต่ที่สุดกายมันก็ไม่ฟังเรา จิตบังคับมันก็ไม่ได้ กายมันก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมดาของมัน เอ็งหมั่นดูอารมณ์เข้าไว้นะลูก อย่าให้มันเอียงซ้ายเอียงขวาในยามทุกข์ - สุขของกายมันเกิด ไม่ใช่หิวก็ทุกข์เกิดที่จิต พออิ่มก็สุขเกิดที่จิต มันใช้ไม่ได้ ต้องรู้ว่ามันเป็นปกติของร่างกาย ไอ้ความรู้สึกมันต้องมีแน่ หิวก็รู้ว่าหิว อิ่มก็รู้ว่าอิ่ม แต่อย่าไปเสียใจหรือดีใจกับมันเข้า พยายามลงตัวธรรมดาให้ได้ สร้างอารมณ์จิตวางเฉยให้เกิด คนจะไปพระนิพพานได้ไม่ต้องกลับมาเกิด จะต้องตัดอารมณ์ ๒ ตัวนี้ให้ได้ คือพอใจกับไม่พอใจให้พินาศไป พยายามเข้านะ มองสัตว์ มองคน หรือวัตถุธาตุใด ๆ ก็ดี ให้เห็นทุกข์ที่ขังอยู่ภายใน จะได้วางอารมณ์กระทบอันพอใจและไม่พอใจทิ้งลงเสียได้
๘. การเจริญพระกรรมฐานจะต้องวางจิตให้สบาย ๆ สบายอย่างไร คงสบายอย่างจิตสงบค่ะ ถ้าไม่เห็นตัวธรรมดามันก็สงบไม่ได้ ต้องพิจารณาให้เห็นตัวธรรมดา ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาหรือกฎของกรรม เห็นทุกข์ เห็นสุขอันไม่เที่ยงเป็นปกติของร่างกาย แต่จริง ๆ แล้วมองให้ลึก ๆ สุขมันไม่มีหรอกลูก อารมณ์พอใจ ไม่พอใจอันเกิดจากร่างกายเป็นเหตุ จริง ๆ แล้วมันเป็นทุกข์ล้วน ๆ แต่อาศัยความหลงของจิตเป็นปัจจัย ได้สิ่งชอบใจ เช่น รูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย มันก็หลงผิดไปคิดว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นความสุข ต้องเห็นตรงนี้ก่อน จิตมันต้องยอมรับสภาพเสียก่อนว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่เที่ยง มันเปลี่ยนไปทุกวัน และไม่ช้าไม่นานมันก็เสื่อม แล้วสลายไปในที่สุด
๙. ถ้าหากยอมรับกฎธรรมดานี้อย่างจริงใจ ความสงบจึงจะเกิดได้กับจิต อะไรมากระทบอารมณ์ก็วางได้หมด นี่มันอารมณ์พระอรหันต์นะ หรือเอ็งทำได้ ยังไม่ได้ค่ะ ลูกยังห่วงอยู่กับเหล่าเดียรถีย์ที่เข้ามาในวัด อย่าอ้างคนอื่นกรรมใครกรรมมัน พวกปล้นพระศาสนาหากิน เดียรถีย์ - อลัชชี มันมีอยู่เป็นปกติ ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจงวางใจเสียให้ได้ บันทึกไว้ แต่อย่าเอาจิตไปเกาะความเลวของเขาเข้า ถามจริง ๆ เถอะ เขาทำชั่วอย่างพระเทวทัต เวลาตกนรกใครตกแทนเขาได้บ้างหรือเปล่า เปล่าค่ะ แล้วเอ็งไปเกาะความเลวของเขา มีสิทธิ์ตกนรกด้วยหรือเปล่า ก็คงมีสิทธิ์ค่ะ นั่นนะซิ แล้วไปจับความเลวของเขาทำไม ปากบอกว่าจะไปพระนิพพาน แต่จิตเกาะเลวอยู่อย่างนั้น แล้วจะไปได้อย่างไร
๑๐. ไม่เอานะ คิดเสียใหม่ ใครดีใครเลวก็เรื่องของเขา เราจะไปพระนิพพานจะต้องไม่สนใจเรื่องของคนอื่น ดูกายดูจิตของเราเข้าไว้ อย่าให้ไปดีไปเลวตามเขา เพราะนั่นไม่ใช่ของจริง เป็นธรรมของชาวโลก มันพ้นโลกไม่ได้ ต้องหมั่นเอาจิตมาเกาะพระธรรม ปฏิบัติธรรมให้ได้ดีที่สุด พยายามอย่าเหยาะแหยะ ๆ ทำจิตไร้กังวลเสียเรื่อย เอาใหม่นะ ทีมันติดดี ติดเลวของผู้อื่น ทำไมจิตมันถึงตื่นได้ อยากรู้เรื่องของคนอื่นเขาไปเสียหมด
๑๑. ให้เอาสภาวะจิตแบบนั้นแหละมาตื่น มาอยากรู้เรื่องของพระธรรมว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสอย่างนี้ แล้วทำอย่างไรถึงจะได้ผลตามอย่างนั้น มาตื่นทางธรรม ดีกว่าตื่นทางโลก เราจะไปพระนิพพานต้องเพียรรู้เรื่องของพระธรรม ไม่ใช่เพียรรู้เรื่องทางโลก เอาเสียใหม่นะ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕เดือนมิถุนายน ๒๕๓๖ตอน1
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๖)



กลัวตายไม่จริง หรืออยากตายไม่จริง
เมื่อวันอังคารที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมกับผม ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ตอนท่านทำกรรมฐานตอนเที่ยง ท่านเริ่มต้นได้ดี คือ ปฏิบัติอยู่ในอานาปานัสสติ ควบมรณาและอุปสมานัสสติ และเจริญกายคตาควบอสุภะ ๑๐ ซึ่งล้วนเป็นกรรมฐาน ซึ่งนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างประเสริฐ ทำให้เกิดผลมีอารมณ์เบื่อกาย เบื่อเกิด คือ นิพพิทาญาณขึ้น แต่ขาดปัญญาที่จะพิจารณาต่อไปให้ลงตัวธรรมดาไม่ได้ เปรียบเหมือนบินสูงเกินไป เลยหาสนามบินลงไม่ได้ น้ำมันหมดเลยตกลงมาตาย (หลวงพ่อท่านพูดบ่อย ๆ ประโยคนี้) อารมณ์ธรรมดา หากทำได้ทรงตัวจะมีผลทำให้เกิดอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติต้องการทุกคน ในการพิจารณาวิปัสสนาญาณ ๙ เมื่อหาสนามบินลงไม่ได้ นิวรณ์ก็เกิดเข้าครอบงำจิต ทำปัญญาให้ถอยหลัง (กลับมาโง่ใหม่) อารมณ์ฟุ้งเลวก็เกิดพาออกนอกลู่นอกทาง เข้าป่าเข้ารกไปว่า เราขอเข้าป่าไปตายแบบท่านหมอโกมารภัจจ์ (แต่มิได้ปฏิบัติแบบท่านหมอโกมารภัจจ์) โดยจิตคิดว่าเราเข้าป่าเพื่อจะได้ให้เสือมันกิน จิตจะได้ไปพระนิพพาน เทวดาท่านรู้วาระจิตของเรา ท่านเลยทำให้เราไม่พบสัตว์เลยในป่า เดินป่านานเข้า ๆ กายก็เริ่มหิว โรคหิวก็กำเริบหนักขึ้น ๆ จนทนไม่ไหว ตายก็ไม่ตาย เวทนาของกายก็มากขึ้นตามลำดับ จิตเลยโวย นึกถึงหลวงพ่อฤๅษีให้ท่านช่วยที หิวเหลือเกิน หลวงพ่อท่านก็มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ แล้วสอนว่า
๑. ไอ้ขี้หมา อยากตายแล้วทำไมกลัวหิววะ (ก็ตอบท่านว่า ความหิวมันทรมานมากนี่)
๒. "ระยำ ไอ้กลัวหิวนั่นแหละมันคือกลัวตายล่ะ อย่างนี้เขาเรียกว่ากลัวตายไม่จริง คนไม่กลัวตายเขาต้องไม่กลัวหิว คิดว่าไม่มีกินก็ดี ในไม่ช้าร่างกายนี้มันก็ตายไปเสียจากเราก็จบเรื่องกัน แต่จิตต้องจับพระนิพพานให้มั่นคง ไม่ใช่หิวแล้วอยากกินไอ้โน่นไอ้นี่ ตัวอยาก ๆ นี่แหละ ตัวพาเกิดอีกดีนักแหละ"
(นี่คือผลของการพิจารณ์ตัดขันธ์ ๕ โดยเริ่มด้วย เมื่อวิญญาณออกจากร่างกายแล้ว กายมันก็สภาพเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า กลายเป็นอาหารของสัตว์ป่าที่มารุมล้อม ฉีกกายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ที่สุดจบลงไปโรคหิว)
เพื่อนของผมท่านยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ก่อนนอนท่านก็กำหนดจิตระเบิดกายหยาบให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อเอากายในหรืออาทิสมานกายไปกราบสมเด็จองค์ปฐม แต่พบหลวงพ่อท่านก่อน ท่านพูดว่า
๓. สะใจหรือลูกที่ทำลายกายหยาบ ด้วยปฏิภาคนิมิตได้อย่างรุนแรงเช่นนั้น (ก็รับว่าค่ะ ลูกอยากตาย)
๔. หลวงพ่อท่านก็ว่า เฮ้ย จิตยังไม่บริสุทธิ์พอ หากตายตอนนี้ เอ็งมาพระนิพพานไม่ถึง (ก็บอกท่านว่า ลูกเบื่อกำลังใจตนเองที่มันไม่เอาไหน)
๕. ก็พระเตือนเอ็งแล้วว่า อย่าใจร้อน ค่อย ๆ เบื่อ ค่อย ๆ ปลด ใช้ปฏิภาคนิมิตระเบิดกายทิ้งก็ทำไปเถอะ อย่างน้อย ๆ ก็ช่วยให้เอ็งหายกลุ้มใจได้ หายเบื่อได้ชั่วขณะก็ยังดี จะเห็นร่างกายมันตายในท่าไหน ในอสุภ ๑๐ ก็ทำปฏิภาคได้เลย (ก็ทำตามที่ท่านแนะนำ)
๖. เอ็งอย่ามองแต่ซากเล็ก ๆ ตามปกติซิ จะให้เพลิดเพลิน เอ็งต้องทำปฏิภาคนิมิต ขยายซากศพให้ใหญ่โตมโหฬารอย่างนี้ หลวงพ่อท่านก็เมตตาทำภาพอสุภ ๑๐ ให้กายที่ตายใหญ่โน อืด พอง ใหญ่โตเท่าภูเขา เหมือนซากยักษ์มหึมาที่นอนตายอืด ครู่หนึ่งก็เห็นหนอนตัวโต ๆ ขนาดขบวนรถไฟกำลังกัดกินซากศพ เห็นน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองไหล พร้อมกับหนอนมันกัดกินเซาะอวัยวะภายในให้หมดไปอย่างรวดเร็ว ให้ทำอย่างนี้ มันจะได้สนุกหายเบื่อไปได้บ้าง (ก็ทำตามที่ท่านแนะนำ มันก็สนุกดี)

การไม่ปรุงแต่งธรรม คือ การระงับเวทนา
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาตรัสสอน เรื่องการไม่ปรุงแต่งธรรม คือ การระงับเวทนาให้ มีความสำคัญดังนี้
๑. จงทำจิตให้ยอมรับเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ว่าเป็นของธรรมดา แล้วพยายามลดการยึดเกาะในเวทนานั้น ด้วยการระงับอาการของสังขาร คือ ไม่ปรุงแต่งธรรมนั้น ๆ นี้คือสัจธรรมของการมีร่างกาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีเจ็บ มีแก่ มีตายเป็นธรรมดา
๒. จงวางอารมณ์ให้สงบ ยอมรับธรรมล้วน ๆ ที่ไม่ปรุงแต่งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกหนีกันไม่พ้น เมื่อมีการเกิดของร่างกายแล้ว
๓. จงกำหนดรู้เอาไว้ว่า นี่เป็นทุกข์ของการมีร่างกายอยู่เนือง ๆ พยายามทำจิตให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา แยกจิตออกมาอย่าให้ทุกข์ตามไปด้วย พยายามทรงอารมณ์ของจิตไว้ให้เป็นสังขารุเบกขาญาณ แม้จักเป็นอย่างอ่อน ๆ ก็ควรจักพยายามซักซ้อมกันเอาไว้ อย่าให้จิตมีอารมณ์บ่นแม้แต่ในใจก็ใช้ไม่ได้ เพราะนั่นคือการเกิดอารมณ์ปฏิฆะ และเป็นการคัดค้านสัจธรรมที่ฝืนความเป็นจริงของร่างกาย
๔. ตั้งแต่นี้ต่อไป อาการสุขหรือทุกขเวทนาอันเกิดสืบเนื่องมาจากร่างกาย จักเป็นครูเข้ามาทดสอบจิตของเจ้าอยู่เนือง ๆ ขอให้เตรียมใจสอบกันให้ดี ๆ ถ้าลงธรรมดาไม่ได้ก็ถือว่าไม่ผ่านข้อสอบ ดูอารมณ์กระทบให้ดี ๆ จักพอใจหรือไม่พอใจก็ใช้ไม่ได้ ต้องลงอุเบกขาญาณเข้าไว้ อาการสุขหรือทุกขเวทนานี้ ต้องนับเนื่องไปหมดทางอายตนะหก ขอให้ดูอารมณ์ของจิตเข้าไว้ให้ดี ๆ
๕. อนึ่งการทบทวนธรรมะ (ธัมมวิจยะหรือธัมมวิจัย) ก็จงทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และให้สังเกตอารมณ์ของจิตในขณะทบทวนธรรมะนั้นไปด้วย จักได้รู้จุดที่ทำให้อารมณ์ของจิตนั้นเคลื่อนไหวไปได้อย่างไรบ้าง ทำต่อไปก็แล้วกัน

เรื่อง รูป - นามไม่เที่ยง
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมกับผม ท่านยังไม่เข้าใจดีเรื่องรูป ๑ กับนามอีก ๔ ว่า รูปนั้นมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่นามอีก ๔ ตัว ตาไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยใจ มันชอบสร้างปัญหาให้กับใจให้ไม่สงบอยู่เสมอ ๆ และรู้เท่าทันมันยาก หลวงพ่อฤๅษี ท่านก็เมตตามาสอนให้ ดังนี้
๑. ก็ให้คิดว่านามมันก็ไม่เที่ยงเหมือนรูปนั่นแหละ ๕ ตัวนี้มันมาด้วยกัน สภาพมันก็เหมือนกัน เราบังคับมันไม่ได้ ก็อย่าไปสนใจยึดมั่นถือมั่นในมัน รูปนามเกิด - เสื่อม - ดับอยู่เป็นปกติ เวลาไหนมันบอกว่าดี เออ กูไม่เชื่อมึงหรอก เวลาไหนมันบอกว่าไม่ดี เออ ก็เรื่องของมึง
๒. ดูวิญญาณสัมผัส ที่มันรายงานมาให้จิตรับทราบตลอดเวลา (วิญญาณของขันธ์ ๕ คือ ระบบประสาทรับสัมผัสของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ไม่ยึดไม่ถืออาการนั้นมาเป็นสาระ เพราะมันเกิดเสื่อมดับอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ มีเวทนาบอกให้จิตเรารู้อยู่ตามปกติ
๓. คอยดูสังขารตัวปรุงแต่งเอาไว้ให้ดี ระวังอย่าให้มันหลงปรุงแต่งธรรมเข้าเท่านั้น
๔. อ้ายสัญญาก็เหมือนกัน พยายามรู้เท่าทันมัน วิสัยโลกียชนมันก็จะจำแต่ของเลว จำโกรธ รัก โลภ หลง เราก็พยายามลืม ๆ มัน ทำเป็นไม่จำทิ้งมันไปเสีย เอาปัญญามาพิจารณาให้รู้เท่าทันความเป็นจริงของรูปนามนี้ว่า มันไม่เที่ยง เกิดเสื่อม ดับอยู่เป็นปกติทุก ๆ ขณะจิตที่ลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้ แล้วเรื่องอะไรจะไปยึดถือในมัน
๕. มองใคร ๆ ก็เห็นว่าไม่ช้าก็ตายหมด แม้ในที่สุดร่างกายของเราก็ต้องตาย พิจารณาไปว่า ไม่ว่าเราจะยึดมั่นถือมั่นในร่างกายว่าเป็นเราแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดร่างกายหรือรูปนาม มันก็ต้องตาย ตายแน่ไม่มีใครบังคับมันได้ แต่จิตนี่ซิ ถ้ามันยังไม่ปลอดจากอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มันก็ต้องกลับมามีร่างกายที่เกิดเสื่อมดับ เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้อีก เราไม่เอาแน่ ตายเมื่อไหร่ ขอไปพระนิพพานจุดเดียว

และในวันเดียวกันนั้น สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนต่อให้ ดังนี้
๑. จงหมั่นรักษาอารมณ์ยอมรับนับถือในความตายนี้เอาไว้ให้ดีตัดเยื่อใยในร่างกายแม้ชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังนับได้ว่าจิตของเจ้าเข้าถึงความดี คลายความเกาะยึดในร่างกายลงเสียได้ เป็นการซักซ้อมอารมณ์สังขารุเบกขาญาณเอาไว้ในตัว
๒. จำไว้อารมณ์นี้ไม่ใช่ท้อแท้ แต่เป็นอารมณ์วางเฉย ช่างมัน จิตไม่มีอารมณ์เบื่อ แต่มีอารมณ์พร้อมที่จะละไปเสียจากร่างกาย จิตมีความเบามีความสบาย รักพระนิพพานเป็นอารมณ์

สรุปเรื่องมหาสติปัฏฐาน ๔
เรา ๒ คนต่างก็ฟังเทปเรื่องมหาสติปัฏฐาน ที่หลวงพ่อท่านสอนมาหลายปี กว่าจะเข้าใจได้ก็ต้องใช้ความเพียรอย่างสูง เพราะมีภาษาเดิม หรือภาษาโบราณปนอยู่มาก ซึ่งเหมาะสมกับอารมณ์ของผู้รับฟังในสมัยนั้น แต่ไม่เหมาะสมกับอารมณ์ของผู้รับฟังในสมัยปัจจุบัน แต่ก็ไม่ยอมละความเพียร ทั้งฟังทั้งอ่านหนังสือที่ท่านสอน ขอยอมรับว่าเวียนหัว ต่อมาหลวงพ่อก็เมตตาอธิบายให้เป็นภาษาไทยปัจจุบัน จึงทำให้เข้าใจขึ้น ทั้ง ๒ คนต่างก็พบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ขอสรุปดังนี้
๑. หมวดกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน ทรงให้เห็นกายในกาย ทั้งภายนอกและภายใน
๒. หมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน ทรงให้เห็นเวทนาในเวทนา ทั้งภายนอกและภายใน
๓. หมวดจิตตานุปัสสนานุสติปัฎฐาน ทรงให้เห็นจิตในจิต ทั้งภายนอกและภายใน
๔. หมวดธัมมา (ธรรมา) นุปัสสนาสติปัฎฐาน ทรงให้เห็นธรรมในธรรม ทั้งภายนอกภายใน
สิ่งที่ควรจดจำ
ก) ตอนท้ายพระองค์จะลงเหมือนกันหมด ซึ่งหลวงพ่อท่านว่า เป็นอริยสัจทั้งหมด หรือเป็นวิปัสสนา (ปัญญา) ขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา ซึ่งมีแต่เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่น ๆ ไม่มี
ข) หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ท่านแนะให้พิจารณาตามแนวมหาสติปัฎฐานไว้ดังนี้ เวลาปฏิบัติเน้นให้เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ไปพร้อม ๆ กัน แล้วลงที่ตัวเป็นธรรมดา คือ เกิด เสื่อม ดับอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าหมวดใดก็ตาม ทั้งภายนอกและภายใน เป็นสันตติอยู่ตลอดเวลา
ค) ให้มีสติรู้อยู่เฉพาะหน้า หรือรู้อยู่ในธรรมปัจจุบันตลอด และให้อยู่ในอารมณ์สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าอาศัย ระลึกรู้แต่ไม่ติดอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ (เพราะมันไม่เที่ยง) ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ทุกสิ่งในโลก ทรงให้ยอมรับความจริงในกาย เวทนา จิต ธรรม ตามความจริง และทรงให้กำหนดรู้ความจริงอย่างนี้อยู่เนือง ๆ
ง) ในการปฏิบัติเรื่องจิตในจิต และธรรมในธรรม หมายความว่า จิตในจิต ให้รู้อารมณ์ของจิตตลอดเวลา เมื่อถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัส ๑๒ คือ ภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์) ภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
ธรรมในธรรม มีหลักสำคัญว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่ใจ พระธรรมเกิดจากจิตในจิต (อายตนะนอกและในกระทบกัน) เป็นอภิธรรมได้ถึง ๔๒,๐๐๐ บท ย่อแล้วเหลือแค่ ๓ คือ ธรรมที่เป็นกุศล (กุศลาธัมมา) ธรรมที่เป็นอกุศล (อกุศลาธัมมา) และธรรมที่เป็นกลาง ๆ (อัพยากตาธัมมา หรืออัพยากฤตธรรม) มีรายละเอียดอยู่มากตามระดับจิตในจิตและธรรมในธรรม หมายความว่าจิตละเอียดระดับไหนก็รู้ธรรมได้ละเอียดระดับนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วมีถึง ๘๔,๐๐๐ บท
จ) ธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนเกิดดับ ๆ ตลอดเวลา เป็นสันตติธรรม รู้หรือสัมผัสรู้ได้ด้วยตาปัญญาเท่านั้น ว่าธรรมทั้ง ๔ ตัวนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ผู้ที่ไปรู้ธรรมทั้ง ๔ ตัวนี้คือจิต จิตคือตัวเรา เป็นผู้รู้อย่างแท้จริง และต้องรู้อยู่ตลอดเวลา ด้วยการมีสติต่อเนื่องไม่ขาดสาย หรือมหาสติปัฎฐานนั่นเอง แต่เวลานำไปปฏิบัติแล้วปรากฏว่ามันง่ายนิดเดียว เพราะหลักสูตรมหาสติปัฎฐานนี้ พระองค์ทรงตรัสว่าเป็นทางสายเอกในการบรรลุธรรม มีผล ๒ อย่าง คือ ขั้นต้น เป็นอนาคามีผล ขั้นสอง เป็นอรหัตผล จึงถึงบางอ้อว่ามันง่ายนิดเดียว

ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ มิ.ย. ๒๕๓๖ ตอนกรรมฐานเที่ยง เมื่อจิตสงบดีแล้ว เพื่อนของผมได้นำเอาเรื่อง สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเมื่อวานนี้มาพิจารณา เรื่องทรัพย์ภายนอกกับทรัพย์ภายใน หรือโลกียทรัพย์กับอริยทรัพย์ มีความว่า องค์แก้วจักรพรรดิก็ยังเป็นทรัพย์ภายนอก เป็นโลกียทรัพย์ ซึ่งยังไม่เที่ยงจึงต้องเคลื่อนไปอยู่เสมอ สมเด็จองค์ปฐม ท่านก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า
๑. องค์แก้วจักรพรรดิยังมีที่สวยกว่านี้ และองค์ใหญ่กว่านี้ เป็นของตถาคตในสมัยครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมา ทรงพระเมตตาให้ได้เห็นภาพองค์แก้วขนาดใหญ่มาก ขนาดลูกฟุตบอล สีของแก้วเป็นสีแดงใสคล้ายทับทิมเนื้อดี แต่มีลายสีแดงทึบสลับอยู่ภายใน ปานประหนึ่งสีแดงเลือดนก
๒. ทรงตรัสถามว่า เจ้าต้องการครอบครองมันหรือไม่ ก็ตอบความว่า ไม่ต้องการ ต้องการพระนิพพาน ทรงตรัสต่อไปว่า เวลานี้องค์แก้วจักรพรรดิอยู่ใต้ดินที่... เป็นแก้วจักรพรรดิคู่บารมีของตถาคตสมัยเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมานับชาติไม่ถ้วน แต่ในที่สุดขันธ์ ๕ ของพระเจ้าจักรพรรดิในแต่ละชาติ ก็ถูกมรณะภัยกลืนกินจนสิ้นไปทุกชาติ ไม่เหลือแม้แต่ชาติเดียว
๓. โลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ ทรัพย์ทางโลกย่อมมีความเสื่อมอยู่เป็นปกติ ดูแต่ทองคำแม้เป็นสร้อย แหวน กำไลก็ดี สวมใส่ไปสักระยะหนึ่ง แล้วนำกลับมาชั่งตวงดูน้ำหนัก ก็จักทราบชัดว่ามันสึกกร่อน เสื่อมสลายไปอยู่ทุกขณะจิต ธาตุทุกตัวย่อมทำลายตัวมันเองเบ็ดเสร็จอยู่ในตัวอยู่แล้ว ทรัพย์ของโลกเป็นอย่างนี้เป็นปกติ
๔. วัดในพระพุทธศาสนาในทุก ๆ พุทธันดร สมัยพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ก็เช่นกัน แต่ละวัดรุ่งเรืองด้วยกำลังศรัทธาของพุทธบริษัท ตามกำลังของศีล - สมาธิ - ปัญญาของพระพุทธเจ้าและพระสาวก การทำบุญทำทานจักด้วยวิหารทานหรือสังฆทานก็มีมาก ตามกำลังจิตที่ผู้รับบริสุทธิ์ ลาภสักการะมากมายกว่าสมัยนี้มาก ดังตัวอย่างสมเด็จองค์ปัจจุบัน มีวัดที่พุทธบริษัทสร้างถวายร่วม ๘๔,๐๐๐ วัด สวยสดงดงามมาก แล้วเวลานี้ไปไหนหมด กาลเวลากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น
๕. วัตถุมงคลก็เช่นกัน เคยมีมาแล้วทุก ๆ พุทธันดร แม้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ แต่วัตถุเหล่านี้ก็ขึ้นชื่อว่าอิงทรัพย์ทางโลกสร้างขึ้นมา สักวันวัตถุนั้นก็เสื่อมปรักหักพังตามกาลเวลา พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพไม่เสื่อม แต่วัตถุธาตุที่นำมาทำวัตถุมงคลเสื่อม
๖. ในบางกรณีแม้ไม่เสื่อม เช่นองค์แก้วจักรพรรดิ ก็มีการเคลื่อนไปตามกฎธรรมดา ผู้ครอบครองในที่สุดก็ต้องตาย ทิ้งขันธ์ ๕ ไปจากองค์แก้ว หรือในบางขณะทรัพย์หรือองค์แก้วก็เคลื่อนจากกายเราไปตามกฎของกรรม มีทรัพย์ ทรัพย์จากหรือจากทรัพย์ มันเป็นกฎธรรมดาของโลก เจ้าจงอย่ายึดถือมาเป็นสาระเลย
๗. พิจารณาถึงความไม่เที่ยงเข้าไว้ ทำการละความไม่เที่ยงลงที่จิต อย่าติดทรัพย์ภายนอกให้มากนัก มองทรัพย์ภายในเข้าไว้ อริยมรรค อริยผลเป็นสิ่งเที่ยง พระธรรมที่ตถาคตตรัสไว้นั้นเป็นสิ่งเที่ยง ขวนขวายรีบเร่งสะสมเข้าไว้ เป็นอริยทรัพย์ที่ไม่เคลื่อนไปไหนอีก
๘. รักพระนิพพานให้มาก ๆ เถิด คำนึงถึงปฏิปทาของมรรค อันจักยังให้เข้าถึงพระนิพพานไว้ให้มากด้วย หมั่นกำหนดรู้อยู่เสมอว่า กิจใดจักเป็นหนทางเข้าสู่พระนิพพาน จงหมั่นทำกิจนั้น และกิจใดที่เป็นหนทางขวางกั้นมรรคผลนิพพาน ก็จงหมั่นละซึ่งกิจนั้น

เรื่องอารมณ์จิตของคนเรามันไวยิ่งกว่าลิง
ที่มาของพระธรรมเรื่องนี้มีความสำคัญโดยย่อ ๆ ดังนี้ เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมของผม ๒ ท่าน สมมุติชื่อเธอ จอ กับ มอ ท่านมาร่วมสนทนาธรรมกับผม แล้วผมสังเกตดูความสามารถของเธอทั้งสองต่างกัน มีความดีก็ต่างกัน ตามจริตนิสัยและกรรมที่สะสมกันมาในอดีตชาติ โดยย่อดังนี้
๑. จอ มีสมถะภาวนาดี เข้มแข็งแต่วิปัสสนาภาวนาอ่อน มีผลทำให้เมื่อถูกกระทบโดยอายตนะสัมผัสภายนอก (รูป - เสียง - กลิ่น - รส - สัมผัส และธรรมารมณ์) มากระทบกับอายตนะสัมผัสภายใน (ตา - หู - จมูก - ลิ้น - กายและใจ) แล้วมักจะหวั่นไหวไม่มั่นคง จึงทำให้เกิดอารมณ์ ๒ (พอใจกับไม่พอใจ หรือราคะกับปฏิฆะ) ง่าย หรือเป็นอยู่เกือบปกติธรรมดา
๒. มอ สมถะภาวนาก็ดี แต่ยังสู้ จอ ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งสามารถใช้ตัดกิเลสให้ตายได้ ท่านดีกว่าจอมาก (ตัวสมถะภาวนาไม่สามารถจะฆ่ากิเลสได้ ได้แค่ระงับกิเลสไว้ชั่วคราวเท่านั้น)
๓. จากเหตุผลในข้อ ๒ ทำให้ มอ หวั่นไหวต่ออายตนะสัมผัสที่เข้ามากระทบใจเธอมีน้อย เพราะกำลังของวิปัสสนามีมาก เธอจึงจับทุกสิ่งที่กระทบมาพิจารณาเป็นวิปัสสนาได้ เมื่อเธอมีปัญญาบารมีดีกว่า จึงทำให้สัจจะบารมีของเธอเข้มแข็งมาก ตั้งใจจะทำสิ่งใด เธอก็ไม่พลาดในสิ่งที่เธอตั้งใจไว้
๔. มอ ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา หรืออุปสรรคใด ๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์ของเธอ (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ)
๕. มอ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ใช้บารมี ๑๐ ให้เกิดประโยชน์แก่เธอ โดยใช้อธิษฐานบารมีว่า จะทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว เป็นต้น
๖. มอ ใช้วิปัสสนาญาณ ๙ ข้อที่ ๑ - ๔ อยู่เป็นปกติ คือ ขั้น ๑ มองทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง เพราะตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ ขั้น ๒ มองทุกสิ่งในโลกนี้ที่สุดพังหมดไม่มีอะไรเหลือ ขั้น ๓ มองหาทุกข์จากความไม่เที่ยง ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน คือ ขันธโลก หรือขันธ์ ๕ ที่จิตเธออาศัยอยู่ชั่วคราว ขั้นที่ ๔ พิจารณาถึงภัยอันเกิดจากกฎของกรรม ซึ่งตามมาให้ผลกับร่างกายที่จิตเธออาศัยอยู่ ซึ่งไม่มีใครจะหนีภัยตัวนี้พ้นได้ เพราะกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย เป็นต้น
๗. ทั้ง จอ และ มอ พูดถึงหลวงปู่บุดดา มอ ว่าหลวงปู่ท่านเมตตาให้เห็นจิตของท่านซึ่งใสเป็นแก้ว ข้างในมีลิงตัวเล็ก ๆ สีขาว แต่ใสเป็นแก้วนั่งอยู่ ลิงขยับหน้าตาแบบลิงอยู่ข้าง ใน น่ารักมาก
เมื่อสนทนากันมาถึงจุดนี้ หลวงปู่บุดดา ท่านก็เมตตามาสอน จอ ว่า
๑. ข้าก็ให้มันเห็นว่า อารมณ์จิตของคนเรามันไวยิ่งกว่าลิง ปุถุชนตามจับลิงไม่ทัน บัดเดี๋ยวส่งออกนอกจิตไปโน่นไปนี่ ทั้งวันทั้งปีไม่รู้เรื่อง มันออกไปตีกับชาวบ้าน กับวัตถุสิ่งของ กับสัตว์ต่าง ๆ อยู่เรื่อย ลิงมันไปไว เพราะ ราคะ - โทสะ - โมหะ มันเข้ามาจูงจมูก ทางอายตนะทั้ง ๖ ไปมีเรื่องกับเขาทั้งปี ทั้งชาติ แต่อย่างพระอริยเจ้าเขาอบรมลิง จับลิงมาขังไว้ในจิตได้ตามลำดับ จนในที่สุด ถ้าจิตใสเป็นแก้วอย่างข้านี้ ลิงมันก็เคลื่อนไหวได้ คือมีอารมณ์รับรู้ธรรมภายนอกที่มากระทบ
๒. เอ็งอย่าว่าพระอรหันต์ไม่มีอารมณ์ไม่ได้นา รู้แต่รู้อยู่ในจิต ลิงมันรับรู้ แต่ไม่มีกำลังวิ่งออกไปเต้นอยู่นอกจิต มันจะรับรู้อย่างสงบอยู่ในจิต อายตนะ ๖ ยังคงมีวิญญาณสัมผัส รายงานมาให้ทราบตามปกติ รูปสวย-รูปไม่สวย เสียงเพราะ - ไม่เพราะ กลิ่นหอม - ไม่หอม รสอร่อย - ไม่อร่อย กายสัมผัสดี - ไม่ดีรู้หมด ไม่ใช่ไม่รู้ มันรู้ดีเสียด้วยซิ ตาเห็นรูป เห็นตามปกติ เพราะตาท่านไม่บอด หูไม่หนวก จมูกไม่ตัน ลิ้นไม่พิการ ร่างกายก็ปกติ รู้เท่าที่อายตนะสัมผัสยังดีอยู่ รู้ตามกำลังของอายตนะนั้น และรู้ด้วยจิตหมดอุปาทาน หมดไฟราคะ-โทสะ-โมหะปรุงแต่ง ลิงหรืออารมณ์ของจิตมันก็หลอกเราไม่ได้ จึงออกไปอาละวาดไม่ได้ หมดเรื่องพอดี ๆ (จอคิด อยากมีอารมณ์หมดเรื่องพอดีอย่างหลวงปู่บ้าง)
๓. ก็เอ็งก้มหน้าก้มตาขังลิงเข้าไว้ซิ อย่าปล่อยให้มันถูกจูงจมูกเพ่นพ่านออกไปข้างนอกจิตให้มากนัก ขยันตามจับมันกลับมาให้บ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ลิงมันวิ่งไปตามไฟราคะ - โทสะ - โมหะให้มากนัก ถ้ามันดื้อก็ลงแส้ ลงศอกเข้ากับมันให้บ้าง หนัก ๆ เข้ามันก็จะหมดฤทธิ์ วิ่งช้าลง ๆ ตามลำดับ อย่าขี้เกียจตามลิง สักวันหนึ่ง ถ้าเอ็งไม่ทิ้งความเพียร เอ็งก็จะจับลิงขังไว้ในจิตได้อย่างข้านี่แหละ

เรื่องประมาทในความตายเสียอย่างเดียว
เท่ากับประมาทในธรรมทุกอย่าง
ในคืนวันนั้น สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาสอน จอ มีความสำคัญดังนี้
๑. เจ้าดูตัวอย่างความเพียรของ มอ ไว้ให้ดี จงหมั่นคำนึงถึงอารมณ์อันเด็ดเดี่ยวของเพื่อนร่วมเส้นทางของพระโยคาวจรของเธอเอาไว้ เพื่อให้เกิดหิริ-โอตตัปปะขึ้นในจิต ละอายในความชั่ว ความขี้เกียจคือความชั่ว การทำจิตให้ไม่มีกำลังคือความชั่ว จึงพึงละความชั่วนี้ให้ออกไปจากจิต มีความละอายที่พระท่านช่วยสงเคราะห์มากมาย
๒. เจ้ายังทำอารมณ์ใจได้ไม่เท่าเขา จึงเท่ากับเจ้ายังมีความประมาทในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะกาลเวลายิ่งล่วงเลยไปมากเท่าไหร่ ความตายก็จักยิ่งใกล้เข้ามาเท่านั้น มัวแต่มีอารมณ์ท้อถอย ทำจิตให้สิ้นความเพียรอยู่เนือง ๆ แล้วเมื่อไหร่จักถึงจุดหมายปลายทางที่มุ่งหวังไว้
๓. ประมาทในความตายเสียอย่างเดียว เท่ากับประมาทในธรรมทุกอย่าง นักปฏิบัติที่แท้จริงเขาไม่หวังผลพรุ่งนี้ มะรืนนี้เขาเอามรรคเอาผลกันที่ขณะจิตนี้ กาลเวลาอื่น ๆ สำหรับผู้เอาจริงในธรรมปฏิบัติ เขาไม่มีเวลา มีอยู่เวลาเดียว คือ ขณะจิตนี้
๔. หมั่นคิดถึงขณะจิตนี้ หรือธรรมในปัจจุบันนี้ให้มาก ๆ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ พิจารณาธรรมด้วยศีล - สมาธิ - ปัญญา ให้รู้เท่าทันความจริงในธรรมสัมผัสนั้น ๆ

เนกขัมมะบารมี
เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมร่วมกับผม ท่านฟังเทปที่หลวงพ่อท่านสอน เรื่อง ทานหรือจาคะก็นำไปสู่พระนิพพานได้ หากเราทำบารมีได้ให้เต็ม จะมีผลทำให้บารมีอื่น ๆ อีก ๙ บารมีเต็มได้ด้วย ในการปฏิบัติบารมี ๑๐ หลวงพ่อเริ่มจากทานบารมีก่อน เพื่อนผมฟังแล้วก็พิจารณาว่า สำหรับตนเอง ขอเลือกเอาเนกขัมมะบารมีเป็นบาทต้น เมื่อนึกถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปัจจุบัน ก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า
๑. ถ้าจักยึดเนกขัมมะบารมีเป็นบาทแรก ก็สมควรและเหมาะสมดี สำหรับข้อวัตรปฏิบัติเพื่อเนกขัมมะบารมี ขอให้เจ้าจดจำคำตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ คือ
ก) สัพพะปา ปัสสะ อะกะระณัง คือ ไม่ทำชั่ว ทั้งกาย วาจา ใจ ให้หมั่นค่อย ๆ ละไป โดยยึดหลักสังโยชน์เป็นเครื่องวัด
ข) กุ สะ ลัส สู ปะ สัมปะทา คือ พยายามทำแต่ความดี ทั้งกาย วาจา ใจ โดยอาศัยสังโยชน์เป็นหลัก
ค) สะ จิต ตะ ปะริโย ทะ ปะนัง คือ ทำจิตให้ผ่องใส เพียรใช้ปัญญาละจากสังโยชน์ ๑๐ อย่าให้เป็นเครื่องร้อยรัด วาจา และใจ ให้เศร้าหมอง นี่คือหลักการของเนกขัมมะบารมี ที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ตั้งแต่องค์ปฐมทรงวางไว้
๒. จากนั้นสมเด็จองค์ปฐมทรงเสด็จมาเป็นประธาน ทรงตรัสว่า เราทุก ๆ พระองค์จักพอใจมาก ถ้าหากเจ้าสามารถปฏิบัติตามข้อวัตรของเนกขัมมะบารมีให้มีผล เพราะเป็นจุดประสงค์ตรงความต้องการของเราทุก ๆ พระองค์ จักขนเหล่าสัตว์ทั้งหลายให้เข้าถึงพระนิพพาน ด้วยการบวชในเนกขัมมะบารมี คือ การบวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ ดับกิเลส คือ สังโยชน์ ๑๐ ให้หลุดออกไปจากการยึดเกาะของจิต จงตั้งใจไว้ในเนกขัมมะบารมี หมั่นทำตามข้อวัตรปฏิบัตินี้ให้เกิดขึ้นกับจิตอยู่เนือง ๆ ระลึกถึงหลักปฏิบัตินี้อย่าให้ขาด มีศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งอยู่เฉพาะหน้าเป็นประจำ จึงจักยังจิตให้ถึงพร้อมตามหลักคำตรัส พระโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ๆ
๓. เมื่อเจ้าคิดได้โดยตั้งใจเอาเนกขัมมะบารมีเป็นบาทแรกแล้ว ต่อไปเมื่อทบทวนบารมี ๑๐ ก็จงเอาเนกขัมมะบารมีขึ้นหน้า แล้วนำมาเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ดึงเอาบารมีอีก ๙ ประการมาเป็นองค์ประกอบ จุดนี้จักทำให้บารมี ๑๐ ของเจ้าเต็มได้
๔. จงหมั่นระวังขันธมารและกิเลสมารเข้ามาขัดขวาง การทำความเพียรในเนกขัมมะบารมีนี้ด้วย
๕. ธรรมารมณ์ใดที่เป็นศัตรู ขัดกับพระโอวาทปาฏิโมกข์ เจ้าจงหมั่นละธรรมารมณ์นั้นให้ออกไปจากจิตเสียโดยไว
ในวันเดียวกันนี้ พอเพื่อนของผมท่านรู้ข่าว เรื่องเปลือกหรือขันธ์ ๕ ที่หลวงพ่อท่านเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปบางส่วน ซึ่งมันก็เป็นของธรรมดา แต่จิตของเพื่อนผมมันฟุ้งออกนอกทาง มีการปรุงแต่งธรรม ซึ่งเป็นอุปาทานทำให้เกิดอารมณ์ ๒ คือ พอใจกับไม่พอใจ ทำจิตของตนเองให้เศร้าหมอง ซึ่งขัดกับเนกขัมมะบารมี ซึ่งเพิ่งได้รับคำสอนจากสมเด็จองค์ปฐม ก็ต้องหยุดปรุงแต่งธรรมต่อไป หลวงปู่บุดดา ท่านก็เมตตามาสอนว่า
๑. พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ อย่างท่านฤๅษีตายได้รึ (ก็ตอบว่าไม่ตายค่ะ)
๒. เอ้อ แล้วไป ข้าคิดว่าเอ็งจะตอบว่าตายได้เสียอีก เรื่องขันธ์ ๕ เอ็งอย่าเพิ่งไปสนใจเลย ปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องของพระท่าน สนใจการปฏิบัติธรรมให้ละสังโยชน์ ๔ - ๕ ให้ได้เสียก่อน
๓. แล้วอย่าลืมจรณะ ๑๕ เสียล่ะ พระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ ท่านมีกันครบทุกข้อจึงจะถึงนฤพานได้ เนกขัมมะบารมี จึงจะมีผล ข้าไปละ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕เดือนมิถุนายน ๒๕๓๖ตอน2
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๖)



เรื่องผลบุญจากสร้างพระภายนอก กับสร้างพระภายใน
เพื่อผมท่านได้ข่าวว่ามีพระองค์หนึ่งในวัดท่าซุง บอกบุญเพื่อจะสร้างพระ (ภายนอก) ก็เกิดอารมณ์ปฏิฆะในพระองค์นั้น แต่พอรู้ก็ดับอารมณ์ไม่พอใจด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า - ออก พร้อมกับจับภาพพระ จึงทำให้จิตสงบลงได้ หลวงพ่อท่านก็มาสอนว่า
๑. จงอย่าสนใจการสร้างพระภายนอก เพราะบุญไปได้แค่สวรรค์ ให้สนใจสร้างพระภายใน บุญนั้นเป็นตัวธรรมแท้ ๆ ที่จะไปพระนิพพานได้
๒. การสร้างพระภายนอก จัดเป็นอามิสทาน เป็นทานภายนอก การสร้างพระภายในเป็นปฏิบัติบูชาเป็นทานภายใน สร้างพระให้เกิดภายในจิตของเรา ทำใจให้เป็นพระได้บุญที่คงทนถาวรกว่าวัตถุทานเยอะ
๓. พระภายนอกเสื่อมได้ พังได้ แต่พระภายในไม่เสื่อมไม่พัง (แต่เพื่อนผมยังไม่เลิกเจตนาเดิมที่จะทำบุญ ๑๐๐ บาท เพื่อเป็นทานบารมี จึงถามหลวงพ่อว่าควรทำอย่างไร)
๔. หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า ให้สร้างพระชำระหนี้สงฆ์ ซิลูก ไม่ต้องทั้งองค์ ทำบุญตามกำลัง มีน้อย ทำน้อย ให้เต็มความตั้งใจของเรา ซึ่งเป็นผู้ให้ทานบารมี อย่าไปคิดว่าให้เต็มความต้องการของผู้รับ
๕. วัตถุทานทำอย่างไรก็ไม่เต็มความต้องการของผู้รับ ศรัทธาเท่าไหร่ก็ทำไป

เรื่องอย่าตำหนิกรรมของผู้บอกบุญ
สร้างพระภายนอกและทานบารมี
ในคืนวันนั้น สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาตรัสสอนดังนี้
๑. อย่าถือสาระเคร่งเครียดเกินไป สำหรับทานภายนอก ถ้าหากมีโอกาสก็บอกต่อบุคคลทั่วไป อันเห็นสมควรจะบอกได้ แต่ให้เขาไปบริจาคกับหลวงพี่โอ เจ้าของเรื่องเอง ไม่จำเป็นที่จักต้องเป็นธุระเก็บเงินรวบรวม บอกแล้วผ่านเลย ใครจักทำหรือไม่ก็แล้วแต่ศรัทธาของบุคคลผู้นั้น
๒. แล้วอย่าพึงไปตำหนิหลวงพี่โอ ที่ทำศรัทธาของเจ้าให้ตกไป จงมองเห็นปกติในบารมีธรรมของหลวงพี่โอ ที่หาได้รับการทำบุญทำทานตามกำลังศรัทธาของญาติโยม อย่างหลวงพ่อของเจ้าทำ
๓. ท่านฤๅษีนั้นตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ขาดหมดแล้ว จึงมีจิตถึงพร้อมไปด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญารู้รอบตามปฏิปทาที่ตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ได้ตรัสไว้ในบารมีของทาน ตัวอย่างเช่น ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีที่ตกอับเพราะมีอุปฆาตทางด้านทรัพย์สินเกิดขึ้น มีเพียงปลายข้าวหัก ต้มถวายองค์สมเด็จปัจจุบัน กับน้ำผักดองเป็นกับ ก็ยังนับว่าเต็มด้วยทานบารมี หรือท่านเมณฑกเศรษฐีกับภรรยา ที่อดีตชาติถวายทองคำเปลวเท่ากระพรีกลิ้น เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เต็มความตั้งใจ
๔. ตถาคตและพระสาวกผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสเศร้าหมองของจิตแล้ว ย่อมรับทานนั้นด้วยความเต็มใจ เต็มความตั้งใจของผู้ให้โดยบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล หรืออีกนัยหนึ่ง องค์สมเด็จปัจจุบัน ทรงรับแห้งจี่จากนางบุญทาสี เป็นต้น
๕. จริยาของผู้รับจะบริสุทธิ์ได้ ก็ต้องรักษาปฏิปทาตามนี้ไว้ คือ รับโดยเต็มจุดประสงค์ของผู้ให้ทาน เป็นการได้บุญเต็ม คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย พระสาวกผู้จะกระทำตามนี้ได้ อย่างน้อยก็ต้องตัดสังโยชน์ได้ ๕ ข้อเบื้องต่ำได้แล้ว อีกทั้งเป็นผู้ได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของตถาคต และพระสาวกที่ได้กระทำมาเป็นตัวอย่างในพระไตรปิฏกแล้ว คือ มีความเข้าใจปฏิปทาของตถาคต และพระสาวกได้ดีพอด้วยปัญญา มิใช่สักแต่ว่าอ่านแล้วใช้สัญญาจำได้ว่า พระไตรปิฏก จารึกไว้ว่าอย่างไร จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยว่า ตถาคตและพระสาวกนั้นกระทำอย่างนั้นเพื่อจุดประสงค์อันใด และผู้ทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์เต็มกำลังทานนั้น ได้รับผลประการใด หวังว่าเจ้าคงจักเข้าใจในบารมีธรรมที่กล่าวมานี้
๖. ไม่ว่าบารมีธรรมของผู้ให้ทาน บารมีธรรมของผู้รับทาน ย่อมมีเป็นประการใด และแตกต่างกันไปเป็นธรรมดาของระดับจิต อย่าไปตำหนิกรรมของหลวงพี่โออีก (เพื่อนผมท่านจะฟุ้งต่อไปว่า สมัยหลวงพ่อหนึ่งสลึงท่านก็รับ ไม่เคยทำให้ผู้ให้ทานเสียศรัทธา ทรงตรัสว่า ฟุ้งพอหรือยัง ก็ตอบว่าพอแล้ว)
๗. ทรงตรัสว่า ยังไม่พอ เอาไว้เวลาต่อไปจะนำเรื่องทานบารมีนี้ไปเป็นแนวทางพิจารณาพระสูตรตามที่ท่านฤๅษีได้สอนมาตามพระไตรปิฏก จักได้เกิดปัญญาเข้าใจในปฏิปทาของพระพุทธเจ้า และพระสาวกว่า ทำไปในแต่ละเรื่องนั้นเพราะอะไร ทุกอย่างพระไตรปิฏกเป็นคำสอนที่มุ่งเกี่ยวกับบารมี ๑๐ ให้เต็มทั้งสิ้น เจ้าจงพิจารณาให้เกิดปัญญา เพราะเมื่อบารมี ๑๐ เต็ม ศีล-สมาธิ-ปัญญาก็ย่อมเต็ม การถือบวชทางใจ เนกขัมมะบารมีตามโอวาทปาฏิโมกข์ ก็เต็มได้ตามปัญญาที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ

การขออภัยทาน
ซึ่งเป็นธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา
เมื่อเอาคำตรัสของสมเด็จองค์ปัจจุบัน ที่ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฏกว่า หากตถาคตจักเอานิ้วชี้ลงที่แผ่นดินจุดใดก็ตามในโลกมนุษย์นี้ จักไม่มีกระดูกของตถาคตปนอยู่นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะตถาคตเกิด - ตาย ๆ มานับชาติไม่ถ้วน เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาตามคำตรัสของพระองค์ ก็ยอมรับว่าจริง และพิจารณาต่อไปว่า ในปัจจุบันนี้มีพระพุทธเจ้ามากี่พระองค์แล้ว ก็ยิ่งชัดเจนหมดสงสัยว่า พวกเราไม่มีทางพ้นจากการปรามาสพระรัตนตรัยไปได้เลย เพราะแผ่นดินที่เราเหยียบย้ำอยู่นี้ ล้วนแต่เป็นกระดูก หรือพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระอรหันต์ทุก ๆ พุทธันดร รวมทั้งกระดูกของเราเองด้วยทุกวัน
ดังนั้น สมเด็จองค์ปฐม จึงทรงมีพระเมตตามาตรัสสอนพวกเราความว่า พวกเจ้าควรหมั่นขอขมาพระรัตนตรัยไว้ทุกๆ วัน เพื่อจักได้ลดโทษการปรามาสพระรัตนตรัยลงได้บ้าง
หลวงพ่อท่านก็เมตตามาสอนความว่า นอกจากขอขมาพระรัตนตรัยแล้ว ควรขอขมาพ่อ - แม่ในอดีตชาติด้วย และควรขอขมาให้บ่อย ๆ เพราะพวกเอ็งมันพยศกับพ่อ - แม่มาเกือบทุกชาติ
ส่วนรายละเอียด ผมไม่ขอกล่าว เพราะทุกคนมีจริต - นิสัยและกรรมไม่เสมอกัน แต่ทุกคนก็มีอุบายของตนเอง บางคนชอบสั้น ๆ บางคนชอบยาว ๆ บางคนว่าเป็นบาลี บางคนว่าเป็นภาษาไทย และบางคนก็ว่าทั้งบาลีและภาษาไทย (คงนึกกลัวว่าพระท่านคงอาจจะไม่รู้คำบาลีกระมัง)
สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสว่า
๑. นี่จัดว่าเป็นขออภัยทาน ซึ่งเป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาเช่นกัน หมั่นทำให้บ่อย ๆ ไม่ว่าจักเป็นผู้ให้อภัยทานหรือเป็นผู้ขออภัยทาน ก็สามารถทำจิตให้เยือกเย็นได้
๒. หมั่นมาพระนิพพานให้บ่อย ๆ จิตจักได้เคยชิน เป็นการซักซ้อมมโนมยิทธิไปในตัวด้วย
๓. พยายามปล่อยวางอารมณ์ที่เกาะกายให้มาก ๆ ด้วย จิตมันจักได้สบายขึ้น (เพื่อนของผมท่านนึกว่า วันนี้กายมีเวทนามาก สภาพพระนิพพานไม่แจ่มชัดเท่าที่ควร)
๔. ทรงตรัสว่า ให้จิตรู้ก็แล้วกันว่าระลึกได้อยู่กับพระนิพพานเสมอ จักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ สำคัญที่จิตมันเคยชินกับการมาอยู่ที่พระนิพพานนี้
๕. และที่สำคัญ คือ พยายามอย่าเกาะกายมากเกินไป รู้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ยอมรับความเสื่อม ความสกปรกของร่างกายนี้อยู่เสมอ ให้จิตมันรู้อยู่อย่างนี้ ก็เป็นอันว่าใช้ได้
๖. ก่อนนอน ให้จับภาพนิมิต เห็นกายจิต นอนอยู่บนพระนิพพานด้วยได้ยิ่งดี สมควรทำ

อนุสสติสุดท้ายคือ มรณานุสสติควบอุปสมานุสสติ
ในคืนวันที่ ๑๗ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า
๑. การระลึกนึกถึงความตาย จงอย่าทำจิตให้เศร้าหมอง เพราะนั่นเป็นความจริงของร่างกาย การควบอุปสมานุสสติให้ทรงตัวก็เพื่อระลึกไว้เสมอถึงความสุขที่จักได้รับ เมื่อจิตผละไปจากร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้แล้ว
๒. เห็นความจริงในกายคตานุสสติ ควบอสุภะของร่างกายไว้เนือง ๆ เพื่อทำลายความหลงของร่างกาย ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง และสกปรกนี้ จิตก็จักยอมรับและคลายความกำหนัดในร่างกายนี้ลงได้
๓. เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็กำหนดรู้ว่า ร่างกายทั้งภายนอกและภายในมีสภาพเหมือนกันหมด การทรงชีวิตอยู่เต็มไปด้วยความทุกข์ มีหิว - กระหาย - ร้อน - หนาวเกินไป ปวดอุจจาระ และปัสสาวะ เป็นต้น ให้รู้อยู่อย่างนี้เป็นปกติ
๔. เจ้าอย่าได้ละกรรมฐานกองสำคัญเหล่านี้ ออกไปจากจิตเป็นอันขาด เพราะเป็นตัวตัดสักกายทิฎฐิตรง หมั่นศึกษา พิจารณา เรียนรู้ นำมาปฏิบัติเข้าไว้ให้จิตมันชิน โดยควบคู่กับอานาปานัสสติกรรมฐานทุกกอง เพื่อเป็นไม่ประมาทในชีวิต ร่างกายมันไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ดั่งองค์สมเด็จองค์ปัจจุบันได้ตรัสไว้แล้วในเรื่อง เปสการีธิดา ขอให้เจ้านำมาคิดและพิจารณาให้ดี ๆ จักได้มีปัญญาเรียนรู้ปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ก็ติดตามที่พระองค์ทรงแนะ ก็พบว่านางขาดใจตายอย่างกะทันหันจากกระสวยเหล็กพุ่งมากระทบอก ขาดใจตายในชั่วขณะจิตเท่านั้น)
๕. ทรงตรัสว่า ผู้ประมาทไม่ระลึกนึกถึงความตาย ย่อมเตรียมจิตไม่ทัน แต่ผู้ที่ระลึกนึกถึงความตาย หมั่นแสวงหาอริยทรัพย์ไว้ด้วยจิตมั่นคง กำหนดรู้อยู่เสมอว่า จิตนี้จักต้องโคจรจากร่างกายเมื่อตายแล้ว จักตรงไปยังสถานที่ใด บุคคลผู้นั้นจึงได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในชีวิต
๖. หมั่นตรวจสอบอารมณ์จิตให้ดี ๆ อย่าให้มีความเศร้าหมองค้างอยู่ในใจ ไม่ว่าอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง พอใจหรือไม่พอใจ จัดว่าเป็นกิเลสที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ถ้าหากเจ้าไม่อยากสู่ภพสู่ชาติอีกต่อไป มองอารมณ์ของจิตเอาไว้ให้ดี ๆ และจงหมั่นทบทวนจุดหมายปลายทางของจิต คือ กำหนดอารมณ์พระนิพพานไว้เสมอ รู้หนทางโคจรของจิต หนทางใด ซึ่งไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ก็จงหมั่นตัดอารมณ์นั้นให้หลุดออกไปจากใจ
๗. ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียร ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เอาอิทธิบาท ๔ ทบทวนธรรมที่เกิดกับจิตอยู่เสมอ แล้วมรรคผลนิพพานจักได้แน่

อิริยาบถบรรพและเรื่องอย่าฝืนอารมณ์ของจิต
ขณะเจริญพระกรรมฐาน
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ มิ.ย. ๒๕๓๖ ฟังเทปเรื่องอิริยาบถบรรพ ของหลวงพ่อท่านสอน แล้วก็นำมาพิจารณาด้วยปัญญา ก็จับหลักสำคัญได้ดังนี้
๑. กรรมฐานกองใดได้ในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ กรรมฐานกองนั้นเสื่อมยาก
๒. ทุกข์ของกาย หรือทุกขสัจ ต้องกำหนดจึงจะรู้ว่าทุกข์ ไม่กำหนดก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เลยไม่เห็นทุกข์ของกายได้ตามความเป็นจริง
๓. ต้นเหตุที่ลืมกำหนดเพราะขาดสติ ที่ขาดสติก็เพราะลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก หรืออานาปานัสสติ ทำให้สติขาดตอนไม่ต่อเนื่องกัน
๔. หากปฏิบัติตาม ๓ ข้อแรกได้ ก็จะเข้าใจได้ว่า อิริยาบถบรรพนั้นคืออริยสัจหรือทุกขสัจนั่นเอง แสดงธรรมเรื่องทุกขสัจข้อที่ ๑ ของอริยสัจ ๔ ตลอดเวลา ที่ไม่เห็นเพราะไม่ได้กำหนดรู้
๕. ความตายอาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และแสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา เพราะทุกข์ แปลว่า สิ่งที่ไม่สามารถจะทนอยู่ได้ จึงต้องขยับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เกือบตลอดเวลา สมเด็จองค์ปฐม ท่านก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า
๕.๑ พยายามอย่าฝืนอารมณ์ของจิต ในขณะเจริญพระกรรมฐาน ให้เรียนรู้อารมณ์ของจิตในขณะนั้น ๆ แล้วหมั่นหากรรมฐานแก้อารมณ์ เพราะการฝืนอารมณ์ของจิต จักทำให้เจริญกรรมฐานไม่มีผล อย่างอารมณ์โทสะเกิด ก็รู้อยู่ว่าอารมณ์โทสะเกิด ก็จับอานาปาควบกสิณพระ กองใดกองหนึ่งให้จิตคลายจากอารมณ์โทสะนั้น อย่าไปกำหนดเวลาว่า จิตจักคลายอารมณ์โดยไว เพราะการไปเร่งให้ตัดโทสะโดยไวนั้น มักจักมีอารมณ์ใจร้อนเข้ามาผสม จิตสงบไม่จริง เพราะฉะนั้น ต้องใจเย็น อย่ากำหนดเวลา จับสมถะภาวนาให้จิตทรงกำลัง และคลายจากอารมณ์โทสะได้จริง ๆ จนเย็นใจแล้ว ไม่พลุ่งพล่าน เมื่อนั้นแหละจึงจะพิจารณาธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เห็นทุกข์ เห็นโทษของการเกิดโทสะ
๕.๒ การดูทุกข์ดูโทษ ให้ดูที่จิตและกายของตนเอง ไฟโทสะมันเผาผลาญสร้างทุกข์ให้เกิดแก่จิตและกายของตนเองเท่าไหร่ อย่าไปมองคนอื่น ให้มองตนเองเป็นสำคัญ
๕.๓ อารมณ์อื่น ๆ ก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นก็หากรรมฐานแก้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดอารมณ์ชิน เกิดปุ๊บดับปั๊บ จนกระทั่งในที่สุดถึงขั้นดับโดยไม่ทันเกิด จนกระทั่งไม่เกิดอารมณ์เลย คือถึงสังขารุเบกขาญาณ อารมณ์จิตก็จักมีแต่สบาย อะไรกระทบรู้สึก แต่ก็วางเฉยให้หมด กล่าวคือ จบกิจในพระพุทธศาสนา
๕.๔ เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่าท้อใจ ค่อย ๆ ระงับอารมณ์กันไป แพ้บ้างชนะบ้างก็ถือว่าเป็นธรรมดา ให้รู้อยู่ก็แล้วกันว่าได้ต่อสู้อย่างสุดความสามารถแล้ว ในเมื่อสู้ไม่ได้ก็รามือชั่วคราว โอกาสหน้าก็สู้กันใหม่ สอบจิตตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ด้วยความเพียร พลั้งเผลอไปบ้างก็เป็นธรรมดา อย่าเสียกำลังใจ พยายามปฏิบัติเข้าให้ต่อเนื่องอยู่เนือง ๆ สักวันหนึ่งจิตมันก็จักชินในการคิดพิจารณา หรือชินในการสมถะภาวนาสลับกันไป จนสมถะธรรมชนรอบได้ทุกขณะจิต ให้พยายามคิดใคร่ครวญ และรู้ทันอารมณ์ของจิตให้ดี ๆ

พรหมวิหาร ๔
ทำให้ศีลบริสุทธิ์เต็มกำลังได้อย่างไร
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนให้ มีความสำคัญดังนี้
๑. เจ้าลืมบันทึกเรื่อง หลักการของการถือศีล ศีลจักบริสุทธิ์ได้ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ
ก) ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง
ข) ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล
ค) ไม่ยินดีด้วยเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว
๒. เจ้าพึงรู้แล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ช่วยทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้เต็มกำลัง ก็ควรจักพึงรู้ต่อไปว่า หลักการรักษาศีล ๓ ประการนั้น เกี่ยวข้องกับพรหมวิหาร ๔ ประการใด ตถาคตจักอธิบายให้เจ้าฟังสักครั้งหนึ่ง เพื่อเจ้าจักได้นำไปเป็นแนวทางของการปฏิบัติเพื่อความอยู่เป็นสุขของกายและจิต
๓. หากเจริญพรหมวิหาร ๔ ได้ถึงที่สุด ศีล สมาธิ ปัญญา ของเจ้าก็จักบริสุทธิ์ จนถึงระดับหมดความเบียดเบียนจิตและกายได้
๔. ประการแรก คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง เท่ากับพรหมวิหาร ๔ ตัวต้น (เมตตา) เราจักต้องมีให้กับจิตและกายของตนเองก่อน มีเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร มุทิตา มีจิตอ่อนโยน มีอุเบกขา ที่จักไม่ยอมให้จิตตกเป็นทาสของกิเลสหรืออกุศลกรรมเข้าครอบงำ ชักชวนให้ละเมิดศีล ทางกาย วาจา ใจ อันกระทำแล้วเกิดเป็นบาป นำจิตของตนให้ไปเสวยกรรมชั่วในอบายภูมิ ๔ อันมีสัตว์นรกเป็นต้น จำไว้นะ พรหมวิหาร ๔ ลำดับต้น จงมีให้กับจิตและกายของตนเองก่อน
ประการที่สอง เมื่อมีพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตของตนมั่นคงแล้ว ก็เท่ากับศีลรักษา ตัดสังโยชน์ ๓ ประการแรกเบื้องต้นได้ บุคคลผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน จึงมีสิทธิที่จักแจกพรหมวิหาร ๔ ตามที่ตนได้แล้ว สงเคราะห์บุคคลอื่นตามสังโยชน์ ๓ กล่าวคือ แนะนำให้ผู้อื่นรักษาศีลโดยปรารภอานิสงส์ของศีลที่ตัดอบายภูมิ ๔ ได้ ดังนั้น พระโสดาบันจึงไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นละเมิดศีล ดังนี้เป็นประการที่ ๒
ประการที่สาม การไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว จักต้องมีอุเบกขา หรือสังขารุเบกขาญาณเป็นตัวคุม คือบุคคลผู้นั้นจักต้องเข้าใจในกองสังขารทั้งปวง เข้าใจในกฎของกรรมในแต่ละบุคคล วางอารมณ์เห็นกฎของกรรมเป็นเรื่องปกติ เห็นในเหตุของกรรมนั้น ๆ จึงจักไม่ยินดีได้ เมื่อเห็นบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว
ประการสุดท้ายนี้ หมายถึงไม่ยินดี ยินร้าย แม้กระทั่งในมโนกรรม คือ ในความคิด (ก็นึกถามว่า อารมณ์นี้มีได้แต่พระอรหันต์เท่านั้นใช่หรือไม่)
๕. ก็ต้องปฏิบัติได้ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป กรรมบถ ๑๐ เป็นข้อคุมการปฏิบัติศีลให้ละเอียดขึ้นตามลำดับ ระงับกายให้สงบ ทำตั้งแต่หยาบขึ้นไปจนถึงละเอียด อย่าคิดว่าจักทำเอาทีเดียวถึงขั้นละเอียดได้เลย (ก็นึกว่าเป็นของที่ทำได้ไม่ง่ายเลย)
๖. เมื่อรู้วาระจิตว่าเศร้าหมอง ก็ให้ตรวจดูการรักษาศีล ๓ ประการเยี่ยงนี้ไปตามลำดับ เห็นจิตขาดพรหมวิหาร ๔ ตัวต้น (เมตตา) คือ ไม่ได้ให้กับจิตและกายของตนเอง เจ้าก็จงหมั่นเจริญพรหมวิหาร ๔ ตัวต้นให้เต็มเถิด
๗. และต่อ ๆ ไป ถ้าหากจักไปยุ่งเกี่ยวกับกรรมชั่วของผู้ใด จักยินดียินร้ายก็ตาม จงหมั่นนึกถึงการไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว จงเตือนตนเองว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ ข้อสุดท้ายบกพร่องไปเสียแล้ว จักได้ตัดใจระงับอารมณ์ยินดียินร้ายนั้นลงเสียได้ (เมื่อทรงตรัสถึงข้อนี้ ก็ทำให้เข้าใจว่า ที่ตนเองไปตื่นเต้นกับข่าวของใคร ๆ เขาที่ทำชั่ว ก็เพราะขาดพรหมวิหาร ๔ ข้อสุดท้ายนี่เอง ธรรมนี้ลึกซึ้งมาก และปฏิบัติให้จิตทรงตัวได้ยาก)
๘. เจ้าหมั่นทบทวนพรหมวิหาร ๔ คู่กับการรักษาศีล ๓ ประการนี้ไปเนือง ๆ แล้วเจ้าจักเข้าใจ ในความลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไปมากยิ่งกว่าเวลานี้

อารมณ์สำนึกผิดเพราะเห็นความชั่วที่ใจเรา
เมื่อนำเอาเรื่องพรหมวิหาร ๔ ทำให้ศีลบริสุทธิ์เต็มกำลังได้อย่างไรมาพิจารณา ก็พบความจริงที่พอสรุปได้ดังนี้
๑. ถ้ายังคิดว่าคนอื่นเขาเลว ก็แสดงว่าเราเลวกว่าเขา
๒. ต้องรู้อยู่เสมอว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติธรรมดา
๓. ให้ยอมรับกฎของกรรมเข้าไว้ อย่าเผลอไปตำหนิใครเข้า
๔. เมื่อรู้ว่าผิดก็ให้กำหนดจิตขึ้นมาขอขมาพระรัตนตรัยทุกครั้งไป
๕. และก็ยังมีอารมณ์ปรุงแต่ง เปรียบเทียบออกนอกทางไปว่า
๕.๑ อารมณ์นี้ก็คล้าย ๆ กับ หิริ - โอตตัปปะ หรือเทวธรรมขั้นละเอียดนั่นเอง
๕.๒ อารมณ์นี้ก็คล้าย ๆ กับ การสารภาพบาป หรือความชั่วแบบชาวพุทธ ที่ปลงอาบัติแล้วจบลงว่า ต่อไปข้าพเจ้าจะไม่คิดชั่ว-พูดชั่ว-ทำชั่วเช่นนี้อีก แต่พวกคริสเขาก็ไปสารภาพบาปกับพระเจ้าของเขาแล้ว เขากลับมาทำบาปเช่นนั้นต่อไป เป็นการล้างบาปแบบมิจฉาทิฏฐิ เพราะไม่เข้าใจเรื่องกฎของกรรมว่าเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย
สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตามาสอนต่อให้ มีความสำคัญ ดังนี้
๑. เมื่อเจ้ารู้ว่าเลว ก็จงหมั่นละการกระทำนั้นเสีย เพราะเป็นจิตชั่วจิตบาป หมั่นแก้ที่ตนเอง แก้ที่อารมณ์เกาะยึดร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกลงเสีย ตัวนี้เกิดขึ้นได้เพราะจิตเจ้ายังยึดว่า ร่างกายมีในเขาในเรา เป็นสักกายทิฎฐิ จงพิจารณาทุกข์ และโทษของอารมณ์นี้ แล้วหมั่นละเสียให้ได้ซึ่งอารมณ์เหล่านี้
๒. เมื่อพิจารณาร่างกายคนและสัตว์ว่าเสื่อมสกปรกแล้ว จงหมั่นพิจารณาทุกข์และโทษของการมีร่างกายอยู่เนือง ๆ ด้วย
๓. ให้หมั่นกำหนดรู้ว่า กฎของกรรมอันใด ทำให้เกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์และสกปรกนี้ด้วย เจ้าจักเห็นอารมณ์โมหะ-โทสะ-ราคะ ที่เป็นเหตุให้เกิดร่างกาย
๔. เจ้าจงทำการกำหนดรู้ทุกข์แห่งอารมณ์นั้น ๆ พิจารณาละอารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดร่างกายนี้อยู่เนือง ๆ จิตเจ้าจักได้คลายจากการเห็นร่างกายนี้ว่าเป็นเขาเป็นเราลงได้
๕. และหมั่นพิจารณาการท่องเที่ยวไปในวัฏฏะอันหาที่สิ้นสุดมิได้ โดยอาศัยจิตจากความสงบเป็นปัจจัย เป็นการระงับอารมณ์ที่ชอบส่งจิตออกนอกกายเสีย
๖. กิจธุระของพระพุทธศาสนา สำเร็จได้ที่จิตอุปธิวิเวก อุปธิปัญญาเป็นตัวนำ กล่าวคือจิตสงบเป็นจุดแรก มโนกรรม หรือวจีกรรมก็สงบตาม กายกรรมก็ย่อมสงบด้วย จิตก็จักเกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริงของสภาวะธรรม ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นกุศล ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นอกุศล ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นอัพยากฤต ยอมรับกฎของธรรมดา
๗. จิตบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ก็เห็นธรรมบริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่มีการปรุงแต่งมากขึ้นเท่านั้น
๘. เมื่อจิตยอมรับกฎของกรรม การจักไปตำหนิกรรมก็ไม่มี กรรมใด ๆ จักเกิดแก่กาย - วาจา - ใจก็ไม่มี จิตของผู้ปฏิบัติได้ถึงกาย - วาจา - ใจบริสุทธิ์ จึงหมดกรรม ไม่มีการต่อกรรมไปในวัฏฏะสงสารได้อีกต่อไป จึงพ้นสมมุติ คือ จิตถึงซึ่งวิมุติแล้วอย่างแท้จริง บุคคลผู้นั้นเข้าถึงพระอรหัตผล เป็นบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง
๙. เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจงจำไว้ ธรรมทุกข้อที่ตรัสมาล้วนเป็นหนทางที่พ้นทุกข์ทั้งสิ้น จักทำได้แค่ไหน ก็อยู่ที่จิตของพวกเจ้าเอง เพราะตถาคตเป็นเพียงผู้บอก พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็ตรัสมาเช่นนี้ทุก ๆ พุทธันดร อักขาตาโร ตถาคตา จงหมั่นใคร่ครวญให้มาก ๆ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕เดือนมิถุนายน ๒๕๓๖ตอน3
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๖)



ชีวิตของคนเรา พบอริยสัจอยู่ตลอดเวลากับโรคปากเสีย
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผมท่านเล่าให้ผมฟังมีความสำคัญโดยย่อ ๆ ว่า ในวันนั้นท่านเห็นห้องข้าง ๆ ที่ท่านอาศัยอยู่ เขาเปิดไฟวัดทิ้งไว้ในห้องนอนเขาตลอดคืน พอตาเห็นรูป จิตก็ไหวเกิดอารมณ์ปฏิฆะ ห้ามมันเท่าไหร่มันก็ไม่ยอมดับง่าย ๆ เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับอยู่อย่างนั้น หรือดับไม่จริง หลวงพ่อท่านก็เมตตามาสอนว่า ไปเห็นคนอื่นมีจุดบกพร่อง แต่จิตตนเองมีช่องโหว่กลับมองไม่เห็น ไปเห็นสิ่งจุกจิกภายนอกว่าสำคัญ ลืมความสำคัญ ที่จะรักษาอารมณ์ของใจให้อยู่ในธรรม ยังติเขาอยู่มากเพียงใด เราก็ยังเลวมากเพียงนั้น ยังไม่รู้กาลสมัยเพียงใด เราก็ยังเลวมากเพียงนั้น ถ้าเห็นแล้ว รู้ตัวแล้ว ก็ต้องรีบขอขมาพระ
ในคืนวันนั้น หลวงพ่อฤๅษี ท่านก็เมตตามาสอนให้ดังนี้
๑. ห้ามเอ็งแล้ว ระงับปากไว้ไม่อยู่หรือ (ก็รับว่า ห้ามไม่อยู่ เพราะมันอดห่วงผลประโยชน์ของวัดไม่ได้)
๒. ห่วงนะมันดีอยู่ แต่ว่าควรห่วงให้ถูกเรื่อง อย่าทำใจให้เดือดร้อนมากจนเกินไป อารมณ์จิตมันไม่เป็นสุข เสียผลประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม มันดีอยู่หรือ (ก็ยอมรับและขอขมาท่าน)
๓. ทีหลังอย่าทำ เรื่องกฎระเบียบของวัด มีพระเจ้าหน้าที่ท่านคอยดูแลอยู่แล้ว พรหม - เทวดาท่านมีอย่ายุ่ง วางอารมณ์ใจให้สงบดีกว่า
๔. ขอให้ระวังอารมณ์จิตให้ดี ๆ จะมีเหตุการณ์หนุนเนื่องเข้ามาทดสอบจิตของเอ็งบ่อย ๆ ไม่ว่าจะราคะหรือปฏิฆะ
๕. แพ้มันไปบ้างอย่างวันนี้ ก็พยายามหักอารมณ์ให้ลงตัวธรรมดาให้ได้ แต่พยายามอย่าให้มันแพ้บ่อยนัก ประเดี๋ยวจิตมันจะเคยชิน เพราะคบความชั่วมานาน ต้องอดทนต่อต้าน คิดถึงกฎของกรรมให้มาก ๆ หน่อย เอ็งนี่มันขันแตกอยู่เรื่อย อย่าทิ้งลมหายใจบ่อยนักซิ
๖. เรื่องของคุณหมอ เอ็งไม่ต้องห่วง เสียเงินเป็นแสนเป็นล้าน เพราะผลของกรรม เป็นกฎของกรรมเก่า เจ้าหนี้มันตามมาทันแล้ว ก็ชดใช้มันไปนะหมอ เป็นการพิสูจน์สัจธรรมของพระพุทธเจ้าว่าเป็นจริง มีลาภก็ต้องเสื่อมลาภเป็นธรรมดา ขอให้คิดถึงหลักความจริง ไม่ว่าคน - สัตว์ - วัตถุธาตุใด ๆ ในโลกนี้ หรือโลกทั้งโลกก็ว่าได้ มันก็เกิด มันก็มีดับไปเป็นธรรมดา มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ยึดไม่ได้ ยึดเมื่อไหร่ทุกข์เมื่อนั้น อันนี้เป็นอริยสัจ ซึ่งแปลว่า ของจริงที่พระอริยเจ้าท่านเคารพนับถือ เพราะเป็นกฎธรรมดา ในเมื่อหมอพบความจริงแล้ว ก็ได้พิสูจน์ของหมอเองว่า ยอมรับในกฎของธรรมดานี้หรือไม่
๗. จริง ๆ แล้วในชีวิตของคนเรา พบกับอริยสัจอยู่ตลอดเวลา แต่จิตมันยอมรับความจริงนั้นหรือเปล่า เห็นเกิด - เสื่อม - ดับ เห็นไตรลักษณ์ หากยอมรับนับถืออย่างจริงใจนั่นแหละคือ เห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง เห็นอริยสัจ พระอริยเจ้าท่านเห็นธรรมดาที่ตรงนี้ จึงเท่ากับเห็นกฎของกรรม จนจิตยอมรับนับถือเป็นธรรมดา จิตจึงพ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ต่อกรรม ไม่เกาะกรรมอีกต่อไป
๘. เอ็งเข้าใจรึ (ก็รับว่าเข้าใจ แต่จิตยังไม่ค่อยยอมรับนับถือกฎของกรรมอย่างจริงใจ เพราะจิตยังตกเป็นทาสของอารมณ์อยู่) เออ ให้เข้าใจไว้ก่อนก็แล้วกัน เห็นลายแทง เห็นเส้นทางของขุมทรัพย์ใหญ่อยู่รำไร เดินไปคลำไปก็ยังถูกทาง ดีกว่าไม่เห็น เที่ยวเดินเที่ยวคลำสะเปะสะปะไป จะหลงทางเสียเปล่า ๆ
๙. เอ็งอย่าท้อใจ เรื่องอุปสรรคของการปฏิบัติ มันย่อมมีเป็นธรรมดา คำว่าราบรื่นย่อมไม่มีสำหรับจิตของคนที่ยังอารมณ์กิเลสครอบงำอยู่ อย่างไรจิตเรามันคบตัณหามานาน โมหะ - โทสะ - ราคะ มันทำให้เรามีอุปสรรคมานับชาติไม่ถ้วนหรือเอ็งจะนับการเกิดไหว (ก็รับว่านับไม่ไหว)
๑๐. ก็ไม่ต้องนับ ให้คิดว่าเกิดเท่าไหร่ ก็ตายหมดเท่านั้น จะเอาอะไรกับร่างกาย พยายามคิดถึงการเกิด การตาย ที่นับประมาณนั้นไม่ได้ ทำความเบื่อหน่ายลงไปว่า เราจะไม่เกิดไม่ตายอีก พอกันทีสำหรับร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ แล้วก็หันมาพยายามระงับอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรมลงเสีย แพ้ได้ แพ้ไป พยายามดึงอารมณ์จิตมาให้เป็นสมาธิใหม่ เราแพ้มันมาตั้งหลายแสนชาติอสงไขยกัปแล้ว เหตุการณ์มันผ่านไป ชั่วขณะจิตหนึ่งก็เป็นอดีตไปแล้ว อย่าไปเก็บเอามาเป็นความเศร้าหมองฝังใจ ปลดทิ้งไปตั้งหน้าสู้กับคลื่นอารมณ์ลูกใหม่อีกต่อไป
๑๑. ในเมื่อชีวิตยังทรงอยู่ เราก็จะไม่ท้อถอย ยืนหยัดสู้มันไป ดูอดีตว่าที่แพ้นั้น แพ้เพราะอะไร นำมาเป็นบทเรียนเตือนใจว่า เราจะไม่แพ้มันอีกแบบนั้น เหมือนคนถูกตบไปทีหนึ่ง คราวหลังเห็นเขาเงื้อมือมาอีก เราไม่เข้าไปรับมัน ก็พ้นจากการถูกตบไปได้ เห็นท่าเห็นเชิง กิเลสก็เหมือนกัน เห็นท่าเห็นเชิงรู้เท่าทัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้
๑๒. เรื่องวิหารหลวงพ่อใหญ่ จะทำอะไรให้ปรึกษาท่านก่อน ที่เอ็งตั้งใจจะเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เป็นประวัติหลวงพ่อใหญ่ครึ่งหนึ่ง หลวงพ่อฤๅษีครึ่งหนึ่ง ให้ทำฝาผนังให้เรียบร้อยก่อน แต่ต้องซ่อมหลังคาให้ดีก่อน เพราะถ้าฝนตก น้ำรั่วภาพจะเสียหายได้
๑๓. ส่วนเรื่องจะนำภาพสมเด็จองค์ปฐมมาขึ้นที่ฝาผนัง ให้ขออนุญาตท่านก่อน เมื่อขอ ท่านก็ทรงอนุญาต และตรัสว่า ตถาคตอนุญาต เพราะจักเป็นผลงานประกาศให้ชาวโลกทราบว่า ท่านฤๅษีเป็นผู้ดำริหล่อองค์แทนของตถาคต เป็นองค์แรกของโลกในพุทธันดรนี้ และเป็นการยืนยันให้ชาวโลกให้ทราบว่า พระพุทธเจ้ามีมากมายอย่างหาประมาณมิได้ ในแต่ละพุทธันดร จักได้ยืนยันถึงพระธรรมที่มีเหมือนกันมาโดยตลอด มีพระอริยสงฆ์เป็นผู้ประกาศสัจธรรมสืบต่อกันมา เป็นแนวทางให้พ้นทุกข์ได้
๑๔. เจ้าอย่าลืม จารึกลงเบื้องล่างของภาพ ถึงประวัติของการที่ท่านฤๅษีสร้างองค์สมเด็จพระปฐม และอย่าลืมจารึกถึงหลักธรรมคำสอน ๓ ประการในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ตรัสรู้ด้วยเห็นอริยสัจใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เหมือน ๆ กันหมดทุกพระองค์ หลักสูตรในพุทธศาสนา สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

พยายามเห็นธรรมดาในธรรมดาให้มาก ๆ
และเรื่องดีภายนอกกับดีภายใน
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มิ.ย.๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนให้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. จงทำจิตให้ยอมรับกฎของกรรมโดยความสงบ เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นกฎของธรรมดา
๒. ปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นจงอย่าใช้อารมณ์แก้ปัญหา จงนิสัมมะ กะระณัง เสยโย ใคร่ครวญด้วยปัญญา เอาปัญญาเข้าแก้ไข
๓. ให้หมั่นนึกถึงความตายให้มาก ๆ อย่าลืมทุกลมหายใจเข้า - ออกเจ้าอาจตายได้ ร่างกายมันตาย จิตอย่าเกาะงานให้มากนัก ทำไปเรื่อย ๆ โอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์
๔. ยึดหลักเอาจิตปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด งานอื่นไม่มีความสำคัญเท่ากับงานทางธรรม ให้ทำงานการซ่อมแซมไป สักแต่ว่าเป็นหน้าที่ จิตระลึกนึกถึงปลายทางเพื่อพระนิพพานไว้เสมอ
๕. ปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาให้หมด อย่าคิดว่า งานซ่อมแซมสำคัญมากกว่าการเอาจิตปฏิบัติธรรม
๖. ร่างกายทำหน้าที่ของกาย จิตทำหน้าที่ของจิต พยายามอย่าให้จิตบกพร่องก็แล้วกัน งานซ่อมแซมก็ทำไป เพราะเป็นหลักที่เจ้าจักอยู่วัดได้ ใครจักเห็นความดีหรือไม่เห็นก็ไม่สำคัญ หรือเจ้าคิดจักทำความดีอวดใครเขา (ตอบว่าเปล่าค่ะ)
๗. ดีภายนอกก็ควรทำ ดีภายในก็ยิ่งต้องทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จุดหมายปลายทางที่เจ้าต้องการจักจบกิจ ก็จงหมั่นคิดถึงจุดหมายปลายทางนั้นให้ขึ้นใจ (ทรงหมายถึง ทำทุกอย่างก็เพื่อพระนิพพานจุดเดียว)
๘. พิจารณาอารมณ์ของจิตตนเองไว้เสมอว่า เวลานี้ไปสู่ทิศทางใด ออกนอกลู่นอกทางพระนิพพานหรือเปล่า อย่าดูอารมณ์ของผู้อื่น ดูอารมณ์ของเจ้าเอาไว้ให้ดี ๆ
๙. พยายามเห็นธรรมดาในธรรมดาให้มาก ๆ ทุกคนที่ยังตัดสังโยชน์ ๑๐ ไม่ได้ครบ ก็ต้องมีอารมณ์แสดงออกมาเป็นธรรมดา ปกติมันเป็นอย่างนั้น เจ้าจักยึดถืออารมณ์นั้นเพื่อประโยชน์อันใด
๑๐. หลงอารมณ์ เกาะยึดอารมณ์ทำให้จิตเศร้าหมอง นั่นแหละคือจิตหลง เดินทางผิดมรรคผลนิพพานละ
๑๑. คิดให้ดี ๆ อย่าวู่วาม จักเสียผลทั้งทางโลกและทางธรรม (อย่าใจร้อน ให้ใจเย็น ๆ)
๑๒. ตั้งใจดีแล้วก็ต้องตั้งวาจาและกายให้ดี มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย
๑๓. ทัศนะส่วนตัวจักเป็นอย่างไร พยายามอย่าแสดงออกให้มากนัก จงหมั่นเก็บเอาไว้ในใจ อย่าให้รั่วไหลออกมาทางกายและวาจา จักเป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกิจกรรมของวัดของสงฆ์ แม้จักไม่เห็นด้วยก็จงอย่าแสดงทัศนะส่วนตัวออกมา
๑๔. ขอให้แต่นี้ไป เจ้าจงหมั่นสงบปากสงบกายให้มาก ๆ จักเป็นภัยอันตรายย้อนเข้าหาตัว
๑๕. เจ้าแย่อย่างนี้มานานแล้ว นับอสงไขยกัป กลับใจเสียใหม่ ถ้าแก้นิสัยอย่างนี้ไม่ได้ เห็นจักเอาดีได้ยาก (ก็รับว่า จะพยายาม)
๑๖. หมั่นระลึกถึงการสำรวมอายตนะให้มาก ๆ และหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาที่เข้ามากระทบทั้งปวงด้วย รู้ธรรมที่เข้ามากระทบ ทุกสิ่งในโลกนี้มันมีแต่ธรรมดา จงทำจิตให้ยอมรับกฎของธรรมดานั้น
๑๗. แล้วอย่าทำจิตให้เศร้าหมอง หมั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบกับมรณานัสสติเอาไว้เสมอ ๆ
๑๘. เห็นทุกข์ เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา ในธรรมที่เข้ามากระทบเสมอ ๆ และยอมรับตามนั้น
๑๙. จิตทรงฌานรักพระนิพพานเป็นอารมณ์เอาไว้ให้ชิน จิตก็จักมีความสุข คิดมานิดหนึ่ง ระลึกมาหน่อยหนึ่ง เพื่อพระนิพพานจุดเดียว แค่นั้นจิตก็จักเบาสบายใจขึ้น
๒๐. เวลานี้ปฏิฆะเริ่มเด่นขึ้นมาอีกแล้ว เจ้าก็อย่าทิ้งภาพพระเป็นอันขาด ระงับราคะแล้ว ก็ต้องระงับโทสะไปในตัว อย่าโง่เกินไป จับโน่นทิ้งนี่ ผลก็เกิดได้ยาก และขอให้คิดดี ๆ ก่อนพูดด้วย

ของจริงในพุทธศาสนา ต้องถูกกระทบก่อน
เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ท่านเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ของท่านกดไม่อยู่เมื่อถูกกระทบ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่ดี จึงถูกอุปกิเลสเล่นงานเอาครบเครื่อง คือ ทั้งเสือก ทั้งซ่า ทั้งหลง ทั้งเป็นตำรวจ และชอบเป็นผู้แทน ผมจะไม่ขอเขียนรายละเอียด สรุปว่าสอบตกตลอด สมเด็จองค์ปฐม ท่านก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนให้ดังนี้
๑. ทรงตรัสถามว่า ระงับความฟุ้งซ่านไม่อยู่หรือ (ก็รับว่าไม่อยู่ ซ้ำร้าย บางครั้งจิตมันคัดค้าน และปรามาสพระรัตนตรัยอย่างไม่มีเหตุผลด้วย) ทรงตรัสว่า ก็เป็นธรรมดาของกิเลสมารแทรก เจ้าก็จงหมั่นขึ้นมากราบขอขมาพระรัตนตรัยให้ทุกครั้ง มีธรรมนิมิตเตือนแล้วให้เจ้าระวังโทสะจริตไว้ให้ดี ๆ จักพาจิตเจ้าหลงทาง เป็นมิจฉาทิฎฐิได้
๒. ราคะเบาลง ปฏิฆะก็จักเล่นงาน เพราะฉะนั้น กรรมฐานแก้อารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง ห้ามทิ้งเป็นอันขาด แล้วจงหมั่นนึกถึงอุปสมานัสสติ อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติพระกรรมฐานทั้งหมดด้วย
๓. ฟุ้งก็ให้รู้ว่าฟุ้งด้วยสาเหตุอันใด แล้วจงหมั่นระงับที่สาเหตุอันนั้น
๔. อย่ากลัวอารมณ์กระทบ เพราะจักเป็นเครื่องวัดทดสอบจิต ว่าปฏิบัติธรรมไปได้ถึงระดับใดแล้ว หากไม่มีอารมณ์กระทบ ไฉนเลยจักทราบอารมณ์หวั่นไหวของจิตตนได้ ธรรมของตถาคตมิใช่สิ่งเนิ่นช้า ยิ่งกระทบมากเท่าไหร่ จักได้ล่วงรู้การปฏิบัติธรรมมีผลหรือไม่มากขึ้นเท่านั้น จักละราคะ ราคะกระทบ จักละปฏิฆะ ปฏิฆะกระทบเป็นเรื่องธรรมดา ทรงสติไว้ให้ดี ๆ กรรมฐานแก้จริตมีอยู่แล้ว ต้องหมั่นใช้ให้ถูกกอง เหมือนดาบคมอยู่ในฝัก ไม่หมั่นลับ ไม่หมั่นซ้อม จักชักออกมาฟาดฟันศัตรู คือข้าศึกกิเลสของใจได้ว่องไวทันการณ์หรือไฉน มัวแต่อืดอาดดาบก็เป็นสนิมเขรอะสิ้นคม สิ้นกระบวนท่าฉะนั้นและเจ้า เข้าใจไหม (ก็ยอมรับว่าเข้าใจ แต่ทำไมตอนนั้นทำไมเราจึงไม่คิดอย่างนี้)
๕. ทรงตรัสว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา จิตเจ้ายังมีกิเลส คบกับกิเลสมานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน จู่ ๆ จักให้ออกจากห้วงกิเลสเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เจ้าจักต้องพยายามกำหนดรู้อารมณ์ของจิต เพียรใช้กรรมฐานแก้อย่างหนัก ไปจนกว่าอารมณ์นั้นถูกละ ถูกวาง ถูกตัดออกไปจากจิตจริง ๆ มันก็ต้องใช้เวลา อย่าใจร้อนให้เสียผลของการปฏิบัติก็แล้วกัน จำไว้ ความใจร้อนคืออารมณ์ปฏิฆะอันหนึ่งนั่นแหละ
๖. ขอให้ระวังอารมณ์ใจร้อนเอาไว้ให้ดี ๆ มันทำให้เสียผลของการปฏิบัติธรรมมามากต่อมากรายแล้ว คิดมันไว แต่ใจมันไม่ได้มรรคผลจริงก็ไม่มีประโยชน์ ต้องใจเย็นคิดใคร่ครวญด้วยปัญญาที่เห็นความจริงตามอริยสัจจนจิตยอมรับ ปฏิบัติไปตามนั้นอย่างมั่นคง แน่วแน่ไม่แปรปรวน นั่นแหละจึงจักเป็นของแท้ ของจริง
จากนั้น หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านก็มาขออนุญาตอบรวม (ผมขออนุญาตตั้งชื่อว่า อารมณ์ปรามาสพระรัตนตรัย) มีความสำคัญดังนี้
๑. เอ็งด่าพระ ตำหนิธรรม ก็เพราะใจร้อนเรื่องพ่อจะกลับเมื่อไหร่ใช่ไหม (ก็ยอมรับว่าใช่ แต่พอมีเรื่องอื่นมากระทบจิตมันเลยพาลเป็น ๒ เท่า เกิดมิจฉาทิฎฐิ แต่ก็สงสัยว่าไม่จริงแล้วพระท่านตรัสทำไม ธรรมอื่น ๆ จริงทุกอย่าง พระท่านคงไม่ทำร้ายจิตเราด้วยเรื่องหลวงพ่อไม่จริงหรอก แล้วพาลไปตำหนิพระท่านว่าทำร้ายเรายังไม่พอ พลอยให้คุณหมอถูกทำร้ายไปด้วย แต่พอได้สติ ก็ทราบว่าอารมณ์จิตของเราเองทำร้ายจิตเราเอง ขาดเมตตาตนเอง จุดไฟเผาใจตนเองตลอด ก็ขึ้นไปกราบขอขมาพระทันที แต่พอเผลอมันก็เอาใหม่อีก ก็กลับขึ้นไปขอขมาอีก พอลงมาก็ด่ามัน มึงอยากลงนรกหรือไง ขนาดท่านสุปพุทธะกุฏฐิ ซึ่งเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เว้นขาดจากการปรามาสพระรัตนตรัย แม้พระอินทร์จะมาทดสอบท่าน ท่านก็สอบผ่านได้ กว่าจะสงบอารมณ์ลงได้ก็แสนยาก)
๒. หลวงพ่อฤๅษีท่านก็หัวเราะ กล่าวว่า ยังรู้เรื่องอยู่ ก็ยังไม่เป็นไร ระวังให้ดี พ่อเคยเป็นมาแล้ว เผลอ ๆ ด่าพระพุทธเจ้าเข้าให้ เอ็งต้องพยายามเบรกอารมณ์ของจิตตัวนี้ให้ดี ๆ อยู่ ๆ มันเกิดอยากด่าพระขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุผล และไม่ทันได้คิดตั้งสติด้วย (ฟังท่านแล้วซักกลัว ถามว่าหากเกิดอารมณ์แบบนี้แล้วจะแก้ไขอย่างไร)
๓. ก็ให้รีบกำหนดรู้ลมหายใจ ควบมรณานุสสติ คิดว่าความตายมันเข้ามาถึงแล้วในขณะนี้ คือขณะเกิดปรามาสพระรัตนตรัย ถามจิตมันว่าเอ็งลงนรกแน่ตายคราวนี้ ให้จิตมันเห็นภาพนรกควบคู่กันไปด้วยเลย รับรองชะงักอยู่ที่ใช้ความตายนี่แหละ จิตมันจะชะงักตีตื้นขึ้นมา ก็ให้รีบจับภาพพระขึ้นกราบขอขมาพระรัตนตรัย มันเกิดบ่อยเราก็ต้องทำบ่อยให้มันชิน จิตจะได้มีกำลังต่อสู้กับอารมณ์ปรามาสพระรัตนตรัย
๔. อย่าท้อถอยเพราะมันเป็นของจริง กิเลสมารมันจะเข้ามาเล่นงานเอ็งทุกอย่าง รวมทั้งขันธมารด้วย ต้องรู้จักแก้ ต้องรู้จักต่อสู้กับอารมณ์
๕. ขันธมารก็เหมือนกัน ปวดตรงไหน เจ็บตรงไหน เอาจิตผ่าออก แยกส่วนออกให้หมด ถ้าระงับไม่ไหว ก็หลบเข้าฌานเสียบ้าง ตั้งใจไว้เลยขันธมารอย่างนี้ ขอทนเป็นชาติสุดท้าย เอ็งตายเมื่อไหร่ ข้าขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น
๖. อย่าไปคิดว่าสำคัญนัก ขันธมารเล่นงานเราได้ก็ตอนที่เรามีร่างกายเท่านั้น ศัตรูหรือข้าศึกตัวสำคัญ คือกิเลสมาร ต้องขจัดมันทิ้งไปจากจิตให้ได้ ร่างกายมันเกิดแล้วก็แก่ เจ็บตาย ไปในที่สุด แต่กิเลสมารถ้าขจัดมันไม่ได้ ร่างกายตายกิเลสมันไม่ได้ตายไปด้วย ตัวนี้ซิสำคัญ มันจะพาเราไปเกิดไปเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสารอีกต่อ ๆ ไป
๗. เอ็งต้องแยกให้ถูก เรื่องของจิตหรือเรื่องของกาย จิตเกาะกายก็ต้องใช้กายคตา, อสุภ มรณาและอุสมา จิตเกาะอารมณ์เลวก็ต้องใช้อริยสัจ วิปัสสนาให้เห็นทุกข์ของอารมณ์นั้น ๆ อันจะส่งผลให้เอ็งต้องโคจรไปตามกรรมนั้น ๆ อีก มโนกรรมนี่แหละ เป็นตัวส่งผลให้เกิดตามภาพตามชาติต่าง ๆ ระวังเอาไว้ให้ดี
๘. การระงับความคิดต้องใช้อานาปา ทำจิตให้มีสติทรงตัวรู้เท่าทันความคิดหรือมโนกรรมนั้น ๆ
๙. แล้วเอ็งก็อย่าใจร้อน ความที่เอ็งใจร้อน ก็คือจิตที่ขาดสติ คือทิ้งอานาปาและมรณานุสสติ เท่ากับประมาทนั่นแหละ ขอให้คิดดี ๆ ผลร้ายของความใจร้อนมันมีมาก ถ้าเกิดตายตอนนั้น เอ็งจะต้องเสียใจ เพราะกิเลสมารยังไม่หมดจากใจ เอ็งก็ต้องจุติไปตามอารมณ์ใจร้อนนั้น
๑๐. จำเรื่องหลวงปู่อี๋เตือนเรื่องความตาย ไม่กำหนดรู้เอาไว้ให้ดี ๆ ประเดี๋ยวเอ็งก็จะเหมือนขึ้นรถ ๒ แถว ที่ออกจากป้ายไปไม่ทันรู้ตัว ไม่รู้จุดหมายปลายทาง
จากนั้น หลวงปู่อี๋ ท่านก็มากับหลวงปู่จง และขออนุญาต สมเด็จองค์ปฐม สอนต่อดังนี้
๑. เอ็งอย่าประมาทในความตาย รู้ลมทุกครั้งให้รู้ความตายไปด้วยทุกครั้ง คนมันตายให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ร่างกายมันมาตามกรรม มันก็ไปตามกรรม เราจะรู้มันได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่กรรมมันจะมาถึง ทำให้ร่างกายมันตาย ตายเมื่อไหร่มันไม่แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือร่างกายมันต้องตาย เพราะฉะนั้นเอ็งจะต้องพร้อมตายอยู่เสมอ รู้ลม รู้ตาย รู้พระนิพพานไปด้วย อันนี้มันจะตัดกิเลสมารทุกตัวได้ชะงักนัก ถ้าเอ็งไม่โง่จนเกินไป
๒. หมั่นคิด หมั่นซ้อม หมั่นทำให้มันเป็นฌาน เป็นได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ เอาแค่ให้จิตมันชิน และยอมรับความพร้อมตาย พร้อมจะไปนิพพานก็แล้วกัน
๓. จำไว้มาถึงขั้นนี้แล้ว รบกับธรรมในจิต จะต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ปากเปียกปากอ่อน ไม่มีใครช่วยเอ็งได้ เอ็งต้องช่วยตัวเอ็งเอง เตือนสติ เตือนใจเอาไว้เสมอ ๆ รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน
๔. อย่าเที่ยวปล่อยจิตให้มันไหลออกไปนอกเส้นทางพระนิพพานให้มากนัก หมั่นดึงจิตเข้าไว้ชักกะเย่อกับความชั่วของจิตด้วยความเพียร อย่าให้จิตขาดจากความดี ชนะความชั่วเข้าไว้จนความชั่วมันขาดจากจิตได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละเอ็งก็ถึงเส้นชัยนิพพานเมื่อนั้น
จากนั้น หลวงปู่จง ท่านก็มาสอนว่า
๑. ความชั่วในที่นี้ คือ กิเลสมารมันชั่ว การมีร่างกายมันก็ชั่ว เพราะอารมณ์จิตมันมีความทะยานอยาก อยากมีร่างกาย ขันธมารมันเล่นงานเราได้ เพราะจิตเกาะในร่างกาย มันชั่วเพราะสภาพของร่างกายมันมีแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนาไม่สมหวัง มีการกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา มันไม่ดี แต่จิตเรามันโง่ไปหลงคิดว่าดี มันมีแต่ความทุกข์ แต่จิตหลงคิดว่ามันมีความสุข
๒. เวลานี้พวกเอ็งมันรู้กันแล้วว่า ทุกข์ของการมีร่างกายมันทุกข์ขนาดไหน ขอให้รู้เอาไว้ก็แล้วกัน
๓. แยกธาตุ ๔ ให้เป็นอาการ ๓๒ อยู่เรื่อย ๆ อย่าทิ้ง เกาะบ้างแกะบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปหลงยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเราเสียสนิทก็แล้วกัน กำหนดรู้ไว้เนือง ๆ ไอ้ซากผีดิบนี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
๔. รู้ไว้เสมอว่า มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตพร้อมที่จะไปจากมันอยู่เสมอ ถ้ามันมีอาการแสดงออกจะแก่ จะเจ็บ จะตาย ก็จงยิ้มรับ รู้เอาไว้เสมอว่า อ้อ มึงก็เป็นอย่างนี้ของมึงเป็นธรรมดา อย่าไปอินังขังขอบมันให้มากนัก เราพร้อมที่จะไปพระนิพพานอยู่เสมอ ๆ
๕. อุปสมานัสสติจับไว้ให้เที่ยง อย่าให้คลาดไปจากจิต จำทำอะไรก็ต้องรู้ พร้อมตาย พร้อมไปพระนิพพานอยู่ตลอดเวลา
จากนั้นหลวงปู่ตื้อ ท่านก็มาสอนว่า ทุกขณะจิตนะโว้ย (ก็นึกในใจว่า ต่อหน้าสมเด็จองค์ปฐม หลวงปู่ยังโว้ยเลย) หลวงปู่ท่านก็กราบองค์สมเด็จแล้วหันมาสอนว่า
๑. ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ในบรรดาพวกท่านที่จิตวิมุติแล้ว ย่อมไม่ติดอยู่ในสิ่งสมมุตินั้น (ก็ยอมรับคำสอนของท่านแต่โดยดี และขอขมาท่านที่คิดตำหนิท่าน)
๒. ไม่เจอกันนาน เอ็งดีขึ้นหรือเลวลง (ยอมรับว่าเลวลง) เออเมื่อยังเลวอยู่ก็หาดีต่อไป ถ้าเอ็งเลิกหาเมื่อไหร่ เอ็งก็เลวเมื่อนั้น
๓. อย่าลืม ขยันหาให้ทุกขณะจิตนะ เวลาทางธรรมมีเวลาเดียว คือ ขณะจิตในธรรมปัจจุบัน ที่เอ็งยุ่งอยู่ทุกวันนี้ เพราะเสือกเอาเวลาที่มันล่วงไปแล้ว เป็นอดีตธรรมบ้าง เอาเวลาที่ยังไม่ถึง เป็นอนาคตธรรมบ้าง ให้มันมาตีรวนอยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน อย่างนี้เขาเรียกว่าโง่หรือฉลาด (ก็ยอมรับว่าโง่)
๔. โง่ซิ เพราะเสือกรู้ไม่เท่าทันสันตติ ขณะจิตมันเคลื่อนไป ธรรมมันก็เคลื่อนไปจิตมันเสือกไปดึงมันเข้ามาเก็บไว้ อย่างนี้เมื่อไหร่มันจะรู้เท่าทันของจริงได้ โง่อย่างนี้ต้องเรียกว่าโง่บัดซบโง่บรรลัย (ก็ยอมรับว่าโง่จริง ๆ)
๕. ไม่ต้องบอกก็รู้ ใครในที่นี้เขารู้หมดว่า เอ็งมันโง่ขนาดไหน เกิดอารมณ์ยึดอดีต ยึดอนาคต แทนที่จะรีบผลักไสมันทิ้งไปจากจิต เสือกไปกอดมันเสียแนบแน่น เสียดายขี้อยู่นั่นแหละ เหม็นตายห่า แล้วยังไม่รู้สึก
๖. มีแต่เขาจะรีบทิ้ง รีบล้างมันออกไป นี่รู้ว่าอารมณ์มันเศร้าหมองก็ยังไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมล้าง ปล่อยให้มันกินใจจนตายหรือไง (ก็ยอมรับท่านทุกข้อหา)
๗. เอ็งไม่ต้องว่าแล้ว ให้รีบทิ้ง รีบล้างความเหม็นของขี้ลูกเดียว มัวแต่เสียดายขี้ ประเดี๋ยวก็ตายเสียก่อนหรอก อยากจะมาพระนิพพานกับเขาบ้าง ถ้าทิ้งถ้าล้างใจไม่เป็น ก็เห็นจะมาได้ยาก พยายามเข้านะ (ก็รับปากท่าน)
จากนั้น สมเด็จองค์ปฐม ทรงแย้มพระโอษฐ์ ทรงตรัสว่า เจ้าจงจำคำสอนนี้ไว้ให้ดี ๆ ทบทวนเสมอ ๆ จิตจักเกิดปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริงของธรรมทั้งปวง

การนอนหลับที่ถูกควรเป็นอย่างไร
เมื่อวันพุธที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า
๑. ทำกรรมฐานได้ผลดีบ้าง - เลวบ้าง อย่างกลุ้มใจ เพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยง
๒. อย่าเอาผลของการปฏิบัติในแต่ละวันแต่ละเวลาไปวัดกัน มันจักทำให้ท้อถอย เพราะจิตมักจะติดดี คือยึดผลของการปฏิบัติดีมาเป็นมาตรฐานของการวัด ซึ่งมันไม่ถูก เพราะขึ้นอยู่กับสุขภาพของร่างกาย ซึ่งแปรปรวนอยู่เป็นปกติ ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต ซึ่งมีอารมณ์แปรปรวนอยู่เป็นปกติ นี่เป็นเพราะตัวอุเบกขายังอ่อนกำลังอยู่ หรือสังขารุเบกขาญาณยังอ่อนไปนั่นเอง
๓. เรื่องการพักผ่อนให้เพียงพอ เจ้าเองก็หาเวลาได้ยากในเมื่อเป็นเช่นนี้ การหลับจักตามปกติในเวลานอน หรือทนไม่ไหวต้องนั่งหลับ ในเวลาที่เจริญพระกรรมฐาน ก็พยายามนึกถึงมรณานัสสติควบอุปสมานัสสติ โดยการปลงอสุภะจนกายเนื้อนั้นเน่าเปื่อยอนัตตาไป เห็นกายแก้ว นั่งหรือนอนหลับอยู่ในวิมานของตนเองที่พระนิพพานก่อนทุกครั้งไป เจ้าทำได้ไหม (ตอบว่า คิดว่าทำได้)
๔. ต้องทำได้ เพื่อความไม่ประมาท จงพิจารณารู้ไว้เสมอ ๆ ว่า การนั่งหลับก็ดี การนอนหลับก็ดี อิริยาบถนี้มีคนตายมาแล้วมากมาย หากไม่ตั้งเข็มทิศให้มุ่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ เจ้าเกิดตายลงในขณะนั้นจักว่าอย่างไร (ตอบว่าย่อมไม่ดีแน่)
๕. พยายามทำบ่อย ๆ จิตจักได้ชิน ขณะที่ก่อนจักหลับทุกครั้ง และให้กำหนดรู้ไว้ว่า ที่เจ้าต้องหลับ เพราะร่างกายมันเสื่อม ไม่หลับมันก็ทนไม่ไหว เป็นความทุกข์
๖. หลับแล้วไม่สบายใจ เพราะไม่ได้ผลของการปฏิบัติ ก็ทุกข์อีก เจ้าก็จงตัดใจ อย่ากลุ้ม ปลงมรณาไปเสียเลยว่า ทุกข์อย่างนี้ขอมีเป็นชาติสุดท้าย ถ้าหากกายมันตายไปในขณะหลับ ก็ขอไปพระนิพพานจุดเดียว (หมายความว่าการนอนหลับ ก็ขอเป็นครั้งสุดท้าย เป้าหมายคือนิพพานจุดเดียว)
๗. อย่าลืม การปฏิบัติต้องพร้อมทั้ง ๔ อิริยาบถ คือ ยืน - เดิน - นั่ง - นอน และทำกิจการงานใด ๆ ก็ยกให้เป็นพระกรรมฐานหมด กายส่วนกาย จิตส่วนจิต ต่างฝ่ายต่างทำงานควบคู่กันไปทั้งทางโลกและทางธรรม
๘. อย่าลืมรักษาอารมณ์ของจิตเอาไว้ให้ดี ๆ อย่าให้ไหลขึ้นไหลลงมากนัก จิตเหนื่อยจักพลอยทำให้กายเหนื่อยไปด้วย กล่าวคือหมดกำลังใจนั่นเอง จุดนี้ระมัดระวังเอาไว้ให้ดี ๆ อย่าให้เกิดแก่จิตเป็นอันขาด

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๖



อริยสัจ แปลว่าของจริง
ในวันต่อมา(พฤหัสที่ ๑ ก.ค. ๒๕๓๖) สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า
๑. ศึกษามาตั้งนาน เพิ่งรู้ว่าเป็นอริยสัจหรือ (ก็ยอมรับว่า ใช่)
๒. จอมโง่ เจ้าจงรู้ไว้ว่า แม้คำสอนที่ตถาคตและพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ทุก ๆ องค์มาสงเคราะห์เจ้านั้นก็เป็นอริยสัจทั้งสิ้น (เพื่อนของผมท่านก็ตกตะลึง เพราะคาดไม่ถึง)
๓. สิ่งใดที่ตถาคตตรัส สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง อริยสัจแปลว่าของจริง พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นก็เป็นของจริง พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็อาศัยอริยสัจบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณกันเหมือนตถาคตทั้งสิ้น จิตเมื่อเข้าถึงอริยสัจขั้นสูงสุด กล่าวคือ ถึงความเป็นอรหัตผล เห็นทุกข์ ยอมรับและวางทุกข์หมดทุกอย่าง จิตก้าวถึง สมุทัย - นิโรธ - มรรค แล้วก็สิ้นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะยอมรับอัตภาพร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วต้องแก่-เจ็บ-ตาย มีการกระทบกระทั่งอารมณ์ มีความปรารถนาไม่สมหวัง มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ
๔. เมื่อจิตท่านยอมรับตามอริยสัจนี้ เหตุแห่งทุกข์อันเกิดแก่ร่างกายเกิดขึ้น ท่านก็เคารพในกฎของกรรมเป็นธรรมดาฉะนี้ไม่หนีแล้ว เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เป็นสิ่งปกติธรรมดา อารมณ์จิตของท่านสบาย คลายจากสังโยชน์อันเป็นเครื่องร้อยรัดอย่างสิ้นเชิง อารมณ์เป็นสุขมุ่งเฉพาะพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น พูดมาแค่นี้เจ้าเข้าใจอริยสัจหรือยัง (ก็ยอมรับว่าเข้าใจแล้ว)
๕. เข้าใจแล้ว แต่ก็ต้องศึกษาให้เข้าถึงใจต่อ ๆ ไปด้วย เพราะเจ้ายังมีสังโยชน์ ๗ ประการ เป็นเครื่องร้อยรัด จงหมั่นรู้ทุกข์ (กำหนดรู้) รู้โทษแห่งสังโยชน์นั้น ๆ ให้พึงเห็นอริยสัจ วางกรรมทั้งปวงลงได้ตามลำดับเถิด
๖. ขอจงอย่าลืมตัว ทะนงตนว่า เป็นผู้รู้ เพราะตราบใดที่ยังไม่สิ้นสังโยชน์ จงสำนึกตนไว้เสมอว่า จิตเจ้ายัง เป็นผู้ชั่วอยู่ เพราะจิตยังถูกสังโยชน์ร้อยรัดให้จุติอยู่ แม้อัตภาพยังไม่สิ้น จิตเจ้าก็ยังเกิดอารมณ์อยู่เนือง ๆ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
๗. อย่าคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด ให้หมั่นโจทย์จิตเอาไว้เสมอ ๆ เมื่อยามที่เกิดอารมณ์ว่านี่เลว นี่ชั่วไปเสียแล้ว ห้ามปรามอารมณ์ข่มจิตเข้าไว้ให้รู้
๘. มีสติอยู่เสมอ ๆ ว่านี่ไม่ใช่หนทางจักไปพระนิพพาน (ก็คิดว่าตัวเองได้พยายามห้ามแล้ว แต่บางขณะก็ยังยับยั้งอารมณ์ของจิตตนเองไม่อยู่)
๙. ทรงตรัสว่า กรรมฐานแก้จริตยังอ่อนเกินไป อานาปานัสสติหย่อนไป จิตจึงไม่มีกำลัง เจ้ามักจักเผลอลืมลมหายใจเข้า-ออกไปเป็นประจำ ก็เหมือนทหารรบแนวหน้าที่ทิ้งฐานกำลังวิ่งออกไปเสี่ยงอาวุธข้าศึกโจมตีตามลำพัง มีแต่ตายกับพิการเท่านั้นเป็นของกำนัล หาประสบกับชัยชนะต่อข้าศึกไม่ ฉันนี้ก็ฉันนั้น อานาปานัสสติเป็นเกราะป้องกันข้าศึกโจมตีที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจักเป็นฌานหรือสมถะ - วิปัสสนาก็ต้องอาศัยการรู้ลมหายใจเข้า - ออก เป็นฐานกำลังทั้งสิ้น
๑๐. เพราะฉะนั้น จงหมั่นทรงอารมณ์อานาปานัสสติให้ดี ๆ เพราะเป็นกำลังใหญ่ของการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เอาล่ะเมื่อเจ้าเข้าใจพอควรแล้ว ก็จงเพียรนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย

เรื่องเวลาทางธรรมมีอยู่ขณะจิตเดียว
คือ ธรรมปัจจุบัน
ในวันต่อมา คือ ศุกร์ที่ ๒ ก.ค. ๒๕๓๖ เพื่อนของผมท่านเล่าว่า ขณะที่กวาดวัดอยู่คนเดียว ก็เอาพระธรรมคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติ คือ เอากายทำงานทางโลก แต่เอาจิตอยู่กับพระธรรม ใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ทำให้เห็นกฎของกรรม ซึ่งเป็นอริยสัจขั้นสูง พยายามให้จิตยอมรับว่า ทุกสิ่งที่เข้ามากระทบทางทวารทั้งหก พยายามให้จิตยอมรับว่า ทุกสิ่งที่เข้ามากระทบทางทวารทั้งหก (อายตนะ ๖) ล้วนเป็นของธรรมดา จิตเลยไม่ดิ้นรนและเป็นสุข การปฏิบัติในเช้าวันนั้น เริ่มต้นด้วยอานาปา พร้อมกับจับภาพพระ ๔ องค์ตามที่สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสแนะนำไว้ คือ องค์ปฐม, องค์ปัจจุบัน หลวงพ่อปานและหลวงพ่อฤๅษี เมื่อ ๒๗ มิ.ย. ๒๕๓๖ มีต้นเหตุมาจากเพื่อนผมท่านเจริญพระกรรมฐานแล้วเกิดความกลัว เพราะตนเองโง่ จึงเกิดมานานแสนนาน จึงเกรงว่าอารมณ์โง่หรือมิจฉาทิฎฐิที่เกาะจิตมานาน จะให้ผลกับตนในชาติปัจจุบัน พระองค์จึงทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า
๑. ถ้าเจ้ายังกลัวเลวอยู่ ก็แสดงว่าจิตยังพอมีความดีอยู่บ้าง แต่เวลาใดที่ไม่มีความกลัวเลว จิตคิดว่าตนเองดีเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเจ้าจักเป็นคนเลวอย่างแท้จริง
๒. เอาอย่างนี้ซิ จับภาพพระ ๔ จุด ภาวนานิพพานไปให้ชินจิตเห็นตถาคตคุมกายอยู่ภายนอก เห็นองค์สมเด็จปัจจุบันประทับนั่งอยู่ในสมอง เห็นท่านปานนั่งอยู่ในอก เห็นท่านฤๅษีนั่งอยู่เหนือฐานสะดือ - ภาวนาไป จับภาพไล่ขึ้น ไล่ลง วนไป วนมา ให้จิตทรงตัว
๓. และผมจำได้ว่า ทรงตรัสไว้อีกตอนหนึ่งความว่า ไปไหนจงอย่าไปคนเดียวให้ไปกับพระ ๔ องค์
องค์ที่ ๑ คือ ตถาคตให้คุมกายเธอไว้ภายนอก
องค์ที่ ๒ คือ สมเด็จองค์ปัจจุบัน ให้ประทับอยู่ในสมอง หรือบนศีรษะก็ได้
องค์ที่ ๓ คือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เอาไว้ที่ฐานหน้าอก
องค์ที่ ๔ ท่านฤๅษี เอาไว้ที่ฐานเหนือสะดือ
ในวันนี้ หลวงพ่อปาน ท่านก็มีเมตตามาสอนว่า
๑. อย่าให้เวลาทางโลกมันมาทำลายการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน เวลาทางธรรมมีอยู่ขณะจิตเดียว คือธรรมปัจจุบัน ร่างกายจะทำอะไรอยู่ก็ช่าง อย่าร้อนใจ
๒. งานของร่างกายเปลี่ยนไปตามสภาวะของโลก ตามเวลาของโลก แต่อย่าร้อนใจให้งานทางจิต คือรู้ธรรมปฏิบัตินั้นเสียหายไป แยกส่วนออกมาให้ได้ อกาลิโก จึงจะเกิดขึ้นได้
๓. จะพูดอยู่ จะกินอยู่ จะนอนอยู่หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม นึกถึงภาพพระ กำหนดรู้ลมหายใจเอาไว้เสมอ และรู้สภาพตามความเป็นจริงของร่างกายนี้ไว้เสมอ ทำให้ชิน จิตจะได้เป็นสุข มรรคผลมันเกิดตรงที่เห็นของจริง เห็นอริยสัจนี้ จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้
๔. พระโสดาบันที่ได้ชื่อว่าเข้าถึงโลกุตรธรรม เพราะมีศีลบริสุทธิ์และเห็นอริยสัจของร่างกายว่าต้องตาย ยอมรับนับถือความตาย และมีความเคารพ พระพุทธ - พระธรรม - พระอริยสงฆ์มั่นคงไม่คลอนแคลน เพราะธรรมของรัตนะทั้ง ๓ นี้ พ้นโลกแล้ว
๕. พระสกิทาคามีไม่พูดถึง อย่างพระอนาคามีท่านเห็นทุกข์และโทษของอารมณ์ราคะและปฏิฆะ ซึ่งเป็นตัวนำให้เกิด เมื่อตัดระงับได้ท่านก็ไปเป็นพรหม ต่อบุญบนนั้นเข้าถึงพระนิพพานเลย
๖. สำหรับพระอรหันต์ ท่านเห็นทุกข์ว่าพรหมก็ยังไม่จบกิจ ก็ตัดตัวอวิชชาทิ้งไปเสีย จนหมดกิจที่จะทำต่อไป อริยสัจมันมีเป็นขั้น ๆ อย่างนี้ เอ็งเห็นแล้ว แม้เป็นสัญญา ก็จงนำไปปฏิบัติให้เกิดปัญญา ให้เกิดความชำนาญด้วย (ก็รู้สึกอยากมีอารมณ์แบบนี้ และให้ทรงตัวจะได้สบายและเบา)
๗. ก็ทำจิตให้เป็นฌานซิ ทำให้บ่อย ๆ จิตมันก็จะสงบเยือกเย็นได้ แล้วใช้พรหมวิหาร ๔ คุม ทีนี้อะไร ๆ ก็จะสบายไปหมด
๘. เอ็งไปดูและศึกษาบทกรณีเมตตายสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ซิ ในนั้นมีข้อคิดให้นำมาปฏิบัติ ถ้าทำได้อย่างต่ำก็เป็นพระอนาคามี อย่างสูงก็เป็นพระอรหันต์

พรหมวิหาร ต้องเต็มทุกข้อ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ก.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสให้ดังนี้
๑. หมั่นเอาจิตจดจ่อ พิจารณาพรหมวิหาร ๔ ให้เนือง ๆ ด้วย พยายามให้เกิดแก่อารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ เมตตาภายในให้เต็มเสียก่อน จึงค่อยคิดเมตตาออกภายนอก
๒. ที่จิตของเจ้ามีความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ เพราะพรหมวิหาร ๔ อ่อน ไม่เมตตาจิตของตนเอง จึงยังอารมณ์ให้เบียดเบียนตนเองอยู่เสมอมิได้ขาด เจ้าจงอย่าทิ้งกรรมฐานบทนี้ พยายามทำควบคู่ไว้กับมรณาและกายคตา และอสุภะ และอุปสมา โดยอาศัยอานาปานัสสติเป็นพื้นฐานยังจิตให้มีกำลัง
๓. การพิจารณาก็ต้องให้เห็นทุกข์ อันเกิดจากอารมณ์เบียดเบียนจิตของตนเอง อันมีสาเหตุมาจากพรหมวิหาร ๔ ไม่ทรงตัว ขาดกรรมฐานบทนี้ตัวใดตัวหนึ่งใน ๔ ตัว จิตของเจ้าก็ไม่พ้นจากอารมณ์ที่เบียดเบียนตนเอง และไม่พ้นจากอารมณ์ที่ไปเบียดเบียนผู้อื่น แล้วไม่พ้นจากโลกธรรมที่เข้ามากระทบอารมณ์ของจิต
๔. การขาดพรหมวิหาร ๔ หรือทรงพรหมวิหาร ๔ ไม่ครบทุกตัว ธรรมแห่งการถูกเบียดเบียน ก็จักกระทบเข้ามาเป็นลูกโซ่ปานฉะนี้ ขอให้พวกเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ๆ จักได้เป็นแนวทางปฏิบัติ ทำพรหมวิหาร ๔ ให้เต็มได้
๕. แล้วอย่าทิ้งอิทธิบาท ๔ เสียล่ะ จรณะ ๑๕ ก็ต้องทรงให้ครบ ใช้วิชชาทั้ง ๘ คือญาณทั้ง ๘ หรือมโนมยิทธินั้นกำหนดรู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นเครื่องประกอบศึกษาธรรมหมวดพรหมวิหาร ๔ ไปด้วย จักได้รู้ว่า ผลของการขาดพรหมวิหาร ๔ มีผลส่งทำให้เกิดกรรมเช่นใด และจักได้รู้ผลของการรักษาพรหมวิหาร ๔ ถ้าครบอนาคตจักเป็นเช่นใด และรู้ผลของจิตปัจจุบันบันที่กำลังทำความเพียรอยู่ในขณะนี้ มีอารมณ์เช่นใด
๖. ทำไปรู้ไป อย่าทำเหมือนคนดำน้ำ หรือคนเอาผ้าดำมาผูกตา ทำมันส่งไปไม่รู้ว่าจิตมีพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตหรือไม่ และจงอย่าเข้าข้างอารมณ์กิเลสที่หลอกตัวเองว่าพรหมวิหาร ๔ ของเรามีเต็มแล้ว
๗. จำไว้ตราบใดที่จิตยังถูกสังโยชน์ ๑๐ ร้อยรัดอยู่ในอารมณ์ ตราบนั้นห้ามพวกเจ้าคิดว่าพรหมวิหาร ๔ เต็มเป็นอันขาด
๘. อารมณ์ที่เบียดเบียนจิตให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าจักมีอามิสก็ดี หรือเป็นธรรมารมณ์เข้ามากระทบก็ตาม จงกำหนดรู้ และศึกษาวัดกำลังของพรหมวิหาร ๔ ตามนั้น ถ้าหากยังยินดี ยินร้าย ยึดสุข ยึดทุกข์ ทำอารมณ์จิตให้หวั่นไหวนานเท่าไหร่ ก็ขาดพรหมวิหาร ๔ นานเท่านั้น จุดนี้ต้องกำหนดรู้ให้ดี ๆ
๙. และจงอย่าแก้ไขธรรมภายนอกที่เข้ามากระทบเป็นอันขาด จงหมั่นแก้ที่จิตของตนเอง ดูอารมณ์ของจิตตนเองให้ดี ๆ แก้ไขที่ตรงนี้จึงจักมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักธรรมที่ตถาคตตรัสสอนมา (เพื่อนผมท่านก็ยอมรับว่า ในอดีตตนมักชอบแก้ไขธรรมภายนอก, ชอบโทษผู้อื่น แทนที่จะโทษอารมณ์จิตตนเองว่าไม่เอาไหน เช่น ชอบยึดโลกธรรมที่มากระทบ ไม่ยอมรับกฎของกรรม ไม่ยอมรับกฎของธรรมดา และไม่เข้าใจอริยสัจตามความเป็นจริง)
๑๐. ทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วตรัสสอนว่า ดีแล้วที่เจ้าเริ่มรู้สึกตัว ตราบนี้ให้หมั่นปรับปรุงอารมณ์ของจิต ให้ดูตนเองเป็นสำคัญ ให้แก้ไป กล่าวโทษโจทย์ตนเป็นสำคัญ อย่าไปโทษบุคคล สัตว์ วัตถุธาตุภายนอก ต้องโทษจิตตนเองเป็นสำคัญ ที่อยากมีร่างกายให้เกิดมารับกฎของกรรมเหล่านี้
๑๑. รู้กฎธรรมดาแต่อย่าทำจิตให้เศร้าหมอง ทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุเบกขาตัวท้าย จักทำให้จิตยอมรับกฎของกรรมได้โดยสงบ เมื่อเข้าใจแล้วก็จงหมั่นนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกันยายน ๒๕๓๖



ธรรมชาติแสดงธรรมะ
เป็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ ก.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ท่านได้ยินเสียงหญิงที่อยู่ข้างห้องพักของท่านบ่นว่า อากาศวันนี้มันร้อนมาก แต่ฝนก็ไม่ยอมตก เมื่อนำคำพูดของเขา มาพิจารณาเป็นธรรม โดยอาศัยคำสอนของ หลวงปู่หลุย ที่ว่า ความจริงธรรมชาติเขาแสดงธรรมะ เป็นไตรลักษณ์อยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพัก แต่คนไม่เห็น เมื่อจิตเรานึกถึงท่าน ท่านก็เมตตามาปรากฏให้จิตเราเห็นและสอนว่า
๑. ใช่ ธรรมะท่านแสดงอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่เห็นธรรม และเข้าใจในธรรมตามความเป็นจริงสักกี่คน
๒. ยิ่งอารมณ์จิตไม่เที่ยง ก็ยิ่งทุกข์ไปตามสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ ใครจะเห็นธรรมหรือไม่เห็นธรรม ก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวเราจะต้องเห็นธรรมนั้น และเข้าใจธรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะหากจิตเราไม่เที่ยงเท่าไหร่ ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นกับจิตเราเท่านั้น จิตมันหวั่นไหวไปกับความไม่เที่ยงด้วยไฟ ๓ กอง คือ ไฟโลภ - โกรธ - หลง เป็นการทำร้ายตนเอง เบียดเบียนตนเอง เพิ่มทุกข์ให้กับตนเองโดยตรง
๓. อารมณ์ของใครก็ไม่สำคัญ เท่ากับอารมณ์จิตของเราเอง ที่ยังหวั่นไหวอยู่ด้วยไฟภายใน ๓ กอง ดังนั้น จงพยายามแก้ไขอารมณ์ที่จิตของเราเป็นสำคัญ อย่าไปพยายามแก้ไขอารมณ์ที่จิตของผู้อื่น
๔. การดับไฟที่มีเชื้อ ต้องดับที่ต้นเหตุ อย่าไปดับที่ปลายเหตุ เรื่องอื่น ๆ อย่าไปสนใจ ให้รีบแก้ไขอารมณ์ร้ายของจิตเราเองก่อน เช่น เรื่องความวิตกเกี่ยวกับเรื่องท่านพระมหาวีระ จะกลับหรือไม่นั้น เอ็งอย่าเพิ่งเอาจิตไปจับ ปล่อยวางทิ้งไปก่อน ลืมมันเสีย คิดไปก็ทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นการบั่นทอนกำลังของจิตให้คลอนแคลน ไม่มีแรงจะต่อสู้กิเลสได้
๕. เอ็งต้องระงับตัดอารมณ์นี้ทิ้งไป ไม่เช่นนั้นการปฏิบัติธรรมก็จะไม่มีผล มาพูดถึงแนวการละอารมณ์โกรธ - โลภ - หลงที่เข้ามาสิงอยู่ในจิตดีกว่า เอ็งมันเป็นคนเกิดนาน เรียกว่ามีญาติมาก และเวลานี้ พระท่านตั้งแต่สมเด็จองค์ปฐมลงมาจนถึงพระอริยสาวก ท่านตามสงเคราะห์เอ็ง เพราะความเป็นญาติอันนี้
๖. แต่ยังก่อน เอ็งต้องคิดถึงหลักของความเป็นจริง การเกิดการตายทุกครั้ง คนเราไม่ได้สร้างกรรมดีเสมอไป อารมณ์ที่เป็นอกุศลมักจะเข้าสิงจิต ให้ทำกรรมชั่วเสียมากกว่ากรรมดีหลายร้อยหลายพันเท่านัก เพราะจิตที่ยังต้องจุติอยู่นั้น ต่างก็ยังมีอารมณ์ของไฟโมหะ - โทสะ - ราคะ เข้าครอบงำ ให้ทำกรรมอันเนื่องจากอารมณ์ทั้ง ๓ นั้น สร้างกรรมชั่วสืบต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
๗. เพราะฉะนั้นจงคิดไว้เสมอว่า การมีญาติมากยังไม่สำคัญเท่ากับการมีศัตรูมาก ศัตรูมาจากไหน ก็มาจากการสร้างเวรต่อกรรมของตัวเราเองในชาติก่อน ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีกรรมอันเป็นอกุศลมากระทบจิต ไม่ทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ดี ก็จงรู้ไว้เถิดว่า นั่นเป็นกฎของกรรมที่ตัวเราทำเอาไว้ในอดีตเข้ามาตอบสนอง
๘. ดังนั้น การแก้ไขอารมณ์ถูกกระทบ ก็ต้องสำรวมมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ให้สงบเข้าไว้ อย่าไปต่อกรรมกับบุคคลผู้อื่นที่เข้ามากระทบเป็นอันขาด ใหม่ ๆ อาจจะเผลอบ้าง แต่ต้องเพียรเอาสติคุมอารมณ์ของจิตเข้าไว้ เราจะไม่มีศัตรูกับใครอีก ทั้งกาย วาจา ใจ และพยายามจะสงบอารมณ์ไม่เป็นศัตรูกับจิตของตนเอง ไม่ทำร้ายจิตของตนเอง ตั้งใจมีอภัยทานเข้าไว้ ให้กับอารมณ์จิตของตนเองอยู่เสมอ โดยการปล่อยวาง ระงับ หรือตัดอารมณ์ร้ายที่เป็นไฟโมหะ-โทสะ-ราคะ ไปเสียจากจิต โดยความตั้งใจจริง
๙. ศัตรูภายนอกมาทวงหนี้คืน ก็ชดใช้เขาไป จิตเรามีแต่อภัยทาน ประกาศความเป็นมิตรอยู่ในจิตตลอดเวลา ศัตรูภายในคืออารมณ์ใจร้ายที่ร้อนไปด้วยไฟภายใน ๓ กองนี้ เราก็พยายามเลิกถอนความเป็นศัตรูนี้ให้ออกไปเสียจากจิต ประกาศอิสรภาพของจิตให้เป็นไทมากขึ้นตามลำดับ อารมณ์เกิดก็พยายามระงับตัดทิ้งไป เพื่อเป็นชัยชนะแก่จิตตนเอง หาความเที่ยงที่หมดทุกข์ให้แก่จิตของตนเอง
๑๐. พยายามเข้านะลูก หนีศัตรูไปอยู่กับญาติที่พระนิพพานดีกว่า เคารพในกฎของกรรมเข้าไว้ จิตจะไม่ต่อกรรมไป ตำหนิกรรมนอกตัวให้เป็นโทษ ให้เป็นทุกข์อีก หยุดโทษภายนอกหันมาโทษจิตของตนเอง แก้ไขตรงจิตของตนเอง มันชั่วมาก ร้ายมาก แก้ไขให้ได้ เพียงจิตสงบและเที่ยงที่อารมณ์จะไม่เกิดอีก ด้วยไฟ ๓ กองเท่านี้ เองก็สามารถไปนิพพานได้ พบญาติอยู่กับญาติอย่างเป็นสุข ดีกว่าพบศัตรูอยู่กับศัตรูมีแต่เป็นทุกข์
๑๑. อ้อ อย่าลืมศัตรูภายนอกมี ศัตรูภายในคืออารมณ์จิตร้อนไปด้วยไฟมี แต่อย่าลืมศัตรูตัวร้ายคือร่างกายตัวเอง ที่จิตมันหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่นี่ซิจงอย่าลืม นี่แหละตัวยึดมั่นถือมั่น อะไรมากระทบร่างกายเป็นไม่ได้ ไฟ ๓ กองลุกไหม้จิตทุกที อย่าลืมเอามรณานุสสติ กายคตานุสสติ อสุภกรรมฐาน ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ลงด้วย ศัตรูร้ายตัวนี้เผลอเมื่อไหร่ หลงมันมากทุกที คิดว่าเป็นเราเป็นของเราทุกที ตัวนี้อันตรายอย่างใหญ่หลวง อย่าลืม

ธัมมวิจัย
๑. อ่านแล้วพิจารณาคำสอนของหลวงปู่หลุยแล้ว จะพบว่า หลวงปู่ท่านเมตตาสอนพวกเราหลายเรื่อง อันแรกคือธรรมชาติแสดงธรรมเป็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา
๒. แสดงเรื่องกฎของกรรม อันเป็นอริยสัจเบื้องสูง พวกเราเกิดตาย ๆ กันมานับชาติไม่ถ้วน จึงมีญาติเยอะ (เป็นยุ้ย ญาติเยอะ) เพราะกฎของกรรมที่มีกรรมผูกพันกันมาในอดีต จึงมีพระตั้งแต่สมเด็จองค์ปฐมลงมาจนถึงพระอริยสาวก ตามมาสงเคราะห์ให้ เพราะความเป็นญาตินี่แหละ (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุทั้งสิ้น)
๓. ในอดีตพวกเราทำกรรมชั่วมากกว่ากรรมดี ซึ่งจริง ๆ แล้ว มิใช่เป็นพันเท่า ท่านพูดเอาใจพวกเราเท่านั้น สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสว่า ความดีที่พวกเจ้าทำไว้ มีประมาณเพียงเท่าขี้เล็บ แต่ความชั่วที่พวกเจ้าทำไว้ มีปริมาณเท่ากับขุนเขาทีเดียว เราเคยเอามาคิดกันบ้างหรือเปล่า เพราะขณะชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เราพยายามปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ คือ ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ เราก็ยังเผลอคิดชั่วกันวันละกี่ร้อยครั้ง หรืออย่างเบา ๆ ก็กี่สิบครั้ง แล้วในอดีตจะขนาดไหน
๔. เรื่องศัตรูภายนอกและภายใน นาน ๆ จึงจะมีศัตรูภายนอกตามมาให้ผลสักที แต่ทุกวันเราเผลอคิดชั่วอันเป็นศัตรูภายใน เราเผลอกันวันละกี่หน จนพระองค์ทรงตรัสว่า วันหนึ่ง ๆ ไม่มีใครมาทำร้ายเธอได้มากเท่ากับอารมณ์จิตของเธอเอง ทำร้ายจิตของเธอเอง เป็นต้น ผมขอธัมมวิจัยไว้แค่ตัวอย่างเท่านั้น

เรื่องที่เป็นสาระและไม่ใช่สาระ
พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงพระเมตตามาสอนให้ที่วัดท่าซุง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ ก.ย. ๓๕ มีความสำคัญดังนี้
๑. ผู้ใดเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ คือ ผู้ประเสริฐ ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระเป็นสาระ ผู้นั้นยังเป็นคนโง่อยู่
๒. การเลือกเฟ้นธรรมะที่เป็นเนื้อหาสาระนั้นควรทำ เพราะจักทำให้กำลังของวจีกรรม และมโนกรรม ควบคุมได้ โดยรู้จัก ใช้หลัก นิสัมมะ กะระณัง เสยโย (ใคร่ครวญเสียก่อนจึงทำ)
๓. การมุ่งพิจารณาโดยมุ่งเอาแต่เนื้อหาสาระ ตัดธรรมประกอบที่ไม่เป็นประโยชน์ทิ้งไป ทำให้จิตรู้จักแยกแยะสิ่งที่ควรหรือไม่ควรออกจากกันได้
๔. สติ ปัญญาเกิดขึ้นได้ ก็ที่ตรงนี้ กล่าวคือรู้สาระว่าเป็นสาระ รู้ไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เมื่อทำบ่อย ๆ พิจารณาบ่อย ๆ จิตก็จักชิน เลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระนั้นมาประพฤติปฏิบัติ
๕. ในที่สุดมโนกรรม หรืออารมณ์ของจิต ก็จะตัดสิ่งฟุ้งซ่าน หรือสิ่งที่ไม่เป็นสาระออกไปได้อย่างรู้เท่าทัน เมื่อมโนกรรมไม่ฟุ้งซ่านแล้ว วจีกรรมก็ถูกควบคุมด้วยจิต การพูดเรื่องไร้สาระก็จะไม่เกิด นิสัมมะ กะระณัง เสยโย ก็จะเกิดขึ้นอยู่ประจำจิต เห็นธรรมอันควรคิด ควรพูดอยู่ในจิต เห็นไปจนกระทั่งธรรมนี้เหมาะสมกับผู้ใด ธรรมนี้ควรกล่าวหรือไม่ควรกล่าวกับผู้ใด เห็นผลของธรรมได้แจ่มชัดว่า ธรรมนี้หรือธรรมนั้น ถ้าให้ตกแก่ผู้ใดแล้ว จักมีผลตามธรรมนั้น ๆ ได้หรือไม่ วาจาที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ จักถูกจิตควบคุมโดยอัตโนมัติ
๖. อย่างคุณหมอจักแสดงธรรม พึงรู้จริตของผู้ฟังธรรมด้วย แม้ธรรมนั้นจักมีประโยชน์ มีสาระล้ำค่า แต่จริต-อุปาทานของผู้รับฟังธรรมนั้นรับไม่ได้ ก็หาได้เกิดประโยชน์ เกิดสาระแก่ผู้รับฟังได้ อย่าสักแต่ว่าพูดโดยอุปาทานของจิตว่า ธรรมนี้เป็นของดี ควรให้เป็นธรรมทานแก่ผู้อื่นไปปฏิบัติบ้าง
๗. อย่าลืมศึกษาจริตของผู้ฟัง ให้รู้กำลังบารมีธรรมเอาไว้บ้าง ถ้าสงเคราะห์ผู้ใดแล้วไม่เห็นผล ก็จงอย่าทำ ตถาคตไม่เคยสอนผู้ใดแล้วไม่เห็นผลมาก่อนเลย แม้ตรัสกาลามสูตรก็ยังเล็งเห็นผล ซึ่งตกแก่ผู้ศึกษาธรรมรุ่นหลัง ได้รู้จักหลักเปรียบเทียงธรรมในการฟัง การรู้ การเห็น อย่างชัดเจน
๘. คุณหมอมิควรทำการสงเคราะห์ให้เหนื่อยเปล่า ถ้าจักเล็งเห็นประโยชน์อันใดมิได้ แม้นเจ้าก็เช่นกัน (ทรงเน้นสอนเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมของหมอโดยเฉพาะ) พึงหลีกเลี่ยงการสนทนาอันหาสาระมิได้ให้มาก ๆ เถิด เอาเวลานั้นมาเกาะติดในสมถะและวิปัสสนาดีกว่าเป็นไหน ๆ สิ่งใดที่จำเป็นต้องพูด ก็จงพูดโดยธรรม ไม่ต่อความยาวสาวความยืดไปไหน ๆ ให้วจีฟุ้งซ่าน ให้จิตฟุ้งซ่าน เพราะธรรมทั้งหลายที่เป็นมรรค ผล นิพพาน อุปสรรคข้างหน้ายังมีอีกยาวนาน กาลเวลาไม่คอยใคร ชีวิตของกายสังขารไม่คอยใคร
๙ ถ้าไม่พยายามหาเวลาให้แก่ชีวิต เพื่อศึกษาธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานด้วยตนเองแล้ว ใครที่ไหนจักมาช่วยเจ้าได้ พุทโธ-ธัมโม-สังโฆ อัปปมาโณก็จริงอยู่ ธรรมะเป็นปัจจัตตัง ไม่รู้ด้วยตนเองแล้ว ใครอื่นจักมาช่วยให้รู้ได้
๑๐. อย่ามัวเมาอยู่ในความคิด ในคำพูด เห็นสิ่งสาระภายนอกว่าเป็นแก่นสาร แทนที่จะเห็นสิ่งสาระภายในว่าเป็นแก่นสาร มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นได้ด้วยสาระภายใน ที่จิตของเรา ทำแก่นสารสาระภายในให้เกิดก่อน อย่าเพิ่งพะวงทำจิตให้หลงไปในสิ่งสาระภายนอก เพราะนั่นไม่ใช่ของแท้
๑๑. จงทำธรรมภายในให้เกิดก่อน ธรรมภายนอก เรื่องใครเรื่องมัน พูดได้ก็เท่าแต่ที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็จงอย่าพูด เอาจิตจับคำภาวนาไว้ดีกว่า เอามรรคผลนิพพานไว้ดีกว่า เข้าใจไหม
๑๒. คำว่าพูดโดยธรรม หมายถึง ถ้าจำเป็นก็ต้องพูด พูดอย่างมีสาระในธรรม อย่างคนที่รู้จักกัน ปะหน้ากัน ก็จำเป็นต้องทักทาย คือ กรรมมันผูกพัน ก็ต้องพูดโดยกรรมอันผูกพันนั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องกล่าว คือ ไม่รู้จักกัน ก็ไม่มีกรรมผูกพันกัน ธรรมที่จักพูดก็ไม่มี
ทรงพระเมตตาสอนเรื่อง อุปาทานของคนเกี่ยวกับอาหาร ให้กับเพื่อนปฏิบัติธรรมของผมต่อ มีความสำคัญดังนี้
๑. คนมักถวายอาหารที่ตนชอบให้กับพระ เพื่อฉัน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่าตำหนิเขา (เขาถวายอาหารตามอุปาทานของเขา) หลวงพ่อต้องการสอนเจ้า ให้ได้รู้และศึกษาถึงอุปาทานของคนเกี่ยวกับอาหาร เพราะยังติดอยู่ในรูป กลิ่น รส สี เป็นธรรมารมณ์ของจิต จิตยังละอารมณ์ทั้งหลายในจริต ๖ ไม่ได้ จึงเท่ากับยังติดอุปาทานในสัมผัสทั้ง ๖ หรือยังคิดว่ากามคุณ ๕ เป็นของดี เมื่อคิดว่าดีเขาก็ทำตามอุปาทานนั้น ๆ การไปว่าเขาก็เท่ากับเราไม่รู้กรรม ไม่ยอมรับกรรม ก็เขายังไม่หมดกรรม ไม่หมดอุปาทาน เขาก็ต้องทำกรรมตามที่เขาคิดว่าดีนั้นเป็นธรรมดา
๒. การปรุงอาหารถวายพระก็เช่นกัน คนเราไม่สิ้นอุปาทาน ไม่สิ้นกรรมเรื่องที่จะวางกรรมได้นั้นไม่มี แต่กรรมที่ทำอาหารถวายพระนั้นเป็นกรรมดี เราจึงไม่ควรไปตำหนิเขา ต้องดูเจตนาเป็นสำคัญ เขาได้บุญ แต่เราได้บาปในวจีกรรม
๓. ที่หลวงพ่อปรารภธรรมนี้บ่อย ๆ ก็เพื่อให้ได้ศึกษาธรรมอันเป็นอุปาทานของคน อันเกิดแก่จริตนั้น ๆ เพื่อจะได้รู้เท่าทันจริต ๖
๔. คนโกรธก็รู้ว่าโกรธนั้นไม่ดี แต่ก็ยังโกรธ เพราะอุปาทาน คิดว่าโกรธนั้นเป็นของดี พอไม่พอใจขึ้น ก็ว๊ากไว้ก่อน พอบรรเทาความโกรธก็ยังดี แสดงว่าเขาคิดว่าดี เขาจึงทำ ผู้สิ้นอุปาทานจริง ๆ คือ พระอรหันต์ ละอุปาทาน ละอารมณ์ยึดชั่วยึดดีได้ ก็คือพระอรหันต์
๕. ท่านทำได้อย่างไร ก็สังขารุเบกขาญาณตัวเดียว ที่ท่านวางเฉยในธรรมภายนอก และธรรมภายในได้ จริต ๖ สัมผัส ๖ อายตนะ ๖ ทำอะไรจิตของท่านไม่ได้ก็ที่ตรงนี้ ละได้ซึ่งอุปาทาน คือ สังขารุเบกขาญาณจุดเดียวเท่านั้น (แสดงว่าพระพุทธเจ้า, พระอรหันต์ ท่านมิได้เป็นผู้อยู่ไกลจากกิเลส หากแต่กิเลสทำอะไรจิตท่านไม่ได้
๖. หมั่นคิด หมั่นพิจารณา จะได้ละอุปาทานได้ อุปาทานของใครไม่สำคัญ สำคัญแต่อุปาทานของเราเอง เพราะถ้าจิตเรายังไม่หมดอุปาทาน ตัวยึดดี-เลวก็ต้องมี การตำหนิดี - เลวก็ต้องมี มันเกิดติดต่อกันเป็นลูกโซ่ ถ้ามัวแต่เห็นคนโน้นคนนี้ผิด ก็พอดีตายเสียก่อนอุปาทานของเราจะหมดไปจากจิต มรรคผลนิพพานก็ไม่ต้องหวังกัน เพราะมัวแต่ไปดูอุปาทานของคนอื่น ติดอุปาทานของคนอื่นเพลินเลย แล้วจะมีประโยชน์อะไร ทีหลังอย่าคิด อย่าพูด อย่าตำหนิในธรรมอีกนะ

ทรงพระเมตตาสอน เรื่อง การตำหนิธรรม ต่อ มีความสำคัญ ดังนี้
๑. บุคคลผู้ตำหนิกรรม คือ บุคคลที่ติดอยู่ในธรรมที่เป็นอดีต และอนาคต อีกทั้งมัวเมาอยู่ในธรรมปัจจุบัน เช่น ในกรณีที่เจ้าตำหนิธรรมของผู้อื่น ที่ออกความคิดเห็นตามอุปาทานของตนว่า เขาไม่ควรกล่าวแนะนำผู้อื่นให้ใส่บาตรพระตอนเที่ยวกลับ พระจะได้ไม่หนัก นี่คือการเอาจิตของเจ้าไปติดในอดีต (ธรรมที่เป็นอดีต) เพราะเมื่อเขากล่าวไปแล้วแม้เสี้ยววินาทีก็เป็นอดีตธรรม แต่จิตที่ติดอยู่ในธรรมนั้น จึงยกอุปาทานของตนขึ้นปรุงแต่ง คาดคะเนให้เกิดเป็นธรรมในอนาคตว่า ถ้าบุคคลใดฟังคำกล่าวของเขาแล้ว เกิดคิดปรุงแต่งว่า พระวัดนี้กลัวหนัก แล้วจักไม่มีใครใส่บาตร นั่นเป็นเพราะจิตของเจ้าคิดไปในอนาคตธรรม นี้ชี้ชัดให้เห็นว่า ถ้าจิตคิดตำหนิธรรมแล้ว จักเมาธรรมแห่งอดีตและอนาคต แล้วดึงมันให้มาเป็นธัมเมาในปัจจุบัน
๒. ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน ควรรักษาอารมณ์จิตให้ผ่องใส โดยการไม่ตำหนิผู้ใด ไม่ตำหนิธรรม ทำจิตให้อยู่ในสมถะและวิปัสสนา อันเป็นปัจจุบันธรรม ใช้สังขารุเบกขาญาณวางเฉยในธรรมภายนอกและภายในที่มากระทบนั้น ๆ การไม่ตำหนิธรรม จึงเท่ากับละซึ่งอดีตและอนาคตธรรม ให้คงอยู่แต่ธรรมปัจจุบัน ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา รู้สัทธรรม ๕, รู้ไตรลักษณ์, รู้อริยสัจ, รู้กฎของกรรม, รู้สมมุติต่าง ๆ ในโลก, รู้โลกธรรม อันเป็นการรู้อยู่ในปัจจุบันธรรม เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นความเสื่อมของร่างกาย เห็นการเกิด-ดับ เห็นความตายของร่างกาย เห็นอยู่ในธรรมปัจจุบัน
๓. เห็นที่ไหน เห็นที่จิตดวงนี้ เห็นที่อาทิสสมานกายของเรานี้ มิใช่ไปเห็นที่อื่น เห็นภายนอกนั้นสักแต่ว่าเห็น ยังไม่ใช่ของจริง จักต้องเห็นภายใน ยอมรับสัทธรรม ๕ ไตรลักษณ์ อริยสัจ กฎของกรรมทุกอย่าง จักต้องยอมรับอยู่ภายในจิตดวงนี้ ถ้ายอมรับจริง ๆ อุปาทานก็หมดไป อารมณ์ตำหนิธรรมก็หมดไป สังขารุเบกขาญาณจะเกิดได้แจ่มชัดขึ้น
๔. ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน ครรลองของธรรมะก็มีขั้นตอน เมื่อพวกเจ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว ยังอยากปากพล่อย ใจพล่อย ชอบตำหนิธรรม ติดอดีต-อนาคต-เมาอยู่ในปัจจุบันก็ตามใจ (ทรงหมายถึง จิตยังติดดี ติดถูก ติดผิด ติดสมมุติต่าง ๆ ในโลก แต่ไม่ติดพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์)
๕. ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ทำได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่พวกเจ้าเองว่าจักมีความเพียรสักแค่ไหน ถ้ารู้ปัจจุบันธรรมจริง ก็จักไม่เมาไปตำหนิใคร เพราะความประมาทในธรรม
๖. ให้รู้ปัจจุบันธรรม แค่ระลึกถึงลมหายใจเข้า - ออก ถ้ามันหยุดเมื่อใด ธาตุ ๔ ก็คืนกลับเมื่อนั้น เห็นเกิดดับว่าลมมันเช้า ๆ ออก ๆ อยู่แต่ในปัจจุบัน มัวแต่เมาในธรรมที่เป็นอดีตและอนาคตอยู่ มรรคผลนิพพานก็ได้ยาก สังขารุเบกขาญาณก็จักเกิดขึ้นได้ยาก ขอพวกเจ้าจงอย่าประมาทในธรรมเถิด

: วิจารณ์
ผมขออนุญาตวิจารณ์เรื่องการปฏิบัติธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงพระเมตตามาแนะนำสั่งสอนไว้ เมื่อ ๑๕ ปีมาแล้ว คือ ๒๖ ก.ย. ๓๕ ผมยกมา ๓ เรื่อง คือ เรื่องเป็นสาระและไม่ใช่สาระ, เรื่องอุปาทานของคนเกี่ยวกับอาหาร และเรื่องการตำหนิธรรม (กรรม) ขอสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑. ผมเพียรปฏิบัติมา ๑๕ ปีกว่าแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะทำให้เกิดผลทรงตัวได้ ยังมีอารมณ์เผลออยู่เป็นปกติ ยิ่งถูกกระทบด้วยแล้ว ยังสอบตกอยู่เสมอ
๒. ผมยังมีอารมณ์ขี้เกียจอยู่มาก แต่ก็ไม่ทิ้งความเพียร โดยเพียรตามโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด หรือ ๓๗ ทาง คือ มหาสติปัฎฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, สัมมัปปทาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรค ๘ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว เพียรน้อยพักมากก็จบช้า จิตมันก็ชอบวิธีหลังอยู่เสมอ (ทั้งนี้มิใช่ว่าจะต้องเพียรทั้ง ๗ ทาง ใครพอใจทางไหนก็ให้เพียรทางนั้น)
๓. ผมพยายามใช้กายทำงานทางโลก แต่ขณะเดียวกันก็ใช้จิตทำงานทางธรรมควบไปด้วย และพยายามปฏิบัติในทุก ๆ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แม้ขณะทำงาน ไม่แบ่งเวลาว่า เวลานั้นเวลานี้จะทำนั่นทำนี่ คือ พยายามปฏิบัติตลอดเวลา และพยายามไม่ให้เผลอ แต่ก็ยังเผลออยู่เป็นปกติ
๔. ผมพบความจริงว่า การปฏิบัติธรรมนี้จริง ๆ แล้ว มันง่ายนิดเดียว แต่มันยากมาก ทุกสิ่งไม่มีอะไรจะได้มาง่าย ๆ ในพุทธศาสนา จะต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่งจึงจะได้ เพียรธรรมดา ๆ ยังไม่พอ
๕. จงอยู่แต่ในอารมณ์เดี๋ยวนี้หรืออารมณ์ปัจจุบัน และพยายามรักษาไว้ตลอดเวลา จนจิตชินเป็นฌานเป็นอัตโนมัติให้ได้ หากทำได้มรรคผลนิพพานก็เกิด ความจริงเราจะพูด จะนึกจะคิด จะทำอะไร ๆ มันก็อยู่ในอารมณ์เดี๋ยวนี้ หรืออารมณ์ปัจจุบันธรรมทั้งสิ้น แต่เราไม่เข้าใจ หรือยังตามอารมณ์จิตของตนเองไม่ทัน จุดนี้หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตตามาแนะนำให้ใช้อารมณ์เดี๋ยวนี้เบา ๆ ก่อน เช่น
๕.๑ อารมณ์ในพรหมวิหาร ๔ เริ่มเอาเดี๋ยวนี้ เราจะไม่เป็นศัตรูกับคนและสัตว์ทั้งโลก เราจะรักคนและสัตว์ทั้งโลกเหมือนญาติสนิทของเรา คิดกันเดี๋ยวนี้เลย อดีตที่ผ่านมาแล้วก็แล้วกันไป อนาคตยังมาไม่ถึงก็อย่าไปฟุ้งถึงมัน มุ่งจับเฉพาะอารมณ์เดี๋ยวนี้ ส่วนกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ให้ใช้อารมณ์เดี๋ยวนี้เหมือนกันหมด
๕.๒ การวางเฉยหรืออุเบกขา ให้เกิดเป็นอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ถ้าเราวางเฉยในขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว เราก็จะวางเฉยทุก ๆ สิ่งในโลกได้หมด เช่น เฉยในความรัก โลภ โกรธ หลง
๕.๓ จะเฉยได้จริง ๆ ต้องใช้ปัญญาคุมจิต คุมอารมณ์จิตไว้ให้ได้ตลอดเวลาด้วยอธิปัญญา
๕.๔ จิตจะเฉยจริงหรือไม่ ต้องถูกกระทบก่อน เพราะตราบใดที่ยังตัดอารมณ์ ๒ ไม่ได้ทรงตัว คือ อารมณ์ รัก (โลภ) และชัง (ปฏิฆะ) ไม่ได้ โดยใช้กรรมฐานแก้จริต ๖ เป็นตัวตัด ไม่ใช่ใช้สังขารุเบกขาญาณ และต้องตัดได้ทรงตัว หรือตัดได้เป็นอัตโนมัติ จุดสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ เพราะหากยังทำจุดนี้ไม่ได้ หรือทำได้แต่ยังไม่ชำนาญแล้ว อารมณ์อุเบกขาในขันธ์ ๕ ย่อมยังไม่ใช่ของจริง ยังเป็นแค่สัญญาหรือแค่ความจำเท่านั้น ส่วนสังขารุเบกขาญาณนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะอุเบกขาในขันธ์ ๕ ยังทำไม่ได้จริง หรือทำได้แต่ยังไม่ทรงตัวญาณตัวนี้ย่อมไม่เกิด จุดนี้ต้องเข้าใจ มิฉะนั้นก็จะหลงทาง กลายเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มีทางจบกิจได้ในพุทธศาสนา

ความง่วงเป็นอารมณ์อะไร
สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงพระเมตตาสอนไว้ ที่วัดท่าซุง
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ ก.ย. ๓๕ มีความสำคัญดังนี้
๑. ความง่วงเป็นอารมณ์โมหะ หรืออารมณ์หลง มี ๒ ระดับ คือ เวทนาของกายกับเวทนาของจิต เวทนาของกายคือทุกข์ของกาย แสดงบอกให้รู้ว่ากายต้องการพักผ่อน เวลานี้ร่างกายของเจ้าไม่ปกติ มันจึงได้มีอาการบ่งออกมาให้จิตได้รับทราบเป็นธรรมารมณ์ ทุกขเวทนาของกายฝืนไม่ได้ ถ้าความง่วงเกิดขึ้น จริง ๆ แล้ว ก็ต้องแก้ด้วยการระงับทุกขเวทนานั้น ๆ กล่าวคือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
๒. การนอนของพระ ต่างกับการนอนของโลกียะชน กล่าวคือ เป็นการนอนอย่างไม่ประมาท รู้ว่าธาตุขันธ์นี้มันไม่ใช่เรา การนอนต้องใช้จิตจับพระ กำหนดจิตให้อยู่แต่นิพพาน ปลงมรณานุสสติ ทิ้งขันธธาตุอันมีแต่ทุกข์นี้ ให้เน่าเปื่อยอยู่แต่ในโลกนี้ ยามนอนจิตจะต้องตัดความกังวลใด ๆ ทิ้งไปจนหมดสิ้น
๓. การจับลมภาวนาในขณะจิตวิเวกนั้น จักเห็นธาตุลมทำงานได้อย่างชัดเจน เสียงลมเข้า - ออก ยาว - สั้น จักได้ยินอย่างชัดเจน เพราะวจีแห่งจิตได้สงบลงแล้วอย่างราบคาบ เสียงอันเกิดแต่วจีแห่งจิต ถ้าไม่ระงับดับไป จักกลบเสียงการเต้นของหัวใจอย่างสิ้นเชิง
๔. ตถาคตจึงเน้นให้เห็นชัดเจนว่า สมถะกับวิปัสสนามิใช่จักทำพร้อม ๆ กันได้ ต้องปฏิบัติเป็นอนุโลม-ปฏิโลม (พักกับเพียร) เพราะยามใดที่มีอารมณ์คิด วจีแห่งจิตนั้นจักทำงานอย่างต่อเนื่องกลบเสียงใด ๆ ทั้งปวง ไม่ว่าเสียงภายนอกหรือเสียงภายใน จิตมีสมาธิในวิปัสสนามากเพียงใด เสียงก็ยิ่งไม่ได้ยินมากขึ้นเท่านั้น (จิตเป็นฌานสูงเท่าใด ยิ่งไม่ได้ยินเสียงมากเท่านั้น เพราะจิตแยกจากกายมากขึ้นตามลำดับ)
๕. สมถะก็เหมือนกัน อาศัยรู้ลมได้ในขณะวจีแห่งจิตสงบลงแล้ว จังหวะการเต้นของหัวใจ อันเป็นตัวแปรให้เห็นลมหายใจเข้า - ออกดังขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อจิตตกอยู่ในสภาวะวิเวกนั้น
๖. การรับรู้เสียงลมอย่างเดียว จิตฟุ้งซ่านได้ง่าย เมื่อรู้ลมเข้า - ออกแล้ว จึงพึงใช้คำภาวนาควบคู่กันไปด้วย ในขณะจักหลับหรือยามปกติที่จิตทรงสมถะก็ดี ให้ภาวนา พุธ-โธ หรือนิพพานไปด้วยเป็นการบังคับวาระจิต หรืออารมณ์ของจิตให้ทรงตัวตามลมเข้า - ออกนั้น
๗. การภาวนาสั้น ๆ ๒ ประโยคนั้นไม่ใช่อารมณ์คิด จิตจับอยู่เป็นอุบายคุมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ๆ พระอริยเจ้าเขานอนกันอย่างไม่ประมาทอย่างนี้
๘. พอจิตเข้าสู่ปฐมฌานก็ตัดหลับ บางคนคล่องมากก็จับภาพกสิณภาพพระ หรือสภาวะนิพพานไปด้วย อาจจักหลับไปในฌานที่ ๒ - ๓ - ๔ ก็ได้ ถ้าเกิดทิ้งขันธธาตุไปขณะหลับนั้น จิตก็จักไปพระนิพพานทันที
๙. ทุกข์ของกายอย่าฝืน ฝืนแล้วมรรคผลจักไม่เกิด จิตจักทรงได้แค่ฌานโลกีย์ เกิด ๆ ดับ ๆ อารมณ์จิตจักหนัก ๆ เบา ๆ ตลอดเวลา หาความทรงตัวไม่ได้
๑๐. ในบุคคลที่ฝืนทุกขเวทนาของร่างกาย เช่นง่วงนอนนี้ ต้องตกเป็นทาสอารมณ์ปฏิฆะ มาแล้วนับไม่ถ้วน เพราะการไม่รู้เท่าทันกองสังขารแห่งกาย ไปฝืนมันเข้าด้วยอารมณ์ไม่พอใจ จึงเกิดความไม่รู้เท่าทันกองสังขารแห่งจิตอีก แต่เป็นธรรมดาที่กายมิได้ตกอยู่ใต้อาณัติของจิต เมื่อทุกข์หนักเข้ากายทนไม่ไหว แม้ถูกฝืนเต็มที่ก็หลับไป หลับไปทั้ง ๆ ที่จิตยังมีอารมณ์ปฏิฆะอยู่เต็มเปี่ยม ถ้าเกิดตายในขณะนั้น จิตขณะเศร้าหมองย่อมมีทุคติเป็นที่ไป ด้วยเหตุติดโกรธในความง่วงของกายนั้น ๆ
๑๑. ทรงเมตตาให้เห็นภาพ ชายนั่งสัปหงกตาย ตายแล้วไปนั่งสัปหงกต่ออีกที่หนึ่ง เขาต้องกลายเป็นสัมภเวสีที่อยู่ในสภาวะนั่งสัปหงกนี้ไปจนกว่านายนิรยบาลจักมาเอาตัวไปสอบสวนชั่ว - ดีที่สำนักพระยายม เพื่อตัดสินชั่วดีตามกรรมสืบไป (ทรงให้มองเห็นสภาวะที่ไร้สติ - สัมปชัญญะของชายผู้นั้น ซึ่งตายไประหว่างนั่งสัปหงก)
๑๒. เพราะฉะนั้น ผู้รู้จริงในกองสังขารแห่งกายและแห่งจิต จักไม่ฝืนสภาวะธรรมอันเป็นจริงของกายและจิต รู้เท่าทันสุข - ทุกข์ ที่มาเยือนกายและจิตอย่างชัดเจน ทำความรู้แจ้งแทงตลอดไปยังธรรมนั้น ๆ
๑๓. ในสภาวะของจิตกำหนัดเกี่ยวกับความง่วงนั้น กล่าวคือจิตติดการนอนว่าเป็นของดี ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นกายได้รับการพักผ่อนแล้วอย่างเพียงพอ แต่จิตปรุงแต่งกำหนัดการนอน ด้วยความหลงว่ายังนอนไม่เพียงพอ จิตจึงมีอาการขี้เกียจตื่นขอนอนต่ออยู่เรื่อย ๆ ด้วยความรู้สึกว่าหลับแล้วสบาย แต่ข้อเท็จจริงร่างกายเมื่อพักผ่อนเต็มที่แล้ว ถ้าจักตื่นขึ้นมาทำงาน ก็มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ มีวิญญาณสัมผัสสมบูรณ์ (หมายถึงระบบประสาทรับสัมผัสทั้งหกหรืออายตนะหก) จิตก็พลอยตื่นตัว มีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ว่างานทางโลกหรือทางธรรม
๑๔. แต่ในทางกลับกัน ในขณะที่กายพักผ่อนเพียงพอแล้ว แต่จิตกำหนัดอยากนอนต่อ ปรุงอารมณ์ถีนมิทถะให้เกิด (นิวรณ์ข้อที่ ๓ อันเป็นอารมณ์หลง) จึงสั่งให้กายหลับต่อไป สภาวะภายในแห่งอาการ ๓๒ ซึ่งได้รับการพักผ่อนมาเต็มที่แล้ว ถูกบังคับให้ผ่อนการทำงานต่อไปอีก (มีผลทำให้เกิด) สภาวะเหนื่อยอ่อนจักยิ่งปรากฏในอาการพักของอาการ ๓๒ นั้น แทนที่ขันธธาตุจักตื่นตัว กลับลดการตื่นตัวลง ยิ่งหลับนาน ยิ่งนอนมาก ระบบวิญญาณสัมผัสก็ทำงานช้าลง - น้อยลง
๑๕. คนเมานอนจึงมีอาการอ่อนเพลียเหมือนคนไม่มีแรง เพราะอาการ ๓๒ ของร่างกายได้รับการพักผ่อนมากเกินไป พอรู้ตัวแทนที่จะปรับจิตที่ติดราคะในการหลับนั้น กลับสร้างอารมณ์ปฏิฆะให้เกิด พาลพาโลโทษกาย ตำหนิกรรมว่าจะเอาแต่นอนลูกเดียว (ทั้ง ๆ ที่ต้นเหตุอยู่ที่จิตมีอารมณ์หลงติดในการนอน) ไม่รู้จักตื่นขึ้นมาขยันขันแข็งบ้าง การตำหนิธรรมด้วยความไม่รู้เท่าทันสรีระของกายและของจิต จึงเกิดขึ้นด้วยโมหะจริตเป็นต้นเหตุ มิจฉาทิฎฐิเกิดได้ที่ตรงนี้ ด้วยเหตุที่ไม่รู้เท่าทันกองสังขารแห่งกาย และแห่งจิต ขอให้พวกเจ้าจงหมั่นศึกษาจริต ๖ อารมณ์ของจิตอันเกิดแต่โมหะ โทสะ ราคะ เป็นที่ตั้งเถิด และจงหมั่นศึกษาความเป็นจริงแห่งธาตุขันธ์ให้เกิด ด้วยหลักมัชฌิมาปฏิปทาให้โดยตลอด
ทรงพระเมตตาสอน เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ต่อ มีความสำคัญ ดังนี้
๑. การปฏิบัติทิ้งทางสายกลางไม่ได้ ต้องอาศัยหลักนี้ไปตลอด ไม่ว่าจักต้องการรู้แจ้งแทงตลอดแห่งกายหรือแห่งจิต
๒. พระกรรมฐานมุ่งสู่พระนิพพานของตถาคต สอนอยู่แค่กายกับจิต โดยอาศัยหลักมัชฌิมาปฏิปทาโดยตลอด การปฏิบัติถ้าหนักไปก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค (ตึงไป) ผลก็จักไม่เกิด ถ้าหย่อนไปก็เป็นกามสุขคัลลิกานุโยค (หย่อนไป) ผลก็จักไม่เกิด ต้องมัชฌิมาแห่งกายและจิต จึงจักทำผลของการปฏิบัติธรรมให้เกิดได้อย่างแท้จริง มั่นคง ถาวร เป็นของแท้โดยตลอด
๓. ถ้าอาศัยจิตเกาะสายกลางนี้โดยตลอด ตถาคตขอยืนยัน และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่ว่าในอดีตหรืออนาคต ก็ตรัสยืนยันตามนี้ ขอให้พวกเจ้าจงหมั่นเรียนรู้ในหลักสายกลางนี้ ศีล - สมาธิ - ปัญญา จักหยั่งรากลึกตั้งมั่นอยู่ในอริยมรรคอริยผลอย่างแท้จริง ไม่มีวันคลอนแคลนตราบเข้าสู่พระนิพพาน ขอให้จับสายกลางนี้ไว้ให้มั่น จักรู้เท่าทันกองสังขารแห่งกายและแห่งจิตได้อย่างชัดเจน ความรู้แจ้งแทงตลอดแห่งธรรมทั้งปวง จักรู้ได้ที่ตรงนี้
๔. จงอย่าฝืนทุกขเวทนาของกายอีก พระอรหันต์ท่านไม่ฝืน รู้ทุกข์ - สุขเวทนาของกายอย่างชัดเจน ท่านใช้สติ ปัญญาระงับทุกข์ - สุขทางกาย ด้วยการวางจิตอุเบกขาธรรม เป็นสังขารุเบกขาญาณ
๕. การฝึกกรรมฐานของพวกเจ้าเพื่อพระนิพพาน ก็เพื่อความเป็นพระอรหันต์ในกาลขันธธาตุแตกดับ จึงควรศึกษาหลักสายกลางเอาไว้เนิ่น ๆ เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ยังจิตให้พร้อมเอาไว้เสมอ ๆ ขันธธาตุแตกดับเมื่อไร จิตพร้อมที่จักไปพระนิพพานเมื่อนั้น
๖. ความกังวลใด ๆ จงอย่าให้มีในจิต การล่วงความคิดไปสู่อดีต อนาคต จงระงับไว้ ยังจิตให้เกาะติดอยู่ในสภาวะธรรมแห่งพระนิพพานอยู่ในปัจจุบัน เห็นเกิดเห็นดับอยู่ในปัจจุบัน ทำจิตให้ผ่องใสรับความตายของขันธธาตุอยู่ในปัจจุบัน เห็นกรรม เห็นโทษของการมีร่างกายอยู่ในปัจจุบัน จิตคลายกำหนัดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ในปัจจุบัน จิตมุ่งโลกุตระธรรมเพื่อพ้นโลกอยู่ในทุก ๆ ขณะจิตของปัจจุบัน
๗. ตถาคตจึงตรัสว่า ธรรมนี้จักมีเหตุอยู่แต่ในปัจจุบัน ธรรมดี-ชั่ว หรือธรรมไม่ดี-ไม่ชั่วก็เกิดอยู่ที่ขณะจิตแห่งปัจจุบันนี้ การละกรรมจึงต้องละที่จิตปัจจุบันนี้ จึงจักละได้ซึ่งกรรมทั้งปวง สัมเพ ธัมมา อนัตตาติ ตรงจิตปัจจุบันนี้ (คนที่ยึดติดอดีต - อนาคต จึงไม่สามารถจะละกรรมได้ด้วยเหตุนี้)

วิจารณ์ :
เกี่ยวกับทางสายกลางกับอารมณ์ง่วงนอน หรือมัชฌิมากับโมหะ (หลง) ขอเขียนสั้น ๆ เพื่อสะดวกต่อการจำ (สัญญา) แล้วนำไปคิด (พิจารณา) เพื่อให้เกิดรู้ คือปัญญา
๑. การปฏิบัติให้เกิดผลทั้งทางโลกและทางธรรม ต้องเดินสายกลาง (รัชกาลที่ ๙ ทรงแนะให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปฏิบัติ)
๒. ทุกข์กายห้ามฝืน เพราะกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทุกข์ใจต้องฝืน เพราะใจเป็นเรา เป็นของเรา โดยใช้อริสัจ (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ) เป็นหลักสำคัญด้วยทางสายกลาง
๓. ง่วงเพราะกายเพลียต้องพัก ง่วงเพราะจิตกำหนัดติดการนอนต้องใช้ปัญญา แบบเดินสายกลาง
๔. ละกรรมทั้งหลายให้ละที่จิตปัจจุบันเสมอ โดยวางอดีต หยุดสร้างอนาคต อยู่แต่ปัจจุบันธรรมในทางสายกลาง
๕. สมถะกับวิปัสสนาเป็นธรรมอันเดียวกัน ต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ทำพร้อมกันไม่ได้ ให้ใช้หลักอนุโลม (พัก) กับปฏิโลม (เพียร) ในทางสายกลาง (มัชฌิมา)
๖. เพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว เพียรน้อยพักมากก็จบช้า แต่ทิ้งทางสายกลางไม่ได้ตลอดชีวิต
๗. ง่วงเป็นอารมณ์หลงหรือโมหะ ทำราคะ (ติดนอน, เมานอน) ให้เกิดก่อน แล้วทำปฏิฆะให้เกิดภายหลัง ปิดกั้นมรรค ผลนิพพาน ไว้สนิท
๘. จิตนอน คือ จิตพักอยู่ในสมถะภาวนา จิตทำงาน คือ จิตคิดพิจารณาในวิปัสสนาภาวนา แต่ต้องนอนแบบพระอริยะ ไม่นอนอย่างแมว (สัตว์เดรัจฉาน) และต้องคิดในจิตปัจจุบันในทางสายกลาง ในขอบเขตของศีล - สมาธิ - ปัญญา
๙. ติดสมถะมากไป ก็คือพักมากเพียรน้อย หรือติดสุขในฌาน ในความสงบ ทำให้ปัญญาไม่เกิด ทำให้จิตขี้เกียจหรือโง่เป็นโมหะจริต
๑๐. ติดวิปัสสนามากไป คือ เพียรมากพักน้อยจนเกินพอดี ไม่เดินทางสายกลาง ก็ทำให้ฟุ้งซ่านเป็นนิวรณ์ข้อ ๔ ทำปัญญาให้ถอยหลังกลับมาโง่ใหม่เป็นโมหะจริตเช่นกัน

สรุปว่า กรรมฐานจะเกิดมรรคผลนิพพานได้ ต้องอาศัยหลักมัชฌิมาหรือทางสายกลางเท่านั้น คือ ต้องพอดีทั้งทางกายและทางจิต แยกจากกันไม่ได้ หรือสมถะกับวิปัสสนา ในขอบเขตของศีล - สมาธิ - ปัญญา เท่านั้น
ในที่สุดนี้ ผมขออธิษฐานจิตโดยอาศัยพุทธา - ธัมมา - สังฆานุภาพอันหาประมาณมิได้ ช่วยเมตตากรุณาสงเคราะห์ให้ผู้ปฏิบัติธรรมตามทางสายกลาง จงเกิดมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ด้วยกันทุกท่านเทอญ

อุบายละความชั่วที่ใจเรา
พระท่านเมตตาสอนเรื่อง อุบายในการละสักกายทิฎฐิให้น้อยลง
ที่วัดท่าซุง เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ ก.ย.๓๕ มีความสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
๑. ถ้าเราไม่เห็นความชั่วที่ใจเรา เราก็ละความชั่วไม่ได้ (หมายความว่าผู้อื่นจะมาเตือน มาแนะนำเรา มาชี้แนะเรา ให้เห็นความชั่วของเราสัก ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็สู้เรารู้เราเห็นความชั่วที่ตัวเราด้วยใจของเราเองครั้งเดียวไม่ได้ เพราะพระธรรมในพุทธศาสนา เป็นปัจจัตตัง จะต้องรู้เอง เห็นเอง ด้วยใจตนเอง และรู้ได้เฉพาะตน ของใครของมัน กรรมใครกรรมมันทั้งสิ้น จึงจะเป็นของแท้ ของจริง)
๒. การตำหนิกรรมหรือธรรมของผู้อื่นเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นอารมณ์ปฏิฆะ (ส่วนใหญ่มักไม่รู้คิดว่าดีจึงยึดไว้ เพราะไม่เห็นความชั่วที่ใจเราตามข้อที่ ๑ หรือแม้จะรู้ ๆ อยู่แก่ใจ แต่มีความประมาทในธรรม หมายถึงขาดสติ-ปัญญา หรือสติ-สัมปชัญญะ ยังไม่ต่อเนื่อง จึงมีอารมณ์เผลอให้กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เกิดขึ้นกับจิตก่อนแล้วจึงดับภายหลัง ที่ว่าประมาทในธรรมก็คือ มิได้มุดไว้ก่อนกิเลสจะมา สำหรับพวกโทสะจริตเด่น ก็ต้องมุดอยู่ในสมถะ ๔ คือ กสิณ ๔ (เพ่งสีแดง, เขียว, เหลือง, ขาว) และวิปัสสนา ๔ คือ พรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นอารมณ์พิจารณาให้เกิดปัญญาทั้ง ๔ ข้อ ผมขอยกตัวอย่างแค่จริตเดียว)
๓. กรรมทุกอย่างเกิดที่ใจก่อนทั้งสิ้น จึงต้องดับที่ใจ โดยการระวังสำรวมที่ใจ หรืออีกประโยคหนึ่งซึ่งทรงตรัสว่า กรรมหรือธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่ใจ พระองค์ทรงแนะให้ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาทั้งทางโลกและทางธรรม มีหลักสำคัญโดยย่อ ๆ ว่า กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ จะต้องรู้ต้นเหตุของกรรมนั้น ๆ ก่อน แล้วจึงจะดับเหตุนั้น ๆ ได้ ในเมื่อกรรมทุกชนิดเกิดที่ใจก่อนเสมอ แล้วจึงลุกลามมาที่วาจาและกายตามลำดับ ธรรมะของพระองค์ล้วนมีเหตุมีผลเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น หากเข้าใจหรือมีปัญญา (ทางพุทธ) ในการปฏิบัติทรงให้หลักไว้ ดังนี้
๓.๑ ต้องไม่ทิ้งสมถะ ๓ กองตลอดชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์และพระอรหันต์ทุกท่าน ก็ไม่เคยทิ้ง คือ
ก) อานาปานุสสติ เป็นตัวควบคุมจิตให้ใจสงบเป็นสุข ผู้ใดลืมอานาปาจึงเป็นผู้ขาดสติ หรือมีสติไม่ต่อเนื่อง ใช้สติคุมจิตไม่ให้มันคิดชั่ว
ข)กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน เป็นสมถะที่คอยกันจิตไม่ให้หลงคิดว่า ร่างกายที่เราอาศัยอยู่นี้ มันสะอาด น่ารัก น่าชม และหลงคิดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ทั้ง ๆ ที่มันแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยงให้เราเห็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก เราจึงไม่สามารถบังคับมันได้ ห้ามไม่ให้มันแก่ มันป่วย มันตาย มันหิว มันกระหายไม่ได้ เป็นต้น
ค) มรณานุสสติควบอุปสมานุสสติ เพื่อป้องกันจิตไม่ให้มันหลงคิดว่า กายมันจะไม่ตาย มีความประมาทในความตายอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่มันตายได้ทุกลมหายใจเข้าและออก และผู้ไม่ปรารถนาจะเกิดมามีร่างกายในโลกนี้ เพื่อจะต้องพบความทุกข์เช่นปัจจุบันนี้อีก จึงมีอารมณ์เบื่อกาย เบื่อเกิด เบื่อความไม่เที่ยงของร่างกาย ซึ่งแสนจะสกปรก และเต็มไปด้วยความทุกข์อีกต่อไป จึงตั้งอารมณ์ไว้ตลอดเวลาว่า หากกายพังเมื่อไหร่ ก็ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น ด้วยความไม่ประมาทในความตาย (หรือไม่ประมาทในธรรม) หลวงพ่อฤๅษี ท่านมาเพิ่มให้อีก ๑ กอง สำหรับพวกเรา ซึ่งปรารถนาจะเป็นสาวกของพระองค์ คือ
ง) พุทธานุสสติ อีก ๑ กอง โดยเหตุผลว่าการนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ก็เพราะคุณของพระพุทธเจ้านั้นหาประมาณมิได้ จะพูด จะเขียนกันเท่าไหร่ก็ไม่หมด หลวงพ่อท่านเมตตาสอนไว้มีความสำคัญดังนี้
พุทธานุสสติ หรือพุทโธอัปปมาโณนั้น ป้องกันได้ทุก ๆ จริต (จริตทั้ง ๖)
ผู้ใดมีพุทโธอยู่กับใจ ก็เท่ากับมีพุทธจริตอยู่แล้ว
ใครภาวนาพุทโธอยู่เป็นปกติ ก็กั้นนรกได้อย่างดี (จุดนี้จุดเดียวก็มีคุณค่ามหาศาลแล้ว เพราะไม่มีทางจะตกนรกได้ หากก่อนตายภาวนาพุทโธอยู่)
๔. จิตสร้างปัญหาล่วงหน้า หรือจิตสร้างปัญหาเสียก่อนเกิดปัญหา เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ท่านเล่าให้ฟังมีความว่า ท่านเห็นหลวงพี่องค์หนึ่งซึ่งเคยทักทายกันเสมอเดินมาแต่ไกล จิตก็ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปก่อนว่า ถ้าท่านถามอย่างนี้ เราจะตอบอย่างไร ถ้าถามอย่างโน้น เราจะตอบว่าอย่างนี้ (เป็นการสร้างปัญหา อารมณ์ปรุงแต่งนั้นเป็นอารมณ์ของจริตใด ก็ตอบว่าเป็นโมหะจริต ทรงตรัสว่า
๔.๑ ถูกต้อง โมหะจริตเกิดขึ้น เพราะหลงไปในธรรมอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เมื่อโมหะจริตเกิด จิตก็ฟุ้งซ่าน หลงปรุงแต่งดี - เลวให้เกิดขึ้น ราคะและปฏิฆะก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว
๔.๒ ทีหลังจำไว้ ธรรม ใดยังไม่เกิด อย่าเพิ่งเอาจิตไปหาเหตุแห่งธรรมนั้น หรือธรรมใดที่มีเหตุและผลผ่านไปแล้วในอดีต ก็อย่าเอาจิตไปเกาะปรุงแต่งในดี - เลวแห่งธรรมนั้น
๔.๓ จงยังจิตให้อยู่แต่ในปัจจุบันธรรมเท่านั้นเป็นพอ มีสติรู้ได้อยู่ตลอดทุกขณะจิตว่า ธรรมที่เราจักกอปรอยู่ขณะนี้ ก็เพื่อพระนิพพานจุดเดียว เราจักทำโดยไม่หวังผลตอบแทนในโลกียธรรมอีก เราทำเพื่อหวังจุดเดียวคือ อริยทรัพย์ อริยผล เท่านั้น
๕. เมื่อเห็นใบไม้ร่วง ก็นึกว่าใบไม้ร่วงตอนกลางวันมากกว่าตอนกลางคืน เพราะความร้อนของแสงแดดเป็นเหตุ พระองค์ก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า
๕.๑ คนก็เหมือนกัน ที่ต่างพากันหลุดร่วงลงสู่อบายภูมิ ๔ เพราะความร้อนแห่งไฟโมหะ โทสะ ราคะ กันมากมาย จนนับไม่ถ้วน เพราะเหตุไม่รู้เท่าทันในอารมณ์แห่งจิตนั้น ๆ ตถาคตจึงได้กล่าวเอาไว้ว่าคนไปนรกมีปริมาณเท่าขนโค ด้วยเหตุให้ความร้อนแห่งไฟโมหะ โทสะ ราคะ เผาใจตนเองนี้ ซึ่งต่างกับความเย็นของชั้นกามาวจรสวรรค์ ซึ่งคนไปน้อยมากแค่เขาโค
๕.๒ เรื่องของการไปสู่พระนิพพานของคนที่ยังร้อนอยู่ด้วยอารมณ์จริต ๖ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะไม่ใช่จักเป็นที่สำหรับคนร้อนจักไปได้
๕.๓ ถ้าจิตของพวกเจ้ายังร้อนอยู่ด้วยจริต ๖ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ถ้าแก้จริตไม่หาย พระนิพพานก็ไม่ต้องพูดถึง หมดสิทธิ์ไปอย่างแน่นอน
๖. เรื่องวิตกกับกรรมของผู้อื่น มีความโดยย่อว่า เมื่อจิตนึกวิตกถึงเรื่องของผู้อื่นที่มาอาศัยวัดอยู่แล้วชอบนอนดึก โดยการชอบคุยกับเพื่อน ๆ จนเกินพอดี แทนที่จะนอนพักผ่อนเพื่อเอาแรงไว้ทำงานให้วัด เหมือนที่เคยทำมาในอดีต ทำให้สุขภาพไม่ดี ทำงานตอบเช้าไม่ค่อยไหว พระองค์ก็ทรงพระเมตตามาสอนว่า
๖.๑ กรรมใครกรรมมัน อย่าเอาจริตของผู้อื่นมาใส่ใจเรา เพราะจักเกิดอารมณ์หลงไปปรุงแต่งธรรมให้เกิดขึ้นได้ง่าย อารมณ์ปฏิฆะและราคะจักเกิดขึ้นตามมาจนเป็นการตำหนิธรรม ตำหนิผู้อื่น ด้วยไม่รู้เท่าทันจริตของตนที่เกาะยึดดี-เลวมาปรุงแต่งธรรมนั้น ๆ
๖.๒ ถ้าเจ้าเกิดอารมณ์สงสารเวทนาในการตรากตรำ การทำงานของเขา ก็เท่ากับโมหะจริตเกิด คิดไปว่ากายนั้นเป็นเขา เป็นเรา เกิดอารมณ์หดหู่ด้วยความหลงผิดไปนั้น ๆ
๖.๓ ถ้าเจ้าเห็นว่าการทำงานของเขาไม่ถูก ไม่ควร ไม่รักตัวเอง ก็เท่ากับสร้างการตำหนิกรรมให้เกิด กล่าวคือความไม่พอใจเกิด ไม่อยากหรือไม่ชอบให้เขาทำงานนั้น ๆ อารมณ์ปฏิฆะก็เกิด ยิ่งถ้าในยามเช้าเขาไม่มีแรงกวาดวัด มีท่าทีอิดโรยให้เจ้าเห็น เจ้าไม่พอใจ โทสะจริตก็เกิด เห็นชัดหรือยังว่า ถ้ามัวแต่ไปยุ่งกรรมของผู้อื่นเขา อารมณ์ของเจ้าก็สงบได้ยาก
๖.๔ ถ้าหากให้รู้จักแยกแยะกรรม รู้จักแยกแยะจริต อารมณ์ที่จักไหวไปตามกรรมนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
;จากคำสอนของพระองค์ดังกล่าว ทำให้เข้าได้ได้ดีว่า
ก) การตำหนิกรรมนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยอารมณ์ปฏิฆะเสียส่วนใหญ่เกือบ ๑๐๐% เต็ม เพราะถ้าไม่มีอารมณ์ มโนกรรม วจีกรรม กายกรรมก็ไม่เกิด การตำหนิกรรมก็ไม่มี การไม่พอใจหรือปฏิฆะ ก็ตำหนิ การพอใจหรือราคะก็ชม หรือสรรเสริญ จึงทำให้เห็นจิตมันไหวไปตามอายตนะสัมผัสทั้งหก ทำให้เกิดอารมณ์จริตต่าง ๆ ทั้งหกได้ชัดเจนขึ้น
ข) โทสะ เป็นอารมณ์หยาบมาก หากจะมาเปรียบกับอารมณ์ ปฏิฆะ เพราะหากจิตไม่ละเอียดพอแล้ว แค่ตามรู้อารมณ์ของตนเองก็ยังยากแล้ว ยิ่งคิดที่จะรู้ทันอารมณ์ของตนเองก็ยิ่งแสนยาก
ค) ในการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้น จนถึงพระนิพพานนั้น หากใครไปดูถูกกิเลส หรือประมาทในธรรม โดยเฉพาะอารมณ์ปฏิฆะกับราคะ (นินทากับสรรเสริญในโลกธรรม ๘) จะไม่มีทางจะเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงได้เลย
๗. สงสัยว่าเหตุใดจิตของตน จึงอยู่บนพระนิพพานไม่ได้ตลอด เมื่อเกิดอารมณ์สงสัยในธรรมที่ตนเองปฏิบัติ หลวงปู่ตื้อและหลวงพ่อฤๅษี ท่านก็เมตตามาช่วยสงเคราะห์สอนให้ มีความสำคัญว่า ขนาดเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังอยู่ไม่ได้ตลอด ยกเว้นกายตายแล้วนั่นแหละ ถึงมีสิทธิอยู่ได้ตลอด ต้องพูดให้เข้าใจ ไม่งั้นพวกเอ็งจะหลงไปว่า จะยกจิตขึ้นไปอยู่บนพระนิพพานได้ตลอด
หลวงพ่อท่านมาบอกว่า
๑. ตัวยังไม่ตาย อยู่ตลอดไปไม่ได้หรอก แค่นึกเมื่อไหร่ถึงเมื่อนั้นก็พอแล้ว ขืนคิดว่าอยู่ได้ตลอด พวกเอ็งก็ดีกว่าพระอรหันต์ซิ
๒. รู้ไว้ด้วยจะได้หายโง่ อย่างหลวงพ่อนี่บางทีขึ้นไม่ได้ ก็ยกเอาภาพพระนิพพานเข้ามาไว้ในจิต วิมานมีกี่หลังก็นิมิตขึ้นมาไว้ในจิต หรือในสมอง และที่ไม่ลืม คือ องค์สมเด็จพระชินสีห์ ประทับนั่งเป็นประธานอยู่ในวิมานหลังนั้น ๆ ด้วย พวกเอ็งเอาไปทำตามก็ได้ ตัวอย่างนี้หลวงพ่ออนุญาต
(หมายเหตุ ผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม เวลาไปวัดท่าซุงตอนวัดมีงาน ก็ได้ยินเทปม้วนนี้บ่อย ๆ มีความโดยย่อ ๆ ว่า บางครั้งร่างกายหลวงพ่อป่วยมาก จนยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานไม่ไหว จึงน้อมเอาพระนิพพานมาไว้ในจิต หรือในสมองแล้วท่านถามพระพุทธเจ้าว่า หากกายตายตอนนั้นจิตจะไปถึงพระนิพพานไหม พระองค์ตรัสว่าย่อมถึงพระนิพพานได้โดยไม่ต้องสงสัย เป็นต้น นี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่หลวงพ่อท่านเมตตาให้กับพวกเราอย่างหาประมาณมิได้ ที่ท่านยกเอาวิมานบนพระนิพพานมาจำลองสร้างไว้บนโลกมนุษย์ เพื่อให้พวกสุกขวิปัสสโก แล้วพวกฝึกมโนมยิทธิแล้ว จิตยังเห็นภาพพระนิพพานไม่ชัด เพราะหากความสงสัยเกิดขึ้นกับจิต ก็กลายเป็นนิวรณ์รบกวนจิต ทำปัญญาให้ถอยหลัง หมายความว่า โง่ทุกครั้ง ที่เกิดความสงสัยขึ้นในธรรมที่ตนเองปฏิบัติได้ ผมจะไม่เขียนรายละเอียด เพราะได้พูดให้ฟังแล้วหลายสิบครั้งในรอบ ๑๕ ปี ที่สนทนาธรรมกันที่ซอยสายลมและที่วัดท่าซุง)
๘. เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมของผม ท่านนึกถึงครูบาชัยวงศ์ ที่นำแตงนำผักมาบริจาคเป็นทานกับวัดทุกครั้งที่ท่านมา ไม่รู้จุดประสงค์และไม่เข้าใจกรรมจุดนี้ของท่าน พระพุทธองค์ก็ทรงพระเมตตาสอนให้หายสงสัย มีความสำคัญว่า
๘.๑ การบริจาคทานเป็นวิสัยของพุทธภูมิ บุคคลผู้มีความดำริเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง ตั้งมั่นอันที่จะปรารถนาพุทธภูมิวิสัยนั้นก็พึงควรสักการะ เพราะการตรัสรูขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นได้ยาก กาลนั้นเป็นอุดมมงคล เพราะกว่าจักบำเพ็ญบารมีให้ครบทั้ง ๓๐ ทัศได้นั้น จักยากกว่าบุคคลผู้ปรารถนาสาวกภูมิมาก กำลังพุทธวิสัยเป็นกำลังใหญ่ ขอให้พึงสังเกตปฏิปทาของพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ที่มีกล่าวมาแล้วในพระสูตร ชั่วขณะจิตที่รู้ว่าสามเณรผู้เป็นศิษย์คิดมีความปรารถนาอยากจักเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านนั้นยังจักต้องให้สามเณรเดินหน้าด้วยเพราะเหตุใด เพราะวิสัยพุทธภูมินั้นเป็นกำลังใหญ่ แม้แต่คิดริเริ่มเพียงชั่วขณะจิตก็ยังมีกำลังใหญ่ บารมีธรรมจุดนี้อย่านำไปตำหนิแก่ผู้ใดที่ปรารถนาพุทธภูมิ เพราะตำหนิแล้วจักเป็นกรรมเข้าตัวเอง โดยหาประโยชน์มิได้
๘.๒ อนึ่ง พุทธจริตก็คือพุทธภูมิเดิมที่ลาออกมาสู่สาวกภูมิทั้งสิ้น พวกเจ้าถ้าไปตำหนิพุทธภูมิเข้า ก็เท่ากับตำหนิกำพืดของตนเอง ขอจงอย่าทำกรรมนี้ให้เกิดอีกต่อไป รู้แล้วก็ต้องหมั่นศึกษาให้รู้จริง ควรจักโมทนาไปกับพุทธวิสัยของท่านนั้น ๆ
๘.๓ หมั่นกราบขออโหสิกรรม ต่อบรรดาผู้ปรารถนาพุทธภูมิด้วย เพราะกรรมอันนี้มีผลมิใช่เบา ซึ่งตำหนิกรรมไปในท่านทั้งหลายแล้ว จักเป็นอุปสรรคขวางกั้นการปฏิบัติธรรมของพวกเจ้าได้ จงอย่าประมาทในธรรมทั้งปวง
๙. มีบุคคลท่านหนึ่งที่กล่าวตำหนิธรรม ๒ เรื่อง พระองค์ก็ทรงพระเมตตาสอนต่อให้ มีความสำคัญว่า
๙.๑ ขอให้พวกเจ้าดูไว้เป็นตัวอย่าง ในบุคคลที่ยังตัดสักกายทิฎฐิเบื้องต้นไม่ได้ (ทรงหมายถึงสังโยชน์ข้อที่ ๑ - ๒ และ ๓ ยังไม่ได้) ยังไม่ได้รับการศึกษาธรรมตามขั้นตอน ยังไม่เข้าใจถึงกฎของกรรมโทษของกาม ไม่เข้าใจถึงการนำจิตไปเกิดตามกรรม ไม่เข้าใจถึงตัวกรรม ผลของกรรม ก็จักไม่สามารถตัดความดี - เลวไปจากจิตได้ ยังมีการติกรรมดี - เลว ทั้งในบุคคลอื่น ในตัวเองอยู่เป็นธรรมดา
๙.๒ ในเมื่อความจริงมันเป็นอย่างนี้ จิตของคนธรรมดามันเป็นอย่างนี้ การยกเอาธรรมศึกษา ที่พวกเจ้ากำลังเรียนรู้และเพียรปฏิบัติอยู่ไปบอกกล่าวกับหมู่คนทั่วไป ที่ยังไม่เข้าใจถึงกฎของกรรม จักมีประโยชน์อันใด มีแต่โทษ กล่าวไปแล้วเขาจักยิ่งตำหนิธรรม ในเมื่อดี-เลวยังไม่หมดไปจากใจ เขาก็ย่อมไม่ยอมรับกฎของกรรมเป็นธรรมดา
๙.๓ พวกเจ้าก็ยังละดี - เลวไม่หมดไปจากใจ ยอมรับกฎของกรรมไม่ได้ทั้งกาย - วาจา - ใจแล้ว ก็จงอย่าริไปพูดหรือสอนใครในธรรมที่ยังปฏิบัติไม่ได้นั้น ๆ จักพูดได้ก็แต่สังโยชน์ ๓ ที่ตัดได้แล้วเท่านั้นเอง ธรรมพรตปรามาสจักได้ไม่เกิด อาบัติปาราชิกอวดอุตรมนุษยธรรมจักได้ไม่เกิด เข้าใจไว้ด้วยนะ

เรื่องผลของการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อฤๅษี ท่านก็เมตตามาสอนต่อ มีความสำคัญดังนี้
๑. ผลการปฏิบัติธรรม ถ้าทำได้จริงคือต้องครบองค์ ๓ ทั้งกาย - วาจา - ใจ อุปมาก็เหมือนกับคนถูกหวย แล้วมีสตางค์อยู่ในกระเป๋า จะให้ใครก็มีเงินให้จริง ถ้ายังไม่ถูกจริงก็เหมือนกับซื้อหวยเอาไว้ หวังถูกรางวัลที่ ๒ ซึ่งถ้าถูก เงินก็ได้เยอะ แต่ยังไม่ถูก เพราะหวยยังไม่ออก ดันเที่ยวไปบอกแจก พูดแจกไปยังบุคคลผู้อื่น ยังมีเงินไม่จริงพูดแจกอย่างใดก็ให้ไม่ได้ ในเมื่อพวกเอ็งโชคดี รู้ขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จงอย่าทำตนเป็นคนโชคร้ายเสียก่อนที่จะถูกรางวัลที่ ๒ ล่ะ
๒. ด๊อกเตอร์ ท. ได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากต่างประเทศ เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใครไม่เก่งจริงไม่ยอมให้ผ่านการสอบ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม ท่านคิดว่าเขาเป็นคนเก่ง จึงแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบให้กับรัฐบาล ผลปรากฏว่าค้าขายขาดทุนเป็นสิบ ๆ ล้านในสมัยนั้น ซึ่งหากคิดเป็นสมัยนี้หลายร้อยล้าน หรือถึงพันล้าน หมายความว่า การพูดกับการทำนั้นมันคนละเรื่องกัน การพูดเป็นเพียงแค่ปริยัติ แต่การทำคือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผล สิ่งที่เราต้องการก็คือผล ไม่ใช่ต้องการแค่ตัวหนังสือ หรือแค่น้ำลาย
๓. ผู้ที่จะเป็นครูสอนเขาได้นั้น ต้องรู้จริง ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติด้วย ไม่ใช่รู้แค่ตัวหนังสือ ในทางธรรมก็เช่นกัน เรารู้แค่ปริยัติแค่มรรคเท่านั้นไม่พอ เราจักต้องทำให้เกิดผลเสียก่อนจึงจะเป็นของจริง แล้วจึงนำไปสอนผู้อื่นเขาได้ อย่างเช่นพระพุทธเจ้า เป็นต้น
๔. ทางธรรมถือเอาผล ผลจะต้องได้ครบ ๓ คือ กาย - วาจา - ใจ พวกฌานโลกีย์ถึงถูกกิเลสหลอกเอาเสมอ เพราะสงบแค่ได้ที่ใจ แต่กายและวาจา ยังไม่ยอมสงบตามใจ ของจริงต้องสงบทั้ง ๓ อย่าง
๕. ดังนั้นการปฏิบัติงาน ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม ก็ต้องมีขั้นตอนทั้งสิ้น หากไม่ทำตามขั้นตอน ผลก็ไม่เกิด หรือเกิดไม่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น หรือบางทีก็เข้าป่าเข้ารกไปเลย

เรื่อง ธาตุ ๔ ในอาหารชนิดต่าง ๆ
ในวันพุธที่ ๗ ต.ค. ปี ๒๕๓๕ หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตตาสอนเรื่องธาตุ ๔ ในอาหารชนิดต่าง ๆ มีความสำคัญ ดังนี้
๑. ผักบุ้งมีไวตามินสูง โดยเฉพาะไวตามินเอ คนตาไม่ค่อยเห็นในตอนกลางคืน เพราะขาดไวตามินเอ ผักบุ้งมีฤทธิ์ เป็นยาระบาย กินมากก็เสาะท้อง ท่านไม่ได้ฉันมานาน ทั้ง ๆ ที่ชอบ และยังรักษาโรคไตได้ ที่ท่านฉันก็เพื่อให้ท้องถ่ายง่าย แต่ถ้าเป็นผักบุ้งดองก็แสลงต่อโรคไต คนท้องผูกเพราะธาตุไฟไม่ทำงาน ในคนสูงอายุธาตุไฟอ่อนกำลังลง เพราะความเสื่อมของร่างกาย
๒. อาหารรสจัด ๆ ของเผ็ดร้อนเป็นธาตุไฟ ซึ่งพวกคนแก่จะทานได้น้อย เมื่อธาตุไฟอ่อนกำลังลงทำให้ไม่สามารถขับธาตุลมให้ไปขับธาตุน้ำ ให้ไปไล่ธาตุดิน (ขี้หรืออุจจาระ) ให้ออกไปได้ ท้องคนแก่จึงผูกด้วยเหตุนี้
๓. อาหารทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษ ธรรมะที่เกี่ยวกับอาหารเป็นของละเอียด เพราะเกี่ยวข้องกับธาตุ ๔ โดยตรง ซึ่งพวกพุทธจริตเท่านั้นจึงจะพูดกันเข้าใจและรู้เรื่องได้ดี ยิ่งพวกที่กินอาหารโดยขาดการพิจารณาด้วยยิ่งไปกันใหญ่ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา, ปัจจเวกขณะ ๔ ซ้ำอาหารบางอย่างมีคุณค่าเป็นยารักษาโรค มีคุณค่าของอาหารต่าง ๆ กันคนส่วนใหญ่กินอาหารตามสัญญาเดิม กินตามอุปาทานของตน และกินเพราะติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร
๔. ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ทราบว่าขณะนี้ร่างกายกำลังขาดธาตุอะไร หรือมีธาตุอะไรเกินพอ จึงไม่สามารถเอาธาตุ ๔ ภายนอกไปเสริมได้ถูก ดีไม่ดีแทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษก็ไม่น้อย
๕. ผักมีธาตุน้ำพอ ๆ กับธาตุดิน ข้าว เผือก มัน ฟักทอง มีธาตุดินมากกว่าธาตุน้ำ ต้มจืดมีธาตุน้ำมาก ต้มยำมีธาตุไฟและธาตุน้ำมาก ผักดองมีแก๊ส (ลม) และกรดมาก ดังนั้นหากขาดธาตุลมต้องกินผักดอง น้ำตาลมีธาตุไฟมาก เป็นความหวานในขนมและผลไม้ ผลไม้มีธาตุน้ำมากกว่าธาตุดิน ซึ่งมีแร่ธาตุหลายชนิด ความหวานเป็นธาตุไฟ ทุเรียนมีธาตุลมมาก แต่พวกมีเม็ดเลือดเข้มข้นมาก อย่ากิน ความดันจะขึ้นสูงง่าย บางรายกินและลมดันขึ้นจนหัวใจวายตายก็มี ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นธาตุไฟ ฝรั่งมีธาตุดิน แตงโมมีน้ำ ๙๘% เพราะฉะนั้นการกินจึงต้องใช้มัชฌิมา ไม่กินเพื่อให้อ้วนให้ผอม ให้ผิวพรรณผ่องใส แต่กินตามที่ร่างกายต้องการ ธาตุที่ขาด (ธรรมเรื่องอาหารนี้จึงยาก เพราะละเอียดมาก ดังนั้นผู้ที่รู้ดีรู้จริงในเรื่องนี้ จึงควรจะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้น) สัปปะรดเปรี้ยวใช้รักษาโรคนิ่วได้ เพราะน้ำสัปปะรดเป็นกรดสามารถละลายก้อนนิ่วได้
๖. น้ำปัสสาวะมีธาตุดินออกมามากเหมือนกัน แต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยดูจากกล้องขยาย ถ้าต้องการเห็นด้วยตาเปล่า หากปัสสาวะเป็นกรด ให้เอาด่างเติมลงไป จะเห็นธาตุดินที่ละลายอยู่ในกรด ตกตะกอนเป็นสีขาว ๆ ให้เห็นได้ชัดเจน
๗. สภาพของธาตุดินที่เห็นชัดคือกระดูก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเหมือนโคลนที่อยู่ในน้ำเละ ๆ เปราะบางและสกปรก

ธรรมที่ได้ขณะกินอาหาร
พอสรุปสั้น ๆ มีความสำคัญดังนี้
๑. ก่อนจะกินอาหาร เอาจิตคิดขอถวายอาหารเพื่อบูชาความดีของพระพุทธองค์ เพื่อเอาบุญเสียก่อน และเพื่อความไม่ประมาทในธรรม ควรอาราธนาคาถาป้องกันและทำลายพิษที่อาจมีอยู่ในอาหารเสียก่อนทุกครั้ง
๒. พิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา รวมทั้งคุณและโทษของอาหารที่จะบริโภคด้วย เพราะบางคนแพ้หรือไม่ถูกกับอาหารบางชนิด ก็ต้องเว้นเสีย และต้องจำให้ได้ด้วย (หลวงพ่อฤๅษีท่านไม่ฉันทุเรียนและสัปปะรด เพราะไม่ถูกกับร่างกายของท่าน)
๓. เห็นวัฏฏะ เห็นสันตติธรรม เห็นไตรลักษณ์ของธาตุ ๔ เราจึงต้องเอาธาตุ ๔ ภายอก (อาหาร) เข้ามาเสริมธาตุ ๔ ภายใน (ร่างกาย) อยู่เสมอ เป็นวัฏฏะ หรือสันตติ หรือไตรลักษณ์ เวียนอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่มีวันหยุด หยุดเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น
๔. พิจารณาเห็นทุกข์จากการหาอาหาร, ปรุงหรือประกอบอาหาร, ระหว่างบริโภคอาหาร และหลังบริโภคอาหารแล้ว มีทุกข์ตลอดเวลา มีรายละเอียดอยู่มาก ตั้งแต่การถางป่า ขุดตอไม้ ไถ ปลูก ระวัง รักษา เก็บเกี่ยวข้าว ขอเขียนย่อ ๆ ไว้แค่นี้ (รวมทั้งทุกข์จากการประกอบอาหาร และทุกข์จากข้ออื่น ๆ จากอาหารด้วย)
๕. ทุกข์จากระเบียบ วินัย มารยาทในการบริโภค โดยเฉพาะพระสงฆ์มีข้อบังคับอยู่มาก จะฉัน จะนั่ง จะเอื้อมมือตักอาหาร จะเอาช้อนเข้าปาก จะเคี้ยวไม่ให้มีเสียงดัง ห้ามพูดห้ามคุยระหว่างฉัน และอีกมากมาย
๖. ทุกข์จากการติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร อันเป็นทุกข์ที่เกิดจากใจ จากกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกาะติดใจมาทุก ๆ ชาติ หากเรารู้ไม่ทัน
๗. ให้จบลงในอารมณ์มรณานุสสติควมอุปสมานุสสติ โดยคิดว่าอาหารมื้อนี้อาจเป็นมื้อสุดท้ายที่เราบริโภค ความตายอาจเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ หากกายพังเมื่อไหร่ จิตเราก็พร้อมจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น นิพพาน สุขัง และจงอย่าลืมอุทิศกุศลให้กับอาทิสสมานกายของผู้บริจาคสังขารเป็นทาน เป็นอาหารให้เรายังชีวิตอยู่ด้วยทุก ๆ ครั้ง ในข้อนี้จิตใครละเอียดแค่ไหน ก็คิดได้ละเอียดแค่นั้น ขอเขียนไว้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น
ผมก็ขอจบไว้สั้น ๆ แค่นี้ เพราะเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญา พระองค์สอนเฉพาะพวกพุทธจริตเท่านั้น จึงมีรายละเอียดอยู่มาก และบารมีธรรมของคนเราก็สะสมกันมาไม่เสมอกัน จิตอยู่ระดับไหน ย่อมรู้ธรรมได้แค่ระดับนั้นเป็นธรรมดา

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๖ควรนึกถึงความตายทุกอิริยาบถ




ควรนึกถึงความตายทุกอิริยาบถ
เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จพระพุทธกัสสป ได้มีพระเมตตามาตรัสสอนเรื่อง ควรนึกถึงความตายทุกอิริยาบถ มีความสำคัญดังนี้
๑. ควรจักระลึกถึงความตายเป็นนิจ ถ้าควบคู่กับลมหายใจเข้า - ออกได้ก็ควรทำ เพราะขาดมรณานุสสติกรรมฐาน อารมณ์ประมาทจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
๒. ความไหวไปในอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ก็เกิดขึ้นง่าย เพราะจิตลืมคิดไปว่าร่างกายนี้มันกำลังจักตาย จึงไหวไปกับอายตนะกระทบทั้งปวง ทำอารมณ์ร้อนรุ่มไปให้เกิดกับอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ แต่ถ้าหากยึดมรณานุสสติกรรมฐานไว้เป็นแม่บท ควบคู่กับอานาปานุสสติกรรมฐานแล้ว อารมณ์หลงไปในโทสะ ราคะก็จักเบาลง
๓. ร่างกายมันกำลังจักตาย ร่างกายคนอื่นก็ก้าวสู่ความตายเช่นกัน จักโกรธ โลภ หลง ก็ไม่มีประโยชน์อันใด อารมณ์ของจิตจักเยือกเย็น มีกำลังตัดกิเลสอันเป็นอกุศลได้ทั้งปวง
๔. ขอให้โชคดี ขยันหาผลของการปฏิบัติเข้าไว้

เรื่อง อารมณ์ราคะกับปฏิฆะ
จากนั้น สมเด็จองค์ปฐมก็ ทรงพระเมตตามาตรัสสอนต่อ เรื่องอารมณ์ ๒ ให้ ดังนี้
๑. เจ้าจงหมั่นดึงอารมณ์ให้ช้าลงด้วยอานาปานัสสติ ควบคู่กับภาพพระในอก
๒. ที่ยังหุนหันพลันแล่นเพราะอารมณ์จิตมันร้อน ใจเร็วเกินไปหน่อย ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีอารมณ์ใคร่ครวญ กามฉันทะ ปฏิฆะกระทบทีไร อารมณ์จึงเตลิดไปก่อนทุกที
๓. นิสัมมะ กะระณัง เสยโย ยังอ่อนเกินไป สติไม่ไว รู้ไม่เท่าทันความคิด ต้องพยายามรู้ลม จับภาพพระ โจทย์จิตตนเองไว้เสมอ ๆ
๔. เพ่งโทษของความรัก และความโกรธเข้าไว้เนือง ๆ แต่รู้ด้วยอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ
๕. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ของตนเองและผู้อื่นว่าในที่สุดก็ต้องตาย ขันธ์ ๕ มีแต่ความเสื่อมสกปรกหมด ถ้าหากไม่ชำระจิตให้สะอาดดีแล้ว ก็ต้องจุติสู่ภพสู่ชาติกันอีกต่อไป จักมานั่งรักนั่งโกรธขันธ์ ๕ ของตนและบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์อันใด เพราะขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ มันไม่เที่ยง เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกันชั่วครั้งชั่วคราว ขันธ์ ๕ ทุกรูปทุกนามเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยโทษ ยิ่งมัวเมาอยู่ในอารมณ์ราคะ ปฏิฆะมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องกลับมาเกิดพบกับขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยโทษและทุกข์เช่นนี้อีก
๖. การมีขันธ์ ๕ กรรมที่ล่วงปัญจเวรทั้ง ๕ มาแต่อดีตชาติก็เข้ามาเล่นงานได้ตามวาระ ไม่มีใครอยากได้ขันธ์ ๕ ที่เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะกฎของกรรมเยี่ยงนั้น แต่สภาพจริง ๆ ของขันธ์ ๕ ก็เป็นเยี่ยงนี้เป็นปกติ เกิดเป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ มีชีวิตอยู่ก็พลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความกระทบกระทั่งของอารมณ์เป็นต้นเหตุ
๗. รวมความว่า ในเมื่อเจ้าเบื่อไม่อยากมีขันธ์ ๕ เจ้าก็สมควรเบื่ออารมณ์ราคะกับปฏิฆะ ที่ทำให้ต้องกลับมามีขันธ์ ๕ ด้วย มองดูทุกข์ มองดูโทษของอารมณ์ทั้ง ๒ นี้ด้วยตาปัญญาเถิด
๘. กำหนดอานาปานัสสติให้จิตมีกำลัง มีสติทรงตัว แล้วกำหนดรู้ทุกข์นั้นช้า ๆ
๙. จงหมั่นกระทำประดุจเดียวกันกับการพิจารณาขันธ์ ๕ คือ หมั่นแยกแยะอารมณ์ให้ละเอียดลงไปตามลำดับ หามูลเหตุให้ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น ๆ
๑๐. อย่าคิดว่าง่าย รู้แล้วเป็นอันขาด เพราะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม มันครอบงำบดบังจิตได้ง่าย ๆ นิวรณ์เข้าแทรกเมื่อไหร่ ปัญญาที่จักเห็นต้นเหตุที่เกิดอารมณ์นั้น ๆ มันก็หมดไป มองไม่เห็นและมักจักเกิดอารมณ์โง่ คือเข้าข้างตนเอง ปล่อยให้จิตตกเป็นทาสอารมณ์ที่ถูกกิเลสนั้น ๆ เข้าครอบงำ ตัวอย่างที่เจ้าตกอยู่ในสภาพหดหู่ เศร้าหมองเพราะคิดถึงท่านฤๅษี ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ดี (ทรงเน้นสอนเพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผมโดยเฉพาะ) แต่จิตก็ไม่มีปัญญาที่จักแก้ไขอารมณ์หลงนี้ให้หลุดไปจากจิตได้ แต่ถ้าเจ้าทำตามขั้นตอนนี้ ที่ตถาคตได้กล่าวมาแล้วนั้น ใช้อานาปานัสสติคุมจิตให้มีสติให้มีกำลัง ดึงอารมณ์จิตให้ช้า พิจารณากำหนดรู้ทุกข์ รู้โทษของอารมณ์ หมั่นแยกแยะอารมณ์ให้ละเอียดลงไปตามลำดับ ในที่สุดเจ้าก็จักละอารมณ์หดหู่เศร้าหมองได้ อารมณ์ใดเกิดก็ให้ละอารมณ์นั้น ด้วยจิตที่มีสติ มีกำลัง ในที่สุดก็จักละอารมณ์เหล่านั้นลงได้ตามลำดับ
๑๑. กำหนดรู้ให้มาก แต่อย่าทำอารมณ์จิตให้เครียด จงหมั่นอาศัยอานาปานัสสติยังจิตให้เข้าถึงฌาน อารมณ์จักเบา
๑๒. สำหรับการพิจารณา ก็พยายามรักษาอารมณ์ให้อยู่ในขั้นปฐมฌานเข้าไว้ จิตจักมีกำลังระงับนิวรณ์ ๕ และจักทำวิปัสสนาญาณไปด้วยดี ใคร่ครวญคำสอนเรื่องอารมณ์นี้ให้มาก ๆ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนตุลาคม ๒๕๓๖



หลัก ๑๐ ประการ
ในการปฏิบัติธรรมให้เร็ว ๆ ไว ๆ
พระพุทธองค์ทรงพระเมตตาตรัสสอนเมื่อพฤหัสบดีที่ ๘ ต.ค.๒๕๓๕ ที่วัดท่าซุง มีความสำคัญว่า การปฏิบัติธรรมของตถาคตต้องเร็ว ๆ ไว ๆ ไม่เนิ่นช้า ไม่ประมาท โดยพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุดหรือเสียเวลาน้อยที่สุด ผมขอสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อสะดวกในการจดจำ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผล มีหลัก ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. เจ้าจงหมั่นพิจารณาสรีระให้เน่าเปื่อยสกปรก (ให้พิจารณากายคตาและอสุภะ)
๒. เจ้าจงหมั่นพิจารณาถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก (ให้พิจารณามรณาและอานาปา)
๓. เจ้าจงหมั่นพิจารณากฎของกรรม โทษของกามให้เกิดจนจิตยอมรับ
๔. หมั่นขึ้นไปดูวิมานของตนที่พระนิพพานเพื่อยังอารมณ์จิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ
๕. หมั่นนึกถึงตถาคต และพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์, พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์, พระอรหันต์สาวกเจ้าทั้งปวงที่จบกิจในพุทธศาสนาแล้วว่า ท่านมาแดนพระนิพพานได้อย่างไร หมั่นจดจำ และทำมรรคผลนั้น ๆ ให้เกิด
๖. ระลึกเสมอว่ามนุษโลก-เทวโลก-พรหมโลกมิได้สุขจริง แค่เพียงอาศัยพักทุกข์ชั่วคราว ไม่ช้าก็ต้องไปเกิดใหม่ แต่ส่วนใหญ่ต้องลงอเวจีมหานรก เราจักไม่ต้องการมันอีก (ให้ตัดอวิชชาหรือสังโยชน์ข้อ ๑๐ หรืออุปสมานุสสตินั่นเอง)
๗. เมื่อเจ้าเห็นครบวงจรแล้ว จิตก็จงหมั่นพิจารณาตามนั้นจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยได้อย่างชัดเจน (เห็นกฎของกรรม โทษของกาม)
๘. กฎของกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้า เจ้าต้องยอมรับกรรมนั้น กำหนดจิตคิดอย่างผู้มีสติรู้สึกว่า ผลของกรรมนี้มีเหตุเนื่องมาจากเราเป็นผู้ก่อเอาไว้ในชาติก่อน เพราะละเมิดศีล ๕ มาก่อนทั้งสิ้น ขอยอมรับกรรมนี้โดยสงบ และขอรับเป็นครั้งสุดท้าย ชาติต่อไปขึ้นชื่อว่าการเกิดมีร่างกายอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์จักไม่มีกับเราอีก ขอมีพระนิพพานเป็นที่ไป (ให้เคารพและยอมรับกฎของกรรม)
๙. จริยาใดที่ขัดต่อศีล ธรรม ขอยกเลิกการกระทำนั้น ๆ ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือ ยอมตายดีกว่ากระทำผิดศีลและธรรมนั้น ๆ (ให้ทรงอธิศีล)
๑๐. เราจักประพฤติปฏิบัติศีลและธรรมนั้นด้วยชีวิต แม้จะตายก็ช่าง หากตายเราก็ขอไปพระนิพพานจุดเดียว

กรรมของหลวงพ่อฤๅษีหลังลาพุทธภูมิ
ผมขอสรุปเป็นข้อ ๆ มีความสำคัญดังนี้
๑. ท่านเหนื่อยมาตลอดตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มอยู่ สมัยตอนบวชใหม่ ๆ ท่านก็ต้องทำงานหนักด้านก่อสร้างร่วมกับเพื่อนสนิทของท่าน ๒ องค์ (ท่านฤๅษีองค์เล็กและท่านฤๅษีองค์ขาว) มาโดยตลอด แต่ท่านใช้วิธีเอากายทำงานทางโลก เอาจิตทำงานทางธรรมเป็นพระกรรมฐาน ท่านสามารถทำได้พร้อมกัน โดยใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ข้อนี้ฟังท่านพูดสอนแล้วรู้สึกอายท่าน เพราะส่วนมากพวกเราใช้เวลาไปในการท่องเที่ยงกินและนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ หากเกิดตายไปในระหว่างนั้นมีหวังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะตายในอารมณ์หลงหรือโมหะจริต)
๒. ท่านว่า พุทธภูมิต้องเหนื่อย ยิ่งลาแล้วยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม เพราะเจ้ากรรมนายเวรเขาตามทวงหนัก (ในข้อนี้มีความจริงอยู่ว่า ท่านบำเพ็ญพุทธภูมิวิริยาธิกะ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง ๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป ท่านบำเพ็ญมาเหลืออีก ๗ ชาติสุดท้ายแล้ว เข้าขั้นปรมัตถบารมี เพราะเหลืออีก ๑๐ ชาติสุดท้าย จัดเป็นปรมัตถบารมี แต่ท่านตัดสินใจลาพุทธภูมิในชาติปัจจุบันนี้ ดังนั้น กรรมชั่วต่าง ๆ ที่ท่านทำเอาไว้ในอดีตก็จะรวมตัวกันตามทวงท่านในชาติสุดท้าย กรรมจึงหนักเป็น ๗ เท่า พวกเราซึ่งอธิษฐานขอเป็นสาวกของท่าน ก็ขอลาตามท่าน ผลของกรรมชั่วที่พวกเราทำไว้ก็รวมตัว ทวงพวกเราหนักเป็น ๗ เท่าเช่นกัน ไม่มีใครได้รับยกเว้น คิดถึงจุดนี้แล้วรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ แต่ก็ต้องทนให้ได้แบบท่าน ซึ่งเป็นผู้นำ เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว กรุณากลับไปอ่านคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๓ เรื่องอุบายการละสักกายทิฎฐิความไม่ประมาทและความตายกับความเจ็บไข้ โดยเฉพาะในหน้าที่ ๒๖ ข้อที่ ๙ แล้วท่านจะเข้าใจได้ดี
๓. การเจริญกรรมฐานก็หนัก เพราะต้องเร่งรัดตนเองมากกว่าสาวกปกติ (ในข้อนี้จะเห็นได้จากหลักฐาน คำสอนของท่าน ซึ่งมีอยู่ในเทปธรรมะของท่านเป็นพัน ๆ ม้วน บรรดาศิษย์ของท่าน ก็เมตตาถ่ายทอดออกเป็นหนังสือธรรมะของหลวงพ่อแจกพวกเรามาตลอด ๑๕ ปีที่ผ่านมาก็หลายสิบเล่มแล้วก็ยังไม่หมด)
๔. พวกพุทธจริต ก็คือพวกที่ลาพุทธภูมิ นั่นเอง ดังนั้นการจบกิจก็ต้องเรียนรู้หมดตามจริตของตนจึงจะผ่านได้ เพราะฉะนั้นเอ็งและหมอห้ามบ่นเรื่องเหนื่อยและหนักในการปฏิบัติ เพราะเสือกเลือกกันมาเองทั้งนั้น อยากไปทางลัดก็ต้องเร่งรัดกันอย่างนี้แหละ (ในข้อนี้ พวกเราเกือบทุกคนล้วนเคยปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนทั้งสิ้น เมื่อลาพุทธภูมิจึงมีพุทธจริต จัดเป็นพวกฉลาด มีปัญญา จึงไม่มีใครอยากจะเกิดมามีร่างกายให้พบกับทุกข์ โทษและภัยของการเกิดอีกหลักสูตรมีอยู่พร้อมแล้ว อยู่ที่ความเพียรของแต่ละคน ใครเพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว ใครเพียรน้อยพักมากก็จบช้า ขอย้ำอีกครั้ง ให้อ่านคำสอนของสมเด็จองค์ปฐมที่เขียนไว้ในข้อที่ ๒ ในเรื่องนี้ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผล)
๕. ทั้งหมดล้วนเป็นกฎของกรรม ซึ่งเราทำเอาไว้เอง ถ้าเราไม่ยอมรับผลกรรมตามนี้ ก็ยากที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ (ข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว)
๖. พุทธภูมิมีงาน ๓ ลำดับ คือ งานศึกษา, งานโยธา และก่อสร้าง, งานสอนพระกรรมฐานซึ่งหนักที่สุด เพราะบริวารมีมาก เป็นกรรมที่ทำร่วมกันมา ศิษย์จึงมากตอนเร่งรัดบารมีต้องเหนื่อย และหนักด้านโยธาจนกว่าจะตาย (ในข้อนี้ท่านเน้นงานสอนกรรมฐาน ซึ่งหนักที่สุด ก่อนท่านจะทิ้งเปลือกหรือขันธ์ ๕ ที่ท่านอาศัยอยู่ชั่วคราวไปพระนิพพาน ท่านได้มอบหมายหน้าที่ตอบปัญหาธรรมให้กับผมไว้ ให้ผมทำหน้าที่แทนท่านเมื่อท่านไม่อยู่ ท่านเคยเล่าให้ผมฟังเป็นการส่วนตัวว่า พอท่านกลับจากซอยสายลมมาถึงวัด วันแรกท่านหมดแรง นอนแผ่หลาทุกที กรรมนี้ขณะนี้มาอยู่กับผมแล้ว ซึ่งก็ต้องอดทนและต้องทนให้ได้ เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือเป็นการตอบแทนพระคุณของพระพุทธองค์และของหลวงพ่อท่าน อันหาค่ามิได้ ผมไม่ขอเขียนรายละเอียด ผู้ใดสงสัยกรุณากลับไปอ่านเรื่องอารมณ์อีโก้ ซึ่งสมเด็จองค์ปัจจุบันตรัสสอนไว้อีกครั้ง แล้วท่านจะเข้าใจดี)
๗. ขนาดจบกิจพระศาสนาแล้ว งานยิ่งหนักขึ้น เพราะท่านมีลูกหลานบริวารมาก การถวายเงินก็มีเข้ามามาก ทำให้การก่อสร้างยิ่งมาก เพื่อเป็นวิหารทาน อันเป็นบันไดให้เขาไปสู่สรรค์ (ทานัง สักกะโส ปานัง ทานเป็นบันไดให้ไปสู่สวรรค์) เป็นกำลังใจขั้นต้นของการปฏิบัติบูชาในพุทธศาสนา ขั้นต่อไปก็รักษาศีลและเจริญภาวนาตามลำดับ ตามกำลังใจของแต่ละคนเพื่อก้าวเข้าสู่พระนิพพาน (ในข้อนี้ยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่มาก ทำให้สงสัยว่าหลวงพ่อก็อายุมากแล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อตัดกิเลส - ตัณหา - อุปาทานและอกุศลกรรมก็ไม่มีแล้ว ทำไมท่านถึงยังเหนื่อยเรื่องก่อสร้างวัดอยู่อีก ผมขออธิบายว่าเงินที่ถวายเข้ามา บางคนเน้นเฉพาะเจาะจงว่าเพื่อสร้างโน่นสร้างนี่ แต่บางคนก็ไม่เน้น หลวงพ่อท่านฉลาดจึงเอาเงินที่ถวายท่านส่วนใหญ่ไปสร้างเป็นวิหารทาน เพราะเป็นบุญสูงสุด ในวัตถุทานให้พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ขออธิบายย่อ ๆ ว่าพระองค์ตรัสว่า อานิสงส์ผลบุญจากการถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังสู้ถวายวิหารทานครั้งเดียวไม่ได้ วิหารทานจึงเป็นบุญสูงสุดในวัตถุทาน อันเป็นอริยทรัพย์ที่พวกเราเอาติดตัว (ติดใจ) ไปได้ พวกเราจึงโชคดี มีวิมานที่สวยงาม ผิดธรรมดา มิใช่มีวิมานงดงาม ซึ่งแปลว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่ได้เรื่อง ไม่น่าดู วิมานพวกเราทุกคนจึงประดับ หรือสร้างด้วยเพชร ๗ ประการบ้าง ๙ ประการบ้าง มิใช่สร้างด้วยทองคำหรืออย่างอื่น รายละเอียดยังมีอีกมาก ขอเขียนย่อ ๆ เพียงแค่นี้
จึงขอสรุปว่าหลวงพ่อท่านเหนื่อยเพื่อพวกเราโดยตรง ขอให้เข้าใจไว้ด้วย เพราะบุญทั้งหลายเต็มแล้วสำหรับท่าน จะทำบุญอีกเท่าไหร่ก็ไม่เพิ่มยิ่งไปกว่านั้น และประการสำคัญ พระอรหันต์ทุกท่าน เป็นผู้ที่พร้อมอยู่ในความไม่ประมาท แม้ท่านจะจบกิจแล้ว บุญเต็มแล้ว ท่านก็ไม่ประมาท ตราบใดที่ชีวิตหรือร่างกายยังทรงอยู่ ท่านก็ไม่เว้นจากการทำบุญ ทำทาน ทำความดีตลอดเวลา ขอให้พวกเราซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน จงเอาท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น องค์สมเด็จท่านก็ตรัสไว้ชัดเจนตามเอกสารที่แจกให้ท่านไปแล้ว)

อย่าคบคนเลว คบแต่คนดี
สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงพระเมตตาสอนไว้ มื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ต.ค. ๒๕๓๕ มีความสำคัญดังนี้
๑. ในโลกนี้ย่อมมีธรรมอยู่เป็นคู่เสมอ ดีคู่กับเลว คนดีอยู่ปนกับคนเลว แม้นักบวชที่เลวก็ปนกับนักบวชที่ดี ดังนั้นจงจำจริยาของตถาคตไว้ เลือกเอาแต่คนดี เก็บความดีของเขาไว้ในใจ ดูการปฏิบัติธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายว่าเขาทำกันอย่างไรจึงได้ดี แล้วจำไปเพื่อเอาไปปฏิบัติให้เกิดผล
๒. สำหรับคนเลวจงอย่าคบ อย่าไปเก็บความเลวของเขามาไว้ในใจเรา ดูว่าความเลวเขาทำกันอย่างไร เราจักไม่ทำความเลวตามนั้นเป็นอันขาด เขาจะเลวอย่างไรก็ช่าง เรารู้ เราเห็น เราก็วางเฉย ใช้อารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ไม่เก็บความเลวของเขามา เพราะเรารู้เห็นผลกรรมอันพึงจักได้รับมาแล้วอย่างครบวงจร จักได้เบื่อเกิด เบื่อกาย ไม่ต้องมารับทุกข์ รับโทษอีก ตั้งใจไว้นะ ต่อไปนี้เราจักคบแต่คนดี คบแต่ความดี เลิกคบคนชั่วคนเลว เลิกคบความชั่วความเลว เลิกให้ได้ เลิกที่จิตของเรานี่แหละ เลิกที่คนอื่นไม่สำเร็จหรอก ตั้งใจเอาไว้ให้ดี ๆ
๓. อันบุคคลผู้เข้าถึงความดีในพุทธศาสนา จักต้องเข้าถึงที่จิต มิใช่เข้าถึงแค่กาย ถ้าทรงความดีไว้แค่เปลือกเพื่อหลอกชาวบ้านนั้น ตถาคตไม่นับถือหรือยอมรับว่าเป็นคนดี
๔. ตั้งแต่นี้ต่อไป เจ้าจักทำกิจการงานใดก็ตาม จงทำตามแต่เพียงหน้าที่ อย่าหวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
๕. จงหมั่นตั้งอารมณ์ไว้จุดเดียว คือ ต้องการพระนิพพาน ดูธรรมทั้งหลายในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ หาความสุขที่เที่ยงแท้ไม่ได้
๖. ความต้องการใด ๆ ในโลกนี้ไม่มี แม้แต่ร่างกาย มันอยู่ได้ก็อยู่ ถ้ามันจักตายก็ปล่อยให้มันตายไม่ดิ้นรน ทุกอย่างทำตามหน้าที่ให้กับกายเหมือนบิดา มารดาเลี้ยงดูบุตร แต่ให้จิตรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา มันมีความเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง มีความเสื่อมในท่ามกลาง และมีความตายในที่สุด
๗. กฎของกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย ก็จงยอมรับ อย่าฝืน เพราะยิ่งฝืนก็ยิ่งทุกข์ ตั้งใจยอมรับกฎของกรรมด้วยความสงบ จักมีกรรมอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็ขอยอมรับเป็นชาติสุดท้าย ตั้งใจเอาไว้ว่าเราจักไม่ต่อกรรมไปในบุคคลผู้ใดอีก เพราะเห็นโทษของกายกรรม วจีกรรม อย่างชัดแจ้งแล้ว
๘. ถ้าจิตของเราไม่เลวเสียอย่างเดียว มโนกรรมก็จักเกิดไม่ได้ อกุศลกรรมก็ทำอะไรเราไม่ได้ เมื่อมโนกรรมไม่เกิด วจีกรรม กายกรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ การต่อกรรมก็จักไม่มีไปในอนาคตอีก เจ้าจงหมั่นคิด ใคร่ครวญ พิจารณาเรื่องกฎของกรรม โทษของกาม จนจิตทรงตัว การพลั้งบ้างเผลอบ้างในขั้นต้นก็เป็นของธรรมดา
๙. การทรงจิตให้ตั้งอยู่ในความดีของพุทธศาสนา อาศัยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นพื้นฐานของการเจริญสมถะวิปัสสนา
๑๐. จงอย่าละความเพียร นิสัมมะ กะระณัง เสยโย ให้มาก ๆ
๑๑. กิจใดที่เจ้าทำทั้งปวง จงมุ่งหวังความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน
๑๒. ธรรมใดที่เป็นธรรมพ้นโลก จงทำด้วยความตั้งใจ กิจการงานโลกก็ทำไปตามภาระหน้าที่ ทำด้วยความต้องการให้เป็นอริยทรัพย์
ทรงตรัสถามว่า เจ้าก็มีความเข้าใจแล้วมิใช่หรือ ตอบว่า เข้าใจแล้วพระพุทธเจ้าข้า
ที่เจ้าว่าเข้าใจนั้น เข้าใจอย่างไร ตอบว่า เข้าใจว่าการทำงานทางโลกนั้นเป็นหน้าที่ของกาย ส่วนการทำงานทางธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของจิต ซึ่งสามารถทำไปได้พร้อม ๆ กัน พระพุทธเจ้าข้า
ทรงเมตตาตรัสสอนต่อไปว่า
๑๓. ถูกต้อง แต่ยังมีความพลั้งเผลอและประมาทอยู่มาก ขอให้เจ้าหมั่นใช้เวลาของการทำงานของจิตให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ พยายามอย่าเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระภายนอกให้มากนัก เพราะขึ้นชื่อว่าโลกแล้วนั้น มันก็จักมีอำนาจดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างให้ติดอยู่กับมัน เราต้องการจักพ้นโลก ก็ต้องพยายามชำระจิตให้คลายความติดในโลกนั้น
๑๔. โลกภายนอกยังไม่สำคัญเท่าโลกภายใน ขันธโลกนี้ฉุดจิตให้คนหลงใหลติดตรึงมาแล้วนับไม่ถ้วน ทำให้ยืดเป็นอัตตาการเกิดสันตติสืบเนื่องต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
๑๕. การจักได้พ้นจากขันธโลก ต้องหมั่นมองหาความจริงให้พบว่า โรคะ นิทธัง ปะภังคุณัง ขันธโลกอันมีอาการ ๓๒ นี้ เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และต้องเน่าเปื่อย ผุพังไปในที่สุด
หมายเหตุ ขณะที่พระองค์ทรงพระเมตตาสอนนั้น พยายามพิจารณาตามไปด้วยปัญญา จนเห็นกายที่ตนอาศัยอยู่มันเน่าเปื่อยผุพัง จนในที่สุดไม่มีอะไรเหลือ แต่เห็นกายในหรืออทิสสมานกายสดใสเป็นแก้ว ขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน ผู้ใดทำได้จิตก็จะเบาสบายและสุขอย่างยิ่ง แต่พอนำไปปฏิบัติ ปรากฏว่ามันง่ายนิดเดียว

เรื่องตัดน้อยเกินไป
หลวงพ่อฤๅษี ท่านเมตตาสอนลูกสาวในอดีตของท่าน เป็นปริศนาธรรม เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ ต.ค. ๒๕๓๕ มีความสำคัญโดยย่อดังนี้
ลูกสาวในอดีตชาติของท่านมีจิตวุ่นวาย (ฟุ้งซ่าน) โดยหาสาเหตุไม่พบอยู่ ๒ - ๓ วัน ท่านจึงเมตตาสอนว่า ตัดน้อยเกินไป ซึ่งหมายความว่า พิจารณาตัดขันธ์ ๕ น้อยไป ยังเอาจิตไปเกาะหรือ วุ่นวายกับกายมากไป
๑. ให้ใช้สมาธิจิตพิจารณาตัดร่างกายออกเป็นท่อน ๆ แบบการพิจารณาอสุภะ ๑๐ คือ พิจารณาศพที่ไม่มีแขน ขา ศีรษะ หรือมีแต่ลำตัว หรือมันกระจัดกระจายออกไปคนละทิศทาง หรือซอยออกให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนไม่รู้ว่าเป็นส่วนใดบ้าง ให้ทำบ่อย ๆ จิตจะเบาไม่เกาะร่างกาย
๒. ที่มืดอยู่ ๒ - ๓ วันนี้ เพราะอารมณ์จิตมันยึดเวทนาของขันธ์ ๕ มากเกินไป สมองตื้อเป็นเวทนาของกาย ต่อไปหากเกิดอาการสมองตื้อมึนอีก จงอย่าเอาจิตไปเกาะเวทนาของกายให้เกาะพระพุทธเจ้า อาศัยบารมีของพระองค์ช่วยตัดขันธ์ ๕ ให้หลุดจากกันเป็นท่อน ๆ เลย
การอยู่วัดย่อมต้องมีเพื่อนที่มาปฏิบัติธรรม และสนทนาธรรมกันถึงปัญหา ต่าง ๆ ที่ตนเองประสบมา บางครั้งก็แก้ไขได้ บางครั้งก็แก้ไขไม่ได้ เพื่อนรายนี้ท่านเล่าให้ลูกสาวในอดีตชาติของหลวงพ่อฤๅษีฟัง มีใจความสำคัญว่า
ปกติเธอเกลียดขี้มากที่สุด เธอเล่าว่าคืนหนึ่งเธอฝันเห็นขี้ลอยมา ก็เอามือคว้าขี้ไว้ ขี้ก็กระจายออกเคลือบติดนิ้วและฝ่ามือแน่น ล้างเท่าใดก็ไม่ออก เมื่อนำมาคิดเป็นธรรม (ดึงโลกมาหาธรรม) ก็คิดไม่ค่อยจะออก สมเด็จองค์ปัจจุบันก็ทรงเมตตามาสอนว่า
๑. บุคคลที่มีปัญญาดี หรือปัญญาทรามก็ตาม ย่อมมีความรังเกียจขี้ทุกคน เพราะเหม็นและสกปรก แต่ในนิมิต ตถาคตหมายถึงขี้ในอาการ ๓๒ ในธาตุ ๔ ในตัวเธอเอง (ขี้ในตัวเธอเอง) ซึ่งเป็นสักกายทิฎฐิของเธอ ที่ยึดเอาไว้แน่นหนา
๒. นิมิตนี้เตือนถึงการละขี้ภายใน คือ ขันธโลกของเธอ ซึ่งน้ำธรรมดาย่อม ล้างไม่ออก ต้องอาศัยน้ำพระธรรม, รสพระธรรม, ธรรมโอสเท่านั้น จึงจะล้างออกได้
๓. ควรพึงบอกเธอว่า อาการ ๓๒ ของเธอนั้นเต็มไปด้วยขี้มากกว่าจักพูดเรื่องธาตุ ๔ ให้ผู้ไม่ยอมรับสับสน อย่างที่คุณหมออุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เล็บ ก็เต็มไปด้วยขี้เล็บ คาบไคลที่ถูออกก็คือขี้ไคลนั่นแหละเหมาะสม ให้ไล่ไปในอาการ ๓๒ เธอจักเข้าใจได้ง่ายกว่า
๔. บุคคลผู้นี้หนักไปในราคะจริต ควบคู่กับโทสะจริต ถ้าจักสงเคราะห์ก็ต้องยกกายคตา กับอสุภะ ๑๐, พรหมวิหาร ๔ กับกสิณ ๔ มาสงเคราะห์ในยามที่เธอมีกำลังใจ มีศรัทธาที่จะเข้ามาร่วมสนทนาเท่านั้น กรรมฐานข้ออื่นอย่าพึงแนะนำ เพราะไม่ตรงเป้า มรรคผลได้น้อย
๕. อนึ่ง การพูดสนทนาธรรมเพื่อสงเคราะห์คนทุกครั้ง อย่าลืมย้ำอานาปานุสสติ มรณานุสสติ และอุปสมานุสสติ เตือนทุกคนอย่าลืมลมหายใจให้มาก ๆ แม้เจ้าเองก็จงอย่าลืมลมด้วย กรรมฐานทุกกอง ขึ้นกับอานาปาและขึ้นกับศีลบริสุทธิ์ในขณะที่เจริญกรรมฐานอยู่นั้น ๆ
๖. บุคคลผู้สบายอย่างแท้จริงนั้น คือ บุคคลผู้ละขันธ์ได้แล้ว ยังจิตให้อยู่บนพระนิพพานได้แล้วอย่างถาวรนั้นแหละ จึงจักนับได้ว่าเป็นผู้สบายอย่างแท้จริง
หมายเหตุ
ก) พระองค์ทรงหมายถึง พระอรหันต์ที่นิพพาน ดับขันธ์แล้วเท่านั้น จึงจะใช้คำว่าสบายได้ เพราะขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ใครยังมีขันธ์ ๕ อยู่ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดได้ว่าสบาย
ข) เรื่องคำสบายนี้ มีผู้ถามผมบ่อย ๆ ว่า คุณหมอสบายดีหรือ ในอดีตผมก็ตอบด้วยความโง่ หรือความหลงว่าสบายดี หรือ บางครั้งหลงมากก็ตอบว่าสบายมาก ซึ่งเป็นการตอบแบบคนโง่หรืออวิชชา คือ รู้ไม่จริง, รู้ไม่หมด, รู้ไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ หรือยังไม่เห็นอริยสัจนั้นเอง
ค) ผมจึงต้องขอรับผิดด้วยความสงบว่า ในอดีตนั้นผมเป็นจอมโง่ หรือหลงเอามาก ๆ เกี่ยวกับเรื่องกายกับจิต ภาษาตลาดว่าหน้าแตกจริง ๆ ในตอนนั้น เมื่อได้รับคำสอนของพระองค์แล้ว ก็ต้องเอาจิตขึ้นไปกราบแทบพระบาทของพระองค์ที่ทรงเมตตาตักเตือน มิฉะนั้นก็คงยังโง่ต่อไปอีกนาน ในเรื่องคำว่า สบายดีหรือ
ง) ในเรื่องนี้ กรุณาอ่านคิริมานนทสูตร ซึ่งสมเด็จองค์ปัจจุบันตรัสสอนไว้ละเอียดมาก เกี่ยวกับนิพพานดิบกับนิพพานสุก เพราะวิธีปฏิบัติเพื่อตัดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ให้เบาบางลงได้ตามลำดับอย่างง่าย ๆ จนถึงพระนิพพาน ให้อ่าน ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๓ หน้า ๔๒ - ๘๒ แล้วปฏิบัติตามนั้น ท่านก็จะเป็นผู้โชคดีมีชื่อติดอยู่ในบัญชีของผู้ได้เข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้กับเขาด้วย

ปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรม
ในพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร
ปัญญาทางโลก ไม่มีศีลเป็นตัวคุม จึงเป็นปัญญาแบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา หรือปัญญาแบบตัวใครตัวมัน ไม่ต้องคำนึงหรือนึกถึงศีลธรรม แบบคนฉลาดที่ขาดศีลธรรมเอาเปรียบคนที่โง่กว่าตน จึงเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้โลกวุ่นวาย มีปัญหาอยู่เสมอ ส่วนปัญญาทางธรรมในพระพุทธศาสนามีข้อบังคับ หรือข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากสมาธิ อันมีศีลเป็นเครื่องควบคุม จึงจะเป็นสัมมาปัญญา หรือปัญญาที่ถูกต้องทางพุทธ หรือจะพูดว่าปัญญาทางโลกเป็นเพียงแค่สัญญาหรือความจำก็ได้
คำสอนของพระองค์ที่รวบรวมไว้มีอยู่ ๘๔,๐๐๐ บท (วิธี) แยกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ๓ หมวด คือ
๑. กล่าวถึงพระวินัย หรือกฎข้อบังคับต่าง ๆ ๒๑,๐๐๐ บท ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล
๒. กล่าวถึงพระสูตรต่าง ๆ ๒๑,๐๐๐ พระสูตร ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล
๓. กล่าวถึงพระอภิธรรมต่าง ๆ ๔๒,๐๐๐ บท ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล
ฉะนั้น ทางพุทธศาสนา จึงยกเอาศีลเป็นแม่ของพระธรรม หรือเป็นมารดาของพุทธศาสนา
ดังนั้น หากใครจะเอาดี, รู้ดี, เข้าใจดี,ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทางพุทธศาสนาแล้วก็ต้องเริ่มต้นจากการรักษาศีล, มีศีลคุมใจไว้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อกันไม่ให้มันคิดชั่ว-พูดชั่ว และทำชั่ว เปรียบเหมือนจับเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย ไว้ใจอะไรไม่ได้ หากจะฝึกมันอบรมมันให้เชื่อง ก็จำเป็นต้องจับมันใส่กรงให้ได้ก่อน กันมันออกไปอาละวาดทำร้ายผู้อื่นเขา เมื่อจับเสือใส่กรงได้ แต่เสือไม่ตาย ยังดุร้ายอยู่ก็ตาม แต่ก็หมดสิทธิ์จะออกไปทำร้ายผู้อื่นเขา ใจคนที่ยังไม่ได้อบรมก็เหมือนกัน ต้องคุมไว้ด้วยศีล แม้จะคิดชั่วโดยเจตนาหรือไม่เจตนา (เผลอ) ก็ตาม มันก็ชั่วอยู่แค่ความคิด แต่ไม่ยอมให้ความชั่วล้นออกไปนอกใจ ไหลไปสู่วาจาชั่ว และทำชั่วทางกายได้ การปฏิบัติเขาทำกันเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ เมื่อสามารถควบคุมกายและวาจาได้ดีแล้ว อาการเผลอใจที่คิดชั่ว ก็จะน้อยลง ๆ ตามลำดับ จนที่สุดอาการเผลอก็ไม่มี หรือมีก็ดับอารมณ์นั้น ๆ ได้ไม่ยาก ดับได้โดยฉับพลัน ที่เขาใช้ศัพท์ว่า เกิด-ดับ ๆ เกิดอะไรก็เกิดอารมณ์ชั่วที่ใจนั่นเอง ดับอะไร ก็คืออารมณ์ชั่วของตนนั่นเอง เกิดที่ไหนก็เกิดที่ใจเรา ไม่ใช่เกิดที่ใจผู้อื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เราดับที่ใจของเราเช่นกัน ห้ามไม่ให้ไปดับที่ใจผู้อื่นเขา หรือเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น เกิดที่ใจเราก็ดับที่ใจของเรา พระพุทธเจ้าทานสอนไว้อย่างนี้ แต่พวกที่ยังไม่เข้าใจ แต่พยายามสอนชาวบ้านหรือผู้อื่นเขาให้ดับไฟที่อยู่ภายนอกตน หรือแก้ไขปัญหาที่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับพระพุทธเจ้าสอน เขาเหล่านั้นจึงทำไม่สำเร็จ เหตุผลก็เพราะเขาค้านพระพุทธเจ้า เดินสวนทางกับพระองค์ ยิ่งทำจึงยิ่งยุ่ง ยิ่งมีปัญหา เมื่อไม่มีผลเขาก็โทษชาวบ้าน โทษผู้อื่นว่าเลว ไม่ดี โง่ พูดไม่รู้เรื่อง แต่โดยธรรมแล้ว ท่านลองคิดดูดี ๆ ท่านก็จะพบความจริงเองว่าใครเป็นคนโง่กันแน่ (ตัวอย่างปัจจุบันก็คือ พวกที่กำลังประท้วงฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดเห็น (ทิฎฐิ) ไม่เหมือนกับตนด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นการทำตนเองให้เดือดร้อนก่อน แล้วจึงทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากเขาเกิดตายในขณะนั้น ก็ไปสู่อบายภูมิ ๔ ทุกคน)
ฉะนั้น การดูทีวี การฟังวิทยุ การอ่านหนังสือธรรมะ จึงมีผลได้ ๒ อย่าง คือ
๑. ได้ประโยชน์ ได้ความสุข ได้พระธรรม หรือได้ขนมหวาน ไปบริโภค ถ้าผู้แสดง ผู้พูด รู้จักพระธรรมตามความเป็นจริง หรือเป็นสัมมาทิฎฐิ หรือมีความคิดเห็นตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ สอนไว้
๒. ไม่ได้ประโยชน์ ได้แต่ความทุกข์ ได้แต่ธรรมที่เป็นอกุศล หรือของปลอม หรือได้ยาพิษไปบริโภค เพิ่มทุกข์ เพิ่มโทษให้กับตนทุกครั้งที่ดู ที่ฟัง ที่อ่าน เพราะเขาแสดงแต่สิ่งที่ไร้สาระ ให้ยาพิษแก่ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้อ่านตลอด แสดงแต่สิ่งที่ไร้สาระ ให้ยาพิษแก่ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้อ่านตลอดเวลา เนื่องจากเขาเป็นมิจฉาทิฎฐิ มีความเห็นตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ และยังค้านคำสอนของพระองค์ด้วย โดยใช้คำพูดที่เต็มไปด้วยโวหาร ใช้สำรวน ใช้คารมฝีปากกล้า ขาดความละอาย น้อมใจให้ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้อ่านเชื่อตามเขา เพราะเขารู้ดีว่าในโลกนี้มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด ต้นเหตุก็เพราะเขาคิดผิด หลงผิด หรือเป็นมิจฉาทิฎฐิ จึงยังผลให้ความชั่ว ความหลงผิดอีก ๗ อย่างเกิดขึ้นกับใจของเขา คือ มีความดำริไปในทางที่ผิด มีวาจาที่ผิด มีการงานหรือแนะนำให้ผู้อื่นกระทำในทางที่ผิด หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ทำความเพียรไปในทางที่ผิด มีสติระลึกแต่สิ่งที่ผิด และจิตเขาก็ตั้งมั่น ยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่ผิด เพราะหลงผิดตั้งแต่ต้นว่าเขาทำถูก
หมายเหตุ ที่ว่าผิดนั้น หมายความว่า ผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เพราะโดยปกตินั้น พวกเราทุกคนที่เกิดมานี้เป็นคนโง่ ยังไม่หมดโง่ จึงต้องมาเกิดอยู่ ตราบใดที่เรายังไม่หมดโง่ เราก็ยังต้องเวียนมาเกิดอยู่อย่างนี้ เพื่อพิสูจน์ความโง่ของตนเอง จนกว่าจะหมดโง่ สันดานของคนโง่นั้น ๑๐๐% ย่อมต้องอวดดี อวดฉลาดอยู่เป็นธรรมดา เพราะใจเรายังตกอยู่ในอำนาจของกิเลส จึงถูกกิเลสมันบังคับให้คิด ให้พูด ให้ทำ ตามคำสั่งของมัน พระพุทธเจ้าท่านได้บำเพ็ญบารมีมานานแสนนาน จนถึงชาติสุดท้ายเมื่อบารมีเต็มแล้ว จึงได้ลงมาเกิดเป็นชาติสุดท้ายเพื่อพิสูจน์ความโง่เป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ได้พิสูจน์โดยการปฏิบัติด้วยพระองค์เองอยู่ ๖ ปี จึงได้พบทางที่จะแก้ไขใจตนเองให้หมดโง่ หายโง่ก่อนผู้อื่นทุก ๆ คนในโลก เมื่อพบวิธีแก้โง่ได้ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงได้รวบรวมวิธีแก้โง่ หรือพระธรรม หรือโมกขธรรม หรือธรรมปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พ้นโง่) แล้วได้พิสูจน์พระธรรมคำสอนของพระองค์ ซึ่งแสดงไว้ในปฐมเทศนา โดยสอนท่านปัญจวัคคีย์ (ฤๅษีทั้ง ๕) ให้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ (ให้หายโง่ได้) เมื่อพิสูจน์ได้แล้วจึงได้ประกาศพระศาสนาของพระองค์ ในวันมาฆบูชา ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ (ธรรมที่เป็นทางนำไปสู่ความหลุดพ้น หรือหายโง่) ซึ่งจัดเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีความย่อ ๆ จำง่าย ๆ แค่ ๓ ข้อ คือ
๑. จงละความชั่วทั้งหมด (แม้ความชั่วในอดีตก็จงอย่านำมาคิด เพราะจะทำให้จิตเศร้าหมอง
๒. จงกระทำแต่ความดี (อะไรที่เป็นความดี สิ่งนั้นเป็นบุญ คือ ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม ความดีหรือชั่ว บุญหรือบาป อยู่ที่ความคิดของตนเองทั้งสิ้น)
๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ (เพื่อให้พ้นจากอำนาจของกิเลส)
หรือจำสั้น ๆ ว่า ละชั่ว - ทำดี - ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ แค่นี้ก็พอ

ขอชี้แจงเพิ่มเติมในการปฏิบัติ
พระองค์ทรงเน้นหัวใจของการปฏิบัติในคำสอนของพระองค์ ก็คืออริยมรรค ๘ เพราะใน ๓ เดือนสุดท้ายที่พระองค์จะปรินิพพาน (อายุครบ ๘๐) พระองค์ก็ปลงอายุสังขารของพระองค์ในวันมาฆบูชา มีความว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า (วันเพ็ญเดือนหก หรือวันวิสาขบูชา) พระองค์จะเข้าสู่ปรินิพพาน (ตายหรือดับสังขาร) ใน ๓ เดือนสุดท้ายนี้ พระองค์หยุดสอน-หยุดแนะนำเรื่องพระวินัย-พระสูตร และพระอภิธรรม คงสอนแต่เพียงศีล - สมาธิ - ปัญญา ๓ ข้อนี้เท่านั้น (ซึ่งย่อมาจากอริยมรรค ๘ นั่นเอง) ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ก็เหมือนกับปฏิบัติบูชา ซึ่งพระองค์ทรงต้องการให้พวกชาวบ้าน (ฆราวาส) ปฏิบัติกันมี ๓ ข้อเช่นกัน คือ ทาน-ศีล-ภาวนา ตัวภาวนาแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ สมถะภาวนา ซึ่งก็คือสมาธินั่นเอง และวิปัสสนาภาวนา ก็คือตัวปัญญานั่นเอง
ข้อพิจารณา
เมื่อเราเอาหัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือ จงละชั่ว จงทำดี จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ กับหัวใจในการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรค ๘) หรือปฏิบัติบูชา ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา มาพิจารณาโดยธรรม เราก็จะเห็นได้ด้วยปัญญาชัดว่า ธรรมทั้งหลายนี้เข้ากันได้อย่างเหมาะสม
๑. จงละความชั่วทั้งหมด ในการปฏิบัติ ฝ่ายสมมุติสงฆ์ ก็คือต้องมีศีล ฝ่ายฆราวาส ก็ต้องมีทานกับศีล ถ้าเราไปหาพระที่ดีทุกองค์ ท่านจะให้เรารับศีล มีศีลก่อนทุกครั้ง, ก่อนจะเริ่มปฏิบัติ, จะเริ่มพิธีอะไรก็ตามทางพุทธศาสนาแล้ว พระที่ดีท่านจะต้องเริ่มด้วยการให้เราทำจิตใจเราให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงให้เรารับศีล, ให้เราตั้งใจตั้งเจตนาของเราในปัจจุบันนั้นว่า ข้าพเจ้าขอตั้งเจตนาที่จะงดเว้นที่จะไม่กระทำความชั่ว ๕ ประการ หากผู้ใดไม่เข้าใจพิธีทางพุทธศาสนาก็จะคุยกัน, ไม่สนใจที่จะน้อมจิตใจให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และตั้งเจตนาที่จะงดเว้นไม่กระทำชั่ว ๕ ประการ (รับศีล ๕) หากใครเข้าใจ เขาจะได้บุญ ๑๐๐% เต็ม เพราะจริยาหรือการตั้งจิตให้เข้าถึงพระรัตนตรัย และศีล ๕ ข้อนั้น หากใจไม่ตั้งเจตนางดเว้นแล้ว มันก็ไม่เป็นศีล บุญก็ไม่เกิดกับใจ เพราะบุญ บาป อยู่ที่ใจ เกิดที่ใจ มิได้อยู่หรือเกิดนอกใจ ผู้ใดทำตามที่ข้าพเจ้าเขียนมานี้ได้ ผู้นั้นมีโอกาสพ้นนรกได้ตลอดกาล เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือปฏิปทาหรือจริยาวัตรประจำจิตของผู้เป็นพระโสดาบันโดยตรง ผู้ไม่เข้าใจก็จะทิ้งประโยชน์ที่ตนควรได้ไปเปล่า ๆ เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ (ความโง่) จัดว่าเป็นผู้ประมาทในความตาย เพราะเวลาย่อมไม่คอยใคร แต่ผมเองขอดัดแปลงว่า ความตายและเวลาไม่คอยใคร ในพุทธศาสนา พระองค์สอนอุบายในการปฏิบัติไว้ ๘๔,๐๐๐ วิธี เพื่อให้เหมาะกับจริตและนิสัย และกรรมของคนแต่ละคนที่มีอยู่ แต่ละคนได้สร้างกรรมหรือการกระทำไว้ในอดีตไม่เหมือนกัน ไม่เสมอกัน พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จริต รู้นิสัย รู้กรรมในอดีตของแต่ละคน แต่ละหมู่เหล่าได้อย่างดี และรู้วิธีว่าจะสอน จะแนะนำเขาอย่างไรจึงจะได้ผล และรู้ผลล่วงหน้าด้วยว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และก็ได้ผลตามนั้นทุกครั้ง ทุกราย คุณธรรมพิเศษนี้จึงมีแต่เฉพาะพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้ที่ไม่เข้าใจพระองค์ จึงไปคัดค้านคำสอนของพระองค์โดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มี เช่น
ก) สอน - แนะ - พูด - เขียน ความว่า เทวดาไม่มี, พรหมไม่มี, นรกไม่มี, สวรรค์ไม่มี, นิพพานไม่มี และคนตายแล้วสูญ เป็นต้น
ข) พระพุทธเจ้าไม่มีฤทธิ์อะไรหรอก ที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นธรรมาธิษฐาน คือตีความหมายเป็นธรรมว่า อย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยธรรมะของตน อันเป็นธรรมทีเกิดจากจิตของคนที่ยังมีกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรม (อวิชชา หรือความโง่) ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่เป็นอกุศลทั้งสิ้น เพราะจิตเขาเป็นมิจฉาทิฎฐิตั้งแต่ต้น ความคิด วาจา (คำพูด) และการกระทำของเจาจึงผิดหมด ตรงข้ามกับพระพุทธเจ้าทั้งหมด หากใครเชื่อเขาก็ต้องรับกรรมหรือโง่ตามเขาไปด้วย ความจริงคิดง่าย ๆ เพียงตั้งคำถามตนเองว่า ระหว่างพระพุทธเจ้า กับผู้พูดนั้น ๆ ซึ่งยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราควรจะเชื่อใคร หรือผู้ที่คัดค้านพระพุทธเจ้านั้น เขาก็เท่ากับคัดค้านพระธรรม ซึ่งเท่ากับเขาไม่เคารพในพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้เคารพพระพุทธเจ้า เท่ากับเขาเป็นคนนอกศาสนาพุทธโดยแท้ เพราะสิ่งที่เรากำลังพูด กำลังปฏิบัติกันนี้ เราพูดกันถึงพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงต้องยึดเอาคำสอน คำพูดของพระองค์เป็นหลักประพฤติและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น ผลหรือมรรคผลย่อมไม่เกิด)
ขอสรุปว่า ทานเป็นสิ่งที่เราทำได้ง่ายที่สุด เพราะใช้กำลังใจหรือบารมีเล็กน้อยก็ทำทานได้ ทานมีผลให้เราตัดความโลภจากใจของเรา (ละความชั่ว) ได้โดยตรง ศีล ใช้กำลังใจสูงขึ้นกว่าทาน แต่หากเข้าใจหรือมีปัญญาก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยตั้งใจที่จะงดเว้นไม่กระทำความชั่วในขณะนั้น ในขณะที่พระท่านให้ศีล เราจะชั่วหรือไม่มีศีลมาก่อนในอดีต ก็เป็นเรื่องของอดีต แต่พระองค์ให้ตั้งใจไว้ในปัจจุบันธรรม ตั้งใจจะมีศีลครบ ๕ ข้อในปัจจุบัน ในขณะนั้นผลของบุญเกิดทันที่ที่เราตั้งเจตนาที่ใจเรา เราเอาบุญกันเต็ม ๑๐๐% ในขณะนั้น ส่วนในอนาคตจงอย่าไปตามนึกถึง เพราะเหตุการณ์นั้นยังไม่มาถึง เพียงแค่มีศีลบริสุทธิ์ชั่วขณะหนึ่งเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็ต้องนับว่าเป็นบุญใหญ่แล้ว และอย่าลืมว่าบุญจากใจเราน้อมถึง พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ อีกในขณะนั้น ก็เท่ากับบุญของพระโสดาบันหรือใกล้เคียง (ในชั่วขณะนั้น)
ประการสุดท้าย เรารู้ได้อย่างไรว่า เมื่อเราทำบุญเสร็จแล้วเราจะไม่ตาย เพราะความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายบอกเราให้รู้ล่วงหน้า เราอาจถูกงูกัดตายเมื่อเดินไปยังไม่พ้นวัด, อาจหัวใจวายตาย, อาจมีอุบัติเหตุตาย คือตายได้ทุกเวลา แต่หากตายในขณะที่จิตเราบริสุทธิ์ ใกล้เคียงกับพระโสดาบัน หรือเท่ากับพระโสดาบัน เราก็ไม่มีทางตกนรก ผลใหญ่อยู่ที่จุดนี้ แต่หากมันไม่ตายก็ดี เราจะได้บำเพ็ญบารมีต่อไปจนกว่ามันจะหายโง่ พอออกจากวัดศีลมันจะพร่องไปก็ไม่เป็นไร เวลาเราไปไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนก็ดี ตอนตื่นเช้าก็ดี ก็ใช้อุบายอย่างนี้แหละ คือ อย่าลืม พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ และเอาจิตตั้งเจตนาที่จะงดเว้นไม่กระทำความชั่ว ๕ อย่าง โดยไม่จำเป็นต้องอาราธนาศีล แค่จิตตั้งเจตนาต่อหน้าพระ หรือต่อพระในจิต หรือนิมิตพระในจิต ก็เป็นศีลทันที (การรับศีล หรือสมาทานศีลสัก ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง หากจิตไม่มีเจตนาที่จะงดเว้นตามแล้ว รับศีลกี่ครั้งก็ไม่เป็นศีล แต่การตั้งเจตนาที่ใจเรา ที่พระในใจเรา ตั้งใจที่ไหน เมื่อใด ก็เป็นศีลทันที) ผู้ฉลาดมีปัญญา เวลาไหว้พระที่บ้านทุกครั้ง เขาก็น้อมเอาพระรัตนตรัยเข้าไปไว้ในใจเขา น้อมเอาพระภายนอกให้เข้าไปเป็นพระภายใน ทำศีลให้บริสุทธิ์ในช่วงนั้น การกระทำของเขา หากทำบ่อย ๆ ทุกวัน จิตเขาก็จะชินต่อความดี ชินต่อจริยาของพระโสดาบัน หรือจิตเป็นฌาน (ฌานก็คือชินนั่นเอง) ในที่สุดจิตดวงนั้นเลยกลายเป็นพระโสดาบันไปเองโดยอัตโนมัติ ผลใหญ่รางวัลอยู่ที่ตรงนี้ (ถ้าเข้าใจ) ศีลเป็นตัวระงับความโกรธได้ในเบื้องต้น และ สุดท้ายก็จะตัดความโกรธได้ในบั้นปลาย
๒. จงกระทำแต่ความดี ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ พระองค์ตรัสไว้ชัดเจน ความว่า ธรรมหรือกรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด (มีใจเป็นใหญ่) ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่ใจ ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาของใจทั้งสิ้น หรือ บุญ บาป, ดี ชั่ว อยู่ที่ความคิดของเราเองทั้งสิ้น พระธรรมหรือธรรมะเป็นของเย็น เป็นของสงบ หากจิตไม่สงบ พระธรรมก็ไม่เกิดหรือไม่มีทางเห็นธรรม พระองค์จึงอบรมพวกเราให้มีสติ เพราะขาดสติ จิตใจก็ไม่สงบ สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่มี
ดังนั้น สติ - สมาธิ - ปัญญา จึงแยกจากกันไม่ได้ ขาดตัวต้น ๒ ตัวท้ายก็ไม่มี คำสอนของพระองค์ ทั้งหมดจึงเป็นอุบายให้เรามีสติก่อนทั้งสิ้น และเมื่อรวมคำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ บทแล้ว พระองค์ก็ทรงย่อเหลือประโยคเดียว คือ จงอย่าประมาท หรือ จงมีสติตลอดเวลา นั่นเอง รายละเอียดจึงของดไว้ สรุปว่า ข้อนี้ในทางปฏิบัติก็คือ
ก) ให้เรามีสติตลอดเวลา หรือมีสมาธินั่นเอง เพราะถ้าจิตดี จิตเป็นสมาธิอยู่ ความชั่วมันก็เกิดไม่ได้
ข) เมื่อเราละความชั่วของเราได้ ๑ ครั้ง เท่ากับเราทำความดี ๑ ครั้งเช่นกัน ถ้าละชั่วได้ ๑๐๐ ครั้งก็เท่ากับทำดี ๑๐๐ หนเช่นกัน
๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ เพราะพระองค์ทราบดีว่าสมาธิหรือฌาน หรือเจริญแต่สตินั้นยังไม่สามารถจะฆ่ากิเลสให้ตายสนิทได้ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล คือ ต้องรู้ต้นเหตุของมันเสียก่อน แล้วแก้ที่เหตุ หรือดับเหตุนั้นให้ได้ จิตจึงจะผ่องใสอยู่เสมอ ตัวสติ-สมาธิเป็นแค่การยังยั้งกิเลสไว้ชั่วคราว ต้องใช้ปัญญาหรือวิปัสสนา หรือวิปัสสนาภาวนา เป็นตัวตัด จึงจะทำให้กิเลสตายได้ และพระองค์เป็นองค์แรกที่พบอริยสัจสี่ ซึ่งพระองค์ประกาศว่าเป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา และมีแต่ในเฉพาะศาสนาของพระองค์เท่านั้น
เราจะเห็นได้ชัดว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก มีแนวการสอนคล้ายกันหมด คือ ให้ละความชั่ว ให้กระทำแต่ความดี แต่อุบายต่างกัน และมีทิฐิหรือความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ในพุทธศาสนามีข้อที่ ๓ คือ ให้ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของกิเลส หมายความว่าใช้หลักแค่ ๒ ข้อ ยังฆ่ากิเลสไม่ได้ ได้แค่ระงับไว้เท่านั้นเอง ระงับชั่วคราว จึงยังไม่พ้นโง่ (อวิชชา)
รายละเอียดแห่งการเจริญปัญญามีอยู่มาก ของดไว้ จึงขอสรุปว่า
๑. จงละความชั่วทั้งหมด ด้วยการให้ทาน รักษาศีล
๒. จงกระทำแต่ความดี ด้วยการเจริญสติ - สมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา
๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการเจริญภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งต้องอาศัยกันและกัน เพื่อให้เกิดปัญญา ให้เห็นอริยสัจตามความเป็นจริง
และในการปฏิบัติกันจริง ๆ แล้ว เราปฏิบัติข้อ ๑ ข้อเดียว คือ ละความชั่ว ก็เท่ากับการกระทำความดีนั่นเอง เมื่อเราทำความดีอยู่เสมอ เพราะไม่ยอมทำชั่ว หรือโดยการละความชั่วตลอดเวลา ทำไปนาน ๆ จิตก็ชินแต่ความดี จิตก็เลยผ่องใส หรือจะพูดว่า การละความชั่วเป็นมรรค ส่วนความดีและจิตผ่องใสนั้นเป็นผล ใครไม่ละความชั่วที่ตน ผล ๒ ข้อหลังก็ไม่เกิด เหมือนกับคำสอนของพระองค์ทั้งหมดนั้น คือ มรรค ส่วนการกระทำ การปฏิบัติของเรานั้น เป็นตัวนำมาให้เกิดผล ถ้าเกิดผลเต็มที่เราก็พ้นทุกข์ พ้นโง่ พ้นอวิชชา พ้นวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก คือ นิพพานนั่นเอง ไม่ได้สูญไปไหน หรือจะว่าสูญก็ได้ คือ สูญจากความชั่ว ความเลวทั้งหมด แต่ความดียังอยู่ครบบริบูรณ์ทุกประการ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีมรรคอยู่ในใจของตน แล้วได้ปฏิบัติมรรคอย่างจริงจัง ผู้นั้นย่อมเกิดผล และมีนิพพานเป็นที่สุด หรือมรรคผลนิพพานนั้นเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ออก เหมือนกับศีล - สมาธิ - ปัญญา, สติ - สมาธิ - ปัญญา ของจริงทางพุทธศาสนาก็มีโดยย่อแค่นี้
หมายเหตุ ส่งท้าย ท่านผู้ใดที่อ่านบทความนี้แล้ว นำไปปฏิบัติตามให้เกิดผล ท่านผู้นั้นก็มีสิทธิ์จะได้ขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้าย ๑๐๐% เต็ม
ในที่สุดนี้ ผมขออธิษฐานจิตต่อพระพุทธองค์ว่า ในปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตให้แก่พระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนาของพระองค์แล้ว ๑๐๐% โดยสัจจะวาจาของข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านบทความนี้ (แล้วนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง) ด้วยกันทุกท่าน เทอญ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 17:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอมูลนำมาจาก
http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ขออนุโมทนาผู้จัดทำเป็นอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร