วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 13:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ผิดก่อน-ผิดมาก
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

คำสอนและพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ในเล่มนี้ เป็นเรื่องของ “กรรม” ในแง่มุมต่างๆ จึงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ตั้งใจศึกษาและพิจารณาอย่างจริงจัง

พระอาจารย์ให้ชื่อหนังสือว่า “ผิดก่อน-ผิดมาก” โดยท่านบอกว่า “ฝากไว้เตือนใจ” เวลาที่เราทุกข์ ถ้าเราคิดได้ว่า “ผิดก่อน” และ “ผิดมากกว่า” เราก็จะไม่กล่าวโทษผู้อื่น ไม่คิดปองร้าย ไม่คิดเบียดเบียน มีแต่โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตน เกิดหิริโอตตัปปะ ไม่ก่อกรรมวนเวียนอีก

ขอให้ทุกท่านเจริญยิ่งขึ้นในธรรม มีความสงบในจิตเพื่อความสุขอันเป็นความปรารถนา


มูลนิธิมายา โคตมี

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผิดก่อน-ผิดมาก

วันคืนล่วงไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่

ขณะที่เราอยู่อย่างนี้ เวลาไม่เคยรอใคร เวลาผ่านไปๆ ทุกขณะๆ วันคืนล่วงไปๆ ความตายเข้ามาใกล้ทุกขณะๆ จงพิจารณาดูชีวิตของตนว่า "เรากำลังทำอะไรอยู่ สร้างประโยชน์ให้กับตนเองและต่อผู้อื่นแล้วหรือยัง สร้างประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ข้างหน้า ประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง"

คนเราตั้งแต่เกิดมาจนทุกวันนี้ ดิ้นรนแสวงหาแต่ความสุขกันทุกคน แต่มีใครบ้างได้พบความสุขที่แท้จริงหรือพอใจในชีวิตของตนจริงๆ ชีวิตของเราทุกวันนี้มันแข่งกับเวลา รีบร้อนตลอดเวลา แม้แต่เวลานอนก็ยังรีบร้อนอยู่ คิดนี่ คิดโน่น คิดไปทั่วทุกสารทิศทั้งใกล้ทั้งไกล รีบร้อนแสวงหาความสุข แต่ชีวิตเราสังคมเราดูๆ เหมือนจะสับสนวุ่นวาย ความเดือดร้อนรุนแรงมากขึ้นๆ ทุกวัน

มนุษย์เราค้นคว้าหาความรู้มากขึ้นๆ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ ศาสตร์เหล่านี้ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาล ตามเหตุปัจจัย ทุกปีๆ คนเราส่วนใหญ่วิ่งตามแต่ตามไม่ทัน หมดแรง หมดหวัง สับสนวุ่นวาย

ศาสตร์เหล่านี้ไม่เคยช่วยเราให้มีความสุขที่แท้จริงได้ ศาสตร์หนึ่งที่พวกเรามองข้ามไปคือ พุทธศาสตร์ นั่นเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบรมครูของเรา ตรัสรู้มาเป็นเวลา 2583 ปี ก่อนโน้น พวกเราจำนวนมากมักจะดูหมิ่นดูถูกมองข้ามไป เห็นว่าเป็นเรื่องเก่าแก่ล้าสมัย แต่ความจริงคำสั่งสอนของพระองค์นั้นเป็นสัจจะความจริงไม่เปลี่ยนตามกาล ใครประพฤติปฏิบัติถูก และเข้าไปรู้เข้าไปสัมผัสแล้วก็จะเหมือนกัน รู้แล้วก็ทั้งตื่นและเบิกบานใจมีความสุข จนแม้กระทั่งความสุขอย่างยิ่ง ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า..... "นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

สัมมาทิฏฐิ

พุทธศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิ ความรู้ชอบ ความเห็นชอบ
ทั้งรู้ทั้งเห็นตามความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นไปตามเหตุและผล
สิ่งนี้ๆ มีอยู่ สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น
ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
ทำเหตุดี ผลก็ดี
ทำเหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี
ผลต้องอาศัยเหตุ และมีปัจจัยที่พอดีๆ กัน

สมมุติว่า เรามาอยู่ที่นี้อย่างนี้ได้กินส้มอร่อย นึกอยากจะปลูกไว้สักต้นหนึ่ง ได้กล้าไม้ดีต้นหนึ่ง เอาไปบ้านปลูกที่บ้าน กล้าไม้พันธุ์ดีเรียกว่า เหตุดี ต้นไม้นี้ถ้าจะให้งอกงามเจริญเติบโตให้ผลิตผลเร็วต้องอาศัยปัจจัยพอดีด้วย หากเลือกดินดี ปุ๋ยดี แสงสว่างพอดี น้ำพอดี สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยสนับสนุนพอดีๆ แล้วต้นไม้ก็โตเร็ว ถ้าต้นไม้พันธุ์ดี แต่ขาดปัจจัย เช่น ปุ๋ยไม่ดี น้ำไม่พอ ต้นไม้ก็จะตาย

เหตุดี ปัจจัยพอดี ผลิตผลดี
เหตุดี ปัจจัยไม่ดี ผลไม่ดี
เหตุไม่ดี ปัจจัยดี ผลไม่ดี
เหตุไม่ดี ปัจจัยไม่ดี ผลไม่ดี
มีแต่เหตุ ไม่มีปัจจัย หรือไม่มีเหตุมีแต่ปัจจัย ไม่มีผลเลย

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตของเราอยู่ได้ก็ต้องอาศัยบิณฑบาต (อาหาร) จีวร (ผ้านุ่งห่ม) เสนาสนะ (ที่พัก) และเภสัช (ยารักษาโรค) ญาติโยมผู้มีศรัทธาอุปฐากแก่พระผู้มีศรัทธา ก็จะเกิดพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นไปเพื่อละกิเลส พระอริยสงฆ์ มรรคผล นิพพานจะปรากฏในโลก ถ้าพระที่มีศรัทธามีอยู่ แต่ขาดแคลนปัจจัย 4 ก็จะไม่ค่อยได้ปฏิบัติเหมือนกัน

ญาติโยมทำบุญกับพระที่ไม่มีศรัทธาก็ไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งพระมีศรัทธาดี ตั้งใจปฏิบัติและปฏิปทางดงาม น่าเลื่อมใส ญาติโยมก็พากันถวายลาภสักการะมากๆ ในที่สุด ไม่ได้ผลดี หรือพระก็สึกออกไป คล้ายกับว่า ปุ๋ย น้ำเป็นปัจจัยที่จำเป็นมากสำหรับต้นไม้ แต่มากไปก็เกิดโทษเหมือนกัน

ตัวเราคือตัวเหตุ สิ่งแวดล้อมคือปัจจัย
เรามีกิเลส โทสะอยู่ แต่เขาพูดถูกใจ ก็ไม่โกรธ
เรามีกิเลสโทสะอยู่ เขาพูดไม่ถูกใจ เราโกรธ
ถ้าเราไม่มีกิเลส หรือมีอยู่ แต่พอมีสติปัญญาคุ้มครองไว้ได้บ้าง เขาพูด ไม่ถูกใจก็ไม่โกรธ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สนใจตัวเหตุนี้
ละเหตุชั่วละกิเลส ที่จิตใจของตนก็จะหมดปัญหา



(มีต่อ 1)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 13:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ปัจจุบันธรรม

การศึกษาธรรม ท่านให้ศึกษาปัจจุบันธรรม
บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย
ไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
การปฏิบัติของเรา ท่านให้ปล่อยวางสัญญาอารมณ์ต่างๆ
ไม่ให้คิดถึงอดีต อนาคต ให้กำหนดรู้ปัจจุบัน
คิดถึงอยู่แต่อารมณ์ปัจจุบันเท่านั้น

เพื่อรู้ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน

กิเลส อนุสัยเป็นของเก่า
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง
อายตนะภายใน อายตนะภายนอกกระทบกัน
ก็จะเกิดอารมณ์ปัจจุบัน ยินดี ยินร้าย สุข ทุกข์ เป็นผล
เรากำลังเห็นผลในปัจจุบัน แต่สามารถสาวหารู้เหตุในอดีตได้

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นเพียงการกระตุ้นเอาของเก่าออกมา
ขี้ละโมบโลภมาก ขี้โกรธ ขี้ใจน้อย ขี้เสียใจ ขี้เกียจ ขี้อิจฉา
ขี้สงสัย ขี้กลัว ขี้อาย ขี้หลง ขี้วิตกกังวล ขี้ฟุ้งซ่าน เป็นต้น
เราเคยสร้างสมนิสัย กิเลส อนุสัยอย่างไร
อาการเหล่านี้จะโผล่ขึ้นมาเป็นผล
อดีตเป็นเหตุ อาศัยปัจจัยสนับสนุน
คือ เห็นรูปสวย ไม่สวย เสียงไพเราะ ไม่ไพเราะ เป็นต้น

เมื่อเห็นอารมณ์ปัจจุบันได้เช่นนี้ เราจะมีโอกาสที่จะปฏิบัติได้ 2 วิธี
วิธีเก่าคือ ปล่อยตามอำเภอใจ

ปล่อยให้คิดไปตามความเคยชิน ตามกิเลสตัณหา
อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น
ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตก็จะเป็นอย่างนั้น
มีแต่เต็มไปด้วย "ขี้" ขี้น้อยใจ ขี้กลัว ฯลฯ เป็นทุกข์ตลอดไป

วิธีใหม่คือ ตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
เป็นศีล ด้วยอาศัยสติปัญญา

พยายามไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ติดอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี
ถ้าเกิดยินดียินร้าย ก็รีบตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
คือ ระงับอารมณ์ ระงับยินดียินร้าย
ทำใจเป็นปกติ คือสงบนั่นแหละ
ทวนกระแสกิเลส ทวนนิสัยเก่าๆ ที่ก่อให้เกิดทุกข์โทษเสียหาย
ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
วิธีใหม่นี้เรียกว่าทำเหตุดีในปัจจุบัน อนาคตก็จะดี ผลิตผลก็ดีเป็นสุข

อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
เพราะฉะนั้นปัจจุบันเป็นที่รวมของเหตุผล
เหตุในปัจจุบัน เราสามารถทำเหตุดีได้ ละเหตุชั่ว ทำแต่เหตุดี
หน้าที่ของพวกเราก็คือการศึกษาปฏิบัติธรรม อยู่จุดนี้ตลอดไป
ปล่อยวางอดีตและอนาคต ยึดในปัจจุบัน แต่อย่าหมายมั่น
รู้แล้วปล่อยๆ ๆ โดยอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา
อันนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นสัมมาปฏิปทา
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็รวมกันอยู่ที่จุดนี้


(มีต่อ 2)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


กรรม

การกระทำของเราเรียกว่ากรรม
ท่านว่า "กัมมุนา วัตตะตี โลโก โลกเป็นไปตามกรรม"
พฤติกรรมการกระทำของคนเรามี 3 ทาง
การกระทำทางกาย เรียกว่า กายกรรม
การกระทำทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม
การกระทำทางใจ เรียกว่า มโนกรรม
การกระทำที่ทำให้เรามีความสุข เรียกว่าบุญหรือกรรมดี
การกระทำที่ทำให้เรามีความทุกข์ เรียกว่าบาปหรือกรรมชั่ว
สรุปง่ายๆ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

พูดให้พิสดารอีก กรรมมี 4 อย่าง
1. กรรมขาว - ทำบุญ วิบากเป็นขาว คือ ความสุข
2. กรรมดำ - ทำบาป วิบากเป็นดำ คือ เป็นทุกข์
3. กรรมทั้งดำและขาว - วิบากเป็นทั้งดำและขาว
4. กรรมไม่ขาวไม่ดำ - วิบากไม่ขาวไม่ดำ

การกระทำของมนุษย์ทั่วๆ ไป ถึงแม้ว่าเราไม่ทำผิดศีลธรรมอะไรมากนักก็ตาม การทำมาหากิน ต้องขัดผลประโยชน์กัน ดีกับเราไม่ดีกับเขา ดีกับพวกนี้ ไม่ดีกับพวกโน้น เราทำให้ทุกคนพอใจไม่ได้ คนที่ไม่พอใจเราก็จะต่อต้านเราสารพัดวิธี เราต้องทำใจ ถ้าเราทำใจไม่ได้ ก็จะเป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าวิบากทั้งขาวทั้งดำ

สัพพะปาปัสสะ อะกะกะนัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ บริสุทธิ์

กรรมไม่ขาวไม่ดำ วิบากไม่ขาวไม่ดำ คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
เหนือโลก เพื่อความบริสุทธิ์องสัตว์ เหนือความดีและความชั่วซึ่งเป็นโลกิยะ
ความดี ความชั่วเป็นเรื่องของโลก ความบริสุทธิ์เป็นเรื่องเหนือโลก เหนืออารมณ์
นี่เป็นพุทธประสงค์ ให้พวกเราตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงพุทธภาวะนี้

ข้อวัตรปฏิบัติคือ เจริญโพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8
สรุปแล้วก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โอวาทปาติโมกข์ 3 อย่างนี้
เริ่มต้นด้วยการละความชั่วทั้งปวงด้วยศีล เมื่อศีลสมบูรณ์ สมาธิก็เกิด
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตดี ทำอะไรก็ดีไปหมด ความดีทั้งปวงก็ปรากฏ

ศีลก็อยู่ในสัมมาสมาธิ เมื่อสมาธิสมบูรณ์ ปัญญาก็เกิด
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นมรรคสมังคี
เข้าถึงสะจิตตะปะริโยทะปะนัง คือการชำระจิตของตนให้ขาวรอบบริสุทธิ์

การศึกษาปฏิบัติธรรมนั้นเราควรสนใจเรื่องศีล เข้าใจให้ถึงพริกถึงขิง
ให้ศีลถึงใจ ศีลคือเจตนาถูกต้อง กรรมคือเจตนา
เมื่อเข้าใจกรรมลึกซึ้ง จนเกิดหิริ ความละอายแก่ใจ
โอตตัปปะความกลัวบาปขึ้นที่หัวใจเป็นนิจต่อเนื่องกัน
เมื่อนั้นเรียกว่า ศีลบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น การเชื่อกรรมเป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น

ในการทำวัตรเย็น

- บทเจริญเมตตาภาวนา ปิดท้ายด้วยการพิจารณากรรม
หมายความว่า เมื่อเราเข้าใจกรรมแล้วก็จะเกิดเมตตาจิตได้
เมื่อเจริญเมตตาต้องเข้าใจเรื่องกรรมเป็นสิ่งสำคัญ
- บทพิจารณา อภิณหะปัจจะเวกขณะ ให้พิจารณาถึงความแก่ ความเจ็บ
ความตายว่า เป็นเรื่องธรรมดา บทนี้ก็ปิดท้ายด้วย พิจารณากรรม

อานิสงส์ของการพิจารณากรรมก็เพื่อให้เกิดความไม่ประมาท
เราสวดมนต์เช้า เราสวดเรื่องกรรม 2 ครั้ง และเย็น 2 ครั้ง รวมแล้วก็ 4 ครั้ง
ท่านให้เราพิจารณาบ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ จนเกิดความเมตตา
และความไม่ประมาท อันเป็นสิ่งถูกต้องและสำคัญ
ท่านให้พิจารณากรรมในแง่ต่างๆ แบ่งเป็น 5 อย่าง คือ
กัมมะสักกะ กัมมะทายาทา กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระณา


(มีต่อ 3)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กัมมะสักกะ

เด็ก 13 ขวบ - มโนกรรม

กัมมะสักกะ แปลว่า เรามีกรรมเป็นของของตน สักกะหมายความว่าของตน
มโนกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี กายกรรมก็ดี มีความหมายจริงๆ

มีเรื่องที่น่าสนใจ ขอเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง


ช่วงปี พ.ศ 2532 อาจารย์กลับไปเยี่ยมประเทศญี่ปุ่นและพักอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ในกรุงโตเกียว วันหนึ่งคุณหมอเด็กท่านหนึ่งกับผู้หญิงวัยกลางคน พาเด็กผู้ชายอายุราว 13 ขวบ มาเยี่ยมอาจารย์ เด็กคนนั้นดูแล้วหน้าตาดี หน้าคม ลักษณะฉลาดอยู่ แต่พูดไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ พฤติกรรมเหมือนเด็กปัญญาอ่อน เข้าใจว่าไปโรงเรียนพิเศษเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วๆ ไป เขาซนมากจริงๆ เข้ามาวัดก็วิ่งไปวิ่งมา ไม่อยู่นิ่ง

บ้านญี่ปุ่นมีห้องใหญ่ๆ ใช้ประตูเบาๆ ทำด้วยไม้กับกระดาษสา แบ่งเป็นห้องเล็กๆ ได้ เมื่อมีแขกมาหลายคน หรือประชุมใหญ่ ก็เก็บประตูหมด ผู้หญิงก็ยกได้เบามาก เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ปีใหม่หรือนานๆ ครั้งหนึ่งก็ฉีกกระดาษทิ้งทำความสะอาดแล้วก็เอากระดาษใหม่ปิด สะอาดเหมือนได้ห้องใหม่ เด็กคนนี้วิ่งไปทั่วห้องเอานิ้วเจาะปุ๊บๆๆๆๆ เขาสนุก เราทุกข์

เขามาวัดเพื่อให้อาจารย์อบรมเทศน์ให้เด็กคนนั้นฟัง แม่ให้ลูกเขียนชื่อตัวเองให้อาจารย์ดู เขาเขียนตัวโต แม่ต้องช่วยหน่อย แต่อาจารย์อ่านไม่ออก เพราะไม่ค่อยชัด คนที่สอนเขียนคงจะอ่านออก เด็กคนนี้อยู่เฉยได้ไม่ถึง 2-3 นาที แล้วก็นอนตักแม่ตลอด อาจารย์เองไม่เคยพบสภาพอย่างนี้แต่คุณหมอนิมนต์อาจารย์เทศน์ เด็กคนนี้เหมือนไม่ฟังแต่จริงๆ ฟังอยู่ คุณหมอบอกว่าอย่างนั้น คุณหมอเด็กสนใจอยากศึกษาเด็กคนนี้ ก็เลยให้เด็กมาเล่นกับคุณหมอที่คลีนิคอาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง

และได้สอนให้เขาพิมพ์ดีดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เขาสามารถพิมพ์หนังสือเป็นจดหมายได้ในเวลาไม่กี่วัน ถ้าเด็กธรรมดาก็ต้องใช้เวลานาน แต่เด็กคนนี้เรียนได้เร็วมากแสดงว่า เขาไม่ใช่คนปัญญาอ่อน IQ สูงมาก เขาพิมพ์เรื่องราวของตัวเขาเอง คุณหมอก็เลยได้รู้ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่และได้รู้ว่าเขารังเกียจแม่มากๆ เพราะตอนที่เขาอายุยังไม่ถึงขวบแค่ 9 เดือนแม่ตั้งท้องใหม่ แม่กับพ่อปรึกษากันว่าลูกชายคนนี้ยังเดินไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ เลี้ยงคนเดียวก็เหนื่อยแย่แล้ว

พ่อแม่สองคนตกลงกันทำแท้งลูก ลูกชายคนนี้ฟังอยู่ด้วย รู้เรื่อง เสียใจมากที่แม่ฆ่าน้องตั้งแต่นั้นผูกโกรธอาฆาตไว้กับแม่ เด็ก 9 เดือนนะยังเรียกพ่อแม่ไม่ได้แม่กำลังสอนให้พูด แม่มีความรู้สึกว่าลูกเริ่มจะพูดอยู่สักครั้งสองครั้งแล้วก็หยุดพูด เขามีลูกสาวอีกคนหนึ่ง พี่สาวของเด็กคนนี้ อายุห่างกันประมาณ 2-3 ปี ไม่มีปัญหา ปกติดี เด็กคนนี้กำลังต่อสู้กับอารมณ์ที่ขัดแย้งกันอยู่ภายในจิตใจ วันไหนแม่พาลูกไปเที่ยวเล่นในสวนสนุก ลูกชายมีความสุข ก็พิมพ์หนังสือออกมาว่า วันนี้แม่พาไปเที่ยวสนุกมีความสุขมากๆ รักแม่

อยู่ไปอีก 2-3 วัน เกิดสัญญาเก่า เกิดอาฆาตพยาบาท แค้นเสียใจที่ "แม่ฆ่าน้อง" ก็โกรธแม่อีก แม่ก็รักลูก อาจจะยิ่งกว่าคนอื่นก็ได้ แม่ก็ทำดีกับลูก ลูกก็มีความสุข รักแม่ แต่อารมณ์เก่าๆ มันตีกลับมาทับอีก ต่อสู้อยู่อย่างนั้น เขาชอบไปวัด ชอบพระพุทธศาสนาทางศาสนาสอนให้แผ่เมตตากรุณาเป็นหลัก เมื่อโตแล้วอยากจะเป็นผู้ช่วยคุณหมอหรือบวชพระในพระพุทธศาสนา เขามาเยี่ยมอาจารย์เพราะดูทีวีแล้วก็เกิดศรัทธา และคุณหมอมีความหวังนิดหน่อยว่าอาจารย์จะเทศน์ช่วยเขาได้บ้าง

ช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 อาจารย์ได้เดินธุดงค์จากสนามบินนารีตะถึงเมืองฮิโรชิม่า ระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรใช้เวลา 72 วัน ไม่ได้รับเงินทอง รับแต่อาหารบิณฑบาต หาที่นอนแล้วแต่โอกาส พักที่วัดบ้าง ตามริมถนนบ้าง กลางคืนมืดๆ แล้วก็เข้าไปนอนที่จอดรถของสรรพสินค้าบ้าง ใต้สะพานบ้าง สาระพัดแบบ

เมื่อถึงโตเกียว จากสนามบินนารีตะอาทิตย์หนึ่ง สื่อมวลชน สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาขออนุญาตทำสารคดีเพราะบางคนคิดว่าไม่น่าจะเดินถึงเมืองฮิโรชิมาได้ รายกายนี้ได้ออกอากาศ เขาเห็นเขาจึงอยากมาเยี่ยมอาจารย์ คุณหมอก็นิมนต์อาจารย์เทศน์ให้เขาฟัง แต่อาจารย์ไม่ค่อยมีอารมณ์เทศน์ เพราะผู้ฟังนอนตักแม่คะนองมือคะนองเท้าตลอดไม่อยู่ธรรมดา แต่คุณหมอบอกเรื่อยๆ ว่าเด็กคนนี้เหมือนไม่ฟังแต่ความจริงใครพูดอะไรก็ฟังทั้งนั้น

อาจารย์ตั้งใจเทศน์เรื่อง วิธีระงับเวร ความโกรธ และเจริญเมตตากรุณา ให้เด็กฟัง แต่ได้ผลมากน้อยเพียงใดไม่ทราบ เรื่องนี้อาจารย์ยกขึ้นมาพูดในวันนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แสดงให้เห็นว่า เด็ก 9 เดือนยังพูดอะไรไม่ได้ เดินก็ไม่ได้ เหมือนไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ความจริง เขามีความรู้สึก ความเข้าใจ ความคิด เขาสามารถสร้างมโนกรรมได้จริงๆ รุนแรงถึงขนาดนั้นก็มีอยู่

หมอก็สันนิษฐานว่าความโกรธ ความรังเกียจแม่อย่างรุนแรงเป็นกำลังทำให้ระบบประสาทของเขาพิการ มโนกรรมที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นเหตุ มีผลทำให้เขาพูดไม่ได้ กัมมะสักกะ เรามีกรรมเป็นของๆ ตนจริงๆ กรรมมีผลร้ายแรงถึงเพียงนี้จริงๆ


(มีต่อ 4)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


จิตใต้สำนึก - เด็ก 3 ขวบ

ข้อมูลที่น่านำประกอบการพิจารณา คือนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ค้นคว้าทดลองวินิจฉัยดูว่า ชาติก่อนมีจริงหรือไม่ สิ่งที่ต้องการค้นหาคือข้อมูลจากจิตใต้สำนึก บางคนก็ค้นคิดเครื่องไฟฟ้าพิเศษ แต่โดยมากอาศัยคนที่สะกดจิตเก่งๆ สะกดจิตทำให้คล้ายๆ นอนหลับเคลิ้มๆ ไม่รู้สึกตัว แล้วค่อยๆ ถามว่าเมื่อวานนี้ทำอะไรกับใคร 2-3 วันก่อนทำอะไรกับใคร ถามย้อนไปเรื่อยๆ ตอนเกิดมาใหม่ๆ ในโลกนี้ใครมาทำอะไร เขาสามารถพูดได้ แล้วเขาก็ถามไปถึงชาติก่อนๆ เขาสามารถนำข้อมูลเก่าๆ ออกมา คือชาติก่อน 2, 3, 4 ชาติ ก่อนได้เรื่อยๆ

เด็กไร้เดียงสา พูดอะไรทำอะไรไม่ได้ก็ตาม จิตใต้สำนึกของเขาเปิดเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ตลอด พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือได้ประสบการณ์ที่เจ็บปวดต่างๆ เขาเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อถึงเวลามีเหตุปัจจัยพร้อมก็จะออกมาในรูปแบบของกิเลสหรืออารมณ์

คนโบราณบอกว่า "จิตวิญญาณเด็กอายุ 3 ขวบมีอิทธิพลต่อไปถึงอายุ 100 ปี" วัยเด็กๆ ช่วงอายุ 3 ขวบ นี้เป็นช่วงที่กำลังสร้างนิสัยใจคอ อ่อนไหวต่ออารมณ์ที่มากระทบจากภายนอก การให้ปัจจัยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ขาดความอบอุ่นก็ไม่ได้ ดุมากไปก็ไม่ได้ ตามใจ เอาใจ ดูแลมากไปก็ไม่ดี เลี้ยงลูกต้องหาความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ต้องใช้สติปัญญาศึกษาหาความพอดีให้สมดุลกัน ความรัก ความเคารพ และความกรุณา ต้องพอเหมาะพอดี คือสอนให้รู้ผิด รู้ถูก ควรไม่ควร

จิตใต้สำนึก - ลูกอยู่ในท้องแม่

หน้าที่ของพ่อแม่ต่อลูกเริ่มต้นตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่ นอกจากแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและระวังสุขภาพแล้ว ต้องส่งกระแสจิตที่เป็นความรักเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ อารมณ์ของแม่มีอิทธิพลต่อลูก

พ่อก็มีหน้าที่คือพยายามประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรม ไม่ให้แม่วิตกกังวล เครียดในสิ่งต่างๆ หน้าที่ของแม่คืออ่านหนังสือดีๆ ฟังเพลง ฟังธรรมะที่ช่วยทำใจให้สงบสบาย พยายามรักษาจิตใจให้สงบสบายเป็นสิ่งสำคัญ

ลูกเรียกร้องความรักจากพ่อแม่ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พระวินัยทางศาสนานับอายุตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ผู้ชายบวชเป็นพระภิกษุได้เมื่ออายุครบ 20 ปี นับรวม 6 เดือนในท้องแม่ด้วย แม้แต่พืชผักต้นไม้ก็ได้รับผลประโยชน์จากการดูแลเอาใจใส่ที่ดีเหมือนกัน มีบางคนเปิดเพลงให้กล้วยไม้ฟัง สร้างบรรยากาศดีๆ กล้วยไม้ก็ออกดอกสวยๆ

ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการเปิดเพลงให้โคนมฟังเพื่อเขาจะได้มีอารมณ์ดีๆ มีความสุข จะได้ผลิตนมมากๆ เห็นผลได้ชัดเจนว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ สิ่งเหล่านี้บอกชัดเจนว่าปัจจัยดีๆ เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ออกผลดี ลูกอยู่ในท้องแม่ก็เหมือนกัน ถ้าแม่อารมณ์ดี พูดฟังแต่สิ่งที่ดีๆ ลูกก็จะเป็นคนที่มีอารมณ์ดีด้วย พ่อแม่จึงต้องให้ปัจจัยสนับสนุนดีๆ ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่

วจีกรรม กายกรรม

ถ้าลองสังเกตและพิจารณาคำพูดต่างๆ ต่อเนื่องกันแล้วก็จะเห็นผลดีผลเสียชัดเจน คำพูดที่พูดออกไปแล้ว เห็นผลเป็นทุกข์แล้วสามารถหาสาเหตุได้โดยไม่ยาก เราจึงจะรู้ได้ว่าคำพูดต่างๆ ที่พูดอยู่ทุกวันนี้มีทั้งผลดีผลเสีย สร้างปัญหาต่างๆ มากมาย

ต้องระวังมากๆ วจีกรรมมีจริง และมีความหมายมากมายจริงๆ กายกรรมก็เหมือนกัน ความประมาททางกายนี่ เสียหายมากทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น การกระทำทางกาย กายกรรมมีจริงและเกิดผลเป็นผลดีผลเสียได้ ต้องสำรวมระวังกายกรรมให้มาก

สรุปได้ว่ามโนกรรม วจีกรรม กายกรรม มีจริง มีความหมายมาก มีอิทธิพลต่อสุขทุกข์ของเราเป็นอย่างมาก ต้องสำรวมระวังการคิด พูดทำอะไรๆ ทุกอย่าง



(มีต่อ 5)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กัมมะทายาทา

สุภาพสตรีคนหนึ่ง

กัมมะทายาทาแปลว่าเรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล
ทายาทคือ ผู้รับมรดก ผู้รับผลกรรม วิบากกรรมมีจริง
เมื่อเราทำความดีความชั่วด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
เราต้องเป็นผู้รับวิบากกรรมที่เราทำไว้จริงๆ


มี สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เริ่มเข้ามัชฌิมวัยแล้ว มาทำบุญใส่บาตรที่วัดป่าแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด มีอยู่ช่วงหนึ่งเธอห่างจากวัดไปเป็นเดือนๆ พอเธอกลับมาวัดอีกครั้ง สังเกตได้ว่ากราบพระไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนเดิมเพราะใส่แขนปลอม หลังฉันเสร็จโยมผู้ชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สามีของเธอทำงานที่กรุงเทพและมีบ้านเล็กมีภรรยาน้อยอยู่ที่นั่น

เช้าวันหนึ่งเธอทะเลาะกับสามีรุนแรงและด่าไปว่า "อยากจะตัดแขนของเมียน้อย" หลังจากสามีไปทำงาน เธอนั่งรถไปทำธุระกับเพื่อน 3 คน เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำประตูรถทับแขนซ้ายขาดหายไปข้างหนึ่ง นอกจากนั้นไม่เป็นอะไรมากนัก คนอื่นก็ไม่เป็นอะไร เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวเธอผู้นั้นและอีกหลายๆ คน เชื่อว่าวิบากกรรมมีจริง

สุภาพสตรีผู้นั้นคงเคียดแค้นและคิดอยู่เป็นประจำว่า "อยากจะตัดแขนเมียน้อย" เพราะคิดว่าถ้าเขาไม่มีแขนคงจะไม่มีใครรักเขา ผลคือผู้คิดผู้พูดรับวิบากกรรมเอง นี่คงจะเป็นวิบากกรรมจากทั้งมโนกรรมและวจีกรรม

ความโกรธ

สมัยพุทธกาล พระภิกษุองค์หนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า มีคนๆ หนึ่งมีนิสัยขี้โกรธมาก มีอะไรไม่ถูกใจ ไม่ชอบหน้าใครก็ด่าๆ พวกเรารำคาญจริงๆ จะทำอย่างไรดี

พระองค์สอนว่า ความโกรธเหมือนการทำอาหารให้คนอื่นกิน ถ้าเขาไม่กินก็ต้องกินเอง ทำเองกินเองนั่นแหละ ถ้าเราไม่ชอบก็อย่าสนใจ เฉยเสียเท่านั้นเอง ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก เขาโกรธเขาด่าเรา เราเป็นทุกข์ นั่นแหละ เรากินอาหารที่เขาปรุงให้แล้วผลคือทุกข์ด้วยกันทั้งคู่

เมื่อเรากินของเขาแล้ว ก็ต้องทำอาหารให้เขากินบ้าง ก็คือเราก็โกรธเขาด่าเขากลับไปบ้าง กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้หลายภพหลายชาติไม่รู้จักจบสิ้น นี่คือชีวิตของสัตว์และมนุษย์

ลองคิดดูนะ อย่างเราที่เดินทางมาด้วยกันหลายคน ถึงแม้ว่าเป็นการเดินทางเพื่อแสวงบุญก็ตาม สิ่งที่ได้เห็นสิ่งที่ได้ยิน อาจไม่ถูกใจกัน ผิดใจกันก็เป็นธรรมดา ถ้าเราไปยึดเอาจริงเอาจังเราก็โกรธเขา กลับบ้านก็ติดอารมณ์ ครุ่นคิดไม่พอใจเขา โกรธ ด่า นินทาในใจตลอดคืน

เราทุกข์ตลอดคืน คนที่เรากำลังโกรธ เขาคงจะกินสบาย นอนสบาย ดูโทรทัศน์ มีความสุข กับครอบครัวของเขา ความโกรธของเราหลายวันก็อาจจะไม่หาย วันหนึ่งเราอาจถามเขาว่า วันนั้นทำไมเธอพูดอย่างนั้น ทำไมเธอทำอย่างนั้น โดยมากเขาก็จำไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้จงใจทำอย่างที่เราคิด เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิด ส่วนมากมักจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาก็ทำเป็นปกติธรรมดาของเขา เราคิดไปเอง ปรุงแต่งไปเอง

เราทำเหตุ เราก็รับผลอยู่อย่างนั้น คือ ทุกข์ โกรธ อยู่อย่างนั้น


(มีต่อ 6)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผลตอบแทนอาจจะเป็น 2 เท่า 3 เท่า 10 เท่า
หลายๆ เท่าก็ได้


ถ้าเราพิจารณาดูให้รอบคอบแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า ด่าเขาเหมือนด่าตัวเอง นินทาเขาเหมือนนินทาตัวเอง ดูหมิ่นดูถูกเขาเหมือนดูหมิ่นดูถูกตัวเอง เบียดเบียนเขาเหมือนเบียดเบียนตัวเอง ทำร้ายเขาเหมือนทำร้ายตัวเอง ฆ่าเขาเหมือนฆ่าตัวเอง

ควรพิจารณาลึกๆ อีกว่า ไม่ใช่ว่าเราทำเขาว่าเขาหนึ่งแล้วเราจะได้รับผลตอบแทนกลับมาหนึ่งเท่านั้น แล้วแต่เหตุปัจจัย ผลตอบแทน ผลิตผลอาจจะเป็น 2 เท่า 3 เท่า 10 เท่า หลายๆ เท่าก็ได้ มะละกอเมล็ดหนึ่งเพาะปลูกทะนุถนอมดูแลอย่างดีให้ปัจจัยสนับสนุนพอดีๆ ปีต่อไปอาจจะผลิตผลเป็นหลายร้อยลูกก็ได้ 2 ปี 3 ปี จึง ค่อยๆ หมดสภาพไป อายุมากแล้วก็ตายไป

ทำดี ทำบาปก็เหมือนกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ใครจะกล้าทำบาปอีก เห็นโทษของนินทา อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ฯลฯ บาปทุกชนิดแล้วก็ไม่มีใครกล้าทำต่อไป แม้แต่บ่นอยู่ในใจก็ไม่คุ้มค่าเลยนะ ทำให้ชีวิตของตัวเอง เศร้าหมอง

กรุงเทพฯ ทุกวันนี้รถติดเป็นระดับโลก คนขับรถคนนั่งอยู่ในรถหงุดหงิดเครียดกันทั้งเมือง เขาพูดกันว่าอย่างนี้ก็มี ขับรถไปมีรถตัดหน้าเลยเกิดอารมณ์ คิดจะสั่งสอนเขา หยุดรถแล้วเปิดประตู ไปว่าเขา เขาก็ยิงปืนใส่ให้ ยิงทิ้งเลยแล้วก็หลบหนีไป ว่าเขาคำเดียว ถูกยิงตายเลย

กิเลสครอบงำวูบเดียว ขโมยของติดคุกติดตะราง เสียชื่อเสียงเสียความสุขหลายปี เล่นชู้ เที่ยวกลางคืน ติดโรคเอดส์ ครอบครัวเป็นทุกข์ทั้งครอบครัว ตลอดชีวิต ความชั่วถ้าเข้าไปอยู่ในความดี ความดีไม่ปรากฏเลย ทำนองที่ว่าซื้อปลามาร้อยตัว มีปลาเน่าปนอยู่ตัวหนึ่ง ไม่กี่วันก็จะพากันเสียไปเกือบหมด เก็บน้ำฝนไว้เต็มถัง หนูตกไปตายตัวเดียว กินใช้อะไรไม่ได้เลย สมาชิกครอบครัวดีทุกคน มีคนเกเรอยู่คนเดียวเหมือนมีห้องน้ำอยู่หน้าบ้าน หาความสุขลำบาก

การทำความดีก็เช่นเดียวกัน
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีเรื่องเล่ากันว่า

หลายปีก่อน มีคนแก่คนหนึ่ง ดูท่าทางยากจน เสื้อผ้าก็เก่า ล้มนอนอยู่ข้างถนนหน้าโรงพยาบาล นางพยาบาลคนหนึ่งเห็นเข้าก็พาเข้ามาในโรงพยาบาลและเยียวยารักษาให้เป็นอย่างดีด้วยความเอาใจใส่ ไม่นานก็ดีขึ้น คนแก่คนนั้นจะกลับบ้านแต่เขาไม่มีเงินติดตัวเลย นางพยาบาลก็ให้ค่ารถพอที่เขาจะขึ้นรถกลับบ้านได้

ไม่กี่วันเขานั่งรถเบ็นซ์ แต่งตัวดี เป็น เถ้าแก่ มาเยี่ยมนางพยาบาลใจดี และถามว่าอยากได้อะไรบ้าง นางพยาบาลก็ตอบกลับไปว่า "ฉันเองไม่อยากได้อะไร แต่ถ้ามีตึกสักหลังหนึ่งทางโรงพยาบาลจะได้รักษาคนไข้มากขึ้น" เถ้าแก่คนนั้นจึงสร้างตึกให้โรงพยาบาลหลังหนึ่ง การทำความดีก็อาจจะมีผลมากมายได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการทำบุญกับผู้ทรงศีล ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีอานิสงส์ใหญ่มีผลใหญ่

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าให้ละบาปเป็นประการแรก
ให้มีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวบาป
ให้เกิดสติปัญญา กำลังใจ ในการละบาป
ให้เกิดศรัทธาในการทำความดี
ผลดี ผลเสียวิบากกรรมมีจริงๆ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงๆ



(มีต่อ 7)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กัมมะโยนิ

อุบาสกมหากาล

ท่านให้พิจารณาถึง กัมมะโยนิ ซึ่งแปลว่า เรามีกรรมเป็นแดนเกิด โยนิแปลว่าพาไป พาไปเกิด ที่เกิดบาป อันตนทำไว้ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด

ตัวอย่างของท่านอุบาสกชื่อมหากาล

ท่านมหากาลเป็นโสดาบัน
รักษาศีลอุโบสถเดือนละ 8 ครั้ง ฟังธรรมกถาตลอดคืนในวิหาร (วัด) ครั้งนั้นช่วงกลางคืน พวกโจรเข้าไปในบ้านใกล้วิหารแล้วได้ทำโจรกรรม ขโมยของ เมื่อเจ้าของบ้านตื่นขึ้น พวกโจรหนีกระจัดกระจายกันไปทั่วทิศ

ส่วนโจรคนหนึ่งหลบหนีเข้าไปในวิหารทิ้งของบางอย่างที่ขโมยมาไว้หน้าอุบาสกมหากาลซึ่งฟังเทศน์ฟังธรรมมาตลอดคืน พอพวกเจ้าของบ้านตามล่าหมู่โจรพบเห็นสิ่งของที่ถูกขโมยมาตรงหน้าอุบาสกมหากาล จึงจับแล้วสาบแช่งด่าว่าต่างๆ นานา "ขโมยของของเราแล้วแสร้งนั่งเหมือนฟังธรรมอยู่" และทุบตีอุบาสกมหากาลจนตาย แล้วปล่อยทิ้งไว้

ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่มสามเณรทั้งหลาย ถือหม้อน้ำดื่มไปแต่เช้าตรู่ พบเห็นมหากาลนอนตายอยู่เช่นนั้นกล่าวกันว่า สงสารมหากาลฟังธรรมกถาอยู่ในวิหารต้องมามรณะลงอย่างนี้ไม่สมควรเลย ใครๆ ก็รู้จักอยู่ว่าอุบาสกมหากาลเป็นคนดี เป็นโสดาบันไม่เคยทำบาปเลย จึงได้พากันกราบทูลถามพระบรมศาสดา

พระองค์ตรัสว่า "อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย นายมหากาลได้มรณะไปอย่างไม่สมควรในอัตตภาพนี้ แต่เขาได้มรณะสมควรแก่กรรมที่เขาทำไว้แล้วในการก่อนนั้นแล" ภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นกราบทูลอาราธนาให้เล่าเรื่องราว พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าถึง บุพกรรม ของมหากาลนั้นว่า

ในอดีตกาลพวกโจรซุ่มอยู่ที่ป่าดงแห่งหนึ่งในแคว้นของพระเจ้าพาราณสี พระราชาทรงตั้ง ราชภัฏ คนหนึ่งไว้ที่ป่าดง ราชภัฏคนนั้นรับค่าจ้างแล้วก็นำคนไปจากฟากข้างนี้สู่ฟากข้างโน้น นำคนจากฟากข้างโน้นมาสู่ฟากข้างนี้ โดยอารักขาเพื่อให้พ้นภัยจากพวกโจรเหล่านั้น

วันหนึ่ง บุรุษคนหนึ่งพาภริยารูปสวย ของตนขึ้นสู่ยานน้อยแล้วไปที่นั้น ราชภัฏพอเห็นหญิงนั้นก็เกิดเสน่หารักใคร่ เมื่อคู่สามีภริยาขอร้อง "ขอนายท่านจงช่วยให้เราทั้งสองผ่านพ้นดงนี้เถิด" ราชภัฏก็ตอบว่า "บัดนี้ค่ำมืดเสียแล้ว พรุ่งนี้เช้าเถิดเราจะพาไป เรามีที่พักอาหารให้ไม่ต้องห่วง" สองสามีภริยาอ้อนวอนว่า "นาย ยังมีเวลาขอได้โปรดนำเราทั้งสองไปเดี๋ยวนี้เถิด"

ขอร้องอย่างไรราชภัฏก็ยืนยันว่าจะพาไปพรุ่งนี้ สามีภริยาทั้งคู่ไม่ปรารถนาเลยแต่จำเป็นต้องไปพักกันที่เรือนพักกับพวกของราชภัฏ ในเรือนของราชภัฎนั้นมีแก้วมณีดวงหนึ่ง ราชภัฏได้นำไปซ่อนที่ยานน้อยของสามีภริยาคู่นั้น ในเวลาจวนรุ่งเช้า ให้ลูกน้องทำเสียงเป็นพวกโจรเข้าไปในบ้าน แล้วพวกลูกน้องก็ต้องเอะอะขึ้นว่า "นายๆ แก้วมณีหายไปแล้ว"

นายราชภัฏได้สั่งให้ตั้งด่านตรวจตั้งกองรักษาไว้ที่ประตูบ้านทุกจุด แล้วตรวจค้นหาแก้วมณี ในที่สุดเขาก็ได้พบเห็นแก้วมณีที่ตนซ่อนไว้ที่ยานน้อยของสามีภริยาคู่นั้นจึงพูดขู่ว่า "เจ้าขโมยแก้วมณีไป" แล้วก็ด่าและเฆี่ยนตีสามีนั้นจนตายแล้วก็นำไปทิ้งเสีย พระบรมศาสดาทรงสาธยายมาถึงตรงนี้แล้วก็หยุด

เอ นึกสงสัยว่าผู้หญิงรูปสวยกับราชภัฏชั่วร้ายนี้ เป็นอย่างไรกันต่อไป ท่านไม่ได้บอก แต่ราชภัฏสมัยนั้นคือท่านอุบาสกมหากาลนี่เอง

กัมมะโยนิ บาปกรรมอันตนทำไว้เอง เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้อย่างนี้



(มีต่อ 8)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระโมคคัลลานะ

ประวัติพระโมคคัลลานะก็คล้ายกัน ท่านเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ถ้าพูดถึงอิทธิฤทธิ์ของท่านก็เท่าเทียมพระพุทธองค์ทีเดียว ท่านคู่กับพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ถ้าพูดถึงปัญญาของพระสารีบุตรก็เท่าเทียมกับพระพุทธองค์ พระประธานในโบสถ์วิหารมักจะมีสาวก 2 องค์ เบื้องขวาเป็นพระสารีบุตร เบื้องซ้ายเป็นพระโมคคัลลานะนี่เอง

ชาติสุดท้ายของท่านไม่ได้ทำบาปอะไรเลย เป็นเด็กดีเป็นคนดี เมื่อเข้ามาในพระศาสนา ท่านปรารภความเพียรอยู่ 8 วันก็ได้บรรลุอรหัตตผล หลังจากนั้นท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาหลายสิบปี เข้าใจว่าท่านอายุได้ 120 ปี พระพุทธเจ้าเมื่อท่านอายุได้ 80 ปี แล้วเข้าปรินิพพาน พระอานนท์ท่านอายุถึง 120 ปี เข้าใจว่าพระโมคคัลลานะก็อายุได้ 120 ปี อย่างไรก็ตามสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านถูกโจร 500 ฆ่าตาย

วันหนึ่งท่านนั่งอยู่ในกุฏิ รู้สึกผิดสังเกต จึงกำหนดตรวจดูก็รู้ว่าพวกโจรเป็นจำนวนมากถือมีดถืออาวุธครบมือล้อมกุฏิท่านไว้ ท่านได้ทราบความที่ตนถูกพวกโจรนั้นล้อมแล้วก็อธิษฐานจิตหลบหนีออกไปทางรูกุญแจ พวกโจรบุกเข้ามาในกุฏิไม่เห็นท่านก็กลับไป รุ่งขึ้นเช้ามืดพวกโจรก็มาอีก ท่านก็เหาะหนีขึ้นสู่อากาศ หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน พวกโจรกลับมารบกวนท่านบ่อยๆ

ในที่สุดวันหนึ่งท่านพิจารณาดูสาเหตุก็ทราบว่า ชาติก่อนโน้นท่านได้ฆ่าพ่อแม่ไว้ วิบากกรรมอันนี้เองที่พวกโจรเหล่านี้จะมาฆ่าท่าน ประกอบกับเป็นวาระที่สมควรถึงเวลาที่ท่านจะละสังขารแล้ว ท่านจึงไม่หนีอีกต่อไป ยอมรับความจริง ยอมรับวิบากกรรมที่ตนทำไว้ พวกโจรจับท่านแล้วก็ทุบท่านจนกระดูกแตกยับเยินเป็นชิ้นน้อยประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก เมื่อเห็นว่าพระโมคคัลลานะตายแล้ว ก็หลีกไป แต่จริงๆ แล้วท่านยังไม่ตาย

ท่านคิดว่า "เราจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาเสียก่อน แล้วจักปรินิพพาน" ดังนี้แล้วจึงประสานอัตตภาพด้วยฌานสมาธิ ทำให้มั่นคง แล้วเหาะไปทางอากาศสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจักปรินิพพานแล้ว"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เธอจักปรินิพพานหรือโมคคัลลานะ"

ท่านตอบว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจักปรินิพพานแล้วพระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดา ตรัสถามว่า "เธอจักปรินิพพานที่ไหน"

ท่านตอบ "ข้าพระองค์จักไปสู่ประเทศชื่อกาฬสีลา แล้วปรินิพพานพระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดาตรัสว่า "โมคคัลลานะ ถ้ากระนั้น เธอจงกล่าวธรรมะแก่เราแล้วจึงค่อยไปเพราะบัดนี้เราจักไม่พบเห็นสาวกผู้ใดเช่นเธออีก" หลังจากนั้นท่านถวายบังคมพระบรมศาสดา เหาะขึ้นไปในอากาศแสดงฤทธิ์มีประการต่างๆ ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วไปสู่ดงแห่งกาฬสีลาประเทศ ปรินิพพาน ณ ที่นั้น

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมกล่าวว่า "น่าสังเวชจริงๆ พระโมคคัลลานะถูกพวกโจรทุบตาย มรณภาพอย่างนี้ไม่สมควรเลย"

พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ"

พระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "การมรณภาพของพระโมคคัลลานะไม่สมควรแก่ท่านซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์"

พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะมรณภาพไม่สมควรแก่อัตตภาพนี้เท่านั้น แต่เธอถึงมรณภาพอย่างนี้ สมควรแท้แก่กรรมที่เธอทำไว้ในกาลก่อน"

พระบรมศาสดาได้ตรัสเล่าอดีตกรรมของพระโมคคัลลานะให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาล กุลบุตรผู้หนึ่งเป็นชาวเมืองพาราณสีเป็นคนดี คนขยัน เป็นคนกตัญญูมาก ทำกิจต่างๆ ทุกอย่างด้วยตนเองตลอดถึงปรนนิบัติมารดาบิดาซึ่งชรามากแล้ว พ่อแม่สงสารลูกชายคนเดียวต้องทำงานในป่า ทำงานบ้านแล้วยังต้องดูแลปรนนิบัติ

พ่อแม่ผู้ชราถึง 2 คน จึงพูดว่าจะหา ภริยา ให้เพื่อแบ่งเบาภาระจะได้สบายและมีความสุขเหมือนคนทั่วๆ ไปแต่ลูกชายก็ปฏิเสธ "คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ต้องห่วงเลย ผมไม่ต้องการหญิงสาว ผมจักบำรุงท่านทั้ง 2 ด้วยมือของผมเองตราบเท่าที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่"

พ่อแม่อดสงสารเกรงใจลูกชายไม่ได้ อ้อนวอนเขาอยู่อย่างนั้น แล้วก็หาหญิงสาวมาให้แต่งงานเป็นสามีภริยากัน หญิงนั้นดูแลบำรุงพ่อสามีแม่สามีอยู่ 2-3 วันเท่านั้นก็เบื่อขี้เกียจ ภายหลังก็ไม่อยากเห็นท่านทั้งสองนั้นเลย จึงบอกสามีว่า "ฉันไม่อาจอยู่ในที่แห่งเดียวกับมารดาบิดาของเธอได้" แกล้งกล่าวโทษติเตียนต่างๆ นานาแต่สามีก็ไม่เชื่อถ้อยคำของเขา วันหนึ่งเมื่อสามีออกไปข้างนอกเขาก็เอาปอ ก้านปอและฟองข้าวยาคูไปเทเรี่ยราดไว้ในบ้านให้เลอะเทอะสกปรกไปหมด

สามีกลับมาก็ถามว่า "นี่อะไรกัน" ภริยาก็บอกว่า "นี่เป็นกรรมของคนแก่ผู้ชราเหล่านี้ ท่านทั้งสองเที่ยวทำเรือนทั่วทุกแห่งให้สกปรก ฉันไม่อาจอยู่ในที่แห่งเดียวกันกับท่านทั้งสองนั้นได้" ภริยาบ่นพร่ำอยู่อย่างนั้น ความรู้สึกของลูกชายก็ค่อยๆ เปลี่ยน แล้วก็พูดกับภริยาว่า "เอาเถอะฉันรู้จักกรรมที่ควรทำแก่ท่านทั้งสอง"

ดั่งนี้แล้วก็เชิญมารดาบิดาให้บริโภคแล้วบอกว่า "จะพาไปเยี่ยมญาติทางโน้นซึ่งเขาคิดถึง หวังให้คุณพ่อคุณแม่ไปเยี่ยมอยู่" แล้วก็พาท่านทั้งสองขึ้นสู่ยานน้อยแล้วพาไป ครั้นถึงกลางดงก็บอกท่านว่า "ช่วยกันจับเชือกนี้ไว้ โคทั้งสองจักไปด้วยดี แถวนี้มีพวกโจรซุ่มอยู่ผมจะลงไปตรวจดู ดังนี้แล้วก็มอบเชือกไว้ในมือของบิดา ตนเองลงจากยานน้อยไป แล้วได้แกล้งทำเสียงให้เป็นเหมือนเสียงของพวกโจรซุ่มอยู่

มารดาบิดาได้ยินเสียงดังนั้นเชื่อว่าพวกโจรซุ่มอยู่จริงๆ ด้วยความรักความห่วงใยลูกชายกล่าวว่า "ลูกเอ๋ย พ่อแม่แก่แล้วไม่ต้องห่วงเรา เจ้าจงหนีไป รักษาเฉพาะตัวเจ้าให้พ้นภัยเถิด" เขาทำเสียงดุจโจรทุบตีมารดาบิดาที่เฝ้าขอร้องให้เขาหนีไปด้วยความรักให้ตาย ทิ้งไว้ในดงแล้วกลับไป ลูกชายสมัยนั้นคือพระโมคคัลลานะนี้เอง เพราะเหตุนี้ การมรณภาพของโมคคัลลานะอย่างนี้จึงสมควรแก่กรรมที่ตนทำไว้โดยแท้

บาปอันตนทำไว้เองเกิดในตน
มีตนเป็นแดนเกิด เป็นกัมมะโยนิ



(มีต่อ 9)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

มาเกิดในท้องแม่

กรรมของตัวเองพาเราเข้ามาปฏิสนธิในท้องแม่ ไม่ใช่พ่อแม่ผลิตเราขึ้นมาเอง จิตวิญญาณของเรา ได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารภพน้อยภพใหญ่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แต่จิตวิญญาณของเรากับของพ่อแม่มีความผูกพันกันมาในอดีตกาล เราจึงอาศัยพ่อแม่มาเกิดในโลก สมมุติว่าเป็นพ่อแม่ในชาตินี้ ถึงแม้ว่าไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ เช่น สิ่งแวดล้อมไม่ดี ฐานะยากจน พ่อแม่ทะเลาะกัน ไม่มีความอบอุ่น เป็นต้น

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะว่าพ่อแม่ได้
เพราะกรรมของเราเอง
นำเรามาขออาศัยเกิดเป็นลูกในชาตินี้
เราต้องรับผิดชอบเอง


เข้าไปในสังคม

ชีวิตของเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในสังคมต่างๆ ด้วยอาศัยพ่อแม่หรือผู้ใหญ่หรือใครก็ตามเป็นผู้แนะนำชักชวน หรือบางครั้งรู้สึกว่าถูกบังคับ เช่น เข้าโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลับ เลือกวิชาที่เรียน เลือกที่ทำงาน บุคคลที่จะแต่งงาน เป็นต้น

ในที่สุดเมื่อเราไม่มีความสุข ผิดหวังในชีวิตแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าที่เราต้องทนสภาพอย่างนี้ เพราะพ่อแม่บังคับ เพราะคนนี้แนะนำเราพาเราให้รู้จัก เพราะคนนั้นเขาพูดอย่างนั้น เพราะเขาพูดอย่างนี้ แล้วก็เกิดอาฆาต พยาบาท แต่ความจริงกรรมของตนพาไปเอง

เราต้องพิจารณาให้ถูก คิดให้ถูก
อย่าคิดเบียดเบียนพยาบาทใคร
เราต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมของเราเอง
ไม่ต้องกล่าวโทษใครทั้งสิ้น


ทำชั่วได้ชั่วเป็นกฎตายตัว

ทำไมสังคมทุกวันนี้สับสนวุ่นวาย
ทำไมชีวิตของเราวุ่นวาย
แม้แต่จิตใจของพระก็ยังวุ่นไม่หาย
เพราะไม่เห็นชัดเจนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
กลับมีความรู้สึกว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน
ทำดีได้ชั่วมีถมไป
ทำชั่วได้ชั่วมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
มองดูระยะสั้น อาจจะมีปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
เมื่อบาปยังไม่ส่งผล คนชั่วก็เห็นว่าเป็นของดี
ต่อเมื่อมันผลิตผลเมื่อใด เมื่อนั้นแหละ เขาจึงรู้พิษสงของบาป
เมื่อความดียังไม่ส่งผล คนดีก็ไม่เห็นผลของกรรมดี
ต่อเมื่อใดความดีผลิตผล เมื่อนั้นแหละ เขาจึงจะเห็นผลของความดี

ให้เราพากันพิจารณากัมมะโยนิ
จนจิตใจไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ต่างๆ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเหตุผลเสมอ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นกฎตายตัว
ยอมรับความจริง ด้วยจิตใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว
ขอให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความดีความถูกต้องในทุกกรณี



(มีต่อ 10)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


กัมมะพันธุ

กัมมะพันธุ แปลว่าเรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
พันธุหมายความว่า พวกพ้อง พี่น้อง
เรามีกรรมหรือการกระทำที่ทำให้จิตวิญญาณของเราผูกพันกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
สัตว์ที่เราเห็นกันด้วยตานี้ตั้งแต่มด ยุง กบ เขียด แมว สุนัข
วัว ควาย มนุษย์เรานี้อย่างน้อยชาติหนึ่งเคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกัน
ในวัฏฏสงสารที่ยืดยาวตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
รักกัน ชังกันมาอย่างนี้จนทุกวันนี้ และต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ
ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรประมาท
ทำใจให้สงบน้อมเข้ามาสู่ตน
ตรวจตราดูว่ามีใครบ้างที่เราอาฆาตพยาบาท
ถ้ามี รีบให้อภัยอโหสิกรรมเสียแต่บัดนี้ อย่างน้อยก็ชาตินี้ก่อนตาย
ไม่ต้องเป็นคู่เวรคู่กรรมเจ้าเวรเจ้ากรรมกันต่อไป
อย่าคิดว่าเราต่างคนต่างอยู่ไม่เป็นอะไร แม้จะอยู่คนละจังหวัด
คนละประเทศก็ตาม ก็จะมีโอกาสพบกันในชาติหน้า

มีโอกาสมากด้วย ถ้ามีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
ดูใจของตนก็เห็นชัด คิดถึงใครก็ดี
คิดแค้นใจ อาฆาตพยาบาทใคร ก็ตาม
นั่นแหละระวังให้ดี ต่อไปจะเกิดมาเป็นญาติใกล้ชิดกันนะ
แล้วก็จะทำความเดือดร้อนให้แก่กันต่อไปนับภพชาติไม่ถ้วน
ฉะนั้นไม่ให้คิดมีเวรกัน มีแต่ให้อภัยอโหสิกรรมแก่กัน
ไม่ให้คิดอาฆาตพยาบาท ไม่ให้คิดเบียดเบียนกัน มีแต่คิดปรารถนาดีต่อกัน

พยายามทำแต่กรรมที่ดี เช่น ให้ทาน มีแต่ให้ๆ ๆ ๆ
มีปิยะวาจา พูดดี พูดไพเราะ ใช้ถ้อยคำที่น่าฟัง
ทำประโยชน์ ช่วยเหลือสังคม วางตนเหมาะสม
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีต่อหน้าลับหลัง
การประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างนี้
ทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในปัจจุบัน
และเป็นการสร้างกรรมผูกพันที่ดีต่อกันตลอดไป
อนาคตถ้าเราเกิดมาพบกันอีกก็จะเป็นแม่ลูกพี่น้อง
เพื่อนฝูงที่ดีต่อกันเกื้อกูล สนับสนุนซึ่งกันและกัน


(มีต่อ 11)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กัมมะปฏิสะระณา

ท่านให้พิจารณาถึง "กัมมะปฏิสะระณา"
ซึ่งแปลว่าเรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย


พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเป็นสะระณะของข้าพเจ้า
ราก็มีกรรมเป็น "สะระณะ" คือมีกรรมเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของเราด้วย

ความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันเรากำลังอาศัยอยู่กับของเก่า
ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ตั้งแต่ร่างกาย ทรัพย์สินสมบัติ สิ่งแวดล้อม
ประเทศชาติ บุคคลตลอดถึงนามธรรม
คุณความดีของจิตใจเรียกว่าบารมีของตนเอง

ทำกรรมชั่วคล้ายหนี้สิน
ทำความดี กรรมดี คล้ายสะสมทรัพย์สินสมบัติ
เพื่อได้ใช้อาศัย ต่อไปข้างหน้าจะได้ไม่ลำบาก

ความดีท่านจัดไว้ 7 อย่าง เพื่อความเข้าใจง่าย เรียกว่า อริยทรัพย์ 7
1. ศรัทธา
เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
2. ศีล รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย
3. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต
4. โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวบาป
5. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังธรรมมาก และจำธรรมเหล่านั้นได้อย่างดี
และรู้ศิลปวิทยามาก
6. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้
7. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

อริยทรัพย์ 7 ประการนี้ดีกว่าทรัพย์ภายนอก มีเงินทอง เป็นต้น
ไม่มีใครขโมยไปได้และเป็นทรัพย์ที่อาศัยได้
ไม่เพียงแต่ชาตินี้ อาศัยได้หลายภพ หลายชาติต่อๆ ไป
อริยทรัพย์ 7 อย่างนี้ สรุปสงเคราะห์เข้าได้เป็น 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา

ทาน ศีล ภาวนา

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยและมีเหตุผล
เมื่อเราหวังผลอะไร สร้างเหตุปัจจัยให้พร้อม
ความปรารถนาของมนุษย์เรามีมากมายก็จริง แต่สรุปแล้วก็ประมาณ 3 อย่าง
สมมติว่าชาติหน้ามีจริง เราต้องการเกิดมาเป็นอย่างไร
ทุกคนอยากเกิดมาเป็นผู้มีฐานะดี ไม่ยกเว้นสักคน ไม่มีใครอยากจะเป็นคนยากจน
ทุกคนต้องการฐานะมั่นคง มีสิ่งอำนวยสะดวกทุกอย่าง
ทานเป็นเหตุปัจจัย ให้เรามีฐานะมั่นคง

ทุกคนอยากเกิดมาเป็นคนรูปดี ไม่ยกเว้นสักคน
ไม่มีใครอยากเกิดมาพิการ ขี้โรค ขี้เหร่
ทุกคนต้องการมีอาการ 32 ครบถ้วน
สุขภาพ แข็งแรง อายุยืน รูปหล่อ รูปสวย
การรักษาศีลเป็นเหตุ ให้เกิดมามีอาการ 32 ครบถ้วน

ทุกคนต้องการเกิดมาเป็นคนมีปัญญาดี ไม่มียกเว้นสักคน
ไม่มีใครอยากจะเป็นคนโง่
ทุกคนอยากมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้
ภาวนาเป็นเหตุปัจจัยให้เราเกิดเป็นคนมีปัญญา

ทาน ศีล ภาวนา เป็นเหตุปัจจัยทำให้เรามีฐานะดี รูปดี ปัญญาดี

ลองคิดพิจารณาดูในชาตินี้ ตั้งแต่วันนี้อีก 40 ปี เราอายุเท่าไร
ส่วนใหญ่เกือบ 80-90 ปี แล้ว ตั้งแต่วันนี้ถ้าเราไม่ขี้เหนียว
รู้จักแบ่งปันให้กับคนที่สมควรให้ เช่น พ่อ แม่ สามี ภริยา ลูกๆ พี่ๆ น้องๆ
สงเคราะห์ซึ่งกันและกันตามสมควรแก่ฐานะ

ไม่ต้องกลัวว่าเราจะอดเมื่อแก่ชรา
ถึงแม้ว่าเราเดินไม่ได้ ไปเข้าห้องน้ำก็ลำบาก ทำอะไรไม่ได้ก็ตาม
ไม่มีใครทอดทิ้งเรา ลูกๆ หลานๆ ดูแลเราอย่างดี
นี่แหละ คืออานิสงส์ของจาคะหรือทาน เรียกว่า ฐานะดี

ตั้งแต่วันนี้เราไม่บ่นไม่โกรธ รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย
เมื่อแก่ชราแล้ว ความสวยสู้หนุ่มสาวไม่ได้ แต่อาจจะแก่งามได้
บางครั้งเห็นคนแก่ๆ ที่น่ารักผิวพรรณดี อารมณ์ดี
คนแก่ๆ น่ารักก็มีอยู่ เรียกว่า รูปดี
นี่เป็นอานิสงส์ของการรักษาศีล

ตั้งแต่วันนี้เราปฏิบัติธรรมภาวนา รู้จักผิดถูก
ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักตนรู้จักเขา
รู้จักแก้ปัญหาต่างๆ ยิ่งแก่ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน
เพราะมีปัญญาสว่าง ครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง ผู้ปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ ผู้ทรงคุณธรรม ยิ่งแก่ประชาชนยิ่งศรัทธา
ฆราวาสก็เหมือนกัน ถ้ามีปัญญา ธัมมะธัมโมแล้ว ถึงอายุ 100 ปีก็ตาม
ก็ไม่รบกวนลูกหลาน ตรงกันข้ามเป็นที่พึ่งแก่ลูกหลานได้
นี่เป็นอานิสงส์ของการภาวนา เรียกว่า ปัญญาดี

การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มีอานิสงส์อย่างนี้
บำเพ็ญวันนี้อานิสงส์ตั้งแต่วันนี้เดี๋ยวนี้จนตลอดชาตินี้ ชาติหน้าด้วย
เป็นกัมมะปฏิสะระณาจริงๆ อย่างนี้
ทาน ศีล ภาวนา สะระณัง คัจฉามิ

จงบำเพ็ญทานศีล ภาวนา และความดีทุกประการ เป็นชีวิตจิตใจตลอดไป


(มีต่อ 12)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


แม่ถูกลูกสาวบ่น

เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกัน การไม่ถูกใจกันเป็นธรรมดา
ถึงแม้ว่า รักกันขนาดไหน อยู่ใกล้ชิดกัน อยู่ร่วมกัน ก็เกิดปัญหาได้
ยิ่งรักมาก ยิ่งเกิดปัญหามาก
การแก้ปัญหาในชีวิตนั้น ท่านให้แก้ไขตัวเองก่อนเสมอ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็จะค่อยๆ คลี่คลายตามกัน
ละความชั่วของตน ทำแต่ความดีความถูกต้องด้วยตัวเองก่อน
เรามีความรู้สึกว่าเขาผิดเขาไม่ดี ความชั่วของเขาปล่อยไว้ก่อน
ใช้หลักอุบาย การเตือนสติสอนใจตัวเองว่า "ผิดก่อน - ผิดมาก"

ที่ประเทศญี่ปุ่น วันหนึ่ง ผู้หญิงวันกลางคน มาเยี่ยมมาสนทนาธรรม
ระบายอารมณ์ในใจออกมาให้ฟังว่า เขากลุ้มใจเรื่องลูกสาวคนหนึ่ง
เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยได้ปริญญาตรี แล้วกำลังทำงานอยู่
เขาคอยจับผิดและว่าแม่ตลอดเวลา เช่น ทานข้าวไม่เรียบร้อย
เดินเสียงดัง ปิดประตูเสียงดัง วางของหยิบของไม่เรียบร้อย
เรื่องเล็กๆ น้อยก็คอยเก็บมาว่า แม่รำคาญมาก
จนมีความรู้สึกว่าไม่อยากเข้าบ้านเลย เสียใจ น้อยใจ
ที่ได้ลูกสาวอกตัญญูแบบนี้ เขาไม่น่าพูด ไม่น่าทำ อย่างนี้เลย......

อาจารย์ก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ จนเขาพูดจบ อาจารย์เพิ่งพบเขาเป็นครั้งแรกในวันนั้น
เขาได้ดูโทรทัศน์รายการธุดงค์ในญี่ปุ่น เกิดศรัทธา สนใจธรรมแล้วมาเยี่ยม
ขณะนั้นเขาทำงานแปลหนังสือ เขาเป็นปัญญาชน
สังเกตดูลักษณะบุคลิกแล้ว เป็นคนเจ้าระเบียบ มักสะอาด อาจจะโทสะจริตก็ได้
อาจารย์ก็ถามเขาว่าลูกสาวกับพ่อเป็นอย่างไร
เขาบอกว่าไม่เป็นอะไรธรรมดาๆ เหมือนทั่วๆ ไป มีปัญหาเฉพาะกับแม่เท่านั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุ เมื่อซักถามว่าตอนที่ลูกเล็กๆ แม่สอนจู้จี้ใช่ไหม
เขาก็ยอมรับว่าใช่ วินิจฉัยได้ว่า ด้วยความหวังดีหรือหงุดหงิดก็ตาม
แม่พูดสอนลูกสาวเกินเหตุ ไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ลูกทำอะไรแม่ก็ว่าตลอด
อย่าทำ อย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น ลูกทำอะไรก็ผิดหมด ลูกอึดอัดใจมาตลอด
เมื่อเขาโตแล้วก็ดุแม่ เขาคงจะไม่ตั้งใจ แต่อุปาทานมันมีอยู่ แม่ก็ผิดเหมือนกัน
เลยพูดออกมาเป็นนิสัย แม่ทำไมทำอย่างนี้ ทำไมอย่างนั้น

คำพูดของลูกสาวก็ไม่ใช่อื่น คือคำพูดของแม่ที่เคยสอนลูกทั้งนั้น
ตัวเองทำไว้เป็นเหตุ กลับมากระทบจากลูกสาวเป็นปัจจัย
ต้องใช้หลัก ทุกข์เพราะคิดผิด คิดถูกแก้ทุกข์ได้
การคิดว่าลูกสาวเป็นเด็กไม่ดี เป็นลูกอกตัญญู ไม่น่าพูดอย่างนั้น
ไม่น่าทำอย่างนั้นเป็นการคิดผิด ควรคิดใหม่ว่า เราผิดก่อน
คำพูดต่างๆ ที่ทำให้แม่ไม่ถูกใจ เขาไม่ได้คิดอะไรมากมาย
ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย ลูกพูดออกมาโดยอัตโนมัติ
แม่กลุ้มใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นทุกข์มากกว่าเขาในขณะนี้
แม่เป็นบาปเป็นทุกข์ นั้นแหละ ผิดมาก
ท่านจึงให้เตือนตัวเองเสมอว่า ผิดก่อน - ผิดมาก

ถ้าแม่เข้าใจอย่างนี้ ต้องตั้งใจปฏิบัติ
พยายามไม่ยินร้ายเมื่อกระทบอารมณ์ ทำใจหนักแน่น
ไม่ให้หวั่นไหว รักษาใจเป็นปกติ สงบ เป็นศีล
ไม่ให้แสดงความไม่พอใจทางหน้าตา วาจา และกิริยาทางกาย
ทำความรู้สึก ทำกิริยา วาจา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรผิดปกติ
ทำเหมือนตบมือข้างเดียวไม่ดัง เราอย่าเป็นคล้ายระฆังในวัด
เสียงดังเมื่อไร เราก็ตีกลับมาตลอดทุกครั้ง แล้วบ่นว่าเสียงดังรำคาญ
ทีนี้เราหยุดก่อน เสียงก็จะค่อยๆ เบาลง และระฆังก็หยุดนิ่งในที่สุด

เมื่อเราเข้าใจลูกแล้ว ก็จะเกิดเมตตาสงสาร
นอกจากนั้นก็ต้องปฏิบัติคือ รักษาใจให้เป็นปกติ กาย วาจา เป็นปกติ เรียบร้อย
การให้ทานจะเป็นกำลังสนับสนุนให้แก้ปัญหาได้โดยเร็ว
ให้ทานด้วยสายตาที่ประกอบด้วยเมตตาปราณี
ให้ทานด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
ให้ทานด้วยวาจาพูดดีน่าฟัง
ให้อภัยทาน ให้อภัยซึ่งกันและกัน อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
ให้ทานด้วยสิ่งของที่เขาชอบเล็กน้อยๆ ก็ได้
เช่น
ขนม ผลไม้ที่ลูกชอบ ผู้รับจะเปลี่ยนความรู้สึกทันที
เขาจะดีใจ มีความสุข เกิดความรัก เป็นต้น

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาหนักเท่าไร ถ้าเราเข้าใจเหตุผล
และปฏิบัติตามหลักธรรมะ
ปฏิบัติถูกแล้วปัญหานี้จะค่อยๆ คลี่คลายไปเป็นลำดับ

สรุป ให้เราพิจารณาวิเคราะห์กรรมในแง่ต่างๆ
เรามีกรรมเป็นของของตน
เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย


แล้วสรุปได้ว่า จักทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป
เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัวจริงๆ
ให้เกิดเมตตาและความไม่ประมาท
ให้เกิดศรัทธาและกำลังใจที่จะละความชั่วและตั้งอยู่ในความดี
ความถูกต้องได้ในทุกกรณี ให้เกิดหิริโอตตัปปะ ทำให้เกิดศีลบริสุทธิ์
จิตใจของเราจะค่อยๆ เลื่อนขึ้นไป ละความชั่ว ทำแต่ความดี

ในที่สุดก็จะเข้า "สะจิตตะปะริโยทะปะนัง"
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบบริสุทธิ์
อยู่นอกเหนือ ความดี ความชั่ว ซึ่งเป็นโลกิยะ เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติธรรม
นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


(มีต่อ 13)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2011, 14:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ผิดก่อน

ในเรื่องของแม่เด็กที่ถูกลูกสาวบ่นอยู่เรื่อยๆ
จนเบื่อที่จะอยู่บ้าน โกรธและรำคาญใจมากก็ดี
เรื่องของท่านโมคคัลลานะที่ถูกโจร 500 ฆ่าก็ดี
เรื่องของท่านอุบาสกมหากาลก็ดี
เรื่องของสุภาพสตรีเกิดอุบัติเหตุแขนขาดก็ดี

ในทุกกรณีผู้ที่ได้รับทุกข์โทษแต่ละท่านแต่ละคน
ได้ก่อกรรมทำความผิดมาก่อนทั้งนั้น
จะเป็นในชีวิตนี้หรือในชีวิตก่อนๆ ก็ดี เช่นในกรณีของท่านโมคคัลลานะ
และท่านอุบาสกมหากาลนั้น เป็นเรื่องของบุพกรรมในอดีตชาติ
ส่วนเรื่องของแม่เด็กและเรื่องของสุภาพสตรีแขนขาดนั้น เป็นกรรมในชาตินี้นี่เอง
ท่านจึงว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ที่ทำให้เราผิดหวัง ทำให้เราเสียใจ
น้อยใจ ทำให้เราเป็นทุกข์นั้น ให้เราคิดว่า เราผิดก่อน เสมอ

ถึงแม้ว่าจะทุกข์มากขนาดไหน เราต้องทำใจให้ได้ พยายามไม่ให้คิด
ถ้าคิดได้อย่างนี้ เราก็ไม่กล่าวโทษผู้อื่น แม้ผู้ที่เขามาฆ่าเราก็ตาม
เพราะเราก็รับผลกรรมของเราเองนั่นแหละ
เราเป็นผู้สร้างเหตุ “เขา” ก็เป็นเพียงปัจจัยเท่านั้น
ผลก็เกิดแต่เหตุ


ผิดมาก

เด็กทำแก้วน้ำแตกแล้วเราโกรธก็ดี
กรณีของลูกสาวที่บ่นว่าแม่แล้วแม่โกรธ น้อยใจก็ดี
ถ้าเขาพูดไม่ดี เราโกรธ บ่นนินทาตลอดคืนก็ดี
เรามักจะคิดว่าเด็กทำผิด เพราะเด็กทำแก้วน้ำแตก
ลูกสาวผิดเพราะลูกสาวไม่ควรว่าแม่

แต่ในทางธรรมะแล้ว ท่านว่าเด็กทำแก้วน้ำแตกก็ไม่ได้เจตนาจะทำเช่นนั้น
เป็นความผิดทางกาย กายกรรม ใจเขาไม่เสีย
ลูกสาวบ่นว่าแม่ก็คงจะทำไปตามอุปนิสัยสันดานที่สั่งสมมา
จากการที่ถูกแม่บ่นว่าสมัยตัวเองยังเป็นเด็กๆ
คงไม่มีเจตนาจะทำให้แม่เสียใจอะไรมากมาย
แต่ทำไปโดยอัตโนมัติ ใจเขาก็ไม่เสีย ผิดก็ผิดทางวาจา เป็น วจีกรรม

ความผิดของเขาทั้ง 2 กรณี ก็มีอยู่แต่ไม่มากมาย ผิดทางกายกรรม วจีกรรม
แต่คนที่โกรธ แม่ที่โกรธนี่สิที่กำลังสร้าง มโนกรรม ทำใจตัวเองให้เศร้าหมอง
ท่านว่าผู้ที่โกรธและแม่นั่นแหละ คงจะบาปมากกว่า ทุกข์มากกว่า ผิดมากกว่า
ในขณะนั้น ถ้าบังเอิญมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราบังเอิญตายไปพร้อมๆ กัน
คนที่โกรธก็ดี แม่ของลูกสาวก็ดี อาจจะตกนรกได้ เพราะความโกรธ
แต่เด็กทำแก้วน้ำแตกและลูกสาวที่พูดไปบ่นไปโดยไม่มีเจตนาก็คงไม่เป็นอะไรหรอก


ท่านจึงสอนว่า ถ้าใครเตือนใจได้เสมอว่าๆ
ผิดก่อน - ผิดมาก
เราก็จะไม่โกรธใคร ไม่น้อยใจ ไม่คิดฟุ้งซ่านแล้ว
มีแต่ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ และข้อวัตรปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ หรือปล่อยวางทุกข์
เอาศีล สมาธิ ปัญญา มาตั้ง ต่อสู้กับทุกข์
เมื่อมรรคเกิด นิโรธก็เกิด การปฏิบัติก็ได้ผล

ผิดทีหลังไม่มี

การปฏิบัตินั้น เราต้องโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาดูตัวเองเสมอ
และเมื่อตรวจดูตัวเองในทุกกรณีแล้ว เราก็เป็นผู้ผิดก่อนทุกทีไป
ฉะนั้น ผิดทีหลังจึงไม่มี


ธรรมะเป็นยาที่มีฤทธิ์มาก

ถ้าใช้ถูกจะได้ผลดี ถ้าใช้ผิดก็ให้โทษมากเหมือนกัน
โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง “เรื่องกรรม”
เบื้องแรกให้เราตั้งสติพิจารณาตรวจตราดูสภาพของตนว่า
“ใจเราปกติดีไหม ใจมีเมตตาปรารถนาดี หวังดีไหม”
เมื่อดีแล้ว พิจารณาดูสภาพจิตของเขาว่า
“เขาพร้อมที่จะรับฟังและจะเกิดผลดีไหม ไม่แพ้ยาใช่ไหม”
พิจารณาดูรอบคอบทั้งสองฝ่ายแล้ว มั่นใจว่าจะเกิดผลดี จึงจะพูดได้

อย่าพูด เมื่อใจเราไม่ดี
อย่าพูด เมื่อใจเขาไม่ดีไม่พร้อม


เหตุหนึ่งที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
หรือไม่เกิดศรัทธา เพราะพวกเราใช้ธรรมะไม่ถูกกาละเทศะ
ไม่เหมาะไม่พอดี
เป็นเหตุทำลายน้ำใจเขาและเพิ่มกิเลสความเห็นแก่ตัวของตน
เช่น มีใครด้อยโอกาสหรือกำลังประสบทุกข์ เราพูดอย่างสะใจว่า
“นี้แหละทำชั่วได้ชั่ว” ใช้ธรรมะเป็นคำด่า คำดูหมิ่นดูถูก
เบียดเบียนทำลายเขาให้เกิดท้อแท้ หมดแรงหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป

ตรงกันข้ามกับพุทธประสงค์ที่สั่งสอนพวกเราว่าให้
พิจารณา “กรรม” เพื่อให้เกิดเมตตาและความไม่ประมาท
เป็นไปเพื่อสันติสุขในชีวิต


(มีต่อ 14)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร