วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


“ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น” (เล่ม ๑๕)

คำสอนของพระพุทธเจ้าองค์ปฐม

คำนำในการจัดพิมพ์



สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสว่า
“สิ่งที่เที่ยงที่สุดในโลกนี้คือความไม่เที่ยง” ซึ่งก็หมายความว่า โลกใบนี้จะว่ามันเที่ยงก็ได้ หรือมันไม่เที่ยงก็ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นของสมมุติทั้งสิ้น คน สัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ ก็ล้วนแต่สมมุติทั้งสิ้น ซึ่งหากจะเขียนรายละเอียด ก็คงจะเขียนกันไม่หมด เพราะสมมุติแปลว่าไม่จริง หรืออ้างขึ้นเพื่อเปรียบเทียบ ผมจึงขอเขียนไว้สั้น ๆ เพียงเท่านี้

ในขณะนี้อายุสมมุติของผมก็ ๘๓ ปี แต่อายุจริงก็ ๘๔ ปี เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องอายุของมนุษย์ไว้ความว่า ชีวิตเริ่มเกิดจากเซลล์ ๒ เซลล์ คือไข่ (Oval) ของผู้หญิง กับ อสุจิ (Sperm) ของผู้ชายมาผสมกัน แล้วมีจุติวิญญาณเข้ามาร่วมด้วย ชีวิตเริ่มเกิดที่จุดนั้น ผมเชื่อโดยไม่สงสัยในพระองค์ เพราะสิ่งใดจริงพระองค์จะตรัส ไม่จริงก็ไม่ตรัส ตรัสอย่างใดก็เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น คำตรัส หรือพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ จึงเป็นอริยสัจหรือความจริงทุกคำพูด

ในเรื่องการเกิดของมนุษย์ก็เช่นกัน คนไทยสมมุติเอาว่า การเกิดเริ่มตั้งแต่ออกจากท้องแม่ คนจีนสมมุติเอาว่าการเกิดเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ (คือเอาตอนประจำเดือนหยุดหรือขาด) ซึ่งก็ประมาณ ๑๐ เดือน หรือ ๑ ปี ซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ คนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า ประเทศสยามมาช้านาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นประเทศไทย และมีประเพณีขึ้นปีใหม่ของตนเองในวันที่ ๑ เมษายนมาช้านาน ต่อมา จอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านประกาศให้ใช้ วันปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้ตรงกับชาวโลกเขา แล้วก็ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ดังนั้นบุคคลที่เกิดในเดือนมีนาคมในสมัยนั้น จึงมีอายุเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปีตามสมมุติ ผมเองเป็นคนหนึ่งตามสมมุตินั้น อายุผมจึงเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปี เป็น ๘๔ ปี

ในทางธรรมท่านไม่ให้ยึดติดสมมุติในโลกจนเกินพอดี ทุกอย่างให้เดินสายกลาง การปฏิบัติจึงจะมีผล เพราะดี-เลว ถูก-ผิดก็ยังเป็นสมมุติ ตัวธรรมแท้ ๆ ไม่มีชื่อจะเรียก พระองค์พบก่อนผู้อื่น เมื่อปฏิบัติถึงแล้วจึงจะรู้ได้เองเฉพาะตน การสอนของพระองค์ จึงเริ่มด้วยสมมุติบัญญัติ ๖ คือ ขันธ์-อายตนะ-อินทรีย์-ธาตุ-บุคคลและสัจจะบัญญัติ แล้วจึงแตกรายละเอียดออกจากสมมุติ ๖ อย่างนี้ รวมแล้ว ๘๔,๐๐๐ วิธี ขอกล่าวไว้สั้น ๆ แค่นี้

ในเมื่อจิตคนเจริญแค่ไหน ย่อมรู้ธรรมได้แค่นั้นเป็นธรรมดา จึงทรงตรัสว่า “ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นธรรมดาทั้งสิ้น” จิตของพระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์องค์แรกในโลก แล้วสอนให้บุคคลอื่นเป็นพระอรหันต์ได้ต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ในพระสูตรสุดท้ายขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ (มหาปรินิพพานสูตร) ทรงตรัสไว้ความว่า “ตราบใดที่ยังมีบุคคลปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ โลกนี้จะยังมีพระอริยเจ้าอยู่ตราบนั้น”

ผมเริ่มปฏิบัติธรรมเอาเมื่ออายุ ๔๗ ปี โดยได้พบหลวงพ่อฤๅษี (พระราชพรหมยานมหาเถระ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี มีความโดยย่อว่า เมื่อท่านรับผมเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านบอกผมเป็นส่วนตัวว่า ผมมีอายุขัย ๖๗ ปี ตายแล้วไม่เกิดอีก ความจริงผมก็ลืมไปแล้ว เพราะมุ่งแต่ปฏิบัติธรรมตามที่ท่านแนะนำว่า จงอย่าประมาทในชีวิต เพราะความตายอาจเกิดกับเราได้ทุกขณะจิต หรือทุกลมหายใจเข้าและออก ให้พยายามซ้อมตายและพร้อมที่จะตายอยู่เสมอ ผมก็พยายามปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ เผลอบ้างลืมบ้างก็เป็นธรรมดา แต่ที่ผมไม่เผลออีกคือ ตอนก่อนจะนอนมรณาและอุปสมานุสสติ ผมไม่เคยลืม ปฏิบัติจนชิน จิตกลายเป็นฌานไปโดยไม่รู้ตัว

ก่อนที่หลวงพ่อท่านทิ้งขันธ์ ๕ เมื่อ ๓๐ ต.ค.๒๕๓๕ นั้น ท่านได้มอบหมายให้ผมทำหน้าที่ตอบปัญหาธรรมที่มีผู้ถามแทนท่าน เมื่อท่านไม่อยู่แล้ว ความจริงจิตของหลวงพ่อไม่เคยตายเป็นอมตะ แม้จิตของพวกเราทุกคนก็เป็นอมตะไม่เคยตาย ผู้ตายคือร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ที่จิตเราอาศัยอยู่หมดอายุขัยก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา แต่คนที่ยังมีกิเลสคือ ยังมีอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ จิตยังยึด-เกาะ-ติดขันธ์ ๕ ของตนเองว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่ ก็ยังต้องเกิดแล้วตาย ๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับแมลงเม่าที่หลงบินเข้ากองไฟ ความสำคัญก็มีอยู่แค่นี้

หากนับวันเวลาจากที่ผมเริ่มปฏิบัติธรรมเมื่ออายุ ๔๗ ปี จนหมดอายุขัย ๖๗ ปีเต็มพอดี ขณะตอบปัญหาธรรมอยู่ที่บ้านของท่านเจ้ากรมทหารอากาศ พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์อยู่นั้น ผมเกิดมีอาการทุกขเวทนาปวดอุจจาระ (ปวดท้องขี้) ขึ้นมากะทันหัน ก็ขอเวลานอกเข้าห้องน้ำ ขออธิบายสั้น ๆ ว่า ทุกขเวทนาเกิดกับร่างกายสูงมากจนสุดที่จะทนได้ ก็ใช้วิชชามโนมยิทธิที่หลวงพ่อท่านเมตตาสอนไว้ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นทางลัดเข้าสู่พระนิพพานได้ง่าย ๆ เมื่อผมซ้อมและพร้อมอยู่เสมอในเวลาก่อนจะนอนทุกครั้ง พอวันจริงมาถึง จิตของผมก็พุ่งไปสู่พระนิพพานได้ตามปรารถนา เห็นอาทิสมานกาย หรือกายของจิตตนเองเป็นพระวิสุทธิเทพหมอบอยู่แทบพระบาทของสมเด็จองค์ปฐม พระองค์ทรงตรัสว่า “คุณหมอหนีขึ้นมา ข้างบนนี้แล้ว ให้รีบกลับลงไป เพราะบนพระนิพพานนี้ไม่มีเวลา ร่างกายของคุณหมอยังมีประโยชน์กับพระพุทธศาสนาอยู่ ให้กลับลงไปทำหน้าที่ของคุณหมอก่อน” เมื่อเป็นคำสั่งก็ต้องรีบกลับลงมา และมาทำหน้าที่ต่อไปจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา ๑๖-๑๗ ปีแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่าท่านจะต่ออายุให้อยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ ซึ่งจะอยู่อีกนานเท่าไหร่ ก็ต้องอยู่เพราะเป็นคำสั่ง เราจงอย่าประมาทก็แล้วกันคือ พร้อมที่จะตายอยู่เสมอทุกเวลา ผมไม่กล้าเขียนว่าทุกขณะจิต เพราะอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ จิตของท่านไม่เคยพลาดจากนิพพานทุกขณะจิต ส่วนผมยังไม่ใช่พระอรหันต์ จิตยังเผลอ-ยังพลาดพระนิพพานอยู่เป็นธรรมดา แต่ก็พยายามเผลอให้น้อยที่สุด ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยความเพียร บารมี ๑๐ อันเป็นกำลังใจเต็มจึงทิ้งไม่ได้ตลอดชีวิต

การรวบรวมพระธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น ผมก็พยายามรวบรวมเป็นเล่ม ๆ มาตามลำดับ จนถึงเล่ม ๑๕ แล้ว (เล่ม ๑๕ หมายถึงคำสอนที่สอนไว้ในปีพ.ศ.๒๕๔๕) และจะพยายามรวบรวมไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายมันจะพังหรือตาย ทุกอย่างก็นำมาจากบันทึกธรรมส่วนตัว ที่ผมบันทึกเอาไว้ในอดีตทั้งสิ้น และค่อย ๆ รวบรวมออกมาเป็นปี ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับจริต-นิสัยและกรรมของผู้อ่านตามลำดับ มุ่งเน้นเอาเฉพาะกลุ่มปฏิบัติธรรมที่ได้ติดตามกันมาเป็นเวลานานแสนนานเป็นใหญ่ ดังนั้นจงอย่านำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ เขา จะเป็นมานะ กิเลสมาทำร้ายจิตตนเอง และเงินทุนในการจัดพิมพ์ก็เป็นเงินที่กลุ่มเราบริจาคโลกียะทรัพย์ ซึ่งไม่มีใครสามารถเอาไปได้ แต่เอามาบริจาคให้เป็นธรรมทาน ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่าชนะทานทั้งปวง จัดเป็นโลกุตระทรัพย์สามารถจะเอาไปได้ เพราะตัดอารมณ์โลภ-โกรธ-หลงได้เด็ดขาด การทำบุญประเภทอื่น ๆ ตัดได้แค่ความโลภเท่านั้น

ให้ทุกท่านสังเกตว่าหนังสือธรรมะที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ตั้งแต่เล่มที่ ๑ ถึงเล่ม ๑๕ นี้ จุดประสงค์ของผมผู้รวบรวมพระธรรมคำสั่งสองของพระองค์ก็เพื่อแจกฟรี ไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด หากเห็นหรือรู้ว่ามีผู้ใดนำเอาไปจำหน่าย โดยแอบอ้างว่าเอาเงินไปทำบุญที่ใด ๆ ก็ตาม ให้ช่วยกันตักเตือนขอให้เขาจงอย่าทำ เพราะเป็นบาปอกุศลอย่างยิ่ง ตายแล้วจะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป ผมขอความกรุณาให้กลุ่มของเราช่วยกันนำหนังสือธรรมะเหล่านี้ไปช่วยแจกให้กับผู้ที่มีศรัทธา อย่าไปแจกให้ผู้ไม่มีศรัทธา เพราะจะเอานรกไปแจกให้กับเขา

อีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูแต่ผู้เดียวในโลก ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้สุดจะประมาณได้ ไม่มีอะไรในโลกนี้ แม้เทวโลก และพรหมโลกก็ทรงรู้ได้หมด และทรงรู้วาระจิตของทุก ๆ คนใน ๓ โลกนี้ คำว่าเผลอไม่มีในจิตของพระองค์ ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดที่พระองค์จะสอนไม่ได้ คำสอนพระองค์จึงตรัสสอนได้ตรงตามจริต-นิสัยและกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งกระทำกันมาในอดีตไม่เสมอกัน พระองค์จึงสอนไว้มากมายหลายวิธี รวบรวมแล้วมี ๘๔,๐๐๐ อุบายหรือวิธี หรือพระธรรมขันธ์ ในเวลา ๔๕ ปีหรือพรรษา มีบุคคลที่พระองค์เว้นเสียไม่สอนคือ บุคคลที่ไม่มีความศรัทธาในพระองค์ หรือพวกปะทะปะระมะ (พวกเดียรถีย์) และมีคำสอนหลายตอนที่ซ้ำ ๆ กัน หรือคล้าย ๆ กัน อยู่เสมอ เพื่อจะเน้นให้พวกที่ยังมีกำลังใจไม่เต็ม หรือบารมียังอ่อนอยู่ให้เข้าใจ หรือยังเผลออยู่เป็นปกติธรรมดาด้วยพระเมตตา และเพื่อให้เหมาะกับเหตุการณ์ หรือกรรมเฉพาะหน้าของผู้รับฟัง

พระธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นทุกเล่ม ทรงตรัสสอนให้เป็นภาษาไทยปัจจุบันทั้งสิ้น ซึ่งผู้อ่านได้อ่านแล้วก็จะเข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ตรัสสอนเป็นภาษาไทยโบราณซึ่งอ่านแล้วเข้าใจยาก หรือยากที่จะเข้าใจได้ จึงจัดว่าเป็นการรวบรวมพระธรรมที่ตรัสสอนเป็นภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งหาอ่านได้ยากยิ่งในโลกนี้ ขอให้ทุกท่านโปรดสังเกตความจริงจุดนี้ไว้ด้วย

ในที่สุดนี้ ผมขอให้ทุกท่านที่หวังจะไปพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ จงพกพระรอดไว้กับจิตของท่านตลอดเวลา แล้วจิตของท่านก็จะปลอดภัยพ้นจากอบายภูมิ ๔ ได้ (พระรอดก็คือพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้า-พระธรรมและพระอริยสงฆ์นั่นเอง) จิตคือตัวเรา หรือเราคือจิต ซึ่งเป็นอมตะไม่เคยตาย ผู้ที่ตายคือร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราว หากจิตเราวางอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ โดยไม่ยึด-เกาะ-ติดในขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ซึ่งไม่เที่ยง-สกปรกมันประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ได้ว่ามันหาใช่เรา หาใช่ของเราได้ชั่วคราว ขณะจิตนั้น ๆ จิตเราก็บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส-ตัณหาและอุปาทานชั่วคราว ทรงตรัสว่า จิตเป็นขณิกอรหันต์ เพราะหากร่างกายตายตอนนั้นจิตเราก็เป็นพระอรหันต์ได้ หากทำให้จิตว่างจากกรรมชั่ว หรือความชั่วทั้งมวลได้ชั่วคราวบ่อย ๆ จิตก็จะชินกับอารมณ์นี้จนกลายเป็นฌาน เป็นอัตโนมัติขึ้นเอง หากซ้อมตายและพร้อมตายด้วยอุบายนี้บ่อย ๆ เวลาร่างกายมันพังหรือตาย จิตก็จะชินไปสู่พระนิพพานได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ธรรมใดที่ท่านยังปฏิบัติไม่ได้ ก็จงเชื่อผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วไปก่อน ต่อเมื่อท่านปฏิบัติได้แล้ว ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ (พุทธพจน์)

ด้วยอาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้ทุกท่านที่อ่านหนังสือธรรมะที่นำไปสู่ความหลุดพ้น แล้วนำไปปฏิบัติตาม จงโชคดีด้วยกัน ทุกท่านเทอญ

พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๕ สารบัญ

เดือนมกราคม ๒๕๔๕

• - อย่ากังวลใจ ทำงานทุกอย่าง
ตามที่ตั้งใจไว้ อย่าไปกลัวช้า
- ให้เอาจิตหน่วงเหนี่ยวพระนิพพาน
เข้าไว้ ทำใจให้มั่นคงต่อพระนิพพาน
- ทำอะไรจงอย่าใจร้อน พิจารณา
ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ
• - การยอมรับนับถือกฎของกรรม
ให้มองเห็นตามความเป็นจริงจักดีที่สุด
- ทำกำลังใจให้เข้มแข็ง ให้เห็น
อุปสรรคทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นครูที่มาทดสอบจิตใจ

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

• - กฎของไตรลักษณ์เที่ยงเสมอ
แม้แต่อายตนะสัมผัสต่าง ๆ ด้วย
- พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็สงบ
แม้จักอยู่ท่ามกลางความตายก็สงบ
• - สิ่งที่เที่ยงที่สุด คือความไม่เที่ยง
เป็นอริยสัจ
- ให้รู้จักใช้อุเบกขารมณ์ ให้เป็น
ประโยชน์กับจิตนเอง
- อย่าเพิ่มทุกข์ เพิ่มปัญหาให้กับตนเอง

เดือนมีนาคม ๒๕๔๕

• - อารมณ์พระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร
- เพียรปฏิบัติในทางสายกลาง แต่
ต้องไม่เข้าข้างตนเอง
เมษายน ๒๕๔๕
• - ให้อยู่กับกายให้มาก
- อย่าไปยินดี ยินร้ายกับกรรมของใคร
- พระอรหันต์แม้จบกิจแล้ว แต่ร่างกาย
ยังอยู่ ก็ถูกกฎของกรรมเล่นงานได้
- เป็นพระวันเดียว
- พระกับคนที่เข้ามาในวัด
- รู้เขา รู้เรารบ ๑๐๐ ครั้ง ชนะ ๑๐๐ ครา
- คนดีพระท่านคุมจิตอยู่

เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕

• - อารมณ์กระทบเกิดได้ เพราะมีขันธ์ ๕
หรือร่างกาย
- ให้ใช้อริยสัจเป็นหลักในการแก้ปัญหา
- พระอรหันต์มีอารมณ์เดียว คือ
ช่างมัน หรือธรรมดา
- ร่างกายมีก็เหมือนไม่มี
- นิสัยเดิมละไม่ได้ ละได้แค่กิเลส
- ปีติเป็นราคะละเอียด
- อะไรคือความสุข
- ทุกอย่างมีแต่ธรรมปัจจุบัน
- ร่างกายเป็นรอง แต่กำลังใจเป็นเอก
- อย่าสนใจธรรมภายนอก ให้สนใจ
แต่ธรรมภายใน

เดือนมิถุนายน ๒๕๔๕

• - ปัญญาบารมีที่แท้จริงเป็นอย่างไร
- อย่าบังคับจิตให้เจริญกรรมฐานบทเดียว
- การไม่ปรุงแต่งธรรมมิใช่ของง่าย
- ชาติปัจจุบันคืออะไร
- การแก้ปัญหาจงอย่าทิ้งพระ

เดือนกรกฏาคม ๒๕๔๕

• - อย่าเกาะงานให้มากนัก
- ให้อยู่กับธรรมปัจจุบันให้มาก ๆ
- อย่ากลัวตาย เพราะจิตไม่เคยตาย
- ซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ
- อย่าเกาะทุกข์ของกาย

เดือนสิงหาคม ๒๕๔๕

• - วัดใดสมภารวัดดี การปกครองวัดก็ดี
- อย่าเดือดร้อนกับสิ่งที่ยังไม่เกิด
- อริยสัจห้ามทิ้ง
- ดูกายตน ดูจิตตนเท่านั้นก็จบกิจได้
- ทุกอย่างเป็นกฎของกรรม อย่าปล่อย
เวลาให้ไร้ประโยชน์
- หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์
- โรคเจ้าหญิงนิทรา เพราะยา
- ซ้อมตายและพร้อมตายเพื่อนิพพาน
ไว้เสมอ

เดือนกันยายน ๒๕๔๕

• - ให้ยอมรับกฎของกรรม
- อย่าทำงานตามกิเลสของชาวบ้าน
- ถวายสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวร
เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา
- ดูจิตแล้วแก้อารมณ์จิตตนเอง
อยู่เสมอ ด้วยอริยสัจ
- ความสำคัญของศีล ๘
- คนปล่อยคุณไสยกันมากที่วัดท่าซุง
- อย่ามีอารมณ์อาฆาต-พยาบาท-จองเวร
- ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ
- ให้ยอมรับความจริงเรื่องขันธ์ ๕
อย่างเดียวก็ไปนิพพานได้
- อย่ากังวลเรื่องน้ำท่วมวัด

เดือนตุลาคม ๒๕๔๕

• - น้ำท่วมวัด เพราะเป็นกฎของกรรม
- จงอย่าประมาทในชีวิต
- กรรมจากการขูดรีดดอกเบี้ยเขา
- จงอย่ายึดทุกสิ่งในโลกว่าเป็นเรา
เป็นของเรา
- พระธรรมย่อมมีเหตุ-มีผลในตัวเสมอ
- พระอรหันต์ที่ยังมีกายอยู่ ย่อมมีทุกข์
ทางกายเป็นธรรมดา

เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕

• - บารมี ๑๐ เช่น วิริยะ ขันติ สัจจะ ฯลฯ
- จงหาความพอดีให้พบ
- โลกไม่เที่ยง ไม่มีใครเอาสมบัติ
ของโลกไปได้
- จงอยู่แต่ปัจจุบันธรรม
- พยายามอย่าปรุงแต่งธรรม สำรวม
อายตนะสัมผัสให้มาก
- ให้เชื่อแต่พุทธพยากรณ์เท่านั้น

เดือนธันวาคม ๒๕๔๕

• - เห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
- ให้ยอมรับกฎของกรรม และเคารพ
ในกฎของกรรม
- มองทุกสิ่งทุกอย่างตามกรรม อย่า
มองว่าใครผิด-ใครถูก
- อย่ายุ่งกับกรรมของผู้อื่น
- เรื่องภรรยานุสสติแล้วไปพระนิพพานได้
- ท่านท้าวสหัมบดีพรหม และท่าน
ท้าวผกาพรหม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

มกราคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ เนื่องจากเพื่อนของผมท่านใจร้อน มุ่งจะเอาแต่คำสอนใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่สามารถปฏิบัติที่ทรงตรัสสอนไว้ก่อนหน้านั้นไม่ได้ และร่างกายก็กำลังป่วยอยู่ ในเดือนนี้จึงเน้นสอนทบทวนของเก่าเป็นปกิณกะธรรมเกือบทั้งสิ้น)

๑. อย่ากังวลใจ ทำงานทุกอย่างตามที่ตั้งใจไว้ อย่าไปกลัวช้า อย่ามุ่งแต่จะเอาคำสั่งสอนเพิ่มเติม ให้สนใจกับการปฏิบัติในแต่ละวัน อันเป็นตัวจริง ๆ ของการบรรลุมรรคผลให้มาก จิตยังไม่ก้าวหน้า สอนไปก็ไร้ประโยชน์ ให้ตั้งใจทำตามคำสอนเก่า ๆ ให้ได้ผลเสียก่อน ตัดอารมณ์ ๒ คือ ราคะกับปฏิฆะให้ได้เสียก่อน แล้วจักมาให้คำสอนต่อไป

๒. ให้เอาจิตหน่วงเหนี่ยวพระนิพพานเข้าไว้ ทำใจให้มั่นคงต่อพระนิพพาน ยิ่งร่างกายไม่ดีเท่าไหร่ ยิ่งพึงทำใจให้มั่นคงเท่านั้น และในเมื่อจำเป็นต้องทำงานตามหน้าที่ ก็จงอย่าเอาจิตไปกังวลกับงานให้มากจนเกินไป ไม่ว่าจักทำอะไร ให้วางจิตสักแต่ว่าเอาไว้เสมอ แต่ก็ไม่ใช่ทำงานโดยไม่รับผิดชอบในหน้าที่ก็ใช่ไม่ หากแต่ทำงานเต็มที่ตามกำลังเท่าที่จักทำได้ ทำด้วยจิตสบาย-ปลอดโปร่ง ไม่มีความกังวล ทำแล้วไม่มีอารมณ์หนักใจเลยแม้แต่นิดหนึ่ง

๓. ดูกำลังใจของตนเองเข้าไว้ พยายามอย่าให้เกิดบกพร่องในบารมี ๑๐ แม้แต่ชั่วขณะจิตหนึ่งที่ต้องการเจริญพระกรรมฐาน

๔. มองกรรมของสุนัข แล้วจงพิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริง ขึ้นชื่อว่ามีขันธ์ ๕ ย่อมเป็นไปตามกฎของกรรม ไม่ว่าคนหรือสัตว์ย่อมหนีกฎของกรรมไปไม่พ้น เพราะมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ เมื่อพิจารณาแล้วจงน้อมมาสอนจิตตนเองให้รู้ว่า ร่างกายขันธ์ ๕ ของเราก็เช่นกัน ความประมาทในชีวิตก็จักน้อยลง และจงอย่าประมาทในชีวิต แล้วจงอย่าคิดว่าความตายจักยังไม่มาถึงเราในวันนี้ ให้รู้จักร่างกายตามความเป็นจริง ความตายย่อมเข้ามาถึงร่างกายนี้ได้เสมอ ทุกเวลานาที ยิ่งร่างกายไม่ดีเท่าไหร่ ความตายก็ใกล้เข้ามาเท่านั้น

๕. ทำใจให้สบาย ให้มีอารมณ์เยือกเย็น อย่าวู่วาม แล้วงานทุกอย่างก็จักเป็นไปได้ด้วยดี และควรทำให้ได้เป็นประจำ คือหมั่นใช้มโนมยิทธิไปบ้านของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือไปวิมานของตนเองที่พระนิพพาน แม้จักมืดจักมัวไปบ้าง ความสว่างจักไม่เท่ากับบ้านของหลวงพ่อ หรือไม่เท่าวิมานของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็ต้องไป เพื่อให้เกิดความเคยชินในอุปสมานุสสติ

๖. ทำอะไรจงอย่าใจร้อน พิจารณาใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ความใจร้อนไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย จิตใจจักเร่าร้อนเปล่า ๆ พิจารณาเห็นโทษของตัณหาให้มาก และให้เห็นธรรมดาของร่างกาย ที่จักต้องพบกับความแปรปรวนเป็นของปกติ ความเสื่อมย่อมปรากฏได้ในทุก ๆ ขณะที่ยังมีร่างกายทรงอยู่นี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจงนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญา นำมาเป็นครูสอนใจ ไม่ว่าอะไรจักเกิดขึ้น จงนำมาเป็นกรรมฐานวัดจิตใจทั้งหมด

๗. การป่วยของเจ้าคราวนี้ ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า กรรมของอกุศลกำลังส่งผลให้ร่างกายได้รับทุกขเวทนา จงทำใจให้ยอมรับนับถือในกฎของกรรม ทำใจให้อย่าเกิดความดิ้นรน พิจารณาให้ทันกับทุกขเวทนาที่ยังเกิด ว่ามันไม่ใช่เรา-ไม่มีในเรา ทำได้มากหรือน้อยก็พึงทำให้ได้ เพื่อรักษากำลังใจ เบื่อหน่ายในร่างกาย เพื่อมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน

๘. อาการของเจ้าเวลานี้สาหัสมาก ปวดขามากจนเหมือนจักสิ้นสติ คือเป็นลมไป จงอย่าประมาทในชีวิต คิดเอาไว้เสมอว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ จงอย่ากังวลห่วงใยอะไรทั้งหมด ทำจิตให้สงบอย่าวุ่นวาย มุ่งตัดตรงเพื่อพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น งานวิหารจงอย่าห่วง วางไปเลยไม่ต้องตามใครให้มาสานต่อ อย่ากังวล-ปล่อยวาง เอาธรรมเฉพาะหน้าก่อน ถ้ายังไม่ตายก็ค่อยว่ากันใหม่ อาการของเจ้าเวลานี้ใกล้ตายแล้วนะ จงใช้เวลาทั้งหมดพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง อย่าปล่อยให้ล่วงไปในสิ่งที่ไร้ประโยชน์

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

มกราคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ เนื่องจากเพื่อนของผมท่านใจร้อน มุ่งจะเอาแต่คำสอนใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่สามารถปฏิบัติที่ทรงตรัสสอนไว้ก่อนหน้านั้นไม่ได้ และร่างกายก็กำลังป่วยอยู่ ในเดือนนี้จึงเน้นสอนทบทวนของเก่าเป็นปกิณกะธรรมเกือบทั้งสิ้น)

๙. การยอมรับนับถือกฎของกรรม ให้มองเห็นตามความเป็นจริงจักดีที่สุด เพราะจักเห็นเหตุ-เห็นผลอย่างชัดเจน การเห็นรอบจักมีประโยชน์ คือได้พิจารณาธรรมได้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้น และการยอมรับนับถือกฎของกรรม จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง และเมื่อยอมรับแล้ว จิตก็จักมีปัญญา จักทำตัวคือจิตเองมีความสุข เยือกเย็นด้วยการไม่ต้องไปยุ่งกับกฎของกรรมของใครอีก และจะไม่มีจิตเดือดร้อน แม้ในขณะที่กฎของกรรมส่งผลให้กับร่างกายของตนเอง

๑๐. อะไรจักเกิดขึ้น ก็จงอย่าหวั่นไหว รักษากำลังใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้ เตือนจิตใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาอย่างจริงใจ อย่าสักแต่ว่าเข้าใจแล้ววางทิ้งไปอย่างไม่สนใจจริง ๆ ให้พยายามทำจิตให้ละเอียด จักมีผลในการตัดกิเลสมาก

๑๑. ในเมื่อร่างกายแย่ หมอสั่งให้พัก ๗ วัน ก็ต้องพักตามนั้น อย่าห่วงงานที่ทำให้มากจนเกินไป ปล่อยวางเอาไว้บ้าง ทำเท่าที่จักทำได้ และทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น อย่าทำงานด้วยความคิด ต้องทำด้วยกำลังกาย ทำจริง ๆจึงจักเห็นผลจริง ถ้าคิดวางแผนงานแต่ไม่ลงมือทำ ความสำเร็จผลก็จักมีได้ยาก หมอสั่งให้พัก ๑ สัปดาห์ ก็จงพักให้ได้ตามนั้น ให้สังเกตความเพลียของร่างกาย เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จึงค่อยไปทำงาน และทำงานเอาแค่พอตัวเท่านั้น อย่าโหมงานมากจนเกินไป สุขภาพไม่ดียิ่งจักทำให้ย่ำแย่ลงไปอีก จงอย่าลืมว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถทำงานทางโลกได้เสร็จบริบูรณ์ เพราะงานทางโลกเป็นไตรลักษณ์

๑๒. ทำกำลังใจให้ดี ดูร่างกายด้วยความสงบ อย่าดิ้นรนไปกับร่างกาย ให้เห็นปกติธรรมของร่างกายให้มาก ทำจิตให้ยอมรับธรรมนั้น แล้วจักเป็นสุข แล้วอย่าไปไว้วางใจในอาการของร่างกาย เวลานี้มันก้าวไปสู่ความเสื่อม จงทำใจให้ยอมรับปกติธรรมของร่างกาย

๑๓. สิ่งใดที่เป็นความดีให้ทำไปเถิด ทำด้วยความตั้งใจ-เต็มใจ เป็นกำลังใจว่านี่คือความดี และพยายามพยุงกำลังใจให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ จิตจักได้มีความสุข ดีในที่นี้หมายถึงดีตามศีล-ตามพระวินัย-ตามสมาธิอันเป็นสัมมาทิฎฐิ-ตามปัญญาอันรู้ตามขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง นี่คือความดีที่ถูกต้องในหลักของพระพุทธศาสนา

๑๔. การที่จิตของเจ้าพิจารณาเห็นการเจ็บไข้ได้ป่วยว่าเป็นทุกข์ แล้วยอมรับนับถือว่าเป็นปกติธรรมของการเกิดมามีร่างกาย นี่แหละคือตัวจริงของการปฏิบัติ ในอดีตเป็นเพียงแต่ศึกษามาเพียงแค่รู้ กับจำได้ว่าการมีร่างกายนี้ย่อมมีการป่วย-เจ็บเป็นของธรรมดา ซึ่งยังไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่เคยเจ็บ-ป่วยอย่างจริงจัง จนแทบเอาชีวิตไม่รอด การเจ็บป่วยในครั้งนี้เจ้าเจ็บปวดขามากจนเหมือนกับจักสิ้นสติ คือเป็นลมไป เมื่อรู้ตัวมีสติกลับมาใหม่ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาเข้าหาความเป็นจริงของร่างกาย จนทำให้จิตยอมรับสภาพปกติธรรมของร่างกายตามความเป็นจริง แล้วจิตยอมรับกฎของธรรมดานั้น โดยการปล่อย-วางทุกขเวทนาของร่างกายได้เองว่า เวทนานี้มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ เมื่อปล่อยวางทุกขเวทนาของร่างกายได้ จิตก็หมดกังวล-สงบและเป็นสุข การปล่อยวางยังจักต้องใช้เวลาพิจารณาซ้ำแล้ว ซ้ำอีก จนกว่าจิตจักยอมรับสภาพร่างกายตามความเป็นจริง โดยที่การดิ้นรนของจิตจักไม่มีเลย ค่อย ๆ ทำไปไม่ต้องรีบร้อน พิจารณาโดยรอบคอบ แล้วความละเอียด ประณีตของธรรมจักเกิดขึ้นกับจิต จิตจักมีปัญญาตัดกิเลสได้ในที่สุด

๑๕. ทำกำลังใจให้เข้มแข็ง อุปสรรคใด ๆ ที่เข้ามาตัดรอนมรรคผลนิพพาน จงอย่าท้อถอย ให้เห็นอุปสรรคทั้งหลายเหล่านั้นเป็นครูที่มาทดสอบจิตใจ จักต้องทำกำลังใจให้เป็นหนึ่งเสมอ คือเป็นเอกัตคตารมณ์ในมรณากับอุปสมานุสสติ ซึ่งเป็นอนุสสติสุดท้าย ทำให้เป็นหนึ่งอยู่เสมอ กายตายเมื่อใดจิตก็พร้อมจักไปพระนิพพานได้เมื่อนั้น อารมณ์ของพระอรหันต์อยู่ตรงเอกัตคตารมณ์-อุเบกขารมณ์ หรือสังขารุเบกขาญาณเท่านั้น คำว่าไหวขึ้น-ไหวลงไม่มีในจิตของพระอรหันต์

๑๖. หลวงปู่วัย ท่านเมตตามาสอนเพื่อนของผม ซึ่งสุขภาพกำลังแย่ มีความสำคัญว่า “การวางขันธ์ ๕ ว่ามันไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรานั้น มันไม่ใช่ง่ายนักหรอก ไอ้ที่จะไม่ให้ขันธ์ ๕ มันกินใจ จำจะต้องฝึกฝนจิตของตนให้แน่วแน่ในการละอวิชชา ตัดความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้มันเสีย มันไม่ใช่ของหนัก แต่โยมต้องขยันทำเอา ถ้าขี้เกียจ ขันธ์ ๕ ก็กินใจอยู่อย่างนั้นแหละ มีปัญญาให้รู้จักใช้เสียบ้าง”

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:30 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ ทรงตรัสสอนต่อจากเดือนที่แล้ว เน้นกฎของไตรลักษณ์เที่ยงเสมอ ทั้งคน-สัตว์-วัตถุธาตุในโลก แม้แต่อายตนะสัมผัสต่าง ๆ ด้วย สิ่งที่เที่ยงที่สุดคือ ความไม่เที่ยงเป็นอริยสัจ จึงไม่ควรไปยุ่งกับกรรมหรือจริยาของผู้อื่น ให้รู้จักใช้อุเบกขารมณ์ ให้เป็นประโยชน์กับจิตตนเอง อย่าเพิ่มทุกข์ เพิ่มปัญญาให้กับตนเอง เพราะปกติจิตอาศัยกายอยู่นี้ก็ทุกข์พออยู่แล้ว)

๑ “พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็สงบ แม้จักอยู่ท่ามกลางความตายก็สงบ จงอย่าห่วงใยในพระอรหันต์ ท่านไม่เป็นอะไรหรอก ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ย่อมไม่ใช่ท่าน อารมณ์ห่วงอาลัยในขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี ถ้าท่านมีหน้าที่ที่ไหนท่านย่อมรู้จักไปที่นั่น ถ้าท่านมีหน้าที่ที่วัดท่าซุง ก็ย่อมอยู่ที่วัดท่าซุง ถ้าหากหมดหน้าที่ท่านก็ไปนิพพาน” (เรื่องโดยย่อมีดังนี้เนื่องจากผลของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาเป็นปัจจัตตัง รู้ได้-เห็นได้-สัมผัสได้ด้วยจิตของตนเอง ผู้อื่นไม่มีส่วนที่จะรู้ได้ คือรู้ได้เฉพาะตน ของใครก็ของมัน กรรมใครก็กรรมมัน เมื่อจิตจบกิจก็ต้องรู้ว่าจบกิจแล้ว จบเมื่อไหร่-เวลาใดก็รู้เฉพาะตน แต่กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย พระอรหันต์แม้จบกิจแล้ว แต่กายยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พ้นกฎของกรรมเล่นงาน กรรมของพระวัดท่าซุงก็เช่นกัน เพราะพระวัดท่าซุงที่จบกิจมีน้อย ที่ไม่จบกิจมีอยู่มาก ปัญหาต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามกฎของกรรม พระพุทธเจ้าและหลวงพ่อฤๅษีท่านจึงมาสอนธรรมะข้อที่หนึ่ง ซึ่งผมได้เขียนรวบรวมไว้ข้างบนนี้ เพื่อไม่ให้หลงตนเอง มีเมตตาสูงมาก จนไปสงสารพระอรหันต์ท่านเข้า)

๒ “ให้รักษากำลังใจ ภาวนาและพิจารณาเอาไว้ทุกครั้งที่ว่างจากกิจการงาน พยายามอย่าเผลอ จงระลึกนึกไว้เสมอว่า อายุมากขึ้นทุกวินาที หรือทุกขณะจิตค่าเนื่องจากชีวิตใกล้ความตายเข้าไปทุกที”

๓ “ทำใจให้สงบ ยอมรับสภาพทุกอย่างตามความเป็นจริง พยายามพิจารณาทุกอย่าตามความเป็นจริง แล้วจิตจักสงบมีความสุข”

๔ “ดูกำลังใจ ดูกำลังงานให้พอดีกับร่างกายด้วย อะไรละได้ก็สมควรที่จะละ อย่าทรมานร่างกายให้มากจนเกินไป”

๕ “รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุข เห็นธรรมดาของร่างกายให้มาก รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกให้มาก จิตจักได้ไม่แส่ส่ายออไปภายนอก”

๖ “ร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นที่รวมแห่งความทุกข์ทั้งหมด ดูร่างกายให้เห็นเป็นธรรมดา แล้วพยายามคลายกังวลด้วยปัญญาที่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง”

๗ “อย่าไปท้อใจกับร่างกาย ให้เห็นปกติของร่างกายให้มาก ทำจิตให้ยอมรับร่างกายตามความเป็นจริง ให้หมั่นตรวจจิตดูอารมณ์ของจิตเอาไว้ให้ดี และทำใจให้สบาย ทำงานได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น สุขภาพของร่างกายไม่ดี จงอย่าดิ้นรนในการทำงานให้มากจนเกินไป เช่น ทำไม่ได้ แต่จิตอยากทำ ก็จักกลุ้มไปใหญ่ ทำใจเสียใหม่ให้สบายใจ-เบาใจ อย่ามีความกังวลใจ พยายามใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง”

๘ “ทำใจให้สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นเรื่องของร่างกาย ให้พิจารณากฎของกรรมให้มาก จิตจักได้ละจากบาปอกุศลได้มาก จงอย่าประมาทคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด จักทำให้ปัญญาถอยหลัง จงกล่าวโทษโจทตนเองเอาไว้เสมอ”

๙ “ใครจักเป็นอะไรให้ปล่อยวางออกจากจิต มองอารมณ์ของจิตตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ”

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ ทรงตรัสสอนต่อจากเดือนที่แล้ว เน้นกฎของไตรลักษณ์เที่ยงเสมอ ทั้งคน-สัตว์-วัตถุธาตุในโลก แม้แต่อายตนะสัมผัสต่าง ๆ ด้วย สิ่งที่เที่ยงที่สุดคือ ความไม่เที่ยงเป็นอริยสัจ จึงไม่ควรไปยุ่งกับกรรมหรือจริยาของผู้อื่น ให้รู้จักใช้อุเบกขารมณ์ ให้เป็นประโยชน์กับจิตตนเอง อย่าเพิ่มทุกข์ เพิ่มปัญญาให้กับตนเอง เพราะปกติจิตอาศัยกายอยู่นี้ก็ทุกข์พออยู่แล้ว)

๑๐ “การรักษากำลังใจของบุคคลอื่นเป็นของยาก ให้รักษากำลังใจของตนเอง โดยพิจารณาให้เห็นธรรมดาให้มาก ๆ และรักษากำลังใจให้พร้อมตัดกิเลสเอาไว้เสมอ ๆ ขอจงอย่าไปประมาทในชีวิต คิดและพิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจิตก็จักไม่มีความประมาทในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าจักตาย ฝึกจิตให้รู้จักการปล่อยวางเอาไว้เสมอ”

๑๑ “รักษากำลังใจปล่อยวางขันธ์ ๕ เอาไว้ให้ดี ยิ่งมีเวทนามากเท่าไหร่ ให้เพียรปล่อยวางให้มากเท่านั้น โดยการพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเป็นเรา-เป็นของเรา การอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าไม่ชำระจิตให้ปล่อยวางขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จิตยังข้องอยู่ในขันธ์ ๕ แม้แต่นิดเดียว ตายแล้วก็จักกลับมามีขันธ์ ๕ ใหม่ ให้ต้องเป็นอย่างนี้อีก”

๑๒ “ท่านปู่พระอินทร์และท่านย่า เมตตาแนะนำเรื่องการถวายสังฆทาน ความว่าในอดีต คนส่วนใหญ่มักจะบอกกับญาติผู้ตายว่า เวลาจะถวายสังฆทานให้ญาติของตน ให้ขอบารมีพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์-พระธรรม-พระอริยสงฆ์ อันมีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อฤๅษีเป็นที่สุด ขอให้ลุงพุฒิเป็นพยานและโมทนาบุญด้วย แต่ไม่เคยนึกถึงและขอบารมีท่านปู่-ท่านย่าพระอินทร์ด้วย ท่านจะได้รับช่วงต่อจากท่านลุงพุฒิ นำคนเหล่านั้นให้มาอยู่ที่ดาวดึงส์ ให้ได้มาฟังเทศน์กับพระพุทธเจ้าที่พระจุฬามณีฯ เป็นการได้ต่อบุญ เมื่อฟังเทศน์แล้วบางคนไม่อยากเกิดอีก ก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ณ ที่นั้นโดยไม่ต้องลงมาเกิดอีก พวกพรหม-เทวดา-นางฟ้าจึงมีโอกาสเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่าย”

๑๓ “วัดใหญ่ ๆ ในประเทศไทยมีอยู่มาก ซึ่งย่อมมีพระลูกวัดมากตามส่วนของความศรัทธา เมื่อมีพระลูกวัดมาก หากมีเจ้าอาวาสที่ยังไม่จบกิจปกครองวัดนั้น ๆ อยู่ ปัญหาต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นเสมอเป็นธรรมดา ไม่ใช่ของผิดธรรมดาแต่อย่างใด ดังนั้นจงอย่าไปวิพากษ์-วิจารณ์ใคร ให้เห็นเป็นธรรมดาให้หมด จักได้รักษาอารมณ์ให้เป็นอุเบกขาได้ ร่างกายทุกร่างกายมาตามกรรม ไปตามกรรมทั้งนั้น ให้พยายามพิจารณากฎของกรรมให้เข้าใจ กฎของกรรมเป็นอริยสัจนะ จงลงอุเบกขารมณ์เอาไว้ อย่าไปสร้างความรังเกียจใครให้เกิดขึ้นในใจตน ยิ่งเห็นคนหรือสมมุติสงฆ์ทำความชั่วยิ่งมาก ยิ่งพึงสงสารให้มาก พรหมวิหาร ๔ ให้อยู่ประจำใจ จักมีความสงสารคนเหล่านี้ที่สร้างกรรมให้เกิดขึ้นกับตนเอง พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้วจิตจักสงบ ไม่วุ่นวายไปกับกรณีทั้งปวง”

๑๔ “ให้อยู่ในความสงบจักดีมากกว่าทำจิตให้วุ่นวาย หมั่นภาวนาและพิจารณาให้มาก พยายามฝึกสติให้รู้อยู่ ให้รู้ตลอดเวลาว่า จิตมันทำงานทางธรรมอยู่หรือไม่ จิตมีอารมณ์เป็นกุศลหรืออกุศลก็รู้อยู่ แล้วเพียรวางอารมณ์ให้อยู่กับอุเบกขารมณ์ให้มาก ๆ รักษาจิตเข้าไว้ อย่ารักษากายอย่างเดียว ประคองจิตเข้าไว้ อย่าให้ร้อนไปกับกิเลสทั้งภายใน และภายนอกทั้งปวง และจงระลึกเอาไว้เสมอว่า ร่างกายนี้ไม่ข้ามันก็ตาย เราคือจิตที่มาอาศัยเรือนร่างนี้อยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น”

๑๕ “การพิจารณาไตรลักษณ์ให้เข้าสู่อริยสัจ มองทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าไปฝืนความจริง พิจารณาจนจิตยอมรับ ไม่ฝืนกฎของธรรมดา หรือกฎของกรรมก็อันเดียวกัน อย่าฝืน จิตให้ยอมรับ การยอมรับกฎของธรรมดาจักเกิดได้ ด้วยกำลังของวิปัสสนาญาณ ทำให้จิตรู้ แล้วจิตรู้ก็จักไม่ฝืนกฎของกรรม และที่พิจารณาว่าพระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหน จิตก็เป็นสุขนั้นถูกต้องแล้ว ความหวั่นไหวใด ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้นกับจิตของพระอรหันต์สอนอะไรก็จงหมั่นบันทึกเข้าไว้ แล้วพยายามนำมาปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ก็จงพยายามตั้งใจทำ เต็มใจทำ รักษากำลังใจให้เต็มในบารมี ๑๐ อยู่ตลอดเวลา แล้วผลก็จักบังเกิดได้เมื่อถึงเวลา”

๑๖ “ทำงานทุกอย่าง อย่าหวังผลตอบแทน ให้มุ่งตัดกิเลสเป็นสำคัญ การทำงานไม่หวังผลตอบแทน จิตก็จักสงบเยือกเย็น ไม่เร่าร้อนไปด้วยอารมณ์กิเลส ทำด้วยจิตเป็นสุข ทำเต็มความสามารถ เพื่อเป็นพุทธบูชา-ธรรมบูชา-สังฆบูชา ทำอย่างนี้ไปพระนิพพานได้ง่าย”

๑๗ “รักษากำลังใจให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ ให้พิจารณาอยู่เสมอว่า รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณนั้นไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณาไปอย่างนี้ได้ ก็จักสู้กับเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ คราวใดถ้าหากรู้สึกเหนื่อยขึ้นมา ก็ให้จับสมถภาวนาแทน ที่สำคัญที่สุดคือพยายามรักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุข-เยือกเย็น สบาย ๆ อย่าเร่งรีบ ทำไปให้จิตมีกำลัง มีความสบายไม่เร่าร้อน-ไม่กระสับกระส่าย ความผ่องใสของจิตจักต้องไม่มีอารมณ์กังวล-ไม่มีความหนักใจไปด้วยกรณีทั้งปวง และจำไว้ว่าอย่าฝืนกำลังใจ กล่าวคือหมั่นดูความผ่องใสของจิตใจให้สบายจริง ๆ ไม่มีการแสแสร้งแกล้งทำ จักต้องทำให้ได้จริง ๆ ไม่ต้องเอานาน ทำได้ทีละหนึ่งนาทีก็พอ ค่อย ๆ ทำไปสะสมกำลังใจไปได้ในชั่วขณะจิตเดียว พยายามทำไปเรื่อย ๆ ปลดทุกสิ่งทุกอย่างออกจากใจให้ได้ในขณะจิตนั้น ๆ”

๑๘ “ชำระจิตให้วางกังวลห่วงใยในสิ่งใดทั้งปวง แม้กระทั่งห่วงชีวิตก็ไม่ควรมี ถ้าวางได้ให้สังเกตอารมณ์ของจิตจักเบาลงไปมาก ความหนักใจก็จักน้อยลงไปตามลำดับ และอย่าคิดอะไรไปล่วงหน้า วางจิตให้อยู่แต่ให้รู้จักปัจจุบันธรรม แล้วชำระจิตให้หมดจดจากกิเลสในปัจจุบันนั่นเอง ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่าละความเพียรก็แล้วกัน”

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:51 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

มีนาคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ทรงตรัสสอน อารมณ์พระอรหันต์นั้นเป็นเช่นไร ให้เพียรพยายามปฏิบัติตามท่านในทางสายกลาง แต่ต้อง ไม่เข้าข้างตนเอง ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็เป็นของธรรมดา จงอย่าละความเพียร ก็แล้วกัน)

๑. “พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็สงบ แม้นจักอยู่ท่ามกลางความตายก็สงบ จงอย่าห่วงใยในพระอรหันต์ ท่านไม่เป็นอะไรไปหรอก ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ย่อมไม่ใช่ท่าน อารมณ์ห่วงอาลัยในขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี ถ้าท่านมีหน้าที่ที่ไหน ท่านย่อมรู้จักไปที่นั่น ถ้าท่านมีหน้าที่ที่วัดท่าซุง ก็ย่อมอยู่ที่วัดท่าซุง ถ้าหากหมดหน้าที่ท่านก็นิพพาน”

๒. ท่านพระ......เตือนหมอและเพื่อนของหมอว่า ขอให้ทั้งสองคนระวังตัว เพราะการอยู่ในวัดนี้อาจมีภัยใหญ่หลวงต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ให้มาก ๆ อย่าได้พูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในวัด เพราะอาจจะไปถึงหูของคณะกรรมการสงฆ์ได้ ขอให้สงบปาก สงบคำพูดไว้ให้ดี

๓. สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสว่า ให้รักษากำลังใจ ภาวนาและพิจารณาเอาไว้ทุกครั้งที่ว่างจากกิจการงาน พยายามอย่าเผลอ จงระลึกนึกไว้เสมอว่า อายุมากขึ้นทุกวินาทีหรือทุกขณะจิตมีค่า เนื่องจากชีวิตใกล้ความตายเข้าไปทุกที

๔. ทำใจให้สงบ ยอมรับสภาพทุกอย่างตามความเป็นจริง พยายามพิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจิตจักสงบมีความสุข

๕. ดูกำลังใจ ดูกำลังงานให้พอดีกับร่างกายด้วย อะไรละได้ก็สมควรที่จะละ อย่าทรมานร่างกายให้มากจนเกินไป

๖. รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุข เห็นธรรมดาของร่างกายให้มาก รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกให้มาก จิตจักได้ไม่แส่ส่ายออกไปภายนอก งานที่ทำทุกอย่างอย่าห่วง ให้ทำไปตามหน้าที่ด้วยใจสบาย ๆ ดูสภาวะของร่างกายตามความเป็นจริง อย่าไปฝืนมัน ทำได้ก็ค่อย ๆ ทำไป ถ้าทำไม่ได้ ก็จงอย่ามีอารมณ์เสียใจ ให้วางลงตรงนี้ อย่าได้หนักใจอะไรเลย

๗. ร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นที่รวมแห่งความทุกข์ทั้งหมด ดูร่างกายให้เห็นธรรมดา แล้วพยายามคลายกังวลด้วยปัญญา ที่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าไปท้อใจกับร่างกาย ให้เห็นปกติของร่างกายให้มาก ทำจิตให้ยอมรับร่างกายตามความเป็นจริง อย่าไปท้อใจกับร่างกาย ให้เห็นปกติของร่างกายให้มาก ทำจิตให้ยอมรับร่างกายตามความเป็นจริง ให้หมั่นตรวจจิตดูอารมณ์ของจิตเอาไว้ให้ดี

๘. ทำใจให้สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบาย ก็เป็นเรื่องของร่างกาย ให้พิจารณากฎของกรรมให้มาก จิตจักได้ละจากบาปอกุศลได้มาก และจงอย่าประมาทคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด จักทำให้ปัญญาถอยหลัง จงกล่าวโทษโจทตนเองเอาไว้เสมอ

๙. ทรงตรัสว่า รักษากำลังใจของบุคคลอื่นเป็นของยาก ให้รักษากำลังใจของตนเอง โดยพิจารณาให้เห็นธรรมดาให้มาก ๆ

๑๐. รักษากำลังใจให้พร้อมตัดกิเลสเอาไว้เสมอ ๆ ขอจงอย่าไปประมาทในชีวิต คิดและพิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจิตจักไม่มีความประมาทในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าจักตาย ฝึกจิตให้รู้จักการปล่อยวางเอาไว้เสมอ

๑๑. รักษากำลังใจปล่อยวางขันธ์ ๕ เอาไว้ให้ดี ยิ่งมีเวทนามากเท่าไหร่ ให้เพียรปล่อยวางให้มากเท่านั้น โดยการพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา การอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าไม่ชำระจิตให้ปล่อยวางขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จิตยังข้องอยู่กับขันธ์ ๕ แม้แต่นิดเดียว ตายแล้วก็จักต้องกลับมา มีขันธ์ ๕ ใหม่ให้ต้องเป็นอย่างนี้อีก

๑๒. จงทำใจให้สงบ อย่าไปวุ่นวายกับเหตุการณ์ที่ครุกรุ่นอยู่ในโลก ให้เห็นเป็นกฎของกรรม เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลส รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย อย่าไปเดือดร้อนด้วยกรณีทั้งปวง

๑๓. จงอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร ให้เห็นเป็นธรรมดาให้หมด จักได้รักษาอารมณ์ให้เป็นอุเบกขาได้ ร่างกายทุกร่างกายมาตามกรรม ไปตามกรรมทั้งนั้น ให้พยายามพิจารณากฎของกรรมให้เข้าใจ แล้วจิตจักยอมรับกฎของกรรมได้ง่าย กฎของกรรมเป็นอริยสัจ จงลงอุเบกขารมณ์เอาไว้ อย่าไปสร้างความรังเกียจใครให้เกิดขึ้นในใจของตน ยิ่งเห็นคนหรือสมมุติสงฆ์ทำชั่วยิ่งมาก ยิ่งพึงสงสารให้มาก พรหมวิหาร ๔ ให้อยู่ประจำใจ จักมีความสงสารคนเหล่านี้ ที่สร้างกรรมให้บังเกิดขึ้นกับตนเอง พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วจิตจักสงบ ไม่วุ่นวายไปกับกรณีทั้งปวง

๑๔. ให้อยู่โดยความสงบจักดีมากกว่าทำจิตให้วุ่นวายไป หมั่นภาวนาและพิจารณาให้มาก พยายามฝึกสติให้รู้อยู่ ให้รู้ตลอดเวลาว่าจิตมันทำงานทางธรรมอยู่หรือไม่ จิตมีอารมณ์เป็นกุศลหรืออกุศลก็รู้อยู่ แล้วเพียรวางอารมณ์ให้อยู่กับอุเบกขารมณ์ให้มาก ๆ รักษาจิตเข้าไว้ อย่ารักษากายอย่างเดียว ประคองจิตเข้าไว้อย่าให้ร้อนไปกับกิเลสทั้งภายในและภายนอกทั้งปวง จงระลึกเอาไว้เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ช้ามันก็ตาย เราคือจิตมาอาศัยเรือนกายนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

๑๕. การพิจารณาไตรลักษณ์ให้เข้าสู่อริยสัจ มองทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าไปฝืนความจริง พิจารณาจนจิตยอมรับ ไม่ฝืนในกฎของธรรมดา หรือกฎของกรรมก็อันเดียวกัน อย่าฝืนให้จิตยอมรับ การยอมรับกฎของธรรมดาจักเกิดได้ด้วยกำลังของวิปัสสนาญาณ ทำให้จิตรู้แล้วจิตรู้ก็จักไม่ฝืนกฎของกรรม และที่พิจารณาว่าพระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหน จิตก็เป็นสุขนั้นถูกต้องแล้ว ความหวั่นไหวใด ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้นกับจิตของพระอรหันต์ ดั่งตัวอย่าง เรื่องพระอรหันต์ในปากเสือ ขันธ์ ๕ ของท่านกำลังถูกเสือกัดกิน พอจะตายท่านก็จบกิจพอดี จิตท่านมีความสุข ความหวั่นไหวกับความตายของร่างกายที่ถูกเสือกัดกินนั้นไม่มี ให้พยายามนำมาปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ก็จงพยายามตั้งใจทำ เต็มใจทำ รักษากำลังใจให้เต็มในบารมี ๑๐ อยู่ตลอดเวลา แล้วผลก็จักบังเกิดได้เมื่อถึงเวลา

๑๖. ทำงานทุกอย่างอย่าหวังผลตอบแทน ให้มุ่งตัดกิเลสเป็นสำคัญ การทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน จิตก็จักสงบเยือกเย็น ไม่เร่าร้อนไปด้วยอารมณ์กิเลส ทำด้วยจิตเป็นสุข ทำเต็มความสามารถ เพื่อเป็นพุทธบูชา-ธรรมบูชา-สังฆบูชา ทำอย่างนี้ไปพระนิพพานได้ง่าย

๑๗. รักษากำลังให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ ให้พิจารณาอยู่เสมอว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณาไปอย่างนี้ได้ ก็จักสู้กับเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ คราวใดถ้าหากรู้สึกเหนื่อยขึ้นมา ก็ให้จับสมถภาวนาแทน ที่สำคัญที่สุดคือ พยายามรักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุข เยือกเย็น สบาย ๆ อย่าเร่งรีบทำไปให้จิตมีกำลัง มีความสบายไม่เร่าร้อน ไม่กระสับกระส่าย ความผ่องใสของจิตจักต้องไม่มีอารมณ์กังวล ไม่มีความหนักไปด้วยกรณีทั้งปวง และอย่าฝืนกำลังใจ กล่าวคือ หมั่นดูความผ่องใสของจิตใจให้สบายจริง ๆ ไม่มีการแสแสร้งแกล้งทำ จักต้องทำให้ได้จริง ๆ ไม่ต้องเอานาน ทำได้ทีละ ๑ นาทีก็พอ ค่อย ๆ ทำไป สะสมกำลังใจให้ได้ในชั่วขณะจิตเดียว พยายามทำไปเรื่อย ๆ ปลดทุกสิ่งทุกอย่างออกจากใจให้ได้ในขณะจิตนั้น ๆ

๑๘ “ชำระจิตให้วางกังวลห่วงใยในสิ่งใดทั้งปวง แม้กระทั่งห่วงชีวิตก็ไม่ควรมี ถ้าวางได้ให้สังเกตอารมณ์ของจิตจักเบาลงไปมาก ความหนักใจก็จักน้อยลงไปตามลำดับ และอย่าคิดอะไรไปล่วงหน้า วางจิตให้อยู่แต่ให้รู้จักปัจจุบันธรรม แล้วชำระจิตให้หมดจดจากกิเลสในปัจจุบันนั่นเอง ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่าละความเพียรก็แล้วกัน”

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 14:01 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

เมษายน ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ ทรงเน้นเรื่องให้จิตอยู่กับกายให้มาก อย่าไปยินดียินร้ายกับกรรมของใคร พระอรหันต์แม้จบกิจแล้ว แต่ร่างกายยังอยู่ก็ถูกกฎของกรรม เล่นงานได้เป็นธรรมดา เรื่องเป็นพระวันเดียว เรื่องพระกับคนที่เข้ามาในวัด เรื่องรู้เขารู้เรารบ ๑๐๐ ครั้ง ก็ชนะ ๑๐๐ ครา และคนดีพระท่านคุมจิตอยู่ ธรรมส่วนใหญ่ทรงตรัสสอนเพื่อนของผม)

๑. “ใครเขาทำอะไร เล่นอะไรกันอยู่ เจ้าจักต้องเป็นเพียงผู้ดู ไม่ไปทำหรือไม่ไปเล่นกับเขาด้วย”

๒. “ให้รักษามารยาทเข้าไว้ อย่าไปตำหนิติเตียนผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เห็นเป็นกฎของกรรม”

๓. “อย่าส่งจิตออกนอกกาย ความสงบของจิตไม่ใช่อยู่ที่ธรรมภายนอก หากแต่เป็นธรรมภายใน จักช่วยให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง นอกเหนือจากนี้ต้องทำจิตให้สบาย อย่ามีความกังวล ปล่อยวางตามสภาวะธรรมแล้วจิตจักมีความสุข ด้วยความเข้าใจกำของธรรมดาตามความเป็นจริง”

๔. “อย่าไปยินดียินร้ายกับกรรมชั่วของผู้อื่น ให้ถือแต่สักเพียงแต่ว่าเห็น สักเพียงแต่ว่ารู้ กฎของกรรมเป็นของเที่ยง เพราะฉะนั้น จงอย่าเอากรรมของคนอื่นมาใส่ใจ กรรมใครกรรมมัน และจงอย่าลืมว่า พระอรหันต์ไม่กำกรรมเพื่อใคร เมื่อเจ้ารู้เห็นเป็นไปแล้ว ก็จงปล่อยวางไปจากใจเสีย อย่าไปเสียกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุของการกระทำชั่วของบุคคลอื่น ให้ดูอารมณ์ใจของตนเองเป็นสำคัญ”

๕. “พระอรหันต์จิตท่านถึงกันหมด ขอสรุปมีความสำคัญโดยย่อดังนี้

สมเด็จ............ ท่านจบกิจมานานแล้ว (หลวงพ่อฤๅษีท่านบอก) ปัจจุบันอายุท่าน ๘๔ ปี สุขภาพทางกายไม่ค่อยดี เพราะมีโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโรค เมื่อรู้แล้วก็ไม่สมควรจะมีความกังวลเป็นทุกข์ไปกับร่างกายของท่าน เพราะจิตซึ่งเป็นตัวท่านพ้นทุกข์นานแล้ว จิตท่านไม่เคยเผลอคิดว่าร่างกายและเวทนาของกายเป็นของท่าน เมื่อร่างกายยังไม่ตาย ท่านก็ต้องดูแลรักษามันไปตามหน้าที่ในทางสายกลาง

ท่านพระ...... จิตท่านก็พ้นทุกข์ พ้นสมมุติแล้วกว่า ๑๐ ปี ซึ่งบุคคลส่วนใหญ่รู้แล้ว แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่รู้ เพราะคิดว่าตนเองฉลาด เลยฉลาดไปหมด มีผลทำให้ดีไปหมดด้วย เหลือแต่ความโง่

ท่านพระ..... จิตท่านก็พ้นทุกข์แล้วหลายปี ถ้านับมาถึงปัจจุบันปี ๒๕๕๔ ซึ่งบุคคลส่วนหนึ่งรู้และไม่สงสัย แต่ก็ยังมีบุคคลส่วนหนึ่งไม่รู้ ซ้ำยังตำหนิติเตียนท่าน สร้างกรรมชั่วอันเป็นอกุศล ให้เกิดกับจิตของตนเอง ซึ่งก็เป็นของธรรมดา กรรมที่ขับไล่พระอรหันต์ออกจากวัด จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ล้วนเป็นกรรมหนัก ผมเขียนไว้แค่นี้ ให้ท่านไปคิดต่อกันเอง

หมายเหตุ ที่ผมเขียนเพราะผมรู้ และผมก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกรรมที่ผมเป็นผู้ทำ ก็ขอจงอย่าสนใจกรรมของผม เพราะหนังสือที่ผมเขียน ก็เขียนตามบันทึกที่ผมบันทึกไว้ ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หลวงปู่ หลวงพ่อฤๅษี ที่ท่านเมตตาสอนไว้ในอดีตทั้งสิ้น เขียนแล้วก็รวบรวมเป็นเล่มเป็นปี ๆ ไป พิมพ์แจกฟรี ไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด ใครจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ผมไม่สนใจ กรรมใครกรรมมันทั้งสิ้น มีรายละเอียดอยู่มาก แต่พระท่านอนุญาตให้เขียนได้แค่นี้

๖.รักษากำลังใจให้มั่นคง อย่าไปกังวลในสิ่งใดให้มากเกินกว่าความเป็นจริง ทำใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา แล้วจิตที่มีความทุกข์กังวล ก็จักคลายตัวลงไป และเอาความจริงสอนใจให้มาก ๆ อย่าฝืนกฎของธรรมดา

๗. ทรงตรัสสอนเพื่อนของผม เรื่องการบวชทีละวัน ความสำคัญ โดยย่อมีว่า พระท่านมาสอน ท่านพระสุรจิตในสมัยที่บวชใหม่ ๆ ว่า ให้บวชทีละวัน เพราะวันอื่น ๆ ก็มาเป็นวันนี้ เป็นวันเดียวกันอยู่ดี ให้บวชวันนี้ให้ดีที่สุด นี่คือความเข้าใจของเพื่อนของผม แต่ทรงตรัสว่า ความจริงยังไม่ใช่ ที่ใช่จริง ๆ คือขณะจิตเดียวเท่านั้น มีความจริงคือ จิตสัมผัสธรรมปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นความจริง แต่เจ้าก็ยังไม่สามารถมีสติทำขณะจิตเดียวให้ครบถ้วน บริบูรณ์ได้ จะบริบูรณ์ได้สมบูรณ์ก็คือ ขณะจิตให้อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ต้นเหตุที่ยังทำไม่ได้ ก็เพราะยังเผลอปล่อยจิตให้ไปยุ่งกับธรรมภายนอก แทนที่จะสนใจอยู่กับธรรมภายใน หรือยังชอบยุ่งกับจริยาของผู้อื่น กรรมของผู้อื่น จิตไหวไปกับธรรมของโลก หรือโลกธรรมมากเกินไป ถ้าจะให้ดี จักต้องมีสติต่อเนื่อง สำรวม ระวัง สังวรในทวารทั้ง ๖ หรืออายตนะ ๖ ทุกขณะจิต แต่จงอย่าเครียดให้มากนัก ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจ พยายามมีความเพียรให้มาก วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ บารมี ๑๐ จึงทิ้งไม่ได้ตลอดชีวิต

๘. เรื่องพระกับคนที่เข้ามาวัด ความสำคัญโดยย่อมีดังนี้
๘.๑ คนยังมีกิเลส ตัณหา ย่อมมีอารมณ์อยากรวยอยู่เป็นธรรมดา
๘.๒ คนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปอยู่ด้วยกัน ย่อมต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา
๘.๓ พระเป็นที่ใจ มิได้เป็นที่เครื่องแบบ หรือโกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วเป็นพระ แม้แต่ออกจากโบสถ์ใหม่ ๆ มีศีล ๒๒๗ ครบ พระองค์ก็ยังเรียกว่าสมมุติสงฆ์ จะเป็นพระได้จะต้องตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ข้อแรกให้ได้ก่อน พระองค์จึงจะเรียกว่า พระ เช่น นางวิสาขา เป็นต้น
๘.๔ ฆราวาสจึงเป็นพระง่ายกว่า เพราะแค่บวชใจ หรือบวชเนกขัมมบารมี รักษาศีลแค่ ๕ ข้อ ๘ ข้อ ก็เป็นพระได้แล้ว
๘.๕ จิตคนเจริญแค่ระดับไหน ก็รู้ธรรมได้แค่ระดับนั้น (หยาบ กลาง ละเอียด)
๘.๖ การจะไปพระนิพพาน จะต้องรู้หนทางปฏิบัติเพื่อพระนิพพานก่อน ไม่รู้ก็ไปไม่ได้
๘.๗ จงจำแต่ของดี ของเลวอย่าจำ ของเก่าความเลวของตนเองก็มากอยู่แล้ว อย่าขยันหามาเพิ่มอีก


๙. ทรงตรัสว่า จงอย่าท้อถอยไปกับการทำชั่วของคนหรือสมมุติสงฆ์ รักษากำลังใจให้ดีในทางธรรมดีกว่า พระก็ดี คนก็ดี ที่เข้ามาอยู่ในวัดนี้ ต่างก็เข้ามาด้วยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตั้งใจทำเพื่อพระนิพพานจริง แต่เมื่อเข้ามาแล้วพบกับอุปสรรค จิตใจก็เศร้าหมอง เพราะมุ่งไปแก้ธรรมภายนอก หรือแก้ที่ผู้อื่น ไม่แก้ที่ธรรมภายใน หรือแก้ที่จิตใจตนเองเป็นสำคัญ ตัวที่ตัดมรรคผลของพระเหล่านี้จริง ๆ คือ ทิฎฐิ หรือความคิดเห็นของตน ทิฎฐิ หรือทิฐิ ในที่นี้คืออารมณ์ยึดดี ยึดเลว ยึดผิด ยึดถูก เกิดจากความคิดเห็นแห่งตนเป็นใหญ่ โดยไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จุดนี้เป็นภัยใหญ่ แก่การปฏิบัติอย่างยิ่ง ดังนั้น ก็พึงปล่อยปละ ละ วางเสีย อย่ายึดทิฐิแห่งตนมาตัดสินในธรรม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากทิฐิมานะ แล้วมาแทงตลอดในศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสั่งสอนของตถาคต ด้วยจำกัดความหมายลงในคำว่า สาวก หรือ สาวิกา อันแปลว่าเป็นผู้รับฟัง และนำมาปฏิบัติโดยไม่มีการปรุงแต่งธรรม ก็จักทำให้จิตบรรลุได้ตามคำสั่งสอนนั้น

๑๐. จงเอาประโยชน์ให้ได้จากการเจ็บป่วย ทรงตรัสว่า สุขภาพไม่ค่อยดี จิตจงอย่าไปกับร่างกาย นี่แหละคือความเป็นจริงของร่างกาย ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจักหนีพ้นอาการเหล่านี้ไปได้ ดังนั้น จงมองตามความเป็นจริง รักษาอารมณ์จิตอย่าให้เศร้าหมองใจไปกับร่างกาย จงทำใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เวลานี้เป็นของจริงเป็นอริยสัจ ดูการยอมรับของจิตอย่างจริงใจ ถ้าไม่หลงตัวเองก็จักวัดอารมณ์ที่เกาะร่างกาย หรือปลดปล่อยร่างกายได้อย่างแท้จริง จงเอาประโยชน์ให้ได้จากการเจ็บป่วย วัดกำลังใจเข้าไว้เสมอ ๆ จักได้กำไรมาก

๑๑. รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยคราว หมายความว่าอย่างนี้ การรบกับศัตรู ศัตรูในที่นี้คือกิเลสในใจของเรา การรู้ คือ รู้กิเลสของเขา ซึ่งรู้แล้วก็แก้ไขอะไรเขาไม่ได้ ส่วนรู้เรา คือรู้กิเลสของเรา เวลานี้อายตนะรับสัมผัสเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จิตเป็นผู้รับรู้ ถ้าไม่รู้ก็หวั่นไหวไปตามอายตนะ กิเลสก็เกิดไปตามอายตนะ ยึดอายตนะสัมผัสว่าเป็นเรา เป็นของเรา โทสะก็เกิดแก่จิต ศัตรูจึงบังเกิดแก่จิต ถ้าไปแสดงออกทางกาย ทางวาจา ก็ยิ่งแสดงความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ศัตรูเป็นใครอย่างนี้เข้าใจหรือยัง แล้วเจ้าจักรบกับใครเข้าใจหรือยัง เมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องไปชี้แจงกับใคร ให้อุเบกขาวางเฉยเข้าไว้ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ สบายใจให้ถึงที่สุด จำไว้ว่า ยิ่งพูดเรื่องยิ่งจักเข้าตัว เฉยไว้ อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด

๑๒. เรื่องพระคุมจิต โดยปกติพระท่านก็คุมจิตของผู้ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว หากผู้นั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม จิตก็จะไม่ทิ้งพระรัตนตรัยในทุก ๆ อิริยาบถ ยิ่งจะพูดจะสนทนาธรรมกันตามกาลตามสมัย หรือยามปกติก็จะขอบารมีพระคุมจิตอยู่เสมอ ยิ่งผู้ทำงานให้กับพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ย่อมได้รับการควบคุมเป็นพิเศษ พระองค์ทรงใช้การละกิเลสได้เป็นเครื่องวัดความดีของตน ความดีในพระพุทธศาสนา จึงเริ่มต้นด้วยศีล ไม่เอาความรู้ทางโลกเป็นเครื่องวัดความดี ทรงให้สังเกตว่า ถ้าในขณะที่พูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าลืมไปในคำพูดนั้น หรือล้มเลิก หรือล้มเลิกการรู้สึกอยากพูดเสีย ก็จงอย่าฝืนความรู้สึกในอารมณ์แรกที่รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น จงอย่าสงสัย ให้รู้ว่าเป็นการยับยั้งของพระพุทธเจ้า จงรับสัมผัสอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในจิต แล้วพึงระงับคำพูดคำจานั้นทิ้งไปในทันที

๑๓. การบรรลุธรรมของท่านพระ..... เป็นแนวทางของมหาสติปัฏฐาน ทุก ๆ บรรพลงท้ายทุกบรรพว่า รู้สักเพียงแต่ว่ารู้เท่านั้น จิตย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ไม่หลงในทุกบรรพนั้น ๆ ด้วย ทุกบรรพให้รู้การเกิดและการดับ อาทิเช่น จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ และรู้ว่าราคะเกิดขึ้นด้วยประการใด นี่คือรู้เหตุว่า อะไรทำให้เกิดราคะขึ้น และเมื่อราคะละเสียได้ด้วยประการใด ก็รู้ว่าดับด้วยประการนั้น ทุกบรรพก็สรุปว่า รู้สักแต่ว่ารู้ เป็นเพียงที่อาศัยจิตย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ไม่หลงในบรรพนั้น ๆ ด้วย เมื่อจิตปล่อยไม่ยึดไม่เกาะ แล้วดูตามสังโยชน์เป็นหลัก จิตรู้จิตไม่เอา ก็ถือเอาเป็นกิเลสไม่กำเริบ จิตทรงตัวก็เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้

๑๔. มหาสติปัฏฐาน ๔ คือ
๑๔.๑ กายานุปัสสนา ประกอบด้วย อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลบรรพ ธาตุบรรพ และนวสีวัฏฐิกาบรรพ
๑๔.๒ เวทนานุปัสสนา มีสุข ทุกข์ และอทุกขมสุขเวทนา (อัพยากฤต)
๑๔.๓ จิตตานุปัสสนา พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม
๑๔.๔ธรรมานุปัสสนา พิจารณานิวรณ์ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔


๑๕. รักษากำลังใจให้ดี ให้มีความสงบ จงอย่าวุ่นว่ายไม่ว่าจักมีอะไรเกิดขึ้น ให้ถือเป็นกฎของกรรม และให้ทำทุกอย่างเพื่อมุ่งตัดกิเลสให้เป็นพลังเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้น

๑๖. การจักอุทิศส่วนกุศลให้กับคนตายหรือสัตว์ตายนั้น ไม่ใช่จักอุทิศให้ตรงศพ หากแต่เพียงเห็นศพ แล้วก็อุทิศให้อาทิสมานกาย หรือจิตของผู้ตายนั้นจึงจักถูกต้อง สำหรับ ซากศพเป็นเพียงนิมิตเครื่องหมายว่า เขาได้ตายแล้วเท่านั้น หาใช่จิตหรืออาทิสมานกายอยู่กับศพไม่ และหากเจ้าไม่เห็นจิตหรืออาทิสมานกายของศพ ก็ให้ขอบารมีพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ได้ เป็นการขออาราธนาบารมี ไม่ใช่เป็นการรบกวนพระองค์ จัดว่าเป็นการเมตตาอีกชนิดหนึ่ง แต่ก็พึงอุเบกขาวางเฉยเสียบ้างก็จักดี ให้บ้าง ไม่ให้บ้างอันไหนเป็นความสะดวกสบายของจิต ทำให้จิตเยือกเย็นก็ทำไปได้เลย แต่อย่าเกาะให้จิตกังวลกับผู้ตาย ซึ่งการอุทิศส่วนกุศลเพิ่มความเยือกเย็นให้กับจิต ทำให้จิตมีเมตตา รักษาจิตให้สงบไม่เดือดร้อนเป็นอุเบกขา แต่ถ้าไม่ทำเสี่ยเลย ก็เรียกว่าจิตขาดเมตตาได้เช่นกัน แต่ทำแล้วให้พิจารณาขึ้นชื่อว่า คนหรือสัตว์ที่ตายนั้นก็ดี เป็นครูสอนใจของเราว่า ในที่สุดขันธ์ ๕ ของเราก็มีสภาพเช่นนี้เหมือนกัน การนี้เรียกว่าเข้าสู่อริยสัจ เมื่ออริยสัจเจริญแล้ว จิตยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตก็เป็นอริยสัจ จิตพิจารณาไปก็จักเกิดเป็นปัญญา ให้รู้แจ้งแทงตลอด ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย

๑๗. พยายามวางเสียให้หมดซึ่งความกังวล ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งปวง มองหาความจริงให้มาก ๆ แล้วจักระงับคำว่าหนักใจ กังวลใจได้สิ้นเชิง

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 16:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

พฤษภาคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ทรงตรัสเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา อารมณ์กระทบเกิดได้ เพราะมีขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ให้พิจารณาทุกอย่างลงตัวธรรมดาหมด ให้ใช้อริยสัจเป็นหลักในการแก้ปัญหา พระอรหันต์มีอารมณ์เดียว คือช่างมัน หรือธรรมดา หรือสังขารุเบกขาญาณ จิตท่านอยู่เหนือสมมุติทั้งมวล ร่างกายมีก็เหมือนไม่มี นิสัยเดิมท่านละไม่ได้ ละได้แค่กิเลส ยกเว้นพระพุทธเจ้าองค์เดียวที่ละนิสัยเดิมได้ ปีติเป็นราคะละเอียด อะไรคือความสุข อะไรคือยังอัตภาพให้เป็นไป ทุกอย่างมีแต่ธรรมปัจจุบัน ร่างกายเป็นรอง แต่กำลังใจเป็นเอก และอย่าสนใจธรรมภายนอก ให้สนใจแต่ธรรมภายใน)

๑. “พิจารณาอารมณ์กระทบให้เป็นประโยชน์แก่จิตใจ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดได้ เพราะมีขันธ์ ๕ ซึ่งสรุปลงเสียให้ได้ว่า อย่าหนักใจ-อย่ากังวลใจไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามากระทบกับขันธ์ ๕ เพราะ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามหน้าที่เป็นชาติสุดท้ายที่มีขันธ์ ๕ อย่างนี้จักไม่มีกับเราอีกต่อไป ชาตินี้ขอทำเป็นชาติสุดท้าย การรักษากำลังใจให้เข้มแข็งอยู่จุดนี้ ไม่ใช่ความโกรธ ไม่ใช่ความไม่พอใจในขันธ์ ๕ หากแต่เป็นการเข้มแข็งอย่างเบาใจ สบายใจ ความหนักใจไม่มีในใจ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา เห็นนิสัยของทุก ๆ คน ก็เป็นธรรมดาของเขาอยู่อย่างนั้น การฝืนธรรมดาไม่มี ให้รักษาจิตที่เป็นธรรมดาอยู่นี้ให้มาก และรักษาจิต อย่าให้ปรุงแต่งธรรมให้มาก อย่าเอากิเลสมาฟอกจิต รักษาปกติธรรมให้ได้อยู่ในปัจจุบันธรรมให้ตลอด จิตเรา-ใจเราจักตัดกิเลสได้ ก็ด้วยรู้ในปัจจุบันธรรมเอาไว้เสมอ ไม่ทำเมื่อนี้ จักไปทำเอาเมื่อไหร่ เข้าใจจุดนี้เอาไว้ให้จงหนัก”

๒. “รักษากำลังใจให้เห็นธรรมดาให้มาก และจงอยู่ในอริยสัจให้มาก หาข้อสรุปให้กับจิต แล้วใจก็จักไม่วุ่นวาย”

๓. “ทำใจให้สบายที่สุด อย่าไปกังวลกับเหตุใด ๆ ทั้งปวง อะไรมันจักเกิด ก็ต้องเกิด ให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกฎของกรรม ซึ่งตรงไปตรงมาที่สุด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในกรรมเถิด”

๔. “พระอรหันต์มีแต่ตัวธรรมดามากที่สุด ความจริงแล้วจะแสดงอะไรก็ได้ทุกอย่าง แต่ท่านก็ไม่ทำ ในเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ยกเว้นในกรณีจำเป็นต้องสร้างศรัทธา เช่น ท่านพูดว่า การตัดกิเลสเป็นของไม่ยาก (พระอรหันต์จบกิจแล้ว พูดได้ว่าไม่ยาก เพราะท่านตัดได้แล้วก็ไม่ยาก แต่หากยังตัดกิเลสไม่ได้ ก็ยังพูดคำนี้ไม่ได้ จงอย่าเผลอพูดตามท่าน) ท่านเล่าว่าตอนต้น ท่านทำตามกรรมฐาน ๔๐ และมหาสติปัฏฐานอย่างเคร่งครัดมา ๕ ปี พยายามกดความโกรธ-โลภ-หลงไม่ให้มันเกิดขึ้น จิตยึดทิฐิหรือความคิดเห็นของตนเองว่า ต้องทำอย่างนี้จึงจะถูกต้อง ไม่ได้ใช้ศีล-สมาธิ-ปัญญา ตัดตามแนวสังโยชน์ ๑๐ เพียรใช้ฌานสมาบัติกด-ข่มกิเลสทั้งสาม ไม่ให้มันเกิดขึ้นกับจิต จนมันโผล่หัวขึ้นมาไม่ได้ระยะหนึ่ง ก็เข้าข้างตนเองคิดว่า เราคงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เรายังมีครูบาอาจารย์อยู่ ควรจะไปกราบท่าน โดยเอาพระลูกวัดไปเป็นเพื่อน ๒ องค์ อธิษฐานจิตว่า ถ้าเราบรรลุเป็นพระอรหันต์จริง ๆ แล้ว ขอให้หลวงพ่อฤๅษีท่านพูดด้วยสักหนึ่งคำ หรือหนึ่งประโยค ขอสรุปว่า เมื่อไปกราบท่าน ท่านไม่ยอมพูดด้วยเลย แถมยังหน้าบึ้งอีกด้วย ก็เลยกราบลาท่านกลับออกมา แต่จิตก็ยังหลงคิดว่าตนเป็นอรหันต์อยู่ ขากลับเดินผ่านที่พักของโยมสุ โยมสุก็นิมนต์ให้พระ ๓ รูปฉันอาหารเพลที่บ้านพักของท่าน พอเริ่มลงมือจะฉัน ท่านก็แจกจานข้าวให้กับพระที่ไปด้วยอีก ๒ องค์ มีจานกระเบื้อง ๑ จานสังกะสี ๒ ก็นึกในใจว่าเราเป็นอรหันต์ต้องฉันด้วยจานกระเบื้อง ๒ องค์นี้ยังไม่จบกิจ ต้องฉันด้วยจานสังกะสี คิดเท่านี้ก็จับผิดตนเองได้ว่า เรายังมีมานะกิเลสชนิดหยาบ ๆ อยู่เลย จะเป็นอรหันต์ได้อย่างไร มิน่าเล่าหลวงพ่อท่านถึงไม่พูดด้วย เมื่อกลับที่พักก็เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ โดยใช้หลักอัตนา โจทยัต ตานัง คอยจับผิดตนเอง ทั้งกาย-วาจา-ใจ และคอยแก้ไขตนเอง โดยดูอารมณ์จิตของตนเองอย่างเดียว ไม่ยอมยุ่งกับผู้อื่น ด้วยอิทธิบาท ๔ ดูกาย-เวทนา-จิตและธรรม ตลอดตามแนวของมหาสติปัฏฐาน จนจิตยอมรับความจริงโดยหมดอารมณ์ปรุงแต่งหรือหมดอุปาทาน จิตอยู่เหนือสมมุติทั้งปวง ผมขออนุญาตเขียนไว้หยาบ ๆ แค่นี้ เพราะหากเขียนต่อไปมีโอกาสผิดได้เสมอ เพราะอารมณ์ของผมยังไม่ถึง

๕. ทรงตรัสว่า “พระ.......จบกิจแล้วจริง ๆ จิตของท่านละเอียดพอ แต่การอธิบายยังไม่ละเอียดในคราวเดียว กล่าวคือในอารมณ์ของพระอรหันต์ รู้อยู่ คน ๆ นี้ไม่ดี แต่ความโกรธ-ความเกลียดในความไม่ดีของคนนี้ไม่มีอยู่ในจิต และบางขณะคน ๆ นี้ทำเรื่องเดือดร้อน ให้รู้สึกว่าโกรธ แค่พอความโกรธกระทบจิต ก็หล่นไปในเดี๋ยวนั้นเลย ความโกรธไม่มีอยู่ในจิตเลยสักนิดเดียว เรียกว่า รู้สึกโกรธแต่ไม่เกาะโกรธ ทำนองเดียวกัน เขาทำให้เกลียดก็แค่รู้สึกแล้วก็หล่นไปเลย หล่นไปไหน-หายไปไหน หายด้วยอริยสัจ รู้เท่าทันความจริง อะไรก็ยึดไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จิตที่ท่านว่า พระอรหันต์ยังมีความกังวล แต่ไม่เกาะในความกังวลนั้นก็คือ เหมือนคนยังมีหน้าที่ก็ทำหน้าที่ไป แต่ความหวงใยเกินกว่าธรรมดาไม่มี เหมือนธรรมะที่หลวงพ่อชาชอบกล่าวบ่อย ๆ ว่า “ไม่มีในสิ่งที่มี” ร่างกายมีก็เหมือนไม่มี ทรงยกเอาคำตรัสสอนพระปฎาจาราเถรี มาเป็นคำสอนประกอบว่า “มีร่างกายก็เหมือนไม่มี” พระอรหันต์ท่านทำความรู้สึกอยู่อย่างนี้ในทุก ๆ ขณะจิต คือความไม่ประมาทได้ถึงพร้อมอยู่ในจิต ไม่หลงไปกับกิเลสทั้งปวง โดยปกติกิเลสมีมากระทบอยู่ตลอดเวลา โดยเข้าทางอายตนะสัมผัสทั้ง ๖ แต่การตัดให้ตัดที่ตัณหา ๓ คุมจิตให้รู้เท่าทันอารมณ์ คือ

- กามตัณหา อยากมีในสิ่งที่ยังไม่มี หรือมีแล้วยังไม่รู้จักพอ

- ภวตัณหา มีแล้วอยากให้ทรงตัวไม่เสื่อม อันเป็นอารมณ์ฝืนของไตรลักษณ์ ซึ่งฝืนไม่ได้

- วิภวตัณหา เมื่อมันสลายตัวไป-เสื่อไปแล้ว อยากให้อยากให้มาอยู่ในสภาวะเดิม ซึ่งยิ่งเป็นไปไม่ได้ยิ่งขึ้น (หลงหรือบ้ายิ่งขึ้น) ถ้าคุมจิตได้อย่างนี้ รู้เท่าทันตัณหา ๓ อยู่ตลอดเวลา ความทะยานอยากของจิตจะมาจากไหนก็จบกิจเท่านั้นแหละ


๖. ทรงตรัสสอน เรื่องอนุสัย หรืออารมณ์หลงขั้นละเอียด อาทิ อย่างคนชอบร้องเพลง พอปฏิบัติไป ๆ จิตสำรวมก็ดูเรียบร้อยดี วันไหนจิตสบายมากไปหน่อย เพลงมันก็ร้องขึ้นมาเองในจิต มันผุดขึ้นมาเองโดยไม่ได้คิดมาก่อน กว่าจักรู้ตัวก็ตกใจ รีบกด ๆ มันเอาไว้ แต่ถ้ารู้เท่าทันแล้ว ก็ปล่อย ๆ มันไป มันเกิดแล้วมันก็ดับอยู่ในภายในจิต ไม่มีการปรุงแต่ง พระที่จบกิจแล้ว อนุสัยก็มาเป็นอุปนิสัย เคยชอบอย่างไร ก็ชอบอย่างนั้น เคยเอะอะโฉ่งเฉง ก็ปล่อยไปอย่างนั้น เคยชอบเล่นแต่งกองทัพ ก็แต่งกองทัพ แต่ร้องเพลงนี่ร้องอยู่ในจิต คำว่าละเมิดศีล-วินัยไม่มีในพระอรหันต์ มายาสาไถยจึงไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต เรียกว่าตรงหมด บริสุทธิ์ วิมุติหมดทุกอย่าง ให้พิจารณาตามนี้ แล้วเทียบกับมหาสติปัฏฐานสูตร อันว่าด้วยกาย-เวทนา-จิต-ธรรม ซึ่งมีบางบรรพแสดงชัดให้เห็นว่า ราคะเกิดก็รู้ ราคะเกิดด้วยอะไรก็รู้ ราคะดับก็รู้ ราคะดับด้วยอะไรก็รู้ สักแต่เพียงว่ารู้ สักเพียงแต่ผู้อาศัย ผู้อยู่ไม่ได้ติดอยู่ด้วย ไม่ติดในอะไรทั้งหมด นี่เป็นการสรุปโดยย่อ ธรรมโดยละเอียด ต้องไปพิจารณากันเอาเอง จักเป็นราคะ-โทสะ-โมหะก็เหมือนกัน พิจารณาตัวใดตัวหนึ่งให้เข้าใจก็เนื่องถึงกันโดยตลอด”

๗. เรื่องท่านพระ.....ต่อ พระอรหันต์ที่จิตท่านจบกิจแล้ว แต่ขันธ์ ๕ ยังอยู่ ก็ยังต้องรับกฎของกรรมที่ตามมาให้ผล คือการเจ็บไข้ได้ป่วย จากกรรมปาณาติบาตในอดีต ร่างกายที่จิตท่านอาศัยอยู่ป่วยเป็นโรคไต และเป็นมะเร็งในพลาสม่า (Plasma) ต้องฉันยาและฉีดยารักษาตามหน้าที่ ผู้ที่ไปรู้เรื่องการเจ็บป่วยของท่าน เกิดอารมณ์เมตตา-สงสารท่าน ลืมเมตตา-สงสารตนเอง เลยไปสงสารพระอรหันต์เข้า ผลคือฉลาดไปหมด เหลือแต่ความโง่แทน วิตกกังวลว่าจะไม่ได้ฟังธรรมจากท่าน

สมเด็จองค์ปัจจุบันตรัสว่า “คนใฝ่ดีในการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นวัฏฏะสงสาร ไม่ควรละโอกาสฟังธรรม และการฟังธรรมให้ได้ผล ควรทำใจให้ได้เหมือนท่านพาหิยะ เมื่อพบพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ก็กอดพระบาทของพระองค์ไว้ ขอให้พระองค์ตรัสสอน ในขณะนั้นพระองค์ทราบว่า พาหิยะกำลังมีปีติสูงมาก เป็นการยินดีปรีดาของจิตเกินพอดี ไม่สามารถจะรับพระธรรมคำสอนได้ คนดีใจมาก ๆ ปัญญาไม่เกิด เป็นอารมณ์ราคะละเอียด ทำให้จิตติดอยู่ในสุขอันเกิดจากปีตินั้น ให้สังเกตจิตที่เข้าถึงปีติ ๕ จิตขณะนั้นยังไม่สามารถคิดพิจารณาได้ เพราะจิตมีอารมณ์ได้แค่อารมณ์เดียวในขณะจิตหนึ่ง ๆ ในขณะที่จิตติดอยู่ในอารมณ์ปีติ และปีติ ๕ อย่างก็มิได้เกิดขึ้นทีเดียว ๕ อย่าง หากแต่เกิดขึ้นได้ในแต่ละอย่าง ๆ ตามที่จิตจะเข้าถึงได้เองในช่วงที่จะถึงอุปจารสมาธิ ตถาคตจึงต้องยับยั้งไว้ก่อนถึง ๓ วาระ เมื่อเห็นว่าปีติ เมื่อเห็นปีติในจิตของท่านพาหิยะลดลง ราคะในธรรมก็ลดลง จนจิตมีความเรียบ สงบสุข มีความสบาย ควรแก่การงานแล้ว ดังหนึ่งเฉกเช่นผู้เข้าฌานจากปฐมฌาน ซึ่งมีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัตคตา เข้าสู่ทุติยะ ตติยะ จตุตถฌาน ตามลำดับ จิตก็มีอุเบกขารมณ์-เอกัตคตารมณ์ ชั่วขณะจิตนี้เป็นการควรแก่งาน ตถาคตเทศน์เพียงประโยคสั้น ๆ ว่า “พาหิยะ เธอจงอย่าหลงในรูป” ท่านก็เจริญปัญญาจนได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ แล้วก็ตายในเวลาต่อมาทันที นี่คือการฟังเทศน์ให้ได้ผล แล้วก็ยังความประมาทไม่ให้คลาดไปจากจิต การบรรลุที่รักษาจิตให้อยู่ในอุเบกขา เอกัตคตานั้นเป็นขณะจิตที่ควรแก่งาน เป็นจุดที่พึงศึกษาที่สุด นี่คือการสรุปให้ทำใจเพื่อการบรรลุธรรม โดยยกบุคคลตัวอย่างในพระสูตรขึ้นมาอ้างอิงประกอบคำสอน

๘. ทรงตรัสว่า “จงอย่าคิดว่า พระ.....เป็นพระอายุน้อย จงจำเอาไว้ว่า เมื่อท่านบรรลุแล้ว ก็เป็นพระมหาเถระ เมื่อได้ฟังเทศน์แสดงธรรมของพระ.....แล้ว ฟังไปให้คิดไป เห็นว่าจริงตามธรรมนั้นก็ยังไม่ใช่ หรือเห็นว่าไม่จริงตามธรรมนั้นก็ไม่ใช่ ต้องไปฟังแล้วคิดตาม นำเอาไปทำจนเกิดผลตามที่ท่านพูด ท่านก็พูดตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ หากทำได้ตามนั้น นั่นแหละจึงจักจริง เพราะพูดเท่าไหร่-ฟังเท่าไหร่ ก็ยังไม่หมดสงสัย เพราะยังไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องทำให้ได้จริง ๆ เกิดกับจิตใจจริง ๆ จึงจักหมดสงสัย สรุปเรื่องใครจักฟังเทศน์หรือไม่ ฟังอย่างไร-จักปฏิบัติอย่างไร ให้ได้ผล ก็จบแค่นี้ (การหมดสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงจบกิจเป็นพระอรหันต์)

๙. เหตุใดปีติจึงเป็นราคะละเอียด สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสว่า “เจ้าต้องรู้ว่า จิตของท่านพาหิยะ มีความต้องการธรรมอันเป็นเครื่องตัดกิเลสอยู่ในจิตเป็นอันมาก ชาติก่อน ๆ ที่เจริญสมณธรรมจนตัวตาย มาชาตินี้ก็จิตดวงเดิมนั่นแหละ ดังนั้นเมื่อมาพบหน้าตถาคต อันท่านรู้อยู่ว่า จะเป็นผู้สงเคราะห์ท่านได้ จิตดวงนั้นจึงมีปีติ คือ ราคะ มีความใคร่ที่จักได้ฟังธรรม อันเป็นเครื่องหลุดพ้นเป็นอันมาก จิตยินดีปีติมาก ๆ ก็เหมือนคนดีใจมาก ๆ สติ-สัมปชัญญะตรงนั้น มันไม่มีประคองตัวของจิต ให้มีกำลังพิจารณาด้วยปัญญาไม่ได้ อุปมาดั่งคนที่กำลังมีใจสบาย ๆ เห็นอะไรก็คิดได้ทะลุปรุโปร่ง แต่ในคนที่กำลังตื่นเต้นดีใจ จิตดิ้นรนกระวนกระวาย ขวนขวายเต็มไปด้วยความทะยานอยาก เห็นอะไร-ฟังอะไร ก็คิดไม่ได้ทะลุปรุโปร่ง ข้อนี้ฉันใด จิตที่มีปีติแรงกล้า หรือจิตที่ติดอยู่ในปีติ ๕ จึงพิจารณาธรรมหรือบรรลุธรรมได้ยาก”

๑๐. เรื่องปัจจัย ๔ หรือการยังอัตภาพให้เป็นไป เรื่องนี้เป็นความละเอียดของจิตของแต่ละคน ถ้าคิดได้อยู่เสมอก็จักไม่ประมาทในชีวิต การเสวยปัจจัย ๔ ก็จักถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา และพระธรรมคำสั่งสอน ปัจจัย ๔ อันมีความจำเป็นของการทรงอยู่ของชีวิต และร่างกาย คือ ที่อยู่อาศัย-เครื่องนุ่งห่ม-อาหารการกิน และยารักษาโรค ทุกอย่างจะต้องเดินสายกลาง ไม่มากไป-ไม่น้อยไป โดยอาศัยพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักสำคัญในการพิจารณา

๑๑. บนพระนิพพานไม่มีใครเขานอนกัน การไปพระนิพพานด้วยวิชชามโนมยิทธิ เขาเอาจิตไป มิได้เอาร่างกาย (ขันธ์ ๕) ไป กายของจิต คืออาทิสมานกาย ซึ่งไม่ใช่ร่างกาย หรือ ขันธ์ ๕ จึงไม่จำเป็นต้องนอน คนที่ขึ้นไปได้ มักพกเอากิเลสขึ้นไปด้วย จริง ๆ แล้ว พวกเราที่ยังมีกิเลส-ตัณหา-อุปาทานอยู่ ไม่สามารถจะขึ้นไปแดนนี้ได้ ที่ขึ้นไปได้ก็เพราะอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้า-พระปัจเจกพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านช่วยสงเคราะห์ทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเอาจิตขึ้นไปได้แล้ว แต่ไม่สามารถอยู่บนพระนิพพานได้อย่างถาวร เพราะไม่รู้จักปัจจุบันธรรม หากสามารถทำจิตในปัจจุบันธรรมให้ว่างจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทานได้ในขณะจิต หรือขณะปัจจุบันธรรมนั้น ก็ไปพระนิพพานได้ ผู้ใดไม่ขอบารมีท่านช่วยสงเคราะห์ ใช้บารมีของตนเองในขณะจิต ขณะปัจจุบันธรรมนั้น ภาพพระนิพพานก็จะไม่สว่าง-ไม่สดใสเป็นธรรมดา

๑๒. ทำใจให้สบายใจให้ถึงที่สุดเอาไว้เสมอ ชีวิตของร่ากาย มันมีแต่ปัจจุบันเท่านั้น ทุกอย่างมีแต่ธรรมปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ ขณะจิตนี้ อาทิเช่น การกินอาหาร ก็กินอาหารแต่พอดี พออิ่ม หากกินเกินอิ่ม เพราะติดในรสของอาหาร ก็เป็นการกินเผื่อกิเลส ก็จะแน่นท้อง-อึดอัด เกิดทุกขเวทนา เหตุเพราะห่วงกายมากเกินไป แต่ไม่ห่วงจิต ซึ่งให้เป็นไปจะต้องพอดี หรือเดินสายกลางทั้งกายและจิตใจในธรรมปัจจุบันหรือขณะจิตนี้ ชีวิตเบื้องหน้าไม่มีหรอก มีอยู่แต่เดี๋ยวนี้ อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นสมมุติที่ยังไม่มี จึงยังไม่จริง สิ่งที่จริงต้องจริงในปัจจุบันธรรม คือเดี๋ยวนี้ ดังนั้นการพิจารณาอาหารให้ได้มรรคผล ก็คือเดี๋ยวนี้ จิตของคนเราไม่เสมอกันจิตเจริญแค่ไหนก็พิจารณาธรรมเรื่องอาหารได้ละเอียดแค่นั้น ถ้าพิจารณาให้เห็นปกติธรรมของอาหารอยู่เสมอ ก็จะเห็นตัวธรรมดาของอาหาร จิตจะปลดความติดกับดักของอาหารลงได้ มาพิจารณาปกติธรรม หรือปัจจุบันธรรมของเครื่องนุ่งห่ม บางขณะที่อากาศร้อนมาก ๆ ในฤดูร้อน แต่กับแต่งตัวไม่เหมาะกับฤดูร้อน เพราะรักสวยรักงาม (ราคะจริต) ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ และหลายชิ้น ใส่หลายชั้น แถมยังติดเครื่องประดับเสริม เพิ่มเข้าไปอีกมากมาย มองดูคล้าย ๆ ว่าสวย แต่กลับทำให้ร่างกายร้อย-ไม่คล่องตัว เป็นทุกข์ แต่ยามฤดูหนาวมาถึงกับใส่เสื้อผ้าบาง ๆ นุ่งกระโปรงสั้น ๆ คิดว่าสวย แต่สร้างทุกขเวทนาให้กับร่างกาย อย่างนี้ก็เรียกว่า ขาดยังความอัตภาพให้เป็นไป เรื่องที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็ให้ใช้หลักเดียวกัน คือมัชฌิมาปฏิปทาในธรรมปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้เวลานี้-ขณะจิตนี้เช่นกัน

๑๓. หากจับหลักเรื่องธรรมปัจจุบัน เรื่องเดี๋ยวนี้-เวลานี้ ขณะจิตนี้ได้ ก็จะนำไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้ทั้งหมด มรณาและอุปสมานุสสติก็จะละเอียดขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นอัตโนมัติขึ้นกับจิต หนทางลัดเข้าสู่พระนิพพาน คือรู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน ก็จะมั่นคงถาวร เข้าสู่พระนิพพานได้แบบง่าย ๆ เช่นกัน หากทำได้จิตจักเป็นสุขอย่างยอดเยี่ยมที่สุด สุขอื่นใดจักเสมอด้วยสุขบนพระนิพพานไม่มี (เป็นเอกันตบรมสุข)

๑๔. ทำใจให้สบายใจให้ถึงที่สุดเอาไว้เสมอ แล้วหมั่นตัดกังวลให้ได้นานที่สุด โดยเอาขณะจิตปัจจุบันเป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิตใจ อย่าให้สิ่งเหล่านี้หลุดไปจากจิต ทำได้จิตจักมีอารมณ์โปร่ง-เบา-สบาย มีปัญญา เจริญสมถะหรือวิปัสสนาก็จักได้ผลสมบูรณ์

๑๕. อย่าสนใจเรื่องภายนอก ให้ศึกษาอยู่ในธรรมภายในให้มาก ๆ แล้วจิตก็จักรู้ถึงการปล่อยวางได้โดยง่าย และรักษากำลังใจให้มั่นคง อย่าท้อถอยกับร่างกายที่ไม่ดี ให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของร่างกายด้วยใจจริง

๑๖. ทำใจให้สบาย ทำงานทุกอย่างจักสำเร็จไปได้ด้วยดี ร่างกายเป็นรอง แต่กำลังใจเป็นเอก ไม่ว่างงานทางโลกหรืองานทางธรรม ถ้ากำลังใจไม่สู้เสียแล้ว ร่างกายดีขนาดไหนก็ทำอะไรไม่ได้ ยิ่งงานทางธรรมแล้ว ร่างกายมันจักเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป รักษาพยาบาลตามหน้าที่แล้ว มันยังทรุดโทรมก็ปล่อยมันไป (อุเบกขา หรือช่างเรื่องของร่างกายมัน) รักษากำลังใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเอาไว้เท่านั้นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา-ไม่มีในเรา มันเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้นเอง มันไม่ใช่จิตใจของเรา ดังนั้น การรักษากำลังใจ คือการรักษาจิตอันเป็นเราจริง ๆ ก็จักไปถึงที่สุดของความทุกข์ คือปล่อยวางร่างกายนี้ไปเสีย และเมื่อปล่อยวางร่างกายว่าไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา สัตว์-วัตถุธาตุ หรืองานภายนอกอะไร ๆ ในโลกนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราอีก รักษากำลังใจไว้ให้ได้อย่างนี้เสมอ ๆ ทำให้จิตใจมันชินกับการปล่อยวางเสีย วันละเล็ก วันละน้อย ก็ต้องทำ ทำให้บ่อย ๆ แล้วจิตจักชินกับคำว่าธรรมดาของมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ในที่สุดจิตก็จักโปร่ง-โล่ง-เบา-สบาย จิตมีพระนิพพานเป็นที่ไปด้วยปัญญา อันรู้แจ้งตามความเป็นจริงนั่นเอง

๑๗. ทำอะไรให้ใคร่ครวญดูให้ดีเสียก่อนแล้วจึงทำ (นิสัมมะ กะระณัง เสยโย) จักไม่ผิดพลาดให้เสียใจได้ในภายหลัง

๑๘. อย่าไปเดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าให้จิตเป็นทุกข์ จักตกเป็นทาสของการปรุงแต่งธรรม เรื่องของข้างหน้า จงวางไปให้เป็นเรื่องของข้างหน้า มันยังมาไม่ถึงก็ปล่อยวางมันไป รักษากำลังใจให้อยู่ในปัจจุบันธรรมเท่านั้น เรื่องรอบข้างจงปล่อยวางมันไป ใครจักว่าอย่างไร เข้าใจอย่างไรมันเป็นคติของบุคคลเหล่านั้น อย่ายึดเอามาให้เกิดอารมณ์ ที่สร้างกิเลสขึ้นในจิตของตนเอง จงจำไว้ว่า นี่ไม่ใช่ธุระของเรา ให้สักแต่ว่ารู้-สักแต่ว่าเห็น แล้วก็วางมันไป ด้วยเห็นทุกข์ในการยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้น อันหาประโยชน์ไม่ได้

๑๙. จงหาประโยชน์จากการเจ็บป่วยของร่างกาย เพราะกายนี้มันไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา เราคือจิตซึ่งเป็นอมตะไม่เคยตายมาอาศัยร่างกายนี้อยู่ตามกรรมชั่วคราว ตราบใดที่จิตยังไม่หมดโง่ หรือหมดอุปาทานขันธ์ ๕ จิตยังยึดเกาะติดร่างกายอยู่ แม้แต่เล็กน้อย จิตนี้ก็ยังต้องถูกกรรมที่จิตสร้าง หรือทำเอาไว้เองบังคับ ให้ต้องมาเกิดมีร่างกายต่อไปไม่รู้จบสิ้น ร่างกายป่วย จิตก็จงอย่าปล่อยตามกาย ให้พยายามรักษากำลังใจให้อยู่ในความไม่ต้องการร่างกาย ไม่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เป็นการตัดขันธ์ ๕ จิตมุ่งสู่พระนิพพานได้โดยง่าย

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 16:42 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

มิถุนายน ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(เดือนนี้ทรงตรัสสอนเรื่องปัญญาบารมีที่แท้จริงเป็นอย่างไร อย่าบังคับ จิตให้เจริญกรรมฐานบทเดียว-การไม่ปรุงแต่งธรรมมิใช่ของง่าย-ชาติปัจจุบัน คืออะไร ความตายเกิดกับคนได้ทุกวัย เมื่อไหร่ก็ได้เท่ากัน-ให้อยู่กับธรรมปัจจุบัน ให้มาก-การแก้ปัญหาจงอย่าทิ้งพระและให้เคารพกฎของธรรมดา)

๑. ดูปัญญาบารมีนั้นเขาดูกันอย่างไร จักต้องรู้จักดู จงอย่าคิดว่าสักแต่เพียงเข้าใจในขันธ์ ๕แล้วเป็นปัญญาบารมี ตรงนั้นยังไม่ใช่ตัวปัญญาบารมี ตัวจริงๆ จักต้องรู้จักในขันธ์ ๕ ด้วย เข้าใจในขันธ์ ๕ ด้วย แล้วรู้จักปล่อยวางภาระของขันธ์ ๕ ออกจากจิตใจด้วย การบริการขันธ์ ๕ เป็นเพียงสักแต่ว่าทำไปตามหน้าที่เท่านั้น จิตมีความเบื่อหน่าย แล้วก็เฉยๆ ทำหน้าที่ให้ร่างกายหรือขันธ์ ๕ เท่านั้น แต่จิตใจไม่มีกังวล ไม่มีการเกาะขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แต่จิตใจมิได้ไปเกาะติดอยู่ด้วยเลย อย่างนี้จึงเรียกว่ารู้จักใช้ตัวปัญญาอย่างแท้จริง

๒. อย่าบังคับจิตให้เจริญพระกรรมฐานอยู่ในบทเดียว จิตจักเครียด จงหมั่นหากรรมฐานบทอื่นมาสลับพิจารณาด้วยปัญญา ความเครียดของจิตจักไม่เกิดขึ้น ด้วยมีความเคารพในกฎของธรรมดา กล่าวคือ รู้เท่าทันสภาวะเกิดและดับของธรรมารมณ์ในกระแสของจิตนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน ในทางโลก หากร่างกายทำงานซ้ำซากอยู่ในงานอย่างเดียว จิตก็จักเครียดเช่นกัน (มีการทดลองบังคับคนงานให้ทำงานติดต่อกันเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง โดยไม่ให้หยุดพักเลย กับคนงานให้ทำงานครึ่งชั่วโมง แล้วพักครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา ๓ ชั่วโมงเท่ากัน ผลของงานกลับได้มากกว่ากลุ่มแรกถึง ๓ เท่า)

๓. รักษากำลังใจให้เป็นสุข ด้วยการสงบอารมณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ อย่าไปวุ่นวายกับธรรมภายนอก และพยายามอย่าให้จิตปรุงแต่งธรรม จุดนี้อย่าคิดว่าจักทำได้ง่าย เพราะอารมณ์เดิมนั้นชินกับความวุ่นวายไม่สงบ-ไม่สุขด้วยการปรุงแต่งธรรมไปด้วยเหตุนานับประการมาแล้ว แต่ก็จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ จักต้องเข้าใจในการรักษากำลังใจว่าต้องทำได้ เนื่องจากเพื่อการตัดกิเลสให้ได้ในชาติปัจจุบัน

๔. ชาติปัจจุบันคือ ขณะจิตนี้-เดี๋ยวนี้-ปัจจุบันธรรมนี้เท่านั้น ไม่เห็นชีวิตเป็นของยาวนาน คนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เด็ก-หนุ่ม-สาว-วัยกลางคน-วัยชรา ก็มีความตายอยู่เฉพาะหน้าเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนแก่แล้วจะตายก่อน คนอ่อนกว่าจะตายทีหลัง ทุกคนมีสิทธิที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้เท่ากันทั้งสิ้น ทรงให้คิดอย่างท่านปฏาจาราเถรี ที่เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมตายไปตั้งแต่ปฐมวัยก็มี มัชฌิมาวัยก็มี ปัจฉิมวัยก็มี คิดอย่างนี้ ทำให้มรณานุสสติทรงตัวอยู่ในจิต ความประมาทก็จักน้อยลง คนลงคิดว่าจักต้องตาย ก็ย่อมมุ่งทำเอาแต่ความดีเพื่อรองรับปัจจุบันธรรมนั้นๆ จิตจักได้เป็นสุข เป็นความสงบไม่ว้าวุ่นใจ เนื่องจากเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง นี่เรียกว่าเข้าสู่อริยสัจ เป็นเหตุเข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย

๕. ทำงานอะไรก็ตามให้ทำใจไปด้วย ทำใจคือพร้อมที่จักทิ้งงานทั้งหมด ไม่ให้คั่งค้างคาใจ ถ้าหากร่างกายนี้พังลงไป แล้วจงอย่างทำงานให้เหนื่อยเกินไป ร่างกายก็จักสามารถมีสุขภาพที่พอจักเป็นไปอย่างไม่ถูกเบียดเบียนได้

๖. จงอย่าสนใจ หรืออย่าไปยุ่งกับจริยาของผู้อื่น ใครจักไปไหนหรือมาไหน ก็จงอย่าตำหนิ ให้ทำใจปล่อยวาง ถือว่าเป็นกฎของกรรม ทุกอย่างให้เห็นเป็นธรรมดาหมด แล้วจิตจักสบาย

๗. ทำใจให้สบาย อย่ากังวล ให้อยู่กับธรรมปัจจุบันให้มากๆ เรื่องอนาคตให้เป็นเรื่องข้างหน้า เวลานี้ทำใจให้อยู่ในปัจจุบันธรรมเสมอ แล้วก็จงปล่อยวางความกังวลลงเสีย โดยการเคารพในกฎของกรรม

๘. ทำกำลังใจให้เต็มในเรื่องของการเห็นเป็นธรรมดาให้มากๆ ทำได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขเกิดขึ้นกับจิตมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเมื่อเห็นเป็นธรรมดาเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรผิดธรรมดา

๙. ในเวลาแก้ปัญหา จงอย่าทิ้งพระเป็นอันขาด อย่าแก้ไขปัญหาหรือเหตุการณ์ด้วยตนเอง เพราะปัญญายังน้อยเกินไป จักไม่มีผล คนตั้งแต่สองคนอยู่ด้วยกันจะไม่ให้มีเรื่องกระทบกันย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นธรรมดา รักษากำลังใจให้อยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก อย่าวิตกกังวลอะไรทั้งปวง ให้ทุกอย่างมาถึงก่อนแล้วแก้ไขตามความเป็นจริง (จงอย่าตีตนไปก่อนไข้)

๑๐. จงอย่าทำตัวเป็นผู้รู้ดี และจงอย่าทำตัวเป็นศัตรูกับใคร ปล่อยวางมันลงไปเสียทั้งหมดจิตใจจักได้เป็นสุข การไปรู้สิ่งที่อยู่นอกตัวเรา แล้วไม่ยอมวางเป็นกิเลส หรือรู้เรื่องภายนอกเป็นกิเลส รู้เรื่องภายในที่ตัวเรา คือจิตรู้อารมณ์ของจิตเราและร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นพระธรรม เรื่องภายนอกให้รู้สักแต่ว่ารู้ แล้วจิตจักเป็นสุข อย่าไปฝืนกฎของกรรม่

๑๑. ทำใจให้สบาย อย่าไปพะวงกับอะไรทั้งหมด วางภาระในใจเสีย ทำจิตให้ว่างจากนิวรณ์ ๕ ชำระกิเลสให้คลายไปจากจิตเสียชั่วขณะจิตเสียชั่วขณะหนึ่งๆ โดยเห็นตามความเป็นจริงว่า โลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ พยายามปล่อยวางอารมณ์ให้สบายที่สุด อย่าวิตกกังวลใดๆ ทั้งหมด

๑๒. อย่าสนใจกับร่างกาย หรือธรรมภายนอกให้มากจนเกินไป ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างโดยเคารพนับถือกฎของธรรมดา ทำใจให้สบาย อีกร่างกายจักเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ทำใจให้สบายเข้าไว้ก็แล้วกัน การทำงานก็จงอย่าหักโหมค่อยๆ ทำไปและอย่าใจร้อน งานทำได้แค่ไหนก็จงพอใจแค่นั้น

๑๓. ทำใจให้สบาย ทำจิตให้เป็นสุข โดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้ อย่าไปเศร้าใจกับสภาวะธรรมใดๆ ทั้งปวง อะไรจักเกิดขึ้นให้ลงกฎของธรรมดาทั้งหมด จิตจักได้เป็นสุข และพยายามตัดกังวลในเรื่องทั้งหมดให้มาก โดยอาศัยมองทุกอย่างตามความเป็นจริงเป็นหลักใหญ่ ให้เข้าสู่อริยสัจทั้งหมด เห็นทุกข์อย่างแท้จริง จิตก็จักปล่อยวาง

๑๔. ทำกำลังใจให้เต็ม อย่าท้อถอยกับร่างกาย ทำงานตามสบาย อย่าเครียดจนเกินไป เสร็จหรือไม่เสร็จ งานออกมามีค่าเสมอกัน อย่าไปคิดว่าจักต้องเสร็จหมดทุกอย่าง เรื่องภายในย่อมสำคัญกว่าเป็นไหนๆ ให้คิดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ (งานภายนอกล้วนเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีใครทำเสร็จถาวรสมบูรณ์ได้)

๑๕. ทำอะไรก็จงทำด้วยความตั้งใจ-จริงใจและสบายใจ อันไหนทำแล้วสร้างความไม่สบายใจ-ทุกข์ใจ จงมองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ-ทุกข์ใจ พิจารณาให้เกิดปัญญา แล้วเมื่อเห็นว่าแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็จงวางงานนั้นไปเสีย อย่าไปสนใจ

๑๖. ทำจิตให้สงบ เห็นทุกอย่างเป็นกฎของธรรมดา อย่าห่วงใยภายนอกให้มากกว่าห่วงใจของตนเอง รักษาใจให้เป็นสุข ทำใจให้สบายไปถึงที่สุด สุขที่สุดก็คืออารมณ์เกาะพระนิพพาน ซึ่งเที่ยงไม่มีเปลี่ยนแปลงลงอีก

๑๗. ทำใจให้สบาย อย่าไปตั้งกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับการทำงาน เพราะจักเสียคำพูดได้ง่าย เนื่องจากสุขภาพของร่างกายมันไม่เที่ยง หากฝืนกฎของธรรมดาของร่างกาย จิตก็ยิ่งทุกข์ เพราะร่างกายนี้ มันหาใช่เรา-หาใช่ของเราไม่ ในเมื่อเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอยู่อย่างนี้ ก็จงอย่าตั้งความหวังในการทำงานให้มากเกินไป หรือวางแผนทำงานในระยะยาว อาทิ ตั้งใจในการทำงานไว้ล่วงหน้า ให้วางไว้แต่เฉพาะหน้า ทำงานเฉพาะหน้าเท่านั้น อยู่ในปัจจุบันธรรม แม้กระทั่งการทำงานแล้ว ก็จักไม่ทุกข์-ไม่กังวล

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 16:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

กรกฏาคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ทรงตรัสสอนเรื่อง อย่าเกาะงานให้มากนัก-ให้อยู่กับธรรมปัจจุบัน ให้มากๆ-อย่าฝืนกฎของธรรมดาคือ ไตรลักษณ์-อย่ากลัวตาย เพราะจิตไม่เคยตาย ผู้ตายคือร่างกาย-ให้อยู่ในอารมณ์สักแต่ว่ารู้-เห็น และสักแต่ว่าอาศัยอยู่ชั่วคราว-ซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ-อย่าเกาะทุกข์ของร่างกาย-อย่าไปทุกข์กับพวกสมมติสงฆ์ และความสำคัญของศีล ๘)

๑. อย่าเกาะงานให้มากนัก จิตจักเครียด ทำใจให้สบายๆ จงอย่าลืมว่าไม่มีใครสามารถจะทำงานของโลกได้เสร็จสมบูรณ์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์

๒. จงอย่าคิดว่าตนเองยังเอาดีไม่ได้ รับคำสอนจากพระไม่ได้ ที่พระยังไม่สอน เพราะรู้ว่าสุขภาพกายไม่ดี มีผลทำให้สุขภาพจิตไม่ดีด้วย หากสอนในขณะนั้น สติสัมปชัญญะไม่แจ่มใส สอนไปก็รับไม่ได้ดีเท่าที่ควร เมื่อไหร่สุขภาพกายดี-สุขภาพจิตดี จิตควรแก่งาน ไม่ง่วง-ไม่เพลีย พระก็จักสอนต่อให้เอง

๓. การเป็นผู้มีเรื่องไม่มากนั่นแหละดี ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามเรื่องของมัน อย่าเอาเรื่องอื่นๆ มาใส่ใจของเรา จุดไหนเป็นปัญหาก็ตัดทิ้งไป ร่างกายไม่ดีก็จงอย่าทำงานให้เกินกำลัง ทุกข์กายห้ามฝืน เพราะมันหาใช่เรา-ใช่ของเราไม่

๔. จงอย่ามีความประมาทในชีวิต และคิดให้ลงธรรมดาเอาไว้เสมอ จิตจักได้ไม่ทุกข์ ไม่เป็นโทษให้เป็นที่สะเทือนใจและ จงอย่าคิดถึงปัญหาใดๆ ที่ยังมาไม่ถึง (อนาคตธรรม) อยู่กับปัจจุบันธรรมให้มาก จิตจักได้หมดกังวล

๕. ทำใจให้สบาย ทำงานเท่าที่จักทำได้ และจงอย่ามองใครว่าไม่ดี หรือชั่ว ให้มองเป็นกฎของกรรม แล้วจักไม่เดือดร้อนไปกับใครเลย

๖. อย่าห่วงอะไรทั้งหมด จงเห็นว่าทุกสิ่งเกิดขึ้น-ตั้งอยู่แล้วดับไป นับเป็นของธรรมดา อย่าฝืนกฎของธรรมดา อาทิ สุขภาพไม่ดีให้พักผ่อนให้มาก และจงพยายามระวังอย่าทำงานให้เกินกำลังไว้ด้วย หากลืมตัว จักทำความลำบากให้กับร่างกาย และจิตใจของตนเอง

๗. จงอย่าประมาทในความตาย ให้เอาท่านพระ......เป็นแบบอย่าง ท่านปรารภความตายอยู่เสมอ ด้วยความไม่ประมาทในชีวิต เห็นแล้วจงน้อมเข้ามาพิจารณาว่าร่างกายของตนเองจักต้องตายเหมือนกัน จงอย่าคิดว่าเราจักเป็นผู้ไม่ตาย ร่างกายนี้ไม่มีใครเหลือ ตายหมดทุกรูปทุกนาม แต่จงระลึกนึกเอาไว้เสมอว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา จงพยายามฝึกฝนจิตใจให้อย่ากลัวความตาย ให้ยอมรับสภาพความตายว่าต้องตายแน่ตามความเป็นจริง พิจารณาให้สงบ ยอมรับธรรมดาให้ได้ อย่างไม่ดิ้นรน ฝึกจนเป็นผู้หมดอาลัยใยดีกับชีวิต จักอยู่ก็ได้ จักตายก็ได้ ไม่เสียดายอะไรทั้งหมด ใครเป็น ใครตาย ก็ไม่เสียดาย แม้แต่ที่สุดร่างกายของเรามันจักตายก็ไม่เสียดาย

๘. การเจ็บไข้ได้ป่วย มาจากกรรมปาณาติบาต ที่เคยทำเอาไว้เมื่ออดีตเข้ามาให้ผล จงทำใจให้ยอมรับในกฎของกรรม อย่ามีจิตไปดิ้นรนฝืนความจริง ร่างกายมันมีความป่วยนี่เป็นของจริง เป็นความจริงที่จิตใจของเราจักต้องยอมรับนับถือในสัจธรรม จุดนี้จึงจักไปพระนิพพานได้ ตัดตัวที่สำคัญที่สุดคือ มีสติตั้งมั่นรู้อยู่ตลอดเวลาว่า รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา การจักยอมรับในข้อนี้ให้ได้ จักต้องมีปัญญารู้เท่าทันขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เห็นทุกข์-เห็นโทษอันเกิดแต่การมีขันธ์ ๕ แล้วจึงจักตัดขันธ์ ๕ และละเวทนาอันเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยไปได้ การละเวทนาหรือละขันธ์ ๕ ได้นั้น ไม่ใช่ไม่มีเวทนา-ไม่ใช่ไม่มีขันธ์ ๕ หากแต่ว่ามีอยู่เป็นปกติ เพียงแต่จิตเป็นผู้รู้อยู่-สักแต่ว่ารู้-สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยเท่านั้น จิตไม่ข้องอยู่ด้วย อารมณ์ขุ่นข้องหมองใจไปกับรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณนั้นไม่มีเลยแม้แต่นิดเดียว อารมณ์จักผ่องใสอยู่ตลอดเวลา อารมณ์หนักใจ-กังวลใจ ไม่มีแม้แต่นิดเดียว สบายใจทุกอย่าง ไม่ว่าขันธ์ ๕ จักตกอยู่ในสภาพใดๆ อย่างนี้เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ ให้พยายามซ้อมตาย และพร้อมตายเข้าไว้ เพราะสักขณะจิตหนึ่งก็ต้องพบกับความตายจริงๆ ไม่มีใครหนีความตายไปได้พ้น ซ้อมไม่กลัวตาย-ซ้อมความพร้อมที่จักตาย-ซ้อมความมั่นคงของจิต ให้เกาะติดพระนิพพานให้ได้ในทุกๆ ขณะจิตที่ร่างกายนี้มีความวิบัติเกิดขึ้นมา

๙. ทำใจให้สบาย สุขภาพไม่ดีก็เป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย จิตจงอย่าทุกข์ไปกับร่างกายด้วย ให้อยู่ในอารมณ์สักแต่ว่ารู้-สักแต่ว่าเป็นผู้อาศัย จิตไม่ข้องอยู่ด้วย ทุกข์ก็จักน้อยลงไป ผู้ไม่รู้ธรรมในจุดนี้ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ มีสติรู้ตลอดเวลาว่า กาย-เวทนา-จิต-ธรรม ๔ ตัวนี้เกิด-ดับๆ ไม่เที่ยงอยู่เป็นปกติธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น เราคือจิตผู้ที่ไปรู้ธรรมทั้ง ๔ ตัวนั้นว่า มันเกิด-ดับๆ อยู่เป็นธรรมดา จิตไม่ไปข้องอยู่ด้วย ผู้ไม่รู้เช่นนี้จิตก็จักไม่สามารถสลัดตนให้ออกจากทุกข์ได้เพราะจิตไปเกาะทุกข์เสีย เลยหมดปัญญา พิจารณาธรรมตามความเป็นจริง สรุปว่า หากทำใจให้สบายแล้วการทำงานก็จักดีไปด้วยการปฎิบัติธรรมก็ดีไปด้วย

๑๐. จงอย่าไหลไปตามโลก ให้เห็นอะไรเกิดขึ้นก็จงคิดว่านี่เป็นปกติของโลก โลกมันเป็นอย่างนี้อยู่ดี ไม่ใช่ธุระอะไรของจิตใจของเราที่จักไปเกี่ยวข้องด้วย ให้พยายามวางทุกอย่างลงที่เป็นธรรมดา ธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้อยู่ดี จงอย่าคิดว่าผิดธรรมดา

๑๑. จงอย่าห่วงอะไร ตัดกังวลเสียให้หมด ทำใจให้สงบเป็นปกติ แล้วค่อยคิดพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง แล้วปัญญาก็จักตัดได้ขึ้นมาก

๑๒. รักษากำลังใจให้เข็มแข็งเข้าไว้ อะไรจักเกิดก็ให้มันเกิดไป ให้เห็นธรรมดาเข้าไว้ว่า มันเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ว่าจักเป็นสภาวะธรรม หรือสภาวะโลก

๑๓. ไม่มีใครไม่มีความทุกข์ ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ เป็นแต่ว่าพระอริยเจ้าท่านฉลาดรู้ทุกข์ แต่ก็ปล่อยวางทุกข์ ให้ดูตัวอย่างพระอริยเจ้าในพระสูตรต่างๆ จักเห็นว่าท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านไม่ทิ้งอริยสัจ เพราะพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระสาวกของพระองค์ท่านทุกๆ องค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจด้วยกันทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ในเมื่อพวกเราที่ปรารถนาจะไปพระนิพพานในชาตินี้ก็ต้องไม่ทิ้งอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะไปได้

๑๔. อย่าไปขวางกรรมของใคร น้ำกำลังเชี่ยวมากไปทำตัวขวางกระแสมีหวังจักได้ล่มกันแน่นอน จงทำตาไปนา หูไปไร่ ไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งหมด แล้วจักอยู่ได้อย่างปลอดภัย

๑๕. ทำอะไรอย่าให้ขาดทุน รักษากำลังใจไม่ทวนกระแสของกรรม ทำใจให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา แล้วจิตจักเป็นสุข

๑๖. จงอย่าลืมว่า ธรรมภายนอกนั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ จงเห็นเป็นของธรรมดา ให้แก้แต่ธรรมภายใน คือ แก้ที่ใจเรา-กายเรา สะดวกและง่ายกว่ามาก หากไม่ทิ้งอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา

๑๗. เราจะต้องหยุดอารมณ์ของเราให้ได้ก่อน จึงจะเห็นความเคลื่อนไหวของกิเลสได้ตามความเป็นจริง เมื่อเห็นความชั่ว-อารมณ์ชั่วของเราด้วยตัวเราเอง เราจึงจะละกรรมชั่วนั้น ๆ ได้ หรือยอมแพ้ความชั่ว-ความเลวของผู้อื่น เพื่อที่จะชนะความชั่ว-ความเลวของตนเอง บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องให้อภัยจึงจะไปพระนิพพานได้

๑๘. ทรงตรัสว่า“ให้มีสติพิจารณาอายตนะกระทบจิตอย่างนี้แหละ รู้แนวทางปฏิบัติเข้าไว้ ต่อไปเมื่อสติดีขึ้นสัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้น จิตรับสัมผัสการกระทบของอายตนะทั้งหมด จักทราบแต่ไม่ซึม คือไม่ซึมเข้าไปสร้างกิเลสอันมีราคะ-โทสะ-โมหะให้เกิดกับจิตได้ กิเลสก็จักระงับไปจากจิต”

๑๙. ทรงตรัสว่า “อย่าเพิ่งย่ามใจ คิดว่าชนะกิเลสได้เรื่องหนึ่งแล้ว ยังไม่ชนะจริงหรอก จงตั้งใจรู้เมื่อถูกกระทบการกระทบเป็นครูสอบจิต-สอบกรรมฐาน ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็เป็นกรรมฐาน วัดกำลังใจทุกครั้ง อย่าย่ามใจ จักเสียท่าต่อกิเลส”

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 16:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

สิงหาคม ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ทรงตรัสสอนเรื่อง วัดใดสมภารวัดดี การปกครองวัดก็ดี-อย่าเดือดร้อนกับสิ่งที่ยังไม่เกิด-อริยสัจห้ามทิ้ง-ดูกายตน ดูจิตตนเท่านั้นก็จบกิจได้-ทุกอย่างเป็นกฎของกรรม-อย่าปล่อยเวลาให้ไร้ประโยชน์-หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์-โรคเจ้าหญิงนิทราเพราะยา-บารมี ๑๐ ห้ามทิ้ง และซ้อมตายและพร้อมตาย เพื่อนิพพานไว้เสมอ)

๑. บุคคลใดล่วงเกินพระรัตนตรัย ทำลายศีล-ทำลายธรรม ก็เท่ากับทำลายตนเอง อาทิเช่น สมภารวัดใด ศีล ๕ ข้อ ยังไม่ครบ ศีล ๒๒๗ จะมีได้อย่างไร แม้เราจักรู้-จักเห็นก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะเป็นธรรมภายนอกตัวเรา-นอกใจเรา ให้พิจารณาด้วยปัญญาว่า ธรรมดาของเขาก็เป็นอย่างนั้นเอง ต้นเหตุเพราะเป็นผู้มากไป ด้วยสักกายทิฐิแวดล้อมไปด้วยบริวารที่เป็นมิจฉาทิฐิ ย่อมถือเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ เป็นธรรมดา และไม่เคารพในกฎของกรรม

๒. จงอย่าใจร้อน ทำใจให้สงบ แล้วอยู่ในปัจจุบันธรรมเสมอ จิตจักเยือกเย็นเป็นสุข อย่าไปเดือดร้อนกับสิ่งที่ยังไม่เกิด

๓. ศัตรูของเรา คือ อารมณ์จิตของเราทำร้ายจิตตนเอง ดังนั้น จิตเฉยๆ จึงเป็นของดี การไม่ฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าจิตสงบ สิ่งที่ควรคิดพิจารณาให้มากคืออริยสัจ อย่าไปไม่พอใจกับอารมณ์ไม่คิดของจิต ความเร่าร้อนทุรนทุรายเป็นโทษของจิต ความสงบเป็นคุณของจิต

๔. อย่าละความเพียรที่จักพยายามทำจิตใจให้ผ่องใส ทำใจให้สบาย ความสบายใจของจิตมีความสำคัญมาก พึงทำให้มาก โดยการวางกังวล-ความห่วงใย-ความติดข้องอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ด้วยความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง พยายามทำให้มาก แล้วจิตจักปล่อยวางพันธะ และภาระต่างๆ ออกจากใจ ไม่มีความหนักใจหลงเหลืออยู่เลย พยายามทำให้ได้ แม้ชั่วขณะจิตหนึ่งก็ยังดี

๕. ให้หมั่นตรวจดูกำลังใจของจิต หรือตรวจดูบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนอยู่ในจิต นั่นแหละประการเดียวกัน อย่าให้ความไม่มีกำลังใจเข้ามาครอบงำจิต เพราะจักทำให้เสียมรรคเสียผลของการปฏิบัติอย่างมากมาย และพึงสังเกตในเวลาจิตมีกำลังใจ อยู่ในสภาพเช่นไร และในเวลาจิตไม่มีกำลังใจมีสภาพเช่นไร จักได้รู้จักวาระ หรือกระแสของจิตที่เข้มแข็งและอ่อนแอแตกต่างกันอย่างไรด้วย มองจิต-มองกายสองอย่างเท่านั้น มองให้เห็นอย่างถ่องแท้ จบกิจได้ในปัจจุบัน

๖. รักษากำลังใจให้อยู่ในกุศลตลอดเวลา อย่าไปคิดตำหนิติเตียนใคร ให้เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมจุดนี้ หากไม่ทำใจให้สบายก็ไม่เห็น อย่าทำร้ายจิตใจตนเอง คนอื่นเขาจักว่าอย่างไร ถ้าจิตใจเราไม่เก็บเอามาคิดความทุกข์ก็จักไม่บังเกิดขึ้นเลย

๗. กรรมฐานวัดอารมณ์จิต โดยเอาชีวิตประจำวันทดสอบใจว่า จักผ่านหรือไม่ผ่าน จิตตึงเกินไปก็สอบตก จิตหย่อนไป-ขี้เกียจไปก็สอบตก ทุกอย่างต้องเดินสายกลางจึงจักมีผล ดังนั้นการหวั่นไหวของอารมณ์ ถ้าไม่เพียรละหรือปล่อยวางด้วยอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันก็เกาะกินใจไปไม่รู้จักจบสิ้น

๘. อย่าไปแก้ปัญหาของคนอื่น ให้แก้ปัญหาที่ใจของตนเอง เป็นประการสำคัญ เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปเป็นหลักใหญ่ ในที่สุดโลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ คิดเอาไว้เสมอๆ จักเป็นกำลังใจ ที่จักปล่อยวางไม่ยึดไม่เกาะใดๆ ในโลก และในที่สุดแม้แต่ชีวิตร่างกาย ก็ไม่เหลือจุดนี้สำคัญมาก คิดเอาไว้ให้ได้เสมอ เป็นการตัดการติดอายตนะขันธ์ได้เป็นอย่างดี

๙. ให้พูดเท่าที่จำเป็น ใคร่ครวญเสียก่อนจึงค่อยพูด เอาเวลาไปเร่งรีบปฏิบัติจิตของตนให้บรรลุมรรคผลนิพพานดีกว่า เพราะชีวิตเหลือเวลาไม่มาก จงอย่าประมาทในชีวิต เวลาล่วงไปๆ ความตาย ย่อมเข้ามาใกล้เข้ามาทุกขณะจิต และอย่าไปสงสารคนที่สงเคราะห์ยาก ให้สงสารและสงเคราะห์จิตของตนเองให้มาก

๑๐. ทุกอย่างเป็นกฎของกรรม จงอย่าหนักใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตและร่างกาย การยอมรับทุกสิ่งทุกอย่าง คือ การยอมรับความเป็นจริง เป็นการยอมรับอริยสัจเป็นการไม่ฝืนกฎของธรรมดา เป็นการเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้อย่างตรงทางที่สุด

๑๑. เวลาเป็นของมีค่า ทำอะไรก็ให้ตั้งใจทำ อย่าปล่อยเวลาให้ไร้ประโยชน์ ชีวิตคนเราสั้นนัก จงใช้เวลาให้คุ้มด้วยการทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ รักษากำลังใจด้วย-รักษากำลังกายด้วย จึงจักช่วยให้การปฏิบัติสมบูรณ์ อย่าทำให้เป็นส่วนสุดทั้งสองอย่าง จึงจักพอดี คือไม่ตึงไป-ไม่หย่อนไป ให้เดินสายกลาง

๑๒. อย่าสนใจจิตของบุคคลอื่น ให้สนใจจิตของตนเอง และความเสื่อมของร่างกายองคนอื่น ก็ไม่พึงน่าสนใจเท่ากับความเสื่อมของร่างกายของตนเอง พิจารณาทุกข์แห่งจิตและร่างกายของตนเองให้มาก แล้วจักเข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย

๑๓. หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ คือพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จพระปทุมมุตตระ ลักษณะพิเศษของพระองค์ท่านคือ พระเกศเป็นดอกบัวตูม ส่วนพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ เขาจะปั้นพระเกศเป็นกนกเปลวเพลิง คือ สูงและแหลมคล้ายๆ กันหมด ในขณะนั้น เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ สมเด็จองค์ปฐมยังไม่อนุญาตให้เปิดเผย เพราะทรงทราบวาระจิตของคนทุกๆ คนได้ว่า มีบางคนหรือหลายคนที่ยังไม่เชื่อว่าหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์คือ สมเด็จพระปทุมมุตตระ หากพูดไปก็จักมีแต่เป็นโทษ เพราะคนเหล่านี้จักปรามาส หาว่าผู้พูดเป็นการตู่พระพุทธเจ้า

ความจริงก็คือความจริง ปัจจุบันก็ปี พ.ศ.๒๕๕๔ ห่างกัน ๑๐ ปี ทรงอนุญาตให้เปิดเผยได้ ทรงตรัสว่า บุคคลใดระลึกนึกถึงพระพุทธาธิคุณของพระองค์ท่านเข้าไว้ จักทรงช่วยให้มีความคล่องตัวทุกประการ แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็จักก้าวหน้าขึ้นได้ ด้วยการสงเคราะห์ของพระองค์ท่าน หากใช้อธิษฐานบารมี ขอท่านให้ช่วยสงเคราะห์ ก็จักได้ผลในทางธรรมปฏิบัติเช่นกัน

๑๔. กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง เรียนรู้กฎของกรรมเอาไว้แล้ว ก็จงอย่าประมาทในกรรม และกรรมแปลว่าการกระทำ ไม่ว่าทางกาย-ทางวาจา-ทางใจ ก็เป็นกรรมทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่วแน่นอนเที่ยงแท้ที่สุดในเรื่องกฎของกรรม เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ก็ให้ยอมรับว่าเป็นกฎของกรรมที่ตามมาให้ผล จงพิจารณาให้เห็น เป็นทุกข์-เป็นอริยสัจ-เป็นธรรมดาของผู้มีร่างกาย อย่ากังวลให้มากนัก เมื่อกฎของกรรมตามมาให้ผล

๑๕. กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ทุกสิ่งเกิดมาตามกรรม อยู่ด้วยกรรม และไปตามกรรมทั้งสิ้น อาทิเช่น เสือ-จิ้งจกเกิดมาเป็นสัตว์กินเนื้อ เพราะไม่มีศีลข้อที่ ๑ ช้าง-ม้า-วัว-ควาย เกิดมาเป็นสัตว์กินหญ้า-กินพืชเป็นอาหารเพราะมีศีลข้อที่ ๑ หากเข้าใจแล้วก็หมดสงสัยในเรื่องเหล่านี้ จิตก็ปล่อยวาง เห็นว่าในที่สุดโลกนี้ ก็ไม่มีอะไรเหลือ มีแต่สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เป็นธรรมดา การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่าครบวงจร เห็นเหตุ-เห็นผล-เห็นความเกิดและความดับของธรรม ถ้าหากเข้าใจไม่ทิ้งหลักของการพิจารณาเรื่องนี้ ก็จักใช้ได้กับทุกเรื่องที่เข้ามากระทบอายตนะสัมผัส จิตก็จักปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ วางได้เพราเห็นว่าธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไปฝืนกฎของธรรมดา เมื่อไม่ฝืนจิตก็ไม่ทุกข์ หากวางได้ทุกเรื่องตามความเป็นจริงเมื่อไหร่ จิตก็ถึงซึ่งพระนิพพานเมื่อนั้น การพิจารณาคือเห็นธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดและปรุงแต่งธรรมจนผิดความเป็นจริงแล้วเอากิเลสมาคิดว่าธรรมนั้นเป็นจริง ให้สังเกตอารมณ์ใจเอาไว้ด้วย อย่าปรุงแต่งธรรม ธรรมล้วนๆ ไม่มีการปรุงแต่ง มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง

๑๖. รักษากำลังใจอย่าให้เครียดเข้าไว้ ร่างกายเหนื่อยก็จงเห็นเป็นธรรมดา จิตอย่าไปเครียดกับมัน วางใจให้สบายๆ เข้าไว้ คิดเอาไว้เสมอว่า งานทางกายอย่างนี้จักมีกับเราเป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่จักต้องมาทำงานอย่างนี้จักไม่มีกับเรา ขอไปจุดเดียวคือ พระนิพพาน

๑๗. อย่าสนใจในจริยาของผู้อื่น จงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น แม้กระทั่งในใจ รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขอยู่อย่างสงบเป็นดีที่สุด ไม่ต้องสนใจว่าใครจักเป็นอย่างไร ให้ตัดอารมณ์เมื่อถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัสว่า นั่นไม่ใช่เรื่องของเรา จงปล่อยวาง แล้วจิตจักเป็นสุข พยายามเห็นทุกข์ของการมีอารมณ์แส่ส่ายให้มาก แล้วจักรู้จักปล่อยวาง เรื่องต่างๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น จิตปลดภาระต่างๆ ลงเสีย ด้วยกำลังใจที่เข้าถึงอริยสัจอย่างแท้จริง จิตจักทรงอริยสัจอยู่ตลอดเวลา

๑๘. อารมณ์อยากบรรลุเร็วๆ –อยากมีฤทธิ์-มีเดช-อยากเด่น-อยากดัง ล้วนเป็นอารมณ์อยากเลวทั้งสิ้น มีบุคคลบางคนฟังเทปเรื่อง ปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า (หลวงพ่อฤาษี) แล้ว อยากปฏิบัติให้เหมือนอย่างท่าน เมื่อทำไม่ได้ก็เกิดอารมณ์น้อยใจ-ท้อแท้หมดกำลังใจ อยากฉลาดอย่างท่าน เลยฉลาดไปหมดเหลือแต่ความโง่แทน เพราไม่รู้กำลังใจของตนว่าอยู่ระดับไหน เอากำลังใจของตนไปเปรียบเทียบกับกำลังใจของหลวงพ่อท่าน

ทรงตรัสว่า นี่แหละตัวกิเลส อารมณ์เปรียบเทียบอย่างนี้ไม่ดี (มานะทิฐิ) จงอย่าลืมว่าการบำเพ็ญบารมีไม่เหมือนกันกำลังใจจึงต่างกัน การเจริญพระกรรมฐานมุ่งพระนิพพานอย่างเดียว จงตัดความทะยานอยากได้ใคร่ดีในการเจริญพระกรรมฐานเสีย มันทำให้เป็นกิเลส จงทำเพื่ออารมณ์ละไม่ใช่ทำเพื่ออารมณ์อยากจนเกินพอดี (อยากเกินพอดีคือ สมุทัยต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) จิตหมองก็พึงให้รู้สาเหตุ เมื่อหาเหตุได้ก็พึงแก้ที่เหตุนั่นแหละ จิตจักได้คลายทุกข์ จิตจักได้หลุดจากกิเลสได้ จงหมั่นหาเหตุที่ทำให้จิตมีอารมณ์เศร้าหมอง มองเหตุให้ชัด แล้วจักแก้ไขทุกเรื่องที่ค้างอยู่ในจิตใจ

๑๙. พระท่านเตือนหมอไม่ให้ประมาทในความตาย เรื่องโดยย่อมีดังนี้ ในสมัยที่หลวงพ่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสร้างห้องเพื่อให้คนมาพักเพื่อเจริญพระกรรมฐานไว้จำนวนมาก คนที่ศรัทธาก็ทำบุญสร้างห้องกรรมฐาน (อันเป็นวิหารทานด้วย และเป็นธรรมทานด้วย) กันเป็นจำนวนมาก ราคาห้องละ ๕๐,๐๐๐ บาท ในสมัยนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งค่าของเงินยังสูงอยู่ ปัจจุบันค่าของเงินต่ำลงมาก (คิดตามราคาทองคำในสมัยนั้น กับสมัยปัจจุบันทองคำหนัก ๑ บาท ราคาเกินกว่า ๒ หมื่นบาทแล้ว) หมอได้บริจาคเงินสร้างไว้ ๒ ห้อง คือห้องหมายเลข ๗๓ และ ๗๔ โดยใช้ชื่อลูกสาวและลูกชายไว้ ส่วนห้องที่ใส่ชื่อตัวเอง หลวงพ่อท่านจัดไว้ให้เป็นที่พักของพระชั้นผู้ใหญ่ที่ท่านนิมนต์มาที่วัด พระท่านมาเตือนหมอให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า หมออนุญาตให้คุณสุรีพร (จ๋า) สงวนมานะศักดิ์ มาอยู่ที่ห้องหมายเลข ๗๓ และ ๗๔ ได้ตลอดชีวิต ซึ่งหมอก็ทำไว้เรียบร้อยแล้วตามที่พระท่านสั่งมอบไว้ให้คุณสุรีพร (จ๋า) ๑ ใบ กับ ท่านพระสุรจิต ๑ ใบ (ถ้าจำผิดก็ต้องขอขมาต่อท่าน) และเก็บไว้กับตัวเอง ๑ ใบ เพื่อความไม่ประมาทในความตาย และให้ถือเอาที่ผมเขียนไว้ในปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า หมออนุญาตให้คุณสุรีพร (จ๋า) สงวนมานะศักดิ์ มาอยู่ที่ห้องกรรมฐานหมายเลข ๗๓ และ ๗๔ ได้ตลอดชีวิต เป็นหลักฐานอยู่ในหนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นเล่มที่ ๑๕ เป็นเอกสารใช้อ้างอิงได้ เพราะผมเขียนเองในขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่และขณะเขียนผมก็มีสติ-สัมปชัญญะดี ผมไม่กล้าเขียนว่ามีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ ซึ่งจะมีได้ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

๒๐. ยารักษาโรคเป็น ๑ ใน ๔ ของปัจจัย ๔ หรือปัจจเวก ๔ ที่พระองค์ทรงตรัสสอนไว้ แต่บางคนใจร้อน ชอบกินยาแรงเพื่อต้องการให้โรคหายเร็วๆ ในสมัยที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด พวกเหล่านี้หาซื้อยากินเพื่อรักษาตนเอง เลยกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลับไม่ยอมตื่นไปหลายราย พระท่านตรัสสอนเตือนว่า “อย่ากินยาแรง จักอันตรายต่อระบบประสาท ยาบางชนิดมีฤทธิ์รุนแรง ตัวยาบางตัวทำให้เลือดออกในสมอง เลือดออกในสมอง ก็เพราะฤทธิ์ยาไปทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองแตก ทำให้เป็นอัมพาตไป จนถึงกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา บางรายแค่ชักกระตุก ยาแก้หวัด ทำให้ร่างกายหลับด้วย และยาแก้หวัดอย่างแรงจึงมีอันตรายมาก ไม่สมควรกิน เป็นอันว่าให้รู้เอาไว้เพื่อจักได้ระมัดระวังในการกินยาต่อไป อันนี้จัดว่าเป็นการพิจารณาโทษของการกินยา อันอนุโลมเข้ากับหลักธรรม ปัจจเวก ๔ ได้อย่างแท้จริง

๒๑. ให้เอาโรคเป็นเครื่องวัดกำลังใจนั้นเป็นของดี เป็นการดูจิตว่า จักทิ้งกายจริงหรือไม่ ถ้ายอมรับไม่ต้องการมีร่างกายอย่างนี้อีก จิตก็ไม่ดิ้นรน-ไม่เดือดร้อน ในเมื่อช่วยมันถึงที่สุดแล้วมันไม่ไหว ก็จงปล่อยวางมันไป ให้จิตใจมุ่งตรงพระนิพพานจุดเดียว พยายามทำให้ได้ในทุกๆ ขณะจิตให้พระนิพพานเป็นปัจจุบันธรรมให้ได้ แล้วตายไปก็จักไม่คลาดจากพระนิพพาน

๒๒. สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสว่า ผู้ใดไม่เข้าถึงอริยสัจยากที่จักบรรลุพระอรหันต์ได้ ดังนั้นอริยสัจจึงสำคัญมากในการบรรลุมรรคผลทุกๆ ระดับ จงหมั่นพิจารณาอริยสัจให้มาก

๒๓. พยายามเอาความป่วยไข้ไม่สบายมาเป็นครูสอนจิตใจ ให้เกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ จักได้กำไรมากกว่าความกังวล และจงนึกถึงคำสอนของหลวงปู่วัยที่เคยสอนว่า เจริญให้ถึงที่สุดของขันธ์ ๕ ว่าไม่มีอะไรที่สมควรจักยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา จงเพียรปล่อยวางความกังวลในขันธ์ ๕ และทุกสิ่งทุกอย่างในโลก โดยเห็นธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้ ให้เห็นธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าจำ ต้องเห็นจนเป็นที่สุดว่า จิตสบายใจแล้ว ขันธ์ ๕ รักษาพยาบาลแล้วจักเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน ให้ตัดกังวลลงเสีย

๒๔. เรื่องอารมณ์ฟุ้งซ่าน จงอย่าคิดอะไรมากจนเป็นเหตุทำจิตให้ฟุ้งซ่าน คิดน้อยๆ ด้วยปัญญา ทำจิตให้สบายดีกว่า เพราะวิสัยของคนย่อมไม่เหมือนกัน บางคนคิดมาก บางคนคิดน้อย นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปคิดเอาว่าจักต้องคิดได้เหมือนกัน

๒๕. สุขภาพทรุดเป็นเรื่องธรรมดา จิตใจจงอย่าไปทรุดตาม ทำกำลังใจให้แน่วแน่ อย่าอ่อนแอไปตามกำลังของร่างกายและจงตั้งกำลังใจให้พร้อมเพื่อจักทิ้งร่างกายนี้ไปเมื่อไหร่ก็ได้ ตัดความห่วงใยลงทั้งปวงให้ได้ภายในขณะจิตเดียว ซ้อมกำลังใจ เดี๋ยวนี้เอาไว้เสมอๆ พยายามให้จิตชินกับพระนิพพานให้ได้

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 17:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

กันยายน ๒๕๔๕




สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ ทรงตรัสย้ำให้ยอมรับกฎของกรรม-อย่าทำงานตามกิเลส ของชาวบ้าน-ถวายสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวร เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา-ดูจิตแล้วแก้อารมณ์จิตตนเองอยู่เสมอด้วยอริยสัจ-คนปล่อยคุณไสยกันมาก ที่วัดท่าซุง มุ่งให้แตกแยกกันด้วย มนต์ดำ-ใช้ทรายเสกไล่ผี, ไล่คุณไสยได้-อย่ามีอารมณ์อาฆาต-พยาบาท-จองเวร เวลาที่ต่อสู้กับคุณไสย-ธรรมะย่อมชนะ อธรรมเสมอ – ให้ยอมรับความจริงเรื่องขันธ์ ๕ อย่างเดียวก็ไปนิพพานได้ และอย่ากังวลเรื่องน้ำท่วมวัด)

๑. อย่าห่วงกายให้มากเกินไป ให้ห่วงจิต เพราะจิตเป็นเราเป็นของเรา แต่กายหาใช่เรา-หาใช่ของเราไม่ คนส่วนใหญ่ยังคิดว่ากายนี้เป็นเรา เป็นของเราอยู่ จึงเอาใจใส่ร่างกายมากกว่าจิตใจเป็นธรรมดา ร่างกายป่วยเป็นโรค หรือสุขภาพกายไม่ดีเหตุเพราะกรรมปาณาติบาตตามมาให้ผลเป็นระยะๆ ไม่ต้องไปฝืน เพราะทำอย่างไรก็ต้องป่วยอยู่ดี ทำใจให้ยอมรับดีกว่า จิตจักเป็นสุข ร่างกายมันทุกข์ก็เชิญมันทุกข์ไป รักษากำลังใจให้เป็นสุขเข้าไว้ให้ยอมรับกฎของกรรมซึ่งเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย

๒. อย่าห่วงใยอะไรให้มันมากนัก ทำงานอะไรก็ตาม พยายามตัดความห่วง-ความกังวลทิ้งไป รักษากำลังใจ ทำงานแต่พอสบายๆ เท่านั้นเป็นพอ อย่าทำงานตามกิเลสของชาวบ้าน เพราะจักเป็นขี้ข้าของชาวบ้านไปจนตาย จงทำงานเพื่อเร่งรัดบารมีคือกำลังใจอันทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานเท่านั้น ทำทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทน

๓. การเจ็บป่วยเป็นของธรรมดาของผู้มีร่างกาย ไม่มีใครที่หนีพ้น โดยเฉพาะโรคหิว ชิคัจฉา ปรมา โรคา เราทำได้แค่บรรเทาโรคของร่างกายได้เท่านั้น จงอย่าหลงคิดที่จะรักษาโรคของร่างกายให้หายทุกอย่างให้ทำไปตามหน้าที่ในทางสายกลาง ดังนั้นเห็นใครป่วย แม้แต่ตัวเองป่วย ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมดาของขันธ์ ๕ ไม่มีใครห้ามกฎของกรรมได้ ทำใจให้สบาย

๔. ทำกำลังใจให้เต็มในอภัยทาน แล้วจึงอธิษฐานจิตอุทิศสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวร ที่กำลังให้ผลทำร่างกายเจ็บป่วยอยู่ในขณะนี้ ก็จักทุเลาเบาบางลงไปด้วย อำนาจเมตตาบารมี อย่าไปพึงรู้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด รู้แต่ว่าวาระกรรมอย่างนี้ มันเกิดขึ้นแล้ว ก็จงแก้ไขผ่อนหนักให้เป็นเบาไปได้ และจงอย่าลืมว่า กรรมใคร-กรรมมัน พยายามอย่าไปยุ่งกับกรรมของผู้อื่นเขา ยกเว้นในกรณีที่เขาผู้นั้นมีกรรมผูกันอยู่กับเรา

๕. วัดดีทุกวัด จักมีเทวดา-นางฟ้าคุ้มครองอารักขาอยู่มาก คนที่มาอาศัยวัดอยู่ หรือมาทำบุญที่วัด ก็ไม่ควรประมาทในการทำความดี เช่น ขณะทำวัตร นั่งสัปหงก หรือคุยกันเป็นความประมาท และปรามาสพระรัตนตรัย จงอย่าปล่อยจิต ปล่อยใจให้ขาดสติ พึงฝึกฝนตนเองอย่างตั้งใจจริง สถานการณ์ในวัดจักเป็นอย่างไร จงอย่าสนใจ ใครจักประพฤติปฏิบัติอย่างไร จงอย่าสนใจ เอาจิตตนเองให้รอดเท่านั้นเป็นพอ เรื่องทุกเรื่องอันเกิดขึ้นตามกิเลสของคนให้ทิ้งออกไปจากใจ รักษาอารมณ์ให้สงบ อย่าไปวุ่นวายกับคนอื่น เรื่องในวัดทั้งหมดเป็นกฎของกรรม มันเกิดขึ้นเป็นไปตามกรรม อย่าไปเพ่งโทษตำหนิใคร ปัญหาในด้านจิตใจของตนเอง อันซึ่งจักละซึ่งกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-อกุสลกรรม ยังมีอีกมาก ให้มาทำงาน หรือสนใจในส่วนของตนเองจักดีกว่า ให้ระลึกเอาไว้ว่า หากเราทำความดี แม้จักอยู่ที่ไหนก็ตาม ภุมเทวดา-รุกขเทวดา-อากาศเทวดาก็ตาม ที่ท่านอยู่ที่นั่น ท่านก็จักมีโอกาสโมทนาบุญ ความดีของเรา จงตั้งใจทำแต่ความดี อย่าได้ขาดสติคิดชั่วๆ ไม่ยอมคิดดีตามแนวพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคตที่ตรัสสอนไว้ คือ โพธิปักขิยะธรรม ๗ หมวด อันมีมหาสติปัฏฐาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , สัมมัปปทาน ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรค อันมีองค์ ๘ (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) คิดตามแนวนี้ จัดอยู่ในความดีที่นำไปสู่ความหลุดพ้นทั้งสิ้น

๖. จงหมั่นใคร่ครวญ หาเหตุ หาผลที่เกิดกับอารมณ์ของจิตให้มาก อย่าปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้กิเลสกินใจมองเข้าไว้ตามความเป็นจริง แม้จุดเล็กๆ ก็ทำภัยใหญ่ให้เกิดขึ้นกับจิตได้ แม้ที่สุดเหตุแห่งความเครียด แม้นิดหนึ่งก็เป็นภัยกับจิต จงอย่าละเลยในจุดเล็กๆ ที่ทำให้จิตหมอง หมั่นเอาอริยสัจชำระจิตเอาไว้เสมอๆ จิตก็จักมีความสุข เพราะมีความสงบจิตเกิดขึ้นมาก จิตเป็นเหตุ-เป็นผลตามความเป็นจริงมากขึ้น

๗. ให้ระวังอารมณ์เซ็งไว้ให้ดี เพราะเป็นเหตุถ่วงอารมณ์ให้จิตหมอง ดูสาเหตุเซ็งเอาไว้ให้ดี ไม่มีคุณกับจิตเลย จงหมั่นชำระจิตให้ผ่องใส อย่าปล่อยให้จิตเศร้าหมองนาน หาสาเหตุให้พบ แล้วหมั่นแก้ที่ต้นเหตุ จิตจักได้เป็นสุขมีการปฏิบัติกรรมฐานดีขึ้น

(สาเหตุเพราะเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกับผม ท่านชอบคิดอะไรๆ ออกนอกตัว ทำร้ายจิตของตนเองให้เศร้าหมองอยู่เสมอ พระท่านจึงเมตตามาเตือน โดยให้ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา ซึ่งแก้ได้หมดทุกๆ ปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางโลก หรือทางธรรม)

๘. ระวังอย่ทำร้ายตนเอง เวลานี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำใจให้สงบ จงพยายามประคองจิตให้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ แต่อย่างเดียวก็พอ การคิด ในบางขณะแทนที่จักดีก็รังแต่จักทำให้จิตฟุ้งซ่าน (การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน ทำได้ ๒ วิธี คือใช้สมถะภาวนาโดยอานาปานัสสติ กับการใช้วิปัสสนาภาวนา โดยการคิดใคร่ครวญในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เพื่อให้จิตสงบ แต่บางโอกาสคิดเกินพอดีไป เลยกลายเป็นฟุ้งซ่าน)

๙. การแสวงหามรรคผลเกินกว่ากำลังใจของตนเอง ก็เป็นกิเลส ให้พยายามปฏิบัติธรรมในปัจจุบันให้ดี อนาคตจักเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ จงอย่าสนใจ ตั้งใจทำวันนี้ให้ดีอย่างเดียวก็พอ รักษาขณะจิตหนึ่ง ๆ ให้ได้ด้วยสติที่ระลึกรู้อยู่เสมอ ทำไปเรื่อยๆ อย่าท้อใจ แล้วจักดีขึ้นเอง (ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเกี่ยวกับธรรมข้อนี้ มีบุคคลบางคนยังรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ไม่ได้ดีพอ แต่ไปรักษาศีล ๘ แทน เพราะความไม่เข้าใจว่าศีล ๘ นั้น ความสำคัญอยู่ที่ข้อ ๓ คือ อพรัมจริยาเวระมณี ซึ่งจะต้องทำจิตให้บริสุทธิ์เหมือนพรหม การปฏิบัติจริงๆ ยากมากๆ เพียงแค่จิตหวั่นไหวไปกับอายตนะสัมผัสทั้ง ๖ คือรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-ธรรมารมณ์ ก็สอบตกแล้ว พวกเหล่านี้ยังจับอารมณ์จิตของตนเองยังไม่ได้ หรือจับได้แต่ยังอยู่ในขั้นหยาบๆ เท่านั้น ก็หลงตัว หลงตนไปรักษาศีล ๘ ข้อ อุปมา-อุปมัย เหมือนคนที่ยังสอบ ม.๕ ไม่ผ่าน หรือผ่านก็แค่คาบเส้น แบบลูกผี-ลูกคน ก็หลงตนเองคิดว่าตนเองเก่ง แล้วไปสมัครสอบ ม.๘ นั้นแหละ ความจริงรักษาศีลเพียง ๕ ข้อให้บริสุทธิ์ ก็ไปพระนิพพานได้แล้ว)

๑๐. อย่าไปยุ่งกับกรรมของผู้อื่น รักษากำลังใจ ให้ดูทุกอย่างตามความเป็นจริง ใครจักเป็นอย่างไร ก็จงปล่อยวางให้เห็นว่า กรรมของเขาเป็นอย่างนั้น มี่ใครอยากเลว ที่ทำไปเพราอกุศลกรรมบังคับ และจงอย่าเกิดความสาสมใจเพราะมันเป็นอารมณ์เลวประการหนึ่งเช่นกัน จงฝึกวางอุเบกขารมณ์ให้เกิดกับจิต ด้วยการยอมรับนับถือกฎของธรรมดา พิจารณาทุกอย่างให้เห็นตามความเป็นจริง

๑๑. เรื่องคุณไสยเป็นของธรรมดามีอยู่เป็นปกติในทุกๆ พุทธันดร ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า “พระพุทธเรวัตตะ” ทรงพระเมตตามาตรัสสอนเรื่องนี้ว่าเป็นของธรรมดา ในสมัยที่หลวงพ่อฤาษีท่านทิ้งขันธ์ ๕ เพื่อไปสู่พระนิพพาน เหล่าศิษย์ของท่านตั้งขันธ์ ๕ ของหลวงพ่อฤาษีไว้ที่ศาลา ๑๒ ไร่ เพื่อให้พวกศิษย์ของท่านที่อยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศมาเคารพสักการะ ก็มีคนเข้ามาปล่อยคุณไสยในศาลา ๑๒ ไร่ และในเขตวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี จำนวนไม่น้อย และทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ผมขอเขียนไว้สั้นๆ แค่นี้

๑๒. รักษาร่างกาย จงสักแต่ว่ารักษาไปตามหน้าที่ คุมอารมณ์ใจ จงอย่าห่วง-อย่ากังวลในอะไรทั้งหมด โลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่ร่างกายของตนเอง พิจารณาอย่างนี้เอาไว้เสมอ ๆ จิตจักเป็นสุข

๑๓. ทำใจให้มั่นคง อย่าไปอ่อนแอให้กับร่างกาย ให้เห็นเป็นปกติธรรมของร่างกาย ว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีใครห้ามปรามได้ ถ้าหากปรารถนาจักไปพระนิพพานก็จงวางภาระความกังวลในขันธ์ ๕ ลงเสีย

๑๔. ธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่จงอย่าวางใจ ไม่ควรที่จักประมาท ให้ป้องกันตัวเอาไว้ให้เสมอๆ อย่าหวั่นไหวก็แล้วกันคุณไสยทำอะไรไม่ได้หรอก

๑๕. คาถาปิดหน้า-ปิดหลังของสมเด็จองค์ปัจจุบัน คือ อิติ-ติอิ บทนี้เป็นพุทธคุณ ส่วนคาถาของหลวงพ่อฤาษี คือ พุทธังทลาย ธัมมังหาย สังฆังสูญ

๑๖. ทรงตรัสว่า การว่าคาถาต้องทำใจให้สบาย บทภาวนาทั้งหลายจักได้ผล ต้องใจเย็นๆ ภาวนาด้วยความเย็นจึงจักได้ผลใหญ่ ถ้าเร่าร้อนก็จักสู้กำลังคุณไสยที่ส่งเข้ามาไม่ได้ พยายามอย่าเครียดนึกถึงภาพพระยิ้มไว้ (พระยิ้ม คือภาพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แย้มพระโอษฐ์และมีภาพของหลวงพ่อฤๅษียิ้มซ้อนอยู่ จิตผู้ใดไม่ทิ้งภาพพระยิ้มรูปนี้ ถือว่าผู้นั้นจิตมีกสิณภาพพระรัตนตรัยอยู่กับจิตตลอดเวลา เพราะจิตเกาะติด-ยึดพระพุทธเจ้า-พระธรรม(กสิณภาพพระคือ พระธรรม) และพระอริยสงฆ์ (หลวงพ่อฤๅษี) ครบในคราวเดียวกัน จึงเท่ากับพกพระรอดไว้กับจิต จิตจึงรอดปลอดภัยตลอดกาล ส่วนกายนั้นจงอย่าสนใจเพราะมันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ และกายมันก็ไม่มีทางรอดอยู่แล้ว) พระยิ้มท่านจักช่วยได้มาก จงอย่าประมาทก็แล้วกัน

๑๗. ทรงตรัสถามว่า “ปัญหาวังวน ให้สรุปเอาง่ายๆ ว่า ร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา ก็แล้วกัน เห็นชัดๆ คือ เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราคือผู้รู้ ไม่ติดอยู่ในขันธ์ ๕ เสียอย่างเดียวก็เป็นพระอรหันต์ได้ หมั่นประคองจิตให้ไม่ติดอยู่กับอายตนะสัมผัสทั้งภายนอก และภายใน ตั้งอยู่กับวิเวกทางกาย-วาจา-ใจ ไม่ใช่หนีคน-หนีสัตว์-หนีโลก หากแต่ผจญหน้าอยู่กับมันเห็นเป็นธรรมดาทุกอย่าง กาย-วาจา-ใจสงบอยู่เสมอ ด้วยการรู้เท่าทันกับความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕-อายตนะสัมผัสมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ผู้รู้ไม่ติดอยู่ในอะไรทั้งหมด อันไหนจักเป็นจิตอันไหนจักเป็นอะไรก็ช่างมัน รักษารู้อยู่อย่างนี้ ไม่ติดในขันธ์ ๕ – ไม่ติดในอายตนะสัมผัส ทุกอย่างวางหมด แต่การทำงานตามหน้าที่ ยังคงมีเป็นไปตามปกติ กาย-วาจา-ใจวิเวกสงบ มันจักเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน ไม่ข้องอยู่กับอะไรทั้งหมด ประคองตัวให้รู้-ตัวรู้อยู่อย่างเดียว แต่จงอย่าเครียด ให้มันภาวนาก็ได้ ให้มันรู้คิดก็ได้ ทำตามสบายๆ เพราะถ้าเครียด จิตก็ไปยึดเครียด กายเครียด จิตก็ยึดอาการทางกายมาเป็นจิตเครียด มีความจำมันเครียด ให้ฝึกวางไม่ยึดกายเครียด จิตที่ไปยึดก็วางไปเสีย ไม่เอาอะไรสักอย่าง” (สรุปว่า ให้อยู่แต่อารมณ์สักแต่ว่า ไม่ยึด-ไม่ติด-ไม่ข้องอยู่ในอะไรทั้งหมด) (ที่ทรงตรัสเรื่องปัญหาวังวน ก็เพราะว่าเพื่อนของผมท่านยังปฏิบัติไม่ถึง หรือยังทำไม่ได้ จิตก็ปรุงแต่งธรรมไปตามแต่กิเลสจะพาไป แล้วก็กลับมาอยู่ที่เก่า เพราะวิจิกิจฉายังไม่หมดจากจิต ซึ่งก็เป็นธรรมดา เมื่อยังปฏิบัติไม่ถึงธรรมใด ก็ยังไม่หมดสงสัยในธรรมนั้นเป็นธรรมดา)

๑๘. ให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าไปกังวลใจอะไรล่วงหน้า ให้อยู่แค่วันเดียว รักษาจิตให้สบายแค่วันเดียวก็พอ อย่าไปสนใจกับกิเลสของชาวบ้านชาววัด รู้เอาไว้ประดับใจ แล้วรู้ว่าพฤติการณ์อย่างนี้ไม่ดี จงอย่าทำตามเขาก็แล้วกัน

๑๙. สุขภาพไม่ดี ก็จงรักษากำลังใจให้ดี อะไรไม่สำคัญเท่ากำลังใจ อุปสรรคใหญ่ของการปฏิบัติคืด ขันธ์ ๕ การวัดกำลังใจก็คือเห็นขันธ์ ๕ และยอมรับขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง คนกล้าเผชิญหน้ากับความจริงของขันธ์ ๕ เท่านั้น จึงจักไปพระนิพพานได้

๒๐. ให้ระวัง แต่อย่าระแวง ระวังเป็นพระธรรม คือจงอย่าประมาท แต่ระแวงเป็นกิเลส เป็นอารมณ์เครียด หรืออารมณ์ปฏิฆะ เป็นการจุดไฟเผาจิตตนเอง จงอย่าประมาทก็แล้วกัน


๒๑. จงอย่าประมาท ทำใจให้สบาย แล้วจักรู้หนทางแก้ไข ว่าเป็นไปอย่างไร ธรรมของตถาคตจักต้องหยุดอารมณ์จิตของตนให้ได้ก่อน จึงจักเห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ตามความเป็นจริง พยายามทำจิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้เป็นสุข อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด เรื่องของธรรมชาติไม่มีใครจักห้ามได้ อาทิ น้ำท่วม-ฝนแล้ง-พายุพัด-ไฟไหม้-แผ่นดินไหว เป็นต้น ให้ทำใจยอมรับกฎของกรรมเข้าไว้ นี่เป็นกรรมของคนทั้งแผ่นดิน

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


แก้ไขล่าสุดโดย สัจจานุรักษ์ เมื่อ 31 ส.ค. 2011, 17:41, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 17:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

ตุลาคม ๒๕๔๕





สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ ทรงตรัสเรื่องอย่างกังวลเรื่องน้ำท่วมวัดเพราะเป็นกฎของกรรม – จงอย่าประมาทในชีวิต – กรรมจากการขูดรีดดอกเบี้ยเขา – จงอย่ายึดทุกสิ่งในโลกว่าเป็นเรา เป็นของเรา – พระธรรมย่อมมีเหตุ-มีผลในตัวเสมอ และพระอรหันต์ ที่ยังมีกายอยู่ย่อมมีทุกข์ทางกายเป็นธรรมดา)

๑. น้ำท่วมวัดเป็นการตัดเคราะห์ใหญ่ ทรงตรัสไว้มีความสำคัญว่า น้ำท่วมในปีนี้จักรุนแรงกว่าปี ๒๕๓๘ เป็นการตัดเคราะห์ใหญ่ คือสงครามใหญ่อันจักเกิดตามมาในไม่ช้านี้ ทำใจให้เรียบร้อย อะไรมันจักเกิดก็ต้องเกิด อย่าห่วง-อย่ากังวล ทำอะไรให้รู้จักประหยัดและอดออม ต่อนี้ไปย่อมตกอยู่ในสภาวะลำบากกันทั่วหน้า ให้ทำใจยอมรับกฎของกรรมเข้าไว้ นี่เป็นกรรมของคนทั้งแผ่นดิน

๒. ต้นโพธิ์ใหญ่ที่อยู่ข้างพระจุฬามณีล้มขณะน้ำท่วมวัด ท่านลุงปรุง ตุงคะมณี ซึ่งเป็นพระอรหันต์มาบอกว่า “เป็นกรรมที่ไปล่มเรือฆ่าเจ้าสัว” มีความโดยย่อว่าในสมัย ร. ท่านออกอุบายให้คนของท่านไปล่มเรือที่เจ้าสัวเดินทางมาจากเมืองจีน เพื่อทวงหนี้ท่าน เมื่อเจ้าสัวตาย หนี้ก็มิต้องชดใช้ เจ้าสัวก็คือลุงปรุงนั่นเอง

ท่านพระสุรจิต ตั้งศาลให้แทน เพราะต้นโพธิ์นั้นมีรุกขเทวดาอยู่เป็นจำนวนมาก พระท่านให้เห็นกฎของกรรมว่าเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย การเกิดมามีร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ จงอย่าเผลอใจคิดว่าการมีชีวิตอยู่จักมีความสุข ให้รู้-ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอริยสัจ

๓. จงอย่าประมาทในชีวิต ทำจิตให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้อยู่เสมอ การปฏิบัติทุกอย่างให้ลงตรงขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ลืมกฎธรรมดาเสียอย่างเดียวก็สามารถจบกิจได้ทุกเมื่อ

๔. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากชีวิตยังทรงอยู่ ก็ต้องดูแลร่างกายให้อยู่ดี กินดี เสมือนหนึ่งผู้อยู่บ้าน-ดูแลบ้านให้ดี แล้วผู้อยู่ก็อยู่อย่างเป็นสุข เช่นเดียวกันกับจิตที่อยู่กับร่างกาย ร่างกายดีก็ไม่มีทุกขเวทนามาก จิตก็เป็นสุขต่างกับร่างกายที่ขาดการดูแลบำรุงรักษา ก็เช่นเดียวกับบ้านผุ ๆ หลังคาพัง ๆ ผู้อยู่ก็อยู่อย่างเป็นทุกข์ ไม่รู้พื้นไม้จักทรุดลงไปเมื่อไหร่ หลังคาจักหล่นลงมาทับเอาเมื่อไหร่ ฝนตก-แดดออกก็คุ้มกันไม่ได้ ฝามันจักหลุดออกไปทุกเมื่อ ภัยมาทีไร ผู้อยู่ทุกข์ด้วยความไม่สบายใจทุกที จิตก็เหมือนกัน ถ้าร่างกายไม่ดีก็ทุกข์อยู่นั่นแหละ เต็มไปด้วยความหวั่นไหว กังวลกับร่างกายที่เป็นไปด้วยโรคภัยต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นผู้รู้จึงบริหารร่างกายด้วยความฉลาดพยายามไม่สร้างทุกข์ให้เกิดทั้งทางกาย และจิตใจ

๕. ทำใจให้สบาย อย่าอึดอัดกับสภาพที่เป็นอยู่ เห็นเป็นปกติของการมีขันธ์ ๕ ก็ต้องมีภาระของขันธ์ ๕ อย่างนี้เป็นของธรรมดา และเมื่อรู้ว่าสุขภาพไม่ดี ก็ให้พักผ่อนให้มาก อย่าโหมงานหนัก จักทำให้ร่างกายเกิดการป่วยไข้ไม่สบายได้ง่าย

๖. ร่างกายจักอยู่ได้แค่ไหน ก็เป็นกฎของกรรม จงอย่าห่วงร่างกายให้มากนัก มุ่งเอาความสบายของจิตใจเป็นสำคัญ แต่ในจุดนี้จักต้องอยู่ในความพอดี คือดูแลร่างกายอย่างดีด้วย แล้วก็ดูแลจิตใจของตนเองอย่างดีด้วย มีความเสมอภาคคือ ไม่ลำเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง เห็นธรรมทั้งทางร่างกายว่าปกติธรรมของร่างกาย คือ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย และเห็นธรรมของจิตใจว่า ปกติธรรมของจิตใจ คือ ความปรารถนาไม่สมหวัง ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อย่างนี้เป็นต้น จิตใจลงธรรมดาเสมอ อย่าคิดว่ามีอย่างหนึ่งอย่างใดผิดปกติของร่างกาย หรือจิตใจ ให้เห็นเป็นธรรมดาเสียให้หมด ธรรมดาจริงๆ นะ ไม่ใช่ไปฝืนให้ยอมรับ จงฝึกจิตใจให้ยอมรับอย่างจริงใจ เมื่อเห็นทุกอย่างมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ความสบายใจก็จักเกิดขึ้น ไม่ฝืนธรรมทั้งร่างกายและจิตใจ ความสุขก็จักปรากฎกับจิตใจ ถ้าหากทำได้อย่างนี้ พระนิพพานก็อยู่แค่เอื้อม

๗. รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน จงอย่าคลอนแคลนหวั่นไหวไปกับโลกธรรม จงรู้เอาไว้เสมอว่า เมื่อเราสามารถประคองใจของเราให้ดีแล้วไซร้ ปัญหาภายนอกทั้งหมดก็ไม่สามารถสร้างความหวั่นไหวให้กับจิตใจของเราได้ จิตก็จักมีความมั่นคงแน่วแน่อยู่ในความสงบ โลกจักหวั่นไหวก็ให้หวั่นไหวไป จิตมั่นคงสงบระงับได้เท่านั้นเป็นพอ อย่าหวั่นไหวไปกับโลก

๘. ทำใจให้สบาย ร่างกายมันทุกข์เชิญให้มันทุกข์ไป ทำใจให้เป็นสุขก็แล้วกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ให้เบาใจเข้าไว้ อย่าให้มีอารมณ์หนักใจ จงมีความตั้งใจ ทำทุกอย่างด้วยความไม่หนักใจ (ใช้วิริยะ-ขันติ-สัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุม) ทำตามสบายๆ โดยรู้แน่ชัดว่าสิ่งนั้นทำแล้วไม่ขัดต่อศีล-สมาธิ-ปัญญา อย่างนี้ เรียกว่าทำเพื่อพระนิพพาน

๙. กรรมที่ข่มขู่-ขูดรีดดอกเบี้ยเขา พอเกิดเป็นหมาก็ถูกตัวเห็บและหมัด ตามกินเลือด เรื่องนี้จำได้ว่าหลวงพ่อฤๅษีท่านเคยเล่าให้ฟังความว่า บุคคลเหล่านี้สร้างกรรมเรื่องขูดรีดดอกเบี้ยเขาแพงๆ เพราะหลงคิดว่าสามารถจะเอาทรัพย์สมบัติของโลกไปได้ เมื่อตายอยู่ในอารมณ์หลงก็เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน จะเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตามก็จะต้องมีตัวเห็บ-ตัวหมัดกัดกินเลือดเสมอ หากเกิดเป็นคน ก็ยังถูกเขาขูดรีด-โกงทรัพย์สินอยู่ตลอดไปเช่นกัน จุดประสงค์ที่ท่านให้บันทึกไว้ ก็เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้อ่าน จะได้ยอมรับในกฎของกรรมซึ่งเที่ยงเสมอ อ่านแล้วจะได้ไม่ประมาทในกรรมชั่ว ละเว้นกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดีหมั่นสร้างความดีเอาไว้เสมอ

๑๐. จำไว้โลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ จงอย่ายึดถือสิ่งใดๆ ในโลกเป็นสรณะ ทรงตรัสสอนเพราะรู้วาระจิตของบุคคลที่มีอารมณ์เสียดายทรัพย์สิน-เครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม พอน้ำลด จิตไม่ยอมรับสภาพตามความเป็นจริง หรือไม่ยอมรับกฎของกรรม ไม่เห็นว่าชีวิตและทรัพย์สินเป็นของไม่เที่ยง หรือไม่เห็นว่าสิ่งที่เที่ยงที่สุดในโลก นี้ก็คือความไม่เที่ยงนั่นเอง

๑๑. การถูกตำหนิเป็นของดี จักได้รู้จักแก้ไขในจุดบกพร่องของตนเอง และเป็นการทดสอบอารมณ์จิตของตนเองในเรื่องโลกธรรม จงอย่าเสียกำลังใจ เพราะทุกคนถ้ายังไม่ถึงพระนิพพาน คือยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมจักมีจุดบกพร่องเป็นของธรรมดา แต่เมื่อรู้แล้วก็พึงแก้ไข จัดได้ว่าเป็นของดี

๑๒. คนที่จักไปพระนิพพาน จักต้องรู้จักแก้ไขอารมณ์ใจที่เป็นกิเลสของตนเอง ด้วยการยอมรับความเป็นจริงของอารมณ์ของตนเองโดยดุษฎี ไม่ปฏิเสธความจริงโดยเข้าข้างกิเลสแห่งตน จงเพียรแก้ไขกิเลสในสันดานให้ได้ แล้วจักถึงพร้อมซึ่งพระนิพพานได้ เมื่อจิตถูกชำระให้ผ่องใสแล้ว

๑๓. ทำอะไรจงอย่ากังวล ทำด้วยจิตที่สบายใจมากที่สุดเท่าที่จักมากได้ และทำอะไรอย่าได้หวังผลตอบแทนทั้งหมด ประคองจิตเอาไว้ให้ดีๆ

๑๔. ทำทุกอย่างเพื่อบูชาพระพุทธศาสนา ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน มุ่งเอาจิตพ้นจากกิเลสเป็นหลักใหญ่ และจงอย่ากังวลใจ ทำอะไรจงมั่นใจในความดีเอาไว้ให้เสมอ อย่าทำกำลังใจให้เสื่อมถอย ยับยั้งจากอารมณ์หดหู่ลงเสียให้ได้ ทำใจให้เป็นสุข

๑๕. อย่าติดในโลกธรรม ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา จงอย่าติดในโลกธรรม ด้วยเห็นความไม่เที่ยงเป็นสิ่งที่ยึดถืออะไรไม่ได้ จงยอมรับนับถือความไม่เที่ยง จิตจักได้ไม่เร่าร้อน

๑๖. จงอย่าปรุงแต่งธรรม จิตจักได้ไม่ตกเป็นทาสของสังขาร (สังขาร คือ อารมณ์ปรุงแต่ง) เพียรมองธรรมะด้วยจิตอันสงบแล้วจักรู้เห็นเป็นไปเป็นกฎของธรรมดา จิตจักไม่ดิ้นรนไม่เป็นอุปาทานในการยึดมั่นถือมั่น อันเกิดจากการปรุงแต่งนั้น ค่อยๆ ดูไปด้วยสติ-สัมปชัญญะ อย่าหุนหันพลันแล่น ธรรมะย่อมมีเหตุ-มีผลในตัวเสมอ อย่าเอากิเลสไปพอกธรรมะ ให้เอาธรรมะมาชำระจิต เห็นทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้นเอง จิตยอมรับก็เป็นสุข เพราะเห็นวิมุติธรรม (ขอยกตัวอย่าง ดังนี้ เวลาที่ฝนตก คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นตัวธรรมดาของธรรมชาติ จึงปรุงแต่งธรรมในแง่ร้ายว่า ถ้าโดนฝนแล้วเดี๋ยวจะเป็นหวัด หรือเป็นไข้ คนส่วนน้อยกลับคิดในแง่ดีว่า เออเราโชคดี พระท่านช่วยพรมน้ำมนต์ให้ ซ้ำยังอธิษฐานจิตขอบารมีของพระท่านช่วยให้บรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางร่างกาย และทางใจด้วย หรือช่วยปกป้องภัยอันตรายทั้งหลายให้กับเราด้วย ควรมิควรสุดแต่พระองค์จะทรงพระเมตตา บุญ-บาปเกิดได้ในปัจจุบันธรรม ด้วยความคิดของตนเองทั้งสิ้น ความจริงแล้วคิดได้หลายแบบ-หลายมุมสุดแต่จิตเราจะคิด คิดดีบุญเกิด คิดไม่ดีบาปเกิด เราเป็นผู้สร้างกรรม หรือเป็นผู้กระทำตนเองทั้งสิ้น)

๑๗. พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายที่จิตท่านอาศัยอยู่ก็เจ็บ-ป่วยเป็นธรรมดา แต่จิตท่านไม่ป่วยตามกายเท่านั้น เห็นเวทนาของกายเกิดดับๆ ไม่เที่ยงอยู่เป็นธรรมดาจิตไม่เกาะ-ไม่ติด-ไม่ข้องอยู่ด้วยในเวทนานั้นๆ ท่านอยู่ในอารมณ์สักแต่ว่า คือ สักแต่ว่ารู้-สักแต่ว่าเห็น-ตามอายตนะสัมผัสของรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสทางกายและทางใจ จิตไม่หวั่นไหวไปตามอายตนะสัมผัสนั้นๆ ทุกอย่างเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้นเอง การปรุงแต่งธรรมจึงไม่มีอุปาทาน หรืออารมณ์ยึดมั่น-ถือมั่นก็ไม่เกิด เพราะท่านเห็นขันธ์ ๕ หรือร่างกายตามความเป็นจริง จิตก็อยู่กับความจริงนั้น ไม่ดิ้น-ไม่รน ไม่กระสับกระส่ายไปกับเวทนานั้นๆ จงยอมรับนับถือกฎของธรรมดาอย่างจริงใจ ด้วยใจจริงแล้วจิตก็จักสงบ ปราศจากความวุ่นวายของขันธ์ ๕

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 17:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในเดือน

พฤศจิกายน ๒๕๔๕





สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

(ในเดือนนี้ทรงเน้นเรื่องบารมี ๑๐ เช่น วิริยะ-ขันติ-สัจจะ-อธิษฐาน-เมตตาและอุเบกขาบารมี โดยมีปัญญาคุมในการทำงานทางโลก และทางธรรม – จงหาความพอดีให้พบ – โลกไม่เที่ยง ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้ – จงอยู่แต่ปัจจุบันธรรม – พยายามอย่าปรุงแต่งธรรม – สำรวมอายตนะสัมผัสให้มาก และให้เชื่อแต่พุทธพยากรณ์เท่านั้น)

๑. จงอย่าท้อใจ จักเป็นการทำปัญญาให้ถอยหลัง เพราะเป็นอารมณ์ปฏิฆะ เป็นนิวรณ์หรือความชั่วของจิต จงพยายามเข้มแข็ง และอดทนเข้าไว้กับอุปสรรคทั้งปวง และจงรักษากำลังใจให้เป็นสุข มีความสงบของจิตให้มากๆ จักได้มีปัญญาเกิดขึ้นในจิต โดยไม่ต้องอาศัยธรรมที่ปรุงแต่ง จิตจักมีปัญญาเข้าถึงธรรมล้วนๆ ได้อย่างมั่นใจ และมั่นคงอย่างแท้จริง ไม่หวั่นไหวไปกับกิเลสทั้งปวง

๒. อย่ากังวลใจ เพราะเป็นนิวรณ์หรือความชั่วของจิต ทำปัญญาให้ถอยหลังเช่นกัน พยายามวางจิตไว้กับปัจจุบันธรรมเป็นดีที่สุด

๓. นิพพานเป็นของไม่ยาก แต่การวางจิตให้มีกำลังใจตัดกิเลสเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน เป็นของยาก ถ้าไม่ตั้งใจตัดจริงๆ ก็บรรลุได้ยาก คนทำความเพียรเพื่อพระนิพพาน ก็อุปมาเหมือนการหยดน้ำใส่ในตุ่ม ถ้าหากขยันตักมาหยดใส่ประจำโดยไม่ขี้เกียจ ก็จักเต็มได้ในไม่ช้า แต่ถ้าขี้เกียจก็ไม่รู้จักเต็มตุ่มสักที กำลังใจของการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ถ้าปักแน่นในความตั้งใจแล้ว ตรวจจิตดูหาจุดบกพร่องตรงไหน หมั่นอุดรูจุดนั้น ทำให้จริงๆ จังๆ ก็จักประสบผลสำเร็จ การตรัสนี้เป็นการชี้แนะเท่านั้น ทำได้หรือไม่ได้ ก็อยู่ที่ตัวของเจ้าเอง

๔. จงหาความพอดีให้พบ และจงอย่าเอากิเลสมาทำงาน อย่าเอาอารมณ์ความอยากเข้ามาทำงาน จงทำงานด้วยความตั้งใจจริง อันกอปรไปด้วยปัญญา ทำตามความเหมาะสมของงาน แล้วงานจักออกมาด้วยดี จงวางกำลังใจให้ได้อย่างนี้ ทำอะไรให้สมควรแก่เวลา และสมควรแก่ร่างกาย อย่าสักแต่ว่าเอาแต่กำลังใจอย่างเดียว จักเบียดเบียนจิตใจตนเอง และร่างกายก็จักทรุดโทรมตามไปด้วย เพราะขาดการพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ

๕. การทำใจให้สงบจากกิเลส จักต้องอาศัยบารมี ๑๐ อย่างครบถ้วน จุดนี้ที่เห็นอ่อนแอมากก็คือ ขาดขันติกับอุเบกขาบารมี แล้วก็อ่อนเมตตาบารมีให้กับจิตใจของตนเอง จิตมักถือเอาอารมณ์ปรุงแต่งขึ้นมาทำร้ายจิตของตนเองอยู่เสมอ จุดนี้เป็นจุดที่พึงต้องแก้ไขอย่างยิ่ง อนึ่งที่กำลังใจไม่เข้มแข็ง ก็เพราะขาดอานาปา ทำให้สติไม่ค่อยจักสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจักต้องหันกลับมารู้ลมหายใจเข้า-ออกให้ได้ปกติ

๖. อย่าห่วงอะไรทั้งหมด ทำอะไรให้ตัดกังวลออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ จงคิดเอาไว้เสมอว่าโลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเที่ยง ให้จิตยอมรับสภาพของโลกตามความเป็นจริง ให้เพียรพยายามชำระจิต อย่าให้ติดอยู่กับโลก จงอย่ายึดถืออะไรในโลกที่ไม่เที่ยงมาเป็นสรณะ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โลกก็เป็นอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีอะไรผิดธรรมดา ทำใจให้ได้อย่างนี้

๗. ปกติของจิตใจมีอารมณ์สับปลับ กลับกลอกอยู่เสมอๆ นั่นเป็นปกติธรรมของจิตใจ ตราบใดที่ยังตัดสังโยชน์ ๑๐ ให้ขาดโดยเด็ดขาดไม่ได้ นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้หมั่นรู้อารมณ์ของจิตเอาไว้ให้เสมอๆ จักได้เห็นหน้ากิเลสได้ชัดๆ แล้วจึงจักแก้ไขได้

๘. รักษากำลังใจให้ดี อย่าไปตกใจกับเรื่องใดๆ ทั้งหมด อะไรมันจักเกิดมันก็ต้องเกิด คิดเอาไว้ว่าโลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้เป็นอนัตตา ทุกอย่างจงอย่ายึดเอามาเป็นสรณะ ทำกำลังใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้สิ้นไป

๙. ร่างกายเราหรือร่างกายใคร ย่อมเป็นไปตามกฎของกรรม ไม่มีใครสามารถจักฝืนกฎของกรรมไปได้ อย่าโทษใคร หรือโทษตนเองว่า ทำให้เกิดกฎของกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ จงรู้ว่ากรรมมีมาแล้ว แต่กาลก่อนบ้าง มีในปัจจุบันบ้าง ก็ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้

๑๐. ทำใจให้สบาย จงอย่ากังวลใจเกี่ยวกับปัญหาที่ยังมาไม่ถึงทั้งหมด ให้อยู่กับธรรมปัจจุบันเสมอๆ และกระทบกับสิ่งใด ก็ให้ปล่อยวางสิ่งนั้นทันทีในปัจจุบัน จุดนี้จักต้องมีสติ-สัมปชัญญะให้มากๆ จึงจักทำได้


๑๑. ผู้ที่หมดสงสัย คือพระอรหันต์เท่านั้น ดังนั้นจงอย่าแปลกใจที่ใจตนเองมีแต่ความสงสัยอยู่ร่ำไป อุปมาดั่งเด็กที่ยังไม่เคยเข้าโรงเรียน ก็สงสัยว่าคนที่เขาเข้าโรงเรียน เขาเรียนกันอย่างไร เมื่อที่สุดจนกระทั่งเข้าโรงเรียนแล้ว อยู่อนุบาลก็สงสัย ป.๑ เขาเรียนกันอย่างไร ข้อนี้อุปมาฉันใด จิตของผู้ที่ยังไม่จบกิจก็ฉันนั้น ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ใครกิน-ใครอิ่ม ใครทำ-ใครได้ ไม่มีการทำแทนกันได้

๑๒. ทำอะไรจงอย่าประมาท แล้วจงชำระจิตอย่าให้ห่วงใยอะไรทั้งหมด ทำอะไรให้ใจเย็นๆ จงอย่าทำไปด้วยความรีบร้อน งานจักออกมาไม่เรียบร้อย พึงวางโครงการให้ดี ทุกอย่างก็จักไม่ติดขัดอะไรมากนัก ทำงานจงทำด้วยความสบายใจ

๑๓. จงอย่ามีเวร-มีภัยกับใคร ทำใจให้สงบตั้งมั่น คิดเอาทุกอย่างที่เข้ามากระทบเป็นครู ทำกำลังใจไว้ให้ดี จงมั่นใจในผลของการปฏิบัติ รักษาอารมณ์จิตไม่ให้เร่าร้อนมีความเยือกเย็นอยู่เสมอ อย่าหุนหันพลันแล่น และจงมองคนในแง่ดีเอาไว้เสมอ รักษาอารมณ์ ไม่ปรุงแต่งเข้าไว้ ใครจักดีหรือชั่ว เป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิต ก็เรื่องของเขาไม่จำเป็นที่จักต้องนำพฤติการณ์ของใครมาคิด ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง เขาก็เป็นปกติธรรมของเขาอยู่อย่างนั้นเอง จงเห็นธรรมเหล่านี้เข้าไว้ และยอมรับนับถือ ไม่นำมาปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ หรือไม่พอใจ กระทบธรรมแล้วให้รักษาอารมณ์ ให้เป็นอารมณ์อุเบกขาเข้าไว้ จิตจักได้ไม่เป็นกิเลส จิตสงบ-จิตเป็นสุข เป็นจิตที่ทำให้เกิดปัญญาชนะกิเลสได้ทั้งปวง

๑๔. ทำงานทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน ทำงานทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา ทำโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเวลาทำงาน จงทำให้สบายใจ อย่าไปกังวลเรื่องอื่นใดทั้งหมด รักษาจิต-ประคองจิตอย่าไปยุ่งกับกรรมของใครทั้งหมด รักษาความดีแล้วจงรักษาจิตให้ผ่องใสด้วย (ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ) จุดนี้สำคัญมาก จงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ

๑๕. กฎของกรรมบังคับให้ทุกชีวิตเป็นไปตามกรรมวิถี กฎของกรรมเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย กรรมใดที่ไม่เคยทำไว้ วิบากกรรมนั้นย่อมจักไม่เกิดกับเราเป็นธรรมดา จงทำใจให้สงบ ไม่ต้องไปวิตกกับสิ่งใดๆ ทั้งปวง อะไรมันจักเกิด มันก็ต้องเกิด ดังนั้นจักทำอะไร จงคิดไตร่ตรองเสียก่อนแล้วจึงทำ เป็นการสมควรอย่างยิ่ง บางกรณีรู้ว่าทำไปแล้วจักมีเรื่องลุกลามไปในทางไม่ดี ก็จงระงับการกระทำนั้นๆ เสีย จึงเรียกว่าเป็นผู้ฉลาด

๑๖. จงอย่าทำตนเป็นคนรั้น เอาแต่ชนะผู้อื่นเป็นของไม่ดี ทำตนเป็นผู้แพ้ดีกว่า มุ่งเอาแต่ชนะจิตของตนเองดีกว่า หลีกเลี่ยงการปะทะคารมกับคนได้เป็นของดี และจงอย่าทำตนเป็นคนอวดรู้เป็นอันขาด

๑๗. จงยุติการปรุงแต่งธรรมเสีย จิตจึงจักสงบ หยุดฟุ้งซ่านจิตก็จักเกิดปัญญา เห็นธรรมทั้งทางด้านกุศล และอกุศลตามความเป็นจริง (ธรรมของตถาคตจักต้องหยุดก่อน จึงจักเห็นความเคลื่อนไหวของกิเลสได้ตามความเป็นจริง) เห็นทั้งความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่และดับไปของธรรมนั้น หาความเที่ยงอันใดไม่ได้ ดีก็อยู่ไม่นาน เลวก็อยู่ไม่นาน จักยึดถืออันใดมาเป็นสาระก็ไม่ได้ เหตุทั้งหลายเกิดขึ้นก็สักแต่ว่าผ่านไป เรื่องของมันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง ทำใจให้เป็นสุขมีความสงบ ละความสนใจกับโลกเสียปล่อยวางไป ไม่ดิ้นรนเดือดร้อนไปกับธรรมใดๆ ทั้งปวง แล้วจบลงไปว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง จักเดือดร้อนไปทำไม อารมณ์หนักก็จักไม่มีอยู่ในใจ จงอย่าคิดว่าจักทำได้ง่ายๆ และจงอย่าคิดว่าทำได้ยาก จงสำรวมตั้งใตทำอย่างไม่ย่อท้อ ก็จักพ้นทุกข์ได้ในที่สุด ให้ตั้งใจทำความดี โดยหลีกเลี่ยงความชั่วด้วยปัญญา ให้คิดใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ

๑๘. ไม่มีใครพยากรณ์กฎของกรรมได้ดีเท่ากับพุทธพยากรณ์ เพราะหลักการพยากรณ์รู้ไม่รอบ ไม่มีการทราบชัดว่ากรรมอันใดปรากฎ ด้วยเหตุของกรรมอันใดส่งผล พระพุทธพยากรณ์ทุกครั้ง จักมีเหตุ-มีผลของกรรมปรากฎทุกครั้งไป ดังนั้นการเชื่อหรือไม่เชื่อก็ดี พึงใช้ปัญญาพิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริง แล้วจักรู้ชัดว่า พยากรณ์ใดพึงเชื่อ พยากรณ์ใดพึงไม่เชื่อ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ เกิดขึ้น ให้ทำใจยอมรับกฎของกรรมเข้าไว้


๑๙. จงอย่าห่วงใยอันใดให้มากกว่ารักษาจิตให้สงบ อยู่ในธรรมปัจจุบันเป็นดีที่สุด ศีลก็ไม่พูดถึงแล้ว สมาธิจงพยายามตั้งมั่น ตัวนี้ยังขาดอยู่ สติยังไม่ตั้งมั่น เผลอบ่อย-เผลอเรื่อย ตัวปัญญาก็ยังต่อเนื่องไม่ดีนัก ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีในเรา-มีในขันธ์ ๕ ยังหลงเหลืออยู่มาก ต้องตั้งใจพิจารณาให้เกิดปัญญาให้ได้ และจงอย่าฟังใคร ว่าจักไปพระนิพพานไม่ได้ ให้มั่นใจว่าไปได้เสมอ จงอย่าเสียกำลังใจ หรือท้อถอยในการตั้งใจว่าจักไปพระนิพพาน และจงมั่นใจในผลของการปฏิบัติอยู่เสมอ แต่มิใช่ยึดมั่นถือมั่นเอาผิด-เอาถูก จงเอาให้ตรงกับพระธรรมคำสั่งสอนก็แล้วกัน ใครจักว่าอย่างไรไม่สำคัญ ให้ยึดคำสั่งสอนของตถาคตเจ้าทั้งหลายก็แล้วกัน (เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มีความดีเสมอกันหมด)

๒๐. ไม่มีอะไรก็จงอย่าทำให้มีอะไร เห็นทุกสิ่ง-ทุกอย่างที่เข้ามากระทบ คือความไม่มีอะไร มันเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีอะไรที่จักต้องขุ่นข้องหมองใจ เห็นปกติธรรมด้วยปัญญา จิตก็เป็นสุข ไม่เร่าร้อนไปด้วยอารมณ์ที่เป็นกิเลส


๒๑. อย่าแพ้ภัยตนเอง จงทำใจให้สบาย ทำงานอะไรให้ทำเท่าที่จักทำได้ อย่าคิดอะไรมาก ใครคิดจักทำร้ายเจ้าอย่างไร ถ้าจิตเจ้าไม่คิดทำร้ายตอบ บุคคลผู้นั้นย่อมประสบพบภัยกับตนเอง คือแพ้ภัยกับตนเองอย่างแน่นอน (ภัยที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือภัยจากอารมณ์จิตของเรา ทำร้ายจิตของเราเอง)

๒๒. จงอย่าคิดสู้รบตบมือกับคนพาล ประโยชน์ของความดีจักไม่เกิด ให้พยายามวางเฉยกับคนพาลให้มาก จิตจักได้เป็นสุข ผู้ใดปฏิบัติได้ จัดเป็นอุดมมงคลของผู้นั้น (เพราะเป็นมงคลภายในของมงคล ๓๘ ประการ ข้อที่ ๑ ซึ่งพระองค์ตรัสสอนพวกเทวดาไว้)

๒๓. จงอย่าฝืนกฎของธรรมดา รักษากำลังใจให้เข้มแข็ง อย่าอ่อนแอไปกับอุปสรรคใดๆ ทั้งปวง จงมองเห็นความไม่มีสาระของโลก และขันธโลก (ขันธ์ ๕ ) ตามความเป็นจริง เพราะในที่สุดแล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ จงฝึกจิตให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้ จงอย่าฝืนกฎของธรรมดา

๒๔. ทุกอย่างหาสาระประโยชน์ไม่ได้ จงมีสติอย่าปล่อยให้อารมณ์เลื่อนลอย พยายามตัดอารมณ์ฟุ้งอันเกิดจากอายตนะสัมผัสให้มาก มองทุกอย่างตามความเป็นจริง ทุกอย่างหาสาระประโยชน์ไม่ได้ ที่สุดก็สลายตัวไปหมด พิจารณาอย่างนี้ไว้ให้เป็นปกติ แล้วจงพยายามวางเฉยให้เกิดแก่จิตของตนเองให้ได้เป็นอารมณ์ แล้วความสุขสงบใจก็จักเกิดขึ้นได้อย่างทรงตัว

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร