วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2012, 11:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ขุททกนิกายเถรคาถา
สีลวเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสีลวเถระ


[๓๗๘] ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้
ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้

นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ
คือ ความสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑
ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑ พึงรักษาศีล

ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก
ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร

นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง
ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ

ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย
และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง
เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

ศีลเป็นกำลังหาเปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด
เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์

ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม
เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ

ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม
เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ

คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป

ส่วนธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ทุกสถานในโลกนี้

ศีลเท่านั้นเป็นยอดและผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้
ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา


สีลวเถรคาถา
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v ... agebreak=0

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11757

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2012, 11:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีล คือ ชีวิต

ศีล คือ ชีวิต
คนที่บอกว่าเขารักชีวิต แต่เขาไม่รักษาศีล
จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าเขารักชีวิตจริง


ศีล คือชีวิต...ชีวิต คือศีล

คนไม่มีศีล เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ไม่มีราก
เมื่อถูกลมพัดก็ย่อมล้ม

คนไม่มีศีล เหมือนการสร้างบ้าน
สร้างตึกที่ไม่มีรากฐานไม่มีเสาเข็ม ย่อมล้มเป็นธรรมดา

คนไม่มีศีล เหมือนคนไม่มีเท้าย่อมเดินไม่ได้
เหมือนรถไม่มีล้อแล่น วิ่งไม่ได้

คนไม่มีศีล เหมือนคนเป็นใหญ่เป็นโต
แต่ไม่มีความรู้ ย่อมปกครอง ทรัพย์ ปกครองลูกน้องไม่ได้ดี

คนไม่มีศีล จะเจริญสมาธิและกระทำให้เกิดปัญญา
และวิมุตติไม่ได้ และสำเร็จมรรคผลนิพพานไม่ได้

คนมีศีล ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้
(ไม่ว่าจะอยู่ในหมู่คนพาล หรือคนดี ย่อมรักษาตัวรอดได้)

คนมีศีล จะนั่งนอน หลับตื่น ก็เป็นสุขอยู่ในกาลทุกเมื่อ
ไม่มีวิปฏิสาร (คือความเดือดร้อนใจ)

คนมีศีล มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวย่อมประเสริฐกว่า
ผู้ไม่มีศีลซึ่งมีชีวิตอยู่ ตั้งร้อยปี

คนมีศีล ย่อมไม่ทำบาปแม้ในที่ลับ
เพราะมีความตรงและจริงใจต่อตนเอง

คนมีศีล ย่อมไปสู่ทุคติจตุรบาย

ศีลคือ เครื่องรางที่ป้องกันอบายภูมิได้อย่างศักดิ์สิทธิ์

คนมีศีล ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า

คนมีศีล จะค้าขายก็จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

คนมีศีล เข้าสมาธิก็ง่าย ไม่สะดุ้งตกใจง่าย

คนมีศีล ย่อมไม่ฝันลามก ย่อมไม่ฝันร้าย

คนมีศีล บรรลุธรรมก็ง่าย

คนมีศีล ย่อมไม่ก่อกรรมทำบาป

คนมีศีล คือผู้ที่มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
(คือเชื่อในพระรัตนตรัยจริงๆ)

คนมีศีล ย่อมเห็นโทษของบาปแม้เพียงเล็กน้อย

เพราะผิดศีลข้อ ๑ จึงมีกรรม อายุสั้น
มีโรคภัยไข้เจ็บมาก

เพราะผิดศีลข้อ ๒ จึงมีกรรม
ทรัพย์สมบัติต้องวิบัติด้วยแรงกรรมต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ

เพราะผิดศีลข้อ ๓ จึงมีกรรม ภริยา-สามี นอกจิต นอกใจ
บุตร-ธิดา ไม่อยู่ในโอวาทคบชู้สู่ชาย

เพราะผิดศีลข้อ ๔ จึงมีกรรม พูดจาไม่มีคนเชื่อถ้อยฟังคำ
ตาบอด หู หนวก เป็นอัมพาต

เพราะผิดศีลข้อ ๕ จึงมีกรรม โง่เง่า หลงทำกาลกิริยา
เป็นบ้า เป็นใบ้

รักษาศีลให้ได้ มีสุคติเป็นที่ไปแน่นอน

รักษาศีลให้ได้ มีโภคทรัพย์แน่นอน

รักษาศีลให้ได้ มีนิพพานเป็นที่ไป และเข้าถึงแน่นอน


คัดลอกจาก
http://www.jarun.org

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11797

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2012, 12:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปฏิบัติศีล ๕ ข้อ เราได้อะไร

๐ ปฏิบัติศีล ๕ ได้อะไร ๐

ศีล ๕ นี้ ถ้าใครปฏิบัติได้
๑. ได้บำเพ็ญอภัยทาน
๒. ทำให้จิตเกิดความเมตตาปรานี
๓. ได้ความรัก
๔. ป้องกันไม่ให้เกิดมีการฆ่ากัน
๕. ปรับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์

เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี ความเป็นมนุษย์ของเราก็สมบูรณ์
กายเป็นปกติ วาจาก็ปกติ ในเมื่อกาย วาจา ปกติ ใจก็พลอยปกติไปด้วย
เมื่อเราไม่ฆ่าใคร ใครหนอจะมาฆ่าเรา
เมื่อเราไม่ประทุษร้ายใคร ใครหนอจะมาประทุษร้ายเรา
เราเคารพในสิทธิเสรีภาพของมวลมนุษย์ด้วยกัน คนอื่นก็ต้องเคารพต่อเรา

ศีล ๕ ปิดประตูนรก
เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์
แม้เราจะยังทำสมาธิภาวนาไม่เป็น
ก็ได้ชื่อว่าตัดบาปตัดกรรมให้หมดสิ้นไปแล้ว

เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์
กายของเราก็สงบ ศีลสงบจากการทำบาป
วาจาของเราก็สงบ คือสงบในการพูดในทางที่เป็นบาป
แม้จิตของเรายังคิดที่จะทำบาป
แต่เราไม่ละเมิดล่วงเกินศีล ๕
บาปกรรมอะไรก็ไม่เกิดขึ้น

เมื่อเรามีคุณงามความดีพอกพูนมากขึ้นๆ
กำลังของศีลมีพลังแก่กล้าขึ้น
กายเป็นปกติ วาจาเป็นปกติ
ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งหนุนให้จิตใจของเราเกิดความเป็นปกติ

กรรมของการผิดศีล ๕

๑. ฆ่าสัตว์ จะทำให้มีอายุสั้น มีโรคเบียดเบียน พิการ
ได้รับความทรมานทางร่างกาย เพราะเราได้ไปทำเขาไว้
ถึงมีเงินก็ไม่มีความสุขเพราะสุขภาพไม่ดี
เช่น คนที่มีเงินแต่ป่วยก็คือเขาทำทานไว้มาก
แต่ผิดศีลข้อนี้ บุญส่วนบุญบาปส่วนบาป

๒. ลักทรัพย์ เวลาหาทรัพย์มาได้ก็จะสูญหาย โดนขโมย
ถูกโกงตลอด โดนไฟใหม้บ้าง คนที่โดนบ่อยๆ
ให้รู้ไว้ว่าเราได้เคยไปเอาของคนอื่นมาทำผิดศีลข้อนี้

๓. ประพฤติผิดในกาม หมายถึงแสวงหากามในทางที่ผิด
เช่น มีเซ็กส์กับของหวงของคนอื่นที่เขาครอบของไว้
เช่น สามี หรือภรรยาคนอื่น ถ้าเขารู้เขาจะรู้สึกอย่างไร
กรรมก็คือเวลาแต่งงานคู่ของคุณก็จะไม่ซื่อสัตย์เหมือนกัน
บางคนสงสัยว่าทำกรรมอะไรไว้ ทำไมแฟนเราถึงไม่ซื่อสัตย์เหมือนคู่อื่น
หรือโดนหลอกตลอด เพราะทำกรรมอันนี้ไว้
หรือถ้ามีอะไรกับลูกสาวของคนอื่น โดยที่พ่อแม่เขายังไม่ได้ยกให้ (หมายถึงแต่งงาน)
ลองคิดดูพ่อแม่เขาเจ็บปวดขนาดไหน
กรรมก็คือถ้าคุณมีลูกหรือหลาน แล้วมีใครมาทำแบบนี้กับลูกคุณ จะรู้สึกอย่างไร
บางคนมีลูกสาวแล้วโดนผู้ชายหลอก ก็เพราะเราได้เคยไปทำไว้ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง

๔. โกหก ถ้าเราเป็นคนชอบโกหก เราก็จะเจอแต่คุณมาหลอก มาพูดโกหก
หาความจริงใจไม่ได้ เพราะเราได้เคยทำไว้แล้ว

๕. ดี่มสุรา ยาเสพติด ทำให้บั่นทอนทั้งร่างกายและสติปัญญา
ผลก็คือก็เป็นผู้ที่ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา เป็นผู้ไม่มีสติ และจะให้ผลข้ามภพข้ามชาติ
บางคนเกิดมาก็เบลอแล้ว เพราะเขาได้ทำไว้ในอดีตชาติ
แต่ถ้ายังเห็นบางคนกินเหล้าเยอะ แต่ก็ยังไม่โง่ก็เพราะบุญเก่าเขายังมีอยู่
แต่กรรมนี้จะให้ผลในอนาคตหรือชาติหน้า
วิธีแก้ก็คือหมั่นนั่งสมาธิ ภาวนาให้มากเพื่อให้เกิดปัญญา

ทั้งหมดนี้จะแยกให้ผลตามบุญกรรมตามข้อ
เพราะบุญส่วนบุญบาปส่วนบาป
ผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้ ก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์อีก
และได้อยู่อย่างมีความสุขเพราะไม่มีกรรมเก่ามาเบียดเบียน


:b48: :b41: :b41: :b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11403

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2012, 13:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


.. :b8: :b8: :b8: ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2012, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศีล เป็นมหาทาน

ในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาลทันที เช่น

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่าให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต
ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๓ คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ความปลอดภัย
แก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความ
สบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๕ คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง เพราะคน
ที่ประมาทขาดสตินั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
หรือพูดเท็จก็ทำได้ทั้งสิ้น

การรักษาศีล ๕ จึงเป็นทานอันประเสริฐ ที่หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน
ซึ่งทานอันประเสริฐนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มหาทาน พร้อมทั้งทรงกล่าวว่าผู้
บำเพ็ญมหาทาน ย่อมได้รับผลบุญอันมหาศาล เช่นเดียวกัน ดังปรากฏใน ปุญญาภิสันทสูตร
ความว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้ นำความสุขมาให้
ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๑

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๒

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน
อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศมีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ
เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด


ทาน ๕ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียด
เบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่
เบียดเบียนหาประมาณมิได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทานบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมา
นานเป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อัน
บัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๔

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ นี้เป็นทาน
ประการที่ ๒ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล
ประการที่ ๕

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ นี้เป็น
ทานประกานที่ ๓ ที่เป็นมหาทานบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล
ประการที่ ๖

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๔
ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๗

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็น
ผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทานอันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ
มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๘ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข "


จะเห็นว่าการรักษาศีลนั้น เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยน้ำใจที่กว้างขวาง
เพราะเป็นน้ำใจที่มีต่อชีวิตทั้งหลายอันไม่มีประมาณ และไม่มีการเจาะจง

การรักษาศีล จึงเป็นบุญอันพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งบุญจากการบำเพ็ญมหาทาน
และบุญจากการรักษาศีล และนี่เป็นเพียงศีล ๕ อันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น หากรักษาศีลในข้อ
ที่สูงยิ่งขึ้นไป ย่อมเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถชำระจิตใจให้สะอาด
บริสุทธิ์ อย่างสุดที่จะประมาณ

จึงนับว่า การรักษาศีล เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป เมื่อเทียบ
กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการให้ทาน


---------------------

จากหนังสือศีล...เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม
พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก ป.ธ. ๙


:b55: :b55:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9469

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2012, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ผู้ไม่มีศีล ๕ ย่อมมีแต่ภัยเวร

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดี ถึงเรื่องศีล ๕ ว่า
ผู้ไม่รักษาศีล ๕ ย่อมจะมีแต่ภัยและเวร ตายแล้วจะต้องตกนรกอีกด้วย

ตอนหนึ่งทรงแสดงว่า

“คฤหบดี ! คนผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวร
ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในภพหน้าก็มี
ได้รับทุกข์ทางใจก็มี เพราะการฆ่าสัตว์เป็นเหตุ
เมื่อเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นก็ย่อมสงบระงับ
คนผู้มีปกติลักทรัพย์ ย่อมประสบภัยเวร
คนผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม ย่อมประสบภัยเวร
คนผู้มีปกติพูดเท็จ ย่อมประสบภัยเวร
คนผู้มีปกติดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวร
ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในภพหน้าก็มี
ได้รับทุกข์ทางใจก็มี เพราะการดื่มสุราเป็นเหตุและปัจจัย
เมื่อเว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ภัยเวรอันนั้นย่อมสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้”

เวรภยสูตร ๑๙/๔๓๘

ศีล ๕ อันเป็น “กฎปกติพื้นฐานของสังคม”
ผู้ใดปฏิบัติได้ นอกจากตนเองจะปลอดจากภัยและเวรทั้งปวงแล้ว
ยังมีผลไปถึงส่วนรวม ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข


โปรดพิจารณาดูความไม่ปกติสุข ของสังคมในปัจจุบัน
จะเห็นได้ชัดเจนว่าเกิดเพราะการขาดศีล ๕ เป็นส่วนใหญ่หรือหลักใหญ่
ไม่ข้อใดข้อหนึ่งก็หลายข้อไม่อาจจะเลี่ยงพ้นไปได้

ฉะนั้น ผู้รักความสงบและรักความสุข ก็ขอให้พยายามช่วยกันรักษาศีล ๕ ให้มากๆ เถิด
โดยมุ่งที่ตัวเราเองก่อน รักษาไม่ได้หมดทั้ง ๕ ข้อ ก็ให้พยายามงดเว้นไปทีละข้อ ๆ
ข้อใดงดเว้นง่าย สะดวก ก็ควรงดเว้นก่อน แล้วค่อยพยายามเพิ่มขึ้นทีละข้อ
ก็จะครบทั้ง ๕ ข้อ ได้โดยไม่ยากเย็นเลย
ถ้าจะรอไว้ให้มีโอกาส งดเว้นทีเดียวทั้ง ๕ ข้อ
บางทีชาตินี้ทั้งชาติก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รักษาเลยแม้แต่ข้อเดียว

(จากหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับดับทุกข์ ปี ๒๕๒๔ โดยท่านธรรมรักษา)

:b41: :b41:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8600

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2012, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อย่างไรที่เรียกว่าศีลขาด

จากเรื่อง "กุรุธรรม" นั้น ปรากฏชัดว่า ชาวกุรุ เป็นผู้มีความตั้งใจในการรักษาศีลอย่างดียิ่ง
แต่ทว่า น่าเสียดายความภาคภูมิใจในศีลของพวกเขา
กลับถูกริดรอนไปเพราะขาดความมั่นใจใน
การจะวินิจฉัยว่า การกระทำของตนนั้นเป็นการผิดศีล ศีลขาดหรือไม่
จึงก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในศีลของตน

แม้เราเองก็เช่นกัน แต่ละอย่างก้าวของชีวิตที่ดำเนินไปหลายครั้งหลายครา เราคงพบว่าได้
เบียดเบียนชีวิตอื่นโดยมิได้ตั้งใจ เราอาจต้องทำไปเพราะภาระหน้าที่ หรือแม้จะมีเหตุผลอื่นๆ อีก
มากมาย แต่เราก็คงยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่นั่นเอง ด้วยสงสัยว่าการกระทำของเราผิดศีลหรือไม่ และ
สำหรับบางคนอาจเกิดความทุกข์ใจในการรักษาศีล ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้นเลย

ดังนั้น ในการรักษาศีล เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่ององค์วินิจฉัยศีล
ซึ่งเป็นหลักใน การวินิจฉัยว่า ศีลขาดหรือไม่

องค์วินิจฉัยศีล

การฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. สัตว์นั้นมีชีวิต
๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น
๔. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

การลักทรัพย์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น
๔. มีความพยายามลักทรัพย์นั้น
๕. ลักทรัพย์ได้ด้วยความพยายามนั้น

การประพฤติผิดในกามต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด
๒. มีจิตคิดจะเสพเมถุน
๓. ประกอบกิจในการเสพเมถุน
๔. ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน

การพูดเท็จต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. เรื่องนั้นไม่จริง
๒. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๓. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๔. คนฟังเข้าใจความหมายตามที่พูดนั้น

การดื่มน้ำเมาต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
๒. มีจิตคิดจะดื่ม
๓. พยายามดื่ม
๔. น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป

จากความรู้ในเรื่ององค์วินิจฉัยศีล
เราจะสามารถตอบข้อสงสัยได้ว่า
การกระทำใดเป็นการกระทำที่ผิดศีล ทำให้ศีลขาด

ตัวอย่างเช่น การที่เราไล่ยุง แล้วบังเอิญทำให้ยุงตายโดยที่เรามิได้มีจิตคิดจะฆ่ายุงเลย
อย่างนี้ เรียกว่ายังไม่ผิดศีล ศีลยังไม่ขาด เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ ๕ ของการฆ่าสัตว์

ส่วนการกระทำใดๆ ที่แม้จะไม่ครบองค์วินิจฉัยศีล เช่น การฆ่ามีองค์ ๕ แต่ทำไปแค่องค์ ๔
อย่างนี้เรียกว่าศีลทะลุ และถ้าลดหลั่นลงมาอีก ก็จะเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย ตามลำดับ

นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ ยังได้แสดงหลักสำหรับวินิจฉัยว่า
การละเมิดศีลแต่ละข้อจะมีโทษมากหรือน้อย นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้


การฆ่าสัตว์ มีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

๑. คุณการฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก จะมีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ เช่น
ฆ่าพระอรหันต์ มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ที่ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น

๒. ขนาดกาย สำหรับสัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่ไม่มีคุณเหมือนกัน
การฆ่าสัตว์ใหญ่มีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์เล็ก

๓. ความพยายาม มีความพยายามในการฆ่ามาก มีโทษมาก มีความพยายามน้อย มีโทษน้อย

๔. กิเลสหรือเจตนา กิเลสหรือเจตนาแรง มีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย
เช่น การฆ่าด้วยโทสะ หรือความเกลียดชัง มีโทษมากกว่าการฆ่าเพื่อป้องกันตัว

การลักทรัพย์ มีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

๑. คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของนั้น
๒. คุณความดีของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
๓. ความพยายามในการลักทรัพย์นั้น

การประพฤติผิดในกาม มีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

๑. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
๒. ความแรงของกิเลส
๓. ความเพียรพยายามในการประพฤติผิดในกามนั้น

การพูดเท็จ มีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

๑. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด
๒. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
๓. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น

- คฤหัสถ์ที่โกหกว่า "ไม่มี" เพราะไม่อยากให้ของๆ ตน อย่างนี้มีโทษน้อย
แต่การเป็นพยานเท็จมีโทษมาก

- บรรพชิตพูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน "รู้เห็น" ในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เห็น มีโทษมาก

การดื่มน้ำเมา มีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

๑. อกุศลจิต หรือกิเลสในการดื่ม
๒. ปริมาณที่ดื่ม
๓. ผลที่เกิดจากการกระทำผิดพลาด ชั่วร้าย ที่ตามมาจากการดื่มน้ำเมา

อย่างไรก็ตาม การละเมิดศีลในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นศีลขาด ศีลทะลุ ศีลต่าง หรือศีลพร้อย
ก็ล้วนแต่เป็นการทำลายคุณภาพใจให้เสื่อมลง หรือที่เราเรียกว่าบาปนั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากละเมิดศีลในกรณีที่เกิดโทษมาก เป็นบาปมาก
คุณภาพใจจะยิ่งถูกทำลายให้เศร้าหมองมืดมนมากขึ้นด้วย

เราจึงควรศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้การรักษาศีลของเราเป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ
อันจะนำมาซึ่งการรักษาคุณภาพใจได้อย่างบริสุทธิ์ สะอาด สุขสบาย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง

:b48: :b48:

จากหนังสือศีล...เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม
พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก ป.ธ. ๙


กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8671

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2012, 19:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พึงรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ

ศีลอุโบสถ อันเป็นศีลที่ทรงกำหนด ให้อุบาสกและอุบาสิกา
งดเว้นตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ในรอบ ๘ วัน
เป็นศีลที่ชาวพุทธผู้ครองเรือน น่าจะหาวันพระที่สะดวกงดเว้นรักษาดูบ้าง
มิใช่จะรอให้ผิวหนังตกกระเสียก่อน จึงค่อยคิดจะไปรักษาอุโบสถกับเขาบ้าง
บางทีก็อาจชวดไปตลอดชาติ
ในยุคที่สังคมกำลังเครียดด้วยเศรษฐกิจรัดตัว อย่างทุกวันนี้
การรักษาอุโบสถศีล จะเป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยลดความตึงเครียดในการครองชีพลงได้มาก
ไม่ว่าจะเป็นด้านปากท้อง หรือการแต่งกายก็ตาม
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ น่าจะนำระบบนี้
ไปช่วยลดเศรษฐกิจของครอบครัว และประเทศกันบ้าง

(จากหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับดับทุกข์ ปี ๒๕๒๔ โดยท่านธรรมรักษา)


ตัวอย่างเรื่อง "อุบาสกชาวสักกะถูกตำหนิศีล"

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัศดุ์
พวกอุบาสกชาวสักกะได้พากันไปเฝ้า
พระพุทธองค์ได้ตรัสถามอุบาสกชาวสักกะว่า
ยังรักษาอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ อยู่เสมอหรือ ?
พวกอุบาสกกราบทูลว่า บางคราวรักษา บางคราวก็ไม่ได้รักษา

พระพุทธองค์ทรงตำหนิว่า

“อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ! ไม่เป็นลาภของท่านแล้ว ท่านเสื่อมจากความดีแล้ว
ในเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอยู่อย่างนี้
เหตุใดบางคราวก็รักษาอุโบสถ ๘ บางคราวก็ไม่รักษา ?”


ทรงสรุปในตอนท้ายว่า

“อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ! ส่วนสาวกของเรา เป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ ปี
พึงเป็นผู้มีความสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี
สาวกของเรานั้น ที่เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี....
เมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอยู่อย่างนี้
เหตุใดบางคราวจึงรักษาศีลอุโบสถ ๘ และบางครั้งจึงไม่รักษาเล่า ?”


พวกอุบาสกชาวสักกะกราบทูลตอบว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้
จะรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”


สักกสูตร ๒๔/๘๖

:b55: :b55:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ med_med
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8601

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2012, 08:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศีลเป็นเกราะป้องกันภัยอย่างอัศจรรย์

จะเป็นการดีสักเพียงใด หากจะมีหลักประกันที่ให้ความมั่นใจกับเราได้ว่า
เราจะเป็นผู้มีอายุยืนยาวอยู่จนถึงวัยชรา
โดยไม่มีโรคภัยใดๆ มาบั่นทอนทำลายชีวิตเราไปก่อนวัยอันควร
เพราะในความเป็นจริง เราต่างก็มีชีวิตอยู่อย่างหวาดหวั่น
โดยไม่มีวันรู้เลยว่า โรคภัยและความตายจะมาเยือนในยามใด

แต่มีครอบครัวหนึ่งกลับมั่นใจว่า สมาชิกทุกคนจะมีอายุยืนยาว
และมีชีวิตที่สุขสบาย นั่นก็เพราะทุกคนในครอบครัวนี้
ต่างก็รู้ดีว่าจะสามารถสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับชีวิตได้อย่างไร

มหาธัมมปาลชาดก

ในอดีตกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี
ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า ธรรมปาละเป็นผู้ปกครองบ้านธรรมปาลคาม
พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้รักษาศีล ๕ และประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นอย่างดี
ท่านมีบุตรคนหนึ่ง ซึ่งตั้งชื่อว่า ธรรมปาลกุมาร เช่นกัน

เมื่อธรรมปาลกุมารเติบโตขึ้น ได้ไปศึกษาเล่าเรียน
ในสำนักของอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง แห่งเมืองตักกสิลา
และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าของชายหนุ่มจำนวน ๕๐๐ คน
ซึ่งเป็นศิษย์ในสำนักนั้น

ต่อมาบุตรคนโตของอาจารย์ได้เสียชีวิตลง
ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของทุกคน
เหล่าศิษย์ทั้งหลายต่างพากันร้องไห้
คงมีแต่ธรรมปาลกุมารเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มิได้ร้องไห้
เนื่องจากเขารู้สึกประหลาดใจในการตายของผู้เป็นบุตรของอาจารย์ยิ่งนัก
จึงถามชายหนุ่มทั้งหลายนั้นว่า

"เพื่อนเอ๋ย พวกท่านกล่าวว่าเสียดายที่ลูกของอาจารย์มาตายเสียตั้งแต่ยังหนุ่ม
เขาตายได้อย่างไร ในเมื่อคนหนุ่มสาวยังไม่ควรตายมิใช่หรือ"

ชายหนุ่มทั้งหลาย "ธรรมปาละ ท่านไม่รู้จักความตายหรอกหรือ"

ธรรมปาลกุมาร "เรารู้ว่าคนจะตายเมื่อแก่ชรา แต่คนหนุ่มสาวนั้นยังไม่ควรตาย"

ชายหนุ่มทั้งหลาย "ก็สังขารนั้นไม่เที่ยงนะ ธรรมปาละ"

ธรรมปาลกุมาร "ใช่ สังขารนั้นไม่เที่ยง แต่ก็ไม่ควรจะตายตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว
ควรจะตายเมื่อแก่ชราแล้ว ถึงจะถูก"

ชายหนุ่มทั้งหลาย "ธรรมปาละ ที่บ้านของท่านไม่เคยมีใครตายในวัยหนุ่มสาวบ้างเลยหรือ"

ธรรมปาลกุมาร "ไม่เคยมี มีแต่ตายเมื่อแก่ชราแล้วทั้งนั้น"

ชายหนุ่มทั้งหลาย "ตระกูลของท่านเป็นเช่นนี้ตลอดมาเลยหรือ"

ธรรมปาลกุมาร "ถูกแล้ว ตระกูลของเราเป็นเช่นนี้ตลอดมา"

ชายหนุ่มทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำของธรรมปาลกุมารแล้ว พากันไปเล่าให้อาจารย์ฟัง
อาจารย์จึงเรียกธรรมปาลกุมารมาพบ แล้วถามว่า
"ธรรมปาละ จริงหรือที่ตระกูลของเธอไม่เคยมีใครตายในวัยหนุ่มสาวเลย"

ธรรมปาลกุมารตอบว่า "จริงขอรับ"

อาจารย์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า
"ช่างเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เราจะไปถามบิดาของกุมารนี้ดู
ถ้าพบว่าเป็นความจริง เราจะได้ประพฤติธรรมตามแบบพวกเขา"

เมื่อจัดการพิธีศพบุตรของตนเสร็จสิ้นแล้ว
อาจารย์จึงเรียกธรรมปาลกุมารมาพบและสั่งว่า

"ธรรมปาละ เรามีกิจธุระบางอย่างที่ต่างเมือง
เธอจงคอยแนะนำให้ความรู้แก่ศิษย์ในสำนักนี้ จนกว่าเราจะกลับมา"

จากนั้นผู้เป็นอาจารย์ได้จัดการเอากระดูกแพะตัวหนึ่งมาทำความสะอาด
แล้วเอาใส่กระสอบไว้ ให้คนรับใช้เป็นผู้ถือแล้วพากันเดินทางออกจากเมืองตักกสิลา
จนมาถึงบ้านของพราหมณ์ธรรมปาละ

พวกทาสของพราหมณ์เห็นอาจารย์ของธรรมปาลกุมารมายืนอยู่ที่ประตู
ก็พากันมารับร่ม รับรองเท้าจากมือของอาจารย์
และรับกระสอบจากมือของคนรับใช้ อาจารย์ได้กล่าวว่า
"พวกท่านจงไปบอกบิดาของธรรมปาลกุมารว่า อาจารย์ของธรรมปาลกุมารมาขอพบ"

พราหมณ์ผู้เป็นบิดาของธรรมปาลกุมารจึงรีบมาเชื้อเชิญต้อนรับ
นำอาจารย์ขึ้นเรือนคอยปรนนิบัติ
จัดอาหารให้รับประทาน และนั่งสนทนาอยู่ด้วย

ครู่หนึ่ง อาจารย์ได้แสร้งกล่าวกับพราหมณ์ว่า
"ท่านพราหมณ์ ธรรมปาลกุมารบุตรของท่านนั้น
เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถเรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการ
แต่น่าเสียดายที่โรคร้ายได้ทำให้ธรรมปาลกุมารนั้นตายเสียแล้ว
ท่านพราหมณ์ สังขารทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง ท่านอย่าได้เศร้าโศกไปเลยนะ"

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น กลับตบมือ และหัวเราะดังลั่น
อาจารย์จึงถามด้วยความประหลาดใจว่า "ท่านพราหมณ์ ท่านหัวเราะทำไม"

พราหมณ์ตอบว่า "บุตรของเรายังไม่ตายหรอก ที่ตายนั้นเป็นคนอื่น"

อาจารย์กล่าวว่า "ท่านพราหมณ์ ท่านจงเชื่อเถิด นี่คือกระดูกบุตรของท่าน"
พร้อมกับนำกระดูกออกมาให้พราหมณ์ดู แต่พราหมณ์กลับพูดอย่างมั่นใจว่า

"นี่ไม่ใช่กระดูกบุตรของเรา บุตรของเรายังไม่ตายหรอก
เพราะตระกูลของเรา ๗ ชั่วโคตร มาแล้ว
ไม่เคยมีใครตายในวัยหนุ่มสาวเลย ท่านนั้นพูดปด"

ขณะนั้น คนทั้งหลายต่างตบมือ หัวเราะกันยกใหญ่
อาจารย์เห็นความอัศจรรย์นั้น รู้สึกยินดียิ่งนัก จึงถามว่า

"ท่านพราหมณ์ การที่ตระกูลของท่านไม่เคยมีใครตายในวัยหนุ่มสาวเลยนั้น
ต้องมีสาเหตุ อย่างแน่นอน ท่านยึดถือปฎิบัติธรรมข้อใดหรือ
ที่ส่งผลให้คนในตระกูลมีอายุยืนยาว ขอท่านโปรดบอกข้าพเจ้าเถิด"


พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็บรรยายถึงอานุภาพแห่งคุณความดี
ที่เป็นเหตุให้คนในตระกูลมีอายุยืนยาว โดยกล่าวว่า

"เพราะพวกเราประพฤติธรรม ละเว้นความชั่ว
พวกเราไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต
พวกเรามีจิตยินดีในการให้ทานและการรักษาศีล
พวกเราไม่นอกใจภรรยา และภรรยาก็ไม่นอกใจเรา
พวกเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่กล่าวคำเท็จ
บุตรที่เกิดในภรรยาผู้มีศีลดี ย่อมมีปัญญา ฉลาด รอบรู้
พวกเราทุกคน ทั้งบิดา มารดา บุตร ภรรยา พี่น้องชาย
หญิง ทาส ทาสี คนอาศัย คนรับใช้ ทั้งหมดล้วน
ประพฤติธรรม มุ่งประโยชน์ในโลกหน้า
ด้วยเหตุนี้คนหนุ่มสาวของพวกเรา จึงไม่ตาย
กระดูกที่ท่านนำมานี้ เป็นกระดูกของผู้อื่น มิใช่กระดูกบุตรของเราแน่
เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมนำความสุขมาให้
ธรรมปาลกุมารบุตรของเรา ได้รักษาธรรมเป็นอย่างดี
บุตรของเราจึงยังมีความสุขอยู่แน่นอน"


อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า
"การมาของข้าพเจ้าในครั้งนี้ นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง
ขอให้ท่านยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
บุตรของท่านนั้นมีความสุขสบายดี กระดูกนี้เป็นกระดูกแพะที่ข้าพเจ้านำมา
เพื่อจะทดสอบว่าถ้อยคำบุตรของท่านนั้นจะเป็นจริงหรือไม่
และบัดนี้ข้าพเจ้าได้พบความจริงแล้ว
จึงใคร่ขอให้ท่านได้โปรดมอบข้อธรรมที่ท่านประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างดีนี้
ให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อจะนำไปปฏิบัติ

เมื่อพราหมณ์อนุญาตแล้ว
อาจารย์ของธรรมปาลกุมารได้จารึกข้อธรรมเหล่านั้นลงในสมุด
แล้วกลับสู่เมืองตักกสิลา
ฝ่ายธรรมปาลกุมารนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาก็กลับมาหาบิดามารดา
พร้อมด้วยบริวารติดตามมามากมาย

ศีล ย่อมรักษา ผู้รักษาศีล

ธรรมปาลกุมาร ผู้มีการรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ
เขาย่อมไม่เบียดเบียนใคร และปราศจากเวรภัยใดๆ มาเบียดเบียน
นี่คือชีวิตที่เป็นสุข ภายใต้ความคุ้มครองแห่งศีล
อันเป็นการปกป้องรักษาอย่างแน่นหนา
และแข็งแกร่งเกินกว่าที่ทุกข์ภัยอันตราย หรือโรคร้ายใดๆ จะมารุกราน
ทุกคนจึงมั่นใจได้ว่า ธรรมปาลกุมารจะมีอายุยืนนาน และมีความสุขสบายดี

สมาชิกแห่งบ้านธรรมปาลคาม ดำเนินชีวิตอย่างมั่นใจเช่นนี้
เพราะค้นพบแล้วว่า
การรักษาศีลเป็นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับชีวิตได้อย่างแท้จริง


จากหนังสือศีล...เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม
พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก ป.ธ. ๙


กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ aaa
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6837

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 07:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ทุกคนต้องมีศีล จึงจะเป็นคนดีได้
คนไม่มีศีลทำอะไรก็ผิดๆ
เหมือนเรือไม่มีหางเสือ
เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีศีล

ไม่ว่าจะเล่าเรียนอะไร จะมีอาชีพอะไร
ศีลเป็นของคนทุกคน
ศีลทำคนให้เป็นคน
ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา

คนไม่มีศีลก็เหมือนสัตว์
ทำอะไรไปตามกิเลสชักนำ
กิเลสคือ โลภ โกรธ หลง
มันคอยชวนคนให้ทำผิดตลอดเวลา

คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมย่อมไม่รู้จักมัน
หลงเชื่อมัน ทำตามมัน
มันก็พาไปพบทุกข์
คนไม่รู้ก็คิดว่าเป็นความสุข

:b39:

ธรรมโอวาทของพระอาจารย์ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู


กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดย คุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5915

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศีลเป็นเหมือนรั้วกั้นความชั่ว

การักษาศีลเป็นที่รู้สึกกันโดยมากว่า
เหมือนเป็นการสร้างรั้วล้อมตนเอง
ศีลยิ่งมากข้อ ก็ยิ่งเหมือนรั้วที่แน่นหนาแข็งแรง
และยิ่งมีวงแคบ จะทำอะไรจะไปไหนก็ล้วนแต่มีข้อห้ามทั้งนั้น
เมื่อรู้สึกดังนี้จึงไม่พอใจจะรักษาศีล
ปรารถนาที่จะทำอะไรไปข้างไหนตามความพอใจ

มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า

ภิกษุรูปหนึ่งรู้สึกว่าวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเป็นอันมาก
ไม่อาจที่จะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
มีความเบื่อหน่ายหมดกำลังใจ

พระพุทธเจ้าได้ทรงเรียกภิกษุนั้นไปตรัสถาม
ว่าสามารถจะรักษาเพียงข้อหนึ่งได้หรือไม่?
ภิกษุนั้นก็กราบทูลว่า ถ้าเพียงข้อเดียวก็สามารถ

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
ถ้าอย่างนั้นก็ให้รักษาจิตของตน
เมื่อสามารถรักษาจิตของตนได้เพียงข้อเดียว
ก็สามารถรักษาข้ออื่นๆได้ทั้งหมด

ภิกษุนั้นได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาท
ก็สิ้นความอึดอัดรำคาญ
สามารถรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์


อันที่จริงจะเปรียบศีลเหมือนอย่างรั้วล้อมก็ได้
แต่หมายความว่าล้อมมิให้ความชั่วเข้ามา
เหมือนอย่างรั้วล้อมบ้านป้องกันโจรผู้ร้าย
และรั้วบ้านนั้นก็มีประตูสำหรับเข้าออก
แม้ตัวบ้านเองก็มีประตูหน้าต่าง
คนโดยปกติก็เข้าออกทางประตู
ถ้าปีนรั้วหรือปีนหน้าต่างเข้าหรือออกก็เป็นการผิดปกติ

ศีลก็เช่นเดียวกัน
แม้เป็นข้อห้ามดังศีล ๕ เหมือนอย่างรั้วกั้น
แต่นอกจากที่ห้ามไว้นั้นก็อาจทำได้
เท่ากับมีประตูสำหรับเข้าออกอยู่ด้วยบริบูรณ์
เพราะข้อที่พึงทำมีมาก
จะแสดงไว้ก็คงไม่หมด
จึงได้แสดงไว้แต่ข้อห้ามที่มีเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อเข้าใจดังนี้ ก็เข้าใจต่อไปได้ว่า
ผู้ที่เว้นจากข้อห้าม
ทำในข้อที่ท่านไม่ห้าม
เรียกได้ว่าเป็นคนปกติ
เหมือนอย่างเข้าออกทางประตูโดยปกติ
เป็นอันเข้าใจความหมายของศีลโดยตรง

:b55:

คัดลอกจาก...
ชุดความร่วมรู้เรื่องพระพุทธศาสนา ศีลในพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ ลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5198

:b42: :b42: :b42:

ศีลเท่านั้น เป็นเลิศในโลก

พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า

“ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด
ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดา ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา”


หมายถึง ในบรรดาคุณทั้งปวงในโลก ศีลเป็นคุณวิเศษ
แต่มิได้กล่าวว่าผู้มีศีลเป็นผู้สูงสุด หากกล่าวว่าผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด
จึงเปรียบศีลเป็นรากฐานที่มั่นคงและแข็งแรงที่สุด

ศีลเป็นฐานที่เลิศของปัญญา

ปัญญาเป็นสิ่งที่ก่อตั้งขึ้นมาบนฐานคือศีล ศีลเป็นฐานที่เลิศของปัญญา
ไม่มีฐานอื่นของปัญญาที่เลิศกว่าศีล
ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรอื่นที่ก่อตั้งบนฐานคือศีล ที่สูงยิ่งกว่าปัญญา
ปัญญาเป็นยอด สูงสุดที่เกิดแต่ฐานคือศีล

ของทุกอย่างต้องมีฐาน จึงจะมียอดตั้งอยู่ได้
ฐานมั่นคงแน่นหนาและมีความสูงเพียงใด
ก็จะส่งยอดให้สูงส่งมั่นคงได้เพียงนั้น
การก่อสร้างที่สำคัญทั้งหลาย ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่รากฐาน
อาคารมากชั้นเพียงไร ฐานก็ยิ่งต้องมั่นคงแข็งแรงเพียงนั้น

นี้เป็นความสำคัญจริง ฐานมั่นคงแข็งแรงเพียงพอสำหรับอาคาร ๓ ชั้น
ไปสร้างเป็น ๕ ชั้น ๗ ชั้น ย่อมเป็นไปด้วยดีไม่ได้
ข่าวการพังทลายของอาคารที่นั่นที่นี่ระหว่างการก่อสร้างบ้าง
เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วบ้าง
ล้วนมีเหตุมาแต่ความไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอของฐานทั้งสิ้น

สิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวง มีศีลเป็นฐาน

ศีลเป็นฐาน ปัญญาเป็นยอด ผู้มีศีลคือผู้มีฐานที่จะรองรับสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงได้
และในบรรดาสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีปัญญาเป็นสิ่งสูงสุด
สิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงมีศีลเป็นฐาน เกิดแต่ศีลเป็นต้น

แม้เพียงศีล ๕
ย่อมเป็นฐานให้เว้นการเบียดเบียนทำลายชีวิต
เว้นจากการเบียดเบียนถือเอาทรัพย์สินสิ่งของของผู้อื่น
เว้นจากการผิดประเวณี
เว้นจากการเจรจาให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง
เว้นจากเหตุแห่งความมั่วเมาคือสุราเมรัยเครื่องดองของเมาทั้งหลาย

สิ่งที่ศีลทำให้เว้นได้ทั้งปวง ล้วนเป็นความไม่ดีไม่งาม
การเว้นสิ่งไม่ดีไม่งาม ก็คือความดีงาม


:b54: :b54:

พรหมวิหารธรรม : สมเด็จพระญาณสังวรฯ

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5040

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2013, 22:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




รักษาศีล.jpg
รักษาศีล.jpg [ 20.74 KiB | เปิดดู 21144 ครั้ง ]
***** ปราชญ์...พึงรักษาศีล *****

สีลํ รกฺเขยฺย เมธาวี.

ปราชญ์...พึงรักษาศีล

:b8: :b8: :b8:

ปราชญ์ หมายถึง บุคคลผู้มีปัญญา

รู้ว่าสิ่งใหนควรทำ หรือไม่ควรทำ

รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป

และละสิ่งที่เป็นบาป เจริญแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล

การรักษาศีล ก็เป็นการทำบุญกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอานิสงส์มาก

ปราชญ์ท่านก็รู้ จึงได้รักษาศีลอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

เพราะเมื่อรักษาศีลให้ดี ให้เคร่งครัดอยู่เสมอแล้ว

ก็ไม่ต้องเกรงกลัวต่อโทษภัยต่าง ๆ

ทั้งยังเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากอบาย

และเป็นหนทางที่จะยกตนขึ้นสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นไปอีก

จนถึงขั้นสูงสุด คือ พระนิพพาน

(ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก ๒๕/๒๘๒)

:b20: :b20: :b20:

ยาทิ สีลัง ปติฏฐ จะ กัลยาณานัญจ มาตุกัง

ปมุขัง สัพพธัมมานัง ตัสมา สีลัง วิโส ธเย

ศีลเป็นพื้นฐาน เบื้องต้น เป็นมารดาแห่งความงาม

เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง ฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

ผลของการรักษาศีลนั้นมีมากมาย เช่น

๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ การรักษาศีลทำให้เกิดสุข

๒. สีเลน โภคสมฺปทา การรักษาศีลทำให้เกิดโภคทรัพย์

๓. สีเลน นิพพุตึ ยนฺติ การรักษาศีลทำให้สามารถเข้าสู่พระนิพพาน


:b19: :b19: :b19:


:b44: ♡✿(◕‿◕)✿♡ กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่าน ธรรมรักษา เทวดาคุ้มครอง ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป สุขกายเจริญวัย สุขใจเจริญธรรมนะเจ้าค่ะ ♡✿(◕‿◕)✿♡ :b8: :b8: :b8: :b20:

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2015, 05:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2015, 17:31 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2016, 20:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: 4A ขออนุโมทนาค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร