วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2012, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


“จีวร”
ธงชัยหรือเครื่องหมายของพระอรหันต์


รูปภาพ

:b44: ความสำคัญทางใจของจีวรต่อชาวพุทธ :b44:

จีวร ถือว่าเป็นธงชัย หรือเครื่องหมายของพระอรหันต์
มีหลักฐานปรากฏในพระคัมภีร์อุบาลีเถราปทาน ว่า

“บุคคลเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่ (แม้) เปื้อนอุจจาระที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนหนทาง
ก็ควรประนมมือไหว้ผ้านั้น อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้า ด้วยเศียรเกล้า”


ในฉัททันตชาดก ติงสนิบาต กล่าวว่า
“พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์
กำลังจะเดินตรงเข้าไปทำร้ายนายพรานป่าใจบาป ผู้คิดจะฆ่าตน
แต่พอมองเห็นจีวรที่นายพรานชูให้เห็นกลับคิดได้ว่า
ผู้มีธงชัยหรือเครื่องหมายแห่งพระอรหันต์ ไม่ควรถูกฆ่า จึงไม่ได้ทำร้าย
และให้อภัยแก่นายพรานปล่อยให้รอดไป...”


ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา กล่าวว่า
“สมัยที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่
พระธนิยะได้ตัดไม้เป็นสมบัติของหลวงจำนวนมาก
มีความผิดตามกฎหมายบ้านเมืองโทษฐานถึงขั้นประหารชีวิต
แต่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ ก็ทรงมีรับสั่งให้พระราชทานอภัยโทษ
เพราะทรงเห็นแก่จีวร (ผ้าเหลือง) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์นั่นเอง”


โดยเหตุว่า จีวรนั้นเป็น ๑ ในปัจจัย ๔ ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
จึงเป็นอีกสิ่งทำให้ระลึกถึงผู้ทรงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก

:b44: หมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้ทูลขอให้ภิกษุรับจีวรจากคฤหัสถ์ :b44:

รูปภาพ

หมอชีวกโกมารภัจจ์ คือ ผู้ที่ได้กราบทูลขอร้องต่อพระผู้มีพระภาค
เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายรับคฤหบดีจีวรได้
(คือจีวรที่ผู้ศรัทธาถวายให้ใช้ สมัยก่อนอนุญาตแต่จีวรที่เก็บเศษผ้ามาปะติดปะต่อใช้).
ทรงปรารภคำขอของหมอชีวก จึงทรงอนุญาตให้รับคฤหบดีจีวรได้
แต่ถ้าใครจะยังถือจะใช้จีวรที่เก็บมาปะติดปะต่อ
ที่เรียก “บังสุกุลจีวร” ก็ให้ถือต่อไปตามอัธยาศัย

ทรงตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร
รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล
รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร
แต่เราสรรเสริญการยินดี ด้วยปัจจัยตามมีตามได้.”


หมอชีวกโกมารภัจจ์
เอคทัคคะฝ่ายผู้เลื่อมใสในบุคคล

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7351

หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำของพระพุทธองค์
กับชีวิตที่เป็นแบบอย่าง
เรียบเรียงโดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6286


:b44: พุทธานุญาตต่างๆ เกี่ยวกับการรับผ้าจากคฤหัสถ์ :b44:

:b50: บังสุกุลจีวร-คฤหบดีจีวร

ในครั้งนั้น เมื่อมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้าจีวรจากคฤหัสถ์ได้
ประชาชนก็ต่างปลาบปลื้มกันถ้วนหน้า
พากันนำจีวรมาถวายในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕
มหาวรรค ภาค ๒ มีกล่าวไว้ว่า

“ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรทั้งเนื้อดีและเลวเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า
จีวรชนิดไรหนอแล พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดไรไม่ทรงอนุญาต
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด
คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑
ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยของเจือกัน ๑”


สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่ยินดีคหบดีจีวรนั้นพากันรังเกียจ ไม่ยินดีผ้าบังสุกุล
ด้วยคิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ อย่าง
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวร
ยินดีผ้าบังสุกุลได้ แต่เราสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองนั้น”


:b50: วิธีการรับและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการรับผ้าจีวร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก
เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/vinai05.php

กล่าวไว้ว่า

(องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รับจีวร)

ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนถือจีวรมาสู่อาราม
พวกเขาหาภิกษุเจ้าหน้าที่รับไม่ได้จึงนำกลับไป จีวรเกิดขึ้นน้อย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้จักจีวรจำนวนที่รับไว้ และยังมิได้รับ”


(องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้เก็บจีวร)

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร
รับจีวรแล้วทิ้งไว้ในที่นั้นแหละ แล้วหลีกไป จีวรเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้จักจีวรจำนวนที่เก็บไว้ และยังมิได้เก็บ”


(องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง)

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ได้เก็บจีวรไว้ในมณฑปบ้าง ที่โคนไม้บ้าง ที่ชายคาบ้าง
ที่กลางแจ้งบ้าง จีวรถูกหนูกัดบ้าง ถูกปลวกกินบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติ วิหาร เพิง
เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำหมายให้เป็นเรือนคลัง.”


และจีวรในเรือนคลังของสงฆ์ ไม่มีคนเฝ้า
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้จักจีวรจำนวนที่รักษา และยังมิได้รักษา”


(องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้แจกจีวร)

ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรในเรือนคลังของสงฆ์มีมาก
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้าแจก.”

สมัยต่อมา สงฆ์ทั้งปวงกำลังแจกจีวรได้ส่งเสียงอื้ออึง
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้จักจีวรจำนวนที่แจกแล้ว และยังมิได้แจก”


(การแจกผ้าจีวรสามเณร)

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร
ได้มีความปริวิตกว่า พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรอย่างไรหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนกึ่งหนึ่งให้แก่พวกสามเณร.”

:b50: พุทธานุญาตอื่นๆ เรื่อง น้ำย้อม เป็นต้น

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง
ด้วยดินแดงบ้าง จีวรมีสีคล้ำ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ
น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑.”


และในสมัยต่อมาพระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ได้แก่

๐ ทรงอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กเพื่อต้มน้ำย้อม.
๐ น้ำย้อมล้นหม้อ ทรงอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันล้น.
๐ ทรงอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงในน้ำ หรือหลังเล็บ
เพื่อทดสอบว่าน้ำในหม้อย้อมร้อนพอแล้วหรือไม่ร้อน
๐ ทรงอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อมอันเป็นภาชนะมีด้าม เพื่อสะดวกในการใช้งาน
๐ ทรงอนุญาตอ่างสำหรับย้อม, หม้อสำหรับย้อม เพราะบางแห่งภิกษุก็ขาดแคลนภาชนะ
๐ ทรงอนุญาตรางสำหรับย้อม เพื่อภิกษุไม่ต้องขยำจีวรในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง
๐ ทรงอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า เพื่อตากจีวรที่พื้นได้จักได้ไม่เปื้อน
๐ ในเวลาต่อมา ทรงอนุญาตราวจีวร สายระเดียง
คือ ตากจีวรบนที่แขวน เพราะที่รองกับพื้นนั้นถูกแมลงกัดบ้าง
๐ ทรงอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้ เพื่อภิกษุทั้งหลายตากจีวรตอนกลาง
น้ำย้อมจะได้ไม่หยดออกทั้งสองชาย
๐ ทรงอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร เพื่อไม่ให้มุมจีวรชำรุด
๐ ทรงอนุญาตให้ย้อมจีวรพลิกกลับไปกลับมาเมื่อจีวรยังชุ่มด้วยน้ำย้อม
๐ ทรงอนุญาตให้จุ่มจีวรลงในน้ำ เนื่องจากจีวรเป็นผ้าเนื้อแข็ง
๐ ทรงอนุญาตเราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ เนื่องจากจีวรเป็นผ้ากระด้าง

(การเปลือยกายและการใช้ผ้า)

ทรงห้ามเปลือยกายแบบเดียรถีย์ และปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ผู้ล่วงละเมิด.
อนึ่ง ทรงห้ามใช้ผ้าคากรอง, เปลือกต้นไม้กรอง,
ผลไม้กรอง, ผ้ากัมพล ทำด้วยผมคน, ผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์
ปีกนกเค้า หรือหนังเสือ, ซึ่งเป็นของพวกเดียรถีย์ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ผ้าทำด้วยปอ นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหมายในที่นี้ คือไม่ให้นุ่งห่มเลียนแบบเดียรถีย์).

(ทรงห้ามใช้จีวรที่มีสีไม่ควร และห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก)

ทรงห้ามใช้จีวรมีสีไม่สมควรต่างๆ คือ เขียวล้วน, เหลืองล้วน,
แดงล้วน, เลื่อมล้วน, ดำลัวน, แดงเข้ม, แดงกลายๆ (ชมพู).
อนึ่ง ทรงห้ามจีวรที่ไม่ตัดชาย, จีวรมีชายยาว, จีวรมีชายเป็นดอกไม้,
จีวรมีชายเป็นแผ่น และทรงห้ามใช้เสื้อ หมวก, ผ้าโพก
ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ใช้.

กติกา (ข้อกำหนดหรือแม่บท) ๘ ประการที่จีวรจะเกิดขึ้น

คือ ๑.) เขาถวายกำหนดเขตภิกษุที่อยู่ในสีมา
๒.) เขาถวายกำหนดกติกา
๓.) เขาถวายกำหนดเฉพาะเจตหรือวัดที่เขาทำบุญประจำ
๔.) เขาถวายแก่สงฆ์
๕.) เขาถวายแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ ภิกษุณี)
๖.) เขาถวายแก่สงฆ์ที่จำพรรษาแล้ว
๗.) เขาถวายโดยเจาะจง
(ให้เกี่ยวเนื่องกับการถวายข้าวยาคู หรืออาหารอื่นๆ เป็นต้น)
๘.) เขาถวายจำเพาะบุคคล (คือแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 20 พ.ย. 2012, 07:11, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2012, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ต้นแบบของการตัดเย็บจีวร

ในสมัยพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จถึงทักขิณาคิรีชนบท
พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่ง
ได้ทอดพระเนตรเห็นท้องนา (แปลงนา) ของชาวมคธ
เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง
แล้วมีรับสั่งกับ พระอานนท์ ว่า

“อานนท์ เธอสามารถออกแบบตัดเย็บจีวรให้มีรูปร่างอย่างนี้ได้หรือไม่”

พระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้พระเจ้าข้า”


หลังจากนั้นพระอานนท์ได้ออกแบบทำจีวรให้มีรูปร่างตามพุทธประสงค์ถวาย
คือ มีลักษณะคล้ายผืนนาที่มีคันนาคั่นเป็นระยะๆ
เมื่อนำถวายให้พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตร
ทรงตรัสสรรเสรญพระอานนท์ท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา
ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้
ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล
ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้”


พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้เป็น เอตทัคคะ คือ เป็นเลิศถึง ๕ ประการ คือ

๑.) มีสติ รอบคอบ
๒.) มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
๓.) มีความเพียรดี
๔.) เป็นพหูสูต
๕.) เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ประวัติพระอานนท์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6748


:b50: พระประสงค์ ๓ ประการ

ที่พระพุทธองค์มีรับสั่งให้ออกแบบจีวรเช่นนั้น
เพราะมีพระประสงค์ ๓ ประการ คือ

๑.) ผ้าที่มีราคาแพงๆ หากตัดเป็นชิ้นๆ
จะทำให้ผ้าราคาตก แทบไม่มีใครต้องการ

๒.) เมื่อนำเศษผ้าที่ตัดแล้วมาเย็บติดกัน
จะทำให้เกิดรอยตะเข็บ มีตำหนิขาดความสวยงาม

๓.) ยิ่งนำไปย้อมเปลี่ยนสีพร้อมทั้งทำเครื่องหมาย
(ทำพินทุ ใช้ปากกาหรือดินสอทำเป็นจุดที่ผ้าจีวร)
ทำให้สีของผ้าเศร้าหมอง ไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่เป็นที่ต้องการของใคร
ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าสนใจ ไม่มีประโยชน์สำหรับใครๆ
โจรผู้ร้ายไม่แย่งชิง แบบจีวรที่ถูกกำหนดตัดเย็บมาแต่โบราณ
จึงถือเป็นแบบอย่างใช้มาจนถึงปัจจุบัน

:b50: สีของจีวร

สีจีวรที่ต้องห้าม

คือ ๑.) สีเขียวคราม สีเหมือนดอกผักตบชวา
๒.) สีเหลือง สีเหมือนดอกกรรณิการ์
๓.) สีแดง สีเหมือนชบา
๔.) สีหงสบาท (สีเหมือนเท้าหงส์) สีแดงกับเหลืองปนกัน
๕.) สีดำ สีเหมือนลูกประคำดีควาย
๖.) สีแดงเข้ม สีเหมือนหลังตะขาบ
๗.) สีแดงกลายๆ แดงผสมคล้ายใบไม้แก่ๆ ใกล้ร่วง (เหมือนสีดอกบัว)

มีบางแห่งระบุว่าสีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง
สีบานเย็น สีแสด และ สีชมพู ถ้าจีวรมีสีตรงตามนี้ให้ภิกษุย้อมใหม่
ถ้าทำลายสีเดิมไม่ออกก็ให้นำไปใช้เป็นผ้าปูลาดสำหรับรองนั่ง
หรือใช้งานอื่นๆ หรือใช้ซับในระหว่างจีวรสองชั้นก็ได้

สีจีวรที่พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกใช้

การที่จะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้จีวรสีใด
ย่อมเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนได้
เนื่องจากไม่เคยมีใครได้พบเห็นพระพุทธองค์ด้วยตัวเอง
แต่สามารถประเมินได้จากหลักฐานพระคัมภีร์ในหลายแห่งที่พอเปรียบเทียบได้ คือ

๑.) พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา
ซึ่งมีสีดุจทองออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง

๒.) พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมดีแล้ว
ทรงห่มจีวรมหาบังสุกุล ได้ขนาดสุตตประมาณปานผ้ารัตตกัมพล (ผ้าสีแดง)

๓.)พระผู้มีพระภาค ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดง
มีสีคล้ายสียอดอ่อนของต้นไทร

สีจีวรของพระอัครสาวก มีหลักฐานปรากฏว่า

๑.) แม้พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น
ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ

๒.) พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นต้น
ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ

สีจีวรของพระเถระผู้ใหญ่ในสมัยพุทธกาล
ก็เหมือนกับสีจีวรของพระพุทธเจ้า คือ สีแดง ตรงตามพระบรมพุทธานุญาต
คือ สีเหลืองเจือแดงเข้ม ที่ใช้ย้อมด้วยแก่นขนุน คือ สีกรักนั่นเอง


สีจีวรของพระสงฆ์ไทยปัจจุบัน

ในสมัยพุทธกาลแม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ๆ
แต่ก็เชื่อว่าสีคงจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน
คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง แม้ในยุคปัจจุบันก็มีการใช้สีจีวรต่างๆ
แต่พอแยกออกได้ ๒ สี คือ
สีเหลืองเจือแดงเข้ม และ สีกรักสีเหลืองหม่น

วัดใดจะใช้จีวรสีไหนก็ได้ ไม่มีข้อห้าม
เพราะถือว่าถูกต้องตรงตามพระบรมพุทธานุญาตทั้ง ๒ สี
แต่ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ยู่ในวัดเดียวกัน ก็น่าจะใช้จีวรสีเดียวกัน
ส่วนสีที่นิยมในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว)
นิยมใช้สีกรัก หรือสีเหลืองหม่น เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ตลอดจนผ้าไตรที่ทางฝ่ายพระราชพิธีจัดเตรียมไว้ถวายพระด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

สาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านครองจีวรเศร้าหมอง

พระโมฆราช นั้น เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่า
ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษยินดีเฉพาะการใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ
คือ ๑.) ผ้าเศร้าหมอง
๒.) ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง
๓.) น้ำย้อมผ้าเศร้าหมอง

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง

พระโมฆราช
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7528

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 19 พ.ย. 2012, 17:06, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2012, 15:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: องค์ประกอบของจีวร :b44:

รูปภาพ

จีวรผืนหนึ่งมีขัณฑ์ไม่น้อยกว่า ๕ ขัณฑ์
เกินกว่านั้นใช้ได้แต่ต้องเป็น “ขัณฑ์ขอน (คี่)”
ตามพระวินัย จีวรจะเป็นขัณฑ์ขอน
อาทิเช่น ๕, ๗, ๙ ส่วนใหญ่จะนิยม ๙ ขัณฑ์

ในกรณีที่ผ้าหน้าแคบอาจจะทำขัณฑ์ให้เล็กลงเพื่อประหยัดผ้า
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ในการตัดเย็บจีวรนี้เราจะใช้เฉพาะ มณฑลและอัฑฒมณฑลเท่านั้น
ส่วนชื่อจำเพาะอื่นๆจะข้ามไปเพราะจะมีขนาดเหมือนกัน
แต่ต่างตรงตำแหน่งที่อยู่ของมณฑลต่างๆเหล่านั้นเท่านั้น

โดยมีผ้าที่เป็นส่วนชื่อเรียกดังนี้

๑.) อัฑฒมณฑล คีเวยยะ (พันรอบคอ)
๒.) มณฑล วิวัฏฏะ
๓.) อัฑฒมณฑล วิวัฏฏะ
๔.) มณฑล อนุวัฏฏะ
๕.) อัฑฒมณฑล อนุวัฏฏะ
๖.) อัฑฒมณฑล ชังเคยยะ (ปกแข้ง)
๗.) อัฑฒมณฑล พาหันตะ (ส่วนที่พันแขน)
๘.) กุสิ
๙.) อัฑฒกุสิ
๑๐.) อนุวาต
๑๑.) รังดุม, ลูกดุม


จีวรนั้นโปรดให้ตัดอย่างคันนาชาวมคธ คือ เป็นกระทงมีเส้นคั่น

- กระทงใหญ่ เรียกว่า มณฑล
- กระทงเล็ก เรียกว่า อัฑฒมณฑล
- เส้นคั่นในระหว่างดุจคันนาขวาง เรียกว่า อัฑฒกุสิ
- รวมมณฑล อัฑฒมณฑล อัฑฒกุสิ เรียกว่า ขัณฑ์
- ในระหว่างขัณฑ์ มีเส้นคั่นดุจคันนายาว เรียกว่า กุสิ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2012, 16:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีตัดเย็บจีวร

ในพระธรรมวินัยกล่าวถึงขนาดของจีวร
มีห้ามแต่ไม่ให้ทำเกินกว่าสุคตประมาณที่กำหนดไว้
ในสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งรตนวรรค คือ ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ
โดย คืบพระสุคต *

ส่วนขนาดย่อมกว่า ก็แล้วแต่พอดีกับบุคคลผู้ครองไม่มีข้อห้าม
ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย ยาว ไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๔ ศอกของผู้ครอง
พอได้ปริมณฑลดีเมื่อห่ม

สำหรับสบง ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย
ยาวไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๒ ศอก ของผู้ครอง

การตัดจีวรที่จะอธิบายต่อไปนี้ จะใช้นิ้วฟุตเป็นมาตราวัด
เพราะเห็นว่า ไม้บรรทัดใช้กันอยู่โดยทั่วไปหาได้ง่าย
ขนาดและตัวอย่างนี้มิใช่เป็นแบบที่ตายตัวทีเดียว ให้ขยายตามขนาดของบุคคล
เพียงแต่วางหลักกว้างๆ ไว้เท่านั้น

(* คืบพระสุคต = เดิม คงกำหนดด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในปัจจุบันให้ถือตามมาตราวัดเป็นเมตร คือ ๑ คืบพระสุคต เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร)

เวลาจะตัดกะดังนี้

๑.) จีวรพึงกะให้ได้ขนาด คือ กว้าง ๔ ศอก ยาว ๖ ศอก ของผู้ครอง
และอนุวาตกว้าง ๕ นิ้ว กุสิกว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ตัดเป็นจีวร ๕ ขัณฑ์

๒.) เบื้องต้นให้วัดศอกของผู้ที่ครองก่อน ว่ายาวกี่นิ้ว
เมื่อวัดได้เท่าไหร่แล้ว ให้เอา ๖ ศอก คือความยาวของจีวรคูณ
เมื่อคูณได้เท่าไรแล้ว ให้คิดเป็นเนื้อที่ของกุสิเสีย ๔ กุสิ

กุสิหนึ่ง กว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ๔ กุสิ ก็เท่ากับ ๑๐ นิ้ว อนุวาต ๒ ข้างๆละ ๕ นิ้ว
๒ ข้างเป็น ๑๐ นิ้ว เมื่อรวมกับกุสิ ๔ กุสิ จึงเป็นเนื้อที่ ๒๐ นิ้วพอดี

๓.) ให้เอา ๒๐ นิ้วไปลบความยาวทั้งหมดของจีวร
เมื่อลบแล้วคงเหลือเท่าไรให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร
เมื่อได้ผลลัพธ์เท่าไรแล้วให้เอาอนุวาต ๕ นิ้วมาบวก
บวกได้เท่าไร ก็เป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวริมทั้ง ๒ ข้าง
ขัณฑ์ตัวกลางมีกุสิอยู่ทั้ง ๒ ข้าง รวม ๕ นิ้ว ก็เอา ๕ บวก
จำนวน ๕ ขัณฑ์ที่หารได้ จัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวกลาง

ขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว คือตัวที่ติดกับตัวกลางทั้ง ๒ ข้าง
มีกุสิตัวละ ๒ นิ้วครึ่ง ๒ ขัณฑ์ จึงเป็น ๕ นิ้ว ให้เอา ๒ นิ้วครึ่งไปบวกกับที่ ๕ ขัณฑ์
หารได้ตอนต้นจึงจัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว
เมื่อได้ตัดเป็นขัณฑ์ๆ ได้ ๕ ขัณฑ์ ดังกล่าวแล้ว

ต่อแต่นั้นก็ให้พับขัณฑ์ (คือผ้าที่ตัดไว้ทั้ง ๕ ชิ้น) ทั้ง ๕ ขัณฑ์นั้น เป็น ๓ ส่วน
ให้ตัดอัฑฒกุสิในส่วนกลาง แล้วจึงตัดกุสิทีหลัง
ตอนตัดกุสิอย่าตัดทางกุสิก่อน ให้ตัดทางอัฑฒกุสิเสียก่อน
เพราะถ้าตัดทางกุสิก่อนก็จะเสียใช้ไม่ได้ เวลาจะเอาขัณฑ์ทั้ง ๕ มาเย็บติดกันระวังอย่าให้ผิด
เราควรจำให้ได้ว่า ทั้งหมดมีอยู่ ๕ ขัณฑ์ด้วยกันคือ

๑. ขัณฑ์กลาง มีกุสิติดอยู่ ๒ ข้าง และอัฑฒกุสิ
๒. ขัณฑ์รอง คือขัณฑ์ที่ติดกับขัณฑ์กลางมีอยู่ ๒ ขัณฑ์
มีกุสิ และอัฑฒกุสิติดอยู่ข้างเดียว
๓. ขัณฑ์ริม ๒ ข้าง ไม่กุสิ มีแต่อัฑฒกุสิ

(คำว่า กุสิ แปลว่ากระทงใหญ่ อัฑฒกุสิ แปลว่า กระทงเล็ก หรือกระทงกึ่ง)

เมื่อเย็บติดกันทุกชิ้นแล้ว จึงให้ตัดอนุวาตกว้าง ๕ นิ้วมาเย็บติดกันที่ริมโดยรอบ
เวลาเย็บอนุวาตอย่าให้ติดทางด้านตะเข็บ ให้ติดทางด้านนอกของตะเข็บ

เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ได้ใจความว่า
เบื้องต้นให้ตัดผ้าออกเป็น ๕ ชิ้น
คือตัวกลาง ๑ กับตัวริมสุด ๒ ข้าง รวม ๓ ชิ้น ให้ตัดเท่ากัน
ตัวรองคือตัวติดกับตัวกลาง ๒ ตัวให้ตัดเท่ากัน
แล้วจึงให้ตัดกุสิและอัฑฒกุสิในภายหลัง

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

:b44: ตัวอย่างการตัดเย็บจีวร :b44:

ดังที่อธิบายมานี้ จะสมมติวิธีตัดให้ดู ดังนี้

สมมติว่าผู้ที่จะครอง มีศอกยาววัดได้ ๑๗ นิ้วครึ่ง (ให้ใช้นิ้วฟุต)
ให้ตั้ง ๑๗ นิ้วครึ่งลง แล้วให้เอา ๖ ศอกคูณได้ผลลัพธ์ ๑๐๕ นิ้ว
แล้วให้คิดเผื่อตะเข็บอีก ๒ นิ้วครึ่ง เอาไปบวกกับ ๑๐๕ นิ้ว เป็น ๑๐๗ นิ้วครึ่ง
คิดเป็นเนื้อที่กุสิและอนุวาตเสีย ๒๐ นิ้ว แล้วเอา ๒๐ ลบ ๑๐๗ นิ้วครึ่ง
คงเหลือ ๘๗ นิ้วครึ่ง แล้วให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร ๘๗ นิ้วครึ่ง

ได้ผลลัพธ์ ๑๗ นิ้วครึ่ง ตัวกลางมีกุสิ ๒ ข้าง รวมกันได้ ๕ นิ้ว
ให้เอา ๕ ไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง จึงได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง
เป็นความกว้างของขัณฑ์กลาง

ขัณฑ์รอง ๒ ขัณฑ์ ขัณฑ์หนึ่งๆ มีกุสิเดียว ๒ นิ้วครึ่ง ให้เอาไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง
ได้ผลลัพธ์ ๒๐ นิ้ว เป็นความกว้างของขัณฑ์รอง

ขัณฑ์ริมสุด ๒ ขัณฑ์ มีอนุวาตด้วยขัณฑ์ละ ๕ นิ้ว จึงให้เอา ๕ บวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง
จึงจะได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง เป็นความกว้างของ ขัณฑ์ริมตัวหนึ่งๆ

เมื่อรวมแล้วได้ใจความดังนี้

๑. ขัณฑ์กลาง ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗๐ นิ้ว ๑ ผืน

๒. ขัณฑ์รอง ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๐ นิ้ว ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน

๓. ขัณฑ์ริมสุด ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน

๔. ต่อจากนั้นก็ให้ตัดกุสิ และอัฑฒกุสิจากขัณฑ์นั้นๆ ทั้ง ๕ ขัณฑ์
เวลาจะตัดกุสิและอัฑฒกุสิ (กระทง) ให้ตัดในขัณฑ์นั้นๆ กว้างขนาด ๒ นิ้วครึ่ง
หรือจะใช้กลักไม้ขีดเป็นขนาดก็ได้ ก่อนแต่จะตัดอัฑฒกุสิให้พับเป็น ๓ ส่วน
แล้วให้ตัดในส่วนกลางดังกล่าวแล้ว

๕. เย็บให้ติดกันเรียบร้อย แล้วจึงติดอนุวาตภายหลัง
อนุวาตที่เย็บติดกันนั้น ให้ใช้ผ้ากว้าง ๕ นิ้ว ส่วนยาวเอาจนรอบขอบของจีวร

๖. เสร็จแล้วจึงให้ติดรังดุมไว้ขวา ลูกติดไว้ซ้าย จงดูในแบบ

๗. เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ถ้าคิดจะหักตอนที่ตะเข็บย่นออกเสียแล้ว
ก็คงเป็นจีวรประมาณกว้าง ๖๘ นิ้ว ยาว ๑๐๕ นิ้ว

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2012, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

การถวายผ้าไตรจีวรและอานิสงส์

๑.) ต้องการถวายผ้าไตรจีวร ต้องถวายกี่องค์ ?

ตอบ ถวายกี่รูปก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้ว พระสงฆ์จะดำเนินการเอง
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีกำลังทรัพย์ และกำลังจาคะเพียงพอ ถวายครบทุกรูป
ก็จะเป็นอันถวายครบถ้วนดี

๒.) การถวายผ้าไตรจีวรนั้น ต้องใช้อะไรบ้าง ?

ตอบ ต้องใช้ผ้าไตรจีวร โดยควรศึกษาก่อนว่า

๒.๑) ขนาดจีวร จีวรมีหลายความยาว หากซื้อขนาดเล็กเกินไปอาจใช้การไม่ได้เต็มที่นัก
และหากซื้อใหญ่ไปก็จะเทอะทะ ไม่งาม
๒.๒) คุณภาพของผ้า ควรเลือกที่เนื้อดีพอควรเพื่อประโยชน์ใช้สอยของภิกษุสงฆ์
๒.๓) สีของจีวร อาจสังเกตหรือสอบถามจากวัดแล้วปรึกษาที่ร้านตัดเย็บหรือร้านสังฆภัณฑ์

๓.) ควรนำไปถวายในช่วงเวลาไหน

ตอบ สามารถถวายได้ตลอดปี ยกเว้นกฐิน ผ้าอาบน้ำฝน
ผ้าจำนำพรรษา และอัจเจกจีวร (เท่าที่ทราบ)

ผู้ที่จะถวายสังฆทานแด่สงฆ์ พึงทำความซาบซึ้งในคุณแห่งพระสงฆ์
เพื่อให้ใจอ่อนน้อม และพึงรักษาศีล ๕ เป็นเบื้องต้น
เพื่ออานิสงส์แห่งทานอันไพศาลจักสำเร็จแก่ผู้ถวายนั้น


คำถวายจีวร

อิมานิ มะยัง ภันเต จีวะรานิ สะปะริวารานิ
ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ
สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ จีวะรานิ สะปะริวารานิ
ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ


หรือจะกล่าวเฉพาะคำแปลก็ได้ คือ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ขอน้อมถวายจีวร พร้อมทั้งของบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์
ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับจีวรพร้อมทั้งของบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ


จะเลือกถวายจีวรสีใด (อ.ธรรมจักร สิงห์ทอง)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19701

สังฆคุณ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.ph ... &detail=on

ศีล ๕ และการสมาทาน
http://www.dhammajak.net/sila/8.html

ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn02.html

อานิสงส์ศีล ๕
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=43283

คำถวายผ้าไตรจีวร-ถวายผ้าไตรจีวร
แด่ผู้ล่วงลับ (เพิ่มเติม)

http://www.dhammajak.net/suadmon-arattana/2.html

ทานที่มีผลมาก
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html

:b41: :b42: :b42: :b41:


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล ดังนี้

๑.) บทความเรื่อง “การตัดเย็บจีวร”
เว็บไซต์ทองเก้าดอทคอม http://www.tong9.com
๒.) บทสรุปเกี่ยวกับจีวรขันธกะ (หมวดว่าด้วยจีวร)
จากพระวินัยปิฎกโดยเว็บไซต์บ้านจอมยุทธ
http://www.baanjomyut.com/pratripidok/p ... k/506.html
๓.) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
จากเว็บไซต์ 84000.org
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v ... 899&Z=3945
๔.) บทความเรื่อง “องค์ประกอบของจีวร”
จากเว็บไซต์ผ้าไตร http://www.phatri.com
๕.) บทความเรื่อง “ประวัติพระอานนท์เถระ”
http://www.happy4night.com/?p=192
๖.) บทความเรื่อง “จีวรพระ”
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id ... 1&gblog=10
๗.) บทความเรื่อง “ผ้าผืนเดียว”
http://sleepwalker.bloggang.com

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 07:21 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: onion


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2018, 09:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร