วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2012, 20:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: โพชฌงค์ ๗ :b42:

จากหนังสือวิปัสสนากรรมฐาน โดย ฐิตวณฺโณ ภิกฺขุ
หรือพระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) วัดโสมนัส ราชวรวิหาร
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

:b49: :b49: :b49: :b49: :b49:

โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หมายความว่าการที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็เพราะพระองค์ทรงมีโพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นธรรมสำคัญอันหนึ่งในการตรัสรู้ของพระองค์

อันหลักธรรมที่สนับสนุนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นท่านเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม มีอยู่ ๓๗ ประการ คือ
- สติปัฏฐาน ๔
- สัมมัปปธาน ๔
- อิทธิบาท ๔
- อินทรีย์ ๕
- พละ ๕
- โพชฌงค์ ๗
- มรรคมีองค์ ๘

ธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ เป็นองค์ตรัสรู้่ของพระพุทธเจ้า ซึ่งธรรมข้อต้นๆ หลายข้อทุกท่านได้ศึกษามาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัิติพอสมควรแล้ว เช่น สติปัฏฐาน ๔ และ อินทรีย์ ๕ เป็นต้น เฉพาะในบทนี้จะได้พูดถึงโพชฌงค์ ๗ เพราะในอาณาปานสติสูตรนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้ใดเจริญอานาปานสติ ทำให้สมบูรณ์ เท่ากับว่าผู้นั้นได้ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ และเมื่อทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ก็เท่ากับว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ และเมื่อทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ก็เท่ากับว่าทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ คืออะไร?
- โพชฌะ แปลว่า การตรัสรู้
- อังค แปลว่า องค์
โพชฌะ กับ อังค บวกกันเป็นโพชฌงค์ แปลว่า ธรรมะเป็นองค์ตรัสรู้ หรือ ธรรมะเป็นตัวปัญญาตรัสรู้
โพชฌงค์นั้นมีอยู่ ๗ ประการ คือ
๑. สติ ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ การสอดส่องธรรม
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปีติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบกายและความสงบจิต
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗. อุเบกขา ความวางเฉยในธรรม

ธรรมทั้ง ๗ ประการนี้เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เกื้อกูลต่อการตรัสรู้อย่างไร จะขอนำมาชี้แจงตามสมควรแก่เวลา

ก่อนอื่นขอชี้อานิสงค์บางประการของโพชฌงค์เสียก่อน คือ โพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ถ้าใครระลึกถึง พิจารณา หรือนำมาสวดจนจิตของตนเกิดความสงบ เช่น เกิดปีติขึ้น เป็นต้น โรคภัยจะหายได้ ไข้เจ็บจะหายได้ เพราะฉะนั้นโพชฌงค์จึงเป็นธรรมะซึ่งรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย

เดี๋ยวนี้ ใครที่เจ็บป่วยเขามักจะสวดโพชฌงค์ให้ฟัง เพราะโพชฌงค์เมื่อฟังแล้วทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมีเรื่องปรากฏอยู่หลายตอนในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายทรงประชวร พระองค์ได้ดำรัสสั่งให้พระจุนทะซึ่งเป็นน้องของพระสารีบุตรสวดโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง พระองค์ฟังโพชฌงค์ ๗ แล้ก็หายจากประชวรนั้น

สมัยหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะกับพระมหากัสสปะอาพาธ พระพุทธเจ้าได้แสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง พอฟังแล้วพระมหาเถระทั้งสองก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บในทันที

นี้แสดงให้เห็นว่าโพชฌงค์จะต้องมีอะไรดีเป็นแน่ เมื่อผู้ฟังไตร่ตรองตาม พิจารณาตามทำให้โรคภัยไข้เจ็บนั้นหายไป มิใช่เป็นเพียงธรรมะที่สนับสนุนการตรัสรู้อย่างเดียว แต่เป็นธรรมะที่ทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ คือช่วยร่างกายด้วย

ธรรมะทั้ง ๗ ประการ ในโพชฌงค์นี้มีความเกี่ยวพันกัน คือตั้งแต่ข้อแรก ได้แ่ก่ สติไปจนถึงอุเบกขานั้น เป็นธรรมะที่หนุนการปฏิบัติต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ คือถ้ามีสติแล้ว เป็นเหตุให้เกิดธัมมวิจยะ การสอดส่องธรรมขึ้น เมื่อมีการสอดส่องธรรมแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความเพียรในการที่จะปฏิบัีติตามพระธรรมขึ้น เมื่อมีความเพียรในการปฏิบัติตามพระธรรมแล้วก็เกิดปีติขึ้น อย่างที่ผู้เจริญภาวนา บางท่านเกิดปีติในการปฏิบัติธรรมหลังจากมีความเพียรมีความพยายามค่อนข้างหนัก เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดมีความสงบกาย สงบจิตขึ้นที่เรียกว่า ปัสสัทธิ เมื่อเกิดปัสสัทธิความสงบกายสงบจิตขึ้นแล้วก็เข้าสู่สมาธิ คือความตั้งมั่น เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิความตั้งมั่นแล้วจิตก็เข้าสู่ความวางเฉยคือ อุเบกขา เพราะฉะนั้นธรรมะเหล่านี้จึงหนุนส่งเนื่องกันไปสู่สภาวะความเป็นจริงของจิตใจที่จะให้ผู้นั้นได้รับความสงบ ได้รับการตรัสรู้ธรรม

:b48: สติสัมโพชฌงค์

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


แก้ไขล่าสุดโดย SOAMUSA เมื่อ 09 พ.ค. 2012, 10:43, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 09:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


สติสัมโพชฌงค์

สติ คือ ความระลึกได้ เป็นธรรมข้อแรกซึ่งเป็นองค์ตรัสรู้
สติ หมายถึง ระลึกได้ในสิ่งที่ล่วงมาแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึง รวมทั้งระลึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบันด้วย
แต่ถ้ามีสัมปชัญญะเข้ามารวมกับสติด้วย ...

สติ ก็หมายถึง ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สำหรับการทำหน้าที่ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของสัมปชัญญะ

แต่ถ้าพูดถึงสติอย่างเดียวไม่พูดถึงสัมปชัญญะด้วย ความหมายของสัมปชัญญะก็อยู่ที่สติด้วย คือ สติกิน
ความหมายไปหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือ สามารถจะระลึกรู้สิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง
และสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สติเป็นการย่อคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด คือบรรดาธรรมที่เป็นกุศล
ทั้งหมดรวมลงในสติ

ดังนั้น สตินั้นได้แก่ ความไม่ประมาทนั่นเอง
คนที่ประมาทคือ คนที่ปราศจากสติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าการปราศจากสติคือ ความประมาท
ความไม่ประมาทคือการไม่อยู่ปราศจากสติ ความไม่ประมาทนี้เองเป็นหลักย่อแห่งคำสอนทั้งหมดของ
พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า " ภิกษุทั้งหลาย บรรดารอยเท้าสัตว์บกทั้งหลาย รอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าใหญ่รอยเท้าสัตว์บกอื่นๆ ย่อมสามารถจะรวมลงในรอยเท้าช้างทั้งหมดด้วยกันฉันใด ธรรมทั้งหลายบรรดาที่เป็นกุศลทั้งหมดก็รวมลงในเรื่องความไม่ประมาททั้งหมด ฉันนั้น "
นี้หมายถึงธรรมที่เป็นกุศล ถ้าธรรมที่เป็นอกุศลถือเป็นบาป รวมลงในความประมาททั้งหมด คือ
ปราศจากสติ

ได้เคยย้ำในการปฏิบัติแล้วว่า ผู้ที่มีสติเปมือนกับว่าจิตนั้นมีดวงไฟอยู่ คนที่ปราศจากสติ คือดวงไฟมัน
ดับเพราะมีกิเลสเข้ามาในขณะที่จิตมืด คือ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นในขณะที่จิตปราศจากสติ
พระพุทธเจ้าย่อคำสอนของพระองค์ลงในความไม่ประมาทคือ การมีสติ แม้เมื่อพระพุทธเจ้าจะ
ปรินิพพาน ปัจฉิมโอวาทคือ โอวาทสุดท้ายของพระองค์ก็รวมลงในความประมาท คือ การไม่ปราศ
จากสติ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

" หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว
วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
"

ซึ่งแปลว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีการเกิดขึ้นและเสื่อมไป
เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด
"
พระองค์สรุปคำสอนของพระองค์ลงสู่ความไม่ประมาท คืออย่าให้มัวเมาประมาท ก็คือ สตินั่นเอง
สติจึงมีความหมายมาก เราจะทำอะไรต้องมีสติ การทำกรรมฐานนี้ถ้าปราศจากสติแล้วไม่ได้ผลเลย
โดยเฉพาะเราต้องอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าไม่ได้อารมณ์ปัจจุบันแล้วกรรมฐานจะไม่ขึ้น ไม่ก้าวหน้า
สติที่เราไปใช้ในวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็คือ สติที่อยู่ในปัจจุบันนี้เอง และสติที่่อยู่ในปัจจุบันนี้มีสมาธิ
อยู่ในตัวด้วย คือในขณะใดที่จิตมีสติ ในขณะนั้นจิตชื่อว่ามีขณิกสมาธิอยู่พร้อมในตัว เป็นเหตุให้เรา
ทำอะไรต่างๆ ไม่ค่อยผิดพลาด

สติจำต้องปรารถนาใช้ในงานทุกๆ อย่าง เหมือนกับเกลือปรารถนาใช้ในการปรุงอาหารกับข้าวทุกชนิด
เหมือนกับอำมาตย์ที่มีความสามารถในราชการ ทางราชการปรารถนามาในงานทุกอย่าง สตินี้ก็เหมือน
กันปรารถนาใช้ในที่่ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน ดังพระบาลที่ว่า
" สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา " ซึ่งแปลว่า " สติจำต้องปรารถนาใช้ในที่ทุกสถานในกายทุกเมื่อ "
เพราะเมื่อใดใจปราศจากสติเสียแล้ว เมื่อนั้นงานทั้งปวงก็เสียเพราะความประมาทเข้ามาแทรก
กิเลสเข้ามาแทรก แค่สตินั้นไม่ใช่ฝึกได้ง่าย อย่างที่ทุกท่านฝึกจิตอยู่ทุกวันนี้ พยายามแล้วพยายามอีก
ที่จะให้มีสติ แต่มันเผลอไปบ่อยที่สุด จำเป็นจะต้องฝึกจิตให้มีสติ ใครมีสติสมบูรณ์มากผู้นั้นชื่อว่า
ประสพความสำเร็จในการฝึกมาก อย่างพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านมีสติสมบูรณ์ที่สุด ไม่พลั้งเผลอใน
การกำหนด นั้นคือ ท่านได้ประสพความสำเร็จอย่างสูงสุดในการฝึกจิตของท่านให้มีสติ

การที่จิตจะมีสติอยู่ได้มากนั้นท่านอธิบายว่า ผู้ฝึกจำเป็นจะต้องหาองค์ประกอบเข้ามาให้จิตเกิดสติขึ้น
ธรรมะที่จะให้สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นท่านบอกว่า มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. สติสัมปชัญญะ คือให้มีสติสัมปชัญญะ
๒. ไม่คบคนที่จิตใจปั่นป่วน
๓. คบคนที่มีสติปัญญามั่นคง
๔. มีสติ มีใจน้อมไปในการที่มีสติสัมโพชฌงค์ คือ อยากเป็นคนที่มีสติมั่นคง

อธิบาย
ประการที่ ๑. นั้นคือให้มีสติสัมปชัญญะอยู่

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 10:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบาย
ประการที่ ๑
นั้นคือให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ การที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาลนั้นเราจะต้องทำอะไรด้วยการใคร่ครวญช้าๆ อย่ารวดเร็วเกินไป อย่างการเดิน การกำหนดนามรูป ต้องพยายามให้ตัวมีสติรับรู้ตลอดเวลา ฝึกตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ ใครถ้าฝึกตนถึงแม้ไม่เข้าสู่สำนักกรรมฐานแต่มีสติอยู่ทุกย่างก้าวเท่าที่ทำได้ มีสัมปชัญญะด้วย ผู้นั้นสติสัมโพชฌงค์จะเกิดได้ไว

ประการที่ ๒ นั้น คนไหนที่มีสติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ ก็ห่างคนนั้นเสีย ถ้าเราเข้าไปใกล้คนนั้นๆ
เข้านานๆ บางทีเราจะติดโรคฟั่นเฟือนเข้าไป เพราะฉะนั้นก็ต้องเว้น อย่าเข้าใกล้ เว้นไว้แต่เข้าคบด้วยความ
สงสาร แนะนำเขาบ้างในบางครั้งบางคราว นอกนั้นห่างให้ไกล เพราะมันจะติดเอาได้

(ความคิดเห็นของผู้ทำกระทู้...ในมงคล ๓๘ ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ พระพุทธองค์ทรงเห็นความ
สำคัญเรื่องการคบคนไว้ในอันดับแรกเลยว่า ไม่คบคนพาลในข้อแรกคือ เมื่อคนที่เราคบกับเขาแล้วเป็น
เช่นไร เมือเราคบกับเขาไปสักระยะหนึ่ง เราจะมีความประพฤติไปตามเขาได้โดยอัตโนมัติ เช่นเราเป็น
คนไม่พูดหยาบคาย เมื่อคบกับคนพูดหยาบคาย เราจะติดเอาคำพูดเขามาพูดบ้าง และเมื่อคบกันไปเราจะเป็นไปในทำนองเดียวกับเขา พระพุทธองค์จึงทรงสอนไว้ในข้อที่ ๒ ว่าให้คบบัณฑิต เพื่อที่เราจะได้
ซึมซับในความดีของเขาและปฏิบัติไปในทำนองเดียวกับเขา มีภาษิตจีนว่า คบคนไหน ก็เป็นเหมือนคน
นั้น ภาษิตไทยว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล ซึ่งเชื่อมโยงกับคำอธิบาย
ในประการที่ ๓ ดังต่อไปค่ะ)

ประการที่ ๓ พยายามคบหาคนที่จิตใจมั่นคงแล้วเราจะได้แบบอย่างของท่านที่มีสติมั่นคง

ประการที่ ๔ นั้น ให้พยายามปลูกกำลังใจให้เห็นคุณค่าของการมีสติ มีจิตใจน้อมไปในเรื่องนี้ ขวนขวายในเรื่องนี้อยู่เสมอตลอดชีิวิตของเรา แล้วสติสัมโพชฌงค์ก็จะค่อยก่อตัวขึ้น ให้คุณค่าแก่เราในการปฏิบัติ
ทั้งในการปฏิบัติธรรมและปฏิบัติงานทุกชนิด

:b49: ขออนุโมทนาในบุญกุศลทุกๆ ท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ
:b8: :b8: :b8:

ธััีมมวิจยะสัมโพชฌงค์

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

โพชฌงค์ข้อที่ ๒ ศีลธรรมวิจัย หรือ ธัมมวิจยะ การวิจัยเป็นงานอย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ใน
ปัจจุบัน คืองานชนิดใดถ้าขาดการวิจัยแล้วงานนั้นจะไม่ก้าวหน้า อาจจะผิดพลาดได้ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาต้องมีการวิจัย ธรรมะนี้ต้องวิจัย คือสอดส่องดูว่าผิดหรือถูก วิจัยคือตรวจตรา ทดสอบ
ประเมินผล ดูแล เทียบเคียง หาข้อมูล อยู่ในข้อวิจัย แต่พระพุทธเจ้าให้วิจัยธรรม ไม่ใช่วิจัยเรื่องอื่น
เรียกว่า ธรรมวิจัย หรือ ธัมมวิจยะ แต่การวิจัยธรรมนี้ต้องหนุนมาจากสติ ถ้าขาดสติเสียแล้วตัววิจัยจะ
ไม่ได้ผล เมื่อมีสติแล้วการวิจัยธรรมะจะดีขึ้น อย่างที่พวกเรากำลังเจริญวิปัสสนา พิจารณาการเกิดดับ
ของนามรูป พิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์ต้องใช้สติ จิตก็จะเข้าไปสู่การสอดส่องธรรมทั้งเกิดทั้งดับ
ให้เห็นชัดขึ้นเพราะใช้ปัญญาเข้าไปวิจัย ตัวปัญญานี้เองที่จะเข้ามาวิจัยธรรม

การที่จะวิจัยธรรมให้ถูกต้องไม่ผิดพลาด เกิดผลดีต่อการปฏิบัตินั้น ท่านบอกว่า ผู้วิจัยต้องมีคุณธรรม หรือมีองค์ประกอบในการวิจัย ๗ ประการ คือ

๑. เป็นคนชอบไต่ถาม คือหาข้อมูล ไต่ถามจากท่านผู้รู้
๒. ทำวัตถุภายในและภายนอกให้เรียบร้อย
๓. ปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน
๔. เว้นคนที่โง่เขลา อย่าคบคนโง่เขลา
๕. คบคนที่มีปัญญา
๖. พยายามพิจารณาธรรมะที่ลุ่มลึก
๗. มีใจน้อมไปในการวิจัยธรรม

ถ้ามีคุณสมบัติ ๗ ข้อนี้จะเกิดธรรมวิจัยขึ้น การวิจัยธรรมในพุทธศาสนาจะถูกต้องและได้ผลดี
ในที่นี้จะอธิบายเท่าที่จำเป็นเพียง ๓ ข้อแรกเท่านั้น

อธิบาย
ข้อที่ ๑ คือ ไต่ถาม ถ้าเราสงสัยแล้วก็ไต่ถามท่านผู้รู้ อย่างมาปฏิบัตินี้เมื่อสงสัยก็ไต่ถามอาจารย์
เราจะได้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้น ถ้าสงสัยแล้วไม่ไต่ถาม บางที ๓-๔ วันผ่านไป เสียเวลาการ
ปฏิบัติ แต่ถ้าไต่ถามทีเดียวก็ใช้ไปได้นาน เพราะจะได้ความแจ่มแจ้งขึ้นจากการวิเคราะห์ธรรม
เพราะท่านผู้ที่เคยปฏิบัติผ่าน หรือเคยศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรงย่อมเข้าใจสภาวธรรมได้ชัดกว่า
ผู้ที่กำลังเริ่มวิจัยธรรม การมีครูบาอาจารย์หรือท่านผู้รู้จึงจำเป็น ไม่ต้องเสียเวลาค้นคว้าอีก
อย่างคนในปัจจุบันที่เจริญก้าวหน้าได้มากก็เพราะอาศัยคนโบราณทำวิจัยสิ่งต่างๆ ต่อกันมา
เราได้อาศัยท่านผู้รู้ น่าขอบคุณท่านผู้รู้ทั้งหลายที่ได้วิจัยไว้ก่อน ถ้าเรามาเป็นคนวิจัยครั้งแรกๆ
ป่านนี้บางทีเราก็อาจยังทำผ้านุ่งไม่เป็น แต่นี่เราก้าวหน้าไปมากเพราะได้อาศัยท่านผู้รู้
การไต่ถามจึงจำเป็นในการทำให้เกิดปัญญาขึ้น อย่างหัวใจนักปราชญ์ที่ว่าต้องมี
สุ จิ ปุ ลิ เพราะมี สุ จิ ปุ ลิ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้น
- สุ นั้นคือ สุตะ ฟัง
- จิ คือ จิตตะ คิด
- ปุ คือ ปุจฉา ถาม
- ลิ คือ ลิขิต เขียน
ดังนี้จึงต้องมี สุ จิ ปุ ลิ จึงจะเกิดปัญญาสอดส่องธรรม

(ความคิดเห็นของผู้ทำกระทู้...สุตะ คือ การฟังเป็นความสำคัญในอันดับแรกทีเดียวในการให้
ปัญญาทางธรรมเกิด คือศึกษาธรรมะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูอาจารย์ที่ประเสริฐ
สูงสุด ถึงพระองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ยังมีอยู่ ศึกษาพระอภิธรรม
ธรรมะของพระพุทธองค์ ถ้าไม่ศึกษา เราจะไม่รู้เลยว่า หนทางที่ถูกต้องนั้นไปทางใด เมื่อมีท่านผู้หนึ่ง
ผู้ใดมาอธิบายแล้วบอกเราว่านี่แหละธรรมะพระพุทธเจ้า เราจะไม่มีความรู้เลยว่า ท่านผู้นั้นสอนเรา
ถูกหรือสอนเราผิดเพี้ยนไป การที่เราจะเชื่อใครได้ว่าเขาสอนถูกต้องหรือไม่ เราต้องรู้ในเนื้อหาที่
ถูกต้องเสียก่อน เช่น เราไม่รู้เลยว่าจังหวัดเชียงใหม่อยู่ทิศเหนือ แต่วันหนึ่งมีท่านผู้หนึ่งดูเหมือนหนึ่ง
เป็นผู้ทรงความรู้ แล้วมาบอกเราว่า เชียงใหม่อยู่ทิศใต้ เราเห็นว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือได้
เราจึงเชื่อสนิทว่า เชียงใหม่อยู่ทิศใต้ นั่นเพราะเราไม่เคยศึกษาสิ่งที่เป็นความจริงมาก่อน ว่าสิ่งใด
คือ เรื่องจริง เปรียบได้กับธรรมะพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
เราจะถูกชักชูงได้โดยง่ายจากพวกโมฆบุรุษผู้ชอบแอบอ้างธรรมะพระพุทธองค์ เหล่าโมฆะบุรุษ
ในยุคปัจจุบันนี้มีมากมาย ส่วนใหญ่พวกนี้จะไม่มีสุตะแบบพระอริยะ คือไม่ศึกษาพระธรรมคำสั่ง
สอนของพระพุทธเจ้า มุ่งหมายชักชูงเพราะลาภสักการะในเชิงพุทธพานิช สร้างสถานที่สวยงาม
อลังการไว้ล่อพุทธศาสนิกชน ให้เพลิดเพลินในรูปารมณ์เมื่อเข้าไปในสถานที่นั้นๆ และมีการพูด
ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีโน้มน้าวจิตใจคน ให้หลงเชื่อ จนบางคนหมดเนื้อหมดตัว ฐานะยากจน
หรือบางแห่ง ก็สอนให้คนหลงเชื่อว่า นิพพานไปกันง่ายๆ ปลูกฝังความเชื่อว่านิพพานเป็นเมือง
เป็นสถานที่ ฝึกสอนทางลัดว่าการเข้าถึงนิพพานนั้นทำกันง่ายๆ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีเส้นทางลัีด
ที่จะถึงซึ่งมรรคผลนิพพานง่ายๆ ไม่ได้ง่ายดายเลย ต้องอาศัยการทำบารมีที่หนักหน่วง และเป็น
ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะต้องสะสมจากสุตะ นั่นเอง)

ข้อ ๒ ทำวัตถุภายนอกและภายในให้เรียบร้อย

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


แก้ไขล่าสุดโดย SOAMUSA เมื่อ 09 พ.ค. 2012, 10:44, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ค. 2012, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อ ๒ ทำวัตถุภายนอกและภายในให้เรียบร้อย หมายความว่า ผู้ปฏิบัตินั้นจำเป็นจะต้อง
จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าของตนให้เรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ดูงามตาอย่างในบ้านของเรา
กวาดให้เรียบร้อย ตู้ เตียง สิ่งทั้งหลายภายในบ้าน บริเวณบ้านก็เรียบร้อย ไม่รก รุงรัง จิตก็เห็นแต่
ความเรียบร้อย อย่างนี้เรียกว่าทำวัตถุภายนอกได้เรียบร้อย วัตถุภายในก็คือคือ ผมเผ้าให้เรียบร้อย
แปรงฟัน ตัดเล็บ ให้เรียบร้อย ให้สะอาดสะอ้าน ชำระกายให้สะอาดไม่ให้สกปรกเหม็นสาบ ถ้าทำ
วัตถุภายนอกและภายในให้เรียบร้อย จิตของเราจะเกิดความเรียบร้อยขึ้น แต่ถ้าวัตถุภายนอกและภาย
ในสกปรกรกรุงรังจิตก็ไม่สงบไปด้วย

ท่านเปรียบให้ฟังว่า เปรียบเหมือนตะเกียงที่ไส้ก็ไม่ดี น้ำมันก็ไม่ดี ตัวตะเกียงก็ไม่ดี แสงออกมาก็ไม่ดี
มีเขม่ามาก ไม่สวยงาม แต่ถ้าน้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี ตัวตะเกียงก็ทำดี แสงไฟก็ออกมาผ่องใส สว่างจ้า งาม
จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าวัตถุภายนอกภายในไม่ดี จิตก็ขุ่นมัว ถ้าวัตถุภายนอกภายในดี จิตก็สงบ
เพราะฉะนั้นจึงมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง เกี่ยวกับนักปฏิบัติ เมื่อท่านไปบ้านของใคร ถ้าเห็นเขาสะอาด
ทั่วบ้าน ทั้งร่างกายก็สะอาด แสดงว่าผู้นั้นจิตใจสะอาด ยิ่งดูห้องพระจะยิ่งเห็นชัด ถ้าในห้องพระดอกไม้
ตั้งบูชาสะอาดทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีใยแมงมุม ไม่เลอะ ไม่เปรอะ ไม่เปื้อน แสดงว่าใจของคนนั้นก็
สะอาดแต่ถ้าที่ห้องพระ ดอกไม้บูชามาหลายวันแล้ว เหี่ยวแห้งหรือเหม็นอยู่ ธูปเทียนก็รุงรังหักงอ
พระำ็บางทีล้มระเนระนาดอยู่ แสดงว่าคนนั้นไม่เอาไหนแน่แล้ว ใจก็ไม่สงบแน่เพราะวัตถุภายนอกและภายใน
นั้นสกปรกหมดแล้ว ไปบ้านไหนก็ตามถ้าเห็นบ้านนั้นสกปรกก็แย่แล้ว ฉะนั้นในวัดกรรมฐานต่างๆ แม้จะอยู่
ในป่าแต่ก็สะอาด น่าสังเกตไหม? มันเกิดจากหลักธรรมเช่นนี้

(ความเห็นของผู้ทำกระทู้....เป็นไปโดยส่วนมากในเรื่องความสะอาดไม่รกรุงรัง ว่าเป็นการประเมินจิต
ของเฉพาะผู้ปฏิบัิตโดยส่วนมาก และเป็นสิ่งที่ใช้สังเกตุดูตัวตนเองว่าจริงหรือไม่เรื่องวัตถุภายในภาย
นอก ถ้าเป็นนักปฏิบัติจะยอมรับเลยว่า จริงมีผลต่อการปฏิบัติจริงๆ ก็ไม่ได้หมายรวมถึงคนทุจริต
บางบ้านก็สะอาดสะอ้าน แต่เจ้าของบ้านจิตใจต่ำช้าล่อลวงเงินทองผู้อื่นก็มี ไม่ได้หมายความว่า
บ้านสะอาดจะจิตใจดีเสมอไป)

ข้อ ๓ ปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน

:b49: ขออนุโมทนาในบุญกุศลของทุกๆ ท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2012, 23:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อ ๓ ปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน ในการเจริญสมถกรรมฐาน คือ ทำสมาธิก็ตาม และในการเจริญ
วิปัสสนาคือการทำให้เกิดปัญญาอย่างที่ผู้ปฏิบัติฝึกอยู่ในหลักสูตรก้าวหน้านี้ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้องปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน

อินทรีย์คืออะไร? อินทรีย์แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่ในที่นี้ท่านหมายถึง ธรรมะ ๕ ประการ
ที่จะเอามาใช้ในการตรัสรู้ และในการปฏิบัติธรรม คือ
๑. ศรัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๕. ปัญญา ความรอบรู้
ธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้ต้องปรับให้สมดุลย์กัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งแรงหรืออ่อนไป การปฏิบัติจะไม่ได้ผล
เช่นถ้าศรัทธาน้อยไป ตัวความเพียร ตัวสติ ตัวอื่นก็พลอยอ่อนไปด้วย แม้จะกล้าแข็ง แต่เมื่อศรัทธาน้อย
จิตก็ไม่สงบ หรือถ้าศรัทธามาก ปัญญาน้อยไปจิตก็ฟุ้งซ่าน หรือถ้าความเพียรมากไปก็เหนื่อยอ่อน
เพราะเหตุจาำกไม่สมดุย์

เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับอินทรีย์ทั้ง ๕ ตัวนี้ให้สมดุลย์กัน เขาปรับเป็นคู่ คือ
ปรับศรัทธากับปัญญาให้เท่ากัน ศรัทธากับปัญญาต้องมาคู่กันเสมอ ในพระพุทธศาสนา จะมีศรัทธาโดย
ปราศจากปัญญานั้นไม่มีในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วจะตกเป็นความเชื่องมงาย เพราะฉะนั้น
ต้องมีปัญญากำกับทุกหมวด

ปรับสมาธิกับความเพียรให้เท่ากัน เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากหรือหย่อนไปก็ไม่ได้ผล
ส่วนสตินั้นเป็นตัวกลางต้องแรงเสมอ ยิ่งมากยิ่งดี

จิตของเราที่ปฏิบัติกรรมฐานก็เหมือนกัน ถ้าอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้สมดุลย์กันแล้ว การปฏิบัติของเรา
จะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2012, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: วิริยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียรอันเป็นธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้ ข้อที่ ๓
อันความเพียรนี้ย่อมเป็นไปทั้งทางกายและเป็นไปทั้งทางจิต

ความเพียรที่เป็นไปทางกาย คือ ขวนขวายด้วยการไม่ทอดธุระ เช่น ขยันในการเดินจงกรม เป็นต้น

ส่วนความเพียรอันเป็นไปทางจิต ย่อมให้สำเร็จกิจในสัมมัปปธาน ๔ คือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป

เหตุเกิดของวิริยสัมโพชฌงค์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อารัมภธาตุ ธาตุคือการเริ่มพากเพียร
๒. นิกกมธาตุ ธาตุคือความพากเพียรออกไปจากความเกียจคร้าน
๓. ปรักกมธาตุ ธาตุคือความพากเพียรกล้าหาญก้าวไปข้างหน้า

:b47: อารัมภธาตุ คือความเพียรที่บุคคลเริ่มปรารภครั้งแรก อันถือว่าเป็นการเริ่มต้นของ
ความเพียร เพราะถ้าขาดธาตุเพียรตัวนี้ คนจะไม่ทำงาน เพราะขาดการเริ่มต้น

:b47: นิกกมธาตุ คือความเพียรที่ออกไปจากความเกียจคร้าน เพราะเมื่อมีอารัมภธาตุข้อแรก
เริ่มต้นทำความเพียรแล้ว จิตก็ออกจากความเกียจคร้าน ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นธาตุเพียรที่ต่อจาก
อารัมภธาตุ

:b47: ปรักกมธาตุ คือความเพียรที่แรงกล้า ก้าวไปข้างหน้าไม่ถอยหลัง บากบั่นไม่หยุด
เป็นความเพียรที่สืบต่อมาจากนิกกมธาตุ เพราะถ้าไม่มีธาตุเพียรตัวนี้แล้ว คนก็อาจจะท้อถอย
และหยุดอยู่กับที่ได้ เมื่อเกิดความเกียรคร้าน ประสพอุปสรรคหรือไม่ประสพความสำเร็จใน
เบื้องต้น แม้จะมีอารัมภธาตุเริ่มต้นความเพียร และนิกกมธาตุออกไปจากความเกียจคร้านแล้ว
ก็ตาม เหมือนกับคนที่เริ่มออกจากบ้านไปทำงาน แล้วก็อาจจะหยุดไม่เดินหน้าต่อไป หรือ
อาจจะกลับบ้านไม่ยอมไปทำงานได้ ถ้าหากขาดปรักกมธาตุ ฉะนั้น ธาตุเพียรตัวนี้จึงมีความ
สำคัญมาก แต่ต้องได้อาศัยความริเริ่มและความขยันจากธาตุเพียร ๒ อย่างข้างต้นหนุนมากด้วย

ผู้ทำความเพียร จะต้องใส่ใจ (คือ มีโยนิโสมนสิการ) ในธาตุทั้ง ๓ อย่างนี้ให้มาก
เพราะธาตุเพียรทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นอาหารคือเหตุ เป็นปัจจัยเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
จะได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วจะได้เจริญยิ่งขึ้นด้วยการภาวนา

เมื่อมาเริ่มปรารภความเพียรโดยชอบ หรือโดยถูกทางแล้วก็ย่อมเป็นมูลรากแห่งสมบัติทั้งปวงได้
ดังพุทธภาษิตว่า " วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ...คนจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร "

อีกอย่างหนึ่ง เหตุเกิดความเพียรท่านกล่าวไว้ว่ามีถึง ๑๑ อย่าง แต่ในที่นี้จะนำมากล่าวเพียง
๑๐ อย่างที่จะทำให้จิตมีความเพียรเกิดขึ้นได้ง่าย คือ
๑. พิจารณาเห็นภัยในอบาย
๒. พิจารณาเห็นอานิสงค์ของความเพียร
๓. พิจารณาถึงท่านที่ได้ตรัสรู้ธรรม
๔. ปรารภในเรื่องอาหาร คือรู้จักประมาณในเรื่องอาหาร
๕. พิจารณาถึงความที่ตนเองจะได้เป็นผู้รับมรดกของพระธรรม( เรามีความเพียรแล้ว ก็ชื่อว่า
รับมรดกพระธรรมไว้ได้ ถ้าขี้เกียจพระธรรมก็หายหมด )
๖. พิจารณาถึงพระศาสดาผู้ประเสริฐ ผู้มีความเพียร
๗. พิจารณาถึงเพื่อนพรหมจรรย์ที่มีความเพียรด้วยกัน
๘. เว้นคบคนที่ขี้เกียจ
๙. คบคนที่มีความเพียร
๑๐. มีจิตน้อมไปในความเพียร

เพื่อให้เห็นแนวทาง จะยกตัวอย่างบางข้อเท่านั้นที่จะให้เกิดความเพียร เช่น พิจารณาถึงภัยในอบาย
เพราะคนที่ขี้เกียจไม่ได้ทำความดีนั้นเมื่อบุญไม่ช่วย ไม่มีบุญแล้ว อาจจะตายไปตกนรกก็ได้
เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้ ดีเสียเมื่อไรไปตกอยู่ในอบายนั้น จะต้อง
ทนทุกข์ทรมานมากมาย คนขี้เกียจคนไม่ทำความดีมักไปมั่วสุมกันอยู่ในแดนนรก ในกำเนิดสัตว์
เดรัจฉาน หรือหมู่เปรต เราเองถ้าขี้เกียจก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าเลย เราอย่าขี้เกียจเลย
รีบทำความเพียรเสียเพื่อจะเป็นเหตุให้รีบตื่น รีบลุกขึ้นทำความเพียร นี้คือเหตุที่ให้เกิดความเพียร

(ต่อไปคือ ปีติสัมโพชฌงค์)
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 11:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: ปีติสัมโพชฌงค์

ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อเรามีความเพียร ขยันหมั่นเพียร เกิดปีติขึ้น แต่ปีตินั้น บางทีมันก็ไม่เกิด
บางทีก็เกิด เกิดแล้วก็มีลักษณะแปลกๆ เช่น ทำตัวให้เบา ขนลุกซู่ น้ำตาไหล เพลิน บางทีตัวโงนเงน
บางทีเวียนศีรษะ บางทีเหมือนจะอาเจียน หรือปีติซาบซ่านทำให้รู้สึกอิ่มไปหมดทั้งวันเลย
แม้ไม่ได้กินข้าวก็อิ่ม บางคนมาฝึกวิปัสสนาไม่ทานอาหารตอนเย็น เพราะต้องถือศีล ๘ เิดิมทีเดียว
คิดว่า " ไม่ได้ทานข้าวตอนเย็นนี่แย่แล้ว เป็นโรคกระเพาะอยู่ มันจะสู้ไหวหรือเปล่า " แต่พอมาฝึกเข้า
จริงๆ มันศรัทธา หรือปีติมาเข้าแทรก จิตมันสงบเข้าจึงไม่อยากทานอาหาร หรือทานน้อยลง ไม่คิดว่า
จะทนหิวได้แต่ก็ทนได้ เพราะได้กินปีติ มันเกิดขึ้นในใจ ฉะนั้น ปีตินี้ถ้ายังไม่เกิดต้องฝึกให้เกิดขึ้น

เหตุเกิดของปีติ ท่านกล่าวว่า มี ๑๑ อย่าง คือ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เช่นไหว้พระสวดมนต์
๒. ธรรมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรม ว่าพระธรรมนี้ล้ำเลิศ
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ อย่างที่เราสวดมนต์กัน
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของเรา เช่นระลึกว่า " เรามารักษาศีล ๘ นี่เราน่าภูมิใจ ปลื้มใจ "
๕. จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาคของเราว่า " เรานี่ตั้งแต่เกิดมาบริจาคทานมามากหลายหนและ
หลายแห่งแล้ว ได้สั่งสม ได้เป็นเสบียงไปในภพหน้า เราจะไม่ยากจน เราได้ช่วยเหลือพระศาสนา
ได้ช่วยเหลือสังคมอย่างนั้นอย่างนี้ น่าภูมิใจชีวิตของเรา เป็นสมบัติที่เราฝากฝังไว้ในใจของเรา
เรียบร้อยแล้ว " ก็เกิดปีติขึ้น
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา คือ เทวดาบางองค์ที่มีอำนาจ มีสมบัติมาก
มีสี มีแสง มีอะไรดีๆ นั้น ท่านทำบุญไว้จึงได้สิ่งเหล่านั้น ก็น่าปลื้มใจ เราทำบุญไว้ก็มีโอกาสไปเกิด
เป็นเทวดากับเขาได้เหมือนกัน
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน ว่าพระนิพพานเป็นที่สงบกิเลส แล้วจะเกิดปีติขึ้น
๘. เว้นคนที่ใจเศร้าหมอง คนไหนที่ใจเศร้าหมอง วุ่นวายเรื่อยๆ อย่าเข้าใกล้ ถ้าเข้าใกล้เดี๋ยวเราจะ
เป็นโรคประสาทไปด้วย
๙. คบคนที่มีปีติ คนไหนมีปีติเรื่อยๆ ก็เข้าไปถาม ทำไมเกิดปีติได้เรื่อย เราทำไมไม่ได้กับเขา
หรือได้ก็ไม่มากเหมือนเขา มันผิดกันตรงไหน เข้าไปพบไปถามคนที่ได้ปีติบ่อยๆ
๑๐. คบคนที่มีปัญญา คือ เป็นพหูสูตร
๑๑. มีใจน้อมไปในเรื่องของปีติ

ถ้าสร้างเหตุที่ให้เกิดปีติทั้ง ๑๑ อย่าง ดังกล่าวมานี้ไว้บ่อยๆ ให้มาก แล้วในที่สุดเราก็จะได้
ปีติอย่างแน่นอน

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๕ แปลว่า ความสงบกายและความสงบจิต
ความสงบกายและความสงบจิตนี้แท้ที่จริงเป็นลักษณะของเจตสิกธรรม ท่านเรียกว่า
- กายปัสสัทธิ ความสงบกาย และ
- จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต
คือ กายสงบนี่ไม่ได้หมายถึงร่างกายเรานั่งสงบนิ่งอยู่อย่างเดียว แต่คำว่า สงบกายในที่นี้ทำให้
จิตใจเยือกเย็น หมายถึงสงบเวทนา สัญญา และสังขาร เวทนานี่ก็สงบ ไม่วุ่นวาย ทั้งสุข ทั้งทุกข์
ไม่วุ่นวายใจ สัญญาต่างๆ นี่มีลักษณะสงบ เรียบ ไม่ใช่กายสงบ ถ้ากายสงบไม่เป็นเจตสิก เพราะ
เจตสิกไม่ใช่กาย แต่ท่านเรียก กายปัสสัทธิ กายตัวนี้หมายถึง สัญญา เวทนา สังขาร

จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต อันนี้จิตแน่นอน คือ จิตนี่สงบ เยือกเย็น บางคนเยือกเย็น ใครด่าใครว่า
ไม่อยากจะโกรธเลย คือมันเย็นมากเหมือนกับว่า คนที่อยู่ในน้ำ เพราะมันเย็น ใจนี้เย็นเหมือนกับว่า
หินที่อยู่ใต้น้ำแข็งและเย็น ใครจะมาให้หวั่นไหวนี่ก็ยาก มีลักษณะเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ใครที่ได้ปัสสัทธินี่มันจะมีความเยือกเย็น ที่บาลีท่านบอกว่า " สนฺโต มีความสงบ
อเสจนโก ไม่รดน้ำก็เย็น " บางคนรดน้ำเป็นตุ่มๆ ก็ยังไม่หายร้อนเลย เพราะมันไม่เกิดปัสสัทธิขึ้น
ท่านบอกว่าธรรมะที่จะให้เกิดปัสสัทธินั้นต้องมีตัวหนุน ซึ่งมีอยู่ ๗ อย่าง คือ

:b46: ๑. ได้อาหารที่ปราณีต บางคนไปกินอาหารบางชนิดทำให้ท้องมันเสีย แล้วทำให้ไม่สบายไม่ได้ปัสสัทธิ
จงเลือกอาหารที่มันเหมาะกับเรา หาอาหารที่เหมาะ แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกอาหาร คือให้มันเหมาะกับเรา อย่า
เผ็ดเกิน มันเกินไป อะไรเกินไปนี่มันไม่เหมาะกับคนบางคน ถ้าได้อาหารเหมาะจิตเกิดความสงบได้ง่าย

:b46: ๒. อยู่ในฤดูที่สบาย อยู่ในสถานที่ที่มันไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป อยู่ในห้อง สถานที่สบาย เรียกว่า
อาวาสสัปปายะ อย่างเรามาฝึกที่นี้สถานที่ค่อนข้างสบาย ถ้าไม่สบายเราจะให้สงบไม่ได้

:b46: ๓. เลือกอิริยาบถที่สบาย คืออิริยาบถอย่างไหนที่สบาย เช่นเดินสบายก็เดินมาก นั่งสบายก็นั่งมาก
นอนสบายก็นอนมาก แต่นอนมากเกินไปก็ไม่ดี ยืนสบายก็ยืนมาก เราต้องเลือก อาจารย์กรรมฐาน
บางท่าน ท่านชอบอิริยาบถนอน แต่นอนทำสมาธิไม่ใช่นอนหลับ เลือกอิริยาบถเอา แล้วพิจารณา
ตัวเราเอง วันไหนเรานั่งนิดเดียวใจสงบก็ให้เลือเอา เพราะบางคนใจสงบตอนเดิน ตอนนั่งนี่ไม่สงบ
แต่บางคนไปสงบได้ตอนนั่ง เดินไม่ค่อยดี เราก็เลือกเอา เราพิจารณาเอาเอง

:b46: ๔. เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ต้องเชื่อกฏแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ต้องได้รับกรรมนั้น
เราจะไปหักห้ามไม่ได้ แล้วก็วางเฉยไปเสีย ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตัว วางอุเบกขา
ให้ได้ ถ้าวางไม่ได้ เราไปนั่งสงสารคนทุกคน ไปนั่งทุกข์ตาม ใจมันวุ่นวายไปด้วย ไม่สงบเลย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เราก็อยากช่วยเพื่อนมนุษย์ อยากช่วยคนอื่นในเมื่อ
เราช่วยไม่ได้เพราะกรรมของเขา อย่าว่าแต่ช่วยคนอื่น แม้ตัวเราถึงคราวเดือดร้อนก็ต้องเป็นไปตาม
กรรมที่ได้สร้างเอาไว้ ก็ต้องพิจารณาข้อนี้ด้วย อย่าไปวุ่นวายกับเรื่องของคนอื่นเพราะกรรมของเขา

:b46: :b46: :b46: ๕. เว้นคนที่มีจิตใจหวั่นไหวง่าย คือคนไหนที่จิตใจหวั่นไหวง่าย วุ่นวายก็อย่าคบคนเช่นนั้น

:b46: ๖. คบคนที่ใจสงบระงับ คนไหนที่เยือกเย็น ด่าไม่ค่อยโกรธ ใจเย็น ก็คบคนนั้นแหล่ะ มันสบาย
คนบางคนเมื่อเข้าใกล้แล้วเราเย็น มีลักษณะเหมือนพระจันทร์ เพราะเย็น น่านั่งใกล้ บางคนนี่ร้อน
เข้าใกล้ไม่่ค่อยได้ มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ใครเข้าไปใกล้เดี่ยวเดียวถอย ไม่อยากจะคุย
เพราะมันร้อน เราชอบเข้าใกล้คนที่มีลักษณะเหมือนพระจันทร์ คือคนมีใจเย็นสงบ

:b46: ๗. มีใจน้อมไปในปัสสัทธิื คือให้ใจเราอยากจะมีความสงบ ไม่ใช่อยากจะคุยไม่อยากวุ่นวายเพราะ
มันไม่สงบ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างขึ้นโดยปลูกความพอใจในความสงบ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 12:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: สมาธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อจิตมีปัสสัทธิ สงบแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่าย มันเกี่ยวเนื่องกัน
เกี่ยวโยงกัน สมาธิมีทั้งอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธินั้นหมายถึงเฉียดจะได้ฌาน
อัปปนาสมาธิคือสมาธิที่ได้ฌาน สำหรับสมาธิที่ใช้ในวิปัสสนาโดยทั่วไปแล้วเราใช้ขณิกสมาธิ คือ
สมาธิชั่วขณะนั้นๆ ถ้าเราจะใช้อัปปนาสมาธิก็ต้องถอนจิตขึ้นมาเสียก่อน โดยถอนขึ้นมาเป็นอุปปจาระ
เป็นอุปจาระแล้วถอนขึ้นมาเป็นขณิกะ แต่มันยังมีความคล่องตัวอยู่มาก (อ่านที่เฟรสวัดท่ามะโอ
จะเข้าใจเรื่องขณิกสมาธิได้ดีขึ้น ด้านล่าง ต่อจาก สมาธิสัมโพชฌงค์) ความสงบเยือกเย็นที่ได้มา
จะเอามาพิจารณาสภาวธรรมได้คล่องขึ้น เพราะมันได้ความสงบเป็นพื้นฐานมา เพราะฉะนั้น การที่จะเกิด
สมาธินี้ท่านบอกว่าต้องใช้พลังมาก ต้องใช้อุบายมาก

เหตุที่ให้ใจเกิดสมาธิ ท่านกล่าวว่ามีถึง ๑๑ อย่าง คือ

:b51: ๑. ทำวัตถุภายนอกและภายในให้เรียบร้อย คือ ถ้าวัตถุภายนอกและภายในไม่เรียบร้อย เช่น บ้านรก
รุงรัง เสื้อผ้าก็สกปรกและรุงรัง ร่างกายสกปรก ก็ได้สมาธิยาก จะต้องทำให้วัตถุภายนอก เช่น ที่อยู่
อาศัย และเสื้อผ้าและวัตถุภายในคือร่างกายให้สะอาด ใจจึงจะเกิดสมาธิได้ง่าย

:b51: ๒. ปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน

:b51: ๓. ฉลาดในนิมิต คำว่านิมิตในที่นี้ คือฉลาดในการทำจิตให้ได้สมาธิ คือ พิจารณาดูว่า
"วันก่อนเรานั่งอย่างไรมันจึงเกิดสงบขึ้น แล้วเรานั่งอย่างไรมันหายไป แล้วได้อาหารอย่างไรวันก่อน
จิตมันสงบ เรากำหนดท่าไหนจิตจึงสงบ" หาวิธีการเอา ผู้ต้องการทำสมาธิให้เกิดขึ้น และให้อยู่ได้นาน
ต้องเป็นผู้ฉลาดช่างสังเกต แม้มันเสื่อมไปแล้ว ก็สามารถเรียกคืนมาได้

:b51: ๔. ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง คือยกตัวอย่างในเรื่องการเจริญอานาปานสติ
รู้ลมหายใจตรงจุดกระทบ ที่บริเวณจมูกจุดใดจุดหนึ่งที่แต่ละคนรู้สึกได้ หรือที่ริมฝีปากก็ตาม
ก็จะประคองจิตรักษาจิตไว้ตรงจุดกระทบจน อุคคหนิมิตปรากฏ พระโยคีบุคคลพึงกระทำลมที่หยาบ
ให้ละเอียดพร้อมทั้งสติตั้งมั่นที่จุดกระทบ จนกระทั่งอุคคหนิมิตรปรากฏเป็นภาพใส เข้าขอบเขตแห่ง
ปฏิภาคนิมิต เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิด ก็ทิ้งการจดจ่อที่จุดกระทบ มาจดจ่อที่ปฏิภาคนิมิต ประคอง
รักษาไว้

:b51: ๕. ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม คือ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ข่มมันเสีย

:b51: ๖. ทำจิตใจให้ร่างเริงในสมัยที่ควรร่าเริง ตอนไหนจิตท้อ ท้อไม่อยากปฏิบัติ เช่น อยากจะกลับบ้าน
ก็พยายามปลุกใจขึ้นมาด้วยวิธีการต่างๆ

:b51: ๗. การเพ่งเฉยจิตในสมัยที่ควรเพ่งเฉย คือเมื่อใดที่จิตของเราวางเฉย นิ่งไม่กระสับกระส่ายก็ไม่
ต้องไปปรับปรุงแล้ว บางคนพอจิตนิ่งแล้วก็คิดว่า จะทำอย่างไรต่อไป เมื่อมันนิ่งก็ดูความนิ่งของมัน
บางคนพอจิตนิ่งแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอย่างไร ไปปรับอย่างโน้นปรับอย่างนี้ เลยเสียหมด เหมือนกับ
คนควบคุมไมโครโฟน บางคนพอจะมาพูดแล้วก็ไปปรับโน้นปรับนี้ ทั้งๆ ที่มันดีอยู่แล้ว ปรับไปปรับมา
เลยเสีย ปรากฏมามากแล้ว มันดีอยู่ก็ไปนั่งปรับมันอีก เปรียบเหมือนจิตนิ่งแล้ว มันเฉยแล้ว ถ้ามัน
วางเฉยก็คุมมันเลย ให้มันนิ่งลงไปเลย ดูรู้ตัวมัน ดูว่ามันจะแสดงอาการลักษณะความนิ่งอย่างไร
เราก็รู้ว่ามันนิ่ง นิ่งให้รู้ว่ามันนิ่ง แล้วพิจารณายกขึ้นสู่วิปัสสนาได้

:b51: ๘. ไม่คบคนที่ใจไม่ตั้งมั่น

:b51: ๙. คบคนที่ใจตั้งมั่น

:b51: ๑๐. ให้พิจารณาเรื่องฌานวิโมกข์ คือคนจะปลอดจากนิวรณ์ก็ด้วยการได้ฌาน

:b51: ๑๑. มีใจน้อมไปในสมาธิ

เหตุเกิดสมาธิ ๑๑ ข้อนี้ หนุนให้เกิดสมาธิขึ้น จึงควรทำให้มีขึ้นในตน

:b8: :b8: :b8:

ขณิกสมาธิในวิปัสสนา (วัดท่ามะโอ)

บางสำนักในเมืองไทยสอนว่าวิปัสสนาต้องประกอบด้วยขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะ หมายถึงเป็นสมาธิระดับต้นๆ ที่คนทั่วไปทำกิจวัตรประจำวัน กินข้าว อาบน้ำ ขับรถ ฯลฯ ความเข้าใจเช่นนี้ส่งผลให้สำนักเหล่านั้นปฏิเสธสมาธิที่มีกำลังจนกระทั่งเกิดปีติ ความสุข ความสงบ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวว่าวิปัสสนาต้องประกอบด้วยขณิกสมาธิเท่านั้น ถ้าสมาธิมีกำลังจนถึงระดับอุปจารสมาธิ ก็จะเกิดปีติเป็นต้น ส่งผลให้ขัดแย้งกับข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ตามความเห็นของสำนักนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดปีติเป็นต้น ก็ถือว่าปฏิบัติผิด ต้องไปหาบน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ เพื่อคลายสมาธิลง เพราะถือว่าวิปัสสนาเป็นการพัฒนาปัญญา ไม่ใช่สมถภาวนาที่พัฒนาสมาธิ

ความเห็นของสำนักดังกล่าวสืบทอดมาจากพม่า กล่าวคือ ที่พม่าสมัยก่อนมีสำนักกรรมฐานที่เรียกว่า แนวสติปัฏฐาน ๔ แล้วอธิบายตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหลัก ท่านผู้คิดค้นแนวนี้ชื่อว่า วิสุทธิมรรคสยาดอ (พระอาจารย์วิสุทธิมรรค) ชาวพม่าในสมัยนั้นถือว่าท่านเชี่ยวชาญวิสุทธิมรรคมาก จนได้รับขนาดนามเช่นนั้น

แต่ในปัจจุบันการปฏิบัติแนวสติปัฏฐาน ๔ ข้างต้นได้สาบสูญไปจากพม่าเป็นเวลานานแล้วหลังการมรณภาพของท่านเจ้าสำนัก เหตุผลที่สำคัญคือ การตีความขณิกสมาธิในวิปัสสนาดังกล่าวไม่ตรงตามคำอธิบายในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา (ฉบับบาลี) กล่าวคือ ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาอธิบายว่า ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ จึงเปลี่ยนอารมณ์ได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงได้ชื่อว่า ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะ หมายถึง สมาธิที่ดำรงอยู่ชั่วขณะตามอารมณ์ปัจจุบัุนนั้นๆ แต่กำลังของขณิกสมาธินั้นต้องเทียบเท่าอุปจารสมาธิในสมถภาวนา คือ ต้องหมดจดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะนิวรณ์ข่มปัญญาให้อ่อนกำลัง ดังพระบาลีว่า ปญฺญาย ทุพฺพลีกรเณ ปญฺจ นีวรเณ (นิวรณ์ ๕ ซึ่งทำใ้ห้ปัญญาอ่อนกำลัง) อย่างไรก็ตาม สมาธิในวิปัสสนาไม่ชื่อว่า อุปจารสมาธิ เพราะมีอารมณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลานั้นเอง

สรุปความว่า สมาธิในวิปัสสนาเป็นขณิกสมาธิที่มีกำลังเทียบเท่าอุปจารสมาธิในสมถภาวนา จึงจะมีกำลังทำให้ข่มนิวรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ สภาวะต่างๆ เช่น ความอิ่มใจหรือปีติปราโมทย์ ความสุขใจ ความสงบใจ ฯลฯ จึงต้องเกิดขึ้น ถ้าสภาวะเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ถือว่ายังไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะเหตุผลเหล่านี้ คือ

๑. จิตที่ปราศจากนิวรณ์แล้วจึงบรรลุความเป็นจิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดของจิต ถ้าจิตยังมีนิวรณ์อยู่ ก็ยังเป็นจิตที่ขุ่นมัว ไม่อาจพัฒนาปัญญาให้รู้เห็นสภาวธรรมได้ เพราะปัญญาเป็นผลของสมาธิซึ่งเกิดจากสติเป็นหลัก

๒. โพชฌงค์ ๗ ที่ประกอบด้วยปีติสัมโพชฌงค์ จะเริ่มเกิดในขณะบรรลุวิปัสสนาญาณที่ ๓ และมีกำลังในวิปัสสนาญาณที่ ๔ เป็นต้นไป ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ถ้าปีติสัมโพชฌงค์ยังไม่เกิดขึ้น ก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติธรรมดำเนินมาผิดวิธีแล้ว


https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%A ... 5358872763

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


แก้ไขล่าสุดโดย SOAMUSA เมื่อ 31 ธ.ค. 2012, 16:53, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 12:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: อุเบกขาสัมโพชฌงค์

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วผู้ปฏิบัตินั้นจะยกจิตผ่านเข้าไป วางเฉยเป็นอุเบกขา
ไปในช่วงนี้เอง

อุเบกขานั้น มีถึง ๑๐ ชนิด เช่น อุเบกขาในพรหมวิหาร นี้หมายถึงอุเบกขาในสัตว์ในบุคคล
ถ้าเรามีพรหมวิหารเราวางเฉย ช่วยเขาไม่ได้ก็ต้องวางเฉย แต่ถ้าอุเบกขาในเวทนานั้นหมายความ
ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนอุเบกขาในโพชฌงค์นี้หมายถึงอุเบกขาในธรรมะ คือ ไม่ต้องไปจัดมัน

เมื่อจิตมันสงบแล้วไม่ต้องไปจัดมันอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวเสีย มันเป็นอุเบกขา
นิ่งอยู่แล้ว ไม่โสมนัส ไม่โทมนัส คือ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะมั่นอยู่ คือมีสติกับญาณ
กำกับอยู่ด้วย นี่เป็นคุณเบื้องต้นแห่งวิปัสสนา เบื้องหน้าแต่อริยมรรค ฉะนั้น จิตตอนนี้มันเข้าสู่
ธรรมะนิ่งเฉยไปแล้ว

แต่ท่านบอกว่าการที่จิตเกิดเป็นอุเบกขาขึ้นมาได้นั้น ผู้นั้จะพิจารณาธรรมะ ๕ ประการ คือ
๑. พิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน
๒. วางเฉยในสังขารทั้งหลาย
๓. เว้นคนที่วุ่นวายในเรื่องสังขาร คนที่วุ่นวายในเรื่องทรัพย์สมบัติ ในเรื่องครอบครัว อย่าไปคบมาก
มันวุ่นวาย
๔. มีใจน้อมใจไปในอุเบกขา

:b48: :b48: :b48: :b48: :b48:

เมื่อมีอุเบกขาเช่นนี้แล้วก็มาพิจารณาว่า ธรรมะทั้ง ๗ ประการนี้แหล่ะมันก็สักว่าธรรมเท่านั้น เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่เห็นมีสัตว์ไม่เห็นมีตัวตน บุคคลเราเขาที่ไหนที่จะเข้าไปยึคมั่นถือมั่น เป็น
สภาวธรรมล้วนๆ เป็นธรรมานุปัสสนาของ สติปัฏฐาน

การพิจารณาโพชฌงค์นี้เองจะเป็นเหตุให้เข้าสู่การตรัสรู้ธรรมในที่สุด เพราะฉะนั้น โพชฌงค์ หรือ
สัมโพชฌงค์ ๗ ประการนี้จึงเป็นธรรมะที่หนุนต่อการปฏิบัติกรรมฐานของผู้ที่เข้าสู่การปฏิบัติ

ฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านได้พิจารณาข้อความในโพชฌงค์ ๗ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และได้ตรัส
สอนไว้นี้ และน้อมเข้ามาเป็นข้อปฏิบัติสำหรับตน ก็จะได้รับคุณประโยชน์ของตน การปฏิบัติตาม
สมควรแก่การปฏิบัติอย่างแน่นอน

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2013, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะ :b8:

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2021, 09:48 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2024, 09:41 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร