วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 17:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ
ใต้ฐานบัลลังก์บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕



พระพุทธชินราชจำลอง

พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ สมัยสุโขทัย
จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วัสดุสัมฤทธิ์

พระพุทธชินราชจำลอง มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว มีเศษ
น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒
โปรดให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร
จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน

ทรงระลึกได้ว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร
ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ไปนมัสการพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ
แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร
ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระประสิทธิปฏิมา
(ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร เมื่อครั้งเป็นหลวงประสิทธิปฏิมา)
จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด
ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนิน
ทรงเททองหล่อเป็นส่วนๆ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ
โดย พระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu)
ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ
มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑป
แห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

การทั้งปวงตั้งแต่ปั้นหุ่น หล่อ ตกแต่ง และอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน
ในพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยดี ทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่ง

“จึงทรงเปลื้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์
ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น ถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา”


เมื่อเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับราชตระกูล
ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี
และอัญเชิญมาคล้องถวายที่พระหัตถ์พระพุทธชินราชจำลอง
ในวันปิยมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี

ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จ้าง มร.จุรุหระ (Mr. Tsuruhara)
ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดงานสมโภชในวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓

พระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ
สมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน
เรือนแก้วนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

รูปภาพ
พระระเบียงคด (พระวิหารคด) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


พระระเบียงคด (พระวิหารคด)

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงออกแบบพระระเบียงให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ
ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ
โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก
ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู
บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก

บริเวณหลังพระอุโบสถ เป็นลานกว้าง ปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

พื้นพระระเบียงปูหินอ่อนสีเหลืองอ่อนและสีขาวตลอด

เสาพระระเบียงเป็นเสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง ๖๔ ต้น
เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน ๒๘ ต้น ปลายเสาปั้นบัวประดับกระจกทั้งหมด

ผนังด้านในถือปูน ด้านนอกประดับแผ่นหินอ่อนสีขาว และทำเป็นหน้าต่างทึบ
มีหินอ่อนเป็นลูกกรง รอบพระระเบียง รวม ๔๘ ช่อง

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ

หน้าบัน เป็นภาพจำหลักลายไทยประกอบตราประจำกระทรวงต่างๆ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามที่ได้ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินเป็น ๑๐ กระทรวง

พิจารณาดูจากด้านทิศใต้ (ริมคลอง)
มุขตะวันออกวนไปทิศใต้และทิศตะวันตก ตามลำดับดังนี้

๑. ตราราชสีห์ ประจำกระทรวงมหาดไทย

๒. ตราพระยมทรงสิงห์ ประจำกระทรวงนครบาล

๓. ตราพระสุริยมณฑล (ใหญ่) มีนกยูงรำแพนอยู่ท้ายรถที่เทียมราชสีห์
ประจำกระทรวงคลังมหาสมบัติ

๔. ตราพระเพลิงทรงระมาด ประจำกระทรวงธรรมการ

๕. ตราบัวแก้ว (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านนอก) ประจำกระทรวงต่างประเทศ

๖. ตราพระพิรุณทรงนาค (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านใน)
ประจำกระทรวงเกษตราธิการ

๗. ตราพระรามทรงรถ ประจำกระทรวงโยธาธิการ (ต่อมาเป็นกระทรวงคมนาคม)

๘. ตราจันทรมณฑล (มีกระต่ายนั่งท้ายรถ) ประจำกระทรวงยุติธรรม

๙. ตราพระนารายณ์ยืน (บน) ท่าอสูร ตรานี้น่าจะประจำกระทรวงวัง
ที่เหลืออยู่เพียงกระทรวงเดียว (เพราะกระทรวงที่ ๑๐ ต่อไปก็ทราบแน่ชัดแล้ว)
แต่ตามเอกสารยืนยันว่า กระทรวงวังใช้ตราพระมหาเทพทรงนนทิกร (พระโคเผือก)
จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นตราประจำกระทรวงวังเดิม)

๑๐. ตราคชสีห์ ประจำกระทรวงกลาโหม

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



ภายในพระระเบียง ขื่อลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานล่องชาด
ประดับดาวทอง ๖๑๐ ดวง ประดิษฐานพุทธรูปต่างๆ จำนวน ๕๒ องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์มีทั้งพระพุทธรูปโบราณ
และหล่อขยายหรือย่อส่วนจากพระพุทธรูปโบราณ
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ต้นราชสกุลดิศกุล) ทรงเสาะหามาทั้งในกรุงเทพฯ
และหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น พม่า และลังกา

พระพุทธรูปทั้ง ๕๒ องค์นี้ บางองค์ที่ควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ
เนื่องจากมีผู้สนใจเป็นพิเศษ ดังนี้คือ

องค์แรก

เป็นพระพุทธรูปปาง “ทุกรกิริยา” (ลำดับที่ ๗)
เป็นพุทธจริยาตอนที่พระพุทธองค์ ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม
แสดงถึงจินตนาการและสุนทรีย์ทางศิลปะอย่างเอกของช่าง
พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขยายจากพระพุทธรูปปูนพลาสเตอร์
ที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เมืองละฮอร์ ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)
จำลองจากพระพุทธรูปศิลาโบราณ สมัยคันธาระ โดยช่างชาวโยนก
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ส่งเข้ามาถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางลีลา แสดงพุทธลีลาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์
เพื่อโปรดพุทธมารดาประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด)



องค์ที่สอง

คือพระพุทธรูป “ปางลีลา” (ลำดับที่ ๒๖)
แสดงถึงพุทธจริยาหรือพุทธลีลาตอนที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์
หรือเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะลีลางามเป็นเลิศ
เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้ชม ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
ทรงเขียนไว้ในหนังสือศิลปะในประเทศไทยว่า

“งดงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่นๆ ในโลก”

นอกจากพระพุทธรูปภายในพระระเบียงแล้ว ด้านนอกใต้หน้าบันด้านตะวันตก
มุมทิศเหนือและทิศใต้ เป็นมุขซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาโบราณ
ในพระอริยายถยืน ๔ องค์คือ พระศิลาสมัยทวาราวดี ประทับยืนบนฐานบัว
มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ
ซึ่งแปลได้ความว่า

“เจ้าปู่ (พร้อมกับ) ลูกหลานได้กระทำองค์พระพุทธรูปให้เปล่งปลั่ง”

ได้มาจากวัดข่อย จังหวัดลพบุรี,
พระศิลาสมัยทวาราวดี ได้มาจากจังหวัดลพบุรี,
พระศิลาสมัยอมราวดี ได้มาจากเมืองลังกา (ศรีลังกา)
และพระศิลาสมัยอยุธยา ได้มาจากจังหวัดลพบุรี

รูปภาพ
พระที่นั่งทรงธรรม


นอกจากนี้ ภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ยังมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่น่าใจอีกหลายประการ อาทิ

พระที่นั่งทรงผนวช
วิหารสมเด็จ สผ.
พระที่นั่งทรงธรรม
หอระฆังบวรวงศ์
ศาลาสี่สมเด็จ
ศาลาหน้าพระอุโบสถ
คลองน้ำ
ศาลาตรีมุข
สะพาน
สังฆเสนาสน์
โรงเรียนเบญจมบพิตร
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ศาลาอุรุพงษ์
กำแพงวัด
หอสมุด ป. กิตติวัน
พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก.
ศาลาร้อยปี
ศาลาธรรมชินราช และ ฯลฯ

รูปภาพ
พระที่นั่งทรงผนวช

(มีต่อ ๑๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 17:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



พระอารามหลวงอันเป็นศรีสง่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นับจำเดิมแต่กาลสมัยที่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น
จนถึงรัชกาลปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มาโดยตลอด

นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงสำคัญเป็นที่เชิดหน้าชูตาสง่างาม
เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในทางการคณะสงฆ์ไทย ดังนี้คือ

การปกครองคณะสงฆ์

เจ้าอาวาสและพระเถรานุเถระของวัดนี้ มีตำแหน่งเป็น
พระสังฆาธิการปกครองคณะสงฆ์ต่างต่างวาระกัน
ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ลงมาถึงระดับสังฆนายก เจ้าคณะใหญ่ กรรมการมหาเถรสมาคม
เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ
เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ศิษย์วัดเบญจมบพิตรเป็นอย่างยิ่ง

รูปภาพ
ขวา : พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ซ้าย : รูปหล่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาส
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



การศึกษาของคณะสงฆ์

นอกจากการจัดตั้งและดำเนินการสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
อันเป็นส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรม
ซึ่งมีผู้สอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก และเปรียญ ๓-๙ ประโยคเป็นจำนวนมากแล้ว

ยังได้ส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณรในฝ่ายคดีโลกอีกด้วย
มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน
ได้มีการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่ชาวเขา
ให้การสนับสนุนการจัดโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาภายในวัด
อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งยังได้ให้ทุนการศึกษา
ทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา อีกจำนวนมากทุกปี

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นอกจากการแสดงพระธรรมเทศนา บรรยายธรรม การฝึกอบรมสมาธิ
ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำแล้ว ยังเป็นวัดแรกที่จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
ร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการโครงการพระธรรมจาริกแก่ชาวเขา
ร่วมกับทางคณะสงฆ์ดำเนินการโครงการพระธรรมทูต
ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ดำเนินการสร้างวัดไทยเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ตลอดจนดูการพระศาสนาและเผยแผ่ในทวีปเอเชียแทบทุกประเทศ

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



การสาธารณูปการ

นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุภายในพระอารามแล้ว
ยังมีการจัดตั้งห้องสมุดของวัดขึ้น
เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าของพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป
ที่สำคัญคือ วัดเบญจมบพิตรได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศิลป์อีกแห่งหนึ่ง

นอกจากสถาปัตยกรรมอันสวยงามวิจิตรประณีต
ของสิ่งก่อสร้างต่างๆ อันมีพระอุโบสถเป็นต้นแล้ว

ยังเป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปปางต่างๆ ขนาดและสมัยต่างๆ มากมาย
เป็นแหล่งศึกษาศิลปะโบราณคดีด้านพุทธศิลป์เป็นอย่างดี

การวางผังและจัดภูมิทัศน์ของพระอารามแห่งนี้สวยงาม
เป็นที่น่าทัศนาและเจริญใจของผู้เข้ามาเยี่ยมชม และบำเพ็ญกุศลเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
ได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ขึ้น
ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกแด่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน
เนื่องในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


รูปภาพ
พระระเบียงคด (พระวิหารคด)


:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงศาตคญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
(๒) หนังสือ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์,
โกวิท ตั้งตรงจิตร เรียบเรียง, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙.
(๓) หนังสือประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
จากเว็บไซต์ http://watbenchama.com/history/


:b42: กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13853

:b44: ••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19521

:b44: ระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (พระองค์ใหม่)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49539

:b44: ประวัติ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร