วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ วิเวกถ้ำกรรจ์

ในขณะที่พักวิเวกอยู่ถ้ำกรรจ์นั้น ซึ่งเป็นถ้ำดินราบ ถ้ำคล้ายกับวงเล็บ มีแคร่สูงประมาณ ๔๐ เซ็นต์ ปูฟาก ไม่ได้กั้น นอนพอสุดหัวสุดเท้า กว้างประมาณ ๙๐ เซ็นต์ บาตรต้องตั้งไว้ใต้เตียง (ตรง) หัวนอน มีคลองน้ำไหลอยู่หน้าถ้ำ เพดานถ้ำหินสูงประมาณ ๓ เมตรก็มี ประมาณ ๒-๔-๕ เมตรก็มี ทางจงกรมก็อยู่กับนั้น ยาวประมาณ ๗ วา มีน้ำไหลอยู่หน้าถ้ำ เป็นคลองลึกเพียงเข่า เขาทำร้านล้างบาตรให้ที่นั้น นั่งสรงที่นั้นก็ได้ น้ำจืดใสสะอาด ไม่มีบ้านคนอยู่เหนือน้ำที่ไหลมา ตีนเขาต่ำกว่านั้นลงมาประมาณ ๑ เส้นเป็นสวนยางเขา

ด้านภาวนาหนักไปทางเมตตา พิจารณาลงมาจนถึงอนัตตาธรรมอันไม่มีเวรอันไม่มีภัยอันไม่มีศัตรู พร้อมกับลมเข้าออก ไม่มีกลางวันกลางคืน เพราะถือว่าต้องพึ่งตนเองหนักเข้า ตลอดทั้งขาไปขากลับบิณฑบาต

ฉันในบาตรรวมทั้งหวานคาวตามเคย เพราะกลัววิบัติ ไปบิณฑบาตในเมืองไม่ใกล้นัก เต็มบาตรทุกวันทั้งกับพร้อม มีโยมชาวบ้านตามปฏิบัติตอนฉันเช้าวันละคนไม่ขาด เขามีนิสัยดี คำใดเราบอกอย่าๆ แล้วไม่ฝืนเลย สัตย์ซื่อสุจริตมาก เขาว่าเขาไม่ค่อยเห็นพระมาอยู่องค์เดียวอย่างนี้ ถ้ามาก็ ๓-๔-๕ องค์เป็นกลุ่ม ๕ วัน ๗ วันก็ไป ก็มักเห็นอยู่แต่สนามกลางเมืองและริมถนนที่คนผ่านไปมา ปักกลดอยู่กับดินและมักจะมีของขลังมาพร้อมด้วยเป็นอันมาก โดยมากมักเป็นพระทางสงขลา พัทลุงและภาคกลางก็มีและก็มีผู้นิยมชมชอบ

เมื่อขณะเขียนอยู่เดี๋ยวนี้ ได้พิจารณาขึ้นว่า จะเป็นลัทธิใดๆ ก็ตาม ที่อ้างอิงว่าถือพระพุทธศาสนา หลักพิสูจน์ของการปฏิบัติก็มีอยู่ว่า สิ่งใดที่เป็นการส่งเสริมให้กิเลสมากขึ้น สิ่งนั้นไม่ถูก ถ้าประพฤติถูก กิเลสก็ห้ามล้อหรือเบาลง หรือเหือดแห้งหายขาดไป ผลรายรับต้องปรากฏอย่างนี้แก่ผู้ปฏิบัติขณะที่ทวนดูตนดูใจ มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติก็เป็นเถรส่องบาตร เห็นท่านจ้องส่องดูบาตรก่อนลงมือฉันก็จ้องดู แต่ไม่รู้ว่ามีความหมายยังไง

การเดินทางใจไปมรรคผลนิพพาน จะติเตียนหนทางที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณเปิดไว้แล้วอย่างโล่งโถงก็ไม่ได้ ต้องติเตียนใจ สติปัญญาของตนเข้าใส่หนทางเท่านั้น ไม่ได้ลงทุนถางและซ่อมแซมเหมือนทางภายนอก ทางภายนอกต้องซ่อมแซมกันอยู่เรื่อยๆ จะเทียบใส่อาหารภายนอก มีผู้หามาให้ครบ มีแต่ล้างมือเปิบกินก็ดี อาหารนั้นถ้าไม่กินนานไปก็บูดก็เน่า เป็นหนทางที่พระองค์เจ้าถางไว้เตียนก็ดี อาหารที่พระองค์เจ้าปรุงแล้วสุกแล้วใส่สำรับไว้บริบูรณ์แล้วก็ดี หนทางก็ไม่กลับรกอีก อาหารก็ไม่บูด

ต่อไปในเรื่องผ่านเมืองพังงาไปบิณฑบาต บรรดาผู้ที่มาลัดใส่บาตรพระหลวงพ่อนี้ เขาร้องวิงวอนประจำว่า ขอให้เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม พระยม พระกาฬ จตุโลกบาลทั้ง ๔ จงรักษาพ่อท่านอย่าให้มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหวาดเสียวเหลือเกิน เขาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังดังนี้ จะเป็นคำเท็จจริงอย่างไรก็มอบให้เป็นเรื่องของเขา ผู้เขียนก็ไม่รับได้ ไม่รับเสีย ด้วย แต่ก็คงเป็นคำจริง เพราะเราภาวนาหนักไปในอัปปมัญญา

ตามความจริงแล้วเสือนั้นเอาคนตัดยางไปกินบ่อยๆ อยู่ตามแถบนั้น เพราะการตัดยางเขานิยมกันแต่เช้ามืด มัดตะเกียงไฟติดหน้าผาก แต่ตี ๓ ตี ๔ เป็นส่วนมาก สำหรับผู้กล้าหาญ เขานิยมกันว่ายางมันไม่แห้ง มันออกดีในเวลาตอนกลางคืน ได้ยินงูใหญ่ร้องอยู่ใกล้ประมาณ ๑๕-๑๖ วาแต่มิได้เห็นตัว ชะรอยมันจะร้องอยู่ในรูที่เป็นรูเป็นโพรงเข้าไปในเขา ส่วนเสือนั้นไม่ปรากฏเห็น หรือมันมามองดูก็ไม่ทราบได้ เพราะเป็นหุบเขาแหลมๆ เข้าไป

แต่คราวล่วงมา ไปวิเวกที่บางนุ ที่ควนเขาดิน คนเดียว อ.ตะกั่วทุ่ง มันมาร้องอยู่ใกล้ๆ อย่างอาจหาญมากนักหนา คราวอยู่วัดป่ากระโสม ตะโหนดสวนพริก ตะกั่วทุ่งก็ ๖ โมงเย็นมันออกมาสูดกลิ่นเล่นอยู่ตามทางที่ลัดไปมาระหว่างกุฏิต่อกุฏิที่เป็นทางแคบๆ อันเป็นกุฏิบนควนเขาดินที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน พอมันเหลือบเห็นข้าพเจ้ามันก็กระโดดเข้าป่าหญ้าฝรั่ง (สาบเสือ) เสีย

ความกลัวตายของสัตว์ที่มีกิเลสอยู่นี้ต้องมีกลัวกันทั้งนั้น เว้นพระอรหันต์เสีย เหลือนั้นต้องกลัวกันไม่มากก็น้อย ท่านผู้ดับตัณหาได้สิ้นเชิงแล้ว ความขลาดกลัวขนพองสยองเกล้าย่อมไม่มี แต่คนโดยมากชอบมอบให้โรคเส้นประสาทเป็นส่วนมาก และก็ขอฝากท่านผู้รู้ไว้ด้วย การเขียนเกี่ยวกับธรรมชั้นสูง มิได้ยืนยันเข้าข้างตัวฝ่ายเดียว เพราะจะกลายเป็นมานะความถือดิ่งลงไปหน้าเดียว ถอนได้ยากอุปาทาน

๏ อุบายกลับอีสาน

การที่ข้าพเจ้าไปเที่ยวต่างจังหวัดนับแต่อดีตที่ล่วงมา ได้นึกในใจเป็นพิเศษว่า ถ้าหากมีชีวายุมั่นขวัญยืน มีอายุพอ ๗๐, ๘๐ แล้ว ส่วนเสนาสนะภายนอกจะเก็บตัวตายในยามแก่ชราที่ไหนหนอ ได้สำเหนียกสถานที่ไว้อยู่เสมอๆ ไม่ได้ไปเที่ยวดูบ้านดูเมืองดูภูมิประเทศภายนอกเฉยๆ แต่เพื่อพ้นทุกข์ในสงสารอันนั้นขาดตัวอยู่แล้ว เจตนาอันนี้มิได้ขบถคืน และมิได้บังคับ เพราะมีเจตนา (ตั้งแต่) ต้นมือ (เมื่อ) ก่อนออกอุปสมบทแล้ว มิได้หนักใจในเจตนา และเวลาที่อยู่ในปักษ์ใต้ ได้สำเหนียกว่า ถ้าเราอยู่ต่อไปอีกให้ถึง ๔ ปีก็คงไม่ไหว เพราะสถานที่ไม่อำนวยดังกล่าวแล้ว

แต่ถ้าเราจะไปซึ่งหน้าญาติโยมเล่า ก็เป็นเรื่องกระทบกระเทือนทั้งฝ่ายพระและฝ่ายโยม ทำให้พระมากับเราอีกไม่ต่ำกว่า ๑ องค์ และก็เกรงคุณอรุณจะกลับพร้อม ถ้าหากว่า เราจะทำกลอุบายลาเยี่ยมบ้าน (ปัจจัย) ทั้งค่าไปและค่ากลับในการโดยสารโยมเขาก็จัดให้พร้อม เมื่อโยมเขากำลังระแวงและหวงพระอยู่อย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้พิจารณามากขึ้น

เมื่อออกพรรษาแล้วในปีที่ ๓ พอถึงเดือนมกราคมก็ลาออกวิเวกแต่ผู้เดียว ตั้งใจว่าจะกลับภาคอีสาน แต่มิได้เล่าให้ท่านผู้ใดฟังในเรื่องจะกลับ และจะค่อยวิเวกไปไม่ด่วน โยมและฝ่ายคณะสงฆ์ก็คงสงสัยมาก เพราะเห็นจัดบริขารออกเหลือน้อย

รองเท้าก็ไม่เอา ผ้าจีวรและสังฆาฏิตัดใหม่ๆ ย้อมใหม่ๆ ไม่เอา เพราะเห็นว่าผ้าใหม่ เวลาเราได้ถูกซักน้ำธรรมดาคราวจำเป็น ผ้าจะขาวออก ผ้าไตรเก่าพอจะคุ้มปีอยู่ดังนี้ ผ้าอาบน้ำเอา ๒ ผืนกับผืนเก่า ผ้าอังสะผืนเดียว ผ้าสบงผืนเดียว ผ้าปกหมอนตัดออก เอาผ้าปูนอนคือผ้าอาบปกเอาในตัว ย่ามตัดออก

หนังสือมีแต่ปาฏิโมกข์กับใบสุทธิเอาผ้าเช็ดหน้าห่อ ยาแก้พิษสัตว์กัดต่อย ยาตราพระตลับเดียว ไฟแช็กแก๊ส ไฟฉาย มุ้งบาง กลดไม่ใหญ่โตเท่าไร สะพายบ่าเดียว แบกกลดขึ้นรถยนต์ไปลง จ.พังงา ในตัวจังหวัด ไกลจากที่จำพรรษาอำเภอหนึ่ง ไปพักถ้ำกรรจ์ ทิศตะวันออก ไกลจากเมืองหนึ่งกิโลเมตร ได้ข้ามน้ำกว้างประมาณ ๒ เส้น ลึกเพียงเข่า ไหลอยู่ไม่ขาด ไหลลงสู่ทะเลใน

ให้เข้าใจว่าทางทิศเหนือของเกาะภูเก็ตเขาเรียกกันว่าทะเลในทางทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกของภูเก็ตและทิศเหนือของภูเก็ตก็คือมหาสมุทรอินเดียเราดีๆ นี้เอง แปลว่า จ.พังงา เป็นแหลมของ จ.สุราษฎร์ฯ ยื่นออกไปแทงมหาสมุทรอินเดีย ภูเก็ตอยู่ในเกาะมหาสมุทรอินเดียและจังหวัดพังงานี้อยู่ในหุบเขาลึก

หลังเขา ตีนเขามีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือ งู ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หมี อีเก้ง เลียงผา เป็นต้น ถ้าไล่นับไปมาก ก็จะเป็นเดรัจฉานกถาในพรหมชาลสูตร สีลขันธวรรค นักปราชญ์อ่านพบก็จะหัวเราะว่า พูดแต่เรื่องบ้านเรื่องเมือง พระธุดงค์อะไรอย่างนี้ แปลกมาก จะกลายเป็นธุดงค์แผนที่ภายนอก

ไปอยู่ถ้ำไหนๆ ก็หนีไม่พ้นถ้ำกายถ้ำใจนี้เองจะได้พิจารณากัน สัตว์ป่าที่อยู่ในถ้ำนี้มานมนาน จนตั้งบ้านตั้งเมืองได้ มีอิสระ ก็คือสัตว์กิเลส ราชสีห์ตัวที่หนึ่ง-สอง-สาม ก็คือโลภ โกรธ หลง ไฟก็ว่า อวิชชาก็เรียก ได้ยศได้นามหลายชื่อแท้ๆ เพราะเป็นเจ้าใหญ่นายโตประจำกายประจำใจ เป็นเจ้าโลกเจ้าสังขารมานมนาน เขากลัวแต่กองทัพธรรมอริยมรรคอริยผลเท่านั้น ต่ำกว่านั้นลงมาเขาไม่กลัวหรอก คล้ายกับริ้นกับยุงไปกัดช้างเท่านั้นแหละ หรือมิฉะนั้นคล้ายกับเอาไม้จิ้มฟันไปงัดภูเขา กิเลสก็ไม่หวั่นไหวได้ง่ายๆ

๏ อาจารย์ภูเขาทอยพาให้เข็ดหลาบ

ครั้นพักทำความเพียรอยู่ถ้ำกรรจ์ประมาณ ๒ เดือนแล้ว จิตสังขารก็คิดอยากจะข้ามเขาทอย ไปทางอำเภออ่าวลึกซึ่งเป็นเขตจังหวัดกระบี่ จึงถามโยมว่า

“โยมเอ๋ย อาตมามาพักอยู่ที่นี่ ก็สะดวกสบายพอควร วันเวลาชีวาก็วิ่งไป นึกอยากจะไปเที่ยวต่อไปทางอำเภออ่าวลึก ภูเขาขวางหน้าอยู่นี้ มีที่ข้ามไปได้หรือไม่”

เขาตอบว่า “ไม่อยากให้ท่านไปง่ายเพราะประชาชนเขาจะขนดินทรายมาปูพื้นถ้ำให้พ่อท่านอยู่”

ตอบเขาว่า “อาตมาด่วนไปข้างหน้าเพราะเกรงจะไม่ได้เที่ยวหลายแห่ง โยมเอ๋ย แม้จะไม่มีพระอยู่นี้ การขนทรายมายิ่งสะดวกดี เพราะ (ถ้า) พระมาพัก จึงจะขน (จะ) เป็นการไม่สะดวกเท่าไรในฝ่ายพระ เพราะลำบากหลบกับญาติโยมที่ผ่านไปมาอันเป็นเพศหญิง เรารีบทำไว้ก่อนพระมาพักดีกว่านะ”

ขาดอบว่า “ถ้าพ่อท่านไปแล้ว ใครหนอจะพอใจขน เพราะไม่มีกำลังใจ เพราะไม่เห็นพระ”

ตอบเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นก็รอไว้ก่อน ต่อเมื่อมีพระมาในอนาคตจงพากันขนเน้อ จะอย่างไรอาตมาก็จะได้ลาไปตามแผนที่วางไว้ พวกเราจะอยู่ไกลกันขอบฟ้าแดนดินใดๆ ก็ตาม ต่างก็ถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นสรณะอยู่ ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้กันโดยธรรมแลนา แล้วก็หมดปัญหากัน”

แล้วเขาพูดว่า “ถ้าจะไปจริงๆ จะได้นิมนต์กลับไปทางตลาด จะส่งพ่อท่านไปทางเรือจะสะดวกและถึงเร็ว”

ถามโยมว่า “ภูเขาทอยนี้ ได้ยินเขาเล่าว่า มีคนข้ามมาข้ามไปได้อยู่ด้วยฝีเท้า”

เขาตอบว่า” ได้อยู่ก็จริง แต่ชันมาก สูงมาก บ่าย ๔ โมงเย็นจึงจะถึงตีนเขาทางทิศตะวันออก”

ตอบเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็อยากจะทดสอบดูว่า อาตมาจะกล้าเป็นกล้าตายเพียงขนาดไหน ขอโยมจงไปส่งให้ถูกทางช่องข้ามเถิด” ว่าแล้วเขาก็พาไปแบบฝืนๆ

เขาพาไปตามตีนเขาประมาณ ๘ เส้น ก็เห็นหนทางข้ามลัดเขาแคบๆ พอสังเกตได้

เขาบอกว่า “ไม่มีเส้นปลีกดอก อย่าได้แวะซ้ายและขวาเลย”

ตอบเขา” ถ้าอย่างนั้นขอให้โยมกลับโดยสวัสดิภาพเทอญ”

เขายกมือใส่หัวแล้วก็กลับ


แล้ว (ข้าพเจ้า) ก็ตั้งใจภาวนาพร้อมกับขาก้าวปีนภูเขา บางแห่งก้าวได้ทีละคืบ บางแห่งก้าวได้ทีละกว่าคืบ บางแห่งก้าวได้ทีละศอกกำ ไปยังไม่ถึงหลังเขาก็พักเหนื่อย ผินหน้าลงทางที่ปีนขึ้นมา เอาส้นสองส้นยันที่เป็นหลุม หนีบกลดไว้กับรักแร้ สะพายบาตรเฉวียงบ่าให้แน่น เอาฝ่ามือสองฝ่าแบออกกดพื้น ตัวยั้งน้ำหนักอยู่ที่ส้นสองส้น อยู่ที่ก้น อยู่ที่ฝ่ามือทั้งสองที่กดลงสนิทพื้น พักบรรเทาทุกข์กายอยู่กับหนทางที่นั้นประมาณ ๑๐ นาทีแล้วก็ค่อยพยุงตัวยืนขึ้น ปีนขึ้นต่อไป

ประมาณเที่ยงวันก็ถึงหลังเขา เหงื่อออกโชกโชนเดินไปไม่พอ ๑๕ วาก็ชันริบหรี่ลงอีก ลงยากกว่าปีนขึ้นอีกเสียด้วย เพราะได้ห้ามล้อยั้งลงๆ แบบเบาที่สุด พอถึงตีนเขาก็ ๔ โมงเย็นกว่าๆ แล้วเหลียวคืนหลังที่ข้ามมา เข็ดหลาบมาก ไม่เสียดายไม่อาลัยว่าจะข้ามอีก ระอามาก น้ำก็ไม่ได้ดื่มเลย

อาจารย์ภูเขาทอย จังหวัดพังงาพาให้เพิ่มความเข็ดหลาบในสงสารสาครยิ่งขึ้น อาจารย์เกิด อาจารย์แก่ อาจารย์เจ็บ อาจารย์ตาย อาจารย์วิโยคพลัดพราก อาจารย์ปรารถนามิได้สมหวัง อาจารย์อนิจจัง อาจารย์ทุกขัง อาจารย์อนัตตา เป็นอาจารย์สอนให้เข็ดหลาบในวัฏสงสารอยู่ ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา แต่ขออย่าให้เป็นผู้หูหนวกตาบอด รับฟังรับพิจารณาอยู่ไม่เลือกกาล จึงจะคุ้มค่าแห่งความหลงและความไม่หลง มิฉะนั้นแล้วก็ไปไม่รอดจากความหลงๆ ใหลๆ หลำๆ ได้

ครั้นตกถึงตีนเขาแล้ว เป็นทุ่งนา กว้างประมาณ ๓ ไร่ ยาวประมาณ ๒๐ ไร่ มีน้ำไหลลงจากภูเขา เป็นคลองเล็กๆ ใสสะอาด จืดสนิท มีกระต๊อบกระหนำอยู่กว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๔ เมตรกว่า โล่งเตียนไม่มีคนอยู่นั้น และไม่มีสิ่งของอะไร นึกในใจว่า ถ้าพบเจ้าของมาที่นั้น ก็จะขออนุญาตพัก แต่ก็ไม่พบเลย พักหายเหนื่อยแล้วก็สรงน้ำ ด้วยความสังเวชตนว่าเกิดมาทุกข์ ทุกข์อยู่องค์เดียว ไปอยู่องค์เดียว ไม่มีใครเป็นพยานได้ มีแต่หัวใจตนเป็นพยานตนเอง

สรงน้ำแล้วก็พอดีค่ำ กราบพระแล้วก็ภาวนานอนและไม่หลับสนิทได้ ไม่นึกกลัวและไม่นึกหาญ เป็นเสมอๆ อยู่ คงจะเป็นเพราะคุณธรรมอันวิเวกไม่มีเพื่อนสอง ไม่เป็นอารมณ์อันจะพูดกับเพื่อนเนาะๆ แนะๆ อะไร เพื่อต้อนรับกันเป็นคำๆ เป็นเรื่องๆ เป็นวรรคๆ ตนเป็นที่พึ่งของตนโดยแท้ ใจเป็นที่พึ่งของใจโดยแท้ ธรรมเป็นที่พึ่งของธรรมโดยแท้ กรรมเป็นที่พึ่งของกรรมโดยแท้จริง

ครั้นเช้าได้เวลาก็เข้าไปบิณฑบาต มีบ้านอยู่ทางทิศตะวันออกไกลประมาณ ๒๐ เส้น มีหลังคาเรือนประมาณ ๕-๖ หลัง ฉันเสร็จแล้วพักอยู่ที่นั้น บ่ายประมาณ ๓ โมง มีโยมแวะไปคุยด้วย ๒ คน

ได้ถามเขาว่า “มีถ้ำอยู่ตามแถบนี้หรือไม่”

เขาตอบว่า “มี”

ถามเขา “ไกลขนาดไหน”

เขาตอบ “ไม่ไกลเท่าไรนัก”

ถามเขา “ไปเดี๋ยวนี้จะทันหรือไม่”

เขาตอบ “ทันครับ”

แล้วเขาก็พาไป พอไปถึงเป็นที่ขรุขระมาก เป็นซอกเขาเข้าไปลึก แล้วมีน้ำซึมอยู่ด้านหนึ่ง มีทาก มีเงื้อมหินขลุกขลัก ทางจงกรมก็ไม่มีที่จะราบเรียบยาวพอ ๕ วาเลย

เวลาก็ค่ำเข้า มีป่าไม้ทึบไม่สว่าง มีรอยสัตว์ป่าลงไปกินน้ำละลากละลายมาก ทีนี้หามศพตกป่าช้า ถ้าจะ (กลับ) คืนพักที่เก่าก็ไม่เหมาะ คล้ายกับว่าเราขลาดกลัวเกินไป

ว่ากับเขาว่า “เออ ค่ำแล้ว จะทำร้านก็ไม่ทันดอก จงพากันเอาใบไม้ปูดิน แล้วทำที่ให้แขวนกลด แล้วก็พากันกลับบ้านจวนค่ำแล้ว” เขาทำเสร็จก็กลับ พอเขากลับแล้วก็กางกลดมุ้ง ปูผ้าอาบลงที่เขาปูไม้ให้ ที่ดินราบเพราะเป็นถ้ำราบ เงื้อมหินนิดหน่อย

พอถึงเวลา ๑ ทุ่มก็กราบพระและจะสวดพาหุง ความง่วงเหงาหาวนอนไม่รู้ว่ามาจากไหน ทำอุบายแก้ยังไปก็ไม่หายได้ จึงทวนดูว่าเรามาอยู่ที่อัตคัดอันตรายมาก ทำไมเราง่วงเหงาหาวนอนมากผิดธรรมดาแท้ๆ จะอย่างไรก็ตาม เราจะอธิษฐานธรรมแล้วจะนอน

ยกมือประนม นึกในใจว่า ด้วยเดชพุทธ ธรรม สงฆ์ ขอเป็นมิตร เป็นสหาย ปราศจากสรรพเวรภัยทั่วทั้งไตรโลกาอยู่ทุกเมื่อ และระลึกได้ก็ดี ไม่ระลึกได้ก็ดี ขอผูกขาดจองขาด ตราบเท่าเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล แล้วก็นอนกำหนดพุทโธ พร้อมลมออกเข้า คงไม่พอ ๕ นาทีเลยหลับไป

รู้สึกตัวตื่นขึ้นประมาณตี ๒ กว่าๆ มดง่ามกัดเพราะเป็นดินชุ่ม แล้วคิดว่า เรามิใช่คนขี้เซาหาวนอนอะไรนัก มานอนเหมือนหมู่ถึงเพียงนี้ เป็นด้วยอากาศทึบ ธาตุขันธ์สู้ไม่ไหว ที่นี่เอาผ้าปัดมดออกจากกาย ทั้งพลิกใจภาวนา ถึงอย่างนั้นก็ยังจะเคลิ้มหลับอยู่ แต่ก็นึกเผลอไป มิได้เพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ เพื่อบรรเทาง่วง ลองดูและนิสัยเจ้าตัวเล่า ก็ไม่ค่อยได้หัดเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ระลึกถึง เพราะเคยเพ่งแต่อานาปานสติเป็นหลักส่วนมากแห่งสมถะ แม้จะพิจารณาไตรลักษณ์ก็อาศัยอานาปานะเป็นนายหน้า แม้พระองค์จะทรงพระกรุณาสอนพระมหาโมคคัลลานะ ผู้ไปทำความเพียรอยู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ แล้วนั่งโงกง่วง ทรงสอนอุบายให้ระงับโงกง่วงด้วยวิธีต่างๆ ก็เลยลืมไปเสีย เลยกลายเป็นวางยาไม่ถูกกับโรคที่กำเริบกะทันหันก็เลยถูกแพ้การโงกง่วงไปเสีย ถ้าเสือหรืองูหรือมีสิ่งบันดาลให้ตายในคืนนั้นสดๆ ด่วนๆ ถ้าพลิกใจไม่เหมาะสม ก็คงจะเป็นปัญญาอยู่

๏ พักเขาเฒ่าพบงูใหญ่

ครั้นตอนเช้าก็จัดแจงบริขารเตรียมเดินทางไป ผ่านข้างบ้านเขา เขาวิ่งมารับ แล้วได้พูดกับเขาว่า

“อากาศทึบมาก ที่คับแคบอีก ถ้าจะบิณฑบาตที่บ้านเรานี้ก็ยังเช้าเกินไป ถ้าอาตมาไปข้างหน้าจะมีบ้านหรือไม่ และจะมีที่พักสะดวกหรือไม่”

เขาตอบว่า “ต้องไปพักเขาเฒ่า เพราะมีเงื้อมหิน และมีเตียงอยู่นั้นด้วย ไปบิณฑบาตบ้านเขาเฒ่า แต่พอไปถึงจะสายมากครับ” “เออ ถึงสายบ้างก็ไม่เป็นไรดอก ขอจงส่งอาตมาให้ถูกทางโยมเอ๋ย”

เขาไปส่งประมาณ ๒๐ เส้น ข้ามน้ำไหลเชี่ยว ลึกเพียงเข่า ไหลลงมาจากเขาทอย กว้างประมาณ ๖ เมตร แล้วก็บอก (ให้) เขากลับ พอไปถึงเขาเฒ่าก็ ๔ โมงเช้าโดยคาดคะเน มีคนหนึ่งตามพาไปถ้ำ แล้วก็เลยไม่ไปบิณฑบาตเลย เพราะหมดเวลาแล้ว และเขาก็รู้ว่ายังไม่ฉันอาหาร

บอกเขาลัดไว้ว่า “อาตมาไม่ฉันก็ได้ดอก วันนี้ โยมไม่ต้องลำบากดอก เพราะมาหลอนกันผิดเวลาแล้ว”

เขาไม่ยอม เขาเอาปิ่นโตมาเถาหนึ่ง แล้วแก้บาตรออก เอาใส่บาตร ฉันให้เขาประมาณ ๙ หรือ ๑๐ คำนี้แหละ เขาเล่าว่า

“พระพัทลุงและสงขลานานๆ ก็ผ่านมาพักอยู่ แต่อยู่ไม่นาน เพราะมาหลายองค์ที่พักไม่พอ”

ปรารภกันประมาณ ๒๐ นาทีแล้วเขาก็กลับ บ้านเขาเป็นบ้านห่างๆ กัน เพราะเขาอยู่ตามนาตามสวน ของใครของมัน สมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่ค่อยมี แต่ทุกวันนี้ก็คงจะบอกไม่ถูก เพราะวุ่นวายขัดข้อง

ที่พักอยู่เขาเฒ่านั้นเป็นเงื้อมหิน พื้นเสมอดินราบ แต่เงื้อมหินข้างบนสูงมาก เป็นที่มุงยื่นออกไป พื้นใต้ที่ราบที่อาศัยพัก มีเตียงสูงประมาณ ๔๐ เซ็นต์ เขาทำที่บวงสรวงไสยศาสตร์เป็นกระท่อมหนึ่ง ที่เรียกว่ากระต๊อบหรือกระหนำ ไกลจากเตียงใกล้หน้าผาเป็นโพรงเป็นรูเข้าไปในหน้าผานั้นประมาณหลวมครุ

ภูเขาลูกนั้นเขาเรียกว่าภูเขาถ้ำเขาเฒ่า ตำบลเขาเก่า จังหวัดพังงา

วันไปถึงทีแรกก็พักอยู่ที่เตียง นอนเอนกายพักอยู่เป็นเวลาประมาณบ่าย ๑ โมง มีงูใหญ่ตัวหนึ่งเลื้อยตรงมาทางทิศเหนือ ล่องตามหน้าผามาที่ก้อนหินใต้หน้าผา หัวของมันเกือบจดกับเตียงด้านทางที่ผินศีรษะไป คอของมันยกขึ้นพร้อมทั้งที่เลื้อยมา ยกคอสูงประมาณ ๕๐ เซ็นต์ มาแบบเรียบๆ ช้าๆ ตาของมันเท่าหัวแม่มือ ข้าพเจ้าก็ลุกนั่งพับเพียบ หัวของมันอยู่ห่างเตียงประมาณ ๑ ศอก ตัวของมันยาวประมาณ ๔ เมตร โตประมาณวัดผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนต์กว่า มันก็ยกคอทำตาปริบๆ อยู่แบบสุภาพ นึกขึ้นได้สดๆ แล้วพร้อมทั้งโบกมือกล่าวว่า

“ไปๆๆๆ เลี้ยวไปทางนั้น จะมาสงสัยเราทำไม เราแผ่เมตตาถึงเธอทุกวัน ไม่ว่าแต่เธอเลย สิ่งที่มีวิญญาณครองสิงทุกถ้วนหน้าทั่วทั้งสรรพไตรโลกา เรารอเป็นมิตรเป็นสหายปราศจากเวรภัยอยู่ทุกเมื่อ พร้อมทั้งอุทิศกุศลผลบุญให้ทุกถ้วนหน้า อยู่โดยทุกเมื่อ จงได้รับแต่สรรพสุขทั้งปวง ผูกขาดจองขาด ระลึกได้ไม่ระลึกได้ก็ดี ตราบเท่าเข้าสอนุปาทิเสสนิพพานทุกถ้วนหน้านั้นเทอญ ไปๆๆๆ”

มันเลยเลี้ยวขวาตรงไปใต้ถุนกระต๊อบที่เขาบวงสรวง ยกคอเรียบๆ อยู่อย่างนั้น เลื้อยไปช้าๆ แบบมีสติ หัวมันห่างออกไปจากเตียงประมาณ ๒ วา แต่หางสุดของมันยังอยู่ใกล้เตียง แล้วมันร้องขึ้นว่า “หู หู หู หู” ท้องของมันยุบพองยุบพองในเวลามันร้อง แล้วมันก็เข้าไปในโพรงหินหน้าผาเงียบ แล้วพะวงนึกในใจว่า มันมาหากินต่างหาก แต่มาเจอเรา

ห่างจากกันไปประมาณ ๑๐ นาทีก็ออกมาอีก จะลัดไปทางตีนเตียง ยกคอมาเหมือนเดิม มาเรียบๆ ออกจากโพรงหินมาประมาณวากว่าๆ แล้วทีนี้ตั้งใจได้กว่าคราวก่อน จึงพูดขึ้นทั้งกวักมือให้กลับ พูดว่า

“ไปๆๆๆ กลับๆ เราบอกแล้วไม่ฟัง เราไม่มาหา เอาทรัพย์ในดินสินในน้ำดังกล่าวแล้วนั้น กลับๆๆๆ”

ทั้งโบกมือพร้อม เวลามันกลับ มันก็ถอยตัวกลับ ประมาณ ๑ คืบแล้วขว้างหางคืนมา แล้วเข้าไปในรูนั้นต่อไป

ไฉนมันเข้าไปในรูแล้วจึงออกมาอีกโดยด่วนนัก ชะรอยมันจะออกไปหากินทางชายทุ่ง แล้วด้วยอำนาจของพุทธ ธรรม สงฆ์และจิตใจมิได้มีควรมีภัยกับมัน มันก็ไม่กัดไม่กินไม่ทำอันตรายใดๆ มิใช่ภูตผีเทวบุตรเทวดาจำแลงแปลงกายอะไรเลย หรือจะเรียกว่า คงสร้างบารมีมาทดสอบว่าจะขลาดกลัวขนาดไหน และจะนึกหาค้อนหาไม้มาฆ่ามาดีหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น ก็อาจเป็นได้

เรื่องงูภายนอกก็ไม่สำคัญเท่างูภายใน งูภายในคืองูกิเลสที่พันจิตพันใจอยู่ เป็นงูสำคัญมาก แผ่พังพานโลภ โกรธ หลงอยู่ไม่ลดละได้ โสดาบันเป็นต้นไป งูจะไม่รัดจิตรัดใจให้แน่น พอหายใจสะดวกบ้าง เห็นหนทางและมีทางจะชนะงูในอนาคต ต่ำกว่านั้นลงมาอยู่ในเกณฑ์ตายคาปากงู

ตื่นเช้าไปบิณฑบาต ๒ เรือนเท่านั้น เพราะบ้านเขาอยู่ห่างกันตามสวนตามนา แต่ก็พอได้ฉันอยู่ เขาตามมาส่งอาหารคนหนึ่ง

ได้ถามเขาว่า “คุณโยม ที่นี่มีงูหรือไม่”

เขาย้อนถามว่า “พ่อท่านเห็นหรือ”

ตอบเขาว่า “เห็น”

เขาถามว่า “ตัวใหญ่ขนาดไหน”

ตอบว่า “ตัวขนาดแข้งโตนี่แหละ”

เขาตอบว่า “ตัวใหญ่กว่านั้นก็มี เท่าโคนขา”

ถามเขาว่า “มันกัดเป็นไหม มีพิษไหม”

เขาตอบว่า “มันกัดเป็น และมีพิษมากเป็นที่ ๒ ของงูเห่า แต่มันไม่ค่อยกัด มันชอบกิน”

ถามเขาว่า “ชื่องูอะไร”

เขาตอบว่า “ชื่องูบ้องหลาครับ มันเคยอาศัยไปมาอยู่ตามแถวนี้มานานแล้ว มันเป็นงูกายสิทธิ์ แต่ก็ไม่ค่อยทำใครดอก”


แท้จริง แต่ยังมิได้พบงู ก็นึกในใจว่า จะพักอยู่ที่นั้นประมาณ ๓ วันเท่านั้น แต่เมื่อพบงูแล้ว และเล่าให้เขาฟังแล้ว ก็จำเป็นต้องอยู่ไปอีก ต่างดัดสันดานตนเองบ้าง และเกรงเขาจะว่าพระธุดงค์ขี้ขลาดเกินไป

อยู่ไปอีกได้สัปดาห์หนึ่งและไม่เห็นงูมาอีก มีแต่เสือโคร่งผ่านมาได้ใกล้ประมาณ ๑๕ วา โยมเขาบอกเล่าให้ฟัง เขาเห็นรอยมัน แต่เจ้าตัวมิได้ไปดูกับเขา แล้วนึกในใจว่า ถ้ากรรมตายไม่มาถึงแท้ กรรมเป็นอันมีชีวิตก็ต้องรอดไปเป็นคราวๆ แต่ก็ไม่พ้นตายไปได้

เมื่อนึกให้ละเอียดแล้ว เสือกิเลสก็ตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่รอบเมืองใจอีก คำว่าเสือแปลว่า ผู้ยังมีโกรธโหดร้ายอยู่ เห็นแต่กระเป๋าไส้กระเป๋าท้องของตน พระอนาคามีเท่านั้นจะพ้นจากปากเสือโกรธไป ต่ำกว่านั้นลงมา ไม่พ้นจากปากเสือโกรธเลยแลหนอ เมื่อน้อมเข้ามาภายในเป็นอัชฌัตตาธัมมาแล้ว เรื่องเสือภายนอกก็แบ่งเบาผ่อนปรนลงมาได้

มหันตโทษของเสือภายใน สามารถใช้กาย วาจา ไปทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ได้ ฉะนั้น ศีล ๕ ศีล ๘ (มีศีล) ข้อต้นเป็นรากเหง้าของศีลอย่างสมบูรณ์ ถ้าล่วงศีลข้อต้นแล้ว ศีลข้ออื่นๆ ก็จะพลอยล่วงไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ารักษาศีลข้อต้นได้ ข้ออื่นๆ ก็พลอยจะสมบูรณ์ไปด้วย เพราะได้รากแก้วของศีลที่มีเมตตา เมตใจ เมตธรรมเพราะตัดสินลงในใจในธรรมแล้วว่า จะไม่ฆ่าตายหงายไว้แก่ใครๆ ทั้งปวงโดยมิได้เลือกหน้า เป็นเมตตาธรรมาธิปไตย เห็นธรรมเป็นใหญ่แล้ว ไม่ได้เห็นตนเห็นโลกเป็นใหญ่กว่าธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ผู้มีศีล ๕ บริบูรณ์ ก็คือผู้มีทรัพย์ภายใน บริบูรณ์อริยทรัพย์นั้นเอง ฉะนั้น ศีล ๕ ของผู้มีศีลบริบูรณ์จึงเป็นโลกุตตรศีล เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้นของพุทธศาสนา

๏ อ่าวลึก-แหลมสัก

พักอยู่นั้นตามสมควร ๗ วันแล้วก็ลาเขาไปพักบ่อแสน ลงเรือแจวไป ๒ ชั่วโมง สุดเขตจังหวัดพังงาเพียงนั้น เป็นพรมแดนต่อ จ.กระบี่ พักอยู่หาดทราย มีกระหนำเล็กๆ

ถามเขาว่า “บ่อแสนนี้หมายความว่าอย่างไร”

เขาตอบมาจังๆ ว่า “คือแสนทุกข์แสนยากนะพ่อท่าน”

ให้คะแนนเขาว่า “ดีแล้ว ตอบไม่หนีจากหลักธรรมะ”

พักอยู่นั้น ๓ คืนแล้วลาเขาไป อ.อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ตี ๑ ตอนกลางคืนเขามารับเอาบริการไปลงเรือแจว ขณะนั้นน้ำทะเลกำลังขึ้น เขาแจวเรือโต้น้ำขึ้น เสียงปลากระโดดตูมตามๆ ตามป่าไม้ริมทะเลใน เรือไปจอดท่าอำเภออ่าวลึกแล้ว พวกชาวเรือประมาณ ๗ คนนั้น เขาหาบแตงโมงเข้าไปขาย อ.อ่าวลึก ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๔ โดยคาดคะเน พอเขาหาบแตงโมไปแล้วสักครู่ฝนตกลงมาอย่างหนักแต่ลมไม่จัด ก็ยืนสะพายบาตรอยู่ที่ท่าน้ำ กั้นกลดอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง มืดแปดด้านไม่แลเห็นอะไร นึกในใจแล้วก็คล้ายกับว่าอาจารย์ฝนลองดี ให้ยืนกั้นกลดภาวนาเป็นเรื่องขันๆ อยู่บ้าง

สว่างเป็นวันใหม่ก็เตรียมเข้าไปบิณฑบาตใน อ.อ่าวลึก จากท่าเรือไปในตัวอำเภอประมาณ ๓๐ กว่าเส้น ใกล้จะเข้าบ้าน มีโยมคนหนึ่งมาช่วยถือกาน้ำและกลด

เขาเล่าว่า “พระธุดงคภูเก็ต โคกกลอย พังงา มาพักวิเวกอยู่ชานอำเภอ ที่ป่ามะพร้าวนี้ได้หลายวันแล้ว กระผมจะตามพ่อท่านบิณฑบาตไป แล้วจะพาพ่อท่านไปฉันกับพระธุดงค์พวกนั้น”

แล้วบิณฑบาตพอได้ข้าวพออิ่มแล้วก็ไปหาท่านเหล่านั้น กำลังแต่งบาตรจะเตรียมฉัน ต่างก็มองดูกันแล้วหัวเราะ เพราะเป็นพวกเดียวกัน แต่จำพรรษาคนละสำนักเฉยๆ เมื่อฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเก็บบริขารแล้วก็ทักทายปราศรัยกันจนจบเรื่อง

แต่พอเที่ยงวัน มีชาวตำบลแหลมสัก อ.อ่าวลึก เขาเอาเรือบรรจุคนมาประมาณ ๒๐๐ คน เขาได้ทราบว่าพระธุดงค์มาพักอยู่สวนมะพร้าว อ.อ่าวลึก หลายวันแล้ว และเขาจะมาซื้อของในอำเภออ่าวลึกด้วย และจะมาขอพระไปไว้พักวิเวกบ้านเขาด้วย ขณะนั้นมีพระอยู่ด้วยกันนับทั้งเจ้าตัวผู้ไปใหม่ในวันนั้น ๕ รูป คือ ท่านอาจารย์อาจ ท่านอาจารย์พรหมา คุณสุบิน คุณเจริญ แล้วเขานิมนต์ต่อหน้าสงฆ์ว่า

“ขอให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายแบ่งพระให้พวกกระผมบ้าง จะให้กี่องค์ก็เอา จะให้องค์ไหนก็เอา”

ตกลงก็เลยได้ข้าพเจ้า เขาก็เลยรับเอาบริขาร กราบลาครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนแล้วก็ไปและเจ้าตัวก็พอใจด้วย

เดินไปประมาณ ๒ กิโลก็ถึงที่ท่าตำบลแหลมสัก แล้วลงเรือตอนเย็นไปประมาณ ๑ ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงบ้านแหลมสัก มืดประมาณ ๑ ทุ่ม ตอนหัวค่ำ น้ำทะเลกำลังขึ้น เขาเอาไปพักไว้กระต๊อบฟากโรงเรียน มี* มีงูเห่างูกะปะมาก

พักอยู่ที่นั้นเกือบจะเข้าเดือน วิเวกพอควร ญาติโยมก็เป็นที่สบายพอควร มีนายมนูญ แม่นุ้ย แม่โฉมาให้ความสะดวก ไปบิณฑบาตก็สะดวก ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สงัดวิเวก โยมพังงาที่สำนักจำพรรษา เขาทราบว่าอยู่ที่นั้น เขาก็นิมนต์ให้กลับด้วยการเขียนจดหมายมาหา ก็เลยเขียนจดหมายตอบไปหาคณะสงฆ์หนึ่งฉบับ เนื้อความในจดหมายว่า

ที่พักชั่วคราวริมทะเล บ้านแหลมสัก ตำบลแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่

วันที่...เดือน....พ.ศ.๒๔๙๖

กราบเรียน พระเถรานุเถระและคณะสงฆ์ทุกถ้วนหน้าที่เคารพอย่างสูง

กระผมเที่ยววิเวกไป ก็ไกลไปไกลไป คงจะไม่ได้กลับเสียแล้ว โทษของเกล้าอันใดมี ขอได้กรุณาโปรดเกล้าอยู่ทุกเมื่อเทอญกราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูง

หล้า เขมปตฺโต

แล้วจ่าหน้าซองว่า

กราบเรียนพระเถรานุเถระทุกถ้วนหน้า วัดป่าโคกกลอย ตำบลนากลาง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เมื่อได้ทราบแล้ว อ่านแล้ว กรุณาถวายต่อทางวัดป่าเขาโต๊ะแซะ ภูเก็ต ด้วยครับ จะเป็นพระคุณยิ่งอย่างสูง

ส่วนจดหมายไปหาโยมพังงานั้น ลงที่พักอยู่ วันที่ ...เดือน ...พ.ศ. ... แล้วกล่าวใน จ.ม. ว่า

เจริญธรรมคณะญาติโยมชาวพังงาที่ร่วมสุขทุกข์กับวัดป่าทุกๆ ท่านที่นับถือ

อาตมาไปเที่ยววิเวกคงจะไม่ได้กลับเสียแล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างมีพุทธ ธรรม สงฆ์ ประจำใจอยู่ ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้กันโดยธรรมแล

ส่งข่าวมาด้วยความนับถือไว้ในพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานแล

หล้า เขมปตฺโต

นี้แหละเรื่องสังขารของการวิโยคมันเป็นอย่างนี้ละ

๏ ที่ป่าช้าจังหวัดตรัง

ครั้นพักอยู่ที่นั้นเกือบเดือน แล้วก็ลาเขา ลงเรือข้ามอ่าวลึก ไปพักอยู่หนองจิกคืนหนึ่ง เขาส่งขึ้นรถยางไปจังหวัดกระบี่ พอถึงก็ค่ำมืด เขาเอาไปพักไว้นอกเมือง โรงเครื่องจักรคั่วกาแฟ มีชายโสดอยู่นั้นคนเดียว ที่กว้างขวางหลายๆ ห้อง ตื่นเช้าเขาส่งขึ้นรถเถ้าแก่ เขาเอานมมาให้ฉัน ๒ แก้ว ก็เลยฉันแก้วเดียว

๖ โมงเช้ารถก็ออก เดินทางข้ามอำเภอคลองท่อม พอถึงอำเภอห้วยยอดเป็นเวลา ๕ โมงเช้า ชาวรถเขาหยุดอยู่ประมาณ ๓๐ นาที เขาจะจัดเพลถวาย

บอกเขาว่า “อาตมาฉันมื้อเดียว ฉันนมหกโมงเช้าหนึ่งแก้วแล้ว ความหิวไม่รบกวนดอก”

แล้วรถก็ได้เวลาวิ่งต่อไปถึงจังหวัดตรัง ประมาณบ่ายสองกว่า แล้วไปพักที่ป่าช้า ไกลจากสถานีรถไฟประมาณเกือบกิโล มีโยมเอาเสื่อมาปูที่ดินราบใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง และมีน้ำหนึ่งครุ แขวนกลดที่กิ่งไม้ต้นนั้น ผินหัวหนุนหลุมศพ เพราะศพที่เขายังไม่เผาเขาถมดินพูนขึ้นเตียนๆ เขาไม่เอากิ่งไม้และหนามมาปกไว้เหมือนภาคอีสาน

ด้านภาวนาหนักไปทางบริกรรมเมตตาอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเป็นส่วนมากมาแต่ถ้ำกรรจ์ จังหวัดพังงาแล้ว แผ่จนถึงอนัตตาจิต อนัตตาธรรมอันไม่มีเวรอันไม่มีภัยไม่มีศัตรู แต่ก็เห็นคุณค่าทันตาเฉพาะตน เพราะกระแสจิตใจไม่นึกเพ่งโทษใคร สติก็ตั้งได้ง่ายไม่โผล่ออกมาหงุดหงิด ตั้งจิตว่าขอโยนิทั้ง ๔ ทุกถ้วนหน้า จงเป็นสุขในพุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อดังนี้เสมอๆ ไม่ได้บังคับยาก ส่วนเวลานอนก่อนหลับ เอาไว้กับลมออกเข้าพร้อมบริกรรมเมตตา

ตื่นเช้าได้เวลาไปบิณฑบาตที่ในเมือง ตอนบ่ายประมาณ ๕ โมง มีจีนคนหนึ่งอายุราว ๓๐ หน้าตาคมตายผ่องใสมากราบ แล้วถามว่า

“ทั่งมาพักที่ลี่ เห็งผีไหมล่ะ”

ตอบ “ไม่เห็นเลย”

ถาม “เห็งงูไหมละ งูกะปะมังมีหลาย”

ตอบ “ไม่เห็น”

ถาม “แล่วๆ ทั่งจะไปไหนล่ะ”

ตอบ “จะไปกรุงเทพฯ”

ถาม “ท่างๆ จะไปด้วยวิธีไหนล่ะ”

ตอบ “จะเดินไปพอจำพรรษานครศรีธรรมราช ร่อนพิบูษย์ก็จำ”

จีนพูดต่อไปว่า “มังๆ ไกลง่ะ”

ตอบ “ไกล ก็ค่อยเดินไป ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั้น”

จีนพูดต่อไปว่า “ถ้าๆ หยั่งลั้ง ผงๆ จะเอาเงิงให้ทั่ง”

ตอบ “อาตมารับเงินถือเงินเอาเองไม่ได้”

จีนพูดต่อไปว่า “ถ้าๆ หยั่งลั้ง เอาใบสุกทิกทั่งมา ผงจะไปชื้อตั๋วรถด่วงมาให้ เขาขาย ล่วงหน้า ๖ โมงเย็ง”

แล้วก็ก้มหน้าพิจารณาอยู่สักครู่ ได้ความว่า คนพอหน้าพอตาเธอคงไม่ต้มเรา แล้วเอาใบสุทธิให้ เขาก็ขี่รถจักรยานไปไม่นานเท่าใดก็กลับมา เอาใบสุทธิและตั๋วรถให้ รถด่วนตู้ชั้น ๒ ๖๒ บาท ๕๐ สตางค์

แล้วเขาถามว่า “ข้าวๆ จะกิงที่ไหนล่ะ”

ตอบ “อาตมาเคยทนหิวได้”

เขาตอบว่า “ถ้าหยั่งลั้งก็ไม่ยาก พรุ่งๆ ลี้ไม่ต้องบิงทะบาก ลกไปแต่เช่า จะไม่ทังลก จงไปรอผงที่สถานี ผงๆ จะมาลักที่ลั้ง”

จบคำแล้วเขาก็กลับบ้าน

ถามว่า ไฉนจีนคนนั้นจึงไปเยี่ยมป่าช้า

ตอบว่า บิดาเขาถึงแก่กรรมถูกฝังไว้จมดิน เขาเอาธูปเทียนไปจุดบูชาคุณของบิดาเขา และเขากำลังริเริ่มจะโกยขึ้นเผา ธรรมเนียมของชาวจีนเด่นมากในทางเคารพบิดามารดาแห่งพระคุณ ตรงคำสอนของพระพุทธศาสนามากในส่วนนี้ ฉะนั้นจีนจึงไม่ค่อยจะตกต่ำในการครองชีพ และมักจะมีแต่ผู้มีศักดิ์มีศรีเป็นส่วนมาก นักโทษจีนในเรือนจำของประเทศไทยมีน้อยที่สุดนัก

ปรารภเรื่องเดินทางต่อไป ครั้นเป็นวันใหม่ ได้เวลาก็ส่งสาดกับครุเขาแล้ว ก็ลาเขาไปสถานีรถไฟเพื่อรอขึ้นรถ พอไปถึงสถานีก่อน ๑ โมงเช้า นายสถานีมารับเข้าไปไว้ในห้องเสมียน จัดเก้าอี้มาให้นั่ง เจ้านายทางนั้นเคารพพระอย่างไม่เสียธรรม ไม่ให้พระอยู่ข้างนอกปะปนกับโยม อีกสักครู่ จีนสองคนผัวเมียแลเห็น ก็เข้ามาในห้องเสมียนรับเอาบริขารแล้วพูดว่า

“นิมงๆ นิมงๆ ผงๆ ให้ลูกผงไปนั่งจองตู้ชั้น ๒ ไว้แล้ว ลูกผู้ชาย”

ฝ่ายสามีก็สะพายเอาบาตร ภรรยาแบกเอากลด ข้าพเจ้าลาเสมียนย่อๆ แล้วก็ไปขึ้นรถไฟ เขาประเคนบริการแล้วเขาก็ประเคนถุงยางใส่ข้าวกับปลาแห้ง ๓ ตัว ไข่ ๓ ฟอง ยาเกล็ดทอง ๒ ซอง น้ำ ๒ ขวดแก้ว แล้วก็เอาไว้ที่ตะแกรงข้างบนใกล้ที่นั่ง ส่วนน้ำ ๒ ขวดเอาไว้ที่ใต้ม้านั่ง แล้วถามเขาว่า

“ขวดนี้เมื่อฉันน้ำแล้ว จะให้อาตมาปฏิบัติยังไงหนอ”

เขาตอบว่า “กิงแล้วก็ขว้างทิ้งก็ล่าย หรือทิ้งไว้ในลก ถ้าใครอยากล่าย ก็ให้เขา ไม่ต้องเป็นกังวง”

แล้วจีนคนนั้นเขียนชื่อของตนให้เป็นอักษรไทย ซื้อนายดำไช่ จริงจิตร อยู่ถนนราชดำเนิน จ.ตรัง พอพูดกันจบคำไม่ช้าก็ตีระฆังแก๊งๆๆ รถไฟก็เปิดหวูด ให้พรเขาย่อๆ แล้วเขายกมือใส่หัว แล้วก็ลงรถไป

รถไฟก็ออกช้าๆ ผ่านสถานีแล้วก็เร็วจัด เข้านั่งห้อยเท้าภาวนาในรถไฟ จิตใจก็รู้สึกเบามาก รถไฟสายปักษ์ใต้สมัยนั้นไม่ยัดเยียดคนโดยสารเหมือนสายเชียงใหม่ อุบลฯ อุดรฯ เลย และคนโดยสารก็ไม่ใจจืด เห็นพระมาในรถองค์เดียวไม่มีญาติโยมมาด้วย ก็เลี้ยงอาหาร ไม่ดูดายเลยนา

เวลาประมาณ ๕ โมงเช้าก็ถึง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ต้องลงรถที่นั้น รออยู่ประมาณ ๓๐ นาที เพราะรถคันที่วิ่งขึ้นมาจาก จ.ตรัง จะรอสับหลีกกับรถด่วนที่วิ่งขึ้นมาจากสงขลาเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วรถคันมาจาก จ.ตรัง จะได้เลี้ยวขวาตรงลงไปทาง จ.สงขลา

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ รถไฟ รถใจ รถธรรม

ขณะก่อนจะลงรถไปที่ทุ่งสงนั้น ได้เชิญให้คนโดยสารเอาถุงอาหารที่เอาไว้บนตะแกรงนั้น ให้เขาประเคนเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ แล้ว เพราะรู้จักคราวหนทางอยู่ เพราะคราวขาลงไปภูเก็ตก็ได้ผ่านทางสายนั้นแล้ว

ขณะที่ลงพักที่ทุ่งสงรอรถสงขลานั้น ได้รีบฉันอาหาร ๔-๕ คำ เพราะสงสารสองผัวเมียที่จัดแต่งให้แต่ จ.ตรัง เหลือนั้นก็เลยเอาให้นายสถานี มีปัญหาว่ามิได้ตีตั๋วอีกดอกหรือ มิได้ตีดอก เพราะดีจาก จ.ตรัง ถึงสถานีบางกอกน้อยแล้ว ใครๆ มาในรถขบวนนั้นมิได้ตีตั๋วที่ทุ่งสงทั้งนั้น

อีกไม่นานรถไฟด่วนจากสงขลาก็เปิดหวูดโผล่มา ก็รีบขึ้นชั้น ๒ ตามเดิม เขาหยุดอยู่ประมาณ ๑๐ นาทีก็วิ่งขึ้นกรุงเทพฯ รถมาจากตรังก็วิ่งลงสงขลา ผินหลังใส่กัน

เออ รถไฟวิ่งไปตามรางเหล็กภายนอก แต่มีรูปขันธ์นามขันธ์ขับไป รถภาวนาก็วิ่งไปตามภาวนาติดต่อ ไปถึงสถานีต้นทางของโลกุตตระ ก็คือสถานีพระโสดาบัน สถานีที่ ๒ ก็คือสถานีพระสกทาคามี สถานีที่ ๓ ก็คือสถานีพระอนาคามี สถานีที่ ๔ ก็คือสถานีพระอรหันต์ แล้วไม่ตีตั๋วกลับอีก ไม่เหมือนสถานีภายนอกและรถเหล็ก รถไม้ รถดิน รถน้ำ รถไฟ รถลมภายนอก เป็นของที่ควรทบทวนพิจารณาทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้วจะเป็นเดรัจฉานกถา เพราะปรารภเรื่องบ้านเรื่องเมืองเรื่องรถเรื่องรา ฯลฯ นักปราชญ์อ่านพบย่อมหัวเราะ เป็นเหตุให้รู้จักภูมิจิตภูมิใจภูมิธรรมวาอยู่ระดับใดด้วย อันนี้ก็น่าคำนึง

การเขียน การอ่าน การพูด การทำ ลืมตน ลืมตัว ลืมใจ ลืมธรรมนี้ เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำ น้อยก็ผิดน้อย เมื่อเขียน อ่านพูด ทำมาก ก็ผิดมาก ตรงกันข้ามเมื่อไม่ลืมตัว ไม่ลืมใจ ไม่ลืมธรรมแล้ว เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำ น้อยก็ถูกน้อย เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำมากก็ถูกมาก

เมืองผิดเมืองถูกทั้งหลายย่อมเป็นเมืองขึ้นอยู่ที่เมืองใจ คือเมืองใจที่ไม่ประกอบด้วยสติปัญญา คือเมืองใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา เมืองที่ไม่ผิดไม่ถูก และไม่ติดอยู่ในเงื่อนทั้งสองแห่งความผิดถูกนั้น เป็นเมืองขึ้นพระนิพพาน แต่พระนิพพานมิได้บัญญัติว่าเป็นบ้านเมืองเลย เพราะพระนิพพานมิได้มาเป็นทาสเฝ้าเอาความผิด และเฝ้าเอาความถูก และเฝ้าเอาบ้านเอาเมืองอะไรๆ ทั้งนั้น

รสกลอยที่จืดเพราะถูกแช่น้ำ พร้อมทั้งล้างเสร็จ จืดชืดแล้ว รสคันและเฝื่อนไม่มีอิสระ (ที่) จะกลับมาเป็นทาสทาโสทาสากับกลอยที่ถูกแช่พร้อมทั้งล้างดีแล้วอีกเลย ข้อนี้ย่อมเป็นของจริงอยู่แต่ไรๆ ขาดตัว แม้ไม่เขียนอีก ไม่อ่านอีก ไม่พิจารณาอีก ก็เป็นจริงอีกอยู่อย่างนั้น ความจริงไม่หนีจากความจริงในขั้นนี้อีกละ

ความจริงไม่หนีออกจากความจริง ย่นลงสั้นที่ยุคก็มี ๒

ความจริงในโลกีย์ ๑ ความจริงในทางโลกุตตระ ๑

ในทางโลกุตตระ ขยายออกก็เป็น ๘ ตามชั้นของมรรคและผล

ความจริงไม่หนีจากความจริงทางโลกีย์ ในส่วนทางดีขยายออกเป็น ๔ ประเภท คือ มนุษย์ที่เต็มภูมิ ไม่บ้าใบ้เสียจริตผิดธรรมดา สวรรค์ เทวโลก พรหมโลก (แต่อย่าลืมว่าพระอริยเจ้าปนอยู่บ้างก็มี เว้นอนุปาทิเสสนิพพานเสีย)

ส่วนความจริงไม่หนีจากความจริงของฝ่ายโลกีย์ไปทางต่ำ คือ มนุษย์ที่บ้าใบ้เสียจริต สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรตทุกจำพวก แต่อย่าลืมว่าจำพวกเหล่านี้สร้างบารมีสูงต่ำกว่ากัน เช่น พระเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจก ช้างปาลิไลยก์จะได้เป็นพระปัจเจก เพราะได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าจะกล่าวตู่ว่าผู้เขียนเป็นบ้าอารมณ์ก็ดี แต่ผู้ที่บ้าแล้งก็ยังมีอีก ถ้าจะกล่าวเรื่องบ้าแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสน้อยมาก ถ้าจะว่าขึ้นอยู่กับจิตกับใจหน้าเดียวก็มิได้ความชัด ใจที่ไม่มีกิเลสจะว่าบ้าย่อมไม่ถูกธรรมแท้ (เว้นพระอรหันต์เสีย เพราะหายหลง หายบ้าโดยสิ้นเชิงแล้ว ปราศจากธรรมเมาธรรมมัวไปแล้ว) แต่ก็ไม่ควรกล่าวคู่ว่าพระอริยเจ้าเป็นบ้า จะเป็นบาปหนักเพราะเป็นคำหยาบโลน นับแต่พระโสดาขึ้นไป เพราะการกำหนดว่าบ้าต้องมีขอบเขต จะผิดสัมมาวาจาไปไม่รู้ตัว

เวลา ๕ โมงเช้า ขึ้นรถไฟสถานีทุ่งสง พอมาถึงสถานีบางกอกน้อยก็ ๔ โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ลงจากรถไฟ ถามตำรวจที่ท่าน้ำ ตำรวจส่งข้ามเรือไปท่าพระจันทร์ สามล้อได้จูงรถมารับ

บอกว่า “ขอบพระคุณอยู่ แต่ไม่มีมูลค่าให้ เพราะถือมูลค่าไม่ได้”

เขาตอบ “ไม่มีมูลค่าก็ตาม กระผมจะไปส่ง กระผมก็ถือศาสนาพุทธ กระผมอยู่อยุธยา ชื่อศรี บุญเรือง บิดามารดาของกระผมก็ศาสนาพุทธ แล้วจะไปพักวัดไหน”

ตอบเขาว่า “ไปพักวัดบรมนิวาส”

ขึ้นรถแล้วก็สนทนากันไปตามทาง เขาพูดว่า “ไปพักวัดดวงแขเป็นยังไง”

ตอบเขาว่า “วัดดวงแขนั้นไม่รู้จักกับท่านผู้ใด วัดบรมนิวาสนั้นรู้จักพระมาก มาพักแล้ว ๒ ครั้ง”

เขาถามว่า “จะไปทางไหน”

ตอบว่า “จะไปทางสะพานยศเส แล้วแวะซ้ายวัดสามง่ามพักกุฏิสระเต่า”

แล้วเขาสังสรรค์ต่อไปว่า “ท่านอาจารย์มาจากไหน”

ตอบว่า “ภูเก็ต พังงา ไม่ได้มารวดเดียว วิเวกพักที่นั้นที่นี่มาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว พอมาถึง จ.ตรัง โยมผู้ใจบุญส่งขึ้นรถไฟด่วน ก็มาตกรถที่สถานีบางกอกน้อย ตำรวจส่งขึ้นเรือข้ามฟากมา ก็บันดาลมาเจอคุณผู้ใจบุญอีก”

สามล้อพูดต่อไปว่า “ที่ว่าพระไม่มีเงินในกระเป๋าติดตัวนี้ ขนของกระผมชูขึ้น น่าสังเวชมากนัก กระผมเห็นแต่พระมีเงินในกระเป๋าเยอะแยะกัน”

พอถึงสะพานยศเสเจ้าตัวก็ลงเดิน เพราะสังเวชเขาเข็นรถขึ้นมอสูง เขาบอกว่า ไม่ต้องครับ สักเพียงไรก็ฝืนลง แล้วตอบเขาว่า “อาตมานึกเกรงใจมาก เมื่อคุณลึกซึ้ง อาตมาก็ต้องลึกตามบ้าง มิฉะนั้นแล้วอาตมาก็ไม่เป็นธรรม”

ขณะนั้น บังเอิญมิได้มีรถคันใดผ่านมาในที่นั้นเลย พอถึงหลังมอสูงจึงนั่งรถไปอีกสักครู่ก็แวะซ้ายไปถึงกุฏิสระเต่า เธอยกมือใส่หัว ให้พรเธอย่อๆ แล้วก็กลับไปตามวิสัยของเธอแล

ขณะนั้นพระหมู่เพื่อนแลเห็น ก็ร้องถามว่า “มาแต่ไหน สายนัก ฉันเช้าที่ไหน”

ตอบว่า “คนโดยสารรถไฟเขาเลี้ยงในรถ”

ถาม “เอาเงินที่ไหนให้เขา”

ตอบ “ตกรถท่าพระจันทร์ บอกเขาว่าไม่มีมูลค่าให้ เขาก็มาส่งฟรีตามทุกข์ๆ ยากๆ อย่างนี้แหละ”

พวกพระมหาว่า “เออ ดีละ มาแบบนี้ก็ดี”

แล้วก็กราบไหว้ถามไถ่กัน จบเรื่องแล้วจัดที่พักให้ แล้วก็จบกัน ต่างคนก็ต่างพักตามอิสระ

พักอยู่นั้นประมาณ ๖ วัน ไปบิณฑบาตทางหลังวังสระปทุมและถนนเพชรบุรี ไปองค์เดียวและตามตรอกตามซอย เวลาฉันก็ฉันพร้อมกันกับพวกมหานั้น แต่เราฉันมื้อเดียว ข้าวในบาตรก็เหลืออยู่มาก ไว้ให้เด็กนักเรียนเขา พูดกับพวกท่านมหานั้นว่า

“ผมมันเคยในบาตรแล้ว ก็ต้องเอาตามเรื่องของใคร ของมัน ผมไม่ให้ข้าวและกับเหลือในบาตรพอฟองไข่เป็ดดอก พวกคุณมหาใช้ช้อนกลางก็เป็นทางสะดวกดี เพราะมิได้เปื้อนน้ำลายกัน ผมเอาช้อนกลางตักใส่บาตรผมแล้ว ก็เป็น (อัน) แล้วกัน พวกเรามาพบกันก็ภาคอีสาน บิดามารดาของพวกเราเลี้ยงมา ก็ข้าวเหนียวนึ่งกับปลาร้านั้นแหละเป็นหลักส่วนมาก”

การปรารภกันง่าย เพราะพระกุฏิสระเต่านั้นมีแต่พระอายุพรรษาน้อยกว่าเราเว้นมหาไผทเสีย แต่มหาไผทก็คุ้นเชื่องกันแต่คราวอยู่อุดรฯ ๒๔๘๘ นั้นแล้ว เท่าที่สังเกตดูพฤติการณ์มารยาท ก็ดูว่า ไม่ขัดข้องกับเจ้าตัวในเวลาพักอยู่ เพราะมารยาทไม่พิรุธ

เรื่องพิเศษเมื่อระลึกได้ก็ควรเขียนแทรกลงอีกคือ หลวงปู่มั่นย่อมเคารพปริยัติ และพระเถรานุเถระฝ่ายปริยัติธรรมมากนัก องค์ท่านเคยปรารภให้ฟังในยุคบ้านหนองผือ สกลนคร ว่า

“องค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้านี้ พระองค์ท่านแตกฉานในธรรมในพระวินัยมากมายนักหนาแท้ๆ แม้พระองค์เจ้าอื่นๆ ก็แตกฉานเหมือนกัน ถ้าหากว่า ฝ่ายปริยัติธรรมไม่แปลออกเป็นภาษาไทยไว้ พวกเราผู้เรียนน้อย ก็ไม่รู้จักความหมายแต่ละชั้นๆ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธจะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรม ๓ อย่างนี้จะแยกกันไม่ได้เลย ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุดรธานี มีนิสัยทางเรียน เราก็ปล่อยให้เรียน แต่ก่อนลูกๆ หลานๆ เราว่าอยากจะเรียนก็มี เราได้ซื้อหนังสือให้ครบ แต่เรียนไปแล้วไม่ตั้งใจ ไม่เป็นท่า จะเอาปฏิบัติก็ไม่ได้ จะเรียนก็ไม่ได้ เลยลาสิกขาไปเสียหลายราย”

แต่ก็กรรมนิยมกรรมบันดาลของใครของมัน กรรมและผลของกรรม ย่อมเป็นเงาตามตัว ของผู้ยังท่องเที่ยวในสงสาร เว้นพระนิพพานเสีย เพราะพระนิพพานไม่ได้มาเป็นทาสกรรมและผลของกรรมเหมือนคนคุมนักโทษ พระนิพพานเป็นธรรมอันเหนือเหตุผลไปแล้ว ไม่ได้เป็นนายยาม มาคอยเฝ้าเหตุเฝ้าผล พระนิพพานไม่ได้เกี่ยวกับรูปขันธ์ นามขันธ์ เพราะรูปขันธ์ นามขันธ์เป็นฝ่ายสังขาร ผ่านพ้นสังขารไปแล้ว แม้จะบัญญัติว่าธาตุ ว่าธรรม ว่าอายตนะ ว่าอินทรีย์ก็ตาม แต่ไม่ทรงอยู่ในกองนามรูป ฉะนั้นจึงหาพระอรหันต์ในกองนามรูปที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ไม่ได้ กองนามรูปเป็นหนทางเดินเพื่อให้พิจารณาให้ถึงความเบื่อหน่ายคลายหลง

๏ กลับอีสาน

ครั้นพักอยู่วัดบรมนิวาส พระมหาวิชัยจะส่งค่ารถให้ถึงอุดรฯ แต่เจ้าตัวขอไว้ว่า ส่งถึงอยุธยาก็พอแล้ว เพราะนึกจะไปเที่ยววัดป่าท่านฉลวยบ้าง ไปรถไฟธรรมดาก็พอแล้ว ไม่จำเป็นจะไปรถด่วนเลย ท่านให้เด็กไปส่งขึ้นรถไฟสินค้าตู้ชั้น ๓ ค่ารถ ๒ บาท ๕๐ สตางค์

ไปถึงอยุธยา พักอยู่ที่อยุธยา ๓ วัน พักอยู่วัดป่าท่านฉลวยบ้าง เขาเอาไปพักกระต๊อบเล็กๆ บ้าง เขาพาไปดูพิพิธภัณฑ์ในพระบรมราชวังเก่า อันมีพระพุทธรูปทำด้วยหิน วัดผ่าศูนย์กลางตรงหน้าอกคงได้ประมาณ ๔๐ เซ็นต์ พระศอขาดราบๆ ไปเกลื่อนกลาดอยู่ ตั้งแต่สงครามโบราณ เป็นอนุสรณ์ที่น่าสังเวชมาก นึกระอาในสงสารเพิ่มขึ้นๆ

มนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ใจถึงทั้งนั้น ย่นใจถึงลงมาเป็น ๒ ทาง คือใจถึงไปทางก่อเวรก่อภัยหนึ่ง ใจถึงไปทางไม่ก่อเวรไม่ก่อภัยหนึ่ง พระอริยเจ้าใจถึงไปทางโลกุตตระ ต่ำกว่านั้นลงมาการอวดว่าใจถึงเอาเป็นประมาณไม่ได้

ผลของกรรมที่ใจถึง ย่อมตามผู้ใจถึงอยู่ทุกๆ ขั้น ให้ผลต่างๆ กันตามลำดับของตัวเหตุ ตัวกรรม ตัวพืช ตัวกิริยาที่หว่านไว้ ที่ปลูกไว้ ที่สร้างไว้ ด้วยความที่ว่าข้าใจถึงไม่ต้องปฏิเสธและไม่ต้องสงสัยเลย แม้จะมีผู้เชื่อกรรมและผลของกรรมหรือไม่ก็ตาม จะมีผู้ถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ในโลกยุคไหนๆ ก็ตาม กรรมและผลของกรรมก็นำสนองกรรมอยู่อย่างนั้น เพราะมโนกรรมเป็นต้นสาย

เหตุของกรรมทั้งหลาย ย่อมให้ผลในภพนี้บ้าง ภพหน้าบ้าง เป็นลำดับบ้าง ตามกิจที่ทำบ้าง ในชาติในภพสืบๆ บ้างตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้นน้อยและมาก ไม่ว่าทางดีและทางชั่ว ขึ้นอยู่กับเหตุ ใจที่เป็นนายหน้าสร้างขึ้นเสมอๆ ใจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม ไม่เป็นปัญหา ถ้าใจและผลของใจไม่มีแล้ว ก็ไม่มีใครจะสงวนใจที่จะปฏิบัติใจ

ผู้ปฏิเสธกรรมและผลของกรรมในภพนี้และภพหน้าและภพสืบๆ นั้น (เหมือน) คนตาบอดมาอวดดีสนเข็มกับคนตาดี ก็มีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน

ผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมลงได้สนิทก็คือผู้มีตาปัญญาไม่บอด จะแลดูข้างหน้าข้างหลังซ้ายขวาก็เห็นชัดได้ถนัดไม่มีเมฆหมอกบัง เป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบในชั้นนี้ได้ เขานับวันจะก้าวหน้าในปัญญาชั้นสูง ทุกข์ใจในขันธสันดานก็นับวันจะลดลงได้ จะไม่เป็นทาสของความหลงของเจ้าตัวอยู่นานเนิ่นช้า เป็นสติปัญญาทำลายมืดไปแบบก้าวหน้า

ครั้นพักอยู่อยุธยา ๓ วันแล้ว โยมเถ้าแก่ส่งขึ้นรถด่วน เป็นเวลา ๕ โมงเช้า ตู้ชั้น ๒ ราคาโดยสารลดลงครึ่งค่าแล้ว ๔๘ บาท ปลายกี่สตางค์ก็ลืมไป ตู้รถเกาะกันเป็นทิวแถว

พอถึงสถานีอุดรฯ ก็ประมาณ ๒ โมงเช้ากว่าๆ ได้ยืนมาแต่อยุธยาจนถึงอุดรฯ ยัดเยียดมาก เรียกว่ายืนภาวนามาก็ได้ ตาใสแจ๋ว ลงจากสถานีอุดรฯ แล้วก็เดินสะพายบาตร ลัดใส่บ้านเดื่อ เดินไกลประมาณ ๔ กิโลก็ถึงบ้านเดื่อ พวกลูกๆ หลานๆ เขามาใส่บาตรที่วัดบ้านเดื่อ พักฉันที่นั้น เป็นวัดของหลวงปู่อ่อนตา (ไม่ใช่หลวงปู่อ่อนตา วัดกรมทหาร)

ฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ลาท่านไปพักวัดป่าโนนนิเวศน์ พักอยู่คืนหนึ่ง ฉันเช้าเสร็จก็ลาหลวงปู่พรหมมี ไปพักบ้านกุดสระและบ้านขมิ้นบ้านละคืน ก็กลับพักวัดป่าโนนนิเวศน์อีก

รุ่งเช้าหลวงปู่พรหมมี ใช้ให้ไปรับนิมนต์ เขาทำบุญใกล้วัดโพธิสมภรณ์ ส่วนหลวงพ่อหลวงปู่พรหมมีไปรับนิมนต์สายถนนหมากแข้ง เขาทำบุญเรือนใกล้โรงพยาบาลเก่า เพราะวันนั้นเขานิมนต์ ๒ แห่งจุกจิก

รูปภาพ
หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

รูปภาพ
หลวงปู่อุ่น กัลยาณธัมโม วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม)


๏ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เมตตา

พอข้าพเจ้าไปถึงที่นิมนต์ตอนเช้า เข้าไปในที่ปะรำพิธี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ทอดสายตาเห็น องค์ท่านกวักมือให้ไปนั่งหัวแถวหักมุมตรงหน้าขององค์ท่าน แล้วผินหลังใส่โยม แล้วองค์ท่านถามว่า “เธอไปพักอยู่ที่ไหน”

เรียนตอบ “วัดป่าโนนนิเวศน์ครับผม”

ถาม “ได้กี่คืนแล้ว”

เรียนตอบ “ได้สองคืนแล้วครับผม”

ถาม “เธอมาจากภูเก็ต พังงาหรือ”

เรียนตอบ “ครับผม”

ถาม “ทำไมเจ้าจึงมาเสีย”

เรียนตอบ “เพราะสถานที่ไม่ค่อยจะสะดวก แผ่นดินคับแคบครับผม”

ถาม “ทำไมเธอจึงไม่มาพักกับข้าเล่า”

ตอบ “เพราะเวลายุ่ง จุกๆ จิกๆ ในการเยี่ยมญาติ”

องค์ท่านกรุณาว่า “เออ เราจะให้เด็กวัดตามไปพร้อมในเวลาเสร็จนี้ ให้เขาช่วยเอาบริขารมา มาพักกับข้าฯ” แล้วก็หยุดถาม แล้วองค์ท่านบอกว่า

“นี้ช้อน เธอจงตักเอาใส่บาตรเธอทั้งข้าวทั้งกับ เธอฉันในบาตรตามเคย ไม่ต้องเกรงใจข้า พระธุดงค์ไม่ยินดีฉันในบาตร ข้าเบื่อมาก”

ข้าพเจ้าตักเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นน้ำทั้งข้าวทั้งอาหาร ก็ขนาดกำปั้น ก็ไม่พอไม่เท่าเพราะตั้งใจว่าจะมิให้บาตรเปื้อนเลอะเทอะ จะให้เหลืออยู่เพียงคำเดียวเท่านั้น

พระเถระมีแต่หัววัดทั้งนั้นประมาณสิบกว่าองค์ ท่านเจ้าคุณหนองคายก็มา เจ้าตัวไม่เคยนั่งหักมุมอยู่หัวแถวกับเจ้าฟ้าเจ้าคุณก็ว่าขันๆ แปลกๆ ดูว่าไม่มีการสวดพาหุงและให้พร ชะรอยเราจะไปสาย ท่านทำเสร็จแล้วก็อาจเป็นได้

ญาติโยมอยู่ที่นั้นประมาณ ๗๐ คน เมื่อองค์ท่านบอกลงมือฉัน ก็ตั้งใจฉัน เสร็จแล้วองค์ท่านก็ให้เด็กตามไปพร้อม เพื่อช่วยเอาบริขารมาวัดองค์ท่าน

นึกในใจว่าพ่ออุปัชฌาย์ของเรานี้ รู้จักนิสัยของลูกๆ แล้วให้ความอบอุ่นไม่มีอุบายขู่เข็ญแต่ประการใดเลย พูดเหมือนอย่างพ่อกับลูกๆ หลานๆ อย่างกันเองแบบคุ้นเชื่องมาแล้วหลายๆ ชาติ

แต่เรามิได้ลืมตัวว่าจะคุ้นเชื่องจนเลยเถิดไม่เคารพ เพราะธรรมดาผู้ปฏิบัติ จะคุ้นเชื่องกับพระเถระเพียงใดก็ตาม หน้าที่ของการเคารพก็ต้องคงที่ จะเลียสบเลียปากเหมือนสุนัขเลียปากเจ้าของก็ไม่ได้ ธรรมอันนี้เป็นธรรมทรงตัวมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตลอดอนาคตไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนได้ ท่านผู้ใดเอาออกใช้ก็ต้องถูกทั้งนั้น เป็นธรรมอันไม่ล้าสมัยอยู่ทุกกาล

แต่นักปฏิบัติมักอยากจะลืมตัวลืมใจลืมธรรม เมื่อคุ้นเชื่องกับบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และอุปัชฌาย์อาจารย์เข้าบ้างแล้ว มักจะตีเสมอ ขาดคารวะ เห็นมีอยู่ดาษดื่นเต็มโลก ขายไม่ออก บอกไม่ได้ใช้ไม่ฟัง

หลวงปู่มหาได้เตือนข้าพเจ้าไว้เสมอๆ ในคราวหนองผือ หลวงปู่มั่น ข้าพเจ้าจำไว้ได้ไม่ยอมลืมเลยจึงได้เขียนไว้เป็นมรดกของลูกๆ หลานๆ ผู้หวังคนอนาคต มิฉะนั้นคำสอนตอนนี้อันเป็นเนื้อธรรมล้วนไม่มีกระดูกและก้างปนเจือ ก็จะอันตรธานหายไปจากโลก จะมีแต่กุลบุตรกุลธิดาสะสมความเย่อหยิ่งจองหองอวดดี

พักอยู่วัดโพธิสมภรณ์คืนหนึ่ง แล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ส่งขึ้นรถยนต์มาลงสกลนคร พักอยู่สุทธาวาส ๑ คืนก็เดินทางด้วยฝีเท้ามาพักวัดป่าบ้านโคก กับพระอาจารย์อุ่น หนึ่งคืน แล้วไปพักวัดดอยธรรมเจดีย์ประมาณ ๗ วัน เอาฟืนช่วยหลวงปู่กงมา อยู่บ้าง

ลาออกจากนั้นก็ไปพักวัดป่าบ้านนาโสก อยู่ประมาณ ๗ วัน มีเณรโส บ้านนาโสก อยากจะไปห้วยทรายด้วย จึงพูดกับเณรว่า

“ถ้าเณรอยากไปจงไปทีหลัง อย่าได้ไปพร้อมกัน เพราะจะทับถมข้า คล้ายกับข้ามายักยอกเอาเณรไปด้วย”

เณรกล่าว “อยากจะไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าห้วยทราย ได้ยินแต่กิตติศัพท์มาหลายปีแล้ว อยากเห็นอยากรู้”

วัดบ้านนาโสกสมัยนั้น มีหลวงพ่อมิ่งอยู่นั้นกับเณรสององค์ คือ เณรตา เณรโส จึงปรารภกับหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อ ผมมาพักทีนี้เป็นกรรมอันไม่ดีแล้ว เณรโสจะไปกับผม จงห้ามเณรโสช่วยกัน ผมมิได้ชวน มิได้มีนโยบายนอกในลึกตื้นอันใดกับเณรโส เพื่อแยกแยะให้เณรโสไปด้วย

ผมรู้เห็นและปฏิบัติตามคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคอยู่ว่า ไม่ควรไปเกลี้ยกล่อมเอาภิกษุสามเณรของท่านผู้อื่นไปตามตน และไปปฏิบัติตน จะเป็นอาบัติทุกกฎหลายๆ ตัว ต่อเมื่อส่งภิกษุสามเณรนั้นคืนให้อาจารย์เดิมของเขาแล้ว จึงแสดงอาบัติทุกกฎในส่วนนี้ตก ผมย่อมเคารพพระวินัยส่วนนี้อยู่นะครับ ไม่ว่าไปพักสำนักใดๆ ผมย่อมระลึกเห็นและปฏิบัติพระวินัยส่วนนี้อยู่ ไม่ทำแบบปากว่าตาขยิบเลย

ขณะผมขึ้นรถไฟ มีคนโดยสารมากก็จริง ก็เรียกว่าคนเดียว พระบรมศาสดากล่าวยืนยันแล้วว่า การเดินทางไกลคนเดียว ถ้ามีหมู่ในรถในเรือมากก็ตาม ถ้าไม่คุ้นเชื่องกับใคร พอที่จะฝากศพฝากไข้ได้ ก็เรียกว่าไปคนเดียวมาคนเดียวทั้งนั้น

ฉะนั้น วิสาสา ปรมา ญาติ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง จะเป็นเครือญาติสักปานใดก็ตาม ถ้าไม่คุ้นเคยกัน ต่างคนก็ต่างอยู่ ไม่สนิทชิดเชื้อแล้ว ความอุ่นอกอุ่นใจในระหว่างทั้งสองฝ่ายก็กลายเป็นโมฆะ ก็เท่ากับว่าไร้ญาติไร้มิตรไร้ความอุ่นใจ แต่ทางปรมัตถ์ก็ให้หวังพึ่งตนเองเสมอๆ”

เณรโสตอบว่า “ครูบาอาจารย์มิได้ล่อลวงผมไปด้วยประการใด ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์ล่อลวงผมไปด้วยแล้ว ผมก็เห็นความไม่เป็นธรรมของครูบาอาจารย์อีก ผมก็ถอนศรัทธา ไม่อยากไปอีก แม้ตัวของผมก็อายุ ๑๙ แล้ว ย่อมสนใจพิจารณาอยู่ทุกๆ ด้านบ้าง แล้วผมก็บอกตรงอยู่แล้วว่า อยากจะไปเรียนปฏิบัติอยู่กับครูบาอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง คุณพ่อมิ่งจะถือว่าข้ามกรายอิดหนาระอาใจก็ดูว่าจะไม่สมเหตุผล” หลวงพ่อมิ่งก็เลยอนุโมทนาเพราะได้พูดถึงธรรมอันมีเหตุผล

๏ ถึงห้วยทรายกราบหลวงปู่มหา

ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ฉันเสร็จเรียบร้อยก็กราบลาหลวงพ่อเตรียมเดินทาง โยมจะส่งขึ้นรถมุกฯ ก็ไม่ยอมไป เพราะกว่าจะเดินทางถึงบ้านต้องจึงจะได้ขึ้นรถสายอุบลฯ แล้วไปลงมุกดาหาร แล้วจะเดินแต่มุกดาหารถึงห้วยทรายยิ่งเป็นเรื่องใหญ่โตนัก เดินลัดไปทางบ้านดงมอน-ก้านเหลืองเสียดีกว่า

แล้วโยมก็ไปส่งสองคน ไปส่งถึงแจ้งตะวัน (แจ้งตะวันเป็นชื่อสถานที่) แล้วก็กลับ ต่อแต่นั้นก็ตั้งหน้าเดินตรงข้ามบ้านโพนแดง ข้ามบ้านดงมอน-ก้านเหลือง ข้ามห้วยบางทราย ไปพักใกล้บ้านสงเปือย ที่ทุ่งนาแห่งหนึ่ง อยู่กลางดง มีเถียงนาว่างๆ อยู่หลังหนึ่ง ก็พอดีกับค่ำ พักนอนที่นั้น และมีเถียงนาอีกหลังหนึ่งอยู่ไกลกันประมาณ ๑๐ เส้น เจ้าของเขานอนประจำอยู่ เขานอนเฝ้าของเขา ไปขอตักน้ำที่บ่อของเขามาไว้ล้างหน้า ส่วนสรงน้ำนั้นสรงแต่ห้วยบางทรายแล้ว

เขาเล่าว่า “เถียงนาหลังทีพระคุณเจ้าพักนั้น ๒-๓ วันมานี้เขาปล้นกันที่นั้น เขาถูกปล้นแล้วเขาก็ย้ายเข้าบ้านเดิมบ้านสงเปือย ส่วนพวกข้าน้อยก็จะย้ายเข้าบ้านเดิมเหมือนกัน”

พักอยู่ที่นั้นภาวนาก็สงบเงียบ คงหลับนิดเดียวก็สว่าง เป็นวันใหม่ ไปบิณฑบาตที่เถียงนานั้น ได้ข้าวคนละปั้น กับอาหารพอดีกับข้าว ความจริงแล้วข้าวก็ดี อาหารก็ดี เขาก็ตามไปส่งอีกอยู่ สงสารเขา ไม่เอาของเขาไว้มากเลย เพราะสังเกตเขามิใช่คนรวย หาเช้ากินค่ำ เอาไว้ปั้นเดียวใหญ่กว่าไข่เป็ดบ้าง ก็เป็นบุญอันมากแล้ว ให้พรเขาย่อๆ แล้วก็ฉัน เสร็จเรียบร้อยแล้วทุกประการก็ลา

เขาบอกทางแล้ว ก็ตั้งหน้าภาวนาเดิน ข้ามบ้านนาคำ บ้านตากแดดเข้าบ้านหนองเอี่ยนทุ่ง แล้วเดินทางตามทางหลวง พอถึงห้วยทรายก็มืดพอดีจุดไฟ องค์หลวงปู่มหาก็อยู่ในศาลากำลังเทศน์พระและแม่ชีอยู่

ท่านทักว่า “ท่านหล้ามาแล้ว”

ท่านประกาศว่า “นี้แหละเขียงเช็ดเท้าพระอาจารย์ใหญ่มั่นองค์หนึ่ง”

กราบนมัสการแล้วองค์ท่านก็ถามไถ่ทุกประการ ตกลงได้นอนอยู่ที่ศาลาเพราะกุฏิเต็ม ได้เรียนองค์ท่านว่า

“กระผมจับไข้มาแต่บ้านหนองเอี่ยนทุ่ง เพราะกรำแดดมาร้อนๆ แล้วฝนตกลงมา ลมจัด เปียกตัวหมด แล้วจับไข้ขึ้นทันที ทั้งเดินทั้งไข้ ผ้าเปียกจนแห้งกับตัว เดียวนี้ก็ไข้อยู่ขอรับ”

ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันใหม่ก็ขอนิสัย รู้สึกเบาใจที่ได้มาอยู่กับองค์ท่าน

๏ ได้พบกัลยาณมิตรอีก

ย้อนคืนหลังมาปรารภ คุณเพ็ง คุณสีหาที่ได้เคยอยู่ด้วยกันในยุคหนองผือ พอข้าพเจ้ามาพักวัดป่าสุทธาวาส คุณเพ็ง คุณสีหาพอได้รับทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาถึงวัดป่าสุทธาวาสจะไปหาพระอาจารย์มหาบัว ขณะนั้นคุณเพ็งคงอยู่กับหลวงปู่ฝั้น คุณสีหาคงอยู่กับพระอาจารย์วัน ก็พากันชวนกันไปหาพระอาจารย์มหาบัวเพื่อจะได้จำพรรษารวมกันหมู่เก่าอีก เพราะเคยได้อยู่ร่วมกันมาแล้วในยุคหนองผือ รู้จักนิสัยใจคอกันแล้ว จะปฏิบัติสะดวก

สมัยนั้นเป็นเวลาฤดูเดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา ๒๔๙๖ แล้ว พระอาจารย์มหาได้ปรารภลับหลังกับหมู่ว่า

“ผมไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เสนาสนะเต็มหมด องค์ท่านได้พาหมู่ทำกุฏิให้ผมอยู่ มาบัดนี้ผมจะได้ทำกุฏิให้ท่านหล้าอยู่ละ ผมเป็นเวรกับองค์หลวงปู่ในตอนนี้อีกแล้ว ใช้เวรไปเสีย”

แล้วได้รีบทำกุฏิมุงหญ้าปูฟากอีกหลังก็เสร็จไปโดยเร็ว ได้ให้อาจารย์สิงห์ทองไปอยู่ แล้วได้สับเปลี่ยนหลังอื่นให้ข้าพเจ้าไปอยู่ แต่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศเหนือนั้น กุฏิที่ปลูกใหม่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศใต้ สามเณรโสให้อยู่ข้างใกล้โรงไฟ ปีนั้นมีพระ ๑๑ รูป สามเณร ๔ องค์ คือ

๑. พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า ๒. พระอาจารย์สม ๓. พระอาจารย์สิงห์ทอง ๔. หลวงพ่อนิล ๕. ข้าพเจ้า ๖. คุณเพียร ๗. คุณสุพัฒน์ ๘. คุณเพ็ง ๙. คุณสีหา ๑๐. คุณลี ๑๑. คุณสวาส

เณร ๔ องค์ (คือ)

๑. เณรน้อย ๒. เณรน้อยอีก ๓. เณรบุญยัง ๔. เณรโส


ปฏิปทาของหลวงปู่มหาพาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือ หลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขก โยมยังไม่มาก การบวชพระบวชเณร ถ้ามีขึ้น ก็เดินด้วยฝีเท้า ไปบวชมุกดาหาร ต้องนอน (กลาง) ทางคืนหนึ่ง (วัน) ที่สองไปนอนมุกฯ เช้าฉันเสร็จก็บรรพชาและอุปสมบท เสร็จแล้วออกเดินทางด้วยฝีเท้า นอนค้างคืนกลางทางอีก บิณฑบาตเช้าเสร็จ ฉันเสร็จ เดินทางต่อจึงถึงวัดป่าบ้านห้วยทราย

กองทุกข์เดินทั้งที่เป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้ไปไหนๆ ก็มิได้เดินด้วยฝีเท้าพอ ๕, ๖, ๗, ๘ กิโลอะไรเลย แต่ด้านข้อวัตรปฏิบัติชุดเก่ากับชุดหลังนี้พร้อมทั้งจิตใจจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ของใครของมันตามธรรมชาติ จะตัดสินลำเอียงเข้าข้างตัวเลยก็ไม่ได้

และประวัติยุคห้วยทรายก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหา ตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทราย ในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละ ๒ ปี๊บ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ ๑๐๐-๒๐๐ เท่านั้น บิณฑบาตก็มีแต่หมกห่อตกลงในบาตรเป็นส่วนมาก ฉันในบาตรทั้งหวานทั้งคาวพร้อม ไม่ได้ขโมยน้ำแกงใสโจกแก้วเลย เว้นแต่น้ำมะพร้าวเป็นบางคราวเท่านั้น นม โกโก้ กาแฟมาห่างๆ บุหรี่ขาวมาห่างๆ

ปรารภมาทำไม จะเอาไปพระนิพพานด้วยหรือ

ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึง จะได้ไม่ลืมตัว ในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟากและมุงหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นงวง ฝาแถบตอง ผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา

ด้านทำความเพียร มีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่ หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้มหลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลมที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย เพราะวัตถุอะไรก็บริบูรณ์หมดแล้ว ล้างมือเปิบเอาเท่านั้น เพียงลงทุนรับแขกไปมาเท่านั้น ถ้าหากว่าแขกไม่มาหาครูบาอาจารย์ชุดเก่าแล้ว จะให้แขกไปหาผีที่ไหนอีกก็ไม่ได้

น้ำห้วยหนองคลองบึงบาง ไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ก็มีทั้งน้ำใสและน้ำขุ่น ทั้งสกปรกและสะอาด ตลอดถึงหมู่สัตว์น้ำนานาอเนก ตลอดเพชรพลอยที่อยู่ในท้องมหาสมุทร ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ เป็นต้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้มีวิชาปัญญาจะเลือกเอาได้ใช้ประโยชน์ จะไปเพ่งโทษทะเลและมหาสมุทรก็ไม่ได้อีกละ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


๏ กรรมจุดป่าดักนก

ในสมัยนั้นบันดาลวันหนึ่ง ตกกลางฤดูเดือน ๔ ลมพัดตึงๆ ใกล้จะหมดฤดูหนาว ข้าพเจ้าไปบิณฑบาต กุฏิเป็นกุฏิฟาง มุงหญ้ากั้นฟาก ปูฟาก จุดตะเกียงเล็กๆ ไว้ เป็นตะเกียงโป๊ะเล็กๆ ลมมันก็พัดเข้ามาที่ตรงตะเกียงนั่นเอง

ข้าพเจ้าไปบิณฑบาตกับหมู่เพื่อนกลับคืนมา เอาผ้าไปตากไว้ข้างกุฏิ แล้วก็ห่มผ้ามาฉันจังหัน ลมมันจัด ชะรอยตะเกียงมันจะล้ม เราลืมดับมัน แล้วมันไหม้กุฏิลุกขึ้นพรึบเดียวอย่างรวดเร็ว ผ้าที่ตากอยู่นั้นไหม้หมด มุ้งก็ไหม้หมดกลดก็ไหม้หมด ใบสุทธิก็ไหม้หมด มีดโกน มีดพับไหม้เสร็จเรียบ ไปเอาก็ไม่ทันไม่มีเวลาที่จะทันลุกขึ้นรวดเร็วทีเดียว

หลวงปู่มหาหัวเราะแล้วท่านพูดว่า “บุพกรรมของคนเรานี้ผิดกันแท้ๆ เหลือแต่ผ้าติดตัว นอกนั้นไหม้หมด”

เจ้าของนึกขึ้นได้เลย เลยไม่พูดให้ท่านฟัง นึกเห็นตัวเองไปจุดป่าดักตังบาน (เครื่องมือจับนกชนิดหนึ่ง) ในสมัยนั้นอายุ ๑๕ ปี ไปจุดป่ากลางโคกกลางโรง ไปดักตังบาน (ใน) วันไหน (ที่) ไม่ได้เข้าโรงเรียน เมื่อก่อนเขาหยุดเรียนตามวันพระ เพราะไปเข้าโรงเรียนในโรงธรรมที่เรียกว่าหัวแจก โรงธรรมนั้นน่ะ เรียกตามภาษาบ้านนอก โรงเรียนจึงหยุดวันพระ ไม่ได้หยุดตามวันเสาร์อาทิตย์ แล้วก็ไปจุดป่า ถ้าวันไหนไม่ไปวิดน้ำเอาปลา ก็ไปจุดป่าดักนกตามโคกตามโรง พอจุดป่าแล้วนกขาบมันร้องแจ๊วๆ แล้วก็บินมา จุดเวียนที่ดักตังบานไว้ (คาดเอาว่า) มันคงจะมาจับไม้ต้นนี้กระมัง ก็ต้องไปดักไว้ตรงนั้น

บางศีล (บางวันพระ) ก็ได้ ๔ ตัว ๕ ตัว บางศีลก็มามือเปล่า บางศีลก็ไฟไหม้ถูกตังบาน ไฟมันไหม้ไปตามโคกตามนาทั่วที่ทั่วแดน ใหม่ตามโคกตามโรง เพราะเมื่อก่อนมันห่างๆ ทางวันสองวันถึงจะมีโรงนาสักหลังหนึ่ง ดีไม่ดี ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะโคกมันกว้าง ทุกวันนี้ไปจุดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ถ้าหากไปจุดอย่างนั้น ก็คงมีหวังได้เข้าตะรางเพราะทุกวันนี้ที่ไหนๆ ก็มีแต่บ้านแต่เรือน มีแต่ไร่นาเขาหมด

ข้าพเจ้ามาคิดเห็นบุพกรรม วันที่จุดป่านั้นมันตามมากับชาติ

อยู่มาอยู่มา คุณแม่แก้ว (แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ) ท่านเห็นไฟไหม้ ท่านก็หาอุบายเอาบริขารมาบังสุกุล ชวนญาติพี่น้องของท่านมาบังสุกุล หลวงปู่มหาก็เห็นว่า มันได้วาระของข้าพเจ้าบริขารนั้นขาด คุณแม่แก้วคงจะหาอุบายถ่ายให้ จึงได้มาบังสุกุลให้เรา ผ้าไม้หนึ่ง ตลอดถึงมีดโกนพร้อม ส่วนใบสุทธินั้นได้ไปเปลี่ยนใหม่ ได้ไปเอากับเจ้าคุณมุกดาหารโมลี หลวงปู่มหาเซ็นรับรองให้ ท่านก็เลยมาตัดจีวรและสบงให้

หมู่ทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์ก็เกิดสลดสังเวชก็มี หลวงปู่มหาหัวเราะแล้วท่านว่า “บุพกรรมของคนเรานั้นต่างกัน ของใครของมัน ถึงคราวมาถึงแล้วต้องสู้เอา”

ท่านก็พูดเป็นธรรมอยู่เท่าที่สังเกตดูมันเป็นบุพกรรมของเจ้าของเคยได้จุดป่ามา มันเห็นกับชาติมันตามนำมา การจุดป่านี้ถึงแม้จะไม่ให้ไหม้เถียงไร่เถียงนาใครก็ตาม มดตัวแดงแมลงตัวน้อยมันก็ตายกันเป็นทิวแถวไป

พอถึง พ.ศ.๒๔๙๘ ออกพรรษาแล้ว จีวรกาลเสร็จ องค์ท่านจะได้ไปเอามารดาบวชขาว องค์ท่านก็คิดละหวนทวนไปมาว่าถ้าบวชแล้วจะเอาโยมมารดามาอยู่ห้วยทราย คุณชีแก่ๆ อายุมากตลอดทั้งหนุ่มก็มีอยู่มากแล้ว เกรงจะมาทับถมให้ภาระหนักขึ้นแก่ผู้ที่ท่านบวชก่อน เพราะเป็นโยมมารดาของผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องจะได้ให้เกียรติให้คุณเป็นพิเศษ เกรงจะหนักใจแก่ท่านผู้มีอายุมาก และพร้อมทั้งบวชก่อน

จึงตกลงใจว่าบวชโยมมารดาแล้ว จำจะหาที่อยู่ใหม่ องค์ท่านจึงปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า

“ผมจะได้ไปบวชโยมมารดา ส่วนจะกลับนั้นบอกไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนที่จะไปกับผมนั้น จะไปหมดก็ไม่ถูก เวลาอยู่ เราก็แย่งกันอยู่ เวลาไปเราก็แย่งกัน มันเป็นเรื่องไม่งามแก่ฝ่ายปฏิบัติ จะเสียวงศ์ตระกูลฝ่ายปฏิบัติ ฉะนั้น ขอให้คุณสม โกกนุทฺโท จงพาหมู่อยู่นี้บ้าง ในพรรษาต่อไปนี้ ทีนี้ส่วนผู้ที่จะไปกับผมคนนั้นคนนี้ผมก็ไม่ว่า ส่วนจะอยู่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปกับผมมากก็ลำบากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ใดแน่”

จึงเป็นของน่าควรคิดมากแท้ๆ ในเรื่องนี้


๏ วิเวกภูเก้า

ฝ่ายข้าพเจ้านึกในใจทวนไปมารอบๆ ด้านสารพัดว่า การไปคราวเดียวกันหลายๆ องค์ ยังไม่ได้ที่พักที่อยู่นี้ (เราเคย) ได้ถูกมาแล้วในคราวไปภูเก็ต พังงา เดี๋ยวนี้ (ก็) ตกอยู่ในระหว่างไม่สะดวกอีกละ อยู่ก็ไม่สะดวก ไปก็ไม่สะดวก และอายุของเราก็เข้าเกณฑ์ ๔๐ แล้ว เราจำพรรษาอยู่นี่อีกปีหนึ่งเป็นหมู่ท่านอาจารย์สมเสียก่อน เราจึงยกธงตั้งใจไปองค์เดียวที่ภูเก้า

ตกลงใจได้แล้วก็อยู่ต่อ แต่ไม่พูดให้ท่านผู้ใดฟัง แล้วองค์ท่านพระอาจารย์มหาก็เตรียมตัวไปพักอยู่มุกฯ หมู่ก็ทยอยไปอีก ยังเหลืออยู่ ๖ องค์เท่านั้น แล้วองค์พระอาจารย์มหาก็ไปบวชโยมมารดาที่อุดรฯ แล้วลงไปจันทบุรี ไปตั้งวัดอยู่ใกล้สามแยกสีพลิ้ว คณะญาติอาจารย์เจี๊ยะถวายที่ดิน ออกพรรษาแล้ว โยมมารดาขององค์ท่านชวนกลับ แล้วตั้งวัดอยู่บ้านตาดปัจจุบัน

ส่วนข้าพเจ้า จำพรรษาอยู่กับครูบาสม วัดป่าบ้านห้วยทราย อีกพรรษาหนึ่งจึงรวมเป็นอยู่นั้น ๔ ปี มีพระ ๖ รูป เสร็จกฐินแล้ว เสร็จจีวรกาล เดือนพฤศจิกายน ข้างแรม ก็ลาครูบาสมและญาติโยมไปพักภูเก้า มูลค่าบาทเดียวก็มิให้โยมส่ง เอาไม้ขีดไฟไป ๕ กลักเท่านั้น บริขารก็ตัดออกเอาแต่พอดี

ทันได้อยู่ในภูเก้าองค์เดียว ๕ เดือน ก็มีโยมพ่อตาลไปบวชเป็นปะขาวด้วย ใกล้จะเข้าพรรษาก็มีโยมเข้าไปบวชเป็นปะขาวอีก เมื่อมีปะขาวมาแล้วก็ได้ตั้งกฎไว้ว่า

“อย่าไปหุงต้มอาหารใดๆ เลย บิณฑบาตมาเลี้ยงกันตามบุญตามกรรม ธรรมชาติเห็ดก็ดี หน่อไม้ก็ดี ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะเราออกจากครูบาอาจารย์มาใหม่ๆ ชาวโลกที่อยู่ใกล้ก็จะมองไปในแง่ร้ายว่า ออกมาจากครูบาอาจารย์มาไม่กี่วัน ก็มาแอบกินกับตาปะขาว หุงต้มหน่อไม้และแกงเห็ดแกงหาวกินตะพึดปีนเกลียวมาก ส่วนบาตรนั้นอาตมาจะล้างเองตากเอง พวกปะขาวเฒ่าสองคน ให้พากันปัดกวาดศาลาและล้างถาดตอนฉันเสร็จ ส่วนตราดนั้นกวาดช่วยกันทุกๆ คนลงไปจนถึงบ่อน้ำทุกวัน ส่วนรับบาตรนั้นให้เปลี่ยนกันไปรับ วันหนึ่งคนหนึ่ง ผลัดกัน อาตมามิได้มอบบาตรให้หมด คือให้สานตะกร้าทำเป็นสายสะพายหรือคอนเอา ข้าวและอาหารในบาตรจะแบ่งออกให้สองส่วน เหลือไว้ในบาตรส่วนหนึ่ง อาตมาก็จะสะพายเอง แบ่งเบากันจึงจะไม่หนักมาก ส่วนเวลาฉันเราจึงตรวจดูกันอีกว่าใครได้อะไร ไม่ได้อะไร เท่าที่ได้มาแต่ละวันอันบริสุทธิ์ตกในบาตรแล้ว ส่วนผมนั้นต้องโกนหมด ทุกคนนุ่งขาว ส่วนเงินที่ได้มาทีละ ๕ บาท ๖ บาทนั้นให้ชาวบ้านเก็บไว้คือ พ่อบี้ พ่อแหลม ไม่ให้มีอยู่ในตัวสักตังค์เลย ให้ตั้งใจภาวนา”

ข้าพเจ้ายังไม่ทิ้งตักน้ำเลยยังคอนอยู่โชกโชน เสือๆ แสๆ กวาดตราดอยู่ใกล้ๆ มันก็ร้องอยู่สบาย ใกล้ๆ ได้ยินเสียงกวาดอยู่ มันไม่กลัว ลิงมีตั้งฝูงละ ๑๐๐ ตัวมันไม่กลัวเลย งูใหญ่ได้ยินแต่เขาว่ามันอยู่รูขี้หินลึกตามแหง (รอยแตก) เข้าไปในภู แต่งูเล็กขนาดแขนหรือเล็กกว่านั้นมีมากในฤดูฝน มันออกตกตูมมาจากหน้าผาบ่อยๆ เขาว่ามีเปรตมีผีแต่ไม่ปรากฏ ไม่เหมือนถ้ำพระเวส นาแก

ขณะที่อยู่ภูเก้านี้ได้เป็นไข้ป่วยอยู่ ๕, ๖ วัน ขณะที่อยู่องค์เดียวยังไม่มีตาปะขาว ไปบิณฑบาตไม่ได้ ๓, ๔ วัน อาเจียน นายจูเที่ยวไปส่งอาหาร แต่ไม่ให้นอนเฝ้า โยมพ่อแหลม แม่แหลมมีศีล ๕ เป็นประจำ พ่อบี้แม่บี้ก็มีศีล ๕ เป็นบางวาระ บ้านโคกกลางทุกๆ ท่านก็พอเป็นไป บ้านเหล่า บ้านหลุบปิ้ง บ้านแวง

สายของแม่ตาลพ่อตาล ย่าเคี้ยว แม่มุ้ย ย่าเคี้ยวเป็นนายหน้าในวงศ์นี้ พ่อทองเขียน แม่ออกสร้อย พ่อออกอาจารย์พันเป็นต้น เป็นกลุ่มบ้านเหล่า

พ่อออกขุนอินทร์ แม่ออกแพง เป็นกลุ่มบ้านหลุบปิ้ง

โยมบ้านโคกกลาง แม่ไชย ครูอุ่น ผู้ใหญ่ทอง นายกระษิณ นายศรี น.ธ.เอก แม่สุ่ย ต่างก็ได้ให้บิณฑบาตและอะไรๆ ตามสามารถแต่ละท่านๆ และก็พ่อออกแพง แม่ออกแพง และนางแพงเล่าก็เป็นวงศ์สำคัญอีกวงศ์หนึ่งในโคกกลาง

แต่ขออภัยที่ไม่ได้ลงชื่อหมด คือเอาแบบรวบรัด ว่าจะออกซื่อหรือไม่ออกชื่อก็ตาม เมื่อทำดีแล้วผลของการทำดีย่อมไม่ได้ต้อนเข้าคอกยากเหมือนโคและกระบือ ผลของความดีความชั่วย่อมเข้ามาเองสู่คอกใจไม่ยาก

การพักปฏิบัติธรรมอยู่ภูเขาลูกนี้ก็อัตคัดทางน้ำบ้าง ชะรอยจะเป็นด้วยมิได้สร้างบารมีที่เกี่ยวกับน้ำๆ มาแต่ภพก่อนๆ ก็อาจเป็นได้ และคงเป็นผลของกรรมในปัจจุบันชาติ เมื่ออยู่ฆราวาสได้ไขน้ำและวิดน้ำออกจากห้วยหนองคลองบึงต่างๆ เพื่อเก็บเอาตัวปลามาบูชาพญาลิ้นพญาท้องพญาไส้ก็อาจเป็นได้ หรือด้วยทางขุดน้ำบ่อ ก่อศาลาไม่ค่อยเอาใจใส่ ถือว่าเป็นงานไม่สำคัญ ก็เลยได้รับอานิสงส์จำเป็นไม่สะดวกทางน้ำๆ และเสนาสนะเสีย แต่ก็สมน้ำหน้าที่ตนสร้างไว้ไม่ดี จึงเป็นผู้มีลาภน้อย โดยประการทั้งปวง

มิได้เอาลาภไปพระนิพพานก็จริง แต่ปัจจัย ๔ เป็นลาภทางอนุศาสน์ของพระวินัย เพื่อเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้สะดวกให้เจริญได้ ถึงแม้จะสอนมิให้ติดอยู่ในปัจจัย ๔ ก็จริง แต่ก็ต้องได้อาศัยที่มีมาโดยเป็นธรรมอยู่ มีน้อยก็ได้อาศัยน้อย มีมากก็ได้อาศัยมาก จะประมาทก็ไม่ได้อีก

เมื่อเห็นท่านผู้มีลาภมาก (และ) ได้มาโดยเป็นธรรม ก็มีความริษยาเสีย เห็นท่านผู้มีลาภน้อย แต่ได้มาโดยเป็นธรรม ก็ดูถูกว่าเป็นผู้มีลาภน้อยกว่าตน เมื่อผ่านพบเข้าก็ถือตัวขี้โอ่ ไม่อยากพูดอยากถามด้วย เป็นเรื่องที่ไม่รู้จักลาภทั้งนั้น เพราะหลงลาภหลงยศและไม่เป็นผู้รู้ธรรมด้วย เป็นผู้ไม่ถึงธรรมด้วย เป็นผู้ไกลพระนิพพานด้วย มักจะเห็นอยู่เป็นส่วนมาก

พักอยู่ภูนี้ก็ได้ปฏิบัติมีเวลาพอควร ฉันเช้าเสร็จเก็บบริขารเรียบร้อยก็ได้เดินจงกรมจนถึงเที่ยงวัน ภาวนาติดต่อไม่ค่อยขาดวรรคตอน แม้กวาดลานวัดก็ภาวนาพร้อมกับความเคลื่อนไหวของกายที่กำลังกวาด ที่เงื้อมือกวาดไปกวาดมา ก้าวขาไปมาก็ภาวนาพร้อม

เวลาลงไปตักน้ำบ่อหิน ไกลจากที่พักประมาณ ๑๕ เส้น ได้เอาครุหรือปี๊บไปวางไว้พร้อมทั้งไม้คอนน้ำ (ห่างไป) ประมาณ ๑๕ วา แล้วจึงคืนมากวาดไปจนถึงที่วางปี๊บไว้กับไม้คอนน้ำ แล้ววางตราดไว้ที่นั่น แล้วเอาปี๊บกับไม้คอนน้ำไปวางไว้ที่ข้างหน้าเป็นระยะๆ จนถึงบ่อหิน สรงน้ำ แล้วตักน้ำ แล้วคอนน้ำ เอาตราดคือไม้กวาดขึ้นข้างบนบ่า รวมกันกับไม้คอนน้ำ ค่อยปีนขึ้นตามทางที่กวาดแล้ว มาหาที่พักประจำเวลาบ่าย ๓ โมงทุกวัน ส่วนบริเวณที่พักก็กวาดทุกวันเหมือนกัน

สมัยทุกวันนี้ถือกันว่าวาสนามากกว่าคนยุคเก่า น้ำจะเปิดก๊อกที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น กลางป่าก็สนุกนอน ลุกขึ้นแล้วก็ขบขามป้อมสมอกร๊อบๆ ตลอดถึงเครื่องดื่มอะไรๆ ก็ไม่อด ทันสมัยมาก โทรทัศน์ พัดลม รถแลนด์ รถเบ๊นซ์ โตโยต้า ดัทสัน ทันสมัยทุกประการ อากาศของข้าดีมาก อากาศก็เลยเถิดกลายเป็นเฝ้าอากาศทวารหนักทวารเบาเขาเป็นส่วนมาก ผู้เขียนเขียนไว้เตือนตนต่างหาก ท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังอย่าโกรธเน้อ ถ้าจะเอาโกรธไปพระนิพพานด้วยก็จงหาบเอาแบกเอาไปให้พอใจ เพราะไม่ได้ซื้อไม่ได้ขอกับใครๆ เป็นของทิพย์แบบสดๆ ร้อนๆ ถ้าผู้เขียนกิเลสมากผู้อ่านผู้ฟังก็จงหัวเราะเยาะเอาเทอญ ถ้าถูกก็มอบไว้กับมรรคและนิโรธเสีย ถ้าผิดก็มอบไว้กับสมุทัยและทุกข์ ไม่เป็นหน้าที่ของผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังผู้พิจารณาจะไปเป็นสงครามความเห็นความรู้กับปัญหาเสียสมอง เป็นปัญหาเสียสติเสียปัญญาเสียใจเสียธรรมแต่ละรายของเจ้าตัวเอง

๏ ลัทธิพิสดาร

สมัยข้าพเจ้าอยู่ภูเก้าเบื้องต้น ข้าพเจ้าอยู่องค์เดียว ๕ เดือน ได้มีโยมคนหนึ่งขึ้นไปหาข้าพเจ้า อายุประมาณ ๓๐ ปี เป็นคนรูปร่างขนาดกลาง ในสมัยนั้นเขามาหาถ่ายรูป เขาเลยขึ้นไปหาข้าพเจ้า เมื่อขึ้นไปหาแล้วจึงชักชวนข้าพเจ้าว่า

“ญาครู ญาครู จะพูดอันหนึ่งให้ฟังจะเอาด้วยไหม”

ข้าพเจ้าก็เลยบอกว่า “เออ เอาไม่เอาก็ขอให้จงพูดไปเสียก่อน อย่าเพิ่งเร่งรีบมาข่มเหงนัก ให้อาตมาฟังเสียก่อน”

เขาจึงพูดไปว่า “เอา ตั้งใจฟังให้ดี จะพูดให้ฟัง ศาสนาไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มี ทำการทำงานได้แล้วให้ทำขึ้นสู่รัฐบาล ไม่ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ให้แต่พอเพียงได้กินได้อยู่ ทำงานให้รัฐบาลหมด ให้คนเสมอกัน ญาครูจะยินดีด้วยไหม”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “ยินดีไม่ยินดีก็ขอให้จงพูดไปก่อน อาตมาจะฟัง อย่าเพิ่งเร่งเพิ่งรัดมากนัก”

เขาจึงพูดต่อไปว่า “ไม่ให้มีผู้ใหญ่ ไม่ให้มีผู้ต่ำ ไม่ให้มีผู้สูง ให้เสมอกันหมด เงินเดือนให้เท่ากัน มีความสุขเสมอกันหมด มีลูกออกมาให้รัฐบาลเอาไปเลี้ยงไม่ต้องลำบาก ของถ้าหากได้มา ก็ให้เอาขึ้นรัฐบาลหมด ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของ ให้แต่พอกินพอใช้ ให้คนเสมอกัน ไม่ให้มีชั้นวรรณะ ให้เป็นนายเหมือนกันหมด ถ้าหากเป็นลูกน้องก็ให้เป็นถูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่าลูกน้องก็ให้เรียกว่าลูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่านาย ก็เรียกว่านายเหมือนกันหมด ไม่ให้มีผู้ใดเป็นใหญ่ให้เสมอกันหมด ศาสนาไม่มี ญาครูเห็นดีด้วยไหม คุณพ่อคุณแม่ไม่มี ท่านเลี้ยงมาเป็นเรื่องของท่าน ท่านเป็นผู้ทำออกมาท่านก็ต้องเลี้ยง บาปไม่มี บุญไม่มี บุญก็คือกินได้นอนหลับนั่นเอง จะเอาด้วยไหม”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ หมดแล้วหรือยัง ถ้าหากหมดแล้วอาตมาจะตอบ ถ้าหากว่ายังไม่หมดให้พูดต่อไป”

เขาบอกว่า “ขอพูดแค่นี้เสียก่อน ขอให้ญาครูตอบมา”

ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “อาตมาจะถามบ้างหละ จะทำให้คนเสมอกันได้อย่างไร คนขาหักจะทำให้เป็นคนขาดีได้ไหม คนโง่ทำให้เป็นคนฉลาดได้ไหม คนมีกำลังน้อยทำให้มีกำลังมากได้ไหม”

เขาตอบยอมรับความเป็นจริงว่า “ทำไม่ได้”

ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า “พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิ จะไปพูดว่าเสี่ยว ว่าสหายได้หรือ จะไม่ให้มีคุณมีค่าได้อย่างไร หน้าที่ท่านเลี้ยงมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะเลี้ยงท่านตอบ ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงตอบท่าน ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน เราต้องประพฤติอย่างนั้น

เหมือนมีคนๆ หนึ่งมายกมือไหว้เราว่า สบายดีหรือ เราก็ยังได้ยกมือไหว้ตอบว่า สบายดี เรื่องของท่านเลี้ยงเรา เราก็ควรเลี้ยงท่านตอบ จะไปพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้ อาตมาก็ไม่เลื่อมใสด้วย ถ้าพูดอย่างนั้น ทำคนให้เสมอกันจะทำอย่างไร มันไม่เสมอกันดอก

เอ้า อาตมาจะพูดให้ฟัง อย่างโยมนี้เก่งทางช่างไม้ เก่งทางช่างเหล็ก อาตมาเป็นแต่เพียงทุบหิน เขาก็ไล่อาตมานี้แหละไปทุบหิน โยมเป็นช่างไม้ก็ต้องไปอยู่ร่มอยู่เงา การกินการอยู่การหลับนอนก็ต่างกัน หรืออย่างต่ำโยมก็คงเป็นผู้คุมอาตมา อาตมาเป็นผู้ทุบหิน ผู้คุมนั้นก็คงจะได้อยู่ในร่ม อาตมาก็ต้องได้ทุบหินตากแดดอยู่กลางแจ้ง มันจะเสมอกันได้อย่างไร

คนเรา พ่อก็ต้องเป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็ต้องเป็นแม่เต็มภูมิ แผ่นดินก็ยังมีต่ำมีสูง จะให้เสมอกันได้อย่างไร เงิน ๕ บาทกับเงิน ๑๐ บาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน เงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละบาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน”

เขาเลยตอบว่า “เงินใบละ ๑๐๐ บาทราคาสูงกว่า”

ข้าพเจ้าก็เลยพูดต่อไปว่า “มันก็มีชั้นวรรณะอยู่ในตัวมัน ใครไปทำให้มัน ก็คุณสมบัติของมันมีของมันเอง ดินไม่มีปุ๋ยกับดินมีปุ๋ยมันก็ยังมีคุณสมบัติต่างกัน ไม้ยูงกับไม้ไผ่อันไหนมันดี น้ำหนักเท่ากัน ไม้ยูงก็ราคาสูงกว่า ก็คุณสมบัติมันต่างกัน มันก็สูงขึ้นตามคุณสมบัติของมัน พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิจะไปเตะตูดว่าสหายหมดก็ไม่ได้ ตัวเองโง่ แล้วจะมาสอนให้คนอื่นโง่ด้วย โยมเป็นบ้าแล้วยังจะมาสอนให้อาตมาเป็นบ้าด้วย อาตมาไม่ไปด้วยนะ ถ้าหากว่าไม่มีชั้นวรรณะ ทำไม่ไม่ให้สตาลินมาทุบหินบ้าง ให้ทหารไปเฝ้าอยู่ทำไมร้อยชั้นพันหลืบ”

เขาเลยพูดขึ้นว่า “โอ๊ย ถ้าพูดไปแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปญาครูนี่น่าโมโหแท้ๆ”

ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “มันถูกตามคำอาตมานะ ขอให้พิจารณาดูอย่าเพิ่งโกรธ เพราะมันมีที่แซง อาตมาก็เลยแซง จะโกหกได้ก็โกหกได้เฉพาะคนโง่ๆ เท่านั้น”

เขาก็เลยพูดว่า “ถ้าพูดแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปตะพืดตะพือ หนีดอกญาครูนี่ อย่างนั้นจะไปเดี๋ยวนี้แหะ”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ ไปก็ไปเสียซิ”

แล้วเขาก็เลยไป ส่อแสดงให้เห็นว่าเขานั้นไปเที่ยวประกาศให้คนโง่เลื่อมใสเท่านั้น ผู้ถึงศีลถึงธรรมจะเลื่อมใสได้อย่างไร

๏ พรรษา ๑๔ ก่อตั้งภูจ้อก้อ

ครั้นพักอยู่ภูเก้าออกพรรษาแล้วก็ได้ไปมุกดาหาร ไปบวชโยมพ่อตาลผู้เป็นตาปะขาว แท้จริงท่านก็ไม่มุ่งจะบวชเป็นพระ แต่เห็นว่า คนพอหน้า ผ้าพอผืน และยังไม่เคยบวชเป็นพระสักที ก็เลยอบรมให้บวช จะอยู่ได้เท่าใดก็แล้วแต่กรณี (ส่วนตาปะขาวเทนั้นลาสึกจากตาปะขาวไปอยู่บ้าน)

ส่วนพ่อตาลเมื่อบวชแล้ว อุปสมบทแล้ว พักอยู่ภูเก้าอีกไม่กี่วันโยมแม่ตาลและคณะวงศ์ตระกูลนิมนต์มาพักภูจ้อก้อทั้งหมด จะได้ ๓ วัน ๗ วันก็แล้วแต่

มาทีแรกพักถ้ำประมาณ ๔-๕ คืน ญาติโยมบ้านแวงจึงปรึกษากันว่า “ถ้าจะให้ท่านอยู่ถ้ำก็คับแคบ ญาติโยมมาก็อัดแอ”

แล้วเขาลำเลียงไปทำกระหนำหลังถ้ำ ปูฟากมุงฟางกั้นฟาง กว้างประมาณ ๒ เมตรปริมณฑลเสาไม้กลมเท่าแข้ง ระเบียงไม่มี พาดบันไดขึ้นห้องนอนเลย เป็นป่ารกชัฏ มีต้นเปือยโตๆ สูงๆ เฒ่าๆ เป็นระยะๆ ครึ้ม ต้นเปือยนั้นเป็นโพรงตลอดปลาย ฤดูฝนต้องมีงูขึ้นกุฏิประจำวัน มาหากินจิ้งเหลนที่มาซ่อนตัวอยู่ตามฟางที่กั้นและฟากปูขลุกขลักไม่สนิท บางทีขดอยู่ใต้ตีนบาตร แต่เป็นงูกะปะโดยมาก งูมีทุกชนิดจนไม่รู้จักชื่อก็มี เพราะเป็นภูเขาดง ตามหน้าหินหน้าผาก็มีรูมีเงื้อมขลุกขลักมาก เสือเหลือง เสือคำก็มี อีเห็น ชะมด ตะกวด เสือโคร่งมีปีทีแรกแล้วหายไป

น้ำใช้น้ำฉันอัตคัดมาก ได้หามได้คอนปีนขึ้นเขาไกลประมาณ ๒๐ เส้น ปีที่ ๒ น้ำใกล้เข้ามาบ้างประมาณ ๑๕ เส้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่คุ้มได้ไปตักห้วยค้ออันไกล ๒๐ เส้นอยู่ ฤดูฝนเดือน ๙ เดือน ๑๐ พอทำเนาบ้าง เพราะได้ตักเอาน้ำไหลใต้หินหน้าผา ลูกๆ หลานๆ เขาก็ตักช่วยด้วย แต่ผู้หนักกว่าเพื่อนก็นางวารินทร์ นางสมัย นางสัยและลูกๆ หลานๆ อื่นๆ สารพัด พระเณรจะปล่อยให้เขาหมดก็ไม่ได้อีก ต้องตักเป็นหลักไว้ประจำวัน แบ่งเบากัน

ข้าพเจ้าไปบิณฑบาต คอนปี๊บไปพร้อม คอนได้น้ำเต็มปี๊บ ทำไม้คอนให้หนักข้างหน้า ให้สามเณรอินทร์ถวายรับบาตรแล้วก็คอนน้ำมาพร้อมมิให้เสียเที่ยว

๓ วันกวาดหนทางบิณฑบาตจนถึงห้วยค้อคราวหนึ่งเพราะงูกะปะมาก มิฉะนั้นต้องเหยียบเวลาไปบิณฑบาต

ถ้าวันไหนถูกกวาดหนทาง ต้องเอาปี๊บไปวางเป็นตอนๆ กวาดไปถึงปี๊บกับไม้คอนแล้ววางตราดไว้ เอาปี๊บกับไม้คอนไปวางไว้อีก กลับมาเอาคราตกวาดต่อไปถึงปี๊บและไม้คอนอีก เป็นระยะๆ จนถึงที่ตักน้ำ สรงแล้ว ตักเอาน้ำคอนขึ้นเขา เอาตราดทับข้างบนไม้คอน

บ่อที่ขุดนั้น

บ่อหนึ่ง ริมห้วยค้อ กอไผ่แม่ไลย

๒. ริมห้วยค้อ ข้างสวนพ่อปลี แม่ธนูศิลป์และแม่ขัดสาเป็นผู้ขุด

๓. บ่อสารวัตรสำเนียง ไกลกว่าบ่อห้วยค้อ

๔. บ่อใกล้นาพ่อสงวนอีก แต่ไม่คุ้มปี

๕. ทำนบสะพานห้วยชันของพ่อนางสงวน เขาให้สรงและล้างบาตร แต่พอถึงเดือนมกราคมก็แห้งเสีย

๖. ขุดบ่อใต้ทำนบของพ่อนางสงวน ก็ไม่คุ้มปีอีก

๗. ขุดบ่อนานายเนิด ก็ไม่คุ้มปี

๘. ขุดและเจาะหินใกล้ศาลาฉันอาหาร พอได้ล้างบาตร แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ก็แห้งเสีย ได้วันละปี๊บ ก็ทั้งขุ่นเป็นตม ไม่พ้นหาบคอนมาจากห้วยค้อ ในฤดูเดือน ๓, ๔, ๕

มีปัญหาว่า เป็นบ้าดอกหรือ จึงไปยอมเป็นยอมตายอยู่ที่อดน้ำแท้ พระนิพพานอยู่นั้นแห่งเดียวหรือ ที่อื่นมีที่ปฏิบัติถมไปภาคอีสานกว้างขวางมาก จะมาเขียนเล่ากินสมบัติอะไร มันได้ผลอะไร

ตอบว่า จริงอยู่ แต่ผลของกรรมเล่า เมื่อสร้างไว้แล้วใครๆ ย่อมบิดพลิ้วไม่ได้ ถ้าบิดพลิ้วได้แล้ว คุกตะรางก็ไม่ต้องมี การท่องเที่ยวในสงสาร สร้างบารมีก็ไม่มี มีแต่นิพพานสิ่งเดียวเท่านั้นเป็นเอเย่นต์อยู่ บุคคลผู้จะถึง สุคโต ได้ก็ต้องผ่าน ทุกขโต มาเต็มที่ก่อน มิฉะนั้นการเข็ดหลาบในสงสารก็ไม่ชัดได้

ฉะนั้นจึงมี ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ส่วน สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า เนื่องด้วยกรรมและผลของกรรมต่างกัน สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมและผลของกรรม

ครั้นต่อมาก็มีคุณสีลา อินทวังโส ได้เอาแท้งค์น้ำมาให้ ๒ ลูก พอได้ใส่น้ำไว้ฉัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นไปตักน้ำห้วยค้ออีก อยู่มาร้านสมศักคิ์ศรี นิคมคำสร้อย ได้สร้างถังน้ำคอนกรีตขึ้น ๓ ถัง กว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตรก็เบาลงบ้าง กุฏิอีก ๒ หลังพร้อมทั้งโรงไฟก็รู้สึกเบาไปบ้าง แต่ฤดูเดือน ๕ ยังได้ไปตักน้ำห้วยค้ออยู่บ้าง และก็ถังอิฐสี่เหลียมผืนผ้าสูง ๑ เมตรกว่าๆ ยาวประมาณเมตรกว่าๆ

แต่ทุกวันนี้ประซาชนทางใกล้ทางไกลเมตตาสงเคราะห์ อะไรต่ออะไรก็พอแบ่งเบาขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังเป็นขี้โหล่ของภาคอีสานในทางอัตคัดทรมานอยู่ทุกๆ ด้าน

ด้านจักรเย็บผ้า คุณสีลาหามาไว้ให้ใช้กว่า ๑๐ ปีแล้ว สะพานข้ามห้วยค้อ คุณสีลาก็พาญาติโยมสร้างขึ้นให้ เพราะแต่ก่อนไต่ขอนไม้ยางอยู่ ๘ ปี พระอาจารย์จามก็มาช่วยเมตตาสงเคราะห์อะไรต่ออะไรด้วย ญาติโยมทางบ้านแวง บ้านหลุบปิ้ง บ้านโคกตลอดหนองสูงใต้ บ้านเหล่า ตลอดถึงหนองสูง ห้วยทรายต่างก็ได้ช่วยเหลือตามสติกำลังแต่ละท่านละคนเท่าที่สามารถ และเท่าที่ศรัทธา จะพรรณนาไปเป็นท่านๆ คนๆ ก็เขียนไม่ไหว

ศาลาแม่ออกรักษาศีลนั้น ครูชาลี พรรคพลและนายถนอม วงศ์เสน่ห์ เป็นผู้ริเริ่มและศรัทธาต้น ส่วนศาลาปัจจุบันและถังน้ำใหญ่ ๔ ถังเป็นส่วนรวม ทั้งพระ ทั้งเณร ทั้งญาติโยมสารพัดต่างวัดต่างจังหวัดที่มาเที่ยว เจอเข้าก็ช่วย ไม่ขัดไม่ดูดดาย

สำหรับผู้เขียนมิได้อะไรเลย ได้แต่เขียนเท่านั้น ได้อะไรมาสู่สำนักได้ด้วยเดชพุทธ ธรรม สงฆ์และครูบาอาจารย์และสหพรหมจารี ภิกษุสามเณรและคณะญาติโยมใกล้ไกลพร้อมทั้งพุทธบริษัทของพระพุทธ ธรรม สงฆ์ ใกล้ไกล

เรื่องถังน้ำคอนกรีตไม่ว่าชุดสร้างก่อนและตอนหลัง ร้านสมศักคิ์ศรี นิคมคำสร้อย ต้องเป็นภาระจิปาถะ ชาวรถและญาติโยมบ้านแวงและบ้านเป้า ก็เข้าแบกหามช่วยเหลือ

ทางบ้านเหล่า ผู้ใหญ่กองและลูกบ้านก็ช่วยเอาทรายมากว่า ๑,๐๐๐ ปี๊บ ขนขึ้นใส่รถเข็น ตลอดครูและนักเรียนตำบลหนองสูงใต้ทุกๆ โรงเรียน ขนจากตีนเขาขึ้นบนภูอย่างโกลาหลอลหม่าน

ขอขอบคุณทุกท่านๆ ทุกๆ วัยไว้อยู่โดยทุกเมื่อด้วย ท่านผู้ใดทำด้วยศรัทธาน้อยและมากด้วย พุทธ ธรรม สงฆ์จงได้รับผลตามส่วนควรค่าของเหตุที่ทำน้อยแลมากทุกถ้วนหน้านั้นเทอญ

ผู้เขียนย่อมยินดีพอใจแต่ละท่านๆ ทั้งนั้น เพราะยุคภูจ้อก้อเป็นยุคอายุขัยวัยแก่ของข้าพเจ้าที่ได้ท่องเที่ยวมาในสงสาร พร้อมทั้งเป็นยุคอัตคัดทุกประเภท คมนาคมก็ไม่สะดวก ขึ้นเขาลงห้วยขลุกขลัก วัตถุนิยมก็ราคาแพงสูงขึ้นทวี

บรรดาท่านชาวพุทธในประเทศไทยก็ดีหรือนอกประเทศบ้างก็ดี นับแต่ข้าวเม็ดหักผักเส้นหนึ่งก็ดี ขึ้นไปหามาก โดยข้าพเจ้ารู้ตัวก็ดี มิได้รู้ตัวก็ดี คิดเป็นราคามูลค่าแต่สตางค์หนึ่งขึ้นไปก็ดี ได้ร่วมกุศลผลบุญกับข้าพเจ้าด้วยกำลังกาย กำลังวาจาก็ดี ด้วยกำลังใจขณะจิตเดียวก็ดี

ด้วยเดช พุทธ ธรรม สงฆ์จงภิญโญยิ่งๆ จนถึงที่สุขทุกข์ โดยชอบทุกถ้วนหน้า ทั่วทั้งไตรโลกาอยู่ทุกเมื่อเทอญ

แม้จะได้ร่วมหรือมิได้ร่วมก็ตาม แผ่อัปปมัญญาไปทั่วทั้งไตรโลกาผูกขาดอยู่ทุกเมื่อ และระลึกได้ไม่ระลึกได้ก็ดี เป็นอธิษฐานปารมีสัมปันโน เป็นสัจจปารมีสัมปันโน ผูกขาดจองขาดอยู่ทุกเมื่อแล นิพพานังในชาตินี้เทอญ

๏ ไม่เคยใช้อุบายเรี่ยไร

หันมาปรารภเรื่องอยู่ภูจ้อก้อได้ ๓ พรรษา พรรษาที่ ๔ ก็รื้อกระต๊อบฟางทิ้ง ญาติโยมบ้านแวง มี พ่อศิลป์ก็ริเริ่มทำกุฏิสามัคคีขึ้นกว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตรกว่าๆ ต่อแต่นั้นก็ค่อยทยอยขึ้นปีละหลังบ้าง ๒ ปีต่อหลังบ้าง ปีละ ๔ หลังก็มี เป็นวงศ์ของคุณนพดล กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่อยากจะเล่าเรื่องก่อๆ สร้างๆ ดอก เพราะใครๆ อยู่ที่ไหนๆ ก็พอได้พูดกันอยู่ในเรื่องนี้

ทีแรกก็นึกว่าเอาเด็ดๆ เดี่ยวๆ จะไม่ก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่นานติดต่อกันไปหลายปี หมู่พระเณรมาพักอาศัย ไม่มีที่พักก็จำเป็นได้ทำ แต่มิได้แผ่มิได้ขอเรี่ยๆ ไรๆ ให้ปีนเกลียวของธรรม มีมาโดยชอบธรรมก็จึงทำ ไม่ได้ใช้อุบายจัดงานในวันเพื่อหาเงินขูดๆ เกลาๆ มาก่อสร้าง ทำพอได้อยู่ได้พักเท่านั้น และก็อาศัยน้ำฝนจากหลังคาใส่ลงถังเพราะภูลูกนี้มิได้มีน้ำเป็นหลัก ก็จำเป็นจำไป

และเมื่อไม่น้อมว่าเป็นสมบัติของตัวแล้ว กิเลสก็คงไม่กำเริบมากเท่าไรนักหนา น้อมเป็นของพระพุทธศาสนาแล้วกิเลสก็เบาลง คะนองตัวไม่ได้ จะน้อมเป็นของตัวได้ชั่วคราวก็แต่เพียงบริขาร ๘ เท่านั้น แม้ถึงอย่างนั้นก็ยังได้สับเปลี่ยนให้องค์นั้นองค์นี้อยู่ ไม่ว่าแต่เท่านั้น แม้หนังหุ้มอยู่โดยรอบที่ยืมมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็จะได้ส่งคืนให้ ดิน น้ำ ไฟ ลมอยู่ เพราะจะได้แตกสลายลงสู่ธาตุเดิมอยู่ ดินแตกไปเป็นดิน น้ำแตกไปเป็นน้ำ ไฟแตกไปเป็นไฟ ลมแตกไปเป็นลม ลงสู่มหาภูตธาตุเดิมคงที่

ด้านกิเลสคือ ความหลง ไม่รู้เท่าปัญหาของตนที่มาหลงดิน หลงน้ำ หลงไฟ หลงลมก็จะได้มาสร้างดิน สร้างน้ำ สร้างไฟ สร้างลมเป็นเปรตเป็นผีเฝ้าดิน เฝ้าน้ำ เฝ้าไฟ เฝ้าลม ฉันอยู่เหมือนนกเขา ว่า ของกู ของกู ของกูอยู่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีก

พระพุทธศาสนาเป็นของลึกซึ้ง ไม่เป็นสิ่งที่ผู้หูหนาตาเถื่อนจะเข้าใจความหมายได้ง่ายๆ ฉะนั้นในโลกจึงมักจะเจอแต่คนตาบอดมาอวดสนเข็มกับคนตาดีเป็นส่วนมาก ฝ่ายแจวเรือพายเรือข้ามน้ำ เขาโคมีน้อย ขนโคเป็นฝ่ายกางขาลงโต้น้ำให้เรือวนเรือฝืด ด้านจิตใจหนักไปในทางกิเลส ด้านมันสมองก็มันไปทางกิเลส มอบให้ใจเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย มอบให้มันสมองเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย ใจมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสไม่ต้องมีกรรมการเลือกเฟ้นเลย มันสมองมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็ไม่มีกรรมการเลือกเฟ้นเลย ด้านสติปัญญาก็เหมือนกันไม่มีกรรมการเลือกเฟ้นเลย เสือมันก็มีสติปัญญาอยู่ แต่สติปัญญาของมันมุ่งตะครุบเขามาใส่กระเป๋าท้องของมัน เมื่อจิตใจและธรรมยังไม่ถึงพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้กินไม่เลือกทั้งนั้น ธรรมะแท้เป็นทรัพย์สินของนักปราชญ์แต่เป็นหอกเป็นง้าว เป็นฟืนเป็นไฟของคนพาล หมายความว่าพวกคนพาลเข้าใจความหมายอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นฟืนเป็นไฟ เป็นหอกเป็นง้าวกับใครไม่ เป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติของบาปบุญ มรรคผล นิพพานคงที่

๏ ยุคภูจ้อก้อปัจจุบัน

ยุคภูจ้อก้อนี้นับแต่ยุคต้นมาจนถึงปัจจุบันที่เขียนอยู่นี้ก็ดี ไม่ว่าบรรพชิดและฆราวาสใกล้และไกล ต่างก็พากันดูแลช่วยเหลือตามสติกำลังของตนๆ อยู่เท่าที่จะทำได้ ฝ่ายพระเณรยุคต้นแท้ก็คุณอินทร์ถวาย คุณสีลา โยมบิดาของคุณอินทร์ พร้อมทั้งเผ่าพงศ์วงศ์ตระกูล พร้อมทั้งวงศ์วานตลอดวงศ์ของคุณย่าเคี้ยว วงศ์แม่อ้อ กำนันชิววรรณ กำนันบัวผันและทุกๆ ท่านไม่สามารถจะเอามาลงให้หมดได้ นางสวางค์ พัฒนากร วงศ์ผู้ใหญ่ตาลอีก สารวัตรสำเนียงย่อมมีคุณแก่ข้าพเจ้าอยู่แต่ละท่านละคนไม่ทางหนึ่งก็ทางหนึ่ง และขออภัยที่ไม่ได้เขียนออกชื่อไว้ครบในที่นี้ด้วย

ตัวของข้าพเจ้าเองไม่ได้หัดเป็นนิสัยอกตัญญูมนุษย์เลย ย่อมถือเอาเยี่ยงอย่างพระมหาสารีบุตรมาคำนึงอยู่บ่อยๆ พระมหาสารีบุตรนั้น พระราธะคราวเป็นฆราวาสอยู่ ได้ใส่บาตรให้พระสารีบุตรเพียงทัพพีเดียวเท่านั้น องค์ท่านก็หัดจำไว้ระลึกได้ ดังมีในเถรประวัติ ถ้าจะถูกกล่าวตู่ว่า การเขียนอย่างนี้เป็นการประจบประแจง ผู้เขียนก็มีที่อ้างอย่างนี้เพราะมนุษย์โดยมากมักจะอกตัญญูกัน ถ้าเกลียดโกรธใครก็มักแต่จะเอาสิ่งนั้นมาเป็นเจ้าหัวใจบูชาไฟโทสะ เป็นการหักดอกไม้บูชาความโกรธของตนพร้อมทั้งอุปนาหะ ผูกโกรธไว้ เวรก็ไม่มีหนทางจะเบาลงและระงับได้

คนแต่ละคนก็ต้องได้ทำความดีไว้ให้เรา ไม่อันหนึ่งก็ต้องอันหนึ่งให้จงได้ ถ้าชาตินี้ไม่มีญาติก่อนๆ ก็คงมีและชาติหน้าไปอีกเล่าก็ยังอักโข ถ้าเผื่อว่ามีชาติหน้า ภพหน้า ญาติก่อน ภพก่อนแล้วการทำคุณให้แก่กันและกันก็ดี การระลึกถึงคุณของกันและกันก็ดี การไม่ควรทำเวรแก่กันและกันก็ดี การเชื่อกรรมและผลของกรรมก็ดี การเชื่อพุทธ ธรรม สงฆ์ก็ดี การทำต่อกันและกันก็ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมในปัจจุบันชาติก็ดี เชื่อว่าบาปบุญมี มรรค ผล นิพพานมีในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมก็ดี ก็ได้มหาทรัพย์ภายในขุมต้นมากกว่าแผ่นฟ้าแผ่นดิน อันเป็นศรัทธาทรัพย์และปัญญาทรัพย์ สมดุลกันแล้ว เป็นทรัพย์ที่ไม่สูญหายไปไหนด้วย มิได้หาบ มิได้หิ้ว มิได้แบก มิได้คอน มิได้เอารถ มิได้เอาเกวียนขนให้ยากด้วย ไม่มีท่านผู้ใดจะมาลักไถ่ ลักถอน ลักจี้ ลักปล้น ตกน้ำก็ไม่จม ไม่พลัดไม่พราก ไม่จากไป เป็นเป็นจิตเงาใจ ไปตามตัวใจ ไปตามตัวธรรมเบามาก ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมอันจริง เป็นใจอันจริง เป็นปัญญาอันจริง เป็นศรัทธาอันจริงของพระอริยบุคคล

บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น แต่เหตุชั่วใครจะบัญญัติเอาตามกิเลสของตนสักเพียงไรก็ตามว่าเหตุดี เหตุชั่วนั้นจะกลายเป็นเหตุดีก็ย่อมเป็นไปไม่ได้อีก เหตุดีแท้ๆ จะบัญญัติผิดว่าเหตุชั่วเหตุนั้นก็เป็นเหตุชั่วไปไม่ได้เพราะมีผลในเหตุนั้นๆ เป็นศาลยุติธรรมตัดสินอยู่ปลายทาง ไม่ลำเอียงในโลกไหนๆ ในธรรมไหนๆ ผู้ที่จะเลือกเหตุดีเหตุชั่วได้สนิทใจไม่ลังเล ก็ต้องเป็นผู้แยบตายในเหตุดีเหตุชั่วมาแล้ว พร้อมผลลัพธ์ทั้งสองฝ่ายมาชำนิชำนาญ เป็นอาจารย์สอนตัวให้รู้ตัวทั้งทางขึ้นทางล่องว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นแล้วก็เลือกเหตุเลือกผลไม่ได้จนวันตาย ย่อมถูกต้มตุ๋นโดยความไม่แยบตายของตนอยู่ตราบนั้น กรรมและผลของกรรม เหตุและผลของเหตุ พืชและผลของพืช เจตนาและผลของเจตนา การลงมือทำและผลของการลงมือทำ ก็มีความหมายอันเดียวกัน แต่ให้ผลต่างกันในทางดีทางชั่ว

อบายมุขทุกประเภท เป็นเหตุ พืช กรรม การลงมือทำและเจตนาเป็นทางฉิบหายผูกขาดอยู่แล้ว ไม่มีมนุษย์ เทวดา มารพรหมและพระพุทธเจ้าองค์ใดๆ จะมาทำให้เจริญได้ในตอนนี้ นอกจากจะละเว้นเสียให้ห่างไกลเท่านั้น ธรรมอันนี้เป็นธรรมสอนฆราวาสโต้งๆ ส่วนพระเณรนั้นต้องเว้นกันไปผูกขาดแล้ว มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นหมาป่าเป่าปี่ในนิทานอีสป และไม่รู้จักความหมายของพระเณรของพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ธรรมเนียมอันเป็นธรรมแท้ พระเณรต้องปฏิบัติธรรมวินัยชั้นสูงขึ้นไป เป็นหัวจักรของชาวโลก ถ้ายังเสนอหน้ามาเล่นการพนันอันเป็นอบายมุขอีก นุ่งผ้าเหลืองเสียผ้าขาว นุ่งผ้าขี้ริ้วถือเสียมไปขุดปูตามทุ่งนามากินเหมือนเด็กเสียดีกว่า แต่เด็กผู้ไม่ห่มผ้าเหลืองเขาไม่ฆ่าสัตว์ก็มี อบายมุขไม่มีอยู่ในครอบครัวใด ครอบครัวนั้นจะเจริญก้าวหน้าทั้งทรัพย์ภายนอกและภายในสูงส่งโดยรวดเร็ว โลกปัจจุบันมันข้องอยู่อย่างนี้อลหม่าน

คิดเห็นอันใดก็เขียนขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นแนวเป็นแถวติดต่อ มาอยู่ปีทีแรกญาติโยมทำกุฏิเล็กเป็นกระต๊อบฟางทั้งมุงและกั้นด้วยฟางอยู่ได้ ๓ พรรษา พรรษาที่ ๔ เขาทำกุฏิปูกระดานไม้เปือย กว้าง ๒ เมตร ๙๐ เซ็นต์ ยาว ๔ เมตรกว่า มุงด้วยกระดาน แต่กั้นด้วยฝาไม้ไผ่สาน ที่เรียกว่าฝาไม้เฮี้ย ตามชาวอีสาน ทำเป็นฝาสาน แล้วขอบริมให้แน่น แล้วผูกแขวนค้ำเอา

ครั้นอยู่มาอีก ๓ ปีก็เลยรื้อฟากออก กั้นด้วยกระดานไม้ตะเคียน ครั้นอยู่มาก็ค่อยงอกที่นั้นที่นี้ ตามประสาของวาสนาอนาถาพอได้อยู่ได้อาศัย แต่มิใช่โอ่โถงภาคภูมิอะไร ถ้าเทียบใส่ฆราวาสก็แบบหาเช้ากินเย็น จับพลัดจับผลูเป็นธรรมเทศนาทุกข์อยู่ในตัวมิให้ลืมหลงได้เลย สถานที่และลาภยศก็พอดีกับจิตใจธรรมอันหยาบ ต้องถูกทรมานอยู่แบบขู่ว่าๆ หือๆๆๆ เห็นไหมกองทุกข์ เข็ดหรือไม่เข็ด หลาบหรือไม่หลาบ อ้ายหน้าระยำดังนี้เสมอๆ

ที่อัตคัดทรมานนี้เป็นมหาอาจารย์ เตือนสติอยู่มิให้สงสัยในเรื่องชาติๆ ภพๆ คำว่าชาติๆ ภพๆ แล้ว จะอาวัตถุภายนอกมาพอกลวงไว้เต็มแผ่นฟ้าแผ่นดินมีแต่ขุมทองตั้งล้านๆ ขุมก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือทุกข์ขาดตัวนั้นเอง เว้นพระอริยะเสีย เพราะจิตใจและธรรมเหนือสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว เพราะเครื่องผูกได้ขาดไปแล้ว ถอดออกแล้ว วัตถุนิยมไม่เป็นเชือกจะผูกท่านได้ เพราะฝึกจิตใจให้เหนือวัตถุนิยมไปได้ เพราะองค์ท่านไม่ติดอยู่ในสมมุติว่าได้ๆ และไม่ติดอยู่ในสมมุติว่าเสียๆ ได้ก็มอบคืนให้ได้ เสียก็มอบคืนให้เสีย มิได้ตั้งอยู่ในเงื่อนทั้งสอง ยอมตัวทำจิตใจให้เป็นโสด ธรรมที่เป็นอาหารของใจ ใจที่เป็นอาหารของธรรมก็พลอยเป็นโสดไปในตัว ไม่ขี้หึงกัน ธรรมก็ส่งคืนให้ธรรมไปในตัว ใจก็ส่งคืนให้ใจไปในตัวมิได้มาเป็นศัตรูสงครามกัน ใจและธรรมก็ไม่มีใครผูกปัญหาให้กันและกันแก้เพื่อเอาคะแนนแพ้คะแนนชนะ ธรรมะชั้นนี้เป็นธรรมลึกผูกขาดของผู้ใจสูงอยู่แล้ว แต่ธรรมทรงอยู่ก่อนใจ เป็นธรรมชาติอันละเอียดกว่าใจแล้ว ถ้าธรรมไม่ทรงมีอยู่ก่อนใจแล้ว ใจไม่มีหนทางจะรู้ธรรมได้ และไม่มีหนทางจะเลือกเฟ้นได้

พระอรหันต์สิ้นลมปราณเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว ไม่เป็นหน้าที่จะไปบัญญัติว่าใจๆ อีกเลย เพราะไม่สมเกียรติ บัญญัติได้แต่เพียงว่าธรรมอันไม่ตาย ธาตุอันไม่ตาย อายตนะอันไม่ตาย อินทรีย์อันไม่ตาย แปลว่าเป็นผู้ใหญ่ในทางอันไม่ตาย เพราะธรรมก็ดี ธาตุก็ดี อายตนะก็ดี อินทรีย์ก็ดี ไม่อิงอาศัยกับกองนามรูปแล้ว และกองนามรูปเล่า ก็ไม่เป็นหน้าที่จะไปแอบอาศัยได้ เป็นของละเอียดลออมากมายจนไม่มีที่จะเปรียบเทียบได้

ผู้มิได้เห็นชัดซึ่งสังขารที่เกิดขึ้น ที่แปรปรวน ที่ดับไป ติดต่ออยู่อย่างไม่ขาดสาย และไม่ได้พิจารณาให้ติดต่ออยู่พร้อมกับลมออกเข้าแห่งพระอานาปานสติแล้ว ไฉนจิตใจพร้อมทั้งสติปัญญาอันสมดุลกันในขณะเดียวอันเป็นปัจจุบันทันตา ทันใจ ทันปัญญา ทันธรรม จึงจะเอนไป โอนไป น้อมไป ยินดีไป หนักไป ด่วนไปในพระนิพพานได้ เพราะบารมีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่

เพราะอำนาจกรรมและผลของกรรมอันเป็นตัววัฏจักร อวิชชาความหลงๆ เป็นเจ้าใหญ่นายโต ผลักดันอันดองอยู่ในขันธสันดานผูกมัดรัดรึงไว้ จิตใจยังโอนไป เอนไป น้อมไป หมุนไป ส่ายไป ดึงดูดไป จูงไปเป็นพหุลกรรม กรรมที่เคยติดมาจนชินเป็นอาจิณกรรมเป็นแม่เหล็กดึงดูดในทางวัตถุนิยมภายนอกและภายใน

วัตถุนิยมภายนอกมี รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในส่วนรูปขันธ์ภายนอก ธรรมภายนอก ธาตุภายนอก

วัตถุนิยมภายในก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายเรียกว่ารูปขันธ์ภายใน ธรรมภายใน ธาตุภายในหรืออินทรีย์ภายในก็ว่า

ส่วนนามนิยมกันภายใน ก็คือใจ ธรรมภายในก็ว่า ธาตุภายในก็ว่า เรียกว่านามธรรม นามธาตุ นามอินทรีย์ นามขันธ์ภายในก็มีความหมายอันเดียวกัน

ส่วนนามธรรมภายนอก ธรรมารมณ์ภายนอกก็ว่า

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2013, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ คู่ต่อสู้ที่แท้จริง

แล้วธรรมภายนอกภายในเหล่านี้เล่า ธาตุภายนอกภายในเหล่านี้เล่า ทั้งหมดมารวมกันแบ่งออกเป็น ๓ กาล ปัจจุบันกาลอดีตกาล อนาคตกาล เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลางดับเป็นสุดท้ายเป็นนิจวัตร หาระหว่างมิได้

เมื่อปัญญาญาณไม่เห็นแจ้งในฝ่ายนิโรธสัจจะเป็นเนืองนิตย์ติดต่ออยู่แล้ว ความเบื่อหน่ายจากความหลง ความคลายเมาจากความหลง ความหลุดพ้นจากความหลงก็ไม่มีหนทางจะปรากฏ ญาณวิมุตติอันถ่องแท้ก็ยิ่งมองไม่เห็นพอริบหรี่เลย

เมื่อฟันยังไม่ถึงแก่น จะเห็นแก่นอย่างไรได้ เมื่อฟันเมื่อเลื่อยยังไม่ขาด จะสมมุติว่าขาดอย่างไรได้ เมื่องานยังไม่เสร็จ จะสมมุติว่าเสร็จอย่างไรได้ จะหลับหูหลับตาโกหก ตนก็ไม่พ้นพิษอันเดือดร้อนอีกละ เพราะความลับไม่มีในตน คือโลกภายใน อัชฌัตตาโลก ปัจจุบันโลก ปัจจุบันสังขารก็ว่า ปัจจุบันกิเลสก็ว่า เพราะกิเลสมีทั้งปัจจุบันกิเลส อดีตกิเลส อนาคตกิเลส

ถ้าปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมไม่มีกำลัง พร้อมด้วยสติปัญญาแก่กล้า เหนืออ้ายหลงๆ ไปแล้ว ย่อมตีเมืองกิเลสไม่แตก ฉะนั้นแล้วกิเลสมันจึงมักจับเอาเป็นเชลยศึก

ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ กับไฟกิเลส กับไฟโลภ โกรธหลงนั้นต่างกันอย่างไร ก็ต้องมีความหมายรสชาติอันเดียวกัน หลายชื่อหลายนาม หลายสมมุติเรียกกันเฉยๆ จะบรรเทาระงับได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอันถูกต้องทางพุทธศาสนาเท่านั้น

ไฟภายนอกจะระงับได้ด้วยน้ำภายนอก หรือระงับได้ด้วยไม่ให้เกิดขึ้นในต้นมือเท่านั้น ไฟภายนอกมีโทษมหันต์ มีคุณอนันต์ ขึ้นอยู่กับการใช้ถูกหรือไม่ถูก ไฟกิเลสมีโทษโดยส่วนเดียว มิได้มีคุณ ไฟภายนอกดับได้ด้วยน้ำภายนอก แต่ไฟมากน้ำน้อย น้ำก็ดับไม่ได้ น้ำมากอยู่ แต่ไม่รู้จักวิธีดับ ก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะธรรมดาไฟเมื่อไหม้ลงไปแล้วและมีเชื้อล่อมากมายอยู่แล้ว ไม่เป็นหน้าที่ของไฟจะคอยให้น้ำมาดับ ตนมีหน้าที่ไหม้ไปตะพึด น้ำไม่เป็นหน้าที่ว่าเราจะคอยเป็นกองปราบดับไฟ

ฉันใดก็ดีศีล สมาธิ ปัญญาก็มิได้ยืนยันว่าเราจะเป็นกองปราบกิเลสเลย ถ้าประกอบ ศีล สมาธิ ปัญญาน้อย แต่ประกอบกิเลสมากกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาก็ปราบกิเลสไม่ชนะ

เรื่องแพ้เรื่องชนะภายนอก ไม่เป็นที่นิยมซมชอบของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องเวรสนองเวร เรื่องภัยสนองภัย เป็นเรื่องกรรมสนองกรรม เป็นเหตุสนองเหตุ เป็นเรื่องภายนอกของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น

โอปนยิโกภายในของพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ถ้าถูกแพ้ ก็ถูกแพ้กิเลสของตน คือหลงๆ เป็นต้น ถ้าชนะ ก็ชนะความหลงของตนไปเป็นตอนๆ ก็ดี หรือโดยสิ้นเชิงก็ดี มีกฎเกณฑ์และความหมายของพระพุทธศาสนาเท่านี้

แต่ชาวโลกิยวิสัยย่อมนิยมชมชอบว่าถูกแพ้คนอื่น พวกอื่นหมู่อื่น บ้านอื่น ตำบลอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ภาคอื่น ประเทศอื่น และมักนิยมซมชอบว่าถูกชนะคนอื่น พวกอื่น หมู่อื่น บ้านอื่น ตำบลอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ภาคอื่น ประเทศอื่น จนเป็นยาเสพติดนิสัยแก้ยาก

ถ้าหากว่าโลกทั้งปวงต่างมุ่งหน้าประชันขันแข่ง เพื่อสู้รบขบกัดกับกิเลสของตนแล้ว โลกก็เต็มไปด้วยความเมตตาสามัคคี จะประสบแต่ความร่มเย็น ปราศจากเวรภัย นอนหลับสนิท ไม่สะดุ้งผวา เพราะไม่มีเวรอยู่รอบด้าน เหมือนลูกพ่อแม่เดียวกัน รักชีวิตตน ก็ต้องรักชีวิตผู้อื่นด้วย รักความสุขตน ก็รักความสุขผู้อื่นด้วย รักเคารพของตน ก็ต้องรักเคารพของผู้อื่นด้วย เหล่านี้เป็นต้น ทะเลเลือด ทะเลน้ำตา ทะเลเวร ทะเลภัยก็สงบไป

เพียงรักษาศีล ๕ เท่านั้น กฎหมายโลก กฎหมายธรรมก็บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องบัญญัติหลายมาตราก็ได้ พระพุทธศาสนาเป็นกฎของธรรมตายตัวทั่วไตรโลกา ทั้งโลกอดีต โลกอนาคต โลกปัจจุบันด้วย เป็นกฎของธรรม แท้อยู่ทุกกาล ทันสมัยอยู่ทุกกาล มิใช่ธรรมเถื่อน มิใช่ธรรมเดา มิใช่ธรรมด้น มิใช่ธรรมคาดคะเน เป็นธรรมมีแต่เนื้อ ไม่มีก้างเจือปน มิได้นิยมเพศชั้นวรรณะเลย

๏ ศาสนธรรมคุ้มครองโลก

พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคุ้มครองสรรพโลกอยู่โดยตรงๆ แล้ว ผ่านการบ้านการเมืองไปแล้ว ข้ามไปเป็นการคุ้มครองโลก เหนือไปกว่าการบ้านการเมืองไปอีก พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่าธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลกได้ มีอยู่ ๒ ข้อ หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต

ถ้าหากว่าธรรม ๒ ข้อเท่านี้ มีประจำใจของมนุษย์อยู่ทุกๆ ท่าน ทุกๆ หัวใจ เป็นมหาอาจารย์ กระซิบบอกและเตือนตนอยู่ทุกหัวใจแล้ว กฎหมายก็ดี ธรรมะก็ดี ก็ไม่ต้องได้จำ ได้เรียน ได้ท่อง ได้บ่นมากมายนัก เป็นหลักหัวใจ ของศีล ของธรรม ของกฎหมายอีก

ถ้าไม่มีหิริ-โอตตัปปะ แล้วจะเรียนจบไตรปิฎกก็ใบลานเปล่า เป็นถังก้นทะลุ เทน้ำใส่เท่าใดก็เก็บไว้ไม่ได้ แม้จะเรียนกฎหมายจบทั้งนอกประเทศและในประเทศก็ตาม ก็เป็นถังก้นทะลุ ไม่รับน้ำไว้ (โลกๆ ก็ต้องเจอแต่ก้างอยู่ตามเคย)

พวกเราชาวพุทธจะหวังเอาลูกระเบิดปรมาณูเป็นสรนังคัจฉามิ ไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม กลายเป็นปรมาณูเวรภัย

อัปปมาโณ พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ มีพระมหาคุณอันไม่มีประมาณ ผู้มีปัญญาน้อยระลึกได้น้อย ผู้มีปัญญามากระลึกได้มาก ผู้มีเชือกสั้นขึงได้ใกล้ ผู้มีเชือกยาวขึงได้ไกล ผู้มีกำลังน้อยแบกของได้น้อย ผู้มีกำลังมากแบกของได้มาก ผู้ตามัวสนเข็มยาก ผู้ตาดีสนเข็มได้ง่ายนัก

สมัยที่อยู่ภูจ้อก้อตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ติดๆ กันมาทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน จนถึงขณะกำลังเขียนอยู่นี้ เป็นปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พระอาจารย์ที่เทศน์ให้ฟังพร้อมทั้งเฆี่ยนเล็ก เฆี่ยนน้อย เฆี่ยนใหญ่ เฆี่ยนโตประจำกายอยู่พร้อมทั้งขู่เข็ญว่า “เธอเห็นไหม เธอรู้ไหม เธอเข็ดหลาบไหม”

พร้อมทั้งเฆี่ยนพร้อมทั้งย้อนถามว่า “เห็นไหมทุกข์เกิด”

เรียนตอบว่า “เห็นขอรับผม”

“เห็นไหมทุกข์แก่”

เรียนตอบว่า “เห็นขอรับผม”

“เห็นไหมทุกข์เจ็บปวดในสกลกายจิปาถะ สรรพเย็น สรรพร้อน สรรพโรค สรรพหิวข้าว สรรพกระหายน้ำ สรรพปวด อุจจาระปัสสาวะ”

เรียนตอบว่า “เห็นด้วยรู้ด้วย รู้ด้วยเห็นด้วย ขอรับผม”

“เธอเห็นไหมความตายเป็นทุกข์ ถูกโรคชราถูกโรคต่างๆ ทำให้ตาย ถูกตัดคอ ถูกยิงตกรถตกรา ถูกทุบตีตาย ตกน้ำตาย ไฟไหม้ตาย ตายโหงจิปาถะ ตายผอม ตายแห้ง ตายจากเช้า สาย บ่าย เย็น ตายจากคุณความดีอันจะพึงได้พึงถึง เธอเห็นไหม รู้ไหม ทั้งเห็นทั้งรู้ ทั้งรู้ทั้งเห็นไหม”

เรียนตอบว่า “ทั้งรู้ทั้งเห็น ทั้งเห็นทั้งรู้ กลมกลืนกันขอรับผม”

“แล้วเธอเห็นรู้ว่าเป็นธรรมดาอะไรเล่า”

เรียนตอบว่า “เป็นธรรมดาทุกข์ ขอรับผม ไม่ใช่เป็นธรรมดาสุข เพราะธรรมดามันมีหายธรรมดา ขอรับผม ธรรมดาทุกข์อิงอามิสก็มี ธรรมดาทุกข์มิได้อิงอามิสก็มี ธรรมดาสุขอิงอามิสก็มี ธรรมดาสุขมิได้อิงอามิสก็มี ธรรมดาพระนิพพานก็มี ขอรับผม”

“เธอทำไมถึงอวดฉลาดตอบเกินคำถามลามบ้าไป เธอใช้อุบายสอนผู้ถามไปในตัวหรือ”

เรียนตอบว่า “ถ้าเรียนตอบไม่สมเหตุผลบ้างก็เกรงว่าจะถูกเฆี่ยนขอรับผม”

“ทีนี้เราจะถามเธอต่อไป เธอจงตั้งใจตั้งธรรมตั้งสติปัญญาให้สมดุลกันในปัจจุบันทันกาล

ทีนี้ทุกข์ปรารถนาไปมิสมหวัง ทุกข์พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ประสบสิ่งที่ไม่น่าชอบ เหล่านี้ เธอจะปฏิบัติยังไงเล่า”

เรียนตอบว่า “ทุกข์เหล่านี้เป็นทุกข์ฝ่ายกิเลสโต้งๆ อยู่แล้ว ต้องทำใจพร้อมทั้งสติปัญญาให้เหนือและสูงไปกว่าทุกข์เหล่านี้ ด้วยวิธีเห็นว่าต้องไม่ยืนยันเอาทุกข์มาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคล ไม่ยืนยันเอาเรา เขา สัตว์ บุคคลว่าเป็นทุกข์ ไม่ยอมทำใจให้โศกเศร้าด้วยเพราะอำนาจที่ได้เคยรู้แจ้งในกองนามรูปว่าเป็นของไม่ได้อยู่ในวงแขนของผู้ใด มีหน้าที่เกิดขึ้นแล้วแปรไป แตกสลายไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทาสของผู้ปรารถนาและไม่ปรารถนา ถ้าไม่ยอมละยอมถอนความเข้าใจผิดตอนนี้แล้ว ก็จะทุกข์ใจทวีคูณไม่มีประตูจะดับทุกข์ได้ เพราะส่วนนี้เป็นทุกข์ที่ควรละด้วยปัญญาอันรอบคอบ เพราะทุกข์เหล่านี้มันเนื่องมาจากวัตถุนิยม หวังอยากจะให้อยู่ในวงแขนและกำมือของตนคล้ายกับว่าจะกอบเอาดินทราย กำเอาดินทราย มิให้เล็ดลอดมือของตัวเลย คล้ายกับจะปั้นน้ำให้เป็นตัว รูปสัตว์ รูปคนไปต่างๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทวนคระแสดูความเข้าใจผิดของตน แล้วก็ปล่อยวางความหวังแบบโง่ๆ เสีย ปัญญาก็เหนือสูงขึ้นจากความหลงแล้ว ไม่สามารถจะกลับกลืนความหลงคืนได้ง่ายๆ ได้เลย เว้นไว้แต่สติปัญญาอ่อนกว่าความหลงในตอนนี้ ถ้าสติปัญญาเหนือจากความหลงในตอนนี้แล้ว ก็เหนือจากความโง่ไปหมดทุกประเภท ความโง่จะขบถคืนไม่ได้ ชนะความหลงตอนนี้แล้วไม่มีประตูกลับคืนแพ้อีกเลย”

๏ โลกุตตรจิต โลกุตตรธรรม

ผู้มีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ มีวิริยะในสิ่งที่ควรเพียร มีสติในสิ่งที่ควรระลึกได้ มีสมาธิในสิ่งที่ควรตั้งมั่น มีปัญญาในสิ่งที่ควรรอบรู้ เป็นกองทัพธรรมสมดุลกันแล้ว ย่อมเป็นช้างสารมหากำลังใหญ่ ความหลงที่เรียกว่าอวิชชา จะตั้งกองพลเข้ามาทางประตูใด ความหลงย่อมอยู่ใต้อำนาจของธรรมแท้ ใจแท้ ศรัทธาแท้วิริยะแท้ สติแท้ สมาธิแท้ ปัญญาแท้ เพราะธรรมเหล่านี้ขึ้นสู่โลกุตรแล้ว ไม่มีเทวดา มาร พรหมและมนุษย์ใดๆ จะปลดเกษียณให้ลงสู่โลกีย์ได้

โลกุตรจิต-โลกุตรธรรม มิใช่ธรรมลวงโลก มิใช่ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ลวงโลก เพราะข้ามปุถุชนโคตรไปแล้วไกล ไม่อาลัยว่าจะลวงตนจะลวงโลก เหมือนโลกีย์วิสัยที่หนักไปในทางอามิสสรณัง คัจฉามิ ที่เที่ยวกวาดต้อนผู้อยู่ในระดับเดียวกันเข้า ให้เป็นพรรค ตามกรรมนิยม กรรมบันดาล เหนี่ยวรั้งตั้งเจตนาและความหวัง ก็เป็นไปตามโลกีย์ ไกลจากโลกุตระจนมองไม่เห็น จะเห็นกันได้ง่าย ๆ ก็เพียงกายและความประพฤติเป็นบางส่วนเท่านั้น เว้นไว้แต่จำพวกพระอริยะ จำพวกเจโตปริยญาณเท่านั้น เหลือนั้นก็เดาด้นคาดคะเนผิดบ้างถูกบ้าง แต่ต้องผิดนั้นแหละเป็นส่วนมาก

ผู้เห็นภัยอย่างเต็มที่ในสงสารทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันนั้น กับผู้สนใจในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่ก็ดี

กับผู้ไม่ประมาทนอนใจนั้นก็ดี

กับผู้สนใจในธรรมเพื่อหลุดพ้นนั้นก็ดี

กับผู้เชื่อมรรค ผล นิพพานนั้นก็ดี

กับผู้ไม่ตีตนตายก่อนไข้นั้นก็ดี

กับผู้เลือกเฟ้นธรรม เลือกเฟ้นใจ ในธรรมที่ควรเลือก ในใจที่ควรเลือก

นั้นก็มีความหมายอันเดียวกัน

ส่วนท่านผู้เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ และผู้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี แล้วไม่ติดข้องอยู่ทั้งผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในนิมิตฝ่ายรูปขันธ์ก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอรูปคือนามขันธ์นั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธาตุทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธรรมทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพจิตทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอนัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสูญๆ สาญๆ ทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสมมุติและวิมุติก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในได้ในเสีย

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอุปาทานก็ดี เป็นต้น

เหล่านี้ย่อมมีรสชาติและความหมายอันเดียวกัน เหลือวิสัยที่จะบัญญัติและสมมุติไปแล้ว ไม่เป็นธรรมที่ชาวโลกจะเอามาซื้อมาขายมาขายในตลาดโลกได้ เพราะมิใช่ธรรมลิเก ละคร และกีฬา และฉายหนังภาพยนตร์โทรทัศน์ใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้เขียนก็เขียนไปตามจิตสังขาร ท่านผู้อ่านผู้ฟังก็ต้องอ่านต้องฟังไปตามจิตสังขาร ปัญหาก็หากจบไปเอง

๏ เจตนาผิดปิดทางหลุดพ้น

ยุคของผู้เขียนมาพักชั่วคราวอยู่ภูจ้อก้อนี้ สนุกฟังเทศน์ทั้งภายนอกภายในมากมายนัก

ที่ว่า พักอยู่ชั่วคราว ก็หมายความว่า ที่สมมุติกันว่าวินาทีหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่งก็ดี ชั่วโมงหนึ่งก็ดี วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ดี เดือนหนึ่งก็ดี สองพันห้าร้อยยี่สิบสี่ก็ดี เป็นเวลาน้อยนัก ไม่หยุดยั้ง ล่วงไปๆ

จะว่าวันเวลาล่วงไปก็ถูก จะว่าชีวาล่วงไปตามสมมุติก็ถูก แต่ปรมัตถ์มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวิต ไม่มีใครๆ ล่วงไปไหน ส่วนวันคืนก็ไม่ล่วงไปไหน เอกรัตตินทิวัง มีแต่กลางคืนกับกลางวัน เท่านั้น

พูดกลับไปกลับมา เพื่อมิให้ติดอยู่ในการพูดกลับไปกลับมา ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ แต่ก็ตรงกันข้าม สิ่งที่ติดก็คอยแต่จะติด เช่นยางขนุนและยางมะตอยเป็นต้น สิ่งที่ไม่ติดก็ไม่ค่อยอยากติด เช่นน้ำค้างบนใบบัว ปลายเหล็กแหลมไม่เก็บพันธุ์เมล็ดผักกาดไว้ นกบินในอากาศไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำไม่มีแผล

ธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเป็นธรรมลุ่มลึกและสูงยิ่งกว่าศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ผูกขาดอยู่ทุกกาล ไม่ได้พูดเข้าข้างตัว พูดเข้าข้างธรรมะตามเป็นจริงของธรรม มิได้พูดเข้าข้างตัวตามความสำคัญว่าตัวเป็นเจ้าธรรม ยอมยกธงขาว ยอมให้ธรรมอยู่เหนือตัวเสมอๆ ไม่ตีตนเสมอธรรมเลย

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงยอมเคารพธรรม ถือว่าธรรมทรงอยู่ก่อนพระองค์ ถ้าธรรมไม่ทรงมีอยู่ก่อนพระองค์แล้ว พระองค์ก็ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ ศาสนาอื่นๆ รู้ได้ปฏิบัติได้เพียงแต่เหตุผล แต่มิใช่ทางเหตุผลไปทางโลกุตระ มีแต่ตามความประสงค์ของกิเลส ไปทางวัตถุนิยม เป็นอัตตาธิปไตย เข้าข้างตนเข้าข้างกิเลสอย่างลึกบ้าง อย่างโลดโผนสุกเอาเผากิน เจอก้างเต็มโลก

ฉะนั้นสมณะทั้ง ๔ จึงไม่มีในศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาพุทธ คือ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ แต่พากันบัญญัติเอาแบบเข้าใจผิดบ้าง แบบหัวดื้อหัวแข็งสารัมภะแข่งดีบ้าง ประมาทบ้าง

ฉะนั้นในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาจึงยืนยันตามธรรมาธิปไตยว่า สมณะในที่อื่นนอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีสมณะทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้นเลย

เพราะศาสนาอื่นประพฤติพรตมุ่งลาภอามิสที่ตนหวัง ข้อวัตรปฏิบัติทั้งปวงจะเด็ดเดี่ยวสักเพียงไรก็ตาม เจตนาไม่นอกเหนือไปจากมุ่งลาภภายนอกที่ตนหวัง จึงปิดหนทางอันจะออกจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะไปได้เสียแล้ว

เพราะผู้ต้นศาสนาทั้งหลายเหล่านั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นไปได้เพียงโลกิยวิสัย อย่างสูงก็พรหมโลกเท่านั้น ด้วยกำลังฌานโลกีย์ ไม่สามารถเป็นธรรมเบื่อหน่ายคลายเมา คลายกำหนัดได้ พอได้เป็นนิสัยได้เท่านั้น

แม้ผู้ถือศาสนาพุทธ แต่เจตนาเป็นเจ้าเรือน มุ่งปัจจัยสี่เป็นเจ้าใหญ่นายโตของเจตนา เป็นเจ้าเป็นจอมอยู่ ก็ไม่สามารถจะบรรลุพรหมจรรย์เบื้องต้นได้ในปัจจุบันชาติ คือพระโสดาบันได้เลย จะเดินจงกรมภาวนาตลอดคืนตลอดวัน อดข้าวอดอาหารจนขุมผมขุมขนหล่นก็ตาม ไม่ขึ้นถึงโสดาได้

ทั้งนี้เพราะเหตุใดเล่า

เพราะเหตุมุ่งลาภมุ่งอามิสภายนอกปิดประตูแล้ว แต่ (จะ) พอเป็นนิสัยในชาติภพต่อๆ ไปนั้นได้อยู่

ข้อนี้นักปฏิบัติควรโอปนยิโก น้อมเข้ามาในใจตน ตรวจดูเจตนาตนให้แยบคายทั้งนั้น เว้นไว้แต่ไม่ต้องการพระอริยะในชาตินี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือจนถึงที่สุดโดยด่วนเท่านั้น ผู้ไม่ต้องการโลกุตระกับผู้น้อยใจในสงสาร กับผู้หวังอามิสเป็นเจ้าหัวใจ ก็อันเดียวกัน

๏ สติปัญญาเป็นอาจารย์

อนึ่ง อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ส่งส่ายเอามาใช้ให้รู้ความหมาย เมื่อปัจจุบันเป็นโลกิยวิสัย อดีตอนาคตก็พลอยเป็นโลกิยวิสัยไปด้วย แต่อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ชื่อและบัญชี เพราะล่วงไปแล้ว เพราะยังไม่มาถึง ดีก็ดีไปแล้ว ชั่วก็ชั่วไปแล้ว อนาคตเล่า ถ้าจะดี ก็ยังไม่มาถึง ถ้าจะชั่ว ก็ยังไม่มาถึง ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม เท่านั้น จะละเว้นได้ในทางที่ไม่ชอบ และก็จะปฏิบัติได้ในทางที่ชอบ ถ้าหากว่าคอยไปบดเอื้องอยู่แต่อดีต อนาคตเท่านั้น ก็ลืมโอปนยิโกมาในปัจจุบัน จิตใจก็ห่างเหินจากสมาธิและปัญญา

ผู้กำลังเดินมรรคภาวนายังไม่หลุดไม่พ้นจากความหลงของเจ้าตัวโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็สงสัยลังเลในปฏิปทาของตน จับต้นชนปลายอยู่มั่วสุม เดี๋ยวก็กล่าวตู่ตน ว่ากรรมฐานแบบนั้นดี แบบนี้ดีอยู่อย่างนั้น

อุบายกรรมฐานวิธีใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่เคารพรักใคร่ปฏิบัติอาจารย์สติ อาจารย์ปัญญาในปัจจุบันแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เว้นไว้แต่ท่านผู้พ้นไปแล้ว เพราะปัญญาองค์ท่าน แก่กล้าเหนือความหลงไปแล้ว ย่อมไม่ติดอยู่ในเงื่อนทั้ง ๓ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เพราะขาดจากอุปาทานในเงื่อนทั้ง ๓ ไปแล้ว ถึงจะเอามาใช้ตามชาวโลกนิยมพูดกัน ก็ใช้แบบไม่มีพิษเลย นกบินในอากาศวันยังค่ำไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำวันยังค่ำไม่มีรอย

อดีต อนาคต ปัจจุบันเมื่อมีผู้เข้าไปสอดแทรกยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ย่อมเป็นโทษในธรรมสุดท้ายของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น เพราะมีวิญญาณปฏิสนธิสัมปยุตกันอยู่ มีทั้งเหตุ กรรม วิบาก สมดุลกันอยู่ในตัว ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง

ผู้ไม่หนักในอานาปานสติพร้อมกับเจตสิกที่นึกคิดและผู้รู้ในขณะเดียวกันแล้ว จะเห็น จะรู้ตามเป็นจริงได้ยาก และจะไม่ยอมเชื่อได้ง่ายๆ ในธรรมตอนนี้ เพราะเป็นธรรมอันละเอียดมากมายนัก จะเห็นจะรู้ได้บ้างแบบมัวๆ เมาๆ ก็เพียงแต่รูปขันธ์อันหยาบๆ เท่านั้น (ถ้า) ตายคารูปขันธ์ที่กำลังพิจารณาอยู่ มิได้ส่งลงถึงไตรลักษณ์ให้แจ้งชัดด้วยสติปัญญาอันชอบแท้ อย่างสูงก็ไปเกิดเป็นพรหมที่มีรูปเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีญาณอันถ่องแท้รู้ปฏิบัติ รู้ชัด รู้ชอบในอนัตตาจิต อนัตตาธรรม อนัตตาผู้รู้รู้แล้วในขณะเดียว โดยมิได้ส่งส่ายหาแล้ว จะเบื่อ จะหน่าย จะคลาย จะหลุด จะพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิงย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่การพิจารณาเลยครูเลยเถิดไป จนเห็นดิ่งลงไปว่าสูญไปหมดโดยมิได้ไว้หน้า ไม่มีขอบเขตเกินความเป็นจริงของธรรมแท้แล้ว ก็ย่อมตกนรกเป็นทิฏฐิมานะขุมดิ่ง ก็ไม่มีศาสดาใดๆ จะสอนได้อีกละ เพราะคำว่าปัจจัตตัง ย่อมเอามาอ้างได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระทั้งนั้น คำว่าอกาลิโกก็เหมือนกัน

อกาลิโกและปัจจัตตังของพระอรหันต์ เป็นธรรมอันไม่มีกิเลสสิง ต่ำกว่านั้นลงมาก็อ้างอกาลิโกและปัจจัตตังตามภูมิของตนได้ทั้งนั้น แม้ผู้เขาถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพาน อกาลิโกของเขา เขาก็อ้างได้ว่าไม่มีบาป ไม่มีมรรค ไม่มีผลอยู่ทุกกาล ตลอดถึงปัจจัตตังเขาก็อ้างได้ว่าเห็นและรู้เฉพาะตนเองอยู่ว่า ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพานเลยดังนี้ ฉะนั้นการอ้างบาลีจึงเอาเป็นประมาณได้ยากนัก

เขาเอาทองเก๊ไปลวงคนโง่ว่าเป็นทองแท้ก็ได้ แต่ไม่อาจลวงผู้ที่รู้จักทองแท้ได้ง่ายๆ เลย ธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาแท้ มิได้ลวงโลก โลกลวงโลกต่างหาก กิเลสลวงกิเลสต่างหาก ขี้ขโมยลวงขี้ขมาย เวรสนองเวร ภัยสนองภัย ศีลสนองศีล สมาธิสนองสมาธิ ปัญญาสนองปัญญา นิพพิทาสนองนิพพิทา วิราคะสนองวิราคะ วิมุตสนองวิมุต วิสุทธิสนองวิสุทธิ นิพพานสนองนิพพาน (ไม่ต้องสงสัยในการสนองเลย) หลับตาเข้าก็สนองมืด ปรารภชั้นสูงชั้นต่ำปะปนกัน แกงหม้อใหญ่หรือเล็กผู้ฉลาดย่อมไม่รับกลืนทั้งก้างและกระดูก ย่อมเลือกรับเอา

๏ ผู้น้อมธรรมบูชากิเลส

เมื่อวัยชะแรแก่เรามาเท่าใดใกล้สิ้นลมปราณก็สนุกฟังเทศน์แห่งกองรูป นามขันธ์วิบาก แก่ เจ็บ ตายก็ไม่ลงธรรมาสน์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ไม่ลงธรรมาสน์ อนิจจตา ทุกข์ตา อนัตตตาก็ไม่ลงธรรมาสน์

อกาลิโกมีอยู่ทุกกาล เทศนอยู่ทุกกาล อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เทศน์อยู่ทุกกาล

ผู้ฟังเทศน์ตามเป็นจริง ปฏิบัติและพิจารณาตามเป็นจริง รู้ตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงไปเป็นชั้นๆ ก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ที่ถึงที่สุขทุกข์โดยชอบก็มีอยู่ทุกกาล

ตรงกันข้ามผู้ไม่อยากฟังเทศน์เสียเลยก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ยอมฟังเทศน์แต่น้อมธรรมลงมาบูชากิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล เช่น น้อมลงมาผูกเอาเลขเอาผา อันเห็นผิดเป็นชอบ เข้าข้างกิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ให้ทานรักษาศีลภาวนาเพื่อโลกีย์ก็มีอยู่ทุกกาล

ดอกบัว ๔ เหล่าก็มีอยู่ทุกกาล

อกาลิโกย่นลงมาโดยย่อมี ๒ โลกิยะหนึ่ง โลกุตระ ๑ ปัจจัตตังก็ย่นลงมาเป็น ๒ มีความหมายอันเดียวกัน สฺวากฺขาโต ภควตา ธัมโม ก็เหมือนกัน ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณากล่าวดีแล้ว ทั้งโลกิยะ และโลกุตระ กล่าวตามชั้นปฏิปทาของมนุษย์และเทวดา มาร พรหมผู้ปฏิบัติอันเป็นฝ่ายเหตุฝ่ายผลของผู้ปฏิบัติ อันจะได้รับตามเหตุผลเท่าที่ตนสร้างขึ้นในมโนภาพ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2013, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ อรหัตผล กับกรรมเก่า

ส่วนอรหัตผลเป็นผลขาดตอน มิได้โยงถึงเหตุ เพราะเหนือเหตุไปไกลแล้ว จะโยงคืนมาคลุกเคล้ากับเหตุมิได้ เพราะตัดสะพานกับเหตุอยู่ในตัวสิ้นเชิงไปแล้ว เหลือวิสัยไม่เป็นฐานะจะโยงคืนมาอาศัยเหตุ

อรหัตมรรค และต่ำกว่านั้นลงมา ยังอาศัยเหตุอยู่ แต่เหตุอรหัตมรรคเป็นเหตุละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ส่วนผลอันขาดตอนกับเหตุในอรหัตผลเล่า ก็เป็นผลอันละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นหน้าที่จะมาเดาด้นคาดคะเนให้เป็นธรรมมัจฉากัจฉ้อ ตาดำตาแดงใส่กันเลย ผลของการปราศจากโลภ โกรธ หลงโดยสิ้นเชิงนี้เป็นปัจจัตตังและสันทิฏฐิโก สุดท้ายของพระพุทธศาสนา

ธรรมดามนุษย์ เทวดา มาร พรหม จิตใจและสติปัญญาอยู่ในระดับโลก ก็ยืนยันความเห็นของตนอยู่ในระดับนั้น จะปรารภออกมาหรือ ไม่ปรารภออกมา ก็ไม่เป็นปัญหา

แต่พระบรมศาสดามิได้รับรองโดยถ่ายเดียว ว่าบุคคลจะบริสุทธิ์ด้วยความรู้และความเห็น แต่ท่านผู้ใดปราศจากโลภ โกรธ หลงแล้ว ท่านผู้นั้นแหละเป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้

แต่โดยมากมักจะเอาความรู้และความเห็นของตน อันยังมีกิเลสอยู่ มาเป็นความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง บาลีท่านยังมิได้อริยมรรค อริยผลชั้นใดชั้นหนึ่งเลยเถียงเอาก็มี เถียงเอาในทางตรงและทางอ้อมก็มี เพราะอยากได้ แต่ยังไม่ได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีกละ

กรรมและผลของกรรมเป็นของละเอียดมากนักหนาแท้ๆ แม้พระอรหันต์ (จะ) มีผลกรรมเก่าตามมาก็จริง แต่ปัจจุบันกรรมและอนาคตกรรมไม่มี ผลของกรรมเก่าตามมาถึง ก็พบแต่เรือนร้าง คือขันธ์ ๕ ล้วนๆ และก็ไม่มีกิเลสยึดถือเอาเป็นเจ้าของอยู่ในเรือนว่างเปล่า คือขันธ์ ๕ นั้น เพราะเป็นขันธ์ที่ไม่มีเจ้าของหลง เพราะทอดบังสุกุลไปแล้ว คล้ายกับเอาไฟไปเผา น้ำลายที่เทออกจากกระโถนแล้ว เจ้าของน้ำลายย่อมไม่เดือดร้อนและไม่ผูกเวรผูกภัย

๏ ผู้ไม่ต้องระวังใจ

ผู้เขียนอยู่นี้ล่ะเป็นอย่างไรเล่า

ตอบว่า เขียนตามกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร จะเอาการเขียนการอ่านมาเป็นเครื่องบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ต้องอยู่ฟากการเขียนการอ่านย้อนหลังคืนมา มิได้ข้ามฟากไปหาอนาคต และอดีต แล้วแต่ศาลธรรมในปัจจุบันตรวจดู จะตรวจผิดตรวจถูก ก็ขึ้นอยู่กับศาลธรรมในปัจจุบันเท่านั้น ศาลอดีตก็ล่วงไปแล้ว ศาลอนาคตก็ยังไม่มาถึง ศาลปัจจุบันเท่านั้นจึงจะตัดสินได้ ถ้าหากว่าศาลปัจจุบันไม่ลำเอียงก็ตัดสินพอดีพองาม ถ้าหากว่าลำเอียงแล้วก็ตัดสินหย่อนบ้างเกินบ้าง ลำเอียงหมายความว่ากิเลสยังหลายอยู่ ปรมาณูของกิเลสย่อมดึงดูดไปไม่รู้ตัว

ธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันลุ่มลึกละเอียดมากกว่าศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจวาสนาน้อย อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ยังอ่อนอยู่ ย่อมเป็นไปได้ยาก

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นั้นท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ประการให้สมดุลกันคือ

ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาปมีบุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น เชื่อว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์ หรือพุทธบัญญัติ และอภิสมาจาร ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นรายๆ ไป แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกัน เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคลอีก

วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนกัน ที่เอาศีลมาแทรกเข้านี้เป็นโวหารพิเศษ ความหมายของพระพุทธศาสนาโดยมากถ้ากล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะถือเป็นกฎเกณฑ์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระโสดาบันเป็นต้นไป เพราะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสู่โลกุตร ก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่วนเวียนเหมือนศีลสมาธิ ปัญญาของโลกียวิสัยเพราะข้ามโคตรโลกิยะแล้ว ไม่สงสัยในปฏิปทาทางดำเนินของตน

มีปัญหาว่าพระอรหันต์เล่า จัดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือไม่

ตอบแบบติดไม่คาว่า จัดเป็นมหาวิมุตติศีล มหาวิมุตติสมาธิ มหาวิมุตติปัญญา แต่มิได้เรียงแบบ กลมกลืนกันอยู่ในขณะเดียวทุกอิริยาบถของจิตใจ มิได้รักษาลำบากเหมือนผู้คุมคุมนักโทษ เพราะเจอของที่ไม่มีโทษเจือเลยแม้แต่นิดเดียว ผู้เตรียมระวังอยู่ กับ ผู้ยังมีโทษอยู่ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้มีใจที่ไม่มีโทษแล้วจะระวังใจทำไม แต่เมื่อยังไม่ถึงพระอรหันต์ก็ต้องระวังใจอยู่ ถ้าไม่ระวังมันก็ผิดจริงๆ ไม่น้อยก็มาก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะเป็นหน้าที่ส่งเมล์เข้ามาสู่เมืองใจ ใจผู้ตรวจเมล์เป็นตัวสำคัญ เมื่อรับทราบแล้ว ใจโอนเอียงไปทางไหนเล่า ใจต้องตรวจดูใจทั้งเหตุผลโดยเฉพาะใจให้แยบคาย ใจอย่าตื่นว่าเป็นเมล์ใหม่ก็แล้วกัน คือเมล์เก่าเรื่องเก่าที่เคยส่งเข้ามาประจำเป็นนิจวัตรนั้นเอง

ถ้าใจต่ำ รับเมล์แล้ว ก็รักบ้าง ชังบ้าง เฉยบ้าง, คำว่า เฉย แปลว่า เมล์ที่ไม่น่ารัก เมล์ที่ไม่น่าชัง

ใจชั้นสูงก็เป็นแต่สักว่ารู้ เป็นแต่สักว่าเห็น (รู้ในที่นี้หมายความว่ารู้ด้วยปัญญา เห็นในที่นี้หมายความว่าเห็นด้วยปัญญา)

ส่วนใจชั้นกลาง สติปัญญาชั้นกลางก็สารพัดจะน้อมลงสู่ตามสติปัญญาของตนๆ ตามอิสระเท่าที่เห็นสมควร เพราะนานาจิตตัง นานาธัมมัง

ท่านผู้ไม่ติดอยู่ในจิต ไม่ติดอยู่ในธรรม ไม่ติดอยู่ในผู้รู้นั้นคือพระอรหันต์ เพราะรู้เท่าจิต รู้เท่าธรรม รู้เท่าผู้รู้โดยแท้จริงแล้วจิตก็ดี ธรรมก็ดี ผู้รู้ก็ดี จึงไม่มีพิษ ไม่เป็นปัจจัยส่งต่ออะไรๆ ให้เป็นไปในอนันตรเหตุ อนันตรผลอันเป็นสหชาติให้วนเวียนในสังสารวัฏ

อวิชชาตัวโง่ๆ หลงๆ ถูกทำลายไปด้วยมรรคปัญญาญาณอันถ่องแท้ เป็นมหาสัมมาวิมุตติ เป็นมหาสัมมาญาณสามัคคี กลมเกลียวดึงดูดกันทันเวลาในขณะเดียวโดยมิได้ส่งส่ายร้องเรียกหา ชนะสงครามโลกหลงด้านภายในที่เคยดองขันธสันดานมาไม่มีประตูไม่มีเวลาจะขบถคืนได้ เรียกว่าชนะสงครามอวิชชาก็ได้ไม่ผิด

สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ไม่ต้องกล่าวพรรณนาเรียงแบบไปก็ได้ ไม่ต้องสาวไป ไม่ต้องสาวกลับ เป็นอนุโลมเป็นปฏิโลมก็ได้ เพราะตัดในระหว่างไหนๆ (ถ้า) ขาดแล้ว (เป็น) ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเหตุว่าเป็นเชือกเส้นเดียวกัน เป็นบ่วงอันเดียวกัน เป็นลูกโซ่อันเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องติดโยงกันเป็นวงกลม ตัดขาดที่ไหนใช้ได้ทั้งนั้น แก้ได้ทั้งนั้น หลุดไปได้ทั้งนั้น พ้นไปได้ทั้งนั้น ไม่สงสัย

๏ ยินดีในปัจจุบัน คือ ปฏิบัติถูกทาง

บางท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเบื่อชอบแล้ว หน่ายชอบแล้ว พ้นชอบแล้ว ในเรื่องอดีต อนาคตนี้ แต่ทุกวันนี้อาศัยอยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้นดังนี้ก็มี

แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนเข้าใจว่า ผู้ยินดีในปัจจุบัน แปลว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เดินมรรคภาวนาถูกทาง แต่ยังมิได้หลุดพ้นถึงขั้นอรหันต์ เป็นเพียงเดินมรรคใดมรรคหนึ่งอยู่เท่านั้น และได้รับผลใดผลหนึ่งอยู่ในตัวเท่านั้น ยังมิใช่อรหัตผล เป็นเพียงได้ดื่มปีติความอิ่มใจที่พอใจในสมถะและวิปัสสนาในปัจจุบัน แล้วหลงยึดถือเอาปัจจุบันเป็นพระนิพพาน

ปัจจุบันมิได้เป็นพระนิพพาน เป็นเพียงทางเดินเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นเอง ด้วยอำนาจมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีกับศีล สมาธิ ปัญญารวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ในชั้นติดอยู่ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมนี้ มิใช่เดินทางถึงปลายทางแล้ว เป็นเพียงใช้คำว่าเดินถูกทางเฉยๆ

ท่านผู้ถึงอรหัตผลแล้วมิได้ติดข้องอยู่ในอดีต อนาคตหรือปัจจุบันหรือสูญๆ สาญๆ หรือไม่สูญไม่สาญหรืออะไรๆ ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าติดอยู่เงื่อนใดเงื่อนหนึ่งแห่งปัจจุบันแล้ว วิญญาณปฏิสนธิก็มีเกิดมีตายอยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั้นเอง

ความทะเยอทะยานในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม เป็นสมุทัยและตัณหาอันละเอียดมาก เมื่อเป็นตัณหามันละเอียดก็เป็น อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ อันละเอียดอยู่ในตัวด้วยไม่ต้องจำกล่าวไปใยก็ได้

เหตุไฉนจึงติดอยู่ในปัจจุบัน จนลืมตัว จนสำคัญตนว่าตนพ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า สำคัญตนเป็นปัจจุบัน และ สำคัญปัจจุบันว่าเป็นตน ใน ๒ แง่นี้ แล้วก็แตกแยกออกไปอีกเป็นอีก ๒ แง่รวมเป็น ๔ คือ สำคัญว่า ผู้อื่นเป็นปัจจุบัน สำคัญว่า ปัจจุบันเป็นผู้อื่น

เมื่อสำคัญว่าตนมีอยู่ในปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน แล้วจะไม่หลงไปยึดถืออดีต อนาคตว่าเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคลนั้นเป็นไม่มีเลย เป็นเพียงสติปัญญาไม่กล้า แล้วก็เข้าใจผิดฟิตตัวขึ้นว่าละได้แล้วเรื่องอดีตอนาคต ความสำคัญตัวย่อมเป็นรากเหง้าของกิเลสอยู่โดยตรงๆ แล้ว จะปฏิเสธไปไหนก็ไม่รอดได้เลย

อดีต อนาคต ปัจจุบันก็คล้ายๆ กับปลาตัวเดียวกัน แต่หัวและหางไม่กิน เพราะไม่อร่อย แต่เป็นยาเสพติด มากินพุงของมันที่ตรงกลางตัวแล้วจะยืนยันว่าเราไม่กินปลาตัวนั้นดอก ดังนี้ก็ไม่พ้นตกอยู่แบบฉลาดแต่แกมโกงซึ่งๆ หน้า ท่านผู้ทรงคุณปัญญาคมคายชำแรกกิเลส ย่อมรู้ได้ไม่ต้องดำดินบินบน เหมือนนกและปลาไหล ก็รู้ได้ไม่ค่อยผิด

ปัญญาย่อมเป็นนายหน้าของธรรมทุกประเภท ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทางโลกีย์หยาบ ๆ ที่เป็นนายหมวด นายพรรคนายพวก นายพัน นายพลเป็นต้น ต้องเอาผู้ฉลาดเป็นหัวหน้า ทางพุทธศาสนาว่าบัณฑิต ปัณฑิตา ปรินายกา บัณฑิตเท่านั้นจึงควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา คือใจที่ประกอบด้วยปัญญา นัตถิพาลา ปรินายกา คนพาลมิควรเป็นหัวหน้า ใจที่เป็นพาลไม่ควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา นี้น้อมเข้ามาในฝ่ายปฏิบัติทางธรรมปรมัตถ์ เพื่อให้รู้ชัดปฏิบัติสะดวกเป็นโอปนยิโกไม่ส่งส่ายหนีหลักเดิม

การนึกคิดทั้งปวงออกไปจากคอกใจ ต้องกลับเข้าคอกใจ ใครเป็นเจ้าของใจ ใจที่มีกิเลสย่อมยึดถือเอาใจเป็นตน ตนเป็นใจ ใจที่ไม่มีกิเลสสิงจะบัญญัติและไม่บัญญัติก็มิได้ติดอยู่ในเงื่อนใดๆ ทั้งสิ้น นี่ธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงใดเล่าโลกาเอ๋ย เหตุนั้นพระบรมศาสดาตรัสรู้ใหม่ๆ จึงใช้กิริยาระอา (ที่) จะสั่งสอนโลก และเป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องใช้กิริยาอย่างนั้นก่อน จึงเป็นเหตุให้พรหมได้อาราธนาตามธรรมเนียม

๏ ธรรมเนียม กับ ธรรมวินัย

ธรรมเนียม อ่านว่าธรรมเนียม ธรรมเนียมนี้ว่าโดยย่อแบ่งออกเป็น ๒ เป็นโลกิยธรรมเนียม เป็นโลกุตรธรรมเนียม

สัมมาสัมพุทธธรรมเนียม ปัจเจกพุทธธรรมเนียม สาวกธรรมเนียม สาวิกาธรรมเนียม โสดาปัตติมรรคโสดาปัติติผลธรรมเนียม สกทาคามิมรรคสกทาคามิผลธรรมเนียม อนาคามิมรรคอนาคามิผลธรรมเนียม อรหัตมรรคอรหัตผลธรรมเนียม จะธรรมเนียมใดๆ ก็มีธรรมวินัยเป็นประมาณขอบเขตไม่เลยเถิด เพราะอยู่ระดับธรรมวินัยเป็นชั้นๆ ของภูมินั้นๆ ไม่ได้เอากิเลสเป็นนายหน้านายกของธรรมเนียมเพราะเข้าสู่โลกุตรธรรมเนียมแล้ว

โลกิยธรรมเนียมนั้นเอาเป็นประมาณไม่ได้ หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี เพราะทางโลกิยวิสัยเลือกเฟ้นธรรมวินัยมาเป็นอาจารย์ยังไม่สันทัด ยังบกพร่องทางเหตุผลอยู่

บางทีเหตุชั่วแท้ๆ บัญญัติเอาดื้อๆ ว่าเหตุดีก็มี เช่น เหตุแห่งอบายมุขทุกประเภทเป็นต้น เป็นเหตุแห่งฉิบหายโต้งๆ ไม่มีศาลอุทธรณ์เลยในทางธรรมวินัย แล้วบัญญัติเอาดื้อๆ ว่าเป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ก็ไม่ผิดแปลกจากบัญญัติว่า กงจักรเป็นดอกบัว แล้วเอื้อมมือเข้าไปจับ มือก็ขาด แล้วก็ไม่รู้ตัวเลยว่ามือขาด เพราะเข้าใจผิดว่ากงจักรเป็นดอกบัว โลกิยวิสัยย่อมเป็นกันอยู่อย่างนี้เป็นส่วนมาก

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงลงทุนลงแรงสร้างบารมีมาในสงสารอเนกปริยาย เพื่อขนรื้อเอาสัตว์ออกจากความเข้าใจผิด ที่เห็นผิดเป็นชอบ เพื่อให้เห็นชอบเป็นชอบตรงกับเหตุตรงกับผล ด้วยทรงพระเมตตาอันหาประมาณมิได้ ด้วยทรงพระมหากรุณาดังสาครอันหาประมาณมิได้เลย ถึงกระนั้นก็รื้อได้ขนได้เท่าเขาโคเท่านั้น ส่วนขนโคนั้นรื้อไม่ได้ มอบไว้ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตต่อไปตามกรรมและผลของกรรมของสัตว์โลกแต่ละรายเป็นยุคๆ และสมัย

๏ ทำดี ทำชั่ว ไม่ล้าสมัย

เขียนทั้งต่ำ ทั้งสูง ทั้งลึก ทั้งตื้นปะปนกันไป เมื่อมีเวลาชีวาทรงอยู่ ก็เขียนซะซ้ำซากตามประสาของผู้รู้งูๆ ปลาๆ ล้าสมัย แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดล้าสมัยเลยในโลกนี้ ถ้าทำดีก็ไม่ล้าสมัยในทางดี ถ้าทำชั่วก็ไม่ล้าสมัยในทางชั่ว ถ้าพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วก็ไม่ล้าสมัยจากพระอรหันต์ ไม่ล้าสมัยทั้งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยการไม่ล้าสมัย ก็ไปจบกันในที่นั้น ต่ำกว่านั้นลงมา การไม่ล้าสมัยขึ้นอยู่กับเหตุผลทางดีและทางชั่วที่สร้างขึ้น

หันย้อนคืนมาปรารภเจตนาของผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่นลงมามี ๒ เจตนา คือ เจตนาโลกิยะหนึ่ง เจตนาโลกุตระหนึ่ง

เจตนาก็ดี ความประสงค์ก็ดี ความต้องการก็ดี ความหมายก็ดี ความอธิษฐานก็ดี ความหวังก็ดี ก็มีความหมายแห่งใจความและรสชาติอันเดียวกัน จะผิดกันบ้างก็แต่ต้องการช้าหรือเร็วเท่านั้นแหละ

เจตนาโลกุตระก็แจกออกไปหลายประเภท

ประเภทที่ ๑ เจตนาพุทธภูมิ ออกปากบ้างไม่ออกปากบ้าง ได้รับลัทธพยากรณ์บ้าง ยังมิได้รับบ้าง ตามเหตุผลที่ได้สร้างมาน้อยและมากในปุเรชาติ

เป็นศรัทธาธิกะบ้าง ปัญญาธิกะบ้าง วิริยาธิกะบ้างตามเจตนาที่ชอบของตน พุทธภูมิจำพวกที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจึงเป็นการแน่นอนได้ ไม่มีเจตนาเปลี่ยนแปลงไปทางอื่น ต่ำกว่านั้นลงมาในพวกปรารถนาพุทธภูมินี้สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนาของตนไปทางอื่นได้ เช่น เจตนาเปลี่ยนแปลง ลงมาเป็นปัจเจกภูมิ หรือสาวกภูมิก็อาจเป็นได้ ไม่แน่นอนได้เลย

บางจำพวกเมื่ออุปสมบทแล้ว ออกปฏิบัติเบื้องต้นก็เจตนาว่าจะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ ก็คลายออกเพราะเห็นว่าคงไปไม่รอด แล้วพลิกใจใหม่ว่าจะปรารถนาพุทธภูมิดังนี้ก็มี แล้วลาสิกขามาสู่ฆราวาสก็มี และไม่ลาก็ยังเป็นเพศบรรพชิตอยู่ จำพวกนี้ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจดี พิจารณายาก ขอฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายอธิบายให้ฟังแล

๏ ผู้จะพ้นทุกข์ในปัจจุบัน

จำพวกที่ปรารถนาพระปัจเจกภูมิ ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ วิริยาธิกะเหล่านี้ก็มีมากมายนัก ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วก็มี ไม่ทันได้รับลัทธพยากรณ์ก็มี ตามความยิ่งและหย่อนที่ได้ลงทุนลงแรงที่แสวงมา จำพวกที่ปรารถนาเป็นสาวกซ้ายขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตก็ยังมีมากมายนัก จำพวกปรารถนาสาวกฝ่ายเอตทัคคะและสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ยังมีมากมายเป็นอเนกอนันต์หาประมาณมิได้ ทุกๆ จำพวกที่ปรารถนาโลกิยสมบัติก็ดี หรือยังไม่รู้จักปรารถนาอะไรก็ดี ทำดีเรื่อยไป ทำตัวเรื่อยไป ก็ไม่สามารถจะพรรณนาได้

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่งนอก วิจัยท่านผู้อื่นทั้งนั้น ไม่ถือว่าเป็นของจำเป็นสำคัญอะไรนัก ถ้าไม่เขียนก็คะนองมือเพื่อแก้ง่วง ท่านผู้อ่านอ่านมาพบเข้า ขี้เกียจอ่านก็เปิดข้ามไปซะ หรือไม่อ่านเลยสักวรรคสักตอนก็ได้ เพราะมันไม่มีรูปเหมือนหนังสือพิมพ์ประจำวันประจำสัปดาห์ การอ่านการเขียนการนึกการคิดก็อยู่ในวิธีของกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร เกิดแล้วแปรดับไปเป็นระยะๆ ติดต่ออยู่ ต้องขึ้นอยู่กับผู้รู้ตามเป็นจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริงเท่านั้น

จำพวกที่เจตนาพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติและก็ไม่แอบกินอยู่แต่ความปรารถนาและเจตนาอย่างเดียว เตือนคนด้วยตนเอง ปลุกตนด้วยตนเอง อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติไม่ปีนเกลียว เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุขภายนอกหรือคราวเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญเยินยอ เสื่อมสุขอิงอามิสภายนอกไม่ถือว่าเป็นเสี้ยนเป็นหนามต่อเจตนาที่ตั้งไว้ ไม่เสียหายและไม่อาลัยว่าจะพลิกเจตนาและปรารถนาใหม่ ท่านจำพวกนั้นสร้างบารมีเต็มตื้นมาแล้ว และบางท่านก็พ้นไปแล้วจากบ่วงทั้งปวงสิ้นเชิง

และบางท่านก็โชกโชนถ่อ พาย แจวอยู่ภายในด้านจิตใจด้วยสติปัญญาอยู่ ไม่ได้ไว้ใจไม่ร้อนใจเลย แม้กายจะนอนอยู่ก็ตาม ยังไม่หลับเพียงไรก็มีสมถะและวิปัสสนากลมกลืนกันอยู่เพียงนั้น ไม่เรียงแบบไม่ส่งส่ายไม่สงสัย มีสติปัญญาเป็นกุญแจอยู่ในมือสติ มือปัญญา เปิดประตูข้ามหลงอยู่ในตัวแล้ว

มรรคจิต มรรคใจ มรรคสติ มรรคปัญญารวมพลเข้าเป็นเกลียวเดียวกัน ไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ผลจิต ผลใจ ผลสติ ผลปัญญาก็รวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลังพร้อมกันทันกาล ย่อมดับความหลงในสงสารเฉพาะส่วนตัวได้ไม่ขบถคืน ไม่ขบถตนคืนมาหลงอีก

ข้ามห้วยหนองคลองบึงบาง ทะเลมหาสมุทรภายนอกได้ตลอดถึงข้ามประเทศนอกได้ล้านๆ มหาประเทศ ล้านๆ มหาสมุทรก็ดี ด้วยเครื่องยนต์กลไกภายนอกไม่เท่าข้ามความหลงของตนได้ด้วยพระมหาปัญญาญาณอันถ่องแท้อันทรงสัมมาญาณบริบูรณ์ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมซึ่งหน้าแลนา

หน้าสติปัญญา กับหน้าหนังหุ้มหน้าผาก เป็นคนละวัตถุต่างกัน แต่ถ้าไม่หลงหนังหุ้มหน้าผาก ก็กลายเป็นหน้าสู้ หน้าปัญญา อยู่ในตัวอีกแล้ว เรียกว่าข้ามทะเลหลงหนังทั้งปวงได้แล้ว ทั้งทะเลหนังอดีต ทั้งทะเลหนังอนาคต ทั้งทะเลหนังปัจจุบันด้วยวัตถุอันอื่นๆ ไม่กล่าวอีกก็ได้ไม่เป็นไร

๏ วิญญาณมีจริงหรือ

ต่อไปมีเรื่องอะไรก็เขียนลงไปก๊อกๆ แก๊กๆ ตามประสาของกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารเพราะพระนิพพานมิได้มาเขียนมาอ่านด้วย

บาลีท่านถามว่า วิญญาณมีจริงหรือ

ผู้เขียนก็ต้องตอบว่า ผู้ถามก็เอามโนวิญญาณถาม ผู้ตอบก็เอามโนวิญญาณตอบ ผู้เป็นกรรมการก็เอามโนวิญญาณเป็นกรรมการ ผู้ถามก็ไม่ควรถาม ผู้ตอบก็ไม่ควรตอบ ผู้กรรมการก็ไม่ควรเป็นกรรมการ เพราะคล้ายๆ กับคนขี้เมาสุราถามและตอบกัน คล้ายๆ กับคนขี้เมาสุรามาเป็นกรรมการอีก จะกลายเป็นสภานกเค้าแมว เพราะมีลูกตาโตเสมอกันแล้ว

และก็ จักขุวิญญาณ วิญญาณทางดวงตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู ฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น กายวิญญาณ วิญญาณทางกาย มโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ วิญญาณทั้งหลายเป็นเมืองขึ้นของมโนวิญญาณ แล้วโทรเลขด่วน หรือโทรศัพท์ด่วนลงถึงมโนวิญญาณ แล้วทั้งอดีตที่ล่วงไปแล้วด้วย ทั้งอนาคตที่ยังไม่มาถึงด้วย ทั้งปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ซึ่งหน้าด้วย ถ้าหากว่าไม่รู้เท่าวิญญาณแล้วก็เป็นวิญญาณปฏิสนธิตะพึดตะพือ เป็นอนันตรปัจจัย เป็นอนันตรเหตุ เป็นอนันตรผล เป็นอนันตรกิเลส เป็นอนันตรกรรม เป็นอนันตรวิบาก เป็นอนันตรชาติ เป็นอนันตรภพ หรือจะว่าเป็นอนันตรภพ อนันตรชาติ ก็ได้

ในห้วงของปัจยาการปฏิจจสมุปบาทที่เกี่ยวข้องกันเป็นสายโซ่, โลภ โกรธ หลง เป็นสายโซ่หรือไม่ และต่างกันอย่างไรกับปัจยาการ

ตอบว่าเป็นสายโซ่อยู่โดยตรงๆ แล้วและไม่ต่างกันกับปัจยาการเลย มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ที่ไม่รู้เท่าปัจยาการ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ไม่รู้เท่า โลภ โกรธ หลง ก็มีความหมายอันเดียวกัน ไม่แปลกเลย ผู้ไม่รู้เท่าอดีต อนาคตและปัจจุบัน ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ไม่รู้เท่ากองนามรูป ก็มีความหมายอันเดียวกันนั้นแล ผู้ไม่รู้เท่าไตรลักษณ์ก็มีความหมายอันเดียวกันอีก

คำว่ารู้เท่าในที่นี้มิได้หมายความว่า รู้ตามสัญญาความจำมา เคยหูก็หันปากว่าไปเหมือน แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย เลย หมายความว่ารู้ตามเป็นจริงแห่งความหลุดพ้นโดยถ่องแท้ เป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณะ มิใช่มิจฉาวิมุตติ มิใช่มิจฉาญาณะ

๏ ผลย่อมสมควรแก่เหตุ

จะขอถามสักคำว่า ผู้เขียนอยู่เดี๋ยวนี้ล่ะ อยู่ระดับใดเล่า

ตอบว่า ไม่เป็นฐานะจะทุ่มเถียงกันก่อนศาลธรรมอันเป็นปัจจัตตัง และศาลธรรมสันทิฏฐิโก อันเป็นสิทธิท่านผู้พ้นและไม่พ้นแต่ละรายจะรู้ตัวเองเอาเทอญ จึงเป็นธรรมอันไม่นอกเหนือ ถ้านอกเหนือไปกว่านี้แล้ว คงเป็นธรรมย้อมแฝงแปลงมายา จะเอาเป็นประมาณมิได้

สันทิฏฐิโกและปัจจัตตังในทางพระพุทธศาสนาคงจะมีขอบเขต คงหมายเอาแต่พรหมจรรย์เบื้องต้นไป คือ พระโสดาบัน ไปจนถึงพระอรหันต์ มิฉะนั้นแล้วจะฟั่นเฝือเอาเป็นกฎเกณฑ์ไม่ได้ จะกล่าวให้พิสดารแล้ว โลกิยวิสัยผู้เขาทำดีทำชั่วตอนไหนๆ เขาก็รู้เขาอยู่ เว้นไว้แต่ผู้ไม่รู้จักดีจักชั่วเอาเสียเลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นปัจจัตตังและสันทิฏฐิโกอีก เพราะเหตุว่า จำพวกที่เขาถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ เขาก็รู้ตัวเขาว่า เราถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญเลยดังนี้ ฉะนั้นจึงตีความหมายได้ทั้งโลกิยะและโลกุตระ ได้มอบไว้เป็นสิทธิของเจ้าตัวแต่ละรายเท่านั้นเอง

คิดเห็นอะไรก็เขียนไปก๊อกแก๊ก ตามประสาผู้ล้าสมัย แต่ แก่เจ็บ ตาย มิได้ล้าสมัยไปทางใดเลย มีอยู่ทุกกาล

สังขารธรรมทั้งปวงก็ทรงอยู่ทุกกาล

ธรรมอันปราศจากสังขารก็ทรงอยู่ทุกกาล

หนทางปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากสังขารธรรมก็มีอยู่ทรงอยู่ทุกกาล

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสิ่งที่ล้าสมัย ไม่ว่าทางดีหรือทางชั่ว ทำเอาเวลาใดได้ทั้งนั้น ขอแต่เหตุวางลงไป ผลแม้ไม่ประสงค์ ก็ได้รับตามส่วนควรค่าแก่เหตุที่สร้างขึ้นน้อยและมาก จะไปทางดีทางชั่วแล้วแต่เหตุเป็นเกณฑ์ เจ้าเหตุเจ้าผลก็คือใจ (ยกเว้นพระอรหันต์เสีย) เพราะพระอรหันต์ไม่มีอุปาทานจะมาคอยรับได้รับเสียกับเหตุกับผล มิได้เป็นเจ้าเหตุเจ้าผลหรืออะไรๆ ทั้งนั้น เพราะได้ส่งเหตุส่งผลคืนให้สังขารทั้งปวงแล้ว มิได้กลับมาจี้ปล้นอีก เป็นธรรมทรงอยู่เหนือเหตุเหนือผลไปแล้ว

เหตุใจ ผลใจ เหตุธรรม ผลธรรม ก็มีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน พระอรหันต์มิได้ติดอยู่ในรสใจส่วนนี้ และก็มิได้ติดอยู่ในรสธรรมส่วนนี้ด้วย เพราะใจส่วนอาศัยเหตุๆ ผลๆ ก็ดี ธรรมอันอาศัยเหตุๆ ผลๆ ก็ดี เป็นใจเป็นธรรมอันยังไม่ทันหลุดพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิง ใจที่ยังอาศัยหลักเหตุๆ ผลๆ อยู่ก็ดี ธรรมที่ยังอาศัยหลักเหตุๆ ผลๆ อยู่ก็ดี อย่างสูงก็เพียงพระอนาคามีเท่านั้น นัยนี้มิได้ปรารภข่มขี่พระอนาคามีแต่ประการใดเลย ปรารภตามธรรมชั้นสูง

เหตุใจผลใจอยู่ที่ไหน เหตุธรรมผลธรรมก็อยู่ที่นั้น สัมปยุตกันอยู่เกือบจะแยกไม่ออกได้ ไม่มีอันใดก่อน อันใดหลัง เปรียบเหมือนของหยาบๆ เช่น หลับตาและลืมตา ผลของมืดและผลของสว่างย่อมมีในขณะเดียวกันกับหลับและลืมตา โยงถึงกันไปเป็นระยะๆ ถี่ยิบ แม้เหตุของเจตสิกที่นึกคิดของจิตเล่า โยงถึงกันถี่ยิบไปเป็นซ้อนๆ เป็นสันตติ ติดต่ออยู่ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอน เกิดดับเร็วอีกด้วย เมื่อมีผู้เข้าไปสอดแทรกยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วยิ่งไม่มีเงื่อนต้น ยิ่งไม่มีเงื่อนปลาย เป็นมหาสังสารจักร เป็นมหาสังสารวัฏ เป็นมหาอนันตรปัจจัย เป็นมหาอนันตรเหตุ เป็นมหาอนันตรผล เป็นมหาอนันตรภพ เป็นมหาอนันตรชาติ เป็นมหาอนันตรอวิชชา ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ง่ายๆ และไม่พ้นความสงสัยในธรรมตอนนี้อีกด้วย และก็ไม่เห็นชัดแจ้งในไตรลักษณ์อีกด้วย จะเห็นได้บ้างก็ในกายหยาบๆ เท่านั้น

แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่เห็นกายบ้างเสียเลย เมื่อรู้ตามเป็นจริงของกายชัดแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็พลอยรู้ตามเป็นจริงไปเอง แต่ต้องเข้าใจ ว่ากายมิได้เป็นเจ้าเหตุเจ้าผลของบาปบุญคุณโทษ อยู่ต้นเหตุต้นผล เป็นเพียงรับใช้จิตเจตสิกและกิเลสเท่านั้น (ยกเว้นพระอรหันต์เสียเพราะไม่มีกิเลสจะมาปลอมแอบใช้ด้วย)

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2013, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“เขมปัตตเจดีย์ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” ณ วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุและเครื่องบริขารของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต



๏ จิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว

ท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมแล้ว จะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อาลัย ไม่รัก ไม่ปฏิบัติเนืองๆ ยิ่งๆ ในพระอานาปานสติลมหายใจออกเข้า แล้วนั่งคอยนอนคอยปรารถนาอยู่เฉยๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก และลมออกเข้ายาวหรือสั้นจะไม่ใช่กายอย่างไร ก็กายานุปัสสนานั่นเอง และก็ธาตุดินน้ำไฟลมที่สมดุลกันอยู่นั้นเอง จึงพอหายใจออกเข้าได้

ลมหายใจออกเข้า บางทีเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อุเบกขาบ้าง ก็เวทนานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วหรือกลางๆ ก็จิตตานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายสังขาร จิตสังขารก็ธรรมานุปัสสนานั้นเอง

(ไม่เรียงแบบก็ได้ไม่เป็นไรดอก)

แล้วกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ยกขึ้นสู่เมืองขึ้นของไตรลักษณ์ให้กลมกลืนกันเป็นเชือกสามเกลียว เป็นเป้าอันเดียวกันไม่ต้องแยก ไม่ต้องเรียง ไม่ต้องขยาย เห็นอยู่ ณ ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญา พร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง ติดต่ออยู่ พิจารณาอยู่ไม่ขาดสาย

ความเพลินความเมาความดิ้นรนในโลกทั้งปวง ทั้งอดีตอนาคตมันจะรวมพลมาจากประตูใด เพราะปัจจุบันมีอำนาจเหนือโลกอดีต เหนือโลกอนาคตแล้ว มิหนำซ้ำจะได้โต้ตอบกับปัจจุบันว่า ปัจจุบันเป็นเมืองขึ้นของใคร และใครมายึดถือเอาเป็นเจ้าของ จะได้ตะลุมบอนหั่นแหลกกันในปัจจุบันนั้น แต่อย่าได้ลืมลมออกเข้า เพราะลมออกเข้าเป็นแม่เหล็กอาจารย์เดิม ลมจะละเอียดสักเพียงใดอย่าได้ลืมเลย เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเป็นว่าวเชือกขาด จะเป็นช่างเหล็กที่ตีเหล็กไม่ถูกทั่ง เหล็กจะกระเด็นใส่หน้า ข้อนี้สำคัญมากนักหนา

๏ นักหลบมิใช่นักรบ

แต่นักภาวนากำหนดลมออกเข้า มักจะไปเสวยอยู่แต่ลมละเอียดเข้า ละเอียดแล้ว ลมหายไป ไม่ปรากฏว่ามีลมเลย เมื่อหมดกำลังแล้วถอนออกมาไม่ค่อยจะได้ความอะไรเฉพาะตน ได้ความแค่เพียงว่าสบายกายสบายใจชั่วคราว เลยกลายเป็นนักหลบมิใช่นักรบ ปัญหาของจิตใจยังค้างแขวนอยู่อักโข

แท้จริง (การ) เข้าไปแบบนั้น (ก็) เพียงให้รู้รสชาติเท่านั้น จะติดอยู่เพียงแค่นั้น ก็ไปไม่รอดอีก ถ้าไม่พักแบบนั้นก็ไม่ได้ แต่หมั่นพักบ่อยก็ไม่ได้งานอีก เพราะงานยังไม่เสร็จ และเวลาของชีวาแต่ละชาติละชาติก็มีน้อย และคำว่าชาติใหญ่ๆ หมายถึงชั่วขณะลมออกเป็นชาติหนึ่ง ลมเข้าเป็นชาติหนึ่งๆ ของส่วนกายสังขาร ส่วนจิตสังขารนั้นเป็นชาติอันละเอียด เร็วนัก เกิดดับติดต่อกันเร็วนัก

อนิจจาอันละเอียดมากมายแท้ๆ เมื่ออนิจจาละเอียดเข้าสักเพียงไรก็ดี ทุกขา อนัตตา ก็ละเอียดเข้าเป้าเดียวกัน ขณะเดียวกัน ถ้าส่งส่ายไปทางอื่น ก็ยิ่งตื่น ไม่เห็นชัดได้ เชื่อตนเองไม่สนิทได้ ย่อมขบถตนคืนอีก

ผู้ที่ทิ้งกรรมฐานเดิมที่ตนตั้งไว้ ย่อมไปตามนิมิตภายนอกต่างๆ นานา นิมิต แปลว่าเครื่องหมาย สารพัดจะรู้ จะหมายไป

หมายกับเหมือนก็พอเหมือนๆ หมายๆ นี้เอง มิใช่ตัวจริงดอก ได้เพียงแค่นั้นแหละ และผู้ติดนิมิต อิงกับอุปจารภาวนาไม่ค่อยลงคนได้ง่ายๆ นะ มิหนำซ้ำกล่าวตู่ในใจให้ผู้เทศน์ว่า คนภาวนาไม่ดีเท่าเขาแล้วมากุมเทศน์เขา อ้ายที่แท้นั้น เขาได้ตกนรกมาก่อนในตอนนี้แล้วและได้พ้นไปแล้ว และไม่ว่าใครๆ ในโลกถ้าไปติดอยู่ในชั้นใดๆ แล้วแกะยาก เพราะเป็นของบ่งให้กันไม่ได้เหมือนหนาม เว้นไว้แต่เห็นโทษตนเองในชั้นนั้น จึงจะกลับตัวได้เอง บางรายพอกลับตัวได้ก็บ่ายค่ำไปเสีย บ่ายก็คือแก่มากไปแล้ว ค่ำก็คือตายไปเสียแล้วแต่เนิ่นนานวัน

อานาปานสติเป็นกรรมฐานในพระพุทธศาสนาชั้นที่หนึ่ง เป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งปวงด้วย ผู้เจริญชำนาญแล้ว จะดึงกรรมฐานและวิปัสสนาภาวนาปัญญามารวมเข้าก็ได้ ไม่ขัดข้อง ไม่แสลงเลย เช่น นิโรธความดับตัณหา เป็นธรรมอันละเอียด จะดึงเข้ามาให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ทั้งนั้น

ยาขนานเดียวแก้โรคได้ทั้งล้านๆ อย่าง ก็คือพระอานาปานสตินี้ สามารถบรรเทาและแก้สรรพกิเลส สรรพตัณหาได้ ตามเหตุผลของท่านผู้เจริญน้อยและมากได้โดยตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลย ขอแต่ทุ่มเท ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาลง ให้สมดุลกันติดต่อไม่ขาดสาย นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายเมาในความหลง อันดองขันธสันดานมานมนาน ก็จะปรากฏเป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณะโดยแน่แท้ ไม่ต้องสงสัยเลย อย่าตีตนตายก่อนไข้ก็แล้วกัน อย่ากล่าวตู่ตนว่ามรรคผลนิพพานหมดไปแล้ว มุ่งกล่าวตู่พระพุทธศาสนา แต่ถูกกล่าวตู่ตนไม่รู้ตัวอีกด้วย

ผู้ไม่แยบคายในอานาปานสติแล้ว ไฉนจะเห็นเจตสิกที่เกิดดับได้ง่ายๆ เล่า เพราะตามลมเข้าออกไม่ถึงจิตและเจตสิก เมื่อไม่เห็นความเกิดดับได้ละเอียด ไฉนจะเห็นไตรลักษณ์ละเอียดเล่า นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายหลงจะเปิดประตูและหน้าต่างช่องใดให้ปรากฏแก่ตา ปัญญาญาณเล่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งโลกอดีต ทั้งโลกอนาคต ทั้งโลกปัจจุบันด้วย พระบรมศาสดาเทศนาสั่งสอนด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณอันหาประมาณมิได้ จนครบ ๔๕ พระพรรษา ก็หนักเน้นลงในไตรลักษณ์มากกว่าพระพุทธภาษิตอื่นๆ เพราะเป็นธรรมอันจะหลุดพ้นได้ง่าย

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นล่ำไม่เป็นสันและก็เป็นเรื่องที่ควรเขียนบ้าง บางทีมีผู้ชอบอ่านการขีดเขียนในสำนักปฏิบัติและก็เป็นหัวหน้าด้วยในสำนัก ก็ต้องได้สนใจอยู่มิใช่น้อยเลย บรรดาภิกษุสามเณรผู้มาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อปฏิบัติธรรม ต่างก็มีสิทธิสังเกตทุกแง่ทุกมุมในสำนักนั้นๆ สิ่งที่ไม่เหมาะสมอันเกินพอดี แม้จะไม่จับเอาไปพระนิพพานด้วยก็จริง แต่ก็ต้องได้พิจารณาอยู่นั้นเอง เพราะคนแต่ละคนย่อมมีอิสระพิจารณาทุกๆ ด้าน มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นคนฉลาดไม่ได้

หัวหน้าของหมู่ในสังคมหนึ่งๆ เป็นของสำคัญมาก ย่อมเป็นเป้าสายตาของคนทั่วไปอยู่โดยตรงๆ การติชมกาเลเทน้ำเป็นของมีอยู่ประจำโลกก็จริง แต่ก็ต้องรักษาในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย การรักษากับการปฏิบัติก็คงมีความหมายอันเดียวกัน เพราะรักษาในสิ่งที่ควรรักษา ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ตรงต่อเวลาในสิ่งที่ควรตรงต่อเวลา ปฏิบัติบรรจงในสิ่งที่ควรปฏิบัติบรรจง ทรงตัวและก้าวหน้าหาธรรมชั้นสูง

๏ ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม

การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อทดสอบให้ตนและอนุชนรุ่นหลังนี้ ย่อมไม่นิยมกาลเวลาของวัยอ่อน ปานกลาง หรือแก่ชรา แม้ถึงจะเดินไม่ได้ ไปไม่เป็น นอนคาที่ ก็ต้องมีธรรมเป็นเครื่องคำนึง ด้วยใจอันพอพึงเท่าที่ควรแก่ตน

ข้อวัตรของใจภายใน กับธรรมภายในนี้ ถ้าห่างเหินกันแล้วย่อมเหลิงเจิ้ง เวลาของกายเป็นเวลาภายนอกก็ว่าได้ไม่ผิด เวลาของใจกับธรรมเป็นเวลาภายใน สังสรรค์กันอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้ง สติปัญญาแก่กล้าจึงจะมองตามเห็นได้ จึงจะรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรและไม่ควรอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนได้ สติปัญญาอันชอบจึงจะเลือกใจเลือกธรรมที่ชอบได้ โดยเฉพาะของส่วนใจ ของส่วนกรรมที่ชอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลืนทั้งกระดูกและก้างแบบไม่มีการเลือก

การเฟ้นและการใคร่ครวญ ก็มีความหมายอันเดียวกัน คือเลือกเฟ้นใจ เลือกเฟ้นธรรม ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม ไม่ว่าสิ่งใดๆ ในโลก หรือในธรรม ถ้าเอาธรรมเป็นแว่นใคร่ครวญลงมิให้ ปีนเกลียวของธรรมหลายๆ รอบแล้ว ไม่ค่อยผิดพลาดในตอนนั้นๆ แม้จะผิดพลาดบ้างก็มีประตูแก้

ที่ผิดไม่มีประตูแก้นั้น เพราะขาดการพิจารณาก่อนลงมือทำ การลงมือทำมิได้หมายแต่เฉพาะมือภายนอก อันเป็นมือเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น หนัง หมายเอามือสติปัญญา อันสมดุลกับใจกับธรรม การพิจารณา จะตัดสินใจเอาตามอัตโนมติไป โดยไม่มองดูธรรมแท้ของพระองค์ที่กล่าวไว้ดีแล้วก็ไม่ได้ ถ้ากิเลสเจ้าตัวยังหนาแน่นอยู่ ความตกลงใจจะตัดสินเอาเองก็เข้าข้างกิเลสอีกไม่รู้ตัวด้วย

๏ แว่นส่องทางส่องใจ

ผู้ที่จะใคร่ครวญตัดสินใจ ตัดสินธรรม ส่วนตัวเองได้ ไม่ค่อยจะพลาดมาก ก็คือท่านผู้มีกิเลสขาดจากสันดานไปโดยเอกเทศ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา มีพระโสดาบันเป็นเกณฑ์ขึ้นไป ต่ำกว่านั้นลงมาย่อมสุ่มสี่สุ่มห้า และก็มักจะตีตนสูงเกินภูมิจิต เกินภูมิธรรมของตน เท่าที่มีอยู่ ทรงอยู่

ในปัจจุบันทันตามักจะเป็นจิต (ของ) กาธรรมดา ที่ไปเก็บเอาขนหางและขนหงอนของนกยูงที่ร่วงหล่นอยู่ตามป่า มาแทรกแซงขนของตัว เพื่อให้วิเศษกว่ากาทั้งหลาย ย่อมเป็นของเทียม ของแท้ยังไม่ได้ เป็นเพียงของปลอมอยู่โดยตรงๆ นั้นเอง

แม้สมัยโลกปัจจุบันเขาทำดาวเทียมได้ แต่เขาก็บอกล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ดาวเทียม มิใช่ดาวจริง เขาเอาโขนสวมหัวเขาพอดีพองาม พอเหมาะกับหัวเขาอยู่แล้ว และก็จะเป็นดาวเทียม ดาวจริงก็ตาม มันมิใช่กิเลสดอก ผู้ไม่รู้เท่าดาวเทียมดาวจริงแล้วติดอยู่ในคำว่าดาวๆ นั้นจึงเป็นกิเลสเพราะติดสมมุติอันนอกๆ

มันนอกออกจากใจแท้ ออกมาจากสังขารธรรมแท้ฝ่ายวัตถุ ที่จิตปรุงแต่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชาพระอนิจจัง สรรพไตรโลกธาตุเป็นเมืองขึ้นของธรรมอนิจจัง ธรรมฝ่ายสังขารก็หมายอันเดียวกัน เมื่อสังขารเต็ม ยัดเยียด เบียดเสียด อยู่ในสรรพไตรโลกธาตุ ก็เป็นหน้าที่จะได้อาศัยปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย อาศัยปฏิบัติเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง

คือคำว่าบุญๆ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์แห่งพุทธศาสนา อันเป็นโลกุตรบุญที่มีขอบเขตกฎเกณฑ์ มีโสดาบันบุญเป็นต้นไป บุญต่ำกว่านั้นลงมาเป็นโลกิยบุญ เป็นบุญที่ไม่แน่นอน เพราะมีหลายบางที บางทีก็ก้าวหน้า บางทีก็ทรงตัว บางทีก็ต่ำลง

ไม่เหมือน ภูมิบุญ ภูมิใจ ของพระโสดาบัน ภูมิจิต ภูมิใจ ภูมิบุญ ภูมิธรรม ของพระโสดาบัน เป็นมหาภูมิที่ก้าวหน้าโดยถ่ายเดียว ไม่มีคติภูมิจะตกต่ำเลย ข้ามปุถุชนคนหนาไปแล้ว ปิดอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเปรตทุกๆ จำพวก พร้อมทั้งสัตว์เดรัจฉานทุกๆ จำพวกแล้ว สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี เว้นส่วนหยาบๆ เหล่านี้ไปโดยสวัสดิภาพแล้ว ไม่เสียหาย ไม่อาลัยว่าจะล่วงละเมิด เป็นผู้มีแว่นส่องทางส่องใจแบบไม่มัว มองเห็นความสุขอันแท้จริงได้ อันตั้งอยู่ข้างหน้าเป็นระยะๆ จึงมีเงื่อนไขไม่เสียดาย ไม่อาลัยว่าจะถอยหลัง

๏ โสวนโสเวียนในโลกสงสาร

บางท่านศีล ๕ ยังไม่บริบูรณ์เลย การเลี้ยงชีวิตก็ยังสุ่มสี่สุ่มห้า ยังขายรูปขายเหรียญถือวันจมวันฟู ตลอดถึงอบายมุขทุกๆ ประเภทไม่ละเว้น

การค้าขายก็ค้าขายเครื่องประหัตประหาร ค้าขายสัตว์เป็น และเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษบ้าง

และยังถือมงคลตื่นข่าวนานาอเนก เช่น ตื่นข่าวว่าเลขจะออกตัวนั้นตัวนี้ วิชาไสยศาสตร์ต่างๆ

คบปาปมิตร คบมิตรปฏิรูป คนเทียมมิตรมิใช่มิตรแท้ คบมิตรชักชวนในทางฉิบหาย คบมิตรชักชวนดื่มน้ำเมา ชักชวนเที่ยวกลางคืน ชักชวนเที่ยวดูการเล่นและให้มัวเมาในการเล่น ชักชวนเล่นการพนัน

ไม่ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพุทธ ธรรม สงฆ์พอ ไม่เชื่อผลศีลผลทานพอ พร้อมทั้งสติปัญญาก็ยังอ่อนอยู่มาก บางคราวบวงสรวงผีสางเทวดา มีใจอาฆาตพยาบาทผูกเวร ด่าแช่งสัตว์ให้ถึงความพินาศ นึกในใจ หรือจนออกปาก ขี้หึงหรือริษยาทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น

แต่...แต่...แต่...สำคัญตนว่าเป็นพระโสดาบัน

ความสำคัญอันนั้นก็เป็นโมฆะโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย พระโสดาบันแบบนี้ควรให้คะแนนว่า พระโสเดา โสดัน โสเมา โสมัว โสขุ่นจนเป็นตม โสวนโสเวียนในโลกสงสาร ไม่มีคิวเลย

ผู้เขียนเองปล่อยความฟุ้งซ่านออกไปถวายต่อพระอนิจจัง ผู้ท่านนั่งบัลลังก์เฝ้าสรรพไตรโลกาอันเป็นนายหน้าของกองพลไตรลักษณ์ ถ้ารู้ประจักษ์แจ้งอยู่บ้างแล้วคงไม่คลาดแคล้วในธรรม

๏ ความดีมิใช่มาจาก ดิน ฟ้า อากาศ

การขีดๆ เขียนๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเอง

มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้นๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบ ปฏิบัติชอบ ประกอบกรรมอันดีเป็นลำดับ สูงส่งขึ้นไป ความดีและไม่ดี ไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสวง ถ้าหากว่า มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้ว ปีไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วม พระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าดีฝนดี จึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า

เมื่อไม่เล่าไม่ว่ากลอนกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารก็พาไป พาเขียนวนๆ เวียนๆ กันอยู่อย่างนี้ ท่านผู้ที่ทรงพระสติปัญญาย่อมสนุกดื่มอุเบกขา แต่ถ้าติดอยู่แต่อุเบกขาในขั้นต่ำหรือชั้นวิปัสสนาแล้ว ก็จะกลายเป็นอุเบกขวาง เพราะจะขวางทางอุเบกขาของอรหันต์ ย่อมเป็นหน้าที่ของท่านผู้ต้องการเรียนจบ ปฏิบัติจบ พ้นจบจะโอปนยิโก-ยิกะทั้งนั้น

ปรารภเรื่องใหม่ต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องเก่า เพราะจิตสังขารอันเก่า ธรรมก็อันเก่า มิได้อันใหม่มาจากไหนๆ เอส ธัมโม สนันตโน พระธรรมเป็นของเก่า คำว่าของเก่า มีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันอยู่ ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นเอา แต่บางท่านว่าจะเลือกเอาทองดีไปถูกทองเก๊ก็มี เลือกเอาผักดี แต่ไปถูกผักมีตัวบุ้งก็มี เลือกเอาของดีไปถูกของดีก็มีมากมาย และคำว่าอรหันต์ก็เป็นศัพท์เก่า คำว่าปุถุชนก็เป็นศัพท์เก่า มืดกับสว่างก็เป็นของเก่า ผู้ดื่มสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ผู้เว้นจากสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ ก็หายโต้แย้งในที่ว่าของเก่าแล้วละ

เมื่อหายโต้แย้งในเรื่องของเก่าแล้ว ก็หายโต้แย้งในเรื่องของใหม่ การยืนยันว่าเป็นของเก่า เป็นฝ่ายธรรมปรมัตถ์ การยืนยันว่ามีทั้งเก่าทั้งใหม่ เป็นฝ่ายสมมุติ เพราะสมมุติมีการหมายความตื้นกว่าปรมัตถ์ (คล้ายกับน้ำลึกตื้นและใสสะอาด และจืดและเย็นดีต่างกันไป) ถ้าหากจะโต้แย้งได้ แต่ไม่มีประโยชน์ แย้งว่าถ้าไม่มีของเก่า ของใหม่แล้ว ทำไมจึงไม่ไปกินอาหารที่บูดราเสียเล่า ทำไมจึงไม่ไปเอาผ้าขี้ริ้วมาปะกันนุ่งห่มเล่า เอาผ้าใหม่มาใช้ทำไม และผู้กล่าวว่าเป็นของเก่านั้น เป็นธรรมอันลุ่มลึกมาก ไม่ใช่ว่าผู้ยืนยันว่าของเก่านั้นเขาจะไม่รู้ของใหม่ตามสมมุติเลย พูดเพื่อให้ชวนสำเหนียกด้านปัญญาเป็นอุบายเพื่อมิให้หลงของใหม่และของเก่าอยู่ในตัว

ธรรมดาคนมีกิเลสมาก ชอบจะตั้งอยู่ในของที่สมมุติว่าใหม่ๆ ล้านๆ เปอร์เซ็นต์ เมื่อหลงและติดของใหม่ ก็หลงและติดของเก่าอยู่ในตัว เมื่อหลงสมมุติ ก็ต้องหลงวิมุตติ เมื่อหลงได้ก็ต้องหลงเสีย เมื่อหลงหนังก็ต้องหลงกระดูก เมื่อไม่หลงหนัง ก็ไม่หลงกระดูกเลย ไม่ต้องกล่าวไปไยในตอนนี้ก็ได้ เรื่องหลงๆ ใหลๆ หลำๆ นี้ย่อมไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายอวิชชา ถ้าหากข้ามทะเลหลงด้วยพระสติพระปัญญาอันถ่องแท้โดยสิ้นเชิงได้แล้ว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ข้ามโลกได้ จะเอาเครื่องยนต์กลไก หรือเหาะไป บินไป ภายนอกเร็วเท่าใด สิ้นเวลาล้านๆ ปีก็ข้ามโลกไม่ได้เลย

๏ ผู้หลงผู้รู้

มีคำถามว่า การข้ามหลงจะข้ามด้วยวิธีไหนได้หนอ

ตอบย่อๆ พอฟังได้ง่ายๆ ว่า

ข้ามผู้รู้รู้ได้โดยมิได้ยึดถือว่า ผู้รู้เป็นเรา เขา สัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะจิตใดๆ เลย แล้วได้เรียกว่าเราข้ามความหลงได้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง

ถามต่อไปว่า ผู้รู้รู้ กับสังขารต่างกันอย่างไร

ผู้รู้รู้ ก็คือสังขาร อันละเอียด อันประณีตนั้นเอง เพราะเกิดอย่างละเอียด ดับอย่างละเอียดมาก เกิดขึ้นแปรดับพร้อมกันในขณะเดียวกัน ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลังเลย ติดต่อกันเป็นพืด (ถ้า) สติปัญญาไม่แนบสนิทอยู่กับผู้รู้รู้แล้ว ก็ยากจะรู้ได้โดยถ่องแท้ว่าเกิดดับเป็น เมื่อผู้รู้รู้เกิดดับเป็นอย่างว่องไวละเอียดลออแล้ว จะไปเป็นทิฏฐิบัญญัติว่าผู้รู้เป็นพระนิพพานนั้น ก็ย่อมเป็นงูกินหางตนอยู่นั้นเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ พระนิพพานมิได้มาเป็นลูกน้องของผู้รู้ มิได้มาสังสรรค์กับผู้รู้อีกด้วย และมิได้มาบัญญัติว่าสูญหรือไม่สูญ เอาโขนสวมหัวใส่ตนอันใดเลย เป็นเรื่องของผู้รู้ไม่รู้เท่าเงาของตัวต่างหาก จึงกล่าวเป็นภพเป็นชาติอย่างละเอียดไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ธรรมที่ถูกถามตอบกัน เป็นธรรมหมู่ ธรรมคู่ ที่สังสรรค์ต่างหาก มีรสชาติอันอิงผู้รู้อยู่เป็นเครื่องหมาย มิฉะนั้นก็ไม่มีเงื่อนไขจะอธิบายโต้ตอบและถามได้ ต้องอาศัยขันธวิบากและผู้รู้ตอบถามกันเป็นธรรมาสน์ พระนิพพานแท้มิได้มาตอบถามกับท่านผู้ใด ยกอุทาหรณ์หยาบๆ ดินฟ้าอากาศมิได้มาตอบถามกับผู้รู้และไม่รู้ฉันใด พระนิพพานก็ฉันนั้น พระนิพพาน มิได้มากล่าวชีวประวัติตนเองและผู้อื่นให้เป็นคัมภีร์อะไรเลย ผู้รู้เมื่อรู้ถูก ปฏิบัติถูก ก็เป็นเพียงทางเดินเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น มิได้เป็นเนื้อธรรมนิพพานแท้

ถ้าหากว่าตายคาผู้รู้รู้ มีอุปาทานอยู่ในผู้รู้และจิตใจอันเด่นดวง ก็ไปเกิดในพรหมโลกที่ไม่มีรูป ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะได้แท้ นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยด่วนแน่แท้ มักจะคาอยู่ที่นี้เป็นส่วนมากนัก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีท่านผู้พ้นไปจากนี้ได้ เป็นเพียงมีมากน้อยกว่ากันเท่านั้น เขาโคกับขนโคแม้อรหันตาขีณาสวา เข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว มากกว่าเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทร ๔ หรือ ๕ มหาสมุทร หรือมากกว่านั้นก็จริง บรรดาที่ยังเหลืออยู่นั้น จะกี่อสงไขยมหาสมุทรเล่า เพราะเขาโคกับขนโคดังปรารภมาแล้วนั้นซ้ำๆ ซากๆ

๏ บัดนี้ เราจะดูเราตาย

ย้อนคืนหลังในยุควัดป่าบ้านหนองผือที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ในตอนที่ข้าพเจ้าป่วย ถ่ายเป็นเลือด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะป่วยถ่ายเป็นเลือดนั้น ข้าพเจ้าแบกฟืนหนักเกินกำลังไปที่ลานวัด ขณะนั้นเป็นฤดูฝน ข้าพเจ้าหลบขุมปลวกล้มลง คุกเข่าทัน พร้อมทั้งทิ้งฟืนทันด้วย กระทบกระเทือนหัวใจ แต่ก็ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไร อยู่มาไม่กี่วันก็หายเจ็บหายปวด

แต่อยู่ต่อมาอีกประมาณกึ่งเดือน ก็ถ่ายเป็นเลือด ออกเป็นลิ่มๆ เท่านิ้วมือ ในขณะที่ถ่ายนั้นไม่ได้ปวดท้องอันใดเลย แต่ถ่ายวันหนึ่งๆ หลายๆ ครั้ง ถ้ารวมการถ่ายเป็นเลือดเป็นแท่งออกนั้น ก็คงจะได้ประมาณครึ่งกระโถน

ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหนื่อยมาก ในวันที่ถ่ายนั้นเองก็นอนลงที่กุฏิของตน นอนตะแคงข้างขวาเอาเท้าซ้อนกัน เอามือขวายกขึ้นแนบกับหมอน แล้วเอาแก้มลงทับมือ มือซ้ายเหยียดตรงตามร่างกาย นึกในใจว่าเราเห็นแต่ท่านผู้อื่นตาย เราไม่เคยเห็นเราตาย บัดนี้เราจะจ้องดูเราตาย มันจะตายพร้อมกับลมออกหรือลมเข้า

ข้าพเจ้าจึงตั้งสติไว้ในที่ลมมากระทบออกเข้า แล้วก็บริกรรมพร้อมกับลมออกเข้า บริกรรมว่าตายๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ประมาณ ๑๕ นาที แล้วพลิกจิตว่า ธรรมของพระองค์จะตายไปที่ไหน จะแตกตายเป็นก็แต่สังขารเท่านั้น แล้วก็พลิกบริกรรมใหม่ว่า ไม่ตาย ไม่ตายพร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายประมาณ ๒๐ นาที จิตใจก็รวมพึ่บลง แล้วปรากฏว่าทะลุหลังคากุฏิขึ้นไปบนอากาศสูงแล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศนั้น

ตอบตนเองในขณะนั้นว่า นี่แหละสมาธิ เราไม่ต้องสงสัยดอก จะตั้งอยู่ในที่อากาศนานเท่าใดก็กำหนดไม่ได้ ครั้นหมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา การถอนออกมาก็รู้สึกว่าเหมือนกิริยาที่เข้าไป แล้วก็มาเห็นลมออกลมเข้าเบาๆ ร่างกายก็เบาที่สุดในขณะนั้น การไปถ่ายเป็นเลือดก็จบลงเพียงนั้น และการที่จิตถอนออกมานั้น การนอนตะแคงข้างขวาก็อยู่ตามเดิมหาได้เคลื่อนที่ไม่

ในขณะนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันเย็น ประมาณ ๔ โมงกว่าๆ แล้ว หลวงปู่มั่นกำลังสรงน้ำ และตามธรรมดาก็ไม่ไกลจากกุฏิข้าพเจ้า คงประมาณ ๒๐ วา ธรรมดาองค์หลวงปู่พูดเสียงดัง หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า

“วันนี้ไม่เห็นท่านหล้ามา เธอไปไหนไม่ทราบ”

มีพระองค์หนึ่งตอบขึ้นว่า “ท่านป่วย ถ่ายเป็นเลือดครับ”

พอท่านทราบอย่างนั้น องค์ท่านก็พูดดังๆ ขึ้นว่า

“เอา ดูดู๊ๆ บัดนี้เธอเข้าจนมุมแล้ว จะภาวนาได้ความอย่างไร ก็จะเห็นกันในคราวนี้”

ครั้นต่อมาเป็นวันใหม่ถึงเวลาสรงน้ำข้าพเจ้าก็ไปทำข้อวัตรกับหมู่เพื่อนได้

องค์ท่านและหมู่เพื่อนก็ถามว่า “หายแล้วหรือจึงมา”

ข้าพเจ้าจึงตอบว่า “หายแล้วครับ แต่ว่านอนหลับตาภาวนา ก็ปรากฏว่าเหาะขึ้นไปบนอากาศ นอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศ ไม่รู้ว่านานเท่าใดจำไม่ได้ แล้วก็ถอนออกมา เห็นลมหายใจเข้าออกแบบเบาๆ”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “นั้นไม่ใช่นอนหลับดอก จิตร่วมในชั้นอุปจารสมาธิ”

จาระ แปลว่า ไปตามปีติที่ปรากฏว่าเหาะขึ้นกลางอากาศขวางอยู่

ไม่ว่าแต่เท่านี้ ในยุคที่อยู่กับหลวงปู่มั่น นิมิตของข้าพเจ้าโลดโผนมาก บางทีเดินจงกรมในอากาศ บางทีขัดสมาธิในอากาศ บางทีตีลังกาในอากาศ บางทีเหาะไปทางนอน สารพัดจะเป็นไป แต่ก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นผู้ประเสริฐ หมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ ก็เห็นประจักษ์แจ้งไม่สงสัย

ในยุคสมัยหลวงปู่มั่น พระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่ในสำนักนั้น ต่างก็พิถีพิถันประชันขันแข่งกันทำความเพียร ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน แม้จะคุยกันซุบๆ ซิบๆ อยู่ที่ไหน ไม่ใช้เสียงก็ดี ปรารภกันแต่เรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก เป็นของหาได้ยากมากในสมัยโลกดาวเทียมปัจจุบันนี้

อนึ่ง ข้อวัตรปฏิบัติขององค์หลวงปู่มั่น เฉพาะส่วนตัวองค์ท่านการบริหารตนเองเป็นขั้นที่ ๑ ลูกศิษย์ที่ขอนิสัยเป็นชั้นที่ ๒ โยมอุบาสิกาเป็นชั้นที่ ๓ องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมากในเวลากลางวันและกลางคืน แต่ละมื้อ แต่ละวัน

การที่ข้าพเจ้านำมาเขียนนี้เอง ก็เพราะเกิดสงสัยว่ายังไม่ได้เขียนไว้ในยุคนั้นๆ หรือหากว่าซ้ำๆ ซากๆ เบื่อหูก็ขออภัยแก่ท่านผู้อ่านด้วย

อนึ่ง ยุคภูจ้อก้อนี้ให้เข้าใจว่าปรารภแต่เรื่อง ๒๕๒๔ คืนหลังลักๆ ลั่นๆ ไม่พิสดารนัก แต่พอมาเขียนเพิ่มเดี๋ยวนี้มันก็เป็นเวลาพุทธศักราชล่วงมา ๒๕๓๐ นี้

ต่อจาก ๒๕๒๔ มาในยุคภูจ้อก้อบานหน้าขึ้นมาก เพราะมีพระและเณรจำพรรษามาก คำว่ามากก็ ๓๐ กว่าๆ และก็มีญาติโยมท่านผู้ใจบุญมาจากต่างทิศเช่น พระนครหลวงเป็นต้น มาก่อๆ สร้างๆ เป็นต้นว่าไฟฟ้า หนทางขึ้นภูเขาและน้ำประปาและศาลาโรงธรรม ตลอดทั้งห้องน้ำคอนกรีตและห้องน้ำไม้บริบูรณ์พอควร จะถือว่าให้ความสะดวกเหนือวาสนาของข้าพเจ้าก็อาจเป็นได้ แต่ไม่ได้ออกชื่อลือนามของท่านเหล่านั้น และก็หวังว่าท่านเหล่านั้นไม่ชอบหน้าชอบตา คงจะชอบแต่กุศลผลบุญเท่านั้น แต่ก็คงจะรู้ได้ดีเพราะความลับไม่มีในโลก จึงขอจบเพียงเท่านี้แล

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2013, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

คำแถลง

อัตตโนประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่เล่มนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอเรียนเพื่อความเข้าใจในการจัดพิมพ์ ต่อท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ว่า มิได้เกิดจากความประสงค์ใดๆ ของ “องค์หลวงปู่ท่าน” ที่เราทั้งหลายกราบเคารพบูชา ด้วยความเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าโดยประการใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะองค์ท่านไม่อาจขัดต่อคำรบเร้ากราบวิงวอนขออนุญาตจัดพิมพ์จากคณะศิษย์

เนื่องจากคณะศิษย์ได้ทราบมาว่า ท่านได้เมตตาเขียนอัตตโนประวัติขึ้น ตามคำเรียนขอของท่านอาจารย์อินทร์ถวาย ที่ได้บวชอยู่กับท่านถึง ๙ พรรษา ในช่วงยุคต้นของวัดภูจ้อก้อ ซึ่งได้อ่านแล้วเห็นประโยชน์และคุณธรรมอันวิเศษสุดประมาณ ในแนวทางปฏิบัติและข้อวัตรต่างๆ “สมัยถวายการปฏิบัติต่อองค์หลวงปู่มั่น” พร้อมทั้งประวัติการเดินธุดงค์เร่งความเพียร ซึ่งแลกด้วยชีวิต จึงกราบเรียนขอโอกาสพิมพ์ถวาย แต่องค์ท่านไม่ประสงค์จะให้พิมพ์ เพราะพิจารณาแล้ว เกรงว่าจะถูกตำหนิว่า “อวดเด่นและอยากดัง”

ข้าพเจ้าและคณะกราบเรียนวิงวอนท่านว่า

หลวงปู่เจ้าคะ “‘อัตตโนประวัติ’ เล่มนี้หลวงปู่เขียนจากประสบการณ์ และความจริงทุกประการใช่ไหมเจ้าคะ”

ท่านเมตตาตอบว่า “ใช่”

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า

“หลวงปู่เจ้าคะ พระพุทธองค์ท่านทรงยกย่องว่า ให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง ขอโอกาสให้ลูกๆ ได้จัดพิมพ์เผยแผ่ธรรมนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรรุ่นลูกๆ หลานๆ และผู้ใฝ่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยเถิด

เมื่อท่านได้อ่านแล้ว ธรรมข้อใดเป็นประโยชน์ แนะแนวทางให้เกิดความพากเพียร และมีกำลังใจให้มุ่งเคร่งครัดปฏิบัติธุดงควัตร เพื่อให้พบคุณธรรมอันวิเศษ มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป ดังบทธรรมที่ว่า เอหิปัสสิโก ธรรมเป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด”

เมื่อองค์ท่านได้ฟังกราบเรียน และพิจารณาแล้ว จึงย้ำข้าพเจ้าว่า “หนังสือนี้ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ในนิตยสารเพื่อการค้านะ ขอสงวนสิทธิ์ให้พิมพ์เพื่อเป็นธรรมหานเท่านั้น”

ฉะนั้น หากเกิดความผิดพลาดประการใดที่มีขึ้นในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอน้อมรับความผิดพลาดทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนธรรมทั้งหลายเหล่าใด ที่ดีมีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และน้อมถวายบูชาหลวงปู่ท่าน ที่เมตตาอนุญาตให้จัดพิมพ์เผยแผ่ถึงคุณธรรมขององค์ท่าน ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยกุศโลบายในหนังสือเล่มนี้

คณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์

คำปรารภ

คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติครั้งที่ ๑๒ มีความเห็นว่า ควรที่จะแยกเรื่องความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือจากคณะศิษย์ หรือคณะศรัทธาในการพิมพ์ออกมาจากส่วนของเรื่องชีวประวัติที่องค์หลวงปู่เป็นผู้เขียน มาไว้ในส่วนของท้ายเล่ม ต่างหากจากข้อเขียนที่เกิดขึ้นจากองค์หลวงปู่ จะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะไว้หน้าเล่ม เป็นคำนำ เหนือข้อเขียนองค์หลวงปู่ท่าน ที่ใช้ว่า “คำแถลง” และให้เป็นการสอดคล้องกับข้อเขียนเพิ่มเติมขององค์หลวงปู่ท่านที่เขียนว่า “คำนำเพิ่มเติมใหม่” ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านให้เพิ่มลงไปในส่วนของหน้าเล่ม

แต่เหนือเหตุผลอื่นใดก็คือ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้ปฏิบัติให้พบให้เห็นอยู่แล้วทุกวัน ว่าควรจะทำเช่นไรที่จะได้บุญอันสมบูรณ์ยิ่ง คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ ใคร่กราบขออภัยเป็นอย่างสูง ควรมิควรประการใดก็ขอได้โปรดเมตตาให้อภัย ที่ได้เปลี่ยนแปลงสารบัญ ของคำนำมาเป็นคำแถลง และคำแถลงมาเป็นคำนำ แล้วนำคำแถลงของคณะศิษย์ผู้ที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องนำทางให้คณะผู้จัดพิมพ์เข้าพบพานอันแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จากปฏิทาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมอันสูงสุดขององค์หลวงปู่ ยังผลให้เกิดความสุขสงบ โดยเหตุจากท่านและคณะเป็นผู้ริเริ่มอย่างมิหวังชื่อเสียงอื่นใดไปยิ่งกว่า บุญกุศลนี้เกิดขึ้นจากการขออนุญาตองค์หลวงปู่ท่านแล้ว จัดสารบัญรูปเล่ม จนมาพิมพ์เป็นหนังสือชีวประวัติครั้งแรก ประมาณปลายปี ๒๕๓๐ ณ โรงพิมพ์วัดสังฆทาน จำนวน ๕,๐๐๐ เล่มนั้น มาไว้ท้ายเล่มที่เห็นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

คณะผู้จัดพิมพ์

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38521

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” วัดภูจ้อก้อ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44375

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร