วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2013, 15:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ

พระพุทธภาษิต

อุฏฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺสํ นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ

คำแปล

ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความเพียร, มีสติ, มีการงาน,
สะอาด, ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ, เป็นผู้สำรวม,
มีชีวิตอันประกอบด้วยธรรม, และไม่ประมาท


:b39: :b39:

คำอธิบาย

ในที่นี้ได้ ธรรม ๗ ประการอันเป็นเหตุให้ยศเจริญ คือ
ความเพียร, สติ, การงานอันสะอาด, การใคร่ครวญก่อนทำ,
ความสำรวม, ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม และความไม่ประมาท


ความเพียร นั้น คือสภาพอันตรงกันข้ามกับความเกียจคร้าน
กล่าวคือ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการทำงาน ในการประกอบการกุศล
ความกล้าในการประกอบกิจอันชอบให้ลุล่วงไปด้วยดี
มีความบากบั่นมั่นคงไม่ถอยหลัง ไม่ทอดธุระ ไม่เป็นคนอยู่เฉยโดยไม่ทำงาน

สติ คือ ความรอบคอบ และความระวัง
จะทำจะพูดอะไรก็คิดโดยรอบคอบก่อน ระวังเกรงความผิดพลาด
เพราะความพลาดบาง อย่างต้องใช้เวลาแก้นาน จึงจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้

การงานสะอาด นั้น คือ การประกอบการงานอันสุจริต
เว้นงานที่ทุจริตผิดกฎหมาย และศีลธรรมทั้งปวง

ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ คือ ไตร่ตรองด้วยดีว่า เมื่อทำอย่างนี้ ผลอย่างไรจะเกิดขึ้น
เว้นการกระทำอันจักอำนวยผลเป็นทุกข์เสีย
ประกอบกระทำแต่เฉพาะเหตุอันจักอำนวยผลเป็นสุขให้

ความสำรวม นั้น คือความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้

ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม คือ มีชีวิตอยู่อย่างแนบสนิทกับธรรม
ไม่เหินห่างจากธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ
ได้พบได้เห็นอะไรก็นำเข้าไปหาธรรม เทียบกับธรรม
หรือน้อมธรรมเข้ามาใส่ตนอยู่เสมอ

ความไม่ประมาท ได้อธิบายแล้วในข้อที่หนึ่งแห่งอัปปมาทวรรคนี้ โปรดดูในที่นั้น

ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๗ ประการนี้

ยศนั้นท่านจำแนกไว้ ๓ คือ

๑. อิสริยยศ ความเป็นใหญ่

๒. เกียรติยศ ความมีเกียรติ มีคุณงามความดีมาก

๓. บริวารยศ ความเป็นผู้มีบริวารมากและบริวารดี

ยศที่กล่าวถึงในที่นี้พระอรรถกถาจารย์ขยายความว่าได้แก่

๑. โภคสมบัติ

๒. ความนับถือ

๓. ความมีเกียรติ และ

๔. ความสรรเสริญ


:b50: :b50:

เรื่องประกอบ เรื่องกุมภโฆสก

กุมภโฆสกเป็นบุตรเศรษฐีเมืองราชคฤห์ มีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (๔๐๐ ล้าน)
คราวหนึ่งอหิวาตกโรคระบาดหนัก สัตว์เล็กๆ ตายก่อน ต่อมาจึงถือมนุษย์
ในพวกมนุษย์พวกทาสและกรรมกรก็ตายก่อน เจ้าของบ้านตายทีหลัง
เมื่ออหิวาตกโรคจับเศรษฐีและภรรยา
เขาทั้งสองมีหน้านองด้วยน้ำตามองดูบุตรซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ พลางกล่าวว่า

"ลูกเอ๋ย! การหนีโรคชนิดนี้ ท่านว่าต้องพังฝาเรือนไป
เจ้าจงทำอย่างนั้นเถิด อย่าได้ห่วงใยพ่อและแม่เลย
เมื่อยังไม่ตายก็จงกลับมา ขุดเอาทรัพย์ซึ่งพ่อและแม่ฝังไว้ ๔๐ โกฏิ เลี้ยงชีพต่อไป"


เด็กน้อยเชื่อมารดา ร้องไห้ไหว้ท่านทั้งสองแล้วพังฝาเรือนหนีไป
ไปอยู่ ณ ภูเขาลูกหนึ่งเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี จึงกลับมา
เมื่อเขากลับมาใครๆ ก็จำเขาไม่ได้
เพราะตอนไปยังเด็กกลับมาเมื่อเป็นหนุ่มแล้ว มีหนวดและเครารุงรัง

เขาไปตรวจดูที่ฝังทรัพย์เห็นยังเรียบร้อยดีทุกอย่าง เขาคิดต่อไปว่า
"ใครๆ ก็จำเราไม่ได้ ถ้าเราขุดทรัพย์ออกใช้สอย
คนทั้งหลายก็จะประหลาดใจว่า คนเข็ญใจนี้ไปเอาทรัพย์มาจากที่ใด
เขาจะพึงจับเรา เบียดเบียนเรา อย่ากระนั้นเลย เราเก็บทรัพย์ไว้อย่างเดิมก่อน
แล้วไปรับจ้างทำงานเลี้ยงชีพดีกว่า"


ตกลงใจดังนั้นแล้วกุมภโฆสกก็ออกหางานทำ
ไปได้งานรับจ้างปลุกคนงานในที่แห่งหนึ่ง
หน้าที่ของเขาคือ ตื่นแต่เช้ามืดเที่ยวปลุกคนงานให้ลุกขึ้นเตรียมเกวียน
หุงต้มข้าวสวย ข้าวยาคู เป็นต้น เขาได้เรือนพักเล็กๆ หลังหนึ่ง อยู่คนเดียว
รวมความว่ากุมภโฆสกไปได้งานเป็นแขกยาม
เขาได้ทำหน้าที่นั้นอย่างดีที่สุดไม่บกพร่อง ไม่เคยนอนตื่นสาย

เช้าวันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร ได้สดับเสียงของเขา
ธรรมดาพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้รู้เสียงสัตว์ทุกชนิด
เมื่อทรงสดับเสียงกุมภโฆสก จึงตรัสว่า "นั่นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก"


นางสนมคนหนึ่งยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ใกล้
คิดว่า "พระราชาคงมิตรัสอะไรเหลวไหลเป็นแน่" จึงรีบสั่งคนผู้หนึ่งไปสืบดู
แต่ความจริงกลับปรากฏว่าเป็นเสียงของชายเข็ญใจคนหนึ่งรับจ้างเป็นแขกยาม
คอยปลุกคนให้ตื่นขึ้นทำงาน พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วก็ทรงเฉยเสีย

ในวันที่สองและวันที่สาม เมื่อทรงสดับเสียงของกุมภโฆสกก็ตรัสเช่นนั้นอีก
นางสนมคิดว่า พระราชาไม่เคยตรัสอะไรเหลวไหลเลย
จะต้องมีอะไรลี้ลับอยู่เป็นแน่ จึงทูลพระราชาว่า

"หากข้าพระองค์ได้ทรัพย์สักพันหนึ่ง
ข้าพระองค์จักไปทำอุบายเอาทรัพย์จากชายนั้นมาสู่ราชสกุลให้จนได้"

พระราชาพิมพิสาร พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งให้นางสนม
นางและลูกสาวแกล้งแต่งตัวปอนๆ ทำทีเป็นคนยากจน
ไปยังถนนอันเป็นที่อยู่ของพวกคนรับจ้าง เข้าไปขอพักอาศัยในเรือนหลังหนึ่ง
แต่เจ้าของบ้านปฏิเสธว่า มีคนอยู่มากแล้วให้ไปรออาศัยกุมภโฆสกซึ่งอยู่คนเดียว

นางสนมได้ไปขออาศัยอยู่กับบ้านกุมภโฆสก เขาปฏิเสธหลายครั้ง
แต่นางก็อ้อนวอนจนได้ กุมภโฆสกยอมให้พักอย่างเสียไม่ได้

วันรุ่งขึ้น เมื่อกุมภโฆสกจะออกไปทำงานนอกบ้าน
นางได้ขอค่าอาหารไว้สำหรับทำอาหารให้ นางได้ไปซื้อข้าวสารอย่างดี
เครื่องครัว และอาหารอย่างดีมาปรุงอาหารให้อร่อยอย่างชาววัง
อาหารนั้นมีรสเลิศ ควรแก่พระราชาเสวย

เมื่อกุมภโฆสกกลับมาได้ลิ้มรสอาหารเช่นนั้น ก็ชื่นชมเบิกบาน
นางรู้อาการนั้นแล้ว จึงขอพักต่อไป คราวนี้กุมภโฆสกอนุญาตด้วยความพอใจ

นางได้หุงต้มอย่างดีให้กุมภโฆสก และขอพักอาศัยยืดเยื้อเรื่อยมา

นางวางอุบายเพื่อให้กุมภโฆสกตกหลุมรักกับบุตรีของตน
จึงแอบตัดเชือกเตียงของกุมภโฆสก (เตียงโครงไม้ถักด้วยเชือก) จนเขานอนไม่ได้
เมื่อกุมภโฆสกถามก็บอกว่า พวกเด็กเข้ามาเล่นจนเตียงขาด
เพื่อกุมภโฆสกตอบว่าเขาไม่มีที่นอนแล้วจะทำอย่างไร
นางจึงให้ไปนอนกับบุตรีของตน ทั้งสองได้สังวาสกันตั้งแต่คืนนั้น
กุมภโฆสกมีเมียเพราะเชือกเตียงขาดแท้ๆ

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน นางสนมส่งสาส์นไปถึงพระราชาว่า
ขอให้มีพระบรมราชโองการให้จัดงานมหรสพในย่านถนน
พวกรับจ้างทำงานคนใดไม่จัดทำมหรสพในเรือน คนนั้นจะต้องถูกปรับ

พระราชาทรงมีพระบรมราชโองการอย่างนั้น
นางจึงพูดกับกุมภโฆสกว่า พระราชารับสั่งให้มีมหสพทุกบ้านเรือน
ใครไม่ทำจะถูกปรับ พวกเราจะต้องทำตามพระบรมราชโองการ ขัดขืนไม่ได้

กุมภโฆสกบอกแม่ยายว่า เขาทำงานรับจ้างก็เพียงได้อาหารรับประทานมื้อๆ เท่านั้น
จะเอาเงินที่ไหนมาจัดงานมหรสพ

แม่ยายบอกว่า "ลูกเอ๋ย ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนต้องเป็นหนี้บ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าไม่มีก็ไปยืมใครมาก่อนใช้หนี้เขาทีหลังก็ได้
ไปเถอะไปยืมมาสัก ๑ กหาปณะ หรือ ๒ กหาปณะ ก็พอ"

กุมภโฆสกติเตียนแม่ยายพึมพำพลางออกจากบ้าน
ไปนำหาปณะที่ฝังไว้มา ๑ กหาปณะ แล้วมอบให้แม่ยาย
นางได้แอบส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระราชา พอล่วงไป ๒-๓ วัน
นางก็ให้พระราชารับสั่งให้มีมหรสพอีก

กุมภโฆสกต้องไปนำกหาปณะมา ๑ กหาปณะอีก
นางได้ส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระราชาเช่นเคย

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน นางได้ส่งข่าวไป
ขอให้พระราชาสั่งคนมารับกุมภโฆสกเข้าไปในพระราชนิเวศน์
พระราชาได้ส่งราชบุรุษมาแล้ว พวกราชบุรุษมาที่ถนนอันเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกคนรับจ้าง
ถามหากุมภโฆสก เมื่อพบตัวแล้ว จึงบอกว่า
"มาเถิดนาย-มากับเรา พระราชารับสั่งให้นายเข้าเฝ้า"

กุมภโฆสกไม่ปรารถนาจะไป บอกว่าพระราชาไม่เคยรู้จักตัวเขา
เรื่องอะไรจึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อไม่ยอมไปโดยดี พวกราชบุรุษก็ฉุดไปโดยพลการ

นางสนม เห็นดังนั้น จึงทำทีเป็นขู่ตะคอกราชบุรุษว่า
พวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่สมควรฉุดบุตรเขยของตนอย่างนั้น
แล้วหันมาปลอบกุมภโฆสกว่า

"ไปเถิดลูก เมื่อถึงพระราชวังแล้ว
แม่จะกราบทูลพระราชาให้ตัดมือตัดเท้าคนพวกนี้เสีย"

นางได้รีบพาบุตรีล่วงหน้าไปก่อน เมื่อถึงพระราชวังก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียใหม่
แต่งแบบชาววังยืนเฝ้าพระราชาอยู่ ณ ส่วนหนึ่งอันเหมาะสมแก่ตน

กุมภโฆสก ถูกฉุดกระชากลากถูมาเฝ้าพระราชาจนได้
พระราชาตรัสถามว่า"นี่ กหาปณะของใคร"
พระราชาตรัส พลางชูกหาปณะให้ดู

กุมภโฆสกจำกหาปณะของเขาได้ ตกใจ
คิดว่ากหาปณะนี้มาถึงพระหัตถ์ของพระราชาได้อย่างไรหนอ?
มองดูทางโน้นทางนี้ จึงได้เห็นหญิงทั้งสองแต่งกายสวยงามอย่างชาววัง
ยืนเฝ้าอยู่ริมพระทวารห้อง เขาจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอด

พระราชาตรัสถามต่อไปว่า

"พูดไปเถอะกุมภโฆสก, ทำไม เจ้าจึงทำอย่างนี้ ทำไมเจ้าจึงปกปิดทรัพย์เป็นอันมากไว้?"

กุมภโฆสก เล่าความคิดของตนให้พระราชาทรงทราบโดยตลอดแล้วสรุปว่า

"เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่ง จึงปกปิดทรัพย์ไว้"
พระราชารับสั่งให้เอาเกวียนไปขนทรัพย์ของเขามากองไว้หน้าพระลานหลวง
รับสั่งให้คนในเมืองราชคฤห์มาประชุมกัน แล้วตรัสถามว่า

"ในเมืองนี้ใครมีทรัพย์เท่านี้บ้าง?"

"ไม่มีเลย พระเจ้าข้า" ราษฎรทูล

พระราชาจึงทรงแต่งตั้งตำแหน่งเศรษฐีให้กุมภโฆสก
พระราชทานบุตรีของนางสนมนั้นให้เป็นภรรยา

แล้วเสด็จไปสำนักพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยกุมภโฆสกนั้น
ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! นี่คือกุมภโฆสก เศรษฐีคนใหม่ของข้าพระองค์
คนมีปัญญาอย่างนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นเลย
มีทรัพย์ถึง ๔๐ โกฏิก็ไม่มีอาการเย่อหยิ่ง อวดตนไม่มีความทะนงตัว
ทำตนประดุจคนเข็ญใจ นุ่งห่มผ้าเก่าๆ
ทำงานรับจ้างอยู่ที่ถนนอันเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกคนรับจ้าง"


แลแล้ว พระราชาทรงเล่าเรื่องทั้งปวงถวาย ให้พระศาสดาทรงทราบ

พระศาสดาตรัสว่า

"มหาบพิตร! ชีวิตของคนผู้เป็นอยู่อย่างกุมภโฆสก
ชื่อว่าประกอบด้วยธรรม มีความสุขความเจริญเป็นผล
ส่วนโจรกรรม เป็นต้น เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบีบคั้น ย่อมมีความทุกข์เป็นผล
ในคราวเสื่อมทรัพย์ การประกอบอาชีพเช่น ทำนา และรับจ้าง
ชื่อว่าเป็นการกระทำอันประกอบด้วยธรรม
ความเป็นใหญ่ (ยศ) ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร
บริบูรณ์ด้วยสติ มีการงานบริสุทธิ์ ใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้วจึงทำ
สำรวมระวังกาย วาจา ใจ ด้วยดี เลี้ยงชีวิตโดยธรรม ไม่ประมาท"


ดังนี้แล้วตรัสย้ำพระพุทธภาษิต ดังได้อธิบายมาแล้วแต่ต้น


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2013, 10:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นหว้า ต้นไม้ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงปฐมฌาน
เป็นครั้งแรกในพระชาติสุดท้าย



การทำที่พึ่งด้วยธรรม

พระพุทธภาษิต

อุฏฐาเนนปฺปมาเทน สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ

คำแปล

ผู้มีปัญญาควรทำที่พึ่ง ที่น้ำ คือ กิเลส ท่วมไม่ได้
ด้วยธรรม คือ ความหมั่นขยัน ความไม่ประมาท
ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์


:b45: :b45:

อธิบายความ

เกาะหรือที่พึ่งอันเกษมในที่นี้
ท่านหมายเอา พระอรหัตตผล เป็นที่พึ่งพำนักอันปลอดภัย
ในสาคร คือสังสาระอันลึกยิ่งนี้ เกาะนี้อันน้ำคือกิเลสท่วมไม่ได้

กิเลสอันเป็นดุจห้วงน้ำท่านเรียกว่า โอฆะ มี ๔ คือ

๑. กาม ความใคร่ในกามคุณ ๕

๒. ภพ ความพอใจในภพ ในความเป็นนั่นเป็นนี่

๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด

๔. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ ๔


ท่านสอนให้สร้างเกาะด้วยธรรม ๔ ประการเหมือนกัน คือ

ความเพียร (อุฏฐานะ)

ความไม่ประมาท (อับปมาทะ)

ความสำรวมกาย วาจา ใจ (สัญญมะ)

และการฝึกอินทรีย์คือ ระวังตา หู เป็นต้น
มิให้ยินดียินร้ายเพราะได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น (ทมะ)


:b48: :b48:

เรื่องประกอบ เรื่องพระจูฬปันถก

พระจูฬปันถกเป็นชาวเมืองราชคฤห์ มีพี่น้องด้วยกัน ๒ คน
พี่ชายชื่อมหาปันถก ที่ชื่อปันถกเพราะเกิดในระหว่างทาง

ความจริงมารดาของพระจุลปันถกเป็นถึงลูกสาวของเศรษฐีเมืองราชคฤห์
แต่ไปได้เสียกับคนใช้ของตน จึงละอายไม่กล้าอยู่ที่เดิม
ชวนกันหนีไปอยู่ที่แห่งหนึ่งซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักตน ตั้งครรภ์ที่นั่น
เมื่อครรภ์แก่ธิดาเศรษฐีบอกสามีว่า ต้องการไปคลอดที่บ้านเดิม

ฝ่ายสามีผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยมา จนภรรยาไม่อาจคอยได้อีกต่อไป
นางจึงสั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงไว้ให้ช่วยดูแลบ้านและบอกสามีว่า
นางได้กลับไปบ้านเดิม สามีกลับมา รีบตามไป-ไปพบนางในหนทาง
ขณะนั้นภรรยาของเขาคลอดแล้ว เขาดีใจที่ได้บุตรชาย
ปรึกษากันว่า ที่เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อสิ่งใด สิ่งนั้นได้สำเร็จแล้ว
เห็นจะไม่ต้องไปอีก จึงชวนกันกลับ

ต่อมานางตั้งครรภ์ท้องที่ ๒ และคงคลอดในทำนองเดียวกับท้องแรก
จึงตั้งชื่อลูกคนแรกว่า มหาปันถก ลูกคนที่ ๒ ว่า จูฬปันถก

เมื่อลูกทั้งสองเติบโตขึ้นรบเร้าให้แม่พาไปหาตาและยาย
โดยเดินทางไปพักอยู่ที่ศาลาหน้าเมืองก่อน
บอกเรือนและถนนให้เด็กเข้าไปหาคุณตาคุณยาย
ส่วนตนรออยู่ที่ศาลาหน้าเมือง

เศรษฐียังโกรธอยู่ แต่เนื่องจากเห็นเป็นลูกหญิง
จึงมอบทรัพย์ให้จำนวนหนึ่งบอกให้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ
แต่อย่าเข้าไปให้เห็นหน้า ส่วนหลานทั้งสองนั้นเศรษฐีจะรับเลี้ยงไว้
ส่วนสองสามีภรรยารับทรัพย์แล้วกลับไปอยู่ที่เดิม

เศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเสมอ
และชอบพามหาปันถกไปด้วย จนมหาปันถกมีจิตใจอ่อนโยน
น้อมไปในการบวช จึงขออนุญาตเศรษฐี
ผู้เป็นตาบอกว่า การบวชของหลานจะเป็นความสุขของตา
มากกว่าการบวชของคนทั่วโลก ถ้าคิดบวชอยู่ได้ก็จงบวชเถิด

มหาปันถกบวช ได้พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเป็นอุปฌาย์
ไม่นานพระมหาปันถกก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ด้วยความระลึกถึงน้องชาย จึงไปขออนุญาตคุณตา
ขอให้น้องชายจูฬปันถกได้บวชด้วย เศรษฐีอนุญาตด้วยดี
เมื่อจูฬปันถกบวชแล้ว พี่ชายก็ให้ศึกษาเรื่องศีล สมาธิและปัญญา
ให้ศึกษาบางอย่างอันควรศึกษา
แต่ปรากฏว่า พระจูฬปันถกโง่เขลาเหลือเกินแม้ข้อความเพียงเท่านี้ คือ

"ดอกบัวโกมุท มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า
กลิ่นย่อมหอมกรุ่นอยู่เสมอ ฉันใด
เธอจงมองดูพระอังคีรส (พระพุทธเจ้า) ผู้รุ่งโรจน์อยู่
ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในกลางหาวฉันนั้น"


พระจูฬปันถกท่องอยู่ ๔ เดือนก็จำไม่ได้

ท่านกล่าวว่าเหตุที่พระจูฬปันถกโง่นั้น เพราะกรรมเก่า
คือ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสป
ท่านบวชในศาสนานั้นเป็นผู้มีปัญญาดี
ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นคนเขลา ท่องปริยัติธรรมอยู่ พระจูฬปันถกหัวเราะเยาะ
ภิกษุนั้นเกิดความละอายจึงเลิกเรียนไป
เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น จึงทำให้พระจูฬปันถกเป็นผู้เขลาในกาลบัดนี้


พระมหาปันถกเห็นว่า น้องของตนเป็นผู้อาภัพในศาสนา
จึงบอกให้สึกไปทำมาหากิน ฝ่ายพระจุลปันถกผู้น้อง ไม่ปรารถนาสึก
ยังมีความอาลัยในพรหมจรรย์อยู่
เมื่อถูกพระพี่ชายไล่ออกจากที่อยู่ให้ไปสึกก็เสียใจอยู่ไม่น้อย

เวลานั้นพระมหาปันถกเป็นเจ้าหน้าที่ภัตตุทเทสก์
วันนั้นหมอชีวกโกมารภัจ เจ้าของอัมพวัน
ไปเข้าเฝ้าพระศาสดาที่อัมพวนารามนั่นเอง
ฟังพระธรรมศาสนาแล้ว ต้องการนิมนต์พระ ๕๐๐ รูปไปฉันที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

พระมหาปันถกชี้แจงว่ามีภิกษุโง่ รูปหนึ่งไม่เจริญงอกงามในธรรมวินัย
จึงขอเว้นภิกษุรูปนี้เสียรูปหนึ่ง นอกนั้นรับนิมนต์ให้ได้
พระจูฬปันถกได้ยินดังนั้น เสียใจมาก ปลงใจว่า พี่ชายมิได้มีเยื่อใยในตนเลย
จะอยู่ไปทำไมในศาสนานี้ จักเป็นคฤหัสถ์ ทำบุญให้ทานไปตามสามารถ

วันรุ่งขึ้น พระจูฬปันถกออกจากวัดแต่เช้าตรู่ เพื่อจะไปสึก
และวันนั้น พระศาสดาผู้โลกนาถ ทรงตรวจดูบุคคลที่ควรจะเสด็จไปโปรด
ได้ทรงเห็นพระจูฬปันถกเข้าไปในข่ายพระญาณ
จึงเสด็จไปดักอยู่ที่หน้าวัดแต่เช้าตรู่ แล้วตรัสว่า


"จูฬปันถก! เธอบวชในสำนักของเรา บวชอุทิศเรา
เมื่อถูกพี่ชายขับไล่ ไฉนจึงไม่มาสู่สำนักของเราเล่า
อย่าสึกเลย จูฬปันถก, มาเถิด-มาอยู่กับเรา"


ตรัสดังนั้นแล้ว ทรงเอาพระหัตถ์ลูบศีรษะพระจูฬปันถกด้วยพระทัยกรุณา
แล้วนำไปสู่สำนักของพระองค์ ให้จูฬปันถกนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี
ทรงพิจารณาว่า "จูฬปันถกนี้มีบารมีมาทางใดหนอ?"
ทรงทราบด้วยพระญาณโดยตลอดแล้ว
จึงประทานผ้าเช็ดหน้าสีขาวให้ผืนหนึ่ง พร้อมรับสั่งว่า

"จูฬปันถก! เธอนั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออกนะ
ลูบผ้าผืนนี้ พลางบริกรรม (นึกในใจ หรือออกเสียงเบาๆ"
ว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ" (ผ้าเช็ดธุลี)


ดังนี้แล้ว ได้เวลามีผู้มาทูลอาราธนา เสด็จไปบ้านหมอชีวก

ฝ่ายพระจูฬปันถก นั่งมองดูดวงอาทิตย์ มือลูบผ้าพลางบริกรรมว่า
"รโชหรณํ รโชหรณํ"
เมื่อมองดูผ้าบ่อยๆ ได้เห็นผ้านั้นเศร้าหมองไป ท่านจึงคิดว่า

"ผ้านี้สะอาดแท้ๆ แต่อาศัยอัตตภาพนี้ มันจึงเศร้าหมองไป
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ"


ดังนี้แล้ว เริ่มมองเห็นความสิ้นและความเสื่อมแห่งสังขารทั้งปวงเจริญวิปัสสนาอยู่

พระศาสดา ประทับนั่งอยู่บ้านหมอชีวก ส่งพระญาณตามกระแสจิตของพระจูฬปันถก
ทรงทราบว่า บัดนี้จิตของพระจูฬปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า

"จูฬปันถก! เธออย่าคิดแต่เพียงว่า "ท่อนผ้านี้เท่านั้นเศร้าหมองเปื้อนธุลี"
แต่เธอจงคิดถึงธุลีภายในด้วย นั่นคือราคะ โทสะ และโมหะอันอยู่ภายใน
เธอจงนำเอาธุลีนั่นออกเสีย"


พระศาสดาทรงเปล่งพระรัศมีมา
ปรากฏประหนึ่งประทับอยู่เฉพาะหน้าของพระจูฬปันถก แล้วตรัสอีกว่า

"ราคะ โทสะ และโมหะ เราเรียกว่าธุลี ฝุ่นละอองหาใช่ธุลีไม่
คำว่า ธุลีเป็นคำเรียก ราคะโทสะ และโมหะ
ภิกษุผู้ละธุลีมีราคะเป็นต้นได้แล้ว
ย่อมอยู่เป็นสุขในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี"


ในการจบพระดำรัส พระจูฬปันถกได้บรรลุอรหัตตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย


พระจูฬปันถกมีอุปนิสัยมาทางผ้าเปื้อนธุลี
พระศาสดาได้ประทานอุปกรณ์อันเหมาะสมแก่อุปนิสัยของท่าน จึงสำเร็จได้เร็ว

พระจูฬปันถกในอดีต ท่านเคยเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง
วันหนึ่งทรงทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโท ไหลจากพระนลาต
ทรงเอาผ้าสะอาดเช็ดพระเสโทนั้น ทรงได้อนิจจสัญญาว่า
"ผ้าสะอาดอย่างนี้ เศร้าหมองแล้ว
เพราะอาศัยสรีระนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ"


อนิจสัญญาได้ฝังเป็นอุปนิสัยของท่านตั้งแต่นั้นมา
ผ้าเช็ดธุลีจึงเป็นปัจจัยแห่งอุปนิสัยของท่าน พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ดี

หมอชีวกได้น้อมน้ำทักษิโณทกเข้าไปถวายพระศาสดา
แต่พระองค์ไม่ทรงรับ ตรัสถามว่า "ชีวก ภิกษุในอารามยังมีอีกมิใช่หรือ?"

พระมหาปันถกทูลว่า
"ในอัมพวันไม่มีภิกษุอยู่เลยมิใช่หรือ พระเจ้าข้า"
แต่พระศาสดาตรัสยืนยันกับหมอชีวก "มีอยู่"

หมอชีวกให้คนไปดู ขณะเดียวกันนั้น
พระจูฬปันถก ทราบเรื่องนั้นโดยตลอดด้วยเจโตปริยญาณ
และทิพยจักษุ จึงเนรมิตตนเป็นภิกษุถึง ๑,๐๐๐ รูป เต็มอัมพวัน
บางพวกซักจีวร ย้อมจีวร บางพวกกำลังสาธยายธรรม เป็นต้น

คนของหมอชีวก กลับมาบอกนายว่า ในอัมพวันมีพระเต็มไปหมด
พระศาสดาตรัสว่าให้ไปถามหาพระจูฬปันถก เมื่อบุรุษนั้นไปถาม
ทุกรูปบอกว่า ชื่อจูฬปันถก พระศาสดารับสั่งให้เขากลับไปอีกครั้งหนึ่ง
ตรัสบอกว่า รูปใดเอ่ยขึ้นก่อน จงจับมือรูปนั้นไว้ พระอื่นๆ จะหายไป
เขาไปทำตามนั้น จึงได้พระจูฬปันถกมา

พระศาสดา ให้หมอชีวกรับบาตรของพระจูฬปันถก
เป็นเชิงให้พระจูฬปันถกอนุโมทนา

พระเถระบันลือสีหนาท (ดุจดังสีหะ รุ่นคนอง)
เขย่าพระไตรปิฎกให้ไหวแล้วด้วยปัญญาอันมาพร้อมกับอริยมรรค
พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมถึงพระคันธกุฎี
ทรงยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานพระสุคโตวาท
พอสมควรแล้วเสด็จเข้าภายในพระคันธกุฎีบรรทมด้วยสีหไสยาการ

เย็นวันนั้น ภิกษุนั่งสนทนากันในธรรมสภา เรื่องพระจูฬปันถก
ที่สามารถสำเร็จมรรคผลได้ด้วยการช่วยเหลือของพระศาสดา
และว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน
ทรงเป็นที่พึ่งของพระจูฬปันถกโดยแท้ น่าอัศจรรย์ในพระกำลังของพระพุทธเจ้า
ส่วนพระมหาปันถกไม่รู้อุปนิสัยของน้องชาย จึงไม่อาจให้เรียนรู้สิ่งใดได้
พระศาสดาทรงเป็นที่พึ่งของพระจูฬปันถกอย่างยอดเยี่ยม

พระศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันด้วยทิพยจักษุแล้ว
ทรงดำริว่า "เราควรไปยังธรรมสภา" ดังนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธไสยา
เสด็จไปยังธรรมสภาด้วยพุทธลีลาอันงามยิ่ง
เสด็จขึ้นสู่พุทธอาสน์ อันเตรียมไว้
แล้วทรงเปล่งพระรัศมี ๖ สี ออกอ่อนๆ ประหนึ่งสุริโยทัยเริ่มทอแสง

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ภิกษุทั้งหลายหยุดสนทนา นั่งนิ่งเงียบ

พระสุคตเจ้า ทรงมองดูภิกษุบริษัทด้วยพระหฤทัยอันอ่อนโยน
ทรงรำพึงว่า "บริษัทนี้งามยิ่งนัก การคนองมือ คนองเท้า หรือเสียงไอ
เสียงจามของภิกษุสักรูปหนึ่งมิได้มีเธอทั้งหลายมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างสูงยิ่ง
หากเราไม่พูดขึ้นก่อนจักไม่มีใครพูดเลย แม้จะนั่งอยู่ชั่วอายุก็ตาม"


ดังนี้แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่ากำลังพูดกันในเรื่องใด
เมื่อทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! จูฬปันถกจะเป็นผู้โง่เขลาในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่
แม้ในการก่อนก็เคยโง่เขลามาแล้ว
อนึ่ง เราเป็นที่พึ่งของเธอในเฉพาะในบัดนี้ท่านั้นก็หาไม่
แม้ในกาลก่อนก็เคยเป็นที่พึ่งของเธอมาแล้วเหมือนกัน
ต่างกันแต่เพียงว่า ในกาลก่อนเราทำให้เขาได้โลกียทรัพย์
แต่บัดนี้ให้ได้โลกกุตตรทรัพย์"


พระศาสดา ทรงนำเรื่องอดีตของพระจูฬปันถกมาดังนี้

ในอดีตกาล มานพคนหนึ่งชาวเมืองพาราณสี
ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในเมืองตักสิลา เป็นคนดีมาก
ปรนนิบัติอาจารย์ด้วยความตั้งใจดีอย่างยิ่ง
มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงานและการศึกษาทุกอย่าง แต่เป็นคนโง่เขลา
อาจารย์สงสารเขาพยายามให้เขาศึกษาด้วยความตั้งใจดีอย่างยิ่ง
เพราะระลึกว่า "ศิษย์คนนี้มีอุปการะมากแก่เรา" แต่ก็ไม่สามารถให้เขาเรียนรู้อะไรได้

เขาอยู่กับอาจารย์เป็นเวลานานหลายปี แต่สักคาถาเดียวก็จำไม่ได้
มองเห็นตนเป็นผู้อาภัพในการศึกษา จึงเข้าไปลาอาจารย์กลับบ้าน
อาจารย์รักศิษย์คนนั้นมาก อยากจะให้เขาได้อะไรไปสักอย่างหนึ่ง
จึงผูกมนต์ขึ้นบนหนึ่ง พาเขาไปในป่าแล้วให้เรียนมนต์บทนั้น

เมื่อมานพรับว่าจำได้แล้วจึงอนุญาตให้กลับบ้าน
พร้อมสั่งว่า เมื่อว่างและนึกขึ้นได้เมื่อไรก็จงท่องมนต์บทนั้นเสมอๆ
มานพรับคำของอาจารย์ด้วยเคารพแล้วเดินทางกลับ
มารดาบิดาต้อนรับเขาอย่างดี ด้วยหวังว่าบุตรศึกษาสำเร็จกลับมา

ครั้งนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงดำริว่า
"จักสอบสวนความคิดเห็นของราษฎรที่มีต่อเรา
และจักดูทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด"

ดังนี้แล้ว ทรงปลอมพระองค์เสด็จไปแต่พระองค์เดียวในเวลาค่ำคืน

คืนหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นพวกโจรกำลังจะเข้าลักของในบ้านหนึ่ง
จึงทรงแอบซุ่มสังเกตอยู่ เมื่อโจรเข้าบ้านได้กำลังสำรวจสิ่งของอยู่
มานพหนุ่มเจ้าของบ้านได้สาธยายมนต์ขึ้นว่า

ฆเฏสิ ฆเฏสิ, กึการณา ฆเฏสิ? อหํ ปิ ตํ ชานามิ ชานามิ
(เจ้าพยายามไปเถิด พยายามไปเถิด,
เจ้าพยายามเพื่ออะไร? เรารู้ เรารู้ความพยายามของเจ้า)


โจรได้ยินดังนั้นพากันวิ่งหนี ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย

วันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษ
มาเชิญมานพหนุ่มนั้นเข้าเฝ้าเพื่อให้ทูลบอกมนต์
เมื่อพระราชาเรียนมนต์บทนั้นจบแล้ว
ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งให้แก่เขา


เสนาบดีของพระราชาคนหนึ่งคิดทรยศ
เข้าหาช่างกัลบก ขอให้ช่างกัลบก (ช่างตัดผม)
ตัดพระศอพระราชาขณะปลงพระมัสสุ
เมื่อตนได้เป็นพระราชาแล้วจักให้ตำแหน่งเสนาบดีแก่ช่างกัลบก

วันหนึ่งขณะกำลังปลงพระมัสสุ
เขาสะบัดมีดโกนรู้สึกมีดคมกร่อยไปหน่อยหนึ่ง
กำหนดว่าจะตัดฉับเดียวให้ขาดเลย
จึงไปยืนสะบัดมีดโกนอยู่ เพื่อให้คมเต็มที่

พระราชาทรงระลึกถึงมนต์ที่เรียนมาจากมานพได้
จึงสาธยายขึ้น ฆเฏสิ ฆเฏสิ, กึการณา ฆเฏสิ, อหํ ปิ ตํ ชานามิ ชานามิ


ช่างกัลบกได้ยินดังนั้นเข้าใจว่า
พระราชาทรงทราบความพยายามของตนจึงตกใจตัวสั่นเหงื่อโซมหน้า
ทิ้งมีดโกนแล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระราชาสารภาพหมดทุกอย่าง

พระราชาทรงอนุสรณ์ถึงมานพหนุ่มผู้เป็นอาจารย์บอกมนต์ว่า
ทรงรอดชีวิตครั้งนี้ได้ เพราะมนต์บทนั้นบทเดียว
ทรงเนรเทศเสนาบดีแล้ว
พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่มานพหนุ่มเจ้าของมนต์


พระศาสดาทรงนำเรื่องนี้มาแล้ว ตรัสว่า
มานพหนุ่มนั้นคือจูฬปันถก อาจารย์ทิศาปาโมกข์ คือพระองค์เอง


นอกจากนี้ยังได้ทรงนำเรื่องอดีตของพระจูฬปันถก
สมัยเป็นคนรับใช้ของจูฬกเศรษฐี
ซึ่งสามารถตั้งตัวไว้ด้วยการขายหนูตายเพียงตัวเดียวเป็นต้นทุน
จนเป็นเศรษฐีมาให้ภิกษุทั้งหลายฟังอีก แล้วสรุปว่า

"คนมีปัญญา ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนทรัพย์แม้เพียงเล็กน้อย
เหมือนคนก่อไฟกองน้อยให้ลุกเป็นกองใหญ่ฉะนั้น"


เมื่อทรงปรารภถึงโลกุตตรสมบัติ อันพระจูฬปันถกได้
อันชื่อว่าได้ที่พึ่งอันเกษม คือพระอรหัตตผล
พระศาสดาจึงตรัสพระพุทธภาษิตว่า
อุฏฐาเนนปฺปมาเทน เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วแต่เบื้องต้น


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นหว้า คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19580

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2013, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ทางแห่งการบรรลุสุขอันไพบูลย์

พระพุทธภาษิต

ปมาทมนุยุญฺชนฺติ พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
อปฺปมาทญฺจ ธนํ เสฏฐํ ว รกฺขติ
มา ปมาทมนุยุญฺเชถ มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ

คำแปล

คนพาล ปัญญาเลว ย่อมประกอบตนอยู่ในความประมาท
ส่วนบัณฑิตปัญญาดี ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ
ท่านทั้งหลายอย่าประกอบความประมาท อย่าชื่นชมยินดีในกาม
ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ย่อมบรรลุสุขอันไพบูลย์


:b51: :b51:

อธิบายความ

ทางแห่งการบรรลุสุขอันไพบูลย์ในที่นี้ คือความไม่ประมาท
ความประมาท คืออาการนอนใจ ไว้ใจว่า ไม่เป็นไรๆ
ส่วนความไม่ประมาทตรงกันข้าม ได้แก่ ความระวัง ความมีสติรอบคอบ


คนพาล ชอบหมกมุ่นอยู่ในความประมาท
เช่น การทำความชั่วแล้วชื่นชมในความชั่วอันตัวทำนั้น
ทะนงตนว่าเก่งที่สามารถทำความชั่วไว้
ส่วนบัณฑิต มีปัญญาดี
ย่อมคุ้มครองรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ


เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายเห็นคุณค่าของทรัพย์
ว่าเป็นเครื่องค้ำจุนให้ตนดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี
เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของความสุขแล้ว คุ้มครองรักษาทรัพย์ด้วยดี ฉันใด
คนมีปัญญาก็ฉันนั้น เห็นคุณค่าของความไม่ประมาทว่า
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมนานาประการ
ตั้งแต่อย่างต่ำไปถึงอย่างสูงแล้ว
ย่อมรักษาความไม่ประมาทนั้นไว้ เพื่อความสุขอันไพบูลย์

ส่วนที่ทรงเตือนมิให้ทำความชื่นชมยินดีในกามนั้น
เพราะกามเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์หลายอย่าง

ทรงเคยเปรียบกาม เหมือนโรค เหมือนหัวผี เป็นต้น เป็นเหตุแห่งการทะเลาะยื้อแย่ง
การฆาตกรรมนานาประการ ที่สำคัญที่สุด คือกามเป็นเครื่องเผาลนจิตใจให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
และกามนั้นมีความพลัดพรากเป็นที่สุด คือลงท้ายด้วยความพลัดพราก
ผู้ไม่ตกอยู่ในบ่วงกาม และพอกพูนความไม่ประมาทอยู่เสมอ
ย่อมเป็นผู้หาความสุขอันไพบูลย์ได้

ลักษณะแห่งคนพาลและบัณฑิตนั้น แตกต่างตรงกันข้าม
คนพาล แม้เมื่อเล่นก็เล่นอย่างพาลๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


:b45: :b45:

เรื่องประกอบ เรื่องพาลนักษัตร

พาลนักษัตร แปลว่า การเล่นรื่นเริงของคนพาล

สมัยหนึ่ง ในเมืองสาวัตถีได้มีการป่าวประกาศให้มีพาลนักษัตรทั่วเมือง
พวกคนพาลพากันเอาขี้เถ้าและขี้โคทาตัวแล้วเที่ยวเล่นสัปดนต่างๆ
รวมทั้งการกล่าววาจาหยาบคายไปทั่วเมือง
ไม่มีความละอายต่อญาติผู้ใหญ่ สตรีเพศหรือบรรพชิตใดๆ เลย
เที่ยวไปพูดวาจาหยาบคาย หน้าบ้านของคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง
ผู้ดีไม่สามารถทนฟังได้ก็ให้ทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง
ครึ่งบาทบ้างเพื่อซื้อความรำคาญ พวกนั้นจึงหลีกไป

ในเมืองสาวัตถีมีอริยสาวกอยู่มาก
ท่านเหล่านั้นได้เห็นการเล่นรื่นเริงของคนพาลแล้ว
ได้ขอร้องมิให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ออกจากวัดเชตวันเป็นเวลา ๗ วัน
ส่วนอาหารนั้นพวกตนจะนำไปถวายมิให้เดือดร้อน

พอวันที่ ๘ อริยสาวกก็ทูลเชิญพระศาสดา
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสวยที่บ้านของตนๆ และกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! ๗ วันที่ผ่านมานี้ รู้สึกว่าช้านานเหลือเกิน
พวกข้าพระองค์อยู่ได้โดยยาก เมื่อได้ยินวาจาอันหยาบคายของพวกคนพาลแล้ว
หูทั้งสองเหมือนจะแตกทำลาย ไม่มีใครละอายใครกันเลย
พวกข้าพระองค์จึงขอมิให้พระองค์และภิกษุสงฆ์ออกมาภายนอก
แม้พวกข้าพระองค์เองก็มิได้ออกนอกเรือนเลย"


พระศาสดาตรัสว่า

"กิริยาของพวกคนพาลย่อมเป็นเช่นนี้
ส่วนคนมีปัญญาทั้งหลายย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนรักษาทรัพย์อันเป็นสาระ
ย่อมสามารถบรรลุอมตมหานิพพานได้"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาซึ่งยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นแล้วนั่นแล


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2013, 03:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาเพียงดังปราสาท

พระพุทธภาษิต

ปมาทํ อปฺปมาเทน ยทา นุทติ ปณฺฑิโต
ปญฺญาปาสาทมารุยฺห อโสโก โสกินึ ปชํ
ปพฺพตฏฺโฐ ว ภุพฺมาฏฺเฐ ธีโร พาเล อเวกฺขติ

คำแปล

เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาทได้
เมื่อนั้น สามารถขึ้นสู่ปัญญาเพียงดังปราสาทได้
นักปราชญ์เป็นผู้ไม่เศร้าโศกย่อมมองเห็นคนพาลผู้เศร้าโศกอยู่
เหมือนคนยืนบนภูเขา มองลงมาเห็นผู้ยืนอยู่บนพื้นดิน


:b44: :b44:

อธิบายความ

ตามพระพุทธภาษิตนี้จะเห็นว่า ความประมาทนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยความไม่ประมาท
คือค่อยๆ ถ่ายถอนความประมาทออกทีละน้อย แล้วเพิ่มพูนความไม่ประมาทเข้าไปแทนที่

เหมือนถ่ายเทน้ำเก่าอันขุ่นออกแล้วใส่น้ำใหม่ที่ใสสะอาดเข้าไป
พยายามรักษาความไม่ประมาทที่ทำได้แล้วมิให้เสื่อมลงไปอีก
กีดกันความประมาทที่ห่างไปแล้วมิให้เข้ามาอีก

ดวงใจที่ห่างจากความประมาท อยู่ด้วยความไม่ประมาท
มีสติระวังรอบคอบ ย่อมก่อให้เกิดปัญญา

ปัญญานั้นว่องไว คล่องแคล่ว ปัญญานั้นสูงส่งดุจปราสาท
กล่าวคือ ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ สามารถเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้เคลื่อนจากภพอยู่ (จุติ)
และเกิดอยู่ (ปฏิสนธิ) เหมือนคนยืนอยู่บนปราสาท
มองลงมาเห็นคนยืนอยู่เบื้องล่างรอบๆ ปราสาท

อนึ่ง เมื่อคนทั้งหลายเศร้าโศกอยู่ เพราะพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักบ้าง
เพราะพบกับความเสื่อมจากญาติจากโภคะบ้าง
เพราะประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักบ้าง บัณฑิตย่อมไม่เศร้าโศก
เพราะได้มองเห็นความจริงเสียแล้ว มองเห็นความสุขและความทุกข์อย่างโลกๆ
โดยความเป็นของเสมอกันคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน
มีแต่กระแสอันไหลเชี่ยวแห่งกลุ่มธรรมอันหนึ่ง
นักปราชญ์เช่นนั้นย่อมมองเห็นคนพาลเป็นผู้น่าสังเวช
สงสารเหมือนผู้ยืนอยู่บนภูเขามองเห็นคนยืนอยู่ที่เชิงเขา

พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัสเพราะปรารภพระมหากัสสปเถระ มีเรื่องดังนี้


:b40:

เรื่องประกอบ เรื่องพระมหากัสสปเถระ

พระศาสดาประทับอยู่ที่เชตวนาราม
พระมหากัสสปอยู่ประจำที่ปิปผลิคูหา กรุงราชคฤห์
เช้าวันหนึ่งออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับมาฉันแล้ว
นั่งเจริญอาโลกกสิณ (กำหนดเอาแสงสว่างเป็นอารมณ์) ตรวจดูสัตว์ทั้งหลาย
ทั้งผู้ประมาท และไม่ประมาท จุติอยู่บ้าง เกิดอยู่บ้างในที่ต่างๆ
เช่น บนพื้นดิน ในน้ำ และบนภูเขา เป็นต้น ด้วยทิพยจักษุ

ขณะนั้นพระศาสดาประทับนั่งในเชตวนาราม ทรงตรวจดูด้วยทิพยจักษุเหมือนกันว่า

"วันนี้กัสสปะ บุตรของเรา อยู่ด้วยธรรมอะไรหนอ?"

ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า

"กัสสป! การจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย แม้พุทธญาณก็กำหนดได้ยาก
ความรู้เรื่องการจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย มิใช่วิสัยของเธอ
วิสัยของเธอน้อยนัก ความรู้เรื่องนี้เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเพียงผู้เดียว"


พระศาสดาทรงแผ่พระรัศมีไป ประหนึ่งว่าประทับนั่งอยู่เบื้องหน้าของพระมหากัสสป
แล้วตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้น


:b48: :b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖

:b44: :b44:

ผู้ตื่นอยู่เสมอ

พระพุทธภาษิต

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส

คำแปล

บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อคนทั้งหลายประมาทอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาท
เมื่อคนทั้งหลายหลับอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นส่วนมาก ย่อมละบุคคลผู้ประมาท
เหมือนม้าฝีเท้าดี ละทิ้งม้าฝีเท้าไม่ดี ไม่มีกำลังไป ฉะนั้น


:b45: :b45:

อธิบายความ

ผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตื่น คือสติ ท่านเรียกว่าผู้หลับ หลับอยู่เป็นนิตย์
ส่วนผู้ไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี
โดยปริยายเบื้องสูงท่านหมายถึงพระขีณาสพ คือผู้สิ้นกิเลสแล้ว

กล่าวโดยปริยายสามัญ คนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการ
คือ ไม่ประมาท มีความเพียรไม่เห็นแก่หลับนอน และ มีปัญญาดี
ย่อมเอาชนะผู้อื่นได้โดยง่าย เป็นเสมือนม้าฝีเท้าดี,

คนอย่างนั้นย่อมระลึกอยู่เสมอว่า

"ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราไม่ประมาท
ใครจะหลับนอนอย่างเกียจคร้านก็ช่างเขา เราตื่นอยู่"


ทำได้อย่างนี้สม่ำเสมอ จะเรียนหรือจะทำงานก็เจริญรุดหน้าได้ทั้งสิ้น

บางคนมีสมองดี แต่เกียจคร้าน บางคนสมองสติปัญญาไม่ดีแต่ขยัน
คือ ได้อย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง ถ้าใครได้ทั้งสองอย่าง
คือ ทั้งสติปัญญาดี และทั้งขยันหมั่นเพียร มีกำลังกายดี
คนนั้นย่อมเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว-ไปเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส เพราะทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย มีเรื่องย่อดังนี้


:b39: :b39:

เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุสองสหาย

เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดเชตวัน

ภิกษุเป็นสหายกันสองรูป เรียนกัมมฐานจากพระศาสดาแล้วไปพำนักอยู่ในป่า
รูปหนึ่งเร่งทำความเพียรด้วยความไม่ประมาท
ส่วนอีกรูปหนึ่ง เที่ยวหาฟืนในตอนเย็นนำมากองไว้แล้วผิงไฟ
คุยกับภิกษุสามเณรตลอดปฐมยาม (๔ ชั่วโมง) แห่งราตรี

ภิกษุผู้ไม่ประมาทเตือนว่า

"ผู้มีอายุ อย่ามัวทำอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรเข้าเถิด
อบาย ๔ เป็นเช่นเรือนนอนแห่งผู้ประมาทแล้ว
พระพุทธเจ้าไม่ทรงโปรดปรานผู้โอ้อวดและประมาท"


แต่ภิกษุผู้ประมาทหาเชื่อฟังไม่ มิหนำซ้ำ
เมื่อภิกษุผู้สหายทำความเพียรพอสมควร แล้วเข้าห้องเพื่อพักผ่อนในมัชฌิมยาม
ก็ตามเข้าไปว่า "ท่านเกียจคร้านมาก ท่านมาอยู่ป่าเพื่อนนอนหลับหรือ?
ท่านเรียนกัมมฐานมาจากสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว
ควรจะลุกทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน"

ดังนี้แล้ว กลับไปนอนที่ห้องของตน

งานที่ภิกษุรูปนี้ทำประจำก็คือคุย และนอน
กับเข้าไปเปรียบเปรยภิกษุสหายผู้ทำความเพียร


ส่วนภิกษุผู้ทำความเพียร พักผ่อนในมัชฌิมยามแล้ว
ลุกขึ้นทำสมณธรรมในปัจฉิมยาม ไม่ประมาทอยู่อย่างนั้น
ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปไปสู่สำนักพระศาสดา
พระองค์ตรัสถามว่า ทั้งสองอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตลอดพรรษาหรือ?
กิจแห่งบรรพชิตได้ทำให้สิ้นสุดแล้วหรือ?

ภิกษุผู้ประมาททูลว่า ตนเองได้ออกหาฟืนแต่เวลาเย็นนำมาก่อไฟผิง
นั่งผิงอยู่ตลอดปฐมยามมิได้หลับนอน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งเอาแต่นอนอย่างเดียว

พระศาสดาตรัสว่า

"เธอนั่นแหละเป็นผู้ประมาท แล้วยังมาพูดว่า ตัวไม่ประมาทอีก
ส่วนบุตรของเราผู้ไม่ประมาท เธอมาบอกว่าประมาท
เธอเป็นเสมือนม้าทุรพล ขาดเชาว์ เป็นผู้พ่ายแพ้
ส่วนบุตรของเราเป็นเสมือนม้าที่มีเชาว์ดี"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้น


:b50: :b50:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 เม.ย. 2013, 02:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นซึก หรือ ต้นสิรีสะ หรือ ต้นพฤกษ์
ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๕ พระนามว่า พระกุกกุสันธพุทธเจ้า
ทรงประทับนั่งบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้



บัณฑิตสรรเสริญความไม่ประมาท

พระพุทธภาษิต

อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ สฏฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิโต สทา

คำแปล

ท้าวมฆวะ ถึงความประเสริฐกว่าเทวาทั้งหลาย
เพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาท
ส่วนความประมาท บัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ


:b45: :b45:

อธิบายความ

ท้าวมฆวะนั้นเป็นพระนามหนึ่งของท้าวสักกะ จอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อเป็นมนุษย์ท่านไม่ประมาท ชักชวนพรรคพวกทำบุญสั่งสมกุศลกรรมอยู่เสมอ
เมื่อสิ้นชีพไปเกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์
เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า
ท้าวมฆวะถึงความประเสริฐกว่าเทวาทั้งหลายเพราะความไม่ประมาท
ส่วนความประมาทบัณฑิตติเตียน เพราะเป็นต้นเค้าของความวิบัติทุกอย่าง
จริงอย่างนั้น ความโชคร้ายในมนุษย์ก็ตาม การต้องไปอบายภูมิก็ตาม
ล้วนมีความประมาทเป็นมูลทั้งสิ้น

ท้าวมฆวะเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างไร โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้


:b48: :b48:

เรื่องประกอบ เรื่องท้าวสักกะ (มฆวะ)

พระศาสดาประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี
ครั้งนั้นเจ้าลิจฉวี พระองค์หนึ่งพระนามว่า มหาลิ
ทรงสดับพระธรรมเทศนาเรื่อง สักกปัญหสูตร ของพระพุทธเจ้าแล้ว
ทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นสมบัติของท้าวสักกะ
ทรงรู้จักท้าวสักกะด้วยพระองค์เองหรือไม่หนอ หรือเพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่น

ทรงดำริฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า
ทรงสดับสักกปัญหสูตรของพระพุทธองค์
สงสัยว่า พระพุทธองค์ทรงรู้สมบัติของท้าวสักกะ
ทรงรู้จักท้าวสักกะด้วยพระองค์เองหรืออย่างไร จึงตรัสเช่นนั้น

"ดูก่อนมหาลิ" พระศาสดาตรัส
"ตถาคตรู้จักทั้งตัว ท้าวสักกะและธรรมอันทำบุคคลให้เป็นท้าวสักกะด้วย"


พระศาสดาทรงอธิบายพระนามของท้าวสักกะให้ท้าวมหาลิทรงทราบว่า
ที่มีพระนามอย่างนั้นๆ เพราะเหตุใด
เช่นว่าที่มีพระนามว่า มฆวา เพราะชาติที่เป็นมนุษย์ได้เป็นมานพชื่อ มฆะ
ที่มีพระนามว่า บุรินททะ เพราะชาติก่อนชอบให้ทานก่อนผู้อื่น
ที่มีพระนามว่า สักกะ เพราะเคยให้ทานโดยเคารพ
ที่มีพระนามว่า วาสวะ เพราะในชาติก่อนเคยให้ที่พักอาศัยแก่คนจรมา
ที่มีพระนามว่า สหัสสักขะ เพราะสามารถดำริข้อความได้ตั้งพันเรื่องในกาลเพียงครู่เดียว
ที่มีพระนามว่า สุชัมบดี เพราะทรงเป็นพระสามีของสุชาดา
ที่มีพระนามว่า เทวานมินทะ เพราะทรงเป็นใหญ่กว่าทวยเทพทั้งปวงในชั้นดาวดึงส์

อนึ่ง ท้าวสักกะนั้นสมัยเมื่อเป็นมนุษย์
ได้บำเพ็ญ วัตตบท ๗ ประการ อย่างบริบูรณ์ตลอดชีวิต คือ

๑. เลี้ยงมารดาบิดา

๒. อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

๓. พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน

๔. ไม่ส่อเสียด

๕. กำจัดความตระหนี่ได้

๖. มีวาจาสัตย์

๗. ข่มความโกรธได้


ท้าวมหาลิ ทรงแสดงความประสงค์อยากทราบเรื่องท้าวสักกะ สมัยเป็นมฆมานพ
พระศาสดาจึงตรัสเล่าให้สดับดังนี้


เรื่องมฆามานพ

คนอย่างมฆมานพค่อนข้างหาได้ยากในอินเดีย
เขามองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนรวมมากว่าส่วนตน
ยอมสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

มฆมานพเป็นชาวอจลคามในแคว้นมคธ
วันหนึ่งออกไปนอกบ้าน หยุดพักผ่อนในที่แห่งหนึ่ง
ทำที่ตรงนั้นให้น่ารื่นรมย์น่ารัก ชายคนหนึ่งมาเห็นเข้า ดึงเขาออกแล้วเข้าอยู่แทน
แปลว่าแย่งที่อย่างหน้าด้าน เขายอมให้โดยดี ไปทำที่อื่นๆ อีกก็ถูกแย่งหมด

มฆมานพเห็นว่า คนที่มาแย่งที่อยู่ของตนนั้น มีความสุข
เขาพอใจจากการได้เห็นความสุขของผู้อื่นนั้น
จึงได้ทำสถานที่ให้เป็นรมณียสถานไว้เป็นอันมาก
ยอมให้คนทุกคนที่ต้องการเข้าพักพาอาศัย เขาเห็นบุญกุศลที่ได้ทำเช่นนั้น
ถึงฤดูหนาวได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น ถึงฤดูร้อนได้นำน้ำมาให้

มฆมานพคิดว่า รมณียสถานและความสุขเป็นที่รักที่พอใจของคนทั้งปวง
จึงตกลงใจเที่ยวทำสถานที่ดังกล่าวให้เป็นสาธารณสถาน
เขาออกจากบ้านแต่เช้า ทำหนทางให้ราบเรียบ รานกิ่งไม้ที่ควรราน

ต่อมามีชายคนหนึ่งเห็นมฆมานพทำอยู่อย่างนั้น
ชอบใจในปฏิปทาจึงเข้าร่วมเป็นพวกเดียว
โดยนัยนี้เขาได้เพื่อนร่วมงาน ๓๓ คน ทำทางและสถานที่ให้รื่นรมย์ได้มาก

ผู้ใหญ่บ้าน มีจิตริษยา ไม่ต้องการให้เด็กหนุ่มทำอย่างนั้น
บอกว่า ผู้ครองเรือนควรเข้าป่าหาเนื้อหรือปลามาแล้วต้มสุรากินกันจึงจะควร
(เพราะตนจะได้กินบ้าง) ทำอย่างที่เด็กหนุ่มทำไม่ควร เขาพยายามห้าม
แต่คณะของมฆมานพไม่เชื่อฟังคงทำเรื่อยไป
ผู้ใหญ่บ้านโกรธเคืองจึงไปกราบทูลพระราชาว่า
มีพวกโจร ๓๓ คน คุมกันเป็นพวก พระราชารับสั่งให้จับมา ยังไม่ทันสืบสวน
สอบสวนรับสั่งให้เอาช้างเหยียบ

มฆมานพให้โอวาทแก่เพื่อนๆ ว่า
"นอกจากเมตตาแล้ว ไม่มีที่พึ่งอย่างอื่นเลย
ขอให้แผ่เมตตาไปยังพระราชานายบ้าน,
ช้างที่จะเหยียบ และตนโดยเสมอกัน อย่าโกรธใครๆ"


เพราะอานุภาพแห่งเมตตา ช้างไม่อาจเข้าไปใกล้ชายหนุ่มทั้ง ๓๓ คนได้
พระราชาทรงสดับแล้วเข้าพระทัยว่า ช้างกลัวคนมาก
จึงรับสั่งให้เอาเสื่อลำแพนคลุมคนเหล่านั้นเสีย แต่ช้างก็ถอยหลังกลับ
ควาญจะไสเท่าไรก็ไม่ยอมเดินเข้าไป

พระราชาทรงสดับพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว
ทรงดำริว่าต้องมีเหตุพิเศษอย่างแน่นอน ช้างจึงเป็นอย่างนี้
รับสั่งให้เรียกคน ๓๓ คนเข้าเฝ้าเพื่อสอบถาม ได้ความจริง

"ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นโจร
แต่พวกข้าพระองค์ทำทางไปสวรรค์ของตน นายบ้านชักนำข้าพระองค์ทำอกุศล
เมื่อพวกข้าพระองค์ไม่ยอมทำตน เขาโกรธ จึงมากราบทูลพระองค์อย่างนั้น"


แลแล้วมฆมานพ ได้ทูลความแต่ต้นจนอวสานในการกระทำของพวกตน
พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงโสมนัส ตรัสว่า
"สัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักคุณของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์ไม่รู้จัก จงยกโทษแก่เราเถิด"

พระราชาได้พระราชทานผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งบุตรภรรยาให้เป็นทาสของมฆมานพ
ช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่ และหมู่บ้านนั้นทั้งหมดให้แก่มานพ
สหายทั้ง ๓๓ คน ปราโมชยิ่งนักว่าได้พบผลบุญทันตาเห็น
เปลี่ยนกันขี่ช้างไปปรึกษากันอยู่เสมอว่า พวกเราควรทำอะไรให้ยิ่งขึ้น
ตกลงกันว่า จักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวรใน ๔ แยกหนทางใหญ่
จึงได้จัดหาช่างไม้มาสร้างศาลานั้น แต่ไม่ยอมให้สตรีมีส่วนร่วมในการทำนั้น

มฆมานพมีภรรยา ๔ คน คือ นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุธรรมา และนางสุชาดา

นางสุธรรมาอยากจะร่วมกุศลในการสร้างศาลาบ้าง
จึงให้ค่าจ้างช่างไม้ให้ทำช่อฟ้าให้ตน
มีอักษรจารึกที่ช่อฟ้านั้นว่า "ศาลานี้ชื่อสุธรรมา"

ศาลานั้นแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับอิสรชน,
ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนไข้

พวกเขาปูกระดาน ๓๓ แผ่นใหญ่ แล้วสั่งช้างไว้ว่า แขกมานั่งบนแผ่นกระดานของผู้ใด
จงพาแขกไปบ้านของผู้นั้น วันนั้น ผู้นั้นจักเป็นผู้รับรองให้ความสะดวกสบายแก่แขกทุกประการ

นายมฆะ ปลูกต้นทองหลางไว้ต้นหนึ่ง ไม่ห่างศาลานัก
แล้วทำเก้าอี้หินไว้โคนต้นไม้นั้นสำหรับคนจะได้นั่งเล่น
คนที่มาพบเห็นศาลาก็ออกชื่อว่า "ศาลาสุธรรมา"
ไม่มีใครรู้ชื่อของสหาย ๓๓ คนเลย นางสุธรรมาฉลาดมากในการทำบุญ และหาชื่อเสียง

ฝ่ายนางสุนันทาคิดว่า นางสุธรรมได้ร่วมบุญในการสร้างศาลา เพราะความฉลาดของตน
จึงคิดว่า "เราควรจะมีส่วนบ้าง อันธรรมดาคนมาพักย่อมต้องการน้ำดื่มน้ำอาบ เราควรให้ขุดสระมีบัว"
ดังนี้แล้วให้ขุดสระโบกขรณี ชื่อ "สระสุนันทา"
ส่วนนางสุจิตราให้สร้างสวนดอกไม้อันสวยงาม คนทั้งหลายเรียกกันว่า "สวนสุจิตรา"

ส่วนนางสุชาดาคิดเสียว่า "เราเป็นทั้งหลานและเป็นทั้งภรรยาของมฆะ
สิ่งใดที่มฆะทำก็ชื่อว่าเราได้ทำด้วย"
ดังนี้ จึงไม่ได้ทำอะไรส่วนตัวอันเป็นกุศล ให้เวลาล่วงไปด้วยการแต่งตัวอย่างเดียว

มฆมานพบำเพ็ญคุณงามความดีอื่นๆ และวัตตบท ๗ ประการ อยู่จนตลอดชีวิต
เมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์
สหายของเขา ๓๒ คนก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน
นายช่างเกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร นางสุธรรมา สุนันทา และสุจิตรา
ก็ไปเกิดเป็นเทพอัปสรที่นั่นเหมือนกัน มีแต่นางสุชาดาเท่านั้นไปเกิดเป็นนางนกยาง,
ช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อ เอราวัณ ภายหลังท้าวสักกะได้ช่วยเหลือให้นางสุชาดา
ไปเกิดเป็นเทพอัปสรเหมือนกันโดยวิธีให้รักษาศีล
ทำจิตใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา เป็นต้น


ทั้งหมดได้เสวยทิพยสมบัติ มีความสุขอยู่ในโลกทิพย์
เพราะหมั่นสั่งสมบุญกุศลด้วยความไม่ประมาท


ดังนั้นพระภควัตเจ้าจึงตรัสว่า
"อปฺมาเทน มฆวา เทวานํ เสฏฐตํ คโต"
เป็นอาทิ ดังได้อธิบายมาแล้ว แต่ต้น


:b39: :b39:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นซึก ต้นสิรีสะ หรือต้นพฤกษ์ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19550

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2013, 08:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นมะพลับ หรือ ต้นพิมพชาละ
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๘ พระนามว่า พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า
ทรงประทับนั่งและตรัสรู้ใต้ไม้พันธุ์นี้



การเห็นภัยในความประมาท

พระพุทธภาษิต

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา
สญฺโญชนํ อณุ ถูลํ ฑหํ อคฺคี ว คจฺฉติ

คำแปล

ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท
หรือเป็นปกติเห็นภัยในความประมาท
ย่อมสามารถเผาสัญโยชน์น้อยใหญ่เสียได้
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้สิ้นไปฉะนั้น


:b40: :b40:

คำอธิบายความ

สังโยชน์ นั้น คือกิเลสเครื่องผูกมัดสัตว์ไว้ในโลก หรือในวัฏสงสาร
เหมือนเชือกผูกสัตว์ไว้มิให้ดิ้นออกไปได้
ท่านจำแนกสังโยชน์ไว้ ๑๐ ประการ
และอริยมรรคเป็นธรรม เครื่องเผาสังโยชน์นั้นตามลำดับชั้นดังนี้

๑. สักกายทิฏฐิ
ความเห็นผิด ยึดมั่นสังขารร่างกายว่าเป็นตัวตน
หรือเห็นตัวตนอยู่ในขันธ์ ๕

๒. วิจิกิจฉา
ความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย
สงสัยในทางให้ถึงนิพพาน

๓. สีลัพพตปรามาส
การลูบคลำศีลและวัตร
คือ การรักษาศีล บำเพ็ญวัตรเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น มิใช่เพื่อความบริสุทธิ์
เช่น มุ่งสรรเสริญ มุ่งลาภสักการะ เป็นต้น

สังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนี้ พระโสดาบันละได้,
โสดาปัตติมรรค สามารถเผาสังโยชน์นี้ได้


๔. กามราคะ
ความกำหนดในกาม

๕. ปฏิฆะ
ความหงุดหงิด ความรำคาญ

๒ ประการนี้ อนาคามิมรรคเผาได้
ส่วนสกทาคามิมรรคนั้น ละได้ ๓ ประการเหมือนโสดาปัตติมรรค
เพิ่มแต่ทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง
สังโยชน์ ๕ ประการนี้ ท่านเรียกว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ แปลว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ


๖. รูปราคะ
ความกำหนัดติดใจในรูปฌาน

๗. อรูปราคะ
ความกำหนัดติดใจในอรูปฌาน

๘. มานะ
ความทะนงตน

๙. อุทธัจจะ
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต

๑๐. อวิชชา
ความหลง ไม่รู้อริยสัจตามเป็นจริง

ทั้ง ๕ ประการนี้ ท่านเรียกว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์
แปลว่า สังโยชน์เบื้องสูง อรหัตตมรรคเผาได้


ผู้สามารถเผาสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ได้ เป็นพระขีณาสพ
ผู้นี้สิ้นอาสวะ บางทีพระผู้บำเพ็ญเพียรได้ มองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เช่น ไฟไหม้ป่า แล้วสามารถนำสิ่งที่ได้เห็นนั้นมาเป็นแนวนึกเผากิเลสของตน


เรื่องประกอบ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้เห็นไฟไหม้ป่า


ภิกษุรูปนั้น เรียกกรรมฐาน จากสำนักพระศาสดา แล้วเข้าป่า
เพียรพยายามเท่าไรก็มิอาจให้บรรลุมรรคผลใดๆ ได้ จึงเดินทางกลับ
คิดว่าจะมาทูลพระศาสดาให้ตรัสบอกกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ขณะเดินทางมา เห็นไฟกำลังไหม้ป่า
จึงรีบขึ้นบนยอดเขาโล้นลูกหนึ่ง นั่งดูไฟ ได้อารมณ์เป็นแนวนึกว่า

"ไฟนี้เผาเชื้อน้อยใหญ่ให้พินาศไป ฉันใด
ไฟคืออริยมรรคญาณก็จะพึงเผาสังโยชน์ทั้งหลายให้สิ้นไปฉันนั้น"


พระศาสดาประทับนั่ง ในพระคันธกุฎี
ทรงทราบวารจิตของภิกษุนั้นแล้ว ตรัสสนับสนุนว่า

"ถูกแล้วภิกษุ สังโยชน์ทั้งหลาย ทั้งละเอียดและหยาบ
อันอยู่ภายในของสัตว์ทั้งหลาย ดุจเชื้อเพลิง
ควรเผาสังโยชน์เหล่านั้นเสียด้วยไฟคือญาณ
ทำให้หมดไปสิ้นไป ไม่เกิดขึ้นได้อีก"


พระศาสดาทรงเปล่าพระรัศมีไป
ประหนึ่งว่าประทับนั่งอยู่ตรงหน้าของภิกษุนั้นพลางตรัสว่า

"อปฺปมาทรโต ภิกขุ"
เป็นอาทิ ดังได้ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นแล้ว


:b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นมะพลับ หรือต้นพิมพชาละ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19545

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2013, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นทองกวาว หรือ ต้นกิงสุกะ
พระพุทธเจ้าพระนามว่า พระเมธังกรพุทธเจ้า
ทรงประทับนั่งและตรัสรู้ใต้ควงไม้พันธุ์นี้



ผู้อยู่ใกล้พระนิพพาน

พระพุทธภาษิต

อปฺปมาทรโต ภิกขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา
อภพฺโพ ปริหานาย นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก

คำแปล

ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม เป็นผู้อยู่ใกล้พระนิพพาน


:b39: :b39:

อธิบายความ

คนที่ต้องเสื่อมนั้น ส่วนมากหรือจะว่าทั้งหมดก็ได้เป็นผู้ประมาท
และมิได้เห็นภัยในความประมาท หลงใหลมัวเมา
พอใจในการปล่อยตน ด้วยสำคัญว่า ไม่เป็นไรๆ


อนึ่งในที่บางแห่งพระศาสดาทรงให้ข้อสังเกตไว้ว่า
คนจะเสื่อมหรือเจริญก็รู้ได้ง่าย
คนใดชังธรรม คนนั้นต้องเสื่อม
คนใดชอบธรรม คนนั้นเจริญ

ตามพระพุทธภาษิตในปราภวสูตร ขุททกนิกาย ดังนี้

สุวิชาโน ภวํ โหติ สุวิชาโน ปราภโว
ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว


แปลว่า

"คนจะเป็นผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย จะเป็นผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
คือผู้ชอบธรรม เป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม"


ผู้ไม่ประมาท นอกจากจะเป็นผู้ไม่เสื่อมจากธรรม
คือ สมถะ วิปัสสนา มรรคและผลแล้ว
ยังเป็นผู้อยู่ใกล้พระนิพพานอีกด้วย ดังเรื่องต่อไปนี้


เรื่องประกอบ เรื่องพระติสสะเถระ

พระติสสเถระ เป็นชาวนิคมหนึ่ง ใกล้เมืองสาวัตถี
เมื่อบวชแล้วเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด
และมีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย
ท่านเที่ยวบิณฑบาตเฉพาะในหมู่บ้านญาติของท่านเท่านั้น
เมื่ออนาถปิณทิกเศรษฐีถวายมหาทานก็ดี
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบำเพ็ญอสทิสทานอยู่ก็ดี
ท่านก็ไม่ยอมมายังเมืองสาวัตถี คงอยู่ของท่านที่นิคมนั่นเอง

ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าใจท่านจึงติเตียนว่า
"พระติสสะคลุกคลีอยู่กับหมู่ญาติของตน
ไม่ยอมไปแม้ในงานใหญ่ของอนาถปิณทิกะ และของพระเจ้าปเสนทิโกศล"

ดังนี้แล้วได้กราบทูลพระศาสดา

พระศาสดารับสั่งให้พระติสสะเข้าเฝ้า ตรัสถามถึงเรื่องนั้น
พระติสสะทูลรับว่าเป็นความจริง จึงตรัสถามอีกว่า ทำไมจึงทำเช่นนั้น
พระติสสะทูลว่า

"ข้าแต่พระภควาเจ้า ข้าพระองค์กระทำดังนั้นมิใช่เพื่อคลุกคลีด้วยหมู่ญาติ
แต่ข้าพระองค์อาศัยหมู่ญาติเหล่านั้นได้อาหารพอเลี้ยงชีพอยู่ได้
แต่ข้าพระองค์อาศัยหมู่ญาติเหล่านั้น ได้อาหารพอเลี้ยงชีพอยู่ได้
ข้าพระองค์คิดว่า เมื่อได้อาหารเลวก็ตาม ประณีตก็ตามพอยังชีพให้เป็นไปได้แล้ว
ประโยชน์อะไรด้วยการไปแสวงหาอาหารที่อื่นอีก
ดังนี้จึงมิได้มา ข้าพระองค์หาคลุกคลีด้วยหมู่ญาติไม่"


พระศาสดาทรงทราบแล้วทรงประทานสาธุการ ๓ ครั้งว่า
"ดีแล้ว ชอบแล้ว ภิกษุ" และตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
เป็นแบบแผน เป็นประเพณีของเรา ภิกษุพึงเป็นผู้มักน้อย สันโดษเช่นเดียวกับติสสะนี้
เพราะผู้เป็นอย่างนี้ย่อมไม่เสื่อมจากมรรคผล ย่อมอยู่ใกล้พระนิพพานโดยแท้"


ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระพุทธภาษิตซึ่งได้นำมากล่าวแล้วในเบื้องต้น


:b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖

:b44:

จิตตวรรควรรณณา (ว่าด้วยจิต)
จิตที่ดิ้นรนกลับกลอก


พระพุทธภาษิต

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรค ว เตชนํ
อาริโช ว ถเล ขิตฺโต โอกโมกตอุพฺภโต
ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ มารเธยฺยํ ปหาตเว

คำแปล

จิตนี้ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก
บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทำจิตนี้ให้ตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศร
จิตนี้ เมื่อผู้ทำความเพียรยกขึ้นจากอาลัยคือกามคุณ ๕ แล้ว
ซัดไปในวิปัสสนากัมมฐาน เพื่อให้ละบ่วงแห่งมารย่อมดิ้นรน
เหมือนปลาที่พรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ดิ้นรนอยู่ฉะนั้น


:b48: :b48:

อธิบายความ

พระพุทธภาษิตนี้แสดงถึงลักษณะของจิตว่า
ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เหลือวิสัยที่จะทำให้ตรงได้

แต่ต้องทำด้วยอุบายอันฉลาด เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง
ถ้าไม่ใช่ช่างศร ย่อมทำลูกศรไม่เป็นฉันใด
บุคคลผู้ไม่ชำนาญทางการฝึกจิต ก็ไม่สามารถทำจิตให้ตรงได้ฉันนั้น

ที่ว่าจิตนี้ดิ้นรนนั้น คือดิ้นรนอยู่ในอารมณ์มีรูป เป็นต้น
ดิ้นรนไปเพื่อเกลือกกลั้วกับอารมณ์นั้น

ดิ้นรนไปหารูปอันสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย
สัมผัสอันยวนใจ เมื่อถูกกีดกันจากอารมณ์นั้นด้วยสมถกัมมฐาน
หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ย่อมดิ้นรนมากขึ้น
เพราะไม่ได้เสวยอารมณ์ที่เคยได้
เหมือนของที่คนเคยกินจนติดแล้วไม่ได้กิน ย่อมแสดงอาการทุรนทุราย

ที่ว่ากวัดแกว่งนั้น คือไม่สามารถดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่สามารถนิ่งได้
เหมือนเด็ก หรือสิ่งไม่อยู่นิ่งในอิริยาบถเดียว
หรือเหมือนใบไม้ที่ถูกลมพัดให้หวั่นไหวอยู่เสมอ
จิตนี้ก็เหมือนกัน ถูกลมคือโลกธรรม ๘ บ้าง
ราคะ โทสะ โมหะบ้าง ทำให้หวั่นไหวกวัดแกว่ง

ที่ว่ารักษายากนั้น เพราะหาอารมณ์อันเป็นที่สบายให้จิตได้ลำบาก
ประเดี๋ยวชอบอย่างนั้น ประเดี๋ยวชอบอย่างนี้
และมักชอบตกไปในอารมณ์อันชั่ว

ผู้มีปัญญาจึงต้องคอยเหนี่ยวรั้งอยู่เสมอ
เหมือนโคพยายามจะกินข้าวกล้าอันเขียวสด
เจ้าของต้องคอยเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยเชือก-
เชือกที่สำหรับเหนี่ยวรั้งจิตก็คือสติ ถึงกระนั้นก็เหนี่ยวรั้วได้ยาก (ทุนฺนิวารยํ)
เมื่อเชือกคือสติขาดมันก็ไปตามที่ปรารถนาอีก
แต่บุรุษมีความเพียรก็ต้องพยายามทำจิตให้ควรแก่การงาน

เหมือนอย่างว่า นายช่างศร นำเอาท่อนไม้มาจากป่าปอกเปลือกออกแล้ว
ทาด้วยน้ำข้าวหรือน้ำมัน ลนไฟ แล้วตัดให้ตรง
เมื่อทำลูกศรให้ตรงได้ที่แล้วก็แสดงศิลปะยิงศรหน้าพระที่นั่งของพระราชา
หรือต่อหน้าชุมนุมชนเป็นอันมาก ย่อมได้สักการะและความนับถือฉันใด

ผู้มีปัญญาในศาสนานี้ก็ฉันนั้น ทำให้จิตอันมีสภาพดิ้นรนนี้
ให้กะเทาะเปลือกคือกิเลสออก ด้วยอำนาจธุดงคคุณและการอยู่ป่าเป็นต้นแล้ว
ชะโลมด้วยยางคือศรัทธา ลนด้วยความเพียรทั้งทางกายและทางจิต
ดัดที่ง่ามคือสมณะและวิปัสสนา ทำจิตให้ตรงให้หมดพยศ
แลแล้วพิจารณาสังขาร ทำลายกองวิชชาได้แล้ว
ยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้น กล่าวคือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ และโลกุตรธรรม ๙
ย่อมได้ชื่อว่าเป็นทักขิเณยยบุคคลผู้เลิศ


บ่วงแห่งมารที่ตรัสถึงในที่นี้ ท่านหมายถึงกิเลสวัฏฏ์
การทำวิปัสสนากัมมัฏฐานก็เพื่อให้ละบ่วงแห่งมารนี้


อาการทั้งหมดนี้ ภิกษุย่อมได้รับด้วยความเพียรอันเป็นไปติดต่อไม่ขาดสาย
งานการฝึกจิตเป็นงานใหญ่และสำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์
ไม่มีงานใดจะสำคัญและมีอานิสงส์มากเท่านี้

เรื่องจิตยังมีข้างหน้าอีกมาก เพราะวรรคนี้ว่าด้วยเรื่องจิตทั้งวรรค

พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาทรงปรารภพระเมฆิยะตรัสไว้
บัณฑิตพึงทราบเรื่องเมฆิยะด้วย


เรื่องประกอบ เรื่องพระเมฆิยะ

พระเมฆิยะเป็นภิกษุอุปฐากพระศาสดาในสมัยหนึ่ง
วันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม
ได้เห็นสวนมะม่วงอันรื่นรมย์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำกิมิกาฬา
ปรารถนาจะไปทำความเพียร ณ ที่นั้น
จึงกลับมากราบทูลพระศาสดาว่าตนได้เห็นสถานที่อันรื่นรมย์ควรทำความเพียร
ขออนุญาตทูลลาไปทำความเพียรที่นั่น
พระศาสดาทรงตรวจดูอินทรีย์ของพระเมฆิยะแล้วเห็นว่ายังอ่อนอยู่
ไม่ควรเพื่อทำความเพียรด้วยตนเอง จึงทรงห้ามเสียถึง ๓ ครั้งว่า

"เมฆิยะ อย่าเพิ่งเลย เวลานี้เราอยู่ผู้เดียว
ขอเธอจงรอคอยจนกว่าจะมีภิกษุบางรูปมาแทนแล้ว เธอจึงค่อยไป"
ดังนี้เป็นต้น แต่พระเมฆิยะหาฟังไม่ ทอดทิ้งพระศาสดาให้อยู่แต่พระองค์เดียว
ส่วนตนไปยังสวนมะม่วงอันรื่นรมย์
แต่เมื่อไปถึงแล้วไม่สามารถทำความเพียรอย่างที่ตั้งใจได้
เพราะถูกวิตกทั้ง ๓ คือกามวิตก พยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตกครอบงำ
จึงกลับมาสู่สำนักพระศาสดา-พระศาสดาจึงตรัสว่า

"ดูก่อนเมฆิยะ! เธอละทิ้งเราผู้อ้อนวอนอยู่ถึง ๓ ครั้งว่าให้รอก่อน
จนกว่าจะมีภิกษุบางรูปมาแทน แต่เธอก็หาฟังไม่
เธอได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว ธรรมดาภิกษุไม่ควรตามใจตนเอง
ขนาดปรารถนาสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นตามใจชอบ
ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจแห่งจิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติอันแล่นไปเร็ว
ควรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า "ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ" เป็นอาทิ
มีเนื้อความและอรรถาธิบายดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นทองกวาว หรือต้นกิงสุกะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19534

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 เม.ย. 2013, 10:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


จิตที่นำความสุขมาให้

พระพุทธภาษิต

ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน จตฺถกามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

คำแปล

จิตนั้นข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเบา (คือเกิดขึ้นและดับไปเร็ว)
มีปกติตกไปตามความใคร่ คือตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่
การฝึกจิตเช่นนั้นเป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้


:b39: :b39:

อธิบายความ

การข่มจิต ท่านสอนให้ข่มในกาลควรข่ม
เช่น เวลาจิตฟุ้งซ่าน ข่มด้วยอารมณ์กรรมฐานมีพุทธานุสสติ เป็นต้น
ประคองในกาลที่ควรประคอง เช่น เวลาจิตแช่มชื่นดำเนินไปด้วยดีในอารมณ์กรรมฐาน

การข่มจิตเป็นวิธีฝึกอย่างหนึ่งอนึ่งจิตนั้นเกิดและดับเร็วอย่างมาก
และเกิดดับอยู่เสมอ แต่เป็นไปได้ด้วย สันตติ
เหมือนการไหลของกระแสน้ำและกระแสไฟฟ้า
เพราะสันตติทำให้รู้สึกเหมือนเที่ยง เป็น "หนึ่งเดียว" ดำรงอยู่ตลอดกาล
เรามองดูไฟในหลอดไฟเสมือนหนึ่งว่า มีหนึ่งเดียวนิ่งอยู่ แต่ความจริงหานิ่งไม่
ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่เพราะสันตติ (ความสืบต่อ)

จึงปรากฏประดุจเที่ยง มั่นคงและยั่งยืน

จิตมักตกไปในอารมณ์อันน่าใคร่ กล่าวคือ ตกไปในกามคุณ ๕ มีรูป เป็นต้น

การฝึกจิตนั้น มีผลหลายประการ ผลที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือความสุข
ตรงกันข้าม จิตที่มิได้รับการฝึกย่อมนำแต่ความทุกข์มาให้เนืองๆ และไม่มีที่สิ้นสุด
การฝึกจิตได้เพียงประการเดียวนี้ประโยชน์มหาศาล
ตัวอย่างเช่น ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งมีเรื่องต่อไปนี้


เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดาตรัสเรื่องนี้ เมื่อประทับอยู่ที่เชตวนาราม
เมืองสาวัตถีมีบ้านอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชื่อมาติกคาม ใกล้เชิงเขาแห่งแคว้นโกศล

วันหนึ่งภิกษุประมาณ ๖๐ รูป
เรียนกรรมฐานจากสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่มาติกคามนั้น
ได้มารดาของผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้อุปถัมภ์ให้บำเพ็ญสมณธรรมโดยสะดวก

ภิกษุผู้เป็นหัวหน้าได้ให้โอวาทเพื่อนภิกษุด้วยกันว่า

"ท่านทั้งหลาย! พวกเราไม่ควรประมาท
หากเราประมาท มหานรก ๘ ขุมคงจักต้องเป็นเช่นเรือนนอนของพวกเราเป็นแน่แท้
อนึ่ง พวกเราเรียนกรรมฐานมาจากสำนักของพระศาสดา
ก็พระศาสดาพระองค์นั้น ไม่ทรงโปรดปรานคนโอ้อวด
มีมายา และเกียจคร้าน แม้ผู้นั้นจะเที่ยวติดตามอยู่ใกล้ชิดก็ตาม
แต่ทรงโปรดปรานบุคคลผู้มีอัธยาศัยงาม
ขอท่านทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาท
พวกเราไม่ควรอยู่ร่วมกัน ๒ รูป
นอกจากเวลามาสู่ที่บำรุงพระเถระในเวลาเย็นและเวลาออกบิณฑบาตในเวลาเช้า
อนึ่ง หากภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่มีความผาสุก
ขอให้มาตีระฆังซึ่งอยู่ส่วนกลาง พวกเราจักประชุมกันทำยาให้ภิกษุนั้น"


ภิกษุทั้งหลายได้ประพฤติอย่างที่ทำกติกากันไว้อย่างสม่ำเสมอ
วันหนึ่ง อุบาสิกามาหาภิกษุ ให้คนใช้ถือเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้นมาด้วย
นางไม่เห็นภิกษุในท่ามกลางวิหาร จึงถามคนที่นั่น
นางได้ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายอยู่เฉพาะในที่พักกลางคืนและกลางวันของตน
ไม่ออกมาพลุกพล่าน จึงปรารภว่า
"ทำอย่างไรหนอ จึงจะสามารถพบพระคุณเจ้าได้"

มนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่นั่นบอกว่า
เมื่อใครตีระฆังพระคุณเจ้าทั้งหลายจักออกมาจากที่อยู่ของตน
นางจึงให้ตีระฆังภิกษุทั้งหลาย ได้ยินเสียงระฆังแล้วจึงออกมาด้วยสำคัญว่า
"ภิกษุบางรูปจักไม่ผาสุกกระมังหนอ!"

ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่าเดินมาด้วยกัน ๒ รูปมิได้มีเลย
อุบาสิกาเข้าใจว่าพระทะเลาะกันจึงมิได้มาด้วยกัน จึงเรียนถามข้อสงสัยนั้น
พระตอบว่าได้ทำกติกากันไว้ว่าเวลาทำสมณธรรมให้แยกกันอยู่

สมณธรรมนั้นคืออะไรเล่า พระคุณเจ้า? อุบาสิกาถาม

พระตอบว่า "พวกอาตมาทำการสาธยายเอาการ ๓๒
มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้นว่า โดยความเป็นของปฏิกูลคือไม่สะอาด
และพิจารณาความสิ้นและความเสื่อมในอัตภาพอยู่"


"การสาธยายและพิจารณาอย่างนั้น
สมควรแก่พวกท่านเท่านั้นหรือ? ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้าบ้างหรือ?"


"อุบาสิกา! ธรรมนี้ พระศาสดามิได้ทรงห้ามผู้ใด ใครจะสาธยายก็ได้"

"ถ้าอย่างนั้น ขอได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าบ้าง"

ภิกษุได้ให้อุบาสิกาเรียนอาการ ๓๒ แล้ว

อุบาสิกา สาธยายอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุอนาคามิมรรค
อนาคามิผลก่อนภิกษุเหล่านั้นเสียอีก
นอกจากนี้ยังได้ปฏิสัมภิทา ๔ และโลกียอภิญญา ๕ อีกด้วย
(เว้นอาสวักขยญาณ นอกนั้นเป็นโลกียอภิญญามีอิทธิวิธี
แสดงฤทธิ์ได้และทิพจักษุตาทิพย์ เป็นต้น)

นางได้ออกจากสุขอันเกิดแต่มรรคและผลแล้ว
ตรวจดูด้วยทิพจักษุ ใคร่ครวญอยู่ว่า

"เมื่อไรหนอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จักบรรลุธรรมนี้"
รู้ว่า "พระคุณเจ้าทั้งหมดยังมีราคะ โทสะ และโมหะ
ยังไม่ได้แม้แต่ฌานและวิปัสสนา
อุปนิสัยแห่งอรหัตตมรรค-ผล ของพระคุณเจ้ามีอยู่หรือไม่หนอ?"

ได้เห็นว่ามีอยู่ จึงรำพึงต่อไปว่า

"พระคุณเจ้าทั้งหลายยังขาดอะไรอยู่-เสนาสนสัปปายะ?
เพียงพอสบาย บุคคลสัปปายะ? แม้ข้อนี้ก็มิได้ขาด
อาหารสัปปายะ = อาหารอันเป็นที่สบาย มีอยู่หรือไม่หนอ?"

นางได้เห็นว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายยังขาดอาหารอันเป็นที่สบาย
หรืออาหารอันสมควรแก่การทำความเพียร
ตั้งแต่วันนั้นมา นางสั่งให้จัดอาหารอันประณีตหลายอย่างไปถวายแล้วแต่จะเลือกฉัน

เมื่อภิกษุได้อาหารอันเป็นที่สบาย สรีระกระปรี้กระเปร่า
จิตก็ดิ่งลงสู่อารมณ์เดียว เจริญวิปัสสนาไม่นานนักได้บรรลุอรหัตตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เธอเหล่านั้นระลึกถึงอุปการะของอุบาสิกาว่า
การแทงตลอดมรรคครั้งนี้ เพราะได้อาศัยอาหารอันดีของอุบาสิกา

เมื่อออกพรรษา ปวารณาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ลาอุบาสิกา
เพื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่เชตวันมหาวิหาร
อุบาสิกาได้ตามมาส่งในสถานที่ควร
กล่าวคำอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงและขอร้องให้ภิกษุเหล่านั้นมาเยี่ยมอีก
แล้วกลับสู่เรือนของตน

ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระศาสดา
เมื่อตรัสถามถึงเรื่องต่างๆ มีเรื่องอาหารบิณฑบาต เป็นต้น
ภิกษุเหล่านั้นทูลเล่าถึงอุปการะของอุบาสิกา ผู้เป็นมารดาของนายมาติกะ
และสรรเสริญอุบาสิกานั้นเป็นอเนกประการ เช่นเป็นผู้ถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีต
และสามารถรู้วารจิตของพวกตนว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เป็นต้น

ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่เฝ้า ได้สดับคำสรรเสริญคุณของอุบาสิกาแล้ว
ปรารถนาจะไปอยู่ที่บ้านนั้น จึงเรียนกรรมฐานจากพระศาสดาทูลลาไป
เมื่อไปถึงวิหารในบ้านป่านั้น จึงคิดว่า
"เขาเล่าลือกันว่า อุบาสิการู้วารจิตของผู้อื่น
บัดนี้เราเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ไฉนหนอนางจะพึงส่งคนมาปัดกวาดวิหาร"

อุบาสิกานั่งอยู่ในเรือน ทราบความนั้นแล้วจึงส่งคนไปปัดกวาดวิหาร

ต่อจากนั้น ภิกษุคิดถึงอยากดื่มน้ำละลายน้ำตาลกรวด
วันรุ่งขึ้นอยากฉันข้าวต้ม และแกงอย่างใด
อุบาสิกาก็จัดของนั้นมาถวายทุกอย่าง
ภิกษุคิดว่าอยากพบอุบาสิกา นางก็มาหา

เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วภิกษุถามว่า "ท่านทราบวารจิตของคนอื่นหรือ?"
อุบาสิกาตอบเลี่ยงว่า "ภิกษุที่รู้จิตคนอื่นก็มีอยู่มาก"


ภิกษุนั้นคิดว่า "เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ธรรมดาปุถุชน
ย่อมคิดสิ่งที่ดีบ้างชั่วบ้าง ถ้าเราคิดสิ่งอันไม่สมควร
อุบาสิกาก็จะพึงตำหนิเรา ทำให้เราละอาย
อย่ากระนั้นเลย เราหนีไปจากที่นี่ ไปสู่สำนักพระศาสดาเสียดีกว่า"
ดังนี้แล้วไปลาอุบาสิกา

เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่าทำไมจึงรีบกลับมาเสีย
เธอทูลว่า อุบาสิกานั้นรู้วารจิตทุกอย่าง ธรรมดาปุถุชนย่อมคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง


"เธอควรอยู่ที่นั่นแหละภิกษุ" พระศาสดาตรัสบอก
"รักษาจิตของเธอ ที่ข่มได้ยาก จงข่มจิตไว้ให้ได้
อย่าให้คิดถึงอะไรอื่น ให้ดิ่งลงในอารมณ์อันควรแก่สมณะ"


แลแล้วพระศาสดาตรัสย้ำว่า

"จิตนี้ข่มได้ยาก เกิดดับเร็ว
มันตกไปในอารมณ์อันน่าใคร่ การฝึกจิตนั้น เป็นการดี
เพราะจิตที่ฝึกแล้วนำความสุขมาให้"


เมื่อภิกษุรับว่า "ได้" แล้ว พระศาสดาจึงทรงประทานพระโอวาทอื่นอีก
อันเป็นปัจจัยแก่การอยู่ป่า และการบำเพ็ญเพื่อบรรลุมรรคผล
ภิกษุไปอยู่ที่เดิม บังคับจิตอยู่ ไม่คิดอะไรนอกลู่นอกทาง

มหาอุบาสิกา รู้พฤติการณ์ทั้งปวงนั้นแล้ว
จึงจัดอาหารอันประณีตมาถวาย ๒-๓ วัน
ต่อมาภิกษุนั้นได้บรรลุอรหัตตผล เธอมีความสุขอยู่ในมรรคและผลนั้น
พลางรำพึงถึงอุปการะของอุบาสิกาว่า

"น่าขอบใจจริงหนอ, อุบาสิกามีอุปการะมากแก่เรา
เราได้อาศัยอุบาสิกาแล้วแล่นออกจากภพได้
มหาอุบาสิกาเป็นที่พึ่งของเราเฉพาะในอัตภาพนี้หรือหนอ?
นางเคยเป็นที่พึ่งของเราในอัตภาพอื่นบ้างหรือไม่หนอ?"

ท่านตามระลึกถึงชาติในอดีตถอยหลังไป ๙๙ ชาติ
ได้เห็นแล้วว่า อุบาสิกานั้นเคยเป็นภรรยาของท่านมา ๙๙ ชาติ
นางมีจิตปฏิพัทธ์ในชายอื่น ได้ฆ่าท่านเสียถึง ๙๙ ชาติมาแล้ว
ท่านปลงธรรมสังเวชว่า

"น่าสังเวชจริงหนอ! อุบาสิกาทำกรรมหนักมาแล้วเหลือหลาย"

แม้มหาอุบาสิกา นั่งอยู่ในเรือน ใคร่ครวญอยู่ได้รู้เหตุทั้งปวงนี้แล้ว
พิจารณาขึ้นไปถึงชาติที่ ๑๐๐ ได้เห็นว่าในชาตินั้นตนได้สละชีวิต
คือตายแทนภิกษุนั้น จึงส่งกระแสจิตไปยังภิกษุ เตือนว่า

"ขอท่านได้โปรดพิจารณาต่อไปถึงชาติที่ ๑๐๐ เถิด"

ภิกษุได้สดับเสียงของอุบาสิกาด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์
แล้วระลึกถึงอัตภาพที่ ๑๐๐ ได้เห็นอุปการะของอุบาสิกาแล้ว มีจิตเบิกบาน
กล่าวปัญหาในมรรค ๔ ผล ๕ แก่อุบาสิกานั้น
และปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นั้นนั่นเอง


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖

:b48: :b48:

จิตนี้ละเอียดยิ่งนัก

พระพุทธภาษิต

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถกามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ

คำแปล

ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตอันเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก
มักตกไปในอารมณ์ตามที่ใคร่
เพราะจิตที่คุ้มครองดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้


:b51: :b51:

อธิบายความ

จิตชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะเป็นนามธรรม อยู่เหนือวิสัยของจักษุ
ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยอวัยวะสัมผัสทั้ง ๕ มีตา หู เป็นต้น
ชื่อว่าละเอียดยิ่ง เพราะมีอารมณ์ละเอียด
จิตโดยธรรมชาติเป็นสิ่งละเอียดประณีตและผ่องใส
ที่เศร้าหมองและหยาบไปก็เพราะอาคันตุกะกิเลส

การรักษาจิตย่อมมีค่าสูงกว่าการรักษาสิ่งใด
เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วนำความสุขมาให้


พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้
ปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้กระสันจะสึก มีเรื่องดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก

พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี
บุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง ใคร่จะพ้นจากทุกข์
จึงถามภิกษุผู้คุ้นเคยกับสกุลของตนว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ได้
ภิกษุนั้นตอบว่า ให้แบ่งทรัพย์เป็น ๓ ส่วน
ส่วนหนึ่งไว้ลงทุนประกอบการงาน
ส่วนหนึ่งเลี้ยงบุตรภรรยาและครอบครัว
อีกส่วนหนึ่งไว้ทำบุญให้ทานมีสลากภัต เป็นต้น


บุตรเศรษฐีได้ทำตามนั้นแล้ว ต่อมาเขาได้ถามถึงบุญอันยิ่งขึ้นไปอีก
ภิกษุได้บอกให้รักศีล ๕ พร้อมด้วยสรณะ ๓ คือ พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ให้รับศีล ๑๐

เขาจึงมีชื่อต่อมาว่า อนุปุพพเศรษฐีบุตร แปลว่า บุตรเศรษฐีผู้ทำความดีตามลำดับ

ต่อมาเขาถามพระว่า จะทำอย่างไรต่อไปอีกจึงจะได้บุญมาก
พระบอกให้บวช เขาก็บวช

ได้พระผู้ทรงวินัยเป็นอุปฌาย์ ผู้ทรงอภิธรรมเป็นอาจารย์
อุปฌายะจารย์ของเธอคอยสั่งนั่นสั่งนี่อยู่เสมอว่า
นั่นควรนี่ไม่ควรจนเธอรู้สึกเอือมระอา
เห็นว่าธรรมวินัยนี้คับแคบไม่มีที่เหยียดมือเหยียดเท้า จึงกระสันใคร่สึก
เห็นไปว่าการอยู่ครองฆราวาสก็สามารถให้พ้นจากทุกข์ได้เหมือนกัน

เธอหมดความยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์
ไม่สาธยายอาการ ๓๒ ไม่เรียนอุทเทส
เป็นผู้ผอมซูบซีด ร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นไปด้วยหิตเปื่อย

ภิกษุทั้งหลายเห็นเธอแปลกไป จึงถาม
เธอบอกตามความเป็นจริงว่าอยากสึก
เพราะเหตุนั้นๆ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเธอไปหาพระอุปฌายะอาจารย์
พระอุปฌายะอาจารย์ได้นำเธอไปเฝ้าพระศาสดา

"ถ้าเธอสามารถรักษาสิ่งๆ หนึ่งได้ ก็ไม่ต้องรักษาอะไรอีก
ธรรมและวินัยเป็นอันมาก เป็นอันเธอรักษาได้หมดและมีความสุขเป็นผลด้วย"

"รักษาอะไร-พระเจ้าข้า?"

"รักษาจิตของเธอนั่นแหละภิกษุ"

"ข้าพระองค์พอรักษาได้ พระเจ้าข้า"


พระศาสดาประทานพระโอวาทว่า
"ถ้ากระนั้นเธอจงรักษาจิตของตนไว้แต่ประการเดียว เธออาจพ้นทุกข์ได้โดยวิธีนี้"

ดังนี้แล้วตรัสว่า
"สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ" เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น


:b45: :b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2013, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


จิตนี้เที่ยวไปไกล

พระพุทธภาษิต

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ
สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพพฺธนา

คำแปล

จิตนี้เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ,
มีคูหา คือกายเป็นที่อาศัย
ผู้ใดจักสำรวมจิต ผู้นั้นย่อมพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร


:b40:

อธิบายความ

จิตเที่ยวไปได้แม้ไกลแสนไกลแม้เพียงครู่เดียว ไม่ต้องอาศัยพาหนะใดๆ
ไม่มีน้ำหนัก ไม่กินเนื้อที่ การเดินทางของแสงนับว่าเร็วก็ยังไม่เร็วเท่าการเดินทางของจิต
จิตไปเที่ยวได้ทั่วโลกด้วยเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วกลับมา
ถ้าเราสามารถไปเที่ยวได้อย่างจิต เราคงสนุกสนานมาก
ไม่เปลืองเวลามากและไม่ต้องใช้ค่าพาหนะใดๆ
ท่านจึงว่า ทูรงฺคมํ = เที่ยวไปได้ไกล

คำว่า เที่ยวไปดวงเดียวเดียว นั้น หมายความว่า จิตเกิดขึ้นทีละดวง
แม้จะเกิดเร็ว แต่เกิดทีละดวง เมื่อดวงเก่าดับไปดวงใหม่จึงจะเกิดขึ้น
จิตย่อมรับอารมณ์ได้ทีละอย่างแต่เร็วมาก
เราจึงอาจรู้สึกไปว่า มีความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นในขณะเดียว

จิตไม่มีสรีระ คือไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี
ไม่มีรูปหยาบอย่างที่เราเห็นได้ด้วยตาเนื้อ
เราจึงมองไม่เห็นจิต เราเห็นแต่พฤติกรรมของจิต

ทำนองเดียวกับเรามองไม่เห็นความร้อน
แต่เราเห็นอาการของความร้อน เช่นเราเห็นสีของไฟ เป็นต้น
พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ย่อมมาจากจิต

ที่ว่า มีคูหาเป็นที่อาศัย นั้น คือจิตอาศัยร่างกายนี้
อันประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

การสำรวมจิต คือการระวังไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ละกิเลสที่เกิดแล้วให้สูญสิ้นไป

เครื่องผูกแห่งมาร นั้น ท่านหมายเอาวัฏฏทุกข์ในภูมิทั้ง ๓
คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
บุคคลสามารถพ้นจากวัฏฏทุกข์นี้ได้ก็โดยการสำรวมจิต

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้
ปรารภพระสังฆรักขิต มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ
เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิต (สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน)


พระศาสดาประทับที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี
กุลบุตรผู้หนึ่งชาวเมืองสาวัตถีนั่นเอง
ฟังธรรมของพระศาสดาแล้วมีความเลื่อมใสขออุปสมบท
เมื่ออุปสมบทแล้ว ปรากฏนามว่า สังฆรักขิต
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หลังจากบวชแล้วเพียง ๒-๓ วัน

น้องชายของพระสังฆรักขิตนั้น มีบุตรชายคนหนึ่ง
ให้บวชในสำนักของพระสังฆรักขิตผู้เป็นลุง
แม้พระนั้นก็ชื่อสังฆรักขิตเหมือนกัน
จึงเรียกกันว่า ภาคิไนยสังฆรักขิต คือสังฆรักขิตผู้เป็นหลาน

เธอจำพรรษาที่วัดใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
ได้ผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าจำนำพรรษา) มา ๒ ผืน
ผืนหนึ่งยาว ๗ ศอก อีกผืนหนึ่งยาว ๘ ศอก
เธอกำหนดไว้ในใจว่า จะถวายผืนที่ยาว ๘ ศอก นั้นแก่หลวงลุง
จึงไปคอยพระเถระอยู่ ณ ที่อยู่ของท่าน
เมื่อหลวงลุงมาก็ทำการต้อนรับ รับบาตร จีวร อาราธนาให้พระเถระนั่ง
ล้างเท้า และถวายน้ำดื่ม พัดพระเถระอยู่ครู่หนึ่ง
แล้วนำผ้ายาว ๘ ศอกออกมาถวาย อ้อนวอนขอให้หลวงลุงรับไว้
เพราะเป็นความตั้งใจของตนตั้งแต่ได้มา แต่ท่านลุงปฏิเสธ
บอกว่าผ้าสำหรับใช้ของท่านมีบริบูรณ์แล้ว ขอให้พระสังฆรักขิตเอาไว้ใช้เอง

พระสังฆรักขิตผู้หลานอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง
พระเถระก็หารับไม่ คงยืนยันอย่างเดิม พระหลานชายน้อยใจว่า

"ว่าโดยฐานะทางสายโลหิตก็เป็นหลาน
เมื่อบวชก็เป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์อุปฌาย์)
แม้เป็นเช่นนี้ ท่านไม่ประสงค์ใช้สอยร่วมกับเรา
ท่านรังเกียจในการรับผ้าสาฎกที่เราตั้งใจมานานที่จะถวาย
เราจะเป็นสมณะอยู่ทำไมอีก เราควรสึกไปเป็นคฤหัสถ์"


เธอคิดดังนี้แล้วได้คิดต่อไปว่า
"การครองเรือนตั้งตัวได้ยาก ควรจะทำอะไรกิน
มองเห็นทางอยู่อย่างหนึ่งคือ เอาผ้าสาฎก ศอกไปขายแล้วซื้อแม่แพะมาตัวหนึ่ง
แม่แพะออกลูกเร็ว เมื่อแม่แพะออกลูกแล้วจะขายลูกแพะเอามาทำต้นทุน
เมื่อรวมเงินได้มากแล้วจะหาหญิงคนหนึ่งมาเป็นภรรยา
ต่อมาจะมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง จะพาลูกนั่งเกวียนมาหาหลวงลุง
เราจะอุ้มลูกแต่แม่เขาบอกว่าให้เราขับเกวียนเขาจะอุ้มเอง
โดยความเผลอเลอ ลูกหล่นลงไปอยู่ที่ทางเกวียน ล้อเกวียนจะทับลูก
เราโกรธภรรยาจับเอาด้ามปฎักตีหัวมัน"

คิดมาถึงตอนนี้ สังฆรักขิตเอาด้ามพัดตีหัวหลวงลุงพอดี
เพราะเพลินไปว่าเป็นภรรยาตน

พระเถระคิดว่า ทำไมพระหลานชายจึงทำอย่างนี้
กำหนดจิตจึงรู้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ จึงกล่าวว่า

"สังฆรักขิต! เธอตีมาตุคามไม่ได้แล้ว เรื่องอะไร จึงมาตีเอาเราเล่า?"

พระสังฆรักขิตคิดว่า

"ตายจริง! พระอุปฌาย์รู้เรื่องที่เราคิดด้วย
เราจะอยู่เป็นพระได้อย่างไรต่อไป เราจะสึกละ"


ดังนี้แล้วได้วางพัดใบตาลแล้วออกวิ่งหนี

ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นออกวิ่งไล่ตาม จับมาได้
พาไปเฝ้าพระศาสดา-พระพุทธองค์ ทรงทราบเรื่องทั้งปวงแล้วตรัสว่า

"ภิกษุ! เธอทำกรรมหนักอย่างนั้นทำไม
เธอเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งผู้มีความเพียร
เธอบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา
ควรมีความเพียรให้เขาได้เรียกตนว่า เป็นโสดาบัน
หรือสกทาคามี อนาคามี จะมิควรหรือ"


"เธออย่าคิดอะไรมากไปเลย มาเถิดมาฝึกฝนอบรมจิต
ธรรมดาจิตย่อมรับอารมณ์ได้ไกล ท่องเที่ยวไปไกล
เธอควรพยายามสำรวมจิตเพื่อให้ละราคะ
โทสะและโมหะอันเป็นเครื่องผูกแห่งมาร"

ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ว่า

"ทูรงฺคมํ เอกจรํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น

จบพระธรรมเทศนา พระภาคิไนยสังฆรักขิตได้บรรลุโสดาปัตติผล


:b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2013, 09:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


การกั้นจิต

พระพุทธภาษิต

กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา

คำแปล

บุคคลพึงรู้ว่ากายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
กั้นจิตไว้เหมือนป้องกันนคร รบมารด้วยอาวุธคือปัญญา
เมื่อชนะแล้ว ก็รักษาความชนะไว้ แต่ไม่ต้องติดอยู่


:b39:

อธิบายความ

กายนี้ ท่านเปรียบเหมือนหม้อดิน เพราะมีของโสโครกซึมออกจากร่างกายอยู่เสมอ
เช่นเหงื่อซึมออกจากผิวหนัง และของปฏิกูลพึงรังเกียจออกจากทวารทั้ง ๙
เช่น ขี้ตาออกทางตา ขี้หูออกทางหู อุจจาระออกทางทวารหนัก
ปัสสาวะออกทางทวารเบา ต้องคอยเช็ดล้างกันอยู่เสมอ
เว้นการเช็ดล้างเพียงวันเดียวก็มีกลิ่นเหม็น
เป็นที่รังเกียจแม้แห่งเจ้าของสรีระเอง ไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น

ร่างกายเหมือนถุงหนังที่บรรจุเอาของสกปรกต่างๆ ไว้ภายใน
มองเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก เมื่อเจาะผิวหนังเข้าไปก็มีสภาพเหมือนกันทุกคน
บางท่านจึงกล่าวว่า ความงามอยู่ลึกเพียงแค่ผิวหนังเท่านั้น
มิหนำซ้ำ บางคนผิวหนังยังสีไม่งาม เพราะโรคผิวหนังมีประการต่างๆ เสียอีก

อนึ่ง กายนี้ ท่านเปรียบเหมือนหม้อดิน
เพราะแตกง่ายทำลายง่าย และเปรอะเปื้อนง่าย

ภายในร่างกายมีแต่ของปฏิกูลเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
เช่น กระเพาะลำไส้ รุงรังไปด้วยอวัยวะน้อยใหญ่
ถ้าเอาภายในร่างกายนี้ออกภายนอกแล้วเดินไป
พวกสุนัขและกาคงไล่ตามกันเป็นฝูง เจ้าของกายไม่ต้องทำอะไร
เพียงแต่คอยถือไม้ไล่กาและสุนัขเท่านั้น

ท่านสอนให้กั้นจิตจากอารมณ์อันชั่วร้าย กั้นจากข้าศึกคือกิเลส
ให้เหมือนการป้องกันพระนคร โดยการสร้างคูเมืองและกำแพงเมืองไว้โดยรอบ
และพึงรบมารอันเป็นข้าศึกด้วย อาวุธคือปัญญา
เมื่อรบชนะแล้วก็รักษาความชนะไว้ แต่ไม่พึงติดอยู่

เปรียบเหมือนผู้ศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรียนสิ่งใดได้แล้วก็รักษาไว้
แต่ไม่ติดในความรู้นั้น ไม่ทะนงตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความรู้นั้น

อนึ่ง ว่าถึงการบรรลุธรรม อริยมรรค อริยผลอันใดได้บรรลุแล้ว
ก็รักษาอริยมรรค อริยผลนั้นไว้ แต่ไม่ติด ไม่เพลิดเพลิน
แม้ในนิพพานพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมิให้เพลิดเพลิน
เพราะความเพลิดเพลินเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์

พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ ขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาพวกหนึ่งซึ่งมีเรื่องย่อดังนี้

เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุเจริญวิปัสสนา

ภิกษุ ๕๐๐ รูป ในกรุงสาวัตถี เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา
แล้วเดินทางไปบำเพ็ญเพียรในป่า พวกเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ในป่านั้นคิดว่า
เมื่อภิกษุอาศัยอยู่โคนต้นไม้ การที่พวกตนจะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้เป็นการไม่สมควร
จึงพักอาศัยอยู่โคนไม้เหมือนกัน คิดว่า พรุ่งนี้ พระทั้งหลายคงจากไป
แต่ในวันรุ่งขึ้น พระก็ยังอยู่ จึงคิดว่าพรุ่งนี้พระคงไป

หลายวันผ่านไป เทวดาเหล่านั้นขึ้นต้นไม้ไม่ได้
อยู่ด้วยความลำบาก จึงคิดว่า พระคงจะอยู่ประจำตลอด ๓ เดือน
พวกตนก็คงจะต้องลำบากเรื่องที่อยู่ตลอด ๓ เดือนเหมือนกัน
จึงตกลงกันว่าจะแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้
บางพวกจึงทำเสียงอมนุษย์ให้ปรากฏ

บางพวกแสดงตนเป็นผีหัวขาดให้ภิกษุเห็นในที่พักกลางวันบ้าง
ที่พักกลางคืนบ้าง โรคหลายอย่างมีโรคไอเป็นต้น
เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยการกลั่นแกล้งของเทวดาเหล่านั้น
บางพวกเป็นโรคผอมเหลือง

ภิกษุทั้งหลายประจักษ์ดังนั้น อยู่ไม่ได้
จึงพากันกลับมาเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องแล้ว
ทรงประทานอาวุธให้อย่างหนึ่งคือ กรณียเมตตสูตร
ให้ภิกษุเหล่านั้นสาธยาย ข้อความในกรณียเมตตสูตรนั้น
เกี่ยวกับการแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า
และว่าด้วยคุณธรรมของผู้จะบรรลุบทอันสงบคือพระนิพพาน
แล้วรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นไปอยู่ที่เดิม

(อ่าน "กรณียเมตตสูตร" คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=26227)


ภิกษุสาธยายกรณียเมตตสูตรไปตั้งแต่ออจากวัดเชตวัน
เมื่อถึงป่านั้น เทวดาทั้งหลายได้ยินแล้ว
เกิดเมตตาจิตต้อนรับภิกษุเหล่านั้นด้วยดี ทำการอารักขาให้อย่างเรียบร้อย

ภิกษุเหล่านั้นไม่มีสิ่งรบกวนตั้งใจปฏิบัติธรรม
จิตหยั่งลงสู่สมาธิ พิจารณาอัตภาพว่าเปรียบเสมือนภาชนะดินเพราะไม่มั่นคง

พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณแล้วเปล่งพระรัศมีไป ตรัสพระคาถาว่า

กุมฺภูปมํ กายมิยํ วิทิตฺวา เป็นอาทิ
มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น

เมื่อจบเทศนา ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย


:b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖

:b44:

จิตที่ตั้งไว้ผิด

พระพุทธภาษิต

ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กริยา เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร

คำแปล

โจรเห็นโจร คนมีเวรต่อกันพบคนมีเวรด้วยกัน
จะพึงทำความพินาศอันใดต่อกัน จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิด
ยังสามารถทำความพินาศให้บุคคลมากกว่านั้นเสียอีก


:b50:

อธิบายความ

คำว่า จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิด ในพระคาถานี้
ท่านหมายถึงตั้งไว้ใน อกุศลกรรมบถ ๑๐
มีปาณาติบาต เป็นต้น และมิจฉาทิฏฐิเป็นปริโยสาน

หมายความว่า มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
เช่น เห็นว่าความดีไม่มี ความชั่วไม่มี ทำดีสูญเปล่า ทำชั่วสูญเปล่า ดังนี้เป็นต้น
จิตที่ตั้งไว้ผิดอย่างนี้ให้โทษมาก ทำความวอดวายให้มาก
มากกว่าโจรและคนมีเวรต่อกันจะพึงกระทำแก่กัน
ท่านว่าคนพวกนี้ทำความพินาศให้แก่กันอย่างมากก็เพียงชาติเดียว
แต่จิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมให้ทุกข์ให้โทษนานกว่า
สามารถให้เสวยทุกข์ในอบาย ๔ ไม่รู้จักจบสิ้น
จิตของบุคคลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
อนึ่ง บุคคลที่ต้องเป็นโจรและเป็นคนมีเวรกัน ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดนั่นเองเป็นมูลกรณี

พระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนี้ที่แคว้นโกศล
ทรงปรารภนายโคบาลชื่อ นันทะ มีเรื่องย่อดังนี้

เรื่องประกอบ เรื่องนายโคบาลชื่อ นันทะ

นายนันทะเป็นชายสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง แต่ต้องการปกปิดฐานะของตน
จึงไปรับจ้างเลี้ยงโคของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี
อนึ่ง ท่านว่า เขาต้องการหลบหลีกการบีบคั้นของพระราชา
จึงทำตนเป็นคนรับจ้างเลี้ยงโค ทำนองเดียวกับชฏิลชื่อ เกณิยะ
หลบหลีกความบีบคั้นแห่งพระราชาด้วยการเป็นบรรพชิตรักษาขุมทรัพย์ของตนอยู่

นายนันทะถือเอาปัญจโครส ในกาลอันสมควร
(คือไม่เพียงแต่เป็นคนเลี้ยงโคอย่างเดียว)
เมื่อมาสู่สำนักของท่านอนาถปิณฑิกะ เขาได้มีโอกาสเฝ้าพระศาสดา
ฟังธรรม และทูลวิงวอนพระศาสดาให้เสด็จไปสู่สำนักของตนบ้าง

พระศาสดา ทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์และญาณของเขาอยู่
จึงมิได้เสด็จไปทันที ต่อมาเมื่อทรงทราบว่า อินทรีย์เขาแก่กล้าพอที่จะบรรลุมรรคผลได้แล้ว
พระศาสดามีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารได้เสด็จไปยังที่อยู่ของนันทโคบาล
แต่มิได้เสด็จไปยังเรือนของเขาทีเดียว เพียงแต่ประทับใต้ต้นไม้แห่งหนึ่งใกล้บ้านของเขา

นายนันทะทราบแล้ว พอใจ รีบไปเฝ้า
ถวายปัญจโครสทานอันประณีตแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงอนุโมทนาแล้ว ตรัส อนุปุพพิกกถา ๕ มีทาน เป็นต้น
เมื่อจบเทศนา นายนันทะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
รับบาตรพระศาสดาแล้วตามส่งเสด็จไปไกลพอควรแล้ว
พระพุทธองค์ทรงรับบาตรจากเขา แล้วรับสั่งให้กลับ
ขณะเขาเดินกลับนั่นเอง นายพรานคนหนึ่งแทงเขาถึงแก่ความตาย

หมู่ภิกษุที่ตามมาข้างหลังเห็นความตายของเขาแล้ว
ทูลพระศาสดาว่าความตายของนายนันทะมีขึ้น
เพราะการเสด็จมาของพระพุทธองค์

พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เราจะมาหรือไม่มาก็ตาม
นายนันทะจะรอดพ้นความตายไปไม่ได้ เขาต้องตายในวันนี้แน่นอน
นายพรานจะต้องฆ่าเขา
ภิกษุทั้งหลาย! จิตซึ่งตั้งไว้ผิดย่อมทำความพินาศให้แก่ตน
ยิ่งกว่าโจรและคนจองเวรจะพึงทำแก่กัน"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ว่า

"ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา" เป็นอาทิ
มีนัยดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2013, 13:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นเกด หรือ ต้นราชายตนะ
ต้นไม้พันธุ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข
ในสัปดาห์ที่ ๗ (สัปดาห์สุดท้าย)



จิตที่ตั้งไว้ชอบ

พระพุทธภาษิต

น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร

คำแปล

มารดาบิดา หรือญาติทั้งหลาย ย่อมกระทำสิ่งนั้นให้ไม่ได้
แต่จิตที่ตั้งไว้ชอบย่อมทำให้ได้ และทำบุคคล
ให้เข้าถึงฐานะอันประเสริฐยิ่งกว่าที่มารดาบิดาจะพึงให้ได้


:b44:

อธิบายความ

คำว่า สิ่งนั้น ในพระคาถานี้
หมายถึง ความประเสริฐหรือคุณความดี
ตั้งแต่เบื้องต่ำถึงเบื้องสูง กล่าวคือ นิพพานสมบัติ

จริงอยู่มารดาบิดาหรือญาติอันเป็นที่รัก
อาจมอบทรัพย์ให้เลี้ยงชีพสบายไปชาติหนึ่ง แต่ก็ชาติเดียวเท่านั้น
ไม่สามารถให้ข้ามภพข้ามชาติได้

แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ถูกแล้ว ย่อมทำให้ได้สมบัติทั้งที่เป็นโลกียะ โลกุตตระ
ให้ได้สักการะความนับถือ เกียรติยศ และอื่นๆ อีกมากมาย
อันอยู่เหนือวิสัยที่มารดาบิดาจะพึงให้ได้
จิตที่ตั้งไว้ถูกจึงมีคุณค่ามาก บุคคลจะได้สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ
ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ถูก แม้มนุษย์สมบัตินี้ก็เหมือนกัน

พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภพระโสไรยเถระ ผู้มีประวัติแปลกพิสดาร มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องพระโสไรยเถระ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี
ลูกชายของเศรษฐีคนหนึ่งในโสไรยนคร นั่งบนยานน้อยกับสหายรักไปสู่ท่าน้ำ เพื่ออาบ
ขณะเดียวกันนั้นพระมหากัจจายนเถระ เข้าไปบิณฑบาตในนครโสไรยะเหมือนกัน

ลูกชายเศรษฐีเห็นพระมหากัจจายนะผู้มีผิวเพียงดังทองคำ
จึงเกิดความคิดขึ้นว่า

"พระเถระรูปนี้ สวยจริงหนอ ควรเป็นภรรยาของเรา
หรือภรรยาของเรา พึงมีผิวงามอย่างพระเถระรูปนี้"


พร้อมกับความคิดนั่นเอง เพศชายของเขาหายไป เพศหญิงปรากฏขึ้น
เขาละอายจึงลงจากยานน้อยหนีไป-หนีไปยังเมืองตักศิลา
แม้สหายของเขาที่นั่งไปด้วยกันและชนบริวารก็จำไม่ได้
เพียงแต่พูดกันว่า "อะไรนั่นๆ"

สหายของเธอเมื่อไม่เห็นเธอก็เที่ยวค้นหา
แต่ไม่เจอคนทั้งหลายช่วยกันค้นหาเท่าไรก็ไม่เจอ
มารดาบิดาของเธอจึงคิดว่า บุตรชายของตนตายแล้ว
จึงร้องไห้และทำมตกภัตร์ (อาหารถวายแก่สมณะอุทิศแด่ผู้ตาย)

นางเห็นพวกเกวียนไปสู่ตักศิลาหมู่หนึ่งจึงเดินตามเขาไป
พวกเกวียนเห็นแล้วจึงกล่าวว่า
"นางเดินตามพวกเราไปทำไมเล่า พวกเราไม่รู้จักว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร"

นางบอกว่าขอให้เขาขับยานไปเถิด เธอจักเดินตามไปเรื่อยๆ
แต่พอเดินนานเข้าก็เหนื่อย นางจึงถอดแหวนออกจากนิ้ว
ส่งให้นายเกวียนเป็นค่าโดยสารขออาศัยไปด้วย

ชาวเกวียนเห็นนางอย่างประจักษ์แล้ว คิดว่า
"บุตรชายเศรษฐีนายของพวกเรา ยังไม่มีภรรยา
สตรีนี้เหมาะสมกับบุตรแห่งนายของเรา หากเราเสนอสตรีผู้นี้
และนายชอบพวกเราคงจักได้รางวัลงาม"

เมื่อไปถึงนครตักศิลา พวกชาวเกวียนก็ทำอย่างที่คิด
ลูกชายเศรษฐีขอดูตัว เมื่อเห็นนางมีวัยเหมาะกับตนและมีรูปงามน่าพึงใจ
มีความรักเกิดขึ้น จึงรับไว้เป็นภรรยาตน

พระอรรถกถาจารย์กล่าวแทรกไว้ตอนนี้ว่า

"ชาย ชื่อว่าไม่เคยเป็นหญิง หรือหญิงไม่เคยเป็นชาย
ย่อมไม่มีในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ ชายประพฤติผิดในกามล่วงละเมิดในภรรยาของผู้อื่นแล้ว
เมื่อตายย่อมตกนรกนานปี เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดเป็นหญิงร้อยๆ ชาติ
แม้พระอานนทเถระเอง ผู้มีบารมีอันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแสนกัปป์
ท่องเที่ยวในสงสาร คราวหนึ่งเกิดในตระกูลช่างทอง ได้กระทำกาเมสุมิจฉาจาร
ตกนรกแล้ว ด้วยเศษกรรมที่ยังเหลือต้องเกิดเป็นหญิงถึง ๑๔ ชาติ
และถึงการถอนพืช (คือเป็นหมัน) ถึง ๗ ชาติ"

ส่วนหญิง เมื่อต้องการเป็นชาย พึงทำบุญทั้งหลายมีทาน เป็นต้น
คลายความพอใจในความเป็นหญิงตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้ ขอข้าพเจ้าพึงกลับได้อัตตภาพเป็นชาย"
เมื่อทำกาละแล้วย่อมได้อัตตภาพเป็นชาย

อนึ่ง หญิงที่ปฏิบัติสามีดี ประพฤติต่อสามีประหนึ่งเขาเป็นเทวดาของตน
เมื่อต้องการเป็นชาย บุญกุศลนั้นย่อมอำนวยให้เป็นชายสมปรารถนา"

ส่วนบุตรชายเศรษฐีเมืองโสไรยะนี้
ยังจิตอกุศลให้เกิดขึ้นในพระเถระจึงกลับอัตภาพเป็นหญิงในทันที

ในการแต่งงานใหม่ครั้งนี้ นางได้บุตรอีก ๒ คน
รวมกับบุตรอีก ๒ คน เมื่อสมัยเธอเป็นชาย เป็น ๔ คน

ต่อมาบุตรชายเศรษฐีผู้เป็นสหายของนางเดินทางด้วยเกวียน
จากโสไรยะไปยังตักศิลา นางยืนดูอยู่ที่ปราสาทมองเห็นแล้วจำได้
จึงให้คนใช้ไปเชิญมา ต้อนรับเป็นอันดีด้วยเครื่องบริโภคอันมีรสเลิศต่างๆ
เมื่อเสร็จแล้วผู้เป็นอาคันตุกะจึงถามว่า

"นางผู้เจริญ! ท่านต้อนรับข้าพเจ้าเป็นการใหญ่
ท่านรู้จักข้าพเจ้ามาก่อนหรือ?
ส่วนข้าพเจ้าเองขอสารภาพว่าไม่เคยเห็นท่านมาก่อนเลย"

"ท่านเป็นชาวโสไรยะ มิใช่หรือ?" นางถาม

"ใช่, นางผู้เจริญ!"

นางได้ถามถึงบิดามารดา ภรรยาของนางและบุตรชายทั้งสอง
อาคันตุกะตอบว่า ท่านเหล่านั้นอยู่สบายดี
และถามต่อว่า นางรู้จักท่านเหล่านั้นได้อย่างไร?

นางได้เล่าเรื่องแต่หนหลังให้ฟังโดยสิ้นเชิง

อาคันตุกะเชื่อและกล่าวว่า

"สหาย! เธอทำกรรมหนักเสียแล้ว ทำไมเธอไม่บอกฉันเล่า?
ก็เธอให้พระเถระยกโทษให้แล้วหรือ?"

"ยังเลย ฉันยังไม่เคยพบท่านอีก
หลังจากนั้น เธอทราบไหมว่า เวลานี้ท่านอยู่ที่ไหน?"

"ท่านอยู่ที่โสไรยนครนี้เอง" อาคันตุกะตอบ

"ฉันจะจัดการให้เธอขอขมาท่าน"

เขาไปนิมนต์พระมหากัจจายนเถระเพื่อฉันที่บ้านของสหายในวันรุ่งขึ้น
พระเถระรับนิมนต์แล้ว วันรุ่งขึ้นได้ไปยังเรือนนั้น
สหายผู้เป็นอาคันตุกะอังคาสท่านแล้ว นำหญิงสหายมาหมอบลงแทบเท้าพลางกล่าวว่า

"ท่านผู้เจริญ! ขอได้โปรดให้อภัยแก่หญิงสหายของข้าพเจ้าด้วย"

"อะไรกันนี่?" พระเถระถาม

เขาเล่าเรื่องทั้งปวงให้ท่านทราบ

พระเถระกล่าวว่า "จงลุกขึ้นเถิด อาตมาภาพยกโทษให้"
เพศชายเดิม ปรากฏขึ้น สามีของเธอ คือบุตรเศรษฐีเมืองตักศิลากล่าวว่า

"สหายผู้ร่วมทุกข์! เด็กชาย ๒ คนนี้เป็นบุตรของเราทั้งสอง
เขาออกจากท้องของเธอ และอาศัยฉันเกิด
เราทั้งสองจักเป็นเพื่อนกันอยู่ในนครนี้แหละ เธออย่าคิดอะไรมากเลย"

ผู้กลับเพศกล่าวว่า "ผู้ร่วมทุกข์ของฉัน! ฉันถึงความแปลกกว่าผู้อื่นถึง ๒ ครั้ง
คือเดิมเป็นผู้ชายแล้วกลับเป็นผู้หญิง แล้วเป็นชายอีกในอัตภาพเดียว
เมื่อก่อนนี้บุตร ๒ คนอาศัยฉันเกิดแล้ว มาบัดนี้ บุตรอีก ๒ คนเกิดจากท้องฉัน
สหาย! ฉันคิดถึงเรื่องนี้แล้วไม่อยากอยู่ครองเรือนอีกต่อไป
ฉันอยากบวชในสำนักของพระเถระ ขอให้เด็ก ๒ คนนี้เป็นภาระของเธอ"

ดังนี้แล้ว จูบบุตรทั้งสอง ลูบหลังแล้วมอบให้บิดาของเขา ออกบวชในสำนักของพระเถระ

พระมหากัจจายนเถระให้เธอบวชแล้ว
พาจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล

คนทั้งหลายเรียกท่านว่า "พระโสไรยเถระ"

เรื่องของท่านแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว
คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องแปลก
จนพากันมาถามท่านพวกแล้วพวกเล่าว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น จริงหรือ?
ท่านตอบว่าจริง เขาถามต่อไปว่า ในบรรดาบุตร ๒ ประเภท
คือประเภทที่อาศัยท่านเกิด และประเภทที่เกิดในท้องของท่าน
ท่านรักลูกประเภทไหนมากกว่า ท่านตอบว่ารักลูกในท้องมากกว่า

เมื่อถูกถามอยู่เนืองๆ และตอบอยู่เนืองๆ ในเรื่องนี้
ท่านก็เกิดความรำคาญ เอือมระอา จึงพยายามปลีกตนออกไปจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว
ทำความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งความสิ้นความเสื่อมในอัตภาพ
ไม่นานนักได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

หลังจากนั้น เมื่อมีคนมาถามท่านว่า ในบุตร ๒ พวก
ท่านรักบุตรพวกไหนมากกว่า
ท่านตอบว่า ความสิเนหาในบุตรไม่มีแก่ท่านแล้ว

ภิกษุทั้งหลายสดับเรื่องนั้นแล้วเข้าใจว่า
พระโสไรยะพูดพยากรณ์อรหัตต์ คืออวดมรรคอวดผล
จึงนำความกราบทูลพระศาสดา พระตถาคตเจ้าตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! บุตรของเราพูดอวดมรรคอวดผลก็หามิได้
เพราะตั้งแต่บุตรของเราเห็นมรรคด้วยจิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว
เธอก็หมดความสิเนหาในบุตร
ภิกษุทั้งหลายจิตที่ตั้งไว้ชอบย่อมให้สมบัติที่มารดาบิดามิอาจให้ได้"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า

"น ตํ มาตา ปิตา กยิรา" เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b53:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นเกด หรือต้นราชายตนะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19577

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2013, 13:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นกากะทิง หรือ ต้นนาคะ
พันธุ์ไม้ที่เป็นสถานที่ประทับนั่งและตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในอดีต ๔ พระองค์
และในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘๔ ของ ส.ธรรมภักดี กล่าวไว้ว่า
ต้นกากะทิงจะเป็นพันธุ์ไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า
ซึ่งมีนามว่า “พระศรีอริยเมตไตรย”



กายนี้เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์

พระพุทธภาษิต

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํ ว กลิงฺครํ

คำแปล

ไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
กายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งแล้ว
ก็เหมือนท่อนไม้อันไร้ประโยชน์


:b44: :b44:

อธิบายความ

กายนี้ ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ
จึงยังมีการเคลื่อนไหวทำนั่นทำนี่ได้อยู่
แต่เมื่ออายุสิ้น ไออุ่นดับ วิญญาณออกจากร่าง
กายนี้ก็ไร้ประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้
ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่รังเกียจ เพราะไม่มีสาระอะไร

สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"อายุ อุสฺมา จ วิญฺญาณํ ยทา กายํ ชหนฺติมํ
อปวิฏฺโฐ ตทา เสติ เอตฺถ ลาโร น วิชฺชติ

เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณและทิ้งกายนี้เสีย
เมื่อนั้น กายนี้ก็ถูกทอดทิ้งนอนอยู่ สาระในกายนี้ไม่มีเลย"


ท่อนไม้ด้วยซ้ำไปยังมีสาระในการหุงต้ม หรือทำทัพพสัมภาระอย่างอื่น
แต่กายนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนและแร้งกา
เมื่อตายแล้ว คนที่เคยรักก็ไม่ปรารถนาจับต้อง
วิญญาณ หรือจิตจึงเป็นแกนสำคัญให้ร่างกายนี้พอมีค่าอยู่
ปราศจากวิญญาณเสียแล้ว กายก็กลายเป็นของไร้ค่าทันที

พระศาสดาตรัสเทศนาเรื่องนี้ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภ พระปูติคัตตติสสเถระ (ผู้มีร่างเปื่อย) มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ

ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วมีความเลื่อมใส
ขอบรรพชาอุปสมบท ตั้งใจบวชตลอดชีวิต

ต่อมาโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่าน เป็นต่อมเล็กๆ เกิดขึ้นตามผิวหนังก่อน
แล้วโตขึ้นเรื่อยๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วดำ เมล็ดกระเบา
เท่าผลมะขามป้อม และเท่าผลมะตูมตามลำดับแล้วแตก
น้ำเหลืองไหลทั่วกาย ร่างของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผล
จึงได้นามว่า "ปูติตัตตติสสะ" แปลว่า "พระติสสะผู้มีกายเน่า"

ต่อมากระดูกของท่านแตกเจ็บปวดแสนสาหัส
ผ้านุ่งผ้าห่มของท่านเปื้อนด้วยเลือดและหนอง
พวกลัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของท่านรังเกียจพากันทอดทิ้งท่านหมดสิ้น
ท่านหมดที่พึ่ง นอนอยู่คนเดียว

เช้าวันหนึ่งพระศาสดา ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์
พระปูติคัตต์เข้าไปในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า ปูติคัตต์มีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล
และไม่มีใครเป็นที่พึ่ง นอกจากพระองค์เพียงผู้เดียว

จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประหนึ่งเสด็จจาริกไปในวิหาร
เสด็จไปที่กุฎีของพระปูติคัตต์ ทรงถามทราบความทั้งหมดแล้ว
เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงติดไฟล้างหม้อ ใส่น้ำแล้วยกขึ้นสู่เตาไฟ
ประทับยืนในโรงไฟเพื่อรอน้ำให้เดือด ทรงทราบว่าน้ำเดือดแล้ว
เสด็จไปจับปลายเตียงข้างหนึ่งที่พระปูติคัตต์นอน
มีพระประสงค์จะยกเตียงด้วยพระองค์เอง

ขณะนั้นภิกษุหลายรูป เห็นดังนั้น จึงขออาสาทำเสียเอง
ช่วยกันยกเตียงของพระปูติคัตต์ไปยังโรงไฟ

พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อนใส่
แล้วสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเปลื้องผ้าห่มของภิกษุป่วยออก
ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดดไว้

พระศาสดาประทับยืนอยู่ที่ใกล้เธอ ทรงรดน้ำอุ่นให้เอง
ทรงถูสรีระของภิกษุป่วย ให้อาบน้ำอุ่น เมื่อผ้าห่มแห้ง ทรงให้เอาผ้าห่มนั้นนุ่ง
ดึงเอาผ้านุ่งออกมาให้ขยำน้ำร้อนแล้วผึ่งแดดไว้
เมื่อตัวของเธอแห้ง ผ้านุ่งก็แห้ง
พระศาสดาให้เธอนุ่งผืนหนึ่งและห่มผืนหนึ่ง

พระปูติคัตต์ได้รับปฏิบัติเช่นนั้นสรีระก็กระปรี้กระเปร่าขึ้น
จิตหยั่งลงสู่เอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว ไม่วอกแวก)

พระศาสดาทรงทราบว่าจิตของพระปูติคัตต์
พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า

"อจิรํ วตยํ กาโย" เป็นอาทิ มีนัยและคำอธิบายดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น

เมื่อจบเทศนา พระปูติคัตต์ได้บรรลุอรหัตผล แล้วปรินิพพาน
คนเหล่าอื่นก็ได้สำเร็จอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้ทำฌาปนกิจศพแล้ว
ทรงเก็บอัฏฐิธาตุแล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้

ภิกษุทั้งหลายสงสัยทูลถามพระศาสดาว่า
"ภิกษุผู้มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเช่นนี้
เหตุไรจึงมีร่างกายเปื่อยเน่า และกระดูกแตก?"


พระศาสดาตรัสตอบว่า เป็นผลอันเกิดแต่อดีตกรรม

ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
พระติสสะเป็นพรานนก ฆ่านกบำรุงอิสรชน
คือรับจ้างฆ่านกให้คนใหญ่คนโต นกที่เหลือก็เอาขาย
นกที่เหลือจากขายก็หักปีกหักขาเก็บไว้
เพราะคิดว่า ถ้าฆ่าแล้วเก็บไว้มันจะเน่าเสียหมด
ตนต้องการบริโภคเท่าใดก็ปิ้งไว้
นกที่เขาหักปีกหักขาไว้นั้นขายในวันรุ่งขึ้น

วันหนึ่ง เมื่อโภชนะอันมีรสดีของเขาสุกแล้ว เขากำลังเตรียมบริโภค
พระขีณาสพองค์หนึ่งมาบิณฑบาตหน้าบ้าน เขาเห็นพระแล้วคิดว่า

"เราได้ฆ่าสัตว์มีชีวิตเสียมากมายแล้ว บัดนี้ พระมายืนอยู่หน้าเรือน
โภชนะอันดีของเราก็มีอยู่ เราควรถวายอาหารแก่ท่าน"

เขาคิดดังนั้นแล้ว ได้รับบาตรพระใส่โภชนะอันมีรสเลิศ
จนเต็มบาตรแล้วถวายบิณฑบาตนั้น
ไหว้พระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญนี้
ขอข้าพเจ้าพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วด้วยเถิด"
พระเถระอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด"


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" พระศาสดาตรัสในที่สุด
"ผลทั้งหมดได้เกิดแก่ติสสะเพราะกรรมของเขาเอง เพราะทุบกระดูกนก
จึงยังผลให้มีร่างกายเปื่อยเน่า กระดูกแตก
อาหารบิณฑบาตที่ถวายแก่พระขีณาสพ
และอธิษฐานเพื่อธรรมยังผลให้เธอบรรลุธรรม คือพระอรหัตผล
ภิกษุทั้งหลายกรรมที่บุคคลทำแล้วย่อมไม่ไร้ผล"


:b51: :b51:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นกากะทิง หรือต้นนาคะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12400

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ค. 2013, 15:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ
น้ำเต้า...ไม้เถาในพระสุบิน “พระเจ้าปเสนทิโกศล”


จิตอันราคะไม่ซึมซาบ

พระพุทธภาษิต

อนวฎฺจิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต
ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ

อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถี ชาครโต ภยํ

คำแปล

ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง
ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ
มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ


:b39:

อธิบายความ

ปัญญาทั้งที่เป็นโลกียและโลกุตตระย่อมไม่บริบูรณ์
แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง คลอนแคลนอยู่เสมอ เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่จริง
คนที่ทำอะไรไม่จริงก็เพราะจิตไม่มั่นคงนั่นเอง
ในอรรถกถาท่านกล่าวหนักไปทางธรรมว่า
"(เหมือนฟักเขียวตั้งไว้บนหลังม้า กลอกกลิ้งอยู่)
บางคราวเป็นสวก บางคราวเป็นอาชีวก บางคราวเป็นนิครนถ์
และบางครั้งเป็นดาบส เอาแน่นอนอะไรไม่ได้"

บวชก็ไม่ได้เป็นพระจริง เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ประกอบด้วยธรรมของคฤหัสถ์
เพราะจิตมัวกลับกลอกอยู่นั่นเอง จะทำความดีก็ไม่แน่ใจว่า
ความดีจะให้ผลจริงหรือเปล่า จึงไม่กล้าทำ
คงปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์และแก่ตายไปโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
จะศึกษาเล่าเรียนก็ลังเล ไม่รู้จะจับอะไรดี จึงไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร

ข้อว่าไม่รู้พระสัทธรรมนั้น ท่านอธิบายว่า ไม่รู้โพธิปักขิยกรรม ๓๗ ประการ
มีสติปัฎฐาน ๔ เป็นต้น


โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
คือผู้ที่จะตรัสรู้จะต้องอาศัยธรรมนี้ไป


มองในแง่ธรรมดาสามัญ ข้อว่าผู้ไม่รู้พระสัทธรรมนั้น
คือ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักเว้นสิ่งที่ควรเว้น
ไม่รู้จักประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ


ข้อว่ามีความเลื่อมใสเลื่อนลอยนั้น ท่านแก้ว่ามีศรัทธาน้อย
คือ มีศรัทธาคลอนแคลนไม่มั่นคง เมื่อกระทบเหตุอันทำให้ศรัทธาถอย ก็ถอยเอาง่ายๆ

ในพระคาถาที่ ๒ ที่ว่า ภัย
คือความกลัวย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบนั้น จักอธิบายต่อไป

ราคะ นั้น คือความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม
โดยทั่วไปหมายถึงความกำหนัดในกามซึ่งเรียกว่า กามราคะ
หรือความใคร่ในการสืบพันธุ์ ในการประกอบเมถุนกรรม

โดยปกติ จิตของมนุษย์ธรรมดาและสัตว์โลกทั่วไป
ย่อมซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้ มีความกระหายอยู่เสมอ

เหมือนอย่างว่า คนกระหายน้ำ เมื่อเห็นน้ำใสสะอาด น่าดื่ม
ย่อมแสดงอาการอยากดื่ม เช่น มองอย่างต้องการ
ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็จะต้องหยิบมาดื่มดับความกระหายนั้น
แต่ผู้ที่ไม่กระหายน้ำ ไม่มีความรู้สึกกระหายซึมซาบอยู่ในความรู้สึก
แม้เห็นน้ำก็เฉย ไม่มีอาการว่าต้องการอยากดื่ม ฉันใด

จิตใจที่ซึมซาบอยู่ด้วยราคะ ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นวิสภาคารมณ์
สมมติว่า เพศตรงกันข้าม ย่อมแสดงความกระหายออกมา
หากกระหายจัด ย่อมจะหาทางบำบัดความกระหายนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
เพราะแรงกระตุ้นภายในคือความกระหายขึ้นอยู่ในระดับสูง
เหมือนคนกระหายน้ำจัดจนไม่อาจยับยั้งได้ต่อไป
แม้น้ำขุ่นและสกปรกก็พยายามจะดื่ม

เพราะเหตุที่จิตใจปกติของคนธรรมดาสามัญชน หรือซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี่เอง
ท่านจะสังเกตว่า คนหนุ่มคนสาวเมื่อพูดถึงเพศตรงกันข้าม
อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนก็มักพูดกันได้ยืดยาว ไม่รู้เบื่อหน่าย
คุยเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อนในที่สุด ก็มักจะเวียนวกมาหาเรื่องที่จิตซึมซาบอยู่
คือ เรื่องระหว่างเพศ อันเป็นที่เกิดที่ตั้งอยู่แห่งราคะ

คนเมื่อยังมีราคะก็ยังมีความกลัว กลัวไปสารพัดอย่าง
แต่พอราคะลดลง ความกลัวก็พลอยลดลงด้วย
ดูเหมือนในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวนัก
พอราคะเหือดแห้ง ความกลัวก็พลอยหายไปด้วย

ในโลกสมัยใหม่ กิจกรรมบำรุงบำเรอราคะ
และการค้าอันเป็นไปในท่วงทำนองส่งเสริมราคะนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนาได้
กิจกรรมและการค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยกำไรอันงาม
เพราะไปจัดทำสิ่งที่ถูกใจคนส่วนมากเข้า

โดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการ ก็ย่อมต้องบำบัด
เมื่อมีสิ่งเร้า ก็ต้องการตอบสนอง เช่น เมื่อหิวก็บริโภคอาหาร กระหายก็ดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อดับความกระวนกระวายทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิธีการของคนทั่วไปเป็นดังนี้

แต่วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นคือ การดับความกระหายเสียเลย
เพื่อจะได้ไม่ต้องสนอง หรือหาทางบำบัดกันบ่อยๆ อันเป็นเรื่องซ้ำซาก
และเจืออยู่ด้วยทุกข์นานาประการ
พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมการดับราคะ โทสะ และโมหะ
คนบางคนอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้


พูดถึงการทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ
คนไม่มีราคะก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าคนมีราคะเสียอีกด้วย
เพราะไม่มีสิ่งกวนใจให้เขว จิตใจสงบแน่วแน่อยู่ในการบำเพ็ญแต่สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์
และไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ไม่ต้องการผลเพื่อตน
อันนี้ก็โยงไปถึงข้อว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว อันเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์

คนธรรมดายังต้องทำบุญบ้าง บาปบ้าง เพราะจิตเราต้องการทำ
แม้บางคนจะไม่ต้องการทำบาป แต่ต้องทำลงไป
เพราะสู้แรงกระตุ้นภายใน และสิ่งยั่วเย้าภายนอกไม่ไหว
เมื่อทำความดีก็ต้องการผลดีตอบแทนแก่ตน
ทั้งหมดนี้รวมลงในข้อธรรมว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร
คือสภาพอย่างหนึ่งอันปรุงแต่งจิตให้ทำความดีบ้าง ทำความชั่วบ้าง
ผลแห่งความดีความชั่วก็ออกมาในรูปให้สุขบ้างทุกข์บ้าง
ในการทำการพูดต่างๆ นั้น คนสามัญมีเจตนาให้เกิดผลแก่ตนเป็นเบื้องต้น
ต่อไปก็ให้เกิดผลแก่คนอื่น ความหวังอันนี้จะว่าเป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้
เพราะหวังความสุขเข้าตัว

แต่พระอรหันต์ท่านมีบุญเต็มเปี่ยมแล้วไม่ต้องการบุญอีก
บาปนั้นท่านไม่ทำอย่างเด็ดขาด บุญท่านก็ไม่ต้องการอีกแล้ว บาปท่านก็ไม่ทำแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าผู้ละบุญและบาปได้

จิตอันประกอบด้วยความกลัวไม่มีแก่ท่านผู้เช่นนั้น
ท่านเป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับเพราะกิเลส ตื่นอยู่เป็นนิตย์ด้วยธรรม

ความกลัวเป็นมารร้าย ทำลายความสุขของบุคคล
ความกลัวเช่นนั้นไม่มีแก่พระอรหันต์ ความกลัวเกิดขึ้นในใจคนเมื่อใด
เมื่อนั้นความสงบสุขก็หายไปทันที มีแต่ความทุกข์ ความกังวลเข้ามาแทนที่
เหมือนเมื่อแสงสว่างหายไป ความมืดก็คืบคลานเข้ามา

ธรรมฝ่ายกุศลอันพระพุทธองค์ทรงแสดงในที่นี้คือ
ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง การรู้แจ้งพระสัทธรรม ความเลื่อมใสอันดี
ความเป็นผู้มีจิตปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ และการละบุญบาปได้


พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส
เพราะปรารภพระจิตตหัตถ์ผู้บวชๆ สึกๆ อยู่ถึง ๖ ครั้ง


เรื่องประกอบ เรื่องพระจิตตหัตถ์

จิตตหัตถ์ เป็นชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งโคหาย เที่ยวหาโคอยู่ในป่า
พบโคในเวลาเที่ยงแล้ว ต้อนมันเข้าฝูง รู้สึกหิว
จึงเข้าไปสู่วิหารอันเป็นที่อยู่ของภิกษุแห่งหนึ่งด้วยหวังว่าจักได้อะไรกินบ้าง

พวกภิกษุเห็นเขาหิวมาจึงให้อาหารที่เหลือจากฉัน
เวลานั้นภิกษุมีอาหารเหลือเฟือมาก เพราะลาภสักการะ
อาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น
เมื่อเขากินอาหารเสร็จแล้ว จึงถามพระได้ความว่า
แม้วันธรรมดาที่ไม่มีกิจนิมนต์ก็มีอาหารมากมายอย่างนี้เสมอ

เกิดความคิดในใจว่า

"เราตื่นเต้นเช้าทำงานทั้งวัน
ก็ไม่ได้อาหารประณีตอย่างที่เหลือจากพระในวันนี้
เราจะเป็นคฤหัสถ์ทำไม บวชดีกว่า"


ดังนี้แล้วขอบวชกับภิกษุ

เมื่อบวชแล้วได้ตั้งใจปฏิบัติดีต่อภิกษุทั้งหลาย
จนเป็นที่รักใคร่ของภิกษุผู้ร่วมพรหมจรรย์ ได้อาศัยลาภสักการะที่เกิดขึ้นไม่นานนัก
สรีระของท่านก็อ้วนท้วนขึ้น

เวลานั้นพระจิตตหัตถ์เคยแต่งงานมาแล้ว ภรรยาก็ยังอยู่
จึงคิดถึงภรรยา และสึกออกไป เมื่อไปทำงานหนักเข้าก็ซูบผอมอีก
จึงมาหาพระขอบวช พระก็บวชให้ เขาบวชๆ สึกๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง

ขณะนั้นภรรยาของเขามีครรภ์ วันหนึ่งกลับจากทำงานในป่า
วางเครื่องไถ เครื่องใช้อย่างอื่นเข้าไปในเรือน
ด้วยคิดจะเอาผ้ากาสายะไปบวชอีก
บังเอิญได้เห็นภรรยานอนหลับอยู่

ผ้านุ่งของเธอหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกจากปาก
กรนดังครืดๆ ปากอ้า อาการนั้นปรากฏแก่จิตตหัตถ์เหมือนศพที่ขึ้นพอง
เขาคิดว่า "สรีระนี้ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ เราบวชมามากมายหลายครั้งแล้ว
แต่เพราะอาศัยสรีระนี้จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ เราจะออกบวชแล้วไม่กลับมาอีก"


เขาฉวยผ้ากาสายะได้เอาคาดพุง แล้วลงจากเรือนเดินก้มหน้าไป

แม่ยายของเขาอยู่บนเรือนอันติดต่อกัน เห็นอาการของจิตตหัตถ์แล้วประหลาดใจ
จึงเข้าไปดูในเรือน เห็นลูกสาวนอนหลับอยู่ด้วยอาการนั้น
จึงปลุกให้ตื่นขึ้น ตีลูกสาวแล้วกล่าวว่า

"นางชั่วชาติ ลุกเสียทีเถิด ผัวของเอ็งไปแล้ว
มัวนอนกรนอยู่นี่แหละ คราวนี้เขาจะไม่กลับมา ลูกในท้องของเองก็มี จะทำอย่างไร?"

ลูกสาวโกรธแม่เหมือนกัน ไล่ให้แม่ออกไปเสีย
พลางกล่าวว่า "แม่ออกไปเสียเถอะ เขาจะไปข้างไหนอีก ๒-๓ วันก็กลับมาเองแหละ"

นายจิตตหัตถ์ออกจากบ้าน บ่นพึมพำไปด้วยว่า "ไม่เที่ยงเป็นทุกข์"
ขณะเดินไปนั่นเองได้บรรลุโสดาปัตติผล เขาถึงวิหารก็ขอบวช
แต่พระทั้งหลายเอือมระอากับการบวชของเขาเต็มทีแล้ว จึงกล่าวว่า

"จิตตหัตถ์! พวกเราบวชให้ท่านไม่ได้อีกแล้ว
ความเป็นสมณะของท่านไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ท่านบวชๆ สึกๆ จนหัวเหมือนหินลับมีดแล้ว"


แต่จิตตหัตถ์ก็เว้าวอนมิได้ท้อถอยว่า ขอบวชอีกครั้งเดียวเท่านั้น
ขอให้อนุเคราะห์ด้วยเถิด ในที่สุดพระก็บวชให้อีก นับเป็นครั้งที่ ๗

ในการบวชครั้งนี้ เขามีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่สึกอีก
และก็สมความตั้งใจ เขาได้สำเร็จอรหันต์ภายใน ๒-๓ วันเท่านั้น

ความที่เคยเป็นคนโลเล เมื่อถึงคราวจริงเข้าก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ
ดังนั้น เมื่อเห็นพระจิตตหัตถ์บวชนานวันไปหน่อย
เพื่อนภิกษุด้วยกันจึงถามเชิงล้อเลียนว่า "ยังไม่ถึงวันสึกอีกหรือ? ทำไมครั้งนี้จึงชักช้าอยู่เล่า?"

พระจิตตหัตถ์ตอบว่า "เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้ามีความเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งกิเลส
แต่บัดนี้ข้าพเจ้าตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าไม่ต้องไปอีกแล้ว"


ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่า พระจิตตหัตถ์พูดอวดมรรคอวดผล
จึงไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! จิตตหัตถ์ บุตรของเรา
ไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้พระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง
บัดนี้บุตรของเราละบุญและบาปได้แล้ว"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"อนวฎจิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต"
เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า

"ผู้มีอายุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ หยาบนัก
กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้
กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชถึง ๗ ครั้ง สึกถึง ๖ หน"


พระศาสดาเสด็จมาสดับกถานั้นแล้วตรัสว่า

"ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ เป็นของหยาบนัก
หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักวาฬนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย
กิเลสนี้เองสามารถทำบุรุษอาชาไนยผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแม้เช่นเราให้มัวหมองได้
ไม่ต้องกล่าวถึงคนเหล่าอื่น เราอาศัยข้าวฟ่างและลูกเดือยเพียงครึ่งทะนาน
และจอบเหี้ยนอีกอันหนึ่ง ต้องบวชแล้วสึกถึง ๖ หน"


พร้อมตรัสเล่าเรื่องในอดีตของพระองค์ดังนี้

ในอดีตกาล บุรุษผู้หนึ่งชื่อ กุททาลบัณทิต ในกรุงพาราณสี
บวชเป็นนักพรตภายนอกพระพุทธศาสนา
อาศัยอยู่ ณ หิมวันตประเทศ ๘ เดือน พอถึงฤดูฝนแผ่นดินชุ่มชื้น เขาคิดว่า

"ในเรือนของเรา มีข้าวฟ่างและลูกเดือยอย่างละครึ่งทะนาน
และจอบเหี้ยนอีกอันหนึ่ง เราพอทำการเพาะปลูกได้
อย่าให้ข้าวฟ่างและลูกเดือยต้องเสียไปเลย"


ดังนี้แล้วสึกออกมาเพาะปลูก ทำรั้วไว้
เมื่อเมล็ดพืชแก่ก็เก็บเกี่ยวแล้วเก็บไว้ทำพันธุ์ทะนานหนึ่ง นอกนั้นได้บริโภค
แลแล้วได้ออกบวชอีก ๘ เดือน เมื่อฤดูฝนมาถึงแผ่นดินชุ่มชื้นก็คิดอย่างนั้นอีก
สึกอีก ทำอยู่เช่นนี้ ๗ ครั้ง

ในครั้งที่ ๗ เกิดสังเวชสลดใจ จึงคิดว่า
"เราควรทิ้งข้าวฟ่าง ลูกเดือย และจอบเหี้ยนในที่ใดที่หนึ่งอันจะหามันไม่เจออีก"
เห็นว่าควรทิ้งในแม่น้ำคงคา แต่ถ้าเห็นอยู่อาจลงงมเอาในกาลภายหน้า
ต้องทิ้งโดยวิธีที่จะไม่เห็นมัน


กุททาลบัณทิต เอาผ้าห่อข้าวฟ่างและลูกเดือยแล้วเอาพันเข้ากับจอบ
จับด้ามจอบเวียนเหนือศีรษะสามรอบแล้วหลับตาเหวี่ยงไปในแม่น้ำคงคา
ลืมตาขึ้นเหลียวดูไม่เห็นที่ตก จึงเปล่งเสียงดังขึ้น ๒ ครั้งว่า "เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว"

ขณะนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จกลับจากปราบปัจจันตชนบท
ให้ปลูกค่ายพักที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เสด็จลงแม่น้ำเพื่อทรงสนานพระวรกาย
ทรงสดับเสียงนั้น ไม่พอพระทัย เพราะว่าโดยปกติ เสียงว่า "ชนะแล้ว ชนะแล้ว"
ย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของพระราชา พระองค์เสด็จเข้าไปหาบุรุษนั้น
ตรัสถามว่า "เราทำการย่ำยีศัตรูมาเดี๋ยวนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘เราชนะแล้ว’
ท่านร้องว่า ‘เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว’ หมายความว่ากระไร?"


กุลทาลบัณฑิตทูลว่า

"พระองค์ทรงชนะพวกโจรภายนอก ความชนะของพระองค์อาจกลับแพ้ได้
ส่วนข้าพระองค์ชนะโจรภายในคือ ความโลภแล้ว จักไม่กลับแพ้อีก
การชนะโจรภายในคือความโลภดีกว่าการชนะโจรภายนอก"


ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาย้ำว่า
"ความชนะใด กลับแพ้ได้ ความชนะนั้นยังไม่ดี
ส่วนความชนะใดไม่กลับแพ้อีก ชัยชนะนั้นดี"


ขณะนั้นเอง ท่านมองดูแม่น้ำคงคา
ยังกสิณมีน้ำเป็นอารมณ์ (อาโปกสิณ) ให้เกิดขึ้นแล้ว
บรรลุคุณพิเศษแล้วลอยขึ้นสู่อากาศ

พระราชาทรงเลื่อมใส ขอบรรพชาพร้อมทั้งไพร่พลพระราชาอื่นๆ ในแคว้นใกล้เคียง
ทรงสดับเรื่องราวแล้วเสด็จออกมาบวชตามถึง ๗ พระองค์

พระศาสดาตรัสในที่สุดว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! กุททาลบัณฑิตในกาลนั้น
คือเราในบัดนี้ ขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นของหยาบนัก"


:b40:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นน้ำเต้า คลิกที่่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19578

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2013, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นจิก หรือ ต้นมุจลินทร์
พันธุ์ไม้ที่พระผู้มีพระภาคเมื่อสมัยตรัสรู้ใหม่ๆ
ทรงประทับนั่งเสวยวิมุติสุขใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา



ผู้เลือกเก็บดอกไม้

พระพุทธภาษิต

โก อิมํ ปฐวึ วิเชสฺสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ
โก ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ

เสโข ปฐวี วิเชสฺสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ
เสโข ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ

คำแปล

ใครจักรู้ชัดแผ่นดิน คืออัตภาพนี้
และยมโลกคือ อบายภูมิ ๔ พร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก
ใครจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น
พระเสขะจักรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน
คืออัตภาพนี้และยมโลกพร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก
พระเสขะจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น


:b48: :b48:

อธิบายความ

พระศาสดาทรงเปรียบอัตภาพคือร่างกายนี้ด้วยแผ่นดิน
เมื่อภิกษุสนทนากันเรื่องแผ่นดิน พระองค์ผู้ทรงเป็นธรรมราชา
ประกอบด้วยเทศนาโกศลอันยิ่งเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน
มีพระประสงค์จะชักนำภิกษุให้มาสนใจใน แผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้
ว่าควรพิจารณาให้เห็นแจ้ง เพื่อได้ละความกำหนัดในกาย

ในที่บางแห่งทรงเปรียบอัตภาพนี้ด้วยโลก
ทรงบัญญัติโลก และความดับโลกในอัตภาพนี้
ดังข้อความในโรหิตัสสสูตร ลังยุตตนิกายว่า

"อิมสฺมึ พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก
โลกญฺจเว ปญฺญเปมิ โลกสมุทยญฺจ" เป็นต้น

ความว่า

"เราบัญญัติโลกและความเกิดขึ้นแห่งโลก รวมทั้งความดับโลก
และทางให้ถึงความดับโลกในร่างกายอันมีประมาณว่าหนึ่งนี้
ซึ่งมีสัญญา มีใจครอง" และตรัสต่อไปว่า

"คมเนน น ปตฺตพฺโพ โลกสฺสนฺโต กุทาจนํ
น จ อปฺปตฺวา โลกสฺสนฺตํ ทุกฺขา อตฺถิ ปโมจนํ
ในกาลไหนๆ บุคคลไม่สามารถไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกได้ด้วยการไปธรรมดา
และเมื่อยังไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกไม่ได้ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้"


คำว่า "โลก" ในที่นี้ก็ทรงหมายถึงอัตภาพนั่นเอง
คือเมื่อยังไม่รู้แจ้งกายนี้ โดยความเป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้
โลกภายในนี้จะไปให้ทั่วด้วยยานพาหนะใดๆ ก็ไม่ได้
หากจะไปต้องไปด้วยญาณ ไม่ใช่ด้วยยาน

เมื่อรู้กายนี้โดยแจ่มแจ้งแล้วก็สามารถคลายความพอใจในกาย
ละกิเลสได้ตามมรรคนั้นๆ ตามกำลังแห่งมรรคของตน

ท่านกล่าวว่าพระเสขะสามารถรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน คืออัตภาพนี้ได้
พระเสขะนั้นท่านหมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก
คือพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค
พอบรรลุอรหัตตผล ก็เป็นพระอเสขะ
แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษาเพื่อบรรลุธรรมอีกต่อไป เพราะได้บรรลุหมดแล้ว

ในตอนที่สองทรงแสดงว่าพระเสขะนั่นเอง
เป็นผู้เลือกบทแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนนายมาลาการคือช่างดอกไม้ผู้ฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ที่ดีในสวนดอกไม้

มองตามแง่นี้ ธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า
เปรียบเสมือนสวนดอกไม้อันสะพรั่งไปด้วยดอกไม้คือ ธรรมหลายหลาก
ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกไปปฏิบัติให้เหมาะสมแก่อัธยาศัยแห่งตน


พระธรรมเทศนานี้พระศาสดาทรงแสดงขณะประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้สนทนากันในเรื่องแผ่นดิน

เรื่องภิกษุผู้สนใจในปฐวีกถา ความว่า
สมัยหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นจาริกไปในชนบทต่างๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อกลับมาถึงเชตวนารามแล้ว นั่งในหอฉันในเวลาเย็น
สนทนากันถึงเรื่องแผ่นดิน หรือทัศนียภาพที่ตนได้เห็นมาว่า
"สถานที่นั้นเป็นอย่างนั้นๆ เช่น สวยงาม ไม่สวยงาม
มีโคลนมาก มีเปือกตมมาก มีกรวดมาก ดินดำ ดินแดง เป็นต้น"

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เรื่องที่เธอสนทนากันอยู่นี้เป็นแผ่นดินภายนอก
พวกเธอควรสนใจและทำบริกรรมในแผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า "โก อิมํ ปฐิวํ วิเชสฺสติ" เป็นอาทิ
มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่เบื้องต้น


:b51: :b51:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๗ มกราคม ๒๕๔๗

:b44:

ผู้ตัดพวงดอกไม้ของมาร

พระพุทธภาษิต

เผณูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา มรีจิธมฺมํ อภิสมฺพุธาโน
เฉตฺวาน มารสฺส ปปุปฺผกานิ อทสฺสนํ มจฺจุราชสฺส คจฺเฉ

คำแปล

ภิกษุรู้แจ้งกายนี้ว่าเปรียบด้วยฟองน้ำ เปรียบด้วยพยับแดด
ตัดพวงดอกไม้ของมารแล้ว พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชมองไม่เห็น


:b40: :b40:

อธิบายความ

ที่ว่ากายนี้เปรียบด้วยฟองน้ำนั้น เพราะตั้งอยู่ไม่ได้นาน
เหมือนฟองน้ำตั้งขึ้นแล้วแตกไปโดยเร็ว
ที่ว่าเปรียบด้วยพยับแดดนั้น
เพราะเป็นเหมือนมีรูปร่างเหมือนจะจับฉวยได้
สำหรับผู้มองจากที่ไกล แต่พอเข้าใกล้ก็ว่างเปล่า

คำว่า พวงดอกไม้ของมารนั้น
หมายถึง วัฏฏะ ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
ในที่บางแห่งท่านแสดงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ว่าเป็นพวงดอกไม้ของมาร
เพราะคอยล่อให้คนหลงและติดอยู่เป็นของละได้ยากอย่างหนึ่งในโลก

ข้อว่าสถานที่อันมัจจุราชมองไม่เห็นนั้นคือ
พระนิพพานบุคคลผู้มองโลกโดยความเป็นสิ่งว่างเปล่า
ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกแล้ว มัจจุราชย่อมมองไม่เห็น คือ ไม่ต้องตายอีก
สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสตอบโมฆราชมานพบว่า

"สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต
อตฺตานุทิฏฐิ โอหจฺจ เอวํ มจฺจุตตโร สิยา
เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ"

ความว่า

"ดูก่อน โมฆราช! เธอจงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
มองโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ก็จะสามารถข้ามพ้นมัจจุราชได้
มัจจุราชย่อมมองไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาโลกอยู่อย่างนี้"


อัตตานุทิฏฐินั้น คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน
ความมีอัสมิมานะว่า เราเป็นนั่น นั่นเป็นเรา ความมีอหังการ มมังการ
ความยึดมั่นในตัวตนอย่างเหนียวแน่น ไม่มีแสงสว่างใดๆ ลอดเข้าไป

ที่ทรงสอนให้มองโลกโดยความเป็นของว่างเปล่านั้น
เพื่อมิให้ติดโลก จมอยู่ในโลก ไม่สามารถถอนตนขึ้นจากโลกได้
หากประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิอันดิ่ง (นิยตมิจฉาทิฏฐิ)
ก็จะกลายเป็นตอในวัฏฏะ ไม่อาจบรรลุมรรคผลอะไรได้

พระศาสดาทรงแสดงเทศนานี้ ขณะประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภพระเถระผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน มีเรื่องย่อดังนี้

เรื่องประกอบ เรื่องพระเถระผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน

พระเถระรูปหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้ว
คิดว่าจัดทำสมณธรรม เข้าไปสู่ป่า แม้เพียรพยายามอยู่เพียงไร
ก็ไม่อาจให้บรรลุพระอรหัตต์ได้ จึงกลับมาสู่สำนักของพระศาสดา
ด้วยตั้งใจว่าจักให้พระศาสดาตรัสบอกกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นไป
เห็นพยับแดดในระหว่างทาง
จึงเจริญมรีจิกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานอันมีพยับแดดเป็นอารมณ์) ว่า

"พยับแดดในฤดูร้อนนี้ ย่อมปรากฏประดุจมีรูปร่างแก่บุคคลผู้ยืนอยู่ไกล
แต่เมื่อเข้าใกล้ย่อมไม่ปรากฏเลยฉันใด อัตภาพคือร่างกายนี้ก็ฉันนั้น
เพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป"


ดังนี้เป็นต้น เดินมาเมื่อยล้าจึงหยุดพัก อาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดีนั่งที่ริมไม้
ริมฝั่งแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยวแห่งหนึ่ง
เห็นฟองน้ำใหญ่ตั้งขึ้นด้วยแรงกระทบกันแล้วแตกไป
ท่านได้ถือเอาสิ่งนั้นเป็นอารมณ์แล้วเปรียบเทียบกับอัตภาพว่า
แม้อัตภาพนี้ก็เหมือนกัน เพราะเกิดขึ้นแล้วก็แตกไป


พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นพระเถระนั้น
จึงตรัสว่า "ถูกแล้ว ภิกษุ! เธอคิดถูกแล้ว
อัตภาพนี้เหมือนฟองน้ำและเหมือนพยับแดด เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป"
ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"เผณูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา" เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นจิก หรือต้นมุจลินทร์ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19565

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2013, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นมะเดื่อ หรือ ต้นอุทุมพร
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๖ พระนามว่า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม
ณ ควงไม้มะเดื่อนี้ หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือนเต็ม



สวนดอกไม้ คือ กามคุณ

พระพุทธภาษิต

ปุปผานิเหว ปจินนฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
สุตฺตํ คามํ มโหโฆว มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ

คำแปล

มัจจุคือความตาย ย่อมพัดพาเอาบุคคลผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ
ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ ๕ อยู่เหมือนห้วงน้ำใหญ่
ไหลหลากพัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ ฉะนั้น


:b45: :b45:

อธิบายความ

ดอกไม้ในพระคาถานี้ ทรงหมายเอากามคุณ ๕ มีรูป เป็นต้น
เพราะยั่วยวนให้ภมร กล่าวคือ มนุษย์ หลงใหลวนเวียนอยู่
คนที่รู้โทษของกามคุณแล้วอยากออก แต่มีเครื่องจองจำบางอย่าง
เช่น บุตรคอยมัดมือ และเท้าไว้มิให้ออกไปได้


ส่วนคนใหม่ยังไม่รู้รส ถูกแรงกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก
คอยกระตุ้นเร่งเร้าให้อยากเข้าไป ในที่สุดก็ตกอยู่ในภาวะอย่างเดียวกัน
คือ ถูกจองจำและมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นต้น

ที่ว่าเลือกเก็บดอกไม้ คือ กามคุณ อยู่นั้น
หมายความว่า เมื่อได้กามมีรูปเป็นต้นแล้ว
ก็หาพอใจในรูปนั้นไปนานสักเท่าไรไม่ ใจซัดส่ายไปในรูปใหม่ต่อไปอีก
เห็นรูปนั้นก็น่าได้ นี่ก็น่าได้ น่าเป็นของเรา
เหมือนคนเข้าสวนดอกไม้ เห็นดอกไม้สะพรั่ง ดอกนั่นก็น่าเก็บ ดอกนี้ก็น่าเก็บ
น่าดอมดมชมเชยไปเสียหมด ชื่อว่าเป็นผู้หลงใหลอยู่ในสวนดอกไม้นั้น

นอกจากนั้น ใจยังข้องในอารมณ์ต่างๆ อีก เช่น ความคิดข้องในสมบัติต่างๆ
มี ช้าง ม้า วัว ควาย นา สวน บ้านเรือน เป็นต้น
บรรพชิตก็ติดข้องในปริขารมีบาตรและจีวร หรือเสนาสนะอันสวยงาม เป็นต้น
รวมทั้งติดข้องในอาวาสและความเป็นใหญ่ ชื่อเสียง ลาภ และบริวาร เป็นต้น
อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ

มัจจุ คือ ความตาย ย่อมพัดพาบุคคลเช่นนี้ไปสู่ห้วงน้ำลึก
คือ อบาย ๔ เหมือนห้วงน้ำธรรมดาพัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่
ให้จมลงในแม่น้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก ต้องเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำมีปลา เป็นต้น

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภพระเจ้าวิฑูฑภะ พร้อมทั้งบริวารซึ่งถูกน้ำท่วมสวรรคต


เรื่องประกอบ เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ

พระเจ้าวิฑูฑภะเป็นพระโอรสในพระเจ้าปเสนทิโกศล
กับพระนางวาสภขัตติยา-ราชธิดาของท้าวมหานามแห่งศากยวงศ์
แต่พระนางประสูติจากพระมารดาซึ่งเป็นทาสี
รวมความว่าเป็นลูกของหญิงทาส แต่มีพ่อเป็นเจ้าในศากยวงศ์

เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้างแค้น
ที่ศากยวงศ์ทำความเจ็บช้ำแก่พระองค์
เรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล
ได้พระนางวาสภขัตติยามาเป็นพระมเหสีก็เป็นเรื่องน่ารู้
ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้แต่โดยย่อ

:b41:

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถีประทับยืนที่ปราสาทชั้นบน
ทอดพระเนตรไปที่ถนน เห็นภิกษุหลายพันรูปกำลังเดินไป
เพื่อฉันอาหารที่บ้านของอนาถปิณทิกเศรษฐีบ้าง บ้านของจูฬอนาถปิณทิกเศรษฐีบ้าง
บ้านของนางวิสาขาและนางสุปปวาสบ้าง
เมื่อพระราชาทรงทราบก็มีพระประสงค์จะเลี้ยงพระบ้าง
จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลนิมนต์พระพุทธองค์
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์ ๗ วัน
ในวันที่ ๗ ทูลพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระองค์!
ขอพระองค์และพระสงฆ์สาวกจงรับภิกษา (อาหาร) ในวังเป็นนิตย์เถิด"


พระศาสดาตรัสว่า

"มหาบพิตร! ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่รับอาหารประจำในที่แห่งเดียว
เพราะประชาชนเป็นอันมากหวังการมาของพระพุทธเจ้า"

(คือต้องการให้พระพุทธเจ้าไปเสวยที่บ้านของตนบ้าง)

พระราชาขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งเป็นหัวหน้ามาแทนพระพุทธองค์
พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์

พระราชาทรงอังคาส (เลี้ยง) พระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง
มิได้ทรงมอบหมายให้ใครเป็นเจ้าหน้าที่แทนพระองค์
ทรงกระทำติดต่อมาอีก ๗ วัน พอวันที่ ๘ ทรงลืม

เนื่องจากมิได้ทรงมอบหมายเจ้าหน้าที่ไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอะไร
กว่าพระองค์จะทรงระลึกได้ก็เป็นเวลานาน ภิกษุกลับไปเสียหลายรูป

ในวันต่อมาก็ทรงลืมอีก ภิกษุส่วนมากคอยไม่ไหวจึงกลับไปเสีย เหลืออยู่จำนวนน้อย
ต่อมาอีกวันหนึ่งทรงลืมอีก ภิกษุกลับไปหมดเหลือแต่พระอานนท์รูปเดียว

เมื่อพระราชาทรงระลึกได้ก็เสด็จมา
ทอดพระเนตรเห็นแต่พระอานนท์เท่านั้นอยู่เพื่อรักษาความเลื่อมใสของตระกูล
ทรงเห็นอาหารวางเรียงรายอยู่มากมาย แต่ไม่มีพระอยู่ฉัน
วันนั้นได้ทรงอังคาสพระอานนท์เพียงรูปเดียว
ทรงน้อยพระทัยว่า ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้ามิได้เอื้อเฟื้อ
มิได้ทรงรักษาพระราชศรัทธาเลย
เมื่ออังคาสพระอานนท์เสร็จแล้วเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์จัดแจงอาหารไว้สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป
แต่มีพระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น อยู่ฉัน
นอกนั้นมิได้อยู่ทำให้ของเหลือมากมาย
ภิกษุสงฆ์มิได้เอื้อเฟื้อ มิได้รักษาศรัทธาของข้าพระองค์เลย"


พระศาสดามิได้ตรัสโทษภิกษุสงฆ์แต่ประการใด เพราะทรงรู้
ทรงเข้าพระทัยทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ตรัสกับพระราชาว่า

"มหาบพิตร! พระสงฆ์คงจักไม่คุ้นเคยกับราชสกุล จึงได้กระทำดังนั้น"

พระราชามีพระประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์คุ้นเคยในราชสกุล
ทรงหาอุบายว่า ควรกระทำอย่างไรดีหนอ?
ทรงดำริว่า หากพระองค์เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ภิกษุคงจักคุ้นเคย
ควรจักขอเจ้าหญิงแห่งศากยวงศ์มาเป็นพระมเหสีสักองค์หนึ่ง
จึงทรงแต่งทูตถือพระราชสาส์นไปยังกรุงกบิลพัสดุ์
ขอเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งมาเป็นพระมเหสี

ฝ่ายทางศากยวงศ์ ถือตนว่าสกุลสูงกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล
แต่เวลานั้น แคว้นโกศลเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่
ดูเหมือนว่าแคว้นสักกะของศากยวงศ์จะขึ้นกับแคว้นโกศลด้วยซ้ำไป
ดังนั้น เรื่องพระเจ้าปเสนทิทูลของเจ้าหญิง
จึงทำความลำบากพระทัยให้แก่พวกศากยะไม่น้อย
ครั้นจะไม่ถวายก็เกรงพระราชอำนาจแห่งพระเจ้าโกศล
ครั้นจะถวายก็เกรงสกุลของพวกตนจะไปปะปนกับเลือดแห่งสกุลอื่น อันถือว่าต่ำกว่าพวกตน

เมื่อประชุมปรึกษาเรื่องนี้กันนานพอควรนั้น
ท้าวมหานามจึงเสนอที่ประชุมว่า

"หม่อมฉันมีธิดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อวาสภขัตติยาเป็นลูกของทาสี
เธอมีความงามเป็นเลิศ พวกเราสมควรให้นางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล"


ที่ประชุมเห็นชอบจึงจัดแจงส่งพระนางวาสกขัตติยาไปถวาย
พระเจ้าปเสนทิไม่ทรงทราบจึงโปรดปรานมาก
พระราชทานสตรี ๕๐๐ ให้เป็นบริวาร
ต่อมาพระนางประสูติพระโอรส พระนามว่า วิฑูฑภะ

ความจริงก่อนให้ทูตรับพระนางมา พระเจ้าปเสนทิก็ทรงป้องกันการถูกหลอกเหมือนกัน
แต่ไม่วายถูกหลอกคือทรงกำชับราชทูตไปว่า
จะต้องเป็นพระราชธิดาที่เสวยร่วมกับกษัตริย์เช่น ท้าวมหานาม

ท้าวมหานามไม่ขัดข้อง
ทรงทำทีเป็นเสวยร่วมกับพระนางวาสภขัตติยาให้ราชทูตดู แต่มิได้เสวยจริง
คงจะมีแผนให้เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจนเสวยไม่ได้
ต้องเลิกในทันทีทันใด สมมติว่ามีแผนให้มหาดเล็กวิ่งกระหืดกระหอบ
เข้ามาทูลว่าไฟไหม้พระราชวัง ซึ่งจะต้องเลิกเสวยในทันที เพื่อไปดูแลดับไฟ

แม้พระนามวิฑูฑภะนั้นก็ได้มาโดยฟังมาผิด
คือ เมื่อพระกุมารประสูตแล้ว พระเจ้าปเสนทิทรงส่งราชทูต
ไปทูลขอพระนามแห่งพระกุมารใหม่จากพระอัยยิกา (ยาย)
พระเจ้ายาย พระราชทานว่า "วัลลภ" แปลว่า "เป็นที่โปรดปราน"
แต่ราชทูตหูตึง ฟังเป็นวิฑูฑภะ พระเจ้าปเสนทิก็ทรงพอพระทัยต่อพระนามนั้น

ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ วิฑูฑภกุมารเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์
ความจริงพระมารดาพยายามทัดทานหลายครั้ง
เพราะทรงเกรงพระราชโอรสจะไปทรงทราบเรื่องราวเข้า
แต่พระกุมารทรงยืนยันว่าจะเฝ้าอัยยิกาให้ได้
พระนางจึงรีบส่งสาส์นล่วงหน้าไปก่อน
เพื่อให้พระญาติปฏิบัติต่อวิฑูฑภะอย่างเหมาะสม
แต่พระนางก็ต้องผิดหวัง เพราะทิฏฐิมานะของพวกศากยะมากเหลือเกิน
และเป็นเหตุให้เกิดเรื่องใหญ่ฆ่าฟันกันตายมากมาย

เมื่อทราบข่าวว่า วิฑูฑภกุมารจะเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์
ทางศากยวงศ์ก็ประชุมกันว่าจะต้อนรับอย่างไร
พวกเขาไม่ลืมว่า พระมารดาของวิฑูฑภะนั้นเป็นธิดาของนางทาสี
ตัววิฑูฑภะเอง แม้จะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิก็จริง
แต่ฝ่ายมารดาวรรณะต่ำ วิฑูฑภะจึงมิได้เป็นอุภโตสุชาต
พวกเขาไม่สามารถให้เกียรติอย่างลูกกษัตริย์ได้
จึงจัดแจงส่งพระราชกุมารศากยะ ที่พระชนมายุน้อยกว่าวิฑูฑภะ
ออกไปชนบทหมดเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องทำความเคารพบุตรแห่งทาสี

เมื่อวิฑูฑภะเสด็จถึง ทรงกบิลพัสดุ์ก็ต้อนรับดีพอสมควร
พระราชกุมารเที่ยวไหว้คนนั้นคนนี้
ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเป็น ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และพี่ เป็นต้น
แต่ไม่มีใครสักคนเดียวที่ไหว้พระราชกุมารก่อน
เมื่อวิฑูฑภะถามผู้ใหญ่ก็บอกว่าพระราชกุมารรุ่นน้องๆ
ได้ไปตากอากาศในชนบทกันหมดไม่มีใครอยู่เลย วิฑูฑภะเก็บเอาความสงสัยไว้ในใจ

พระองค์ประทับอยู่เพียง ๒-๓ วันก็เสด็จกลับ พกเอาความสงสัยติดพระทัยไปด้วยว่า
เหตุไฉนพระองค์จึงได้รับการต้อนรับอย่างชาเย็นเหลือเกิน

ขณะที่เสด็จออกจากวังแล้วนั้น บังเอิญนายทหารคนหนึ่งลืมอาวุธไว้ จึงวิ่งกลับไปเอา
ได้เห็นหญิงรับใช้คนหนึ่งกำลังเอาน้ำเจือน้ำนมล้างแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะประทับ
ปากก็พร่ำด่าว่า "นี่คือแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะบุตรของนางทาสีนั่ง"

นายทหารผู้นั้นเข้าไปถาม ทราบเรื่องโดยตลอด
เมื่อกลับมาถึงกองทัพก็กระซิบบอกเพื่อนๆ
เสียงกระซิบกระซาบแผ่วงกว้างออกไปจนรู้กันหมดทั้งกองทัพ

พระราชกุมารก็ทรงทราบด้วย
เป็นครั้งแรกที่ทรงทราบกำเนิดอันแท้จริงของพระองค์ว่าสืบสายมาอย่างไร


ทรงพิโรธมาก อาฆาตพวกศากยะไว้ว่า
เวลานี้ขอให้พวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่ประทับนั่งด้วยน้ำที่เจือด้วยน้ำนมก่อน
แต่เมื่อใด ทรงได้ราชสมบัติในแคว้นโกศล
เมื่อนั้นจะเสด็จกลับไปล้างแค้น
โดยเอาเลือดในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานนั้น


เมื่อถึงสาวัตถี พวกอำมาตย์ได้กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้พระเจ้าปเสนทิทรงทราบ
ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ถอดพระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะ
ออกจากตำแหน่งพระมเหสีและราชกุมารตามลำดับ
ทรงให้ริบเครื่องบริหาร และเครื่องเกียรติยศทั้งปวง
พระราชทานให้เพียงสิ่งของที่ทาสและทาสีควรจะใช้เท่านั้น

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระศาสดาเสด็จมายังพระราชนิเวศน์
พระเจ้าปเสนทิทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสปลอบว่า

"มหาบพิตร! พวกศากยะกระทำไม่สมควรเลย,
เมื่อจะถวายก็ควรจะถวายพระราชธิดาที่มีชาติเสมอกันจึงจะควร"


ครู่หนึ่งผ่านไป พระศาสดาจึงตรัสอีกว่า

"แต่อาตมาภาพใคร่ถวายพระพรว่า พระนางวาสภขัตติยานั้น เป็นธิดาของขัตติยราช
ได้รับการอภิเษกในพระราชมณเฑียรของขัตติยราช
ฝ่ายวิฑูฑภะกุมารเล่าก็ได้อาศัยขัตติยราชนั้นแลประสูติแล้ว
มหาบพิตร! ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สู้จะสำคัญนัก สำคัญที่ฝ่ายบิดา
แม้บัณฑิตแต่โบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงยากจนหาบฟืนขาย
และพระราชกุมารอันประสูติจากครรภ์ของสตรีนั้น
ก็ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในนครพาราณสี พระนามว่า กัฏฐวาหนราช"


พระราชาทรงสดับกถาของพระศาสดาแล้วทรงเชื่อ
จึงรับสั่งให้พระราชทานเครื่องบริหาร เครื่องเกียรติยศ
แก่พระนางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภกุมารดังเดิม

ต่อมา วิฑูฑภกุมารได้ราชสมบัติโดยการช่วยเหลือของทีฆการายนะ เสนาบดี

ฑีฆการายณะนั้นเป็นหลานของพันธุลเสนาบดี
ซึ่งพระเจ้าปเสนทิวางอุบายให้คนของพระองค์ฆ่าเสีย โดยที่พันธุละมิได้มีความผิด
แต่มีบางพวกยุยงว่าพันธุละต้องการแย่งราชสมบัติในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิทรงเชื่อ

เมื่อพันธุละพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คนตายแล้ว พระราชาทรงทราบความจริงในภายหลัง
ทรงโทมนัสมาก ไม่สบายพระทัย ไม่มีความสุขในรัชสมบัติ
ทรงประทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่ฑีฆการายนะ ผู้เป็นหลานของพันธุละ
เพื่อทดแทนความผิดที่พระองค์ทรงกระทำไป

ฑีฆการายนะยังผูกใจเจ็บในพระราชาว่าเป็นผู้ฆ่าลุงของตน
คอยหาโอกาสแก้แค้นอยู่เสมอ

วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาที่นิคมชื่อ เมทฬุปะของพวกศากยะ
ทรงให้พักพลไว้ใกล้พระอาราม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแต่พระองค์เดียว

ฑีฆการายนะได้โอกาสจึงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์อิสริยยศของกษัตริย์
ให้วิฑูฑภะแล้วนำพลกลับพระนครสาวัตถี มอบราชสมบัติให้วิฑูฑภะครอง
รวมความว่าฑีฆการายนะกับวิฑูฑภะ ร่วมกันแย่งราชสมบัติ
ฝ่ายวิฑูฑภะก็พอพระทัย เพราะต้องการมีอำนาจสมบูรณ์ เพื่อล้างแค้นศากยะได้เร็วขึ้น

แต่ปีนั้นก็เป็นปีที่พระเจ้าปเสนทิมีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้วนับว่าอยู่ในวัยที่ชรามาก

พระเจ้าปเสนทิเสด็จกลับจากการเฝ้าพระศาสดา ไม่ทรงเห็นไพร่พล
มีแต่ม้าตัวหนึ่งกับหญิงรับใช้คนหนึ่งอยู่ที่นั่น ทรงทราบความแล้วเสด็จไปยังเมืองราชคฤห์
เพื่อขอกำลังของพระเจ้าอชาตศัตรูมาปราบวิฑูฑภะและการายนะ
แต่เสด็จไปถึงหน้าเมืองราชคฤห์ในค่ำวันหนึ่ง ประตูเมืองปิดเสียแล้ว ไม่อาจเสด็จเข้าเมืองได้
จึงทรงพักที่ศาลาหน้าเมือง และสิ้นพระชนม์ในคืนนั้น
เพราะความหนาว ๑ ทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ๑ และเพราะทรงพระชรามาก ๑

ตอนเช้า เมื่อประตูเปิดแล้ว ประชาชนชาวราชคฤห์ได้เห็นพระศพ
และฟังเสียงหญิงรับใช้คร่ำครวญว่า ราชาผู้เป็นจอมแห่งชาวโกศล
จึงนำความนั้นกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูๆ
ให้รับพระศพเข้าไปถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติยศ

ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์แล้ว อันความแค้นกระตุ้นเตือนอยู่เสมอ
มิอาจทรงยับยั้งได้ จึงเตรียมกรีธาทัพไปย่ำยีพวกศากยะ

พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง
ทรงเห็นความพินาศจะมาถึงหมู่พระญาติ
มีพระพุทธประสงค์จะทรงบำเพ็ญ ญาตัตถจริยา
คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ จึงเสด็จไปประทับ ณ พรมแดนระหว่างโกศลกับศากยะ
ประทับ ณ ใต้ต้นไม้มีใบ้น้อยต้นหนึ่งทางแดนศากยะ
ถัดมาอีกเล็กน้อยเป็นเขตแดนแคว้นโกศลมีต้นไทรใหญ่ใบหนาร่มครึ้มขึ้นอยู่

พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพผ่านมาทางนั้น
ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาจึงเสด็จเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! เพราะเหตุไร จึงประทับใต้ต้นไม้อันมีใบน้อยในเวลาร้อนถึงปานนี้
ขอพระองค์โปรดประทับนั่ง ณ โคนต้นไทรอันมีร่มครึ้ม มีเงาเย็นสนิทดีทางแดนโกศลเถิด"


"ขอถวายพระพร มหาบพิตร! ร่มเงาของพระญาติเย็นดี"

พระเจ้าวิฑูฑภะ ทรงทราบทันทีว่า พระศาสดาเสด็จมาป้องกันพระญาติ
อนึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะทรงระลึกได้อยู่ว่า การได้รับตำแหน่งมเหสีของพระมารดา
และตำแหน่งราชโอรสของพระองค์เองคืนมานั้น
เพราะการช่วยเหลือของพระบรมศาสดา พระคุณนั้นยังฝังอยู่ในพระทัย
คนที่มีความพยาบาทมาก มักเป็นคนมีความกตัญญูด้วยเหมือนกัน
คือจำได้ทั้งความร้ายและความดีที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน

ด้วยประการฉะนี้ พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยกทัพกลับเมืองสาวัตถี

แต่ความแค้นในพระทัยยังคงคุกรุ่นอยู่ พระองค์จึงทรงกรีธาทัพไปอีก ๒ ครั้ง
ได้พบพระศาสดาในที่เดียวกัน และเสด็จกลับเหมือนครั้งก่อน

พอถึงครั้งที่ ๔ พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นบุพกรรมของพวกศากยะ
ที่เคยเอายาพิษโปรยลงในแม่น้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายหมู่เป็นอันมาก
กรรมนั้นกำลังจะมาให้ผล
พระองค์ไม่สามารถต้านทานขัดขวางได้ จึงมิได้เสด็จไปในครั้งที่ ๔


พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จมาถึงพรมแดนนั้น ไม่ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดา
จึงเสด็จเข้ากบิลพัสดุ์ จับพวกศากยะฆ่าเสียมากมายไม่เว้นแม้แต่เด็กที่กำลังดื่มนม
ยังธารโลหิตให้หลั่งไหลแล้ว
รับสั่งให้เอาโลหิตในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่เคยประทับนั่ง
แล้วเสด็จกลับสาวัตถี เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีในเวลาค่ำ จึงให้ตั้งค่ายพัก ณ ที่นั้น


ไพร่พลของพระองค์เลือกนอนได้ตามใจชอบ บางพวกนอนที่หาดทรายในแม่น้ำ
(น้ำลง หาดทรายในแม่น้ำนอนได้สบาย แม่น้ำคงคาก็เหมือนกัน)
บางพวกก็นอนบนบกเหนือริมฝั่งขึ้นไป

พอตกดึก น้ำจะท่วมหลาก พวกที่นอนบนบกแต่ได้ทำกรรมไว้ร่วมกันมา
ก็ถูกมดแดงกัดลงไปนอนที่ชายหาด ส่วนพวกนอนที่ชายหาด ก็ถูกมดแดงกัด
จึงเปลี่ยนที่นอนขึ้นไปนอนข้างบน

มหาเมฆตั้งเค้าทางเหนือน้ำ ฝนตกใหญ่ น้ำหลากอย่างรวดเร็ว
พัดพาเอาพระเจ้าวิฑูฑภะและบริวารบางพวก ลงสู่มหาสมุทรตายกันหมด

ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะว่า
เมื่อความปรารถนาของพระองค์ไม่ถึงที่สุด ก็สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก
คือสิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังมีความปรารถนาอื่นๆ อยู่อีกมาก

พระศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมโนรถของสัตว์ทั้งหลาย ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง
มัจจุราชก็เข้ามาตัดชีวิตอินทรีย์แล้วให้จมลงในสมุทรคืออบาย ๔
ดุจหวังน้ำใหญ่หลากมาท่วมชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"ปุปฺผานิเหว ปจินนฺตํ" เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b44: :b44:

ผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นมะเดื่อ หรือต้นอุทุมพร คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19551

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร