วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 05:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


คู่มือการศึกษา
กัมมัฏฐานสังคหวิภาค
พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

ความเบื้องต้น

คู่มือการศึกษาเล่มนี้ รวบรวมคำสอนพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙ ที่ชื่อว่า กัมมัฏฐาน
สังคหวิภาค อันเป็นปริจเฉทสุดท้ายแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่พระอนุรุทธาจารย์ เป็นผู้รจนา

กัมมัฏฐาน แปลตามพยัญชนะ ตามตัวอักษรว่า ที่ตั้งแห่งการงาน แต่ตามอรรถ ตามความหมาย
ในที่นี้หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้ถึงฌานและถึงมัคคถึงผล ไม่ได้หมายถึงการงาน
อื่นใดที่นอกจากนี้เลย

สังคหะ แปลว่า รวบรวมโดยย่อ

วิภาค แปลว่า ส่วน

กัมมัฏฐานสังคหวิภาค จึงรวมแปลตามความหมายว่า เป็นส่วนที่รวบรวมโดยย่อซึ่งที่ตั้งแห่ง
การงานทางใจ อันจะให้ถึงฌานและถึงมัคคถึงผล ดังปรากฏตามนัย มูลฎีกา แสดงวจนัตถะ
ของคำกัมมัฏฐานว่า

กมฺมเมว จิเสสาธิคมสฺส ฐานนฺติ กมฺมฏฺฐานํ

การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุ ฌาน มัคค ผล นิพพาน ที่เป็นธรรมพิเศษนั่นเทียว จึงชื่อว่า กัมมัฏฐาน

กมฺเม ภาวนา รพฺโพ ฐานนฺติ กมฺมฏฺฐานํ
การเจริญภาวนาทั้ง ๒ อย่าง เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุ ฌาน มัคค ผล นิพพาน จึงชื่อว่า กัมมัฏฐาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 05:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


กัมมัฏฐานมี ๒ ประการ

ภาเวตพฺพา ปุนปฺปุนํ วฑฺเฒตพฺพาติ ภาวนา
ธรรมชาติใดอันบุคคลพึงอบรมให้เจริญ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ภาวนา

กิเลเส สเมตีติ สมโถ
อันว่า เอกัคคตาเจตสิก สมาธิใด ยังกิเลสทั้งหลายให้สงบ เพราะเหตุดังนั้น อันว่าเอกัคคตาเจตสิกสมาธินั้น ชื่อว่า สมถะ

ขนฺธาทิสงฺขตธมฺเม อนิจฺจาทิวิวิธากาเรน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา
อันว่า ปัญญา รู้ด้วยประการใด ย่อมเห็นสังขตธรรม มีขันธ์เป็นต้น ด้วยอาการต่าง ๆ มีความ
ไม่เที่ยงเป็นต้น อันว่า ปัญญานั้น ชื่อว่า วิปัสสนา

มีคาถาสังคหะ อันเป็นคาถาที่ ๑ แห่งปริจเฉทนี้แสดงว่า

๑. สมถวิปสฺสนานํ ภาวนานมิโต ปรํ
กมฺมฏฺฐานํ ปวกฺขามิ ทุวิธมฺปิ ยถากฺกมํ ฯ


เบื้องหน้าแต่ ปัจจยนิเทสนี้ จักแสดงกัมมัฏฐาน แม้ทั้ง ๒ อย่างแห่งภาวนา คือ สมถะ และ วิปัสสนา
ต่อไปตามลำดับ

มีความหมายว่า เมื่อพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดง ปัจจยสังคหวิภาคอันเป็นปริจเฉทที่ ๘ จบไปแล้ว ต่อไปข้างหน้านี้ จักได้แสดง ภาวนา ๒ ประการ คือ สมถกัมมัฏฐาน และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามลำดับ

สมถกัมมัฏฐาน

๒. เยนเยนุปเกฺลสาปิ สมนฺติ วูปสมนฺติ หิ
โส โส วูปสโมปาโย สมโถติ ปวุจฺจติ ฯ


แม้อุปกิเลสทั้งหลาย ย่อมสงบระงับด้วยอุบายใด ๆ อุบายอันเป็นเครื่องสงบระงับนั้น ๆ ท่านเรียกว่า สมถะ มีความหมายว่า ถ้ามีอุบายหรือวิธีการใด ๆ ที่ทำให้อุปกิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมองและเร่าร้อนซึ่งมีแต่จะให้โทษนั้น สงบระงับลงไปได้ อุบายหรือวิธีการอย่างนั้น ๆ แหละเรียกว่า สมถะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 05:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า สมถะ คือ การทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อนทั้งหลาย
จนจิตใจไม่มีอาการดิ้นรน ไม่กระสับกระส่ายตลอดเวลาที่กิเลสเหล่านั้นสงบระงับอยู่

อุบายหรือวิธีการนั้นก็ได้แก่ การเจริญกัมมัฏฐาน การเพ่งกัมมัฏฐาน คือ หน่วงเอากัมมัฏฐานมา
เป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง ซึ่งสมถกัมมัฏฐานนั้น มีจำนวนถึง ๔๐ จัดได้เป็น ๗ หมวด
ดังคาถาที่ ๓ ที่ ๔ แสดงว่า

๓. กสิณาสุภานุสฺสติ ทสธา ทสธา ฐิตา
จตสฺโส อปฺปมญฺญาโย สญฺเญกาหาร นิสฺสิตา ฯ

กสิณ อสุภะ อนุสสติ ตั้งอยู่แล้วโดยประเภทอย่างละ ๑๐ อย่างละ ๑๐, อัปปมัญญา ๔,
สัญญาที่อาศัยอาหารเป็นอารมณ์ ๑

๔. เอกญฺจ ววตฺถานมฺปิ อรูปา จตุโร อิติ
สตฺตธา สมถกมฺมฏฺ ฐานสฺส ตาว สงฺคโห ฯ

แม้การเพ่งธาตุ ๑, อรูป ๔ นั้น (ก็นับ)ด้วย รวมสมถกัมมัฏฐานเป็น ๗ หมวด (จำนวน ๔๐) ดังกล่าวมาฉะนี้

มีความหมายว่า ในการเจริญสมถภาวนานั้น มีอารมณ์สำหรับเพ่ง ที่เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน รวม ๗ หมวด เป็นกัมมัฏฐาน ๔๐ คือ

หมวดที่ ๑ กสิณ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ทั้งปวง
หมวดที่ ๒ อสุภะ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ไม่งาม
หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ตามระลึก
หมวดที่ ๔ อัปปมัญญา ๔ กัมมัฏฐานว่าด้วย แผ่ไปไม่มีประมาณ
หมวดที่ ๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กัมมัฏฐานว่าด้วย หมายรู้ความปฏิกูลในอาหาร
หมวดที่ ๖ จตุธาตุววัตถานะ ๑ กัมมัฏฐานว่าด้วย กำหนดธาตุทั้ง ๔
หมวดที่ ๗ อรูป ๔ กัมมัฏฐานว่าด้วย อรูปกัมมัฏฐาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 05:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๑ กสิณ ๑๐

กสิณ คือกัมมัฏฐานที่ว่าด้วย ทั้งปวง หมายความว่า เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็เหมือนกับว่า
เพ่งดินทั้งปวง หรือว่าดินทั้งปวงก็เหมือนกับดินที่ดวงกสิณนี้เอง

อีกนัยหนึ่ง หมายว่า ทั่วไป ทั้งหมด คือการเพ่งดวงกสิณ จะต้องเพ่งให้ทั่วทั้งดวงกสิณ
เพ่งให้ตลอดทั่วถึงหมดทั้งดวงกสิณ เพ่งให้ทั่วถึงทุกกระเบียดนิ้ว

กสิณมี ๑๐ อย่าง แม้จะเพ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่แน่ว ก็จะทำให้จิตไม่ดิ้นรน
ไม่กระสับกระส่าย ทำให้กิเลสเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อนต่าง ๆ สงบระงับ สามารถทำให้
เกิดฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌาน ขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌานได้ กสิณ ๑๐ คือ

๑. ปฐวีกสิณ คือเพ่ง ดิน
๒. อาโปกสิณ คือเพ่ง น้ำ
๓. เตโชกสิณ คือเพ่ง ไฟ
๔. วาโยกสิณ คือเพ่ง ลม
กสิณทั้ง ๔ นี้ เนื่องด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ จึงรวมเรียกว่า ภูตกสิณ
๕. นีลกสิณ คือเพ่ง สีเขียว
๖. ปีตกสิณ คือเพ่ง สีเหลือง
๗. โลหิตกสิณ คือเพ่ง สีแดง
๘. โอทาตกสิณ คือเพ่ง สีขาว
กสิณทั้ง ๔ นี้เนื่องมาจากสี จึงรวมเรียกว่า วัณณกสิณ
๙. อากาสกสิณ คือเพ่ง ที่ว่างเปล่า
๑๐. อาโลกกสิณ คือเพ่ง แสงสว่าง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 05:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. ปฐวีกสิณ

การทำดวงปฐวีกสิณนั้น ใช้ดินสีแดงเหมือนแสงอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น มาตำให้ละเอียด ร่อนหรือกรองอย่า
ให้มีเม็ดกรวดเม็ดทราย ใบไม้ ใบหญ้า หรือเศษผงอย่างใด ๆ ติดอยู่ด้วยเลย เอาดินนั้นผสมน้ำ ละเลง
บนสะดึงให้เป็นแผ่นกลม หนาพอประมาณ โตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว ทำให้เรียบเสมอกัน อย่าให้สูง ๆ
ต่ำ ๆ หรือเป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วขัดด้วยไม้ให้เกลี้ยงดังหน้ากลอง อย่าให้มีแม้แต่รอยขีดรอยข่วน เสร็จ
แล้วตั้งไว้เฉพาะหน้า ห่างประมาณสัก ๒ ศอก สูงพอดีสายตาดูได้ถนัด ไม่ต้องก้มไม่ต้องเงย

ชั้นต้นให้ลืมตาเพ่งพร้อมกับบริกรรมในใจว่า ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน ตามความถนัด เพ่งไปจนกว่าจะเกิด
อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต และจนกว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

เรื่อง นิมิต และสมาธิ จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

๒. อาโปกสิณ

ให้ตักน้ำใส่บาตร หรือจะใส่หม้อน้ำ อ่างน้ำ ขันน้ำ ก็ได้ ที่ปากกว้างคืบเศษ ใส่น้ำให้เสมอปากภาชนะนั้น
พอเต็มพอดี วางให้ห่างสักศอกคืบ พอเพ่งได้ถนัด ให้เพ่งพร้อมกับบริกรรมในใจว่า อาโป อาโป หรือ น้ำ น้ำ

๓. เตโชกสิณ

ก่อไฟให้ลุกเป็นเปลว ใช้เสื่อลำแพน หนังสัตว์ ผ้า หรือสิ่งใดก็ได้ เจาะให้เป็นช่องกลมโตสัก ๑ คืบ ๔
นิ้ว เอาตั้งบังไฟเข้าเฉพาะหน้า แล้วเพ่งเปลวไฟตามช่องนั้น พร้อมกับบริกรรมว่า เตโช เตโช หรือ ไฟ ไฟ

๔. วาโยกสิณ

ให้เพ่งดูลม โดยอาศัยความไหวของใบไม้ ยอดหญ้า เส้นผม หรือสิ่งใดก็ได้ เป็นเครื่องกำหนด
คือเอาไหวของวัตถุนั้น ๆ เป็นอารมณ์ พร้อมกับบริกรรมว่า วาโย วาโย หรือ ลม ลม

๕. นีลกสิณ
ให้หาดอกไม้ที่มีกลีบสีเขียว เช่นดอกอัญชัน (สีครามแก่) เป็นต้น มาประดับในขัน โอ ชาม
หรือภาชนะอะไรก็ได้ ปากกว้างสัก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ให้เรียบเสมอปากภาชนะนั้น อย่าให้เห็นก้านและเกษร
เพราะก้านคงเป็นสีเขียวใบไม้ เกษรโดยมากสีเหลือง ซึ่งไม่ใช่สีเดียวกับกลีบที่เป็นสีเขียวครามแก่
นำมาตั้งไว้เฉพาะหน้าห่างสักศอกคืบ ให้เพ่งสีเขียวนั้นเป็นอารมณ์ พร้อมกับบริกรรมว่า นีลํ นีลํ หรือ เขียว เขียว ก็ได้

นอกจากใช้ดอกไม้สีเขียวแล้ว จะใช้ผ้าหรือกระดาษสีเขียว ตัดเป็นแผ่นกลมโตคืบเศษสำหรับเพ่ง
ก็ได้เหมือนกัน

๖. ปีตกสิณ ๗. โลหิตกสิณ ๘. โอทาตกสิณ
ทั้ง ๓ กสิณนี้ มีวิธีทำเช่นเดียวกับนีลกสิณนั่นเอง ต่างกันแต่ว่านีลกสิณที่กล่าวแล้วนั้นใช้ ดอกไม้ ผ้า
กระดาษ ที่เป็นสีเขียว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วน ปีตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า กระดาษสีเหลืองเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง พร้อมกับบริกรรมว่า ปิตํ ปิตํ หรือ เหลือง เหลือง

โลหิตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า หรือกระดาษสีแดง เป็นอารมณ์สำหรับเพ่งพร้อมกับบริกรรมว่า โลหิตํ โลหิตํ หรือ แดง แดง

โอทาตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า หรือ กระดาษสีขาว เป็นอารมณ์สำหรับเพ่งพร้อมกับบริกรรมว่า โอทาตํ โอทาตํ หรือ ขาว ขาว

โดยเฉพาะ โอทาตกสิณนี้เป็นกสิณที่ประเสริฐ เพราะสามารถทำให้จิตใจของโยคีที่เจริญภาวนาอยู่นั้น ผ่องใสปราศจาก ถีนะ มิทธะ เป็นพิเศษ

๙. อากาสกสิณ

ให้ตัด ลำแพน แผ่นหนัง หรือ ผ้า ให้เป็นช่องกลมโตสัก ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วเพ่งความว่างเปล่าที่ช่องนั้น พร้อมกับบริกรรมว่า อากาโส อากาโส หรือ ว่างเปล่า ว่างเปล่า

มีข้อที่ควรทราบอยู่ว่า อากาสกสิณนี้เพ่งความว่างเปล่าภายในช่องนั้น อันเป็นความว่างเปล่าที่มีขอบเขตโดยจำกัด ไม่ใช่ว่างเปล่าเวิ้งว้างทั่วไปที่ไม่มีขอบเขตขีดคั่นนั้นเลย

๑๐. อาโลกกสิณ

ใช้ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ หมายถึง แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงไฟที่ส่องลอดเข้ามาตามช่องฝา เป็นวงกลม ให้เพ่งความสว่างที่เป็นวงกลมนั้น ถ้าไม่มีอย่างนี้ก็ให้ทำขึ้นโดยใช้ปีบมาเจาะที่ข้างหนึ่งให้เป็นวงกลม เอาไฟ เช่น ตะเกียงใส่ลงไปในปีบนั้น ปิดฝาปีบเสีย หันปีบด้านที่เจาะเข้าข้างฝา ให้เพ่งแสงสว่างที่ส่องออกมาจากปีบเป็นดวงกลมที่ติดอยู่ที่ข้างฝานั้น พร้อมกับบริกรรมว่า โอภาโส โอภาโส หรือ อาโลโก อาโลโก หรือ สว่าง สว่าง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๒ อสุภะ ๑๐

อสุภะ หมายถึง เพ่งของ ไม่งาม เป็นกัมมัฏฐาน ซึ่งจะปรากฏ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ตามควรแก่การเพ่งนั้น

อสุภะ มี ๑๐ อย่าง จะเพ่งอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่จะพึงมี อสุภะ สามารถให้เกิดฌานจิตได้แค่ปฐมฌานเท่านั้นเอง อสุภะ ๑๐ คือ

๑. อุทธุมาตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยมีอาการขึ้นพอง

๒. วินีลกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด เน่า ขึ้นเขียว

๓. วิปุพพกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกมา

๔. วิฉิททกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยถูกตัดขาดเป็นท่อน ๆ

๕. วิกขายิตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด ถูกสัตว์แทะกัดกิน เหวอะหวะ

๖. วิกขิตตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มือ เท้า ศีรษะอยู่คนละทางสองทาง

๗. หตวิกขิตตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยถูกสับฟันยับเยิน

๘. โลหิตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีโลหิตไหลอาบ

๙. ปุฬุวกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีหนอนไชทั่วร่างกาย

๑๐. อัฏฐิกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด เหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐

อนุสสติ แปลว่า ตามระลึก หรือระลึกถึงเนือง ๆ มีความหมายว่า เอาความที่ตามระลึกถึงเนือง ๆ นั้นมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ซึ่งมีจำนวน ๑๐ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระพุทธเจ้า

๒. ธัมมานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระธรรม

๓. สังฆานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระอริยสงฆ์

๔. สีลานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ สีล

๕. จาคานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ การบริจาค

๖. เทวตานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ การเป็นเทวดา

๗. อุปสมานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระนิพพาน

๘. มรณานุสสติ ระลึกถึงบ่อย ๆ ถึงความที่จะต้องตาย

๙. กายคตาสติ ระลึกเนือง ๆ ถึง กายโกฏฐาส มีเกสา โลมา เป็นต้น

๑๐. อานาปาณสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

อนุสสติ ๑๐ ประการนี้ ใช้เพ่งให้เกิดฌานจิตได้เพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ กายคตาสติ เจริญได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเอง ส่วน อานาปาณสติ เจริญได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

อนุสสติ ๑๐ มีรายละเอียดดังนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. พุทธานุสสติ

พระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีเป็นเอนกประการ สุดที่จะพรรณนา แต่เมื่อรวบรัดกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๙ ประการ คือ

๑. อรหํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส อีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่รโหฐาน หมายความว่า แม้แต่ในที่ลับก็ไม่กระทำบาป

๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง

๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ วิชาและจรณะนี้ได้แสดงแล้วใน
ปริจเฉทที่ ๗ ตอน สัพพสังคหะ ตรงมัคคอริยสัจจ ขอให้ดูที่นั่นด้วย

๔. สุคโต แปลว่า ทรงไปแล้วด้วยดี ซึ่งในที่นี้มีความหมายถึง ๔ นัย คือ

ก. เสด็จไปงาม คือไปสู่ที่บริสุทธิ์ อันเป็นที่ที่ปราศจากโทษภัยทั้งปวง ซึ่งหมายถึง อริยสัจจทั้ง ๔

ข. เสด็จไปสู่ฐานะอันประเสริฐ คือ อมตธรรม อันเป็นธรรมที่สงบระงับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง

ค. เสด็จไปในที่ถูกที่ควร คือพ้นจากวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ง. ทรงตรัสไปในทางที่ถูกที่ชอบ คือทรงเทสนาในสิ่งที่เป็นความจริงและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ฟัง ประมวลลักษณะแห่งพระพุทธดำรัสได้เป็น ๖ ลักษณะ ดังจะแสดงโดยย่อที่สุด ดังนี้

(๑) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส

(๒) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส

(๓) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส

(๔) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส

(๕) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์ถึงจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นก็รู้กาลที่จะตรัส

(๖) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นด้วยก็รู้กาลที่จะตรัส

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. โลกวิทู พระพุทธองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งด้วยประการทั้งปวง คือ ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดของโลก รู้จักธรรมที่ดับของโลก และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับของโลก

อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการแจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก และโอกาสโลก

ก. สังขารโลก หมายถึง สังขารธรรม คือ รูปนาม ได้แก่ จิต เจตสิก รูปทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นด้วย
เหตุปัจจัย ด้วยการปรุงแต่ง ทำให้หมุนเวียนไปในสังสารวัฏฏ จำแนกโลกได้เป็นหลายนัย เช่น

โลกนับว่ามี ๑ ได้แก่ สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิกา สัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ได้ด้วยต้องอาศัยอาหารเหมือนกันหมด

โลกนับว่ามี ๒ ได้แก่ นาเม จ รูเป จ คือ นาม ๑ รูป ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ว่าได้แก่ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑

โลกนับว่ามี ๓ ได้แก่ ตีสุ เวทนาสุ คือ เวทนา ๓ มี สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา

โลกนับว่ามี ๔ ได้แก่ จตูสุ อาหาเรสุ คือ อาหาร ๔ มี กพฬีการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

โลกนับว่ามี ๕ ได้แก่ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อินทรีย ๕

โลกนับว่ามี ๖ ได้แก่ ฉสุ อชฺฌตฺติเกสุ อายตเนสุ คืออายตนะภายใน ๖ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ นิสสรณียธาตุ ๖

โลกนับว่ามี ๗ ได้แก่ สตฺตสุ วิญฺญาณฏฺฐิตีสุ คือวิญญาณฐีติ ๗ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โพชฌงค์ ๗

โลกนับว่ามี ๘ ได้แก่ อฏฺฐสุ โลกธมฺเมสุ คือ โลกธรรม ๘ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมัคค ๘

โลกนับว่ามี ๙ ได้แก่ นวสุ สตฺตาวาเสสุ คือ สัตตาวาส ๙ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙

โลกนับว่ามี ๑๐ ได้แก่ ทสสุ อกุสลกมฺมปเถสุ คือ อกุสลกรรมบถ ๑๐ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ กุสลกรรมบถ ๑๐

โลกนับว่ามี ๑๒ ได้แก่ อายตนะ ๑๒

โลกนับว่ามี ๑๘ ได้แก่ ธาตุ ๑๘

ข. สัตวโลก บาลีเป็น สัตตโลก หมายถึง บุคคล คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทรงแจ้ง ประเภท (บุคคล ๑๒), เหตุให้เกิด, นิสัย, จริต, บารมี แห่งสัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น

ค. โอกาสโลก หมายถึง ภูมิ อันเป็นที่ตั้งแห่งสังขารธรรม คือ เป็นที่อาศัยเกิด อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนรวม ๓๑ ภูมิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงสามารถฝึกอบรมสั่งสอนแนะนำผู้ที่สมควรฝึกได้เป็นอย่างเลิศไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์นั้น ๆ

๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดจะเทียมเท่า เพราะทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ได้

๘. พุทฺโธ ทรงเห็นทุกอย่าง (สพฺพทสฺสาวี), ทรงรู้ทุกสิ่ง (สพฺพญฺญู) ทรงตื่น , ทรงเบิกบานด้วยธรรม

๙. ภควา ทรงเป็นผู้ที่มีบุญที่ประเสริฐสุด ทรงสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ตามควรแก่อัตตภาพของสัตว์นั้น ๆ

๒. ธัมมานุสสติ

พระธรรมในที่นี้หมายถึง มัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระปริยัติธรรม รวมนับเป็น ๑ จึงเป็นธรรม ๑๐
ประการด้วยกัน คุณของธรรม ๑๐ ประการนี้ เมื่อกล่าวรวบยอด โดยย่อแล้ว ก็มี ๖ อย่าง คือ

๑. สวากฺขาโต เป็นธรรมที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว สมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ ดีพร้อมทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด คุณธรรมข้อนี้หมายถึง พระปริยัติธรรม

๒. สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

๓. อกาลิโก เป็นธรรมที่พึงปฏิบัติได้และให้ผลทันทีในลำดับนั้นเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอเวลา หรือมีระหว่างคั่นแต่อย่างใด คุณธรรมข้อนี้หมายถึง มัคคจิต ๔

๔. เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมที่ให้ผลได้อย่างแท้จริง จนสามารถที่จะทำให้พิสูจน์ได้ คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

๕. โอปนยิโก เป็นธรรมที่ควรน้อมนำมาให้บังเกิดแก่ตน และทำให้แจ้งแก่ตน หมายความว่า ควรบำเพ็ญเพียรให้เกิดมัคคจิต ผลจิต ก็จะแจ้งซึ่งพระนิพพาน คุณธรรมข้อนี้หมายถึง โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ เหมือนกัน

๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตนเอง ผู้อื่นหารู้ด้วยไม่ว่า มัคคเราเจริญ ผลเราบรรลุ นิโรธเราได้แจ้งแล้ว เป็นการรู้ด้วยการประจักษ์แจ้งอย่างที่เรียกว่า ประจักขสิทธิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. สังฆานุสสติ

สงฆ์ในที่นี้ หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่า พระอริยสงฆ์ คือผู้ที่บรรลุมัคคผล คุณของพระอริยสงฆ์ มี ๙ ประการ คือ

๑. สุปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติดีแล้วชอบแล้ว

๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติตรงแล้ว

๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์

๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

๕. อาหุเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรแก่สักการที่เขานำมาบูชา

๖. ปาหุเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรแก่สักการที่เขาจัดไว้ต้อนรับ

๗. ทกฺขิเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรรับทักษิณาทาน

๘. อญฺชลีกรณีโย เป็นสาวกที่ควรแก่การกราบไหว้

๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

๔. สีลานุสสติ

การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของสีลที่ได้สมาทานหรือรักษาอยู่นั้น ว่าได้รักษาไว้โดยปราศจากโทษ ๔ อย่าง คือ อขณฺฑ ไม่ขาด ไม่เป็นท่อน, อฉิทฺท ไม่ทะลุ, อสพล ไม่ด่าง, อกมฺมาส ไม่พร้อย และยิ่งเป็น อนิสสิตสีล คือไม่เจือปนด้วยตัณหาหรือทิฏฐิด้วยแล้ว ก็ยิ่งทรงคุณอันประเสริฐ ให้ผลใหญ่หลวงยิ่งนัก

สีลที่เจือปนระคนด้วยตัณหา หรือทิฏฐินั้น ชื่อว่า นิสสิตสีล ได้แก่

ตัณหานิสสิตสีล เป็นสีลที่เจือปนด้วยตัณหา คือ มีความปรารถนาในโภคสมบัติ และภวสมบัติ
จึงรักษาสีล

ทิฏฐินิสสิตสีล เป็นสีลที่เจือปนด้วยทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่าจะพ้นจากสังสารวัฏฏด้วยอานิสงส์ของสีล จึงรักษาสีล

ส่วน อนิสสิตสีล นั้น เป็นการรักษาสีลโดยไม่ได้หวังว่าตนจะได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด แต่รักษาสีลเพื่อมิให้มีการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อมิให้เกิดเป็นทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น และเพื่อให้มีความปกติสุขโดยทั่วหน้ากัน

เมื่อได้นึกถึงความบริสุทธิ์ของสีลที่ตนรักษาแล้ว จงระลึกว่า สีลนี้เป็นคุณที่ยังให้สมาธิทั้งหลายได้เกิดขึ้น ถ้าปราศจากสีลเสียแล้ว สมาธิก็จะไม่เกิดขึ้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 05:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. จาคานุสสติ

ระลึกถึงการบริจาคทานของตน ที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ เกิดความอิ่มเอิบใจในการเสียสละปราศจากการนึกหวงแหน ไม่หวังชื่อเสียง ไม่หมายได้หน้า และไม่มีการโอ้อวด

การบริจาคทานเป็นบาทเบื้องต้นที่ทำให้ผู้ทรงสีล และสีลเป็นบาทให้เกิดสมาธิอีกต่อหนึ่ง

๖. เทวตานุสสติ

การระลึกถึงกุสลธรรมของตนมีสัทธาเป็นต้นอยู่เนือง ๆ โดยนึกถึงเทวดา นึกถึงพรหมทั้งหลาย เป็นตัวอย่างหรือเป็นองค์พยานว่า ผู้บริบูรณ์ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มี สัทธา หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญานี้ เมื่อจุติจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดในเทวโลก ในพรหมโลกนั้น กุสลธรรมเหล่านี้ในจิตใจของเราก็มีอยู่ คงจะส่งผลให้ไปสู่สุคติได้เช่นเดียวกัน

เมื่อระลึกอยู่เช่นนี้ จิตใจก็จะไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่จะสงบระงับ ซึ่งเป็นทางให้เกิดสมาธิได้ง่าย

๗. อุปสมานุสสติ

การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่มีสภาพเป็นสันติสุข สงบจากกิเลสทั้งหลาย และหมดสิ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่คลายความกำหนัด กำจัดความมัวเมา ดับความกระหาย คลายความอาลัย สิ้นตัณหา ตัดวัฏฏะ พ้นจากเครื่องร้อยรัด ดับสนิท พ้นจากการปรุงแต่ง

เมื่อระลึกถึงคุณของพระนิพพานอยู่เนือง ๆ จิตใจก็สงบ ไม่กระสับกระส่าย อย่างแน่นอน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. มรณานุสสติ

การระลึกถึงความตายว่า ตนจะต้องตายแน่นอน แม้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นเศรษฐีคหบดี นักปราชญ์ราชบัณฑิต คนโง่เขลาเบาปัญญา กระยาจกเข็ญใจ สัตว์ใหญ่ สัตว์น้อย ทั้งหลาย จะต้องตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อได้เกิดมาแล้ว ที่จะไม่ตายเป็นไม่มี นึกเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดความสลดใจ คลายความทะยานอยากลงได้ไม่ใช่น้อย ทำให้มีความสงบระงับมากขึ้น สมาธิก็เกิดได้ง่ายเข้า

๙. กายคตาสติ

การระลึกถึงอาการ ๓๒ ของตนอยู่เนือง ๆ ว่าล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น จึงไม่เป็นที่น่าปรารถนาของบัณฑิต

ระลึกได้เช่นนี้ ย่อมจะคลายความมีทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตนลงได้มากทีเดียว ทิฏฐิมานะน้อยลง สมาธิก็ย่อมดีมากขึ้น กายคตาสตินี้สามารถเจริญได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเอง ไม่สูงไปกว่านั้น

๑๐. อานาปาณสติ

การระลึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ถ้าจิตใจจดจ่ออยู่แต่ที่ลมหายใจอย่างแน่วแน่ ไม่เผลอไปคว้าอารมณ์อย่างอื่นแล้ว เป็นการเจริญสมาธิได้เป็นอย่างดี

อานาปาณสตินี้ สามารถเจริญให้ถึงได้ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 06:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๔ อัปปมัญญา ๔

อัปปมัญญา หมายความว่า แผ่ไปไม่มีประมาณ แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายจนประมาณไม่ได้ โดยไม่เลือกที่รักที่ชังเลย บ้างก็เรียกว่า พรหมวิหาร หมายความว่า ธรรมอันเป็นเครื่องสำราญอยู่ของพรหม
อัปปมัญญามี ๔ คือ

๑. เมตตา การแผ่ความรักใคร่ ความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลายให้มีความสบายความสุขโดยทั่วกัน ไม่เลือกชาติ ชั้น วัณณะ

๒. กรุณา การแผ่ความสงสารต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่หรือที่จะได้รับความทุกข์ต่อไปในภายหน้า โดยไม่เลือก ชาติ ชั้น วัณณะ

๓. มุทิตา การแผ่ความชื่นชมยินดีต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความสุขอยู่ หรือที่จะได้รับความสุขต่อไปในภายหน้า โดยไม่เลือก ชาติ ชั้น วัณณะ

๔. อุเบกขา การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอาการวางตนเป็นกลาง ไม่รักใคร่ ไม่สงสาร ไม่ชื่นชมยินดี ไม่มีอคติแต่ประการใดๆ โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วัณณะ

อัปปมัญญา ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น สามารถเจริญให้ถึงได้ ตั้งแต่ ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงจตุตถฌาน ส่วนอุเบกขานั้น เจริญได้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดปัญจมฌาน อย่างเดียวเท่านั้น

หมวดที่ ๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑

การพิจารณาอาหารที่บริโภคเข้าไปนั้น ว่าเป็นของที่น่าเกลียด จนมีความรู้สึกเป็นไปตามที่พิจารณาเห็นนั้น

การพิจารณาความปฏิกูลของอาหารนี้ ไม่สามารถที่จะให้เกิดฌานจิตได้ แต่ว่าทำให้จิตแน่แน่วเป็นสมาธิได้ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน

หมวดที่ ๖ จตุธาตุววัตถาน ๑

การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ที่ปรากฏอยู่ในร่างกาย เพื่อให้เห็นว่าร่างกายนี้ก็คือ ธาตุต่าง ๆ ที่มาประชุมคุมกันอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนเราเขาแต่อย่างใด

การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ นี้ ก็ไม่สามารถที่จะถึงฌานจิตได้ เพียงแต่เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไปแล้วเหมือนกัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 19 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร