วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 06:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๗ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

อรูปกัมมัฏฐาน หมายความว่า กัมมัฏฐานที่ไม่ใช่รูป ที่ไม่มีรูป ซึ่งเป็นกัมมัฏฐาน ที่เป็นวิสัยของผู้ที่ได้ถึงรูปาวจรปัญจมฌานแล้ว จึงจะพึงกระทำให้เป็นอารมณ์ เพื่อเจริญให้ถึงอรูปฌานต่อไป อรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ได้แก่

๑. อรูปกัมมัฏฐานเบื้องต้น ชื่อ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ เพ่งอากาศความว่างเปล่าเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า อากาโส อนนฺโต ความว่างไม่มีที่สุด ซึ่งสามารถให้เกิด อากาสานัญจายตนฌานจิตได้

๒. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ชื่อ อากาสานัญจายตนฌาน คือเพ่งวิญญาณความรู้ที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า วิญฺญานํ อนนฺตํ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสามารถให้เกิด วิญญาณัญจายตนฌานจิตได้

๓. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ชื่อ นัตถิภาวบัญญัติ คือเพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ซึ่งสามารถให้เกิด อากิญจัญญายตนฌานจิตได้

๔. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ชื่อ อากิญจัญญายตนฌาน คือเพ่งความรู้ที่รู้ว่านิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นเป็นอารมณ์ ความรู้ถึงขั้นนี้เป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อนมากเหลือเกิน จึงบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ ซึ่งสามารถให้เกิด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตได้

จริต หรือ จริยะ

จริต เรียกว่า จริยะ ก็ได้นั้น คือความประพฤติจนชินเป็นนิสัย ซึ่งมีต่าง ๆ กัน ๖ อย่าง ดังคาถาที่ ๕ แสดงว่า

๕. ราโค โทโส จ โมโห จ สทฺธา วิตกฺก พุทฺธิโย
อิเมสํ ฉนฺนํ ธมฺมานํ วสา จริต สงฺคโห ฯ

สงเคราะห์จริต ตามอำนาจแห่งธรรมนั้น มี ๖ คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต สัทธาจริต
และพุทธิจริต

มีอธิบายว่า ที่มนุษย์มีจริตต่าง ๆ กัน ก็เนื่องมาจากการบำเพ็ญบุญกุสลแต่ชาติปางก่อนนั้น ได้กระทำไปไม่เหมือนกัน จึงได้รับผลไม่เหมือนกัน กล่าวคือ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2013, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. ในขณะที่กำลังบริจาคทาน รักษาสีล หรือเจริญภาวนาอยู่นั้น จิตใจปรารภไปในการมีหน้ามีตา
ได้ชื่อเสียง ได้เสวยมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติเหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวตัณหาราคะ ครุ่นคิดไปในการถือ
เนื้อถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันเป็นตัวมานะหรือน้อมใจไปในการถือว่าเป็นตัวตน เราเขา อันเป็นตัวทิฏฐิ
กุสลที่เจือปนด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีราคจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่จุติมาจากสวรรค์ หรือ จุติมาจากเปรต จากอสุรกายนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มี
ราคจริต ผู้ที่มีราคจริตนั้น ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ นั้นมีกำลังเสมอ
ทัดเทียมกัน

๒. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้นเกิดมีความขุ่นเคือง เสียใจ เสียดาย อิสสา ริษยา รำคาญ เกิดขึ้นใน
จิตใจด้วยกุสลที่เจือปนกับ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้น มีโทสจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมมากไปด้วยการฆ่า การทำลาย การจองจำมาในชาติก่อน หรือว่า จุติมาจากนรกนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีโทสจริต

ผู้ที่มีโทสจริตนั้น เตโชธาตุและวาโยธาตุ มีกำลังมาก

๓. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ทำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลในการกระทำ เพียงแต่ทำไปตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา ทำไปตามสมัยนิยม หรือเกิดสงสัยในผลของกุสลนั้นขึ้นมา บางทีก็คิดฟุ้งไปในเรื่องอื่น จิตใจไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในการกุสลที่กำลังทำนั้นเลย กุสลที่เจือปนด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี โมหจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่ชาติก่อนเพลิดเพลินในการดื่มน้ำเมาเป็นนิจ ไม่ชอบศึกษา ไม่ไต่ถามสนทนากับบัณฑิต หรือจุติมาจากสัตว์ดิรัจฉานนั้น โดยมากมักเป็นผู้ที่มี โมหจริต

ผู้ที่มีโมหจริตนั้น ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ มีกำลังมาก

๔. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น มัวแต่ไปนึกถึงความสนุกสนานเพลิด เพลินในเรื่องกามคุณอารมณ์อันเป็นกามวิตก, คิดไปในการเกลียดชัง ปองร้ายผู้อื่น อันเป็น พยาบาทวิตก หรือ คิดไปในทางเบียดเบียนทำลายความสุขผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ อันเป็น วิหิงสาวิตก กุสลที่เจือปนด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี วิตกจริต

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2013, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. ในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ยิ่งด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตลอดจนความเลื่อมใสที่เกิดจาก เพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม (รูปปมาณ), เพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อย เคร่งในธรรมวินัย (ลูขปฺปมาณ), เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ (โฆสปฺปมาณ), เพราะได้สดับตรับฟังธรรมที่ฉลาดในการแสดง (ธมฺมปฺปมาณ) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัทธาทั้งนั้น กุสลที่มั่นในสัทธาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีสัทธาจริต

๖. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลอยู่นั้น ได้ระลึกนึกคิดด้วยว่า การทำดีย่อมได้รับผลดี การทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว จะต้องได้รับผลไปตามกรรมนั้น ๆ อันเป็น กัมมัสสกตาปัญญา, สัตว์ทั้งหลายตลอดจนตัวเราเอง สักแต่ว่าเป็นรูปเป็นนาม มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกดับไป ไม่มีตัวมีตนที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจนั้นได้ อันเป็นวิปัสสนาปัญญา หรือแม้แต่เพียงตั้งใจปรารถนาว่า ด้วยอำนาจแห่งกุสลผลบุญนี้ ขอจงได้เป็นปัจจัยให้ได้เกิดเป็นคนมีปัญญาต่อไป เหล่านี้เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี พุทธิจริต

พุทธิจริตนี้บ้างก็เรียกว่า ปัญญาจริต

๗. ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จริตของมนุษย์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแต่ละบุคคลก็อาจมีจริตได้หลายอย่างคลุกเคล้าปะปนกันมา แต่ว่าจริตใดจะมีมากออกหน้า เป็นประธาน เป็นประจำ เป็นตัวนำ เป็นเด่นกว่าจริตอื่น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีจริตนั้น

๘. ในจริตทั้ง ๖ อย่างท่านสงเคราะห์ด้วยความเสมอภาคกันได้เป็น ๓ คู่ คือ

ราคจริต กับ สัทธาจริต

โทสจริต กับ ปัญญาจริต

โมหจริต กับ วิตกจริต

๙. ราคจริต กับสัทธาจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ ราคะ เป็นหัวหน้าในฝ่ายอกุสล สัทธา ก็เป็นหัวหน้าเหมือนกัน แต่เป็นหัวหน้าทางฝ่ายกุสล

ราคะ ย่อมแสวงหากามในกามคุณ สัทธา ก็แสวงหาเหมือนกัน แต่แสวงหาบุญ คือ กุสลธรรม มีสีล เป็นต้น

ราคะ นั้นติดใจในสิ่งที่ไร้สาระไร้ประโยชน์ฉันใด สัทธาก็เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ฉันนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2013, 08:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. โทสจริตกับพุทธิจริต (หรือปัญญาจริต) ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ

โทสะ มีการเบื่อหน่าย แต่เป็นการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าสิ่งใดยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่ายในสิ่งนั้น ส่วน ปัญญาก็มีการเบื่อหน่ายเหมือนกัน คือเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ว่าเลือกเบื่อหน่ายบ้างไม่เบื่อหน่ายบ้าง เหมือนอย่างโทสะ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โทสจริตนั้นเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งโมหะ ซึ่งเป็นทางให้ถึงอบาย ส่วนพุทธิจริตนั้นก็เบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่ว่าเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งปัญญา ซึ่งเป็นทางให้ถึงสวรรค์ ตลอดจนถึงพระนิพพานก็ได้ นี่เป็นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง โทสะเป็นธรรมที่เกิดเร็ว ดุจไฟไหม้ฟางลุกโพลงขึ้นในทันใด ฝ่ายปัญญาก็เป็นธรรมที่เกิดเร็วเหมือนโทสะ คือเกิดสว่างจ้ารู้แจ้งขึ้นมาในทันใดนั้นเหมือนกัน

๑๑. โมหจริต กับ วิตกจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ โมหะมีอาการสงสัยลังเลใจอยู่ ส่วนวิตกก็คิดแล้วคิดอีก อันเป็นอาการที่คล้ายกับลังเลไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง โมหะ มีอาการฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ส่วน วิตกก็คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น แล้วก็คิดอย่างโน้น อันเป็นอาการคิดพล่านไปเช่นเดียวกัน ดังนี้จึงว่า มีความเสมอภาคกัน

๑๒. ผู้ใดมีจริตอย่างใด มีลักษณะที่พอจะอาศัยใช้เป็นเครื่องสังเกตอยู่ ๕ ประการ คือ

อิริยาบถ ได้แก่ การเดิน ยืน นั่ง นอน และอาการที่เคลื่อนไหวทำกิจการงานต่าง ๆ

กิจจะ ได้แก่ การงานที่ทำ

โภชนะ ได้แก่ อาหารที่บริโภค

ทัสสนะ ได้แก่ การดู การฟัง การดม การกิน การลูบไล้แต่งเนื้อแต่งตัว

ธัมมปวัตติ ได้แก่ ความเป็นไปต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความประพฤติดีหรือเลว

ได้เขียนเป็นแบบบัญชีดังต่อไปนี้ เป็นการเปรียบเทียบกันไปในตัว เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันได้ชัดกว่าเขียนอย่างธรรมดา และได้แสดงกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น ๆ ไว้ในช่องสุดท้ายด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2013, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




1378436074-1JPG-o.jpg
1378436074-1JPG-o.jpg [ 104.83 KiB | เปิดดู 4158 ครั้ง ]
1378436109-2JPG-o.jpg
1378436109-2JPG-o.jpg [ 87.13 KiB | เปิดดู 4158 ครั้ง ]
ราคจริต
อิริยาบถ = เรียบร้อย นุ่มนวล ไม่รีบร้อน
กิจจะ = งานสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ
โภชนะ = ชอบรสหวาน มัน อร่อย สีสรรน่ากิน
ทัสสนะ = ชอบของสวยงาม ไพเราะ ตลก ขบขัน
ธัมมปวัตติ = เจ้าเล่ห์ โอ้อวด ถือตัว แง่งอนพิถีพิถัน ชอบยอ

กัมมัฏฐานที่เหมาะ =อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑

โทสะจริต
อิริยาบถ = ไปพรวด ๆ รีบร้อนกระด้าง งานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ไม่สำรวยมุ่งแต่ในสิ่งที่ปรารถนา
กิจจะ = ชอบเปรี้ยว เค็ม ขม ฝาดจัด
โภชนะ = รับประทานเร็ว คำโต
ทัสสนะ = ชอบดูชกต่อย
ธัมมปวัตติ = มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่บุญคุณ ตีเสมอ มักริษยา

กัมมัฏฐานที่เหมาะ = วัณณกสิณ ๔ พรหมวิหาร ๔

โมหะจริต
อิริยาบถ = เซื่อง ๆ ซึม ๆ เหม่อๆ ลอย ๆ
กิจจะ = งานหยาบ ไม่ถี่ถ้วนคั่งค้าง เอาดีไม่ได้
โภชนะ = ไม่เลือกอาหาร อย่างไหนก็เอา หมด มูมมามด้วย
ทัสสนะ = เห็นดีก็ว่าดีด้วย เห็นไม่ดี ก็ไม่ดี ตามไปด้วย
ธัมมปวัตติ = มีแต่ง่วงเหงา หาวนอน ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ช่างสงสัย เข้าใจอะไรยาก

กัมมัฏฐานที่เหมาะ = อานาปาณสติ

วิตกจริต
อิริยาบถ = ชื่องช้า คล้ายโมหจริต
กิจจะ = งานไม่เป็นส่ำ จับจด แต่พูดเก่ง
โภชนะ = ไม่แน่นอน อย่างไหนก็ได้
ทัสสนะ = เห็นตามหมู่มาก
ธัมมปวัตติ = ฟุ้งซ่าน โลเล เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเกลียด ชอบคลุกคลีกับ หมู่คณะ

กัมมัฏฐานที่เหมาะ = อานาปาณสติ

สัททาจริต
อริยาบถ = แช่มช้อย ละมุนละม่อม
กิจจะ = เรียบร้อย สวยงาม เป็นระเบียบ
โภชนะ = หวาน มัน หอม
ทัสสนะ= ชอบสวยงาม อย่างเรียบๆ ไม่โลดโผน
ธัมมะปวัตติ = เบิกบานในการบุญ (ส่วนราคจริตนั้นเบิกบานต่อการได้หน้า)

กัมมฐานที่เหมาะ = อนุสติ ๖

พุทธิจริต
อริยาบท = ว่องไว และเรียบร้อย
กิจจะ = งานเรียบร้อย เป็นระเบียบ และ เป็นประโยชน์ด้วย
โภชนะ = เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม พอกลมกล่อม ไม่จัดนัก
ทัสสนะ = ดูด้วยความพินิจ พิเคราะห์
ธัมมะปวัตติ = ว่าง่าย ไม่ดื้อ มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร รู้เร็ว เข้าใจง่าย

กัมมฐานที่เหมาะ = มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2013, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี แดง
โทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ดำ
โมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี หม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ
วิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหมือนน้ำเยื่อถั่วพู
สัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหลืองอ่อน คล้ายสีดอกกัณณิกา
พุทธิจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ขาว เหมือนสีแก้วเจียรนัย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2013, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หน้า ๒0

อนึ่ง ในวิสุทธิมัคค ได้แสดงลักษณะแห่งจริตต่าง ๆ ดังนี้

ลักษณะของผู้ที่หนักในราคจริต
๑. มายา มายา เจ้าเล่ห์
๒. สาเถยฺยํ โอ้อวด
๓. มาโน ถือตัว
๔. ปาปิจฺฉตา ปรารถนาลามก
๕. มหิจฺฉตา ปรารถนามาก มีความอยากใหญ่
๖. อสนฺตุฏฺฐิตา ไม่สันโดษ
๗. สิงฺคํ แง่งอน
๘. จาปลฺยํ ขี้โอ่

ลักษณะของผู้ที่หนักในโทสจริต
๑. โกโธ มักโกรธ
๒. อุปนาโห ผูกโกรธ
๓. มกฺโข ลบหลู่คุณท่าน
๔. ปลาโส ตีตนเสมอท่าน
๕. อิสฺสา ริษยา
๖. มจฺฉริยํ ตระหนี่

ลักษณะของผู้ที่หนักในโมหจริต
๑. ถีนํ หดหู่
๒. มิทฺธํ เคลิบเคลิ้ม
๓. อุทฺธจฺจํ ฟุ้งซ่าน
๔. กุกฺกุจจํ รำคาญ
๕. วิจิกิจฺฉา เคลือบแคลง
๖. อาทานคฺคาหิตา ถือมั่นในสิ่งที่ยึดถือ ถืองมงาย
๗. ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา สละ (สิ่งที่ยึดถือ เช่น อุปาทาน) ได้ยาก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2013, 06:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ลักษณะของผู้ที่หนักในสัทธาจริต
๑. มตฺตจาคตา บริจาคทรัพย์เป็นนิจ
๒. อริยานํ ทสฺสนกามตา ใคร่เห็นพระอริยะ
๓. สทฺธมฺมํ โสตุกามตา ใคร่ฟังพระสัทธรรม
๔. ปาโมชฺชพหุลตา มากด้วยความปราโมทย์
๕. อสฐตา ไม่โอ้อวด
๖. อมายาวิตา ไม่มีมารยา
๗. ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุ ปสาโท เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส

ลักษณะของผู้ที่หนักในพุทธิจริต
๑. โสวจสฺสตา ว่าง่าย
๒. กลฺยาณมิตฺตตา มีมิตรดีงาม
๓. โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้ประมาณในโภชนะ
๔. สติสมฺปชญฺญํ ระลึกและรู้สึกตัว
๕. ชาคริยานุโยโค ประกอบความเพียร
๖. สํเวชนีเยสุ ฐาเนสุ สํเวโค สลดใจในสิ่งที่ควรสลด
๗. สํวิคฺคสฺส โยนิโส ปธานํ เริ่มตั้งความที่ใจสลดไว้โดยแยบคาย

ลักษณะของผู้ที่หนักในวิตกจริต
๑. ภสฺสพหุลตา พูดมาก
๒. คณารามตา ยินดีคลุกคลีในหมู่คณะ
๓. กุสลานุโยเค อรติ ไม่ยินดีในการประกอบกุสล
๔. อนวฏฺฐิกิจฺจตา มีกิจไม่มั่นคง จับจด
๕. รตฺติธูมายนา กลางคืนเป็นควัน
๖. ทิวาปชฺชลมา กลางวันเป็นเปลว
๗. หุราหุรํ ธาวนา คิดพล่านไปต่าง ๆ นานา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2013, 06:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อัชฌาสัย
นอกจากจริต ๖ ที่กล่าวแล้ว ยังมีคำว่า อัชฌาสัย อีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน คือ จริต หรือ จริยะ เป็นความประพฤติที่เคยชินจนเป็นนิสัย ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว, ส่วน อัชฌาสัย เป็นความประสงค์ เป็นความนิยมเป็นความมุ่งหมาย ที่จะให้เป็นไปเช่นนั้น อันหมายความว่าเป็นนิสัย หรือความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม ซึ่งเกิดมาจากจิตใจโดยตรง ไม่เกี่ยวไปในทางไม่ดีไม่งามหรือในทางชั่วเลย อัชฌาสัย ก็มี ๖ เหมือนกัน ได้แก่

๑. อโลภชฺฌาสโย มีความไม่โลภเป็นนิสัย มีความพอใจในการจำแนกแจกจ่ายทาน
๒. อโทสชฺฌาสโย มีความไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายเป็นนิสัย มีความพอใจแผ่เมตตาแก่สัตว์ทั้งปวง
๓. อโมหชฺฌาสโย มีความไม่หลง ไม่มัวเมาเป็นนิสัย มีความพอใจพินิจถึงคุณ โทษ กุสล อกุสล และพอใจเจริญอัปปมาทธรรม
๔. เนกฺขมฺมชฺฌาสโย มีนิสัยไม่ติดในกาม ไม่ติดในความพยาบาท ไม่ติดในความเบียดเบียน มีความพvใจออกบวช
๕. ปวิเวกชฺฌาสโย มีนิสัยชอบสงบ มีความพอใจออกจากหมู่คณะ แล้วและอยู่ในที่สงัด
๖. นิสฺสรณชฺฌาสโย มีความยินดียิ่งในพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่หลุดพ้นจากทุกข์เลยมีความพอใจที่จะให้พ้นจากภพทั้ง ๓

กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต
ผู้เจริญภาวนา จะต้องเลือกกัมมัฏฐานให้ถูกแก่จริตของตน จึงจะเป็นที่สบาย รู้ง่าย ได้ผลเร็ว ใน
คัมภีร์วิสุทธิมัคค แสดงไว้ว่า

เริ่มต้นก็กล่าวถึง เสนาสนะที่อยู่อาศัยในการเจริญกัมมัฏฐานของผู้ที่มีราคจริตว่า เตียงตั่งที่นั่งที่นอน ต้องไม่สวย ไม่น่าดู ไม่เป็นที่สบาย ให้รกรุงรังสักหน่อยก็ได้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ควรใช้ของเก่า ๆ สีซีด ๆ มีขาดมีปะบ้างก็ยิ่งดี อาหารการกินก็จัดให้อย่างชนิดที่สีสรรไม่ชวนดู กลิ่นและรสก็เป็นอย่างที่ไม่นิยมยินดี สักแต่ว่าให้กินพอให้หนักท้องไปเท่านั้นเอง กัมมัฏฐานก็ต้องเป็นชนิดที่ไม่ให้เกิดความเพลิด เพลินยินดี ทั้งนี้เพราะเหตุว่าผู้ที่มีราคจริตย่อมชอบสิ่งที่สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่สวยสิ่งที่งาม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเพลิดเพลินแล้ว ราคะย่อมไหลไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้โดยง่าย จึงต้องให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม กามฉันทะจะได้ไม่เกิดมาทำให้เป็นเครื่องขัดขวางแก่การเจริญภาวนา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2013, 06:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เสนาสนะของผู้เจริญกัมมัฏฐานที่มีโทสจริต ต้องเรียบร้อย สะอาด สวยงาม ประดับด้วยดอกไม้ของหอมด้วยก็ยิ่งดี ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้วนแล้วแต่สิ่งที่น่าดู น่าฟัง น่าสูดดม น่ารับประทาน น่าสัมผัสถูกต้อง จะได้ข่มไม่ให้โทสะเกิดขึ้นมาทำลายสมาธิเสีย

เสนาสนะของผู้ที่มีโมหจริต ควรให้เป็นสถานที่กว้างขวาง มีอากาศโปร่ง ได้รับแสงสว่างมาก ถ้าสถานที่แคบ อากาศทึบ แสงสว่างน้อย ก็จะทำให้ซึมเซา เหงาง่วง ไม่อยากพินิจพิจารณาอะไร ทำให้ขาดวิจารในการประหาณวิจิกิจฉา

เสนาสนะของผู้ที่มีวิตกจริต ไม่ต้องกว้างขวางใหญ่โต แม้จะกระเดียดไปข้างเล็กสักหน่อย ก็ไม่เป็นไร และให้เรียบๆ ไม่ต้องตกแต่งให้มีสิ่งที่ชวนชมชวนพิศ มิฉะนั้นวิตกจะพล่านหนักขึ้น เมื่อไม่พล่านไปอื่น ก็จะวิตกอยู่แต่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

เสนาสนะของผู้ที่มีสัทธาจริต ก็เพียงขนาดกลาง ไม่ต้องกว้างใหญ่นัก แต่ก็อย่าให้เล็กจนเกินไป ทุกอย่างให้เป็นแต่เพียงกลาง ๆ แม้จะไม่น่าดู แต่ก็อย่าให้ถึงกับน่าเกลียด แม้จะไม่น่าฟัง แต่ก็อย่าให้ถึงกับหยาบคายร้ายกาจจนฟังไม่ได้ แม้แต่จะไม่หอม แต่ก็อย่าให้ถึงกับเหม็น เหล่านี้เป็นต้น ก็จะไม่ทำให้ถึงกับฟุ้งซ่านหรือก่อให้เกิดความรำคาญ คงมีสุขสบายพอควรแก่การเจริญภาวนาไปได้

โดยเฉพาะผู้ที่มีพุทธิจริตหรือปัญญาจริตนั้น มิได้เป็นที่ติดใจหรือห่วงใยในเสนาสนะใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากป่าและโคนไม้ อันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น เป็นดังนี้
๑. อสุภะ ๑๐ และโกฏฐาส คืออาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๑๑ นี้เหมาะสมแก่บุคคลผู้ที่มี ราคจริต
๒. วัณณกสิณ ๔ และ อัปปมัญญา ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๘ นี้ เหมาะสมแก่ผู้มี โทสจริต
๓. อานาปาณสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้ที่มี โมหจริต และ วิตกจริต
๔. อนุสติ ๖ มี พุทธานุสติ เป็นต้นจนถึง เทวตานุสติ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี สัทธาจริต

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. มรณานุสสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ จตุธาตุววัตถาน ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๔ นี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี พุทธิจริต

๖. ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ อากาสกสิณ ๑ อโลก กสิณ ๑ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่างนี้ ย่อมเหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป และแก่ทุกจริต

ในบรรดาสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ นั้น เฉพาะกสิณ ๑๐ องค์กสิณ คือ ดวงกสิณสำหรับผู้ที่มีโมหจริต ต้องมีขนาดกว้างประมาณเท่าลานข้าว แต่สำหรับผู้ที่มีวิตกจริตมีขนาดเล็กเพียงเท่ากระด้งก็พอ

อนึ่ง ใน อภิธัมมาวตารอรรถกถา แสดงว่า

อสุภานิ ทสาหาร สญฺญา กายคตาสติ
เทเวสุ นปวตฺตนฺติ ทฺวาทเสตานิ สพฺพทาฯ


กัมมัฏฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กายคตาสติ ๑ ย่อมเจริญไม่ได้โดยประการใด ๆ ในเทวภูมิ ๖ ชั้น

หมายความว่า เทวดาทั้ง ๖ ชั้น เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๘ เว้นอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และ
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ทั้งนี้เพราะเทวดาเป็นส่วนมาก เมื่อจุติแล้วไม่มีซากศพเหลืออยู่ ร่างกายสูญหายไปเหมือนหนึ่งดับไฟ

เทวดาที่ยังไม่จุติ ส่วนของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น ก็สวยสดงดงาม ไม่เป็นปฏิกูล

อาหารก็เป็นทิพย์ เป็นสุทธาโภชน์ บริโภคแล้วก็ไม่มีกาก

กัมมัฏฐาน ๒๘ ที่เทวดาพึงเจริญภาวนาได้นั้น คือ กสิณ ๑๐, อนุสสติ ๙ (เว้นกายคตาสติ),
จตุธาตุววัตถานะ ๑, อัปปมัญญา ๔, และอรูปกัมมัฏฐาน ๔

ตานิ ทฺวาทสเจตานิ อานาปาณสฺสติ ปิจ
เตรส จ ปเนตานิ พฺรหฺมโลเก นวิชฺชาเร ฯ


กัมมัฏฐาน ๑๓ คือ กัมมัฏฐาน ๑๒ ที่เจริญไม่ได้ในเทวภูมิ และอานาปาณสติ ๑ ย่อมไม่มีในรูปภูมิมีความหมายว่า ในรูปพรหม ๑๕ ชั้น (เว้นอสัญญสัตตา) เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๗ เพราะอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ อานาปาณสติ ๑ รวม ๑๓ อย่างนี้ ไม่มีในรูปพรหม ๑๕ ชั้นนั้น ด้วยเหตุว่าส่วนของร่างกายแห่งพรหมทั้งหลายนั้น ไม่เป็นปฏิกูล และเมื่อจุติแล้วก็ไม่มีซากศพเหลืออยู่เช่นเดียวกับเทวดา นอกจากนั้น พรหมก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องบริโภคข้าวปลาอาหาร และไม่มีลมหายใจด้วย

ฐเปตฺวา จตุรารุปฺเป นตฺถิ กิญฺจิ อรูปิสุ
มนุสฺสโลเก สพฺพานิ ปวตฺตนฺติ น สํสโย ฯ


ในอรูปภูมินั้น นอกจากอรูปกัมมัฏฐาน ๔ แล้ว กัมมัฏฐานอื่น ๆ อย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่มีทั้งนั้น ส่วนในมนุษย์ภูมิ ย่อมเจริญกัมมัฏฐาน ๔๐ ได้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ภาวนา และ นิมิต

๖. ปริกมฺม ภาวนา จ อุปจารปฺปนา ตถา
ปริกมฺม อุคฺคหญฺจ นิมิตฺตํ ปฏิภาคิยํ ฯ

๗. ภาวนญฺจ นิมิตฺตญฺจ ติธา ติธา วิภาวเย
ตาฬีส กมฺมฏฺฐาเนสุ นโยยํ ปริทีปิโต ฯ

บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต

พระโยคาวจรพึงยังภาวนาและนิมิตให้เกิด โดยประเภทอย่างละ ๓ อย่างละ ๓ นี้ ท่านแสดงไว้ในกัมมัฏฐาน ๔๐ มีความหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้

๑. บริกรรมนิมิต คำว่า บริกรรมแปลว่า การบำเพ็ญ ท่องบ่น หรือ กำหนดใจ นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย บริกรรมนิมิตจึงรวมแปลว่า เครื่องหมายที่กำหนด เครื่องหมายที่เพ่ง ในที่นี้ก็ได้แก่ กัมมัฏฐาน ๔๐ มี กสิณ เป็นต้นนั่นเอง

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพ่งกัมมัฏฐานใด กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็ปฐวีกสิณที่เพ่งนั้นแหละ คือ บริกรรมนิมิต

๒. อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา หมายความว่า เมื่อเพ่งปฐวีกสิณจนดวงกสิณนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตาอยู่หรือแม้จะหลับตา ก็เห็นดวงกสิณนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว จนกระทั่งว่าถ้ามีอะไรติดอยู่หรือมีรอยขีดอยู่ที่ดวงกสิณนั้นสักนิดเดียว ก็เห็นได้แจ่มชัด เหมือนหนึ่งว่า ลืมตามองเห็นอยู่ฉะนั้น

๓. ปฏิภาคนิมิต มีความหมายว่า นิมิตคือ ดวงปฐวีกสิณนั้นติดตาอยู่เหมือน กัน แต่ว่าสีแห่งกสิณตลอดจนริ้วรอยหรือตำหนิอย่างใด ๆ ที่ดวงกสิณนั้นจะไม่ปรากฏเลย คงปรากฏว่าดวงกสิณนั้นใส สะอาด บริสุทธิ์ ดุจดวงแก้วมณี ตลอดจนจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลง ก็ได้ตามความปรารถนา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. นิมิตทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวโดยอาศัยกัมมัฏฐานที่มีรูปพรรณสัณฐาน สีสรร วัณณะนั้นเป็นหลัก เช่น กสิณ และอสุภะ เป็นต้น อันจะต้องเริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา ที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต จึงจะเห็นติดตาที่เรียกว่า อุคคหนิมิต ส่วนกัมมัฏฐานที่ไม่มีรูปร่าง เช่น อนุสสติ เป็นต้น ไม่ได้เริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา แต่เพ่งด้วยใจ คือ กำหนดใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น คุณของพระพุทธเป็นต้นที่เพ่งด้วยใจนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต ครั้นจิตใจซาบซึ้งถึงพระคุณนั้นอย่างชัดเจนแน่แน่วจนกระชับจับใจเช่นนี้ ก็เรียกว่าอุคคหนิมิต เหมือนกัน แต่เป็นอุคคหนิมิตติดใจ ไม่ใช่อุคคหนิมิตติดตาเหมือนอย่างก่อน

๕. สมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตทั้ง ๔๐

ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีได้ในกัมมัฏฐาน ๒๒ เท่านั้นคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ แม้แต่ อัปปมัญญา ๔ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ที่ถึง อัปปนาภาวนา (คือถึงฌาน) ก็ไม่ถึง ปฏิภาคนิมิต เป็นได้เพียง อุคคหนิมิต เท่านั้น

๖. บริกรรมภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า อบรมให้มีขึ้น อบรมให้เกิดขึ้น และให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น บริกรรมภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมให้มีการกำหนดใจขึ้น อบรมให้เกิดการท่องบ่นในใจขึ้น การบำเพ็ญให้มีขึ้น

กัมมัฏฐานที่กำลังเพ่งอยู่นั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต ภาวนาจิตที่มีบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั่นแหละ ได้ชื่อว่า บริกรรมภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็ได้ชื่อว่า บริกรรมสมาธิ

นิมิตที่ถึงกับติดตาติดใจนั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต แต่ภาวนาจิตที่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา (บริกรรมสมาธิ) อยู่อย่างเดิม

๗. อุปจารภาวนา คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ บริเวณรอบ ๆ ดังนั้น อุปจารภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมใกล้เข้าไปแล้ว หมายความว่าใกล้จะได้ฌานแล้ว ใกล้จะถึงอัปปนาภาวนาแล้ว

การเพ่งกัมมัฏฐานจนถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อใด เมื่อนั้นแหละได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อุปจารสมาธิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. อัปปนาภาวนา คำว่า อัปปนา แปลว่า แนบแน่น หมายความว่า แนบอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่นแฟ้น ไม่โยกคลอน หรือแส่ไปในอารมณ์อื่น อีกนัยหนึ่งแปลว่า ทำลายกิเลสมีนิวรณ์ เป็นต้น ดังนั้น อัปปนาภาวนา จึงรวมมีความหมายว่า อบรมจนแนบแน่นในอารมณ์ที่เพ่ง กิเลสไม่สามารถมารบกวนได้

ต่อจากนี้ อุปจารภาวนา เกิดขึ้นแล้ว ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตนั้นโดย อุปจารสมาธิให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พยายามรักษาจนปฏิภาคนิมิตนั้นแนบแน่น ไม่ให้หายไปได้แล้ว ฌานจิตก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า อัปปนาภาวนา เมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

๙. กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นอารมณ์ของบริกรรมภาวนา ได้ทั้งหมด

ในกัมมัฏฐาน ๑๐ ได้แก่ อนุสสติ ๘ (เว้นกายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถานะ ๑ ย่อมได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น อัปปนาภาวนา คือ ฌาน ไม่เกิด

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๐ อันได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ และอรูป ๔ ย่อมสำเร็จได้ถึงอัปปนาภาวนา คือ ฌาน

ปลิโพธ

ผู้ปรารถนาที่จะเจริญกัมมัฏฐาน จะเป็น สมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ตาม เบื้องต้นจะต้องตัด ปลิโพธ คือเครื่องกังวลใจต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ ห่วงใย เป็นกังวล ไม่สงบระงับ ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานนั้น ๆ ได้ ปลิโพธ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่ที่อาศัย เช่น เป็นภิกษุก็ห่วงไปว่า ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสีย ก็จะมีภิกษุอื่นมาอยู่กุฏิแทน เมื่อกลับไปก็จะไม่มีที่อยู่ มิฉะนั้นก็เกรงไปว่า ฝนจะรั่ว ปลวกจะขึ้น

๒. กุลปลิโพธ ห่วงบริวารว่านเครือ ตลอดจนผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปัฏฐาก เกรงว่าจะห่างเหินขาดตอนกันไปเสีย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. ลาภปลิโพธ ห่วงรายได้ เกรงว่าลาภผลที่ตนเคยได้อยู่ จะลดน้อยหรือเลื่อนลอยไปเลย

๔. คณปลิโพธ ห่วงพวกพ้อง ลูกน้อง ลูกศิษย์ และมิตรสหายที่เคยสั่งสอน ช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกันอยู่

๕. กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่กำลังทำค้างอยู่ หรือที่จะลงมือทำในเร็ววันนี้ เช่น ปลูกบ้าน ปลูกเรือน ขุดบ่อ ก่อศาลา สร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญ เป็นต้น

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล กะไว้ว่าจะไปโน่นไปนี่ ต้องมีเวลาเตรียมตัว เตรียมข้าวของทองเงินต่าง ๆ

๗. ญาติปลิโพธ ห่วงพ่อแม่ ลูกเมีย พี่น้อง ครูบาอาจาารย์ จะขาดผู้ปรนนิบัติ หรือผู้ปกครองดูแลอุ้มชู

๘. อาพาธปลิโพธ ห่วงว่ากำลังไม่สบายอยู่ หรือฤดูนี้เคยไม่สบาย เกรงว่าจะเกิดเจ็บป่วยขึ้น กลัวจะเป็นลมเป็นไข้ต่าง ๆ นานา

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสียเกรงว่าจะเรียนไม่ทันเขา สู้เขาไม่ได้ ถ้าเป็นครูอาจารย์ ก็ห่วงการสอนศิษย์

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงอิทธิฤทธิต่าง ๆ อันการแสดงฤทธิหรืออภินิหารต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องบริหารอยู่เนือง ๆ ต้องหมั่นอบรมสมาธิให้มั่นคงอยู่เสมอ ถ้าละทิ้งไปนานนัก อาจเสื่อมไปจนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้

เฉพาะอิทธิปลิโพธนี้ เป็นเครื่องกังวลแก่การวิปัสสนาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หาได้เป็นเครื่องกีดขวางทางสมถะไม่ เพราะการทำสมาธิยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่สมถะมากเท่านั้น ส่วนการเจริญวิปัสสนา ถ้าสมาธิแก่กล้าเกินไป ก็ทำให้อินทรียไม่เสมอกัน วิปัสสนาไม่สามารถจะเกิดได้ เมื่อมีความตั้งใจเจริญภาวนา คือ เจริญกัมมัฏฐาน จนถึงกับตัดเครื่องกังวลใจดังที่ได้กล่าวนี้ได้แล้ว ยังจะต้องพิจารณาธรรมอีกหลายประการที่เรียกว่า สปายะ เสียก่อน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร