วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ... 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2013, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๗. อากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า ตติยารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันมิใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๓ เป็นขั้นที่ ๓

๑๘. อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองจนชำนิชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ แห่ง อากิญจัญญายตนฌานโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนาให้ถึง
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้

๑๙. ต้องเริ่มเจริญโดยการพยายามพรากใจออกมาจาก หรือให้ก้าวล่วงจาก นัตถิภาวบัญญัติ แต่ให้หน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ให้ทิ้งอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน คือนัตถิภาวบัญญัติเสีย และให้จับจิตที่มีอารมณ์ นัตถิภาวบัญญัติ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิตนั้นมาเป็นอารมณ์ในการบริกรรม โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ หรือ สนฺตํ สนฺตํ ปณีตํ ปณีตํ เท่านี้ก็ได้

ที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ เพราะอากิญจัญญายตนฌาน จิตที่หน่วงเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นจิตที่มีสัญญาที่ละเอียดมาก ประณีตมาก และสงบมากด้วย สัญญานั้นสงบและประณีตมากจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามี

๒๐. เมื่อบริกรรมดังกล่าวนี้ ด้วยความพยายามเรื่อยไปไม่ทอดทิ้ง จนจิตใจปราศจากความยินดีหมดความติดใจใน นัตถิภาวบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระแล้ว

๒๑. ครั้นเจริญภาวนาต่อไป จนนัตถิภาวบัญญัติ ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานแก่อากิญจัญญายตนฌานนั้น ปราศจากไปจากจิตใจแล้ว ก้าวล่วงนัตถิภาวบัญญัติอารมณ์ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากิญจัญญายตนฌาน ก็จะปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน นัตถิภาวบัญญัติจิตที่มี อากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์นี้เอง ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บุคคลที่ได้ที่ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่แหละที่มีชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๒๒. ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้นมีความหมายว่า เป็นฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียดที่ประณีต สมกับที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า เป็นฌานที่จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่เชิง

๒๓. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า จตุตถารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นอรูปฌานอันดับที่ ๔ ขั้นที่ ๔ อันเป็นอันดับที่สูงสุดแห่งอรูปฌาน และสูงสุดในบรรดาฌานสมาบัติทั้ง ๙

๒๔. ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญอรูปกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเจริญให้ถึงฌานได้ก็ดี แต่เมื่อกล่าวโดยนิมิตแล้ว มีเพียง อุคคหนิมิตเท่านั้น ไม่ถึงปฏิภาคนิมิต กล่าวโดยภาวนา ถึงอัปปนาภาวนา กล่าวโดยสมาธิก็ถึงอัปปนาสมาธิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2013, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อภิญญา

๘. ฐิตา ภิญฺญาปาท กนฺตุ ฌานํ รูโป จรนฺติมํ
ตญฺจ ฌานา วุฏฺฐายาธิฏฺ เฐยฺยาทิกํ วิจินฺติย ฯ

๙. ตํ ลาภาย ปริกมฺมํ กุพฺพโต ฌานลาภิโน
รูปาทิสฺวาลมฺพเนสุ สมปฺเปติ ยถารหํ ฯ

ก็ฌาน มีรูปาวจรเป็นที่สุด มีอภิญญาเป็นบาทที่ตั้ง ย่อมแนบแน่นด้วยดีในอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น
ตามควรแก่พระโยคาวจรผู้มีปกติได้ฌาน ผู้ออกจากฌานนั้นแล้วพิจารณา ซึ่งอารมณ์อันตนพึง
อธิฏฐาน เป็นต้น ทำบริกรรมอยู่เพื่อให้ได้ซึ่งอภิญญานั้นมีความหมายว่า เมื่อผู้ได้ฌานสมาบัติปรารถนา
ทำอภิญญา ต้องเข้ารูปาวจร ปัญจมฌาน อันเป็นที่สุดแห่งรูปาวจรก่อน ออกจากรูปาวจรปัญจมฌานแล้ว
จึงอธิฏฐาน ตั้งความปรารถนาที่ตนประสงค์ให้เกิดอภิญญา
เพื่อแสดงฤทธิอย่างนั้น ๆ อธิฏฐานแล้วก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ลำดับ
นั้นอภิญญาจิตก็จะเกิดและสำแดงฤทธิได้ตามประสงค์ จนสุดกำลังแห่งอภิญญา
ถ้าอภิญญาจิตยังไม่เกิด ให้ตั้งต้นเข้ารูปาวจรปัญจมฌานใหม่ ทำการอธิฏฐานอีก แล้วเข้ารูปาวจรปัญจม
ฌาน เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ทำอย่างนี้จนกว่าอภิญญาจะเกิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ามีรูปาวจรเป็นที่
สุด คือต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน จึงจะเกิดอภิญญาได้
วิถีจิตที่ให้เกิดอภิญญานั้น ได้กล่าวแล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๔ ที่แสดงวิถีจิต ตอนอภิญญาวิถี

๑. ต้องเข้ารูปาวจรปัญจมฌานก่อน เพื่อเป็นบาทให้จิตมีกำลังกล้าแข็ง ซึ่งเรียกว่า ปาทกฌานวิถี
วิถีจิตเป็นดังนี้
ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค ฌ ฌ ฌ ฌ ฌ ภ

๒. แล้วก็อธิฏฐาน คือ ตั้งความปรารถนา ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้า ว่าประสงค์
อภิญญาอย่างใด ซึ่งเรียกชื่อว่า อธิฏฐานวิถี เป็นกามวิถี ดังนี้
ภ น ท มโน ช ช ช ช ช ช ช ภ

๓. ต่อจากนั้นก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เรียก ปาทกฌานวิถีเหมือนกัน วิถีจิตเป็นดังนี้
ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค ฌ ฌ ฌ ฌ ฌ ภ

๔. ลำดับสุดท้าย อภิญญาจิตก็จะเกิดขึ้นตามความปรารถนาที่ได้อธิฏฐานนั้น วิถีนี้จะเกิด
อภิญญาจิตขณะเดียวเท่านั้น ดังนี้
ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค อภิญญา ภ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2013, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การอบรมสมาธิเพื่ออภิญญา

๑. ผู้ที่มีอภิญญาได้นั้น ตามปกติต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานและมีวสีภาวะจนสามารถเข้าฌานสมาบัติได้ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ครบถ้วนทั้ง ๙ ฌาน มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ได้เพียง รูปฌานสมาบัติ ๕ ก็มีอภิญญาได้ แต่ว่า ฌานลาภี ที่ได้ไม่ถึงรูปฌานทั้ง ๕ นั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีอภิญญา

๒. แม้แต่ ฌานลาภีบุคคลที่ได้ฌานสมาบัติทั้ง ๙ แล้ว จะมีอภิญญาโดยทั่วหน้าก็หาไม่ จะมีอภิญญาได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝนอบรมกันเป็นพิเศษอีกถึง ๑๔ นัยก่อน ดังต่อไปนี้

(๑) กสิณานุโลมโต เข้าฌานตามลำดับกสิณ ชั้นแรกเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วยปฐวีกสิณ ออกแล้วเข้าฌานนั้นด้วยอาโปกสิณ แล้วเตโช วาโย ต่อ ๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงโอทาตกสิณ ฝึกอย่างนี้ตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้ง จนกว่าจะเป็น วสี (ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว)

(๒) กสิณปฏิโลมโต เข้าฌานย้อนกสิณ เริ่มต้นเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วย โอทาตกสิณ ออกแล้ว ย้อนมาเข้าด้วยโลหิตกสิณ ย้อนมาปีตกสิณ ย้อนมานีลกสิณ ย้อนมาต้นเรื่อยไปจนถึงปฐวีกสิณ ฝึกจนให้ชำนิชำนาญเป็นอย่างดียิ่ง

(๓) กสิณานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานใดฌานหนึ่งตามลำดับกสิณและย้อนกสิณ คือ ทำอย่าง (๑) หนึ่งเที่ยว แล้วทำอย่าง (๒) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๑), (๒), (๑), (๒), สลับกันเช่นนี้ไปจนกว่าจะเป็นวสี

(๔) ฌานานุโลมโต เข้าตามลำดับฌาน โดยเริ่มแต่ปฐมฌาน แล้วทุติยฌาน ตติยฌาน เรื่อยไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๕) ฌานปฏิโลมโต เข้าย้อนลำดับของฌาน ตั้งต้นที่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วย้อนทวนมา อากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน ทวนมาถึงต้นจนถึง ปฐมฌาน จนกว่าจะเป็นวสี

(๖) ฌานานุโลมปฏิโลมโต เข้าตามลำดับฌาน และย้อนลำดับฌาน คือ ทำอย่าง (๔) หนึ่งเที่ยว จบแล้วทำอย่าง (๕) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๔), (๕), (๔), (๕), อย่างละเที่ยวสลับกันไป จนกว่าจะเป็นวสี

(๗) ฌานุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับของฌาน คือ
เข้าปฐมฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ
ข้ามทุติยฌานไปเข้า ตติยฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ
ข้ามจตุตถฌานไปเข้า ปัญจมฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ
ข้ามอากาสานัญจายตนฌานไปเข้า วิญญาณัญจายตนฌาน โดยเพ่ง วิญฺญาณํ อนนฺตํ
ข้ามอากิญจัญญายตนฌานไปเข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยเพ่ง เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ต้องฝึกอบรมอย่างนี้จนกว่าจะเป็นวสี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2013, 09:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


(๘) กสิณุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับกสิณ คือ
เพ่งปฐวีกสิณ เข้าปฐมฌาน
ข้ามอาโปกสิณ เลยไปเพ่งเตโชกสิณ เข้าปฐมฌาน
ข้ามวาโยกสิณ เลยไปเพ่ง นีลกสิณ เข้าปฐมฌาน
ข้ามปีตกสิณ เลยไปเพ่ง โลหิตกสิณ เข้าปฐมฌาน ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๙) ฌานกสิณุกฺกนฺติกโต ข้ามทั้งกสิณและข้ามทั้งฌานด้วย คือ
เพ่ง ปฐวีกสิณ เข้า ปฐมฌาน
เพ่ง เตโชกสิณ เข้า ตติยฌาน
เพ่ง นีลกสิณ เข้า ปัญจมฌาน
เพ่ง วิญฺญาณํ อนฺนตํ เข้า วิญญาณัญจายตนฌาน
เพ่ง เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ เข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อบรมจนเป็นวสี

(๑๐) องฺคสงฺกนฺติโต เข้ารูปฌาน ๕ โดยก้าวล่วงองค์ฌานไปตามลำดับ คือ
เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปฐมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๕
เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าทุติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๔ โดยก้าวล่วงวิตก
เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าตติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๓ โดยก้าวล่วงวิจาร ได้อีก
เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าจตุตถฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงปีติ ได้อีก
เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปัญจมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงสุข ได้อีก
ฝึกจนเป็นวสี

(๑๑) อารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน คือ เพ่ง ปฐวีกสิณเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน
เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง อาโปกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง เตโชกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง วาโยกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง นีลกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง ปีตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง โลหิตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง โอทาตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน
ฝึกจนเป็นวสี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


(๑๒) องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าตามลำดับฌานและตามลำดับกสิณด้วยคือ

เพ่ง ปฐวีกสิณ เข้า ปฐมฌาน
เพ่ง อาโปกสิณ เข้า ทุติยฌาน
เพ่ง เตโชกสิณ เข้า ตติยฌาน
เพ่ง วาโยกสิณ เข้า จตุตถฌาน
เพ่ง นีลกสิณ เข้า ปัญจมฌาน
เพ่ง ปีตกสิณ เพิกปีตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า ที่ชื่อว่า อากาสบัญญัติ เพ่งอากาสบัญญัตินี้จนเป็น อากาสานัญจายตนฌาน

เพ่ง โลหิตกสิณ เพิกโลหิตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัตินี้ กลับไปสนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ จนเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน

เพ่ง โอทาตกสิณ เพิกโอทาตกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติกลับไปสนใจในนัตถิภาวบัญญัติด้วยการพิจารณาว่า นตฺถิ กิญฺจิ จนเป็นอากิญจัญญายตนฌาน

เพ่ง อาโลกกสิณ เพิกอาโลกกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติ กลับไปสนใจในอากิญจัญญายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ จนเป็น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฝึกอบรมจนเป็นวสี

หมายเหตุ มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวตรงนี้ว่า ในการอบรมสมาธินี้ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๑ ได้กล่าวถึงองค์กสิณแต่เพียง ๘ มี ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณครั้นถึงข้อ ๑๒ นี้กล่าวเลยไปถึง อาโลกกสิณด้วย ทั้งนี้เพราะ

ก. กสิณทั้ง ๑๐ นั้น อาโลกกสิณนี้สงเคราะห์เข้าใน โอทาตกสิณอยู่แล้ว และอากาสกสิณก็ไม่สามารถที่จะช่วยอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌานได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงกสิณทั้ง ๒ คือ อากาสกสิณ และอาโลกกสิณนี้ด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ข. ในข้อ ๑๒ นี้ แสดงรูปฌานโดยปัญจกนัย จึงมี ๕ ฌาน อรูปฌานอีก ๔ ฌาน รวมเป็น ๙ ฌานด้วยกัน กสิณเพียง ๘ จึงไม่พอ ก็ต้องยกอาโลกกสิณ มา กล่าวด้วย เพื่อให้มีจำนวนพอดีกัน แต่ถ้าจะแสดงรูปฌานโดย จตุกนัย ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอาโลกกสิณด้วย

ค. แม้ว่าอากาสกสิณ ไม่สามารถที่จะอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌาน แต่ก็เป็นกัมมัฏฐานให้เกิดรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน และใช้เพ่งเพื่อประโยชน์ในอันที่จะเนรมิตอากาศให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน หรือในน้ำ จนสามารถดำดินและอยู่ในน้ำได้

(๑๓) องฺคววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้องค์ฌานไปตามลำดับ คือ
พิจารณารู้ว่า ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ สุข เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า อากาสานัญจายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า วิญญาณัญจายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า อากิญจัญญายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา
พิจารณารู้ว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา
ทั้งนี้จนกว่าจะเป็นวสี

(๑๔) อารมฺมณววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้อารมณ์กัมมัฏฐาน คือ

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีปฐวีกสิณเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า ปฐวีกสิณ นี่แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีอาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ หรือ โอทาตกสิณ เป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า กสิณนั้น ๆ แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้า ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน โดยมีกสิณใดเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณาว่า กสิณนั้น ๆ เป็นอารมณ์ของฌานนั้น ๆ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี้

เมื่ออากาสานัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีอากาสบัญญัติเป็นอารมณ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อวิญญาณัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามี อากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์
เมื่ออากิญจัญญายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์
เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์
ทั้งนี้ต้องฝึกฝนอบรมจนเป็นวสี
สรุปความว่า การอบรมสมาธิเพื่อให้สามารถทำอภิญญาได้ดังที่กล่าวมาแล้วรวม ๑๔ นัยนี้ ก็ประสงค์
จะให้ฌานลาภีบุคคลนั้น มีความชำนิชำนาญในกระบวนการเพ่งอารมณ์กัมมัฏฐาน ให้เข้าฌานได้แคล่ว
คล่องว่องไว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะก่อให้จิตมีสมาธิเข้มแข็งเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้มีอำนาจจนสามารถ
ให้รูปาวจรปัญจมฌานอภิญญาเกิดขึ้นตามความปรารถนา การฝึกฝนอบรมสมาธิให้กล้าแข็งนี้ ฌานลาภี
บุคคล จะมีวิธีอื่นใดเพิ่มขึ้นอีกก็ได้

กสิณใดแสดงฤทธิอะไรได้

เมื่อได้ฝึกฝนอบรมตามนัยทั้ง ๑๔ นั้น จนเป็นวสีภาวะ คือ มีความชำนิชำนาญยิ่ง พอควรแก่การที่จะ
สำแดงอิทธิฤทธิ์ได้แล้ว ก็ยังจะต้องเลือกกสิณที่จะใช้เป็นอารมณ์สำหรับเข้ารูปาวจรปัญจมฌานที่เป็น
บาทให้เกิดอภิญญานั้น ให้ถูกต้องเหมาะสมกับฤทธิที่จะแสดงนั้น ๆ ด้วย คือ

๑. ปฐวีกสิณ สามารถที่จะให้เกิดความแข็งในอากาศหรือในน้ำ จน เดิน ยืน นั่ง นอน ในอากาศ ในน้ำ
ได้ ทำทางที่ยาวไกลให้สั้นและใกล้ ทำทางที่สั้นใกล้ให้ยาวให้ไกล เนรมิตให้เป็นวัตถุต่าง ๆ เช่น ภูเขา
ป่าไม้ บ้านเรือน ตลอดจนเนรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้

๒. อาโปกสิณ สามารถทำให้ดินเหลว จนดำดินและโผล่ขึ้นมาจากดินได้ ทำให้ฝนตก ทำให้เป็นคลอง
หนองบึง แม่น้ำ ทะเล ตลอดจนทำให้เป็นน้ำพวยพุ่งออกจากร่างกายได้

๓. เตโชกสิณ สามารถทำให้เกิดควัน เกิดไฟไหม้อะไร ๆ ก็ได้ ทำให้เกิดแสงสว่างเห็นอะไร ๆ ได้
ทำให้ผู้อื่นร้อน เมื่อตายก็ทำให้เกิดไฟเผาศพตนเองได้ ตลอดจนทำให้เป็นไฟพุ่งพ่นออกจากร่างกายได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. วาโยกสิณ สามารถทำให้เกิดความหวั่นไหว เช่น แผ่นดินไหว ทำให้เกิดลม เกิดพายุ ทำให้ลมหยุด ทำให้ตัวเบา เหาะลอยไปได้ ทำให้เร็วเหมือนลม ตลอดจนทำให้ของหนักเป็นของเบา และของเบาทำให้
หนักก็ได้
๕. นีลกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเขียว ออกจากกายได้ ทำให้เกิดมืดคลุ้มเหมือนเวลากลางคืน เนรมิต
วัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียว สีมรกตได้
๖. ปีตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเหลืองออกจากกายดุจทองคำ ทำให้วัตถุ ุต่าง ๆ เป็นสีเหลือง ตลอดจน
เนรมิตให้เป็นทองคำก็ได้
๗. โลหิตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีแดงออกจากกาย ทำวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีแดง เป็นแก้วมณีสีแดงได้
๘. โอทาตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีขาวออกจากกาย ทำให้วัตถุต่าง ๆ เป็นสีขาว ทำให้เกิดเป็นเงิน ทำให้เกิดแสงสว่าง กำจัดความมืดได้
อนึ่ง ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญโอทาตกสิณนี้ย่อมห้ามเสียซึ่งถีนมิทธะ ที่จะมาทำให้เกิดความหดหู่ท้อถอยต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้นได้ด้วย
๙. อากาสกสิณ สามารถทำให้เกิดเป็นช่องว่าง เช่น ในน้ำ ในดิน ในภูเขา ในกำแพง เป็นต้น จนสามารถเดินผ่านไป หรือ ยืน นั่ง นอน ในที่นั้น ๆ ได้ โดยไม่ติดขัดอย่างใด ๆ เลย
๑๐. อาโลกกสิณ สามารถทำให้เกิดความสว่างในที่ที่ต้องการได้ ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในที่ที่มีสิ่งปกปิด เช่น ในภูเขา ใต้ดิน ในห้อง ในหีบ เหมือนกับตาทิพย์
เมื่อมีวสีภาวะและเลือกกสิณได้ถูกต้องแล้ว ก็สามาถให้เกิดอภิญญาสำแดง ฤทธิได้สมตามความปรารถนา

อภิญญา ๕

อภิญญา ที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด นั้นมี ๕ ประการ ดังปรากฏในคาถาสังคหะ คาถาที่ ๑๐ ว่า

๑๐. อิทฺธิวิธํ ทิพฺพโสตํ ปรจิตฺตวิชฺชานนา
ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ ทิพฺพจกฺขูติ ปญฺจธา ฯ


อภิญญา ๕ คือ อิทธิวิธ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบาย

อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง รู้พิเศษ ซึ่งมีความหมายในที่นี้ว่า เป็นญาณที่ประกอบด้วยรูปาวจรปัญจมฌาน
สามารถให้เกิดความรู้อันยิ่งใหญ่ เกิดความรู้พิเศษ ถึงกับบันดาลให้เกิดสิ่งที่ตนปรารถนาได้อภิญญา มี
๒ ประเภท คือ
โลกุตตรอภิญญา และ โลกียอภิญญา โลกุตตรอภิญญา มีอย่างเดียว คือ อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้
สิ้นกิเลส อาสวะ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตมัคคจิตโดยเฉพาะเท่านั้น เป็นอภิญญาที่ไม่
ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

ส่วน โลกียอภิญญา เป็นอภิญญาที่ ต้องอาศัย โลกียจิตคือ รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท มี
๕ อย่าง มีชื่อว่า อิทธิวิธะ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ และมีรายละเอียด
แต่ละอย่าง คือ

๑. อิทธิวิธอภิญญา หรือ อิทธิวิธญาณ เป็นความรู้ที่แสดงฤทธิได้ (ฤทธิ=ความสำเร็จ)
ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๑๐ คือ

(๑) อธิฏฐานอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากการอธิฏฐาน การตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้า เช่น คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคน ตัวอย่าง พระจุฬปัณถกเถระเจ้า อธิฏฐานให้เป็นพระหลายรูปจนเต็มไปทั้งวัด

(๒) วิกัพพนอิทธิ ความสำเร็จด้วยการจำแลงกายให้เป็นคนแก่ ให้เป็นเด็ก ให้เป็นเสือ เป็นช้าง
เช่น พระโมคคัลลาน์ แปลงกายเข้าไปทางปากไปเดินอยู่ในท้องของ นันโทปนันทพยานาค แม้พยานาคนั้นจะมีฤทธิและมีพิษมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้

(๓) มโนมยอิทธิ ความสำเร็จด้วยอำนาจกำลังใจที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เช่น พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้
พระสรีระใหญ่โตมาก เป็นการสำแดงให้อสุรินทรยักษ์ผู้ตำหนิพระองค์ว่าทรงมีรูปร่างเล็ก เพราะเป็มนุษย์
นั้นได้เห็น ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำได้ดังนี้ ก็เพราะทรงมีอิทธิทางมโนสูงยิ่ง อิทธิทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นอิทธิ
วิธญาณโดยตรง อันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจแห่งอภิญญา ที่มี
รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


(๔) ญาณวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น พวกโจรจับสามเณรสังกิจจะไป เพื่อจะฆ่าทำเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่โจรจะฆ่า สังกิจจะสามเณรได้เข้านิโรธสมาบัติ โจรจึงฆ่าไม่ตาย ทั้งไม่เป็นอันตรายอย่างใด ๆ ด้วย พวกโจรเลยยอมเป็นศิษย์

(๕) สมาธิวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ เช่น นันท ยักษ์ตีพระสารีบุตรด้วยกระบองเพ็ชร แต่พระสารีบุตรไม่เป็นอันตราย แม้แต่จะรู้สึกเจ็บก็ไม่มี ส่วนนันทยักษ์เมื่อตีแล้วก็ถูกธรณีสูบไปเลย

(๖) อริยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความไม่หวั่นไหวต่อกิเลส เช่น พระอริย บุคคลที่สามารถวางเฉยต่ออิฏฐารมณ์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและอนิฏฐารมณ์ อารมณ์อันไม่เป็นที่ชอบใจ

(๗) กัมมชอิทธิ บ้างก็เรียกว่า กัมมวิปากชอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากกรรม เช่น เทวดาวินิปาติกบางพวก และนก ไปมาในอากาศได้โดยไม่ต้องมีฌานมีอภิญญา เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปฏิสนธิ

(๘) บุญญวโตอิทธิ บ้างก็เรียกว่า บุญญอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากบุญของเขา เช่นการเป็น
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปวัตติ

(๙) วิชชามยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยวิชา มีคาถาอาคมต่าง ๆ ตลอดจนมีเข้าเจ้าทรง

(๑๐) ตัตถตัตถสมาปโยคปัจจยอิทธิ บ้างก็เรียกว่า อิชฌนัฏเฐนอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความพากเพียรอย่างจริงจัง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการ กระทำ เช่น พากเพียรเจริญสมถภาวนา ก็สำเร็จถึงฌาน เมื่อถึงฌานแล้วก็ให้สำเร็จไปเกิดเป็นพรหม

ได้กล่าวแล้วว่า อิทธิข้อ (๑) ถึงข้อ (๓) รวม ๓ ข้อ เป็น อิทธิวิธญาณโดยตรง คือ เป็นอิทธิฤทธิที่
เกิดขึ้นเพราะอภิญญา เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ส่วนอิทธิ ข้อ (๔) ถึงข้อ (๑๐) รวม ๗ ข้อนั้น สำเร็จด้วยการกระทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฌาน ไม่ใช่อภิญญา ไม่ใช่อิทธิวิธญาณอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอภิญญาที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท แต่ที่นำมากล่าวไว้ด้วยก็เพื่อจะได้ทราบครบจำนวนของอิทธิ

๒. ทิพพโสตญาณ คือ หูทิพย์ ที่สามารถได้ยินเสียงที่ไกลมาก หรือเสียงที่เบาที่สุดได้ ซึ่งตามปกติแล้ว หูอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเช่นนั้นได้เลย

หูทิพย์จำแนกได้เป็น ๒ จำพวก คือ เป็นทิพย์โดยกำเนิดด้วยอำนาจของสุจริตกรรม เช่น เป็นเทวดา เป็นพรหม นั้นเป็นผู้ที่มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงที่ไกลมากนั้นได้นี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งเป็นทิพย์ด้วยอำนาจแห่งภาวนาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดทิพพโสตญาณนี้ ชั้นต้นให้นึกถึงเสียงที่ไกล ๆ หยาบ ๆ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง เหล่านี้เป็นต้นก่อน ต่อไปก็ให้ใส่ใจในเสียงทั้งที่หยาบและที่ละเอียด ไกลมากขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้นทุกที จนทิพพโสตเกิดขึ้นทางมโนทวาร คือได้ยินเสียงนั้นทางใจชัดเจน เหมือนหนึ่งว่าได้ยินกับหู ได้ยินทั้งเสียงที่ใกล้ เสียงที่เบาจนกระซิบ เสียงที่ไกล ทั้งเสียงธรรมดา และเสียงทิพย์ทุกอย่างที่ปรารถนาจะได้ยิน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. ปรจิตตวิชานนญาณ หรือ เจโตปริยญาณ ญาณที่รู้จิตใจผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัย
ทิพพจักขุอีกต่อหนึ่ง และทิพพจักขุก็เกิดขึ้นจากการเจริญเตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ หรืออาโลกกสิณ กสิณใดกสิณหนึ่งใน ๔ กสิณนี้เป็นบาทมาก่อน เมื่อมีทิพพจักขุแล้วจึงจะทำให้เกิด เจโตปริยญาณได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิด เจโตปริยญาณ ต้องอาศัยเช่น อาโลกกสิณ เป็นต้น เป็นบาท ก็จะเกิดทิพพจักขุ เห็นสีของน้ำ คือ หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้เกิดจิต ถ้าเห็นน้ำนั้นเป็นสีแดงขณะนั้นจิตใจของผู้นั้นเป็นโสมนัส น้ำเป็นสีดำจิตเป็นโทมนัส น้ำเป็นสีน้ำมันงาจิตเป็นอุเบกขา เมื่อรู้สมุฏฐานดังนี้แล้ว ก็พึงกระทำเพื่อให้รู้แจ้งโดยเจโตปริยญาณ ในอาการของจิต ๑๖ อย่าง มีจิตที่มีราคะ จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่มีโทสะ จิตที่ไม่มีโทสะ เหล่านี้เป็นต้น เช่นเดียวกับใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังที่กล่าวไว้ในคู่มือ ปริจเฉทที่ ๗ นั้นแล้ว

(จิต ๑๖ อย่าง มี ๑.จิตที่มีราคะ ๒.จิตที่ไม่มีราคะ ๓.จิตที่มีโทสะ ๔.จิตที่ไม่มีโทสะ ๕.จิตที่มีโมหะ ๖.จิตที่ไม่มีโมหะ ๗.จิตที่มีถีนมิทธะ ๘.จิตที่ฟุ้งซ่าน ๙.จิตที่เป็นรูปาวจร อรูปาวจร ๑๐.จิตที่ไม่ใช่รูปาวจร อรูปาวจร (หมายถึง กามาวจร) ๑๑.จิตที่เป็นกามาวจร ๑๒.จิตที่ไม่ใช่โลกุตตร(หมายถึง รูปาวจร และอรูปาวจร) ๑๓.จิตที่เป็นสมาธิ ๑๔.จิตที่ไม่เป็นสมาธิ ๑๕.จิตที่ประหารกิเลส พ้นกิเลส ๑๖.จิตที่ไม่ได้ประหารกิเลส ไม่พ้นกิเลส)

๔. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติแต่ปางก่อนได้ ว่าชาตินั้น ๆ ได้เกิดเป็นอะไรมาแล้ว มีการจำแนกตามความสามารถในการระลึกชาติได้นั้น ไว้เป็น ๖ อย่างได้แก่

พวกเดียรถีย์ คือ นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ระลึกชาติได้ ๔๐ กัปป์

ปกติสาวก คือ พระอริยบุคคลสามัญทั่วๆไประลึกชาติได้ ๑๐๐ถึง๑๐๐๐ กัปป์

มหาสาวก คือ พระอรหันต์ที่มีวุฒิเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่ง (ซึ่งมีรวมจำนวน ๘๐ องค์) ระลึกชาติได้ ๑ แสนกัปป์

อัครสาวก คือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวา ระลึกชาติได้ ๑ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

พระปัจเจกพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ ๒ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ โดยไม่มีกำหนดขีดขั้น

การระลึกชาติได้ของพวกเดียรถีย์นั้น ระลึกได้ตามลำดับของขันธ์ติดกันไป ข้ามลำดับไม่ได้คือระลึกได้ตามลำดับชาติ จะระลึกข้ามไปชาติโน้นชาตินี้ตามชอบใจ ที่ไม่เรียงตามลำดับนั้นไม่ได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในขั้นแรกให้นึกถึงอิริยาบถนั่งครั้งสุดท้ายในวันนั้นก่อน ต่อจากนั้นก็ให้นึกถึงการงานที่ได้กระทำไปแล้วนั้นย้อนถอยหลังไป ตั้งแต่วันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ต่อ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงปฏิสนธิ ต่อไปอีกถึงรูปนามที่เป็นไปในขณะจุติในภพก่อน ดังนี้ ตลอดจนร้อยชาติพันชาติ ถ้าหากตอนไหนระลึกไม่ได้หรือไม่ชัด ก็ต้องเข้าฌานบ่อย ๆ ออกจากฌานแล้วก็ระลึกอีก จนกว่าจะชัดแจ้งตลอดไปตามกำลังของปัญญา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. ทิพพจักขุญาณ ตาเป็นทิพย์ สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ไกลมากหรืออยู่ในที่กำบังต่าง ๆ นั้นได้ ซึ่งตามปกติแล้วนัยน์ตาอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะเห็นเช่นนั้นได้เลย เป็นการเห็นทาง
มโนทวารโดยชัดเจนเหมือนกับว่าเห็นด้วยนัยน์ตาจริง ๆ (อย่างฝันก็ไม่ได้เห็นด้วยนัยน์ตา แต่ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนกัน) ทิพพจักขุจะเกิดได้ด้วยกสิณ ๔ คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

จุตูปปาตญาณ เป็นอภิญญาที่สามารถรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ อภิญญานี้เกิดขึ้นโดยทิพพจักขุเป็นบาท และไม่ต้องมีการบริกรรมเป็นพิเศษอีกต่างหากแต่อย่างใดเลย เมื่อทิพพจักขุเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นแต่เพียงตั้งอธิฏฐานน้อมใจไปในการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนั้น ๆ ก็จะรู้ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า ทิพพจักขุญาณและจุตูปปาตญาณนี้เป็นอภิญญาเดียวกัน จะเรียกชื่อใดชื่อ
เดียวก็พึงเข้าใจว่ามีความหมายทั้ง ๒ อย่าง คือ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายด้วย

อนึ่ง ทิพพจักขุญาณ หรือจุตูปปาตญาณ นี้ยังมีญาณอื่นที่อาศัยเป็นบาทให้เกิดอีก ๒ ญาณ คือ

ก. ยถากัมมุปคญาณ เป็นญาณที่รู้ว่าสัตว์ที่เข้าถึงความสุขและความทุกข์นั้น เพราะได้ทำกรรมอะไรมา

ข. อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่รู้ในกาลต่อไปทั้งของตนเองและของผู้อื่นว่า จะเป็นไปอย่างนั้น ๆ นับตั้งแต่ล่วงหน้าไปอีก ๗ วัน จนถึงไม่มีที่สุด แล้วแต่กำลังของสมาธิว่าจะมีความสามารถเพียงใด

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 13:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อภิญญา ญาณ วิชา

คำว่า อภิญญา นี้บางทีก็ใช้ว่า ญาณ หรือ วิชา แทนกันได้เพราะเป็นไวพจน์แก่กันและกัน เช่นกล่าวว่า ญาณ ๓ หรือ วิชา ๓ ซึ่งเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แก่

๑. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๒. ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย
๓. อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ ถ้ากล่าวถึง อภิญญา ๖ ญาณ ๖ หรือ วิชา ๖
ก็ให้เพิ่มอีก ๓ คือ
๔. ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น
๕. ทิพพโสตญาณ หูทิพย์
๖. อิทธิวิธญาณ สำแดงฤทธิได้

เฉพาะหมายเลข ๓ อาสวักขยญาณ เป็นอภิญญาที่ไม่ได้อาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด แต่เป็นอภิญญาที่อาศัยเกิดจาก อรหัตตมัคคจิต จึงเรียกว่า โลกุตตรอภิญญา ส่วนที่เหลืออีก ๕ เป็นอภิญญาที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน อันเป็นโลกียจิตเป็นบาทให้เกิด จึงเรียกว่า โลกียอภิญญา

อย่าว่าแต่จะได้ถึงซึ่งอภิญญาเลย แม้การเจริญสมถกัมมัฏฐาน จนกว่าจะได้ฌานนั้น ก็มิใช่ว่าจะกระทำได้โดยง่ายดายนัก ต้องมีใจรักอย่างที่เรียกว่า มีฉันทะมีความพอใจเป็นอย่างมาก มีความพากเพียรเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยเอาใจจิตใจจ่ออย่างจริงจัง ทั้งต้องประกอบด้วยปัญญารู้ว่าฌานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นบาทที่ก้าวขึ้นไปสู่ความหลุดพ้น แล้วจึงตั้งหน้าเจริญภาวนาตามวิธีการจนเกิดฌานจิต ฌานจิตที่เกิดจากการปฏิบัติเช่นที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้ มีชื่อเรียกว่า ปฏิปทาสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยการประพฤติปฏิบัติ ได้ฌานด้วยการเจริญสมถภาวนา

ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เจริญสมถภาวนามาก่อน แต่ว่า เมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียวมาตามลำดับ จนบรรลุอรหัตตมัคค อรหัตตผล ก็ถึงพร้อมซึ่งฌานด้วยก็มี อย่างนี้เรียกว่า มัคคสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมัคค บางองค์ก็ได้ถึงอภิญญาด้วย เช่น พระจุฬปัณถกเถรเจ้า เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็มีอภิญญาด้วย คือมีอิทธิฤทธิถึงสำแดงปาฏิหาริย์เป็นพระภิกษุหลายรูปจนเต็มพระเชตวันวิหาร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 13:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปอารมณ์ของอภิญญา

โลกียอภิญญา ๕ ซึ่งรวมนับ ยถากัมมุปคญาณ ๑ และอนาคตังสญาณ ๑ ด้วย ก็เป็น ๗ ย่อม
เป็นไปในอารมณ์ ๑๐ คือ

๑. ปริตตารมณ์ อารมณ์เล็กน้อย, หมายว่าเป็นกามอารมณ์
๒. มหัคคตารมณ์ อารมณ์ที่ถึงซึ่งความเป็นใหญ่ หมายถึงอารมณ์ที่เป็นมหัคคตะ
๓. อัปปมาณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นนิพพาน หมายถึงผลอารมณ์
๔. มัคคารมณ์ อารมณ์ที่เป็นมัคค
๕. ปัจจุบันอารมณ์ อารมณ์ที่กำลังมีอยู่
๖. อตีตารมณ์ อารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
๗. อนาคตารมณ์ อารมณ์ที่จะมีมาภายหน้า
๘. อัชฌัตตารมณ์ อารมณ์ที่เป็นภายใน
๙. พหิทธารมณ์ อารมณ์ที่เป็นภายนอก
๑๐. นวัตตัพพารมณ์ อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 13:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อานิสงส์ของสมาธิ

อานิสงส์ของสมาธินั้นมี ๕ ประการ คือ
๑. ทำให้เข้าสมาบัติได้ เพื่อเป็นสุขในภพปัจจุบัน
๒. ทำให้เกิดวิปัสสนา
๓. ทำให้เกิดโลกียอภิญญา ๕ ประการ
๔. ทำให้เกิดเป็นพรหม
๕. ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้

๑๑. สมาสิโต จ สมถ กมฺมฏฺฐานนโย อยํ ฯ

นี่เป็นนัยแห่งสมถกัมมัฏฐาน อันแสดงแล้วโดยย่อแล

วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้เห็นแจ้ง ซึ่งมีความหมายว่า
ให้เห็นแจ้ง รูปนาม ให้เห็นแจ้ง ไตรลักษณ์ ให้เห็นแจ้ง อริยสัจจ ให้เห็นแจ้ง มัคค ผล นิพพาน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต่างกับ สมถกัมมัฏฐาน ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เพราะสมถกัมมัฏฐานเป็นเพียง
อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่จะให้เกิดความสงบ แต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ถึงกับให้เกิด
ปัญญาเห็นแจ้ง ดังที่กล่าวนี้ด้วย
บ้างก็กล่าวสั้น ๆ ว่า สมถะเป็นอุบายสงบใจ วิปัสสนาเป็นอุบายเรืองปัญญา

มีคาถาที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ เริ่มต้นกล่าวถึง วิปัสสนากัมมัฏฐานว่า

๑๒. วิปสฺสนา กมฺมฏฺฐาเน นโย ปน วิชฺชานโย
อาทิมฺหิ สีลวิสุทฺธิ ตโต จิตฺตวิสุทฺธิ จ ฯ

๑๓. ตโต ตุ ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ กงฺขาวิตรณาปิ จ
ตโต ปรํ มคฺคามคฺค ญาณทสฺสนนามิกา ฯ

๑๔. ตถา ปฏิปทาญาณ ทสฺสนา ญาณทสฺสนา
อิจฺจานุกฺกมโต วุตฺตา สตฺต โหนฺติ วิสุทฺธิโย ฯ

ตามนัยแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งนั้น พึงทราบว่า ในเบื้องต้นตรัส สีลวิสุทธิ ต่อ
นั้นตรัส จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิ
สุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ รวมวิสุทธิ ๗ ประการ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยลำดับฉะนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ... 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร