วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2015, 06:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Gautama-Buddha-Meditation-PNG-Image.png
Gautama-Buddha-Meditation-PNG-Image.png [ 409.16 KiB | เปิดดู 483 ครั้ง ]
ปัญญาเป็นรัตนะอันมีค่าของชนทั้งหลาย

คำว่า ปัญญาเป็นรัตนะ คือ แม้ปัญญาจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง
ที่ไม่อาจมอบเป็นมรดกให้กับลูกหลาน แต่ก็ถือว่าเป็นรัตนะทรงค่า ซึ่งมีค่ามากกว่าเพชรนิลจินดา
หรือเงินทอง เพราะโจรไม่อาจขโมยปัญญาไปได้ เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และแม้จะให้มากเพียงใด
ก็ไม่หมดสิ้นไปเหมือนโลกิยะทรัพย์อื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การมีความรู้มากคือการสั่งสมปัญญา ทั้งที่เป็นปัญญาเกี่ยวกับวิชา
ความรู้เพื่อประกอบอาชีพการงาน การเรียนรู้หลักธรรมของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงวิปัสสนาปัญญา
ซึ่งเราได้ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าใจรูปนามจากประสบการณ์ของตนเช่นนี้ จะทำให้เรามีศรัทธามั่นคง
ในพระพุทธศาสนามากขึ้น หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย

ปัญญาสามารถพัฒนาให้เกิดได้มีได้ ๓ ทาง ได้แก่
สุตมยปัญญา, จินตามยปัญญา, ภาวนามยปัญญา,

สุตมยปัญญา เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การเริ่มต้นในภาคการศึกษา การอ่านตำรา
การฟังเทป การฟังธรรม การซักถามข้อข้องใจ จึงเรียกว่าภาคการศึกษา หรือเห็นสิ่งใด ๆ
ในที่ทั่วไป ให้ศึกษาเหตุผลสิ่งนั้น ๆ ความถูกเป็นอย่างไร

มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าฝึกในวิธีนี้ได้ เราจะมีธรรมะ ได้ศึกษาในที่ทั่วไป
สิ่งใดควรนำมาปฏิบัติได้ก็จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป สิ่งใดไร้เหตุผลอย่างไรก็ศึกษาให้รู้ว่า
เราจะไม่ทำไม่พูดในลักษณะอย่างนั้น แม้ในตำราต่าง ๆ

ที่ได้ศึกษามาก็อย่าเพิ่งเชื่อทีเดียว ใช้ปัญญาพิจารณาตีความหมาย ใช้เหตุผลมาเป็นตัวตัดสิน
ให้รู้จักความผิดความถูกแล้วจึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง จึงจะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นผลออกมาเป็นปฏิเวธ
แนวทางปฏิบัติอย่างไรจะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี ถึงจะผ่านกาลเวลามายาวนาน
ก็เป็นหลักความจริงตลอดมาไม่ล้าสมัยยังมีประสิทธิภาพให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตลอดมา
การปฏิบัติได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสมารถของแต่ละท่าน

หากมีความสงสัยในการปฏิบัติอย่างไร ก็ให้ศึกษากับท่านผู้รู้ผู้เข้าใจในธรรมอยู่เสมอ
เพื่อให้เป็นไปในความถูกต้องชอบธรรม การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2015, 09:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




tumblr_pfklu6lNS71wtg8hyo1_500.png
tumblr_pfklu6lNS71wtg8hyo1_500.png [ 390.67 KiB | เปิดดู 457 ครั้ง ]
จิตตามยปัญญา คือปัญญาเกิดจากความคิด เป็นความคิดที่เป็นระบบถูกต้อง
ความคิดที่ละเอียดลึกซึ้ง ความคิดแบบแยบคาย ความคิดรอบด้านที่เรียกว่า ความคิดแบบ
โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย

จินตามยปัญญายังสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท
๑. ปฏิบัติที่เป็นไปในขั้น กามาวจร
๒. ปฏิบัติให้เป็นไปใน โยคาวจร
ทั้งสองวิธีนี้มีอุบายในการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไร เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้เป็นระดับขั้นกามาวจรหรือเป็นขั้นโยคาวจร จะรู้วิธีในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

๑. ปฏิบัติในขั้นกามาวจร เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างบารมี ที่เรียกว่า การบำเพ็ญกุศล
หวังผลในชาตินี้บ้างชาติหน้าบ้าง ไม่หวังมรรคผลนิพพานในชาตินี้แต่อย่างใด
ทำไปเพื่อให้เกิดความสุขภายในใจเท่านั้น เช่น การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา

การทำสมาธิ การทำสมาธิทุกคนก็พอจะเข้าใจเพราะทำกันอยู่แล้ว
ทำเพื่อความสุขสบายในใจไปชั่วคราวเท่านั้น ถึงจะทำสมาธิให้จิตมีความสงบลึกลงไปเป็นฌาน
รูปฌาน อรูปฌาน อยู่ก็ตาม ก็จะได้ไปเกิดในภพของรูปพรหม อรูปพรหม เท่านั้น
เมื่ออำนาจฌานเสื่อมลงก็จะได้มาเกิดในโลกนี้ต่อไป เว้นพระพรหมในพระอนาคามีเท่านั้น
นอกนั้น จะต้องลงมาเกิดภายในภพทั้งสามต่อไป

๒. ปฏิบัติในขั้นโยคาวจร เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อจะพ้นไปจากภพทั้งสามในชาตินี้ให้ได้
จะไปได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความตั้งใจจะให้พ้นไปได้ในชาตินี้จริง ๆ
การปฏิบัติในขั้นโยคาวจรใช้สติปัญญาเป็นหลักที่ยืนตัว การทำสมาธิก็เพื่อเป็นอุบายเสริม
ให้แก่สติปัญญาเท่านั้น การทำสมาธิก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ให้ทำเหมือนที่ได้ทำตามปกติทั่ว ๆ ไป
ข้อสำคัญ อย่าให้มีความอยากในสิ่งใด ๆ อย่าหวังผลว่าให้เป็นอย่างนั้น ให้รู้อย่างนี้

การนึกคำบริกรรมก็เอาตามที่เรามีความถนัด หรือกำหนดสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้า
หายใจออกก็ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งใจมั่นได้แล้ว ให้สังเกตดูจิตตัวเองว่าจิตมีความต้องการ
ที่จะสงบต่อไป หรือต้องการพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ถ้าจิตต้องการความสงบก็ปล่อยให้ลงสู่ความสงบ
อย่างเต็มที่ ในช่วงจิตมีความสงบอยู่นั้น อย่าไปบังคับให้จิตได้ถอน ปล่อยให้จิตอยู่ในความสงบ
จนอิ่มตัว เมื่อจิตอิ่มตัวในความสงบแล้วก็จะเริ่มถอนออกมาเอง ในขณะที่จิตถอนอย่าให้ถอนเร็ว

ให้มีสติกำหนดรู้เอาไว้ไม่ให้ถอนออกหมด ให้อยู่ในขณิกะ อุปจารสมาธิ ในความตั้งใจมั่น
จากนั้น ก็น้อมใจพิจารณาในหมวดธรรมต่าง ๆ ต่อไป เหมือนกับนอนหลับแล้วตื่นขึ้น
อย่าให้ตื่นพรวดพราดลืมตาเลยทีเดียว ให้มีสติหลับตาเอาไว้ ถ้าหากมีความฝันอย่างไร
จะได้เรียบเรียงดูความฝันนั้นได้ นี้ฉันใด เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิก็ให้เป็นในลักษณะฉันนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2015, 07:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




tumblr_pfklzbko2j1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklzbko2j1wtg8hyo1_500 (1).png [ 321.98 KiB | เปิดดู 457 ครั้ง ]
ภาวนามยปัญญา
ภาวนามยปัญญา จะเกิดผลออกมาเป็นปฏิเวธ จะเป็นจุดที่สิ้นสุดของผู้ปฏิบัติธรรมในวาระสุดท้าย
ถึงจุดนั้นจะมีอะไรเป็นพิเศษเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างสนิทใจ อุบายการปฏิบัติจะมีความเผ็ดร้อน
เข้มข้นอย่างสุดตัวทีเดียว จึงเรียกว่า วิปัสสนาญาณ
เป็นวิธีตัดสินชี้ขาดในระหว่างโลกกับวิสุทธิธรรมจะแยกทางกัน ผลที่ออกมาเป็นปฏิเวธนี้
จะไม่มีสามภพปะปนกันอยู่เลย จะเป็นความบริสุทธิ์ในธรรมล้วน ๆ คำว่า ภาวนามยปัญญา
ก็หมายถึงการเจริญในวิปัสสนาญาณนั้นเอง วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสมาธิ
ความสงบที่หลายคนมีความเข้าใจกัน ฐานของวิปัสสนาญาณจะต้องเริ่มจาก สุตมยปัญญา

เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบในภาคการศึกษา จะต้องศึกษาให้รู้หมวดธรรม
ที่เป็นปริยัติให้เข้าใจ ธรรมหมวดไหนอยู่ในขั้นกามาวจร ธรรมหมวดไหนอยู่ในขั้นโยคาวจร
ศึกษาในวิธีการปฏิบัติให้ถูกกับหมวดธรรมนั้น ๆ ให้ถูกต้อง แล้วนำมาปฏิบัติระดับขึ้น
จินตามยปัญญา เพื่อเป็นอุบายในการเจริญวิปัสสนาต่อไป เมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในวิปัสสนา
เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ เกิดความรู้เห็นในสัจธรรมความเป็นจริง

มีความละเอียดมากขึ้น จะมีความสมบูรณ์ในการเจริญในวิปัสสนาอย่างเต็มที่
จากนั้น ก็จะเชื่อมโยงขึ้นสู่ใน ภาวนามยปัญญา หรือเรียกอีกคำหนึ่งว่า วิปัสสนาญาณ
ผลก็จะออกมาเป็นปฏิเวธ เรียกว่า มรรคผลนิพพานนั่นเอง นี้เพียงเรียบเรียงการเกิดขึ้นของปัญญา
มิใช่ว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิแต่อย่างใด สมาธิเป็นเพียงอุบายเสริมให้แก่ปัญญา
ได้พิจารณาในสัจธรรมนั้น ๆ ให้เกิดความรู้เห็นชัดเจนมากขึ้น จนถึงในระดับขั้นวิปัสสนาญาณ

การทำสมาธิก็ทำเพื่อให้เป็นพลังหนุนให้แก่วิปัสสนาญาณ จึงเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
ตามความเป็นจริงอย่างทั่วถึง ไม่มีสิ่งใดในสามภพจะปิดบังในวิปัสสนาญาณนี้ได้เลย
นตถิโลเก รโหนาม ความลับที่ซ่อนเร้นปิดบังให้เกิดความหลงอีกต่อไปไม่มี กิเลสตัณหาน้อยใหญ่
ในขั้นละเอียดขนาดไหน วิปัสสนาญาณก็ได้ชำระล้างให้หมดไปจากใจให้หมดสิ้น

วิปัสสนาญาณ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่มีกาลเวลารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง
เช่น บารมีที่พร้อมแล้ว และอินทรีย์ที่แก้กล้า สติปัญญามีความสมบูรณ์ ภพชาติจะสิ้นสุดลงเป็นครั้งสุดท้าย
วิมุติก็จะได้หลุดพ้นจากภพทั้งสาม มรรคผลนิพพานก็จะเริ่มปรากฏ ความบริสุทธิ์ในธรรมได้รวมเป็น
มัคคสมังคี ไม่มีความย่อหย่อนบกพร่องแต่อย่างใด ความพร้อมทุกอย่างนี้เองจึงเป็นกำลังใหญ่
จะทำให้เกิดความสิ้นสุดแห่งทุกข์นี้ไปในขณะนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

เมื่อท่านทั้งหลายได้เดินทางไปธุดงควิเวกอยู่ในที่ไหนก็ดี เมื่ออารมณ์ของวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น
ในช่วงนั้น ให้หยุดพักเพื่อการเจริญในวิปัสสนาญาณ เมื่อทำกิจเสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป
วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น จะมีเหตุให้เกิดขึ้นต่างกัน บางท่านก็เห็นฟองน้ำ บางท่านก็เห็นพยับแดด
บางท่านก็เห็นดอกบัว บางท่านก็เห็นคนแก่ คนเจ็บป่วย หรือคนตาย อุบายที่จะให้เกิดวิปัสสนาญาณ
นั้นมีมาก เหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง ขึ้นอยู่กับบารมีที่บำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน

เมื่อนิสัยใครตรงกับอารมณ์ของวิปัสสนาญาณใด ก็จะเกิดความรู้สึกได้ว่า ปัญญาญาณเราเกิดขึ้นแล้ว
จะรู้ชัดว่า ปัญญาเราได้เกิดขึ้นแล้ว จากนี้ไปปัญญาก็จะหมุนตัวเป็นอัตโนมัติ น้อมใจไปพิจารณา
ในเรื่องขันธ์ห้า ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่รูป รูปไม่มีในตน ตนไม่มีในรูป
เวทนาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่มีในตน ตนไม่มีในเวทนา สัญญาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่มีในตน ตนไม่มีในสัญญา สังขารไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในตน ตนไม่มีในสังขาร วิญญาณไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่วิญญาณ วิญญาณไม่มีในตน ตนไม่มีในวิญญาณ

ขันธ์ห้าเป็นเพียงสภาวธรรมที่เป็นกลาง ไม่อยู่ในอำนาจกับสิ่งใด ๆ กิเลสที่มีความเห็นผิด
คิดว่าขันธ์ห้าเป็นตนต่างหาก จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจังตลอดมา กิเลสจึงพาให้ใจเกิด
ความเห็นผิดจึงได้เกิดความทุกข์ จึงใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้นทั้งหมด
เรื่องความเป็นมาในขันธ์ห้าในชาติอดีต ความเป็นอยู่ในขันธ์ห้าชาติปัจจุบัน
และความเป็นไปในขันธ์ห้าชาติอนาคต ให้รู้จักเหตุและปัจจัยที่ขันธ์ห้าตัวหมุนเวียนไปมาในภพทั้งสาม
นั้นคือ ตัณหา เป็นต้นเหตุ ทำให้กิเลสน้อยใหญ่ได้เป็นไปในความรักความชอบ

คำว่าตัณหา ทุกคนได้อ่านรู้ในตำรามาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ทำให้ใจมีความรู้สึกอะไร
เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ตัณหา ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นกำลังใหญ่ที่พาให้ใจหมุนตาม
วัฏสงสาร หมุนไปในอบายภูมิ หมุนมาเป็นมนุษย์ หมุนไปสวรรค์ หมุนไปพรหมโลก หมุนเวียนไปมาตาม
ตัณหาไม่มีที่จบสิ้น ตัวตัณหานี้เอง จึงเป็นเหตุให้ได้ทำกรรมต่าง ๆ กรรมดีบ้างไม่ดีบ้าง
บาปบ้างบุญบ้าง เหตุเกิดจากตัณหาทั้งนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2015, 07:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




tumblr_pfklpzGGoX1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklpzGGoX1wtg8hyo1_500 (1).png [ 234.8 KiB | เปิดดู 457 ครั้ง ]
แม้พระบรมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในบุญบารมี ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของตัณหานี้เช่นกัน
จะมีบุญมากบุญน้อยบาปมากบาปน้อยไม่สำคัญ ตัณหาจะเป็นกงจักรใหญ่พาให้หมุนไปในภพ
ทั้งสามนี้ทั้งนั้น หรือผู้ทำสมาธิความสงบบำเพ็ญอยู่ในฌาน เมื่อตายก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก
หากฌานเสื่อมก็ได้ลงมาเกิดในภพอื่นต่อไป เว้นเสียแต่พรหมของพระอนาคามีเท่านั้น

การเจริญในวิปัสสนา เหมือนกับตัดกิ่งก้านสาขาและลำต้นทิ้งไป หรือเหมือนตัดเล่าเครือ
ตูดหมู (ต้นกระพังโหม) ทิ้งไปเท่านั้น การเจริญในวิปัสสนาญาณ เหมือนกับขุดรากถอนโคนเง่า
หัวทิ้งไปให้สิ้นซาก เป็นวิธีทำลายเหตุในการเกิดของภพทั้งสามให้หมดสภาพไป
วิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อไร ผู้นั้นจะได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งในไม่ช้านี้
จะได้บรรลุธรรมขั้นไหนจะขึ้นอยู่กับบารมีของท่านผู้นั้นในช่วงวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นนี้

ความรู้เห็นในสัจธรรมใดในสามภพที่จะเกิดความแยบคาย และหายสงสัยไปเสียทั้งหมด
ความยึดมั่นถือมั่นเป็นความหลงผิดในสิ่งใด จะหลุดถอนออกจากใจทั้งสิ้น เชื้อของภพชาติใด ๆ
ที่จะทำให้เกิดอีกต่อไป วิปัสสนาญาณจะประหารให้หมดไปในขณะนี้ แม้แต่บุญกุศลบารมี
ที่เป็นกำลังที่สำคัญ เป็นตัวสนับสนุนให้การปฏิบัติมาถึงจุดนี้เพียงเป็นกำลังส่งให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เท่านั้น
จะติดตามต่อไปไม่ได้เลย การเป็นไปในลักษณะนี้จึงเรียกว่า นิโรธ ความรู้แจ้งในสามภพไม่มีอะไรปิดบังนั้นเอง

นิโรธ ความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ภายในใจ ถ้าดับได้จริงก็ไม่จำเป็น
จะไปเล่าให้ใคร ๆ ได้รับรู้ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใคร ๆ จะเป็นในสมัยครั้งพุทธกาล
หรือยุคปัจจุบัน ความเป็นพระอรหันต์ไม่ขึ้นอยู่กับกาลสมัย เหมือนกับน้ำตาลจะมีรสหวานอยู่ในตัวมันเอง
ในสมัยครั้งพุทธกาลและยุคปัจจุบัน รสชาติของน้ำตาลก็มีรสหวานเหมือนกันไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นี้ฉันใด พระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลกับพระอรหันต์ในยุคปัจจุบัน ก็ละกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้เท่ากัน

นิพพานความดับอันสนิทของเชื้อของกิเลสตัณหาก็ดับได้เหมือนกัน ส่วนพระอรหันต์ในยุคนี้
ไม่มีเปอร์เซ็นต์ที่จะนับได้ เพราะมีน้อยไป อีกประการหนึ่ง สังคมส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธไปแล้วว่า
ในยุคนี้หมดยุคสมัยของพระอรหันต์ไปแล้ว ในเมื่อสังคมลงมติกันอย่างนี้ ถึงจะมีพระอรหันต์อยู่
สังคมส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่ามีอยู่นั่นเอง ฉะนั้น นิโรธความดับทุกข์ เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่คนธรรมดา
จะรู้ตามได้ ถึงจะวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์อย่างไรก็ไม่รู้จริงอยู่นั่นเอง

หรือผู้มีนิโรธดับทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ได้เหมือนกัน ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถามกันในเรื่องนี้
เพราะเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัว จะนำมาบรรยายให้ผู้อื่นรู้ตามไม่ได้เลย ในทางที่ดีให้ปฏิบัติเข้าถึงจุด
ที่ดับทุกข์ได้ก่อน จึงจะให้คำตอบแก่ตัวเองได้ ไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับสลับซับซ้อนอะไร ธรรมใดที่เหลือวิสัย
แก่กุลบุตรปฏิบัติตามและรู้เห็นไม่ได้ ธรรมนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงเอามาตรัสไว้ ธรรมใดที่กุลบุตร
ปฏิบัติแล้วรู้เห็นตามได้ ธรรมนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้นำมาตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จริงเห็นจริงต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2022, 15:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




tumblr_pfklsaohHi1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklsaohHi1wtg8hyo1_500 (1).png [ 223.98 KiB | เปิดดู 457 ครั้ง ]
นิโรธความดับทุกข์ จะเริ่มการดับจากวิญญาณการรับรู้เป็นจุดแรก วิญญาณดับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
รูปขันธ์นามขันธ์ก็ดับไปด้วยกัน ไม่มีขันธ์ใดสัมผัสรับรู้ในสิ่งใดได้เลย วิญญาณดับจากการรู้ในเวทนา
วิญญาณดับจากการรับรู้ในอารมณ์แห่งความสุข วิญญาณดับจากการรับรู้อารมณ์แห่งความทุกข์
วิญญาณดับจากการรับรู้อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกว่า ดับในเวทนา วิญญาณดับจากสัญญา
ไม่มีการรับรู้ในความจำ ในรูปขันธ์นามขันธ์แต่อย่างใด แม้แต่อายตนะภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่มาสัมผัส ก็ไม่มีวิญญาณการรับรู้ในความจำแต่อย่างใด

วิญญาณดับจากสังขาร ไม่มีการรับรู้ในความคิดปรุงแต่งในเรื่องอะไร
เพราะวิญญาณได้ดับจากสังขารไปแล้ว จะคิดปรุงแต่งในสมมติอะไรไม่ได้เลย เรียกว่าดับในสังขาร
วิญญาณดับจากการรับรู้ในรูปขันธ์ ก็เป็นในลักษณะอย่างเดียวกัน วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางตา
ถึงจะมีตาก็ไม่รับรู้ในรูปอะไรได้ วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางหู ถึงจะมีหูก็ไม่รับรู้ในเสียงอะไรได้
วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางจมูก ถึงจะมีจมูกก็ไม่รับรู้ในกลิ่นที่หอมเหม็นอะไรได้

วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางลิ้น ถึงมีลิ้นก็ไม่รับรู้ในรสชาติของอาหารอะไรได้ จะไม่รู้จักรสคาวหวาน
ไม่รู้จักรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม แต่อย่างใด วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางกาย ถึงจะมีรูปกายก็ไม่รับรู้ในการสัมผัสในสิ่งที่อ่อนแข็ง ไม่รับรู้ในการสัมผัสร้อนหนาวแต่อย่างไร ร่างกายอยู่ในอิริยาบถใดก็จะอยู่ในอิริยาบถนั้น
แม้แต่เปลือกตาก็ไม่รับรู้ที่จะกะพริบอยู่นั่นเอง วิญญาณการรับรู้ได้ดับไปในทางใจ ถึงจะมีใจก็ไม่มี

ความรับรู้ในสิ่งใด ๆ รู้ก็สักว่ารู้เท่านั้น รู้ไม่มีความหมายในสิ่งใด ๆ และไม่มีความหมายว่ารู้อะไร
จึงเรียกว่าขันธ์ห้าไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในตน ตนไม่มีในขันธ์ห้า ก็เป็นลักษณะอย่างนี้
กายก็สักว่ากายไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ก็เป็นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร