วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2015, 20:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พระปิลินทวัจฉเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา


"พระปิลินทวัจฉะ" นั้นเป็นผู้มีความสามารถแสดงธรรมแก่เทพยดาทั้งหลาย
ด้วยในอดีตชาติท่านกับสหายเป็นจำนวนมากได้รักษาศีลปฏิบัติธรรมร่วมกัน
เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนตัวท่านเมื่อสิ้นบุญจากสวรรค์แล้วได้จุติลงมาเกิดในอัตภาพนี้
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เหล่าเทพยดาทั้งหลายผู้เป็นอดีตสหาย
ก็พากันลงมาอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง
จนทำให้ท่านเป็นที่รักใคร่ของเทพยดาทั้งหลายเหล่านั้น
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดาฯ


:b47:

ในอดีตกาลพระเถระองค์นี้ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ
ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น
ในกัปที่แสนนับถอยไปจากภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลนายประตูในหังสวดีนคร
เป็นคฤหบดีได้มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ท่านได้แลดูกองทรัพย์สมบัติที่สั่งสมไว้เป็นจำนวนโกฏิแล้ว
จึงไปนั่งอยู่คนเดียวในปราสาท คิดว่า ควรจะใช้ทรัพย์ทั้งหมดนี้
ในทางที่ถูกที่ควรก่อนที่จะตายไป


ดังนี้แล้ว จึงตกลงใจว่า

ท่านจักถวายทานในสงฆ์อันเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
ทานอันประเสริฐที่ใครยังไม่เคยถวาย ท่านจักถวายเป็นคนแรก
ท่านคิดที่จะถวายทานหลายวิธี จึงได้เห็นว่าการถวายเครื่องบริขาร
จะเป็นเครื่องทำความดำริของท่านให้เต็ม ท่านจักถวายบริขารในสงฆ์
อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อันเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด


อ่านประวัติของ "พระปิลินทวัจฉเถระ"
เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักของเทวดา
ต่อได้ที่

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7564

:b46: :b46:

ปิลินทวรรคที่ ๔๐
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ (๓๙๑)
(ผลแห่งการถวายไทยทานอันสมควร)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
บรรทัดที่ ๗๙๒๕-๘๒๘๗. หน้าที่ ๓๖๕-๓๗๘.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0



ในครั้งนั้น ไทยทานที่ท่านพระเถระจัดหามาถวาย
อีกทั้งถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์
อันมีประพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้แก่

- ฉัตรหนึ่งแสนคัน
- รวบรวมดอกไม้ต่างๆ ได้แก่ ดอกบัวเผื่อน ดอกบัวหลวง ดอกมะลิ
ดอกลำดวน ดอกจำปา ดอกกถินพิมาน เอามาทำมณฑปดอกไม้
- อาสนะอันมีค่า ปูลาดไว้ใต้เงาฉัตร
- ผ้าหนึ่งแสนผืน
- มีด (โกน), พร้า, เข็ม และมีดสำหรับตัดเล็บอันสมควร
- พัดใบตาล, พัดขนปีกนกยูง, พัดจามร
- ผ้ากรองน้ำ และภาชนะน้ำมัน
- กล่องเข็ม
- ผ้าอังสะ
- ประคตเอว
- เชิงรองบาตรที่ทำอย่างสวยงาม
- เภสัชใส่ในภาชนะสำหรับใส่ของบริโภค
และในขันสำริดให้เต็มแล้วให้วางไว้ภายใต้ฉัตร
- ใส่ว่านน้ำ, หญ้าคา, ชะเอม, ดีปลี, พริก,
ผลสมอ และขิงสด ให้เต็มในภาชนะทุกๆอย่าง
- รองเท้า, เขียงเท้า
- ผ้าสำหรับเช็ดน้ำ
- ไม้เท้าคนแก่ (ให้ทำอย่างสวยงาม)
- ยารักษาไข้, ยาหยอดตา, ไม้ป้ายยาตา
- ธรรมกุตตรา กุญแจ และกล่องกุญแจอันเย็บด้วยด้าย ทำสี
- สายโยค (สายโยก, สายรัด ใช้กับถุงต่างๆ
เช่น ที่ประกอบกับถุงบาตรแปลกันว่าสายโยกบาตร)
- กล้องเป่าควันไฟ
- ตะเกียงตั้ง
- คนโทน้ำและผอบ
- คีม กรรไกร
- ผ้าสำหรับเช็ดสนิมและถุงสำหรับเภสัช
- เก้าอี้นอน, ตั่ง, บัลลังก์อันมีเท้าสี่ให้สมควรแล้วให้ตั้งไว้ภายใต้ฉัตร
- ฟูกยัดด้วยนุ่น ฟูกนั่ง และหมอนให้ทำอย่างดี
- กุรุวินเท (ทับทิม) มธุสิตฺเถ (ขี้ผึ้ง)
- เตี่ยงพร้อมด้วยเครื่องลาด เสนาสนะ
- ผ้าสำหรับเช็ดเท้า
- ที่นอน, ที่นั่ง
- ไม้เท้า ไม้ชำระฟัน (แปรงฟัน)
- กระเบื้อง
- ของหอมสำหรับไล้ทาศีรษะ
- ไม้สีไฟ ดั่งแผ่นกระดาน
- ฝาบาตร ถุงบาตร กระบวยตักน้ำ
- เครื่องอบ (สีผงย้อมผ้า)
- รางย้อมผ้า
- ไม้กวาด
- ผ้าอาบน้ำ, ผ้าอาบน้ำฝน
- ผ้านิสีทนะ
- ผ้าปิดฝี
- ผ้าอันตรวาสก
- ผ้าอุตราสงค์*
- ผ้าสังฆาฏิ
- ยานัตถุ์
- ผ้าเช็ดหน้า
- น้ำส้ม, น้ำปลา, น้ำผึ้ง, นมส้ม, น้ำปานะ, ขี้ผึ้ง
- ผ้าเก่า, ผ้าเช็ดปาก
- ด้าย
- และสิ่งใดชื่อว่าเป็นของควรให้ทานมีอยู่
และสมควรแก่พระศาสดาก็รวบรวมไว้หมด

*([อุดตะรา] น. จีวรสําหรับห่ม.- ผ้าไตรจีวร คือ ผ้า ๓ ผืน
หมายถึง ผ้าของภิกษุ ได้แก่ อันตรวาสก (สบง),
อุตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ (ผ้าทาบ)


:b44: :b44:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2015, 21:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ผลแห่งไทยทานอันเลิศชนิดต่างๆ

"พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในมณฑปดอกไม้ตลอด ๗ คืน ๗ วัน
ทรงยังสัตว์เป็นอันมากให้ตรัสรู้ ทรงประกาศพระธรรมจักร
เมื่อทรงประกาศพระธรรมจักรภายใต้มณฑปดอกไม้
ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาและมนุษย์ ๘๔๐๐๐
เมื่อถึงวันที่ ๗ พระมหามุนี พระนามว่า ปทุมุตระ
ประทับนั่งอยู่ภายในเงาฉัตร ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

มาณพผู้ใดได้ถวายทานอันประเสริฐ ไม่พร่องแก่เรา
เราจักพยากรณ์มาณพนั้น ท่านทั้งหลาย จงฟังเรากล่าว"


- จตุรงคินีเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
จักแวดล้อมมาณพนั้นเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการให้สิ่งทั้งปวง
ยานช้าง ยานม้า วอจะไหลมาเทมา ชนทั้งหลายจักบำรุงมาณพนั้นเนืองนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการให้สิ่งทั้งปวง

- รถ ๖ หมื่น อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
จักแวดล้อมมาณพนั้นเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการให้สิ่งทั้งปวง

- ดนตรี ๖ หมื่น กลองเภรีทั้งหลายอันประดับดีแล้ว
จักประโคมมาณพนั้นเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการให้สิ่งทั้งปวง

- นางนารี ๘๖๐๐๐ อันประดับประดาสวยงาม
มีผ้าและอาภรณ์อย่างวิจิตร สวมใส่แก้วมณีและกุณฑล
มีหน้าแฉล้ม ยิ้มแย้ม ตะโพกผึ่งผาย เอวเล็กเอวบาง
จักแวดล้อมมาณพนั้นเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการให้สิ่งทั้งปวง

- มาณพนั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป
จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๑๐๐๐ ครั้ง
และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑๐๐๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้

- เมื่อมาณพนี้อยู่ในเทวโลก พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม
เทวดาจักทรงฉัตรแก้วไว้ในที่สุดแห่งเทวโลก
มาณพนี้จักปรารถนาเมื่อใด ฉัตรอันเกิดแต่ผ้าและดอกไม้
(ดังจะ) รู้จิตของมาณพนี้ จักกั้นอยู่เนืองนิตย์เมื่อนั้น

- มาณพนี้ จุติจากเทวโลกแล้ว อันกุศลตักเตือนประกอบด้วยบุญกรรม
จักเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ใน (อีก) แสนกัลป
พระศาสดามีพระนามว่า "โคดม" ซึ่งมีสมภพ
ในวงศ์พระเจ้าโอกกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก
พระศากยโคดมผู้ประเสริฐ ทรงทราบคุณข้อนี้ทั้งหมดแล้ว
จักประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ทรงตั้งไว้ในเอตทัคสถาน มาณพผู้นี้จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดา
มีชื่อว่า "ปิลินทวัจฉะ" จักเป็นผู้อันเทวดา
อสูร คนธรรพ์ ภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ทั้งหลายสักการะ
จักเป็นที่รักของคนทั้งปวง จักไม่มีอาสวะ นิพพาน


:b47:

กรรมที่เราทำแล้วในแสนกัลป ได้ให้ผลแก่เราแล้วในภพนี้
เราหลุดพ้นดี ดังกำลังลูกศร เผากิเลสทั้งหลายแล้ว (เรา คือ พระเถระ)
โอ กุศลกรรม เราได้ทำแล้ว ในบุญเขตอันยอดเยี่ยม
อันเป็นฐานะที่เราทำกุศลกรรมแล้ว ได้บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว
ก็มาณพใดได้ให้ทานอันประเสริฐไม่บกพร่อง
มาณพนั้นได้เป็นหัวหน้า นี้เป็นผลแห่งทานนั้น


:b46: ถวายฉัตร

- เราได้ถวายฉัตรในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราไม่รู้สึกหนาว ๑ ไม่รู้สึกร้อน ๑ ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อน ๑
เราเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มี จัญไร ๑ อันมหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑
เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด ๑ เป็นผู้มีใจกว้างขวาง (ไม่หดหู่) ๑


เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ฉัตรหนึ่งแสนคัน
อันประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง เว้นชาตินี้แล้ว
ทรงไว้เหนือศีรษะของเรา เพราะผลแห่งกรรมนั้น
เพราะฉะนั้นในชาตินี้ การทรงฉัตรจึงไม่มีแก่เรา
กรรมทั้งปวงที่เราทำแล้ว เพราะผลบุญแห่งฉัตรหลุดพ้นไป


:b46: ถวายผ้า

เราได้ถวายผ้าในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังทอง ๑ ปราศจากธุลี ๑
มีรัศมีผ่องใส ๑ มีเดช ๑ ตัวของเราละเอียดอ่อน ๑


เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ มีผ้าสีขาวแสนผืน ๑สีเหลืองแสนผืน ๑
สีแดงแสนผืน ๑ ทรงอยู่เหนือศีรษะของเรา
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า

เราย่อมได้ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าป่าน และผ้าฝ้ายในที่ทุกแห่ง
เพราะผลอันหลั่งออกแห่งการถวายผ้านั้น


:b46: ถวายบาตร

เราได้ถวายบาตรในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมบริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี
ภาชนะเงิน และภาชนะที่ทำด้วยทับทิมในกาลทั้งปวง ๑
เราเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีจัญไร ๑ มหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑
เป็นผู้ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน เป็นปกติ ๑ โภคสมบัติของเราไม่พินาศ ๑
เราเป็นผู้มีจิตมั่นคง ๑ เป็นผู้ใคร่ธรรมทุกเมื่อ ๑
เป็นผู้ไม่มีกิเลส ๑ ไม่มีอาสวะ ๑


คุณเหล่านี้ ติดตามเราไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
ย่อมไม่ละเราในที่ทุกแห่ง เปรียบเหมือนเงาไม่ละรูป ฉะนั้น


:b46: ถวายมีดโกน

เราได้ถวายมีดโกนที่ทำอย่างสวยงาม
อันเนื่องด้วยเครื่องผูกอย่างวิจิตรมากมาย
แก่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดและแก่พระสงฆ์แล้ว
ย่อมได้เสวย อานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้กล้า ๑ เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ๑
ถึงที่สุดในเวสารัชธรรม ๑ เป็นผู้มีธิติ ๑ มีความเพียร ๑
มีใจอันประคองไว้ทุกเมื่อ ๑ ย่อมได้ญาณอันสุขุมเครื่องตัดกิเลส ๑
ความบริสุทธิ์อันชั่งไม่ได้ ๑ ในที่ทั้งปวง


เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมของเรานั้น


:b46: ถวายพร้าอันราบเรียบ

เรามีจิตเลื่อมใสได้ถวายพร้าอันราบเรียบ
ไม่หยาบ ไม่ต้องขัดถู เป็นอันมาก
ในพระพุทธเจ้าและในสงฆ์แล้ว
ย่อมได้ เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ความเพียรอันเป็นกัลยาณมิตร ๑
ขันติ ๑ ศาตราคือความไมตรี ๑
ศาตราคือปัญญาอันยิ่งเพราะตัดลูกศรคือตัณหา ๑
ญาณอันเสมอด้วยแก้ววิเชียร ๑


เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมเหล่านั้น


:b46: ถวายเข็ม

เราได้ถวายเข็มในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการอันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่
ย่อมเป็นผู้อันมหาชนนอบน้อม ๑
ตัดความสงสัยได้ ๑ มีรูปงาม ๑ มีโภคสมบัติ ๑
มีปัญญากล้า ๑ ทุกเมื่อ


เราพิจารณาเห็นอรรถอันเป็นฐานะละเอียดลึกซึ้ง
ด้วยญาณ ญาณของเราเสมอด้วยแก้ววิเชียรอันเลิศ
เป็นเครื่องกำจัดความมืด


:b46: ถวายมีดตัดเล็บ

เราได้ถวายมีดตัดเล็บในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ทาสชายหญิง วัวและม้า ลูกจ้าง คนฟ้อนรำ
ช่างตัดผม พ่อครัวผู้ทำอาหารเป็นอันมากในที่ทั้งปวง


:b46: ถวายพัด

เราได้ถวายพัดใบตาลอันงามในพระสุคตเจ้าแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมไม่รู้สึกหนาว ๑ ร้อน ๑ ความเร่าร้อนไม่มีแก่เรา ๑
ไม่รู้สึกความกระวนกระวาย ๑ ไม่รู้สึกความเดือดร้อนจิตของเรา ๑


เราดับไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และไฟทั้งปวงได้แล้ว
เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้นของเรา


:b46: ถวายพัดจามรี

เราได้ถวายพัดจามรี มีขนนกยูงเป็นด้าม
ในคณะสงฆ์ผู้สูงสุดแล้ว
ย่อมเป็นผู้มีกิเลสสงบระงับ ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนอยู่


:b46: ถวายผ้ากรองน้ำและธรรมกุตตระ

เราได้ถวายผ้ากรองน้ำและธรรมกุตตระ
ในพระสุคตเจ้าแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรม ของเรา คือ

เราก้าวล่วงอันตรายทั้งปวง ๑ ย่อมได้อายุอันเป็นทิพย์ ๑
เป็นผู้อันโจรหรือข้าศึกไม่ข่มขี่ในกาลทุกเมื่อ ๑
ศาตราหรือยาพิษย่อมไม่ทำความเบียดเบียนเรา ๑
ไม่มีความตายในระหว่าง ๑

เพราะผลอันหลั่งออก แห่งกรรมนั้นของเรา


:b46: ถวายภาชนะน้ำมัน

เราได้ถวายภาชนะน้ำมันในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีรูปสวยงาม ๑ มีความเจริญดี ๑ มีใจ เบิกบานดี ๑
มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑ เป็นผู้อันอารักขาทั้งปวงรักษาแล้ว ๑


:b46: ถวายกล่องเข็ม

เราได้ถวายกล่องเข็มในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ
เราย่อมได้คุณทั้งหลายนี้ คือ

ความสุขใจ ๑ ความสุขกาย ๑ ความสุขเกิดแต่อิริยาบถ ๑
เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น


:b46: ถวายผ้าอังสะ

เราได้ถวายผ้าอังสะในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้อานิสงส์ ๔ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ความหนักในพระสัทธรรม ๑
ย่อมระลึกถึงภพที่สองได้ ๑
เป็นผู้มีฉวีวรรณงามในที่ทั้งปวง ๑


เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น


:b46: ถวายผ้าประคตเอว

เราได้ถวายประคตเอวในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑ เป็นผู้มีความชำนาญในสมาธิ ๑
มีบริษัทไม่แตกกัน ๑ มีถ้อยคำอันมหาชนเชื่อถือทุกเมื่อ ๑
มีสติตั้งมั่น ๑ ความสะดุ้งกลัวไม่มีแก่เรา ๑


คุณเหล่านี้ ติดตามเราไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก


:b46: ถวายเชิงรองบาตร

เราได้ถวายเชิงรองบาตรในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่มีภัยในเพราะวรรณะ ๕
ไม่หวั่นไหวด้วยอะไรๆ ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง

อันเป็นเครื่องตรัสรู้ญาณด้วยสติ เราฟังแล้ว
ธรรมที่เราทรงไว้ย่อมไม่พินาศ เป็นอันวินิจฉัยดีแล้ว


:b46: ถวายภาชนะและเครื่องบริโภค

เราได้ถวายภาชนะ และเครื่องบริโภค
ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี
ภาชนะแก้วผลึก และภาชนะแก้วทับทิม ๑
ภริยา คนใช้ชายหญิง พลช้าง พลม้า พลรถ
พลเดินเท้าและหญิง มีวัตร ยำเกรงนาย ๑
ได้เครื่องบริโภคทุกเวลา ๑
วิชาในบทมนต์ และในอาคมต่างๆ เป็นอันมาก
เราย่อมใคร่ครวญศิลปะทั้งปวง ใช้ได้ทุกเวลา


:b46: ถวายขัน

เราได้ถวายขันในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ขันทองคำ ขันแก้วมณี ขันแก้วผลึก และขันแก้วทับทิม
ย่อมได้ขัน อสฺสฏเก ผลมเย อโถ โปกฺขรปตฺตเก มธุปานกสงฺเข จ
ย่อมได้คุณเหล่านี้ คือ ข้อปฏิบัติในวัตรอันงามในอาจาระและกิริยา

เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น


:b46: ถวายเภสัช

เราได้ถวายเภสัชในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้อานิสงส์ ๑๐ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ มีปัญญา ๑
มีวรรณะ ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ ไม่มีอันตราย ๑
ไม่มีจัญไร ๑ มหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑
เราไม่มีความพลัดพรากจากของที่รัก ๑

เพราะกรรมนั้นให้ผลแก่เรา


:b46: ถวายรองเท้า

เราได้ถวายรองเท้าในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

ยานช้าง ยานม้า วอ ย่อมไหลมาเทมา ๑
รถ ๖ หมื่นคันแวดล้อมเราทุกเมื่อ ๑
เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ รองเท้าแก้วมณี
รองเท้าทองแดง รองเท้าทองคำ
รองเท้าเงิน ย่อมเกิดขึ้นในขณะที่ยกเท้าขึ้น ๑


บุญกรรมทั้งหลายย่อมช่วยชำระอาจารคุณให้สะอาด
แน่นอน เราย่อมได้คุณเหล่านี้
เพราะกรรมนั้นให้ผล


:b46: ถวายเขียงเท้า

เราได้ถวายเขียงเท้าในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ได้สวมเขียงเท้ามีฤทธิ์แล้วอยู่ได้ตามปรารถนา

:b46: ถวายผ้าเช็ดหน้า

เราได้ถวายผ้าเช็ดหน้าในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำปราศจากธุลี ๑
มีรัศมีผ่องใส ๑ มีเดช ๑ ตัวของเราละเอียดอ่อน ๑
ฝุ่นละอองไม่ติดตัวเรา ๑

เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล


:b46: ถวายไม้เท้า

เราได้ถวายไม้เท้าคนแก่ในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เรามีบุตรมาก ๑ เราไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑
เป็นผู้อันอารักขาทุกอย่างรักษาไว้ ใครๆข่มขี่ไม่ได้ทุกเมื่อ ๑
ย่อมไม่รู้สึกความพลั้งพลาด ๑ ใจของเราไม่ขลาดกลัว ๑


:b46: ถวายยาหยอดตา

เราได้ถวายยาหยอดตาในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีนัยน์ตากว้างใหญ่ ๑
โลหิตของเราขาว ๑ เหลือง ๑
เป็นผู้มีนัยน์ตาไม่มัว ๑ มีนัยน์ตาแจ่มใส ๑
เว้นจากโรคตาทั้งปวง ๑ ย่อมได้ตาทิพย์ ๑
ได้ปัญญาจักษุอันสูงสุด ๑

เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล


:b46: ถวายลูกกุญแจ, เรือนกุญแจ

เราได้ถวายลูกกุญแจในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว

ย่อมได้ ลูกกุญแจ คือ ญาณอันเป็นเครื่องเปิดทวารธรรม
เราได้ถวายเรือนกุญแจในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ เป็นผู้มีความโกรธน้อย ๑
ไม่มีความคับแค้น ๑


:b46: ถวายสายโยค

เราได้ถวายสายโยคในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑ มีความชำนาญในสมาธิ ๑
มีบริษัทไม่แตกกัน ๑ มีถ้อยคำอันมหาชนเชื่อถือทุกเมื่อ ๑
โภคสมบัติย่อมเกิดแก่เรา เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพ ๑


:b46: ถวายกล้องเป่าควัน

เราได้ถวายกล้องเป่าควัน ในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

สติของเราเป็นธรรมชาติตรง ๑
เส้นเอ็นของเราต่อเนื่องกันดี ๑
เราย่อมได้ตาทิพย์ ๑

เพราะกรรมนั้นให้ผล


:b46: ถวายตะเกียงตั้ง

เราได้ถวายตะเกียงตั้งในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีสกุล ๑ มีอวัยสมบูรณ์ ๑
มีปัญญาอันพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑

เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล


:b46: ถวายคนโทน้ำและผอบ

เราได้ถวายคนโทน้ำและผอบในพระพุทธเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

ในกาลนั้น เราได้เป็นผู้คุ้มครองแล้ว ๑
พร้อมพรั่งด้วยสุข ๑ มียศมาก ๑ มีคติ ๑
มีตัวอันจำแนกไป ๑ เป็นสุขุมาลชาติ ๑
เว้นจากอันตรายทั้งปวง ๑ เป็นผู้ได้คุณอันไพบูลย์ ๑
หวั่นไหวด้วยความนับถือ ๑ มีความหวาดเสียวอันเว้นดีแล้ว ๑
เพราะการถวายคนโทน้ำและผอบ
เราได้วรรณะ ๔ ช้าง แก้วและม้าแก้ว


คุณของเราเหล่านั้นไม่พินาศ ผลนี้
เพราะถวายคนโทน้ำและผอบ


:b46: ถวาย หตฺถลีลงฺคเก

เราได้ถวาย หตฺถลีลงฺคเก ในพระพุทธเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของของเรา คือ

เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวง ๑ มีอายุยืน ๑
มีปัญญา ๑ จิตมั่นคง ๑ กายของเราพ้นแล้ว
จากความยากลำบากทุกอย่างในกาลทั้งปวง ๑


:b46: ถวายมีดบางลับคมดีและกรรไกร

เราได้ถวายมีดบางอันลับคมดีและกรรไกรในสงฆ์แล้ว
ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องตัดกิเลส
อันหาน้ำหนักมิได้ สะอาด


:b46: ถวายคีม

เราได้ถวายคีมพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องถอนกิเลสอันหาน้ำหนักมิได้ สะอาด

เราได้ถวายยานัตถุ์ในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑
สุตะ ๑ จาคะ ๑ ขันติ ๑ และปัญญาเป็นคุณข้อที่ ๘ ของเรา


:b46: ถวายตั่ง (นั่ง)

เราได้ถวายตั่งในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมเกิดในสกุลสูง เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑
ชนทั้งปวงยำเกรงเรา ๑ ชื่อเสียงของเราฟุ้งไป ๑
บัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมแวดล้อมเราเป็นนิตย์ตลอดแสนกัลป ๑
เราเป็นผู้ยินดีในการจำแนกทาน ๑


:b46: ถวายที่นอน

เราได้ถวายที่นอนในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เรามีร่างกายสมส่วนอันบุญกรรมก่อให้
เป็นผู้อ่อนโยน มีรูปงาม น่าดู (ดูไม่เบื่อ)
เราย่อมได้ญาณอันประเสริฐ


นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน
เราย่อมได้นวมผ้าลวดลายรูปสัตว์
ผ้าลาดทอด้วยไหม ผ้าลาดอันวิจิตร
ผ้าลาดอย่างดีและผ้ากัมพลต่างๆ เป็นอันมาก
ย่อมได้ผ้าปาวารก์มีขนอ่อนนุ่ม
ผ้าทำด้วยขนสัตว์อ่อนนุ่มในที่ต่างๆ
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน

เมื่อใดเราระลึกถึงตนเมื่อใด
เราเป็นผู้รู้เดียงสาเมื่อนั้น เราเป็นผู้ไม่เปล่า
มีฌานเป็นเตียงนอน นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน


:b46: ถวายหมอน

เราได้ถวายหมอนในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมยังศีรษะของเราให้หนุนบนหมอนอันยัดด้วยขนสัตว์
หมอนยัดด้วยเกษรบัวหลวง และยัดด้วยจันทน์แดงทุกเมื่อ ๑

เรายังญาณให้เกิดในอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ
และในสามัญผล ๔ เหล่านั้นแล้ว ย่อมอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ๑

ยังญาณให้เกิดในทาน ทมะ สัญญมะ
อัปปมัญญา และรูปฌานเหล่านั้นแล้ว
ย่อมอยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑

ยังญาณให้เกิดในวัตรคุณ
รูปปฏิมาและในอาจารกิริยาแล้ว
ย่อมอยู่ในกาลทั้งปวง ๑

ยังญาณให้เกิดในการจงกรม
ความเพียรอันเป็นประธาน
และในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นแล้ว
ย่อมอยู่ตามปรารถนา ๑

ยังญาณให้เกิดในศีล สมาธิ ปัญญาวิมุติ
และในวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านั้นแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ๑


:b46: ถวายตั่งแผ่นกระดาน

เราได้ถวายตั่งแผ่นกระดานในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้บัลลังก์อันประเสริฐ อันทำด้วยทอง
แก้วมณี และทำด้วยงาช้างสารเป็นอันมาก

นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแผ่นกระดาน


:b46: ถวายตั่งรองเท้า

เราได้ถวายตั่งรองเท้าในพระชินเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราย่อมได้ ยวดยานเป็นอันมาก
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งรองเท้า ๑
ทาสหญิงชายภรรยา และคนอาศัยเลี้ยงชีวิตเหล่าอื่น
ย่อมบำเรอเราโดยชอบ
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งรองเท้า ๑


:b46: ถวายน้ำมันทาเท้า

เราได้ถวายน้ำมันสำหรับทาเท้า
ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

ความที่เราเป็นผู้ไม่ป่วยไข้ ๑ มีรูปงาม ๑
เส้นเอ็น (ประสาท) รับรสได้เร็ว ๑
ความได้ข้าวและน้ำ ๑ ได้อายุยืนนานเป็นที่ห้า ๑


:b46: ถวายเนยใสและน้ำมัน

เราได้ถวายเนยใสและน้ำมัน
ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีกำลัง ๑ มีรูปสมบูรณ์ ๑
เป็นผู้ร่าเริงทุกเมื่อ ๑ มีบุตรทุกเมื่อ ๑
และเป็นผู้ไม่ป่วยไข้ทุกเมื่อ ๑

นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน


:b46: ถวายน้ำบ้วนปาก

เราได้ถวายน้ำบ้วนปาก
ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีลำคอบริสุทธิ์ ๑ มีเสียงไพเราะ ๑
เว้นจากโรคไอ ๑ โรคหืด ๑
กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของเราทุกเมื่อ ๑


:b46: ถวายนมส้ม

เราได้ถวายนมส้มอย่างดีในพระพุทธเจ้า
และคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว
ได้บริโภคภัตอันไม่ขาดสาย คือ
กายคตาสติอันประเสริฐ


:b46: ถวายน้ำผึ้งอันประกอบด้วยสี กลิ่น รส

เราได้ถวายน้ำผึ้งอันประกอบด้วยสี กลิ่นและรส
ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์แล้ว
ย่อมได้รส คือ วิมุติอันไม่มีรสอื่นเปรียบ ไม่เป็นอย่างอื่น


:b46: ถวายรส ข้าว น้ำ

เราได้ถวายรสตามเป็นจริงในพระพุทธเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้ เสวยผล ๔ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา เราได้ถวายข้าวและน้ำ
ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เราเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ เป็นนักปราชญ์ ๑
มีวรรณะ ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ เป็นผู้ได้ข้าว ๑ น้ำ ๑
เป็นคนกล้า ๑ มีญาณรู้ทั่ว ๑

เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ย่อมได้คุณเหล่านี้


:b46: ถวายธูป

เราได้ถวายธูปในพระสุคตเจ้า
และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ
อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ

เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่
เป็นผู้มีกลิ่นตัวหอมฟุ้ง ๑ มียศ ๑
มีปัญญาเร็ว ๑ มีชื่อเสียง ๑ มีปัญญาคมกล้า ๑
มีปัญญากว้างขวาง ๑ มีปัญญาร่าเริง ๑ มีปัญญาลึกซึ้ง ๑
มีปัญญาเครื่องแล่นไปไพบูลย์ ๑

เพราะผลการถวายธูปนั้น
บัดนี้ เราเป็นผู้บรรลุนิพพานอันเป็นสันติสุข ๑


:b45: :b45:

การที่เราได้มาในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้
เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดยลำดับ
พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว
เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว
ตัดกิเลสเครื่องผูกดุจช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่
คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.


อ่านเพิ่มเติมทั้งหมดได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0

:b44: :b44:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร